เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 13, 12:11



กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 13, 12:11
แยกกระทู้มาจาก สอบถามเรื่องถนนในกรุงเทพครับ (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5663.msg122315;topicseen#msg122315) 
คุณสมุน007 มาถามเรื่องถนนในนิยายสามเกลอ เพียงสั้นๆ แต่คนตอบตอบเสียงยาวไปหลายหน้า   ออกนอกถนนในนิยายไปไกล
สังเกตว่า ท่านสมาชิกในเรือนไทยหลายท่านรู้จักนิยายสามเกลอ พล นิกร กิมหงวนของป.อินทรปาลิตเป็นอย่างดี   แม้ว่าท่านเจ้าของนิยายถึงแก่กรรมไปตั้งแต่พ.ศ. 2511 ก่อนสมาชิกหลายคนเกิด
จึงคิดว่าควรตั้งกระทู้นี้  เพื่อระลึกถึงท่าน    ไม่ว่าจะเกี่ยวกับนิยายสามเกลอ  นิยายเรื่องอื่นๆ และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับชีวประวัติของท่าน

พร้อมกันนั้น   ขออนุญาตแนะนำเว็บไซต์ที่ตั้งขึ้นสำหรับแฟนนิยายสามเกลอโดยเฉพาะ www.samgler.org   ดิฉันเข้าไปอ่านในบางครั้ง  เวลาต้องการค้นข้อมูล     รายละเอียดที่รวบรวมมาไว้ในเว็บนี้ทำให้การค้นหาเป็นไปได้สะดวกสบายมาก  ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 13, 12:48
คุณวิกี้เล่าถึงป. อินทรปาลิต ไว้ว่า  เป็นนามปากกาของ ปรีชา อินทรปาลิต (12 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 - 25 กันยายน พ.ศ. 2511) เกิดที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนโตของ พ.ท. พระวิสิษฐพจนาการ (อ่อน) กับนางชื่น เกิดที่ตำบลยมราช อำเภอดุสิต เขตพระนคร

ป. อินทรปาลิต เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนโสมนัส  ต่อมาเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า  รุ่นเดียวกับ จอมพล ถนอม กิตติขจร และ มี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นรุ่นพี่  ต่อมาเรียนตกซ้ำชั้น 2 ปี จึงต้องรีไทร์จากโรงเรียนนายร้อย   
ท่านเคยประกอบอาชีพอื่นมาก่อน เช่นขับแท็กซี่ และเป็นนายท้ายเรือกลไฟ ขึ้นล่องระหว่างกรุงเทพกับปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์  ก่อนจะทดลองเขียนนวนิยายชื่อ นักเรียนนายร้อย ส่งไปที่สำนักพิมพ์ "เพลินจิตต์" ได้รับการตีพิมพ์ ประสบความสำเร็จอย่างดี   ป.อินทรปาลิตจึงยึดอาชีพนักเขียนเป็นต้นมา จนบั้นปลายชีวิต



กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 13, 12:49
ขอลงประวัติของป.อินทรปาลิต ที่ท่านเขียนเอง จากเว็บ www.samgler.org

ประวัติ ป. อินทรปาลิต

ผมเขียนของผมเอง

ท่านผู้อ่านบางท่านหรือหลายท่านเคยได้อ่านประวัติย่อ ๆ ของผมมาบ้างแล้วจากหนังสือบางเล่ม แต่ข้อเท็จจริงนั้นมีปะปนกันอยู่ บางทีผมก็ให้สัมภาษณ์ไปขณะที่ลิ้นไก่ผมแข็งและพันกัน บางทีผู้เขียนประวัตินักเขียนคนนั้นไม่เคยเห็นหน้าค่าตาผม ฟังคนอื่นเล่าให้ฟังอีกทีหนึ่ง ผมเห็นว่า ไหน ๆ ผมก็เขียนหนังสือขายหลอกเอาอัฐท่านและลูกหลานของท่านมานมนานแล้ว ตั้งแต่ท่านยังเป็นนักเรียนยังไม่มีแฟนและยังไม่มีครอบครัว จนกระทั่งปัจจุบันนี้ท่านมีลูกเต้ายั้วเยี้ย ท่านก็ยังอ่านเรื่องของผมอยู่ ผมก็อยากจะให้ท่านได้ทราบถึงชีวประวัติหรือความเป็นมาแห่งตัวผม รับรองว่าเขียนกันอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งผมจะยอมให้มีความเท็จหรือเรื่องไม่จริงแฝงอยู่ราว 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ความจริงนักเขียนที่มีคนเขียนประวัติให้คนอ่านนั้นต้องเป็นนักเขียนชั้นเยี่ยมคือชั้น อะ หรือ ชั้น อา สำหรับผมเป็นนักเขียนชั้น อึ ไม่มีใครเขามาขอสัมภาษณ์เขียนประวัติผม ผมก็เลยเขียนเสียเอง ถ้ามีการยกย่องตัวเองบ้างก็ต้องอภัยนะครับ นิสัยของผมก็ออกจะเป็นคนคุยโวโอ้อวดเสียด้วย ยิ่งกินเหล้าเข้าไปแล้วผมพ่นขนาดบ้าน้ำลายทีเดียว

เอาละครับเริ่มประวัติของผมเสียที


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 13, 12:49
ผมเกิดปีไหนผมจำไม่ได้ ผมไม่รู้ว่าผมจะจดจำเอาไว้ หาสวรรค์วิมานอะไร ผมจำได้แต่เพียงว่าผมเกิดวันพฤหัสบดี เดือนอะไร ปีอะไรท่านอย่าไปสนใจเลยครับ อายุของผมปัจจุบันนี้เอาเป็นอัน 50 กว่าๆ เป็นใช้ได้

ผมเกิดที่สะพานขาว คือสะพานจตุรพักตร์รังสฤษดิ์ จังหวัดพระนคร แต่ไม่ได้เกิดบนสะพานหรือข้างสะพานหรือใต้สะพานนะครับ ตำบลนั้นเขาเรียกกันว่าสะพานขาว ผมมีพ่อมีแม่มีญาติพี่น้องตามธรรมเนียมของมนุษย์ทั้งหลาย ตอนเป็นเด็กผมจำอะไรไม่ได้ ถ้าเล่าให้ท่านฟังมันก็เป็นการโกหก รู้แต่ว่าผมเป็นเด็กผู้ชายที่ซนและแก่นพอดู พอโตหน่อยก็ไปเรียนหนังสือ เรียนบ้างหนีบ้าง เอาค่าเทอมไปเที่ยวกับเพื่อนๆ เสียบ้าง พ่อผมต้องไปจ่ายให้ทางโรงเรียนเขาด้วยตนเองแล้วก็นวดผมตามระเบียบ ผมตั้งปัญหาถามตัวเองว่าผมจะเรียนหนังสือไปทำไม เช้าขึ้นก็ต้องแต่งตัวไปโรงเรียน ครูแต่ละคนก็แสนจะดุ วันหนึ่งๆ มันช่างล่าช้าเหลือเกินสำหรับเด็กนักเรียนที่ขี้เกียจเรียนเหมือนอย่างผม

รวบรัดตัดความเอาเป็นว่าผมเติบโตขึ้นนะครับ เริ่มตอนแตกเนื้อหนุ่มก็แล้วกัน บิดาของผมท่านเห็นว่าผมควรจะเจริญรอยตามท่าน ท่านก็พาผมไปเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ตรงข้ามกับสนามมวยเวทีราชดำเนินนั่นแหละครับ โรงเรียนนี้ทำให้ผมเป็นหนี้บุญคุณอย่างล้นเหลือ เพราะผมได้กินขนมปังกินข้าวสุกอยู่หลายปี เงินทองไม่ต้องเสีย วันหนึ่งกินหลายเวลา เสียอย่างเดียวต้องตื่นแต่เช้า กำลังนอนสบายต้องลุกขึ้นล้างหน้าแต่งตัวแล้วไปเดินไปวิ่ง ไปทำอะไรอย่างที่พวกทหารเขาชอบทำกัน ทำซ้ำ ๆ ซาก ๆ น่าเบื่อ


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 13, 12:50
ผมเป็นหนุ่มใหญ่ในโรงเรียนนั้นมีเพื่อนฝูงมากหน้าหลายตา ไม่มีการถือเขาถือเราหรือแบ่งชั้นวรรณะ เราถือเสียว่าเมื่อเข้ามาเป็น "หัวแดง" ด้วยกันกินข้าวหม้อเดียวกัน ก็ต้องรักกันเป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้องตามอาวุโส รุ่นผู้ใหญ่กว่าก็เป็นพี่ รุ่นเดียวกันก็เป็นเพื่อน รุ่นเด็กกว่าคือต่ำชั้นกว่าก็เป็นน้อง ถ้าตัวโตแข้งใหญ่หน่อยเป็นเพื่อนกันยังได้ ใครมีเรื่องเดือดร้อนก็ช่วยเหลือกัน หนีโรงเรียนไปเที่ยวในตอนกลางคืนก็ไปด้วยกัน คนหนึ่งคอยมองดูคนที่เราเรียกเขาว่า "ผู้หมวด" และเป็นเวรประจำโรงเรียน อีกคนง้างแผ่นสังกะสีออก นอกนั้นค่อย ๆ มุดออกไปตามระเบียบ เราต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกันตลอดเวลา แต่ตอนสอบสิ้นปีช่วยกันยากหน่อย เพราะกรรมการที่คุมห้องไม่ยอมยิ้มให้ใครและโดยมากมักจะไว้หนวดเสียอีก

ท่านจอมพลสฤษดิ์ท่านก็เคยเรียนโรงเรียนเดียวกับผมแต่ท่านเป็นรุ่นพี่ ท่านจอมพลถนอม ก็เคยอยู่โรงเรียนนั้น รุ่นเดียวกับผมนั่งโต๊ะใกล้ ๆ กันด้วยซ้ำไป ตอนนั้นผมไม่คิดหรอกครับว่า ท่านทั้งสองจะมีอนาคตรุ่งโรจน์แจ่มใสเช่นนี้ เพราะผมรักเพื่อน มีเพื่อนที่ต่ำชั้นกว่าหลายคนผมก็เลยแกล้งสอบให้มันตก เพื่อรอคอยเพื่อนที่ผมรักให้ขึ้นมาเรียนร่วมชั้นกับผม เพื่อนรุ่นนั้นเขาก็ข้ามหน้าผมไปปีหนึ่ง ผมเรียนซ้ำชั้นอย่างภาคภูมิ แต่ภาคภูมิแบบคนที่ไม่รับประทานถ่าน ออกหนังสือพิมพ์ในห้องเรียนบ้าง ยุ่งกับผู้หญิงบ้าง แล้วผู้หญิงก็ชอบยุ่งกับผมและพวกผมเสียด้วยซิ ตอนเย็นแฟนไปหาผมเอาขนมหรือผลไม้ไปฝาก ทำท่าทางอายเหนียมทำหูทำตากระชดกระช้อย บางทีก็หน้าแดงเมื่อถูกผมเกี้ยวด้วยคำคม (ว่าเข้าให้นั่น) ผมมีแฟนอยู่หลายคนครับ พ่อของผมเป็นอาจารย์อยู่โรงเรียนนั้นเมื่อท่านทราบว่าผมติดผู้หญิงชนิดที่แกะไม่ออก ท่านก็เรียกผมไปสัมภาษณ์ พอผมแสดงโวหารหรือคำคม ท่านก็ทำท่าเหมือนกับจะลุกขึ้นมาเตะผม "เรียนสำเร็จก่อนโว้ยเรื่องผู้หญิงไว้ทีหลัง" ท่านโยนคติพจน์ประโยคนี้ให้ผม

แต่ความรักทำให้ผมตาแฉะ ผมนั่งใจลอยในเวลาเรียน และอ่อนระโหยโรยแรงในเวลาฝึก ผมเคยเป็นลิงในหมู่เพื่อน เคยร่าเริง สดชื่น มีอารมณ์ขัน แต่พอตก "ห้วงรักเหวลึก" ซึ่งไม่ใช่เรื่องของคุณหลวงวิจิตรวาทการ ผมก็เริ่มเสียคนคือไม่เอาใจใส่ในการเรียน ถึงกับบอกเพื่อนที่ต่ำชั้นกว่าผมว่า "ปีหน้าอั๊วรอพวกลื้อโว้ย" ในที่สุดผมก็ตกอีกครั้งหนึ่ง ตกอย่างไม่เป็นท่า ผู้บังคับการโรงเรียนท่านเรียกตัวผมไปพบเป็นส่วนตัวและคุยกับผมอย่างลูกหลานเพราะท่านเป็นเพื่อนกับพ่อผม

 "ว่าไงโว้ย ทำไมลื้อสอบตก" เสียงของท่าน แบบเสียงดังฟังชัดขนาดกระซิบอยู่ตั้งเส้นยังได้ยิน


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 13, 12:51
"เพราะผมสอบไม่ได้ครับ"
คุณพระผู้บังคับการของเราหยุดยิ้มทันที
"พูดกวนไปหน่อย"
"ครับ" ผมยอมรับว่ากวนจริง ๆ
"น่าเสียดายที่ลื้อไม่ได้เจริญรอยตามคุณพ่อของลื้อ และอั๊วเสียใจที่เราไม่มีที่ให้ลื้อเรียน"
"อ้าว ก็นักเรียนที่เขาจะขึ้นมาเรียนชั้นผมมี 18 คนเท่านั้น โต๊ะเรียนห้องผมมีตั้ง 24 โต๊ะนี่ครับ ไหงผู้การว่าไม่มีที่ให้ผมเรียน"
ท่านยกนิ้วสองนิ้วชูให้ผมดู "ตกสองปีก็ต้องรีไทโว้ย"

เป็นอันว่าผมต้องอำลาสถาบันอันมีเกียรติ ต้องจากผู้บังคับบัญชาครูบาอาจารย์และเพื่อนรักของผม ซึ่งมีอยู่มากมายด้วยความอาลัย เพื่อนของผมรุ่นนั้นเรียนสำเร็จใน พ.ศ. 2474 วันคืนผ่านพ้นไปเขาก็รุ่งเรืองก้าวหน้าไปตามกัน บางคนโชคร้ายหน่อยก็มีธุระไปติดคุกฐานกบฏในพระราชอาณาจักร แต่แล้วก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษได้คืนยศ

ผมดิ้นรนผจญโลกและเป็นโรคตามประสาคนหนุ่ม เพราะเรียนไม่สำเร็จก็เลยจับอะไรไม่ได้ ร่วมมือกับพี่สาวผมตั้งโรงเรียนราษฎร์สอนหนังสือที่บ้าน จ้างเพื่อนฝูงมาเป็นครูสอนเด็กอยู่พักหนึ่งผมก็เข้ารับราชการหวังจะไล่กวดเพื่อน ๆ ให้ทัน แต่นิสัยของผมมันไม่ชอบ "ครับผม" หรือยืนกุมสะดือพูดกับใคร มีความทระนงในศักดิ์ศรีของตัวเอง ทั้งที่ไม่มีศักดิ์ศรีอะไร รับราชการได้ปีครึ่งเจ้านายท่านโปรดปรานผมมาก สั่งย้ายผมไปอยู่ปัตตานี ผมเห็นคำสั่งแล้วก็มาจินตนาการ ดูว่าที่นั่นญาติทางฝ่ายบิดามารดาของผมไม่มีสักคน เพื่อนฝูงก็ไม่มี เงินเดือน 35 บาทขึ้นไปก็เห็นจะแย่ ผมก็เลยลาออก


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 13, 12:52
พรหมลิขิตทำให้ผมมีเมียและมีลูกทั้ง ๆ ที่ผมไม่มีงานทำ เมียของผมคนแรกเป็นผู้หญิงและสวยเสียด้วย ปากนิดจมูกหน่อยเข้าทีครับ แต่เท่งทึงไปนานแล้ว ผมอยู่บ้านไม่มีงานทำก็ไถเงินพ่อ ตามธรรมเนียม อยากมาเป็นพ่อผมก็ต้องให้เงินผมใช้ละ พ่อผมถูกไถหนักเข้าทนไม่ไหวก็กล่าวกับผมอย่างน่าฟังแต่ดุเดือดว่า "แกต้องช่วยตัวเอง แกจะอยู่เฉย ๆ อย่างนี้ไม่ได้ พ่อยังจะต้องอุปการะน้อง ๆ ของแกที่กำลังเรียนอยู่อีกหลายคน"

"เอาละครับ ผมประกอบอาชีพเสียที" ผมพูดอย่างทระนง
"ดีแล้ว แกจะทำอะไร"
"ขับแท็กซี่ครับ"
"ขับแท็กซี่……. แต่เพื่อน ๆ ของแกขณะนี้เขาเป็นร้อยโท แกไม่อายเขาหรือถ้าเขาพบเห็นแก"
"โน….ป๋า" ผมเดาะภาษาฝรั่งเข้าให้ เพราะผมก็เป็นลูกศิษย์ท่านเจ้าคุณวรรณศาสตร์ฯ มาแล้ว เช่นเดียวกับท่านจอมพลนายกรัฐมนตรีทั้งสอง "ป๋าช่วยผมหน่อยเถอะครับ ผมไปดูรถเซ็คกันต์แฮนส์ไว้คันหนึ่งยี่ห้อโอเว่อร์แลนด์วิปเป็ตครับ เจ้าของเขาจะไปอยู่บ้านนอกเขาจะขายเพียง 350 บาทเท่านั้น " (ราคาสมัยนั้น)
พ่อหรือป๋าต้องควักกระเป๋าให้ผม แต่ก็มีการอวยพรชัยให้พรนิดหน่อยตามธรรมเนียมของพ่อแม่ที่ต้องจ่ายเงินมาก ๆ ให้ลูก คราวนี้ผมก็เลยได้เป็นเจ้าของรถยนต์ประทุนสีแดงกลางเก่ากลางใหม่ยี่ห้อโอเว่อร์แลนด์คันหนึ่ง ซึ่งในสมัยนั้นมันก็หรูหราพอดูได้ ความจริงราคาที่ผมซื้อ 300 บาทเท่านั้น แต่คนฉลาดอย่างผมก็ต้องหากำไรไปในตัวจากการไถบิดาของผม

ด้วยความช่วยเหลือของนักขับแท็กซี่รุ่นอาวุโสคนหนึ่งซึ่งเป็น "ผู้กว้างขวาง" ในย่านบางลำพู ผมก็นำรถไปจอดรับคนโดยสารที่นั่น ตอนแรกผมก็รู้สึกกระดากอายถึงกับต้องสวมแว่นตาแต่ไม่ถึงกับใส่หนวด ถ้ามีผู้หญิงสาว ๆ รี่เข้ามาจะถามราคาผมก็พรวดพราดลงจากรถเลี่ยงไปเสีย แต่แล้วต่อมาก็ได้คิดว่าผมไม่ได้ลักขโมยหรือจี้ไชใครรับประทาน ผมหากินในทางสุจริต นักปราชญ์โง่ ๆ เคยสอนว่า…. งานที่สุจริตนั้นย่อมมีเกียรติเหมือนกัน ผมก็เลยชักหน้าด้านถึงพับร้องเรียกผู้โดยสาร จนกระทั่งเพื่อนผมบางคนที่เขามีดาวสองดวงบนบ่าขึ้นนั่งรถผมโดยบังเอิญ เปล่า…ไม่มีใครแสดงท่าทีรังเกียจเหยียดหยามผมเลย สถาบันแห่งนั้นสอนให้เรารักกัน เหมือนกับว่าเรามีสายเลือดอันเดียวกัน ไม่ว่าอดีต, ปัจจุบันและอนาคต ไม่ว่าฝ่ายหนึ่งเป็นนายพลเป็นจอมพล และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นกรรมกรหาเช้ากินค่ำ เพื่อนที่โดยสารรถผมต่างสงสารและเห็นใจผม จ่ายค่ารถให้ผมอย่างงามทีเดียว ขนาดบางลำพูไปบางซื่อให้ 5 บาท (สมัยนั้นก็เท่ากับ 80 ขณะนี้) ผมแกล้งทำอิดเอื้อนไม่อยากเอาเงินเพื่อน แต่ใจจริงอยากได้ เรื่องมันเป็นยังงี้แหละครับ

"เฮ้ย มีเรื่องเดือดร้อนมาหาอั้วที่กองพันนะโว้ย อั้วและพวกเรายังเป็นเพื่อนที่ดีของลื้อเสมอ"
"ครับ ขอบคุณครับ"
เพื่อนผมทำตาเขียวเข้าใส่
"ครับอหิวาต์อะไรวะ"


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 13, 12:53
ผมก็คงดิ้นรนต่อสู้กับชีวิตของผมแบบตีนถีบปากกัด แยกตัวไปจากพ่อเพราะผมมีเมียมีลูก แต่เพียงปีเดียวผมก็ขายรถเลิกขับแท็กซี่ เพราะแท็กซี่มันมากมายและตัดราคากัน โดยเฉพาะรถออสดินคันโตกว่ากล่องสบู่หน่อยเดียวราคาถูกมาก ขนาดบางลำพูหัวลำโพง 35 สตางค์เท่านั้น ผมกลายเป็นกรรมกรว่างงาน เมื่อไม่มีงานทำ บ้านเช่า ข้าวซื้อ ผมก็พาครอบครัวกลับมาอยู่กับพ่อของผมอย่างสง่าผ่าเผยและภาคภูมิ คว้าเตารีดและถือไถเล่นงานพ่อของผมต่อไป

ในที่สุดผมพบกับพี่ชายของผมคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับผม ความจริงผมมีศักดิ์เป็นพี่เขาแต่เขาแก่กว่าผมสามสี่ปีผมก็เรียกเขาว่าพี่ เขาเป็นผู้บังคับการเรือลำหนึ่ง เปล่าหรอกครับ ผมเรียกให้โก้ ๆ ไปยังงั้นเอง เขาเป็นนายท้ายเรือกลไฟเดินในแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น เรือลำนั้นเป็นเรือกลไฟสองชั้นชื่อเป็นเมืองแขกผมลืมไปเสียแล้ว เจ้าของเรือก็คือขุนด่ำ ๆ มีเรือกลไฟมากมายที่สุด บ้านริมแม่น้ำฝั่งธนบุรีตรงข้ามกับบางกระบือ พี่ชายผมได้เงินเดือน 150 บาท ซึ่งนับว่ามากโขเท่ากับร้อยเอกเต็มขั้นสมัยนั้น แล้วยังได้เบี้ยเลี้ยงอีกวันละ 5 บาท หน้าที่ของเขาคือโยงเรือข้าวที่เรียกว่าเรือกระแชง, เรือข้างกระดาน และตลอดจนเรือทรายเรือส่งจากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดแค่ปากน้ำโพนครสวรรค์ เขาเห็นว่าผมว่างงานก็ชวนผมให้ไปฝึกงานขับเรือกับเขา

ผมนึกสนุกขึ้นมาแล้ว เผ่นลงเรือไปกับพี่ชายมีชีวิตอยู่ในเรือกลไฟลำนั้นอย่างสนุกสนาน การถือท้ายเรือก็ไม่ยากลำบากอะไรนัก แต่การถือท้ายในตอนกลางคืนยากมาก ตอนแรก ๆ ผมรู้สึกว่าแม่น้ำมันตัน ตอนหลังเมื่อเคยชินตื่นขึ้นดึกดื่นเห็นต้นไม้ริมฝั่งก็รู้ว่าเรือถึงไหน ผมเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปปากน้ำโพซ้ำ ๆ ซาก ๆ ผ่านปทุมธานี ผ่านบางไทรซึ่งตอนนั้นมีแม่น้ำแยกสองทาง ไปพระนครศรีอยธยาผ่านบางประอินทางหนึ่ง และไปทางคลองหัวตะพานไปบางบาลออกแม่น้ำใหญ่ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผ่านป่าโมกข์ อ่างทอง ไชโย เมืองสิงห์ บ้านแป้ง อำเภออินทรบุรี เรื่อยไปกระทั่งสรรพยาชัยนาท คุ้งสำเภา หัวแด่น โกรกพระ แล้วนครสวรรค์ ระหว่างทางหยุดซื้อฟืนเป็นระยะ ๆ ไป ร้านฟืนมักจะมีลูกสาวหรือหลานสาวสวย ๆ เอาของกำนัลใส่ถาดมาให้นายท้าย ทั้งนี้ก็เพราะนายท้ายจะซื้อร้านไหนก็ได้ ผมมีแฟนอยู่ที่บางไก่เถื่อนทางชัยนาทคนหนึ่ง ขนาดส่งจดหมายรักให้หล่อนและโต้ตอบกันไปมา สันดานผมมีเมียแล้วก็ยังอดเจ้าชู้ไม่ได้ งานก็ยังไม่มีทำแน่นอนเพียงแต่พี่ชายได้ช่วยเหลือผมเที่ยวละ 10 บาท เดือนหนึ่งขึ้นล่อง 5 หรือ 6 เที่ยวเท่านั้น ต่อมาสามีของหล่อนได้มาพบกับผมและขอร้องให้ผมถอนตัวจากหล่อนโดยอ้างว่า ขอให้เห็นแก่ลูกตาดำ ๆ ของเขา ดูซีครับ….. หล่อนอายุราว 18 ขวบเท่านั้น มีลูกตั้ง 2 คน อ้ายผมนึกว่ายังเป็น "น.ส." ที่แท้ "ม.ผ." แล้ว ผมยอมรับปากกับผัวของหล่อนโดยดีว่าผมจะไม่ยุ่งกับหล่อนอีก เมื่อทราบความจริงเช่นนั้น หมอนั่นยกยอปอปั้นในความเป็นลูกผู้ชายของผม ความจริงหารู้ไม่ว่าที่ผมยอมถอนตัวเพราะพี่ชายผมกระซิบบอกผมว่า นายคนนั้นเป็นนักเลงใหญ่บางไก่เถื่อน เคยฆ่าคนมาแล้ว ถ้าผมยังยุ่งกับเมียของเขา ผมอาจจะถูกส่องด้วยปืนลูกซองมีอันเป็นเท่งทึงไปเพราะเรือจอดรับฟืนยิงง่ายมาก

ก็อย่างว่าแหละครับ ผมเป็นคนจับจดทำอะไรก็ไม่ยืดอย่างที่เขาว่า เหยียบอุจจาระไก่ไม่ฝ่อ ผมได้ประกาศนียบัตรนายท้ายของกรมเจ้าท่า ทำหน้าที่เป็นนายท้ายที่ 2 คือเป็นผู้ช่วยพี่ชายของผมได้ไม่กี่เดือนผมก็ขึ้นจากเรือเพราะเบื่อ เป็นอันว่าผมอยู่เรือได้เพียงปีครึ่ง แต่ผมก็มีเหตุผลเหมือนกัน เรือที่ผมประจำอยู่ได้รับคำสั่งให้ไปแทนเรือโดยสารรับคนโดยสารจากท่าเตียนไปปากน้ำโพ ผมไม่อยากเผชิญหน้าผู้โดยสารมากหน้าหลายตานั่นเอง


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 13, 12:53
ตอนนี้ผมก็เริ่มเป็นนักเขียนละครับ นั่ง ๆ นอนๆ อยู่กับบ้านก็เลยลองแต่งหนังสือดู เรื่องแรกชื่อ "นักเรียนนายร้อย" ต้นฉบับของผม 100 หน้ากระดาษฟุลสะแก๊ปพอดี ผมนำไปเสนอขายที่สำนักพิมพ์ "เพลินจิตต์" แต่ท่านเจ้าของท่านบอกว่าเรื่องของนักเขียนหน้าใหม่ไม่ทำตลาด ที่นั่นมีนักเขียนมือดีประจำอยู่หลายคนแล้ว ผมเกือบหมดหวังที่จะได้เป็นนักเขียน บังเอิญคุณ ส. บุญเสนอ ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญของ "เพลินจิตต์" ในยุคนั้น เห็นลายมือผมสวยก็ชักสนใจเลยรับไว้พิจารณา แล้วคุณ ส.บุญเสนอ คนนี้อีกแหละครับที่รับซื้อเรื่อง "นักเรียนนายร้อย" ของผมไว้เป็นเงิน 20 บาท ผมกลายเป็นนักเขียนขึ้นมาแล้ว สมัยนั้น "เพลินจิตต์" พิมพ์หนังสือครั้งละ 30,000 เล่ม จำหน่ายในราคา 10 สตางค์ พอ "นักเรียนนายร้อย" พิมพ์ขายได้ไม่กี่วันท่านเจ้าของ "เพลินจิตต์" ก็สั่งให้ผมเขียนอีก

"เขียนมา คุณปิ๋ว เขียนได้เดือนละกี่เรื่องก็ส่งมา ผมเพิ่มให้อีกเรื่องละ 15 บาท" โอ้โฮ ผมไม่ใช่คนแล้ว ผมจะทำงานหาพระแสงอย่างว่าทำไมกัน งานอะไรไม่เอาทั้งนั้น เป็นนักเขียนดีกว่า ไม่ช้าผมคงมีเงินล้าน ซื้อสนามหลวงปลูกตึกอยู่ ขี่ "ฟอร์ดลินคอล์น" หรือ "คาดินแล็ค" ให้เหมือนกับนักเขียนใหญ่ต่างประเทศ ผมจะมีอนุสัก 20 คน ผมจะปรับปรุงชีวิตของผมให้เป็นคนชั้นสูง พูดคุยกับใครก็ต้องเก๊กหน้าพูดช้า ๆ ทำเสียงขึ้นนาสิก เวลาเดินก็ต้องเอาหัวไปก่อน ทำคอกระดุ๊บ ๆ แบบหัวนอก ตอนนี้ผมชักยุ่งใหญ่ด้วยการสร้างวิมานบนอากาศ

แต่แล้วผมก็หนีคำว่าไส้แห้งไปไม่พ้น เขียนเรื่องได้เงินมาก็ใช้หมด หมดไปกับสุรา, นารี, พาชี, กีฬาบัตร หรือเหล้ายาปลาปิ้งม้ามิ่งอรชร ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ผมเลวหลงใหลหรอกครับ ค่าลิขสิทธิ์ของเรามันถูกเกินไปนั่นเอง ผมได้เงินมาถ้าผมไม่เที่ยว ไม่ซื้อหนังสืออ่าน ไม่สมาคมกับเพื่อนฝูง ผมก็ไม่มีวัตถุดิบที่จะสร้างเรื่องของผม ติ๋งต่างว่าผมจะเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับนวดตัวอาบน้ำ ผมก็ต้องเสียเงินไปให้เขานวดตัวอาบน้ำให้ผมเสียก่อน แต่ว่าเรื่องที่ผมเขียนเกี่ยวกับในคุกผมไม่เคยเข้าไปอยู่นะครับ ผมเพียงแต่ไต่ถามจากผู้ชำนาญการติดคุกหรือพวกสิงห์อมควันเท่านั้น บางทีผมก็ยกเมฆเอาเพราะผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านก็คงไม่รู้เรื่องในคุกเหมือนกัน

เขียนหนังสืออย่างเดียวไม่พอรับประทานครับ ผมต้องเข้าโรงจำนำบ่อย ๆ เพื่อนผมคนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นพี่ และเป็นนักเรียนเก่าเลือดหัวแดงมาด้วยกัน เขาเป็นเจ้าของละคร "แม่เลื่อน" และเป็นคนคนเดียวกับแม่เลื่อน เขาดึงผมไปทำละครกับเขา ตอนนี้ชีวิตผมโลดโผนโจนทะยานมาก กินนอนอยู่ตามโรงละครพาละครออกต่างจังหวัด ทั้งเหนือใต้หรืออีสานตลอดจนตะวันออกถึงจันทบุรี ในฐานะที่ผมเป็นนักประพันธ์และผู้กำกับ ผมทำงานแบบเพื่อนฝูงได้เสียกินด้วยกัน แต่โดยมากมักจะเสียมากกว่าได้ครับ เพราะละครมีรายจ่ายสูงกว่ารายรับ ในที่สุด "แม่เลื่อน" จากผมและใคร ๆ ไปโดยไม่มีวันกลับ ละครแม่เลื่อนก็มีสภาพเช่นแพแตกจนกระทั่งสงครามอาเซียบูรพาเกิดขึ้น

ตอนนี้ผมได้ภรรยาอีกคนหนึ่ง เป็นคนที่เท่าไรผมไม่บอก แต่เป็นคนสุดท้ายที่อยู่ร่วมชีวิตกับผมมา 25 ปี แล้วจนกระทั่งบัดนี้และ…กว่าเราจะตายจากกัน

โรงพิมพ์ปิด กระดาษเข้ามาไม่ได้ เจ้าของสำนักพิมพ์อพยพ นักเขียนพบหน้ากันก็ยิ้มซีด ๆ ผมวางปากกาชั่วคราวเพราะไม่มีใครซื้อ ความจริงไม่ได้วางแต่จำนำไว้ที่สี่แยกสะพานแม้นศรี ผมเข้าทำงานละครชายจริงหญิงแท้หลายคณะเพื่อเอาเงินมายาไส้ พอครบปีแรกของสงคราม กรุงเทพฯ ก็เจอลูกบ็อมบ์เหตุการณ์ตอนนี้มันยุ่งเหยิงจนผมจับต้นชนปลายไม่ถูก ผมเก็บของเก่าขายพาครอบครัวอพยพไปอ่างทองปิตุภูมิของผม แล้วก็กลับมากรุงเทพฯ ในที่สุดเมื่อไม่มีจะรับประทาน ผมกับเมียผมก็กลายเป็นนักพากย์ภาพยนตร์ไป พากย์ในกรุงเทพฯแล้วก็ล่องใต้ ตอนนี้พอมีอัฐฬศใช้ สองคนผัวเมียแยกหนังคนละถุง ทั้งลำบากทั้งสนุกในการเผชิญชีวิต หายไปหลายเดือนพอกลับมาบ้านก็ถูกล็อตเตอรี่ตราลูกบ็อมบ์ไม่มีอะไรเหลือ ถึงแม้บ้านของเราเป็นบ้านเล็กไม่มีเฟอร์นิเจอร์สวยงามอะไรนัก ก็มีเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ครบถ้วน แต่ระเบิดเพลิงทำให้บ้านเหลือแต่เสา เพื่อนบ้านเท่งทึงไปหลายคน บางคนคอขาดนอนยิงฟันอยู่ใต้ท้องร่อง ผมเห็นเข้าผมถามว่าบาดเจ็บมากน้อยเพียงไรก็ไม่ยอมพูดกับผม


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 13, 12:54
ไม่มีใครที่จะยอมอดตาย ผมเขียนเรื่องขายทั้ง ๆ ที่สำนักพิมพ์เขาเลิกพิมพ์ผมขายถูก ๆ เกือบจะเรียกว่า ชั่งขายเป็นกิโล ซึ่งก็พอขายได้แบบแค่น ขายจนกระทั่งสงครามเลิก แล้วชะตาผมก็พุ่งขึ้นสูงสุดโดยไม่รู้ตัว ผมออกหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งขายดีเป็นบ้า นวนิยายเรื่องบู๊ดุเดือดคือ "เสือใบ" ทำให้ผมกลายเป็นเศรษฐีย่อย ๆ ขึ้นมา ไม่ใช่โม้นะครับ ให้ผมชักดิ้นชักงอน้ำลายฟูมปากเท่งทึงไปเดี๋ยวนี้ยังได้ ก่อนที่เพื่อนผมชวนไปทำหนังสือ ผมมีกางเกงอยู่ตัวเดียวเสื้อเชิ้ทเก่า ๆ สองตัว ในระยะครึ่งปีเท่านั้นผมไม่ใช่คนแล้ว ผมมีทุกสิ่งทุกอย่างที่คนมีเงินเขามีกัน ผมเต๊ะท่าและเบ่งจนใคร ๆ เขาหมั่นไส้ผมและอยากถุยน้ำลายรดผม ผมเป็นผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นมีอำนาจเต็มที่ ผู้หญิงห้อมล้อมตอมผมเหมือนแมลงวันตอมเม็ดทุเรียน สันดานของผมก็เหมือนกับนักเป่ากระหม่อมทั้งหลายแหละครับ ทำใจให้เป็นอุเบกขาอย่างไรก็อดไม่ได้ เลยเกิด "ห้วงรักเหวลึก" กับเด็กสาวคนหนึ่งซึ่งมาหัดแต่งหนังสือกับผมและตอนหลังกลายเป็นนักเขียนชื่อดังไป เพราะผมสอนให้เป็นพิเศษจริง ๆ แบบโตแล้วเรียนลัด

ติ๋งต่างว่าตอนนี้กองเซ็นเซ่อร์ เขาตัดออกนะครับ เป็นอันว่าผมแยกทางกับ "อีหนู" คนนั้น ความรุ่งเรืองของผมเป็นอยู่ได้ชั่วระยะเวลาสามสี่ปีผม ก็เตะฝุ่นเข้าโรงจำนำอีก กร๊าฟชีวิตตกต่ำลงเรื่อย ๆ ตลาดหนังสือตกต่ำ สำนักพิมพ์ซื้อเรื่องน้อยลง ราคาค่าเรื่องก็ถูกลงอีก ตอนที่ผมรุ่งเรืองขนาดนับตัวขาย ตัวละบาทรวด พอตกต่ำต้องชั่งขายเป็นกิโล แต่ผมก็ไม่ทุกข์โศกหรือเสียดายอดีตที่ผ่านมาเพราะชีวิตของคนเรามันก็ต้องเป็นไปตามดวงชะตาหรือพรหมลิขิต โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน

ปัจจุบันนี้ผมมีความสุขยิ่งกว่ามหาเศรษฐีเสียอีกทั้ง ๆ ที่ผมต้องเข้าโรงจำนำทุกเดือน ที่มีความสุขก็คือผมถือสันโดษพอใจในสภาพความเป็นอยู่ของผม เพื่อนฝูงที่เขาใหญ่โตเป็นนายพลนายพันก็ยังไม่ลืมผม มีการติดต่อไปมาหาสู่ผมอยู่เสมอ ทุกคนพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือผม แต่ผมพยายามช่วยตัวเองไม่ชอบเบียดเบียนรบกวนเพื่อนหรือญาติพี่น้อง


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 13, 12:55
ประวัติของผมก็เป็นอย่างนี้แหละครับ ผมไม่ใช่คนสลักสำคัญไม่มีความสำคัญอะไรในตัวเอง เรื่องทำดีผมก็ทำดีอยู่แล้ว เรื่องประหยัดผมก็ประหยัดอย่างที่สุด แต่มันไม่มีจะประหยัด ตั้งแต่ผมแต่งหนังสือมา 30 ปี ผมเก็บเงินไว้ได้เพียง 150 ล้านเท่านั้น ซึ่งฝากไว้ในธนาคารต่างประเทศ ว่าจะไม่บอกท่านผมก็อดคุยโม้ไม่ได้ แต่ถ้าท่านคิดว่าผมมีจริงก็ขอได้โปรดพลิกดูหน้าปกหนังสือเล่มนี้เสียก่อน

ทำไมผมถึงเขียนถึงประวัติของผมเอง คำตอบก็คือว่าคนอื่นจะมารู้เรื่องของผมดีกว่าผมไม่ได้ เป็นต้นว่าผมเป็นหนี้ใครอยู่เท่าไรผมก็ไม่ได้เขียนบอกท่าน แล้วใครจะมาตรัสรู้ว่าผมเป็นหนี้ใครหรือเปล่า เรื่องเหล้าหรือครับ ผมอยากจะเลิกเหมือนกันแต่มันเลิกไม่ได้ พอตกเย็นในท้องมักกวนพยาธิครับ ดื่มสักครึ่งแบนช่วยให้ครึกครื้น สมองใส สบายตัว มีชีวิตชีวาโดยไม่ต้องใช้น้ำมันใส่ผม

อย่างไรก็ตามก่อนที่ผมจะจบประวัติของผม ผมใคร่ขอเตือนคุณหนุ่มสาวที่อยากเป็นนักเขียนว่า จงเลิกล้มความคิดนี้เสียเถิดครับ เว้นแต่ท่านจะเป็นนักเขียนสมัครเล่นไม่ใช่เขียนเรื่องไปเที่ยวขายเขาตามสำนักพิมพ์ ผมเองเดินเตะฝุ่นมามากแล้ว ตอนนี้ค่อยยังชั่วหน่อยที่คุณสุรพลเจ้าของสำนักพิมพ์ "ผดุงศึกษา" ยังช่วยรับซื้อเรื่องผม พอมีอัฐฬัศใช้มีเหล้ากิน ขอให้ท่านผู้อ่านโปรดเมตตาช่วยอุดหนุน "ศาลาโกหก" ของผมเถอะครับ ไม่ช้าผมก็คงเท่งทึงแล้ว นักโกหกขนาดหนักอย่างผมก็เห็นจะหาได้ยาก

                                                                                       ป. อินทรปาลิต
                                                                                       หนังสือ "ศาลาโกหก" พ.ศ. 2508


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 27 มิ.ย. 13, 14:50
ตามมาอ่านเจ้าค่ะ จำได้ว่าคุณพ่อเป็นแฟนนิยาย ป.อินทปาลิตเหมือนกัน เห็นว่าซื้อไว้แทบจะทุกเล่ม แต่ก็สูญหายไปสิ้น


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 13, 15:17
ดิฉันอ่านครั้งแรกเมื่ออยู่ป. ๓ หรือไม่ก็ป. ๔  ตอนเย็นเลิกเรียน พ่อยังไม่มารับ   ครูก็เลยรับเด็กๆที่ผู้ปกครองมารับช้าไปที่บ้านครูซึ่งอยู่ในซอยหลังโรงเรียนให้ทำการบ้าน กินขนมกินน้ำ จนได้เวลาพ่อมารับ    เรียกว่าไปเรียนพิเศษ 
คุณครูมีลูกชายคนหนึ่งแก่กว่าพวกเราสัก ๑๐ ปีได้   ชอบอ่านนิยายชุดสามเกลอ   เก็บใส่ตู้ไว้เป็นตั้ง     บางครั้งก็มาช่วยสอนการบ้านให้เด็กๆ   วันหนึ่งเขาใจดีหยิบหนังสือปกอ่อนเล่มเล็กๆบางๆ หน้าปกวาดเป็นรูปผู้ชายหนุ่มสามคนทำท่าตลกๆ มาให้อ่านเล่นฆ่าเวลา
เป็นครั้งแรกที่ได้รับการแนะนำให้รู้จัก พล นิกร กิมหงวน   อ่านไปก็หัวเราะกลิ้งไปกลิ้งมา   จากนั้นพี่เขาก็อนุญาตให้ไปหยิบอ่านจากในตู้หนังสือได้  ก็เลยเป็นแฟนประจำของป.อินทรปาลิตนับแต่นั้น

โตขึ้นจึงได้รู้ว่าคนวาดภาพปก ในยุคนั้น คือคุณอาภรณ์ อินทรปาลิตน้องชายของคุณป.อินทรปาลิต   คุณอาภรณ์วาดคนได้เก่งมาก  จับรูปทรงร่างกาย การเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อออกมาได้ไม่มีส่วนไหนขัดตาเลย    สามเกลอมีบุคลิก สีหน้า ท่าทาง ที่บอกตัวตนว่าใครเป็นใครได้ชัดเจนมาก    ส่วนผู้หญิงสวยๆที่คุณอาภรณ์วาดนั้น เซกซี่ตามยุคสมัยทุกคน


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 27 มิ.ย. 13, 16:00
เคยอ่านเหมือนกันค่ะ สนุกมาก นับถือจินตนาการของคุณป. จำได้ เจ้าคุณปัจจนึกมักถูกล้อว่าหัวล้านเป็นลูกมะอึก



กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 13, 20:48
    ป.อินทรปาลิตไม่ได้เริ่มต้นอาชีพนักเขียนด้วยเรื่องเบาสมองอย่าง"สามเกลอ"      ในตอนแรกท่านไม่ได้ตั้งใจจะให้เรื่องนี้เป็นเรื่องชุดขนาดยาวหลายร้อยตอนเสียด้วยซ้ำ   แต่เขียนเป็นนิยายขนาดสั้น เล่มเดียวจบ  พิมพ์เล่มบางๆตามความนิยมในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
    ในตอนแรกเริ่ม  ป.อินทรปาลิตดังขึ้นมาจากนิยายรักเศร้าเคล้าน้ำตา  ขายดิบขายดี จนสำนักพิมพ์ "เพลินจิตต์"ที่มีนายเวช กระตุฤกษ์เป็นเจ้าของ รับซื้อหมดทุกเรื่องไม่ว่าจะเขียนอะไรส่งมา      คุณเวชนี้เองที่เห็นว่านักเขียนหนุ่มคนนี้เป็นผู้มีอารมณ์ขัน ตลกครื้นเครงตลอดเวลาจึงให้ทดลองเขียนเรื่องตลกดูบ้าง    ตอนแรกของสามเกลอ คือ  "อายผู้หญิง" จึงเกิดขึ้นเมื่อพ.ศ. 2481   สำนักพิมพ์เพลินจิตต์จัดพิมพ์ขึ้นในจำนวน 30,000 เล่ม ก็จำหน่ายขายดีเกลี้ยงตลาดอย่างไม่น่าเชื่อ
    หนังสือเล่มแรก มีเพียงสองเกลอ คือพล พัชราภรณ์ และนิกร การุณวงศ์    ชายหนุ่มลูกพี่ลูกน้องที่แสร้งทำตัวเรียบร้อยเป็นผ้าพับไว้ต่อหน้าพ่อแม่ผู้หลักผู้ใหญ่   แต่ลับหลังแล้วกลายเป็นจอมกระล่อนเจ้าชู้นักเที่ยวกลางคืนตัวฉกาจ   จนกระทั่งจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง    พลก็สมรสสมรักกับนางเอกคือนันทา พี่สาวของนิกร      
     ความจริงผู้เขียนก็ไม่ได้วางเรื่องไว้ว่าจะเขียนต่อ     แต่ความสำเร็จอย่างล้นหลามในเรื่องนี้ทำให้สำนักพิมพ์มองเห็นแววพรสวรรค์ในทางเขียนเรื่องตลก  จึงขอให้ ป. อินทรปาลิต สร้างเรื่องตอนต่อไป  ไม่ยอมให้พลและนิกรจบฉากไปเฉยๆ   ด้วยเหตุนี้  ป.อินทรปาลิต จึงสร้าง "หวงลูกสาว" เป็นตอนต่อมา   แนะนำตัวละครใหม่ที่เป็นตัวละครอมตะของชุดสามเกลอเข้ามาในฉาก  ได้แก่เจ้าคุณปัจจนึกพินาศ    และตัวละครประจำอีก 2 ตัวคือลูกสาวชื่อประภาและประไพ   ต่อมาประไพก็เป็นภรรยาของนิกร และประภาเป็นภรรยาของดร.ดิเรก  สหายคนที่สี่ในแก๊งค์ของสามเกลอ


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 13, 21:26
   เริ่มจากสองเกลอ พล และนิกร   พร้อมกับคนใช้ตัวแสบชื่อเจ้าแห้ว   ป.อินทรปาลิตแนะนำตัวละครที่สามเข้ามาเป็นชุดสามเกลอ คืออาเสี่ยหนุ่มเชื้อจีนชื่อสงวน หรือกิมหงวน   มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศไทย     ตัวละครประกอบที่ยืนพื้นก็คือพ่อๆของสามคนนี้  มีแม่อยู่คนเดียวคือคุณหญิงวาด แม่ของพล     ส่วนตัวละครเอกตัวที่สี่คือดร.ดิเรก  ตามมาทีหลังเพื่อน  กลายเป็น สี่สหาย ไม่ใช่สาม  แต่นิยายบันเทิงชุดนี้ก็ยังเป็นที่รู้จักกันในนามสามเกลออยู่ดี

   ป.อินทรปาลิตสามารถสร้างสามเกลอให้โลดแล่นแสดงบทต่างๆ ต่อเนื่องกันยาวนานตั้งแต่พ.ศ. 2481 จนถึง 2511  โดยมีคนอ่านต้อนรับอย่างสม่ำเสมอ แม้สังคมไทยเปลี่ยนไปมากแทบไม่เหลือเค้าเดิมแล้วก็ตาม   นับเป็นฝีมือนักประพันธ์ที่ไม่มีใครทำได้ตั้งแต่แรกเริ่มจนปัจจุบันนี้     นักเขียนที่ทำอย่างนี้ได้ต้องวางบุคลิกและนิสัยใจคอของตัวละคร หรือที่เรียกว่า character  ได้ด้วยพื้นฐานที่แน่นมาก     เพราะพฤติกรรมนับหลายร้อยตอนที่วางให้ตัวละครทำไปไม่รู้จบนั้น ถ้าหากว่านิสัยตัวละครไม่มีเสน่ห์ดึงดูดคนอ่านได้ยาวนานพอ   นอกจากเรื่องจะล่มลงแล้ว  คนอ่านจะเบื่อหน่าย ไม่อ่านอีกต่อไป   
   ป.อินทรปาลิตสามารถพาสามเกลอของท่านทวนกระแสกาลเวลาหลายสิบปี สร้างความบันเทิงให้คนอ่านแต่ละรุ่นได้ตลอด    จนปัจจุบันแม้ว่าท่านล่วงลับไปถึง 45 ปีแล้วก็ตาม   คนอ่านที่เกิดไม่ทันนักเขียนก็ยังตามอ่านสามเกลอกันอยู่   เรื่องก็ยังพิมพ์ขายซ้ำแล้วซ้ำอีก   ก็ต้องถือว่าเป็นการพิสูจน์ศิลปะในการสร้างงานได้ชัดเจนกว่ารางวัลหรือคำประกาศเกียรติคุณใดๆ


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: ศานติ ที่ 28 มิ.ย. 13, 10:36
ผมติดงอมแงมเหมือนกัน สมัยนั้นถ้าเห็นใครอ่านหนังสืออยู่แล้วนั่งหัวเราะอยู่คนเดียว ก็รู้ว่ากำลังอ่านพลนิกรกิมหงวน 


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 28 มิ.ย. 13, 17:19
เข้ามาร่วมปั่นกระทู้ซะหน่อย

นิยายสามเกลอของนั้น เนื่องจากได้วางตัวละครที่มีทั้งมหาเศรษฐี นักวิทยาศาสตร์เอกที่เป็นหมอด้วย ทำให้ท่านผู้แต่งสามารถแต่งเรื่องไปได้ทุกแนว ไม่มีข้อจำกัด หยิบยกเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เป็นที่สนใจในสมัยนั้น เช่นภาพยนต์ต่างประเทศที่เข้าฉาย การแข่งขันกีฬา งานแสดงสินค้า โฆษณาสินค้า หรือแม้แต่คดีฆาตกรรมที่โด่งดัง มาเป็นพล็อตเรื่องได้หมด  จนกลายเป็นเอกสารอย่างดีที่สะท้อนแนวคิด ทัศนคติ ค่านิยมของผู้คนในช่วงนั้นได้  เนื้อเรื่องที่แม้จะอ่านในปัจจุบันก็ยังไม่ล้าสมัย แต่มีกลิ่นอายยุคเก่าไปด้วย ทุกวันนี้เวลากินข้าวผมยังต้องเปิดนิยายสามเกลออ่านไปด้วยอยู่เลย แม้จะอ่านมาหลายหลายรอบแต่ไม่รู้สึกเบื่อ


หลายๆ คนโดยเฉพาะนักวิจารณ์มักบอกว่านิยายสามเกลอช่วงที่สนุกที่สุดเป็นช่วงวัยหนุ่ม ช่วงก่อนและหลังสงครมโลกครั้งที่สอง แต่ผมกลับชอบนิยายนี้ในช่วงหลังปี 2490 ไปจนถึงช่วงที่ท่านผู้แต่งเสียชีวิต ที่คณะพรรคสี่สหายมีสมาชิกครบ 4 และย้ายมารวมกันหมดแล้ว


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 28 มิ.ย. 13, 17:38
สำหรับท่านที่ชอบนิยายเรื่องนี้ และหาซื้อหลายๆ ตอนไม่ได้ มีเว็บที่มีการพิมพ์นิยายเรื่องนี้ทั้งในรูป e-book และ pdf ให้เราโหลดไปอ่านได้ มีให้เลือกเป็นร้อยๆ ตอน  หลายตอนไม่สามารถหาซื้อในตลาดหนังสือทั้งเก่าหรือใหม่ได้อีกแล้ว  ผมไม่แน่ใจเรื่องของลิขสิทธิ์เหมือนกันแต่ก็โหลดครบทุกเล่ม

http://www.samgler.org/home.shtml   แม้ที่นี่ข้อมูลจะไม่ค่อย update นัก เว็บนิ่งๆ มานานหลายปี แต่ข้อมูลเก่าก็ยังมีให้คนที่ชื่นชอบไปศึกษากันต่อได้ มีหนังสือให้โหลดมากมายหลายตอน
http://www.samgler.net/  อันนี้ของลุงโก๋หลังวัง แม้ลุงแกจะสุขภาพไม่อำนวย ไม่ได้ update ข้อมูลข่าวสารเท่าไหร่ แต่แกก็ยังคอยดูแล link โหลดสามเกลออยู่ ที่นี่มีสามเกลอให้โหลดอีกเยอะมาก ทั้งแบบ pdf และ e-book ครับ  ตอนเก่าๆ ที่หายไปนานแล้ว หรือตอนเก่าๆ ที่เคยเอามาพิมพ์ขายสนามหลวง จตุจักร 3 เล่ม 10 บาทเมื่อสามสิบปีที่แล้วยังมีให้โหลดอยู่หลายตอน

ปัจจุบันนิยายสามเกลอดูเหมือนจะมีผู้ถือลิขสิทธิ์หลายเจ้า ขึ้นอยู่กับว่าท่านผู้เขียนตีพิมพ์ที่ใดหรือขายลิขสิทธิ์ให้สำนักพิมพ์ใด ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทายาทของท่านจะยังได้รับผลประโยชน์จากงานเขียนของท่านไหม  ตอนนี้มีสามเกลอพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อะไรจำไม่ได้ เคยเห็นขายเล่มบางๆ แต่กระดาษดีหน่อย เล่มละ 60 บาท แต่มีตอนสนุกๆ หลายตอน ผมยังซื้อเก็บไว้ที่บ้านหลายสิบเล่ม แม้จะเห็นว่าออกจะแพงไปหน่อยเพราะมันไม่กี่หน้า ถ้าได้รู้ว่าทายาทท่านผู้เขียนได้ผลประโยชน์ตรงนี้ด้วย ก็จะจูงใจให้ผมอุดหนุนได้มากขึ้น


อีกตอนที่อยากเห็นแต่ไม่เคยได้ยินใครพูดถึงเลย คือตอนที่เจ้าคุณประสิทธิฯ พ่อของพลเสียชีวิต น่าจะมีตีพิมพ์ที่ไหนซักปี แต่เหมือนลึกลับไม่เป็นที่รู้จัก ไม่มีใครเคยเห็นเคยอ่านหรือพูดถึงเลย


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 01 ก.ค. 13, 10:17
หลงรักมานานแล้วค่ะ ซื้อครั้งแรกที่เป็นเล่มบางๆ ตอนละเล่ม ราคา 10 บาทเท่านั้นเอง กระดาษเหลืองๆ และมีกลิ่นของมันเอง ชอบมากค่ะ

ชอบเหมือนคุณประกอบค่ะ ตอนเป็นสามเกลอก็สนุก แต่ชอบเวลาที่อยู่กันครบทั้งสี่คนมากกว่า ตอนที่เป็นเรื่องสั้นๆ ไม่กี่หน้าจบก็สนุกมากนะคะ อ่านภาษาแขกในเรื่องนี้่แล้วหัวเราะกลิ้งทุกครั้ง ดูหนังผีทีไรก็จะนึกถึงการเอาหมูไปไล่ผีแขก

คุ้นๆว่าเคยทำเป็นละคร แต่น่าจะทำยากเอาการ เพราะคาแรคเตอร์ของแต่ละตัวละครชัดเจนแทบจะลืมตาเห็นได้

แอบตั้งข้อสังเกตว่า คุณหญิงประสิทธินิติศาสตร์ คุณแม่ของพล ชื่อตัวของท่านคือวาด แต่บางตอนชื่อของท่านกลายเป็นช้อย อย่างเช่นตอนที่นิกรไปตามหาน้าชายชื่อชด

อาจารยฺ์เทาชมพูชอบใครที่สุดในเรื่องคะ 


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: Rattananuch ที่ 01 ก.ค. 13, 10:57
เคยอ่านตอนที่เจ้าคุณประสิทธิฯถึงแก่กรรมค่ะ ชื่อตอนว่าไม่มีพ่อ เนื้อเรื่องประมาณว่า เจ้าคุณเป็นมะเร็งลำไส้ แล้ว ดร.ดิเรกทำการผ่าตัด แต่ได้แจ้งไว้ก่อนแล้วว่าเปอร์เซ็นต์รอดแค่ 5%
พอผ่าตัดเสร็จ อาการทรุดลง ก็เลยต้องมีการทำพินัยกรรมกะทันหัน ก็เป็นที่ครื้นเครงตอนแจกแจงว่าใครจะได้อะไรค่ะ ตั้งแต่คุณหญิงวาด ไปจนถึงเจ้าแห้วค่ะ


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 13, 12:15
อาจารยฺ์เทาชมพูชอบใครที่สุดในเรื่องคะ 

คุณ sirinawadee ก็เป็นแฟนนิยายสามเกลอเหมือนกัน  เห็นจะคุยกันได้นาน  ;D

ตอนเด็กๆชอบพลค่ะ    ดูเป็นพระเอ๊กพระเอก  ป.อินทรปาลิตให้สมญาว่า "อ้ายเสือรูปหล่อ"  หล่อขนาดมีตอนหนึ่งไปเที่ยวฮอลลีวู้ด    คุณป. บรรยายว่าพลหล่อขนาดข่มไทโรน เพาเวอร์ให้ด้อยลงไปเลย
โปรดดูรูปข้างล่าง  ถ้าพลหล่อกว่าโทโรน แสดงว่าหล่อสูสีกับเจมส์จิ

ตอนต้นๆ สนุกมากที่พลสามารถเล่นหัวเข้าชุดกับเพื่อนได้ไม่มีสะดุดเลย       แต่พอคุณป.เขียนมากๆเข้า   บทของพลกลับน้อยลงทุกที  กลายเป็นบทของกิมหงวนนำเด่นขึ้นมาแทน   

ต่อมา ชอบเจ้าคุณปัจจนึกค่ะ   เป็นคนแก่ที่น่ารักมาก     ขี้โมโห ขี้เล่น   เจ้าชู้กรุ้มกริ่ม กระฉับกระเฉง มีชีวิตชีวา   สามารถเล่นบทได้ทุกแบบ ผสมผสานไปกับลูกหลานโดยไม่ขัดตาเลย   ป.อินทรปาลิตเก่งมากที่นำเสนอท่านได้เนียนมาก     โดยไม่รู้สึกเลยว่าบทตลกของท่านแย้งกับวัยและสังขารตรงไหน
นอกจากนี้ศีรษะลูกมะอึกก็ดังมาก    จำได้ว่า นักเขียนอีกหลายคนทีเดียวนำไปเป็นโวหารเปรียบเทียบในนิยายของตน   เวลาบรรยายถึงทุ่งโล่ง  หรือที่ดินกว้างๆแห้งแล้งไม่มีต้นไม้ขึ้น    ดิฉันเพิ่งได้ยินชื่อลูกมะอึกก็จากนิยายสามเกลอนี่แหละค่ะ


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 13, 13:38
เคยอ่านตอนที่เจ้าคุณประสิทธิฯถึงแก่กรรมค่ะ ชื่อตอนว่าไม่มีพ่อ เนื้อเรื่องประมาณว่า เจ้าคุณเป็นมะเร็งลำไส้ แล้ว ดร.ดิเรกทำการผ่าตัด แต่ได้แจ้งไว้ก่อนแล้วว่าเปอร์เซ็นต์รอดแค่ 5%
พอผ่าตัดเสร็จ อาการทรุดลง ก็เลยต้องมีการทำพินัยกรรมกะทันหัน ก็เป็นที่ครื้นเครงตอนแจกแจงว่าใครจะได้อะไรค่ะ ตั้งแต่คุณหญิงวาด ไปจนถึงเจ้าแห้วค่ะ
เคยอ่านพบว่า ผู้อ่านประท้วงกันมายกใหญ่ที่ป.อินทรปาลิตกำจัดตัวละครรองๆบางตัวลงจากเวที      เพราะคนอ่านยังรักเจ้าคุณประสิทธิ์ฯ เจ้าสัวกิมเบ๊  เจ้าสัวกิมไซ  เจ้าคุณนพรัตน์ฯ พ่อของนิกร     คุณป. เองก็มาเสียดายทีหลัง เมื่อรู้ว่าคนอ่านเสียดาย  แต่ทำไงได้ เขียนให้ตายไปแล้ว  จึงต้องเขียนตอนสามเกลอลงไปเที่ยวนรก  พระยายมเล่าให้ฟังถึงพวกนี้ว่าเป็นยังไงกันบ้าง


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 13, 21:34
ป.อินทรปาลิตเขียนหนังสือได้หลายแนว  รวมแล้วกี่ร้อยกี่พันเล่มก็ยังนับไม่ได้
    ตัวอย่างประเภทและผลงาน
     
    นวนิยายรักโศก
    นักเรียนนายร้อย / แสนสงสาร / เรียมจ๋า / สาวกำพร้า ฯลฯ
     
    หัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน
    อายผู้หญิง / สามเกลอผจญโจร / เยี่ยมปิยะมิตร / โลกล้านปี ฯลฯ
     
    อาชญนิยาย
    เสือใบ /เสือดำ/  ดาวโจร / เลือดทหารหนุ่ม ฯลฯ
     
    นวนิยายยุวชน
    เลือดทหารม้า / ขวัญใจนักรบ / ซูเปอร์แมนแกละ ฯลฯ
     
    นวนิยายอิงประวัติศาสตร์
    ดาบทหารเสือ / ท้าวศรีสุดาจันทร์ / พระเจ้าเสือ ฯลฯ
     
    เรื่องสั้น
    กระทิงเขาหัก / หล่อนเป็นสาวสมัยพลาสติก / มนต์รักเมื่อจันทร์ลับฟ้า / ชาย 10 โบสถ์ ฯลฯ


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 13, 21:43
    ป.อินทรปาลิตจัดลำดับชั้นของนักเขียน เป็น อะ อา อิ อี  โดยให้คำจำกัดความว่า ชั้น "อะ" คือผู้เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก "อา" คือพวกที่ถืองานเขียนเป็นอาชีพ "อิ" คือนักเขียนอิสระ "อี" คือนักเขียนชนิดที่ใช้ชีวิตอย่างอีลุ่ยฉุยแฉก
    ส่วนตัวท่าน เรียกตัวเองว่านักเขียนชั้น  "อึ"  แต่ไม่ให้คำอธิบายว่าหมายถึงอะไร
    
    บางครั้งคุณป.อินทรปาลิตก็เอาตัวเองเข้าไปเป็นตัวละครรับเชิญตัวหนึ่งในเรื่องสามเกลอ   เป็นนักประพันธ์ไส้แห้งชื่อ "นายปิ๋ว" มีบทบาทบ้างเล็กน้อยในนิยายสามเกลอบางตอน    ท่านเป็นนักเขียนที่ถ่อมตัวอย่างยิ่ง เรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตลาด เป็นนักเขียน "สำนวน ๑๐ สตางค์"    
    
    "อาชีพอย่างปู่แกอย่าสนใจหรือดำเนินรอยตาม" ป.อินทรปาลิต บอกกับหลานปู่ ปริญญา อินทรปาลิต เมื่อผู้เป็นหลานปรารถอยากเป็นนักเขียนบ้าง "ขอให้ตั้งใจเรียนมากๆ เรียนให้สูงเข้าไว้ ภายภายหน้าจะได้มีโอกาสทำงานสบาย ได้งานดีไม่น้อยหน้าคนอื่น จริงอยู่.. การเขียนหนังสือไม่ใช่ของยาก ใครๆ ก็เขียนได้ หากได้รับการศึกษาพอสมควร แต่การเขียนให้ดีนั้นเป็นเรื่องยาก ทำยังไงผู้อ่านถึงจะยอมรับ ปู่เองไม่ได้วิเศษวิโสมาจากไหน เรื่องของปู่จึงถูกเรียกว่านิยายประโลมโลกย์ หรือนิยายสิบสตางค์ ซึ่งหมายถึงระดับตลาดนั่นเอง อาศัยว่าเขียนมากจนผู้อ่านยอมรับและให้การสนับสนุน จึงมีชื่อเสียงมาจนทุกวันนี้ แต่ปู่ก็คิดเสมอว่า วันใดที่ผลงานของ ป.อินทรปาลิตไม่ได้รับความนิยมแล้ว ปู่จะเปลี่ยนไปทำอาชีพอะไรดี... "

    ดิฉันก็ยังสงสัยมาจนบัดนี้  เพราะเมื่อนับจำนวนผลงาน  รายได้ของป.อินทรปาลิต น่าจะสูงกว่าอีกหลายอาชีพทีเดียว    รวมทั้งอาชีพข้าราชการหรือคนกินเงินเดือนบริษัทด้วย    แม้ว่าท่านขายลิขสิทธิ์ครั้งเดียว คือขายขาดไปกับสนพ.  แต่ป.อินทรปาลิตผลิตงานได้จำนวนมหาศาล ยาวนานติดต่อกันตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองมาจนพ.ศ. 2511   แค่ตัวเลขเงินรายได้ก็น่าจะไม่น้อย มีทั้งชื่อเสียง มีแฟนคลับมหาศาล   จะถือว่าไม่ใช่ "งานดี" ได้อย่างไร


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 01 ก.ค. 13, 22:23
เป็นเพราะยุคสมัยนั้น อาชีพนักเขียน โดยเฉพาะนักเขียนนิยายแนวตลาดยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมที่การแบ่งชั้นยังมากกว่าในปัจจุบันรึเปล่าครับ คุณ ป ที่เขียนนิยายแนวตลาด ไม่ใช่งานวรรณกรรมแบบที่เรียกว่าชั้นสูงเลยไม่ได้รับการยอมรับเท่าไหร่ เหมือนกับที่ดาราในสมัยนั้นยังถูกถือว่าเต้นกินรำกิน ไม่ได้เป็นเซเลบแบบในปัจจุบัน  นอกจากนี้เรื่องลิขสิทธิ์ก็ไม่ได้เป็นค่านิยมของสมัยนั้น เขียนหนังสือเล่มนึงได้ไม่กี่ตังค์ ถ้ามีการพิมพ์ซ้ำคนเขียนก็ไม่ได้ผลประโยชน์แล้ว  ยิ่งการมาซื้อไปทำหนังหรือละครก็ไม่มี  ถ้ามีก็ซื้อในราคาถูกๆ ทำให้คุณ ป ต้องโหมเขียนงานเยอะมาก  งานทุกชิ้นเหมือนขายขาด คือจะได้เงินจากผลงานครั้งเดียวจบ ไม่เหมือนปัจจุบัน


ปัจจุบันดูเหมือนเป็นนักประพันธ์จะมีโอกาสที่ดีขึ้น พอจะหาเลี้ยงชีพได้ ยิ่งถ้าเป็นฝรั่งยิ่งดี โดยเฉพาะเทียบกับ 50-60 ปีก่อน แต่รู้สึกว่านักเขียนหน้าใหม่ที่ยังไส้แห้งก็มีไม่น้อย ผมเคยเขียนบทความลองส่งต่วยตูนยังเงียบหายเลย


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 13, 22:36
เคยผ่านสายตาว่า คุณป. เคยเป็นเจ้าของค่ายมวย  แต่ยังหาไม่เจอว่าอ่านพบในเว็บไหน   อีกครั้งหนึ่งเป็นผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารด้วย   ก็น่าจะมีรายได้ดีเอาการ
นักเขียนหญิงอย่างคุณก.สุรางคณางค์ซึ่งอยู่ในยุคเดียวกัน  เขียนนิยายจำนวนน้อยกว่าคุณป.มาก   ท่านเล่าไว้ในนิยายเชิงอัตชีวประวัติเรื่อง กุหลาบแดง  ว่าแค่เรื่อง หญิงคนชั่ว เรื่องเดียว ท่านก็มีรายได้พอจะเลี้ยงครอบครัวได้ ทำให้ฐานะที่ฝืดเคืองค่อยดีขึ้นกว่าเดิม อยู่ได้สบายตามอัตภาพ

ขอตัดไปอีกเรื่อง
ใครเป็นแฟนสามเกลอคงจำตัวละครชูรส  คนรับใช้ที่ชื่อเจ้าแห้ว โหระพากุล ได้    เจ้าแห้วมีคำขึ้นต้นประโยคติดปากว่า "รับประทาน.." คำนี้เจ้าแห้วไม่ได้ใช้พร่ำเพรื่อ    ถ้ากับเพื่อนคนใช้ด้วยกันหรือชาวบ้านร้านถิ่นที่เจอ  เจ้าแห้วไม่ใช้เลย  จะใช้กับนาย หรือแขกเหรื่อที่มาเยี่ยมบ้านพัชราภรณ์
รับประทานในที่นี้ไม่ได้แปลว่า กิน   แต่ย่อมาจาก "ขอรับประทานโทษ"  ที่เดี๋ยวนี้ย่อลงมาอีกเป็น "ขอโทษครับ" เหมือนอย่างที่พนักงานใช้เวลาจะออกปากพูดเกริ่นอะไรกับลูกค้า  ไม่ได้หมายความถึงการขอโทษขอโพยเพราะทำอะไรผิด


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 01 ก.ค. 13, 23:40
เคยผ่านสายตาว่า คุณป. เคยเป็นเจ้าของค่ายมวย  แต่ยังหาไม่เจอว่าอ่านพบในเว็บไหน   อีกครั้งหนึ่งเป็นผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารด้วย   ก็น่าจะมีรายได้ดีเอาการ
นักเขียนหญิงอย่างคุณก.สุรางคณางค์ซึ่งอยู่ในยุคเดียวกัน  เขียนนิยายจำนวนน้อยกว่าคุณป.มาก   ท่านเล่าไว้ในนิยายเชิงอัตชีวประวัติเรื่อง กุหลาบแดง  ว่าแค่เรื่อง หญิงคนชั่ว เรื่องเดียว ท่านก็มีรายได้พอจะเลี้ยงครอบครัวได้ ทำให้ฐานะที่ฝืดเคืองค่อยดีขึ้นกว่าเดิม อยู่ได้สบายตามอัตภาพ


เรื่องเจ้าของนิตยสารนี้ ต้องอ่านในสามเกลอตอนไปเที่ยวพระพุทธบาทครับ  คุณ ป. ใส่รายละเอียดลงไปด้วยว่าลงทุนไปประมาณ ๒ หมื่นบาทครับ


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 01 ก.ค. 13, 23:42
เคยอ่านตอนที่เจ้าคุณประสิทธิฯถึงแก่กรรมค่ะ ชื่อตอนว่าไม่มีพ่อ เนื้อเรื่องประมาณว่า เจ้าคุณเป็นมะเร็งลำไส้ แล้ว ดร.ดิเรกทำการผ่าตัด แต่ได้แจ้งไว้ก่อนแล้วว่าเปอร์เซ็นต์รอดแค่ 5%
พอผ่าตัดเสร็จ อาการทรุดลง ก็เลยต้องมีการทำพินัยกรรมกะทันหัน ก็เป็นที่ครื้นเครงตอนแจกแจงว่าใครจะได้อะไรค่ะ ตั้งแต่คุณหญิงวาด ไปจนถึงเจ้าแห้วค่ะ

ไม่ใช่เจ้าคุณประสิทธินะครับ แต่เป็นเจ้าคุณวิจิตรฯ บิดาของ นิกร และ นันทา ครับ

หมอดิเรก ไม่ได้แจ้งไว้แต่แรก เพราะต้องการรักษากำลังใจของท่านเจ้าคุณวิจิตร แต่มาแจ้งให้ ท่านเจ้าคุณปัจจานึก ท่านเจ้าคุณประสิทธิ และคุณหญิงวาด ตลอดจนเพื่อน ๆ ทราบอีกที ส่วนบรรดาสี่นางได้รู้ตอนหลังสุดครับ งานนี้มีการโทรเลขไปตาม ลุงเชย กับ เจ้าสัวกิมไช มาอยู่กันพร้อมหน้า ซึ่งแต่ละท่านก็ได้รับมรดกของเจ้าคุณวิจิตรกันไปไม่น้อยครับ เจ้าแห้วก็ได้เงินด้วยเหมือนกัน


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 01 ก.ค. 13, 23:46
   
    ดิฉันก็ยังสงสัยมาจนบัดนี้  เพราะเมื่อนับจำนวนผลงาน  รายได้ของป.อินทรปาลิต น่าจะสูงกว่าอีกหลายอาชีพทีเดียว    รวมทั้งอาชีพข้าราชการหรือคนกินเงินเดือนบริษัทด้วย    แม้ว่าท่านขายลิขสิทธิ์ครั้งเดียว คือขายขาดไปกับสนพ.  แต่ป.อินทรปาลิตผลิตงานได้จำนวนมหาศาล ยาวนานติดต่อกันตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองมาจนพ.ศ. 2511   แค่ตัวเลขเงินรายได้ก็น่าจะไม่น้อย มีทั้งชื่อเสียง มีแฟนคลับมหาศาล   จะถือว่าไม่ใช่ "งานดี" ได้อย่างไร

ถ้าอ่านในประวัติส่วนตัวที่คุณ ป. ท่านเขียนไว้ ก็พอน่าจะเข้าใจไม่ยากครับ เนื่องจากท่านมีลูกและภรรยาไม่น้อย ไหนเลยท่านเป็นคนชอบสังสรรตัวยงคนหนึ่งแล้ว (ท่านอ้างว่า เพื่อให้ได้ข้อมูลรายละเอียดในการเขียนสามเกลอ เช่น ถ้าอยากรู้เรื่องไปอาบอบนวด ท่านก็ต้องไปทดลองด้วยตัวเองแบบนี้เป็นต้น) คงจะหมดไปกับค่าสังสรรไม่น้อย นิสัยกินเหล้าเหมือนกินน้ำของกิมหงวนนี่ ก็คงได้มาจากตัวคุณ ป. นี่ล่ะครับ



กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 02 ก.ค. 13, 00:58
ถ้าจำไม่ผิด คุณ ป ตัวจริงไม่ดื่มเหล้าครับ 


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 13, 20:44
   ก็ยังสงสัยว่าคุณป. ตัวจริง กินเหล้าหรือไม่กินเหล้ากันแน่    หรือว่าตอนหนุ่มๆไม่กิน มากินตอนแก่   หรือว่าตรงกันข้ามคือกินเหล้าในวัยหนุ่มแล้วมาเลิกเมื่ออายุมากขึ้น
    ความที่ท่านชอบเขียนทีเล่นทีจริง   ก็เลยไม่รู้ว่าประวัติที่ท่านเขียนข้างล่างนี้ จริงหรือเล่นกันแน่ค่ะ

    ความจริงนักเขียนที่มีคนเขียนประวัติให้คนอ่านนั้นต้องเป็นนักเขียนชั้นเยี่ยมคือชั้น อะ หรือ ชั้น อา สำหรับผมเป็นนักเขียนชั้น อึ ไม่มีใครเขามาขอสัมภาษณ์เขียนประวัติผม ผมก็เลยเขียนเสียเอง ถ้ามีการยกย่องตัวเองบ้างก็ต้องอภัยนะครับ นิสัยของผมก็ออกจะเป็นคนคุยโวโอ้อวดเสียด้วย ยิ่งกินเหล้าเข้าไปแล้วผมพ่นขนาดบ้าน้ำลายทีเดียว


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 13, 20:50
  คุณสันต์ เทวรักษ์ เขียนถึงป.อินทรปาลิต ไว้ว่า
 คุณสันต์ เทวรักษ์ ที่เขียนไว้ในหนังสือ "อนุสรณ์ ป. อินทรปาลิต" ดังนี้...

...ผมมักหาโอกาสไปดูการพิมพ์ปกที่โรงพิมพ์ของคุณประยูร (หอมวิไล) เป็นอาจิณหลังจากเลิกงานที่สำนักงานของผมแล้ว และเมื่อไปถึงที่นั่น ยามแดดร่มลมตก ก็ได้เวลาเปิดขวดกันพอดี คุณประยูรเป็นคนใจใหญ่ ลงว่าได้เปิดขวดแล้ว ถ้าไม่ดื่มให้หมดขนาดบิดก้นขวดให้เหล้าหยดสุดท้ายสะเด็ดแล้ว ก็จะถือว่าเป็นการเสื่อมศักดิ์เสียศรีอย่างยิ่ง ไม่นับถือกันทีเดียว ผมก็จำต้องผสมโรงกับเขาไปด้วยพอเหม็นปากเหม็นคอ แล้วก็มักจะถูกเคี่ยวเข็ญให้อยู่จนดึก รอกินข้าวต้มด้วยกันเสียก่อนถึงจะปล่อยให้กลับไปบ้านได้ ไอ้ผมมันก็เป็นคนขี้เกรงใจเพื่อน เลยไม่ค่อยได้กลับไปกินเข้ามื้อเย็นเท่าไรนัก

ป.ไม่ยักลงมาดื่มร่วมกับเรา เขาลงมาจากชั้นบนในตอนค่ำ ทักทายคนโน้นนิดคนนี้หน่อย แล้วก็ขอตัวขึ้นรถกลับไปบ้าน...

ผมกระซิบถามคุณประยูรว่า "ทำไม ป. เขาไม่มาร่วมวงกับเราเล่า กลัวบ้านจะหายหรือยังไงกัน"

"เขาเป็นยังงั้นแหละ" คุณประยูรตอบ "นาย ป. เขาเป็นคนเจียมตัว ถือว่าตัวเป็นนักประพันธ์สำนวนตลาด เป็นชั้นต่ำต้อย จึงไม่อยากเข้ากลุ่มกับพวกนาย ที่เขียนกันชั้นคลาสสิคทั้งนั้น"

"คลาสสิคห่าเหวอะไรเล่า" ขอประทานโทษ ตอนนั้นผมถูกเคี่ยวเข็ญให้ดื่มเข้าไปหลายก๊งแล้วนี่ "มีแฟนอยู่หยิบมือเดียวเท่านั้นเอง ส่วนคุณ ป. เขามีแฟนเต็มบ้านเต็มเมือง เด็กอ่านได้ผู้ใหญ่อ่านดี มีนักประพันธ์คนไหนทำอย่างเขาได้บ้างเล่า ผมยังเป็นแฟนของเขาเลย"

ชะรอยคำพูดประโยคนี้จะสะท้อนเข้าหูคุณ ป. โดยคำบอกเล่าของคุณประยูรก็ได้ ฉะนั้นในวันรุ่งขึ้นพอเขาลงมาจากชั้นบนเห็นผมเดินเกะกะดูเขาพิมพ์อยู่ ก็กรากเข้ามาจับมือผมรวบเข้าไว้ทั้งสองข้างทันที

"ผมรักคุณสันต์จัง ให้ตายซิ...เอ้า"

ผมชักงงๆ รักกันยังไงจนจะเป็นจะตาย จึงย้อนถามว่า "เพราะอะไรครับ คุณ ป.?"

"ก็เพราะคุณสันต์ไม่ดูถูกผมน่ะซี"

เท่านั้นผมเองก็เข้าใจ และเย็นวันนั้นเขายอมมาดื่มเหล้ากับเราแก้วหนึ่ง แล้วก็รีบขอตัวกลับไป


เหตุการณ์นี้ แสดงว่าคุณป.น่าจะดื่มเหล้าไม่มากก็น้อย    เพียงแต่ว่าไม่ยอมร่วมวงกับนักเขียนใหญ่อื่นๆ เพราะเจียมตัว    ถ้าคุณป.ไม่แตะต้องเหล้าเสียเลย  คุณประยูร หอมวิไล เจ้าของโรงพิมพ์น่าจะตอบคุณสันต์ เทวรักษ์ว่า  คุณป. เป็นคนไม่ดื่มเหล้าจึงไม่มาร่วมวงกับคนอื่นๆ


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 13, 20:56
  มีเหตุการณ์เล็กๆ ที่สำคัญในชีวิตคุณป.  ตามที่คุณส.บุญเสนอบันทึกเอาไว้ เหตุการณ์หนึ่งว่า

    คุณปรีชาเคยได้รับความสะเทือนใจครั้งใหญ่จากนักเขียนผู้หนึ่ง ที่ผมทราบเพราะอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย เหตุเกิดนานมาแล้วประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๗ ขณะนั้นคุณปรีชาเขียนหนังสือประจำคณะเพลินจิตต์ นักเขียนที่กล่าวถึงผู้นี้ ก้าวเข้ามาอยู่ในวงการหนังสือก่อนคุณปรีชาสองสามปี และประจำอยู่สำนักหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่ง ไม่เคยเกี่ยวข้องอะไรกับคุณปรีชา และไม่เคยรู้จักกันด้วยซ้ำ อยู่ดีๆ วันหนึ่งเขาส่งจดหมายไปรษณีย์มาถึงคุณปรีชา ประนามคุณปรีชา อย่างก้าวร้าวเจ็บปวดที่สุด แต่น่าชมเชยอย่างยิ่งที่เขาเซ็นนามจริงให้ทราบ ไม่ทำเป็นบัตรสนเท่ห์อำพรางให้เสียเวลาสืบหาตัว

ผมวิจารณ์หาสาเหตุไม่พบและไม่เข้าใจจนบัดนี้ คุณปรีชาไม่เคยสร้างความหมองใจให้เขาผู้นั้น ไม่มีผลประโยชน์อะไรที่ขัดกัน เลยคาดคะเนเอาเองว่า คงจะเนื่องมาจากเข้าข่ายคำพังเพยที่ว่า "เห็นใครดีไม่ได้ เห็นใครได้ไม่ดี" หรือจะเกิดเขม่นฉับพลันขึ้นมาจนลืมตัว หรืออยู่ในลักษณะที่หลวงวิจิตรวาทการท่านว่า... "ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้" เขาจากโลกนี้ไปแล้ว หลังคุณปรีชาถึงแก่กรรมไปไม่กี่ปี

คุณปรีชาจึงเจียมตัว และยอมรับว่าเป็นนักเขียนชั้นสวะด้วยความเต็มใจ และไม่ชอบคลุกคลีกับนักเขียนใหญ่ๆ ด้วยเกรงจะผิดฝาผิดตัว ได้รับสิ่งแสลงใจเป็นครั้งที่สอง

นักเขียนเดินอยู่บนถนนสายเดียวกัน แต่ช่องทางเดินมีอยู่หลายช่อง ใครมีอุดมการณ์จะเลี้ยวซ้ายเหลียวขวาหรือตรงไปก็ได้ตามใจสมัคร ใครเดินเร็ว เดินช้า หรือเลือกเดินช่องใดก็ได้ตามอัธยาศัย ไฉนจะล้ำเส้นมาเบียดกันด้วย

   ตอนอ่านพบบทความนี้ ดิฉันก็พยายามเสาะหาว่านักเขียนคนนั้นเป็นใคร ถึงทำร้ายจิตใจคุณป.ได้ขนาดนี้  ในที่สุดพบโดยบังเอิญว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิดกันทั้งเพ    เจ้าของจดหมายฉบับนั้นไม่มีเจตนาแม้แต่น้อยที่จะว่ากล่าวคุณป. ตรงกันข้ามกลับเขียนมาถึงด้วยความห่วงใยฉันมิตรร่วมวงการ   แต่จะด้วยอะไรก็ไม่รู้  เขียนมาสั้นๆไม่ได้ขยายความให้ชัดเจน      คนรับก็เลยเข้าใจผิดไปใหญ่โต  เกิดน้อยอกน้อยใจ แต่ก็เก็บปากเก็บคำสนิท ไม่ไปไต่ถามให้สิ้นสงสัย    ก็เลยกลายเป็นบาดแผลสำหรับคุณป.มาอีกนาน 


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ค. 13, 11:42
     มาอ่านข้อเขียนนี้ดูบ้างค่ะ  เขียนโดยยศ วัชรเสถียร
   
     " สมองของเขาในทางจินตนาเรื่องเพื่อผลิตออกมาสู่ผู้อ่านนั้น ทำงานได้รวดเร็วไม่มีเหน็ดเหนื่อย มือของเขาที่เขียนเป็นตัวอักษรตามสมองบัญชา ดูราวกับเครื่องจักรที่ไม่รู้จักล้า ทำให้เขามีเรื่องส่งให้เจ้าของคณะเพลินจิตต์ได้เกือบวันละเรื่อง เจ้าของคณะนั้นตะลุยพิมพ์เป็นพิเศษ เพราะว่าเป็นเรื่องที่ทำเงินให้เป็นกอบเป็นกำ เหนือกว่านักประพันธ์ของชาวคณะคนอื่น ๆ นอกจาก " ไม้เมืองเดิม " ซึ่งเขียนได้ช้ากว่าอย่างเป็นม้าแข่งก็ทิ้งกันจนไม่เห็นหลัง แต่เป็นที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่ง ที่เรื่องของเขาเป็นที่ต้องการของ ผู้พิมพ์ขายอย่างสูงสุด เพราะขายได้ดีที่สุดเมื่อพิมพ์ออกวางตลาด แต่เขากลับได้ค่าเรื่องต่ำกว่านักประพันธ์คนอื่น ๆ
       เรื่องนี้ข้าพเจ้ารู้จากน้องสาวของเขา ซึ่งเป็นเพื่อนภริยาข้าพเจ้า และตัวเขาเองก็เป็นเพื่อนเสมือนพี่ของภริยาข้าพเจ้าด้วย เพราะเหตุที่เรื่องของเขาถูกกดราคาอย่างน่าเศร้าใจ เขาจึงเอาจำนวนมากของเรื่องที่ผลิตออกมาเข้าช่วย เพื่อให้มีรายได้ มากขึ้น เป็นเหตุให้เขาหมางใจกับข้าพเจ้ามาเป็นเวลาประมาณ 30 ปี โดยข้าพเจ้าถือเอาความเป็นผู้มีอาวุโสสูงกว่า ถือวิสาสะเขียนจดหมายไปถึงเขา ค่าที่ข้าพเจ้ากับเขาไม่รู้จักกันเป็นส่วนตัวมาก่อน ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดพลาดอย่างฉกรรจ์ที่เขาถ่อมตัว เจียมใจ แล้วทึกทักเอาเองว่าเขาเป็น " นักประพันธ์ชั้นสวะ " จึงไม่ยอมคบหาสมาคมกับพวกนักประพันธ์ด้วยกันเอาเสียเลย ทั้งที่เรื่องของเขาขายดีเสมอด้วย เรื่องของ คุณโชติ แพร่พันธ์ ( ยาขอบ ) คุณเลียว ศรีเสวก ( นามปากกามาก จนข้าพเจ้าขี้เกียจเขียน ) และ ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา ( ไม้เมืองเดิม ) นักประพันธ์เรื่องขายดีที่สุดในสมัยนั้น มีเพียงสามคนเท่านี้เอง
      จดหมายของข้าพเจ้ามีข้อความเพียงสั้น ๆ ว่า " คุณปรีชา คุณอย่าทำเรื่องของคุณให้เป็นอย่างสินค้าญี่ปุ่นหน่อยเลย " อันทำให้เขาเข้าใจเจตนาของข้าพเจ้าผิดไป ว่าข้าพเจ้าดูหมิ่นเรื่องของเขา     ทั้งนี้ก็โดยที่ข้าพเจ้าขี้เกียจเขียนจดหมายยาว ๆ ถึงใครนั่นเอง เขาเลยโกรธ   ไม่ย้อนถามมาว่า ที่ข้าพเจ้าว่าอย่างนั้น ข้าพเจ้าเจตนาอย่างไร เขาเลยไม่รู้เจตนาแท้จริงของข้าพเจ้าในตอนนั้น มารู้เอาก็ต่อเมื่อเขาอยู่ในสภาพตายทั้งเป็นแล้ว
       เพราะเจตนาที่แท้จริงของข้าพเจ้า ที่ไม่ต้องการให้เขาทำเรื่องให้เป็นอย่างสินค้าญี่ปุ่นนั้น ข้าพเจ้าต้องการให้เขาเรียกร้อง เจ้าของ คณะพิมพ์ให้ขึ้นค่าเรื่องของเขาให้สูงขึ้น อย่างที่เจ้าของคณะนายอุเทนได้ให้คุณเลียว ศรีเสวก มาก่อน แต่เขาไม่สนใจ ปล่อยให้ค่าเรื่องของเขาอยู่ใน "สุดแต่เจ้าของสำนักพิมพ์จะเมตตา" จนกระทั่งสิ้นชีวิต พระสงฆ์สวดอภิธรรมเจ็ดคืนที่วัดมกุฎ ตั้งแต่คืนวันที่ 25 กันยายน 2511 ในฐานะศพของนักประพันธ์ไส้แห้ง ไม่มีสมบัติพัสถานอะไรเหลือเป็นมรดกให้แก่ลูกเมียเลย นอกจากชื่อเสียงเกียรติคุณ

       เมื่อเขาก้าวเข้ามาสู่วงการประพันธ์ของไทยนั้น เขาเข้ามาในฐานะ " นักประพันธ์เรื่องรักโศก " ตามที่เรียก กันในสมัยนั้น ซึ่งก็ได้ครองตำแหน่งเป็นเอกแทน " ชาวเหนือ " ซึ่งเป็นรุ่นพี่ แล้วก็ทิ้ง "ชาวเหนือ " เสียลิบลับ เมื่อเทียบกันด้วยความนิยมของนักอ่าน ทำให้เจ้าของคณะพิมพ์ที่พิมพ์เรื่องของเขาร่ำรวยจนได้ชื่อว่า นายห้าง เมื่อเขาเปลี่ยนแนวมาเป็นเรื่องตลกที่มีชื่อว่า พล นิกร กิมหงวน ก็ทำเงินให้เป็นกอบเป็นกำแก่ผู้พิมพ์จำหน่ายอีกเช่นกัน และเมื่อเขาจับเขียนเรื่องโลดโผน หรือที่นิยมเรียกกันว่า " เรื่องบู๊ " คือชุด เสือดำ เสือใบ เรื่องชุดนี้ข้าพเจ้าได้รู้จากปากเจ้าของ สำนักพิมพ์ ที่พิมพ์ชุดนี้ของเขาขายว่า ได้กำไรสุทธิเป็นเงินรวมแล้วเกือบสามแสนบาท แต่เขาได้ค่าเรื่องซึ่งรวมทั้งสิทธิ์ด้วยเพียงสองหมื่นบาท เท่านั้นเอง ( จาก ถ้อยคำ ของ ป. อินทรปาลิต ที่ให้สัมภาษณ์ผู้แทนหนังสือพิมพ์ บางกอกไทม์ ) และเมื่อเขาหันมาเขียนเรื่องอีกแนวหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า ชุดศาลาโกหก ก็ทำเงินเป็นกอบเป็นกำให้แก่ผู้พิมพ์จำหน่ายอีกเช่นกัน"
   
    สรุปได้ว่านักเขียนใหญ่ที่ทำให้ป.อินทรปาลิตน้อยเนื้อต่ำใจมาเป็นเวลานาน ด้วยความเข้าใจผิด  คือยศ วัชรเสถียร นั่นเอง


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ก.ค. 13, 13:29
    ค่าที่ข้าพเจ้ากับเขาไม่รู้จักกันเป็นส่วนตัวมาก่อน ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดพลาดอย่างฉกรรจ์ที่เขาถ่อมตัว เจียมใจ

เรื่องเป็นคนถ่อมตัวนี้ คุณสุวัฒน์ วรดิลก เจ้าของนามปากกา "รพีพร"  ยืนยัน

พี่กับพี่ ป. ชอบกันมาก สมัยทำปิยะมิตร ราว ๆ ปี ๙๐-๙๐ เจอกันทุกวันทุกเช้า พี่ ป. เป็นคนถ่อมตัวที่สุด ทำตัวง่าย ๆ สมถะ หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส เป็นนักประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่่มาก มีส่วนกระตุ้นให้ผู้คนรักการอ่านการเขียนหนังสือเป็นอย่างมาก มีจิตสำนึกที่ยืนอยู่ข้างคนจนโดยเฉพาะ งานเขียนของพี่ ป. เป็นตัวแทนของคนยากจน

๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๙


จาก หนังสือ ป.อินทรปาลิต ชีวิตของคนขายฝัน โดย เริงไชย พุทธาโร พิมพ์ครั้งที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๙

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 03 ก.ค. 13, 14:39
สงสารคุณป.จังนะคะ แต่จริงๆถ้าเจ้าของสำนักพิมพ์มีใจเสียหน่อย น่าจะซื้อใจคนเขียนด้วยการขึ้นค่าเรื่องให้โดยที่คนเขียนไม่ต้องร้องขอ


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ค. 13, 15:48
เรื่องเป็นคนถ่อมตัวนี้ คุณสุวัฒน์ วรดิลก เจ้าของนามปากกา "รพีพร"  ยืนยัน

พี่กับพี่ ป. ชอบกันมาก สมัยทำปิยะมิตร ราว ๆ ปี ๙๐-๙๐ เจอกันทุกวันทุกเช้า พี่ ป. เป็นคนถ่อมตัวที่สุด ทำตัวง่าย ๆ สมถะ หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส เป็นนักประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่่มาก มีส่วนกระตุ้นให้ผู้คนรักการอ่านการเขียนหนังสือเป็นอย่างมาก มีจิตสำนึกที่ยืนอยู่ข้างคนจนโดยเฉพาะ งานเขียนของพี่ ป. เป็นตัวแทนของคนยากจน

คุณรพีพรคงไม่เคยอ่านสามเกลอ  โดยเฉพาะตอนอาเสี่ยกินหงวนควักแบ๊งค์ใบละร้อยออกมาจากกระเป๋าปึกใหญ่ แล้วบรรจงฉีกโปรยอวดประชาชน   จนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ก.ค. 13, 18:56
คุณรพีพรน่าจะวิจารณ์จากการอ่านนิยายชุดเสือใบ-เสือดำ ของคุณ ป.

นิยายชุดเสือใบ-เสือดำนั้นเป็นงานประพันธ์ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ครอบคลุมเวลาไม่กี่ปีนับตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นต้นไป โดยลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ปิยะมิตรรายวัน ซึ่งอยู่ในความอำนวยการของคุณปรีชาเอง  นิยายชุดนี้ประกอบด้วย "เสือใบ", "เสือดำ", และ "ดาวโจร" ซึ่งแต่ละเรื่องมีความยาวประมาณ ๑๕๐ ยก หรือประมาณ ๒,๔๐๐ หน้าของหนังสือ ๑๖ หน้ายก.  นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องที่สืบเนื่องในนิยายชุดเดียวกัน คือเรื่อง "เชิ้ตดำคืนชีพ" ความยาวประมาณ ๔๐ ยก หรือประมาณ ๖๔๐ หน้า.  รวมทั้งหมดแล้ว นิยายชุดเสือใบ-เสือดำมีความยาวประมาณ ๔๙๐ ยก หรือประมาณ ๗,๘๔๐ หน้า.

ท่านนักประพันธ์เอกได้ฝากฝีมือในการประพันธ์ในแทบทุกรสเอาไว้ในนิยายชุดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการต่อสู้ทุกรูปแบบของ "ชายชาติเสือ" ที่มีความละเอียดลออ, ให้ความตื่นเต้นสมจริงสมจัง ตลอดจนบรรยากาศที่สะท้อนความน่าจะเป็นจริงของแต่ละเหตุการณ์. ถึงแม้ว่าบทตลกขบขันเกือบจะไม่มีแทรกอยู่เลยตลอดเกือบ ๘,๐๐๐ หน้า เพราะ "เสือใบ-เสือดำ" เป็นนิยายชีวิตของขุนโจรที่ล่อแหลมต่อความตาย, แต่บทรักและบทโศกก็เคล้าอยู่กับบทต่อสู้แบบชายชาตรีโดยตลอดจากปลายปากกาของนักประพันธ์ผู้ซึ่งไม่เป็นรองใครในนิยายรักโศก. พูดไปทำไมมี แม้ผู้อ่านจะติดตามตัวอักษรนับล้านตัวด้วยอารมณ์ที่ตื่นเต้นสนุกสนานไปกับเหตุการณ์ในท้องเรื่อง แต่ก็ไม่อาจสลัดทิ้งอารมณ์เศร้าที่แทรกอยู่ระหว่างตัวอักษรได้ ทั้งนี้เพราะ "เสือใบ-เสือดำ" เป็นเรื่องเศร้าที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนบางคนที่ไม่อาจแปรเปลี่ยนชะตากรรมของตนได้.

"เสือใบ" เป็นนิยายชีวิตของ "เรวัต วิชชุประภา" หนุ่มใหญ่ในวัยใกล้ ๔๐ ปี นักเรียนออกซฟอร์ด บุตรชายพระยาพานทองอดีตปลัดทูลฉลอง. เรวัตทิ้งตำแหน่งหัวหน้ากองในกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยสวมบทบาทของขุนโจรในชื่อ "เสือใบ" เมื่อเขาใช้ปืนพกดับชีวิตภรรยาของเขาและชายชู้ด้วยอารมณ์แค้น. "เสือใบ" ได้เปิดฉากการปล้นครั้งแรกประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ นั่นเอง. เรวัตเป็นโจรที่เฉลียวฉลาด, สุขุมรอบคอบ, กล้าหาญ และเยือกเย็น อีกทั้งมีฝีมือไร้เทียมทานในการต่อสู้ทุกรูปแบบ.

เมื่อได้เริ่มต้นการปล้นที่ลพบุรีถิ่นกำเนิดจนกระทั่งเป็นที่เกรงขามแก่บรรดาเศรษฐีที่สร้างความร่ำรวยจาก "การทำนาบนหลังคน" แล้ว "เสือใบ" ก็พาสมัครพรรคพวก "เชิ้ตดำ" เข้ากรุงเทพฯ และปล้นคนร่ำรวยเพื่อนำเงินที่ปล้นได้ไปแบ่งสรรให้แก่คนจน ซึ่งทำให้เป็นที่รักใคร่แก่บรรดาคนยากจน และสร้างความหวาดกลัวให้แก่คนร่ำรวยที่ไม่สุจริตและปราศจากเมตตาธรรม. ตำรวจได้พยายามตามจับกุม "เสือใบ" และได้ต่อสู้กันหลายคราว หากก็ไม่สามารถที่จะปราบปรามได้. เรวัตได้พบรักกับพิไลวรรณ ธิดาอดีตเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ และได้ร่วมกันปฏิบัติการนอกกฎหมายอย่างเสี่ยงชีวิตทั้งในกรุงเทพฯ และที่ลพบุรี โดยมีอดีตนายทหารม้ายศร้อยเอกที่ใช้ชื่อว่า "เสือเภา" เป็นฝ่ายเสนาธิการ.

ในระหว่างที่ซ่อนตัวอยู่ในกรุงเทพฯ "เสือใบ" พลาดท่าถูกจับกุม แต่ขณะที่ถูกฝากขังอยู่ที่เรือนจำลหุโทษ ก็สามารถหลบหนีออกไปได้ และจากนั้นก็พาสมุนคู่ใจจำนวนหนึ่งเคลื่อนย้ายลงไปปักษ์ใต้ โดยเข้าไปตั้งค่ายกองโจรเชิ้ตดำอยู่ในป่าทึบของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ใกล้ชายแดนไทย-มาเลเซีย. ขณะนั้นพิไลวรรณได้เสียชีวิตจากกระสุนปืนของตำรวจในกรุงเทพฯ ไปแล้ว แต่เรวัตก็ได้พบกับบุหรงที่ยะลา และต่อมาก็ได้เป็นคู่ชีวิตของ "เสือใบ" แทนที่พิไลวรรณ. ในที่สุดค่ายเชิ้ตดำที่ในป่าเบตงก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารบุกเข้าทำลายจนสิ้นซาก ทำให้ "เสือใบ" ต้องพาบุหรงและสมุนร่วมใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้ง และปล้นอย่างดุเดือดในช่วงเวลาหนึ่ง มีเจ้าทรัพย์และเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกสังหารไปจำนวนหนึ่งในการต่อสู้เพื่อป้องกันตัวของ "เสือใบ".

อีกครั้งหนึ่งที่ตำรวจสามารถจับกุม "เสือใบ" ได้ขณะที่กำลังนอนป่วยอยู่ในกรุงเทพฯ จากการดวลปืนกับนักเลงเก่าคนหนึ่ง. คราวนี้ทั้งเรวัตและบุหรงถูกศาลพิพากษาลงโทษประหารชีวิต แต่แล้วขณะที่กำลังถูกทรมานอย่างโหดเหี้ยมภายในเรือนจำบางขวาง ก็สามารถหลบหนีออกมาได้อีกด้วยความช่วยเหลือของบรรดาสมุนโจรเชิ้ตดำที่ปลอมตัวเข้าไปในเรือนจำ. "เสือใบ" ปล้นต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่เมื่อบุหรงได้เสียชีวิตจากการดวลปืนแทนตัวเขา, เรวัต วิชชุประภา ก็ตัดสินใจเลิกเป็นโจร. เขาพยายามขอร้องนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ขอให้ช่วยเหลือให้เขาได้รับพระราชทานอภัยโทษ โดยจะรับอาสาปราบโจรผู้ร้ายที่กำเริบเสิบสานอยู่ในขณะนั้น แต่ไม่เป็นผลสำเร็จเพราะเขาถูกพิพากษาประหารชีวิตเสียแล้ว. เรวัตจึงตัดสินใจเดินทางขึ้นภาคเหนือโดยลำพัง และได้งานทำอยู่ที่ป่าไม้ช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะตัดสินใจกลับลงมากรุงเทพฯ อีกครั้งแล้วก็คืนสู่ลพบุรีถิ่นเดิม.

ขณะนั้นทางการตำรวจกำลังเร่งปราบปรามโจรผู้ร้ายตามนโยบายของรัฐบาล. "เสือใบ" ไม่อาจที่จะรักษาค่ายเชิ้ตดำในป่าลพบุรีเอาไว้ได้ ก็พาสมุนโจรอพยพเข้าดงพญาเย็น และก็ได้ไปพบกับนายทหารผู้ใหญ่นอกราชการผู้ซึ่งหลีกหนีสังคมเมืองไปใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติกลางป่าดงดิบกับธิดาสาว. เมื่อตำรวจได้เบาะแส ก็ยกกำลังติดตามจับกุม "เสือใบ" อย่างไม่ลดละ ซึ่งในที่สุดเรวัตก็พาวัลลภา ขวัญชีวิตคนใหม่บุกป่าฝ่าดงหลบหนีไปถึงโคราช แล้วก็มุ่งหน้าข้ามโขงทางนครพนมไปอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำโขง โดยตั้งใจจะใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรอย่างสงบที่นั่น, ซึ่งเป็นตอนจบของนิยายเรื่อง "เสือใบ" โดยขณะนั้นกำลังอยู่ใน พ.ศ. ๒๔๙๑.


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ก.ค. 13, 18:57
นิยายเรื่อง "เสือดำ" ได้อุบัติขึ้นแทนที่ โดยเป็นที่เข้าใจว่า "เจ้าพ่อสุพรรณบุรี" ได้ติดตามอ่านและมีความประทับใจในบทบาทของ "เสือใบ" ที่ ป. อินทรปาลิต ได้ประพันธ์ขึ้นมา จึงได้เขียนเล่าประวัติย่อของตนเองส่งมาให้ท่านนักประพันธ์.

ระพินทร์ ระวีวงศ์ คือนามจริงของ "เสือดำ", เป็นบุตรของนักเลงเก่าแห่งสุพรรณบุรี. เมื่อเจริญวัย ระพินทร์ถูกส่งมาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ และเมื่อสำเร็จห้อง ๘ ซึ่งเป็นชั้นมัธยมบริบูรณ์ในสมัยนั้นแล้ว ก็เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนฝึกหัดครู โดยช่วงเวลาหนึ่งเคยรับราชการเป็นนายตรวจสรรพสามิตอยู่ที่กาญจนบุรี ก่อนที่จะกลับคืนสู่สุพรรณบุรีเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒.

ระพินทร์เป็นชายหนุ่มรูปหล่อ ผิวขาว และมีฝีมือในการยิงปืนพกเป็นเลิศ. เขามีอายุน้อยกว่าเรวัต วิชชุประภา ประมาณ ๕ ปี และดังนั้นเขาจึงมีอายุประมาณ ๓๕ ปี เมื่อนิยายเรื่อง "เสือดำ" ได้อุบัติขึ้นในบรรณพิภพ. ถึงแม้ว่า "เสือดำ" จะมีอุดมการณ์เช่นเดียวกับ "เสือใบ" คือยึดมั่นในความยุติธรรมและชิงชังการข่มเหงกดขี่, แต่ระพินทร์จะเลือดร้อนและมุทะลุ ไม่เยือกเย็นเหมือนเรวัต.

พรหมลิขิตและโชคชะตาได้กำหนดให้ระพินทร์ ระวีวงศ์ ต้องเลือกใช้ชีวิตเป็นโจรในระดับเสือร้ายจนกระทั่งได้รับสมญา "เจ้าพ่อ" ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี. ความเก่งกาจของเขาเป็นที่เกรงขามแก่บรรดาเสือร้ายอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกัน และมีชื่อเสียงกระจายไปทั่วประเทศเช่นเดียวกับ "เสือใบ". "เสือดำ" ได้ปล้นและสังหารเจ้าทรัพย์ที่ขัดขืนจำนวนนับไม่ถ้วน ตลอดจนได้ยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตหลายนายเพื่อป้องกันตนเอง. "เสือดำ" มีบทบาทมากระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๑-๙๒.

นิยายเรื่อง "เสือดำ" เปิดฉากด้วยการเสียชีวิตของบุคคลในครอบครัวอันเป็นที่รักเคารพ ซึ่งทำให้ขุนโจรสุพรรณบุรีออกแก้แค้นบรรดาเสือร้ายที่เป็นปรปักษ์ จนกระทั่งได้ปะทะกับตำรวจที่ส่งกำลังไปปราบ ทำให้ต้องหลบหนีข้ามเขตไปกาญจนบุรี แล้วได้ลอบเดินทางเข้ากรุงเทพฯ กับวนิดาซึ่งเป็นคู่ชีวิตด้วยความมุ่งหมายที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดี. ความปรารถนาดังกล่าวไม่เป็นผล ตำรวจซึ่งได้เบาะแสว่า "เสือดำ" เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ก็วางสายจับกุมขุนโจร. ภายหลังที่ได้ต่อสู้กับนายตำรวจเพื่อนเก่าที่ได้รับคำสั่งให้มาจับกุมเขา และสามารถยิงนายตำรวจถึงแก่ชีวิต, ระพินทร์ก็ได้พาวนิดาหลบหนีออกจากกรุงเทพฯ กลับไปเมืองกาญจน์และสุพรรณบุรีตามลำดับ.

"เสือดำ" ได้ตัดสินใจเลิกเป็นโจรและกลับตัวเป็นพลเมืองดีอีกครั้งหนึ่ง โดยพาวนิดาไปเปิดร้านขายของชำที่จังหวัดอ่างทอง. แต่เมื่อตำรวจได้เบาะแสก็ยกกำลังไปตามจับเขาถึงอ่างทอง ซึ่งในระหว่างการหลบหนีตำรวจ วนิดาก็ถูกกระสุนปืนของตำรวจเสียชีวิต. เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ระพินทร์จำเป็นและจำใจจะต้องเป็นโจรต่อไป และได้ปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์ที่สุพรรณบุรีรายแล้วรายเล่าที่เป็นคนมั่งมีจากการเอารัดเอาเปรียบคนจน. ในที่สุดตำรวจก็ระดมกำลังบุกไปจับกุม "เสือดำ" กับสมุนได้ในถ้ำแห่งหนึ่ง และดำเนินคดีฟ้องศาล. ในระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำที่สุพรรณบุรี ระพินทร์ได้ถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำกระทำทารุณกรรมอย่างป่าเถื่อน ซึ่งทำให้ต้องหลบหนีไปอยู่ที่กาญจนบุรี, ซึ่งที่นั่นเขาได้พบรักและสมรสกับแน่งน้อยซึ่งเคยเป็นสายลับของตำรวจจากกรุงเทพฯ มาสืบจับเขา.

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ "เสือดำ" ตัดสินใจเลิกเป็นโจร. เขาพาแน่งน้อยไปสมัครทำงานเป็นกรรมกรเหมืองแร่ทองคำใกล้พรมแดนไทย-พม่า. ผู้จัดการเหมืองได้วางแผนเอาชีวิตเขาเพื่อแย่งแน่งน้อยจากระพินทร์. แต่ "เสือดำ" รอดพ้นมาได้ ซึ่งเมื่อได้แก้แค้นอย่างสาสมแล้ว "เสือดำ" ก็พาสมุนที่เผอิญมาพบกันกลางทางมุ่งเข้าป่าไปทางชายแดน. ในป่าลึกเขาได้ประสบเหตุการณ์ที่มีความสำคัญต่อชีวิตของเขาอีกครั้งหนึ่ง. เขาได้พบพระยาโลหกิจฯ นักธรณีวิทยาและบุตรชายถูกโจรพม่าฆ่าตาย แต่เขาได้ช่วยทัศนีย์ ธิดาของเจ้าคุณซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์เช่นกันไว้ได้ และพาเธอไปส่งอย่างปลอดภัยที่ราชบุรี. จากนั้น "เสือดำ" ก็เดินทางไปยังหมู่บ้านกะเหรี่ยงและได้พบกับ "เสือขาว" น้องชายต่างมารดาของเขาก่อนที่จะกลับไปกาญจนบุรีตามเดิม, ซึ่งที่นั่นเขามีเพื่อนสนิทชื่อบุญมาก คอยให้ความช่วยเหลือ.

ทัศนีย์ผู้ซึ่งทราบว่าระพินทร์เป็นโจร, เมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว ได้มีจดหมายมาที่เมืองกาญจน์ ขอให้ระพินทร์กลับตัวเป็นพลเมืองดีและไปพบเธอที่กรุงเทพฯ โดยจะหางานสุจริตให้ทำ. ด้วยความรักที่มีต่อทัศนีย์ ระพินทร์เดินทางเข้ากรุงเทพฯ และได้งานทำที่บ้านธีรพงศ์ โดยไม่มีผู้ใดทราบว่าเขาคืออดีตขุนโจร นอกจากทัศนีย์เพียงคนเดียว. ต่อมาเขาได้รับมอบหมายจากคุณหญิงโลหกิจฯ ให้ไปขุดกระดูกของเจ้าคุณและบุตรชายที่ฝังเอาไว้ในป่าเมืองกาญจน์มาขอพระราชทานเพลิงศพ. การเดินทางคราวนั้นได้ทำให้คนในบ้านธีรพงศ์ทราบว่าระพินทร์เป็นผู้ใด. เมื่อมีการพูดกันต่อ ๆ ไป ไม่ช้าตำรวจก็รู้เบาะแส และได้นำกำลังมาจับกุมระพินทร์ที่ขณะนั้นกำลังเป็นผู้จัดการผลประโยชน์ของครอบครัวพระยาโลหกิจฯ และได้ผูกสมัครรักใคร่กับทัศนีย์อย่างเปิดเผย. ระพินทร์ได้หลบหนีตำรวจกลับคืนสู่กาญจนบุรีและดำเนินชีวิตเป็นโจรต่อไป.

เมื่อทัศนีย์ตั้งครรภ์ "เสือดำ" ก็ได้แอบมาเยี่ยมที่กรุงเทพฯ และขออนุญาตคุณหญิงพาทัศนีย์ไปร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขา โดยจะประกอบอาชีพสุจริต. ที่เพชรบุรี สองคนผัวเมียถูกผู้ร้ายปล้นเอาเงินทองที่เอาติดตัวมาใช้ในการตั้งตัวไปหมด และเมื่อเดินทางต่อไปถึงภูเก็ต โดยระพินทร์ไปสมัครทำงานเป็นกรรมกรเหมืองแร่, ประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยอีก. ผู้จัดการเหมืองสั่งให้ลูกน้องพาระพินทร์ไปฆ่า ขณะที่ตนเองกระทำการขืนใจทัศนีย์. "เสือดำ" ได้สังหารทุกๆ คนที่ทำร้ายเขา และเผาสำนักงานเหมืองแร่แห่งนั้นวอดวาย แล้วก็พาทัศนีย์หลบหนีกลับไปเมืองกาญจน์. ในป่าทึบกาญจนบุรี "เสือดำ" ได้สร้างนิคมเล็กๆ ขึ้นมาเป็นค่ายพำนักของเขาและพรรคพวก รอการคลอดบุตรของทัศนีย์. แต่ตำรวจได้นำกำลังมาบุกจับอีก ซึ่งทารกแรกเกิดได้ถูกกระสุนปืนของตำรวจดับชีวิต ขณะที่ระพินทร์และทัศนีย์หลบหนีไปได้อย่างหวุดหวิด โดยบุญมากสหายรักได้สละชีวิตแทนไป. ทัศนีย์ป่วยหนักด้วยไข้จับสั่น ซึ่งจำเป็นที่ระพินทร์ต้องจัดการส่งภรรยาของเขากลับกรุงเทพฯ เพื่อการดูแลรักษา. แต่เมื่อเขาจะไปรับทัศนีย์กลับมาอยู่ด้วยเมื่อหายจากการป่วย เขาก็ได้รับการขอร้องจากคุณหญิงผู้เป็นมารดาว่าขออย่าได้นำธิดาของท่านไปตกระกำลำบากและเสี่ยงชีวิตอีกเลย. ต่อมาเมื่อทัศนีย์มีจดหมายบอกมาว่าเธอมีครรภ์ได้ ๖ เดือนแล้ว ขอให้เขามารับเธอ, ระพินทร์ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่งที่เขาได้รับการขอร้องจากคุณหญิงมารดาว่าอย่านำทัศนีย์และทารกในครรภ์ไปเสี่ยงอันตรายกับเขา, ซึ่งเป็นเหตุผลที่ระพินทร์ยอมจำนน.

"เสือดำ" กลับไปเมืองกาญจน์และตัดสินใจเข้ามอบตัวกับตำรวจและถูกยื่นฟ้องศาล ซึ่งเขาก็รับสารภาพทุกข้อหา. ในเรือนจำ ระพินทร์ได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่อย่างโหดร้ายทารุณ ซึ่งทำให้เขาต้องแหกคุกและสังหารเจ้าหน้าที่ ก่อนที่จะพาสมุนหลบหนีไปตั้งค่ายอยู่ในป่าสุพรรณบุรี. ตลอดเวลาที่หลบหนีตำรวจอยู่ในป่า "เสือดำ" ต้องต่อสู้กับพวกโจรหลายก๊กหลายเหล่า จนกระทั่งไม่มีโจรรายใดบังอาจมารบกวนเขา. ขณะนั้นน่าจะเข้าสู่ พ.ศ. ๒๔๙๒.

ระพินทร์ได้เป็นที่พึ่งของมนตรี มานวิสุทธิ์ เด็กหนุ่มที่เพิ่งสำเร็จชั้นเตรียมอุดม ชวนเพื่อนมาผจญภัยแล้วก็หลงทาง. ระพินทร์ตกลงใจรับมนตรีไว้เป็นบุตรบุญธรรมและนำไปฝากเพื่อนเก่าในกรุงเทพฯ ให้จัดการให้เด็กหนุ่มได้เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยเขาเป็นผู้ส่งเสียจนกระทั่งสำเร็จออกเป็นนายตำรวจในเวลาอีก ๓ ปีต่อมา. ในระหว่างนั้นระพินทร์ได้ใช้ชีวิตอย่างสงบอยู่ที่หมู่บ้านกะเหรี่ยงจนกระทั่งได้มีคณะข้าราชการไปตรวจราชการและได้ใช้อำนาจข่มเหงรังแกชาวบ้าน. ระพินทร์สุดที่จะทนทานได้ จึงจำเป็นต้องขัดขวาง ทำให้ข้าราชการหลายคนเสียชีวิต ซึ่งเป็นเหตุให้ตำรวจส่งกำลังมาจับกุม "เสือดำ" โดยมอบหมายให้ ร.ต.ต.มนตรี บุตรบุญธรรมของขุนโจรเป็นผู้นำกำลังมาทำการ. ระพินทร์ยอมมอบตัว และถูกส่งฟ้องศาลและได้รับความกรุณาจากศาลให้จำคุกตลอดชีวิตที่บางขวาง. นิยายเรื่อง "เสือดำ" ก็จบลงตรงนี้.


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ก.ค. 13, 19:03
อ่านนิยายชุดนี้ของ ป. อินทรปาลิต จะเห็นว่านิยายเรื่อง "เสือดำ" มีลักษณะเป็น "เรื่องรักโศก" มากกว่าเรื่อง "เสือใบ" ที่เน้นไปที่พฤติกรรมที่ไม่ชอบของข้าราชการและเบื้องหลังความร่ำรวยของเศรษฐีในยุคหลังสงคราม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของ "เสือใบ" ที่จะต้องกำจัด. อย่างไรก็ตามนิยายเรื่อง "เสือดำ" ก็จงใจเปิดโปงความชั่วร้ายของสังคมในยุคนั้น ตลอดจนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐในบางหน่วย. ข้อที่น่าสังเกตอีกประเด็นหนึ่งก็คือ แม้ว่าในนิยายทั้ง ๒ เรื่อง ขุนโจรจะรับบท "พระเอก", แต่ ป. อินทรปาลิต ก็ได้ให้เกียรติแก่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นฝ่ายตรงกันข้ามอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในแง่ของความกล้าหาญ, รักเกียรติและศักดิ์ศรี ตลอดจนความมีมนุษยธรรมและคุณธรรม. สำหรับ "ผู้ร้าย" นั้น ป. อินทรปาลิต ได้มอบบทบาทนั้นแก่เจ้าหน้าที่เรือนจำ ซึ่งในช่วงหลังสงครามจะมีการกล่าวถึงเจ้าหน้าที่เหล่านี้ในด้านลบอยู่เนือง ๆ. ข้อสังเกตประการสุดท้ายก็คือ แม้ว่าทั้ง "เสือใบ" และ "เสือดำ" จะได้ประกอบอาชญากรรมเอาไว้มากมายในการปล้นและฆ่าทั้งเจ้าทรัพย์และเจ้าหน้าที่ตำรวจ อีกทั้งพฤติกรรมที่เข้าข่ายกบฏภายในราชอาณาจักร, แต่ในตอนจบเรื่อง ขุนโจร "ผู้ร้ายผู้ดี" ทั้งคู่ก็รอดตาย โดย "เสือใบ" หลบหนีออกไปนอกประเทศ ขณะที่ "เสือดำ" ติดคุกตลอดชีวิต.

จะเป็นด้วยการเรียกร้องของผู้อ่านที่ติดตามอ่านนิยายทั้ง ๒ เรื่องมาอย่างสนุกสนาน ซึ่งไม่ประสงค์จะให้นิยายดังกล่าวต้องจบลงขณะนั้น, หรืออาจจะเนื่องจากจิตสำนึกของผู้ประพันธ์ที่รู้สึกว่า ไม่ว่าขุนโจรทั้งสองจะกอปรด้วยคุณงามความดีมากมายเท่าใดก็ตาม แต่นิยายก็ควรจะต้องจบลงด้วยการเสียชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น, ป. อินทรปาลิต จึงได้ประพันธ์ตอนจบของนิยายชุดนี้ คือ "ดาวโจร" ที่ให้ "เสือใบ" และ "เสือดำ" โคจรมาพบกัน ได้ร่วมกันเป็นประมุขของ "กองโจรเชิ้ตดำ" ปฏิบัติการท้าทายกฎหมายทั้งในกรุงและในป่าอย่างเกรียงไกร ซึ่งในที่สุดก็ต้องจบชีวิตที่เป็นตำนานขุนโจร โดย "เสือดำ" ถูกตำรวจยิงพรุนไปทั้งตัว ขณะที่ "เสือใบ" ยิงตัวตายเมื่อหมดหนทางที่จะต่อสู้หรือหลบหนี. ขุนโจรทั้งสองได้เสียชีวิตลงประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๖ ในระยะเวลาที่ไม่ห่างกันมาก. "เสือดำ" จบชีวิตลงก่อนในป่ากาญจนบุรี ขณะที่ "เสือใบ" ได้ตายตามไปในป่าสุพรรณบุรี.

ป. อินทรปาลิต ปิดท้ายนิยายชุด "เสือใบ-เสือดำ" โดยให้บุตรชายของขุนโจรทั้งสองที่เกิดจากสตรีอันเป็นที่รักในวัยหนุ่ม ซึ่งอยู่ในวัยหนุ่มเมื่อผู้ให้กำเนิดเสียชีวิต ได้มาพบกัน และร่วมกันดำเนินตามรอยบิดาในช่วงเวลาหนึ่งที่ไม่นานนัก ก่อนที่จะอำลาแผ่นดินไทยข้ามพรมแดนไปใช้ชีวิตในประเทศเพื่อนบ้าน. ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน อดีตสมุนของ "เสือใบ-เสือดำ" กลุ่มหนึ่งก็ได้พยายามรื้อฟื้น "กองโจรเชิ้ตดำ" ขึ้นมาอีกตามแนวทางที่อดีตขุนโจรได้วางไว้ ซึ่ง ป. อินทรปาลิต ให้ชื่อนิยายเรื่องนี้ว่า "เชิ้ตดำคืนชีพ" ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปิดท้ายนิยายชุด "เสือใบ-เสือดำ".

สำหรับนักอ่านที่ได้อ่านนิยายชุด "เสือใบ-เสือดำ" จะทั้งหมด ๗,๘๔๐ หน้าพ็อคเก็ตบุ๊กหรือเพียงบางส่วนก็ตาม ก็มักจะตั้งคำถามที่น่าคิด ๒ ข้อ ซึ่งคำตอบก็คงจะมีต่างๆ กันไป. คำถามที่มักจะถามกันก็คือ ๑. นิยายชุดดังกล่าวนี้ได้ให้สิ่งใดแก่ผู้อ่านในแง่ของข้อคิดความเห็น นอกเหนือไปจากความสนุกสนานและความซาบซึ้งตรึงใจอันเป็นเสน่ห์ของบทประพันธ์ของ ป. อินทรปาลิต และ ๒. การที่นิยายชุดดังกล่าวนี้ได้เกิดขึ้นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะเป็นไปได้หรือไม่เพียงใดที่จะสะท้อนสังคมไทยในขณะนั้น ทั้งที่เป็นรูปธรรม คือเหตุการณ์ต่าง ๆ และที่เป็นนามธรรม อาทิ บรรยากาศ, ทัศนคติ, วิถีชีวิต และปรัชญาสังคม.

ท่ามกลางคำตอบที่คงจะต่าง ๆ กันไปสำหรับคำถามทั้ง ๒ ข้อข้างต้น หากจะมีบางคำตอบที่น่าจะเป็นความรู้สึกที่ตรง ๆ กันของผู้อ่านส่วนมาก.

ต่อคำถามข้อแรกว่าด้วยข้อคิดความเห็นที่แทรกอยู่ระหว่างตัวอักษรที่ยาวเหยียดในนิยายชุด "เสือใบ-เสือดำ", คำตอบที่น่าจะตรงกันของบรรดาผู้อ่านก็มีอาทิ

สังคมไทยขาดความเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นธรรมในทางเศรษฐกิจ ดังจะเห็นว่าโภคทรัพย์และรายได้มิได้กระจายอย่างเป็นธรรมทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจ ทำให้มีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างคนมั่งมีและคนยากจน ขณะที่ความร่ำรวยของบุคคลบางคนบางกลุ่มสร้างมาจากการเอารัดเอาเปรียบคนยากคนจน. คนจนในสังคมไทยเป็นคนที่มีความอดทนอย่างไม่มีที่เปรียบในชีวิตความเป็นอยู่.

การกระทำความผิด ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด จะเป็นบาปติดตัวไปจนตายที่ไม่อาจไถ่ถอนได้ และยากที่จะได้รับการให้อภัย ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่บังคับให้คนที่เคยกระทำความผิดจำต้องกระทำความผิดต่อๆ ไป ด้วยไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น แม้ว่าจะมีความปรารถนาที่จะกลับตัวกลับใจสักเพียงใดก็ตาม.

บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นโจรผู้ร้าย ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนเลวและคนชั่วเสมอไป เพราะอาจเป็นเพียงผู้กระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองเท่านั้น. โจรผู้ร้ายอาจจะมีมนุษยธรรม, ศีลธรรมและคุณธรรมเหนือกว่าผู้ที่เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายก็ได้.

สำหรับคำถามข้อหลังที่ยกเป็นประเด็นว่านิยายชุด "เสือใบ-เสือดำ" อาจจะสะท้อนสังคมไทยในช่วงเวลาภายหลังที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้สงบลงใหม่ ๆ ในบางแง่บางมุม หรือในหลายแง่หลายมุม ทั้งที่เป็นรูปธรรมและที่เป็นนามธรรมนั้น, คำตอบที่น่าจะไม่แตกต่างกันก็คือสังคมไทยในขณะนั้นมีส่วนในการทำให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะที่ปรากฏในนิยายชุดดังกล่าวโดยปราศจากข้อสงสัย โดยอาจแยกวิเคราะห์สังคมไทยในยุคนั้นออกได้เป็น ๓ ด้าน คือ

ด้านการเมือง ที่เป็นยุคที่มีการใช้อำนาจและความรุนแรงในการตัดสินความแตกต่างและในการระงับความขัดแย้ง. การที่มีกลุ่มบุคคลตั้งตัวเป็นโจร ปฏิบัติการฝ่าฝืนและท้าทายกฎหมายบ้านเมือง ก็เป็นการเลียนแบบพฤติกรรมการแย่งอำนาจรัฐ หรือการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในยุคนั้นนั่นเอง.

ด้านเศรษฐกิจ ที่ความล่มสลายของระบบการเงินของประเทศจากสงครามได้ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้ประชาชนโดยทั่วไปได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีรายได้เท่าเดิม หรือสูญเสียรายได้. ความเดือดร้อนมาจากการมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับรายจ่าย ซึ่งทำให้ผู้มีทรัพย์สินต้องขายทรัพย์สินเพื่อได้เงินมาจุนเจือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะภาวะเงินเฟ้อ. ส่วนผู้ที่ไม่มีทรัพย์สินที่จะขายกิน ก็จำเป็นต้องขายตัว หรืออีกทางเลือกหนึ่งก็คือการปล้นทรัพย์ผู้อื่น. ข้าราชการที่มีโอกาส ก็กระทำการฉ้อราษฎร์บังหลวงเพราะเงินเดือนไม่พอกิน.

ด้านสังคม ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเจน คือการเปลี่ยนแปลงในฐานะเศรษฐกิจและสังคมในลักษณะของ "ผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน" ซึ่งหมายถึงว่าผู้ที่เคยมีเกียรติและยังคงรักษาเกียรติมีสถานภาพทางสังคมตกต่ำลง ขณะที่บรรดา "เศรษฐีสงคราม" คือผู้ที่ได้รับประโยชน์จากสภาพของเศรษฐกิจในระหว่างสงครามจนกระทั่งร่ำรวย ได้ก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำในสังคมด้วยธนวุฒิ. การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้มีอิทธิพลต่อ "ค่านิยม" ซึ่งมีวิวัฒนาการโดยปกติอยู่แล้ว. "การบูชาเงินเป็นพระเจ้า" ก็เป็นส่วนหนึ่งของ "ค่านิยม" ที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคนั้น ขณะที่การทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการได้กลายเป็นเรื่องปกติ. จริยธรรม, คุณธรรม และศีลธรรม ทั้งในการครองชีวิตและในการใช้ชีวิตในสังคมมิใช่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกต่อไป.

การวิเคราะห์สภาวะของสังคมไทยในทั้ง ๓ ด้านดังกล่าวข้างต้น จะช่วยทำให้สามารถเข้าใจที่มาของบรรดาเหตุการณ์ต่าง ๆ ในนิยายชุด "เสือใบ-เสือดำ" ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขณะที่ผู้ติดตามอ่านในขณะนั้นก็เปรียบเสมือนการมองภาพในกระจกเงา ซึ่งทำให้ตื่นเต้นและ "สะใจ" ไปพร้อมกัน.

จากยุคนั้นถึงยุคนี้ กาลเวลาก็ได้ผ่านพ้นไปแล้วถึง ๖๐ ปี. สมาชิกของสังคมไทยส่วนใหญ่ในขณะนี้เกิดไม่ทันหรือโตไม่ทันที่จะได้เห็นสังคมไทยในยุคนั้น. ดังนั้นนิยายชุด "เสือใบ-เสือดำ" ของ ป. อินทรปาลิต ก็จะมีประโยชน์เชิงประวัติศาสตร์สังคมด้วยอีกโสดหนึ่ง เพราะอย่างน้อยก็จะช่วยปลูกฝังจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นจิตสำนึกที่จะบอกให้รู้ว่าบ้านเมืองและสังคมของเราปรารถนาสิ่งใด. นอกจากนั้นเนื่องจากประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเดิมอยู่เนืองๆ, นิยายชุด "เสือใบ-เสือดำ" ก็คงจะทำให้คนไทยในยุคปัจจุบันได้สังเกตเห็น "รอย" เดิมในประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์เมื่อ ๖๐ ปีที่แล้วบ้างไม่มากก็น้อย.

จากหนังสือ "นิยายชุดเสือใบ-เสือดำ ของ ป. อินทรปาลิต กับสังคมไทยยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒" โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร (http://info.matichon.co.th/art/art.php?srctag=0635010948&srcday=2008/02/01&search=no)

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ค. 13, 20:07
เคยอ่านเสือดำ เสือใบ  จำได้ว่าตอนจบ เรวัตหรือเสือใบถูกยิงตายไปก่อน วิญญาณมาปรากฏให้ระพินทร์เห็น ก่อนระพินทร์จะถูกตำรวจล้อมจับ จนสิ้นชีวิต    ก่อนหน้านั้น ระพินทร์ถูกภรรยาคนสุดท้ายชื่อแน่งน้อยหักหลัง รับสินบนนำจับจากตำรวจ พาตำรวจมาถึงที่ซ่อนของสามี

แล้วก็จำได้อีกอย่างว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองแสดงความไม่เห็นด้วยที่ป.อินทรปาลิตเขียนให้โจรผู้ร้ายเป็นพระเอก     คงจะด้วยเหตุนี้    คุณป. จึงเขียนต่อตอนจบให้เสือใบเสือดำตายกันทั้งคู่


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ก.ค. 13, 20:23
แล้วก็จำได้อีกอย่างว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองแสดงความไม่เห็นด้วยที่ป.อินทรปาลิตเขียนให้โจรผู้ร้ายเป็นพระเอก     คงจะด้วยเหตุนี้    คุณป. จึงเขียนต่อตอนจบให้เสือใบเสือดำตายกันทั้งคู่

ป.อินทรปาลิตเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ใน ปิยะมิตรวันอาทิตย์ ฉบับที่ ๑๒ วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ว่า

หลังจากสันติบาลใหญ่ได้ "ขอแสดงความนับถือ" กับ ป.อินทรปาลิตและบรรณาธิการของเราในเรื่องความเก่งฉกาจของเสือใบขุนโจรที่โปลิศแพ้ (เพราะผู้เขียนเขียนให้แพ้) ท่านผู้เป็นแฟนของเสือใบก็จดหมายไปที่สำนักงานมากมาย แสดงความเห็นใจบ้าง แสดงความเวทนาผู้เขียนบ้างที่ไร้เสรีภาพในการเขียน ซึ่งผู้เขียนและชาวคณะของเราขอขอบคุณท่านที่เห็นอกเห็นใจ

ไม่มีอะไรที่น่าวิตก ท่านผู้บังคับการเห็นว่า คนที่โง่เขลาเบาปัญญาอ่านแล้วอาจจะนิยมชมชอบพฤติการณ์ของ "เสือใบ" และทำตัวเป็นเสือใบบ้าง ท่านว่ายังงั้น ป.อินทรปาลิตก็ต้องว่ายังงั้น เพราะเรื่องมันต้องยังงั้น  ถ้าไม่ยังงั้นมันก็อาจจะยังงั้น ก็ต้องยังงั้นไปเท่านั้นเอง

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley16.png)



กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ก.ค. 13, 20:32
อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าจะกระทบความรู้สึกของ "ท่าน" น่าจะเป็นปณิธานอันเด็ดเดี่ยวของ เรวัต วิชชุประภา หรือ "เสือใบ"

โจรอย่างข้า ดีกว่าอ้ายพวกข้าราชการที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงเสียอีก หน้าฉากของมันเต็มไปด้วยเกียรติยศ แต่หลังฉากตั้งหน้าคดโกงกอบโกยเงินเข้ากระเป๋า เอ็งคอยดู อ้ายสัตว์นรกผู้ทำลายชาติเหล่านี้อยู่ในบัญชีของข้าทั้งนั้น ข้าจะต้องปล้นมันให้จงได้ เพื่อเอาเงินของมันมาแจกจ่ายพี่น้องที่ยากจนของข้า

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley12.png)


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ค. 13, 20:54
แบบเดียวกับโรบินฮู้ดเลยค่ะ


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ก.ค. 13, 13:30
เคยผ่านสายตาว่า คุณป. เคยเป็นเจ้าของค่ายมวย  แต่ยังหาไม่เจอว่าอ่านพบในเว็บไหน   อีกครั้งหนึ่งเป็นผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารด้วย   ก็น่าจะมีรายได้ดีเอาการ

ป.อินทรปาลิตโปรดปรานการกีฬามาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเรียนหนังสือ กีฬาที่ชื่นชอบได้แก่ ฟุตบอล แบดมินตัน และมวย ขณะที่ทำปิยะมิตร ป.อินทรปาลิตมักจะไปดูมวยที่เวทีราชดำเนินแทบทุกนัด เช่นดียวกับนักหนังสือพิมพ์กลุ่มอิศรา อมันตกุล อันได้แก่ ชั้น แสงเพ็ญ, ถนอม อัครเศรณี, สนิท วงศาโรจน์, เสนีย์ กฤษณเศรณี และรัตน์ ศรีเพ็ญ เป็นต้น ที่มักจะยกขบวนไปดูการต่อสู้บนเวทีผ้าใบโดยพร้อมเพรียงกัน รวมทั้งอิศรา อมันตกุลด้วยอีกคนหนึ่ง

มีนักมวยหลายคนที่ ป.อินทรปาลิตคบหาสนิทสนมด้วย เช่น ฉลวย นฤภัย, ถวัลย์ วงศ์เทเวศร์, ประเสริฐ ส.ส., ทับ กล้าศึก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมาน ดิลกวิลาศ ชื่อของ "สุภาพบุรุษสังเวียน"  ในราว ๆ ปี พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๔๘๔  สมาน ดิลกวิลาศได้ปรากฏอยู่ในหัสนิยายชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน ด้วยกันหลายบทหลายตอน เริ่มต้้งแต่ในเรื่องที่สองของสามเกลอคือ ตอนหนุ่มรักสนุก ป.อินทรปาลิตก็ให้นักมวยชื่อดังผู้นี้เข้ามามีบทบาทร่วมกับตัวละครเอกของตนแล้ว เพียงแต่เพี้ยนนามไปเป็น "สมาน เหล็กวิลาศ" เท่านั้น

ด้วยความรักชอบในกีฬามวยและความรู้จักมักคุ้นกับนักมวยหลาย ๆ คน ป.อินทรปาลิตจึงได้ตั้งค่ายมวยขึ้นที่บ้านอุรุพงษ์ในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหนังสือปิยะมิตรอยู่ ค่ายอุรุพงษ์เป็นที่ชุมนุมของนักมวยที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นจำนวนหนึ่งอาทิ สมาาน ดิลกวิลาศ, ฉลวย นฤภัย, ประเสริฐ ส.ส., ถวัลย์ วงศ์เทเวศร์, ชูชัย พระขรรค์ชัย และอุไร ชินกร เป็นต้น


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ก.ค. 13, 13:50
ขณะนั้น เมืองไทยมีนักมวยที่หาคู่ต่อสู้ได้ยากอย่างยิ่งอยู่สองคนคือ สมาน ดิลกวิลาศ และ สุข ปราสาทหินพิมาย  ประยูร หอมวิไล เจ้าของโรงพิมพ์พานิชชอบ คบคิดกับ ป.อินทรปาลิตที่จะให้นักมวยชื่อดังแห่งยุคทั้งสองได้มาต่อสู้กันบนเวทีผ้าใบ

"ชกกับยักษ์สุขไหม สมาน?" ป.อินทรปาลิตถามสุภาพบุรษสังเวียน

"เอาซีพี่ชา" สมาน ดิลกวิลาศ ซึ่งเรื้อเวทีมานานตกลงรับปาก

ป.อินทรปาลิตและประยูร หอมวิไล จึงต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าฝึกซ้อม ค่าบำรุงตัวและค่าใช้จ่ายทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้สมาน ดิลกวิลาศฟิตตัวเตรียมพร้อมที่จะพบกับสุข ปราสาทหินพิมายกันเป็นการวุ่นวายอยู่ราว ๆ สองถึงสามเดือน

เมื่อถึงวันอันสำคัญของจ้าวสังเวียนทั้งสอง สนามมวยเวทีราชดำเนินคึกคักต้้งแต่เช้าทั้ง ๆ ที่นักมวยจะชกกันในเวลาสี่โมงเย็น ไข่มุกด์และปรานีภรรยาทั้งสองของ ป.อินทรปาลิตต้องหอบกระติกน้ำกับสัมภาระต่าง ๆ เข้าไปรอในสนามมวยตั้งแต่สิบโมงเช้า ส่วน ป.อินทรปาลิตกับบุตรชายขลุกอยู่ในห้องพักนักมวย

สมัยนั้นเวทีราชดำเนินไม่มีหลังคา ผู้คนหลั่งไหลกันมาอย่างมืดฟ้ามัวดินจนไม่มีที่นั่งเพียงพอสำหรับผู้ชม ต้นมะขามใกล้ ๆ สนามมวยมีคนปืนขึ้นไปดูฟรีเต็มทุกต้น เจ้าหน้ามี่ตำรวจเรียกอย่างไรก็ไม่มีใครกลัวและไม่มีใครยอมลง ตำรวจไม่มีปัญญาจะจัดการต้องปล่อยเลยตามเลย นอกจากนี้ทางเวทีราชดำเนินกำลังดำเนินการก่อสร้างหลังคาคลุมสนามมวยอยู่พอดี เหล็กโครงสร้างถูกผูกขึ้นตั้งเป็นเสาสูงรอบ ๆ สนามมวย เตรียมเทปูนเป็นโครงสร้างส่วนหนึ่งของหลังคา ก็มีคนปีนขึ้นไปเกาะอยู่เต็มเสาโลหะทุกต้นเช่นเดียวกับตามต้นมะขาม เพื่อรอดูมวยคู่สำคัญอย่่างทรหดอดทน

เมื่อถึงเวลาชก คนดูตื่่นเต้นกันมาก สมาน ดิลกวิลาศเรื้อเวทีมานาน ฟิตตัวขึ้นมาก็ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ จึงทำอะไรสุข ปราสาทหินพิมายไม่ได้เลย

ป.อินทรปาลิตยืนหน้าซีดเซียวอยู่ข้างเวที สมานถูกยักษ์สุขไล่ถลุงจนพ่ายน็อกไปในที่สุด * ป.อินทรปาลิตทำกล้องถ่ายรูปตกจากมือลงไปสู่พื้นสนามมวยโดยไม่รู้สึกตัว ฤทัย บุตรชายที่ยืนอยู่เคียงข้างจึงเก็บขึ้นมาถือเอาไว้

* ตามประวัติการชก รายงานโดย คุณวิกกี้ (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82_%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2#.E0.B8.AA.E0.B8.96.E0.B8.B4.E0.B8.95.E0.B8.B4.E0.B8.81.E0.B8.B2.E0.B8.A3.E0.B8.8A.E0.B8.81) สมาน ดิลกวิลาศเคยขึ้นเวทีพบ สุข ปราสาทหินพิมาย ๒ ครั้ง คือ พ.ศ. ๒๔๙๑ เวทีราชดำเนิน สมานแพ้คะแนน และ พ.ศ. ๒๔๙๕ ที่ลำปาง สมานแพ้น็อกในยกที่ ๔

(ยังมีต่อ)   ;)



กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ก.ค. 13, 22:57
เย็นวันนั้น ป.อินทรปาลิตกินข้าวไม่ลง และโกรธสมานมาก เพราะได้ถามแล้วว่าไหวไหม ต้องซ้อมให้สมบูรณ์พอเพียง ซึ่งสมานก็บอกว่าพอแล้ว แต่เมื่อขึ้นชกจริง ๆ ก็ต้องพ่ายแพ้อย่างหมดรูป

ป.อินทรปาลิตเสียใจและโมโหสมาน ดิลกวิลาศอย่างหัวฟัดหัวเหวี่ยง ไม่ยอมให้สมานเข้าพบเลย เมื่อสมานมาหาที่โรงพิมพ์ไทยพานิช ก็สั่งเด็กให้บอกว่าไม่อยู่ ไม่อยากพบ ไม่อย่างเห็นหน้า

ประยูร หอมวิไลรู้สึกเห็นใจนักประพันธ์เอกของตนที่ต้องเสียอารมณ์กับเหตุการณ์ครั้งนี้ จึงประโลมใจด้วยการพา ป.อินทรปาลิตไปหาซื้อรถ โดย "ป๋ายูร" ออกเงินดาวน์รถเฟี้ยตให้ก่อน ป.อินทรปาลิตค่อยผ่อนต่อเอาเอง คนเห็นผู้จัดการนักมวยขับ "ไอ้เขียว" คันใหม่เอี่ยมออกจากอู่ ก็หาว่าร่ำรวยจากการที่ให้สมานล้มมวย ป.อินทรปาลิตยิ่งหัวเสียหนักเข้าไปอีก ประยูร หอมวิไลต้องคอยปลอบใจอยู่หลายวัน

ไม่กี่ปีต่อมา ป.อินทรปาลิตก็ได้นักมวยชื่อดังสองคนเข้ามาอยู่ในสังกัดด้วยคือ สมเดช ยนตรกิจ (ซ้ายฟ้าผ่า) ซึ่งแยกตัวออกมาจากค่าย "ยนตรกิจ" ของ "ครูตังกี้" กับธนู นฤภัย ค่ายอุรุพงษ์จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "เดชธนู" โดยนำเอาชื่อของนักมวยทั้งสองมาผสมกันเข้า ผู้ค้ากำปั้นคนอื่น ๆ นอกจากสมเดชกับธนูแล้ว ส่วนใหญ่เป็นนักมวย "โนเนม" ที่ชื่อเสียงยังไม่ติดอันดับในวงการหมัดมวย และก็มีเพียงไม่กี่คน

ค่ายเดชธนูไม่มีเวทีผ้าใบ นักมวยต้องใช้ลานบ้านเป็นพื้นที่ในการฝึกซ้อม แต่ก็มีกระสอบทรายและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็นอย่างครบครัน "เย็นเติลแมนสมาน ดิลกวิลาศ สุภาพบุรุษแห่งสังเวียน" ทำหน้าที่เป็นเทรนเนอร์ร่วมกับ ป.อินทรปาลิต


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ก.ค. 13, 23:09
ป.อินทรปาลิตสะท้อนความคิดเห็นที่มีต่อการต่อสู้ในกีฬามวย โดยถ่ายทอดผ่านคำพูดของสมาน ดิลกวิลาศ ในหัสนิยายชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน ตอนหมัดเด็ด ว่า

"โธ่ กลัวอะไรคุณ สิบนิ้วเหมือนกัน ไม่ใช่ว่ากินเหล็กกินไหลมาจากไหน เราเอาชนะมันไม่ได้ ก็ตายอยู่บนเวทีนั่นแหละ"

และอีกตอนหนึ่งในเรื่องเดียวกัน

...กิมหงวนกับนิกรยืนตาปริบ ๆ อาเสี่ยเขยิบเข้ามายืนข้างสมานแล้วกล่าวถามเบา ๆ

"ครู อ้ายพลมันจะสู้ได้หรือครับ?"

สมานยิ้มเล็กน้อย "สู้ได้หรือไม่ได้ ไม่แปลกหรอกครับ สำคัญว่าจะสู้เขาหรือไม่เท่านั้น ธรรมดานักมวย การแพ้หรือชนะเป็นของธรรมดา ถ้าหัวใจแข็งแกร่ง สู้จนกระทั่งวินาทีสุดท้ายก็ยังไว้ลายให้คนเห็น"


เป็นระยะเวลานานพอสมควรที่ ป.อินทรปาลิตให้การสนับสนุนนักมวยในค่าย "เดชธนู" เงินทุกบาททุกสตางค์ที่สมเดช ยนตรกิจ ธนู นฤภัย และนักมวยในความอุปการะของตนใช้กำปั้นและความเจ็บปวดไปแลกมา ป.อินทรปาลิตผู้อำนวยการค่าย "เดชธนู" ไม่เคยหักเอามาเป็นค่าใช้จ่ายเลยแม้แต่สตางค์แดงเดียว นักมวยทุกคนได้รับค่าตอบแทนจากหยาดเหงื่อแรงกายของตัวเองกันอย่างครบถ้วน

ป.อินทรปาลิตหมดค่าใช้จ่ายกับกีฬาโปรดของตนไปเป็นเงินหลายหมื่นบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลยสำหรับเมื่อสมัยสามสิบกว่าปีที่แล้ว ค่าตอบแทนทีได้รับจากการตั้งค่ายมวย "เดชธนู" ขึ้นในคราวน้้น บันทึกไว้ในความรู้สึกและความทรงจำของ ป.อินทรปาลิตแต่เพียงผู้เดียว

จาก หนังสือ ป.อินทรปาลิต ชีวิตของคนขายฝัน โดย เริงไชย พุทธาโร พิมพ์ครั้งที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๙

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley20.png)


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ค. 13, 08:25
นึกอยู่เหมือนกันว่ารายได้ของป.อินทรปาลิต คงจะหมดไปกับการลงทุนที่ไม่ได้ผลกำไรขึ้นมา     มีศิลปินน้อยคนนักที่ประสบความสำเร็จทางด้านธุรกิจ    เพราะอารมณ์ของศิลปินกับวิธีคิดต้นทุนกำไรของพ่อค้า เป็นคนละทางกันเลยทีเดียว


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.ค. 13, 16:44
พูดถึงการลงทุนที่ไม่ได้ผลกำไรของ ป.อินทรปาลิต นึกขึ้นได้ถึงเรื่อง "การเลี้ยงไก่"

จากหนังสือของคุณ เริงไชย พุทธาโร เล่มเดิมที่อ้างไว้ข้างต้น  ;)

แม้จะรู้ตัวว่าตนเองประกอบอาชีพอื่นใดก็ไม่ถนัดเท่ากับการเขียนหนังสือ แต่เมื่อครั้งที่เช่าบ้านอยู่ในซอยสีฟ้าราว ๆ ปี ๒๕๙๙-๒๕๐๐ ป.อินทรปาลิตเกิดเห็นดีเห็นงามไปกับการเลี้ยงไก่ขึ้นมา ซึ่งไม่ทราบว่าไปเห็นตัวอย่างมาจากใคร จึงคิดว่าไข่ที่เกิดจากไก่คงจะช่วยส่งเสริมรายได้ให้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างดีอีกส่วนหนึ่งด้วย นอกเหนือจากงานประพันธ์ ซึ่งต้องนั่งพิมพ์ดีดหลังขดหลังแข็งเป็นประจำทั้งวันทั้งคืนอยู่แล้ว

ป.อินทรปาลิตเป็นคนชนิดที่หากต้องการอะไรก็จะต้องเอาให้ได้ จะทำอะไรก็ต้องทำให้ได้ในทันทีทันใด ใครจะทักท้วงอย่างไรก็ไม่ฟัง เมื่อเกิดความคิดที่จะเลี้ยงไก่ขึ้นมา ก็จัดการไปเหมาไก่จากเจ้าของเล้าแถวซอยรางน้ำจำนวนหลายร้อยตัวด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไก่พันธุ์เล็กฮอร์น

ฟาร์มไก่ในซอยสีฟ้าอุบัติขึ้นทันทีโดยที่เจ้าของยังมีความรู้ไม่เพียงพอ ใครแนะนำอย่างไรหากฟังเข้าหูก็ทำตามไปทั้งหมด เมื่อมีคนบอกให้ใส่เปลือกหอยกับก้อนกรวด ก็หาเปลือกหอยและกรวดมาใส่ให้มันอย่างมากมาย ชนิดที่ว่าหากไก่เหล่านั้นกินเข้าไปจนหมด พวกมันก็คงจะต้องไข่ออกมาเป็น "หิน" กันทุกฟองเลยทีเดียว

ระยะแรกที่เลี้ยงใหม่ ๆ ก็เห่อไก่เป็นพิเศษ ป.อินทรปาลิตนั่งเขียนหนังสือจนตี ๑ ตี ๒ นึกอย่ากจะดูไก่ขึ้นมา ก็เปิดไฟลงไปดูสัตว์เลี้ยงในเล้าของตนกลางดึก ไก่ตกใจส่งเสียงร้องตีปีกซวนเซกันจ้าละหวั่น และไก่ที่ตื่นตระหนกนั้นมันก็ไม่ออกไข่ให้อย่างที่เจ้าของต้องการ

บางคืนไก่ในเล้าส่งเสียงร้องรบกวนสมาธิการทำงานของคนขายฝัน ป.อินทรปาลิตก็เปิดไฟ คว้าไม้ที่ใช้สำหรับตักอาหารไก่เดินดุ่มไปดวลกับพวกมันที่คอก "เสียงดีนัก ตีเสียนี่"

ในหนังสือ "ศาลาโกหก" นิตยสารรายเดือนขนาด ๘ หน้ายก สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นเป็นผู้จัดพิมพ์ เล่มแรกออกในราว ๆ พ.ศ. ๒๕๐๖-๒๕๐๗ และออกเป็นประจำไปจนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๕๑๑ มีหัสนิยายชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวนเป็นเรื่องยาวจบในฉบับ นอกจากนั้นก็เป็นบทร้อยกรอง คอลัมน์ และข้อเขียนต่าง ๆ ซึ่งป.อินทรปาลิตเป็นผู้บรรเลงคนเดียวตลอดทั้งเล่ม ยกเว้นแต่ภาพปกที่เป็นฝีมือของ "ศิลปินพันปก" อาภรณ์ อินทรปาลิต เท่านั้น

ป.อินทรปาลิตได้สรุปถึงเรื่องราวของการเลี้ยงไก่ครั้งนั้นไว้ใน "ศาลาโกหก" ฉบับหนึ่ง (ไม่ทราบ พ.ศ. ที่่พิมพ์) ดังนี้

ยังจำได้ไหม เมื่อคุณเคยเลี้ยงไก่..ไก่ คุณหวังจะขายไข่..ไข่ เหมาไก่เขามา แต่เลี้ยงไม่เป็น เลยเห็นผลทันตา ไก่ม้วยมรณาพาให้คุณหมดตัว ยังจำได้ไหม ไก่ไม่ออกไข่...ไข่ พอเช้าเห็นไก่...ไก่นอนหงายชี้ฟ้า...

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley16.png)


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: MANANYA ที่ 04 ส.ค. 13, 15:25
ผมขอขัดจังหวะสักนิดหนึ่งนะครับ คือในเรื่องที่ ท่าน ป.อินทรปาลิต ท่านเป็นเจ้าของค่ายมวยนั้น ... ผมมีความสงสัยอยู่นิดหน่อยว่า บังเอิญผมเคยไปอยู่บ้านใกล้ๆ กับท่าน .. ในตรอกโรงเรียนแมันศรี ไม่ไกลจากยศเส (เดี๋ยวนี้โรงเรียน และบ้านของผมถูกไฟไหม้วอดไปหมด เป็นอาคารพาณิชย์หมดแล้วครับ) .. หลังบ้านของผมติดกับหลังบ้านที่ท่านอยู่ .. หน้าบ้านเขียนป้ายว่า " ค่ายนาคราช " ผมย้ายไปใหม่ ๆ สมัยนั้นเรียนมัธยมต้นครับ .. เดินเกร่ ๆ ผ่านบ้านท่าน ไปมา .. สักสามสี่วันก็ได้พบกับเด็กหนุ่มรุ่นเดียวกัน จากในบ้านนั้น มาทักทายผม และเชิญผมเข้าไปในบ้าน .. อันที่จริงก็คือเข้าไปชวนซ้อมมวย .. ข้างในมีเครื่องเพาะกาย มีกระสอบทรายแขวนอยู่ ... ผมและเด็กชายคนนั้นไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แค่ได้รู้ว่าผมย้ายมาใหม่ ๆ เลยถือเป็นเพื่อนบ้านกัน.. เข้าไปใส่นวมซ้อมกันเป็นที่สนุก เขาแปลกใจนิด ๆ ว่าทำไมผมชกมวยเป็น อันที่จริงคุณพ่อผมท่านชอบเรื่องหมัดมวยมาก่อน และเคยสอนเทคนิคการชกเล็ก ๆ น้อยให้กับผม (ในอดีตท่านเคยเป็นเพื่อนรักของ ท่านอาจารย์นิยม ทองชิต ปรมาจารย์มวย ผู้ฝึกปรือฝีมือมวยให้แก่โผน กิ่งเพชร ในอดีตครับ) .. หลังจากลงนวมสนุกสนานแล้ว ถึงได้สอบถามกันว่าทำไมถึงติดชื่อค่ายนาคราช .. เด็กชายคนนั้นตอบผมว่า พ่อเขาคือ ชูชัย พระขรรพ์ชัย ..นักมวยไทยชื่อก้อง ...ตอนนั้นผมก็ยังเด็ก เพียงแค่ได้ยินชื่ออยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไร ... ซึ่งในเวลาหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน ก็ได้รับการแนะนำให้รู้จักกับท่านชูชัย พระขรรพ์ชัย ..และำภรรยาท่าน .. เป็นเรื่องภูมิใจนิดหน่อยที่ได้มีโอกาสพบกับนักมวยชื่อดังครับ ....


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: MANANYA ที่ 04 ส.ค. 13, 15:35
ผมขอต่ออีกสักเล็กน้อยนะครับ ... ภายหลังจากที่ผมได้พบกับคุณพ่อเพื่อน ซึ่งเป็นนักมวยเอกชื่อดัง และคุณแม่เพื่อนซึ่งเป็นภรรยาแล้ว... ผมก็ได้พบกับบุคคลอีกท่านหนึ่ง ซึ่งผมก็เคยได้ยินชื่อท่านมาก่อนแล้ว เพราะเคยอ่านหนังสือที่ท่านแต่ง คือคุณลุง ป.อินทรปาลิต.. ภรรยาของท่านเป็นพี่สาวของภรรยาท่านชูชัย พระขรรพ์ชัย ... ผมก็เลยได้มีโอกาสได้รู้จักท่านลุง ป. อินทรปาลิต นักแต่งนิยายผู้มีชื่อเสียงไปด้วยอีกคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ภายในบ้านเดียวกัน .. ผมเคยไปนั่งคุยกับท่านเล็กน้อย ท่านเ็ป็นคนอารมณ์ดี ชวนผมทานขนม .. ผมเห็นท่านแต่งนิยายกับเครื่องพิมพ์ดีดเลย ไม่มีการร่างในเศษกระดาษ ..ออกจากสมองของท่านในขณะนั้นจริงๆ  .. ผมได้รับการบอกเล่าว่า ท่านต้องการสมาธิในการแต่งนิยาย ถ้าเวลาท่านอยู่หน้าเครื่องพิมพ์ดีด ก็ไม่ควรไปชวนท่านคุย ... ผมสงสัยอยู่นิดเดียวว่า ท่านเสมือนญาติที่เป็นดองกับท่านชูชัย พระขรรพ์ชัย  แต่ไม่เห็นมีเรื่องการสนับสนุน ท่านชูชัย พระขรรพ์ชัย ในการขึ้นชกมวยบนเวที ... หรือว่าตอนนั้นคงหมดยุคของท่านชูชัย ไปก่อนแล้ว ... ตอนนั้นผมเห็นว่า ท่านชูชัย มิได้ซ้อมมวย หรือสอนมวยแก่ใครครับ .. แต่ท่านมีอาชีพเจียรพระพุทธรูป ทั้งเล็กและใหญ่ ที่เ็ป็นเนื้อหิน .. ผมเคยนั่งดูท่านทำ ท่านทำได้เก่งครับ พระทุกองค์สวย สง่า น่าชื่นชมบูชามากครับ ....ขอบคุณเรื่องของท่าน ป. อินทลปาลิต ที่ทำให้ผมได้รื้อฟื้นความทรงจำได้เล็กน้อยครับ .. ท่านชูชัย พระขรรพ์ชัย ท่านนามสกุล ฤทธิ์ฤาชัย ครับ แต่ผมจำชื่อจริงท่านไม่ได้ ...


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ส.ค. 13, 18:06
น่าจะชื่อชูชัยนะครับ สมัยผมเป็นเด็กสิบกว่าขวบไปบวชเณรภาคฤดูร้อนที่วัดเขาไกรลาศ หัวหิน ซึ่งเป็นสาขาของวัดราชบพิธ ได้ยินจากปากพระอุปัชฌาย์ท่านว่าชูชัยเคยอาสาจะสลักเขาไกรลาศทั้งลูกเป็นพระปางไสยาสน์ หากมีงบให้สักล้านบาทในยุคนั้น ผมยังถามว่าชูชัย พระขรรพ์ชัย นักมวยนี่น่ะหรือครับ(รู้จักเพราะอ่านจากพลนิกรกิมหงวนเหมือนกัน) ท่านบอกว่าใช่ เขาเป็นนักสลักหินฝีมือดีด้วย   แต่ทำไมจึงไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่ทราบ


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 13, 18:58
เคยอ่านพบชื่อชูชัย พระขรรค์ชัยในนิยายสามเกลอ หลายตอนด้วยกันค่ะ

ในหลายต่อหลายตอนของสามเกลอ ป. อินทรปาลิตได้กล่าวถึงชื่อของ "ชูชัย พระขรรค์ชัย" ในฐานะของนักมวยชื่อดังควบคู่ไปกับ "สมาน ดิลกวิลาศ" หรือสุภาพบุรุษแห่งสังเวียน ชูชัย พระขรรค์ชัย นั้นมีตัวตนจริงๆ เป็นนักมวยจริงๆ และยิ่งไปกว่านั้นเขายังเป็นญาติคนหนึ่งของ ป. อินทรปาลิต อีกด้วย กล่าวคือชูชัยได้แต่งงานกับน้องสาวของภรรยาคนที่สองของ ป. อินทรปาลิตนั่นเอง

ในตอนหนึ่งของหนังสือ "ชูชัย พระขรรค์ชัยรังสรรค์ถึง ป. และ มรว. ฉบับพิศดาร" เขาได้กล่าวว่า ป. อินทรปาลิตเคยคิดจะสร้างหนังในชุดสามเกลอ พล-นิกร-กิมหงวน โดยได้วางตัวให้ชูชัย พระขรรค์ชัยเป็นพล นิกรนั้นยังหาไม่ได้ ส่วนกิมหงวน ป. อินทรปาลิตได้ค้นพบนักศึกษาบัญชีจุฬาฯ คนหนึ่ง ชื่อคุณพงษ์สุนทร์ ซึ่งมีลักษณะที่เรียกว่าเกิดมาเพื่อที่จะเป็นกิมหงวนจริงๆ กล่าวคือ ผอม สูงหกฟุต ใส่แว่นสายตาสั้น กิริยาท่าทางเป็นอาเสี่ย แถมยังเป็นลูกครึ่งจีนอีกด้วย

อย่างไรก็ตามนายทุนต้องการเอาพวกนักแสดงตลกมาเล่นเป็นสามเกลอ เลยตกลงกันไม่ได้ ป. อินทรปาลิตก็ไม่ได้สร้างสามเกลอจากนักแสดงที่ได้ฝันเอาไว้ ภาพยนตร์สามเกลอบางตอนที่ถูกคนอื่นสร้างออกมาก็ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะบุคลิกลักษณะของตัวละคร ไม่ได้เป็นไปตามจินตนาการของคนอ่าน เพราะตัวเอกทุกตัวต้องเป็นลูกผู้ดีมีสกุล หรือเป็นลูกของมหาเศรษฐี แต่คนสร้างกลับเลือกเอานักแสดงที่เล่นตลกได้เก่งมาเล่นเป็นสามเกลอแทน
(จากหนังสือ "ชูชัย พระขรรค์ชัยรังสรรค์ถึง ป. และ มรว. ฉบับพิศดาร" โดยชูชัย พระขรรค์ชัย)


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 13, 19:01
... ผมสงสัยอยู่นิดเดียวว่า ท่านเสมือนญาติที่เป็นดองกับท่านชูชัย พระขรรพ์ชัย  แต่ไม่เห็นมีเรื่องการสนับสนุน ท่านชูชัย พระขรรพ์ชัย ในการขึ้นชกมวยบนเวที ... หรือว่าตอนนั้นคงหมดยุคของท่านชูชัย ไปก่อนแล้ว ...


ไปค้นประวัติคุณชูชัย  พบว่าท่านเกิดเมื่อพ.ศ. 2469  ในรัชกาลที่ 7   เมื่อคุณ MANANYA ไปเจอท่าน  ไม่ทราบว่าพ.ศ.ไหน  ลองบวกลบอายุดูเอง    ท่านอาจจะแขวนนวมแล้วก็ได้ค่ะ


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ส.ค. 13, 19:54
นักมวย พออายุเกิน๒๕ เซียนบนล๊อกก็เรียกว่ามวยแก่

นักมวยไทย หัดมวยกันตั้งแต่เด็ก อายุ๑๔-๑๕ก็ถูกพาไปเปรียบมวยตามงานวัดกันแล้ว


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 04 ส.ค. 13, 23:07
นักมวย พออายุเกิน๒๕ เซียนบนล๊อกก็เรียกว่ามวยแก่

นักมวยไทย หัดมวยกันตั้งแต่เด็ก อายุ๑๔-๑๕ก็ถูกพาไปเปรียบมวยตามงานวัดกันแล้ว

เดี๋ยวนี้เขาหัดกันตั้งแต่ ๗ ขวบครับ ๑๔-๑๕ นี้ต่อยตามเวทีต่างจังหวัดหากินแล้วครับ ขึ้นเวทีมาตรฐานเลย ไม่ใช่แค่งานวัดแล้วครับ นี่ถ้าไม่มี พรบ. มวย คงจะได้เห็นมวยเด็กต่ำกว่าสิบขวบเป็นแน่แท้

นอกจากนี้ ก็ยังมีการจัดมวยย้อนยุค โดยนำเอานักมวยเก่า ๆ อายุเฉียด ๆ ห้าสิบมาต่อยกันมากขึ้นแล้วนะครับ ล่าสุดก็เห็นจัดให้ นำขบวน เจอกับ แรมโบ้ ซึ่งผมว่า เป็นการทรมานแรมโบ้มาก ๆ เพราะแรมโบ้ประสาทเสียไปแล้ว ยังจับมาต่อยอีก

แต่ถ้าเป็นรุ่นก่อนหน้าคุณชูชัย  มวยไทยเขาจะถึงว่าอายุ ๒๕ นี้เพิ่งเริ่มต้น และจะไปถึงจุดสูงสุดเมื่ออายุ ๓๕ ครับ อ้างอิงจากงานเขียนของ ครูเขตร์ ศรียาภัย


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ส.ค. 13, 08:30
อ้างถึง
หน้าบ้านเขียนป้ายว่า " ค่ายนาคราช " ผมย้ายไปใหม่ ๆ สมัยนั้นเรียนมัธยมต้นครับ .. เดินเกร่ ๆ ผ่านบ้านท่าน ไปมา .. สักสามสี่วันก็ได้พบกับเด็กหนุ่มรุ่นเดียวกัน จากในบ้านนั้น มาทักทายผม และเชิญผมเข้าไปในบ้าน .. อันที่จริงก็คือเข้าไปชวนซ้อมมวย ..

คุณ MANAYA อยู่ม.ต้น  และร่างกายเติบโตพอจะซ้อมมวยได้  ก็คงอายุราวๆ 12-13  ปี    ประมาณพ.ศ. 2504-05   คุณชูชัยน่าจะอายุประมาณ 35-36  ปี  คงจะพ้นวัยชกมวยแล้วมั้งคะ


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: MANANYA ที่ 05 ส.ค. 13, 09:46
อ้างถึง
หน้าบ้านเขียนป้ายว่า " ค่ายนาคราช " ผมย้ายไปใหม่ ๆ สมัยนั้นเรียนมัธยมต้นครับ .. เดินเกร่ ๆ ผ่านบ้านท่าน ไปมา .. สักสามสี่วันก็ได้พบกับเด็กหนุ่มรุ่นเดียวกัน จากในบ้านนั้น มาทักทายผม และเชิญผมเข้าไปในบ้าน .. อันที่จริงก็คือเข้าไปชวนซ้อมมวย ..

คุณ MANAYA อยู่ม.ต้น  และร่างกายเติบโตพอจะซ้อมมวยได้  ก็คงอายุราวๆ 12-13  ปี    ประมาณพ.ศ. 2504-05   คุณชูชัยน่าจะอายุประมาณ 35-36  ปี  คงจะพ้นวัยชกมวยแล้วมั้งคะ
... ถูกต้องครับ ตอนนั้นอายุผมประมาณ 12-13 จริงๆ ... และท่านชูชัย คงจะอยู่ในวัยที่ท่าน NAVARAT.C ว่าไว้นะครับ .. แต่ท่านชูชัียคงจะเป็นคนรักษาร่างกายดีครับ ตอนนั้นผมยังจำได้ว่า ท่านดูหนุ่มแน่น หุ่นเฟิืร์มมาก มีแต่มัดกล้าม ไม่มีอ้วนลงพุงเลยละครับ ... คงเป็นวัยเลิกชกมวยแล้วหันมาประกอบอาชีพส่วนตัวแทนแล้ว .. จึงไม่มีข่าวเรื่องท่าน ป. อินทรปาลิต เป็นผู้ส่งเสริมจัดท่านชูชัยขึ้นชกมวยแต่อย่างใด ... ช่วงวัยนั้นผมเรียนที่โรงเรียนแม้นศรีพิทยาลัย ใกล้บ้านได้ 2 ปี (เดี๋ยวนี้ไฟไหม้ไปหมดแล้ว) .. แล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนไทยประสาทวิทยา หลานหลวง .. ยังจำได้ว่าเคยได้เห็นมิตร ชัยบัญชา ตัวจริง แต่ไม่ได้เข้าไปชื่นชมท่านใกล้ๆ เพราะตอนนั้นอยู่ในช่วงเวลาเรียน .. ได้ทราบว่า มิตร ชัยบัญชา ก็เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนไทยประสาทวิทยา ด้วยเช่นกัน คงมาเยี่ยมเยียนอาจารย์ .. เพราะตัวคุณมิตร ชัยบัญชา อาศัยอยู่ในระแวกวัดแคนางเลิ้ง ที่อยู่ใกล้ๆ กันครับ ...


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ส.ค. 13, 14:37
ยังจำได้ว่าเคยได้เห็นมิตร ชัยบัญชา ตัวจริง แต่ไม่ได้เข้าไปชื่นชมท่านใกล้ๆ เพราะตอนนั้นอยู่ในช่วงเวลาเรียน .. ได้ทราบว่า มิตร ชัยบัญชา ก็เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนไทยประสาทวิทยา ด้วยเช่นกัน คงมาเยี่ยมเยียนอาจารย์ .. เพราะตัวคุณมิตร ชัยบัญชา อาศัยอยู่ในระแวกวัดแคนางเลิ้ง ที่อยู่ใกล้ๆ กันครับ ...[/b][/color]

เอารูปมิตร ชัยบัญชามารำลึกความหลัง


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 02 พ.ย. 13, 00:26
ผมได้อ่านพล นิกร กืมหงวนคงเกือบทุกเล่ม เพราะปิดเทอมไปอยู่บ้านยาย น้าชายซึ่งเรียนหมอ เก็บพล นิกร กิมหงวนในตู้ 3 ชั้น ข้างหน้าเป็นกระจกใส หนังสือวางเรียงหันด้านสันปกออกนอก ที่สันปกมีชื่อตอน น่าจะถึง 100 เล่ม 3 เดือนอ่านจนหมดตู้ แถมยังมีเรื่องวนิดาอีก อ่านด้วยความสนุกเพลิดเพลิน

ป.อินทรปาลิตไม่ได้แต่งแต่เพียงหัสนิยาย ยังเขียนนิยายรัก โศกด้วย สำนวนไม่มีขำหรือทะเล้นเลย แต่กินใจ เรียกความรู้สึกได้
เปรียบป.อินทรปาลิตก็เหมือนกับเอลวิส เพรสลีย์ เพลงที่โด่งดังคือร็อค แต่ถ้าใครฟังเพลงช้าของเอลวิส อย่าง Crying in the Chapel, Blue Hawaii, Are You Lonesome Tonight ร้องเนียนมาก กินอารมณ์ (อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่เท่า แน็ท คิงโคล เพอรี่ โคโม่ พระเอกเรื่อง The Sound ซึ่งร้องได้ลึกกว่า เสียงใหญ่กว่า)


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 02 พ.ย. 13, 07:39
เพิ่งนึกออกครับว่า พระเอกเรื่อง The Sound ชื่อ Christopher Plummer ร้องเพลง Eldeweiss เพราะมาก


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ย. 13, 17:26
http://www.youtube.com/watch?v=7l8t85khtIw


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 02 พ.ย. 13, 18:39
THNKS

 :) :D ;D


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 19, 10:37
คุณปริญญา อินทรปาลิต หลานปู่ของคุณป. อินทรปาลิต เปิด facebook  พล นิกร กิมหงวน (หนังสือสามเกลอ ป.อินทรปาลิต)
https://www.facebook.com/groups/170320133419633/

แฟนสามเกลอในเรือนไทยเข้าไปคุยได้ค่ะ


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 19, 17:06
ไม่ว่าวงการใดๆ ย่อมมีมนุษย์สายพันธุ์ริษยาแทรกปนอยู่เสมอ แวดวงนักประพันธ์ก็มิผิดแผก ใครคนหนึ่งในกลุ่มนักเขียนได้กล่าวลับหลัง ป. อินทรปาลิต ว่า แม้คุณป. จะเขียนนิยายได้ทุกแนว แต่เขายังไม่ยอมรับฝีมือ นอกเสียจากคุณป.จะเขียนเรื่องตลกให้คนอ่านหัวเราะได้ เขาจึงจะก้มศีรษะคารวะ

เรื่องนี้รู้ไปถึง ๒ หูของท่าน ป. แต่ไม่ถือโทษโกรธเคือง ท่านตัดสินใจลบคำสบประมาทด้วยการเขียนหัสนิยายขึ้นมาเรื่องหนึ่งชื่อ ‘อายผู้หญิง’ (ปฐมบทสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน) เค้าโครงเรื่องเน้นจี้เส้นตลกโปกฮา พลกับนิกรเวลาอยู่ต่อหน้าพ่อแม่ จะทำตัวเรียบร้อย เงียบหงิม ขี้อาย ไม่ประสากับเรื่องใดๆ แต่เบื้องหลังทั้งสองคือ ‘เสือผู้หญิง’ และเป็นดาวสังคมที่ใครๆ รู้จักดีในชื่อของ ‘กำแหง’ กับ ‘ประชา’ จากนั้นก็จู๋จี๋กับสาวๆ แต่เต็มไปด้วยเหตุการณ์สนุกสนาน ขำขัน ฮาขี้แตกขี้แตน

‘อายผู้หญิง’ ขายดีเช่นเรื่องแนวอื่น จึงเขียนตอนต่อ ได้แก่ ‘หวงลูกสาว’, ‘หนุ่มรักสนุก’, ‘สองเกลอจอมแก่น’ ความจริง ป. อินทรปาลิต เจตนาเขียนหัสนิยายนี้เพียง ๕-๖ ตอนแล้วจะเลิก เพื่อพิสูจน์ให้ผู้ที่ปรามาสท่านได้รู้ว่า เรื่องตลก ท่านก็เขียนได้ไม่แพ้เรื่องอื่นๆ

แต่แฟนหนังสือพากันชอบและติดใจสองเกลอ ทำให้ท่านต้องเขียนติดต่อกันเรื่อยมา จนแตกหน่อต่อยอดเป็นสามเกลอและคณะพรรคสี่สหาย ไม่อาจเลิกเขียนได้ตามที่ตั้งใจไว้

บุคคลลึกลับที่ดูแคลนฝีมือ ป. อินทรปาลิต จะยอมรับความสามารถของท่านหรือไม่ ท่านไม่ทราบ แต่ทุกครั้งที่พบปะเจอะเจอบุคคลผู้นี้ เขาจะรีบหลบทันที ไม่กล้าสู้หน้าท่าน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นเคยพูดจาทักทายกันดี ท่านเองก็อยากคุยเขาเหมือนเดิม

สาเหตุคงเป็นเพราะเขาเกรงจะถูกต่อว่า อาจถึงขั้นมีปากเสียงกัน แต่เจ้าของบทประพันธ์สามเกลอต้องการพบเขาเพื่อกล่าวขอบคุณ ที่เขาช่วยชี้ช่องให้ท่านได้ค้นพบความถนัดของตนเอง คือเขียนนิยายแนวตลกเบาสมอง

จาก คุณปริญญา อินทรปาลิต ค่ะ


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 19, 17:24
ไปเจอข้อเขียนเกี่ยวกับการเสวนาผลงานของป.อินทรปาลิต   จึงนำมาลงไว้ในกระทู้นี้ค่ะ
ตน์ ตระการศิริวานิช’ นักธุรกิจรุ่นใหม่และยังเป็นนักอ่านตัวยงเป็นผู้ดำเนินการสนทนา

ป. อินทรปาลิต เป็นนามปากกาของ ‘ปรีชา อินทรปาลิต’ รู้จักกันดีในฐานะนักเขียนหัสนิยาย ‘พล นิกร กิมหงวน’ หรือ ‘สามเกลอ’ 

หัสนิยายมิใช่นวนิยายตามขนบที่เรารู้กัน หรือเรื่องสั้นที่มีตอนจบในตัวเอง แต่เป็นเรื่องแต่งที่สะท้อนภาพชีวิตของสังคม ของยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง กล่าวได้ว่า สามเกลอคือเรื่องราวที่ลำดับภาพสังคมไทยในช่วง 30 ปี ระหว่าง 2482 – 2511 สะท้อนเหตุการณ์ บรรยากาศ และสิ่งแวดล้อม พูดได้ว่าเกือบทุกด้านของสังคมไทย ซ้ำยังเคยผลิตเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์อีกด้วย

ศ.ดร. วิชิตวงศ์ เล่าให้ฟังว่า เคยพบ ป.อินทรปาลิต ตัวจริงเสียงจริง ซึ่งนับเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากยิ่ง

“ปี 2490 ผมไปออกนิตยสารฉบับหนึ่งที่โรงพิมพ์ใกล้ๆ เสาชิงช้า มีหนังสือพิมพ์สองฉบับมาออกพร้อมๆ กัน แบ่งที่ทำงานในโรงพิมพ์เดียวกัน ฉบับหนึ่งชื่อเอกราช รับผิดชอบโดยคุณอิศรา อมันตกุล อีกฉบับชื่อปิยมิตร มี ป. อินทรปาลิต เป็นผู้อำนวยการ ท่านยังเขียนคนเดียวทั้งเล่ม ซ้ำออกทุกวัน เป็นเรื่องอ่านเล่น นานๆ จะมีพล นิกร กิมหงวน แทรกอยู่ ท่านอายุราว 38 ปี

“ป. อินทรปาลิต มาทำงานแต่เช้า โดยขับรถยนต์มา สมัยนั้นคนยังไม่ค่อยมีรถยนต์กันหรอก ท่านนุ่งกางเกงขายาวสีขาว สวมเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว พับแขน ดูสะอาดเรียบร้อย ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ตอนนั้นผมยังอายุแค่ 18 ปีเท่านั้น ก็เกิดความชื่นชมในตัวจริงของนักเขียนใหญ่ที่เราชอบ”

นอกจากนี้ ศ.ดร. วิชิตวงศ์ ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า จากงานเขียนทั้งหมดกว่า 1,000 ตอนของสามเกลอนั้น หาได้มีคุณค่าเพียงแค่การสร้างเสียงหัวเราะ ทว่ายังเป็นวรรณกรรมที่ต้องศึกษาและจดจำใน 3 เรื่องด้วยกัน

“หนึ่งคือ เนื่องจากเรื่องราวกินระยะเวลากว่าสามทศวรรษ พูดได้ว่ามีการเขียนขึ้นแทบทุกเดือน ทำให้เราเห็นถึงวิวัฒนาการของสังคมไทย ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือที่เรียกกันว่าสมัยบ้านดีเมืองดี จนเกิดสงคราม และหลังสงคราม มีการบันทึกไว้หมด กระทั่งเรื่องนักมวยอย่าง โผน กิ่งเพชร หรือภาพยนตร์ต่างๆ ตรงนี้ไม่มีวรรณกรรมเล่มใดสะท้อนได้ขนาดนี้ แม้เอกสารของทางราชการเองก็ตาม

“สองคือการแทรกหลักคิดทางจริยธรรมต่างๆ ปลูกฝังความรักชาติ ความกล้าหาญ ความเสียสละ สุดท้าย ที่ได้รับคือความสนุกเพลิดเพลิน คลายเครียด เป็นยารักษาโรคต่างๆ แห่งยุคสมัยได้เป็นอย่างดี นี่คือ 1 ใน 100 เล่มที่คนไทยต้องอ่าน”


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 19, 17:25
ส่วน พลเอกบัญชรเล่าว่า ตนเป็นแฟนตัวจริงของท่าน ป. อินทรปาลิต โดยมีหนังสือเกือบทุกเล่มอยู่ในห้องหนังสือที่บ้าน

“โดยเฉพาะ พล นิกร กิมหงวน ถามว่าผมได้อะไรจากการอ่านเรื่องนี้ อารมณ์ขันนั่นได้แน่ๆ แต่คิดว่าอีกสิ่งคือ การคิดนอกกรอบเหมือนตัวละครทั้งหมด ที่คิดอ่านสิ่งใดไม่เหมือนคนธรรมดา ผมจึงกลายเป็นคนที่ไม่ค่อยยึดติดอยู่กับกรอบ อย่างการสอบเข้าเตรียมทหารนี่ ก็ทำไปโดยไม่ได้บอกพ่อเลย หรือการเขียนหนังสือ ผมก็ทำเลย มีอะไรอีกหลายอย่างที่ผมอยากทำ ก็ได้ทำ นั่นคืออิทธิพลจากหนังสือของ ป. อินทรปาลิต คือได้ทำในสิ่งที่ตนเองมีความสุข”

สุดท้ายในมุมมองของนักอ่านรุ่นใหม่ ศุภเจตน์บอกว่า รู้สึกทึ่งในความสามารถของผู้เขียน คนหนึ่งคนมีเรี่ยวแรงประพันธ์ได้นับพันชิ้น ที่สำคัญคือ ยังอ่านสนุกด้วย

“หากใครได้อ่านจะเห็นภาพเลยว่า คนไทยสมัยก่อนกินอยู่กันอย่างไร มีเรื่องไหนอินเทรนด์ในยุคนั้นๆ ส่วนอีกมุมหนึ่งนอกจากเชิงประวัติศาสตร์ ผมค้นพบว่า เราสามารถนำกลวิธีการเขียนของท่าน มาปรับใช้กับสื่อโซเชียลมีเดียได้ คือ ป. อินทรปาลิต มีการสื่อสารที่รอบด้านมากๆ ถ้าเปรียบเป็นเพจบนเฟซบุ๊ค นี่คือเพจที่มีเรื่องราวครบเครื่อง
มาก

https://pubat.or.th/%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%81/


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 พ.ค. 19, 08:37
ด้านชีวิตส่วนตัว  ป. อินทรปาลิตสมรสกับนางสาวไข่มุกด์ ระวีวัฒน์ คุณข้าหลวงของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี เมื่อ พ.ศ. 2472 มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 2 คน คือ
นายฤทัย อินทรปาลิต
นางฤดี (อินทรปาลิต) เคนนี่ สมรสกับนายแพทย์เดวิด เคนนี่

นางไข่มุกด์ ภรรยา นอกจากจะปฏิบัติหน้าที่แม่บ้านและเป็นแม่ของลูก ๆ แล้ว เธอยังเป็นนักอ่านนวนิยายอย่างแท้จริงคนหนึ่ง เป็นผู้มีความรอบรู้เรื่องต่าง ๆ เป็นอย่างดี ฉะนั้น จึงมีส่วนช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้แก่ ป. อินทรปาลิตตลอดมา จนกระทั่งเธอได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง เมื่อ พ.ศ. 2491

ต่อมา ป. อินทรปาลิต สมรสกับนางปราณี อินทรปาลิต ไม่มีบุตรด้วยกัน


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 พ.ค. 19, 08:38
อาการเจ็บป่วย และมรณกรรม
ป. อินทรปาลิต ได้ล้มป่วยด้วยโรคเบาหวาน เมื่อ พ.ศ. 2498 ได้รับการดูแลรักษาพยาบาลจาก นายแพทย์เดวิด เคนนี่ ผู้เป็นบุตรเขย อาการของโรคในระยะปีแรก ๆ ก็ไม่ร้ายแรงอะไรนัก

ต่อมา ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2510 อาการป่วยของ ป. อินทรปาลิต กำเริบขึ้น ถึงกับต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ การป่วยครั้งนี้มีอาการทางหัวใจและโรคปอดเข้าแทรก คณะแพทย์ได้ทำการรักษาพยาบาลอย่างดีที่สุด ได้พักรักษาตัวอยู่ประมาณหนึ่งเดือน แพทย์ก็อนุญาตให้กลับบ้านได้ ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2511 อาการของโรคเดิมได้กำเริบขึ้น จึงได้กลับเข้ารักษาตัว ณ ที่เดิมอีก คราวนี้รักษาตัวนานถึงสองเดือนเศษ และเมื่อทุเลาก็ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อกลับมาอยู่บ้าน มีอาการกำเริบบ้างเป็นครั้งคราว แล้วก็หายไป เป็นเช่นนี้เสมอมา และเนื่อจากชีวิตในบั้นปลายของ ป. อินทรปาลิต ต้องอยู่บ้านตามลำพัง เพราะบุตรชายหญิงทั้งคู่ต้องทำงานประกอบอาชีพ และแยกไปมีครอบครัวกันแล้วทั้งสิ้น ทั้งปราณีผู้เป็นภรรยา ก็ทำงานอยู่ ณ ร้านจำหน่ายหนังสือ ไม่สามารถจะลาหยุดบ่อย ๆ ได้ อาการป่วยเรื้อรังเช่นนี้ ควรจะได้มีผู้ดูแลประจำอยู่ พอดีกับน้องสาวและน้องเขย (นายชูชัย พระขรรค์ชัย) ของภรรยา ได้แสดงความมืน้ำใจเอื้อเฟื้อ ขอรับ ป. อินทรปาลิต ไปพักอยู่ด้วยกันที่บ้านของตนที่ซอยโชคชัย เพื่อจะได้มีโอกาสช่วยดูแลพยาบาล เป็นการตอบแทนบุญคุณที่ ป. อินทรปาลิต ได้มีต่อครอบครัวของตนอย่างดียิ่งมาช้านาน ซึ่งน้องสาวของภรรยาให้ความคารวะพี่เขยเสมอด้วยบิดาตน

โดยปกติแล้ว ป. อินทรปาลิต เป็นผู้ไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากใครง่าย ๆ หากด้วยความเอ็นดูน้องภรรยาที่ ป. อินทรปาลิต เคยอุปถัมภ์มาตั้งแต่เยาว์วัย จึงยอมรับการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทิตานั้น โดยได้ย้ายไปอยู่ ณ บ้านหลังดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2511
อย่างไรก็ดี ป. อินทรปาลิต เป็นผู้มีทิษฐิในการยืนอยู่เป็นตัวของตัวเองอย่างยิ่ง แม้จะเจ็บป่วยสักเพียงไรก็ยังสามารถหารายได้จากการเขียนหนังสือเลี้ยงครอบครัว อาจจะกล่าวได้ว่าตราบจนลมหายใจครั้งสุดท้าย โดยปราณีผู้เป็นภรรยาได้รับเงินค่าเรื่องจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ในตอนเช้าของวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2511 และเมื่อเวลา 18.15 น. ของวันเดียวกัน ป. อินทรปาลิต ก็ได้ถึงแก่กรรมโดยสงบด้วยอาการหัวใจวาย จะมีใครทราบล่วงหน้าก็หาไม่ รวมสิริอายุได้ 58 ปี

ป. อินทรปาลิต ได้รับการฌาปนกิจศพ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2512

จากวิกิพีเดีย


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: ปริญญา อินทรปาลิต ที่ 26 พ.ค. 19, 10:46
ขออนุญาตเรียนชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของ ป.อินทรปาลิต คุณปู่ผม จนกระทั่งท่านถึงแก่กรรม 

ความจริงได้ปรากฏภายหลังว่า ท่านเสียชีวิตด้วย โ ร ค ม ะ เ ร็ ง ซึ่งหมอได้แจ้งต่อญาติๆ เมื่อวาระสุดท้ายมาถึงแล้ว

แต่รายละเอียดที่มาของโรคนี้ผมไม่ทราบเนื่องจากตอนนั้นยังเด็ก จึงรู้กันเฉพาะในหมู่ญาติสนิทคือพี่น้องคุณปู่กับคุณพ่อผมและคุณอาผม รวมทั้งคุณชูชัย ฤทธิฦาชัยและภรรยา ซึ่งมีความสัมพันธ์ในฐานะญาติสนิทของผู้วายชนม์ ซึ่งทุกคน
เห็นพ้องต้องกันว่าจะไม่บอกกล่าวให้สังคมรับรู้ เพราะเกรงคุณปู่จะเสียชื่อ (จริงๆ แล้วการเป็นโรคมะเร็งนั้นมีสิทธิ์เป็นกันได้ทุกคน ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นแล้วจะเสียชื่อหรือได้รับเหรียญทองโอลิมปิก)

ถ้าจะให้ผมมโนก็คงเป็นเพราะคุณปู่สูบบุหรี่ (ทางตรงของมะเร็ง) แต่ตลอดเวลาที่ผมอยู่กับท่านจนทำหน้าที่ช่วยพิมพ์บทประพันธ์ตามคำบอก บุหรี่ที่คุณปู่จุดสูบ...ส่วนใหญ่จะลามไหม้หมดไปเอง เรียกว่ามวนหนึ่งท่านสูบได้แค่ ๒-๓ ครั้ง
แต่ละครั้งก็ไม่ได้ซี้ดให้ควันเข้าปอดจนศีรษะสั่นศีรษะคลอนเช่นคอยาทั่วไป และเหตุที่ท่านมัวใส่ใจกับการบอกบทประพันธ์ให้ผมพิมพ์ ไม่ได้หยิบบุหรี่มาสูบเลย บุหรี่จึงประท้วงด้วยการเผาไหม้ตัวเองจนดับไป

เมื่อมรณามาเยือนปู่ด้วยโรคมะเร็ง แต่ไม่มีญาติคนใดยอมเปิดเผยความจริงแก่สาธารณะ โรคปอดอักเสบอันเกิดจากการที่คุณปู่ลุกมาอาบน้ำกลางดึกในคืนหนึ่ง จึงกลายเป็นจำเลยที่ ๑ ในความรู้สึกของผู้ใกล้ชิดท่านตลอดจนแฟนหนังสือ
แล้วโรคปอดอักเสบยินยอมให้เบาหวานซึ่งเป็นโรคประจำตัวอยู่แล้วแทรกซ้อนเข้ามาเป็นจำเลยที่ ๒ โดยที่มะเร็งหลบมุมยิ้มแสยะด้วยความสะใจ เพราะไม่มีใครรู้ว่าเป็นจำเลยตัวจริง

เล่าสู่กันฟังครับ


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 พ.ค. 19, 11:08
มาต้อนรับค่ะ
เป็นความรู้ใหม่ ว่าเมื่อ 50 ปีก่อน  มะเร็งเป็นโรคเสียหายในสายตาญาติของผู้ป่วย
ไม่เข้าใจเหตุผลเหมือนกันค่ะ


กระทู้: ป.อินทรปาลิต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มิ.ย. 19, 08:01
หัสนิยายมิใช่นวนิยายตามขนบที่เรารู้กัน หรือเรื่องสั้นที่มีตอนจบในตัวเอง แต่เป็นเรื่องแต่งที่สะท้อนภาพชีวิตของสังคม ของยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง กล่าวได้ว่า สามเกลอคือเรื่องราวที่ลำดับภาพสังคมไทยในช่วง 30 ปี ระหว่าง 2482 – 2511 สะท้อนเหตุการณ์ บรรยากาศ และสิ่งแวดล้อม พูดได้ว่าเกือบทุกด้านของสังคมไทย ซ้ำยังเคยผลิตเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์อีกด้วย

ศ.ดร. วิชิตวงศ์ เล่าให้ฟังว่า เคยพบ ป.อินทรปาลิต ตัวจริงเสียงจริง ซึ่งนับเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากยิ่ง

“ปี 2490 ผมไปออกนิตยสารฉบับหนึ่งที่โรงพิมพ์ใกล้ๆ เสาชิงช้า มีหนังสือพิมพ์สองฉบับมาออกพร้อมๆ กัน แบ่งที่ทำงานในโรงพิมพ์เดียวกัน ฉบับหนึ่งชื่อเอกราช รับผิดชอบโดยคุณอิศรา อมันตกุล อีกฉบับชื่อปิยมิตร มี ป. อินทรปาลิต เป็นผู้อำนวยการ ท่านยังเขียนคนเดียวทั้งเล่ม ซ้ำออกทุกวัน เป็นเรื่องอ่านเล่น นานๆ จะมีพล นิกร กิมหงวน แทรกอยู่ ท่านอายุราว 38 ปี

“ป. อินทรปาลิต มาทำงานแต่เช้า โดยขับรถยนต์มา สมัยนั้นคนยังไม่ค่อยมีรถยนต์กันหรอก ท่านนุ่งกางเกงขายาวสีขาว สวมเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว พับแขน ดูสะอาดเรียบร้อย ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ตอนนั้นผมยังอายุแค่ 18 ปีเท่านั้น ก็เกิดความชื่นชมในตัวจริงของนักเขียนใหญ่ที่เราชอบ”

นอกจากนี้ ศ.ดร. วิชิตวงศ์ ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า จากงานเขียนทั้งหมดกว่า 1,000 ตอนของสามเกลอนั้น หาได้มีคุณค่าเพียงแค่การสร้างเสียงหัวเราะ ทว่ายังเป็นวรรณกรรมที่ต้องศึกษาและจดจำใน 3 เรื่องด้วยกัน

“หนึ่งคือ เนื่องจากเรื่องราวกินระยะเวลากว่าสามทศวรรษ พูดได้ว่ามีการเขียนขึ้นแทบทุกเดือน ทำให้เราเห็นถึงวิวัฒนาการของสังคมไทย ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือที่เรียกกันว่าสมัยบ้านดีเมืองดี จนเกิดสงคราม และหลังสงคราม มีการบันทึกไว้หมด กระทั่งเรื่องนักมวยอย่าง โผน กิ่งเพชร หรือภาพยนตร์ต่างๆ ตรงนี้ไม่มีวรรณกรรมเล่มใดสะท้อนได้ขนาดนี้ แม้เอกสารของทางราชการเองก็ตาม

“สองคือการแทรกหลักคิดทางจริยธรรมต่างๆ ปลูกฝังความรักชาติ ความกล้าหาญ ความเสียสละ สุดท้าย ที่ได้รับคือความสนุกเพลิดเพลิน คลายเครียด เป็นยารักษาโรคต่างๆ แห่งยุคสมัยได้เป็นอย่างดี นี่คือ 1 ใน 100 เล่มที่คนไทยต้องอ่าน”

https://pubat.or.th/%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%81/