เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 13, 09:47



กระทู้: เรื่องของสมี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 13, 09:47
สมี อ่านว่า สะหฺมี  เป็นภาษาโบราณ ใช้เรียกพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์ขั้นปาราชิก     เมื่อต้องอธิกรณ์แล้ว ผู้ที่เป็นสมีจะบวชไม่ได้อีกตลอดชีวิต
ความผิดขั้นปาราชิก ถือเป็นโทษหนักของ ภิกษุ   ภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิกสี่ข้อใดข้อหนึ่ง แม้จะไม่กล่าวลาสิกขาบท ก็ถือว่าขาดจากภาวะภิกษุทันทีที่กระทำความผิดลงไป

ปาราชิก มี 4 ข้อ ได้แก่

1  เสพเมถุน  คือสังวาสไม่ว่ากับคนหรือสัตว์
2  เอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน  โดยเจ้าของไม่ได้ให้  เรียกง่ายๆว่าขโมย
3  ฆ่าคน  หรือใช้อาวุธเพื่อประหัตประหารคน
4  กล่าวอวดอุตริมนุสธรรม ซึ่งเป็นธรรมวิเศษที่มนุษย์ทั่วไปทำไม่ได้  เช่นตาทิพย์ หูทิพย์ บรรลุธรรมขั้นใดขั้นหนึ่ง


กระทู้: เรื่องของสมี
เริ่มกระทู้โดย: hobo ที่ 06 ก.พ. 13, 10:38
คุณเทาชมพูทราบหรือไม่ว่า ปัจจุบันนี้มีพระสงฆ์รูปหนึ่ง เป็นลูกศิษย์พระที่ผมนับถือมากองค์หนึ่ง ซึ่งได้ล่วงลับไปแล้ว พระสงฆ์ลูกศิษย์ท่านนี้เขียนไว้ใน web ที่มีคนสร้างให้ท่านว่า ภิกษุแม้ปราชิกไปแล้ว ยังสามารถไปพรหมโลกหรือสวรรค์ได้ เพราะปราชิกห้ามนิพพานเท่านั้น ไม่ได้ห้ามสุขคติอื่นๆ เช่นสวรรค์และพรหมโลก จึงสามารถไปเกิดไปเทวดาหรือพรหมได้ ผมอ่านถึงตรงนี้แล้วก็ได้แต่ปลง ด้วยผมมีความรู้น้อย จำได้แต่ว่าพระพุทธเจ้าเรียกภิกษุต้องปราชิกว่าตาลยอดด้วน ไม่มีเจริญงอกงามในพระศาสนาของท่าน น่ากลัวจริงๆครับ นี่แค่พ.ศ. 2556 กว่าจะถึง 5000 ปี วันสุดท้าย พระศาสนาคงถูกบิดเบือนไปมากทีเดียว ขออภัยที่ขัดจังหวะครับ อัดอั้นตันใจมานาน ที่นั่นไม่ยอมให้ comment อาจารย์ของพวกเขาเสียด้วย หวังว่าจะไม่ไถลเข้าซอยลึกเกินไปครับ


กระทู้: เรื่องของสมี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 13, 11:25
 :-X  ค่ะ
ไม่อยากออกความเห็นค่ะ    ไม่มีอะไรทำให้ตีกันได้ง่ายเท่าเรื่องการเมืองกับศาสนา
ไปเจอเว็บหนึ่ง อธิบายเรื่องปาราชิกเอาไว้  สำหรับคนที่สนใจอยากจะรู้ว่าปาราชิกคืออะไร

http://trang82.wordpress.com/2011/05/25/%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%81-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/


กระทู้: เรื่องของสมี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 13, 13:01
สมีมีมาทุกยุคทุกสมัย  เช่นเดียวกับพระสงฆ์ที่ทำผิดพระธรรมวินัยด้านอื่นๆ  ทั้งๆห่มเหลืองก็ไม่วายเถลไถลออกนอกทางมากบ้างน้อยบ้าง    เป็นพระราชภารกิจของพระเจ้าแผ่นดินต้องมากวดขัน ล้างคราบโคลนออกจากผ้าเหลืองให้เหลือแต่ผู้ที่สะอาดจริงๆ   ในรัชกาลที่ 1 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงครองราชย์ใหม่ๆ ก็ต้องทรงชำระสะสางพุทธศาสนาเป็นเรื่องใหญ่ เห็นได้จากโปรดฯให้ตรากฎหมายคณะสงฆ์ที่เรียกว่ากฎพระสงฆ์ขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๓๔๔   รวม  ๑๐  ฉบับ  เพื่อกวดขันเข้มงวดกับพระสงฆ์   ให้ประพฤติปฏิบัติตนเคร่งครัดในพระธรรมวินัย  ให้พระราชาคณะเจ้าอธิการและเจ้าหน้าที่สังฆการี  ทำการกำกับดูแลและลงโทษผู้ที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัย  ตามสมควรแก่โทษหนักเบาที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้   รวมทั้งที่ทรงตราไว้ในกฎพระสงฆ์นี้ด้วย   

ในกฎพระสงฆ์นี้  ทรงระบุชื่อเอาไว้ชัดเจนเป็นกรณีๆ ไปเลยทีเดียว  ว่าพระสงฆ์องค์ไหนทำอะไรผิดบ้าง     เรียกว่าในสมัยโน้น ท่านไม่กะมิดกระเมี้ยนเห็นแก่หน้ากัน     ผิดเป็นผิด    ไม่สนับสนุนกันให้พวกมากลากไป  ทั้งนี้เพื่อรักษาศาสนาไว้ให้บริสุทธิ์จากเหลือบที่แอบแฝงอยู่

ขอคัดมาให้อ่านตอนหนึ่งค่ะ

ภิกษุสงฆ์ทุกวันนี้ตั้งอยู่ในภูมิอันประเสริฐแล้ว    มิได้รักษาประปาติโมกข์ตามอริยวงศ์ประเพณี  ปฏิบัติเข้าระคนคบหาฆราวาส   ติดด้วยเบญจกามคุณ   มิได้เห็นแก่พระศาสนา   เห็นแก่หน้าบุคคล  รับฝากเงินทองของฆราวาส   ฆราวาสมิได้คิดแก่พระศาสนา   เข้าเป็นญาติโยมปฏิบัติด้วยเสน่หาอาลัย  ให้กะปิจังหันแก่ภิกษุโดยคุณปัตติคุณแก่กัน  ให้เสียศีลสิกขาบทไป   

ดุจหนึ่งสมีรักวัดบางหว้าใหญ่   รับเข้าของเงินทองของอี่เพงไว้เป็นอันมาก   อี่เพงเป็นกบฏโทษถึงตาย   สิ่งของอี่เพงเป็นของหลวงตามบทพระไอยการราชอาณาจักรสืบมาโดยโบราณราชประเพณี    เนื้อความทั้งนี้ก็ปรากฏทั่วพระนคร  แขวงจังหวัด  ถ้าสมีรักรักสิกขาบทจริง   ก็จะขวนขวายเอาของฝากนั้นมาแจ้งแก่สมเด็จพระสังฆราชและราชาคณะผู้ใหญ่ทั้งปวง  ให้ปรึกษาตามบทพระวินัยว่า ทรัพย์นี้เป็นของของหลวง  หรือยังเป็นของอี่เพงอยู่จึงจะควรแก่สมณะ    นี่สมีรักปิดบังไว้   มิได้ให้ราชาคณะทั้งปวงรู้   อนึ่งก็ได้โปรดให้ป่าวร้องเป็นหลายครั้ง   สมีรักก็มิได้บอกแก่ผู้ใด   

ต่อไอ้มี  ชื่อให้การออกว่าของอี่เพงฝากไว้แก่สมีรักเป็นอันมาก   จนตรัสใช้ให้ราชบุรุษมา   สมีรักจึงสำแดงแก่ราชบุรุษ..... ฉะนี้ก็เห็นในสมีรักว่าสมีรักองอาจหยาบช้า   หาอาลัยต่อสิกขาบทไม่   หลายครั้งมาแล้ว   เกลือกสมีรักแกล้งบังเอาของของเขาไว้   เจ้าของขาดอาลัยก็จะขาดสิกขาบทอยู่ก่อนแล้ว   หากแต่สมีรัก   กลัวภัยในปัจจุบันกว่ากลัวภัยในอนาคต   จึงสู้สบถสาบาน  ให้การต่อพระราชาคณะ   พระราชาคณะพิพากษาว่าต้องแต่อาบัติปาจิตตีย์   สมีรักเป็นโลกีย์มีภยาคติ    ยังกลัวความตายอยู่   จะเชื่อเอาสบถสาบานสมีรักนั้นไม่ได้   ก็เห็นว่าสมีรักยังหาปราศจากมลทินโทษไม่  โดยกระแสทางการพิจารณา   เห็นเนื้อความใหญ่ทั้งสองข้อ   ฝ่ายพุทธจักราณาจักร   เป็นปัจจัยถึงกันติดพันสมีรักอยู่   แต่หากทรงพระกรุณาว่า   ยังหามีพระราชกำหนดกฎหมายไม่  จึงงดโทษสมีรักไว้  แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า   อย่าให้ภิกษุสามเณรดูเยี่ยงอย่างสมีรัก   ห้ามอย่าให้ภิกษุสามเณรดูเยี่ยงอย่างสมีรัก


กระทู้: เรื่องของสมี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 13, 13:13
ห้ามอย่าให้ภิกษุสามเณรทั้งปวงรับของฝากฆราวาส   จะเสียพระวินัยพระศาสนาไป   ถ้าภิกษุไม่รับฝาก ห้ามปรามผู้ฝาก   ผู้ฝากมิฟัง   กลัวภัยขืนทิ้งไว้ที่กุฏิ...เร่งเอาเพื่อนพรหมจรรย์ที่ใกล้กันให้หลายองค์รู้เห็นเป็นพยาน...พาสงฆ์ซึ่งรู้เห็นนั้นไปแจ้งเนื้อความ  และสิ่งของแก่พระราชาคณะเจ้าอธิการ   พระราชาคณะเจ้าอธิการจงประชุมนุมกันปรึกษาจงละเอียดให้ต้องตามพระวินัยบัญญัติ....

ถ้าพระสงฆ์ราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยจะปรึกษาประการใด  จงประพฤติตาม   ให้สงฆ์เป็นอันมากรู้เห็นเป็นพยานไว้..... อย่าให้ผู้อื่นแคลงในพระพุทธศาสนา   แลห้ามฝ่ายฆราวาส   อย่าให้เอาของเงินของทองไปฝากภิกษุสามเณรไว้    ทำให้เจ้ากูเสียวินัยสิกขาบทเป็นอันขาดทีเดียว   ถ้าผู้ใดมิได้กระทำตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้   ฝ่ายภิกษุสามเณรจะลงพระอาชญาโทษดุจโทษอทินนาทานปาราชิก   จะสึกออกขับเฆี่ยนจงสาหัส   ฝ่ายฆราวาสจะให้ริบราชบาตร    ขับเฆี่ยนจงหนักโดยโทษานุโทษ  

ข้อความข้างบนนี้ เล่าใหม่ให้อ่านง่ายๆว่า มีพระสงฆ์นามว่า พระรัก  อยู่วัดบางหว้าใหญ่   รับข้าวของเงินทองของมีค่าจากสีกาชื่อแม่เพงที่นำมาถวาย  ต่อมาแม่เพงต้องโทษว่าเป็นกบฏ  หลวงท่านเลยเรียกว่าอีเพง   ทีนี้อีเพงต้องโทษประหารไปตามข้อหา  สำหรับคนที่ทำผิดต่อแผ่นดิน สมบัติข้าวของเงินทองของอีเพงก็ต้องโดนริบราชบาทว์ ตกเป็นของหลวง     แต่พระรักทำเฉยไม่รู้ไม่ชี้  เก็บปากเงียบ   ไม่แจ้งกับเจ้าอาวาสหรือพระผู้ใหญ่ว่าตัวเองรับฝากของไว้   จนกระทั่งมีชาวบ้านชื่อนายมีร้องเรียนขึ้นมา  พระรักถึงยอมบอก   จึงถูกพระเถระผู้ใหญ่ตัดสินโทษว่าต้องอาบัติปาจิตตีย์  (คืออาบัติเล็ก) ยังไม่ขาดจากพระ


กระทู้: เรื่องของสมี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 13, 14:06
แต่สมีรักเห็นทีจะโดนจับสึก  เพราะในเนื้อความเรียกว่าสมี ไม่ได้เรียกว่าพระ     แม้ทางวัดจะตัดสินโทษแค่อาบัติปาจิตตีย์   แต่ทาง"วัง" หรือ "บ้านเมือง" เห็นว่าเอาไว้ในผ้าเหลืองต่อไปไม่ได้    เพียงแต่ว่ายังไม่มีตัวบทกฎหมายก่อนหน้านี้ที่ให้ลงโทษพระสงฆ์ที่ 'อม' ข้าวของหลวงเอาไว้ไม่แจ้งให้รู้     ก็เลยทรงพระกรุณางดโทษตามกฎหมาย     คือไม่เอาสมีรักเข้าคุกข้อหายักยอกของหลวง   แต่ก็ต้องออกจากวัดมาเป็นชาวบ้าน และบวชอีกไม่ได้   เพราะถูกประทับตราว่าเป็นสมีไปแล้ว

ความผิดของสมีรัก จึงเป็นเหตุให้ทรงตรากฎหมายขึ้นเป็นข้อใหม่    ห้ามพระภิกษุสามเณรรับของฝากจากชาวบ้านมาเก็บไว้ในกุฏิ   และห้ามชาวบ้านเอาข้าวของเงินทองไปฝากพระ    ถ้าฝ่าฝืน  ทางพระจะโดนข้อหาหนักเท่ากับขโมยของ ซึ่งเป็นความผิดขั้นปาราชิก   นอกจากถูกจับสึกแล้วยังโดนเฆี่ยนอย่างหนักเป็นของแถมด้วย    ส่วนชาวบ้านที่ฝ่าฝืนเอาข้าวของเงินทองไปฝากพระ ก็จะโดนริบราชบาทว์ คือริบทรัพย์เกลี้ยงหมด  รวมโดนริบลูกเมียด้วย  แล้วก็ถูกเฆี่ยนหนักแถมชั้นหนึ่ง

จะเห็นได้ว่า ทรงเข้มงวดมาก ไม่ให้พระสงฆ์เข้าใกล้เงินๆทองๆ     อย่าว่าแต่ถึงขั้นไปหยิบเงินทองเขามาเลย  แค่ชาวบ้านเอามาฝากให้เก็บไว้ในกุฏิ ด้วยความเต็มใจของเจ้าของเงินเอง ก็ยังเป็นโทษหนัก       

ทำไมท่านถึงเล่นงานหนักขนาดนี้    ว่าตามเหตุผล เราก็พอจะมองเห็นได้หลายข้อ ข้อแรกคือพระวินัย    พระสงฆ์ในพุทธศาสนาออกจากทางโลกมาสู่ทางธรรม ต้องสละทุกอย่าง ไม่ว่าบ้านช่องพ่อแม่ลูกเมียและทรัพย์สมบัติ     ห้ามสะสม  แม้แต่มีเงินติดตัวก็ไม่ได้    ทีนี้ ท่านเกิดทำตัวเป็นเซฟธนาคาร  รับเงินทองของมีค่าของชาวบ้านมาเก็บไว้มากมายใกล้ตัว  มันก็ของล่อใจให้เห็นทุกเมื่อเชื่อวัน จะตัดขาดได้อย่างไร  ดีไม่ดีแพ้มารผจญเอาง่ายๆ  ก็จะเศร้าหมองแก่ชีวิตท่านและหมองมัวไปถึงวัด   จนถึงพุทธศาสนาโดยรวมด้วย

ข้อที่สองคือเงินเหล่านี้ ชาวบ้านจะได้มาอย่างถูกต้องหรือผิดกฎหมายผิดศีลธรรมอย่างใดก็ไม่รู้ได้    แอบเอามาฝากพระไว้  ก็ลำบากแก่ทางการบ้านเมืองถ้าเกิดจะต้องสืบหา  หรือติดตาม  หรือริบทรัพย์สินเหล่านี้  ต้องไปรื้อค้นกุฏิกันวุ่นวาย   หรือถ้าเจ้าของตาย ลูกหลานแย่งมรดกกัน  ก็จะยุ่งถึงพระต้องถูกลากเข้าไปร่วมวงแย่งมรดกด้วย     ไม่เป็นศักดิ์เป็นศรีแก่พระและแก่วัดเลยสักนิด

ข้อที่สามคือความปลอดภัย    ธนาคารถูกปล้นได้ง่ายฉันใด  พระสงฆ์ที่รับฝากเงินทองของมีค่าก็จะถูกคนร้ายใจบาปบุกเข้ามาปล้นได้ง่ายๆฉันนั้น   พระสงฆ์ผู้ไม่มีทางป้องกันตัว ก็จะถูกทำร้าย กลายเป็นเรื่องเดือดร้อนกันไปหลายฝ่าย    แต่ถ้าเป็นที่รู้ทั่วกันว่าในวัดและในกุฏิไม่มีเงินเลยสักบาท   ผู้ร้ายที่ไหนจะเข้ามา   พระท่านก็ปลอดภัย


กระทู้: เรื่องของสมี
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 06 ก.พ. 13, 17:52
รู้จักคำว่าสมีแล้วก็ต้องมาถามต่อตามประสานักเรียนที่ดี แล้วคำว่า "ตาเถร" ใช้เรียกอะไรครับ  จริงๆ ยังมีคำอื่นอีกเช่นมหา แต่พอจะรู้ว่าใช้เรียกคนที่เคยบวชเรียนศึกษาบาลีจนได้เปรียญ 3 ประโยคขึ้นไป


พูดเรื่องศาสนาแล้วมันรู้สึกเสียวๆ เดี๋ยวดราม่า โดยเฉพาะศาสนาพุทธ เพราะตอนนี้ดูเหมือนคนจะมองที่เปลือกมากกว่าแก่น   ให้ความสำคัญกับพิธีกรรม รูปแบบหรือสัญลักษณ์ มากกว่าแก่นแท้ของคำสอน เราเลยเห็นพุทธมาเก็ตติ้งเยอะเลย  เช่นพิธีกรรมที่เน้นความยิ่งใหญ่อลังการ  อย่างบางสำนักนี่พิธีกรรม การประดับธงทิวเค้า ยังกะลอกแบบมาจากความอลังการที่ฮิตเลอร์ช่วงก่อนสงครามโลกใช้เลย  
ลองดูคลิปที่แนบมา ลองจินตนาการเปลี่ยนเครื่องแบบทหารเป็นจีวร เปลี่ยนท่านาซีสลุตเป็นท่ากราบ  ดูธงทิว ดูขบวนพาเหรดนี่แทบจะเหมือนพิธีกรรมบางสำนักเลย  ;D

http://www.youtube.com/watch?v=VkgAAtvq0cw


อย่างตอนนี้พี่สาวผมไปติดสำนักนึงที่เน้นอิทธิปาฏิหารของเจ้าสำนักเป็นจุดขาย ใช้วิธีบอกกลายๆ ว่าเจ้าสำนักบรรลุแล้ว ไม่ต้องเกิดแล้ว มีการออกหนังสือโปรโมทขายเต็มไปหมดเน้นความศักดิ์สิทธิ์ที่พิสูจย์ไม่ได้เป็นหลัก ตัวเจ้าสำนักเองก็เว่อร์ ไปไหนมาไหนขี่ ฮ. บ้าง รถเบนท์ลีย์บ้าง  พี่สาวให้รูปเจ้าสำนักมาแขวนหน้ารถเพื่อเป็นสิริมงคลแต่พอผมเห็นรูปเจ้าสำนักไปทำท่าคิกขุถ่ายรูปกับรถเบนซ์ที่เมืองนอกเลยเอาทิ้งถังขยะไปนานแล้วแต่ยังไม่กล้าบอกพี่สาวเลย



อ้าว ว่าไปแหม่บๆ ว่าเสียวดราม่า เริ่มก่อดราม่าซะเองแล้ว  >:(


กระทู้: เรื่องของสมี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 13, 18:37
คำถามของคุณประกอบ ขอส่งต่อให้ท่านสมาชิกที่เคยบวชเรียนมาแล้วช่วยตอบแทน   ดิฉันตอบเองเกรงว่าจะผิด  แต่รู้ข้อหนึ่งว่า ตาเถน กับ เถร (หรือเถระ) ไม่เหมือนกัน
รอยอินบอกว่า
เถน       น. นักบวชที่เป็นอลัชชี. (ป. เถน ว่า ขโมย).
เถร, เถร, เถระ  น. พระผู้ใหญ่ ตามพระวินัยกําหนดว่า พระมีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป เรียกว่า พระเถระ.

สมัยก่อนโน้นมีนิทานสัปดน เรียกว่าเรื่องตาเถนยายชี  คือเป็นเรื่องทะลึ่งของนักบวชที่ทำอะไรบ้าๆบอๆละเมิดศีล        แต่ต่อมาไม่ค่อยมีใครรู้จักคำว่า เถน   กลับไปใช้ปนกับ เถร    เลยกลายเป็น"ตาเถร" ไป  

พวกบวชเรียนบาลีได้ 3 ประโยคขึ้นไปเขาเรียกว่า "มหา" ไม่ใช่หรือคะ?

ส่วนข้อข้องใจของคุณประกอบ  ดิฉันขอยกพระพุทธวัจนะขึ้นมาให้อ่านดีกว่า

 “.....ดูก่อนอุบาลี เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดแลว่า   ธรรมเหล่านี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานโดยส่วนเดียว เธอพึงทรงธรรมเหล่านั้นไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่เป็นคำสั่งสอนของพระศาสนา ส่วนธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานโดยส่วนเดียว  นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา”

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
วินัยวรรคที่ ๓

ถ้าอิทธิปาฏิหาริย์อย่างเจ้าสำนักที่คุณประกอบเล่ามา  เป็นสิ่งที่เห็นแล้ว ทำให้ผู้เป็นศิษย์เกิดความเบื่อหน่ายในสรรพสิ่ง  คลายกำหนัด  เกิดความดับ เกิดความสงบ เกิดความรู้แจ้งในนิพพาน  อิทธิปาฏิหาริย์นั้นก็เป็นธรรมะ เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา    แต่ถ้าเห็นแล้ว ไม่เกิดทั้งหมดที่ว่ามานี้  เห็นแต่ปลื้มในตัวเจ้าสำนัก     ก็ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ และแน่นอนว่าไม่ใช่พระธรรม

จบแค่นี้ละค่ะ เดี๋ยวดราม่าตามคุณประกอบไปอีกคน


กระทู้: เรื่องของสมี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.พ. 13, 08:29
สมัยก่อนโน้นมีนิทานสัปดน เรียกว่าเรื่องตาเถนยายชี  คือเป็นเรื่องทะลึ่งของนักบวชที่ทำอะไรบ้าๆบอๆละเมิดศีล        แต่ต่อมาไม่ค่อยมีใครรู้จักคำว่า เถน   กลับไปใช้ปนกับ เถร    เลยกลายเป็น"ตาเถร" ไป

คำว่า "ตาเถร" เขียนโดยใช้ ร เรือสะกด ถูกต้องแล้ว

คำว่า "เถร" (อ่านว่า เถน) นอกจากคำอธิบายของท่านรอยอินแล้ว ยังมีคำอธิบายอยู่อีกแห่งหนึ่งในประกาศพระบรมราชโองการ รัชกาลที่ ๔

คุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์ เขียนเอาไว้ในคอลัมน์ "เวียงวัง" เรื่อง "เถร-เถน" (http://writer.dek-d.com/bird711/story/viewlongc.php?id=524172&chapter=249) ไว้ว่า.......

ประกาศนั้นว่า “ประกาศเรื่องเถรจั่นแทงผู้มีชื่อแล้วหนีไป และห้ามบวชกุลบุตร อายุพ้น ๒๔ ถึง ๗๐ เป็นเถรเป็นเณร”

อนุสนธิจากเรื่องเถรจั่นนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงได้โปรดฯให้ประกาศพระบรมราชโองการ ความตอนหนึ่งว่า

“ทุกวันนี้ คนพาลอายุเกินอุปสมบท หลีกหลบเข้าบวชเป็นเถรเป็นเณร อาศัยวัดทำการทุจริตหยาบช้าต่าง ๆ มีเป็นอันมาก

(ดังนั้นหาก) กุลบุตรจะบวชเป็นสามเณร ตั้งแต่อายุยังอยู่ในทารกภูมิไปจนถึงอายุได้ ๒๑ ปี (ซึ่ง) สมควรที่จะอุปสมบทพระภิกษุ (แต่) แม้นมีความขัดข้องด้วยเหตุอันใดอันหนึ่งมิได้อุปสมบท ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสามเณรไปอีก ๓ ปี จนถึงอายุ ๒๔ ปี ถ้าพ้นไปกว่านี้ให้สึกเสียเป็นคฤหัสจะได้รับราชการแผ่นดิน ห้ามอย่าให้บวชเป็นเถรเป็นเณรสืบไปอีกกว่านั้น

อนึ่ง ถ้าภิกษุชราอายุถึง ๗๐ ปีแล้ว จะปฏิบัติในสมณธรรมมิได้ (ต้องการ) จะประจุออกบวชเป็นเถรเป็นเณร ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บวชมิได้ห้าม

และ แม้นคฤหัสถ์ชรา อายุล่วงถึง ๗๐ ปี แล้ว จะหากินเลี้ยงชีวิตฆราวาสนั้นขัดสน หากบวชเป็นเถรเป็นเณร พอได้บิณฑบาตฉันเลี้ยงชีวิตโดยง่าย ก็จะได้หักบาญชีคฤหัสถ์

ห้าม แต่อายุกว่า ๒๔ ขึ้นไปจนถึง ๗๐ ปี มิให้บวชเป็นเถรเป็นเณรในระหว่างนั้นเป็นอันขาดทีเดียว"

ในประกาศยังทรงคาดโทษไว้อีกด้วยว่า

“แม้นล่วงพระราชบัญญัติครั้งนี้ อุปัชฌาย์ อาจารย์ผู้บวชให้ก็จะมีโทษฝ่ายพุทธจักร ตัวกุลบุตรผู้บวชก็จะมีโทษทั้งฝ่ายพุทธจักร และพระราชอาณาจักรทั้ง ๒ ฝ่าย เป็นมหันตโทษ”

สรุปแล้ว ก็คือ

เถร (อ่านว่า เถ-ระ) คือพระผู้ใหญ่ ดังเช่นเรียกคณะสงฆ์ผู้ใหญ่ว่า พระเถรานุเถระ

เถร (อ่านว่า เถน) ผู้ชายอายุเกินกว่า ๗๐ บวชเป็นเถร อย่างเด็กบวชเป็นเณร นุ่มขาวห่มขาว ถือศีลกินนอนในวัด (คำนี้ไม่มีอธิบายในพจนานุกรม มีแต่ในประกาศพระบรมราชโองการ รัชกาลที่ ๔ ดังเล่ามาแล้ว)

เถน พระที่เป็นอลัชชีสึกออกมา ซึ่งไม่ใช่เถร (อ่านว่า เถน) ที่นุ่งขาวห่มขาวอยู่วัด ดังในประกาศพระราชโองการ

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3276.0;attach=9565;image)


กระทู้: เรื่องของสมี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.พ. 13, 08:37
ถ้างั้น เถรขวาด อยู่ประเภทไหนหนอ?


กระทู้: เรื่องของสมี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.พ. 13, 21:12
พระสงฆ์ที่ต้องปาราชิกในสมัยรัชกาลที่ 1 มีหลายรูปด้วยกัน     ความผิดแตกต่างกันไป  แต่รวมแล้วเข้าขั้นปาราชิกเหมือนกัน     สมัยนั้นสมีปาราชิกก็คงจะดื้อด้านไม่น้อยไปกว่ายุคสมัยอื่นๆ   คือทำผิดแล้วก็ยังทำไม่รู้ไม่ชี้  วางตัวเป็นพระสงฆ์อยู่ในวัดต่อไปอีกเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น   ทางวัดก็คงจะจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้    ร้อนถึงพระเจ้าแผ่นดินต้องทรงลงมาจัดการเอง  จึงมีกฎพระสงฆ์ฉบับที่ ๕ เกิดขึ้น
ผู้ปกครองบ้านเมืองสมัยนั้นท่านจัดการกับมารศาสนาได้เฉียบขาดไม่ใช่เล่น   เห็นได้จากเมื่อจับได้ว่าคนห่มเหลืองคนไหนกลายจากพระเป็นสมีไปแล้ว   ท่านก็เรียกอย่างคนทำผิดกฎหมายเลยว่า "ไอ้"   ไม่ต้องมาละเว้นเห็นแก่หน้ากัน    พูดอีกทีว่าท่านไม่ถือคติ "ชั่วช่างชี  ดีช่างสงฆ์"  

กฎให้ไว้แก่สังฆการีธรรมการ

สมเด็จพระบรมนารถบพิตร ฯ..... มีพระราชโองการ ฯ สั่งว่า ไอ้มาต้องเมถุนปาราชิกแล้ว มิได้กลัวบาปละอายแก่บาป ปฏิญาณตัวว่าเป็นภิกษุ เข้ากระทำสังฆกรรมด้วยพระสงฆ์ เป็นอุปัชฌาย์บวชนาค ปลอมเข้าผูกโบสถ์แลรับกฐิน..... ไอ้ชูต้องอทินนาทานปาราชิก..... แล้วปกปิดโทษไว้ ปฎิญาณตัวว่าเป็นภิกษุสมณะนั่งหัตถบาทบวชนาค เข้าผูกอุโบสถทำสังฆกรรมด้วยสงฆ์ ให้พระศาสนาเศร้าหมอง แลไอ้แก้วต้องอทินนาทานปาราชิก..... แลเอามลทินไปโทษป้ายท่านผู้มีศีลบริสุทธิ์ พระสงฆ์ว่ากล่าวแล้วฉะนี้ หวังจะให้ทายกทั้งปวงที่ศรัทธากระทำกุศลไว้ สอดแคล้วกินแหนงท่านผู้มีศีลบริสุทธิ์ จะให้ผลของทายกนั้นน้อยไป มิควรหนักหนา



กระทู้: เรื่องของสมี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.พ. 13, 21:16
แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าภิกษุองค์ใดต้องจตุปาราชิกทั้งสี่ แด่อันใดอันหนึ่งปาราชิกแล้ว ให้มาบอกแก่สงฆ์ จงแจ้งแด่ในอุโบสถเดียวนั้น อย่าให้ปกปิดโทษจตุปาราชิกไว้ ปฎิญาณตัวเป็นสงฆ์สมณะ เข้ากระทำสังฆกรรม อุปสมบทกรรมด้วยคณะสงฆ์ให้เป็นมณทิลในสังฆกรรมทั้งปวง..... ให้ศาสนาเศร้าหมอง ถ้ามีผู้โจทนาว่ากล่าวพิจารณาเป็นสัจ จะเอาตัวเป็นโทษถึงสิ้นชีวิต แล้วให้ริบราชบาท ขับเฆี่ยนตีโบยญาติโยมจงหนัก อย่าให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป
กฎให้ไว้ ณ วันอาทิตย์ เดือนแปด ขึ้นสิบห้าค่ำ จุลศักราชพันร้อยยี่สิบห้า (พ.ศ. ๒๓๒๖) ปีเถาะ เบญจศก

อธิบายเป็นภาษาปัจจุบันคือ   สมีผู้ทำผิดปาราชิกที่โดนแจกแจงความผิดอย่างละเอียด   มีหลายคนด้วยกัน 

คนแรกสมีมา รายนี้ต้องเมถุนปาราชิก  คือไปมีเพศสัมพันธ์  แล้วก็ไม่รู้สึกผิด  ยังคงดำเนินชีวิตอย่างภิกษุอย่างไม่รู้ไม่ชี้   เคยปฏิบัติตนในวัดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น เช่นทำสังฆกรรมด้วยพระสงฆ์ เป็นอุปัชฌาย์บวชนาค ปลอมเข้าผูกโบสถ์และรับกฐิน ให้ชาวบ้านกราบไหว้นับถือในฐานะพระ ทั้งๆตัวเองหมดสิ้นสภาวะพระสงฆ์ไปตั้งแต่ลงมือทำผิด   เมื่อความแตก  ก็เลยกลายเป็น "ไอ้มา"  เช่นเดียวกับสมัยนั้นเขาเรียกผู้ร้าย   ไม่ได้เป็น "นายมา" อย่างชาวบ้านทั่วไป

คนที่สองคือสมีชู   รายนี้ผิดด้านอทินนาทานปาราชิก  คือคงจะไปขโมยทรัพย์สินใครเข้า  แล้วซ่อนเร้นปิดบังไว้   ยังคงทำตัวเป็นพระต่อไปตามเดิม   ปฏิบัติตนอย่างพระคือนั่งหัตถบาท  บวชนาค  ผูกอุโบสถทำสังฆกรรมด้วยสงฆ์     ก็เลยถูกประณามว่า ทำให้พระศาสนาเศร้าหมอง

คนที่สามชื่อสมีแก้ว   รายนี้ทำตัวเลวร้ายกว่ารายที่สอง   โดนข้อหาอทินนาทานปาราชิก  คือคงจะไปขโมยทรัพย์สินใครเข้าเหมือนกัน   แต่ที่ร้ายกว่าคือนอกจากไม่ยอมรับแล้ว ยังไปป้ายความผิดให้พระสงฆ์อื่นที่ท่านมีศีลบริสุทธิ์อีกด้วย


กระทู้: เรื่องของสมี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.พ. 13, 22:00
แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าภิกษุองค์ใดต้องจตุปาราชิกทั้งสี่ แด่อันใดอันหนึ่งปาราชิกแล้ว ให้มาบอกแก่สงฆ์ จงแจ้งแด่ในอุโบสถเดียวนั้น อย่าให้ปกปิดโทษจตุปาราชิกไว้ ปฎิญาณตัวเป็นสงฆ์สมณะ เข้ากระทำสังฆกรรม อุปสมบทกรรมด้วยคณะสงฆ์ให้เป็นมณทิลในสังฆกรรมทั้งปวง..... ให้ศาสนาเศร้าหมอง ถ้ามีผู้โจทนาว่ากล่าวพิจารณาเป็นสัจ จะเอาตัวเป็นโทษถึงสิ้นชีวิต แล้วให้ริบราชบาท ขับเฆี่ยนตีโบยญาติโยมจงหนัก อย่าให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป
กฎให้ไว้ ณ วันอาทิตย์ เดือนแปด ขึ้นสิบห้าค่ำ จุลศักราชพันร้อยยี่สิบห้า (พ.ศ. ๒๓๒๖) ปีเถาะ เบญจศก

สมีพวกนี้ถ้าทำผิดด้านปาราชิก    ไม่ต้องถึงผิด 4 ข้อรวด แค่ข้อใดข้อหนึ่ง  ท่านให้มาสารภาพผิดเสียแต่กระทำ ก็คือกราบเรียนให้เจ้าอาวาสทราบว่าผิดไปแล้ว    ในกฎตรงนี้  ไม่ได้แจกแจงว่าเมื่อสารภาพผิดแล้วจะโดนอะไร   ก็คงจะเป็นไปตามโทษหนักเบาของความผิดที่กระทำ     เช่นถ้าไปเอาข้าวของเงินทองเขามาก็ต้องคืนเจ้าทรัพย์ไป  ถ้าเจ้าทรัพย์เอาเรื่องก็คงจะโดนข้อหาจากบ้านเมืองต่อไป 
แต่...ถ้าทำผิดปาราชิกแล้วปิดบังไม่ยอมบอก  ทำตัวเหมือนพระสงฆ์ต่อไปละก็    มีผู้ร้องเรียนขึ้นมาเมื่อไรก็จะโดนสอบสวน ถ้าสอบสวนแล้วพบว่ามีผิดตามถูกกล่าวหา   โทษถึงประหารชีวิต  ตายอย่างเดียวไม่พอ  โดนริบราชบาทว์   ญาติโยมถูกหางเลขเฆี่ยนตีเจียนตายไปด้วย

โทษของการเป็นสมี    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯท่านทรงเห็นเป็นเรื่องเสียหายต่อบ้านเมืองมาก   ถือว่าทำผิดร้ายแรง เทียบเท่ากบฏแผ่นดินเลยทีเดียว


กระทู้: เรื่องของสมี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.พ. 13, 08:19
ขอแถมกฎพระสงฆ์ข้อ 6   ถึงแม้ไม่ถึงขั้นสมี แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯก็ทรงถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงสำหรับพระ   

เรื่องนี้คือเรื่องชาวบ้านถวายลาภสักการะแก่พระสงฆ์เสียมากมายเกินจำเป็น   มากกว่าจะเป็นเพื่อยังชีพพระ   และที่สำคัญก็คือพระสงฆ์ก็เพลิดเพลินในการรับลาภสักการะจากญาติโยม  เท่านั้นยังไม่พอ   พระเหล่านี้ยังเลื่อนเปื้อนไปประพฤติปฏิบัติทำหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์อีกด้วย 
 
สมเด็จพระบรมนารถบพิตร ฯ ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า

แต่ก่อนฆราวาสผู้จะทำทานแก่ภิกษุสงฆ์ โดยต่ำแต่ข้าวทัพพีหนึ่ง ก็มีผลปรากฎในชั่วนี้ชั่วหน้า เพราะพระภิกษุผู้รับทานนั้นทรงศีลบริสุทธิ์ ฝ่ายฆราวาสผู้จะให้ทานนั้นก็มีปัญญา..... แลผู้ให้ผู้รับทั้งสองฝ่ายสุจริตดีจริง จึ่งให้ผลมากประจักษ์ในชั่วนี้ชั่วหน้าสืบมา ทุกวันนี้ภิกษุ สามเณร ผู้รับทานรักษาสิกขาบทนั้นก็ฟั่นเฟือน มักมาก โลภ รับเงินทอง ของอันมิควรด้วยกิจพระวินัย สั่งสมทรัพย์สิ่งของ เที่ยวผสมผสานทำการของฆราวาส การศพ การเบญจา เป็นหมอนวด หมอยา หมอดู ใช้สอยอาสาการคฤหัสถ์ แลให้สิ่งของต่าง ๆ แก่คฤหัสถ์ เพื่อจะให้เป็นประโยชน์ จะให้เกิดลาภเลี้ยงชีวิตผิดธรรมมิควรนัก.....

แลภิกษุทุกวันนี้บวชเข้า มิได้กระทำตามพระวินัย ปรนนิบัติเห็นแต่จะเลี้ยงชีวิตผิดธรรม ให้มีเนื้อหนังบริบูรณ์ดุจโค กระบือ.....จะได้เจริญสติปัญญานั้นหามิได้ เป็นภิกษุสามเณรลามกในพระพุทธศาสนา ฝ่ายฆราวาสก็ปราศจากปัญญา มิได้รู้ว่าทำทานฉะนี้จะเกิดผลน้อยมากแก่ตนหามิได้ มักพอใจทำทานแก่ภิกษุ สามเณร อันผสมผสานทำการของตนจึงทำทาน บางคาบย่อมมักง่าย ถวายเงินทองของอันเป็นอกัปปิยะ มิควรแก่สมณะ สมณะก็มีใจโลภ สั่งสมทรัพย์เลี้ยงชีวิต ผิดพุทธบัญญัติฉะนี้ ได้ชื่อว่าฆราวาสหมู่นั้นให้กำลังแก่ภิกษุโจร อันปล้นพระพุทธศาสนา ทานนั้นหาผลมิได้ ชื่อว่าทำลายพระศาสนา


กระทู้: เรื่องของสมี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.พ. 13, 19:36
ตามกฎของสงฆ์ข้างบนนี้   จะเห็นได้ว่ารัชกาลที่ 1 ท่านทรงรังเกียจพระสงฆ์ที่รับเงินๆทองๆจากชาวบ้านอยู่มาก   ทรงประณามว่าชาวบ้านเองก็ไม่มีปัญญาจะแยกแยะการควรมิควร    ตั้งหน้าตั้งตาถวายโน่นถวายนี่ให้พระ  จนพระกลายเป็นนักสะสมทรัพย์เลี้ยงชีวิต  ทรงเรียกว่า "เลี้ยงชีวิตผิดธรรม ให้มีเนื้อหนังบริบูรณ์ดุจโค กระบือ"  คือเหมือนกับโคกระบือถูกขุนให้อ้วน   ซึ่งมิใช่บทบาทหน้าที่ของพระสงฆ์ ที่จะต้องมักน้อยสันโดษ  เพื่อจะใช้เวลาเจริญในธรรมะได้เต็มที่

เพราะเหตุนี้   ท่านจึงไม่เห็นด้วยกับพวกโยมอุปัฏฐากที่ชอบถวายเงินทองและข้าวของอันเป็น อกัปปิยะ แก่พระสงฆ์
อกัปปิยะคืออะไร    คำนี้ตรงกันข้ามกับ กัปปิยะ   กัปปิยะคือของที่สมควรถวายพระสงฆ์เพราะเป็นสิ่งจำเป็นแก่ท่าน   ได้แก่ปัจจัย 4  คืออาหาร  บิณฑบาต จีวร  ยารักษาโรค
ส่วน อกัปปิยะ  แปลว่า ไม่สมควร   เช่น  เงินทอง ของกินของใช้ที่ทำให้เพลิดเพลินในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส  ของอะไรที่สามารถสะสมเก็บเอาไว้มากๆได้ ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งไม่สมควรถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ทั้งสิ้น

ทรงตำหนิแรงๆทั้งสองฝ่ายคือทั้งฝ่ายชาวบ้านที่เลื่อมใสศรัทธาในทางผิด  ไปสะสมความโลภให้พระ  และตำหนิพระที่เกิดความโลภ สะสมทรัพย์เหล่านั้น     ทำให้พระกลายเป็นโจรปล้นศาสนาไปโดยไม่ตั้งใจ    ทานที่ถวายพระจึงกลายมาเป็นของทำลายศาสนา   หาผลบุญมิได้

"บางคาบย่อมมักง่าย ถวายเงินทองของอันเป็นอกัปปิยะ มิควรแก่สมณะ สมณะก็มีใจโลภ สั่งสมทรัพย์เลี้ยงชีวิต ผิดพุทธบัญญัติฉะนี้ ได้ชื่อว่าฆราวาสหมู่นั้นให้กำลังแก่ภิกษุโจร อันปล้นพระพุทธศาสนา ทานนั้นหาผลมิได้ ชื่อว่าทำลายพระศาสนา "


กระทู้: เรื่องของสมี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.พ. 13, 20:21
สมีอีกคนหนึ่งที่ได้รับจารึกชื่อไว้ในกฎพระสงฆ์ฉบับที่ 9   เป็นพระสงฆ์ที่ร่ำเรียนจนเป็นเปรียญ แต่ชั้นไหนท่านไม่ได้บอกรายละเอียดไว้  บอกแต่ชื่อว่า มหาสีน   แต่ทำผิดขั้นปาราชิก ก็เลยถูกเรียกว่า "อ้ายสีน"
อ้ายสีนคงทำผิดด้านเมถุนปาราชิก   เพราะกล่าวไว้ในกฎว่า  เป็นพระอันดับที่ติดพันกับหญิงผู้เป็นโยมอุปัฎฐาก   เนื้อความก็แสดงว่าถึงขั้นละเมิดศีลทั้งที่ยังอยู่ในผ้าเหลือง  จึงกลายเป็นสมีไปอีกคนหนึ่ง
 

สมเด็จพระบรมนารถ ฯ..... สั่งว่า..... มหาสีนขาดจากสิกขาบทเป็นปาราชิกลามกในพระศาสนา มิได้เป็นสมณะปฏิญาณตนว่าเป็นสมณ ปิดความชั่วไว้..... กระทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมสูญเศร้าหมองมิควรนักหนา
แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ให้พระราชาคณะฐานานุกรมเจ้าอธิการ เอาใจใส่ตรวจตราดูรู้เห็นว่า อันดับนั้นติดพันอยู่ด้วย หญิงโยมอุปฐาก ผิดพุทธวจนะอยู่แล้ว ก็ว่ากล่าวให้ปริวัฎออกเสียจากพระศาสนา อย่าให้เป็นปาราชิก ขึ้นได้ในพระศาสนาดุจหนึ่งอ้ายสีนฉะนี้


กระทู้: เรื่องของสมี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.พ. 13, 20:28
รัชกาลที่ 1 ท่านกำชับกำชาทางวัดว่าถ้าเห็นพระสงฆ์รูปไหน ชักทำท่าว่าจะติดพันผู้หญิง ก็ให้รีบสึกไปเสียโดยเร็ว  อย่าให้ทันกระทำผิดล่วงเมถุนปาราชิกขึ้นมาได้       การจัดระเบียบทางโลกและทางธรรมของชาวพุทธ มีข้อกำหนดชัดเจนว่าพระสงฆ์บวชแล้วสึกออกมามีเมีย  หรือมาทำมาหากันอย่างผู้ครองเรือนก็ไม่เป็นไร ไม่มีใครว่า    ซ้ำยังให้ความนับถือว่าเคยบวชเรียนมาแล้ว     ข้อสำคัญคือระหว่างครองผ้าเหลืองอยู่ อย่าละเมิดศีลของพระก็แล้วกัน  ละเมิดเรื่องเล็กๆก็ผิดเล็กๆ   ละเมิดเรื่องใหญ่ก็ผิดเป็นโทษใหญ่

ประกาศข้อนี้ท่านบอกไว้ชัดเจนว่าถ้าเจ้าอาวาสเจอว่าพระสงฆ์รูปไหนทำผิดศีล  ให้รีบจับสึกออกไปให้พ้นศาสนาเสียเลย    แต่ถ้าช่วยกันปกปิดไว้ให้อยู่ในวัดต่อไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น   โทษฐานสมคบกันนั้น รัชกาลที่ 1  ท่านกำหนดโทษเอาไว้หนัก ลงโทษถึง 7 ชั่วโคตร คือพ่อ ปู่ ทวด ลูก หลาน เหลน  โดนเหมารวมหมด

 แลให้ประกาศแก่พระสงฆ์อันดับวัดวาอารามจงทั่ว ถ้าพระสงฆ์องค์ใดกระทำความชั่วลามกอยู่แล้วก็ให้ปริวัฎออกเสีย อย่าให้เป็นมลทินอยู่ในพระศาสนา ทรงพระกรุณาหาเอาโทษไม่ ถ้าแลพระสงฆ์องค์ใดปกปิดความชั่วไว้..... มีผู้ว่ากล่าวพิจารณาเป็นสัจ จะเอาตัวเป็นโทษถึง ๗ ชั่วโคตร แล้วจะให้ลงพระราชอาญาตีโยม พระราชาคณะ ฐานานุกรม เจ้าอธิการ อันดับ กระทำความผิดแลละเมินเสีย มิระวังตรวจตรากัน ให้เป็นลามกชั้นในพระศาสนา.....
กฎให้ไว้ ณ วันศุกร์ แรมสี่ค่ำ เดือนเก้า ปีขาล ฉศก


กระทู้: เรื่องของสมี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.พ. 13, 20:52
ส่วนกฎพระสงฆ์ข้อ 10  เป็นเรื่องการลงโทษอลัชชี    ไม่ใช่สมี   
สองคำนี้ต่างกันอย่างไร  ?
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระธรรมปิฎก (ประยุทธิ ปฺยุตฺโต) ได้ให้คำอธิบายคำว่า "อลัชชี" (อะ-ลัด-ชี) ไว้ว่า "ผู้ไม่มีความละอาย, ผู้หน้าด้าน"

อลัชชีในพุทธศาสนา ใช้เป็นคำเรียกพระสงฆ์ที่ประพฤตินอกรีตนอกรอย  ล่วงละเมิดพระธรรมวินัยโดยไม่ละอายใจ ไม่ละอายชาวโลก ไม่ใส่ใจถึงกฎระเบียบตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องใหญ่ เช่น ไม่สำรวมกายวาจา นุ่งห่มไม่เรียบร้อย ชอบเล่นซุกซนเหมือนเด็กๆ ชอบปั้นน้ำเป็นตัว ดื่มสุราเมรัย เล่นการพนัน

ส่วนสมีคือผู้ละเมิดขั้นรุนแรง 4 ประการอย่างที่อธิบายไว้ต้นกระทู้      ถ้าผิดข้ออื่นๆก็เป็นอลัชชี  เช่นพระสงฆ์ดื่มสุราถือเป็นอลัชชี  แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นสมี


กระทู้: เรื่องของสมี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.พ. 13, 20:59
รัชกาลที่ 1  ท่านทรงวางกฎ เล่นงานอลัชชีไว้ในขั้นจากเบาไปหนัก  เบาคือว่ากล่าวตักเตือน ถ้าไม่ฟังให้รายงานเจ้าอาวาส   แต่ทำผิดจริง ก็จับสึก   

บัดนี้พระสงฆ์อันนับเข้าในพระพุทธชิโนรสมิได้มีหิริโอตัปปะ คบหากันทำอุลามกเป็นอลัชชีภิกษุ คือเสพสุรายาเมา  กระทำจอมปลอมเหมือนสามเณร   แลซึ่งพระสงฆ์สามเณร กระทำจลาจลปล้นพระศาสนาดั่งนี้ เพราะพระสงฆ์ราชาคณะ..... ละเมินเสีย มิได้ดูแลกำชับห้ามปราม
บัดนี้ให้พระราชาคณะ ฐานานุกรม สังฆการีธรรมการ ราชบัณฑิตย์ พร้อมกันชำระพระสงฆ์ซึ่งเป็นอลัชชีภิกษุ พิจารณารับเป็นสัจ ให้พระราฃทานผ้าขาวสึกออกเสียจากพระศาสนา
แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าผู้ใดเห็นพระสงฆ์กระทำอุลามกเป็นอลัชชี  ทำให้ผิดเพศสมณ ไม่ต้องด้วยพระวินัยบัญญัติ ให้ว่ากล่าวตักเตือน ถ้ามิฟังให้ไปบอกเจ้าอธิการ เจ้าคณะ


น่าสังเกตว่า ความผิดขั้นปาราชิก ตรงกับข้อห้ามศีล 8 อยู่บางข้อ คือห้ามมีเพศสัมพันธ์   และห้ามลักขโมย   แต่ถ้าเป็นข้อมุสาและเสพสุรายาเมา   ไม่ถือว่าเป็นปาราชิก   พระแค่ถูกจับสึกเท่านั้นเอง 


กระทู้: เรื่องของสมี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.พ. 13, 13:17
กฎพระสงฆ์ที่เข้มงวดนักหนาในสมัยรัชกาลที่ 1  คงจะทำให้วงการสงฆ์เข้ารูปเข้ารอยขึ้นมาได้ไม่มากก็น้อย    แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานๆเข้า  การหย่อนยานก็คงจะเกิดขึ้นอีก   สามรัชกาลต่อมา  ประวัติสมีก็ซ้ำรอยเดิม  เห็นได้จากประกาศรัชกาลที่ 4 ที่ห้ามภิกษุสามเณรพาสีกาเข้ามาพูดคุยกันในกุฏิ    ประกาศนี้ระบุชื่อเสียงเรียงนามสมีและสีกาตัวการเอาไว้ชัดเจน

สาเหตุของเรื่องคือสีกาที่ทางการเรียกว่า "อีเพ็ง" เข้าไปในพระบรมมหาราชวัง  เข้าไม่เข้าเปล่า พกเพลงยาวติดตัวไปด้วย  นายประตูก็เคร่งครัดหน้าที่ ไม่ปล่อยให้เดินผ่านไปเฉยๆ แต่จับเพลงยาวได้จึงส่งให้กรมวัง   กรมวังก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ  กลายเป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นมีพระบรมราชโองการให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวรจักรธรานุภาพทรงชำระ     
อีเพ็งรับสารภาพว่า เพลงยาวนี้คนเขียนคือพระหนู อยู่วัดพระเชตุพน    แล้วยังสารภาพต่อไปว่า พระหนูทั้งๆยังครองผ้าเหลืองอยู่ในวัดก็นัดสีกาเพ็งไปมี พสพ. กันในกุฏิ      ไม่ใช่แค่พระหนูรูปเดียว   หล่อนก็ยังไปมีอะไรๆกับพระอีกรูปหนึ่งชื่อพระทึ่งในห้องกุฏิ     กับมีอะไรอย่างว่ากับพระอีกรูปชื่อพระดวง


กระทู้: เรื่องของสมี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.พ. 13, 13:27
ตุลาการของกรมหมื่นวรจักรฯ มีวิธีสอบสวนเก่งเอาการ     อีเพ็งนอกจากสารภาพถึงการกระทำของตัวเองแล้ว  ยังแถมจำเลยไปให้อีกหลายคนด้วยทั้งที่ไม่เกี่ยวกับตัว  แต่พฤติกรรมเดียวกัน   คือพระสงฆ์ชื่อพระทิมก็แอบนัดสีกาปรางไปหาที่กุฏิ    พระเสือนัดสีการอดไปหาแบบเดียวกัน   
เมื่อได้ปากคำของอีเพ็งแล้ว  ตุลาการก็ไปเอาตัวพระสงฆ์และผู้หญิงทั้งหมดที่ถูกกล่าวถึงมาสอบสวน  ได้ความว่าเป็นความจริง พระทั้งหมดก็เลยได้รับชื่อบันทึกลงในประกาศ เป็นอ้ายสมีกันทั้งหมด      ไม่ต้องเรียกกันว่าพระอีกต่อไป   เพราะกระทำผิดร้ายแรงขั้นปาราชิก   บวชแล้วยังสมสู่กับสีกาถึงในกุฏิ 

เมื่อทรงทราบเรื่องทั้งหมด  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็โปรดเกล้าฯให้หลวงธรรมรักษาทำประกาศแจ้งไปยังพระราชาคณะ  พระครูฐานา  และเจ้าอธิการในกรุงเทพทั้งหมด    สั่งห้ามพระสงฆ์ มิให้พูดจากับสีกาบนกุฏิ    และทางฝ่ายผู้หญิงก็ทรงสั่งห้ามเข้าวัด   ขืนเข้าไปจะถูกตำรวจจับ ปรับเงิน 3 ตำลึง  ซึ่งถ้าเทียบสมัยนี้เห็นทีจะเป็นหมื่นบาท

แต่ทั้งๆทรงห้ามเด็ดขาดขนาดนี้  เรื่องสมีหลังประกาศนี้ก็ยังไม่จบสิ้นอยู่ดี


กระทู้: เรื่องของสมี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.พ. 13, 17:32
ที่ว่าเรื่องยุ่งยังไม่จบ ก็เพราะว่าการประกาศห้ามผู้หญิงเข้าวัด  แตกต่างจากประกาศห้ามพระสงฆ์ใช้กุฏิเป็นแชทรูม      ประกาศห้ามพระสงฆ์เป็นเรื่องที่ส่งเข้าไปให้พระผู้ใหญ่ในวัดรับทราบก็พอ     ส่วนห้ามผู้หญิงเข้าวัดต้องประกาศผ่านมหาดไทย และกลาโหมให้ประชาชนทราบทั่วกัน   ผู้ชายจะได้ห้ามเมียห้ามลูกสาวตลอดจนพี่น้องผู้หญิง มิให้เข้าวัดไปคุยกับพระ   

แต่ในพระบรมราชโองการประกาศนี้ไม่ได้แจ้งให้มหาดไทยกับกลาโหมทราบ     ก็เลยไม่มีใครรู้ หรือต่อให้รู้ก็ถือว่าไม่มีคำสั่งออกมาโดยตรง   เจ้าอาวาสก็เลยพลอยเพิกเฉย   ไม่รับรู้เรื่องห้ามผู้หญิงเข้าวัด    ผู้หญิงก็เลยเข้าไปเดินไปนั่งอยู่ในวัดได้ตามปกติ    เมื่อเข้าถึงวัดได้   ก็ง่ายที่จะแอบเข้ากุฏิพระไปพูดคุยกัน      เมื่อถึงขั้นนี้ก็ง่ายที่จะเขยิบขึ้นไปถึงขั้นพระสมัครใจทำผิดขั้นปาราชิกขึ้นมาอีก

หลักฐานเห็นได้จากในเดือน ๑๐ หลังประกาศครั้งแรก ๕ เดือน    ก็มีการจับผู้หญิงที่ไปสมสู่กับพระในกุฏิขึ้นมาได้อีกครั้ง   สาวเจ้าชื่ออีตาบ  ส่วนฝ่ายชายในประกาศเรียกว่า "อ้ายเปลี่ยนสมีวัดอรุณ"    คราวนี้เห็นทีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจะกริ้ว  จึงเอาจริงถึงขั้นประกาศว่าคราวนี้ ถึงขั้นส่งกองทหารซ้ายขวาเชิญพระราชลัญจกรเข้าไปจับสมีถึงในวัดเอง   ไม่รอให้เจ้าอาวาสหรือพระชั้นผู้ใหญ่อื่นๆเป็นฝ่ายจับพระที่ทำผิด       และถ้าจับสมีวัดไหนได้  กุฎิพระที่อยู่ใกล้ๆจะโดนหางเลขไปด้วย  พระในกุฏินั้นจะโดนโทษเสมอกับสมีที่ทำผิด     คำขู่นี้ก็คือห้ามพระด้วยกันรู้เห็นเป็นใจ ช่วยปกปิดความผิดกันนั่นเอง

ยังหาหลักฐานไม่เจอว่า หลังประกาศนี้แพร่หลายออกไป จะได้ผล ยับยั้งจำนวนสมีในรัชกาลที่ 4 ให้น้อยลงแค่ไหน     แต่เข้าใจว่าต่อมานานๆเข้าก็คงจะละเลยเพิกเฉยกับเรื่องนี้ขึ้นมาอีก       ผู้หญิงก็ยังขึ้นกุฏิพระได้อยู่ แต่ว่าสนทนากับพระตามลำพังไม่ได้  ต้องมีบุคคลที่สามนั่งเป็นพยานรู้เห็นอยู่ด้วย      ถึงในปัจจุบันนี้ก็ตาม พระสงฆ์ที่ท่านยังเคร่งครัดในพระวินัย ก็ยังสนทนากับสีกาตามลำพังสองต่อสองไม่ได้อยู่ดี ต่อให้พูดกันกลางแจ้ง  ไม่อยู่ในที่ลับตาคนก็ตาม

ขอจบเรื่องเล่าเกี่ยวกับสมีเพียงแค่นี้ค่ะ