เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 13, 09:19



กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 13, 09:19
กระทู้นี้เป็นความพยายาม(อย่างอ่อนๆ)ที่จะรวบรวมรายชื่อและประวัติของนางในผู้เคราะห์ร้าย   แม้ว่ามีวาสนาสูงได้ถวายงานเป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามของพระมหากษัตริย์และกรมพระราชวังบวรฯ  ก็มีวาสนาไม่ตลอดรอดฝั่ง  ต้องจบชีวิตลงด้วยการถูกประหาร   แทนที่จะตายบนที่นอนในวัยชราอย่างสาธุชน
ส่วนสาเหตุของการถูกประหารนั้นก็แตกต่างกันออกไป    ไม่ได้ลงล็อกเดียวกันหมด   จะค่อยๆเล่าไปทีละคนนะคะ
ที่ว่าพยายามอย่างอ่อนๆคือ ไม่สามารถจะหารายชื่อมาได้ครบหมดทุกคน   ถ้าทำได้อย่างนั้นคงต้องพยายามอย่างหนักกว่านี้   ซึ่งไม่มีทั้งเวลาและความเพียรขนาดนั้น    ดังนั้นจึงขอความร่วมมือจากท่านสมาชิก  ถ้าใครจะเติมช่องโหว่นี้ให้เต็มก็จะขอบคุณอย่างยิ่ง

ขอหยุดแค่นี้ก่อน  ไม่ได้เอาไว้เรียกเรตติ้งอย่างที่เคยทำ  แต่เป็นเพราะมีธุระจะต้องลงจากเรือนไทยไปจ่ายกับข้าวมาทำสำรับคับค้อน  เลี้ยงพวกนักเรียนที่ทยอยกันเข้ามานั่งในห้องเรียนนี้ค่ะ
ใครเข้ามาแล้วกรุณาขานชื่อตัวเองได้เลย   จะได้รู้ว่าเจ้าประจำเก่าๆมาครบรึยัง   ได้จัดสำรับถูก


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 04 มี.ค. 13, 09:49
Sirinawadee มาค่ะ

วันนี้อากาศดี อาจารย์เดินตลาดคงไม่ร้อน ระวังรถด้วยนะคะ


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 04 มี.ค. 13, 09:54
มารอคุณครูครับ


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 04 มี.ค. 13, 12:34
มาเข้าแถวรอด้วยค่ะ....ฮึ่ม...มีอาหารเลี้ยงซะด้วย พลาดได้ไงคะ... ;D


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: ศุศศิ ที่ 04 มี.ค. 13, 14:21
มาครับ :)


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: Ratananuch ที่ 04 มี.ค. 13, 15:03
รัตนานุช มาค่ะ


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 04 มี.ค. 13, 15:09
มาคร้าบบบบบบบ  ;D


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 13, 15:40
ว่าจะไปซื้อเครื่องข้าวแช่มาทำให้นักเรียนกิน แกล้มกระทู้    แต่เดือนมีนาคม ลมฟ้าอากาศกลับกลายเป็นเดือนเข้าพรรษาไปเสียเฉยๆ      กินข้าวแช่ท่ามกลางฝนพรำคงไม่เข้ากัน ก็เลยต้องอดกันไปก่อนนะคะ
ไม่เป็นไร ฟังไปสักพัก พอเบรคเดี๋ยวจะหาขนมน้ำชามาให้ค่ะ

เริ่มด้วยคนแรก  เจ้าจอมภู่ สีดา
   
นางในที่เรียกกันด้วยชื่อจริง + ชื่อนางในวรรณคดี ต่อท้าย   คือหญิงสาวที่เป็นนางละครหลวงมาก่อน     คนไหนรำละครเป็นตัวอะไรก็มักจะรำเป็นตัวนั้นอยู่เป็นประจำ    ถ้ามีชื่อเสียงเลื่องลือว่ารูปสวยรำดี ก็จะมีสมญาท้ายชื่อ   เช่น เขียน อิเหนา    อิ่ม ย่าหรัน อัมพา กัญจะหนา  ทั้งสามชื่อที่กล่าวมานี้ล้วนเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าจอมและเจ้าจอมมารดาในรัชกาลต่างๆทั้งสิ้น

ส่วนเจ้าจอมภู่ ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่ารำเป็นตัวนางสีดา       เมื่อเธอได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวนี้    เราก็คงดูออกเช่นว่าเธอต้องรำเก่งจนได้เป็นตัวเอก แล้วก็สวยมากด้วย  ถึงได้เป็นนางสีดา
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า ในสมัยกรุงธนบุรีนั้น เล่าลือกันว่า มีตัวนางเล่นเป็นสีดาอยู่สามคน งามนักหนาทั้ง ๓ คน คือ บุนนาคสีดา ๑ ภู่สีดา ๑ และศรี (หรือสี) สีดา ๑
ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๑   พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดเกล้าฯให้บุนนาคสีดา รับราชการเป็นเจ้าจอมในวังหลวง    ส่วนภู่สีดา โปรดเกล้าฯพระราชทานไปยังพระราชวังบวรฯ วังหน้า   ส่วนศรี (สี) สีดา   พระราชทานแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 มี.ค. 13, 15:44
อ้าว ... เข้าห้องสายครับ  :-[


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 13, 15:52
    เจ้าจอมภู่ สีดา มีวาสนาเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าจอมวังหน้า     พ่อชื่ออะไรไม่ปรากฏ  ประวัติบันทึกไว้แต่ว่าแม่ชื่อเอี้ยง เป็นนายวิเสทปากบาตรในวังหน้า   คำว่านายวิเสทปากบาตร แปลว่าเป็นหัวหน้าคนครัวผู้มีหน้าที่ควบคุมจัดการเครื่องทรงบาตร สำหรับกรมพระราชวังบวรฯ ที่จะเสด็จมาทรงตักบาตรกับพระสงฆ์ที่มารับบาตรทุกเช้าในวังหน้า    

    เมื่อผลัดแผ่นดินใหม่ๆ ได้ปีเดียว  เหตุการณ์บ้านเมืองยังไม่สงบราบคาบ    มีผู้ฉวยโอกาส  แอบอ้างเป็นผู้วิเศษหลอกลวงให้ชาวบ้านหลงเชื่อเพื่อจะตั้งตัวเป็นใหญ่แบบเดียวกับผีบุญอยู่หลายราย     ในจำนวนนี้มีชายจากเมืองนครนายก ๒ คน ซึ่งในคดีนี้  เรียกว่า "บัณฑิต" แสดงว่าเคยบวชเรียนแล้ว     สองคนนี้อ้างตัวว่ามีวิชาความรู้ล่องหนหายตัวได้    เข้ามาอาศัยอยู่กับนางเอี้ยง แม่ของเจ้าจอมภู่
    "บัณฑิต"สองคนนี้คงจะคารมดีแบบสิบแปดมงกุฎทั่วไป  จึงสามารถเกลี้ยกล่อมให้ขุนนางวังหน้าและวังหลวงหลงเชื่อได้หลายคน   รวมทั้งขุนนางตำแหน่งใหญ่อย่างพระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางกรมพระตำรวจซ้าย      ส่วนนางเอี้ยงแม่ของเจ้าจอมภู่ สีดาซึ่งเป็นเจ้าบ้านนั้นเรียกว่าหลงเชื่อชนิดโงหัวไม่ขึ้น     แม้แต่คบคิดกับคนร้ายทำสิ่งที่คนสติดีๆไม่น่าจะยอมทำ นางก็กล้าทำ  คือไม่ใช่เชื่อแค่ไปขอหวย หรือเอาเงินทองทุ่มเทให้จนหมดตัวอย่างชาวบ้านสมัยนี้หลงเชื่อนักต้มตุ๋น  แต่เชื่อขนาดที่ว่าสามารถก่อกบฏโค่นวังหน้าลงได้ทีเดียว  


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 13, 15:54
อ้าว ... เข้าห้องสายครับ  :-[

แบมือมาซะดีๆ   เด็กชาย siamese


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 13, 16:08
    เจ้านายในสมัยนั้น ท่านทรงเป็นพุทธมามกะ  กิจวัตรตอนเช้าท่านก็ออกมาทรงบาตรเช่นเดียวกับชาวบ้านร้านถิ่น    ทั้งพระเจ้าอยู่หัวและกรมพระราชวังบวรฯ ล้วนทรงปฏิบัติอย่างเดียวกัน     ทีนี้  กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ท่านทรงสังเกตว่า  ตอนเช้าเวลาพระสงฆ์ออกจากวัดมารับบิณฑบาตรจากราษฎร  พระไม่ต้องเป็นฝ่ายหยุดยืนคอย   ชาวบ้านออกจากบ้านมานั่งรอตักบาตรพระอยู่ก่อนแล้ว   ไม่ว่าท่านจะพายเรือมาหรือเดินมาถึง ก็รับบาตรได้ทันที     ผิดกับเวลาที่พระสงฆ์ผ่านไปรับบาตรในวังเจ้านายและบ้านผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่  ปรากฏว่าพระต้องไปคอยรอ  บางครั้งก็จนสายก็ยังมิได้กลับวัด  เพราะโยมยังไม่ออกมาตักบาตรสักที
    ข้อนี้ก็พอจะเข้าใจได้ เพราะชาววังและขุนนางใหญ่ๆนั้นท่านใช้เวลากลางคืนแทนกลางวัน    เข้าเฝ้ากันตอนกลางคืน   อยู่กันค่อนคืนถึงจะเข้านอน   ก็ย่อมตื่นสายกันเป็นธรรมดา     กรมพระราชวังบวรฯเห็นพระต้องมายืนรอก็ไม่สบายพระทัยว่าเป็นเรื่องไม่สมควร  จึงมีพระบัณฑูรกำหนดเวลาเอาไว้เลยว่า  ในพระบวรราชวัง  ให้เจ้าพนักงานเตรียมเครื่องทรงบาตรตั้งที่ให้พร้อม แล้วจึงให้สังฆการีนิมนต์พระสงฆ์ แล้วพระองค์จะเสด็จลงทรงบาตรในเวลาเช้าโมงหนึ่ง  คือกำหนดเวลาเช้าตายตัวไปเลย ไม่เสียเวลากันทั้งสองฝ่าย
   ด้วยเหตุนี้  ประตูดินในพระราชวังบวรจึงต้องเปิดก่อนย่ำรุ่ง ทำเช่นนี้เป็นธรรมเนียมประจำ       กรมพระราชวังบวรฯท่านก็เสด็จมาทรงบาตรเป็นประจำทุกวัน  เรียบร้อยราบรื่น    ไม่มีใครนึกฝันว่าจะเกิดเหตุอะไรขึ้น

     ตัวกบฏทั้งสอง รู้ตื้นลึกหนาบางจากแม่เอี้ยงและขุนนางที่เป็นพรรคพวก ก็ดูออกว่าช่วงเวลานี้ละเหมาะสมที่สุดที่จะจู่โจมเข้าปลงพระชนม์     เพราะเป็นช่วงที่เสด็จลงมาโดยไม่มีขบวนแห่  ไม่มีองครักษ์ขุนนางใหญ่น้อยคุ้มกันหนาแน่นอย่างเวลาเสด็จไปไหนมาไหน   และที่สำคัญคือเมื่อเสด็จทรงบาตรก็จะไม่มีพระแสงศัสตราวุธติดพระองค์มาด้วย    ทำให้ป้องกันพระองค์ไม่ได้


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: Ratananuch ที่ 04 มี.ค. 13, 16:22
ขออนุญาตเลี้ยวเข้าซอยหน่อยนะคะอาจารย์
สี สีดา คือ หม่อมสีหรือเจ้าคุณสีในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นหม่อมคนแรกของเจ้าฟ้าอิศรสุนทรหรือเปล่าคะ


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 13, 16:30
ใช่ค่ะ     คุณ benzene เคยตอบไว้ในกระทู้เก่าว่า

ขออนุญาต นำความจากท่านอดีตอธิบดีธนิต อยู่โพธิ์ มาชี้แจงเรื่อง"เจ้าคุณพี" ครับผม
เจ้าคุณจอมมารดาศรี สีดา
เดิมเป็นหม่อมศรี ในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร แล้วเป็นเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๒ เรียกกันทั่วไปว่า เจ้าคุณพี  ธิดาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด ต้นสกุล บุณยะรัตพันธ์)  เป็นเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๒มีพระองค์เจ้า คือ
๑. พระองค์เจ้าหญิงจักรจั่น
๒. พระองค์เจ้าหญิงบุปผา
(ซึ่งต่อมาสิ้นพระชนม์ก่อนเจ้าจอมมารดาศรี ทั้งสองพระองค์)

เดิมเป็นละครหลวงกรุงธนบุรีรุ่นเล็กหรือรุ่นจิ๋วเมื่อสิ้นแผ่นดินกรุงธนบุรี เจ้าจอมศรีมีอายุเพียง ๑๒ ปี เมื่อตั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ “พระราชทานไปตามคู่ตุนาหงันเดิม” คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าหลวงอิศรสุนทร เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ ซึ่งเล่าลือกันว่า “ได้ยินว่าโปรดปรานมาก”

ต่อมาเมื่อภายหลังท่านคงจะสมบูรณ์มาก ชาววังจึงออกนามท่านว่า “เจ้าคุณพี” ดังพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ทรงกล่าวรูปพรรณของเจ้าคุณจอมมารดาศรีไว้ว่า

“จับได้เรือเจ้าคุณพี           ท่านเป็นผู้ดีมาแต่แผ่นดินโน้น
ท่านงามนักเจียวเมื่อสาว      เดี๋ยวนี้อ้วนราวกับตะโพน”


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: Ratananuch ที่ 04 มี.ค. 13, 16:46
ขอบพระคุณมากค่ะ อาจารย์ ;D


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 13, 16:54
วันที่คนร้ายทั้งสอง ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกตามพงศาวดารว่า "อ้ายบัณฑิต"  ลงมือปฏฺิบัติการ    พงศาวดารบันทึกไว้ว่าเป็นวันศุกร์ เดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ (วันศุกร์ที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๖)   อ้ายบัณฑิต ๒ คนวางแผนแอบเข้าไปซุ่มในวังหน้าแต่เวลาประมาณ ๑๐ ทุ่มเศษ   
พอก่อนย่ำรุ่ง   พวกหญิงวิเสทวังหน้าที่มีแม่เอี้ยงเป็นหัวหน้า ขนกระบุงข้าวทรงบาตรเข้าไปทางประตูดินวังหน้า เพื่อจัดเตรียมให้ทรงบาตรตามปกติ    แม่เอี้ยงก็เป็นต้นคิด แต่งอ้ายบัณฑิตทั้งสองคนนุ่งผ้า ห่มผ้าอย่างผู้หญิง  ถือดาบซ่อนในผ้าห่ม   ส่วนเรื่องทรงผมไม่มีปัญหา เพราะผู้หญิงสมัยรัชกาลที่ ๑ ตัดผมสั้นเกือบเท่าผู้ชายอยู่แล้ว   ยิ่งเป็นผู้หญิงพวกชาวบ้าน ก็สั้นจนเกือบแยกเพศไม่ออก

(คำว่าผ้าห่ม ในที่นี้เข้าใจว่าเป็นผ้าห่มชั้นนอก  ตัวในอาจเป็นผ้าแถบหรือตะแบงมานก็แล้วแต่งานในหน้าที่ที่ทำอยู่    แต่มีผ้าสี่เหลี่ยมผืนยาวๆ แบบผ้าคลุมไหล่ ตรงกับฝรั่งเรียกว่า shawl ห่มคลุมอีกที   ผ้าผืนนอกค่อนข้างยาวและรุ่มร่าม  จึงสามารถจะเอาดาบทั้งเล่มซ่อนไว้ได้   ถ้าเป็นผ้าแถบหรือสไบ ยังไงก็ซ่อนไม่ได้เพราะเป็นผ้าพันแนบตัว ไม่มีที่จะซุกซ่อนอะไร)

แม่เอี้ยงก็ใจกล้า  พาผู้ร้ายซึ่งทำทีเป็นลูกมือ ลอบเข้าในพระราชวังบวรฯ แล้วขึ้นไปแอบอยู่ ๒ ข้างพระทวารพระราชมณเฑียรด้านหลัง    เข้าใจว่าเป็นพระราชมณเฑียรเดิมก่อนการสร้างหมู่พระวิมาน ๓ หลัง ซึ่งควรได้แก่พระตำหนักยกหลังคา ๒ ชั้น ซึ่งเป็นที่รู้จักต่อมาว่า “ตำหนักเจ้าฟ้าพิกุลทอง”  อันเป็นประตูปากทางที่จะเสด็จมาทรงบาตร
สองคนนี่ก็ซุ่มคอยที   รอเมื่อไรกรมพระราชวังฯจะเสด็จผ่านมา จะได้เอาดาบไล่ฟัน   สองต่อหนึ่ง  ซ้ำอีกฝ่ายไม่มีอาวุธ  พวกนี้ก็เชื่อว่าไม่พ้นมือแน่


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 13, 17:12
   คงจะด้วยพระบุญญาบารมีของกรมพระราชวังบวรฯ ยังมีอยู่มาก      เช้าวันนั้น..บังเอิ๊ญ..บังเอิญ ไม่ได้เสด็จลงทรงบาตรทางประตูนั้น     เพราะทรงมีพระราชประสงค์จะไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า  ณ พระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่เวลาเช้าตรู่ก่อนทรงบาตร    จะทรงมีพระธุระด่วนเรื่องอะไรพงศาวดารไม่ได้บอกรายละเอียดไว้     เอาเป็นว่าก็เลยเสด็จไปทางประตูอื่น เข้าวังหลวงไป โดยไม่ได้แวะมาทางนี้    อ้ายบัณฑิตทั้งสองก็เลยคอยเก้ออยู่ข้างประตู
   เมื่อเจ้าของวังตื่นบรรทมเสด็จลงมาแล้ว   ชาววังทั้งหลายก็เริ่มเข้าประจำหน้าที่  นางพนักงานเฝ้าที่ในวังหน้าเดินไปพบผู้ชายสองคนถือดาบยืนแอบอยู่ข้างประตู  ก็ตกใจร้องกรี๊ด  ตะโกนโวยวายบอกพรรคพวกเป็นทอดๆว่ามีคนถือดาบบุกขึ้นมาอยู่ที่พระทวารพระราชมณเฑียร   อ้ายบัณฑิตทั้ง ๒ เห็นความแตก   เรื่องต้องไปกันใหญ่ ก็หวังจะปิดปากนางเฝ้าที่เสียเป็นอันดับแรก   ก็ไล่กวดฟันนางเฝ้าที่ลงมา    แต่แม่คนนี้น่าจะวิ่งเก่ง หรือไม่ก็รู้ทางหนีทีไล่ในวังดี มากกว่าผู้ร้าย   เธอก็เลยเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา หลบรอดไปได้  
   อ้ายบัณฑิตไม่มีเวลาวิ่งตามนางพนักงาน ตอนนี้ถึงขั้นต้องวิ่งหนีออกจากวังเอาตัวรอดไปก่อน   ก็วิ่งจากพระราชมณเฑียรลงมาถึงถนน   พอดีเจอขุนหมื่นกรมวังคนหนึ่ง คุมคนงานเข้าไปก่อถนนในพระราชวังหน้า  ขุนนางเคราะห์ร้ายคนนั้นไม่ทันตั้งตัว และเข้ามาในวัง ไม่มีอาวุธติดตัวด้วย   พอเผชิญหน้าผู้ร้ายเข้าจังๆ ก็เลยไม่รอด     อ้ายบัณฑิตฟันขุนหมื่นศีรษะขาด ล้มตายอยู่กับที่
   เหตุการณ์ตอนนี้ พงศาวดารท่านบันทึกเอาไว้น่าตื่นเต้น ราวกับหนังประเภทนินจาทั้งหลายก็ไม่ปาน     เพราะเมื่อถึงขั้นนี้ ในวังหน้าชั้นในก็รู้กันไปหมดแล้ว   เอะอะโกลาหลกันไปทั้งวังว่าผู้ร้ายเข้ามา


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 13, 17:39
    จากเสียงร้องโวยวายบอกกันไปเป็นทอดๆ ถึงพวกเจ้าจอมข้างในและจ่าโขลน  ก็ตกอกตกใจกันไปทั้งวัง   พวกโขลนพนักงานก็วิ่งออกมาบอกข้าราชการข้างหน้าที่เข้าเวรประจำหน้าที่อยู่       พอรู้ว่าเกิดเหตุร้ายขึ้น   พวกข้าราชการข้างหน้าไม่ว่าฝ่ายไหนพวกไหนก็แห่กันเข้าไปในพระราชวังชั้นใน   ถือว่าเป็นเหตุฉุกเฉินจะมัวกลัวกฎมณเฑียรบาลอยู่ไม่ได้     ทุกคนก็แยกย้ายไปกันไล่ล้อมจับอ้ายบัณฑิตทั้ง ๒   ในเมื่อไม่มีอาวุธเพราะพกเข้าวังไม่ได้  ก็ฉวยไม้พลอง(น่าจะของโขลน) และอิฐ ทุบตีขว้างปาเป็นอลหม่าน
    ขุนนางส่วนหนึ่งห้อแน่บออกจากวังหน้า วิ่งมาพระราชวังหลวง    เพื่อกราบทูลเหตุด่วนเหตุร้ายให้ทรงทราบ    ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าและกรมพระราชวังบวรฯ ประทับอยู่ในท้องพระโรงทั้งสองพระองค์    ครั้นทรงทราบว่าเกิดเหตุมีผู้ร้ายเข้ามาฆ่าคนถึงในวังหน้า     ก็ทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการทั้งปวงที่เฝ้าอยู่    ตำรวจทั้งพระราชวังหลวงและพระราชวังหน้า รีบไปจับกบฏเอาตัวมาให้ได้    โดยให้จับเป็นเพื่อจะได้ชำระความซักถามความเป็นมาให้รู้เรื่องกัน

     การจับตัวคนสองคนโดยคนนับร้อยจบลงแบบไม่ยาก    ขุนนางก็กรูกันเข้าไปจับตัว   คนละตุ้บละตั้บจนล้มลง    จับได้มัดไว้ทั้งสองคน  เอาไปคุมขังไว้    จากนั้นขบวนการตุลาการก็เริ่มชำระความถึงที่มาที่ไป     วิธีชำระความก็คงตามแบบที่ใช้กันอยู่ในสมัยโน้น  ซึ่งได้ผล   อ้ายบัณฑิตยอมรับสารภาพ  ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเองเท่านั้น แต่ซัดทอดสหายร่วมขบวนการที่คิดกบฏด้วยกันอีกหลายราย   เป็นอันว่าถูกหวยกันไปเป็นจำนวนมาก   อันได้แก่ข้าราชการทั้งวังหลวงและวังหน้าอีกหลายคน

    ข้าราชการตัวสำคัญในเรื่องนี้ที่โดนซัดทอดคือ พระยาอภัยรณฤทธิ์กับภรรยา    จากนั้นคือแม่เอี้ยง  กับ บุตรหญิงหนึ่งคน  และบุตรชายอีกสองคน    ลูกชายลูกสาวของพระยาอภัยรณฤทธิ์ก็โดนข้อหาสมรู้ร่วมคิดด้วย  กับพวกหญิงวิเสทปากบาตรวังหน้าทั้งนายไพร่    หมายความว่าแม่เอี้ยงสามารถกล่อมลูกน้องให้เป็นฝ่ายเดียวกันได้หมด   มิน่า  มีผู้หญิงปลอมเข้ามาในกลุ่ม ๒ คนจึงไม่มีใครปริปากแอะกันออกมาสักคำ
     กรมพระราชวังบวรฯ ทรงมีพระราชบัณฑูรให้เฆี่ยน  สอบกับอ้ายบัณฑิต    ได้ความสอดคล้องกัน  ทุกคนรับสารภาพว่าคบคิดกันทั้งหมด     ถึงขั้นมุ่งหมายปลิดพระชนม์ชีพกรมพระราชวังบวรฯ  แล้วจะตั้งตัวเป็นใหญ่    ส่วนแม่เอี้ยงนั้นยอมสารภาพถึงขั้นที่ว่าหลงเชื่ออ้ายบัณฑิตทั้งสองว่าจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน   จะยกเจ้าจอมภู่สีดาให้เป็นมเหสี       เจ้าจอมภู่เองก็รู้เห็นกับเรื่องนี้  ถึงขั้นลอบรักใคร่กับอ้ายบัณฑิตหนึ่งในสองคนนั้น   
     
     เมื่อชำระความได้เป็นสัตย์แล้ว   กรมพระราชวังบวรฯก็ทรงลงโทษให้ประหารชีวิตอ้ายบัณฑิตกบฏ ๒ คน และพวกพระยาอภัยรณฤทธิ์ พ่อแม่ลูกเมีย พร้อมกันกับพวกเพื่อนชายหญิงนายไพร่ทั้งสิ้น   รวมทั้ง “ภู่สีดา” เจ้าจอมวังหน้าและมารดาของเธอด้วย


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 13, 20:51
เสิฟอาหารเบาๆอย่างข้าวต้มกุ้ง  ก่อนนอน ให้นักเรียนทุกท่านนะคะ
พรุ่งนี้เชิญมาฟังตอนต่อไปค่ะ


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 05 มี.ค. 13, 00:45
   เข้ามาซะหลังเที่ยงคืน เหลือชามเปล่าแล้วมังครับ  :(


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 05 มี.ค. 13, 01:28
   เข้ามาซะหลังเที่ยงคืน เหลือชามเปล่าแล้วมังครับ  :(


แวะไปกินแกงแมวใส่อ้อยกระทู้ จากแต้จิ๋วสู่กรุงสยาม:แกงอ้อย แทนได้ครับ   แกงแมวยังเหลือเยอะเลย ไม่มีคนกล้ากิน  ;D  ;D  ;D

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5554.msg119661;topicseen#msg119661


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 05 มี.ค. 13, 07:04
 ;D


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 05 มี.ค. 13, 09:48
สองทุ่มกว่าเมื่อคืน มัวเล่นกับลูกค่ะ เลยอดข้าวต้มเลย

หิวแต่ก็จะเรียนค่ะ  :'(


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 13, 09:50

แวะไปกินแกงแมวใส่อ้อยกระทู้ จากแต้จิ๋วสู่กรุงสยาม:แกงอ้อย แทนได้ครับ   แกงแมวยังเหลือเยอะเลย ไม่มีคนกล้ากิน  ;D  ;D  ;D
แกงแมวของคุณหาญบิง จะมีคู่แข่งพอสูสีกันได้ก็แต่แกงจืดอึ่งอ่างลอยมาทั้งตัวของกระทู้คุณตั้งเท่านั้นละค่ะ


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 13, 11:17
   เหตุร้ายที่เกิดขึ้นจนเลือดตกยางออกเป็นเวลาประจวบกันกับกรมพระราชวังบวรฯ กำลังโปรดให้สร้างปราสาทองค์ใหม่ขึ้นกลางสระ   ทำนองเดียวกับพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์สมัยปลายอยุธยา      พอเกิดเหตุ  ก็เหมือนลางไม่ดี ทำให้ล้มเลิกพระทัยจะสร้างปราสาท     รับสั่งว่าที่วังจันทรเกษมที่กรุงศรีอยุธยาไม่มีปราสาท     พระองค์จะมาทรงสร้างปราสาทในวังหน้า ดูจะเกินวาสนาไป    จึงเกิดเหตุร้ายขึ้น
    ตัวไม้ที่เตรียมไว้สำหรับก่อสร้าง  ก็เลยถูกย้ายไปสร้างพระมณฑปวัดนิพพานาราม หรือวัดมหาธาตุในปัจจุบัน    ส่วนบริเวณเกาะกลางสระที่เดิมตั้งพระทัยให้สร้างปราสาทนั้น โปรดให้สร้างพระวิมาน   ประดิษฐานพระพุทธรูปขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ขนามนามว่า พระพิมานดุสิตา
     พระวิมานนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพรรณนาไว้ในพระราชนิพนธ์ เรื่อง สถานที่ซึ่งกรมพระราชวังบวรฯ ทรงสร้างว่า

"ตัววิมานกลางที่เป็นหอพระ หลังคาดีบุก ฝากระดาน ข้างนอกประกอบเป็นลายทรงข้าวบิณฑ์ปิดทองประดับกระจก ข้างในเขียนลายรดน้ำมีราชวัตรฉัตรรูปอย่างฉัตรเบญจรงค์ (ปักรายรอบ) เป็นเครื่องปิดทองประดับกระจกทั้งสิ้น นอกพระวิมานออกมามีพระระเบียง ฝาข้างในเรื่องพระปฐมสมโพธิและเรื่องรามเกียรติ์ "งามนักหนา" ข้างนอกมีลายประกอบปิดทองประดับกระจก เสาและหูช้างพนักข้างในก็ล้วนลายสลักปิดทองประดับกระจก มีตะพานสลักปิดทองเป็นทางข้ามสระเข้าไปทั้งสี่ทิศ"

น่าเสียดายที่ไม่มีรูปหรือหลักฐานอื่นให้เห็นว่าหน้าตาเป็นอย่างไร    เพราะเมื่อกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ในรัชกาลที่ ๒ เสด็จเข้ามาประทับที่พระราชวังบวรฯ พระพิมานดุสิตาชำรุดมากแล้ว จึงโปรดฯ ให้รื้อพระวิมานและพระระเบียงออก แล้วนำเอาไม้ที่ยังคงใช้ได้นั้นไปสร้างวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร ส่วนสถานที่บริเวณนั้นกลายเป็นสวนเลี้ยงนก เลี้ยงปลา เป็นที่ประพาสสำราญพระอิริยาบถ


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 13, 11:26
กินแกงแมวอิ่มแล้ว   กลับเข้าชั้นเรียนนะคะ

คราวนี้ขอเกริ่นยาวหน่อยกว่าจะเข้าเรื่อง  ใครง่วงจะหลับไปก่อนก็ได้  ถึงตอนประหารเจ้าจอมแล้วจะปลุกอีกที

ก็อย่างที่รู้ๆกัน ว่าในรัชกาลที่ ๑  เป็นยุคสมัยที่รบทัพจับศึกกันทั้งรัชกาล       ขุนนางวังหน้ามีนักรบเก่งๆหลายคน  ได้ออกรบกันไม่เว้นว่าง   เมื่อมีจอมทัพเป็นนักรบมือฉกาจอย่างกรมพระราชวังบวรฯ   นักรบวังหน้าก็ฮึกเหิมที่จะรบ    ความฮึกเหิมนี้ทวีขึ้นจนกระทั่งกลายเป็นลำพองใจว่าฝ่ายตัวเองเก่งกว่าขุนนางวังหลวง     แม้ว่าไม่ได้พูดกันออกมาตรงๆแต่ความรู้สึกก็คุกรุ่นกันอยู่ในวังหน้าว่านักรบวังหน้าฝีมือดีกว่า เพราะออกศึกมาโชกโชน

ตอนปลายรัชกาล มีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารว่า ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๓๙    กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเกิดขัดพระทัยกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก    ถึงกับไม่เสด็จลงมาเฝ้า ณ พระบรมมหาราชวังอย่างเคย       ในหนังสือนิพพานวังหน้าให้รายละเอียดว่าขุนนางวังหน้าไปเพ็ดทูลกรมพระราชวังบวรฯ ว่าพวกวังหลวงให้เอาปืนใหญ่ขึ้นป้อม ตั้งเล็งมาทางวังหน้า เพื่อจะยิงวังหน้า    เมื่อเป็นอย่างนี้ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่โตวุ่นวายกันขึ้นมาในวัง
แต่กรมพระราชวังบวรฯ ก็มิได้ทรงวู่วามเชื่อขุนนาง   ทรงมีรับสั่งให้นักองค์อี พระสนมเอกซึ่งเป็นพระธิดาพระเจ้ากรุงกัมพูชา แต่งข้าหลวงลอบลงมาสืบความจากพวกเขมรที่ลากปืนที่วังหลวง ว่าเขาตั้งปืนใหญ่กันขึ้นมาทำไม   ก็ได้ความแต่ว่าเอาปืนขึ้นป้อมเพื่อยิงอาฏานาพิธีตรุษเท่านั้นเอง  ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับจะทำศึกกลางเมือง


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 05 มี.ค. 13, 11:52
   เหตุร้ายที่เกิดขึ้นจนเลือดตกยางออกเป็นเวลาประจวบกันกับกรมพระราชวังบวรฯ กำลังโปรดให้สร้างปราสาทองค์ใหม่ขึ้นกลางสระ   ทำนองเดียวกับพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์สมัยปลายอยุธยา      พอเกิดเหตุ  ก็เหมือนลางไม่ดี ทำให้ล้มเลิกพระทัยจะสร้างปราสาท     รับสั่งว่าที่วังจันทรเกษมที่กรุงศรีอยุธยาไม่มีปราสาท     พระองค์จะมาทรงสร้างปราสาทในวังหน้า ดูจะเกินวาสนาไป    จึงเกิดเหตุร้ายขึ้น
    ตัวไม้ที่เตรียมไว้สำหรับก่อสร้าง  ก็เลยถูกย้ายไปสร้างพระมณฑปวัดนิพพานาราม หรือวัดมหาธาตุในปัจจุบัน    ส่วนบริเวณเกาะกลางสระที่เดิมตั้งพระทัยให้สร้างปราสาทนั้น โปรดให้สร้างพระวิมาน   ประดิษฐานพระพุทธรูปขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ขนามนามว่า พระพิมานดุสิตา
     พระวิมานนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพรรณนาไว้ในพระราชนิพนธ์ เรื่อง สถานที่ซึ่งกรมพระราชวังบวรฯ ทรงสร้างว่า

"ตัววิมานกลางที่เป็นหอพระ หลังคาดีบุก ฝากระดาน ข้างนอกประกอบเป็นลายทรงข้าวบิณฑ์ปิดทองประดับกระจก ข้างในเขียนลายรดน้ำมีราชวัตรฉัตรรูปอย่างฉัตรเบญจรงค์ (ปักรายรอบ) เป็นเครื่องปิดทองประดับกระจกทั้งสิ้น นอกพระวิมานออกมามีพระระเบียง ฝาข้างในเรื่องพระปฐมสมโพธิและเรื่องรามเกียรติ์ "งามนักหนา" ข้างนอกมีลายประกอบปิดทองประดับกระจก เสาและหูช้างพนักข้างในก็ล้วนลายสลักปิดทองประดับกระจก มีตะพานสลักปิดทองเป็นทางข้ามสระเข้าไปทั้งสี่ทิศ"

น่าเสียดายที่ไม่มีรูปหรือหลักฐานอื่นให้เห็นว่าหน้าตาเป็นอย่างไร    เพราะเมื่อกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ในรัชกาลที่ ๒ เสด็จเข้ามาประทับที่พระราชวังบวรฯ พระพิมานดุสิตาชำรุดมากแล้ว จึงโปรดฯ ให้รื้อพระวิมานและพระระเบียงออก แล้วนำเอาไม้ที่ยังคงใช้ได้นั้นไปสร้างวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร ส่วนสถานที่บริเวณนั้นกลายเป็นสวนเลี้ยงนก เลี้ยงปลา เป็นที่ประพาสสำราญพระอิริยาบถ

ตอนนี้ยังเหลือที่ว่างเวิ้งนี้ให้เห็นครับ เป็นสวนหย่อมเล็ก ๆ อยู่หน้าตึกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พอดีเลยครับ....สระน้ำเลี้ยงปลา เรียกว่า "พระที่นั่งรังสรรคจุฬาโลกย์"


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 13, 12:19
พิธีอาฏานา จัดขึ้นในวันตรุษคือวันปีใหม่ไทย   นอกจากสวดอาฏานาฏิยสูตร (ซึ่งปัจจุบันคือการสวดภาณยักษ์) แล้วก็ยังมียิงปืนใหญ่ไล่ภูตผี ปีศาจทุกชนิดให้ตกใจและหนีไป ก็จะมีความสะอาดหมดจดขึ้นในวันขึ้นปีใหม่  ระหว่างพระสงฆ์สวดในวันทําพิธีตรุษ
คำว่าอาฎานา สมัยนั้นเรียกเพี้ยนไปว่า ยิงปืนอัฏนาหรืออัตนา     ในนิราศเดือนของนายมี บรรยายไว้ว่า

             “ถึงเดือนสี่ปีสุดจะตรุษใหม่                       ยังไม่ได้นุชนาฏที่ปรารถนา
         ฟังเสียงปืนยืนยัดอัตนา                               รอบมหานัคเรศนิเวศน์วัง ”
          
         ปืนที่ยิงนั้นใส่ดินปืน ใส่หม่อน ใบหนาด ใบสามแร้งสามกา ซึ่งถือกันว่าเป็นใบไม้ที่ผีกลัว มีถุงข้าวเปลือกข้าวสารถุงเล็กๆ ๑๐๘ ถุง สำหรับบรรจุในปืนอย่างฟาดข้าวไล่ผีด้วย กำหนดให้ยิงเป็นคราวแรกในเวลายามเศษ  สวดตลอดคืนตลอดรุ่งใน ๑๑ จบ ถ้าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกหัวค่ำเป็น ๑๒ จบ บ้าง บางทียิงปืนอยู่ใน ๒๓ คราวปืนเป็นธรรมดา แต่ถ้า ๑๒ จบ ก็เป็น ๒๕ คราวปืน
          จำนวนปืนที่ยิงมีปืนอินพิน กางกระบอก  ปืนสามแหม ๖๐ กระบอก ปืนคาบศิลา ๕ กระบอก ปืนทอง มหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ ๔ กระบอก ปืนฟินลินปิดสัญญาณนอก ๒ กระบอก ปืนฝรั่งเปิดหมวก ๒ กระบอก ปืนทองมนิลา ๒ กระบอก ปืนทองรางแท่น ๒ กระบอก ปืนหามแล่น ๘๐ กระบอก รวมปืนเล็ก ๙๕ กระบอก ปืนใหญ่ ๙๖ กระบอก รวมเป็น ๑๙๑ กระบอก กำหนดที่ยิงปืนนั้น ยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ ก่อนแล้วจึงยิงปืนตับ เมื่อยิงปืนตับแล้วจึงยิงปืนสัญญาณนอกที่ประตูวิเศษไชยศรี แล้วปืนป้อมขันธ์เขื่อนเพชรยิงไปเป็นลำดับประทักษิณรอบพระบรมมหาราชวังและพระนคร  
         ขอลอกมาให้อ่านสำหรับผู้สนใจเรื่องปืนค่ะ   ไม่มีปัญญาจะไปค้นว่าปืนพวกนี้คืออะไรบ้าง    พอนึกออกก็คือปืนคาบศิลา


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 13, 12:56
      แม้จะรู้กันแล้วว่าปืนใหญ่ของวังหลวงมีเอาไว้ยิงในพิธีตรุษ   แต่พวกขุนนางวังหน้า มีพระยาเกษตรรักษา (บุญรอด)เสนาบดีกรมนา เป็นต้น   ไม่ยอมวางใจง่ายๆ   ก็ให้เอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งที่ป้อมไพฑูรย์ซึ่งเป็นป้อมอยู่ทางทิศใต้   เปนรูปหอรบยาวตามกำแพงวัง ทางปืนตรงเฉพาะพระราชวังหลวง     เรียกว่าเตรียมพร้อมจะต่อสู้กับวังหลวงหากว่าทางวังหลวงยิงปืนใหญ่มาทางวังหน้าจริงๆ
     พวกขุนนางวังหลวงเห็นวังหน้าตระเตรียมกำลัง   ก็ตระเตรียมขึ้นมาบ้าง   สถานการณ์ตึงเครียดเกือบจะเกิดรบกันกลางเมือง ความทราบถึงสมเด็จพระพี่นาง ทั้งสองพระองค์ คือเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี และเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์  ก็เสด็จไปวังหน้า มีรับสั่งปลอบประโลมเกลี้ยกล่อมกรมพระราชวังบวรฯจนสิ้นทิฐิมานะ แล้วพาพระองค์ลงมาเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชที่วังหลวง    การที่ทรงขัดเคืองกันจึงระงับไปได้

     อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องขัดแย้งจะระงับลงได้   ความรู้สึกของขุนนางวังหน้าก็น่าจะยังกรุ่นๆอยู่บ้าง ไม่ดับลงง่ายๆ   

    ต่อมาถึงปี ๒๓๔๖  กรมพระราชวังบวรฯ ประชวรหนัก พระอาการมีแต่ทรงกับทรุด   วันหนึ่งมีรับสั่งว่า พระราชมนเทียรสถานได้ทรงสร้างไว้ใหญ่โต เปนของประณีตบรรจง ประชวรมาช้านานไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นให้รอบ   จะใคร่ทอดพระเนตรให้สบายพระราชหฤทัย จึงโปรดให้เชิญพระองค์ขึ้นทรงพระเสลี่ยง   บรรทมพิงพระเขนย เชิญเสด็จไปรอบพระราชมนเทียร
    ขณะเสด็จไปรอบๆ  ก็มีกระแสรับสั่ง   ซึ่งคนรุ่นหลังถ่ายทอดกันมาหลายอย่าง   บางคนเล่าว่ากรมพระราชวังบวร ฯ ทรงบ่นว่า
     " ของนี้กูอุส่าห์ทำด้วยความคิดแลเรี่ยวแรงเป็นหนักหนา หวังว่าจะได้อยู่ชมให้สบายนาน ๆ ก็ครั้งนี้จะไม่ได้อยู่แล้ว จะได้เห็นวันนี้เป็นที่สุด   ต่อไปก็จะเปนของท่านผู้อื่น "
     บางคนก็เล่าหนักข้อกว่านี้   ว่ากรมพระราชวังบวร ฯ ทรงบ่นว่า
     " ของใหญ่ของโตดีดีของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุน กูสร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครมิใช่ลูกกู ถ้ามาเปนเจ้าของเข้าครอบครอง ขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข "
     แล้วก็ทรงสาปแช่งไปต่าง ๆ ตามพระหฤทัยที่โทมนัส เล่ากันอย่างหลังนี้โดยมาก


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 13, 13:03
   หลังจากนั้นไม่นาน    พระอาการของกรมพระราชวังบวรฯก็ทรุดหนักลง    ทรงมีพระประสงค์ที่จะเสด็จไปนมัสการลาพระพุทธรูปที่พระอุโบสถวัดนิพพาราม(หรือวัดมหาธาตุในปัจจุบัน) ครั้นเมื่อเสด็จมาถึงพระอุโบสถแล้ว    มีพระราชดำรัสเรียกพระแสงมาจบพระหัตถ์เพื่อถวายให้เป็นราวเทียน เมื่อเจ้าพนักงานนำเทียนมาจุดเรียงติดกับที่พระแสงทำเป็นพุทธบูชาอยู่ครู่หนึ่ง ขณะนั้นอาการพระโรคก็ได้กำเริบขึ้น  ประสบทุกขเวทนาแรงกล้า   พระองค์จึงเอาพระแสงหมายจะเเทงพระองค์ถวายเป็นพุทธบูชา
   พระองค์เจ้าลำดวนพระราชโอรสซึ่งตามเสด็จไปด้วยเข้าขัดขวางไว้    กรมพระราชวังบวรฯจึงทอดพระองค์ลงกันแสง   ตรัสแช่งด่าพระองค์เจ้าลำดวนไปต่างๆนานา ในที่สุดพวกเจ้านายและข้าราชการวังหน้า จึงได้เชิญพระองค์เสด็จขึ้นประทับบนพระเสลี่ยงเพื่อกลับพระราชวังบวรสถานมงคล
    ในระหว่างทางพระองค์ได้ตรัสเป็นนัยแก่พระโอรสและข้าราชการที่ตามเสด็จว่า
    “สมบัติทั้งนี้กูได้กระทำศึกสงครามกู้แผ่นดินขึ้นมาได้ก็เพราะกูทั้งสิ้น   ไม่ควรที่จะไปได้แก่ลูกหลานวังหลวง ผู้ใดมีสติปัญญาก็ให้เร่งคิดเอาเถิด”

   พระอาการทรุดหนักลงใกล้ที่จะสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าได้เสด็จขึ้นไปพยาบาลพระราชอนุชา ณ พระราชวังบวรสถานมงคลถึง 6 วัน ก่อนสวรรคต    ทรงฝากพระราชโอรสและธิดา และขอให้ทั้งหมดได้ครองวังหน้าต่อไป  ดังที่กล่าวไว้ในพระนิพนธ์ นิพพานวังหน้า ของพระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตร

จึ่งทูลฝากพระนิเวศน์ที่เคยครอง                        ประสิทธิป้องมอบไว้ใต้ธุลี
ฝากหน่อขัติยานุชาด้วย                                 จงเชิญช่วยโอบอ้อมถนอมศรี...
..................................................
อนึ่งหน่อวรนารถผู้สืบสนอง                             โปรดให้ครองพระนิเวศน์เหมือนปางหลัง
อย่าบำราศให้นิราแรมวัง                                ก็รับสั่งเอออวยพระโองการ


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 13, 20:41
     ในพระนิพนธ์นิพพานวังหน้า บอกว่า "ก็รับสั่งเอออวยพระโองการ" หมายความว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ก็ทรงเอออวยไปตามคำทูลขอของกรมพระราชวังบวรฯ      ในเมื่อคนกำลังจะตาย ขอสั่งเสียเป็นครั้งสุดท้าย ใครจะใจดำปฏิเสธได้ลงคอ     พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ท่านก็คงเห็นพระทัยพระราชอนุชา  
     อย่างไรก็ตาม   เรื่องการยกวังหน้าให้พระราชโอรสธิดาของกรมพระราชวังบวรฯทรงครอบครอง ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนวังเจ้านายทั่วไป      ถ้ากรมพระราชวังบวรฯทรงมีแต่พระราชธิดาล้วนๆ ย่อมไม่มีปัญหาอะไร   เพราะยังไงก็ต้องทรงอยู่กันที่วังหน้าต่อไปอยู่แล้วในฐานะเจ้านายฝ่ายในของวังหน้า    แต่พระราชโอรสที่เจริญพระชันษาแยกวังกันออกไปแล้วตามธรรมเนียมเจ้านายนี่น่ะซี    จะกลับเข้ามาครองวังหน้าในฐานะอะไร    ข้อนี้เป็นเรื่องต้องคิดหนัก  เพราะวังหน้าไม่เหมือนกับวังส่วนพระองค์ของเจ้านายอื่นๆ     วังอื่นๆนั้นเจ้าของวังจะทูลขอให้ลูกหลานอยู่ต่อก็มีสิทธิ์ทำได้     ผิดกับวังหน้าที่ไม่ได้มีแต่พระราชมนเทียรพระที่นั่งใหญ่น้อยอย่างเดียว  แต่มีฐานันดรศักดิ์ของสมเด็จพระมหาอุปราชกำกับอยู่อีกชั้นหนึ่งด้วย    
    คำถามก็คือ  พระราชโอรสที่เข้ามาครองวังหน้าจะต้องสืบตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลตามวังไปด้วยหรือเปล่า      หรือว่าจะครองแต่สถานที่วังหน้าเฉยๆ แต่ยังเป็นชั้นพระองค์เจ้าเหมือนเดิม      ส่วนตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯที่เป็นตำแหน่งพระมหาอุปราช จะย้ายไปตกอยู่กับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรสุนทร พระราชโอรสของพระมหากษัตริย์ อย่างที่ควรเป็น   แต่พระองค์จะไม่ได้ประทับอยู่ในวังหน้าอยู่ดี     คือคนอยู่ก็ไม่ได้เป็น     คนเป็นก็ไม่ได้อยู่
     ทั้งหมดนี้เป็นคำถามที่ต้องใคร่ครวญให้ดี  จะตัดสินกับปุ๊บปั๊บวันนี้พรุ่งนี้ไม่ได้      


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 13, 20:44
     ในเมื่อเรื่องไม่ได้ตัดสินกันง่ายๆแบบนี้   จึงไม่มีพระบรมราชโองการอย่างใดลงมาหลังจากกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทสิ้นพระชนม์    ทำให้พระองค์เจ้าลำดวน พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ และพระองค์เจ้าอินทปัต ที่รอท่าอยู่ว่าจะได้เข้าไปครองวังหน้าต่อจากพระราชบิดา  ก็โกรธเคืองขึ้นมา   จึงคบคิดกับข้าราชการวังหน้าบางส่วน ซ่องสุมกำลังและวางแผนเพื่อจะก่อการกบฏ
    ก็น่าสงสัยอยู่อย่างหนึ่งว่าการวางแผนโค่นล้มราชบัลลังก์นี้น่าจะมีอยู่ในใจฝ่ายวังหน้ามาก่อน  ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในพระราชพงศาวดาร ว่า
    “พวกกบฏวางแผนที่จะลอบประทุษร้ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อครั้งที่เสด็จมาสรงพระศพที่พระราชวังบวร แต่ด้วยข้าราชการวังหลวงตั้งกองรักษาพระองค์อย่างแน่นหนาจึงเปลี่ยนแผนใหม่เป็นวันพระราชทานเพลิงพระศพแทน” 
    เพราะงานสรงพระศพกรมพระราชวังบวรฯ ย่อมมีขึ้นในวันเดียวกันหรืออย่างช้าก็วันต่อมาจากที่กรมพระราชวังบวรฯสิ้นพระชนม์      นับว่าเร็วมาก  ต่อให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯเตรียมจะยกวังหน้าให้พระองค์เจ้าลำดวนจริง  ก็คงจะยังยกไม่ทันอยู่ดี     ถ้าหลักฐานนี้จริงก็แปลว่า ไม่ว่ารัชกาลที่ 1 จะทรงยกวังหน้าให้หรือไม่ก็ตาม  กบฏเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น

      ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เล่าต่อมาว่า เจ้านายและขุนนางวังหน้า คือพระยากลาโหมราชเสนา(ทองอิน) กับพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต ตั้งกองเกลี้ยกล่อมหาคนดีมีวิชาความรู้มาทดลองกันในวังพระองค์เจ้าลำดวน    ถ้าพลั้งพลาดล้มตายก็ให้ฝังเสียในกำแพงวังเป็นหลายคน    แปลว่าเตรียมก่อศึกกลางเมืองแน่นอน


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: vasu ที่ 05 มี.ค. 13, 22:53
ขอเป็นนักเรียนแถวหลังสุดนะครับ


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 13, 11:10
เมื่อวานเน็ตล่มทั้งวัน  นักเรียนนั่งหลับกันไปทั้งห้องแล้วมั้ง
ตื่นค่ะตื่น

มาทำความรู้จักกับพระองค์เจ้าลำดวน กับพระองค์เจ้าอินทปัตก่อนนะคะ 
พระโอรสวังหน้าทั้ง 2 พระองค์นี้ เกิดจากเจ้าจอมมารดา      เจ้าศิริรจจาซึ่งเป็นพระชายาเอกมีพระธิดาองค์เดียวชื่อเจ้าฟ้าพิกุลทอง    ส่วนพระองค์เจ้าลำดวนประสูติจากหม่อมขะ เมื่อพ.ศ. 2322   ในสม้ยที่พระบิดายังดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาสุรสีห์ในกรุงธนบุรี     พระอนุชาคือพระองค์เจ้าอินทปัตนั้นประสูติในปีต่อมา จากหม่อมตัน    ภายหลังก็เป็นเจ้าจอมมารดาขะ และเจ้าจอมมารดาตันกันทั้งสองท่าน

พระองค์เจ้าทั้งสองนี้เมื่อล่วงมาถึงปลายรัชกาลที่ 1   อยู่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์ อายุ 20 กว่าๆทั้งสององค์   เมื่อกรมพระราชวังบวรฯเสด็จไปทำศึกรบพม่าที่เมืองเชียงใหม่   พระโอรส 2 พระองค์นี้ก็ตามเสด็จ  ได้คุมทัพหน้าไปกับกรมขุนสุนทรภูเบศร์  ศึกครั้งนี้ทัพไทยมีชัยชนะตีกองทัพพม่าแตกยับเยิน    ต่อมาพม่าย้อนรอยกลับมาตีเชียงใหม่อีก  กรมพระราชวังบวรฯก็ทรงยกทัพขึ้นไปอีก  มีพระโอรสทั้งสองและพระยาเสนหาภูธร(ทองอิน) ภายหลังได้เปนพระยากลาโหมราชเสนา  ซึ่งเป็นขุนนางที่กรมพระราชวังบวร ฯ ทรงพระเมตตาเหมือนพระราชบุตรบุญธรรม คุมกองทัพวังหน้าขึ้นไปเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง
ศึกคราวนี้วังหน้าทำชื่อเสียงไว้ดีมาก ตีได้ค่ายพม่าก่อน  หลังจากนั้นทัพวังหลวงถึงจะตีค่ายได้ กรมพระราชวังบวร ฯ ทรงขัดเคืองกองทัพวังหลวง ดำรัสบริภาษต่าง ๆ แล้วปรับโทษให้ขึ้นไปตีเมืองเชียงแสนแก้ตัวด้วยกันกับกองทัพเจ้าอนุเวียงจันท์ ซึ่งยกมาถึงไม่ทันรบพม่าที่เมืองเชียงใหม่
การสงครามคราวนี้จึงเป็นเหตุให้นักรบวังหน้า คือพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต แลพระยากลาโหมทองอิน  เกิดดูหมิ่นพวกวังหลวงว่าในการรบพุ่งทำศึกสงครามสู้พวกวังหน้าไม่ได้ ข้างพวกวังหลวงเมื่อเห็นพวกวังหน้าดูหมิ่นก็ขัดเคือง  จนกระทบกระทั่งกันมาเป็นคราวๆ  เพียงแต่ยังไม่ถึงกับเป็นเหตุร้ายแรง


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 13, 12:17
     เรื่องใหญ่ขนาดคนตายซ้ำตายซ้อน ปิดบังฝังศพไว้ในวัง  เป็นเรื่องปิดไม่มิดแน่นอน      ในที่สุดข่าวก็รั่วไหลไปถึงวังหลวง   พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงให้สายสืบปลอมไปเข้าเป็นสมัครพรรคพวกของพระองค์เจ้าทั้งสอง   ก็ได้ความสมจริงสมกับข่าวที่กระเซ็นกระสายออกมา  จึงโปรดให้จับมาชำระความ   ก็ได้คำสารภาพว่าคบคิดกับพระยากลาโหมราชเสนา( ทองอิน) ด้วย การจับกุมก็เลยขยายผลไปถึงพระยากลาโหมและสมัครพรรคพวกอีกหลายคน
     พวกนี้ให้การรับเปนสัตย์ว่าคบคิดกันจะทำร้ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อวันเสด็จพระราชทานเพลิงพระศพกรมพระราชวังบวร ฯ   ส่วนพระราชดำรัสของกรมพระราชวังบวรฯ ที่ได้ตรัสโทมนัสน้อยใจในเวลาทรงพระประชวร ก็เห็นจะปรากฎขึ้นในเวลาชำระกันนี้ จึงเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงน้อยพระราชหฤทัยในสมเด็จพระอนุชาว่าเพราะผู้ใหญ่พูดจาให้ท้ายเช่นนั้นเด็กจึงกำเริบ    ความน้อยพระทัยมีมากถึงขั้นว่าจะไม่ทำพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพกรมพระราชวังบวร ฯ แต่ครั้นคลายพระพิโรธลงก็โปรดให้ทำพระเมรุใหญ่ตามอย่างพระเมรุพระมหาอุปราชครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ดำรัสให้เชิญพระบรมสารีริกธาตุออกสมโภชที่พระเมรุให้เปนพุทธบูชาเสียก่อน ไม่ให้เสียพระวาจาที่ว่าจะไม่ทำพระเมรุกรมพระราชวังบวรฯ


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 13, 13:07
ครั้นมาถึง วันอังคาร เดือน ๓ ขึ้น ๕ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๓๔๖  จับนายทองอินกลาโหมกับพวกได้สิ้น นายทองอินให้การว่า วันถวายพระเพลิงกรมพระราชวังบวรฯ จะเป็นวันที่ลงมือทำการประทุษร้าย ได้ความจะแจ้งแล้ว ก็ให้เอาหม่อมลำดวน หม่อมอินทปัต (ถูกถอดออกจากฐานันดรศักดิ์) กับบุตรไปสำเร็จโทษเสียด้วยท่อนจันทน์ อ้ายทองอิน กับพรรคพวกทั้งนั้น ก็ให้เอาไปประหารชีวิตเสีย..

นายทองอินกลาโหม นอกจากเป็นนักรบฝีมือดีของวังหน้าแล้ว   ยังเป็นผู้ที่กรมพระราชวังบวรฯทรงเมตตาประหนึ่งพระโอรสบุญธรรม   แต่มีเกร็ดว่า นายทองอินก็ตอบสนองพระคุณเสียสมรัก  คือลักลอบเป็นชู้กับเจ้าจอมวังหน้า ชื่อว่าเจ้าจอมวันทา   ซึ่งเป็นสาวชาวเวียงจันทน์
เมื่อนางทองอินถูกประหารในคราวนี้  พร้อมกับพรรคพวกที่สมรู้ร่วมคิด   เจ้าจอมวันทาก็ถูกประหารพร้อมกันไปด้วย     น่าเสียดายที่หารายละเอียดเกี่ยวกับเธอมากกว่านี้ไม่ได้  บอกได้เพียงสั้นๆแค่นี้เองค่ะ

มีผู้เข้าใจว่า นายทองอินกลาโหม เป็นคนเดียวกับพระยากลาโหมราชเสนา(ทองอินทร์) ซึ่งเป็นพระโอรสของเจ้าฟ้าจุ้ย กรมขุนอินทรพิทักษ์   พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ที่ขอตายไปตามพระราชบิดาไป       ส่วนเชื้อสายมิได้ถูกประหารไปด้วย  ยังคงเติบโตมาอยู่ในราชการสมัยรัตนโกสินทร์ 
อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ
http://writer.dek-d.com/bird711/story/viewlongc.php?id=524172&chapter=233


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 13, 15:53
เรื่องต่อมา คือกบฏเจ้าฟ้าเหม็น

เจ้าฟ้าเหม็น เป็นหลานตาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก     เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาจักรี  ได้ถวายธิดาชื่อฉิมใหญ่เป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ   มีพระเจ้าลูกยาเธอองค์หนึ่งทรงพระนามว่าเจ้าฟ้าสุพันธวงศ์ แต่คนทั่วไปเรียกว่า เจ้าฟ้าเหม็น   
หลังประสูติได้เพียง 12 วันเจ้าฟ้าเหม็นก็กำพร้ามารดา ต่อมาอีก 3 ปีก็เปลี่ยนราชวงศ์จากธนบุรีเป็นราชวงศ์จักรี    พระราชโอรสธิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯพระองค์อื่นๆที่มิได้สิ้นพระชนม์ตามพระราชบิดา   กลายเป็นสามัญชน  ฝ่ายชายก็เข้ารับราชการฝ่ายหน้าเป็นขุนนาง   ฝ่ายหญิงก็ไปเป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามของเจ้านายในพระราชวงศ์จักรี
ส่วนเจ้าฟ้าเหม็นได้รับพระเมตตาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯให้ดำรงพระยศเจ้าฟ้าไว้ตามเดิม    ทรงกรมเป็นกรมขุนกษัตรานุชิต ครั้งทรงเจริญพระชันษา จึงโปรดเกล้าพระราชทานวังถนนหน้าพระลาน ด้านตะวันตก ซึ่งเรียกว่า "วังท่าพระ"เป็นที่ประทับ  ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยศิลปากร


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 07 มี.ค. 13, 16:01
ไชโย ได้เรียนต่อแล้ววววว  :D


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 13, 16:09
เสิฟกาแฟแก้ง่วงค่ะ    เลือกร้อนเย็นได้ตามใจชอบ


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 07 มี.ค. 13, 17:03
มาลงชื่อเข้าชั้นเรียนพร้อมกับขออนุญาตยกมือถามว่า
พระยากลาโหมราชเสนานา (ทองอินทร์) ผู้นี้ ว่ากันว่าคือคนเดียวกับนายนรินทรธิเบศร์ผู้แต่งนิราศนรินทร์อันเลื่องชื่อลือทั่วฟ้าแหล่งหล้าวรรณศิลป์ เรื่องนี้เชื่อถือได้เพียงได้ครับอาจารย์


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 13, 18:16
ดิฉันยังหาหลักฐานไม่ได้ว่า พระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน)มีผลงานกวีอยู่ที่ไหน      เพราะฉะนั้นจะสรุปว่าเป็นคนเดียวกับนายนรินทร์ธิเบศร์ก็เลยยังสรุปไม่ได้ค่ะ     คนสมัยก่อนชื่อซ้ำกันมาก ในวังหน้า คนชื่ออินอาจมีหลายสิบคนก็ได้  ไม่จำเป็นว่าอินจะต้องเป็นทองอินเสมอไป   และไม่จำเป็นว่า ถ้าชื่อทองอินก็คือพระยากลาโหมทองอิน

ม.ล.ศรีฟ้า ลดาวัลย์ยังให้ความเห็นอีกว่า พระยากลาโหม(ทองอิน) เป็นคนละคนกับพระยากลาโหม(ทองอินทร์)ที่เป็นโอรสของเจ้าฟ้าจุ้ย กรมขุนอินทรพิทักษ์

  พระยาเพชรบุรีที่ปรากฏชื่ออยู่ในเรื่อง “บุญบรรพ์” บรรพ ๒ นั้น ท่านชื่อ “สุข” หรือโบราณเรียกว่า “ศุข” ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ท่านได้เป็นเจ้าพระยายมราช        ในที่นี้ขอใช้อย่างปัจจุบันว่า “สุข”
  ที่ยกขึ้นมาเล่าเพราะท่านเป็นบุตรชายของ พระยากลาโหมราชเสนา (อินทร์ หรือทองอินทร์) โบราณมักเขียนว่า “อิน” หรือ “ทองอิน” ในที่นี้จะวงเล็บชื่อพระยากลาโหมราชเสนาผู้นี้ว่า “ทองอินทร์”
  พระยากลาโหมราชเสนา (ทองอินทร์) เป็นโอรสของเจ้าฟ้าจุ้ย พระมหาอุปราชกรุงธนบุรี
  ซึ่งพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอินทร์) ผู้นี้ ผู้เขียนประวัติเจ้าพระยาในปัจจุบันหลายท่านมักเขียนตามๆกันมาว่า เป็นคนเดียวกันกับพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน) ผู้ซึ่งเป็นกบฎพร้อมกับพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต โดยเข้าใจจากพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ซึ่งจดเอาไว้ว่า
    “...ตั้งแต่นั้นมาพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต ก็มีความกำเริบจึงไปร่วมคิดกับนายทองอิน กระลาโหม เป็นคนแข็งทัพศึกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ ก็โปรดปรานไว้พระทัย ตรัสว่าทรงรักเหมือนบุตรบุญธรรม นายทองอินกลาโหม กับพระองค์เจ้าทั้งสองตั้งกองเกลี้ยกล่อมหาคนดีมีวิชาความรู้มาทดลองกันในวังพระองค์เจ้าลำดวน ถ้าพลาดพลั้งล้มตายลงก็ฝังเสียข้างในกำแพงวังเป็นหลายคน...ฯลฯ...

            ครั้นมาถึงวันอังคารเดือน ๓ ขึ้น ๕ ค่ำ จับนายทองอินกลาโหมกับพวกได้สิ้น นายทองอินให้การว่า วันถวายพระเพลิง (กรมพระราชวังบวรฯ) จะเป็นวันที่ลงมือทำการประทุษร้าย ได้ความจะแจ้งแล้วก็ให้เอาหม่อมลำดวน หม่อมอินทปัต กับบุตรไปสำเร็จโทษเสียด้วยท่อนจันทน์อ้ายทองอินกับพรรคพวกทั้งนั้น ก็ให้เอาไปประหารชีวิตเสีย...”

            ข้อความในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ดังนี้ จึงเข้าใจกันว่า พระยากลาโหมฯ (ทองอินทร์) เป็นคนๆเดียวกับพระยากลาโหมฯ (ทองอิน) ที่ถูกประหารใน พ.ศ.๒๓๔๖ หลังจากสมเด็จพระบวรเจ้ามหาสุรสิงหนาทสวรรคตเพียงไม่กี่เดือน

            เมื่อแรกผู้เล่ายังไม่ได้พิจารณาก็เคยเชื่อตามนั้น
            แต่เมื่อค้นคว้าประกอบกับเหตุผลแล้ว จึงอาจยืนยันได้ว่า พระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน) ที่ถูกประหารไม่ใช่คนเดียวกันกับพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอินทร์) อย่างแน่นอน
            พระยากลาโหมราชเสนา ตำแหน่งกลาโหมวังหน้านั้น จริงๆแล้วต้องมีถึง ๓ คน ตามลำดับ
            แรกทีเดียวปรากฏในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ เมื่อเสด็จปราบดาภิเษก ขุนนางวังหน้านั้น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงแต่งตั้งเอง
            “ตรัสเอา พระไชยบูรณ์ ปลัดเมืองพระพิษณุโลกเป็นพระยากลาโหมราชเสนา
            ...และ...
            ตรัสเอานายทองอิน ข้าหลวงเดิมเมืองพระพิษณุโลก เป็นพระยาเสน่หาภูธร จางวางมหาดเล็ก”

            จางวางมหาดเล็ก คือ หัวหน้ามหาดเล็กทั้งหมด ผู้เป็นจางวางมหาดเล็ก มักเป็นผู้ใกล้ชิดโปรดปรานมาแต่เดิม ที่เรียกกันว่า ข้าหลวงเดิม ดังเช่น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงตั้งนายภู่ ข้าหลวงเดิมเป็นพระยาราชมนตรี (ภู่) จางวางมหาดเล็กเป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงฉายพระบรมรูปร่วมด้วย ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา (ขวาพระองค์) และ พลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (ซ้ายพระองค์) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
            ต่อมาเมื่อพระยากลาโหมราชเสนาคนแรกถึงแก่อนิจกรรม พระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน) จึงได้เป็นพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน)         ส่วนพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอินทร์) โอรสเจ้าฟ้าจุ้ยนั้น เป็นพระยากลาโหมราชเสนาคนที่ ๓ ของวังหน้าพระองค์ที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๑ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) อย่างแน่นอน
            ด้วยเหตุผลดังนี้
            ว่าถึงพระชนมายุสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ พระชนมายุเพียง ๓๐ กว่าๆ พระโอรสองค์ใหญ่ เจ้าฟ้าจุ้ย อายุอย่างมากที่สุดก็เพียง ๑๔-๑๕ ไม่เกินกว่านั้นแน่ๆ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จครองราชย์อยู่ ๑๕ ปี เจ้าฟ้าจุ้ยเมื่อสิ้นพระชนม์ มีโอรสธิดา ๔ ท่าน เจ้าทองอินทร์ เป็นคนสุดท้าย อายุเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ อย่างมากก็เพียง ๑๐ ขวบ
            เด็ก ๑๐ ขวบ จะไปเป็นพระยากลาโหมฯ วังหน้าได้อย่างไร
            จึงเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ท่านต้องเป็นพระยากลาโหมราชเสนาวังหน้าคนที่ ๓ ในปลายแผ่นดินรัชกาลที่ ๑ และคงเลยเป็นพระยากลาโหมฯ วังหน้าในรัชกาลที่ ๒ ต่อไป เพราะปรากฏว่า เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนารุรักษ์ วังหน้ารัชกาลที่ ๒ ท่านเสด็จขึ้นเป็นวังหน้า ขุนนางวังหน้ามิได้เปลี่ยนแปลง

            ว่าถึงอายุอานามเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ พระองค์ใหญ่ขึ้นเป็นวังหน้าใน พ.ศ.๒๓๔๙ อายุของนายทองอินทร์ บุตรชายเล็กของเจ้าฟ้าจุ้ย ก็คงจะประมาณ ๓๐ ไม่มากไม่น้อยกว่านั้นเท่าใด สมวัยและวุฒิที่จะทรงแต่งตั้งให้เป็นพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอินทร์) ของวังหน้า

            ด้วยพระราชโอรสธิดาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงพระมหากรุณาเมตตาแต่งตั้งใช้สอยสนิทสนมในพระบรมราชวงศ์จักรีแทบทุกท่าน ยิ่งพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอินทร์) เป็นโอรสของเจ้าฟ้าจุ้ย ที่ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จะโปรดฯเลี้ยงดูต่อไป แต่เมื่อมีรับสั่งถามเจ้าฟ้าจุ้ยกราบทูลว่าไม่ขออยู่ ขอตายตามสมเด็จพระราชบิดา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงทรงจำพระทัยให้ประหารและคงโปรดน้ำใจของเจ้าฟ้าจุ้ยเป็นเหตุผลที่ทำให้ทรงตั้งบุตรชายกลาโหมราชเสนา (ทองอินทร์) วังหน้าพระองค์ที่ ๒ ในปลายแผ่นดินของพระองค์ (เสด็จสวรรคต พ.ศ.๒๓๕๒ อีกเพียง ๓ ปีต่อมา)

            การที่ทำให้เข้าใจสับสนว่า พระยากลาโหมราชเสนาคนที่ ๒ และคนที่ ๓ เป็นคนเดียวกันก็เพราะราชทินนามในตำแหน่งเหมือนกัน ทั้งชื่อจริงก็ยังซ้ำกันเสียอีก อีกทั้งในหนังสือลำดับสกุลเก่าที่เพิ่งเรียบเรียงขึ้นในรัชกาลที่ ๕ บอกไว้แต่เพียงสั้นๆว่า โอรสธิดาของเจ้าฟ้าจุ้ยมี ๔ ท่าน คนสุดท้องคือคนที่ ๔ เจ้าพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน)

            ทำให้คนรุ่นหลังเข้าใจผิดกันต่อๆมา ดูไม่เป็นการยุติธรรมต่อเชื้อสายวงศ์สกุลของพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอินทร์)

            พระยากลาโหมราชเสนา (ทองอินทร์) ไม่มีบุตรหญิงเลย มีแต่บุตรชายล้วนๆ ๕ คน บุตรชายที่ ๑-๔ รับราชการเป็นขุนนางทุกคน คนที่ ๔ คือ เจ้าพระยายมราช (สุข หรือ ศุข) ในรัชกาลที่ ๔ ต้นสกุล “สินสุข”   คนสุดท้องชื่อนายนุชไม่ได้รับราชการ แต่หลานปู่ของท่านเป็นเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม) ในรัชกาลที่ ๗   ซึ่งเมื่อแรกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯพระราชทานนามสกุลว่า “อินทรโยธิน” ตามชื่อของพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอินทร์)   แต่ต่อมาเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ ทางการให้เลิกบรรดาศักดิ์ขุนนางเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน จึงใช้ราชทินนามของท่านเป็นนามสกุลว่า “พิชเยนทรโยธิน”

            ในรัชกาลที่ ๘ โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยท่านหนึ่ง จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ ในตำแหน่ง อายุ ๗๑ ปี


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 07 มี.ค. 13, 18:26
คุณครูครับ  ทองอินนี่แปลว่าอะไรครับ หรือคำว่าอินเฉยๆ ก็ได้ รู้สึกว่าคนโบราณชื่อทองอินนี่มีเยอะมาก  เหมือนได้รับความนิยมไม่ต่างจากสมชาย สมศักดิ์ยุคนี้เลย  คนโบราญมักใช้ชื่อง่ายๆ หนึ่งหรือสองพยางค์ เช่นแผน เชย เปรม  เปรื่อง จวน  บุญ  มั่น  สร้อย  บุญมี บุญทิ้ง พวกนี้พอจะรู้ความหมายได้ แต่ทองอินซึ่งเป็นชื่อที่เจอบ่อยตามพงศาวดารต่างๆ นี่ผมเดาความหมายไม่ได้เลย  8)


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 มี.ค. 13, 18:45
ทองอิน ก็สีทองเหมือน ลูกอิน (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99-%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%99_(%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89))

(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/d/d7/Qu%E1%BA%A3_th%E1%BB%8B.jpg/640px-Qu%E1%BA%A3_th%E1%BB%8B.jpg)

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 13, 16:06
คุณประกอบคงรู้จักลูกจันลูกแบนๆ สีเหลือง กลิ่นหอมน่าดมเล่น   นั่นแหละค่ะเป็นผลไม้ต้นเดียวกับลูกอิน   อย่างกลมเรียกว่าลูกอิน อย่างแบนเรียกว่าลูกจัน

http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=fasaiwonmai&month=08-2012&date=01&group=2&gblog=354

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ต้นอินจันอยู่ในวงศ์เดียวกับลูกพลับสีส้มจากประเทศจีน มะพลับ ตะโก
และ มะเกลือ เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ผลิใบใหม่เร็ว เรือนยอดทรงพุ่มกลมทึบ หรือ รูปไข่ สูง 10-20 เมตร
เป็นไม้ที่เติบโตช้า รวมทั้งการให้ดอกและผล อายุการปลูกสิบกว่าปีขึ้นไปจึงจะได้ชื่นชมดอกผล


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 13, 16:19
     เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตทรงเป็น"หลานตา" ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงพระเมตตา ให้ตามเสด็จใกล้ชิด   เห็นได้จากเมื่อชะลอพระพุทธรูปศรีศากยมุนีมาจากสุโขทัย    เจ้าฟ้าเหม็นได้ตามเสด็จด้วย    ขณะนั้นพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรอยู่ แต่ก็เสด็จออกในกระบวนแห่ชักพระพุทธรูปจากประตูท่าช้างมายังวัดสุทัศน์      ทรงเซและก้าวพลาด เจ้าฟ้าเหม็นทรงรับพระองค์ไว้ได้  แสดงว่าต้องเดินติดตามใกล้ชิด   ซึ่งก็น่าจะได้รับโอกาสนี้เป็นประจำ

      เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต เป็นเจ้าฟ้าที่ไม่มีหน้าที่ทางราชการใดๆ กล่าวกันว่า รัชกาลที่ 1 ทรงดำริไม่ให้เจ้าฟ้าเหม็นเกี่ยวข้องกับงานราชการ   เพื่อเลี่ยงเหตุที่จะทำให้ได้รับโทษทัณฑ์    อันที่จริงการที่ไม่ทรงประหารเจ้าฟ้าพระราชโอรสของพระเจ้าตากสินก็คงกลายเป็นเสี้ยนหนามในสายตาของคนหลายคน   เพราะอาจจะคบคิดกับขุนนางที่ยังจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน  ก่อกบฏทวงราชบัลลังก์คืนเมื่อใดก็ได้

         หลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เสด็จสวรรคตได้เพียง 3 วัน  เกิดเหตุการณ์ว่าอีกาตัวหนึ่งคาบบัตรสนเท่ห์มาและทิ้งลงที่หน้าพระที่นั่ง กล่าวโทษเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตราฯว่าคบคิดกับขุนนางจำนวนหนึ่งคิดแย่งชิงราชสมบัติ   มีการนำความกราบบังคมทูลเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ)ในทันที       


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 13, 16:25
 คดีนี้  พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นผู้ชำระความ  รุ่งขึ้นจึงโปรดให้จับกุมเจ้าฟ้าเหม็นมาสอบสวนทันที  นอกจากนี้ ยังมีรัชทายาทในพระเจ้าตากสินถูกกล่าวโทษในคดีนี้อีก 2 พระองค์ คือ เจ้าจอมมารดาสำลี พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และพระองค์เจ้าชายอรนิกา  หรือนายหนูดำ
      เจ้าจอมมารดาสำลี  เดิมคือพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงพระนามว่าพระองค์เจ้าหญิงสำลีวรรณ   เมื่อสิ้นราชวงศ์ตากสินท่านก็กลายเป็นสามัญชน     และได้เป็นเจ้าจอมในกรมหลวงเสนานุรักษ์ วังหน้าในรัชกาลที่ 2   ลูกหลานท่านได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "อิศรเสนา ณ อยุธยา"

     หลวงพิสูจน์พาณิชยลักษณ์ (ม.ล.เพิ่มยศ อิศรเสนา) ได้เล่าถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่า

      " ในวันจันทร์ วันเดียวกันนั้น เจ้าจอมมารดาสำลีตัดผมใหม่ พระองค์ชายพงศ์อิศเรศร์ ชันษา ๙ ปี พระองค์หญิงนฤมล ชันษา ๖ ปี สามคนแม่ลูกนั่งเล่นกันอยู่ที่พระตำหนักในพระนิเวศนเดิม (ราชนาวิกสภา) สมเด็จฯ กรมหลวงเสนานุรักษ์เสด็จกลับจากพระบรมมหาราชวัง รับสั่งถามเจ้าจอมมารดาสำลีว่า กรมขุนกษัตรานุชิตเป็นขบถ เขาว่าเจ้ารู้เห็นเป็นใจด้วยจริงหรือ คุณสำลีตอบเป็นทำนองว่า จะหาว่าเป็นขบถก็ตามใจ พ่อเขาก็ฆ่า พี่น้องเขาจะเอาไปฆ่า ตัวเองจะอยู่ไปทำไม รับสั่งให้เรียกตำรวจเข้ามาคุมตัวไป คุณสำลีก็ผลักหลังลูกสองคนว่า นี่ลูกเสือลูกจระเข้ แล้วก็ลุกขึ้นตามตำรวจออกไป"
     
     ในเมื่อเจ้าจอมมารดาสำลีไม่ได้ปฏิเสธ และยอมตายตามสมเด็จพระราชบิดาและพระเชษฐา     ท่านจึงอยู่ในกลุ่มผู้ร่วมสมรู้ร่วมคิด    ถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิต
      คดีกบฏครั้งนี้  มีขุนนางผู้ใหญ่ถูกตัดสินว่าผิดตามข้อหากบฏอีกหลายคนคือเจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค บ้านแม่ลา) พระยาเพ็ชรปาณี (กล่อม)  พระยาราม (ทอง)  พระอินทรเดช (กระต่าย)  นอกนั้นเป็นชั้นผู้น้อย รวมผู้ต้องหาในคดีนี้ 40 คน กับพระราชวงศ์อีก 3 พระองค์ และพระโอรสทั้งหมดในเจ้าฟ้าเหม็นก้ถูกประหารทั้งหมดเช่นกัน
      สามัญชนถูกประหารชีวิตที่สำเหร่  เจ้าฟ้าและพระโอรสทั้งหมดถูกสำเร็จโทษด้วยวิธีการถ่วงน้ำ  ไม่เหลือเชื้อสายกรมขุนกษัตรานุชิตในปัจจุบัน  แต่ราชสกุลอิศรเสนาที่สืบจากทางเจ้าจอมมารดาสำลี ยังมีลูกหลานมาจนถึงปัจจุบันนี้


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 13, 16:39
เจ้าจอมที่ถูกประหารชีวิตรายต่อไปที่จะนำมาเล่า เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๓  ชื่อเจ้าจอมอิ่ม ธิดาพระยามหาเทพ (ทองปาน)
ความผิดของเจ้าจอมอิ่มไม่ใช่เรื่องกบฏ  แต่เป็นเรื่องส่วนตัว คือลอบส่งเพลงยาวเชิงชู้สาวกับชายหนุ่มนอกวัง    ชายนั้นไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นลูกชายขุนนางบุญหนักศักดิ์ใหญ่  ชื่อพระสุริยภักดี นามเดิมว่า สนิท   เป็นบุตรสมเด็จเจ้าพระยามหาพิชัยญาติ(หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย)แห่งตระกูลบุนนาค

พระสุริยภักดี (สนิท) ไม่ใช่ผู้ชายตัวเปล่า  แต่สมรสแล้วกับศรี ธิดาพระยาอุไทยธรรม (กลาง ณ บางช้าง) มีบุตรธิดา ๓ คน   นอกจากนี้ยังมีบุตรธิดากับภรรยาอื่นอีกถึง ๑๑ คน  อายุตอนที่เกิดเรื่องอื้อฉาวนี้ขึ้น ก็คือ ๒๗ ปี    คนที่กล่าวโทษคุณพระสุริยภักดีก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นทาสของตัวเองชื่ออ้ายพลายกับอีทรัพย์   
ทำไมทาสถึงกล้าแฉนายขนาดนี้ก็ไม่ทราบ   และเป็นทาสที่สามารถเขียนหนังสือร้องเรียน ทำเรื่องราวยื่นต่อเจ้าพระยาธรรมาฯ เสนาบดีวังได้เป็นเรื่องเป็นราวเสียด้วย   ทำให้สงสัยว่าน่าจะมีเบื้องหลัง   ใครสักคนเป็นตัวจริงที่ร้องเรียนขึ้นมา เพียงแต่อาศัยชื่อทาสสองคนนี้บังหน้าเท่านั้น เพราะเป็นทาสใกล้ชิดรู้เห็นเหตุการณ์


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 13, 17:30
  เรื่องที่ฟ้องร้องก็คือคุณพระสุริยภักดีกับเจ้าจอมอิ่มติดต่อให้ข้าวของกัน    ด้วยใจปฏิพัทธ์ฉันชู้สาว   ถึงขั้นเจ้าจอมอิ่มสั่งให้มาบอกกับคุณพระสุริยภักดีว่าจะลาออกจากเป็นเจ้าจอม กลับมาอยู่บ้านพ่อแม่เสียชั่วคราวก่อน แล้วจึงให้คุณสุริยภักดีส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอ
   เรื่องลอบติดต่อกันนี้  พระสำราญราชหฤทัย (อ้าว) กรมวังก็รู้เห็นเป็นใจด้วย และจะทำหน้าที่ผู้ใหญ่ฝ่ายชายช่วยสู่ขอเจ้าจอมอิ่มต่อพระยามหาเทพ ผู้เป็นบิดาเจ้าจอมอิ่มให้

  เมื่อเจ้าพระยาธรรมาฯ  อ่านเรื่องฟ้องร้องแล้ว ก็นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว     โปรดฯ ให้กรมหลวงรักษ์รณเรศร์เป็นตุลาการ ชำระได้ความว่า คุณสุริยภักดีและเจ้าจอมอิ่ม เป็นแต่ให้หนังสือเพลงยาวและข้าวของกันเท่านั้น ไม่เคยลอบออกไปพบปะพูดจากันที่ใด     
   นอกจากนี้ยังมีคนนอกเกี่ยวข้องด้วยอีกถึง ๗ คน คือ ผู้ที่รู้เห็น เช่นพระสำราญราชหฤทัย กรมวัง รู้แล้วก็นิ่งเสียไม่ห้ามปราม    ตลอดจนคนอื่นที่เกี่ยวข้องกันทั้งสองฝ่าย รวมทั้งหมอดูหมอเสน่ห์ด้วย    อ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็ไม่มีรายละเอียดทั้งๆอยากรู้จริงๆว่าหมอเสน่ห์เข้ามาเกี่ยวอะไรด้วย   ส่วนหมอดูนั้นพอเข้าใจ  ไม่ฝ่ายชายก็ฝ่ายหญิงคงไปดูดวงว่าเป็นเนื้อคู่กันหรือไม่ละกระมัง


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 09 มี.ค. 13, 22:16
รอติดตามอยู่ค่ะ


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: lantum ที่ 09 มี.ค. 13, 22:33
มาลงชื่อรออ่านต่อคะ


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: PG ที่ 09 มี.ค. 13, 23:25
มารายงานตัวครับ ติดตามเรือนไทยมานานแล้ว เพิ่งสมัครสมาชิก


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มี.ค. 13, 08:24
มีนักเรียนใหม่เพิ่ม  นักเรียนเก่าก็ยังไม่โดดเรียน    ขอยกข้าวแช่มาเลี้ยงนะคะ


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มี.ค. 13, 09:15
ด้วยหลักฐานพยานบุคคลต่างๆ ที่รวมกันแล้วเป็นหลักฐานมัดผู้ต้องหาแน่น ดิ้นไม่หลุด   กรมหลวงรักษ์รณเรศก็นำผลการชำระความขึ้นกราบบังคมทูล       เมื่อทรงทราบ  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มีพระกระแสรับสั่งให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย บิดาของคุณพระสุริยภักดี ซึ่งขณะนั้นเป็นพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดีขึ้นไปเฝ้าฯ  มีพระราชดำรัสว่า คุณสุริยภักดีนั้นยังเป็นหนุ่มคะนอง ย่อมจะทำอะไรผิดพลาดไปโดยไม่รู้ผิดรู้ชอบ    ตุลาการก็ได้กราบบังคมทูลขึ้นมาแล้วว่า คุณสุริยภักดีมิได้พบปะกับเจ้าจอมอิ่มเลย จึงมีพระกรุณาจะยกโทษให้     แต่เมื่อเรื่องราวอื้อฉาวมีโจทก์ฟ้องขึ้นมาเช่นนี้ จะทรงพระกรุณานิ่งเสียก็ไม่ได้ จึงทรงพระราชดำริเห็นว่า สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยควรจะขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นมา และทำทัณฑ์บนไว้ให้แก่คุณสุริยภักดี ก็จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษให้

ข้อความข้างบนนี้แสดงให้เห็นน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ที่เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาต่อข้าราชบริพาร  ทั้งทรงรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว      จึงทรงตัดสินว่าความผิดแบบนี้เป็นเรื่องส่วนตัวของชายหนุ่ม  ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงของแผ่นดิน     และมิได้ทรงยึดมั่นถือมั่นว่าบังอาจมาล่วงละเมิดต่อเจ้าจอมหม่อมห้ามซึ่งถือเป็นเหมือนสมบัติส่วนพระองค์       
การที่ทรงเรียกสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติมา ก็เพื่อบอกตรงๆว่าไม่เอาผิดลูกชายน่ะแหละ   แต่เพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบหน่อยก็ทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษมาก็แล้วกัน   จะได้พระราชทานได้ตามขั้นตอน     จะชิงพระราชทานอภัยโทษมาก่อนทั้งๆฝ่ายผู้ผิดยังไม่ได้ขอ มันก็ไม่ถูกต้อง


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 13, 12:33
      คำตอบของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เป็นเรื่องหนึ่งที่สมควรจารึกลงในประวัติศาสตร์เป็นหลักฐานถึงความซื่อตรงเที่ยงธรรม   เห็นได้ชัดว่าท่านต้องการรักษากฎหมายของแผ่นดินและความถูกต้อง  ยิ่งกว่าความอาลัยรักในสายโลหิตของตน
      ท่านกราบบังคมทูลว่า ท่านเองเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย เมื่อบุตรของท่านเองทำผิดบทพระอัยการร้ายแรงถึงเพียงนั้น    หากไม่ลงพระราชอาญาไปตามโทษานุโทษแล้ว ก็จะเสียหายแก่แผ่นดินยิ่งนัก เหมือนกับว่าถ้าเป็นบุตรของท่านแล้วย่อมจะทำอะไรทำได้ไม่เป็นผิด จึงขอพระราชทานให้ลงพระอาญาตามแต่ลูกขุนจะปรึกษาโทษเถิด
   
     เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านทูลปฏิเสธ ไม่ยอมรับสิทธิ์ดังกล่าว   พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดฯ ให้ลูกขุนปรึกษาโทษตามที่ท่านกราบบังคมทูล      ลูกขุนเชิญบทพระกฤษฎีกาออกมาดูแล้ว ปรากฎในบทพระกฤษฎีกาว่า ชายใดบังอาจสมรักด้วยนางใน ก็ให้ประหารชีวิตเสียทั้งชายหญิง ส่วนผู้ที่รู้เห็นเป็นใจ ก็ให้ประหารชีวิตเสียด้วย
      เมื่อผลการตัดสินเป็นอย่างนี้  คุณพระสุริยภักดี เจ้าจอมอิ่ม และคนที่เกี่ยวข้องอีก ๗ คน ก็ถูกประหารชีวิตที่ตำบลสำเหร่
   
   


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 11 มี.ค. 13, 13:21
อ้าว  :o
จากที่ไม่ต้องตาย เลยตายยกแก๊งเลย โธ่ๆๆๆๆๆๆๆๆ  :'(


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 มี.ค. 13, 13:38
 
     เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านทูลปฏิเสธ ไม่ยอมรับสิทธิ์ดังกล่าว   พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดฯ ให้ลูกขุนปรึกษาโทษตามที่ท่านกราบบังคมทูล      ลูกขุนเชิญบทพระกฤษฎีกาออกมาดูแล้ว ปรากฎในบทพระกฤษฎีกาว่า ชายใดบังอาจสมรักด้วยนางใน ก็ให้ประหารชีวิตเสียทั้งชายหญิง ส่วนผู้ที่รู้เห็นเป็นใจ ก็ให้ประหารชีวิตเสียด้วย
      เมื่อผลการตัดสินเป็นอย่างนี้  คุณพระสุริยภักดี เจ้าจอมอิ่ม และคนที่เกี่ยวข้องอีก ๗ คน ก็ถูกประหารชีวิตที่ตำบลสำเหร่
   
   

ลานประหารตรงไหนหนอ  ???


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 13, 15:40
อาจจะเป็นวัดโคกขี้แร้ง  หรือวัดสันติธรรมาราม   ตั้งอยู่หลังสถานีตำรวจนครบาลบุคคโล ริมถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฝั่งธนบุรีในปัจจุบัน


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 11 มี.ค. 13, 18:03
น่าเห็นใจคุณพระเหมือนกัน แต่ที่เห็นใจกว่าคือเจ้าจอมที่พลอยถูกประหารไปด้วย   น่ากลัวว่าคุณพระอาจจะเคยรู้จักเจ้าจอมมาตั้งแต่ก่อนเจ้าจอมถวายตัวหรือเปล่า ไม่งั้นไม่น่าจะสนใจไปตามส่งเพลงยาวได้แบบนี้  แต่ว่าก็ว่าไปคุณพระเองก็มีทั้งเมียแต่ง เมียไม่แต่งมากมาย ตัวเป็นถึงคุณพระตั้งแต่ยังหนุ่ม เป็นลูกชายสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 4  บารมีพ่อก็ใหญ่คับบ้านคับเมือง ไม่นับบารมีลุงอีก  วาสนาบารมีทั้งตัว ทั้งวงศ์ตระกูลก็ไม่น้อย ใหญ่กว่าพ่อไอ้ปื้ดสมัยนี้เยอะ  เพราะที่จะใหญ่กว่าก็มีเพียงพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น  เชื้อพระวงศ์อื่นๆ ยังไม่เทียบเท่าเลย เดินไปไหนเบ่งได้เต็มที่ เรื่องจะหาอีหนูเอ๊ะๆ สวยแค่ไหนคงไม่ยากสำหรับคุณพระ    แต่สงสัยว่ามันจะไม่เร้าใจ คนเราเพียบพร้อมทุกอย่างเกินไปเลยอยากหาอะไรตื่นเต้นๆ เล่นของสูงเกินเอื้อม  เลยเล่นกับไฟซะเลย ไฟเลยลามเผาทั้งตัว ทั้งเจ้าจอมไปเลย   คิดไปคิดมาเอ ไม่เห็นใจแล้วดีกว่า


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 13, 19:55
อ่านมาถึงตอนจบแล้วก็...อ้าว พลิกล็อค   ;)
*****************
เจ้าจอมหม่อมห้าม เป็น"นางห้าม" ใครๆก็รู้ๆกันอยู่     แต่ก็ไม่วายมีผู้ชายที่ละเมิดกฎข้อบังคับอันเข้มงวดข้อนี้อยู่บ้าง     ย้อนกลับไปในรัชกาลที่ ๒   ก็มีกรณีแบบเดียวกับพระสุริยอภัยและเจ้าจอมอิ่มเกิดขึ้นมาก่อน

เราคงจะจำกันได้ว่า เมื่อสิ้นราชวงศ์ธนบุรีแล้ว บรรดาเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าพระราชโอรสธิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯก็กลายเป็นสามัญชน    ส่วนใหญ่ก็ยังทรงพระเยาว์อยู่ และอยู่รอดปลอดภัยดีไม่มีใครไปทำร้ายแต่อย่างใด    องค์ไหนผิดก็ว่าไปตามผิด องค์ไหนไม่ได้ทำผิดก็เจริญพระชันษาขึ้นมาเป็นขุนนางทั้งในปลายรัชกาลที่ ๑ และต่อมาในรัชกาลที่ ๒

ในจำนวนนี้มีเจ้าฟ้าชายพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าสมเด็จเจ้าฟ้าทัศไภยิ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๑๔ ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประสูติในกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (เจ้าหญิงฉิม) ธิดาของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช (หนู)
มีพระเชษฐา พระอนุชา และพระขนิษฐา ร่วมพระมารดา คือ
    สมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศพงศ์ ต้นราชสกุล "พงษ์สิน"
    สมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศไภย
    สมเด็จเจ้าฟ้าชายนเรนทรราชกุมาร ต้นราชสกุล "รุ่งไพโรจน์"
    สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงปัญจปาปี เป็นพระชายาของพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ต้นราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา

     สมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศพงศ์ และสมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศไภย มีความรู้ทางการแพทย์ และได้รับราชการในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นพระพงษ์นรินทร์  และ พระอินทร์อภัย  ตามลำดับ มีตำแหน่งเข้าเฝ้าต่อจากเสนาบดี    ความเป็นแพทย์ทำให้มีสิทธิพิเศษ  สามารถเข้าออกในเขตพระราชฐานฝ่ายในได้     มีสิทธิพิเศษอีกอย่างคือสามารถนอนค้างคืนในเขตพระราชฐานได้ด้วยเวลามีเจ้านายประชวรหนัก  แต่ว่าห้ามกางมุ้ง   ต้องนอนห่มผ้าตากยุงอยู่ยังงั้นแหละ   

      พระอินทร์อภัย ได้ลักลอบเป็นชู้กับเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย   ตอนนี้ยังค้นไม่พบว่าเป็นเจ้าจอมชื่ออะไร และมีรายละเอียดอย่างใด    รู้แต่ว่า ไต่สวนพบว่ามีความผิดจริง และถูกประหารชีวิตเมื่อเดือน 10 ปีวอก พ.ศ. 2355


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 14 มี.ค. 13, 11:34
นักเรียนยังนั่งรอเรียนต่ออยู่นะคะ  ;D


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 14 มี.ค. 13, 11:55
เชิญคุณsirinawadee มาร่วมวงหม่ำของว่าง ระหว่างรอคุณครูนะคะ  ;D
หายไปหลายวัน สงสัยท่านจะติดธุระ....


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 14 มี.ค. 13, 21:58
   ขออนุญาตร่วมวง papaya salad ? ด้วยคนนะครับ ช่วงที่ยังรออาจารย์อยู่หน้าห้อง :P


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มี.ค. 13, 08:28
ยกข้าวเหนียวกับหมูน้ำตกมาเพิ่มขึ้นนักเรียนชั้นนี้ค่ะ
อิ่มแล้ว อย่าลืมเอาเค้กไปแบ่งกันคนละชิ้นนะคะ  แก้เผ็ด


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มี.ค. 13, 09:00
ถ้าใครสงสัยว่าพระสุริยภักดีและพระอินทร์อภัยถูกประหารไปพร้อมกับเจ้าจอม   แล้วลูกเมียญาติพี่น้องล่ะโดนหางเลขเข้าบ้างหรือเปล่า  คำตอบก็คือเปล่าค่ะ    ลูกเมียเครือญาติของท่านยังอยู่กันเป็นปกติ   ไม่ได้พลอยตายไปด้วยอย่างกรณีพระโอรสธิดาของเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต
ทั้งนี้เพราะสาเหตุความผิด เป็นเรื่องต่างกัน   เรื่องของเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตราฯเป็นเรื่องความผิดฐานกบฏ  สมัยนี้เรียกว่าผิดต่อความมั่นคงของรัฐ   เลยโดนกราวรูด     เจ้าจอมสำลีวรรณไม่ใช่ต้นคิดแต่ถูกข้อหาสมรู้ร่วมคิด  ท่านก็เลยโดนคนเดียว   ลูกหลานเชื้อสายไม่ได้โดนด้วย   

พระอินทร์อภัยมีธิดา ชื่อน้อย   เป็นหม่อมในเจ้าฟ้ามงกุฎตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๒ ก่อนเสด็จออกผนวช      หม่อมน้อยมีพระองค์เจ้าเล็กๆ ๒ พระองค์ชื่อพระองค์เจ้านพวงศ์และพระองค์เจ้าสุประดิษฐ์      ต่อมาในรัชกาลที่ ๔  หม่อมน้อยเลื่อนเป็นเจ้าจอมมารดาน้อย   พระองค์เจ้านพวงศ์ทรงกรมเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส  ต้นราชสกุลนพวงศ์ ณ อยุธยา     ส่วนพระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ ทรงกรมเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหมื่นวิษณุนาทนิภาธร  ต้นราชสกุลสุประดิษฐ์ ณ อยุธยา 
หม่อมน้อยท่านก็อยู่ปลอดภัยดี มิได้รับราชภัยอย่างบิดา 


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มี.ค. 13, 09:00
ขอแยกซอยเล่าเกร็ดเล็กๆว่า  ในรัชกาลที่ ๔ เจ้าจอมมารดาน้อยมีเรื่องโดนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ กริ้ว ถึงขั้นติดสนม (คือถูกจำกัดบริเวณ )    แต่ก็ไม่นานนัก  เพราะพระราชโอรสไปทูลขอพระราชทานอภัยโทษ ก็โปรดเกล้าฯให้เป็นไปตามนั้น

เรื่องที่เจ้าจอมมารดาน้อยโดนกริ้ว ปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขา  ฉบับวันพุธขึ้น 5 ค่ำ เดือน 12  พ.ศ. 2398   ทรงเขียนถึงเจ้าจอมที่โปรดปรานคือเจ้าจอมมารดาผึ้ง มีข้อความว่า

"ข้าออกเรือกระบวนมาจากตำหนักน้ำ...ขึ้นมาถึงวัดเขมาตลาดแก้ว เวลาเช้า    มีเรือเก๋งลำหนึ่งพายตามขึ้นมา  แข่งเรือที่นั่งของข้า   เกินหน้าเรือตำรวจ  เรือที่นั่งรองทุกลำ   แข่งจนเก๋งเคียงเรือกันยาเรือที่นั่ง   แต่แรกข้าสำคัญว่านางหนูลูกรำเพย( หมายถึงพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑล ซึ่งประสูติจากสมเด็จพระนางเจ้ารำเพยภมราภิรมย์) จะร้องไห้   มารดาจะให้เอาใส่เรือเก๋งขึ้นมาส่งให้ข้ากระมัง ข้าจึงร้องถามไปว่าเรือใคร  เรือนั้นมีม่านบังมิด  มีผู้หญิงนั่งท้ายหลายคน  เรือตำรวจตามไปก็สำคัญว่าเรือข้างในในกระบวน  จึงไม่มีใครห้ามปล่อยให้พายขึ้น  สรรเพธภักดีร้องถามหลายคำก็ไม่บอก   ข้าถามหลายคำว่าอะไรๆ เรือใครก็ไม่บอก   บ่าวผู้หญิงข้างท้ายก็หัวร่อเยาะด้วยบานเต็มที่ จนคนในเรือที่นั่งโกรธว่าหัวร่อเยาะ  ข้าคิดจะเอาปืนยิงตามกฎหมาย  ก็กลัวจะถูกคนตายเขาจะลือไปว่าดุร้ายใจเบาทำคนตายง่ายๆ  พายแข่งไล่เรือที่นั่งอยู่นาน เห็นผิดทีแล้ว  จึงได้ร้องให้ตำรวจไล่จับ  ครั้นเรือไปจับจะฉุดเรือมาจึงพายหนีห่างออกไป  ไล่ไปไกลจึงได้ตัวเรือมา  ได้ความว่าเป็นเรือมารดากรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส มาทำหน้าเป็นเล่นตัว ล้อข้าต่อหน้าธารกำนัล  น่าชังนักหนา  ข้าสั่งให้พระอินทรเทพจับคุมเรือลงมาส่งตัวนายเข้ามาให้จำไว้ บ่าวให้จำไว้ข้างหน้า  ข้าได้เขียนหนังสือมาให้กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสทราบแล้ว  ได้มีไปสั่งถึงท้าวศรีสัจจา  ท้าวโสภสนิเวศน์ ให้เอาตัวจำไว้ให้มั่นคง กว่าข้าจะกลับลงไป  อยากจะใคร่ให้เอาๆตัดหัวเสียตามสกุลพ่อมัน แซ่นี้มักเป็นเช่นนั้น"


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 15 มี.ค. 13, 09:21
เย้ ได้เรียนต่อแล้ว

ขอบคุณคุณ :D:D ที่ชวนกินของว่างค่ะ น้องๆ จะตาเขียวไหมหนอ ยายป้านี่มากินซะหมดชามเลย


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มี.ค. 13, 17:20
ในที่สุดก็มาถึงเจ้าจอมคนสุดท้ายของกระทู้นี้    ซึ่งจะต้องค่อยๆเล่า ค่อยๆแกะรอยกันไป  เพราะยังมีอะไรอึมครึมให้ต้องขบคิดถกเถียงกันได้อีกมาก
นั่นคือ  การประหารเจ้าจอมทับทิม ในรัชกาลที่ ๔

เจ้าจอมที่มีนามว่าทับทิมในรัชกาลที่ ๔  มีอยู่หลายคนด้วยกัน     เช่นเจ้าจอมทับทิม จากสกุล "วัชโรทัย"  ธิดาของพระจำนงภูษิต (อยู่ วัชโรทัย) และเจ้าจอมทับทิมจากสกุล "เพ็ญกุล"  เป็นธิดาของเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล)  แต่คนที่จะเอ่ยถึงนี้  ปรากฏชื่ออยู่ในเรื่องสั้นหนึ่งในสองเรื่องที่นางแอนนา เลียวโนเวนส์ เล่าถึงในหนังสือ ชื่อ "Romance of the Harem"
ต่อมา มาร์กาเร็ต แลนดอน นำเรื่องเล่าของนางแอนนมามาเขียนเป็นนิยายเรื่อง "Anna and the King of Siam" ในปี พ.ศ. 2487    เรื่องนี้ถูกนำไปสร้างเป็นละครเวทีและภาพยนตร์ "The King and I"  

แอนนา เลียวโนเวนส์( หรือจะพูดว่ามาร์กาเร็ต แลนดอนด้วยก็ได้ )เขียนไว้ว่า ทับทิมเป็นเด็กสาวอายุ ๑๕ ปี  บิดาซึ่งเป็นข้าราชการหวังจะให้ลูกสาวมีหน้ามีตา  จึงนำลูกสาวมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ  ทั้งที่พระองค์ท่านมีพระชนมายุสูงถึง ๖๐ พรรษาแล้ว   ทั้งๆทับทิมมีคนรักอยู่ก่อน     เมื่อถูกพรากจากกันฝ่ายชายก็สละทางโลกหันเข้าหาวัด  จำพรรษาอยู่ ณ วัดราชประดิษฐ์  จนได้เป็นพระครูปลัด ฐานานุกรมของสมเด็จพระสังฆราช(สา)


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มี.ค. 13, 17:22
ในหนังสือ "แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม" บรรยายว่าทับทิมได้มาเรียนหนังสืออยู่กับแอนนา ๒-๓ เดือนก็หายตัวไป   เมื่อแอนนาสอบถามคนอื่นๆก็ได้ความว่าเจ้าจอมทับทิมหายตัวไปจากพระบรมมหาราชวัง     จนถูกจับตัวได้ว่าโกนศีรษะปลอมตัวเป็นเณร ปรนนิบัติอยู่ในกุฏิพระครูปลัดวัดราชประดิษฐ์  โดยพระครูปลัดไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าเณรน้อยผู้นี้เป็นหญิง  และเป็นคนรักเก่าของตน     ทั้งสองไม่ได้มีความสัมพันธ์ชู้สาวกัน

เมื่อแอนนา ลีโอโนเวนส์ รู้เรื่องนี้   เธอตัดสินใจเข้าขัดขวางมิให้ทับทิมถูกประหาร ด้วยการเข้าเฝ้าสมเด็จพระจอมเกล้าฯ  ทูลขอให้ทูลเชิญสมเด็จพระสังฆราช(สา) มาเป็นพยาน ตามคำร้องขอของทับทิม   แต่พระเจ้าอยู่หัวกลับกริ้วแอนนามาก   ทรงไม่ยอมรับฟังและปฏิเสธที่จะทูลถามสมเด็จพระสังฆราช    ทรงตวาดแอนนาว่า

" บ้า! แหม่ม  เธอบ้า"

แอนนาเขียนไว้ว่า เจ้าจอมทับทิม และพระครูปลัด ถูกประหารชีวิตในปี พ.ศ. 2410 โดยถูกเฆี่ยนตี ทรมาน และเผาทั้งเป็น    ต่อหน้าต่อตานางแอนนาเอง


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มี.ค. 13, 17:29
ภาพจากภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง The King and I    เดเบอร่าห์ คาร์แสดงเป็นแอนนา และริต้า โมเรโน่เป็นเจ้าจอมทับทิม


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มี.ค. 13, 17:34
ทับทิมเป็นตัวละครสำคัญในหนังเรื่องนี้   ทำกี่หนๆก็เลือกดาราสวยๆมาเล่นทั้งนั้นเลย


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มี.ค. 13, 19:25
คำบรรยายในหนังสือ แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม  เล่าถึงการประหารว่า

" ในราวบ่ายสองโมงวันนั้น   ข้าพเจ้ามีความอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งที่เห็นตะแลงแกง ๒ ที่ ถูกตั้งขึ้นที่สนามหน้าพระลานเบื้องหน้าหน้าต่างของข้าพเจ้าออกไป    ตรงกันข้ามกับพระบรมมหาราชวัง   ประชาชนเป็นอันมาก ทั้งลูกเล็กเด็กแดง  และหญิงชายจากทุกหนทุกแห่งหลั่งไหลมาชุมนุมอยู่ที่นั่น     เพื่อดูเหตุการณ์ที่จะเกิดต่อไป   พวกคนงานพากันตอกเสา   และนำเครื่องประหารมาตั้ง
...................................
ตามที่ข้าพเจ้าได้ทราบในภายหลังนั้น   เมื่อข้าพเจ้าออกจากเฝ้าไม่ทันไร    ตุลาการฝ่ายหญิงที่ข้าพเจ้าพบที่เชิงบันได ก็นำรายงานพิจารณาและคำพิพากษาพระปลัด และทับทิม เข้าเฝ้ากราบทูลพระเจ้าแผ่นดิน     พอทรงเสด็จแล้วก็กลับสัตย์ที่ทรงสัญญาว่าจะผ่อนโทษจำเลยลงมา     ทรงพิโรธทั้งทับทิมและข้าพเจ้า   และเนื่องจากไม่มีหนทางใดที่พระองค์จะทรงใช้อำนาจสิทธิ์เด็ดขาด  ซึ่งทรงมีเหนือชีวิตพลเมืองของพระองค์ แก่ข้าพเจ้าอย่างไรได้      จึงรับสั่งให้ตั้งตะแลงแกงขึ้นตรงหน้าต่างของข้าพเจ้า   และทรงสาบานว่าจะแก้แค้นทดแทนไม่ว่าบุคคลใดๆ หากจะกล้าไปขัดพระราชประสงค์ของพระองค์

   ตะแลงแกงที่สร้างขึ้นนี้  ทำเป็นยกพื้นด้วยฟาก  สูงจากพื้นดินราววาครึ่ง มีเสาสี่เสา   ปลายเสาสูงพ้นฟื้นฟากขึ้นไป   ใช้เป็นที่ตรึงปลายโซ่ล่ามขื่อคาที่จองจำ ที่คอนักโทษให้แน่นหนา  มิให้เผ่นหนีลงมาได้"


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มี.ค. 13, 19:26
ตอนนี้รอนักเรียนภาคค่ำทยอยกันเข้ามาก่อนค่ะ  แล้วจะเฉลยว่าข้อความที่ขีดเส้นใต้ มีความสำคัญอย่างไร  พิสูจน์เรื่องเจ้าจอมทับทิมถูกประหารได้อย่างไรบ้าง

โปรดอดใจรอ


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 15 มี.ค. 13, 19:39
วัยรุ่นใจร้อนมาแล้วคร้าบบบบบ


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มี.ค. 13, 20:26
อ้าว โดนนักเรียนเร่งให้เลกเชอร์   :-\

แอนนายังเล่าอีกว่า ในวันที่ประหารชีวิตเจ้าจอมทับทิม   หน้าต่างทุกบานของตำหนักต่างๆที่อยู่ทางด้านตะวันออกเปิดกว้างออกหมด   ที่กำแพงพระบรมมหาราชวัง  ก็จะเป็นที่ประทับชั่วคราวทางด้านในของใบเสมา(หมายถึงด้านในของกำแพงวัง)  สำหรับพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทอดพระเนตรการประหาร    พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์  เจ้านายข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน   สาวสนมกำนัลก็ตามเสด็จกันมาถ้วนหน้า

พอบ่ายสามโมง    เจ้าหน้าที่ก็ขนเครื่องทรมานด้วยวิธีต่างๆมาพร้อมสรรพ  วางไว้ใต้พื้นตะแลงแกงทั้งสองที่   ในจำนวนนั้นมีฟืนดุ้นเล็กและดุ้นโตอยู่เป็นอันมาก
**********************
ก่อนอื่น  แหม่มทั้งสองแหม่มคือแหม่มแอนนาและแหม่มมาร์กาเร็ตนั้น ไม่รู้ว่าในเขตพระบรมมหาราชวังนั้นไม่มีใครเข้าไปตายได้   เว้นแต่เจ้านายที่สิ้นพระชนม์ด้วยเหตุธรรมชาติต่างๆเช่นประชวรพระโรค       แม้แต่สามัญชนที่ทำงานในวัง ก็ต้องหามออกไปตายนอกวัง       เว้นแต่กะทันหันหามออกไปไม่ทันจริงๆเช่นหัวใจวายเฉียบพลัน  ถ้าอย่างนั้นก็ต้องทำพิธีกลบบัตรสุมเพลิง   ปัดรังควาน  เพื่อให้พ้นจากอัปมงคลต่างๆที่อาจจะพึงมีขึ้นมาได้
 
ในเมื่อไม่รู้ ว่าคนไทยถือกันว่าเรื่องตายเป็นเรื่องไม่ใช่มงคล   ต่อให้ตายธรรมดาในวังก็ยังไม่ถือว่าธรรมดาอยู่ดี       คุณเธอก็เลยบรรยายเต็มปากว่า  พิธีประหารชีวิตเจ้าจอมทับทิมและพระครูปลัดจึงทำกันเป็นงานมหกรรมอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวัง   มีพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางใหญ่น้อย   แม้แต่ตำหนักใหญ่น้อยก็เปิดหน้าต่างดูกันเอิกเกริก     ประชนชนอุ้มลูกจูงหลานแห่กันมาดู    ปานประหนึ่งว่าเป็นพระราชพิธีสมโภชอะไรสักอย่าง 
ทั้งหมดนี้พูดอย่างไม่เกรงใจว่า คนเขียนปั้นน้ำเป็นตัวเพราะไม่รู้จักประเพณีไทยเท่าที่ควร และไม่ศึกษาด้วย      แต่เอามาเขียนซะเจื้อยแจ้วเชียว

จะปอกเปลือกนิยายของแอนนา ออกมาให้ดูทีละชั้นเหมือนปอกหัวหอม     ถ้าผิดพลาดตรงไหนกรุณาแก้ไขให้ด้วยนะคะ


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มี.ค. 13, 20:43
ขั้นต่อไป คือแอนนาบรรยายว่า การประหารเจ้าจอมทับทิมและพระครูปลัดนั้นมีการก่อสร้างตะแลงแกง   บรรยายไว้ละเอียดว่าหน้าตาเป็นยังไง  ดังที่ยกมาในค.ห. 70  
แอนนา (หรือมาร์กาเร็ต แลนดอน) ยังได้บรรยายต่อว่า บรรดาราชมัลหรือผู้คุมนักโทษได้เอาเครื่องมือทรมานหลายอย่างต่างชนิดขึ้นมาใช้กับนักโทษชายหญิง ที่ถูกคุมตัวมาที่ตะแลงแกง    ผลัดเปลี่ยนกันทรมานด้วยประการต่างๆ  จนทับทิมกรีดร้องโหยหวนซ้ำแล้วซ้ำอีก    ส่วนคุณพระปลัดไม่ร้องเลย  มีแต่เสียงสวดมนตร์เบาๆไม่ขาดปาก
แอนนาทนดูไม่ได้ก็เป็นลมหน้ามืดล้มลงไป   พอฟื้นขึ้นมาพบว่าลานตะแลงแกงว่างผู้คนหมดแล้ว   มีแต่กองถ่านที่ไฟยังติดแดงและขี้เถ้าเหลืออยู่บนพื้นดินยกฟากของตะแลงแกง    แสดงว่าเจ้าจอมทับทิมถูกเผาไม่เหลือซากไปแล้ว

เรามาดูกันดีกว่าว่าการประหารชีวิตในสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ต้นจนถึงรัชกาลที่ ๕ เขาทำกันอย่างไร     เพราะการประหารชีวิตแต่ละราย ไม่ใช่เรื่องปกปิดซ่อนเร้น งุบงิบกันทำ    แต่ละรายมีบันทึกบอกเอาไว้เป็นหลักฐานทั้งสิ้น   บางคดีก็บันทึกตรงกันทั้งฝรั่งและไทย
ขอยกเป็นตัวอย่างว่าในต้นรัชกาลที่ ๕ มีผู้ร้ายสำคัญออกอาละวาดในอยุธยา  ชื่อ อ้ายอ่วม อกโรย (ชาวบ้านตำบลอกโรย) เป็นโจรปล้นฆ่าและข่มขืน อีกคนหนึ่งชื่ออ้ายสาย  สมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงบัญชาให้จับตัวให้ได้   พอได้ตัว ท่านก็ขึ้นไปกรุงเก่าพร้อมด้วยผู้พิพากษาในทันที
สำหรับพวกหัวหน้าโจรที่ต้องโทษประหารชีวิต เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สั่งให้ประหารชีวิตด้วยการเอาขวานฟันหัวขาดเป็น 2 ท่อน ที่หน้าพะเนียดคล้องช้างแห่งหนึ่ง    ให้ผ่าอกที่วัดชีตาเห็น (บ้านหักไห่) อีกแห่งหนึ่ง
การประหารทั้ง 2 แห่งนี้ ได้มีการป่าวร้องให้คนมาดูโดยหวังจะให้คนพาลสยดสยอง แม้ใครตำหนิว่าทำการประหารอย่างทารุณ แต่ก็ต้องตอมรับว่าได้ผล ด้วยโจรผู้ร้ายตามหัวเมืองสงบโดยทันที


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มี.ค. 13, 21:05
ในรัชกาลที่ ๕ มีผู้หญิงถูกตัดสินประหารชีวิตชืิอ"อีอยู่"    มีหลักฐานบันทึกตรงกันทั้งไทยและฝรั่ง   ฝรั่งคนนั้นชื่อ นาย Carl Bock นักธรรมชาติวิทยาชาวนอร์เวย์  เดินทางเข้ามาสำรวจดินแดนไทยและเผอิญได้ไปดูการประหารอีอยู่ด้วย ก็เลยเขียนไว้อย่างละเอียดว่า

 “ ฆ่าฉันเสียเร็วๆ ฆ่าฉันเสียเร็วๆ ” เสียงตะโกนจากนักโทษประหารซึ่งเป็นหญิง เพชฌฆาตหกคนยังคงร่ายรำดาบ ถอยหน้าถอยหลังอยู่เบื้องหลังนักโทษอีกครู่ ก่อนที่เพชฌฆาตมือหนึ่งจะวิ่งเข้าฟันคออย่างแรง จนศีรษะขาด เลือดพุ่งกระฉูด ผู้คนที่มุงดูการประหารจึงค่อยเริ่ม แยกย้ายกันกลับไป เสียงพึมพำดังจับความได้ว่า ต่างก็พอใจที่ผู้ตายได้รับกรรมที่กระทำไว้แล้ว แม้แต่ในหมู่ญาติพี่น้องของหล่อนเอง!
      เพชฌฆาตยังคงทำงานต่อไปด้วยการตัดข้อเท้าซึ่งมีโซ่ตรวนพันธนาการไว้ และตัดศพออกเป็นชิ้น แล่เนื้อออกจากกระดูก ทิ้งตับไตไส้พุงไว้เป็นทานแก่แร้งกา ส่วนศีรษะเอาไปเสียบไม้ไผ่ปักประจานไว้ให้มองเห็นได้แต่ไกล

      หญิงที่ถูกประหารนี้ไม่ใช่หญิงชาวบ้านสามัญธรรมดา  แม้ว่าเมื่อถูกประหาร ทางการเรียกว่า "อีอยู่"  แต่ว่าก่อนหน้านี้แค่เดือนเศษ   อีอยู่คือคุณนายอยู่  ภรรยาของพระบรรฦาสิงหนาท แต่คุณนายอยู่ไม่รักดี    ลักลอบเป็นชู้กับทาสในเรือนชื่อ ไฮ้ มั่วสุมกันอยู่ถึงสองปีเศษโดยตัวสามีไม่รู้เรื่อง   ซึ่งก็คงยังไม่เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา  ถ้าไม่เป็นเพราะอ้ายไฮ้เอง เกิดไปลักลอบได้เสียกับนางทาสอีกคนหนึ่งชื่อ เกลี้ยง หลังจากทั้งคู่สมสู่กันได้สามเดือน ความเรื่องของคุณนายอยู่เป็นชู้กับอ้ายไฮ้ก็เกิดแตกขึ้นมา      


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มี.ค. 13, 21:07
      วันนั้นพระบรรฦาฯกลับบ้านเร็วกว่าปกติจึงจับได้คาเตียงว่าเมียเป็นชู้กับทาส     ก็เลยทำโทษอ้ายไฮ้ด้วยการโบย ๕๐ที แล้วล่ามโซ่ไว้ที่ครัวไฟ แต่พระบรรฦาฯอาจจะกลัวเมียหรืออะไรสักอย่างจึงไม่ได้ลงโทษภรรยา   เห็นได้จากคุณนายยังกินเหล้าเมามายหลังจากนั้นและอาละวาดเล่นงานทาสอื่นๆได้อย่างหนัก   แสดงว่าคงไม่ได้ถูกสามีซ้อมแต่อย่างใด   
       บ้านคุณนายอยู่นี่เละเทะกันทั้งบ่าวทั้งนาย  เพราะอ้ายไฮ้ก็เป็นชู้กับอีเกลี้ยง  คุณนายอยู่ก็หึงอีเกลี้ยงจึงทารุณร่างกายอีเกลี้ยงด้วยวิธีวิตถารซาดิสต์ต่างๆ เกินกว่าจะนึกว่าผู้หญิงทำกันได้   จนในที่สุดอีเกลี้ยงสุดจะทนกับความเจ็บปวดจากการทรมาน จึงขาดใจตาย

        เรื่องนี้ พระบรรฦาฯ ทราบเพียงว่าอีเกลี้ยงตายเพราะเป็นไข้ประจุบันเท่านั้น จึงให้อำแดงอยู่บัญชาการทาสอื่นห่อศพให้เรียบร้อย แล้วหามไปให้สัปเหร่อฝัง ตอนแรกทาสที่นำศพมาก็ไม่ยอมแก้ผ้าห่อศพ สัปเหร่อเลยไม่ยอมฝัง ในที่สุดพวกทาสก็ต้องยอมให้สัปเหร่อ CSI และนิติเวชเบื้องต้น ดูศพก่อน แต่พอได้ดูศพแล้ว จรรยาบรรณสัปเหร่อบอกว่าไม่ยอมให้ฝัง


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มี.ค. 13, 21:08
    ปรากฏว่ามีชาวบ้านคนหนึ่งชื่อหนูไปแจ้งความ จึงเกิดการชันสูตรศพขึ้นก็พบว่าอีเกลี้ยงถูกทารุณร่างกายบอบช้ำทั้งตัว กระดูกหัก เป็นแผลสาหัส
        “ ศพอีเกลี้ยงนั้นกระหม่อมยุบกว้าง ๒ นิ้ว หน้าบวมช้ำดำเขียว หูข้างซ้ายช้ำบวมมีเลือดไหลออกมาจากหู ยังเป็นคราบติดอยู่ ต้นแขนริมศอกขวา บวมช้ำ และกระดูกหัก ต้นแขนซ้ายบวมช้ำกระดูกหัก อกบวมช้ำ โตกลมหนึ่งนิ้ว สะโพกข้างขวาบวมช้ำดำเขียวเต็มทั้งสะโพก นอกจากนั้นมีแผลที่เกิดจากการตีด้วยไม้รวมเก้าแผล ”

        หลังการสอบสวน คุณนายอยู่โดนมาตรการยึดทรัพย์ทั้งหมด  และมีพระบรมราชโองการให้ประหาร  แต่ก่อนประหารต้องลงโทษเตือนวิญญาณให้จดจำไปถึงชาติหน้า ด้วยการเฆี่ยน ๙๐ทีเสีย ก่อน จึงจะประหาร

         วันที่ประหารอีอยู่คือ วันเสาร์ เดือน๑๑ แรม ๗ ค่ำ ตรงกับ วันเสาร์ที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๒๔

         ถ้าย้อนกลับไปอ่านที่ฝรั่งเล่าถ่ายทอดรายละเอียดไว้  จะเห็นได้ว่าไม่มีตะแลงแกง   ไม่มีการเผานักโทษตรงไหนเลย  มีแต่ตัดหัวอย่างที่ทำกันมาในบรรดานักโทษ


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มี.ค. 13, 21:10
   นักเรียนฟังบรรยายมาถึงตรงนี้แล้วคงจะอยากรู้ว่า  อ้าว  งั้นตะแลงแกงของแหม่มแอนนามาจากไหนกันล่ะ   นักโทษไทยถูกจับมัดกับหลักประหาร  มีเพชฌฆาตตัดหัว    ไม่ได้ถูกเครื่องไม้เครื่องมือทรมาน และเผาร่างจนมอดไหม้สักหน่อย

    คำตอบ คือ จากในรูปข้างล่างนี้ไงล่ะคะ
   


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 มี.ค. 13, 08:46
คำบรรยายในหนังสือ แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม  เล่าถึงการประหารว่า

" ในราวบ่ายสองโมงวันนั้น   ข้าพเจ้ามีความอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งที่เห็นตะแลงแกง ๒ ที่ ถูกตั้งขึ้นที่สนามหน้าพระลานเบื้องหน้าหน้าต่างของข้าพเจ้าออกไป    ตรงกันข้ามกับพระบรมมหาราชวัง   ประชาชนเป็นอันมาก ทั้งลูกเล็กเด็กแดง  และหญิงชายจากทุกหนทุกแห่งหลั่งไหลมาชุมนุมอยู่ที่นั่น     เพื่อดูเหตุการณ์ที่จะเกิดต่อไป   พวกคนงานพากันตอกเสา   และนำเครื่องประหารมาตั้ง
...................................
ตามที่ข้าพเจ้าได้ทราบในภายหลังนั้น   เมื่อข้าพเจ้าออกจากเฝ้าไม่ทันไร    ตุลาการฝ่ายหญิงที่ข้าพเจ้าพบที่เชิงบันได ก็นำรายงานพิจารณาและคำพิพากษาพระปลัด และทับทิม เข้าเฝ้ากราบทูลพระเจ้าแผ่นดิน     พอทรงเสด็จแล้วก็กลับสัตย์ที่ทรงสัญญาว่าจะผ่อนโทษจำเลยลงมา     ทรงพิโรธทั้งทับทิมและข้าพเจ้า   และเนื่องจากไม่มีหนทางใดที่พระองค์จะทรงใช้อำนาจสิทธิ์เด็ดขาด  ซึ่งทรงมีเหนือชีวิตพลเมืองของพระองค์ แก่ข้าพเจ้าอย่างไรได้      จึงรับสั่งให้ตั้งตะแลงแกงขึ้นตรงหน้าต่างของข้าพเจ้า   และทรงสาบานว่าจะแก้แค้นทดแทนไม่ว่าบุคคลใดๆ หากจะกล้าไปขัดพระราชประสงค์ของพระองค์

   ตะแลงแกงที่สร้างขึ้นนี้  ทำเป็นยกพื้นด้วยฟาก  สูงจากพื้นดินราววาครึ่ง มีเสาสี่เสา   ปลายเสาสูงพ้นฟื้นฟากขึ้นไป   ใช้เป็นที่ตรึงปลายโซ่ล่ามขื่อคาที่จองจำ ที่คอนักโทษให้แน่นหนา  มิให้เผ่นหนีลงมาได้"

จากหนังสือ THE ROMANCE OF THE HAREM BY MRS. ANNA H. LEONOWENS   ::)

ABOUT two o'clock that very afternoon I was startled to see two scaffolds set np on the great common in front of my windows, opposite the palace. A vast crowd of men, women, and children had already collected from every quarter, in order to see the spectacle, whatever it might happen to be. A number of workmen were driving stakes and bringing up strange machines, under the hurried instructions of several high Siamese officials. There was an appearance of great and general excitement among the crowd on the green, and I became sufficiently aroused to inquire of my maid what was the reason of all this preparation and commotion. She informed me that a Badachit (guilty priest) and a Nangharm (royal concubine) were to be exposed and tortured for the improvement of the public morals  that afternoon. It was afternoon already.

As I afterwards learned, I had no sooner left the king than the woman judge I had met at the head of the staircase laid before him the proceedings of both the trials, of Balat and Tuptim. On reading them he repented of his promised mercy, flew into a violent rage against Tuptim and me, and, not knowing how to punish me except by showing me his absolute power of life and death over his subjects, ordered the scaffolds to be set up before my windows, and swore vengeance against any person who should again dare to oppose his royal will and pleasure. To do justice to the king, I must here add that, having been educated a priest, he had been taught to regard the crime of which Tuptim and Balat were accused as the most deadly sin that could be committed by man.

The scaffolds or pillories on which the priest and Tuptim were to be exposed were made of poles, and about five feet high ; and to each were attached two long levers, which were fastened to the neck of the victim, and prevented his falling off, while they were so arranged as to strangle him in case this was the sentence.


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 มี.ค. 13, 08:54
http://archive.org/stream/romanceofharem00leon#page/35/mode/1up

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 16 มี.ค. 13, 09:41
ชวนพักอารมณ์เชิญชม ภาพสวยๆ เรื่องราวประทับใจ ของแหม่มแอนนา,เจ้าจอมทับทิม
และแม่มณี (ไม่มีเรื่องการประหาร) ใน ทวิภพ Deleted Scenes ครับ

         http://www.youtube.com/watch?v=vWknFvI_aD0




กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 มี.ค. 13, 11:46
อ้าว ไปเรื่องเจ้าจอมทับทิม ของแหม่มแอนนา เฉยเลย....5555+


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มี.ค. 13, 12:00
หลังจากชมทวิภพจนอิ่มอกอิ่มใจดีแล้ว  ขอเชิญกลับมาที่ตะแลงแกง...เอ๊ะ ยังไง   :-\
ขอนำชมสถานที่ค่ะ  
แหม่มแอนนา ได้ฉากการประหารชีวิตเจ้าจอมทับทิมและพระปลัดมาจากไหน  คำตอบก็คือจากตะแลงแกงของฝรั่งนั่นเอง    ตะแลงแกงแบบนี้ เรียกว่า scaffold   เขาใช้ไม้  ทำเป็นยกพื้นง่ายๆ สูงจากพื้นดิน สร้างแบบชั่วคราว     เพราะการประหารนักโทษทั่วไปนั้นใช้วิธีแขวนคอ    จึงต้องเอาตัวขึ้นไปสูงกว่าพื้นดินทั่วไป    แขวนจากที่สูงเช่นเสา  เท้านักโทษเหยียบไม่ถึงพื้นดิน    
ถ้าหากว่าเป็นเมืองคาวบอยที่มักจะใช้ศาลเตี้ยตัดสินกันให้เสร็จสรรพ    ก็ไม่ต้องเสียเวลาสร้างตะแลงแกง   ใช้แขวนคอ ห้อยต่องแต่งจากกิ่งไม้ใหญ่ริมทางไปเลย ง่ายดี

การประหารชีวิตทั่วไปที่ใช้กับโจรผู้ร้าย   ฝรั่งใช้วิธีแขวนคอ    มีธรรมเนียมนิยมว่าชาวบ้านชอบดูนัก   หลั่งไหลกันมาดูราวกับมหรสพ   แล้วก็อินกันยิ่งกว่าดูคอนเสิร์ต   เช่นตะโกนสาปแช่ง และโห่ร้องยินดีเร่งให้แขวนคอเร็วๆ หรือเฮกันเมื่อผู้ร้ายตายเสียได้    ก็เลยต้องยกพื้นสูงขึ้นมาให้เห็นชัดๆทั่วถึงกันด้วย เป็นเหตุผลอีกข้อหนึ่งว่าทำไมตะแลงแกงถึงต้องสร้างบนเสาสูง

แต่ของไทยเราไม่มีที่มาแบบนั้น  ลานประหารนักโทษของไทยเป็นพื้นดินธรรมดา    ใช้วิธีตัดคอ สำหรับสามัญชน    มีเพชฌฆาตสองคนรำดาบเข้าไปข้างหน้าข้างหลัง  คนหนึ่งลงมือ อีกคนซ้ำ  หากว่าการตัดคอครั้งแรกเกิดผิดพลาด เช่นคอไม่ขาด   จะได้ซ้ำให้เสร็จงานไปเลย  นักโทษไม่ต้องทรมานอยู่นาน

ทั้งคุณนายแอนนาและคุณนายมาร์กาเร็ตที่เอาเรื่องของแอนนามาเขียน ไม่เคยเห็นการประหารชีวิตแบบไทยด้วยกันทั้งคู่   เมื่อเล่าเรื่องเจ้าจอมทับทิม  แอนนาจึงต้องอาศัยพื้นความรู้จากการประหารแบบฝรั่ง   ส่วนมาร์กาเร็ตที่นำเรื่องของแอนนามาเขียนใหม่ ของเดิมเขาว่าไงก็เดินรอยตามนั้น       การประหารเจ้าจอมทับทิมจึงมีรายละเอียดผิดหมดตั้งแต่สถานที่เลยทีเดียว

และที่ผิดยิ่งกว่านี้ก็คือ...โปรดอดใจรอ


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 มี.ค. 13, 13:44
ระหว่างรอ

ขออนุญาตเสนอเรื่องราวโศกนาฏกรรมของเจ้าจอมทับทิมและพระครูปลัด จากภาพยนตร์เรื่อง  Anna and the King (http://en.wikipedia.org/wiki/Anna_and_the_King) ปี ๑๙๙๙

http://www.youtube.com/watch?v=JZTIavSN_ZA

ฉากตอนท้าย เป็นการประหารชีวิตโดยการตัดศีรษะ

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley18.png)


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มี.ค. 13, 21:08
การประหารแบบหนึ่งของยุโรปในยุคกลาง ที่พิเศษกว่าการประหารผู้ร้ายโดยทั่วไป คือการเผาทั้งเป็น     เรื่องนี้จำกัดผู้เคราะห์ร้ายเอาไว้เฉพาะคนที่ถูกเชื่อว่าเป็นแม่มด    พ่อมดก็มีเหมือนกันแต่ไม่แพร่หลายเท่าแม่มด    พวกนี้ถือว่าเป็นสาวกของซาตานซึ่งถือว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจของสรวงสวรรค์    ใช้มนตร์ดำทำอันตรายต่อเหยื่อ      ถ้าใครโดนข้อหาแม่มดก็เตรียมตัวเป็นไก่อบฟางได้เลย   ไม่รอดจากจุดจบแบบนี้

การเผาแม่มดมีหลายแบบ  แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละท้องถิ่น    และแต่ละประเทศ       แต่แพร่หลายที่สุดก็คือสร้างยกพื้นชั่วคราวแล้วขนฟืนเข้ามาสุม  จับผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดมัดให้แน่นติดกับเสา เพื่อไม่ให้ดิ้นหลุดไปไหนได้     แล้วจุดไฟเผาทั้งเป็น
ดังรูปที่นำมาแสดงข้างล่างนี้   

แหม่มแอนนาเอาวิธีการประหารแม่มดมาใช้ในนิยาย   ทับทิมจึงถูกเผาแบบเดียวกับเปี๊ยบ        อาจเป็นเพราะครูแอนนาไม่เคยเห็นการประหารชีวิตคนไทย อย่างหนึ่งละ  และอีกอย่างคือวิธีประหารแม่มดมันมีสีสันตื่นเต้นดีสำหรับคนอ่าน  มากกว่าแขวนคออย่างธรรมดา


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มี.ค. 13, 21:40
ในหนังสือของแหม่มแอนนา บรรยายเหมือนในภาพประกอบการเผาแม่มดที่นำมาเป็นตัวอย่างข้างบนนี้  คือทับทิมเปลือยอก  เธอกับพระปลัดมีผ้าพันกายกันอุจาดคนละผืน    ก่อนตาย   เธอก็ร้องโหยหวนว่า
" ฉันไม่ได้ผิด  คุณพระปลัดก็ไม่ผิด   พระพุทธเจ้าทรงทราบดี"
ในฉบับภาษาอังกฤษเขียนเป็นคำทับศัพท์ไว้ว่า
"Chan my di phit  Khun Phra Balat ko my mi phit P'hra Budh the Chow sap mot"

แหม่มเอาสำนวนและความเชื่อของคริสตศาสนามาบรรยายพุทธศาสนา      เพราะสำหรับชาวคริสต์  พระผู้เป็นเจ้าทรงหยั่งรู้ทุกอย่างและทุกเรื่อง   ดังนั้นผู้ที่ศรัทธาแน่นแฟ้นจึงอ้างด้วยความเชื่อมั่นว่า แม้มนุษย์อื่นไม่รู้ แต่พระเจ้าก็ย่อมล่วงรู้    แต่นี่ไม่ใช่สำนวนของชาวพุทธ    ชาวพุทธถือว่าพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปสองพันกว่าปีแล้ว   ท่านไม่มารับทราบอะไรกับเรื่องราวในโลกนี้อีก   

เหตุการณ์ตอนเผาเป็นอย่างไรคนเขียนข้ามไปง่ายๆ ไม่บรรยาย    ด้วยข้ออ้างว่าแอนนาเป็นลมสิ้นสติไป   ฟื้นขึ้นมาก็จบพิธีประหารไปแล้ว   เหลือแต่กองขี้เถ้า  ง่ายดี   


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มี.ค. 13, 21:51
อีกเรื่องหนึ่งที่มีประเด็นให้ค้านได้ คือเรื่องอายุและเวลาในเรื่อง     แอนนาบอกว่าทับทิมเป็นสาวอายุยังไม่ถึง 16 ปี ก็คือ 15 ปี   หล่อนเป็นเมียพระปลัดมาก่อนจะต้องมาเป็นเจ้าจอมในวังหลวง    ส่วนฝ่ายชายก็ชอกช้ำระกำใจ   หันไปบวชพระ  จนได้เป็นพระปลัด    เป็นพระฐานานุกรมของสมเด็จพระสังฆราช(สา)
พระที่จะเป็นพระครูปลัดได้ต้องมีอายุพรรษาไม่ต่ำว่า 5 พรรษา    ไม่ใช่บวชปุ๊บได้เป็นปั๊บยกเว้นจะเป็นกรณีพิเศษสองร้อยกว่าปีมีหนึ่งครั้ง   ซึ่งไม่ได้เกิดในรัชกาลที่ 4 แน่นอน      ถ้างั้นตามระเบียบของสงฆ์แล้ว   พระปลัดบวชมากี่ปีกันแน่   ถ้าบวชไม่ต่ำกว่า 5 ปี  ทับทิมจะอายุแค่ 15 เมื่อแอนนาพบหล่อนไม่ได้แน่    นอกจากจะมีสามีตั้งแต่อายุ 10 ขวบซึ่งก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว 

รายละเอียดที่ไม่สมจริงเหล่านี้ แม้เป็นรายละเอียดเล็กน้อยแต่ก็ทำให้เกิดความฉงนสนเท่ห์ได้มาก     ถ้าหากว่าแอนนาเขียนจากเรื่องจริง  เล่าไปตามความจริง  ก็ไม่น่าจะผิดในรายละเอียดพวกนี้      นี่ยังไม่รวมว่า ในสมัยรัชกาลไหนๆก็ตาม    หญิงที่มีสามีแล้วจะไม่มีวันถูกนำตัวเข้าถวายเป็นเจ้าจอม    ถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าสตรีที่พระองค์ท่านทรงต้องตาต้องใจ ไม่ใช่หญิงพรหมจารี   แต่มีสามีเป็นตัวเป็นตนอยู่   ท่านก็จะไม่ทรงรับ   คนที่ย้อมแมวเข้ามาถวายนั่นแหละจะโดนโทษหนัก 


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มี.ค. 13, 22:20
อีกอย่างการถวายหญิงสาวเป็นเจ้าจอมก็ใช่ว่าจะง่ายดายนัก  เห็นตัวอย่างจากพระยาพิพิธฯในอีกกระทู้    ขนาดมีเส้นสายใหญ่ เป็นพี่น้องของเจ้าจอมของสมเด็จพระจอมเกล้าฯ   ยังไม่สามารถถวายหลานสาวเป็นเจ้าจอมได้โดยตรง     ถวายเข้าวังก็ต้องไปเป็นพนักงานหรือนางข้าหลวงเสียก่อน    แล้วค่อยถูกคัดเลือกตามความเหมาะสมอีกทีว่าควรคู่กับตำแหน่งนี้หรือไม่      แต่แม่ทับทิมสาวชาวบ้านที่มาเป็นกรรมกรหญิงในวัดก่อนเข้าวัง    เธอช่างพาสชั้นง่ายดายเสียเหลือเกิน     

แอนนามาอยู่ในสยามได้เพียง 4 ปี 6 เดือนก็ลาออกจากงาน กลับไปบ้านในอังกฤษ   อาจจะยังไม่ทราบขั้นตอนรายละเอียดพวกนี้  หรือว่าทราบแต่ไม่ได้สนใจจะเขียนให้ถูกต้อง     เนื่องจากเรื่องของเธอเป็นนิยาย ที่อาศัยเค้าโครงฉากจากอาณาจักรจริง   เวลาเขียนก็ต้องระบายสีสันลงไปให้กระทบความสนใจของคนอ่าน      เธอคงจะถือว่าเธอเขียนนิยาย  ตามชื่อเรื่องที่บอกแล้วว่าเป็น Romance   ซึ่งในสมัยนั้นมีความหมายเท่ากับ fiction หรือนิยาย     ก็จะเอาความจริงกระไรนักหนา


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 17 มี.ค. 13, 01:17
เปิดดูวิดีโอที่คุณเพ็ญชมพูลงไว้.. ฟังอยู่นานเชียวค่ะ ..ท้าบที่ม ยาลืมผี่นาาาา..
ส่วนแม่ทับทิม แกยืนยิ้มให้พระยังกับสาวๆ เจอดาราแน่ะค่ะ

โรงเรียนปิดไฟมืดเชียว พรุ่งนี้นักเรียนมาใหม่ค่ะ


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 17 มี.ค. 13, 19:05
    ชื่อคุณsirinawadee ทำให้นึกถึงนามปากกาอีกนามของคุณตาฮิวเมอริสต์ "สุราสิวดี" :)


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 มี.ค. 13, 21:25
แหม่มแอนนาบอกว่า เรื่องประหารชีวิตทับทิมทำให้เธอสะเทือนใจใหญ่หลวงถึงกับล้มเจ็บลงไปเดือนหนึ่ง    พอฟื้นตัวขึ้นมาได้เธอก็ขอลาออกจากงาน เดินทางกลับอังกฤษ     แสดงว่าเหตุการณ์นี้เกิดในพ.ศ. 2410
แอนนายังอ้างอีกด้วยว่า ในปีนั้นกงสุลน็อกซ์ไม่ได้อยู่ในสยาม   ถ้าอยู่ เขาก็เป็นคนเดียวที่อาจจะช่วยเหตุการณ์มิให้เลวร้ายลงไปถึงที่สุดได้
ดิฉันก็ยังเช็คกระทู้เก่าไม่เจอว่า พ.ศ. 2410 กงสุลน็อกซ์กลับไปอังกฤษหรืออย่างไร    

มาถึงบทสุดท้ายของวิชานี้แล้ว      ยังไม่สามารถสรุปลงตัวเบ็ดเสร็จเด็ดขาดลงไปได้ว่า  เรื่องของทับทิมและคุณพระปลัดเป็นเรื่องจริง   เท็จ    หรือว่าจริงปนเท็จกันแน่     มันมีหนทางให้คิดหลายทาง คือ
1    ถ้าดูว่าเป็นเรื่องเท็จ แต่งขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของนิยาย ก็น่าจะเป็นได้  เพราะรายละเอียดต่างๆที่แหม่มแอนนาเล่าไว้ในหนังสือมันผิดข้อเท็จจริงอยู่หลายอย่าง     ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่เธอรู้เห็นจริงๆด้วยตาตนเองอย่างที่อ้างก็ไม่น่าจะผิดพลาดได้มากมายขนาดนั้น


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 มี.ค. 13, 21:26
      ถ้ามีการประหารเจ้าจอมทับทิมจริงๆเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 4  ต่อให้แอนนาไม่มีโอกาสจะไปดูเหตุการณ์จริง     เธอก็น่าจะสอบถามจากคนอื่นๆได้   แอนนาไม่ได้ถูกจำกัดเขตอย่างเจ้านายสตรีฝ่ายใน  เธอเข้านอกออกในได้เสรี      ถ้าอยากรู้เรื่องจริงๆคงไม่สุดวิสัยที่จะหาคำตอบจากคนภายนอก  อย่างน้อยก็ต้องรู้ว่าการประหารของสยามใช้วิธีตัดหัว ไม่ใช่เผาทั้งเป็น
      อีกข้อหนึ่งคือ  ปลายรัชกาลที่ 4  พวกบาทหลวงเอย   มิชชันนารีเอย  พ่อค้าฝรั่งเอย  ข้าราชการสถานกงสุลเอย อยู่กันคึกคักในกรุงเทพทั้งชาวอังกฤษและฝรั่งเศส     เรื่องต่างๆในวังไม่อาจเป็นความลับปกปิดจากพวกนี้ได้      ถ้ามีการประหารเจ้าจอมและพระสงฆ์   ยังไงเรื่องนี้ต้องรู้ถึงหูฝรั่ง   
      สมมุติว่าหมอบรัดเลย์และหมอสมิธถูกปิดปากมิให้ลงข่าว  แต่ข้าราชการสถานทูตมีหน้าที่รายงานข่าวไปยังต้นสังกัด  เช่นเดียวกับบาทหลวงคาทอลิคและมิชชันนารีโปรแตสแตนท์     ยังไงข่าวนี้ก็ต้องถูกส่งเป็นรายงานไปถึงลอนดอนและปารีส   และที่โรมกับบอสตัน     แต่ก็ไม่เคยพบว่ามีข่าวเรื่องนี้อยู่ในรายงานใดๆ
     ในบันทึกหรือจดหมายเหตุของหมอบรัดเลย์ ก็ไม่มีเรื่องนี้


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มี.ค. 13, 10:29
    การประหารเจ้าจอมและชายที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เรื่องที่ถือกันว่าต้องปกปิด    เห็นได้จากกรณีพระสุริยภักดีและเจ้าจอมอิ่ม ก็ลงในพระราชพงศาวดารอย่างเปิดเผย    เรื่องของพระอินทรอภัยหรือเจ้าฟ้าทศไภยก็เช่นกัน      ดังนั้นถ้ากรณีเจ้าจอมทับทิมและพระครูปลัดเป็นเรื่องจริง   พงศาวดารก็น่าจะบันทึกไว้    แต่ก็ไม่มี

2    ถ้าดูว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง    ก็มีหลักฐานจากคำบอกเล่าจากหลายกระแสด้วยกัน
- คำบอกเล่าของแอนนา
- คำบอกเล่าในหนังสือบางเล่ม ที่ไม่ใช่พงศาวดารและประวัติศาสตร์ ว่าสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดให้สร้างเจดีย์คู่หนึ่งขึ้นที่วัดสระเกศ เป็นอนุสรณ์ถึงเจ้าจอมทับทิมและพระครูปลัด      แต่ว่าเจดีย์ทั้งสองถูกรื้อในภายหลัง  จึงไม่เหลือร่องรอยให้เห็น
- คำบอกเล่าของบุคคล  เช่นพระสงฆ์ในวัดราชประดิษฐ์เล่าต่อกันมาว่า เหตุการณ์ที่ทับทิมถูกจับได้ในวัดราชประดิษฐ์นั้นเป็นเรื่องจริง



กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มี.ค. 13, 10:44
 3   เป็นเรื่องจริงปนเท็จ
     คือมีการประหารเจ้าจอมทับทิมและพระปลัดจริง     แต่ว่ารายละเอียดไม่ได้เป็นอย่างที่แอนนาบรรยายไว้     

     คำถามที่เหลือไว้ก็คือ    จะด้วยเหตุผลอะไรก็สามารถตีความได้สารพัด   เรื่องนี้ถูกปกปิดจากหน้าประวัติศาสตร์ของไทย      สมเด็จกรมพระยาดำรงฯและเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ต่างท่านต่างก็เซนเซอร์เรื่องนี้มิให้หลุดออกมาในการเรียบเรียงพระราชพงศาวดาร จดหมายเหตุ  ประวัติศาสตร์ บันทึก ฯลฯ ใดๆ      จนล่วงมาถึงปัจจุบัน  แม้แต่นักวิชาการอย่างดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ท่านอื่นๆ ก็หาหลักฐานเรื่องนี้ไม่พบ     จึงไม่มีใครหยิบยกคดีนี้ขึ้นมาชำระและค้นคว้าหาความจริงว่าเป็นอย่างไร
     มีแต่ส. ธรรมยศเท่านั้นที่อ่านจากนิยายของแอนนา แล้วยึดถือว่าหลักฐานข้อเท็จจริงทั้งหมด   จึงอธิบายและตีความไปตามหนังสือเล่มนี้  โดยไม่มีหลักฐานจากแหล่งอื่นมาสนับสนุนหรือคัดค้าน

     คำตอบสำหรับเรื่องนี้ยังเปิดกว้างเอาไว้สำหรับผู้สนใจได้ถกเถียงและค้นคว้าหารายละเอียดเพิ่มเติมเอาเอง     วิชานี้ขอจบแต่เพียงนี้ค่ะ
     เชิญดื่มชาและกาแฟส่งท้ายก่อนออกจากชั้นเรียนไปเรียนวิชาอื่นต่อไป


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 18 มี.ค. 13, 15:26
ท่านอาจารย์ ครับ  แล้วเหตุการณ์ของขุนสุวรรณกับเจ้าจอมมารดาซ้อย ละครับ ผมได้ข้อมมูลมาแค่นี้ครับ มีท่านใดเสริมได้บ้างครับ

วัดอีกแห่งหนึ่ง...ที่ขึ้นชื่อในเรื่องการถูกใช้เป็นสถานที่ส่งวิญญาณของนักโทษประหาร คือ ลานวัดมักกะสัน ( วัดมักกะสัญ ) หรือ วัดดิสหงสาราม...ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบ ใกล้กับประตูน้ำปทุมวัน หลายต่อหลายรายซึ่งในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ระบุว่า...ในสมัยรัชกาลที่ 4 วัดแห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่ประหารชีวิต ขุนสุวรรณกับเจ้าจอมมารดาช้อย ด้วยเช่นกัน
ซึ่งกรณีนี้...ในพระราชพงศาวดารบันทึกว่า เกิดขึ้นมาจากที่มีการส่งหนังสือไม่ระบุนามผู้ส่ง หรือที่เรียกว่า บัตรสนเท่ห์ ฟ้องลูกขุนว่า ทางขุนสุวรรณ หรือ เขียน บุตรชายของพระยาราชภัคดี บังอาจใช้ภรรยาของตน ที่ชื่อกุหลาบ...ให้ไปพูดจาแทะโลมเกี้ยวพาราสี เจ้าจอมมารดาช้อย บุตรพระยาบำเรอภัคดี ปรากฏว่า...เจ้าจอมมารดาช้อยมีใจให้เสียด้วย ทำให้ทั้งสองลอบติดต่อกัน แอบส่งของให้กันอยู่เป็นประจำ โดยมีภรรยาของขุนสุวรรณรู้เห็นเป็นใจ...ทางคณะลูกขุนและตุลาการ ตรวจสอบชำระความแล้วพบว่า เป็นเรื่องจริง จึงมีการตัดสินความ...และปรากฏว่าโทษถึงขั้นประหารชีวิต

"....ให้เอาอ้ายเขียนและอีกุหลาบไปประหารชีวิตที่วัดมักกะสัน ณ วันจันทร์ เดือน 7 แรม 12 ค่ำ.."


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มี.ค. 13, 15:32
เคยพูดเรื่องนี้ค้างกันอยู่ในกระทู้เก่าค่ะ  ชื่อ พระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ)
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3537.15

ไม่มีใครตอบเรื่องเจ้าจอมช้อย    งั้นขอขยายความเท่าที่รู้ เพื่ออธิบายที่มาของความสงสัย
ไม่ทราบว่าในพระนิพนธ์ ความทรงจำ ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  ทรงเล่าเพิ่มหรือเปล่าคะว่าพระยาอัพภันตริกามาตย์ มีบุตรหญิงคนหนึ่งถูกประหารในรัชกาลที่ ๔
เพราะในรายชื่อบุตรธิดาที่ลงในกระทู้นี้ มีชื่อเจ้าจอมช้อยด้วย   เจ้าจอมช้อยคือเจ้าจอมที่ถูกประหารในรัชกาลที่ ๔    แต่จะด้วยอะไรไม่ทราบ ไม่เห็นค่อยเอ่ยถึงกันนัก   
เรื่องเจ้าจอมที่ถูกประหาร  เจ้าจอมอิ่มในรัชกาลที่ ๓ ที่ลอบส่งสารรักกับพระสุริยภักดี บุตรสมเด็จเจ้าพระยามหาพิชัยญาติ ยังเป็นที่รู้จักมากกว่า

ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ บันทึกว่า มีผู้ทิ้งหนังสือ(หรือบัตรสนเท่ห์)ฟ้องลูกขุนว่า ทางขุนสุวรรณ หรือ เขียน บุตรชายของพระยาราชภัคดีบังอาจใช้ภรรยาของตน ที่ชื่อกุหลาบ...ให้ไปพูดจาแทะโลมเกี้ยวพาราสีเจ้าจอมมารดาช้อย บุตรพระยาบำเรอภัคดี ปรากฏว่า...เจ้าจอมมารดาช้อยมีใจให้  ลอบติดต่อกัน แอบส่งของให้กันอยู่เป็นประจำ  โดยมีภรรยาของขุนสุวรรณรู้เห็นเป็นใจ...
ทางคณะลูกขุนและตุลาการ ตรวจสอบชำระความแล้วพบว่า เป็นเรื่องจริง จึงมีการตัดสินความ...และปรากฏว่าโทษถึงขั้นประหารชีวิต
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ท่านบันทึกไว้ว่า
 "เมื่อเดือนเจ็ด พ.ศ. ๒๔๐๒ โปรดฯ ให้ชำระความเรื่องนี้ โดยตัดสินลงโทษประหารชีวิตคนทั้งคู่ที่วัดมักสัน รวมทั้งลงโทษเนรเทศพระโยคาญาณภิรัตเถร ราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดราชสิทธารามฯ ผู้ให้น้ำมนต์แต่งงานแก่ผู้กระทำผิดทั้งคู่ ไปอยู่ที่เมืองสงขลา"
 
ไม่ทราบว่าพระยาบำเรอภัคดีที่ว่า เป็นคนเดียวกับพระยาอัพภันตริกามาตย์หรือเปล่าคะ?


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 20 มี.ค. 13, 09:26
วิชานี้จบเร็วจัง

ขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 20 มี.ค. 13, 12:55
เจ้าจอมมารดาช้อย - แสดงว่าต้องมีพระโอรสหรือพระธิดา - พบชื่อในทำเนียบไหมครับ


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 21 มี.ค. 13, 02:54
มาลงชื่อเข้าเรียน ตอนปิดคลาสแล้ว

หวังว่าคุณครู คงไม่ลงโทษผมนะครับ
 ;D :D ;D


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 21 มี.ค. 13, 12:47
 ;D


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 13, 19:45
นึกว่าจบแล้ว    พอดีไปอ่านกระทู้ย้อนหลัง ก็พบเจ้าจอมหม่อมห้ามอีกท่านหนึ่งที่ถูกตัดสินประหารชีวิตเช่นกัน  แต่โชคดีได้รับพระมหากรุณาธิคุณ รอดมาได้   
สาเหตุแตกต่างไปจากเจ้าจอมอื่นๆ คือมิใช่เรื่องกบฏ หรือคบชู้สู่ชาย   แต่เป็นข้อหาทำเสน่ห์ยาแฝด

เรื่องนี้เล่าไว้ในกระทู้  เราที่สองรองภูมินทร์นามปิ่นเกล้า ค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4184.165

เรื่องมีอยู่ว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงมีพระสนมที่โปรดปรานท่านหนึ่งชื่อเจ้าจอมมารดากลีบ มีพระองค์เจ้าหลายพระองค์ รวมทั้งพระองค์เจ้าเปียที่เซอร์จอห์น เบาริง บันทึกไว้ด้วย
นอกจากเป็นเจ้าจอมมารดาที่ถูกพระราชหฤทัย    ท่านคงทำกับข้าวเก่งอีกด้วย  จึงได้เป็นนายห้องเครื่อง คือเป็นหัวหน้าห้องครัววังหน้า ด้วย  แปลว่าอาหารการกินทั้งหลาย โดยเฉพาะของเสวย อยู่ในความควบคุมดูแลของท่าน

"เมื่อปีระกา (พ.ศ.๒๔๐๔) นั้น มีผู้กระซิบทูล (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ)ว่า เจ้าจอมมารดากลีบทำเสน่ห์ยาแฝด จึงได้โปรดฯให้พระยาพิไชยบุรินทรา  พระยามณเฑียรบาล ตุลาการหรือสมัยนั้นเรียกว่าตระลาการในพระบวรราชวังชำระความ
พวกครั้งนั้นตระลาการเห็นว่า พระอัธยาศัยไม่สู้กริ้วนัก  ขอตีความว่าอาจจะทรงเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง    แต่มีผู้ทูลฟ้องก็ต้องสอบสวนไปตามระเบียบ   ก็ชำระแต่พอเป็นพิธี   ก็มิได้ความจริง
สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เพื่อตัดข้อครหานินทา จึงทรงปลดเจ้าจอมมารดากลีบจากตำแหน่ง  ให้พระยาราชโยธา เข้ามากำกับเป็นนายเครื่อง เครื่องนั้นโปรดฯให้พวกพ่อครัวผู้ชายทำ   แต่พวกนี้คงทำไม่ถูกปาก   เมื่อทรงพระประชวรไม่สบาย เสวยพระกระยาหารไม่ได้ ก็ทรงคิดถึงแม่ครัวคนเก่า  อยากจะเสวยฝีมือเจ้าจอมมารดากลีบอีกครั้ง 
พวกขุนนางวังหน้า ดูออก พระยาพิไชยบุรินทรา  หลวงเสนาพลสิทธิ์  หลวงเพชรชลาลัย  จมื่นศรีบริรักษ์ จ่าการประกอบกิจ  ท้าวพิพัฒนโภชา  (แย้ม) ผู้ช่วย  ขำภรรยาพระพรหมธิบาล (เสม) จึงเข้าชื่อกัน ทำเรื่องราวรับประกันกลีบมารดา ถ้าเป็นผู้ทำเสน่ห์ยาแฝดแน่แท้แล้วหรือกลับทำใหม่อีก ก็ให้เอาโทษผู้นายประกันถึงสิ้นชีวิตคือยอมเอาหัวเป็นประกันว่าเจ้าจอมมารดากลีบไม่ได้ทำเสน่ห์ 

ทรงทราบทัณฑ์บนดังนั้นแล้วก็โปรดฯให้เจ้าจอมมารดากลีบเข้ามาทำเครื่องเสวยตามเดิม


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 13, 19:46
     เมื่อเจ้าจอมมารดากลีบกลับเข้ามาทำพระกระยาหารถวายเหมือนเดิม   พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าก็เริ่มประชวร   หมอถวายยารักษาเท่าไรก็ไม่หาย   เป็นเรื้อรังมาถึง ๕ ปี คือตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๐๔-๒๔๐๘ ซึ่งตลอดเวลา เจ้าจอมมารดากลีบเป็นนายห้องเครื่อง ผู้ทำเครื่องถวาย
        พระโรคที่ประชวรคือวัณโรค   เป็นโรคร้ายไม่มียารักษาหาย   พอๆกับมะเร็งสมัยนี้    แต่หมอวังหน้าก็เก่ง ประคับประคองไว้ได้ถึง ๕ ปี  พระวรกายซูบผอมมีแต่หนังหุ้มกระดูก   ในตอนปลายที่ประชวรหนัก  เรื่องเดิมของเจ้าจอมมารดากลีบก็ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง
         ในพระราชพงศาวดารบันทึกเรื่องราวไว้ว่า
        "ครั้นต่อมาถึงเดือน ๑ ปีฉลู (พ.ศ.๒๔๐๘) ทรงพระประชวรมากไป กลีบมารดาทำเครื่องแกงก๋วยเตี๋ยวให้เจ้าพนักงานตั้งถวาย พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงเสวยได้ ๒ ฉลองพระหัตถ์ ทรงเห็นเป็นขนอยู่ในชามพระเครื่องแกงก๋วยเตี๋ยว"
        พงศาวดารไม่ได้บันทึกว่าเมื่อทรงเห็น "เป็นขน" แล้ว สืบสาวราวเรื่องขึ้นมา  หรือปล่อยไว้เฉยๆ  แต่คิดว่าน่าจะมีการทำอะไรสักอย่าง คงไม่ปล่อยไว้อย่างนั้น   พงศาวดารมาบันทึกอีกที ก็เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปประมาณ ๑ เดือน
        "ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน ๒ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลู  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จฯขึ้นไปเยี่ยมประชวร พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จึงกราบบังคมทูลว่า ทรงประชวร ครั้งนี้ มีความสงสัยในกลีบทำเสน่ห์ยาแฝดจึงทรงประชวรมากไป ขอรับพระราชทานข้าทูลละอองธุลีพระบาทในพระบรมมหาราชวัง เป็นตระลาการชำระให้ได้ความจริง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ พระยามณเฑียรบาล พระยาอนุชิตชาญไชย พระยาบริรักษราชา พระยาอัษฎาเรืองเดช พระพรหมธิบาลพระพรหมสุรินทร์ เป็นตระลาการชำระ"
        สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ท่านไม่เอาตระลาการวังหน้ามาชำระอีกแล้ว คงจะไม่ไว้วางพระทัย หรือไม่ก็โดนขังกันไปทั้งชุดเลย   เพราะชำระครั้งก่อนตัดสินว่าไม่ผิด   ท่านทูลขอตระลาการจากวังหลวงมาทั้งชุด  ชุดใหม่นี้ก็สอบสวนทำคดี ตัดสินออกมาว่าทำเสน่ห์ยาแฝดจริง   สืบได้ด้วยว่ามีใครเป็นผู้สอนให้ทำ   คือ "อ้ายช้าง อ้ายขนานแดง อ้ายโสม  เป็นครู"       


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 13, 19:47
     เมื่อได้ความ จึงให้ลูกขุนปรึกษาโทษว่า กลีบมารดา มีพระองค์เจ้าถึง ๑๒ พระองค์ ไม่มีความกตัญญูรู้พระเดชพระคุณมาคิดทรยศ         อนึ่งอ้ายช้าง อ้ายโสม อ้ายขนานแดง ผู้เป็นครู น้อย แย้ม ขำ จ่าการประกอบกิจ ซึ่งเป็นญาติและรู้เห็นด้วย รวมทั้งสิ้น ๘ คน (ทั้ง ๘ คนนี้) ให้รับราชบาตรลงพระราชอาชญาเฆี่ยน แล้วให้ไปประหารชีวิตเสีย แต่พระยาพิไชยบุรินทรา จมื่นศรีบริรักษ์ หลวงเสนาพลสิทธิ์ เป็นแต่นายประกันทำตามพระราชอัธยาศัย ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย ให้ถอดเสียจากที่ลงพระราชอาชญาจึงส่งไปคุก
        ยังอ้ายจันชุม อียา อีสุข อีอ่วม อีสุด อีป้อมก้อน อียิ้มแก้ว อีหนู ไม่ได้เป็นบ่าวทาส มารับอาสาให้กลีบมารดาใช้ และรู้เห็นด้วย ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนแล้วส่งไปจำไว้ ณ คุก
        ครั้นลูกขุนปรึกษาโทษแล้ว ก็ทรงพระประชวรหนักลงถึงสวรรคต"

        ตั้งแต่วันโปรดเกล้าฯให้ตระลาการชำระ (วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๐๔) ถึงวันสวรรคต (วันที่ ๗ มกราคม ๒๔๐๘) เป็นเวลาเพียง ๑๙ วัน คนโทษเหล่านี้จึงยังไม่ทันรับพระราชอาญา เพียงแต่จำคุกเอาไว้ก่อน
        จากนั้นเมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เรียบร้อยแล้ว          พระราชพงศาวดาร เก็บความเรื่องนี้ถึงตอนจบว่า
       "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงพระราชดำริ สงสัยคลางแคลงอยู่ว่าการจะไม่จริง จึงทรงพระราชหัตถเลขาให้เนรเทศกลีบมารดา และญาติคือท้าวพิพัฒน์โภชา และขำ ภรรยาพระพรหมธิบาล ซึ่งเป็นญาติของเจ้าจอมมารดากลีบ  ไปอยู่เสียเมืองสุโขทัย อ้ายโสม อ้ายช้าง อ้ายขนานแดง หมอ ให้ส่งไปจำคุก จ่าการประกอบกิจ กับน้อย โปรดฯให้ยกโทษเสียปล่อยไป ส่วนพระยาพิไชยบุรินทรา หลวงเสนาพลสิทธิ์ จมื่นศรีบริรักษ์ ก็โปรดฯให้พ้นจากเวรจำ มิได้ตั้งขึ้นรับราชการอีก"
       


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 13, 19:48
คุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์ วิจารณ์ไว้ว่า

        "ทั้ง ๓ ท่านนี้ หากพิจารณาแล้ว ดูๆก็น่าสงสารอยู่ไม่น้อย เพราะที่กล้าเสี่ยงเอาชีวิตเข้าประกันก็ด้วยจงรักภักดีต่อเจ้านาย สงสารว่าท่านเสวยพระกระยาหารไม่ได้ แต่กลับมาพลอยต้องโทษ หรือบางทีอาจเป็นด้วยท่านคุ้นเคยนับถือกันกับเจ้าจอมมารดากลีบ ก็เป็นได้ เพราะเจ้าจอมมารดากลีบเป็นพระสนมเอกแต่ผู้เดียวที่ได้ขึ้นเฝ้าอยู่บนพระที่ นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ซึ่งธรรมดาแล้ว โปรดประทับอย่างฝรั่ง มี 'บ๋อย' ผู้ชายเฝ้ารับใช้
       ในพระราชพงศาวดาร ที่เรียกเจ้าจอมมารดากลีบว่า 'กลีบมารดา' นั้น เพราะเมื่อต้องโทษ ยศศักดิ์ก็ต้องถูกถอด 'เจ้าจอมมารดา' ถือว่าเป็นยศศักดิ์ เมื่อเรียก จึงเรียกแต่ 'กลีบมารดา' ตัดคำว่า 'เจ้าจอม' ออกเสีย
        เช่นเดียวกับ เจ้านายเดิมทรงเป็นพระองค์เจ้าหรือหม่อมเจ้า หรือแม้แต่เจ้าฟ้า หากถูกลงพระราชอาญา 'ถอด' จากพระเกียรติยศ ตามธรรมเนียมต้องเรียกเจ้านายพระองค์นั้นว่า 'หม่อม'
        เรื่องเจ้าจอมมารดากลีบนี้ ได้ยินผู้ใหญ่สมัยก่อนๆท่านพูดกันว่า ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงแคลงพระทัยนั้น เพราะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงพระประชวรมาช้านานถึง ๔-๕ ปี จึงทรงสงสัยว่า จะทรงประชวรด้วยพระโรควัณโรคภายใน ซึ่งชาววังหลวงก็เป็นโรคเรื้อรังโรคนี้กันมาก โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ โปรดแปรพระราชฐานไปประทับตามต่างจังหวัด เช่นทางอีสาน ชลบุรี ซึ่งอาจจะไม่ถูกกับพระโรค หรือทำให้เป็นพระโรค ประการหนึ่ง
        อีกประการหนึ่ง ที่ว่าทรงเห็นเส้นขนอยู่ในชามพระเครื่องนั้น เจ้าจอมมารดากลีบเป็นผู้ทำก็จริง แต่ก็มี เจ้าพนักงานเป็นผู้เชิญ ขึ้นถวาย คือต้องผ่านมือผู้อื่น อาจมีการกลั่นแกล้งกันก็เป็นได้
        เพราะเจ้าจอมมารดากลีบเป็นเจ้าจอมที่ทรงโปรดปรานออกหน้าออกตายิ่ง กว่าผู้อื่นมาช้านาน จนมีพระโอรสธิดาถึง ๑๒ พระองค์ อาจเกิดการอิจฉาริษยากลั่นแกล้ง ด้วยในวังหน้านั้นมีเจ้าจอมพระสนมมากมาย
        "ท่านเสด็จไปหัวบ้านด้านเมืองที่ใด ก็ได้ลูกสาวเจ้าบ้านผ่านเมืองแลกรมการมาทุกที..."
        (จากพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระราชทานไปยังราชทูต พ.ศ.๒๔๑๖)
        ดังนั้น เมื่อเสร็จงานพระเมรุ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ 'ยกประโยชน์ให้แก่จำเลย' พระราชทานอภัยโทษมิได้ประหารชีวิต
        เจ้าจอมมารดากลีบนั้น เข้าใจกันว่า คงจะเป็นธิดาของเจ้าบ้านผ่านเมือง หรือกรมการเมือง หรือบิดาเป็นผู้มีเชื้อสาย เมืองสุโขทัย เมื่อพระราชทานอภัยโทษแล้ว จึงโปรดฯให้ไปอยู่ ณ เมืองสุโขทัย"


กระทู้: เจ้าจอมหม่อมห้ามผู้ถูกประหาร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 13, 19:54
  นับว่าเจ้าจอมมารดากลีบ เป็นเจ้าจอมที่ดวงชะตาโลดโผนมาก เจอทั้งโชคดีและเคราะห์ร้ายถึงที่สุดทั้งสองอย่าง      บทจะชะตาขึ้นก็ได้เป็นเจ้าจอมที่โปรดปรานมากที่สุด   ท่านมีพระองค์เจ้าถึง ๑๒ องค์ ช่วยส่งเสริมบารมีในวังหน้าได้มากกว่าเจ้าจอมหม่อมห้ามอื่นๆ       แต่บทจะเคราะห์ร้าย ก็เจอข้อหาฉกาจฉกรรจ์ถึง 2 ครั้ง อย่างไม่เคยมีใครเจอ     ครั้งที่สองนั้นถึงขั้นถูกตัดสินประหารชีวิต

  แต่ดวงของเจ้าจอมมารดากลีบเห็นทีจะแข็งกว่าเจ้าจอมหม่อมห้ามในกระทู้นี้ทั้งหมดทุกท่าน     เพราะเป็นคนเดียวที่รอดจากถูกประหารชีวิตไปได้อย่างหวุดหวิด  ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่  ลดโทษลงเหลือเนรเทศ    ซึ่งก็คงไม่ได้ลำบากตรากตรำอะไร