เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 9
  พิมพ์  
อ่าน: 53361 พระบรมรูป เพิ่งค้นพบใหม่
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 20 มี.ค. 08, 08:40

อยากทราบชื่อเครื่องราชอิสริยาภรณ์และสายสะพาย ในพระรูปนี้ด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 20 มี.ค. 08, 12:33

สายสะพายลักษณะนี้สันนิษฐานได้เป็น ๓ ตระกูลครับ ได้แก่ สายสะพายนพรัตนราชวราภรณ์, สายสะพายมหาวราภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่ ๑ (ประถมาภรณ์ช้างเผือก), และสายสะพายมหาสุราภรณ์มงกุฎสยาม ชั้นที่ ๑ (ประถมาภรณ์มงกุฎไทย) ...สมัยนั้นยังไม่มีสายสะพายดิเรกคุณาภรณ์ เป็นอันตัดไปได้ตระกูลหนึ่ง

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงได้รับพระราชทานสายสะพายมงกุฎไทยชั้นที่ ๑ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖, สายสะพายนพรัตนฯ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๗ ครับ ส่วนสายสะพายช้างเผือกชั้นที่ ๑ ทรงได้รับพระราชทานเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔ พระชนมายุ ๒๐ พรรษาแล้ว ต้องทรงพระเจริญกว่านี้มาก ฉะนั้น ไม่ใช่สายสะพายช้างเผือก

น่าเสียดายที่ไม่เห็นดาราอีกดวงซึ่งเข้าใจว่าซ่อนอยู่ใต้สายสะพาย ไม่อย่างนั้นก็คงตอบได้ทันทีว่าสายนี้เป็นนพรัตนฯ หรือมงกุฎไทย ส่วนดาราที่เห็น ๒ ดวงบนพระอุระนั้นคือดารามหาจักรี (ทรงได้รับพระราชทานเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔) และดาราปฐมจุลจอมเกล้า (ทรงได้รับพระราชทานเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔) ครับ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 20 มี.ค. 08, 13:41

ขยายได้มากสุดเพียงนี้ครับ


บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 20 มี.ค. 08, 14:04

ถ้าจะให้ผมสันนิษฐาน ผมขอสันนิษฐานว่าเป็นสายสะพายมหาสุราภรณ์มงกุฎสยาม เพราะสังเกตจากการประดับดาราที่พระอุระ ตามปรกติ การกลัดดารายักเยื้องสูงต่ำบนอกเสื้อนั้น จะเรียงลำดับตามเกียรติยศของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ลำดับเกียรติของมหาจักรีฯ อยู่สูงสุดอยู่แล้ว ดาราจักรีก็ประดับอยู่สูงสุด ไม่แปลกอะไร แต่ถ้าหากว่าสายสะพายนี้เป็นสายสะพายนพรัตนฯ ก็จะต้องทรงประดับดารานพรัตนฯ ด้วย

ทีนี้ ลำดับเกียรติยศของเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์นั้น มีลำดับรองจากมหาจักรีฯ แต่สูงกว่าจุลจอมเกล้า และมงกุฎไทย ฉะนั้น หากจะทรงกลัดดารานพรัตนฯ (เพื่อคู่กับสายสะพาย) ก็ต้องกลัดอยู่สูงกว่าดาราจุลจอมเกล้า

ในเมื่อในพระรูปนี้ ทรงกลัดดาราจักรีไว้สูงสุดเป็นลำดับแรก รองลงมาเป็นดาราจุลจอมเกล้าเป็นลำดับสอง ดาราดวงที่ (ผมคิดว่า) ซ่อนอยู่ใต้สายสะพายนั้นจึงน่าจะเป็นดารามงกุฎสยาม ซึ่งมีเกียรติยศเป็นรองที่สุดในหมู่ดาราที่ทรงประดับบนพระอุระครับ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 20 มี.ค. 08, 14:19

ข้อเหตุผลหนึ่งสำหรับสันนิษฐานหนึ่งเรื่องสายสะพาย ที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นสายสะพายมงกุฎสยาม ก็เพราะความแก่และอ่อนของสีสันของสายสะพายในพระรูป ซึ่งจริงๆ แล้วก็ดูได้ไม่ค่อยถนัดนัก ถ้าผิดพลาดประการใดก็ขออภัย

สีของสายสะพายนพรัตนฯ ไล่จากริมขอบนอกเข้าใน คือขอบเขียว ริ้วแดง ริ้วน้ำเงิน และแถบเหลือง
สีของสายสะพายมงกุฎสยาม ไล่จากขอบนอกเข้าใน คือขอบเขียว ริ้วเหลือง ริ้วแดง และแถบน้ำเงิน

เมื่อเพ่งดูพระรูปแล้ว เห็นว่าริ้วสีอ่อนสุด (ที่ดูเหมือนริ้วขาวในภาพขาวดำ) นั้นอยู่ติดกับริมขอบ และมีริ้วสีเข้มกว่า (ที่ดูเหมือนริ้วดำในภาพขาวดำ) นั้นอยู่ติดกับแถบกลางสายสะพาย ไล่เป็นลำดับความเข้มของสีได้คือ อ่อน อ่อนมาก เข้มมาก เข้ม ...ผมจึงคิดว่าน่าจะเป็นสายสะพายมงกุฎสยาม ซึ่งมีความเข้มของสีเรียงลำดับ อ่อน (เขียว) อ่อนมาก (เหลือง) เข้มมาก (แดง) และเข้ม (น้ำเงิน)

แต่ถ้าหากจะพูดตามความรู้สึกของการถ่ายรูปสมัยก่อนนั้น ผมก็เห็นว่าการถ่ายรูปพอร์เทรตอย่างนี้ นานๆ ทีจะถ่ายกันสักที น่าจะแต่งให้เต็มยศเต็มเกียรติ ถ้าทรงได้รับพระราชทานสายสะพายนพรัตนฯ แล้ว ก็น่าจะทรง หรืออาจจะเป็นการฉาย เพื่อประเดิมฉลองเมื่อทรงได้รับสายสะพายนพรัตนฯ ในปี ๒๔๓๗ ก็ได้ ก็ไม่ทราบจะตัดสินใจไปทางไหนอย่างไรดีเหมือนกันครับ รอท่านอื่นๆ มาช่วยเสริมหรือค้านต่อไป
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 20 มี.ค. 08, 14:22

พิจารณาเปรียบเทียบภาพถ่ายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ นพรัตน์ราชวราภรณ์กับมงกุฎสยาม ที่ตีพิมพ์ในหนังสือตำนานเครื่องราชอิศริยาภรณ์สยาม พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ประกอบกับฉลองพระองค์ที่ทรงนั้นเป็นเยียรบับ  ซึ่งเป็นเครื่องทรงในงานเต็มยศใหญ่และเป็นงานมงคล  และดาราที่ทรงประดับ คือ มหาจักรีบรมราชวงศ์ และปฐมจุลจอมเกล้า  สายสะพายในพระรูปองค์ดังกล่าวจึงน่าจะเป็นสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลยิ่งนพรัตน์ราชวราภรณ์  ซึ่งเพิ่งได้รับพระราชทานในวันมงคลโสกันต์  ๓  มกราคม  ๒๔๓๗  มากกว่าจะเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎสยาม ชั้นที่ ๑ มหาสุราภรณ์มงกุฎสยามที่ได้รับพระราชทานเมื่อวันที่  ๒  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๓๖  เพราะสามารถอธิบายความหมายของดาราและสายสะพายได้ดังนี้
ดารามหาจักรีบรมราชวงศ์  หมายถึง  ทรงเป็นพระบรมวงศ์ในพระบรมราชจักรีวงศ์
ดาราจุลจอมเกล้า          หมายถึง  ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สายสะพายนพรัตน์ฯ      หมายถึง  ทรงเป็นพุทธมามกะ
หรือพระรูปองค์นี้จะทรงฉายเมื่อคราวทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะก่อนเสด็จออกไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ
เพราะเมื่อครั้งที่โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนเทพทวาราวดี (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)  เสด็จออกไปทรงศึกษามที่ประเทศอังกฤษ  ก็โปรดเกล้าฯ ให้โสกันต์เมื่อวันที่  ๒๙  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๓๕  พอถึงเดือนสิงหาคม  ๒๔๓๖  โปรดให้ประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ  เสร็จแล้วกราบถวายบังคมลา  เสด็จจากบางปะอินออกไปสิงคโปร์เพื่อประทับเรือเดินทะเลไปอังกฤษเลย

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 20 มี.ค. 08, 14:23

มาเพิ่มเติมเรื่องเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่ทรงได้รับเมื่อทรงพระเยาว์  ค่ะ

ปฐมจุลจอมเกล้า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2434
ภารดรมหาจักรีบรมราชวงศ์ เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2434
มหาสุราภรณ์มงกุฎสยาม ชั้นที่ 1 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2436
นพรัตนราชวราภรณ์ เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2437


เครื่องราชฯ จากนี้ไป ไม่ใช่ในพระรูปแล้ว  เพราะทรงได้รับในภายหลัง  เมื่อพระชันษา 20 ขึ้นไป

มหาวราภรณ์ ช้างเผือก ชั้นที่ 1 เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2444
เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2446
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4 ม.ป.ร.2 เมื่อปี พ.ศ. 2446
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 จ.ป.ร.1 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451
เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ว.ป.ร.1
อัลเบร็คต์ ประเทศแซ็กซันนี เมื่อปี พ.ศ. 2440
เซ็นโอลัฟ ประเทศนอรเวย์ ชั้น 1 เมื่อปี พ.ศ. 2440
เฮาส์ออร์เดน แดร์ทรอยเอ ประเทศบาเดน ชั้น 1 เมื่อปี พ.ศ. 2446
อินทรีย์แดง ประเทศปรัสเซีย ชั้น 1 เอก เมื่อปี พ.ศ. 2448
เซนต์ มอรส ประเทศอิตาลี ชั้น 1 เมื่อปี พ.ศ. 2448
ดันแนบร็อค ประเทศเดนมาร์ก ชั้น 1 เมื่อปี พ.ศ. 2450
เลย็อง คอร์เนอร์ ประเทศฝรั่งเศส ชั้น 1 เมื่อปี พ.ศ. 2450
ปอโลว์เนีย ประเทศญี่ปุ่น ชั้น 1 เมื่อปี พ.ศ. 2451
ไฮน์ริค แดร์ เลอเว ประเทศปรันสวิก ชั้น 1 เมื่อปี พ.ศ. 2452
เลโอโปลด์ ประเทศออสเตรียฮังการี ชั้น 1 เมื่อปี พ.ศ. 2454
มหาปรมาภรณ์ ช้างเผือก ชั้นสูงสุด เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456
เหรียญจักรมาลา เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2458
รามาธิบดีชั้นที่ 1 เสนางคบดี เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2461
มหาวชิระมงกุฎ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2463
เหรียญบรมราชาภิเศกทอง รัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468
เหรียญรัตนาภรณชั้นที่ 1 รัชกาลที่ 7 ป.ป.ร. เมื่อวันที่ 1 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469
 


บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 20 มี.ค. 08, 14:31

ความคิดเห็นของคุณ V_Mee ก็น่าสนใจครับ ผมคิดว่าเป็นไปได้อย่างยิ่ง

ถ้าสันนิษฐานจากการกลัดดารา และภาพขาวดำ ผมก็คงเห็นได้ดังนั้น แต่อย่างที่เรียนไปแล้วว่าอีกใจหนึ่ง เห็นว่าการฉายพระรูปอย่างเป็นทางการเช่นนี้ น่าจะทรงสายสะพายชั้นสูงที่ทรงได้รับพระราชทาน มากกว่าจะทรงเลือกสายสะพายเส้นที่มีลำดับเกียรติต่ำที่สุด หาไม่แล้วก็น่าจะทรงสายสะพายจักรีไปเสียเลย ...และถ้าหากว่าเป็นสายสะพายนพรัตนฯ จริง ผมเห็นว่า เป็นการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีลำดับเกียรติยศสูงสุด ๓ ตระกูล ที่ทรงได้รับพระราชทาน โดยที่สายสะพายนพรัตนฯ เป็นสายสะพายเส้นล่าสุดที่ทรงได้รับ และคงยังไม่เคยทรงเพื่อฉายพระรูปมาก่อนครับ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 20 มี.ค. 08, 14:47

ลำดับต่อไปที่น่ามอง คือพระปั้นเหน่งและรัดพระองค์

พระปั้นเหน่งลักษณะคล้ายอย่างนี้มีหลายองค์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ คือเป็นเพชรเม็ดเขื่อง ๙ เม็ด มีเม็ดเขื่องที่สุดฝังอยู่เบื้องกลางเป็นประธาน ล้อมด้วยอีก ๘ เม็ด เคยเห็นพระบรมฉายาลักษณ์และพระรูป ทั้งพระมหากษัตริย์ พระมเหสีเทวี ตลอดจนเจ้านายเวลาโสกันต์ทรง แต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียวนะครับ พระปั้นเหน่งลักษณะเช่นนี้ที่ผมเคยเห็นองค์จริงมีอยู่ ๒ องค์ เป็นพระราชมรดกสู่พระทายาทในสายสมเด็จพระพันปีหลวง คล้ายองค์นี้ แต่ไม่เหมือน และฝีมือการทำไม่ใช่ฝีมือช่างไทย คิดว่าคงจะเป็นฝีมือช่างยุโรป เพชรแต่ละเม็ดสามารถถอดแยกออกจากตัวเรือนได้ ได้ทราบมาว่าพระปั้นเหน่งองค์ใหญ่เช่นนี้ มีตกทอดอยู่ในพระกุลทายาทราชสกุลมหาสาขารัชกาลที่ ๕ สายที่สืบเนื่องมาจากสมเด็จพระอัครมเหสี และพระราชเทวี หลายองค์ครับ

พระปั้นเหน่งองค์นี้อาจจะตกทอดในราชสกุลบริพัตร ณ อยุธยา หรืออย่างไร ผมไม่อาจทราบได้ครับ ท่านใดมีข้อมูล หรือข้อวิเคราะห์ใดๆ ..รอฟังอยู่ครับ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 20 มี.ค. 08, 14:50

เสริมข้อมูลนิดหน่อย ปฐมจุลจอมเกล้าได้รับพระราชทานพร้อมกันสี่พระองค์
น่าจะมีพระรูปของพระองค์อื่นมาเทียบเคียงได้บ้างกระมัง
--------------
คัดจากตำนานเครื่องราชอิศริยาภรณ์จุลจอมเกล้า
ฉบับ 2467 หน้า66

ปีเถาะตรีศก พ.ศ. ๒๔๓๔
พระราชทานในที่ประชุมครั้งที่ ๑๙ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๑๐

ขั้นที่ ๑ ปฐมจุลจอมเกล้า
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุม
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศวโรทัย
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงศภูวนาถ
พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร


บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 20 มี.ค. 08, 15:10

คุณพพ.ช่างสรรหารูปน่าชมมาชวนเพ่งเสียจริง สนุกดีครับ

พระบรมสาทิสลักษณ์องค์ข้างบนนี้ก็น่าสนใจ ทรงเครื่องต้นอย่างจักรพรรดิราช ประทับบนพระราชยานพุดตานทอง ห้อยผ้าทิพย์ ปักเป็นรูปอะไรก็ไม่ทราบ ผูกมาลัยหน้าฆ้องประดับสองข้างห้อยพระบาท พระพุทธเจ้าหลวงทรงพระมหาพิชัยมงกุฎด้วย ผมรู้สึกว่าในรัชกาลที่ ๕ พระองค์ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎอยู่บ่อยครั้ง แม้เวลาประทับพระราชยาน ซึ่งคงจะต้องทรงประคองพระองค์ให้ตรงและสมดุลอยู่เสมอ

ซ้ายขวามีพระกลดมีระใบ ๓ ชั้น ไค่ทองแผ่ลวดทั้ง ๓ ชั้น และบังพระสูรย์ (หักทองขวางแน่ๆ) และทวยรับพระสุพรรณศรี น่าสนใจตรงคันพระกลด สมัยนั้นยังอุตส่าห์ผูกมาลัยรัดประดับไว้ด้วย ผมยังสงสัยอยู่ว่าทำไมคันพระกลดท่อนกลางลงมาถึงล่าง เป็นลายจุดๆ จะเป็นการพันผ้าไว้หรือเปล่าผมก็ไม่ทราบ ที่พาดอยู่ซ้ายพระหัตถ์น่าจะเป็นพระแสงขรรค์ชัยศรี ขวาพระหัตถ์น่าจะเป็นธารพระกร ดูไม่ถนัดนัก เห็นแต่ปลาย ถ้าเห็นยอดก็จะพอระบุได้ว่าเป็นธารพระกรองค์ใด ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นธารพระกรเทวรูป ทรงฉลองพระบาทเชิงงอน เบื้องขวาพระราชยานทอดพระแสงง้าว

ประตูด้านหลังนั่นวัดอะไรครับ? เข้าใจว่าเป็นวัดพระเชตุพนฯ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 20 มี.ค. 08, 15:18

เพิ่งมาเห็นว่า ได้เชิญพระบรมรูปแนบท้ายโดยไม่ได้อธิบาย
ต้องขอประทานโทครับ จะให้ชมเพื่อเทียบกับพระบรมรูปที่ผมค้านว่า
มิใช่ฉายคราวบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง 2416
แต่เป็นการฉายคราวฉลองพระนครครบหนึ่งร้อยปี

ในพระบรมรูปข้างบน เป็นการเสด็จเลียบพระนคร ซึ่งทรงพระมหาพิไชยมงกุฏ
(อาจจะเป็นครั้งแรกกระมัง)

เทียบให้เห็นอีกครั้งตามพระบรมรูปด้านล่างครับ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 20 มี.ค. 08, 15:19

.


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 20 มี.ค. 08, 15:20

คำบรรยายใต้ภาพคือ The Krateen Festival:the king carried in state.
เสด็จในงานพระราชพิธีอะไรคะ     พระมหากฐิน?
(ขอโทษ ชนกลางอากาศกับค.ห.คุณพิพัฒน์   ฝรั่งไปบรรยายว่า เสด็จไปทอดกฐินเสียแล้ว  ไม่ใช่เลียบพระนคร
ภาพพิมพ์นี้อยู่ในชุดเดียวกับภาพถ่ายโบราณที่นำมาแสดงที่โรงแรมถนนวิทยุหรือเปล่า จำได้ว่ามีภาพขบวนเสด็จเหมือนกัน)

คำว่า กฐิน  ถอดเป็นภาษาอังกฤษว่า kateen ไม่ยักใช่ katin   สมัยก่อนสะกดว่า กฐีน หรือออกเสียงเป็นสระเสียงยาว กันแน่?

สังเกตว่าลายจุดๆบนคันพระกลด นั้น  คล้ายลายผ้าหมวกคนหามพระราชยานเลยค่ะ จุดๆเหมือนกัน
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 20 มี.ค. 08, 15:28

คุณ พพ.ครับ ขออนุญาตเรียนถามด้วยความสงสัยว่า พระบรมรูปในความเห็นที่ ๕๗ กับความเห็นที่ ๑๐ นั้นเป็นการฉายในโอกาสเดียวกันหรือไม่ครับ

สังเกตดูแล้วพระบรมรูปในความเห็นที ๑๐ ทั้งซ้ายและขวา รวมทั้งพระบรมรูปในความเห็นที่ ๕๗ เป็นคนละองค์กัน ฉากหลังไม่เหมือนกัน การทอดเครื่องราชูปโภคไม่เหมือนกัน และที่สังเกตได้ชัดคือ สองข้างพระราชบัลลังก์ตรงห้อยพระบาทในความเห็นที่ ๑๐ ไม่มีมาลัยประดับ ส่วนในพระบรมรูปความเห็นที่ ๕๗ มีมาลัยประดับไว้ทั้งสองข้าง คุณ พพ.ครับ ขออนุญาตเรียนถามด้วยความสงสัยว่า พระบรมรูปในความเห็นที่ ๕๗ กับความเห็นที่ ๑๐ นั้นเป็นการฉายในโอกาสเดียวกันหรือไม่ครับ

แต่ที่แน่ๆ คือประทับพระที่นั่งคนละองค์กันครับ พระบรมรูปในความเห็นที่ ๑๐ ทั้งสององค์ ประทับพระที่นั่งกง ส่วนพระบรมรูปในความเห็นที่ ๕๗ ประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ซึ่งก็คือองค์เดียวกับพระราชยานพุดตานทอง ในความเห็นที่ ๕๔

พระบรมรูปในความเห็นที่ ๕๗ องค์ซ้าย ผมจำได้ว่าเหมือนกับที่แขวนอยู่ในหอประชุมจุฬาฯ บานใหญ่โตมาก ดูราวกับเป็นพระบรมรูปเขียนครับ ไม่ทราบจะใช่ชุดเดียวกับที่พระราชทานตามพระอารามต่างๆ หรือไม่
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.073 วินาที กับ 19 คำสั่ง