เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: CrazyHOrse ที่ 30 ก.ค. 04, 18:05



กระทู้: จารึกภาษาไทยที่เก่ากว่าจารึกหลักที่ ๑
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 30 ก.ค. 04, 18:05
 สอบถามคุณตรงใจ หุตางกูร นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้คำตอบมาดังนี้ครับ จึงขอนำมาเผยแพร่เพื่อผู้สนใจครับ

ปุจฉา: อยากทราบว่าเคยได้มีการพบจารึกภาษาไทยก่อนจารึกพ่อขุนราม โดยใช้อักษรอื่นๆเช่นอักษรขอมหรือไม่ครับ

วิสัชนา: ถ้าข้อความทั้งหมดเป็นภาษาไทย และประกอบด้วยประธาน กิริยา กรรมนั้น ก็ยังไม่มีครับ ยังไม่เคยพบเลย

แต่มีอยู่ ๓ หลักที่น่าสนใจครับ

๑. จารึกปราสาทเมืองสิงห์ (อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี) เป็นคำจารึกชื่อสั้นๆ ของพระยาองค์หนึ่ง ด้วยอักษรขอมรุ่นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มีคำจารึกว่า "พฺรญาไชยกร" คำว่า พฺรญา ก็คือ พระยา เป็นคำไทยครับ เขมรไม่มีใช้ เขมรจะใช้ พระกัมรเตง อ.ก่องแก้ว วีระประจักษ์ วิเคราะห์ไว้ว่าเป็นภาษาไทยครับ (จารึกในประเทศไทย เล่ม ๔ หน้า ๑๕๓ - ๑๕๕)

๒. จารึกหลักพระพุทธรูปนาคปรก (พ.ศ.๑๗๕๖) (อ.เมืองฯ จ.ลพบุรี)
เป็นจารึกอักษรขอมรุ่นพุทธศตวรรษที่ ๑๘
อ.ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ได้วิเคราะห์ถ้อยคำทั้งหมดเป็นภาษาไทย (จารึกในประเทศไทย เล่ม ๔ หน้า ๑๔๐ - ๑๔๓) มีความดังนี้ครับ

๑๓๕ ศกรฺกานกฺษตฺรทิตฺย ๑๓๔ ศก ระกานักษัตร อาทิตย์
ศฺรจมทฺยาะหินคิตปฺรติ ศรจมัทยาหิน คิดประดิษ -
ษฐาวฺระวุทฺธสมาธิไอ ฐานพระพุทธสมาธิ อยู่
ฏ ใตวฺรสฺรีมฺหาโว ใต้พระศรีมหาโพ
ธิ อายวฺระศก ธิ อ้ายพระศก
จนฺทสฺวารตฺนคิด จันทสวารัตน์ คิด
เถฺวเอง ทำเอง

แต่อย่างไรก็ตาม โครงจารึกของศูนย์ฯ ตรวจสอบอยู่เหมือนกันครับ คณะทำงานมีความเห็นว่า น่าจะเป็นจารึกคำเขมรครับ แต่อย่างไรก็ตาม ก็คงยังต้องศึกษากันต่อไปครับ

๓. จารึกดงแม่นางเมือง (พ.ศ.๑๗๑๐) (อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์)
จารึกด้วยอักษรขอมรุ่นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ภาษาเขมร แต่ก็มีคำศัพท์ ที่ อ.ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ได้วิเคราะห์ไว้ว่าเป็นคำไทยด้วยครับ เช่น
คำว่า "พระ" ท่านวิเคราะห์ว่า ถ้าเป็นคำเขมร จะเขียน "วฺระ" แต่ในจารึกใช้รูป "พฺระ" จึงรวมไปถึงคำว่า "พระนาม" "พระศริธาตุ" ด้วยและปรากฏคำว่า "นำ" ซึ่งเป็นคำไทยด้วยเช่น

จากหลักฐานที่ผมได้กล่าวถึงนี้ อาจกล่าวได้อย่างกว้างๆ ว่า กลุ่มคนที่ใช้ภาษาไทย เริ่มปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรบ้างแล้วอย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และคงเป็นการใช้ปะปนกันกับคำเขมร

[ตรงใจ หุตางกูร]

รายละเอียดของจารึกดงแม่นางเมืองดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ http://tabian.rink.ac.th/culture/nwculture/lesson3/32/323/lesson32324.html  


กระทู้: จารึกภาษาไทยที่เก่ากว่าจารึกหลักที่ ๑
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ส.ค. 04, 09:42
 ไปเจอเว็บที่คิดว่าพอจะเกี่ยวข้องกันบ้าง เลยเอามาลงให้ทราบ

ศิลาจารึกภาพชาดก วัดศรีชุม
    วัดศรีชุมยังมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์สุโขทัย กล่าวคือ ในช่องผนังด้านข้างของมณฑป(เรียกว่า อุโมงค์วัดศรีชุม) ได้ค้นพบศิลาจารึกหลักที่ ๒ เรียกว่า ศิลาจารึกวัดศรีชุม ที่เล่าเรื่องราวของการก่อตั้งราชวงศ์สุโขทัยของคนไทยกลุ่มหนึ่ง และที่เพดานของช่องผนังดังกล่าวมีภาพลายเส้น เป็นภาพเล่าเรื่องราวพระพุทธเจ้าในชาติต่าง ๆ ที่เรียกว่า ชาดก บางภาพมีลักษณะทางศิลปกรรมกับศิลปะลังกา โดยมีอักษรสมัยสุโขทัยกำกับบอกเรื่องชาดกไว้ที่ภาพแต่ละภาพด้วย
 http://tepsilp.su.ac.th/sukhothai/Virtual_reality/WatSrichum/thai/chadok.html
*******************************************
ชื่องานวิจัยภาษาไทย :อิทธิพลภาษา สันสกฤตที่มีต่อ วรรณไทยสมัยสมัยสุโขทัย
ชื่องานวิจัยภาษาอังกฤษ :
ชื่อผู้วิจัยภาษาไทย : ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร
ชื่อผู้วิจัยภาษาอังกฤษ :
ชื่อคณะ :
ชื่อสถาบัน :
รายชื่อที่ปรึกษา :
ปี : 2528
คำไข :อิทธิพลภาษา, วรรณกรรมไทย, ภาษา, ศิลาจารึก, การเปรียบเทียบทางภาษา, รากศัพท์ของภาษา

บทคัดย่อ
ประชากรที่ศึกษา
ข้อมูลจากศิลาจารึกสมัยสุโขทัย จำนวน 15 หลัก เอกสารสมัยสุโขทัย 3 เล่ม คือ สุภาษิตพระร่วง, ไตรภูมิพระร่วง และตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ความมุ่งหมาย/วิธีการศึกษา
วิเคราะห์เอกสารและหลักฐานดังกล่าว โดยนำเอาศัพท์ภาษาสันสกฤตที่มีใช้ในเอกสารเหล่านี้มาวิเคราะห์ให้ละเอียดเกี่ยวกับรูปเดิม การเปลี่ยนแปลงความหมาย และสิ่งเกี่ยวข้องอื่น ๆ ตลอดถึงข้อเสนอที่คิดว่าจะเป็นไปได้ของศัพท์นั้น ๆ เกณฑ์ในการเลือกศัพท์มาวิเคราะห์มีดังนี้
1. ในเอกสารชิ้นหนึ่ง ๆ จะนำศัพท์ภาษาสันสกฤตที่ซ้ำกันเพียงศัพท์เดียวเท่านั้นมาวิเคราะห์
2. ถ้าปรากฏว่าคำนั้น ๆ เป็นคำผสมระหว่างบาลีและสันสกฤตจะนำมาวิเคราะห์ไว้ด้วย โดยบอกว่าคำใดเป็นบาลีและคำใดเป็นสันสกฤต
3. คำภาษาบาลีล้วน ๆ จะไม่นำมาวิเคราะห์ แม้จะเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในภาษาไทยก็ตาม
4. คำที่เป็นได้ทั้งภาษาบาลี และภาษาสันสกฤตจะนำมาวิเคราะห์และบอกไว้ชัดเจนว่า "มาจากคำบาลีและสันสกฤต"
5. คำที่ปรากฏในเอกสารหลายชิ้นแม้จะเป็นคำคำเดียวกันก็นำมาวิเคราะห์ด้วย เพื่อให้ทราบว่าคำเช่นนั้นมีใช้ในเอกสารใดบ้าง ผลการวิจัย วิเคราะห์หลักฐาน ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ
1. ร่องรอยทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ซึ่งเอื้ออำนวยให้ภาษาสันสกฤตมีอิทธิพลต่อวรรณกรรมไทย
2. ลักษณะภาษาสันสกฤตที่ปรากฏในศิลาจารึกโบราณ
3. อิทธิพลภาษาสันสกฤตที่มีต่อศิลาจารึกสมัยสุโขทัย
จารึกหลักที่ 1 (ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง) จารึกหลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม)
จารึกหลักที่ 3 (จารึกนครชุม) จารึกหลักที่ 4 (จารึกวัดป่ามะม่วง)
จารึกหลักที่ 5 (จารึกวัดป่ามะม่วง) จารึกหลักที่ 6 (จารึกวัดป่ามะม่วง)
จารึกหลักที่ 7 (จารึกวัดป่ามะม่วง) จารึกหลักที่ 8 (จารึกเขาสุมมกูฏ)
จารึกหลักที่ 9 (จารึกวัดป่าแดง) จารึกหลักที่ 10 (ไม่ปรากฏแหล่งที่พบ)
จารึกหลักที่ 11 (จารึกวัดเขากบ) จารึกหลักที่ 12 (ไม่ปรากฏแหล่งที่พบ)
จารึกหลักที่ 13 (จารึกบนฐานพระรูป พระอิศวร) จารึกหลักที่ 14 (จารึกวัดเขมา)
จารึกหลักที่ 15 (จารึกวัดพระเสด็จ)
อิทธิพลภาษาสันสกฤตที่มีต่อหนังสือสมัยสุโขทัย
สุภาษิตพระร่วง
ไตรภูมิพระร่วง
ตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ข้อเสนอแนะของผู้วิจัย ในการศึกษาอิทธิพลภาษาสันสกฤตที่มีต่อวรรณกรรมสุโขทัย นักศึกษาต้องมีความรู้ภาษาสันสกฤต และภาษาไทยเป็นอย่างดี ทั้งนี้เพื่อหาแนวเปรีบบเทียบรูปคำของภาษาทั้งสองในแง่ความล้ายคลึงกันและความแตกต่างกันที่เด่นชัดอันจะเป็นทางให้สันนิษฐานถึงรูปคำภาษาสันสกฤตซึ่งปรากฏใช้ในภาษาไทย
งานวิจัยเสริมหลักสูตรชิ้นนี้จะมีประโยชน์สำหรับนักศึกษาภาษาศาสตร์ นักศึกษาภาษาสันสกฤต และนักศึกษาภาษาไทยโดยเฉพาะจะช่วยให้นักศึกษาได้ทราบว่าคำไทยจำนวนมากมีรากคำมาจากภาษาสันสกฤต และเมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยแล้ว แม้ว่ารูปคำจะเปลี่ยนแปลไปบ้าง แต่ก็มีร่องรอยให้สันนิษฐานได้ว่าคำนั้น ๆ มาจากคำสันสกฤต เพียงแต่เปลี่ยนรูปไปตามความนิยมในภษาไทยเท่านั้นวิธีการได้มาซึ่งความรู้ดังกล่าวนี้เป็นทางมาแห่งความรู้อันกว้างขวางทางด้านภาษาศาสตร์ TH ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร. อิทธิพลภาษาสันสกฤตที่มีต่อวรรณกรรมไทยสมัยสุโขทัย คณะ ชอ ศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2528 2528

 http://www.erri.tu.ac.th/research/html/28RLB0005.HTM

งานวิจัยข้อหลัง  สงสัยอยู่อย่างเดียวว่าทำไมรวมตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เข้าไปด้วย
ในเมื่อเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์นี่เอง


กระทู้: จารึกภาษาไทยที่เก่ากว่าจารึกหลักที่ ๑
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 01 ส.ค. 04, 23:32
 งานวิจัยสมัย 2528 เข้าใจว่าตอนนั้นแนวคิดเรื่องตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นวรรณกรรมรัตนโกสินทร์ยังเป็นความคิดที่ยังไม่ตกผลึกนะครับ

มาถึงตอนนี้ ถ้ารับแนวคิดอ.พิริยะ(ธรรมศาสตร์ด้วยกันเอง) คงสนุกพิลึก เพราะต้องตัดไตรภูมิพระร่วงออกด้วยครับ


กระทู้: จารึกภาษาไทยที่เก่ากว่าจารึกหลักที่ ๑
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 04, 08:38
 น่าจะตกผลึกมาก่อน 2528 นานแล้วค่ะ   เพราะในหนังสือเรื่องนี้  กวีได้เขียนเอาไว้ตอนต้น  ระบุถึงประเทศต่างๆ ในจำนวนนี้พูดถึงสหรัฐอเมริกา หรือ"มะริกา" ด้วย
ก็มะริกา  ตั้งมาได้แค่ 200 กว่าปีเอง  
สมัยสุโขทัย มะริกามีแต่อินเดียนแดง  กระจัดกระจายอยู่เป็นเผ่าเล็กๆ  รัฐต่างๆก็ยังไม่เกิด   โคลัมบัสค้นพบรึยังก็ยังไม่ได้บวกลบ ค.ศ. ดู  แต่ถึงค้นพบแล้ว  นางนพมาศหรือพระร่วงก็ไม่มีทางรู้หรอกค่ะ
วรรณคดีเรื่องนี้สันนิษฐานกันว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  


กระทู้: จารึกภาษาไทยที่เก่ากว่าจารึกหลักที่ ๑
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ส.ค. 04, 11:40
 ทั้งๆที่เห็นกันชัดๆอยู่แล้วว่าหนังสือเล่มนี้เป็นวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์ เนื่องด้วยหลายสิ่งหลายอย่างที่ปรากฎในนั้นเช่น
- ฝรั่งอเมริกันที่คุณเทาพูดถึง ยังไม่เกิด
- ฝรั่งชาติอื่นๆที่ปรากฎ ยังมาไม่ถึงดินแดนแถบนี้
- ปืนใหญ่ยังไม่มีใช้ในยุคพระร่วง
- สุโขทัยลอยกระทงในแม่น้ำ ทั้งๆที่เมืองเก่าสุโขทัยไม่ติดแม่น้ำ
- ฯลฯ (อ.พิริยะทำท่าจะรวบเอาหนังสือเล่มนี้เข้าชุดกับไตรภูมิพระร่วงและจารึกหลักที่๑ว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพระจอมเกล้าฯด้วยซ้ำ)

ในปัจจุบันนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังจัดชั้นตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นวรรณกรรมยุคสุโขทัยอยู่เลยนะครับ

แปลกแต่จริง


กระทู้: จารึกภาษาไทยที่เก่ากว่าจารึกหลักที่ ๑
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ส.ค. 04, 15:29
 น่าประหลาดมาก   ไม่เคยรู้มาก่อนว่ากระทรวงศึกษาฯจัดเรื่องนี้ไว้ในวรรณคดีสุโขทัย   จัดไว้ที่ไหนยังไงคะ  คงไม่ใช่ในหนังสืออ่านของนักเรียนม.ปลายหรอกนะคะ  


กระทู้: จารึกภาษาไทยที่เก่ากว่าจารึกหลักที่ ๑
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 03 ส.ค. 04, 16:54
 ลองไปอ่านที่ "หอมรดกไทย" ของเครือข่ายกาญจนาภิเษกดูซิครับ  ที่ link
 http://www1.mod.go.th/heritage/nation/alphabet/index.htm

ซึ่งนอกจากเรื่องเกี่ยวกับอักษรไทยดัง link ข้างต้นแล้ว  ยังมีรายละเอียดประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยสุโขทัย ใน link
 http://www1.mod.go.th/heritage/nation/history/hist1.htm

และยังมีเนื้อหาอื่นๆอีกมาก

ที่อ่านแล้วรู้สึกมันในหัวใจ  เพิ่งเจอเหมือนกัน  รู้สึกว่าคงมีหลายคนที่อยากจะตะกายเข้าไปคัดค้าน หรือโต้วาทีให้ตกไป

สนใจว่าเขาเอาข้อมูลมาจากไหน  โดยเฉพาะส่วนที่ระบุว่าคนไทยเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมในประเทศจีน  แล้วถูกชาวจีนรุกรานชิงแผ่นดินไปได้


กระทู้: จารึกภาษาไทยที่เก่ากว่าจารึกหลักที่ ๑
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ส.ค. 04, 18:49
 http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK2/chapter7/t2-7-m.htm

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 2 ลิงก์เดียวเท่านั้น มีข้อความแปลกแยกหลายตอน

ความ: พ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่ง ราชอาณาจักรสุโขทัย ทรงป้องกันบ้านเมือง และแผ่ราชอาณาจักรกว้างขวางออกไป เป็น ที่เกรงขามของประเทศเพื่อนบ้าน ทรง เจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศใกล้ เคียง สนับสนุนการค้าขายให้ขยายออก ไปจนถึงประเทศห่างไกล เช่น ประเทศ จีน สินค้าสำคัญของไทยขณะนั้นคือ เครื่องเคลือบ ซึ่งมีชื่อเป็นที่รู้จัก กันว่า "สังคโลก" -

แจง: เรื่องนี้พ่วงกับเรื่องพระร่วงเสด็จไปเมืองจีน แล้วนำเอาสังคโลกกลับมาสอนการผลิตในสุโขทัย พระร่วงองค์นี้ clarified แล้วเป็น สมเด็จพระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์) กษัตริย์อยุธยา ไม่ใช่พ่อขุนรามดังที่เคยเข้าใจกัน (เมื่อนานมาแล้ว)

ความ: สมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่ง ราชอาณาจักรศรีอยุธยา พระเกียรติยศในพระ ราโชบายทางคบค้าสมาคมด้วยชาวต่าง ประเทศเป็นที่เลื่องลือ ทรงรักษา เอกราชของชาติให้พ้นจากการเบียดเบียน จากชาวต่างชาติ ซึ่งขณะนั้นกำลัง ขยายการค้า ลัทธิศาสนาและอำนาจทางการ เมืองอยู่ในดินแดนตะวันออก การเจริญ ทางพระราชไมตรีระหว่างสมเด็จพระนารายณ์ มหาราช และสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส เป็นที่กล่าวขวัญทั่วไป ในประวัติศาสตร์ ผลจากการติดต่อกับชาว ต่างประเทศนี้ ได้นำประโยชน์ทั้งทาง วิชาการและเศรษฐกิจ มาสู่บ้านเมืองของ เราเป็นอันมาก นอกจากนี้ สมเด็จ พระนารายณ์มหาราชยังได้ทรงอุปถัมภ์บำรุง กวี และงานด้านวรรณคดี อันเป็นศิลปะ ชั้นเลิศของชาติ ดังปรากฏนาม "ศรีปราชญ์" ยอดกวีในสมัยของพระองค์ท่าน

แจง: ศรีปราชญ์คือใคร ตอนนี้ก็ชัดเจนพอสมควรแล้ว น่าจะเอาออกจากสารานุกรม ทำให้เด็กเข้าใจผิดเปล่าๆ

ไม่นับเรื่องที่เราคุยกันอยู่ และยังไม่มีข้อสรุปนะครับ


กระทู้: จารึกภาษาไทยที่เก่ากว่าจารึกหลักที่ ๑
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ส.ค. 04, 18:59
 http://www.ku.ac.th/e-magazine/november45/know/pen.html

"ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ เป็นประเพณีที่ดำริจัดตั้งขึ้นใหม่ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์คือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ และศิลาจารึกหลักที่ 1 นับเป็นงานประเพณีลอยกระทงที่จัดได้ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย"

"จังหวัดสุโขทัย กรมศิลปากร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงร่วมกันจัดงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2520 เพื่อฟื้นฟูประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ในบรรยากาศของกรุงสุโขทัย เมื่อ 700 ปีให้กลับฟื้นคืนชีวิตมาอีกครั้งหนึ่ง"

มันก็น่าอยู่หรอกที่ค่ายมติชนโจมตีว่าเป็นการ"เอาประวัติศาสตร์ชาติมาหากิน"

ถ้าจะให้เป็นประเพณีใหม่ ผมว่ายอมรับได้ แต่พอปลูกฝังความเชื่อแบบนี้ให้ชาวบ้าน ก็เลยกลายเป็นเรื่องแตะไม่ได้ สุดท้าย ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ก็เลยกลายเป็นประวัติศาสตร์ชาติไป

...


กระทู้: จารึกภาษาไทยที่เก่ากว่าจารึกหลักที่ ๑
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ส.ค. 04, 19:09

ลองเดินเข้าห้องสมุดดูสิครับ เขาจัดกลุ่มตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ไว้อย่างไรหนอ?


กระทู้: จารึกภาษาไทยที่เก่ากว่าจารึกหลักที่ ๑
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 04, 09:35
 เรื่องตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์   เมื่อตอนดิฉันเรียนอยู่ จัดอยู่ในวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
แต่ตอนนี้  ไปเจอที่ดร.ประเสริฐเขียนไว้ว่าเรื่องนี้เก่าแก่มาตั้งแต่สุโขทัย แต่มาดัดแปลงต่อเติมในสมัยรัตนโกสินทร์ จนแทบจะไม่เหลือเค้าเดิม
ก็เป็นอันว่า นักประวัติศาสตร์ ได้มองเห็นใหม่ว่าเรื่องนี้ไม่ได้แต่งใหม่ แต่เอาของเก่ามาดัดแปลง คงเพราะเหตุนี้เลยจัดไว้ในวรรณคดียุคสุโขทัย  


กระทู้: จารึกภาษาไทยที่เก่ากว่าจารึกหลักที่ ๑
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 04 ส.ค. 04, 11:11
 เท่าที่ทราบถูกจัดชั้นเป็นวรรณคดียุคสุโขทัยมาตั้งแต่ต้น

จนเมื่อมีผู้นำเอาเนื้อหาแปลกแยกออกมาแสดง นักวิชาการ"บางส่วน"แก้ว่าเป็นเพราะนำเอาเนื้อเรื่องเก่ามาแต่งเติม และตรึงวรรณดคีเรื่องนี้ไว้ที่ยุคสุโขทัยต่อไป ส่วนหนึ่งที่ตรึงไว้ (โดยส่วนตัว)ผมเชื่อว่าเป็นเพราะฝั่งอ.พิริยะตั้งข้อสังเกตถึงความสัมพันธ์หลายประการของตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์และจารึกหลักที่ ๑

น่าจะศึกษาแยกกันโดยอิสระ ผมคิดว่าเป็นไปได้เช่นที่อ.ประเสริฐเสนอ แต่ก็ไม่เคยมีหลักฐานยืนยันถึงตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ฉบับที่เก่ากว่านี้ ฉบับที่ยังไม่มีความแปลกแทรกเข้ามา กรณีนี้ลองเทียบกับจินดามณีได้ครับ หนึ่งร้อยกว่าฉบับมีเพียงสี่ฉบับที่มีเรื่องพระ่ร่วงประดิษฐ์อักษรไทย และระบุอายุของจารไว้ที่แผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเท่านั้น


กระทู้: จารึกภาษาไทยที่เก่ากว่าจารึกหลักที่ ๑
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 04, 12:35
 คุณ CH  คะ    ดิฉันเคยอ่านหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ฉบับพิมพ์  มีคำนำของกรมศิลปากร( หรือของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็จำไม่ได้แล้ว )เพราะตอนนี้ไม่มีหนังสืออยู่ในมือ

ในคำนำ ระบุไว้ว่าเป็นหนังสือที่แต่งขึ้นไม่เกิน 200 ปีมานี้เอง เพราะมีการกล่าวถึงประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย
ก็แสดงว่ามีการรับรู้อย่างเป็นทางการ ว่าไม่ใช่สมัยสุโขทัย   เพราะหนังสือเล่มนั้นไม่ได้พิมพ์โดยสำนักพิมพ์เอกชน   ไม่ได้แถลงโดยบรรณาธิการ

เมื่อเรียนในมหาวิทยาลัย    ก็เรียนว่าเป็นวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ ไม่เห็นมีใครยกเอาไปไว้ในสมัยสุโขทัย  
มีแต่นอกห้องเรียนนี่แหละ เวลามีงานลอยกระทง  เขาจัดประกวดนางนพมาศกัน
แต่เราก็คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องแต่ง  ไม่ใช่เรื่องจริง  ถ้าเป็นอย่างดร.ประเสริฐว่า ก็คือคงจะมีการเล่าสืบทอดกันมาว่าเป็นเรื่องสมัยสุโขทัย    บางคนก็บอกว่าการเผาเทียนเล่นไฟนั่นแหละน่าจะสัมพันธ์กับการลอยกระทง  ส่วนการลอยนั้นไม่จำเป็นว่าต้องลอยในแม่น้ำใหญ่   ลอยในสระตระพังโพย หรือว่าเป็นลำคลองลำน้ำอะไรแคบๆซึ่งมีอยู่ในเมืองเมื่อ 700 กว่าปีมาแล้วก็เป็นไปได้


กระทู้: จารึกภาษาไทยที่เก่ากว่าจารึกหลักที่ ๑
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 04 ส.ค. 04, 13:42
 ในระดับมหาวิทยาลัย ผมว่าขึ้นกับคณาจารย์มาก อย่างน้อยวิทยานิพนธ์ของศิลปศาสตร์ มธ. 2528 ที่คุณเทาชมพูยกมาก็จัดตำรับฯเป็นวรรณคดีสุโขทัย

และคคห.8 ที่ผมยกขึ้นมาแสดงว่าอย่างน้อย 2520 กรมศิลปากรยังยึดถือเนื้อความจากตำรับฯอยู่ (ไม่เคยมีหลักฐานการลอยกระทงปรากฎที่อื่นอีก)

และคคห.9 ที่ผมยกขึ้นมา ขออภัยครับที่ลืมแจ้งว่ามาจากระบบสืบค้นข้อมูลของห้องสมุด ม.ช. ระบุว่าตำรับฯ เป็นวรรณคดีสมัยสุโขทัย แต่งโดย ท้าวศรีจุฬาลักษณ์นะครับ

ในแง่มุมของความเชื่อเรื่องประเพณีลอยกระทง สระที่คุณเทาชมพูพูดถึงเป็นสระขุด และคลองนั้นก็เป็นระบบชลประทานส่งน้ำมาจากภูเขานอกเมืองมาลงสระ
ถ้ามีการลอยในนั้นจริง ก็ต้องมีคนถือสวิงไล่ตักไล่เก็บกันตอนเช้านะครับ ไม่อย่างนั้นคนสุโขทัยคงลำบากแน่เลยครับ เพราะถึงแม้คนไม่มากอย่างปัจจุบัน แต่แหล่งน้ำปิดที่ไม่มีทางระบายและมีขนาดเล็กแค่นั้น กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติคงเน่ากันอยู่ในตระพังนั่นแหละครับ

ยิ่งมาคิดเทียบกับคติความเชื่อเรื่องการลอยกระทง ผมว่ามันดูสวนทางกันมากไปนะครับ


กระทู้: จารึกภาษาไทยที่เก่ากว่าจารึกหลักที่ ๑
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 06 ส.ค. 04, 09:58
 แต่อย่างไรต้องยอมรับว่าประเพณีลอยกระทง - ยี่เป็ง - เผาเทียนเล่นไฟ  เป็นประเพณีที่งดงาม และเหมาะกับฤดูกาลมาก

ตั้งแต่เด็กมีความสับสนในเป้าหมายของการลอยกระทงมาก  สามารถแบ่งได้คร่าวๆ ดังนี้

1. เพื่อหลอกยักษ์อะไรก็จำไม่ค่อยได้แล้ว ว่าพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ มีการจุดเทียนบูชาระยิบรัยับทั่วไปเหมือนครั้งพุทธกาล  เพราะยักษ์นั้นกลัวแต่พระพุทธองค์  มิฉะนั้นยักษ์จะมาจับคนทั้งหลายกินเป็นอาหาร

2. เพื่อบูชาและขอขมาพระแม่คงคา

3. เพื่อสะเดาะเคราะห์ จึงมีการใส่เงินลงในกระทง  ซึ่งบ้างก็ว่าๆเพื่อให้ทาน เพราะในบางพื้นที่จะมีเด็กๆลงน้ำมาเก็บเงินตามกระทง  ส่วนในกรณีสะเดาะเคราะห์ก็อาจตัดผมตัดเล็บใส่กระทงไปด้วย

4. เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า  ด้วยเป็นวันขึ้น 15 ค่ำซึ่งเป็นวันพระอยู่แล้ว  และยังมีคำอธิบายอ้างอิงกับคัมภีร์ในพระศาสนาว่ามีพระพุทธบาทสำคัญในสถานที่ต่างๆ (รวมทั้งที่สระบุรี) โดยเฉพาะมีที่หนึ่งอยู่ริมน้ำ จึงเกิดเป็นประเพณีจัดกระทงลอยน้ำอย่างสวยงามเพื่อบูชาพระพุทธบาทเป็นประจำทุกปี

มาบัดนี้ได้ข้อสรุปที่ตนเองลงใจว่า พระพุทธศาสนาเป็นจิตวิญญาณแห่งสยามประเทศ  ฉะนั้นถ้ามีโอกาสลอยกระทงก็จะอธิษฐานบูชาพระพุทธองค์เป็นสำคัญ


กระทู้: จารึกภาษาไทยที่เก่ากว่าจารึกหลักที่ ๑
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ส.ค. 04, 11:02
 การเก็บกระทงหลังวันลอยกระทงสมัยสุโขทัย คงไม่ลำบากเหมือนเจ้าหน้าที่กทม. หรอกค่ะ   คนน้อย วัสดุน้อยกว่ากันหลายร้อยเท่า

อีกอย่างสมัยสุโขทัยก็มีแต่วัสดุจากธรรมชาติ  ย่อยสลายได้ ไม่เป็นปัญหาอย่างโฟม
กระทงที่ใหญ่ๆ  ทำให้ดิฉันนึกไปถึงเรื่องสี่แผ่นดิน     พูดถึงการลอยกระทงในสระใหญ่ที่พลอยและช้อยพายเรือดูกันทั่วถึง  กระทงทำเป็นรูปต่างๆ อย่างเรือนขุนช้างก็มี  สุดสาครเข้าเมืองผีดิบก็มี    มีเครื่องกลซ่อนอยู่ภายใน   พวกนี้พอใช้งานเสร็จวันรุ่งขึ้นชาววังก็เก็บขึ้นมา   ไม่หลงเหลือไว้เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม

ที่ยกตัวอย่างขึ้นมา เพราะนึกว่า การลอยกระทงโชว์ประกวดประขันฝีมือกัน อย่างที่นางนพมาศกล่าวไว้   ทำกันได้ในสระน้ำใหญ่ ไม่จำเป็นต้องเป็นแม่น้ำหรือคลอง   ของจำนวนไม่มาก ทำเพื่ออวดฝีมือชาววัง   ยังทำกันมาจนถึงรัชกาลที่ 5


กระทู้: จารึกภาษาไทยที่เก่ากว่าจารึกหลักที่ ๑
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 07 ส.ค. 04, 00:09
 เห็นด้วยกับคุณถาวภักดิ์เรื่องที่ว่าเป็นประเพณีที่งดงาม และเหมาะกับฤดูกาลมาก

ผมเองตั้งแต่ตอนเด็กๆ บ้านอยู่ในเมือง ที่ประจำที่ไปทุกปีคือที่สระน้ำจุฬาครับ ไปตั้งแต่เริ่มจำความได้ รู้สึกสนุกทุกครั้งทุกปี เรียนหนังสือก็วนเวียนอยู่แถวนั้นถึง 10 ปีเต็ม เด็กๆก็เห็นแค่บรรยากาศตอนกลางคืน แต่พอโตเข้าอยู่ดึกจนเห็นบรรยากาศตอนที่คนค่อยๆหายไป แล้วก็เห็นสภาพตอนเช้าที่เหลือเศษขยะเกลื่อน และก็กระทงลอยเต็มสระน้ำแบบเหงาๆผิดกับบรรยากาศตอนกลางคืนลิบลับ ที่สำคัญคือ ฝนตกบ่อยมากในคืนวันสงกรานต์ เรียกได้ว่าเกือบทุกปีเลยแหละครับ

จะว่าไปถ้าคนลอยกระทงกันจำกัดแค่ชาววังประกวดประขันกันก็น่าจะไม่มีปัญหาครับ คงจัดการกับกระทงได้ไม่ยาก แต่ถ้าเป็นประเพณีของคนทั่วไปอย่างทุกวันนี้ก็ลำบากเชียวครับ ผมจำได้ว่าไม่กี่ปีมานี้ ผู้ว่ากทม.ที่มีชื่อเสียงเรื่องพูดไม่ค่อยเข้าหูคนท่านออกมาบอกให้ชาวกรุงหันกลับไปใช้โฟม ปรากฏว่าเละครับ คนสวดกันทั้งเมือง แต่ถ้ามองในแง่ว่ากระทงโฟมลอยน้ำได้ ตักเก็บง่าย ถึงตักเก็บล่าช้าก็ไม่ทำให้แม่น้ำลำคลองเน่าเหม็น เสียแต่ว่าตักเก็บไปแล้วก็ไม่รู้จะทำลายอย่างปลอดภัยได้อย่างไร ซึ่งต่างกับกระทงธรรมชาติ ซึ่งจมเร็ว และถึงแม้ว่าจะลอยกันในแหล่งน้ำเปิด มีน้ำไหล แต่กระทงหยวกกล้วยปริมาณมหาศาลหากเก็บทำลายไม่สะดวก ระบบจัดการตามธรรมชาติก็เอาไม่อยู่เหมือนกัน ก็ต้องปล่อยให้น้ำเน่าสักพักจนจุลินทรีย์ย่อยสลายกระทงจนหมดนั่นแหละครับ

เรื่องวัตถุประสงค์ของการลอยกระทง ขอเพิ่มอีกสักข้อนะครับ เคยได้ยินว่าทางเหนือลอยกระทงเพื่อระลึกถึงญาติพี่น้องนะครับ ถูกผิดยังไงถ้าบ้านายคำเก่งแวะมาแถวนี้ช่วยมาเล่าให้ฟังบ้างเต๊อะครับ