เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: mckeyz ที่ 03 ธ.ค. 10, 12:36



กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: mckeyz ที่ 03 ธ.ค. 10, 12:36
อยากทราบว่าคำว่า บุญมา และคำว่า วิวัศ
มาจากคำว่าอะไร
และเป็นคำมาจากภาษาอะไร


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 03 ธ.ค. 10, 13:59
บุญ, บุญ- [บุน, บุนยะ-] น. การกระทําดีตามหลักคําสอนในศาสนา; ความดี, คุณงามความดี. ว. ดี เช่น คนใจบุญ, มีคุณงามความดี เช่น คนมีบุญ. (ป. ปุญฺญ; ส. ปุณฺย).

มา ๒ ก. เคลื่อนออกจากที่เข้าหาตัวผู้พูด เช่น มานี่ มาหาฉันหน่อย, ตรงกันข้ามกับ ไป. ว. ใช้ประกอบคํากริยาแสดงอดีต เช่น นานมาแล้ว ดังกล่าวมาแล้ว ไปมาแล้ว หรือ แสดงทิศทางเข้าหาตัวผู้พูด เช่น หันมาทางนี้ เอามานี่ หรือแสดงอาการที่ต่อเนื่องเรื่อยมาถึงปัจจุบัน เช่น ความเป็นมา อยู่มาวันหนึ่ง ส่งจดหมายบอกข่าวมา.

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ (http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp)


บุญมา จึงน่าจะพอแปลได้ว่า (ขอ)บุญจงมา(ยังเจ้าตัว คือ เจ้าของชื่อ) - บุญ มาจาก บาลี, มา เป็นคำไทย

ส่วนคำว่า วิวัศ ไม่ทราบครับ


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ธ.ค. 10, 14:57
วิวัศ ในพจนานุกรมไม่มี

ถ้าถือตามพจนานุกรม มีให้เลือกอยู่ ๒ วิ

วิวัฏ และ วิวัฒน์

 ;D


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 03 ธ.ค. 10, 15:19
คำว่า บุญมา  นั้น  แปลเป็นคำไทยอย่างที่คุณภาณุเมศร์อธิบายก็ได้
หรือจะแปลเป็นความหมายคำภาษาบาลีแท้ๆ ก็แปลได้

คือ  บุญมา  มาจาก  ปุญฺญมา  มาจาก  ปุญฺญมนฺตุ  (สันสกกฤต ว่า ปุณฺยมตฺ)
ปกติคำคำนี้ เป็นคำคุณศัพท์ แปลว่า  คนมีบุญ  หรือผู้มีบุญ 
บางทีก็ใช้ว่า ปุญฺญวนฺตุ  (สันสกฤต  ปุณฺยวตฺ) ก็มีความหมายเหมือนกัน

คำว่า ปุญฺญมนฺตุ เมื่อนำไปแจกวิภัตินามแล้ว  รูปหนึ่ง  คือ ปุญฺญมา 
ใช้เป็นประธานประโยค (ปฐมาวิภัติ) ที่เป็นเอกพจน์ ปุลลิงค์ (เพศชาย) หรือคำร้องเรียก (อาลปนะ)
(เป็นหลักการทางไวยากรณ์ภาษาบาลี)

ส่วนคำว่า  วิวัศ
แยกวิเคราะห์ศัพท์ ดังนี้  วิ+วัศ   
วัศ  มาจาก  วศ  ในภาษาสันสกฤต  แปลว่า  อำนาจ   บาลีใช้ว่า  วส

ส่วน  วิ  เป็นคำอุปสรรค  ที่ใช้เติมหน้าศัพท์ แล้วมีความหมายต่างๆ กันไป
ในภาษาบาลี  ถ้าเอา วิ+วส  เป็น  วิวส  แปลว่า หมดอำนาจ  (เป็นคำคุณศัพท์)
เพราะ วิ ที่เติมหน้าศัพท์ ไปหักหรือเปลี่ยนความหมายของศัพท์ที่ตามมา
รูป วิวัศ  เป็นคำสันสกฤต  น่าจะแปลอย่างเดียวกัน 

เว้นแต่ว่า  คนที่คิดชื่อนี้ขึ้นใช้  คงประกอบศัพท์เอง   โดยมุ่งเอา วิ ไปสนับสนุนความหมายของคำว่า  วศ
ให้แปลออกได้ว่า  มีอำนาจอย่างยิ่ง  (คำนี้ความหมายกลางๆ  ไม่บวก ไม่ลบ) 
แต่ในเมื่อในภาษาบาลีสันสกฤตมีคำนี้อยู่  และมีความหมายชัดแจ้งแล้ว  ก็ไม่ควรไปแปลเอง


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 03 ธ.ค. 10, 15:23
คุณหลวง ชี้แจงได้แจ่มชัดมากครับ

 ;D ;D ;D


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 03 ธ.ค. 10, 15:31
ขออนุญาต จขกท. ออกนอกหัวข้อหน่อยนะครับ

เรียนถามคุณหลวงครับ ว่า
ภาณุมา หรือ ภานุมา มีที่มาจากอะไร
(ถ้าได้ละเอียดแบบ บุญมา จักเป็นพระคุณอย่างยิ่งเลยครับ)

แล้วตามหลักไวยากรณ์แล้ว สามารถนำ ภาณุมา ไปสมาสกับคำอื่นได้เลยหรือไม่
หรือต้องนำไปแจกวิภัติ ใส่ปัจจัยอะไรก่อน (ผมก็ไม่รู้เรื่องทางไวยากรณ์บาลีนะครับ ถ้าเรียกผิดขออภัย)
 ??? ??? ???


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 03 ธ.ค. 10, 15:57
ถ้าว่าตามหลักภาษาบาลี

ภาณุ  ไม่มี   มีแต่ ภานุ  แปลว่า  แสงสว่าง  พระอาทิตย์ ปุลลิงค์)

ผมไม่แน่ใจว่า ภานุ สร้างจากศัพท์ ภา (อิตถีลิงค์) ที่แปลว่า แสงสว่าง  รัศมี  อย่างไร
ขออนุญาตไปค้นดูก่อน   แต่สันนิษฐานว่าคงสร้างมาจากศัพท์ ภา

ทีนี้ผมไม่แน่ใจว่า  สันสกฤต  ใช้ว่า ภานุ หรือ ภาณุ  หรือใช้ทั้งสองอย่าง
ในภาษาสันสกฤต มีหลักการเปลี่ยน น เป็น ณ  (ขอยกไปอธิบายคราวหน้า)
แต่ทั้งนี้คำว่า ภานุ  ไม่มีเหตุให้เปลี่ยน น เป็น ณ  ตามหลักสันสกฤต  เว้นแต่เป็นคำที่สันสกฤตมีใช้มาแต่เดิม
หรือใช้ได้ทั้ง ๒ คำ

การประกอบศัพท์ ภานุ เป็น ภานุมา  นั้น ก็ใช้หลักการเดียวกับ ปุญฺญมา  ที่ผมได้อธิบายไปแล้ว
แต่เมื่อจะเอาศัพท์ ภานุมนฺตุ  ภานุมตฺ ไปสนธิกับคำอื่น  คงต้องเปลี่ยนเป็น ภานุมา ก่อนแล้วจึงสนธิได้
อันนี้ไม่แน่ใจ  ขอไปทวนตำราดูก่อน  นานๆ ใช้ที  บางทีก็ลืมเหมือนกัน ;D


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 03 ธ.ค. 10, 16:07
ขอบพระคุณคุณหลวงมากครับ

เท่าที่ทราบ (ซึ่งน้อยมาก -ฮา) เห็นสันสกฤต มีแต่ ภานุ ไม่มี ภาณุ

ส่วนบาลี เห็นว่าในประเทศอื่นใช้แต่ ภานุ มีแต่ที่ไทยที่เดียว (หรือที่รับจากไทย) ที่มีใช้ ภาณุ
ในพระบาลีของประเทศอื่น ดูเหมือนจะไม่มีใช้ ณ เลย 
แต่เคยเห็นว่า ในพระบาลีของไทย ใช้ ณ (รู้สึกจะใช้ น ด้วย)

อันนี้ งู ๆ ปลา ๆ นะครับ แหะ ๆ


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 08 ธ.ค. 10, 10:15
ขออนุญาตมาลุแก่โทษ

ในภาษาบาลีสันสกฤต  มีแต่ ปุญฺญวนฺตุ  และ  ปุณฺยวตฺ เป็น ปูญฺญมนฺตุ และ  ปุณฺยมตฺ  ไม่ได้
เพราะมีหลักเกณฑ์กำหนดว่า   ศัพท์ที่ลงท้ายด้วย อะ อา หรือ พยัญชนะการันต์ 
ให้ลงปัจจัยตัทธิต วนฺตุ (บาลี) และ  วตฺ (สันสกฤต) เช่น  ธนวนฺตุ  ภควนฺตุ  สุภาวตฺ เป็นต้น
หากเป็นศัพท์ที่ลงท้ายด้วยสระอื่นๆ นอกจากข้างต้น  ให้ลงปัจจัยตัทธิต มนฺตุ (บาลี) และ  มตฺ (สันสกฤต)
เช่น  ภานุมนฺตุ  รํสิมนฺตุ  พุทฺธิมตฺ  เป็นต้น

ขออภัยที่แปล บุญมา เป็น ปุญฺญมนฺตุ (ปุญฺญมา) ซึ่งเป็นไปไม่ได้ตามหลักไวยากรณ์บาลีสันสกฤต
แล้วแต่จะปรุงศัพท์เองแปลเองโดยไม่ยึดเอาตามหลักไวยากรณ์

บุญมา  ถ้าจะแปลให้ฟังสละสลวย  ก็น่าจะแปลว่า  ผู้มีบุญมาเกิด




กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 08 ธ.ค. 10, 10:24
ส่วนที่คุณ ภาณุเมศร์  ถามมานั้น
ได้ตรวจดูแล้ว  ทั้งบาลีและสันสกฤต มีแต่ ภานุ ที่ใช้ น
คำว่า ภาณุ ที่ใช้ ณ ไม่มี  

ภาณุ  คงมีใช้แต่ในภาษาไทย  อาจจะเป็นเพราะเอาไปเทียบกับคำอื่น
ลักษณะเช่นเดียวกันนี้ มีบางคำที่โบราณก็ใช้ ณ แทน น  เช่น  หนุ เป็น หณุ เป็นต้น แต่มีความหมายเหมือนกันในภาษาไทย

ถามว่า  ภาณุ  จะแปลว่าอะไร  
ในภาษาบาลีสันสกฤต มีธาตุ(รากศัพท์กริยา) ภาณฺ ในความหมายว่า สวด (สวดมนต์)
เอามาสร้างเป็นศัพท์ เป็น ภาณ (การสวด  บทสวด เช่น สวดภาณยักษ์)
ภาณก  (ผู้สวด)  ก็ถ้านัยนี้ ภาณุ  อาจจะแปลว่าผู้สวดได้กระมัง  แต่ศัพท์นี้ไม่มีในบาลีสันสกฤต


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 09 ธ.ค. 10, 00:42
ขอบพระคุณคุณหลวงมากครับ

เท่าที่ทราบ (ซึ่งน้อยมาก -ฮา) เห็นสันสกฤต มีแต่ ภานุ ไม่มี ภาณุ

ส่วนบาลี เห็นว่าในประเทศอื่นใช้แต่ ภานุ มีแต่ที่ไทยที่เดียว (หรือที่รับจากไทย) ที่มีใช้ ภาณุ
ในพระบาลีของประเทศอื่น ดูเหมือนจะไม่มีใช้ ณ เลย  
แต่เคยเห็นว่า ในพระบาลีของไทย ใช้ ณ (รู้สึกจะใช้ น ด้วย)

อันนี้ งู ๆ ปลา ๆ นะครับ แหะ ๆ

แสดงว่าผมทราบมาถูกต้อง เรื่องที่ บาลี และ สันสกฤต ไม่ใช้ "ภาณุ" แต่ใช้ว่า "ภานุ"

แต่ขนาดในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ (http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp) ยังมีแค่

ภาณุ           น. แสงสว่าง; พระอาทิตย์. (ป.; ส. ภานุ).
ภาณุมาศ      น. พระอาทิตย์. (ป. ภาณุมา; ส. ภานุมนฺตฺ).

โดยไม่มีรูป "ภานุ" เลย (แถมบอกที่มาจากบาลีว่าเป็น "" ด้วย)
 
แต่พจนานุกรมของ อ.เปลื้อง ณ นคร (http://guru.sanook.com/dictionary/%E0%B8%9E%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1_%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2_%E0%B8%AD.%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87_%E0%B8%93_%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3/) ยังมีรูป "ภานุ" อยู่ (นอกเหนือจากที่มีตรงกับราชบัณฑิต) ได้แก่

ภานุ            (มค. ภานุ) น. แสงสว่าง; พระอาทิตย์.
ภานุมาต        (สก. ภานุมนฺตฺ) น. "ผู้มีแสงสว่าง" คือ พระอาทิตย์, คำนี้นิยมเขียน ภาณุมาศ.



จากการค้นหาคำว่า "ภาณุมา" ด้วยอากู๋ ดังนี้

ในรูปอักษรโรมัน "bhāṇumā" ได้ ๘๐ รายการ
ในรูปอักษรเทวนาครี "भाणुमा" ได้ ๒ รายการ

โดยทั้งหมดนั้น อยู่ในพระไตรปิฎก (ออนไลน์) ทั้งสิ้น

อาจเป็นได้ว่า รับจากพระไตรปิฎกไทยไป  เพราะเคยเห็นในพระไตรปิฎกพม่า ตรงที่ไทยใช้ "ภาณุมา" เขาใช้ "ภานุมา"


ส่วน "ภาณุ" คือ

"bhāṇu" และ "भाणु" ก็มีเหมือนกัน แต่มีทั้งในพระไตรปิฎก และในเว็บทั่วไป จึงไม่ทราบจำนวนแน่นอน (รวมถึงอาจเป็นคนละภาษา คนละคำ หรือคนละความหมาย)



ไม่ทราบเหมือนกันว่า ภานุ มาเพี้ยนเป็น ภาณุ ที่ไทย หรือที่ไหน และช่วงเวลาใด


จาก The Pali Text Society's Pali-English dictionary (http://dsal.uchicago.edu/dictionaries/pali/)

Bhānu (adj.) [cp. Vedic bhānu (m.) shine, light, ray; Epic Sk. also "sun"] light, bright red J iii.62 (of the kaṇavera flower); VvA 175 (˚raŋsi).

Bhānumant (adj.) [fr. bhānu, ray of light Vedic bhānu- mant, Ep. of Agni; also Epic Sk. the sun] luminous, brilliant; mostly of the sun; nom. bhānumā S i.196= Th 1, 1252; Vv 6417, 787 (=ādicca VvA 304); J i.183. acc. bhānumaŋ Sn 1016. -- The spelling is sometimes bhāṇumā.

เห็นได้จากหมายสีแดงว่า มีการสะกดเป็น ภาณุมา ด้วย
(nom. bhānumā (ภานุมา ใช้ "น" nom. ย่อจาก nominative ประธานประโยค-ปฐมา) ... The spelling is sometimes bhāṇumā. (ภาณุมา ใช้ "ณ"))



สุดท้ายในภาษาสันสกฤต จาก Monier Williams Sanskrit-English Dictionary (2008 revision) (http://www.sanskrit-lexicon.uni-koeln.de/monier/)

วฤษภานุ

vṛṣabhānu
m. (also written -bhāṇu or -bhāna) N. of a Vaiśya (the son of Sūra-bhāna and father of Rādhā) (cf. vārṣabhānavii) Cat.

คงไม่ใช่ความหมายเดียวกับที่เราต้องการ ที่ยกมาเพียงแต่เห็นว่ามีการเปลี่ยน "" กะ "" ตามหมายสีแดง ซึ่งผมเองก็ไม่มีความรู้ด้านไวยากรณ์สันสกฤตเลย
    


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 ธ.ค. 10, 10:55
คุณภาณุเมศร์ค้นมาแสดงละเอียดดีมากครับ

คุณลองดูจากคำว่า ภานุ และ ภาณุ จากวิสามานยนามนะครับ
แล้วคุณก็จะทราบว่า  คนไทยชอบใช้  ภานุ  หรือ  ภาณุ  มากกว่า
เรื่องความหมายคงไม่มีปัญหา เพราะคำบาลีสันสกฤตในภาษาไทย เป็นแบบประยุกต์
ไม่ใช้รับเอามาใช้ตรงๆ 

ผมสังเกตว่า  คนไทยมักเปลี่ยนพยัญชนะวรรค ต ไปใช้พยัญชนะวรรค ฏ ที่ออกเสียงเหมือนกัน (ในภาษาไทย)
ถ้าเป็นชื่อคน  อาจจะมีเหตุผลเพื่อเลี่ยงอักษรกาลกรรณี  หรือเพื่อเพิ่มสิริแก่ชื่อ

และ ภานุมา (ภานุมานฺ หรือ ภานุมตฺ) ในภาษาสันสกฤต  มีความหมายมากกว่าที่คุณยกมามาก





กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 ธ.ค. 10, 11:13
ในหลักไวยากรณ์สันสกฤต (อาจจะรวมถึงบาลีด้วย  เพราะบางทีก็อนุโลมใช้กฎตามไวยากรณ์สันสกฤตก็มี)

มีหลักเกณฑ์การเปลี่ยน  น  เป็น  ณ  ดังนี้

๑. น  ที่ประสมกับสระใดๆ  เปลี่ยนเป็น  ณ  เมื่อ  น  อยู่หลัง  ฤ  ฤา  ร  หรือ ษ  ในคำเดียวกัน
โดยไม่มีพยัญชนะใดๆ  คั่นระหว่าง  น  กับ  ฤ  ฤา  ร  หรือ ษ

๒. น  ที่ประสมกับสระใดๆ  เปลี่ยนเป็น  ณ  เมื่อ  น  อยู่หลัง  ฤ  ฤา  ร  หรือ ษ  ในคำเดียวกัน
โดยมีพยัญชนะวรรค ก  วรรค ป  ย  ร  ล  ว  หรือ  ห  คั่นระหว่าง  น  กับ  ฤ  ฤา  ร  หรือ ษ

ตัวอย่าง 

ปริ + นายก  เป็น  ปริณายก

ปฺร + นิทาน   เป็น   ปฺรณิธาน

อย่าง  วฤษภานุ   ตามหลักนี้ ก็ต้องเป็น  วฤษภาณุ

กรินฺ  แปลว่า ช้างพลาย  ให้สังเกตว่า  นฺ เป็นตัวสะกด  ไม่มีสระ  จึงคงเป็น น
แต่ถ้าเป็น  กริณี  แปล  ช้างพัง  มีสระอีที่ น  ต้องเปลี่ยน  น เป็น ณ

มีตัวอย่างคำอื่นๆ อีก  แต่ตอนนี้นึกไม่ออก



กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 ธ.ค. 10, 11:20
ชื่อคุณภาณุเมศร์  แปลว่า  พระอาทิตย์
ทำให้ผมนึกถึง  พระอาทิตย์ ในสกุลบุนนาคอีกหลายท่าน
ที่ได้รับพระราชทานราชทินนามเป็นพระอาทิตย์กันหลายคน
และรวมไปถึงเจ้านายที่มีพระชนนีเป็นสตรีในสกุลบุนนาค
ก็มีคำว่าดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่ด้วย  มีใครบ้าง
เชิญคุณภาณุเมศร์  ค้นมาแสดงดีกว่าครับ ;D


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 09 ธ.ค. 10, 11:47
ขอบพระคุณคุณหลวงมากครับ

เท่าที่ทราบ เมืองไทย นิยมใช้ ภาณุ มากกว่า ภานุ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต ไม่ยอมเก็บคำว่า ภานุ ไว้ด้วยซ้ำ)

ทั้งราชทินนาม (เช่น ภาณุวงษ์) พระนาม (เช่น ภาณุรังษี) พระนามกรม (เช่น ภาณุพันธุ)   และนามสกุลพระราชทานใน ร. ๖ ก็ใช้ ณ ทั้งสิ้น ไม่ใช้ น

และจากกูเกิ้ล มี ภาณุ  มากกว่า ภานุ อยู่เกือบ ๒ เท่า (ภาณุ ประมาณ ๑,๒๔๐,๐๐๐  ภานุ ประมาณ ๖๗๗,๐๐๐)


ส่วนความหมาย ในภาษาสันสกฤต ผมลองค้นเพิ่มเติมได้อีกเล็กน้อยครับ (ยกมานิดเดีนว เพราะมีมาก)

ภานุ           1. m. (เพศชาย) appearance , brightness , light or a ray of light , lustre , splendour RV. &c  
             2. the sun MBh. Ka1v. &c  
             3. a king , prince , master , lord L.  
             4. N. of the chapters of the dictionary of an anonymous author Cat.  
                      ฯลฯ             ฯลฯ             ฯลฯ

ภานุมตฺ       mfn. luminous , splendid , beautiful RV. &c   containing the word भानु S3a1n3khS3r.  
                      ฯลฯ             ฯลฯ             ฯลฯ

ชื่อคุณภาณุเมศร์  แปลว่า  พระอาทิตย์
ทำให้ผมนึกถึง  พระอาทิตย์ ในสกุลบุนนาคอีกหลายท่าน
ที่ได้รับพระราชทานราชทินนามเป็นพระอาทิตย์กันหลายคน
และรวมไปถึงเจ้านายที่มีพระชนนีเป็นสตรีในสกุลบุนนาค
ก็มีคำว่าดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่ด้วย  มีใครบ้าง
เชิญคุณภาณุเมศร์  ค้นมาแสดงดีกว่าครับ ;D

เท่าที่ทราบนะครับ

พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ (กรมหลวงชุมพร)
พระองเจ้าสุริยงประยุรพันธุ์

พระยาสุรวงศ์มนตรี พระยาสุรวงศ์โกษา (โบราณว่า สุริวงษ์) ใน ร. ๒ ภายหลังคือสมเด็จองค์ใหญ่
พระยาศรีสุริยวงศ์  ใน ร. ๒ ภายหลังคือ สมเด็จองค์น้อย

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ช่วง
เจ้าพระยารวิวงศ์ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ขำ
พระยามนตรีสุริยวงศ์   ชุ่ม   ชื่น   วิเชียร   ฉี่
เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี ท้วม
เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ พร (ชุมพร)
เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ เทศ    พระยาสุรพันธ์พิสุทธ์ เทียน
พระยาสุรพันธ์เสนี อิ้น
พระสุรพันธาทิตย์ ฮัก
พระยาประภากรวงศ์    ชาย    ว่อง
พระยาสุริยานุวัตร เกิด
เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ วร
เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ โต
พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ เตี้ยม
พระยาสุริยานุวงศ์ประวัติ    เต็น    เต๋า
หลวงสุริยพงศ์พิสุทธิแพทย์  กระจ่าง
พระยานิพัทธสุริยานุวงศ์ เหม

ฯลฯ    ฯลฯ    ฯลฯ

ส่วนเมื่อไม่มีการพระราชทานราชทินนามแล้ว ก็ยังมีบางสายตั้งชื่อเกี่ยวกะพระอาทิตย์อยู่ เช่น

พระอดิศักดิ์อภิรัตน์ (เต็ม สุริยวงศ์ บุนนาค)
ตะวัน สุรวงศ์ (ศาสตราจารย์กิตติคุณ แพทย์หญิง คุณตวัน สุรวงศ์ บุนนาค)
กลินท์ สุรวงศ์
ภากร สุรวงศ์
ภานุภัสสร์
ภาณุเมศวร์

ฯลฯ   ฯลฯ   ฯลฯ


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 ธ.ค. 10, 12:03
ขอชมเชยสั้นๆ 

"เยี่ยม" ;D


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 09 ธ.ค. 10, 13:58
ขอบพระคุณครับ  บังเอิญเคยอ่านผ่านตา คุ้น ๆ อยู่ เลยค้นหาได้ง่าย

ที่พอนึกออกเพิ่มเติม

พระองค์เจ้าอดิสัยสุริยาภา

ชื่อบุคคล
รวิวงศ์
ตัปนวงศ์

(สุร จาก สุรพันธ์ สุรวงศ์ และคำอื่น ๆ ที่มีหลายความหมาย ในที่นี้คงแปลว่า พระอาทิตย์ (สุรวงศ์ โบราณว่า สุริวงษ์)
ส่วน ตปน (ตัปนวงศ์) และคำอื่น ๆ  แม้อาจจะไม่ได้แปลว่า พระอาทิตย์ โดยตรง แต่คงต้องการสื่อไปในทำนองนั้น)



สืบค้นไปสืบค้นมา พึ่งทราบว่า ภาณุเมศวร์ เป็นคำต้องห้ามไม่ให้ใช้ในนามสกุล

หลักเกณฑ์การตั้งชื่อสกุล (http://203.113.86.149/jobmis/lname/job_Mis.html)
ตัวอย่างคำพ้องศัพท์ที่ใช้เป็นพระบรมนามาภิไธย (http://203.113.86.149/jobmis/lname/exc_word%207.1.html)

การพิจารณาคำศัพท์ที่ใช้เป็นพระบรมนามาภิไธยซึ่งกำหนดว่าไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับ
พระปรมาภิไธย   หรือพระนามของพระราชินี  คำพ้องตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน   พ.ศ.2505
มีความหมายว่า   ต้องกัน    ตรงกัน   หรือซ้ำกัน   ดังนั้น    ในการตั้งชื่อสกุลมีบางกรณีที่ผู้ตั้งนำเอาศัพท์ที่ใช้
เป็นพระบรมนามาภิไธย  รวมกับคำอื่นเพื่อให้ได้คำที่ไพเราะหรือมีความหมายเพิ่มขึ้นโดยเป็นการเชื่อม
กลมกลืนเป็นคำเดียวกันเรียกว่าคำสนธิ  ดังกรณีตัวอย่างคือ

อักษร ภ. (http://203.113.86.149/jobmis/lname/exc_word%207.18.html)

ภาณุมา + อิศวร์     เป็น ภาณุเมศวร์

(ศัพท์ใช้เป็นพระบรมนามาภิไธย (http://203.113.86.149/jobmis/lname/k_word%204.1.html) เป็นคำต้องห้าม แม้จะไปสนธิกับคำอื่นก็ตาม)


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ธ.ค. 10, 15:29
พูดถึงเรื่องพระอาทิตย์ มีเรื่องติดใจอยู่เรื่องหนึ่ง

ในศิลาจารึก หลักที่ ๑ ปรากฏข้อความว่า "พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง..."

และในหลักที่ ๒ ปรากฏข้อความว่า  "เมื่อก่อนผีฟ้าเจ้าเมืองศรีโสธรปุระให้ลูกสาวชื่อนางสุขรมหาเทวีกับขรรค์ไชยศรีให้นามเกียรติ์แก่พ่อขุนผาเมือง เหียมพ่อขุนบางกลางหาวได้ชื่อศรีอินทรบดินทราทิตย์เพื่อพ่อขุนผาเมืองเอาชื่อตนให้แก่พระสหายอีกเมืองสุโขทัยเพื่อนั้น   พ่อขุนศรีอินทรบดินทราทิตย์แลพ่อขุนผาเมืองเอาพลตบกัน..."

คำถาม คือ ชื่อ "ศรีอินทราทิตย์" ก็ดี  ชื่อ "ศรีอินทรบดินทราทิตย์" ก็ดี
มีความหมายว่าอย่างไร


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 14 ธ.ค. 10, 16:18
คุณหลวงตั้งข้อสงสัยชวนให้สงสัยตาม

ผมเองไม่มีความรู้ทางภาษาศาสตร์เลย  คงต้องรอความเห็นคุณหลวง
แต่ถ้าจะให้ลองเดาตามความรู้อันน้อยนิด

ศรีอินทราทิตย์ น่าจะหมายถึง อินทราทิตย์ อันเป็นพระนามของ พระอินทร์
ซึ่งเป็นหนึ่งใน เทพอาทิตย์ (ลูกนางอทิติ) เช่น อินทราทิตย์ (พระอินทร์) วรุณาทิตย์ (พระพิรุณ) สูรยาทิตย์ (พระอาทิตย์ที่ส่องโลก)
มากกว่าจะหมายถึง พระอาทิตย์ที่ยิ่งใหญ่ โดนเดาเอาจากว่า ในยุคนั้นสันสกฤตยังเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงของวัฒนธรรมขอม
ถ้าจะให้หมายถึง พระอาทิตย์ น่าจะใช้ สูรย มากกว่า
กอปรกับ ดินแดนลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน น่าจะมีความสัมพันธ์ใกล้กับดินแดนบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน เจ้าพระยา ที่มีกษัตริย์ พระนามว่า อินทร์ หลายองค์
รวมถึง ขุนอิน ลูก ขุนบรม ในตำนานไท-ลาว

ส่วน ศรีอินทรบดินทราทิตย์ ผมเดาว่ามาจาก อินทร+บดี+อินทราทิตย์ อันหมายถึง อินทราทิตย์ผู้เป็นใหญ่ ผู้เป็นเจ้า อะไรทำนองนั้น

แหะ ๆ ความรู้น้อยครับ รอฟังความเห็นคุณหลวง หรือท่านผู้รู้ท่านอื่นดีกว่า
 ;D


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ธ.ค. 10, 23:36
หากเป็น ศรี + อินทร + บดี + อินทราทิตย์ ก็ดูว่าจะอินทรซ้ำซากไปสักหน่อยนะครับ

เคยเห็นบางแห่งว่าอาจเป็น ศรี + อินทรปัต + อินทราทิตย์ ฟังดูเข้าเค้าอยู่เหมือนกัน

น่าสนใจว่า ชื่อนี้เมื่อพ่อขุนบางกลางหาวทรงรับมาก็ตัดเหลือเพียง ศรีอินทราทิตย์ (อินทรปัตหายไป)

ในเวลาเดียวกันนั้น กษัตริย์เขมรทรงพระนามว่า อินทรวรรมัน (ที่ ๒) ครับ พอจะเรียกได้ว่าทรงเป็นอินทราแห่งอินทรปัตได้กระมัง


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ธ.ค. 10, 09:08
คุณภาณุเมศร์ครับ  ใช้ความรู้ด้านภาษา(Language)ก็พอครับ 
ไม่ต้องเอาถึงภาษาศาสตร์(Linguistic)หรอกครับ

ที่คุณภาณุเมศร์ขยายความว่า

อ้างถึง
ศรีอินทราทิตย์ น่าจะหมายถึง อินทราทิตย์ อันเป็นพระนามของ พระอินทร์
ซึ่งเป็นหนึ่งใน เทพอาทิตย์ (ลูกนางอทิติ) เช่น อินทราทิตย์ (พระอินทร์) วรุณาทิตย์ (พระพิรุณ) สูรยาทิตย์ (พระอาทิตย์ที่ส่องโลก)
มากกว่าจะหมายถึง พระอาทิตย์ที่ยิ่งใหญ่ โดนเดาเอาจากว่า ในยุคนั้นสันสกฤตยังเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงของวัฒนธรรมขอม
ถ้าจะให้หมายถึง พระอาทิตย์ น่าจะใช้ สูรย มากกว่า

น่าสนใจมาก ผมอยากให้คุณเมศร์ขยายความเรื่องเทพอาทิตย์ (ลูกนางอทิติ) ให้ละเอียดยิ่งขึ้นกว่านี้ ได้หรือไม่ครับ

ในทางนิรุกติศาสตร์  อาทิตฺย มาจาก อทิติ (ไม่มีสิ้นสุด เป็นชื่อชายานางหนึ่งของพระกัศยปเทพบิดร)
+ อ ปัจจัยตัทธิต บอกความหมายว่า เหล่ากอ, ผู้สืบสาย (ในสูตรว่า อ มาจาก อณฺ ปัจจัย)
เอา อ ข้างหน้า เป็น อา (พฤทธิสระของ อ ) เอา อิ ท้ายศัพท์ สนธิกับ อ ปัจจัยตัทธิต กลายเป็น อฺย
อทิติ + อ เป็น อาทิตฺย  แปลว่า เหล่ากอแห่งนางอทิติ  แต่ทีนี้ เหล่ากอของนางอทิติมีเท่าไร นี่ล่ะ น่าค้นหา
(ถ้าเป็นลูกที่เกิดจากนางทิติ ชายาอีกนางหนึ่งของพระกัศยปเทพบิดร  เรียกว่า  ไทตฺย  ไทยใช้ว่า แทตย์  เป็นอมนุษย์จำพวกหนึ่ง)

ประเด็นต่อมา  "ในยุคนั้นสันสกฤตยังเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงของวัฒนธรรมขอม
ถ้าจะให้หมายถึง พระอาทิตย์ น่าจะใช้ สูรย มากกว่า"  ผมอยากได้หลักฐานอ้างอิงความเห็นประกอบ

เป็นไปได้ไหมว่า  อาทิตย์ ที่ใช้ประกอบนามนี้  จะมีนัยหรือความหมายอย่างอื่นแฝงอยู่ด้วย
เช่น  พวกอาทิตย์เป็นเทพชั้นรอง  เมื่อเอามาประกอบ "นามเกียรติ"
อาจจะมุ่งหมายให้บ่งบอกฐานะผู้ได้รับนามเกียรตินั้นเป็นผู้ปกครองหัวเมืองหรือเจ้านายชั้นรองๆ ได้หรือไม่
อันนี้ต้องไปหาหลักฐานประกอบ  พูดเฉยๆ ไม่เห็นภาพ





กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ธ.ค. 10, 09:20
หากเป็น ศรี + อินทร + บดี + อินทราทิตย์ ก็ดูว่าจะอินทรซ้ำซากไปสักหน่อยนะครับ

เคยเห็นบางแห่งว่าอาจเป็น ศรี + อินทรปัต + อินทราทิตย์ ฟังดูเข้าเค้าอยู่เหมือนกัน

น่าสนใจว่า ชื่อนี้เมื่อพ่อขุนบางกลางหาวทรงรับมาก็ตัดเหลือเพียง ศรีอินทราทิตย์ (อินทรปัตหายไป)

ในเวลาเดียวกันนั้น กษัตริย์เขมรทรงพระนามว่า อินทรวรรมัน (ที่ ๒) ครับ พอจะเรียกได้ว่าทรงเป็นอินทราแห่งอินทรปัตได้กระมัง


คุณCrazyHOrse อธิบายศัพท์ได้เข้าทีมาก 
แต่ อินทรปัต หมายถึงอะไร  ชื่อเมืองหรือเปล่า  เหมือนเคยได้ยินชื่อเมืองอินทรปัตในเรื่องอะไรสักอย่าง นึกไม่ออก ???

ข้อสงสัยก็มีต่อว่า  ในดินแดนเขมรหรือในไทย เคยมีเมืองที่ชื่ออินทรปัตด้วยหรือไม่  แล้วถ้ามี  อยู่ตรงไหน ???

คุณภาณุเมศร์และคุณCrazyHOrse อธิบายได้ดีมากทั้งคู่ ;D ;) :)


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 15 ธ.ค. 10, 11:15
น่าสนใจมาก ผมอยากให้คุณเมศร์ขยายความเรื่องเทพอาทิตย์ (ลูกนางอทิติ) ให้ละเอียดยิ่งขึ้นกว่านี้ ได้หรือไม่ครับ

ผมว่าคุณหลวงเล็กอธิบายมาได้ละเอียดดีอยู่แล้วนะครับ  จะลองเสริมอีกหน่อย

ตำนานมีหลายตำนานมาก และบางครั้งก็ขัดแย้งกันเอง
เอาเป็นว่า พระกัศยปเทพบิดร มีภริยา คือ นางอทิติ นางทิติ นางทานุ (บางตำนานว่าเป็นพี่น้องกัน เป็นธิดาพระทักษะ)

ลูกที่เกิดจาก นางอทิติ คือ พวกอาทิตย์ (เทพ)
ลูกที่เกิดจาก นางทิติ คือ พวกไทตย (แทตย์)
ลูกที่เกิดจาก นางทานุ คือ พวกทานว (ทานพ)

พวกเทพอาทิตย์ ก็มีหลายตำนานมากครัย ว่ามีใครบ้าง มีกี่องค์
ที่แพร่หลายมากก็ เช่น

วรุณาทิตย (พระวรุณ)
อินทราทิตย (พระอินทร์)
มิตราทิตย์ (พระมิตร)
สูรยาทิตย (พระสุริยะ)

ซึ่งเทพอาทิตย์เหล่านี้ คือ เทพยุคเริ่มแรกของพวกอารยัน พระวรุณ และ พระอินทร์ มีบทบาทมากในช่วงต้นของพระเวท
ก่อนจะถูกลดชั้นไป

ในอาณาจักรมิตานนี ซึ่งชนชั้นปกครองเป็นพวกอายัน ก็มีกล่าวถึงนามของเทพเหล่านี้

แต่ถ้าเป็นอารยันเปอร์เซีย จะมองว่า เทวะ (deva เปอร์เชียว่า daeva) เป็นฝ่ายมาร
ส่วน อสุระ (asura เปอร์เชียว่า ahura) เป็นฝ่ายดี

ประเด็นต่อมา  "ในยุคนั้นสันสกฤตยังเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงของวัฒนธรรมขอม
ถ้าจะให้หมายถึง พระอาทิตย์ น่าจะใช้ สูรย มากกว่า"  ผมอยากได้หลักฐานอ้างอิงความเห็นประกอบ

ประเด็นนี้ ในตอนนี้ยังไม่ทราบจะไปหาหลักฐานจากไหน 
แต่ขอลองยกเรื่อง ยวนพ่าย ซึ่งน่าจะประพันธ์ประมาณรัชกาลพระบรมไตรโลกนาถ
ซึ่งมีการใช้ภาษาสันสกฤตจำนวนมากกว่าในสมัยหลังมาก พอเห็นได้ว่าองค์ความรู้ด้านสันสกฤตในยุคก่อนนั้นมีมาก และเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูง

พระนามของ พญาฦๅไทย คือ ศรีสูรยพงศรามมหาธรรมราชาธิราช  ก็ใช้เป็นสันสกฤต สูรย คือ พระอาทิตย์ ไม่ใช่ สุริย ที่เป็น บาลี
เท่าที่เคยอ่านจารึก รู้สึกเหมือนจะไม่ค่อยเห็นพระนามที่ใช่ อาทิตย์ ในความหมายว่า พระอาทิตย์ ในสมัยสุโขทัย (อันนี้ไม่แน่ใจ)

ส่วนทางเมืองพระนคร (ศรียโศธรปุระ) ก็น่าจะใช้ สันสกฤต ในหมู่ชนชั้นสูงอยู่แล้ว (จากที่เคยอ่านมานะครับ)
พระนามของกษัตริย์ขอม คำว่า อาทิตย์ ก็ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก เห็นมีแค่ อุทัยทิตย์วรมัน (ที่ ๑ และ ที่ ๒)  ตรีภูวนาทิตยวรมัน

เป็นไปได้ไหมว่า  อาทิตย์ ที่ใช้ประกอบนามนี้  จะมีนัยหรือความหมายอย่างอื่นแฝงอยู่ด้วย
เช่น  พวกอาทิตย์เป็นเทพชั้นรอง  เมื่อเอามาประกอบ "นามเกียรติ"
อาจจะมุ่งหมายให้บ่งบอกฐานะผู้ได้รับนามเกียรตินั้นเป็นผู้ปกครองหัวเมืองหรือเจ้านายชั้นรองๆ ได้หรือไม่
อันนี้ต้องไปหาหลักฐานประกอบ  พูดเฉยๆ ไม่เห็นภาพ

แนวคิดนี้น่าสนใจมากครับ  ถ้ามองว่ากษัตริย์ที่เมืองพระนครอันประดุจเป็นศูนย์กลางจักรวาล  มีพระเจ้าจักรพรรดิ หรือ ราชาธิราช ปกครอง
ซึ่งกษัตริย์เมืองพระนคร มักลงท้ายนามด้วยคำว่า "วรมัน"
ดังนั้น ท้าวสามนตราช หรือ ราชาร้อยเอ็ดนคร อันยอมรับในอำนาจของเมืองพระนคร
อาจได้รับนามสถาปนาลงท้ายว่า "อาทิตย์" ตามเหตุผลของคุณหลวง  ซึ่งอันนี้คงต้องหาหลักฐานประกอบ


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ธ.ค. 10, 11:33
ส่วนทางเมืองพระนคร (ศรียโศธรปุระ) ก็น่าจะใช้ สันสกฤต ในหมู่ชนชั้นสูงอยู่แล้ว (จากที่เคยอ่านมานะครับ)
พระนามของกษัตริย์ขอม คำว่า อาทิตย์ ก็ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก เห็นมีแค่ อุทัยทิตย์วรมัน (ที่ ๑ และ ที่ ๒)  ตรีภูวนาทิตยวรมัน


อย่าลืม สุริยวรมันที่ ๑

และ สุริยวรมันที่ ๒ ผู้สร้างนครวัด

(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/0/0b/SuryavarmanII01.JPG/800px-SuryavarmanII01.JPG)

 ;D


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 15 ธ.ค. 10, 12:38
อย่าลืม สุริยวรมันที่ ๑

และ สุริยวรมันที่ ๒ ผู้สร้างนครวัด

ผมมิได้หมายความอย่างนั้นครับ
คือ ผมต้องการจะสื่อว่า ในวัฒนธรรมขอม นิยมภาษาสันสกฤต และมีองค์ความรู้ด้านภาษาสันสกฤตสูงมาก

เวลาต้องการใช้คำสื่อถึง พระอาทิตย์ (The Sun) น่าจะใช้คำว่า "สูรย" (บาลี-สุริย) มากกว่า (เช่น สูรยวรรมัน)

และคำว่า "อาทิตฺย" (เฉพาะเจาะจงคำนี้ ไม่ใช่ทุกคำที่มีความหมายว่า the Sun) นั้น  มักไม่ค่อยเห็นในพระนามของกษัตริย์เมืองพระนคร


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ธ.ค. 10, 13:28
เทพจำพวกอาทิตย์ อันเกิดแต่นางอทิติ ในสมัยพระเวท มีอยู่ ๗ องค์
คือ  วรุณาทิตย์    มิตราทิตย์    อรรยมนาทิตย์   ภคาทิตย์   อํศาทิตย์   ทักษาทิตย์ (ธาตราทิตย์)  และสูรยาทิตย์
ในสมัยพระเวทมักกล่าวถึงเทพจำพวกอาทิตย์เป็นคู่ด้วย เช่น มิตรกับวรุณ เป็นต้น
ต่อมา มีเทพจำพวกอาทิตย์เพิ่มมาอีกหนึ่งองค์  คือ วิวัสวนาทิตย์ 

จากนั้นในสมัยพราหมณะ  เทพจำพวกอาทิตย์ มีจำนวนเพิ่มมาเป็น ๑๒ องค์ 
และส่วนใหญ่ชื่อที่มีมาแต่เดิมยังคงไว้    ดังนี้  อํศาทิตย์  อรรยมนาทิตย์  ภคาทิตย์  ทักษาทิตย์
ธาตราทิตย์ (แยกมาจากทักษาทิตย์) อินทราทิตย์  มิตราทิตย์  รวฺยาทิตย์  (รวิ) สวิตราทิตย์
สูรยาทิตย์ (อรรกาทิตย์) วรุณาทิตย์  และยมาทิตย์

ต่อจากนั้น มาสมัยปุราณะ  เทพจำพวกอาทิตย์ ยังคงจำนวนที่ ๑๒ องค์
แต่ชื่อจะเปลี่ยนไปบ้าง เช่น วิษณวาทิตย์ (วิษณุ)  เป็นต้น
พอหลังสมัยปุราณะ  เทพจำพวกอาทิตย์ขยับขึ้นเยอะกว่าเดิมมาก 



กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 15 ธ.ค. 10, 13:37
เทพจำพวกอาทิตย์ อันเกิดแต่นางอทิติ ในสมัยพระเวท มีอยู่ ๗ องค์
คือ  วรุณาทิตย์    มิตราทิตย์    อรรยมนาทิตย์   ภคาทิตย์   อํศาทิตย์   ทักษาทิตย์ (ธาตราทิตย์)  และสูรยาทิตย์
ในสมัยพระเวทมักกล่าวถึงเทพจำพวกอาทิตย์เป็นคู่ด้วย เช่น มิตรกับวรุณ เป็นต้น
ต่อมา มีเทพจำพวกอาทิตย์เพิ่มมาอีกหนึ่งองค์  คือ วิวัสวนาทิตย์  

ที่ผมอ่านมาว่า ๗ องค์ในยุคพระเวทนั้น ไม่มี สูรยาทิตย์ แต่เป็น อินทราทิตย์
และสูรยาทิตย์ เพิ่งเพิ่มมาสมัยพราหมณะ (บ้างก็ว่า วิวัสวนาทิตย์  อาทิตยเทพองค์ที่ ๘ ก็คือ สูรยาทิตย์)


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ธ.ค. 10, 13:49
ประเด็นต่อมา  "ในยุคนั้นสันสกฤตยังเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงของวัฒนธรรมขอม
ถ้าจะให้หมายถึง พระอาทิตย์ น่าจะใช้ สูรย มากกว่า"  ผมอยากได้หลักฐานอ้างอิงความเห็นประกอบ

ประเด็นนี้ ในตอนนี้ยังไม่ทราบจะไปหาหลักฐานจากไหน  
แต่ขอลองยกเรื่อง ยวนพ่าย ซึ่งน่าจะประพันธ์ประมาณรัชกาลพระบรมไตรโลกนาถ
ซึ่งมีการใช้ภาษาสันสกฤตจำนวนมากกว่าในสมัยหลังมาก พอเห็นได้ว่าองค์ความรู้ด้านสันสกฤตในยุคก่อนนั้นมีมาก และเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูง


พระนามของ พญาฦๅไทย คือ ศรีสูรยพงศรามมหาธรรมราชาธิราช  ก็ใช้เป็นสันสกฤต สูรย คือ พระอาทิตย์ ไม่ใช่ สุริย ที่เป็น บาลี
เท่าที่เคยอ่านจารึก รู้สึกเหมือนจะไม่ค่อยเห็นพระนามที่ใช่ อาทิตย์ ในความหมายว่า พระอาทิตย์ ในสมัยสุโขทัย (อันนี้ไม่แน่ใจ)

ส่วนทางเมืองพระนคร (ศรียโศธรปุระ) ก็น่าจะใช้ สันสกฤต ในหมู่ชนชั้นสูงอยู่แล้ว (จากที่เคยอ่านมานะครับ)
พระนามของกษัตริย์ขอม คำว่า อาทิตย์ ก็ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก เห็นมีแค่ อุทัยทิตย์วรมัน (ที่ ๑ และ ที่ ๒)  ตรีภูวนาทิตยวรมัน

ประเด็นคำสันสกฤตในยวนพ่ายนั้น  ขอให้สังเกตด้วยว่า  การใช้คำสันสกฤตในยวนพ่าย
ไม่ได้มีสม่ำเสมอตลอดทั้งเรื่อง   คงเป็นเฉพาะตอนต้นที่เป็นการยอพระเกียรติ  
พอเข้าสู่บทพรรณนาการรบแล้ว จะใช้คำไทยมากกว่า  ฉะนั้นหลังฐานนี้ยังใช้ยืนยันเสียทีเดียวไม่ได้
เพราะอาจจะเป็นรสนิยมของผู้แต่งบางคน  จะไปสรุปว่าเป็นคนชั้นสูงทั้งหมดมิได้
และเราก็กำลังเพ่งเล็งเฉพาะเรื่องชื่อเป็นหลัก  อย่าเพิ่งล่วงไปถึงวรรณคดีเลย

กรณีพระนามพญาฦๅไทย คือ ศรีสูรยพงศรามมหาธรรมราชาธิราช  
อันนี้น่าสนใจเพราะเป็นการตั้งพระนามที่แสดงว่ารับอิทธิพลเขมรมาชัดเจน
ที่สำคัญยังระบุด้วยว่า เป็นรามผู้เป็นธรรมราชาธิราชแห่งสูรยวงศ์  
ซึ่งแท้จริง ราม ในรามายณะ เป็นจันทรวงศ์ ไม่ใช่สูรยวงศ์
แต่อาจจะเป็นไปได้ว่า  คนไทยคนเขมรอาจจะรับจากอินเดียแล้วแปลงเปลี่ยนไปบ้าง
รามจึงกลายเป็นสูรยวงศ์ได้
และคนไทยเราเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นสืบสายมาแต่สุริยวงศ์มาแต่เดิม
(เหมือนที่ญี่ปุ่นและอีกหลายๆ วัฒนธรรม)


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ธ.ค. 10, 13:53
อืมม์  ตำราต่างกันย่อมกล่าวไม่เหมือนกัน  ไม่เป็นไรครับ
เพราะในสมัยพระเวท เทพแสงสว่างที่ลักษณะเหมือนสูรยะมีหลายองค์
(พยายามไม่แตกประเด็นนี้มาก  เพราะเดี๋ยวจะหลงประเด็นไปกันใหญ่)


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 15 ธ.ค. 10, 14:04
กรณีพระนามพญาฦๅไทย คือ ศรีสูรยพงศรามมหาธรรมราชาธิราช  
อันนี้น่าสนใจเพราะเป็นการตั้งพระนามที่แสดงว่ารับอิทธิพลเขมรมาชัดเจน
ที่สำคัญยังระบุด้วยว่า เป็นรามผู้เป็นธรรมราชาธิราชแห่งสูรยวงศ์  
ซึ่งแท้จริง ราม ในรามายณะ เป็นจันทรวงศ์ ไม่ใช่สูรยวงศ์
แต่อาจจะเป็นไปได้ว่า  คนไทยคนเขมรอาจจะรับจากอินเดียแล้วแปลงเปลี่ยนไปบ้าง
รามจึงกลายเป็นสูรยวงศ์ได้
และคนไทยเราเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นสืบสายมาแต่สุริยวงศ์มาแต่เดิม
(เหมือนที่ญี่ปุ่นและอีกหลายๆ วัฒนธรรม)

พระราม มีนามเต็มว่า รามจันทร์  แต่เป็น สูรยวงศ์
เพราะ รามจันทร์ เป็น รฆุวงศ์ สืบเชื้อสายจากพระเจ้ารฆุ  ซึ่งเป็นสูรยวงศ์
รามราฆพ ก็คือ ราม ผู้เป็นเชื้อสายรฆุ

ส่วน จันทรวงศ์ ที่ดัง ๆ ก็คือ พวกเการพและปาณฑพ ในมหาภารตะ

ป.ล. แต่พระนาม พญาศรีสูรยพงศรามมหาธรรมราชาธิราช
บางที รามในที่นี้ อาจจะหมายถึง พ่อขุนรามราช หรือ พญารามราช (พ่อขุนรามคำแหง) ก็ได้นะครับ
เพราะพญาฦๅไทย (ลิทยฺย-ลิไทย) ท่านเป็นหลานปู่


กระทู้: อยากทราบที่มาของคำว่า บุญมา และ วิวัศ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ธ.ค. 10, 15:24
อืมม์ ผมคงจำผิดไป  ไม่ได้อ่านรามายณะนานๆ เข้าชักลืมโคตรวงศ์พระราม

ที่ว่า
อ้างถึง
ป.ล. แต่พระนาม พญาศรีสูรยพงศรามมหาธรรมราชาธิราช
บางที รามในที่นี้ อาจจะหมายถึง พ่อขุนรามราช หรือ พญารามราช (พ่อขุนรามคำแหง) ก็ได้นะครับ
เพราะพญาฦๅไทย (ลิทยฺย-ลิไทย) ท่านเป็นหลานปู่

ก็รับฟังได้อยู่

อ้างถึง
ส่วนทางเมืองพระนคร (ศรียโศธรปุระ) ก็น่าจะใช้ สันสกฤต ในหมู่ชนชั้นสูงอยู่แล้ว (จากที่เคยอ่านมานะครับ)
พระนามของกษัตริย์ขอม คำว่า อาทิตย์ ก็ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก เห็นมีแค่ อุทัยทิตย์วรมัน (ที่ ๑ และ ที่ ๒)  ตรีภูวนาทิตยวรมัน

ผมไม่ได้เน้นที่พระนามกษัตริย์เขมร  เพราะพระนามกษัตริย์เขมรมักมีรูปแบบคล้ายๆ กัน ซ้ำกันก็มาก
จนคนสมัยปัจจุบันต้องใส่ ที่ ๑ ที่ ๒ ตามหลังพระนาม เพื่อกันสับสน
แต่ผมสนใจคือ พระนามเจ้านายที่ไปปกครองหัวเมืองต่างๆ ของเขมร รวมไปถึงพระนามเจ้านายชั้นรองๆ
ซึ่งอันนี้ต้องไปอ่านจารึกจึงจะเห็นรายชื่อเหล่านั้น  อาจจะเหนื่อยหน่อย  แต่ก็ต้องทำ

ส่วนคำว่า วรมัน  (วรฺมนฺ) เป็นคำที่สำหรับลงท้ายชื่อ ที่แสดงวรรณะกษัตริย์โดยเฉพาะ
อันมีที่มาจากอินเดีย  โดยเฉพาะทางอินเดียใต้โบราณมีกษัตริย์ที่ชื่อลงท้าย วรฺมนฺ หลายพระองค์
วรฺมนฺ แปลว่า  เกราะ อันเป็นของสำคัญแสดงความเป็นนักรบของกษัตริย์

ส่วนวรรณะพราหมณ์ ลงท้ายชื่อว่า ศรมัน วรรณะแพศย์ ลงท้ายชื่อว่า คุปต์   และวรรณะศูทร ลงท้ายชื่อว่า ทาส