เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 15:14



กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 15:14
สืบเนื่องมาจากกระทู้ พระยาราชมนตรี   ดิฉันเลี้ยวออกนอกเรื่อง  เกิดอยากรู้ว่า โรคทุลาวะสา คืออะไร

คุณหลวงเล็กเข้ามาตอบว่า

"ส่งการบ้านครับ    ( กว่าจะเจอคำตอบการบ้านของคุณเทาชมพูได้  รื้อหนังสือมาอ่านเกือบหมดกรุ เป็นการบ้านที่ยากจริงๆ )

".....สิทธิการิยะ    พระอาจารย์เจ้าผู้กรุณาแก่สัตวโลกย์ทั้งหลาย  ท่านจึ่งแต่งคำภีร์อันชื่อว่าทุลาวะสา  คือว่าจะแจกออกเปน  ๓๒ จำพวก  คือทุลาวะสา  (๔)  มุตรฆาฏ ๔ มุตรกฤต ๔ สันทะฆาฏ ๔ องคสูตร ๔ ช้ำรั่ว ๔ อุปะทม ๔ ไส้ด้วน ๔ เป็น ๘ ประการด้วยกันดังนี้  ฯ ๑   ทีนี้จะว่าด้วยทุลาวะสา ๔ ประการ คือว่าด้วยน้ำปัศสาวะ ๔ ประการ  คือน้ำมูตรเมื่อออกมานั้นขาวข้นดังน้ำเข้าเชด  ถ้าเหลืองดังน้ำขมิ้นสด  ถ้าเปนโลหิตสดๆ ก็ดีแดงดังน้ำฝางต้มก็ดี  ดำดังน้ำครามก็ดี  ย่อมให้ปวดหัวเหน่าให้แสบองคชาติ  ให้สบัดร้อนสบัดหนาวเปนเวลา  มีประการต่างๆ  แพทย์จะแก้ให้เอา  การะบูร ๑ เทียนดำ ๑ ผลเอน ๑ ลำพัน ๑ แห้วหมู ๑ ขิงแห้ง ๑ สิ่งละเสมอภาค  ทำผงละลายน้ำผึ้งรวง  กินแก้โรคซึ่งปัศสาวฃาวดังน้ำเข้าเชดนั้นหายแล ฯ   แก้ปัศสาวะเหลืองดังน้ำขมิ้น  เอาสมอไทย ๑มหาหิง  เจตมูลแดง๑ สารซ่ม ๑ สุพรรณถันแดง ๑ ยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๑ สลึง เทียนดำ ๑ บาท ดอกคำไทย ๒ บาท ตำเปนผงละลายน้ำมะนาวกินแก้ปัศสาวะเหลืองแล  ฯ   แก้ปัศสาวะแดงดังน้ำฝางต้ม  เอาศีศะแห้วหมู ๑ รากมะตูม ๑ เทียนดำ ๑ รากเสนียด ๑ ใบสะเดา ๑ รากอังกาบ ๑ ผลเอน ๑ โกฎสอ ๑ เกลือสินเทาว ๑ ตำเปนผงละลายน้ำอ้อยแดง  กินแก้ปัศาสวะแดง  ดีนักแล ฯ  แก้ปัศสาวะดำดังน้ำคราม  เอารากหญ้านาง ๑ เถาวัลเปรียง ๑ รากกะทุงสุนักข์บ้า ๑ ฝาง ๑ แห้วหมู ๑ ศิศะหญ้าชันะกาด ๑ แก่นมูลเหลก ๑ รากตะไคร้หางนาก ๑ ขมิ้นอ้อย ๑ ไพล ๑ รากหนามรอบตัว ๑ รากหวายขม ๑ เอาสิ่งละเสมอภาค  ต้ม ๓ เอา ๑ กินแก้ปัศสาวะดำดังน้ำคราม  หายแล ฯ  ยาทั้งนี้กินแก้โรค ๔ จำพวก  ที่กล่าวมาแต่หลังหายสิ้นแล ฯฯ..."

คัดและถ่ายอักษรจาก คัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา ในหนังสือตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ เล่ม ๒  (ปกแข็งสีน้ำเงิน) จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒  หน้า ๒๙๔ - ๒๙๕

คำว่า ทุลาวะสา  ดูรูปคำเป็นคำบาลีก็จริง  แต่เมื่อลองตรวจดูในพจนานุกรมภาษาบาลีดูแล้วไม่ปรากฏคำคำนี้  จึงเข้าใจว่าเป็นคำที่โบราณจารย์ทางแพทย์ท่านคิดตั้งขึ้นสำหรับชื่อโรคจำพวกหนึ่ง  รูปคำเดิมเป็นอย่างไรไม่ทราบแน่  เพราะคงคัดลอกเลื่อนและเลือนกันมาหลายชั้น  ในพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ของสำนักพิมพ์ต้นฉบับเขียนว่า ธุลาวะสา  ค้นดูก็ไม่พบความหมายตามรูปศัพท์  เป็นอันว่าไม่ทราบความหมายของชื่อโรคตามรูปศัพท์ในภาษาบาลี 

พิจารณาจากข้อมูลที่ยกมาจากตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง  เข้าใจว่า  โรคทุลาวะสา  เป็นโรคที่น่าจะเป็นกันเฉพาะผู้ชาย   ส่วนจะเป็นจำพวกโรคบุรุษด้วยหรือไม่นั้น  ไม่กล้าคาดเดา  แต่อาจจะเป็นจำพวกโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือโรคนิ่วก็ได้   คนไทยสมัยก่อนคงเป็นโรคนี้กันมาก  ไม่เว้นแต้เจ้าฟ้าเจ้านาย   วังหน้ารัชกาลที่ ๑ ก็เสด็จทิวงคตด้วยพระโรคจำพวกนี้เหมือนกัน

ไม่รู้ว่าตอบถูกใจคุณเทาชมพูหรือเปล่า


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 15:19
คุณเพ็ญชมพูเข้ามาตอบว่า

อ่านจากตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงที่คุณหลวงยกมา ยังไม่พบตอนไหนที่ว่าเป็นโรคที่เป็นเฉพาะในผู้ชาย

คุณประเสริฐ พรหมณีเป็นหมอแผนโบราณเขียนถึงโรคนี้ไว้ในนิตยสารหมอชาวบ้าน เรียกชื่อโรคนี้ว่า โรคทุราวสา เป็นโรคน้ำปัสสาวะเป็นพิษ แต่ไม่ใช่โรคนิ่ว โบราณบอกว่าเกิดจากการกลั่นกรองของไตทำหน้าที่ไม่ดี

http://www.doctor.or.th/node/6694

คุณหลวงเล็กตอบว่า
อ้างถึง
๑   ทีนี้จะว่าด้วยทุลาวะสา ๔ ประการ คือว่าด้วยน้ำปัศสาวะ ๔ ประการ  คือน้ำมูตรเมื่อออกมานั้นขาวข้นดังน้ำเข้าเชด  ถ้าเหลืองดังน้ำขมิ้นสด  ถ้าเปนโลหิตสดๆ ก็ดีแดงดังน้ำฝางต้มก็ดี  ดำดังน้ำครามก็ดี  ย่อมให้ปวดหัวเหน่าให้แสบองคชาติ  ให้สบัดร้อนสบัดหนาวเปนเวลา  มีประการต่างๆ

อนุมานจากคำที่เน้นข้างต้น  ส่วนตัวไม่เรียนมาด้านหมอ  ถ้าผิดพลาดก็ขออภัยด้วยละกัน...

คุณเพ็ญชมพู
อ้างจาก: luanglek ที่ วันนี้ เวลา 10:40
๑   ทีนี้จะว่าด้วยทุลาวะสา ๔ ประการ คือว่าด้วยน้ำปัศสาวะ ๔ ประการ  คือน้ำมูตรเมื่อออกมานั้นขาวข้นดังน้ำเข้าเชด  ถ้าเหลืองดังน้ำขมิ้นสด  ถ้าเปนโลหิตสดๆ ก็ดีแดงดังน้ำฝางต้มก็ดี  ดำดังน้ำครามก็ดี  ย่อมให้ปวดหัวเหน่าให้แสบองคชาติ ให้สบัดร้อนสบัดหนาวเปนเวลา  มีประการต่างๆ

ปวดหัวหน่าวในผู้หญิง และแสบองคชาติในผู้ชาย

คุณหลวงเล็ก
ปวดหัวหน่าวในผู้หญิง และแสบองคชาติในผู้ชาย

ถ้าตีความอย่างที่ว่าก็ได้เหมือนกัน  แต่ตามคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกาดูจะให้ความสำคัญในการอธิบายลักษณะโรคจำพวกนี้หนักไปทางบุรุษมากกว่าสตรีนะครับ


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 15:28
ชื่อโรคประหลาดๆพวกนี้ เป็นแรงจูงใจให้อยากตั้งกระทู้ใหม่ คุยกัน  เพื่อรวบรวมชื่อและคำอธิบายไว้
เพราะเข้าใจว่ายิ่งวันชื่อพวกนี้ก็ยิ่งจะสูญไปจากความเข้าใจของคนปัจจุบัน
แต่ว่าโรคยังคงอยู่   ไปเรียกชื่อใหม่  หรือไม่ก็ใช้ชื่อฝรั่งกัน
ขออนุรักษ์ชื่อโรคเดิมไว้ในเรือนไทยค่ะ

ไปค้นจากวิกิพีเดีย  มาได้ ๓ โรค  ขอนำมาเจิมกระทู้ใหม่เสียเลย

ประดง
ประดง เป็นชื่อไข้ชนิดหนึ่ง พอไข้ขึ้นสูง จะมีเม็ดผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง  เรียกว่าเกิดอาการไข้ประดงขึ้น
ตัวร้อนจัด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยไปตามเนื้อตัว มีอาการสะท้านร้อน สะท้านหนาว ปากแห้ง ลิ้นแห้ง กระหายน้ำ หอบ
และอาจมีอาการสะอึกร่วมด้วย

โรคประดงนั้นยังแบ่งออกไปเป็นอีกหลายชนิดเช่น ประดงมด, ประดงช้าง, ประดงแกลบ, ประดงไฟ เป็นต้น

'ประสานธาตุ   เป็นโรคทางเดินอาหาร มีอาการลงท้องอย่างรุนแรงมาก มีอุจจาระเป็นน้ำใสสีแดง
ลักษณะคล้ายน้ำชานหมากหรือน้ำแตงโม ซึ่งหากถ่ายเป็นน้ำเลือด  มักจะอยู่ได้ไม่เกินเจ็ดวัน

พรรดึก (อ่านว่า พัน-ระ-ดึก)
คือโรคท้องผูกอย่างแรง  จากอาหารคั่งค้างอยู่ภายในท้อง  ผู้ป่วยจะมีอุจจาระที่แข็งมาก และมีลักษณะเป็นเม็ดๆ คล้ายกันกับมูลแพะ


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 15:51
โรคป่วง  
คือโรคอาหารเป็นพิษ   ปวดท้อง ลงท้องเป็นน้ำ มีลมออกบ้าง อาเจียน   ปวดท้อง
อาการคล้ายอหิวาตกโรค แต่อาการเสียกำลังน้อยกว่ากันมาก เพราะน้ำอาหารที่ย่อยแล้วที่อยู่ในต่อมที่เก็บดูดไว้มิได้ถ่ายออกมาด้วย แต่เป็นเสมหะจึงเป็นพิษ ตามผิวกระเพาะอาหาร และลำไส้ไม่มีตัวโรคที่ทำให้ติดต่อ
โรคป่วงไม่ติดต่อกัน  เมื่อลงท้องมาก   อาการเป็นตะคริวจะจับปลายมือปลายเท้า คือ มีอาการเกร็งมาก เจ็บปวดและเข้าท้องด้วยก็ได้ จึงอาจตายได้ เหมือนกัน
ลงท้องมาก อาเจียนมาก โบราณเรียกว่า สันนิบาตสองคลอง  คือ ทั้งลงและ ทั้งราก


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 15:52
ได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บ

http://thrai.sci.ku.ac.th/node/617

พระคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา เป็นตำราที่ว่าด้วยอาการของโรคบุรุษและโรคสตรี รวมถึงยาสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคบุรุษและสตรี พระคัมภีร์นี้แบ่งอาการของโรคออกเป็น ๘ ประการ ได้แก่

๑. ทุลาวสา เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับบุรุษเท่านั้น มีอาการผิดปกติเวลาถ่ายปัสสาวะ ลักษณะของทุลาวสาแบ่งออกเป็น ๔ ชนิด
๒. มุตคาต เป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะกับสตรี มีอาการของการถ่ายปัสสาวะผิดปรกติ ลักษณะของมตุคาตแบ่งออกเป็น ๔ ชนิด
๓. มุตกิต เป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะกับสตรีเช่นกัน เป็นลักษณะที่น้ำปัสสาวะมีความผิดปรกติและรุนแรงกว่ามุตคาต มุตกิตแบ่งออกเป็น ๔ ชนิด
๔. สันทะคาต เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ทั้งกับบุรุษและสตรีที่สำส่อนในทางกาม สันทะคาตแบ่งออกเป็น ๔ ชนิด
๕. องคสูตร เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในบุรุษ มีอาการเจ็บที่องคชาตและลูกอัณฑะ แบ่งออกเป็น ๔ ชนิด
๖. ช้ำรั่ว เป็นโรคที่เกิดเฉพาะสตรีเท่านั้น ช้ำรั่วเป็นอาการผิดปกติเกี่ยวกับมดลูก มี ๔ ชนิด
๗. อุปทม เป็นโรคที่เกิดทั้งในบุรุษและสตรี อุปทมแบ่งออกเป็น ๔ ชนิด
๘. ไส้ด้วน เป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะในบุรุษเท่านั้น ถ้าเกิดในสตรีจะเรียกว่าไส้ลาม ทั้งสองอย่างเป็นอาการเน่าทั้งที่องคชาตและภายใน ถ้าไม่รักษาก็ถึงตายได้ ไส้ด้วนไส้ลามแบ่งออกเป็น ๔ ชนิด






กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 15:55
ตานขโมย
เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ หลังจากคลอดแล้ว 3-4 เดือน มีเม็ดขึ้นที่เหงือกข้างบนและข้างล่าง มีสีดำแดง บางทีก็สีเหลือง ตัวลายเหมือนเส้นเลือด เจ็บทั่วสรรพางค์กาย เด็กขาดความต้านทานโรค เนื้อหนังเหี่ยวผอม ไม่น่ารัก ตัวมีกลิ่นเหม็นคาว พุงโร ก้นปอด ท้องเดินไม่รู้หยุด เป็นน้ำส่าเหล้าและเป็นน้ำคาวปลา น้ำไข่เน่า เป็นมูก เป็นหนองก็ดี อุจจาระหยาบเหม็นคาวอย่างร้ายกาจ ทำให้ตาฟางเรียกว่า เกล็ดกระดี่ขึ้นตา
ปัจจุบันคงบอกว่าเป็นโรคขาดอาหาร แต่โรคตานขโมยในโบราณบอกว่า โรคตานขโมยนี้ขึ้นในตับ อุจจาระเป็นมูก เป็นโลหิต อกรวบแหลมเหมือนอกไก่ ขึ้นลำไส้อ่อนทำให้อุจจาระเขียวดังใบไม้ และหนังตามตัวจะเป็นเกล็ดเหมือนเกล็ดงู

ต้นเหตุของโรคตานขโมย  เกิดจากเด็กเกิดมาแล้วกินอาหารแปลกรสที่ไม่เคยกิน ประกอบกับธาตุของเด็กอ่อนในการย่อยอาหารไม่ดี จึงทำให้เกิดโรคตานขโมยขึ้น
และประกอบกับอาหารนั้นไม่สะอาด จึงทำให้เกิดตัวกิมิชาติ (พยาธิ) ขึ้นในท้องและลำไส้ คือตัวพยาธิไส้เดือนและพยาธิต่าง ๆ แย่งอาหารที่เด็กกินเข้าไปเสียหมด จึงทำให้เด็กท้องป่อง ก้นปอด อุจจาระหยาบเหม็นคาว
เด็กสุขภาพไม่สมบูรณ์ ร้องงอแง ไม่น่ารัก จิตใจเด็กไม่แจ่มใส เป็นเด็กอมโรค ขี้มูกขี้กรัง เด็กชอบอมนิ้วมือและกัดเล็บ

ถ้าไม่พาเด็กไปหาหมอรักษาเด็กจะอมโรค ผอมลง ลักษณะหนังหุ้มกระดูก หัวท้ายเล็ก ตรงกลางท้องป่อง เด็กจะอ่อนแอลง อุจจาระหยาบขาว เหม็นคาวจุด แล้วนัยน์ตามัวมองอะไรไม่เห็น น่าสงสารมาก และเด็กจะตายในที่สุด

โรคตานขโมยมีผู้ปากครองเด็กวิตกกันมากที่สุดในสมัยโบราณ จนถึงปัจจุบันนี้ มีพ่อแม่บางรายยังเสาะหายาโบราณมารักษาโรคตานขโมยกันอยู่ โรคนี้ในสมัยก่อน ๆ คร่าชีวิตเด็กไปเสียมิใช่น้อย ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีเหลืออยู่บ้างแต่ไม่มากแล้ว เพราะสังคมปัจจุบันนี้มีทั้งหมอแผนใหม่ และหมอแผนเก่าช่วยเหลือได้มาก

โรคนี้ต้นเหตุคือโรคพยาธิที่เกิดขึ้นในท้องกับธาตุเด็กเสีย อุจจาระบ่อย ๆ เนื่องจากกินอาหารไม่สมดุลกับร่างกาย และอาหารที่กินไม่สะอาดนั่นเอง ถ้ากินอาหารสะอาด หมั่นถ่ายพยาธิ ให้ยาบำรุงธาตุเด็ก เด็กคงไม่เป็นโรคนี้

โรคตานขโมย ถ้าเกิดขึ้นกับเด็กโบราณจะใช้ยาดังนี้ รากไข่เน่า รากทับทิม รากอีเหนียว รากสะแก ชุมเห็ดไทย ทั้งต้น กะเพราะแดงทั้งต้น รากเล็บมือนาง ลูกขี้กาแดง หัวแห้วหมู มะตูมอ่อน หัวเต่าเกียด หัวเต่านา หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นใต้ แก่นจันทร์ แก่นจันทร์แดง หนักสิ่งละ 30 กรัม ใบมะกา 1 กำมือ ใบกระพังโหม 1 กำมือ

วิธีทำ ต้ม เติมน้ำให้ท่วมยาต้มให้เดือด

เด็กโต รับประทานมื้อละ 1-2 ช้อนโต๊ะ เด็กเล็ก 2 ช้อนกาแฟ รับประทานวันละ 3 เวลา ก่อนอาหารเช้าหรือเย็น

อาการตามัว หนังเป็นเกล็ด โบราณให้ใช้อาหารดังนี้ ใช้ตับไก่ดำหรือตับสัตว์ต่าง ๆ ก็ได้ปรุงเป็นอาหารใช้ตับสัตว์ดังกล่าวผสมกับดอกไม้จีนที่ทำอาหารผสมกัน ผัดให้รับประทานทุกวัน หรือใช้ ไข่ 1 ฟองและใช้ เม็ดในสะแกคือ แกะเอาแต่เมล็ดในประมาณ 30-40 เมล็ด ทอดกับไข่ให้เด็กกินทุกวัน จะช่วยอาการนี้ได้

 http://www.doctor.or.th/node/6678


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 ก.พ. 10, 16:05

พระคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา เป็นตำราที่ว่าด้วยอาการของโรคบุรุษและโรคสตรี รวมถึงยาสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคบุรุษและสตรี พระคัมภีร์นี้แบ่งอาการของโรคออกเป็น ๘ ประการ ได้แก่

๑. ทุลาวสา เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับบุรุษเท่านั้น  มีอาการผิดปกติเวลาถ่ายปัสสาวะ ลักษณะของทุลาวสาแบ่งออกเป็น ๔ ชนิด


 ;D :) ;)


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 16:14
ลิ้งก์นี้มี่ศัพท์การแพทย์แผนโบราณ รวมทั้งชื่อโรคโบราณอยู่หลายโรค เอามาฝากคุณเทาชมพู

http://thrai.sci.ku.ac.th/node/523


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 16:22
ขอบคุณค่ะ  เยอะแยะจริงๆ 
แทบจะปิดกระทู้นี้ได้เลย  ;)

ตะพั้น
ชื่อโรคชนิดหนึ่ง มักเกิดแก่เด็กอ่อนหรือเด็กเล็กๆ มีอาการชัก มือเท้ากำ ตามตำราแพทย์แผนโบราณว่า มักเกิดเพราะผิดอากาศเป็นต้น


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 16:24
เปลี่ยวดำ  
ชื่อโรคอย่างหนึ่ง ตามตําราแพทย์แผนโบราณว่าเกิดจากความเย็นมาก, เกลี่ยวดํา ก็ว่า.
ผู้ใหญ่เคยบอกว่า เปลี่ยวดำคือปอดบวม  หรือนิวมอเนีย

 
 


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 19:17
ปะกัง :ตามตําราแพทย์แผนโบราณว่า เป็นโรคลม ที่ทําให้มีอาการ ปวดหัวเวลาเช้า ๆ ปวดกระบอกตา เมื่อเห็นแดดจะลืมตาไม่ขึ้น เรียกว่า ลมปะกัง, ตะกัง  ก็ว่า.
เดี๋ยวนี้เราเรียกว่า ไมเกรน ค่ะ

ป้าง  : โรคไข้จับสั่นเรื้อรัง    มีตับและม้ามโต มีไข้คลุมเครือเรื้อรัง คือ จุกผาม  ก็เรียก.
ปานดง :ตามตําราแพทย์แผนโบราณว่ามีอาการ เจ็บปวดแล่นไปตามผิวหนัง.
ภคันทลา  : [พะคันทะลา]  โรคริดสีดวงทวารหนัก
มองคร่อ   โรคหลอดลมโป่งพอง มีเสมหะแห้งอยู่ในช่องหลอดลม ทําให้มีอาการไอเรื้อรัง ห้ามผู้ที่เป็นโรคนี้บวชเป็นภิกษุ. (อ. bronchiectasis);


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: Rangson Boontham ที่ 01 ก.พ. 10, 19:38
ขอร่วมด้วยคนครับ เคยอ่านพระประวัติตอนหนึ่งของพระองค์เจ้าหญิงยิ่งเยาวลักษณ์ ซึ่งเดิมผู้คนเข้าใจว่าทรงเป็นพระโรคท้องมานแต่สุดท้ายทรงพระครรภ์ เลยได้อ่านเรื่องโรคท้องมานและดูรูปประกอบก็รู้สึกว่าอืม น่ากลัวมาก  :-\ แต่ปัจจุบันทางการแพทย์ถือว่าไม่ใช่โรคและไม่ค่อยพบแล้ว แต่ก็แหม น่าจัดเข้าทำเนียบ "อาการ" หรือ "ภาวะ" ประหลาดได้นะครับ

ค้นหาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ http://www.doctor.or.th/node/2326



กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 22:19
รูปน่ากลัวมาก

หาชื่อโรคมาเพิ่มเติมค่ะ
โรคนี้ชื่อเพราะ   คชราช     [คดชะราด]   ราวกับพญาช้าง  ที่จริงคือโรคคุดทะราด


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 10, 22:22
ชิวหาสดมภ์    ชื่อโรคลม ตามตําราแพทย์แผนโบราณว่า ทําให้มีอาการลิ้นกระด้างคางแข็ง


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 02 ก.พ. 10, 10:57
        บันทึกว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตด้วยพระโรค ฝีละลอก (บางที่บอกว่า
เพราะทรงโดนผึ้งต่อย)

       "สมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคต ขณะที่พระองค์ทรงยกกองทัพไปตีเมืองอังวะ เมื่อเสด็จถึงเมืองหาง
พระองค์ทรงประชวรเป็นฝีละลอกขึ้นที่พระพักตร์กลายเป็นพิษ เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๑๔๘
พระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา ครองราชย์ได้ ๑๕ ปี"

         ละลอก  น.ระลอก; โรคผิวหนังชนิดหนึ่ง เป็นเม็ดมีหนอง.

          สรุปความได้ว่า เป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนังประเภทฝีหนอง ในสมัยที่ไม่มียาปฏิชีวนะทำให้เชื้อลุกลามถึงเข้ากระแสเลือด
(กลายเป็นพิษ) จนสวรรคตด้วยพระอาการช็อคจากการติดเชื้อ (septic shock)

         หากเป็นจากผึ้งต่อย ก็จะเป็นการสวรรคตจาก hypersensitivity หรือ anaphylactic shock
ซึ่งเป็นปฏิกิริยาแพ้อย่างรุนแรงที่ร่างกายแสดงต่อสิ่งแปลกปลอมที่ได้รับ เกิดความดันโลหิตต่ำ หลอดลมเกร็ง หายใจลำบาก
หากได้รับการรักษาไม่ทันก็ถึงแก่ชีวิต


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 02 ก.พ. 10, 11:00
           เมื่อวานนี้ ๑ ก.พ. ๕๓ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนเรื่อง Decameron และ โรคห่ายุคพระเจ้าอู่ทอง
ใน นสพ.มติชน

              กล่าว(อีก)ว่า "โรคห่า"นั้น ไม่ใช่อหิวาตกโรคอย่างที่เข้าใจ หากเป็นกาฬโรค ที่แพร่ระบาดมาจากเมืองจีน
โดยหนูที่มากับเรือสำเภา

              "ถ้าพิจารณาปรากฏการณ์ของโลกแล้ว จะพบว่าช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 (หรือหลัง พ.ศ. 1800)
เกิดโรคระบาดที่ประเทศจีน แล้วกลายเป็นกาฬโรคระบาดไปทั่วโลก เพราะหนูเป็นพาหะอาศัยไปกับสำเภาบรรทุกสินค้า
เอากาฬโรคไปแพร่ตามเมืองท่าต่างๆ ที่เรือแวะจอดด้วย
               มีหลักฐานว่ากาฬโรคจากเมืองจีนระบาดไปถึงตะวันออกกลางและยุโรป ระหว่าง พ.ศ. 1890-1893
เป็นเหตุให้มีผู้คนล้มตายนับล้านๆคน จนยุโรปเกือบร้าง"       (ศิลปวัฒนธรรม,ปีที่ 8 ฉบับที่ 12, ตุลาคม 2530)

             Decameron (ภาษา Greek แปลว่า "ten days"). เป็นหนังสือรวมเรื่องเล่าประเภท
"ตาเถร-ยายชี" (ตลก-อีโรติก) แต่งโดยนักเขียนชาวอิตาลีนาม Giovanni Boccaccio ใน ปี 1350 ถึง 1353
(พ.ศ. ๑๘๙๓ - ๑๘๙๖) ในช่วงการระบาดของกาฬโรค เพื่อความบันเทิงบรรเทาความโศกจากโรคภัยและความตาย
    
               มีผู้แปลเป็นไทยและให้ชื่อว่า บันเทิงทศวาร (ร้อยเรื่องเล่าสิบวันโดยสุภาพสตรี ๗ นาง และสุภาพบุรุษ ๓ นาย)
พิมพ์ออกจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2460 เป็นฉบับเดียวที่แปลอย่างละเอียด แต่พิมพ์ออกมาเพียงสิ้นปฐมวาร หรือสิบนิยายเท่านั้น
แล้วก็เงียบหายไป ต่อมามีนักเขียนรุ่นใหญ่คือ ยาขอบ เอาไปแปลเป็นเรื่องไทยๆ ให้ชื่อว่า กามเทวะนิยาย

http://nongpangbook.tarad.com/product.detail_268271_th_1608291#

หมายเเหตุ - ข้อมูลจากเว็บข้างต้นบอกว่าแต่งในช่วง 1348 - 1358 แต่จากเว็บสากลอื่นๆ คงเป็น 1350 - 1353

               อาจารย์ คุณวันดี คุณเพ็ญ คุณหลวง และท่านอื่นๆ เคยเห็นเล่มปี พ.ศ. ๒๔๖๐  ไหมครับ และใครเป็นคนแปล


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.พ. 10, 11:06
ดิฉันก็อยากรู้เหมือนกันว่า  บันเทิงทศวาร ฉบับแปลของโรงพิมพ์ไท พิมพ์พ.ศ. 2460   ระบุชื่อผู้แปลไว้หรือเปล่า
เคยอ่านที่ยาขอบแปลไว้  แต่ไม่เคยอ่านของนาคะประทีป


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ก.พ. 10, 11:44
ความจริง ห่า ไม่ใช้ชื่อโรค แต่เป็นชื่อ ผี ชนิดหนึ่ง ที่มีอำนาจทำให้คนตายได้ครั้งละเป็นจำนวนมาก อย่างที่เราเคยได้ยินบ่อย ๆ ว่า ผีห่าซาตาน

ดังนั้น โรคห่า จึงอาจหมายถึงโรคใดก็ได้ที่ทำให้คนตายเป็นจำนวนมาก ในสมัยโบราณก็อาจเป็น กาฬโรค ในสมัยพระเจ้าอู่ทอง อย่างที่สุจิตต์ วงษ์เทศสันนิษฐาน หรืออาจจะเป็นอหิวาตกโรค อย่างสมัยรัชกาลที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๗๓ ครั้งนั้นเรียกว่า ห่าปีระกา มีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก

ในจดหมายเหตุเล่าเหตุการณ์ในสมัยนั้นว่า

คนตายทั้งชายหญิงศพที่เอาไปทิ้งไว้ในป่าช้าและศาลาเดินในวัดสระเกศ วัดบางลำภู (วัดสังเวชวิศยาราม) วัดบพิตรพิมุข วัดปทุมคงคา และวัดอื่นๆ ก่ายกันเหมือนกองฟืน ที่เผาเสียก็มากกว่ามาก ถึงมีศพลอยในแม่น้ำลำคลองเกลื่อนกลาดไปทุกแห่ง จนพระสงฆ์ก็หนีออกจากวัด คฤหัสถ์ก็หนีออกจากบ้าน ถนนหนทางก็ไม่มีคนเดิน ตลาดก็ไม่ได้ออกซื้อขายกัน ต่างคนต่างกินแต่ปลาแห้งพริกกับเกลือเท่านั้น น้ำในแม่น้ำก็กินไม่ได้ด้วยอาเกียรณไปด้วยซากศพ

โรคที่มีโอกาสเป็นโรคห่าที่น่าจับตามองในปัจจุบัน น่าจะได้แก่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่อาจจะกลายพันธุ์จนรุนแรงและระบาดอย่างรวดเร็ว อย่างที่นักวิทยาศาสตร์กลัว ๆ กันอยู่

ระวังตัวกันไว้ให้ดี

 :o




กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ก.พ. 10, 12:49
ไปถามตู้หนังสือของวงการหนังสือเก่ามาค่ะ

ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ไม่มีชื่อผู้แปล
ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง ลง นาคะประทีป   ค่ะ

ต้องไปหารายละเอียดในหนังสือเรื่องโรงพิมพ์ที่คุณลุงสมบัติเขียนไว้
ดึกๆ จะมาตรวจให้อีกทีนะคะ


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 02 ก.พ. 10, 14:31
ขอบคุณครับ

       เคยดูหนังเรื่อง Decameron (1971) ของผกก. ผู้อื้อฉาวชาวอิตาลี  Pasolini
สมัยนั้นก็คงนับว่าแรง แต่ยุคนี้ดูแล้วขำๆ เชยๆ ครับ

       ในละครทีวีเรื่อง สะใภ้จ้าว (ผลงานของคุณสุภาว์ เทวกุลในนามปากกา รจนา) ตอนจบมีนิยาย
เรื่องนี้โผล่มาด้วย ประมาณว่าในคืนแต่งงานคุณชายพระเอกมอบหนังสือเรื่อง Decameron ให้นางเอก  :-[


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 ก.พ. 10, 14:34
อืมม์    มีโรคโบราณแล้ว  ถ้าจะให้ครบกระบวน น่าจะมีขุนนางหมอโบราณมาประกอบด้วย  คงต้องฝากคุณเพ็ญชมพูกับคุณวันดี ช่วยกรุณาหาข้อมูลมานำเสนอเสียแล้ว ;D


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ก.พ. 10, 15:35
ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) กล่าวถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ว่า

ในเดือน ๔ ปีจอนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงพระประชวรพระโรคโบราณมานานแล้ว ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๓ ค่ำ(๖) สิ้นพระชนม์ พระชนมายุได้ ๔๐ พรรษา ๘ เดือน ๑๘ วัน โปรดให้ทำการพระเมรุที่ท้องสนามหลวง เจ้าพนักงานได้จัดการทำพระเมรุอยู่

พระโรคโบราณในที่นี้คงหมายถึงโรคเรื้อรัง ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Chronic disease คือเป็นโรคที่เมื่อเป็นแล้วจะมีอาการหรือต้องรักษาติดต่อกันนาน เป็นแรมเดือนแรมปีหรือตลอดชีวิต

มีโรคโบราณ ก็ต้องมีโรคปัจจุบัน ก็คือ โรคเฉียบพลัน ภาษาอังกฤษว่า Acute disease เป็นโรคที่เกิดขึ้นเร็ว เป็นอยู่เพียงช่วงสั้น ๆ ถ้าไม่ตายก็หาย

อย่างในเรื่อง "ตั้งฮั่น" คือพงศาวดารก่อนหน้าสามก๊ก ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑  พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยองค์การค้าของคุรุสภา ศึกษาภัณฑ์พานิช จัดพิมพ์จำหน่าย  กล่าวถึงพระเจ้าเปงเต้ว่าสิ้นพระชนม์ด้วยโรคปัจจุบัน

ครั้น ณ ปีเถาะเดือนหก อองมังเห็นขุนนางเมืองหลวงราบคาบเป็นปกติแล้ว จึงแต่งหนังสือรับสั่งจูเอ๋งฮ่องเต้ ใจความว่าพระเจ้าเปงเต้ผู้รักษาเมืองหลวง สติปัญญาโฉดเขลาไม่เอาธุรกิจการแผ่นดิน เสวยแต่สุราเมาเหลือกำลังบังเกิดโรคปัจจุบัน อาเจียนพระโลหิตสิ้นพระชนม์แล้ว

โรคโบราณ-โรคปัจจุบัน มีความหมายในสมัยโบราณ ก็ด้วยประการฉะนี้แล

 ;D





กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 03 ก.พ. 10, 10:22
ท้าวแสนปม

          สาส์นของพระชินเสนส่งถึงนางอุษา - พระราชนิพนธ์ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖

     ในลักษณ์นั้นว่านิจจาเอ๋ย        กระไรเลยหัวอกหมกไหม้
อกผ่าวราวสุมรุมไฟ                  ทำไฉนจะพ้นไฟราญ

      เสียแรงเกิดมาเป็นนักรบ         เผ่าพงศ์ทรงภพมหาศาล
สู้กรากกรำลำบากยากนาน            ยอมเป็นปมเป็นปานเปรอะไป

     ได้เห็นแก้วประเสริฐเลิศชม       จะนิยมก้อนกรวดกระไรได้
เคยพบสาวฟ้าสุราลัย                  ฤาจะใฝ่ต้องชาวปัถพิน
     โอ้แก้วแวววับช่างจับจิต          จะใคร่ปลิดปลดมาดังถวิล
โอ้เอื้อมสุดล้าดังฟ้าดิน               จะได้สมดังจินต์ฉันใด


          โรคท้าวแสนปม นี้ทางการแพทย์หมายถึงโรค Neurofibromatosis


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 03 ก.พ. 10, 10:25
          จากบทความ ข้อคิดจากเรื่องท้าวแสนปม โดย พ.ญ.ปรียา กุลละวณิชย์ และ น.พ.ประวิตร พิศาลบุตร
กล่าวถึงโรคนี้ว่า เป็นโรคพันธุกรรมมี ๒ ชนิด

ชนิดที่ 1 เป็นชนิดที่พบบ่อย และมีอาการปรากฏให้เห็น เช่น    ปานสีกาแฟใส่นม, ก้อนเนื้องอกตามผิวหนัง,
               กระที่รักแร้ หรือขาหนีบ, เนื้องอกเส้นประสาทตา หรือม่านตา, มีความผิดปกติของกระดูก  และ
มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
 
ชนิดที่ 2 ไม่มีอาการทางผิวหนัง วินิจฉัยโรคจากการพบเนื้องอกของหูชั้นใน และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้

           โดยทั่วไป โรคท้าวแสนปม น่าจะหมายถึงชนิดแรก ซึ่งอาจพบตุ่มเนื้องอกได้ถึง 9 พันตุ่ม

           ในกรณีของโรคพันธุกรรมที่ถ่ายทอดด้วยลักษณะเด่น เช่น โรคท้าวแสนปมนี้  เมื่อพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรค
ลูกก็จะมีโอกาสเป็นโรค ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรคุมกำเนิด
           ผู้ป่วยโรคทางพันธุกรรมหลายรายปฏิเสธการคุมกำเนิด และโทษว่า ที่เกิดมาผิดปกตินั้นเป็นเรื่องของกรรมเก่า
ในทางพุทธศาสนานั้น พระไตรปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) เคยแสดงความเห็นว่า โรคพันธุกรรมนั้น ไม่ใช่เรื่องกรรมเก่า
และการคุมกำเนิด ในกรณีนี้
          "หากพิจารณาดูแล้วเกิดประโยชน์มากกว่า มันก็กลายเป็นดีไป อย่าไปทำให้คนเขาต้องรับทุกข์โดยใช่เหตุ"

         ดังนั้น การได้รับคำปรึกษาทางพันธุกรรมอย่างถูกต้อง การคุมกำเนิดในรายที่จำเป็น ความเข้าใจว่า โรคพันธุกรรม
ไม่ใช่เรื่องกรรมเก่า และความเข้าใจว่า โรคพันธุกรรมไม่ใช่โรคติดต่อ เพราะไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ จะช่วยให้ไม่เกิดข่าวน่าเศร้าใจ
ดังเช่น พบผู้ป่วยโรคท้าวแสนปม ที่ชาวบ้านรังเกียจ


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 03 ก.พ. 10, 10:27
ท้าวแสนปมเองไม่ได้เป็นโรคท้าวแสนปม

        รัชกาลที่ 6 ทรงสันนิษฐานว่า ท้าวแสนปมน่าจะเป็นพระชินเสน พระราชบิดาของพระเจ้าอู่ทอง ทรงเชื่อว่า
        ที่มีปุ่มปมตามเนื้อตัวนั้น เกิดขึ้นเพราะใช้ฝุ่น และเขม่าทาให้เปรอะเปื้อน และเอารงแต้มให้ดูประหนึ่งว่า
เป็นปุ่มปม นับเป็นอุบาย ลอบดูตัวธิดากษัตริย์ต่างเมืองที่ตนหมายปอง แต่พระราชบิดาของทั้ง 2 ผิดใจกันอยู่

        นับว่า ข้อสันนิษฐานของพระองค์สอดคล้องกับหลักการแพทย์แผนปัจจุบันที่ทราบว่า โรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
แบบลักษณะเด่น ดังนั้นหากท้าวแสนปมเป็นโรคนี้ ก็น่าจะมีตำนานบันทึกว่า ลูกหลานที่สืบต่อมามีปุ่มปมตามร่างกายเช่นกัน


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 03 ก.พ. 10, 10:30
         ภาพยนตร์เรื่อง The Elephant Man (1980) เล่าเรื่องชีวิตขมขื่นของ Joseph Merrick (1862 – 1890)
ผู้ป่วยด้วยโรคนี้ที่มีอาการมากจนรูปร่างผิดปกติกลายเป็น "ตัวประหลาด"

          นักค้นคว้าบางคนเชื่อว่า ความพิการของเขานอกจากจะเป็นผลมาจากโรคท้าวแสนปมแล้วเขายังน่าจะมีอาการของ
Proteus syndrome - โรคที่ผิวหนังและกระดูกเติบโตผิดปกติ - ร่วมด้วย แต่หลักฐานทางการศึกษา DNA ของเขา
ไม่สนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้

          ร้องกรองแต่งโดย Isaac Watts (English hymnwriter 1674- 1748)  ที่ Merrick ใช้ลงท้ายจดหมายของเขา

"Tis true my form is something odd,

But blaming me is blaming God.

Could I create myself anew,

I would not fail in pleasing you.

If I could reach from pole to pole,

Or grasp the ocean with a span,

I would be measured by the soul,

The mind's the standard of the man."


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 10, 10:59
เคยอ่านพบชื่อโรค "ลมปัจจุบัน"  คนป่วยหมดสติ หัวใจหยุดเต้นไปเฉยๆ    น่าจะหมายถึงอาการหัวใจวายเฉียบพลัน
ส่วนโรค "คชราช" อ่านพบว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ เคยประชวรด้วยโรคบุรุษ (หมายถึงกามโรค) และกลายเป็น "คชราช" หรือ "คชราด"  หมายถึงคุดทะราด


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 10, 10:59
โรคกลาก มีราชาศัพท์ว่า ดวงเดือน    ค่ะ


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ก.พ. 10, 15:10
คำถามแรกที่เจ้าพระยาพระคลังถามหมอบรัดเลเมื่อพบกันก็คือ รักษาไข้ทรพิษได้ไหม เพราะสมัยนั้นคนไทยเป็นไข้ทรพิษหรือฝีดาษกันมาก  ไข้ทรพิษเป็นโรคติดต่อที่มีมาแต่โบราณ  ทางภาคใต้เรียกว่า ไข้น้ำ ภาคเหนือเรียกว่า เป็นตุ่มหรือตุ่มสุก เพราะเมื่อเป็นจะมีเม็ดเล็ก ๆ หรือตุ่มเกิดขึ้นดาษตามตัวเต็มไปหมด จึงได้เรียกว่าตุ่มและฝีดาษ  ในพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ หน่อพุทธางกูร และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ประชวรด้วยไข้ทรพิษเสด็จสวรรคตทั้งสองพระองค์

ก่อนที่หมอบรัดเลจะมาถึงเมืองไทย ท่านและภรรยาได้เสียบุตรชายอายุเพียง ๘ ชั่วโมงไป ๑ คน  และเมื่อมาอยู่เมืองไทยแล้วต้องเสียบุตรสาวแฮเรียต (Harriet) อายุเพียง ๘ เดือนด้วยไข้ทรพิษไปอีกคนหนึ่ง ซึ่งหมอก็หมดปัญญาที่จะรักษา  ฉะนั้นการถามของเจ้าพระยาพระคลังและประสบการณ์ที่ผ่านมา จึงทำให้หมอต้องศึกษาเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น

ตามบันทึกของหมอบรัดเลกล่าวว่า วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๗๙ เป็นวันแรกที่ได้เริ่มปลูกฝีกันไข้ทรพิษ โดยวิธีฉีดหนองเชื้อเข้าไปในแขนของเด็ก ๆ ประมาณ ๑๕ คน  ถ้าหากว่าการปลูกฝีเป็นผลสำเร็จดีแล้ว จะเป็นประโยชน์แก่ชาวไทยที่ได้รับความเดือดร้อนจากการออกฝีดาษกันทุก ๆ ปีนั้นมาก  หมอบรัดเลได้ไปหาเจ้าพระยาพระคลัง หารือเรื่องปลูกฝีกันไข้ทรพิษ  เจ้าพระยาพระคลังเห็นชอบด้วย และกล่าวว่าเป็นบุญอย่างยิ่ง จะหาการบุญอย่างอื่นมาเปรียบเทียบได้โดยยาก  ถ้าหมอคิดการปลูกฝีเป็นผลสำเร็จ ท่านยินดีจะอนุญาตให้หมอบรัดเลเรียกเอาขวัญข้าวจากคนที่ได้ปลูกฝีขึ้นแล้วคนละ ๑ บาท

http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=83&page=4



หมอบรัดเลเขียนตำราเล่มหนึ่งชื่อ ตำราปลูกฝีให้กันโรคธระพิศม์ไม่ให้ขึ้นได้

ธระพิศม์ = ทรพิษ = smallpox

http://dl.kids-d.org/bitstream/handle/123456789/2719/nlt-rarebook-artculture-00025.pdf?sequence=1


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 03 ก.พ. 10, 16:59
              โรคโบราณในหน้าประวัติศาสตร์อีกโรคหนึ่งคือ โรคเรื้อน (กุฏฐัง,ขี้ทูด,หูหนาตาโต,หูหนาตาเล่อ - Leprosy)

           เป็นโรคติดต่อจากเชื้อแบคทีเรีย - Mycobacterium leprae (ซึ่งมีเชื้อวัณโรคเป็นสมาชิกร่วม species)
ทำให้เกิดอาการที่ผิวหนัง เส้นประสาทส่วนปลาย และเยื่อบุ - mucosa ของทางเดินหายใจ
        
           โรคเรื้อนนี้อาจมีมาตั้งแต่ 50,000 ปีก่อน ตอนมนุษย์เริ่มอพยพออกจากทวีปแอฟริกา
ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของมนุษย์สู่ทวีปอื่น

               ในตำรา Sushruta Samhita ของอินเดียซึ่งอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล
ได้บันทึกถึงโรคเรื้อนและการรักษาไว้และ เชื่อว่า
               ต่อมาโรคเรื้อนแพร่จากอินเดียโดยกองทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชนำเข้ายุโรป
ประมาณ 400 ปี ก่อนคริสตกาล            
               นอกจากนี้ยังมีการพบกระโหลกและฟันอายุประมาณ 4,000 ปี ที่มีลักษณะของความเสื่อม
ดังที่พบในคนเป็นโรคเรื้อนที่อินเดียด้วย นับเป็นการค้นพบ case โรคเรื้อนที่เก่าแก่ที่สุด          
        
               ในตำนานศากยวงศ์ - โกลิยวงศ์ กล่าวถึงโรคนี้ไว้ ความว่า

             หลังจากที่พระโอรสธิดาของพระเจ้าโอกกากราชออกไปสร้างเมืองใหม่ แล้วเสกสมรสกันเอง
ในหมู่พี่น้องเป็นต้นกำเนิดศากยวงศ์แล้วนั้น
             ต่อมาพระภคินีองค์โต(ซึ่งมิได้เสกสมรสกับน้อง แต่ถูกตั้งให้อยู่ในฐานะพระมารดาของน้องๆ) ประชวร
เป็นโรคเรื้อน บรรดาพระภาดา(น้องชาย) จึงหาที่อยู่ใหม่ให้และม่มีใครกล้าไปติดต่ออีก

             ใกล้กันที่เมืองพาราณสี พระเจ้ารามพระราชาก็ประชวรด้วยโรคเรื้อน จึงตัดสินใจยกราชสมบัติให้
พระราชโอรสองค์โตแล้วเสด็จออกไปอยู่ป่าตามลำพัง พระองค์เสด็จไปพบต้นโกละ(กระเบา) มีโพรงกว้าง
ให้อาศัยอยู่ แล้วต่อมาได้พบกับพระธิดาองค์โต จึงได้ช่วยเหลือและรักษาจนหายจากโรคเรื้อน
             เมื่อพระโอรสองค์โตของพระเจ้ารามทราบว่าพระบิดาหายประชวร จึงอัญเชิญกลับเมือง แต่ทรงปฏิเสธ
และขอให้พระโอรสนำต้นโกละที่ประทับอยู่มาสร้างเมืองให้พระองค์อยู่กับครอบครัวใหม่และตั้งชื่อเมืองว่า เมืองโกละ
             ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองเทวทหะ ส่วนคำว่าโกละ ได้กลายมาเป็นชื่อวงศ์ตระกูล คือ โกลิยวงศ์

กระเบา      ชื่อไม้ต้นขนาดย่อมถึงขนาดใหญ่หลายชนิดในสกุล Hydnocarpus วงศ์ Flacourtiaceae เช่น
              กระเบาใหญ่ หรือ กระเบาน้ำ (H. anthelminthica Pierre ex Laness.)  
              เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ผลกลม เปลือกแข็ง มีขนสีน้ำตาล ขนาดเท่าผลส้มโอขนาดย่อม
              เนื้อในเป็นแป้งสีเหลืองอ่อน ๆ  กินได้ เมล็ดมีน้ำมัน เคยใช้เป็นยาแก้โรคเรื้อน 


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 03 ก.พ. 10, 17:09
        ในไทยเรา คุ้นเคยกับนาม ขุนหลวงขี้เรื้อน ในวิชาประวัติศาสตร์

          เชื่อกันว่าพระองค์ประชวรเป็นโรคเรื้อน แต่บ้างก็ระบุว่า ทรงเป็นกลากเกลื้อน
          หรือ  ไม่ได้เป็นโรคเรื้อนแต่ถูกเรียกเพราะความไม่พอใจในพระองค์

          อีกพระนามของพระองค์ว่า พระเจ้าเอกทัศ(น์) ก็เป็นที่สงสัยกัน บ้างว่าเพราะพระเนตรเสียหนึ่งข้าง
แต่บ้างก็ว่า แปลว่า ทัศ(น์)- ความเห็นที่เป็นหนึ่ง เป็นเลิศ

           ในกัมพูชา บางที่กล่าวว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ขอมผู้ยิ่งยง ทรงเป็นโรคเรื้อนในบั้นปลายพระชนม์ชีพ
พระองค์ได้ทรงทำบุญทำทานสร้าง อโรคยาศาลา ไว้ทั่วอาณาจักร

           และยังปรากฏมี ลานพระเจ้าขี้เรื้อนในนครธม ตรงอาณาบริเวณด้านหน้าซึ่งเคยเป็นที่ตั้งรูปเคารพแกะสลัก
จากหินที่ตามตัวมีตะปุ่มตะป่ำเหมือนคนเป็นโรคเรื้อนอยู่ เชื่อตามๆ กันว่าเป็นรูปอดีตกษัตริย์ของเขมรที่เป็นโรคเรื้อน
เลยเรียกว่าลานพระเจ้าขี้เรื้อน
           บ้างก็ว่า มีตำนานกล่าวถึงกษัตริย์องค์หนึ่งได้หลับนอนกับนางนาค แล้วฆ่านางนาคตาย เลือดของนาคได้กระเซ็น
ถูกพระวรกายทำให้เป็นโรคเรื้อน

           ในภายหลังมีข้อสรุปของนักวิชาการว่า รูปนั้นเป็นรูปของพระยมซึ่งเป็นเทพแห่งความยุติธรรม ที่มาตั้งไว้ตรงนี้
สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสถานที่ตัดสินคดีความ


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 10, 20:12
กำแพงพัง
(อังกฤษ: tropical ulcer หรือ ulcus tropicum) เป็นชื่อโรคผิวหนังชนิดแผลเปื่อยหรือโรคไข้กาฬประเภทหนึ่งซึ่งอาจยังให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายได้ "โรคแผลเปื่อยในประเทศร้อน" หรือ "โรคแผลประเทศร้อน" ก็เรียก

ตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ฉบับของหอพระสมุดวชิรญาณซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจัดพิมพ์เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2497 อธิบายเกี่ยวกับโรค "กำแพงพัง" ว่า

 "เมื่อจะตั้งต้นเป็นขึ้นมานั้น มีหัวผุดขึ้นมาหัวเดียวทำพิษสงเป็นกำลัง ให้จับสะท้านร้อนสะท้านหนาว ให้เชื่อมมัวร้อนในกระหายน้ำ ให้ฟกบวมขึ้น น้ำเหลืองแตกพังออก วางยาไม่หยุด ให้พังออกได้ตาย"
  

ราชบัณฑิตยสถานสันนิษฐานว่า โรคกำแพงพังตามแพทยศาสตร์แผนโบราณนั้นคือโรคที่ปัจจุบันเรียกตามแพทยศาสตร์สมัยใหม่ว่า "โรคแผลเปื่อยในประเทศร้อน" หรือ "โรคแผลประเทศร้อน" ซึ่งพบมากในเขตร้อน เช่น ในทวีปอัฟริกาหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทยด้วย

โรคนี้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2498

อาการ
ตามแพทยศาสตร์สมัยใหม่ โรคกำแพงพังมีอาการตั้งต้นด้วยการเกิดตุ่มเล็ก ๆ คล้ายยุงหรือแมลงกัดต่อย หรืออาจเกิดตุ่มในแผลเดิมของคุดทะราดหรือแผลเรื้อรังก็ได้ จะมีอาการเจ็บปวดที่ตุ่มนั้น และก่อให้เกิดอาการไข้

ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ตุ่มนั้นจะกลายเป็นแผลเน่าและแตกออกอย่างรวดเร็ว

ภายในไม่กี่วันถัดนั้น แผลจะเน่าเปื่อยลึกลงไปถึงกระดูก และแผ่กว้างออกยาวออกทุกทิศทุกทางรอบแผลนั้นจนเป็นอาณาเขตโตหลายนิ้วหลายฟุต โบราณจึงเปรียบว่าเหมือนกับกำแพงที่ผังแผ่ออก

โรคนี้ทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายได้

การเกิดโรค
นายสวัสดิ์ แดงสว่าง ผู้บัญชาการกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ สันนิษฐานว่า โรคนี้ทางแพทยศาสตร์เข้าใจว่าเกิดจากเชื้อโรคชนิด Spirochaeta schaudinni และชนิด Fusiform bacilus

จาก วิกิพีเดีย


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: Rangson Boontham ที่ 03 ก.พ. 10, 20:54
เห็นรูปท้าวแสนปมแล้ว อืม เห็นใจนางอุษา มารศรีจริงๆ  ;D

แต่ติดใจโรคชิวหาสดมภ์นี่สิครับ ว่าทำไมเรียกอย่างนั้น เพราะคำว่าสดมภ์เองก็ไม่ได้หมายถึงอะไรที่คล้ายกับอาการของโรค หรืออดีตเคยมีความหายอย่างนั้นก็ไม่ทราบได้ เปิดพจนานุกรมดูพบว่า สดมภ์ [สะดม] น. เสา, หลัก; (คณิต) ช่องในแนวตั้งสําหรับกรอกรายการ ต่าง ๆ เช่น ตัวเลข สัญลักษณ์สูตร. (ส. สฺตมฺภ; ป. ถมฺภ). รึว่าลิ้นแข็งเหมือนเสา เอาเข้าไป

อาจารย์ จขกท. หรือท่านใดพอทราบก็อนุเคราะห์ชี้ทางสว่างแก่ผมด้วยนะครับ

".....ท่านใดมีตอบขอบคุณเอย....."

 ???


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 10, 21:45
ถ้าแปลบาลีเห็นจะต้องถามคุณหลวงเล็ก  แต่คุณเพ็ญชมพูอาจมีหนังสือ ให้คำอธิบายได้
ส่วนดิฉันได้แต่เดา ว่า ชิวหาสดมภ์  แปลเอาดื้อๆว่า ลิ้นเป็นแท่ง  คือลิ้นแข็งนั่นเอง

ไปเจออีกนิดหน่อย 
อ้างจากจากตำราแพทย์แผนโบราณ สาขาเวชกรรมเล่ม ๓ และตำราการแพทย์ไทยเดิม กล่าวถึงเส้นสุมนาว่าตั้งต้นที่กึ่งกลางท้องเหนือสะดือ 2 นิ้ว แล่นขึ้นไปในทรวงอก ถึงลำคอ ไปสิ้นสุดที่โคนลิ้น เรียกว่า รากเส้นลิ้น ลมประจำเรียกว่า ลมชิวหาสดมภ์
ถ้าเส้นสุมนาพิการ มีผลทำให้พูดไม่ออก เกิดลมเรียกว่า ชิวหาสดมภ์  ลิ้นกระด้าง คางแข็ง  หนักอก หนักใจ เซื่อม มัว  มึนซึม 


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 04 ก.พ. 10, 04:05
ขออนุญาตปาดหน้าคุณหลวงเล็กนะครับ  ;D

เห็นคำแล้วอดไม่ได้ที่จะลองค้นดูจากเว็บ Digital Dictionaries of South India ( http://dsal.uchicago.edu/dictionaries/ )

สรุปคร่าวๆ ได้ว่า ทั้งภาษาสันสกฤต (สฺตมฺภ Stambh / Stambha) และ บาลี (ถมฺภ Thambha) ทั่วไปจะแปลว่า เสา แต่ว่า บางครั้งก็แปลว่า แข็ง ได้เหมือนกัน

ในพจนานุกรมของ APTE (สันสกฤต อังกฤษ) ให้คำแปลไว้หลายแบบ แต่ไม่มีที่แปลว่าแข็งตรงๆ

स्तम्बः   stambḥ / สฺตมฺภ ะ

1 A clump of grass
2 A sheaf of corn
3 A cluster, clump or bunch (in general)
4 A bush, thicket
5 A shrub or plant having no decided stem
6 The post of which an elephant is tied
7 A post; column
8 Stupefaction, insensibility; (probably for स्तभ in these two senses)
9 A mountain

ส่วนพจนานุกรมของ McDONELL (สันสกฤต - อังกฤษ) ให้ความหมายไว้ว่า
m. prop, post, pillar, column, (slender) stem (also fig. of arms; V., C.; ord. mg.); strengthening, support (rare); rigidness, fixedness; stupefaction, paralysis; stoppage, obstruction, suppression (also by magical means); pride, arrogance: -ka, a. stopping, arresting; m. N. of an attendant of Siva.

strengthening การทำให้แข็งแรง
rigidness ความเข้มงวด ความแข็งที่ทนต่อการบิดงอ

ความหมายทั้งสองนี้ น่าจะตรงกับ สดมภ์ ที่ใช้กับชื่อโรคครับ

พจนานุกรม บาลี-อังกฤษ ของ สมาคมบาลีปกรณ์ ก็ให้ความหมายทำนองเดียวกัน
ถมฺภ / Thambha
1. a pillar, a post
2. (fig.) in all meanings of thaddha (ถทฺธ = แข็ง แน่น), applied to selfishness, obduracy, hypocrisy & deceit; viz. immobility, hardness, stupor, obstinacy


พจนานุกรม Tamil lexicon ให้ความหมายของคำนี้ ที่เป็นรากในคำทมิฬว่า


ตมฺปิ- tampi- จาก สันสกฤต: stambh. (สฺตมฺภ ะ) intr. To become immovable, stiff, stunned;

ดังนั้น ก็พอสรุปได้ว่า โรคชิวหาสดมภ์ แปลว่า ว่า โรคลิ้นแข็ง ครับ


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 04 ก.พ. 10, 05:26
คำว่า ทรพิษ (daravisฺa) ผมลองหาดูในพจนานุกรมแล้ว ไม่เจอครับ เข้าใจว่า แพทย์แผนโบราณของสุวรรณภูมิอาจผูกขึ้นเอง  ???

ซึ่งอาจสมาสมาจากคำว่า ทร (dara = ความน่ากลัว ความเจ็บปวด เทียบ ละติน Terror) กับ พิษ (visฺa = พิษ เทียบ ละติน Virus) โดยอาจแปลได้ว่า พิษไข้อันน่ากลัว

คำสันสกฤตเค้าใช้ชื่อเพราะนะครับ คือ "ศีตลา" ( शीतला ) แต่อย่าเผลอเอาไปตั้งชื่อนะครับ อิอิ  ;D (ชื่อจริงศีตลา ชื่อเล่นฝีดาษ หรือ น้องดาษ อิอิ)

พจนานุกรมฮินดี เก็บไว้ ๓ คำ คือ
๑. เจจก (चेचक chechak) (nf) small-pox.
๒. พรี มาตา (बड़ी माता bari: ma:ta:) small-pox
๓. ศีตลา (शीतला shi:tala:) (nf) small-pox

ในวิกิพีเดีย ใช้ เจจก (หรือ เจจัก) เป็นคำหลักครับ

ส่วนเนปาลเรียก เนปาลี: พิผร बिफर [ biphara ] , pr. biphar, NOM. smallpox


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 04 ก.พ. 10, 08:01
อ้างถึง
ถ้าแปลบาลีเห็นจะต้องถามคุณหลวงเล็ก 

อ้างถึง
ขออนุญาตปาดหน้าคุณหลวงเล็กนะครับ 

คุณ Hotacunus (สงสัยเป็นชาวชมพูทวีปมาเองเลย) ค้นหามาอธิบายได้ละเอียดมาก ขอบคุณมาก   ผมคงต้องไปหาข้อมูลอื่นมานำเสนอแทนแล้วล่ะครับ ;D


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: Rangson Boontham ที่ 04 ก.พ. 10, 20:04
ขอบคุณทุกท่านที่ให้ความรู้เพิ่มเติมครับ คลายสงสัยแล้ว

คิดๆ ดูทุกภาษานี่มีความเชื่อมโยงกันจริงๆ

ได้อ่านที่มาที่ไปของคำศัพท์ต่างๆ ทำให้อดภูมิใจที่เมืองไทยเรามีภาษาเป็นของตนเองไม่ได้ (ถึงแม้จะได้รับอิทธิพลจากภาษาอื่นบ้างก็ตาม  ;D) ทำให้คำแต่ละคำมีความหมาย มีประวัติศาสตร์เป็นของตนเอง  ;)


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 10, 20:25
เทพีปักษี
โรคเกิดแก่เด็ก ตําราแพทย์แผนโบราณว่าทําให้มีอาการ ท้องขึ้น มือเท้าเย็น ศีรษะร้อน.

ท้องขึ้นน่าจะเกี่ยวกับลมในท้อง  ท้องอืด ท้องเฟ้อ   ศีรษะร้อน เป็นไข้หรือเปล่า?
ชื่อโรคนี้จนปัญญาจะเดาจริงๆ ว่ามันเกี่ยวกับอาการโรคตรงไหน


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 05 ก.พ. 10, 20:15
สวัสดีครับ คุณหลวงเล็ก ผมก็ว่าตามดิกนั่นแหละครับ อิอิ  ;D

สมัยนี้ดีมาก เวลาค้นศัพท์อะไรก็หาจากเว็บไซด์ได้ ถ้าเป็นเมื่อ สิบปีที่แล้ว ต้องไปหาที่ห้องสมุด (ซึ่งดิกบางภาษาก็ใช่ว่าจะมี) แล้วก็ต้องมานั่งไล่คำอีก

กว่าจะหาได้คงใช้เวลาครึ่งวัน เดี๋ยวนี้นั่งหน้าคอม พิมพ์ค้นไปเลย หาไปหามา ก็แค่ชั่วโมง สองชั่วโมง  8)


พวกชื่อโรค ชื่อสูตรยา โบราณนี้ ผมก็เคยผ่านตามาบ้างเหมือนกัน ตั้งชื่อแปลกๆ ไม่เกี่ยวกับอาการก็มาก ไม่รู้เหมือนกันว่า เอาเกณฑ์อะไรมาตั้งชื่อ  ???

ผมอ่านมานานแล้ว จำไม่ได้ว่าจากหนังสืออะไร คุ้นๆ ว่า ทางแพทย์แผนโบราณ จะจำแนกโรคออกเป็นสี่แนว คือ เป็นความผิดปกติของธาตุทั้งสี่ (ดิน น้ำ ลม ไฟ)

รายละเอียดจำไมได้เสียแล้ว  :-[

อันนี้ผมเดาตามอาการนะครับ
พวกโรคทางผิวหนัง คงเกี่ยวกับธาตุดิน
พวกไข้ที่ทำให้ตัวร้อน ตัวเย็น เกี่ยวกับธาตุไฟ
พวกอาการอักเสบ การขับถ่าย เกี่ยวกับธาตุน้ำ
พวกอาการท้องอืด หน้ามืด เวียนหัว น่าจะเกี่ยวกับธาตุลม (อย่างเช่นคำว่า เป็นลม)

-----------------------
ชื่อโรค เทพีปักษี นี่ก็แปลก ถ้าแปลตรงๆ ก็แปลได้ว่า เทพธิดาแห่งนก หรือ เทพธิดามีปีก เราก็ไม่ทราบเสียด้วยว่า ชื่อนี้ตกทอดมาจาก การคัดลอกผิด ออกเสียงเพี้ยน หรือเปล่า  ???


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.พ. 10, 20:28
เจอชื่อโรคอีกหลายโรค ให้คุณ Ho  ตรวจสอบภาษาได้อีกหลายชั่วโมงค่ะ

ขยุ้มตีนหมา : น. ชื่อโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มีพิษอักเสบออกเป็นเม็ดผื่นดวง ๆ.
เขม่าซาง : น. ชื่อโรคชนิดหนึ่งตามตําราแพทย์แผนโบราณ.
บัณฑุโรค : (แบบ) น. โรคผอมเหลือง,
นันทปักษี : น. ชื่อโรคเด็กอย่างหนึ่ง (ไม่บอกอาการว่าเป็นยังไง)
ปรเมหะ : [ปะระเมหะ] น. ชื่อคัมภีร์หมอว่าด้วยโรคเกิดแต่นํ้าเบา (น้ำปัสสาวะ).
มานทะลุน : น. โรคที่มีอาการบวมคล้ายโรคมาน แต่บวมทั่วทั้งตัว.


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 05 ก.พ. 10, 22:57
จากชื่อโรคที่ อ.เทาชมพู ให้มา ทำให้ผมสงสัยว่า คำว่า "ปักษี" มันเกี่ยวอะไรกับ "โรคเด็ก" หรือเปล่า ก็เลยไปค้นมา พบว่า ชื่อโรคที่ใช้คำว่า "ปักษี" นี้ มีเขียนไว้ใน "คัมภีร์พระปฐมจินดา"

รายละเอียดโดยย่อเกี่ยวกับคัมภีร์นี้ ทางเว็บไซต์ของ พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทย ให้ไว้ดังนี้ครับ
  
คัมภีร์ประถมจินดา คัมภีร์นี้ กล่าวถึงสัตว์ประเภทชลามพุชะลงมาปฏิสนธิเป็นมนุษย์ในครรภ์ มารดา จนกระทั่งคลอดออกมาเป็นชายหรือหญิง ซึ่งมีข้อแตกต่างกันอยู่ ๒ ประการคือ ต่อมเลือดและต่อมน้ำนม โดยการปฏิสนธินั้นจะต้องเกิดจากบิดา มารดาที่มีสุขภาพสมบูรณ์พร้อมด้วยธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทำการปฏิสนธิกัน

นอกจากนั้น พระคัมภีร์ประถมจินดายังกล่าวถึงโรคภัยต่างๆที่จะเกิดแก่ทารก เช่น ปักษี โรคซาง โรคตาน เป็นต้น รวมทั้งลักษณะของหญิงเบญจกัลยาณี ๔ จำพวกที่จะให้น้ำนมที่ดีมีผลต่อสุขภาพของเด็ก และลักษณะของน้ำนมพิการ ที่ส่งผลให้ทารกเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ
ที่มา: http://ittm.dtam.moph.go.th/Service/WebMuseum/ThaiIntell/page4_1.html

ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับ โรคที่มีคำว่า ปักษี ทางสมาคมแพทย์แผนไทย แห่งประเทศไทย ได้ยกคำอธิบายของ "ตำรายาแผนโบราณ หลวงพ่อสี ไอยรารัตน์" ไว้ดังนี้ครับ

ลักษณะปักษี ตามพระคัมภีร์ปฐมจินดาความว่า ทารกใดที่คลอดออกจากครรภ์มารดา ย่อมจะต้องถูกสพั้นพันธ์ปักษี ๔ ตน กระทำโทษให้มีอาการท้องขึ้นเชื่อมมัวหลังร้อน ถอนใจสำรอกออกทางปากและจมูก เหล่านี้เป็นต้น นับแต่เวลาคลอดตลอดเวลา ๑๑ เดือน

๑. นนทปักษี  เข้าตามลำไส้ปนไปกับเสมหะ มีอาการให้ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน มักเป็นแต่เวลาเช้าตรู่ จนถึงเย็นสิ้นแสงพระอาทิตย์
๒. เทพีปักษี  มักจะเป็นแก่ทารกที่คลอดมีวัยได้ ๓ เดือน จะเป็นแต่เวลาบ่ายเย็น สร่างเวลาเช้าก่อนสว่าง มีอาการตาช้อนกลับ ท้องขึ้น เท้ามือเย็น หวาดสะดุ้งตกใจผวาบ่อยๆ
๓. กาฬปักษี มักจะเป็นแก่ทารกที่มีวัยได้ ๕ เดือน มักเป็นเวลาค่ำตอนจะนอน สร่างตอนเช้าพระอาทิตย์ขึ้น มักนอนผวาร้องไห้ ท้องขึ้นไส้พอง อาเจียนออกทางปากและจมูก
๔. อนุนนท์ปักษี มักเป็นแก่ทารกตั้งแต่ ๑๑ เดือนลงมา จับตั้งแต่เที่ยง สร่างเวลาสองยาม มีอาการไม่กินข้าว กินนม อาการกินแต่น้ำ ตัวร้อนดิ้นรนนอนไม่ได้ เนื่องจากเกิดที่ตับ

ที่มา: http://www.utts.or.th/doc_001.php?a_id=22

ตรงนี้ อาจพอสรุปได้ว่า "ปักษี" ในที่นี้ เป็นชื่อของกลุ่มอาการของโรคเด็ก ที่เกี่ยวกับระบบการย่อยอาหาร ในวัยทารก ๑๑ เดือนแรก เป็นหลัก (หลัง ๑๑ เดือน เรียก อนุนนท์ปักษี)

จากวลีว่า "ย่อมจะต้องถูกสพั้นพันธ์ปักษี ๔ ตน" คำว่า "สพั้น" พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า "[สะ] น. ทองเหลือง, ทองแดง. (ข. สฺพาน่)."

ตรงนี้ ผมอ่านแล้วก็ยัง งงๆ คำว่า สพั้นพันธ์ แต่คงพอจับความได้ว่า เป็นเรื่องปกติ ที่เด็กทารกจะถูก "วิญญาณ" (ปักษี) ๔ ชนิดคุกคาม

ดังนั้น "ปักษี" ในชื่อโรคเด็กนี้ น่าจะหมายถึง วิญญาณผีนก ที่คุกคามสุขภาพของทารก ก็คงได้    

จากชื่อ "นนท" (นนท์ = ความยินดี), "เทพี" (เทวี, หญิง), "กาฬ" (ดำ), "อนุ" (น้อย) + "นนท" น่าจะเป็นศัพท์ที่ผูกขึ้นให้ตรงกับ กาลของโรค

กลางวัน (ดวงอาทิตย์ขึ้น ถึง ดวงอาทิตย์ตก) ใช้ นนทปักษี อาจเทียบกับ แสงแดด = เบิกบาน
ตอนเย็น ถึง ย่ำรุ่ง ใช้ เทพีปักษี .... ไม่รู้เกี่ยวอะไรกับคำว่า นางอุษาเทวี หรือเปล่า  ???
ตอนค่ำ ถึง เช้า ใช้ กาฬปักษี ... อาจเทียบกับ กาฬ (ดำ, มืด) = กลางคืน ...................... อีกา ?
เที่ยงวัน ถึง เที่ยงคืน ... ใช้ อนุนนทปักษี อาจเทียบว่า "อนุ" (น้อย) = ครึ่ง, อนุนนทปักษี คือ ครึ่งหนึ่งของกลางวัน กับ ครึ่งหนึ่งของกลางคืน

หรือ ชื่อต่างๆ อาจแปลมาจาก ชื่อนกไทยๆ เพื่อสร้างเป็นชื่อสำหรับโรค ???

นนทปักษี - นกอะไรซักอย่าง ... ที่ฟังเสียงแล้วเบิกบาน ร้องกันตอนเช้าๆ ... นกกระจิบ นกกระจาบ  ???
เทพีปักษี - นกอะไรซักอย่าง ... ที่ มีชื่อขึ้นด้วย "อี" (เ้ทียบ เทพี คือ นาง)
กาฬปักษี - น่าจะตรงกับ อีกา
อนุปักษี - ไม่น่าเกี่ยวกับชื่อนก น่าจะอิงกับ นนทปักษีมากกว่า หรือ ถ้าเกี่ยวกับชื่อนก ก็น่าจะเป็น นกกลุ่มเดียวกับ "นนทปักษี"

ตอนนี้ก็ "เดา" ได้แค่นี้ครับ  ;D


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 05 ก.พ. 10, 23:27
ขยุ้มตีนหมา : น. ชื่อโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มีพิษอักเสบออกเป็นเม็ดผื่นดวง ๆ.

ผมเข้าใจว่า คงตั้งชื่อโรคตามลักษณะของผื่น เป็นดวงๆ ดูคล้ายใบ "ขยุ้มตีนหมา" ซึ่งก็น่าจะเพี้ยน หรือ แผลง มาจาก "อุ้งตีนหมา" เพราะใบของมันดูเหมือนอุ้งเท้าของสุนัข


ภาพใบขยุ้มตีนหมา จาก คุณ Alakazum:  http://www.siamensis.org/board/10394.html (กลุ่มอนุรักษ์ปลาไทย และสิ่งแวดล้อม)

ภาพอุ้งตีนหมา จาก http://online-rsr.xobix.ch/fr/rsr.html?siteSect=10007&sid=5318751&cKey=1102315435000



กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 05 ก.พ. 10, 23:35
ปรเมหะ (प्रमेह) ว่าตาม wiki ก็คือโกโนเรียครับ

น่าสนใจที่ลองค้นดูแล้วพบลิงก์เกียวกับอายุรเวทจำนวนมากพูดถึง ปรเมหะ ร่วมกับ มธุเมหะ (मधुमेह) ซึ่งหมายถึงเบาหวานครับ (prameha and madhumeha)


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 05 ก.พ. 10, 23:38
บัณฑุโรค (पंदुरोग) อันนี้เป็นโรคโลหิตจาง หรือพวกผอมแห้งแรงน้อย


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 05 ก.พ. 10, 23:41
ลักษณะของโรคขยุ้มตีนหมา น่าจะดูคล้ายๆ กับรูปของผู้ป่วยโรคงูหวัด ดังภาพนี้ครับ

นพ. ประวิตร พิศาลบุตร มีความเห็นว่า โรคขยุ้มตีนหมา กับ งูสวัด น่าจะเป็นกลุ่มอาการเดียวกัน ตามบทความนี้ครับ http://www.elib-online.com/doctors3/skin_pr01.html

ผมว่า แพทย์แผนโบราณนี้ ตั้งชื่อโรคไว้อย่างละเอียดมาก โดยสังเกตจากรูปแบบทางกายภาพของโรค (รูปร่างของผื่น) หรือ เวลาที่เป็น (เช่นโรคกลุ่มปักษี)

ทำให้บางครั้งโรคโบราณบางอย่าง ยากที่จะเทียบกันแบบเป๊ะๆ กับโรคปัจจุบัน เช่น ปัจจุบันเรียกไข้หวัด แต่โบราณท่านอาจจำแนกเป็น หวัดโน้น หวัดนี่ ตามเวลา และอาการ



กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 06 ก.พ. 10, 05:41
ขอบคุณคุณ CrazyHOrse ครับ ที่เพิ่มเติมศัพท์  ;D

พอดีผมไปเจอแหล่งข้อมูลต้นฉบับของตำราแพทย์แผนไทย ซึ่งมีให้บริการอยู่หลายคัมภีร์ ที่เว็บไซต์ "ตำหรับยา ตำราไทย"

จัดทำโดย หน่วยปฏิบัติการวิจัยเคมีสารสนเทศ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ตำราน่าอ่าน: http://thrai.sci.ku.ac.th/node/587

ในชุดแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ มีคำอธิบายไว้ดังนี้ครับ

แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ เป็นหนังสือที่กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำและจัดพิมพ์ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ โดยได้รวบรวมคัมภีร์แพทย์ ครั้ง ร.ศ.๑๒๖ และ ร.ศ.๑๒๘ ซึ่งได้ตรวจสอบรับรองโดยคณะแพทย์หลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จำนวน ๑๔ คัมภีร์ เผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไป ได้แก่

๑. คัมภีร์ฉันทศาสตร์ กล่าวถึงจรรยาของแพทย์ทับ ๘ ประการ-โรคทราง-สมุฏฐานแห่งไข้-อติสารมรนญาณสูตร
๒. พระคัมภีร์ปฐมจินดาร์ กล่าวถึงพรหมปุโรหิตแรกปฐมกาล-การปฏิสนธิแห่งทารก-กำเนิดโลหิตระดูสตรีครรภ์ทวานกำเนิดโรคกุมารและยารักษาฯ
๓. พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์ กล่าวถึงกองธาตุพิการตามฤดูฯ
๔. พระคัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัต)
๕. พระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย กล่าวถึงการค้นหาต้นเหตุการเกิดของโรคฯ
๖. พระคัมภีร์วรโยคสาร กล่าวถึงนิมิตรร้ายดีฯ
๗. พระคัมภีร์มหาโชตรัต กล่าวถึงโรคระดูสตรีฯ
๘. พระคัมภีร์ชวดาร กล่าวถึงพิษอาหารทำให้ลมโลหิตกำเริบฯ
๙. พระคัมภีร์โรคนิทาน กล่าวถึงกองธาตุทั้งสี่มีเกิน-หย่อนหรือพิการฯ
๑๐. พระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์ กล่าวถึงกองธาตุทั้งสี่ โรคโลหิตระดูสตรีฯ
๑๑. พระภัมภีร์ธาตุบรรจบ กล่าวถึงโรคอุจจาระธาตุฯ
๑๒. พระคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา กล่าวถึงโรคปัสสาวะมุตกิตมุตฆาตฯ
๑๓. พระคัมภีร์ตักกะศิลา กล่าวถึงบรรดาไข้พิษทั้งปวงฯ
๑๔. พระคัมภีร์ไกษย กล่าวถึงโรคกระษัย ๒๖ ประการฯ




ในส่วนที่เกี่ยวกับ "ปักษี" นั้น ในพระคัมภีร์ปฐมจินดาร์ บรรยายว่า

สิทธิการิยะ ลำดับนี้จะกล่าวด้วยปีศาจกระทำโทษ แก่กุมารทั้งหลาย มีลักษณะ ๔ ประการ คือ

นนทปักษีประการ ๑ กาลปักษีประการ ๑ อสุนนทปักษีประการ ๑ เทพีปักษีประการ ๑

(๑) อันว่าลักษณะนนทปักษีกระทำโทษแก่กุมารเมื่ออยู่ในเรือนไฟนั้น เข้าในไส้เปนเสมหะให้เจ็บทั้งตัว และให้รากสำรอกไหลออกมาทางจมูก

(๒) อันว่าลักษณะกาลปักษีทำโทษนั้น เมื่อมารดาออกไฟแล้วได้ ๕ เดือน ปีศาจออกนอกไส้ให้ไส้เปนขดลั่นดังอยู่จ้อๆ แลให้ร้องไห้ เปนครู่แล้วให้ทอดใจใหญ่ร้องไห้เมื่อหลับ

(๓) อันว่าลักษณะอสุนนทปักษีกระทำโทษแก่กุมารนั้น ให้อยากน้ำให้นอนมิหลับกินเข้ามิได้ ให้ตัวร้อนปิศาจอยู่ตับ

(๔) อันว่าลักษณะเทพีปักษีกระทำโทษแก่กุมารนั้นให้ง่าเท้า ง่ามือ เมื่อออกจากเรือนไฟแล้วได้ ๓ เดือน ๔ เดือนก็ดี ย่อมให้เหลือกตาซ้ายขวา แลช้อนตากระหม่อมพร่อง อันว่านนทปักษีเข้าในไส้นั้นออกโดยทวารหนัก อันว่ากาลปักษีกระทำโทษนั้นออกโดยทางปัสสาวะ อันว่าอสุนนทปักษีนั้นเข้าโดยจมูกออกทางจักษุ อันว่าเทพปักษีนั้นเข้าโดยนมออกโดยเท้า

ถ้าจะแก้นนทปักษีนั้น ท่านให้เอาใบหนาด ๑ มหาหิงคุ์ ๑ ประสมกันเข้าบดทาตัวกุมารนั้น นนทปักษีกลัว

ถ้าจะแก้กาลปักษี ท่านให้เอาสาบแร้ง ๑ สาบกา ๑ เขาควาย ๑ ประสมกันเข้าเผารม กาลปักษีกลัว

ถ้าจะแก้อสุนนทปักษี ท่านให้เอาขนนก ๑ ขนกา ๑ ประสมกันเข้าเผา อสุนนทปักษีกลัว

ถ้าจะแก้เทพีปักษี ท่านให้เอาพลับพลึง ๑ สุพรรณถัน ๑ ประสมกันเข้าเผา เทพีปักษีกลัว

จะเห็นว่า ต้นฉบับใช้ "อสุนนทปักษี" ต่างจากที่ผมเอามาอธิบายในครั้งแรก (อนุนนทปักษี) กับ "กาฬปักษี" เป็น "กาลปักษี"

จากข้อมูลในคัมภีร์ ก็บ่งชี้ไว้ชัดเจนว่า โรคในทารกเหล่านี้ เกิดจากวิญญาณร้าย ที่เรียกว่า "ปักษี" หรือ ผมเรียกว่า "ผีนก"

แต่ทำไมต้องเป็น "นก" อันนี้ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน คงเป็นความเชื่ออะไรซักอย่างระหว่าง นก กับ เด็กทารก  ???


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 06 ก.พ. 10, 05:57
ส่วนนามานุกรมของหนังสือ

แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาทางการแพทย์ และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ๒๕๔๙

อธิบายคำว่า "ปักษี" ดังนี้ครับ


ปักษี โรคชนิดหนึ่ง เกิดเป็นแก่เด็กตั้งแต่แรกคลอดจากครรภ์มารดาจนถึงอายุ ๑๑ เดือน และเมื่ออายุถึง ๑ ขวบก็จะพ้นจากโทษของโรคปักษีหรือปีศาจก็เรียก อาการของโรคเกิดเป็นพิษไข้จับแล้วมีเวลาสร่าง มี ๔ ชนิดคือ (๑)นนทปักษี ไข้จับเวลาเช้า สร่างเวลาค่ำ (๒)กาฬปักษี ไข้ขับเวลาค่ำ สร่างเวลาเช้ามืด (๓)อสุนนทปักษี ไข้จับเวลาเที่ยงวัน สร่างเวลาเที่ยงคืน (๔)เทพปักษี ไข้จับเวลาเย็น สร่างเวลาเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ดูเพิ่มเติมที่ แม่ซื้อ

ส่วน "แม่ซื้อ" ก็อธิบายไว้ว่า
แม่ซื้อ มีความหมาย ๒ อย่าง คือ
(๑)เทวดาหรือผีที่ประจำอยู่กับเด็กทารก ตามหลักฐานที่ปรากฏในจารึกวัดโพธิ์ระบุว่า แม่ซื้อมีอยู่ประจำวันทั้ง ๗ โดยมีที่สถิตอยู่ในเมืองบน (เมืองสวรรค์) เมืองล่าง (เมืองดินหรือพื้นโลก) และกลางหน (กลางทาง) ในคัมภีร์ปฐมจินดาร์กล่าวว่าแม่ซื้อแต่ละตนมีชื่อและที่อยู่ดังนี้ ๑.แม่ซื้อประจำเด็กเกิดวันอาทิตย์ชื่อวิจิตรนาวรรณมีถิ่นอาศัยอยู่บนจอมปลวก ๒.แม่ซื้อประจำเด็กเกิดวันจันทร์ชื่อวรรณานงคราญมีถิ่นอาศัยอยู่ที่บ่อน้ำ ๓.แม่ซื้อประจำเด็กเกิดวันอังคารชื่อนางยักษ์บริสุทธิ์มีถิ่นอาศัยอยู่ที่ศาลเทพารักษ์ ๔.แม่ซื้อประจำเด็กเกิดวันพุธชื่อนางสามลทรรศน์มีถิ่นอาศัยอยู่ที่ต้นพระศรีมหาโพธิ ๕.แม่ซื้อประจำเด็กเกิดวันพฤหัสบดีชื่อนางกาโลทุกข์มีถิ่นอาศัยอยู่ที่สระน้ำหรือบ่อน้ำใหญ่ ๖.แม่ซื้อประจำเด็กเกิดวันศุกร์ชื่อนางยักษ์นงเยาว์มีถิ่นอาศัยอยู่ที่ต้นไทรใหญ่ ๗.แม่ซื้อประจำเด็กเกิดวันเสาร์ชื่อนางเอกาไลยมีถิ่นอาศัยอยู่ที่ศาลพระภูมิ

(๒)โรคชนิดหนึ่ง เป็นแก่เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุได้ ๑๑ เดือน เมื่ออายุได้ ๑ ขวบก็จะพ้นจากโทษของโรคแม่ซื้อ โรคที่เกิดจากแม่ซื้อมี ๔ อย่างคือ ๑.ปักษีหรือปีศาจ ๒.ลำบองราหู ๓.อัคคมุขี ๔.สะพั้น รายละเอียดของโรคดูที่ชื่อโรค

มาถึงตรงนี้ ผมเห็นอะไรแปลกๆ ระหว่างคำว่า ปีศาจ - ปักษี คือ เป็นคำผวน หรือเปล่า  ??? คือ เป็นที่รู้กันว่า ธรรมเีนียมไทยไม่เอ่ยชื่อที่ไม่เป็นมงคลตรงๆ และนิยมเลี่ยงไปใช้คำอื่น

ปีศาจ - ปาจศี แผลงเป็น ปักษี .....  ::) ....... ถึงว่า ไม่เห็นจะเกี่ยวอะไรกับ "นก" เลยแม้แต่น้อย !




กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 06 ก.พ. 10, 06:19
ส่วน "ปรเมหะ" ใน นามานุกรม สะกดไว้ว่า "ประเมหะ" มีคำอธิบายไว้ดังนี้ครับ

ประเมหะ ชื่อโรคชนิดหนึ่ง อาการของโรคเกิดจากน้ำเบาเป็นพิษ มีก้อนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ดูเพิ่มเติมที่ นิ่ว

ไปดูต่อที่ "นิ่ว" ก็พบว่า

นิ่ว ชื่อโรคชนิดหนึ่ง มีอาการขัดเบาหรือปัสสาวะไม่ออก บางทีปัสสาวะออกมาขุ่นดังน้ำข้าว หรือน้ำดินสอพองเหมือนน้ำหนอง ทำให้เจ็บปวดทรมานมาก บางทีปัสสาวะออกมาเป็นหยดเป็นปรวด เป็นหนอง เป็นต้น

ปรวด คือ หนองที่เป็นก้อนแข็งหรือเป็นเม็ดอยู่ในเนื้อ

สรุปโดยอาการคือ ตามแพทย์แผนไทย นิยามคำว่า ปรเมหะ คือ หนองที่เกิดขึ้นในท่อปัสสาวะ อันมีสาเหตุมาจากโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

ผมเข้าใจว่า ปรเมหะ คือ อาการแบบหนึ่ง ของโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ คือ เป็นระยะที่ท่อปัสสาวะอุดตัน และอักเสบ จนเกิดเป็นหนอง ไหลปนมากับน้ำปัสสาวะ

ส่วนทางอินเดียนั้น ที่แปลตรงกับ โกโนเรีย คือ หนองใน

เห็นที คำว่า ปรเมหะ แต่เดิมคงเป็นคำกลางๆ ที่ใช้เรียก อาการที่มีหนองไหลออกมาจากอวัยวะเพศ ...


พบมาว่า นิ่วในไต ก็เป็นสาเหตุให้ปัสสาวะเป็นหนองเหมือนกันครับ

Q: ผู้ป่วยที่มีนิ่วในไต จะมีอาการอย่างไร?   
A: ผู้ป่วยที่มีนิ่วในไตอาจไม่มีอาการอะไรเลยก็ได้ ถ้าหากมีอาการต่อไปนี้ก็ให้สงสัยว่าเป็นโรคไต หรือมีนิ่วในไต ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเอวปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะเป็นเลือด หรือ สีน้ำล้างเนื้อ หากมีการอักเสบ ติดเชื้อร่วมด้วยก็จะมีไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะเป็นหนองกลิ่นเหม็นคาว หากมีการอุดตันร่วมด้วยก็จะมีก้อนในท้องส่วนบนซ้ายหรือขวาที่มีนิ่วอยู่
หากมีนิ่วที่ไต 2 ข้างและประสิทธิภาพในการทำงานเสื่อมไป ผู้ป่วยก็จะมีอาการ ปัสสาวะน้อยลง บวม โลหิตจาง คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังแห้งคล้ำและคัน ผู้ป่วยอาจจะซึม หรือ ไม่รู้สึกตัว ถ้ามีของเสียค้างอยู่ในกระแสเลือดมาก

ที่มา: http://www.thaiclinic.com/urinary_stone.html


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 06 ก.พ. 10, 10:45
คำว่า ปักษี ในชื่อโรคสารพัดปักษี น่าจะมีที่มาตรงอาการของโรคที่จะจับแล้วสร่างขึ้นลงเป็นราย "ปักษ" นะครับ


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 07 ก.พ. 10, 06:55
เรื่องคำว่า "ปักษ์" นี้ ตอนแรกผมก็คิดเหมือนกันครับ แต่พอไปตรวจดูศัพท์สันสกฤตแล้ว แปลว่า ปีก หรือ ปีกของลูกศร (คือ ขนนกที่ติดอยู่กับลูกศร) หรือ ด้านข้าง, สีข้าง, ฝ่าย ก็ได้

แปลว่า ครึ่งหนึ่งก็ได้ ใน ความหมายที่แปลว่า ครึ่งหนึ่ง ได้นำมาใช้กับเดือนทางจันทรคติ โดยนับแบ่งเป็น ครึ่งละสิบสี่วัน

ราชบัณฑิตยฯ ให้ความหมายดังนี้ครับ

ปักษ-, ปักษ์   [ปักสะ-, ปัก] น. ฝ่าย, ข้าง, เช่น ปักษ์ใต้, กึ่งของเดือนจันทรคติ
คือ เดือนหนึ่งมี ๒ ปักษ์ ข้างขึ้นเรียก ศุกลปักษ์ (แปลว่า ฝ่ายขาว
หมายเอาแสงเดือนสว่าง) ข้างแรมเรียก กาฬปักษ์ (แปลว่า ฝ่ายดํา
หมายเอาเดือนมืด), ครึ่งเดือน เช่น หนังสือรายปักษ์. (ส.; ป. ปกฺข).

ผมได้อ่านในพระคัมภีร์ปฐมจินดาร์ ในส่วนที่กล่าวถึง ปักษี แล้ว ไม่มีส่วนไหนส่อให้เห็นถึง อาการของโรคที่ขึ้นลงตาม รายปักษ์ (ข้างขึ้น ข้างแรม) ครับ มีแต่ระยะเป็นเดือนๆ

และเนื้อความนั้น บรรยายค่อนข้างชัดเจนว่า "ปักษี" เป็นปีศาจจำพวกหนึ่ง เหมือนแม่ซื้อ

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตของคุณ CrazyHOrse ก็น่าสนใจตรงที่ ถ้าผู้ตั้งชื่อโรค เทียบเอา ปักษ์ = เดือน แล้วคัดลอกผิดจาก ปักษ์ เป็น ปักษี แล้ว ก็อาจเป็นได้ครับ


ผมค้นต่อพบว่าโรคปักษีนี้ มีกล่าวถึงอยู่ใน "คัมภีร์ฉันทศาสตร์" ด้วยครับ ซึ่งในนี้ ให้รายละเอียดไว้ชัดเจนว่าเป็นปีศาจ

เช่น
อนึ่งปักษีชื่อกาฬ ออกไฟนานห้าเดือน ปีศาจเลื่อนเข้าอยู่ นอกไส้ดูอนาจ นอนหลับหวาดร้องไห้ ถอนใจใหญ่ไส้พอง รากออกช่องนาสา เมื่อมันมาทางปาก ทางไปจากทวารเบา ย่ำค่ำเข้ายามนอน ออกทินกรไขศรี เสียงสัตว์มีรบกัน ไม้ไล่ครั่นครื้นหัก ตกใจทักแต่เช้า ยินสัตว์เร้าร้องไป สาบแร้งใส่สาบกา เผาเขาผ้าเมาะรม หยูกยาพรมเร่งขับ

ที่มาของคำว่า "ปักษี" อาจสืบต่อมาจากทางตำรายาอินเดียก็ได้ (ตอนนี้ ยังไม่รู้ว่าจะค้นต่อยังไง  ;D) ซึ่งถ้าใช่ ก็คงมาจาก ความเชื่อพื้นเมืองแขกเกี่ยวกับ นก และ เด็กทารก มั้งครับ






กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 07 ก.พ. 10, 07:54
ผมไปเว็บขายหนังสือเกี่ยวกับอายุเวทเด็กของอินเดียใต้ ชื่อ "อาโรคฺย รกฺษา กลฺปทรุม ะ" http://www.exoticindiaart.com/book/details/IDI832/

มีอยู่บทหนึ่ง ชื่อว่า 41   Diagnosis and treatment of paksi pida

ไม่ทราบเหมือนกันว่า ปักษีเดียวกันหรือเปล่า เอาคำนี้ไปหาเว็บอื่นๆ ก็ไม่มี  :-\

paksi pida น่าจะตรงกับคำไทยว่า ปักษี บีฑา ( บีฑา = เบียดเบียน, บีบคั้น, รบกวน, เจ็บปวด)



กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 07 ก.พ. 10, 18:11
เพิ่งไปค้นดูคำทมิฬ พบว่า ชื่อ "ปักษี" ในตำรายาไทยนี้ น่าจะมาจากอินเดีย ซึ่งอาจมาจากสายอินเดียใต้ (ไม่ใช่คำผวน  :-[ อิอิ)

பக்ஷிதோஷம் pakṣi-tōṣam
A disease of children believed to be caused by the falling of the shadow of birds in the evening, of five kinds, viz., vara-p-puḷ-tōṣam, nīr-p-puḷ-tōṣam, tūṅku-puḷ-tōṣam, anāmattu-p-puḷ-tōṣam kāṇā-p-puḷ-tōṣam

ปกฺษิ-โตษมฺ (ปักษิ-โตษัม) โรคชนิดหนึ่งของเด็ก เชื่อว่าเกิดจากเงาของนกที่ตกถูกตัวเด็ก ในตอนเย็นตอนค่ำ
แบ่งเป็น ๕ ประเภทคือ วรัปปุฬโตษัม นีร์ปปุฬโตษัม ตูณกุปุฬโตษัม อนามัตตุปปุฬโตษัม และ กาณาปปุฬโตษัม

ดูจากชื่ออาการ ห้า ประเภท ก็ยังไม่ตรงกับของไทย

นอกจากนี้ ยังมีชื่อโรคเด็กอื่นๆ ที่เกิดจากความเชื่อเรื่องเงานก
ความเชื่อของอินเดียใต้เกี่ยวกับ เงานกเป็นพาหนะนำโรคมาสู่เด็ก มีอีกหลายโรคครับ
อันติปปุฏโฏฏัม - โรคเด็กอ่อน เกิดจาก การนำเด็กออกไปนอกบ้านตอนหัวค่ำ ซึ่งเป็นเวลาที่นกบินกลับรัง
ปัฏจิโตษัม - โรคเด็ก เกิดจากเงาของนกในตอนหัวค่ำ
วีงกุปุฬโตษัม - โรคเด็ก เกิดจาก การนำเด็กออกนอกบ้านในตอนหัวค่ำ เที่ยงคืน หรือ ยามวิกาล แล้วนกบินข้ามหัวเด็ก
เวงกัณณัน - โรคเด็ก เกิดจากฤทธิ์ของตาปีศาจ ของนก
กันนิปปรไว - โรคเด็ก เกิดจากเงาของนก ที่เคลื่อนมาโดนเด็กในตอนหัวค่ำ
ปุฬฬีฏุ - โรคเด็ก เกิดจากฤทธิ์ของนกปีศาจ
เวณปุฬ - โรคเด็ก เกิดจากฤทธิ์ของนกปีศาจ  
ที่มา: Tamil Lexicon ( http://dsal.uchicago.edu/dictionaries/tamil-lex/ )



กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 08 ก.พ. 10, 10:08
อะโห   ไม่ได้ดูหลายวัน   ลุกลามไปไกลมาก   ตอบต่อกระทู้ไม่ถูกเลย :o


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 08 ก.พ. 10, 17:20
          อ่านเรื่องโรคโบราณแล้ว มองจากยุคปัจจุบันกลับไปเห็นสภาวะสุขภาพคนสมัยนั้นเปราะบางอย่างยิ่ง

            สภาพความขาดแคลนไปหมด - ตั้งแต่ ความรู้ ความเข้าใจในโรค (สาเหตุ กลไก การดำเนินโรค ฯ)
การวินิจฉัย การตวจทางห้องปฏิบัติการ วิธีการรักษา ยาที่มีประสิทธิภาพ การจัดการป้องกัน และบุคคลากรทางการ
แพทย์พยาบาล
            - ทำให้เมื่อเกิดโรคโดยเฉพาะโรคระบาด (เช่น โรคห่า - อหิวา กาฬโรค หรือไข้หวัดใหญ่)
ผู้คนจึงพากันล้มตายไปเป็นครึ่งค่อนเมือง - ทวีป เหลือแต่ผู้ที่เข้มแข็งเป็นแล้วหาย หรือที่โชคดีไม่ได้สัมผัสโรค
เป็นผู้รอดจากการคัดเลือกของธรรมชาติ - natural selection  

            หลายโรคโบราณ ฟังชื่อ ประกอบคำอธิบายที่ไม่กระจ่าง ไม่พอเพียงแล้ว ทำให้นึกได้ยากว่าน่าจะตรง
กับโรคอะไรในปัจจุบัน  


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 ก.พ. 10, 17:26
ถ้าพิจารณาที่คัมภีร์อายุรเวทซึ่งจะกล่าวถึงปรเมหะร่วมกับมธุเมหะ

ปรเมหะ น่าจะหมายถึงโรคปัสสาวะขัด ซึ่งตรงกันข้ามกับ มธุเมหะ ที่เป็นโรคปัสสาวะมากนะครับ


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.พ. 10, 17:33
ไม่นึกว่าจะต่อกระทู้กันมาได้ยาวขนาดนี้
เอาชื่อโรคมาฝากอีกโรคค่ะ 
ปรวด : [ปะหฺรวด]  เนื้อที่เป็นโรค มีลักษณะเป็นก้อนแข็งอยู่ใต้ผิวหนัง
ซิสต์ หรือมะเร็ง หรือเปล่าเอ่ย?


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 08 ก.พ. 10, 18:09
(มีการแก้ไขข้อความไปบ้าง จากเดิมที่พิมพ์ไว้จนจบแล้ว)
    
         กรณี ปรเมหะ   สรุปความจากความเห็นข้างบนว่า เป็นโรคหนองใน หรือ โรคติดเชื้อจากนิ่วทางเดินปัสสาวะ

           และล่าสุดคุณม้ากล่าวว่าหมายถึง โรค(อาการ) ปัสสาวะขัด ซึ่งตรงกันข้ามกับ มธุเมหะ ที่เป็นโรคปัสสาวะมาก
                
                     เพราะเหตุคือ ข้อมูลไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถบอกได้แน่นอนว่าตรงกับโรคใดในปัจจุบัน

อาการปัสสาวะขัด-ลำบาก-ปวด (โดยคร่าวๆ) มาจาก ๒ ภาวะหลัก(สาเหตุย่อยอื่นๆ ขอข้าม) คือ

                      การอักเสบติดเชื้อ หรือการตีบกั้น ของทางเดินปัสสาวะ

           ยกตัวอย่างชัดๆ ก็คือ โรคหนองใน(ติดเชื้อ) มีอาการปัสสาวะขัด-ปวดมาก และเป็นหนอง ประวัติอาการสั้น
           ส่วนโรคต่อมลูกหมากโต(ตีบกั้น) ก็มีอาการปัสสาวะขัด-ลำบาก-ปวดเบ่ง แต่จะไม่มีหนอง ยกเว้นว่ามีการติดเชื้อ
ประวัติอาการเป็นมานานกว่า

                          เพราะปัสสาวะขัด-ลำบากทำให้ปัสสาวะออกน้อย

ว่า ถึงอาการปัสสาวะออกน้อยที่ตรงกันข้ามกับปัสสาวะมาก แบ่ง แบบคร่าวๆ ได้เป็นสองกรณีเช่นกัน
คือ
           ปัสสาวะออกมาให้เห็นน้อย คือ ปัสสาวะจริงไม่น้อยแต่ปัสสาวะไม่ออกเพราะปวด-ขัด หรือเพราะมีการตีบกั้นทางออก
(ซึ่งก็ได้แก่ สองโรคที่ทำให้ปัสสาวะขัดดังกล่าวข้างต้น) กับ

           ปัสสาวะออกน้อย เพราะปัสสวาะน้อยจริง ซึ่งเป็นกรณีของภาวะไตวาย

           ต่อจากนี้จะขอจับประเด็นแค่ หนองในและ การติดเชื้อจากนิ่ว ตามที่ได้พิมพ์ไว้เดิม นะครับ        


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 08 ก.พ. 10, 18:15
              การซักประวัติ, การตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการจะเป็นตัวช่วยแยกแยะและวินิจฉัยได้
ตัวอย่าง เช่น  
 
             มีประวัติเพศสัมพันธ์(ที่มีความเสี่ยง) ประมาณ 2 - 7 วัน ก่อนเกิดอาการ - โรคติดต่อ(ติดเชื้อ)ทางเพศสัมพันธ์
             มีอาการปวดมากเมื่อเริ่มปัสสาวะและปวดมากในท่อปัสสาวะขณะปัสสาวะ - การอักเสบในท่อปัสสาวะ
                         (หากเป็นการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ อาการปวดมักเป็นตอนปัสสาวะสุด)
             นำหนองไปย้อมสีแล้วส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์พบเชื้อแบคทีเรียที่มีลักษณะเข้าได้กับโรคหนองใน
             จึงได้การวินิจฉัย - โรคหนองใน(Gonorrhea)

             หากเป็นนิ่วแล้วมีปัสสาวะเป็นหนองก็เพราะนิ่วนั้นทำให้เกิดการติดเชื้อ ผู้ป่วยอาจมีอาการของนิ่วมาก่อน เช่น
ปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อ มีปวดอย่างรุนแรง(ลักษณาการตามตำแหน่งของนิ่วนั้น) ต่อมาจึงมีไข้ แล้วปัสสาวะมีหนอง และ
เมื่อทำการตรวจพิเศษ เช่น เอ็กซ์เรย์, อัลตราซาวนด์ก็จะช่วยหาตำแหน่งที่อยู่ของนิ่วนั้น

              เมื่อวินิจฉัยสำเร็จแล้วจึงให้การรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสม

หลากหลายก้อนนิ่ว(ผ่าซีก)จากทางเดินปัสสาวะ


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 08 ก.พ. 10, 18:24
           พูดถึงยาฆ่าเชื้อแล้ว ในกระทู้โบราณอย่างนี้คงต้องกล่าวถึงยาในตำนาน -
ยาปฏิชีวนะ (antibiotic) นามว่า Penicillin
 
              antibiotic ( ภาษา Greek โบราณ – anti = "against" และ bios = "life") คือ
สารที่ยับยั้งการงอกงามหรือฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เป็นสมาชิกหนึ่งในกลุ่มยา antimicrobial (ยาที่จัดการกับจุลชีพ -
microorganism ที่รวมถึงเชื้อราและพยาธิด้วย)

            Alexander Fleming (1881 –  1955) ค้นพบ Penicillin ในปีค.ศ. 1928 (พ.ศ. ๒๔๗๑)
จากเชื้อรา (fungus)  Penicillium notatum
            ผ่านไปจนถึงปี 1939 (พ.ศ. ๒๔๘๒) Howard Florey และ Ernst Chain จึงได้สะกัดตัวยาออกมา
และในปี 1940 (พ.ศ. ๒๔๘๓) Florey ได้นำไปทดลองใช้ในหนูก่อนที่จะนำมาใช้ในผู้ป่วยเป็นฝีรุนแรงที่ใบหน้า
เมื่อเดือนก.พ. 1941 น่าเสียดายที่หลังจากอาการผู้ป่วยดีขึ้นแล้วแต่ยาหมด อาการจึงกลับทรุดลงจนเสียชีวิตในที่สุด
              เนื่องจากภาวะสงครามโลกในยามนั้น Florey และพรรคพวกโดยการสนับสนุนของมูลนิธิ Rockefeller
จึงข้ามมหานทีมาอเมริกาเพื่อหาบริษัทจัดการผลิตยาในปี 1941 (พ.ศ. ๒๔๘๔)

Alexander Fleming


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 08 ก.พ. 10, 18:33
              ขบวนการค้นคว้าขั้นตอนการผลิต สะกัดยา และทดลอง ต้องข้องเกี่ยวกับหลายสาขาวิชาชีพ-หน่วยงาน     
ในที่สุดโรงงานของบริษัท Merck ได้ผลิตเพนิซิลลินออกมาเป็นจำนวนมากพอ แล้วได้นำไปใช้ในผู้ป่วยรายแรก
นามว่า Mrs. Ann Miller และอีก 10 ราย ในปี 1942 (พ.ศ. ๒๔๘๕)

            บริษัทยาต่างมุ่งค้นคว้าเพื่อการผลิตเป็นอุตสาหกรรม พยายามหาวิธีการเอาอกเอาใจใส่ดูแลเพื่อให้เชื้อรา
ผลิตตัวยาออกมามากมายแล้วจึงหากรรมวิธีสะกัดตัวยาเพื่อนำมาทำให้บริสุทธิ์ให้ได้เป็นจำนวนมากที่สุด
       
                ถึงเดือนมันาคม 1944 (พ.ศ. ๒๔๘๗) บริษัท Pfizer ก็เปิดโรงงานผลิตยาเพื่อพาณิชย์เป็นแห่งแรก
ในขณะเดียวกันกับที่ได้มีการนำยาไปใช้กับผู้ป่วยทั้งทหารและพลเรือนแล้วได้ผลน่าพอใจในโรคติดเชื้อหลายชนิด 

                ช่วงแรกของการผลิตนั้นยังเป็นไปอย่างจำกัด แล้วจึงขยับพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นปี 1944 ในที่สุดรัฐบาล
อเมริกันได้ยกเลิกการจำกัดการจำหน่ายยา และในเดือนมีนาคม ปี 1945 (พ.ศ. ๒๔๘๘) ตัวยาก็กระจายไปถึงยังร้านขายยา
ตรงหัวมุม(ในอเมริกา)

             ส่วนการมาถึงของยาเพนิซิลลินในบ้านเรานั้น ขอเชิญอาจารย์ และผู้รู้ให้ข้อมูลด้วยครับ


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 มี.ค. 20, 08:42
แลอดีตแล้วคิดถึงปัจจุบัน

เมื่อร้อยปีก่อน พ.ศ.๒๔๖๑ ไข้หวัดใหญ่สเปน (https://th.m.wikipedia.org/wiki/ไข้หวัดใหญ่สเปน) ระบาดระบาดไปทั่วโลก ขณะนั้นคนไทยมีประมาณ ๘ ล้านกว่าคน  ติดหวัดไป  ๒ ล้านกว่าคน  คนตายไปแปดหมื่นกว่าคน คิดเป็น ๑% ของคนไทยทั้งประเทศเวลานั้น

อีกร้อยปีต่อมาเกิดโรคอุบัติใหม่ โควิด-๑๙ ระบาดไปทั่วโลก หวังว่าวิทยาการปัจจุบันจะคุ้มภัยให้ทุกท่านอยู่รอดปลอดภัย  ;D

https://www.facebook.com/300173653990409/posts/497402750934164/?d=n


กระทู้: โรคโบราณของไทย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 มี.ค. 20, 09:46
ภายหลัง "ไข้หวัดใหญ่สเปน" ระบาดครั้งใหญ่ ชาวไทยตื่นตัวต่อโรคไข้หวัดใหญ่กันมาก มีการผลิตยาแก้โรคไข้หวัดออกมาจำหน่าย โดยระบุสรรพคุณพาดพิงถึงไข้หวัดใหญ่ครั้งที่เพิ่งผ่านมา

ดังโฆษณายาเม็ดดำตรากิเลนของห้างโอสถสถาน เต๊กเฮ้งหยูในหนังสือพิมพ์ เกราะเหล็ก ประจำวันอาทิตย์ที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ที่โปรยถ้อยคำว่าสามารถใช้แก้ไข้ทุกชนิด ทั้ง "ได้เคยมีชื่อเสียงในการปราบไข้หวัดที่จังหวัดเพ็ชร์บุรีสงบ" และ "ได้มีชื่อเสียงในการปราบไข้หวัดใหญ่คราวที่แล้ว" และโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ธงไทย ประจำวันอาทิตย์ที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๙ ว่า "เปนยาแก้ไขอย่างศักดิ์สิทธิ์ เคยมีชื่อเสียงในการปราบไข้ที่เปนกันทั่วทั้งจังหวัดเพ็ชร์บุรี และคราวไข้หวัดใหญ่ที่เปนกันทั่วประเทศ"

https://thematter.co/thinkers/disease-in-thai-history/106084