เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: วรวิชญ warawijy@thaimail.com ที่ 04 เม.ย. 01, 20:45



กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: วรวิชญ warawijy@thaimail.com ที่ 04 เม.ย. 01, 20:45
จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เดิมก็เคยเป็นจมื่นไวยวรนาถ ส่วนจมื่นคนอื่นๆ จำไม่ได้ว่าภายหลังมียศอะไร คุณเทาชมพูช่วยตอบให้ทราบด้วยครับ


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 01, 10:27
มีขุนนางใหญ่หลายคน  เคยเป็นจมื่นไวยวรนารถมาก่อนสมัยหนุ่ม     จำไม่ได้ครบว่ามีใครบ้าง
นึกออกตอนนี้คนเดียว คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์  ผู้สำเร็จราชการในต้นรัชกาลที่ ๕ เคยเป็นจมื่นไวยฯ ในรัชกาลที่ ๓


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: ส้มหวาน ที่ 31 มี.ค. 01, 17:42
เออ พูดถึงจอมพล ดิฉันสงสัยมานานแล้วค่ะ ตำแหน่งจอมพลคือตำแหน่งอะไรคะเดี่ยวนี้ไม่เห็นมีเลย แบบว่าไม่สันทัดเรื่องยศต่างๆเลยค่ะแต่ชอบสงสัยอยู่เรื่อยรบกวนถามนะคะ


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 01, 19:35
เป็นตำแหน่งสูงสุดของกองทัพ เหนือว่าพลเอกค่ะ
มีทั้งกองทัพบก อากาศ และเรือ
กองทัพบกเรียกจอมพล  กองทีพอากาศ เรียกจอมพลอากาศ  กองทัพเรือ เรียกจอมพลเรือ
แต่ว่าไม่มีอีกแล้ว นับแต่รุ่นสุดท้ายคือจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 01 เม.ย. 01, 00:26
ภาษาฝรั่งเรียก Field Marshal สำหรับจอมพล (ทบ.) Admiral of the Fleet สำหรับจอมพลเรือ ส่วน ทอ. ผมไม่แน่ใจ  
ตัวยศจอมพลเอง ไม่มีใครครองยศจอมพลแล้วครับ ตั้งแต่ท่านจอมพลรุ่นสุดท้ายพ้นราชการไป แต่ตำแหน่งทางทหารระดับสูงบางตำแหน่งที่สำคัญและที่เดี๋ยวนี้ใช้พลเอกดำรงตำแหน่งนั้น เป็นตำแหน่งที่เห็นทางทหารเขาเรียกว่า "อัตราจอมพล" ผมไม่แน่ใจว่าจะหมายถึงอัตราขั้นเงินเดือนหรือไม่
ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะทำนองเดียวกับพันเอกพิเศษ ซึ่งที่จริงไม่มีขั้นยศนี้อยู่ พันเอก (พิเศษ) ก็คือพันเอก แต่ขั้นเงินเดือนสูงกว่าพันเอกธรรมดา
มีทหารอยู่แถวๆ นี้ไหมครับ ขอความรู้ครับ
เครื่องยศจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ เข้าใจว่ากองทัพทั้งสามเคยน้อมเกล้าฯ ถวายในหลวงเมื่อนานมาแล้ว เป็นฉลองพระองค์เครื่องแบบระดับจอมพล ในฐานะที่ทรงเป็นองค์จอมทัพไทย แต่ผมเข้าใจว่าจะมีเครื่องหมายอะไรพิเศษบางอย่างเพิ่มเติมในฉลองพระองค์ให้พิเศษขึ้นกว่าจอมพลปกติด้วย ที่ทราบแน่ๆ ก็คือ คทาจอมทัพคู่พระหัตถ์ที่ทางราชการทหารจัดสร้างถวายนั้น พิเศษกว่าคทาจอมพลธรรมดาที่เคยมีมากัน ดูเหมือนจะเห็นข่าวกองทัพไทยเพิ่งสร้างคทาจอมทัพใหม่ถวายไปแทนของเดิม เมื่อปีกาญจนาภิเษกนี่เอง


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 01 เม.ย. 01, 16:12
กองทัพอากาศไทยใช้คำเรียกยศจอมพลอากาศว่า Marshal of the Royal Thai Air Force ครับ
เข้าใจว่า ยศระดับจอมพล (5 ดาว) ปกติกองทัพอเมริกันก็ไม่มีเหมือนกัน ถ้าจะมีก็ในกรณีพิเศษ เช่นในสถานการณ์สงคราม


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: ส้มหวาน ที่ 01 เม.ย. 01, 16:59
ขอบคุณค่ะ แต่ เอ  การเปลี่ยนการใช้ยศทางทหารจาก (เจ้าพระยา, พระยา ฯลฯ) มาเป็นแบบสากล(จอมพล, พลเอก ฯลฯ) นั้นเริ่มในรัชกาลใดคะ


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 01, 17:34
ในตอนแรกเขาก็มีทั้งยศ (พลเอก พลโท พันเอก ร้อยเอกฯ)และบรรดาศักดิ์ ขุน หลวง พระ พระยา ควบกันไปตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ นะคะ
สำหรับข้าราชการทหาร
ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี ๒๔๗๕ ก็อย่างพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
แต่บรรดาศักดิ์ ระงับไปไม่มีการตั้งอีกเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองค่ะ  ยศทางทหารยังมีต่อมาจนทุกวันนี้


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: แจ้ง ใบตอง ที่ 02 เม.ย. 01, 00:02
ผมเดาว่า เหตุที่ใช้บรรดาศักดิ์กับยศทางทหารควบคู่กันไปนั้น  เพื่อเป็นการ
ป้องกันมิให้เกิดความเลื่อมล้ำกันระหว่างทหารที่ใช้บรรดาศักดิ์ กับทหารที่ใช้ยศ
ผมว่าถ้าไม่ใช้ควบคู่กันไปเกิดเรื่องยุ่งแน่ๆ เดี๋ยวก็เถียงกันว่าใครใหญ่กว่าใคร
หลวงท่านคงกลัวปัญหาตรงจุดนี้มั้งครับ เลยตั้งให้มันควบคู่กันไปเสียเลย
แต่มีเหตุผลหนึ่งที่ไม่ต้องเดา คือ เป็นการจูงใจให้คนเข้ามาเป็นทหาร
(โดยเฉพาะทหารที่ต้องขับเครื่องบิน) เนื่องจาก ในสมัยก่อนวิทยาการเกี่ยวกับ
การบินยังไม่เจริญ เรดาห์หรือเครื่องมือที่ทันสมัยก็ยังไม่มี  การขับเครื่องบิน
จึงเป็นเรื่องที่น่าหวาดเสียวพอสมควร คนจึงไม่นิยมเป็นทหารอากาศ
(ผมไม่แน่ใจว่าสมัยนั้นมีกองทัพอากาศแล้วหรือไม่) หลวงท่านจึงจูงใจด้วยการตั้งบรรดาศักดิ์
ควบคู่กับยศไปด้วย   ทหารคนไหนมียศชั้นสัญญาบัตร เช่น ร.ต., ร.ท. ก็ได้เป็นขุน
สูงกว่านั้น ก็เป็นหลวง โก้อย่าบอกใครเชียว และผมคิดว่า การที่ทหารเหล่าอื่นๆใช้บรรดาศักดิ์
ควบคู่ไปกับยศ ก็น่าจะมาจากเหตุผลอันเดียวกัน คือเป็นการจูงใจให้คนเข้ามาเป็นทหาร(ตำรวจ)
พอหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี ๒๔๘๔ จอมพล ป. ก็ได้ยกเลิกบรรดาศักดิ์
รวมทั้งยศของพลเรือนด้วยคืออำมาตย์ตรี-โท-เอก ด้วย คนที่เป็นทหารหรือตำรวจจึง
มีแต่ยศเพียงอย่างเดียว ส่วนคนที่เป็นอยู่แล้วก็ให้เป็นต่อไปได้

ผมสงสัยว่า ทำไมทหาร (หรือตำรวจ) เวลาใส่เครื่องแบบเต็มยศ จึงมีเหรียญตรา สายสะพาย
พะรุงพะรังไปหมด โดยเฉพาะชั้นนายพล ข้าราชการกระทรวงอื่นๆไม่เห็นมีมากแบบนั้น
(เห็นมาจากรูปถ่ายจากการสมัคร ส.ส. ส.ว. ทั้งหลาย) ไม่ทราบว่ามีมากันตั้งแต่สมัยไหน

มีเรื่องที่ผมสงสัยมานานแล้ว อีกเรื่องหนึ่ง ปะเหมาะได้เข้ามาอ่านกระทู้นี้พอดี  จึงอยากจะเรียนถาม
ผู้รู้ในเรือนไทยให้กระจ่างไปเสียเลยว่า "เสวก" นี่เป็นยศหรือเปล่าครับ ถ้าเป็น เป็นยศทางทหาร
หรือพลเรือน ทำหน้าที่อะไร   ผมเคยไปตามแผงหนังสือเก่า เจอคำนี้บ่อยๆโดยเฉพาะในหนังสือ
อนุสรณ์ต่างๆ  แล้วก็ไม่ทราบว่าคำนี้ต้องอ่าน สะ-เหวก หรือ เส-วก ครับ (คลับคล้ายคลับคลาว่าจะอ่าน เส-วก)

ขอบพระคุณล่วงหน้าครับผม


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 เม.ย. 01, 00:56
ก่อนจะรู้ว่าเขาอ่าน เส-วก ดิฉันก็อ่านสะเหวกมาเสียเยอะแล้ว    เพราะอ่านตามคำ เศวต
เป็นยศนำหน้าข้าราชการสังกัดราชสำนักค่ะ
เคยได้ยินเสวกตรี  เสวกโท   เสวกเอก  
แต่จำไม่ได้ว่ามีมหาเสวกตรี  มหาเสวกโท มหาเสวกเอก อย่างพวกอำมาตย์หรือเปล่า
น่าจะมีนะคะ


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 02 เม.ย. 01, 01:53
มีครับ
ขออภัยท่านเจ้าของกระทู้ด้วย เรื่องหลุดจากท่านจมื่นไวยวรนารถ ซึ่งต่อมาเป็นจอมพล เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ไปเป็นเรื่องการจัดลำดับชั้นยศตำแหน่งและบรรดาศักดิ์ในราชการไทยแล้ว ที่จริงเรื่องนี้ตั้งได้อีกกระทู้นะครับ เพราะมีวิวัฒนาการมาหลายสมัยตั้งแต่ระบบเดิมของเราเอง หัวหมู่หัวพัน หมื่น ขุน ฯลฯ มาระบบอำมาตย์ตรี โท เอก และระบบยศทางทหารที่เรารับฝรั่งมา มาระบบข้าราชการชั้นจัตวา ตรี โท เอก พิเศษ มาระบบซีเดี๋ยวนี้
ผมเข้าใจว่า ที่คุณเทาชมพูพูดถึง คือ อำมาตย์ตรี/โท/เอก ฯลฯ นั้นจะเป็นระบบที่ตั้งขึ้นมาในรัชสมัย ร.6 และเข้าใจว่าเป็นการจัดระบบบริหารบุคลากรของของราชการฝ่ายพลเรือน ผมคิดว่าไม่น่าจะเกี่ยวกับทหาร เพราะทางทหารมีระบบยศทหารกับตำแหน่งบังคับบัญชา (ผู้บังคับหมู่ ผู้บังคับหมวด ผู้บังคับกอง ... เรื่อยไป) อยู่แล้ว
ระบบราชการตอนนั้นแบ่งเป็น 9 ระดับ ครับ รองอำมาตย์ตรี รองอำมาตย์โท รองอำมาตย์เอก อำมาตย์ตรี/โท/เอก มหาอำมาตย์ตรี/โท/เอก คิดง่ายๆ ว่าเทียบได้กับระบบซีของ กพ. สมัยนี้ก็ได้ แต่สมัยนี้มี 11 ขั้น
นั่นคือข้าราชการพลเรือนทั่วไป ถ้าเป็นข้าราชสำนัก ก็ใช้ รองเสวกตรี ....ฯลฯ เรื่อยไป ครับ
เข้าใจว่ามีตำแหน่งพิเศษอยู่ท่านหนึ่งซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นพืเศษ คือ มหาอำมาตย์นายก มีท่านเดียว เป็นใครก็ลืมเสียแล้ว จะใช่เจ้าพระยายมราชหรือไม่ก็ไม่แน่ใจ
นี่เป็นตำแหน่งในราชการ เหมือนซีนะครับ ส่วนบรรดาศักดิ์เป็นเรื่องแยกต่างหาก และบรรดาศักดิ์นั้นอาจได้มาโดยไม่เกี่ยวกับทางราชการก็ได้ เช่น ร.6 ทรงตั้งพ่อค้าที่บริจาคเงินบำรุงราชการให้เป็นหลวงเป็นขุนอะไรก็แล้วแต่ เทียบคล้ายๆ สมัยนี้ได้เหมือนกันว่า ราชการคุณมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่เช้าชาม 6 จนท. เย็นชาม 7 อะไรก็เป็นเรื่องของระดับ แต่ความรับผิดชอบ เป็นอีกเรื่อง เช่นเป็น ผอ. กอง รองอธิบดี ฯลฯ เป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่ก็มีความสัมพันธ์เทียบกันได้ เช่น ซี 8 เป็น ผอ. ซี 9 เป็นรองอธิบดี เป็นต้น ซ้อนลงไปบนระบบทั้ง 2 นี้ยังมีเรื่องของเครื่องราชอิสริยาภรณ์อีก คือ บรรดาศักดิ์ไม่มีแล้ว แต่ราชการให้เหรียญให้ตราข้าราชการเป็น ตม. ตช. และ ฯลฯ เป็นอีกระบบหนึ่งซ้อนอยู่
เหรียญทางราชการทหารมีแยะครับ คุณแจ้งลองหาหนังสือเกี่ยวกับเครื่องราชฯ อ่านดูสิครับ ไปสงครามทีก็มีเหรียญรุ่นหนึ่ง รุ่นสงครามเกาหลี เหรียญเกี่ยวกับราชการเขตภายใน เหรียญพิทักษ์เสรีชน ฯลฯ เหรียญกล้าหาญ (เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร) ฯลฯ ในขณะที่ราชการพลเรือน ปกติก็คงมีแต่ 2 ตระกูล ช้างเผือก กับมงกุฏไทยเป็นหลัก อาจจะมีอย่างอื่นบ้างแต่น้อย
นอกจากนั้น "เฟอร์นิเจอร์" ประดับหน้าอกทหารตามที่ทหารเขาเรียกกัน ไม่ใช่เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปทั้งหมดนะครับ ทหารเขามีเหรียญมีเข็มมีเครื่องหมายของเขาเองอีกด้วย เช่น เสือคาบดาบสำหรับคนที่ผ่านหลักสูตรจู่โจม เข็มยิงปืนแม่น เข็มยิงปืนดัง... เอ๊ย อันนี้ไม่มี ปีกพลร่มสำหรับผู้ผ่านหลักสูตรพลร่ม และอีกสารพัดหลักสูตร

ผมขอถามเป็นครั้งที่สามแล้วมั้ง ว่ามีทหารอยู่ในเรือนไทยหรือเปล่า จะได้ขอวิทยาทาน เรื่องทางทหารผมรู้งูๆ ปลาๆ เท่านั้นครับ เอาทหารที่เป็นเขยเรือนไทยก็ได้ครับ


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: วรวิชญ ที่ 02 เม.ย. 01, 11:00
จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีนั้น จำได้ว่าท่านเป็นจมื่นไวยวรนาถคนสุดท้ายของกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาคนั้น) ในสมัยรัชกาลที่สาม มียศเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ร่วมทัพไปกับเจ้าพระยาบดินทร์ฯในคราวรบกับญวนในสมรภูมิเขมร


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 เม.ย. 01, 20:56
ยังไม่เห็นนายทหารหรือเขยทหารสักคน มาแสดงตัว  สงสัยจะไม่มีค่ะ
คุณนกข.พูดถึงพ่อค้าที่ได้เป็นขุนนางในรัชกาลที่ ๖ โดยไม่ได้รับราชการ   ดิฉันนึกออกคือพระยาภักดีนรเศรษฐ์(นายเลิด เศรษฐบุตร) บิดาของท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ
อีกคนคือพระยาภิรมย์ภักดี เจ้าของเบียร์ไทยตราสิงห์
ส่วนคุณหลวงประดิษฐ์บาทุกา เป็นข้าราชการหรือเปล่าไม่ทราบ  คิดว่าน่าจะเป็นพ่อค้าเหมือนกัน

คุณวรวิชญ  จะไปหาประวัติการรับราชการของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ดูนะคะ   ว่าหลังจากเป็นจมื่นไวยฯ แล้วท่านได้เลื่อนขึ้นเป็นอะไร   คิดว่าน่าจะเป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ค่ะ


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 02 เม.ย. 01, 22:03
มานั่งนึกๆ อีกที
มหาเสวกตรี/โท/เอก นี่ จริงๆ อาจจะไม่มีตัวก็ได้ครับ แม้ว่าอาจจะมีตำแหน่งอยู่ เพราะราชการฝ่ายพระราชสำนักไม่ได้ต้องการกำลังคนมากมายถึงระดับเท่ากับราชการด้านอื่น
สูงสุดของฝ่ายข้าราชสำนัก น่าจะเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นระดับไหน
คุณหลวงประดิษฐ์บาทุกา ได้ยินมาว่าเป็นช่างตัดรองเท้าขายครับ เห็นว่ามีห้างอยู่แถวบางลำพูหรือยังไงนี่แหละ สมัยนั้นยังไม่มีรองเท้าแบลลี่
เครื่องราชอิสริยาภรณ์เฉพาะของทหาร คือเครื่องราชฯ ตระกูลรามาธิบดี ร.6 ทรงสร้างขึ้น สีแดงกับดำครับ
ถ้าทหารที่เป็นสมาชิกเรือนไทยไม่มี เขยเรือนไทย คือเป็นแฟนของสมาชิกเรือนไทยก็ไม่มี ผมก็เห็นว่า เจ้าของเรือนอาจจะต้องเชิญทหารมาร่วมบ้าง ได้น้องป๊อบอารียาก็ไม่เลวนะครับ


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 02 เม.ย. 01, 22:08
ขอถามครับ
นาย ที่เป็นบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก (ไม่ได้แปลว่ามิสเตอร์) นั้นจำกัดอยู่แต่ราชการฝ่ายมหาดเล็กหรือเปล่าครับ พันเอก นายวรการบัญชา นี่ ท่านเคยเป็นมหาดเล็กมาหรือเปล่า และทำไมตำแหน่งท่านถึงไม่อยู่ในทำเนียบตำแหน่งมหาดเล็ก 12 ตำแหน่งครับ


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: แจ้ง ใบตอง ที่ 02 เม.ย. 01, 22:17
ขอบคุณคุณเทาชมพูและคุณ นกข.มากครับ จะตามอ่านต่อไป ได้ความรู้ดีๆ เพิ่มขึ้นอีกเยอะเลยครับ เดี๋ยวถ้ามีข้อมูลจะมาแจมอีก


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 เม.ย. 01, 09:29
เคยได้ยินชื่อนายวรการบัญชามาเหมือนกัน
ไม่ใช่มหาดเล็ก
เข้าใจว่าบรรดาศักดิ์เดิมของท่านคงเป็นพระหรือพระยา
แต่ออกจากบรรดาศักดิ์ตามนโยบายจอมพล ป. ปี ๘๔ แล้วไม่ได้ขอคืน
ก็เลยมีคำนำหน้าว่า "นาย" และต่อด้วยราชทินนาม ค่ะ

คุณนกข.เคยได้ยินชื่อนายศรีเสนาสมบัติศิริ อดีตองคมนตรี และเอกอัครราชทูตไทยประจำญี่ปุ่นตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไหมคะ
ท่านเคยเป็นพระยาศรีเสนา  แต่ไม่ได้ขอคืนบรรดาศักดิ์  จึงมีคำนำหน้าว่า" นาย" มาตลอดค่ะ


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 04 เม.ย. 01, 15:35
ขอบคุณครับ เป็นอย่างนี้เอง
สมัยเลิกมีบรรดาศักดิ์ ผมเห็นบางท่านใช้ราชทินนามเดิมเป็นนามสกุล และใช้ชื่อต้นชื่อเดิม (ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็ตัวท่านจอมพลเอง หลวงพิบูลสงคราม กลายเป็นจอมพลแปลก พิบูลสงคราม - เข้าใจว่านามสกุลท่านเดิมจริงๆ จะเป็น ขีตะสังคะ - ถ้าสะกดผิดก็ขออภัยด้วย)
ที่เอาราชทินนามมาเป็นชื่อต้น ไม่ได้เอาเป็นนามสกุล เห็นมีแต่เจ้าคุณศรีเสนาเท่านั้น
ถ้าอย่างงั้น นายวรการบัญชา ท่านนามสกุลอะไรครับ


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 เม.ย. 01, 15:52
ชักงงแล้วเหมือนกัน    ไม่ทันได้นึกว่าพันเอกนายวรการบัญชาเป็นชื่อหรือนามสกุล  ขอตัวไปถามนักประวัติศาสตร์ตัวจริงก่อนนะคะ
ถ้าผิดเองทั้งหมดจะกลับมาบอกอีกที
ย้อนมาถึงสมัยคืนบรรดาศักดิ์ลงมาเป็น "นาย" เท่ากัน
มีหลายคนที่เอาราชทินนามมาใช้แทนนามสกุล เมื่อต้องคืนบรรดาศักดิ์ อย่างนายยง อนุมานราชธน    นายมหิธร ไกรฤกษ์   พลตรีอดุลย์ อดุลย์เดชจรัส


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: แจ้ง ใบตอง ที่ 04 เม.ย. 01, 17:50
นายวรการบัญชา น่าจะเป็นบรรดาศักดิ์เหมือนแบบมหาดเล็กหรือเปล่าครับ เพราะผมเคยได้ยินว่ามีบรรดาศักดิ์ นายวรกิจบรรหารด้วย  หรือว่าจะเป็นแค่ราชทินนามที่คล้องจองกัน ?....นายวรกิจบรรหาร  นายวรการบัญชา...


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 04 เม.ย. 01, 18:13
ถ้าเป็นงั้น สงสัยเป็นราชทินนามที่ตั้งใหม่ เดาว่า คงสมัย ร.6 (ซึ่งทรงมีหัวทางตั้งราชทินนามที่คล้องจองกันเป็นชุดๆ) จึงไม่อยู่ในทำเนียบมหาดเล็กเดิม
เดานะครับ
สมัยก่อนคำว่า นาย เป็นบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก นายเพิ่งจะมาเป็นคำนำหน้าชื่อคน นายนั่น นายนี่ ได้สักสมัยรัชกาลที่ 4 หรือ 5 มั้ง นี่ผมเดานะครับ (สมัย ร. 6 จึงออกมาเป็นกฏหมายระเบียบชัดเจน เป็นนาย นาง นาวสาว เด็กชาย เด็กหญิง) ก่อนนั้นอาจจะนำหน้าชื่อกันว่า ออนั่น ออนี่ หรือไม่ก็ อ้าย ไปเลยเป็น อ้ายนั่นอ้ายนี่
อำแดงริด กับนายเหมือน เป็นเรื่องเกิดสมัย ร.4 แปลว่าตอนนั้นนายเหมือนเป็นนายแล้ว ฝ่ายหญิงยังเป็นอำแดงอยู่
เคยได้ยินเกร็ดว่านักเรียนไทยรุ่นแรกๆ ที่ไปเมืองนอก ต้องทำพาสปอร์ต จะมีชื่อต้นว่า นาย (Nai) ทุกคน เพราะสมัยก่อน ร.6 ยังไม่มีนามสกุลในสยาม สมมตินักเรียนไทยชื่อ นายแอบ ในภาษาไทย เขียนเป็นภาษาฝรั่งก็ว่า Mr. Nai Abb เลยกลายเป็นชื่อว่า นาย นามสกุล แอบ ไป ฝรั่งคงงงเหมือนกันว่าคนไทยผู้ชายธรรมดาไม่มียศมีตำแหน่ง ไหงชื่อว่า "นาย" กันหมด
เรื่องนักเรียนนอกนี่ทำให้นึกถึงบทความของคุณเทาชมพู ซึ่งผมว่าจะเรียนถามแล้วก็ลืม ว่า ดูเหมือนตั้งแต่ก่อนยุครัตนโกสินทร์ เราก็เคยส่งเด็กไทยไปเรียนที่ฝรั่งเศส สมัยพระนารายณ์ หรือเปล่าครับ แต่ตอนหลังเมื่อความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสเสื่อมลงเด็กไทยพวกนั้นจะเป็นยังไงต่อไปก็ไม่รู้


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 04 เม.ย. 01, 18:14
แฮะๆ ขออภัย อำแดงเหมือนกับนายริดครับ (ฤทธิ์?)


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 เม.ย. 01, 18:42
คุณแจ้ง
รายนามมหาดเล็กหุ้มแพร เท่าที่มีในรัชกาลที่ ๖ ซึ่งรวมบรรดามหาดเล็กของเก่าไว้ เพิ่มมหาดเล็กของใหม่ขึ้นมา   ยังไม่พบชื่อนายวรกิจบรรหารและนายวรการบัญชาค่ะ
มีแต่นายพินัยราชกิจ -นายพินิจราชการ
นายพิจารณ์สรรพกิจ- นายพิจิตรสรรพการ

คุณนกข.
เรื่องเด็กไทยไปเรียนที่ฝรั่งเศสไม่อยู่ในพงศาวดารค่ะ แต่อยู่ในหนังสืออะไรเล่มหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นการแต่งเสียมากกว่าบันทึก  อยู่ในกระทู้เก่าๆนี่ละค่ะ


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 เม.ย. 01, 18:50
ย้อนกลับมาเรื่องจอมพล  มีข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ

ภายหลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖  ทางราชการทหารดำริว่ายศจอมพลอันเป็นยศสูงสุดทางการทหารนั้น  ควรเป็นพระยศเฉพาะสำหรับองค์จอมทัพ
ต่อจากนั้นกระทรวงกลาโหมจึงมิได้ขอพระราชทานชั้นจอมพลให้แก่ผู้บัญชาการเหล่าทัพอีก    คงมีแต่อัตราเงินเดือนชั้นจอมพลสำหรับนายทหารผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพ หรือเทียบเท่า  สืบมาจนทุกวันนี้
ตราบจนถึงวันที่ ๑๙ สิงหาคม  พ.ศ. ๒๕๓๕ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯพระราชทานพระยศทหารให้พลเอกหญิง  พลเรือเอกหญิง  พลอากาศเอกหญิง  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ เป็นจอมพลหญิง จอมพลเรือหญิง และจอมพลอากาศหญิง
นับว่าทรงเป็นนายทหารหญิงพระองค์แรกในประวัติศาสตร์กองทัพไทยที่ได้ทรงดำรงพระยศเป็นจอมพล จอมพลเรือ และจอมพลอากาศ


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 เม.ย. 01, 18:53
เรื่องมหาอำมาตย์ และเสวก เจอรายละเอียดเพิ่มขึ้นแล้ว  ว่างเมื่อไรจะเขียนเป็นบทความมาเพิ่มค่ะ
ตอนนี้ขอตัวไปตามหานายวรการบัญชาก่อนว่าเป็นชื่อหรืออะไรกันแน่


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: นกข ที่ 04 เม.ย. 01, 20:55
ขอบคุณครับ
เพิ่งทราบว่าสมเด็จฯ ทรงเป็นจอมพลแล้ว ไม่ได้ตามข่าว ครั้งสุดท้ายที่ผมตามข่าวทางทหารถวายพระยศท่านเป็นนายพลเอก หลายปีมาแล้ว
ถ้าสมเด็จฯ ทรงเป็นจอมพล ก็คงจะต้องมีพระคทาจอมพลสำหรับพระองค์ ไม่ทราบว่าทางราชการทหารได้จัดทำถวายด้วยหรือเปล่า


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 เม.ย. 01, 21:10
เอาทีละเรื่องนะคะ
พันเอกนายวรการบัญชา  อดีตประธานวุฒิสภา มีชื่อและนามสกุลเดิมว่า บุญเกิด สุตันตานนท์ค่ะ
ส่วน "นายวรการบัญชา" ยังหาไม่พบว่าเป็นอะไรแน่  ทราบแต่ว่าเป็นชื่อพระราชทานเป็นพิเศษ

คทาจอมพลสำหรับพระองค์-ชอเวลาไปสืบหาข้อมูลก่อนค่ะ  ดิฉันก็ไม่เคยสังเกตสักที

ถามได้ถามเอานี่สนุกจังนะคะ   ไม่ถึงตาเราบ้างก็ให้รู้ไป


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 04 เม.ย. 01, 21:33
ขอบพระคุณคร้าบ...
เลยไม่กล้าถามต่อเลย แหะแหะ...
พยายามนึกภาพข่าววันสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณของทหาร ที่จัดที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ตอนต้นเดือนธันวา ใกล้ๆ กับวันเฉลิมฯ ในวันนั้นในหลวงทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบพระยศจอมพลทหารบก เหล่าอะไรรักษาพระองค์สักเหล่าหนึ่ง ไม่ทราบชัด ที่สีแดงๆ นะครับ เวลาที่ท่านทรงตรวจพลสวนสนาม จะทรงรับความเคารพจากแถวทหารโดยทรงใช้พระคทาจอมทัพแตะพระมาลา
แต่สมเด็จฯ นั้น ที่นึกออกทุกปีมาก็ทรงรับความเคารพด้วยการทรงกระทำวันทยหัตถ์ ("ตะเบ๊ะ") ตามธรรมดา อันนี้เท่าที่จำได้ เพิ่งมาสงสัยตอนที่ทราบจากคุณเทาฯ ว่าทรงเป็นจอมพลแล้วนี่เอง เพราะถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ต้องเป็นจอมพลถึงจะมีคทาจอมพลครับ พลเอกไม่ทราบว่าเขามีหรือเปล่า แต่ไม่เห็นเขาใช้กัน เห็นพลเอกก็ยังตะเบ๊ะอยู่
ดูเหมือนเครื่องหมายยศจอมพลก็จะมีคทาไขว้อยู่ด้วย
ผมว่าคุณเทาต้องเชิญอาจารย์อารียา ชุมสาย มาช่วยตอบแล้วครับ เธอยศอะไรแล้วก็ไม่ทราบ เมื่อก่อนนี้ยังเป็นผู้หมวดป๊อป ตอนนี้เป็นผู้กองหรือผู้พันรึยังไม่รู้ ... (รำพึงเฉยๆ ครับ ไม่ได้ตั้งคำถามคุณเทาชมพูครับ แฮ่ะๆๆๆ)


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 เม.ย. 01, 21:52
เห็นคุณนกข.คะยั้นคะยอจะให้เชิญน้องป๊อบมาตอบคำถามเกี่ยวกับทหาร
น้องป๊อบเธอเขียนภาษาไทยไม่ได้นะคะ  อ่านก็ไม่แน่ใจว่าอ่านได้มากน้อยแค่ไหน  จะอ่านกระทู้ตอบกระทู้คงต้องอาศัยล่ามจากเจนีวาแปลละมั้งคะ

และยากกว่านี้ คือดิฉันไม่รู้จักน้องป๊อบค่ะ
เมื่อไรดิฉันพอจะมีบารมีได้สักหนึ่งในร้อยของคุณหญิงหลุยส์หรือคุณแดงช่อง ๗   ความหวังของคุณนกข.อาจเป็นจริง

หรือว่าคุณนกข.มีวิธีติดต่อน้องป๊อบได้แล้ว ก็ขอเชิญให้ติดต่อ ด้วยความเต็มใจค่ะ


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: เพื่อนเก่า ที่ 04 เม.ย. 01, 22:16
คงต้องตั้งกระทู้เป็นภาษาอังกฤษแล้วค่ะ
น้องป๊อบเธอเข้าใจได้แน่


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 04 เม.ย. 01, 23:57
อ้าว เป็นเสียยังงั้นไป...
ผมเห็นมีหนังสือที่เธอเขียนออกมาหลายเล่ม ถึงแม้เธอจะบอกว่าเธอเขียนเป็นภาษาอังกฤษแล้วให้แปลเป็นไทยอีกที ผมก็ไม่นึกว่าเธอจะอ่านหรือเขียนภาษาไทยไม่ถนัด หรือไม่ได้เลย
งั้นไม่สงสัยแล้วครับ ไม่มีข้อ กังขา (ใหม่) แล้วครับผม มีแต่ข้อกังขาเก่า รอการ วินิจฉัย อยู่เนี่ย ...


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: ทวยเทพ ที่ 05 เม.ย. 01, 00:37
คุณเทาชมพู ครับผมว่ามีนะครับเรื่องที่มีคนสมัยอยุธยาไปเรียนที่ฝรั่งเศสสมัยพระนารายณ์ ผมได้ยินผุ้ใหญ่เค้าคุยกัน บอกว่ามีบันทึกแล้วคนพวกนี้ก็ได้เข้ารีตเปลี่ยนชื่อเป็นฝรั่งเศส ถ้าผมได้เจอผู้ใหญ่ท่านนั้นอีกจะถามรายละเอียดมาให้ครับ


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 เม.ย. 01, 08:45
เคยอ่านพบแต่เข้าใจว่าเป็นเรื่องแต่งค่ะ  
ถ้าณทวยเทพช่วยเล่ามาให้ฟังกันจะดีมากเลยค่ะ  ขอบคุณล่วงหน้า


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 11 ธ.ค. 06, 13:02
 เพิ่งจะมาพบกระทู้นี้  ขออนุญาตเพิ่มเติมนะครับ

ราฃทินนาม นายวรกิจบรรหาร และ นายวรการบัญชา  เป็นราชทินนามมหาดเล็กชั้นหุ้มแพรพิเศษ  เทียบได้กับนายร้อยเอกของทหารบก  

ราชทินนามทั้งสองนี้มีมาก่อนรัชกาลที่ ๖ แล้วครับ  แต่จะมีมาแต่เมื่อไรไม่ทราบ

เมื่อครั้ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงเป็นสมเด็จพระยุพราชอยู่นั้น  ทรงมีขางวางรถม้าประจำพระราฃสำนักฃื่อ นายวรการบัญชา (เทียบ  อัศวรักษ์)  ท่านผู้นี้ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น นายพลตำรวจโท พระบาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง (เทียบ  อัศวรักษ์) จำตำแหน่งท่านไม่ได้  จำได้แต่ว่าโปรดให้โอนย้ายไปจากอธิบดีกรมพระอัศวราฃ  

ราฃทินนามนายวรกิจบรรหารในรัชกาลที่ ๖ นั้น  เท่าที่ทราบมี ๒ ท่านๆ หนึ่งนามสกุล "รังควร" เป็นเจ้าของโรงพิมพ์ (คุณUp กรุณาตรวจสอบและขยายความให้ด้วยครับ  ท่านผู้นี้เป็นปู่ของคุณเชื้อพร  รังควร)  อีกท่านหนึ่งคือ นายประยงค์  ภมรมนตรี ซึ่งเป็นคู่แฝดผู้พี่ของพลโทประยูร  ภมรมนตรี

นายวรกิจบรรหาร (ประยงค์  ภมรมนตรี) และนายวรการบัญชา (บุญเกิด  สุตันตานนท์) สองท่านนี้เป็นนักเรียนทุนส่วนพระองค์ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖  ออกไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา  นายวรกิจบรรหารไปเรียนวิชาอะไรจำไม่ได้แล้วครับ  ท่านผู้นี้ได้สมรสกับชาวอเมริกันแล้วไม่ได้กลับเมืองไทย  ส่วนนายวรการบัญชานั้นไปเรียนแพทย์  แต่ล้นเกล้าฯ สวรรคตเสียก่อนที่จะเรียนจบ  จึงเดินทางกลับประเทศไทย  แล้วได้เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง  ได้เป็นนิติศาสตร์บัณฑิต  ต่อมาได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่หลายสมัย  ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี  ประธานวุฒิสภา  และรัฐมนตรีหลายสมัย


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: วรชาติ ที่ 29 มิ.ย. 08, 15:40
สวัสดีครับ นายวรกิจบรรหาร และ นายวรการบัญชา เป็นสองนามสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัวพร้อมกันเพราะคุณงามความดีที่ได้ทำไว้ให้กับประเทศไทย นายวรการบัญชา หรือ จ้าววร เคยเป็นมหาดเล็กหลวงและคนสนิทเฝ้าห้องบรรทม เรื่องนั้นจริง เพราะคือปู่ของผมเอง ชื่อเดิมคือ บุญเกิด สุตันตานนท์ เป็นบุตรของ เจ้าหญิง กาบแก้ว ณ ลำพูน กับ พระพิจิตรโอสถ รอด สุตันตานนท์ ที่เป็นหมอในวัง และมีเชื้อสายจ้าวโดยตรง


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 30 มิ.ย. 08, 06:36
ขออนุญาตเรียนว่า "วรกิจบรรหาร" และ "วรการบัญชา" เป็น "ราชทินนาม" ไม่ใช่ "นามสกุล" ครับ ส่วน "ภมรมนตรี" และ "สุตันตานนท์" เป็น "นามสกุล" ซึ่งก็ไม่ได้พระราชทานในคราวเดียวกัน หากแต่ห่างกันหลายปี

ส่วน นายวรกิจบรรหาร (พงษ์ รังควร) เป็นบุตรของพระศิริไอศวรรย์ (พร รังควร)
นายวรกิจบรรหารเป็นเจ้าของโรงพิมพ์อักษรนิติ์ ที่นักเลงหนังสือเก่าๆ คงรู้จักกันดี
ได้เคยเกื้อหนุนนักเขียนชื่อดังหลายคน เช่น ยาขอบ, ศรีบูรพา, มาลัย ชูพินิจ, สด กูรมะโรหิต ฯลฯ


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 มิ.ย. 08, 10:56
สนใจติดตามอ่านเรื่อง โรงพิมพ์อักษรนิตื์ เพราะ ยาขอบ และ คุณหมอบุญส่ง เลขะกุล เขียนเกี่ยวกับคุณชลอ  รังควรไว้ น่าอ่านเป็นที่สุด


ขอคัดลอกเรื่องโรงพิมพ์  จาก งานของคุณลุงสมบัติ พลายน้อย เรื่องสำนักพิมพ์สมัยแรก  สำนักพิมพ์ฅอหนังสือ  ๒๕๔๘ เพราะคงเป็นประโยชน์บ้างต่อผู้ที่สนใจ

พระศิริไอศวรรย์(พร  รังควร) เป็นบุตร อาจารย์ รง
เกิดเมื่อ  ๑๙ ธันวาคม  ๒๔๑๕
เป็นศิษย์วัดอยู่กับพี่ชายที่บวชอยู่ที่วัดนิเวศธรรมประวัติ อำเภอบางปะอิน  อยุธยา  เรียนหนังสืออยู่ที่วัดนั้น

เมื่อพี่ชายลาสิกขามารับราชการเป็น ขุนเทพวิหาร(ชม)  ก็ได้ตามมาเรียนหนังสือที่ตำหนักสวนกุหลาบ
เมื่อสอบได้ประโยค ๒  จึงลาออกรับราชการในกระทรวงวัง ครั้งกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยเป็นเสนาบดี

ได้เป็นขุนศรีรัตนารถ   เลื่อนเป็นจมื่นราชภัณฑารักษ์

ต่อมาเมื่อกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัยย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงการคลัง ก็ได้ตามไปด้วย  จึงได้เลื่อนเป็นพระศิริไอสวรรค์
มีตำแหน่งในกรรมการเร่งพระราชทรัพย์

พระศิริไอสวรรย์(พร  รังควร) ชอบทำงาน  ได้ตั้งโรงพิมพ์อักษรนิติ์  บริษัทสะอาด รับจ้างขนอุจจาระในพระนคร  ตั้งโรงหีบฝ้าย 
โรงฟอกหนัง  โรงเลื่อยไม้ที่ตำบลทับกวาง  โรงสีข้าวที่พิจิตร


คุณพงษ์  รังควร เกิด ๒๔๔๑   เรียนหนังสือที่โรงเรียนราชวิทย์และโรงเรียนอัสสัมชัญ  โรงเรียนมัธยมวิลบราแฮมอคาเดมี ในรัฐแมซซาชูเสท สหรัฐอเมริกา
ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาท บอสตันอยู่หนึ่งปี เรียนกฏหมาย  แต่ต้องเดินทางกลับประเทศไทยเพราะบิดาถึงแก่กรรม
ได้อุปสมบทที่วัดบวรนิเวศ ๑ พรรษา  ถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหารบก

รับราชการอยู่อาทิตย์เดียว พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้โอนไปประจำกองเรือยนต์หลวง  ได้รับพระราชทานยศเป็นเรือโท
และต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น นายวรกิจบรรหาร


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 มิ.ย. 08, 11:45
คุณชลอ  รังควร เป็นธิดาของ พระยาอมเรศสมบัติ(ต่วน  ศุขะวณิช)และคุณหญิงเล็ก
เมื่อสมรสกับคุณพงษ์  สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี ทรงพระกรุณาประกอบการสมรสให้ที่วังบางขุนพรหม


นายวรกิจบรรหารนั้นทำธุรกิจอีกมากมาย
ทำโรงงานผลิตกระแสร์ไฟฟ้าและโรงงานทำนำ้แข็งที่สุพรรณบุรี
มีบริษัท สยามรถยนต์(รถเมล์เขียว) สำนักงานอยู่บางขุนพรม
ร้านขายอุปกรณ์เรือยนต์  มีเรือขนาดใหญ่ให้เช่าท่องเที่ยวชายทะเล
เป็นเจ้าของเกาะกระดาษ

โรงพิมพ์นั้น คุณชลอเป็นคนดูแล  เพราะนายวรกิจบรรหารต้องไปดูแลทำสวนมะพร้าวอยู่ที่เกาะ
อ่านมาจากหนังสืออนุสรณ์ คุณชลอ รังควร  ว่า  นายวรกิจบรรหารซื้อเกาะมาจากหม่อมเจ้านิทัศนาธร ในราคา ๖,๐๐๐ บาทเงินผ่อน

ครอบครัว วรกิจบรรหารเป็นครอบครัวใหญ่   
ทราบว่าคุณชลอเป็นแม่เรือนที่ดูแลบุตรและธิดาอย่างดีเลิศ    ดูแลทำอาหารที่ลูกชอบ   ที่โต๊ะจะมีอาหารหลายจานสำหรับลูกคนนั้นคนนี้

เรื่อง กราบแม่ที่เท้า  ของ แม่ขวัญข้าว ลงในโลกหนังสือ  เล่าเรื่องราวของยาขอบ กับ คุณชลอไว้อย่างสมบูรณ์ละเอียดที่สุดแล้ว



หมอบุญส่ง เลขะกุล  เขียนเรื่อง  คิดถึงพระคุณ คุณผู้หญิง  อ่านแล้วก็ชื่นใจในเรื่องราวที่ดีงามถึงปานนั้น
"...หากผมจะต้องการสตางค์สักหนึ่งบาทหรือสองบาท  ผมก็ต้องมานั่งพับเพียบ  แล้วยกมือไหว้ขอท่าน และท่านก็ไม่เคยซักเลยว่า     
จะขอไปทำไม  และก็ไม่เคยตักเตือนสั่งสอนว่าอย่าใช้เปลืองนะ  เพราะท่านคงรู้อยู่แก่ใจแล้วว่า  ผมไม่เคยใช้สตางค์สุรุ่ยสุร่าย"

พี่ชายหมอบุญส่งทำงานอยู่ที่โรงพิมพ์     หมอตามมาอาศัยอยู่เมื่ออายุ ๑๕ ปี

"มีงานที่ทำเองโดยที่ไม่มีใครใช้  คือคอยเก็บธนบัตรที่คุณผู้ชายเหลือมาโยนไว้หน้าตู้กระจก  เอามาม้วน ๆแล้วใส่ไว้ต่างหากในกระป๋องบุหรื่การิค
ถ้าเป็นเศษสตางค์ห้าสตางค์สิบ  ก็เก็บไว้ในกระป๋องการิคอีกกระป๋องหนึ่ง   และถ้าเป็นแก้วแหวนเงินทองหรือสายสร้อย 
ผมก็รวมไว้ในกระป๋องบิสกิทอีกกระป๋องหนึ่ง   ใส่กุญแจลิ้นชักที่เก็บของแล้วก็เอากุญแจไปใส่ไว้ในกระเป๋าถือของคุณผู้หญิง"


ขอประทานโทษคุณเทาชมพู ในการออกทะเล
 นึกถึง  สด  กูมะโรหิต   กุหลาย สายประดิษฐ์  ยาขอบ(ที่คุณชลอเรียกว่า "Writer in Residence  ของโรงพิมพ์ อักษรนิติ์) นักเขียนกลุ่มสุภาพบุรุษ





กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 30 มิ.ย. 08, 20:12
ขอถามเพิ่มเติมครับ

รังควร  ที่ถูกควรอ่านอย่างไรครับ

รัง - ควน     หรือ      รัง - คะ - วอน  .............. ???


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 30 มิ.ย. 08, 21:02
นามสกุล รังควร อ่านว่า "รัง-คะ-วอน" ครับ


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 มิ.ย. 08, 21:23
อ่านว่า  รัง-คะ-วอน  ค่ะ



คัดลอกมาจาก แม่ขวัญข้าว ด้วยความเคารพในความรู้และข้อมูล



"คุณชลอได้เขียนไว้ว่า   

เหตุที่ข้าพเจ้าไให้้อุปการะแด่  โชติ  แพร่พันธุ์ ทุกวิถีทางอันพึงอุปการะได้นั้น  สืบมาจากข้าพเจ้าเห็นว่า
เมืองไทยของเราหาคนที่เขียนหนังสือดี มีฝีปากคารมคมคายอย่างโชติ แพร่พันธุ์ ได้ยาก
ดังนั้น  การที่จะอุ้มชู โชติ แพร่พันธุ์ ให้อยู่ในฐานะเป็นปึกแผ่นปราศจากความหวาดกังวลในความเป็นอยู่
เพื่อเขียนหนังสือให้คนอ่านสืบไป เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าพึงกระทำอย่างยิ่ง

..............................................................
.................................................................

ไม่มีใครที่จะให้ความอุปการะนักเขียน  โดยปล่อยนักเขียนให้มีความคิดที่เสรีเป็นตัวของตัวเอง
หากจะมีก็จะเป็นการ "ขุนเลี้ยง" กันมากกว่า  โดยหวังจะให้นักเขียนยกยอปอปั้นตัวเอง  โดยหวังมีหน้ามีตาในสังคม
และอำนาจการเมือง

เพราะฉะนั้นลักษณะที่คุณนายชลอให้ความอุปการะแก่  โชติ  แพร่พันธุ์  จึงเป็นลักษณะที่งดงามในประวัติวรรณกรรมไทย

เพราะไม่ได้ไปกะเกณฑ์ ความคิดของ ยาขอบ
กลับปล่อยให้ ยาขอบ เขียนเรื่องได้อย่างสบายใจไม่เร่งรีบ

ไม่รีดความคิดของ ยาขอบ ออกมาเป็นตัวหนังสือเพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับตนเองมาก ๆ เหมือนนายทุนบางคนในสมัยนี้
แต่กลับเอาอกเอาใจ บำรุงรักษาพยาบาล ยาขอบอย่างจริงจัง"



แม่ขวัญข้าวเล่าต่อไปว่า(เรื่องนี้ไม่เคยได้ยินมาก่อนจากที่ไหน แต่ก็ไม่ประหลาดใจ เพราะ นายและนาง วรกิจบรรหารเป็นที่กว้างขวางในวงสังคมปานใด/วันดี)

"เช่นเดียวกับ มนัส จรรยงค์  ที่พระยาสุรพันธเสนีย์ พ่อตาได้ขอร้องนายวรกิจบรรหาร ให้นำไปอยู่เกาะเพื่ออดเหล้าเช่นกัน"



กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 08, 07:19
มายืนยันอีกคนค่ะ
รังควร อ่านว่า รัง-คะ-วอน    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงนำชื่อเดิมของบิดาพระศิริไอศวรรย์  คือ รง  มารวมกับชื่อเดิมของลูกชาย(พร) แล้วทรงแปลงเป็นบาลีอีกที  จากรง เป็น รงฺค  และ พร เป็น วร 
จึงเป็นนามสกุล  รังค(-) วร

ตอนเด็กๆจำได้ว่าได้ยินชื่อพันเอกนายวรการบัญชา   บ่อยๆ  ไม่ทางทีวีก็หนังสือพิมพ์   ท่านมีตำแหน่งใหญ่โตทางการเมือง แต่จำไม่ได้ว่าเป็นตำแหน่งอะไร  มารู้ในกระทู้นี้ว่าเป็นรัฐมนตรี
ที่จำได้เพราะแปลกจากคนอื่นๆที่เขามีชื่อมีนามสกุลกัน    แต่ท่านมียศทหารแล้วต่อด้วยราชทินนามที่ไม่คุ้นหู  เลยจำได้
พลเอกเจ้าพระยารามราฆพ คุ้นเคยกับพันเอกนายวรการบัญชาดี   สมัยท่านเป็นรัฐมนตรี   เจ้าคุณรามฯท่านก็ไปไหนมาไหนด้วยเสมอ


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 08, 07:23
เรื่องนามสกุลพระราชทาน
-สุตันตานนท์ (Sutanta^nanda) พระราชทานให้ ขุนพิจิตรโอสถ (รอด) แพทย์ประจำเมืองเชียงใหม่  ปู่ชื่อพระยาสุตันตะวิเชียร 
-ภมรมนตรี (Bhamaramontri) พระราชทานให้ นายพันตรี หลวงพรรฤกสรศักดิ์ (แย้ม)  อาจารย์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง  ปู่ชื่อพระยาราชมนตรี (ภู่)

หาอ่านได้ที่เว็บนี้
http://www.amed.go.th/AboutUs/palace/sur_content.htm

(เว็บนี้แสดงตัวเลขพ.ศ.ผิดทั้งหมดค่ะ เลยเช็คไม่ได้ว่าได้รับพระราชทานเมื่อปีไหน)


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 01 ก.ค. 08, 08:27
มีเรื่องน่าสนใจสำหรับนามสกุล "รังควร" อีกคือในทะเบียฬนามสกุล กับในราชกิจจานุเบกษารวมทั้งพระราชหัตถเลขาพระราชทานนามสกุลนั้น สะกดต่างกัน ในทะเบียฬใช้ว่า "รังคะวร" ส่วนที่อื่นๆ ทรงสะกดว่า "รังควร" ครับ

ส่วนเลขระบุปีพระราชทานในทะเบียฬฯ ผมเข้าใจว่าทางผู้จัดทำใช้เลขคริสต์ศักราชครับ คิดว่าไม่ใช่การลงปีผิด เวลาสืบค้นครั้งแรกๆ ผมงงอยู่นาน จนลองมานั่งบวกลบคูณหารจึงได้ความว่าแท้จริงแล้วเป็น ค.ศ. ไม่ใช่ พ.ศ. ครับ


กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 08, 08:46
ถูกของคุณ UP ค่ะ
ดิฉันนึกออกขั้นแรกว่าเป็นหมายเลข ค.ศ. แต่ไม่ได้เช็คประวัติการพระราชทานนามสกุล  คิดว่าเริ่มใช้ปลายรัชกาลที่ ๖   ปี ๑๙๑๓ ๑๙๑๖  พวกนี้น่าจะเก่าไป
เพิ่งย้อนกลับไปบวกลบคูณหาร  จากปีพระราชทานนามสกุลเดิมของดิฉัน  ก็พบว่าใช่   เป็นปีพระราชทานนามสกุลจริงๆ

ย้อนกลับไปถึงปีพระราชทานนามสกุล
สุตันตานนท์ ได้รับพระราชทานเมื่อ  วันที่29 เดือนกันยายน  พ.ศ. 2457
ภมรมนตรี   ได้รับพระราชทานเมื่อ  วันที่25  ตุลาคม   พ.ศ. 2458

คุณวรชาติ คงจะเข้าใจว่า วรกิจบรรหารและวรการบัญชาเป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทานพร้อมกัน  ความจริงคือ ราชทินนาม หรือบรรดาศักดิ์ทั้งสองนั้น ได้รับพระราชทานพร้อมกัน   แต่นามสกุล ได้รับพระราชทานห่างกันเป็นปี



กระทู้: สืบเนื่องจากเรื่องบรรดาศักดิ์มหาดเล็ก
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 01 ก.ค. 08, 09:24
มูลเหตุสำคัญที่ต้องใช้ปีคริสตศักราชในฐานข้อมูล คือ สมัยก่อนเราเปลี่ยนปี พ.ศ. กันในวันที่  ๑  เมษายน  หากใช้ปีพุทธศักราชในฐานข้อมูลจะทำให้ข้อมูลในฐานข้อมูลเกิดการผิดเพี้ยนโดยไปยกเอาเดือนมกราคม - มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงปลายปีมาเป็นต้นปี   

นายวรการบัญชา (บุญเกิด  สุตันตานนท์)  เดิมเป็นนักเรียนโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลพายัพ "ยุพราชวิทยาลัย"  เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่แล้ว  ก็ได้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่  ที่ห้วยแก้วซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งสำนักงานส่งเสริมกิจการโคนม  เชิงดอยสุเทพ  มีเพื่อนร่วมโรงเรียนในเวลานั้น เช่น นายทิม  โชตนา  เด็กชายตุ๊  หรือจอมพลประภาส  จารุเสถียร เป็นต้น  จบชั้นมัธยมศึกษาตอนกลาง (มัธยมปีที่ ๖) แล้ว  ได้ลงมาศึกษาต่อชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน  จบการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์แล้วได้เข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก  ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น นายวรการบัญชา มหาดเล็กหุ้มแพร (เทียบยศทหารเท่ากับนายร้อยเอก)  แล้วรับพระราชทานทุนส่วนพระองค์ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ไปเรียนวิชาแพทย์ที่ประเทศอังกฤษ (ตามรอยบิดาของท่านที่เป็นแพทย์ประจำมณฑลพายัพ)  เมื่อล้นเกล้าฯ เสด็จสวรรคตไม่มีผู้ส่งเสียให้เรียนต่อ  จึงเดินทางกลับประเทศไทย  และได้ศึกษาวิชากฎหมายจนสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิต  ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่คนแรก  ต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลจอมพล ป.  พิบูลสงคราม หลายครั้ง  ตำแหน่งทางการเมืองครั้งสุดท้าย คือ ประธานวุฒิสภาและเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งในสมัยจอมพลถนอม  กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี