เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: เกาลัดกลมๆ ที่ 25 ก.ย. 05, 11:41



กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เกาลัดกลมๆ ที่ 25 ก.ย. 05, 11:41
 ขอฝากตัวกับทุกท่านค่ะ
มีเรื่องที่สงสัยอยู่พอสมควรเกี่ยวกับราชทินนามที่ขุนนางจะได้รับต่อท้ายบรรดาศักดิ์ค่ะ อยากได้ความรู้เรื่องนี้มาก


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ย. 05, 08:44
 ช่วยตั้งคำถาม ให้ชัดเจนกว่านี้หน่อยได้ไหมคะ
สมาชิกหลายท่านในที่นี้อาจจะตอบได้ตรงความต้องการของคุณ
เพราะหลายท่านก็มีความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เป็นอย่างดี

คืออยากทราบว่าคุณสงสัยเรื่องอะไรเกี่ยวกับราชทินนาม
เช่น ราชทินนามใด
ขุนนางคนไหน


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เกาลัดกลมๆ ที่ 26 ก.ย. 05, 22:47
 ที่สงสัยคือ ทำเนียบราชทินนามของขุนนางน่ะค่ะ คือราชทินนามบางอันก็คุ้นหู คือมีหลายท่านที่ได้รับ บางอันก็คุ้นเพียงท่านเดียว ทำให้สงสัยว่ามีการตั้งเอาไว้เป็นทำเนียบตำแหน่งขุนนาง(แล้วแต่กรม) มีตั้งเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้ามีทำเนียบพอจะมีท่านใดทราบหรือไม่คะว่ามีอะไรบ้าง

บางกรณีก็เห็นใช้ราชทินนามเดิมต่อเมื่อเลื่อนบรรดาศักดิ์ ยิ่งงงเข้าไปใหญ่
บางราชทินนามก็แปลกๆค่ะ อย่าง...เก่งระดมยิง...
อย่างราชทินนาม ศรีสุนทรโวหาร ก็เห็นมีหลายท่านใช้นะคะ

ชอบเว็บนี้มากค่ะ (เหมือนเจอโลกของเราแล้ว ที่บ้านไม่ค่อยมีใครคุยเรื่องไทยๆเท่าไหร่)
ขอบคุณค่ะ


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 27 ก.ย. 05, 06:40
 หากต้องการค้นคว้าเกี่ยวกับตำแหน่งและราชทินนามสมัยอยุธยา ลองค้นดูในพระราชกำหนดกฎหมายเก่าๆ ดูนะครับ โดยเฉพาะ พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน และนาทหารหัวเมือง ซึ่งประกาศใช้ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

ถ้าเป็นในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีหนังสือชื่อ "การแต่งตั้งขุนนางไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕" ของ กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร

หากต้องการทราบราชทินนามและประวัติของบรรดาเจ้าพระยาทั้งหลายขอให้ดูในหนังสือ "ตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์"
พระนิพนธ์ใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธ์

หากสนใจความเป็นมาของราชทินนามบางนามโดยเฉพาะที่ได้รับอิทธิพลมาจากตัวละครในวรรณคดีต่างๆ ของอินเดีย ขอให้ลองหาหนังสือชื่อ "ประวัติราชทินนาม" เรียบเรียงโดย นาคะประทีป มาอ่านดูครับ

จำได้ว่าคุณ V_Mee เคยเล่าไว้ในเรื่องประวัติราชทินนามบางนามอยู่เหมือนกัน เชื่อว่าคงจะเข้ามาพูดคุยเรื่องนี้กับคุณเกาลัดกลมๆ ได้เป็นอย่างดีครับ


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: หม่อมจุมพฏเพ็ชรกล้า ที่ 27 ก.ย. 05, 13:32
 ราชทินนามก็จะมีความหมายตามตำแหน่งหน้าที่การงานของขุนนางนั้นๆครับ


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 05, 15:15
ดิฉันก็รอคุณ V_Mee อยู่เช่นกันค่ะ

ระหว่างท่านยังไม่มา ก็ขอตอบส่วนหนึ่ง เป็นรำหน้าม่านไปพลางๆก่อน

ศรีสุนทรโวหาร เป็นราชทินนามของเจ้ากรมอาลักษณ์  วังหน้า  ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็น "พระศรีสุนทรโวหาร"
หมายความว่าขุนนางคนไหนได้เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ของวังหน้า ก็เป็นพระศรีสุนทรโวหารกันทุกคน    ถ้าจะให้รู้ว่าใครเป็นใคร  ก็มีชื่อเดิมต่อท้ายเอาไว้
เช่นพระศรีสุนทรโวหาร ภู่  คือเดิมท่านชื่อภู่    

ต่อมาเมื่อไม่มีวังหน้าแล้ว   เจ้ากรมอาลักษณ์วังหน้าก็หมดไป แต่บรรดาศักดิ์ยังอยู่
แต่ว่าเป็นถึงพระยา
ใครได้เป็น ก็เป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร  วงเล็บชื่อเดิมและนามสกุลไว้ในตำราให้รู้กันว่าเป็นท่านใด
เคยอ่านพบว่า พระสารประเสริฐ(ตรี นาคะประทีป) ผู้แปลงานร่วมกับพระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) กำลังจะได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร
แต่ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นการหยุดบรรดาศักดิ์ทั้งหมด    เราจึงไม่มีพระยาศรีสุนทรโวหาร(ตรี นาคะประทีป) อย่างน่าเสียดาย

ใน "สี่แผ่นดิน"  มีผู้กล่าวถึงคุณเปรมว่า เป็นลูกหลานพระยาโชฎึกฯ
พระยาโชฎึกฯ หมายถึงพระยาโชฎึกราชเศรษฐี  ตำแหน่งเจ้ากรมท่าซ้าย สังกัดคลัง  ความรับผิดชอบอย่างหนึ่งคือเป็นผู้ดูแลควบคุมคนจีนในไทย
ขุนนางที่ได้เป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐีมีหลายท่านด้วยกัน   ท่านไหนถึงแก่กรรมหรือเลื่อนขึ้นไปรับบรรดาศักดิ์อื่น  ท่านใหม่ก็เข้ามาแทนที่
เมื่อถึงตอนพระราชทานนามสกุล  ก็มีอย่างน้อย 2 สกุลที่บรรพบุรุษต่างเคยรับตำแหน่งพระยาโชฎึกฯ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานให้ตามชื่อของบรรพบุรุษ
เชื้อสายพระยาโชฎึกราชเศรษฐี(พุก) ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า โชติกะพุกกะนะ
เชื้อสายพระยาโชฎึกราชเศรษฐี(เล่าเถียน) ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า โชติกเสถียร


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 28 ก.ย. 05, 12:28
 คุณเทพ  สุนทรศารทูล อดีตศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสงคราม ผู้ล่วงลับไปแล้ว  ได้อธิบายเรื่อง "ราชทินนาม" ไว้ใน "มานวสาร" ซึ่งเป็นวารสารรายเดือนของชมรมนักเรียนเก่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ฉบับปีที่ ๑๐  ฉบับที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๓๐ ไว้ว่า
"ราชทินนาม" แปลโดยความหมายได้ว่า "นามอันพระราชาตั้งให้"  
พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ เจ้านายและขุนนาง ให้มีเกียติศักดิ์ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ  จึงพระราชทานราชทินนามให้ปรากฏแก่คนทั้งปวง
ราชทินนาม ที่พระราชทานให้นี้  ไม่ใช่ว่าจะโปรดพระราชทานตามพระทัยชอบ  แต่ทรงตั้งให้ด้วยพระมหากรุณา  จะให้เกิดเป็นศิริมงคลแก่ผู้นั้นด้วย  จึงทรงให้พระอาลักษณ์และพระโหราธิบดี คิดนามพระราชทานให้ต้องตามตำรา  คือตั้งตามวันเกิดผู้นั้น  ถ้าหากว่าเป็นบุคคลชั้นแม่ทัพนายกอง  จะต้องให้โหรตรวจดูดวงชะตาประกอบด้วยว่า คนเกิดในวันนั้น  มีดวงดาวให้คุณให้โทษอย่างไ  จะตั้งนามพระราชทานอย่างไรจึงจะส่งเสริมให้เจ้าชะตานั้นมีศิริมงคล  พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงเรียนวิชาโหราศาสตร์ด้วย  จึงทรงทราบว่านามที่โหรกับอาลักษณ์คิดถวายนั้นเหมาะหรือไม่  แล้วจึงเขียนประกาศนียบัตร  หรือหิรัฐบัตร หรือจารึกสุพรรณบัฏ  พระราชทานราชทินนาม ให้เป็นเกียรติยศ  ราชทินนามจึงเป็นนามศักดิ์สิทธิ์  เป็นศิริมงคลอย่างยิ่ง  เพราะตั้งด้วยวิชากับน้ำใจและคุณธรรม ผสมกัน ๓ ประการ  กล่าวคือ ผู้ตั้งเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์  ตั้งน้ำใจกรุณาและด้วยธรรมะในหัวใจของผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผูกพระนามพระราชทานพระราชโอรสพระราชธิดา  ก็ทรงใช้หลักการตั้งราชทินนามในการผูกพระนาม เช่น
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ ๕) พระราชสมภพวันอังคาร  ก็ทรงใช้อักษรวรรค จ. เป็นอักษรนำ  เพื่อให้ดวงจันทร์ ตัวกาลกิณีเดิมในดวงพระชะตาซึ่งทรงคุณเป็นมหาจักรนั้นให้กลับกลายเป็นไม่ให้โทษ ตามตำราโหราศาสตร์  หรือสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประสูติวันเสาร์  ก็ทรงผูกนามพระราชทานว่า "ดิศวรกุมาร"  โดยให้อักษร ด. นำหน้า ตามหลักของคนเกิดวันเสาร์
การพระราชทานราชทินนามเจ้านายและขุนนางตามวันเกิดนั้นคงเป็นพระราชประเพณีสืบเนื่องมาจนถึงรัชกาลที่ ๗ เมื่อโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน  ซึ่งมีพระราชสมภพในวันจันทร์ว่า "ภูมิพลอดุลยเดช" นั้น  โปรดให้มช้อักษร ภ. นำหน้า  เพื่อให้ดาวอาทิตย์ในดวงพระชะตาเดิม  ซึ่งเป็นกาลกิณีนั้นกลายเป็น "ศรี" จากให้โทษเป็นให้คุณแก่พระชะตา
ปัจจุบันการพระราชทานพระนามโดยหลักดังกล่าวข้างต้นยังคงมีใช้อยู่ในพระราชสำนัก  ซึ่งก็จะเป็นนามพระราชทานสำหรับพระเจ้าหลานเธอหรือพระราชวงศ์ที่ใกล้ชิด  กับที่พระราชทานแก่เด็กที่เป็นบุตรหลานข้าราชบริพารหรือผู้ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีสมรสพระราชทานเท่านั้น


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 28 ก.ย. 05, 13:15
 นี้นี้ขอกล่าวถึงราชทินนามสำหรับตำแหน่งราชการต่างๆ นอกจากเกณฑ์การตั้ง ราชทินนาม ที่กล่าวแล้ว
ในบทพระไอยการตำแหน่งนาซึ่งได้บัญญัติไว้แต่แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้น  ได้กำหนดาชทินนามสำหรับตำแหน่งราชการต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก  ราชทินนามแต่ละนามนั้นจะกำหนดตายตัวสำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งนั้นๆ แต่อาจจะมีสร้อยนามที่ต่างกันออกไปได้บ้าง เช่น
สมุหนายก    เป็น  เจ้าพระยาจักรี
สมุหพระกลาโหม  เป็น  เจ้าพระยามหาเสนา
เสนาบดีวัง    เป็น  ธรรมาธิกรณ์ หรือ ธรรมาธิกรณาธิบดี
เสนาบดีคลัง  เป็น  โกษาธิบดี
เสนาบดีเวียง  เป็น  ยมราช
เสนาบดีนา     เป็น  พลเทพ
นอกจากนั้นยังมีตำแหน่งลำดับรองๆ ลงไป เป็นพระยา พระ หลวง ขุน  มีราชทินนามตามตำแหน่ง เช่น พระยามหาเทพหัตรสมุห  เจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย  พระยามหามนตรีศรีองครักษสมุห  เจ้ากรมพระตำรวจในขวา   พระยาจุฬาราชมนตรี เจ้ากรมท่าขวา  พระยาโชฎีกราชเสรษฐี เจ้ากรมท่าซ้าย เป็นต้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำแหน่งในลำดับรองๆ ลงมานั้น จะแบ่งเป็น ขวา และซ้าย เสมอ  แม้แต่ตำแหน่งพระราชคณะและพรครูฐานานุกรม  ก็ยังมีกำหนดเป็นขวา ซ้าย เหมือนกัน  เช่นตำแหน่งพระราชาคณะปลัดในสมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) วัดราชบพิธ  ก็มีราชินนามเป็น พระพระมหาคณิศร  และพระจุลคณิศร ที่พระราชคณะปลัดขวา และซ้ายตามลำดับ
ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ - ๖ ที่เริ่มมีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจัดเป็นกระทรวง  มีการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นจำนวนมากขึ้น  จึงมีการพระราชทานยศ บรรดาศักดิ์และราชทินนามมากขึ้นจากที่มีอยู่เดิมในบทพระไอยการ  แต่ราชทินนามเดิมก็ยังมีการนำมาใช้หากแต่มีการผูกราชทินนามพระราชทานเพิ่มมากขึ้น เข่น  เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม  
ราชทินนามที่ผูกขึ้นใหม่นี้  บางราชทินนามก็เป็นนามที่พระราชทานเฉพาะบุคคล เช่น เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.รซงเปีย  มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ  ซึ่งราชทินนามนี้อธิบายได้ว่า ท่านผู้นี้เคยตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัวไปแดนไกลมาก่อน  หรือ เจ้าพระยาราชศุภมิตร (อ๊อด  ศุภมิตร) สุหพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์  ราชทินนามนี้แปลได้ว่า เป็นมิตรผู้ประเสิรฐของพระราชา  เพราะได้เป็นราชองครักษ์ในรัชกาลที่ ๖ มาแต่ประทับทรงศึกษาที่อังกฤษ  
นอกจากนั้นในรัชกาลที่ ๕ - ๖ ยังได้ทรงผูกราชทินนามพระราชทานแก่ข้าราชการกระทรวงต่างๆ มีนามอันคล้องจองกันจำนวนมาก เช่น
รัชกาลที่ ๕  -  วรพงษ์พิพัฒน์  บุรุษรัตนราชพัลลภ  นรรัตนราชมานิต  นรฤทธิ์ราชหัช  ศิริสัตน์สถิตย์  วรสิทธิ์เสวีวัตร์
ในรัชกาลที่ ๖ ทรงคิดราชทินนามไว้มาก เช่น ราชทินนามสำหรับมหาดเล็กผู้ใหญ่ชั้นพระยา  อาทิ ประเสริฐศุภกิจ  ประสิทธิ์ศุภการ  บำรุงราชบริพาร  บริหารราชมานพ  ชั้นรองลงมาที่ทรงคิดไว้มีอาทิ จมื่นเทพดรุณาทร  จมื่นอมรดรุณารักษ์  เป็นชั้นรองหัวหมื่นมหาดเล็ก  หลวงประมวลธนสาร  หลวงประมาณธนสิทธิ์ สังกัดกองปลัดบาญชี  นายแพทย์เป็น หลวงวิวิธเวชการ  หลวงวิศาลเวชกิจ  พนักงานผสมยาเป็น ขุนพิพิธเภสัช  ขุนพิพัฒน์โอสถ  ราชทินนามสำหรับครู เช่น ราชดรุณรักษ์  พิทักษ์มานพ  อนุสิษฐดรุณราช  อนุสาสน์ดรุณรัตน์  สนธิ์วิชากร  สอนวิชาการ  ธรมสารประศาสน์  ธรรมพาทประจิตร  วิสิษฐศุภเวท  วิเศษศุภวัตร  
ราชทินนามสำหรับช่างเขียนหรือจิตรกร เช่น อนุศาสน์จิตรกร  อนุสรจิตราคม  อนุกรมจิตรายน  วิมลจิตรการ  วิศาลจิตรกรรม  ประสมสีสมาน  ประสานเบญจรงค์  บรรจงลายเลิศ  ประเจิดลายลักษณ์  สำหรับช่างสลัก เช่น จำลองศุภลักษณ์  สลักศุภเลิศ  ประเสริฐหัดถกิจ  ประสิทธิ์หัดการ
ราชทินนามกรมโขนหลวง เช่น นัฏกานุรักษ์  พำนักนัจนิกร  สุนทรเทพระบำ   รำถวายกร  ฟ้อนถูกแบบ  แยบเยี่ยงคง  ยงเยี่ยงครู  ชูกรเฉิด  เชิดกรประจง  ทรงนัจวิธี  ศรีนัจวิไสย  วิไลยวงวาด  วิลาสวงงาม  รามภรตศาสตร์  ราชภรตเสน  เจนภรตกิจ  จิตรภรตการ  ชาญรำเฉลียว  เชี่ยวรำฉลาด    ฯลฯ  ตำแหน่งจำอวดก็มีราชทินนามเป็น ราชนนทิการ  สำราญสมิตมุข  สนุกชวนเริง  บรรเทิงชวนหัว
พวกพิณพาทย์ก็มีราชทินนามเฉพาะ เช่น ศรีวาทิต  สิทธิ์วาทิน  พิณบรรเลงราช  พาทย์บรรเลงรมย์  ประสมสังคีต  ประณีตวรศัพท์  คนธรรพวาที  ดนตรีบรรเลง  เพลงไพเราะ  เพราะสำเนียง  เสียงเสนาะกรรณ  สรรเพลงสรวง  พวงสำเนียงร้อย  สร้อยสำเนียงสนธิ์  วิมลวังเวง  บรรเลงเลิศเลอ  
แต่ละราชทินนามที่ยกมาเป็นตัวอย่างอ่านดูแล้วจะทราบได้ทันทีว่า ผู้ที่ได้รับพระราชทินนามนั้นมีหน้าที่ราชการอย่างไร  ยังมีราชทินนามอีกมากสำหรับตำแหน่งต่างๆ


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 05, 11:06
 ยังไม่อยากให้กระทู้นี้หยุด ค่ะ
ก็เลยพยายามต่อเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเท่าที่นึกออก

เมื่อสุโขทัยเข้ามาเป็น "ทองแผ่นเดียวกัน" กับศรีอยุธยา   เจ้านายในราชวงศ์สุโขทัย ก็กลายมาเป็นขุนนางอยุธยา สืบเชื้อสายกันลงมา
คนหนึ่งในจำนวนนี้ก็คือขุนพิเรนทรเทพ  หรือสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระบิดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ส่วนพระนามของเจ้านายในราชวงศ์สุโขทัย ก็มาเป็นราชทินนามของขุนนางอยุธยา
เท่าที่ดิฉันจำได้  มีพระรามคำแหง  ขุนงำเมือง


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 04 ต.ค. 05, 12:12
 คุณเทาชมพูพูดถึงราชทินนามในตำแหน่งเจ้ากรมท่าซ้ายไปแล้ว ผมขออนุญาตพูดถึงราชทินนามในตำแหน่งเจ้ากรมท่าขวาเพิ่มเติมจากที่คุณ V_Mee เอ่ยไว้บ้างแล้วก็แล้วกันนะครับ

กรมท่าขวานั้นมีหน้าที่ดูและการประกอบการค้ากับประเทศทางฝั่งขวา คือฝั่งตะวันตกของประเทศไทย อาทิ ชาวอินเดีย อาหรับ อาร์เมเนีย และยุโรป นอกจากนี้กรมท่าขวายังทำหน้าที่ควบคุมดูแลชาวต่างชาติเหล่านั้นที่เข้ามาติดต่อค้าขายหรือตั้งถิ่นฐานอยู่ในสยามให้ปฏิบัติตามกฎหมายไทย

ผู้บังคับบัญชาสูงสุดหรือตำแหน่งเจ้ากรมคือ “พระยาจุฬาราชมนตรี” ซึ่งเป็นราชทินนามที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ขุนนางในตำแหน่งนี้เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนมากจะเป็นมุสลิมนิกายชีอะห์มาโดยตลอด เพิ่งมีที่เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่ในยุคหลังๆ

ราชทินนามของพระยาจุฬาราชมนตรีเป็นที่มาของตำแหน่ง "จุฬาราชมนตรี" นับตั้งแต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันครับ


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 05, 12:45
 คุณ UP เข้ามาช่วยต่อให้แล้ว  มาปูพรม วางกาน้ำชา เชี่ยนหมาก ต้อนรับ อย่าเพ่อลุกไปเร็วนักนะคะ

ราชทินนาม นอกจากมาพร้อมตำแหน่งอย่างที่เล่าข้างบนนี้ ก็มักจะบอกหน้าที่การงานของบุคคลไปด้วยในตัว
ถ้าทำเกี่ยวกับการเขียนหนังสือหนังหา  อย่างพวกอาลักษณ์ทั้งหลาย ก็มีศัพท์บอกให้รู้ว่าเป็นกวี มีคำพูดไพเราะ แต่งหนังสือหนังหาเก่ง
 อย่างขุนสุนทรโวหาร(ภู่)  หลวงมหาสิทธิโวหาร  ขุนราชกวี   พวกนี้มักเรียนจบเปรียญกันมา หรือไม่ก็ร่ำเรียนเขียนอ่านได้ดี  จึงมารับราชการเป็นอาลักษณ์

ขุนท่องสื่อ  แปลตามตัวว่าล่าม   พวกนี้สังกัดกรมท่าซ้าย

ถ้าหากว่าเป็นนักกฎหมาย ก็มีคำว่า นิติ  มนู  หรืออะไรที่แปลว่าตัวบทกฎหมาย ประกอบ  อย่างพระยามโนปกรณนิติธาดา   พระยานิติศาสตรไพศาล   หรือว่าอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ก็เคยเป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เมื่อกลับจากฝรั่งเศส มารับราชการในกระทรวงยุติธรรม

พวกทหาร  ราชทินนามมักจะออกไปในทางการรบ  การต่อสู้  มีความสามารถ เข้มแข็งแกร่งกล้า   อย่างหลวงพิบูลสงคราม   พระยาฤทธิ์อัคเนย์
พระยาทรงสุรเดช   พระยาศรีสิทธิสงคราม


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 04 ต.ค. 05, 14:15
 ขอแถมที่อาจารย์ Up กล่าวถึงพระยาจุฬาราชมนตรี  

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระราชทานนามสกุล "อหะหมัดจุฬา" แก่ พระยาจุฬาราชมนตรี (สัน) จางวางกรมท่าขวา  ผู้ช่วยเจ้ากรมกองแสตมป์  กระทรวงยุติธรรม  เมื่อ  ๒๗  กรกฎาคม  ๒๔๕๖  ได้ทรงมีพระราชบันทึกหมายเหตุเพิ่มเติมไว้ว่า "เฉกอะหะหมัดเป็นต้นสกุล  บุตรหลานรับราชการสืบกันมา  จนถึงพระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว) ในรัชกาลที่ ๑  และก็ได้เป็นที่พระจุฬา ต่อๆ กันลงมา  คือจุฬาเถื่อน ซึ่งภายหลังเป็นพระยาวรประเทศภักดี  เป็นบุตรจุฬา (ก้อนแก้ว)  บุตรจุฬา (เถื่อน) คือ จุฬา (นาม)ๆ เป็นพ่อจุฬา (สิน)ๆ เป็นพ่อจุฬา (สัน)

รวมความแล้วผู้ที่เป็นพระยาจุฬาราชมนตรีนับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ล้วนสืบเชื้อสายมาจากเฉกอะหะหมัดซึ่งเป็นมุสลิมนิกายชีอะห์จากเปอร์เชีย  

บุตรหลานของท่านเฉกอะหะหมัดต่อมาได้แยกออกเป็นสองสายๆ หนึ่งคงถือศาสนาอิสลามและได้เป็นจุฬาราชมนตรีสืบต่อกันมาเป็นลำดับ  ส่วนอีกสายหนึ่งได้เปลี่ยนมาถือศาสนาพุทธและได้รับพระราชทานนามสกุลว่า บุนนาค  ศุภมิตร  จาตุรงคกุล  และสกุลที่เกี่ยวเนื่องอีกหลายสกุล


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ประชาชน ที่ 04 ต.ค. 05, 14:17
 ตำแหน่งสูงสุดของขุนนางที่เห็นในพระไอยการตแหน่งนาพลเรือน นาทหารหัวเมืองคือ

-เจ้าพระยามหาอุปราช ชาติวรวงษองครักษ์ภักดีบดินทร แสนอญาธิราช ศักดินา 10,000

ที่เคยอ่านพบมีในรัชสมัยของ พระเจ้าบรมโกศ แต่ผมจำราชทินนามไม่ได้แล้ว แต่จำได้ว่า เมื่อครั้งมีการต่อสู้แย่งชิงราชสมบัติกัน มีทหารเอกของพระเจ้าบรมโกศ ออกไปรบกับพระธนบุรีทหารของฝ่ายตรงข้ามจนชนะได้นับ แต่งตั้งเป็น สมเด็จเจ้าพระยาวังหลวง (แต่บรรดาศักดิ์เจ้าพระยา แต่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศอย่างเจ้าต่างกรม)

มีบรรดาศักดิ์และราชทินนาม สำหรับขุนนางวังหน้ามาฝากครับ

- เจ้าพระยามุขมนตรีศรีศุภสุนทรบวรราช มหาอำมาตรยาธิบดี พิริยพาห  ศักดินา 8,000 เพิ่มพิเศษ 1,000 เทียบเท่า สมเด็จเจ้าพระยาวังหลวง

- พระยาจ่าแสนยากร ศักดินา 5000 เทียบเท่าสมุหนายก
- พระยากลาโหมราชเสนา  ศักดินา 5000 เที่ยบเท่า สมุหกลาโหม


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 04 ต.ค. 05, 14:48
 คุณ V_Mee เอ่ยนามพระยาจุฬาราชมนตรีในสมัยรัตนโกสินทร์แล้ว ผมขอย้อนไปเอ่ยนามพระยาจุฬาฯ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ปรากฏนามอยู่ครับ

จุฬาราชมนตรีท่านแรกก็คือเฉกอะหมัด

ท่านที่ ๒ คือ พระยาจุฬาราชมนตรี(แก้ว) ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ท่านที่ ๓ คือ พระยาจุฬาราชมนตรี(สน)

ท่านที่ ๔ คือ พระยาจุฬาราชมนตรี (เชน) เป็นบุตรของเจ้าพระยาเพชรพิชัย (ใจ)

พระยาเพชรพิชัย (ใจ) ท่านเป็นทายาทชั้นหลานของเฉกอะหมัด เดิมทีก็นับถือศาสนาอิสลามครับ แต่เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

เรื่องมีอยู่ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงสมโภชพระพุทธบาท ในขณะที่พระยาเพชรพิชัยผู้นี้เป็นหัวหน้ากองอาสาจาม ท่านประสงค์จะตามเสด็จไปร่วมสมโภชพระพุทธบาทด้วย แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสห้ามไว้ว่าไปไม่ได้เพราะเป็นมุสลิม ปรากฏว่าพระยาเพชรพิชัยยอมไปนับถือศาสนาพุทธ เพื่อจะตามเสด็จด้วยความจงรักภักดี อย่างไรก็ดี บุตรของท่านยังคงนับถือศาสนาอิสลามดังเดิม และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าเป็นพระยาจุฬาราชมนตรี (เชน)

ส่วนจุฬาราชมนตรีท่านแรกที่เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่นั้นได้แก่ นายแช่ม พรหมยงค์ ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วครับ


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 04 ต.ค. 05, 14:52
 ต่อจากนี้ขอกล่าวถึงราชทินนามในวงการกฎหมายบ้างครับ

ราชทินนามสำคัญที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา คือ ขุนหลวงพระยาไกรสีห์  ที่ลูกขุน ณ ศาลหลวง  อ่านชื่อบรรดาศักดิ์แล้วมีทั้ง ขุน หลวง พระ พระยา รวมอยู่ด้วยกัน  เท่าที่ทราบในรัชกาลที่ ๕ บรรดาศักดิ์นี้เป็นชั้นพระยาทีเดียว

ในรัชกาลที่ ๕ ได้โปรดพระราชทานบรรดาศักดิ์นี้แก่ตุลาการรวม ๒ ท่าน คือ ขุนหลวงพระยาไกสีห์ (เปล่ง  เวภาระ) ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ  อีกท่านหนึ่ง คือ ขุนหลวงพระยาไกสีห์ (เทียม  บุนนาค) ท่านผู้นี้เป็นหนึ่งในศิษย์เอกของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผู้ทรงวางรากฐานการศาลสมัยใหม่  ภายหลังได้ร่วมเป็น ๑ ใน ๒๘ ตุลาการที่ได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการตามเสด็จในกรมราชบุรีฯ เพราเหตุคดีพญาระกา  จนต้องพระราชอาญาถอดออกจากยศบรรดาศักดิ์ในตอนปลายรัชกาลที่ ๕  แล้วได้ไปประกอบอาชีพทนายความจนเป็นเหตุให้รัชกาลที่ ๖ ต้องทรงตราพระราชบัญญัติทนายความพร้อมกับโปรดให้จัดตั้งเนติบัณฑิตยสภาขึ้นมา  (รายละเอียดเรื่อง "คดีพญาระกา" หาอ่านได้ในประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ครับ)

ทีนี้ขอย้อนมากล่าวถึงราชทินนามที่รัชกาลที่ ๖ ทรงคิดพระราชทานแก่ตุลาการ มีอาทิ
พระยามหาวินิจฉัยมนตรีดุลประเพณีนิตยวิเคราะห์
พระยามโหสถศรีพิพัฒน์ธรรมานุวัตน์วรสภาบดี
พระยาพรหมทัตศรีพิลาศธรรมานุวาจน์วรสภาบดี
พระยามนธาตุราชพิจิตร์ธรรมานุศิษฎวรสภาบดี
พระยาประเสนะชิตศรีพิลัยธรรมานุสัยวรสภาบดี
พระยาวิชัยราชสุมนต์ธรรมาภินนท์วรสภาบดี
พระยานลราชสุวัจน์ธรรมาภิรัตวรสภาบดี
พระยาหริสจันทร์สุวืทธรรมาภิสิทธิ์วรสภาบดี
พระยากฤษณราชอำนวยศิลป์ธรรมะวิจินต์วรสภาบดี
พระยาหัสดินอำนวยศาสตร์ธรรมะวิลาศวรสภาบดี
พระยาปุรุราชรังสรรค์ธรรมะวิมัลวรสภาบดี
พระยาทุษยันต์รังสฤษดิ์ธรรมะวิจิตร์วรสภาบดี
พระยากฤติราชทรงสวัสดิ์ธรรมะวิวัฒนราชสภาบดี
พระยาอัชราชทรงศิริธรรมะวิสุทธิราชสภาบดี
พระยาสาครราชเรืองยศธรรมะวิรจน์วิริยะสภาบดี
พระยาภคีรถเรืองเดชธรรมะวิเชตวิริยะสภาบดี
พระยาลพนรินทรเรืองศักดิ์ธรรมวิทักษ์วิริยะสภาบดี
พระยาลักษมัณสุพจน์ธรรมาภิรตเทพสภาบดี
พระยานิมิราชทรงวุฒิธรรมวิรุจราชสภาบดี
พระยานหุษราชทรงพรธรรมวิธรราชสภาบดี

ราชทินนามสำหรับตุลาการข้างต้นนั้นล้วนมีนามเป็นเจ้าเมืองในอินเดียตามที่ปรากฏในชาดกต่างๆ  และโปรดสังเกตว่าจะลงท้ายด้วยสภาบดี  เนื่องจากในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งปวงนั้นตุลาการต้องร่วมกันพิจารณาเป็นองค์คณะ  แต่ละท่านที่มีราชทินนามลงท้ายด้วยสภาบดีนี้ก็มักจะมีมีหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะตุลาการ

นอกจากราชทินนานามสำหรับตุลาการชุดดังกล่าวแล้วยังมีราชทินนามอื่นๆ ที่อ่านแล้วสามารถทราบในทันทีว่าเป็นราขชทินนามสำหรับตุลาการ เช่น
พระยาจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์
พระยาพิพากษาสัตยาธิบดี
พระยาธรรมสารเวทย์วิเศษภักดี
พระยาธรรมศาสตร์นารถประณัย
พระยาพิจารณาปฤชามาตย์ มานวธรรมศาสตร์สุปรีชา
พระทิพยศาสตร์ราชสภาบดี
พระวิชิตเนติศาสตร์
หลวงปริพนธ์พจนพิสุทธิ์
หลวงสกลสัตยาทร
หลวงพินิตนิตินัย
หลวงธารินทโรวาท
หลวงไพจิตรสัตยาดุล
หลวงวิไชยนิตินาท
หลวงศรีสัตยารักษ์
หลวงพิสิฐสัตถญาณ
หลวงประธานคดีศาสตร์
ลวงธรรมาทรอัฏวิจารณ
               ฯลฯ


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 04 ต.ค. 05, 15:03
 มีนี้มาต่อด้วยราชทินนามอัยการกันบ้างนะครับ เช่น

พระยามานวราชสภาบดี
พระยาอรรถการประสิทธิ์
พระยาอรรถการีนิพนธ์
พระอรรถกวีสุนทร
พระอรรถนิติขจร
พระอนันต์นรากูล
หลวงประกลปกรณี
หลวงอรรถปรีชาชนูปการ
หลวงพิเนตรอัยการ
หลวงพิเนตรอัยการ
ขุนประกาศกฤษฎิกา
ขุนเนติสารประสิทธิ
ขุนสิทธิคดี
ขุนวาทีไพเราะ
ขุนปฏิการราชกิจ
                        ฯลฯ


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 04 ต.ค. 05, 15:15
 ในบทพระราชนิพนธ์ต่างก็ได้ทรงกำหนดชื่อตัวละครใหมีราชทินนามต่างๆ กัน

เช่นในเรื่องคดีสำคัญ  ที่ทรงพระราชนิพนธ์แปลงจากบทละครภาษาฝรั่งเศส เรื่อง Un client serieux  ได้ทรงกำหนดชื่อตัวละครไว้ดังนี้
พระโลละศาสตร์ราชสภาบดี        อธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลโลเลบุรี
ขุนประเคนคดี                           อัยการมณฑล
นายเฉลียว  ฉลาดพูด                 ทนายจำเลย
ในเรื่องนี้เป็นการพิจารณาคดีระหว่างนายกูบกับจีนเก๊า  ฝ่ายอัยการเป็นโจท์  และนายเฉลียว เป็นทนายจำเลย  ระหว่างดำเนินกระบวนพิจารณาอยู่นั้นจุนประเคนคดีถูกย้ายเข้ากรุงเทพฯ  และได้มีคำสั่งตั้งนายเฉลียวเป็นอัยการแทน  นายเฉลียวจึงกลายมาเป็นอัยการโจทก์ปรักปรำจำเลยแทน  รายละเอียดโปรดหาอ่านในบทพระราชนิพนธ์เรื่องดังกล่าว


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 04 ต.ค. 05, 15:23
 ราชทินนามของข้าราชการตุลาการและยังเป็นครูกฎหมายเก่าแก่ด้วยอีกท่านที่นึกออก ได้แก่ พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาธิบดี (บุญช่วย วณิกกุล)

นักเรียนกฎหมายยุคก่อนๆ คงเคยได้ยินนาม "พระยาเทพวิทุร" อยู่บ้าง เพราะท่านเขียนตำรา "คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑-๒"


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 04 ต.ค. 05, 15:50
 ในส่วนราชทินนามฝ่ายทหารซึ่งมีมาแต่สมัยอยุธยาเท่าที่จำได้ก็มี เจ้ายามหาเสนา  เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต  สองราชทินนามนี้  ในสมัยรัตนโกสินทร์ล้วนมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา

ถัดลงมาเท่าที่จำได้ชั้นพระยาก็จะมี พระยาท้ายน้ำ  พระยาสีหราชเดโช  พระยามหิมานุภาพ  พระยาสุรราชฤทธานนท์  พระยาเทพอรชุน  พระยาราชบังสัน หรือวังสัน  พระยาฤทธิไกรเกรียงหาญ
นายแกว่นพลล้าน

นอกจากนั้นยังมีราชทินนามที่ไม่ทราบว่า เป็นของเดิมหรือที่คิดขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น
พระยาวรเดชศักดาวุธ
พระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ
พระยาณรงค์วิไชย
พระยากำแหงสงคราม
พระยาพิไชยชาญฤทธิ์
พระยาพหลพลพยุหเสนา
พระยาทรงสุรเดช
พระยาอานุภาพไตรภพ
พระยาสุรนาถเสนี
พระยาหาญกลางสมุท
พระเริงฤทธิสงคราม  
พระยุทธกิจบรรหาร
พระวิภาคภูวดล
พระสุรเดชรณชิต
จมื่นพัลลภพลาธิการ
หลวงสรสิทธิยานุการ
หลวงเผด็จสงคราม
หลวงพลสินธวาณัติ
หลวงหาญสงคราม
หลวงรามพิไชย
หลวงรัดรณยุทธ์
หลวงสินธุ์สงครามชัย
ขุนหัดดรุณพล
ขุนสลายสัตรูสูญ

เมื่อกล่าวถึงราชทินนามฝ่ายทหารแล้ว  ต้องกล่าวถึงราชทินนามสำหรับกรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ซึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา  กรมพระตำรวจจัดเป็นกรมที่ใหญ่และมีประสิทธิภาพรวมทั้งมีอำนาจมาก  เพราะเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นทหารรักษาพระองค์มีหน้าที่แห่นำและแซงเสด็จในเสลาเสด็จประพาสที่ต่างๆ  ราชทินนามสำคัญในกรมนี้ เช่น
พระยาอภิชิตชาญยุทธ  พระยาอนุชิตชาญไชย  ตำแหน่งจางวางกรมพระตำรวจซ้าย - ขวา
พระยาสามภพพ่าย จางวางกรมช่างทหารใน
พระยามหาเทพกษัตรสมุห  พระยามหามนตรีศรีองครักษ์สมุห
เจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย - ขวา
พระอินทรเทพบดีศรีสมุห  พระพิเรนทรเทพบดีศรีสมุห  เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ ซ้าย - ขวา
พระราชมานู  พระราชวรินทร์  เจ้ากรมพระตำรวจนอก ซ้าย - ขวา
นอกจากนั้นยังมีบรรดาศักดิ์ชั้นรองลมา  มีราชทินนามต่างๆ เช่น
พระอภัยนุชิต  หลวงอภัยเสนา  หลวงเสนาพลสิทธิ์  จมื่นใจสนิท  จ่าไล่พลแสน  จ่าชำนิทั่วด้าน  จ่าชำนาญทั่วด้าว  จ่าห้าวยุทธการ  จ่าจิตรสรไกร  จ่าผลาญอริพิศม์   นายศักดิพล  นายศรีวิไชย  นายฤทธิ์สำแดง  นายรุตรักษา  ฯลฯ


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 05, 15:55
 เรื่องขุนหลวงพระยาไกรสี   และ พญาระกา  เล่าไว้ในกระทู้ เจ้าพระยามหิธร ค่ะ
ถ้าใครสนใจลองหาดู

ขอบคุณคุณ V_Mee มากค่ะ

คุณ UP  ส่วนดิฉันจำชื่อพระยานิติศาสตร์ไพศาลได้จากแบบฟอร์มทำสัญญาซื้อขายน่ะค่ะ  มีขายตามร้านขายเครื่องเขียน หลายปีแล้ว
ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้ยังมีอยู่หรือเปล่า

คุณประชาชน ดิฉันมีหนังสือทำเนียบขุนนางวังหน้า  คงต้องรื้อตู้ปัดฝุ่นหาเสียแล้ว  ขอบคุณที่มาจุดประกาย  


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 05, 16:33
 ค.ห. นี้บ่นค่ะ
ไม่มีอะไรทำให้หมดแรงเท่ากับพิมพ์ยาวเหยียด
แล้วส่งไม่ไป  พอคลิก back มันก็หายหมด
คุณอ๊อฟคะ ช่วยตั้งโปรแกรมให้ back
แล้วกลับมาข้อความยังอยู่ได้ไหมคะ

พรุ่งนี้จะมาพิมพ์อีกที


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ประชาชน ที่ 04 ต.ค. 05, 17:17
 คือไหนๆ กระทู้นี้ก็รวมเรื่องราชทินนามแล้ว ผมก็เลยเอาตำแหน่งใน พระไอยการนาพลเรือนฯ ที่เป็นขุนนางระดับสูงศักดินา 10,000 มาลงไว้เลยครับ เท่าที่ตรวจสอบ มีขุนนางระดับ เจ้าพระยา 5 ตำแหน่ง (เจ้าพระยามหาโยธา ซึ่งเป็นหัวหน้ามอญ ก็มีบรรดาศักดิ์ เจ้าพระยา แต่ศักดินาแค่ 3,000 ไร่ ซึ่งอาวุโสในระบบขุนนางโบราณถือ ศักดินาเป็นลำดับแรก จึงถือว่าเป็นแค่ขุนนางระดับกลาง เท่านั้น) ส่วนระดับออกญา หรือ พระยามี 16 ตำแหน่ง เป็นทั้งเสนาบดี และเจ้าเมืองชั้นโท  เข้าใจว่าจะมีตำแหน่งขุนนางที่ไม่ได้ปรากฎในทำเนียบพระไอยการฯ อีกจำนวนมาก คือ สถาปนาขึ้นมาภายหลัง (เข้าทำนองออกกฎหมายเพิ่มเติม) รายชื่อมีดังนี้ครับ

1. เจ้าพระยามหาอุปราชชาติวรวงษ์องคภักดีบดินทร สุรินทรเดโชไชยมหัยสุริยภักดีแสนอญาธิราช   ขุนนางอาวุโสหน้าพระที่นัง

2. เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์สมุหะนายกอัครมหาเสนาบดีอะไภยพิรีบรากรมุภาหุ   สมุหนายก

3. เจ้าพระยามหาเสนาบดีวิรียภักดีบดินทรสุรินทรทฤาไชยอไภยพิรียปรากรมภาหุ   สมุหะพระกลาโหม

4. เจ้าพญาสุรศรีพิศมาธิราชชาติพัทยาธิเบศวรธิบดีอภัยรีพิรียบรากรมภาหุ   เจ้าเมืองพิษณุโลก

5. เจ้าพระยาศรีธรรมราชชาติเดโชไชยมไหยสุริยาธิบดีอภัยพิรียบรากรมภาหุ   เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช

6. พระยายมราชอินทราธิบดีศรีวิไชยบริรักโลกากรทัณทะราช   เสนาบดี
7. ออกญาพลเทพราชเสนาบดีศรีไชยนพรัตนเกษตราธิบดี   เสนาบดี

8. ออกพญาศรีธรรมราชเดชะชาติอำมาตยานุชิตพิพิทรัตนราชโกษาธิบดีอะภัยรีพิริยะกรมภาหุ ตราบัวแก้ว   เสนาบดี

9. ออกพญาธารมาธิบดีสรีวิริยพงษวงษภักดีบดินทรเดโชไชยมะไหยสุริยาธิบดีรัตนมลเทียรบาล   เสนาบดี

10. ออกญาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีศรีสุภะราชพิรียภาหุ   เจ้ากรมธรรมการ

11. พระมหาราชครูพระครูมหิธรธรรมราชสุภาวดีศรีวิสุทธิคุณวิบูลธรรมวิสุทธิพรมจาริยาธิบดีศรีพุทธาจารย   พราหมน์

12. พระมหาราชครูพระราชประโรหิตาจารย์ราชสุภาวดีศรีบรมหงษ์องคบุริโสดมพรหมญาณวิบุลสิลสุจริต วิวิทธเวทยพรหมพุทธาจารย์   ปุโรหิต

13. พระยารามจัตุรงค์   จางวางกรมอาสาหกเหล่า

14. ออกพญาศรีราชเดโชไชยอะไภรีพิรียปรากรมภาหุ เดโช   เจ้ากรมอาสาหกเหล่าขวา

15. อออพญาศรีราชเดชไชยท้ายน้ำอะไภยรีพิรียปรากรมภาหุ ท้ายน้ำ   เจ้ากรมอาสาหกเหล่าซ้าย

16. ออกญาเกษตรสงครามรามราชแสนญาธิบดีศรีสัชนาลัยอภัยรีพิรียบรากรมภาหุ   เจ้าเมืองสววรคโลก

17. ออกญาศรีธรรมศุภราชชาติบดินทรสุรินทฤาไชยอภัยพิรียภาหุ   เจ้าเมืองสุโขทัย
18. ออกญารามรณรงค์สงครามรามภักดีอภัยพิรียภาหะ   เจ้าเมืองกำแพงเพชร

19. ออกญาเพชรรัตนสงครามรามภักดีอภัยพิรียภาหะ   เจ้าเมืองเพชรบูรณ์

20. ออกญากำแหงสงครามรามภักดีพิรียภาหะ   เจ้าเมืองนครราชสีมา
21. ออกญาไชยยาธิบดีศรีรณรงค์ฤาไชยอภัยพิรียบรากรมภาหุ   เจ้าเมืองตะนาวศรี


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ประชาชน ที่ 04 ต.ค. 05, 17:25
 อาจารย์เทาชมพูครับ ผมก็เคยเจอปัญหาแบบนี้หลายครั้งในการแสดงความเห็นในอินเตอร์เน็ทครับ คือ เราพิมพ์ไปเท่าที่เราคิดได้ บางความเห็นก็ยาวและผมคิดว่าดีด้วยพอคลิกแล้วหาย จะให้พิมพ์ใหม่ ก็ไม่ได้สละสลวยเท่าเดิม ตอนหลังๆ ก็เลยถือหลักปลอดภัยไว้ก่อนคือ หากแสดงความเห็นยาวๆ ในอินเตอร์เน็ต ก็จะรีบก็อบปี้ไว้ก่อน หายแล้วก็จะได้เอาคืนได้ครับ บทเรียนที่สำคัญของผมคือ สมัยที่ยังเรียนอยู่ที่จุฬาฯ ยุคคอมพิวเตอร์ยังใช้แผ่นดิสขนาด 5.25 นิ้ว แล้วผมก็พิมพ์ช้า พิมพ์ได้ครึ่งวัน อยู่ๆ ก็มีรุ่นน้องเดินมาเตะสายไฟ คอมฯดับ ที่พิมพ์ไว้ทั้งหมดหายไปเลย จะโกรธรุ่นน้องก็ใช่ที่ เพราะเขาไม่ได้ตั้งใจ กลืนไม่เข้าคายไม่ออกครับ ตั้งแต่นั้นมาก็เลยถือหลักปลอดภัยไว้ก่อน เซฟทุกครั้งที่รู้ตัว (ลืมก็มี) เลยเข้าใจครับว่า พิมพ์แล้วหายนี่เป็นอย่างไร ยิ่งเป็นร่างที่ออกมาจากสมองสดๆ ด้วยแล้วน่าเจ็บใจครับ หายแล้วก็เรียบเรียงไม่ได้เหมือนเดิม


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ประชาชน ที่ 04 ต.ค. 05, 17:49
 ส่วนตำแหน่งในพระไอยการนาพลเรือนฯ ที่มีศักดินา 5,000 ไร่มี 21 ตำแหน่งครับ เป็นทั้งเจ้าเมืองชั้นตรี และเจ้ากรมในส่วนกลาง บรรดาศักดิ์ที่ปรากฎในทำเนียบมีทั้งออกญา และพระ เข้าใจว่าบรรดาศักดิ์นั้นเลื่อนได้ และมีความสำคัญน้อยกว่าศักดินา เพราะมีพระยาที่ศักดินาไม่ถึง 1000 ก็มี

1. ออกญาศรีสุริยะราชาไชยอภัยพิรียภาหะ   เจ้าเมืองพิชัย
2. ออกญาเทพาธิบดีศรีรณรงค์ฤาไชยอภัยพิรียภาะ   เจ้าเมืองพิจิตร
3. ออกญาไกรเพชรรัตนสงครามรามภักดีพิรียภาหะ   เจ้า เมืองนครสวรรค์
4. ออกญาแก้วเการพยพิไชยภักดีบดินทรเดโชไชยอภัยพิรียะภาหะ   เจ้าเมืองพัทลุง
5. ออกญาเคางะทราธิบดีศรีสุรัตวลุมหนัก   เจ้าเมืองชุมพร
6. ออกพระไชยธิบดีรณรงค์ฤาไชยอภัยพิรียะภาหะ   เจ้าเมืองจันทบูรณ์
7. ออกพระวิชิตภักดีศรีพิไชยสงคราม   เจ้าเมืองไชยา
8. พระอุไทยธรรม   เจ้ากรมภูษามาลา
9. ออกพระราชสุภาวดี ศรีสจะเทพณรายสมุหะมาตยาธิบดีศรีสุเรนทราเมศวร   เจ้ากรมพระสุรัสวดีกลาง
10. พระพิชัยสงคราม   เจ้ากรมอาสาซ้าย
11. พระรามคำแหง   เจ้ากรมอาสาขวา
12. พระพิชัยรณฤทธิ   เจ้ากรมเขนทองขวา
13. พระวิชิตรณรงค์   เจ้ากรมเขนทองซ้าย
14. พระเพทราชาธิบดีศรีสุริยาภิชาติสุริยวงษ์องคสมุหะ   สมุหะพระคชบาลจางวางขวา
15. พระสุรินทราราชาธิบดีศรีสุริยศักดิ์   สมุหะพระคชบาลจางวางซ้าย
16. พระเพชรพิไชย   จางวาง กรมล้อมพระราชวัง
17. พระราชครูพระครูพิเชดษรราชธิบดีศรีษรคม   พราหมน์
18. พระธรรมสาตรโหระดาจารยปลัดมหิธร   พราหมน์
19. พระราชครูพระครูพิรามราชสุภาวดีตรีเวทจุทามะณีศรีบรมหงษ์   ปุโรหิต
20. พระราชภักดีศรีรัตนราชสมบัติพิริยภาหะ   เจ้ากรมพระคลังมหาสมบัติ
21. ออกพระศรีภูริยปรีชาราชเสนาบดีศรีสารลักษณ   เจ้ากรมอาลักษณ์


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ประชาชน ที่ 04 ต.ค. 05, 18:09
 ส่วนตำแหน่งที่มีศักดินา 600 แต่มีบรรดาศักดิ์เป็นพญาคือ

1. พญาจินดารังสัน จางวางกรมช่างสลัก ศักดินา 600
2. พญารจนานิมิตร จางวางกรมช่างปั้น ศักดินา   600

ผมเลยไม่ทราบว่า บรรดาศักดิ์พญา กับ พระยา นั้นอันเดียวกันหรือเปล่า เข้าใจว่าไม่เหมือนกัน แต่ก็มีบรรดาศักดิ์ ออกญา กับ พระยา อีก เคยอ่านพบว่าคำว่า ออก ที่เติมหน้าบรรดาศักดิ์ เช่า ออกญา ออกพระ ออกหลวง ออกขุน นั้น เป็นคำที่ทำให้บรรดาศักดิ์นั้นมีอาวุโสมากขึ้น เข้าใจว่าเป็น Senior อะไรทำนองนี้ครับ

ส่วนตำแหน่งอื่นที่มีบรรดาศักดิ์ พญา หรือ พระยา แต่ศักดินาต่ำกว่า 5,000 ไร่ มี 12 ตำแหน่ง ดังนี้

1. ออกญาศรีสุริยะ ภาหะ สมุหะ พระอัศวราช พิริยภาหะ   เจ้ากรมม้าต้น   กรมพระอัศวราช ศักดินา 3000
2. พญาอภัยรณฤทธิ จางวางกรมพระตำรวจซ้าย กรมพระตำรวจซ้าย ศักดินา 3000
3. ออกญาแพทยพงษาวิสุทธาธิบดีอภัยรีพิริยกรมภาหุ จางวางแพทยาโรงพระโอสถ ศักดินา 2000
4. พญาอุดมราชา เจ้ากรมกลิอ่อง สังกัดกรมอาสามอญศักดินา   1600
5. พญาพราม เจ้ากรมดั้งทองขวา สังกัดกรมอาสามอญ ศักดินา1600
6. พญานครอินทร์ เจ้ากรมดาบสองมือกลาง สังกัดกรมอาสามอญ ศักดินา 1600
7. พญาเกียร เจ้ากรมดั้งทองซ้าย สังกัดกรมอาสามอญศักดินา1600
8. ออกญาอะไภยสุระเพลิง จางวางขวา กรมพระแสง ศักดินา1200
9. ออกญาดำเกิง จางวางซ้าย กรมพระแสง ศักดินา 1200
10. พญาธรรมปรีชา จางวางราชบัณทิต กรมราชบัณทิต ศักดินา1000
11. พญาอัคศิริ นายกองสังกัดกรมอาสามอญ ศักดินา1000
12. พญาศรีหราชา นายกองกรมดั้งทองซ้าย สังกัดกรมอาสามอญ ศักดินา 1000


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 05 ต.ค. 05, 04:46
 คุณเทาชมพูครับ ราชทินนามนี้ผมก็จำได้แม่นยำเพราะฟังแล้วทราบทันทีว่าท่านทำอะไร เคยคุยเล่นๆ กับอาจารย์กฎหมายผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยท่านหนึ่ง (รู้สึกท่านนี้จะมีความเกี่ยวดองทางเครือญาติกับคุณเทาชมพูเสียด้วย...ผมใบ้คำอีกแล้ว) ท่านยังเคยพูดเล่นว่าถ้าเป็นสมัยนี้ถ้าท่านได้เป็นพระยาก็คงไม่พ้นราชทินนาม "นิติศาสตร์ไพศาล" ทำนองนั้น

พระยานิติศาตร์ไพศาลย์ (วัน จามรมาน) ท่านฝากผลงานไว้ในวงการนิติศาสตร์อยู่มากมายครับ ท่านเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เอธิบดีผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถมยังเคยรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างพระยาพหลพลพยุหเสนา ลาป่วยเป็นเวลาร่วมๆ ครึ่งปีอีกด้วย

ในเชิงวิชาการ นักเรียนกฎหมายที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์กฎหมายต้องรู้จักนามนี้ครับ เพราะ พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ ท่านแต่งตำรา "ประวัติศาสตร์กฎหมาย" เป็นท่านแรกๆ ของเมืองไทย ตอนนี้ผมยังมีตำราเล่มนั้นอยู่ในมือเลยครับ เดี๋ยวนี้คงต้องไปหาตามร้านหนังสือเก่า หรือใช้วิธีถ่ายเอกสารเอา เพราะไม่มีขายแล้ว

..ท่านเป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ (สมัยยังเป็นแผนกหนึ่งในคณะรัฐศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นคณบดีท่านแรกของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครับ


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 05, 07:45
 คุณ UP ใบ้คำคราวนี้ค่อยง่ายหน่อยค่ะ



'ว่าที่พระยานิติศาสตร์ไพศาล' ท่านนั้น   ท่านเป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่ยังหนุ่มสมชื่อ  ชื่อจริงท่านก็คล้ายๆนามสกุลคุณ UP เสียด้วย   เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องตัวบทกฎหมายลิขสิทธิ์  ดิฉันอาศัยบทความท่านอ้างอิงอยู่หลายครั้ง  

ท่านมีญาติผู้ใหญ่อยู่ในราชสกุล กุญชร  แต่ดิฉันก็ไม่มีโอกาสเรียนถามสักทีว่าท่านมีเกร็ดอะไรเกี่ยวกับราชสกุลนี้พอจะเล่าสู่กันฟังได้หรือไม่   ถ้าคุณ UP กลับมา  ได้คุยกันลองถามดูนะคะ



คุณประชาชนคะ  จริงอย่างที่คุณบอกมาทั้งหมด    เจอมาหลายครั้งแล้วว่าใจเร็ว ไม่พิมพ์ลง notepad เสียก่อน  มักจะโดนเน็ตทำเสียจุกยังงี้เสมอ  ต่อไปจะพยายามเข็ด ไม่ใจเร็วอีกค่ะ


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 05 ต.ค. 05, 08:28
 ขอประทานโทษเจ้าของกระทู้ด้วยนะครับที่นอกเรื่องไปนิด แต่กำลังสนุก ขอเล่นต่อแล้วกันครับ

ถ้าเป็นรายการมาตามนัด คุณเทาชมพูอาจตกรอบครับ เพราะผมไม่ได้หมายถึงศาสตราจารย์ท่านนั้น ขอเล่นใบ้คำต่อ ท่านเป็น "รองศาสตราจารย์" เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันนี้ท่านไม่ได้เป็นรองศาสตราจารย์ประจำแล้วครับ ถ้าจำไม่ผิด รู้สึกจะเกี่ยวดองกับคุณเทาชมพูในสกุลที่ให้แล้วซึ่งทองครับ


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 05 ต.ค. 05, 08:49
 อ้อ แต่ถึงกระนั้น ศาสตราจารย์ ช. ที่คุณเทาชมพูเล่นใบ้คำมานั้นท่านก็ค่อนข้างเมตตาผมเหมือนกัน เพราะท่านเป็นทั้งรุ่นพี่ (จริงๆ คือรุ่นอา) ทั้งที่โรงเรียนสมัยมัธยม มหาวิทยาลัย แถมยังเป็นครูของผมอีกด้วย

..............................

เดี๋ยวจะหาว่านอกเรื่องครับ โพสนี้ขอพูดเรื่องราชทินนามสักหน่อย

ราชทินนามขุนนางหลายท่าน นอกจากจะสื่อถึงตำแหน่งหน้าที่แล้ว ยังสื่อถึงสกุลหรือบรรบุรุษของท่านนั้นๆ อีกด้วย ตัวอย่างเช่น

พระยาอิศรพันธ์โสภณ (หม่อมราชวงศ์หนู อิศรางกูร)
พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
พระยารัตนกุลอดุลยภักดี (จำรัส รัตนกุล)
พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช)


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 05 ต.ค. 05, 11:36
 เพิ่มเติมราชทินนามที่มีที่มาจากนามสกุล เท่าที่พอจะนึกออกตอนนี้ครับ

พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร)
พระยากัลยาณวัฒนวิศิษฎ (เชียร กัลยาณมิตร)
พระพิศาลสุขุมวิท (ประสบ สุขุม)
หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ (ประดิษฐ์ สุขุม)
หลวงจรัญสนิทวงศ์ (หม่อมหลวงจรัญ สนิทวงศ์)


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 05, 13:03
บรรจงเก็บหน้าที่แตกกระจายมารวมไว้อีกครั้ง

มีญาติกับเขาอยู่ 2 คนเท่านั้นแหละค่ะในแวดวงคุณ UP   อุตส่าห์ทายผิดจนได้ ถ้าเป็นเกมทศกัณฐ์ก็คงถูกคัดออกตั้งแต่หน้าที่ 1

ท่านที่คุณ UP พูดถึง   เวลานึกถึงท่านทีไรดิฉันเกือบลืมทุกทีว่าท่านเรียนจบกฎหมาย  จากนิวยอร์ค
เพราะไปดังทางสาขาอื่นๆ จนน่าจะเป็น พระยาวัฒนธรรมไทยไพศาล เชี่ยวชาญกิจการราชสำนัก อัครกรรมการโมเดิร์นไนน์สภาบดี  ควบตำแหน่งรองปลัดทูลฉลองอีกต่างหาก
ถ้าท่านและดิฉันได้รับยีนเรื่องสนใจประวัติศาสตร์ จากบรรพบุรุษมาร่วมกัน  ยีนคงเทไปรวมทางท่านเสียละมาก  เหลือส่วนน้อยมาให้ดิฉันปลูกเรือนไทยแต่พอตัวอยู่ตรงนี้

ขอเลี้ยวกลับมาที่ราชทินนามวังหน้า  ก่อนจะคุยเพลิน  เพิ่งไปค้นตู้หนังสือปัดฝุ่นทำเนียบนามข้าราชการวังหน้ามาดู ตามที่คุณประชาชนจุดประกายไว้
ข้าราชการวังหน้า มีแบบแผนหน้าที่ เป็นระเบียบเดียวกับวังหลวง   บางส่วนคุณประชาชนนำมาลงไว้แล้ว
ขยายความให้คุณเกาลัดฟังว่า  ถ้าวังหลวงมีขุนนางรับผิดชอบตำแหน่งไหน  เช่นในด้านเวียงวังคลังนา  วังหน้าก็มีขุนนางรับผิดชอบแบบนั้น แต่คนละราชทินนามกัน   เทียบกันได้เป็นคู่ๆ
เว้นแต่ว่าศักดินาขุนนางวังหน้าน้อยกว่าขุนนางวังหลวงครึ่งหนึ่ง
สูงสุดของตำแหน่งขุนนางวังหน้า คือเจ้าพระยามุขมนตรี   เทียบได้กับสมเด็จเจ้าพระยา ของวังหลวง
รองลงมาคือ พระยาจ่าแสนยากร  พระยาอิศรานุภาพ เทียบได้กับสมุหนายก วังหลวง
พระยาราชโยธา (เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ-วังหน้า) เทียบได้กับพระยามหาอำมาตย์ (วังหลวง)
พระยาสุเรนทรราชเสนา  ปลัดทูลฉลอง วังหน้า เทียบได้กับพระยาราชนิกุล(วังหลวง)

เอาไว้แค่นี้ก่อนค่ะ พิมพ์ยาวมากแล้ว เดี๋ยวจะถูกเน็ตหักหลังเอาอีก


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 05 ต.ค. 05, 15:27
ท่านอาจารย์เทาชมพูได้กรุณาหยิบยกเรื่องราชทินนามวังหน้ามากล่าว  ก็ขอร่วมวงไพบูลย์ด้วยคนครับ  

ในประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์นั้น  วังหน้าท่านทิวงคตก่อนพระเจ้าแผ่นดินเสมอ  เมื่อวังหน้าทิวงคตแล้ว  ก็จะโปรดให้ยกข้าราชการวังหน้าเข้าสมทบเป็นข้าราชการวังหลวงตลอดมา  ต่อมาในรัชกาลที่ ๕เมื่อยุบเลิกวังหน้าแล้ว  จึงได้นำราชทินนามสำหรับวังหน้ามาใช้เป็นราชทินนามของวังหลวงเลยทีเดียว


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 07 ต.ค. 05, 08:50
 ขอนอกเรื่อง เพื่อเรียนรายงานคุณเทาชมพูสักหน่อยว่าผู้ใหญ่ท่านนั้นท่านได้ทราบ (สมมติ) ทินนาม "พระยาวัฒนธรรมไทยไพศาลฯ" แล้วครับ ท่านชอบอกชอบใจใหญ่เชียว ...ท่านเล่าว่าวันก่อนลืมไป มีเกือบจะมีโอกาสได้เอ่ยขอบพระคุณคุณเทาชมพู แต่ก็ลืมเสียได้ที่จะเอ่ยถึงเรื่องนี้ เพราะมัวแต่พูดคุยแต่เรื่องสุขภาพของญาติผู้ใหญ่


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 05, 09:49
 ขอเวลานอก กับคุณ UP 1  นาทีค่ะ
มีโอกาสพูดกับเจ้าคุณวัฒนธรรมไทยฯได้ถือว่าเจอแจ็กพ็อตค่ะ   น่าไปซื้อล็อตเตอรี่
ปกติท่านไม่เคยมีเวลาว่าง  คนอื่นมีเวลาทำงานวันละยี่สิบสี่ชั่วโมง ท่านทำงานวันละสี่สิบแปดชั่วโมง  
ยิ่งหลังๆนี้  เรื่องบางเรื่อง ก็น่าเห็นใจ  ท่านก็พูดได้แค่นี้จริงๆ   เรียนท่านแล้วว่าให้สู้ต่อไป  ดิฉันขอให้กำลังใจ

กลับมาเรื่องราชทินนาม ตามกระทู้ ค่ะ

ราชทินนามของขุนนางวังหลัง   มีเฉพาะในรัชกาลที่ 1    
เมื่อสิ้นวังหลังแล้ว ดิฉันคิดว่าก็คงจะเป็นแบบเดียวกับวังหน้า
อย่างที่คุณ V_Mee ให้ความรู้ไว้
คือขุนนางวังหลังก็เข้าสมทบกับขุนนางวังหลวง

ขุนนางวังหลัง มีบรรดาศักดิ์สูงสุดแค่ พระ
พระวิเศษแสนยากร   เจ้ากรมมหาดไทย

ส่วนเจ้ากรมที่เทียบได้กับ เวียง วัง คลัง นา คือ
พระบุเรนบุรียบาล    เจ้ากรมเมือง
พระพิทักษราชถาน   เจ้ากรมวัง
พระศรีโกษา           เจ้ากรมท่า
พระศรีสุทธาโภชน์   เจ้ากรมนา

ราชทินนามที่คุณเกาลัดฯ ว่าแปลกๆ อย่างเก่งระดมยิง  ลองมาอ่านราชทินนามขุนนางกรมล้อมวัง ของวังหลังดูสิคะ
ขุนแผลงพลนาศ
หมื่นมหาหักศึก
หมื่นพิลึกโยธา


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 05, 11:12
 ภาพนี้น่าจะลงในเมืองไทยในอดีต  แต่เห็นว่าเกี่ยวกับนักกฎหมายไทยก็เลยนำมาลงในกระทู้นี้ค่ะ

เป็นภาพของพระยาบุณยธรรมธาดา( บุญ บุณยประสพ)
เมื่อครั้งเป็นหลวงประธานคดีศาสตร์
ท่านสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิตไทย ทับเสื้อราชปะแตน โก้มากทีเดียว  


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ประชาชน ที่ 08 ต.ค. 05, 03:00
 ผมมีประกาศตั้งสมเด็จเจ้าพระยามาฝากครับ

-----------------

                               ประกาศ

ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๑๖ พรรษา ปัตยุบันกาลกุกกุฎสังวัจฉรบุศยมาศชุษณปักษ์ ทศมีดิถีรวิวารบริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์  ฯลฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า
                             ฯลฯ    ฯลฯ    ฯลฯ

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์  สมันตพงศพิสุทธิมหาบุรุษรัตโนดม  ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณในแผ่นดิน แต่รัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ มาช้านาน ได้มีคุณูปการในราชกิจน้อยใหญ่เป็นอันมาก ได้ทำนุบำรุงราชอาณาจักรสยาม  อุดหนุนกระแสพระราชดำริมิให้เพลี่ยงพล้ำต่ออริราชดัสกรภายในภายนอกจำพวกที่คิดเบียดเบียฬกรุงเทพมหานคร โดยอำนาจให้เสื่อมถอยน้อยกำลังสงบไปได้โดยยุติธรรม และจัดการแผ่นดินให้ผาสุกเป็นปกติเรียบร้อยดีมิได้มีวิหิงษาอุปัทวาการอันใดอันหนึ่ง

ครั้นถึงในรัชกาลปัจจุบันนี้ ได้รับตำแหน่งที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ฉลองพระเดชพระคุณโดยอัธยาศัยเที่ยงธรรมซื่อตรง มิได้เห็นและเกรงแก่ผู้ใดจะว่ากล่าวตัดสินการสิ่งใดจะให้เป็นคุณเป็นประโยชน์ทั่วกันเป็นแบบอย่างต่อไปภายหน้าสิ้นกาลนาน และได้ช่วยทำนุบำรุงพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ผู้น้อยให้ตั้งอยู่ในความเจริญทั่วไป มิได้มีความรังเกียจร้าวฉานแก่กัน  กับทั้งข้าราชการทั้งปวงได้อยู่เย็นเป็นสุขทั่วกันทั้งพระราชอาณาเขตต์และดำริราชการซึ่งเป็นเหตุเป็นคุณ มีความเจริญแก่แผ่นดินเป็นหลายประการ ดำรงอยู่ในธรรมสัตย์สุจริตหาผู้เสมอมิได้  สมควรจะเป็นผู้รับบรมราชอิสริยยศมหันตเดชานุภาพมีเกียรติยศใหญ่ยิ่งในแผ่นดิน  สมควรแก่ความชอบได้

จึ่งมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท  ดำรัสสั่งให้เลื่อนที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นสมเด็จเจ้าพระยา  มีสมญาภิธัยนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์  สมันตพงศ์พิสุทธิ  มหาบุรุษรัตโนดม  บรมราชุตมัคมหาเสนาธิบดี มหาสุริยมัณฑลีมุรธาธร  จักรรัตนสหจรสุรศรขรรควรลัญจธารินทร์  ปรมินทรมหาราชวรานุกูล  สรรพกิจจานุกิจมูลประสาท  ปรมามาตยกูลประยูรวงศ์วิวัฒน์  สกลรัชวราณาจักรประสดัมภ์  วรยุติธรรมอาชวาธยาศัย  ศรีรัตนตรัยคุราภรณ์ภูษิต  อเนกบุญฤทธิ์ประสิทธิสรรค์มหันตวรเดชานุภาพบพิตร  อัชนาม เป็นบรมราชุตมรรค มหาเสนินทร ประธานาธิบดี มีอำนาจบรมอิสริยยศบรรดาศักดิ์  ๓๐๐๐๐  ยิ่งกว่าจตุสดมภ์มนตรี  ๓ เท่า ดำรงตรามหาสุริยมณฑล  ได้บังคับบัญชาสิทธิขาดราชการแผ่นดินในกรุงนอกกรุงทั่วพระราชอาณาจักร  และสำเร็จสรรพอาญาสิทธิประหารชีวิตคนที่ถึงอุกฤษฏโทษมหันตโทษได้

ขอให้สิ่งซึ่งเป็นต้นเหตุเป็นใหญ่ในโลก  จงอนุเคราะห์บำรุงบริรักษ  สมเด็จเจ้าพระยาผู้ดำรงมหิศวรศักดิ์  วรเดชานุภาพบพิตร ยืนยาวหาอันตรายมิได้  ให้เจริญชนมายุพรรณ  สุข  พล  ปฏิภาณ  คุณสารสมบัติ  สรรพศิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล  วิบุลยอิฐผลกมลปรีดาผาสุขทุกประการเทอญ

             ให้ตั้งจางวางทนาย   เป็น    หลวงบำรุงวรามาตย์        
      ให้ตั้งปลัดจางวางทนายเป็น     ขุนประสาทภักดี
               ให้ตั้งสมุห์บัญชีทนายเป็น      หมื่นศรีพยุหรักษ์
------------------


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ต.ค. 05, 10:19
 ยังไม่อยากจบกระทู้อยู่ดี
ขอสรุป เปรียบเทียบราชทินนามขุนนาง ของ วังหลวง และวังหน้า  
ตามตำแหน่งสำคัญๆ  แบบนี้ค่ะ
ลอกส่วนหนึ่งจากคห. 7 ของคุณ V_Mee มาประกอบ

วังหลวง
สมุหนายก เป็น เจ้าพระยาจักรี
สมุหพระกลาโหม เป็น เจ้าพระยามหาเสนา
จตุสดมภ์ คือ เวียง วัง คลัง นา
เสนาบดีวัง เป็น เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ หรือ ธรรมาธิกรณาธิบดี
เสนาบดีคลัง(เทียบกับกระทรวงการคลัง พาณิชย์ และการต่างประเทศ) เป็น เจ้าพระยาโกษาธิบดี
เสนาบดีเวียง (เทียบกับมหาดไทย) เป็น เจ้าพระยายมราช
เสนาบดีนา(เทียบกับกระทรงเกษตรฯ) เป็น เจ้าพระยาพลเทพ


วังหน้า  
เจ้าพระยามุขมนตรี เทียบหน้าที่ เท่ากับสมเด็จเจ้าพระยา ของวังหลวง
สมุหนายก
พระยาจ่าแสนยากร   เทียบหน้าที่ เท่ากับเจ้าพระยาจักรี  ศักดินา 5000
พระยาราชโยธา  เทียบหน้าที่ เท่ากับ เจ้าพระยามหาอำมาตย์

ส่วนจตุสดมภ์ เวียง วัง คลังนา  เหมือนกัน  แต่เป็นพระยา ไม่ใช่เจ้าพระยา  มีศักดินาครึ่งหนึ่งของเจ้าพระยาวังหลวง คือ 5000
เสนาบดีวัง เป็น พระยามณเฑียรบาล เทียบหน้าที่ เท่า เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์
เสนาบดีคลัง เป็นพระยาไกรโกษา  เทียบหน้าที่ เท่า เจ้าพระยาพระคลัง
เสนาบดีเวียง เป็น พระยาพิไชยบุรินทรา  เทียบหน้าที่ เท่า ยมราช
เสนาบดีนา เป็นพระยาเกษตรรักษา เทียบหน้าที่ เท่าเจ้าพระยาพลเทพ


กระทู้: ขอความรู้เรื่องราชทินนามหน่อยค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 15 ธ.ค. 06, 10:35
 จากความเห็นที่ ๓๔
ภาพของพระยาบุณยธรรมธาดา( บุญ บุณยประสพ)
เมื่อครั้งเป็นหลวงประธานคดีศาสตร์
ท่านสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิตไทย ทับเสื้อราชปะแตน โก้มากทีเดียว

เสื้อครุยนี้เป็นครุยอังกฤษที่เสด็จกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงนำมาให้ศิษย์ของพระองค์ที่สอบไล่ได้เป็นเนติบัณพิตใช้  ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ พระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานเสื้อครุยแบบไทย  จึงทรงพระราชกำริเสื้อครุยเนจิบัณฑิตขึ้นใหม่เป็นเสื้อครุยไทย  มีสำรดจิดขอบรอบและที่ต้นแขนปลายแขน  สำรดพื้นสีขาวตามสีของกระทรวงยุติธรรม  เดินแถบทแง  ครุยเนติบัณฑิตนี้ได้เป็นต้นแบบเสื้อครุยชองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาจนทุกวันนี้  นอกจากนั้นยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างเสื้อครุยเนติบัณฑิตพระราชทานแก่ผู้ที่สอบไล่ได้เป็นเนติบณฑิตทุกคน  ผู้ที่เป็นเนติบัณฑิตอยู่ก่อนวันที่ ๕  มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘  ล้วนได้รับพระราชทานต่อพระหัตถ์ในวันเสด็จฯ เหยียบศาลสยามสถิตยุติธรรมทุกคน  ผู้ที่สอบไล่ได้ในปีต่อๆ มา  รับพระราชทานจากพานที่วางไว้หน้าพระบรมรูปสืบมาจนสิ้นรัชกาล  จึงเลิกประเพณีการพระราชทานเสื้อครุย  ผู้ที่สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตต้องไปตัดกันเอาเอง  ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕  ผู้ใหญ่ในคณะราษฎร์หลายท่านซึ่งเป็นนักกฎหมายจากฝรั่งเศสลงความเห็นกันว่า  เสื้อครุยแบบไทยนั้นขาดง่าย ทั้งสำรดที่คิดแถบทองนั้นก็ทำให้ราคาเสื้อครุยแพงเกินไป  จึงเปลี่ยนเสื้อครุยเนติบัณฑิตเป็นเสื้อดำมีผ้าพาดบ่าแบบฝรั่งเศส  โดยดัดแปลงสำรดเดิมนั้นมาทำเป็นผ้าพาดบ่าที่เรียกกันว่า ผ้ากราบ แทน

เมื่อคราวที่เนติบัณฑิตสภา กราบทูลเชิญสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นเนติบัณฑิตกิตติมศักดิ์  และได้ถวายย่ามเนติบัณฑิต แทนเสื้อครุยเนติบัณฑิตนั้น  อยากจะเห็นจังเลยครับว่า ย่ามนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร  ผมพยายามไปเล็งที่ตำหนักเพ็ชร  วัดนวรนิเวศวิหารมาหลายรอบแล้ว  แต่ก็ไม่พบ  วานท่านผู้รู้ช่วยบอกด้วยนะครับว่าหน้าตาเป็นอย่างไร

เห็นราชทินนาม หลวงประธานคดีศาสตร์ แล้ว  อดนึกถึง "หลวงประเคนคดีศาสตร์" อัยการมณฑลโลเลบุรี  ในพระราชนิพนธ์เรื่อง คดีสำคัญ ไปไม่ได้  ได้ดูละครเรื่องนี้ทีไรเป็นได้หัวเราะกันท้องคัดท้องแข็งทุกทีไปครับ