เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: pad ที่ 14 ก.พ. 06, 08:39



กระทู้: Siamese volunteers force in the First World War
เริ่มกระทู้โดย: pad ที่ 14 ก.พ. 06, 08:39
 I am working for The National Archives, it is the depositories of all of the government records of United Kingdom. I am doing a research on the involment of Siam (Thailand) during the Great War (1914-1918), in which little is know especially the sending of contingency volunteer force of about 1,200 troops to fought for France in the western front as a result 19 had die. The records that The National Archives have, which I can get access to is the declaration of war made to Austro-Hungarian Empire in November 1917, but nothing about sending of troops. If any one could give me an advice about the name of commander of Siamese volunteer force or any thing related it would be most appreciated.
I am very sorry to use English this is due to the fact that I do not have Thai keyboard.


กระทู้: Siamese volunteers force in the First World War
เริ่มกระทู้โดย: Peking Man ที่ 14 ก.พ. 06, 10:08
 You work at the Public Records Office at Kew... WOW  
Hmm... perhaps you might want to try going to perhaps SOAS library to dig out some materials in the special collection in the basement of the library. Who knows, they might have what you are looking for. Other than that, the British library is my next guess.

Anyhow, Good luck na krup.


กระทู้: Siamese volunteers force in the First World War
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 14 ก.พ. 06, 10:28
 เมล์ไปถามให้ค่ะ จำได้ว่ามี่พี่สนิทคนหนึ่งเขียน dissertation on Thai Military history
เขาบอกว่าไทยประกาศเข้าร่วมสงครามวันที่ 22 ก.ค. 1917   หัวหน้าคณะทหารไทยชื่อ พลตรี พระยาพิชัยชาญฤทธิ์ (ผาด เทพหัสดินฯ) ภายหลังได้เป็นพลโท


กระทู้: Siamese volunteers force in the First World War
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 14 ก.พ. 06, 10:31
 ผมเคยชอบสาวน้อย SOAS อยู่คนหนึ่ง แต่เธอชอบคนอื่นอยู่ก่อนแล้วครับ อะฮื้อออ...

นอกประเด็นครับ

เท่าที่ทราบ สยามส่งกองกำลังยานยนต์ (อาจจะทำนอง ขส.ทบ. สมัยนี้กระมัง) กับส่งนักบินไทยไปร่วมรบในศึกครั้งนั้นด้วย แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นแม่ทัพคุมไปครับ

กองกำลังยานยนต์ จะเรียกอะไรก็ไม่แน่ใจในภาษาอังกฤษ


กระทู้: Siamese volunteers force in the First World War
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 14 ก.พ. 06, 10:34
 ใช่แล้ว วันที่เราประกาศสงครามคือ 22 กรกฎาคม อย่างคุณ NUCHANA ว่า ผมจำ พ.ศ. ไม่ได้ แต่จำวันที่ได้แม่น เพราะชื่อ "วงเวียน 22 กรกฎาฯ" ในกรุงเทพฯ มาจากเหตุการณ์นี้


กระทู้: Siamese volunteers force in the First World War
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 14 ก.พ. 06, 13:48
 ทุกความเห็นที่ตอบมาล้วนถูกต้องครับ  แต่มีข้อมูลที่จะเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยครับ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางคือ เยอรมนี และออสเตรีย - ฮุงการี (สะกดแบบเก่า) เมื่อวันอาทิตย์ที่  ๒๒  กรกฎาคม  ๒๔๖๐  (คือพอเลยเวลา ๒๔.๐๐ น. ของวันที่  ๒๑  กรกฎาคม แล้ว  ก็ได้ลงพระปรมาภิไธยประกาศสงคราม)  พร้อมกันนั้นนายทหาร นายตำรวจ และเสือป่าก็ได้แยกย้ายกันเข้าจับกุมชนชาติศัตรู  บางคนถึงถูกควบคุมตัวจากที่นอนเลยทีเดียว

เมื่อทรงมีพระราชดำริที่จะประกาศสงครามนั้น  ได้มีพระราชกระแสกับคุณมหาดเล็กผู้ใกล้ชิดว่า  ถ้ามีเสนาบดีสภาคัดค้านแม้เพียงเสียงเดียวก็จะทรงสละราชสมบัติทันที  แต่เป็นโชคดีของประเทศไทยที่ไม่มีเสนาบดีท่านใดคัดค้าน  ทั้งที่เวลานั้นเยอรมันกำลังขยายแนวรบไปทั่วยุโรป  คนไทยส่วนมากที่ไม่ชอบอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  ต่างก็คิดว่าเยอรมันจะต้องชนะจึงเอาใจช่วยเยอรมันกันเป็นส่วนใหญ่  แต่ด้วยพระปรีชาญาณทางการทหารที่ทรงคาดการณ์ไว้แล้วว่า เยอรมันจะต้องพ่ายแพ้จึงทรงเลือกประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางดังกล่าว

เมื่อประกาศสงครามแล้วโปรดให้กระทรวงกลาโหมออกประกาศรับสมัครพลอาสาไปร่วมรบในสงครามยุโรปจำนวน ๑,๕๐๐ คน  จัดเป็นกองบินทหารบก ๕๐๐ คน  มีนายพันเอก พระยาเฉลิมอากาศเป็นผู้บังคับกอง  และกองทหารบกรถยนต์ ๑,๐๐๐ คน ในบังคับบัญชา นายพันตรี หลวงรามฤทธิรงค์ (ต๋อย  หัสดิเสวี) ซึ่งต่อมาได้เป็น นายพันโท พระอาสาสงคราม แล้วลาออกจากราชการ โดยมี นายพลตรี พระยาพชัยชาญฤทธิ์ (ผาด  เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หัวหน้ากองทูตทหาร  เป็นผู้บัญชาการสูงสุดในสนาม

กองทหารที่ส่งไปในการพระราชสงครามครั้งนี้มีเฉพาะนายทหารที่เป็นทหารประจำการ  ส่วนพลทหารล้วนเป็นพลอาสามัคร  ที่น่าสังเกตอย่างยิ่งคือ เมื่อประเทศไทยคิดที่จะจัดตั้งกองบินทหารบกขึ้น  ได้จัดส่งนายทหารไปเรียนการบินที่ฝรั่งเศส ๓ คน คือ พระยาเฉลิมอากาศ  พระยาเวหาสน์ยานศิลปประสิทธิ์ (ทิพย์  เกตุทัต)  และพระยาทยานพิฆาต (...  ทัตตานนท์ ) ต้องขอประทานอภัยหากออกนามเดิมของท่านผิดไป  ที่ส่งไปเพียง ๓ ท่านเพราะมีเงินอยู่เท่านั้น  เมื่อทั้งสามท่านเรียนจบกลับมารับราชการแล้วได้ช่วยกันฝึกหัดนายทหารไทยเป็นนักบินได้อีก ๕ ท่าน  รวมเป็น ๘ ท่าน  ส่วนที่ส่งไปอีก ๕๐๐ คนนั้นไปเรียนขับเครื่องบินส่วนหนึ่ง  อีกส่วนหนึ่งไปเรียนวิศวกรรมอากาศยาน  สงครามเลิกแล้วยังเรียนไม่จบ  รัฐบาลฝรั่งเศสก็เอื้อเฟื้อช่วยฝึกต่อจนสำเร็จเป็นนักบินกว่า ๑๐๐ คน  และเป็นช่างอากาศอีกจำนวนหนึ่ง  ท่านเหล่านี้ต่อมาได้ร่วมกันสร้างเครื่องบินขึ้นใช้ในกองทัพไทยได้สำเร็จในต้นรัชกาลที่ ๗  

ส่วนกองทหารบกรถยนต์ ๑,๐๐๐ คนนั้น  เท่าที่ปรากฏหลักฐานในเวลานั้น ทั้งประเทศไทยนะครับมีรถยนต์อยู่แค่ ๘๐๐ กว่าคัน  แล้วลองคิดูสิครับว่าจะมีคนขับรถยนต์เป็นและสามารถซ่อมเครื่องยนต์ได้กี่คน  เมื่อไปถึงฝรั่งเศสได้รับการฝึกให้ขับรถยนต์และซ่อมเครื่องยนต์จนสามารถเข้าทำการในสนามร่วมกับทหารฝรั่งเศสจนได้รับตราครัวซ์ เดอ แกลร์ ประดับธงไชยเฉลิมพลกลับมา  และเมื่อกลับมาถงกรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตรารามาธิบดีประดับยอดคันธงไชยเฉลิมพลด้วย (ปัจจุบันธงและตรานี้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร)  ส่วนายทหารอาสาเหล่านั้นส่วนหนึ่งได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาหน่วยทหารขนส่งจนเป็นการขนส่งทหารบกในปัจจุบัน  อีกส่วนหนึ่งได้ร่วมกับนายพลตรี พระยาพิชัยชาญฤทธิ์ จัดตั้งบริษัท แท๊กซีสยาม ขึ้น  ประเทศไทยจึงเริ่มมีรถแท๊กซี่มาแต่บัดนั้น

ขอย้อนไปกล่าวถึง นายพลตรี พระยาพิชัยชาญฤทธิ์ นั้น  เดิมได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร  ต่อมาได้รับพระราชทานทุนออกไปศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกประเทศเบลเยี่ยม  สำเร็จแล้วได้กลับมารับราชการในกองทัพบกจนสุดท้ายได้เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารบกราบที่ ๔ มณฑลราชบุรี  ซึ่งเป็นหน่วยทหารที่สำคัญในการป้องกันพระราชอาณาเขตทางคาบสมุทรมลายู  ในระหว่างที่ท่านรับราชการในกองทัพบกนั้นได้ชื่อว่าเป็น อาจารย์วิชายุทธศาสตร์และยุทธวิธีผู้มีชื่อเสียงสำคัญคนหนึ่งของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก  พยานในที่นี้คือ ราชทินนาม "พิชัยชาญฤทธิ์" ซึ่งแผลงมาจาก พิชัย = ตำราพิชัยสงคราม  ชาญ = เชี่ยวชาญ  ฤทธิ์ = อิทธิฤทธิ์  รวมความแล้วคือ ผู้มีอิทธิฤทธิ์เชี่ยวชาญในตำหรับพิชัยสงคราม  เมื่อกลับจากงานพระราชสงครามแล้วได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ  แต่โปรดให้โอนย้ายไปเป็นข้าราชการพลเรือนในราชทินนาม พระยาเทพหัสดิน ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์และราชบุรีตามลำดับ  ในบั้นปลายได้รับพระราชทานยศเป็น พลเอก พระยาเทพหัสดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม


กระทู้: Siamese volunteers force in the First World War
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 14 ก.พ. 06, 19:47
 Feature Articles: Thailand and the First World War


Thailand sent a small expeditionary force consisting of 1,284 volunteers under the
command of Major General Phya Pijaijarnrit (later promoted to Lieutenant General
and known as Phya Devahastin) to serve with the British and French forces on the
Western Front.  Included was a contingent of the Army Air Corps.

 http://www.firstworldwar.com/features/thailand.htm  


กระทู้: Siamese volunteers force in the First World War
เริ่มกระทู้โดย: pad ที่ 15 ก.พ. 06, 07:22
 Thank you very much for very useful and informative informations. I am sorry about the declaration date you were right it is 22 July.


กระทู้: Siamese volunteers force in the First World War
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 15 ก.พ. 06, 09:34
 ขอเรียนเพิ่มเติมสำหรับความเห็นที่ ๖ ครับ

กองทหารอาสาสมัครที่ส่งช่วยรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ตามบันทึกในประวัติกองทหารไทยที่ไปในงานพระราชสงครามทวีปยุโรป  กระทรวงกลาโหมจัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในงานพระราชทานเพลิงศพ จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ  ระบุจำนวนไว้ ๑,๕๐๐ คน ไม่รวมกองทูตทหารอีกจำนวนหนึ่งครับ  ไม่ใช่ ๑,๒๘๔ นายอย่างที่มีการอ้างกันไว้ครับ

ส่วนแม่ทัพไทยในการพระราชสงครามครั้งนั้นคือ นายพลตรี พระยาพิชัยชาญฤทธิ์ (ผาด  เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ที่ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น นายพลโท พระยาเทพหัสดิน เมื่อกลับจากงานพระราชสงครามนั้นก็ถูกต้องครับ  แต่ภายหลังจากที่ท่านถูกถอดยศและบรรดาศักดิ์และถูกส่งไปจองจำที่เกาะตะรุเตาในฐานะกบฏในสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น  ต่อมาท่านได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กลับคืนสู่ยศและบรรดาศักดิ์เดิม  และได้รับเชิญให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในเวลาต่อมา  ด้วยคุณความดีที่ได้กระทำไว้แก่ประเทศชาติเป็นเอนกประการนั้น  ในบั้นปลายชีวิตของท่านจึงได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพลเอก (General)  มิใช่ Lieutenant General หรือ พลโท อย่างที่เข้าใจกันครับ

เรื่องนี้ยืนยันได้เพราะผมมีหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของท่านอยู่ในมือ  ทั้งหลานปู่ของท่านก็เป็นเพื่อนสนิทของผมมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนครับ


กระทู้: Siamese volunteers force in the First World War
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 22 ก.พ. 06, 21:36
 น้องนุช
พี่ได้ชื่อผู้บัญชาการกองทหารอาสาที่ไปรบแล้ว คือ พันเอกพระเฉลิมอากาศ (สุณี
สุวรรณประทีป)  ส่วนผู้ที่เป็นหัวหน้าคณะทูตทหารพิเศษที่ไปก่อนคือ พลตรี
พระยาพิชัยชาญฤทธิ์ (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา)  ค้นได้จาก โอภาส เสวิกุล
เรื่องไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 1 พิมพ์ 2511 ค่ะ   ช้าหน่อยนะคะ  พี่ป้อม


กระทู้: Siamese volunteers force in the First World War
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 23 ก.พ. 06, 18:26
พระเฉลิมอากาศ หรือต่อมาได้เป็นพระยาเฉลิมอากาศนั้น  ท่านเป็นผู้บังคับกองบินทหารบก  และทำหน้าที่เป็นผู้บังคับกองทหารอาสาสมัครทั้งกองบินทหารบกและกองทหารบกรถยนต์  ขึ้นการบังคับบัญชาตรงต่อพระยาพิชัยชาญฤทธิ์ (ผาด  เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หัวหน้ากองทูตทหาร  ซึ่งโดยทางราชการได้รายงานตรงต่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบกซึ่งประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ  แต่ในขณะเดียวกันก็มีพระราชกระแสดำรัสสั่งเป็นทางลับให้ นายพลตรี พระยาพิชัยชาญฤทธิ์ หัวหน้ากองทูตทหารกราบบังคมทูลรายงานตรงถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวองค์จอมทัพไทยด้วย  จึงอาจกล่าวได้ว่า ในทางปฏิบัติแล้วผู้ที่บัญชาการกองกำลังทหารไทยในยุโรปโดยตรง คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นั่นเอง  และเป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อเสร็จสงครามและเดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว  บรรดานายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ไปในงานพระราชสงครามครั้งนี้ต้องกราบถวายบังคมลาออกจากราชการกันเกือบหมด


กระทู้: Siamese volunteers force in the First World War
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 23 ก.พ. 06, 18:55
 ....บรรดานายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ไปในงานพระราชสงครามครั้งนี้ต้องกราบถวายบังคมลาออก
จากราชการกันเกือบหมด

Why?


กระทู้: Siamese volunteers force in the First World War
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 26 ก.พ. 06, 10:05
 ไม่มีท่านผู้ใดเล่าไว้เลยครับ  สันนิษฐานว่า น่าจะมีความเห็นในเชิงยุทธวิธีที่ขัดหรือแย้งกับท่านผู้ใหญ่ในกระทรวงกลาโหม

และมีเรื่องแปลกอย่างหนึ่ง  เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำประเทศไทยเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ แล้ว  ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เป็นบำเหน็จความชอบในราชการทหารขึ้น  เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้  มีลายในดวงตราเป็นรูป พระปรศุมาวตารปราบพญาการตวีรยะ  พระปรศุมาวตารคือพระนารายณ์อวตารปางที่ ๖ ในพระราชนิพนธ์ลิลิตนารายณ์สิบปาง  ส่วนพญาการตวีรยะนั้นเป็นเจ้าผู้ครองนครที่ได้เข่นฆ่าพวกพราหมณ์ล้มตายไปเป็นจำนวนมาก  จึงล้อกันว่า ลายในดวงตรานี้ คือ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ปราบไซอร์วิลเฮล์มที่ ๒  ส่วนสีของแพรแถบและสายสะพายที่เป็นสีดำกับแดงนั้น  ตีความหมายกันว่า  สีดำน่าจะหมายถึงล้นเกล้าฯ เพราะพระบรมราชสมภพในวันเสาร์  ส่วนสีแดงนั้น คือ "แดงคือโลหิตเราไซร้  ซึ่งยอมสละได้  เพื่อรักษะชาติศาสนา"  เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้เป็นตระกูลเดียวที่โปรดให้มีคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาความชอบของผู้ที่สมควรได้รับพระราชทาน  มิได้พระราชทานตามพระราชอัทธยาศัยเช่นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลอื่น

ที่ผมเรียนไว้ตอนต้นว่า มีเรื่องแปลกก็คือ นายพลตรี พระยาพิชัยชาญฤทธิ์ ซึ่งเป็นหัวหน้ากองทูตทหารหรือแม่ทัพใหญ่ไปในการพระราชสงครามครั้งนี้ไม่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีเลยตราบจนท่านถึงแก่อนิจกรรม  แต่พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงจันทบุรีนฤนาท (พระยศในขณะนั้น) เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ  หรือ เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการสงครามครั้งนั้นอยู่ในประเทศกลับได้รับพระราชทานตรารามาธิบดี  หรือแม้แต่นายสิบพลทหารในกองทหารบกรถยนต์หลายท่านก็ยังได้รับพระราชทานตรารามาธิบดี


กระทู้: Siamese volunteers force in the First World War
เริ่มกระทู้โดย: เงินปุ่นสี ที่ 27 ก.พ. 06, 17:38
เข้าใจว่าพระยาทะยานพิฆาต ที่อาจารย์ V_Mee ให้ข้อมูลไว้นั้น น่าจะเป็นพระยาทะยานพิฆาต (ทิพย์ เกตุทัต) ซึ่งแต่งหนังสือเกี่ยวกับการบินไว้ ข้อมูลนี้ผมได้มาจากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงถนอม ทะยานพิฆาต โดยในหนังสือเขียนไว้ดังนี้ครับ "คุณหญิงถนอม ทะยานพิฆาต สมรสกับ นาวาอากาศเอกพระยาทะยานพิฆาต (ทิพย์ เกตุทัต) บุพการีของกองทัพอากาศไทย เคยเป็นผู้บังคับการกองบินทหารบก ไปราชการมหาสงครามโลกครั้งที่ ๑ ณ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๐"


กระทู้: Siamese volunteers force in the First World War
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 03 มี.ค. 06, 09:41
 มีเวลาไปตรวจสอบนามนายทหาร ๓ ท่านที่ได้รับทุนไปเรียนการบิน  และได้กลับมารับราชการในกองทัพ  ต่อมากองทัพอากาศได้ยกย่อให้ท่านเป็นบุพการีของกองทัพอากาศ คือ

๑) นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (สุณี  สุวรรณประทีป)  ต่อมาได้เป็น พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ

๒) นายร้อยเอก หลวงอาวุธลิขิกร (หลง  สินสุข)  ต่อมาได้เป็น นายพันเอก พระยาเวหาสยานศิลปประสิทธิ์

๓) นายร้อยโท ทิพย์  เกตุทะต  ต่อมาได้เป็น นาวาอากาศเอก พระยาทยานพิฆาต

นายทหารที่ไปในการพระราชสงครามจนได้กลับมารับราชการเป็นบุพการีของกองทัพอากาศที่ควรเอ่ยนามอีกท่านคือ พลอากาศโท พระเวชยันต์รังสฤษดิ์ (มุนี  มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤดิ์)  ท่านผู้นี้เป็นผู้ร่วมจัดสร้างเครื่องบินแบบบริพัตรขึ้นใช้ในกองทัพอากาศ


กระทู้: Siamese volunteers force in the First World War
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 03 มี.ค. 06, 09:55
 พลอากาศโท พระเวชยันต์รังสฤษดิ์ (มุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤดิ์) หลังจากนั้นไปรับตำแหน่งผู้บริหาร
ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่หลายปี ลูกสาวท่านคือคุณชุตาภรณ์ ลัมพสาระ อดีตเลขาธิการ สศอ.
และปัจจุบันรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม


กระทู้: Siamese volunteers force in the First World War
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 10 มี.ค. 06, 21:25

ทหารอาสาไปร่วมทำสงครามที่ยุโรป กำลังขึ้นเรือที่ท่าราชวรดิษฐ์


กระทู้: Siamese volunteers force in the First World War
เริ่มกระทู้โดย: ต้นกล้าเป็นspy ที่ 10 มี.ค. 06, 23:48
 ผมเคยอ่านต่วยตูนครับ คือว่าในช่วงไทยพิพาทย์กับฝรั่งเศส เมื่อรบกันไทยสามารถสร้างความเสียหายให้กับฝรั่งเศสทำให้ฝรั่งเศสร่นถอย
ทหารไทยได้เก็บ ธงไชยเฉลิมพล(เขาไม่ได้ให้ครับ)
อยากทราบว่าหน้าตาเป็นอย่างไรหรอครับ - -"


กระทู้: Siamese volunteers force in the First World War
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 11 มี.ค. 06, 14:17
ตามแบบธรรมเนียมทหาร ธงไชยเฉลิมพลประจำกองกำลังทหารหรือหน่วยทหารต่างๆ หน้าตาก็จะคล้ายๆ กับธงชาติของประเทศเจ้าของกองกำลังทหารนั้นนั่นแหละครับ เช่น ธงไชยเฉลิมพลของกองทหารไทยหน่วยต่างๆ หน้าตาเป็นธงไตรรงค์ ของกองทัพฝรั่งเศสก็หน้าตาดูเป็นธงสามสี Tricolour ก็คือ "ไตรรงค์" เหมือนกัน สีก็สีเดียวกัน (น้ำเงิน ขาว แดง) แต่เรียงริ้วไม่เหมือนของเรา

ที่จะต่างจากธงชาติ คืออาจจะมีตัวอักษรชื่อกรมกองทหาร หรือเครื่องหมายสัญลักษณ์กรมกองทหารนั้นๆ อยู่บนธงด้วย แล้วบางที อาจจะเห็นอิสริยาภรณ์ ประเภทเหรียญตรา เหรียญกล้าหาญ ประดับอยู่บนธงด้วย อธิบายว่า หากทหาร 1 นายเป็นบุคคลประกอบวีรกรรม รัฐบาลนั้นๆ เห็นสมควรยกย่องก็ให้เหรียญตรากันไป ผู้รับก็มีสิทธิประดับได้ แต่ถ้ารัฐบาลพิจารณาว่าทหารทั้งกองพลกองพัน คือทั้งหน่วยทหารนั้นๆ ได้ประกอบวีรกรรมกล้าหาญ สมควรยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นส่วนรวมทั้งหน่วยด้วยก็ทำได้เช่นกัน คือให้เหรียญแก่กองพันกองพลนั้นๆ ทั้งกองเลยไม่ได้ให้เป็นคนๆ พอได้เหรียญมาแล้วก็เอามาประดับที่ธงประจำหน่วยทหาร คือธงไชยเฉลิมพลของหน่วยนั้นๆ

ธงไชยเฉลิมพลบางผืนก็ร่วมออกรบในสนามกับกำลังพลในหน่วยมาแล้วจริงๆ คือคนไปรบธงก็ไปรบด้วย บางผืนเก่าคร่ำคร่า มีรอยขาดรอยกระสุนก็มี ก็เป็นเกียรติประวัติเก็บไว้ให้คนในหน่วยนั้นได้ภาคภูมิใจ


กระทู้: Siamese volunteers force in the First World War
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 11 มี.ค. 06, 14:26
ถ้าจำไม่ผิด เหมือนเราจะเคยคุยกันเรื่องธงไชยเฉลิมพลในกองทัพไทยไว้แล้วในกระทู้ไหนสักแห่ง เก่าๆ หน่อยครับ จำไม่ได้ว่าอันไหน

ก่อนจะเล่าต่อ ลืมไปว่า ต้องขอซักซ้อมความเข้าใจกับคุณต้นกล้าเป็นสปาย (ชื่อแปลกดีครับ) หน่อยว่า ในประวัติศาสตร์ ไทยเราร่วมรบเป็นเพื่อนฝรั่งเศสก็มีในบางศึก และรบกับฝรั่งเศสเอง คือฝรั่งเศสเป็นข้าศึกของเราก็มีในบางครั้ง ตามกระทู้นี้ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น เราเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสนะครับ จึงคงไม่เกิดมีรายการตีกันจนแย่งได้ธงเขามาแน่ๆ

แต่ก่อนหน้านั้นขึ้นไปคือก่อนรัชสมัย ร. 6 นั้น ฝรั่งเศสเคยรบกับไทยจริงๆ คือกรณีวกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ. 112 สมัยในหลวง ร. 5 แต่ครั้งนั้นเราแพ้กำลังเขา จึงคงจะไม่มีกรณีเรายึดธงเขาได้เหมือนกัน

และหลังจากสงครามโลกครั้งที 1 มา เราก็เคยรบฝรั่งเศสอีก คราวนี้เป็นการรบกับอินโดจีนฝรั่งเศส สมัยจอมพล ป. ช่วงใกล้ๆ สงครามโลกครั้งที่ 2 ผมเชื่อว่าศึกครั้งนี้แหละครับที่กองทหารไทยบางกองคงจะไปรบชนะฝรั่งเศส ยึดธงประจำหน่วยเขาได้ แต่ผมไม่ทราบรายละเอียด (ศึกครั้งนั้นเลิกรากันไปเมื่อญี่ปุ่นเสนอตัวเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย และทำให้เราได้จังหวัดเสียมราฐพระตะบองมาเป็นของไทยอยู่ระยะหนึ่ง นี่คือช่วงก่อนสงครามมหาอาเซียบูรพาของโกโบริครับ)


กระทู้: Siamese volunteers force in the First World War
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 11 มี.ค. 06, 14:27
อ้อ ขออนุญาตติงอีกหน่อยว่า กรณีพิพาท ข้อพิพาท ที่แปลว่าความขัดแย้งนั้น ไม่ต้องมี ย์ ครับ พาทย์ คำนั้นเป็นปี่พาทย์ พิณพาทย์ เป็นความหมายเกี่ยวกับดนตรีครับไม่เกี่ยวกับความขัดแย้ง


กระทู้: Siamese volunteers force in the First World War
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 11 มี.ค. 06, 14:39
 ต่อเรื่องธงไชยเฉลิมพลครับ (หากระทู้เก่าไม่เจอครับ อันนี้เป็นการเล่าจากความจำ ผิดถูกอย่างไรท่านอื่นกรุณาแก้ไขเพิ่มเติมด้วย)

ในธรรมเนียมของทหารไทยเรา ซึ่งถือว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นจอมทัพไทย และกองทัพเป็นกองทัพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ธงไชยเฉลิมพลประจำหน่วยหรือประจำกองทหาร ซึ่งเป็นมิ่งขวัญและเครื่องหมายแห่งกำลังใจของทหารหน่วยนั้นๆ ก็มาจากพระมหากรุณาธิคุณในพระเจ้าอยู่หัวเช่นกัน กล่าวคือ หน่วยนั้นๆ จะได้รับพระราชทานมาจากพระเจ้าอยู่หัว

ก่อนจะพระราชทานธงไชยเฉลิมพลให้ไปก็มีพิธีสร้างธงไชยเฉลิมพล เป็นเรื่องเป็นราวเป็นพิธีใหญ่เลยครับ ผมจำรายละเอียดไม่ได้ ดูเหมือนว่าจะมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ในโบสถ์วัดพระแก้วด้วยหรืออย่างไรนี่แหละ ไม้เสาธงก็ต้องเป็นไม้ชัยพฤกษ์ ผืนธงที่จะติดกับไม้เสาธงก็ต้องมีหมุดตอกติด โดยพระเจ้าอยู่หัวทรงตอกหมุดให้ แล้วตรงยอดธงนั้นมีช่อง ใส่พระพุทธรูปองค์เล็กๆ ได้ เรียกกันว่าพระยอดธง กับในหลวงจะพระราชทานเส้นพระเจ้า (คือเส้นผม) ของพระองค์เองมาด้วยให้ใส่ไว้ในยอดธงนั้น ตามพิธีการ

ดูเหมือนทางทหารเขาอธิบายขั้นตอนพิธีการเหล่านี้ว่า เขาถือว่าเมื่อประกอบเป็นธงไชยเฉลิมพลสมบูรณ์แล้ว เมื่อกำลังพลทำความเคารพธงไชยเฉลิมพล ก็เท่ากับได้เคารพตัวแทนที่เนื่องอยู่กับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไปพร้อมกันเลย เพราะผืนธงเป็นธงชาติ และมีพระยอดธงกับเส้นพระเกศาพระเจ้าอยู่หัวอยู่ในธงนั้นด้วยเสร็จในตัว