เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7
  พิมพ์  
อ่าน: 5019 ขัติยราชปฏิพัทธ รักเร้นในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 02 ก.พ. 24, 11:29

      กลับมาที่พระเอกนางเอกของเรา     เจ้าฟ้าบุญรอดท่านยังทรงยึดถือ "นิตินัย" (แบบที่คุณรัตนานุชเรียก) จึงปฏิเสธไม่ข้องเกี่ยวกับพระราชสวามีอีก   ไม่เข้าเฝ้า   ไม่ยอมปรุงเครื่องเสวยที่โปรดปรานขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ   แม้ว่าพระราชสวามีเสด็จไปหาที่พระตำหนักบ่อยครั้ง แต่ก็ทรงพระทัยแข็งไม่ยินยอมให้พบ    เรียกว่าทรงขาดกันทางพฤตินัยโดยสิ้นเชิง
      ชะตากรรมของท่านก็เป็นไปอย่างที่เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระเชษฐา ทรงวิตกกังวลไว้ล่วงหน้าจริงๆ     แบบเดียวกับชะตากรรรมของคุณหญิงนาค

      อยู่มาวันหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าประชวร  พระอาการทรุดหนักลงอย่างรวดเร็ว เป็นที่ตื่นตระหนกกันไปทั้งวังหลวง  แต่เจ้าฟ้าบุญรอดก็ไม่เคยเสด็จไปฟังพระอาการ   ระหว่างประชวร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงออกพระโอษฐ์ถึงสมเด็จเจ้าฟ้าบุญรอดอยู่หลายครั้ง มีคนนำความไปกราบทูลให้ทรงทราบ   เจ้าฟ้าบุญรอดก็ยังทรงพระทัยแข็ง ไม่ยอมเสด็จเยี่ยมท่าเดียว
      เล่ากันว่าคุณหญิงนาคพระราชมารดาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ  ซึ่งบัดนี้เฉลิมพระยศเป็นสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ถึงกับกริ้ว ทรงดุว่า
      “แม่รอดนี้เป็นอย่างไรนะ     พี่จะสิ้นแล้วยังไม่ขึ้นมา”
      เมื่อผู้ใหญ่ตำหนิถึงเพียงนี้   เจ้าฟ้าบุญรอด จึงยอมเสด็จตามหน้าที่ของพระราชสกุล แต่เมื่อเสด็จขึ้นไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็สายเสียแล้ว พระราชพงศาวดารบันทึกว่า
      “...แพทย์ประกอบพระโอสถถวายก็เสวยไม่ได้ มิได้ตรัสสิ่งไรมาจนถึง ณ วันพุธ เดือนแปด แรมสิบเอ็ดค่ำ เวลาย่ำค่ำแล้วห้าบาท เสด็จสู่สวรรคต”
      เป็นอันว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ก็เสด็จสวรรคตไปโดยไม่ทันดูใจ หรือร่ำลากันกับพระมเหสี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 02 ก.พ. 24, 12:00

       เจ้าฟ้าบุญรอด ถวายบังคมพระบรมศพด้วยพระอาการสงบ แล้วเสด็จออกจากพระที่นั่งจักพรรดิพิมานสู่ท้องพระโรง
     ในความเงียบสงัด ณ ท้องพระโรงนั่นเอง สมเด็จเจ้าฟ้าบุญรอดทอดพระเนตรเห็นสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ขณะนั้นมีพระชันษาได้ 26 ปี ประทับทรงกันแสงเบาๆ อยู่แต่ลำพังพระองค์ จึงเสด็จเข้าไปยืนทอดพระเนตรอยู่ครู่หนึ่ง  จากนั้น ทรงลดพระองค์ประทับสวมกอดสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงกันแสงอยู่ด้วยกันสองพระองค์เป็นเวลาช้านาน เป็นที่สะเทือนใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็น  จนเป็นเรื่องที่เล่าต่อๆ กันมาจนในปัจจุบัน

      เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคต ตามกฎมณเฑียรบาล   ราชสมบัติควรตกอยู่กับพระราชโอรสพระองค์ใหญ่คือ เจ้าฟ้ามงกุฎ พระชนมายุ 20 พรรษาพอดี กำลังผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ  แต่ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสที่ประสูติจากเจ้าจอมมารดาเรียม มีพระชนม์ 37 พรรษา  ก่อนหน้านี้ก็ทรงว่าราชการต่างพระเนตรพระกรรณพระราชบิดามาหลายปี เป็นที่เคารพนับถือของขุนนางข้าราชการทั่วไป
       ส่วนในหมู่พระราชวงศ์ เสียงก็แตกออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนหนึ่งเห็นว่าราชบัลลังก์ควรเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง   แต่อีกส่วนเห็นว่าตามหลักการสืบสันตติวงศ์ เจ้าฟ้ามงกุฎมีสิทธิ์จะขึ้นครองราชย์มากกว่า   หนึ่งในผู้สนับสนุนคือเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี พระอนุชาของเจ้าฟ้าบุญรอด
       ข้อนี้ทำให้ขอเดาต่อว่า  เจ้าฟ้าบุญรอดก็น่าจะทรงทราบว่าเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีทรงอยู่ฝ่ายไหน  แต่พระองค์มิได้สนับสนุนพระราชโอรสไปด้วยอีกพระองค์หนึ่ง    คงดำรงพระองค์อยู่อย่างสงบ
       พงศาวดารรัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรณ์วงศ์ (ขำ บุนนาค) กล่าวไว้ว่าในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ส่วนพระราชพิธีของฝ่ายในนั้น สมเด็จพระศรีสุริเยนทราฯทรงเป็นแม่งานจัดการ           ข้อนี้ก็แสดงว่าทรงมีคุณธรรม เห็นแก่ประเทศชาติบ้านเมือง มากกว่าพระโอรสของพระองค์เองที่ทรงมีสิทธิ์ตามกฎมณเฑียรบาลมากกว่า  
      ความสัมพันธ์ระหว่างแม่เลี้ยงกับลูกเลี้ยง คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เป็นไปโดยเรียบร้อยตลอดพระชนม์ชีพ
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 02 ก.พ. 24, 13:23

ความขัดแย้งระหว่างเจ้าฟ้าบุญรอดกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าไม่มีใครช่วยเป็นกาวประสานใจ ทั้งที่สมัยก่อนปัญหายากกว่าตั้งเยอะยังผ่านพ้นมาได้ น่าเศร้าใจมากครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 02 ก.พ. 24, 14:04

    ความเห็นของคุณ superboy น่าคิดมากค่ะ   ว่าเวลาล่วงมาถึงรัชกาลที่ 2  ใครที่มีความสลักสำคัญพอจะเป็นกาวประสานใจได้   ถ้ามี คนนั้นก็ต้องเป็นผู้ใหญ่พอที่สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ และเจ้าฟ้าบุญรอด จะต้องทรงยอมอยู่ในโอวาท  ถึงไม่เห็นด้วยก็ต้องเกรงใจ
    1   พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทก็เสด็จสวรรคตไปนานหลายปีแล้ว
    2  เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่พ.ศ. 2348  ก่อนหน้าเจ้าฟ้ากุณฑลโตเป็นสาวนานหลายปี
    3  เจ้าจอมแว่นหรือคุณเสือ พระสนมเอก ที่เจ้าฟ้าบุญรอดเคยไปขอความช่วยเหลือ   เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 1  แล้วท่านก็ตกอับ สิ้นบุญวาสนา   ต้องไปพึ่งเจ้าฟ้ากุณฑล ในฐานะเป็นเจ้านายเวียงจันทน์ด้วยกัน   เพราะฉะนั้น ท่านก็ต้องสนับสนุนเจ้าฟ้ากุณฑลเป็นธรรมดา
    4   สมเด็จพระอมรินทรมาตย์  พระชนนีสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ   
     เจ้านายองค์นี้ก็น่าคิด เพราะท่านมีพระชนม์ยืนยาวมาจนถึงรัชกาลที่ 3   เคยอยู่ในฐานะเมียหลวงที่อกไหม้ไส้ขมมาก่อน ก็น่าจะเข้าข้างเจ้าฟ้าบุญรอด   
     แต่อีกทางหนึ่ง  ท่านเลือกใช้วิธีตัดรอนเด็ดขาดกับพระราชสวามี  ยศศักดิ์อะไรฉันก็ไม่เอาทั้งนั้น   แทนที่จะประนีประนอมผ่อนสั้นผ่อนยาว เพื่อรักษาตำแหน่งเมียเอกไว้   เพราะฉะนั้นจะให้ท่านเชียร์ลูกสะใภ้ให้ใจอ่อน ยอมกลืนเลือด คงไม่ใช่หลักการของท่าน     ส่วนจะบังคับให้ลูกชายเลิกกับเจ้าฟ้ากุณฑลก็ทำไม่ได้อีก    ใครจะบังคับพระมหากษัตริย์ได้  อีกอย่าง เจ้าฟ้ากุณฑลก็มีทั้งพระราชโอรสและธิดาถึง 4 องค์  เชื้อสายเจ้าฟ้าทั้งพ่อและแม่  จะทิ้งขว้างได้อย่างไร
    ใครนึกออกถึงเจ้านายพระองค์อื่นบ้างคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 03 ก.พ. 24, 09:08

    ที่ประทับของเจ้าฟ้าบุญรอดคือพระตำหนักแดง   เป็นหลังใหม่ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตั้งอยู่หลังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน  ส่วนตำหนักแดงหลังเดิมที่เคยเป็นของเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงเชิญสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระราชชนนีมาประทับแทน
     เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์  เจ้าฟ้าบุญรอดก็ทรงย้ายออกจากพระบรมมหาราชวัง พร้อมกับพระราชโอรสองค์เล็ก คือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปประทับ ณ พระราชวังเดิมที่สมเด็จพระอมรินทรามาตย์เคยอยู่ 
     พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรื้อหมู่ตำหนักภายในเขตพระราชฐานชั้นในเพื่อสร้างเปลี่ยนตำหนักไม้เป็นตำหนักตึก จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อตำหนักแดงที่ประทับของเจ้าฟ้าบุญรอดไปปลูกที่พระราชวังเดิมด้วย
    เจ้าฟ้าบุญรอดทรงอยู่ ณ ตำหนักแดงจนสิ้นพระชนม์    ตำหนักแดงในส่วนที่ประทับได้รื้อไปถวายเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม แล้วย้ายไปเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี อีกที


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 03 ก.พ. 24, 09:23

   เจ้าฟ้าบุญรอดดำรงพระองค์ในปลายพระชนม์ชีพอย่างสงบ   ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปทางด้านบำรุงพระพุทธศาสนา  ทำบุญ สร้างวัด ทรงสดับธรรม ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์บ้านเมืองใดๆ จนถึงพระชนม์ได้ 69 พรรษา ก็เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2380 ด้วยพระโรคชรา ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ความว่า “วันที่ 18 ต.ค. 2380 เวลาเช้า 4 โมง สมเด็จพระพันวัสสาประชวรพระโรคชราสวรรคตในนั้น”
     ส่วนในหนังสือ จดหมายเหตุโหร ฉบับพระยาประมูลธนรักษ์ บันทึกไว้ว่า “ปีวอก จ.ศ. 1198 วันอังคาร ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 11 พันวัสสานิพพาน เพลาเช้า 2 โมงเศษ พระชนมายุได้ 69 พรรษา”

     วันที่ 16 เม.ย. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการทั้งใหญ่น้อย ถวายพระเพลิงในวันต่อมา ได้แจงพระรูปลอยพระอังคารเก็บพระอัฐิไว้ในโกศทองคำ ทำการสมโภชอีกวันหนึ่งรวมเป็นสี่วันสี่คืน ครั้นรุ่งขึ้นจึงแห่พระอัฐิลงเรือเอกชัยที่ท่าพระมาสู่พระราชวังเดิม

      ล่วงมาจนรัชกาลที่ 4  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตั้งพระอัฐิพระราชชนนีเป็น "กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์"      ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามว่า "สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี"  ตามที่เป็นสมเด็จพระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
     สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงเป็นเจ้านายสตรี 1 ใน 3  ของไทยที่เป็นพระราชชนนีในพระมหากษัตริย์ 2  พระองค์ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  
      พระองค์ที่ 2 คือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงเป็นพระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  
      และพระองค์ที่ 3 คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ ๘)  และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9)
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 03 ก.พ. 24, 10:45

            คุณหญิงนาค ดำรงชนม์ชีพนานมาก(๕ แผ่นดิน) เกินอายุผู้คนสมัยก่อน (สิ้นเมื่อเกือบ ๙๐ พรรษา -๘๘)

            อาจเป็นต้นแบบให้เจ้าฟ้าบุญรอดเคืองแค้นแสนโกรธจนตายจากกัน
           
            นึกถึง จินตะหรา ในอิเหนา เว็บนี้ https://www.sac.or.th/databases/thailitdir/character-detail.php?n_id=687
เรียบเรียงว่า

             จินตะหราวาตี หรือจินตะหรา*เป็นตัวละครในบทละครเรื่องอิเหนา เป็นธิดาระตูหมันหยา*กับประไหมสุหรี อยู่ในวงศ์ระตูซึ่งต่ำศักดิ์
แม้จะมีศักดิ์เป็นน้องของอิเหนา* มารดาของนางจินตะหราเป็นขนิษฐาของประไหมสุหรีกุเรปันและประไหมสุหรีดาหา
             นางจินตะหรามีรูปโฉมงดงามยิ่งกว่าหญิงใดในเมืองหมันหยา* เมื่ออิเหนาคุมเครื่องสักการะไปคำนับศพพระอัยกีที่เมืองหมันหยาและ
ได้พบนางจินตะหรา อิเหนาหลงรักนาง นางจินตะหราจึงเป็นหญิงคนแรกที่อิเหนารัก

            ต่อมาอิเหนาต้องกลับเมืองกุเรปัน*เพราะประไหมสุหรีมีสารเรียกตัวกลับ แต่อิเหนาก็ลอบกลับมาหานางอีกครั้งโดยปลอมเป็นโจรป่าชื่อปันหยี*
แม้นางจินตะหราจะรู้ว่าอิเหนามีคู่ตุนาหงันแล้วคือนางบุษบา* ธิดาท้าวดาหา* แต่นางจินตะหราก็รักอิเหนาและยอมเป็นชายาอิเหนา อิเหนาอยู่กับนาง
จินตะหราที่เมืองหมันหยา และบอกเลิกการหมั้นหมายกับนางบุษบา

            ต่อมาอิเหนาต้องไปทำศึกกะหมังกุหนิง*ช่วยเมืองดาหา* นางจินตะหรากลัวอิเหนาทอดทิ้งนางกลับไปหานางบุษบาจึงแสดงความหึงหวง
และตัดพ้อต่อว่าอิเหนาดังนี้

แล้วว่าอนิจจาความรัก   พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล

ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป   ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา

สตรีใดในพิภพจบแดน   ไม่มีใครได้แค้นเหมือนอกข้า

ด้วยใฝ่รักให้เกินพักตรา   จะมีแต่เวทนาเป็นเนืองนิตย์

โอ้ว่าน่าเสียดายตัวนัก   เพราะเชื่อลิ้นหลงรักจึงช้ำจิต

จะออกชื่อลือชั่วไปทั่วทิศ   เมื่อพลั้งคิดผิดแล้วจะโทษใคร


             หลังจากอิเหนาไปทำศึกกะหมังกุหนิงแล้วก็ลืมนางจินตะหรา
             ตอนท้ายเรื่องเมื่อมีการอภิเษกสมรสอิเหนาที่เมืองกาหลัง* ท้าวกุเรปัน*จึงให้เชิญระตูหมันหยาและนางจินตะหรามาที่เมืองกาหลัง แต่งตั้ง
นางจินตะหราเป็นประไหมสุหรีฝ่ายขวา แม้อิเหนาจะงอนง้อขอโทษนางจินตะหราแต่นางไม่ยินยอมและกล่าววาจาล่วงเกินทำให้อิเหนากริ้ว ไม่ยอมไปหา
นางจินตะหราอีก ประไหมสุหรีดาหาต้องทำอุบายกักนางบุษบาไม่ให้พบอิเหนาเพื่อเป็นการทำโทษอิเหนา ระตูหมันหยาจึงเรียกนางจินตะหราไปสั่งสอน
นางจึงยอมคืนดีกับอิเหนา

ผู้เรียบเรียง
สุภัค มหาวรากร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 03 ก.พ. 24, 16:11

คำรำพันของนางจินตะหรา เป็นที่จดจำกันว่าไพเราะกินใจมาก  จนมีผู้นำมาเป็นเนื้อร้องเพลงไทยเดิม ชื่อ แขกปัตตานี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 03 ก.พ. 24, 16:13

และเป็นเนื้อของเพลงไทยสากล "อนิจจาความรัก"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 03 ก.พ. 24, 16:35

            คุณหญิงนาค ดำรงชนม์ชีพนานมาก(๕ แผ่นดิน) เกินอายุผู้คนสมัยก่อน (สิ้นเมื่อเกือบ ๙๐ พรรษา -๘๘)
            อาจเป็นต้นแบบให้เจ้าฟ้าบุญรอดเคืองแค้นแสนโกรธจนตายจากกัน     
           

      ดิฉันก็วาดภาพไม่ออกเหมือนกันว่า เมื่อเกิดเรื่องเจ้าฟ้ากุณฑล  คุณหญิงนาคหรือสมเด็จพระอมรินทรามาตย์จะทรงไกล่เกลี่ยเจ้าฟ้าบุญรอดว่า
     " อย่าได้โกรธเคืองไปเลย  ถึงอย่างไรแม่รอดก็เป็นเมียเอกอยู่แล้ว   ขอให้อยู่กับพ่อฉิมต่อไปเถิด"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 03 ก.พ. 24, 16:35

    กลับมาเล่าสู่กันฟังถึงตัวละครเอกอีกท่านหนึ่งในเรื่องนี้บ้าง    นั่นก็คือตัว "บุษบา" หรือเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี    แม้ว่าเกิดมาสูงส่ง เป็นเชื้อเจ้าทั้งทางบิดามารดา  พ่อเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  แม่เป็นเจ้าหญิง ตาก็เป็นพระเจ้าแผ่นดิน  ตัวเจ้าฟ้าเองก็มีรูปโฉมงดงาม แต่ชีวิตท่านก็ไม่ได้เป็นสุขสมกับชาติกำเนิด  
    มีคำเปรียบเทียบโบราณที่คนเดี๋ยวนี้คงไม่เคยได้ยินแล้ว ว่า "วาสนาไม่สมสวย" คนโบราณมีความเชื่อกันว่าผู้หญิงที่เกิดมาสวยจะมีโอกาสดีในชีวิตมากกว่าผู้หญิงไม่สวย  ลูกสาวบ้านไหนสวย พ่อแม่ก็หวังว่าผู้ชายรวยหรือมียศศักดิ์จะมาขอ   แต่ถ้าลูกสาวสวยคนนั้นเกิดมีชีวิตอาภัพ ได้สามีไม่ดี หรือกลายเป็นคนฐานะยากจน  ก็จะมีคำเปรียบเทียบอย่างที่ยกมานี้
   เจ้าฟ้ากุณฑลได้เป็นพระมเหสีของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯก็จริง  แต่ก็ไม่ได้รับพระยศพระเกียรติมากกว่าที่ทรงเป็นอยู่แต่เดิม   พระราชโอรส 3 องค์ก็ไม่ได้รับการยกย่องจนตลอดรัชกาล เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 2 เจ้าฟ้ากุณฑลมีพระชนม์เพียง 26 พรรษา เจ้าฟ้าองค์ใหญ่มีชันษา 8 ขวบ องค์กลาง 5 ขวบ  องค์ปิ๋ว แค่ 2 ขวบ  เราคงนึกออกว่าเมื่อส้ิ้นพระสวามีแล้ว  ในฐานะแม่ที่มีลูกเล็กๆ 3 คน ที่ชาววังเองก็ไม่ค่อยได้เหลียวแลมาแต่แรก  จะทรงลำบากสักแค่ไหน  
  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 04 ก.พ. 24, 11:11

    จริงอยู่ ความลำบากของท่านไม่ได้หมายถึงอดอยากยากแค้นอย่างชาวบ้าน   ท่านได้เบี้ยหวัดเจ้านายไว้ใช้จ่าย   มีตำหนักอยู่ มีข้าหลวงรับใช้ตามสมควร  แต่ว่าไม่มีใครเป็นที่พึ่ง  ไม่ได้รับการยกย่อง จนเหมือนถูกลืมไปจากโลกภายนอก
   พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเองทรงพระเมตตาพระอนุชาองค์น้อยๆเหล่านี้  ในจดหมายเหตุเก่าเรื่อง "ว่าด้วยคำพูดของคนชั้นเก่า" เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งเรียกองค์ใหญ่ว่า "หนูอาภรณ์" รับสั่งเรียกองค์กลางว่า "เจ้าหนูกลาง" และรับสั่งเรียกองค์ปิ๋วว่า "เจ้าหนูปิ๋ว"
    แต่ตอนเริ่มรัชกาลที่ 3  ทั้งสามองค์ก็ยังเล็กเกินกว่าจะทำงานสนองพระเดชพระคุณได้  

   เจ้าฟ้ากุณฑลทรงเป็นผู้ยึดมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนา   พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงมอบหมายให้ทรงรับหน้าที่ถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระสงฆ์เป็นงานหลวงมาจนตลอดรัชสมัย เมืื่อสิ้นรัชกาล เจ้าฟ้ากุณฑล ก็ยังทรงถือเป็นธุระในการถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระสงฆ์ ตามที่พระราชสวามีทรงมอบหมายหน้าที่ไว้เช่นเดิม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 05 ก.พ. 24, 07:40

  สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีมีพระชนม์ไม่ยืนยาวนัก    สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3 เมื่อวันเสาร์ เดือน 4 ขึ้น 3 ค่ำ ปีจอ ตรงกับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2381 พระชนมายุได้ 40 พรรษา ทรงได้รับพระราชทานเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวงเมื่อวันแรม 6 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2382

   ส่วนเส้นทางชีวิตของพระราชโอรสทั้ง 3  คือทรงได้รับการศึกษาตามสมควร  ในรัชกาลที่ 2   เจ้าฟ้าอาภรณ์ได้เป็นศิษย์ของกวีเอกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงโปรดปราน คือสุนทรภู่    ต่อมาในรัชกาลที่ 3   สุนทรภู่ออกบวช  เจ้าฟ้ากุณฑลก็ทรงฝากเจ้าฟ้ากลาง กับเจ้าฟ้าปิ๋ว ซึ่งเวลานั้นพระชันษาได้ 11 ปีพระองค์หนึ่ง 8 ปีพระองค์หนึ่ง ให้เป็นศิษย์พระสุนทรภู่ เหมือนอย่างเจ้าฟ้าอาภรณ์ได้เคยเป็นศิษย์มาในรัชกาลที่ 2  ตัวท่านเองรับเป็นโยมอุปัฏฐากพระสุนทรภู่ต่อมา
    นอกจากนี้ เจ้าฟ้ากุณฑทิพยวดียังได้ทรงฝากเจ้าฟ้าพระราชโอรสทั้ง 3 พระองค์ให้เป็นศิษย์สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นผนวชอยู่วัดบวรนิเวศวรวิหารอีกด้วย

    เมื่อทรงเจริญพระชันษาขึ้นในรัชกาลที่ 3   เส้นทางของพระราชโฮรสเริ่มเป็นไปอย่างที่เจ้านายควรจะเป็น    เจ้าฟ้าอาภรณ์เข้ารับราชการช่วยกำกับกรมพระคชบาล     เจ้าฟ้ากลาง เข้ารับราชการในกรมวัง ส่วนเจ้าฟ้าชายปิ๋วยังทรงพระเยาว์เกินกว่าจะเข้ารับราชการ  ต่อมาก็สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษาเพียง 19 ปี  ไม่ทันมีผู้สืบราชสกุล
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 05 ก.พ. 24, 07:51

   ชะตากรรมของเจ้าฟ้าอาภรณ์เป็นเรื่องน่าเศร้า   ก็เลยไม่ค่อยจะมีใครเอ่ยถึงกันนัก   ว่ากันว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้าอาภรณ์ได้รับราชการกำกับกรมนครบาล ครั้นถึงปี 2391 (หลังจากเจ้าฟ้ากุณฑลสิ้นพระชนม์ไป 10 ปี) เกิดกบฏหม่อมไกรสร คดีมีเรื่องพัวพันอย่างไรไม่ปรากฏชัด เจ้าฟ้าอาภรณ์ถูกสงสัยว่าเกี่ยวข้องด้วย จึงถูกคุมขัง  ประชวรเป็นอหิวาตกโรค  และสิ้นพระชนม์ในที่คุมขังด้วยอหิวาตกโรคในปีนั้นเอง มีพระชันษา 33 ปี  ทรงเป็นต้นราชสกุล อาภรณ์กุล ณ อยุธยา
    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้นำพระศพไปฝังดินไว้ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ได้โปรดให้ขุดพระศพขึ้นมาและกราบบังคมทูลขอทำพิธีถวายพระเพลิงตามแบบอย่างพิธีถวายพระเพลิงศพเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า

   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 05 ก.พ. 24, 07:56

   ส่วนหม่อมไกรสร  เดิมคือพระองค์เจ้าไกรสร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกับเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว  ทรงมีความรู้ทางด้านศาสนาพุทธอย่างดีเยี่ยม เหนือกว่าพระบรมวงศานุวงศ์อื่น ๆ  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงทรงสถาปนาเป็น กรมหมื่นรักษรณเรศร กำกับกรมสังฆการี
   ต่อมาในรัชกาลที่ 3  ได้ทรงงานรับใช้ราชการ เคียงคู่กับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเกือบตลอดรัชกาล โปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น กรมหลวงรักษ์รณเรศ และโปรดให้กำกับกรมวังทรงกำกับกรมวังและอธิบดีกรมพระคชบาล  เป็นเจ้านายอาวุโสที่สำคัญองค์หนึ่งในต้นรัชกาลที่ 3 
    กรมหลวงรักษ์รณเรศไม่ถูกกับเจ้าฟ้ามงกุฎ  น่าจะเป็นด้วยทรงไม่เห็นด้วยกับการสถาปนาธรรมยุติกนิกายขึ้นมาใหม่  พระสงฆ์นิกายใหม่จึงถูกกลั่นแกล้งหลายประการ เช่นตักข้าวต้มร้อนๆใส่บาตร   ต้องทนอุ้มบาตรมือพองกลับวัด   แต่ต่อมา กรมหลวงรักษ์รณเรศก็โดนข้อหากบฏ
    พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) บันทึกเกี่ยวกับหม่อมไกรสร ว่า
     "หม่อมไกรสรประพฤติกำเริบ ทำตนเทียมเจ้าในงานลอยกระทง เกลี้ยกล่อมเจ้านาย ขุนนางและซ่องสุมกองทหารรามัญไว้เป็นพวกพ้อง แต่ถูกสอบสวนว่าซ่องสุมผู้คนไว้มากเพื่อคิดกบฏหรือไม่ หม่อมไกรสรตอบปฏิเสธว่า "ไม่ได้คิดกบฏ" แต่หากเปลี่ยนแผ่นดินเมื่อไหร่ก็จะไม่ยอมเป็นข้าใคร    ตุลาการในสมัยนั้นจึงมีคำตัดสินออกมาส่วนหนึ่ง ว่า "...กรมหลวงรักษ์ณรเรศมีความผิด ต้องลดอิสริยศักดิ์สมญาเป็นหม่อม ตลอดทั้งวงศ์วาน"

     หม่อมไกรสรถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร เมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรม 3 ค่ำ ปีวอก สัมฤทธิศก จ.ศ. 1210 ตรงกับวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2391 รวมพระชันษา 56 ปี และเป็นพระราชวงศ์องค์สุดท้ายที่ถูกสำเร็จโทษด้วยวิธีนี้
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.071 วินาที กับ 19 คำสั่ง