เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 มี.ค. 11, 09:42



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 มี.ค. 11, 09:42
ความจริงถ้าจะเขียนเรื่องละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร คุณเพ็ญชมพูและอีกหลายท่านคงช่วยกันเขียนได้ยาว น่าจะแยกกระทู้ออกไปนะครับ (ถ้ามีคนสนใจจะอ่าน)

เห็นด้วย ๑๐๐ %

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 11, 10:04
มาเจิมกระทู้ (เพื่อดึงขึ้นมาให้อยู่บนสุด)   ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 มี.ค. 11, 10:13
ความจริงถ้าจะเขียนเรื่องละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร คุณเพ็ญชมพูและอีกหลายท่านคงช่วยกันเขียนได้ยาว น่าจะแยกกระทู้ออกไปนะครับ (ถ้ามีคนสนใจจะอ่าน)

ส่วนผม ขอจบเพียงเท่านี้แหละครับ

สนใจใคร่รู้เรื่องราวด้วยครับ การถ่ายทอดของศิลปะการรำ สยาม-กัมพูชาครับ
แนบภาพนางรำในราชสำนักกัมพูชา วาดโดยชาวยุโรปสมัยรัชกาลที่ ๖


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4297.0;attach=17722;image)

ถ้าคุณไซอามีสไม่บอก เชื่อว่าหลายท่านคงเข้าใจว่าเป็นนางรำในราชสำนักสยามเป็นแน่แท้

 ;D



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 11, 10:20
ภาพวาดในค.ห. 1  เป็นนาฏศิลป์เขมรเช่นกันค่ะ
นางละครที่เป็นแบบให้วาด    คือเจ้าหญิงบุบผาเทวี พระธิดาของเจ้านโรดมสีหนุ อดีตกษัตริย์เขมร  ปัจจุบันอายุ ๖๐ กว่าแล้ว

เชิญดูรูปข้างล่างนี้   ถ้าไม่บอกว่าเขมร  บางท่านอาจจะนึกว่าเป็นนักเรียนของคุณกล้วย ณ ค่าของคน เสียละกระมัง


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 มี.ค. 11, 10:23
เรื่องนาฏศิลป์และดนตรี ถ้าเทียบกันระหว่างลาวและเขมร ของเขมรจะมีส่วนคล้ายไทยมากกว่า จนหลายคนเข้าใจว่าไทยรับเอามาจากเขมร และคนเขมรเองก็อาจเช่นนั้น

ความจริงแล้ว วัฒนธรรมมีการถ่ายเทกันไปมา อินเดียถ่ายทอดเรื่องนาฏศิลป์ให้เขมร ต่อมาสมัยอยุธยาตอนต้นก็รับอิทธิพลมาจากเขมรอีกทอดหนึ่ง จนเมื่อตอนต้นของสมัยรัตนโกสินทร์ไทยก็ถ่ายทอดวิชากลับให้เขมร

ขออนุญาตเริ่มต้นด้วย บทความเรื่อง "นาฏศิลป์กัมพูชา" โดย ชัยวัฒน์ เสาทอง  นิตยสารศิลปวัฒนธรรม วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๗

นาฏศิลป์กัมพูชามีหลักฐานปรากฏตั้งแต่สมัยก่อนพระนคร (ค.ศ. ๕๔๐-๘๐๐) แล้ว เช่น รูปปั้นดินเหนียวสมัยนครบุรี (Angkorborei) เป็นรูปบุคคลร่ายรำ และจารึกที่กล่าวถึง "คนรำ" เป็นภาษาเขมร ในจารึกสมัยพระนคร (ค.ศ. ๘๒๕-ราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔) พบคำสันสกฤต "ภาณิ" ซึ่งหมายถึงการแสดงเล่าเรื่อง และหากดูภาพสลักจำนวนมากในปราสาทหินทั้งหลายแหล่ของขอม ไม่ต้องสงสัยเลยว่าในอาณาจักรขอมมีการร่ายรำ การแสดง เป็นเรื่องปรกติธรรมดาสำหรับการบันเทิงในราชสำนักและประชาชน ในจารึกที่กล่าวถึงข้าพระที่ประจำศาสนสถานนั้นมักมี "คนรำ" ประจำอยู่ด้วย นาฏศิลป์กัมพูชาโบราณน่าจะได้รับอิทธิพลอินเดียเป็นพื้น

นาฏศิลป์กัมพูชาน่าจะสืบต่อและพัฒนามาจนรุ่งโรจน์ไม่แพ้ศิลปวิทยาการด้านอื่น ๆ ในสมัยพระนคร และน่าจะมีอิทธิพลไม่น้อยต่ออยุธยาหลังจากที่มีการตีเมืองพระนครแตกและกวาดต้อนผู้คนมาสู่กรุงศรีอยุธยา จำนวนหนึ่งในผู้คนเหล่านั้นน่าจะมีนักรำอยู่ด้วย

หลักฐานทางภาษาอย่างหนึ่งก็คือไทยรับคำ "รำ" ในภาษาเขมรมาแทนที่คำ "ฟ้อน" ที่เดิมใช้ในภาษาไทย และไทยก็รับเอามาผสมผสานกับสิ่งที่มีอยู่เดิมและพัฒนานาฏศิลป์สืบเนื่องต่อจากนั้นและสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตนขึ้นมา และเมื่อมาถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ไทยก็ส่งคืนศิลปวิทยาการด้านนี้กลับสู่ประเทศราชกัมพูชา และกัมพูชาก็รับเอามาประยุกต์ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับตัวเองและสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

เอกสารทางฝั่งกัมพูชาไม่ใคร่กล่าวถึงอิทธิพลของนาฏศิลป์ไทยนัก ด้วยเหตุของลัทธิชาตินิยม และความเชื่ออันเป็นบรรทัดฐานว่าไทยนั้นมักรับเอาวิทยาการทุก ๆ อย่างไปจากเขมร ดังนั้นนาฏศิลป์กัมพูชาก็เป็นต้นแบบของนาฏศิลป์ไทยด้วย และมักกล่าวกันว่านาฏศิลป์กัมพูชาสืบทอดมานับพันปีตั้งแต่สมัย "อังกอร์" อันเป็นอุดมคติแห่งชาติพันธุ์กัมพูชา ถึงแม้เอกสารของทางฝรั่งเศสจะมีบันทึกว่าในปี ๑๙๐๔ หลังจากพระบาทนโรดมทิวงคตนั้น ในราชสำนักกัมพูชามี "ศิลปการินี" จากสยามเหลืออยู่เกิน ๓๐๐ คนก็ตาม

เพลงบางเพลง เครื่องละครบางชิ้น และเครื่องดนตรีบางชนิดก็มีชื่อเป็นภาษาไทย เนื้อเพลงบางเพลงนั้นก็แต่งล้อเนื้อเพลงไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เค้ารอยอีกหลาย ๆ ประการที่บ่งบอกว่าได้รับอิทธิพลไทยก็มีอยู่มากพอที่จะกล่าวยืนยันได้ เอกสารที่กล่าวถึงอิทธิพลจากไทยมักเกี่ยวกับเพลงและดนตรี

ผู้อ่าน "โครงกระดูกในตู้" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ย่อมได้ทราบเรื่องหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดยกโรงละครทั้งโรงขึ้นเรือสำเภาหนีไปเมืองเขมร และเอกสารฝั่งไทยก่อนหน้านั้นก็มีกล่าวถึงไว้ว่าเขมรได้ครูละครไปจากไทย เช่น "นิราศนครวัด" ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ อิทธิพลของละครไทยส่งผลโดยตรงสู่การละครในราชสำนักกัมพูชา อันเรียกเป็นภาษาเขมรว่า "ระบำพระราชทรัพย์" ที่เรียกเช่นนี้เพราะการแสดงในราชสำนักเป็นราชูปโภคของพระมหากษัตริย์นั่นเอง ขณะที่ระบำพื้นเมือง รำวงรื่นเริงของเขมรมีลักษณะเฉพาะตัวและห่างไกลจากนาฏศิลป์ไทยมากกว่า

เขมรแบ่งนาฏศิลป์ออกเป็น ๓ ประเภท คือ ๑. ระบำพระราชทรัพย์ คือระบำในราชสำนัก ๒. ระบำประเพณีเขมร คือระบำพื้นบ้าน ๓. ระบำประชาปรีย์ คือรำวงในงานรื่นเริงทั่วไป นาฏศิลป์กัมพูชาก็เป็นเช่นดังศิลปวิทยาการด้านอื่น ๆ ของกัมพูชา คือขาดช่วงและองค์ความรู้ถูกทำลายไปในช่วงเขมรแดง ดังนั้นจึงหาเอกสาร ผู้รู้ วิทยากรที่เหลืออยู่ได้ยากเต็มทน

ต่อมาระบำพระราชทรัพย์เปิดกว้างขึ้น เนื่องจากสถาบันกษัตริย์เปลี่ยนแปลงไป จึงกลายเป็นระบำชั้นสูงเทียบได้กับกรมศิลปากรของไทย แต่ยังเรียกระบำพระราชทรัพย์อยู่

ครูผู้รู้ฝ่ายไทยมักตั้งข้อสังเกตว่าการแสดงของเขมรนั้นมักรำไม่ครบท่า ไม่ครบเพลง ไม่ครบเครื่อง สัดส่วนมงกุฎไม่งาม เมื่อเทียบกับฝั่งไทย และโดยเฉพาะโขนนั้น ตัวยักษ์ชั้นสูงและลิงชั้นสูงไม่น่าเกรงขาม คงได้ครูยักษ์และลิงชั้นรองจากไทยไปฝึกสอน แต่กระนั้นนาฏศิลป์กัมพูชายังคงมีลักษณะเฉพาะของตัวเองและมีความน่าสนใจเป็นอันมาก ลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจประการหนึ่งนั้นก็คือสามารถรักษาลักษณะเก่าแก่บางประการของละครไทยเอาไว้ได้


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 มี.ค. 11, 10:26
เมื่อกัมพูชาเปิดประเทศใหม่ ๆ ประมาณปี ค.ศ. ๑๙๙๒ นั้นผู้เขียนชมการแสดงของเขมรเจอแต่นางรำรุ่นป้า ๆ แต่ตอนนั้นก็พอใจเพราะว่าเชื่อได้ว่าเป็นนางรำรุ่นเก่า หลงรอดจากสงครามมาได้ คนเก่าน่าจะรักษาของเดิมได้ดีกว่าเด็กใหม่ ครั้นหลังจากนั้นมาได้ไม่นานสักกี่ปี กัมพูชาก็ปั้นนางรำเด็กใหม่หน้าละอ่อนอ้อนแอ้นออกมาสำแดงฝีมือ สร้างความปีติยินดีแก่ผู้ชมว่า ครานี้นาฏศิลป์กัมพูชาไม่ถึงกาลอับเฉา ยังมีผู้สืบทอดการแสดงประจำชาติที่พวกเค้าภาคภูมิใจ

ชาวไทยโดยทั่ว ๆ ไปโดยมากที่ได้ชมนาฏศิลป์กัมพูชามักให้ความเห็นว่ารำแอ่นเกินไป แต่นี่เป็นลักษณะดั้งเดิมของนาฏศิลป์ไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่เขมรยังรักษาเอาไว้ ขณะที่ครูรำไทยเห็นว่าเขมรนั้นรำช้า หนัก ขณะที่ของไทยนั้นเร็วและเบากว่า ครูรำเขมรก็ให้ความเห็นเช่นเดียวกัน ครูไทยบางท่านก็ว่าไทยนั้น "รำเก๋" ส่วนเขมรนั้น "รำงาม" การร่ายรำที่เชื่องช้าและมั่นคงของเขมรผนวกกับดนตรีประกอบนั้นเองสร้างมนต์ขลังให้คนดู บังเกิดความศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถสื่อกันได้ระหว่างผู้แสดงและผู้ชม

ความงามทางสุนทรียะเหล่านี้ทำลายกำแพงขวางกั้นทางวัฒนธรรม คนต่างชาติต่างวัฒนธรรมเมื่อได้ชมก็เห็นว่างามหลาย ลักษณะการแสดงออกของตัวละครเขมรนั้นบางทีก็ดูเป็นโบราณกว่าของไทย เนื่องจากสังคมเขมรทุกวันนี้ยังไม่มีความเจริญทางวัตถุมากเหมือนไทยในปัจจุบัน ดังนั้นจึงรักษาอารมณ์คนโบราณได้ดีกว่า

ลักษณะของการร่ายรำที่เชื่องช้าทำให้นางรำเขมรรำได้พร้อมเพรียงกันราวกับมีลมหายใจอันเดียวกัน หากชมระบำหมู่จะพบว่าการตั้งมือตั้งไม้เท่ากันหมดแสดงให้เห็นการฝึกซ้อมด้วยกันเป็นอย่างดี ขณะที่ผู้เขียนไม่พบลักษณะเช่นนี้ในนาฏศิลป์ไทย

เครื่องละครเขมรเมื่อดูบนเวทีอาจดูอับแสงกว่าเครื่องละครไทย เนื่องจากใช้เพชรน้อยและเม็ดเล็กกว่า แต่เมื่อหยิบมาดูใกล้ ๆ แล้วจะเห็นฝีมือเชิงช่างที่แสดงความสามารถในการปักเครื่องที่ยังรักษาไว้ได้ดี เราอาจเห็นเค้ารอยบางอย่างในละครเขมรที่เคยเป็นของไทย ขณะที่ไทยเราปัจจุบันไม่ได้รักษาลักษณะเช่นนี้แล้ว ในการสวมเครื่องละครบางชิ้น เช่น ดอกไม้ปลายมือ ปะวะหล่ำกำไลข้อมือข้อเท้าเต็มเครื่องเหมือนละครไทยโบราณ

สมเด็จพระมหากษัตริยานีกุสุมะนารีรัตน์ พระราชมารดาของเจ้าสีหนุ พระนางทรงทำนุบำรุงการละครเขมรให้รุ่งเรือง พระนางจึงทรงเป็นพระมารดาแห่งนาฏศิลป์กัมพูชาก็ว่าได้

ระบำอัปสราเกิดขึ้นด้วยคุณูปการของพระนาง โดยนางอัปสราตัวเอกองค์แรกคือเจ้าหญิงบุพผาเทวี พระราชธิดาในเจ้าสีหนุ เป็นระบำที่กำเนิดขึ้นเพื่อเข้าฉากภาพยนตร์เกี่ยวกับนครวัดที่กำกับโดย Marchel Camus ชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า L"Oiseau du Paradis ก็คือ The Bird of Paradise หลังจากนั้นระบำอัปสราก็เป็นระบำขวัญใจชาวกัมพูชา ใครได้เป็นตัวเอกในระบำอัปสรานั้นเชื่อได้ว่าเป็นตัวนางชั้นยอดแห่งยุคสมัย

นครวัดเป็นอุดมคติแห่งชาติกัมพูชา นางอัปสราในนครวัดก็เป็นอุดมคติแห่งสตรีเขมร ดังนั้นการชุบชีวิตนางอัปสราออกมาเป็นระบำระดับชาตินั้นมีความหมายในเชิงชาติพันธุ์นิยม เพื่อให้เข้าถึงสัญลักษณ์สูงสุดแห่งสตรีแขมร์ ระบำอัปสรามีชื่อเสียงขึ้นมาด้วยการอิงบนความยิ่งใหญ่ของนครวัด และระบำอัปสราก็จำลองภาพสลักที่แน่นิ่งไร้ความเคลื่อนไหวในนครวัดให้หลุดออกมามีชีวิต

ผู้เขียนสันนิษฐานว่าดอกไม้เหนือเศียรนางอัปสราส่วนใหญ่ในปราสาทนครวัดคือดอกฉัตรพระอินทร์ เนื่องจากรูปทรงของดอกชนิดนี้พ้องกันกับภาพสลัก เขมรเรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่า "ดอกเสนียดสก" เสนียด คือสิ่งที่เอามาเสียด และสก คือผม ชื่อของดอกไม้บ่งบอกว่าเป็นดอกสำหรับเสียดผม เข้าใจว่าสมัยโบราณสตรีชั้นสูงของเขมรคงประดับศีรษะด้วยดอกไม้หลายชนิด หนึ่งในนั้นคือดอกฉัตรพระอินทร์ ดังหลักฐานภาพสลักนางอัปสราที่พบในปราสาทหินขอม ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของช่างสลักจากที่ได้เห็นของจริง

นาฏศิลป์ของเขมรนั้นมีดีอยู่อย่าง คือคนที่มารำไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ล้วนต้องได้รับฝึกมาเป็นอย่างดีก่อนขึ้นเวที และมักเป็นนักเรียนนาฏศิลป์โดยตรง หามีซ้อมก่อนออกงานเดือนสองเดือนแล้วขึ้นเวทีไปควักกะปิให้คนดูรำคาญตารำคาญใจอย่างใดไม่

นักเรียนนาฏศิลป์ก็นุ่งผ้าแดงเช่นเดียวกับไทย ตัวพระนุ่งผ้าน้ำเงิน แต่บางภาพก็เห็นนุ่งแดงกันทั้งโรง แต่สวมเสื้อคอกลมรัดตัว แขนสั้น เสื้อรัดตัวนั้นทำให้สังเกตสังกาการดัดและจัดสรีระได้ง่าย ปัจจุบันมีสอนกันที่มหาวิทยาลัยภูมินท์วิจิตรศิลปะที่ข้างพระบรมมหาราชวังกรุงพนมเปญ และสากลวิทยาลัยวิจิตรศิลปะ

เขมรอ้างว่าท่าร่ายรำของเขมรมีถึง ๔,๕๐๐ ท่า เป็นเรื่องสุดวิสัยที่จะมานั่งนับว่ามีเท่านั้นจริงหรือไม่ ท่ารำที่ดูโดดเด่นของเขมรคือท่าพักเท้าไว้บนน่องอีกข้างหนึ่ง โดยรับน้ำหนักตัวไว้บนขาข้างเดียว ซึ่งท่านี้เราก็พบในท่ารำเก่าๆ ของไทย แต่คงไม่ตั้งชันเท่ากับที่ปรากฏในภาพสลักฝาผนังบนปราสาทหินขอมดอก และอีกท่าคือนิยมตั้งส้นเท้าค้างกับพื้นเมื่อก้าวเท้า ซึ่งนับได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะของเขมรอีกประการหนึ่ง

ตัวนางเขมรมักอวบ เหตุผลก็คือตัวนางที่ห่มสไบนั้นจำต้องเปิดหัวไหล่ หากตัวนางผอมโกร่งเวลาห่มสไบจะเห็นกระดูกไหปลาร้า ดูไม่งามตา หากสูงยาวเข่าดีควรต้องไปหัดพระ

ผู้เขียนเคยเห็นนางละครเขมรเก็บขนตาปลอมโดยม้วนไว้กับใบตองแห้ง ก็แปลกตาดี ขนตาที่ถักเองจะงอนไปตามม้วนใบตองแห้งนั้น ทั้งๆ ที่สมัยนี้ก็มีขนตาปลอมจากเมืองไทยวางขายในตลาดแล้ว

ละครโขนยังมีแสดงอยู่บ้าง แน่นอนไม่พ้นตอนสั้นๆ ของเรื่องรามเกียรติ์ ส่วนหนังใหญ่นั้นที่มีชื่อเสียงคือคณะที่จังหวัดเสียมเรียบ นับว่ายังรักษาจังหวะท่าทางเป็นหนังใหญ่อยู่ ขณะที่คณะที่พนมเปญคนแสดงเป็น "นาฏการี" ซึ่งมีพื้นละครโขนและนาฏศิลป์ เล่นได้จับฉ่าย ท่าทางจึงเป็นท่าทางแบบนาฏศิลป์ไม่ใช่ลีลาหนังใหญ่แบบเสียมเรียบ ครูหนังใหญ่รุ่นเก่าของเสียมเรียบเรียกหนังใหญ่ว่า "นัง" ซึ่งก็มาจากคำไทย "หนัง" นั่นเอง แต่ส่วนคณะนาฏศิลป์ที่เสียมเรียบที่นิยมจัดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติดูนั้นฝีมือทรามกว่าคณะที่พนมเปญ ก็เหมือนระบำของไทยที่รำให้นักท่องเที่ยวดูนั้นแล กระไรจะสู้กรมศิลป์

ส่วนระบำพื้นบ้านนั้นมักเป็นระบำที่แสดงวิถีชีวิตชาวบ้าน การทำมาหากิน หรือการเลี้ยงฉลองพิธีกรรมของชนกลุ่มน้อย เช่น ระบำจับปลา ระบำเก็บกระวาน ระบำสวิง ระบำตรุด ระบำนกยูง ระบำกะลา ระบำของชนกลุ่มน้อยต่างๆ ทั้งชาวจาม ชาวส่วย ชาวพนอง และรำวงในงานรื่นเริงนั้นก็เป็นประเพณีที่ดีงาม แต่ลีลาของมือนั้นแตกต่างจากไทย คือหมุนมือเข้าหาตัวขึ้นบนและผายออกนอกตัว ไม่มีการจีบนิ้ว

ผู้เขียนเคยไปเที่ยวจังหวัดกำปงจามและเห็นคนหนุ่มสาวที่นั่นเล่นเพลงปฏิพากย์กัน ร้องรำโต้ตอบกันเองเมื่อพากันมาเที่ยวบนเขา โดยไม่มีผู้ชม นับว่าการละเล่นพื้นบ้านชนิดนี้ของกัมพูชายังสดและมีชีวิตอยู่ แถมยังเล่นกันโดยคนหนุ่มสาว ขณะที่บ้านเราเพลงปฏิพากย์กลายเป็นการแสดงหรือการสาธิตไปหมดแล้ว ก็ยินดีแก่ใจเมื่อได้เห็นของจริง

กัมพูชานั้นจัดการแสดงละเม็งละครให้ได้ชมอยู่เนืองๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เจ้านาย และต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "อัลลิยอง ฟรองเซส์" ศูนย์วัฒนธรรมฝรั่งเศสที่กรุงพนมเปญ ซึ่งมีส่วนช่วยเหลือสนับสนุนศิลปะประจำชาติชนิดนี้ของกัมพูชาเป็นอย่างยิ่ง

การแสดงนาฏศิลป์กัมพูชาที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวไปด้วยคือมหรสพอังกอร์ จัดแสดงรามเกียรติ์นานาชาติที่จัดแสดงที่นครวัดและนครธม ผู้ชมจะได้มีโอกาสเที่ยวนครวัด ปราสาทหินทั้งเมืองเสียมเรียบและชมนาฏศิลป์กัมพูชาที่แสดงโดยนักแสดงฝีมือระดับชาติด้วย เป็นงานที่ไม่ควรพลาด และมีผู้คนจากทั่วโลกรอชมงานนี้

ผู้เขียนก็เป็นผู้หนึ่งที่รอชมและหวังว่าจะได้มีโอกาสไปชมอีกสักครั้งสองครั้ง



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 มี.ค. 11, 10:55
ภาพวาดในค.ห. 1  เป็นนาฏศิลป์เขมรเช่นกันค่ะ
นางละครที่เป็นแบบให้วาด    คือเจ้าหญิงบุบผาเทวี พระธิดาของเจ้านโรดมสีหนุ อดีตกษัตริย์เขมร  ปัจจุบันอายุ ๖๐ กว่าแล้ว

เจัาหญิงบุปผาเทวี (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%A1_%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%9C%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%B5) ของคุณเทาชมพู

(http://freepages.genealogy.rootsweb.ancestry.com/~royalty/pix/bophadevi.jpg) (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/03/K7623645/K7623645-13.jpg) (http://2.bp.blogspot.com/_76xUgRgjZYM/SG6Y_YWgFOI/AAAAAAAAFLU/jffLGMWE0dw/s400/Bopha+Devi.jpg)

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 มี.ค. 11, 10:59
ระบำอัปสราเกิดขึ้นด้วยคุณูปการของพระนาง โดยนางอัปสราตัวเอกองค์แรกคือเจ้าหญิงบุพผาเทวี พระราชธิดาในเจ้าสีหนุ เป็นระบำที่กำเนิดขึ้นเพื่อเข้าฉากภาพยนตร์เกี่ยวกับนครวัดที่กำกับโดย Marchel Camus ชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า L"Oiseau du Paradis ก็คือ The Bird of Paradise หลังจากนั้นระบำอัปสราก็เป็นระบำขวัญใจชาวกัมพูชา ใครได้เป็นตัวเอกในระบำอัปสรานั้นเชื่อได้ว่าเป็นตัวนางชั้นยอดแห่งยุคสมัย

http://www.youtube.com/watch?v=6Rejdn-hiEM

ฟังเพลงจากภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วนึกถึงเพลงอะไรของไทยเอ่ย

 ;D



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 มี.ค. 11, 11:40
คุณนวรัตนมีเรื่องและรูปของเจ้าหญิงพระองค์นี้เยอะ

รอท่านมาช่วยอธิบายต่อ

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 11, 11:48
ระหว่างรอท่านนวรัตน     ขออินโทร ด้วยรูปเจ้าหญิงบุพผา (ไม่รู้สะกดยังไง)  กับเหล่านาฏศิลป์ขะแมร์ของเธอ ไปพลางๆก่อน

คณะนี้ ชื่อว่า  Cambodian Royal Ballet
เล่นเรื่อง สุวรรณหงส์  (Sovannahong)  แสดงที่ Chaktomuk Conference Hall, พนมเปญ เมื่อปี 2008
สตรีตรงกลางคือเจ้าหญิงบุพผาเทวี  เจ้าของ  Cambodian Royal Ballet


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 30 มี.ค. 11, 12:09
ถอดตามตัวอักษร បុប្ផាទេវី เป็น บุพฺผเทวี ครับ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 11, 12:32
นอกจากอ่านภาษาจีนแล้ว   คุณม้ายังอ่านภาษาเขมรได้ด้วย   :o


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 30 มี.ค. 11, 13:05
ถอดตามตัวอักษร បុប្ផាេទវី เป็น บุพฺผเทวี ครับ

ที่ถูกต้องควรถอดเป็นอักษรไทยว่า "บุปผาเทวี"


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 11, 15:46
ทำไมถึงถอดเป็นภาษาไทยแบบนี้คะ คุณหลวงเล็ก ???


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 11, 15:47
นางรำตัวน้อยของเขมร


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 11, 15:49
ทีแรกคิดว่านาฏศิลป์เขมรเหมือนของไทยมาก   แต่พอมาเจอท่าบางท่า ก็รู้ว่าไม่เหมือน
อย่างท่านี้  ไม่รู้ว่าเรียกว่าอะไร


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 11, 15:54
ระบำนางอัปสร (รำอัปสรา?)
สังเกตว่านางรำของเขมรยกเท้าสูงมาก   ท่ารำของไทยแต่เดิมเป็นอย่างนี้หรือ?


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 มี.ค. 11, 16:25
ระบำอัปสรา พร้อมคำบรรยายชื่อเพลงไทยที่นำมาบรรเลงประกอบ

http://www.youtube.com/watch?v=FCjv0iAUCTo

http://www.youtube.com/watch?v=YTg8uXK8nZ0&feature=related

;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 30 มี.ค. 11, 17:00
...


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 31 มี.ค. 11, 07:49
เพิ่งเสร็จกิจธุระ เลยเข้ามาชมด้วยความตื่นเต้นกับกระทู้นี้เหลือเกินครับ

จากบทความที่คุณเพ็ญชมพูนำมาให้อ่าน + หนังสือวิวัฒนาการการแต่งกายยืนเครื่องโขน-ละคร ผมพอจะมองลักษณะของนาฏศิลป์เขมรได้คร่าวๆดังนี้ เพื่อจะได้ไม่สับสนกันครับ

๑. ช่วงก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา .. ศิลปะการฟ้อน รำในดินแดนกัมพูชาได้ถือกำเนิดมานานแล้วดังภาพสลักหินการร่ายรำโดยเน้นกางมือ กางขา แบบอินเดีย

๒. สมัยกรุงศรีอยุธยา .. ราชสำนักเขมรอ่อนแอ ถ่ายโอนศิลปะการรำสู่ราชสำนักสยาม โดยการกวาดต้อนผู้คนเข้ามา และสยามได้พัฒนาเครื่องแต่งกายและท่าทำนองการรำ

๓. สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ ๑-๔ เจ้านายและกษัตริย์กรุงกัมพูชา ได้เข้ามาอาศัยในราชสำนักสยาม ดังนั้นบรรดาเครื่องโขน ละคร เครื่องศิราภรณ์ ล้วนถูกถ่ายโอนไปยังกรุงกัมพูชาด้วย เป็นการถ่ายโอนศิลปะจากสยามสู่กัมพูชา

๔. สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ ๕ - ๘ เป็นเข้าสู่ยุตกรุงกัมพูชาอยู่ใต้อิทธิพลเมืองขึ้นของฝรั่งเศส แต่การรำบำในราชสำนักเขมรก็ดำเนินอยู่ใต้ระเบียบราชสำนัก โดยถือมาตรฐานการแต่งกายยืนเครื่องแบบที่ได้รับถ่ายจากสยาม และพัฒนาสู่ของตนเอง รวมทั้งการรำอย่างอัปสรา

๕. ปีศูนย์ หรือ Year Zero ค.ศ. 1975 เป็นช่วงที่กรุงกัมพูชา สูญสิ้นทางวัฒนธรรมอีกครั้งหนึ่งเนื่องจากปัญหาทางการเมืองและสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

๖. เมื่อหมดปัญหาทางการเมืองได้ระดับหนึ่ง ศิลปะการรำจึงถูกรื้อฟื้นโดยการต่อยอดจากนางรำนาฏศิลป์ผู้มีอายุ ที่ยังหลงเหลืออยู่ จัดสอน จัดรำเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง โดยไม่มีการถ่ายโอนจากไทยสู่กัมพูชา แต่ยังคงมีมนต์เสน่ห์อย่างไทยช่วงรัชกาลที ๔-๕ อยู่มาก


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 31 มี.ค. 11, 08:49
ถ้าจะดูเฉพาะเครื่องแต่งกายยืนเครื่องโขน - ละคร ในช่วงรัชกาลที่ ๔ - ๕ ที่ส่งถ่ายไปยังกรุงกัมพูชานั้น ถือว่า ส่งต่อได้อย่างเกือบทุกชิ้น ล้วนงดงามไม่แพ้กัน ไม่ว่า ปัจจุเหร็จ, มงกุฎยอด, ชฎา, กรอบหน้า ได้ถูกถ่ายโอนไปใช้ในศิลปะการรำของกัมพูชา สร้อย, สังวาลย์, ทับทรวง, กำไลแผง, กำไลข้อเท้าหัวบัว ยังคงสืบทอดตามแบบฉบับของสยามได้อย่างครบถ้วน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 09:36
กำลังรอคุณ siamese มาอธิบายเรื่องเครื่องแต่งกายนาฏศิลป์เขมรให้ฟังอยู่ทีเดียว

รูปนี้ ถ่ายเมื่อค.ศ. ๑๙๖๒  คือระหว่างข้อ ๔ กับข้อ ๕     เป็นรูปการเยือนกัมพูชาของประธานาธิบดีซูการ์โนแห่งอินโดนีเซีย     ใครเรียนปวศ.ชวาคงจำได้ว่า เขาเป็นวีรบุรุษกู้ชาติของอินโดนีเซียให้พ้นจากเป็นอาณานิคม หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒  ต่อมาก็ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี
ผู้ต้อนรับซูการ์โนคือเจ้าสีหนุ  พระบิดาของเจ้าหญิงบุพผเทวี     ในรูปกำลังแนะนำประธานาธิบดีให้รู้จักเจ้าหญิงและคณะนาฏศิลป์ของเธอ
เครื่องแต่งกายเหมือนไทยราวกับชุดเดียวกัน  ทั้งหญิงและชาย


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 09:40
ขอโทษครับ รถไฟชนกัน๓ขบวน ผมสับหลีกไปก่อนก็แล้วกัน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 31 มี.ค. 11, 09:45
ความคล้าย - ความเหมือน หรือจะเป็นการ copy รูปแบบเครื่องแต่งกายยืนเครื่องละคร ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยภาพบนเป็นภาพละครแต่งตัว พระ-นาง จากคณะละครของนายมหิศย์ กับ ภาพด้านล่างภาพละครแต่งตัวพระ-นาง ของกัมพูชา


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 31 มี.ค. 11, 09:51
ขอโทษครับ รถไฟชนกัน๓ขบวน ผมสับหลีกไปก่อนก็แล้วกัน

เชิญอ.NAVARAT.C เลยครับ ตำราเล่มนี้ผมไม่มีในมือ หากได้ อาจารย์นำลงก็เป็นบุญตาครับ ตอนนี้เขาทำรถไฟรางคู่กันแล้วครับ ไม่ชนกันหรอกครับ  ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 09:53
ขอโทษครับ รถไฟชนกัน๓ขบวน ผมสับหลีกไปก่อนก็แล้วกัน

โอ๊ะ  อย่าเพิ่งไปค่ะ  
ใครก็ได้อย่านั่งเฉยๆ     ช่วยฉุดโจงกระเบนท่านไว้ก่อน

ระหว่างท่านโต้โผยังไม่เปิดม่านออกมาสักที     ผู้ดูหน้าเวทีก็ย่อมส่งเสียงเซ็งแซ่กันอย่างนี้  เป็นธรรมดาของการฆ่าเวลา
พอมีเสียงกริ่งสัญญาณ  ก็จะเงียบเป็นปลิดทิ้ง
ดิฉันเอารูปเครื่องแต่งกายละครเขมรในยุค 1900-1950  มาโชว์คุณไซมีสเป็นรูปสุดท้าย แล้วจะไม่พูดอะไรอีกแล้วค่ะ   รอฟังอย่างเดียว


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 10:03
ขอโทษครับ รถไฟชนกัน๓ขบวน ผมสับหลีกไปก่อนก็แล้วกัน

เชิญอ.NAVARAT.C เลยครับ ตำราเล่มนี้ผมไม่มีในมือ หากได้ อาจารย์นำลงก็เป็นบุญตาครับ ตอนนี้เขาทำรถไฟรางคู่กันแล้วครับ ไม่ชนกันหรอกครับ   ;D

ตัวจริงเจ้าของหนังสือมาแล้ว ขอเชิญต่อด้วยคน

เอาเรื่องเจ้าหญิงบุปผา (แปลว่า "ดอกไม้" ภาษาไทยก็ต้อง "บุปผา" นะซี  ;)) ก่อนเป็นไร

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 10:09
(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4316.0;attach=17751;image)

ภาพของคุณดีดีภาพนี้เป็นภาพโขนชุดรามเกียรติ์ที่นครวัดสมัยสมเด็จพระศรีสวัสดิ์

ในรัชสมัยนี้มีการเดินสายไปโชว์ถึงต่างประเทศ

เรื่องนี้คุณนวรัตนก็คงอธิบายได้ดี

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 31 มี.ค. 11, 10:13
คุณเพ็ญชมพูนี่สุดยอดอีกแล้ว หนังสือสีสันสวยมากครับ อยากจะเห็นแล้วซิ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 10:17
โจงกระเบนแทบหลุด ผมเลยต้องขอเวลานอกไปเปลี่ยนชุดใหม่ ตอนนี้นุ่งยีนคาดเข็มขัดคาวบอยมาแล้ว จะเข้าโรงเมื่อไหร่เป็นฉุดไม่อยู่

คือผมไม่สามารถเล่นบทนำในละครเขมรน่ะครับ เป็นตัวประกอบสลับฉากได้ ตะกี้เข้ามาจะเอารูปประกอบมาเสริม ก็ส่วนใหญ่มาจากหนังสือเล่มนี้น่ะแหละ ใครอย่าเอารูปของเขาไปทำมาหากินต่อละกัน เดี๋ยวจะมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ ส่วนผม ไม่ได้มีผลประโยชน์อะไร ที่เอามาลงก็เพื่อการศึกษาของอนุชน รูปก็เล็กๆแต่พอประมาณ เขาคงไม่เอาเรื่องเอาราว


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 10:23
อ้างถึง
ข้อความโดย: siamese
ช่วงก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา .. ศิลปะการฟ้อน รำในดินแดนกัมพูชาได้ถือกำเนิดมานานแล้วดังภาพสลักหินการร่ายรำโดยเน้นกางมือ กางขา แบบอินเดีย

ข้างบนนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธได้ ผู้ที่สร้างนครวัต หรือราชอาณาจักรขอม ถ้าไม่ใช่ลูกหลานคนอินเดียเองที่มาปักกลัก ก็คงจะได้รับอิทธิพลทางอารยธรรมอินเดียใต้มาอย่างเต็มเปี่ยม รวมทั้งศิลปะการแสดงชั้นสูงด้วย


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 10:32
ปฏิมากรรมอันมีรากฐานมาจากนาฏกรรม

นี่คือระบำที่ชาวนครวัตเอาระบำอินเดียแท้ๆประยุกติให้เข้ากับรสนิยมของตน ครูบาอาจารย์บอกว่านาฏศิลป์เป็นวัฒนธรรมที่เปราะบางมาก มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาให้เข้ากับสมัยนิยม ดังนั้น ช่วงเวลาสักร้อยปี ก็ทำให้ระบำเขมร แตกต่างไปจากแม่บทอินเดียพอสมควรทีเดียว

รูปสลักนี้ทำให้เรานึกภาพระบำหมู่ ของนางอัปสราได้อย่างแจ่มชัด


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 10:39
ขออนุญาตตั้งข้อสังเกต

ระบำนางอัปสร (รำอัปสรา?)
สังเกตว่านางรำของเขมรยกเท้าสูงมาก   ท่ารำของไทยแต่เดิมเป็นอย่างนี้หรือ?

ท่ายกแข้งยกขาสูงนี้ น่าจะเป็นท่าดั้งเดิมของเขมร สังเกตจากท่าร่ายรำที่ปรากฏในรูปสลัก

 ;D



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 31 มี.ค. 11, 10:48
ร่วมบรรเลงเสริม กรับ ฉิ่ง พรั่งพร้อม
ว่าด้วยหลักฐานท่ารำนาฏศิลป์ระยะแรกเริ่มของทางกัมพูชานั้น อ้างอาศัยหลักโบราณคดีเป็นหลัก ซึ่งนักโบราณคดีได้ทำการสำรวจและแบ่งออกได้ดังนี้

๑.   วัฒนธรรมก่อนเมืองพระนคร  

เป็นการถ่ายทอดศิลปะระบำแบบพรามณ์จากอินเดียในสมัยฟูนันหรือนครพนม (พุทธศตวรรษที่ ๕-๖) หรืออย่างน้อยประมาณสมัยเจนละ (พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓) โดยอ้างถึงทับหลังสมัยสมโปร์ไพรกุก เป็นทับหลังเล่าเรื่องพิธีสรงมูรธาภิเษก ซึ่งเป็นทับหลังหินทรายแกะลสักมีรายละเอียดเล็กน้อยของการฟ้อนรำ มีนักดนตรีประกอบ มีกลอง ขลุ่ย ฉิ่ง การรำก็เหมือนกับที่ อ.NAVARAT.C ยกภาพประกอบคือ ยกมือ ยกเท้า หันหน้าซ้ายขวา


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 31 มี.ค. 11, 10:51
ทำไมถึงถอดเป็นภาษาไทยแบบนี้คะ คุณหลวงเล็ก ???

ตัวพยัญชนะสระของเขมรมีบ่อเกิดเดียวกัน
ผมจะแยกให้ดูทีละตัวก็ได้

បុប្ផាេទវី  បុ - บุ  ប្ - ปฺ  ផា - ผา  េទ  - เท   វី  -  วี
ตัว ប ของเขมร สามารถถ่ายถอดเป็น บ หรือ ป ก็ได้แล้วแต่คำ
แต่ในที่นี้ ถ่ายถอดพยัญชนะ เป็น บ เพราะเขมรอ่านเป็น บ เหมือนไทย
ส่วนอีกตัวถ่ายถอดเป็น ป เพราะเป็นตัวสะกดตามหลักตัวสะกดตัวตามในภาษาบาลี  
(พ  สะกดตามด้วย ผ ไม่มี  มีแต่  พ สะกด  พ หรือ ภ เป็นตัวตาม)

อันที่จริง ตัว ผ ต้องเขียนด้วยตัวเชิง  ไม่ใช่ตัวเต็ม แต่คิดว่าตัวเชิงในคอมพ์ไม่มี
จึงเขียนจุดใต้ ตัว ป แล้วเขียนตัว ผ เต็ม แทน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 31 มี.ค. 11, 10:57
ท่ารำของเขมรที่ยกเท้าสูงๆ ทำให้นึกถึงท่ารำโนราของชาวปักษ์ใต้
หรือว่ามีที่มาแหล่งเดียวกัน  ???


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 31 มี.ค. 11, 11:08
๒.   วัฒนธรรมสมัยเมืองพระนคร (พุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘)

ช่วงรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ทรงนำอาณาจักรให้หลุดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของราชวงศ์ไศเลนทรแห่งเกาะชวา และพระองค์ได้สร้างปราสาทบนภูเขาพนมกุเลน (ภูเขาลิ้นจี่) พระองค์สร้างพระอารามโรงจิน ขึ้นเพื่อถวายแด่พระอิศวร และเมื่อพระองค์สวรรคตลงแล้วก็จะเสด็จไปสู่ หริหราลัย ดังนั้นกษัตริย์องค์ต่อๆกันมาจึงมีความเชื่อที่สร้างปราสาทเพื่อถวายเทพเจ้าเฉกเช่นเดียวกัน
อย่างภาพที่เห็นผ่านตากันมากก็คือ ท่าร่ายรำสลักหินยกแข้งขา เป็นภาพสลักจากปราสาทบายน และภาพนางอัปสราจากปราสาทหินนครวัด ซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ อันเป็นยุคทองแห่งการสร้างปราสาท และหลังจากนั้นเมืองพระนครก็ดำเนินสู่จุดต่ำสุดนั้นคือ เกิดการปั่นป่วนในราชสำนักและศาสนา นำไปสู่การทิ้งเมืองไปในที่สุด

ในสมัยพระบาทชัยวรมันที่ ๙ (พ.ศ. ๑๘๗๐ - ๑๘๗๙) เกิดการทบกันระหว่างศาสนาพุทธและพราหมณ์ จนทำให้มีผลถึงราชวงศ์วรมัน ต้องเปลี่ยนไปเป็นราชวงศ์ตรอสกผะแอม (นับถือพุทธเถรวาท) โดยความอ่อนแอนี้ ยังมีอาณาจักรหนึ่งได้เข้มแข็งขึ้นซึ่งก็คือ “สุโขทัย” นั่นเอง
การร่ายรำยังคงถือธรรมเนียมอย่างพราหมณ์เช่นเดิม อย่างภาพนางอัปสรา ยกเท้าสูง ใส่กำไลข้อเท้า มีเครื่องสวมศีรษะ หรือ ดอกไม้งดงาม มีกรองคอ ใส่ต่างหู กำไลแขน เข็มขัด นุ่งผ้าปล่อยชาย


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 11:12
ข้อความโดย: siamese

อ้างถึง
๒. สมัยกรุงศรีอยุธยา .. ราชสำนักเขมรอ่อนแอ ถ่ายโอนศิลปะการรำสู่ราชสำนักสยาม โดยการกวาดต้อนผู้คนเข้ามา และสยามได้พัฒนาเครื่องแต่งกายและท่าทำนองการรำ

ข้อความโดย: เพ็ญชมพู

อ้างถึง
ขออนุญาตตั้งข้อสังเกต
อ้างจาก: เทาชมพู ที่  30 มี.ค. 11, 15:54
ระบำนางอัปสร (รำอัปสรา?)
สังเกตว่านางรำของเขมรยกเท้าสูงมาก   ท่ารำของไทยแต่เดิมเป็นอย่างนี้หรือ?

ท่ายกแข้งยกขาสูงนี้ น่าจะเป็นท่าดั้งเดิมของเขมร สังเกตจากท่าร่ายรำที่ปรากฏในรูปสลัก

ตรงนี้ก็ไม่มีข้อสงสัย ยังไงๆ กษัตริย์ไทยก็คงกวาดต้อนพวกละครเขมรเข้ามาในราชสำนัก พระนครศรีอยุธยาด้วยอยู่แล้ว แต่คนไทยก็คงจะมีอะไรๆของตนเองอยู่บ้างแล้ว แม้จะเอามาจากมอญ หรือล้านนาก็ตาม ที่เห็นแน่ๆ คือท่ารำแบบยกแข้งยกขานั้น ไทยไม่เอาเลย จะมีก็แต่ในท่าลิงของโขนเท่านั้น ส่วนระบำอัปสรา คงโดนฟ้อนของจาวเหนือปฏิรูปเสียจนหมดรูป เวลาผ่านไปหลายร้อยปี ไทยก็มีนาฏกรรมที่คล้ายแต่ไม่เหมือนของใคร ลงตัวกับรสนิยมของคนอุษาคเนย์ จนเจ้าเขมร ทั้งนักองตนและนักองเองที่มาพึ่งพระบรมโพธิสัมภารอยู่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อได้ยลละครหลวงถึงกับหลงไหล ใช่แต่เท่านั้น เจ้าอนุเวียงจันทน์ก็เช่นกัน เมื่อมาเห็นก็พยายามขอพระราชทานละครไปสู่ราชสำนักลาวบ้าง เมื่อพระพุทธเลิศหล้าฯท่านไม่โปรดตามคำขอก็เสียพระทัย และผูกใจเจ็บจนเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตต่อมา


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 11:17
ของเมืองหลวง


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 31 มี.ค. 11, 11:20
ภาพแกะสลักอัปรารำฟ้อน จากลานพระเจ้าขี้เรื้อน เสียมราฐ ศิลปะแบบบายน เป็นอัปราร่ายรำ สวมมงกุฏยอด ใส่ต่างหู กรองคอ มีอุปกรณ์ร่ายรำด้วย อาจจะเป็นผ้ายาวคล้องคอ หรือ ดอกไม้นำมาร้อยแล้วคล้องคอ สวมกำไลแขน มือ เท้า คาดเข็มขัด นุ่งผ้าปล่อยชายยาว


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 11:25
จนเจ้าเขมร ทั้งนักองตนและนักองเองที่มาพึ่งพระบรมโพธิสัมภารอยู่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อได้ยลละครหลวงถึงกับหลงไหล ใช่แต่เท่านั้น เจ้าอนุเวียงจันทน์ก็เช่นกัน เมื่อมาเห็นก็พยายามขอพระราชทานละครไปสู่ราชสำนักลาวบ้าง เมื่อพระพุทธเลิศหล้าฯท่านไม่โปรดตามคำขอก็เสียพระทัย และผูกใจเจ็บจนเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตต่อมา

พอถึงสมัยนักองด้วงได้ขอร้องทางราชสำนักไทย ให้ช่วยส่งครูละคร ครูดนตรีไปฝึกสอนให้ที่ราขสำนักเขมร  นี่แหละเป็นการเิริ่มต้นของรูปลักษณ์ใหม่ของนาฏศิลป์เขมร ทั้งเครื่องแต่งกาย ดนตรี และท่ารำ โดยใช้นาฏศิลป์สยามเป็นแม่แบบ

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 11:29
ข้อความโดย: luanglek

อ้างถึง
ท่ารำของเขมรที่ยกเท้าสูงๆ ทำให้นึกถึงท่ารำโนราของชาวปักษ์ใต้
หรือว่ามีที่มาแหล่งเดียวกัน  
 
  
 ^
ดูภาพร่ายรำของนางอัปสราข้างบน เทียบกับท่ารำมาตรฐานของโนราแล้ว ไม่คล้ายกัน
แต่จะมีอิทธิพลของขอม หรือคนอินเดียใต้มาจุดประกายไว้หรือไม่ ก็น่าคิด โดยเฉพาะลักษณะชฎาที่ดูใหญ่ๆเหมือนกัน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 11:53
ข้อความโดย: siamese

อ้างถึง
๓. สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ ๑-๔ เจ้านายและกษัตริย์กรุงกัมพูชา ได้เข้ามาอาศัยในราชสำนักสยาม ดังนั้นบรรดาเครื่องโขน ละคร เครื่องศิราภรณ์ ล้วนถูกถ่ายโอนไปยังกรุงกัมพูชาด้วย เป็นการถ่ายโอนศิลปะจากสยามสู่กัมพูชา

ข้อความโดย: เพ็ญชมพู

อ้างถึง
พอถึงสมัยนักองด้วงได้ขอร้องทางราชสำนักไทย ให้ช่วยส่งครูละคร ครูดนตรีไปฝึกสอนให้ที่ราขสำนักเขมร  นี่แหละเป็นการเริ่มต้นของรูปลักษณ์ใหม่ของนาฏศิลป์เขมร ทั้งเครื่องแต่งกาย ดนตรี และท่ารำ โดยใช้นาฏศิลป์สยามเป็นแม่แบบ

เจ้าเขมรอยู่ในฐานะพระราชโอรสบุญธรรม เมื่อขอพระราชทานก็โปรดให้ตามสมควร ละครเขมรจึงเรื่มต้นขึ้นใหม่โดยมีครูไทยไปกำกับ
และเช่นเดียวกับระบำอินเดียที่ไปกลายพันธุ์ในนครวัต ระบำ ละครเขมรจึงปรับรูปแบบให้เข้ากับรสนิยมของคนในท้องถิ่นไป คล้าย แต้ไม่เหมือนของไทยเสียทีเดียว

ภาพประกอบ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 12:10
วงดนตรีปี่พาทย์เขมรสมัยพระเจ้านโรดม และรัชกาลต่อมา ดูไม่ออกว่าต่างกับไทยตรงไหน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 12:21
เอาละครหลวงของเขมรมาขยายให้ดูชัดๆ

ละครชุดนี้อาจจะเป็นศิษย์ของหม่อมเจ้าฉวีวาด (ซึ่งเอกสารเขมรมิได้กล่าวถึงเลย)
หรือเจ้าจอมแพน นางละครจากอรัญประเทศ ไม่ทราบได้

ถ้าจะมาบังคับให้ผมเดา ผมก็เดาจากเครื่องแต่งกายแหละครับ มันน่าจะเป็นแบบอรัญๆ มากกว่าแบบวังหลวง


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 31 มี.ค. 11, 12:22
๓.   วัฒนธรรมสมัยหลังเมืองพระนคร (พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๓)

เมื่อเมืองพระนครถูกตีแตกแล้ว สมัยพระเจ้าบาทพญายาต (พ.ศ. ๑๙๓๖ – ๒๐๐๖) ได้ย้ายราชธานีไปที่ “ตวลบาสาน” แล้วย้ายอีกไปยัง “พนมเปญจตุมุข” และคาดว่าหลังจากนั้นมา เขมรก็เรียกระบำเหล่านี้ว่า “ระบำ, ละครพระราชทรัพย์”

สมัยพระองค์จันที่ ๑ (พ.ศ. ๒๐๕๙ – ๒๑๐๙) มีบันทึกกล่าวถึงพระปรีชาสามารถของกษัตริย์พระองค์นี้ไว้อย่างหนึ่ง กล่าวคือ ทรงประทับที่พระราชวังบันทายละแวก ทรงพยายามปกป้องเมืองให้สงบสุข และทรงเอาใจใส่ฟื้นฟูศิลปะ มหรสพ ระบำสตรี  ละครผู้ชาย ละครผู้หญิง ไว้อย่างดีเพื่อเป็นพระเกียรติยศ แต่การสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยา กับ กัมพูชานั้นก็ยังมีอยู่ โดยกองทัพสยามใช้กลอุบายยิงเงินพดด้วงใส่ป่าไผ่ โปรยเงินให้ประชาชนชาวเขมรถางฟันป่าไผ่ ซึ่งเป็นกำแพงธรรมชาติป้องเมืองทำลายลงด้วยความโลภ และกรุงละแวกก็ถูกตีแตกเมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๖ (สมัยพระนเรศวร)
ศิลปะการรำฟ้อนในช่วงนี้ เกิดการผสมกันระหว่างท่ารำหลังเมืองพระนคร + ท่ารำในวัฒนธรรมอยุธยา  ซึ่งสามารถอธิบายดังนี้

ท่ารำหลังเมืองพระนคร =  มือและแขนมีลักษณะการจีบมือ (นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้จีบเป็นวงรี นิ้วที่เหลือเหยียดตึง)
ท่ารำในวัฒนธรรมอยุธยา =  การจีบมือ (นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้จีเป็นรูปสามเหลี่ยม นิ้วที่เหลือเหยียดตึงหักข้อมือ) และตั้งมือแขนเหยียดตึง


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 12:40
ข้อความโดย: siamese

อ้างถึง
๔. สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ ๕ - ๘ เป็นเข้าสู่ยุตกรุงกัมพูชาอยู่ใต้อิทธิพลเมืองขึ้นของฝรั่งเศส แต่การรำบำในราชสำนักเขมรก็ดำเนินอยู่ใต้ระเบียบราชสำนัก โดยถือมาตรฐานการแต่งกายยืนเครื่องแบบที่ได้รับถ่ายจากสยาม และพัฒนาสู่ของตนเอง รวมทั้งการรำอย่างอัปสรา

ฝรั่งเศสนั้น เห็นคุณค่าของเขมรอยู่อย่างเดียวคือนครวัต แต่นครวัตคือเมืองร้าง เวลาจะเอาไปโปรโมร์ตต้องเติมชีวิตเข้าไป ละครเขมรจึงถูกนำไปจัดฉากให้ไปสร้างสีสันให้กับนครวัต ก่อนงานเอกซ์โปที่จะจัดขึ้นที่ปารีสอย่างยิ่งใหญ่มโหฬาร ตรงกับสมัยรัชกาลที่๕ของไทย นครวัตจะถูกจำลองไปสร้างในงานดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่าจะดึงคนทั้งยุโรปมาปารีส เพื่อชมงานได้


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 12:59
ท่าจีบมือของเขมร


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 13:06
ท่านผู้รู้กรุณาช่วยบรรยายด้วยครับ

ท่าจีบมือเหล่านี้ ของไทยก็มี แต่แสดงสัญญลักษณ์ของส่วนต่างๆของพืชเช่นเขมร ดังคำบรรยายที่ฝรั่งเขียนหรือเปล่า


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 31 มี.ค. 11, 13:10
ฝรั่งเศสนั้น เห็นคุณค่าของเขมรอยู่อย่างเดียวคือนครวัต แต่นครวัตคือเมืองร้าง เวลาจะเอาไปโปรโมร์ตต้องเติมชีวิตเข้าไป ละครเขมรจึงถูกนำไปจัดฉากให้ไปสร้างสีสันให้กับนครวัต ก่อนงานเอกซ์โปที่จะจัดขึ้นที่ปารีสอย่างยิ่งใหญ่มโหฬาร ตรงกับสมัยรัชกาลที่๕ของไทย นครวัตจะถูกจำลองไปสร้างในงานดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่าจะดึงคนทั้งยุโรปมาปารีส เพื่อชมงานได้

นำภาพการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติที่กล่าวถึง จะเห็นว่าประเทศกัมพูชาได้จัดการสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่โตมาก ตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง ถ้ามองผ่านๆเหมือนกับยกของจริงมาไว้เลย


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 13:18
ผมขอดับเครื่องรอท่านอื่นๆด้วยรูปที่ผู้จัดงาน ประชาสัมพันธ์เขมรให้คนยุโรปมาเที่ยวงานเอกซ์โป 1906 ที่ปารีส เรื่องนี้เป็นจุดผกผันอันสำคัญของนาฏศิลป์เขมร เขาก้าวขึ้นสู่เวทีโลกก่อนไทย ด้วยพลังส่งของวิธีการด้านการตลาดที่ชาญฉลาด ซึ่งคิดและทำโดยคนฝรั่งเศส

แล้วผมจะกลับมาใหม่ครับ ชักจะเล่นเกินบทตัวประกอบไปนิดนึงแล้ว


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 31 มี.ค. 11, 13:29
๔.   วัฒนธรรมสมัยวัฒนธรรมเขมรรุ่นหลัง (พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕)

เน้นในช่วงพระบาทนโรดมสีหนุวรมัน (พ.ศ. ๒๔๘๔ – ๒๔๙๘) และในสมัยสังคมราษฎร์นิยม (พ.ศ. ๒๔๙๘ – ๒๕๑๓) ศิลปะการแสดงระบำโด่งดังในพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริยานี กุสมะนารีรัตน์ (พระมารดาในพระบาทนโรดมสีหนุวรมัน) ซึ่งได้ให้ความสนใจในศิลปะการแสดงดังกล่าว รวมทั้งสร้างเครื่องศิราภรณ์ ตกแต่งให้เกิดความงดงาม อลังการเพิ่มขึ้นไปอีก ทำให้เกิดตำรา การค้นคว้าเจริญไปทั้งประเทศจนประเทศเข้าสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓

ศิลปะของกัมพูชาได้ถูกทำลายไปในคราวเดียวกันและในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๓ – ๒๕๑๘ การระบำพระราชทรัพย์ได้เปลี่ยนมาอยู่ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยวิจิตรศิลปะ

ช่วงเวลา พ.ศ. ๒๕๑๘ – ๒๕๒๒ กัมพูชาอยู่ในช่วงระบอบสาธารณะรัฐเขมรถูกทำลายลง ระบบการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ “กัมพูชาประชาธิปไตย” ก็มีอำนาจขึ้นมา เหล่าศิลปะการระบำ ดูเสมือนมรดกทางศักดินา เหล่าศิลปิน ถูกฆ่าตายไปจำนวนมาก เมื่อกัมพูชาผ่านพันวิกฤตการณ์อันเลวร้ายลงไป รัฐกัมพูชาก็ถือกำเนิดขึ้นแทนที่ บรรดาศิลปินครูต่างๆล้วนพยายามกลับเข้ามาฟื้นฟูระบำท่วงทำนองอย่างโบราณกันอีกครั้ง
ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๓๖ กัมพูชาได้เปลี่ยนเป็น “พระราชอาณาจักรกัมพูชา” ดังนั้นเหล่าระบำ ละคร หรือ ระบำพระราชทรัพย์จึงหวนคืนสืบทอดมาจนบัดนี้ครับ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 14:04
ผมขอดับเครื่องรอท่านอื่นๆด้วยรูปที่ผู้จัดงาน ประชาสัมพันธ์เขมรให้คนยุโรปมาเที่ยวงานเอกซ์โป 1906 ที่ปารีส เรื่องนี้เป็นจุดผกผันอันสำคัญของนาฏศิลป์เขมร เขาก้าวขึ้นสู่เวทีโลกก่อนไทย ด้วยพลังส่งของวิธีการด้านการตลาดที่ชาญฉลาด ซึ่งคิดและทำโดยคนฝรั่งเศส

แล้วผมจะกลับมาใหม่ครับ ชักจะเล่นเกินบทตัวประกอบไปนิดนึงแล้ว

อ้าว กลับมาไม่ทัน    ท่านนวรัตนไปอินเทอร์มิชชั่น ๑๕ นาที เสียแล้ว
คงเป็นเพราะท่านชิงเปลี่ยนชุดเป็นสนับเพลาคาวบอย     เลยไม่มีหางกระเบนให้คุณ siamese กับคุณเพ็ญชมพูฉุดได้ทัน
 ;D

ขอคั่นโปรแกรมไปพลางๆก่อนค่ะ  ด้วยเนื้อความที่เก็บมาจากม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  เรื่อง โครงกระดูกในตู้

ท่านบอกว่าละเม็งละครในสมัยโน้นถือว่าเป็นเรื่องเล็กไม่ได้    หากแต่เป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว  เพราะประเทศต่างๆแถวเอเชียอาคเนย์ถือว่าโขนละครและหนังเป็นเครื่องส่งเสริมเกียรติยศของบ้านเมือง     โขน ละคร และหนังใหญ่ของไทยถือว่าประเสริฐสุดๆ    ทุกประเทศอยากได้ไปเป็นของตนหรือเป็นแบบฉบับ
เมื่อเจ้าอนุวงศ์แห่งลาวเสด็จเข้ามาในสยามในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย   เสร็จงานเมื่อถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ กลับบ้านเมือง  ก็ทูลขอตัวละครในไปเวียงจันทน์ เพื่อจะไว้ไปฝึกละครในราชสำนักลาว    แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ  มิได้โปรดพระราชทานให้
เจ้าอนุถูกปฏิเสธก็โทมนัสน้อยใจ  และเริ่มเอาใจออกห่าง  จนถึงขั้นเป็นกบฏยกทัพเข้ามาถึงโคราช    อย่างที่เรารู้ๆกันในเรื่องวีรกรรมของย่าโมหรือท้าวสุรนารี

ในเมื่อลาวไม่มีสิทธิ์เอาละครในของไทยไปประจำในราชสำนักลาว  เขมรก็ไม่มีสิทธิ์เช่นกัน   สมเด็จเจ้านโรดมซึ่งเคยมาอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อคราวเสด็จกลับไปครองราชย์  ก็ได้ไปแต่ลิเกไทย  ไปประจำอยู่ในเขมร
ลิเกไทยก็ไปเฟื่องฟูอยู่ในเขมร   สมเด็จนโรดมทรงเป็นองค์อุปถัมภ์    จนในเขมรเชื่อกันว่าสมเด็จฯเป็นผู้คิดลิเกขึ้นมาเอง และทรงสั่งสอนนาฏศิลป์เขมรให้เป็นเรื่องลิเก
ลิเกเขมรเป็นอย่างไร ไม่เคยเห็น      ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าว่าลิเกเขมรร้องราดนิเกริงอย่างลิเกไทยไม่เป็น  เพราะราดนิเกริงเป็นเพลงลิเกที่พระเอกลิเกดังชื่อนายดอกดินเป็นคนแต่งขึ้นมา   นายดอกดินเป็นคนรุ่นหลัง   สมเด็จนโรดมท่านทรงนำลิเกไปเขมรก่อนหน้านี้นานแล้ว




กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 14:14
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าต่อไปว่า บทละครในเขมร ถ้าเป็นเรื่องอุณรุทกับอิเหนายังต้องร้องเป็นภาษาไทย    แต่ถ้าเป็นละครนอก สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ทรงแปลเป็นเขมรไว้เป็นส่วนมาก  เช่นเรื่องไกรทอง  ของไทยบอกว่า 

เมื่อนั้น โฉมเจ้าไกรทองพงศา

ส่วนเขมร แปลออกมาว่า

กาลเนาะ  โซมเจ้าไกรทองพงซา

กาลเนาะ= กาลนั้น / เมื่อนั้น

ยังหายูทูปละครเขมรไม่ได้ค่ะ   ไม่งั้นจะเอามาลง  มีแต่บทระบำอัปสราที่คุณเพ็ญชมพูเคยนำมาลงต้นๆกระทู้     บทร้องเป็นภาษาไทย  ทำนองตอนต้นเป็นเพลงสีนวล (เขมรเรียก สีนวน)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 14:22
ในเมื่อลาวไม่มีสิทธิ์เอาละครในของไทยไปประจำในราชสำนักลาว  เขมรก็ไม่มีสิทธิ์เช่นกัน   สมเด็จเจ้านโรดมซึ่งเคยมาอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อคราวเสด็จกลับไปครองราชย์  ก็ได้ไปแต่ลิเกไทย  ไปประจำอยู่ในเขมร

คุณชายคึกฤทธิ์ท่านลืมนักองด้วงไปหรือไรไม่ทราบ

นักองด้วงไม่ได้ไปเพียงนาฏศิลป์ในราชสำนัก แม้แต่สถาปัตยกรรมแบบไทย เช่น พระราชวัง (http://en.wikipedia.org/wiki/Royal_Palace,_Phnom_Penh) วัดพระแก้ว  (http://en.wikipedia.org/wiki/Silver_Pagoda,_Phnom_Penh) รวมทั้งวรรณคดีไทยหลายเรื่อง ก็ได้ไปด้วย

 ;D



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 14:25
นี่คือ สังข์ทอง ของเขมร  ยังรักษาชื่อนี้อยู่


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 31 มี.ค. 11, 14:26
ยังหายูทูปละครเขมรไม่ได้ค่ะ   ไม่งั้นจะเอามาลง  มีแต่บทระบำอัปสราที่คุณเพ็ญชมพูเคยนำมาลงต้นๆกระทู้     บทร้องเป็นภาษาไทย  ทำนองตอนต้นเป็นเพลงสีนวล (เขมรเรียก สีนวน)

ลองค้นด้วยคำว่า  "Khmer Lakorn" ดูสิครับ  มีให้ดูเยอะทีเดียว ;D
แต่อาจจะไม่ใช่การแสดงแบบเก่านะครับ  

ส่วนนักองค์ด้วงนั้น  ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเอง
และโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางในราชสำนักแต่งบทละคร
โดยเอาเนื้อเรื่องอย่างวรรณคดีไทยหลายเรื่อง


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 14:27
ในเมื่อลาวไม่มีสิทธิ์เอาละครในของไทยไปประจำในราชสำนักลาว  เขมรก็ไม่มีสิทธิ์เช่นกัน   สมเด็จเจ้านโรดมซึ่งเคยมาอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อคราวเสด็จกลับไปครองราชย์  ก็ได้ไปแต่ลิเกไทย  ไปประจำอยู่ในเขมร

คุณชายคึกฤทธิ์ท่านลืมนักองด้วงไปหรือไรไม่ทราบ

นักองด้วงไม่ได้ไปเพียงนาฏศิลป์ในราชสำนัก แม้แต่สถาปัตยกรรมแบบไทย เช่น พระราชวัง วัดพระแก้ว รวมทั้งวรรณคดีไทยหลายเรื่อง ไปด้วย

 ;D

เชิญขยายความเรื่องนักองด้วง ตามอัธยาศัย


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 14:48
ท่ารำของเขมรที่ยกเท้าสูงๆ ทำให้นึกถึงท่ารำโนราของชาวปักษ์ใต้
หรือว่ามีที่มาแหล่งเดียวกัน  ???

มีท่ารำบางท่าของเขมร ทำให้นึกถึงโนราปักษ์ใต้เช่นกัน     โดยเฉพาะท่ายกเท้าสูงมาก จนรองรับศอกหรือท่อนแขนทีเดียว


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 14:53
ผมขอดับเครื่องรอท่านอื่นๆด้วยรูปที่ผู้จัดงาน ประชาสัมพันธ์เขมรให้คนยุโรปมาเที่ยวงานเอกซ์โป 1906 ที่ปารีส เรื่องนี้เป็นจุดผกผันอันสำคัญของนาฏศิลป์เขมร เขาก้าวขึ้นสู่เวทีโลกก่อนไทย ด้วยพลังส่งของวิธีการด้านการตลาดที่ชาญฉลาด ซึ่งคิดและทำโดยคนฝรั่งเศส

สองรูปข้างล่างเป็นรูปจากหนังสือพิมพ์

หนังสือพิมพ์ของฝรั่งเศส LE  PETIT PARISIEN ฉบับวันที่ ๑๗ มิถุนายน ค.ศ.๑๙๐๖ ตีพิมพ์ภาพวาดสมเด็จพระเจ้าศรีสวัสดิ์ ประทับเป็นองค์ประธานทอดพระเนตรการฟ้อนรำแบบนาฏศิลป์เขมร ท่ามกลางแขกเหรื่อหลายเชื้อชาติ ณ ปะรำพิธีในงาน Expo อาณานิคม เมืองมาร์เซย์ ประเทศฝรั่งเศส

สมเด็จพระเจ้าศรีสวัสดิ์ หรืออีกพระนามคือ นักองสีสุวัตถิ์ พระราชโอรสใน นักองด้วง





กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 14:56
อีกรูปหนึ่งภาพจากหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส Le Petit Journal ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๖ สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ทอดพระเนตรนาฏศิลป์เขมรร่ายรำอยู่หน้านครวัดจำลองก่อนที่จะได้คืนเป็นทางการใน ค.ศ. ๑๙๐๗


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 15:01
ปี ๑๙๐๖ ขณะที่ฝรั่งเศสจัดงาน Expo ดังกล่าว นครวัดยังเป็นของสยามอยู่ สมเด็จพระศรีสวัสดิ์เสด็จประพาสฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ มีการตรวจพลสวนสนามของกองทัพและให้ทอดพระเนตร การซ้อมรบใหญ่ที่ทุ่งลองชองป์, ดูงานโรงงานอุตสาหกรรม, ซื้ออาวุธสมัยใหม่, ขึ้นหอไอเฟล ฯลฯ ซึ่งเป็นการเลียนแบบการต้อนรับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเสด็จประพาสฝรั่งเศสครั้งแรกใน ค.ศ.๑๘๙๗

จุดมุ่งหมายอีกข้อหนึ่งคือเพื่อให้ทันงาน Expo ซึ่งมีการจำลองนครวัดขนาดมหึมาไว้ในงาน เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการที่จะได้นครวัดและเขมรส่วนในคืนจากสยาม ทันที่ที่สมเด็จพระศรีสวัสดิ์เสด็จกลับกรุงพนมเปญ ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสก็สั่งการให้ประติมากรชื่อธีโอดอร์ ริวีแอร์ หล่ออนุสาวรีย์รูปสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่เขมรจะได้ดินแดนคืนมาล่วงหน้า

อีกหนึ่งปีต่อมาในวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ สยามจึงยอมยกดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณคืนในเขมรในการปกครองของฝรั่งเศส เพื่อแลกกับดินแดนด่านซ้าย จังหวัดเลย และตราด พร้อมเกาะแก่งที่ตั้งอยู่ใต้แหลมสิงห์รวมทั้งเกาะกูด และคืนสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้ด้วย

อนุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ที่ฝรั่งเศสปั้นให้



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 15:07
มีชื่อท่ารำของเขมรชื่อหนึ่ง เชื่อว่าหลายคนคงไม่เคยได้ยินคือ Religions dance เป็นชื่อที่สมเด็จพระศรีสวัสดิ์เรียกคราเสด็จเมืองลังการะหว่างทางที่จะไปฝรั่งเศส

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในพระราชหัตถเลขา "ไกลบ้าน" เกี่ยวกับ สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ และ Religions dance ของเขมรที่เมืองลังกา ไว้ดังนี้

ศรีสวัสดิ์ทำยุ่มย่ามไว้มาก สำแดงว่าเปนผู้ทรงพระราชศรัทธาต่อพระสาสนากล้าหาญ เวลาขึ้นบกไปที่กวีนซเฮาส์ ขอตั้งเครื่องสักการบูชาพระพุทธบาท ว่ามีออลเตอซึ่งอยากจะซักที่สุด ว่ารูปร่างเปนอย่างไร แต่ดูมันจะจู้จี้หนักไป เลยเชื่อเอาเสีย ว่าที่จะเปนเครื่องนมัสการถึงโต๊ะทองทิศฤๅอะไร ตั้งหันไปทางพระพุทธบาทในกลางสนามหญ้า จุดธูปเทียนนมัสการแล้ว ในลครขึ้นไปสวดมนต์สิบสองคน พอสวดจบแล้วลุกขึ้นรำ "ริลิเยียสดานศ์" พ่อเถียงว่าไม่เห็นมีริลิเยียสดานศ์ของเรา เขาอ้อแลฦๅกันต่าง ๆ แล้วบอกว่าเห็นหน้าตาเคร่งเครียดทั้งนั้น ทีจะเปนด้วยลครอย่างเราหน้ามันบึ๊ดเฉย ๆ ไม่ยิ้มแห้งอย่างฝรั่ง ไปแกนดีก็ไปทำพิธีสักการบูชาอะไรใหญ่เหมือนกัน ชมกันว่าเคร่งครัดนัก

"ริลิเยียสดานศ์" ของสมเด็จพระศรีสวัสดิ์จะเหมือนกับภาพใน # ๖๐ หรือเปล่า

ไม่กล้าเดา

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 15:07
กระทู้วิ่งเร็วจี๋ แทบเปิดหน้าตามไม่ทัน

ไปค้นยูทูป ใช้คำว่า khmer Classical Dance เผื่อเจอการแสดงแบบดั้งเดิม    แต่ยังไม่เจอ
เจอโขนเขมรตอนหนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา   เขมรเรียกเธอว่า Sovan Macha (อ่านคำท้ายแล้วนึกถึง พิม มาช่า) หางปลาสวยเชียว
เห็นท่ารำที่ยกเท้าสูง ได้ถนัด และหมุนขยับตัวบนขาข้างเดียวด้วย   ทรงตัวยากเอาการ
หนุมานของเขมรเครื่องทรงไม่แพรวพรายอย่างของไทย แต่ก็ดูออกว่าเป็นหนุมาน  หัวโขนฝีมือช่างเขมร เห็นจะพัฒนาเป็นแบบของตัวเอง ไม่ได้จำลองแบบไทย
ส่วนทำนองเพลง  ยังฟังเป็นไทยอยู่ค่ะแม้เนื้อร้องเป็นเขมร

http://www.youtube.com/watch?v=eCinXsCJzTU&feature=related


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 15:10
"ริลิเยียสดานศ์" ของสมเด็จพระศรีสวัสดิ์จะเหมือนกับภาพใน # ๖๐ หรือเปล่า
ไม่กล้าเดา

 ;D

รูปในคห. ๖๐  เหมือนมโนห์รานะคะ  มีปีกมีหางด้วย


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 15:27
ประมวลภาพนาฏศิลป์ในราชสำนักเขมรสมัยสมเด็จพระศรีสวัสดิ์

http://www.youtube.com/watch?v=YxeXo8nEEII&feature=player_embedded

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 15:37
^
เป็นคณะที่สืบทอดมาจากคณะละครผู้หญิงของม.จ.ฉวีวาดหรือเปล่าหนอ?
ในคลิปบอกว่าราวๆ  ค.ศ. 1920 = พ.ศ. 2463   5 ปีก่อนสิ้นรัชกาลที่ 6
ห่างจากพ.ศ.ที่ม.จ.ฉวีวาดหนีไปเขมร 46 ปี  นางละครชุดแรกน่าจะล้มหายตายจากกันไปเกือบหมดแล้ว


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 15:53
^
^
นาฏศิลป์ในราชสำนักเขมร ต้นศตวรรษที่ ๒๐


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 16:00
^
^
นาฏศิลป์ในราชสำนักเขมร ต้นศตวรรษที่ ๒๐


เป็นชุดภาพซึ่งน่าจะถ่ายในยุคเดียวกัน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 16:07
เอ ทำไมเราไม่เห็นหนอ

 ???


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 11, 16:10
มันเป็นข้อความที่ขึ้นมาสั้นๆ แล้วหายไปเมื่อภาพเปลี่ยนค่ะ   ต้องดักดูให้ดี


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 31 มี.ค. 11, 20:29
ท่ารำของเขมรที่ยกเท้าสูงๆ ทำให้นึกถึงท่ารำโนราของชาวปักษ์ใต้
หรือว่ามีที่มาแหล่งเดียวกัน  ???

มีท่ารำบางท่าของเขมร ทำให้นึกถึงโนราปักษ์ใต้เช่นกัน     โดยเฉพาะท่ายกเท้าสูงมาก จนรองรับศอกหรือท่อนแขนทีเดียว

ภาพนางรจนา - เจ้าเงาะ ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๕ ยกเท้าสูงเช่นกันครับ ภาพนี้เป็นของคณะละครเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 20:58
พระราชวงศ์เขมรที่เข้ามาอยู่ในกรุงรัตนโกสินทร์ ภายใต้ร่มพระบารมีพระเจ้าแผ่นดินไทยนั้น ถึง ๓ รุ่นด้วยกัน ตั้งแต่รุ่นปู่ คือ นักองเอง (สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี) รุ่นลูก ๒ องค์ คือ นักองจันทร์ (สมเด็จพระอุทัยราชา) ขึ้นครองราขย์ก่อน จึงถึงอนุชาคือนักองด้วง ที่ประทับอยู่เมืองไทยแต่ทรงพระเยาว์ จนพระชนษาสี่สิบเศษ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯจึงโปรดให้เสด็จกลับมาตุภูมิพร้อมกับกองทัพไทย ที่เจ้าพระยาบดิทรเดชาเป็นแม่ทัพ ยกไปขับไล่ญวนออกจากแผ่นดินเขมร แล้วให้ทำพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ เฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี

เมื่อเสด็จสวรรคต พระราชโอรสของพระองค์ที่ได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อคือ นักองราชาวดี ทรงพระนามว่าสมเด็จพระนโรดม พรหมบริรักษ์ 
ในภาพทรงพระมหามงกุฏที่พระราชทานไปจากกรุงเทพฯ โดยผู้แทนพระองค์พระมหากษัตริย์ไทย เป็นผู้ทูลเกล้าฯถวาย



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 21:09
ว่ากันว่า นักองด้วงนั้น ทรงโปรดละครไทยขนาดหนัก ถึงกับขอพระราชทานครูนาฏศิลป์ไทยไปสอนละครให้คนของพระองค์นั้นก็แล้ว พระราชโอรส สมเด็จพระนโรดมองค์นี้ยิ่งหนักเข้าไปอีก ทรงโปรดละครเป็นชีวิตจิตใจ น่าจะเป็นพระองค์ที่รับหม่อมเจ้าฉวีวาดไว้


ในภาพ ยามที่ทรงชราภาพมากแล้ว ยังโปรดที่จะเฝ้านางละครอยู่ตลอดเวลา เป็นที่รู้กัน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 21:16
นาฏศิลป์เขมรดังในรูป ที่เรียกว่าละครหลวง ไม่ดูเป็นลิเกดังที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าเป็นตุเป็นตะ ที่ฝรั่งถ่ายรูปไว้จะออกในแนวนี้


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 21:21
ผมอยากให้ท่านเปรียบเทียบละคร๒ภาพ

ภาพบนเป็นละครนอก(วัง)ในสมัยรัชกาลที่๔ ถ่ายในกรุงเทพฝีมือฟรานซิส จิต
กับภาพล่าง เป็นละครใน(วัง)ของราชสำนักเขมร ตากล้องฝรั่งเศสถ่าย

ถ้าผมไม่บรรยายไว้ก่อน ท่านจะแยกแยะได้ไหม


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 21:35
นี่เป็นละครนอก ที่เล่นกันในบ้านในเมืองนอกรั้ววังของไทย ละครเช่นนี้แหละที่นางสาวแพนได้ร่วมคณะ ตระเวนเล่นไปทั่วจนกระทั่งอรัญประเทศ ดังขนาดถึงพระเนตรพระกรรณพระเจ้าแผ่นดินเขมร ทรงทนไม่ได้ต้องเสด็จมาทอดพระเนตร และมิได้เพียงแค่ทอดพระเนตรเฉยๆ ทรงทอดแหได้ตัวนางเอกไปเป็นเจ้าจอมด้วย


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 21:40
^
ภาพถ่ายโดยฟรานซิส จิตเช่นกัน ถ้าไม่บอก ท่านคงนึกไม่ถึงว่านี่เป็นละครไทยแน่ ก็ออกจะเขมรๆขนาดนั้น


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 31 มี.ค. 11, 21:50
ละครนอก


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 21:54
เมื่อสมเด็จพระนโรดมเสด็จสวรรคต ฝรั่งเศสจัดการให้พระอนุชาที่ฝักไฝ่พวกตนขึ้นเป็นกษัตริย์แทน โดยไม่สืบสันตติวงศ์ทางพระราชโอรสของสมเด็จพระนโรดม

ในภาพเป็นพระราชพิธีราชาภิเษกนักองสีสุวัตติ์ มีฝรั่งนั่งเป็นเจ้าพิธี ไทยส่งผู้แทนพระองค์ไปร่วมเพื่อจะเป็นผู้ถวายพระมหามงกุฏตามที่เคยปฏิบัติในรัชกาลก่อน แต่ถูกข้าหลวงใหญ่ของฝรั่งเศสแย่งไปสวมให้กษัตริย์พระองค์ใหม่ของเขมรแทน ทรงพระนามว่าสมเด็จพระสีสุวัตติ คนไทยมักจะเรียกว่าสมเด็จพระศรีสวัสดิ์



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 22:03
^
ผมเทียบพ.ศ.แล้ว สมเด็จพระศรีสวัสดิ์นี่แหละครับที่มาทอดแหเอานางสาวแพนไป แสดงว่าเลือดรักศิลปินแรง

สงสารนางสาวแพน ได้เป็นเจ้าจอมแล้วเชียว ถูกการเมืองปัดตกตำแหน่งไปอย่างไม่น่าเชื่อ ชีวิตดุจละครน้ำเน่าน่าเอาไปทำละครจอแก้ว

ในรัชกาลของสมเด็จพระศรีสวัสดิ์นี่แหละครับ ที่ฝรั่งเศสทำให้เขมรแจ้งเกิดในระดับโลก


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 22:35
ในปี 1906 ฝรั่งเศสได้จัดงานเอกซ์โปของอาณานิคมขอตนขึ้น ผมเขียนไปว่าที่ปารีส ความจริงไม่ใช่ ขออภัย เมืองที่จัดคือมาร์แซย์ หรือออกสำเนียงแท้ๆของเขาว่า มัคแซยา (Marseille) สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ได้รับการทูลเชิญให้เสด็จไปด้วย นัยว่ามีเหตุผลทางการเมืองมาประกอบ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จประพาศยุโรปและเพิ่งทรงเยือนฝรั่งเศส ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนไปมาก ฝ่ายกระหายการล่าอาณานิคมจึงต้องจัดให้พระเจ้าแผ่นดินเขมรมาแย่งซีนไว้บ้าง

แต่ว่าก็ว่าเถอะ ผมก็ดูว่าเป็นเรื่องมาร์เก๊ตติ้งอยู่นั่นแหละ สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ก็เป็นพรีเซนเตอร์ตัวหนึ่ง ที่ต้องมีเข้ามาสร้างสีสันแบบลครๆ  ถูกกำหนดให้ฉลองพระองค์เพื่อให้ประหลาดตา ทั้งๆที่บรรยากาศยุโรปไม่ค่อยจะเหมาะเท่าไหร่ที่จะนุ่งโจงกระเบน แต่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนได้ดี สังเกตุในรูปดูโจงกระเบนของท่านจะรุ่ยๆชอบกล  ไม่ทราบท่านอาจารญ์เทาชมพูจะสั่งให้ใครไปแกล้งดึงของท่านหรือเปล่า ผมละเสียวๆ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 31 มี.ค. 11, 22:45
ช่วย อ.NAVARAT.C แนบภาพผู้ตามเสด็จฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ. 1906 สตรีในราชสำนัก แต่งกายยังสวมกำไลข้อเท้าอยู่เลยครับ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 22:46
หนังสือพิมพ์ก็ลงบทความเปรียบเทียบพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองพระองค์ ใครอย่าได้มาถามผมนะครับว่า ฝรั่ง(เศส)เขียนว่าอย่างไร


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 22:54
สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ท่านขนสาวสรรกำนัลในไปเที่ยวเมืองนอกกันมากในคราวนี้ ผิดกับพระเจ้าอยู่หัวของเรา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯท่านมีพระราชกระแสว่าจะไปเรื่องงาน ทรงเลือกแต่ผู้ชายให้ร่วมขบวนเสด็จทั้งสิ้น

สตรีชาววังเขมรก็เป็นสีสันอย่างหนึ่งในงานเอกซโปครั้งนั้นด้วย
อ้อ ปีแรกที่จัด นครวัตจำลองในงานจะเป็นขนาดนี้ อีกประมาณสิบปี เขาจัดอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้มโหฬารกว่าเก่าดังรูปที่คุณหนุ่มสยามนำมาลงไปแล้ว


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 มี.ค. 11, 23:02
และนี่ก็เป็นไฮไลท์อย่างหนึ่งของงาน นาฏศิลป์ราชสำนักเขมรที่นำออกแสดง คนฝรั่งเศสเป็นผู้รักศิลปวัฒนธรรมมากที่สุดชาติหนึ่งในโลก ตื่นเต้นกันมาก


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 เม.ย. 11, 06:53
แล้วละครเขมรก็ถูกชักนำให้มาพบกับชายคนนี้ ออกุสต์ โรแด็ง (Auguste Rodin)
 
โรแด็งมีชื่อเต็มว่า ฟรองซัว โอกุสต์ เรอเน โรแด็ง ( François-Auguste-René Rodin 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1840 - 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1917) เป็นประติมากรชาวฝรั่งเศสที่กำลังประสพความสำเร็จในวิชาชีพถึงระดับสุดยอดในช่วงนั้น หลังจากที่ได้ต่อสู้กับชีวิตศิลปินผู้ยึดมั่นความเป็นอิสระในการสร้างสรรศิลปกรรมมาอย่างล้มลุกคลุกคลาน

โรแด็ง มีธรรมชาติเป็นช่างปั้น แต่เขาก็ถูกชักนำให้มานั่งสเก็ส์ทสีน้ำบรรดาละครเขมรระหว่างพักผ่อนในการแสดงที่เอกซโป ด้วยความหลงไหลได้ปลื้มเป็นอย่างยิ่ง



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 เม.ย. 11, 06:56
ท่านที่ไม่รู้จักโรแด็ง หรืออยากรู้ประวัติปฏิมากรผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับนับถือในระดับโลก ให้มากขึ้นไปกว่าทราบว่า เขาคือผู้ที่ได้ผู้สร้างสรรผลงาน The Thinker และ The Kiss ก็เชิญคลิ๊กกระทู้ข้างล่าง

 
http://forum.mthai.com/view_topic.php?mode=quote&comment=1&index=0&table_id=1&cate_id=34&post_id=45654


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 เม.ย. 11, 07:05
ในหนังสือเล่มไหนก็ไม่มีบอก แต่ผมคิดเดาไปเองว่า ผู้จัดงานเอ๊กซโปของเขมร คงลงทุนไปดึงเอาโรแด็งให้เข้ามาเป็นตัวชูละครเขมรอีกที  ฉลาดครับ ฉลาดมาก

ศิลปินน่ะ อยู่ได้เพราะคนมีเงินอุปถัมภ์ ดังนั้นในคณะผู้ลงทุน คนมีคนหนึ่งละน่าที่ “ขอร้อง”โรแด็งได้ แล้วลองดูผลงานที่โรแด็งสร้างสรรออกมาสิครับ แค่นี้ก็ดังไปทั่วโลกแล้ว นี่แหละครับที่ผมว่ามาร์เก็ตติ้ง หรือวิชาการตลาดที่นำเขมรไปขายในระดับโลก

อาจมีผู้อ่านเยาวชนสงสัยว่า ขายอะไร ก็ขายอย่างเดียวกับที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ขาย Exotic Thailand ให้ฝรั่งรู้จักอยู่ทุกวันนี้ไงครับ แล้วอย่าถามต่อนา ว่ารู้จักแล้วได้อะไร
ท.ท.ท.ไปออกงานระดับอินเตอร์ทุกครั้ง ก็ขนละครไทยไปแสดง ว่าจ้างดาราดังๆไปกรีดกรายในบู๊ทให้เป็นข่าว ครั้งหนุึ่งในชีวิต ผมเคยไปเบอร์ลินโดยบังเอิญพ้องกับงานมหกรรมท่องเที่ยวระดับโลก ที่ท.ท.ท.ต้องไปออกบุ๊ททุกปี ผมติดตาม “เส้นใหญ่” เข้าไประหว่างเปิดงาน ที่ศาลาของประเทศไทย พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่เสด็จ นักข่าวฝรั่งมุงกันเป็นร้อย คนในงานก็มาดูละครไทยแน่นขนัด ผมไปติดอยู่ในนั้น เห็นพระองค์ท่านเสี้ยวเดียว และแว๊บเดียว นอกนั้นศรีษะฝรั่งบังหมด

ยุคนั้น เขมรจึงเป็นที่รู้จักของโลกในบัดดล ถึงกับมีสโลแกนออกมาว่า  See Angkor and Die ราวกับชื่อหนังชุดเจมส์ บอนด์ ผมก็เชื่อว่าเขาจ้างพวกครีเอทีฟคิดประดิษฐ์คำอย่างนี้ขึ้นมาปล่อยออกไปแน่นอน แต่สมัยนั้นฝรั่ง(มีเงิน)ผู้มีรสนิยมอันวิไลทุกคนจะคิดว่า ถ้ายังไม่มาเห็นนครวัตสักครั้งหนึ่งในชีวิต ก็พึงจะตายไปก่อนมิได้


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 เม.ย. 11, 07:20
พระสาทิศลักษณ์สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ ฝีมือป้ายสีน้ำของศิลปินระดับโลก


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 เม.ย. 11, 07:25
ภาพละครเขมรที่ออกมาอย่างนั้น หลายท่านคงจะประหลาดใจ ไหง๋ออกในแนวอัฟริกันๆชอบกล
 
แต่…เอาเท่านี้ก่อนละกัน สลับฉากคราวหน้า ผมจะเอาปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ส่งผลกระทบกับละครเขมรจากภาพวาดสีน้ำของโรแด็ง มาบรรเลงต่อ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 เม.ย. 11, 07:37
^
^
ชอบภาพวาดสีน้ำมันชุดนี้มากเลยครับ ต้องมองแล้วนึกตาม ถึงอารมณ์ ลีลา ท่าทาง ผมมองแล้วเหมือนว่า มือไม้ การจีบมือ เยื้ยงย่างกรีดกราย ไหวตามลีลาไปกับภาพวาด ทำให้นึกถึงลีลาการร่ายรำของจริงคงต้องเชื่องช้าและหยุดเป็นจังหวะ

สำหรับลักษณะที่ออกเหมือนอัฟริกา คงเป็นเพราะชาวยุโรปผิวขาว ส่วนชาวเขมรนั้น ผิวพรรณออกไปทางคล้ำแดด น้ำตาล


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 เม.ย. 11, 08:00
ผมอยากให้ท่านเปรียบเทียบละคร๒ภาพ

ภาพบนเป็นละครนอก(วัง)ในสมัยรัชกาลที่๔ ถ่ายในกรุงเทพฝีมือฟรานซิส จิต
กับภาพล่าง เป็นละครใน(วัง)ของราชสำนักเขมร ตากล้องฝรั่งเศสถ่าย

ถ้าผมไม่บรรยายไว้ก่อน ท่านจะแยกแยะได้ไหม

ภาพทั้ง ๒ เป็นภาพที่ถ่ายในดินแดนสยามครับ เป็นละครนอกทั้งสองภาพ เป็นกลุ่มบุคคลถูกจ้างเข้ามาถ่ายภาพเกี่ยวกับละครไว้หลายภาพ ซึ่งลักษณะเด่นของทีมกล้องนี้จะยกพื้นสูง ปูเสื่อ มีผ้าลายเสือวาง นั่งตั่ง แต่งชุดละครประเภทต่างๆครับ บางภาพถูกแปลงเป็นภาพลายเส้นประกอบหนังสือเล่าเรื่องสยาม ของอูโมต์ ด้วยครับผม


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 เม.ย. 11, 08:38
ผมตรวจสอบแล้ว ภาพนี้ ซึ่งผมได้มาจากหนังสือ Cambodian Dance มีการบรรยายไว้ว่าเป็นละครของสยามจริง ตามที่คุณหนุ่มสยามทักท้วง เป็นอันว่าผมสะเพร่า ถ่ายรูปจากหนังสือดังกล่าวมารวบรวมไว้โดยไม่ได้แยกแยะให้ดี อันที่จริงก็น่าจะสังเกตุเห็นหนังเสือที่รองนั่งได้ว่ามันถ่ายทำจากสถานที่เดียวกัน ก็บกพร่องอีก รีบร้อนราวกับว่าถ้าปั่นต้นฉบับส่งไม่ทัน จะถูกเจ้าของเรือนไทยเขาตัดเงินเดือน

เอาเป็นว่าผมรับผิดและขออภัยท่านผู้อ่านอย่างจริงใจ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 เม.ย. 11, 08:41
แต่อีกรูปหนึ่งนี้ ได้มาจากหนังสือบันทึกภาพรัชกาลที่๔ บรรยายว่าเป็นภาพถ่ายฝีมือฟรานซิส จิต

เป็นไปได้ว่า ช่างภาพฝรั่งคงจะมาเช่าสตูดิโอกับเครื่องประดับของฟราสซิส จิต จัดฉากถ่ายภาพ เลยดูเหมือนกันไปด้วย

หรือข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างอื่น คุณหนุ่มสยามมีหลักฐานไหมครับ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 เม.ย. 11, 08:55
(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4316.0;attach=17751;image)

ภาพของคุณดีดีภาพนี้เป็นภาพโขนชุดรามเกียรติ์ที่นครวัดสมัยสมเด็จพระศรีสวัสดิ์

ในรัชสมัยนี้มีการเดินสายไปโชว์ถึงต่างประเทศ

เรื่องนี้คุณนวรัตนก็คงอธิบายได้ดี


 ;D


คุณนวรัตนเล่าเรื่องสมเด็จพระศรีสวัสดิ์กับงาน  Expo อาณานิคม ได้สนุกและน่าสนใจมาก

สมกับได้บรรยายสรรพคุณไว้

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4316.0;attach=17746;image)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 เม.ย. 11, 09:14
แต่อีกรูปหนึ่งนี้ ได้มาจากหนังสือบันทึกภาพรัชกาลที่๔ บรรยายว่าเป็นภาพถ่ายฝีมือฟรานซิส จิต

เป็นไปได้ว่า ช่างภาพฝรั่งคงจะมาเช่าสตูดิโอกับเครื่องประดับของฟราสซิส จิต จัดฉากถ่ายภาพ เลยดูเหมือนกันไปด้วย

หรือข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างอื่น คุณหนุ่มสยามมีหลักฐานไหมครับ


หลักฐานเบื้องต้นก็จะขอนำตัวอย่างภาพลายเส้นที่ถูกแกะจากภาพถ่ายเหล่านี้ เพื่อตีพิมพ์ลงหนังสือของอูโมต์ เป็นภาพที่ทุกท่านคงจะเคยพบเห็นผ่านตากันมาแล้ว ซึ่งเป็นกลุ่มชาวสยามแต่งกายยืนเครื่องละคร และเครื่องโขน สำหรับข้อมูลเบื้องต้นคงเป็นฝีมือชาวฝรั่งเศสได้ถ่ายภาพไว้ (อ้างถึงประวัติเครื่องแต่งกายโขน-ละคร)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 เม.ย. 11, 10:17
ระหว่างรอปฏิกิริยาลูกโซ่ว่าจะรุนแรงขนาดไหน ผมก็จะขอนำร่องเรื่องการแต่งกายนาฏศิลป์กัมพูชา ที่คล้ายกับการแต่งกายยืนเครื่องของฝ่ายไทย เหมือนฝรั่งมองกล้วยน้ำว้า แยกไม่ออกกับ กล้วยไข่ ต้องพิจารณาดีๆจึงจะเห็นความต่าง

แม้ว่า ม.จ.ฉวีวาดจะหอบเอาเครื่องละคร เครื่องดนตรี เครื่องมือทำมาหากินของชาวละคร ใส่หีบล่องเรือไปราชสำนักกัมพูชาก็ตาม แต่คาดว่าการรำนาฏศิลป์ที่ได้รับอิทธิพลจากราชสำนักสยาม คงไปเบ่งบานที่พระราชวังเขมรินทร์เรียบร้อยก่อนหน้านี้ แต่หลังจากนั้นเป็นเวลาร้อยกว่าปี เครื่องประดับ เครื่องละครยังคงถืออย่างเคร่งครัด ติดตรึงกับอดีตมิเสื่อมคลาย ในขณะที่ฝ่ายสยาม มีการพัฒนารูปแบบต่อเนื่อง

เครื่องศิราภรณ์แรกคือ "มงกุฎ"

ท้าวความว่า การแต่งกายยืนเครื่องละคร-โขนนั้นเรียกว่า จำลองแบบมาจากเครื่องราชภูษิตาภรณ์ของพระมหากษัตริย์และสตรีราชสำนักฝ่ายใน เพราะว่าเนื้อหาของการแสดงเป็นเรื่องเกี่ยวกับในรั้วในวัง

สิ่งที่สังเกตุในเครื่องละครของกัมพูชาจากภาพถ่ายโบราณ จะไม่สังเกตุเห็นการสวมมงกุฎทรงมหาพิไชยมงกุฎ แต่จะใส่ "มงกุฎยอดชัย หรือ ชฎายอดชัย" แทน ทั้งนี้น่าจะสืบเนื่องจากนาฏศิลป์กัมพูชาได้จำลองพระมงกุฎจากเจ้ามหาชีวิตของพวกเขา จำลองถ่ายลงมายังเครื่องศิลาภรณ์นาฏศิลป์กัมพูชา

ซึ่งย้อนรอยไปยังรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชอาณาจักรสยามมีดินแดนประเทศราชขึ้นตรงต่อสยาม ได้แก่ ลาว และกัมพูชา เป็นต้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานเครื่องกกุธภัณฑ์พระราชแด่เจ้าประเทศราช ให้ปกครองดินแดนเป็นของตนเอง หนึ่งในนั้นคือ พระมงกุฎสำหรับดินแดนประเทศราช “พระอนุราชมงกุฎ”
ดังนี้แล้วเครื่องศิราภรณ์ประดับศีรษะจะเลียนแบบเกือบทั้งหมด


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 เม.ย. 11, 10:19
ในเมื่อลาวไม่มีสิทธิ์เอาละครในของไทยไปประจำในราชสำนักลาว  เขมรก็ไม่มีสิทธิ์เช่นกัน   สมเด็จเจ้านโรดมซึ่งเคยมาอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อคราวเสด็จกลับไปครองราชย์  ก็ได้ไปแต่ลิเกไทย  ไปประจำอยู่ในเขมร
ลิเกไทยก็ไปเฟื่องฟูอยู่ในเขมร   สมเด็จนโรดมทรงเป็นองค์อุปถัมภ์    จนในเขมรเชื่อกันว่าสมเด็จฯเป็นผู้คิดลิเกขึ้นมาเอง และทรงสั่งสอนนาฏศิลป์เขมรให้เป็นเรื่องลิเก

ลิเกเป็นเรื่องของชาวบ้านเพิ่งเกิดในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้เอง นักองด้วงเข้ามาอยู่กรุงเทพฯในสมัยรัชกาลที่ ๒ - รัชกาลที่ ๓ ไหนเลยจะรู้จักลิเกไทยได้  ที่ได้ไปเป็นนาฏศิลป์ในราชสำนัก  แต่คุณชายท่านคงเห็นนาฏศิลป์เขมรอยู่ระดับเดียวกับลิเกกระมัง

ลิเกเขมรตัวจริงก็มี ในเว็บลักษณะไทยเรียกว่า ลิเกอีสานใต้

มีเรื่องเล่าว่า มีคนไทยคนหนึ่งชื่อ “ตาเปาะ” ภรรยาชื่อ “ไอ” ตาเปาะได้ไปท่องเที่ยวที่เขมร และได้ภรรยาเป็นชาวเขมรอีกคนหนึ่ง ชื่อ องค์ยง  ตาเปาะอยู่กินกับหญิงนั้นหลายปี จนมีความเข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณี และการ แสดงต่างๆ ของกัมพูชา ต่อมาตาเปาะได้เดินทางกลับประเทศไทย มาอยู่กินกับ ภรรยาเดิม และได้รวมสมัครพรรคพวกที่ชอบการร้องรำทำเพลง ประมาณ ๑๒-๑๕ คน รวมตั้งเป็นคณะลิเกขึ้น และได้ไปแสดงในงานต่าง ๆ ในแถบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ เมื่อการแสดงลิเกแบบนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น ลูกน้องของตาเปาะก็ได้แยกไปตั้งคณะ ลิเกขึ้นใหม่ในจังหวัดบุรีรัมย์แถบอำเภอสตึกและอำเภอเมืองบุรีรัมย์

ลิเกอีสานใต้ สมัยต่อ ๆ มา ไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้มี นายเปรม รัตนดี อายุประมาณ ๗๐ ปี ได้ตั้งคณะลิเกขึ้นที่บ้านดงเค็ง ตำบลเมือง ลิง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ โดยเอาลิเกของเก่ามาดัดแปลงใหม่ และกลับได้รับ ความนิยมอย่างมาก ลิเกคณะนี้มีชื่อว่า “คณะเปรมปรีดิ์สามัคคีศิลป์” ค่าว่าจ้างใน ปัจจุบันตกคืนละประมาณ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ บาท ปัจจุบันมีอยู่คณะเดียวเท่านั้นและมี ผู้ว่าจ้างไปเล่นน้อยเต็มที

http://www.laksanathai.com/book3/p414.aspx

http://www.youtube.com/watch?v=Kv3Q5Y0fnpE&feature=related

 ;D




กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 11, 10:20
กระทู้วิ่งเหมือนจรวด  ตามไม่ทัน


สังเกตุในรูปดูโจงกระเบนของท่านจะรุ่ยๆชอบกล  ไม่ทราบท่านอาจารญ์เทาชมพูจะสั่งให้ใครไปแกล้งดึงของท่านหรือเปล่า ผมละเสียวๆ



 รีบร้อนราวกับว่าถ้าปั่นต้นฉบับส่งไม่ทัน จะถูกเจ้าของเรือนไทยเขาตัดเงินเดือน

ไหว้วานชาวเรือนไทยแถวกระทู้ไปฉุดโจงกระเบนท่านไว้หนเดียว  ด้วยเจตนาดี เห็นท่านแต่งองค์ทรงเครื่องเตรียมเข้าฉากแล้ว ไม่อยากให้เข้าโรงก่อนจะออกโรง   
ท่านเอาคืนอิฉันหลายเท่าเลยนะเจ้าคะ
คราวหน้าเห็นจะต้องบอกรปภ.เรือนไทยให้พุ่งเข้าชาร์จลูกเดียว  ไม่ฉุดละ

ยังติดใจโจงกระเบนเขมรในรูปค่ะ   คร็อพ ให้ดูกันชัดๆ  พระเจ้าสีสวัสดิ์ท่านคาดผ้าอะไรห้อยลงมาข้างหน้ากระปุกกระปุย ทับโจงกระเบนไว้อีกทีหรือเปล่า เหมือนชายไหวชายแครงในเครื่องแต่งกายละคร

(http://www.bloggang.com/data/chaiwat4u/picture/1199187597.jpg)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 เม.ย. 11, 10:23
ให้ดูเครื่องศิราภรณ์ "ชฎายอดชัย" ของฝ่ายกัมพูชาที่จำลองจาก "พระอนุราชมงกุฎ"


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 11, 10:28
ลิเก น่าจะมีก่อนรัชกาลที่ ๕ นะคะ คุณเพ็ญชมพู   คลับคล้ายคลับคลาว่าในประกาศของรัชกาลที่ ๔ มีการประณามลิเกด้วย  ว่าเป็นสิ่งไม่สมควรจะดู
แต่ดิฉันจำรายละเอียดไม่ได้แล้ว
ดร.สุรพล วิรุฬรักษ์ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องลิเก      มีคนคัดลงในวิกี้  ก็เลยคัดมาให้อ่านอีกที

ลิเก เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คำว่า ลิเก เพี้ยนมาจากคำว่า ซิเกร์ ในภาษาเปอร์เซีย ที่ยืมมาจากคำว่า ซิกรุ (Zakhur) ในภาษาอาหรับ อันหมายถึงการอ่านบทสรรเสริญเป็นการรำลึกถึงอัลลอหฺพระเจ้าในศาสนาอิสลาม พระครูศรีมหาโพธิคณารักษ์ก็ได้กล่าวถึงลิเกไว้ ว่า พวกมุสลิมนิกายชีอะห์ หรือเจ้าเซ็นจากเปอร์เซีย นำสวดลิเกที่เรียกว่า ดิเกร์ เข้า มาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรง บันทึกว่า ยี่เกนั้น เพี้ยนมาจาก จิเก

มีบันทึกว่า พวกแขกเจ้าเซ็นได้ สวดถวายตัวในการบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อ พ.ศ. 2423 ต่อมาคิดสวดแผลงเป็นลำนำต่าง ๆ คิดลูกหมดเข้าแกมสวด ร้องเป็นเพลงต่างภาษา และทำตัวหนังเชิด โดยเอารำมะนาเป็นจอก็มี ลิเกจึงกลายเป็นการเล่นขึ้น ต่อมามีผู้คิดเล่นลิเกอย่างละคร คือ เริ่มร้องเพลงแขก แล้วต่อไปเล่นอย่างละครรำ และใช้ปี่พาทย์อย่างละคร


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 เม.ย. 11, 10:35
สำหรับฝ่ายสตรีนั้น เครื่องศิราภรณ์ ก็สวมเครื่องหลายประเภท หนึ่งในหลายๆประเภทคือ "ศิโรเพฐน์" ซึ่งเป็นภาษาโบราณ ปัจจุบันเรียกว่า "เกี้ยวยอด" ซึ่งใช้ประดับเล่นละครมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งประกอบด้วย กระบังหน้า (กรอบหน้า) ดอกไม้ไหว เกี้ยวยอด และทัดหู

สำหรับฝ่ายกัมพูชาเองก็แปลงไปจากไทย โดยแต่งลวดลายเสียใหม่ แต่ทรวดทรงคล้ายเดิม


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 เม.ย. 11, 10:39
ลิเก น่าจะมีก่อนรัชกาลที่ ๕ นะคะ คุณเพ็ญชมพู   คลับคล้ายคลับคลาว่าในประกาศของรัชกาลที่ ๔ มีการประณามลิเกด้วย  ว่าเป็นสิ่งไม่สมควรจะดู
แต่ดิฉันจำรายละเอียดไม่ได้แล้ว
ดร.สุรพล วิรุฬรักษ์ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องลิเก      มีคนคัดลงในวิกี้  ก็เลยคัดมาให้อ่านอีกที

ลิเก เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คำว่า ลิเก เพี้ยนมาจากคำว่า ซิเกร์ ในภาษาเปอร์เซีย ที่ยืมมาจากคำว่า ซิกรุ (Zakhur) ในภาษาอาหรับ อันหมายถึงการอ่านบทสรรเสริญเป็นการรำลึกถึงอัลลอหฺพระเจ้าในศาสนาอิสลาม พระครูศรีมหาโพธิคณารักษ์ก็ได้กล่าวถึงลิเกไว้ ว่า พวกมุสลิมนิกายชีอะห์ หรือเจ้าเซ็นจากเปอร์เซีย นำสวดลิเกที่เรียกว่า ดิเกร์ เข้า มาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรง บันทึกว่า ยี่เกนั้น เพี้ยนมาจาก จิเก

มีบันทึกว่า พวกแขกเจ้าเซ็นได้ สวดถวายตัวในการบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อ พ.ศ. 2423 ต่อมาคิดสวดแผลงเป็นลำนำต่าง ๆ คิดลูกหมดเข้าแกมสวด ร้องเป็นเพลงต่างภาษา และทำตัวหนังเชิด โดยเอารำมะนาเป็นจอก็มี ลิเกจึงกลายเป็นการเล่นขึ้น ต่อมามีผู้คิดเล่นลิเกอย่างละคร คือ เริ่มร้องเพลงแขก แล้วต่อไปเล่นอย่างละครรำ และใช้ปี่พาทย์อย่างละคร

สวดดิเกร์  มีมาก่อนรัชกาลที่ ๕  แต่ลิเกที่เป็นการประยุกต์จากสวดดิเกร์ของแขกมุสลิม
ที่มาสวดในการพระราชพิธีพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์  จนกลายเป็นการแสดงละครนั้น
เพิ่งเริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ ๕  ลิเกคณะแรก คือคณะลิเกของพระยาเพ็ชรปาณี

ดังข้อความว่า  
"...การแสดงลิเกออกภาษาในส่วนที่เป็นสวดแขกกลายเป็น การออกแขก
มีผู้แสดงแต่งกายเลียนแบบชาวมลายูออกมาร้องเพลงอำนวยพร
มีตัวตลกถือขันน้ำตามออกมาให้ผู้แสดงเป็นแขกประพรมน้ำมนต์เพื่อเป็นสิริมงคล
ส่วนที่เป็นชุดออกภาษา กลายเป็นละครเต็มรูปแบบ ซึ่งวงรำมะนายังคงใช้บรรเลงตอนออกแขก
แต่ใช้ปี่พาทย์บรรเลงในช่วงละคร เครื่องแต่งกายหรูหราเลียนแบบข้าราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 5
จึงเรียกว่า ลิเกทรงเครื่อง ลิเกทรงเครื่องแสดงในโรง (วิก) และเก็บค่าเข้าชม
เกิดขึ้นโดยคณะของพระยาเพชรปาณี ข้าราชการกระทรวงวัง ซึ่งนำแสดงโดยภรรยาของตน
วิกพระยาเพชรปาณีตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง หน้าวัดราชนัดดาราม ..."

จาก http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=10223.0




กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 เม.ย. 11, 10:45
"ปันจุเหร็จ" เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๒ ถูกประดิษฐ์ขึ้นแทนการโพกผ้า มีเอกลักษณ์คือชายผ้าด้านหลังศีรษะ ทำด้วยทองแดงขึ้นรูป แปะด้วยขี้รัก ปิดกระจก และถูกถ่ายทอดไปยังนาฏศิลป์กัมพูชา ใช้มาจนปัจจุบันนี้


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 เม.ย. 11, 10:47
ตัวอย่างนาฏศิลป์ปัจจุบัน มีการใช้ปันจุเหร็จ ตามแบบโบราณ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 เม.ย. 11, 10:54
มีบันทึกว่า พวกแขกเจ้าเซ็นได้ สวดถวายตัวในการบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อ พ.ศ. 2423 ต่อมาคิดสวดแผลงเป็นลำนำต่าง ๆ คิดลูกหมดเข้าแกมสวด ร้องเป็นเพลงต่างภาษา และทำตัวหนังเชิด โดยเอารำมะนาเป็นจอก็มี ลิเกจึงกลายเป็นการเล่นขึ้น ต่อมามีผู้คิดเล่นลิเกอย่างละคร คือ เริ่มร้องเพลงแขก แล้วต่อไปเล่นอย่างละครรำ และใช้ปี่พาทย์อย่างละคร

ก่อนหน้า พ.ศ. ๒๔๒๓ ลิเกไม่ใช่การแสดงเป็นเรื่องเป็นราวอย่างที่เรารู้จัก เป็นเพียงการสวดสรรเสริญพระเจ้าของพวกแขกเจ้าเซ็นเท่านั้นเอง

อาจารย์สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ท่านบรรยายไว้ว่า ลิเกมีพัฒนาการที่สลับซับซ้อน ประวัติของลิเกแบ่งออกได้เป็น ๖ ยุคหลัก คือ

เริ่มจากยุคแรก ลิเกสวดแขก  คือ ยุคที่ชาวไทยมุสลิมเดินทางจากภาคใต้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ในกรุงเทพมหานคร ในสมัยรัชกาลที่ ๓  แล้วได้นำการสวดสรรเสริญพระเจ้าประกอบ การตีรำมะนา (กลองหน้าเดียวตีประกอบลำตัดในปัจจุบัน) เข้ามาด้วย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ลูกหลานชาวไทยมุสลิมก็ใช้ภาษาไทยแทนภาษามลายู สำหรับการแสดง  ลิเกสวดแขกนั้น ผู้แสดงชายนั่งล้อมเป็นวงกลม มีคนตีรำมะนาเสียงทุ้มและแหลม  ๔ ใบ หรือ ๑ สำรับ การแสดงเริ่มด้วยการสวดสรรเสริญพระเจ้าเป็นภาษามลายู จากนั้นก็ร้องเพลงด้นกลอนภาษามลายูตอนใต้ เรียกกันว่า ปันตุน หรือ ลิเกบันตน ต่อมาแปลงจากภาษามลายูเป็นภาษาไทย การแสดงบางครั้งมีการประชันวงร้องตอบโต้กัน จนกลายมาเป็นลำตัดในปัจจุบัน

ยุคของลิเกต่อมา ก็ได้แก่ ลิเกออกภาษา ลิเกทรงเครื่อง ลิเกลูกบท ลิเกเพชร และ ลิเกลอยฟ้า

มีรายละเอียดเป็นอย่างไรกันบ้าง ต้องตามอ่านในสารานุกรมสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๒๗

http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK27/chapter1/t27-1-l2.htm


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 เม.ย. 11, 10:58
"รัดเกล้าเปลว" เครื่องศิราภรณ์สำหรับตัวนางพี่เลี้ยง มียศศักดิ์สูงกว่านางกำนัลทั่วไป มีหลักฐานว่าเครื่องประดับประเภทนี้มีใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 11, 11:08
กลับไปค้นประกาศรัชกาลที่ 4 แล้ว ห้ามเรื่องเล่นแคน  ไม่ใช่ลิเก  ดิฉันคงจะจำผิดไป

จำได้แต่กลอนพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ที่ว่า
 “อันลิเกลามกตลกเล่น
รำเต้นสิ้นอายขายหน้า
ไม่ควรจดจำเป็นตำรา
มันจะพาเสียคนป่นปี้เอย”

ได้ยินมาว่าในสมัยโน้น ลิเกเล่นให้ชาวบ้านดู  ใช้ถ้อยคำตลกสองแง่สองง่าม   บางทีก็หยาบถึงใจ เพื่อให้คนดูเฮฮากัน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 เม.ย. 11, 11:10
ได้ยินมาว่าในสมัยโน้น ลิเกเล่นให้ชาวบ้านดู  ใช้ถ้อยคำตลกสองแง่สองง่าม   บางทีก็หยาบถึงใจ เพื่อให้คนดูเฮฮากัน

ถึงอย่างไร ก็คงสู้ลำตัดไม่ได้

http://www.youtube.com/watch?v=S3Sqll5OeL8

;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 เม.ย. 11, 11:21
"กินนรี" ก็โบยบินไปถึงนาฏศิลป์กัมพูชาด้วย ไม่รู้ว่าไปได้อย่างไร  ??? แต่จัดรูปเทียบกัน ระหว่างกินรีของละครเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง กับ กินรีราชสำนักกัมพูชา


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 เม.ย. 11, 11:37
ผ้าปักชุดละครของทางกัมพูชา และฝ่ายไทย ต่างกันเล็กน้อย


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 เม.ย. 11, 11:47
ชุดนี้แหละที่เขมรเอาไปอวดฝรั่ง

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 เม.ย. 11, 13:55
ให้ชมความคล้ายคลึงกัน แม้ว่าจะห่างกันไกล ภาพบนเป็นคณะละครเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง ไปทำการแสดงที่ประเทศเยอรมันนี กรุงเบอร์ลิน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ มีด้วยกันหลายชุด แต่ชุดนี้เป็นชุดรำพัดโบก ลีลาคล้ายคณะนาฏศิลป์กัมพูชาที่แสดงเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 11, 14:18
ความที่กระทู้นี้ฮิทติดลมแรง   อาจทำให้ผู้อ่านซึ่งยังไม่คุ้นกับกระทู้วิ่งเร็วของเรือนไทย อาจตามไม่ทัน
อยากจะขอให้คุณ siamese สรุปว่า ความคล้ายคลึงระหว่างนาฏศิลป์เขมรกับไทย (ในระยะ ๑๐๐ ปีมาจนถึงปัจจุบัน) มีการถ่ายทอดสู่กันอย่างไร แบบไหน
ดิฉันไม่มีอะไรจะเสริมมากไปกว่ารูปภาพนักเรียนนาฏศิลป์เขมรในปัจจุบัน     กำลังฝึกรำกันอยู่   ท่ารำพวกเขา คุณ siamese พอจะดูออกไหมว่าเหมือนท่ารำอะไรของเราบ้าง


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 11, 14:21
ท่านี้นึกถึงฟ้อนเล็บของทางเหนือ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: ธีร์ ที่ 01 เม.ย. 11, 14:21
จากภาพนี้ นางกินรี ของเขมรคงจะเก่งมากเลยนะครับ เพราะแต่ละนางร่ายรำด้วยเครื่องดนตรีจีน  ??? กู่เจิ้ง ด้วยครับท่านอาจารย์

ปรากฏอยู่ทางซ้ายมือของภาพ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 11, 14:22
ตัวพระ?


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 11, 14:24
จากภาพนี้ นางกินรี ของเขมรคงจะเก่งมากเลยนะครับ เพราะแต่ละนางร่ายรำด้วยเครื่องดนตรีจีน  ??? กู่เจิ้ง ด้วยครับท่านอาจารย์

ปรากฏอยู่ทางซ้ายมือของภาพ

คุณธีร์ตาไวจริง      กินรีเธอรำด้วยเสียงกู่เจิ้ง หรือว่าคนวาดไม่รู้จักมโหรีปี่พาทย์เขมรก็ไม่ทราบนะคะ
 ;D

*********************
ภาพนี้น่าจะเป็นท่าโขน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 11, 14:25
รูปนี้น่าจะอัปสรายุคใหม่  ดูจากเครื่องแต่งกาย
ส่วนท่า เหมือนหนุมานจับนางเบญกาย


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 เม.ย. 11, 15:37
ความที่กระทู้นี้ฮิทติดลมแรง   อาจทำให้ผู้อ่านซึ่งยังไม่คุ้นกับกระทู้วิ่งเร็วของเรือนไทย อาจตามไม่ทัน
อยากจะขอให้คุณ siamese สรุปว่า ความคล้ายคลึงระหว่างนาฏศิลป์เขมรกับไทย (ในระยะ ๑๐๐ ปีมาจนถึงปัจจุบัน) มีการถ่ายทอดสู่กันอย่างไร แบบไหน
ดิฉันไม่มีอะไรจะเสริมมากไปกว่ารูปภาพนักเรียนนาฏศิลป์เขมรในปัจจุบัน     กำลังฝึกรำกันอยู่   ท่ารำพวกเขา คุณ siamese พอจะดูออกไหมว่าเหมือนท่ารำอะไรของเราบ้าง

ความแตกต่างของนาฏศิลป์ไทยและนาฏศิลป์กัมพูชานั้น ก็แล้วแต่ว่าจะมองกันอย่างไร เรามองเขา หรือ เขามองเรา ในส่วนที่เรามองเขา จะเห็นลักษณะนาฏศิลป์กัมพูชาจะรำ “แอ่น”, “รำช้า” และ “หนัก” แต่ “งาม”

ในขณะที่เขามองเรา จะเห็นว่านาฏศิลป์ไทยรำได้ “เก๋” ด้วยลีลาเบาและไวกว่า

นอกจากนี้นาฏศิลป์ของกัมพูชานั้นเมื่อชมแล้วจะเกิดอาการขลังเพิ่มเข้ามา ด้วยดนตรีที่บรรเลงประกอบและบทร้องอย่างภาษาเขมร ทำให้เกิดสุนทรียสะกดคนดูได้มากว่า การรำที่ “ช้า” และ “หนัก” ตามที่ได้กล่าวไว้ทำให้นักแสดงแต่ละคนจับจังหวะได้อย่างพร้อมเพรียงกัน จะเห็นว่าการรำแต่ละครั้งจะใช้นักแสดงมากกว่าของไทย ดังนั้นการรำที่ช้า จึงออกมาในลักษณะที่พร้อมเพรียง ทำให้สะกดสายตาจากผู้ชมได้ถึงความพร้อมเพรียงกัน

การพัฒนาในรอบ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมาของนาฏศิลป์ทั้งสองประเทศนั้น ฝั่งไทยได้รับการพัฒนาทั้งรูปแบบเครื่องแต่งกายและดนตรี เช่น พระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ได้ทรงประพันธ์บทเพลงไว้มากมาย, กรมศิลปากรก็ได้จัดทำท่ารำมาตรฐาน ชุดยืนเครื่องมาตรฐานเพื่อเป็นแม่แบบใน พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นต้น ทำให้นาฏศิลป์ไทยมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ผิดกับทางฝ่ายกัมพูชา ที่ช่วงยุคทองในอดีตได้หยุดชักลง และคนในรุ่นต่อมาได้หวนสืบทอดตามแบบฉบับเดิม อาจจะมีการเปลี่ยนไปแต่ก็ไม่มาก

“ถึงอย่างไรก็ไม่เหมือนกัน” แม้ว่าต้นสายธารมาจากที่เดียวกัน แต่กาลเวลาและสถานที่ทำให้รูปแบบนาฏศิลป์แปรเปลี่ยนไป ไทยมีการไหว้ เขมรก็มีการไหว้ แต่ลีลา ท่วงท่าต่างกัน การรำนาฏศิลป์ก็เช่นเดียวกันแล้วแต่ใครมองใคร

หากมองในลักษณะท่ารำนั้น ก็คล้ายกัน คือ
ศีรษะตรง-เอียงขวา-เอียงซ้ายเหมือนกัน, ท่ารำในส่วนของการจีบมือก็คล้ายกัน มีการก้าวข้าง, ยกขา, กระดกขา, คุกเข่า, หลบเหลี่ยม, ประสมเท้า, เหลื่อมเท้า คล้ายกัน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 เม.ย. 11, 15:59
ครูผู้รู้ฝ่ายไทยมักตั้งข้อสังเกตว่าการแสดงของเขมรนั้นมักรำไม่ครบท่า ไม่ครบเพลง ไม่ครบเครื่อง สัดส่วนมงกุฎไม่งาม เมื่อเทียบกับฝั่งไทย และโดยเฉพาะโขนนั้น ตัวยักษ์ชั้นสูงและลิงชั้นสูงไม่น่าเกรงขาม คงได้ครูยักษ์และลิงชั้นรองจากไทยไปฝึกสอน แต่กระนั้นนาฏศิลป์กัมพูชายังคงมีลักษณะเฉพาะของตัวเองและมีความน่าสนใจเป็นอันมาก ลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจประการหนึ่งนั้นก็คือสามารถรักษาลักษณะเก่าแก่บางประการของละครไทยเอาไว้ได้

ชาวไทยโดยทั่ว ๆ ไปโดยมากที่ได้ชมนาฏศิลป์กัมพูชามักให้ความเห็นว่ารำแอ่นเกินไป แต่นี่เป็นลักษณะดั้งเดิมของนาฏศิลป์ไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่เขมรยังรักษาเอาไว้ ขณะที่ครูรำไทยเห็นว่าเขมรนั้นรำช้า หนัก ขณะที่ของไทยนั้นเร็วและเบากว่า ครูรำเขมรก็ให้ความเห็นเช่นเดียวกัน ครูไทยบางท่านก็ว่าไทยนั้น "รำเก๋" ส่วนเขมรนั้น "รำงาม" การร่ายรำที่เชื่องช้าและมั่นคงของเขมรผนวกกับดนตรีประกอบนั้นเองสร้างมนต์ขลังให้คนดู บังเกิดความศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถสื่อกันได้ระหว่างผู้แสดงและผู้ชม

ความงามทางสุนทรียะเหล่านี้ทำลายกำแพงขวางกั้นทางวัฒนธรรม คนต่างชาติต่างวัฒนธรรมเมื่อได้ชมก็เห็นว่างามหลาย ลักษณะการแสดงออกของตัวละครเขมรนั้นบางทีก็ดูเป็นโบราณกว่าของไทย เนื่องจากสังคมเขมรทุกวันนี้ยังไม่มีความเจริญทางวัตถุมากเหมือนไทยในปัจจุบัน ดังนั้นจึงรักษาอารมณ์คนโบราณได้ดีกว่า

ลักษณะของการร่ายรำที่เชื่องช้าทำให้นางรำเขมรรำได้พร้อมเพรียงกันราวกับมีลมหายใจอันเดียวกัน หากชมระบำหมู่จะพบว่าการตั้งมือตั้งไม้เท่ากันหมดแสดงให้เห็นการฝึกซ้อมด้วยกันเป็นอย่างดี ขณะที่ผู้เขียนไม่พบลักษณะเช่นนี้ในนาฏศิลป์ไทย

เครื่องละครเขมรเมื่อดูบนเวทีอาจดูอับแสงกว่าเครื่องละครไทย เนื่องจากใช้เพชรน้อยและเม็ดเล็กกว่า แต่เมื่อหยิบมาดูใกล้ ๆ แล้วจะเห็นฝีมือเชิงช่างที่แสดงความสามารถในการปักเครื่องที่ยังรักษาไว้ได้ดี เราอาจเห็นเค้ารอยบางอย่างในละครเขมรที่เคยเป็นของไทย ขณะที่ไทยเราปัจจุบันไม่ได้รักษาลักษณะเช่นนี้แล้ว ในการสวมเครื่องละครบางชิ้น เช่น ดอกไม้ปลายมือ ปะวะหล่ำกำไลข้อมือข้อเท้าเต็มเครื่องเหมือนละครไทยโบราณ

 ;D




กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 เม.ย. 11, 21:11
รัชกาลที่ ๓

๑. หลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายโอนระหว่างนาฏศิลป์จากราชสำนักสยาม สู่ ราชสำนักเขมร เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยเจ้าพระยาบดินทรเดชา เดิมหัดโขนให้เล่นละครผู้ชาย ต่อมาจึงหัดละครหญิง เมื่อได้ไปขัดตาทัพที่เมืองอุดงค์มีไชย กรุงกัมพูชาได้พาละครผู้หญิงไปด้วย และได้หัดละครผู้หญิงให้สมเด็จพระหริรักษ์ (นักพระองค์ด้วง) กัมพูชาซึ่งเดิมมีละครนอกสมัยรัชกาลที่ ๑ จึงมีละครใน (ละครหญิง) ตั้งแต่นั้น

๒. ครูละคร "นายแสง" เป็นตัวนายโรงละครเจ้าจอมมารดาอัมพา ได้ออกไปเป็นครูละครสมเด็จพระนโรดมในกรุงกัมพูชา

๓. "นายเพ็ง" เป็นตัวนางวิยะดา ละครกรมหลวงรักษรณรักษ์ ได้ออกไปเป็นครูละครกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ และได้ออกไปเป็นครูละครสมเด็จพระนโรดมในกรุงกัมพูชา

๔. "เรือง" เป็นตัวนางศุภลักษณ์ ละครผู้หญิงของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ไปเป็นครูละครสมเด็จพระนโรดมในกรุงกัมพูชา

๕. "อิ้ว" เป็นตัวนางบุษบา ละครผู้หญิงของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ไปเป็นครูละครเจ้าพระยาคฑาธรธรรมณินทร์ ที่เมืองพระตะบอง

....อ้างถึงวิวัฒนาการนาฏศิลป์ไทยในกรุงรัตนโกสินทร์ หน้า ๑๓๔ - ๑๓๖


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 เม.ย. 11, 21:53
รัชกาลที่ ๕

มีปรากฎครูละครผู้หญิงวังหน้า ๒ ท่าน

๑. "ปริง" อินเหนา ก่อนไปเป็นครูละครสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ กรุงกัมพูชา

๒. "เล็ก" สังคามาระตา ต่อมาเป็นครูละครสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ กรุงกัมพูชา

ละครในภูมิภาค

๑.ละครของเจ้าพระยาคฑาธรธรณินทร์ (เยีย) เจ้าเมืองพระตะบอง


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 เม.ย. 11, 09:44
กระทู้นิ่งไประยะนึงแล้ว สมควรที่ผมจะออกมาสลับฉาก


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 เม.ย. 11, 09:46
หลังจากที่ละครเขมรกลับจากปารีสแล้ว เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสก็ไม่ได้กำหนดให้ละครเขมรรุ่งเรืองอยู่ในวังดังแต่ก่อน สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ถูกตัดทอนงบประมาณของสำนักพระราชวังลงทุกปีๆ โดยเฉพาะเรื่องละครซึ่งเคยมีคนในสังกัดอยู่ร่วมสามร้อย ถูกลอยแพไปจนหมด สุดท้ายเหลืออยู่แค่๑๒คน บทบาทของละครหลวง (ศัพท์เขมรเรียกละครพระราชทรัพย์-คือถือเสมือนเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์) ก็กลายเป็นแค่ผู้แสดงกล่อมอารมณ์ (Entertainer) เวลามีการจัดเลี้ยงในวัง แทนที่จะเป็นสัญญลักษณ์แห่งจิตวิญญาณ ในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของเขมรดังแต่ก่อน
 
พวกละครที่แตกแพออกไป ส่วนใหญ่ก็จะไปหากินอยู่ในนครวัต ผมเชื่อแน่ว่าตัวละครเหล่านี้คงไม่ได้ประกอบวิชาชีพการแสดงโดยเป็นอิสระได้ ต้องสังกัดอยู่กับซุ้มมาเพียการท่องเที่ยว ไม่ซุ้มใดซุ้มหนึ่ง ซึ่งผมก็ขอเดาต่อว่า ตัวนายใหญ่ของมาเฟียเหล่านี้ก็ต้องเป็นคนฝรั่งเศส เผลอๆจะมีเอี่ยวกับพวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอาณานิคมด้วย
 
ก็มันเรื่องของผลประโยชน์ทั้งน้าน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 เม.ย. 11, 09:48
เอาละครับ คราวที่แล้วผมค้างเรื่องไว้ที่ปฏิกิริยาลูกโซ่จากงานเอ๊กซโปครั้งแรก เรากลับมาต่อเรื่องนี้กัน

ภาพเขียนของโรแด็งส์ชุดที่วาดนางละครของเขมรไว้ ถูกนำไปจัดแสดงในเมืองต่างๆของฝรั่งเศส และยุโรป ได้ไปกระตุ้นต่อมคิดของศิลปินด้านการแสดงหลายคน ให้เกิดจินตนาการถึงระบำเขมรในรูปแบบของบัลเล่ย์ อันเป็นศิลปวัฒนธรรมแท้ๆในจิตวิญญาณของฝรั่ง
ศิลปะมี๒รูปแบบ คือแบบคลาสสิก หรือแบบแผนตามโบราณนิยมของแท้ กับแบบร่วมสมัย อันเกิดจากความเบื่อหน่ายรูปแบบคลาสสิกที่ไม่เข้ากันนักกับรสนิยมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามสิ่งแวดล้อม

นาฏศิลป์ก็เช่นกัน  ระบำแบบคาสสิกของเขมร แม้จะสร้างความตื่นตาให้กับฝรั่งได้ ก็ในครั้งแรกๆที่ได้เห็น แต่จะให้ดื่มด่ำดังเช่นโอเปร่าหรือบัลเล่ห์ของเขา เห็นจะเป็นไปไม่ได้ ฝรั่งแค่มามุงดูเพราะเป็นของแปลก และส่วนใหญ่จบแล้วก็แล้วกัน
ทว่าละครเขมรไปครั้งนั้นก็ไม่ได้จางหายไปในระยะเวลาอันสั้น เพราะฝรั่งได้ความบันดาลใจไปสร้างสรรระบำเขมรที่ผู้ชม “เข้าถึง” ได้ง่ายกว่าของแท้

ระบำเขมร สวมวิญญาณฝรั่ง ร่ายรำโดยฝรั่งพวกนี้ ผลัดกันวนเวียนอยู่บนเวทีทั้งที่ปารีส ลอนดอน และนิวยอร์ค ในระยะต่อมานับสิบๆปี สร้างภาพลักษร์ที่ดีให้แก่เขมร ในขณะที่ละคร “คิงแอนด์ไอ” ก็เริ่มฮิตติดอันดับโลก


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: nakor ที่ 03 เม.ย. 11, 09:51
ระบำอัปสรา พร้อมคำบรรยายชื่อเพลงไทยที่นำมาบรรเลงประกอบ

http://www.youtube.com/watch?v=FCjv0iAUCTo

http://www.youtube.com/watch?v=YTg8uXK8nZ0&feature=related

;D

ระบำชุดนี้ถือว่านางรำไม่ค่อยสันทัดนะครับ จากที่เคยดูๆ มา เหมือนคนเพิ่งหัดรำ

ภาพบางภาพของเขมรที่นำมาอ้าง บางภาพนั้นเหมือนเป็นเด็กที่รำในโรงเรียนเด็กกำพร้า หรือกลุ่มเด็กที่มารำโชว์นักท่องเที่ยวหรือผู้บริจาค

ก็จะดูแตกต่างจากท่าที่เหมาะสมถูกต้องของระบำราชสำนักเขมร ดังนั้นพึงระวังนิดหนึ่ง

อีกประการที่อยากแนะนำคือ เมื่อตั้งท่ารำแล้ว ของเขมรจะเห็นเส้นโค้ง S curve จากการมองจากด้านข้างของลำตัว

หากมองข้างหน้าจะไม่เห็นเส้นโค้งนี้ชัดเจน และเส้นนี้เองทำให้นางรำเขมรแอ่น

แต่ของไทย เส้น S จะมองเห็นจากการมองทางด้านหน้าผู้รำ นางรำไทยจึงเอียงตัวมากกว่านางรำเขมร
  


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 เม.ย. 11, 09:54
สรุปในสลับฉากตอนนี้

ไม่ต้องบอกก็ได้ว่า ผลกระทบในเรื่องของภาพพจน์ดังกล่าว ส่งผลอย่างไร
ในสายตาฝรั่งชาวบ้านสมัยนั้น เขมรกับสยาม ประเทศไหนจะศิวิไลซ์กว่ากัน


ความรู้สึกดังกล่าว มีอิทธิพลต่อความคิดทางการเมืองด้วย ฝรั่งจึงไม่ลังเลที่จะเข้าข้างเขมรไว้ก่อน
โดยไม่สนใจจะทราบข้อเท็จจริงด้วยซ้ำ

แล้วจะกลับมาว่าต่อถึงที่มาของระบำอัปสรา ที่คุณnakorเอามาลงไว้ข้างบน
ใบ้ให้ก็ได้ว่า มีการเมืองแฝงอีก


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 เม.ย. 11, 18:08
นิราศนครวัด  (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94) พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในบทที่  ๘ อยู่เมืองพนมเพ็ญครั้งหลัง ได้เสด็จไปทอดพระเนตรการแสดงละครของเขมร ซึ่งนิยมเล่นละครอย่างของไทย เรื่องพระสมุทร ทรงเล่าถึงการแต่งตัว เปรียบเทียบกับละครของไทยด้วย ก่อนเสด็จกลับยังได้พบกับคนไทยที่เคยเป็นครูละครหรือพนักงานในวังที่กรุงเทพฯ มาอาศัยในกัมพูชา ๓๐-๔๐ ปี ทรงเคยรู้จักหรือคุ้นเคยอยู่บ้าง

(http://www.sac.or.th/databases/siamrarebooks/main/images/stories/nirat/nakornwat.jpg)

แล้วจะนำรายละเอียดมาเสนอ

 ;D



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 เม.ย. 11, 21:43
เตรียมพวงมาลัยหน้าเวทีไว้ให้ชาวเรือนไทย สวมให้ท่านซุปตาร์     
พรุ่งนี้จะมาแยกซอย  เล่าเรื่องอัปสราและนครวัดจากหนังสือ "ถกเขมร" ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ให้ฟังค่ะ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 เม.ย. 11, 22:42
เข้ามามอบพวงมาลัยให้ด้วยอีกแรง  ;D ;D ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 เม.ย. 11, 09:17
นิราศนครวัดที่จะเสนอต่อไปนี้ เป็นฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๑๕  ราคาเล่มละ ๔๐ บาท มีอยู่ทั้งหมด ๙  บท

ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเราเป็นบทที่ ๘ อยู่เมืองพนมเพ็ญครั้งหลัง


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 เม.ย. 11, 09:25
บทที่ ๘ อยู่เมืองพนมเพ็ญครั้งหลัง   เริ่มด้วยการแนะนำให้รู้จักสามพี่น้องชื่อคล้องกัน ๓ พระองค์

สมเด็จพระนโรดมทรงนามราชาวดี แล้วถึงสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ แล้วจึงถึงพระองค์ไวยวัตถา


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 เม.ย. 11, 09:37
การเล่นของเขมรซึ่งควรจะพรรณนาโดยเฉพาะ มีเครื่องดนตรีบางอย่างเป็นต้นว่ากระจับปี่โบราณ ในเมืองไทยเลิกกันหมดแล้ว ที่เมืองเขมรเขายังเล่นอยู่ ซอสามสายก็ยังเล่น แต่ทำขนาดเล็กสักครึ่งขนาดซอสามสายของเรา ซออู้ซอด้วงนั้นต่อกันยาวขึ้นไปกว่าของเราสักคืบหนึ่ง สังเกตเพลงที่ทำเป็นเพลงเขมรทั้งนั้น


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 เม.ย. 11, 09:49
เกี่ยวกับลิเกเขมร  คุณเทาชมพูคงจะสนใจ

ขันอยู่ที่ลิเก เมื่อเราผ่านไป เห็นตัวแขกรดน้ำมนต์ออกเต้นอยู่ เราอดปากไม่ได้ว่า "นี่เอาอย่างมาจากบางกอก" พวกฝรั่งบางคนที่เข้าใจภาษาไทย เถียงว่าพวกที่เล่นนั้นเป็นแขกจาม ลิเกเป็นการเล่นของแขก เราต้องเถียงยืนยันว่า คนที่เล่นจะเป็นแขกหรือเป็นฝรั่งก็ตาม แต่ลิเกอย่างที่เล่นนั้นได้แบบมาแต่เมืองไทยเป็นแน่ เราได้เคยเห็นตั้งแต่แรกลิเกเกิดด้วยตาตัวเอง จะเชื่อว่าเป็นอย่างอื่นอย่างไรได้

ทรงเล่าถึงละครชาวบ้านเขมรต่อ

ละครนั้นก็น่าดู ว่าไปหามาจากเกาะแห่งหนึ่งในลำน้ำโขง มีผู้หญิงตัวละครสัก ๑๐ คน กับปี่พาทย์เครื่องคู่สำรับหนึ่ง ละครแต่งตัวอย่างบ้่านนอก แต่แต่งตามแบบละครหลวงกรุงกัมพูชา กระบวนเล่นเห็นรำแต่เพลงช้ากับเพลงไว แต่มีเพลงจีนรำพัดได้ เห็นมีหนังสือบทมาวางไว้ขอเอามาเปิดอ่านดู เป็นหนังสือขอมขึ้นต้นว่า "กาลเนาะโฉมเจ้าไกรทองพงศา" ก็รู้ได้ว่าเอาบทละครไทยไปแปลงนั้นเอง

นายไกรเดินทางจากเมืองนนท์ ไปพิจิตร แล้วยังไปแวะที่เขมรด้วย

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 เม.ย. 11, 09:56
ละครหลวงเรื่อง "พระสมุท"

มีโปรแกรมพิมพ์ทั้งภาษาฝรั่งเศสและภาษาเขมร ว่าละครหลวงจะเล่าเรื่องพระสมุท เป็นภาษาไทยประทานเป็นเกียรติแก่เรา กระบวนที่เล่นนั้นตั้งต้นมีเทพบุตรออกรำดอกไม้เงินทองสี่คู่เบิกโรงก่อน แล้วตัวพระสมุทจึงออก จับเล่นตั้งแต่พระสมุทอยู่ในสวนนางบุษมาลีไปชมสวน พระสมุทลักนางบุษมาลีพาหนีไป ท้าวรณจักรยกทัพตาม ในโปรแกรมจะเล่นไปจนรณจักรตาย และพระสมุทกลับเข้าเมือง


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 เม.ย. 11, 10:02
เรื่องต่อไปจะเป็นตำนานละครหลวงกัมพูชา และครูละครที่ไปจากกรุงเทพฯครั้งรัชกาลที่ ๔

ขออนุญาตพักครึ่งเวลา รอสมาชิกมาชมละครกันพร้อมหน้าพร้อมตา

มีข้อวิจารณ์อันใด

ขอเชิญได้

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 เม.ย. 11, 10:06
หากใครใจร้อน เข้าไปอ่านหนังสือทั้งเล่มได้ที่นี่

http://www.sac.or.th/databases/siamrarebooks/main/index.php/literature/41-transmitted/215-nirat-nakornwat

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 เม.ย. 11, 10:20
เอาภาพสตรีเล่นกระจับปี่ ที่กล่าวถึงไว้ครับ ภาพนี้ผมได้ลิขสิทธิ์มาแล้ว ยังไงหากเก็บไว้ดูคงไม่เป็นไร แต่อย่าได้ทำเพื่อการค้านะครับ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 เม.ย. 11, 11:43
วงมโหรีในราชสำนักเขมร

กระจับปี่อยู่ทางซ้าย  ซอสามสายอยู่ทางขวา ระนาดอยู่ตรงกลาง  มีอะไรอีกบ้างเชิญบรรยาย

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 เม.ย. 11, 14:33
ตำนานละครหลวงกรุงกัมพูชา

ละครหลวงกรุงกัมพูชานี้ ทรงเรื่องตามตำนานว่าแรกมีขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จพระหริรักษ์ ได้ครูไทยมาจากเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) หัดเล่นตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ แต่เล่นเป็นอย่างเจ้าต่างกรม ต่อมาสมเด็จพระนโรดมจึงเล่นเอาอย่างละครหลวง

ครั้งรัชกาลที่ ๔ เมื่อสมเด็จพระนโรดมครองกรุงกัมพูชาอยู่นั้น พยายามหาครูกละครมาจากกรุงเทพฯ ได้ใครออกมาก็ยกย่องชุบเลี้ยง ได้ละครตัวดีของเจ้าคุณจอมมารดาเอมบ้าง ละครพระองค์เจ้าดวงประภาบ้าง ละครพระองค์เจ้าสิงหนาทบ้าง และละครโรงอื่น ๆ ก็ได้มาเป็นครูอีกหลายคน ละครหลวงครั้งสมเด็จพระนโรดมเล่นแต่ภาษาไทยอย่างเดียว มาถึงครั้งสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ก็โปรดเล่นละคร ได้ละครของสมเด็จพระนโรดมประสมโรงเล่นต่อมาบ้าง หัดขึ้นใหม่บ้าง แต่เล่นทั้งภาษาไทยและภาษาเขมร ได้เคยให้ไปเล่นที่เมืองฝรั่งเศสถึง ๒ ครั้ง โดยปกติเล่นแต่ข้างในพระราชวัง ทอดพระเนตรเองเดือนละครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง ออกมาเล่นข้างหน้าให้ชาวต่างประเทศดูแต่งานปีใหม่ หรือเวลามีแขกเมืองบรรดาศักดิ์สูงมาจากต่างประเทศ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 เม.ย. 11, 14:57
กระบวนรำเต้นถึงเทียบกับละครกรุงเทพฯ ที่ควรชมว่าดีก็มี กระบวนร้องและเจรจาเป็นภาษาไทย ที่ชัดเหมือนชาวกรุงเทพฯ ก็มี ที่แปร่งก็มี เครื่องแต่งตัวมีผิดกับละครกรุงเทพฯ แต่บางอย่าง คือมงกุฎสตรี มีแต่กระบังหน้ากับยอดตั้งตรงกลางกระหม่อมสูงโทงเทงดูน่าเกลียด ชฎาทรงก็อยู่ข้างสูงไป ผ้าห่มนางตัวดีห่มสไบเฉียง (ว่าเป็นแบบของสมเด็จพระหริรักษ์) ก็ไม่น่าดู ด้วยต้องปล่อยแขนเปล่าให้แลเห็นรักแร้อยู่ข้างหนึ่ง เครื่องแต่งตัวยักษ์นั้น เจียระบาดทำเป็นชายไหวอย่างรูปปั้น


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 เม.ย. 11, 15:08
^
^
ตัวนางบุษมาลีชื่อ นักเมียงมะปรางหวาน

(http://gotoknow.org/file/miss_u/%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%99.JPG)

ฟังชื่อแล้วน้ำลายไหล

 :D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 เม.ย. 11, 19:24
ได้เคยให้ไปเล่นที่เมืองฝรั่งเศสถึง ๒ ครั้ง

๑๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๖ แสดงที่สวนสาธารณะ Bois de Boulogne  (http://en.wikipedia.org/wiki/Bois_de_Boulogne) ปารีส


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 เม.ย. 11, 19:53
ความเป็นมาของนาฏศิลป์เขมร สยามไม่เกี่ยว  ???

http://www.youtube.com/watch?v=0-AEkM3uYGE&feature=related

เรื่องนี้เจ้าหญิงบุปผาเทวีเป็นนางเอก

 ;)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 เม.ย. 11, 20:32
๑  เรื่องถกเขมร  เห็นจะไม่เข้ากับจังหวะของกระทู้ในตอนนี้   เลยยังไม่ตัดซอยแยก   เก็บไว้ก่อนนะคะ
๒  เรื่องพระสมุทร   เป็นพระบวรราชนิพนธ์ในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ   เก็บไปเล่ารายละเอียดในกระทู้กรมพระราชวังบวรฯ ดีกว่า
    ถามตัวเองว่าทำไมเขมรถึงเลือกละครนอกเรื่องนี้ไปเล่น   ในเมื่อคนดูไทยรู้จักกันน้อยมาก      เดาว่า คงเป็นเพราะครูละครที่ไปฝึก เคยเป็นละครหญิงของเจ้าคุณจอมมารดาเอมละมัง
๓  ชื่อเจ้าหญิงบุปผาเทวี   ถือว่าออกเสียงแบบไทย   ในภาษาอังกฤษสะกดจากเสียงเขมรว่า Bopha Devi  ไม่ทราบว่าเขมรออกเสียงอย่างไร    ถ้าภาษาเขมรไม่มีวรรณยุกต์เสียงสูงอย่างที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าไว้   อาจจะออกเสียงว่า โบพาเดวี
๔  สนใจประวัติของเจ้าหญิงองค์นี้   วิกี้เล่าย่อๆว่าเป็นพระธิดาของพระเจ้านโรดมสีหนุ  พระมารดาชื่อ Neak Moneang Phat Kanthol    (ถอดเป็นเสียงไทยไม่ถูก) 
เคยรู้มาว่าพระเจ้านโรดมสีหนุเคยมีพระชายาเป็นชาวฝรั่งเศส     เข้าใจว่าเป็นพระมารดาของเจ้าหญิงองค์นี้   

ในประวัติบอกว่าเป็นพี่สาวของเจ้านโรดมรณฤทธิ์   และต่างมารดากับพระเจ้านโรดมสีหมุนี   เกิดเมื่อค.ศ. 1943  ปัจจุบันอายุ 68 ปี

(http://img.search.com/thumb/4/49/Bopha_devi_apsara.jpg/250px-Bopha_devi_apsara.jpg)


(http://2.bp.blogspot.com/_76xUgRgjZYM/SG6Y_YWgFOI/AAAAAAAAFLU/jffLGMWE0dw/s400/Bopha+Devi.jpg)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 เม.ย. 11, 20:55
๔  สนใจประวัติของเจ้าหญิงองค์นี้   วิกี้เล่าย่อๆว่าเป็นพระธิดาของพระเจ้านโรดมสีหนุ  พระมารดาชื่อ Neak Moneang Phat Kanthol    (ถอดเป็นเสียงไทยไม่ถูก) 
เคยรู้มาว่าพระเจ้านโรดมสีหนุเคยมีพระชายาเป็นชาวฝรั่งเศส     เข้าใจว่าเป็นพระมารดาของเจ้าหญิงองค์นี้ 
 
Neak Moneang Phat Kanthol   ออกเสียงว่า นัก มนาง พัต กัญญล เป็นนางรำหลวง คงไม่ใช่ชาวฝรั่งเศส

พระชายาลูกครึ่งฝรั่งเศส คือ ควีนโมนิก (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%A1_%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%96_%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B8_%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B2)

(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/thumb/0/00/Monineath01.jpg/246px-Monineath01.jpg)

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 เม.ย. 11, 21:01
ดูคลิปที่คุณเพ็ญชมพูหามาให้ชมกัน   เจ้าหญิงบุปผาเทวีตอนสาวๆ รำได้ชดช้อย จังหวะจะโคนดี   มองเห็นเค้าของครูละครไทยรุ่นเก่าที่ฝึกตกทอดกันมาในเขมร     
เห็นอะไรคุ้นๆหลายอย่างเช่นเมขลาล่อแก้ว  และคำว่า "เพลงสาธุการ" เปล่งจากปากของครูที่ทำพิธี

โชคดีเจอคลิปรวบรวมรูปถ่ายเก่าๆของนาฏศิลป์เขมร     อาจจะเหมือนกับที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เคยทอดพระเนตร
บางรูปตัวพระตัวนางและตัวลิง  เล่นกันอยู่หน้าปราสาทหิน   ไม่มีเวที ไม่มีเครื่องประกอบ     บางรูปก็แสดงกันในบรรยากาศโอ่อ่าของพระราชวัง 
ทำให้นึกถึงคำบรรยายข้างล่างนี้้

หลังจากที่ละครเขมรกลับจากปารีสแล้ว เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสก็ไม่ได้กำหนดให้ละครเขมรรุ่งเรืองอยู่ในวังดังแต่ก่อน สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ถูกตัดทอนงบประมาณของสำนักพระราชวังลงทุกปีๆ โดยเฉพาะเรื่องละครซึ่งเคยมีคนในสังกัดอยู่ร่วมสามร้อย ถูกลอยแพไปจนหมด สุดท้ายเหลืออยู่แค่๑๒คน บทบาทของละครหลวง (ศัพท์เขมรเรียกละครพระราชทรัพย์-คือถือเสมือนเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์) ก็กลายเป็นแค่ผู้แสดงกล่อมอารมณ์ (Entertainer) เวลามีการจัดเลี้ยงในวัง แทนที่จะเป็นสัญญลักษณ์แห่งจิตวิญญาณ ในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของเขมรดังแต่ก่อน
 
พวกละครที่แตกแพออกไป ส่วนใหญ่ก็จะไปหากินอยู่ในนครวัต ผมเชื่อแน่ว่าตัวละครเหล่านี้คงไม่ได้ประกอบวิชาชีพการแสดงโดยเป็นอิสระได้ ต้องสังกัดอยู่กับซุ้มมาเพียการท่องเที่ยว ไม่ซุ้มใดซุ้มหนึ่ง ซึ่งผมก็ขอเดาต่อว่า ตัวนายใหญ่ของมาเฟียเหล่านี้ก็ต้องเป็นคนฝรั่งเศส เผลอๆจะมีเอี่ยวกับพวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอาณานิคมด้วย
 
ก็มันเรื่องของผลประโยชน์ทั้งน้าน


http://www.youtube.com/watch?v=Dg_X-vtN-gA&feature=related


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 เม.ย. 11, 21:12
คลิปนี้พูดถึงสยามนิดหน่อย   ว่านาฏศิลป์ของเขมรมีมานับพันปีแล้ว  ใน(คริสต)ศตวรรษที่ 15   บวก 543 ปีเข้าไป ก็ประมาณ พ.ศ. 2100 กว่าๆ    สยามไปตีเขมรแล้วกวาดต้อนผู้คนเขามา   แต่ศิลปการร่ายรำของเขมรก็ยังเหลืออยู่ในเขมร
แล้วข้ามมาถึงรัชกาลพระเจ้าสีสวัสดิ์  ที่นำศิลปะไปแสดงที่ปารีส      ไม่ได้เอ่ยถึงการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากไทยไปกัมพูชา

http://www.youtube.com/watch?v=csRRi_RIx5s&feature=player_embedded#at=74


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 เม.ย. 11, 21:27
คลิปนี้พูดถึงสยามนิดหน่อย   ว่านาฏศิลป์ของเขมรมีมานับพันปีแล้ว  ใน(คริสต)ศตวรรษที่ 15   บวก 543 ปีเข้าไป ก็ประมาณ พ.ศ. 2100 กว่าๆ    สยามไปตีเขมรแล้วกวาดต้อนผู้คนเขามา   แต่ศิลปการร่ายรำของเขมรก็ยังเหลืออยู่ในเขมร
แล้วข้ามมาถึงรัชกาลพระเจ้าสีสวัสดิ์  ที่นำศิลปะไปแสดงที่ปารีส      ไม่ได้เอ่ยถึงการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากไทยไปกัมพูชา

http://www.youtube.com/watch?v=csRRi_RIx5s&feature=player_embedded#at=74

แน่นอนครับ ในลักษณะประเพณีร่ายรำ นาฏศิลป์ ชาวกัมพูชาย่อมรักและหวงแหนและต้องการถือเป็นเอก ไม่รองใคร ไม่ต้องการพูดถึงว่าได้รับอิทธิพลจากใคร จริงไหมครับผม ทั้งนี้ยังมีประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ ที่ทั้งไทย และกัมพูชา ต่างมีวัฒนธรรมที่ร่วมกัน ต่างถือการที่เป็นเบอร์ ๑ ซึ่งมีหลายกรณีที่ขัดแย้งกันเสมอ ใครไวกว่า ออกตัวประชาสัมพันธ์ก่อนย่อมทำให้คนได้รู้จักก่อน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 เม.ย. 11, 08:37
เรื่องที่ได้สนทนาในเวลาดูละครวันนี้ ตรัสถามว่าละครอย่างนี้ในกรุงเทพฯ ยังเล่นกันมากอยู่หรือ ทูลตอบว่ามิใคร่จะมีแล้ว ยังมีละครผู้หญิงโรงใหญ่อยู่แต่ละครเจ้าคุณพระประยุรวงศ์โรงเดียว นอกจากนั้นก็มีตัวละครอยู่ที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง ถ้าจะเล่นต้องรวบรวม เพราะในสมัยนี้คนเล่นละครมักแก้ไขไปเป็นละครร้องบ้าง เป็นลิเกบ้าง ตรัสว่าในส่วนพระองค์เป็นคนเก่า ละครอย่างอื่นไม่ชอบ ชอบแต่ละครอย่างโบราณที่เล่นอย่างนี้ ที่ในกรุงกัมพูชาต่อไปข้างหน้าละครอย่างนี้ก็น่ากลัวสูญ ด้วยคนสมัยใหม่เราไม่ใคร่ชอบดู

ละครอย่างที่สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ทรงโปรด ก็น่าจะคงรักษาอยู่ไว้ได้ โปรดเฉพาะนาฏศิลป์การร้องรำ และท่าจะรุ่งเสียด้วย


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: nakor ที่ 05 เม.ย. 11, 08:40


เจ้าหญิง บุบผาเทวี นั้น หากจะอ่านให้ถูกต้อง ต้องอ่าน บบ-พา-เต-วี ครับ

เพราะสระ อุ เจออักษร บ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ ๑ จะออกเสียง โอะ, สระ อู เจอ บ ถึงจะออกเสียง โบ

ท ทหาร เขมรจะออกเสียง เตอะ


เจ้าหญิงบุผาเทวีเคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสารบนเครื่องบินฉบับหนึ่ง ว่า เมื่อเทียบการรำในภาพสลักแล้ว เขมรโบราณมีการยกแข้งแหกขา แต่ไม่เหมาะสมกับสตรีเขมรในสมัยปัจจุบัน จึงไม่ได้ออกแบบท่ารำอัปสราให้ยกแข้งแหกขาแบบในภาพสลัก


พอมาดูการแสดงรามเกียรติ์ ศึกพรหมมาศ ที่จัดแสดงล่าสุด เห็นการรำเบิกโรงของไทยให้เทวดาถือฟ่อนหางนกยูงออกมา ก็นึกถึงการแสดงของเขมรที่มักจะมีนางรำถือฟ่อนหางนกยูงออกมารำเบิกโรง แต่ในนิราศนครวัดบันทึกว่ารำดอกไม้เงินทอง น่าสนใจตรงนี้นะครับ

ขอบคุณครับสำหรับข้อมูลจำนวนมาก


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 เม.ย. 11, 08:46
แล้วตรัสว่าที่ในบางกอกเมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นจะไปข้างไหน ก็ได้ยินแต่เสียงกลองละครดูครึกครื้นไปทั้งพระนคร เดี๋ยวนี้ละครของพระเจ้ากรุงสยามไม่มีดอกหรือ ทูลว่ามีจัดไว้เป็นกรมมหรสพ เล่นได้ทั้งโขนทั้งละคร แต่ว่าเป็นผู้ชายเป็นพื้น สนทนาต่อไปถึงเรื่องละครที่เล่น ได้ความว่าละครหลวงกรุงกัมพูชาเล่นทั้งละครในละครนอก เรื่องที่เล่นก็ชอบเล่นอย่างละครในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เรื่องอิเหนาเป็นพื้น จนเรื่องพระอภัยมณีก็เล่น

จนเรื่องพระอภัยมณีก็เล่น

นี่ไงเป็นหลักฐานว่าสุนทรภู่ท่าน "ดัง" มาจนถึงเขมร


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 05 เม.ย. 11, 08:56

พอมาดูการแสดงรามเกียรติ์ ศึกพรหมมาศ ที่จัดแสดงล่าสุด เห็นการรำเบิกโรงของไทยให้เทวดาถือฟ่อนหางนกยูงออกมา ก็นึกถึงการแสดงของเขมรที่มักจะมีนางรำถือฟ่อนหางนกยูงออกมารำเบิกโรง แต่ในนิราศนครวัดบันทึกว่ารำดอกไม้เงินทอง น่าสนใจตรงนี้นะครับ

ขอบคุณครับสำหรับข้อมูลจำนวนมาก



รำกิ่งไม้เงินทอง เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ครับ

การรำกิ่งไม้เงินทองเป็นการแสดงเบิกโรงของละครในชุดหนึ่งที่เกิดขึ้นจากพระรามประสงค์ในราชกาลที่ ๔ ที่ทรงพระกรุณโปรดเกล้าให้ละครหลวงในสมัยนั้นฝึกหัดขึ้น และใช้แสดงในงานอันเป็นมงคลต่างๆ โดยในแล้วคงจะได้รับเครื่องราชบรรณาการดอกไม้เงินทองจากประเทศต่างๆ ส่งมาทูลเกล้า ฯ ถวายไว้เป็นอันมาก จึงโปรดให้พวกละครหลวงถือดอกไม้เงินทองรำเบิกโรงรำเบิกโรงแทนการถือหางนกยุงแบบการรำบรรเลง และยังทรงพระราชนิพนธ์บทขับร้องรำดอกไม้เงินทองขึ้น ซึ่งเดิมการรำบรรเลงไม่มีบทร้อง ผู้แสดงร่ายรำตามทำนองเพลงหน้าพากย์เท่านั้น ในเวลาเดียวกันนี้ก็ทรงพระราชนิพนธ์บทขับร้องรำฉุยฉายกิ่งไม้เงินทองให้ตัวละครฝ่ายนาง ๒ คน ออกมารำฉุยฉายเบิกโรงละครในด้วย ในสมัยโบราณก่อนแสดงละครในจะต้องมีการรำเบิกโรงละครก่อนแล้วจึงแสดงละครในเป็นเรื่องเป็นราว ต่อไปการรำเบิกโรงละครในอย่างแรกคือ รำบรรเลง ต่อมาในสมัยราชกาลอื่น ทรงเปลี่ยนการแสดงเบิกโรง ละครในชุดประเลงมาเป็นรำดอกไม้เงินทอง และรำฉุยฉายกิ่งไม้เงินทอง ในสมัยนั้นละครในทุกโรงจะต้องแสดงเบิกโรงชุดรำดอกไม้เงินทอง และรำฉุยฉายกิ่งไม้เงินทองทุกครั้ง ก่อนจะแสดงละครใน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 เม.ย. 11, 08:58
ก่อนเสด็จกลับยังได้พบกับคนไทยที่เคยเป็นครูละครหรือพนักงานในวังที่กรุงเทพฯ มาอาศัยในกัมพูชา ๓๐-๔๐ ปี ทรงเคยรู้จักหรือคุ้นเคยอยู่บ้าง

มีคนจำนวนหนึ่งคือผู้หญิงไทยชาวกรุงเทพฯ ที่ออกมาเป็นครูละครหรือเป็นพนักงานอยู่ในวังแต่ครั้งสมเด็จพระนโรดม ซึ่งเราได้เคยรู้จักเมื่อเขาอยู่ในกรุงเทพฯ บ้าง ไม่รู้จักบ้าง พากันมาหลายคน มีนายโรงปริงตัวอิเหนาของเจ้าคุณจอมมารดาเอม ในกรมพระราชังบวรฯ เป็นต้น ออกมาอยู่กรุงกัมพูชา ได้เป็นหม่อมสมเด็จพระนโรดม เปลี่ยนชื่อว่าหม่้อมเหลียง พวกเหล่านี้ถึงแม้คนที่เคยรู้จักอยู่แต่ก่อน ก็จำไม่ได้เกือบทั้งนั้น ด้วยมาอยู่เมืองเขมรเสียตั้ง ๓๐-๔๐ ปี จนหัวหงอกฟันหัก แรกพบรู้ว่าเป็นไทยแต่ด้วยน้ำเสียง ต้องถามนามและโคตรจึงได้รู้ว่าเป็นใครต่อใคร พวกเหล่านี้มักยังมีความขวยเขินในข้อที่ทิ้งบ้านเมืองมา พอใจจะชี้แจงเหตุแก่เรา โดยอ้างว่ายากจนเป็นต้น ต้องตอบตัดความเสียว่าเกิดมาเป็นมนุษย์ย่อมรักสุขชังทุกข์เป็นธรรมดา จะอยู่เมืองไทยหรือเมืองเขมรที่ไหนเป็นสุขก็ควรอยู่ที่นั่น สำคัญแต่อย่าทำความชั่วให้เขาติเตียนขึ้นชื่อได้ว่าไทยเลวทราม ได้ไต่ถามถึงที่ออกมาอยู่ได้ความว่าที่เป็นครูละครครั้งสมเด็จพระนโรดมนั้น สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ชุบเลี้ยงให้เป็นครูละครต่อมาได้รับเงินเดือนตั้งแต่ ๒๐ เหรียญ ลงมาจน ๒๑ เหรียญ ดูก็ควรจะมีความสุข


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 05 เม.ย. 11, 09:01
ประเลง  เป็นชื่อเรียกการรำเบิกโรงอย่างหนึ่งของละครในซึ่งมีมาแต่โบราณ ผู้แสดงแต่งกายยืนเครื่องพระ 2 คน สวมหัวเทวดาไม่มียอด เหตุที่ใช้ผู้แสดงแต่งกายยืนเครื่องพระเนื่องจาก ในการแสดงครั้งหนึ่งๆจะมีผู้แสดงที่แต่งกายยืนเครื่องพระอยู่แล้ว การแสดงเบิกโรงเพื่อความเป็นสิริมงคลนั้น นิยมใช้ตัวพระเป็นผู้รำ โดยให้สวมหัวเทวดาไม่มียอดปิดหน้าทั้งหมด เพื่อมิให้ผู้ชมเห็นว่าแสดงซ้ำกัน คือ นอกจากเป็นผู้รำประเลงแล้ว ยังแสดงเป็นตัวละครในเรื่องอีกนั่นเอง ตัวนายโรงทั้ง 2 คนที่รำประเลง จะต้องถือหางนกยูงทั้งสองมือออกมาร่ายรำตามทำนองเพลง โดยไม่มีบทร้อง ส่วนเพลงหน้าพาทย์ประกอบการรำประเลง บางท่านก็ใช้เพลงกลม บ้างก็ใช้เพลงโคมเวียน แล้วออกด้วยเพลงตระบองกัน

การรำประเลงเบิกโรงเป็นการสมมุติว่าเทวดาลงมารำ เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคล และปัดรังควานป้องกันเสนียดจัญไร ที่มาของการรำประเลงนั้น ท่านผู้รู้เล่ากันว่า แต่เดิมก่อนการแสดงละคร จะมีผู้ถือไม้กวาดออกมาปัดกวาด ทำความสะอาดโรงละครเสียก่อน ผู้ที่ออกมาปัดกวาดเหล่านี้มักจะเป็นศิลปิน เวลาปัดกวาดก็คงทำท่าอย่างรำละครไปด้วย ครูบาอาจารย์ทางนาฏศิลปไทยก็เลยคิดประดิษฐ์เป็นท่ารำ แล้วให้ผู้แสดงถือหางนกยูงแทนการถือไม้กวาด ออกมาร่ายรำในเชิงความหมายปัดรังควาน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 เม.ย. 11, 09:26

เจ้าหญิงบุผาเทวีเคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสารบนเครื่องบินฉบับหนึ่ง ว่า เมื่อเทียบการรำในภาพสลักแล้ว เขมรโบราณมีการยกแข้งแหกขา แต่ไม่เหมาะสมกับสตรีเขมรในสมัยปัจจุบัน จึงไม่ได้ออกแบบท่ารำอัปสราให้ยกแข้งแหกขาแบบในภาพสลัก

ขออนุญาตตั้งข้อสังเกต

ระบำนางอัปสร (รำอัปสรา?)
สังเกตว่านางรำของเขมรยกเท้าสูงมาก   ท่ารำของไทยแต่เดิมเป็นอย่างนี้หรือ?

ท่ายกแข้งยกขาสูงนี้ น่าจะเป็นท่าดั้งเดิมของเขมร สังเกตจากท่าร่ายรำที่ปรากฏในรูปสลัก

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4316.0;attach=17768;image)

ท่าอย่างข้างบนนี้ จะเรียกว่า "ยกแข้งแหกขา" ก็น่าจะได้

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 เม.ย. 11, 09:56

พอมาดูการแสดงรามเกียรติ์ ศึกพรหมมาศ ที่จัดแสดงล่าสุด เห็นการรำเบิกโรงของไทยให้เทวดาถือฟ่อนหางนกยูงออกมา ก็นึกถึงการแสดงของเขมรที่มักจะมีนางรำถือฟ่อนหางนกยูงออกมารำเบิกโรง แต่ในนิราศนครวัดบันทึกว่ารำดอกไม้เงินทอง น่าสนใจตรงนี้นะครับ

ก่อนที่จะแสดงละครใน จะต้องมีการแสดงชุดเบิกโรงเสียก่อน โดยผู้แสดงละครใน ๒ คน แต่งกายยืนเครื่องพระ สวมหัวเทวดาโล้น สองมือกำหางนกยูง (หัวเทวดาที่ไม่มีมงกุฏ) ออกมารำเบิกโรง เรียกว่า รำประเลง จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงคิดประดิษฐ์ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง โดยเอาแบบมาจากเครื่องราชบรรณาการ เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ในการรำเบิกโรง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงการแสดงรำเบิกโรงละครในจากชุด รำประเลง มาเป็น รำดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง โดยใช้ผู้แสดงละครใน ๒ คน แต่งกายยืนเครื่องพระ สวมชฏาแทนสวมหัวเทวดาโล้น สองมือถือดอกไม้เงินดอกไม้ทองแทนหางนกยูง แล้วทรงพระราชนิพนธ์บทขับร้องประกอบการรำดอกไม้เงินดอกไม้ทองขึ้นใหม่

เมื่อนั้น                                ไทท้าวเทพบุตรบุรุษสอง
สองมือถือดอกไม้เงินทอง          ป้องหน้าออกมาว่าจะรำ
เบิกโรงละครในให้ประหลาด       มีวิลาศน่าชมคมขำ
ท่าก็งามตามครูดูแม่นยำ           เปนแต่ทำอย่างใหม่มิใช่ฟ้อน
หางนกยูงอย่างเก่าเขาเล่นมาก   ไม่เห็นหลากจืดตามาแต่ก่อน
คงแต่ท่าไว้ให้งามตามละคร       ที่แต่งตนก้นไม่งอนตามโบราณ
รำไปให้เห็นเปนเกียรติยศ         ปรากฏทุกตำแหน่งแหล่งสถาน
ว่าพวกฟ้อนฝ่ายในใช้ราชการ     สำหรับพระภูบาลสำราญรมย์
ย่อมช่วงใช้ดอกไม้เงินทอง       ไม่เหมือนของเขาอื่นมีถื่นถม
ถึงผิดอย่างไปใครจะไม่ชม        ก็ควรนิยมว่าเปนมงคลเอย


 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 เม.ย. 11, 11:39
คงแต่ท่าไว้ให้งามตามละคร       ที่แต่งตนก้นไม่งอนตามโบราณ


ก้นไม่งอน ทรงหมายถึง ละครคณะพระองค์ตุ้ย (พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงดวงประภา) พระธิดาของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งละครคณะนี้รำก้นงอนแตกต่างจากคณะอื่น และพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ได้เคยถามคุณท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด ในรัชกาลที่ ๔ ) ท่านก็กล่าวรับรองไว้ว่าเป็นความจริง

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: nakor ที่ 06 เม.ย. 11, 11:01
จริงด้วยครับ อาจารย์ แบบนี้ก็ยกแข้งแหกขา
แต่เจ้าหญิงบุบผาเทวีคงหมายถึงแหกด้านหน้า แล้วยกเข่าสูง ตามภาพสลักจากปราสาทบายน และข้อความในหนังสือนิตยสารเล่มนั้นเป็นภาษาอังกฤษ ใช้คำว่าอะไรลืมไปแล้วครับ "ยกแข้งแหกขา" เป็นภาษาของผมเอง แต่ถ้าหากค้นนิตยสารบนเครื่องบินฉบับนั้นเจอจะเอามาลงอีกทีครับ

  


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 เม.ย. 11, 20:06
ผมขอออกโรงสลับฉากอีกครั้งหนึ่ง
ขอต่อด้วยประวัติศาสตร์เขมรอันเกี่ยวเนื่องกับหัวข้อของกระทู้นี้

เมื่อสมเด็จพระศรีสวัสดิ์เสด็จสวรรคต พระโอรสได้ขึ้นสืบราชสมบัติทรงพระนามว่า สมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ หรือศรีสวัสดิ์ มุนีวงศ์ พระนามที่คล้ายกับพระราชบิดานี้แหละที่ทำเอาผมสับสนเรื่องนางสาวแพน นางลครไทยที่มีวาสนาได้ไปเป็นเจ้าจอมกษัตริย์เขมร ก็เป็นรัชสมัยของพระองค์นี้ ไม่ใช่องค์พระราชบิดาที่ผมเขียนไปก่อนหน้า

วิกิ้ เขียนถึงกษัตริย์พระองค์ใหม่ว่า


พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ ทรงโปรดและพอพระราชหฤทัยที่จะถูกห้อมล้อมด้วยพระชายาและพระสนมจำนวนมากมาย รวมถึงนางรำด้วย โดยพระองค์มีพระสนมที่เป็นนางรำชาวไทยหนึ่งพระองค์ คือ นางสาวแพน เรืองนนท์ ภายหลังถูกตั้งเป็นเจ้าจอมสีสุวัตถิ์ อำไพพงศ์ (Chao Chom Srivasti Amphaibongse) ต่อมาเธอได้ถูกออกจากราชสำนัก โดยทางกงสุลฝรั่งเศสในไทยได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ความว่า "กษัตริย์สีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ แห่งกัมพูชา ทรงไม่พอพระพระทัยและปฏิเสธข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและไร้สาระจากการให้สัมภาษณ์ของบิดาของนางสาวแพน จึงทรงบัญชาให้ส่งตัวนางสาวแพนกลับกรุงเทพโดยทันที" โดยนางสาวแพนได้กลับมาในวันรุ่งขึ้น และไม่มีโอกาสได้กลับไปยังราชสำนักกัมพูชาอีกเลย


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 เม.ย. 11, 20:12
หลังจากสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ มุนีวงศ์ เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2484  ตอนนั้นฐานะของฝรั่งเศสทำท่าจะง่อนแง่นเพราะถูกกองทัพนาซีเข้ายึดครองปารีส สยามในขณะนั้นก็ได้โอกาส ยกกองทัพเข้ายึดครองสามจังหวัดของเขมรที่เคยเป็นของสยามมาก่อน ภายใต้ความรู้เห็นเป็นใจของญี่ปุ่น มหาอำนาจตัวจริงของภูมิภาค รัฐบาลอาณานิคมของฝรั่งเศสจึงต้องสวมวิญญาณกิ้งก่า เปลี่ยนสีให้กลมกลืนเข้ากับความประสงค์ของญี่ปุ่นเพื่อความอยู่รอด ขณะนั้นพระราชโอรสของกษัตริย์ในพระบรมโกศที่ทรงมีวุฒิภาวะเป็นผู้ใหญ่แล้ว อาจจะมีการแสดงออกอย่างใดที่จะเอาใจออกห่างจากฝรั่งเศสไปบ้างมั้ง รัฐบาลวีซีของฝรั่งเศสจึงสั่งให้ข้ามพระองค์ไป ไม่ให้ขึ้นเป็นกษัตริย์สืบต่อพระราชบิดา  แล้วชี้นิ้วไปที่นักองสีหนุ สายราชสกุลนโรดมของนักองราชาวดี พระชนม์เพียง๑๙ชนษา น่าจะว่านอนสอนง่ายกว่า และพระราชมารดาของนักองสีหนุ พระนางกุสุมะก็เป็นราชสกุลสีสุวัติด้วย จึงน่าทำให้ไร้ปัญหาด้วยประการทั้งปวง

นักองสีหนุเลยส้มหล่น ได้ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่าสมเด็จพระนโรดมสีหนุ (ความจริงพระนามเต็มยาวกว่านี้มาก)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 เม.ย. 11, 20:19
พระราชชนนีกุสุมะ พระราชธิดาของสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ แม้จะมิได้ทรงเป็นละครแต่ก็โปรดปรานการละครเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงตกต่ำสมัยรัชกาลก่อนๆ ก็ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ค้ำชูให้ละครพระราชทรัพย์ยังคงอยู่ โดยพยายามรักษามาตรฐานให้อยู่ในระดับอันเป็นที่ยอมรับของสังคมเขมรชั้นสูง


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 เม.ย. 11, 20:24
ภาพละครเขมรในสมัยรุ่งเรือง


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 เม.ย. 11, 20:37
เมื่อเริ่มรัชกาลสมเด็จพระนโรดมสีหนุ รัฐบาลวีซีอ้างความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่จะตัดทอนงบประมาณของละครพระราชทรัพย์ที่พระนางกุสุมะทรงกำกับอยู่ลงทั้งหมด กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงตัดสินพระทัยโดยทันทีที่จะจ่ายเงินจำนวน๖๐๐เรียล สำหรับเงินเดือนพวกละครเหล่านี้ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เอง การกระทำของพระองค์ต่อพระราชมารดาได้ส่งผลตอบแทนอันล้ำค่าในกาลข้างหน้า

หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง สมเด็จพระนโรดมสีหนุไม่ใช่เด็กแล้ว ทรงเป็นกษัตริย์หนุ่มชาตินิยมรุนแรง และทรงเป็นเจ้าบทบาท ไม่ยอมนิ่งเฉยเป็นเจว็ดในฐานะพระประมุขแห่งชาติดังที่ฝรั่งเศสต้องการ แต่ทรงมาสวมบทนักการเมืองในแทบจะทุกเรื่องที่สามารถจะนำพาราชอาณาจักรเขมรไปสู่การยอมรับในสังคมโลก ทรงออกรับรองแขกบ้านแขกเมืองที่ไปมาหาสู่ด้วยพระองค์เองราวกับเป็นประธานาธิบดี

สถานการณ์ของโลกหลังสงครามเพียงแต่ระงับความเลวร้ายลงชั่วคราว ความขัดแย้งใหม่กำลังคุกรุ่นขึ้น ประเทศอาณานิคมหลายแห่งลุกจับอาวุธขึ้นต่อสู้เจ้าอาณานิคม ส่อแนวโน้มว่าในที่สุดแล้วอังกฤษและฝรั่งเศสอาจต้องปล่อยบรรดาเมืองขึ้นให้เป็นอิสระ แต่คนเขมรไม่ต้องการให้ประเทศของตนไปรวมอยู่กับญวนเป็นโคชินไชน่า เหมือนพม่าซึ่งอังกฤษจับบรรดาอดีตราชอาณาจักรน้อยใหญ่ที่เชื้อชาติวัฒนธรรมต่างกันไปรวมไว้ จนเป็นปัญหามาจนทุกวันนี้  ในขณะเดียวกัน เขมรก็ไม่ต้องการภาพพจน์การเป็นเบี้ยล่างของไทยด้วย

ผมเอาข้อความเล็กๆตอนนี้มาลงให้อ่านดู


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 เม.ย. 11, 20:39
คำแปล

ทฤษฎีที่ว่านาฏศิลป์สยามได้รับอิทธิพลมาจากเขมรได้รับการเสริมด้วย(ข้อเขียน)ของนายแมคโดนัล (ข้าหลวงใหญ่ของสหราชอาณาจักรประจำอุษาคเนย์ 2491) ผู้ซึ่งกษัตริย์นโรดมสีหนุทรงร่ายยาวให้ฟังว่า คณะนาฏศิลป์หลวงของเขมรได้ถูกทอดทิ้งอย่างไรตอนที่สยามเข้ายึดพระนครวัต และถูกนำตัวไปยังราชสำนักกรุงศรีอยุธยาในที่สุด ทรงอ้างว่า หลังจากนั้นนาฏศิลป์แบบฉบับของเขมรจึงได้รับการเบิกตัวให้เป็นที่รู้จักในสยาม  ภายใต้เครื่องแต่งกายที่นางละครหลวงจะสวมใส่เครื่องทรงแบบสยามที่หรูเลิศ  นานปีหลังจากนั้น พวกนางรำเหล่านั้นจึงได้กลับคืนสู่พนมเปญและเริ่มรื้อฟื้นนาฏศิลป์ขึ้นใหม่ ด้วยท่าร่ายรำโบราณอันศักดิ์สิทธิ์นับเนื่องมาหลายศตวรรษได้ แต่ทว่าเครื่องแต่งกายยังเป็นแบบที่นำเข้ามาจากสยามอยู่  การยอมรับของนายแมคโดนัลนี้อ้างอิงเอกสารของกษัตริย์สีหนุที่ยังมีข้อขัดแย้ง ในเรื่องเบื้องหลังทางประวัติศาสตร์ ระหว่างอิทธิพลเขมรและสยาม

ในระหว่างรัชสมัยของพระองค์ และภายใต้การสงเคราะห์ของพระนางกุสุมะ พระราชมารดา อิทธิพลของนาฏศิลป์สยามจึงถูกเจือให้จางหายไปด้วยท่ารำที่เน้นๆว่าเป็นแบบเขมร


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 เม.ย. 11, 20:42
ข้อความตอนนี้แสดงให้เห็นว่า แม้รูปลักษณ์ละครเขมรจะดูคล้ายไทยอยู่ แต่ในรัชสมัยของสมเด็จพระนโรดมสีหนุ เขมรก็พยายามอย่างยิ่งที่จะแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ของเขมรแท้ให้ปรากฏในท่าร่ายรำ เริ่มผิดไปจากที่ถ่ายทอดมาจากราชสำนักสยามแล้ว


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 เม.ย. 11, 20:48
เรื่องนี้สมเด็จพระนโรดมสีหนุ ต้องเห็นด้วยแน่นอน เพราะต้องการสร้างความเป็นชาติ เอกลักษณ์ของชนชาติขึ้นมา จึงมีทีท่าที่จะทรงเห็นด้วยทั้งปวง จำได้ว่าหลายปีก่อนรัฐบาลกัมพูชา ออกประกาศให้ชาวบ้านเลิกก่อสร้างสิ่งก่อสร้างที่มีสถาปัตยกรรมอย่างประเทศไทย ให้หันมาสร้างเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมอย่างเขมรกันแทน  และในไทยเองจำได้ว่า รูปหลังธนบัตรฉบับละ ๕๐๐ บาทแบบเก่า ก็มีลักษณะปราสาทหิน วัฒนธรรมเขมรเก่าอยู่ ต่อมาจึงได้เปลี่ยนรูปแบบและรุ่นใหม่ขึ้นแทน  ;)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 เม.ย. 11, 20:50
แล้วความพยายามของเขมรมามาถึงจุดสำเร็จที่สำคัญ

สมเด็จพระนโรดมสีหนุ ทรงมีพระราชธิดากับเจ้าจอม อดีตตัวชูโรงของละครพระราชทรัพย์พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระนางนโรดม บุปผาเทวี

พระนางบุปผาเทวีทรงเกิดมาเพื่อวงการละครเขมรโดยแท้ ตั้งแต่ทรงพระเยาว์แล้วที่ทรงสนพระทัยแต่จะร่ายรำ จึงทรงเป็นหลานรักองค์โปรดของสมเด็จย่า ทรงนำไปประทับอยู่ด้วยกัน แวดล้อมด้วยศิลปินระดับครูในคณะนาฏศิลป์แห่งราชสำนัก เพียงพระชนษาได้๕ขวบก็สามารถออกโรงเป็นดาวเด่นยามพระราชบิดาทรงมีแขกบ้านแขกเมืองมาเยือนยังพระราชสำนักได้แล้ว

แต่เดิม ก็ทรงร่ายรำตามแบบฉบับที่ยังโต้เถียงกันว่าเป็นเขมรหรือสยามอยู่


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 เม.ย. 11, 20:58
เมื่อทรงจำเริญวัยขึ้นเป็นสาว พระนางกุสุมะก็ทรงชุบชีวิตนางอัปสราขึ้นมาร่ายรำใหม่โดยอาศัยพระสรีระและจิตวิญญาณของพระนางบุปผาเทวี หลานสาวผู้สูงศักดิ์นั่นเอง

พระนางกุสุมะทรงเติมเต็มประวัติศาสตร์นาฏศิลป์เขมรที่หายไปแต่ครั้งพระนครวัตล่มสลาย มาให้พระโอรส สมเด็จนโรดมสีหนุ นำไปใช้ประโยชน์ระหว่างการโฆษณาชวนเชื่อกับชาวโลกว่า นาฏศิลป์สยามคือนาฏศิลป์เขมรที่ถูกคนไทยกวาดต้อนไปแล้วอำว่าเป็นของตน
แต่ก่อนแต่ไรมา ฝรั่งจะดูไม่ออกว่าเขมรกับไทยมีท่ารำ หรือขับร้องต่างกันอย่างไร เห็นแต่เครื่องแต่งตัวที่แม้จะคล้ายกัน แต่ก็ดูได้ไม่ยากว่าของใครสวยกว่า อลังการกว่า จะว่าไทยเอาอย่างเขมรรึ เขมรก็มีท่าร่ายรำไม่เหมือนกับหลักฐานที่นครวัตเลยแม้แต่ชุดเดียว แต่พอระบำอัปสราปรากฏกายร่ายรำออกมา ฝรั่งจึงเข้าใจโดยง่ายว่านี่เป็นศิลปวัฒนธรรมแบบเขมรแท้แน่นอนไม่ได้ลอกเลียนไทยมาแน่ เพราะนางอัปสราในภาพแกะสลักหินก็รำอย่างนี้  ระบำอัปสราจึงกลายเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของนาฏศิลป์เขมรอันเก่าแก่สืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณกาลไปในบัดดล ทั้งๆที่เพิ่งจะคิดท่ารำขึ้นมากันสดๆไม่นานนี้ก็ตาม


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 เม.ย. 11, 21:09
สมเด็จนโรดมสีหนุ ทรงใฝ่พระทัยในการนำเสนอระบำอัปสรา ซึ่งร่ายรำโดยพระนางบุปผาเทวี พระราชธิดาในทุกโอกาส รายชื่อVVIPที่เคยทอดพระเนตรหรือมีโอกาสชมระบำนี้ ทั้งในและนอกประเทศเขมร ส่วนหนึ่งก็คือ ประธานาธิบดีไอเซนฮาวเวอร์ เจ้าหญิงมาร์กาเร็ตและลอร์ดสโนวดอน พระราชสวามี ดยุคและดัชเชสแห่งเคนท์ นายพลติโตแห่งยูโกสลาเวีย ประธานาธิบดีเนหรูแห่งอินเดีย นายกรัฐมนตรี จูเอนไล ประธานาธิบดีซูการ์โนแห่งอินโดเนเซีย ประธานาธิบดีซาลส์ เดอ โกล์แห่งฝรั่งเศส และแจกเกอรีน เคเนดี้ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของอเมริกา

ไม่ต้องสงสัย บรรดาผู้ที่มีอิทธิพลของโลกทั้งหมดนี้จะชื่นชมสิ่งที่กษัตริย์เขมรจัดให้พระราชธิดามาร่ายรำเป็นเกียรติเฉพาะตนเพียงใด และพร้อมที่จะรับทุกข้อมูลที่เจ้าภาพต้องการจะให้รับรู้ ระหว่างการแสดง บางคนก็เชื่อมั่นถึงกับนำไปขยายความต่อดังบทความที่ผมแปลมาให้อ่าน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 เม.ย. 11, 21:13

ผลทางการเมืองระหว่างประเทศที่เขมรได้รับในทางอ้อมก็เป็นไปอย่างน่าพอใจ ดูเหมือนเขมรจะได้ทุกสิ่งทุกอย่างตามความต้องการ แต่การเมืองในประเทศกลับไม่เข้าใครออกใคร ในที่สุดเจ้าสีหนุ(เรียกแบบไทยๆ)ที่พยายามจะรวบอำนาจการปกครองไว้ภายใต้พระองค์เพียงผู้เดียวก็โดนทหาร โดยนายพลลอนนอลปฏิวัติด้วยข้อกล่าวหาว่าพระองค์บ้าๆบอๆ อะไรทำนองนี้ ถ้าใครสูงวัยพอที่จะเคยเห็นหนังข่าวเกี่ยวกับเจ้าสีหนุสมัยหนุ่มๆ จะเห็นพระกิริยาท่าทางของพระองค์เสมือนนักแสดง ทั้งการจีบปากจีบคอพูดและท่าทางประกอบ ดูรุกรี้รุกรนชอบกลอยู่ ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลา ได้ดูหนังข่าวของยูซิสเรื่องหนึ่งที่โรงเรียนฉายให้ดูประมาณปีสองพันห้าร้อยต้นๆ เรื่องพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่รื้อฟิ้นขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงพนมเปญ ครั้งนั้นพระโคตื่นคน วิ่งเตลิดเอาไม่อยู่ ในที่สุดต้องใช้พวกข้าราชการมาช่วยกันลากคันไถแทน เจ้าสีหนุก็เลยทรงนอกบท ถอดฉลองพระองค์ชั้นนอกออก เหลือแต่เสื้อกล้าม เสด็จลงมาจับคันไถเอง เดินลุยโคลนยิ้มโบกมือโบกไม้กับประชาชนเบิกบาน คนเขมรชอบอกชอบใจกันใหญ่ แต่ดูแล้วก็เหมือนนักการเมืองไทยกำลังหาเสียงอย่างไงอย่างงั้น


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 เม.ย. 11, 21:34
จำได้ว่ามีคำถามกวน ๆ ที่เด็กถามกันอยู่คำถามหนึ่ง

ถาม : สีอะไรคนไทยเกลียดที่สุด

ตอบ : ก็สีข้างบนที่คุณนวรัตนพูดถึงนั่นแหละ

เหตุผล :  กรณีปราสาทเขาพระวิหาร

 ;)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 เม.ย. 11, 21:36
เจ้าสีหนุเสด็จหนีไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ที่เมืองจีน
เขมรเริ่มเข้าสู่กลียุค

ไม่นานเขมรแดงก็เริ่มก่อหวอดและใหญ่ขึ้น รัฐบาลลอนนอลไม่อาจต้านทานได้ ในที่สุดเขมรแตก สงครามล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างคนเขมรด้วยกันถึงจุดเดือด เขมรแดงทำลายศิลปวัฒนธรรมของชาติหมดสิ้น ฆ่าเพื่อนร่วมแผ่นดินที่มิใช่ฝ่ายตนไปเป็นล้าน ประชาชนชาวเขมรนับแสนคนหนีตายทะลักเข้าไทยตลอดแนวชายแดน สหประชาชาติต้องมาเปิดค่ายผู้อพยพในแผ่นดินไทยให้ชาวเขมรได้พำนักอยู่หลายปี

ในค่ายผู้อพยพเขาอีด่าง อำเภออรัญประเทศ อันเป็นค่ายใหญ่ที่สุดมีคนเขมรรวมกันอยู่หลายหมื่น พวกเขาพยายามดำรงชาติให้อยู่ต่อไปด้วยการสอนภาษาเขมร และถ่ายทอดวัฒนธรรมให้เด็กๆ
ที่นั่น พระนางบุปผาเทวี ในสภาพที่ไม่ต่างกับชาวบ้าน ได้อุทิศเวลาทั้งหมด ถ่ายทอดวิชาการละครให้กับเยาวชนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 เม.ย. 11, 21:48
ขอแทรกนิดครับ เมื่อสองปีที่ผ่านมา กษัตริย์นโรดมสีหมุนี พร้อมด้วยองค์หญิง บุปผา เทวี เสด็จไปยังโรงละครเพื่อชมการแสดงของ Sam Savin และเหล่านักแสดงครับ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 เม.ย. 11, 22:00
จะว่าไป กษัตริย์เขมรแทบทุกพระองค์ทรงมีเลือดศิลปินการลครเข้มข้น สมเด็จนโรดมสีหมุนีก็เป็นนักบัลเลต์เก่า เรื่องระบำรำฟ้อนละก็ ทรงโปรดมาก


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 เม.ย. 11, 22:12
เกิดไม่ทันเจ้าสีหนุตอนท่านยังทรงหนุ่มอยู่  มาเห็นในยูทูปก็รู้สึกว่าท่านทรงหล่อพอเป็นพระเอกได้    แต่เมื่อดิฉันโตเรียนชั้นมัธยม เจ้าสีหนุอยู่ในวัยกลางคนแล้ว   พระวรกายสมบูรณ์ เลยดูว่าท่านอ้วนเตี้ย     แต่กระฉับกระเฉงรวดเร็วแบบ hyperactive   อย่างที่ท่าน NAVARAT เรียกว่าลุกลี้ลุกลนน่ะใช่เลย    
เวลาเสด็จมาพบคนสำคัญทางฝ่ายไทย   กล้องทีวีจับเห็นท่านทักทายแบบฝรั่งเศส คือจับไหล่และจุ๊บแก้มผู้ชายด้วยกัน     แต่ก็มีหลายครั้งท่านก็เขย่ามือแรงๆหลายครั้งกว่าจะปล่อย   หน้าตายิ้มแป้นดีอกดีใจ    ท่านไม่ใช่คนวางฟอร์ม    ดูเป็นกันเองเอามากๆ ไม่เคยเห็นประมุขชาติไหนที่มีบุคลิกซ้ำกับท่าน   ส่วนใหญ่จะวางภูมิให้รู้ว่าฉันใหญ่
เจ้าสีหนุเป็นประมุขของต่างชาติที่คนไทยเห็นบ่อยกว่าเพื่อน      จำได้รางๆว่าท่านมาประเทศไทยหลายครั้ง  ผู้ใหญ่เล่าว่าท่านเคยลี้ภัยการเมืองหรือว่าทรงหลบมากู้ชาติ หรืออะไรสักอย่างในประเทศไทยนี่เองก่อนจะกลับไปกัมพูชา   แล้วก็มีเรื่องเสด็จมาเยือนในฐานะแขกเมืองหรือแขกรัฐบาล หลายครั้ง    เมื่อเกิดกรณีเขาพระวิหาร  ไทยเป็นฝ่ายแพ้   คนไทยเลยไม่ชอบท่าน   แต่คนเขมรในยุคของท่านรักและเคารพท่านมาก
ทราบมาว่าท่านทรงเป็นศิลปิน  มีผลงานด้านแต่งเพลง เป็นที่นิยมในพนมเปญ
 
คลิปนี้มีชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศส  แปลเป็นไทยว่า เก้าชีวิตของเจ้านโรดมสีหนุ ค่ะ  เปิดดูไปก็จะเห็นลีลาและบุคลิกของท่าน ตั้งแต่หนุ่มจนแก่

http://www.youtube.com/watch?v=G5nmYtFAuVo


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 เม.ย. 11, 22:16
ตัวจริงมากระแอ้มๆข้างหลืบหลายครั้งแล้ว
ก่อนเข้าโรง เอาภาพค่ายเขมรอพยพที่เขาอีด่างมาให้ดู

คนเขมรก็ฆ่าเวลาด้วยการละเล่นพื้นบ้านตามถนัด ให้หายคิดถึงบ้าน
โรงเรียนก็มีมากแห่ง บางแห่งก็สอนการร่ายรำที่ไม่เหมือนกับละครหลวงที่พระนางบุปผาเทวีทรงสอนเสียทีเดียว

คราวหน้า ผมจะสลับฉากว่า หลังนาฏศิลป์เขมรรอดพ้นจากการทำลายล้างของเขมรแดงแล้ว เขากลับขึ้นสู่เวทีโลกได้อีกอย่างไร


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 เม.ย. 11, 22:39
ความเชื่อในเรื่องการแต่งงานในตระกูลที่ใกล้ชิดกันของราชวงศ์กัมพูชาโดยสายเลือดนั้นก็เพื่อรักษาตระกูลของตนเองไว้ โดยราชนิกูลนโรดม หรือราชนิกูลศรีสวัสดิ์มักแต่งงานในราชนิกูลเดียวกัน แม้นายพลลอนนอล จะเคยตำหนิว่า “เจ้าสีหนุทรงเป็นบ้า” เพราะการแต่งงานในตระกูลที่ใกล้ชิดกัน แต่ก็มีนายแพทย์ประจำราชสำนัก (นายแพทย์อาร์มังค์ริช) ยืนยันตรงกันข้ามว่า กษัตริย์เขมรนั้นมีการเปลี่ยนสายเลือดใหม่ในตระกูลของพระองค์เพราะการรับเอาคนสามัญชนมาเป็นนางสนม

“ข้าพเจ้าได้ใช้หลักนี้ แล้วเจ้าหญิงบุปผาเทวี พระธิดาของข้าพเจ้าก็เป็นผลผลิตของการที่ข้าพเจ้าได้จากนางสนมที่เป็นนางละครรำประจำราชสำนัก”

พระบิดาของเจ้าสีหนุทรงเป็นครูดนตรีในราชสำนัก สามารถเล่นขลุ่ย แซ็คโซโฟน และเขียนโน้ตเพลงได้ ท่านชอบงานด้านบันเทิงศิลป์ แม้ว่าท่านปู่ (เจ้าชายสุธารส) ทรงเป็นนักปรัชญาฝ่ายพุทธศาสนา เป็นนักภาษา พระบิดาจึงอยากให้เจ้าสีหนุเรียนไวโอลิน “เพื่อให้วงออเคสตร้าน้อย ๆ ในครอบครัวได้ครบวง” แต่เจ้าสีหนุนั้นกลับชอบเล่นแซคโซโฟนและคลาริเนตมากกว่า

ในราชสำนักกัมพูชาได้มีการรำละครหลวง โดยมีแบบอย่างการร้องรำและมีการนำครูละครรำมาจากราชอาณาจักรสยาม พระเจ้ามณีวงศ์ (คุณตา) จึงทรงแต่งบทเพลงบรรเลงประกอบละครหลวง เพื่อ “กลับทำให้เป็นเขมร”

จากบล็อกของคุณศรีวิไล นิวัชระ

http://www.oknation.net/blog/nn1234/2009/12/16/entry-1



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 เม.ย. 11, 07:56
เอารูปพระนางบุปผาเทวี นางระบำอัปสราตัวแม่สมัยยังสาวๆมาให้ดูอีก

เจ้าสีหนุถือพระองค์เป็นผลผลิตที่ได้จากสนมที่เป็นนางละครประจำราชสำนัก และภูมิใจในฝีมือการผลิตของท่านมาก
.
.
เฮ้อออ สมัยเด็กๆที่ท่านอยู่กับสมเด็จย่า มีสิทธิ์พบพ่อได้อาทิตย์ละครั้งเท่านั้น :-\


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: Ptikky ที่ 07 เม.ย. 11, 08:29
เข้ามานั่งเอี้ยมเฟี้ยมรอฟังต่อ ด้วยความสนุกสนานค่ะ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 เม.ย. 11, 10:06
ตอนนี้ ท่านโต้โผใหญ่อินเทอร์มิชชั่นไปอีกรอบหนึ่งแล้ว      ดิฉันก็ต้องเปิดรายการสลับฉากหน้าม่านไปพลางๆก่อน  ไม่ให้คนดูลุกออกจากโรง
คือเรื่องพระประวัติอันมีสีสันยากจะหาประมุขของประเทศใดเทียบได้ ของเจ้านโรดม สีหนุ
แต่คงจะไม่เล่ารวดเดียวจบ  เพราะยาวมาก    ถ้าท่านโต้โผใหญ่กลับมาเล่าระบำอัปสราเมื่อไร   ก็จะหยุดฉายวิดีโอเรื่องเจ้านโรดมสีหนุชั่วคราว

หมายเหตุ : พระนามเจ้านายเขมรในที่นี้   ถอดจากคำอังกฤษบ้าง และไทยบ้างแล้วแต่จะหาได้   เพราะในตำราและเว็บหลายแห่งสะกดไม่เหมือนกัน   ถ้าหากว่าผิดพลาด   ผู้รู้จะช่วยแก้ให้ด้วยก็จะขอบคุณมาก


(http://www.portalestoria.net/images%2027/cambodia-Sihanouk.jpg)

เจ้านโรดมสีหนุไม่ได้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสีสวัสดิ์ พระเจ้าแผ่นดินเขมร   แต่เป็นหลานตาที่เกิดจากพระราชธิดา   ชื่อเจ้าหญิงสีสวัสดิ์ กุสุมะ      พระบิดาทรงพระนามว่าเจ้าชายนโรดม สุรามฤต  เป็นพระญาติ อยู่ในราชวงศ์สมเด็จนโรดม ซึ่งเป็นกษัตริย์เขมรในอดีตอีกพระองค์หนึ่ง  เกี่ยวพันกับไทยอย่างไรก็คงได้อ่านกันในกระทู้นี้แล้ว

เสด็จพ่อของเจ้าชายสุรามฤต หรือเสด็จปู่ของเจ้าสีหนุ  ชื่อเจ้าชายสุทธารส   พระองค์และเจ้าหญิงพงางามผู้เป็นย่าของเจ้าสีหนุเคยอยู่ในสยามมาก่อน       ทั้งสององค์เป็นพระโอรสธิดาของสมเด็จนโรดม   เกิดจากหม่อมมารดาที่เป็นคนไทย      
หม่อมเอี่ยม แม่ของเจ้าชายสุทธารสนั้นอยู่ในสกุลอภัยวงศ์  เป็นหลานลุงของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์    ส่วนหม่อมแม่ของเจ้าหญิงพงางามชื่อนวล  ไม่แน่ว่าเป็นสาวเขมรหรือสาวไทย  แต่ฟังจากชื่อน่าจะเป็นคนไทย

พระเจ้าสีสวัสดิ์มีพระราชโอรสอยู่ในฐานะรัชทายาทสืบบัลลังก์เขมรก็จริง   แต่กระทำองค์ไม่เป็นที่ถูกใจฝรั่งเศสซึ่งกุมอำนาจเหนือเขมรอีกที    ส้มก็เลยมาหล่นที่หลานตา   ซึ่งขณะที่พระเจ้าสีสวัสดิ์สวรรคต   เจ้าชายหนุ่มน้อยอายุเพิ่ง ๑๘-๑๙ ปี    เรียนจบโรงเรียนฝรั่งเศสที่ไซ่ง่อนแล้วไปเรียนวิชาทหารต่อที่ปารีส     แต่ก็ยังไม่ทันเรียนจบก็ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมรเสียก่อน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 เม.ย. 11, 11:23
อ.เทาชมพูครับ ผมขอส่งแผนผังพระราชวงศ์กษัตรย์กัมพูชาให้ได้ชมกันครับผม


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 เม.ย. 11, 18:55
^
ขอบคุณค่ะ
*******************
ฝรั่งเศสยังไม่รู้จักเจ้าสีหนุดีพอ  จึงประมาทว่าเด็กหนุ่มอายุ ๑๘ คงไม่มีปัญญาพอจะทำอะไรได้มากกว่าสวมหัวโขนพระราชาไปวันๆ     แต่ที่ไหนได้  เด็กหนุ่มคนนี้มีความทะเยอทะยานและใฝ่ฝันอย่างแรงกล้า  ที่จะทำอะไรมากไปกว่าเป็นหุ่นเชิดของเจ้าอาณานิคม  และสิ่งที่ทำนั้นก็เพื่อพระราชอาณาจักรของพระองค์โดยตรง
ด้วยเหตุนี้   พระเจ้านโรดมสีหนุ จึงไม่มีความจงรักภักดีต่อฝรั่งเศสอย่างที่ฝรั่งเศสหลงคิด   แต่พระองค์ก็รู้จักสโลแกน "การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร"   ตั้งแต่ก่อนสโลแกนนี้จะเกิดเสียอีก    คือรู้จักดำเนินนโยบายเหยียบเรือสองแคม  คือพร้อมจะเป็นมิตรกับฝ่ายไหนก็ได้ที่ให้ประโยชน์และผลดีกับกัมพูชาสูงสุด

หลังจากครองราชย์ในปี 1941 สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ระเบิดขึ้น    กัมพูชาเป็นอีกประเทศในเอเชียอาคเนย์ที่ถูกญี่ปุ่นบุกยึดเหมือนกัน   ด้วยข้ออ้างว่าจะมาปลดแอกจากจักรวรรดินิยมตะวันตก    ในเมื่อได้ยินอย่างนี้   แม้ว่าจะเป็นการปลดแอกจากฝรั่งเศสโดยมีแอกของญี่ปุ่นสวมแทน   พระเจ้าสีหนุก็ถือว่าอย่างน้อยก็ปลดแอกเดิมออกไปก่อน ให้หมดไปเรื่องหนึ่ง    ดีกว่าไปขัดใจญี่ปุ่นให้ประเทศย่อยยับไปเปล่าๆ แล้วไม่ได้อะไรขึ้นมาสักอย่างเดียว      พระองค์จึงสนับสนุนให้ประชาชนกัมพูชาเดินขบวน  เรียกร้องอิสรภาพจากฝรั่งเศสอย่างรุนแรง   ประชาชนเขมรก็ลุกฮือขึ้นต่อต้านฝรั่งเศสและเป็นมิตรกับญี่ปุ่น   ประกาศตนเป็นอิสระจากฝรั่งเศส

สงครามโลกจบลงแบบพลิกล็อคจากตอนต้น  ด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น   ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายพันธมิตร ได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะ     ก็กลับมายึดอำนาจเหนือกัมพูชาไว้ตามเดิม  พระเจ้าสีหนุก็ดำเนินนโยบายลู่ตามลม  กลับไปคืนดีกับฝรั่งเศส   ถึงกับยินยอมลงพระนามในสัญญาให้ฝรั่งเศสดูแลนโยบายด้านการต่างประเทศของกัมพูชาต่อไป ทำให้ประชาชนชาวกัมพูชาเคืองพระองค์ไปพักใหญ่
แต่ถ้ามองอย่างไม่ถือคติชาตินิยมแล้วก็น่าเห็นใจพระเจ้าสีหนุ   เพราะพระองค์จะเอาอะไรไปสู้กับฝรั่งเศส  เปลืองเลือดเนื้อของประชาชนและเสี่ยงต่อบัลลังก์ของพระองค์เองโดยใช่เหตุ     ประนีประนอมเอาไว้ปลอดภัยกว่า    ส่วนเรื่องอื่นๆก็คอยจังหวะให้ดี มันคงจะมาถึงในสักวันหนึ่ง

(http://zul.lakesideschool.org/lswiki/images/4/44/Norodom.jpg)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 เม.ย. 11, 19:25
หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง   กัมพูชาเริ่มเข้าสู่ระบอบการปกครองสมัยใหม่ คล้ายๆประชาธิปไตย   คือปี ค.ศ. 1947 มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ    ที่ว่าคล้ายก็คือพระเจ้าสีหนุก็ยังเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมรต่อไป   พร้อมกับรวบอำนาจในการบริหารมาไว้ในกำมือได้อีกด้วย
ด้วยวิธีเหยียบเรือสองแคม คือเหยียบทั้งระบบรัฐสภา และระบบราชาธิปไตย   ทำให้ในปีค.ศ. 1950 พระเจ้าสีหนุ ก็ทรงได้อำนาจสูงสุดทั้งสองแบบ คือนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของประเทศควบไปกับนั่งบัลลังก์กษัตริย์  
อย่างไรก็ตาม  การปกครองแบบนี้อาจเป็นที่ไม่ถูกใจนักการเมืองเขมรนัก   จึงปรากฏผลว่าเมื่อมีเลือกตั้ง ในปี ค.ศ. 1951 เกิดผิดคาด พรรคประชาธิปไตยของเขมรได้รับคะแนนเสียงข้างมาก กลายเป็นรัฐบาล    อำนาจไปอยู่ในมือนักการเมือง แทนที่จะอยู่กับพระเจ้าสีหนุ

พระเจ้าสีหนุหันไปขอความร่วมมือจากมิตรเก่าคือฝรั่งเศส ปีต่อมาคือ 1952 พระองค์ก็ประกาศยุบสมัชชาแห่งชาติในพนมเปญซึ่งอยู่ภายใต้พรรคประชาธิปไตยลง   เท่านั้นยังไม่พอ  ทรงประกาศใช้กฎอัยการศึก  และยึดอำนาจกลับมาไว้ในมือโดยตรง   นักการเมืองเขมรก็ตกงานไปตามๆกัน  

อย่างไรก็ตาม  อย่างที่บอกแล้วว่า ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร   ทั้งๆฝรั่งเศสหนุนหลังพระองค์ให้กลับมามีอำนาจเบ็ดเสร็จอีกครั้ง  พระเจ้าสีหนุก็มองเห็นการเมืองระหว่างประเทศว่าฝรั่งเศสกำลังสะบักสะบอมจากทำสงครามกู้ชาติกับเวียตนาม ที่เดียนเบียนฟู
ถือว่าเป็นการสิ้นสุดของยุคอาณานิคม    ฝรั่งไม่สามารถครอบงำอินโดจีนได้อีกต่อไปอย่างเมื่อก่อน    
สิ่งที่พระเจ้าสีหนุใฝ่ฝันคือพาประเทศให้รอดพ้นจากการอยู่ใต้อำนาจของประเทศอื่น ก็ฉายแววขึ้นมาว่าจะเป็นจริง   พระองค์ก็ทรงรุกหนักขึ้นมาทันที     เรียกร้องเอกราชให้กัมพูชา ด้วยวิธีการต่างๆ   ได้ผลไม่ได้ผลก็ทรงเรียกร้องอย่างหนัก ไม่มีการย่อท้อ

ในที่สุด ก็ได้ผล   กัมพูชาได้รับอิสรภาพเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1953   พระองค์จึงทรงได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนอย่างสูงสุดในฐานะวีรบุรุษผู้ประกาศเอกราชให้กัมพูชา

(http://photo.e-khmer.net/16/images/a68bc391da7c3df040a8a2a85fb918630.jpg)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 เม.ย. 11, 20:43
    ถ้าจะถามว่าดาราที่ครองพื้นที่บนเวทีการเมืองเขมร นอกจากพระเจ้าสีหนุแล้วมีใครอีก    ก็จะได้คำตอบว่ามี ๒ คน ซึ่งต่อมามีบทบาทแถวหน้าในประวัติศาสตร์การเมืองเขมรทั้งคู่
    คนแรกชื่อนายซัน ง็อก ทันห์  (Son Ngoc Thanh)คนเขมรที่เกิดในเวียตนาม และต่อมาได้ไปศึกษากฎหมายที่ปารีส   กลับมาทำงานในกัมพูชา   เขาเป็นแอ็คติวิสต์   ต่อต้านฝรั่งเศส  ต่อมาก็เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์หัวเอียงญี่ปุ่น   เมื่อญี่ปุ่นบุกกัมพูชาก็ตั้งเขาขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี    นายซัน ง็อก ทันห์ มีนโยบายเรียกร้องเอกราชอย่างเปิดเผย    พระเจ้าสีหนุก็ทรงเห็นด้วยในข้อนี้  
    แต่เมื่อสงครามโลกจบด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น    ซัน ง็อก ทันห์ จึงกลายเป็นเชลยร่วมกับญี่ปุ่น  ถูกจับและถูกเนรเทศออกนอกประเทศ    พรรคพวกของเขาก็หนีไปอยู่ที่จังหวัดพระตะบอง และเสียมราฐ   แล้วร่วมมือกันตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ในนาม พรรคประชาธิปไตย (The Democratic Party)
    อย่างที่บอกไว้ในค.ห.ข้างบนนี้ว่าพระเจ้าสีหนุกลับลำ ยอมเซ็นสัญญาให้ฝรั่งเศสดูแลนโยบายด้านต่างประเทศของกัมพูชาต่อไป ทำให้ชาวกัมพูชาจำนวนมากไม่พอใจ
    นาย ซัน ง็อก ทันห์ ได้รับอิสรภาพเมื่อค.ศ. 1951 เขาก็คืนกลับเมืองมาสมัครเป็นส.ส.  กลายมาเป็นความหวังใหม่ของประชาชน  พรรคประชาธิปไตยจึงได้คะแนนข้างมาก กลายมาเป็นเสี้ยนหนามชิ้นใหญ่    พระเจ้าสีหนุจึงยุบสภา กวาดล้างการเมืองเสียเรียบ     โดยมีฝรั่งเศสหนุนหลังให้พระองค์ครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ      ทำให้นักศึกษากัมพูชาหัวรุนแรง ที่อยู่ในฝรั่งเศส โกรธแค้นมากจนถึงขั้นแสดงออกอย่างเปิดเผยว่าแอนตี้เจ้า
      หนึ่งในนั้นคือ พอล พต ผู้นำเขมรแดง (Khmer Rouge) เขาเขียนโจมดีระบบศักดินาในกัมพูชาอย่างรุนแรง จนถูกงดทุนการศึกษา  กลับกัมพูชาในปีต่อมา ทั้ง ๆ ที่เรียนค้างอยู่

ซัน ง็อก ทันห์ หน้าตาเป็นอย่างนี้

(http://khmerkromngo.org/heroes/pop/sonNgocThanh.jpg)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 เม.ย. 11, 20:45
ส่วนนักศึกษาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ที่ปารีส ชื่อ พอล พต  หน้าตาเป็นอย่างนี้

(http://www.toptenthailand.com/images/rank/r_10003.jpg)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 เม.ย. 11, 21:26
บทบาทของนศ.เขมรในฝรั่งเศสนั้นไม่เบาเลยตั้งแต่แรก   เมื่อพระเจ้าสีหนุประกาศยุบสมัชชาแห่งชาติ และรวบอำนาจกลับเข้าพระองค์เอง   กลุ่มปัญญาชนปารีสก็ออกโรงต่อต้านทันที   ออกแถลงการณ์วันที่ 6 กรกฎาคม ประณามการกระทำของพระองค์และเรียกร้องถึงขั้นให้สละราชสมบัติ
พอล พต เขียนบทความชื่อ “ราชาธิปไตยหรือประชาธิปไตย?” (Monachy or Democracy?) ลงในนิตยสารสำหรับนักศึกษาชาวกัมพูชา ฉบับพิเศษ  โจมตีพระเจ้าสีหนุ    พวกนี้ก็เลยโดนเรียกกลับประเทศ และฝรั่งเศสสั่งปิดสมาคมนักศึกษาเขมรในปีต่อมา

แต่นศ.พวกนี้ก็ไม่ยอมแพ้  ไม่กี่ปีต่อมา ฮู ยวน และเขียว สัมพันธ์ (ผู้นำเขมรแดงอีกคนหนึ่ง)ก็ก่อตั้งกลุ่มใหม่ขึ้นมา ใช้ชื่อว่า “สหภาพนักศึกษาเขมร” (Khmer Students' Union) แนวความคิดมุ่งไปทางด้านมาร์กซิสม์


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 เม.ย. 11, 08:50
ปล่อยให้เจ้าสีหนุท่านพักสักครู่
ผมขอสลับฉากไปเรื่องลครใหม่

ครูบาอาจารย์ของผมเคยกล่าวให้ฟังว่า “ศิลปะเป็นของไหลได้” งานที่ดีๆจึงมักจะถูกหยิบยืมไปใช้ ในลักษณะของการต่อยอดบ้างการเลียนแบบบ้าง ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำใจ

ลองดูปฎิมากรรมโบราณของอินเดีย ที่ไหลไปเป็นเขมร
(แต่รูปตัวอย่างศิลปวัตถุเขมรข้างล่างอาจดูปลอมๆไปหน่อยนะครับ)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 เม.ย. 11, 08:57
นาฏศิลป์อินเดีย ที่กลายเป็นนาฏศิลป์เขมร


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 เม.ย. 11, 09:04
ระบำเนียงอัปสราของเขมร จึงกลายมาเป็นระบำนางอัปสรของไทย ด้วยลักษณาการข้างต้น
ที่เอามาให้ชมนี้ ไม่ได้ต้องการจะวิจารณ์ แต่เอามาให้ดูเป็นตัวอย่างเพื่อประกอบคำกล่าวครูบาอาจารย์ของผม

แรกเริ่มเลย ก็โดยกรมศิลปากรแหละครับ

ระบำลพบุรี เป็นระบำโบราณคดีเพลงหนึ่ง เกิดขึ้นโดยเลียนแบบลักษณะท่าทางของเทวรูป ภาพเขียน ภาพแกะสลัก รูปปั้น รูปหล่อโลหะและภาพศิลาจำหลัก-ทับหลังประตู ตามโบราณสถาน ที่ขุดพบในสมัยลพบุรี ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๙ ศิลปวัตถุโบราณประเภทนี้อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ปราสาทหินพิมาย ในจังหวัดนครราชสีมาพระปรางค์สามยอดลพบุรี แล้วนำมากำหนดยุดสมัยตามความเก่าแก่ของโบราณสถานและโบราณวัตถุ แล้วมาสร้างเป็นระบำสมัยนั้นขึ้น ลีลาท่าทางของศิลปวัตถุเป็นภาพนิ่ง(ท่าตาย) เหมาะเป็นท่าเทวรูปมากกว่า เมื่ออาศัยหลักทางด้านนาฎศิลป์เข้ามาดัดแปลงเป็นท่ารำ ทำให้มีความอ่อนช้อย สวยงาม ผู้ประดิษฐ์ท่ารำ คือ ครูลมุล ยมะคุปต์ ร่วมด้วยครูเฉลย ศุขะวณิช ผู้เชี่ยวชาญนาฎศิลป์ไทย กรมศิลปากร

รายละเอียด โปรดตามดูในเวป

http://sites.google.com/site/ajanthus/raba-borankhdi/raba-lphburi


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 เม.ย. 11, 09:09
และต่อมาก็บรรดาวิทยาลัยนาฏศิลป์ต่างๆแถวอิสาน ก็เสริมจินตนาการท้องถิ่นเข้าไปอีก


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 09:16
ครูบาอาจารย์ของผมเคยกล่าวให้ฟังว่า “ศิลปะเป็นของไหลได้” งานที่ดีๆจึงมักจะถูกหยิบยืมไปใช้ ในลักษณะของการต่อยอดบ้างการเลียนแบบบ้าง ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำใจ

เรื่องนี้จริงแท้แน่นอน

จากเขมรไหลสูสุรินทร์

http://www.youtube.com/watch?v=yjlgzlHvftk&feature=related

ไหลสู่มหาสารคาม

http://www.youtube.com/watch?v=fr27ZF9dcwY&feature=related

จนถึงสระแก้ว

http://www.youtube.com/watch?v=bW-W9x6lUzs

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 เม.ย. 11, 09:17
นี่นางอัปสรของไทยคนนี้ ปางอะไรไม่แจ้ง แต่เล่นเอาเนียงอัปสราจืดไปเลย


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 09:36
นี่นางอัปสรของไทยคนนี้ ปางอะไรไม่แจ้ง แต่เล่นเอาเนียงอัปสราจืดไปเลย

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4316.0;attach=18116;image)

ไหลมาจาก เขมร มาผสมกับ จีน

ระบำกวนอิมพันกร
http://www.oknation.net/blog/swongviggit/2009/11/30/entry-1

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/863/12863/images/Donation/SriSungWan/KueanUim1000Heand/01.jpg)

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 เม.ย. 11, 09:56
^
เยี่ยม


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 10:18
ท่ากวนอิมพันกร  มาจากศิวะนาฏราชหรือเปล่า

(http://www.hinduthai.com/siamganesh/dataphotoshiva/picture/0035_0.gif)


ซึ่งเขมรรับมาอีกที

(http://www.tonkeian.com/images/1145429587/92740024.jpg)

จากนั้นก็ไปจีน เป็นรำเจ้าแม่กวนอิมพันมือ

(http://news.mediathai.net/newsImages/200911/ImageNews/newsSRC-78c8a28097.jpg)
กลายเป็นนาฏอัปสราของไทย

(http://touronthai.com/gallery/photo/49001008/t4phanomrung94.jpg)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 10:41
กวนอิมพันกรของจีน ก็ไหลมาจาก พระสหัสภุชสหัสเนตรอวโลกิเตศวรของอินเดีย นั่นเอง

(http://buddhayan.com/picshow/1242385433guanyin.jpg)

คุณวิกกี้ (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%A8%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C) อธิบายไว้ว่า

พุทธศาสนิกชนชาวจีนจะรู้จักพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ในพระนามว่า กวนซีอิม หรือ กวนอิม ซึ่งก็มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่าอวโลกิเตศวรในภาษาสันสกฤต คือผู้เพ่งสดับเสียงแห่งโลก แต่โดยทั่วไปแล้วมักให้อรรถาธิบายเป็นใจความว่าหมายถึง พระผู้สดับฟังเสียงคร่ำครวญของสัตว์โลก (ที่กำลังตกอยู่ในห้วงทุกข์) คำว่ากวนซีอิมนี้พระกุมารชีวะชาวเอเชียกลางผู้ไปเผยแผ่พระศาสนาในจีนเป็นผู้แปลขึ้น ต่อมาตัดออกเหลือเพียงกวนอิมเท่านั้น เนื่องจากคำว่าซีไปพ้องกับพระนามของ จักรพรรดิถังไท่จง หรือ หลีซีหมิง นั่นเอง

พระสหัสภุชสหัสเนตรอวโลกิเตศวร

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรพันหัตถ์พันเนตรรูปเคารพของพระอวโลกิเตศวรมีอยู่หลายปาง ทั้งภาคบุรุษ ภาคสตรี ไปจนถึงปางอันแสดงลักษณาการที่ดุร้าย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการปราบมารคือสรรพกิเลส แต่ปางที่สำคัญปางหนึ่งคือปางที่ทรงสำแดงพระวรกายเป็นพันหัตถ์พันเนตร ซึ่งมีเรื่องราวปรากฏในพระสูตรสันสกฤตคือ สหัสภุชสหัสเนตรอวโลกิเตศวรโพธิสัตวไวปุลยสัมปุรณอกิญจนมหากรุณาจิตรธารณีสูตรมหากรุณามนตร์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า มหากรุณาธารณีสูตร (大悲咒) นำเข้าไปแปลในจีนโดยพระภควธรรมชาวอินเดีย ในสมัยราชวงศ์ถัง ได้กล่าวถึงบทสวดธารณีแห่งพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ คือ “มหากรุณาหฤทัยธารณี” เนื้อหากล่าวถึงเมื่อครั้งที่พระศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โปตาลกะบรรพต ในกาลนั้นพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ได้ขอพุทธานุญาตแสดงธารณีมนตร์อันศักดิ์สิทธิ์ไว้เพื่อเป็นที่พึ่งแก่สรรพสัตว์ ซึ่งธารณีนี้ย้อนไปในครั้งกาลสมัยของพระพุทธเจ้านามว่าพระสหัสประภาศานติสถิตยตถาคต พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นได้ตรัสธารณีนี้แก่พระอวโลกิเตศวร และตรัสว่า “สาธุ บุรุษ เมื่อเธอได้หฤทัยธารณีนี้ จงสร้างประโยชน์สุขสำราญแก่สัตว์ทั้งหลายในกษายกัลป์แห่งอนาคตกาลโดยทั่วถึง”

ตามเนื้อความของพระสูตรได้กล่าวว่า ในขณะนั้น เมื่อพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ได้สดับมนตร์นี้แล้ว ก็ได้บรรลุถึงภูมิที่ ๘ แห่งพระโพธิสัตว์เจ้า จึงได้ตั้งปณิธานว่า “ในอนาคตกาล หากข้าพเจ้าสามารถยังประโยชน์สุขแก่สรรพสัตว์ได้ ขอให้ข้าพเจ้ามีพันเนตรพันหัตถ์ในบัดดล” เมื่อท่านตั้งปณิธานดังนี้แล้ว พลันก็บังเกิดมีพันหัสถ์พันเนตรขึ้นทันที และเพลานั้นพื้นมหาพสุธาดลทั่วทศทิศก็ไหวสะเทือนเลื่อนลั่น พระพุทธเจ้าทั้งปวงในทศทิศก็เปล่งแสงโอภาสเรืองรองมาต้องวรกายแห่งพระโพธิสัตว์ และฉายรัศมีไปยังโลกธาตุต่าง ๆ อย่างปราศจากขอบเขต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า เนื่องจากปณิธานอันยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ หากเหล่ามนุษย์และทวยเทพ ตั้งจิตสวดมหากรุณาธารณี มนตร์นี้คืนละ ๗ จบ ก็จะดับมหันตโทษจำนวนร้อยพันหมื่นล้านกัลป์ได้ หากเหล่ามนุษย์ทวยเทพสวดคาถามหากรุณาธารณีนี้ เมื่อใกล้ชีวิตดับ พระพุทธเจ้าทั้ง ๑๐ ทิศจะยื่นพระกรมารับให้ไปอุบัติในพุทธเกษตรทุกแห่ง

จากเรื่องราวในพระสูตรนี้ทำให้เกิดการสร้างรูปพระโพธิสัตว์พันหัตถ์พันเนตร อันแสดงถึงการทอดทัศนาเล็งเห็นทั่วโลกธาตุและพันหัสต์แสดงถึงอำนาจในการช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ บทสวดในพระสูตรนี้เป็นภาษาสันสกฤตผสมภาษาท้องถิ่นโบราณในอินเดีย ที่หลงเหลือมาในปัจจุบันมีหลายฉบับที่ไม่ตรงกัน ทั้งในฉบับทิเบต ฉบับจีนซึ่งมีทั้งของพระภควธรรม พระอโมฆวัชระ ฯลฯ ต่อมาได้มีการค้นคว้าและปรับปรุงให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์โดย Dr.Lokesh Chandra และตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. ๑๙๘๘ เป็นบทสวดสำคัญประจำองค์พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ที่พุทธศาสนิกชนมหายานสวดกันอยู่โดยทั่วไป

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 เม.ย. 11, 10:43
เทคนิคกวนอิมพันมือจากจีนซึ่งไหลลงมายังนาฏศิลป์ไทยประยุกต์ครับ บรรดาเทพเจ้าทางจีนไม่ค่อยพบว่ามีหลายมือเท่าไร มีแต่เจ้าแม่กวนอิม ปางแสดงปฏิหารย์เท่านั้นที่มีมากถึงพันมือ แม้ว่าพระพุทธศาสนาและฮินดูจะไหลเข้าทางจีนด้านตะวันตก แต่จีนก็ไม่ค่อยมีเทพเจ้า ๔ กร เลยนะครับ คงไม่ถูกใจคนจีนเท่าไร

ไม่เหมือนวัฒนธรรมอินเดียที่ไหลลงทางใต้ สู่อินโดนิเซีย กัมพูชา ไทย ลาว รับมาเยอะมาก


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 10:58
ระบำกวนอิมพันกร
http://www.oknation.net/blog/swongviggit/2009/11/30/entry-1

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/863/12863/images/Donation/SriSungWan/KueanUim1000Heand/01.jpg)

 ;D

อยากให้ดูในคลิปว่ายอดเยี่ยมเพียงใด

http://www.youtube.com/watch?v=9FdEKzOnoGc&feature=related

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 เม.ย. 11, 11:00
ท่ารำของเนียกอัปสราต้นฉบับที่บันทึกเป็นปฏิมากรรมในก้อนหินที่นตรวัต บวกกับท่ารำของเขมรที่ออกจะโด่งก้นไปข้างหลังอย่างมีเสน่ห์ ทำให้ผมนึกถึงท่ารำของบาหลี ที่นั่นก็รับศิลปวัฒนธรรมฮินดูไว้เต็มที่และยังคงสืบมาจนทุกวันนี้

ท่ารำมีอะไรคล้ายๆกันอยู่ ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่วิวัฒนาการไปตามกาลสมัย แต่อย่าลืมนะครับ เมื่อสักร้อยปีมานี่ สาวๆบาหลียังนิยมเปลือยอก ไม่สวมเสื้อกันอยู่เลย ระบำTari Kreasi Penyambutan Dara Dewi สมัยนั้นคงจะคล้ายระบะอัปสรา ครั้งที่รุ่งเรืองในราชสำนักของพระเจ้าชัยวรมันไปใหญ่


http://www.youtube.com/watch?v=GxGHUBSIPZg&feature=related


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 11:06
^
^

http://www.youtube.com/watch?v=GxGHUBSIPZg&feature=related

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 เม.ย. 11, 11:15
^
ประมาณนาทีที่1.56
มีเพลง "ของๆใคร ของใครก็ห่วง" ที่คุณชายถนัดศรีนำมาร้องด้วยแฮะ ???


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 11:25
เพลงหวงรัก คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์ ทำนองจากเพลงไทยเดิมชื่อ "ลาวเจ้าซู"  บันทึกเสียงครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๐๓
 
http://www.youtube.com/watch?v=6CLbwuMijf4

ฤๅทำนองเพลงนี้จะไหลจากไทยไปบาหลี

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 เม.ย. 11, 11:26
^
ประมาณนาทีที่1.56
มีเพลง "ของๆใคร ของใครก็ห่วง" ที่คุณชายถนัดศรีนำมาร้องด้วยแฮะ ???

ใช่ครับ ทำนองใช่เลยครับ "ศิลปะไหลได้" ครับ  ;D ;D ;D การร่ายรำแบบชวานี้ เน้นโยกคอ และส่งสายตา ได้รับจากอินเดียอย่างเต็มๆเลย ส่วนการจัดระเบียบมือ ท่วงท่ารำ อ่อนช้อยอย่างภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ สวยงามมากเลยครับ


เพลง " หวงรัก "  เพลงนี้เป็นเพลงที่ครูสมศักดิ์  เทพานนท์ ท่านแต่งเนื้อร้อง

ส่วนทำนองนั้น ครูเอื้อ  สุนทรสนาน  ท่านได้นำทำนองมาจาก

เพลงไทยเดิม " ลาวเจ้าซู "  
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=639797


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 11:45
เพลงลาวเจ้าซู =  ลาวเจ้าชู้

ขิม

http://www.youtube.com/watch?v=rrmlzj_yzmE

กีตาร์

http://www.youtube.com/watch?v=nljKuZpvsoM&feature=related

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 14:03
วางเรื่องเจ้าสีหนุไว้ก่อน     แล้วจะมาต่อให้จบว่า อัปสรา + สมเด็จเจ้าสีหนุ + เขมรแดง + พล พต  โยงเป็นเรื่องเดียวกันได้ยังไง   รอท่าน NAVARAT อินเทอร์มิชชั่นคราวหน้า

ตอนนี้นำรูปอัปสราชวามาให้ดูกันค่ะ

(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/0/00/Golden_Celestial_Nymph_of_Majapahit.jpg/232px-Golden_Celestial_Nymph_of_Majapahit.jpg)

ส่วนนี่คือออริจินัลอัปสรา  กำเนิดของเธออยู่ที่ชมพูทวีป

(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/4/44/13._Khajuraho_Devi_Jgadambi_apsara.jpg/402px-13._Khajuraho_Devi_Jgadambi_apsara.jpg)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 เม.ย. 11, 15:15
อัปสรา ที่สุรินทร์มีมีอมากไม่แพ้กัน  ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 เม.ย. 11, 15:30
อ้างถึง
วางเรื่องเจ้าสีหนุไว้ก่อน     แล้วจะมาต่อให้จบว่า อัปสรา + สมเด็จเจ้าสีหนุ + เขมรแดง + พล พต  โยงเป็นเรื่องเดียวกันได้ยังไง   รอท่าน NAVARAT อินเทอร์มิชชั่นคราวหน้า

เชิญครับ
ผมจบเรื่องนางอัปสราแล้ว
เชิญเจ้าสีหนุท่านเสด็จได้


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 15:35
เจอรูปอัปสรานางนี้  โครงหน้าเธอสวยและดูโมเดิร์นมากๆ   นึกถึงนางอัปสรที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เล่าไว้ในเรื่อง ถกเขมร และเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านนำไปแต่งเรื่องสั้นในชุด เพื่อนนอน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 เม.ย. 11, 15:47
อัปสรา องค์นี้ตาตี่ จีนแน่นอน  ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 เม.ย. 11, 15:54
อัปสรา แบบเด็กแนว


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 เม.ย. 11, 15:59
นาฏศิลป์กัมพูชา เคารพผู้สอนวิชานาฏศิลป์ เรียกว่า "ครู" เช่นเดียวกับที่ภาษาไทยยืมมา คือ ผู้มีหน้าที่สั่งสอนศิษย์ การสวมเครื่องประดับศีรษะให้กับศิษย์ถือเป็นสิ่งที่ดีงามและความเคารพสูงสุดแห่งวิชาชีพ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 16:02
เชื่อว่า ท่าน NAVARAT  คุณเพ็ญชมพู  คุณ siamese และท่านอื่นๆอาจอยากแยกซอยคุยกันอีก     ถ้าใครนึกอะไรได้ก็เชิญโพสเลย  ไม่ว่าจะเรื่องอัปสรา  เจ้าสีหนุ  หรือวัฒนธรรมเขมร       รับรองว่าไม่เสียจังหวะ
ดิฉันก็เล่าของดิฉันไปเรื่อยๆ  
เพราะถ้าเอ่ยถึงเขมรในรอบ ๕๐ ปีที่ผ่านมา  ไม่เอ่ยถึงเจ้าสีหนุก็จะขาดๆสีสันไปมาก   น่าเสียดายว่าคนอายุต่ำว่า ๔๐ ลงมา ไม่ค่อยจะรู้จักท่านแล้ว  บางคนก็ไม่เคยได้ยินและไม่เอาใจใส่เอาเลย
****************
ศูนย์กลางของเรื่องเล่า อยู่ที่เจ้าสีหนุ     พระเจ้าแผ่นดินเขมรพระองค์นี้ นอกจากเป็นเจ้านายโดยสายเลือด  ท่านยังเป็นทั้งนักการเมือง  นักบริหาร   นักประชาสัมพันธ์  นักอนุรักษ์วัฒนธรรม   และศิลปิน  รวมอยู่ด้วยในคนๆเดียว   ขณะที่คนทั่วไปเป็นได้ ๒ อย่างพร้อมกันก็เก่งแล้ว
ถ้าหากว่าจะบรรยายให้หมด  กระทู้นี้คงยาวเหยียด แยกซอยไปไกล เพราะฉะนั้นขอตีวงแค่โบราณสถานและอัปสรา

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ จบลง   โลกก็เข้าสู่สงครามเย็น ระหว่างค่ายยักษ์ใหญ่  คืออเมริกาผู้นำของโลกเสรีนิยม    อีก ๒ ค่ายฝ่ายตรงข้ามคือจีนและรัสเซีย ผู้นำโลกสังคมนิยม   ต่างค่ายต่างขยายอำนาจแนวคิดของตัวเอง
ประเทศใหญ่น้อยในเอเชียอยู่ใกล้จีนมากกว่ารัสเซีย  ก็ต้องดูว่าตัวเองจะคบกับจีนมากน้อยแค่ไหนจึงจะปลอดภัย   อินเดียของนายเยาวหราล เนห์รู ประกาศนโยบายเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ใคร       ไทยมีไมตรีจิตกับอเมริกาแนบแน่นตั้งแต่สมัยเสรีไทย  และอเมริกาเข้าข้างไทยไม่ให้เป็นประเทศร่วมแพ้สงคราม   ผู้นำไทยตั้งแต่จอมพลป. จอมพลสฤษดิ์ และจอมพลถนอม  จึงเลือกค่ายเสรีนิยม
ส่วนเจ้าสีหนุบอกว่าท่านเป็นกลาง    แต่ก็เป็นกลางแบบเข้าข้างจีน   เพราะท่านไม่ชอบอเมริกา  เห็นว่าอเมริกาสนับสนุนนายซัน ง็อก ทันห์ หัวหน้าขบวนการเขมรเสรี ซึ่งเป็นปรปักษ์ทางการเมืองของท่านโดยตรง     มีเวียตนามและไทยเป็นแนวร่วมของอเมริกาอีกที
ผู้นำเขมรกับผู้นำไทยในสมัยนั้น คือจอมพลสฤษดิ์ ก็เลยไม่ค่อยจะกินเส้นกัน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 16:04
เจอรูปอัปสรานางนี้  โครงหน้าเธอสวยและดูโมเดิร์นมากๆ   นึกถึงนางอัปสรที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เล่าไว้ในเรื่อง ถกเขมร และเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านนำไปแต่งเรื่องสั้นในชุด เพื่อนนอน

นางอัปสรกลุ่มใหญ่เกิดขึ้นหลังกวนเกษียณสมุทร ที่เทวดากับอสูรเอานาคมาชักคะเย่อ มีเขาพระสุเมรุปั่นอยู่ตรงกลาง ส่วนที่ลอยขึ้นมาเป็นครีมมีพิษร้ายที่พระอิศวรฉวยไปกลืนจนพระศอดำ   พระลักษมี   ธันวันตรี(แพทย์เทวดา) และนางอัปสร

นางอัปสรเหล่านี้เป็นของกลาง ไม่มีใครรับไปเป็นภรรยา   ทั้งที่ยังสาวสวย    นานๆก็ถูกใช้ลงมาทำลายตบะฤาษี ที่จำได้คือนางเมนกาถูกใช้มาทำลายตบะพระวิศวามิตรจนเกิดลูกสาวคือศกุนตลา  คลอดลูกเสร็จก็กลับสวรรค์ไม่มาเลี้ยงดู  อีกคนคืออุรวศี  แต่ทำอะไรลืมไปแล้วต้องไปหาหนังสือดร.ศักดิ์ศรีมาอ่าน

ส่วนนางอัปสรา ก็มาจากอัปสรนั่นละค่ะ ภาษาสันสกฤต  บาลีเรียกว่าอัจฉรา   ดิฉันคิดว่าสาวประดับผนังนครวัดคงเป็นรูปแบบของคนงามในสมัยนั้น
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เคยเขียนล้อเอาไว้ในเรื่องสั้น   ที่นางอัปสรสวยที่สุดในนครวัดได้แบบมาจากนางตะเภาเหาะ   หล่อนเป็นหญิงงามแห่งนคร  พูดอีกทีคือโสเภณี

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/192/7192/images/Nakornwat/i.jpg)

"ครู มะรืนนี้ผมก็จะไม่ได้พบครูอีกแล้ว วันนี้วันที่หกผมยังหาผู้หญิงเหมือนนางอัปสราถวายไม่ได้ พรุ่งนี้วันที่เจ็ดก็คงหาไม่ได้"

"เฮ้ย! ลื้ออย่าไปท้อแท้อย่างงั้นสิวะ"ครูอบสะเรดกล่าว " ในเมื่อหาไม่ได้ เจ้าก็ไปหาอีตัวที่มันเหมือนในสปิริตไปถวายซี อั้วพาลื้อไปเรียนรู้นางอัปสราที่ไหน ลื้อก็ไปหาเอาที่นั้นก็แล้วกัน ไม่เห็นจะยากอะไรนี่หว่า เลือกเอาไปถวายซักคนยังดีกว่าไม่ถวายเลย"

"ครูหมายถึงคนไหนล่ะ" ศิลปินหนุ่มถาม

"ก็นังตะเภาเหาะไง"  สิ้นคำแนะนำของครูเฒ่า โอยสะลาร้องเสียงหลง

"ตายแล้ว! ก็นังตะเภาเหาะนั้นมันตัวร้ายที่สุดเลยนี่ครู! คนสร้างนครวัดกี่หมื่นกี่แสนก็เป็นแฟนมันทั้งนั้น ขืนผมเอาไปถวาย"

ครูเฒ่าตัดบทขึ้นมาทันที  "ก็เพราะไอ้เหตุนี้แหละ เจ้าจึงควรเอานางตะเภาเหาะไปถวาย ช่างสลักนางอัปสรากี่ร้อยคนมันก็เป็นแฟนนังตะเภาเหาะทั้งนั้น นางตะเภาเหาะมันจึงต้องมีส่วนเหมือนนางอัปสราที่นครวัดมากกว่าคนอื่น เชื่ออั๊วเถิดน่า! ถ้าเจ้าไม่ไปหานางอัปสราไปถวายภายในเจ็ดวันก็ต้องตายแน่ ๆ อยู่แล้ว แต่ถ้าเจ้าพานางตะเภาเหาะไปถวาย เจ้าก็ยังพอมีทางรอดครึ่งต่อครึ่งว่ะ"

 ;D  ;D  ;D





กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 เม.ย. 11, 16:04
ครุฑ

ยังคงเอกลักษณ์เครื่องห้อยหน้าไว้อย่างงดงาม (สุวรรณกระถอบ) ไม่มีชายไหว ชายแครง


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 เม.ย. 11, 16:09
เชื่อว่า คุณ siamese ต่ำกว่า ๔๐ ลงมา
****************

ตรงนี้ตรงแม่นยำที่สุด ครับ  ;D ;D ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 เม.ย. 11, 16:14
นางอัปสรา กำลังถูกทำลายด้วยมือนักท่องเที่ยว ผมเคยไปถกเขมรนานแล้ว เห็นอัปสรานั้นงามชดช้อย องค์ที่ประดับตามซุ้มประตูก่อนถึงตัวปราสาทก็ไม่มีใครแตะต้อง ส่วนนางอัปสราที่อยู่บนชั้นปรางค์ประธาน นั้นถูกย้ำยี ด้วยกระแสความเชื่อมากมาย สัมผัสจับต้องกันทุกวัน วันละเป็นร้อยๆคน อีกหน่อยคงเป็นมะเร็งแน่


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 16:15
  ความตึงเครียดระหว่างกัมพูชากับไทย ระเบิดออกมาขั้นกัมพูชาประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยในปลายปี ค.ศ. 1958 ต่อมา เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1959 สหประชาชาติก็ไกล่เกลี่ยให้คืนดี มีสัมพันธ์ทางการทูตได้อีกครั้ง

   แต่แล้วก็เกิดเหตุใหญ่  ในเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน  คือการก่อวินาศกรรม  หรือจะเรียกว่าลอบปลงพระชนม์ก็ได้   มีผู้ส่งห่อบรรจุระเบิดเข้าไปในท้องพระโรงพระราชวัง    แต่ห่อนี้ถูกนำไปเปิดยังอีกห้องหนึ่ง แรงระเบิดทำให้เจ้าชายเขมรองค์หนึ่ง  และราชเลขาธิการเสียชีวิต มหาดเล็กอีก 2 คนได้รับบาดเจ็บ
   พระเจ้าสึหนุปักใจเชื่อว่าผู้อยู่เบื้องหลังคือนายซัน ง็อก ทันห์ คู่ปรปักษ์  โดยมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สนับสนุน   วิธีแก้แค้นไทยไม่ใช่ยกทัพมาบุกชายแดน  ทำอย่างนั้นอาจไม่ได้อะไรนอกจากพ่ายแพ้     แต่ทรงเลือกวิธีตีฆ้องร้องป่าวเรียกความสนใจจากหลายประเทศ  ด้วยการเอาโบราณสถานแหล่งวัฒนธรรมมาจุดประเด็นร้อน
   จึงเกิดเป็นคดีประวัติศาสตร์  คือการฟ้องศาลโลกว่าเขาพระวิหารที่อยู่ในเขตไทย   ที่จริงเป็นของกัมพูชา   สองประเทศต้องส่งตัวแทนไปขึ้นศาลโลก   กลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ของสองประเทศ   ผลก็อย่างที่รู้ๆกันคือกัมพูชาชนะ ไทยแพ้   เพราะแผนที่ที่ทำตั้งแต่ฝรั่งเศสครองอำนาจเหนือกัมพูชา  ระบุว่าเขาพระวิหารอยู่ในเขตของเขมร
   โบราณสถานปราสาทหินเล็กๆที่แทบจะไม่มีใครรู้จัก (แม้แต่คนไทยด้วยกันเอง) ก็กลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมาทันที    เรื่องของวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ฝรั่งให้ความสำคัญและสนใจใคร่รู้อยู่แล้ว    ผลงานด้านประชาสัมพันธ์ให้กัมพูชาโดดเด่นขึ้นมา เจ้าสีหนุก็ได้คะแนนไปเต็มๆ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 16:18
นางอัปสรา กำลังถูกทำลายด้วยมือนักท่องเที่ยว ผมเคยไปถกเขมรนานแล้ว เห็นอัปสรานั้นงามชดช้อย องค์ที่ประดับตามซุ้มประตูก่อนถึงตัวปราสาทก็ไม่มีใครแตะต้อง ส่วนนางอัปสราที่อยู่บนชั้นปรางค์ประธาน นั้นถูกย้ำยี ด้วยกระแสความเชื่อมากมาย สัมผัสจับต้องกันทุกวัน วันละเป็นร้อยๆคน อีกหน่อยคงเป็นมะเร็งแน่
นางอัปสรในค.ห. 210 อยู่ที่ไหนกันหนอ   เธอถึงรอดมือนักท่องเที่ยวมาได้
กระทู้ร้อนมากค่ะ  วิ่งเร็วจี๋
รอฟังท่านอื่นๆคุยบ้าง   คอแห้งแล้ว


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 16:25
คุณชายคึกฤทธิ์ ท่านก็ไม่ใคร่ชอบเจ้าสีหนุนัก

"นักองค์สีหนุก็ได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ว่า  ในวันที่ ๒๒ ธันวาคมนี้  เขาจะเป็นผู้นำคณะขึ้นไปบนเขาพระวิหารเพื่อทำสักการบูชาในพระวิหารนั้น   คนที่จะไปด้วยก็จะมีพระภิกษุ ๓๐ รูป และฆราวาสอีก ๒๐ คน  ทั้งนี้นักองค์สีหนุให้ข่าวว่า  ที่จำเป็นต้องไปกันน้อยก็เพราะเหตุว่าทางขึ้นเขาพระวิการนั้นลำบากมาก  จะไปเป็นขบวนใหญ่ไม่ได้

ทีนี้ปัญหาต่อไปก็คือว่า  สีหนุขึ้นมานี้เพื่อจะทำอะไร  ตามข่าวนั้นสีหนุบอกว่าจะนำพระภิกษุสงฆ์ขึ้นมาทำพิธี   มาทำสักการะบนเขาพระวิหาร  เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง  เพราะเหตุว่าเขาพระวิหารไม่ใช่พุทธสถาน  ไม่ใช่วัด  ไม่ใช่วิหารในศาสนาพุทธเป้นอย่างแน่นอน  สิ่งก่อสร้างบนเขาพระวิหารนั้นเป็นเทวสถานของพวกขอมโบราณได้สร้างไว้  และเทวสถานนั้นก็ได้ปรักหักพังลงไป  จนไม่รู้ว่าสร้างขึ้นไว้เพื่อจะบูชาผู้ใด

เขาพระวิหารนั้นได้หมดความสำคัญในฐานะที่เป็นปูชนียสถานมานานนักหนาแล้ว เป็นจำนวนหลายร้อยปีทีเดียว จะมีความสำคัญก็ในฐานที่เป็นโบราณสถาน  ในฐานที่เป็นศิลปวัตถุ  ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมสีหนุจึงจะต้องขึ้นมาบูชาบนเขาพระวิหาร  นี่เป็นเรื่องสำคัญ

เป็นจุดสำคัญที่สุดในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับเขมรในเรื่องดินแดนเขาพระวิหารตลอดมา  ทางฝ่ายเขมรนั้นหลอกลวงฝรั่งเรื่อยมา  ว่าเขาพระวิหารเป็นปูชนียสถานที่สำคัญของเขมร  แล้วไทยยึดเอามาไว้ในดินแดนของตน  เขมรไม่สามารถที่จะขึ้นมาทำพิธีบูชามาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้   เป็นการกระทบกระเทือนน้ำใจกันอย่างรุนแรง    เหมือนกับว่าถ้าเขาพระวิหารยังอยู่กับไทยแล้ว  เขมรไม่มีวันที่จะไหว้พระไหว้เจ้าได้   หรือถ้าจะเปรียบไปก็คล้าย ๆ กับมีประเทศหนึ่งมายึดครองวัดพระแก้วแล้วไม่ยอมให้คนไทยเข้าไปไหว้พระแก้ว  คนไทยก็จะต้องเดือดร้อน การที่เขาพระวิหารตกเข้าไปอยู่ในเขตไทยนั้น  เขมรเดือดร้อนอย่างยิ่ง  ตามคำกล่าวอ้างของสีหนุ  เพราะไม่รู้จะไปไหว้พระสะเจ้าที่ไหนได้แล้ว  จำเป็นที่จะต้องเอาเขาพระวิหารไปให้เขมรโดยด่วน   ไม่เช่นนั้นก็เป็นอันว่าเขมรตายแล้วตกนรกทั้งชาติไม่ได้ไหว้พระไหว้เจ้ากัน  เมื่อฝรั่งส่วนมากได้ฟังอย่างนี้ก็เชื่อ  แล้วฝรั่งนั้นก็เห็นความสำคัญในเรื่องสิทธิที่จะนับถือหรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา  หลงเชื่อกลอุบายสีหนุว่า  เขาพระวิหารเป็นปูชนียสถานจริง ๆ ถ้าหากว่าไทยยึดไว้ เขมรจะขึ้นมาเคารพบูชาบนเขาพระวิหารไม่ได้จริง ๆ เป็นเรื่องเดือดร้อนแก่เขมร  ความรู้สึกอันนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ฝรั่งและต่างชาติต่างภาษาอีกเป็นอันมากเห็นใจเขมร    และถ้าจะพูดตามความเห็น  ผมว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้พิพากษาศาลโลก  ซึ่งไม่เคยมาดูเหตุการณ์แถวนี้  ไม่รู้ข้อเท็จจริง  และไม่รู้ขนบธรรมเนียมใด ๆ   ตัดสินให้เขมรชนะความไปด้วยซ้ำ  ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่าไทยเราไม่เคยอ้างข้อนี้เลย  เพราะไทยเราพูดไปตามความสัตย์จริง   ว่าเขาพระวิหารนั้นเป็นของไทยโดยเหตุผลทางธรรมชาติ  และด้วยความยุติธรรม  และสิ่งก่อสร้างบนเขาพระวิหารเองก็เป็นสิ่งปรกหักพังเป็นเพียงโบราณสถาน  คนไทยก็ไม่ได้ขึ้นไปนับถือกราบไหว้อะไรบนนั้น  เพราะไทยเรานับถือศาสนาพุทธ  สิ่งก่อสร้างบนเขาพระวิหารเป็นเทวสถาน  แต่ส่วนเขมรนั้นไม่ได้พูดว่าเป็นเทวสถานหรือพุทธสถาน  ยืนกระต่ายขาเดียวว่าเป็นปูชนียสถาน  ถ้าไม่ได้คืนไปแล้วจะขาดใจตาย  เป็นเรื่องสำคัญทางจิตใจของเขมรเหลือเกิน  เมื่อไทยยึดเอาเขาพระวิหารมาไว้  เขมรขึ้นไปกราบไหว้บูชาไม่ได้  เขมรจะดิ้นตายเสียให้ได้  คนทั้งโลกก็เห็นใจ  เขมรก็ชนะคดีไป  

นี่เป็นเหตุหนึ่ง  และผมอยากจะกล่าวด้วยว่า  นายกัสซิ่ง ผู้แทนของอูถั่นที่มาประเทศไทยและประเทศเขมรเพื่อดูสถานการณ์นั้น  ก็หลงเชื่อสีหนุตลอดมา  เข้าใจมาตลอดว่า  เขาพระวิหารนั้นเป็นปูชนียสถานที่สำคัญของเขมรแล้วตกมาอยู่แก่ไทย

นายกัสซิ่งเพิ่งมารู้ความจริงในเมืองไทยนี้เอง  โดยมีผู้บอกว่า  เขาพระวิหารไม่ใช่ปูชนียสถาน  เป็นแต่เพียงปราสาทร้าง  เป็นเทวสถาน  เป็นสถานของศาสนาหนึ่ง  ซึ่งเขมรก็ไม่ได้นับถือแล้ว  และคนไทยก็มิได้นับถือในทุกวันนี้  นายกัสซิ่งเพิ่งจะมารู้เหตุการณ์นั้นในประเทศไทย  แต่คนอื่น ๆ ที่อยู่ในต่างประเทศอีกมาก  ผมเข้าใจว่ายังไม่รู้   แมะเมื่อสีหนุได้ใช้กลลวงโลกมา  โดยอ้างว่าเป็นความเดือดร้อนทั้ง ๆ ที่ไม่มีความเดือดร้อน  โดยวิธีอ้างว่าเขาพระวิหารเป็นปูชนียสถาน  ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความหมายในทางเป็นปูชนียสถาน   เพราะเขมรทุกวันนี้ก็นับถือศาสนาพุทธ  ด้วยเหตุเหล่านี้  สีหนุจึงต้องทำพิธีต่อไป  เพื่อสนับสนุนความเท็จของตนที่ได้กล่าวมาแล้ว

เป็นธรรมดาครับ  คนโกหกนั้นถ้าลงโกหกหนหนึ่งแล้ว  จะต้องโกหกต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด  เพราะความเท็จนั้นย่อมนำไปสู่ความเท็จใหม่  และความเท็จใหม่ก็นำไปสู่ความเท็จใหม่ ๆ ต่อไปอีก

เพราะฉะนั้นที่ท่านสีหนุจะแสดงการไต่เขาชั้นยอด เอาพระสงฆ์องค์เจ้ามาลำบาก  เอามหาดเล็กข้าหลวงตามเสด็จ  อาจจะตกเขาคอหักตายกันหมดได้ครั้งนี้  ก็เพื่อว่าจะโกหกคนทั้งโลกต่อไปว่า  เขาพระวิหารนั้นเป็นปูชนียสถานสมดังที่ตนได้กล่าวไว้แล้ว"

จาก “เพื่อนนอน” วันที่๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๐๕



 


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 เม.ย. 11, 16:50
นางอัปสรา กำลังถูกทำลายด้วยมือนักท่องเที่ยว ผมเคยไปถกเขมรนานแล้ว เห็นอัปสรานั้นงามชดช้อย องค์ที่ประดับตามซุ้มประตูก่อนถึงตัวปราสาทก็ไม่มีใครแตะต้อง ส่วนนางอัปสราที่อยู่บนชั้นปรางค์ประธาน นั้นถูกย้ำยี ด้วยกระแสความเชื่อมากมาย สัมผัสจับต้องกันทุกวัน วันละเป็นร้อยๆคน อีกหน่อยคงเป็นมะเร็งแน่
นางอัปสรในค.ห. 210 อยู่ที่ไหนกันหนอ   เธอถึงรอดมือนักท่องเที่ยวมาได้
กระทู้ร้อนมากค่ะ  วิ่งเร็วจี๋
รอฟังท่านอื่นๆคุยบ้าง   คอแห้งแล้ว

อัปสราองค์เดียวกันแน่เลย แต่มองด้านตรง ที่นครวัดแน่นอน สะโพกผาย ท้องงามครับ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 16:56
ปราสาทพระวิหาร หรือ Temple of Preah Vihear


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 20:05
      ศาลโลกใช้เวลา  3 ปี ตัดสินให้กัมพูชาเป็นฝ่ายชนะคดีด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 เสียงเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน  พ.ศ. 2505 ยังผลให้ประเทศไทยต้องยินยอมทำตามข้อเรียกร้องทั้ง 2 ข้อของกัมพูชา คือ
       1. ราชอาณาจักรไทย มีพันธะที่จะต้องถอนหน่วยทหารที่ได้ส่งไปตั้งประจำ ณ บริเวณสิ่งหักพังของปราสาทพระวิหาร ตั้งแต่ พ.ศ.2497
        2. อำนาจอธิปไตยแห่งดินแดนเหนือปราสาทพระวิหาร เป็นของราชอาณาจักรกัมพูชา”

        หลังจากการพ่ายแพ้คดี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งให้ปิดทางขึ้นปราสาทเขาพระวิหารที่อยู่ในเขตแดนไทยเพื่อเป็นการตอบโต้ เพราะด้านหน้าและทางขึ้น-ลงของปราสาทเขาพระวิหารนั้นอยู่ทางฝั่งประเทศไทย
        แต่ผลงานของพระเจ้าสีหนุในครั้งนั้น   ก็ยังมีผลต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน     มีท่าทีว่ายังไม่จบลงง่ายๆ
        นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราควรจะรู้จักท่านบ้าง  เพราะการไม่รู้"ความเป็นมา"ในอดีต   ก็จะทำให้เราไม่รู้"ความเป็นไป" ในอนาคตเช่นกัน

       ถ้าหากว่าโบราณสถานจัดระดับชั้นได้เหมือนเทวดาบนชั้นฟ้า    ปราสาทพระวิหารก็เป็นเทพระดับผู้น้อย  ขณะที่นครวัดเป็นจอมเทพ      เป็นหน้าตาทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่   เป็นความภูมิใจของอาณาจักรเล็กๆในเอเชียอาคเนย์ที่แสดงออกต่อชาวโลก   
       อย่างไรก็ตามนครวัดเป็นปราสาทหิน  เคลื่อนไหวพาไปไหนไม่ได้    จำลองไปก็ได้แต่เป็นครั้งคราว และไม่มีทางว่าจะโอฬารเหมือนของจริง     ต้องอาศัยนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมกันเอง      ดังนั้น   ก็ต้องมีอย่างอื่นควบคู่กับนครวัด ที่นำออกโชว์ชาวโลกได้ง่ายกว่า    และนำความภูมิใจมาให้ควบคู่กัน     
       สิ่งนั้นคืออัปสรา  รูปสลักนางอัปสรที่เรียงรายแทบนับไม่ถ้วนบนปราสาทหินแห่งนี้  เป็นภาพสตรีงามในเครื่องแต่งกายและอิริยาบถร่ายรำต่างๆสารพัด แบบน่าตื่นตาตื่นใจ   พระเจ้าสีหนุก็มองเห็นข้อนี้เช่นกัน   เพราะพระองค์เป็นศิลปินเต็มตัว     ผลงานก็เห็นได้จากภาพข้างล่างนี้ค่ะ
 
       


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 20:24
    นครวัดเป็นเทวสถาน    หรือถ้าเชื่อที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์วิเคราะห์ไว้ใน "ถกเขมร" ก็คือพระเมรุหินขนาดใหญ่ สร้างเพื่อไว้พระศพของพระเจ้าแผ่นดินเขมร ได้แก่พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ผู้สร้างนครวัด       นครวัดมีรูปเทพเจ้ามากมาย   โดยเฉพาะพระวิษณุ  ซึ่งถือกันว่าเป็นจอมเทพ  นอกจากนี้ก็มีเทพและอสูรอีกจำนวนมาก     แต่จนเดี๋ยวนี้  สิ่งที่นักท่องเที่ยวอยากไปเห็นมากที่สุดไม่ยักใช่เทพเจ้าใหญ่น้อยทั้งหมด   แต่เป็นนางอัปสร
    ตามตำนานของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู   เหล่านางอัปสรเป็นเพียงเทพชั้นผู้น้อย  เกิดจากเกษียรสมุทรตอนเทวดากับอสูรกวนทะเลน้ำนมกัน      แต่ความงามจากฝีมือช่างสลักที่บรรจงสร้างนางอัปสรนับร้อยนับพัน  ทำให้กลายเป็นจุดโดดเด่นของนครวัด     ขึ้นหน้ากว่าเทพใหญ่น้อยทุกองค์
    (ส่วนน้องเพ็นโนซอรัสของคุณเพ็ญชมพู ที่ปราสาทตาพรม   ก็เพิ่งจะมาฮือฮากันไม่กี่ปีนี้เอง ;D)
    พระเจ้าสีหนุโปรดเพลง ดนตรี การร่ายรำ    ตามแบบฉบับของศิลปิน    เมื่อพระนางกุสุมะพระมารดาทรงคิดค้นท่ารำแบบนางอัปสรเขมร หรือขะแมร์อัปสราขึ้นมาได้จากลีลาท่าทางของรูปสลักอัปสรานครวัด       พระองค์ก็ทรงเห็นทันทีว่า นี่คือนาฏศิลป์ชั้นสูงที่จะทำให้กัมพูชาอวดใครต่อใครได้ทั่วโลกอย่างไม่น้อยหน้า      เพราะลีลาร่ายรำของนางอัปสรนั้นไม่ซ้ำแบบกับของสยาม   การแต่งกายก็ไม่เหมือนกัน เพราะไปแต่งแบบนางอัปสร     ก็พอจะอ้างได้ว่าระบำอัปสราคือนาฏศิลป์โบราณของกัมพูชานับพันปีมาแล้ว  ใครไม่เชื่อก็เชิญไปดูหลักฐานได้จากนครวัด
    ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญของระบำอัปสรา  ก็คือเจ้าหญิงบุปผาเทวีพระธิดา   ซึ่งออกรำให้แขกบ้านแขกเมืองเห็นเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ      เมื่อพระบิดาทรงอยู่ในอำนาจ  ก็ทรงตั้งเจ้าหญิงขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 20:54
    ความเฟื่องฟูทางวัฒนธรรมของราชสำนักเริ่มเสื่อมลง  เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป    ฝ่ายซ้ายเริ่มมีบทบาทมากขึ้น จนพระเจ้าสีหนุถูกยึดอำนาจจากนายพลลอนนอล  ในค.ศ. 1970     พระองค์กลายเป็นผู้นำพลัดถิ่น   แม้จะตั้งกองกำลังกู้ชาติขึ้น อำนาจก็เหมือนสายน้ำ   ไหลไปแล้วไม่หวนคืนมาอีก   แต่ว่าตกไปอยู่ในมือกลุ่มอำนาจใหม่ ก็คือ "เขมรแดง" หรือ Khmer  Rouge  ซึ่งผู้นำสำคัญคือนายพอล พต อดีตนักศึกษาหัวแอนตี้ราชสำนักกัมพูชาที่เล่าไว้ในความเห็นก่อนๆ นั่นเอง

     ความจริงเขมรแดงไม่ได้มีชื่อว่าเขมรแดง     พวกเขาก็ไม่เคยเรียกตัวเองว่าเขมรแดง  พวกนี้ถือกำเนิดจากขบวนการเขมรเสรี หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพื่อต่อต้านฝรั่งเศส   เป็นพวกฝ่ายซ้ายที่มีอุดมการณ์สังคมนิยมเข้มข้น  พัฒนามาจนก่อตั้ง "กองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตย” (Armée nationale du Kampuchéa démocratique)     คนที่เรียกพวกเขาว่าเขมรแดง จนกลายมาเป็นคำที่รู้จักกันทั่วโลกก็คือพระเจ้าสีหนุ   ทรงเรียกพวกฝ่ายซ้ายในกัมพูชาว่าเขมรแดง    แล้วก็กลายเป็นชื่อติดปาก จนกลายเป็นชื่อทางการไปเอง  
     ม.ร.ว. คึกฤทธิ์จึงสรุปว่า  ชื่อเขมรแดงเป็นชื่อพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา  ;D

    ค.ศ. 1975   เขมรแดงยาตราทัพเข้ายึดพนมเปญ   เอากัมพูชาไว้ในอำนาจได้เบ็ดเสร็จ    พวกนี้ก็สร้าง"สังคมใหม่" ขึ้นในเขมร   โดยใช้รากฐานทางอุดมการณ์ที่เรียกว่า "อุดมการณ์ปฏิวัติแบบเบ็ดเสร็จ" (idéologie de révolution totale) หรือเผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพ    และในทางปฏิบัติก็คือเผด็จการโดยชนชั้นผู้นำของเขมรแดงนั่นเอง  

    พวกนี้กวาดล้าง "ศัตรูทางชนชั้น" ไม่ว่าจะเป็น ทหาร ข้าราชการ เชื้อพระวงศ์ ปัญญาชนใหญ่น้อย   ฆ่าทิ้งแบบล้างโคตร   ที่เหลือถูกกวาดต้อนไปทำไร่ไถนา อดอยากยากแค้นแสนสาหัส     ตายไปถึง 3 ล้านคน คือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด
    ระบำอัปสราซึ่งพระเจ้าสีหนุถือว่าเป็นจิตวิญญาณชั้นสูงของอาณาจักรกัมพูชาแต่โบราณมาจนปัจจุบัน ก็พลอยถูกกวาดล้างไม่เหลือซาก   ครูละครทั้งหลายที่หนีไม่ทันก็ถูกฆ่าทิ้งเป็นผักเป็นปลา   คนไหนหนีตายได้ทัน ก็อพยพมาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่เขาอีด่าง   หนึ่งในนั้นคือเจ้าหญิงบุปผาเทวี   เธอก็ดำรงอุดมการณ์สืบสานจิตวิญญาณของอัปสราไว้ไม่ให้สูญหายไป ด้วยการฝึกนาฏศิลป์เขมรอยู่ในค่าย   จนกระทั่งยุคทมิฬของเขมรแดงสิ้นสุดลงใน 4 ปีต่อมา


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 21:01
เอารูปพระนางบุปผาเทวี นางระบำอัปสราตัวแม่สมัยยังสาวๆมาให้ดูอีก

เจ้าสีหนุถือพระองค์เป็นผลผลิตที่ได้จากสนมที่เป็นนางละครประจำราชสำนัก และภูมิใจในฝีมือการผลิตของท่านมาก

นางระบำอัปสราตัวแม่สมัยยังสาว

http://www.youtube.com/watch?v=tpFI-nPOOhs&feature=related

http://www.youtube.com/watch?v=sdg7mlQ8Dbk&feature=related

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 21:17
คงพอจะทราบกันอยู่บ้างว่า สมเด็จพระสีหนุทรงเป็นองค์อัครศิลปินแห่งชาติกัมพูชาโดยเฉพาะในด้านภาพยนตร์และดนตรี
      
สมเด็จพระสีหนุทรงเคยมีกระแสพระราชดำรัสเมื่อหลายปีก่อน ถึงความรักที่พระองค์ทรงมีต่อภาพยนตร์ว่า เริ่มตั้งแต่ราวปีคริสต์ทศวรรษ ๑๙๓๐ ครั้งที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่ French Lycee of Saigon ในเวียดนามใต้ โดยที่ในไซง่อนเวลานั้น มีโรงภาพยนตร์สวยงามที่ฉายทั้งหนังฝรั่งเศสและหนังอเมริกันฮอลลีวูด ทรงชื่นชอบดาราหลายคน อย่างเช่น ฌอง กาแบง (Jean Gabin) คลาร์ก เกเบิล (Clark Gable) เกรตา การ์โบ (Greta Garbo) ...
      
หลังจากที่ทรงสำเร็จการศึกษาจากไซง่อน พระองค์ทรงปรารถนาที่จะเป็นนักสร้างภาพยนตร์และนักแสดง ควบคู่ไปกับการเป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศส ละตินและกรีกในโรงเรียนมัธยมปลายที่มาตุภูมิ
      
สมเด็จพระสีหนุทรงเปรียบความรักที่พระองค์ทรงมีต่อภาพยนตร์ว่า เหมือนกับที่ วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) รัฐบุรุษอังกฤษ รักการวาดรูป ขณะเดียวกัน พระองค์ก็ทรงปฏิบัติเยี่ยงเดียวกับเชอร์ชิลล์ นั่นคือทรงอุทิศเวลาให้กับภารกิจเพื่อชาติและประชาชน โดยไม่ให้ “งานอดิเรก” มารบกวนงานเพื่อแผ่นดิน!
      
สำหรับพระองค์แล้ว ภาพยนตร์ไม่ใช่เป็นเพียงความบันเทิงหรือกิจกรรมทางศิลปะเท่านั้น แต่เป็นสื่อในการนำเสนอเรื่องราวของกัมพูชาในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
      
สมเด็จพระสีหนุทรงปรารภว่า เรื่องราวแห่งความรักที่ปรากฏในภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่ทรงสร้างนั้น ทำหน้าที่เป็นเพียงเครื่องนำทาง ที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้ชมสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับกัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นในด้านวัฒนธรรมประเพณี ผู้คน ปัญหาหรือด้านอื่น ๆ
      
 “กัมพูชา” คือดารานำเพียงหนึ่งเดียวในภาพยนตร์ของพระองค์!
      
นอกจากจะทรงเป็นทั้งผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับภาพยนตร์แล้ว สมเด็จพระสีหนุยังทรงมีพระปรีชาสามารถทางด้านดนตรีอีกด้วย เพลงประกอบภาพยนตร์ที่ทรงสร้าง เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพรสวรรค์ทางด้านนี้ สมเด็จพระสีหนุตรัสว่า ทรงได้รับมรดกมาจากสมเด็จพระราชบิดา
      
ถึงปัจจุบัน มีภาพยนตร์ที่ทรงสร้างและกำกับไม่ต่ำกว่า ๓๐ เรื่อง
      
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดบางส่วนได้ที่ www.norodomsihanouk.org สำหรับเว็บไซต์ส่วนพระองค์ www.norodomsihanouk.info มีหัวข้อเกี่ยวกับภาพยนตร์แต่ไม่ปรากฏข้อมูลค่ะ แต่ก็มีเพลงพระราชนิพนธ์ให้ฟังพอหอมปากหอมคอหลายเพลง และภาพยนตร์ของสมเด็จพระสีหนุส่วนหนึ่งได้เก็บรักษาไว้ที่ Academy of Motion Picture Arts and Sciences

จาก องค์อัครศิลปินแห่งกัมพูชา โดย คุณรุ่งมณี เมฆโสภณ ผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9470000064884
      


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 21:25
ตัวอย่างภาพยนตร์ของเจ้าสีหนุ

สร้าง กำกับ และแสดงเอง

เรื่องนี้ทรงแสดงร่วมกับราชินีโมนิกและเจ้าหญิงบุปผาเทวี

http://www.youtube.com/watch?v=5kyhA_gZzVM

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 21:27
เรื่องนี้โชว์ลีลาร่ายรำของนาฏศิลป์เขมร

เริมต้นด้วยรำรามสูร-เมขลา

นาทีที่ ๓.๑๕ เจ้าสีหนุปรากฏตัว จับความได้ว่ากำลังเทศน์เรื่อง โมหะ โทสะ โลภะ อยู่

http://www.youtube.com/watch?v=3xE5_ssjli8&feature=related

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 เม.ย. 11, 21:32
เจ้าสีหนุ ทรงร้องเพลง
ฟังท่อนสุดท้าย ได้ยินคล้ายๆ “ทำมายจึงทำกับฉานด้ายยย”

http://www.youtube.com/watch?v=NzIKafQnqNM&feature=related

คุณเพ็ญช่วยอัพหน่อยครับ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 21:45
^
^
http://www.youtube.com/watch?v=NzIKafQnqNM&feature=related


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 22:01
ส่งเข้ามาคาราโอเกะอีกเพลงค่ะ
Amour Sans Espoir( Love without Hope)  แปลเป็นไทยคือ รักที่ไร้ความหวัง

http://www.youtube.com/watch?v=_P_XgGkQ0E0


ฟังดีๆ ท่อนต้น อินโทร   และที่ท่านทรงร้อง   ทำนองคล้ายท่อนนี้ของเพลง "คำคน"  ตอนที่ว่า

อันอารมณ์ หากเหนือเหตุผล
ความแค้นก็แน่นกมล
กลายเป็นคนคิดสั้นไปได้
หักความระทม
ยกเอาอารมณ์ทิ้งให้ห่างไกล
จะเห็นหัวใจ
แล้วจะรักใคร เจ้าเอย...

http://www.youtube.com/watch?v=Sz8RqxQFZp4


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 22:08
เพลงพระราชนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าสีหนุ  ชื่อ Sneaha    ขอเดาว่าภาษาไทยน่าจะเป็น สิเนหา  หรือ เสน่หา

http://www.youtube.com/watch?v=-UZC6HuYTiQ&feature=related

ประทับใจฉากของคาราโอเกะ เพลงนี้   ช่างเป็นวนิดากัมพูชาแท้ๆ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 22:13
เพลงนี้ไม่มีคำบรรยายในยูทูป   แต่ฟังชื่อเพลง Monica คิดว่าเป็นเพลงที่ทรงแต่งให้พระนางโมนิค พระมเหสีชาวฝรั่งเศส

http://www.youtube.com/watch?v=AvoueEbYz-0&feature=related

(http://www.casadei.fr/en/iso_album/le_roi_norodom_sihanouk_et_la_reine_monique_dans_les_jardins_du_palais_royal_a_phnom_penh_450x0.jpg)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 เม.ย. 11, 22:15
ทรงน่ารักนะครับ ทรงแต่งเพลงให้พระนางด้วย  :)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 22:24
ค่ะ   ศิลปินมักจะมีเสน่ห์ในตัว

ไม่รู้ชีวิตส่วนตัวของท่าน  แต่เห็นอะไรนิดๆหน่อยๆอยู่ในคลิปนี้    คุณ siamese ลองดูเองนะคะ

http://www.youtube.com/watch?v=tpFI-nPOOhs&feature=related


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 เม.ย. 11, 22:35
^
^
ทรงรำได้งามครับ และนางรำท่านอื่นก็รำก้นงอนมากครับ แล้วใครหรอครับที่นั่งจับมือกัน มีงอนกันด้วย  ???


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 เม.ย. 11, 22:38
 :-X


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 เม.ย. 11, 06:04
เอารูปเจ้าสีหนุ นักแสดงหลายสีหน้ามาให้ดู


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 เม.ย. 11, 08:14
^
^
เยี่ยมครับผม  ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 เม.ย. 11, 08:20
หากสนใจเรื่องของราชวงศ์เขมร

กระทู้นี้ก็เยี่ยม

ราชวงศ์นโรดม
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/03/K7623645/K7623645.html

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 เม.ย. 11, 11:45
ขออนุญาตกลับเข้าสู่บรรยากาศการละครในสมัยรัชกาลที่ ๔ อันเป็นสมัยที่สยามส่งออกครูละครหลายไปสอนในราชสำนักเขมรดังรายละเอียดที่ได้เสนอไปแล้ว

ในตอนต้นรัชกาลที่ ๔ ยังไม่มีละครหลวง เพราะละครหลวงเลิกไปเสียแต่ครั้งรัชกาลที่ ๓ ครั้นถึงรัชสมัยของพระองค์มิได้ทรงรังเกียจ ดังนั้นสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี จึงทรงหัดละครเด็กผู้หญิงในพระบรมมหาราชวังขึ้นชุดหนึ่ง แต่ไม่ทันได้ออกแสดง เนื่องจากสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดีได้สิ้นพระชนม์ก่อน ต่อมาเมื่อทรงรับช้างเผือก (คือพระวิมลรัตน กิริณี) สู่พระบารมี ใน พ.ศ. ๒๓๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมละครของสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี ฝึกหัดเป็นละครหลวงได้ออกโรงเล่นสมโภชช้างเผือกเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๓๙๗
 
ในรัชกาลนี้ โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าด้วย ละครผู้หญิง พ.ศ. ๒๓๙๘ โปรดอนุญาตให้เจ้านาย ขุนนาง และผู้มีบรรดาศักดิ์หัดละครผู้หญิงขึ้นได้ แต่ได้ขอจำกัดสิทธิ์บางประการไว้สำหรับละครหลวง เช่นรัดเกล้ายอด เครื่องแต่งตัวลงยา พานทอง หีบทอง ซึ่งใช้เป็นเครื่องยศ เครื่องประโคมแตรสังข์ และห้ามมิให้บังคับผู้ที่ไม่สมัครใจเล่นละครให้ได้รับความเดือดร้อน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศในประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาค ๒ ๕๘ (หอพระสมุดวชิรญาณ ๒๔๖๕ : ๕๕-๕๖) ความว่า

“...แต่ก่อนในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แลแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย มีลครผู้หญิงแต่ในหลวงแห่งเดียว ด้วยมีพระราชบัญญัติห้ามมิให้พระราชวงศานุวงศ์แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝึกหัดลครผู้หญิง เพราะฉนั้นข้างนอกจึงไม่มีใครเล่นลครผู้หญิงได้ ครั้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดลคร แต่ทว่าทรงแช่งชักติเตียนจะไม่ให้ผู้อื่นเล่น ถึงกระนั้นก็มีผู้ลักเล่นเงียบ ๆ อยู่ด้วยกันหลายราย มาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ พระราชวงศานุวงศ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อย ผู้ใดเล่นลครผู้ชายผู้หญิงก็มิได้ทรงรังเกียจเลย ทรงเห็นว่ามีลครด้วยกันหลายรายดี บ้านเมืองจะได้ครึกครื้น จะได้เปนเกียรติยศแผ่นดิน เดี๋ยวนี้ท่านทั้งปวงเห็นว่าลครในหลวงมีขึ้นก็หามีใครเล่นลครเหมือนอย่างแต่ก่อนไม่ คอยจะกลัวผิดแลชอบอยู่ การอันนี้มิได้ทรงรังเกียจเลย ท่านทั้งปวงเคยเล่นอยู่แต่ก่อนอย่างไรก็ให้เล่นไปเถิด ในหลวงมีการงานอะไรบ้าง ก็จะได้โปรดหาเข้ามาเล่นถวายทอด พระเนตรบ้าง จะได้พระราชทานเงินโรงรางวัลให้บ้าง ผู้ใดจะเล่นก็เล่นเถิด ขอยกเสียแต่รัดเกล้ายอดอย่างหนึ่ง เครื่องแต่งตัวลงยาอย่างหนึ่ง พานทองหีบทองเปนเครื่องยศอย่างหนึ่ง เมื่อบททำขวัญยกแต่แตรสังข์อย่างหนึ่ง แล้วอย่าให้ฉุดบุตรชายหญิงที่เขาไม่สมัคเอามาเปนลคร ให้เขาได้ความเดือดร้อนอย่างหนึ่ง ขอห้ามไว้แต่การเหล่านี้ ให้ท่านทั้งปวงเล่นไปเหมือนอย่างแต่ก่อนเถิด”


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 เม.ย. 11, 11:59
ละครผู้ชาย เป็นละครของเจ้านายหรือขุนนาง ตลอดจนผู้มีบรรดาศักดิ์ต่าง ๆ ซึ่งต้องการที่จะนำเรื่อง ละครใน โดยเฉพาะเรื่อง อิเหนา มาจัดแสดงตามจารีตประเพณีที่เป็นข้อยึดถือปฏิบัติมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ละครในที่ใช้ผู้หญิงแสดงจะมีได้เฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้น แม้แต่พระบรมวงศ์ ในระดับเจ้าฟ้า มหาอุปราช ก็มิสามารถมีขึ้นได้ ดังจะเห็นหลักฐานในพงศาวดารในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ให้หัดเด็กหญิงไว้แสดงละคร ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ ทรงกริ้วและมีพระราชดำรัสห้ามเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร จึงต้องทรงเลิก ด้วยเหตุนี้ เจ้านายจึงทรงเลี่ยงจารีตประเพณี โดยการหัดผู้ชายให้เล่นละครใน เรื่องอิเหนา ซึ่งเป็นเรื่องที่มีตัวเอกเป็นเพียงเจ้าชาย เพื่อให้เหมาะสมกับพระฐานะซึ่งเรื่องรามเกียรติ์และอุณรุท ตัวเอกเป็นกษัตริย์

ยุคทองแห่งนาฏศิลป์ไทยอยู่ในรัชกาลที่ ๒ เหตุที่พระองค์ท่านโปรดปรานการกวี และนาฏกรรมทุกแขนง ตั้งแต่เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงมีละครผู้ชายในสังกัด ต่อมาเมื่อเสวยราชสมบัติ จังได้ตั้งคณะละครหลวง เพื่อประกอบพระอิสริยยศเป็นมหรสพสำหรับแผ่นดิน เป็นที่ยกย่องไปทั่วนานาประเทศราชทั้งปวง คณะละครหลวงในรัชกาลที่ ๒ ได้ครูท่านสำคัญในคณะของเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ซึ่งต่อมาตกทอดมรดกมาถึงเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี พระอนุชา ครูทองอยู่ ครูรุ่งนี้ได้เข้ามาเป็นครูละครหลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา เพื่อให้เหมาะสมกับวิธีการแสดง จึงพระราชนิพนธ์บทให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ครูทองอยู่ ครูรุ่ง ร่วมกันคิดกระบวนท่ารำให้เหมาะสมกับบทพระราชนิพนธ์ เมื่อติดขัดหรือควรปรับปรุงอย่างไร ก็นำขึ้นกราบบังคมทูล ทรงร่วมกันแก้ไขจนเป็นที่ยุติ จึงโปรดเกล้าฯ ให้หัดละครหลวงใช้แสดงเป็นแบบแผนสืบมา

ถึงแม้ว่าละครหลวงในรัชกาลที่ ๒ จะมีชื่อเสียงมาก แต่ตามวังเจ้านาย บ้านข้าราชการผู้ใหญ่ก็น่าเชื่อว่าละครผู้ชายยังคงมีอยู่ ดังที่ปรากฎหลักฐานในรัชกาลต่อมา

บรรดาตัวละครหลวงในรัชกาลที่ ๒ ที่เชื่อว่าเป็นศิษย์ของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ครูทองอยู่ ครูรุ่ง ที่มีชื่อเสียงและได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลที่ ๔ ต่อมาคือ เจ้าจอมมารดาแย้ม (อิเหนา) คุณเอี่ยม (บุษบา) คุณมาลัย เป็นตัวย่าหรันและพระสังข์ ต่อมาได้เป็นท้าววรจันทร์ในรัชกาลที่ ๔ และเลื่อนเป็นท้าววรคณานันท์ในรัชกาลที่ ๕ เป็นผู้อำนวยการละครหลวงในรัชกาลที่ ๔-๕ ครูขำ (เงาะ) คุณภู่ (หนุมาน) คุณองุ่น (สีดา) และผู้อื่นอีกหลายท่าน สามารถหารายละเอียดได้จากหนังสือตำนานละครอิเหนา

เจ้าจอมมารดาแย้ม (อิเหนา) หรือคุณโตแย้ม นี้นับได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญยิ่ง ด้วยเหตุที่ท่านได้เป็นครูของศิษย์ที่มีชื่อเสียงยิ่ง คือ ท้าววรจันทร์ฯ หรือเจ้าจอมมารดาวาด (อิเหนา) ในรัชกาลที่ ๔ เจ้าจอมมารดาเขียน (อิเหนา) ในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งต่อมาได้เป็นครูให้กับคณะละครวังสวนกุหลาบและมีศิษย์ที่มีชื่อเสียงเป็นผู้ที่วางรากฐานการเรียนการสอน ตลอดจนรูปแบบการแสดง ตามแนวละครหลวงให้กับกรมศิลปากรต่อมาถึงปัจจุบัน คือ คุณครูลมุล ยมะคุปต์ คุณครูน้อม ประจายกฤต คุณครูเฉลย ศุขวณิช และท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ดังนั้นจึงเป็นหลักฐานได้ว่ารูปแบบละครหลวงที่ใช้ผู้หญิงแสดงของกรมศิลปากร ในปัจจุบันเป็นรูปแบบที่สืบทอดมาจากละครหลวงในรัชกาลที่ ๒ อย่างชัดเจน และเชื่อได้ว่า "ละครผู้ชาย" ซึ่งมีตัวละครที่เป็นครู คือ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์สนตรี ครูทองอยู่ ครูรุ่งซึ่งเป็นครูละครหลวงรัชกาลที่ ๒ ได้ถ่ายทอดกระบวนท่า วิธีแสดงให้ปรากฎอยู่ในละครหลวงสืบมาแต่ครั้งนั้นเช่นกัน

ส่วนของละครผู้ชาย ในรัชกาลที่ ๓ ไม่มีละครหลวง ตัวละครครั้งรัชกาลที่ ๓ ที่เป็นครู ต่อมาจึงใช้ผู้ชายเป็นพื้น มีชื่อเสียงปรากฎหลายท่าน เช่น นายเกษ (พระราม) นายขุนทอง (อิเหนา) นายทองอยู่ (พระลักษมณ์) นายน้อย (สังคามาระตา) นายทับ (ส่าสำ) นายบัว (อิเหนา) นายนิ้ม (อิเหนา) นายแสง (พระ) นายพ่วง (เงาะ) นายแจ้ง (มโหธร) นายเมือง (บุษบา) นางเพ็ง (วิยะดา) นายมั่ ง(บุษบา) นายผึ้ง (วิยะดา) นายเกลื่อน (นาง) นายอ่ำ (นาง) นายฟ้อน (นาง) ตัวละครผู้ชายเหล่านี้ ได้เป็นครูละครในคณะต่าง ๆ ที่อยู่ในสังกัดเจ้านายและขุนนาง บางท่านได้ไปเป็นครูถึงราชสำนักกัมพูชา นับได้ว่ากระบวนท่ารำ ตลอดจนรูปแบบการแสดงละครผู้ชายได้แพร่หลายออกไปทั้งบ้านทั้งเมือง และเมื่อเริ่มฟื้นฟูจัดตั้งละครหลวงขึ้นใหม่ ในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นการฟื้นฟูประเพณีให้มีละครหลวง เป็นเครื่องประกอบอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ ก็ได้ครูผู้ชาย ให้เข้าไปถ่ายทอดท่ารำให้แก่คณะละครหลวง ดังปรากฎหลักฐานในประวัติคุณท้าววรจันทรบรมธรรมิกภักดี(เจ้าจอมมารดาวาด ในรัชกาลที่ ๔) ซึ่งพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพฤฒิยลาภฯ นิพนธ์ขึ้นเพื่อสนองพระคุณคุณย่า สรุปเนื้อความว่า

เมื่อเจ้าจอมมารดาวาด ได้ถวายตัวเป็นละครหลวง ในรัชกาลที่ ๔ แล้ว ท่านเป็นศิษย์ของเจ้าจอมมารดาแย้ม ในรัชกาลที่ ๒ ครั้งหนึ่ง คุณครูเจ้าจอมมารดาแย้มป่วย เจ้าจอมมารดาวาดผู้เป็นศิษย์ได้ออกไปเยี่ยม พอดีกับครูบัว (อิเหนา) ตัวละครผู้ชายได้มาเยี่ยมเช่นกัน เจ้าจอมมารดาแย้มจึงขอให้ครูบัวช่วยต่อท่ารำให้ (ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นกระบวนท่าสำคัญชุดใดชุดหนึ่ง เช่น เชิดฉิ่งตัดดอกไม้ฉายกริช หรือรำกริชบวงสรวงฯ) หลังจากนั้นเมื่อเจ้าจอมมารดาวาดกลับเข้าวัง ได้เล่นละครถวายจนเป็นที่โปรดปราณ ก็มีเสียงค่อนแคะว่า "เพราะไปให้ผู้ชายสอนมา" จึงมีการสอบสวน เจ้าจอมมารดาแย้ม จึงได้รับโทษในฐานะรู้เห็นเป็นใจ ซึ่งเป็นการผิดจารีต ด้วยเหตุที่นางในที่ถวายตัวไม่สามารถจะคบหากับชายใดได้ ยิ่งเป็นการสอนรำที่จะต้องถูกเนื้อต้องตัว ยิ่งผิดมหันต์ เจ้าจอมมารดาแย้ม ต้องรับโทษขังสนม ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงคราวที่เจ้าจอมมารดาวาด จะต้องออกแสดงละครถวายตัวหน้าพระที่นั่ง ผู้แสดงท่านอื่น ๆ ล้วนมีครูคอยกำกับดูแล แต่ครูของท่านครูต้องถูกขังสนม ขณะที่ร่ายรำถวายตัวอยู่นั้น ท่านก็หวนคิด ไม่สามารถกลั้นความรู้สึกไว้ได้ จึงร้องไห้ออกมาเสียกลางโรง ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ จึงได้สอบถามกันวุ่นไป เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงทราบเรื่องโดยตลอด จึงพระราชทานอภัยโทษให้เจ้าจอมมารดาแย้มและแต่นั้นมาครูบัวก็ได้เข้าไปเป็นครูละครหลวง

จากเรื่องราวนี้ น่าจะเป็นข้อยืนยันได้ว่า ละครผู้ชาย มีส่วนเข้าไปปะปนกับรูปแบบละครหลวง ในรัชกาลที่ ๔ จากนั้นครูละครหลวงรัชกาลที่ ๔ ได้มาเป็นครูละครหลวง รัชกาลที่ ๕ ในตอนต้นรัชกาล และได้มาเป็นครูคณะละครวังสวนกุหลาบ ในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา และเป็นต้นแบบให้กับกรมศิลปากรในปัจจุบัน

ประการหนึ่ง นอกจากครูละครหลวง ในรัชกาลที่ ๔ ได้เข้ามาเป็นครูละครวังสวนกุหลาบแล้ว ยังมีครูละครวังหน้า (เชื่อว่าน่าจะเป็นละครเจ้าคุณมารดาเอม) คือ หม่อมครูอึ่ง หสิตเสน และหม่อมครูนุ่ม นวรัตน์ ณ อยุธยา ซึ่งได้เข้าไปเป็นครูผู้วางรากฐานให้กับคณะละครวังสวนกุหลาบ ละครเจ้าคุณจอมมารดาเอมนี้ นิยมแสดงตามรูปแบบละครหลวง เป็นต้น(สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ.๒๕๔๖:๓๗๘)

ที่กล่าวถึงประวัติความเป็นมา และความเกี่ยวข้องระหว่างละครผู้ชายกับละครหลวง ซึ่งมีความปะปนในส่วนของตัวครูผู้ถ่ายทอด ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ด้วยเหตุนี้ จึงเชื่อได้ว่า กระบวนท่ารำ วิธีการแสดงของละครผู้ชายได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของละครหลวง อันเป็นต้นแบบของละครในเรื่องอิเหนา ถึงแม้ว่าในปัจจุบันละครในเรื่องอิเหนา มักนิยมตามรูปแบบละครหลวง โดยนิยมใช้ผู้หญิงแสดงตามประเพณีของละครหลวง แต่กระบวนท่ารำ และวิธีแสดงไม่สามารถแยกออกมาได้ว่า ส่วนใดเป็นละครหลวง ส่วนใดเป็นละครผู้ชาย

จากบทความเรื่อง รูปแบบการแสดงละครผู้ชาย โดย  ประเมษฐ์  บุณยะชัย

http://department.utcc.ac.th/thaiculture/index.php?option=com_content&view=article&id=60:2009-03-10-07-40-10&catid=42:2008-12-19-08-47-26&Itemid=70





        


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 เม.ย. 11, 20:27
ขอมาต่อเรื่องที่ค้างให้จบเสียที

เขมรแดงหมดอำนาจเพราะเกิดขัดแย้งกับเพื่อนคอมมิวนิสต์ด้วยกัน คือเวียดนาม  ถึงขั้นใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน   เขมรแดงรุกเวียตนามก่อน เวียตนามก็เลยยาตราทัพเข้ายึดพนมเปญ   เขมรแดงแพ้ เป็นอันถึงจุดจบของยุคทมิฬลงแค่นั้น
เฮง สัมริน  ซึ่งมีเวียตนามหนุนหลังอยู่ ยึดอำนาจรัฐบาลพล พต   สถาปนา "สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา"  แล้วให้เจ้าสีหนุมาปกครองราชอาณาจักรกัมพูชาอีกครั้ง
วัฒนธรรมละครรำของกัมพูชารวมทั้งอัปสราก็ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง    และอยู่มาจนทุกวันนี้    แม้ว่าครูเก่าแก่ที่สอนวิชาล้มหายตายจากไปด้วยน้ำมือเขมรแดง  แต่ที่เหลืออยู่ มีเจ้าหญิงบุปผาเทวี ก็ช่วยกันปลุกชีพขึ้นมาได้จนสำเร็จ

เป็นความสำเร็จที่น่าทึ่งเสียด้วย  เพราะองค์การยูเนสโกประกาศเมื่อวันที่ 17 พ.ย.2553  ให้ Royal Ballet of Cambodia  หรือ นาฏศิลป์หลวงของกัมพูชา (หนังสือพิมพ์ของเรามาแปลว่า ระบำพระราชา)  ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกประเภท  Oral and Intangible World Heritage

หมายเหตุ   การร่ายรำของเขมร รวมระบำอัปสรา  ทางเขาเรียกว่า Ballet  ไม่ได้เรียกว่า Dance  

จบแล้วค่ะ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 เม.ย. 11, 21:34
เพ็ญชมพู
อ้างถึง
ประการหนึ่ง นอกจากครูละครหลวง ในรัชกาลที่ ๔ ได้เข้ามาเป็นครูละครวังสวนกุหลาบแล้ว ยังมีครูละครวังหน้า (เชื่อว่าน่าจะเป็นละครเจ้าคุณมารดาเอม) คือ หม่อมครูอึ่ง หสิตเสน และหม่อมครูนุ่ม นวรัตน ณ อยุธยา ซึ่งได้เข้าไปเป็นครูผู้วางรากฐานให้กับคณะละครวังสวนกุหลาบ ละครเจ้าคุณจอมมารดาเอมนี้ นิยมแสดงตามรูปแบบละครหลวง เป็นต้น(สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ.๒๕๔๖:๓๗๘)
หม่อมครูนุ่ม เป็นนางเอกละครวังหน้าที่ท่านเจ้าคุณจอมมารดาเอมท่านรักมาก ต่อมาได้เป็นหม่อมห้ามในพระองค์เจ้าเนาวรัตน์ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์

ท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิตท่านเขียนไว้ว่า คำที่อยู่ในชุดเดียวกัน "ลูก - หลาน - เหลน คือ  “ลื่อ” (ไม่ใช่โหลน) ถัดจาก "ลื่อ" ไปก็คือ "ลืด" และ "ลืบ" พจนานุกรมได้ให้ความหมายของคำทั้ง ๒ ไว้ดังนี้

      "ลืด น. ลูกของลื่อ, หลานของเหลน."

      "ลืบ น. ลูกของลืด."

แม้เลือดศิลปินไม่เข้มข้นเหมือนราชสกุลนโรดม แต่ด.ญ. ณัฐเรขา นวรัตน ณ อยุธยา ลืบของท่านเจ้าคุณจอมมารดาเอม หรือลืดของหม่อมนุ่มคนนี้อายุ๕ขวบ ชอบเล่นแต่งกายเป็นนางละครและชอบร่ายรำโดยไม่มีใครสั่งเคยสอนมาก่อนเลย




กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 เม.ย. 11, 22:00
^
น่ารักมากครับ  ;) :D :)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 เม.ย. 11, 22:09
ขอบคุณครับคุณหนุ่ม


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 เม.ย. 11, 22:18
น่ารักมากค่ะ  รำอะไรคะ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 เม.ย. 11, 22:31
ขอบคุณครับ ก็รำไปเรื่อยแหละครับ อย่างที่ว่า ไม่มีใครสั่งใครสอน
รออีกสักนิด คงได้เรียนเป็นเรื่องเป็นราว


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 เม.ย. 11, 22:41
ตั้งวง กับจีบนิ้ว ได้สวย  ถ้าเกิดจากการสังเกตของหนูน้อยอายุ ๕ ขวบ ก็ถือว่าเธอสังเกตท่ารำได้ดีมาก
ศิลปะสืบต่อกันทางสายเลือดได้  
อาจเรียกว่าเป็นโปรแกรมอยู่ใน DNA มาแต่เกิดแล้ว

คุยเรื่องระบำเขมรจบแล้ว   ถ้าจะคุยกันนอกรอบเมื่อม่านเวทีรูดปิด คงไม่มีใครห้าม
อยากถามว่าตรานพเก้าข้างบนในรูป   เป็นตราของราชสกุลนวรัตน หรือคะ    ประดับอยู่ที่ไหน และทำด้วยอะไร


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 เม.ย. 11, 22:57
แม้เลือดศิลปินไม่เข้มข้นเหมือนราชสกุลนโรดม แต่ด.ญ. ณัฐเรขา นวรัตน ณ อยุธยา ลืบของท่านเจ้าคุณจอมมารดาเอม หรือลืดของหม่อมนุ่มคนนี้อายุ๕ขวบ ชอบเล่นแต่งกายเป็นนางละครและชอบร่ายรำโดยไม่มีใครสั่งเคยสอนมาก่อนเลย

ด.ญ. ณัฐเรขา คนทางขวาใช่ไหมเอ่ย

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/10/K9839741/K9839741-49.jpg)

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 เม.ย. 11, 23:24
ครับ ใช่ครับ
สีกาน้อยทั้งสอง ไปเยี่ยมหลวงพ่อของเธอ ซึ่งบวชอยู่วัดบวร ตอนนี้ยังยินดีในเพศบรรพชิตอยู่ ไม่มีกำหนดสึก

เลยกลายเป็นเรื่องของตนเองไปแล้วโดยไม่ได้ตั้งใจ ต้องขออภัยท่านทั้งหลายด้วยนะครับ

ส่วนตราราชสกุลนวรัตน เอาแบบมาจากดารา ที่ประกอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์
ที่เห็นในภาพ ผมนำแบบมาสร้างขึ้นโดยให้ช่างแกะสลักไม้ ทาสีทองและฝังด้วยแก้วเจียรนัย๙สี เพื่อนำมาติดบนหน้าบันหอพระในบ้าน ตอนที่สร้างขึ้นมาใหม่ขณะนั้นน่ะครับ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 เม.ย. 11, 06:21
ส่วนตราราชสกุลนวรัตน เอาแบบมาจากดารา ที่ประกอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/10/K9839741/K9839741-38.jpg)

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 06:31
^
ขอบคุณครับ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 07:43
ผมขอเล่าต่อที่ท่านอาจารย์เทาชมพูจบไว้

เมื่อกองทัพเวียตนามยกเข้ามาตีเขมรแดงแตก เพราะเหตุว่าเขมรแดงฆ่าคนญวนในเขมรไปมากพอๆกับฆ่าคนเขมรด้วยกัน  ตอนนั้นทำท่าจะข้ามพรมแดนไทยเข้ามาลุยเอาอิสานไปรวมเป็นสหพันธรัฐอินโดจีนด้วย ดีแต่ว่า จีนหมั่นไส้เวียตนาม ที่โซเวียตหนุนหลังอีกทีเต็มทน เลยส่งกองทัพมดลงมาเปิดสงครามสั่งสอนเวียตนาม ยับเยินไปทั้งสองฝ่าย โดยเวียตนามเละเทะกว่า ต้องถอยทัพออกจากเขมร
 
สงครามระหว่างคอมมิวนิสต์ด้วยกันสงบ รัฐบาลใหม่ซึ่งเวียตนามจัดตั้งขึ้นก็เริ่มปัดกวาดเขมร จากทรากความหายนะ คนเขมรในค่ายผู้อพยพทั้งหลายก็เดินเท้าจากชายแดนไทยกลับบ้าน

พระนางบุปผาเทวีไม่ได้อยู่ในค่ายผู้อพยพตลอดเวลาอันสาหัสนั้น พระนางประทับอยู่ที่ปารีส นานๆจะบินมาลงกรุงเทพแล้วเลยไปเขาอีด่างสักที โรงเรียนนาฏศิลป์เขมรที่นั่นมีละครหลวงเก่าหลายคนช่วยกันดูแลอยู่ พระนางจะมาร่วมรำกับเด็กๆชั่ววันพอเป็นขวัญกำลังใจ แล้วก็กลับไปโฮเตล ไม่ได้นอนที่นั่น
 
งานที่ทำอยู่สมัยนั้นทำให้ผมต้องไปตระเวนไประหว่างค่ายอพอพต่างๆตามชายแดน  ที่เขาอิด่างก็เคยเข้าไปหลายครั้ง สภาพที่นั่นในระยะหลังๆ พระนางบุปผาเทวีท่านคงจะประทับค้างคืนไม่ไหวจริงๆ สภาพสิ่งก่อสร้างทั้งหลาย ถึงจะดีกว่าสลัมในเรื่องของความแออัด แต่ยิ่งเวลาผ่านไปยิ่งสกปรก ที่แย่ที่สุด คือความเสื่อมโทรมในคน ผมว่ามันมากมายกว่าสถานที่ เห็นสีหน้าและแววตาของกลุ่มชายฉกรรจ์เขมรที่จับกลุ่มกัน วันๆไม่ยอมทำอะไรแล้ว น่ากลัวมาก

การต่อสู้กับอุปสรรคอย่างไม่ย่อท้อ ความร่วมมือร่วมใจของครูบาอาจารย์ที่จะสืบศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของชนชาติในด้านนาฏศิลป์เอาไว้นี้ จึง“เข้าตา”ยูเนสโกแล้วตั้งแต่ตอนนั้น



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 เม.ย. 11, 08:32
ครับ ใช่ครับ
สีกาน้อยทั้งสอง ไปเยี่ยมหลวงพ่อของเธอ ซึ่งบวชอยู่วัดบวร ตอนนี้ยังยินดีในเพศบรรพชิตอยู่ ไม่มีกำหนดสึก
เลยกลายเป็นเรื่องของตนเองไปแล้วโดยไม่ได้ตั้งใจ ต้องขออภัยท่านทั้งหลายด้วยนะครับ
ส่วนตราราชสกุลนวรัตน เอาแบบมาจากดารา ที่ประกอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์
ที่เห็นในภาพ ผมนำแบบมาสร้างขึ้นโดยให้ช่างแกะสลักไม้ ทาสีทองและฝังด้วยแก้วเจียรนัย๙สี เพื่อนำมาติดบนหน้าบันหอพระในบ้าน ตอนที่สร้างขึ้นมาใหม่ขณะนั้นน่ะครับ


งามและเหมาะสมมากค่ะ
ในบรรดาการออกแบบนพเก้า  แบบต่างๆ     เครื่องราชฯนพรัตนราชวราภรณ์เป็นดีไซน์ที่สง่างามที่สุด


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 08:39
^
ขอบคุณครับ

ต่อเรื่องเขมร

คนพนมเปญกลับมาถึงบ้านด้วยความกลัวๆกล้าๆ กลิ่นอายของการทำลายล้างชีวิตมนุษย์ด้วยกันยังคงหลอนอยู่ และนานกว่าที่ความหวาดกลัวจะคลายลง และออกไปสำรวจตรวจตราว่ายังมีอะไรหลงเหลืออยู่ ให้ทำมาหากินต่อไปได้

พวกละครหลวง (คงเทียบกับฝ่ายนาฏศิลป์ในกรมศิลปากรของไทย) เดิมเคยมีเกินร้อย กลับมาเห็นหน้ากันประมาณสามสิบคน  พวกเขาเที่ยวติดตามหา ได้เครื่องแต่งตัวละครบางส่วนในกองขยะที่โรงละครแห่งชาติ ได้เครื่องดนตรี จำพวกระนาดที่ถูกนำไปเป็นรางอาหารเลี้ยงหมู ได้หัวโขนที่ไปกองทิ้งในสวนผัก บางส่วนยังไม่ได้สิ้นสภาพไปกับดิน เขาเหล่านั้นได้ช่วยกันนำมาชำระไว้เป็นต้นแบบ รอคอยสำหรับการรื้อฟื้นคืนสภาพ บรรดาพวกนาฏศิลป์ก็ช่วยกันต่อท่ารำจากกันและกัน ทั้งหมดทำไปภายใต้งบประมาณอันน้อยนิดที่รัฐบาลจัดให้

สิ่งทั้งปวงไม่ว่าที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรมล้วนอยู่ใต้กฏพระไตรลักษณ์ ไม่ใช่เฉพาะอะไรดีๆเท่านั้นที่ไม่เที่ยง ความเลวร้ายก็ไม่เที่ยงเช่นกัน การเมืองเขมรก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆตามเหตุของมัน และแล้วเจ้าสีหนุก็มีอันที่จะได้รับการอัญเชิญให้เสด็จกลับมาเป็นองค์พระประมุขของชาติอีก และแม้ว่ารัฐบาลผสมระหว่างเจ้านโรดม รณฤทธิ์กับเฮง สัมริน นายกรัฐมนตรีแฝด มิใช่จะปราศจากความขัดแย้งในการบริหารประเทศ แต่โชคดียิ่ง ที่เรื่องการรื้อฟื้นนาฏศิลป์เขมรไม่มีผู้ใดไม่สนับสนุน ละครเขมรในที่สุดก็ออกโรงใหม่ได้ มิใช่ด้วยงบประมาณก้อนใหญ่ที่รัฐบาลจัดให้อย่างเดียว แต่เป็นเพราะคุณูปการของบรรดาครูบาอาจารย์ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ท่านทั้งหลายเหล่านั้นได้ทุ่มชีวิตและจิตวิญญาณให้แก่การสร้างคนรุ่นใหม่ให้ขึ้นมารับช่วงต่อ ทั้งการสร้างพัศดุและสร้างทักษะ ซึ่งศิษย์หนุ่มสาวของท่านก็ทำสำเร็จน่าชื่นใจ



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 08:50
รูปการฟื้นตัวของละครเขมรอีกชุดนึงครับ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 เม.ย. 11, 09:29
Lakhon Preah Reach Trop ល្ខោន - Royal Ballet of Cambodia World Heritage

http://www.youtube.com/watch?v=0yfqzWaL_lU

นาฏศิลป์ไทยของเรา   ได้เป็นมรดกโลก  World Heritage หรือยังคะ?


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 11:55
องค์การยูเนสโกประกาศให้ "รำพระราชา" ของเขมรขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกประเภทสืบทอดกันมาไม่สามารถจับต้องได้ (Oral and Intangible World Heritage)

ตามสมมติฐานของผม ฝรั่งในยูเนสโกให้คะแนนเขมรมาตั้งแต่ตั้งโรงเรียนสืบทอดวัฒนธรรมนี้ที่เขาอีด่างแล้ว รวมทั้งการรื้อฟื้นการดำรงอยู่นั้นให้ขึ้นมารุ่งเรืองใหม่ หลังที่ทุกสิ่งทุกอย่างในพนมเปญถูกทำลายย่อยยับ

ของไทย ที่มีผลงานลักษณะเดียวกันหลังเสียกรุงครั้งที่สอง แต่ไม่เคยสามารถทำอะไรให้เข้าตาฝรั่งได้เหมือนเขมร
เพราะอะไร?
มันก็เป็นอย่างนี้มานับร้อยปีแล้ว ลองย้อนไปอ่านตอนต้นๆดู


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 12:03
ยังมีอีก

หนึ่งในตัวศิษย์ยุคใหม่ของละครเขมรนี้ ผมจะขอกล่าวถึงคุณเจิมซะหน่อย คำว่าเจิมนี้ผมไล่สำเนียงมาจากชื่อเธอที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Cheam แต่ไม่ทราบเหมือนกัน จริงๆแล้วเธออาจจะชื่อแช่ม หรือเฉิ่ม ฯลฯ ประมาณนี้ก็ได้ อย่างไรก็ดี จากการที่เธอมีสามีเป็นอเมริกัน ก็เลยมีชื่อเต็มๆว่า Sophiline Cheam Shapiro ซึ่งเป็นมงคลนามที่เธอให้ทำมาหากินมีชื่อเสียงใหญ่โตที่เมืองนอก

ประวัติของเธอตอนเด็กๆน่าเศร้ามาก เมื่อแปดขวบพ่อแม่พี่น้องถูกเขมรแดงจับไปฆ่าตายหมด ตัวเธอถูกนำเข้าค่ายไปล้างสมอง แต่เสียงดี เลยได้อยู่ในหน่วยขับร้องเพลงปลุกใจที่เขมรแดงแต่งขึ้นมาบังคับให้ประชาชนปฏิวัติฟัง แทนเพลงกากเดนศักดินาดั้งเดิม การที่ได้อยู่ในหน่วยที่ไม่ต้องทำงานหนักกลางแดดเยี่ยงทาษ ทำให้เธอดำรงชีวิตผ่านยุคเข็ญมาได้
 
เมื่อเขมรแดงสลายตัว เธอติดตามคนอื่นๆเข้ามาในพนมเปญ และโชคชะตาพลิกผันให้ได้เข้าเรียนในโรงเรียนนาฏศิลป์หลวงที่ครูบาอาจารย์กำลังสืบทอดแบบแผนโบราณให้ลูกศิษย์อย่างทุ่มเท เมื่อจบแล้วเพียงสองปี โชคดีอีกครั้ง ได้ทุนไปเรียนต่อในอเมริกา ไม่นานเธอก็ได้สามีแล้วอยู่ด้วยกันที่ลองบีช ในแคลิฟอร์เนีย เริ่มต้นอาชีพด้วยการเปิดโรงเรียนสอนนาฏศิลป์เขมรให้แก่ลูกหลานเขมรอพยพ คนเหล่านี้เป็นบุคคลระดับปัญญาชนที่รัฐบาลอเมริกันคัดเลือกจากค่ายผู้อพยพในไทย เอาไปไว้เป็นชุมชนใหญ่โตที่นั่น

รูปคุณเจิม


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 12:10
คุณเจิมแกได้สามีที่เบิกทางให้ได้เข้าไปสู่แวดวงของบุคคลสำคัญในด้านศิลปกรรมศาสตร์ สังคมอเมริกันเป็นสังคมเปิดของผู้มีความสามารถ ทำให้คุณเจิมมีโอกาสได้รู้จักหลายๆคนในวงการที่ให้คำแนะนำ หรือสนับสนุนเธอ ที่ในที่สุดเธอก็ประยุกต์แผนแบบของนาฏศิลป์เขมรเข้ากับความยึดมั่นถือมั่นของฝรั่ง ด้วยการนำเอาท้องเรื่อง The Magic Flute ของ Mozart มารังสรรค์ผลงานที่มีชื่อว่า Pamina ภามิณา (ผมเขียนให้ดูขลังๆไปอย่างนั้นเอง), Queen of the Night  ใช้ศิษย์เขมรของเธอในการร่ายรำในท่วงทำนองที่ครูบาอาจารย์ในพนมเปญยังค้อนหลายตลบหลังจากที่ฟื้นจากสลบสามครั้ง

แต่ภามิณาก็จุดประกายขึ้นบนเวทีในอเมริกา ทำให้การแสดงชุดอื่นๆของเธอเช่น “สัมฤทธิจักร” ( Samrittechak) ตามเค้าโครงเรื่อง Othello ของ Shakespeare  และ The Glass Box  ติดตามมา ชื่อเสียงของเธอโด่งดังเป็นพลุ ได้รับเชิญไปแสดงในหลายต่อหลายประเทศ แต่ถือว่าไม่ประสพความสำเร็จในบ้าน เมื่อได้มาแสดงตามคำเรียกร้องของคนเขมรในพนมเปญ ถูกนักวิจารณ์ยำเสียเละเทะ

ข้างล่างเป็นภาพจาก ภามิณา


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 12:11
ภาพนี้จาก สัมฤทธิจักร


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 12:15

คลิ๊ปจากภามิณา

http://www.youtube.com/watch?v=COIriBOQpGA

อัพไม่เป็นอีกแล้ว :-[
ใครก็ได้ ช่วยทีเถิดครับ เกรงใจคุณเพ็ญ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 เม.ย. 11, 12:26
http://www.youtube.com/watch?v=COIriBOQpGA

วิธีเอาคลิปจากยูทูปมาใส่ในนี้   คือทำเหมือนทำลิ้งค์  ก๊อบจาก url ของยูทูปอย่างที่ท่าน NAVARAT ทำ   แต่แทนที่จะเอาลงในช่องข้อความเฉยๆ ก็ลากเม้าส์ไปตามลิ้งค์นั้น แล้วเอาเม้าส์ชี้ไปที่เครื่องหมาย youtube ตัวเล็กๆในแถวที่สองข้างบนช่องข้อความ   มันก็ขึ้นมาเป็นข้อความว่า

[ยูทูป]http://www.youtube.com/watch?v=COIriBOQpGA[/ยูทูป]

ลองคลิก" แสดงตัวอย่าง" เพื่อตรวจสอบว่าทำถูกต้องไหม  ถ้าทำถูกคลิปก็จะขึ้นมาให้ดู   แล้วส่งข้อความได้เลย


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 12:30
^
ขอบคุณที่บอกครับ คราวหน้าจะลองทำตาม
.
.

ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ความสำเร็จของคุณเจิมในเมืองนอกเมืองนา ได้สะกิดครูละครของเขมรหลายคนที่จะพัฒนารูปแบบโบราณให้เข้ากับรสนิยมของคนสมัยใหม่ แข่งกับภาพยนต์ทั้งจอยักษ์และจอแก้ว แม้การต่อสู้นี้จะไม่มีทางชนะ พวกละครก็ขอที่ยืนเล็กๆแต่มั่นคงให้ศิลปวัฒนธรรมแขนงนี้ในหัวใจของคนชาติด้วย

ฉากและรูปแบบการแสดงบนเวทีของโขน ที่เริ่มจะเล่นกับแสงสี และการจัดองค์ประกอบมากขึ้น




กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 12:31
ลองดูตามคำบอก
คลิ๊ปโฆษณาสัมฤทธิจักรครับ
ฝรั่งทำมาร์เกตติ้งให้ เหมือนเดิมเลย

http://www.youtube.com/watch?v=iVCA8dbIM5Q


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 เม.ย. 11, 12:45
(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4316.0;attach=18189;image)

โขนรามเกียรติ์ตอนไมยราพสะกดทัพ ?


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 12:51
ดูคล้ายๆนะครับ

แต่หนุมานลืมตาโพลง ไม่ได้หลับพร้อมกับมีพลับพลาพระรามพระลักษณ์อยู่ในปาก
อาจแต่งเรื่องขึ้นมาใหม่ก็ได้


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 เม.ย. 11, 12:56
ท่าน NAVARAT อินเทอร์มิชชั่น    ดิฉันขอคั่นเวลาด้วยรำฉุยฉายของคุณเจิม

http://www.youtube.com/watch?v=-czq_LDBdVY

กับฉุยฉายพราหมณ์ของไทย  รำโดยศิลปินแห่งชาติ

http://www.youtube.com/watch?v=puGGHiuOCYY&feature=related


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 13:04
ท่ารำใน The Glass Box นี้ คุณเจิมดัดแปลงจากฉุยฉาย แต่ใส่ดนตรีที่มีท่วงทำนองกระแทกกระทั้นเร้าใจ

แต่เออนะ เครื่องแต่งกายของเธอจะดูเทอะทะไปหน่อย เสื้อหนายังกับเสื้อรักบี้ก็พอจะเข้าใจว่ามันหนาว แต่ผ้านุ่งทำไมมันยับยังงั้น แถมบานยังกับกระโปรง

รึคุณเจิมเธอจะชื่อคุณเฉิ่มก็ไม่รู้

http://www.youtube.com/watch?v=AbHIvalXKp8


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 เม.ย. 11, 13:19

แต่ภามิณาก็จุดประกายขึ้นบนเวทีในอเมริกา ทำให้การแสดงชุดอื่นๆของเธอเช่น “สัมฤทธิจักร” ( Samrittechak) ตามเค้าโครงเรื่อง Othello ของ Shakespeare  และ The Glass Box  ติดตามมา ชื่อเสียงของเธอโด่งดังเป็นพลุ ได้รับเชิญไปแสดงในหลายต่อหลายประเทศ แต่ถือว่าไม่ประสพความสำเร็จในบ้าน เมื่อได้มาแสดงตามคำเรียกร้องของคนเขมรในพนมเปญ ถูกนักวิจารณ์ยำเสียเละเทะ


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ เคยทรงดัดแปลง Othello ของ Shakespeare  เป็นละครเรื่อง พระยาราชวังสัน  แต่ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ ดูเหมือนจะไม่ได้นำออกแสดง 
ส่วนเรื่อง The Glass Box  พอฟังท่าน NAVARAT เกริ่นมาก็น่าสนใจ  เพราะนึกไม่ออกว่ามาจากวรรณคดีเรื่องไหน  ไปค้นในกูเกิ้ล  พบว่าเป็นเรื่องคุณเจิมแต่งขึ้นมาใหม่
เนื้อหา น่าจะถูกใจคนอเมริกัน  เป็นแนว Man Against Environment  ที่ฝรั่งเข้าใจดี  และถ้าเป็นแนวการค้นหาตัวเองในฐานะปัจเจกชน ให้พบด้วย ก็ยิ่งเป็นที่เข้าใจกันมากขึ้น เพราะวรรณกรรมตะวันตกจำนวนมากเป็นเรื่องแบบนี้

Inspired by the story of a friend who was gunned down on a Phnom Penh street, presumably for having an affair with another woman's husband, The Glass Box features a goddess who is hiding from danger, having been accussed of behaving disreputably. Sick of her situation, she resigns herself to her fate and emerges from her retreat into a beautiful garden. As she enjoys her freedom, she becomes aware of her vulnerability. At first she tries to escape from the garden but finds that she cannot. She struggles to save her life but loses the battle. Finally, her spirit is able to leave the garden, wounded.


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 เม.ย. 11, 13:32
ท่ารำใน The Glass Box นี้ คุณเจิมดัดแปลงจากฉุยฉาย แต่ใส่ดนตรีที่มีท่วงทำนองกระแทกกระทั้นเร้าใจ

แต่เออนะ เครื่องแต่งกายของเธอจะดูเทอะทะไปหน่อย เสื้อหนายังกับเสื้อรักบี้ก็พอจะเข้าใจว่ามันหนาว แต่ผ้านุ่งทำไมมันยับยังงั้น แถมบานยังกับกระโปรง

รึคุณเจิมเธอจะชื่อคุณเฉิ่มก็ไม่รู้

http://www.youtube.com/watch?v=AbHIvalXKp8

ยังจับไม่ได้ว่าท่วงทำนองฉุยฉายของคุณเจิม ค่อนไปทางมโนห์ราบูชายัญหรือเปล่า   ต้องรอคุณ Siamese  เห็นด้วยว่าเครื่องทรงของเธอไม่สวยเลยค่ะ   บนปก The Glass Box  ไม่มีเสื้อรักบี้   ผ้านุ่งก็จีบสวยกว่าในคลิป     คุณเจิมเห็นคลิปแล้วน่าจะเปลี่ยนชุด

เจอรูปเธอในชุดธรรมดา ไม่ใช่นางรำ ก็เลยเอามาฝากค่ะ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 เม.ย. 11, 14:06
จากราชสำนักเขมร    รำพระราชาไปสู่สถาบันสมิธโซเนียนของอเมริกาแล้ว
รำที่เห็นในคลิปชื่อว่าเทพมโนรม  สาวๆที่รำ อายุยังน้อย  หน้าตาแสดงว่าเกิดยุคหลังเขมรแดง    คงเป็นลูกหลานชาวเขมรที่อพยพไปอยู่ในอเมริกา  และตั้ง Cambodian-American Heritage Dance troupe ขึ้นมา

http://www.youtube.com/watch?v=p-m6Kbk6wQk&feature=related

Based in the Washington DC metropolitan area and under the direction of Mme. Sam-Oeun Tes and dance masters Devi Yim Dos and Sochietah Ung, members of the Cambodian-American Heritage Dance troupe (http://www.cambodianheritage.org ) perform on May 17, 2008 as part of Asian-American Heritage Month at the National Museum of Natural History's Baird Auditorium (Smithsonian Institution).


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 14:20
ผมนำท่านผู้อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ถึงเวลาต้องปิดประเด็น

ไม่ว่านาฏกรรมเขมรที่คุณเจิมแกจะเพี้ยนหรือไม่เพี้ยนไปจากแบบฉบับอย่างไร ต้องเข้าใจว่า ฝรั่งทั่วไปจะต้องชื่นชม เห็นเป็นของดี ของวิเศษ เวทีของเขาเป็นเวที Performing Arts ในขณะที่เวทีละครในฟิ๊ฟอาเวนิวที่นิวยอร์ค ซึ่งต่ำชั้นกว่า ทำมาหากินกับคิงแอนด์ไอ ด้วยการเอาภาพพจน์ของเราไปบิดเบือน เพื่อความบันเทิงของเขา

ผมไปรื้อสูจิบัตรละครเรื่องนี้ ผมเคยไปดูมาเมื่อสิบกว่าปีก่อน ก็อปเอารูปมาให้ท่านดูภาพพจน์ของนาฏศิลป์สยาม ที่อเมริกันชนเห็นจนติดตา แม้จะแก้ตัวว่ามันเป็นเพียงการแสดงก็เถอะ แต่มันก็สะท้อนอคติในใจนั่นเอง


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 14:31
ละครเรื่อง Uncle Tom's Cabin


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 14:37
ครับ ดู สักแต่ว่าดู
ไม่ต้องจิตตก


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 14:39
ลองไปถามฝรั่งในประเทศของเขาเถิดครับ เค้าคิดว่า นาฏศิลป์เขมร หรือของไทย คู่ควรกับการเป็นมรดกโลก

ชมคลิ๊ปจากภาพยนต์ตอนนี้หน่อย ทนดูให้จบนะครับ แล้วท่านก็คงจะมีคำตอบ


http://www.youtube.com/watch?v=-2ekNKr8otk&feature=related


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 14:47

ถ้ายังไม่เบื่อ ก็ดูตอน2ต่อครับ

http://www.youtube.com/watch?v=DvbE-Ztwz5I&feature=player_embedded


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 เม.ย. 11, 14:52
^
^มุมมองฝรั่งก็พยายามทำให้เหมือนวัฒนธรรมไทย แต่คนที่เข้าใจดูยังไงก็ไม่ใช่
๑.   นึกว่ากิ่งไม้เงินทอง กลายเป็นกระพรวนไปเสียเฉยเลย
๒.   การโปรยดอกไม้ เหมือนโรยเกลือ โรยพริกไทยบนเนื้อ บนปลาแซลมอน
๓.   ตกลงรำอะไร พม่า ไทย เขมร หรือ ตลกขบขัน + รำเกอิชา + ผีจีนกระโดด


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 14:53
แล้วเราควรจะทำอย่างไร
ผมไม่มีคำตอบ ไม่มีข้อเสนอแนะ

ขอประทานโทษด้วย


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 เม.ย. 11, 15:05
มันก็เป็นแด๊นซ์ของอเมริกันแต่ใส่เสื้อผ้ากับชฎาไทย   ประยุกต์จนไม่สวยอีกต่างหาก
เห็นแล้วก็ทุเรศกับฉากนี้เช่นกัน       แต่เคยทำใจแล้วว่า Siam และ The King Mongkut ในเรื่องเป็นประเทศสมมุติ ยืมชื่อสยามและพระนามพระเจ้าแผ่นดินเราไปเท่านั้น
ละครเพลงของอเมริกา ทำเสียป่นเป็นแป้งกับหลายประเทศ ไม่ว่าจีน ใน Turandot  และญี่ปุ่น  ใน  Mikado

http://www.youtube.com/watch?v=BEvbRlMlzAE&feature=related


http://www.youtube.com/watch?v=mXWkIZUPmDY


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 เม.ย. 11, 15:06
องค์การยูเนสโกประกาศให้ "รำพระราชา" ของเขมรขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกประเภทสืบทอดกันมาไม่สามารถจับต้องได้ (Oral and Intangible World Heritage)

ตามสมมติฐานของผม ฝรั่งในยูเนสโกให้คะแนนเขมรมาตั้งแต่ตั้งโรงเรียนสืบทอดวัฒนธรรมนี้ที่เขาอีด่างแล้ว รวมทั้งการรื้อฟื้นการดำรงอยู่นั้นให้ขึ้นมารุ่งเรืองใหม่ หลังที่ทุกสิ่งทุกอย่างในพนมเปญถูกทำลายย่อยยับ

ของไทย ที่มีผลงานลักษณะเดียวกันหลังเสียกรุงครั้งที่สอง แต่ไม่เคยสามารถทำอะไรให้เข้าตาฝรั่งได้เหมือนเขมร
เพราะอะไร?
มันก็เป็นอย่างนี้มานับร้อยปีแล้ว ลองย้อนไปอ่านตอนต้นๆดู

จริงอย่างที่คุณนวรัตนว่า

คำชื่นชมจาก UNESCO

http://www.unesco.org/culture/ich/index.php?RL=00060

The Royal Ballet of Cambodia

Renowned for its graceful hand gestures and stunning costumes, the Royal Ballet of Cambodia, also known as Khmer Classical Dance, has been closely associated with the Khmer court for over one thousand years. Performances would traditionally accompany royal ceremonies and observances such as coronations, marriages, funerals or Khmer holidays. This art form, which narrowly escaped annihilation in the 1970s, is cherished by many Cambodians.

Infused with a sacred and symbolic role, the dance embodies the traditional values of refinement, respect and spirituality. Its repertory perpetuates the legends associated with the origins of the Khmer people. Consequently, Cambodians have long esteemed this tradition as the emblem of Khmer culture. Four distinct character types exist in the classical repertory: Neang the woman, Neayrong the man, Yeak the giant, and Sva the monkey. Each possesses distinctive colours, costumes, makeup and masks.The gestures and poses, mastered by the dancers only after years of intensive training, evoke the gamut of human emotions, from fear and rage to love and joy. An orchestra accompanies the dance, and a female chorus provides a running commentary on the plot, highlighting the emotions mimed by the dancers, who were considered the kings’ messengers to the gods and to the ancestors.

The Royal Ballet practically ceased to exist under the repressive rule of the Khmer Rouge, who eliminated almost all master dancers and musicians. Immediately after Pol Pot’s defeat in 1979, dance troupes re-emerged and performances of the ancient repertory resumed. The ballet has regained much of its former splendour but still faces numerous difficulties, such as a lack of funding and suitable performance spaces, competition from modern media and the risk of becoming a mere tourist attraction.

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 15:12
^
ดีที่ได้เห็นตรงนี้ครับ ไม่เคยเห็นมาก่อน
ที่เขียนไปก็มาจากสมมติฐานของผมเอง

คิดอย่างไร ก็เขียนไปอย่างนั้น
ขอบคุณครับ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 เม.ย. 11, 15:14
เมื่อเราถูกย่ำยีทางวัฒนธรรมศิลปะนาฏศิลป์ไทยเอาไปประยุกต์แบบไม่มีหลักการแล้ว คนไทยเองควรจะต้องหันมาสนใจให้มากขึ้น ส่วนของทางกัมพูชานั้น เขาเคยสูญเสียจิตวิญญาณด้านนาฏศิลป์ไป ในเมื่อมีการรื้อฟื้นและกำเนิดใหม่โดยคงเอกลักษณ์แบบโบราณแล้ว เขาต้องรักและหวงแหน และต้องการสร้างความโดดเด่นมิให้เหมือนประเทศใดๆ และที่สำคัญไม่ถูกฝรั่งเอาไปย่ำยีอีกด้วย


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 เม.ย. 11, 15:21
อ้างถึง
The ballet has regained much of its former splendour but still faces numerous difficulties, such as a lack of funding and suitable performance spaces, competition from modern media and the risk of becoming a mere tourist attraction.

ตรงนี้หรือเปล่า เป็นเหตุผลข้อหนึ่งที่ยูเนสโกยื่นมือมาอนุรักษ์ระบำเขมรไว้เป็นมรดกโลก   เพราะเห็นว่าขาดทุนสนับสนุน  ไม่มีสถานที่ให้แสดง  ซ้ำยังโดนเบียดเนื้อที่ความสนใจ  โดยสื่อยุคใหม่(ประเภทหนังละครทีวี)   จนในที่สุดเกรงว่าเหลือเป็นแค่รำให้นักท่องเที่ยวดูเท่านั้น
เขาก็เลยยื่นมือมาช่วยอนุรักษ์ไว้ไม่ให้เสื่อมสูญ    ทำนองเดียวกับหลวงพระบางเมืองมรดกโลก

พอมียูเนสโกสนับสนุน  นาฏศิลป์หลวงหรือรำพระราชา ก็เฟื่องฟู


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 เม.ย. 11, 15:22
เข้าไปค้นหา Intangible Heritage Lists หรือ รายการมรดกที่จับต้องไม่ได้ (พวกการรำ ดนตรี ศิลปะ) ช่อง Country ไม่พบ "Thailand" ไม่ทราบว่าหน่วยงานราชการของไทย ทำอะไรกันอยู่  ::)
http://www.unesco.org/culture/ich/index.php?lg=en&pg=00011#results


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 เม.ย. 11, 15:25
เอ่อ....

http://www.youtube.com/watch?v=3t4g_1VoGw4

The answer, my friend, is blowin' in the wind
The answer is blowin' in the wind


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 เม.ย. 11, 15:30
^
ดังว่า "กว่าเราจะรู้คุณค่าของสิ่งนั้น ก็เมื่อเราได้สูญเสียมันไปแล้ว"  :-\


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 เม.ย. 11, 19:31
ไปเช็คว่ามรดกโลกประเภท oral and intangible  World Heritage มีอะไรบ้าง  พบว่ามียาวเหยียดหลายสิบประเทศ    ที่ไม่รู้จักก็ข้ามไป 
มาเจออะไรอีกอย่างที่อยากจะร้องโอ๊ยออกมา  ก็คือ Sbek Thom ของเขมรได้เป็นมรดกโลกด้วย

Sbek Thom คืออะไร เชิญดูในคลิปนะคะ

http://www.youtube.com/watch?v=jkwlplUOW4g




กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 20:16

สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนไว้ว่า หนังใหญ่เข้าใจว่าได้รับอิทธิพลมาจากเขมร

ตามนี้เลยครับ ย่อหน้าสุดท้าย

http://www.lek-prapai.org/watch.php?id=21


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 20:38
การได้เป็นมรดกโลก ผมเข้าใจว่า ไม่ใช่การจดลิขสิทธิ์ ใครเอาไปแสดงที่ไหนไม่ได้นอกจากฉัน หรือต้องจ่ายเงินให้ฉัน

ข้อดีของการเป็นมรดกโลกก็คือ การที่จะได้รับเงินงบประมาณของยูเนสโกมาทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมนั้นให้ดำรงอยู่ นอกเหนือไปจากงบประมาณของรัฐบาลประเทศนั้นๆจะจัดให้ ซึ่งมักจะไม่พอเพราะต้องเกลี่ยไปใช้สำหรับอย่างอื่นด้วย

บางอย่างของไทย ถ้าพูดถึงคุณค่าก็คู่ควรระดับโลก พูดถึงความโดดเด่นพิเศษ ก็ล้ำเลิศกว่าใคร ไม่มีข้อกังขาว่าเราได้รับอิทธิพลมาจากชาติที่เก่าแก่กว่าเราชาติใดหรือไม่ เช่น กระบวนเรือพระราชพิธี ในการเสด็จพยุหยาตราโดยชลมารค เป็นต้น
แต่นั่นเรารักษาของเราเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปให้ผู้ชำนาญการชาติอื่นเข้ามาบอกว่าควรจะทำอะไรต่ออะไร ในอันที่จะได้เงินสนับสนุนจากเขาต่อไป

 



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 เม.ย. 11, 20:48
ของ...เขา...หมด...เลย...
 :'(


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 21:09
เพื่อความสบายใจน่ะครับ อยากให้ดูว่าชาติเหล่านี้ก็มีหนังตะลุงเหมือนกัน
ทำไมยูเนสโกจึงยอมรับของเขมร

ชาติแรก อินเดียใต้ เล่นเรื่องรามายาณะมานานเท่าไหร่ไม่ทราบ เดี๋ยวนี้ยังเล่นอยู่


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 21:12
อินโดเนเซีย ทั้งชวาและบาหลี
โดยเฉพาะที่บาหลี เล่นเรื่องรามายาณะเหมือนกัน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 เม.ย. 11, 21:28
เขมรประดิษฐ์สะเบกธมขึ้นโดยรับอิทธิพลจากอินเดีย
ยูเนสโกก็ยอมรับตรงนี้ ทำให้เขมรจะสามารถมีทุนอุดหนุนให้สืบวัฒนธรรมนี้ต่อไปได้นะครับ ผมว่า


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 เม.ย. 11, 21:33
ก็คงงั้นละค่ะ  เห็นด้วยกับคุณนวรัตน :(
ไปเจอรูป   เลยเอามาให้ดู  ประกอบค.ห.


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 เม.ย. 11, 21:38
UNESCO เขาชื่นชม และลงท้ายด้วยความเป็นห่วงเช่นเดียวกับ The Royal Ballet of Cambodia

http://www.unesco.org/culture/intangible-heritage/09apa_uk.htm

Sbek Thom,
Kmer Shadow Theater


Sbek Thom is a Khmer shadow theatre featuring two-metre high, non-articulated puppets made of leather openwork. Dating from before the Angkorian period, the Sbek Thom, along with the royal ballet and mask theatre, is considered sacred. Performances, dedicated to the divinities, could only take place on specific occasions, three or four times a year, such as the Khmer new year, the King’s birthday or the veneration of famous people. The shadow theatre was weakened after the fall of Angkor in the last century. However, it has evolved beyond a ceremonial activity to become an artistic form, while retaining its ritualistic dimension.

The puppets are made from a single piece of leather in a special ceremony for each character. Shiva and Vishnu, for example, are cut from the hide of a cow, which died accidentally or naturally and are finished in a single day following a specific ritual. The hides are dyed with a solution made from the bark of the Kandaol. The artisan draws the desired figure on the tanned hide, then cuts it out and paints it before attaching it to two bamboo sticks which enable the dancer to control the puppet.

The performances traditionally take place at night in the open air beside a rice-field or pagoda. A large white backdrop is held between two tall bamboo screens in front of a large fire or, nowadays, projectors. The shadow of the puppet’s silhouette is projected onto this white screen. The animator brings the puppet to life with precise and specific dance steps that produce a range of movements. The performance is accompanied by an orchestra and two narrators. Performances from the Reamker, the Khmer version of the Ramayana, might last several nights and require up to 160 puppets for a single session.

The Sbek Thom was almost wiped out under the repressive Khmer Rouge regime but since 1979 has undergone a revival thanks to the few surviving artists. The collections of puppets were mostly destroyed but are gradually being re-made and troupes are being re-formed. So far, three shadow theatres have managed to rise from their ashes but they are terribly short of resources and opportunities to perform. In addition, the transmission of knowledge, techniques and know-how, especially relating to the manufacture of the puppets, is no longer ensured.

 ;D


 
 
 
   



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 เม.ย. 11, 22:36

สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนไว้ว่า หนังใหญ่เข้าใจว่าได้รับอิทธิพลมาจากเขมร

ตามนี้เลยครับ ย่อหน้าสุดท้าย

http://www.lek-prapai.org/watch.php?id=21

อดไม่ได้เลยไปค้นตู้หนังสือ   เปิดสมุทรโฆษคำฉันท์มาอ่านอีกครั้ง  ในนั้นกล่าวถึงหนังใหญ่ไว้ว่า

      พระให้กล่าวกาพยนิพนธ์                     จำนองโดยกล
ตระการเพลงยศพระ
      ให้ฉลักแสบกภาพอันขระ                     เป็นบรรพบุรณะ
นเรนทรราชบรรหาร
      ให้ทวยนักคนผู้ชาญ                           กลเล่นโดยการ-
ยเปนบำเทิงธรณี

      อ่านได้ความว่าสมเด็จพระนารายณ์โปรดฯให้กวี (หมายถึงพระโหราธิบดี) แต่งสมุทรโฆษ เป็นการเฉลิมพระเกียรติ   ให้ช่างฉลุฉลักหนังเป็นรูปร่างสวยงาม    ให้คนที่ชำนาญด้านเล่นหนัง  นำออกมาเล่น
     แสดงว่าสมุทโฆษคำฉันท์แต่งขึ้นเพื่อใช้เล่นหนัง  จะหนังใหญ่หรือหนังตะลุง ไม่ได้บอกรายละเอียดไว้    รู้จากตอนนี้อีก ๒ อย่างคือในสมัยพระนารายณ์มีการประดิษฐ์หนังเอาไว้ใช้เล่นมาชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว     ถึงมีช่างผู้ชำนาญการเล่นหนังทำงานอยู่ในอยุธยา    ถ้าดูกฎมณเฑียรบาล ระบุเรื่องการเล่นหนัง   ก็แปลว่าในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีการละเล่นโดยใช้หนังแล้ว
     หนังที่เล่นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ คงมาจากเขมร  อาจจะมาตั้งแต่สมัยเจ้าสามพระยาไปตีนครธมของกัมพูชา  แล้วนำวัฒนธรรมของเขมรมาสู่อยุธยาก็เป็นได้   ชื่อ"แสบก"( อ่านว่าสะแบก) ที่ใช้ แสดงถึงแหล่งที่มาของการละเล่นชนิดนี้    และคงแสดงกันแบบเดิม  ของไทยยังไม่มี  อยุธยาจึงเรียกชื่อเดิมอยู่
     ต่อมาการละเล่นแบบนี้คงพัฒนาเป็นของไทยเอง   เห็นได้จากชื่อ ซึ่งเรียกใหม่เป็นภาษาไทย  และแพร่หลายจนกระทั่งชื่อ"แสบก" หายไป   หนังใหญ่หรือหนังเล็กสมัยอยุธยาเป็นอย่างไรไม่เคยเห็น    หนังจริงๆคงสูญไปหมดแล้ว  ถ้าจะมีหน้าตาเหลือรอดมาก็คงจะหาได้จากภาพในผนังโบสถ์วัดใดวัดหนึ่ง  สมัยอยุธยา    ส่วนหนังใหญ่ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นหนังสมัยรัตนโกสินทร์  
    



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 เม.ย. 11, 22:54
ชื่อ"แสบก"( อ่านว่าสะแบก) ที่ใช้ แสดงถึงแหล่งที่มาของการละเล่นชนิดนี้    และคงแสดงกันแบบเดิม  ของไทยยังไม่มี  อยุธยาจึงเรียกชื่อเดิมอยู่

ต่อมาการละเล่นแบบนี้คงพัฒนาเป็นของไทยเอง   เห็นได้จากชื่อ ซึ่งเรียกใหม่เป็นภาษาไทย  และแพร่หลายจนกระทั่งชื่อ"แสบก" หายไป 

Sbek = หนัง  Thom = ใหญ่

Sbek Thom = หนังใหญ่

แปลตามตัวเปี๊ยบเลย

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 เม.ย. 11, 23:01
อืมม์ ลืมสนิทว่า ธม แปลว่า ใหญ่   :-[

แต่ว่าในสมุทรโฆษ  ไม่มีคำว่า "ธม" นะคะ คุณเพ็ญ   มีแต่คำว่า "ฉลัก/แสบก/ภาพ/อันขระ"
ถึงไม่รู้ว่าหนังใหญ่หรือหนังเล็ก


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 เม.ย. 11, 23:24
ถ้าหนังเล็กหรือหนังตะลุงเรียก sbek touch หรือ  nang sbek touch

nang ก็คือ หนัง ในภาษาไทยนั่นเอง

ภาษาก็มีการไหลเช่นกัน

สมัยอยุธยา คำว่า แสบก ของเขมรไหลมาสู่กรุงศรีอยุธยา

พอสมัยรัตนโกสินทร์ คำว่า หนัง ของไทยไหลไปสู่เขมร

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 เม.ย. 11, 10:40
แบบนี้ศิลปะเรียกว่า ไหลไปไหลมา ใช่ไหมครับ อ. NAVARAT.C  ;D

มาดูคำว่า "ธม - Thom" แปลว่าใหญ่ ในเครื่องดนตรี ฆ้องวงธม ครับ หรือ ฆ้องวงใหญ่


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 เม.ย. 11, 10:42
ฆ้องวงเล็ก - Kong Vong Toch


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 เม.ย. 11, 10:43
ฆ้องโหม่ง ทับศัพท์เลย  ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 เม.ย. 11, 10:44
ระนาดเอก


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 เม.ย. 11, 10:45
ระนาดทุ้ม


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 เม.ย. 11, 10:49
จะเฆ่


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 เม.ย. 11, 11:29
อ้างถึง
แบบนี้ศิลปะเรียกว่า ไหลไปไหลมา ใช่ไหมครับ อ. NAVARAT.C

เป็นเช่นนั้นแล ภราดา เป็นเช่นนั้น

คุณหนุ่มรู้สึกมั้ย ความจริงแล้วเขมรกับไทยเป็นยิ่งกว่าพี่น้อง เมื่อพันสองพันปีก่อนคือตัวตนเดียวกัน
แต่ไม่รู้กลายพันธุ์อย่างไร จึงบ่มเพาะความเป็นศัตรูต่อกันได้รุนแรงเช่นทุกวันนี้

เช่นเดิมครับ ไม่มีคำตอบ ไม่มีข้อเสนอแนะ

ทุกสิ่งย่อมเป็นไปตามเหตุ
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 เม.ย. 11, 11:31
จะสังเกตได้ว่า เครื่องดนตรีเขมรกับไทยช่างมีชื่อและรูปร่างคล้ายหรืออาจจะเรียกได้ว่าเหมือนกันทีเดียว

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้น

เรื่องนี้ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนอธิบายไว้ในคำนำหนังสือ เครื่องดนตรีกัมพูชาโบราณ (http://www.sujitwongthes.com/suvarnabhumi/2011/04/%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%8A%E0%B8%B2-%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B8%99/) ของ ยน เคียน, แกว ฎูรีวรรณ, อี ลีณา, เมา เฬณา มหาวิทยาลัยภูมินทรวิจิตรศิลปะ กัมพูชา แปลจากต้นฉบับภาษาเขมรโดย สกลสุภา ทองน้อย จัดพิมพ์โดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/819/1819/images/cambodianmusic_300x439.shkl.jpg)

ขออนุญาตสรุปความจากคำนำมาให้อ่านกันดังนี้

วัฒนธรรมดนตรีกัมพูชาและไทย มีร่วมกันมาเก่าแก่อย่างน้อยราว ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว นับตั้งแต่ “วัฒนธรรมไม้ไผ่” คนสุวรรณภูมิรวมถึงบรรพชนกัมพูชาและไทยรู้จักทำเครื่องดนตรีจากไม้ไผ่ เพื่อพิธีกรรมสื่อสารวิงวอนร้องขอต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ แล้วยกย่องเป็นเครื่องมือศักดิ์สิทธิ์มี “ผี” สิงอยู่ในเครื่องมือ

จนราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว คนสุวรรณภูมิ รวมทั้งบรรพชนกัมพูชาและไทย รู้จักถลุงโลหะด้วยความร้อน แล้วเอามาทุบตีและหล่อหลอมให้ได้รูปตามต้องการ

เครื่องดนตรีทำด้วยโลหะชุดแรกจัดอยู่ใน “วัฒนธรรมฆ้อง” เป็นโลหะผสมเรียกสัมฤทธิ์ ประกอบด้วยทองแดง + ดีบุก หรือตะกั่ว ทำเลียนแบบเครื่องดนตรีวัฒนธรรมไม้ไผ่ที่มีมาก่อน แล้วมีแบบอื่นๆด้วย  เช่น ลูกกระพรวน, โปง, ฯลฯ ที่สำคัญคือ ลิ้นแคน

เสียงกังวานโลหะ เมื่อราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ต้องนับเป็นเสียงใหม่, ใหญ่ยิ่ง, สิ่งศักดิ์สิทธิ์, และมหัศจรรย์ที่สุดของยุคนั้น เครื่องดนตรีโลหะจึงมีฐานะสูงมากตราบถึงทุกวันนี้ เช่น ฆ้องวง ถือเป็น “ครูใหญ” ของวงปี่พาทย์ เป็นต้น

“วัฒนธรรมฆ้อง” เก่าสุดอายุราว 3,000 ปีมาแล้ว พบในยูนนาน, กวางสี (มณฑลทางใต้ของจีน) และดงเซิน (ในเวียดนาม) มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น กลองทอง (ไทย-ลาว), ฆ้องบั้ง (ลาว), กลองกบ (กะเหรี่ยง), ฆ้องกบ, มโหระทึก (ไทย), ฯลฯ

มโหระทึก หมายถึง กลองสัมฤทธิ์ มีเอวคอดคล้ายลูกน้ำเต้า

ฆ้อง เป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นใหญ่ หมายถึง  เครื่องตีทำด้วยสัมฤทธิ์ มีรากเหง้าจากมโหระทึกหรือกลองทอง

“วัฒนธรรมฆ้อง” เป็นสัญลักษณ์ร่วมกัน หรือเครือญาติชาติพันธุ์เฉพาะภูมิภาคอุษาคเนย์ มีแหล่งกำเนิดบนผืนแผ่นดินใหญ่ เช่น จีน (ยูนนาน, กวางสี), เวียดนาม แล้วแพร่กระจายลงไปหมู่เกาะทะเลใต้ มีใช้ในกลุ่มชาติพันธุ์สืบเนื่องถึงทุกวันนี้

วัฒนธรรมดนตรีของกัมพูชาและไทย จึงมีพื้นเพดั้งเดิมร่วมกัน แยกไม่ได้อย่างเด็ดขาดว่าดนตรีไทยหรือดนตรีเขมร แต่เป็นสมบัติบรรพชนในภูมิภาคเดียวกันที่สั่งสมร่วมกันมากว่า ๕,๐๐๐ ปีที่แล้ว


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 เม.ย. 11, 11:37
ฆ้อง ในขบวนดนตรีพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของราชสำนักกัมพูชาโบราณ บนภาพสลักฉากชัยชนะของพระกฤษณะเหนืออสูรพาณะ ระเบียงคดด้านทิศเหนือ ปีกตะวันออก ปราสาทนครวัด กัมพูชา (ภาพจาก Le Temple d’ Angkor Vat  Vol.3 : Galerie des Bas-reliefs. Paris : G. Van Oest, 1923-1932.)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 เม.ย. 11, 11:47
วงปี่พาทย์ในราชสำนักเขมร


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 เม.ย. 11, 11:52
สถาปัตยกรรมเขมรก็ไหลมาอยุธยาเหมือนกันค่ะ

(http://images.palungjit.com/attachments/2467-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%8A%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1-%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%98%E0%B8%A2%E0%B8%B2-wchaib2-jpg)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 เม.ย. 11, 11:53
วงปี่พาทย์ในชุมชนเขมรข้างวัด


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 เม.ย. 11, 11:55
วงปี่พาทย์เขมรในหัวเมือง


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 เม.ย. 11, 11:55
นักดนตรีไทยถูกครอบงำว่าดนตรีไทยไพเราะที่สุด มากกว่าดนตรีเพื่อนบ้าน เลยยกตนข่มท่านเสมอมาจนทุกวันนี้ ทั้ง ๆไม่จริง

หนังสือเครื่องดนตรีกัมพูชาโบราณ (โดยนักวิชาการดนตรีชาวกัมพูชาจากมหาวิทยาลัยภูมินทรวิจิตรศิลปะ กัมพูชา) ที่สำนักพิมพ์วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล แปลเป็นไทยจากภาษาเขมร แล้วพิมพ์เป็นเล่ม ขายเล่มละ ๒๒๐ บาท ตั้งแต่กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ผมเขียนคำนำเสนอว่า

ดนตรีกัมพูชาและดนตรีไทย มีรากเหง้าเก่าแก่ร่วมกันราว ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีระบบเสียงไม่เท่ากันมาแต่ดั้งเดิมเหมือนกัน เป็น ‘วัฒนธรรมร่วม’ ของดนตรีสุวรรณภูมิบนผืนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ มีความเป็นมายาวนานร่วมกันอย่างแยกไม่ได้

เช่นเดียวกับดินแดนและผู้คนในกัมพูชาและไทย มีพัฒนาการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับดินแดนและผู้คนสุวรรณภูมิ


นางนาคเป็นสัญลักษณ์บรรพชนร่วมกันทั้งของตระกูลมอญ-เขมร และไทย-ลาว มีคำบอกเล่ากับมีพิธีกรรมเกี่ยวกับนางนาคเหมือนกันหมดดูได้จากเพลงนางนาค

ร้องนางนาค พรรณนาความงามของนางนาคที่แต่งตัวปักปิ่นทัดดอกไม้ ประดับดอกจำปาสองหู และที่สำคัญคือห้อยสไบสองบ่าสง่างามตามนิทานและตามประเพณีแต่งงานที่เจ้าบ่าวจะต้องเกาะชายสไบเจ้าสาวเข้าหอ (แสดงว่าผู้หญิงมีฐานะสูงกว่าผู้ชาย) มีเนื้อร้องอยู่ในบทมโหรีโบราณครั้งกรุงเก่า

เพลงนางนาคเป็นสัญลักษณ์บรรพชนร่วมกันของกัมพูชาและไทย เท่ากับเป็นพยานยืนยันว่าดนตรีกัมพูชาและไทย มีรากเหง้าเก่าแก่ร่วมกัน ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ตราบจนทุกวันนี้ จะต่างกันบ้างก็ในรายละเอียดปลีกย่อย เช่น เรียกชื่อเครื่องดนตรีและเพลงบางอย่างไม่เหมือนกัน เพราะอยู่ในตระกูลภาษาต่างกัน ราวหลัง พ.ศ. ๑๘๐๐ กาฬโรคระบาดรัฐชายทะเล คนชั้นนำตระกูลมอญ-เขมรล้มตายมาก ทำให้ตระกูลไทย-ลาวเติบโตมีอำนาจแทน แล้วสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นศูนย์กลาง

ยกภาษาเขมรเป็นราชาศัพท์ แล้วปรับอักษรเขมร (ขอม)เป็นอักษรไทย เลขเขมรก็เป็นเลขไทย ประชากรที่เคยเป็นขอมหรือเขมรก็กลายเป็นคนไทย อยู่ในอำนาจรัฐไทยที่มีขึ้นมาใหม่

ขณะเดียวกันก็สืบทอดศิลปวิทยาจากเขมรเมืองพระนคร (นครวัด) กับเมืองนครหลวง (นครธม) รวมทั้งสืบทอดศิลปวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น พระที่นั่ง, พระเมรุมาศ, ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา, การปกครอง, ฯลฯ

จนถึงดนตรีและ“เพลงการ” แล้วรับคำเขมรมาใช้งานว่า เพลง, ตระ ฯลฯ

ครั้นต่อมาราวหลัง พ.ศ. ๒๔๐๐ กัมพูชารับเทคโนโลยีก้าวหน้าบางอย่างและวัฒนธรรมร่วมสมัยจากไทย เช่น เพลงดนตรี“เถา” ที่สร้างใหม่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

จากบทความเรื่อง "ดนตรีเขมร—ดนตรีไทย มีรากเหง้าเก่าแก่ร่วมกัน"
สุจิตต์ วงษ์เทศ มติชนรายวัน ฉบับประจำวันอังคารที่  ๑๕ กุมภาพันธ์  พ.ศ. ๒๕๕๔ (http://www.sujitwongthes.com/2011/02/%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E2%80%94%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%B2/)

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 เม.ย. 11, 11:57
ไทยก็ไหลไปเขมร
พระราชวังเขมรินทร์ วัดพระแก้ว แห่งพนมเปญ



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 เม.ย. 11, 12:28
ไทย - เขมร คู่รักคู่แค้นแห่งสุวรรณภูมื

บุคคลนี้เป็นสยาม หรือ เขมร ดีหนอ  ???


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 เม.ย. 11, 12:35
เห็นเครื่องดนตรีเขมรที่คุณ siamese ไปหามาให้   อยากได้ยินเสียง ก็เลยไปหาจากยูทูปมาให้ฟังกัน

อ้างถึง
นักดนตรีไทยถูกครอบงำว่าดนตรีไทยไพเราะที่สุด มากกว่าดนตรีเพื่อนบ้าน เลยยกตนข่มท่านเสมอมาจนทุกวันนี้ ทั้ง ๆไม่จริง
ไม่ทราบว่าคุณสุจิตต์เอาอะไรมาพิสูจน์ว่าใครเพราะกว่าใคร

http://www.youtube.com/watch?v=iGhcbyhBxXo


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 เม.ย. 11, 13:33
เห็นเครื่องดนตรีเขมรที่คุณ siamese ไปหามาให้   อยากได้ยินเสียง ก็เลยไปหาจากยูทูปมาให้ฟังกัน

อ้างถึง
นักดนตรีไทยถูกครอบงำว่าดนตรีไทยไพเราะที่สุด มากกว่าดนตรีเพื่อนบ้าน เลยยกตนข่มท่านเสมอมาจนทุกวันนี้ ทั้ง ๆไม่จริง
ไม่ทราบว่าคุณสุจิตต์เอาอะไรมาพิสูจน์ว่าใครเพราะกว่าใคร

เครื่องดนตรีไทย - เครื่องดนตรีเขมร เหมือนกันเกือบทุกอย่าง อยู่ที่ว่าลีลา เทคนิคและทักษะของคนที่ตีครับ เพลงไทยหลายเพลงก็ได้ท่วงทำนองสำเนียงเขมร สำเนียงลาว มาประยุกต์ให้ระรื่นหูสำเนียงไทย อันว่าเครื่องดนตรีไทย ทุกชิ้นมีความเรียบง่ายแต่การเล่นให้เพราะนั้นยาก

ตะโพน ตุ๊บ-ติ้ง-ติ ตีค่อยตีเบา ตีแผ่ว ตีหนัง ตีทั้งฝ่ามือ น้ำเสียงออกมาได้ต่างกัน

ผืนระนาดเอก ไม้เหลาเกลาแต่ละลูก ขึ้นกับการตีแต่ละลูก ตีกรอ ตีไว

แต่บรรดาครูเพลงไทยได้คิดประดิษฐ์ ท่วงทำนอง จังหวะให้เข้ากับชาวไทยแล้ว ผมว่าเพราะกว่าดนตรีทั้งปวงครับ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 เม.ย. 11, 14:16
อ้างถึง
นักดนตรีไทยถูกครอบงำว่าดนตรีไทยไพเราะที่สุด มากกว่าดนตรีเพื่อนบ้าน เลยยกตนข่มท่านเสมอมาจนทุกวันนี้ ทั้ง ๆไม่จริง
ไม่ทราบว่าคุณสุจิตต์เอาอะไรมาพิสูจน์ว่าใครเพราะกว่าใคร

คงเป็นไปอย่างที่คุณติบอและคุณเทาชมพูเคยถกกันไว้

ผมขออนุญาตถือวิสาสะยกข้อความบางส่วนจากลายพระหัตถ์ส่วนพระองค์ที่กรมพระยานริศทรงมีไปถึงหม่อมเจ้าหญิงพิลัยเลขา ลงวันที่ 18 เมษายน 2479 ขึ้นมาสนับสนุนคำพูดของอาจารย์เทาชมพูว่า

"...เธอตัดสินฝีมือช่างพะม่ากับช่างไทยว่าไทยดีกว่านั้น เปนการตัดสินอย่างไม่เข้าใครออกใครอยู่หน่อย... ...แท้จริงจะเอาช่างต่องช่างเข้าเทียบฝีมือกันนั้นไม่ได้ ช่างไทยดีที่สุดก็มี เลวที่สุดก็มี พะม่าก็เช่นเดียวกัน แล้วจะจับคู่เข้าแข่งขันกันฉันใดเล่า..."

ย้อนกลับมาเรื่องสมเด็จกรมพระยานริศฯ   ไหนๆคุณก็ถือหลักว่า จะเสพความยอดเยี่ยมในพระอัจฉริยภาพของท่าน
ก็ควรเจริญรอยตามหลักการของสมเด็จฯ  ที่ว่าศิลปะไทยกับพม่า ไม่ควรเอามาเปรียบว่าใครดีกว่ากัน

จริงที่ว่าดนตรีไทยกับเขมร ไม่ควรเอามาเปรียบว่าใครดีกว่ากัน

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 เม.ย. 11, 14:54
แต่กระนั้น ก็น่าจะได้กล่าวถึง นักดนตรีเอกของไทย - ครูดนตรีไทยในราชสำนักเขมร - หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

ย้อนกลับไปครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางรำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯประพาสอินโดจีน (ประเทศเวียดนามและประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓

การดนตรีและนาฏศิลป์เสมือนเชี่ยนหมากทำที่รับรองแขกบ้าน ต่างเมือง ให้ซาบซึ้งถึงมิตรไมตรีที่หยิบยื่นให้ พร้อมชื่นชมความวิวัฒน์ในเชิงศิลปะที่ยึดถือเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ กล่าวง่าย ๆ นัยหนึ่งเพื่อผูกสัมพันธ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็เพื่อการอวดโอ่อยู่กลาย ๆ

ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่า ควรจะนำนักดนตรีไทยในราชสำนักร่วมขบวนเสด็จฯด้วย พระองค์จึงมีพระราชโทรเลขแจ้งมายังราชสำนักให้ส่งยอดฝีมือจำนวนหนึ่งตามไปสมทบ

ขณะนั้นหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นผู้ควบคุมวงมโหรีหลวง มีฝีมือเป็นที่ประจักษ์ ทั้งยังได้สนองพระเดชพระคุณถวายการสอนดนตรี และการประพันธ์เพลงไทยแก่พระองค์ท่าน และสมเด็จพระราชินี จึงมิอาจหลบลี้หนีเลี่ยงภาระอันเป็นเกียรติเช่นนี้ โดยในการเดินทางครั้งนั้นหลวงประดิษฐไพเราะ หมายใจให้บุตรชายคนโต (ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง อายุ ๑๘ ปี) ร่วมเดินทางไปปรนนิบัติและเป็นล่ามส่วนตัวให้ด้วย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีพระราชกระแสถึงหลวงประดิษฐไพเราะฯให้ตามไปสมทบกับขบวนเสด็จฯ ที่นครวัดให้ทันเวลาเย็นวันพรุ่งนี้ เพราะมีพระราชประสงค์ให้แสดงฝีมืออวดขุนนางชาวเขมร และฝรั่งเศสชม ในงานเลี้ยงที่ทางการเขมรจะจัดถวาย

เมืองเสียมเรียบ สารถีชาวฝรั่งเศสเทียบพาหนะบริเวณสระน้ำใหญ่หน้าปรัมพิธีท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของฝูงชนที่แห่แหนเฝ้ารอรับเสด็จฯก่อนเวลางานเพียง ๑ ชั่วโมง แต่กระนั้นก็เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานเพียงพอที่จะทำให้จิตใจของนักระนาดเอกแห่งกรุงสยามสงบนิ่ง พร้อมรอช่วงเวลาที่จะมาถึง

ในที่สุด เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯถึงบริเวณงาน  พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสสั่งให้หลวงประดิษฐไพเราะแสดงฝีมือการเดี่ยวระนาดเอกให้แขกที่มาในงานฟัง ทั้งยังกับชับให้แสดงอย่างสุดฝีมือ

จากเพลงแรก กระทั่งเพลงสุดท้าย เสียงระนาดเอกจากลุ่มเจ้าพระยา ดังกังวาล เสนาะสนั่น ลั่นเลื่อน ก้องกล่อมมหาเทวสถาน สะกดจิต สะกิดใจให้บุคคลนับร้อยพันทั้งหลาย ณ สถานที่นั้นตระหนกตกอยู่ในถวังค์ สมดังคำร่ำลือถึงฝีมือระนาดที่มิเกินความจริงเลย

เย็นวันรุ่งขึ้นหลังจาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเสด็จฯกลับยังพนมเปญ พระเจ้าศรีสวัสดิ์ มณีวงศ์ กษัตริย์เขมร ได้จัดงานเลี้ยงรับรองถวาย โดยมีการแสดงนาฏศิลป์และดนตรีซึ่งล้วนวิจิตรงดงามตามแบบราชสำนักเขมร ซึ่งได้สร้างรอยประทับใจให้นักดนตรีเอกจากสยามประเทศอยู่มิใช่น้อย

ในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เสด็จประทับอยู่ ณ พระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชกระแสให้หลวงประดิษฐไพเราะแสดงการเดี่ยวระนาดเอกถวายสมเด็จพระเจ้ามณีวงศ์เป็นการส่วนพระองค์อีกหลายวาระ เพื่อเป็นการตอบแทนพระราชไมตรี ซึ่งสมเด็จพระเจ้ามณีวงศ์ ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานตัวหลวงประดิษฐไพเราะไว้สอนนักดนตรีในราชสำนักเขมร

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีพระราชดำรัสตอบว่า “ถ้าพระองค์ต้องประสงค์ที่จะได้ตัวหลวงประดิษฐไพเราะไว้ที่นี่เพื่อสอนดนตรี ก็มีความยินดีที่จะให้ยืมตัวไว้สักหนึ่งเดือน”

ด้วยเหตุนี้ หลวงประดิษฐไพเราะและบุตรชาย จึงต้องพำนักอยู่ ณ ประเทศเขมรต่อไป เพื่อสนองพระราชประสงค์ ด้วยสำนึกในพระราชดำรัสที่ทรงรับสั่ง ว่า

“จงทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แล้วรีบกลับมาเร็ว ๆ

หลวงประดิษฐไพเราะ ได้ย้ายไปพักกับกับฝ่ายดุริยางค์ในวังหลวง ซึ่งพระเจ้ามณีวงศ์ก็โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาพักอยู่ที่โรงแรมเล็ก ๆเ ลียบพระบรมมหาราชวัง และได้มอบหมายหน้าที่ให้ทำการฝึกซ้อมนักดนตรีหลวง และพวกครูดนตรีทุกวันตั้งแต่เช้าจรดบ่าย บางวันพระเจ้ามณีวงศ์ก็มีรับสั่งให้เข้าเฝ้าเพื่อพบปะสนทนากัน บางครั้งก็ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงอาหารกลางวัน นายกรัฐมนตรีก็เคยเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันหรืออาหารค่ำ โดยมีบุคคลสำคัญหรือพระราชวงศ์เขมรมาร่วมด้วย ซึ่งก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องได้รับคำขอร้องให้แสดงฝีมือการเดี่ยวระนาดเอกหรือเครื่องดนตรีอื่น อาทิ ปี่ใน ซอด้วง อยู่เป็นนิจ

ช่วงเวลา ๓๐ วันในราชสำนักเขมร  หลวงประดิษฐไพเราะได้ฝึกหัดนักดนตรี รวมทั้งถ่ายทอดเพลงไทยไว้จำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็จดจำศึกษาแนวทางการแต่งเพลงของเขมร และจดจำเพลงเขมรไว้หลายเพลง โดยมีบุตรชายรับหน้าที่ในการบันทึกโน้ตให้ ซึ่งภายหลัง หลวงประดิษฐไพเราะได้นำเพลงเหล่านั้น มาเรียบเรียงขึ้นใหม่ตามระเบียบวิธีการบรรเลงแบบราชสำนักสยาม แล้วนำออกบรรเลงสืบทอดกันมาจวบปัจจุบัน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 เม.ย. 11, 15:02
ขอใช้สิทธิ์ ที่ถูกพาดพิง ;D

โดยส่วนตัว   เห็นว่างานช่างหรืองานศิลปะ  มีทั้งดีน้อยและดีมาก   การเปรียบเทียบกันเป็นของธรรมดา  ไม่งั้นเราก็คัดเลือกงานที่ดีกว่าจากงานที่ด้อยกว่าไม่ได้   เป็นผลให้ไม่รู้ว่าอะไรคืองานชิ้นเอก    กลายเป็นว่าศิลปินเอกก็ย่อมไม่มี  มีแต่ศิลปินทุกคนเท่ากันหมด  งานช่างทุกชิ้นเท่ากันหมด  ซึ่งไม่เป็นความจริง
มีขอบเขตว่างานที่แตกต่างกันมาก เช่นเป็นคนละสกุลช่างกัน  ไม่ควรเอามาเปรียบกัน     เพราะที่มา ฝีมือ แรงบันดาลใจ ที่มาที่ไปของงานชิ้นนั้นแตกต่างกัน
งานที่เรายังศึกษาไม่ดีพอ ก็อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจเปรียบเทียบ
อีกอย่างหนึ่งคือเปรียบเทียบในเชิงเหยียดหยาม กดงานอีกชิ้นลงไปจนไม่เหลือค่า   ข้อนี้ก็ไม่สมควรเปรียบเทียบ

อ้างถึง
นักดนตรีไทยถูกครอบงำว่าดนตรีไทยไพเราะที่สุด มากกว่าดนตรีเพื่อนบ้าน เลยยกตนข่มท่านเสมอมาจนทุกวันนี้ ทั้ง ๆไม่จริง
ไม่ทราบว่าคุณสุจิตต์เอาอะไรมาพิสูจน์ว่าใครเพราะกว่าใคร

ส่วนที่คุณสุจิตต์เขียน   ดิฉันถามขึ้นมา เพราะสะดุดกับคำว่า "ไม่จริง"     คำอื่นๆเช่น ถูกครอบงำ  ยกตนข่มท่าน   ฟังเหมือนคุณสุจิตต์ลงความเห็นว่าดนตรีเขมรเพราะว่าดนตรีไทย  หรือดนตรีไทยไม่ได้เพราะกว่าเขมร ก็เลยอยากรู้เหตุผล ว่าพิสูจน์ได้ยังไงว่าของใครเพราะกว่าของใคร

อ้างถึง
แต่บรรดาครูเพลงไทยได้คิดประดิษฐ์ ท่วงทำนอง จังหวะให้เข้ากับชาวไทยแล้ว ผมว่าเพราะกว่าดนตรีทั้งปวงครับ

ความเห็นของคุณ siamese   ดิฉันรับได้    เพราะคุณ siamese ไม่ได้พูดในทำนองเหยียดหยามใคร  เป็นการออกความเห็นตามความรู้สึกของตน
คนที่รักดนตรีไทยก็มักจะเห็นอย่างนี้   เหมือนคนรักดนตรีคลาสสิคของฝรั่งก็คงเห็นดนตรีฝรั่งเพราะกว่าดนตรีทั้งปวงเหมือนกัน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 เม.ย. 11, 15:12
ก่อนจะตามเสด็จฯยังประเทศเขมรนั้น หลวงประดิษฐไพเราะได้แต่งเพลงสำเนียงเขมรไว้จำนวนหนึ่งแล้ว เช่น เขมรราชบุรี ที่แต่งร่วมกับพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) (พ.ศ. ๒๔๕๒), เขมรเลียบพระนคร เถา (พ.ศ. ๒๔๕๘),เ ขมรพวง เถา (พ.ศ. ๒๔๕๘-๖๐), เขมรปากท่อ เถา (พ.ศ. ๒๔๖๑), ขอมทอง เถา (พ.ศ. ๒๔๖๘), เขมรสุ่มไก่ (พ.ศ. ๒๔๗๒)

ส่วนเพลงเขมรแท้ ๆ ที่หลวงประดิษฐไพเราะได้จดจำนำมาเปลี่ยนร่างแปลงรูปให้เป็นอัตราจังหวะ ๒ ชั้น  เช่น อังโกเลี้ยต (อังกอร์เวียต..หรือ..อังกอร์วัด..?), เขมรนางนก, เขมรจำปาศักดิ์, ขอมเล็ก, เครอว ศรีโสภณ ซงซาร์มะ ก๊บ  ตันบ๊อกซะเรา ปลายซงซาร์   ที่นำมาทำเป็นเพลง ๓ ชั้น ก็มี แมร์กอฮอม,  ขะแมร์ซอ,  ขะแมร์ธม หรือที่เรียกว่าเพลงชุดสามขะแมร์ หรือแม้แต่กลายเป็นเพลงเถา ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เช่น เพลงนกเขาขะแมร์ เถา ที่หลวงประดิษฐไพเราะได้ปรับปรุงขึ้นจากเพลงเขมรแท้ ๆ (ทำนอง ๒ ชั้น)  ราว พ.ศ. ๒๔๗๓-๗๖ เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าแผนกดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร โดยต่อให้ อ.เจริญใจ สุนทรวาทิน ร้องเป็นคนแรก ที่สถานีวิทยุวังพญาไท

คงไม่ผิดนัก ถ้าจะกล่าวว่าเพลงเขมรแท้ ๆ ที่หลวงประดิษฐไพเราะได้ยินได้ฟัง รวมถึงการใช้ชีวิตอยู่กับนักดนตรีเขมร ในช่วงเวลา ๓๐ วัน น่าจะเป็นประสบการณ์อันทำให้เกิดทรัพยากรทางความคิด เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่นำกลับมาผลิออดออกผลในภายหลัง เกิดเป็นสำเนียงเขมรที่งดงามเป็นอมตะประดับวงการดนตรีไทยอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นเพลงขอมใหญ่ เถา (๒๔๗๔), เขมรไทรโยค เถา (๒๔๙๑) , เขมรภูมิประสาท เถา (พ.ศ. ๒๔๘๙-๙๓), ขอมกล่อมลูก ๒ ชั้น (ทางเปลี่ยน ๒๔๗๘) , สาลิกาเขมร เถา (๒๔๗๔) เป็นอาทิ

สำเนียงเพลงเขมรที่หลวงประดิษฐไพเราะได้นำติดตัวกลับมา ได้ทำหน้าที่มอบความสุขรับใช้ผู้คนชนสยามหลากหลายชั้นวรรณะ ทั้งไพร่ฟ้าหน้าใส เรื่อยไปจนถึงในราชสำนัก มายาวนานกว่าค่อนศตวรรษ

นับว่าเพลงสำเนียงเขมร มีส่วนก่อร่างสร้างวิถีแห่งรสนิยมในการฟังเพลงของชาวไทยอยู่มิใช่น้อย


เก็บความจากบันทึกถึงประสบการณ์การเดินทางของ อาจารย์ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง

Thai Music at the Court of Cambodia : a personal souvenir of Luang Pradit Phairoh’s visit in 1930 เพื่อตีพิมพ์ลงในวารสารของสยามสมาคม (Journal of The Siam Society) เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๑๓ และภายหลังได้มีการถอดความเป็นภาษาไทยโดยมธุรส วิสุทธกุล

จากเว็บของนายยางสน คนบางขวาง
http://yangson.thailifemusic.com/?p=441

 ;D



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 เม.ย. 11, 15:26
เข้ามาสลับฉากคร้าบบบ
อ้างถึง
อ้างถึง
นักดนตรีไทยถูกครอบงำว่าดนตรีไทยไพเราะที่สุด มากกว่าดนตรีเพื่อนบ้าน เลยยกตนข่มท่านเสมอมาจนทุกวันนี้ ทั้ง ๆไม่จริง
ไม่ทราบว่าคุณสุจิตต์เอาอะไรมาพิสูจน์ว่าใครเพราะกว่าใคร


ผมจัดให้ครับ

สำนวนฝรั่งบอกว่า เมื่อเปรียบเทียบแอปเปิลก็ต้องประกบกับเอปเปิล จะเอาแอปเปิลไปประกบกับส้มหาชอบไม่
 
ฉันใดก็ฉันนั้น

จะเอาวงวณิพกของเขมร ที่นักดนตรีล้วนเป็นเหยื่อกับระเบิด พิการขาขาดแขนขาด หาเลี้ยงชีพด้วยการเล่นเพลงดนตรีพื้นบ้าน แลกเงินบริจาคจากนักท่องเที่ยวไปวันๆ มาประกบกับวงอะไรของไทยในยูทูปก็หายากมาก ง่วนอยู่นานกว่าจะได้วงวณิพกของไทยวงนี้มา ถึงจะคนละแนว ก็เห็นจะพอเทียบกันไหว

http://www.youtube.com/watch?v=iGhcbyhBxXo&feature=player_embedded
http://www.youtube.com/watch?v=bJMCUhKb15s

ขอบคุณที่คุณหนุ่มทักท้วง เลยแอบเข้ามาแก้


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 เม.ย. 11, 15:46
^
แอปเปิ้ลไทย ขาดขิม ขอรับ  ;D ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 เม.ย. 11, 15:56
เข้ามาสลับฉากคร้าบบบ
อ้างถึง
อ้างถึง
นักดนตรีไทยถูกครอบงำว่าดนตรีไทยไพเราะที่สุด มากกว่าดนตรีเพื่อนบ้าน เลยยกตนข่มท่านเสมอมาจนทุกวันนี้ ทั้ง ๆไม่จริง
ไม่ทราบว่าคุณสุจิตต์เอาอะไรมาพิสูจน์ว่าใครเพราะกว่าใคร


ผมจัดให้ครับ

สำนวนฝรั่งบอกว่า เมื่อเปรียบเทียบแอปเปิลก็ต้องประกบกับเอปเปิล จะเอาแอปเปิลไปประกบกับส้มหาชอบไม่
 
ฉันใดก็ฉันนั้น

จะเอาวงวณิพกของเขมร ที่นักดนตรีล้วนเป็นเหยื่อกับระเบิด พิการขาขาดแขนขาด หาเลี้ยงชีพด้วยการเล่นเพลงดนตรีพื้นบ้าน แลกเงินบริจาคจากนักท่องเที่ยวไปวันๆ มาประกบกับวงอะไรของไทยในยูทูปก็หายากมาก ง่วนอยู่นานกว่าจะได้วงของไทยวงนี้มา แต่ก็ยังได้เปรียบเขาอยู่อีกหลายขุม ภาษาม้าแข่งเรียกว่าต้องถ่วงน้ำหนักจึงจะแข่งขันกันได้

ดังนั้น เวลาท่านจะฟังวงของคนไทย ก็ให้เอามืออุดหูเสียข้างนึงด้วยนะครับ จึงจะยุติธรรม


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 เม.ย. 11, 16:23
ไม่หา traditional Cambodian  Music แล้ว เกรงว่าจะรีเอ๊กแซมไม่ผ่าน    เกิดอยากรู้ว่ายุคนี้  เพลงของเขมรก้าวไปถึงไหน ก็เลยหา Cambodian songs แทน
ไปเจอเพลงเขมรโมเดิ้นเข้า   
   
http://www.youtube.com/watch?v=bij3fN3DQUY&feature=related


ไม่รู้ว่านักร้องขะแมร์คนนี้เป็นใคร  แต่ขอส่งต่าย อรทัย เป็นแอปเปิลประกบค่ะ
คุณเพ็ญชมพูรู้จักเธอไหม?

http://www.youtube.com/watch?v=czq9pO99oII&feature=related



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 เม.ย. 11, 16:37
^
แหะ แหะ ไม่ต้องรีเอ๊กแซมหรอกครับ เอาคะแนนเฉลี่ยมาใช้ก็ยังได้ A อยู่


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 เม.ย. 11, 17:22
กลับไปตามหาการแสดงแบบเก่าของเขมรอีกครั้ง   วางคุณต่าย อรทัยเขมรไว้ก่อน      ก็เลยเจอศิลปะไหลไปมาอีกครั้ง( ชอบคำนี้มาก)  
ล่าสุดคือเขมรกลองยาว
ทีแรกนึกว่าเรามีแต่พม่ากลองยาว  ซึ่งไหลมาไทย  ทีแรกกำลังจะเอะอะว่า พม่ากลองยาวไหลมาไทยแล้วไหลต่อไปเขมร
แต่เกรงคุณเพ็ญชมพูจะหาบทความใหม่ของคุณสุจิตต์มาลงว่า  ไทยรับกลองยาวมาจากเขมรต่างหาก  ;D
เลยไม่พูดอะไรดีกว่า

เขมรกลองยาวของเขา มีอะไรคล้ายๆ มาละโหวย มาละวา ของเราเหมือนกัน
สถานที่ที่หนุ่มสาวพวกนี้แสดงกันอยู่ คือเมืองเอเธนส์ ในรัฐโอไฮโอ   คงมีชุมชนเขมรอพยพซึ่งเด็กรุ่นลูกกลายเป็นคนอเมริกันกันไปหมดแล้ว

http://www.youtube.com/watch?v=oS2qQjSv-j4&feature=related


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 เม.ย. 11, 18:02
นี่คือก่อนจะไหลไปเขมร     หรือมิใช่

http://www.youtube.com/watch?v=Rhp_cPoJhoE&feature=related

และก่อนจะไหลมาไทย  ก็คือกลองยาวของรัฐฉาน

http://www.youtube.com/watch?v=lpmc2mGO3BI


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 เม.ย. 11, 23:00
ในดินแดนอุษาคเนย์แห่งนี้ นอกจากลาวแล้วก็มีเขมรนี่แหละที่มีอะไรต่อมิอะไรเหมือนกับไทยเรา

ลองอ่านบทความเรื่อง "วัฒนธรรมร่วมราก ระหว่างไทย-เขมร" หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔

แล้วจะรู้ว่า ไทย-เขมร ใกล้ชิดกันขนาดไหน

รักกันไว้ดีกว่า  ;D

http://www.thairath.co.th/today/view/149663

(http://www.thairath.co.th/media/content/2011/02/17/149663/hr1667/630.jpg)

หน้าวังเขมรินทร์ในกรุงพนมเปญ  บางวันมีขนมเปียกปูนขาย ถ้าเดินเข้าไปภายในวัดพระแก้ว ภาพจิตรกรรมฝาผนังลออตา แม้จะเก่าคร่ำคร่า แต่เมื่อคนไทยเห็นก็มักหลุดคำอุทานออกมาคล้าย ๆ กันว่า เป็นลายไทย เสียงนั้นถ้าชาวกัมพูชายืนอยู่ใกล้ ๆ ได้ยิน เขาจะเถียงทันทีว่า เป็นลวดลายเขมร

ครั้นเดินไปด้านทิศตะวันออกของวัดพระแก้ว วัดที่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกับวังเขมรินทร์ จะพบเครื่องดนตรีมากมายตั้งอยู่ บางวันมีนักดนตรีประโคมขับ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรี และทำนองเพลง คนไทยเห็นและฟังย่อมเปล่งเสียงออกมาเต็ม ๆ ว่า เป็นดนตรีไทย

ขณะที่ชาวกัมพูชาเถียงทันทีว่าเป็นของเขมรร้อยเปอร์เซ็นต์


ยิ่งถ้าเห็นตัวเลขที่กำกับไว้ตามอาคารบ้านเรือน หรือป้ายโฆษณาต่าง ๆ ด้วยแล้ว คนไทยเห็นจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตัวเลขไทย แต่ชาวกัมพูชาจะเถียงเสียงแข็งทันทีว่า เป็นตัวเลขของกัมพูชา คนไทยต่างหากที่นำตัวเลขของเขมรมาใช้ ชาวเขมรผู้รู้บางคน อาจอ้างถึงตัวเลขในศิลาจารึกประกอบด้วย

คำอธิบายในเรื่องนี้คืออะไร ตัวเลขนั้น รากเหง้ามาจากตัวอักษรปัลวะเหมือนกัน คำว่าอักษรปัลวะที่เราเรียกกัน หมายถึงตัวอักษรสมัยราชวงศ์ปัลวะ ที่อยู่ในอินเดียทางตอนใต้ เราต่างรับมาด้วยกัน แล้วค่อยมาพัฒนาใช้

แต่ไทยเราพิเศษกว่าเขมรเล็กน้อย ตรงที่เราไม่ได้รับจากปัลวะโดยตรง แต่เป็นการรับผ่านเขมรและมอญ แล้วพัฒนาเป็นตัวอักษรไทยอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

สำหรับเครื่องดนตรี เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าเขมรหรือไทยคิดได้ก่อน เพราะเป็นวัฒนธรรมร่วมกันมาตั้งแต่บรรพกาล เพียงแต่ว่า บันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรเราไม่มียืนยัน แต่ของกัมพูชามีปรากฏในภาพจำหลักผนังปราสาท

"รากฐานทางด้านสังคมและวัฒนธรรมต่างก็มีที่มาที่ไป ไม่มีสังคมไหนที่บริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ล้วนแล้วแต่มีจุดร่วมและจุดต่างของตัวเอง" อาจารย์กังวล อธิบาย

ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ชี้ชวนให้เห็นอีกว่า "สังเกตไหมว่าคนไทยเราจะมีความรู้สึกกับกัมพูชาแตกต่างไปจากประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เดี๋ยวรักกัน เดี๋ยวโกรธกัน เดี๋ยวดีกัน เดี๋ยวงอนกัน ถ้าพูดในแง่ของคนทั่วไป ถือว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งมากกว่าความเป็นเพื่อนธรรมดา"




กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 เม.ย. 11, 23:06
ไทยกับกัมพูชา "มีความสัมพันธ์ที่ยาวนานมาก มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน มีภาษา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่เกี่ยวข้องกันมากมาย พูดได้ว่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ"

ถ้าพูดถึงในแง่ประวัติศาสตร์ การศึกสงคราม "เราก็จะพบว่ามีการสู้รบกันมาตลอด มีการกวาดต้อนผู้คนเป็นจำนวนมากจากกัมพูชามาไว้ที่อยุธยาและบริเวณต่าง ๆ ในภาคกลางหลายครั้งหลายครา ซึ่งคนกัมพูชาเหล่านั้น ก็หล่อหลอมกลายเป็นคนไทยในปัจจุบันนี้ด้วย"

เราจะเชื่อได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ได้อย่างไรว่า เราเป็นคนไทยบริสุทธิ์ บางคนหน้าตาดำคล้ำ ยังมีญาติสายแม่มาจากเมืองจีน ในประเทศไทยเชื่อว่ามีไม่น้อยที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวเขมร และถ้ามองในมุมกลับกัน เขมรเองก็คงไม่น้อย ที่มีบรรพบุรุษเป็นคนไทย

ประเด็นที่กล่าวมานี้ ไม่ได้นับชาวไทยที่เกาะกง

พูดถึงในด้านวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ไทยกับกัมพูชาก็มีคล้าย ๆ กัน เพราะต่างรับอารยธรรมจากอินเดียมาเหมือนกัน วันสำคัญ ๆ ทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา ออกพรรษา วันโกน วันพระ การทำบุญตักบาตร ก็ล้วนแล้วแต่เหมือนกัน

วันสำคัญอื่น ๆ เช่น วันปีใหม่ ทั้งไทยและกัมพูชาที่ถือกันมานาน ได้แก่ วันสงกรานต์ ก็เป็นวันเดียวกัน วันทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษที่ชาวกัมพูชาถือว่ามีความสำคัญคือ "วันผชุมบิณฑ์" ก็คือวันสารทใหญ่ของไทยภาคกลาง ประเพณีตานก๋วยสลากของไทยภาคเหนือ และประเพณีชิงเปรตของไทยภาคใต้นั่นเอง

ขนบธรรมเนียม การไหว้ การกราบ การเคารพผู้ใหญ่ และราชประเพณีต่าง ๆ ก็เป็นเช่นเดียวกัน

"ที่ชัดเจนเห็นเป็นรูปธรรมที่สุดก็คือ ภาษา ทั้งไทยและกัมพูชานอกจากจะยืมภาษาบาลีสันสกฤตมาใช้เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกันแล้ว ยังมีการหยิบยืมภาษาของกันและกันไปใช้เป็นจำนวนมาก โดย เฉพาะอย่างยิ่งคนไทยเรายืมภาษาเขมรมาใช้นานจนรู้สึกคุ้นชินแล้วว่าไม่ใช่ภาษาอื่น เช่น เดิน เหิน จมูก"

ในขณะเดียวกัน เราก็พบว่าในภาษาเขมรเองก็มีการหยิบยืมภาษาไทยไปใช้ด้วยเช่นกัน เช่น ผ้าห่ม และจำนวนนับตั้งแต่ ๓๐ ขึ้นไปจนถึง ๑๐๐ เป็นต้น

คนไทยมักจะบอกเสมอว่า คำภาษาเขมรเป็นคำสูง เพราะเรายืมคำเขมรธรรมดามาใช้เป็นคำราชาศัพท์ เช่น ดำเนิน เขนย บรรทม ขนง บัญชา สรวล เป็นต้น

แท้จริงแล้ว ไทยเราไม่ได้รับภาษาจากเขมรมาใช้เป็นคำราชาศัพท์แต่ฝ่ายเดียว ผศ.ดร.กังวลบอกว่า ถ้าเราลองไปเหลือบดูคำราชาศัพท์ในภาษาเขมร ก็จะพบว่า มีการนำคำสามัญของไทยไปใช้เป็นคำราชาศัพท์เขมรด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น "เวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไป คำราชาศัพท์เขมรจะใช้ว่า ยาง (เขมรออกเสียงว่า เยียง) ก็คือคำว่า ย่าง ที่มีความหมายว่า เดิน ในภาษาไทยเก่าก่อนนั่นเอง"

และยังมีคำราชาศัพท์เขมรอื่น ๆ ที่เป็นคำจากภาษาไทย

"เช่น ขึมขาด่ (เขมรออกเสียงว่า เขิม-ขัด) หมายถึงเข็มขัดที่ทำจากเงินหรือทอง คำว่า จุดหฺมาย (เขมรออกเสียงว่า จด-มาย) หมายถึง พระราชสาส์นที่ส่งไปยังเจ้าผู้ครองแผ่นดินเช่นเดียวกัน เตีน (เขมรออกเสียงว่า เติน) หมายถึง ตื่นบรรทม ทีนำง, ทีนัง (เขมรออกเสียงว่า ตี-เนียง) หมายถึง พระที่นั่ง อาเจียน (ออกเสียงว่า อา-เจียน) หมายถึง อาเจียน เป็นต้น"

คำราชาศัพท์ของเขมรที่ยกมา ถ้ามองมาในภาษาไทย จะเห็นว่าคำ เข็มขัด จดหมาย ตื่น ที่นั่ง อาเจียน ล้วนแล้วแต่เป็นคำสามัญ ที่คนไทยยุคกินไข่ชั่งกิโลขายยังใช้กันอยู่ แต่เขมรนำเอาไปใช้เป็นคำราชาศัพท์

ถ้ามองมุมกลับก็จะเห็นว่า  ขณะที่ไทยรับเอาคำเขมรมาเป็นราชาศัพท์ เขมรเองก็รับเอาคำไทยไปใช้เป็นคำราชาศัพท์เช่นกัน  ทั้งนี้เกิดมาจากการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรม  อันเกิดจากการไปมาหาสู่กันมาแสนนาน

ครั้นจะระบุว่า เราสองมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมมาแต่ปางใดนั้น คงเป็นเรื่องยากยิ่ง  สำหรับวัฒนธรรมเขมรที่ไทยรับเข้ามา  ที่พอจะเห็นเป็นหลักฐานสำคัญคือ  สมัยพระเจ้าสามพระยาแห่งกรุงศรีอยุธยา  ที่ไปตีเมืองพระนคร

ผลจากสงครามครั้งนี้ นายคอลริช เวลส์ นักประวัติศาสตร์ที่เขียนเรื่องการเมืองไทยในสมัยโบราณระบุว่า "เมื่อไทยสามารถตีนครธมได้ในปี พ.ศ. ๑๙๗๔   ก็ได้กวาดต้อนบรรดาพราหมณ์และขุนนางจำนวนมากเข้ามายังอยุธยา จึงมีผลทำให้ความคิดเกี่ยวกับการปกครองของเขมร  เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น..."

อิทธิพลที่นายคอลริชพูดถึง อาจส่งผลมาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นด้วย เห็นได้จากคำพูดว่า "อ่าน เขียน เรียนขอม" คนไทยสมัยก่อน กลุ่มปัญญาชนต้องเรียนรู้ภาษาขอมด้วย แต่ปัจจุบันเหลือผู้เรียนที่เด่นชัดอยู่กลุ่มเดียวคือ "คนสักยันต์"

รากร่วมเหล่านี้ ช่วยหล่อเลี้ยงให้ชาติไทยและชาติกัมพูชาเป็นต้นไม้ที่เติบโต แข็งแรง แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงา ผลิดอกออกผลหล่อเลี้ยงประชาชนทั้งไทยและกัมพูชา ได้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข

การทะเลาะกัน หรือขัดแย้งกัน ย่อมมีเป็นธรรมดาของโลก แต่หากจะรุนแรงต่อกัน อย่าลืมหันกลับไปดูรากเหง้าของตัวเองด้วย

เราทั้งสอง ไทย-เขมร หาใช่คนอื่นไกลกันไม่.

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 เม.ย. 11, 09:05
น้าหงา คาราวาน ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ เขียนในเพลงสุรชัย ๓ ช่า ไว้น่าคิด

เพื่อนฉันขะแมร์                รักจริงไม่แพ้ลาวญวน
น้ำคำคร่ำครวญ                 ชอบชักชวนร้องรำทำเพลง
ทำนาประสาบ้านนอก          ใส่เสื้อดอกตะกรุดของขลัง
สู้การสู้งานจริงจัง              ไม่หักหลังคดโกงผู้ใด

ไทย เขมร ลาว ญวน           ชักชวนคบหากันไป
แหลมอินโดจีนและไทย        ใช่อื่นไกลเชื้อสายสัมพันธ์

น้ำโขงไม่เคยคิดแบ่ง           เป็นกำแพงชนชาติชนชั้น
น้ำโขงเมื่อเป็นน้ำจัณฑ์         มาลัยสัมพันธ์จะคล้องคอเธอ

http://www.youtube.com/watch?v=p12F5hw-trc

ไทย เขมร ลาว ญวน       ชักชวนคบหากันไป
แหลมอินโดจีนและไทย   ใช่อื่นไกลเชื้อสายสัมพันธ์


 ;D  


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: reporter ที่ 12 เม.ย. 11, 09:33
ผมมี paper มาให้อ่านครับ

Post/colonial Discourses on the Cambodian Court Dance
Southeast Asian Studies, Vol. 42, No. 4, March 2005

http://www.cseas.kyoto-u.ac.jp/seas/42/4/420403.pdf (http://www.cseas.kyoto-u.ac.jp/seas/42/4/420403.pdf)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 เม.ย. 11, 10:22
โหลดมาอ่านค่ะ   มีตอนหนึ่งบอกว่า
Toni Shapiro  คือคนเดียวกับคุณเจิมหรือคุณเฉิ่มของท่าน NAVARAT หรือเปล่านะ?

The other dissertation was written by Toni Shapiro, who interviewed many dancers and
teachers of the dance through participatory observation, and wrote an ethnography of good
quality. In her dissertation, Shapiro described how well a teacher had been aware of the
Siamese influence upon the court dance [Shapiro 1994: 105], but she did not discuss the reason
why such an awareness had not been revealed in public, and her other articles mentioned
nothing about the cultural influence from Siam [Shapiro 1995; 1999].

รู้ก็รู้ แต่ก็ไม่รับทฤษฎีศิลปะไหลมา    ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: reporter ที่ 12 เม.ย. 11, 10:29
คนที่ช่วยฝรั่งเศสบิดเบือนประวัติศาสตร์คือ Thiounn ซึ่งเป็น Minister of Royal Palace ในช่วงนั้นครับ

คนนี้เป็นตัวสำคัญที่เริ่มทำให้ประวัติศาสตร์บิดเบือน เพราะเขียนหนังสือออกมาเยอะ และเป็นถึงรัฐมนตรี

ส่วนเจ้าหญิงบุปผาเทวีมารับไม้ต่อช่วงหลัง ไปเอาเครื่องแต่งกายบาหลีมาปนกับรำไทยออกมาเป็นระบำพระราชาเฉยเลย  ;D

ในบทความนี้เขาเรียกเสียเจ็บแสบว่า "The Invention of Tradition"
 :D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 เม.ย. 11, 10:47
ถ้า อ.เทาชมพู อยากฟังเพลงไทย เทียบกับเขมรก็ทำได้โดยเพลงเขมรจะลดเสียงไป 1 ขั้น เช่น ไทยตีเพลงจังหวะซอล ส่วนเขมรก็จะตีจังหวะฟา (ทำนองเพลงเดียวกัน)และเพลงสำเนียงเขมรจะต้องมีเครื่องโทนและปี่กำกับด้วย

ครูดนตรีไทย ได้แต่งเพลงสำเนียงเขมรก็ได้ลดเสียงไป 1 เสียง เนื่องจากปี่เสียงสูงอยู่แล้ว ลดเพื่อจะได้เข้ากับเสียงปี่ครับ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 เม.ย. 11, 11:48
คนที่ช่วยฝรั่งเศสบิดเบือนประวัติศาสตร์คือ Thiounn ซึ่งเป็น Minister of Royal Palace ในช่วงนั้นครับ

คนนี้เป็นตัวสำคัญที่เริ่มทำให้ประวัติศาสตร์บิดเบือน เพราะเขียนหนังสือออกมาเยอะ และเป็นถึงรัฐมนตรี

ส่วนเจ้าหญิงบุปผาเทวีมารับไม้ต่อช่วงหลัง ไปเอาเครื่องแต่งกายบาหลีมาปนกับรำไทยออกมาเป็นระบำพระราชาเฉยเลย  ;D

ในบทความนี้เขาเรียกเสียเจ็บแสบว่า "The Invention of Tradition"
 :D


ไปตามหาประวัติของ  Thiounn  (ออกเสียงไม่ถูก) เจอที่นี่

http://www.topix.com/forum/world/cambodia/TD4HTPDS7RF6IJGGT

คนเขียนประวัติเขา ชื่อคล้ายๆคุณ reporter  ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 เม.ย. 11, 11:50
น้าหงา คาราวาน ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ เขียนในเพลงสุรชัย ๓ ช่า ไว้น่าคิด


น้ำโขงไม่เคยคิดแบ่ง           เป็นกำแพงชนชาติชนชั้น
น้ำโขงเมื่อเป็นน้ำจัณฑ์         มาลัยสัมพันธ์จะคล้องคอเธอ


ถ้าสัมพันธ์กันด้วยน้ำจัณฑ์  ไม่น่าจะแนบแน่นได้นานนะคะ ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 เม.ย. 11, 12:51
อ้างถึง
โหลดมาอ่านค่ะ   มีตอนหนึ่งบอกว่า
Toni Shapiro  คือคนเดียวกับคุณเจิมหรือคุณเฉิ่มของท่าน NAVARAT หรือเปล่านะ?


คุณเจิมหรือคุณเฉิ่ม แต่งงานกับJohn Shapiro มีลูกด้วยกันสองคน
ในหนังสือไม่ได้ระบุชื่อ แต่ดูรูปในเน๊ตแล้ว เดาได้ไม่ยาก เป็นคุณลูกที่ว่าแน่นอน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 เม.ย. 11, 12:54
อ้างถึง
Thiounn  (ออกเสียงไม่ถูก)

เอาเป็น"ท่วน"ก็แล้วกันครับ

จะสะกดว่า"ถ้วน" เดี๋ยวคนจะเข้าใจว่าเป็นญาติกับคุณชวน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 เม.ย. 11, 13:44
อ้างถึง
Thiounn  (ออกเสียงไม่ถูก)

เอาเป็น"ท่วน"ก็แล้วกันครับ
จะสะกดว่า"ถ้วน" เดี๋ยวคนจะเข้าใจว่าเป็นญาติกับคุณชวน

ตกลงเรียกคุณท่วน ตามนี้ค่ะ  ;D

อ่านประวัติคุณท่วนจากคุณ Leeporter  แล้วนึกถึงคุณหลวงวิจิตรวาทการ     ต่างกันว่าคุณหลวงท่านเน้นประวัติศาสตร์ไทยในแนวชาตินิยม ตามนโยบายท่านผู้นำของรัฐในยุคนั้น      ส่วนคุณท่วนคงต้องโอนอ่อนผ่อนถามลูกพี่ฝรั่งเศสว่าชอบอะไรแบบไหน
ทำให้นึกถึงเรื่องหม่อมหรือเจ้าจอมแพน ที่ต้องถูกกำจัดออกจากราชสำนักเขมร     เพียงเพราะหนังสือพิมพ์ฝรั่งในสยามเข้าไปจุ้นจ้านเรียกเธอว่า king's wife   ทั้งๆความหมายจริงๆก็คือเธอเป็นหนึ่งในฝ่ายใน(ซึ่งมีอยู่มากมายหลายคน) เท่านั้น 
ฝรั่งเศสคงจะเกรงอิทธิพลของสยามในเขมรละกระมัง   เพราะสมัยนั้นถึงไม่มีน้ำจัณฑ์  สยามกับกัมพูชาก็แนบแน่นกันอยู่แล้ว

แค่คิดค่ะ ยังไม่ได้ฟันธงลงไป


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 เม.ย. 11, 14:31
ถ้า อ.เทาชมพู อยากฟังเพลงไทย เทียบกับเขมรก็ทำได้โดยเพลงเขมรจะลดเสียงไป 1 ขั้น เช่น ไทยตีเพลงจังหวะซอล ส่วนเขมรก็จะตีจังหวะฟา (ทำนองเพลงเดียวกัน)และเพลงสำเนียงเขมรจะต้องมีเครื่องโทนและปี่กำกับด้วย

ครูดนตรีไทย ได้แต่งเพลงสำเนียงเขมรก็ได้ลดเสียงไป 1 เสียง เนื่องจากปี่เสียงสูงอยู่แล้ว ลดเพื่อจะได้เข้ากับเสียงปี่ครับ

อยากฟังตัวอย่างจากยูทูป   คุณ siamese พอจะหามาให้ฟังได้ไหมคะ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 เม.ย. 11, 16:03
ไปตามหาประวัติของ  Thiounn  (ออกเสียงไม่ถูก) เจอที่นี่

http://www.topix.com/forum/world/cambodia/TD4HTPDS7RF6IJGGT


หนังสือ Incendiary Circumstances: A Chronicle of the Turmoil of Our Times โดย Amitav Ghosh เรื่อง Dancing in Cambodia บทที่ ๕ หน้า ๒๓๙ ให้ออกเสียงว่า Chunn = ชุน ?

http://books.google.co.th/books?id=TiG-pS2v3N0C&printsec=frontcover#v=onepage&q&f=false


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 เม.ย. 11, 16:17
อีกรูปหนึ่งภาพจากหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส Le Petit Journal ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๖ สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ทอดพระเนตรนาฏศิลป์เขมรร่ายรำอยู่หน้านครวัดจำลองก่อนที่จะได้คืนเป็นทางการใน ค.ศ. ๑๙๐๗

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4316.0;attach=17806;image)

บุรุษสองคนทางซ้ายมือ ถ้าคนหนึ่งคือสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ อีกคนหนึ่งน่าจะเป็นนายชุน

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: reporter ที่ 12 เม.ย. 11, 16:34

บุรุษสองคนทางซ้ายมือ ถ้าคนหนึ่งคือสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ อีกคนหนึ่งน่าจะเป็นนายชุน

 ;D

อาจจะใช่นะครับ

หนังสือที่คุณเพ็ญชมพูโพสมากล่าวว่านายชุนเป็น "veritable little king"

อันนี้ประวัติ Thiounn Prasith หลานปู่นายชุน
 http://www.yale.edu/cgp/thiounn.html

ลูกนายชุนที่ชื่อ Thiounn Hal (ในหนังสือเขียนว่า Thiounn Hol) เป็นนักเรียนกัมพูชาคนแรกที่เรียนจบจากฝรั่งเศส



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: reporter ที่ 12 เม.ย. 11, 16:43
ในเล่มนี้มีกล่าวครบทุกเรื่องทั้งรำ ละคร หนังใหญ่

The Cambridge guide to Asian theatre
By James R. Brandon

http://books.google.com/books?id=ttnH5W9qoBAC&pg=PA20&lpg=PA20&dq=Khmer+dance+Cambridge+Guide+to+Theatre&source=bl&ots=aDDpGd8rkP&sig=beb0sLt06RMJGpjRVqvBcsWOWaY&hl=en&ei=Qx6kTb6cM8jKrAf439ToCQ&sa=X&oi=book_result&ct=result&resnum=3&ved=0CB4Q6AEwAg#v=onepage&q&f=false (http://books.google.com/books?id=ttnH5W9qoBAC&pg=PA20&lpg=PA20&dq=Khmer+dance+Cambridge+Guide+to+Theatre&source=bl&ots=aDDpGd8rkP&sig=beb0sLt06RMJGpjRVqvBcsWOWaY&hl=en&ei=Qx6kTb6cM8jKrAf439ToCQ&sa=X&oi=book_result&ct=result&resnum=3&ved=0CB4Q6AEwAg#v=onepage&q&f=false)


 :D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 เม.ย. 11, 17:56
หลับไปงีบนึง กลับเข้ามาอีกที่….   

NAVARAT.C
อ้างถึง
อ้างถึง
Thiounn  (ออกเสียงไม่ถูก)

เอาเป็น"ท่วน"ก็แล้วกันครับ
จะสะกดว่า"ถ้วน" เดี๋ยวคนจะเข้าใจว่าเป็นญาติกับคุณชวน

ตกลงเรียกคุณท่วน ตามนี้ค่ะ 

หนังสือ Incendiary Circumstances: A Chronicle of the Turmoil of Our Times โดย Amitav Ghosh เรื่อง Dancing in Cambodia บทที่ ๕ หน้า ๒๓๙ An officer who bore a simple name of Thiounn ( pronounced Chunn)  ให้ออกเสียงว่า Chunn = ชุน ?

Thiounn  ออกเสียงว่า ท่วน ไม่ถูก ให้ออกเสียงว่า ชุน


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 เม.ย. 11, 18:27
อ้างถึง
หนังสือ Incendiary Circumstances: A Chronicle of the Turmoil of Our Times โดย Amitav Ghosh เรื่อง Dancing in Cambodia บทที่ ๕ หน้า ๒๓๙ ให้ออกเสียงว่า Chunn = ชุน ?

แน่ใจนะคะ  ว่าไม่ใช่นาย ชัน นายฉัน   นายชูน  นายชาน   นายจัน  นายจุน  หรือนายจูน

เพิ่งรู้ว่าคำเขมรที่สะกดด้วยตัว   Thio   อ่านออกเสียงว่า  Ch


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 เม.ย. 11, 18:46
อ้างถึง
บุรุษสองคนทางซ้ายมือ ถ้าคนหนึ่งคือสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ อีกคนหนึ่งน่าจะเป็นนายชุน

ไม่ใช่ครับ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 เม.ย. 11, 18:49
คนขวาคือสมเด็จพระศรีสวัสดิ์  จำโจงกระเบนได้    ส่วนคนซ้าย เป็นคนใหญ่โตคนไหนของฝรั่งเศสกันนะ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 เม.ย. 11, 18:58
นายชุน หรือนายชัน นายฉัน   นายชูน  นายชาน   นายจัน  นายจุน  นายจูน ฯลฯ
น่าจะเป็นชายที่ยืนอยู่ข้างหลังสมเด็จพระศรีสวัสดิ์

ทรงไปเจรจาความเมือง ให้ฝรั่งเศสผนวกดินแดนเขมรในความครอบครองของไทย คือเสียมราช พระตะบอง ศรีโสภณ กลับมาอยู่ในอาณานิคมเขมร

ซึ่งฝรั่งเศสก็เห็นด้วย



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 เม.ย. 11, 19:10
ในประวัติ บอกว่านาย จ.หรือ ฉ. หรือ ช. ฯลฯ คนนี้เก่งภาษาฝรั่งเศส  เป็นเขมรเชื้อสายญวน   และปราดเปรื่องจนได้ขึ้นเป็นเสนาบดีกระทรวงวังของเขมร  (เทียบเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์เชียวนะนั่น)
แกจึงตามติดสมเด็จเจ้าศรีสวัสดิ์ทุกย่างก้าว  เพราะในประวัติเช่นกันเล่าว่าพระเจ้าแผ่นดินเขมรตรัสฝรั่งเศสไม่ได้     ต้องอาศัยล่ามคือนาย จ.หรือ ฉ.หรือ ช. ฯลฯ 
การเจรจาความเมือง ให้ฝรั่งเศสผนวกดินแดนเขมรในความครอบครองของไทย คือเสียมราช พระตะบอง ศรีโสภณ กลับมาอยู่ในอาณานิคมเขมร  ที่สมเด็จเจ้าศรีสวัสดิ์กระทำ   ก็คงอาศัยลิ้นการทูตของนาย  Chunn (พิมพ์สั้นกว่าค่ะ) เอื้ออำนวยในการแปลให้ฝรั่งเศสฟังอยู่ไม่น้อย

ในเมื่อเสนาบดีคนนี้ดึงเนื้อออกจากปากเสือสยามไปได้สำเร็จ   ก็เป็นเหตุเป็นผลว่า  ถ้าแกลงมือเขียนประวัติศาสตร์  แกก็คงไม่อยากเขียนว่าเขมรรับวัฒนธรรมอะไรต่อมิอะไรมาจากสยาม     สู้เขียนว่าสยามไปเอาอะไรๆมาจากเขมร เสียยังสอดคล้องกับการเมืองเขมรในยุคนั้นมากกว่า


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 เม.ย. 11, 19:46


อันนี้ประวัติ Thiounn Prasith หลานปู่นายชุน
 http://www.yale.edu/cgp/thiounn.html

ลูกนายชุนที่ชื่อ Thiounn Hal (ในหนังสือเขียนว่า Thiounn Hol) เป็นนักเรียนกัมพูชาคนแรกที่เรียนจบจากฝรั่งเศส

ตามเข้าไปอ่านประวัติที่หลานนาย Chunn   เขียนถึงปู่ไว้ แล้วกลืนน้ำลายดังเอื๊อก
โปรดดูข้อความในกรอบแดง
การแสดงความคิดเห็นแบบนี้ เป็นวัฒนธรรมแบบที่(หวังว่าจะ)ไม่ไหลมาไทย
ถามคุณ reporter  กรุณาลัดคิวเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมคะว่า นาย Chunn แกไปทำอะไรเข้า


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 เม.ย. 11, 19:57
ถ้า อ.เทาชมพู อยากฟังเพลงไทย เทียบกับเขมรก็ทำได้โดยเพลงเขมรจะลดเสียงไป 1 ขั้น เช่น ไทยตีเพลงจังหวะซอล ส่วนเขมรก็จะตีจังหวะฟา (ทำนองเพลงเดียวกัน)และเพลงสำเนียงเขมรจะต้องมีเครื่องโทนและปี่กำกับด้วย

ครูดนตรีไทย ได้แต่งเพลงสำเนียงเขมรก็ได้ลดเสียงไป 1 เสียง เนื่องจากปี่เสียงสูงอยู่แล้ว ลดเพื่อจะได้เข้ากับเสียงปี่ครับ

อยากฟังตัวอย่างจากยูทูป   คุณ siamese พอจะหามาให้ฟังได้ไหมคะ

มันเป็นลักษณะเพลงสำนเนียงเขมร สำเนียงเวียตนาม สำเนียงมอญ ครับฟังแล้วจะรู้เลยว่าออกไปทางเขมร เหมือนเราฟังคนตรีไทยสำเนียงจีน ก็จะออกสำเนียงเร็วๆ ครับ

เพลงสำเนียงภาษาเริ่มมีขึ้นในสมัยกรุงรัตน์โกสินทร์ เพราะมีการแสดงละครซึ่งเค้าโครงเรื่องนำมาจากต่างชาติ เช่น อิเหนา ราชาธิราช พระลอ พระร่วง เป็นต้น จึงมีการนำเอาเพลงอัตราสองชั้นมาบรรจุสำหรับร้องรำและดัดแปลงสำเนียงภาษาให้ เข้ากับเนื้อเรื่อง จึงเกิดเป็นเพลงสำเนียงภาษาขึ้น เช่น ลาวเจริญศรี เขมรปากท่อ มอญรำดาบ แขกเชิญเจ้า จีนขิมเล็ก เป็นต้น จากพระวินิจฉัยของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสถิตยธำรงสวัสดิ์ หรือ พระองค์เจ้าชายนวรัตน์ (พ.ศ.๒๓๘๘-๒๔๓๓ : พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ เจ้าคุณจอมมารดาเอม) ซึ่งเป็นผู้ที่สนพระทัยในเรื่องของการละเล่นและดนตรีไทยอย่างมาก ได้ทรงนิพนธ์ทฤษฎีดนตรีไทยกล่าวไว้ในหนังสือ วชิรญาณวิเศษ เล่มที่ ๔ ตั้งแต่หน้า ๑๗๓–๓oo พิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ ซึ่งเป็นเอกสารทางวิชาการดนตรีไทยฉบับแรก  ทรงกล่าวถึงเรื่องเพลงสำเนียงภาษาไว้ว่า


“เพลงขับร้องมาแต่ภาษาต่าง ๆ เหล่านี้คือเพลงฝรั่งร้องรับด้วยแตรวงใหญ่อย่าง ๑ เพลงจีนร้องงิ้วหุ่นหนังมโหรีประสานเครื่องสายพิณพาทย์อย่างจีนอย่าง ๑ เพลงยวนร้องรำกระถางเปนท่าทางต่าง ๆ ใช้กลองแลรับเปนเครื่องนัดหมายอย่าง ๑ อีกรำดอกบัวร้องลำนำอย่างสยามรับด้วยปี่กลองชะวามีหน้าพาทย์ต่าง ๆ ด้วย อีกอย่าง ๑เพลงเขมรร้องเปนสำเนียงเขมรแต่รับด้วยเสียงดนตรีเหมือนไทยอย่าง ๑ เพลงรามัญร้องรำเรียกว่า ทะแยมอญรับด้วยเครื่องสายพิณพาทย์อย่างมอญอย่าง ๑ เพลงทวายรำร้องคล้อยมอญใช้พิณพาทย์มีเปิ่งมางอย่าง ๑เพลงพม่าร้องรำมักเปนการแห่ลูกหนูฤากระจาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีกลองยาวอย่าง พม่าแต่ทุกวันนี้ใช้บวชนาคเรียกว่าแชยำบ้างเถิดเทิงบ้างอย่าง ๑เพลงลาวแอ่วประสานเสียงแพนเรียกว่า ทางซุ้ม ทางกะเลิง ทางลอดค่ายต่าง ๆ อย่าง ๑แขกพราหมณ์ร้องรับด้วยน้ำเต้าแลซออีกอย่าง ๑ เพลงละครชาตรีฤาหนังตะลุงร้องรับด้วยเครื่องพิณพาทย์อย่างแขกอย่าง ๑เพลงแขกจำอวดเกิดขึ้นไม่ช้านักเรียกว่ายิเกใช้ตีรำมะนาใหญ่ ๆ อย่างเดียวแต่ร้องเล่นหลายเรื่องหลายภาษาอย่าง ๑ อีกร้องเพลงแจวเรือพายเรือตีกันเชียง โล้เรือ ขันฉ้อ ขันกว้าน ถอนสมอ ลากไม้ เหล่านี้ก็มีหลายภาษาอย่าง ๑ หมวดด้วยกันดั่งนี้”


         จากพระวินิจฉัยดังกล่าวมุ่งชี้ไปที่การบรรเลงเพลงสำเนียงภาษาเป็นหลักโดยดัด แปลงจังหวะหน้าทับให้เหมาะสมกับทำนองสำเนียงภาษานั้นด้วยจึงต้องมีหน้าทับ เฉพาะ เช่น หน้าทับลาว หน้าทับแขก เป็นต้น บางครั้งยังนำเอาเครื่องประกอบจังหวะมาตีประกอบ เช่น กลองจีน กลองฝรั่ง เพื่อเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศการฟังให้เข้าใจเพลงในแต่ละสำเนียงภาษา ชัดเจนขึ้น

ถ้าจะยกตัวอย่างเพลงสำเนียงเขมร ก็เช่น "ระบำไกรลาศสำเริง" เป็นเพลงที่ครูดนตรีไทย ได้ประดิษฐ์แต่งไว้ โดยให้ทั้งเพลงเป็นสำเนียงเขมร อัตราเพลงจะลดไป ๑ เสียงครับ
http://www.youtube.com/watch?v=bAGz2CbTwyY



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 เม.ย. 11, 20:02
นายชุน หรือนายชัน นายฉัน   นายชูน  นายชาน   นายจัน  นายจุน  นายจูน ฯลฯ

ยังไม่ใช่

คำเฉลยคือ "จวน" อยู่ในนิราศนครวัดพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นี่เอง

เวลาบ่าย ไปบ้านออกญาวังดังได้รับปากไว้ บ้านอยู่ตรงหน้าพระราชวัง อย่างเช่นที่โรงงานกรมศิลปากรในกรุงเทพฯ บริเวณบ้านใหญ่โตกว่าวังเจ้าหรือบ้านขุนนางแห่งอื่น ซึ่งสังเกตเห็นในเมืองพนมเพ็ญ ออกญาวังคนนี้ชื่อตัวจวน   เขมรใช้เรียกชื่อตัวต่อราชทินนามเป็นประเพณีมาแต่โบราณ ดังเช่นปรากฏในหนังสือพงศาวดารเรียกว่า ออกญายมราชแบน ออกญาเดโชแทน ดังนี้เป็นต้น ยังคงใช้ประเพณีนั้นอยู่จนปัจจุบัน

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: reporter ที่ 12 เม.ย. 11, 20:05
ตามเข้าไปอ่านประวัติที่หลานนาย Chunn   เขียนถึงปู่ไว้ แล้วกลืนน้ำลายดังเอื๊อก
โปรดดูข้อความในกรอบแดง
การแสดงความคิดเห็นแบบนี้ เป็นวัฒนธรรมแบบที่(หวังว่าจะ)ไม่ไหลมาไทย
ถามคุณ reporter  กรุณาลัดคิวเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมคะว่า นาย Chunn แกไปทำอะไรเข้า

ไม่ทราบเหมือนกันครับ  :D

แต่ตรงต้นประวัติ นาย ฉวน ประสิทธิ์ (คนหลาน) ระบุว่าเป็นเขมรแดง

ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจคนเขมรว่าเขามองกันเองยังเหมือนกัน มันมีหลายกลุ่มเหลือเกิน

ปู่กับหลานน่าจะยืนกันคนละขั้ว??


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: reporter ที่ 12 เม.ย. 11, 20:07
นายชุน หรือนายชัน นายฉัน   นายชูน  นายชาน   นายจัน  นายจุน  นายจูน ฯลฯ

ยังไม่ใช่

คำเฉลยคือ "จวน" อยู่ในนิราศนครวัดพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นี่เอง

เวลาบ่าย ไปบ้านออกญาวังดังได้รับปากไว้ บ้านอยู่ตรงหน้าพระราชวัง อย่างเช่นที่โรงงานกรมศิลปากรในกรุงเทพฯ บริเวณบ้านใหญ่โตกว่าวังเจ้าหรือบ้านขุนนางแห่งอื่น ซึ่งสังเกตเห็นในเมืองพนมเพ็ญ ออกญาวังคนนี้ชื่อตัวจวน   เขมรใช้เรียกชื่อตัวต่อราชทินนามเป็นประเพณีมาแต่โบราณ ดังเช่นปรากฏในหนังสือพงศาวดารเรียกว่า ออกญายมราชแบน ออกญาเดโชแทน ดังนี้เป็นต้น ยังคงใช้ประเพณีนั้นอยู่จนปัจจุบัน

 ;D

เก่งจัง หาชื่อพบจนได้  ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 เม.ย. 11, 20:11
นายชุน หรือนายชัน นายฉัน   นายชูน  นายชาน   นายจัน  นายจุน  นายจูน ฯลฯ

ยังไม่ใช่
คำเฉลยคือ "จวน" อยู่ในนิราศนครวัดพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นี่เอง
 ;D

แทงหวย จ.ฉ.ช. ไม่ถูกสักตัว  โดนกินเรียบ :(
เพิ่งรู้ว่า Chunn  อ่านออกเสียงว่า จวน  นี่เอง
ถ้างั้นของท่าน NAVARAT ก็เฉียดรางวัลใหญ่  เพราะท่านออกเสียงสระถูก ว่าเป็นเสียง -วน   เพียงแต่คำหน้า Th อ่านออกเสียง ch ซึ่งคนไทยไม่ใช้กันเท่านั้น
ของเราถ้า Ch ในที่นี้เป็นการสะกดแบบอักษรโรมัน  ตามด้วยสระ u   ก็อ่านว่า จุ   อย่าง Chula


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 เม.ย. 11, 20:16
ขอบคุณสำหรับเพลงไกรลาสสำเริงค่ะคุณ siamese

แต่ตรงต้นประวัติ นาย ฉวน ประสิทธิ์ (คนหลาน) ระบุว่าเป็นเขมรแดง

ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจคนเขมรว่าเขามองกันเองยังเหมือนกัน มันมีหลายกลุ่มเหลือเกิน

ปู่กับหลานน่าจะยืนกันคนละขั้ว??

ถ้าหลานเป็นเขมรแดงก็ไม่แปลก ที่แกจะไม่ยึดถือวัฒนธรรมบรรพบุรุษ     ทุกอย่างน่าจะขึ้นตรงกับอุดมการณ์เขมรแดงตามที่ถูกปลูกฝังมา


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 เม.ย. 11, 20:16
ลองให้ ลุงกู๋ ใช้เสียงดูนะครับ
http://translate.google.co.th/?hl=en&tab=wT#en|th|Chunn


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 เม.ย. 11, 20:42
เรื่องของนายจวน ยังมีต่ออีก

เรียกออกญาวังคนนี้ในทางราชการว่า "ออกญาวังจวน" แต่ฝ่ายข้างฝรั่งนั้นประเพณีเรียกชื่อเขาเอานามสกุลไว้ท้าย เรียกกันมักเรียกด้วยนามสกุล เมื่อเห็นขุนนางเขมรใช้ชื่อตัวต่อราชทินนาม ฝรั่งก็ชอบเรียกชื่อตัวเป็นเช่นนามสกุล เช่นเรียกออกญาวังว่า "เมอซิเออร์จวน" คงเรียกว่าออกญาวังแต่พวกเขมร ได้เห็นตัวอย่างการ์ดเชิญของออกญาวัง ที่เขาส่งมาเชิญพระยาพจนปรีชา กับหลวงสุริยพงศ์พิสุทธิแพทย์ไปกินอาหารเย็นที่บ้านเขาเมื่อวันที่ ๘ พิมพ์การ์ดเป็นภาษาฝรั่งเศสขึ้นต้นว่า "มาดาม เอต์ เมอซิเออร์จวน" ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็ว่า นางและนายจวน เสนาบดีกระทรวงวังขอเฃิญ ฯลฯ ดูแปลกอยู่ ถึงขุนนางเขมรคนอื่น ๆ ก็ได้ยินฝรั่งเรียกว่า เมอซิเออร์นั่นนี่ทำนองเดียวกัน ตำแหน่งออกญาวังนั้นเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง และว่าการคลังมหาสมบัติด้วย สังเกตแต้มดูใหญ่ยิ่งกว่าใคร ๆ ในบรรดาข้าราชการเขมรทั้งนั้น พูดไทยได้คล่องแคล่วทั้งตัวและภรรยา ๆ นั้นดูฉลาดเฉลียวมาก การต้อนรับแขกก็แข็งแรง มีเลี้ยงของว่าง และมโหรี เป็นมโหรีสมัยใหม่เช่นของเรา คือมีจรเข้ ซอ กระจับปี่จีน และขิมจีน ให้ทำเพลงไทย พวกมโหรีร้องไปด้วย

มีมโหรีต้อนรับแขกที่บ้านซะด้วย

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 เม.ย. 11, 20:48
หลักเกณฑ์เทียบเสียงดนตรีสำเนียงต่างๆ

บันไดเสียง

กับสำเนียงภาษาของเพลง

1) บันไดเสียงโด (ดรม ซล) มักจะอยู่ใช้เพลงที่มีสำเนียงลาว สำเนียงจีน สำเนียงไทย สำเนียงแขก

2) บันไดเสียงเร (รมฟ ลท) มักจะอยู่ในเพลงที่มีสำเนียงแขก

3) บันไดเสียงฟา (ฟซล ดร) มักจะอยู่ในเพลงที่มีสำเนียงเขมรเป็นส่วนใหญ่ แต่อาจจะมีในเพลงที่มีสำเนียงมอญบ้าง

4) บันไดเสียงซอล (ซลท รม) มักจะใช้ในเพลงที่มีสำเนียงแขกเป็นส่วนใหญ่ อาจใช้ในเพลงที่มีสำเนียงไทยบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย

5) บันไดเสียงลา (ลทด มฟ) เป็นระบบเสียงที่ใช้ในเพลงโบราณ เช่น สำเนียงขอม สำเนียงไทย เป็นต้น แต่พบได้น้อย เนื่องจากเมื่อนำมาบรรเลงในเพลงประเภทเครื่องสาย และเครื่องเป่า ทำให้เกิดบรรเลงได้ยาก ในสมัยก่อนจึงมีการ ทรานสโพส ให้ไปอยู่ในบันไดเสียงอื่น

6) บันไดเสียงที (ทดร ฟซ) จะใช้ในเพลงที่มีสำเนียงมอญเป็นส่วนใหญ่ อาจใช้ในเพลงที่มีเพลงสำเนียงเขมรบ้าง แต่


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 เม.ย. 11, 09:20
วันนี้เป็นวันสงกรานต์

ขออวยพรท่านผู้อ่าน และนำคลิ๊ปรำถวายพระพรมาฝากพร้อมกับรำอวยพรของเขมร
ขอให้ท่านมีความสุข และผ่านปีนี้ไปได้ด้วยดีกว่าสองสามปีที่ผ่านมานะครับ

http://www.youtube.com/watch?v=vO9f_spbzi8&feature=related
http://www.youtube.com/watch?v=_aHObYYpBAg&feature=related


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 เม.ย. 11, 09:26
^
เพลงรำอวยพรของเขมร  ทำนองคล้ายเพลง สีนวล

ขอหยุดงาน  ฉลองสงกรานต์ในเรือนไทยด้วยอีกคนค่ะ

ขออวยพรชาวเรือนไทยให้เป็นสุข         ที่เคยทุกข์ก็ผ่านไปไม่กลับหลัง
ให้ฉ่ำเย็นสดชื่นคืนพลัง                     เปี่ยมความหวังว่าพรุ่งนี้ฟ้าสีทอง

เพลงสงกรานต์เขมรค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=d8YiCYgM-P8


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 เม.ย. 11, 11:04
รดน้ำขอพร สงกรานต์เขมรด้วยครับ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 เม.ย. 11, 11:36
ทำนองคุ้นๆ  ตอนต้น  เหมือนยวนย่าเหล  แต่ท่อนหลังๆ เป็นเพลงอื่น

http://www.youtube.com/watch?v=rxDr0q-zBrI&feature=related


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 เม.ย. 11, 11:43
ตามมาฉลองสงกรานต์ด้วยคน

ขณะที่คนไทยกำลังเล่นสงกรานต์อยู่นี้ ในเขมร, ลาว, พม่า แม้แต่ในจีน (สิบสองปันนา) ก็กำลังเล่นสงกรานต์กันอยู่

ฟังเพลงสงกรานต์ของเขมรกันก่อน  ;D

http://www.youtube.com/watch?v=WsWy7aSWl3A

เรือนอินทร์  หน้าพระลาน ว่าไว้ในบทความชื่อ "สงกรานต์  ไม่ใช่ของไทยแห่งเดียว แต่มีในหลายประเทศ  เช่น  เขมร, ลาว,พม่า" อยู่ในเว็บของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ

http://www.sujitwongthes.com/2011/04/songkarn/

สงกรานต์ ถูกทำให้เชื่อมานานแล้วว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยแท้ ๆ มาแต่โบราณกาล  แต่ไม่เป็นความจริง  เพราะสงกรานต์เป็นประเพณีทางศาสนาพราหมณ์   มีกำเนิดในชมพูทวีป (อินเดีย)  เกี่ยวกับดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ  จึงไม่ใช้ประเพณีไทยแท้ ๆ ตามที่กล่าวอ้าง

สงกรานต์ของศาสนาพราหมณ์แพร่หลายจากชมพูทวีปเข้าสู่อุษาเคนย์  ถึงราชสำนักสุวรรณภูมิราวหลัง พ.ศ. ๕๐๐ แล้วเป็นพิธีกรรมสำคัญอยู่ในราชสำนักก่อน

สมัยแรก ๆ ยังไม่แพร่หลายลงสู่สามัญชนชาวบ้าน  ต้องใช้เวลาอีกนานมาก  จนราวหลัง พ.ศ. ๒๐๐๐ ถึงลงสู่สามัญชนชาวบ้าน

ราชสำนักในสุวรรณภูมิที่อยู่ใกล้ทะเลแล้วรับศาสนาพราหมณ์และพุทธ   ล้วนมีสงกรานต์เหมือน ๆ กัน  เช่น  กัมพูชา, ไทย, ลาว, พม่า, ฯลฯ  หลังจากนั้นแพร่หลายเข้าสู่ดินแดนภายใน  เช่น  ล้านนา, ล้านช้าง, จนถึงสิบสองพันนา (ในจีน)

บ้านเมืองเหล่านี้มีประเพณีสงกรานต์เหมือนกันทั้งหมดสืบจนทุกวันนี้  แล้วบอกว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของตนทั้งนั้น

ดังนั้น  สงกรานต์จึงไม่ได้มีที่ไทยแห่งเดียว  แต่มีทั่วไปทั้งในกัมพูชา, ลาว, พม่า, รวมทั้งในจีน

 ;D







กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 เม.ย. 11, 11:58
รำวงสงกรานต์เขมร

http://www.youtube.com/watch?v=w52O8hubcUk&feature=related

รำวงสงกรานต์ไทย

http://www.youtube.com/watch?v=fcjFMx4Xuek&feature=related


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 เม.ย. 11, 12:06
ตำนานสงกรานต์เขมร

http://www.youtube.com/watch?v=-YOLjLPeGJM


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 เม.ย. 11, 09:49
มาดูของดีของวิเศษของไทย ซึ่งกำลังจะสูญสลายว่ามีอะไรบ้าง ที่รัฐบาลน่าจะขอให้ยูเนสโกเข้ามาช่วยอุปถัมภ์ค้ำชูได้
ไม่ทราบว่า หุ่นละครที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนไทยแท้ๆนี้ จะเข้าข่ายหรือเปล่า

http://www.youtube.com/watch?v=n7cQ-0UIMzc
http://www.youtube.com/watch?v=9H1bOE0GxPw&feature=related


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 เม.ย. 11, 10:23
^
^
เกรงว่าเมื่อเสนอประวัติให้ยูเนสโกแล้ว น่าจะมีปัญหาตรงอายุของละครเล็กซึ่งไม่เก่าแก่พอ

ประวัติความเป็นมาของหุ่นละครเล็ก

หุ่นละครเล็กกำเนิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ ผู้ให้กำเนิด คือ นายแกร ศัพทวนิช ซึ่งมีอายุไล่เลี่ยกับนายเปียก ประเสริฐกุล เจ้าของคณะหุ่นกระบอกอันเลื่องชื่อในเวลานั้น นายแกรเป็นชาวตลาดหัวรอ จังหวัดอยุธยา เล่ากันว่านายแกรเล่นเป็นตัวเจ้าเงาะแต่ยังแสดงได้ไม่ถึงขั้น จึงได้รับขนานนามว่า "ครูแกร เงาะกำมะลอ" ต่อมามีงานแสดงน้อยลงครูแกรจึงล่องเรือเข้ากรุงเทพฯ มาจอดพักอยู่ที่คลองมหานาค หน้าวังสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยยึดอาชีพแสดงละครเป็นหลัก ภายหลังได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในวังวรดิศ และหลายปีต่อมานายแกรได้ซื้อบ้านหลังหนึ่งในตรอกขี้เถ้า (ถนนดำรงรักษ์ในปัจจุบัน) หน้าวังวรดิศนั่นเอง

นายแกรคิดประดิษฐ์ละครเล็กขึ้น เนื่องจากได้เห็นหุ่นหลวงแล้วเกิดความสนใจ ได้พยายามทำให้เหมือนหุ่นหลวงมากที่สุด แต่ทำไม่ได้เพราะสายใยมาก จึงดัดแปลงให้สายใยน้อยลง หุ่นตัวแรกที่นายแกรสร้างคือหุ่นตัวพระ เมื่อสร้างได้ครบโรงก็นำออกแสดงให้เจ้านายในวังวรดิศทอดพระเนตรเป็นครั้งแรก โดยแสดงเรื่องพระอภัยมณี ตอนตีเมืองอา อันเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมมาก บรรดาเจ้านายเจ้านายที่ทอดพระเนตรต่างเรียกการแสดงนี้ว่า "ละครเล็ก" กันทุกพระองค์ ส่วนชาวบ้านเรียกว่า "หุ่นครูแกร" ต่อมานายแกรก็รับแสดงในงานทั่วไป อัตราค่าจ้างคืนละ ๑๐๐ บาท และตั้งชื่อคณะว่า "ละครเล็กครูแกร" คนทั่วไปก็เรียกกันติดปากมาจนทุกวันนี้ นายแกรคงแสดงละครเล็กที่วังวรดิศอีกหลายครั้ง
          
ละครเล็กไม่ได้รับความนิยมในยุคต่อมาเพราะการแสดงล่าช้า ไม่ทันใจผู้ชม การเชิดก็ยุ่งยาก ปัจจุบันผู้เชิดเป็นเหลืออยู่นับคนได้ คือ คณะสาครนาฏศิลป์ ของ ครูสาคร ยังเขียวสด หรือ "โจหลุยส์" ซึ่งยังคงสืบทอดศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็กไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานอยู่ในปัจจุบันนี้

http://www.nsru.ac.th/oldnsru/webelearning/dance/hunlakhonleg.html
http://www.mundoyo.com/Journal/?j=850



กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 เม.ย. 11, 13:14
เห็นว่ารัฐก็สนับสนุนอยู่  ;D

ข่าวจากสำนักข่าวไทย

วธ.เสนอรัฐบาลของบ ๘ ล้านบาท สืบทอดหุ่นละครเล็กโจหลุยส์

กรุงเทพฯ ๑๓ ต.ค.-นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ วธ.ได้เสนอแนวทางต่อรัฐบาล ถึงการสนับสนุนคณะนาฏยศาลาหุ่นละครเล็ก โจหลุยส์ ที่ประสบปัญหาสถานที่จัดการแสดง ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้กระทรวงฯ เสนอแนวทางส่งเสริมกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะการแสดงอันบ่งบอกถึงศิลปวัฒนธรรมไทย และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศในเวทีนานาชาติ พร้อมหามาตรการส่งเสริม สนับสนุนให้ใช้ศิลปะการแสดงรณรงค์สร้างค่านิยมที่พึงประสงค์และสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ โดยมีแนวทางในระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย การสนับสนุนการแสดง เรื่อง กูรมาวตาร ตำนานพระราหู ซึ่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในการประกวดเทศกาลหุ่นโลก ครั้งที่ ๑๐ ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ที่โรงละครวิกหัวหิน จ.ประจวบคิรีขันธ์ จำนวน ๗ รอบ ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๕๓ และจัดแสดงที่โรงละครแห่งชาติ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

สำหรับมาตรการระยะปานกลาง จะสนับสนุนการแสดงหุ่นละครเล็ก เรื่อง พระมหาชนก ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเพียร ความวิริยะ และค่านิยมที่พึงประสงค์สู่เยาวชนและประชาชนใน ๔ ภูมิภาค เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ช่วงเดือน ธันวาคม ๒๕๕๓ และจะนำองค์ความรู้จากการแสดงไปพัฒนาสู่การถ่ายทอดมรดกทางภูมิปัญญาและการส่งเสริมคุณธรรม โดยในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้เสนอของบกลาง จำนวน ๘ ล้านบาท และปีต่อไปจะขอตั้งเป็นงบประมาณประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๕

ส่วนมาตรการในระยะยาว กระทรวงฯ จะพัฒนารูปแบบและมาตรการส่งเสริมสนับสนุนการสืบทอดมรดกวัฒนธรรมด้านศิลปะการแสดงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน รวมถึงการจัดหาพื้นที่การแสดงถาวร โดยร่วมกับเอกชนและชุมชน เพื่อเสริมพลังศิลปินพื้นบ้านในการสืบสานและถ่ายทอดมรดกวัฒนธรรมแขนงนี้ให้คงอยู่สืบไป.-สำนักข่าวไทย

http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/114517.html
 
 


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 11, 13:25
           กระทรวงวัฒนธรรมเร่งให้การช่วยเหลือคณะหุ่นละครเล็ก โจหลุยส์   (4/4/2011)
          กระทรวงวัฒนธรรม เร่งให้การช่วยเหลือคณะหุ่นละครเล็ก โจหลุยส์ โดยจัดหาสถานที่แสดงไปตามภูมิภาคต่างๆ พร้อมอัญเชิญบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องพระมหาชนก มาจัดการแสดง

              นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม ดูแลช่วยเหลือคณะหุ่นละครเล็ก โจหลุยส์ เพื่ออนุรักษ์การแสดงไว้ไม่ให้สูญหาย หลังได้รับผลกระทบจากการที่โรงละครนาฏยศาลา สวนลุมไนท์บาซาร์หมดสัญญาเช่า และยังไม่สามารถจัดหาสถานที่การแสดงใหม่ได้ ขณะนี้กระทรวงวัฒนธรรมได้ติดต่อหากิจกรรมและจัดตารางการแสดงให้คณะหุ่นละคร เล็ก โจหลุยส์เรียบร้อยแล้ว โดยมอบหมายให้จัดแสดงภายใต้โครงการ 84 พรรษา เฉลิมหล้ามหาราชัน พร้อมอัญเชิญบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องพระมหาชนก มาใช้เป็นเนื้อเรื่องในการจัดแสดงด้วย โดยจะมีการเคลื่อนการจัดแสดงไปยังภูมิภาคต่างๆ เริ่มจากจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ สงขลา เชียงใหม่ และขอนแก่น นอกจากนี้จะมีกิจกรรมกระจายองค์ความรู้ที่อยู่ในพระราชนิพนธ์ และศิลปะการแสดงหุ่นละครเล็ก จำนวน 4 ฐาน ได้แก่ ทศบารมี วิริยะบารมี ปัญญาบารมี และงานศิลปะไทยในการแสดงหุ่นละครเล็ก เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนที่เข้าชมการแสดงด้วย


(http://news.mcot.net/_images/MNewsImages_35826.jpg)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 11, 21:31
ยังอยู่ในช่วงวันหยุด   คุยกันไปเรื่อยๆ ก็แล้วกัน  นอกเรื่องเขมรบ้างก็ช่างเถอะ

นอกจากหุ่นละครเล็ก   เราก็ยังมีหุ่นกระบอกอีกด้วยนะคะ      น่าจะรวมเข้าด้วยกันเป็นละครหุ่นไทย
อย่างหุ่นกระบอกของอ.จักรพันธุ์

http://www.youtube.com/watch?v=W02lyyrdd5I


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 11, 21:35
รำไหว้ครูหุ่นกระบอก โดย ณัฐพันธุ์ นุชอำพันธ์ เป็นศิษย์ครูชูศรี (ชื้น) สกุลแก้ว ศิลปินแห่งชาติ (หุ่นกระบอก) เชิดรำไหว้ครูหุ่นกระบอกก่อนการแสดงหุ่นของมหาวิทยาลัยรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง

บทร้องไหว้ครูหุ่นกระบอก โดย ม.ร.ว.เถาะ พยัคฆเสนา

http://www.youtube.com/watch?v=5_Z_cHceKqY&feature=related


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 11, 21:42
ยังหาหุ่นกระบอกเขมรไม่เจอ  คุณเพ็ญชมพูหาเจอไหมคะ
อยากจะรู้ว่าวัฒนธรรมหุ่นกระบอก ไหลไปไหลมาระหว่างไทยกับกัมพูชาหรือเปล่า
สิ่งที่เขาเรียกว่า puppet คือหนังตะลุง  Sbek Touch 

http://www.youtube.com/watch?v=2eGiN1ykSu4


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 เม.ย. 11, 22:55
เขมรไม่มีหุ่นกระบอกกระมัง

หุ่นกระบอกไทยก็เพิ่งเกิดมาร้อยกว่าปีมานี้เอง

จากลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือสาส์นสมเด็จ ทำให้ทราบว่าการละเล่นหุ่นกระบอกนั้น ได้เริ่มขึ้นครั้งแรกราว พ.ศ. ๒๔๓๕ ที่เมืองสุโขทัย โดยนายเหน่ง สุโขทัย ซึ่งเป็นต้นคิด จำแบบอย่างมาจากหุ่นไหหลำ นำมาดัดแปลงเป็นหุ่นแต่งอย่างไทย โดยนายเหน่งได้ใช้เล่นหากินอยู่ที่เมืองสุโขทัยจนมีชื่อเสียง

และในกรุงเทพฯ ในสมัยใกล้เคียงกันนั้น (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๖ ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)  หม่อมราชวงศ์เถาะ พยัคฆเสนา มหาดเล็กในสมเด็จพระบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ได้คิดสร้างหุ่นอีกแบบหนึ่ง โดยดัดแปลงจากหุ่นที่ท่านได้ไปพบเห็นที่จังหวัดสุโขทัย โดยหุ่นที่หม่อมราชวงศ์เถาะสร้างนี้ เป็นหุ่นที่มีแต่หัวและแขน ส่วนหัวมาถึงลำคอทำด้วยไม้ทองหลางหรือไม้นุ่น  มีรายละเอียดเลียนแบบคนจริง  ส่วนลำตัวของหุ่นเป็นกระบอกไม้ไผ่เป็นแกนสำหรับจับ ด้านบนเอาหัวหุ่นสวมลงมา ไม่มีขาหุ่น แต่นำผ้าปักลายด้วยดิ้นเงิน ดิ้นทอง เลื่อม แบบเครื่องโขนละครมาทำเป็นเสื้อทรงกระสอบ (ไม่มีแขนเสื้อ) คลุมตั้งแต่คอ ยาวลงมาคลุมกระบอกไม้ไผ่เพื่อบังมือผู้เชิดที่จับกระบอก ต่อมือหุ่นตรงมุมผ้าผืนเดียวกันนั้น ผู้เชิดจะจับแกนไม้ซึ่งต่อกับมือของหุ่น ทำให้เชิดได้ว่องไว หุ่นแบบนี้ในตอนแรกเรียกว่า “หุ่นคุณเถาะ” ต่อมาจึงเปลี่ยนมาเรียกว่า “หุ่นกระบอก”

ความคิดริเริ่มก่อตั้งคณะหุ่นของหม่อมราชวงศ์เถาะ ก่อให้เกิดยุคทองของการเล่นหุ่นชนิดนี้ขึ้น เพราะในสมัยเดียวกัน และต่อมาภายหลัง ได้มีคณะหุ่นกระบอกเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และเป็นมหรสพที่นิยมในหมู่ประชาชนในเวลานั้น

การแสดงหุ่นกระบอกไทยนั้น เรื่องที่นิยมเล่นคือ พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน และลักษณวงศ์ คณะหุ่นที่มีชื่อเสียงในยุคเริ่มแรกได้แก่ หุ่นหม่อมราชวงศ์เถาะ พยัคฆเสนา หุ่นวังหน้า และหุ่นของจางวางต่อ ณ ป้อมเพ็ชร

หุ่นกระบอกคณะหม่อมราชวงศ์เถาะ  พยัคฆเสนา ซึ่งถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิดหุ่นกระบอกไทยนั้น ได้รับการสืบทอดต่อมาโดยนายเปียก ประเสริฐกุล ผู้เชิดคนสำคัญของคณะ นายเปียกเปิดคณะของตัวเองตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ และเล่นเรื่อยมาจนถึงราวปี พ.ศ. ๒๕๐๐ คุณยายชื้น (ประเสริฐกุล) สกุลแก้ว ลูกสาวของนายเปียก ได้สืบทอดคณะหุ่นต่อมา และเปิดการแสดงไปทั่ว

http://www.thaiclassic.net/ver2011/index.php?option=com_content&task=view&id=50&Itemid=59






กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 เม.ย. 11, 23:19
คิดว่าเขมรคงไม่มีหุุ่นกระบอกเช่นกัน
ขอย้อนกลับไปเรื่องหนังใหญ่


สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนไว้ว่า หนังใหญ่เข้าใจว่าได้รับอิทธิพลมาจากเขมร

ตามนี้เลยครับ ย่อหน้าสุดท้าย

http://www.lek-prapai.org/watch.php?id=21

ตอนอ่านบทความของคุณสุจิตต์ที่ท่าน Navarat ทำลิ้งค์ให้   ใจนึกแย้งๆคุณสุจิตต์ ว่าหนังตะลุงน่าจะมาจากทางใต้  ส่วนหนังใหญ่มาจากเขมร   ไม่จำเป็นว่าอย่างหนึ่งมาจากเขมร อีกอย่างก็ต้องมาจากเขมร   แต่ทำไมนึกยังงั้นยังหาเหตุผลไม่ได้
เก็บเป็นการบ้านในใจไว้หลายวัน    จนเมื่อคืนเพิ่งนึกออก ว่าที่คิดอย่างนั้น   ก็เพราะกำลังเขียนเรื่องละครนอกละครใน(วัง)อยู่ในกระทู้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญน่ะเอง
ละครใน ๔ เรื่องคือรามเกียรติ์ อิเหนา ดาหลัง อุณรุท     คำว่า ดาหลัง แปลว่าคนเชิดหนัง    เพราะว่าระเด่นมนตรีพระเอกในเวอร์ชั่นนี้ ปลอมตัวเป็นคนเชิดหนัง เมื่อตามหานางเอก    ส่วนในอิเหนา พระเอกปลอมตัวเป็นปันหยี โจรป่า
ตามประวัติ  เจ้าฟ้ากุณฑลแต่งเรื่องดาหนัง  และเจ้าฟ้ามงกุฎ พระธิดาของพระเจ้าบรมโกศ  แต่งบทละครขึ้นจากตำนานกษัตริย์ชวา ที่นางพี่เลี้ยงชาวมลายูเล่าให้ฟัง
ตำนานผ่านจากชวามามลายู    จากมลายูมาอยุธยา       หนึ่งในวัฒนธรรมที่ติดมากับคำบอกเล่าคือการเชิดหนัง
หนังที่นี้น่าจะเป็นหนังตะลุง  ไม่ใช่หนังใหญ่แบบเขมร    ไม่มีความจำเป็นอะไรที่หนังทั้งสองแบบจะต้องมาจากแหล่งเดียวกัน  ในเมื่อแม่บทของหนังคืออินเดียก็กระจายการละเล่นแบบใช้เงาเคลื่อนไหว   ไปในหลายประเทศ  ไม่ใช่ประเทศเดียว

ขอฝากไว้พิจารณาค่ะ


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 เม.ย. 11, 09:59
          ว่า "มหรสพหน้าขึ้นตาของชาวไทยในสมัยโบราณอีกอย่างหนึ่งคือ หนัง ซึ่งเราเรียกกันในภายหลังว่า หนังใหญ่ เพราะหนังตะลุงซึ่งเป็นหนังตัวเล็ก เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่ง จึงเติมคำเรียกให้แตกต่างกันออกไป สำหรับหนังใหญ่ตามหลักฐานที่ปรากฎในสมุทรโฆษคำฉันท์บอกว่ามีมาก่อนสมัยพระนารายณ์ฯ" ดังนั้น ตามทรรศนะของธนิต อยู่โพธิ์ หนังตะลุงจึงเกิดขึ้นหลังรัชกาลดังกล่าว แต่จะเป็นช่วงใดไม่ได้สันนิษฐานไว้

         สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวว่า หนังตะลุงเป็นของใหม่ เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยชาวบ้านควนพร้าว จังหวัดพัทลุง คิดเอาอย่างหนังชวามาเล่นเป็นเรื่องไทยขึ้นก่อนแล้วแพร่หลายไปยังที่อื่น และในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เองที่หนังตะลุงได้แสดงถวายหน้าพระที่นั่งเป็นครั้งแรก เมื่อปีชวด พ.ศ.2419

         สุธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์ มีความเห็นว่า หนังตะลุงคงได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมต่างชาติมากกว่าจะคิดขึ้นเอง และคงเป็นวัฒนธรรมต่างชาติมากกว่าจะคิดขึ้นเอง และคงเป็นวัฒนธรรมของกลุ่มที่มีวัฒนธรรมอินเดียปนอยู่ด้วยโดยยกเหตุผลประกอบดังนี้ 
         1. การออกรูปฤาษีและรูปพระอิศวรของหนังตะลุงมักขึ้นต้นด้วย โอม ซึ่งเป็นคำแทนเทพเจ้าสามองค์ของพราหมณ์ (โอม มาจาก อ + ม อ = พระวิษณุ, อุ = พระศิวะ, ม = พระพรหม)
        2. รูปหนังตัวสำคัญ ๆ มีชื่อเป็นคำสันสกฤต เช่น ฤาษี อิศวร ยักษ์ นุด (มนุษย์ = รูปที่เป็นพระราชโอรสของเจ้าเมือง) ชื่อตัวประกอบที่เป็นภาษาบาลีสันสกฤตก็มี เช่น ทาสี เสหนา (เสนา) 
       3. ลักษณะรูปหนังตัวสำคัญๆ มีสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมอินเดีย เช่น พระราชาทรงศรหรือไม่ก็ทรงพระขรรค์เครื่องทรงของกษัตริย์ก็เป็นแบบอินเดีย รูปประกอบก็บอกลักษณะวัฒนธรรมอินเดีย เช่น ปราสาท ราชวัง ต้นรัง (ต้นสาละ)
         4. ลักษณะนิสัยตัวละครบางตัวมีสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมอินเดีย เช่น พระอินทร์คอยช่วยเหลือผู้ตกยาก มียักษ์เป็นตัวมาร ตัวละครบางตัวมีความรู้ทางไสยศาสตร์ 
         5. เนื้อเรื่องแบบโบราณจริงๆ นิยมเล่นเรื่องรามเกียรติ์ตอนหลังแม้จะเล่นเรื่องอื่นๆ แต่ในพิธีแก้บนจะเล่นเรื่องรามเกียรติ์
อุดม  หนูทอง มีทรรศนะเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของหนังตะลุงว่า หนังตะลุงเป็นการเล่นที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมพราหมณ์อย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากขนบนิยมในการแสดงและหลักฐานอื่นๆ ดังนี้
         1. เรื่องที่แสดง ปรากฏจากคำบอกเล่าและบทกลอนไหว้ครูหนังหลายสำนวนว่า เดิมทีหนังตะลุงเล่นเรื่องรามเกียรติ์ดังตัวอย่างกลอนไหว้ครูของหนังอนันต์ตอนหนึ่งว่า 

         "เรื่องรามเกียรติ์เล่นแต่ตอนปลาย หนุมานพานารายณ์ไปลงกา"

         2. ลำดับขั้นตอนในการแสดง มีการออกลิงดำลิงขาวหรือ ออกลิงหัวค่ำ (ปัจจุบันเลิกไปแล้ว) ออกฤาษี ออกโค (ออกรูปพระอิศวรทรงโค) ออกรูปฉะ คือ รูปพระรามกับทศกัณฐ์ต่อสู้กัน (ปัจจุบันเลิกไปแล้ว) ธรรมเนียมเหล่านี้แสดงร่องรอยของอิทธิพลพราหมณ์ทั้งสิ้น

http://www.tungsong.com/NakhonSri/Cultures&Games_Nakhonsri/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B8%87/History.html

คำตอบไปอยู่ในอีกกระทู้หนึ่งซะนี่

 ;D
 


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 เม.ย. 11, 13:36
ข้อเท็จจริงอย่างที่พึงทราบสำหรับคนไทย

ในปัจจุบันนี้   มีนักวิชาการชาวกัมพูชาได้ค้นคว้าวิจัยข้อมูล
เกี่ยวกับการแสดงนาฏศิลป์และมหรสพของชาวกัมพูชา
และได้เรียบเรียงเป็นเล่มหนังสือเผยแพร่   ซึ่งมีนักวิชาการชาวไทย
ได้แปลเป็นภาษาไทยพิมพ์ออกเผยแพร่แล้วเมื่อไม่กี่ปีมานี้


หนังสือดังกล่าว  ถ้าเทียบกับงานวิชาการของไทยแล้ว
คงจะเห็นความแตกต่างมาก   การอ้างอิงข้อมูลต่างๆ
ยังอยู่ในรูปคำบอกเล่าลอยๆ  ไม่มีเชิงอรรถ หรือบรรณานุกรม


ที่สำคัญคือ  การวิจัยเกี่ยวกับการแสดงนาฏศิลป์และมหรสพของชาวกัมพูชา
ในหนังสือเล่มที่กล่าวถึงนี้   ผู้เรียบเรียงกล่าวถึงประวัติความเป็นมา
ของมหรสพการแสดงแต่ละชนิดของชาวเขมร   โดยเชื่อมโยง
หลักฐานจารึกสมัยพระนครหรือจดหมายเหตุโจวตากวน
หรือไม่ก็โยงไปถึงมหรสพในอินเดียโบราณ   มาสัมพันธืกับมหรสพ
ของชาวเขมรปัจจุบัน   โดยไม่มีการกล่าวถึงนาฏศิลป์ชาวสยาม
แม้แต่น้อย  ถ้าเลี่ยงไม่ได้  ก็จะกล่าวถึงให้น้อยที่สุด   
ฉะนั้นงานวิจัยดังกล่าว  ถ้าใครได้อ่านก็จะเห็นได้ว่า
ผู้เรียบเรียงยกเอาเขมรสมัยพระนครมาเล่าแล้วข้ามมาถึงยุคปัจจุบัน
โดยไม่มีการกล่าวถึงเขมรสมัยหลังพระนครที่เมืองละแวก
หรือแม้แต่เขมรในสมัยที่เป็นประเทศราชของสยามเลย


ถ้าถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น  ทุกท่านคงจะหาคำตอบได้ไม่ยาก


ทุกวันนี้ศิลปะการแสดงของชาวกัมพูชาที่ว่าสวยงามในอดีต
ถูกทำลายไปเกือบหมดในสมัยเขมรแดงสมัยสงครามกลางเมือง
ศิลปะการแสดงของชาวเขมรทุกวันนี้  ส่วนใหญ่เป็นศิลปะที่นำเอา
ศิลปะของชาวบ้านที่หลงเหลือรอดจากสงครามมาฟื้นฟูใหม่


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 เม.ย. 11, 15:28
ข้อเท็จจริงอย่างที่พึงทราบสำหรับคนไทย

ในปัจจุบันนี้   มีนักวิชาการชาวกัมพูชาได้ค้นคว้าวิจัยข้อมูล
เกี่ยวกับการแสดงนาฏศิลป์และมหรสพของชาวกัมพูชา
และได้เรียบเรียงเป็นเล่มหนังสือเผยแพร่   ซึ่งมีนักวิชาการชาวไทย
ได้แปลเป็นภาษาไทยพิมพ์ออกเผยแพร่แล้วเมื่อไม่กี่ปีมานี้


หนังสือเล่มนี้ชื่อเสียงเรียงนามว่ากระไร หน้าตาเป็นไฉน ใคร่อยากทราบ

 8)


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 เม.ย. 11, 15:42
1.Lkhpn khol / Bejr Dum Kravil
Khmer mask theater / Pich Tum Kravel
Phnom Penh : Toyota Foundation, 2001?
[4], 182 p. : ill. (some col.) ; 29 cm.
 

2.Saipak pan nin saipak tuc / Bejr Dum Kravil
Colour leather and shadow puppet / Pich Tum Kravel
Phnom Penh : Toyota Foundation, 2001?
[4], 170 p. : ill. (some col.) ; 29 cm.
 

O.K.?


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 เม.ย. 11, 16:00
อยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเล่มที่แปลเป็นภาษาไทยแล้ว

 ;D


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 เม.ย. 11, 16:11
อยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเล่มที่แปลเป็นภาษาไทยแล้ว

 ;D

ถ้าผมไม่บอกข้อมูล  ผมจะมีความผิดไหมครับ

๑. ระบำขแมร์ = Khmer dances / เพชร ตุมกระวิล แต่ง ; ภูมิจิต เรืองเดช แปล.
บุรีรัมย์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, 2548.

๒.ละครโขน = Khmer mask theater / เพชร ตุมกระวิล แต่ง ; ภูมิจิต เรืองเดช แปล.
บุรีรัมย์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, 2548.

๓.หนังสีและหนังเล็ก = Colour leather and shadow pupet / เพชร ตุมกระวิล ; แปลโดย ภูมิจิต เรืองเดช.
บุรีรัมย์ : โรงพิมพ์วินัย, 2548.


เชิญไปค้นหาอ่านได้ตามห้องสมุดทั่วไปครับ
 


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 พ.ย. 19, 07:45
(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4316.0;attach=17741;image)

นางละครที่เป็นแบบให้วาด  คือเจ้าหญิงบุบผาเทวี พระธิดาของเจ้านโรดมสีหนุ อดีตกษัตริย์เขมร  ปัจจุบันอายุ ๖๐ กว่าแล้ว

สมเด็จพระเรียมนโรดม บุปผาเทวี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ พระราชาองค์ก่อนแห่งประเทศกัมพูชา สิ้นพระชนม์แล้วในวันจันทร์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ที่โรงพยาบาลในประเทศไทยโดยไม่มีการเปิดเผยสาเหตุ สิริพระชันษา ๗๖ ปี

ทั้งนี้ เจ้าหญิงนโรดม บุปผาเทวีประสูตเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๔๘๖ เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ กับนางพาต กาญล นางรำสามัญชน พระชายาพระองค์แรก และทรงเป็นพระเชษฐภคินีต่างพระมารดา ในพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันแห่งกัมพูชา

เจ้าหญิงนโรดม บุปผาเทวี เสด็จหนีออกจากกัมพูชาก่อนปี ๒๕๑๘ ที่กลุ่มเขมรแดงจะยึดอำนาจ และเสด็จกลับประเทศพร้อมกับพระราชบิดาในปี ๒๕๓๔ ซึ่งในช่วงนั้นคณะละครหลวงถูกเขมรแดงสังหารจนเหลือสมาชิกไม่ถึง ๑๐ % อย่างไรก็ตาม เจ้าหญิงนโรดม บุปผาเทวี ถือเป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูนาฏศิลป์โบราณของประเทศ รวมทั้งการการแสดงระบำอัปสรา ให้ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง

เจ้าหญิงนโรดม บุปผาเทวีทรงมีพระปรีชาสามารถโดดเด่นในด้านนาฏศิลป์มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยทรงศึกษานาฏศิลป์ตั้งแต่พระชนมายุ ๕ พรรษา ก่อนได้รับเลือกเป็นนางละครหลวงขณะมีพระชนมายุ ๑๖ พรรษา และได้เป็นตัวชูโรงของคณะ Prima ballerina เมื่อพระชนมายุ ๑๘ พรรษา จากนั้นพระองค์ก็นำคณะละครออกแสดงไปทั่วโลกจนเป็นที่จดจำ และได้รำต่อหน้าผู้นำต่างชาติหลายคน รวมทั้ง ชาร์ลส์ เดอ โกล แห่งฝรั่งเศส และประธานาธิบดีซูการ์โน แห่งอินโดนีเซียด้วย

เจ้าหญิงนโรดม บุปผาเทวี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมแห่งกัมพูชาในช่วงปี ๒๕๔๒-๒๕๔๗ ทรงเสกสมรส ๕ ครั้งตั้งแต่พระชนมายุ ๑๕ พรรษา มีพระโอรสและพระธิดา ๕ พระองค์

อนึ่ง หลังข่าวการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงนโรดม บุปผาเทวี ได้รับการเปิดเผยออกมา สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาก็ส่งจดหมายแสดงความเสียใจอย่างที่สุดถึงพระมหาวีรกษัตรีย์นโรดม มุนีนาถ สีหนุ พระวรราชมารดา พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ โดยระบุว่า การจากไปของเจ้าหญิงนโรดม บุปผาเทวีนับเป็นการสูญเสียหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกัมพูชา

https://www.thairath.co.th/news/foreign/1707180


กระทู้: ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 19, 16:26
นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของศิลปวัฒนธรรมกัมพูชา