เรือนไทย

General Category => ทันกระแส => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 07 ธ.ค. 18, 15:00



กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ธ.ค. 18, 15:00
ในยุคไทยแลนด์ 4.0  กระสือก็ยังไม่ได้จากไปไหน

ผีกระสือ โผล่ คนพากันหลอน เฮี้ยนหนัก รปภ. เฝ้า ดับปริศนา บ้านถูกปิดตาย ทิ้งร้าง
กระสือ – วันที่ 6 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านในพื้นที่ ม.4 ต.ท่างาม อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี ต่างพากันแตกตื่นกับ ผีกระสือ หลังจากที่มี ผู้คนพบเห็น ดวงไฟประหลาด เป็นแสงสีเขียวนวล ลอยสูง เหนือพื้นดินในช่วงหลังเที่ยงคืนของแต่ละวัน ที่บริเวณกลางทุ่งนาและบ้านร้าง ข้างที่ทำการ อบต.ท่างาม ตรงข้าม ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.ท่างาม ริมถ.สายปราจีนบุรี-ศรีมหาโพธิ

อ่านต่อได้ที่นี่ค่ะ
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_1919538


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 08 ธ.ค. 18, 20:28
เรื่องกระสือปัจจุบันยังมีอยู่เยอะมากเลยนะครับ บางกลุ่มในเฟซบุ๊กคุยกันหลายร้อยความเห็น เสียดายว่าผมกลัวผีเลยไม่กล้าอ่าน เลี่ยงไปดูต้นไม้ใบหญ้าแทน  :-\


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ธ.ค. 18, 07:40
ชื่อ "กระสือ" นี้ปรากฎพร้อมกับชื่อผีอีก ๓ ตน คือ ฉมบ, จะกละ และกระหาง ในกฎหมายตราสามดวง หมวด ๗ ของ "พระอายการเบดสรจ" ลงมหาศักราช  ๑๑๔๖ ปีมะแม ตรงกับพุทธศักราช ๑๗๖๘ เก่ากว่าศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงเสียอีก  ;D

กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ เป็นชื่อเรียกตามความเข้าใจปัจจุบัน แต่ตัวเขียนในสมุดข่อยมีว่า "พระอายการเบดเสรจ" หมายถึง พระไอยการเบ็ดเสร็จ

คำว่า "เบ็ดเสร็จ" ตรงกับ "เบ็ดเตล็ด" ทุกวันนี้

เหตุที่เรียกชื่อกฎหมายฉบับนี้ว่า "เบ็ดเสร็จ" หรือ "เบ็ดเตล็ด" ก็เพราะเป็นกฎหมายต่าง ๆ หลายเรื่องเอามารวมไว้ในที่เดียวกัน และไม่อาจให้ความสำคัญเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ถนัด อันเนื่องเพราะเป็นเรื่องย่อย ๆ เบ็ดเตล็ดทั้งนั้น

กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ มี ๒ ตอน คือ

ตอนต้น ลงศักราช ๑๒๖๓ ปีมะแม ตรงกับ พ.ศ. ๑๘๘๖ ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา ๗ ปี ว่าด้วยลักษณะวิวาท เรื่องกระหนาบคาบเกี่ยวให้เป็นเสนียดแก่กัน

ตอนท้าย ลงศักราช ๑๑๔๖ ปีมะแม ซึ่งเป็นตอนเก่าแก่ที่สุด ว่าด้วยลักษณะวิวาทเรื่องกระทำกฤติยาคุณ มีฉมบ จะกละ กระสือ กระหาง เป็นต้นเหตุ

กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ (ตอนท้าย) ฉบับตัวเขียนในหอสมุดแห่งชาติบอกปีที่ตราเอาไว้ว่า "๑๑๔๖ ศกมแมนักสัตวเจตมาศปัญจมีดิถีรวิวาร" แต่ จิตร ภูมิศักดิ์ ยกเลขศักราช "๑๑๕๖" จากฉบับ ร. แลงกาต์ ซึ่งต่างจากฉบับตัวเขียน ๑๐ ปี (เข้าใจว่าจะผิดพลาดจากการพิสูจน์อักษรตอนพิมพ์เป็นเล่มโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒) ตรวจสอบและคำนวณเป็นคนแรกว่ากฎหมายฉบับนี้ปีที่ตราขึ้น "ตรงกับ พ.ศ. ๑๑๗๘ ปีมะแม ก่อนหน้าการสร้างกรุงศรีอยุธยา๑๐๐ ปีเศษ" ต่อมาอีก ล้อม เพ็งแก้ว ตรวจสอบและคำนวณซ้ำเพื่อให้รัดกุมมั่นคงขึ้น แล้วสรุปตรงกับ จิตร ภูมิศักดิ์ ว่าเป็น "ปีมะแม พ.ศ. ๑๗๗๘ วันตรากฎหมายตรงกับวันอาทิตย์ เดือนห้า ขึ้น ๕ ค่ำ ตรงกับสุริยคติ วันที่ ๒๕ มีนาคม" แต่ถ้ายึดเลขศักราช "๑๑๔๖" ตามฉบับตัวเขียนจะเป็น พ.ศ. ๑๗๖๘

สรุปได้แล้วว่ากฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ (ตอนท้าย) ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๗๖๘ ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ ถึง๑๒๕ ปี ขณะนั้นกัมพูชาเป็นยุคหลังพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มีพระเจ้าอินทรวรมันที่ ๒ ขึ้นเสวยราชย์เมืองพระนครหลวง (นครธม) ระหว่าง พ.ศ. ๑๗๖๓-๑๗๘๖

กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ (ตอนท้าย) มีเนื้อหาเป็นเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับลักษณะ ผีร้าย มีชื่อเรียกในกฎหมายนี้ว่า "ฉมบ จะกละ กระสือ กระหาง" กับเรื่อง หมอผี ที่เรียกชื่อในกฎหมายนี้ว่า "แม่มดพ่อหมอ" คือคนผู้เรียนรู้เวทวิทยาคมและกฤติยาคุณอันทำให้ถึงตายฉิบหายด้วยอุบายต่าง ๆ

ฉมบ (อ่านว่า ฉะ-หมบ) เรียกผีผู้หญิง สิงอยู่ที่ตายในป่า ว่ามีรูปเห็นเป็นเงาๆ

จะกละ (อ่านว่า จะ-กละ) เรียกผีป่า ซึ่งหมอผีชาวป่าเลี้ยงไว้ให้ทำร้ายศัตรู, ผีพวกหนึ่งชอบกินของโสโครก

กระสือ (อ่านว่า กระ-สือ) เรียกผีที่สิงในกายหญิง ชอบกินของโสโครก ลักษณะเป็นดวงไฟแวม ๆ ในกลางคืน (คู่กับกระหัง ที่เข้าสิงในกายชาย)

กระหาง (อ่านว่า กระ-หาง) เรียกผีที่สิงในกายชาย หรือผีผู้ชาย ชอบกินของโสโครก บางทีก็เรียกกระหัง คู่กับกระสือ

ความรู้เรื่องคุณไสย และการใช้คุณไสยไปทำร้ายผู้อื่น ถือว่าเป็นความชั่วร้าย เป็นเสนียดเช่นเดียวกันกับเรื่องผีร้ายต่าง ๆ กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จจึงจัดไว้เป็นหมวดหมู่เดียวกัน ถือเป็นกรณีเหมือนกัน ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าจริงหรือไม่จริง ซึ่งกฎหมายจะต้องให้ความเป็นธรรม โดยกำหนดเงื่อนไขเป็น ๒ อย่าง คือ

อย่างแรก เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ทั้งฉมบ จะกละ กระสือ กระหางมีจริง ถ้าพิสูจน์หรือสอบสวนได้ว่าเป็นจริงก็ต้องมีการลงโทษ

อย่างที่สอง เป็นเรื่องของการกล่าวหา (Accusation) เพราะเป็นเรื่องที่อาจใส่ร้ายป้ายสีและกล่าวหากันได้ง่าย ๆ เหตุนี้ในกฎหมายจึงกำชับไม่ให้พวกเจ้าเมือง กรมการที่ทำหน้าที่ตัดสินคดีความทำการลงโทษตามลำพัง โดยไม่แจ้งเข้ามายังกรุง แต่ให้ทางกรุงตัดสิน ผู้ที่ละเมิดในเรื่องนี้อาจถูกตัดสินประหารชีวิตได้

อ่านเพิ่มเติมได้ใน ภาพสะท้อนของกฎหมายตราสามดวงในเรื่องเวทย์มนต์และอาถรรพ์ต่าง ๆ (http://elib.coj.go.th/Article/courtP2_5_9.pdf)


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ธ.ค. 18, 11:08
กระสือปราจีณถูกตามล่าเสียแล้ว

https://www.youtube.com/watch?v=O8HGDN92qcs


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ธ.ค. 18, 10:09
เรื่องผีกระสือ เสฐียรโกเศศได้เล่าไว้ใน หนังสือเรื่องผีสาง เทวดา (https://archive.org/details/unset0000unse_w8l4/page/n60) หน้า ๕๓-๕๕


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ธ.ค. 18, 12:48
ผีกระสือน่าจะเป็นเผ่าพันธุ์อินเตอร์    ย่ากระสือแกมีญาติอยู่ทั่วโลกค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=no5jlRhPQgA


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ธ.ค. 18, 14:07
ฝรั่งมีกระสือเหมือนกันเรียกว่า Will o'the Wisp เป็นดวงไฟกลมๆล่องลอยวับๆ ในที่มืด   มักจะล่อนักเดินทางให้หลงคิดว่ามีคนหยุดพักแรม ก่อกองไฟ  ก็จะแวะจากถนนเข้าไปสมทบ  แล้วก็หลงทางสาบสูญไป

ผีกระสือน่าจะเป็นเผ่าพันธุ์อินเตอร์    ย่ากระสือแกมีญาติอยู่ทั่วโลกค่ะ

ชื่อ Will-o'-the-wisp  คำว่า Will มาจาก William ซึ่งเป็นชื่อผู้ชาย

กระสือฝรั่งน่าจะเป็นปู่กระสือมากกว่าย่ากระสือ
  ;D

https://youtu.be/m0kVH_UcWrg

จาก https://www.merriam-webster.com/dictionary/will-o'-the-wisp


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ธ.ค. 18, 07:25
Will-o'-the-wisp หรือ กระสือฝรั่ง  น่าจะอยู่ในสปีชีส์เดียวกับผีโขมดของไทย  ;D

รอยอินท่านอธิบายว่า คำว่า โขนด มาจากภาษาเขมรว่า โขฺมจ แปลว่า ผี คนไทยนำมาใช้เป็นชื่อผีอยู่ในพวกผีกระสือหรือผีโพง เห็นเป็นแสงเรืองวาวในเวลากลางคืน ทำให้หลงผิดนึกว่ามีคนถือไฟหรือจุดไฟอยู่ข้างหน้า พอเข้าไปใกล้ก็หายไป แท้จริงแล้วคือแก๊สมีเทน (methane) ที่เกิดจากการเน่าเปื่อยผุพังของสารอินทรีย์แล้วติดไฟในอากาศ เป็นแสงวอบแวบในที่มืด

ส่วนเสฐียรโกเศศเล่าไว้ทำนองเดียวกันใน หนังสือเรื่องผีสาง เทวดา (https://archive.org/details/unset0000unse_w8l4/page/n64) หน้า ๕๗

https://youtu.be/msW5l4tpORs


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ธ.ค. 18, 11:08
เรื่องผีกระสือผีโขมดนี้ มีคำอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ แล้ว ในหนังสือ แสดงกิจจานุกิตย์ (https://vajirayana.org/หนังสือแสดงกิจจานุกิตย์/๏-หนังสือ-ประกอบเกื้อ-กูมาร) แต่งโดยเจ้าพระยาทิพากรวงษมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) โดยท่านได้บอกจุดมุ่งหมายในการแต่งหนังสือเล่มนี้เอาไว้ว่า

"ข้าพเจ้าจึ่งคิดเรื่องราวกล่าวเหตุผลต่าง ๆ แก้ในทางโลกยบ้างทางสาศนาบ้าง ที่มีพยานก็ชักมากล่าวไว้ ที่ไม่มีพยานเปนของที่ไม่เหนจริง ก็คัดค้านเสียบ้าง ว่าไว้แต่ภอปัญญาเด็กรู้ ผู้ที่เรียนหนังสือรู้แล้ว จะได้อ่านหนังสือนี้แทนหนังสือสวด แลหนังสือเรื่องลคอน เหนจะเปนประโยชน์รู้การเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้าง ถ้าเขาถามสิ่งใด เด็กทั้งหลายจะได้แก้ไขตามสำนวนนี้ ว่าไว้เปนข้อถามข้อแก้ กล่าวแต่ภอจำได้ ให้ชื่อว่าหนังสือแสดงกิจจานุกิตย์ ถ้าท่านผู้ใดดูหนังสือนี้ เหนผิดพลั้งประการใด ฃอให้ช่วยแก้ไขให้ถูกต้องด้วย แต่ภอสมควรแก่ปัญญาเด็ก ถ้าเด็กผู้ใดอ่านหนังสือนี้แล้ว อยากจะรู้ความให้วิเสศโดยพิศฎาร ก็ให้หาครูเรียนโหราสาตร ธรรมสาตรต่าง ๆ ก็จะรู้ได้โดยเลอียด"

ในหนังสือแสดงกิจจานุกิตย์ มีอยู่ตอนหนึ่งที่พูดถึงปรากฏการณ์เกี่ยวกับแสงต่าง ๆ เช่น แสงเลื่อนลอยในอากาศ ที่เกิดจากพระธาตุเสด็จ, ผีพุ่งไต้ ที่เชื่อกันว่าเป็นเทวดาจุติ และดวงไฟบนยอดกระโดงเรือ ที่เชื่อกันว่าเป็นพรายน้ำ รวมทั้ง "แสงกระสือ" ด้วย

"ที่เรียกว่าผีกระสือผีโขมด เหตุนี้เขาได้ทดลองแล้ว เปนขึ้นด้วยของโสโครกของน่าวในแผ่นดิน ผีโขมดก็เปนด้วยน้ำน่าวในท้องทุ่ง จึ่งปรากฏให้เหนเปนดวง ๆ ไป ของนี้ไปไม่ได้ด้วยกำลังอายดินแลอายนขับเท่าไหร่ ก็เปนอยู่เพียงเท่านั้น ที่ว่าปลาน่าวเปนเรือง ๆ ก็เหมือนกันกับเหนผีกระสือผีโขมด"

หนังสือแสดงกิจจานุกิตย์พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๑๐ หรือเมื่อ ๑๕๐ ปีมาแล้ว ความบางอย่างก็เป็นวิทยาศาสตร์ แต่บางอย่างจะใช่หรือไม่ โปรดอ่านและใช้วิจารณญาณตัดสินเทอญ  ;D

https://m.youtube.com/watch?v=Qy150iC9kZM


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 13 ธ.ค. 18, 21:51
แสงสีเขียวนวลถ้ามาทางสายวัด เขาว่าอาจเป็นดวงใจพระเก่าหรือพระธาตุเสด็จก็ได้นะครับ

แต่ก็เหมือนเรื่องผีอีกนั่นแหละครับ เรื่องวัดผมเองก็ไม่สันทัดอะไรเลย ก็เลยไม่รู้จะอธิบายว่าคืออะไรกันแน่ ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าพระหรือผี...ผมวิ่งหนีอย่างเดียวครับ  :'(


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 18, 10:05
รวบรวมผีไทยมาให้อ่านค่ะ   ถ้าคุณ superboy เจอพวกนี้ชุมนุมมีตติ้งกันอยู่ละก็  วิ่งหนีไม่ทันแน่
บางส่วนมาจาก วิกิพีเดีย
กระสือ   กระหัง   
กองกอย
กุมารทอง
โขมด โขมดป่า/โขมดดง
เงือกงู
เจ้าป่าเจ้าเขา
นางตะเคียน
นางตานี
ปอบ
ปู่เจ้าสมิงพราย
เปรต
ผีตาโขน
ผีพราย
ผีถ้วยแก้ว
ลูกกรอก

ยังมีผีท้องถิ่นอีกมาก แต่ไม่ได้เอามารวมด้วยค่ะ


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ธ.ค. 18, 14:09
กองกอย

ผีกองกอยในความรับรู้ของเสฐียรโกเศศ จาก หนังสือเรื่องผีสาง เทวดา (https://archive.org/details/unset0000unse_w8l4/page/n64) หน้า ๕๗ - ๕๘


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ธ.ค. 18, 14:17
จะให้แยกกระทู้เป็นผีไทย-ผีเทศ ไหมคะ
จะได้แยกเลย


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ธ.ค. 18, 10:20
จะให้แยกกระทู้เป็นผีไทย-ผีเทศ ไหมคะ
จะได้แยกเลย

ยกให้อยู่ในดุลยพินิจของท่านอาจารย์ใหญ่ ;D


มีตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องพระอภัยมณีคือ ย่องตอด ซึ่งว่ากันว่ามีส่วนคล้ายกอลลัมและผีกองกอย

เมื่อนางละเวงนั่งรถเทียมม้าผ่านมากับ ยุพาผกากับสุลาลีวรรณได้จอดรถพักผ่อน
ย่องตอดจับม้ามากินทั้ง  ๑๒ ตัว  ที่กินเหลือเอาไปฝากผีในถ้ำ

นางละเวงมีตราราหูคุ้มครองจึงไม่หลับ  ได้ต่อสู้กัน  พอตีย่องตอดสลบ ยุพาผกาและสุลาลีวรรณก็ตื่นมาช่วย

สามนางดู ย่องตอด


ต่างพิศดูผู้ตายคล้ายคุลา                     มีแต่ตาข้างเดียวดูเขี้ยวโง้ง
ทั้งหน้าลายรายเรี่ยรอยเมียข่วน              ผมแต่ล้วนผีผูกจมูกโด่ง
ใบไม้นุ่งรุงรังสันหลังโกง                      ดังผีโป่งปากเหม็นเช่นกุมภา


คุลา   คือคนชาติหนึ่ง  ตัวมันดำ  ฟันมันขาวคล้ายกับกลาสี
(อักขราภิธานศรับท์   อาจารริย์ ทัด  คัดแปล   บรัดเลพิมพ์)

https://youtu.be/7h-jaG2MVhU

จากประวัติและรูปลักษณ์ของย่องตอด ดูจะมีส่วนคล้าย Gollum (https://th.wikipedia.org/wiki/กอลลัม) แห่ง The Lord of the Rings ของ  J. R. R. Tolkien อยู่หลายส่วน

ฤๅ Tolkien จะเคยรู้จักย่องตอดแห่งพระอภัยมณี


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3115.0;attach=7650;image)


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ธ.ค. 18, 10:23
ท่าน Cinephile ได้เขียนไว้ใน พันทิป (http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/2006/01/A4058616/A4058616.html#1) ว่าผีกองกอยในความรับรู้ของท่านก็มีส่วนคล้ายกับกอลลัมเหมือนกัน

"ทำไมเราไม่ Cat ตัวโกลัม มาเป็นตัวผีกองกอยล่ะ ขนาดความสูงต่ำของโกลัมกับผีกองกอยก็มีขนาดใกล้เคียงกัน คือขนาดเท่ากับเด็ก ๆ หน้าตาเหี่ยวย่นพอ ๆ กัน เพียงแต่ว่าโกลัมไม่มีขนแต่ผีกองกอยมีขน ฟันของโกลัมไม่แหลม ๆ เหมือนผีกองกอย เล็บไม่ยาวเป็นเล็บเหยี่ยว แต่ตาโตเป็นประกายเหมือนกัน เพียงแต่ว่าผีกองกอยสกดจิตได้แต่โกลัมสกดจิตไม่ได้"

พอจะโยงผีกองกอยไปทางผีฝรั่งได้บ้างเหมือนกัน  ;D


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 18 ธ.ค. 18, 11:01
บ้านผมที่พิจิตร อยู่ริมแม่น้ำน่านครับ

ในยุคปู่ ยุคพ่อ ครอบครัวผมมีอาชีพแจวเรือข้ามฟากครับ (มาถึงยุคผม พ่อไม่ได้สอนครับ เลยแจวเรือไม่เป็น) การมีเรือข้ามฟากก็หมายถึงการต้องมีแพ เอาไว้สำหรับให้เรือเทียบท่า ซึ่งแพที่ว่านี้ ก็มีเพิงพัก สำหรับให้คนแจวเรือให้นั่งหลบแดด หลบฝน แน่นอนว่าใช้นอนเฝ้าเรือในตอนกลางคืนด้วย (ปู่มีลูกชาย 5 คน พ่อเล่าว่า ต้องสลับเวรกันมานอนเฝ้าแพ)

เรื่องเล่าของคนนอนเฝ้าแพก็คือ ในบางคืน คืนที่พระจันทร์สว่างๆ ตอนดึกสงัด (ดึกสงัดสมัยก่อน ยุคที่ไฟฟ้าก็ไม่มีนั้น มันสงัดจริงๆครับ) ลุงผมนอนเฝ้าแพอยู่ก็ตื่นขึ้นมากลางดึก พอลืมตาขึ้นมายังไม่ทันได้ลุกขึ้นนั่ง พลันสายตาก็มองไปเห็น ใครสักคนนั่งหวีผมอยู่ที่ปลายลูกบวบ (ลำไม้ไผ่ที่เขาใส่ไว้ใต้เรือนแพ เพื่อให้เรือนแพลอยอยู่ได้)

ลุง อยากเห็นให้ชัดๆว่า ใคร เลยลุกขึ้นนั่ง พอแพขยับมีเสียงดัง ใครหรืออะไรนั่น ก็กระโดดลงน้ำหายไปเลย พอลุงเอาเรื่องนี้มาเล่าให้ปู่ให้พ่อฟัง ปู่ก็บอกว่า นั่นหละคือเงือกแม่น้ำ พวกคนเรือสมัยนั้นรู้จักกันดีทั้งนั้นแหละ

มายุคผม เรือนแพที่ว่ายังมีอยู่ แต่คนเฝ้าแพ กลายเป็นชาวบ้านที่มารับจ้าง ต่อมาก็เลิกไปเพราะมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำในบริเวณใกล้ๆ ท่าเรือจ้างจึงหมดความจำเป็นลง ตอนนี้ เงือกแม่น้ำจะยังอยู่หรือหนีหายไปที่ใด ก็ไม่รู้แล้วครับ    


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ธ.ค. 18, 20:25
https://www.tnews.co.th/contents/401539
“ตำนานนางเงือก” เรื่องเล่ารุ่นตายาย เมื่อเงือกสาวไม่ได้สวยอย่างในจิตนาการ เรื่องสยองขวัญในคืนเดือนหงาย #ประสบการณ์ในคลองบางกอกน้อย

น่าจะเครือญาติหรือเผ่าพันธุ์เดียวกับที่คุณลุงคุณนริศเห็นค่ะ   เพียงแต่แม่น้ำคนละสายกัน 


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 18 ธ.ค. 18, 23:02
ทำไมนางเงือกต้องนั่งหวีผมด้วยครับ พอจะมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนเรื่องไสยศาสตร์บ้างไหม ผมว่าเธอคงพกหวีลำบากพอตัว และไม่น่าใช่หวีพลาสติกจากร้านโชว์ห่วยด้วย กระเป๋าสะพายสักใบก็ไม่มี ไหนจะต้องคอยเอาผมยาวๆ มาปิดหน้าอกตัวเอง มันวุ่นวายไปหมดเลยนะนั่น  ;)


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ธ.ค. 18, 08:38
ทางล้านนาเชื่อว่าผีเงือกเป็นผีรักษาแม่น้ำใหญ่คอยเอาชีวิตผู้คนที่กระทำขึ้ดทำลายแม่น้ำหรือเป็นผู้ไม่อยู่ในศีลธรรม

ลักษณะเงือกผู้คนล้านนาก็มีเล่าหลายสาย แต่ที่จะเล่าต่อไปนี้ก็เป็นสายหนึ่งว่ากันดังนี้

...อันว่าผีเงือกมันตั๋วยาวเหมือนดั่งป๋าเหยี่ยน (ปลาไหล) ผิวหนังมีเมือกมื่น (ลื่น) หลืด ๆ หลาด ๆ จับยับมันบ่ได้เมือกไคลมันหนายับก็หลูด...ยับก็หลูด...ส่วนหัวมันเหมือนมุ่มเหมือนงูมีหงอน   มันชอบอยู่ในเงิ้มถืบถ้ำวังน้ำเลิ้ก (ลึก) มันชอบกิ๋นคนที่ไปเปลี่ยนกระแสแม่น้ำ  เยี๊ยะขึ้ดจา (อาถรรพ์) กับแม่น้ำกว๊านใหญ่  ด้วยเหตุที่มันมีเมือกและอยู่ในเงิบนี้เองผู้คนจึงเอาลักษณะเมือกกับเงิบมาผสมกั๋นฮ้อง (เรียก) มันว่า เงือก บ่งบอกลักษณะผีร้ายที่มีเมือกอยู่ในเงิบฝั่งวังน้ำ

วันเดือนดับเดือนเป็ง (วันแรม/วันเพ็ญ ๑๔ หรือ  ๑๕  ค่ำ) ผีเงือกจะออกมาหาเหยื่อตะแหลง (แปลงร่าง) เป็นปลาตัวใหญ่บ้าง  บางครั้งตะแหลงเป็นคนเดินตามหาดทรายบ้างตรวจตราท้องน้ำ  หากมันเกิดอารมณ์อยากเล่นน้ำมันจะเล่นน้ำดีดน้ำเสียงดัง..โต้มต้าม....โต้มต้าม..สายน้ำฟ้งกระจายดั่งถูกก้อนหินใหญ่ทุ่มลง   หากผู้คนได้ยินเสียงน้ำจะรีบขึ้นจากแม่น้ำทันทีพร้อมกับสงบปากเงี้ยบ..เงียบไม่ส่งเสียงดังเอะอะโวยวายเพราะกลัวว่าผีเงือกจำเสียงได้หากกลับลงน้ำเมื่อใดผีเงือกก็จะมาลากเอาตัวไป

ในการกระทำพิธีเกี่ยวกับสายน้ำพ่อปู่อาจารย์(พิธีกร)  จะต้องกล่าวโองการถึงเทพยดาทุกหมู่เหล่าและต้องกล่าวอัญเชิญวิญญาณผีเงือกมาร่วมด้วย  เช่นว่า "   โอก๋าสะ......นาคฅรุฑปรมัยไอศวรย์เงือกน้ำวังใหญ่ จุ่งมา...."  เป็นต้น

ผีเงือกน้ำเถื่อนถ้ำถืบผา  อยู่เงิบฝั่งนา   จักจ๋าไขแจ้ง
ผิวหนังมัน    มีเมือกบ่แห้ง ลื่นไหลหลูดหลุดลุ่ยหลุ้ย
ตั๋วเหมือนเหยี่ยน ยาวไหว-วก-วุ้ย  ฮักษากว๊านอั้นคงคา
เวลาลงน้ำ   อย่าเข้าไปหา    มันจักบีฑา  จีวาต๋ายอ้อง...ฮื้ย...กั๋วแต๊..แต๊


ได้ความรู้อีกเรื่องหนึ่งว่า เงือกมาจาก เงิบ + เมือก


 :D


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ธ.ค. 18, 08:40
ตำนานเงือกทำให้ผู้ใหญ่เล่าสู่ลูกหลาน เพื่อป้องกันลูกหลานไปเล่นน้ำลึกโดยเฉพาะช่วงที่มีการชักลากไม้ซุงปล่อยลงน้ำเพื่อส่งท่อนซุงเป็นสินค้าลงเจ้าพระยา ตามแม่น้ำสายต่าง ๆ ไม่ว่าปิง วัง ยม  น่าน ล้วนมีไม้ซุงนับหมื่น ๆ ท่อนไหลตามน้ำยามนี้เองซุงบางท่อนติดรากไม้ใกล้ฝั่งกระแสน้ำดันด้านเหนือใต้สลับกันทำให้ไม้ซุงกระดกหัวท้ายเหมือนไม้กระดานหกตามสนามเด็กเล่น  เด็ก ๆ ที่เห็นไม้กระดกด้วยกระแสน้ำจึงพากันไปนั่งเล่น  ด้วยเกรงจะเกิดอันตรายผู้ใหญ่จะห้ามปรามว่า "ระวังเน้อผีเงือกไม้ทุงจะเอาไปกิ๋น" ทำให้เด็กกลัวแม้แต่ผู้เขียนก็ต้องหยุดได้แต่พากันนั่งบนฝั่งมองและช่วยกันนับจำนวนที่มันหกขึ้นลงหัวไม้ซุงฟาดน้ำทุ่ม..ท่าม...ทุ่ม...ท่าม ด้วยความสนุกสนาน ส่วนในหน้าแล้งแม้น้ำจะมีระดับตื้นอยู่บ้างแต่ตามวังน้ำยังลึก มีเงิบเงื้อมฝั่งน้ำเป็นโพรงถืบถ้ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพวกปลาไหลไฟฟ้าหากไม่ระวังตัวจับหรือถูกตัวมันก็จะเกิดอาการเหมือนไฟฟ้าดูดเพราะพิษของมันนั่นเอง

ข้อมูลจาก ผีเงือกน้ำล้านนาของคุณนิคม (http://gotoknow.org/blog/nhanphromma/150606)


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 19 ธ.ค. 18, 10:34
น่าจะเป็นไปอย่างที่ท่านอาจารย์เพ็ญชมพูว่าแหละครับ สมัยยุคปู่ ยุคพ่อ เด็กยุคนั้นเห็นแม่น้ำเป็นดั่งสวนสนุกครับ หรือแม้แต่ยุคผมตอนเด็กๆ ผมยังเคยเห็นขบวนแพซุง เรือมอญขายเกลือ ขายเครื่องปั้นดินเผาอยู่นะครับ เด็กที่เกิดริมแม่น้ำ ไม่เคยกลัวแม่น้ำ ลูกมะพร้าวผูกติดกันสองลูก ก็ลอยคอข้ามแม่น้ำเล่นกันได้แล้ว การว่ายไปเกาะแพซุง หรือเกาะเรือมอญนี่ยิ่งของชอบ เด็กแม่น้ำสามารถกระโดดลงน้ำกันได้ทุกที่ทุกเวลา พ่อเคยเล่าว่า บางคืนหนีย่าไปแอบลอยคอสูบบุหรี่กลางแม่น้ำน่านก็มี

แต่คนที่อยู่ริมน้ำ จะสอนกันให้ดูแลแม่น้ำ และไม่ลบหลู่แม่น้ำ ถือว่าอยู่ด้วยกันก็ต้องเคารพให้เกียรติกัน เมื่อเป็นดังนี้ เทวาอารักษ์ที่ดูแลแม่น้ำก็จะช่วยปกปักษ์คุ้มครอง กรณีที่ไปที่อื่น ลงน้ำในลำน้ำสายอื่น จะต้องทำด้วยความเคารพ เพราะผู้ดูแลลำน้ำสายนั้นไม่คุ้นกับเรา

ผมก็ฟังมาอย่างนั้น แต่พอมาถึงวันนี้ ผมก็ขอเดาว่า นี่คงเป็นกุศโลบาย ผู้ใหญ่เขาคงเตือนว่า เวลาลงไปในน้ำที่เราไม่คุ้นเคย กระแสน้ำจะเป็นอย่างไร มีตะพัก (หลุมลึกใต้น้ำ) มีสัตว์อันตราย มีเหล็ก มีเศษแก้วมีคม มีกิ่งไม้อะไรอยู่ใต้น้ำหรือไม่ เราไม่รู้ ดังนั้น จึงไม่ควรโดดลงในน้ำแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ก่อนลงน้ำต้องใช้ความระมัดระวังให้มากนั่นเองครับ 


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 19 ธ.ค. 18, 10:47
นึกขึ้นได้ว่า เคยมีเรื่องน่าแปลกที่พบมากับตัวเองอยู่เรื่องหนึ่งครับ

คือแม่น้ำที่อยู่ตรงหน้าบ้านผม เป็นที่เล่นน้ำของเด็กๆ ในละแวกนั้นเป็นปกติอยู่แล้ว หน้าแล้งน้ำลงเมื่อไหร่ ต้องโดดกันทุกเย็น พวกลุงๆ ก็มีกิจกรรมเอาเรือจ้างขึ้นพลิกหงายท้อง แล้ววางบนคานไว้ชั่วคราวที่ปักไว้ในแม่น้ำนั่นแหละ เอาเกรียงขูดท้องเรือ แล้วลงชันยาท้องเรือใหม่ ก็เรียกได้ว่า พื้นที่ตรงนั้น มีคนลงน้ำเล่นกันตลอด

มีปีหนึ่ง ตรงกับช่วงเทศกาลงานงี้วประจำปี ก็เลยมีคนจากที่อื่นๆ เข้ามาในชุมชนกันเยอะ ส่วนใหญ่ก็เป็นพ่อค้าแม่ขาย หรือไม่ก็เป็นคณะงี้ว เมื่อมาเห็นว่าที่ตรงนี้เราลงเล่นน้ำกันน่าสนุก ก็มักจะร่วมแจมลงน้ำเล่นด้วยกัน (ตอนเด็กๆนี่ เข้ากันง๊าย ง่ายครับ มาจากได้ก็ไม่รู้ แต่เล่นด้วยกันได้หมด) ทีนี้ พอเล่นน้ำได้ไม่นาน เด็กที่มาจากที่อื่น แกเหยียบโดนของมีคมใต้น้ำ ไม่รู้ว่าเป็นอะไร นิ้วโป้งเป็นแผลใหญ่เชียวแหละครับ พวกผู้ใหญ๋ต้องอุ้มไปหาหมอกัน

หลังจากนั้น ก็มานั่งคุยกันว่า เออ พวกเราก็เล่นตรงนี้กันอยู่โครมๆ ทุกวัน ไหงไม่โดนหละ 

มาถึงตอนนี้ ก็ไม่รู้ว่า แค่บังเอิญหละมั๊ง หรือเป็นเพราะอารักษ์ไม่คุ้นกับคนต่างถิ่นอย่างที่ผู้ใหญ่เขาว่ากันจริงๆ ก็ไม่รู้ครับ 


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ธ.ค. 18, 16:03
รู้ไว้ไม่ “เงือก”
เมื่อพูดถึง “เงือก” ในภาษาไทย ตามความหมายที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตให้ไว้ สรุปได้ ๓ ความหมายดังนี้คือ

๑. “งู” โบราณอย่างในสมัยอยุธยาใช้ความหมายนี้
๒. สัตว์นํ้าในนิยาย ท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นปลา
๓. นกในวงศ์ Bucerotidae

(ไม่นับคำสแลง ที่หมายถึง หน้าตาไม่สวย เช่น หน้าเงือก ใครที่เพื่อนชมว่า เหมือน “เงือก” ควรระแวง)

ในยุคปัจจุบัน พอพูดถึง “เงือก” ก็คงไม่ค่อยมีใครนึกถึงความหมายว่า “งู” ภาพในจินตนาการของคนก็อาจจะเป็น นางเงือก (Mermaid) ที่ท่อนบนเป็นหญิงสาวสวยงาม อย่างในเรื่องพระอภัยมณี หรือ นางสุพรรณมัจฉา ธิดาของทศกัณฑ์กับนางปลา ในรามเกียรติ์ของเรา หรือไม่ก็ นางเงือกจากเรื่อง Little Mermaid การ์ตูนของดิสนีย์ ไม่ใช่ภาพของสัตว์ประหลาดน่าเกลียดน่ากลัว อย่างความหมายที่ ๒ ข้างต้น ถ้าไม่สวย พระอภัยคงไม่เอา

หลายคนอาจจะสงสัยเหมือนผู้เขียนว่า “นางเงือก” นี้ ไทยเราไปรับมาจากอินเดียหรือไม่ ผู้เขียนจึงลองไปค้นคว้าและ พบว่า นางเงือก แบบ Mermaid อย่างในเทพนิยายตะวันตกนั้น อินเดียโบราณไม่รู้จักเลย ในภาษาสันสกฤตไม่มีคำเรียก นางเงือก แบบ Mermaid อีกทั้งในเรื่องรามายณะ ของอินเดียตอนจองถนน (อินเดียเรียก ผูกสะพาน “เสตุพันธะ”) ก็ไม่มีกล่าวถึง นางเงือกสุพรรณมัจฉา มีกล่าวถึงเพียงพระรามตั้งพิธีบูชาพระสมุทร เพื่อขอให้ตนและเสนาได้ข้ามไปยังลังกาทวีป แต่ ๓ วันล่วงแล้วพระสมุทรยังไม่หือไม่อือ พระรามเลยกริ้วจะยิงศรให้มหาสมุทรแห้ง พระสมุทรเลยต้องรีบขึ้นมาขอโทษ และสัญญาว่าจะไม่ให้สัตว์น้ำมารบกวน ตรงที่ที่พระรามและเหล่าเสนาสามารถถมทะเลสร้างสะพานข้ามไป

เมื่อค้นไป “นางเงือก” ในภาษาอินโด-อารยันปัจจุบัน เป็นคำที่สร้างใหม่ทั้งสิ้น เช่น ภาษาฮินดี ปัญจาบี เป็นต้น เรียกว่า ชลปารี ภาษาเนปาลี เรียกว่า มัตสยกันยา หรือภาษาเบงคลีเรียก มัตสกันยา เป็นต้น
ในวรรณคดีโบราณ อมนุษย์ที่ปรากฏมีลักษณะครึ่งบนเป็นมนุษย์ และครึ่งล่างเป็นงู อย่างน้อยที่พบในงานศิลปะ ก็คือ พวก “นาค” และ “นาคกันยา” อย่างในงานภาพสลักนูนต่ำของพุทธ ก็มีให้เห็นหลายชิ้น ในวรรณคดีบาลีสันสกฤตก็เช่น ในชาดก หรือ นางอุลูปี ในมหาภารตะ

สิ่งที่น่าสนใจและควรค้นต่อไปก็คือ ไทยเราเริ่มรับรู้เรื่อง “เงือก” แบบสวยงาม ตั้งแต่เมื่อไหร่ เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะรับรู้ผ่านต่างชาติ อย่างฝรั่งมังค่าที่เข้ามาติดต่อกับสยามในสมัยก่อน

ในรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ อธิบายว่า เงือกเป็นอมนุษย์ที่ท่อนบนเป็นหญิง มีใบหน้าเล็กเท่างบน้ำอ้อย โผล่จากน้ำมาครึ่งเดียว ส่วนท่อนล่างอยู่ในน้ำ คาดว่าน่าหางน่าจะเป็นปลา พระยาอนุมานราชธนค้นคำว่า เงือก ในภาษาไทต่าง ๆ พบว่าภาษาไทอาหม เงือกแปลว่าสัตว์น้ำในนิยาย นาคน้ำ ในภาษาไทใหญ่ เงือกแปลว่าจระเข้. ในภาษาไทขาว เงือกแปลว่างูที่ปรากฏในนิยายว่าอยู่ตามห้วย

จากหลักฐานที่พบ นอกจากวรรณคดียุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในสัพะพะจะนะพาสาไท ก็เก็บความหมายทั้งสามนี้ไว้แล้ว คำที่น่าสนใจคือ “เงือกน้ำ” ที่พจนานุกรมให้ความหมายว่า Sirene fabulosa cujus pars superior est mulieris et inferior piscis หมายถึงสัตว์ในเทพนิยาย (ในที่นี้เทียบกับ เงือกฝรั่งที่เรียกว่า ไซเรน) ร่างกายส่วนบนเป็นหญิงและส่วนล่างเป็นปลา เราไม่ได้ว่า หางของพวกนี้เป็น “งู” ดังความหมายของคำว่า “เงือก” แต่โบราณ

น่าค้นต่อไปว่า “นางนาค” “นาคกันยา” นี้ จะเป็นที่มาของ “นางเงือก” ได้หรือไม่ เพียงแต่ภายหลัง “หางงู” มากลายเป็น “หางปลา” แทน

เรื่องนี้ รู้ไว้ รับรองไม่ “เงือก” (ความหมายแบบสแลง)

ผศ. ดร. ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว
สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

https://www.facebook.com/southasianlanguageschula/posts/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88-%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81-%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%94%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87-%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81-%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9E%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B8%B4%E0%B8%95/1477587945636127/


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ธ.ค. 18, 16:10
จากลิลิตโองการแช่งน้ำ

โอมบรเมศวราย ผายผาหลวงอะคร้าว ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทร์เป็นปิ่น ทรงอินทรชฎา สามตามพระแพร่ง แกว่งเพชรกล้า ฆ่าพิฆนจัญไรฯ
(แทงพระแสงศรอัคนิวาต)
ในสมัยอยุธยาตอนต้น  เงือก แปลว่า งู 
ข้างบนนี้เป็นบทสรรเสริญพระศิวะหรือพระอิศวร  ที่ทรงสังวาลทำด้วยงูใหญ่ ค่ะ
ก็เลยไม่เชื่อว่า เงือก มาจากเมือก + เงิบ   คิดว่าลากเข้าความมากกว่า




กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ธ.ค. 18, 16:14
ส่วนคำถามคุณนริศ ที่ข้องใจว่าทำไมเงือกต้องขึ้นมาหวีผม  ขอเดาว่า ว่ายน้ำอยู่ไปมา  นานๆเข้าผมคงพันกันยุ่ง   เลยต้องขึ้นมาหวีให้หายเป็นสังกะตัง (ศัพท์นี้หายไปหรือยัง?)  แล้วค่อยลงน้ำ ค่ะ
เมื่อสางผมแล้ว อยากรู้ว่าผมเข้ารูปทรงเรียบร้อยดีแล้วหรือไม่   ก็ต้องส่งกระจกมองอีกที
ส่วนเงือกไปหาหวีกับกระจกมาจากร้านไหน    เดาว่ามาจากเรือใหญ่ๆที่ล่มจมลงก้นสมุทร    เงือกว่ายน้ำเข้าไปตามห้องพักผู้โดยสาร    คงได้ของใช้ที่ใช้ประโยชน์ได้มาบ้างไม่มากก็น้อย

เห็นไหมคะ    ถูๆไถๆ ไปจนได้เหมือนกัน


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ธ.ค. 18, 16:32
ตัวอะไรที่คุณลุงคุณนริศเห็น   ถ้าไม่มีท่อนล่างเป็นปลา  น่าจะจัดอยู่ในประเภทที่ฝรั่งเรียกว่า water spirit  แปลตามตัวว่าผีน้ำ   จะแปลงให้ฟังไพเราะกว่านี้หน่อยก็คือ พรายน้ำ
เงือกก็เป็นผีน้ำชนิดหนึ่ง  สิงสู่อยู่ในน้ำ  สำรวจสำมะโนครัวแล้วว่า เป็นผี แต่ไม่ใช่ผีประเภทต้องตายเสียก่อยถึงจะเป็นผี  แต่เป็นผีมาแต่เริ่มแรก    ทำอันตรายคนก็ได้ ไม่ทำก็ได้ 
ส่วนใหญ่คนมักเห็นนางเงือกมากกว่านายเงือก  ทั้งๆมีทั้ง 2 เพศ    แต่นายเงือกดูจะไม่มีบทบาทเท่านางเงือก
ภาษาอังกฤษของเงือก คือ mer people   แบ่งเป็น mermaid นางเงือก และ merman นายเงือก    mer แปลตามตัวว่าทะเล  mermaid  คือสาวทะเลหรือนางทะเล     

https://www.youtube.com/watch?v=cOgag62CszY


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ธ.ค. 18, 20:30
https://www.facebook.com/southasianlanguageschula/posts/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88-%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81-%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%94%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87-%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81-%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9E%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B8%B4%E0%B8%95/1477587945636127/

เข้าที่ลิงก์นี้น่าจะดีกว่า  ;D

https://www.facebook.com/541034832624781/posts/1477587945636127/


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ธ.ค. 18, 20:32
พระยาอนุมานราชธนค้นคำว่า เงือก ในภาษาไทต่าง ๆ พบว่าภาษาไทอาหม เงือกแปลว่าสัตว์น้ำในนิยาย นาคน้ำ ในภาษาไทใหญ่ เงือกแปลว่าจระเข้. ในภาษาไทขาว เงือกแปลว่างูที่ปรากฏในนิยายว่าอยู่ตามห้วย

จาก เทพนิยายสงเคราะห์ ภาค ๓ ของเสฐียรโกเศศ หน้า ๓๙

https://issuu.com/volunteerspirit/docs/satienbook127/55?ff


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 20 ธ.ค. 18, 09:34
อ้างถึง
ตัวอะไรที่คุณลุงคุณนริศเห็น   ถ้าไม่มีท่อนล่างเป็นปลา  น่าจะจัดอยู่ในประเภทที่ฝรั่งเรียกว่า water spirit  แปลตามตัวว่าผีน้ำ   จะแปลงให้ฟังไพเราะกว่านี้หน่อยก็คือ พรายน้ำ

กระตุ้นความทรงจำขึ้นมาเลยครับ ผมลืมไปแล้วว่า บางทีพ่อก็เรียกอะไรในน้ำนั่นว่า "พรายน้ำ"

พ่อเคยเล่าว่า ตอนที่พ่อเป็นวัยรุ่น พ่อเคยถูกมือ อะไรสักอย่างจับขาจากใต้น้ำ (ท่านว่าอย่างนั้น) แต่พ่อไม่ได้ตกใจอะไร เพราะการดำน้ำไปแกล้งกัน เป็นเรื่องปกติของเด็กที่เกิดและโตริมแม่น้ำอยู่แล้ว พ่อเลยคิดว่า บรรดาลุงๆ แกล้ง แต่ก็แปลกใจนิดหน่อยตรงที่ว่า มือนั้นสากและหยาบไปหน่อย (ไม่ยักกะมีเมือกแฮะ) ตอนหลังพอขึ้นจากน้ำแล้วมาสอบถามกันว่าใครแกล้ง ก็ไม่มีใครรับ พ่อเลยบอกว่าเป็น "พรายน้ำ"   

อ่อ นอกประเด็นผี จำได้ว่า สารเรืองแสงที่มักใช้ในตัวเลขหน้าปัทม์ (นอกเรื่องในนอกเรื่อง ผมไม่ได้พูดคำว่า "หน้าปัทม์" มานานแล้วแฮะ สมัยนี้มีแต่ "หน้าจอ") ก็เรียกว่า "พรายน้ำ" เหมือนกันครับ 


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ธ.ค. 18, 12:52
มาต่อเรื่องพรายน้ำ

ความคิดเห็นที่ 5
พรายน้ำตัวเป็น ๆ ผมเคยเห็นกับตามาเมื่อครั้งสมัยยังเด็ก ๆ อยู่    ตอนเย็น ๆ ผมเห็นพรายน้ำมานั่งหวีขนที่ริมตลิ่ง พอผมวิ่งไปดูใกล้ๆ พรายน้ำก็กระโดดลงคลองหายไป  ตอนแรกผมเข้าใจว่าเป็นลิง  เพราะรูปร่างลักษณะคล้ายลิงหรือชะนีมาก    ผมเห็นหวีเสนียดพลาสติคสีน้ำตาล รูปร่างโค้ง ๆวางไว้ริมตลิ่ง   ผมก็เลยหยิบมาดูแล้วโยนทิ้งคลองลงไป   รุ่งขึ้นตอนเย็น ๆ บริเวณที่เดิม  ผมเจอพรายน้ำแบบชัด ๆ ห่างกันไม่เกิน 5 เมตร  พรายน้ำเดินมาหาผมตรง ๆ  เหมือนกับจะมาทวงถามอะไรผม  ผมรู้สึกกลัวมาก แล้วในใจกฉุกคิดเรื่องหวี    ผมก็เลยตะโกนไปว่า โยนทิ้งน้ำไปแล้ว   พรายน้ำก็กระโดดลงคลองหายไป       ตอนกลางคืนบริเวณริมตลิ่งจะมืดมาก  แต่ก็มีไฟติดแต่ไม่ค่อยได้เปิด  ผมก็เคยเปิดไฟดูตอนกลางคืน  แล้วก็เห็นพรายน้ำมานั่งริมตลิ่ง  พอเปิดไฟก็กระโดดลงคลองหายไป     ตอนแรก ๆ สมัยนั้น ผมคิดว่าเป็นลิงมากกว่า   แต่พอโดขึ้นแล้วนึกถึงเรื่องราวเก่า ๆ ก็เรื่มพิจารณาได้ว่า ลิงชะนีที่ไหน มันจะกระโดดน้ำดำน้ำได้นานขนาดนั้น    พรายน้ำ   เป็นพวกโอปาติกะ เกิดขึ้นเอง  กินดินเลนเป็นอาหาร  อยู่ในภพภูมิของอสูรกาย ชนิดหนึ่ง       ซึ่งในสมัย ร.6  ก็ยังมีเรื่องบันทึก ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จประพาสหัวเมือง ต่างจังหวัด ระหว่างพักแรม ใกล้บึงน้ำ อสูรกายก็ปรากฏร่างให้เห็น น้ำเดือดพลุ่งพล่านเป็นฟอง  แล้วปรากฏอสูรกายหัวเท่าเข่งโผล่หัวขึ้นมาใต้น้ำ  ทั้งข้าราชบริพารทั้งหลายต่างก็เห็นเป็นประจักษ์พยานโดยทั่ว
brownberry1   
13 มกราคม 2560 เวลา 14:06 น.

https://pantip.com/topic/35984923

ถ้าคุณ V_Mee เข้ามาอ่าน   ขอถามว่าเรื่องพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเห็นอสูรกาย มีอยู่ในจเหมายเหตุ หรือพระราชนิพนธ์เรื่องใดเรื่องหนึ่งจริงไหมคะ


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 18, 14:29
นอกเรื่องในนอกเรื่อง ผมไม่ได้พูดคำว่า "หน้าปัทม์" มานานแล้วแฮะ สมัยนี้มีแต่ "หน้าจอ"

ขออนุญาตนอกเรื่องด้วยคน  ;D

"หน้าปัทม์" ไม่มีดอก มีแต่ "หน้าปัด"


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 18, 16:43
พ่อเคยเล่าว่า ตอนที่พ่อเป็นวัยรุ่น พ่อเคยถูกมือ อะไรสักอย่างจับขาจากใต้น้ำ (ท่านว่าอย่างนั้น) แต่พ่อไม่ได้ตกใจอะไร เพราะการดำน้ำไปแกล้งกัน เป็นเรื่องปกติของเด็กที่เกิดและโตริมแม่น้ำอยู่แล้ว พ่อเลยคิดว่า บรรดาลุงๆ แกล้ง แต่ก็แปลกใจนิดหน่อยตรงที่ว่า มือนั้นสากและหยาบไปหน่อย (ไม่ยักกะมีเมือกแฮะ) ตอนหลังพอขึ้นจากน้ำแล้วมาสอบถามกันว่าใครแกล้ง ก็ไม่มีใครรับ พ่อเลยบอกว่าเป็น "พรายน้ำ"

พรายน้ำที่คุณพ่อเจอ อาจเป็นเจ้าตัวนี้ก็เป็นได้  ;D

"งูงวงช้าง" เป็นงูน้ำขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ไม่มีพิษ งูชนิดนี้มีผิวหนังย่นและสากแบบเปลือกขนุน หัวแบนเล็ก เกล็ดที่หนังมีลักษณะเป็นตุ่ม ไม่มีเกล็ดที่ท้อง ท้องสีขาว ไม่มีลวดลาย ลำตัวป้อมอ้วนสั้น ฟันแหลมคม ถ้าอยู่พ้นน้ำจะมีสีเหลืองนวล แต่ถ้าอยู่ในน้ำจะมีสีน้ำตาลดำ มีความยาวประมาณ ๑ เมตร

งูงวงช้างเป็นงูที่อาศัยอยู่ในน้ำตลอดเวลา อาหารหลักคือ ปลา สามารถพบได้ตามแหล่งน้ำทุกภาคของประเทศไทย ในต่างประเทศพบได้ที่อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, กัมพูชา, พม่า, ลาว โดยจะขุดรูอยู่ตามริมตลิ่ง อุปนิสัยไม่ดุ ปกติมักอยู่นิ่ง ๆ ไม่ขยับเขยื้อน แต่ถ้าถูกรบกวนมักจะใช้ลำตัวรัดพัน ดังนั้นเมื่อมีคนลงไปว่ายน้ำในถิ่นที่งูงวงช้างอาศัยอยู่ มักจะถูกงูรัด ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นผีพรายมาฉุด


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3296.0;attach=26549;image)


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 21 ธ.ค. 18, 09:19
ขอบพระคุณครับ ผมจะได้เขียนคำว่า หน้าปัด ได้ถูกต้อง (เอ่ แล้วผมไปเห็นวิธีเขียนอย่างนั้นมาจากไหนเนี่ย)

อ้างถึง
พรายน้ำที่คุณพ่อเจอ อาจเป็นเจ้าตัวนี้ก็เป็นได้

หง่า ผมว่า อิแบบนี้ สยองกว่าเดิมอีกครับ


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ธ.ค. 18, 10:06
พาไปดูผีเทศกันบ้างค่ะ

ผีที่ขึ้นชื่อแพร่หลายที่สุดตนหนึ่งในสหรัฐอเมริกา คือผีของประธานาธิบดีอัมราฮัม ลินคอล์น  ท่านยังสิงสู่อยู่ในทำเนียบขาวจนทุกวันนี้
มีประจักษ์พยานที่เห็นท่านแวบๆบ้าง    ได้ยินเสียงฝีเท้าบ้าง    รู้สึกแต่มองไม่เห็นตัวว่าท่านอยู่ในห้องนั้นบ้าง   
ส่วนที่เฮงจัดๆ เผชิญหน้าด้วยตัวเอง ก็มีเช่นกันค่ะ   
พวกที่เจอรางวัลที่ 1 นี้มักไม่ใช่คนเล็กคนน้อย     แต่เป็นระดับผู้นำประเทศ  ท่านประธานาธิบดีถึงจะมาต้อนรับด้วยตนเอง
หนึ่งในนั้นคือพระราชินีวิลเฮล์มมิน่าแห่งเนเธอร์แลนด์  เสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาเมื่อค.ศ. 1942   ก็ได้ประทับค้างคืนในทำเนียบขาวในฐานะแขกเกียรติยศเป็นผู้นำของประเทศ
พระนางได้ยินเสียงฝีเท้าเดินกุกๆนอกห้อง ตามมาด้วยเคาะประตูห้องบรรทม  ก็เสด็จออกไปเปิด 
จึงได้เห็นประธานาธิบดีลินคอล์นแต่งกายด้วยเสื้อนอกตัวยาวและสวมหมวกท็อปแฮทอันเป็นชุดพิธีรีตอง ยืนอยู่หน้าประตู  เหมือนจะมาต้อนรับ
พระนางก็เลยเป็นลมหน้ามืดลงไปตรงนั้น
 


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ธ.ค. 18, 10:11
พระราชินีวิลเฮล์มมิน่าแห่งเนเธอร์แลนด์


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ธ.ค. 18, 13:25
เรื่องของผีของบุคคลระดับผู้นำประเทศ ของไทยเราก็มีเล่าอยู่เหมือนกัน  ;D

คุณณัฐเศรษฐ์แห่ง พันทิป (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/01/K8741826/K8741826.html#28) เขียนไว้ว่า

เรื่องที่อยากเล่าก็มีครับ


ครั้งหนึ่ง เมื่อการก่อสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศ์ ก็เสด็จฯย้ายจากที่ประทับเดิมมาประทับที่พระที่นั่งนี้ จากนั้นก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เขียนพระบรมสาทิศลักษณ์ รัชกาลต่าง ๆ ไว้ในห้องมุกกระสัน 

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนี้ เป็นชัยภูมิอันศักดิ์สิทธิ์ อยู่ข้างพระมหามณเทียรอันเป็นที่ประทับ ที่สวรรคต พระมหากษัตริย์รัชกาลต่าง ๆ เป็นที่พระบรมราชสมภพ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ อีกทั้งยังเป็นที่ประทับสมเด็จพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่หลายพระองค์



เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ท่านยังทรงพระเยาว์มาก ท่านก็ประทับเล่นที่บริเวณห้องไปรเวต และมุกกระสัน อยู่ ๆ ท่านก็เห็นบุรุษร่างท้วมเดินผ่านแล้วเดินหายไปในบริเวณที่ประดิษฐานพระบรมสาทิศลักษณ์ รัชกาลที่ ๓ 

ด้วยความที่เป็นเจ้าฟ้า เจ้าฟ้าจักรพงษ์ท่านก็ตะโกนเรียกว่านั่นใคร ออกมาเดี๋ยวนี้ (ตามประสาเจ้าฟ้า ผู้ทรงมีบุญบารมีและอำนาจ) ปรากฏก็ไม่มีใครออกมา



ความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ท่านรับสั่งถาม ว่าบุรุษนั่นมีรูปลักษณะอย่างไร และทรงอนุมานว่า ชะรอยคงเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรากฎพระองค์ให้ทอดพระเนตร จึงทรงให้นางพระกำนัลจัดดอกไม้ธุปเทียน ไปถวายสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ เพื่อทรงไปขอขมาลาโทษที่ไปล่วงเกินสมเด็จพระบรมราชบูรพการี


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ธ.ค. 18, 14:06
มีอีกเว็บ เล่าไว้ตรงกันค่ะ
https://www.sanook.com/horoscope/106913/


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 21 ธ.ค. 18, 21:22
กระทู้นี้แอบอ่านเงียบๆ นะครับ ต้องอาบน้ำเตรียมตัวนอนก่อนถึงอ่านได้ อยากโม้นิดเดียวว่าผมเขียนหน้าปัดถูก สงสัยจะเคยเขียนบ่อยเลยจำแม่น  :D


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ธ.ค. 18, 08:58
อีกหนึ่งเรื่องเล่า คราวนี้เป็นเรื่องฝรั่งเจอพระวิญญาณรัชกาลที่ ๔ ที่วัดบวรฯ  ;D

https://youtu.be/uEMdRN7jR5I

http://www.dharma-gateway.com/misc/misc-thongtue/misc-099.htm


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ธ.ค. 18, 18:14
ถ้าพูดถึง "ผีบุคคล" ระดับชาวบ้านของไทย เห็นจะลืมผีสาวตนนี้ไปไม่ได้

ได้ยินเสียงแว่วมาแต่ไกล

พี่มากขาาาาาาาา
  :o :o


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ธ.ค. 18, 19:02
แม่นาคยุคไทยแลนด์ 4.0 ร้องเรียกพี่มากเป็นโอเปร่าแล้วค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=4e5-1MqxQL8&list=RD4e5-1MqxQL8&start_radio=1&t=0


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ธ.ค. 18, 19:34
เพียงเห็นชื่อ "พี่มาก" ท่านอาจารย์ใหญ่ (และคนทั่ว ๆ ไป) ก็ทราบทันทีว่าคือสามีของ นางนากพระโขนง (หรือบางท่านอาจจะคุ้นกับชื่อ แม่นาคพระโขนง)

แต่สามีของนางนาก แรกเริ่มเดิมทีหาชื่อ "พี่มาก" ไม่
 

ชื่อแรกของพี่มากคือ ชุ่ม

ก.ศ.ร. กุหลาบเขียนไว้ใน สยามประเภท ฉบับวันเสาร์ที่ ๑๐ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๘  ว่า

"..จะเปนวันเดือนปีใดจำไม่ได้เปนคำพระศรีสมโภช (บุด) วัดสุวรรณเล่าถวายสมเด็จอุปัชฌาย์ว่า ในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ อำแดงนาก บุตรขุนศรีนายอำเภอ บ้านอยู่ปากคลองพระโขนง เปนภรรยานายชุ่ม ตัวโขนทศกรรฐ์ในพระจ้าวบรมวงศ์เธอจ้าวฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี อำแดงนากมีบุตรถึงอนิจกรรม นายชุ่มทศกรรฐ์สามีนำศพอำแดงนากภรรยาไปฝังที่ป่าช้าวัดมหาบุด... ศพอำแดงนากฝังไว้ที่นั่นไม่มีปีศาจหลอกผู้ใด เปนแต่พระศรีสมโภชเจ้าของวัดมหาบุด เล่าถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสว่า นายชุ่มทศกรรฐ์เปนคนมั่งมี.... บุตรนายชุ่มมีชายหญิงหลายคน แต่ล้วนยังไม่มีสามีภรรยาทั้งสิ้น บุตรนายชุ่มหวงทรัพย์สมบัติของบิดา เกรงว่าบิดาจะมีภรรยาใหม่...พวกลุกชายจึงทำอุบายให้คนไปขว้างปาชาวเรือ ตามลำคลองริมป่าช้าที่ฝังศพอำแดงนากมารดา กระทำกิริยาเปนผีดุร้ายหลอกคน จนถึงช่วยนายชุ่มถีบระหัดน้ำเข้านาแลวิดน้ำกู้เรือของนายชุ่มที่ล่มก็ได้ บุตรชายแต่งกายเปนหญิงให้คล้ายอำแดงนากมารดาทำกิริยาเปนผีดุร้ายให้คนกลัว ทั่วทั้งลำคลองพระโขนง... บุตรนายชุ่มทศกรรฐ์หลายคนได้เล่าถวายเสด็จอุปชฌาย์ว่า ตนได้ทำมายาเปนปีศาจอำแดงนากมารดาหลอกชาวบ้าน จริงดั่งพระศรสมโภชกราบทูลเสด็จอุปัชฌาย์ทุกประการ.."

ชื่อต่อมาคือ "โชติ"  
            
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งทรงเป็นสยามมกุฏราชกุมาร ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เรื่องสั้น "นากพระโขนงที่สอง" ไว้ใน หนังสือ"ทวีปัญญา" ฉบับแรกสุด เมื่อเดือนเมษายน ร.ศ. ๑๒๓ ทรงใช้นามแฝงว่า “นายแก้วนายขวัญ”  สมมติให้นางนากมีสามีชื่อโชติ เป็นกำนัน

ชื่อสุดท้ายคือ "มาก"

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เจ้าของโรงละครปรีดาลัยทรงนิพนธ์เรื่อง “อีนากพระโขนง” เป็นละครร้อง และตีพิมพ์บทละครเป็นหนังสือเมื่อต้นรัชกาลที่ ๖  เมื่อ ร.ศ. ๑๓๑   หน้าปกเขียนว่า “บทละครร้องเรื่องอีนากพระโขนง (ว่าเปนเรื่องจริง) หมากพญา รจนาสำหรับลครในปรีดาลัย ร.ศ. ๑๓๑”

หมากพญา เป็นนามแผงของกรมพระนราฯ ทรงกำหนดให้ตัวละครมี ๑๐ ตัว มีชื่อและอายุดังต่อไปนี้
๑.  นายมาก อายุ ๓๕ สามีอำแดงนาก เปนคนซื่อ ๆ
๒.  ทิดทุ้ย อายุ ๓๘ เกลอนายมาก ขี้เมา
๓.  ตาหมี อายุ ๖๘ เก่า ๆ เขลา ๆ
๔.  ตาเทิ่ง อายุ ๕๐ สัปเหร่อ
๕.  ขรัวเต๊ะ อายุ ๖๒ อาจาริย์วิชาอาคม
๖.  ตาปะขาวเม่น อายุ ๖๕ ผู้มีวิชาอาคม
๗.  สามเณรเผือก อายุ ๑๘ ศิษย์ขรัวเต๊ะเจ้าเวทมนต์
๘.  อำแดงนาก อายุ ๓๒ ภรรยานายมาก เปนคนดี
๙.  ยายม่วง อายุ ๖๐ ภรรยาตาหมี เท่อ ๆ
๑๐. ยายโม่ง อายุ ๕๑ หมอผดุงครรภ์

ภาพยนตร์ และละครในยุคหลัง ๆ ใช้ชื่อพี่มากตามละครกรมพระนราฯ ไม่เปลี่ยนแปรเป็นอื่นอีกเลย

เวอร์ชั่นล่าสุด พี่มากดังล้ำหน้านางนากไปเสียแล้ว  ;D


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ธ.ค. 18, 07:42
ผีนางนากปรากฎอยู่ในเสภาขุนช้างขุนแผน สำนวนครูแจ้ง วัดระฆัง (ครูเสภา ๓ แผ่นดิน รัชกาลที่ ๓ - รัชกาลที่ ๕) ตอนสร้อยฟ้าทำเสน่ห์ โดยเถรขวาดทำพิธีเรียกผีต่าง ๆ หนึ่งในนั้นก็มีผีนางนากอยู่ด้วย

อีพรายกราบเถรเฒ่าเล่าคะดี
กระผม*นี่ชื่อนากอยู่บางพระขะโหนง
เจบครรภ์วันเสาร์เข้าสี่โมง
ตายโหงไปทั้งกลมผมเปนพราย
เจ้าคุณถามสันถานประมาณเด็ก
เปนลูกเล็กของข้าเจ้าจะเล่าถวาย
มาอยู่นี่นมนานธระมานกาย
นี่แลคือลูกชายตายในครรภ์


* การใช้คำสรรพนามในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังไม่ลงตัว ดังเช่นคำว่า “ดิฉัน” ก็ใช้กับบุรุษได้

ข้อมูลจาก https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_9573

นางนากคงมีชื่อเสียงเลื่องลือกระฉ่อนมาตั้งแต่สมัยนั้น จนครูแจ้งจับเอามาเป็นตัวละครในบทเสภา แต่ครานั้นสามีของนางนากยังไม่ปรากฎนาม  ;D


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 24 ธ.ค. 18, 08:49
โหย อาจารย์ครับ ขืนแม่นาก เธอร้องว่า "พี่โชติขา...." ก็จะฟังดูแปลกๆ ไม่ลงกลอนอยู่นะครับ


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ธ.ค. 18, 20:14
ที่ญี่ปุ่นมีเรื่องผีที่ดังพอ ๆ กับแม่นากพระโขนงของเรา ชื่อว่า “โทไกโด โยะสึยะ ไคดัง” (東海道四谷怪談;Tokaidō Yotsuya Kaidan) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “โยะสึยะ ไคดัง” แปลว่า “เรื่องผีโยะสึยะ” ซึ่งมีตัวเอกเป็นหญิง ชื่อ “อิวะ” ขนบญี่ปุ่นสมัยก่อนมักเรียกชื่อผู้หญิงโดยใส่คำว่า “โอะ” ไว้ที่หน้าชื่อเพื่อให้เกียรติ ตัวละครตัวนี้จึงเป็นที่รู้จักในนาม “โอะอิวะ” (お岩;O-iwa)  

เรื่องนี้เขียนขึ้นเป็นบทละครคะบุกิ และจัดแสดงครั้งแรกเมื่อเดือนเจ็ด ปี พ.ศ. ๒๓๖๘ และต่อมาก็ยังได้รับความนิยมอย่างสูงยาวนาน โครงเรื่องเกี่ยวกับการทรยศหักหลังในครอบครัว ฆาตกรรม และการแก้แค้น ซึ่งในปัจจุบันอาจถือได้ว่าไม่ใช่พล็อตแปลกใหม่ แต่ก็คงเพราะความธรรมดาที่ใคร ๆ ก็มีอารมณ์ร่วมได้โดยง่ายกับฆาตกรรมเลือดสาดหลายศพนี่เอง “โยะสึยะ ไคดัง” จึงเป็นที่จดจำและเป็นเรื่องอมตะของญี่ปุ่น

เรื่องนี้ผ่านการดัดแปลงมามากมายหลายครั้งทั้งในฉบับภาพยนตร์และละครเวที จนถึงปัจจุบันรวมแล้วไม่ต่ำกว่า ๒๐ ครั้ง ถ้ารวมการนำมาถ่ายทอดด้วยศิลปะการเล่าเรื่องแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่เรียกว่า “ระกุโงะ” (落語;Rakugo) ด้วยละก็ คงนับครั้งไม่ถ้วน ในกรุงโตเกียว มีศาสนสถานซึ่งถือว่าเป็นที่สถิตของดวงวิญญาณโอะอิวะมากกว่าหนึ่งแห่ง และเมื่อจะมีการถ่ายทำภาพยนตร์หรือละคร ก็ถือเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่กองถ่ายจะไปเซ่นไหว้ดวงวิญญาณของโอะอิวะด้วย

https://mgronline.com/japan/detail/9600000082806

https://youtu.be/z0gyn3z6Zos


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ธ.ค. 18, 12:29
สัญลักษณ์ของวันคริสต์มาสที่รู้จักกันทั่วไปคือ ซานตาคลอส แต่หลายท่านอาจยังไม่ทราบว่ายังมีสัญลักษณ์ที่อยู่ตรงกันข้ามกับซานตาคลอสอยู่ เป็นปีศาจชื่อว่า แครมปัส (Krampus) โดยจะมาหาเฉพาะเด็กเกเร เมื่อจับได้จะทุบตีหวดด้วยไม้เรียวหรือโซ่อย่างโหดร้าย จากนั้นก็จะจับตัวใส่ตะกร้าหรือกระสอบไปยังที่อยู่ของมัน ซึ่งหลายคนเชื่อว่าที่อยู่ของแครมปัสคือ นรก !

จริง ๆ แล้วแครมปัส กำเนิดขึ้นที่แถบเทือกเขาแอลป์ในยุโรป ตั้งแต่ยุคที่ผู้คนแถบนั้นยังนับถือภูติผีปีศาจ (Pagan) ก่อนที่คริสต์ศาสนาจะถูกเผยแพร่เข้าไป คำว่า Krampus ดัดแปลงมาจากคำในภาษาเยอรมันว่า Krampen ซึ่งแปลว่า “กรงเล็บ” ชาวสแกนดิเนเวียซึ่งก็มีแครมปัส เช่นกัน โดยกล่าวถึงปีศาจตัวนี้ว่าเป็นบุตรของ เฮล (Hel) ซึ่งเป็นเทพีแห่งความตาย แครมปัสมีลักษณะเป็นสัตว์ขนยาวเดินสองขา หางยาว ปลายหางเป็นพู่คล้ายหางวัว มีเท้าเป็นกีบแบบเท้าแพะ บนหัวมีเขาสองเขายาวแหลมโค้งคล้ายเขาแพะ ในปากมีฟันแหลมน่ากลัวกับลิ้นยาวมาก

ชาวเยอรมันเมื่อหลายร้อยปีก่อนนั้นจะฉลองวันคริสต์มาสกันตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม คือในคืนวันที่ ๕ ธันวาคม ซึ่งเรียกว่า Krampusnacht เป็นคืนที่แครมปัสจะปรากฏกายออกมาหาเด็กดื้อทั้งหลาย และวันที่ ๖ ธันวาคมเป็นวัน Nikolaustag หรือวันเซนต์นิโคลัส ดังนั้นเมื่อเด็กตื่นขึ้นมาในวันที่ ๖ ก็จะ ไปดูรองเท้าของตนที่วางไว้นอกบ้าน ว่าข้างในมีของขวัญหรือไม้เรียว สิ่งนั้นจะเป็นตัวบอกว่า ความประพฤติและนิสัยใจคอของเด็กคนนั้นเป็นอย่างไร

ในอดีต ที่เยอรมนี ออสเตรีย ฮังการี สโลวีเนีย สาธารณรัฐเช็ก และหลายเมืองในสหรัฐฯ เคยมีประเพณีที่ผู้คนแต่งตัวเป็นแครมปัสแล้วออกตระเวนไปตามถนนแล้ววิ่งไล่จับผู้คน ให้คนที่พบเห็นวิ่งหนีปีศาจกันอย่างสนุกสนาน ประเพณีนี้หายไปช่วงหนึ่งนับจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้นในยุโรป แต่ปัจจุบันเริ่มจะกลับมาอีกครั้ง โดยกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ชอบการฉลองคริสต์มาสที่ไม่จำเจแบบเดิมๆ ในประเทศออสเตรียมีบางแห่งทำชุดแครมปัสและช็อกโกแลตที่สื่อถึงแครมปัสออกมาจำหน่ายเพื่อให้ผู้คนซื้อเป็นของขวัญให้กันด้วย

ข้อมูลจาก https://www.thairath.co.th/content/542523

https://youtu.be/SovOiLKg39o


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ธ.ค. 18, 13:01
St.Nicholas ซานตาคลอสดั้งเดิม


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ธ.ค. 18, 19:01
เผื่อคุณวีมียังไม่เห็น

ในสมัย ร.6  ก็ยังมีเรื่องบันทึก ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จประพาสหัวเมือง ต่างจังหวัด ระหว่างพักแรม ใกล้บึงน้ำ อสูรกายก็ปรากฏร่างให้เห็น น้ำเดือดพลุ่งพล่านเป็นฟอง  แล้วปรากฏอสูรกายหัวเท่าเข่งโผล่หัวขึ้นมาใต้น้ำ  ทั้งข้าราชบริพารทั้งหลายต่างก็เห็นเป็นประจักษ์พยานโดยทั่ว

brownberry1  
13 มกราคม 2560 เวลา 14:06 น.

https://pantip.com/topic/35984923


ถ้าคุณ V_Mee เข้ามาอ่าน   ขอถามว่าเรื่องพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเห็นอสูรกาย มีอยู่ในจดเหมายเหตุ หรือพระราชนิพนธ์เรื่องใดเรื่องหนึ่งจริงไหมคะ

รอคำตอบจากคุณวีมีด้วยคน  ;D


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 26 ธ.ค. 18, 07:08
ไม่เคยทราบเรื่องนี้เลยครับ
เรื่องอสูรชาวป่ามีบันทึกอยู่เพัยงเรื่องเดียว คือ เรื่องท้าวหิรัญพนาสูร  ซึ่งมีพระราชบันทึกพระราชทานกรมพระสมมตอมรพันธุ์ทรงแต่งเป็นโองการสังเวยท้าวหิรัญพนาสูรเข้าสิงในรูปหล่อที่โปรดให้สร้างขึ้น เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ความว่า

เมื่อเสด็จเลียบมณฑลพายัพ พ.ศ. ๒๔๔๘  ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินข้ามเขาพรึงซึ่งเปรียบเสมือนกำแพงธรรมชาติกั้นเมืองอุตรดิตถ์กับเมืองแพร่นั้น  คุณมหาดเล็กและคณะผู้ตามเสด็จซึ่งไม่เคยเดินป่ากันมาก่อนต่างก็พากัน 
“หวาดหวั่นเพราะเกรงกลัวความไข้และภยันตรายต่างๆ ซึ่งจะพึงมีมาได้ในกลางทางป่า  จึงได้ทรงพระกรุณาดำรัสชี้แจงว่า  ธรรมดาเจ้าใหญ่นายโตจะเสด็จแห่งใดๆ ก็ดี คงจะมีทั้งเทวดาและปีศาจฤาอสูรอันเป็นสัมมาทิฏฐิ  คอยติดตามป้องกันภยันตรายทั้งปวง  มิให้มากล้ำกลายพระองค์และบริพารผู้ตามเสด็จได้  ถึงในการเสด็จพระราชดำเนินประพาสครั้งนี้  ก็มีผู้ป้องกันภยันตรายเหมือนกัน  อย่าให้มีผู้หนึ่งผู้ใดมีความวิตกไปเลย    ต่อนั้นไปมีผู้ที่ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินผู้หนึ่ง  กล่าวว่านิมิตฝันเห็นชายผู้หนึ่งรูปร่างล่ำสันใหญ่โต  ได้บอกแก่ผู้ที่ฝันนั้นว่า ตนชื่อหิรันย์เป็นอสูรชาวป่า  เป็นผู้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติ  ในครั้งนี้จะมาตามเสด็จพระราชดำเนินไปในกระบวนเพื่อคอยดูแลระวังมิให้ภยันตรายทั้งปวงอันจะพึงบังเกิดมีขึ้นได้  ในระยะทางกลางป่านั้นมากล้ำกลายพระองค์ฤาราชบริพารได้  ครั้นทรงทราบความเช่นนั้น  จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้จัดธูปเทียนและเครื่องโภชนาหารไปเส้นสังเวยที่ในป่าริมพลับพลา  และเวลาเสวยค่ำทุก ๆ วัน  ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แบ่งพระกระยาหารจากเครื่องต้นไปเซ่นสรวงเสมอ”   

นับแต่นั้นจนเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ แม้จะต้องบุกป่าฝ่าดงขึ้นเขาลงห้วยไปตามภูมิประเทศที่เป็นป่ารกทึบก็ไม่ปรากฏว่า ผู้ใดในขบวนเสด็จประสบภยันตรายใดๆ ทั้งสิ้น 
“ภายหลังคราวที่เสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลพายัพนั้น  แม้จะเสด็จพระราชดำเนินไปแห่งใด  ก่อนที่จะเสด็จจากกรุงเทพมหานคร  ราชบริพารก็ได้เคยพร้อมกันน้อมใจเชิญหิรันยอสูรให้ตามเสด็จด้วย  และโดยมากเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปโดยสวัสดิภาพแล้ว  ก็พากันกล่าวว่า เพราะหิรันยอสูรตามเสด็จไปด้วย  บางคราวบางสมัยเมื่อเสด็จประทับอยู่ในหัวเมือง  ถึงกับได้มีผู้อ้างว่าแลเห็นรูปคนรูปร่างกายใหญ่ล่ำสันยืนหรือนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ใกล้ที่ประทับ  และอ้างว่าได้เห็นพร้อม ๆ กันหลาย ๆ คนก็มี  การที่มีผู้นิยมเชื่อถือในหิรันยอสูรเช่นนั้นมิใช่แต่เฉพาะในหมู่ที่เป็นราชบริพารที่ตามเสด็จไปในกระบวน  ทั้งข้าราชการฝ่ายเทศาภิบาลก็พลอยนิยมเชื่อถือไปด้วย  การที่มีผู้เชื่อถือเช่นนี้  จะมีมูลฤาไม่อย่างไรก็ดี  ทรงพระราชดำริว่าเป็นธรรมดาคนโดยมากยังละเว้นความประสงค์ที่จะหาเทวดาฤาอมนุษย์เป็นที่พึ่งคุ้มกันภยันตรายต่าง ๆ นั้นมิได้ขาดทีเดียว  เมื่อมีที่นิยมยึดเหนี่ยวอยู่เช่นหิรันยอสูรนี้เป็นต้น  ก็มักจะทำให้เป็นที่อุ่นใจ  การที่จะเดินทางไปในที่ถิ่นกันดาร  ถ้าแม้ใจดีอยู่แล้ว  ก็มักจะไม่ใคร่เป็นอันตราย  เมื่อทรงพระราชดำริดังนี้  จึงได้ทรงตกลงเซ่นสังเวยหิรันยอสูรต่อมา  คือให้แบ่งพระกระยาเสวยจากเครื่อง  อย่างเช่นที่เคยทำมาแล้วครั้งเสด็จมณฑลพายัพนั้น  เป็นธรรมเนียมต่อมา”


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 ธ.ค. 18, 10:13
คุณนวรัตนได้ขยายรายละเอียดเรื่องนี้ไว้ที่พันทิป  ;D

มีเรื่องราวของท้าวหิรัญอสูรอยู่ในกระทู้นี้

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/03/K7657042/K7657042.html


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 18, 14:40
ท้าวหิรัญพนาสูร ค่ะ
มีรูปโลหะเล็กๆของท่านให้เช่ามาบูชาได้ด้วย ที่รพ.พระมงกุฎ  ตรงตึกที่อยู่ตรงข้ามกับสวนโรมัน


กระทู้: ผีไทย ผีเทศ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 18, 14:50
ไม่เคยทราบเรื่องนี้เลยครับ

ถ้าหากว่ามีหนังสือที่ระบุเรื่องแบบนี้จริง  ย่อมผ่านสายตาคุณ V_Mee มาแล้วแน่นอน  คงไม่หลุดรอดสายตาไปได้
ก็เลยคิดว่าคำบอกเล่าเรื่องนี้น่าจะเป็นความจำคลาดเคลื่อนของผู้เล่ามากกว่าค่ะ