เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 9
  พิมพ์  
อ่าน: 13411 หัวหินในอดีต (2)
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 11 ก.พ. 19, 20:48

เคยขึ้นรถไฟไปหัวหินค่ะ  ตอนปิดเทอม  เป็นความนิยมในสมัยนั้นที่จะไปพักผ่อนทีละหลายๆวันที่ชายทะเล    ตั้งแต่หนึ่งสัปดาห์ไปจนเป็นเดือน 
เส้นทางรถไฟเป็นเส้นทางสะดวกที่สุด   เดินทางโดยรถยนต์ในตอนนั้นลำบากกว่ามาก  เพราะทางหลวงระหว่างจังหวัดยังขรุขระอยู่หลายช่วง    ถ้ารถไปเสียกลางทางหรือยางแตก ระหว่างจังหวัด ก็ถือว่าเป็นเคราะห์กรรมอย่างหนักทีเดียว   รถไฟจึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุด
ออกเดินทาง 7 โมงเช้า ถึงหัวหินตอนบ่ายโมง

เส้นทางนอกหน้าต่าง ไม่ค่อยสนุกนักสำหรับเด็ก  เพราะพอพ้นสถานีหัวลำโพงได้ไม่นานก็ออกชานเมือง    ไม่เห็นอะไรนอกจากทุ่งนา ซ้ำๆซากๆ   มีวัดเล็กๆประปราย   บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นกระต๊อบหลังคามุงจาก   มีกอไผ่และต้นตาลขึ้นอยู่กลางทุ่งนา
ที่จำได้คือยิ่งไกลกรุงเทพก็ยิ่งเห็นแต่แนวต้นมะขามเทศข้างทางรถไฟ  บังทิวทัศน์จนหมด

รถไฟหยุดที่นครปฐม  มองเห็นองค์พระปฐมเจดีย์สีเหลืองอร่ามแต่ไกล    พอรถจอดคนขายไก่ปิ้งเสียบไม้มองเห็นไก่ทาขมิ้นสีเหลืองอ๋อย  ก็แบกถาดเดินกันว่อนที่ชานชาลา  ซื้อขายกันทางหน้าต่าง   นอกจากนี้ยังมีโอเลี้ยงหรือกาแฟดำ ใส่กระป๋องนมเจาะฝามีเชือกร้อยให้สั่งได้อีกด้วย
ภาชนะอีกอย่างคือกระทงใบตองมีฝาปิด   จำไม่ได้ว่าใส่อะไร อาจจะข้าวเปล่า

อาหารที่อร่อยอีกอย่างคือข้าวผัดรถไฟค่ะ   ขายโดยพนักงานรถไฟ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 11 ก.พ. 19, 20:55

  เมื่อถึงหัวหิน รถไฟค่อยๆชะลอจอดที่สถานี    ในฤดูตากอากาศจะมีคนยืนเดินกันเต็มสถานั  ส่วนหนึ่งมารับผู้โดยสาร   อีกส่วนมาเตร็ดเตร่ดูเฉยๆ ว่าเที่ยวนี้มีใครจากกรุงเทพมาบ้าง     เจอคนรู้จักก็จะเอะอะเฮฮาดีใจทักทายกัน  
   เพราะในยุคนั้น   หัวหินในฤดูร้อนตั้งแต่มีนา-พฤษภา  คือกรุงเทพขนาดย่อมๆยกมาตั้งที่นั่นด้วยฝีมือชาวกรุง ที่พาลูกหลานมาเที่ยวทะเล      หลายคนมีบ้านพักอยู่ริมทะเลตั้งแต่ย่างเข้าตัวอำเภอไปจนเขาตะเกียบ    เจ้าของบ้านใจกว้างให้ญาติเพื่อนฝูงยืมบ้านอยู่กันได้ด้วย    แต่บางครอบครัวไม่อยากขอยืมบ้านใคร ก็ไปพักที่โรงแรมรถไฟ ซึ่งใหญ่สุดในหัวหิน    ถนนทางเข้ามีช้างตัดจากต้นไม้ใหญ่ยืนคร่อมถนนให้รถลอดเข้าไปได้   ตัวโรงแรมยังเป็นแบบเก่าตั้งแต่แรกสร้าง  แต่ตอนที่ไปพัก ปีกใหม่เริ่มสร้างเพิ่มเติมแล้วค่ะ   เป็นตึกยาวๆหลายชั้น  ทาสีอ่อนๆดูโปร่งสบายสมัยใหม่กว่าตึกเก่า  แต่ไม่คลาสสิคเท่า


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 11 ก.พ. 19, 21:02

โรงแรมรถไฟในอดีต   ปัจจุบันคือเซนทารา


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12603



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 12 ก.พ. 19, 07:02

โรงแรมรถไฟ ซึ่งใหญ่สุดในหัวหิน    ถนนทางเข้ามีช้างตัดจากต้นไม้ใหญ่ยืนคร่อมถนนให้รถลอดเข้าไปได้   ตัวโรงแรมยังเป็นแบบเก่าตั้งแต่แรกสร้าง  แต่ตอนที่ไปพัก ปีกใหม่เริ่มสร้างเพิ่มเติมแล้วค่ะ   เป็นตึกยาวๆหลายชั้น  ทาสีอ่อนๆดูโปร่งสบายสมัยใหม่กว่าตึกเก่า  แต่ไม่คลาสสิคเท่า

ภาพจาก https://www.facebook.com/100006451285576/posts/2475329869358698?sfns=mo


บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 12 ก.พ. 19, 07:54

ขึ้นรถไฟไปหัวหินที่สุดของแจ้ของผมแล้ว  ร้องไห้ เคยอ่านในนิยายเรื่องปริศนาแล้วชอบจังเลย ถ้ามีข้อมูลลงมาเยอะๆ เลยนะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 12 ก.พ. 19, 12:36

 อาคารดั้งเดิมของโรงแรมรถไฟ ไม่ติดเครื่องปรับอากาศ  (สมัย 50+ ปีก่อน แอร์หายากมาก)  เป็นห้องเพดานสูง  ประตูกว้างใหญ่เปิดออกไปสู่เฉลียงด้านหลัง   อากาศถ่ายเทได้สะดวก   มีพัดลมเพดานระบายความร้อน
 เตียงนอนยังมีมุ้งแบบกระโจมคลุมอยู่เลยค่ะ   ตอนเย็นๆพนักงานซึ่งแต่งเครื่องแบบโก้จะมากางมุ้งให้    ทุกห้องมีห้องน้ำในตัว ปูกระเบื้องขาวทั้งผนังและพื้น ซึ่งเป็นแบบฉบับห้องน้ำชั้นดีในยุคนั้น 

 ชั้นล่างแบ่งเป็นห้องๆ เป็นห้องนั่งเล่นก็มี  ในนั้นมีเปียโนที่ใครจะเข้าไปเล่นก็ได้    เด็กๆมักไม่อยู่ในโรงแรม  พอไปถึงก็เปลี่ยนเสื้อสวมชุดว่ายน้ำ  เด็กผู้ชายบางคนก็นุ่งกางเกงขาสั้น วิ่งออกจากห้องลงบันไดไปทางด้านหลังซึ่งหันไปทางทะเล    ตรงนั้นมีสนามกอล์ฟเล็ก สำหรับเด็กๆ เล่นตีกอล์ฟไปเข้าปลายทางซึ่งสร้างเป็นอาคารจำลองเล็กๆเหมือนบ้านตุ๊กตา  น่ารักมาก   มีอาคารโรงแรมจำลองด้วยค่ะ
 จากตรงนั้นก็มีทางเดินตัดตรงไปชายหาด  มีเขื่อนหินกั้นเอาไว้เหมือนกันน้ำทะเลไม่ให้ขึ้นมาถึง  แต่ก็ไม่เคยเห็นคลื่นขึ้นสูงจนถึงสักที
  หาดทรายที่หัวหินขาวละเอียดเหมือนแป้ง    เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ชายทะเลอื่นไม่มี   แม้ว่ามีโขดหินระเกะระกะอยู่ในทะเลช่วงริมหาดหน้าโรงแรม   คนก็ยังนิยมลงเล่นน้ำกันมาก   หาดที่นี่ลาดลงไปพอที่เด็กจะลงไปเล่นได้ตามสบาย  หาดไม่เทลึกลงไป จนเป็นอันตรายอย่างบางแห่ง  คลื่นก็ไม่แรง 
  ในฤดูร้อน ฟ้าใสสะอาด มีเมฆขาวเหมือนปุยนุ่นทั้งวัน   น้ำทะเลใสสะอาด   แดดจัดแต่ลมทะเลแรง   จนลอยคออยู่ในน้ำใสเย็นได้นานเป็นช.ม.ๆ  กว่าจะรู้ว่าแดดเผาผิวไหม้ก็ต่อเมื่อขึ้นจากน้ำมาแล้ว    ผิวลอกเป็นแผ่นๆปวดแสบปวดร้อน นอนหลังไหล่ระบมทั้งคืน เพราะสมัยนั้นครีมกันแดดยังไม่มีขาย  หรือต่อให้มีก็ไม่รู้ว่าขายที่ไหน


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 12 ก.พ. 19, 20:02

ผมรู้จักชื่อหัวหินมานาน แต่ไม่เคยไปจนกระทั่งประมาณปี 2510 จึงได้มีโอกาสไปเหยียบทรายชายหาด เพราะไปออกภาคสนามเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพทางธรณ๊วิทยาของประเทศไทย   ต่อมาในช่วง 2520+ จึงได้มีโอกาสไปพักบังกาโลของโรงแรมรถไฟ ต่อมาอีกเกือบ 10 ปี จึงไปพักในตัวโรงแรม  แล้วก็มีโอกาสได้ไปอีกครั้งหนึ่งเมื่อได้มีการปรับปรุงให้ทันสมัย 

ก็ดังที่ อ.เทาชมพู ว่าไว้  ลักษณะเด่นๆทางสถาปัตยกรรม ก็คือเป็นอาคารที่ห้องมีเพดานสูง (คะเนว่า ถึงประมาณ 3.50 เมตร +/- ใกล้เคียง) เหนือประตูและหน้าต่างมีช่องลมระบายอากาศเป็นไม้ฉลุลาย  กลอนประตูหน้าต่างมีความยาวน่าจะประมาณ 30 ซม. เป็นแบบกลอนโบราณ ห้องนอนใหญ่มากพอที่จะทำให้รู้สึกวังเวงเมื่อนอนคนเดียว ห้องน้ำก็ใหญ่มากพอที่ทำให้รู้สึกออกไปทางโป้งโล้ง

ในวัยเด็กของผม รู้จักและมีความรู้สึกคุ้นเคยกับบางแสนมากกว่าหัวหิน  เมื่อจบแลัว เข้าทำงานแล้ว ก็ยังได้รับภารกิจแรกๆในพื้นที่แถบนั้น เลยทำให้มีความรู้สึกคุ้นเคยมากกว่า   
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12603



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 12 ก.พ. 19, 20:07

อาหารที่อร่อยอีกอย่างคือข้าวผัดรถไฟค่ะ   ขายโดยพนักงานรถไฟ

ข้าวผัดรถไฟดูจะมีความเกี่ยวข้องกับโรงแรมรถไฟหัวหินอยู่บ้าง คุณวีมีเขียนไว้ใน พันทิป ว่า

สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง  การบริการอาหารในรถเสบียงดำเนินการโดยทีมงานจากโฮเต็ลรถไฟหัวหินซึ่งเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งของประเทศไทยในเวลานั้น  โดยครัวของโรงแรมรถไฟมีคุณหญิงเบอร์ธา เดชานุชิต (เบอร์ธา  บุนนาค) ภรรยาพระยาเดชานุชิต (หนา  บุนนาค) เป็นผู้ดูแล  

บริการรถไฟไทยในยุคนั้นได้ชื่อว่าเป็นเลิศเลยทีเดียว  ถึงขนาดมีนักเขียนชาวอังกฤษชื่อดังเขียนเผยแพร่ในคู่มือนำเที่ยวที่แพร่หลายไปทั่วโลกว่า นั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปสิงคโปร์  ตลอดเวลาที่รถไฟแล่นในดินแดนไทย  น้ำที่รินไว้ในแก้วมีอาการกระฉอกเลย  แต่พอเข่าเขตแดนมลายูซึ่งรถไฟบริหารงานโดยชาวอังกฤษ  กลับเห็นได้ชัดว่าน้ำในแก้วมีอาการกระเพื่อมขึ้นลงตลอดเวลา


ตำนานข้าวผัดรถไฟ ผูกพันกับเส้นทางเดินรถไฟจากบางกอกน้อยถึงหัวหินอย่างเหนียวแน่น  ด้วยระยะทาง ๒๑๒.๙๕ กิโลเมตร จากธนบุรีถึงหัวหินในสมัยนั้นกินเวลายาวนานถึง ๕ ชั่วโมง ทำให้กรมรถไฟหลวงจัดบริการตู้รถขายอาหาร (บกข.)  ซึ่งมีที่นั่งสำหรับนั่งรับประทานอาหารพ่วงกับขบวนรถโดยสาร จัดบริการในรถเสบียง ลูกค้าส่วนใหญ่ก็คือผู้มีฐานะดี ซึ่งนิยมไปตากอากาศและตีกอล์ฟที่โรงแรมรถไฟหัวหินในช่วงวันสุดสัปดาห์นั่นเอง

รายการอาหารจะเน้นหนักไปทางอาหารสากล ซึ่งต้องนั่งรับประทานให้เรียบร้อย เนื่องด้วยมีอุปกรณ์บนโต๊ะมากมาย ส่วนอาหารไทยจะใส่ถาดเป็นชุด ๆ และนำไปให้ถึงที่นั่ง และการเตรียมอาหารของรถ บกข.นี้ จะเตรียมไว้เพียงพอกับจำนวนของผู้โดยสารที่ขึ้นและลงที่หัวหินเท่านั้น

ในส่วนของอาหารไทยที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในยุคนั้น ต้องยกให้ "ข้าวผัดรถไฟ" ซึ่งกินคู่กับ "ยำเนื้อรถไฟ" แล้วรสชาติส่งเสริมกันพอดี เมนูคู่นี้จึงกลายเป็นตำนานอาหารจานพิเศษมาตั้งแต่บัดนั้น

เครื่องปรุงที่นำมาใช้ทำข้าวผัดรถไฟ อย่างเช่น เนย กุนเชียง ถั่วลันเตา ซอสมะเขือเทศ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด อาหารจานนี้จึงไม่ใช่อาหารธรรมดาที่หากินได้ทั่วไปเหมือนทุกวันนี้

http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=25

ภาพตู้เสบียงรถไฟดำเนินการโดยทีมงานจากโรงแรมรถไฟหัวหิน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 12 ก.พ. 19, 20:41

 เห็นเครื่องแบบพนักงานรถไฟแล้วนึกได้ว่า บริกรที่โรงแรมรถไฟก็แต่งตัวแบบนี้คือสวมเสื้อนอกคอปิด คล้ายๆเสื้อราชปะแตน  สีขาว และกางเกงขายาว ดูโก้และเรียบร้อยมากค่ะ
 ข้าวผัดรถไฟเป็นอาหารจานหลักสำหรับผู้โดยสารทั้งผู้ใหญ่และเด็ก    จำได้ว่าเป็นข้าวผัดกับซอสมะเขือเทศจนเป็นสีชมพูทั้งจาน     ใส่หมูหั่นชิ้นเล็กๆ    ไม่ใช่ข้าวผัดซีอิ๊ว แล้วเอามะเขือเทศหั่นเป็นชิ้นๆประดับจาน   ผักกินกับข้าวผัดมีแตงกวาสดและต้นหอม
 ความที่ชอบข้าวผัดรถไฟ  กลับมาบ้าน   แม่ก็เลยทำข้าวผัดซอสมะเขือเทศให้กินเป็นประจำ   เป็นซอสอย่างที่อเมริกาเรียกว่า ketchup ค่ะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 12 ก.พ. 19, 20:54

    เนื่องจากหัวหินอยู่ไกล   คนไปพักผ่อนที่หัวหินจึงไปกันทีละหลายๆวัน ไม่งั้นไม่คุ้ม   บางครอบครัวก็ไปอยู่เป็นเดือน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีบ้านของตนเอง     บ้านเหล่านี้อยู่ริมหาดเรียงรายกันไปตั้งแต่สุดเขตวังไกลกังวล ไปจนถึงเขาตะเกียบ  แต่ละบ้านมีเนื้อที่กันคนละมากๆ   เกือบทั้งหมดเป็นบ้านไม้ เพราะปลูกอยู่ริมทะเล ไม้จะทนความชื้นได้ดีกว่า   มักเป็นบ้านใต้ถุนสูงสามารถจัดเป็นห้องนั่งเล่นที่ใต้ถุนได้ค่ะ  ลมโกรกสบาย
   ยุคนั้นไม่มีสระว่ายน้ำ    ไปเที่ยวทะเลจึงหมายถึงเล่นน้ำทะเลอย่างเดียว    น้ำทะเลในยุคนั้นใสสะอาด แม้ว่าเป็นน้ำเค็ม แต่ก็ไม่เหนียวจากน้ำมันหรือสารเคมี   จะเหนียวก็เหนียวตัวจากเกลือในทะเลเท่านั้นค่ะ  ต้องขึ้นมาอาบน้ำในห้องน้ำอีกที   อ้อ ! เครื่องทำน้ำอุ่นก็ไม่มี   ยังอาบน้ำเย็นจากฝักบัวกันอยู่นะคะ
   เมื่อลงเล่นน้ำในทะเล  ก็ไม่มีข้อบังคับว่าจะต้องสวมชุดว่ายน้ำ  บางคนก็ลงทั้งเสื้อเชิ้ตและกางเกงขาสั้น     นี่พูดถึงเด็กๆ   ถ้าเป็นหนุ่มๆสาวๆก็แต่งแฟชั่นกันมาเดินกันเฉิดฉายอยู่เต็มชายหาด   

   ติดกับโรงแรมรถไฟมีบังกะโลของโรงแรม สร้างอยู่หลายหลัง ให้เช่าสำหรับคนที่มากันเป็นครอบครัวใหญ่ เพราะเนื้อที่รองรับได้มากกว่าห้องซึ่งเหมาะกับครอบครัวเล็กๆ หรือคู่สามีภรรยาหนุ่มสาว      ถนนทอดไปสู่ถนนสายใหญ่มีรถขายของที่ระลึกเล็กๆน้อย โดยมากทำจากเปลือกหอยให้ซื้อกลับไปเป็นของที่ระลึก     ที่ชอบมากคือสร้อยข้อมือเล็กๆ ห้อยหอยทับทิมเลี่ยมนาก  ราคาถูกพอจะซื้อไปฝากเพื่อนฝูงได้
   หอยทับทิมเป็นเสน่ห์ทางธรรมชาติอีกอย่างของชายหาดหัวหิน  คู่กับเม็ดมะกล่ำตาหนูที่ขึ้นเองอยู่แถวหาดใกล้เขาตะเกียบ      ตอนเด็กๆ ไปเก็บหอยทับทิมที่ชายหาดมาได้มากมายเป็นขวด เอากลับมากรุงเทพ   มีสีน้ำตาล เทา ที่สวยที่สุดคือสีชมพู     ส่วนเม็ดมะกล่ำสีแดงสดตัดกับดำ  สีสันสดราวกับใครระบายสีเอาไว้   เอามาฝ่ากเพื่อนไว้เล่นอีตักได้สนุกพอๆกับหอยทับทิม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 12 ก.พ. 19, 20:57

หอยทับทิมกับเม็ดมะกล่ำตาหนู


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 13 ก.พ. 19, 10:18

   อาหารเช้าในโรงแรมรถไฟก็มี   แต่ไม่เป็นที่นิยม   ธรรมเนียมของชาวกรุงคือพอเช้าตื่นขึ้นมา จะกินอาหารเช้าต้องเดินไปที่ตลาดฉัตรไชย   ซึ่งคึกคักที่สุด  มีแต่คนกรุงเทพเดินขวักไขว่ไปมาริมถนนสายใหญ่  ร้านอาหารมีมากมาย ส่วนใหญ่เป็นร้านแบบจีนที่มีโต๊ะเก้าอี้ตั้งเป็นหมู่ๆ 
   อาหารเช้าขึ้นชื่อคือโจ๊กร้อนๆ ควันขึ้นฉุย    และปาท่องโก๋อันเล็กๆ กินกับโจ๊ก  คนขายเป็นเด็กน้อยชาวหัวหินที่จะเข้ามาขายสินค้าถึงโต๊ะ  มีของที่ระลึกเล็กๆน้อยๆมาขายด้วยค่ะ   
   กินเสร็จแล้วก็เตร็ดเตร่กันไปเดินดูร้านรวงแถวนั้น  มีสินค้าพื้นเมืองขายอย่างพวกหอยดอง น้ำปลา กะปิ กุ้งแห้ง อะไรพวกนี้    ร้านหน้าตาโก้ๆอย่างในเมืองหลวงไม่มี    เสื้อยืดพิมพ์ลายก็ยังไม่มีใครผลิต     ชาวหัวหินยังดำเนินชีวิตตามแบบเดิมๆ เว้นแต่ว่านักท่องเที่ยวจะมาทำให้คึกคักขึ้นในฤดูร้อน     พอถึงกลางเดือนพฤษภาคม   เปิดเทอม  ชาวกรุงกลับกันหมด    หัวหินก็กลับเข้าสู่สภาพสงบเงียบเหมือนเดิม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 13 ก.พ. 19, 10:27

ตลาดฉัตรไชย


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12603



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 13 ก.พ. 19, 11:48

เมื่อถึงหัวหิน รถไฟค่อยๆชะลอจอดที่สถานี    ในฤดูตากอากาศจะมีคนยืนเดินกันเต็มสถานั  ส่วนหนึ่งมารับผู้โดยสาร   อีกส่วนมาเตร็ดเตร่ดูเฉยๆ ว่าเที่ยวนี้มีใครจากกรุงเทพมาบ้าง     เจอคนรู้จักก็จะเอะอะเฮฮาดีใจทักทายกัน  

ชาวหัวหินยังดำเนินชีวิตตามแบบเดิมๆ เว้นแต่ว่านักท่องเที่ยวจะมาทำให้คึกคักขึ้นในฤดูร้อน     พอถึงกลางเดือนพฤษภาคม   เปิดเทอม  ชาวกรุงกลับกันหมด    หัวหินก็กลับเข้าสู่สภาพสงบเงียบเหมือนเดิม

ป. อินทรปาลิตได้แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ไว้ในหัสนิยาย "พล นิกร กิมหงวน" ตอน "มนต์รักที่หัวหิน" ว่า

"บริเวณสถานีมีชาวพระนครพวกเศรษฐีมหาเศรษฐีราว ๒๐ คนเดินเกร่ไปมาคอยเบ่งกับผู้ที่มารถเที่ยวนี้ ถ้ารู้จักกันก็จะได้ทักทายกันอวดว่าฉันก็มาหัวหินเหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักกันก็จะเบ่งหรือปั้นปึ่งเข้าหากัน หัวหินเป็นที่รวมของเศรษฐีหรือคนชั้นสูงแน่นอนละ คนจนย่อมไม่มีโอกาสที่จะไปพักผ่อนตากอากาศได้ เพราะค่าใช้จ่ายวันหนึ่งรวมค่าที่พักและอาหารในราว ๓๐๐ บาทต่อ ๒ คน อย่างไรก็ตาม หัวหินไม่ได้มีความหมายอะไรสำหรับชาวหัวหินอันแท้จริงเลย นอกจากชาวหัวหินนึกขบขัน และสมเพชเวทนาพวกเศรษฐีชาวกรุงที่เบ่งเข้าหากัน พยายามโอ้อวดว่าตนร่ำรวยกว่าคนอื่น"

http://www.samgler.com/archives/book105.pdf หน้า ๒๐
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 13 ก.พ. 19, 12:02

   ข้อเท็จจริงคือ  นักท่องเที่ยวชาวกรุงช่วยให้เศรษฐกิจของชาวหัวหินดีขึ้นมากในฤดูร้อน    ไม่ได้ก่อความเสียหายอย่างใดเลยกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน     
   ความเดือดร้อนไม่มี เพราะชาวกรุงไม่ใช่นักปล้น จี้ หรือต้มตุ๋นที่ชาวบ้านจะต้องระวังอันตราย     
   ชาวกรุงมาอยู่ในระยะสั้นแค่ 2-3 เดือน จึงไม่ได้เผยแพร่วัฒนธรรมความเป็นอยู่ใดๆให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ชาวบ้าน   
   ชาวกรุงมาทำให้รายได้ชาวบ้านดีขึ้นมาก   ตั้งแต่ชาวประมง พ่อค้าแม่ค้า  ร้านอาหาร แม้แต่คนทำงานบริการตั้งแต่คนถีบสามล้อไปจนคนเก็บเปลือกหอยที่ชายหาด  ก็มีรายได้เพิ่ม      เด็กๆมีรายได้จากการให้เช่าห่วงยาง และม้าแกลบ 
    ดังนั้นชาวกรุงจึงเห็นแต่รอยยิ้มของชาวบ้านไม่ว่าจะย่างกรายไปทางไหน
   เพราะฉะนั้น   เรื่องชาวบ้านจะมาหัวเราะเยาะสมเพชเวทนาเศรษฐีชาวกรุง   จึงมีอยู่ในนิยายของป.อินทรปาลิตมากกว่าในความเป็นจริง   
    ถ้ามีจริงก็น่าจะเป็นชาวบ้านที่ไม่สนใจทำมาหากิน มีเวลาว่างมาเดินดูผู้คนที่สถานีรถไฟทั้งๆไม่ได้มารับใคร  แล้วนึกนินทาคนที่ทำอย่างเดียวกันเพียงแต่รวยกว่า    ซึ่งน่าจะจัดเป็นพวกมีปัญหามากกว่าคนปกติ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.07 วินาที กับ 18 คำสั่ง