เรือนไทย

General Category => ทันกระแส => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.พ. 19, 20:48



กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.พ. 19, 20:48
เคยขึ้นรถไฟไปหัวหินค่ะ  ตอนปิดเทอม  เป็นความนิยมในสมัยนั้นที่จะไปพักผ่อนทีละหลายๆวันที่ชายทะเล    ตั้งแต่หนึ่งสัปดาห์ไปจนเป็นเดือน 
เส้นทางรถไฟเป็นเส้นทางสะดวกที่สุด   เดินทางโดยรถยนต์ในตอนนั้นลำบากกว่ามาก  เพราะทางหลวงระหว่างจังหวัดยังขรุขระอยู่หลายช่วง    ถ้ารถไปเสียกลางทางหรือยางแตก ระหว่างจังหวัด ก็ถือว่าเป็นเคราะห์กรรมอย่างหนักทีเดียว   รถไฟจึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุด
ออกเดินทาง 7 โมงเช้า ถึงหัวหินตอนบ่ายโมง

เส้นทางนอกหน้าต่าง ไม่ค่อยสนุกนักสำหรับเด็ก  เพราะพอพ้นสถานีหัวลำโพงได้ไม่นานก็ออกชานเมือง    ไม่เห็นอะไรนอกจากทุ่งนา ซ้ำๆซากๆ   มีวัดเล็กๆประปราย   บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นกระต๊อบหลังคามุงจาก   มีกอไผ่และต้นตาลขึ้นอยู่กลางทุ่งนา
ที่จำได้คือยิ่งไกลกรุงเทพก็ยิ่งเห็นแต่แนวต้นมะขามเทศข้างทางรถไฟ  บังทิวทัศน์จนหมด

รถไฟหยุดที่นครปฐม  มองเห็นองค์พระปฐมเจดีย์สีเหลืองอร่ามแต่ไกล    พอรถจอดคนขายไก่ปิ้งเสียบไม้มองเห็นไก่ทาขมิ้นสีเหลืองอ๋อย  ก็แบกถาดเดินกันว่อนที่ชานชาลา  ซื้อขายกันทางหน้าต่าง   นอกจากนี้ยังมีโอเลี้ยงหรือกาแฟดำ ใส่กระป๋องนมเจาะฝามีเชือกร้อยให้สั่งได้อีกด้วย
ภาชนะอีกอย่างคือกระทงใบตองมีฝาปิด   จำไม่ได้ว่าใส่อะไร อาจจะข้าวเปล่า

อาหารที่อร่อยอีกอย่างคือข้าวผัดรถไฟค่ะ   ขายโดยพนักงานรถไฟ


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.พ. 19, 20:55
  เมื่อถึงหัวหิน รถไฟค่อยๆชะลอจอดที่สถานี    ในฤดูตากอากาศจะมีคนยืนเดินกันเต็มสถานั  ส่วนหนึ่งมารับผู้โดยสาร   อีกส่วนมาเตร็ดเตร่ดูเฉยๆ ว่าเที่ยวนี้มีใครจากกรุงเทพมาบ้าง     เจอคนรู้จักก็จะเอะอะเฮฮาดีใจทักทายกัน  
   เพราะในยุคนั้น   หัวหินในฤดูร้อนตั้งแต่มีนา-พฤษภา  คือกรุงเทพขนาดย่อมๆยกมาตั้งที่นั่นด้วยฝีมือชาวกรุง ที่พาลูกหลานมาเที่ยวทะเล      หลายคนมีบ้านพักอยู่ริมทะเลตั้งแต่ย่างเข้าตัวอำเภอไปจนเขาตะเกียบ    เจ้าของบ้านใจกว้างให้ญาติเพื่อนฝูงยืมบ้านอยู่กันได้ด้วย    แต่บางครอบครัวไม่อยากขอยืมบ้านใคร ก็ไปพักที่โรงแรมรถไฟ ซึ่งใหญ่สุดในหัวหิน    ถนนทางเข้ามีช้างตัดจากต้นไม้ใหญ่ยืนคร่อมถนนให้รถลอดเข้าไปได้   ตัวโรงแรมยังเป็นแบบเก่าตั้งแต่แรกสร้าง  แต่ตอนที่ไปพัก ปีกใหม่เริ่มสร้างเพิ่มเติมแล้วค่ะ   เป็นตึกยาวๆหลายชั้น  ทาสีอ่อนๆดูโปร่งสบายสมัยใหม่กว่าตึกเก่า  แต่ไม่คลาสสิคเท่า


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.พ. 19, 21:02
โรงแรมรถไฟในอดีต   ปัจจุบันคือเซนทารา


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.พ. 19, 07:02
โรงแรมรถไฟ ซึ่งใหญ่สุดในหัวหิน    ถนนทางเข้ามีช้างตัดจากต้นไม้ใหญ่ยืนคร่อมถนนให้รถลอดเข้าไปได้   ตัวโรงแรมยังเป็นแบบเก่าตั้งแต่แรกสร้าง  แต่ตอนที่ไปพัก ปีกใหม่เริ่มสร้างเพิ่มเติมแล้วค่ะ   เป็นตึกยาวๆหลายชั้น  ทาสีอ่อนๆดูโปร่งสบายสมัยใหม่กว่าตึกเก่า  แต่ไม่คลาสสิคเท่า

ภาพจาก https://www.facebook.com/100006451285576/posts/2475329869358698?sfns=mo


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 12 ก.พ. 19, 07:54
ขึ้นรถไฟไปหัวหินที่สุดของแจ้ของผมแล้ว  :'( เคยอ่านในนิยายเรื่องปริศนาแล้วชอบจังเลย ถ้ามีข้อมูลลงมาเยอะๆ เลยนะครับ


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.พ. 19, 12:36
 อาคารดั้งเดิมของโรงแรมรถไฟ ไม่ติดเครื่องปรับอากาศ  (สมัย 50+ ปีก่อน แอร์หายากมาก)  เป็นห้องเพดานสูง  ประตูกว้างใหญ่เปิดออกไปสู่เฉลียงด้านหลัง   อากาศถ่ายเทได้สะดวก   มีพัดลมเพดานระบายความร้อน
 เตียงนอนยังมีมุ้งแบบกระโจมคลุมอยู่เลยค่ะ   ตอนเย็นๆพนักงานซึ่งแต่งเครื่องแบบโก้จะมากางมุ้งให้    ทุกห้องมีห้องน้ำในตัว ปูกระเบื้องขาวทั้งผนังและพื้น ซึ่งเป็นแบบฉบับห้องน้ำชั้นดีในยุคนั้น 

 ชั้นล่างแบ่งเป็นห้องๆ เป็นห้องนั่งเล่นก็มี  ในนั้นมีเปียโนที่ใครจะเข้าไปเล่นก็ได้    เด็กๆมักไม่อยู่ในโรงแรม  พอไปถึงก็เปลี่ยนเสื้อสวมชุดว่ายน้ำ  เด็กผู้ชายบางคนก็นุ่งกางเกงขาสั้น วิ่งออกจากห้องลงบันไดไปทางด้านหลังซึ่งหันไปทางทะเล    ตรงนั้นมีสนามกอล์ฟเล็ก สำหรับเด็กๆ เล่นตีกอล์ฟไปเข้าปลายทางซึ่งสร้างเป็นอาคารจำลองเล็กๆเหมือนบ้านตุ๊กตา  น่ารักมาก   มีอาคารโรงแรมจำลองด้วยค่ะ
 จากตรงนั้นก็มีทางเดินตัดตรงไปชายหาด  มีเขื่อนหินกั้นเอาไว้เหมือนกันน้ำทะเลไม่ให้ขึ้นมาถึง  แต่ก็ไม่เคยเห็นคลื่นขึ้นสูงจนถึงสักที
  หาดทรายที่หัวหินขาวละเอียดเหมือนแป้ง    เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ชายทะเลอื่นไม่มี   แม้ว่ามีโขดหินระเกะระกะอยู่ในทะเลช่วงริมหาดหน้าโรงแรม   คนก็ยังนิยมลงเล่นน้ำกันมาก   หาดที่นี่ลาดลงไปพอที่เด็กจะลงไปเล่นได้ตามสบาย  หาดไม่เทลึกลงไป จนเป็นอันตรายอย่างบางแห่ง  คลื่นก็ไม่แรง 
  ในฤดูร้อน ฟ้าใสสะอาด มีเมฆขาวเหมือนปุยนุ่นทั้งวัน   น้ำทะเลใสสะอาด   แดดจัดแต่ลมทะเลแรง   จนลอยคออยู่ในน้ำใสเย็นได้นานเป็นช.ม.ๆ  กว่าจะรู้ว่าแดดเผาผิวไหม้ก็ต่อเมื่อขึ้นจากน้ำมาแล้ว    ผิวลอกเป็นแผ่นๆปวดแสบปวดร้อน นอนหลังไหล่ระบมทั้งคืน เพราะสมัยนั้นครีมกันแดดยังไม่มีขาย  หรือต่อให้มีก็ไม่รู้ว่าขายที่ไหน


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.พ. 19, 20:02
ผมรู้จักชื่อหัวหินมานาน แต่ไม่เคยไปจนกระทั่งประมาณปี 2510 จึงได้มีโอกาสไปเหยียบทรายชายหาด เพราะไปออกภาคสนามเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพทางธรณ๊วิทยาของประเทศไทย   ต่อมาในช่วง 2520+ จึงได้มีโอกาสไปพักบังกาโลของโรงแรมรถไฟ ต่อมาอีกเกือบ 10 ปี จึงไปพักในตัวโรงแรม  แล้วก็มีโอกาสได้ไปอีกครั้งหนึ่งเมื่อได้มีการปรับปรุงให้ทันสมัย 

ก็ดังที่ อ.เทาชมพู ว่าไว้  ลักษณะเด่นๆทางสถาปัตยกรรม ก็คือเป็นอาคารที่ห้องมีเพดานสูง (คะเนว่า ถึงประมาณ 3.50 เมตร +/- ใกล้เคียง) เหนือประตูและหน้าต่างมีช่องลมระบายอากาศเป็นไม้ฉลุลาย  กลอนประตูหน้าต่างมีความยาวน่าจะประมาณ 30 ซม. เป็นแบบกลอนโบราณ ห้องนอนใหญ่มากพอที่จะทำให้รู้สึกวังเวงเมื่อนอนคนเดียว ห้องน้ำก็ใหญ่มากพอที่ทำให้รู้สึกออกไปทางโป้งโล้ง

ในวัยเด็กของผม รู้จักและมีความรู้สึกคุ้นเคยกับบางแสนมากกว่าหัวหิน  เมื่อจบแลัว เข้าทำงานแล้ว ก็ยังได้รับภารกิจแรกๆในพื้นที่แถบนั้น เลยทำให้มีความรู้สึกคุ้นเคยมากกว่า   


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.พ. 19, 20:07
อาหารที่อร่อยอีกอย่างคือข้าวผัดรถไฟค่ะ   ขายโดยพนักงานรถไฟ

ข้าวผัดรถไฟดูจะมีความเกี่ยวข้องกับโรงแรมรถไฟหัวหินอยู่บ้าง คุณวีมีเขียนไว้ใน พันทิป (https://pantip.com/topic/33218670#7) ว่า

สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง  การบริการอาหารในรถเสบียงดำเนินการโดยทีมงานจากโฮเต็ลรถไฟหัวหินซึ่งเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งของประเทศไทยในเวลานั้น  โดยครัวของโรงแรมรถไฟมีคุณหญิงเบอร์ธา เดชานุชิต (เบอร์ธา  บุนนาค) ภรรยาพระยาเดชานุชิต (หนา  บุนนาค) เป็นผู้ดูแล  

บริการรถไฟไทยในยุคนั้นได้ชื่อว่าเป็นเลิศเลยทีเดียว  ถึงขนาดมีนักเขียนชาวอังกฤษชื่อดังเขียนเผยแพร่ในคู่มือนำเที่ยวที่แพร่หลายไปทั่วโลกว่า นั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปสิงคโปร์  ตลอดเวลาที่รถไฟแล่นในดินแดนไทย  น้ำที่รินไว้ในแก้วมีอาการกระฉอกเลย  แต่พอเข่าเขตแดนมลายูซึ่งรถไฟบริหารงานโดยชาวอังกฤษ  กลับเห็นได้ชัดว่าน้ำในแก้วมีอาการกระเพื่อมขึ้นลงตลอดเวลา


ตำนานข้าวผัดรถไฟ ผูกพันกับเส้นทางเดินรถไฟจากบางกอกน้อยถึงหัวหินอย่างเหนียวแน่น  ด้วยระยะทาง ๒๑๒.๙๕ กิโลเมตร จากธนบุรีถึงหัวหินในสมัยนั้นกินเวลายาวนานถึง ๕ ชั่วโมง ทำให้กรมรถไฟหลวงจัดบริการตู้รถขายอาหาร (บกข.)  ซึ่งมีที่นั่งสำหรับนั่งรับประทานอาหารพ่วงกับขบวนรถโดยสาร จัดบริการในรถเสบียง ลูกค้าส่วนใหญ่ก็คือผู้มีฐานะดี ซึ่งนิยมไปตากอากาศและตีกอล์ฟที่โรงแรมรถไฟหัวหินในช่วงวันสุดสัปดาห์นั่นเอง

รายการอาหารจะเน้นหนักไปทางอาหารสากล ซึ่งต้องนั่งรับประทานให้เรียบร้อย เนื่องด้วยมีอุปกรณ์บนโต๊ะมากมาย ส่วนอาหารไทยจะใส่ถาดเป็นชุด ๆ และนำไปให้ถึงที่นั่ง และการเตรียมอาหารของรถ บกข.นี้ จะเตรียมไว้เพียงพอกับจำนวนของผู้โดยสารที่ขึ้นและลงที่หัวหินเท่านั้น

ในส่วนของอาหารไทยที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในยุคนั้น ต้องยกให้ "ข้าวผัดรถไฟ" ซึ่งกินคู่กับ "ยำเนื้อรถไฟ" แล้วรสชาติส่งเสริมกันพอดี เมนูคู่นี้จึงกลายเป็นตำนานอาหารจานพิเศษมาตั้งแต่บัดนั้น

เครื่องปรุงที่นำมาใช้ทำข้าวผัดรถไฟ อย่างเช่น เนย กุนเชียง ถั่วลันเตา ซอสมะเขือเทศ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด อาหารจานนี้จึงไม่ใช่อาหารธรรมดาที่หากินได้ทั่วไปเหมือนทุกวันนี้

http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=25

ภาพตู้เสบียงรถไฟดำเนินการโดยทีมงานจากโรงแรมรถไฟหัวหิน


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.พ. 19, 20:41
 เห็นเครื่องแบบพนักงานรถไฟแล้วนึกได้ว่า บริกรที่โรงแรมรถไฟก็แต่งตัวแบบนี้คือสวมเสื้อนอกคอปิด คล้ายๆเสื้อราชปะแตน  สีขาว และกางเกงขายาว ดูโก้และเรียบร้อยมากค่ะ
 ข้าวผัดรถไฟเป็นอาหารจานหลักสำหรับผู้โดยสารทั้งผู้ใหญ่และเด็ก    จำได้ว่าเป็นข้าวผัดกับซอสมะเขือเทศจนเป็นสีชมพูทั้งจาน     ใส่หมูหั่นชิ้นเล็กๆ    ไม่ใช่ข้าวผัดซีอิ๊ว แล้วเอามะเขือเทศหั่นเป็นชิ้นๆประดับจาน   ผักกินกับข้าวผัดมีแตงกวาสดและต้นหอม
 ความที่ชอบข้าวผัดรถไฟ  กลับมาบ้าน   แม่ก็เลยทำข้าวผัดซอสมะเขือเทศให้กินเป็นประจำ   เป็นซอสอย่างที่อเมริกาเรียกว่า ketchup ค่ะ


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.พ. 19, 20:54
    เนื่องจากหัวหินอยู่ไกล   คนไปพักผ่อนที่หัวหินจึงไปกันทีละหลายๆวัน ไม่งั้นไม่คุ้ม   บางครอบครัวก็ไปอยู่เป็นเดือน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีบ้านของตนเอง     บ้านเหล่านี้อยู่ริมหาดเรียงรายกันไปตั้งแต่สุดเขตวังไกลกังวล ไปจนถึงเขาตะเกียบ  แต่ละบ้านมีเนื้อที่กันคนละมากๆ   เกือบทั้งหมดเป็นบ้านไม้ เพราะปลูกอยู่ริมทะเล ไม้จะทนความชื้นได้ดีกว่า   มักเป็นบ้านใต้ถุนสูงสามารถจัดเป็นห้องนั่งเล่นที่ใต้ถุนได้ค่ะ  ลมโกรกสบาย
   ยุคนั้นไม่มีสระว่ายน้ำ    ไปเที่ยวทะเลจึงหมายถึงเล่นน้ำทะเลอย่างเดียว    น้ำทะเลในยุคนั้นใสสะอาด แม้ว่าเป็นน้ำเค็ม แต่ก็ไม่เหนียวจากน้ำมันหรือสารเคมี   จะเหนียวก็เหนียวตัวจากเกลือในทะเลเท่านั้นค่ะ  ต้องขึ้นมาอาบน้ำในห้องน้ำอีกที   อ้อ ! เครื่องทำน้ำอุ่นก็ไม่มี   ยังอาบน้ำเย็นจากฝักบัวกันอยู่นะคะ
   เมื่อลงเล่นน้ำในทะเล  ก็ไม่มีข้อบังคับว่าจะต้องสวมชุดว่ายน้ำ  บางคนก็ลงทั้งเสื้อเชิ้ตและกางเกงขาสั้น     นี่พูดถึงเด็กๆ   ถ้าเป็นหนุ่มๆสาวๆก็แต่งแฟชั่นกันมาเดินกันเฉิดฉายอยู่เต็มชายหาด   

   ติดกับโรงแรมรถไฟมีบังกะโลของโรงแรม สร้างอยู่หลายหลัง ให้เช่าสำหรับคนที่มากันเป็นครอบครัวใหญ่ เพราะเนื้อที่รองรับได้มากกว่าห้องซึ่งเหมาะกับครอบครัวเล็กๆ หรือคู่สามีภรรยาหนุ่มสาว      ถนนทอดไปสู่ถนนสายใหญ่มีรถขายของที่ระลึกเล็กๆน้อย โดยมากทำจากเปลือกหอยให้ซื้อกลับไปเป็นของที่ระลึก     ที่ชอบมากคือสร้อยข้อมือเล็กๆ ห้อยหอยทับทิมเลี่ยมนาก  ราคาถูกพอจะซื้อไปฝากเพื่อนฝูงได้
   หอยทับทิมเป็นเสน่ห์ทางธรรมชาติอีกอย่างของชายหาดหัวหิน  คู่กับเม็ดมะกล่ำตาหนูที่ขึ้นเองอยู่แถวหาดใกล้เขาตะเกียบ      ตอนเด็กๆ ไปเก็บหอยทับทิมที่ชายหาดมาได้มากมายเป็นขวด เอากลับมากรุงเทพ   มีสีน้ำตาล เทา ที่สวยที่สุดคือสีชมพู     ส่วนเม็ดมะกล่ำสีแดงสดตัดกับดำ  สีสันสดราวกับใครระบายสีเอาไว้   เอามาฝ่ากเพื่อนไว้เล่นอีตักได้สนุกพอๆกับหอยทับทิม


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.พ. 19, 20:57
หอยทับทิมกับเม็ดมะกล่ำตาหนู


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.พ. 19, 10:18
   อาหารเช้าในโรงแรมรถไฟก็มี   แต่ไม่เป็นที่นิยม   ธรรมเนียมของชาวกรุงคือพอเช้าตื่นขึ้นมา จะกินอาหารเช้าต้องเดินไปที่ตลาดฉัตรไชย   ซึ่งคึกคักที่สุด  มีแต่คนกรุงเทพเดินขวักไขว่ไปมาริมถนนสายใหญ่  ร้านอาหารมีมากมาย ส่วนใหญ่เป็นร้านแบบจีนที่มีโต๊ะเก้าอี้ตั้งเป็นหมู่ๆ 
   อาหารเช้าขึ้นชื่อคือโจ๊กร้อนๆ ควันขึ้นฉุย    และปาท่องโก๋อันเล็กๆ กินกับโจ๊ก  คนขายเป็นเด็กน้อยชาวหัวหินที่จะเข้ามาขายสินค้าถึงโต๊ะ  มีของที่ระลึกเล็กๆน้อยๆมาขายด้วยค่ะ   
   กินเสร็จแล้วก็เตร็ดเตร่กันไปเดินดูร้านรวงแถวนั้น  มีสินค้าพื้นเมืองขายอย่างพวกหอยดอง น้ำปลา กะปิ กุ้งแห้ง อะไรพวกนี้    ร้านหน้าตาโก้ๆอย่างในเมืองหลวงไม่มี    เสื้อยืดพิมพ์ลายก็ยังไม่มีใครผลิต     ชาวหัวหินยังดำเนินชีวิตตามแบบเดิมๆ เว้นแต่ว่านักท่องเที่ยวจะมาทำให้คึกคักขึ้นในฤดูร้อน     พอถึงกลางเดือนพฤษภาคม   เปิดเทอม  ชาวกรุงกลับกันหมด    หัวหินก็กลับเข้าสู่สภาพสงบเงียบเหมือนเดิม


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.พ. 19, 10:27
ตลาดฉัตรไชย


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.พ. 19, 11:48
เมื่อถึงหัวหิน รถไฟค่อยๆชะลอจอดที่สถานี    ในฤดูตากอากาศจะมีคนยืนเดินกันเต็มสถานั  ส่วนหนึ่งมารับผู้โดยสาร   อีกส่วนมาเตร็ดเตร่ดูเฉยๆ ว่าเที่ยวนี้มีใครจากกรุงเทพมาบ้าง     เจอคนรู้จักก็จะเอะอะเฮฮาดีใจทักทายกัน  

ชาวหัวหินยังดำเนินชีวิตตามแบบเดิมๆ เว้นแต่ว่านักท่องเที่ยวจะมาทำให้คึกคักขึ้นในฤดูร้อน     พอถึงกลางเดือนพฤษภาคม   เปิดเทอม  ชาวกรุงกลับกันหมด    หัวหินก็กลับเข้าสู่สภาพสงบเงียบเหมือนเดิม

ป. อินทรปาลิตได้แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ไว้ในหัสนิยาย "พล นิกร กิมหงวน" ตอน "มนต์รักที่หัวหิน" ว่า

"บริเวณสถานีมีชาวพระนครพวกเศรษฐีมหาเศรษฐีราว ๒๐ คนเดินเกร่ไปมาคอยเบ่งกับผู้ที่มารถเที่ยวนี้ ถ้ารู้จักกันก็จะได้ทักทายกันอวดว่าฉันก็มาหัวหินเหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักกันก็จะเบ่งหรือปั้นปึ่งเข้าหากัน หัวหินเป็นที่รวมของเศรษฐีหรือคนชั้นสูงแน่นอนละ คนจนย่อมไม่มีโอกาสที่จะไปพักผ่อนตากอากาศได้ เพราะค่าใช้จ่ายวันหนึ่งรวมค่าที่พักและอาหารในราว ๓๐๐ บาทต่อ ๒ คน อย่างไรก็ตาม หัวหินไม่ได้มีความหมายอะไรสำหรับชาวหัวหินอันแท้จริงเลย นอกจากชาวหัวหินนึกขบขัน และสมเพชเวทนาพวกเศรษฐีชาวกรุงที่เบ่งเข้าหากัน พยายามโอ้อวดว่าตนร่ำรวยกว่าคนอื่น"

http://www.samgler.com/archives/book105.pdf หน้า ๒๐


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.พ. 19, 12:02
   ข้อเท็จจริงคือ  นักท่องเที่ยวชาวกรุงช่วยให้เศรษฐกิจของชาวหัวหินดีขึ้นมากในฤดูร้อน    ไม่ได้ก่อความเสียหายอย่างใดเลยกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน     
   ความเดือดร้อนไม่มี เพราะชาวกรุงไม่ใช่นักปล้น จี้ หรือต้มตุ๋นที่ชาวบ้านจะต้องระวังอันตราย     
   ชาวกรุงมาอยู่ในระยะสั้นแค่ 2-3 เดือน จึงไม่ได้เผยแพร่วัฒนธรรมความเป็นอยู่ใดๆให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ชาวบ้าน   
   ชาวกรุงมาทำให้รายได้ชาวบ้านดีขึ้นมาก   ตั้งแต่ชาวประมง พ่อค้าแม่ค้า  ร้านอาหาร แม้แต่คนทำงานบริการตั้งแต่คนถีบสามล้อไปจนคนเก็บเปลือกหอยที่ชายหาด  ก็มีรายได้เพิ่ม      เด็กๆมีรายได้จากการให้เช่าห่วงยาง และม้าแกลบ 
    ดังนั้นชาวกรุงจึงเห็นแต่รอยยิ้มของชาวบ้านไม่ว่าจะย่างกรายไปทางไหน
   เพราะฉะนั้น   เรื่องชาวบ้านจะมาหัวเราะเยาะสมเพชเวทนาเศรษฐีชาวกรุง   จึงมีอยู่ในนิยายของป.อินทรปาลิตมากกว่าในความเป็นจริง   
    ถ้ามีจริงก็น่าจะเป็นชาวบ้านที่ไม่สนใจทำมาหากิน มีเวลาว่างมาเดินดูผู้คนที่สถานีรถไฟทั้งๆไม่ได้มารับใคร  แล้วนึกนินทาคนที่ทำอย่างเดียวกันเพียงแต่รวยกว่า    ซึ่งน่าจะจัดเป็นพวกมีปัญหามากกว่าคนปกติ


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.พ. 19, 18:39
ขอย้อนไปเรื่องข้าวผัดรถไฟและเมนูอาหารอื่นๆ ครับ

ด้วยที่อยู่เชียงรายแต่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ จนกระทั่งเข้าสู่วัยรุ่นจึงได้ย้ายมาอยู่ในกรุงเทพฯ  ในช่วงชีวิตนั้นได้ทำให้ต้องเดินทางด้วยรถไฟช่วงสถานีนครเขลางค์ (ชื่อเรียกในสมัยนั้น) กับ สถานีหัวลำโพง (ชื่อเรียกในสมัยนั้นเช่นกัน) ไปมาอย่างย้อยก็ปีละ 2 ครั้ง บางปีก็ 4 หรือ 6 ครั้ง ใช้รถตู้นอนโท บางครั้งก็รถตู้นอนเอก เปิดสองห้องเชื่อมต่อกัน   ขาขึ้นจากกรุงเทพฯรถออกเวลาประมาณ 17 น. ขาล่องออกจากลำปางเวลาประมาณ 19 น.  ก็นั่งรถไฟสายเหนือนี้ตั้งแต่ยังใช้หัวจักรไอน้ำจนกระทั่งเริ่มใช้หัวจักรดีเซลไฟฟ้ายี่ห้อ Davenport ซึ่งในปัจจุบันนี้ยังคงเห็นใช้งานเป็นรถต่อตู้โบกี้ที่สถานีลำปางและอุตรดิตถ์ อายุของมันก็ประมาณ 60 ปีแล้ว  ก็มีหัวจักรหนึ่งไปตั้งโชว์อยู่ในตัวเมืองเชียงราย  คงจะเป็นการบอกว่าอีกไม่นานก็จะมีรถไฟแยกจากสถานีเด่นชัย (อ.เด่นชัย จ.แพร่) มายังเชียงราย อย่างที่คนเชียงรายได้รอคอยกันมาประมาณ 70 ปีแล้ว (ผมได้ยินเรื่องนี้มาตั้งแต่เมื่อเริ่มเรียนหนังสือ) ผมเองก็รอคอยด้วยเช่นกัน ก็ยังอุตส่าห์ปีนขึ้นไปดูภายในหัวจักรที่จอดโชว์อยู่นั้น ด้วยความสนใจเป็นอย่างยิ่ง


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.พ. 19, 19:20
อาหารรถไฟในยุคที่ความเจริญยังไปไม่ทั่วถึงหรืออย่างทัดเทียมกันนั้น จัดได้ว่าเป็นอาหารมีระดับเลยทีเดียว จานหลักที่นิยมสั่งกันก็ได้แก่ ข้าวผัดไข่ดาว ต้มยำกุ้ง และไข่เจียว   มีแต่ข้าวผัดไข่ดาวที่อยู่ยงต่อมาจนช่วงประมาณ 2510++  พร้อมๆกับต้มยำกุ้งที่ดูจะหายไป เช่นกันก็มียำเนื้อและเนื้อ/หมูผัดพริกแทรกเข้ามา 

ข้าวผัดรถไฟมีเอกลักษณ์อยู่บางอย่าง คือ ออกสีชมพูสวย มีเม็ดถั่วลันเตากระป๋องสีเขียวอยู่ประปราย มีแฮมและใส้กรอกหั่นเป็นชิ้นเล็ก โปะด้วยไข่ดาวที่ทอดแบบไข่ดาวอาหารเช้า (sunny side up) การผัดข้าวใช้ซอสมะเขือเทศ แล้วก็ยังมีซอสแมกกี้ใส่ในถ้วยเล็กวางมาในจานเพื่อปรับรสอีกด้วย  ไม่แน่ใจนักว่ามีแตงกวาและต้นหอมสดวางเคียงมาด้วยหรือไม่

ต้มยำกุ้ง เป็นแบบน้ำใสแต่มีความข้นพอดีด้วยมันในหัวกุ้ง ใช้กุ้งตัวขนาดพอดีๆประมาณนิ้วหัวแม่มือ เครื่องข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ก็มีความพิถีพิถันในการทุบและหั่นพอสมควร มิใช่สักแต่ว่าทำแบบขอไปที


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.พ. 19, 19:36
คงจะนึกภาพออกนะครับ ว่าอยู่บ้านก็ยังเกือบจะไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสอาหารที่ใช้เครื่องปรุงของฝรั่ง หรือได้ลิ้มรสกุ้งน้ำจืดตัวโตของภาคกลาง และสูตรการทำอาหารแบบผู้มีอันจะกิน   เหล่านี้ก็คงจะเป็นเหตุให้อาหารบนรถไฟสองเมนูนี้มีชื่อเป็นที่เลื่องลือ

อันที่จริงแล้ว ก็คล้ายกับการเอาเมนูอาหารอร่อยประเภทอาหารจานเดียวของโรงแรมราชธานี หัวลำโพง นำขึ้นไปทำบนรถเสบียงขายในขบวนรถไฟ  โรงแรมนี้ในสมัยหนึ่งนั้นจัดว่าเป็นพวกโรงแรมหรูทีเดียว   


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.พ. 19, 19:46
    เมื่อ 50+ ปีก่อน คำว่า "ตากอากาศ" ใช้กันแพร่หลาย เมื่อชาวกรุงยกโขยงไปพักที่ชายทะเล     ดูจากความหมายแล้วมันก็ตรงตัวจริงๆ     คือไม่มีใครเก็บตัวอยู่ในห้อง เปิดแอร์เปิดทีวีเหมือนสมัยนี้  (เนื่องจากทั้งสองอย่างยังไม่มีที่หัวหิน )
    ทุกคนอยู่ในห้องเฉพาะเวลานอน    พอตื่นก็ออกไปอยู่ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ชายทะเลกันตั้งแต่เช้าจนถึงมืดค่ำ    ไม่กลัวแดดแผดเผา   สาวๆ ผิวเกรียมแดดกลับกรุงเทพกันทั้งนั้น  โชว์ให้เห็นในทีว่า ไป "ตากอากาศ" มาแล้ว  
    คนไหนกลัวผิวเสียก็จะเลือกลงไปเล่นน้ำทะเลเมื่อแดดร่มลมตก ไปจนค่ำคืน    ไม่ต้องกลัวอันตรายใดๆ   ไม่เคยมีข่าวจี้ปล้น หรือแม้แต่วิ่งราว     อีกอย่าง คนที่ลงเล่นน้ำก็ลงกันเป็นกลุ่มใหญ่บ้างเล็กบ้าง   ไม่มีใครลงไปคนเดียว   บริเวณที่เล่นก็มักจะอยู่หน้าบ้านพักหรือหน้าโรงแรม ซึ่งไม่ใช่ที่เปลี่ยว
     พูดถึงอันตรายที่ชาวกรุงเจอจากทะเล มีอย่างเดียวคือจากแมงกะพรุนไฟ      แมงกะพรุนมีเยอะโดยเฉพาะเมื่อมีฝนลงในเดือนพฤษภาคม    มันจะถูกคลื่นซัดมานอนจมทรายอยู่ครึ่งๆ ที่ชายหาด  ตัวเป็นวุ้นสีขาวใสราวกับของเล่นพลาสติก    เด็กๆเจอเข้าก็จะโดดข้ามไปให้พ้น     แต่บางคนก็เอาไม้เขี่ยมันให้กลับลงทะเลไป
    แมงกะพรุนชนิดสีขาวไม่มีอันตราย แต่ชนิดสีแดงเรี่อๆเรียกว่าแมงกะพรุนไฟ  โดนเข้าปวดแสบปวดร้อน     ชาวหัวหินรู้ดีว่ารักษาอย่างไร   โดยมากบริกรของโรงแรมรถไฟนั่นแหละที่รู้ดี  คือใช้ผักบุ้งทะเล ผสมน้ำส้มสายชูราดถูไปมาให้พิษจางลงไป  


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: Mr.Fame ที่ 13 ก.พ. 19, 22:08
ขออนุญาตแสดงความเห็นหลังจากที่ตามอ่านเงียบๆ มานานครับ  ;D

พออ่านกระทู้นี้ในช่วงที่เกี่ยวกับความนิยมของชาวกรุงรุ่นคุณปู่คุณย่าในการไปตากอากาศที่หัวหิน ผมก็นึกถึงนวนิยายเรื่อง "เทวาพาคู่ฝัน" ของ ว. วินิจฉัยกุล ขึ้นมาทันทีเลยครับ เพราะจะมีตอนที่กล่าวถึงการไปเที่ยวตากอากาศที่หัวหินของคุณหญิงเกดและลูกๆ ซึ่งการบรรยายฉายให้เห็นภาพบรรยากาศดังกล่าวชัดเจนมากครับ

ปล. ชอบตอนพระเอกใช้หาดทรายหัวหิน ทั้งปลอบทั้งขู่นางเอกให้สารภาพความจริงเกี่ยวกับฐานะที่แท้จริงมากเลยครับ  ;)

ต้องขออนุญาตท่านเจ้าของบทประพันธ์ที่นำผลงานเขียนของท่านมากล่าวอ้างถึงในที่นี้ เพราะรู้สึกว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการสะท้อนภาพวิถีชีวิตของผู้ดีชาวกรุงในช่วงสมัยหนึ่งครับ  :)


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.พ. 19, 09:11
ขอบคุณที่จำได้ค่ะ


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ก.พ. 19, 09:28
อาหารรถไฟในยุคที่ความเจริญยังไปไม่ทั่วถึงหรืออย่างทัดเทียมกันนั้น จัดได้ว่าเป็นอาหารมีระดับเลยทีเดียว จานหลักที่นิยมสั่งกันก็ได้แก่ ข้าวผัดไข่ดาว ต้มยำกุ้ง และไข่เจียว   มีแต่ข้าวผัดไข่ดาวที่อยู่ยงต่อมาจนช่วงประมาณ 2510++  พร้อมๆกับต้มยำกุ้งที่ดูจะหายไป เช่นกันก็มียำเนื้อและเนื้อ/หมูผัดพริกแทรกเข้ามา 

ข้าวผัดรถไฟมีเอกลักษณ์อยู่บางอย่าง คือ ออกสีชมพูสวย มีเม็ดถั่วลันเตากระป๋องสีเขียวอยู่ประปราย มีแฮมและใส้กรอกหั่นเป็นชิ้นเล็ก โปะด้วยไข่ดาวที่ทอดแบบไข่ดาวอาหารเช้า (sunny side up) การผัดข้าวใช้ซอสมะเขือเทศ แล้วก็ยังมีซอสแมกกี้ใส่ในถ้วยเล็กวางมาในจานเพื่อปรับรสอีกด้วย  ไม่แน่ใจนักว่ามีแตงกวาและต้นหอมสดวางเคียงมาด้วยหรือไม่

ต้มยำกุ้ง เป็นแบบน้ำใสแต่มีความข้นพอดีด้วยมันในหัวกุ้ง ใช้กุ้งตัวขนาดพอดีๆประมาณนิ้วหัวแม่มือ เครื่องข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ก็มีความพิถีพิถันในการทุบและหั่นพอสมควร มิใช่สักแต่ว่าทำแบบขอไปที

ข้าวผ้ดรถไฟในความทรงจำของผมคือข้าวสีแดงๆ (เหมือนผัดกับซ๊อสเยนโตโฟมากกว่าซ๊อสมะเขือเทศ) มีเนื้อดำๆเหนียวหนึบสงสัยจะเนื้อควาย กับไข่ดาว บ๋อยจะเอาใส่ถาดมาทีละเยอะๆเดินขายไปทุกโบกี้ ระยะหลังๆผมคิดว่าคุณภาพต่ำลงมากแต่ก็เอื้อมมือไปหยิบมาทุกที แล้วก็หมดจานจริงๆด้วย

ตามที่ ป.อินทรปาลิตเขียน คนกรุงมีพวกขี้เบ่งเยอะก็จริง แต่คนหัวหินคงไม่ได้มีความรู้สึกดังที่บรรยาย ถ้าจะมีก็คนกรุงกับคนกรุงนี่แหละที่ขบขัน และสมเพชเวทนาพวกเศรษฐีชาวกรุงที่เบ่งเข้าหากัน พยายามโอ้อวดว่าตนร่ำรวยกว่าคนอื่น" นี่ว่าถึงสนามกอล์ฟเล็กตอนกลางคืนของโรงแรมรถไฟ ที่สาวผู้ดีชาวกรุงจะต้องนุ่งกางเกงขาสั้นจุ๊ดจู๋ไปเดินอวดโฉมให้พวกหนุ่มๆได้เห็นขาอ่อนชัดๆ  ปีแรกๆก็เบ่งไปเบ่งมาเรียกความสนใจจากสาว แต่ไม่ค่อยมีเรื่อง
หลังๆสังคมมันเปลี่ยน เห็นว่ามีตีกันแทบทุกคืน พ่อแม่ไม่อนุญาตให้ลูกสาวไปเที่ยวเดินเล่นอีก กิจการสนามกอล์ฟเล็กเลยเจ้งไป


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.พ. 19, 09:45
    ขอต้อนรับท่านอาจารย์ใหญ่กว่ามาฟื้นความหลังค่ะ
    หัวหินยังรุ่งเรืองเฟื่องฟูในช่วง 2500s  เป็นช่วงที่เหล่าเบบี้บูมเมอร์(หมายถึงเด็กที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) เข้าสู่วัยรุ่น    หัวหินเป็นความฝันของหนุ่มสาวเหล่าวัยรุ่นว่าจะต้องไปให้เห็นจนได้อย่างน้อยหนึ่งครั้ง  หรือเห็นหนึ่งครั้งแล้วก็ต้องมีหนสอง หนสามอีกจนได้
    บริเวณชายหาดหน้าโรงแรมรถไฟ มีบาร์ มีเพลง โต๊ะ เก้าอี้ผ้าใบ ให้นั่งจิบเครื่องดื่ม  คุยกัน เฮกัน ในเวลาเย็นแดดร่มลมตก   ใครอยากเจอคนรู้จักก็ไปกันตรงนี้แหละค่ะ    เดี๋ยวๆก็ต้องเจอเพื่อนร่วมโรงเรียน  เพื่อนต่างโรงเรียน  เพื่อนบ้าน  ญาติใกล้ชิดหรือญาติห่างๆ    ยังไงก็ต้องเจอไม่ใครก็ใครเข้าสักคน 
    สักพักก็ลงเล่นน้ำทะเลกัน     สระว่ายน้ำในโรงแรมยังไม่มี    จะสร้างทำไมในเมื่อทะเลน่าเล่นกว่าเป็นไหนๆ  น้ำทะเลเขียวครามใสดูสะอาด  ฟองคลื่นขาว ทรายนุ่มเท้า    โต้คลื่นมันสนุกอย่าบอกใครเชียว 
    ริมหาดมีเด็กเอาห่วงยางในของรถยนต์มาให้เช่าด้วยค่ะ   นอกจากนี้ก็มีม้าแกลบให้ขี่เป็นรายช.ม.   อย่างหลังนี้ปัจจุบันก็ยังมีอยู่     
    ตอนพิมพ์ข้อความ ยังแว่วเสียงเพลงของเอลวิสกลับมาจากวันวานอยู่เลยค่ะ   

   


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.พ. 19, 09:52
https://www.youtube.com/watch?v=oJicfKZ-aBk


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.พ. 19, 09:55
https://www.youtube.com/watch?v=AMF0Wuk8x0c


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.พ. 19, 10:14
   พอพ้นวัยรุ่นเข้าสู่วัยเรียนหนัก สู่วัยทำงาน และมีครอบครัว   ก็ไม่ได้กลับไปหัวหินอีกนานหลายปีมาก  จนกระทั่งวันหนึ่งนึกขึ้นมาได้ว่าน่าจะพาลูกไปรู้จักหัวหินไว้บ้าง    ก็เลยตกลงใจไปกันทั้งครอบครัว  ขับรถไปอย่างสะดวกสบาย ไม่ต้องพึ่งรถไฟแล้ว
   จองโรงแรมรถไฟแห่งเดิม ด้วยความหวังว่าจะพาลูกไปรู้จักบรรยากาศเดิมๆ   พบว่าโรงแรมรถไฟเปลี่ยนชื่อไปแล้ว แต่อาคารเดิมยังอยู่   
   บรรยากาศเดิมเกือบไม่เหลืออยู่   หาดทรายหน้าโรงแรมว่างเปล่า   ไม่มีบาร์ ไม่มีดนตรีหรือนักท่องเที่ยว   หัวหินเหงาเงียบ   
  คืนนั้นลงจากห้องเดินไปที่เขื่อนริมหาด  ทุกอย่างว่างเปล่า  ค่อนข้างมืด   ไม่มีผู้คนให้เห็น  มีแต่เสียงคลื่นซัดหาดเบาๆ   ทั้งๆเป็นคืนเดือนเพ็ญ แต่ใจกลับไปนึกถึงหนัง thriller มากกว่าหนังโรแมนติค จนต้องเดินกลับห้องอย่างเซ็งๆ
   ช่วงนั้นเป็นช่วงที่พัทยาเฟื่องฟูขึ้นมาแทนที่    บรรยากาศคึกคักมีแสงสีกว่ามาก    นักท่องเที่ยวก็เลยไปทางโน้นกันเป็นส่วนใหญ่
   นานกว่าสองทศวรรษ จึงกลับไปอีก   คราวนี้หัวหินค่อยกลับมาสู่ชีวิตชีวาอีกครั้ง แต่ก็เปลี่ยนไป ตึกรามบ้านช่องเยอะมาก    ไม่เหมือนเดิมอีกแล้วค่ะ


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ก.พ. 19, 10:48
ชายหาดหัวหินเมื่อปีชื่นเดือนสุข  ;D

พอแดดอ่อนหลังจาก ๑๖.๓๐ น. ล่วงแล้ว ชายหาดหัวหินก็คราคร่ำไปด้วยหนุ่มสาว ชาวพระนครที่ล้วนแต่เป็นเศรษฐีเดินกรีดกรายหาหอย, เก็บหอย บ้างก็นั่งสนทนากันเป็นคู่ ๆ บ้างก็ขี่ม้าเล่น เด็ก ๆ ชาวหัวหินนำม้ามาให้เช่าขี่ชั่วโมงละ ๑๐ บาท นอกจากนี้ยังมียางในรถยนต์บรรทุกสูบลมเต็มที่มาให้เช่าชั่วโมงละ ๓ บาท บาร์ลอยน้ำหน้าโรงแรมเต็มไปด้วยชาวพระนคร ผู้ชายสวมเสื้อฮาวายลวดลายต่าง ๆ วางท่าทางให้ภาคภูมิสมเป็นคนมีเงิน พวกผู้หญิงสวมเสื้อกางเกงอาบน้ำฟิตเปรี๊ยะ เห็นส่วนเว้าส่วนโค้งถนัดตาเป็นที่น่าเสียวไส้ยิ่งนัก

ห่างจากเขื่อนหน้าโรงแรมไปทางใต้เป็นที่อาบน้ำเพราะปราศจากก้อนหิน หนุ่มสาวหลายร้อยคนดำผุดดำว่ายโต้คลื่นกันอย่างสนุกสนาน แต่อนินจา....หัวหินราวกับดินแดนของชนต่างชาติ  เพราะ ๕๐ เปอร์เซ็นต์เป็นชาวจีนอาเสี่ยกระเป๋าหนัก ๓๐ เปอร์เซ็นต์เป็นแขกหนวดเครารุ่มร่าม มีคนไทยเพียง ๑๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ชาวยุโรปและอเมริกันอีก ๕ เปอร์เซนต์


มนต์รักที่หัวหิน (เจ้าเก่า)

http://www.samgler.com/archives/book105.pdf หน้า ๒๖-๒๗


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ก.พ. 19, 11:28
https://youtu.be/L_eJ-5kOe6g


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.พ. 19, 11:30
น่าจะเป็นช่วงทศวรรษ  2490s

อ้างถึง
พวกผู้หญิงสวมเสื้อกางเกงอาบน้ำฟิตเปรี๊ยะ เห็นส่วนเว้าส่วนโค้งถนัดตาเป็นที่น่าเสียวไส้ยิ่งนัก

แฟชั่นชุดว่ายน้ำที่ยังมี "เสื้อ" และ "กางเกง" เป็นของยุค 1950s   ถ้าเป็นยุคนี้คงถือว่ามิดชิด พอๆกับชุดเดินตามศูนย์การค้า


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.พ. 19, 11:54
แต่อนินจา....หัวหินราวกับดินแดนของชนต่างชาติ  เพราะ ๕๐ เปอร์เซ็นต์เป็นชาวจีนอาเสี่ยกระเป๋าหนัก ๓๐ เปอร์เซ็นต์เป็นแขกหนวดเครารุ่มร่าม มีคนไทยเพียง ๑๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ชาวยุโรปและอเมริกันอีก ๕ เปอร์เซนต์[/size]

ขอขยายความค่ะ
ในยุค 60+ ปีก่อน    ชาวจีนและอินเดียที่คุณป.เอ่ยถึง ไม่ใช่นักท่องเที่ยวจากจีนหรืออินเดีย  ยุคนั้นการท่องเที่ยวข้ามประเทศยังไม่มี  เพราะการคมนาคมทางอากาศยังลำบากมาก     ยิ่งจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยแล้ว เป็นยุคเริ่มปิดประเทศ ประชาชนไม่ออกมาสมาคมกับชาติอื่นๆ  
คนที่คุณป.แบ่งแยกเชื้อชาติว่าไม่ใช่คนไทย  คือคนไทยเชื้อสายจีนและอินเดีย ที่ลงหลักปักฐานในประเทศไทย  
พวกนี้ยึดอาชีพค้าขาย จึงร่ำรวยขึ้นมาจากการค้า     ผิดกับคนไทยที่ยังนิยมรับราชการกันอยู่

ส่วนฝรั่งอีก 5%  ไม่ใช่นักท่องเที่ยว   น่าจะเป็นฝรั่งที่มาทำงานในประเทศไทย    อย่างพวกที่ทำงานสถานทูต  หรือหน่วยงานต่างๆของอเมริกาที่เข้ามามีบทบาทหลังสงครามโลก เช่นหน่วยทหารจัสแมก 

คนจีนที่ร่ำรวย เรียกกันว่า "อาเสี่ย"   อาเสี่ยกิมหงวนเป็นตัวอย่างของคนไทยเชื้อสายจีนที่รวยมหาศาลที่สุดในบรรดาตัวละครไทย   ศัพท์นี้ใช้สำหรับเศรษฐีจีนวัยหนุ่มหรือกลางคน       ถ้าเป็นเศรษฐีสูงวัย เรียกว่า เจ้าสัวบ้าง เถ้าแก่ บ้าง ค่ะ
ส่วนชาวไทยเชื้อสายอินเดีย ที่ส่วนใหญ่ขายผ้าอยู่แถวพาหุรัด   ถ้ามีฐานะร่ำรวย คนไทยเรียกว่า "นายห้าง"
ศัพท์นี้รวมคนไทยเชื้อสายจีนที่เป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้า หรือห้างขายสินค้าจนรวย ก็เป็น "นายห้าง" เช่นกัน


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ก.พ. 19, 12:52
อาจจะจริงแถวย่านโรงแรมรถไฟนะครับ พวกนักทัศนาจรแบบเช้าไปเย็นกลับจะมากันเป็นรถบัส แล้วก็เดินพล่านกันแถวนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนจีน ส่วนฝรั่งจะเป็นพวกที่พักที่โฮเต็ล สมัยนั้นหมายถึงโรงแรมรถไฟ

ส่วนคนไทยไม่ไปพักโรงแรม แต่จะขอยืมบังกะโลจากเพื่อนที่มีฐานะดี  ที่เรียกอย่างนั้นความจริงเป็นบ้านอยู่ได้สามสี่ครอบครัวดังที่เห็น ชายหาดถ้าพ้นโฮเต็ลมาสักกิโลนึงก็เงียบสงบ ไม่มีนักท่องเที่ยว  ตลอดวันจะมีแม่ค้าหาบของที่ระลึกทำจากหอยและกัลปังหา เม็ดตะกล่ำตาหนู ฯลฯ มาขาย เย็นๆจะมีคนเลี้ยงม้าจูงม้าแกลบมาให้เด็กเช่าขี่ ครึ่งชั่วโมงยี่สิบบาท โดยเขาจะจูงเดินไปตามชายหาด

เรามาอยู่กันที่หลายวันช่วงโรงเรียนปิดเทอมใหญ่ ให้คุ้มกับการเดินทางที่กว่าจะมาถึง


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ก.พ. 19, 14:09
จากบันทึกของราชการในรัชกาลที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๗๐ ชาวพระนครและชาวต่างชาติมาเที่ยวหัวหินมากถึง ๑๐,๐๐๐ คน และใน พ.ศ. ๒๔๗๑ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึง ๓๐,๐๐๐ คน * ตัวเลขมากขนาดนี้คงไม่ได้มาจากพระนครทั้งหมด ชาวต่างชาติส่วนหนึ่งโดยเฉพาะคนจีนและอินเดียอาจจะมาจากมาเลเซีย ซึ่งทางรถไฟสายใต้เชื่อมถึงแล้ว

* ประเพณีประดิษฐ์ กับ การเปลี่ยนแปลงที่หัวหิน โดย ธนวรรธน์ นิติประภานันท์ คณะสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

https://tci-thaijo.org/index.php/HUSO/article/download/51727/42868/ หน้า ๗


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ก.พ. 19, 16:18
ไม่น่าจะจริงที่ว่านักท่องเที่ยวที่เป็นคนจีนและอินเดียอาจจะมาจากมาเลเซีย ซึ่งทางรถไฟสายใต้เชื่อมถึงแล้ว

ทำไมหรือครับ ในช่วงนั้นมลายูยังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษอยู่ หลายเมืองเช่นปีนัง สิงคโปร อังกฤษนำความเจริญไปให้อย่างล้ำหน้าประเทศเพื่อนบ้าน น่าดูมาก คนไทยที่ไปเที่ยวที่นั่นกลับมาคุยโม้กันราวกับไปยุโรป ที่เล่นน้ำทะเลก็พอมี ผมอายุสิบขวบแม่พาไปทัศนาจรกับคณะคุรุสภายังจำได้ว่าไปนอนโรงแรมคนจีนคล้ายบ้านใหญ่ๆอยู่ชายทะเล  สำหรับหัวหินในสายตาของคนเอเซียด้วยกันไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ถ้าพวกคนในประเทศนั้นนึกอยากจะเที่ยวเมืองไทย แค่สงขลาก็สนุกเกินพอแล้ว

รถไฟสายใต้ของไทยที่ไปเชื่อมกับมลายูเน้นเรื่องการขนส่งสินค้า รถด่วนสายใต้ ธนบุรี-อลอสะตาร์ เน้นรับส่งคนโดยสารเชื่อมโยงกรุงเทพกับปีนัง เจริญรุ่งเรืองสมัยการเดินทางด้วยเครื่องบินยังไม่มี ต้องใช้เรือโดยสารเดินทางระหว่าประเทศเป็นหลัก ใครจะไปกัวลาลัมเปอร์หรือสิงคโปร ต้องเปลี่ยนขบวนรถอีกต่อหนึ่ง หรือไม่ก็ไปขึ้นเรือเมล์ปีนัง-สิงคโปร


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.พ. 19, 17:29
     เห็นด้วยกับคุณ NAVARAT.C ค่ะ 
     เมื่อ 50+ ปีก่อน   มาเลย์เซียซึ่งตอนนั้นเรียกว่ามลายู มีการศึกษาที่เจริญก้าวหน้ากว่าไทยค่ะ     จนเศรษฐีชาวใต้นิยมส่งลูกสาวหลานสาวไปเข้าร.ร.ประจำที่ปีนัง  หลายร.ร.เป็นคอนแวนต์  มีแม่ชีคาทอลิคดำเนินงาน   คล่องเรื่องภาษาอังกฤษพอๆกับร.ร.อินเตอร์สมัยนี้   ใครเคยดูละครเรื่อง"นางอาย"คงนึกออก   เรียนจบรร.กลับมาก็โก้พอๆกับไปอังกฤษสมัยนี้     
     บางคนเรียนจบไฮสกูลก็ไปต่อที่ออสเตรเลีย  เช่นคุณ "นราวดี" นักเขียนเจ้าของเรื่อง "นางอาย" เธอเป็นชาวนราธิวาส  จบปีนังแล้วไปต่อที่ออสเตรเลีย จนจบปริญญาตรี
     สำหรับชาวกรุงเทพ   ถ้าอยากส่งลูกสาวไปนอกแต่ไม่อยากให้ไกลนักอย่างยุโรป ก็ส่งไปปีนัง  กลับมาเยี่ยมบ้านได้สะดวก พ่อแม่เป็นห่วงน้อยหน่อย   
     สาวนักเรียนเก่าปีนังอีกคนที่คนไทยทั้งสมัยโน้นและสมัยนี้รู้จักดีคืออาภัสรา หงสกุล   นางงามจักรวาลชาวไทยคนแรก เธอไปเรียนวิชาเลขานุการที่ปีนัง ยังไม่ทันจบก็ถูกเรียกกลับมาประกวดนางสาวไทยเสียก่อน
   
    ถ้าชาวมลายูไม่ว่าจีนหรือแขกอยากตากอากาศก็ไม่ต้องมาไกล    บ้านเมืองเขาทะเลล้อมรอบอยู่แล้ว  ถ้าอยากข้ามแดนมาก็มีภูเก็ต สงขลาให้เที่ยวได้ตามสบาย  ไม่ต้องขึ้นมาถึงหัวหินหรอกค่ะ


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.พ. 19, 20:00
สมัยนั้น ผ้าโขมพัสตร์มีชื่อเสียงโด่งดังแล้วหรือยังครับ


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ก.พ. 19, 20:07
ผมรู้จักผ้าโขมพัสตร์ก็ม.ปลายแล้ว เพิ่งสังเกตุว่ามีร้านอยู่ตึกแถวฝั่งตรงข้ามตลาดฉัตรไชย ตอนนั้นก็รู้เพียงเท่านั้น ร้านจะมีแต่เมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.พ. 19, 20:09
ผ้าโขมพัสตร์มีแล้วค่ะ  
ในวัยเด็ก  จำอะไรเกี่ยวกับผ้านี้ได้น้อยมาก    มีความรู้เพียงว่าเป็นผ้าไทยที่ผลิตที่หัวหิน    แต่ก็นึกไม่ออกว่าใครสวมเสื้อที่ตัดจากผ้าชนิดนี้
แม่เคยให้ดูผืนหนึ่ง คงจะซื้อมาหรือใครให้นี่ละค่ะ    เป็นผ้าฝ้ายเนื้อหนาสีเหลืองเข้ม พิมพ์ลายเทพนม    เหมาะจะทำผ้าคลุมโต๊ะเล็กๆ  มากกว่าตัดเป็นเสื้อกระโปรง
เนื้อผ้าและสีสันไม่เหมาะจะตัดเป็นเสื้อเด็ก     ความทรงจำในเรื่องนี้เลยรางเลือนเต็มที   นึกออกแค่นี้ค่ะ



กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ก.พ. 19, 10:12
ถ้าชาวมลายูไม่ว่าจีนหรือแขกอยากตากอากาศก็ไม่ต้องมาไกล    บ้านเมืองเขาทะเลล้อมรอบอยู่แล้ว  ถ้าอยากข้ามแดนมาก็มีภูเก็ต สงขลาให้เที่ยวได้ตามสบาย  ไม่ต้องขึ้นมาถึงหัวหินหรอกค่ะ

ภูเก็ตเมื่อ ๕๐+ ปีก่อนยังรุ่งเรืองด้วยการทำเหมืองดีบุก ยังไม่ใส่ใจต้อนรับนักท่องเที่ยวดอก ในขณะที่หัวหินมีชื่อเสียงในฐานะเมืองตากอากาศ มีที่พักชายทะเลที่มีบริการระดับอินเตอร์มาช้านานแล้ว

จาก The Historic Town of Hua Hin: development under the umbrella of tourism โดย อังคณา ใหญ่ยง

http://ejournals.swu.ac.th/index.php/JOH/article/download/10487/8762


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.พ. 19, 10:34

หัวหินราวกับดินแดนของชนต่างชาติ  เพราะ ๕๐ เปอร์เซ็นต์เป็นชาวจีนอาเสี่ยกระเป๋าหนัก ๓๐ เปอร์เซ็นต์เป็นแขกหนวดเครารุ่มร่าม มีคนไทยเพียง ๑๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ชาวยุโรปและอเมริกันอีก ๕ เปอร์เซนต์

ถ้าจะยืนกรานว่านักท่องเที่ยว 30% ของหัวหิน ที่มีหนวดเครารุ่มร่าม เป็นแขกจากมลายูที่เดินทางมาเล่นน้ำทะเลถึงหัวหิน  มากกว่าเป็นบรรดานายห้างเจ้าของร้านจากพาหุรัดที่ลงจากกรุงเทพไปเที่ยวหัวหิน ก็เชิญเถอะค่ะ


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.พ. 19, 10:53

หัวหินราวกับดินแดนของชนต่างชาติ  เพราะ ๕๐ เปอร์เซ็นต์เป็นชาวจีนอาเสี่ยกระเป๋าหนัก ๓๐ เปอร์เซ็นต์เป็นแขกหนวดเครารุ่มร่าม มีคนไทยเพียง ๑๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ชาวยุโรปและอเมริกันอีก ๕ เปอร์เซนต์

เอารูปชายมลายูในสมัยนั้นมาให้ดูค่ะ   ว่านิยมไว้หนวดเครารุ่มร่ามมากน้อยแค่ไหน


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.พ. 19, 11:04
   ความสนุกบนชายหาดอีกอย่างหนึ่งของเด็กๆและหนุ่มๆสาวๆเมื่อ 50+ ปีก่อน     คือการจับปูลม
  ปูลมตัวจ้อยๆ สีขาวๆใสๆ จนดูกลืนไปกับทรายหัวหิน วิ่งกันพลุกพล่านเต็มหาด    ไม่ว่าลงไปเดินตรงไหนเป็นต้องเจอ   รูของมันพรุ่นอยู่ทั่วไป ปากรูมีทรายเป็นก้อนกลมๆเล็กๆเกลื่อนอยู่   เป็นที่สังเกตเห็น   
   ปูลมวิ่งเร็วสมชื่อ   พอคนเดินเข้าไปใกล้มันวิ่งลงรูหายวับ  ขุดทรายตามก็ขุดไม่ทัน    ไม่เคยจับปูลมได้สำเร็จสักที แล้วก็ไม่อยากจับด้วย เพราะไม่รู้จะเอาไปทำอะไร     แต่คนที่มีบ้านพักที่หัวหิน มีครัวและเครื่องครัวพร้อมเขามักจะจับใส่ถังกัน เพื่อเอาไปชุบแป้งทอดกินเหมือนกุ้ง 
 
   พูดถึงเรื่องกิน   ในสมัยที่หัวหินยังไม่มีคาเฟ่ คอฟฟี่ช็อป หรือร้านกาแฟสดมากมายเหมือนปัจจุบัน     ครอบครัวที่มีบ้านพัก หรือไปยืมบ้านพักใครมาอยู่ตลอดเวลาที่ตากอากาศ จะทำกับข้าวกินกันเอง อร่อย สนุกและประหยัดกว่าไปซื้อ       เพราะครอบครัวแบบนี้เวลาไปพักร้อน จะขนกันไปหลายๆคน  พ่อแม่ลูก ญาติ พี่น้อง เพื่อน คนใช้ แล้วยังไปเจอเพื่อนฝูงที่หัวหินอีก กลายเป็นกลุ่มใหญ่  จึงนัดกันมาทำกับข้าวกินกัน
   โก้ที่สุดคือปาร์ตี้ชายหาด   ตอนเย็นจนถึงค่ำ
   ไ่ม่ใช่ปาร์ตี้มีแด๊นซ์ ดื่มไวน์หรือเบียร์ของหนุ่มสาวอย่างยุคนี้  แต่เป็นการรวมญาติเพื่อนฝูง มากินอะไรสดๆ ร้อนๆจากเตา คือก่อกองไฟเล็กๆกันที่หาด(ส่วนใหญ่หน้าบ้านพัก  ไม่ใช่หน้าโรงแรมรถไฟ) ย่างเนื้อบาบิคิวที่ทำกันเอง   ชงกาแฟโดยอาศัยกองไฟนั่นแหละ     พวกพ่อบ้านผู้ชายก็แยกไปนั่งจับกลุ่ม กินเหล้ากัน เช่นวิสกี้(ไม่ค่อยมีใครกินไวน์)  ผู้หญิงก็ทำช่วยกันทำอาหารปิ้งย่าง   เด็กๆวิ่งวนเวียนกันถือจานไปรับอาหาร เอาไปเสิฟบ้าง กินกันเองบ้าง
    ปูลมชุบแป้งทอดก็ได้โอกาสขึ้นเมนูกันในรายการนี้
    จนกระทั่งดึก ได้เวลานอน ปาร์ตี้ก็เลิก ดับไฟที่ชายหาดกัน แล้วกลับขึ้นบ้าน   รอสนุกกันใหม่ในโอกาสหน้าค่ะ   


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ก.พ. 19, 12:16
มาเลเซียมีเชื้อชาติหลัก ๆ อยู่ ๓ เชื้อชาติคือ มลายู ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ รองลงมาคือ จีน และอินเดีย คนไทยเรียกคนเชื้อชาติมลายูและอินเดียว่า "แขก" เหมือนกัน แต่ความจริงแตกต่างกัน อย่างในภาพที่คุณเทาชมพูแสดงน่าจะเป็นคนเชื้อชาติมลายูมากกว่า

ชาวต่างชาติส่วนหนึ่งโดยเฉพาะคนจีนและอินเดียอาจจะมาจากมาเลเซีย ซึ่งทางรถไฟสายใต้เชื่อมถึงแล้ว

ถ้าจะยืนกรานว่านักท่องเที่ยว 30% ของหัวหิน ที่มีหนวดเครารุ่มร่าม เป็นแขกจากมลายูที่เดินทางมาเล่นน้ำทะเลถึงหัวหิน  มากกว่าเป็นบรรดานายห้างเจ้าของร้านจากพาหุรัดที่ลงจากกรุงเทพไปเที่ยวหัวหิน ก็เชิญเถอะค่ะ

อาจจะเป็นดังนี้

นักท่องเที่ยว ๓๐ % ของหัวหิน ที่มีหนวดเครารุ่มร่าม = นายห้างเจ้าของร้านจากพาหุรัด + แขกอินเดียจากมลายู  ;D


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ก.พ. 19, 17:31
ไม่ใช่หรอกครับ คำว่า elite society ในบทความข้างบนไม่ได้หมายถึงแขกอินเดียทีี่อังกฤษยอมให้อพยพเข้าไปอยู่ในมลายูเยอะมาก จนกลายเป็นปัญหาคนส่วนน้อยในช่วงที่คนมาเลย์ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งเอกราช ไม่ใช่ชนชั้นสูงชาวมาเลย์ แต่คำๆนั้นหมายถึงพวกฝรั่งด้วยกันเอง

แม้แต่ที่ป.อินทปาลิตเขียนก็เถอะ ที่บอกว่า หัวหินราวกับดินแดนของชนต่างชาติ  เพราะ ๕๐ เปอร์เซ็นต์เป็นชาวจีนอาเสี่ยกระเป๋าหนัก ๓๐ เปอร์เซ็นต์เป็นแขกหนวดเครารุ่มร่าม มีคนไทยเพียง ๑๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ชาวยุโรปและอเมริกันอีก ๕ เปอร์เซนต์ นั้น

คำว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์เป็นชาวจีน คนไทย ๑๕ เปอร์เซ็นต์ ก็คงเหมือนสังคมไทยทุกวันนี้ไหม คือระดับที่เข้าพักโฮเต็ลหัวหินสมัยนั้นได้จะเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ๔ ส่วน คนไทยที่เห็นตัวดำๆที่ไม่มีเชื้อจีน ๑ ส่วน
ส่วนแขกหนวดเครารุ่มร่ามคงจะหมายถึงพวกนายห้างแถวพาหุรัดล้วนๆ ไม่ใช่แขกต่างชาติที่มาจากมลายู  แต่จะมีมากถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์เชียวหรือผมก็ยังสงสัย


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.พ. 19, 19:21
เรื่องราวตามบันทึกที่แสดงใน คห.75 ได้ระบุเวลาว่าเป็น ค.ศ.1921 ก็พอจะให้ภาพของสิ่งแวดล้อมต่างๆในสมัยนั้นได้บ้าง  ที่จับได้ในความรู้ที่พอจะมีของผม 

  -เป็นเวลาในช่วงปลายรัชกาลที่ 6   
  -สังคมภายในโดยทั่วไปของไทยกำลัง look west และตอบรับวัฒนธรรมบางอย่าง
  -มีฝรั่งเข้ามาติดต่อทำธุรกิจในกรุงเทพฯมากมาย และก็ดูจะเป็นยุคที่ฝรั่งชอบไว้หนวดเครายาวแบบปล่อย (แขกอินเดียแม้จะมีหนวดเครายาว ก็จะมักจะรวบเก็บอยู่ในผ้าเรียบร้อย) 
  -เส้นทางรถไฟสายใต้ถึงส่วนในของมลายูมีระยะทางประมาณ 1200 กม. ใช้รถจักรไอน้ำลากขบวน วิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ยต่ำกว่า ชม.ละ 60+/- กม.   มีสถานีเพื่อรอหลีกทุกๆระยะทางประมาณ 10+ กม. มีสถานีสำหรับเติมฟืนเชื้อเพลิงและน้ำทุกระยะประมาณ 50-100 กม. ระยะเวลาของการเดินทางน่าจะอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 20 ชม. 
  -ธุรกิจการค้าเกลือส่งออกของแม่กลองกำลังเฟื่องฟู ที่ชาวมลายูนำเรือเข้ามาซื้อขายและอาศัยอยู่ไม่น้อย   มีเจ้าสัวคนจีนเข้ามาลงทุนทำนาเกลือเป็นจำนวนมาก
  -เช่นเดียวกัน ก็มีกิจการประมงชายฝั่งในเขตพื้นที่น้ำขึ้นน้ำลง (Littoral zone) และแปรรูปอาหาร เช่น โป๊ะจับปลา คราดหอยที่อยู่กับพื้นโคลน ทำน้ำปลา กะปิ ปลาเค็ม...)     


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.พ. 19, 19:30
เป็นข้อมูลเล็กน้อยที่อาจจะพอช่วยในการวิเคราะห์เกี่ยวกับนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวหัวหินในยุคนั้น


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 15 ก.พ. 19, 19:32
ตั้งคำถามบ้างครับ สมัยนั้นตลาดหัวหินใหญ่โตแค่ไหน แล้วของกินของใช้อุดมสมบรูณ์หรือเปล่า เข้าใจว่าเสื้อผ้าของใช้ขนไปเองจากกรุงเทพ แต่ไปอยู่ที่โน่นเป็นอาทิตย์ๆ ต้องแวะตลาดซื้อของกินกันบ้าง รวมทั้งกุ้งหอยปูปลา โซดา กับแกล้ม อะไรพวกนี้ด้วย

แล้วพอจะมีสถานที่ให้หนุ่มๆ สาวๆ มานั่งคุยกันยามเย็นหรือหัวค่ำอะไรแบบนี้ไหมครับ (ไมน่ามีลอนเทนนิส หรือว่ามี?) อ่านกระทู้นี้แล้วจิตนการผมกำลังทำงานอย่างหนัก  :D


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.พ. 19, 19:53
ตลาดหัวหินสมัยนั้นก็คือบริเวณตลาดฉัตรไชยสมัยนี้  อยู่ริมถนนค่ะ   ร้านอาหารก็อยู่ริมถนนสายใหญ่เช่นกัน   
ส่วนที่ลึกเข้าไปข้างในด้านหลังถนนใหญ่ ตลอดจนซอกซอยเป็นบ้านที่อยู่อาศัยของชาวหัวหิน   ไม่มีบูติคโฮเต็ล  ไม่มีภัตตาคารใหญ่น้อย  ร้านบูติคสวยๆ ฯลฯ 
พื้นที่แหล่งย่านการค้าของหัวหินมีสัก 1 ใน 10 ของทุกวันนี้เห็นจะได้

ของสดที่หัวหินมีมากมายเหลือเฟือ คืออาหารทะเลสดๆ ส่งจากเรือประมงทุกวัน       ชาวกรุงที่ไปพักก็จะกินของทะเลสดๆกันเป็นหลัก   
ไหนๆก็เดินทางหลายชั่วโมงไปถึงหัวหินแล้ว จะไม่กินกุ้งหอยปูปลา  ขอเลือกกินแต่น้ำพริกกะปิ  หรือแกงจืดหมูบะช่อเหมือนอยู่บ้านก็กระไรอยู่     ยังไงก็ต้องกินอาหารทะเลกันให้คุ้ม
น้ำแข็งมีผลิตที่นั่น  ส่วนโซดา เบียร์ แม่โขง วิสกี้ ส่งไปจากกรุงเทพอยู่แล้ว   เครื่องดื่มเหล่านี้หาไม่ยากเลย 

หนุ่มสาวถ้าจีบกันก็ไปเดินเล่นกันตามชายหาด  นั่งชมคลื่นริมทะเลกัน ดูพระจันทร์ขึ้น  แค่นี้ก็โรแมนติคสุดๆแล้วค่ะ

50+ ปีก่อน  ไม่มีนะคะ สาวเดินทางไปคนเดียวแล้วเจอหนุ่มเดินทางไปคนเดียว  อ่อยกันวันเดียวแล้วจบกันบนเตียง   ถ้าหากว่ามีจริง สังคมไทยถือว่าเป็น "ผู้หญิงไม่ดี"  ผู้ชายก็ต้องแอบๆเปิดเผยให้ใครเห็นไม่ได้
สาวสมัยนั้นไปกับครอบครัวพ่อแม่พี่น้อง   หรืออย่างกล้าที่สุดก็คือไปกับเพื่อนสาวๆเป็นโขยง    ผู้ชายก็ไปเป็นกลุ่มเหมือนกัน   พบกันก็พบกันเป็นกลุ่ม จะชอบกันยังไงก็อยู่ในสายตาเพื่อนทั้งกลุ่มค่ะ     ถ้าไปกับพ่อแม่พี่น้อง หนุ่มมาจีบก็ต้องผ่านด่านพ่อแม่พี่น้องให้ได้
สมัยนั้นสถาบันครอบครัวยังหนักแน่นมั่นคงอยู่มาก   หนุ่มต้องใช้ความพยายามกว่ายุคนี้หลายเท่าตัว


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ก.พ. 19, 20:01
สมัยผมเด็กๆในรูป ไฟฟ้ายังไม่มี ต้องจุดตะเกียงเจ้าพายุตอนล้อมวงทานข้าวกลางคืน น้ำใช้เป็นน้ำจากถังคอนกรีตใหญ่ทีเก็บน้ำฝนผ่านหลังคาสังกะสีและรางน้ำ ต้องใช้ปั้มโยกด้วยแรงคนดึงน้ำขึ้นไปเติมโอ่งในห้องน้ำข้างบน รวมทั้งหม้อชักโครกแบบโบราณที่ทำด้วยเหล็ก แขวนบนผนังในระดับสูงกว่าศีรษะผู้ใหญ่

ตลาดฉัตรชัยอุดมไปด้วยอาการทะเลทุกชนิด ที่คนกรุงชอบก็คือปลาจาระเม็ด ปลากระพงแดง และไข่เต่าที่เรียกว่าไข่จาระเม็ด และทุกวันจะมีพ่อค้าแม่ขายของป่าเอาเนื้อเก้งมาขาย โดยแขวนไว้ทั้งขาให้เห็นกีบ ไม่งั้นคนกรุงไม่ซื้อเพราะกลัวจะเป็นหมา ใครจะซื้อเท่าไหร่ก็ค่อยเฉือนออกไปชั่ง


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.พ. 19, 20:04
ที่โรงแรมรถไฟ สนามเทนนิสไม่น่าจะมี     แต่คอร์ตแบดมินตันมีหรือเปล่าไม่แน่ใจค่ะ
จำได้แต่ว่า  คนไปตากอากาศเขามุ่งลงเล่นน้ำทะเลกันเป็นหลัก    ยิ่งเด็กๆด้วยแล้ว ข้าวเช้ายังไม่อยากจะกิน  ตอนเช้าตื่นขึ้นเห็นทะเลเรียบ  แดดยังไม่ร้อน  ฟ้าใส หาดทรายขาวไม่มีคนพลุกพล่าน    ใจมันวิ่งลงทะเลเสียก่อนจะอาบน้ำแปรงฟันด้วยซ้ำ

หาดทรายของหัวหินตรงโรงแรมรถไฟ โค้งมองเห็นภูเขาอยู่ไกลออกไปไม่มากนัก   แต่ก็ไกลเกินกว่าจะเดินไปเองถึง นอกจากพ่อแม่พาไป
ชื่อเขาตะเกียบกับเขาไกรลาศ
เขาทั้งสองมองจากชายหาดไกลๆ สวยมาก  น่าทึ่งน่าตื่นเต้นอยากไปปีนเขา      แต่พอได้ไปเข้าจริงก็ไม่มีอะไรมาก  มันก็ภูเขานั่นแหละ  บ้านคนดูเหมือนจะไม่มี หรือมีก็แค่เชิงเขา    จำได้แต่ว่ามีวัดอยู่บนเขาไกรลาศ   ซึ่งไม่ใช่ที่เที่ยวที่เด็กจะอยากไปเท่าไหร่
แต่แถวเชิงเขาตะเกียบ  เม็ดมะกล่ำตาหนูขึ้นเป็นดงทีเดียว น่าเก็บที่สุด

ระยะทางจากโรงแรมรถไฟไปเขาตะเกียบ ผ่านบ้านพักตากอากาศที่ปลูกกันมานานแล้ว  ถูกแดดลมทะเลจนไม้ออกสีซีดๆ    แต่ละบ้านมีบริเวณกว้างขวาง   ด้านที่หันสู่ชายหาดไม่มีกำแพงบ้าน  แม้แต่รั้วก็ไม่ค่อยมี  อย่างดีก็มีรั้วลวดหนามห่างๆ หรือรั้วต้นไม้ปลูกไว้พอเห็นว่าเป็นเขต     ต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นเต็มบริเวณ
ตัวบ้านเหล่านี้เป็นบ้านพักของเศรษฐีหรือผู้ดีมีสตางค์ในยุคก่อนสงคราม  ปลูกไว้มาพักผ่อนปีละ 2-3 เดือน  อีก 10 เดือนอยู่กรุงเทพ   จึงไม่ได้พิถีพิถันสร้างสนามหญ้า หรือตกแต่งบ้านให้สวยงามอย่างบ้านหลักในเมืองหลวง     ส่วนใหญ่ก็ปลูกบ้านแบบโปร่งๆ แข็งแรง  มีเครื่องเรือนเท่าที่จำเป็น  แล้วปิดเอาไว้เกือบตลอดปี    เดินผ่านไปก็คล้ายๆกันทุกบ้าน  เลยจำบ้านไหนไม่ได้เป็นพิเศษจนบัดนี้ค่ะ


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.พ. 19, 20:16
   คุณ NAVARAT.C พูดถึงไฟฟ้า ทำให้นึกได้ว่าโรงแรถรถไฟมีไฟฟ้าแล้ว  แต่แสงไฟออกสีเหลืองๆ  ไม่ค่อยสว่างเท่าไหร่ค่ะ    ไม่รู้เขาปั่นไฟเองหรือเปล่า แต่จำได้ว่าเคยไฟดับ   พักใหญ่ๆเกือบชั่วโมงกว่าไฟจะมา
   จากโรงแรมรถไฟ  ถ้าไม่เดินไปทางเขาตะเกียบ ก็ไปทิศตรงข้ามคือไปทางวังไกลกังวล     เคยเดินไปกับเพื่อนๆจนถึงตอนนั้นไม่เห็นทหารยามหรือใคร  รู้แต่ว่าเป็นเขตที่เข้าไม่ได้  แต่ไปเล่นน้ำทะเลแถวนั้นได้ตามสบาย    ไม่มีใครมาว่า เพราะไม่มีใครอยู่แถวนั้น

   ย้อนกลับไปที่ตลาดฉัตรไชย   นอกจากไปกินอาหารแล้ว ก็ไม่มีอะไรให้เด็กๆดูมากนัก    ร้านรวงแถวนั้นเป็นห้องแถวไม้เล็กๆส่วนใหญ่ ขายของที่ใช้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ซึ่งไม่เหมือนเมืองกรุงเอาเลย      จำได้ว่าเคยเดินผ่านร้านขายผ้านุ่ง  เป็นผ้าลายแบบที่ชาวบ้านยุคนั้นนุ่งกัน     ไม่เห็นร้านขายเสื้อเชิ้ต หรือกางเกง หรือชุดสำเร็จรูปของสตรี   ยิ่งเสื้อยืดพิมพ์ลายที่หน้าอกแล้วไม่ต้องพูด   ยังไม่ถือกำเนิดมาในไทย


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.พ. 19, 21:34
ปูลมชุบแป้งทอด


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.พ. 19, 21:38
ตะเกียงเจ้าพายุเป็นแบบนี้ค่ะ
ดิฉันไม่รู้ว่ามันสว่างได้ยังไง จากน้ำมันหรืออะไร แต่แสงมันสว่างจ้าเหมือนหลอดนีออน
ตลาดเมื่อ 50+ ปีก่อน  มีรถเข็นหรือแผงขายสินค้าในตอนค่ำ ก็อาศัยตะเกียงเจ้าพายุนี่แหละค่ะเป็นหลัก


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.พ. 19, 21:45
ปลาจาระเม็ดเป็นปลาแพงมาก ในสมัย 50+ ปีก่อน     ไม่สามารถซื้อมากินได้บ่อยๆเหมือนปลาทู    โดยมากจะขึ้นเหลาหรือภัตตาคารค่ะ


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.พ. 19, 07:24
ปลาจาระเม็ดที่หาซื้อได้ง่ายและราคาไม่แพงในตลาดหัวหินจะเป็นปลาจาระเม็ดดำ ถ้าจาระเม็ดขาวราคาจะต่างกันมาก ตัวใหญ่ๆจะต้องขึ้นเหลา แต่จาระเม็ดขาวในอ่าวไทยจะคนละพันธุ์กับจาระเม็ดขาวน้ำลึกทางฝั่งอันดามันที่คนจีนเรียกว่าเต๋ยเต้ยนะครับ อันนั้นตัวพ่อของสถาบันจาระเม็ด ราคาก็สุดยอดเช่นกัน ราคาในตลาดอตก.ก็เฉลี่ยตัวละพัน

ก่อนหน้าที่อวนลากจะเข้ามา ชาวประมงจะทำโป๊ะในทะเลตลอดแนวชายฝั่งของประเทศไทย ที่หัวหินก็ทำกันมาก ปลาที่เข้าโป๊ะส่วนใหญ่เป็นปลาทู คนไทยกินกันจนเป็นของธรรมดาเห็นแล้วไม่ตื่นเต้น


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ก.พ. 19, 07:30
ระยะทางจากโรงแรมรถไฟไปเขาตะเกียบ ผ่านบ้านพักตากอากาศที่ปลูกกันมานานแล้ว  ถูกแดดลมทะเลจนไม้ออกสีซีดๆ    แต่ละบ้านมีบริเวณกว้างขวาง   ด้านที่หันสู่ชายหาดไม่มีกำแพงบ้าน  แม้แต่รั้วก็ไม่ค่อยมี  อย่างดีก็มีรั้วลวดหนามห่างๆ หรือรั้วต้นไม้ปลูกไว้พอเห็นว่าเป็นเขต     ต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นเต็มบริเวณ
ตัวบ้านเหล่านี้เป็นบ้านพักของเศรษฐีหรือผู้ดีมีสตางค์ในยุคก่อนสงคราม  ปลูกไว้มาพักผ่อนปีละ 2-3 เดือน  อีก 10 เดือนอยู่กรุงเทพ   จึงไม่ได้พิถีพิถันสร้างสนามหญ้า หรือตกแต่งบ้านให้สวยงามอย่างบ้านหลักในเมืองหลวง     ส่วนใหญ่ก็ปลูกบ้านแบบโปร่งๆ แข็งแรง  มีเครื่องเรือนเท่าที่จำเป็น  แล้วปิดเอาไว้เกือบตลอดปี    เดินผ่านไปก็คล้ายๆกันทุกบ้าน  เลยจำบ้านไหนไม่ได้เป็นพิเศษจนบัดนี้ค่ะ

แผนที่แสดงชื่อเจ้าของบ้านพักตากอากาศชายหาดหิน คัดจากแผนที่เดิมประกอบพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อการประปา ไฟฟ้า บำรุงการคมนาคมและวางแผนผังโครงการจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลทิศตะวันตก พ.ศ. ๒๔๗๓

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2473/A/353.PDF


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.พ. 19, 08:19
ระยะทางจากโรงแรมรถไฟไปเขาตะเกียบ ผ่านบ้านพักตากอากาศที่ปลูกกันมานานแล้ว  ถูกแดดลมทะเลจนไม้ออกสีซีดๆ    แต่ละบ้านมีบริเวณกว้างขวาง   ด้านที่หันสู่ชายหาดไม่มีกำแพงบ้าน  แม้แต่รั้วก็ไม่ค่อยมี  อย่างดีก็มีรั้วลวดหนามห่างๆ หรือรั้วต้นไม้ปลูกไว้พอเห็นว่าเป็นเขต     ต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นเต็มบริเวณ
ตัวบ้านเหล่านี้เป็นบ้านพักของเศรษฐีหรือผู้ดีมีสตางค์ในยุคก่อนสงคราม  ปลูกไว้มาพักผ่อนปีละ 2-3 เดือน  อีก 10 เดือนอยู่กรุงเทพ   จึงไม่ได้พิถีพิถันสร้างสนามหญ้า หรือตกแต่งบ้านให้สวยงามอย่างบ้านหลักในเมืองหลวง     ส่วนใหญ่ก็ปลูกบ้านแบบโปร่งๆ แข็งแรง  มีเครื่องเรือนเท่าที่จำเป็น  แล้วปิดเอาไว้เกือบตลอดปี    เดินผ่านไปก็คล้ายๆกันทุกบ้าน  เลยจำบ้านไหนไม่ได้เป็นพิเศษจนบัดนี้ค่ะ

แผนที่แสดงชื่อเจ้าของบ้านพักตากอากาศชายหาดหิน คัดจากแผนที่เดิมประกอบพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อการประปา ไฟฟ้า บำรุงการคมนาคมและวางแผนผังโครงการจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลทิศตะวันตก พ.ศ. ๒๔๗๓

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2473/A/353.PDF

ความเห็นข้างต้นทำให้ผมหลับตาเห็นภาพ ครั้งที่เคยไปบวชเณรอยู่วัดเขาไกรลาศสักสิบขวบ บ้านที่ชาวบ้านหนองแกเรียกว่าวังนั้น หลังใหญ่กว่าเขาทั้งหมดแต่ถูกแดดลมทะเลจนไม้ออกสีดำๆซีดๆ ชำรุดทรุดโทรมชวนให้กลัวมากกว่าจะอยากเข้าไปพัก เพิ่งเห็นจากรายชื่อที่คุณหมอเพ็ญเอามาให้ดู เพิ่งจะรู้เนี่ย ว่าท่านเจ้าของคือกรมเทวะวงศ์

ถนนจากสถานีรถไฟหนองแกผ่านเข้าไปในหมู่บ้านแล้วยักนิดนึงตามที่เห็นในภาพ เข้าใจว่าบ้านดังกล่าวจะอยู่บริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่ริมหาด ตรงที่หลังคายอดแหลมสีขาวชี้นั่นแหละครับ อาณาเขตที่ดินเดิมใหญ่มากจนมาจรดถนน ทายาทราชสกุลเทวกุลคงจะซอยแบ่งกัน แล้วคงขายเปลี่ยนมือไปบ้าง

สมัยโน้น ถัดจากวังไปแล้วมีบ้านเก่าๆหลังย่อมลงมาอยู่ห่างๆกัน จนไปสุดที่ราบแปลงหนึ่งเกือบถึงเขาตะเกียบ ตรงนั้นทราบกันดีว่าเป็นที่สาธารณะใช้ประโยชน์ร่วมกันของหมู่บ้าน เด็กหนองแกบอกผมว่าเขาเอาศพมาเผากันที่นี่ ผมก็มองตามลงไปจากกุฏิที่อยู่บนเขาไกรลาศอย่างหวาดๆ นี่มันไกลเกินที่ผีจะมาเยี่ยมหรือเปล่าหนอ

ครั้นจบเป็นสถาปนิกแล้ว มีนายธนาคารคนหนึ่งเอาโฉนดและแผนที่มาให้ดูแล้วปรึกษาว่าได้ซื้อที่ริมทะเลเขาตะเกียบแปลงงามมา จะทำอะไรดี ผมดูแล้วก็บอกว่าที่ตรงนั้นออกโฉนดได้ไง มันเคยเป็นป่าช้านะครับ แล้วเล่าเรื่องตะกี้ให้เขาฟัง เขาก็อึ้งไป เป้นอันว่าผมไม่ได้งาน

หลายปีต่อมาผมเข้าไปเห็นถนนสายนั้นมีสิ่งก่อสร้างเต็มไปหมด คอนโดใหญ่ที่สร้างขึ้นตรงนั้นหลังคาแดงๆ มีคนพักเต็ม แสดงว่าคนเราแน่กว่าผีแน่นอน ชัดเจน

(ในภาพ เขาตะเกียบอยู่ด้านซ้ายริมทะเล ด้านขวาคือวัดเขาไกรลาศ)


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.พ. 19, 08:49
วัดเขาไกรลาศมีทางขึ้นลงสู่หมู่บ้านเป็นเนินหินขนาดใหญ่ ท่านพระครูเจ้าอาวาสเคยนำเหล่าเณรเมืองกรุงลงมาบิณฑบาต สุดเนินถึงพื้นแล้วมีถนนเล็กๆที่เขาพูนดินขึ้นมาเป็นทางเดินผ่านบึงน้ำเค็มขนาดใหญ่ที่มีน้ำขังตลอดเวลา นานๆชาวบ้านจะระบายออกทางคลองเล็กๆยามน้ำลงต่ำสุด และปล่อยให้น้ำใหม่เข้ามายามน้ำขึ้น พวกเขาใช้ประโยชน์ในการแช่ใบศรนารายน์ (ต้นเป็นพุ่ม ใบใหญ่แหลมแข็ง และมีหนามตรงปลาย) ซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นของบริเวณนั้น เขาจะปล่อยให้ใบเน่าก่อนแล้วจึงเอามาล้างจนเหลือแต่ใย นำไปฟอกขาว เรียกว่าป่านศรนารายน์
ป่านศรนารายน์เป็นโอท็อปของหมู่บ้าน เอาไปย้อมสีสดๆแล้วทำเป็นแซ่ปัดยุง ส่งไปขายยังตัวเมือง ต่อมามีผู้เอาไปต่อยอด ทอเป็นผืนแล้วเอาไปทำกระเป๋าถือของสตรี

ข้อเสียก็คือ การแช่เอาปอเช่นนั้นทำให้น้ำในบึงเน่าเหม็น และเป็นแหล่งเพาะยุงน้ำเค็มที่กัดเจ็บชะมัด เณรไม่ชอบเลยทุกเช้าที่ต้องเดินลงมาบิณฑบาต รองเท้าก็ไม่ให้ใส่ บาตรก็หนัก ต้องอุ้มทั้งสองมือจะสละเอามาอุดจมูกเสียข้างหนึ่งก็ไม่ได้ อาหารที่ได้รับจากชาวบ้านก็อย่าให้เซด ดีนะที่โยมแม่ๆมาตั้งกองทำครัวเลี้ยงพระเณรทุกวัน ไม่งั้นร่างกายเข้าระดับบำเพ็ญทุกรกิริยาแน่นอน

เล่าซะนานเพื่อจะบอกว่าบึงสาธารณะนั้นได้กลายเป็นโฉนดไปสักครี่งหนึ่ง เหลือพื้นที่ๆเห็นเขียวๆ  ส่วนแหล่งผลิตป่านศรนารายน์ไม่มีให้เห็นที่หนองแกแล้ว


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.พ. 19, 09:03
ภาพเณรเมืองกรุงและหนองแกที่วัดเขาไกรลาศถ่ายกับพระอุปัชฌาย์(ท่านเจ้าคุณจินดาภรณ์มุนี วัดราชบพิธ สมณศัดิ์สุดท้ายคือสมเด็จพุทธปาพจนบดี) และอาจารย์ (พระครูพิสิษธิ์ศีลาจารย์ เจ้าอาวาส)


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ก.พ. 19, 09:56
แต่ด้วยเหตุบังเอิญที่ในฤดูร้อนปีหนึ่งครอบครัวเราไปเที่ยวหัวหินกัน ผมและพี่สองคนได้ขึ้นไปเที่ยวเขาไกรลาศโดยพ่อแม่ของเรามิได้ไปด้วย จึงได้พบท่านพระครูวิสิษฐ์ศีลาจารย์เจ้าอาวาส แล้วท่านให้ชวนพ่อแม่ของเราขึ้นไปเที่ยวบ้าง ครั้นไปแล้วจึงได้ทราบว่าวัดเขาไกรลาสนี้ เป็นสาขาของวัดราชบพิธ มีท่านเจ้าคุณจินดา รองเจ้าอาวาสเป็นผู้มาบุกเบิกก่อสร้าง

ท่านเจ้าคุณจินดากรมุนี (ทองเจือ) ท่านเป็นพระที่มีวาทศิลป์ยอดเยี่ยม เมื่อพ่อแม่พาเราไปกราบท่านที่วัดราชบพิธ ท่านชักชวนให้เราเด็ก ๆ ทั้งสามคนบวชเณรในช่วงปิดเทอมใหญ่ พ่อแม่ก็สนับสนุนให้เราบวช  ผมอายุสักสิบปีเท่านั้นเองเมื่อบวชครั้งแรก ที่ยอมก็เพราะวัดราชบพิธไม่มีงานเผาผี ถ้าวัดมกุฏขอบาย ครั้งนั้นท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (วาสน์) เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านเจ้าคุณจินดากรมุนีเป็นพระกรรมวาจาจารย์ บวชแล้วท่านมอบหมายให้พระมหาอัมพรเป็นพระพี่เลี้ยง

อยู่วัดราชบพิธสักสัปดาห์เดียวก็ตามท่านเจ้าคุณจินดาไปวัดเขาไกรลาศเพื่ออยู่ต่อแล้วสึกที่นั่น ไม่กี่วันพวกเราก็มีเด็กหนองแกมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์  พาเณรเมืองกรุงเที่ยวผจญภัยไปทั่วย่าน วันหนึ่งไปไกลถึงหัวเขาตะเกียบด้านที่เป็นป่าสน แล้วลงเล่นน้ำทะเลที่นั่น สบงจีวรเปียกหมดทั้งตัว ขากลับนายพักตร์ลูกศิษย์หาไม้ไฝ่ให้คนละท่อน เอาจีวรผูกแล้วเดินชูตากแดดตากลม กะจะให้แห้งก่อนถึงวัด ถึงตีนเขาไกรลาศเดินขึ้นกระไดไปอีกร้อยกว่าขั้นเหนื่อยแทบแย่ เห็นท่านเจ้าคุณจินดาท่านยืนรออยู่แล้ว โดนหยิกที่ท้องแขนคนละทีทั้งเณรทั้งลูกศิษย์ก่อนนั่งฟังเทศนา ท่านบอกว่าไม่รักษาสมณสารูป ทำตัวเป็นลิงเป็นค่าง เอาจีวรมาทำธงเดินแห่กันมาเหมือนทหาร แลเห็นแต่ไกล


ก็ตามที่ท่านว่าแหละครับ ผมคิดอยู่ตลอดเวลาว่าบวชครั้งนั้นเป็นการไปตดรดผ้าเหลืองตามสำนวนโบราณแท้ ๆ  แต่แม่ผมก็เป็นปลื้มมากเพราะท่านจัดให้ลูก ๆ ผลัดวันกันขึ้นไปเทศน์โปรดโยม

เรื่องและรูปจาก https://www.facebook.com/1174884455908584/posts/1352204618176566?sfns=mo


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 16 ก.พ. 19, 10:22
ขอคั่นเรื่องราวด้วยภาพเก่าๆ น่าสนใจจาก ฟบ. ภาพเก่าเล่าเรื่องหัวหิน

สนามเทนนิสหัวหิน(ไม่ระบุพ.ศ.)


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 16 ก.พ. 19, 10:24
และ

ปล. เรือนไทยเคยมีกระทู้เก่า หัวหินในอดีต เมื่อ 30 พ.ค. 15

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6307.0


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ก.พ. 19, 10:47
ตั้งแต่ความคิดเห็นที่ ๓๘ หากยกไปเป็นกระทู้ "หัวหินในอดีต (๒)" ก็น่าจะดี  ;D


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.พ. 19, 11:21
     ขอบคุณค่ะคุณหมอ SILA  อ่านกระทู้เก่า มีภาพงามๆของโรงแรมรถไฟทำให้คิดถึงอดีตขึ้นมาอีก   แต่จะกลับไปตอนนี้ก็ไม่เหมือนเดิมอยู่ดี

     หัวหินเมื่อ 50+ ปีก่อน เหมือนกรุงเทพอยู่อย่างหนึ่งคือให้ความรู้สึกโปร่งโล่ง  หายใจได้เต็มปอด  เพราะที่โล่งมีมาก    
     รอบๆบริเวณโรงแรมรถไฟก็โล่ง  ชายหาดก็โล่งกว้าง   เดินไปไหนมีแต่ลมพัดผ่านตลอด  แม้แต่เดินไปตามถนนเพื่อไปตลาด ถนนก็โล่ง   ไม่ต้องกลัวรถแล่นวื้ดว้าดมาชน
     พักอยู่ที่นั่นสัปดาห์หนึ่งสบายๆ   กลับกรุงเทพเนื้อตัวแดงเกรียมไป 2-3 เดือน กว่าจะกลับเข้าที่  

     นึกขึ้นมาได้อีกเรื่องคือแฟชั่นเวลาไปตากอากาศ
     50+ ปีก่อน เสื้อยืดคอกลมพิมพ์ลายที่หน้าอกยังไม่เกิดในไทย      ผู้ชายไทยเวลาไปตากอากาศมักสวมเสื้อฮาวาย  
     ทำไมเรียกเสื้อฮาวายก็ไม่ทราบนะคะ    แต่เข้าใจตรงกันว่าเป็นเสื้อเชิ้ตแขนสั้น มีปกแบะลงมา ไม่ตั้งอย่างปกเชิ้ต  ตัดด้วยผ้าลวดลายสีสดฉูดฉาด   เป็นลายต้นมะพร้าวบ้าง ลายดอกไม้โตๆบ้าง  
      แฟชั่นแบบนี้ ผู้ชายเก็บไว้สำหรับเวลามาเที่ยวทะเล   ถ้าอยู่กรุงเทพเขาไม่ใส่ไปไหนมาไหนกัน     เด็กผู้ชายเล็กๆก็มีเสื้อฮาวายแบบนี้เช่นกัน  นุ่งกับกางเกงขาสั้น    ส่วนผู้ชายหนุ่มๆหรือแก่ๆไม่ค่อยนุ่งขาสั้น   ยังคงนุ่งขายาวอยู่เป็นส่วนใหญ่
      


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.พ. 19, 11:26
ตั้งแต่ความคิดเห็นที่ ๓๘ หากยกไปเป็นกระทู้ "หัวหินในอดีต (๒)" ก็น่าจะดี  ;D

ว่าไงว่าตามกันค่ะ


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.พ. 19, 12:06
เมื่อเช้ามีความผิดพลาด จิ้มชื่อปลาจาระเม็ดยักษ์ที่มาจากฝั่งอันดามันว่าเต๋ยเต้ย ทั้งๆที่สมองสั่งว่าเต๋าเต้ย แต่กายมันไม่ทำตาม ตรวจทานแล้วก็ไม่เห็น จึงต้องขอนำเสนออีกครั้ง

เต๋าเต้ยตัวจะใหญ่มาก มีลักษณะป้อมๆ (ไม่ใส่นากา) ผิวมีเกล็ดเล็กๆกระดำกระด่างแต่ขูดออกง่าย หลังล้างทำความสะอาดแล้วสีสรรจะเหมือนจาระเม็ดขาว  ต่างกันแต่รูปร่างสังเกตุเห็นได้ชัด

ส่วนจาระเม็ดดำ ขอดเกล็ดออกยังไงก็ยังดำ รสชาติก็เทียบพวกขาวไม่ติด ราคาจึงถูกประมาณสักครึ่งเดียวครับ


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.พ. 19, 12:27
ปลาเต๋าเต้ยนึ่งซีอิ๊ว


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.พ. 19, 12:29
ปลาจาระเม็ดนึ่งซีอิ๊ว


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.พ. 19, 12:29
รสชาติของยักษ์กับขาว ต่างกันมากน้อยแค่ไหนคะ?


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ก.พ. 19, 12:38
ท่านรอยอินจำแนกปลาจะละเม็ดออกเป็น ๓ ชนิด คือจะละเม็ดขาว (Pampus argenteus) และจะละเม็ดเทา (Pampus chinensis) ซึ่งอยู่ในวงศ์และสกุลเดียวกัน อีกชนิดคือจะละเม็ด (Parastromateus niger) ตัวนี้อยู่คนละวงศ์และสกุลกับ ๒ ชนิดแรก

จะละเม็ดเทาตัวนี้แหละคือ "เต๋าเต้ย" ซึ่งอร่อยกว่าและแพงกว่าจะละเม็ดขาว


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ก.พ. 19, 13:00
จาก https://www.fisheries.go.th/train-gr/Files/fish03.pdf


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.พ. 19, 13:16
เต๋าเต้ยกับจาระเม็ดขาวรสชาติพอกันครับ แต่เต๋าเต้ยความที่มันตัวใหญ่ เนื้อหนา จึงชนะคะแนนไปตรงนี้


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.พ. 19, 13:55
    ขอบคุณเรื่องปลาจาระเม็ดค่ะ     ที่ตลาดหัวหินน่าจะมีปลาจาระเม็ดขาวเมื่อ 50+ ปีก่อน

    เรื่องเสื้อผ้า  ยุค 1950s เป็นยุคที่กระโปรงพองบานอยู่ในแฟชั่น   ข้างในมีสุ่มเป็นโครงแข็งซ้อนกันหลายชั้นช่วยให้ตัวนอกกางบานอยู่ได้      จึงไม่เหมาะจะไปแต่งชายทะเล   ลมแรงอาจกระพือกระโปรงจนเปิดเปิง   ผู้หญิงไม่ว่าสาวหรือเด็กจึงนุ่งกางเกงกันเป็นหลัก
    เด็กๆนิยมนุ่งกางเกงขาสั้นซึ่งใช้วิ่งลงเล่นน่ำทะเลได้ด้วย ไม่ต้องเปลี่ยนเป็นชุดว่ายน้ำ    สาวๆก็นุ่งสั้นแค่ต้นขา  หรือนุ่งกางเกงขายาวลีบถึงข้อเท้า กับยาวครึ่งน่อง เป็นกางเกงฟิตเปรี๊ยะ  ขาลีบพอดีตัว   กางเกงขาบานตามมาหลังจากนั้นอีก 10 ปี ในทศวรรษ 1960s
  


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.พ. 19, 14:01
สาวเปรี้ยวในยุค 50+ 


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.พ. 19, 15:52
  เมื่อไปเที่ยวทะเล ขากลับก็ต้องซื้อของจากหัวหินกลับมาบ้าน มาฝากคนนั้นคนนี้บ้าง มากินมาใช้เองบ้าง  
  จำได้อยู่ 2 อย่างคือหอยเสียบดองน้ำปลา    เด็กๆมาเดินขายที่ชายหาด  เห็นหอยตัวเล็กๆอัดแน่นเต็มขวดแม่โขง  แบบขวดกลม   ตามร้านในตลาดก็มีขายทั่วไป     อีกอย่างคือปลาหมึกแห้งตัวเล็กๆ เอามาทอดแล้วกินกับข้าวต้มเป็นอาหารเช้า
   อาหารทะเลแบบนี้ไม่ได้ขายกันทั่วไปในกรุงเทพ    อาจมีบางแห่งแต่ไม่รู้ว่าที่ไหน    แต่แน่ใจว่าตลาดใกล้บ้านไม่มี    เพราะฉะนั้นนอกจากได้ไปกินที่หัวหินแล้ว ก็ได้กินอีกทีตอนซื้อติดมือกลับมาบ้านค่ะ
  


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 19, 10:25
  50+ ปีก่่อน หัวหินเป็นจุดท่องเที่ยวจุดเดียวที่ชางกรุงไปปักหลักตากอากาศในฤดูร้อน      หาดเจ้าสำราญยังรกร้างไม่มีใครแวะเลย  ที่พัก  ที่กิน ก็ไม่มี ถ้าลงเล่นน้ำทะเลก็ไม่มีบริการน้ำจืดให้อาบ  นักท่องเที่ยวจึงผ่านไปหมด   
   ส่วนชะอำ มีบรรยากาศเป็นที่พักตากอากาศส่วนตัว  มีชาวกรุงไปปลูกบ้านพักร้อนกันบ้าง ห่างๆกัน    ถนนหนทางก็ไม่ดี  ก็เลยไม่ค่อยมีใครแวะอีกเหมือนกันค่ะ
   ตอนอยู่ม.ปลายเคยไปขึ้นเขาวัง  โรงเรียนจัดทัศนศึกษา    จำได้ว่าเดินเมื่อยทีเดียวกว่าจะถึง    พระราชวังในยุคนั้นทรุดโทรม ปูนสีกระดำกระด่า่งไม่สวย  แต่ยังมองเห็นเค้าการก่อสร้างที่สวยงามได้    ข้างในมีเครื่องเรือนเป็นชุดเก้าอี้มุกใหญ่ๆ ทั้งชุดสวยงามมาก      เมื่อบูรณะเสร็จแล้ว กลับไปดูอีกครั้ง   ไม่เห็นเครื่องเรือนที่ว่านั้นเสียแล้ว   ไม่รู้ว่าแสดงไว้ที่ห้องไหน


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 19, 14:10
รูปคุณวาสนา กระแสสินธุ์ ผู้แสดงแบบเป็นปริศนา   แต่งกายอย่างคนไปตากอากาศหัวหินในยุค 1950s  ค่ะ


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ก.พ. 19, 21:42
ชุดเดินชายหาดหัวหินในปริศนาฉบับ ติ๊ก-เทย่า พ.ศ. ๒๕๔๓  ;D

https://youtu.be/9vy29BHESig


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ก.พ. 19, 10:10
ภาพถ่ายทางอากาศโรงแรมรถไฟหัวหิน พ.ศ. ๒๕๐๘


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ก.พ. 19, 10:16
บังกะโลระหว่างโรงแรมรถไฟและบ้านจักรพงษ์

ภาพจาก https://www.facebook.com/844474718998696/posts/1592385644207596?sfns=mo


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ก.พ. 19, 10:19
^ บังกะโลนี้เป็นแบบมาตรฐาน ที่เมืองประจวบคีรีขีนธ์ก็แบบเดียวกันนี้


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 19 ก.พ. 19, 11:41
หัวหิน ๒๔๖๑
“...ตามไร่แตงที่เชิงเขาหัวล้าน ลือกันว่ามีอีเก้งชุกชุม ชาวไร่เล่าว่า เขาพบพวกมันกินยอดแตงในไร่บ่อยๆ เวลาไปยิงไก่ป่าก็มักจะเจอรอยเท้าเสมอๆ และมีรอยเท้าเสือปนมาด้วย...”
จากจดหมายนักเรียนอัสสัมชัญพักหยุดไปเที่ยวตอนปิดเทอม พ.ศ. ๒๔๖๑


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.พ. 19, 15:24
  เมื่อ 50+ ปีก่อน   คำว่า "ตากอากาศ"ของทางบ้านหมายถึงหัวหิน    ไม่เคยไปปราณบุรีหรือประจวบเลยสักครั้ง  จึงไม่รู้ว่าสมัยนั้นหน้าตาของทั้งสองแห่งเป็นอย่างไร    เดาว่าคงจะเป็นธรรมชาติท้องถิ่นที่ไม่เปลี่ยนแปลงมาหลายสิบปี


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 20 ก.พ. 19, 10:04
อาศัยลายแทงจากกระทู้ ท่านอาจารย์เพ็ญชมพู
บังกะโลระหว่างโรงแรมรถไฟและบ้านจักรพงษ์

ภาพจาก https://www.facebook.com/844474718998696/posts/1592385644207596?sfns=mo
ผมขอนำเสนอ ภาพยนตร์สารคดีริมสองข้างทางรถไฟ
แสดงถึงบรรยากาศหาดหัวหิน บริเวณโรงแรมรถไฟ พ.ศ. ๒๕๐๖
ความยาว หกนาทีครึ่งครับ

ภาพยนตร์สารคดี ริมสองข้างทางรถไฟ แสดงบรรยากาศหาดหัวหิน บริเวณโรงแรมรถไฟ พ.ศ. ๒๕๐๖ (https://www.facebook.com/844474718998696/videos/vb.844474718998696/1593596194086541/?type=2&theater)

เครดิต : เฟซบุ๊ค ภาพเก่าเล่าเรื่องหัวหิน


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ก.พ. 19, 10:28
ร่วมด้วยช่วยโพสต์  ;D

ภาพยนตร์สารคดี ริมสองข้างทางรถไฟ แสดงบรรยากาศหาดหัวหิน บริเวณโรงแรมรถไฟ พ.ศ. ๒๕๐๖ (https://www.facebook.com/844474718998696/videos/vb.844474718998696/1593596194086541/?type=2&theater)

https://www.facebook.com/844474718998696/videos/1593596194086541/


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ก.พ. 19, 14:49
ภาพถ่ายทางอากาศหัวหิน โดย Peter Williams-Hunt ๕ พฤษภาคม ๒๔๘๗

ภาพต้นฉบับ http://gdap.crma.ac.th/whc/thailand/gallery3/thailand/Ban_Pong_Si_Ri_cha/thumb1024/02949.jpg (http://gdap.crma.ac.th/whc/thailand/gallery3/thailand/Ban_Pong_Si_Ri_cha/thumb1024/02949.jpg)
ภาพขยาย    http://www.songkhlaline.com/image/huahin5may1944n1.jpg  (http://www.songkhlaline.com/image/huahin5may1944n1.jpg)


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ก.พ. 19, 16:30
๗๐ กว่าปีผ่านไป  ;D

ภาพจาก https://www.facebook.com/844474718998696/posts/1054636044649228?sfns=mo


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 19, 21:27
เอาแฟชั่นของสาวๆในชุดลำลอง ตากอากาศที่หัวหินมาให้ดูกันค่ะ   ผู้แสดงแบบคือคุณอมรา อัศวนนท์ นางเอกหนังไทยคนดังในยุคนั้น


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ก.พ. 19, 12:23
วันหนึ่งเป็นวันเสาร์ สิรีและปริศนากลับบ้านแต่วัน พอกินข้าวเสร็จ ปริศนาก็เอ่ยขึ้นว่า

"แหมสบายใจจริง โรงเรียนหยุดตั้ง ๗ อาทิตย์ ร้อน ๆ ยังงี้ไม่ชอบสอนเลย เดี๋ยวตีตายหมด"

"พวกนงลักษณ์เขาก็ไปหัวหินกันในวัน ๒ วันนี้แหละ เขาว่าจะปิดร้านชั่วคราว พี่เลยได้พัก" สิรีเล่า

"เออ อ้ายหัวหินนี่มันดียังไงหนอ ใคร ๆ ดูจะไปกันทั้งนั้น พวกนักเรียนปริศนางี้ไปกันหมดทุกคน คุณป้าสงวนก็ว่าไปเช่าบ้านใหญ่ไว้จะพาพวกครูสาว ๆ ไป ชวนปริศนาใหญ่ ปริศนาไม่เล่นด้วย"

"ทำไมล่ะจ๊ะ คุณแม่ถาม ปริศนาไม่อยากไปหัวหินหรือ ?"

"อยากซิคะ ไม่เคยไปทำไมจะไม่อยาก แล้วก็ทำงานมาตั้งปี ไปตากอากาศมั่งก็ดี"

คุณอมรา อัศวนนท์ "ปริศนา ๒๔๙๘" ปริศนาคนแรกบนจอเงิน  ;D


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 19, 15:14
ดิฉันเคยดูเรื่องนี้เมื่อนำมาฉายทางทีวี หลายปีหลังจากหนังโรง    ตอนนั้นทีวียังเป็นขาวดำอยู่  หนังก็เลยพลอยขาวดำไปด้วย ทำให้ฉากต่างๆดูมืดเกือบตลอดเรื่อง
คำถามหนึ่งที่ยังหาคำตอบไม่ได้คือ ใครเล่นเป็นพระเอกเรื่องนี้     คุณเพ็ญชมพูหาเจอไหมคะ
เรื่องนี้เมื่อดูจากโฆษณา เน้นนางเอกมากๆ   มองไม่เห็นชื่อดารานักแสดงคนอื่นในเรื่องเลย รวมทั้งพระเอกในบทท่านชายพจน์ด้วย

ว.ณ ประมวญมารค บรรยายท่านชายพจน์ว่าไว้หนวดเหมือนเออรอล ฟลินน์  พระเอกดังของฮอลลีวู้ดยุคก่อนสงครามโลก และสูบกล้องด้วย
ท่านคงหล่อแบบนี้ ยากจะหาคนไทยมาเทียบได้  


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ก.พ. 19, 15:43
คำถามหนึ่งที่ยังหาคำตอบไม่ได้คือ ใครเล่นเป็นพระเอกเรื่องนี้     คุณเพ็ญชมพูหาเจอไหมคะ

ภาพจาก https://thaibunterng.fandom.com/th/wiki/ปริศนา_(2498) (https://thaibunterng.fandom.com/th/wiki/ปริศนา_(2498))


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 19, 15:58
ขอบคุณคุณเพ็ญชมพูค่ะ

รัชดา ศรียาภัย
เพิ่งเคยได้ยินชื่อ   น่าจะเป็นนักแสดงกิตติมศักดิ์ที่รับเชิญมาเล่น   แสดงเรื่องเดียวแล้วไม่ได้เล่นอีก?


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ก.พ. 19, 20:01
ขอให้สังเกตในภาพโฆษณา "ปริศนา ๒๔๙๘" ระบุว่าคุณอมรา อัศวนนท์ มีตำแหน่งเป็นรองมิสยูนิเวอรส์  ข้อมูลที่ถูกต้องคือคุณอมรา อัศวนนท์เป็นรองนางสาวไทย พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นตัวแทนสาวไทยเข้าประกวดนางงามจักรวาลเป็นคนแรกที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ แต่ไม่ได้ตำแหน่งอะไร

https://th.wikipedia.org/wiki/นางงามจักรวาล_1954 (https://th.wikipedia.org/wiki/นางงามจักรวาล_1954)

https://youtu.be/huYdaRu5LZY

น่าจะเป็นความตั้งใจของผู้ทำโฆษณาในสมัยนั้น ที่เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงเพื่อเสริมภาพลักษณ์ของนางเอก ถ้าเป็นในสมัยนี้คงไม่ได้ผล เพราะใคร ๆ ก็หาความจริงได้โดยการใช้อินทรเนตร  ;D


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ก.พ. 19, 11:55
กลับมาดูภาพหัวหินในอดีต

ถัดจากศาลาบนป้อมบนโขดหินหน้า "บ้านจักรพงษ์" (วังพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์) เป็นหมู่บ้านชาวประมง


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ก.พ. 19, 16:38
บ้านจักรพงษ์ ด้านหน้าติดชายทะเล บุคคลในภาพคือพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช และพระคู่หมั้น

ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงแรมฮิลตันหัวหิน


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ก.พ. 19, 16:45
อดีต - ปัจจุบัน


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ก.พ. 19, 16:50
ปัจจุบันศาลาหลังเก่าถูกย้ายมาไว้ที่บ้านจักรพงษ์ กรุงเทพฯ


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 19, 20:27
เคยไปถ่ายรูปหน้าศาลาบนโขดหินนี้ด้วยละค่ะ


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 มี.ค. 19, 19:54
ถัดจากศาลาบนป้อมบนโขดหินหน้า "บ้านจักรพงษ์" (วังพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์) เป็นหมู่บ้านชาวประมง

ภาพหมู่บ้านชาวประมง (ก่อนมีบ้านจักรพงษ์) บนไปรษณียบัตร


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 19, 20:04
วังไกลกังวล สมัยรัชกาลที่ 7


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 มี.ค. 19, 20:26
 ;D

https://youtu.be/cuKKomaPU0s


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 มี.ค. 19, 19:40
;D

https://youtu.be/diZiXyWC38c


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 มี.ค. 19, 12:42
ภาพหมู่บ้านชาวประมง (ก่อนมีบ้านจักรพงษ์) บนไปรษณียบัตร

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6980.0;attach=70502;image)

ชีวิตของชาวประมงหัวหินในอดีต เรือฉลอมกำลังจะออกหาปาก เบื้องหลังที่เห็นคล้ายนั่งร้านสูง ๆ คือราวตากอวน


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 มี.ค. 19, 16:24
ชาวบ้านผู้บุกเบิกชายหาดหัวหิน ประกอบอาชีพประมงอวนหมึก อพยพอยู่อาศัยบนหาดแห่งนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ แต่เมื่อการท่องเที่ยวเติบโตขึ้น ทายาทรุ่นหลังจึงเปลี่ยนแปลงอาชีพเดิมหันมาทำรีสอร์ต ร้านค้า และร้านอาหาร จนถึงวันนี้ พวกเขาอยู่ในฐานะผู้บุกรุกชายหาด

ย้อนไปใน พ.ศ. ๒๔๖๐ การตัดถนนนเรศดำริห์ผ่ากลางหมู่บ้าน บ้านที่อยู่ฝั่งตะวันตกออกโฉนดได้ แต่บ้านที่อยู่ฝั่งตะวันออกติดชายหาดออกโฉนดไม่ได้ จน พ.ศ.๒๕๓๔ เทศบาลให้ชาวบ้านแถบนี้ทำสัญญาเช่า เมื่อสัญญาหมดอายุใน พ.ศ. ๒๕๔๖ ก็เกิดเป็นคดีความที่กรมเจ้าท่ากับเทศบาลฟ้องร้องว่า ชาวบ้านริมหาดเป็นผู้บุกรุกที่สาธารณะ

http://www.nationtv.tv/main/content/378519973/

ผู้บุกเบิกกลายเป็นผู้บุกรุกได้อย่างไร  :o  

https://youtu.be/_PyaXdZsqnY

https://youtu.be/9pXaUX06xkQ


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: คำบรรณ ที่ 16 มี.ค. 19, 14:00
เมื่อมีการเดินรถไฟมาถึงหัวหิน
เพื่ออำนวยความสะดวกให้สมเด็จพระพันปีหลวง(สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ)
มีการสร้างทางรถไฟเล็กจากสถานีรถไฟมายังที่เรือนที่ประทับ
ตามแนวถนนดำเนินเกษม(สมัยต่อมาเมื่อรื้อรางรถไฟเล็กได้ตัดเป็นถนน)
และสร้างเรือนที่ประทับ ไม่ทราบทั้งหมดมีกี่หลัง(เมื่อสร้างพระราชวังไกลกังวล
ได้รื้อเรือนที่ประทับสามหลังมาไว้ที่พระราชวังไกลกังวล พศ.2469)
และสร้างบังกะโลทาสีเขียว  ไว้ทั้งหมด 19 หลัง

ที่เคยอ่านผ่านๆแต่หารายละเอียดมากกว่านี้ไม่ได้


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 มี.ค. 19, 11:27
คุณสรศัลย์ แพ่งสภาเล่าไว้ในหนังสือราตรีประดับดาวที่หัวหินว่า

กรมรถไฟหลวงวางรางขนาดความกว้าง ๖๐ เซนติเมตร จากสถานีไปชายทะเล (เส้นทางที่เป็นถนนดำเนินเกษมในปัจจุบัน) เพื่อรับเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง และเจ้านายผู้ใหญี่ประทับอยู่ใกล้เคียงพระตำหนัก ต่อมาก็ได้ใช้รถไฟเล็กสายนี้ลำเลียงวัสดุก่อสร้างของโฮเต็ลด้วย และรื้อถอนไปโดยสร้างถนนขึ้นมาแทน


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 มี.ค. 19, 11:29
ถนนดำเนินเกษมในอดีต สร้างบนเส้นทางที่เคยเป็นทางรถไฟเล็กจากสถานีรถไฟไปชายหาด


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 มี.ค. 19, 10:00
ภาพมุมสูงถนนดำเนินเกษมในปัจจุบัน  ;D


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 มี.ค. 19, 09:17
รถไฟสายบางกอกน้อย-หัวหินเปิดทำการในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ จึงสามารถรับผู้โดยสารจากมลายูของอังกฤษเข้ามาได้

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้สร้างสถานที่เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวขึ้น ๒ แห่งในบริเวณใกล้สถานีรถไฟและชายทะเล ต้นและท้ายถนนดำเนินเกษม ซึ่งสร้างและเปิดบริการในเวลาใกล้เคียงกัน คือสนามกอล์ฟหลวงหัวหินและโรงแรมรถไฟหัวหิน

จากหนังสือราตรีประดับดาวที่หัวหิน โดย คุณสรศัลย์ แพ่งสภา


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 มี.ค. 19, 09:23
โรงแรมรถไฟหัวหินออกแบบโดยนาย เอ. ริกัซซี สถาปนิกชาวอิตาเลียนประจำกรมรถไฟหลวง เปิดใหบริการวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๖

สนามกอล์ฟหลวงหัวหินออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยนาย เอ. โอ. โรบินส์ ข้าราชการตำแหน่งนายช่างบำรุงทางแขวงเพชรบุรี เปิดให้บริการวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๕

ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 มี.ค. 19, 09:30
ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 19, 10:13
เอารูปหัวหินปัจจุบันมาคั่นบ้างค่ะ
ยังมีหาดทรายสวยๆ ให้นั่งชมทะเลสบายๆ


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 มี.ค. 19, 14:31
หนีลมร้อนจากเมืองกรุงมุ่ง "หัวหิน"
สู่แดนถิ่น "ปริศนา" พาให้ฝัน
ชมทะเลเริงรื่นชื่นชีวัน
แสนสุขสันต์บนหาดงามนามเลื่องลือ


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 19, 15:27
    หัวหินไม่ได้เป็นแต่เพียงฉากหลังสวยงามให้พระเอกนางเอกได้รักกัน อย่างใน "ปริศนา" เท่านั้น    แต่เป็นฉากตายของตัวเอกในนิยายด้วยค่ะ
    เรื่องนั้นคือ "ชีวิตมิใช่ดอกกุหลาบ" ของ นิตยา นาฏยะสุนทร หรือคุณหญิงสุริพันธ์ มณีวัต   นักประพันธ์สตรีที่โด่งดังในช่วง  50+ ปีก่อน
    เรื่องนี้เป็นโศกนาฏกรรมหนึ่งในน้อยเรื่องของวงการนวนิยาย   เพราะคนอ่านไทยไม่ชอบ unhappy ending  แต่น้อยเรื่องเหล่านี้ก็มีหลายเรื่องที่ดัง อย่างเรื่องนี้ละค่ะ

   ในฉากจบ  นางเอกผู้ถูกโชคชะตารังแกกระหน่ำซ้ำเติมมาตั้งแต่บทแรกจนบทสุดท้าย   ก็ตัดสินใจเดินลงทะเลหัวหินจบชีวิต

       เปลือกตาของเธอหรี่ปรือ ง่วง หรือ? หลับ หรือ? ยังก่อน ฉันจะยังไม่หลับจนกว่าจะได้เดินทางไกลอันเป็นครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตเสียก่อน ปิยนาถทรงตัวลุกขึ้นยืน หนังตาหนักอึ้ง ประสาททุกส่วนเมื่อยล้าราวกับตัวเธอจะพับลงในขณะนั้น ร่างกายเริ่มพ่ายแพ้แล้ว แต่ความเข้มแข็งในดวงใจยังคงมีอำนาจอยู่ ปิยนาถยิ้มให้กับตัวเองอย่างกล้าหาญ ลักยิ้มกดลึกลงไปอย่างงดงาม ที่สุด เป็นใบหน้าของบุคคลที่คิดว่าตัวกำลังได้รับอิสรภาพที่รอคอยมาชั่วชีวิต... และไม่ปรารถนาสิ่งใดมากกว่านั้นอีก

         ฝีเท้าของเธอที่เดินฝ่าละอองน้ำอันกระเซ็นเป็นฝอย ลงไปหาคลื่นลูกใหญ่ ที่กระแทกตัวเข้าหาฝั่งนั้น... มั่นคงและแน่นอน
       ดามพ์จ๋า นาถไม่เคยเสียใจเลย ที่ได้รักและเป็นของคุณ
       หาดหัวหินยามแรกขึ้นปักษ์หลังของเดือนมิถุนายน เวลานี้ดูว่างเปล่าและโล่งไปจนสุดสายตา...

      นางเอกเดินลงทะเลตายอย่างเก๋ที่สุด    คนอ่านไม่ได้คิดอะไรจนมาเห็นชายทะเลหัวหิน  รู้สึกหาดมันลาดลงไปมาก   กว่าจะเดินลงไปจนน้ำลึกถึงเอวก็ไกลเอาการอยู่     ยิ่งเดินให้จมทั้งตัวคงยิ่งไกล    คลื่นก็เบา    นางเอกคงต้องเดินนานทีเดียวกว่าจะจมน้ำตาย
     


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 มี.ค. 19, 08:02
หัวหินถิ่นแห่งหัวใจ ในนิยายอีกเรื่องหนึ่งในชุด "สุภาพบุรุษจุฑาเทพ"  ;D

https://youtu.be/DzA_JACcAeY

แต่ภาพทิวทัศน์ในละครดูอย่างไรก็ไม่ใช่ "หัวหิน"   ;)


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 19, 08:56
เพลงนี้   คุณชวลี ช่วงวิทย์ร้องเมื่อ 68 ปีมาแล้ว

https://www.youtube.com/watch?v=L_eJ-5kOe6g


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 19, 08:58
ถ้าจะฟังเสียงแบบนักร้องปัจจุบัน ก็ฟังเสียงคุณนิโคล เทริโอ

https://www.youtube.com/watch?v=1_wOweIfOiM


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 มี.ค. 19, 12:20
เพลงหัวหินสิ้นมนต์รัก คำร้องและทำนอง โดยคุณไสล ไกรเลิศ มี ๒ เวอร์ชั่น เพลงที่คุณชวลี ช่วงวิทย์ขับร้องเป็นเวอร์ชั่นต้นฉบับ แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔  

https://youtu.be/L_eJ-5kOe6g

หัวหินเป็นถิ่นนิยม ก่อนเคยรื่นรมย์อกเอ๋ย
ฟังเขาเคยรำพัน
ค่ำชมหาดลาวัณย์ มีสื่อเป็นจันทร์ ฉันลืมไม่ลง

เพียงชื่นชู้อยู่สวรรค์
ร้อยคำมั่น สวรรค์นำส่ง
อยากจะลืม ลืมไม่ลง รักคงเมินห่าง

หัวหินเป็นถิ่นวิไล ขาดเธอเปลี่ยวใจเงียบเหงา
มองรักเราเลือนราง
คลื่นยังคร่ำยังครวญ จันทร์แจ่มยังนวล เย้ายวนไม่สร่าง

คอยชื่นชู้อยู่เมินหมาง
ฟ้าสว่าง เดือนค้างดาวหล่น
หมดอาลัย ปลอบใจตน ทุกข์จนใจห่วง


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 มี.ค. 19, 12:25
ส่วนเวอร์ชั่นที่คุณนิโคลเทริโอขับร้อง คุณไสล ไกรเลิศแต่งให้คุณสุเทพ วงศ์กำแหงขับร้องเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ ใช้ประกอบภาพยนตร์และละครเรื่อง " ปริศนา " ทุกเวอร์ชั่น

https://youtu.be/4QYzaDFaFSk

หัวหินเป็นถิ่นสัญญา
 จากไปกลับมาผิดหวัง

ความหลังยังเวียนวน
คลื่นสวาทมันแรง 
มันแกล้งมาดล ร้อนจนใจสั่น



เคยพลอดชู้สู่สวรรค์

รักกันมั่น ใจฉันยังปลื้ม

มันซาบมันซึม มันปลื้มไม่นาน วิมานทลาย
 
หัวหินเป็นถิ่นสำคัญ 
ขาดเธอกลับพลันเงียบเหงา 

มองแสงดาวเรียงราย  
คลื่นยังคร่ำยังครวญ 
จันทร์แจ่มยังนวล เย้ายวนไม่วาย



คอยชื่นชู้อยู่แลหาย

เห็นรอยทราย  ใจฉันหวิวหวั่น

เคยนั่งชมคลื่น  เคยชื่นใจกัน  ฉันยังไม่ลืม


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 มี.ค. 19, 07:30
ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ คราพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ จากวังไกลกังวลไปยังสวนลิง หัวหิน เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๐๔

https://youtu.be/33DlIAbtMRY


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 26 มี.ค. 19, 10:06
เพิ่มเติม

ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ในหลวง ร 9 พระราชโอรส ร 10 พระราชธิดา ทรงพระสำราญ ทะเลหัวหิน 2504

https://www.youtube.com/watch?v=swgm4oekbco


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 26 มี.ค. 19, 10:07
สารคดี "ในหลวงของเรา" ตอน เสด็จฯพระราชวังไกลกังวล พ.ศ. ๒๔๙๕

https://www.youtube.com/watch?v=plNRWL-zIrA


กระทู้: หัวหินในอดีต (2)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 26 มี.ค. 19, 10:08
และ วังไกลกังวล หัวหิน เสด็จทรงเรือใบลำพังสองพระองค์

https://www.youtube.com/watch?v=8GyVsBxWlDk