เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 25 ม.ค. 08, 09:36



กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 25 ม.ค. 08, 09:36
ช่วงที่คณะเรือนไทยส่วนหนึ่งที่รักศิลปะวัฒนธรรมไทย ชวนกันเดินทางไปพักผ่อนแบบคิดไปด้วย ฟังไปด้วยและร่วมกันแบ่งปันความรู้กันตามสถานที่สำคัญต่างๆเช่นวัดใหญ่สุวรรณาราม เมืองโบราณ และอยุธยา จนซึมซับเรื่องราวอันเป็นทั้งประวัติศาสตร์ ตำนาน โบราณคดีไม่กี่ครั้ง ดิฉันก็รู้สึกประทับใจ
ในวันทำงานหนึ่งของลมหายใจรองเท้าของดิฉัน ดิฉันเกิดไปได้แนวคิดว่า รหัสพันธุกรรมของคนไทยน่ะ มันน่าจะพิเศษอย่างหนึ่งนะ ตรงความประณีตในด้านศิลปกรรม
ตราบใดที่รองเท้ายังทำด้วยฝีมือแรงงานอยู่ แม้จะผสมเครื่องจักรทันสมัย เครื่องจักรน่ะ มันทันกันหมด อิตาลีคิดมาออกตลาดได้ไม่กี่เดือน จีนก็ลอกเลียนมาขายเหมือนเปี๊ยบและถูกกว่าได้แล้ว แต่ฝีมือแรงงานของคนนี่สิ โดยเฉพาะทางศิลปะ พี่ไทยเรา มีรหัสพันธุกรรมที่ไม่เป็นรองพี่เลี่ยนเขานะ พิสูจน์ได้จากเส้นสายลายศิลป์ ..ทำได้สวยและทำได้เร็ว
ดิฉันจึงเกิดความคิดจะไปเก็บภาพและศึกษาเกร็ดความรู้เหล่านี้ โดยมีเพื่อนร่วมทางซึ่งมีตาศิลปะไปด้วย
และเราจะผลัดกันเล่าโดยรูปและเรื่องค่ะ
สถานที่แรก วัดใหญ่ชัยมงคลค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 25 ม.ค. 08, 09:44
วันนั้น กว่าจะไปถึงอยุธยาก็บ่ายสี่โมงแล้ว วัดสำคัญๆปิด มีวัดใหญ่นี่หละค่ะ ที่เป็นวัดกลางแจ้งและเปิดอยู่


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 25 ม.ค. 08, 10:00
และด้วยความเป็นคนเกิดวันอังคาร เพื่อนจึงตรงไปไหว้พระไสยาสตามความต้องการก่อนอื่น ดิฉันเห็นเขาอึดอัดขัดใจกับเสาโคมไฟสมัยใหม่สองต้น พยายามหลบ
ด้วยประสิทธิภาพของกล้องตัวเล็กๆ ที่คล่องตัว เขาใช้เวลาไม่นานกว่าจะได้มุมที่พอใจ
ก่อนจะคุกเข่าลงไหว้พระและสวดมนต์บทบูชาสำหรับคนเกิดวันอังคาร
ที่พระประจำวันคือพระนอน


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 25 ม.ค. 08, 10:06
ทางเดินขึ้นสถูป หรือพระเจดีย์ ชันมาก ดูเผินๆเหมือนสบาย เพราะมีบันใด แต่เมื่อขึ้นไปแล้ว คนในวัยตกกระ อาจจะขาอ่อนก็ได้ แม้จะไม่มองลงมา
เจดีย์นี้มีประวัติค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 25 ม.ค. 08, 10:16
สำหรับคนทั่วๆไปที่ไม่ได้อ่านเอกสารใดๆประกอบ หรือไม่อยู่ในแวดวงเดียวกับนักประวัติศาสตร์ศิลป อาจจะได้ยินได้ฟังมาว่า วัดนี้เกี่ยวข้องกับรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 25 ม.ค. 08, 10:20
หลายท่านไม่เชื่อเช่นนั้นค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 08, 12:44
ชมรูปก็อิ่มตา    มารอเนื้อเรื่องให้อิ่มใจค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 ม.ค. 08, 15:09
รุ่งเรือง....เมืองศิลป์

ประเด็นการกำหนดอายุพระมหาเจดีย์วัดใหญ่ไชยมงคลนี้ เป็นเรื่องคอขาดบาดตายทีเดียว
ฝ่ายหนึ่งยึดพระมติของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าพระนเรศวรสร้างเฉลิมพระเกียรติ
เมื่อคราวชนะพม่าที่ดอนเจดีย์

อีกฝ่ายหนึ่ง นำโดยอาจารย์ประยูร น ณปากน้ำ ศิลปินแห่งชาติ
เห็นว่าน่าจะเก่ากว่านั้น เก่าถึงก่อนอยุธยาทีเดียว

เสียดายที่พวกเราเป็นเด็กรุ่นหลัง ไม่ทันพบข้อมูลที่พ้นมือมาร ได้แต่ตามดูสิ่งที่ถูกรีแพร์เสียแล้ว
จะวางความคิดไปทางใหน ก็ตัวใครตัวมันละท่าน.....เกิดไม่ทันทั้งนั้นนี่นา
แต่.....การค้นเรื่องก่อนเกิด ก็มีความน่าสนุกตรงนี้แหละครับ

คือผิดถูกไม่รู้ละ ขอออกความเห็นไว้ก่อน ทำแล้วสบายใจ...หึหึ โรคนี้เป็นแล้วไม่มียารักษาเสียด้วย
เรามาลองเชิงลับสมองกันดูสักที ว่าในวันนี้ เมื่อเครื่องมือช่วยศึกษามีความพร้อม
แต่สิ่งที่ต้องการศึกษาได้ปลาสนาการไปแล้ว.....

เรายังทำอะไรได้บ้าง


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 ม.ค. 08, 15:18
วิธีวินิจฉัย น่าจะเดินแนวนี้นะครับ

1 ทำเลที่ตั้ง
แถวๆ นั้น เป็นแหล่งข้อมูลยุคใหน มีวัดสมัยใหนมาก อาจจะช่วยบ่งชี้ได้พอสมควร

2 ศิลปะที่ร่วมสมัยกัน
ถ้าเป็นเจดีย์สมัยพระนเรศวร เรามีตัวอย่างสิ่งก่อสร้างรุ่นไกล้กันมาเปรียบเทียบหรือไม่

3 ข้อมูลแวดล้อม
เป็นต้นว่า ในสมัยพระนเรศวร ฝีมือช่างพร้อมจะทำสิ่งนี้หรือไม่ เศรษฐกิจ และกำลังคนพร้อมหรือไม่

4 คติความเชื่อ
คนแต่ละยุคคิดและทำต่างกัน พระเจดีย์ที่กองทัพอากาศสร้างไว้ ย่อมมิใช่คติเดียวกับพระปฐมเจดีย์
อนุสาวรีย์พระนางเรือล่ม ก็ต่างคติกับหมู่พระเจดีย์รายในวัดพระเชตุพน

5 แบบศิลปะ
ศิลปะทุกยุค มีรูปแบบที่จำแนกออกจากกันได้ ยิ่งในยุคที่ไร้การปนเปื้อนอย่างสมัยร้อยๆ ปีย้อนขึ้นไป
ยิ่งมีแบบศิลปะที่ชัดเจนจนแทบจะเป็นสูตรสำเร็จ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 25 ม.ค. 08, 18:29
ชื่อวัดใหญ่ ชัยมงคล หากผมจะขอตีความบ้าง ถ้าชื่อนี้เป็นชื่อใหม่ ก็คงจะหมายถึงชัยชนะจากการรบ หรือทำเลที่ตั้งที่มีชัย ทำเลปัจจุบัน อยู่อยุธยาฝั่งแม่น้ำเดียวกับวัดมเหยงค์ วัดกุฎีดาว วัดสามปลื้ม วัดสมณโกฏ และวัดประดู่ทรงธรรม เรียงรายกัน โดยมีเส้นถนนตัด เป็นวัดนอกพระบรมมหาราชวัง เป็นเขตชาวบ้านร้านช่อง ถ้านึกถึงอยุธยาตอนปลาย พวกบรรดาแม่ทัพนายกอง ทหาร ชาวบ้านคงจะปนเปกันอยู่แม่น้ำฝั่งนี้
ตามความคิดของผม ถึงจะอยู่ห่างวังแค่ไหน ความใหญ่โตมโหฬาร ก็บ่งบอกว่าน่าจะเป็นวัดหลวง เป็นไปได้ไหมว่า สมัยอยุธยาตอนต้น พระราชวังเดิม จะอยู่ฝั่งนี้

...
ชื่อเดิมของวัดนี้ในพงศาวดารมีไหม หรือมีแต่เป็นชื่ออื่น
...
ถ้าสมเด็จพระนเรศวรสร้างจริง ท่านไปอยู่ในพม่านาน จะได้อิทธิพลพม่ามาสร้างเจดีย์ใหญ่ๆไหม ให้ศักดิ์ศรีเท่าๆกับชเวดากอง อันนี้ผมก็ไม่ทราบว่าชเวดากองสร้างนานแค่ไหน หรือเมืองเจดีย์เยอะๆในพุกาม เจดีย์เขากับเรานั้น สไตล์ใกล้เคียงกันหรือไม่
..
ไม่กล้ามั่วครับ
และถ้าสร้างตั้งแต่สมัยอู่ทอง หรือเก่ากว่านั้น มีอะไรบ่งบอกบ้าง
คงจะต้องกลับไปที่วิธีวินิจฉัยข้อใดข้อหนึ่งของคุณพิพัฒน์ครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 25 ม.ค. 08, 18:40
ภาพที่ค้นได้จากเว็บ เป็นภาพก่อนบูรณะครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 25 ม.ค. 08, 19:54
ภาพประกอบคห.บนได้จาก http://www.nairobroo.com/nairobroo_monthly/2002/01/once_ayutaya.htmครับ
...
ส่วนภาพแผนที่นี้ ผมเสิชหาเก็บไว้และลืมโน้ตครับว่ามาจากไหน ท่านผู้อ่าน



กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 26 ม.ค. 08, 00:58
ถ้าผมเป็นหนุมาน......
(เขามี 6 หน้าอ่ะเนาะ)

ผมจะขออยุญาตฟังซัก สามหู
แล้วก็ไว้หูที่เหลือ กับ กรมดำรง หรือ อ.ประยูร ครับ


ข้อแรก เสด็งท่านเกิดมาตั้งแต่สมัยที่องค์ความรู้ยังไม่มี
จะอ่านหนังสือซักทีต้องสั่งผ่านมาจากสิงคโปร์ รอกันเป็นเดือนๆ

ส่วนอาจารย์ประยูร ท่านก็ลากทุกอย่างไปเป็นอโยธยาซะเยอะ




หลายวันก่อนผมมีโอกาสไปเดินเล่นแถวๆวัดที่คุณ elvish ว่ามาเหมือนกัน
แต่เสียดาย ไม่มีเวลาไปวัดใหญ่ฯ ครับ
ไปแค่วัดดุสิต วัดอโยธยา แล้วก็ไปวัดประดู่
แวะดูจิตรกรรมรูปฤๅษีช่วยกินรีฆ่าแมงมุมครับ แหะๆ


ปล. เดี๋ยวเราไปหานักลวดบัววิทยามาช่วยตอบดีก่า หิหิ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 26 ม.ค. 08, 06:43
วัดใหญ่ชัยมงคลเป็นวัดที่ถูกบูรณะในช่วงประชาธิปไตยสมัยนายปรีดี พนมยงค์ อาจจะด้วยเหตุผลหนึ่งว่าท่านเป็นคนอยุธยา
ถ้าตามเป้าหมายทางศิลปะของดิฉัน วัดนี้ยังไม่ตรงค่ะ
แวะไปเพราะพลาดเรื่องเวลาที่จะเข้าพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา ซึ่งปิดบ่ายสามครึ่ง วัดมงคลบพิตรก็ปิดสี่โมงเย็น
หากท่านผู้อ่านสนใจอยุธยา ดิฉันขอแนะนำให้ไปดูทรากพระราชวังและวัดพระศรีสรรเพชญ์ค่ะ
รวมถึงพิพิธภัณฑ์ด้วย ชมความวิจิตรพิสดารละเอียดละออ อ่อนช้อย และรุ่งเรืองที่นั่น
เห็นแล้วปวดใจจี๊ดๆ..
...


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 26 ม.ค. 08, 06:53
.................
โอ้เมืองยิ้มพร่างพริ้มพิมพ์ใจ
วัดวังนาไร่ทวยถิ่นไทยสุขล้ำ
ไพร่ฟ้าหน้าใสใฝ่ธรรม
คีตนาฏหวานฉ่ำดื่มด่ำใจ



โอ้ภาษาอักษรกลอนกานท์
หวานคำยามอ่านไทยบุราณพร่ำไว้
รวยสาวหลากศิลป์ถิ่นไทย
จึงสลักรักใคร่เสน่หา



* รักสิ่งใดไม่แม้แมนเมือง
รุ่งเรืองเฟื่องพุทธบูชา
ความเป็นไทยไอศูรย์ ผองไทยเทิดทูนรักษา
สืบสมญาเมืองทอง



โอ้เมืองแมนแม่นแล้วเมืองเเรา
แม้พาลราญเผ่าพลีชีพเราสนอง
รักษาแผ่นดินถิ่นทอง
เพื่อชาติเรามิต้องสูญถิ่นสิ้นไทย
..
อาจารย์เทาชมพูส่งเพลงนี้มาค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 26 ม.ค. 08, 07:34
ดิฉันถามอาจารย์พิพัฒน์ว่า "วัดนี้ ณ อยุธยาที่เห็นมีพระพุทธรูปหลายสไตล์ พระนอนก็หน้าแบบหนึ่ง พระนั่งก็อีกหลายๆแบบ ไม่ทราบคติ หรือปรัชญา กว่าที่จะมาเป็นวันนี้ในรัตนโกสินทร์น่ะ ใครรู้บ้างว่าองค์ไหนมาก่อน มาหลัง มาเพิ่ม แล้วยังที่อยู่ในพระอุโบสถอีก
แต่นั่นไม่สำคัญเท่าอยากรู้จริงๆว่า วัดใหญ่ชัยมงคล หลวงพ่อองค์ไหนกันแน่ที่คู่วัด ที่เราเรียกได้ว่าเป็นหลวงพ่อออริจินัลน่ะค่ะ สำคัญยุคพอๆกับการสร้างเจดีย์"
นี่คือคำตอบค่ะ
"ที่วัดใหญ่ ของแท้ไปหมดแล้วครับ
ทั้งอยุธยา ของแท้ก็ไปหมดเหมือนกัน ไม่เว้นแม้แต่ที่สุโขทัย หรือที่อื่นๆ
มีเพียงในภาคเหนือ พอมีองค์แท้จริงติดก้นวัดบ้าง
ที่ตกหล่นอยู่ตามมุมต่างๆ นั้น ส่วนมากเป็นชิ้นส่วนที่ไร้ค่า
แต่สำคัญ เพราะอย่างน้อย ก็ทำให้เราทราบว่า ลักษณะของพระขนง ของพระนาสิก
ลายขมวดก้นหอยของพระเกษา ความลาดของพระนลาต
หรือการจำหลักร่องรอย ลวดลายต่างๆ ลักษณะเด่น เป็นอย่างไร
ยังมีอีกข้อหนึ่งก้อคือ บันดาพระศิลาทั้งหลายนั้น เมื่อสมบูาณ์ จะเคลือบรัก ปิดทอง
หรือตีแผ่นทองสัมฤทธิ์หุ้มอีกที
ลักษณะ ก็จะต่างออกไปอีก
เคยเห็นว่าด้านใน เป็นหินจำหลักดูเข้มแข็งแบบอู่ทอง แต่ส่วนที่เป็นผิวสมบูรณ์ กลับอ่อนหวาน
ทำให้งุนงงสงสัยเหลือประมาณ"
นี่คือเสน่ห์ของประวัติศาสตร์นะคะ คุณติบอ หมายความว่า เราก็ยังต้องศึกษา ตีความกันต่อไป เพราะวันนี้ เราน่าจะยกเลิกการท่องจำแล้ว มาคิด มาถาม หาคำตอบกันดีกว่า..
จากพระพุทธรูปที่เป็นความสงสัยของดิฉัน ยังต้องวกกลับมาที่พระเจดีย์ใหญ่ของวัดกันต่อค่ะ




กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 26 ม.ค. 08, 10:36
คำถามเรื่องพระพุทธรูปองค์ใดหนอ ที่ "เคย" อยู่คู่วัดใหญ่ไชยมงคลนั้น เป็นคำถามสำคัญ
พูดแบบนี้ คุณกุ้งแห้งคงจะค้อนเสียหนึ่งวง ก่อนจะบอกว่า
แน่ล่ะซี ไม่สำคัญจะถามรึ

แต่....มันสำคัญอย่างไรกันหรือ
สำหรับผม เห็นว่าสำคัญ เพราะผมเห็นว่าพระพุทธรูปไม่มีความสำคัญที่วัดนี่....น่าซี

อ้าว....เป็นงั้นไป

เรื่องความสำคัญของพระพุทธรูปนี่ เป็นเรื่องสำคัญจริงๆ นะครับ
ไปวัดหลวงพ่อโต คือวัดพระเจ้าพแนงเชิงสิครับ หรือวัดมงคลบพิตรก็ได้
จะเห็นความสำคัญของพระพุทธรูปอย่างไร้เสียซึ่งข้อกังขา
เพราะเหตุว่า ทั้งวัด มีแต่พระพุทธรูปที่โดดเด่นเป็นสง่า พระมหาเจดีย์ไม่มีครับ

แล้วสร้างวัด ไม่สร้างเจดีย์ได้ด้วยหรือ....ได้สิครับ
ถ้าเช่นนั้น สร้างเจดีย์ แต่ไม่สร้างพระพุทธรูป(เพื่อเป็นพระประธาน) ก็ทำได้มั้ง
นีคือปมปัญหาที่ผมจะไขในเวลาข้างหน้า


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 26 ม.ค. 08, 18:07
เข้ามาชมครับ

ไม่ได้ไปวัดใหญ่ชัยมงคลมานานมากแล้ว ชักจะลืมเลือนไปว่าหน้าตายังไง ขอบคุณที่นำรูปมาให้ชมกันนะครับ



กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 27 ม.ค. 08, 09:47
ไหนๆก็เอ่ยถึงเจดีย์ มาดูทรงของเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยากันค่ะ สามองค์เรียงรายอยู่ในทรากเมืองอยุธยา ข้างๆวัดมงคลบพิตร


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 27 ม.ค. 08, 10:03
มุมเสมอตา จุดที่คณะยืนอยู่มองเข้าไปหาบริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์ มุมนี้ค่ะ ที่อาจารย์หยิบดอกไม้ดอกเล็กๆเท่ามะลิลา ซึ่งร่วงอยู่ตามพื้นอิฐและหญ้าขึ้นมาชม เป็นดอกไม้ก้านสีแสด หอมอ่อนๆ สวยมาก ก้านราวดอกไม้ปลอม แต่จริง อาจารย์บอกว่าน่าจะเป็นดอกกรรณิการ์
กรรณิการ์นี้ ยังนำมาใช้ย้อมสีไหมด้วย น่าแปลก ที่ดอกขาว ก้านแสดนี้ ย้อมออกมาเมื่อต้องการสีเหลืองทองค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 27 ม.ค. 08, 10:29
ไกด์กิตติมศักดิ์เห็นเข้าแนะว่า ที่ฐานพระด้านบนมีลานที่จัดให้ไหว้พระ น่าจะเก็บรวบรวมไปไหว้ที่นั่น แล้วก็จริงค่ะ
กลีบก้านที่ร่วงหล่น ที่คนมองไม่เห็นค่า มีค่าทางความรู้สึกสำหรับเรา เมื่อขึ้นไปถึงฐานพระ แล้วเห็นพานดอกไม้ ที่จัดไว้..ว่างเปล่า
และเมื่อวางกลีบดอกอันสมบูรณ์ที่คัดมา ..
สวย และอิ่มใจ
ขอบคุณผู้ที่ให้ไอเดีย
ขอบคุณอาจารย์ที่ตาแหลมเห็นดอกไม้..ซึ่งเราอาจมองแค่ผ่านๆไป



กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 27 ม.ค. 08, 17:23
พามาดูเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์แล้ว กลับไปที่เจดีย์วัดใหญ่นะคะ
คุณpipat ตั้งข้อสังเกตว่า "รัชกาลพระนเรศวรนั้น ตรงกับ 2133-2148 เพียง 15 ปี
ในรัชกาลสั้นๆ นี้ ทรงทำศึกใหญ่ตลอดเวลา
2135 ยุทธหัตถี
2136 ศึกเขมร
2137 ศึกพระเจ้าแปร
2138-41 ศึกหงสาวดีครั้งที่ 1 และ 2
2147 ศึกเชียงใหม่-อังวะ
จะมีเวลามาสร้างพระมหาสถูประดับนี้ ได้อย่างไร
อย่างมากที่สุด ก็เห็นจะทรงปฏิสังขรณ์บ้างเท่านั้น"
และยังแนะให้ไปดูวัดวรเชษฐาราม
http://www.geocities.com/RainForest/7153/thai/ayut/way_wocet.htm
ซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงสถาปนาต่อจากงานพระเมรุสมเด็จพระนเรศวร
ลักษณะเป็นเจดีย์แบบองค์ระฆัง ฐานเตี้ย รูปทรงคล้ายกับเจดีย์อยุธยากลางทั้งหลาย
อีกวัดหนึ่งตือวัดวังชัย สร้างสมัยพระมหาจักรพรรดิ ยกบ้านเป็นวัด
http://academicdev.aru.ac.th/content/view/28/8/
ข้อมูลสองส่วนนี้ ล้อมกรอบไม่ให้สถาปัตยกรรมสมัยพระนเรศวร หนีไปทางใหนได้ไกลนัก


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 27 ม.ค. 08, 17:28
จากการล้อมกรอบหน้า/หลัง
ทำให้เราพบว่า พระมหาสถูปแห่งวัดชัยมงคลนี้ แปลกสมัยชอบกลจริงๆ
วัดของพระมหาจักรพรรดิ เป็นวัดไม่ใหญ่ วัดที่พระเอกาทศรถสร้าง ก็ไม่ใหญ่
ต่างเป็นเจดีย์ฐานต่ำ องค์ระฆังเรียบๆ รูปทรงอวบ คล้ายกับพระเจดีย์ในช่วงนั้น
ไม่ได้ผิดแปลกกันเลย



"แต่ทำไมเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล จึงใหญ่โตมโหฬารปานนั้น
มิหนำซ้ำ เป็นเจดีย์กลม ยกฐานสูง มีเจดีย์บริวารบนฐานยกชั้น ทั้งสี่มุม
สิ่งที่พึงสังเกตอย่างยิ่ง ก็คือ การทำเสาอิงประกบฐาน เรียงรายเป็นห้องๆ
นี้เป็นระเบียบทางสถาปัตยกรรมที่แปลกยุคจริงๆ
อันว่ามหาสถูปบนยกชั้นสูงอย่างนี้ เป็นคติที่ออกจะเก่าแก่กว่าสมัยพระนเรศวรอยู่เป็นอันมาก
ย้อนไปไกลถึงพระประโทนเจดีย์แห่งสมัยทวารวดีทีเดียว
ใหม่มาหน่อยก็คือพระบรมธาตุแห่งเมืองนคร
และที่อยู่ไกล้อยุธยาที่สุดนั้น ก็คือมหาสถูปแห่งเมืองสรรค์ ที่วัดพระแก้วเมืองสรรค์
มีระเบียบทางสถาปัตยกรรมที่เป็นชุดเดียวกัน...



กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 27 ม.ค. 08, 17:33
รูปที่  3 นั้น เป็นมุมสำคัญ
คือแสดงให้เห็นทางขึ้นทอดยามขึ้นสู่คูหาเรือนธาตุ
หมายความว่า มหาสถูปองค์นี้ กลวงข้างในครับ
ตรงนี้เป็นเงื่อนงำสำคัญทางช่าง
เพราะไปดูมหาสถูปแห่งวัดพระศรีสรรเพชญ์ ที่เรียงกันสามองค์ มหึมา
เทียบไปแล้วก็ยังเล็กกว่ามากมาย
แต่ไม่มีปัญญาสร้างกลวงขอรับ ทึบตันทั้งองค์ คูหาเรือธาตุก็เล็กมาก
พื้นที่เท่าลิฟต์ขนาด 12 คน
แต่ของวัดใหญ่ชัยมงคล ใหญ่สมชื่อ ทำเป็นห้องบรรยายได้เลย
เทคโนโลยี่ก่อกลวงอย่างนี้ เห็นการสิ้นสุดอยู่แถวๆ รัชกาลเจ้าสามพระยา
คือปรากฏครั้งสุดท้ายที่พระศรีรัตนมหาธาตุแห่งวัดราชบูรณะ หลังจากนี้ อาคารจะเป็นแท่งตันหมดแล่ว
หลานท่าน คือบรมไตรโลกนาถ ห่างมาไม่กี่ปี ก็ทำไม่เป็นแล้ว
แล้วพระนเรศวร ห่างออกมาอีกร้อยกว่าปี จะสร้างได้ฤา


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 27 ม.ค. 08, 17:38
landmarkของอยุธยา  กับlandmarkของย่างกุ้งค่ะ(ภาพจากวิกิ)


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 27 ม.ค. 08, 18:11
คิดเห็นอย่างที่คุณกุ้งแห้งเยอรมันว่าจริงๆครับ

วัดใหญ่ชัยมงคลมีขนาดอันมหึมาเช่นนั้น มิควรสร้างสมัยพระนเรศวรแน่ๆ

1.แผนผังของวัด มีเจดีย์เป็นประธาน ด้านตะวันออกเป็นพระอุโบสถ ด้านตะวันตกเป็นพระวิหารหลวง 

           การวางผังเป็นแนวยาวเช่นนี้ เป็นลักษณะของผังอยุธยาตอนต้น ถ้าเปรียบเทียบกับวัดในสมัยอยุธยาตอนกลาง เช่นวัดวรเชษฐาราม ไม่ว่าจะเป็นวัดวรเชษฐ์ที่อยู่ในเมืองหรือนอกเมือง ผังตามแนวยาวเช่นนี้ก็ไม่ปรากฏแล้ว

2. ลักษณะของพระเจดีย์ ฐานสี่เหลี่ยมยกเก็จทรงสูง คล้ายคลึงกับวัดขุนเมืองใจอันสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ถัดขึ้นไปเป็นฐาน 8 เหลี่ยม

          เจดีย์ที่มีฐานรองรับองค์ระฆังทรงแปดเหลี่ยม บัลลังก์ก็เป็นทรงแปดเหลี่ยม นิยมอยู่ในช่วงอยุธยาตอนต้นครับ เช่นที่คุณกุ้งแห้งเยอรมันยกตัวอย่างมา วัดพระแก้วเมืองสรรค์ วัดพระรูปที่สุพรรณบุรี วัดกระช้าย วัดสามปลื้ม เจดีย์เหล่านี้นิยมค่อนข้างมากในเมืองแถบตะวันตก ขณะที่ระยะเวลาร่วมสมัยกันในเมืองหลวง กลับนิยมสร้างปรางค์


3. การประดับเจดีย์บริวารบนฐานแปดเหลี่ยม และการเล่นระดับฐานที่เพิ่มเหลี่ยมขึ้นเรื่อยๆ จากสี่เหลี่ยม เป็นแปดเหลี่ยม และเป็น ทรงกลม คล้ายคลึงกับวัดพระแก้วเมืองสรรค์

แต่ก็ทำให้ผมนึกถึงเจดีย์สมัยเมืองพุกามขึ้นมาเช่นกัน


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 27 ม.ค. 08, 18:21
เจดีย์ชเวสิกง เมืองพุกามครับ เป็นเจดีย์แบบพม่าแท้ สังเกตดูว่าฐานล่างสุดเป็นสี่เหลี่ยมยกเก็จเช่นกัน

ถัดขึ้นมาเป็นฐานแปดเหลี่ยม รองรับองค์ระฆังทรงกลมครับ

และยังมีเจดีย์จำลองหรือ สถูปิกะ ขนาดเล็กประดับด้านบนของฐานสี่เหลี่ยมอีกด้วย


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 27 ม.ค. 08, 21:31
คิดเห็นอย่างที่คุณกุ้งแห้งเยอรมันว่าจริงๆครับ

วัดใหญ่ชัยมงคลมีขนาดอันมหึมาเช่นนั้น มิควรสร้างสมัยพระนเรศวรแน่ๆ ...ฯลฯ

เป็นความคิดของคุณPipatค่ะ คุณกุรุกุลา จากการคุยกัน ดิฉันถ่ายทอดมาอีกที

ภาพเจดีย์ชเวสิกงยามค่ำ เป็นผลงานถ่ายภาพของคุณหรือเปล่าคะ
..อย่าลืมมาเล่าต่อนะคะ อยากฟังค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 ม.ค. 08, 23:48
พิจารณาทีละข้อนะครับ
1 ทำเลที่ตั้ง
แถวๆ นั้น เป็นแหล่งข้อมูลยุคใหน มีวัดสมัยใหนมาก อาจจะช่วยบ่งชี้ได้พอสมควร
คำตอบก็คือวัดที่ไกล้สุด พระเจ้าพแนงเชิง มีระบุในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ(ฉบับเดียว)
ว่า สถาปนาปี 1867 ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา 1893 ถึง 26 ปี
จะแปลว่ากระไรดีล่ะ 26 ปีนี้ ไม่ใช่เวลาเล็กน้อย คิดเฉลี่ยก็ตกหนึ่งรัชกาล
แปลว่าเมื่อพระเจ้าอู่ทองเริ่มสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น แถวนี้ก็เป็นเมืองไม่เล็กแล้ว
กำลังผู้คนที่จะสร้างพระโตขนาด 7 วา 10 นิ้ว สูงตลอดรัศมี 9 วา 2 ศอก เช่นนี้ ต้องมีเป็นพันๆ คนเป็นอย่างน้อย
ลองเทียบจากการสร้างวัดโพธิ์ครั้งรัชกาลที่ 1 ก็พอจะเดาออก เพราะโปรดให้ถมดิน แล้วทิ้งให้ยุบตัว 2 ปี
รวมเวลาสร้างถึงเจ็ดปีครึ่ง

แล้วพระพุทธรูปขนาดสูงถึง 20 เมตรเช่นนี้ (เท่ากับตึก 6 ชั้น) ค่าปิดทองทั้งองค์ จะมากมายมหาศาลเพียงใหน
ด้วยกำลังคนและความร่ำรวยขนาดนี้ จะสร้างพระมหาสถูปอีกสักองค์ จะมิได้เชียวหรือ

มีข้อสังเกตุอีกอย่างก็คือ นอกเกาะเมืองอยุธยาด้านนี้(ด้านทางรถไฟ) วัดที่เรียงราย มีสร้างเป็นพระปรางค์ใหญ่เพียงวัดเดียว
นอกนั้นเป็นสถูปรูปองค์ระฆังทั้งสิ้น ข้อนี้ อาจจะแสดงยุคสมัยได้พอสมควร
คือเมื่อเข้าสู่ยุคที่การสร้างวัดนิยมสร้างพระปรางค์เป็นหลักของสถานที่ (จะองค์เล็กหรือองค์ใหญ่ก็ตาม)
ท่านไม่ได้มาสนใจท้องที่แถบนี้เลย

แปลว่าวัดทั้งหลายด้านนี้ สร้างในสมัยปลอดพระปรางค์
ก็คือไม่ต้นอยุธยา ก็ปลายไปเลยหรืออย่างไร


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 28 ม.ค. 08, 09:54
ระหว่างรอการค้นคว้าต่อของคุณpipat ดิฉันใช้เวลาพิศดูเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลไปพลางๆ งามค่ะ งาม ทรวดทรงองค์เอว ไม่ต้องปิดทอง จับเทียบคู่มหาเจดีย์ชเวดากอง ก็บอกความเป็นไทย เมืองศิลปที่รุ่งเรืองชัดเจน
รูปพระเจดีย์ที่นครปฐม ที่นำมาลงเป็นฝีมือของคุณพอล ถ่ายจากภาพเขียนที่ในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรเมื่อเร็วๆนี้เอง
เสียดายที่ไม่มีรูปเจดีย์ศิลปะสุโขทัยมาเปรียบเทียบ แค่วัดใหญ่วัดเดียว เราก็ต้องศึกษาข้อสันนิษฐานก่อน


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 ม.ค. 08, 10:07
วัดใหญ่ไชยมงคลเคย "งาม" กว่านี้มากครับ
มาถูกท่านผู้เชี่ยวชาญทำให้สวยอย่างทุกวันนี้ไปเสียฉิบ....


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 28 ม.ค. 08, 20:54
เสียดายท่านผู้เชี่ยวชาญกว่า ไปห้ามท่านผู้เชี่ยวชาญไม่ทัน :-X

๑. วัดใหญ่ชัยมงคล บางคนบอกว่าเดิมเป็นวัดป่าแก้ว บางคนก็บอกว่าวัดป่าแก้ว มันต้องวัดวรเชษฐโน่น ไม่รู้จะเชื่อใครดี
๒. ต้องลากให้วัดใหญ่ฯ เป็นวัดป่าแก้ว จะได้เกี่ยวข้องกับเรื่องยุทธหัตถีของพระนเรศวร แล้วก็โยงต่อเรื่องการสร้างมหาเจดีย์ฉลอง
๓. ถ้าวัดใหญ่เป็นวัดป่าแก้วจริง และเกี่ยวข้องกับพระพนรัตน์จริง ก็ไม่เห็นเคยอ่านเจอว่าพระนเรศวรให้สร้างเจดีย์ฉลอง เป็นแต่ให้พวกข้าราชบริพารไปตีเมืองทวายตะนาวศรีเป็นการแก้ตัวด้วยซ้ำ โทษฐานตามอารักขาไม่ทัน
๕. ถ้าถามใจผม ผมว่าอย่างมากพระนเรศวรก็สร้างเพียงเจดีย์องค์ย่อมๆ องค์แรกที่เจอตอนเดินเข้าไปในวัด องค์ใหญ่นั่นน่าจะเป็นของเดิมมาแต่ไหนแต่ไร
๖. วัดใหญ่ฯ อาจเป็นวัดป่าแก้ว แล้วก็มีอะไรเกี่ยวข้องกับ ป่าแก้ว ในโคลง "ปางเมื่อเสด็จไป ป่าแก้ว"  ;D


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 ม.ค. 08, 21:30
ก่อนเป็นวัดป่าแก้ว บางคนบอกว่าวัดนี้ชื่อวัดเจ้าพระยาไท(หรือพญาไท)
ที่อยู่ในพระราชพงศาวดารรัชกาลพระเจ้าอู่ทอง

และถ้าอ้างพระราชพงศาวดารกันจริงๆ ในนั้นก็ไม่มีตอนใดที่พอจะโยงมาสู่การสร้างมหาสถูปนอกเมืองเลย
แล้วทีนี้ ถ้าเป็นมหาสถูปจริงๆ ....ก็เป็นจริงน่ะสิ คุณโอมต้องนึกคันอะไรบางอย่างอยู่ในใจ
ถ้าเป็นมหาสถูปนะครับ

เราก็ข้ามมาพิจารณากันที่แนวความคิดเกี่ยวกับการสร้างพระมหาสถูปเจดีย์ในสมัยอยุธยาได้ล่ะกระมัง
(ขออนุญาตเตือนก่อนนะครับ ว่าที่คิดและเขียนมานี้ เดาล้วนๆครับ)


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 28 ม.ค. 08, 22:06
เรียนเภสัชอ่ะครับ ถ้าบอกว่าเห็นคนถือไซริงก์กับอินซูลินแล้วนึกถึงอะไร ก็จะบอกว่าคนนี้เป็นเบาหวาน

เดาได้ไหมครับ คือสถูปเนี่ยปกติเขาก่อมากลบพวกอัฐิ ถ้ามหาสถูปก็คงสร้างไว้สำหรับอัฐิของมหาบุรุษ

แต่ผมนึกถึงกรุสมบัติมากกว่า คนข้างบ้านเขาเล่าว่า ข้างในเจดีย์องค์ใหญ่นั้นกลวงหลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน เคยปีนลงไป ได้คาถาพาหุงมหากาฯมาจากในองค์เจดีย์ของวัดใหญ่แห่งนี้ เขาจะทำกลวงทำไมถ้าไม่ใช้เก็บของ คงไม่ใช่ว่าต้องการประหยัดอิฐ

ถ้าเจดีย์วัดนี้เก่ามาก พ้นอยุธยาไป ก็ไม่รู้แล้วครับว่าสมบัติของใคร แต่ปู่โสมในละคร คงไม่ได้อยู่วัดนี้ เพราะท่านนั้นเพิ่งเริ่มเฝ้าทรัพย์เมื่อสมัยเสียกรุงครั้งที่ ๒  ???


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 28 ม.ค. 08, 22:25
ถ้าถามผม เจดีย์กลวงในสมัยอยุธยาตอนต้นก็มีมากมายครับ แต่คิดว่าในส่วนที่เข้าไปได้ ก็คือ ฐานรูปทรงแปดเหลี่ยมมากกว่า

ลักษณะเช่นนี้คล้ายคลึงกับระบบ เจติยวิหาร ของพุกามครับ

คือ ด้านล่างเป็นวิหารประดิษฐานพระพุทธรูป (แต่ที่วัดใหญ่นี้ไม่มีพระประดิษฐานข้างใน)

ด้านบนของวิหารก็จะใส่สถูปให้เป็นยอดเอาไว้

แต่ระบบของไทยมิได้สร้างให้มีพื้นที่ใช้สอยจำนวนมาก ดังนั้น จึงไม่ต้องการแกนกลางรับน้ำหนักอย่างของพุกาม

ที่แปลกกว่าเจติยวิหารของพุกามก็คือ การยกฐานสูง ซึ่งพุกามจะมีฐานเตี้ยๆ เพื่อให้คนเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย (ไม่ต้องไต่กะได)


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 28 ม.ค. 08, 23:06
พ่อคุณข้างบนนี่จะไปไต่ไต ไต่กะไดที่ไหนล่ะครับ



โดยความคิดเห็นส่วนตัวผมนะครับ
เจดีย์ของพุกามโดยทั่วไปมี 2 ชนิด

- แบบแรกเจดีย์ปิด ยกลานประทักษิณ 2 - 3 ชั้น หรือจะ 4 ชั้นก็พอจะมี
บางครั้งเป็นการยกหลอก เพราะมันเดินขึ้นไปจริงๆม่ะได้อ่ะ
ยอดอาจจะเป็นทรงลังกา พม่าแท้ ปาละ หรือปาละผสมก็ได้

- กับแบบที่ 2 เจติยวิหารที่สามารถเข้าไปได้ฐานเตี้ย วิ่งเข้าวิ่งออกไม่ยากนักอย่างคุณกุรุกกุ๊กๆว่ามา
(แต่ผมว่ามันก็มีบางที่เหมือนกันนา ที่ยกฐานซะสูงพอดูเลยอ่ะ)


ถ้าวัดใหญ่ชัยมงคลเป็นลูกผสมของเจดีย์ทั้ง 2 แบบ
ที่ถูกจับมายำกันเองในเขตประเทศไทย จะเป็นไปได้ไหมครับ ??



เอารูปเซตานาจีมาฝากครับ องค์นี้เป็นมหาเจดีย์องค์หนึ่งของอาณาจักรพุกาม
ยกฐานเจาะช่องท้องไม้เป็นลานประทักษิณหลอก 4 ชั้น ตั้งสถูปิกะตามมุมด้วย
ส่วนฐานชั้นล่างสุดล้อมด้วยช้างหมอบสลับกับเสารูปหม้อ
ฉัตรวลีเดิมเป็นทรงลังกา แต่ถล่มไปหลายปีแล้ว คนซ่อมเลยซ่อมผิดซะแปลกๆไปเลย

เสียดายของ สุโขทัยแย่ยังไง อารยธรรมแม่แบบก็ไม่แพ้กัน.... เฮ่อ
จะเจดีย์ระดะแซงเสียดฟ้าเป็นป่าใหญ่แค่ไหน ก็อดมรดกโลกก็คราวนี้ล่ะเนาะ




ปล. ถ้าฐานเจาะช่องท้องไม้ถูกยืดดดดดดด ขึ้น
(เหมือนนายติบอไปผ่าตัดยืดความสูง อ่ะคับ)
มันจะกลายเป็นเสาหลอกของพี่กุ้งแห้งได้มั้ยอ่ะคับ ???


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 ม.ค. 08, 10:33
การก่อกลวง เป็นความสำเร็จเชิงวิศวกรรมที่สำคัญมาก
นอกจากประหยัดทรัพยากรลงมากถึงหนึ่งในสาม
ยังช่วยให้สร้างอาคารได้สูงขึ้นกว่าการก่อตัน เมื่อมีฐานกว้างเท่ากัน

ข้อนี้บ่งบอกอะไรได้อยู่
ในมหาสถูปแห่งวัดพระศรีสรรเพชญ์นั้น
ท่านก่อทึบ เพราะท่านไม่มีงานตกแต่งมากมาย
แต่มหาสถูปวัดใหญ่ไชยมงคล ท่านมีเหตุจำเป็นต้องทำเรื่องราวประดับฐาน
แม้แต่เหนือฐานยกชั้นขึ้นไป ท่านก็ยังต้องการวางสถูปน้อยไว้ตรงมุมทั้งสี่
เพื่อให้ร่วมฐานเดียวกับมหาสถูปองค์กลาง

หมายความว่าในเชิงประติมาณวิทยานั้น
สถูปทึบ และสถูปกลวง อาจจะแทนสาระที่ต่างกันอยู่บ้างกระมัง


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 29 ม.ค. 08, 17:32
เอ๋ ผมเข้าใจว่ามหาสถูปองค์กลางของวัดพระศรีสรรเพชญ์ก่อกลวงนะครับ คุณพิพัฒน์

จำได้ว่าด้านในมีเจดีย์ทรงปราสาทยอดสมัยอยุธยาตอนกลางองค์หนึ่งซ่อนอยู่ที่นั่น
ที่ใครไม่แบกไฟฉายดีๆปีนขึ้นไป.... ก็ไม่มีวันได้เห็น เพราะอุโมงค์มืดมาก และเต็มไปด้วยสัตว์น่ากลัวหลายชนิด

ส่วนเจดีย์องค์ริมอีก 2 องค์ก็มีอุโมงค์เตี้ยๆกลวงๆ อยู่ด้านในครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 ม.ค. 08, 18:47
คูหาแค่นั้น ไม่เรียกว่ากลวงครับ
ต้องอย่างวัดกระซ้ายครับ ก่ออิฐล้อมเป็นท่อกลวงขึ้นไปถึงยอด
น้ำหนักหายไปครึ่งๆ

อย่างวัดพระศรีสรรเพชญนี่ คงลดน้ำหนักได้เพียงหนึ่งส่วนเท่านั้น....กระมัง


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 29 ม.ค. 08, 19:21
ฝรั่งช่างภาพชื่อนายเจอรี่ แกนท์ หลงใหลอยุธยาเป็นพิเศษ เรียบเรียงเรื่องราวของวัดนี้ไว้จากเอกสารกรมศิลปากร ใน http://www.gerryganttphotography.com/ayutthaya.htm ว่า

Wat Phra Chao Phya-thai, also known as Wat Yai Chai-mongkol, is situated to the southeast of Ayutthaya.  The large chedi (stupa) there can be seen from a great distance.  This Monastery was built in 1357 A.D. by King U-Thong for monks who had returned from Ceylon (now Sri Lanka) after studying under a revered master.  This monastery was originally known as Wat Pa Kaeo.  After the king conferred the title of "Somdej Phra Vanarat" ("The Patriarch on the Right Hand Side") on the Vhead of the sect, the monastery was named Wat Chao Phya-thai which means "The Temple of the Supreme Patriarch".  A large chedi or stupa (Thai version of the Chinese pagoda) was built here by King Naresuen the Great to celebrate his victory over a Burmese leader in hand-to-hand combat on elephant back.  The king built a second chedi named Phra Chedi Chai-mongkol, or the Chedia of the Auspicious Victory, but it was popularly known as Phra Chedi Yai, or the Great Pagoda.  Later on Chao Phya-thai also came to be known as Wat Yai Chai-mongkol.
แปลว่า เอกสารกรมศิลป์บอกฝรั่งว่า แต่เดิมวัดสร้างในสมัยพระเจ้าอู๋ทอง เพื่อรับพระสงฆ์ไทยที่ไปศึกษาธรรมที่ศรีลังกา หลังจากที่แต่งตั้งพระสังฆราช คือพระวันรัต วัดนี้เลยกลายเป็นวัดเจ้าพระยาไทย หรือเจ้าพญาไท
...



กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 29 ม.ค. 08, 19:34
ไม่ทราบค้นไปค้นมา ผมก็เจอฝรั่งดัทช์คนหนึ่ง เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาของเราและเขียนบรรยายจนผมอยากทำหนังน่ะครับ ให้คนไทยภาคภูมิใจในอยุธยา สายเลือดของเรา
นาย Jose Santen เขียนซะดีเลิศว่า

"Pra Nakorn Sri Ayutthaya is the capital city in which the king lives, and so do the nobles, officials, and all administrators.."
...........................................
The capital city is situated on a small island in Chao Praya River. Its surrounding area is a flat field. The stone wall was constructed to surround the city with 2 Dutch miles circumference. So it is a very big capital city. Its vicinity consists of many immediate Buddhist monasteries. The population is dense in the capital. There are long, wide and straight aligned roads. There are canals that are converted from Chao Praya River to the capital. So it is very convenient for transportation. Besides the roads and canals, there are also small ditches and alleyways. So, in the rainy season, people can easily travel to houses. The houses are built in Indian styles but roofed with tiles. Ayutthaya is therefore a luxurious city packed with over 300 Buddhist monasteries exquisitely built. There many are pagodas, topes, molded figures, and statues that are coated with gold brightening the whole area. The capital city situates on the riverbank and the city plan was orderly planned, so it is a very beautiful city. Its location is good, its population is dense, and it is a good trading area both domestic and foreign trade. As far as I am aware, there has not been any king in this region has ever reigned the beautiful and prosperous city as Ayutthaya. The city is on a very good location, regarding the militarily strategies, so it is very difficult for the enemy to impregnate because the surrounding area will be flooded for 6 months annually in the rainy season. The enemy cannot stay for a long time, so they will eventually retreat."

คุณกุ้งแห้งเยอรมันช่วยแปลหน่อยครับ อ่านแล้วเทียบกับกทม.ที่ผมอยู่แล้วจะช้ำใจตาย


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 29 ม.ค. 08, 20:36
 ::) เงอะ
ฝรั่งอีกคน ชาวออสซี่เอารูปเจดีย์สามองค์วัดพระศรีสรรเพชญ์ไปจินตนาการซะออกมาเป็นทุเรียนหมอนทองรับหัวใจวาเลนไทน์เลยฮับ
....kitsch!
พิเศษสำหรับคุณติบอกับคุณoam
 ;D


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 29 ม.ค. 08, 20:52
รูปมหัศจรรย์ของคุณ elvisbhu ทำให้นึกไปถึงงานประกวดสัญลักษณ์สมัยนี้ ที่ใช้กราฟฟิก ดูแล้วคล้ายๆ กันไปหมด เอาตราสัญลักษณ์องค์กร มาแปะกับตัวเลข
งานกราฟฟิก กับ งานมือมีเสน่ห์ต่างกัน อีกหน่อยเขาต้องทำกราฟฟิกให้กลับมาดูเหมือนงานทำมือ
วงกลมวาดด้วยมือ กับ ใช้วงเวียนลากยังให้ความรู้สึกต่างกัน
เหมือนกับแบบตัวอักษร บางแบบทำให้เหมือนใช้ลายมือเขียน
อ้าว บ่นไปไกล

พระพิพัฒน์(ขยัก)สุนทรโวหาร มาปล่อยทีเด็ดทีละนิดทีละหน่อย ทรมานคนอ่าน ขอยาวๆ หน่อยครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 29 ม.ค. 08, 20:55
ขอบคุณ คุณelvisbhu มากครับ สำหรับทุเรียนหมอนทอง 3 ลูกหย่ายๆ
อิอิ



ที่น่าสงสารกว่าภาพ คือของจริงครับ
เจดีย์ 3 องค์นี้ถูกซ่อมมาชนิดที่เรียกว่าเหมือนโดนแปลงเพศ
แปลงเสร็จไม่พอ กลัวรู้ว่าซ่อมใหม่ เอาไฟสุมๆ รมควันให้มันดำๆซะอีก
ถ้าเป็นปลาแซลมอน หรือเนื้อคงอร่อยดี แต่เป็นเจดีย์นี่นายติบออยากร้องไห้

เอาเถอะ เรื่องอัปยศของชาติเรา เราอย่าไปพูดถึงดีกว่า
อยุธยาวสาน ยังมีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไทยทำไทยมันเจ็บใจกว่าพม่าทำเยอะ





ปล. เอกสารฝรั่งบางทีก็ต้องฟังหูไว้หูครับ คุณelvisbhu
สมัยนู้นเขาไม่มีใบรับรองไกด์ ถ้าพี่แกไปได้องค์ความรู้ผิดๆมา
คนที่ศึกษาแต่ตัวบทของบันทึกก็พลาดเอาได้ครับ

เพราะหลักฐานทางสถาปัตยกรรมมันฟ้องกันอยู่เห็นๆ
ถ้าเชื่อฝรั่งซะหมด แบบที่เขาว่า เกี่ยอั่งม้อ จ่ออากง
เดี๋ยวจะกลายเป็น "ฮวงติงต๋ง" เอาม่ะรู้ตัวนา....

เหมือนใครน๊า.... ที่ไปเอาพระปรางค์อยุธยามาบอกว่าเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตู้มๆ น่ะ หิหิ




ปล. แอบฮาประโยคสุดท้ายคุณ Oam


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 29 ม.ค. 08, 21:55
อิอิ จำลองมณฑประหว่างเจดีย์เสียเป็นวิมานแบบอินเดียใต้ไปเลยนะครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 30 ม.ค. 08, 01:04
เอาละ มาจำลองเหตุการณ์กัน

ปี 1893 ท้าวอู่ทอง ท่านมาเนรมิตเมืองขึ้นตรงคุ้งน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์
เป็นที่ซึ่งแม่น้ำหลายสายมาเจ๊อะกัน
ถามว่า ที่ดีๆ ทำเลทองอย่างนั้น....ทำไมต้องรอท้าวอู่ทองมาสร้างเมืองล่ะ
ในเมื่อก่อนหน้านั้นตั้ง 26 ปี มีของใหญ่ๆ ตั้งประดิษฐานอยู่หลายแห่ง
เขาจะยอมให้ละหรือ ถ้าเป็นกษัตริย์มาจากถิ่นอื่น

ถามต่อว่า แล้วสร้างพระนครสำเร็จ เมืองใหม่กับเมืองเก่า สัมพันธ์กันอย่างไร
เอ้า...ใหนๆ ก้อถามนัก เอาไปอีกข้อหนึ่ง

สองเมืองนี่ ถือศาสนาต่างกันใหม ถ้าเป็นพุทธ เป็นพุทธแบบใด
อย่างน้อยในปีแถวๆ นั้น ที่สุโขทัย เขาก็ถกเถียงกันแทบเป็นแทบตาย ว่าพุทธใดจึงเป็นของแท้
ตำนานเก่าๆ เช่นมูลศาสนากับชินกาลมาลีปกรณ์ ต่างก็เล่าเรื่องความขัดแย้งทางคตินี้ไว้ ไม่ปิดบัง

พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งอยุธยา ท่านยกนิกายใดขึ้นเป็นประธานเล่า

ถามมากจนหนุ่มโอมอาจจะสติแตก
แต่เรื่องเช่นนี้ หลอกล่อจินตนาการออกจากสไปนั่ล ขอร์ด ....อุปส์ มิใช่สิ
ออกจากคลังปัญญาดีนักแล

คิดดูสิ กษัตริย์หนุ่ม มาสร้างเมืองใหม่ ในดงศาสนสถานขนาดมโหฬาร
เอ.....ท่านจะให้สร้างสถูปแบบวัดใหญ่ไชยมงคลด้วยไม้น๊า.......


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 30 ม.ค. 08, 01:25
นำหนึ่งรูป มาปักหมุด
สถูปบันจุพระบรมสารีริกธาตุ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ
ปีสร้างพระปรางค์นี้ อาจจะไม่แน่นอนขนาดระบุวันเดือนปีที่แท้จริงได้

แต่สร้างในรัชกาลเจ้าสามพระยา ...ข้อนี้ คงไม่ต้องเถียง
นี่จึงเป็นศิลปะวัตถุอันกำหนดอายุสมัยที่แน่ชัดมากที่สุด ชิ้นหนึ่ง

ถามว่า เหมือน หรือไม่เหมือนพระมหาสถูปแห่งวัดใหญ่ไชยมงคล

ใครจะลองวางวินิจฉัยดูถี....อยากทราบอ่ะครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 30 ม.ค. 08, 19:54
ครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 30 ม.ค. 08, 20:04
ผมคิดว่าเจดีย์ที่คุณ Pipat อัญเชิญขึ้นมาจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะคงคล้ายๆตัวอย่างนี้น่ะครับ

เป็นเจดีย์ลพบุรีสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 ก่อนอยุธยาศตวรรษกว่าๆ

คิดว่ามีอะไรหลายอย่างที่เหมือนน่ะครับ เช่นเครื่องยอดที่ไม่ทำปล้องไฉนเป็นปล้องๆถี่ๆ เหมือนอยุธยา

หรือบัลลังก์กลม

ที่เหมือนขึ้นไปอีกน่าจะเป็นฐานรองรับองค์ระฆังที่เป็นกลีบบัวคว่ำบัวหงาย

ตัวอย่างในกรุวัดราชบูรณะน่าจะมาจาก เจดีย์เขมร ผสม องค์ระฆังกลมที่เอวไม่คอด แบบสุโขทัย

ซึ่งก็มีเรื่องซุบซิบเป็นพงศาวดารว่า เจ้าสามพระยามีสัมพันธ์กับกรุงสุโขทัยอยู่แล้ว



อีกตัวอย่างหนึ่งครับ เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดที่หน้าตาเหมือนสุโขทัย แต่อยู่ที่วัดมหาธาตุอยุธยา


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 30 ม.ค. 08, 20:11
ด้วยสายตาของผู้ไม่เชี่ยวชาญเรื่องสถูปเจดีย์

ผมเห็นว่าไม่เหมียนกันครับ

สถูปวัดใหญ่ออกจะสูงชะลูด สถูปจำลองดูป้อมๆ เห็นแล้วนึกถึงพระปฐมเจดีย์

(ปักหมุดถอนง่าย รอว่าเมื่อไรจะมีรายการคุณพิพัฒน์ตอกเสาเข็มเสียที) ;)


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 30 ม.ค. 08, 21:20
;) ปักได้ ก็ถอนได้นะขอรับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 30 ม.ค. 08, 21:33
ข้าน้อยขอคารวะ
คิดอยากทำอย่างคุณ elvisbhu
คิดเป็น แต่ไร้ฝีมือที่จะทำ ขอบคุณครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 30 ม.ค. 08, 22:36
ยังคาใจเรื่องวัดฝั่งตะวันออกของเกาะเมืองอยู่ครับ นั่งดูแม่น้ำมาชั่วโมงนึงแล้ว ยังงงๆอยู่เลยว่าเกิดอะไรขึ้น  :-\


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 30 ม.ค. 08, 23:46
ดูต่อไปค่ะ คุณเครซี่ฮอร์ส เผื่อจะได้ความคิดอะไรใหม่ๆมาแลกเปลี่ยนกัน..
สวัสดีค่ะ คุณโอม ตกลงหมุดเอียงไหมคะ
มิงคลาบา คุณติบอและคุณกุรุกุลา ไปพม่าหลายครั้ง ไม่เคยไกลกว่าย่างกุ้งเลย ข้ามแม่น้ำเอยาวดีไปเที่ยวสวนบอนไซและรีสอร์ทเล็กๆเท่านั้น แต่เข้าพิพิธภัณฑ์สองครั้งภายในเวลาห่างกันแค่หนึ่งปี ภายในพิพิธภัณฑ์ก็เปลี่ยนแปลง..
ไปทีก็ครึ่งวันค่ะ อักษรพม่าคล้ายๆไทยมาก ชื่อดิฉันเขียนไปเขียนมา เหมือนภาษาไทยจริงๆ
ชเวดากอง มองจากห้องพักทุกวัน ส่วนเจดีย์ทองอีกองค์ใกล้ๆ ดิฉันว่าสวยกว่า
...
บองซัวร์ เมอสิเออร์พิพัฒน์ และเฮลโล่ เอลวิสภู คุณสองคนเป็นปี่เป็นขลุ่ยกันมากเลยนะคะ ไม่เคยคิดว่า ฝาครอบพระธาตุ (ทางการเรียกสถูป)ที่ขุดได้จากพระปรางค์ กรุวัดราชบูรณะจะเหมาะเหม็งกับเจดีย์วัดใหญ่เล้ย..
การลองของของคุณเอลวิสภู ทำให้ตาสว่างขึ้นมาอีก
ตกลงที่คุณผู้ชายทั้งหลายสันนิษฐานกันไปกันมาน่ะ  .. เน้นรูปทรงองค์เอวเป็นหลัก ดิฉันก็ได้เพิ่มสติปัญญาไปด้วย
สำหรับดิฉัน พระนเรศวรท่านชอบรบค่ะ รบคืองาน อิสระภาพของไทยคือเป้าหมาย ท่านจะมีเวลาบัญชาช่างและคนงานตั้งเป็นโขยงมาก่อสร้างเจดีย์ใหญ่ยักษ์อลังการงานสร้างคงไม่น่าเป็นไปได้ แล้วแรงงานชายตอนนั้น ย่อมเน้นการทหารเป็นหลัก
จับสีจับภู่กัน ปั้นดินเหนียว ผสมอิฐไม่ใช่ง่ายๆ ทำๆอยู่ดีๆ อ้าว เจ้าเหนือหัวเรียกไปฝึกอาวุธอีกแล้ว ..
ถ้ารบเสร็จ ท่านจะสร้างกุศลในฐานะที่เสียไพร่พลล้มตายไปมาก ด้วยการสร้างเจดีย์ฉลอง จะเน้นความใหญ่โตเชียวหรือ..
ทำให้ดิฉันนึกถึงพระมหาธรรมราชาลิไทค่ะ
สมัยที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุดทั้งทางการศึกษาธรรม ปรัชญาคติ การเมืองสงบ เป็นช่วงที่งานก่อสร้างสวยๆ ใหญ่ๆ น่าจะทำได้มากกว่ายามรบ กู้ชาติสร้างแผ่นดิน บำรุงขวัญนะคะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 31 ม.ค. 08, 00:28
และอีกอย่างหนึ่งที่ดิฉันอยากจะตั้งข้อสังเกตคือ เชื้อสายค่ะ
เจ้าทางอยุธยาตอนต้นนั้น มีสามสาย
อู่ทอง สุพรรณภูมิ และสุโขทัย(พระร่วง)
พระนเรศวรเป็นเจ้ามาจากสองแคว..ราชวงศ์สุโขทัย ท่านจะสร้างพระเจดีย์ทั้งที
ท่านจะสร้างสไตล์อู่ทองไปทำไม
ท่านน่าจะรับอิทธิพลสุโขทัยมากกว่า
เรื่องของความภาคภูมิใจ ดิฉันว่า สำคัญนะคะ
จะบอกว่าหาช่างที่อยุธยาที่สันทัดสไตล์สุโขทัยไม่ได้
ไม่น่าจะใช่..


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 31 ม.ค. 08, 00:56
อย่าเพิ่งไปไกลเกินข้อมูลครับ
กลับมาก่อน มาตั้งหลักก่อน

ผมอ้างสถูปครอบพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อให้ลองเทียบกับสถูปวัดใหญ่
คุณกุรุกุลาเอาสถูปสัมฤทธิ์ของเขมร ที่เก่าขึ้นไปอีก มาแข่ง นับว่าตรงใจ

แต่เจดีย์ดอกบัวตูมของสุโขทัยนั้น อย่าเพิ่งเอ่ยถึง
เดี๋ยวยุ่งอีรุงตุงนัง สางไม่ออกจะยุ่งนา
หลักสังเกตุก็คือ ถ้าองค์ระฆังเป็นส่วนสำคัญ
รูปแบบของสถูปครอบพระธาตุ และมหาสถูปแห่งวัดพระศรีสรรเพชญ
(มิใช่จากรูปทุเรียนพันธุ์ฆอเคซอยรูปนั้นนา....)
ก็น่าจะเพียงพอ

แต่ทำไมของวัดใหญ่ ท่านจะต้องทำทางเข้าสู่ข้างในของพระสถูปให้ยุ่งยากด้วยเล่า
ลองไปสังเกตสถูปในละแวกนี้ดู ที่ภาคเหนือ ที่พม่า มอญ แม้กระทั่งลงใต้ไปนครศรีธรรมราช
หรือแวะสุโขทัยอีกทีก็ได้
เอ้า แถมบรมพุทโธไปด้วยเลย

ล้วนแต่เป็นองค์ทึบตัน นั่นคือเดินแนวลังกา

ดังนั้น การที่ลำบากลำบน ทำทางขึ้นสูงชันเท่าตึกสี่ห้าชั้น เพื่อเข้าไปประกอบพิธีในห้องกลางพระสถูป
จึงน่าจะบ่งบอกอะไรแก่เราได้บ้างกระมัง


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 31 ม.ค. 08, 01:16
ก็พี่ท่าน มาเรือเกลือนี่คะ เลยคิดว่าเราไปอุโมงค์มหัศจรรย์..
ยังค่ะ ยังไม่ไปสุโขทัย ยังอยู่ที่เดิมค่ะ
เชิญวิเคราะห์ต่อค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 31 ม.ค. 08, 01:24


ดังนั้น การที่ลำบากลำบน ทำทางขึ้นสูงชันเท่าตึกสี่ห้าชั้น เพื่อเข้าไปประกอบพิธีในห้องกลางพระสถูป
จึงน่าจะบ่งบอกอะไรแก่เราได้บ้างกระมัง

บ่งบอกได้ตรับว่า ขาสั่น...ใจหวิว จะขึ้นก็เสียว จะลงก็หวิว กล้องก็สั่น ลงดีกว่าครับ วัยรุ่นมาก


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 31 ม.ค. 08, 02:01
ก่อนจะตอบกระทู้กันไปอีกยาวไกล ผมขอแจงชี้ และชี้แจงก่อนครับ ว่า
โดยส่วนตัวผมคิดว่ารูปแบบของศิลปะเป็นเรื่องของสมัยนิยมครับ
โดยเฉพาะศิลปะทางศาสนา ภายใต้การอุปถัมภ์ของราชสำนัก
เพราะศิลปะยิ่งมี "พระราชนิยม" เป็นตัวกำหนดมากขึ้นเท่าใด
ก็ยิ่งเปลี่ยนแปรไปตามสมัยนิยมมากขึ้นเท่านั้น

เนื่องจากว่าศิลปินต้องทำงานตามกรอบกว้างๆที่ความคิดของเจ้านายวางไว้
จะคิดใหม่ทำใหม่ ขัดครู ขัดใจเจ้านาย เหมือนศิลปินบ้าๆสมัยนี้
ที่กล้าลุกขึ้นมาเขียนกระหนกหยิกหยอยปลายแหลม
แล้วเอามาอวดอ้างตีไข่ใส่สี ร่ายพระอภิธรรมพอเป็นพิธี แล้วก็พลิกลิ้นซะเองว่าเป็นของดีก็คงไม่ได้
เพราะถ้าเจ้านายไม่ชอบ หรือไม่ได้บอกว่า "เออ ของเอ็งมันดีจริง" ไอ้ของที่ทำขึ้นมามันก็ไม่ได้มีค่าอะไรเลย

เราก็เลยสามารถเอา "สมัยนิยม" ของการสร้างมาแบ่งอายุศิลปะได้
เหมือนกับการแบ่งอายุเสื้อผ้าที่เปลี่ยนไปแต่ละยุค
เช่นเดียวกับที่เราเห็นสามารถบอกเราได้ตั้งแต่แรกเห็นในทันทีว่า
เสื้อแขนหมูแฮมพองๆ ถ้าจับคู่มากับโจงกระเบนผ้ายกลายละเอียดๆ "ต้องยุครัชกาลที่ 5 แน่ๆ"



(พูดมาถึงตรงนี้ หลายท่านอาจจะโวยผมในใจ ว่า "แล้วชุดละครในสี่แผ่นดินล่ะ ติบอ ?")



ผมก็ขออนุญาตตอบเพิ่มว่า
นอกจากสมัยนิยมแล้ว เทคนิควิทยาการในการผลิตก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราจะละเลยไม่ได้ครับ
ขั้นตอนกรรมวธีในการผลิต หรือแม้แต่วิธีการประดับตกแต่งเล็กๆน้อยๆมักจะแตกต่างไปในแต่ละยุค

เหมือนที่เสื้อในยุครัชกาลที่ 5 แขนพองๆ ส่วนมากมักจะตัดจากผ้าลูกไม้นำเข้าราคาแพง
เย็บผ้า 2 ชิ้นติดเข้าหากันด้วยตะเข็บเข้าถ้ำ หรือล้มตะเข็บ
ในขณะที่ของปัจจุบันหาตัวไหนราคาผ้าเกิน 500 บาทได้ยากเต็มที เพราะของละครใช้ทั้งนั้น
บางตัวก็เก็บริมผ้าด้วยจักรสำหรับโพล้ง หรือไม่ก็ไม่เก็บริมผ้าเลยก็มี
เมื่อเราเอาเสื้อมาเทียบกัน เราก็จะเห็นความแตกต่างในลักษณะวิธีการเย็บ หรือวัสดุที่ผลิตไงครับ






การกำหนดอายุของเจดีย์แต่ละแบบว่าอยู่ในรุ่นราวคราวไหน ผมก็เลยเข้าใจเองว่า
เราสามารถใช้สมัยนิยม และเทคนิควิธีการสร้างมาร่วมกันกำหนดได้ไม่ยากนักครับ
วิธีแบ่งอายุเจดีย์ก็ใช้วิธีดูจากรายละเอียดเล็กๆน้อยๆของสถาปัตยกรรม
ที่ค่อยๆแปรเปลี่ยนไปทีละนิดทีละน้อยตามสมัยนิยม กับวิธีการก่อสร้างนี่ล่ะครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 31 ม.ค. 08, 02:43
อิอิ.......คิดในแง่คุณกุ้งก็น่าคิด  หมุดท่านพิพัฒน์ก็น่าติดตาม  สถูปหรือเจดีย์หรืออะไรก็ตามแต่ทรงนี้ที่กลวงเหมือนมีห้องโถงใหญ่ๆนอกจากคิดในเชิงวิศวกรรมแบบท่านพิพัฒน์ว่าไว้  ผมกลับคิดถึงเรื่องที่ทำไว้สำหรับเข้าไปประกอบพิธี  คล้ายๆกับที่ยุคขอมเรืองอำนาจเวลาสร้างอะไรก็ทำที่สำหรับประกอบพิธีกรรมด้วยอ่ะครับ  เป็นความคิดเห็นของกระผมเองล้วนๆ  ผิดพลาดต้องขออำภัย........ ;D


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 31 ม.ค. 08, 11:42
คิดอย่างที่คุณกุ้งแห้งบอกน่ะครับ

ว่าเชื้อสายก็มีส่วนสำคัญเหมือนกัน พระนเรศวร มีเชื้อสายสุโขทัย ย่อมควรสร้างอะไรตาม "พระราชนิยม" ตามสายตระกูล

แต่ก็คิดต่างออกไปบ้างนะครับ

คือ คิดว่าคนเราไม่จำเป็น จะต้องสร้างอะไรที่ย้อนกลับไปไกลแสนไกล

อย่างถึงเราจะเป็นอาตี๋อาหมวยเชื้อสายจีนทุกวันนี้ ก็คงไม่ย้อนกลับไปไว้ผมเปียหรอก

อยากมากก็แต่งตัวคล้ายๆ ที่พ่อเราแต่ง ไม่ก็ทันสมัยขึ้นมาเป็นยุคของเรา


ทีนี้เรามาดูกันว่า ใครคือ สมเด็จพระราชบิดา ของพระนเรศวรมหาราช

นั่นก็คือ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์นั่นเอง


มาดูตัวอย่างเจดีย์ที่ พระมหาจักรพรรดิ์ทรงสร้าง กันดีไหมครับ

ที่ทราบกันดี ก็คือ เจดีย์ศรีสุริโยทัย ที่วัดสวนหลวงสบสวรรค์ นั่นเอง

(อย่าเพิ่งถามนะครับ ว่าของปลอมหรือเปล่า สร้างสมัย ร.6 หรือเปล่า สร้างหลังพระมหาจักรพรรดิ์หรือเปล่า เพราะตอนนี้ส่วนตัวผมเชื่อสนิทใจแล้วครับว่าสร้างสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์)


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 31 ม.ค. 08, 11:49
นี่ครับ เจดีย์ศรีสุริโยทัย สร้างสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์

รูปมาจากเวป http://www.dhammajak.net/gallery/displayimage.php?album=topn&cat=-4&pos=10 ครับ


เห็นได้ชัดว่าเจดีย์สมัยอยุธยาตอนกลางเช่นนี้ นิยมสร้างเจดีย์ที่จับย่อมุมที่องค์ระฆังแล้ว

(ย่อมุมก็คือทำให้มุม รูปสี่เหลี่ยม กลายเป็น หยักๆๆๆๆ จากเจดีย์ทรงกลม ก็จะกลายเป็นสี่เหลี่ยม มีมุมหยักๆ)


ย่อมต่างกับเจดีย์ทรงกลมพอสมควร การย่อมุมทำให้เจดีย์ผอมขึ้น สูงขึ้น แต่ดูเล็กลง



เจดีย์ย่อมุมแบบนี้ นิยมต่อมามากๆๆๆๆๆ จนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย และรัตนโกสินทร์ จนเจดีย์ที่องค์ระฆังกลมๆ น่ารักๆ แทบจะหายไปเลย


เจดีย์ภูเขาทอง ที่"เชื่อ"ว่าสร้างสมัยสมเด็จพระนเรศวร ก็หน้าตาคล้ายๆ อย่างนี้ครับ แต่ผอมขึ้นอีก ตามสไตล์ศิลปะไทย ที่ยิ่งผ่านไปยิ่งชอบผอมๆ

เหมือนเด็กสมัยนี้เลยครับ เอะอะอะไรก็ผอมไว้ก่อน นางแบบนี่เหลือแต่ก้างและ ก็ยังนิยมกันว่าสวยว่างาม


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 31 ม.ค. 08, 12:04
รวบรัดตัดความ สรุปว่าพระนเรศวรไม่ได้สร้างเจดีย์ที่วัดใหญ่แน่ๆ
แต่ใครสร้าง สร้างสมัยไหน คือประเด็นที่คุณพิพัฒน์จะนำเสนอต่อไปใช่ไหมครับ

เมื่อคืนพระเจ้าอู่ทองไม่ได้มาเข้าฝันผม แต่ผมเชื่อว่า หากท่านจะเข้ามาตั้งตัวแถวนี้
ถ้าไม่ปราบพวกเดิมให้เหี้ยน ก็ควรจะฝากเนื้อฝากตัวให้รักใคร่กัน
ถามว่าจะมาสร้างเจดีย์แข่งไหม? คิดว่าไม่
มหาเจดีย์นี้น่าจะเก่าแก่มากๆ

เห็นด้วยกับคุณ Bana ว่าถ้าตั้งใจทำให้กลวง อาจจะเพื่อพิธีกรรม...ซึ่งน่าจะหนักไปทางเขมร เกี่ยวข้องกับเทพเจ้า มากกว่าพระพุทธเจ้าครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 31 ม.ค. 08, 13:44
ท้วงน้องกุรุก่อน
พ่อพระองค์ดำคือมหาธรรมราชา มหาจักรพรรดิ์นั้นเป็นพระเจ้าตาครับ

แล้วท่านเชื่อสนิทใจในพระเจดีย์องค์นี้ เพราะเหตุใดฤษ

วานบอก
(ผมได้เชื่อตาม)

อ้อ ทู้นี้สนุกครับ อย่าเร่งให้รีบร้อน การมั่วที่ดี คือต้องมั่วอย่างหนอนไต่ใบไม้
ให้ทรมานใจเล่น


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 31 ม.ค. 08, 20:22
มั่วเสียเลยนะครับ ผมเนี่ย

หุหุหุ ขอประทานโทษอย่างสูงนะครับ ผิดพลาดจรืงๆด้วย

ขอกลับไปแก้ไขข้อความในกระทู้เดิมดีกว่าครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 31 ม.ค. 08, 20:34
ไม่มีรูปมหาเจดีย์สี่รัชกาลที่วัดโพธิ์เสียด้วยครับ

เหตุผลที่ผมเชื่อนะครับคุณ Pipat ว่าเจดีย์องค์นี้คือ "เจดีย์ศรีสุริโยทัย" จริงๆ

เพราะในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ท่าเตียน

มีพระเจดีย์องค์หนึ่ง ที่สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

พระองค์ท่านโปรดให้จำลองพระเจดีย์สวนหลวงสบสวรรค์มาสร้างเป็นเจดีย์ประจำรัชกาล


สีฟ้า ดูเผินๆ ก็นึกว่าเหมือนจดีย์ทรงเครื่องอีกสามองค์ข้างหน้า ซึ่งประจำรัชกาลที่ 1 2 และ 3

จริงๆมีความแตกต่างกัน ย่อมุมก็มิได้เท่า

ใครๆก็เรียกเจดีย์องค์นี้ว่า เจดีย์ศรีสุริโยทัย

ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ชื่อนี้เรียกขึ้นมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 จริงหรือไม่

ถ้าจริง แปลว่า ชาวบ้านแถบกรุงเก่า ก็รับรู้กันมานานแล้ว ว่าเจดีย์ที่วัดสวนหลวงสบสวรรค์ องค์นั้น

คือพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย


ก่อนการรับรู้ของพระยาโบราณราชธานินทร์ หรือ ใครต่อใครอีกหลายท่าน ซึ่งบันทึกความทรงจำกันมา ว่า มีเจดีย์แฝดทรงกลมอยู่คู่กัน

ที่น่าจะบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอที่ออกต่อรบด้วยพม่าจนสิ้นพระชนม์

แต่ปัจจุบันถูกรื้อทิ้งไปแล้ว


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 31 ม.ค. 08, 20:47
วันนี้นั่งรถผ่านวัดราชบูรณะ จังหวัดพิษณุโลก เกิดนิมิตว่าคล้ายวัดใหญ่ชัยมงคล เลยลองหารูปจากเว็บมาให้ดู อาจจะไม่ค่อยชัด

เหมือนมั้ยเนี่ย???


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 31 ม.ค. 08, 22:08
ต้วอย่างจากคุณโอมนี่ดีแท้
แสดงถึงการสร้างอนุสรณ์สถาน เพื่อการปฏิบัติบูชา "จากภายนอก"

นี้เป็นพิธีกรรมที่ต่างจากการเข้าสู่ "ข้างใน"
ของมหาสถูปวัดใหญ่ไชยมงคลครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 31 ม.ค. 08, 22:19
รูปจากคุณโอม แสดงถึงการบูชา จาก"ภายนอก"
ไม่ใช่การบูชาจาก"ภายใน"

ขอบคุณครับ เห็นการเปรียบเทียบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 31 ม.ค. 08, 23:28
(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=2527.0;attach=1764;image)(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=2527.0;attach=1820;image)


ผมขออนุญาตถือวิสาสะเอาภาพของพี่กุ้งแห้งฯมาแปะใหม่อีกรอบครับ
อยากให้ผู้ดูกระทู้ลองสังเกตดูเปรียบเทียบกับภาพของคุณ Oam


เทียบด้วยตา จินตนาการด้วยความรู้สึกพอนะครับ
ใครไปอ่านกระทู้ศัพทาภิธานศิลปะมาอย่าเพิ่งร้อนวิชาครับ
ยังไม่ต้องไปเพ่งรายละเอียดยิบๆย่อยๆ หาฐานบัว ฐานเขียง ฐานสิงห์ หรือท้องไม้อะไร

เพราะที่ผมอยากให้เห็นจินตนาการอย่างแรก
ว่าคุณกำลังเดินขึ้นไปบนฐานสูงๆของเจดีย์วัดราชบูรณะของคุณ Oam
คุณจะเห็นฐานกว้างออกไปมาก และยอดเจดีย์องค์สมส่วนอยู่ด้านบน
มีสถูปิกะ (แปลว่าเจดีย์จำลองเล็กๆ) ตั้งประดับอยู่ตามมุมระเบียง
ความรู้สึกที่ได้เป็นความรู้สึกอย่างไร

กับอย่างที่ 2 ลองนึกดูว่าถ้าคุณเดินขึ้นไปบนเจดีย์วัดใหญ่ฯ ของพี่กุ้งฯ
คุณจะถูกกำแพงสองด้านบังวิสัยทัศน์ทางด้านซ้าย-ขวาไปส่วนหนึ่ง
และมองเห็นเจดีย์องค์โต บนฐานยกท้องไม้สูง จนต้องแหงนหน้าเกือบ 90 องศาเพื่อมองยอดพระสถูป
ความรู้สึกที่ได้เป็นความรู้สึกอย่างไร แบบไหนดูสงบกว่า และแบบไหนดูศักดิ์สิทธิ์กว่า



ผมเชื่อว่าบางครั้งสถาปัตยกรรมก็ถูกปรุง และแก้ไของค์ประกอบต่างๆให้เข้ากับรสนิยมของแต่ละชนชาติครับ
ช่างรุ่นครูท่านไม่ได้เล่นกับเราแค่ผัสสะง่ายๆอย่างสี แสง หรือบรรยากาศครับ
แต่รูปทรง รูปร่าง อย่างพื้นฐานที่สุดท่านก็ปรุงเอาไว้ให้เรารู้สึกได้ทันทีที่สัมผัสครับ




ปล. ทฤษฎีที่ว่านี่ผมก็ยืมเพื่อนชาวสถาปัตย์คนนึงมา
จะให้อธิบายไปไกลกว่านี้คงต้องรอเธอว่างงานมาตอบเองเสียแล้วล่ะครับ แหะๆ


ปล.2 ไม่รู้ว่าเพราะผมตาไม่ดีหรือเปล่า
แต่เห็นภาพของคุณ Oam แล้วรู้สึกว่าผังฐานมันไม่ได้เป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสนะครับ
รบกวนคุณOam (หรือสมาชิกจากเมืองสองแควท่านอื่นก็ได้) ช่วยเชคให้นิดนึงได้มั้ยครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 01 ก.พ. 08, 00:36
อืมม  เจดีย์วัดใหญ่ฯข้างในกลวงการใช้สอยนะครับตามความคิดผม  อาจเรียกได้ว่าเป็นปราสาทเจดีย์แบบหนึ่ง  แต่จะทำเป็นอุโปสถาคารหรือเปล่าไม่แน่ใจ  การสร้างวัดโดยทั่วไปก็มักจะสร้างเรียงกันไปเป็นลำดับ โบสถ์-เจดีย์-วิหาร-ลานโพธิ์  แต่ก็มีหลายแห่งที่สร้างแบบทูอินวัน  ผมดันไม่เคยไปที่วัดนี้ซะด้วย  พยายามมองฐานรับปากระฆังแต่มองไม่ชัด  แต่เห็นซุ้มทางเข้าพาลคิดถึงทวารวดีแบบที่ฝ่ายเหนือเค้าชอบสร้างกัน
ขอถามประดับความรู้หน่อยครับ  สถูปิกะ หรือที่ผมชอบเรียกว่า "สถูปน้อย" เป็นอิทธิพลของพุกาม  หรือทวารวดีครับ  หรือจากยุคอื่นอีก  ขอบคุณครับ.... ???


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 01 ก.พ. 08, 03:10
อิทธิพลวิมานครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 01 ก.พ. 08, 07:56
จะหาโอกาสไปดูของจริงอีกครั้งครับ เพราะเพิ่งเห็นเหมือนคุณติบอว่าฐานน่าจะไม่ใช่ ๔ เหลี่ยม


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 01 ก.พ. 08, 08:36
......
ตามีผัวของยายบัวเคยเป็นทหารข้าแผ่นดิน  รบพม่ามาหลายศึก.. ตอนนี้ทำนา
พรรษานี้ต้องเตรียมเสบียงส่งวัง ที่เหลือเก็บไว้กินตลอดปี..
นาอยู่ห่างจากกรุงศรีอยุธยา ค่อนวันเดิน
เช้านี้..ฝนห่าใหญ่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ อาทิตย์เริ่มทอแสงผ่านเมฆเทาบางๆ ที่เริ่มเคลื่อนตัวออกจากกัน

เสียงระฆังเคาะเป็นจังหวะ ๆ ดังกังวานก้องมาจากในเมืองกรุงศรีอยุธยาอันงดงามดั่งทองเมื่อต้องแสงตะวัน.....
สองตายายมองตามเสียง ไปที่เจดีย์ใหญ่สูงตระหง่านของวัดใหญ่ชัยมงคลที่หันหน้าสู่ทิศตะวันออกของเมืองเด่นเป็นสง่า
บนนั้น เห็นพระเดินเป็นแถวแนวสีเหลืองสว่างไสวมุ่งสู่ยอดเจดีย์นับร้อยๆองค์....
ได้ข่าววันนี้ พระเจ้าอยู่หัวประทับ เป็นประธานเรื่องใดไม่ทราบเป็นงานใหญ่ นับแต่มีพระกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งกลับจากลังกา.

นั่นหมายถึงเจ้าตัวเอก ลูกชายคนเดียวที่เพิ่งบวชเข้าพรรษา รวมอยู่ในเส้นเหลืองๆที่เห็นระยิบๆ แต่ไกล
ถึงตรงนี้ สองคนตายายมองหน้ากัน ทรุดเข่าลงพนมมือ น้ำตาไหล ปลื้มใจเหมือนได้เกาะชายผ้าเหลืองลูกชายขึ้นสวรรค์

สักครู่ก็ได้ยินพระสวดดังกึกก้องกังวานทั่วแผ่นดิน
จากเจดีย์ใหญองค์นั้น
............

"อันนี้ถ้าให้แปลง่ายๆ ในความกลวงของพระเจดีย์ใหญ่ ผมคิดเป็นเสมือนเครื่องกระจายเสียงขนาดยักษ์ชั้นดี แบบไม่ธรรมดาคล้ายๆของคุณ พพ ที่ฟังอยู่ที่บ้านครับ"




กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 01 ก.พ. 08, 09:09
ที่คุณเอลวิสภูเขียน น่าจะเป็นopening sceneที่ดีในการเปิดตัวพระเจดีย์ และจุดประสงค์การใช้งานของกษัตริย์ผู้สร้างนะคะ
ทำไมต้องขึ้นบันไดไปสูงขนาดนั้น ก็เพื่อให้ชนเบื้องล่างเห็นแต่ไกล
เบื้องบนก็ได้เห็นความรุ่งเรืองของผืนนาเบื้องล่าง ใช้เป็นหอเทเลสโคปธรรมชาติในตัว ข้าศึกมาก็ต้องเห็น หรือกลับจากทัพก็รู้ว่า กรุงศรีอยุธยานั้นอยู่ที่ไหน
ลานบนกว้าง คงไม่ได้มีเฉยๆแค่เป็นฐาน น่าจะเป็นที่ชุมนุมสวดของพระสงฆ์ระดับสูง
ซึ่งแน่นอนว่า หนึ่งในพระสงฆ์นั้น น่าจะเป็นประมุขสูงสุดทางศาสนาด้วย
...
และใครจะทราบ ลูกชายพ่อมีแม่บัวที่เพิ่งกลับจากศึกษาธรรมที่ลังกาไม่ใช่เพียงอัญเชิญพระบรมธาตุกลับมา แต่อาจจ่อคิวเป็นว่าที่พระสังฆราชของกรุงศรีฯก็ได้
..
เชิญฝ่ายถาปัดบรรเลงการวิเคราะห์เชิงนั้นต่อ
ในขณะที่ฝ่ายศิลป ก็จินตนาการฟังก์ชั่นนั้นๆเป็นเรื่องเป็นราวไป
คนอ่านหรือคะ.. กำไรลูกเดียวค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 01 ก.พ. 08, 09:45
ชอบที่คุณ elvisbhu เขียนครับ

ตอนแรกว่าจะแอบชมหลังไมค์ แต่มีคนบอกว่า ชมออกหน้าเวทีไปเลย

ไม่รู้จะใช้คำชมว่าอย่างไรดี เอาเป็นว่า

ชอบมากกกกกกกกกกกกก

เขียนมาอีกนะครับ จะรออ่าน

ลงชื่อ แควนคลับ :)


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 01 ก.พ. 08, 10:16
ขอบคุณครับคุณ Oam
เสียวอยู่เหมือนกัน ...เพื่อนๆ เขียนเชิงวิชาการกันอยู่ดีๆ
สมาชิกอีกคน บ๊องเข้ารกเข้าพงไปซะแล้ว



กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 01 ก.พ. 08, 10:31
กฏมณเฑียรบาลกำหนดว่า
พระเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่ถ้ำหรือคูหาปรางค์ใดๆ ก็ดี
ให้เจ้าพนักงานตรวจค้นหนึ่งรอบ แล้วค้นอีกหนึ่งรอบ จนแน่ใจว่าปลอดภัย
จึงเชิญเสด็จ

ไม่แน่ใจว่า ทั้งแผ่นดิน มีกี่คนที่ได้ขึ้นบันไดแก้วทอดยาวสู่คูหาศักดิสิทธิ์
เราไม่ขึ้นไปเพื่อชมทัศนียภาพนะครับคุณกุ้งแห้ง ....พระมหาสถูปมิใช่หอไอเฟล
เราขึ้นไปเพื่อเข้าถึงสิ่งสูงส่งที่เราศรัทธาขนาดอุทิศแผ่นดินถวายได้

การเข้าบูชา "ภายใน" ของอนุสรณ์สถาน
ปฏิบัติกันมาตั้งแต่ที่อาชันตาแล้วครับ ราวๆ พศ.800-1000
คนยุคนั้น เคารพภูเขาศักดิสิทธิ์
หากภูเขานั้น มีสิ่งสำคัญอยู่ภายใน ยิ่งเคารพเป็นทวีคูณ
เมืองใดมีภูเขาเป็นหลัก จึงเป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบตามอุดมการ
หากไม่มีภูเขา ...สร้างจำลองขึ้น ก็ไม่แปลก

คงคุ้นกันนะครับว่าภูเขาในตำนานพระพุทธศาสนา และในลัทธิพราหมณ์นั้น
สำคัญอย่างไร


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 01 ก.พ. 08, 10:37
มิได้ค่ะ คุณพพ. มิใช่ไว้ให้ข้าแผ่นดิน เช่นพ่อมีแม่บัวชมวิว
เป็นที่ประกอบพิธีจะสงฆ์ หรือยามศึก ก็หอดูข้าศึก
ยามน้ำหลาก น้ำท่วม ก็ไว้ดูทุกข์สุขของราษฎรค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 01 ก.พ. 08, 13:05
โดยส่วนตัวผมยังไม่คิด ว่าการใช้งานคูหาเจดีย์
หรือครรภคฤหของปรางค์จะทำขึ้นเพื่อจุดประสงค์อย่างพี่กุ้งฯว่ามาครับ

ลองพูดถึงพระปรางค์ที่เก่าที่สุดองค์หนึ่งของกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา
อย่างพระปรางค์วัดพระรามดู...... ทำไมผมต้องพูดถึงที่นี่
เพราะที่นั่นมีจิตรกรรมยุคอยุธยาตอนต้นที่ค่อนข้างสมบูรณ์มากอยู่ครับ
จิตรกรรมสีสันสดใสสวยงาม บนพื้นภาพขาว และแต่งแต้มด้วยสีสารพัด
ชนิดที่เรียกว่าตำรานักเรียนมัธยมที่สอนเราว่า
จิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนต้นนิยมสีเอกรงค์ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านกันไปเลยทีเดียว

แต่จิตรกรรมที่นั่นยังคงสภาพได้ดีมากครับ......
ถ้าคนขึ้นไปกันมาก ความงามของจิตรกรรมคงไม่เหลือเท่าที่เห็นทุกวันนี้ไปนานแล้ว
แต่นี่อดีตพุทธแผงใหญ่สวยงามยังรอเทศนาโปรดผู้ไปเยือนทุกคนมาจนถึงปัจจุบันนี้





อีกประการหนึ่งคือผมเข้าใจว่าพื้นฐานทางความคิดของคนแต่ละยุค มีไม่เท่ากันครับ
เหมือนที่ครั้งหนึ่งพระพิมพ์มีเอาไว้บรรจุกรุเพื่อบ่งบอกมนุษย์เมื่อสิ้นศาสนาแล้วว่า
ในอดีตกาลนั้น คำสอนของพระพุทธองค์เป็นที่เคารพบูชายิ่ง
แต่ในอีกยุคถัดมา พระพิมพ์ดันกลายเป็นเครื่องรางของขลัง ถูกนำมาห้อยคอ กรุต่างๆถูกทุบทำลาย
เพื่อขุดคุ้ยสมบัติคนตายมาไว้ในครอบครอง..... เพราะวิธีคิดมันเปลี่ยนไปครับ

เจดียสถานเองก็คงไม่ต่างกัน ที่เมื่อศรัทธายังเป็นจารีตของคนอยู่
การจะป่ายปีนขึ้นไปคงไม่ใช่เรื่องเหมาะสมนักนะครับ



ปล. ตามหาผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์อยู่ครับ
ในเรือนไทยสมัยยังขึ้นเป็นตำบลหนึ่งของแขวงเมืองวิชาการจุดคอมพ์ผมจำได้ว่าเคยเห็นมีอยู่หลายท่าน
แต่ปัจจุบันพอแยกตัวเป็นแขวงเมืองเรือนไทย ก็ไม่ค่อยเห็นชื่อท่านเข้ามาตอบคำถามกัน
(ไม่ทราบจะมีท่านไหนว่างพอจะมาเห็นข้อความของผมมั้ยนี่ ?)

ผมอยากได้คำอธิบายทฤษฎีของคุณเอลวิสจังครับ
เพราะโดยส่วนตัวผมรู้สึกเหมือนว่ามันจะเป็นไปได้ยาก
ที่เสียงสาธยามนต์หลายเสียงที่สะท้อนอยู่ในองค์ระฆังจะลอยออกมาชัดเป็นถ้อยเป็นคำน่ะครับ
มันน่าจะออกมาคล้ายๆเวลาเราได้ยินเสียงแขกสวดมนต์ที่มัสยิตมากกว่า

แล้วถ้าเสียงจะสะท้อนออกมาได้ ความหนาแน่นของอากาศเมื่อเวลาต่างกันที่มีอุณหภูมิต่างกัน
จะมีผลต่อเสียงที่สะท้อนลงมายังพื้นราบต่างกันมั้ย ?? เวลาไหนจะดีที่สุดครับ ??
(ถามมากจัง น่าปวดหัวเนาะ)???


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 01 ก.พ. 08, 13:34
เออ.....เอากะเขาดิ
คุยเรื่องสถูปเจดีย์อยู่แป๊ปๆ....กลายเป็นเรื่องโฮมเธียรเตอร์ซะแระ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อประทับ ณหัวเมืองใด จะโปรดฟังเสียงพระทำวัตร
แม้มิได้เสด็จไปที่พระอุโบสถ แต่เสียงสวดย่อมลอยมาตามอากาส
วัดใดสวดไพเราะ จะทรงพระราชทานรางวัล

ข้อนี้เห็นได้ว่า อำนาจความถี่เสียง จากคณะสงฆ์ในพระอุโบสถ ย่อมเดินทางไปทั่วอาณาบริเวณ
นับเป็นกิโลเมตร (ใครอยู่ตจว. คงทราบข้อนี้ดี)
เพราะเมื่อร้อยปีย้อนลงไป เมืองไทยไม่มีขยะเสียง มีแต่ความสงัด สงบ และมีแต่เสียงไม่ไร นกหนูปูปลา
หามีเสียงทีวี หรือทรานซิสเตอร์อันใดไม่ไม่
จำได้ว่าเมื่อยังหนุ่ม กำลังรังวัดปราสาทปูมิโพน ได้ยินเสียงร้องเพลงดังมาแว่วๆ แต่ชัดมาก
อีหนูร้องอยู่ห่างไปตั้งหลายร้อยเมตร

ดังนั้น เราจึงไม่ต้องอาศัยลำโพงแบบคูหาปรางค์หรือสถูป เพื่อช่วยเสริมกำลังเสียง
อ้อ....อิสลามท่านก็ใช้หอสูงโดดเดี่ยว กระจายเสียงครอบคลุมอาณาบริเวณ
โดยไม่มีระบบอะคูสติค นอกจากลำคอและริมฝีปากเท่านั้น

แต่ในแง่สุนทรียะแล้ว
เสียงสวดมนตร์ที่มีมหาสถูปเป็นฉากหลัง ถือว่าอลังการณ์งานสร้าง โน้มน้าวศรัทธายิ่งนัก
และน่าจะเป็นบรรยากาศที่ชาวอยุธยาคุ้นเคย จวบจนสิ้นกรุง


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 01 ก.พ. 08, 14:18
น่าสนใจครับ เจดีย์ (อาจจะรวมถึงพีระมิด) ก็เป็นเหมือน Time Capsule เก็บข้าวของ ของคนโบราณ ส่งไปให้คนในอนาคตดู
เคยเห็น botanical garden บางแห่ง ใส่เมล็ดพืชไว้ในแคปซูล เผื่อให้ลูกหลานในอนาคตปลูกกิน (ถ้ายังมีที่ดินอุดมสมบูรณ์ให้ปลูก)

เลี้ยวกลับมาเรื่องคันศีรษะ ที่คุณพิพัฒน์พูดว่าเจดีย์วัดใหญ่นั้นทำเพื่อให้เข้าไปบูชาข้างใน หมายถึงพิธีทางพุทธอย่างนั้นหรือครับ???
เพราะถ้ามีโบสถ์อยู่ข้างล่างแล้ว จะถ่อปีนกระไดขึ้นไปทำอะไรบนนั้น แล้วถ้าจะทำพุทธกิจ พระสงฆ์องค์เจ้าไม่ต้องเหาะกันจีวรปลิวขึ้นไปบนนั้นด้วยหรือ???


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 01 ก.พ. 08, 16:47
คุณติบอจะต้องไปหาผชช.ทางฟิส่งฟิสิกค์มาทำไม เอาง่ายๆ ผมเจอมากะตัวเอง ตกเย็น เดินตามตลาด ในดูไบ ไปตามตรอกซอกซอย เสียงสวดมนต์กระหึ่ม ฟังแล้วพุทธยังขนลุก โดยไม่ต้องมีเครื่องขยายเสียง
คนๆเดียว สวดมนต์ดังจากมัสยิดไหนไม่ทราบ
แล้วลองนึกภาพ วันพิเศษที่เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลวันหนึ่ง อาสาฬหะ หรือมาฆะ หรือวิสาขะก้ได้ พระสงฆ์สองร้อยกว่ารูปสวดมนตร์พร้อมๆกัน พุทธัง สรณัง คัจฉามิ...
เพื่อนสนิทผมเล่าว่า พลังของการสวดพร้อมๆกัน ของคนจำนวนมากหน้าสระน้ำแห่งหนึ่ง ทำให้มวลในน้ำในสระเรียงโมเลกุลกันตรงแหนว กลายเป็นน้ำบริสุทธิ์ที่รักษาโรคได้
แล้วอุตส่าห์สร้างเจดีย์ใหญ่ไว้เงยหน้ามองโดยไม่ใช้งาน
ปปมด.ครับ..
................. ::)
จินตนาการผมครับ อย่าคิดมาก


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 01 ก.พ. 08, 18:08
เคยไปถ้ำอชันต้าครั้งหนึ่งในอินเดีย

ปรากฏว่ามีคณะป้าๆแสวงบุญ นำโดยหลวงพ่อสักองค์หนึ่ง ซึ่งยังมีเรี่ยวแรงปีนบันไดหินขึ้นมาได้

หลวงพ่อก็นำชมกันสักพัก แล้วก็เริ่มต้นสวดมนตร์กันในถ้ำวิหาร ซึ่งมีสายตาของพระโพธิสัตว์ขนาดมหึมาจับจ้องอยู่รอบตัว


เสียงสวดมนตร์ก็เหมือนบทสวดทั่วๆไปในประเทศไทย แต่ว่ามันทรงพลังกังวานก้องกระหึ่มกาหล สะท้อนสะท้านไปทั่วทั้งมณฑล


ไม่น่าเชื่อว่าแค่เสียงสวดมนต์ที่ฟังไม่รู้เรื่องจะให้ผลทางจิตใจถึงขนาดนี้


ส่วนเจดีย์ชัยมงคลนั้น จะเป็นสถานที่สวดมนต์หรือไม่ ก็มิอาจรู้ได้

ผมทราบเพียงว่า หากจะทำสังฆกรรม ย่อมต้องทำให้พระอุโบสถที่มีการผูกพัทธสีมาเรียบร้อยแล้ว


คูหาเจดีย์นั้น อาจเกิดขึ้นเพื่อการอื่นมากกว่า


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 01 ก.พ. 08, 20:11
โอ้...สนุกหลาย
มีคนเล่าว่า เพียงพระแก่รูปเดียว เสียงสวดมนต์ของท่าน ทำกระเบื้องหลังคาสั่น แล้วร่วงลงมาได้
พลานุภาพแห่งเสียงนั้น ไม่ต้องสงสัยครับ และใช้แม้ในการบำบัดรักษาด้วยซ้ำไป

ขอกลับมาที่แชมพูแก้รังแคของคุณโอมต่อ

อันที่จริงแล้ว ที่พวกเราขบคิดกันมานั้น น่าสนใจนักทีเดียว
เราไม่มีความรู้เลย ว่าพุทธพิธีในครั้งนั้นทำอย่างไร
เอกสารครั้งรัชกาลที่ 1 เล่าแต่เพียงว่า ในการฉลองกรุงรัตนโกสินทร์และวัดพระแก้ว
นิมนต์คณะสงฆ์ขึ้นเชิงเทินสีมาสวดรอบพระนคร
ช่างยิ่งใหญ่ลึกซึ้งเสียนี่กระไร

คูหาบนพระปรางค์ หรือในสถูปอย่างวัดใหญ่
ไม่ใหญ่ขนาดให้สงฆ์นั่งปรก ถ้านั่งก็คงทำอะไรมากกว่านั้นไม่ได้
พระเจ้าแผ่นดินต้องมาประทับคอยที่ตีนกระไดแก้วหรือ
ผมว่าน่าจะกลับกัน

คือการสวด คณะสงฆ์ เครื่องประกอบ เครื่องอลังการณ์....ฯลฯ
ต้องกระทำที่ลานด้านล่าง


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 01 ก.พ. 08, 22:44
ถ้าวิเคราะห์ว่าพระเจดีย์องค์นี้เป็นกูฏาคาร  ซึ่งอาจเป็นอุโปสถาคารหรือเป็นหอสวด  ก็คงดูไม่ยากครับสำหรับผู้ที่เคยไป  ถ้าเป็นอุโปสถาคารก็ต้องมีเขตสีมาหรือร่องรอยให้เห็น  แต่ถ้าเป็นหอสวดหรือที่ประกอบพิธีอะไรก็ตามที่มีการสวด  ต้องมีช่องระบายเสียงครับ  แถบบ้านผมเรียกป่องเอี๊ยม  ถ้าสวดในที่ตันๆมีทางออกทางเดียวเสียงจะสะท้อนหลงกันครับ  แต่ถ้าจินตนาการเห็นหมู่สงฆ์เรียงแถวกันขึ้นตามบันใดพระเจดีย์ไปสวดมนต์ทุกวัน  ก็เป็นภาพที่สวยงามและน่าศรัทธา  และถ้าได้ฟังเสียงสวดมนต์ด้วยแล้ว  ได้ยินแน่ๆครับถ้าเป็นยุคก่อนๆที่ผู้คนยังหูไม่หนักและความหนาแน่นในอากาศน้อย(เห็นด้วยกับท่านพิพัฒน์)  เพราะที่บ้านผมเมื่อตอนผมเด็กๆเสียงหมอลำปากเปล่าไม่มีเครื่องขยายเสียง  ยังดังข้ามทุ่งได้ยินไกลหลายร้อยเมตรเลยครับ....... ;)


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 02 ก.พ. 08, 09:10
ดีเหมือนกันนะคะ ถ้าไปดูเจดีย์เก่าแก่ ซากปรักหักพังแบบไม่รู้ว่าทรงระฆังลังกาพม่าฮินดูหรือมอญ
หรือมีไว้เพื่อเก็บพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุ เขามีที่ให้นมัสการก็นมัสการไปด้วย
ไม่ดูที่ประวัติความเป็นมาและความสวยอย่างเดียว
แต่ไปแบบมีจินตนาการเสริมแบบละคร หนัง
เห็นภาพในอดีต ผู้คนขวักไขว่เหมือนไปงานวัด
ชีวิตผู้คนพลุกพล่านทุกสายอาชีพ เหมือนเป็นศูนย์รวมของคนที่ต้องไปเจอกัน
พบรัก จีบกัน ต่อยกันเพราะเขม่นแย่งสาว
ดูลิเก ลำตัด ละครรำ ละครร้องไปด้วย
ชีวิตไทยๆสมัยอู่ทอง อยุธยา ก็คงประมาณนั้น
วัดเป็นที่รวมทั้งไพร่กฎุมพี ขุนนาง ศิลปิน กวี พระและเจ้า..ในวันพิเศษ
วันธรรมดา เป็นโรงเรียน เป็นโรงหมอ ฯลฯ  (และโรงทาน???)
อย่างวัดพระเชตุพนฯที่ท่านจำลองทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ของสมัยอยุธยามาให้ชม

..............


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 02 ก.พ. 08, 09:31
นี่เป็นภาพจากเน็ตที่รวมวัดวรเชษฐาราม ที่พระเอกาทศรถสร้างให้พระนเรศวรค่ะ ไม่ได้ไปถ่ายเอง นำมาลงประกอบ ก่อนที่เราจะช่วยกันคิดต่อไป


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 02 ก.พ. 08, 11:52
ว่าด้วยเรื่องเสียงธรรมชาติ สถาปนิกไทยสมัยนั้น Creative มาก
ทฤษฎีเจดีย์กลวง น่าจะมาจาก Idea นี้
ผมลองทำผังเล่นๆให้ดูครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 ก.พ. 08, 12:29
ไม่อยากค้านเลย แต่ไม่ค้านไม่ได้ครับ

1 เราไม่รู้ว่าพระท่านเข้าไปสวดในคูหาหรือไม่ จำนวนเท่าใด เสียงดังระดับใหน

2 ถ้าสวดในนั้นจริง เสียงจะวิ่งกระทบผนังคูหากระทบกันไปมา อาจจะหักล้างกัน หรือเสริมกัน
ในกรณีหลัง จะเกิดอาการส่งเสียงแบบป้องปากพูด เสียงจะมีโฟกัสและทิศทาง
ทำให้ไม่กระจายเสียงออกเหมือนทฤษฏีเคาะระฆังครับ

3 ส่วนการเคาะระฆังนั้น เสียงเกิดจากแรงกระทำต่อวัสดุที่เป็นโลหะ เกิดเป็นคลื่น
เกิดทั้งในระฆังและผิวระฆัง การกระจายเหมือนหย่อนหินลงบ่อน้ำ คือกระจาย 360 องศา ทิศทางไม่แน่นอน

4 มีข้อแตกต่างอย่างสิ้นเชิงระหว่างสองตัวอย่าง
คือเมื่อเคาะระฆัง เสียงเกิดจากโลหะคือองค์ระฆัง คุณภาพเสียงเป็นไปตามคุณภาพวัสดุ
แต่พระสวด เสียงมาจากมนุษย์ องค์ระฆังเป็นปูน ไม่อาจส่งเสียงครับ มีแต่ดูดเสียงเพราะมีรูพรุนทั้งองค์


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 02 ก.พ. 08, 12:45
น่าสนใจค่ะทั้งรูป คุณภู ทั้งความคิดเชิงเทคนิคคุณพพ
ทำให้ดิฉันคิดถึงที่บ้านตอนเด็กๆ เรามีโอ่งน้ำยักษ์เป็นโอ่งมังกร
เวลาน้ำในโอ่งงวด หรือหมด ชะโงกหัวเข้าไปทำเสียงโห่ หรือร้องเพลง
เสียงมันจะก้อง กังวานเหมือนไมโครโฟน เพราะขึ้นมาก
ทฤษฎีโอ่งค่ะ
สำหรับเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล ท่านจะประกอบพิธีอะไรก็ตามด้านบน ข้างนอก
หรือพิธีพิเศษข้างในก็ตาม
เพื่อสร้างการรับรู้ ศรัทธา หรืออาจจะเลยเถิดไปถึงปาฏิหาริย์หรือเปล่ามิทราบได้ ต่อผู้ดูผู้ฟังอันหมายถึงประชาชน..
เชื่อมโยงความคิดไปทำให้คิดถึงวัดศรีชุม พระพุทธอัจนะ ที่มีทางขึ้นไปเศียรพระ
อาศัยบรรยากาศอันศักดิ์สิทธิ์ สร้างพลานุภาพของเสียง ของสารที่จะสื่อ
พูดออกมาให้คนฟังเชื่อว่าพระพูดได้
ก็คิดไปเรื่อยๆค่ะ 
................................................................


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 ก.พ. 08, 13:24
จินตนาการนี่เป็นของมีค่า
แต่คนคิดว่าตัวเองรู้อย่างผม มักจะทำของดีหล่นหายเสมอ
ผมจึงไม่สามารถสร้างจินตนภาพต่ออนุสรณ์สถานได้แบบที่คนโบราณท่านมี

รอทฤษฎีต่อไปครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 02 ก.พ. 08, 16:58
ใช้เวลารวบรวมมาให้ดูครับ ..


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 02 ก.พ. 08, 17:23
ไม่มีรูปมหาเจดีย์สี่รัชกาลที่วัดโพธิ์เสียด้วยครับ

เหตุผลที่ผมเชื่อนะครับคุณ Pipat ว่าเจดีย์องค์นี้คือ "เจดีย์ศรีสุริโยทัย" จริงๆ

เพราะในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ท่าเตียน

มีพระเจดีย์องค์หนึ่ง ที่สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

พระองค์ท่านโปรดให้จำลองพระเจดีย์สวนหลวงสบสวรรค์มาสร้างเป็นเจดีย์ประจำรัชกาล


สีฟ้า ดูเผินๆ ก็นึกว่าเหมือนเจดีย์ทรงเครื่องอีกสามองค์ข้างหน้า ซึ่งประจำรัชกาลที่ 1 2 และ 3

จริงๆมีความแตกต่างกัน ย่อมุมก็มิได้เท่า

ใครๆก็เรียกเจดีย์องค์นี้ว่า เจดีย์ศรีสุริโยทัย

..................

ขอบคุณคุณภูค่ะ ..ที่อุตส่าห์รวบรวมให้
กระทู้รุ่งเรือง เมืองศิลปของเรา ค้างอยู่ที่อยุธยา ไปไกลถึงลังกาและพม่าบ้าง โดยเริ่มจากภาพวัดใหญ่ชัยมงคล
คราวนี้ จะขอทำตัวเป็นมัคคุเทศก์ภาพ พาไปวัดโพธิ์ค่ะ ชอบศิลปะแล้วไม่ไปวัดนี้ น่าเสียดายมาก
ขอบอกว่าวัดโพธิ์นั้นน่าประทับใจ ไม่ใช่เพียงแค่ไปไหว้พระพุทธไสยาส..นะคะ เคยพาญาติฝรั่งฝ่าไอแดดไปครั้งหนึ่ง ทุกคนยังลืมร้อน
แล้วคนไทยอย่างเรา มีเวลาไปวัดโพธิ์ในชีวิตกันได้หลายครั้ง ไปบ้างหรือเปล่า..
แต่สำหรับท่านที่ไม่สามารถ ไม่ว่าง ไม่เป็นไรค่ะ ตามภาพและเรื่องจากเรือนไทยของเราไปก่อนแล้วกัน..
ขอเชิญผู้รักวัดโพธิ์เข้ามาร่วมเสวนาอย่างต่อเนื่องกันเลยนะคะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 02 ก.พ. 08, 17:38
ลายกระเบื้องเฟื่องฟูอยู่รอบวัด
พระเจดีย์สี่รัชกาลก่อน
ตรึงสายตาพาพิศจิตสะท้อน
ด้วยอาลัยอาวรณ์อยุธยา...


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 02 ก.พ. 08, 17:53
พระเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ
เป็นหลักฐานความรุ่งเรืองเมืองสง่า
พระมณฑปแจ่มตระการตระหง่านฟ้า
มีคู่ยักษ์รักษาหน้าประตู


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 02 ก.พ. 08, 18:52
"แปลกเหลือดีเกิดคดีเรื่องราวใหญ่โต
เจ้ายักษ์วัดแจ้งท้าตีท้าแทงกับยักษ์วัดโพธิ์
ทุย-ป๊ะตุ้มทุย ป๊ะตุ้มทุย-ทุย-ทุย-ทุย-ทุย

ยักษ์วัดแจ้งมาเกิดกำแหงโมโห
ร้องด่าเจ้ายักษ์ตาโตเจ้าอยู่วัดโพธิ์อย่ามาทำอวดดี
อย่าอวดว่าเป็นยักษ์เมืองหลวง มาทำหลอกลวงยักษ์ธนบุรี
ยืมเงินแล้วก็ไม่ใช้ เฮ้ย! ยืมเงินแล้วก็ไม่ใช้ ยักษ์อะไรเกะกะสิ้นดี
เก่งจริงก็ข้ามเจ้าพระยา
เก่งจริงก็เหาะข้ามมารบกันดีกว่าให้มันสิ้นคดี เอ้าทุย ฯลฯ

ยักษ์วัดโพธิ์เลยเกิดโมโหยักษ์วัดแจ้ง
ร้องด่าเจ้ายักษ์เหงือกแดงอย่าทำกำแหงมาท้าต่อตี
เพื่อนกันมาตั้งแต่เล็ก ไม่น่าเก๊กน้องเลยคุณพี่......

....เพลง "ท่าเตียน" ของคุณมีศักดิ์ นาครัตน์


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 02 ก.พ. 08, 19:36
คิดง่ายๆ แบบชาวบ้านยุค ๒๕๕๑

ในเจดีย์สร้างไว้เก็บของสำคัญ จะเป็นพระพุทธรูป พระธาตุ พระพุทธบาท ก็แล้วแต่

ถ้าปกติไม่เปิดให้เข้าชม ในหนึ่งปีก็มักจะมีงานวัด เปิดโอกาสให้คนได้ขึ้นไปชื่นชมบูชา

ในอดีต ถ้าพระมหากษัตริย์หรือเจ้าอาวาสหวงของ ก็อาจจะมีคนที่มีโอกาสขึ้นไปได้ไม่กีคน

เอ๊ะ คิดง่ายไปไหม

ประเด็นสำคัญกว่าคือการปักหมุดว่ามหาเจดีย์นี้สร้างในสมัยใด ใจผมยังไงๆ ก็เชื่อว่าก่อนอยุธยาคะรับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 02 ก.พ. 08, 19:52
ปักหมุดแน่นหนาแล้วสิคะ คุณโอม
...........
ความรุ่งเรืองจากอยุธยา ถูกถ่ายทอดมารัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่หนึ่งค่ะ ท่านคงจะทรงขมขื่นที่ไม่สามารถเนรมิตกรุงเทพได้งามอร่ามเท่าในอดีตที่ทรงสัมผัสแต่เสื่อมไปแล้ว จึงได้พยายามจำลองของดีๆมาให้มากที่สุด เริ่มจากการสร้างพระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว วัดโพธิ์
รายละเอียดคุณพพ.คงมาต่อเชื่อมส่งไม้ได้ดีกว่าดิฉัน

คุณภูส่งเนื้อพลงมาลงประกอบวัดโพธิ์ที่เราคุ้นเพราะเราเกิดมาในยุคที่ได้อิทธิพลจากเพลงของมีศักดิ์ นาครัตน์ชื่อเพลงท่าเตียน คุณมีศักดิ์ เป็นศิลปินที่ร้องได้อารมณ์มาก ทำให้ถึงแม้จะไม่มีโอกาสไปวัดโพธิ์ ท่าเตียน ก็ได้รู้เรื่องว่า ตำนานชื่อท่าเตียนมาจากการต่อสู้กันระหว่างยักษ์วัดแจ้ง(อรุณราชวราราม)กับวัดโพธิ์(เชตุพนวิมลมังคลาราม) ทำให้เราฝังใจ เวลาไปถึงก็จะตามหายักษ์วัดโพธิ์ เจอแต่ตุ๊กตาอับเฉาสูงใหญ่ฝรั่ง กับจีน เฝ้าประตูอยู่
โอ้ เจ้ายักษ์วัดโพธิ์มันอยู่ไหนหว่า..
ถามคนแรกแถวหน้าประตู แหม..กลิ่นเหล้าโชยแต่วัน อ้อแอ้ๆแต่ก็รู้เอง โอ๊ย คุ้น มันถูกเก็บแล้ว..
ดิฉันก็ ฮ้า..
เขาเก็บไว้ในตู้กระจกด้านนู้นน่ะครับ
ทำท่าเหมือนยาก เอาหละสิ เสร็จจากถ่ายรูปเราก็ไปตามหากันในทางที่เขาบอก เดินหมุนไปหมุนมารอบวิหารพระไสยาส เช็คประตูทั้งนอกใน ไม่เจอเลยฮ่ะ
ในที่สุด ก็ไปถามคนที่ดูได้เรือ่งหน่อย เขาขายฟิลม์ ก็บอกชัดเจนว่าหน้าโรงเรียนน่ะครับ มีแน่
อื๋ยย์ ก็เราไปวนหน้ารร.มารอบหนึ่งแล้ว เด็กๆเตะบอล ตีแบดกันสนุกสนาน
ไปอีกครับ เดินไปทางอีกด้านหนึ่ง
..ค่ะ  ดิฉันกับเพื่อนก็เลยเดินไปอีกรอบ..จริงด้วย ตัวเล็ก ริมประตู ..กำแพงวัดโพธารามเดิม
โอ้..ตัวเล็กจริงๆแฮะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 02 ก.พ. 08, 20:15
คุณโอมคะ พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ ที่รัชกาลที่หนึ่งสร้างนั้น ก่อนมา ดิฉันทราบจากคุณพพ.ว่า ครอบพระพุทธรูปยืนองค์สำคัญของกรุงศรีอยุธยา คือพระศรีสรรเพชญ์ค่ะ ดิฉันพยายามเล็งหาทางว่าจะดูได้ไหม มิมีเลย ภายในยังบรรจุพระบรมธาตุอีก
คนรุ่นเรามีโอกาสแค่ชมภายนอกก็พอแล้ว ท่านต้องการแค่นั้น
ลายกระเบื้องที่ประดับ ดิฉันจำได้ว่ามาครั้งแรก มีหลวงเตี่ยเป็นไกด์ค่ะ ตอนเป็นนักเรียน ดูลายกระเบื้องแล้วทึ่งเรื่องสีสัน แต่แปลกใจว่า ทำไมไม่ใช้ทอง
คิดอีกที ก็เสียกรุง โดนเผาซะ ไม่เหลือ ท่านคงคิดหนัก..
แต่กระเบื้องก็มิใช่ว่าจะถูก วันหนึ่งข้างหน้า หาไม่ได้แล้ว และมูลค่าทางศิลปะนั้นมหาศาล
ไม่ต้องถ่อบินไปถึงสเปนดูกอร์ดี้ กอร์เด้อ..สิเด้อ
มาดูที่นี่ดีกว่า เก่งล้ำหน้าสีสันกินขาดไปล่วงหน้าเป็นร้อยปี..


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 02 ก.พ. 08, 22:31
ขอบคุณท่านเอลวิสสำหรับเจดีย์สมัยต่างๆ และขอบคุณคุณกุ้งสำหรับรูปเจดีย์เหลี่ยมทรงเครื่องสวยๆ  ผมอิจฉาคนกรุงเทพฯตรงที่มีอะไรดีดีให้ดูเยอะไปหมด  วัดพระศรีฯและวัดโพธิ์มีสถาปัตยกรรมที่ว่ากันว่าสร้างแบบกรุงเก่า  แต่ดูไงก็เป็นแบบเฉพาะเป็นกลิ่นไอของรัตนโกสินทร์อาจเรียกว่าประยุกต์บ้าง  แต่ด้วยภาวะบ้านเมืองยุค รัชกาลที่ 1  สร้างได้สมชื่อเมืองสวรรค์จริงๆ
ส่วนพระเจดีย์วัดใหญ่ฯ  ผมว่าถ้าวิเคราะห์ชื่อ วัดใหญ่ชัยมงคล  คำว่าวัดใหญ่  แปลได้ว่า วัดนี้ใหญ่ด้วยมีพระมาก  หรือขนาดใหญ่  หรือผู้สร้างเป็นผู้ยิ่งใหญ่
คำว่า ชัยมงคล  นั้นสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะที่มีต่อพม่าในสงครมครั้งนั้น  ถ้าสองอย่างนี้เป็นบรรทัดฐานข้อแรก  สมเด็จพระนเรศวรท่านทรงสร้างก็น่าจะใช่  แล้วลักษณะหรือรายละเอียดท่านก็อาจจะทรงโปรดแบบนี้ซึ่งอาจไม่ใช่สมัยนิยมในครั้งนั้นก็คงไม่แปลกนี่ครับ  ภาวะบ้านเมืองกับช่างที่จะทำตามพระราชประสงค์ก็เป็นไปได้  เพราะทหารก็รบไปงานช่างก็ทำไปไงครับเหมือนครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์  อันนี้ผมลองคิดในแง่ไม่คิดมากดู.....


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 ก.พ. 08, 23:02
เสนอคุณกุ้งแห้งให้แบ่ง " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป " แยกเป็นวัดไปเลยได้ใหมครับ
กระจกข้ามมิติเวลาของผมมันมัวเต็มที

ข้ามไปมาบ่อยๆ จะหลงทางเอาอ่ะครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 03 ก.พ. 08, 00:17
มาแอบค้านคุณภูอีกแล้ว (ผมจะกลายเป็นฝ่ายค้านมั้ยนี่ ???)


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=2527.0;attach=1834;image)


จากรูปนี้เจดีย์ทรงลังกาของอยุธยาไม่ใช่อิทธิพลลังกาแน่ครับ
แต่เป็นอิทธิพลสุโขทัย เพราะชั้นของฐานชั้นหนึ่งที่เรียกว่า "บัวมาลัยเถา"
เนื่องจากอยุธยาเข้าใจลักษณะบางอย่างในลวดบัวแบบสุโขทัยผิดไป
(ไม่เข้าใจว่าเป็นยังไง ลองเทียบรูปเจดีย์ทรงลังกา กับ สุโขทัยดูได้ครับ)

อันนี้จะเป็นยังไง รอตามอ่านได้ในกระทู้ศัพทาภิธานศิลปะ นะครับ
(คาดว่าทั่นอาจารย์pipat จะเล่าถึงเร็วๆนี้..... หลังจากที่นายติบอเอารูปมาแปะไว้มั่งแล้ว แหะๆ)




ปล. เจดีย์วัดใหญ่ฯที่ถกกันตอนเปิดกระทู้นั่นไม่มีบัวมาลัยเถาครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 03 ก.พ. 08, 00:49
คุณติบอ นามสกุล ปชป หรือเปล่า ;)
ผมขอไม่เป็น พปช นะ :-X


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 07 ก.พ. 08, 02:10
มาเคาะขี้ฝุ่นกระทู้นี้ด้วยความระฦกถึงวัดใหญ่ชัยมงคลครับ อิอิ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 07 ก.พ. 08, 07:07
ถึงแม้วัดใหญ่ชัยมงคลยังไม่มีข้อสรุปใดๆตอนนี้ เรากำลังศึกษาเรื่องที่พระแขกองค์หนึ่งท่านเขียนบทความเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในลังกาและอยุธยา เอกสารเป็นภาษาอังกฤษ ว่างจากการงานแล้วจะแปลให้ฟังค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 07 ก.พ. 08, 21:02
ขอบพระคุณพี่กุ้งฯ ล่วงหน้าครับผม


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 18 ก.พ. 08, 17:58
พระแขกอาจจะทำหนังสือหาย
ลูกเจ๊กอย่างผมปั่นกระทู้ต่อ

ลายเส้นที่คุณติบอเชิญมา ไม่มีแบบใหน ที่ไกล้เคียงกับมหาสถูปวัดใหญ่เลย
ท่านว่าแปลกใหม


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 18 ก.พ. 08, 18:06
แฟนขลับเราอย่าเพิ่งไปไหน ภาษามันยาก อ่านแล้วต้องเปิดดิคสิบตรลบ เดี๋ยวจะลงเป็นภาษาอังกฤษเสียเลย ให้ท่านนักโบราณคดีช่วยๆกันแปล ดีไหมคะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 18 ก.พ. 08, 19:10
ผมละใจเย็นที่สุด รอทั้งแขกทั้งจีน
ดีครับ มีหลายๆมุมมองเพื่อเปรียบเทียบ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 18 ก.พ. 08, 21:43
ตอนนี้เพิ่งเรียนเรื่องฐานเจดีย์
แค่ฐานยังไม่แตกฉาน
กว่าจะขึ้นไปถึงยอดเจดีย์คงอีกนาน
อีกหน่อยถ้าเก่งแล้ว คงต้องนับปล้องไฉนกันดูเลยว่ามีกี่ปล้อง
เผื่อจะบอกยุคสมัยได้จากจำนวนปล้อง


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 18 ก.พ. 08, 23:36
วิธีของเสี่ยโอม เคยมีคนลองแล้ว

ผ่านไปร่วมยี่สิบปี ยังขำกันไม่เสร็จครับ....555555555

แถมนับขั้นกะไดด้วย ดีใหม


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 19 ก.พ. 08, 10:53
นึกว่าเฉียบแบบนักกระยาศาสตร์แล้วเชียว
ขั้นบันไดนี่รู้ว่าเขาเอาจำนวนคู่จำนวนคี่ แต่จะมีคติอย่างไรไม่แน่ใจ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 19 ก.พ. 08, 21:39
จำนวนปล้องไฉนไม่ทราบว่าของไทยมีคติรับรองหรือไม่ แต่ของอินเดียกับธิเบตมีแน่ๆครับคุณ Oam

เอาแค่บุญของการประดับฉัตรก่อน (อ้อ...ปล้องไฉนจริงๆคือฉัตรครับ)

สัทธรรมปุณฑริกสูตร ลลิตวิสตระ และมหาวัตถุ (คัมภีร์พวกนี้เป็นของมหายานครับ) กล่าวถึงผลบุญของการประดับฉัตรไว้ เช่น ได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์

ลลิตวิสตระยังกล่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นบรมครูผู้ทรงฉัตร 3 ชั้น คือฉัตรแห่งสวรรค์ ฉัตรแห่งโลก และฉัตรแห่งการประกาศธรรม

ความสำคัญของฉัตรมีไม่น้อยทีเดียว จนกระทั่งคัมภีร์มัญชูศรีวัสดุวิทยาศาสตร์ คัมภีร์สถาปัตย์ของลังกา ได้แยกบทหนึ่ง สำหรับวิธีของการสร้างฉัตรยอดเจดีย์ เรียกว่าฉัตรเภทวิธาน ทีเดียว

คัมภีร์วินัยคสูตรวัสดุ ของนิกายมูลสรรวาสติวาท กล่าวถึงการสร้างสถูปตามที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ หนึ่งในนั้นคือการสร้างฉัตร จำนวน 1 2 3 4 จนถึง 13 ชั้น (ไตรโยทศฉัตรวลี)

ซึ่งฉัตร 13 ชั้นถือว่ามีความสำคัญที่สุด เป็นฉัตรสำหรับพระปัจเจกพุทธเจ้า

ฉัตร 4 ชั้น สำหรับพระอรหันต์

ฉัตร 3 ชั้น สำหรับพระอนาคามี

ฉัตร 2 ชั้น สำหรับพระสกทาคามี

ฉัตรชั้นเดียว สำหรับพระโสดาบัน

ส่วนฆราวาสไม่มีการใช้ฉัตรครับ

นอกจากนี้คัมภีร์หลายเล่ม เช่น กริยาสังคหะ เจติยวินัยโยธภวสูตร ยังได้ให้ความหมายของฉัตร 13 ชั้นตรงกันว่า หมายถึงภูมิธรรมของพระโพธิสัตว์ 13 ประการ คือไตรโยทศภูมิ

คงมีคนสงสัยว่าปกติ ภูมิธรรมของพระโพธิสัตว์มี 10 ประการ เรียกว่า ทศพละ แต่ คัมภีร์บางเล่ม เช่น กริยาสังคหะ และกาลวีรตันตระ ได้เพิ่มขึ้นอีก 3 ประการ เป็น 13 ประการครับ


ส่วนในเมิองไทย ยังไม่สามารถกำหนดได้แน่นอนว่าเจดีย์จะต้องมีปล้องไฉนกี่ปล้อง เท่าที่เคยได้ยินมาคือ 32 เท่าอวัยวะในร่างกาย หรือ 33 (ตรงกับจำนวนเทพในสวรรค์สมัยพระเวท) แต่ก็ยังคลุมเครือ คุณ Oam อาจจะลองนับดูเป็นเชิงสถิติก็ได้นะครับ ว่าส่วนใหญ่แล้วเขานิยมปล้องไฉนกี่ปล้อง


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 20 ก.พ. 08, 07:23
เมื่อวานแวะไปร้านมิ่งหลี ไปยืนมองยอดเจดีย์ ปราสาท พระปรางค์ซึ่งงามเรืองรองแข่งกันในเวลาดึก... ว่างๆคุณโอมควรตะลงมาจากม. แวะมาดูมั่ง ผมขอเป็นเจ้าภาพหนึ่งมื้อ ดึกแล้ว พระที่นั่งดุสิตยังเปิดไปสว่างไสว คนเดินเข้าออกขวักไขว่
อยู่นี่มาก็นาน เพิ่งรู้ว่า ยอดปราสาทงามๆตรงข้ามมิ่งหลีที่เราเห็นตอนดึกๆคือพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ผมนึกถึงคุณด้วยนะ.. คุณพิพัฒน์


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 20 ก.พ. 08, 08:32
เรื่องนับปล้องไฉน ไม่ใช่เรื่องยาก กลัวแต่จะเป็นเรื่องขำไม่จบไปอีกยี่สิบปี ต่อจากเรื่องเดิมของคุณพิพัฒน์

ขอบคุณคุณ elvisbhu ไว้ล่วงหน้าครับ พระบรมมหาราชวังยามค่ำคืนนั้นงดงามมาแต่ไหนแต่ไร ตอนเป็นวัยรุ่น ถ้าไปเตร็ดเตร่ฟังอะไรที่ธรรมศาสตร์จนค่ำ เดินมารอรถเมล์สาย ๙๑ ก็จะมีโอกาสได้ชื่นชมความงามของพระบรมมหาราชวัง เทียบกันแล้ววัดโพธิ์เสียอีกกลับดูเงียบๆ มืดๆ แต่ก็ดีไปอีกแบบ ค่ำแล้ว พระเจ้าก็ควรจำวัดให้เรียบร้อย จะมาส่องไฟให้เป็นที่เอิกเริก...คงไม่ควร


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 21 ก.พ. 08, 06:39
ไปพบภาพเจดีย์วัดใหญ่ที่เก่าที่สุดภาพหนึ่งแล้วค่ะ คุณโอม จะถ่ายมาให้ชมอาทิตย์นี้ โปรดติดและคิดตาม


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 23 ก.พ. 08, 14:13
รอชมด้วยใจระทึกครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 21 มี.ค. 08, 09:22
นำภาพนี้มาฝากคุณโอมตามสัญญาค่ะ เป็นภาพที่เก่าที่สุดของวัดใหญ่ชัยมงคล ก่อนบูรณะ ปีใดยังไม่สามารถค้นได้ พระเจดีย์มีสามองค์ ไม่ทราบองค์ไหนเป็นองค์ไหน ต้องกะ ต้องเล็งกันพอสมควร
คุณพอล และคุณพพ.นักซูมคงจะบอกได้


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 21 มี.ค. 08, 09:25
ที่สำคัญคือ มีองค์พระด้วยสิคะ หน้าตาไม่ใช่องค์ปัจจุบันที่อยู่หน้าพระเจดีย์แน่
สงสัยจะเป็นองค์ที่รักษาในโบสถ์ด้านในเสียละมัง
ที่ดิฉันไปมาสองครั้ง ครั้งหนึ่งไม่ทราบว่ามีอยู่ด้านหลัง เลยไม่ได้เข้าไปชม
และอีกครั้งทราบว่ามี แต่ประตูพระอุโบสถูปิดเสียแล้วเพราะเย็นมาก
คงต้องไปใหม่แน่นอน


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 21 มี.ค. 08, 09:41
 ::)


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 มี.ค. 08, 10:09
รูปนี้คงจะถ่ายหลังอาจารย์มานิตเข้าแผ้วถาง จัดระเบียบโบราณสถาน ครั้งรัฐบาลพิบูลสงคราม
สังเกตจากการปราบสนามหญ้า และเริ่มลงต้น(มะยม....กระมัง) ไว้บนลานดิน

วัดนี้ มีรูปถ่ายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้วครับ
ประชุมพงศาวดารภาค 63 งานพระราชทานเพลิงศพพระยาโบราณ ก็มีรูปลง งดงาม
(งามที่รูปนะครับ องค์เจดีย์ทรุดโทรมอย่างยิ่งแล้ว)

พระพุทธรูปที่เห็นนั้น ถ้าว่าตามคติก็เป็นแบบแผนที่พบเป็นมาตรฐาน
คือมีพระพุทธรูปสี่องค์ กลางด้านของฐานพระเจดีย์ทั้งสี่ทิศ
ยังเหลือให้เห็นที่สุโขทัยมากมาย

แต่รูปนี้มีความสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า กำแพงแก้วสัมพันธ์กับพระมหาสถูปอย่างไรครับ
เสียดายมีมุมเดียว ไม่กล้าวินิจฉัยต่อครับ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 21 มี.ค. 08, 10:45
แล้วเทวดาจะส่งรูปมุมอื่นมาให้เราวินิจฉัยกันต่อไหมคะนี่ คุณพิพัฒน์
ภาวนาค่ะ


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 24 มี.ค. 08, 00:05
เจอภาพพระเจดีย์องค์หนึ่ง
ที่เห็นวิธีการเรียงชั้นฐานจากสี่เหลี่ยม > แปดเหลี่ยม
แล้วซ้อนด้วยเจดีย์ทรงระฆังแล้วคิดถึงวัดใหญ่ฯ ครับ
เลยเอาภาพมาฝากกัน




วัดอโยธยาครับ



.


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 24 มี.ค. 08, 00:15
.


กระทู้: " รุ่งเรือง.. เมืองศิลป "
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 24 มี.ค. 08, 19:38
วัดอะไรหรอครับคุณติบอ