เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 02 เม.ย. 17, 17:22



กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 เม.ย. 17, 17:22
จากข้างต้นเช่นกัน ทำให้ผมได้เจอเรื่องราวกันเนื่องมาจากนักโทษการเมือง ใคดดีกบฏพระยาทรง ที่ศาลพิเศษ ๒๔๘๒ พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต
http://archive.org/details/unset0000unse_u7m2.

ภาษาของม.ร.ว.นิมิตรมงคล ไม่ว่าในโอกาสสถานการณ์ใด  เป็นภาษาที่ไพเราะสละสลวย ให้อารมณ์สะเทือนใจได้ดีเสมอ  โดยไม่ต้องพร่ำรำพันมากมาย


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 เม.ย. 17, 17:23
เพื่อจะขยายเรื่องที่พ่อของผมเขียนไว้ให้ผู้อ่านสิ้นสงสัย ผมจะขอเล่าคดีความของนายยันต์ วินิจนัยภาค นักโทษการเมืองในคดีกบฏพระยาทรงสุรเดช ต่อจากกระทู้ที่เคยเขียนไว้ให้จบครับ

หลังจากพิจารณาคดีอยู่สักสิบเดือน ศาลพิเศษก็พิพากษาคดีทั้งหมด คำพิพากษาศาลพิเศษฉบับนี้ รัฐบาลลงทุนตีพิมพ์ออกมาเองเพื่อบำบัดความสงสัยของประชาชนว่ามันจะอะไรกันขนาดนั้น อยู่ๆก็มีการกวาดจับ มีการตั้งศาลพิเศษแล้วก็เงียบหาย อยู่ๆก็เป็นข่าวอันน่าตระหนกว่ามีการประหารชีวิตกันถึง18ศพ กบฏในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชยังไม่ฆ่าแกงอะไรกันถึงขนาดนั้น

เนื้อความในหนังสือดังกล่าว ผู้อ่านที่เป็นกลางและไม่ทราบเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรเลยก็อาจคล้อยตามได้ง่ายเพราะเห็นว่ามีพยานเยอะแยะมาให้การในศาล ผูกโยงกันไปผูกโยงกันมาสลับซับซ้อนเป็นขบวนการใหญ่ และมีจำเลยจำนวนหนึ่งที่ศาลตัดสินว่าไม่ผิดให้ปล่อยตัวไปด้วย ดังนั้น พวกที่ศาลลงโทษก็คงจะยุติธรรมสาสมดีแล้ว สำหรับพวกที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลอย่างตาบอดหูดับนั้นไม่ต้องพูดถึง ต่างแซ่ซ้องกฤษดานุภาพของท่านผู้นำกันอย่างระเบ็งเซ็งแซ่ ครอบครัวจำเลยผู้เคราะห์ร้ายทั้งหลายแทบจะอยู่ในสังคมไม่ได้ บางคนเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุลไปเลยเพื่อแสดงให้ชัดๆว่า ฉันไม่ใช่พวกนั้นนะจ๊ะ ท่านทั้งหลาย

http://www.reurnthai.com/index.php?action=post;quote=58091;topic=3025.75;num_replies=224;sesc=be61141a63dfa23dc14d97b32178cb9b



กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 เม.ย. 17, 17:24
คดีนี้อัยการศาลพิเศษเป็นโจทก์  ฟ้อง พระยาวิชิตสรไกร (เอี่ยม ขัมพานนท์) จำเลยที่ ๑ นายยันต์ วินิจนัยภาค จำเลยที่ ๒  ขุนนิพันธ์ประศาสน์ (อู๊ด วงศ์ครุฑ) จำเลยที่ ๓ นายแป๊ะ แสงไชย จำเลยที่ ๔
พระยาวิชิตสรไกรเป็นอดีตข้าหลวงชัยนาทในช่วงที่เกิดกบฏบวรเดชในปี ๒๔๗๖ ได้เปิดบ้านให้ข้าราชการไปฟังวิทยุ คอยลุ้นเหตุการณ์ว่าจะออกหัวออกก้อยอย่างไร จบเรื่องแล้วโดนลูกอีช่างฟ้องคาบไปบอกคนของคณะราษฎรอย่างไรไม่แจ้ง แต่ศาลพิเศษ ๒๔๘๒ บันทึกในคำพิพากษาว่า คราวนั้นรัฐบาลลงโทษให้ปลดออกจากราชการ แต่หาได้ถูกฟ้องร้องลงโทษไม่ จะเป็นเพราะพยานหลักฐานไม่พอหรือเพราะเหตุใดไม่ปรากฏ

สำหรับนายยันต์ วินิจนัยภาคซึ่งเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดชัยนาท ศาลบันทึกคล้ายกันว่าถูกไต่สวนในเรื่องที่ต้องหาว่าได้กระทำการเกี่ยวข้องกับพวกกบฏด้วยผู้หนึ่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีความเห็นว่ามีมลทินมัวหมอง ซึ่งตรงนี้ตามคำเบิกความของนายยันต์บอกว่าตนโดนตั้งกรรมการสอบสวนในข้อกล่าวหาดังกล่าว แม้กรรมการสอบสวนพบว่าไม่มีมลทิน แต่คณะรัฐมนตรีลงมติว่า ยังมีเหตุผลอันน่าสงสัยอยู่ ให้กระทรวงยุติธรรมบันทึกข้อสังเกตุไว้ประกอบในคราวพิจารณาจะให้บำเหน็จความดีความชอบ เพื่อให้โอกาสนายยันต์ทำการแก้ตัวต่อไป


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 เม.ย. 17, 17:31
แต่อัยการกลับนำเรื่องที่แล้วไปแล้วนี้มานำสืบใหม่ในศาล โดยใช้พยานโจกท์นับสิบคนมาให้การพันกันไปพันกันมาน่าเวียนหัวที่สุด สาระมีที่ปากนายภูมี(ขอสงวนนามสกุล) ผู้หากินเป็นทนายความในชัยนาท เบิกความว่าในครั้งใหม่ พ.ศ.๒๔๘๑ นี้ มีผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ในวังเทวเวศน์ตนขอปิดนาม ให้ข่าวแก่ตนตั้งแต่ก่อนกบฏบวรเดชแล้วว่าพระยาวิชิตสรไกรข้าหลวงชัยนาทคิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง พอกลางปี ๒๔๗๗ ก็บอกว่าคณะเจ้าจะยิงหรือใช้ระเบิดสังหารหลวงพิบูล พระยาพหล หลวงประดิษฐ์และหลวงอดุล พอปี ๒๔๘๑ หญิงคนนั้นก็บอกอีกว่าคณะเจ้าจะหาคนทำร้ายรัฐบาลซึ่งๆหน้าแบบเอาชีวิตเข้าแลก พอกลับไปชัยนาทแล้ว เจอนายแดงผู้เป็นนักเลงหัวไม้และลักโขมยได้บอกตนว่าพระยาวิชิตคิดจะหาคนไปทำร้ายหลวงพิบูลสงคราม
 
ต่อมานายภูมีป่วยจะเข้าไปรักษาตัวที่กรุงเทพ จึงสั่งให้เมียเฝ้าดูบ้านนายยันต์ไว้ เพราะทราบมาว่านายยันต์คิดจะทำร้ายบุคคลสำคัญที่กล่าวมาแล้วเหมือนกัน นายภูมีรักษาตัวอยู่สองเดือน กลับถึงบ้านแล้วเมียเล่าให้ฟังว่าเห็นพระยาวิชิตสรไกร ขุนนิพันธ์ประศาสน์ นายแป๊ะ เข้าไปกินเลี้ยงที่บ้านนายยันต์ โดยมีนายปิ่น และนายมา นักเลงหัวไม้ไปร่วมวงด้วย เมียนายภูมีเชื่อว่าคงจะคิดว่าจ้างอสรกุ๊ยทั้งสองทำร้ายคณะรัฐบาล จึงปรึกษากับลูกชาย แล้วเขียนบัตรสนเท่ห์ไปถึงหลวงพิบูล มีใจความว่าให้ระวังตัวไว้เพราะมีคนคิดจะทำร้าย ลงชื่อว่า “รักและเจ็บร้อนแทน”

หลังกลับมาจากกรุงเทพ นายภูมีเจอนายปิ่นด้วยเหตุใดจำไม่ได้ นายปิ่นบอกว่าเกือบจะได้ไปกรุงเทพด้วยเหมือนกัน แต่มีข่าวหลวงพิบูลโดนนายลียิงเสียก่อนจึงอดไป ครั้นถามว่าทำไม นายปิ่นก็เล่าให้ฟังว่าบุคคลทั้งสี่สมคบกันจะจ้างตนกับนายมาไปยิงหลวงพิบูล ถ้าสำเร็จจะให้เป็นใหญ่เป็นโตกินเงินเดือนสามสี่ร้อยบาท และมีนายโกย ลูกความอีกคนหนึ่งของนายภูมีเล่าว่า นายยันต์ได้ใช้ให้ไปตามหาเสือหว่างจะให้ไปทำร้ายหลวงพิบูลเช่นกัน  
ต่อมาราวสามสี่เดือนได้มีข้อความลงหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ให้“รักและเจ็บร้อนแทน” ไปพบได้ที่วังปารุสกวัน แต่ก็อีกหลายเดือนกว่านายภูมีจะไปที่นั่นและให้ปากคำกับ พ.ต.ต. หลวงสัมฤทธิ์สุขุมวาท


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 เม.ย. 17, 17:44
นางแวว เมียนายภูมี กับนายประออมลูกชายก็มาเป็นพยานโจกท์ เบิกความต่อศาลสอดรับกัน ส่วนนายปิ่นกับนายมา ก็มาเบิกความทำนองเดียวกันจนศาลบันทึกรวมไป ว่านายปิ่นโดนข้อหาฉุดคร่า ถูกฟ้องที่ศาลชัยนาทได้นายภูมีเป็นทนายให้ จนศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง ส่วนนายมาเป็นนักเลงโตรู้จักกันดีกับนายปิ่น บอกว่าได้รับจดหมายจากขุนนิพันธ์ประศาสน์นายอำเภอ นัดให้ไปพบที่บ้านนายยันต์ ส่วนจดหมายนั้นตนได้ฉีกทำลายไปแล้ว รุ่งขึ้นทั้งสองจึงชวนกันไปตามนัด ก่อนจะร่ายยาวสิ้นเปลืองหลายหน้ากระดาษว่า บุคคลทั้งสี่กล่าววาจาให้ร้ายรัฐบาล แล้วจะจ้างตนให้ไปยิงหลวงพิบูลสงคราม หลวงอดุลเดชจรัส และบุคคลสำคัญอื่นๆ

จำเลยอีกสองคนในสำนวนคดีนี้นั้น นายแป๊ะ เป็นจ่าศาลจังหวัดชัยนาทรู้จักข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดทั้งสองดี แต่ไม่รู้จักขุนนิพันธ์ประศาสน์ ซึ่งเป็นนายอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนขุนนิพันธ์ก็ไม่เคยรู้จักใคร นอกจากพระยาวิชิตสรไกร ข้าหลวงชัยนาท ซึ่งพบกันในหน้าที่ราชการมานานแล้วแต่ไม่เคยไปมาหาสู่


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 เม.ย. 17, 17:53
พระยาวิชิตสรไกร เมื่อถูกปลดออกจากราชการ ก็ได้ลงสมัคร ส.ส. และได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนของจังหวัดชัยนาทเข้าสภา เป็นที่น่าหมั่นไส้ของผู้มีอำนาจมากนัก แต่ก็เป็นได้ไม่กี่เดือนรัฐบาลแพ้มติในสภา แทนที่ไขก๊อกตนเองกลับยุบสภาให้เลือกตั้งใหม่ พระยาวิชิตก็เตรียมลงสนามอีก จึงเดินทางมาหาเสียงกับคนชัยนาทพร้อมกับภรรยา โดยพักอยู่ที่บ้านคนรู้จักกัน

อัยการจัดพยานโจทก์อีกชุดหนึ่ง มีนายผัด ศรีพรหมา ผู้ใหญ่บ้านและกำนันตำบลวังไก่เถื่อน เบิกความว่าตนเคยเป็นหัวคะแนนให้พระยาวิชิตสรไกรคราวที่แล้ว ตอนมาหาเสียงครั้งใหม่พระยาวิชิตเรียกตนไปที่บ้านพัก เห็นนายยันต์กับพวกอีกสี่ห้าคน แต่พระยาวิชิตพาตนไปที่หน้าต่างเพื่อพูดเป็นการส่วนตัวให้เป็นหัวคะแนนให้อีก แล้วบอกว่าเราต้องหาพวกนักเลงมีฝีมือไว้สองสามคนเพื่อทำลายหลวงพิบูลกับคณะ ใครทำสำเร็จจะตั้งผู้นั้นให้ได้เงินเดือนๆละหลายร้อยบาท ก่อนวันเลือกตั้งสองสามวัน พระยาวิชิตถามว่าหาคนได้หรือยัง ตนบอกว่าได้คนนึงชื่อนายป้อม พระยาวิชิตถามว่าเป็นคนชนิดไหน ตนตอบว่าเป็นคนหัวไม้เคยปล้น เคยแอบยิงชิงทรัพย์เขา

นายป้อม รอดทอง พยานโจทก์คนต่อไปเบิกความว่า เมื่อก่อนนี้ตนมีอาชีพปล้น เคยยิงคน จนมีชื่อเสียงโด่งดังในอำเภอบ้านเชี่ยน ตอนพระยาวิชิตเป็นข้าหลวงเสือป้อมเคยเอานกขุนทองไปให้เลยได้รู้จักกัน เมื่อนายผัดพาไปพบพระยาวิชิตๆถามว่าอยากได้เงินเดือนๆละหลายร้อยบาทไหม เสือป้อมถามว่าจะได้อย่างไร พระยาวิชิตบอกมันเป็นเรื่องลี้ลับบอกไม่ได้ ต้องสาบานก่อนจึงจะบอกได้ พอเสือป้อมสาบานแล้วพระยาวิชิตจึงบอกว่าจะใช้ไปยิงหลวงพิบูล พระยาพหล หลวงประดิษฐ์และหลวงอดุลให้ตาย เพราะเป็นกบฏต่อเจ้า เมื่อตายแล้วจะเอากรมพระนครสวรรค์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เสือป้อมบอกว่าคนเดียวคงทำไม่ได้ พระยาวิชิตถามว่าแล้วรู้จักพวกที่มีฝีมือดีๆยิงปืนแม่นๆบ้างไหม เสือป้อมตอบว่ารู้จักเสือดำกับเสือหว่างผู้ร้ายสำคัญ พระยาวิชิตจึงให้เงิน ๘ บาท ให้ตามไอ้เสือทั้งสองมาหา แต่เสือป้อมยังตามไม่พบ   


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 เม.ย. 17, 18:19
นายโกย เกตุเวชสุริยา เบิกความว่าตนถูกฟ้องข้อหาลักทรัพย์ จึงไปหานายแป๊ะจ่าศาลให้ช่วยเหลือ นายแป๊ะจึงพาตนไปพบนายยันต์ผู้พิพากษา นายยันต์บอกฉันจะคบกับแกไว้คนหนึ่ง ต่อมาคดีนั้นศาลพิพากษายกฟ้อง นายยันต์เรียกตนไปพบแล้วเกลี้ยกล่อมยาวกว่าหน้ากระดาษให้เกลียดพวกผู้นำรัฐบาลสี่ห้าคน ว่าเป็นกบฏต่อคณะเจ้า ให้ช่วยจัดคนมาฆ่าเสีย ถ้าทำได้จะให้เงินเดือนสี่ร้อยบาท  นายโกยบอกตนคนเดียวคงทำไม่ได้ ต้องไปตามเสือหว่างมา นายยันต์ก็ให้เงิน ๔ บาทเป็นค่าไปตาม แต่ยังไม่พบ พยานปากนี้ถูกนายยันต์ จำเลย ซักค้าน ถามว่าใครเป็นทนายในคดีที่ว่า นายโกยบอกว่านายภูมี


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 เม.ย. 17, 18:20
พยานโจทก์ชุดที่สามที่อัยการนำเสนอ ผมเรียกว่าชุดจับฉ่ายก็แล้วกัน คงเป็นเทคนิกที่จะหลอกล่อจำเลยให้สับสนมากกว่าที่จะเอาสาระเป็นจริงเป็นจัง

คนแรก ขุนตาคลีคณะกิจ กำนันตำบลตาคลี มาเบิกความว่าเคยพูดเย้าหยอกกับขุนประพันธ์ ผู้เป็นเพื่อนกำนันด้วยกันว่าเมื่อไหร่จะได้เป็นข้าหลวงกับเขาบ้าง ซึ่งขุนประพันธ์ตอบว่าบางทีจะได้เป็นที่เชียงใหม่ พอถามว่าทำไมไปไกลนักก็ตอบว่ามีพวกพ้องจะช่วย นี่ผมเดาว่าพยายามจะลากเรื่องไปโยงกับพระยาทรงสุรเดช ที่ไปเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนรบอยู่ที่นั่น

คนที่สอง หลวงพลกายกรีฑา พัศดีเรือนจำชัยนาทสมัยเกิดกบฏบวรเดช เบิกความว่าตนได้ร่วมฟังแถลงการณ์ของรัฐบาลทางวิทยุ อยู่ที่จวนข้าหลวง ได้ยินพระยาวิชิตสรไกร พูดว่าไม่น่าเชื่อถือ เพราะทางฝ่ายกบฏมีพระองค์เจ้าบวรเดชและพระยาศรีสิทธิสงคราม หัวนอกและตัวดีๆทั้งนั้นทำไมจะแพ้ แล้วทำกิริยาเหมือนดังว่าไม่ใคร่ถูกใจ ลุกเข้าเรือนไป ต่อมาเห็นพระยาวิชิต สั่งระดมพลที่อำเภอบ้านเชี่ยนและอำเภอบ้านกล้วย  พอถูกพระยาวิชิตซักค้าน ว่าทำไมไม่ได้ร้องเรียนหรือให้การต่อเจ้าหน้าที่มาก่อน ตั้งแต่คราวที่ท่านโดนสอบสวนครั้งนั้น ก็ตอบว่าตอนนั้นตนกลัวจะถูกพรรคพวกของพระยาวิชิตทำร้ายเอา
 
คนที่สาม หลวงชลานุสสร นายช่างกรมชลประทาน เบิกความว่าพอเกิดกบฏได้สองสามวัน ได้ยินว่าพระยาวิชิตสั่งระดมพลที่อำเภอบ้านเชี่ยนและอำเภอบ้านกล้วย  จึงถามว่าจะระดมพลไปช่วยใคร พระยาวิชิตบอกว่าจะไปช่วยคณะเจ้า แล้วพาหลวงชลาเข้าไปฟังวิทยุในห้องรับแขก แล้วพูดว่า รัฐบาลเห็นจะแย่ พระองค์เจ้าบวรเดชยกกองทัพเข้าไปใกล้กรุงเทพมาก แต่อีกสองสามครั้งต่อมา พระยาวิชิตกลับพูดใจความว่าข่าววิทยุเชื่อถือไม่ได้ ทำไมพวกกบฏแพ้เร็วนัก ส่วนการระดมพลนั้นงดไป เข้าใจว่าเป็นเพราะกบฏแตกทัพแล้ว

คนที่สี่ นายเกษร  ครูโรงเรียนประจำจังหวัดชัยนาท เบิกความครึ่งหน้ากระดาษว่าไปฟังวิทยุที่บ้านข้าหลวง ความเหมือนๆกับปากที่แล้วๆ

คนที่ห้า นายกลึง ครูโรงเรียนเดียวกับคนข้างบน ให้การเหมือนลอกข้อสอบกันมา ศาลบันทึกไว้ให้ย่อหน้านึง

คนที่หก นายผ่อง เบิกความว่าตนเคยเป็นคนรับใช้ที่บ้านพระราชญาติรักษามายี่สิบปี หัดขับรถยนต์ของท่านจนขับได้ใบอนุญาต จึงลาออกมาเป็นคนขับรถให้พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ เคยเห็นพระยาวิชิตสรไกรไปบ้านพระวุฒิภาคภักดี และเคยเห็นพระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ พระวุฒิภาคภักดี ไปที่บ้านพระยาวิชิต (ผู้ถูกพาดพิงในความตอนนี้ คืออดีตข้าหลวงจังหวัดต่างๆที่โดนให้ออกจากราชการ แล้วมาลงสมัคร ส.ส. ได้รับเลือกเข้าสภา เลยโดนลากมาเป็นจำเลยในคดีนี้ทุกคน แต่แยกสำนวนกันไป ส่วนพระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ เป็นอดีตรัฐมนตรีมหาดไทย หลังกบฏบวรเดชท่านแสดงเมตตาแก่ผู้ถูกจับกุมในคดีการเมืองมากไปหน่อย เช่นให้หาข้าวหาน้ำให้พอกินกัน และอนุญาตให้คนป่วยนอนบนเตียงผ้าใบได้ หลังปลดออกไปแล้วก็จัดข้อหาให้ท่านซะด้วย)

คนที่เจ็ด นายสอาด เบิกความว่าตนเป็นคนขับรถพระยาวิชิตสรไกร เคยขับรถพาพระยาวิชิตไปบ้านพระยาอุดมสองสามครั้ง บางครั้งเห็นคนอื่นอยู่ในบ้านแล้ว บางครั้งก็ไม่เห็น ไปบ้านพระวุฒิภาคหกเจ็ดครั้ง บางครั้งก็ไปทานอาหารร่วมกันด้วย มีรายละเอียดครึ่งหน้ากระดาษว่าไปช่วงเดือนไหน ปีอะไร แต่ยังดีที่ไม่บอกว่าได้สาระแนไปสอดรู้สอดเห็นว่า วันนั้นวันนี้นายเค้าคุยกันเรื่องอะไร

คนที่แปด เก้าและสิบเป็นนายตำรวจ ขึ้นมาเบิกความเพียงว่าตนเป็นผู้สอบสวนหลักฐานในคดีนี้ ซึ่งก็แปลกที่ศาลไม่จดบันทึกสักคำ คงกล่าวห้วนๆไว้อย่างงั้น


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 เม.ย. 17, 18:21
พักยกครับ


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 เม.ย. 17, 07:39
เมื่อครบพยานโจกท์ทุกปากแล้วก็ถึงคราวจำเลยบ้าง พระยาวิชิตสรไกรอ้างตนเองเป็นพยานขึ้นเบิกความว่า เมื่อเกิดกบฏบวรเดชนั้น ท่านไม่เคยสั่งระดมพล และไม่เคยกล่าวใส่ร้ายรัฐบาล พยานโจทก์ที่กล่าวหาท่านนั้นล้วนมีเรื่องกันมาก่อน อย่างเช่นหลวงพลกายกรีฑา พัศดีเรือนจำนั้นถูกดุในหน้าที่ราชการบ่อยๆ
หลวงชลานุสสร นายช่างกรมชลประทานมีปัญหาเรื่องจ่ายค่าแรงของรัฐบาลให้แรงงานคนไทยวันละ ๕๐ สตางค์ แรงงานจีนให้ ๑ บาท มีผู้ร้องเรียนท่านจึงทำหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทย ในที่สุดต้องจ่ายค่าแรงให้เท่ากัน หลวงชลานุสสรจึงโกรธท่านแต่บัดนั้น
ครูเกสร ก็เคยเป็นหัวคะแนนให้ท่าน แต่เมื่อท่านได้เป็นผู้แทนแล้วมาขอให้ฝากงานเข้ากระทรวงมหาดไทย ท่านสงเคราะห์ให้ไม่ได้จึงโกรธ ครูกลึงก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกท่านดุบ่อยๆ
ส่วนพวกนักเลงอสรกุ๊ย นายผัด นายป้อม นายปิ่น นายมา ท่านไม่รู้จัก และไม่เคยเรียกใครไปพบเพื่อใช้ให้ไปฆ่าใครตามที่ถูกกล่าวหา

นายภูมีที่รู้จักก็ในฐานะเป็นทนายผู้กว้างขวางในจังหวัด ในการเลือกตั้งครั้งแรกจึงไปขอร้องให้ช่วยหาคะแนนเสียงให้ซึ่งนายภูมีรับปาก แต่ก็ไม่ได้พบกันอีกจนกระทั่งคราวเลือกตั้งครั้งที่สอง ครั้งนี้นายภูมีบอกว่าคราวที่แล้วควักกระเป๋าหาเสียงให้หมดเงินไปร้อยบาท แต่จะขอเบิกเพียงหกสิบบาท ท่านไม่แน่ใจเลยไม่ได้ให้

การไปหาเสียงที่ชัยนาทครั้งหลังนี้ พระนาถปริญญาผู้พิพากษาอาวุโสท่านหนึ่งได้ไปเยี่ยมที่บ้านพักแล้วพานายยันต์ เพื่อนผู้พิพากษาไปด้วย จึงได้รู้จักกัน อีกสี่ห้าวันท่านจึงไปเยี่ยมตอบ แต่ไม่เคยไปกินข้าวด้วยกันที่ไหนเลย


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 เม.ย. 17, 07:40
อาจจะเห็นว่าตนเองเคยมีมลทินที่เคยถูกเพ่งเล็งถึงกับให้ออกจากราชการ เพราะเรื่องเปิดวิทยุให้ข้าราชการฟังข่าวปฏิวัติในบ้าน พระยาวิชิตสรไกรจึงสู้คดีในแนวที่จะให้ศาลเห็นว่าท่านไม่ใช่ศัตรูของรัฐบาล ส่วนเรื่องจะไปจ้างฆ่าใครต่อใครนั้น ผู้ปรักปรำท่านล้วนเป็นสวะสังคม ไม่น่าที่ศาลจะให้น้ำหนักต่อความน่าเชื่อถือ ท่านจึงนำเพื่อน ส.ส.มาเบิกความเป็นพยานจำเลยหลายคนด้วยกันดังนี้
หลวงคหกรรมบดี กล่าวว่าในระหว่างประชุมสภาผู้แทน ไม่เคยเห็นพระยาวิชิตมีกระทู้ถาม ไม่เคยเสนอญัตติหรืออภิปรายอะไรเลย
พระยาวิฑูรธรรมพิเนตุ เบิกความว่าเคยพบพระยาวิชิตครั้งหนึ่งหรือสองครั้งไม่แน่ใจที่บ้านพระวุฒิภาคภักดี แต่ในสภาไม่เคยเห็นอภิปรายอะไร นอกจากจะยกมือให้รัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ จนเพื่อนส.ส.ซุบซิบว่า ถ้าอย่างนี้ในไม่ช้าคงได้เป็นรัฐมนตรีแน่
พระยาโอวาทวรกิจ เบิกความว่ารู้จักพระยาวิชิตมายี่สิบกว่าปีแล้ว ไม่เคยได้ยินว่าติเตียนรัฐบาล มีแต่พูดว่าอยากจะช่วยเหลือ เวลาลงมติคราวใดก็ยกมือให้ฝ่ายรัฐบาลทุกที
พระยาชัยวิชิต เบิกความว่ารู้จักกันมาสี่สิบปีแล้ว ตั้งแต่ตนเป็นมนตรีเทศบาลกรุงเทพ  พระยาวิชิตเป็นพนักงานเทศบาลทำงานมีความตั้งใจ ไม่เห็นเคยพูดเรื่องการเมือง แต่สังเกตุว่ามีความเคารพหลวงประดิษฐ์ดี
นายวิลาศ โอสถานนท์ ผู้ก่อการคณะราษฎรสายพลเรือนคนสำคัญคนหนึ่ง เบิกความว่าตนเอาเรือไปเที่ยวปิกนิกที่ชัยนาทอยู่ พอดีได้ข่าวกบฏจากพระยาวิชิตๆปรับทุกข์ว่า เห็นจะลำบาก ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ใครเป็นผู้นำฝ่ายกบฏ เมื่อตนบอกจะต้องรีบกลับกรุงเทพ พระยาวิชิตก็ไม่ได้หน่วงเหนี่ยว

นอกจากพยานผู้มีเกียรติทั้งหมดแล้ว คุณหญิงวิชิตสรไกร ภรรยา ได้เบิกความว่า ขณะเกิดกบฎ ๒๔๗๖ ที่บ้านพระยาวิชิตเปิดวิทยุฟังข่าวตลอด ส่วนท่านไม่ได้ฟังทุกเวลา แต่ไม่เคยได้ยินสามีกล่าวให้ร้ายรัฐบาล เคยไปบ้านพระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์และพระวุฒิภาคด้วยกัน แต่สามีก็ไม่เคยพูดเรื่องการเมือง ที่บ้านไม่เคยเลี้ยงนกขุนทองหรือมีใครเอานกมาให้ เมื่อพระยาวิชิตกลับไปหาเสียงที่ชัยนาท ขณะพักอยู่ที่บ้านขุนชัยกิจบริหารนั้น นายยันต์ได้ไปเยี่ยมครั้งหนึ่ง แต่ไม่เห็นพระยาวิชิตไปกินข้าวบ้านนายยันต์ ระหว่างการหาเสียงก็ไปด้วยกันทุกแห่งทุกอำเภอ แต่การออกพื้นที่บางครั้งพระยาวิชิตก็ไปคนเดียว

พระยาวิชิตยังได้นำพยานบุคคลสองคนมาเบิกความว่า ขณะฟังวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลเรื่องกบฏ ตนไม่เคยได้ยินพระยาวิชิตแสดงกิริยาไม่พอใจหรือกล่าวร้ายต่อรัฐบาล  ไม่เคยเห็นใครเอานกมาให้ เรื่องนกขุนทองตามที่เสือป้อมอ้างว่านำมาให้พระยาวิชิตนี้ ยังมีผู้คุมนักโทษที่นำนักโทษไปทำงานโยธาที่บ้านข้าหลวงบ่อยๆมาเบิกความยืนยันว่า ไม่เคยเห็น แถมยังมีอีกห้าปากที่มาเบิกความเรื่องอื่นๆที่ไม่จำเป็นต้องเอ่ยก็ได้ นับว่าคดีนี้เป็นคดีที่มีคนนอกมาให้การเป็นพยานจำเลยมากพอๆกับพยานฝ่ายโจทก์


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 03 เม.ย. 17, 16:22
มาครับ อยู่ครับ
ถึงตรงนี้ พยานทั้งสองฝ่าย เป็นพยานบุคคลทั้งสิ้น ยังไม่ปรากฎว่ามีพยานเอกสาร หรือพยานวัตถุใดๆมาเลย


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 เม.ย. 17, 19:01
ค่อยใจชื้นหน่อย ยังไงก็ไม่ได้อยู่คนเดียว


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 เม.ย. 17, 19:24
ครับ คดีนี้มีแต่พยานโจกท์มากล่าวหาเท่านั้น พยานเอกสารไม่มีเลย

นายยันต์ วินิจนัยภาค จำเลย อ้างตนเองเองเป็นพยานเบิกความว่าเพิ่งรู้จักพระยาวิชิตสรไกร เมื่อย้ายมาอยู่ชัยนาทเมื่อต้นปี ๒๔๘๑ แต่ไม่ได้มีการติดต่อเพราะอัธยาสัยไม่ต้องกัน เมื่อยุบสภาและจะมีการเลือกตั้งใหม่ พระยาวิชิตไปหาเสียงที่จังหวัดชัยนาท มีคนไปเยี่ยมที่บ้านพักกันมาก พระนาถปริญญา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลได้ชวนตนไปเยี่ยมครั้งหนึ่ง แล้วต่อมาสามสี่วันพระยาวิชิตกับคุณหญิงได้มาแวะเยี่ยมตอบที่บ้านประมาณครึ่งชั่วโมง แต่ตนไม่ได้ช่วยใครหาเสียง

ขุนนิพันธ์ประสาท จำเลยอีกผู้หนึ่งเคยพบกันที่สโมสรจังหวัดนครสวรรค์ครั้งเดียว แล้วไม่เคยพบปะกันอีก พระยาวิชิตสรไกร ขุนนิพันธ์ประสาท นายแป๊ะ นายปิ่น นายมา ไม่เคยไปรับประทานอาหารที่บ้านตนๆไม่เคยรู้จักนายปิ่น นายมา นายโกย นายผัด นายพุก นายแดง ข้อความที่คนเหล่านั้นเบิกความมาไม่จริง

คราวที่นายภูมีทนายแสบเบิกความนั้น เมื่อถึงตอนจำเลยซักค้าน นายยันต์ถามนายภูมีว่าเคยถูกนายยันต์ดุว่าในระหว่างว่าความในศาลหรือไม่ นายภูมีบอกว่าไม่มี ประเด็นนี้นายยันต์มีพยานจำเลยมาเบิกความหลายปาก ที่สำคัญคือพระนาถปริญญาผู้พิพากษาหัวหน้าศาลที่ได้ยอมเสี่ยงตนเองมายืนยัน ว่าท่านได้ชวนนายยันต์ไปพบพระยาวิชิตที่มาหาเสียงจริง แต่เมื่อกลับออกมาแล้วนายยันต์บอกว่าไม่ค่อยต้องตาพระยาวิชิต ส่วนเรื่องที่ศาลนั้น ท่านกล่าวว่าเคยเห็นนายยันต์ดุนายภูมีระหว่างว่าความมากกว่าผู้พิพากษาคนอื่น และนายยันต์กล่าวกับท่านว่าไม่อยากพิจารณาคดีที่นายภูมีเป็นทนายความ เพราะรำคาญ มีอยู่ครั้งนึงมีเสียงเอะอะที่บัลลังก์ แล้วนายยันต์ลงมาขอให้ท่านขึ้นไปนั่งพิจารณาคดีด้วย
เรื่องนี้นายยันต์เบิกความว่านายภูมีไม่สันทัดในวิชากฏหมาย เวลาว่าความจึงถูกดุมากกว่าทนายคนอื่นๆ คดีดังกล่าวนายภูมีถูกฟ้องเป็นจำเลย และได้เป็นทนายตนเอง ขึ้นเบิกความในฐานะพยาน แต่พูดไม่ตรงประเด็น และหลีกเลี่ยงไม่ตอบให้ตรงคำถาม นายยันต์ต้องดุนายภูมีตลอดเวลาจนเกรงจะเสียจรรยา จึงบอกให้นายภูมีอยู่ก่อน แล้วนายยันต์ลงจากบัลลังก์ไปราวสิบห้ายี่สิบนาที แล้วเชิญพระนาถปริญญาขึ้นไปนั่งเป็นเพื่อน แต่คดีนี้ศาลก็ตัดสินให้นายภูมีชนะความ

นายภูมีเป็นคนชอบฟ้อง เคยช่วยลูกความของนายภูมีคดีหนึ่ง ทำหนังสือกล่าวโทษนายยันต์ไปยังกระทรวงยุติธรรม แต่กระทรวงสั่งว่าเป็นกระบวนพิจารณาของศาล จะไปก้าวก่ายไม่ได้
ต่อมามีบัตรสนเทห์ถึงกระทรวงอีก คราวนี้กล่าวหานายแป๊ะจ่าศาลว่าชอบหาคดีความให้ทนายบางคน แบบเลือกที่รักมักที่ชัง คนไหนไม่ชอบก็ไม่ให้ความสะดวก กระทรวงมีคำสั่งให้สอบสวน จำเลยกับพระนาถปริญญาจึงไปสอบถามบรรดาทนายความ ปรากฏว่านายภูมีให้ข้อความที่ใกล้หรือเกือบเหมือนความตามบัตรสนเท่ห์ แต่การที่นายภูมีไม่ได้รับความสะดวกจากจ่าศาลหรือเสมียนพนักงาน ก็เพราะไม่ชอบปฏิบัติตามกำหนดกฎหมาย และระเบียบการของศาล จึงมักถูกคืนเอกสารคำร้องต่างๆให้ไปทำใหม่

พระนาถปริญญาเองก็เบิกความว่าในปีที่ผ่านมา มีทนายความคนหนึ่งบอกท่านว่า นายภูมีเอาชื่อผู้พิพาษาไปหลอกลวงเอาเงินจากคู่ความ ท่านจึงเรียกคู่ความนั้นมาถามจนยอมรับว่าได้มอบเงินผ่านนายภูมีจริง ท่านจึงส่งเรื่องให้ทางอำเภอสอบสวนต่อเพื่อฟ้องนายภูมี แต่เรื่องเงียบไป เข้าใจว่าหลักฐานไม่พอฟ้อง  นายยันต์เบิกความเรื่องเดียวกันว่า เมื่อเกิดเรื่องนี้ขึ้นก็เป็นธรรมดาที่ผู้พิพากษาทั้งหลายจะต้องเข้มงวดกับนายภูมีมาก จนนายภูมีมีคดีความน้อยลง จนปลายปี ๒๔๘๑ นายภูมีไม่มีความจะว่าเลย


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 เม.ย. 17, 19:28
พยานปากสำคัญอีกคนหนึ่งของนายยันต์ชื่อนายศิริ เป็นทนายความ เคยเห็นนายภูมีทะเลาะกับพนักงานศาลในเรื่องกำหนดวันนัดความ เมื่อต้นปี ๒๔๘๒  นายศิริเป็นทนายในคดีทำสตางค์ปลอม เห็นพยานของโจทก์มั่นคงจึงแนะให้ลูกความสารภาพเสีย แล้วญาติของลูกความมาบอกนายศิริว่าเรื่องนี้ไม่เป็นไร เพราะนายภูมีไปบอกว่าเมียเป็นคนจังหวัดเดียวกับผู้พิพากษาหัวหน้าศาล และพี่ชายเป็นเพื่อนกับนายยันต์ จะช่วยไปวิ่งเต้นกับผู้พิพากษาให้ปล่อย จึงจ่ายเงินให้นายภูมีไป โดยนายภูมีบอกว่าถ้าคดีแพ้จะคืนเงินให้ นายศิริจึงไปเล่าให้นายยันต์กับพระนารถปริญญาฟัง ปรากฏว่าศาลชั้นต้นที่นายยันต์นั่งเป็นผู้พิพากษาตัดสินลงโทษจำเลย ๑๐ ปี แต่คดียังไม่สิ้นสุดเพราะอยู่ระหว่างอุทธรณ์

ยังมีอีกคดีหนึ่ง ที่นายศิริเป็นทนายโจกท์ในคดีบุกรุกที่ดิน มีนายภูมีกับนายปิ่น คนใช้ในบ้านนายภูมีเป็นจำเลยร่วม เมื่อนายภูมีอ้างตนเป็นพยานเบิกความในศาล ได้ให้การวกวน ตอบไม่ตรงคำถามหรือเกินคำถาม ต้องโต้เถียงกันตลอด และนายภูมีถูกนายยันต์ผู้นั่งพิจารณาคดีดุมากที่สุดในวันนั้น นายยันต์เห็นนายภูมีหัวเสียจึงบอกให้พักหัว ยืนรอในคอกพยานก่อน หัวดีแล้วค่อยเบิกความต่อ แล้วนายยันต์ก็ลงจากบัลลังก์ไป ขณะนั้นคนเข้ามาดูมาก นายภูมีมีกิริยาไม่พอใจ บอกว่าถ้าเล่นกันอย่างนี้ก็แย่ หลังจากเวลาผ่านไปสิบกว่านาที นายยันต์จึงกลับมาใหม่พร้อมพระนาถปริญญาแล้วพิจารณาคดีต่อไป


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 เม.ย. 17, 06:29
ส่วนวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๘๑ ตามที่นางแวว เมียนายภูมีเบิกความระบุว่านายยันต์จัดเลี้ยงพระยาวิชิตและคนอื่นๆนั้น นายยันต์ปฏิเสธว่าตนไม่ได้อยู่บ้านเพราะนำเงินไปให้แม่ยายรับจำนองที่ดินที่นนทบุรี
นายยันต์มีหลวงศรีเขตนคร ผู้เป็นเขยใหญ่มาเบิกความเป็นพยานเรื่องที่นายยันต์นำเงินไปให้แม่ยายในวันดังกล่าว รวมทั้งนายเจริญ ผู้จำนองที่ดิน ก็ได้มาเบิกความว่า ในเช้าวันที่ ๓๐ ตุลาคม ตนได้ไปพบนายยันต์ตามนัดหมายเพื่อตกลงรายละเอียดกันเรื่องจำนองที่ดิน แล้วเห็นนายยันต์มอบเงินให้แม่ยายเป็นผู้ทำกระทำสัญญาแทน

นางเนย ภรรยานายยันต์ เบิกความเป็นคนต่อว่า เมื่อพระยาวิชิตไปหาเสียงที่ชัยนาท ตนไม่เคยเห็นนายยันต์ไปเยี่ยมพระยาวิชิต หรือไปเที่ยวไหนด้วยกัน ส่วนพระยาวิชิตมาเยี่ยมนายยันต์หรือไม่ตนลืมไปแล้ว แต่ที่บ้านไม่เคยเลี้ยงอาหารพระยาวิชิต ขุนนิพันธ์ นายแป๊ะ ส่วนนายปิ่น นายมา นายโกย นายผัด นายพุห นายแดง ตนไม่เคยรู้จักและไม่เคยเห็นไปที่บ้าน วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๘๑ นายยันต์เดินทางไปนนทบุรีกับตน เพื่อเอาเงินไปให้แม่ของตนเพื่อรับจำนองที่ดิน กลับถึงชัยนาทวันที่ ๓๑


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 เม.ย. 17, 06:30
นายยันต์ยังมีพยานจำเลยปากอื่นจำนวนพอๆกับของพระยาวิชิตมาช่วยเบิกความให้คนละค่อนหน้าครึ่งหน้า น.ส.ทับทิมน้องสาวที่อาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้าน มาเบิกความว่ารู้จักคนโน้น ไม่รู้จักคนนี้ แต่ไม่เคยเห็นนายยันต์จัดเลี้ยงคนกลุ่มดังกล่าวที่บ้าน
นายถนอม นายอำเภอวัดสิงห์ เบิกความว่านายยันต์เคยขอให้ช่วยสืบเรื่องที่นายภูมีแอบอ้างชื่อนายยันต์ ไปหลอกเอาเงินจากจำเลยเพื่อให้ชนะความ
ขุนอรุณ เพื่อนบ้าน เบิกความว่าในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ตนไม่เห็นว่านายยันต์จัดเลี้ยงใครที่บ้าน
นายชิน เพื่อนผู้พิพากษา เบิกความว่านายยันต์เคยพูดกับตนว่าไม่ชอบนายภูมี เพราะไม่มีความรู้ทางทนายความ ชอบถามความยืดยาดนอกเรื่องนอกราว
นายลือ ปลัดอำเภอหันคา เบิกความว่ารู้จักนายป้อม ว่าเป็นคนของกำนันผัด คนอื่นไม่รู้จัก


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 เม.ย. 17, 06:32
ขุนนิพันธ์ประศาสน์จำเลย อ้างตนเองเป็นพยาน เบิกความว่าในปี ๒๔๗๑ ขณะเป็นนายอำเภอตาคลี นครสวรรค์ ทางราชการเปิดให้ราษฎรจับจองพื้นที่ป่าแถบนั้น นายภูมีไปหาแล้วขอร้องตนอย่างให้ราษฎรจับจองทับพื้นที่ของนายภูมี ซึ่งขุนนิพันธ์ตอบไปว่าตนจะจัดการไปตามที่เห็นสมควร ต่อมาเมื่ออกใบเหยียบย่ำให้ราษฎรแล้ว นายภูมีร้องคัดค้านไปยังจังหวัดนครสวรรค์เสียดสีขุนนิพันธ์ แต่เรื่องเงียบหาย   
ตอนที่นายภูมีมาเบิกความในศาลปรักปรำจำเลย ขุนนิพันธ์แสดงความเก๋าขึ้นซักค้านประเด็นว่าเคยมีเรื่องกับตนหรือเปล่า นายภูมียอมรับว่าตนมีที่ดินที่อำเภอตาคลี ซึ่งทับซ้อนกับผู้อ้างสิทธิ์อื่นๆหลายคน เวลานั้นขุนนิพันธ์เป็นนายอำเภอ จึงมีเรื่องกัน แต่เรื่องอะไรจำไม่ได้แล้ว

ขุนนิพันธ์มีภรรยามาเบิกความเป็นพยานให้ว่า ขุนนิพันธ์เคยไปงานราชการต้องค้างคืนเหมือนกัน แต่ในระหว่างเตรียมการเลือกตั้งไม่เห็นว่าไปไหน
นายชั้นกับนายถมปัทม์ ข้าราชการอำเภอตาคลี เบิกความเรื่องนายภูมีคัดค้านการออกใบเหยียบย่ำให้ราษฎร ว่าทับที่ของนายภูมี และระหว่างการเลือกตั้ง ทางการมีคำสั่งห้ามมิให้ข้าราชการลางาน
นายโทน เบิกความเหมือนทั้งสองแต่มีแถมว่า เวลาขุนนิพันธ์ออกตรวจท้องที่จะเอาตนไปด้วยเสมอๆ แต่ไม่เคยไปจังหวัดชัยนาท


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 เม.ย. 17, 06:33
นายแป๊ะ แสงไชย จำเลย อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ตนไม่เคยไปรับประทานอาหารร่วมกับพระยาวิชิต นายยันต์ ขุนนิพันธ์ ไม่เคยพานายโกยไปหานายยันต์ นายภูมีกับตนนั้นเคยทะเลาะกันเรื่องนัดความ และคำร้อง คำฟ้องของนายภูมีที่มายื่นต่อศาลนั้น มีเรื่องให้ต้องติเสมอ จนทำให้ตนโดนยื่นบัตรสนเท่ห์ไปฟ้องยังกระทรวงยุติธรรม นายปิ่นกับนายมานั้นเป็นคนในบ้านนายภูมี เคยนำเรื่องมายื่นต่อศาลแทนนายภูมีหลายครั้ง นายผัดตนรู้จักเพราะเคยเป็นความที่ศาลสามครั้ง และเคยขอประกันตัวในชั้นศาลหลายครั้ง เคยมีปากเสียงกับตนเพราะนายผัดเขียนนามสกุลว่าศรีพรหมา ตนถามว่าอ่าน ศรี-พร-หมาใช่ไหม

นางสายทอง ภรรยา และนายทองย้อย บุตรเขยของนายแป๊ะมาเบิกความว่า ปกตินายแป๊ะจะทานอาหารที่บ้าน ถ้าจะไปกินที่ไหนจะสั่งคนที่บ้านก่อนเสมอ แต่ไม่เคยบอกว่าจะไปทางอาหารบ้านนายยันต์
นายฟ้อ เสมียนศาล เบิกความว่าตนเป็นคนเอาหมายศาลคดีที่นายภูมีและนายปิ่นเป็นจำเลยไปยื่นที่บ้านนายภูมี เห็นนายปิ่นอยู่ในบ้านแต่ภริยานายภูมีบอกว่าทั้งสองคนไม่อยู่และไม่ยอมรับหมายแทน
นายฟู มาเบิกความว่าเมื่อนายโกยถูกฟ้องว่าบุกรุกที่คนอื่นนั้น นายแป๊ะกับตนได้ไปสอบสวนยังพื้นที่ ปรากฏว่านายโกยผิดจริง คดีนั้นศาลตัดสินให้นายโกยแพ้ 
นายบุญมี นักการศาล และนายมลิ เสมียนศาล เบิกความว่านายผัดเคยเป็นความและมาขอประกันตนที่ศาล นายแป๊ะอ่านนามสกุลนายผัดว่า ศรี-พร-หมา และขอให้นายผัดแก้ไขให้ถูก นายผัดโกรธมาก บอกถูกต้องแล้วไม่ยอมแก้ และกล่าวว่าใครอ่าน ศรี-พร-หมา คนนั้นไม่ใช่คน


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 เม.ย. 17, 06:43
ท่านผู้อ่านต้องเข้าใจนะครับว่า บันทึกคำพิพากษาศาลพิเศษที่รัฐบาลนำเสนอให้ประชาชนทั่วไปได้อ่านนั้น จะนำคำเบิกความของตัวโจกท์และจำเลย รวมทั้งพยานทุกคนมาลงอย่างซ้ำซาก วกวน โยงกันไปโยงกันมา จนคนอ่านสับสน ถ้าไม่มีความมานะพยายามจริงๆแล้ว จะทำความเข้าใจเรื่องราว อะไรเป็นอะไรไม่ได้เลย ในที่สุดก็จะทิ้งการคันเพราะอ่านไม่จบ ผมเองเมื่อเขียนต้นฉบับนี้จะต้องอดทนอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะคดีนี้ไม่ต่ำกว่าห้าหกเที่ยว ไม่นับครั้งที่เคยในอดีตซึ่งอ่านจบบ้างไม่จบบ้าง

การนำเสนอกระทู้นี้ ไม่ใช่นึกอยากจะเขียนก็เขียน แต่ผมกำลังเตรียมต้นฉบับที่กล่าวถึงศาลพิเศษในเรื่องกบฏพระยาทรงสุรเดชให้บริบูรณ์ ผมได้ใช้วิธีเรียบเรียงลำดับคำให้การเสียใหม่ แล้วย่อความให้อ่านง่าย เก็บเฉพาะที่เป็นสาระไว้ได้ประมาณหนึ่งในสาม ที่เหลือทิ้งหมดไม่เอามาให้รกเปลืองสมอง ผมเข้าใจว่าผู้พิพากษาเองก็คงสับสนใช่น้อย แต่ก็นึกว่าจะอยู่ในแนวที่เห็นความถูกต้องเป็นธรรมอยู่ เพราะในคำพิพากษานั้น มีตอนต้นๆเขียนว่า “ ศาลย่อมตระหนักว่า การแกล้งกล่าวป้ายความผิดอันร้ายแรงให้แก่ผู้บริสุทธิ์นั้น เป็นการน่าชังอย่างยิ่ง และศาลจะพยายามจนสุดความสามารถที่จะผดุงความยุติธรรมนี้ไว้”


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 เม.ย. 17, 07:23
แต่อพิโธ่เอ๋ย มันก็อีหรอบเดิมกับทุกสำนวนดคีนั่นแหละ
ของพระวิชิตสรไกรนั้น แทนที่ศาลจะเชื่อคำให้การของบุคคลระดับผู้ก่อการคณะราษฎร และส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเองหลายคนที่พระยาวิชิตใช้คุณความดีส่วนตัว ขอร้องให้คนกลุ่มนี้มาเบิกความเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของท่าน แต่ศาลกลับเทน้ำหนักความน่าเชื่อถือให้แก่อาชญากรเช่นเสือผัดกับเสือป้อม ที่สันติบาลนำมากล่าวหาว่าพระยาวิชิตใช้จะให้ไปยิงหลวงพิบูล สาเหตุจากความน้อยเนื้อต่ำใจที่โดนปลดจากราชการในปี ๒๔๗๖ โดยร่วมคบคิดกับพระวุฒิภาคภักดีและพระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์คนหัวอกเดียวกัน ที่ศาลบอกว่ามีพรรคพวกอุดหนุนให้สมัครรับเลือกตั้งเข้าสภามาเพื่อหาทางจะล้มล้างรัฐบาล

ส่วนคำเบิกความของท่านผู้มีเกียรติ ศาลกล่าวว่าเป็นแค่ถ้อยคำกว้างๆ ไม่ชี้ชัดว่าจำเลยไม่ได้ทำผิดตามกฏหมาย  เช่น กล่าวว่าไม่เคยรู้เห็นว่าพระยาวิชิตเป็นผู้ที่จะล้มล้างรัฐบาล หรือ เมื่อเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พระยาวิชิตมักยกมือเห็นด้วยกับฝ่ายรัฐบาล จนสมาชิกซุบซิบกันว่าจะได้เป็นรัฐมนตรี แม้ถ้อยคำดังกล่าวอาจเป็นจริง แต่จะมีประโยชน์อันใดกับคดีเล่า เพราะความอยากเป็นรัฐมนตรีมิใช่จะประกันว่าเป็นกบฎไม่ได้

ส่วนที่พระยาวิชิตนำสืบสาเหตุที่พยานโจทก์กับท่าน แต่ละคนเคยมีเรื่องอะไรกันมานั้น ศาลบอกว่าเป็นเหตุเล็กน้อยหยุมหยิม ไม่พอฟังได้ว่าจะทำให้คนเราถึงกับอาฆาต ถึงกับมารุมกล่าวร้ายในเรื่องที่จำเลยไม่พอใจรัฐบาลขณะฟังข่าววิทยุได้ ส่วนที่นายผัดและนายป้อมเบิกความ ก็จำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างแข็งแรง เป็นแต่ว่าไม่เคยพบกับบุคคลทั้งสองเท่านั้น พระวิชิตสรไกรจึงมีความผิด


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 เม.ย. 17, 07:28
สำหรับคดีนายยันต์ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายภูมี นางแวว และนายกระออมพ่อแม่ลูก ให้ถ้อยคำประกอบกิริยาไม่น่าไว้ใจ หนังสือที่อ้างว่าส่งให้หลวงพิบูลก็มีพิรุธ วันที่ลงในจดหมายคือ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๘๑ ก่อนหลวงพิบูลจะถูกนายลียิง แต่วันส่งไปรษณีย์ตีตราวันที่ ๒๓ ธันวาคม ห่างกันตั้งเดือนเศษ หลังวันยิงนานแล้ว เมื่อมีเหตุพิรุธ ศาลจึงตัดพยานชุดนี้ออกไป

ยังก่อนครับยัง..อย่าเพิ่งเฮ ศาลอ่านคำพิพากษาต่อว่า แม้ตัดพยานปากเอกพ่อแม่ลูกออกไป แต่หาทำให้พยานสำคัญโจทก์ในเหตุใหญ่เสียไปไม่ คำให้การของนายโกย นายปิ่นและนายมา ที่สอดคล้องกันโดยยืดยาว ถึงเรื่องที่นายยันต์จะใช้ไปยิงหลวงพิบูล ถ้ามีการซักซ้อมย้อมแปลงกันมาแล้ว ก็จะจับเท็จได้ไม่ยาก ศาลยังเห็นว่าเป็นเหตุเป็นผลน่าเชื่อถือ


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 เม.ย. 17, 07:34
ส่วนที่นายยันต์นำสืบว่า วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๘๑ นายยันต์ไม่อยู่บ้าน แต่ไปนนทบุรีเพื่อเอาเงินไปให้แม่ยายรับจำนองที่ดิน จึงไม่สามารถจัดเลี้ยงใครได้นั้น ศาลบอกว่าข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะนางเนยภรรยามาให้การว่า นางเนยต่างหากที่เป็นผู้เขียนเช็คจ่ายเงินนั้น โดยเอาหลักฐานมาให้ศาลดู แต่นายยันต์ไม่ได้กล่าวถึงเช็คนี้ จะให้หักล้างพยานโจทก์ได้อย่างไร

ตรงนี้ผมตีความสำนวนศาลว่า ศาลยังคงเชื่อว่ายังมีการจัดเลี้ยงกันในวันนั้นตามคำให้การของครอบครัวนายภูมีที่ศาลบอกเองว่าได้ตัดน้ำหนักออกไปแล้ว ซึ่งแปลว่า ในการเลี้ยงวันนั้น นายปิ่นกับนายมา มิจฉาชีพทั้งสองได้ไปรับจ๊อบฆ่าหลวงพิบูลด้วย

การที่ศาลไม่เชื่อพยานหลักฐานของนายยันต์เรื่องการไปบ้านแม่ยายในวันนั้นเลย ก็เพราะคำๆเดียวของนางเนยที่บอกว่าเป็นคนจ่ายเช็ค ผมพลิกกลับไปดูที่ศาลจดคำให้การของนางเนยหลายเที่ยวกลับไม่พบข้อความที่ว่านั้น แสดงว่าศาลไม่ได้จด แต่เอามาอ่านในคำพิพากษา

สามีภรรยาทั้งสองได้เบิกความว่าไปบ้านที่นนทบุรีด้วยกัน โดยมีพยานอีกสามปากมายืนยัน ทำไมศาลไม่คิดบ้าง คำพูดที่นายยันต์กล่าวว่าได้มอบเงินให้แม่ยายเพื่อทำสัญญาแทนนั้น เงินของสามีอาจจะอยู่ในบัญชีธนาคารของภรรยา การที่จะให้ภรรยาจะเป็นผู้จ่ายแทนนั้นจะแปลกอะไร หากนางเนยเอาหลักฐานขั้วเช็คมาให้ศาลดูแล้ว ทำไมศาลถึงไม่กล่าวถึงวันที่ๆลงนามจ่ายเช็คใบนั้นด้วย


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 เม.ย. 17, 07:37
ศาลสรุปว่า นายยันต์นำพยานส่วนใหญ่มานำสืบเรื่องสาเหตุบาดหมางกับนายภูมี ซึ่งศาลได้กล่าวไปแล้วว่าได้ตัดประเด็นเกี่ยวกับนายภูมีไปแล้ว ถือว่ายอมให้ชนะผ่าน ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยคำเบิกความของพยานนายยันต์ช่วงนั้น ช่างฉลาดแท้ในการหาทางออกที่จะไม่ต้องแสดงความเห็นของศาลต่อผู้พิพากษาศาลชัยนาททั้งหลาย ผู้ยอมเปลืองตัวมาเป็นพยานจำเลย

แต่ศาลกล่าวต่อว่าในเมื่อคำเบิกความของนายโกย(ลูกความของนายภูมี) นายปิ่น(ลูกน้องในบ้านของนายภูมี) และนายมา(ผู้อ้างว่าขุนนิพันธ์นัดให้ไปกินข้าวที่บ้านนายยันต์ในวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๘๑) นายยันต์สืบหักล้างไม่ได้ นายยันต์จึงมีความผิด

ท่านผู้อ่านงงไหมครับว่า เมื่อศาลตัดประเด็น ไม่เชื่อนายภูมีกับลูกเมียแล้ว ทำไมศาลยังเชื่อเรื่องที่โยงออกไปจากวันที่พวกนั้นอ้างว่ามีการจัดเลี้ยงที่บ้านนายยันต์ อันเป็นเหตุให้เกิดการว่าจ้างเหล่าอสรกุ๊ยไปยิงผู้นำรัฐบาลอีกเล่า


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 05 เม.ย. 17, 10:01
งงจริงๆครับอาจารย์ครับ เนื่องจากเป็นการแอบอ่านในที่ทำงาน (แฮ่) จึงต้องอ่านแบบผ่านๆ ยังไม่ได้ลงรายละเอียดอะไรนะครับ แต่จากประสบการณ์ที่เคยพบเกี่ยวกับการเบิกความ และการสืบพยานมาบ้าง ก็ขออนุญาตมีข้อสังเกตในเบื้องต้นว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีโทษอาญา ศาลจะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน เพื่อไม่ให้เกิดการนำตัวคนบริสุทธิไปลงโทษ จนมีคำกล่าวในทางกฎหมายว่า "ปล่อยคนผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิเพียงคนเดียว" ซึ่งคำกล่าวนี้ นักเรียนกฎหมายน่าจะต้องเคยได้ยินทุกคน

ดังนั้น การนำสืบในคดีอาญา จึงต้องสืบให้ถึงขั้นที่ว่า "สิ้นสงสัย" ไม่ใช่สืบเพียงแค่ "พอมีน้ำหนัก" เหมือนดังในคดีแพ่งครับ

คดีนี้ มีแค่พยานบุคคล ปากต่อปากยันกัน เหมือนอาจารย์ฟ้องว่า ผมไปลักทรัพย์บ้านอาจารย์ อาจารย์นำเพื่อนบ้านเป็นนายทหารมาเบิกความว่า เห็นผมปีนเข้าบ้าน ผมนำสมภารที่วัดมาเบิกความว่า วันนั้น ผมอยู่ช่วยเจ้าอาวาสนับเงินที่ได้จากงานฝังลูกนิมิตรอยู่ที่วัดทั้งวัน แบบนี้ เรียกว่า พยานปากต่อปาก ยันกัน


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 05 เม.ย. 17, 10:09
เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาลจะวินิจฉัยได้อย่างไรว่าพยานปากใดเบิกความตามความเป็นจริง ฝ่ายใดจะน่าเชื่อถือกว่ากัน ก็ต้องมีกระบวนการต่อไปอีก เช่นการถามค้านของทนายความสองฝ่าย เพื่อให้ศาลเห็นข้อพิรุธ หรือเกิดข้อสงสัยในคำเบิกความของพยานปากนั้นๆ เช่น ทนายฝ่ายผมก็อาจจะถามค้านว่า ที่ท่านบอกว่าเห็นจำเลย (คือผม) ปีนเข้าบ้านโจทก์นั้น จำเลยเข้าทางหน้าต่างใช่หรือไม่ สมมุติพยานรับว่าใช่ ทนายความก็อาจจะถานนั่นถามนี่ต่อไปอีก 2-3 คำถาม แล้วย้อนกลับมาถามว่า เอ๊ะ แล้วที่ว่า จำเลยเข้าทางประตูหลังนั้นหนะ บ้านท่านไกลขนาดนั้น ท่านจะเห็นได้ชัดเจนหรือ ถ้าพยานเผลอตอบว่า ชัดสิ เห็นชัดเลย ก็บ้านอยู่ตรงกัน ฯลฯ พยานปากนี้ ก็จะเกิดข้อสงสัยแล้ว ว่าตกลงเขาเห็นผมปีนเข้าบ้านจริงหรือ ตอนแรกบอกเห็นปีนเข้าทางหน้าต่าง เบิกความไป กลายเป็นการเข้าทางประตูหลังไปได้ อะไรเช่นนี้เป็นต้นครับ

ทีนี้ ถ้าพยานฝ่ายอาจารย์เขาเห็นจริงๆ ซักค้านอย่างไรก็ไม่หลงทาง แกก็ยืนกรานอยู่นั้นเอง ว่าเห็นผมปีนเข้าทางหน้าต่าง ไม่ใช่ประตูหลัง อย่างนี้ เรียกว่า ทนายจำเลยซักค้านพยานโจทก์ไม่แตก โจทก์ก็ได้เปรียบครับ จำเลยก็ซีดหละ เหมือนเข้าคุกไปแล้วขาหนึ่ง

พอมาถึงการซักค้านพยานจำเลยบ้าง ถ้าทนายโจทก์สามารถซักเจ้าอาวาสของฝ่ายผม จะศาลเกิดข้อสงสัยได้ อย่างนี้ก็เอวัง ศาลสิ้นสงสัย ผมโดนแน่นอนครับ แต่ถ้าพยานฝ่ายผมก็แน่นเหมือนกัน ทนายโจทก์ซักค้านไม่แตก ผลจะเป็นอย่างไร    


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 05 เม.ย. 17, 10:14
กรณีเช่นนี้ ก็ต้องย้อนกลับไปที่หลัก ปล่อยคนผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิเพียงคนเดียวนั้นเองครับ เพราะนี่เท่ากับว่า ศาลจะไม่สามารถชี้ได้ว่า จริงๆแล้ววันนั้นผมอยู่ที่ใดกันแน่ ใครคือคนที่เห็นผมจริงๆ กันแน่ เมื่อศาลยังมีข้อสงสัยในพยานหลักฐานของโจทก์ ศาลก็อาจ "ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย"

พูดง่ายๆก็คือ เอ็งอาจจะเป็นคนร้ายก็ได้ แต่ข้ายังไม่ชัวร์ เลยต้องปล่อยเอ็งไปก่อน อะไรทำนองนี้ครับ

คดีนี้ ผมยังสงสัยว่า "ศาลนั้น" (แฮ่ ต้องชี้ชัดว่า ผมไม่ได้ตั้งข้อสังเกตการทำงานของศาลปัจจุบัน หรือศาลอื่นๆ แค่ ศาลในเรื่องนี้เท่านั้น) ถือหลัก พิสูจน์จนสิ้นสงสัย และหลักปล่อยคนผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิเพียงคนเดียว หรือไม่ครับ 


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 05 เม.ย. 17, 10:23
มีข้อสังเกตอีกข้อหนึ่ง ที่อาจารย์บอกว่า
อ้างถึง
ศาลสรุปว่า นายยันต์นำพยานส่วนใหญ่มานำสืบเรื่องสาเหตุบาดหมางกับนายภูมี ซึ่งศาลได้กล่าวไปแล้วว่าได้ตัดประเด็นเกี่ยวกับนายภูมีไปแล้ว ถือว่ายอมให้ชนะผ่าน ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยคำเบิกความของพยานนายยันต์ช่วงนั้น ช่างฉลาดแท้ในการหาทางออกที่จะไม่ต้องแสดงความเห็นของศาลต่อผู้พิพากษาศาลชัยนาททั้งหลาย ผู้ยอมเปลืองตัวมาเป็นพยานจำเลย

แต่ศาลกล่าวต่อว่าในเมื่อคำเบิกความของนายโกย(ลูกความของนายภูมี) นายปิ่น(ลูกน้องในบ้านของนายภูมี) และนายมา(ผู้อ้างว่าขุนนิพันธ์นัดให้ไปกินข้าวที่บ้านนายยันต์ในวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๘๑) นายยันต์สืบหักล้างไม่ได้ นายยันต์จึงมีความผิด

ตรงนี้ โดยปกติแล้ว การเบิกความในศาล จะต้องเป็นการนำเสนอถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ในหลักของการนำเสนอพยานหลักฐาน จะไม่นำสืบถึงพยานหลักฐานที่แสดงถึงการไม่มี หรือไม่ได้เกิดขึ้นของเหตุการณ์ต่างๆ ครับ ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์ฟ้องว่า ผมขโมยนาฬิกา แล้วศาลจะสั่งให้ผมหาพยานมาแสดง ถ้าเอ็งไม่ได้ขโมยจริง ไหนลองแสดงหลักฐานที่ว่า นาฬิกาไม่ได้อยู่กับเอ็งมาซิ ถ้าเอ็งหามาไม่ได้ เอ็งแพ้คดี

ปุดโธ่ ก็ผมไม่ได้ขโมย นาฬิกามันจะไปอยู่ที่ไหน ผมจะไปรู้หรือครับ แล้วผมจะไปหาหลักฐานแสดงการไม่มีนาฬิกาอยู่ มาได้อย่างไร


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 05 เม.ย. 17, 10:29
คดีนี้ก็เช่นกันครับ ถ้าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดจริงๆ ไม่ได้เป็นธุระจัดหานักเลงหรือจัดม็อบไปช่วยฝ่ายก่อการจริงๆ ตามฟ้อง จำเลยจะไปหาหลักฐาน แสดงความไม่เกี่ยวข้อง มาจากที่ใดเล่าครับ  

เมื่อไม่มีหลักฐานอย่างที่ว่ามาแสดง จำเลยก็ต้องกำหนดแนวทางในการต่อสู้คดีเป็นแนวอื่น กล่าวคือ พยายามทำให้ศาลสงสัยในพยานโจทก์ (ตามเรื่อง พยานปากต่อปากยันกัน ที่ผมได้กล่าวไว้เมื่อครู่ครับ) ด้วยการนำสืบว่า พวกพยานโจทก์ทั้งหลายที่มาให้การเนี่ย ล้วนแล้วแต่เป็น "โจทก์เก่า" คือ มีข้อบาดหมางกับจำเลยมาก่อนทั้งสิ้น คำให้การทั้งปวงจึงไม่น่าเชื่อถือ ศาลเห็นมั๊ยเล่า

ซึ่งศาลก็บอกว่า เห็นแล้ว เชื่อละว่า พวกนี้ เป็นอริเก่ากับจำเลยจริง แต่ยังไง จำเลย ก็หาหลักฐานมาแก้ต่างว่า ไม่ได้คิดก่อการไม่ได้อยู่ดีนั่นแหละ ดังนั้น จำเลยแพ้ อุปมาเสมือนหนึ่ง นาริศหาหลักฐานไม่ได้ว่า นาฬิกาของอาจารย์ไม่ได้อยู่กับตนเองฉะนั้น



กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 เม.ย. 17, 10:48
คุณนริศ(หวังว่าผมคงจะเขียนถูกนะครับ) คงยังไม่เห็นข้อความที่ว่า ศาลพิเศษนี้ไม่อนุญาตให้จำเลยมีทนายว่าต่าง แม้ในพ.ร.บ.จะระบุว่าเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาว่าจะอนุญาตให้จำเลยมีพยานได้หรือไม่ แต่ปรากฏว่าศาลไม่อนุญาตใครเลยโดยให้เหตุผลว่าไม่จำเป็นต้องมี เพราะจะมากเรื่องมากความ เสียเงินเสียทองค่าทนายสิ้นเปลืองไปเปล่าๆ ดังนั้นจำเลยจึงต้องช่วยตนเองเท่าที่จะสามารถ และมีโอกาสเพียงศาลเดียวนี้ ไม่มีอุทธรณ์ ฎีกา

ดคีนี้โชคดีที่นายยันต์เองเป็นผู้พิพากษา จึงสามารถตีข้อกล่าวหาของโจทก์สำคัญ คือนายภูมีได้จนผู้พิพากษายอมแพ้ แต่นายยันต์ก็เสียเวลาไปกับการสืบพยานหักล้างนายภูมีมาก เมื่อเทียบกับนายโกย นายปิ่นและนายมา กเฬวรากทั้งสาม แต่ก็ไม่ได้ละเลยนะครับ เพียงแต่ศาลเห็นว่า ไม่พอที่จะหักล้างคำเบิกความของพยานทั้งสามได้เท่านั้น

เช่นเดียวกับในคดีเดียวกันแต่ต่างสำนวน ที่พระยาเทพหัสดินทร์ท่านเป็นจำเลย ถูกพยานโจกท์ที่สันติบาลจัดมาซัดทอดหลายปาก ว่าเห็นท่านจัดประชุมกับคนหมู่โน้นหมู่นี้ที่บ้านของท่าน ต่างกรรมต่างวาระ แต่เมื่อท่านมั่นใจว่าพยานเท็จเหล่านี้ไม่เคยไปที่บ้านท่าน ท่านก็ตั้งป้อมซักพยานแต่ละคนว่า ในบ้านท่านเป็นอย่างไร เจออย่างนี้เข้าพยานโจกท์ก็ตอบไปคนละทางสองทาง บ้านไม้กลายเป็นบ้านตึก ทาสีฟ้าบอกทาสีเขียวบ้างขาวบ้าง เครื่องเรือน ตู้ โต๊ะ ก็บอกไม่ตรงกัน ต้นปาล์มบนสนามหน้าบ้านก็บอกเป็นต้นเต่ารั้ง ท่านจึงขอให้ศาลนำสืบที่บ้าน แต่ศาลบอกไม่จำเป็น และไม่จดให้ ในคำพิพากษาก็ไม่กล่าวถึงข้อซักค้านอันสำคัญนี้เลย

พระสิทธิเรืองเดชพล จำเลยอีกผู้หนึ่ง ซึ่งโดนพยานซัดทอดว่า นั่งสามล้อไปเอาเงินค่าจ้างจากท่านที่บ้านราชวัตร ท่านก็แน่มาก สามารถนำภรรยาของผู้พิพากษามาเป็นพยานจำเลยในศาลว่า ได้เข้าหุ้นกันหลายคนซื้อที่ๆราชวัตรนี้ ในวันเดือนปีที่พยานว่า ที่ดินยังไม่ได้แบ่งแยก และบ้านของพระสิทธิ์ยังอยู่ที่บางขุนพรหม ศาลยังแก้ตัวให้พยานว่า เป็นเวลานานมาแล้ว พยานอาจจะลืมได้  พระสิทธิเรืองเดชพลจึงมีความผิด โทษถึงประหารชีวิต


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 05 เม.ย. 17, 11:27
ขอบพระคุณครับ นริศครับ

อันที่จริงใครจะเสียค่าจ้างทนายเท่าใด ไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับศาลเลยนะครับ ศาลนี้ใจดีมากที่กลัวจำเลยจะหมดเปลืองเลยห้ามมีทนายไปเสียเลย


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 เม.ย. 17, 11:58
คือคดีนี้มันเป็นคดีการเมืองครับ ศาลพิเศษก็คือศาลที่จัดตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมืองที่จะพิจารณาโทษผู้กระทำความผิด ผิดในที่นี้ไม่ใช่ผิดในทางแพ่งหรืออาญา แต่ผิดในเรื่องที่มึงไม่ใช่พวกกู ฉะนั้นอะไรที่สงสัยว่ามึงจะไม่ใช่พวกกูแล้ว มึงต้องมีความผิดแน่นอน
ความรู้สึกแบ่งแยกพวกเขาพวกเราในทางการเมืองนี้ พวกเราทุกคนในสมัยนี้คงเข้าใจ ไม่ต้องอธิบายให้มากความ และสมัยโน้นถึงแม้จะไม่ใส่เสื้อสีแสดงสัญญลักษณ์ แต่ความรู้สึกแบ่งแยกระหว่างคณะราษฎร์กับคณะเจ้าก็ชัดเจน และในบรรดาคณะราษฎร์ด้วยกัน ยังมีพวกกูกับไม่ใช่พวกกู ละเอียดลงไปอีก บ้านเมืองแตกแยกมาก เมื่อแย่งชิงอำนาจมาอยู่ในกำมือได้แล้ว ถึงเวลาที่ใครที่ไม่ใช่พวกกูจะต้องถูกกำจัด มิฉะนั้น คงนำพาบ้านเมืองให้เดินต่อไปข้างหน้าไม่ได้

ศาลมีธงที่นักการเมืองตั้งให้โดยชัดเจน ใครจะไม่ไว้ชีวิต ใครจะขังลืมไว้ก่อน และใครจะปล่อยไปให้เห็นว่า ศาลใช้พิจารณาญานเหมือนกันว่าใครผิดใครถูก


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 เม.ย. 17, 12:02
ทีนายแป๊ะและขุนนิพันธ์ ศาลกล่าวว่าโจกท์มีพยานตอนเดียวแค่เฉพาะคราวที่ไปกินเลี้ยงที่บ้านนายยันต์
ส่วนนายแป๊ะมีพยานคือภรรยาและบุตรเขยมาให้การว่านายแป๊ะไม่เคยไปกินข้าวที่ไหนโดยไม่ได้บอกตน  ศาลบอกทั้งสามอยู่บ้านเดียวกันย่อมต้องรู้ความเป็นไปของนายแป๊ะ พระนาถปริญญาหัวหน้าศาลจังหวัดชัยนาทซึ่งเป็นนายของนายแป๊ะ ก็กล่าวว่านายแป๊ะเป็นผู้ประพฤติเรียบร้อย ไม่เอาเรื่องเอาราวกับใคร
ขุนนิพันธ์ประศาสน์ ก็มีพยานมาเบิกความว่า ระหว่างการเลือกตั้ง ทางราชการมีคำสั่งห้ามลา ขุนนิพันธ์จึงไม่เคยไปจังหวัดชัยนาท

ไม่ยักมีใครซักค้านพยานจำเลยด้วยคำถามคลาสสิกดังเช่นที่ถามในทุกๆสำนวนคดี ว่าพยานอยู่กับนายแป๊ะหรือขุนนิพัทธ์ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงทุกวันหรือเปล่า จึงได้ไปรับรองว่าเขาไปได้แอบไปกระทำความผิด

แต่จะถามหรือถามแล้วศาลไม่จดให้ก็ตาม ศาลกล่าวในคำพิพากษาว่าจะลงโทษไม่ถนัด จึงยกประโยชน์ให้เป็นคุณต่อจำเลยทั้งสอง
ที่สุดของคดีนี้ ศาลพร้อมใจกันพิพากษา ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต พระวิชิตสรไกร และนายยันต์ วินิจนัยภาค ส่วนขุนนิพันธ์ประศาสน์ และนายแป๊ะ แสงไชย ให้ปล่อยตัวไป 


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 เม.ย. 17, 15:54
มาต่อให้จบเรื่องไปเลย

เมื่อวานนี้ผมไปหอสมุดแห่งชาติเพื่อหาหนังสือพิมพ์เก่า สมัย ๒๔๗๕ ถึง ๒๔๘๒ มาอ่านข่าวการเมือง แม้จะได้อ่านไม่มากฉบับนักเพราะไม่ทราบว่าทำไมถึงไม่มีให้บริการ แต่ก็พบข่าวที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
บรรดาผู้ที่ถูกจับในคราวกวาดล้างคราวนี้เยอะมาก ส่วนใหญ่ชื่อไม่เคยผ่านตา ผมไม่ได้ถ่ายมาหมด เอามาให้ดูพอเป็นตัวอย่าง
คิดว่าคนพวกนี้คงถูกขังไว้ระยะหนึ่งเป็นการสั่งสอน ก่อนจะปล่อยตัวไป คงเหลือให้ศาลพิเศษตัดสินแค่ห้าสิบกว่าคนเท่านั้น


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 เม.ย. 17, 15:56
ลงข่าวว่าจับ โดยไม่ระบุชื่อก็มี ที่น่าสังเกตุ ต้องจับตอนทหารเรือออกทะเลไปฝึกกันเสียด้วย


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 เม.ย. 17, 15:58
ความรู้สึกของหนังสือพิมพ์ก็ดูจะเชื่อว่าคนที่ถูกจับเหล่านั้นได้กระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งจริง และเป็นเรื่องฟลุ๊กแท้ๆที่ผมเจอข่าวพ่อผม ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน ถูกจับ โดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ ๒๓ กุมภาพันธุ์ ๒๔๘๑ พาดหัวบนว่า “ตำรวจเปิดเผยเอกสารนายทหารอากาศครั้งกบฏบวรเดชที่มีไปอาสาธิดากรมนครสวรรค์” แล้วนำจดหมายดังกล่าวมาลงทั้งฉบับ แสดงทุกบรรทัดที่สันติบาลขีดเส้นใต้  “ว่ากระทำความผิด” ซึ่งการนำเสนอของหนังสือพิมพ์ก็เหมือนกับพิพากษาว่าความผิดนั้นได้ถูกกระทำสำเร็จแล้วด้วยการไปอาสาพระธิดาของกรมพระนครสวรรค์ โดยมิได้ดูเนื้อหาว่าอาสาเรื่องอะไร ม.ร.ว. นิมิตรมงคลเขียนไปทูลโฆษณาดิกชันนารีที่ สอ เสถบุตร เขียนขึ้นในคุกซึ่งตนมีส่วนได้ช่วยทำด้วย ฉะนั้นหากทรงสนพระทัยจะซื้อแล้ว ตนอาสาจะจัดการให้สมประสงค์ทุกอย่าง


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 เม.ย. 17, 16:02
ท่อนแรก ลายน้ำที่เห็นไม่ได้เกิดจากกระดาษที่มีมีลวดลาย แต่เป็นโลโก้ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ทำให้ดูรกไปหมด


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 เม.ย. 17, 16:03
ท่อนจบครับ เส้นใต้ในทุกประโยคที่ขีด เป็นฝีมือของสันติบาล


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 เม.ย. 17, 16:08
คนสมัยนั้นก็คงจะตัดสินความที่อ่านไปตามความยึดมั่นถือมั่นทางการเมืองของแต่ละฝ่าย ผู้ที่เป็นฝ่ายเดียวกับรัฐบาลก็คงจะสมน้ำหน้า และสะใจเมื่อผู้เขียนจดหมายนี้ถูกศาลพิเศษลงโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่พูดก็พูดเถอะ ความผิดที่ “มึงไม่ใช่พวกกู” ซึ่งม.ร.ว. นิมิตรมงคลกระทำลงไปยังมีอะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจน แต่ในกรณีย์ของนายยันต์ วินิจนัยภาค ความผิด”มึงไม่ใช่พวกกู” คืออะไร ตำรวจจึงต้องหาพยานมาใส่ร้าย เพื่อจะเอาโทษถึงจำคุกตลอดชีวิตเหมือนกัน


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 เม.ย. 17, 07:32
การติดคุกตลอดชีวิตแม้จะถือว่าโชคดีที่ไม่ตายเพราะโทษประหาร แต่ก็เป็นความสาหัสสากรรจ์ที่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในที่คุก โดยไม่ทราบว่าเมื่อไรจะได้รับอิสรภาพอีกครั้ง ถ้าไม่ตายเสียก่อน และถึงตนจะไม่ตายเมื่อถึงวันนั้น ผู้ที่ตนรักและรอคอยที่จะได้พบกันอีก ก็อาจจะไม่อยู่แล้ว นายยันต์ วินิจนัยภาค จึงกล่าวเชิงปรารภแก่มิตรสหายของเขาอยู่เนืองนิตย์ว่า

"ภรรยาของผมต้องเสียชีวิต ก็เพราะผมถูกติดคุกด้วยอำนาจเผด็จการอันอธรรม"


   เชิญพิจารณาเอง เพื่อประจักษ์แก่ใจท่านว่ายันต์พูดผิดหรือถูก จากเรื่องราวของผู้ล่วงลับ ซึ่งข้าพเจ้าได้รวบรวมมาดังนี้
   เมื่อประมาณ ๔๕ ปีมาแล้ว คือใน พ.ศ. ๒๔๔๕ นายกิ๊ต คฤหบดีผู้มีถิ่นที่อยู่ในตำบลตลาดขวัญ นนทบุรี ได้รับความปลาบปลื้มใจด้วยนางโหมด ภรรยาคลอดบุตรหญิงหน้าตาหมดจดงดงาม สามีภรรยาตั้งชื่อบุตรหญิงว่า เนย
   ล่วงเวลามา ๒๕ ปี บุพเพสันนิวาสจึงนำมาพบคู่ครอง และได้ประกอบพิธีสมรสอันควรแก่เกียรติของเจ้าบ่าว คือ นายยันต์ วินิจนัยภาค ซึ่งเวลานั้นสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิต และต่อมาได้เป็นผู้พิพากษา หลังจากสมรสแล้วมิเนิ่นนานเธอก็ได้ให้กำเนิดแก่เด็กชายถึง ๕ คนโดยลำดับคือ วินิจ, วินัย, วิภาค, ทวีวงศ์ และดำรง
   ครอบครัวอันกอปร์ด้วยสมาชิกทั้ง ๗ นี้ น่าจะมีอนาคตอันแจ่มใส เพราะว่ามีความรักผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น บุตรทั้ง ๕ รักมารดาดังชีวิต และนับถือบิดาดังพระเจ้า มารดาเป็นผู้มีสมรรถภาพในงานเรือน รู้จักทั้งที่จะปฏิบัติสามีและอบรมบุตร ฝ่ายสามีก็รู้จักทนุถนอมน้ำใจภรรยา และเป็นหลักชัยแห่งชีวิตของบุตร พร้อมด้วยความสามารถในราชการ ก็น่าจะมีความเจริญยิ่งยง แต่โชคชะตาบันดาลให้ชีวิตของนายยันต์เข้าไปอยู่ในกระแสร์การเมือง ซึ่งเวลานั้นกำลังปั่นป่วนเป็นมรสุมจนได้ชื่อว่าเป็นยุคทมิฬ ชีวิตของเธอก็พลอยไร้สุขตามสามี และเป็นวาระตั้งต้นแห่งการต่อสู้อันทรหด อดทนของเธอต่อโชคเคราะห์ ซึ่งคุกคามจะประหารเธอลง

   ระหว่างนั้นสามีของเธอรับราชการอยู่ที่จังหวัดชัยนาท ในตำแหน่งผู้พิพากษา ตำรวจสันติบาลเข้าค้นบ้าน จับกุม แล้วนำตัวเขามาคุมขังไว้ที่สถานีตำรวจศาลาแดงในกรุงเทพฯ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลาที่เธอเผอิญลงมาเยี่ยมบ้านที่ตลาดขวัญ นนทบุรี พอได้ทราบข่าวร้ายเธอก็รีบนำของไปเยี่ยมสามี ณ ที่คุมขังด้วยความตื่นเต้นตกใจ แต่ถูกตำรวจยามถือปืนไล่ต้อนให้ออกไปนอกถนน ไม่ยอมให้เข้าในบริเวณที่คุมขัง แม้แต่ห้องขับสามีจะอยู่ที่ไหนก็ไม่แลเห็น เธอจำต้องกลับบ้านด้วยอาการระทดระทวย เธอคงจะหนักใจมาเป็นแน่ เพราะหน้าที่ของเธอเฝ้าจ้องปองโอกาสที่จะช่วยเหลือสามี โดยมิละทิ้งเข้าไป แต่หน้าที่ของเธอในฐานะเป็นมารดากลับเรียกร้องให้เธอรีบกลับไปหาบุตรเล็กๆ ที่จังหวัดชัยนาท ซึ่งถูกเขาพรากเอาพ่อไป ทิ้งไว้ให้อยู่อนาถตามลำดับดุจดังลูกไก่ น่าหวั่นภัยจากพาล เธอจำเป็นต้องรีบกลับไปบุตร เพื่อให้ความคุ้มครองโดยเร็วพลัน การเดินทางกลับชัยนาทครั้งนั้นสุดแสนจะรู้สึกห่วงหน้าห่วงหลัง
   อาศัยมารดาของเธอเป็นผู้แบ่งเบาทุกข์ โดยรับหน้าที่ติดต่อให้เธอทราบข่าวสามี ทุกๆ วันเธอเพิ่งคอยรับข่าว และเธอหวังว่าจะเป็นข่าวดี สามีของเธอจะต้องพันภัยได้กลับบ้านมาอยู่ร่วมชีวิตกับลูกและเมียรักที่ชัยนาทอีกต่อไป เพราะเขาไม่มีความผิด ประหนึ่งว่าเธอยืนชีวิตอยู่แต่ละวันด้วยความคาดคอย และเธอได้คอยมานานแล้ว ๑ เดือนกับ ๒ วันก็ได้รับโทรเลขเป็นข่าวร้ายเพิ่มเติมมาอีกว่า มารดาของเธอถึงแก่กรรม

   เธอรีบเดินทางมานนทบุรีพร้อมด้วยบุตร หวังจะให้ทันอาบน้ำศพ แต่ไม่ทัน เธอได้ทราบจากพี่ๆ ว่ามารดาพลอยทุกข์โศรกในเรื่องของเธอจนไม่เป็นอันกินอันนอน เพียงเวลา ๑ เดือนสังขารก็ทรุดโทรมสิ้นกำลัง เลยเป็นลมปัตยุบันสิ้นชีพลงเมื่อ ๒๕ มิ.ย. ๒๔๘๒ เธอจัดการทำบุญสตมวารศพมารดาเสร็จแล้ว ความพยายามพบปะสามีก็มีได้ผล พอดีได้รับจดหมายจากสามี (ผ่านสันติบาล) ให้รีบอพยพขนของจากชัยนาทกลับกรุงเทพฯ เธอจึงอพยพมาอยู่บ้านตลาดขวัญ นนทุบรี ซึ่งหมู่ญาติของเธอเรียกว่าบ้านบน เพราะเธอยังมีบ้านอีกแห่งหนึ่งที่ถนนตะนาวในพระนคร ซึ่งเรียกว่าบ้านล่าง
   เมื่อย้ายมาอยู่บ้านบนแล้ว เธอก็ค่อยคลายความวิตกทุกร้อนลงบ้าง เพราะมีโอกาสปฏิบัติบำรุงสามีซึ่งขณะนี้ต้องขังระหว่างคดีอยู่ที่เรือนจำลหุโทษ ด้วยการนำเอาหารไปส่ง และจัดหาสิ่งของที่เขาต้องการใช้ในเรือนจำส่งเข้าไปให้ มันเป็นความสุขที่สามารถทำธุระเล็กๆ น้อยๆ ให้เขาได้ และยังมีทางจะสืบทราบความเป็นไปของเขาจากเจ้าหน้าที่เรือนจำ ซึ่งแม้จะไม่ยอมเปิดเผยข้อความเกินกว่าเขตต์ความรับผิดชอบของตน ก็ยังแสดงความเอื้อเฟื้อพอสมควร นอกจากปฏิบัติหน้าที่เพื่อสามีแล้ว ที่มาแห่งความชื่นใจของเธอก็คือ ได้ชื่นชมบุตร วินิจและวินัยกำลังทำให้แม่ชื่นใจด้วยความขยันหมั่นเพียรในการเรียน วิภาคบุตรคนที่ ๓ นั้นช่างฉอเลาะ เฉลียวฉลาด ใครเห็นใครรัก เคยเป็นหัวแก้วหัวแหวนของยาย และกำลังเป็นหัวใจของเธอ ครั้นวันหนึ่งในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ขณะเตรียมการทำบุญออกพรรษา และเตรียมอาหารกับสิ่งของไปส่งสามี วิภาคซึ่งอายุเพียง ๕ ขวบได้พลัดตกน้ำ น้ำพัดเข้าไปขัดกับพื้นชานเรือนโผล่ขึ้นไม่ได้ กว่าเธอจะรู้และค้นหาตัวพบ วิภาคก็ขาดใจตามยายไปเสียแล้ว เธอไม่มีกำลังใจพอจะทนดูสถานที่ๆ ล้างผลาญชีวิตบุตร และซึ่งเป็นที่ตายของมารดาต่อไปได้ เมื่อทำบุญศพบุตรเสร็จแล้ว ได้พาบุตรที่เหลืออยู่อพยพไปอยู่บ้านที่ถนนตะนาว

   การขนย้ายสิ่งของจากบ้านบนมาบ้านถนนตะนาว ยังไม่ทันเรียบร้อยก็ไดรับข่าวร้ายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ ๒๓ พฤศจิกายน ๘๒ ว่าศาลพิเศษตัดสินจำคุกสามีเธอไว้ตลอดชีวิต
   จำคุกตลอดชีวิต! เธอแทบไม่เชื่อว่ามันเป็นความจริง ระหว่างเวลาที่ศาลพิเศษกำลังพิจารณาคดีของสามี เธอพยายามทุกวิถีทางที่จะช่วยเขาในการพิศูจน์ตนให้พ้นจากความผิด เธอได้ค้นหาหลักฐานเพื่อหักล้างคำกล่าวหาของโจทก์ ยิ่งได้สืบค้นเรื่องราวของสามีถี่ถ้วนดังนี้แล้ว เธอก็ยิ่งแน่ใจว่าสามีของเธอมิได้กระทำความผิดดังข้อกล่าวหาของโจทก์นั้นเลย เธอไม่สามารถจะเข้าใจอย่างอื่นนอกจากว่า การที่สามีถูกตัดสินเช่นนั้นก็เพราะถูกแกล้ง แม้ว่าบัดนี้ไม่ได้รับความยุติธรรมจากศาลพิเศษ แต่ในโลกนี้ย่อมต้องมีความยุติธรรม และในประเทศนี้ควรมีความยุติธรรม เธอตั้งใจจะเปิดเผยความจริงทั้งหมดเท่าที่เธอรู้เพื่อให้คนที่แกล้งใส่ร้ายสามีต้องได้รับอาญา เธอจึงนำหลักฐานทั้งหมดไปหาทนาย ขอร้องให้ยื่นฟ้อง แต่ทนายเห็นว่าการฟ้องร้องน่าจะไร้ผลในเมื่อรัฐเป็นจำเลยหรือมีส่วนเป็นจำเลย จึงชี้แจงห้ามปรามจนเธอใจอ่อน จำใจระงับเรื่องไว้ด้วยความขมขื่น
   นับแต่วันที่สามีถูกจับในคดีกบฏ ความขมขื่นเกิดขึ้นแก่เธอในด้านการสมาคม มิได้น้อยกว่าความขมขื่นที่รู้ว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ผู้ที่เคยคบหาสมาคมกับเธอพากันตีตัวออกห่าง แม้แต่ญาติมิตรบางคนก็หันหน้าหนี เขาเกรงกันว่า ถ้าติดต่อไปมาหาสู่กับเธอก็จะทำให้ตำรวจสันติบาลเห็นว่าเป็นผู้ใกล้ชิดกัน อาจจะปั้นเรื่องใส่ร้ายหาว่าเป็นกบฏร่วมกันสามีของเธอด้วย ฉะนั้นญาติและมิตรสหายแม้จะมีมาเยี่ยมเยือนบ้าง โดยมาก็เพื่อหวังประโยชน์มิอะไรก็อะไรจากเธอ มิฉะนั้นก็หามีใครระลึกถึงเธอไม่ แม้แต่ทำศพมารดาเพียงแต่จะลงนามสกุลของสามีท้ายชื่อเธอในบัตรเชิญ ก็มีการถกเถียงกัน โดยเกรงจะมีมีใครไปในงาน เธอยืนยันไม่ยอมลงชื่อโดยไม่มีนามสกุลวินิจนัยภาค จึงจัดพิมพ์บัตรเชิญขึ้นต่างหาก มีนามสกุลของสามีต่อชื่อเธออย่างเปิดเผย มิใจใครจะมาหรือไม่ก็ตามใจ

   ด้วยความขมขื่นดังกล่าวมาแล้ว ทำให้เธอเกิดทิษฐิมานะในการครองชีพ โดยเห็นอยู่แล้วว่าเป็นการยากเพียงใดที่จะพึ่งพาอาศัยผู้อื่น การประหยัดตัดรายจ่ายให้เหลือน้อยที่สุดเป็นสิ่งจำเป็นและต้องกระทำด้วยความเด็ดขาดอดทน ดังนั้น คนใช้และคนอาศัยอยู่ในบ้านจึงต้องระบายออกหมด คงเหลือแต่ตัวเธอกับบุตรเล็ก ๆ ๔ คน อายุเพียง ๑๒ – ๑๐ -๔ – ๒ ปีโดยลำดับ บุตรคนที่ ๑ และที่ ๒ ต้องทำหน้าที่ช่วยเหลือการงานในบ้าน เพื่อให้เธอมีเวลาปลีกตนไปทำธุระนอกบ้านเกี่ยวกับทรัพย์สินและการค้างบางอย่าง ซึ่งแต่ก่อนงานเหล่านี้เป็นหน้าที่ของสามีเธอ แต่การที่จะไปทำธุระนอกบ้านโดยปราศจากกังวล เช่นที่เป็นภาวะของสามีนั้นหากระทำได้ไม่ เพราะหน้าที่แม่เรือนยังผูกพันอยู่ บุตรคนโดยที่พอจะอาศัยแรงได้บ้างก็ต้องไปโรงเรียน บางครั้งเธอก็จำเป็นต้องทิ้งบุตรอายุ ๔ ขวบ ไว้ให้เป็นผู้เฝ้าบ้านและเลี้ยงน้อง การที่ภาระของพ่อบ้าน, แม่บ้าน, มารดา, นายจ้าง, ลูกจ้าง ประดังมาตกอยู่ที่เธอผู้เดียว ย่อมเป็นภาวะอันแทบจะเหลือทน อาจกล่าวได้ว่า ด้วยเหตุสามีต้องถูกจำคุกเธอจึงตกทุกข์ได้ยากแสนลำบากกรากกรำยิ่งกว่าสามีขึ้นไปอีก และมิใช่แต่เพียงหาเลี้ยงบุตรอย่างเดียว ยังจะต้องทำอาหารคาวหวานส่งสามีที่คุกบางบวางอีกอาทิตย์ละครั้งมิได้ขาด
   ดูประหนึ่งความทุกข์ยากในเวลาบ้านเมืองปกติยังไม่เพียงพอที่จะโชคชาตาจะใช้เป็นเครื่องวัดความทรหดของเธอ จึงบันดาลให้เธอต้องได้พบเคราะห์กรรมในเวลาที่ประเทศอยู่ในสภาพสงครามและวิกฤติกาลต่างๆ โดยฐานะและความสวบสุขของเธอต้องถูกทำลายลงอีกเรื่อยๆ ไป ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ขณะเตรียมจะทำศพมารดา เกิดหตุพิพาทไทย-อินโดจีนของฝรั่งเศส เป็นประเดิมเริ่มแรกที่ชาวไทยจะถูกสอนให้รู้สึกหวั่นภัยทางอากาศด้วยการพรางไฟ ดับไฟ และเสียงสัญญาณ “หวอ” เธอต้องเลื่อนงานศพไปทำเมื่อเสร็จศึก ครั้นวันที่ ๘ ธ.ค. ๒๔๘๔ญี่ปุ่น ยกกองทหารเข้าประเทศสยาม ประชาชนพากันแตกตื่นหนีออกนอกพระนคร เธอเองก็พากันแตกตื่นหนีออกนอกพระนคร พาบุตรหนีขึ้นไปอยู่บ้านบนจนปี พ.ศ. ๒๔๘๖ เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ต้องโกลาหลขนของหนีน้ำทั้งบ้านบนและบ้านล่าง ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ ภัยทางอากาศเริ่มมีมาบ่อยๆ เธอก็ต้องพาบุตรขึ้นๆ ล่องๆ อยู่ระหว่างบ้านบนกับบ้านล่าง และในที่สุดเห็นว่าการอยู่กรุงเทพฯ น่าจะไม่พันภัยแน่แล้ว เธอจึงตัดสินใจอพยพขนสิ่งของทั้งปวงจากบ้านล่างซึ่งซ่อมเสร็จใหม่ๆ มาอยู่บ้านบนเป็นประจำ

   ยังจัดของเข้าที่ไม่เรียบร้อย ความกรากกรำทั้งทางกายทางใจก็ทำให้เธอล้มเจ็บลง เริ่มในเดือนมกราคมด้วยการเป็นไข้ กินไม่ได้นอนไม่หลับ กำลังกายลดน้อยถอยลงและสังขารทรุดโทรมลงโดยลำดับ จนถึงเดือนมิถุนายนก็อยู่ในอาการเพียบหนักถึงลุกไม่ขึ้น และต่อๆ มาอาการก็มีแต่ทรงกับทรุด แล้วก็สิ้นใจเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๘๗ เวลา ๐๔.๐๐ น. คำนวณอายุได้ ๔๒ ปี
   ความทุกข์ร้อนเศร้าโศกต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว เธอพยายามปกปิดสามีมิให้รู้ด้วยเกรงใจสามีจะพลอยเกิดความทุกข์ เพิ่มทุกข์ที่มีอยู่แล้วในฐานะของนักโทษ เธอปลอบขวัญบรรเทาทุกข์ของสามีด้วยการเล่าเรื่องข่าวดีไปให้เขาทราบอยู่เสมอ อาการป่วยไข้ของเธอตั้งแต่ต้นจนถึงวันตายเธอพยายามปิดบังมิให้เขาทราบ ญาติพี่น้องของเธอซึ่งได้เฝ้าพยาบาลอยู่ ได้ให้ถ้อยคำแก่สามีของเธอในภายหลังว่า เธอตายด้วยความกรากกรำ ซึ่งร่างกายทนสู้ไม่ได้ ขณะสิ้นใจก็เต็มไปด้วยความอาลัยโศกสลดที่ไม่ได้เห็นหน้าและสั่งเสียสามี และด้วยความเป็นห่วงสามีที่อยู่ในคุก ทั้งห่วงบุตรเล็ก ๆที่ถูกทิ้งไว้ให้ว้าเหว่อยู่กับป้าๆ ซึ่งต่างก็รอคอยบิดาด้วยความหวังอันยังมืดมัว ว่าจะได้ออกมาอุปการะเลี้ยงดุตนแทนมารดาผู้ล่วงลับ

   ข้าพเจ้าผู้บันทึกนี้เป็นเพียงเพื่อนผู้หนึ่งของนายยันต์ วินิจนัยภาค เป็นฐานะอันดูยังไม่เพียงพอแก่เกียรติยศที่ได้รับมอบงาน แต่สิ่งที่เพียงพอแก่การขวนขวายของข้าพเจ้าที่จะบรรยายเรื่องของผู้ตายให้ได้ความดีที่สุด ก็คือประวัติของผู้ตายเอง ประวัติเช่นนี้แม้ว่าเจ้าของเองมิใช่ผู้เรืองนามเมื่อยังมีชีวิต ก็อาจเรืองนามขึ้นได้เมื่อหาชีวิตไม่แล้ว เพราะอนุชนชั้นหลัง แม้เป็นเพียงผู้บังเอิญมาได้ทราบประวัติโดยขาดความสนใจอยู่เดิม ก็คงมิวายเห็นว่าเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์อันดีแห่งชีวิต โดยเตือนให้รู้ถึงการบำเพ็ญกรณีกิจที่เคยมีผู้ปฏิบัติมาแล้วโดยเต็ม ซึ่งกอบด้วยคติธรรมโดยนิยม เช่นความเสียสละตนเพื่อสามีและบุตร โดยเยี่ยงนี้ยอดนารีของไทยหลายคนได้ประพฤติมา ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงมีความรู้สึกในขณะเขียนว่า วิญญาณที่ล่วงลับดวงนี้เป็นวิญญาณของวีรสตรี

                        นิมิตรมงคล
                        ๒๐ ม.ค. ๙๐


จากหนังสืออนุสรณ์งานศพ นางเนย วินิจนัยภาค ๒ เมษายน ๒๔๙๐



กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 เม.ย. 17, 07:35
.


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 เม.ย. 17, 07:41
.


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 เม.ย. 17, 07:43
คำนำ
(เขียนตั้งแต่ยังต้องโทษอยู่ในเรือนจำ)

   ข้าพเจ้าสามีผู้ตาย ถูกขังเดี่ยวในห้องกรงเหล็กตั้งแต่วันถูกจับจนถึงวันเธอสิ้นใจ เป็นเวลา ๕ ปี ๑ เดือน ๘ วัน แลยังจะต้องถูกขังต่อไป อีกช้านานเท่าไรไม่ทราบ ทางการห้ามเด็ดขาดนอกจากผู้คุมแล้วไม่ให้พูดจากติดต่อกับผู้ใด การส่งข่าวสารไปมาก็เข้มงวด ส่งได้เดือนละครั้ง และก็ต้องผ่านการตรวจหลายชั้น ถ้ามีถ้อยคำที่เขานึกว่าเสียดสี ก็ถูกกักเอาไว้เป็นหลักฐาน ที่ให้ผ่านได้ก็กินเวลาถึง ๖ เดือนจึงได้รับตอบ บางครั้ง ๘ เดือนก็มี ถ้ามีเรื่องจำเป็นแลรีบร้อน ต้องใช้วิธีสื่อสารกันทางลับ เรียกว่าเรือใต้น้ำ แม้ค่าธรรมเนียมจะมากก็ต้องทนสู้บ้างบางครั้ง ด้วยเหตุเหล่านี้ ข้าพเจ้าจึงมีโอกาสสื่อสารกับเธอได้น้อย ส่วนการพบปะเห็นหน้าตากันไม่ต้องกล่าวถึง เพราะอยู่ในห้องขังทั้งกลางวันและกลางคืนตลอดมา แม้แต่เจ็บเป็นลมเกือบจะเอาชีวิตไว้ไม่ได้ เขาก็ไม่อนุญาตให้พบสั่งเสียภริยาและบุตร จึงไม่มีโอกาสจะเห็นหน้าเธอก่อนสิ้นใจ จะเห็นก็แต่คุณงามความดีที่เธอได้สร้างสมไว้อวดสามีคือ ซื่อสัตย์สุจริตต่อสามีตลอดมาจนสิ้นลมหายใจ รักษามาตรฐานแห่งการครองชีพไว้ได้เป็นอย่างดี มานะอดทนต่อการงานเพื่อความเจริญอย่างที่เรียกว่ารักงานยิ่งกว่าชีวิต จัดการดูแลปกครองทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนวินาศภัยครั้งนี้ เหมาะสมกับเหตุการณ์อย่างน่าชมเชย ปกครองอบรมบุตรให้ได้รับการศึกษาเป็นที่น่าพึงพอใจ ส่งเสียสามีอยู่ในคุกตลอดมาจนวาระสุดท้าย คือลุกไม่ขึ้น
   เมื่อข้าพเจ้าได้รับข่าวการตายของเธอ และระงับจิตต์ใจไว้ได้แล้ว มาคิดเห็นว่าในภาวะที่ถูกขังเหมือนสัตว์ในกรงเช่นนี้ ไม่มีทางอื่นที่จะสนองคุณงามความดีของเธอได้ นอกจากจะเขียนหนังสือที่พอจะเป็นสาธารณประโยชน์ เท่าที่สามารถจะทำได้ จึงได้พยายามเขียนเรื่อง “ศาสนาเป็นที่มาของกฎหมาย” การเขียนครั้งนี้ ไม่มีตำหรับตำราพอที่จะอ้างอิง เท่าที่หาได้ก็เป็นไปด้วยกิริยาลอบลัก เพราะทางการเขาไม่ต้องการให้นักโทษประเภทพวกข้าพเจ้าได้รับการศึกษา ฉะนั้นจึงต้องมีการบกพร่องบ้างเป็นธรรมดา แต่ขอเอาความหวังดีแลความขัดข้องต่างๆ เป็นข้ออ้างขออภัยท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย
   การเขียนเรื่อง “ศาสนาเป็นที่มีของกฎหมาย” นี้ได้รับความกรุณาจาก น.ช. หอมจันทร์ สรวงสมบูรณ์ (พระวุฑติกาคภักดี) เพื่อนร่วมนรกมนุษย์ด้วยกัน ช่วยตรวจแก้หลักการเกี่ยวกับศาสนาให้จึงละเว้นเสียซึ่งความขอบคุณท่านมิได้




กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 เม.ย. 17, 08:58
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1416388065091554&id=1174884455908584&substory_index=0


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 เม.ย. 17, 08:59
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1417459504984410&id=1174884455908584


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 24 เม.ย. 17, 09:49
หนังสือ ศาสนาเป็นที่มาของกฎหมาย นี้ ผมสนใจอยากจะได้มาอ่านครับ เพราะว่า ผมเคยเอาพระไตรปิฎก (ฉบับประชาชน) เล่มพระวินัยมาอ่าน แล้วก็พบว่า สิกขาบทเกี่ยวกับการกระทำผิดวินัยของพระ มีหลักการหลายอย่างคล้ายคลึงกับฐานความผิดในทางอาญา โดยเฉพาะหลักเจตนาครับ กล่าวคือ ในทางอาญาการกระทำที่จะถือเป็นความผิด นอกจากกะมีองค์ประกอบภายนอก คือการกระทำแล้ว ยังต้องมีองค์ประกอบภายใน คือมีเจตนา คือมีสำนึกรับรู้การกระทำของตนด้วย ตัวอย่างง่ายก็เหมื่อนวลีที่พูดกันทั่วไปครับว่า "ละเมอ(ถ้าเป็นการละเมอจริงๆนะครับ)ฆ่าคนตายก็ไม่ผิด"

พระวินัยก็เช่นกันครับ พระภิกษุจะต้องอาบัติก็ต้องมีองค์ประกอบด้านการกระทำ และด้านความรู้สำนึก คือเจตนาเหมือนกัน ผมจึงเชื่อว่า ศาสนาเป็นที่มาของกฎหมาย จริงๆ เพียงแต่กฎหมายของประเทศไทย ผ่านยุคการปรับปรุงให้เป็นระบบกฎหมายตะวันตก เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตมาก่อน ดังนั้น ศาสนา ที่เป็นที่มาของกฎหมายไทยจึงอาจจะไม่ใช่ พระพุทธศาสนา เสียทั้งหมด แต่ผสมศาสนาทางตะวันตกเข้ามาด้วยอยู่มาก

อันนี้ คือความคิดผมนะครับ

เมื่อเห็นชื่อหนังสือ ศาสนาเป็นที่มาของกฎหมาย จึงสนใจอยากอ่านความเห็นของท่านบ้าง หนะครับ


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 เม.ย. 17, 11:38
ตามนี้เลยครับ



https://archive.org/details/unset0000unse_u7m2


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 24 เม.ย. 17, 15:39
ขอบพระคุณครับ


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 25 เม.ย. 17, 10:46
ได้อ่านหนังสือแล้วครับ จับใจความได้ดังนี้ครับ

1. หนังสือเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ หากมนุษย์ไม่อยู่ร่วมกันและปฏิบัติหน้าที่เกื้อกูลกัน มนุษย์แต่ละคนย่อมไม่สามารถอยู่รอดได้
2. เมื่อมนุษย์ต้องอยู่รวมกันเป็นสังคม ก็ต้องมีการกำหนดข้อบังคับสำหรับความสงบสุขของสังคมนั้น
3. เกิดหลักศาสนา
4. มีการแยกข้อบังคับเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ออกจากหลักศาสนา ข้อบังคับที่แยกออกมาก็คือ กฎหมาย
5. ศีล 5 ทั้งหมด บัญญัติเป็นฐานความผิดในกฎหมายอาญาทั้งสิ้น
5. บุญและบาป บุญคือสิ่งที่กระทำแล้วเกิดผลดี สมควรกระทำ บาปคือสิ่งที่กระทำแล้วเกิดผลร้าย ไม่สมควรกระทำ
6. หลักความไม่รู้กฎหมายไม่เป็นข้อแก้ตัว เมื่อทำผิดกฎหมายแล้ว จะอ้างว่า ตนไม่รู้กฎหมายไม่ได้
7. แต่กฎหมายมีมากมาย คนทั่วไปคงเรียนรู้ได้ไม่หมด เช่นนั้น จะทำอย่างไรจึงจะไม่ทำผิดกฎหมาย คำตอบคือ พึงถือศีล 5 ให้เคร่งครัดเข้าไว้
8. ตั้งแต่หน้าที่ 45 เหมือนจะเป็นการเล่าถึงประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียน คือ ถึงจะถือศีล 5 บริบูรณ์ก็อาจถูกคนพาลเล่นงานเอาได้ แต่ก็อย่าย่อท้อ


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 เม.ย. 17, 11:01
มีสาระดีนะครับ ขอบคุณที่สรุปมาถ่ายทอด ผมชอบตอนที่ว่า ถึงจะถือศีล 5 บริบูรณ์ก็อาจถูกคนพาลเล่นงานเอาได้ แต่ก็อย่าย่อท้อ

อยากขอเพิ่มนิดนึงว่า แม้นจะไม่ใช่ภัยพาล ก็อาจจะโดนภัยอย่างอื่นได้เช่นกัน แต่ก็อย่าย่อท้อจนเลิกถือศีล


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 17, 16:41
คุณตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด ได้เข้าไปในFBของผมขณะที่กำลังเรื่องเดียวกับกระทู้นี้อยู่ โดยท่านได้เข้าไปตอบคำถามที่มีคนถามผมว่าไม่มีรูปท่านผู้พิพากษายันต์ วินิจนัยภาคหรือ แล้วผมตอบว่าน่าเสียดายที่ผมหาไม่ได้ โดยท่านได้ต่อการสนทนาว่าดังนี้

รูปคุณพ่อครับ
คุณแม่เนย ผมเรียกท่านว่า "แม่ใหญ่"
หลังจากท่านสิ้นชีวิต คุณพ่อได้แต่งงานกับคุณแม่ผมเมื่อได้รับนิรโทษกรรม หลังจากเป็น "นักโทษชาย นช." อยู่ 5 ปี 5 เดือน หย่อน 5 วัน (คุณพ่อเล่าให้ฟังตอนผมเล็กๆ) ..มีผมเป็นลูกชายคนโต

ส่วนลูกชายคนโตคุณแม่เนย คือ ดร. วินิจ วินิจนัยภาค อดีตรองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายที่ประทับ และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา แต่เสียชีวิตจากเครื่องบินเลาด้าตกที่ ด่านช้าง สุพรรณบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2533 ครับ


กระทู้: ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 17, 17:58
 :)