เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์โลก => ข้อความที่เริ่มโดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.พ. 13, 13:09



กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.พ. 13, 13:09
ซายาอาจารย์เพ็ญชมพู(ตัวจริง) จะไม่เล่าเรื่องของทะขิ่นอองซาน หรืออู อองซาน หรือบายหยก อองซาน หรือนายพลอองซาน วีรบุรุษหมายเลข๑ ของพม่าสักหน่อยหรือครับ

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5490.0;attach=38916;image)

ประวัติทะขิ่นอองซาน หรือ อูอองซาน หรือ โบจ๊อกอองซาน (Bogyoke-ไม่ใช่บายหยกเน้อ  ;)) หรือ นายพลอองซาน ยาวนะ

ถ้าท่านซายานวรัตน อยากจะฟัง ก็จะเล่า

โปรดติดตามด้วยใจระทึก

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5510.0;attach=38733;image)



กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.พ. 13, 15:14
เมื่ออองซานซูจี หญิงแกร่งแห่งพม่า บุตรีของอูอองซาน อายุได้ ๒ ขวบ  พ่อของเธอก็ถูกลอบสังหาร  เธอเล่าไว้ในบทความ “่พ่อของฉัน” จากหนังสือ Freedom from Fear ว่าตอนนั้นเธอยังเด็กเกินกว่าที่จะจำความได้  แต่เธอพยายามเก็บข้อมูลของพ่อผ่านหนังสือและพูดคุยกับคนที่รู้จักพ่อ

ต่อไปนี้เป็นประวัติของพ่อของเธอ
 
อูอองซานเกิดวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๘  ที่เมือง นะม็อก (Natmauk) ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ในเขตกันดารตอนกลางของพม่า  ปีนั้นครบรอบสามสิบปีที่อังกฤษเข้าปกครองพม่า อูอองซานเป็นลูกชายคนที่หก ซึ่งเป็นคนสุดท้องของครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ วัยเด็กอูอองซานเรียนเก่ง ฉลาด ผลการเรียนยอดเยี่ยม ทำงานหนัก และมีวินัยในตัวเองสูง

ตอนเด็ก ๆ ด้วยความที่อยากเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งจะต้องย้ายไปอยู่เมืองอื่น อูอองซานตัดสินใจประท้วงแม่ด้วยการอดอาหาร เพราะแม่ไม่ยอมให้ไปอยู่ไกล แต่ที่สุดประท้วงสำเร็จและได้ย้ายไปเรียนที่เมือง เยนานชอง (Yenangyuang) สมความตั้งใจ ตอนเป็นเด็ก อูอองซาน เขียนหนังสือระบายความในใจหลายหนว่า ฝันถึงวิธีการต่าง ๆ นานา ที่จะต่อต้านและขับไล่อังกฤษออกจากประเทศ บางครั้งถึงขั้นจินตนาการว่าอยากจะมีมนต์วิเศษเพื่อบันดาลให้ฝันเป็นจริง

เมื่อได้รับทุนเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมแห่งชาติ อูอองซาน เริ่มสนใจการกล่าวสุนทรพจน์ของนักการเมืองดัง ๆ และเข้าร่วมโต้วาทีในประเด็นการเมือง จากนั้นเริ่มเป็นบรรณาธิการวารสารของโรงเรียน ด้วยผลการเรียนยอดเยี่ยมในวิชาภาษาพม่าและบาลี อองซานได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งย่างกุ้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕

ช่วงชีวิตในมหาวิทยาลัย อูอองซานเข้าร่วมกิจกรรมหลายอย่างเช่นการกล่าวสุนทรพจน์เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นเรื่องที่เขามักถูกเยาะเย้ยอยู่เสมอ เนื่องจากสำเนียงที่เขาพูดแปลก ๆ  แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ หมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ

ในช่วงนั้นนักศึกษาพม่าตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น บรรยากาศเต็มไปด้วยการถกเถียงเรื่องความรักชาติ  พ.ศ. ๒๔๗๘-๒๔๗๙ กลุ่มนักศึกษาแนวชาตินิยมได้ขึ้นเป็นแกนนำของสหภาพนักศึกษา และอูอองซาน ได้ตำแหน่งเป็นบรรณาธิการวารสาร Oway ของสหภาพนักศึกษาพม่าในยุคนั้น

ช่วงนั้นวารสารตีพิมพ์บทความชิ้นหนึ่งชื่อ  Hell Hound at Large หรือ หมานรกลอยนวล ซึ่งได้กลายเป็นชนวนให้เกิดเหตุประท้วงไปทั่วมหาวิทยาลัยใน พ.ศ. ๒๔๗๙ เนื้อหาของบทความโจมตีเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย ทำให้ผู้บริหารตามหาตัวผู้เขียนกันจ้าละหวั่น อูอองซานในฐานะบรรณาธิการ บอกว่าเป็นเรื่องผิดจรรยาบรรณของสื่อมวลชนที่จะเปิดเผยตัวผู้เขียน ตอนแรกอูอองซานถูกบีบให้ลาออก แต่ไม่ยอม กลุ่มแนวร่วมนักศึกษาเริ่มก่อการประท้วงเพราะไม่พอใจผู้บริหาร เหตุการณ์นี้ทำให้ทั้งประเทศจับตามอง หนังสือพิมพ์เผยแพร่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยแสดงความเห็นใจนักศึกษา  ขณะเดียวกันกลุ่มนักการเมืองของพม่าก็เริ่มเห็นถึงแววและพลังทางการเมืองของนักศึกษา รัฐบาลเองถูกกดดัน ในที่สุดผู้อำนวยการของมหาวิทยาลัยต้องลาออก

จากการประท้วงครั้งนั้น อูอองซานกลายเป็นผู้นำนักศึกษา และเริ่มมีตำแหน่งทางการเมืองในฐานะประธานสหภาพนักศึกษาระดับประเทศ

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)




กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.พ. 13, 15:43
เมื่อจบปริญญาตรี พ.ศ. ๒๔๘๑ อูอองซานเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มการเมือง "เราคือชาวพม่า"  (Dobama Asiayone) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของคนรุ่นหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าที่สนใจการเมืองแต่ไม่ต้องการเข้าร่วมกับนักการเมืองอาวุโสซึ่งขาดความกล้าหาญ กลุ่มเราคือชาวพม่าต้องการเป็นศูนย์รวมของคนรุ่นใหม่ที่รักชาติ

ช่วง พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๘๒ เกิดเหตุวุ่นวายในพม่ามากมาย เช่นการเดินขบวนของชาวไร่ชาวนาที่กรุงย่างกุ้ง นักศึกษาประท้วง โรงเรียนหยุดประท้วง การปะทะกันระหว่างชาวพม่าและชาวมุสลิมเชื้อสายอินเดีย การประท้วงของคนงาน ซึ่งทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ แต่ละกลุ่มแตกก๊กแตกเหล่าเพราะอิจฉากัน 

อูอองซานได้รับอิทธิพลจากแนวคิดมาร์กซิสต์และแนวนิยมซ้ายพอสมควร แต่เขาพยายามไม่ฝักใผ่ฝ่ายใด และพยายามยึดมั่นอยู่กับการนำพาพม่าให้ได้รับอิสรภาพ

ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๒  กำลังเกิดสงครามในยุโรป อาณานิคมเริ่มสั่นคลอน อูอองซานร่วมกับบามอ (Ba Maw) อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่าในสมัยที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ จัดตั้งพรรคกลุ่มเสรีภาพ  โดยบามอเป็นประธานพรรค อูอองซานเป็นเลขาธิการพรรค เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้นในยุโรป พรรคกลุ่มเสรีภาพประกาศไม่ช่วยอังกฤษรบ บามอถูกจำคุกใน พ.ศ. ๒๔๘๓ ส่วนอูอองซานหนีรอดไปได้

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)




กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 07 ก.พ. 13, 16:43
นักเรียนมากันเต็มห้องเลยครับ  ;D


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.พ. 13, 16:57
เอ ! เห็นอยู่คนเดียว   ;)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.พ. 13, 18:12
อองซานซูจี เล่าในบทความ “พ่อของฉัน” ว่า

ในช่วงแรกของการต่อสู้ อูอองซานหวังไว้ในใจว่าไม่อยากเห็นการปะทะ ความรุนแรง หรือ การนองเลือด และหวังจะเห็นความเปลี่ยนแปลงผ่านเครื่องมือทางการเมืองอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ แต่เมื่อสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไป อูอองซานเริ่มเปลี่ยนความคิด และใน พ.ศ. ๒๔๘๓ เขาได้เขียนระบายความในใจว่า

"ความเปลี่ยนแปลงต้องเกิดจากภายในพม่าเอง โดยต้องรวบรวมผู้คนให้ออกมาเดินขบวนตามท้องถนน เพื่อแสดงพลังต่อต้านอังกฤษ และขณะเดียวกันต้องร่วมมือกับต่างประเทศ และร่วมมือกับแรงงานภาคอุตสาหกรรม ชาวชนบท ชาวไร่ ชาวนา และคนในเมือง ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแสดงอารยะขัดขืนอย่างพร้อมเพียง ขณะเดียวกันก็ต้องคว่ำบาตรไม่ใช้สินค้าอังกฤษ และต้องเขย่าอังกฤษด้วยการโจมตีในลักษณะกองโจร เพื่อต่อต้านทหาร พลเรือน ตำรวจ และการสื่อสารทั้งมวลในประเทศ การกระทำเป็นระบบเช่นนี้จะทำให้อังกฤษต้องช็อก และหมดจากอำนาจไปโดยปริยาย  และมีความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะบุกพม่าด้วย"

อูอองซานเองยอมรับว่าแผนการณ์ของตนนั้นยิ่งใหญ่เกินตัว และสหายผู้ร่วมอุดมการณ์ไม่ค่อยเห็นด้วยนัก  เพราะความไม่คล่องตัวที่จะต้องปลุกเร้าการเดินขบวนประท้วงในระดับมวลชน ซึ่งต้องใช้พลังค่อนข้างมาก แต่เขายืนกรานว่าต้องหาทางให้กลุ่มแนวร่วมรักชาติมีอาวุธเพื่อปฏิบัติการณ์แบบกองโจร และในที่สุดที่ประชุมตกลงกันว่าต้องหาตัวแทนหนึ่งคนออกไปนอกพม่า เพื่อจัดหาอาวุธและความช่วยเหลือ ความที่อูอองซานเป็นผู้เสนอความคิดนี้ จึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ลงมือ

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ อูอองซานและพรรคพวกเดินทางออกจากพม่าทางเรือ และไปขึ้นฝั่งที่ เอ้หมึง (Amoy) ของจีน และปักหลักอยู่ที่นั่นในช่วง ๒-๓  เดือนเพื่อสร้างสัมพันธ์กับกลุ่มคอมมูนิสต์จีน ความพยายามนั้นไม่สำเร็จ แต่กลับได้รับการติดต่อจากตัวแทนของญี่ปุ่นเพื่อเจอกับ เจ้าหน้าที่กองทัพของญี่ปุ่น พันเอกเคจิ ซูซูกิ (鈴木敬司) ผู้ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นผู้นำของกลุ่ม Minami Kikan (南機関-ตัวแทนทางใต้) ซึ่งเป็นองค์กรลับที่ได้รับมอบหมายให้ช่วยพม่าเพื่อให้ได้รับเอกราชและปิดถนนเข้าสู่พม่า

แต่การติดต่อกับญี่ปุ่นไม่ราบรื่นเสียทีเดียวสมาชิกพรรคกลุ่มเสรีภาพ เริ่มไม่ลงรอยกันว่าควรจะยอมรับความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นหรือไม่ แต่อูอองซานขอให้รับความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นไปก่อน แล้วดูว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป
 


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.พ. 13, 18:31
เพิ่งกลับถึงบ้านและได้เปิดอ่านครับ



กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.พ. 13, 19:34
Bogyoke แปลเป็นไทยว่านายพล ชื่อของท่านอองซานได้กลายเป็นชื่อตลาดเก่าแก่ขนาดใหญ่ของย่างกุ้ง ที่เดิมชื่อว่าตลาดสก็อต เมื่อไม่นานมานี้  คือ Bogyoke Aung San Market  ทัวร์ไทยรู้จักดีแต่เรียกชื่อต่างๆกัน มีตั้งแต่ โบจ๊ก  โบโจ๊ก โบฉก  โบฉ๊ก โบยก ไม่มีโบจ๊อกสักเจ้าเดียว

ไม่เชื่อลองคลิ๊กดู

https://www.google.co.th/#hl=th&tbo=d&output=search&sclient=psy-ab&q=%E0%B9%82%E0%B8%9A%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B8%81+%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%87+%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%99&oq=%E0%B9%82%E0%B8%9A%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B8%81+%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%87+%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%99&gs_l=hp.12...2964.13526.1.17717.14.14.0.0.0.0.148.1772.0j14.14.0...0.0...1c.1.2.hp.KBNa8GDg1WU&psj=1&bav=on.2,or.r_gc.r_pw.r_qf.&bvm=bv.42080656,d.bmk&fp=e73b2aa73a2d0139&biw=1280&bih=589

ผมไปคว้าเอาโบยกมาใช้ แต่ตอนแรกพิมพ์ผิดว่าใบยก นั่นก็แย่อยู่แล้ว ตอนอ่านตรวจทานยิ่งแย่ใหญ่ ใจไปนึกถึงตึกใบหยก แต่กลัวจะถูกหาว่ามั่วมากไปเลยเผลอไผลใส่เป็นบายหยก

จึงถูกอาจารย์ภาษาพม่าเล่นงานซะด้วยความชำนาญ


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.พ. 13, 19:36
ก่อนจะมาเป็นผู้นำนักศึกษา อองซานมาจากตระกูลชาวนา ที่ลุงแท้ๆของแม่(บางสำนวนบอกว่าปู่)เป็นดาค้อยท์ที่ถูกอังกฤษจับเอาไปตัดหัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝังจิตฝังใจตัวเขามาก ยามเด็กอองซานเป็นนักเรียนที่เรียนดีจนได้ทุนและสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งได้ วิชาที่สนใจเป็นพิเศษก็คือ ประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์

เมื่อเป็นนักศึกษา ลักษณะท่าทาง การแต่งกาย และการพูดจาของอองซานมีลักษณะเป็นคนบ้านนอก เรื่องนี้ทำให้ถูกเด็กเมืองหลวงหัวเราะเยาะบ่อยๆ  ครั้งหนึ่ง หาญขึ้นไปโต้วาทีเป็นภาษาอังกฤษในหัวข้อ “พระสงฆ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง” ที่จัดโดยสหภาพนักศึกษา ความเป็นเด็กบ้านนอกเลยพูดผิดพูดถูก เมื่อคิดศัพท์อังกฤษไม่ออก ก็มั่วภาษาบาลีมาโต้ ถูกคนฟังก็ฮาป่า ถากถาง แต่หลังจากนั้น อองซานจึงมุฝึกภาษาอังกฤษ จนได้รับการยอมรับทั้งมหาวิทยาลัย สุดท้าย ถึงขนาดได้รับเลือกตั้งให้เป็นกรรมการบริหารของสหภาพนักศึกษา

ในขณะที่อองซานสร้างตนจนเป็นที่นิยมยอมรับ โดยเฉพาะในความเด็ดเดี่ยว กล้าและตรงไปตรงมา แต่หลายคนเห็นว่าอองซานเป็นคนน่ากลัวก็คือ การเป็นคนเงียบขรึมผิดปกติ บางทีก็ระเบิดอารมณ์ร้ายออกมาจนคนรอบข้างอยู่ใกล้กระเจิง นักศึกษาจำนวนหนึ่งวิจารณ์ว่าอองซานเป็นคนเพี้ยน แต่บางคนบอกว่าเขาบ้า


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.พ. 13, 19:43
ถึงอองซานจะบ้า จะเพี้ยนยังไง สังคมรอบตัวเขาก็ยังยอมรับ รักในความเสียสละ ในความรู้ ความพยายาม ที่มุ่งมั่นทำงานจนสำเร็จ  ที่สุดของที่สุดก็คือ ทุกคนชอบความตรงไปตรงมาของอองซาน


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 07 ก.พ. 13, 20:15

ในขณะที่อองซานสร้างตนจนเป็นที่นิยมยอมรับ โดยเฉพาะในความเด็ดเดี่ยว กล้าและตรงไปตรงมา แต่หลายคนเห็นว่าอองซานเป็นคนน่ากลัวก็คือ การเป็นคนเงียบขรึมผิดปกติ บางทีก็ระเบิดอารมณ์ร้ายออกมาจนคนรอบข้างอยู่ใกล้กระเจิง นักศึกษาจำนวนหนึ่งวิจารณ์ว่าอองซานเป็นคนเพี้ยน แต่บางคนบอกว่าเขาบ้า


ถ้าเป็นยุคนี้ คนแบบอองซานนี่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นติสต์  คือมีอารมณ์ศิลปิน การแสดงออกเลยไม่เหมือนคนทั่วไป มีแรงผลักดันที่มากกว่าคนปกติ  เป็นติสต์แท้ๆ ไม่ใช่แบบแอ๊บติสต์ให้ดูเท่ห์ตามแฟชั่นแบบที่วัยรุ่นไทยที่ชอบทำตัวแบบเด็กแนวทำกัน    คนที่ประสบความสำเร็จแบบไม่ธรรมดามักจะเป็นแบบนี้กันไม่น้อย  อย่างอีตาจ๊อบแห่งแอปเปิลนี่ก็ติสต์   :-* 


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.พ. 13, 20:47
ซายานวรัตนออกมาส่ง ซายาประกอบออกมาเสริมค่อยครึกครื้นขึ้นมาหน่อย

ซายาอื่นที่อยู่หลังห้อง ขอเชิญออกมาเสริมได้ทุกเมื่อ

 :D


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.พ. 13, 21:10
อูอองซานกลับไปที่พม่าในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ โดยปลอมตัวเป็นชาวประมงเชื้อสายจีน พร้อมกับข้อเสนอจากญี่ปุ่นว่าจะอบรมชายหนุ่มกลุ่มหนึ่งที่เต็มใจพร้อมจะลักลอบออกจากพม่า  ในที่สุดอองซานได้รวบรวมพรรคพวกในนามกลุ่ม "เพื่อนสามสิบ"  (Thirty Comrades) ตัดสินใจออกจากพม่า เพื่อรับการฝึกทางทหาร กลุ่มนี้ต่อมาได้กลายเป็นแกนนำเรียกร้องเอกราชให้กับพม่า ทั้งหมดเข้ารับการฝึกทางทหารอย่างหนักที่เกาะไหหลำ และที่นี่ความเป็นผู้นำของอองซาน ชัดเจนมากขึ้น อองซานพิสูจน์ตนเองว่าเป็นทหารที่มีทักษะสูง มีความกล้า และสมบุกสมบันมาก  เขาคอยสร้างขวัญและกำลังใจให้กับ "เพื่อนสามสิบ" ที่เข้ารับการฝึก

มีข้อมูลบันทึกโดย โบ จ่อ ซอ (Bo Kyaw Zaw) ในหนังสือ Burma in Revolt โดย Bertil Lintner เป็นเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในระหว่างกลุ่ม "เพื่อนสามสิบ" ทำการฝึกบนเกาะไหหลำ บันทึกว่า

"อองซานและเนวินมีปากเสียงกันบ่อยครั้งขณะทำการฝึกบนเกาะไหหลำ อองซานเป็นคนตรงไปตรงมา ส่วนเนวินเป็นคนหลักแหลม เป็นนักวางแผนมือฉกาจ อองซานมักจะมีความเห็นไม่ตรงกับเนวิน ที่เนวินมักทำตัวเป็นนักการพนันและเจ้าชู้ ซึ่งขัดกับบุคลิกของออง ซาน ส่วนพวกที่เหลือก็เห็นด้วยกับอองซาน แต่เพื่อเห็นแก่ส่วนรวมและความสามัคคีเราจึงต้องอยู่ร่วมกันให้ได้"

ในที่สุดกองทัพเพื่อเอกราชพม่า (Burma Independence Army-BIA) ซึ่งเป็นกองกำลังที่ประกอบด้วยผู้เข้ารับการฝึกจากค่ายที่ไหหลำ คนไทยเชื้อสายพม่า และสมาชิกกลุ่ม Minami Kikan เปิดตัวอย่างเป็นทางการที่กรุงเทพเมื่อธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ มีพันเอกซูซูกิเป็นผู้บังคับหน่วยและประสานงานกับกองทัพญี่ปุ่น อูอองซาน ซึ่งตอนนี้เรียกว่านายพลอองซานได้แล้ว รับหน้าที่ประธานเสนาธิการทหาร

นอกจากการจัดตั้ง BIA แล้ว กลุ่มเพื่อนสามสิบยังกรีดเลือดสาบานแล้วดื่มร่วมกัน ถือฤกษ์ถือยามเปลี่ยนชื่อ นายพลอองซานก็เปลี่ยนชื่อเป็น "โบทีซา" แปลว่า "นายพลที่มีอำนาจ" ชู หม่อง เปลี่ยนชื่อเป็น "โบเนวิน"แปลว่า "นายพลที่จรัสแสงดั่งดวงอาทิตย์"

กลุ่มเพื่อนสามสิบเปลี่ยนกันหมดก่อนออกศึกรบกับอังกฤษ

ภาพกลุ่มเพื่อนสามสิบ มีพระสงฆ์ร่วมอยู่ด้วย

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)




กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.พ. 13, 21:42
นายพลเนวินมีชื่อเดิมว่า ชู หม่อง เกิดเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ค.ศ.๑๙๙๑ เมื่อครั้งยังเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถม เขาเคยพยายามที่จะเผาโรงเรียนของตัวเองเนื่องจากไม่ชอบไปโรงเรียน เข้ามหาวิทยาลัยย่างกุ้งได้เพียงสองปีก็สอบไม่ผ่าน เลยต้องออกไปหางานทำ เมื่ออายุ ๓๐ ปี เข้าร่วมเป็นหนึ่งในกลุ่ม เพื่อนสามสิบ พร้อมกับนายพลอองซาน ไปฝึกการรบที่เกาะไหหลำภายใต้ความช่วยเหลือของกองทัพญี่ปุ่น
 
ด้วยนิสัยที่กร้าวร้าวตั้งแต่เด็ก เมื่อก้าวสู่อาชีพทหาร โดยเฉพาะหลังผ่านการฝึกหลักสูตรตำรวจลับร่วมกับกลุ่มสหายสามสิบในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว เนวินได้ก้าวหน้าในสายอาชีพนี้มาก สามารถเลื่อนฐานะและตำแหน่งทางการทหารอย่างรวดเร็ว จนได้ขึ้นเป้ฯผู้นำสูงสุดของกองทัพพม่าในปี ค.ศ.๑๙๔๙ หลังจากเริ่มเป็นทหารเพียง ๘ ปี

สุดท้าย ขึ้นมาครองตำแหน่งจอมผด็จการ และอยู่ในอำนาจถึง๒๖ปี นายพลเนวินจึงเป็นผู้ที่ชาวพม่าไม่มีวันลืมอีกคนหนึ่ง


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.พ. 13, 22:15
ซายานวรัตนออกมาส่ง ซายาประกอบออกมาเสริมค่อยครึกครื้นขึ้นมาหน่อย
ซายาอื่นที่อยู่หลังห้อง ขอเชิญออกมาเสริมได้ทุกเมื่อ
 :D
เชิญซายาทุกท่าน  ส่วนข้าพเจ้าขอตัวเฝ้าหลังสุดของหลังห้องต่อไป


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.พ. 13, 22:17
อองซานซูจี เล่าเรื่องของนายพลอองซานในบทความ "พ่อของฉัน" ต่อไปว่า

การต่อสู้ของพลเอกอองซานในการเข้าร่วมกับกองทัพญี่ปุ่นนั้นเต็มไปด้วยความเคลือบแคลงสงสัย และชั้นเชิงในการเจรจา  เมื่อกองทัพเพื่อเอกราชพม่า BIA เคลื่อนพลจากกรุงเทพเข้าสู่พม่า สมาชิกกลุ่มภายใต้การนำของนายพลอองซาน เริ่มรู้สึกแล้วว่าการเข้าร่วมกับญี่ปุ่นนั้นกลับนำปัญหามาให้  และการนำทหารญี่ปุ่นเข้าประเทศยิ่งเท่ากับไปเปิดทางให้ญี่ปุ่นบุกยึดพม่า และกลับกลายเป็นว่าญี่ปุ่นเป็นผู้ยึดครองที่โหดร้ายยิ่งกว่าอังกฤษเสียอีก  ชาวพม่าต้องรับชะตากรรมหนักกว่าเดิม มีคนพม่าถูกลักพาตัว ถูกทรมาน และถูกบังคับให้กลายเป็นแรงงาน แต่นายพลอองซานและกลุ่มเพื่อนสามสิบไม่ยอมให้เหตุการณ์เลวร้ายลงไปกว่าที่เป็นอยู่  และไม่ยอมเป็นเพียงหัวโขนให้กองทัพของญี่ปุ่นใช้เป็นประโยชน์ จึงตัดสินใจเผชิญหน้าเจรจากับนายพันซูซูกิ ผู้บัญชาการ BIA  ในที่สุดความพยายามก็สำเร็จและอองซานได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการสูงสุด

ในช่วงที่กองทัพ  BIA รุดหน้าทำงานในพม่านั้น ต้องเจอกับปัญหาด้านร่างกายมากมาย นายพลอองซานเองต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่กรุงย่างกุ้ง ซึ่งที่นี่เองที่ได้มีโอกาสได้พบกับพยาบาล มะขิ่นจี (Ma Khin Kyi) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นภรรยาของนายพลอองซาน และแม่ของซูจี  การมีคู่มีชีวิตนั้นทำให้เห็นด้านอ่อนโยนของนายพลอองซานมากขึ้น

ภาพนายพลอองซาน ภรรยา และบุตรชายคนแรก

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)





กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.พ. 13, 22:22
นายพลอองซาน มะขิ่นจี ภรรยา และลูกทั้งสาม  อองซานซูจี หน้าตาแป๋วแหววอยู่หน้าสุด  ;D


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.พ. 13, 22:33
ครอบครัวสุขสันต์   ;D


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.พ. 13, 22:38
กาลเวลาผ่านไป จากรุ่นสู่รุ่น จาก มะ เป็น ดอ

ดอขิ่นจีอุ้มหลานคนแรก ที่ย่างกุ้ง พ.ศ. ๒๕๐๗  อองซานซูจีเป็นสาวสวยทีเดียว   ;D


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 07 ก.พ. 13, 22:47
ซายาคับ  ป๋มมีคำถามคับ   ตอนนี้พี่ๆ ของซูจีหายไปไหนกันหมดแล้วหละครับ  นี่ผมนึกว่าซูจีแกเป็นลูกสาวคนเดียวนะเนี่ย


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.พ. 13, 06:34
บุตรชายคนโตของนายพลอองซาน พอโตขึ้นมาก็ไปอยู่สหรัฐอเมริกาและปฏิเสธที่จะยุ่งเกี่ยวกับการเมือง บุตรชายคนที่สองจมน้ำตายในสระใกล้บ้าน

คนที่สามของนายพลอองซานเป็นสตรีที่มีชื่อว่าซูจี เธอมีอะไรคล้ายพ่อมาก อาศัยร่มเงาวีรบุรุษของพ่อที่ทำให้เธอชนะใจชาวพม่าได้อย่างรวดเร็ว แต่อุปนิสัยเช่นการพูดจาที่ตรงไปตรงมาไม่กลัวใครเช่นพ่อ ทำให้เธอครองใจชาวพม่าได้ยาวนาน สิ่งใดที่พ่อทำไว้แล้วและกำลังทำอยู่แต่ยังไม่สำเร็จ  เธอก็สานต่อ โดยไม่ปฏิบัติในทางตรงกันข้ามอย่างเด็ดขาด นอกจาก…..(โปรดอดใจรอคำเฉลยเมื่อรื่องดำเนินไปถึง)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.พ. 13, 07:15
คณะสหายสามสิบของ อู ออง ซาน ได้เปลี่ยนภารกิจกลายเป็น “กองทัพพม่าอิสระ” พอเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2484 ญี่ปุ่นก็ได้ให้การสนับสนุนทั้งการเงินและอาวุธในการระดมพลพรรคก่อตั้ง "กองกำลังปลดปล่อยพม่า” (Burmese Independence Army : BIA) ขึ้นมาร่วมกับกองทัพญี่ปุ่นในการผลักดันอังกฤษ เมื่อญี่ปุ่นบุกเข้าโจมตีพม่าเพื่อยึดเส้นทางยุทธศาสตร์สู่อินเดีย รังใหญ่ของจักรวรรดิ์อังกฤษในเอเซีย  จนอังกฤษแตกพ่ายญี่ปุ่นสามารถยึดพม่าได้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2486 และได้ประกาศให้พม่าเป็นเอกราช แต่งตั้งนายพลออง ซานให้เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่หลังจากนั้นไม่นานนัก อู ออง ซาน ก็พบว่าเอกราชที่ได้ไม่ใช่ของแท้ เมื่อญี่ปุ่นเริ่มแสดงตัวให้เห็นการเข้ามาเป็นผู้นำคนใหม่ ญี่ปุ่นหน่วงเหนี่ยวการประกาศเอกราชต่อโลกของพม่าตามที่ได้สัญญาเอาไว้ และแม้ว่าจะยึดย่างกุ้งและพม่าใต้ได้เบ็ดเสร็จไปแล้ว เครื่องบินญี่ปุ่นก็ยังคงทิ้งระเบิดทำลายเมืองต่างๆของพม่าแหลกยับ ป้องกันอังกฤษรุกกลับเข้ามาใหม่จากอินเดีย

พม่ามองว่า ญี่ปุ่นไม่ได้ปฏิบัติต่อตนหมือนกับเป็น “คนเอเชียด้วยกัน” ญี่ปุ่นต้องการควบคุมประเทศนี้สืบต่อจากอังกฤษ  ญี่ปุ่นออกคำสั่งให้แปร “กองทัพพม่าอิสระ” เป็น “กองทัพพิทักษ์พม่า” โดยให้ อู ออง ซานเป็นแม่ทัพ แต่คำสั่งทั้งหมดอยู่ใต้การชี้นำของคณะที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่น

อู ออง ซานเลยตัดสินใจนำพม่ากลับไปอยู่ข้างอังกฤษ


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.พ. 13, 07:20
เชิญซายาเพ็ญต่อครับ


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ก.พ. 13, 08:53
เอาเรื่องที่คุณประกอบถามก่อน เรื่องพี่ ๆ ของซูจี

บุตรชายคนโตของนายพลอองซาน พอโตขึ้นมาก็ไปอยู่สหรัฐอเมริกาและปฏิเสธที่จะยุ่งเกี่ยวกับการเมือง บุตรชายคนที่สองจมน้ำตายในสระใกล้บ้าน

ความจริงนายพลอองซานมีบุตรทั้งหมด ๔ คน  เป็นผู้ชาย ๒ คน ผู้หญิง ๒ คน

คนโตเป็นผู้ชาย ชื่อ อองซานอู (Aung San Oo) เป็นวิศวกร ทำงานอยู่ที่อเมริกา คนนี้ไม่ค่อยถูกกับอองซานซูจี เพราะมีจุดยืนทางการเมืองคนละด้าน อองซานอูอยู่ฝ่ายเผด็จการทหาร เมื่อไม่นานมานี้ก็มีข่าวเรื่องคดีฟ้องร้องแบ่งสิทธิในบ้านริมทะเลสาบกับน้องสาว ขออนุญาตลงรายละเอียด

ศาลพม่าตัดสินให้พี่ชายนางซูจี มีสิทธิ์ในบ้านริมทะเลสาบครึ่งหนึ่ง

เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ที่  ศาลในกรุงย่างกุ้งตัดสินให้นายอองซาน อู พี่ชายคนโตของนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของพม่ามีกรรมสิทธิ์ในบ้านพักของนางซูจีด้วยครึ่งหนึ่ง หลังมีการสู้คดีกันมาเกือบ ๑๒ ปี โดยบ้านพักหลังนี้อยู่ใกล้กับริมทะเลสาบอินยา ซึ่งเป็นสมบัติของนายพลอองซาน บิดาของนางซูจีและนายอองซาน อู ขณะที่นางซูจีเคยถูกกักบริเวณอยู่ที่บ้านหลังนี้เป็นเวลาเกือบ ๑๕ ปี

ด้านนายหน่ายวิน ทนายความของนางซูจีเปิดเผยว่า นางซูจีจะอุทธรณ์สู้คดี โดยจะสู้คดีในประเด็นที่ว่า นายอองซาน อู นั้นไม่มีสิทธิ์ที่จะครอบครองบ้านและที่ดิน เนื่องจากถือสัญชาติอเมริกัน นอกจากนี้นายหน่ายวินตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมคำตัดสินดังกล่าวถึงเกิดขึ้นในระหว่างที่นางซูจีกำลังเยือนต่างประเทศ และคำตัดสินได้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ยืนยันจะสู้คดีให้ถึงที่สุด ทั้งนี้ นางซูจี พร้อมด้วยมารดาและนายอองซาน อู ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖

จาก ข่าวสาละวิน (http://salweennews.org/home/?p=4747)

บุตรชายคนต่อมาชื่อ อองซานลิน (Aung San Lin) จมน้ำตายตอนอายุ ๘ ขวบ  อองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) เป็นคนที่สาม ส่วนคนสุดท้ายเป็นผู้หญิง ชื่อว่า อองซานชิต (Aung San Chit) เสียชีวิตหลังคลอดไม่กี่วัน

อองซานซูจีจึงมีพี่น้องโตกันมาเพียงสองคน ซ้ำยังมีเรื่องขัดแย้งกันอีก

น่าสงสารชีวิตของซูจี พี่น้องไม่รักกัน

(http://ptcdn.info/emoticons/emoticon-sad.png)

บ้านริมทะเลสาบที่พี่น้องมีคดีฟ้องร้องกันอยู่


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ก.พ. 13, 09:12
คณะสหายสามสิบของ อู ออง ซาน ได้เปลี่ยนภารกิจกลายเป็น “กองทัพพม่าอิสระ” พอเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2484 ญี่ปุ่นก็ได้ให้การสนับสนุนทั้งการเงินและอาวุธในการระดมพลพรรคก่อตั้ง "กองกำลังปลดปล่อยพม่า” (Burmese Independence Army : BIA) ขึ้นมาร่วมกับกองทัพญี่ปุ่นในการผลักดันอังกฤษ เมื่อญี่ปุ่นบุกเข้าโจมตีพม่าเพื่อยึดเส้นทางยุทธศาสตร์สู่อินเดีย รังใหญ่ของจักรวรรดิ์อังกฤษในเอเซีย  จนอังกฤษแตกพ่ายญี่ปุ่นสามารถยึดพม่าได้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2486 และได้ประกาศให้พม่าเป็นเอกราช แต่งตั้งนายพลออง ซานให้เป็นนายกรัฐมนตรี  
แต่หลังจากนั้นไม่นานนัก อู ออง ซาน ก็พบว่าเอกราชที่ได้ไม่ใช่ของแท้ เมื่อญี่ปุ่นเริ่มแสดงตัวให้เห็นการเข้ามาเป็นผู้นำคนใหม่ ญี่ปุ่นหน่วงเหนี่ยวการประกาศเอกราชต่อโลกของพม่าตามที่ได้สัญญาเอาไว้ และแม้ว่าจะยึดย่างกุ้งและพม่าใต้ได้เบ็ดเสร็จไปแล้ว เครื่องบินญี่ปุ่นก็ยังคงทิ้งระเบิดทำลายเมืองต่างๆของพม่าแหลกยับ ป้องกันอังกฤษรุกกลับเข้ามาใหม่จากอินเดีย

พม่ามองว่า ญี่ปุ่นไม่ได้ปฏิบัติต่อตนหมือนกับเป็น “คนเอเชียด้วยกัน” ญี่ปุ่นต้องการควบคุมประเทศนี้สืบต่อจากอังกฤษ  ญี่ปุ่นออกคำสั่งให้แปร “กองทัพพม่าอิสระ” เป็น “กองทัพพิทักษ์พม่า” โดยให้ อู ออง ซานเป็นแม่ทัพ แต่คำสั่งทั้งหมดอยู่ใต้การชี้นำของคณะที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่น

อู ออง ซานเลยตัดสินใจนำพม่ากลับไปอยู่ข้างอังกฤษ

ข้อมูลข้างบนของท่านซายานวรัตนที่ว่านายพลอองซานเคยเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่น่าถูกต้อง นายพลอองซานเคยเป็นมาหลายอย่าง เป็นผู้นำนักศึกษา เป็นผู้นำกองทัพ เป็นรัฐมนตรี แต่ไม่เคยเป็นนายกรัฐมนตรี  :o

ขออนุญาตลงบทความของ พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก ซึ่งตรงกับเหตุการณ์ที่คุณนวรัตนเล่าตอนนี้

กองทัพพม่าช่วยญี่ปุ่นโจมตีอังกฤษออกจากพม่า แล้วพม่าก็กลับมาช่วยอังกฤษโจมตีขับไล่ญี่ปุ่น

กองทัพพม่ากำเนิดจากทหารแค่ ๓๐ คน นำโดยอองซาน ไปรับการฝึกจากญี่ปุ่นบนเกาะไหหลำแล้วมารวมตัวกันประกาศจัดตั้ง Burmese Independence Army (BIA) ในประเทศไทยในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ เพื่อเตรียมสนับสนุนญี่ปุ่นโจมตี กองทัพอังกฤษให้ถอนตัวจากพม่า

ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพลูกพระอาทิตย์บุกขึ้นพม่า โจมตีกองทัพอังกฤษจนต้องร่นถอยเข้าไปในอินเดียและกองทัพญี่ปุ่นก็ยึดครองพม่าได้โดยเด็ดขาด

ในจังหวะที่ BIA ของพม่าสนับสนุนนำกำลังกองทัพญี่ปุ่นบุกพม่านั้น ก็มีความหวาดระแวงกันอยู่ระหว่าง ออง ซาน กับกองทัพญี่ปุ่น ที่จริง ออง ซาน คาดหวังว่า BIA และกองทัพญี่ปุ่นควรมีภารกิจเพียงแค่การจัดตั้งและขยายกองทัพพม่าให้เติบโต ส่งมอบอาวุธ กระสุนให้ แต่ญี่ปุ่นกลับมุ่งโจมตี ยึดเอาทรัพยากรของพม่าเป็นลำดับแรกโดยเข้าตีเมืองมะละแหม่ง (บางคนเรียกว่าเมืองเมาะลำไย) ทางใต้ของพม่าก่อน

สถานการณ์รบในครั้งนั้นบรรดา “กลุ่ม ๓๐ สหาย” เริ่มไม่พอใจกองทัพญี่ปุ่นแต่ต้องอดกลั้นเก็บความรู้สึกเอาไว้ ที่ร้ายไปกว่านั้น ชาวพม่าที่เข้าร่วมรบกับ กองทัพญี่ปุ่น เมื่อมีอาวุธในมือแล้วกลับทำตัวเป็น “กองโจร” ไร้การควบคุม ไม่มีใครเชื่อฟังใคร ไม่มีสายการบังคับบัญชา

มุ่งประสงค์ตั้งอกตั้งใจสังหารบรรดา “หัวหน้าชุมชนที่เป็นชาวกะเหรี่ยง” ใครที่เคยรับใช้ เป็นลูกน้องอังกฤษถูกโดนจับยิงเป้าทั้งหมด

งานนี้สับสนอลหม่าน กลายเป็น “แค้นต้องชำระ” พม่าฆ่าพม่า-พม่าฆ่ากะเหรี่ยง โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงที่น่าเวทนา กองทัพ BIA ถือโอกาสสังหารเป็นว่าเล่นเพราะเก็บความแค้นมานาน พม่าฆ่ากะเหรี่ยงก็สะใจเหมือนได้ฆ่าคนอังกฤษ


แม่ทัพญี่ปุ่นได้รับทราบพฤติกรรมเยี่ยงโจรของกลุ่ม BIA ซึ่ง ออง ซาน ก็ควบคุมไม่ได้จึงสั่ง “ยุติบทบาทและสลายกองทัพพม่า (BIA)” ทันที

คำสั่งของแม่ทัพญี่ปุ่นครั้งนี้ ออง ซาน สะเทือนใจมากถึงขั้นล้มป่วย เข้าโรงพยาบาล เป็นโอกาสได้พบกับ ดอ ขิ่น จี (ต่อมาได้แต่งงานกัน)

สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ญี่ปุ่นตั้ง บา มอ เป็นนายกรัฐมนตรีของพม่าและตั้ง ออง ซาน เป็นผู้บัญชาการกองทัพพม่า มีกำลังพลประมาณ ๔,๐๐๐ คน

มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๓ นายกรัฐมนตรี ฮิเดกิ โตโจ ของญี่ปุ่นประกาศว่าจะให้เอกราชแก่พม่าในราวปลายปี พอถึงเดือนสิงหาคมในปีนั้น…..ได้รับการสถาปนาเป็นประมุขของประเทศ แต่งตั้ง ออง ซาน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ ผู้บัญชาการกองทัพแห่งชาติ (Burma National Army : BNA) และอู นุ เป็นรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

มาถึงช่วงเวลานี้ นับว่าพม่าพอจะเป็นรูปเป็นร่างเฉพาะในกลุ่มชาวพม่าในบริเวณภาคกลางของประเทศเท่านั้น บรรดาชนกลุ่มน้อยอีก ๕-๗ กลุ่มที่เหลือ ตามชายขอบประเทศยังมิได้มี “ความรู้สึกร่วม” ในสถานการณ์ความเป็นไปต่างๆ ชนกลุ่มน้อยเช่น กะเหรี่ยงยังคงมีความรู้สึกผูกพันกับอังกฤษ ส่วนชนกลุ่มน้อยที่เหลือก็จ้องรอจังหวะแยกตัวเป็นรัฐอิสระ

ความมุ่งหวังของชาวพม่าที่ต้องการเห็นพม่าเป็น “ประเทศที่สมบูรณ์” ยังอีกยาวไกล

เหมือนหนีเสือปะจระเข้…รัฐบาลของบา มอ เป็นเพียงรัฐบาลหุ่นแทบไม่มีอำนาจการตัดสินใจ อันที่จริงญี่ปุ่นมองพม่าเป็นแหล่งทรัพยากรเพื่อการทำสงคราม นายพล ออง ซาน เริ่มรู้สึกได้เมื่อได้รับเชิญไปเยือนโตเกียวในเดือนมีนาคม ๑๙๔๓ โดย พันเอก ซูซูกิ (อดีตผู้ประสานงานกับกองทัพพม่า) บอกกับนายพล ออง ซาน ว่าเขาถูกปลดพ้นหน้าที่ในข้อหาสนิทกับพม่ามากเกินขอบเขต

เมื่อกองทัพญี่ปุ่นเข้ามาปกครองพม่าเต็มรูปแบบ ทหารญี่ปุ่นกลับกลายเป็นผู้กดขี่ข่มเหงชาวพม่าเสียเอง โดยเกณฑ์ชาวพม่าไปเป็นลูกหาบ กรรมกรในกองทัพญี่ปุ่นนับพันคน หน่วยทหารสารวัตรกองทัพญี่ปุ่นเป็นที่หวาดผวาของชาวพม่า

นายกรัฐมนตรีบา มอ เริ่มไม่พอใจและปฏิเสธที่จะร่วมมือกับนายทหารญี่ปุ่น ส่วนหน่วยข่าวกรองของทหารญี่ปุ่นใช้วิธีซ้อม ทรมานชาวพม่าเพื่อ “รีดข่าว” ขังผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่ต้องไต่สวน ชาวพม่าเริ่มรู้ตัวว่าญี่ปุ่นร้ายกว่าอังกฤษเสียอีก

บรรดาตะขิ่นทั้งหลาย รวมทั้งผู้นำระดับสูงของพม่าเริ่มคิดจะไล่ญี่ปุ่นออกจากพม่า นายทหารกะเหรี่ยงในกองทัพพม่ารับอาสาติดต่อกับ “หน่วยรบพิเศษของอังกฤษที่ ๑๓๖” ประสานการปฏิบัติ “เฉพาะกลุ่มวงใน” รวมทั้งนายพล ออง ซาน ได้รวบรวมทุกกลุ่มในขณะนั้น เช่น กลุ่มนายทหารในกองทัพพม่า กลุ่มสังคมนิยม กลุ่มคอมมิวนิสต์มาจัดตั้ง “กลุ่มสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” (Anti-Fascist People’s Freedom League : AFPFL) ขึ้นมา โดยมีนายพล ออง ซาน เป็นแกนนำ และต่อมา ออง ซาน ก็สามารถไปดึงเอากลุ่มกะเหรี่ยงเข้ามาด้วยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น

ท่านที่อ่านบทความของผมมาตั้งแต่ตอนที่ ๑ จะเห็นว่านี่เป็นลักษณะเฉพาะของพม่า คิดจะทำอะไรสักอย่างจะต้อง ตั้งกลุ่ม ตั้งชื่อ ซึ่งสะท้อนภาพให้เห็นว่า “ขาดเอกภาพ” มานานแล้ว ไม่มีเรื่องเดือดร้อนก็ไปคนละทิศละทาง สังคมแบบนี้ไม่สามารถอยู่ได้ถ้าขาดผู้นำที่แข็งแกร่ง เด็ดขาด จึงจะพาประเทศชาติไปรอดได้

การเดินเกมกำจัดญี่ปุ่นเป็นไปด้วยดี ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบทเทน ผู้บัญชาการกองกำลังสัมพันธมิตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตกลงร่วมมือกับนายพล ออง ซาน

เค้าลางสงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มส่งสัญญาณว่าญี่ปุ่นเริ่มเพลี่ยงพล้ำ ออง ซาน เองคิดหนักที่จะ “กลับลำ ๑๘๐ องศา” คิดทรยศต่อญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเองก็คาดไม่ถึง

ออง ซาน ใคร่ครวญแล้วว่า “ประเทศพม่าต้องเป็นของชาวพม่า” เมื่อ มุ่งมั่นจะเป็นเอกราชให้ได้ เหตุการณ์บังคับให้พม่าจำต้อง “เลือกฝ่าย”อีกครั้ง

นายพล ออง ซาน เลือกฝ่าย อังกฤษ !!!


มีเรื่อง พม่าฆ่าพม่า พม่าฆ่ากระเหรี่ยง ให้คุณประกอบวิเคราะห์เป็นของแถม

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley20.png)



กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.พ. 13, 09:24
NAVARAT.C
อ้างถึง
บุตรชายคนโตของนายพลอองซาน พอโตขึ้นมาก็ไปอยู่สหรัฐอเมริกาและปฏิเสธที่จะยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

เพ็ญชมพู
อ้างถึง
คนโตเป็นผู้ชาย ชื่อ อองซานอู (Aung San Oo) เป็นวิศวกร ทำงานอยู่ที่อเมริกา คนนี้ไม่ค่อยถูกกับอองซานซูจี เพราะมีจุดยืนทางการเมืองคนละด้าน อองซานโออยู่ฝ่ายเผด็จการทหาร

นี่ก็ข้อมูลขัดกัน

หวังว่าผู้อ่านคงเข้าใจนะครับ สารคดีประวัติศาสตร์ก็อย่างนี้แหละ ไม่มีใครรู้จริงว่าเรื่องที่เกิดขึ้นแท้ๆนั้นคืออย่างไร ข่าวสดๆที่เห็นในจอทีวีเมื่อปีสองปีก่อน คนดูก็ยังเถียงกันไม่จบ นับประสาอะไรกับเรื่องการเมืองพม่า ผมก็มาเขียนเล่าเอาสนุกเท่านั้นเอง ท่านก็ต้องอ่านเอาสนุกไปด้วย เท็จจริงอย่างไรก็ถือว่าเป็นการบ้านที่ท่านต้องไปค้นคว้าต่อเอาเอง


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ก.พ. 13, 11:14
อองซานอูและภรรยา (ทั้งคู่เป็นพลเมืองสหรัฐอเมริกา  :o) วางพวงมาลาที่สุสานนายพลอองซาน เนื่องในวันวีรชนปีที่ ๖๐ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐  ครั้งนั้นรัฐบาลทหารปฏิเสธไม่ให้อองซานซูจีเข้าร่วมพิธี

(http://ptcdn.info/emoticons/emoticon-sad.png)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ก.พ. 13, 11:21
^
^
โปรดสังเกตรองเท้าที่ใส่เข้าร่วมงาน

รองเท้าแตะแบบคีบถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของคนพม่า ใส่ได้ทุกโอกาสแม้ในพิธีเกียรติยศ

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3276.0;attach=9565;image)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ก.พ. 13, 13:51
ใน พ.ศ. ๒๔๘๗  นายพลอองซานร่วมกับกลุ่มต่าง ๆ จัดตั้ง "สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์" (Anti-Fascist People’s Freedom League-AFPFL) อย่างลับ ๆ  เพื่อขับไล่ญี่ปุ่นโดยใช้หัวหน้าชาวกะเหรี่ยงและทหารกะเหรี่ยงในกองทัพม่าเป็นตัวกลางติดต่อกับฝ่ายอังกฤษ เนื่องจากกะเหรี่ยงกับอังกฤษมีสัมพันธภาพต่อกันดียิ่ง

ลอร์ดหลุยส์ เมาท์แบทเทน (Lord louis Mountbatten)  ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพสัมพันธมิตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เชื่อใจนายพลอองซาน จึงส่งสัญญาณให้กองทัพแห่งชาติพม่า (BNA) เคลื่อนไหวได้ภายใต้การสนับสนุนของอังกฤษ

๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ BNA เคลื่อนย้ายออกจากย่างกุ้งในฐานะส่วนหนึ่งของกองทัพญี่ปุ่น เข้าไปตั้งกองบัญชาการในป่า แล้วเริ่มปฏิบัติการเข้าตีที่ตั้งหน่วยทหารญี่ปุ่นอย่างได้ผล

กองทัพที่ ๑๔ ของอังกฤษ รุกลงมาจากทางเหนือของพม่า นำโดยนายพลวิลเลียม สลิม (William Joseph "Bill" Slim)  กองทัพญี่ปุ่นเริ่มเพลี่ยงพล้ำในทุกสมรภูมิ  BNA ยึดย่างกุ้งกลับคืนมาได้ และในวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ญี่ปุ่นยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๒

เมื่ออังกฤษเข้าควบคุมปกครองพม่าได้เบ็ดเสร็จ ปัญหาใหม่ตามมา คืออังกฤษมีคำถามอยู่ว่า นายพลอองซานคือ วีรบุรุษ หรือ อาชญากรสงคราม?

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley20.png)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ก.พ. 13, 14:20
นายพลอองซานถูกเชิญไปพบกับพลเอกสลิม แม่ทัพสนามที่ ๑๔ ของอังกฤษ  นายพลอองซานยืนยันว่ากองทัพแห่งชาติพม่าและรัฐบาลรักษาการของพม่าเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ  แต่พลเอกสลิมปฏิเสธและยืนยันว่าตามกฎหมายอังกฤษ นายพลอองซานมีพฤติการณ์เป็นผู้ทรยศ

ลอร์ดเมาท์แบทเทนซึ่งรู้ตื้นลึกหนาบางของเรื่องนี้ดี จึงใช้อำนาจของแม่ทัพสัมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงส่งจดหมายตัดสินชะตาของนายพลอองซาน ความว่า

"ไม่มีสาเหตุใดที่จะต้องจับกุมอองซาน ขอให้อองซานตระหนักว่าอังกฤษชื่นชมการสนับสนุนของกองทัพพม่าในเหตุการณ์ที่ผ่านมา อย่าลืมว่าครั้งหนึ่งท่านเคยขัดขืนต่อต้านรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งอาจจะต้องมีการสอบสวนคดีความ นับแต่นี้ไปความร่วมมือจากฝ่ายพม่าทั้งในปัจจุบันและในอนาคตเป็นสิ่งที่เราจะพิจารณาและพิสูจน์"

ถึงแม้ว่าข้าหลวงอังกฤษที่ปกครองอินเดียจะคัดค้านอย่างรุนแรง รวมทั้งบรรดาผู้ใหญ่ในลอนดอนต่างก็เห็นว่านายพลอองซานทรยศต่ออังกฤษ และจะต้องได้รับโทษเป็น "อาชญากรสงคราม" โทษคือ ประหารชีวิต แต่ก็ไม่สามารถคัดค้านลอร์ดเมาท์แบทเทนได้

นับว่าลอร์ดเมาท์แบทเทนได้ช่วยชีวิตนายพลอองซานไว้แท้ ๆ

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)

ภาพลอร์ดเมาท์แบทเทน (คนที่ ๒ จากซ้าย) และเหล่านายทหารในพม่า กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๗


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.พ. 13, 19:29
ได้รูปมาใหม่ ขอย้อนกลับไปหน่อยครับ

ภาพกรรมการสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยแรงกูน โกอองซาน (Ko Aung San) นั่งแถวหน้า ที่สามจากซ้าย(1936).

พม่าเขาเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อไปเรื่อยๆตามอาวุโส ตอนเป็นนักศึกษาออกซานเป็นโก อ่านออกเสียงเหมือนอาโกชาวไหหลำอย่างนี้หรือเปล่า เดี๋ยวซายาเพ็ญคงมาแก้ถ้าผิด


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.พ. 13, 19:32
คณะบรรณาธิการของ Oway Magazine มีโกอองซานนั่งอยู่ คนที่สองจากซ้าย(1936)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.พ. 13, 19:33
(1937)โกอองซานถ่ายเดี่ยว เมื่อเป็นนายกสมาพันธ์นักศึกษาแห่งพม่า (All Burma Students Union).


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.พ. 13, 19:43
ถ่ายกับเพื่อนในกลุ่มสหายสามสิบบางคนครั้งไปฝึกทหารที่ญี่ปุ่น

ผมละเพลียกับภาษาพม่าจริงๆ ไม่อยากถอดเป็นไทยๆแล้วละ รอคุณเพ็ญมาถอดเองดีกว่า
Bo Letya, Bo Setkya and Bo Teza (Bogyoke Aung San) in Japan. (1941)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.พ. 13, 19:48
คณะทูตสันถวไมตรีชุดแรกที่เดินทางไปญี่ปุ่น ถ่ายก่อนเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์

The first delegation to Japan, before their audience with the Emperor. Bogyoke Aung San far right. (March 1943)   


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.พ. 13, 19:51
แปรพักตร์แล้ว

Bogyoke Aung San in London, January 1947, between Thakin Mya and Lord Pethwick-Lawrence   


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.พ. 13, 19:54
พบกับคนนี้มีความสำคัญ ซายาเพ็ญน่าจะขยายความ

Bogyoke Aung San with Clement Attlee, 10 Downing Street, January 1947.


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.พ. 13, 20:15
Bogyoke Aung San with Sir Hubert Rance. (January 1947)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.พ. 13, 20:18
ชุดนายพลพม่าแบบนี้ออกแนวเครื่องแบบนาซีเยอรมันหน่อยๆ

Bogyoke Aung San in London. (January 1947)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ก.พ. 13, 22:46
ขอบพระคุณท่านซายานวรัตนสำหรับภาพประกอบเรื่องที่เล่าผ่านมาแล้ว และกำลังจะเล่าต่อไป

พม่าเขาเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อไปเรื่อยๆตามอาวุโส ตอนเป็นนักศึกษาออกซานเป็นโก อ่านออกเสียงเหมือนอาโกชาวไหหลำอย่างนี้หรือเปล่า เดี๋ยวซายาเพ็ญคงมาแก้ถ้าผิด

คำนำหน้าชื่อพม่า ถ้าเป็นผู้ชายมี หม่อง = เด็กชาย (อาจสับสนได้ในบางครั้ง เนื่องจากบางทีก็เป็นส่วนหนึงของชื่อด้วย), โก = นาย,   อู = เป็นคำสำหรับเรียกคนมีอายุมาก เหมือนกับเราเรียกว่า "ลุง" หรือสำหรับเรียกเพื่อยกย่องให้เกียรติเช่นอูนุ, อูถั่น

สำหรับผู้หญิง มี ๒ คำคือ มะ ใช้เรียกผู้หญิงวัยสาว และ ดอ สำหรับเรียกผู้หญิงสูงวัยทำนองเดียวกับคำว่า "ป้า" นั่นแล

ผมละเพลียกับภาษาพม่าจริงๆ ไม่อยากถอดเป็นไทยๆแล้วละ รอคุณเพ็ญมาถอดเองดีกว่า
Bo Letya, Bo Setkya and Bo Teza (Bogyoke Aung San) in Japan. (1941)

ชื่อทั้งหมดเป็นนามแฝงใช้ในการสู้รบ

Bo Letya = โบ เละต์ยา ชื่อจริงคือ  Hla Pe = ลาเป, Bo Setkya = โบ เซะต์จา ชื่อจริงคือ Aung Than = อองตาน, Bo Teza = โบ เทซา ชื่อจริงคือ Aung San = อองซาน

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ก.พ. 13, 23:15
หลังสงครามโลกสิ้นสุด กองทัพอังกฤษเข้าบริหารประเทศพม่าได้ราว ๔ เดือน กรมกิจการพลเรือนของอังกฤษจึงเข้ามาบริหารแทนโดยนายพลฮิวเบอร์ต แรนซ์  (Hubert Rance)  นายพลแรนซ์ สั่งสลายกองทัพแห่งชาติพม่าทันที กำลังพลของกองทัพแห่งชาติพม่าไม่พอใจ ไปรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่ม People’s Volunteer Organization (PVO) แล้วไปเชิญนายพลอองซานมาป็นผู้บัญชาการ โดยไม่ยอมมอบอาวุธคืนแก่ทางการอังกฤษ

ลอร์ด เมาท์แบทเทน พยามหาทางออกโดยยื่นข้อเสนอว่ากองทัพพม่าที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ (ตามแบบฉบับของอังกฤษ) นั้นจะแต่งตั้งนายพลอองซานเป็น รองจเรทหารทั่วไป (Deputy Inspector General) และเปิดโอกาสให้นายพลอองซาน เลือกทางเดินชีวิต ว่าจะเป็น “ทหาร” ต่อไปหรือจะเป็น “ผู้นำทางการเมือง” ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ นายพลอองซานตกลงใจเลือกที่จะเป็นผู้นำทางการเมือง เขียนจดหมายตอบปฏิเสธตำแหน่ง “รองจเรทหารทั่วไป”

เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ หน่วยกิจการพลเรือนของกองทัพอังกฤษจบภารกิจถอนตัวออกจากพม่า อังกฤษส่งเซอร์ เรจินัลด์ ดอร์แมน สมิธ (Sir Reginald Dorman-Smith) กลับมาเป็นข้าหลวงปกครองพม่า ข้าหลวงคนนี้ไม่ค่อยจะถูกชะตากับนายพลอองซาน และมีใจเอนเอียงสนับสนุน อู ซอ ซึ่งเคยประกาศเป็นคู่แข่งทางการเมืองของนายพลอองซาน

องค์กรทางการเมืองที่แข่งแกร่งที่สุดในขณะนั้นคือ สันนิบาตเสรีต่อต้านฟาสซิสต์ (AFPFL)  ซึ่งข้าหลวงอังกฤษพยายามริดรอนบทบาทโดยอู ซอ ร่วมมือกับ ข้าหลวงอังกฤษประกาศจัดตั้ง “สภาบริหารประเทศ” ทำหน้าที่เสมือน “คณะรัฐมนตรี” ปกครองประเทศ โดยไม่เลือกบุคคลจาก AFPFL เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารแต่กลับเลือก อู ซอ และ เซอร์ ปอ ตุน (พวกอังกฤษ) เข้ามาร่วมทำงาน

สถานการณ์สับสนวุ่นวายอีกครั้งเมื่อตะขิ่น ตัน ตุน ผู้นำกลุ่มคอมมิวนิสต์ ใน AFPFL จัดการเดินขบวนและเริ่มก่อสงครามกองโจรเพื่อต่อต้าน “สภาบริหารประเทศ” ที่จัดตั้งโดยข้าหลวงอังกฤษ

เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙ นักเรียน นักศึกษา ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย ก่อการสไตร์คทั่วประเทศ เกิดภาวะจลาจล ข้าหลวงอังกฤษจึงเชิญนายพลอองซานมาพบเพื่อเข้าร่วมใน “สภาบริหารประเทศ” โดยให้นายพลอองซานเป็น “รองประธานสภา” เชิญสมาชิก AFPFL ๖ คนมาร่วมด้วยจากจำนวนทั้งหมด ๑๑ คน เหตุการณ์จึงกลับคืนสู่สภาวะปกติ

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley20.png)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.พ. 13, 08:54
มาอ่านมุมมองของฝ่ายตรงข้ามกับพม่าในเรื่องเดียวกันนี้ เป็นการเปรียบเทียบเหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในขณะเดียวกัน บทความนี้เขียนโดยคุณเงาแจ้ง ผมขอเอาท่อนแรกมาให้อ่านก่อน เพื่อให้ขนานไปกับการเดินเรื่องของคุณเพ็ญชมพู

เมื่อวันที่ 19 พ.ย 2428 กษัตริย์ สี่ปอมิน ( ธีบอ) กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าถูกกองทัพอังกฤษบุกเข้าจับกุมตัวและในวันที่ 1 ม.ค 2429 กองทัพอังกฤษจึงประกาศว่า ได้ทำการยึดดินแดนของแผ่นดินพม่าไว้หมดแล้วซึ่งใน เวลานั้น รัฐฉานของชาวไทยใหญ่ยังไม่ได้ถูกนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดิน จวบจน กระทั่งเดือนมกราคม พ.ศ 2430 อังกฤษจึงเดินทางมายึดรัฐฉาน และประกาศให้รัฐฉานเป็นส่วนหนึ่งในรัฐอารักขาของอังกฤษ ( Protectorate Country)

ในช่วงที่รัฐฉานอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ได้มีการแบ่งแยกการปกครอง และงบประมาณของรัฐฉานกับพม่าออกจากกันอย่างชัดเจน โดยในสมัยนั้น พม่าจะเป็นฝ่ายที่คอยต่อต้านอังกฤษมาโดยตลอด ขณะที่เจ้าฟ้าและประชาชนไทยใหญ่ ได้ให้ความร่วมมือกับอังกฤษ รวมทั้งให้การช่วยเหลืออังกฤษในการสู้รบสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เป็นอย่างดี

ในรูป ทั้งฝรั่งทั้งแขก(รวมทั้งหมาฝรั่ง)เป็นนายหมด คนพื้นเมืองเป็นแค่บ่าว


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.พ. 13, 08:57
หลังจากที่แผ่นดินพม่าและไทยใหญ่ ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ นานกว่าครึ่งศตวรรษ วันที่15 ส.ค 2482 อองซานจึงจัดตั้งกลุ่มคอมมิวนิสต์ใต้ดินขึ้น เพื่อให้พม่าหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษโดยที่อองซานทำหน้าที่เลขาธิการของกลุ่ม อองซาน พยายามหาทางติดต่อกลุ่มกับคอมมิวนิสต์กลุ่มต่างๆ โดยหลังจากเดินทางกลับจากอินเดียมายังกรุงย่างกุ้ง เขาได้แอบเดินทางไปประเทศจีน แต่เนื่องจากลงเรือผิดลำจึงไปถึงเกาะ อมอย ( Amoy -ภาษาอังกฤษที่ใช้เรียกเอ้หมึง) ของญี่ปุ่นแทน ทางญี่ปุ่นจึงเรียกตัว อองซานไปยังเมืองโตเกียว หลังจากอองซานกลับจากญี่ปุ่น จึงได้รวบรวมสมัครพรรคพวกจำนวน 30 คนเดินทาง ไปฝึกการรบที่ญี่ปุ่น

ต่อมา วันที่ 26 ธ.ค 2484 อองซานจึงจัดตั้งกองทัพอิสระภาพแห่งพม่า ( B.I.A=Burma Independence Army ) ขึ้นที่กรุงเทพฯ และในปี พ.ศ 2485 เริ่มนำกำลังเข้าร่วมกับทหารญี่ปุ่น โจมตีเหล่าประเทศอาณานิคมของอังกฤษ โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้เดินทางเข้ามาในแผ่นดินพม่าและรัฐฉาน และในเวลาเดียวกันนี้ ทางเจ้าฟ้ารัฐฉานได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ข้าราชการของอังกฤษไปยังอินเดียและพม่า ต่อมาญี่ปุ่นได้ทำการทารุณกรรมประชาชนในรัฐฉานเช่นเดียวกับที่กระทำต่อประชาชนของประเทศต่างๆในเอเชีย จวบจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2สงบลง ญี่ปุ่นจึงถอยทัพกลับไป

ภาพนายทหารญี่ปุ่นถ่ายในรัฐฉานระหว่างสงคราม


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.พ. 13, 09:00
กองทัพญี่ปุ่น แต่แรกได้รับการต้อนรับจากชาวพม่าเป็นอย่างดี ก่อนจะกลับข้าง จนกระทั่งญี่ปุ่นพ่ายสงครามในที่สุด


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.พ. 13, 09:05
เนื่องจากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เดือน สิงหาคม พ.ศ 2484 รัฐบาลอเมริกาและอังกฤษได้จัดทำหนังสือข้อตกลง ที่ชื่อว่า"เตหะราน" (Teheran-Agreement)ขึ้น โดยมีใจความระบุไว้ว่า "หากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง จะคืนเอกราชให้แก่ดินแดนอาณานิคมของทั้ง2ประเทศทั้งหมด " เมื่อสงครามสิ้นสุดลง อองซานจึงพยายามติดต่อเข้าพบผู้นำรัฐบาลอังกฤษ ณ กรุงลอนดอน เพื่อเจรจาขอเอกราชคืน

ในช่วงเวลาที่อังกฤษปกครองพม่าและรัฐฉานอยู่นั้น ได้มีนักศึกษาในรัฐฉาน(ที่ไม่ใช่ ชาวไทยใหญ่) เดินทางไปศึกษาที่กรุงย่างกุ้ง และซึมซับรับเอาแนวความคิดฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงเริ่มมีความเกลียดชังและต้องการล้มล้างระบอบเจ้าฟ้าในรัฐฉาน โดยนักศึกษากลุ่มนี้ได้เข้าเป็นแนวร่วมกับกลุ่ม "ต่อต้านผู้ล่าอาณานิคมเพื่อเอกราช" ของอองซาน และตกลงรับเอาภาระหน้าที่บ่อนทำลายการปกครองระบอบเจ้าฟ้าของรัฐฉาน และหันมาเข้าร่วมกับพม่าในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษให้แก่กลุ่มของอองซาน โดยอาศัยรัฐฉานเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ
 
เนื่องจากเจ้าฟ้ารัฐฉาน เป็นมิตรกับอังกฤษมาโดยตลอด โดยในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง อังกฤษได้ให้สัญญากับเจ้าฟ้าว่า "ขอให้รัฐฉาน อยู่ในอารักขาของอังกฤษต่อไปก่อน และอังกฤษจะทำการพัฒนาด้านการศึกษา , การเมือง , การปกครอง , การติดต่อต่างประเทศ - ในประเทศ , การเศรษฐกิจ และการคมนาคมในรัฐฉานให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วอังกฤษจะคืนเอกราชให้ภายหลัง"

สำหรับอองซาน ในตอนแรกเป็นผู้มีบทบาทชักจูงทหารญี่ปุ่นให้เข้ามาในพม่าและรัฐฉาน แต่ในตอนสุดท้าย เมื่อวันที่ 27 มี.ค 2488 กลับนำกำลังทหารเข้าสู้รบกับทหารญี่ปุ่น และพม่าได้ถือเอาวันนี้ เป็นวันกองทัพของพม่าสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.พ. 13, 09:08
ทางด้านเจ้าฟ้าไทยใหญ่ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง และในเดือนสิงหาคม พ.ศ 2488 สองเดือนถัดมา เจ้าหญิงเมืองป๋อน ได้ทรงสิ้นพระชนม์ บรรดาเจ้าฟ้าจากเมืองต่างๆ จึงเดินทางมาร่วมงานพระศพ ทำให้มีโอกาสพบปะและพูดคุยกันว่า "น่าจะจัดให้มีการประชุม ของเจ้าฟ้าทั้งหมด เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับอนาคตของรัฐฉาน" และต่อมาวันที่ 31 ม.ค 2489 การประชุมของเหล่าเจ้าฟ้าไทยใหญ่ จึงเกิดขึ้นที่เมืองกึ๋ง โดยที่ประชุมมีมติจัดตั้ง "คณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าแห่งรัฐฉาน" ขึ้น เพื่อให้มีสถาบันที่จะปกครองรัฐฉาน ในแนวทางระบอบประชาธิปไตย และเพื่อทำให้รัฐฉาน ซึ่งมีดินแดนอยู่ระหว่างจีนแดงและพม่า สามารถดำรงอยู่อย่างมั่นคง

ภาพถ่ายหมู่ บรรดาเจ้าฟ้าไทยใหญ่ของเมืองต่างๆในรัฐฉาน (อาจจะไม่ใช่ในเหตุการณ์เดียวกับเนื้อเรื่อง)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.พ. 13, 09:09
เบรคก่อนครับ เดี๋ยวออฟไซด์


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ก.พ. 13, 09:44
เนื่องจากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เดือน สิงหาคม พ.ศ 2484 รัฐบาลอเมริกาและอังกฤษได้จัดทำหนังสือข้อตกลง ที่ชื่อว่า"เตหะราน" (Teheran-Agreement)ขึ้น โดยมีใจความระบุไว้ว่า "หากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง จะคืนเอกราชให้แก่ดินแดนอาณานิคมของทั้ง2ประเทศทั้งหมด " เมื่อสงครามสิ้นสุดลง อองซานจึงพยายามติดต่อเข้าพบผู้นำรัฐบาลอังกฤษ ณ กรุงลอนดอน เพื่อเจรจาขอเอกราชคืน

อ่านพบเรื่องที่คุณนวรัตนยกมา ติดอยู่ที่ "ข้อตกลงเตหะราน" ลงถามคุณวิกกี้ดูก็พบเรื่อง "การประชุมเตหะราน" (http://en.wikipedia.org/wiki/Tehran_Conference) (Tehran Conference) เป็นการประชุมของผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสามของฝ่ายสัมพันธมิตรคือรัสเซีย, อเมริกา และอังกฤษ

(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/d/d8/Tehran_Conference%2C_1943.jpg)

ในภาพ "สามผู้ยิ่งใหญ่": โจเซฟ สตาลิน แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์และวินสตัน เชอร์ชิลล์ ในการประชุมเตหะราน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐

ลองอ่านดูรายละเอียดที่คุณวิกกี้เล่าไม่พบข้อตกลงเรื่องข้างบนในบทความที่คุณนวรัตนยกมา

คงต้องวานให้คุณนวรัตนช่วยค้นหารายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกที

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.พ. 13, 10:18
คงไม่จำเป็นหรอกครับ


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.พ. 13, 10:33
ใครสนใจถึงระดับนี้ โปรดเข้าไปหาอ่านต่อเอง

Thus Tehran, 1943 signaled the beginning of the end for the vast empire build by the British over more than 3 centuries. Some find it ironical, that Sir Winston Churchill, one of the greatest British among any generation, would be the first person to accept the fact that, the world power had shifted from their hand to the USA and the USSR. After Tehran, it became apparent to everyone that the British Empire would soon become a matter of history. The official formalities would take two decades or so, but the seals and the stamps were made ready at Tehran, in the autumn of 1943.


http://tbqy.com/?p=2068


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ก.พ. 13, 10:43
ทางด้านเจ้าฟ้าไทยใหญ่ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง และในเดือนสิงหาคม พ.ศ 2488 สองเดือนถัดมา เจ้าหญิงเมืองป๋อน ได้ทรงสิ้นพระชนม์ บรรดาเจ้าฟ้าจากเมืองต่างๆ จึงเดินทางมาร่วมงานพระศพ ทำให้มีโอกาสพบปะและพูดคุยกันว่า "น่าจะจัดให้มีการประชุม ของเจ้าฟ้าทั้งหมด เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับอนาคตของรัฐฉาน" และต่อมาวันที่ 31 ม.ค 2489 การประชุมของเหล่าเจ้าฟ้าไทยใหญ่ จึงเกิดขึ้นที่เมืองกึ๋ง โดยที่ประชุมมีมติจัดตั้ง "คณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าแห่งรัฐฉาน" ขึ้น เพื่อให้มีสถาบันที่จะปกครองรัฐฉาน ในแนวทางระบอบประชาธิปไตย และเพื่อทำให้รัฐฉาน ซึ่งมีดินแดนอยู่ระหว่างจีนแดงและพม่า สามารถดำรงอยู่อย่างมั่นคง

เรื่องต่อไปนี้เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกันระหว่าง ข้อตกลงการให้เอกราชแก่พม่าของอังกฤษ (ข้อตกลงอองซาน-แอตลี) และ ข้อตกลงที่ขอให้ชนกลุ่มน้อยรวมตัวกับพม่าเพื่อขอเอกราชกับอังกฤษ (สัญญาปางหลวง)  

ขออนุญาตดำเนินเรื่องโดยใช้ข้อมูลจากบทความเดียวกันกับคุณนวรัตน

วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ นายพลอองซานได้เดินทางมาปราศรัยในสนามฟุตบอลแห่งหนึ่ง ในเมืองตองจี รัฐฉาน ผู้ที่เข้าฟังการปราศรัย ส่วนใหญ่เป็นคนยากจนและคนหนุ่มสาว โดยนายพลอองซานพยายามเรียกร้องให้ชาวไทยใหญ่ให้ความร่วมมือกับชาวพม่า และในวันที่ ๒๕ ธันวาคม  นายพลอองซานได้ติดต่อขอเข้าพบกลุ่มเจ้าฟ้าที่ปกครองทางภาคใต้ของรัฐฉาน โดยพยายามพูดจาหว่านล้อมให้เจ้าฟ้าเหล่านั้นเห็นด้วยกับการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษร่วมกับพม่า แต่การเจรจาไม่เป็นผล วันที่ ๒๖ ธันวาคม นายพลอองซานจึงเดินทางกลับไปยังกรุงย่างกุ้ง เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปพบปะพูดคุย กับนายคลีเมนต์ แอตลี (Clement Richard Attlee) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่ลอนดอนเกี่ยวกับเรื่องเอกราชของพม่า

วันที่ ๓๐ ธันวาคม คณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าแห่งรัฐฉาน (Exective Committee of the Council of Shan State Saophas)ได้จัดประชุมขึ้นที่แสนหวี และจัดส่งโทรเลขจากเมืองล่าเสี้ยวถึงนายแอตลี มีใจความว่า "อองซานไม่ใช่ตัวแทนของชาวไทยใหญ่ เรื่องของทางไทยใหญ่นั้น ทางคณะกรรมการเจ้าฟ้าฯ จะเป็นผู้ตัดสินใจเอง" โดยนายแอตลี ได้รับโทรเลขฉบับดังกล่าวในวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐

วันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ นายพลอองซานเดินทางถึงกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และได้เข้าพบกับนายแอตลี ตั้งแต่วันที่ ๑๖ – ๒๖ มกราคม เพื่อเจรจาให้อังกฤษมอบเอกราชคืนให้แก่พม่าและรัฐฉานร่วมกัน แต่นายแอตลีได้ตอบปฏิเสธ เนื่องจากได้รับโทรเลขแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทยใหญ่ จากคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้า ฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับการรับเอกราชร่วมกับพม่า  ต่อมานักศึกษากลุ่ม "เพื่อเอกราชแห่งรัฐฉาน" ส่งโทรเลขสนับสนุนให้นายพลอองซานเป็นตัวแทนของชาวไทยใหญ่ ถึงนายแอตลีบ้าง โดยนายแอตลีได้รับโทรเลขฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐

ดังนั้นในวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงมีการทำ หนังสือข้อตกลง อองซาน-แอตลี (Aungsan  Attlee  Agreement) (http://burmastar1010.files.wordpress.com/2011/06/44172419-aungsan-atlee-agreement.pdf) ขึ้น ซึ่งในหนังสือข้อตกลงฉบับนี้ ในข้อ  ๘  ได้กล่าวเกี่ยวกับรัฐฉานไว้ว่า "ให้นายพลอองซานทำการเจรจากับผู้นำของชาวไทยใหญ่ ที่กำลังจะจัดประชุมกันขึ้นที่ปางหลวง ในเดือน ก.พ ที่จะถึงนี้"  -  The leaders and representatives of the peoples of the Frontier Areas shall be asked, either at the Panglong Conference to be held at the beginning of next month or at a special Conference to be convened for the purpose, to express their views upon the form of association with the Government of Burma which they consider acceptable during the transition period.

นายแอตลีได้ส่งโทรเลขถึงคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ , ตัวแทนรัฐคะฉิ่น, ตัวแทนรัฐชิน  ให้ได้รับทราบ เพื่อที่จะได้คิดแนวทางที่จะพูดคุยกับนายพลอองซาน  ในการประชุมสหพันธรัฐเทือกเขา ที่กำลังจะจัดขึ้นที่เมืองปางหลวง

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ก.พ. 13, 11:02
การประชุมที่ปางหลวงในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นมติที่ตกลงจากการประชุมครั้งก่อนเมื่อ พ.ศ ๒๔๘๙ โดยที่ประชุมได้ตกลงให้จัดการประชุมสหพันธรัฐเทือกเขาอีกครั้งในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐  ที่เมืองปางหลวง ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมในครั้งนี้ ทางคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ เป็นผู้ออกเองทั้งหมด

วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐ นายพลอองซานเดินทางมาถึงเมืองปางหลวง การประชุมเริ่มในวันรุ่งขึ้น เวลา ๑๑.๓๐น. นายพลอองซาน กล่าวเรียกร้องให้ไทยใหญ่ร่วมกับพม่าในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ แต่ตัวแทนของชาวไทยใหญ่ได้คัดค้านอย่างหนักแน่น ในขณะที่กำลังดำเนินการประชุมอยู่นั้นได้เกิดการกระทบกระทั่งชกต่อยกันขึ้นระหว่างทหารชุดรักษาความปลอดภัยของอองซาน กับทหารชุดรักษาความปลอดภัยของเจ้าฟ้าส่วยแต๊กแห่งเมืองหยองห้วย ซึ่งเป็นผู้นำของเหล่าเจ้าฟ้าไทยใหญ่ทั้งหลาย ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น บรรดาเจ้าฟ้าไทยใหญ่ได้กล่าวในที่ประชุมครั้งนี้ว่า "ถ้าไม่มีสิทธิแยกตัวเป็นอิสระ หลังจากที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ก็จะไม่ร่วมมือกับพม่าอย่างเด็ดขาด" ส่วนตัวแทนของรัฐคะฉิ่นก็ได้เรียกร้องให้มีการกำหนดดินแดนของรัฐคะฉิ่นให้ชัดเจน

วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐ ที่ประชุมได้มีมติตกลงที่จะร่วมกันเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ แต่จะร่วมกันเพื่อเรียกร้องเอกราชเท่านั้น  หลังจากได้รับเอกราชแล้ว ทุกรัฐมีอิสระในการตัดสินใจทุกอย่าง  เป้าหมายที่ต้องร่วมกันครั้งนี้ จึงเพื่อให้เกิดพลังในการเจรจาต่อรองขอเอกราชจากอังกฤษเท่านั้น

วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐ บรรดาเจ้าฟ้าไทยใหญ่ และตัวแทนจากรัฐต่าง ๆ จึงได้ร่วมลงนามในหนังสือสัญญาปางหลวง ( Panglong Agreement) ซึ่งนายพลอองซานเป็นผู้ร่างขึ้น  มีเนื้อหาสาระทั้งหมด ๙ ข้อ  แต่ไม่มีข้อใดที่ระบุถึงสิทธิในการแยกตัวเป็นอิสระ  บรรดาเจ้าฟ้าไทยใหญ่จึงได้ท้วงถาม ซึ่งนายพลอองซานได้ตอบว่า "เรื่องสิทธิในการแยกตัวเป็นอิสระนั้น น่าจะนำไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญของสหภาพ จะมีผลดีมากกว่า เขียนไว้ในหนังสือสัญญาปางหลวง" ด้วยเหตุนี้  สิทธิการแยกตัวของรัฐต่าง ๆ ที่ร่วมลงนามจึงไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในสัญญาปางหลวง แต่มีปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศพม่า

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5490.0;attach=38866;image)

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley20.png)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ก.พ. 13, 11:13
ภาพหมู่ผู้เข้าร่วมประชุมที่ปางหลวง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.พ. 13, 11:23
เดี๋ยวครับ อย่าเพิ่งปวดหัวหนักเกิน รอเรื่องนี้ก่อน

การเมืองพม่าก็มีเรื่องหักเหลี่ยมกัน เหมือนๆกับทุกแห่ง
ความจริง อองซานแทบจะหมดสิทธิ์ ไม่ได้เซ็นสัญญาอะไรกับนายแอตลีเพราะเจ้าฟ้าไทยใหญ่ร่วมกันลงนามในโทรเลขส่งไปถึงอังกฤษว่าอองซานไม่ใช่ผู้แทนของพวกตน ไม่มีหน้าที่ที่จะไปตกลงอะไรในเรื่องอนาคตของรัฐฉานได้ อังกฤษก็เตรียมเลิกการเจรจา ไล่ให้กลับไปคุยกันใหม่ แต่อุนุสหายรักแก้เกมให้ทันการ โดยสั่งพวกไทยใหญ่ในคาถา ซึ่งเป็นกลุ่มหัวก้าวหน้าไม่เอาเจ้า ให้โทรเลขไปบอกอังกฤษว่าอองซานเป็นผู้แทนของกลุ่มตน ซึ่งเป็นประชาชนรัฐฉาน เข้าทางอังกฤษอยู่แล้วที่อยากให้เรื่องนี้จบๆไป ก็เรียกอองซานเข้ามาจบสัญญาดังกล่าวกันได้
ลองอ่านดูครับ

นอกจากนี้ ทางเจ้าฟ้าไทยใหญ่ยังมีแนวความคิดที่จะร่วมสร้างบ้านสร้างเมือง กับรัฐคะฉิ่น และรัฐชินซึ่งเป็นรัฐใกล้เคียง ดังนั้น จึงตกลงเห็นควรเชิญรัฐคะฉิ่นและรัฐชิน มาเข้าร่วมเป็นสหพันธรัฐ โดยในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 20 – 28 มี.ค 2489 ทางเจ้าฟ้าไทยใหญ่ , รัฐคะฉิ่นและรัฐชิน ได้จัดประชุมร่วมกันขึ้นที่เมืองปางหลวง( ป๋างโหลง ) โดยเห็นพ้องต้องกันที่จะทำการจัดตั้ง " สหพันธรัฐเทือกเขา และสภาผู้นำร่วมสหพันธรัฐเทือกเขา( Supereme Council of the United Hill People = S.C.O.U.H. )" ขึ้น และกำหนดให้ส่งตัวแทนเข้ามาเป็นสมาชิกสภา รัฐละ 6 คน รวม 18 คน โดยเริ่มจัดตั้งภายในปี พ.ศ 2490 และให้มีการประชุมร่วมกันอีกครั้งที่เมืองปางหลวง ( ป๋างโหลง ) ภายในปีเดียวกัน (พ.ศ 2490) การประชุมในครั้งนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการอยู่ร่วมกัน แบบสหพันธรัฐในดินแดนแห่งนี้

แต่เนื่องจากนักศึกษาที่เป็นแนวร่วมของพม่า ได้ทำการแจ้งข่าวการประชุมร่วม 3 รัฐ ครั้งนี้ ให้ทางพม่าทราบ ทางการพม่าซึ่งนำโดย นายอูนุและนายอูจ่อ จึงเดินทางมาเข้าร่วมประชุมด้วย แม้ว่าการประชุมครั้งนี้ตัวแทนจากพม่าจะเข้าร่วมประชุมด้วย แต่ในที่ประชุม ก็ยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ เนื่องจากเจ้าฟ้าไทยใหญ่ ได้พูดในที่ประชุมอย่างชัดเจนว่า "ต้องการจัดตั้งสหพันธรัฐที่ไม่มีพม่ารวมอยู่ด้วย" ดังนั้น ตัวแทนชาวพม่าที่เข้าร่วมประชุม จึงเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ ไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็นหรือลงมติใดๆทั้งสิ้น

ต่อมา วันที่ 27ก.ค 2489 บรรดาเจ้าฟ้าไทยใหญ่ได้ร่วมกันจัดตั้ง "คณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าแห่งรัฐฉาน" ( EX-ective Committee of the Council of Shan State Saophas ) ขึ้น ตามมติที่ตกลงกันไว้ในการประชุมที่เมืองกึ๋งขณะที่ทางฝ่ายพม่า ต้องการให้ไทยใหญ่ร่วมเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ แต่ทางคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯไม่เห็นด้วย พม่าจึงทำการยุยงให้นักศึกษาในรัฐฉานบางกลุ่ม ซึ่งเป็นแนวร่วมของพวกเขา ทำการจัดตั้งกลุ่ม "เพื่อเอกราชแห่งรัฐฉาน" ขึ้นเมื่อวันที่ 20 ก.ย 2489 โดยกลุ่มนี้เ ป็นกลุ่มที่มีแนวความคิดที่จะเรียกร้องเอกราชร่วมกับพม่า และล้มล้างการปกครองระบอบเจ้าฟ้าในรัฐฉาน

"คณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ" ได้พยายามเรียกร้องว่า " หากมีการให้เอกราชแก่รัฐฉาน ก็ไม่เห็นด้วยที่จะเข้าร่วมกับพม่า " โดยได้ทำหนังสือแสดงจุดยืนดังกล่าวต่อข้าหลวงอังกฤษมาโดยตลอด ซึ่งในขณะเดียวกันอองซานก็ได้เดินทางไปลอนดอน เพื่อเจรจาขอเอกราชคืนจากอังกฤษ และกลับมาชักชวนให้รัฐคะยาเข้า ร่วมกับพม่าด้วย ในระหว่างการเดินทางไปรัฐคะยา อองซานได้แวะกล่าวปราศรัยต่อประชาชนชาวไทยใหญ่ เมื่อวันที่ 23ธ.ค2489ในสนามฟุตบอลแห่งหนึ่ง ในเมืองตองจี ผู้ที่เข้าฟังการปราศรัย ส่วนใหญ่เป็นคนยากจนและคนหนุ่มสาว โดยอองซานพยายามเรียกร้องให้ชาวไทยใหญ่ให้ความร่วม มือกับชาวพม่า และในวันที่ 25 ธ.ค 2489 อองซานได้ติดต่อขอเข้าพบกลุ่มเจ้าฟ้า ที่ปกครองทางภาคใต้ของรัฐฉาน โดยพยายามพูดจาหว่านล้อมให้เจ้าฟ้า เหล่านั้น เห็นด้วยกับการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษร่วมกับพม่า แต่การเจรจาไม่ เป็นผล วันที่ 26 ธ.ค 2489 อองซานจึงเดินทางกลับไปยังกรุงย่างกุ้ง เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปพบปะพูดคุย กับนายแอตลี(Attlee) นายกรัฐมนตรีของอังกฤษที่ลอนดอนเกี่ยวกับเรื่องเอกราชของพม่า

ต่อมาในวันที่ 30 ธ.ค 2489 คณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯได้จัดประชุมขึ้นที่แสนหวี และจัดส่งโทรเลขจากเมืองล่าเสี้ยวถึงนายแอตลีมีใจความว่า "อองซานไม่ใช่ตัวแทนของชาวไทยใหญ่ เรื่องของทางไทยใหญ่นั้น ทางคณะกรรมการเจ้าฟ้าฯ จะเป็นผู้ตัดสินใจเอง" โดยนายแอตลีได้รับโทรเลขฉบับดังกล่าวในวันที่2 ม.ค 2490

วันที่ 9 ม.ค 2490 อองซานเดินทางถึงกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และได้เข้าพบกับนายแอตลี ตั้งแต่วันที่ 16 – 26 ม.ค 2490 เพื่อเจรจาให้อังกฤษมอบเอกราชคืนให้แก่พม่าและรัฐฉานร่วมกัน แต่นายแอตลีได้ตอบปฏิเสธ เนื่องจากได้รับโทรเลขแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทยใหญ่ จากคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้า ฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับการรับเอกราชร่วมกับพม่า

เมื่อนายอูนุทราบว่า ทางคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯได้ส่งโทรเลขถึงนายแอตลี มีใจความไม่เห็นด้วยกับพม่า ในวันที่ 22 ม.ค 2490 นายอูนุจึงสั่งให้คนของเขาไปทำการยุยงให้นักศึกษากลุ่ม "เพื่อเอกราชแห่งรัฐฉาน" ส่งโทรเลขสนับสนุนให้อองซานเป็นตัวแทนของชาวไทยใหญ่ ถึงนายแอตลีบ้าง โดยนายแอตลีได้รับโทรเลขฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 ม.ค 2490 ต่อมาในวันที่ 27 ม.ค 2490 จึงได้มีการทำหนังสือข้อตกลง อองซาน-แอตลี ( Aungsan Attlee Agreement) ขึ้น ซึ่งในหนังสือข้อตกลงฉบับนี้ ในวรรคที่ 8 ได้กล่าวเกี่ยวกับรัฐฉานไว้ว่า " ให้อองซานทำการเจรจากับผู้นำของชาวไทยใหญ่ ที่กำลังจะจัดประชุมกันขึ้นที่ปางหลวง ( ป๋างโหลง ) ในเดือน ก.พ ที่จะถึงนี้" และนายแอตลีได้ส่งโทรเลขถึงคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ , ตัวแทนรัฐคะฉิ่น, ตัวแทนรัฐชิน ให้ได้รับทราบ เพื่อที่จะได้คิดแนวทางที่จะพูดคุยกับอองซาน ในการประชุมสหพันธรัฐเทือกเขา ที่กำลังจะจัดขึ้นที่เมืองปางหลวง(ป๋างโหลง)

ดังนั้น เรื่องจริงๆจึงยังไม่จบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเข่นฆ่าครั้งใหญ่ในพม่า
รูปประกอบเป็นรูปที่ท่านนายพลถ่ายรูปกับสาวๆชาวคะฉิ่น เป็นการหาเสียงแบบนักการเมือง


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.พ. 13, 11:36
การประชุมที่เมืองปางหลวง(ป๋างโหลง) เป็นมติที่ตกลงจากการประชุมครั้งก่อนเมื่อปี2489 โดยที่ประชุมได้ตกลงให้จัดการประชุมสหพันธรัฐเทือกเขาอีกครั้งในปีต่อมา คือวันที่ 3ก.พ 2490 ทางคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ จึงได้จัดประชุมสหพันธรัฐเทือกเขาขึ้นที่ เมืองปางหลวง(ป๋างโหลง)ครั้งที่2 โดยงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมในครั้งนี้ ทางคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯ เป็นผู้ออกเองทั้งหมด

หลังการประชุมครั้งนี้ ในวันที่ 7 ก.พ. 2490 หรือสี่วันต่อมา ทางคณะกรรมการสภาเจ้าฟ้าฯและประชาชนชาวไทยใหญ่ ได้มีมติจัดตั้ง"สภาแห่งรัฐฉาน"( Shan State Council ) ประกอบด้วยตัวแทนเจ้าฟ้า 7 คน และตัวแทนจากประชาชนจำนวน 7 คน และให้ "สภาแห่งรัฐฉาน" เป็นตัวแทนของประชาชนชาวไทยใหญ่ทั้งปวง พร้อมทั้งมีมติประกาศใช้"ธง" ซึ่งประกอบด้วย สีเหลือง เขียว แดง และมีวงกลมสีขาวอยู่ตรงกลาง เป็นธงชาติของรัฐฉานตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
(สีเหลืองหมายถึงการเป็นชนชาติผิวเหลืองและพุทธศาสนา , สีเขียวหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติซึ่งประเมินค่าไม่ได้ของแผ่นดินรัฐฉาน และยังหมายถึงความเป็นชนชาติที่รักความสงบร่มเย็นไม่รุกรานใคร,สีแดงหมายถึงความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ของชนชาติรัฐฉาน และวงกลมสีขาว หมายถึงความมีสัจจะ , ซื่อสัตย์ และมีจิตใจที่บริสุทธิ์ดั่งเช่น ดวงพระจันทร์ของชนชาติรัฐฉาน)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.พ. 13, 11:43
ในสายตาและความคิดของคนไทยใหญ่ อองซานไม่ใช่พระเอกแน่นอน

และในวันที่ 8 ก.พ 2490 เวลา18.00 น. อองซานได้เดินทางมาถึงเมืองปางหลวง( ป๋างโหลง ) ก่อนหน้านี้อองซานไม่ได้มา และเพิ่งเดินทางมาถึงโดยไม่มีการเตรียมตัวเพื่อที่จะมาเข้าร่วมประชุมเลย อองซานมาในครั้งนี้ เหมือนเป็นการเสี่ยงดวงว่าทางไทยใหญ่จะให้ความร่วมมือในการเรียกร้องเอกราชหรือไม่เท่านั้น ดังนั้นที่มีการพูดว่า “อองซานเป็นผู้จัดการประชุมสัญญาปางหลวง( ป๋างโหลง )” นั้น จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

วันที่ 9 ก.พ 2490 เวลา 10.00 น. ตัวแทนไทยใหญ่ ชินและคะฉิ่น ได้จัดตั้ง"สภาผู้นำร่วมสหพันธรัฐเทือกเขา" ( S.C.O.U.H.P ) ขึ้น ตามมติการประชุมร่วมกันเมื่อเดือน มี.ค 2489 โดยมีสมาชิกสภาซึ่งเป็นตัวแทนที่มาจากรัฐฉาน(ไทยใหญ่) รัฐชินและรัฐคะฉิ่น รัฐละ 6 คนรวมเป็น 18 คน และให้เป็นสภาปกครองสูงสุดของ สหพันธ์รัฐเทือกเขา

วันที่ 9 ก.พ 2490 เวลา 11.30 น. อองซาน ได้กล่าวในที่ประชุม เรียกร้องให้ไทยใหญ่ร่วมกับพม่า ในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ แต่ตัวแทนของชาวไทยใหญ่ได้คัดค้านอย่างหนักแน่นเช่นเดิม และในขณะที่กำลังดำเนินการประชุมอยู่นั้น ได้เกิดการกระทบกระทั่งชกต่อยกันขึ้น ระหว่างทหารชุดรักษาความปลอดภัยของอองซาน กับทหารชุดรักษาความปลอดภัยของเจ้าฟ้าส่วยแต๊ก แห่งเมืองหยองห้วย ซึ่งเป็นผู้นำของเหล่าเจ้าฟ้าไทใหญทั้งหลาย ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น บรรดาเจ้าฟ้าไทยใหญ่ ได้กล่าวในที่ประชุม ครั้งนี้ว่า" ถ้าไม่มีสิทธิแยกตัวเป็นอิสระ หลังจากที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ก็จะไม่ร่วมมือกับพม่าอย่างเด็ดขาด "ส่วนตัวแทนของรัฐคะฉิ่น ก็ได้เรียกร้องให้มีการกำหนดดินแดนของรัฐคะฉิ่นให้ชัดเจน (แต่เดิม ดินแดนของรัฐคะฉิ่น เป็นดินแดนของรัฐฉาน แต่ต่อมาอังกฤษได้แยกเมืองกอง เมืองยาง ออกไปเป็นรัฐคะฉิ่น เพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง เป็นการชั่วคราวเท่านั้น ) ซึ่งอองซานได้แสดงอาการโกรธ และจะไม่อยู่ร่วมประชุมต่อ แต่ทางฝ่ายนักศึกษาของกลุ่ม“ เพื่อเอกราชรัฐฉาน” ซึ่งเป็นแนวร่วมกับทางอองซาน ได้เรียกร้องให้อยู่ร่วมประชุมต่อ


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.พ. 13, 11:45
ต่อมาวันที่ 11 ก.พ. 2490 ที่ประชุมได้มีมติตกลงที่จะร่วมกันเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ แต่จะร่วมกันเพื่อเรียกร้องเอกราชเท่านั้น หลังจากได้รับเอกราชแล้ว ทุกรัฐมีอิสระในการตัดสินใจทุกอย่าง ดังนั้น เป้าหมายที่ต้องร่วมกันครั้งนี้ จึงเพื่อให้เกิดพลังในการเจรจาต่อรองขอเอกราช จากอังกฤษเท่านั้น

และในวันที่ 12 ก.พ 2490 บรรดาเจ้าฟ้าไทยใหญ่ และตัวแทนจากรัฐต่าง ๆ จึงได้ร่วมลงนามในหนังสือสัญญาปางหลวง(ป๋างโหลง : Panglong Agreement ) ซึ่งอองซานเป็นผู้ร่างขึ้นเมื่อวันที่ 11 ก.พ 2490 มีเนื้อหาสาระทั้งหมด 9 ข้อ แต่ไม่มีข้อใดที่ระบุถึงสิทธิในการแยกตัวเป็นอิสระ บรรดาเจ้าฟ้าไทยใหญ่จึงได้ท้วงถาม ซึ่งอองซานได้ตอบว่า " เรื่องสิทธิในการแยกตัวเป็นอิสระนั้น น่าจะนำไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญของสหภาพ จะมีผลดีมากกว่าเขียนไว้ในหนังสือสัญญาปางหลวง(ป๋างโหลง )"

ด้วยเหตุนี้ สิทธิการแยกตัวของรัฐต่างๆ ที่ร่วมลงนามจึงไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในสัญญาปางโหลง แต่มีปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศพม่า


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.พ. 13, 11:52
หนังสือสัญญาปางหลวง ( ป๋างโหลง ) ปี พ.ศ 2490

ให้ตัวแทนของสภาผู้นำร่วมสหพันธรัฐเทือกเขา ( Supereme Council of the United Hill People ) เข้าร่วมในคณะรัฐบาลจำนวน1 คนโดยให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ปรึกษารัฐมนตรี ผู้นั้นจะไม่สังกัดกระทรวงใดสำหรับการทหารและการต่างประเทศของสหพันธรัฐเทือกเขา( United Hill People )จะต้องมีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจนซึ่งจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล

ตัวแทนของสหพันธรัฐเทือกเขา( United Hill People )สามารถเลือกรัฐมนตรีช่วยได้อีก 2 ตำแหน่งซึ่งในจำนวน 2 ตำแหน่งนี้จะต้องมิใช่ชนชาติเดียวกันและต้องมิใช่ชนชาติเดียวกับกับรัฐมนตรี ด้วย
 
รัฐมนตรี ช่วยทั้ง2คนมีสิทธิเข้าร่วมการประชุมก็ต่อเมื่อมีการประชุมเกี่ยวกับสหพันธ รัฐเทือกเขา ( ไทยใหญ่,ชิน และคะฉิ่น )เท่านั้นนอกเหนือจากนี้รัฐมนตรีเท่านั้นที่จะมีสิทธิเข้าร่วมในการประชุมสภา ฯ

สหพันธรัฐเทือกเขา( United Hill People )มีสิทธิปกครองตนเองโดยอิสระเหมือนดังเช่นที่เคยปฏิบัติ

ในหลักการให้การรับรองว่าให้รัฐคะฉิ่น เป็นรัฐ ๆหนึ่งแต่ในการณ์นี้จะต้องนำเข้าสู่วาระการประชุมร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง

ตามหลักการระบอบประชาธิปไตยที่กำหนดไว้สหพันธรัฐเทือกเขา ( United Hill People )ต้องได้รับสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับพม่าทุกประการ
 
รัฐฉานมีสิทธิในการใช้จ่ายเงินทองเหมือนเดิม(เหมือนสมัยอยู่ในอารักขาของอังกฤษ )
 
ต้องนำเงินส่วนกลางจากทางรัฐบาลไปช่วยเหลือแก่รัฐชินและคะฉิ่น ส่วนหนี้สินระหว่างพม่าและไทยใหญ่นั้น ให้รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยของสหพันธรัฐเทือกเขา(United Hill People )ทำการตรวจสอบและเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป

รายชื่อผู้ร่วมลงนามในหนังสือสัญญา ปางหลวง (ป๋างโหลง)

ฝ่ายพม่า อองซาน
 
ฝ่ายคะฉิ่น
1. สะมาตูวาสิ่นวาหน่อง(ตัวแทนจากเมือง มิดจีนา )
2. ตูวาจ่อริด(ตัวแทนจากเมือง มิดจีนา )
3. เต่งระต่าน(ตัวแทนจากเมือง มิดจีนา )
4. ตูวาเจ๊าะลุน(ตัวแทนจากเมือง บ้านหม้อ )
5. ละป่านกะหร่อง(ตัวแทนจากเมือง บ้านหม้อ )

ฝ่ายชิน
1. ลัวะมง(ตัวแทนจากเมือง กะลาน )
2. อ่องจ่าคบ(ตัวแทนจากเมือง ต๊ะเต่ง )
3. กี่โหย่มาน(ตัวแทนจากเมือง ฮาคา )

ฝ่ายไทยใหญ่
1. เจ้าขุนปานจิ่ง(เจ้าฟ้า น้ำสั่น )
2. เจ้าส่วยแต๊ก( เจ้าฟ้า ย่องฮ่วย )
3. เจ้าห่มฟ้า( เจ้าฟ้า แสนหวีเหนือ )
4. เจ้าหนุ่ม( เจ้าฟ้า ลายค่า )
5. เจ้าจ่ามทุน( เจ้าฟ้า เมืองป๋อน )
6. เจ้าทุนเอ( เจ้าฟ้า ส่าเมืองคำ )
7. อูผิ่ว( ตัวแทนจากเมือง สี่แส่ง )
8. ขุนพง( ตัวแทนนักศึกษากลุ่มเพื่อเอกราชรัฐฉาน )
9. ติ่นเอ( ตัวแทนนักศึกษากลุ่มเพื่อเอกราชรัฐฉาน )
10. เกี่ยปุ๊( ตัวแทนนักศึกษากลุ่ม เพื่อเอกราชรัฐฉาน )
11. เจ้าเหยียบฟ้า ตัวแทนนักศึกษากลุ่มเพื่อเอกราชรัฐฉาน )
12. ทุนมิ้น ( ตัวแทนนักศึกษากลุ่มเพื่อเอกราชรัฐฉาน )
13. ขุนจอ ( ตัวแทนนักศึกษากลุ่มเพื่อเอกราชรัฐฉาน )
14. ขุนที ( ตัวแทนนักศึกษากลุ่มเพื่อเอกราชรัฐฉาน)
 
รวมไทยใหญ่ 14 คน คะฉิ่น 5 และชิน 3 คน พม่า1 คน รวม 23 คน ร่วมลงนามในหนังสือสัญญาปางหลวง ( ป๋างโหลง : Panglong Agreement )

เอาสำเนาต้นฉบับสัญญามาแปะให้ด้วย เพื่อใครสนใจจะอ่าน


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.พ. 13, 11:57
เป็นการเริ่มหยั่งรากการรวมเมืองในรูปแบบสหภาพเป็นครั้งแรก ซึ่งในหนังสือสัญญาปางหลวง(ป๋างโหลง )มีชนชาติร่วมลงนามเพียง 4 ชนชาติเท่านั้น เนื่องจากสิทธิสำคัญส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับไทยใหญ่เสียเป็นส่วนใหญ่ และไทยใหญ่ก็เป็นผู้ริเริ่มสร้างความเป็นปึกแผ่นระหว่างชนชาติ จำนวนชาวไทยใหญ่ที่เข้าร่วมลงนามจึงมากกว่าชนชาติอื่น การรวมกันเป็นสหภาพนี้มิได้เกิดขึ้นจากความคิดของอองซาน แต่เกิดขึ้นจากการริเริ่มของเจ้าฟ้าไทยใหญ่ ที่พยายามก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ 2488 ซึ่งในขณะนั้น อองซานเองก็ยังไม่ได้มีความคิดที่จะรวมเอา สหพันธรัฐเทือกเขาเป็นสหภาพ ทางเจ้าฟ้าไทยใหญ่เป็นผู้เตรียมการดำเนินการไว้ทั้งหมดแล้ว แต่ภายหลัง อองซานได้เข้ามาฉวยโอกาสชุบมือเปิบ ถือเอาการก่อตั้งตั้งสหภาพเป็นการริเริ่มของพม่า

เท่านี้ก่อนครับ เสียวออฟไซด์


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ก.พ. 13, 15:29
เอาสำเนาต้นฉบับสัญญามาแปะให้ด้วย เพื่อใครสนใจจะอ่าน

สำเนานี้อ่านง่ายกว่า

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ก.พ. 13, 16:15
(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5528.0;attach=38987;image)

เพื่อให้อ่านได้ง่ายขึ้น ขอถ่ายทอดจากสำเนามาอีกที ดังนี้

THE   PANGLONG   AGREEMENT

_________________________________________________________________________________

                                                                                                                                                                                        Dated Panglong, the 12th.
                                                                                                                                                                                                 February 1947,

THE PANGLONG AGREEMENT, 1947,

          A conference having been held at Panglong, attended by certain Members of the Executive Council of the Governor of Burma, all Saohpas and representatives of the Shan States, the Kachin Hills and the Chin Hills,

          The members of the conference, believing that freedom will be more speedily achieved by the Shans, the Kachins and the Chins by their immediate co-operation with the Interim Burmese Government,

           The members of the conference have accordingly, and without dissentients, agreed as follows:
 
           1. A representative of the Hill peoples, selected by the Governor on the recommendation of representatives of the Supreme Council of the United Hill Peoples, shall be appointed a Counsellor to the Governor to deal with the Frontier Areas.
 
           2. The said Counsellor shall also be appointed a member of the Governor's Executive Council without portfolio, and the subject of Frontier Areas brought within the purview of the Executive Council by constitutional convention as in the case of Defence and External Affairs. The Counsellor for Frontier Areas shall be given executive authority by similar means.
 
           3.The said Counsellor shall be assisted by two Deputy Counsellors representing races of which he is not a member. While the two Deputy Counsellors should deal in the first instance with the affairs of the respective areas and the Counsellor with all the remaining parts of the Frontier Areas, they should by Constitutional Convention act on the principle of joint responsibility.
 
           4. While the Counsellor in his capacity of Member of the Executive Council will be the only representative of the Frontier Areas on the Council, the Deputy Counsellor(s) shall be entitled to attend meetings of the Council when subjects pertaining to the Frontier Areas are discussed.
 
           5. Though the Governor's Executive Council will be augmented as agreed above, it will not operate in respect of the Frontier Areas in any manner which would deprive any portion of these Areas of the autonomy which it now enjoys in internal administration. Full autonomy in internal administration for the Frontier Areas is accepted in principle.
 
           6. Though the question of demarcating and establishing a separate Kachin State within a Unified Burma is one which must be relegated for decision by the Constituent Assembly, it is agreed that such a State is desirable. As first step towards this end, the Counsellor for Frontier Areas and the Deputy Counsellors shall be consulted in the administration of such areas in the Myitkyina and the Bhamo District as are Part 2 Scheduled Areas under the Government of Burma Act of 1935.
 
           7. Citizens of the Frontier Areas shall enjoy rights and privileges which are regarded as fundamental in democratic countries.
 
           8. The arrangements accepted in this Agreement are without prejudice to the financial autonomy now vested in the Federated Shan States.
 
           9.  The arrangements accepted in this Agreement are without prejudice to the financial assistance which the Kachin Hills and the Chin Hills are entitled to receive from the revenues of Burma and the Executive Council will examine with the Frontier Areas Counsellor and Deputy Counsellor(s) the feasibility of adopting for the Kachin Hills and the Chin Hills financial arrangements similar to those between Burma and the Federated Shan States.
 
Signatories

Shan Committee
 
 Saohpalong of Tawngpeng State.
 Saohpalong of Yawnghwe State.
 Saohpalong of North Hsenwi State.
 Saohpalong of Laihka State.
 Saohpalong of Mong Pawn State.
 Saohpalong of Hsamonghkam State
 Representative of Hsahtung Saohpalong. Hkun Pung
 U Tin E
 U Htun Myint
 U Kya Bu
 Hkun Saw
 Sao Yape Hpa
 Hkun Htee

Kachin Committee
 
 Sinwa Naw, Myitkyina
 Zaurip, Myitkyina
 Dinra Tang, Myitkyina
 Zau La, Bhamo
 Zau Lawn, Bhamo
 Labang Grong, Bhamo
 
Chin Committee
 
 Pu Hlur Hmung, Falam
 Pu Thawng Za Khup, Tiddim
 Pu Kio Mang, Haka
 
Burmese Government
 
 Aung San

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ก.พ. 13, 09:07
ถอดความเป็นไทยเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ดังนี้

ในการประชุมซึ่งจัดขึ้นที่ปางหลวงนี้ มีสมาชิกจากคณะกรรมการบริหารของรัฐบาลพม่า บรรดาเจ้าฟ้าและผู้แทนรัฐฉาน ชนชาวเขาคะฉิ่นและฉิ่น เข้าร่วม
    
ผู้ร่วมประชุมเชื่อว่าเสรีภาพจะบรรลุถึงได้ในเร็ววันโดยการร่วมมือระหว่างชาวฉาน ชาวคะฉิ่น  ชาวฉิ่น  และรัฐบาลชั่วคราวของพม่า ผู้ร่วมการประชุมเห็นพ้องกันโดยปราศจากข้อขัดแย้งในมติดังต่อไปนี้ :

๑.  ตัวแทนของชนชาวเขาที่ได้รับเลือกจากข้าหลวง (อังกฤษ) โดยการเสนอแนะของคณะผู้แทนในสภาผู้นำร่วมสหพันธรัฐเทือกเขา (SCUHP) จะได้รับการแต่งตั้งให้เห็นที่ปรึกษาข้าหลวงในกิจการที่เกี่ยวกับพื้นที่ของรัฐชายแดน

๒. สมาชิกสภาผู้นำร่วมสหพันธรัฐเทือกเขาซึ่งมิได้มีหน้าที่บริหารพื้นที่ชายแดน จะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับคณะกรรมการบริหาร (Executive Council) ตามบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เฉพาะด้านที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศและกิจการต่างประเทศ ส่วนที่ปรึกษาข้าหลองของรัฐในพื้นที่ชายแดนจะได้มาซึ่งอำนาจบริหารโดยวิธีเดียวกัน

๓. ที่ปรึกษาข้าหลวงจะมีผู้ร่วมงานซึ่งเป็นผู้ช่วยที่ปรึกษาอีก ๒ คนมาจากตัวแทนของชนชาวเขาเผ่าที่เหลือ โดยคนทั้งสองจะต้องไม่เป็นสมาชิกในสภาบริหารสูงสุด ผู้ช่วยที่ปรึกษามีหน้าที่รับผิดชอบกิจการที่เกี่ยวกับดินแดนของตน ขณะที่ที่ปรึกษารับผิดชอบพื้นที่ชายแดนส่วนที่เหลือและพวกเขาควรปฏิบัติหน้าที่ตามหลักแห่งความรับผิดชอบร่วมกันตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

๔. ที่ปรึกษาจะเป็นสมาชิกและเป็นตัวแทนเพียงผู้เดียวของรัฐพื้นที่ชายแดนในคณะกรรมการบริหาร

๕. แม้ว่าคณะกรรมการบริหารแห่งข้าหลวงอังกฤษจะมีสมาชิกเพิ่มเข้ามาดังกล่าวแล้ว แต่จะไม่มีหน้าที่บริหารรัฐพื้นที่ชายแดน เพราะอาจไปขัดขวางสิทธิการบริหารกิจการภายในของรัฐดังกล่าว สิทธิในการบริหารกิจการภายในของรัฐพื้นที่ชายแดนได้รับการยอมในหลักการ

๖. แม้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับเขตแดนและการสถาปนารัฐคะฉิ่นขึ้นในประเทศพม่า ปัญหานี้จะมอบหน้าที่การตัดสินใจให้กับรัฐสภา ที่ประชุมได้ตกลงกันว่าปรารถนาที่จะสถาปนารัฐนี้ขึ้น และเพื่อให้เป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่ข้อยุตินี้ ที่ปรึกษาของรัฐพื้นที่ชายแดนและผู้ช่วยที่ปรึกษาจะนำประเด็นนี้ไปหารือในฝ่ายบริหารของรัฐดังกล่าวที่มิตจีนาและบามอ ทั้งนี้ในฐานะเป็นดินแดนส่วนที่สองตามกฎหมายของรัฐบาลพม่า พ.ศ. ๒๔๗๘

๗. ประชากรในพื้นที่รัฐชายแดนย่อมมีสิทธิและเอกสิทธิและเอกสิทธิ์พื้นฐาน เช่นเดียวกับประชากรในประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ

๘. การดำเนินการใด ๆ   ซึ่งเป็นที่ยอมรับตามสนธิสัญญานี้จะต้องไม่ละเมิดต่อสิทธิทางการคลังซึ่งมีอยู่แล้วในสหพันธรัฐฉาน

๙. การดำเนินการใด ๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับตามสนธิสัญญานี้ จะต้องไม่ทำให้เสียไปซึ่งความช่วยเหลือทางด้านการคลังที่ชนชาวเขาฉิ่นและคะฉิ่นมีสิทธิจะได้รับจากงบประมาณของพม่า และคณะกรรมการบริหารร่วมกับที่ปรึกษาและผู้ช่วยที่ปรึกษาของรัฐพื้นที่ชายแดนจะตรวจสอบถึงความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาจัดระเบียบทางการคลังของรัฐชาวเขาคะฉิ่นและฉิ่นให้เป็นไปในลักษณะเดียวกับที่ดำเนินการอยู่ระหว่างพม่าและสหพันธรัฐฉาน

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ก.พ. 13, 09:28
เมื่อตกลงกับสหพันธ์รัฐเทือกเขาเรียบร้อยแล้ว  ก้าวต่อไปคือการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพร้อมที่จะได้รับเอกราชภายในหนึ่งปี ตามข้อตกลงอองซาน-แอตลี

ผลการเลือกตั้ง พรรคสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์ (AFPFL) ได้รับเลือก ๑๗๒ ที่นั่ง พรรคคอมมิวนิสต์พม่าได้รับเลือก ๗ ที่นั่ง ส่วนกะเหรี่ยงปฏิเสธร่วมการเลือกตั้ง

สภาร่างรัฐธรรมนูญเปิดการประชุมขึ้นในวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ นายพลอองซานเป็นประธานเปิดการประชุมโดยกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาของชาติ ๗ ประการตามที่พรรค AFPFL ร่างขึ้นมา ได้แก่

๑. กฎหมายรากฐานของชาติต้องวางอยู่บนหลักการกลาง กล่าวคือการสถาปนาสหภาพพม่าในฐานะเป็นรัฐเอกราช

๒. รัฐทั้งปวงในสหภาพต้องมีสิทธิอย่างเต็มที่ในการบริหารกิจกรรมภายในของตน

๓. อำนาจของสหภาพพม่าและมลรัฐได้มาจากปวงชน

๔. ประชากรของสหภาพควรมีสิทธิเท่าเทียมกันในสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง กฎหมายและความยุติธรรมจะต้องให้ความเสนอภาคต่อประชาชนทุกคน  ยกเว้นผู้ละเมิดกฎหมาย  สิทธิของปวงชนในการคิด, การแสดงออก, ความเชื่อ, การนับถือศาสนา  ในชีวิตและในการรวมตัวกันเป็นสมาคมจะต้องได้รับการรับรองและประกันไว้ในรัฐธรรมนูญ

๕. สิทธิของชนชาติส่วนน้อยจะต้องได้รับการพิทักษ์ไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ

๖. อธิปไตยของสหภาพเหนือดินแดน ทะเล และอากาศจะต้องได้รับการพิทักษ์ไว้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ

๗. สหภาพพม่าจะต้องมุ่งมั่นให้เกิดสมรรถภาพในการดิ้นรนเพื่อพัฒนาการทางด้านสังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคงคงปลอดภัยของประชาชน และความร่วมมือกับชาติทั้งปวงด้วยความยุติธรรมเพื่อดำรงไว้ซึ่งสันติภาพของโลก

ระหว่างสภากำลังร่างรัฐธรรมนูญ ได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น เหตุการณ์จะเป็นฉันใด

โปรดอดใจรอ และติดตามด้วยความระทึก

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley20.png)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ก.พ. 13, 09:56
ก่อนจะถึงเหตุการณ์ระทึกใจ   :o

ขออนุญาตคั่นรายการด้วยภาพซึ่งแสดงถึงความพยายามที่จะก่อให้เกิดความปรองดองของคนในชาติของนายพลอองซาน

เป็นภาพในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๔๙๐ นายพลอองซานกำลังกล่าวคำปราศรัยในงานปีใหม่ของชาวกะเหรี่ยง โดยกล่าวว่า

"ที่ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่ในวันนี้ ไม่ใช่ในฐานะเพื่อนเท่านั้น แต่ในฐานะของสมาชิกครอบครัวพวกท่านอีกด้วย ซึ่ง "จิตวิญญาณ" แห่งความเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกันนี้ ต้องแผ่ไปทั่วประเทศพม่า"

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)



กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ก.พ. 13, 23:06
วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เวลาประมาณ ๑๐.๓๐ น. ขณะที่การประชุมสภาบริหารจะเริ่มต้นขึ้น  กลุ่มชายฉกรรจ์ในชุดทหารมีอาวุธครบมือบุกเข้าไปในสถานที่ประชุม สาดกระสุนสังหารนายพลอองซานและสมาชิกสภาอีก ๖ คน คนร้ายหลบหนีไปได้ แต่สุดท้ายจับได้ว่าเป็นลูกสมุนของอูซอ อดีตนายกรัฐมนตรี คู่แข่งทางการเมืองของนายพลอองซาน จุดประสงค์ในการสังหารนายพลอองซาน เพื่อตนจะได้ขึ้นเป็นผู้นำคนต่อไป ในที่สุดอูซอถูกตัดสินประหารชีวิต

ในหนังสือ Who killed Aung San โดย Kin Oung บรรยายว่า

เช้าวันเสาร์ที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นช่วงฤดูเข้าพรรษา เช้าวันนั้นท้องฟ้าฉ่ำด้วยเมฆ ที่หน้าบ้านของอูซอ นักการเมืองอาวุโสของพม่า มีชายกลุ่มหนึ่งกำลัง รวมตัวกันตั้งใจฟังคำชี้แจงเป็นครั้งสุดท้ายจากอูซอ คนกลุ่มนี้กำลังจะปฏิบัติภารกิจที่จะเปลี่ยนอนาคตของประเทศพม่าตลอดไป ชั่วครู่หนึ่งชายกลุ่มนั้นแยกย้ายขึ้นไปนั่งบน รถบรรทุกทหารยี่ห้อฟอร์ดสัน

ไม่มีใครสนใจรถบรรทุกคันนี้ เพราะสงครามเพิ่งจะเลิกไม่นาน รถบรรทุกทหาร วิ่งกันไปมาในย่างกุ้งเป็นเรื่องปกติ ครึ่งชั่งโมงต่อมารถคันนี้ไปจอดหน้าตึก ๒ ชั้นสไตล์ วิคตอเรียก่อด้วยอิฐสีแดง

ชายฉกรรจ์ ๓ คนกระโดดลงมาจากรถแล้วเดินสำรวจบริเวณรอบ ๆ ตึกเพื่อให้แน่ใจว่า “เป้าหมาย” กำลังอยู่ในห้องประชุม หนึ่งในสามคนนั้นนามว่า คินหม่องยิน โทรศัพท์กลับไปบอกเจ้านายโดยใช้รหัสว่า “ได้รับแหวนลูกสูบแล้ว”

ทันทีที่ปลายทางได้รับแจ้ง รถจี๊บอีกคันหนึ่งพุ่งออกจากบ้านอูซอไป ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. ด้านหลังรถจี๊บมีผ้าใบคลุมหลังคามิดชิดซ่อน ๖ เพชฌฆาตพร้อมด้วยปืนกลทอมมี่และปืนสเตนครบมือ ทั้งหมดแต่งกายชุดฝึกเขียวหมวกปีก

ในเวลาใกล้เคียงกัน นายพลอองซานวัย ๓๒ ปีกำลังนั่งรถออกจากบ้านมีคนขับ มุ่งหน้าไปที่ประชุมแต่งกายด้วยชุดประจำชาติ (นุ่งโสร่ง) ถึงแม้จะเป็นวันเสาร์ คณะทำงานก็มาประชุมเพื่อเตรียมการเป็นเอกราชในอีก ๖ เดือนข้างหน้า

บายุนต์ไม่ได้พกอาวุธเดินเข้าไปสำรวจในอาคารเพื่อดูว่าใครบ้างจะชะตาขาด มองหาตะขิ่นนุ (อูนุ) ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งน่าจะอยู่ในห้องประชุมแต่ไม่พบ หากแต่ “เป้าหมาย” อื่น ๆ อยู่ครบ จึงเดินกลับไปที่รถบรรทุก แจ้งว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผน รถจี๊บเคลื่อนมาจอดหน้าตึก ถนนโล่งสะดวกไม่มีอะไรกีดขวาง

๑๐.๓๐ น. องค์ประชุมมาครบนั่งตามที่จัดเป็นรูปตัวยู นายพลอองซานนั่งหัวโต๊ะ การประชุมกำลังจะเริ่มขึ้น แต่ก็ถูกขัดจังหวะโดยอูออนหม่อง รัฐมนตรีช่วยคมนาคมซึ่งเพิ่งเดินเข้ามาในห้องประชุมและรีบชี้แจงต่อที่ประชุมว่ารัฐมนตรีว่าการคมนาคมไปตรวจงานต่างจังหวัด จึงมาขอชี้แจงเรื่องด่วนก่อนและจะรีบเดินทางไปราชการ

๔ เพชฌฆาตพร้อมอาวุธครบมือรีบวิ่งขึ้นบันไดตรงสู่ห้องประชุม หม่องโซกระชากประตูให้เปิด ลูกสมุนอีก ๓ คนกรูเข้าไปในห้องประชุม หม่องโซตะโกน “หยุดอย่าขยับ”

นายพลอองซานเป็นคนเดียวที่ลุกขึ้นยืน หม่องโซสั่งยิงทันที นายพลอองซานล้มคว่ำลงไปจมกองเลือดด้วยกระสุน ๑๓ นัดเจาะร่าง

สมุนที่เหลือสาดกระสุนจากปืนกลทอมมี่ ยานยีคุกเข่าลงสาดกระสุนใส่บรรดาผู้เข้าประชุมที่หมอบลงใต้โต๊ะ เสียงปืนกลคำรามลั่นประมาณ ๓๐ วินาที ๔ เพชฌฆาตจึงถอนตัว

๑๐.๔๐ น. เลขานุการและนายทหารคนสนิทของนายพลอองซานวิ่งมาถึงพื้นที่สังหาร สมาชิกสภาที่ประชุมอยู่ในห้องอื่นแตกตื่นวิ่งมาที่เกิดเหตุ กลิ่นดินปืนคลุ้งตลบอบอวนผสมกับกลิ่นคาวเลือด โต๊ะเก้าอี้ล้มคว่ำระเกะระกะ

นายพลอองซานวัย ๓๒ ปีวีรบุรุษของชาตินอนจมกองเลือดตายคาที่บนพื้นห้อง สมาชิกคนอื่น ๆ อีก ๖ คนโดนปลิดชีพบนโต๊ะ บนเก้าอี้ และใต้โต๊ะ

แท้ที่จริงแล้วนายพลอองซานคือ “เป้าหมาย” แต่เพียงผู้เดียว ในจำนวนนั้นมีผู้รอดตายราวปาฏิหาริย์ ๒ คนที่นั่งริมประตูแล้วกระโดออกไปได้

ระหว่างที่ ๔ เพชฌฆาตถอนตัวจากอาคารยังสังหารยามประจำตึกอีก ๑ คนพร้อมทั้งตะโกน “เราชนะแล้ว-เราชนะแล้ว” รีบขึ้นรถจี๊บหนีออกจากที่เกิดเหตุ นักข่าวประจำสภาคนหนึ่งวิ่งตามออกมาเห็นแผ่นป้ายทะเบียนรถ รถจี๊บมุ่งหน้ากลับไปที่บ้านอูซอด้วยความเร็ว เกือบจะชนร้อยเอกข่าน เพื่อนบ้านของอูซอ ร้อยเอกข่าน เห็นรถจี๊บคันนี้มีพิรุธผิดสังเกต รถเลี้ยวเข้าไปจอดในบ้านของอูซอกลุ่มคนบนรถจี๊บโดดลงมาพูดคุยกับอูซอที่ยืนรออยู่

อูซอสวมเสื้อเชิ้ตสีขาวกางเกงขาสั้นสีน้ำเงินกระโดดเข้ากอดเพชฌฆาตทุกคนอย่างมีความสุขพร้อมทั้งตะโกน “เราชนะแล้ว-เราชนะแล้ว” อาหารและเครื่องดื่มที่เตรียมไว้เพื่อฉลองความสำเร็จถูกยกมาบริการเต็มคราบกลั้วด้วยเสียงหัวเราะอย่างเมามัน

อูซอถามลูกน้องว่า “อูนุตายมั้ย?” บายุ้นต์ชี้แจงว่าอูนุไม่ได้มาร่วมประชุมและ เล่ารายละเอียดอื่น ๆ ให้อูซอเห็นภาพ อูซอพอใจมากเพราะอูนุไม่ใช้ “เป้าหมายหลัก” ในการสังหารครั้งนี้

ทุกลมหายใจอูซอกระวนกระวายรอฟังเสียงโทรศัพท์จากเซอร์ฮิวเบอร์ต แรนซ์ข้าหลวงอังกฤษผู้ปกครองพม่าโทรศัพท์มาตามเพื่อให้อูซอไปเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนนายพลอองซาน เพราะเมื่อสิ้นนายพลอองซานแล้วไม่มีใครโดดเด่นเท่ากับอูซอผู้มากด้วยประสบการณ์ทางการเมือง อายุเพียง ๔๗ ปี กว้างขวางในหมู่นักการเมือง สนิทสนมกับกองทัพ เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ The Sun เป็นหัวหน้าพรรคเมียวชิต (แปลว่ารักชาติ) แถมยังเคยเป็นนายกรัฐมนตรีของพม่าในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๔๘๔ ก่อนญี่ปุ่นบุกพม่า

เหมือนสายฟ้าฟาดกลางวันแสก ๆ ข้าหลวงใหญ่อังกฤษกลับเชิญอูนุมาพบแล้วขอให้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันทีแล้วรีบจัดตั้งรัฐบาลเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ของประเทศ

๑๕.๐๐ น. รถบรรทุกตำรวจจำนวนหนึ่งได้จู่โจมเข้าล้อมบ้านพักอูซอ มือปืนทุกคนหยิบอาวุธเตรียมต่อสู้ แต่อูซอกลับใจเย็นจิบวิสกี้เดินออกไปพบตำรวจด้วยท่าทางสงบเหมือนไม่มีอะเกิดขึ้น ตำรวจเข้าค้นบ้านพบปืนและกระสุนจำนวนมากแต่มีใบอนุญาตถูกต้องจึงยึดไปเป็นหลักฐาน ตำรวจคุมตัวอูซอและลูกสมุนไปคุกอินเส่ง ในบ้านตำรวจยังพบนามบัตร ตรายางที่ทำเตรียมไว้เรียบร้อยพร้อมใช้เขียนว่า “ฯพณฯนายกรัฐมนตรี อูซอ”

กระบวนการสอบสวนฆาตกรรมนายพลอองซานดำเนินมาจนถึง ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ ศาลอ่านคำพิพากษากว่า ๑ ชั่งโมงเป็นภาษาอังกฤษ อูซอฟังเข้าใจส่วนลูกน้องอีก ๘ คนไม่รู้เรื่อง ศาลตัดสินประหารชีวิตโดยการแขวนคออูซอและมือปืนอีก ๕ คนส่วนที่เหลืออีก ๓ คนจำคุกคนละ ๒๐ ปี

http://www.youtube.com/watch?v=7jcJHxDQbzg

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley20.png)



กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 11 ก.พ. 13, 02:06
เอารูปอูซอมาให้ดูครับ หน้าตากังฉินจริงๆ   สุดท้ายตัวโกงอูซอก็ถูกแขวนคอไปเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 1948   เอ แต่จะมีใครอยู่เบื้องหลังอูซออีกรึเปล่า? ต้องรอท่านซายาเพ็ญฯต่อไป


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 05:21
ณ ทำเนียบรัฐบาล
อ้างถึง
๑๐.๓๐ น. องค์ประชุมมาครบนั่งตามที่จัดเป็นรูปตัวยู นายพลอองซานนั่งหัวโต๊ะ การประชุมกำลังจะเริ่มขึ้น แต่ก็ถูกขัดจังหวะโดยอูออนหม่อง รัฐมนตรีช่วยคมนาคมซึ่งเพิ่งเดินเข้ามาในห้องประชุมและรีบชี้แจงต่อที่ประชุมว่ารัฐมนตรีว่าการคมนาคมไปตรวจงานต่างจังหวัด จึงมาขอชี้แจงเรื่องด่วนก่อนและจะรีบเดินทางไปราชการ

๔ เพชฌฆาตพร้อมอาวุธครบมือรีบวิ่งขึ้นบันไดตรงสู่ห้องประชุม หม่องโซกระชากประตูให้เปิด ลูกสมุนอีก ๓ คนกรูเข้าไปในห้องประชุม หม่องโซตะโกน “หยุดอย่าขยับ”

นายพลอองซานเป็นคนเดียวที่ลุกขึ้นยืน หม่องโซสั่งยิงทันที นายพลอองซานล้มคว่ำลงไปจมกองเลือดด้วยกระสุน ๑๓ นัดเจาะร่าง

สมุนที่เหลือสาดกระสุนจากปืนกลทอมมี่ ยานยีคุกเข่าลงสาดกระสุนใส่บรรดาผู้เข้าประชุมที่หมอบลงใต้โต๊ะ เสียงปืนกลคำรามลั่นประมาณ ๓๐ วินาที ๔ เพชฌฆาตจึงถอนตัว


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 05:27
อองซานไม่ได้ตายทันที เจ้าหน้าที่พบร่างของเขาจมกองเลือดพร้อมกับร่างอื่นๆอยู่ในห้องที่ควันตลบไปหมด อองซานยังหายใจอยู่ขณะนั้น แต่ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลไม่นานหลังจากถูกนำไปถึง

ความตายทำให้อองซานกลายเป็นวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่ของพม่าอย่างยากที่จะหาใครทัดเทียมได้ แต่หากว่าวันนั้นเขารอด ก็ไม่แน่ว่าคนอย่างอองซานจะประคับประคองพม่าให้รอดจากความแตกแยกทางชนชาติและทางการเมืองได้หรือไม่ และเขาอาจจะไม่ได้ตายอย่างวีรบุรุษก็ได้


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 05:29
มีคนจำได้ว่า ทหารที่บุกเข้าไปปฏิบัติการโหดครั้งนี้ เป็นหน่วยที่ติดตามอูซอ นักการเมืองคู่แข่งของอองซาน
อ้างถึง
๑๕.๐๐ น. รถบรรทุกตำรวจจำนวนหนึ่งได้จู่โจมเข้าล้อมบ้านพักอูซอ มือปืนทุกคนหยิบอาวุธเตรียมต่อสู้ แต่อูซอกลับใจเย็นจิบวิสกี้เดินออกไปพบตำรวจด้วยท่าทางสงบเหมือนไม่มีอะเกิดขึ้น ตำรวจเข้าค้นบ้านพบปืนและกระสุนจำนวนมากแต่มีใบอนุญาตถูกต้องจึงยึดไปเป็นหลักฐาน ตำรวจคุมตัวอูซอและลูกสมุนไปคุกอินเส่ง ในบ้านตำรวจยังพบนามบัตร ตรายางที่ทำเตรียมไว้เรียบร้อยพร้อมใช้เขียนว่า “ฯพณฯนายกรัฐมนตรี อูซอ”

อาวุธที่ใช้สังหารถูกโยนทิ้งน้ำไว้ แต่ถูกตำรวจพม่าที่นำโดยนายตำรวจชาวอังกฤษค้นพบในทะเลสาปบริเวณบ้านพักของอูซอนั่นเอง


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 05:30
นอกจากนั้นในบริเวณที่ใกล้เคียงกันยังได้พบอาวุธสงครามมากมาย เพียงพอกับการจัดตั้งกองทหารได้ถึง3กองพัน


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 05:33
อูซอจบวิชากฏหมาย และดังมาจากการเป็นทนายว่าความให้กับซายา ซาน อดีตพระที่กลายไปเป็นผู้นำกบฎต่ออังกฤษกระทั่งเป็นวีรบุรุษคนหนึ่งของพม่า ต่อมาเขาได้เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ชื่อสุริยา และได้ใช้เป็นสื่อในการโปรโมทตนเองเพื่อหวังผลทางการเมือง ขึ้นสูงสุดเมื่ออังกฤษแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่3ของพม่าในระหว่างปี1940ถึง1942  ระหว่างนั้น เขาเดินทางไปอังกฤษเพื่อขอให้เชอร์ชิลสัญญาว่าจะให้พม่าเป็นอาณาจักรอิสระภายใต้อังกฤษหลังสงคราม แต่ไม่สำเร็จ จึงได้พยายามติดต่อกับญี่ปุ่นเพื่อความมั่นคงของตนเองด้วย หากเมื่อใดญี่ปุ่นจะเข้ามายึดครองพม่า แต่พลาดไปทิ้งเอกสารหลักฐานให้อังกฤษจับได้ อูซอเลยถูกส่งไปกักขังไว้ที่อูกานดาตลอด4ปีของสงคราม

เมื่อกลับพม่าหลังสงครามเลิกแล้ว ได้ตั้งพรรคการเมืองลงแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งแรกของพม่าใหม่ แต่พ่ายแพ้ให้แก่อองซานและกลุ่ม Anti-Fascist People's Freedom League (AFPFL)อย่างขาดลอย  แต่ใน AFPFL อองซานซึ่งคุมBNA(Burma National Army)อยู่พรรคเดียวก็มีเสียงไม่ขาด เพราะรวมมุ้งมาจากหลายพรรค ส่วนใหญ่พรรคเหล่านั้นจะเอียงซ้ายถึงซ้ายจัด
 
ในเดือนมกราคม1947 อูซอได้ร่วมคณะนักการเมืองพม่าเดินทางไปลอนดอนกับอองซาน เพื่อเจรจาเรื่องเอกราชของพม่ากับอังกฤษ แต่ปฏิเสธที่จะร่วมลงนามในข้อตกลงอองซาน-แอตลี่ที่ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงกัน

กรกฎาคมของปีเดียวกันนั้นเอง เขาถูกจับในข้อหาฆาตกรรมนายพลอองซาน คู่แข่งทางการเมืองของตน


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 05:36
อ้างถึง
กระบวนการสอบสวนฆาตกรรมนายพลอองซานดำเนินมาจนถึง ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ ศาลอ่านคำพิพากษากว่า ๑ ชั่งโมงเป็นภาษาอังกฤษ อูซอฟังเข้าใจส่วนลูกน้องอีก ๘ คนไม่รู้เรื่อง ศาลตัดสินประหารชีวิตโดยการแขวนคออูซอและมือปืนอีก ๕ คนส่วนที่เหลืออีก ๓ คนจำคุกคนละ ๒๐ ปี

อูซอ เหมือนกับจะรู้ชะตากรรมของตนดี เขาไม่ได้โวยวายและปฏิเสธเมื่อเจ้าหน้าที่จะสวมถุงดำครอบศรีษะให้ตามธรรมเนียมของการประหารด้วยการแขวนคอ  เมื่อเวลานั้นผ่านพ้นไปแล้ว ร่างไร้ชีวิตของเขาก็ถูกนำไปฝังตามระเบียบในป่าช้าบริเวณคุกอินเซนนั่นเอง โดยที่ไม่มีการทำเครื่องหมายใดๆบนหลุมศพทั้งนั้น


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 06:00
หลายทศวรรษมาแล้ว โลกถูกทำให้เชื่อว่าพวกคอมมิวนิสต์คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังอูซอ นัยว่าเพราะนายพลอองซานเอาใจออกห่างพวกคอมมิวนิสต์บ้าง  ขัดขวางการทำงานของพรรคคอมมิวนิสต์สากลบ้าง

บีบีซี ได้เกาะติดเรื่องดังกล่าว และได้เสนอเรื่องราวผ่านสารคดีที่ออกอากาศไปทั่วโลกเมื่อไม่นานมานี้ จนสั่นสะเทือนไปทุกวงการของผู้สนใจประวัติศสาตร์พม่า


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 06:15
พรรคคอมมิวนิสต์พม่ากำเนิดขึ้นพร้อมกับการตั้งขบวนการทะขิ่นของชาวพม่าวัยหนุ่มสาวที่นิยมลัทธิสังคมนิยม ผู้นำของทะขิ่น เช่น ทะขิ่นนุ โส และถ่านตุนได้ตั้งสำนักพิมพ์นาคานี (นาคแดง) เพื่อจำหน่ายหนังสือเกี่ยวกับสังคมนิยม กลุ่มทะขิ่นได้จัดตั้งสมาคมเราชาวพม่าเพื่อเป็นศูนย์รวมในการเรียกร้องเอกราช ทั้งการเดินขบวน และการนัดหยุดงาน
พรรคคอมมิวนิสต์พม่าจึงงอกงามขึ้น โดยอองซานนั่นแหละที่เป็นเลขาธิการพรรคคนแรก

เฟอกัล คีน (Fergal  Keane) นักข่าวบีบีซีในการทำสารคดีนี้ พบว่าโสยังมีชีวิตอยู่ในเมืองจีน และเขาสามารถติดต่อทางโทรศัพท์กับโสได้ จึงได้ถามโสตรงๆว่าใครกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังอูซอในการสังหารอองซานครั้งนั้น

โสตอบโดยไม่อ้อมค้อมว่า รัฐบาลอังกฤษ คือผู้วางแผนเหตุการณ์ทั้งหมด เพราะอองซานคือผู้นำที่สามารถทำให้คนทั้งประเทศปรองดองกันได้ อังกฤษจึงคิดว่า ตนจะจัดการเอาพม่าให้อยู่มือได้ง่ายขึ้น ถ้ากำจัดอองซานไปเสียได้


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 07:13
ขออนุญาตคุณเพ็ญและคุณประกอบติดตามคณะทำงานค้นหาความจริงของบีบีซีมาเล่าให้สู่ท่านผู้อ่านต่อไป เพราะผมเองกำลังมัน

คำตอบมิได้ถึงกับทำให้คณะค้นหาหงายหลังผลึ่ง ความเป็นไปได้เช่นนั้นมันก็มีอยู่ แต่ถ้าจะใช้คำว่ารัฐบาลอังกฤษก็กว้างไป ใครล่ะ ชื่ออะไรที่ว่าคือรัฐบาลอังกฤษ
พวกเขาจึงบินไปพม่าเพื่อหาข้อมูลต่อจากต้นตอ ยังมีผู้เคยร่วมอุดมการณ์กับอองซานที่มีชีวิตอยู่จำนวนหนึ่ง แม้หลายคนจะหวาดกลัวสายลับของรัฐบาลทหารที่อาจจะแวะมาหาเรื่องยามแก่ เพราะพม่ายังจมปลักอยู่กับอดีตเมื่อ50ปีมาแล้วอย่างไม่ยอมโงหัวขึ้นมาดูโลก แต่บางคนก็ยินดีร่วมมือกับบีบีซี โดยช่วยกันเล่าอดีตของอองซานตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มไฟแรงในมหาวิทยาลัย


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 07:39
อองซานก้าวจากเด็กบ้านนอกมาเป็นผู้นำนักศึกษาเพราะความเด็ดเดี่ยวของเขาที่กล้าชนกับอิทธิพลของอังกฤษผู้ปกครองพม่า แบบวัดใจว่าเป็นอะไรเป็นกัน ซึ่งในยกแรกนี้เขาชนะ จึงได้เป็นประธานสหภาพนักศึกษาทั่วประเทศ

อองซานโจนเข้าสู่การเมืองทันทีเมื่อจบการศึกษา โดยเข้าร่วมกับกลุ่มการเมืองของคนรุ่นหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าที่มีชื่อว่า"เราคือชาวพม่า"(Dobama Asiayone) มุ่งหวังที่จะเป็นศูนย์รวมของคนรุ่นใหม่ที่รักชาติ โดยได้รับอิทธิพลจากมาร์กซิสต์และแนวนิยมซ้ายพอสมควร ซึ่งอองซานเองก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ แม้จะมีผู้แก้ตัวให้ว่า เขาจะเป็นอะไรก็ได้ที่สามารถนำมาพม่าให้ได้รับเอกราชและเสรีภาพก็แล้วกัน


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 07:41
ช่วงก่อนสงคราม เกิดเหตุวุ่นวายในพม่ามากมาย พวกฝ่ายซ้ายได้เข้าไปยุยงให้เกิดการเดินขบวนของชาวไร่ชาวนาในเมืองหลวง คนงานประท้วง นักศึกษาประท้วง การปะทะกันระหว่างชาวพม่าโดยเหตุของเชื้อชาติบ้าง ศาสนาบ้าง โรงเรียนก็หยุดประท้วง การเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษของทะขิ่นอองซานจึงยังไม่ไปถึงไหน


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 07:54
ขณะเดียวกัน ตำรวจอังกฤษก็รวบตัวผู้นำทางการเมืองหลายคนในข้อหาก่อความไม่สงบภายในประเทศ มีผู้นำข่าวมาแจ้งทะขิ่นอองซานว่า ตำรวจได้ออกหมายจับเขาแล้ว ดังนั้นเขาจึงต้องตัดสินใจด่วนที่จะหนีโดยจะขอไปเสี่ยงดวงที่จีน หวังว่าโดยตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของเขา จีนแดงคงจะสนับสนุนให้เขากลับมากู้ชาติบ้านเมืองจากอังกฤษได้

เพราะความเร่งรีบที่จะหนี เขาจึงขึ้นเรืออะไรก็ได้ที่จะไปเมืองจีน ดังนั้นเมื่อขึ้นบกที่เอ้หมึง เขาจึงหาพวกจีนที่เป็นคอมมิวนิสต์ไม่เจอ เพราะเป็นเมืองที่ญี่ปุ่นเข้าไปยึดครองเสียแล้ว และก็ไม่พ้นหูพ้นตาของสายลับญี่ปุ่น โชคดีที่ญี่ปุ่นกำลังคิดจะบุกพม่า ก็เลยเอาตัวทะขิ่นอองซานมาคุยดู เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่กองทัพของพระเจ้าจักรพรรดิ์


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.พ. 13, 08:21
ขออนุญาตคุณเพ็ญและคุณประกอบติดตามคณะทำงานค้นหาความจริงของบีบีซีมาเล่าให้สู่ท่านผู้อ่านต่อไป เพราะผมเองกำลังมัน

ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมค้นหาความจริงร่วมกับคุณนวรัตน

ป.ล. ขออนุญาตย้อนไปถึงเรื่องของอูซอ

อูซอจบวิชากฏหมาย และดังมาจากการเป็นทนายว่าความให้กับซายา ซาน อดีตพระที่กลายไปเป็นผู้นำกบฎต่ออังกฤษกระทั่งเป็นวีรบุรุษคนหนึ่งของพม่า

จริง ๆ แล้ว ผู้ที่เป็นทนายว่าความให้อาจารย์ซานคือ ดอกเตอร์บามอ (Ba  Maw) ซึ่งจบการศึกษาทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในอังกฤษ และได้รับปริญญาเอกจากฝรั่งเศส  เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในสมัยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 08:36
^
บามอก็เป็นครับ น่าจะเป็นหัวหน้าด้วยเพราะจบดอกเตอร์มาทางนี้ ส่วนอูซอเป็นทนายจบในพม่า น่าจะร่วมกันเป็นคณะ

http://en.wikipedia.org/wiki/U_Saw


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 08:37
บีบีซีตามไปสัมภาษณ์นายมิซุตานิ อดีตสายลับญี่ปุ่นที่ปฏิบัติการอยู่ในแรงกูนในช่วงก่อนสงคราม ซึ่งได้เปิดเผยว่า หลังจากที่ทางโน้นคุยกับอองซานรู้เรื่องก็สั่งให้เขาเตรียมการส่งพวกตะขิ่นพม่า30คน ลักลอบลงเรือไปให้ได้ ซึ่งเขาคิดว่าขืนแห่กันไปอย่างนั้นสายลับอังกฤษที่ท่าเรือก็รู้แน่นอน เขาจึงดำเนินการให้ใช้เรือสินค้าญี่ปุ่นมาทยอยเทียบท่าที่แรงกูนถึงสี่ห้าลำ แล้วลักลอบนำพวกตะขิ่นลงเรือทีละคน จนกระทั่งครบ

คณะพรรคตะขิ่น30 ถูกนำตัวไปที่เกาะไหหลำซึ่งญี่ปุ่นยึดครองอยู่ในสมัยนั้น เพื่อฝึกเข้มในเรื่องการใช้อาวุธ การหาข่าว และการบริหารจัดการกองทัพ ตามแบบญี่ปุ่น


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 08:56
ขณะนั้นสงครามในยุโรปยังไม่ลุกลามถึงเป็นสงครามโลก ญี่ปุ่นฝึกตะขิ่น30ไว้พอใช้การได้แล้วแต่ยังไม่กล้าส่งกลับไปก่อการในพม่า ซึ่งญี่ปุ่นเล็งไว้ว่าจะให้ไปตัดเส้นทางลำเลียงอาวุธที่อังกฤษส่งผ่านภาคเหนือของพม่าไปให้จีนทางยูนนาน แต่ยังเริ่มดำเนินการไม่ได้เพราะกลัวแผนการใหญ่จะแตก

ทุกฝ่ายจึงลุ้นอยู่ว่าอะไรจะเป็นอะไรตามลำดับต่อไป และรอคอยเวลาอยู่ด้วยความกระวนกระวาย


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 08:59
ครั้นเมื่อญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ ทุกแผนก็ถูกเร่งรัดให้ดำเนินการ ตะขิ่น30ถูกส่งตัวมาที่กรุงเทพ ซึ่งตอนนั้นสยามได้เข้าร่วมวงไพบูลย์กับญี่ปุ่นไปแล้ว  เพื่อระดมพลพรรคเพิ่มและร่วมกับกองทัพญี่ปุ่นบุกทะลวงเข้าไปสู่พม่า


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 09:18
คืนที่ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนกำลังสู่บ้านเกิดเมืองนอน ตะขิ่นอองซานได้เรียกพรรคพวกทั้ง30มาประชุมจัดตั้ง กองทัพเพื่อเอกราชพม่า(Burmese Independent Army- BIA)ขึ้น และให้ทุกคนใช้เข็มฉีดยา ดูดเลือดของตนมาใส่ในขันรวมกันแล้วเวียนกันดื่มเป็นน้ำสาบานว่า จะสละเลือดเนื้อและชีวิตของตนเพื่อชาติ ประชาชน และกองทัพ


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 09:20
กองทัพเพื่อเอกราชพม่าที่เกิดขึ้นนี้ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากราษฎรชาวพม่า และเมื่ออังกฤษรู้ข่าวการเกิดขึ้นของBIAนี้ จึงได้ประกาศโทษนายทหารถึงประหารชีวิตหากถูกจับได้ ดังนั้นตะขิ่นทุกคนจึงใช้ชื่อปลอมหมด อังกฤษจึงไม่รู้ว่าใครคือใคร


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 09:53
ญี่ปุ่นมองว่าพม่ามีน้ำมันและทรัพยากรมากพอที่จะทำให้ญี่ปุ่นรบยืดเยื้อได้ จึงมุ่งเข้าโจมตีเมืองมะละแหม่งทางใต้ของพม่าก่อนเพื่อเอาไว้เป็นท่าเรือ หลังจากได้แล้วก็จะเร่งสร้างทางรถไฟ(สายมรณะ)เชื่อมโยงสองอ่าวตามแผน ซึ่งจะต้องลงมือพร้อมกันทั้งฝั่งพม่าและไทย ถ้าสำเร็จก็จะร่นระยะทางขนส่งไปญี่ปุ่นได้มาก

การไปลงมือในเขตกระเหรี่ยง ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลเข้มข้นของอังกฤษถือเป็นต้นเหตุอย่างหนึ่ง เพราะกระเหรี่ยงเกลียดพม่า พม่าก็เกลียดกระเหรี่ยงตามผลที่อังกฤษสร้างไว้ กระเหรี่ยงช่วยอังกฤษต่อต้านศัตรูที่บุกเข้ามาแบบไม่เลือกหน้าเหลืองหน้าดำ การเข่นฆ่าทารุณก็เกิดขึ้นแบบแค้นชำระแค้น BIAมีอาวุธดีกว่าก็สังหารชาวกระเหรี่ยงไปหลายพันคน โดยญี่ปุ่นเองก็ยังคิดไม่ถึง


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 10:00
ส่วนอังกฤษก็ไม่ได้รบจริงจัง เห็นศัตรูเหนือกว่าก็ทิ้งกระเหรี่ยงให้ตายไปตามลำพังฝ่ายเดียว พอเห็นว่าญี่ปุ่นมาแรง ก็ร่นถอยเข้าไปในอินเดีย และไปสร้างค่ายผู้ลี้ภัยที่นั่น ปล่อยให้กองทัพญี่ปุ่นทะลวงเข้าเมืองหลวงและตามตีต่อไปสู่ภาคเหนือ ยุ้งฉางของอังกฤษ


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 10:22
ก่อนจะมาถึงขั้นนี้  BIAของพม่ากับกองทัพญี่ปุ่น จึงมีระแวงกันอยู่ระหว่าง อองซานหวังว่าญี่ปุ่นควรมีภารกิจเพียงแค่การจัดตั้ง BIA และขยายกองทัพพม่าให้เติบโต ส่งมอบอาวุธและกระสุนให้ เพื่อรบกับอังกฤษ มิใช่จะจ้องเข้าครอบครองทรัพยากรของพม่าแทนพวกที่ช่วยกันไล่ออกไป
แต่ญี่ปุ่นเห็นว่า BIAเป็น“กองโจร”มากกว่ากองทัพ คนพม่าที่อองซานเกณฑ์มาเมื่อมีอาวุธในมือแล้วกลับไม่มีใครเชื่อฟังใคร ทำให้ไร้การควบคุม พวกตะขิ่นไร้สายการบังคับบัญชาผิดกับที่ญี่ปุ่นฝึกมา ทั้งหมดมุ่งประสงค์จะสังหารบรรดาหัวหน้าชุมชนที่เป็นชาวกะเหรี่ยงทุกคน ใครที่เคยรับใช้เป็นลูกน้องอังกฤษถูกโดนจับยิงเป้าทั้งหมด  ตะขิ่นอองซานเองก็เคยแสดงวีรกรรม ใช้ดาบแทงเชลยที่เป็นหัวหน้าชาวกระเหรี่ยงตายต่อหน้าต่อตาที่ประชุมชาวบ้าน

งานนี้สับสนอลหม่าน กลายเป็น “แค้นต้องชำระ” พม่าฆ่าพม่า-พม่าฆ่ากะเหรี่ยง โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงที่น่าเวทนา กองทัพ BIA ถือโอกาสสังหารเป็นว่าเล่นเพราะเก็บความแค้นมานาน พม่าฆ่ากะเหรี่ยงก็สะใจเหมือนได้ฆ่าคนอังกฤษ

แม่ทัพญี่ปุ่นได้รับทราบพฤติกรรมเยี่ยงโจรของกลุ่ม BIA ซึ่ง ออง ซาน ก็ควบคุมไม่ได้จึงสั่ง “ยุติบทบาทและสลายกองทัพพม่า (BIA)” ทันที

คำสั่งของแม่ทัพญี่ปุ่นครั้งนี้ อองซานสะเทือนใจมากถึงขั้นล้มป่วยเข้าโรงพยาบาล เป็นโอกาสได้พบกับ ดอ ขิ่น จี (ต่อมาได้แต่งงานกัน)

ในภาคที่อองซานเป็นพระเอก จะเขียนว่า  ในช่วงที่กองทัพ BIA รุดหน้าทำงานในพม่านั้น ต้องเจอกับปัญหาด้านร่างกายมากมาย นายพลอองซานเองต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่กรุงย่างกุ้ง ซึ่งที่นี่เองที่ได้มีโอกาสได้พบกับพยาบาล มะขิ่นจี (Ma Khin Kyi) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นภรรยาของนายพลอองซาน และแม่ของซูจี การมีคู่มีชีวิตนั้นทำให้เห็นด้านอ่อนโยนของนายพลอองซานมากขึ้น


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.พ. 13, 10:39
ในภาคที่อองซานเป็นพระเอก จะเขียนว่า  ในช่วงที่กองทัพ BIA รุดหน้าทำงานในพม่านั้น ต้องเจอกับปัญหาด้านร่างกายมากมาย นายพลอองซานเองต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่กรุงย่างกุ้ง ซึ่งที่นี่เองที่ได้มีโอกาสได้พบกับพยาบาล มะขิ่นจี (Ma Khin Kyi) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นภรรยาของนายพลอองซาน และแม่ของซูจี การมีคู่มีชีวิตนั้นทำให้เห็นด้านอ่อนโยนของนายพลอองซานมากขึ้น

ภาคที่เป็นพระเอกนี้ เป็นภาคที่อองซานซูจี - ลูกสาวเล่าเรื่องของพ่อในบทความ "พ่อของฉัน" อยู่ใน # ๑๕  (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5528.15) เรื่องจึงเบาลงมาหน่อย

ภาค "แค้นต้องชำระ" อยู่ในบทความของพลตรีนิพันธ์ ทองเล็ก # ๒๔ (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5528.msg118851#msg118851)

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)



กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 10:47
^
ถูกต้องครับ ผมเอามาจากที่คุณเพ็ญลงไว้แถวต้นๆเรื่องนี้เอง ขออภัยที่ไม่ได้อ้างอิงให้รกรุงรัง


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 10:49
หลังจากเจรจาอย่างหนักระหว่างกลุ่มตะขิ่น30กับนายพันซุซุกิ ที่กองทัพญี่ปุ่นแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการของBIA ทวงทั้งเอกราช ทวงทั้งสิทธิอันชอบธรรม ญี่ปุ่นจึงยอมแต่งตั้งให้บามอ นักการเมืองอาวุโส เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่าในเดือนสิงหาคม1942 (หลังจากที่ก่อนหน้านั้นอังกฤษเป็นผู้ตั้ง นายกรัฐมนตรีประเภทนี้มีแต่งานธุรการ ไม่มีอำนาจบริหารแท้จริง) และตั้ง นายพลอองซาน เป็นผู้บัญชาการกองทัพพม่า ซึ่งมีกำลังพลประมาณ ๔,๐๐๐ คน


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 10:52
มกราคม 1943 นายกรัฐมนตรี ฮิเดกิ โตโจ ของญี่ปุ่นประกาศว่าจะให้เอกราชแก่พม่าในราวปลายปี แต่พอถึงเดือนสิงหาคมในปีนั้น บามอได้รับการสถาปนาเป็นนายกรัฐมนตรีและประมุขของประเทศ แต่งตั้ง ออง ซาน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ ผู้บัญชาการกองทัพแห่งชาติ (Burma National Army : BNA) และมี อูนุ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 11:12
สิ่งแรกที่บามอกระทำทันทีในฐานะประมุขแห่งชาติพม่า ที่ในโลกนี้มีผู้รับรองเพียง7ประเทศ คือประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษอย่างเป็นทางการ
 
และยังได้เดินทางไปโตเกียวเพื่อร่วมประชุมมหาเอเชียบูรพาในระหว่าวันที่5และ6 พฤศจิกายน 1943 ซึ่งประเทศในอาณัติของญี่ปุ่นถูกเกณฑ์ไปด้วย
จากซ้าย บามอจากพม่า ชางจิงฮุยจากแมนจูกัว วางจิงไว ประธานาธิบดีจีน ฮิเดกิ โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ผู้แทนของรัฐบาลไทย โฮเซ่ ลอเรล ประธานาธิบดีฟิลลิปปินส์ใหม่ สุภาพ จันทราโบส ประมุขรัฐอิสระแห่งอินเดีย


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 11:41
นายพลอองซาน ก็ได้ไปเยือนโตเกียวเหมือนกันในเดือนมีนาคม1943  และได้พบพันเอก ซูซูกิ ซึ่งกลายเป็นอดีตผู้ประสานงานกับกองทัพพม่าไปแล้ว  อองซานได้รับคำบอกเล่าว่าเขาถูกปลดเพราะสนิทกับคนพม่ามากเกินไป ในเมืองไทย นายพลนากามูระก็หวุดหวิดจะโดนปลดในข้อหาเดียวกันนี้แหละ

รัฐบาลพม่าของบามอก็ยังเป็นเพียงหุ่นที่ญี่ปุ่นสั่งอะไรก็ต้องทำตาม เช่นญี่ปุ่นสั่งให้ไปเกณฑ์แรงงานพม่าไปสร้างทางรถไฟ กะให้ไปทะลุชายแดนไทยที่ทางโน้น ญี่ปุ่นใช้เชลยศึกและกุลีจากมลายู ดังนั้นการที่ใครไปด่าหลวงพิบูลไว้ว่าตัดสินใจเข้าข้างญี่ปุ่นเร็วไปหน่อยนั้น ก็ขอให้ขีดเส้นใต้ตรงนี่ไว้ เพราะแรงงานพม่าล้มหายตายจากนับพันๆคน ที่เมืองกาญจน์ตายมากกว่า แต่ไม่ใช่คนไทย

นายกรัฐมนตรีบามอ เริ่มไม่พอใจและปฏิเสธที่จะร่วมมือกับนายทหารญี่ปุ่น ส่วนหน่วยข่าวกรองของทหารญี่ปุ่นใช้วิธีซ้อม ทรมานชาวพม่าเพื่อ“รีดข่าว”ขังผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่ต้องไต่สวน ชาวพม่าเริ่มรู้ตัวว่าญี่ปุ่นร้ายกว่าอังกฤษเสียอีก

บรรดาตะขิ่นทั้งหลาย รวมทั้งผู้นำระดับสูงของพม่าเริ่มคิดจะไล่ญี่ปุ่นออกจากพม่า นายทหารกะเหรี่ยงในกองทัพพม่ารับอาสาติดต่อกับ “หน่วยรบพิเศษของอังกฤษที่ ๑๓๖” ประสานการปฏิบัติ “เฉพาะกลุ่มวงใน” รวมทั้งนายพลอองซาน ได้รวบรวมทุกกลุ่มในขณะนั้น เช่น กลุ่มนายทหารในกองทัพพม่า กลุ่มสังคมนิยม กลุ่มคอมมิวนิสต์มาจัดตั้ง “กลุ่มสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” (Anti-Fascist People’s Freedom League : AFPFL) ขึ้นมา โดยมีนายพลอองซาน เป็นแกนนำ และต่อมาอองซาน ก็สามารถไปดึงเอากลุ่มกะเหรี่ยงเข้ามาด้วยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น

กะเหรี่ยงมี2กลุ่มนะครับท่านผู้อ่าน มีกะเหรี่ยงพุทธกับกะเหรี่ยงคริสต์ที่เป็นมิตรรักนักรบร่วมกับอังกฤษ ผมอ่านจนตาแฉะก็หาไม่เจอว่าอองซานไปคุยกับฝ่ายไหน

พอดีสถานการณ์เริ่มพลิกผัน อังกฤษกลับเป็นฝ่ายรุกกลับบ้าง ในรูปจะเห็นพระราชวังมัณฑเลย์ถูกย่างสดไปแล้ว


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 12:03
อังกฤษเห็นว่าอองซานเป็นนกสองหัว กบฏไปเข้ากับญี่ปุ่น แต่พอเห็นญี่ปุ่นกำลังจะแพ้ก็กลับลำมาอี๋อ๋อใหม่ เชอรชิ่ลนั่นน่ะไม่เอาด้วยอยู่แล้ว แต่ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบทเทนผู้บัญชาการกองกำลังสัมพันธมิตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เห็นว่า กองทัพจะเข้าไปไล่ญี่ปุ่นในประเทศเช่นพม่าให้สูญเสียน้อยเห็นทีจะยาก ถ้าหากขาดคนพื้นเมืองเข้าร่วม จึงยืนยันความเห็นให้เชอร์ชิลยอมรับกลุ่มสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์(Anti-Fascist People’s Freedom League : AFPFL) ซึ่งอองซานเป็นผู้นำ

ครั้นวันที่ 27 มี.ค 1945 ได้ฤกษ์งามยามดี นายพลอองซานจึงนำกำลังทหารของตนเข้าสู้รบกับทหารญี่ปุ่น ทหารพม่าจึงได้เลือกเอาวันนี้เป็นวันกองทัพพม่าสืบมาจนปัจจุบัน


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 12:25
^
A.F.S.ข้างบนย่อมาจากอะไรก็เดาไม่ออกนะคร้าบ แต่ไม่ใช่ประกาศให้นักเรียนสมัครชิงทุนไปศึกษาหาประสพการณ์ในอเมริกาแน่นอน


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 12:29
สงครามจบ ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้ ขบวนการ AFPFLของอองซานก็เป็นฝ่ายชนะไปกับเขาด้วยอย่างฉิวเฉียด

แบบขบวนการเสรีไทยที่เป็นฝ่ายชนะทั้งๆที่ยังไม่ได้ลั่นกระสุนสักโป้งเดียว(ดีแล้ว) แต่ประเทศถือว่าเสมอ ไม่แพ้-ไม่ชนะ


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.พ. 13, 12:44
^
A.F.S.ข้างบนย่อมาจากอะไรก็เดาไม่ออกนะคร้าบ แต่ไม่ใช่ประกาศให้นักเรียนสมัครชิงทุนไปศึกษาหาประสพการณ์ในอเมริกาแน่นอน

A.F.S. ย่อมาจาก American Field Service  เป็นองค์กรเดียวกับ AFS ที่เรารู้จักในปัจจุบัน

คุณวิกกี้ (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%9F%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%AA) เล่าให้ฟังดังนี้

American Field Service เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นกลุ่มชาวอเมริกันในประเทศฝรั่งเศสจำนวน ๑๕ คน ขับรถพยาบาลช่วยเหลือทหารฝรั่งเศสที่บาดเจ็บครั้งตั้งแต่ประเทศอเมริกายังไม่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ต่อมามีผู้เข้าร่วมมากขึ้นเป็นทั้งคนอเมริการและคนฝรั่งเศส รวมทั้งสิ้น ๒,๕๐๐ คน และสามารถช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับบาดเจ็บมากกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คนในสงคราม ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มขึ้น American Field Service ได้มีการก่อตัวอีกครั้ง ครั้งนี้มีการเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทั้งใน ยุโรป ประเทศซีเรีย, อเมริกาเหนือ, ประเทศอินเดีย และประเทศพม่า จนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม ผู้ร่วมองค์การที่มีอายุน้อย ได้พบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อยุติต้นเหตุที่ก่อให้เกิดสงคราม จึงทำให้เกิดองค์การเอเอฟเอสสากลในปัจจุบัน

ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มีประเทศสมาชิก มากกว่า ๕๐ ประเทศทั่วโลกที่มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม อาสาสมัครกว่าสามแสนคนซึ่งทำหน้าที่อยู่ในชุมชนโดยมิได้หวังผลตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น ประกอบด้วยบุคลากรจากหลายสาขาอาชีพ ส่วนหนึ่งเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ ครู-อาจารย์ บ้างก็เป็นที่ปรึกษาให้กับเยาวชนในชุมชนของตน บางส่วนเป็นผู้รณรงค์หาทุนให้กับเยาวชนที่ขาดแคลน

ในแต่ละปีมีผู้เข้าร่วมโครงการเอเอฟเอสเกือบหนึ่งหมื่นคนจากทั่วโลก การร่วมมือสนับสนุนเงินเข้ากองทุนเพื่อการดำเนินการเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากผู้เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้องค์การเอเอฟเอสยังได้รับการสนับสนุนในด้านอื่น ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนนับเป็นมูลค่ามหาศาลจากทั่วโลก

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 12:53
อ้อ หาอาสาสมัครไปช่วยดับไฟ


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 13:04
อ้างถึง
สงครามจบ ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้ ขบวนการ AFPFLของอองซานก็เป็นฝ่ายชนะไปกับเขาด้วยอย่างฉิวเฉียด
แบบขบวนการเสรีไทยที่เป็นฝ่ายชนะทั้งๆที่ยังไม่ได้ลั่นกระสุนสักโป้งเดียว(ดีแล้ว) แต่ประเทศถือว่าเสมอ ไม่แพ้-ไม่ชนะ

ส่วนพม่า ยังไม่รู้จะออกหัวหรืออกก้อย เพราะเซอร์ดอร์แมน-สมิท ผู้ว่าการรัฐพม่ากลับมาแล้วด้วยมาดของนายใหญ่
 
ดอร์แมน-สมิท (Sir Reginald Dorman-Smith,Governor of Burma)เป็นผู้ว่าการรัฐพม่าคนที่สอง ซึ่งวาระของเขาคาบเกี่ยวกับยุคที่ญี่ปุ่นยึดครองพม่า ทำให้ระหว่างนั้นเขาต้องลี้ภัยไปว่าราชการอยู่ในสิมลา(Simla) เมืองที่อากาศแสนสบายบนภูเขาชายแดนของอินเดียติดต่อกับพม่า

เมื่อสงครามสงบแล้ว ดอร์แมน-สมิทก็คืนเมือง มีพ่อค้าข้าราชการชาวพม่าแห่กันไปร่วมต้อนรับแสดงความยินดีด้วยอย่างมากมาย


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 13:29
พลตรีเซอร์ ฮิวเบร์ต เรนซ์ ผู้บัญชาการกองทัพอังกฤษได้ควบคุมความสงบเรียบร้อยในพม่าอยู่หลังการปลดปล่อยจากญี่ปุ่น ซึ่งทำได้ดีมาก แต่ครั้นดอร์แมน-สมิทมาถึงในฐานะผู้ว่าการรัฐ เขาก็คิดชำระแค้นกับพวกตะขิ่นพม่าที่เคยไปเข้าร่วมกับญี่ปุ่นทันที พร้อมกันนั้นเขาก็พยายามจะนำระบบการปกครองเดิมๆอันเขาถนัดสมัยก่อนสงครามมาปัดฝุ่นใช้อีก โดยไม่พูดถึงเรื่องเอกราชอะไรทั้งสิ้น ดอร์แมน-สมิทเป็นคนเรียกอูซอ อดีตนายกรัฐมนตรีในคาถากลับมาจากอูกานดาเพื่อมาช่วยเหลือเขาทางด้านการเมืองท้องถิ่น

การจะจับอองซานซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพันธมิตรร่วมรบกับอังกฤษ ถึงจะมาในนาทีสุดท้ายก็เถอะ ย่อมถือเป็นเรื่องใหญ่ เขาจึงหารือไปทางลอนดอนเรื่องจะตั้งข้อหาอองซานในฐานะฆาตกรฆ่าผู้นำชาวกะเหรี่ยงที่ช่วยอังกฤษรบ ต่อหน้าผู้คนเป็นประจักษ์พยานจำนวนมาก


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 13:42
อองซานพิสูจน์ว่าเขาไม่ใช่หมูที่จะรอให้เขาเชือด และคนพม่าก็ตื่นตัวขนาดหนัก ทุกคนช่วยกันหาข่าวจนทำให้อองซานมีหูมีตายิ่งกว่าสับปะรด หลังจากสงบรออยู่ในช่วงที่พลตรีฮิวเบร์ต เรนซ์รักษาการ พอรู้ท่าทีของดอร์แมน-สมิทว่าจะเอาอย่างไร เขาก็เริ่มปลุกระดมมวลชนทั้นที

แล้วเหมือนเอาไม้ขีดไปจ่อน้ำมันเบนซิน คนพม่าลุกพรึ่บขึ้นมาช่วยกันเรียกร้องเอกราชทันที


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 14:03
ข่าวไปถึงลอนดอนที่กำลังปวดหัวกับการเรียกร้องของบรรดาเมืองขึ้นที่โน่นที่นี่ ทางโน้นก็เลยตอบข้อหารือของผู้ว่าการรัฐมาว่า ห้ามทำสถานการณ์ให้เลวร้ายไปกว่านี้ และให้เลิกคิดที่จะจับอองซานไปเลย

ต่อมาดอร์แมน-สมิทมีอาการป่วย สงสัยจะเกิดจากการที่เครียดจัด ต้องกลับไปรักษาตัวที่อังกฤษ แล้วเขาก็ไม่ได้กลับมาอีกเลยเพราะเบื้องบนมีคำสั่งให้พลตรีเซอร์ ฮิวเบร์ต เรนซ์เข้านั่งตำแหน่งผู้ว่าการรัฐแทน เป็นที่แน่ชัดว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ก็คือลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเตน

ในภาพพลตรีเซอร์ ฮิวเบร์ต เรนซ์ผู้ว่าการัฐพม่าคนใหม่กำลังเดินคุยกับอองซานในทำเนียบรัฐบาล ในย่างกุ้งเรียกว่า Secretariat Office (สำนักงานคณะเลขาธิการ) ตึกนี้ผมไปเห็นมาแล้วด้วยตนเองและคิดว่าน่าจะเรียกทำเนียบรัฐบาลมากกว่าเพราะนายกรัฐมนตรีจะนั่งเป็นประธานที่นั้น

จบเรื่องแล้วจะพาเข้าซอยเป็นภาคผนวกเรื่องของตึกนี้ เพราะอองซานถูกยิงตายที่นี่


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 14:11
เรื่องเดียวกันนี้ คุณเพ็ญชมพูลงเอาไว้ว่า

นายพลอองซานถูกเชิญไปพบกับพลเอกสลิม แม่ทัพสนามที่ ๑๔ ของอังกฤษ  นายพลอองซานยืนยันว่ากองทัพแห่งชาติพม่าและรัฐบาลรักษาการของพม่าเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ  แต่พลเอกสลิมปฏิเสธและยืนยันว่าตามกฎหมายอังกฤษ นายพลอองซานมีพฤติการณ์เป็นผู้ทรยศ

ลอร์ดเมาท์แบทเทนซึ่งรู้ตื้นลึกหนาบางของเรื่องนี้ดี จึงใช้อำนาจของแม่ทัพสัมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงส่งจดหมายตัดสินชะตาของนายพลอองซาน ความว่า

"ไม่มีสาเหตุใดที่จะต้องจับกุมอองซาน ขอให้อองซานตระหนักว่าอังกฤษชื่นชมการสนับสนุนของกองทัพพม่าในเหตุการณ์ที่ผ่านมา อย่าลืมว่าครั้งหนึ่งท่านเคยขัดขืนต่อต้านรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งอาจจะต้องมีการสอบสวนคดีความ นับแต่นี้ไปความร่วมมือจากฝ่ายพม่าทั้งในปัจจุบันและในอนาคตเป็นสิ่งที่เราจะพิจารณาและพิสูจน์"

ถึงแม้ว่าข้าหลวงอังกฤษที่ปกครองอินเดียจะคัดค้านอย่างรุนแรง รวมทั้งบรรดาผู้ใหญ่ในลอนดอนต่างก็เห็นว่านายพลอองซานทรยศต่ออังกฤษ และจะต้องได้รับโทษเป็น "อาชญากรสงคราม" โทษคือ ประหารชีวิต แต่ก็ไม่สามารถคัดค้านลอร์ดเมาท์แบทเทนได้

นับว่าลอร์ดเมาท์แบทเทนได้ช่วยชีวิตนายพลอองซานไว้แท้ ๆ

หลังสงครามโลกสิ้นสุด กองทัพอังกฤษเข้าบริหารประเทศพม่าได้ราว ๔ เดือน กรมกิจการพลเรือนของอังกฤษจึงเข้ามาบริหารแทนโดยนายพลฮิวเบอร์ต แรนซ์  (Hubert Rance)  นายพลแรนซ์ สั่งสลายกองทัพแห่งชาติพม่าทันที กำลังพลของกองทัพแห่งชาติพม่าไม่พอใจ ไปรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่ม People’s Volunteer Organization (PVO) แล้วไปเชิญนายพลอองซานมาป็นผู้บัญชาการ โดยไม่ยอมมอบอาวุธคืนแก่ทางการอังกฤษ

ลอร์ด เมาท์แบทเทน พยามหาทางออกโดยยื่นข้อเสนอว่ากองทัพพม่าที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ (ตามแบบฉบับของอังกฤษ) นั้นจะแต่งตั้งนายพลอองซานเป็น รองจเรทหารทั่วไป (Deputy Inspector General) และเปิดโอกาสให้นายพลอองซาน เลือกทางเดินชีวิต ว่าจะเป็น “ทหาร” ต่อไปหรือจะเป็น “ผู้นำทางการเมือง” ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ นายพลอองซานตกลงใจเลือกที่จะเป็นผู้นำทางการเมือง เขียนจดหมายตอบปฏิเสธตำแหน่ง “รองจเรทหารทั่วไป”

เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ หน่วยกิจการพลเรือนของกองทัพอังกฤษจบภารกิจถอนตัวออกจากพม่า อังกฤษส่งเซอร์ เรจินัลด์ ดอร์แมน สมิธ (Sir Reginald Dorman-Smith) กลับมาเป็นข้าหลวงปกครองพม่า ข้าหลวงคนนี้ไม่ค่อยจะถูกชะตากับนายพลอองซาน และมีใจเอนเอียงสนับสนุน อู ซอ ซึ่งเคยประกาศเป็นคู่แข่งทางการเมืองของนายพลอองซาน

องค์กรทางการเมืองที่แข่งแกร่งที่สุดในขณะนั้นคือ สันนิบาตเสรีต่อต้านฟาสซิสต์ (AFPFL)  ซึ่งข้าหลวงอังกฤษพยายามริดรอนบทบาทโดยอู ซอ ร่วมมือกับ ข้าหลวงอังกฤษประกาศจัดตั้ง “สภาบริหารประเทศ” ทำหน้าที่เสมือน “คณะรัฐมนตรี” ปกครองประเทศ โดยไม่เลือกบุคคลจาก AFPFL เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารแต่กลับเลือก อู ซอ และ เซอร์ ปอ ตุน (พวกอังกฤษ) เข้ามาร่วมทำงาน

สถานการณ์สับสนวุ่นวายอีกครั้งเมื่อตะขิ่น ตัน ตุน ผู้นำกลุ่มคอมมิวนิสต์ ใน AFPFL จัดการเดินขบวนและเริ่มก่อสงครามกองโจรเพื่อต่อต้าน “สภาบริหารประเทศ” ที่จัดตั้งโดยข้าหลวงอังกฤษ

เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙ นักเรียน นักศึกษา ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย ก่อการสไตร์คทั่วประเทศ เกิดภาวะจลาจล ข้าหลวงอังกฤษจึงเชิญนายพลอองซานมาพบเพื่อเข้าร่วมใน “สภาบริหารประเทศ” โดยให้นายพลอองซานเป็น “รองประธานสภา” เชิญสมาชิก AFPFL ๖ คนมาร่วมด้วยจากจำนวนทั้งหมด ๑๑ คน เหตุการณ์จึงกลับคืนสู่สภาวะปกติ


ลำดับเหตุการณ์ตอนนี้ไม่เหมือนกับของผมซะทีเดียว ก็ไม่ทราบจริงๆว่าที่แท้เป็นอย่างไร แต่ผมก็หวังว่าท่านผู้อ่านจะไม่เอาเป็นเอาตายกับข้อเท็จจริงตรงนี้ นอกจากใครที่คิดจะเอาไปทำวิทยานิพนธ์ ก็ขอให้ไปพลิกตำราประวัติศาสตร์พม่าหาข้อมูลกันเอง


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.พ. 13, 15:26
นายพลแรนซ์ กับ นายพลอองซาน

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 15:27
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวอังกฤษไม่ได้ให้โอกาสแก่นายกวินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) ผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟในการเป็นผู้นำประเทศเป็นสมัยต่อไป แต่กลับเลือกผู้นำพรรคเลเบอร์ นายคลีเมนต์ แอทลี(Clement Attllee)แทน ถือเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดของคนทั้งโลกที่ประชาชนหันหลังให้วีรบุรุษผู้นำชาติฝ่าฟันความยากลำบากจนชนะสงครามโลกครั้งที่สองมาได้

นายแอทลีเคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลผสมสมัยที่เชอร์ชิลเป็นนายกระหว่างสงคราม หลังจากนั้นเขาได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคเลเบอร์และนำชัยชนะในการเลือกตั้งมาสู่พรรคอย่างถล่มทลาย ท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีจนครบเทอม ซึ่งถือว่ายาวนานที่สุดในบรรดานายกรัฐมนตรีจากพรรคเลเบอร์ทุกคน

นโบยายของนายแอทลีในด้านเมืองขึ้นทั้งหลายคือให้อิสรภาพแก่ทุกชาติ มหาตมะ คามธีที่ติดคุกอังกฤษซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียก็มาประสพความสำเร็จเอาในยุคนี้ และท่านคือผู้ที่สั่งการมาโดยตรงยังดอร์แมน-สมิทมิให้จับกุมอองซาน ซ้ำยังได้เชิญผู้นำพม่าคนนี้ไปเจรจาที่ลอนดอนในเรื่องแผนการที่จะคืนเอกราชให้ด้วย

การพลิกนโยบายจากหน้ามือเป็นหลังมือจากรัฐบาลยุคนายกวินสตัน เชอร์ชิล ดังกล่าวโดยพลัน ทำให้บุคคลระดับสูงในวงการเมืองและการค้าของอังกฤษกลับตัวไม่ทันไปตามๆกัน


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 15:35
อองซานจึงได้ไปอังกฤษและเปิดแถลงข่าวอย่างมั่นใจว่าอังกฤษจะรับฟังชาวพม่า

ความสำเร็จของอองซานในการทำสัญญาอองซาน-แอทลี ซึ่งสาระสำคัญมีว่าอังกฤษจะให้เอกราชแก่พม่าในเวลาไม่เกิน1ปี โดยจะให้อองซานเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ยังมีเงื่อนไขที่อองซานต้องไปทำการบ้านกับชนส่วนน้อยก่อน

ตอนนั้นอองซานไม่ทราบดอกว่า การบ้านข้อนี้เขาไม่มีทางทำได้สำเร็จ 


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: ศุศศิ ที่ 11 ก.พ. 13, 15:49
มาลงชื่อเข้าห้องเรียน


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 16:01
^
คุณประกอบมีเพื่อนแล้ว


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 16:03
อดีตผู้ว่าการรัฐ ดอร์แมน-สมิท หลังจากที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว บีบีซีบอกว่าเขายังวนเวียนอยู่ในเรื่องของชาวกะเหรี่ยงที่เขาเคยสัญญาว่าจะช่วยให้เป็นอิสระ เพื่อตอบแทนที่ชาวกะเหรี่ยงช่วยอังกฤษรบกับญี่ปุ่นอย่างไม่เสียดายชีวิต


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 16:09
ส่วนอองซาน เมื่อกลับมาจากอังกฤษแล้วก็ทำการบ้านทันที เขาพยายามเข้าถึงชนกลุ่มน้อยต่างๆเพื่อจะอธิบายแนวทางของเขา การที่ทุกฝ่ายต้องการเป็นอิสระนั้นยากในการปฏิบัติ เขาเสนอให้รวมเป็นประเทศเดียวกันก่อนที่จะแยกตัวเมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง คนส่วนใหญ่ก็ฟัง แต่จะเชื่อเขาหรือไม่ก็ยังไม่มีความชัดเจน


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 16:15
อย่างไรก็ตามการที่เกิดการลงนามในสนธิสัญญาปางหลวง(ปางโหลง)ขึ้นมาได้นั้น ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จแค่กึ่งหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วเป็นเจ้าฟ้าไทยใหญ่ที่ลงนาม ขาดผู้นำชนชาติใหญ่ๆอีกหลายเมืองแม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะแสดงความสนใจ แต่ที่น่าเคลือบแคลงอย่างยิ่งที่ไม่มีชนชาตกะเหรี่ยงมาร่วมกิจกรรมเพื่อการรวมชาติ แม้จะเป็นการชั่วคราวนี้ด้วยเลย


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 16:28
พม่าประกอบด้วยรัฐต่างๆนอกจากพม่าแล้ว คือยะไข่(ระขิ่น) ชิน คะฉิ่น ไทยใหญ่(ฉาน) และกะเหรี่ยง(คะเร็น)
 
แต่ผู้ที่ลงนามในสนธิสัญญาปางหลวงมากที่สุดก็คือไทยใหญ่ 14 คน คะฉิ่น 5 คน และชิน 3 คน ถือว่าน้อยนิด พม่า1 คน ถือว่าไม่มีความหมาย
แต่ยะไข่กับกะเหรี่ยงที่อยู่ตามตะเข็บชายแดนพม่า-ไทยจากเหนือสุดใต้นั้น 0 ถือว่าสูญ


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 16:45
อองซานยังทำงานหนักตามอุดมการณ์ที่จะให้อังกฤษคืนเอกราชให้ ในช่วงนี้เขานำพม่าออกจากเครือจักรภพ (Commonwealth) และทำให้เขาเสียเพื่อนที่เคยสนับสนุนเขาในระดับสูงของอังกฤษไปอีก แม้ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเตนจะพูดโน้มน้าวอย่างไร เขาก็ปฏิเสธ

ส่วนบรรดาเพื่อนชาวพม่านั้น หลายคนยอมรับไม่ได้เลยที่จะให้อดีตเมืองขึ้นของราชอาณาจักรอังวะอันยิ่งใหญ่แข็งข้อ แยกดินแดนไปเป็นอิสระ ทั้งๆที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่ประเทศเหล่านั้นจะไม่ถูกกลืนโดยชาติใหญ่กว่า ที่อยู่ข้างเคียงกัน
หลายคนเลยนึกขึ้นมาได้ที่เด็กๆเคยว่าอองซานว่ามันบ้า


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 17:05
19 กรกฎาคม 1947 (พ.ศ. 2490) นายพลอองซาน ถูกสังหารพร้อมกับรัฐมนตรีอีก 6 คน ขณะกำลังร่างรัฐธรรมนูญในทำเนียบของรัฐบาลอังกฤษที่ให้ยืมใช้เป็นที่ประชุมรัฐบาลชั่วคราวของพม่า

ปิดฉากปัญหาที่ตัวเขาต้องเผชิญ โดยตัวปัญหามิได้สูญไปตามชีวิตของเขา หากรอผู้มีอำนาจคนอื่นมาจัดการกันต่อไป


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 17:07
ผมกำลังเล่ามาถึงบทสุดท้าย


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.พ. 13, 17:07
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวอังกฤษไม่ได้ให้โอกาสแก่นายกวินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) ผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟในการเป็นผู้นำประเทศเป็นสมัยต่อไป แต่กลับเลือกผู้นำพรรคเลเบอร์ นายคลีเมนต์ แอทลี(Clement Attllee)แทน ถือเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดของคนทั้งโลกที่ประชาชนหันหลังให้วีรบุรุษผู้นำชาติฝ่าฟันความยากลำบากจนชนะสงครามโลกครั้งที่สองมาได้

ค่อยๆขยับจากหลังชั้น มาแยกซอยออกไปสักครั้ง

เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลเป็นวีรบุรุษ  เป็นเอกบุรุษ เป็นมหาบุรุษของอังกฤษ  ในยามสงคราม 6 ปีก็จริงอยู่   แต่ก็ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศเมื่อสงครามสงบอย่างเหลือเชื่อ     ทั้งนี้ก็มีคนหาเหตุผลมาให้กันอยู่เยอะมาก  ในอินทรเนตรก็มีอยู่หลายเว็บจนกระทั่งต้องให้ท่านทั้งหลายที่สนใจไปเลือกหากันเอง ว่าจะเชื่อใคร    เพราะพบว่าต่างเว็บก็ต่างอธิบายกันไปหลายทาง

เหตุผลบางข้อที่คิดว่าฟังขึ้นก็คือ ความรู้สึกของประชาชนในยามสงครามและยามสงบไม่เหมือนกัน   ในยามสงคราม  นโยบายของเชอร์ชิลได้ผลในการนำประเทศไปสู่ชัยชนะ    แต่พอสงครามสงบ ประชาชนฟื้นตัวขึ้นมาจากซากปรักหักพังของบ้านเมือง ก็พบว่านโยบายวีรบุรุษนำชัยนั้นไม่ตรงกับความต้องการของตนในขณะนั้นเสียแล้ว      มีนักวิเคราะห์บอกว่า เชอร์ชิลมัววุ่นอยู่กับบัญชาการรบมา 6 ปีจนละเลยพรรคคอนเซอร์เวทีฟ หรือพรรคอนุรักษ์นิยมที่ตนเป็นหัวหน้าอยู่     พรรคก็เลยหันหัวเรือไม่ถูกว่าจะไปทางทิศทางไหนจึงจะรองรับความต้องการของประชาชนหลังสงครามได้    ผิดกับพรรคแรงงานหรือพักเลเบอร์ที่ไม่ได้ไปนำทัพกะเขาด้วย ก็มีเวลาทำการบ้านได้เป็นอย่างดี    สร้างนโยบายตอบสนองประชาชนที่บอบช้ำจากสังคมพังทลายเพราะสงครามโลกได้ทันการ  

นโยบายเอาใจประชาชนชั้นรากหญ้าซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่สุดในสังคมอังกฤษหลังสงคราม ได้ผลดีกว่าคำเตือนของเชอร์ชิลที่บอกว่า ให้ระวังนโยบายสังคมนิยมที่จะมาคุกคามโครงสร้างสังคมอังกฤษแบบเดียวกับรัสเซียเจอมาแล้ว      คนอังกฤษไม่ต้องการผู้บัญชาการรบอีกต่อไป     แต่ต้องการนายกฯที่มาปัดเป่าความลำบากยากจนให้ประเทศ    เก็บเงินเก็บทองประหยัดสตางค์ให้คลังหลวงของประเทศมีเงินขึ้นมาอีกครั้ง   ให้ประชาชนมีกินมีใช้ ลูกเต้าไม่อดอยาก   ดำเนินชีวิตได้อย่างสงบ  ไม่รบกับใครอีกแล้ว พอกันที   เหนื่อยพอแล้ว ตายพอแล้ว  ขออยู่สงบๆทีเถอะ
ด้วยเหตุนี้ เชอร์ชิลจึงแพ้เลือกตั้งไปอย่างคนอังกฤษรอบนอกก็งงไปตามๆกัน เช่นนี้ละค่ะ


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 11 ก.พ. 13, 17:24
สังหรณ์ใจว่าจะได้เรียนเรื่องลอร์ดเมาท์แบทเทนด้วยอีกวิชานึงยังไงไม่รู้ครับ ท่านผู้นี้ก้มีประวัติน่าสนใจ มีบทบาทมากกับการประกาศเอกราชของพม่าและอินเดีย  แถมต้องมามีจุดจบอย่างน่าเศร้าใจในที่สุด  ;)


ยิ่งอ่านเรื่องของอองซานยิ่งสับสน อุดมการณ์ก็น่ายกย่อง  แต่ก็เรื่องด่างพร้อยในชีวิตก็รุนแรงไม่น้อย   จะตีค่าให้เป็นวีรบุรุษกู้ชาติดี หรือจะตีให้เป็นตัวร้ายจากพฤติกรรมบางอย่างในอดีตก็ได้   เป็นวีรบุรุษสีเทาจริงๆ ตัวละครในโลกแห่งความจริงมักเป็นเช่นนี้ มีทั้งด้านสว่างด้านมืดครบ


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.พ. 13, 17:34
ยิ่งอ่านเรื่องของอองซานยิ่งสับสน อุดมการณ์ก็น่ายกย่อง  แต่ก็เรื่องด่างพร้อยในชีวิตก็รุนแรงไม่น้อย   จะตีค่าให้เป็นวีรบุรุษกู้ชาติดี หรือจะตีให้เป็นตัวร้ายจากพฤติกรรมบางอย่างในอดีตก็ได้   เป็นวีรบุรุษสีเทาจริงๆ ตัวละครในโลกแห่งความจริงมักเป็นเช่นนี้ มีทั้งด้านสว่างด้านมืดครบ

กด like ให้คุณประกอบ 10 ครั้ง


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.พ. 13, 19:18
ยิ่งอ่านเรื่องของอองซานยิ่งสับสน อุดมการณ์ก็น่ายกย่อง  แต่ก็เรื่องด่างพร้อยในชีวิตก็รุนแรงไม่น้อย  จะตีค่าให้เป็นวีรบุรุษกู้ชาติดี หรือจะตีให้เป็นตัวร้ายจากพฤติกรรมบางอย่างในอดีตก็ได้    เป็นวีรบุรุษสีเทาจริงๆ ตัวละครในโลกแห่งความจริงมักเป็นเช่นนี้ มีทั้งด้านสว่างด้านมืดครบ

วานคุณประกอบสำแดงเรื่องที่คิดว่าเป็นจุดด่างพร้อยอย่่างรุนแรง และพฤติกรรมร้าย ๆ ของทะขิ่นอองซาน - วีรบุรุษสีเทา

(http://lh3.ggpht.com/-vP5nTT6IwYU/TE0nsvQTMYI/AAAAAAAABSc/5G1GZm3SxSY/s512/BoGyoke191.jpg)

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley16.png)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 11 ก.พ. 13, 20:01

ก่อนจะมาถึงขั้นนี้  BIAของพม่ากับกองทัพญี่ปุ่น จึงมีระแวงกันอยู่ระหว่าง อองซานหวังว่าญี่ปุ่นควรมีภารกิจเพียงแค่การจัดตั้ง BIA และขยายกองทัพพม่าให้เติบโต ส่งมอบอาวุธและกระสุนให้ เพื่อรบกับอังกฤษ มิใช่จะจ้องเข้าครอบครองทรัพยากรของพม่าแทนพวกที่ช่วยกันไล่ออกไป
แต่ญี่ปุ่นเห็นว่า BIAเป็น“กองโจร”มากกว่ากองทัพ คนพม่าที่อองซานเกณฑ์มาเมื่อมีอาวุธในมือแล้วกลับไม่มีใครเชื่อฟังใคร ทำให้ไร้การควบคุม พวกตะขิ่นไร้สายการบังคับบัญชาผิดกับที่ญี่ปุ่นฝึกมา ทั้งหมดมุ่งประสงค์จะสังหารบรรดาหัวหน้าชุมชนที่เป็นชาวกะเหรี่ยงทุกคน ใครที่เคยรับใช้เป็นลูกน้องอังกฤษถูกโดนจับยิงเป้าทั้งหมด  ตะขิ่นอองซานเองก็เคยแสดงวีรกรรม ใช้ดาบแทงเชลยที่เป็นหัวหน้าชาวกระเหรี่ยงตายต่อหน้าต่อตาที่ประชุมชาวบ้าน



อันนี้พอจะใช้เป็นคำตอบได้มั๊ยครับซายาครับ  ;D


แม้เรื่องนี้อาจจะเป็นคำบอกเล่าแต่ก็น่าจะมีที่มาจากเรื่องจริงอยู่ โดยเฉพาะเรื่องราวที่ BIA อาจะได้กระทำต่อกระเหรี่ยงหรือใครที่เคยร่วมมือกับอังกฤษตามที่ซายานวรัตนท่านเล่ามา เรื่องพวกนี้คงไม่สามารถปกปิดได้ ไม่ว่าจะลงมือทำด้วยตัวเองหรือในฐานะหัวหน้า  อองซานในฐานะผู้นำจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้  จะบอกว่าคุมคนไม่อยู่ ลูกน้องล่างๆ  ทำกันเองโดยพละการก็ไม่น่าใช่ เพราะบทบาทผู้นำต่างๆ ของอองซานค่อนข้างชัดเจนและน่าจะมีอำนาจเด็ดขาดมากกว่าแกนนำคนอื่นๆ พอสมควร การทำทารุณกรรมต่างๆ จะกระทำโดยทหารระดับเล็กๆ แต่ก็ต้องด้วยการรู้เห็นเป็นใจของระดับผู้บังคับบัญชาด้วยเสมอ


เรื่องความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติต่างๆ ในพม่าผมไม่แน่ใจว่าเป็นสิ่งที่อังกฤษทิ้งเอาไว้ให้หรือเป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนแล้ว เพราะเมื่อมองดูวิธีคิดของคนไทยที่มีต่อคนลาว เขมร หรือวิธีคิดที่คนปัตตานีบางส่วนมองคนไทย รู้สึกได้ว่าเมล็ดพันธุ์ความขัดแย้งหรือดููแคลนกันระหว่างเผ่าพันธุ์นี่มันมีอยู่ก่อนแล้วโดยไม่ต้องมีมหาอำนาจมาจุดชนวนหรือเพาะให้ เพราะเราเพาะกันเองมานานแล้ว


พม่ามีหลายเผ่าพันธุ์มารวมกัน เท่าที่อ่านมาดูเหมือนอองซานจะไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าเทียมกันทุกเผ่าทุกกลุ่ม อาจมองตามระดับอิทธิพลที่แต่ละกลุ่มมี  รวมถึงความบาดหมางเก่าๆ ที่มีต่อกัน เพราะดูเหมือนผู้สืบทอดอำนาจต่อๆ มาจะนำพาพม่าไปในลักษณะนี้กันหมด


อองซานหนุ่มอาจจะเต็มไปด้วยอุดมการณ์ แต่วันที่ต้องมารับผิดชอบ ประสานผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มต่างๆ พร้อมทั้งอำนาจที่เพิ่มพูนขึ้นมาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าได้เปลี่ยนอะไรในตัวอองซานไปบ้างเนื่องจากตายเสียแต่ยังหนุ่ม แต่อุดมการณ์ของผู้สืบทอดอำนาจรุ่นต่อๆ มาไม่ว่าจะเป็นอูนุหรือเนวิน   รวมถึงวิธีการในการรวบรวมอำนาจขึ้นมาของอองซาน  ก็พอจะให้ภาพคร่าวๆ ให้เดาแบบมองโลกในแง่ร้ายได้ว่าอองซานเองอาจจะไม่ต่างไปซักเท่าไหร่ก็ได้  อันนี้เดาจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองในไทยมาร่วมคิดด้วย วันที่มีอุดมการณ์กับวันที่มีอำนาจ คนหนุ่มคนเดิมที่เคยมีอุดมการณ์พอมีอำนาจกลับไม่ใช่คนเดิมแล้ว


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.พ. 13, 21:20

ก่อนจะมาถึงขั้นนี้  BIAของพม่ากับกองทัพญี่ปุ่น จึงมีระแวงกันอยู่ระหว่าง อองซานหวังว่าญี่ปุ่นควรมีภารกิจเพียงแค่การจัดตั้ง BIA และขยายกองทัพพม่าให้เติบโต ส่งมอบอาวุธและกระสุนให้ เพื่อรบกับอังกฤษ มิใช่จะจ้องเข้าครอบครองทรัพยากรของพม่าแทนพวกที่ช่วยกันไล่ออกไป
แต่ญี่ปุ่นเห็นว่า BIAเป็น“กองโจร”มากกว่ากองทัพ คนพม่าที่อองซานเกณฑ์มาเมื่อมีอาวุธในมือแล้วกลับไม่มีใครเชื่อฟังใคร ทำให้ไร้การควบคุม พวกตะขิ่นไร้สายการบังคับบัญชาผิดกับที่ญี่ปุ่นฝึกมา ทั้งหมดมุ่งประสงค์จะสังหารบรรดาหัวหน้าชุมชนที่เป็นชาวกะเหรี่ยงทุกคน ใครที่เคยรับใช้เป็นลูกน้องอังกฤษถูกโดนจับยิงเป้าทั้งหมด  ตะขิ่นอองซานเองก็เคยแสดงวีรกรรม ใช้ดาบแทงเชลยที่เป็นหัวหน้าชาวกระเหรี่ยงตายต่อหน้าต่อตาที่ประชุมชาวบ้าน



อันนี้พอจะใช้เป็นคำตอบได้มั๊ยครับซายาครับ  ;D


แม้เรื่องนี้อาจจะเป็นคำบอกเล่าแต่ก็น่าจะมีที่มาจากเรื่องจริงอยู่ โดยเฉพาะเรื่องราวที่ BIA อาจะได้กระทำต่อกระเหรี่ยงหรือใครที่เคยร่วมมือกับอังกฤษตามที่ซายานวรัตนท่านเล่ามา เรื่องพวกนี้คงไม่สามารถปกปิดได้ ไม่ว่าจะลงมือทำด้วยตัวเองหรือในฐานะหัวหน้า  อองซานในฐานะผู้นำจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้  จะบอกว่าคุมคนไม่อยู่ ลูกน้องล่างๆ  ทำกันเองโดยพละการก็ไม่น่าใช่ เพราะบทบาทผู้นำต่างๆ ของอองซานค่อนข้างชัดเจนและน่าจะมีอำนาจเด็ดขาดมากกว่าแกนนำคนอื่นๆ พอสมควร การทำทารุณกรรมต่างๆ จะกระทำโดยทหารระดับเล็กๆ แต่ก็ต้องด้วยการรู้เห็นเป็นใจของระดับผู้บังคับบัญชาด้วยเสมอ

ถ้าตะขิ่นอองซานรู้เห็นเป็นใจกับลูกน้องให้สังหารกระเหรี่ยงที่ไม่มีความผิดก็น่าตำหนิเป็นอย่างมาก แต่ยังสงสัยว่าตะขิ่นอองซานรู้เห็นเป็นใจจริงหรือ หรือเพราะว่าคุมไม่อยู่จริง ๆ  

เรื่องตะขิ่นอองซานลงมือฆ่าหัวหน้าชาวกระเหรี่ยงเอง ต่อหน้าที่ประชุมชาวบ้านมีรายละเอียดอย่างไรหนอ วานซายานวรัตนขยายความ

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley19.png)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 23:47
^
เพ็ญชมพู 
ความคิดเห็นที่ 24
อ้างถึง
ข้อมูลข้างบนของท่านซายานวรัตนที่ว่านายพลอองซานเคยเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่น่าถูกต้อง นายพลอองซานเคยเป็นมาหลายอย่าง เป็นผู้นำนักศึกษา เป็นผู้นำกองทัพ เป็นรัฐมนตรี แต่ไม่เคยเป็นนายกรัฐมนตรี   

ขออนุญาตลงบทความของ พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก ซึ่งตรงกับเหตุการณ์ที่คุณนวรัตนเล่าตอนนี้

กองทัพพม่าช่วยญี่ปุ่นโจมตีอังกฤษออกจากพม่า แล้วพม่าก็กลับมาช่วยอังกฤษโจมตีขับไล่ญี่ปุ่น

กองทัพพม่ากำเนิดจากทหารแค่ ๓๐ คน นำโดยอองซาน ไปรับการฝึกจากญี่ปุ่นบนเกาะไหหลำแล้วมารวมตัวกันประกาศจัดตั้ง Burmese Independence Army (BIA) ในประเทศไทยในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ เพื่อเตรียมสนับสนุนญี่ปุ่นโจมตี กองทัพอังกฤษให้ถอนตัวจากพม่า

ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพลูกพระอาทิตย์บุกขึ้นพม่า โจมตีกองทัพอังกฤษจนต้องร่นถอยเข้าไปในอินเดียและกองทัพญี่ปุ่นก็ยึดครองพม่าได้โดยเด็ดขาด

ในจังหวะที่ BIA ของพม่าสนับสนุนนำกำลังกองทัพญี่ปุ่นบุกพม่านั้น ก็มีความหวาดระแวงกันอยู่ระหว่าง ออง ซาน กับกองทัพญี่ปุ่น ที่จริง ออง ซาน คาดหวังว่า BIA และกองทัพญี่ปุ่นควรมีภารกิจเพียงแค่การจัดตั้งและขยายกองทัพพม่าให้เติบโต ส่งมอบอาวุธ กระสุนให้ แต่ญี่ปุ่นกลับมุ่งโจมตี ยึดเอาทรัพยากรของพม่าเป็นลำดับแรกโดยเข้าตีเมืองมะละแหม่ง (บางคนเรียกว่าเมืองเมาะลำไย) ทางใต้ของพม่าก่อน

สถานการณ์รบในครั้งนั้นบรรดา “กลุ่ม ๓๐ สหาย” เริ่มไม่พอใจกองทัพญี่ปุ่นแต่ต้องอดกลั้นเก็บความรู้สึกเอาไว้ ที่ร้ายไปกว่านั้น ชาวพม่าที่เข้าร่วมรบกับ กองทัพญี่ปุ่น เมื่อมีอาวุธในมือแล้วกลับทำตัวเป็น “กองโจร” ไร้การควบคุม ไม่มีใครเชื่อฟังใคร ไม่มีสายการบังคับบัญชา

มุ่งประสงค์ตั้งอกตั้งใจสังหารบรรดา “หัวหน้าชุมชนที่เป็นชาวกะเหรี่ยง” ใครที่เคยรับใช้ เป็นลูกน้องอังกฤษถูกโดนจับยิงเป้าทั้งหมด

งานนี้สับสนอลหม่าน กลายเป็น “แค้นต้องชำระ” พม่าฆ่าพม่า-พม่าฆ่ากะเหรี่ยง โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงที่น่าเวทนา กองทัพ BIA ถือโอกาสสังหารเป็นว่าเล่นเพราะเก็บความแค้นมานาน พม่าฆ่ากะเหรี่ยงก็สะใจเหมือนได้ฆ่าคนอังกฤษ


แม่ทัพญี่ปุ่นได้รับทราบพฤติกรรมเยี่ยงโจรของกลุ่ม BIA ซึ่ง ออง ซาน ก็ควบคุมไม่ได้จึงสั่ง “ยุติบทบาทและสลายกองทัพพม่า (BIA)” ทันที

คำสั่งของแม่ทัพญี่ปุ่นครั้งนี้ ออง ซาน สะเทือนใจมากถึงขั้นล้มป่วย เข้าโรงพยาบาล เป็นโอกาสได้พบกับ ดอ ขิ่น จี (ต่อมาได้แต่งงานกัน)[/
quote]


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.พ. 13, 23:49
^
^
Major-General Sir Hubert Rance, the British military commander, took control of the country for the military after the liberation of Rangoon, but Dorman-Smith returned as Governor in 1946. Dorman-Smith considered arresting Aung San for a murder he committed in 1942. In that year, Aung San had stabbed the restrained headman of Thebyugone village to death in front of a large crowd. Dorman-Smith was convinced by his superiors not to carry out the arrest.

http://en.wikipedia.org/wiki/Reginald_Dorman-Smith


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.พ. 13, 09:57
หนังสือเรื่อง “ใครฆ่าอองซาน”เขียนโดยอูคินอ่อง บุตรของตุนหล่าออง นายตำรวจที่เป็นรองผู้บัญชาการในช่วงนั้นซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว เนื้อเรื่องส่วนใหญ่คือเนื้อหาที่บีบีซีนำไปเสนอ โดยต่อยอดสู่ปริศนาสำคัญที่ถูกปกปิดเป็นความลับทางราชการของอังกฤษมา50ปี เพิ่งจะเปิดเผยสู่สาธารณะเมื่อประมาณปี1993 และทีมงานค้นหาความจริงของบีบีซีเอามาปัดฝุ่นนำเสนอ

ที่ผมเอามาเขียนเล่านี้ ก็จับโน่นนี่นั่นมายำใส่ไข่ ไม่ได้เอามาจากบีบีซีไปทั้งหมด เพราะบีบีซีเสนอในรูปแบบของหนังสารคดี จะยาวมากนักไม่ได้


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.พ. 13, 10:01
หนังสือเล่าว่าประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่อองซานถูกลอบสังหาร เกิดข่าวลือไปทั่วว่าเรื่องนี้มีรัฐบาลอังกฤษเกี่ยวข้องด้วย รัฐบาลพม่าของนายอูนุผู้อวยอังกฤษก็เตรียมออกแถลงการณ์ว่า “รัฐบาลอาณานิคมแห่งสหราชอาณาจักรมิได้เกี่ยวข้องในฆาตกรรมการเมืองครั้งนี้ และรัฐบาลพม่าร่วมกับรัฐบาลอังกฤษกำลังใช้ความพยายามอย่างที่สุดที่จะค้นหาผู้กระทำผิดตัวจริงจนพบ”

แต่แถลงการดังกล่าวไม่เคยได้แจกจ่ายออกไป เนื่องจากในจังหวะก่อนหน้าเล็กน้อย หนังสือพิมพ์ที่ออกในวันที่ 28-7-47 ได้ลงรายงานว่า “เมื่อนายพลอองซานและคณะไปลอนดอนในเดือนมกราคม เพื่อกระทำสัญญาข้อตกลงอองซาน-แอทลีนั้น อูซอและตะขิ่นบาเส่งปฏิเสธที่จะร่วมลงนาม อูซอ ซึ่งมุ่งหมายที่จะทำลายAFPFL ยังคงอยู่ในลอนดอนต่อและได้รับเงินห้าหมื่นปอนด์ ซึ่งนายทุนคนอังกฤษจำนวนหนึ่งได้ลงขันกันมามอบให้”

อูนุจึงรีบสั่งระงับแถลงการดังกล่าวไว้โดยทันที


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.พ. 13, 10:04
เมื่ออูซอถูกจับและต้องสู้คดีในศาล เขาปฏิเสธโดยอ้างว่าอาวุธสงครามที่ตำรวจเจอนั้นไม่ใข่ของเขา ระหว่างนั้นมีหนังสือเล่มหนึ่งกล่าวว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยสองคนที่เสียชีวิตไปอย่างไม่ธรรมดา

คนแรกคือ นายเฟรเดอริก เฮนรี่ (Frederick Henry) ทนายความชาวอังกฤษที่ว่าความให้อูซอ ถูกลอบฆ่าตายในห้องของเขาเองโดยไร้สาเหตุและจับคนร้ายไม่ได้
อีดนหนึ่งคือนายคอลลินส์(F. Collins) นักสืบเอกชนที่ทางการจ้างมาช่วยสืบคดี ถูกพบเป็นศพหลังเกิดการฆาตกรรมทนายคนแรก เอกสารทุกอย่างของเขาสูญหายหมด

เหยื่อทั้งสองนี้น่าจะไปล่วงรู้ตื้นลึกหนาบางของคดี ซึ่งมีบางคนไม่อยากให้สิ่งที่เขาไปรู้เข้านี้รั่วไหลออกไปสู่วงกว้าง

อดีตผู้ว่าการรัฐพม่าดอร์แมน-สมิตเดินทางจากอังกฤษมาให้การในศาลพม่าครั้งหนึ่งในฐานะพยานจำเลย และตอบคำถามของอัยการว่า เขามาในฐานะเพื่อนของอูซอเป็นการส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องใดๆกับทางราชการ


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.พ. 13, 10:15
บีบีซีอ้างหลักฐานรายงานการสืบสวนของหน่วยข่าวกรองอังกฤษว่า หลังจากการทำสัญญาข้อตกลงอองซาน-แอทลี ได้มีบุคคลชั้นสูงกลุ่มหนึ่งเคลื่อนไหวในทางลับในนามของ “เพื่อนชาวเขาพม่า” (Friends of the Burma Hill People) โดยมีอดีตผู้ว่าการรัฐพม่าดอร์แมน-สมิตเป็นผู้ก่อการ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยเหลือชาวกะเหรียงซึ่งทางการอังกฤษเรียกว่าผู้ร่วมงาน (British Collaborators) ที่กำลังเรียกร้องอิสรภาพของชนชาตินี้ เพราะไม่ต้องการตกไปอยู่ใต้ปกครองของชนชาติพม่าที่เป็นศัตรูกันมาตั้งแต่โบราณกาล

ผู้ที่มาร่วมกลุ่มล้วนมีอดีตที่ฝังลึกกับสงครามครั้งที่แล้ว และมีจิตสำนึกที่จะต้องแก้แค้นให้แก่พรรคพวกที่กล่าวหาว่าถูกพวกตนทอดทิ้งไป ทำให้ต้องต่อสู้โดยลำพังและถูกฆ่าตายแบบล้างเผ่าพันธุ์ โดยทหารพม่าภายใต้เงาทมิฬของญี่ปุ่น


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.พ. 13, 10:16
เมื่ออูซอต้องคำพิพากษา อดีตผู้ว่าการรัฐพม่าดอร์แมน-สมิตได้พยายามอีกครั้งหนึ่งที่จะวิ่งเต้นขอฎีกาอภัยโทษประหารชีวิตให้ แต่ความพยายามดังกล่าวไม่เป็นผล อูซอได้ตายตกไปตามกัน

ในวันเดียวกันนั้นเอง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำแรงกูนได้โทรเลขลับไปยังกระทรวง โทรเลขลับดังกล่าวนี้เพิ่งได้รับอนุญาตให้เปิดเผย คณะค้นหาความจริงของบีบีซีพบข้อความตอนหนึ่งน่าสนใจว่า ผู้บัญชาการตำรวจได้กระซิบบอกท่านทูตว่ามีข้อมูลเชื่อถือได้ว่าคนอังกฤษอยู่เบื้องหลังการสังหารอองซาน ซึ่งทางตำรวจตั้งข้อสงสัยดอร์แมน-สมิต และอีกชายชื่อบิงลีย์ บุคคลทั้งสองมีเป้าหมายร่วมกันบางอย่างที่ตำรวจยังไม่รู้ 


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.พ. 13, 10:25
เมื่อถูกจับเข้าคุกและเริ่มสิ้นหวังนั้น อูซอได้เขียนจดหมายถึงบุคคลคนหนึ่งชื่อวิเวียน ว่าเขาต้องการติดต่อท่านโย่ง(The tall gentleman) อูซอไม่ทราบว่าวิเวียนก็ติดคุกอยู่เช่นกัน ในข้อหาขโมยปืนและกระสุนจากคลังแสงของทางราชการในความรับผิดชอบจำนวนมากมาส่งมอบให้ตน
 
ตำรวจได้จดหมายนี้มาและตื่นเต้นมาก ใคร่รู้ว่าท่านโย่งที่ว่านั้นคือใคร แต่ต้องรอโอกาสต่อไป อูซอจึงไม่ได้รับจดหมายตอบ

เมื่ออูซอพยายามอีกครั้งด้วยการเขียนถึงพันตรีเฮนรี ยัง แล้วติดสินบนพัศดีให้นำส่ง คราวนี้ตำรวจเมื่อได้จดหมายดังกล่าวแล้วก็ปลอมจดหมายตอบสั้นๆว่า ให้ติดต่อท่านโย่งได้โดยทันที


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.พ. 13, 10:34
อูซอจึงเขียนจดหมาย ทวงบุญคุณว่า ตนได้เสี่ยงตายทำตามคำสั่ง จ่าหน้าซองถึงนายจอห์น สต๊วต บิงลีย์ (John Stewart Bingley) แห่งบริติช เคาน์ซิล สาขาแรงกูน ชายผู้นี้สูงถึง195เซนติเมตร ตำรวจปลอมเป็นนักโทษเพิ่งพ้นคุกผู้รับจ้างนำจดหมายดังกล่าวไปให้ บิงลีย์ถึงกับช๊อคที่ได้เห็นจดหมายแล้วรีบฉีกทำลายทิ้งทันที พร้อมกับตะโกนไล่ตำรวจที่ถือจดหมายมาให้ออกไปให้พ้นๆ

ในหนังสือขยายความว่าอูซอต้องการเงินก้อนใหญ่เพื่อติดสินบนพ้ศดีให้จัดฉากหนีคุกให้ตนรอดพ้นโทษ


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.พ. 13, 10:46
ตุนหล่าอ่องนายตำรวจเจ้าของคดีได้เข้าไปพบเพื่อขอคุยด้วยทันที แต่บิงลีย์ไม่ยอมเปิดปากพูดอะไร เมื่ออยากจะเอาตัวมาสอบสวนชัดๆ ผู้ว่าการรัฐเซอร์ ฮิวเบร์ต เรนซ์ ก็ปกป้องบิงลีย์ว่าเป็นเหยื่อของสถานการณ์แวดล้อม ควรให้ออกนอกประเทศไปเสีย ในหนังสือบอกว่า ตำรวจไปหาผู้ว่าพร้อมหมายจับให้ลงนามอนุมัติ แต่ผู้ว่าไม่ยอมเซนต์ บอกว่าให้ไปหาหลักฐานมาอีก

หลังจากนั้น อูซอเขียนจดหมายถึงบิงลีย์อีก คราวนี้ไม่ได้ขออย่างเดียวแต่ขู่ด้วย  วันรุ่งขึ้นตุนหล่าอ่องจึงไปเคาะประตูห้องบิงลีย์โดยหวังจะได้ข้อมูลอะไรบ้าง เวลานั้นบิงลีย์ย้ายออกจากบ้านไปอยู่สแตรนด์โฮเตล เตรียมเผ่นออกจากพม่าแล้ว เมื่อยื่นจดหมายของอูซอให้ขณะที่กำลังจะออกเดินทาง เขาตกใจมากและอ้างเอกสิทธิ์ทางการทูตคุ้มครองมืให้ถูกจับกุม และปฏิเสธที่จะเปิดปากพูดอะไรทั้งสิ้น

จากประสพการณ์ของตำรวจ ตุนหล่าอ่องรู้อยู่แก่ใจว่าบิงลีย์ต้องเกี่ยวข้องกับฆาตกรรมการเมืองนี้แน่ แต่ในที่สุดก็ได้แค่พูดใส่หน้าว่า ยูไปจากพม่าแล้วก็อย่าได้บังอาจกลับมาอีกแล้วกัน


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.พ. 13, 10:53
บิงลีย์ก็คงไม่กลับไปพม่าอีกให้โง่ เขาอยู่ในอังกฤษและตายที่นั่นในปี 1979  บีบีซีพบเอกสารบางอย่างในแฟ้มของบิงลีย์ แต่ไม่มีอะไรที่เป็นเบาะแสเลย นอกจากรายงานของหน่วยสืบราชการลับกลางของอังกฤษว่า บิงลีย์ก็เช่นเดียวกับดอร์แมน-สมิต ที่เป็นหนึ่งในสมาชิกหลักของกลุ่มเพื่อนชาวเขาพม่า ที่ต้องการจะโค่นล้มการตั้งรัฐบาลเอกราชพม่า เป็นการสนับสนุนชาวกะเหรี่ยง


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.พ. 13, 11:05
เอกสารของทางราชการในเรื่องของกลุ่มนี้ยังคงถูกเก็บเป็นความลับต่อ หลักฐานที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ปรากฎรายชื่อผู้ที่เคยเข้าร่วมประชุม มีชื่อหม่องหม่องจี คนๆนี้เป็นพี่ชายของอูซอ อีกคนหนึ่งคือ เบนจามิน เมททนี ทนายจำเลยที่ต่อสู้คดีในศาล


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.พ. 13, 11:17
อีกคนหนึ่งที่รู้เบื้องหลังของการลอบสังหาร คือเพื่อนสนิทของอองซานผู้ทำหน้าที่เลขานุการให้ด้วย ชื่อโบซัดจา
 
ชายผู้นี้เสียชีวิตไปแล้วแต่เคยเปิดเผยเบื้องหลังการตายของอองซานแก่นักเขียนหนังสือสารคดีชาวอเมริกันที่พำนักอยู่ในกรุงเทพ ประมาณปี1960 ผู้ซึ่งถ่ายทอดให้บีบีซีฟังว่า  กลุ่มผู้มีอิทธิพลในลอนดอน ประกอบด้วยผู้ที่เคยเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ร่วมกับชาวกะเหรี่ยงในการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ในฐานะนายทหาร สายลับ นักการทูต นักข่าว เมื่อสงครามเลิกแล้วพวกนี้ได้เข้าไปอยู่ในแวดวงการเมือง มีทั้งระดับวุฒิสมาชิก และกลุ่มชนชั้นสูง บางคนร่ำรวยระดับมหาเศรษฐีและมีอิทธิพลในฝ่ายรัฐบาล แต่หลังการพ่ายแพ้ของพรรคคอนเซอเวทีฟและผลัดยุคมาเป็นรัฐบาลพรรคเลเบอร์ นโยบายกดขี่เมืองขึ้นเดิมๆของเชอร์ชิลถูกโละทิ้ง คนกลุ่มนี้ก็สิ้นอิทธิพลที่จะไปผลักดันนโยบายใดๆให้รัฐบาลใหม่ยอมรับ จึงต้องลงมือปฏิบัติเองในทางลับ เพื่อให้บรรลุความมุ่งหวังที่จะแก้แค้นตัวอองซานเอง และต่อต้านชัยชนะของอองซานในเรื่องเอกราชของพม่า


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.พ. 13, 11:28
อีกคนหนึ่งที่รู้เบื้องหลังของการลอบสังหาร คือเพื่อนสนิทของอองซานผู้ทำหน้าที่เลขานุการให้ด้วย ชื่อโบซัดจา

ชื่อทั้งหมดเป็นนามแฝงใช้ในการสู้รบ

Bo Setkya = โบ เซะต์จา ชื่อจริงคือ Aung Than = อองตาน

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.พ. 13, 11:30
ตัวเอกคนหนึ่งในสงครามกะเหรียงและเรื่องที่เกี่ยวกับอูซอก็คือร้อยเอกเดวิท วิเวียน
นายทหารผู้นี้ถูกย้ายเข้ามารับผิดชอบคลังแสงของทางราชการก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุเพียงไม่กี่เดือน และเขาได้ลักลอบนำอาวุธปืนกลและกระสุนส่งให้อูซอ เพียงพอที่จะจัดตั้งกองกำลังได้ถึง3กองพัน ครึ่งหนึ่งของทหารประจำการของกองทัพพม่าทั้งหมด จึงน่าสงสัยว่าด้วยกำลังอาวุธขนาดนี้ คงมีแผนการใหญ่รออยู่ มิได้เพียงแค่มีวัตถุประสงค์จะสังหารอองซานเท่านั้น หรือว่าจะเตรียมสำหรับการปฏิวัติก่อสงครามกลางเมือง
 
เมื่อตำรวจพบอาวุธทั้งหมด บรรจุอยู่ในหีบกันน้ำอย่างดีซ่อนไว้ใต้ทะเลสาบหลังบ้านอูซอ ไม่นานวิเวียนก็ถูกจับ ศาลทหารสั่งจำคุกในข้อหาจิ๊บๆ แค่ขโมยทรัพย์สินของทางราชการ และถูกส่งตัวไปจำไว้ที่คุกอินเซน ไม่นานก็เกิดจลาจล กองกำลังกะเหรียงบุกเข้ายึดคุกอินเซนเมื่อพฤษภาคม1949 เมื่อล่าถอยไปอย่างรวดเร็วนั้น นักโทษวิเวียนได้หายไปด้วย ปีหนึ่งหลังจากนั้น มีผู้ยืนยันว่าเขาได้ร่วมรบอยู่กับกองทัพกะเหรี่ยงอิสระในการต่อสู้กับทหารพม่าอย่างเข้มข้น

แม้ว่าจะมีข่าวปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ในปี1950 ซึ่งยืนยันโดยเจ้าหน้าที่พม่าว่า ในบรรดาศพของนักรบกะเหรี่ยงที่พบหลังปะทะกันระหว่ากองกำลังของทั้งสองฝ่ายครั้งหนึ่งนั้น มีศพคนอังกฤษสองคนรวมอยู่ด้วย หนึ่งในนั้นคือร้อยเอกวิเวียน นักโทษแหกคุกก่อนหน้านั้น


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.พ. 13, 11:34
แต่ความจริงก็คือ ผู้กองวิเวียนได้ลักลอบข้ามพรมแดนเข้ามาเมืองไทย และใช้เอกสารเดินทางปลอมออกให้โดยสถานทูตอังกฤษที่กรุงเทพ ใช้ชื่อว่าจอห์น มอแกน(John Morgan) แล้วเดินทางกลับสู่อังกฤษประมาณกลางปี1954
 
บีบีซีพบแค่สำเนาตั๋ว แต่เอกสารต่างๆในเรื่องของเขาถูกทำลายข้อความบางส่วนไปแล้ว โดยประทับหน้าว่าเป็นเรื่องที่ยังอ่อนไหวอยู่ หรือไม่ก็หายไปทั้งฉบับ
แต่จากสารบัญเรื่องในแฟ้มบีบีซีพบว่า สถานทูตอังกฤษในกรุงเทพขณะนั้นทราบดีว่าวิเวียนเป็นนักโทษหนีคุกมาจากพม่า


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.พ. 13, 11:38
วิเวียนหลุดจากคุกอินเซนอันใหญ่โตราวป้อมปราการได้อย่างไรก็เป็นเรื่องน่าทำหนังฮอลลิวูด ระหว่างอยู่ในคุกที่แรงกูน วิเวียนได้ขู่เจ้าหน้าที่ว่า “บางคนในอังกฤษใส่ใจที่จะให้ผมเก็บความจำให้ดี ไม่ให้พูด”
และ  “ถ้าผมพูดความจริงได้ละ ก็จะอลหม่านไปทั่วทั้งอังกฤษและพม่าเชียวนะหนา”

บีบีซีตามร่องรอยไม่พบว่าวิเวียนอยู่ที่ไหน เป็นตายร้ายดีอย่างไรเมื่อกลับบ้านเกิดแล้ว


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.พ. 13, 11:47
เอารูปคุกอินเซนมาให้ดูครับ คุกนี้อยู่ชายเมืองย่างกุ้ง ใหญ่ที่สุด คลาสสิกที่สุดในพม่า คล้ายๆบางขวางของเรา ที่บางคนได้ยินก็เข่าอ่อนก่อนแล้ว


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.พ. 13, 12:00
ถ้าเรื่องนี้เป็นหนังฮอลลีวู้ด    ก็เดาว่าชื่อจริงของผู้กองวิเวียนคือ เจมส์ บอนด์    
ในเมื่อเสร็จภารกิจในพม่า แกก็ถือหนังสือเดินทางของปลอมที่ออกโดยสถานทูตของจริง กลับบ้านเกิดเมืองนอน    ถ้าไม่ถูกเก็บเงียบตลอดกาลเสียที่ใดที่หนึ่ง  แต่ยังมีชีวิตอยู่และได้บำเหน็จบำนาญไปตามระเบียบ      แกก็เปลี่ยนชื่อและนามสกุลตลอดจนหลักฐานอื่นๆเช่นวันเดือนปีเกิด   แฟ้มหลักฐานเดิมของทางการก็ถูกทำลายเสียให้หมดร่องรอย  
จากนั้นผู้กองก็อาจจะไปทำไร่ไถนาอยู่นอกด่านเหมือนตอนจบของจอมยุทธในหนังจีนกำลังภายใน ก็เป็นได้ค่ะ


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.พ. 13, 15:03
ภาพถ่ายทางดาวเทียม คุกอินเส่ง (Insein) อยู่บนถนนบุเรงนอง (Bayint Naung)

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.พ. 13, 16:50
เพิ่งทราบจริงๆครับ ว่าวันนี้พม่าเขามีสวนสนามรำลึก 66 ปีสัญญาปางโหลง

ทหารกองเกียรติยศเดินสวนสนาม ในโอกาสครบรอบปีที่ 66 "วันสหภาพ"(Union Day) ในพิธีที่จัดขึ้นเช้าวันอังคาร 12 ก.พ.นี้ พม่าทุกยุคสมัยจัดรำลึกวันสำคัญนี้ประจำทุกปี โดยมีประชาชนชนชาติส่วนน้อยและตัวแทนจากรัฐต่างๆ เข้าร่วมปีละหลายพันคนและใช้กรุงเก่าย่างกุ้งเป็นสถานที่ตลอดมา
ถึงแม้ว่าสัญญาปางโหลงจะผ่านไปเกือบ 7 ทศวรรษแล้ว การเมืองภายในได้ทำให้เอกภาพของพม่ามีปัญหามาโดยตลอด แต่หลังการเลือกตั้งปลายปี 2553 และมีการจัดตั้งรัฐบาลกึ่งพลเรือนขึ้นบริหารประเทศ ข้อตกลงหยุดยิงกับกองกำลังอาวุธในรัฐต่างๆเริ่มเห็นผล ปัจจุบันเหลือแเพียงกะฉิ่นเพียงรัฐเดียวเท่านั้นที่ยังมีการปะทะด้วยอาวุธ แต่การเจรจาสันติภาพก็ยังดำเนินต่อไป.

 -- AFP Photo/Soe Than Win.


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.พ. 13, 19:44
สัญญาที่ปางหลวง  (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87)         สัญญาลวงใครต่อใคร
หกสิบหกปีที่ผ่านไป        สัญญาไม่เคยเป็นจริง

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley20.png)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.พ. 13, 09:03
อูอองซานเกิดวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๘

ร่วมรำลึก ๙๘ ปี ชาตกาลโบจ๊กอองซาน วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า

http://www.youtube.com/watch?v=nzM6u5o7tEk

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ก.พ. 13, 09:16
ขออนุญาตตามกระแสเรื่อง "วันแห่งความรัก"

อยากให้ความรักแก่คนทั้งโลก

http://www.youtube.com/watch?v=vFTm235Zvjw

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ก.พ. 13, 15:38
วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เวลาประมาณ ๑๐.๓๐ น. ขณะที่การประชุมสภาบริหารจะเริ่มต้นขึ้น  กลุ่มชายฉกรรจ์ในชุดทหารมีอาวุธครบมือบุกเข้าไปในสถานที่ประชุม สาดกระสุนสังหารนายพลอองซานและสมาชิกสภาอีก ๖ คน คนร้ายหลบหนีไปได้ แต่สุดท้ายจับได้ว่าเป็นลูกสมุนของอูซอ อดีตนายกรัฐมนตรี คู่แข่งทางการเมืองของนายพลอองซาน จุดประสงค์ในการสังหารนายพลอองซาน เพื่อตนจะได้ขึ้นเป็นผู้นำคนต่อไป ในที่สุดอูซอถูกตัดสินประหารชีวิต

วันที่ ๑๙ กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันวีรชน (Martyrs' Day) ของพม่า

ปีที่แล้ว (๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕) อองซานซูจีเข้าร่วมพิธีที่สุสานวีรชน ใกล้กับเจดีย์ชเวดากอง ที่ย่างกุ้ง ด้วย

http://www.youtube.com/watch?v=tdnWOVmyCp8&feature=player_embedded

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ม.ค. 20, 20:52
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้นและลามมาถึงพม่า ทะขิ่นอองซานได้รวมตัวเพื่อนนักศึกษาตั้งกลุ่ม "เพื่อนสามสิบ" (The Thirty Comrades) หนีออกไปอยู่กับฝ่ายญี่ปุ่นและฝึกอาวุธที่เกาะไหหลำใน พ.ศ. ๒๔๘๓ และกลับมาพม่าพร้อมกับกองทัพญี่ปุ่น ทะขิ่นอองซานได้เป็นรัฐมนตรีกลาโหม ในสมัยที่ญี่ปุ่นยึดครองพม่า (เมื่ออายุได้ ๒๘ ปี) และเป็นผู้ก่อตั้ง "กองทัพพม่า" (ซึ่งเพื่อนของตนคือ เนวิน ได้เป็นผู้นำในเวลาต่อมา) กองทัพนี้ร่วมมือกับญี่ปุ่นในชั้นแรก และกลายเป็นเสมือน "เสรีไทย" ที่ต่อต้านญี่ปุ่นเมื่อภายหลัง และเจรจาได้เอกราชจากอังกฤษเมื่อ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ แต่ทะขิ่นอองซานซึ่งตอนนี้ถูกเรียกว่า "นายพลอองซาน" แล้ว ถูกลอบสังหารเสียก่อนเมื่อ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐  นายพลอองซานได้รับการขนานนามว่าเป็น "บิดาแห่งเอกราชของพม่า"

ภาพนายพลอองซานบนธนบัตรพม่า ความจริงมีปรากฏบนธนบัตรหลายราคา หลายรุ่น ภาพที่เลือกมานี้คิดว่าหล่อที่สุด


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5490.0;attach=38902;image)

นายพลอองชานได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษและเป็นบิดาผู้วางรากฐานให้กับรัฐพม่าสมัยใหม่ ธนบัตรที่ปรากฎหน้านายพลอองชานเกิดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๕๐๑ ในยุคปลายรัฐบาลอูนุ ธนบัตรนี้มีใช้เรื่อยมาแม้นจะเข้าสู่ยุคเผด็จการของนายพลเนวิน และมีใช้มาจนถึงยุครัฐบาลสลอร์ก (State Law and Order Restoration Council - SLORC)

รัฐบาลสลอร์กไม่ได้ประกาศยกเลิกธนบัตรรูปหน้านายพลอองซานอย่างเป็นทางการ อาจเป็นเพราะเกรงจะเกิดความไม่พอใจในวงกว้างและเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงตามมาได้ แต่เลือกที่จะปล่อยให้ธนบัตรหน้านายพลอองซานค่อย ๆ หายไป โดยมีธนบัตรรูปสิงห์เข้ามาแทน

(https://f.ptcdn.info/392/067/000/q2tppghg7VHlVyPopA1-o.jpg)

ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป และการเข้ามาเป็นรัฐบาลของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy - NLD) เริ่มมีผู้เสนอให้รัฐสภาพิจารณากลับมาใช้ธนบัตรรูปหน้านายพลอองซานหลายครั้ง ใน พ.ศ. ๒๕๖๐ อูอ่องขิ่นวินสมาชิกผู้แทนราษฎรจากพรรค NLD เสนอต่อรัฐสภาให้ออกแบบธนบัตรจ๊าตใหม่เป็นรูปนายพลอองซาน มีผู้ยกมือเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ ๒๘๖ คน และอีก ๑๐๗ คนไม่เห็นด้วย ทั้งหมดเป็นผู้แทนราษฎรโควต้าจากกองทัพและฝ่ายค้านคือพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party - USDP) นายพลอองซานจึงได้มาปรากฏบนธนบัตรพม่าอีกครั้ง

เมื่อวันที่ ๔ มกราคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบวันที่พม่าได้รับเอกราชครบ ๗๒ ปี ธนาคารกลางพม่านำธนบัตรราคา ๑,๐๐๐ จ๊าด (ราว ๒๐ บาท) แบบใหม่มาใช้ เป็นรูปนายพลอองซานด้านหน้า และด้านหลังเป็นรูปอาคารรัฐสภาที่กรุงเนปิดอว์ ส่วนธนบัตรเก่ารูปสิงห์ยังใช้ได้ตามปรกติ  ;D

ข้อมูลจาก ออง ซาน กับรัฐพม่าสมัยใหม่ (๑) โดย ลลิตา หาญวงษ์

https://www.matichon.co.th/columnists/news_1878035


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ม.ค. 20, 20:52
ตั้งแต่อองชานซูจีเข้ามาเป็นผู้นำพม่า ความพยายามของพรรค NLD อย่างหนึ่งคือการนำนายพลอองซานกลับมาเป็นสัญลักษณ์ของของชาติ นอกจากจะผลักดันให้ใบหน้าท่านนายพลปรากฏบนธนบัตรอีกครั้งแล้ว ยังสร้างอนุสาวรีย์นายพลอองซานขึ้นทั่วประเทศแม้แต่ในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อย (ซึ่งไม่ได้รับการต้อนรับเท่าที่ควร) พรรค NLD ยังผลักดันให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ ๑.๕ พันล้านจ๊าด (ประมาณ ๓๕ ล้านบาท)  เพื่อสร้างภาพยนตร์ชีวประวัติของนายพลอองซาน (ซึ่งเริ่มโครงการมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๕) อีกด้วย

https://youtu.be/WY4-RdldcVQ


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ม.ค. 20, 20:52
ยังสร้างอนุสาวรีย์นายพลอองซานขึ้นทั่วประเทศแม้แต่ในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อย (ซึ่งไม่ได้รับการต้อนรับเท่าที่ควร)

นายพลอองซานแม้จะได้ชื่อว่าเป็นวีรบุรุษของคนพม่า แต่ในมุมมองของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ พวกเขามีวีรบุรุษของตัวเอง  นั่นจึงเป็นเหตุให้พวกเขาไม่ต้องการรูปปั้นของนายพลอองซาน เกิดการต่อต้านในหลาย ๆ พื้นที่

ตัวอย่างเช่นที่เมืองมิตจีนา เมืองเอกรัฐกะฉิ่น เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ มีผู้ไม่ประสงค์ออกนามสาดสีใส่ "อนุสาวรีย์นายพลอองซาน"


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ม.ค. 20, 20:52
ชื่อของนายพลอองซานถูกพรรค NLD นำไปใช้ในนโยบาย " Bermanization" คือทำให้ (ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์) เป็นพม่า นอกจากจะเป็นในรูปของอนุสาวรีย์แล้ว ยังใช้เป็นชื่อสถานที่อีกด้วย

ในตอนต้น พ.ศ. ๒๕๖๐ หลายสัปดาห์ก่อนหน้าการเลือกตั้งซ่อม มีการประท้วงครั้งใหญ่หลายครั้งในรัฐมอญ หลังจากรัฐสภาพม่าได้มีมติใช้ชื่อของนายพลอองซาน ตั้งเป็นชื่อสะพานข้ามแม่น้ำสาละวินเชื่อมเมืองมะละแหม่งกับเกาะบีลู เมืองเชาโซน รัฐมอญ  แต่ประชาชนในรัฐมอญต้องการให้สะพานดังกล่าวมีชื่อที่เเสดงความเป็นชาวมอญ ผลปรากฎว่า พรรค NLD เเพ้การเลือกตั้งต่อพรรค USDP

มี คุน ชาน นน (Mi Kun Chan Non) รองประธานขององค์กรผู้หญิงมอญ (Mon Women's Organization) กล่าวว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับชื่อของสะพานส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งซ่อม เธอกล่าวว่า ชาวมอญมีผู้นำจำนวนมากที่มีความสำคัญต่อชาวมอญ  

https://www.voathai.com/a/myanmar-aung-san-statue-tk/4594133.html

ป้ายชื่อสะพานบรรทัดบน ဗိုလ်ချုပ်အောင်ဆန်းတံတား แปลว่า”สะพานนายพลอองซาน"  บรรทัดล่างในวงเล็บ (ဘီလူးကျွန်း) แปลว่า "เกาะบีลู (บีลูจุน)"


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ม.ค. 20, 20:52
ชื่อของนายพลอองซานถูกนำไปใช้ตั้งเป็นชื่อสถานที่ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๙๑ อันเป็นปีที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ

ตลาดโบจ๊กที่ขายของที่ระลึกพื้นเมือง เป็นที่รู้จักกันดีของนักท่องเที่ยวไทยนามตลาดสก๊อต

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5798.0;attach=44317;image)

ชื่อเต็มคือตลาดโบจ๊กอองซาน แปลว่าตลาดนายพลอองซาน

ตลาดสก๊อตสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ในช่วงที่พม่าเป็นอาณานิคมของอังกฤษ โดยตั้งชื่อตาม Gavin Scott ผู้บัญชาการเทศบาลเมืองย่างกุ้ง จนกระทั่งเมื่อพม่าพ้นจากการเป็นอาณานิคมใน พ.ศ. ๒๔๙๑ จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น "ตลาดโบจ๊กอองซาน" (ဗိုလ်ချုပ်အောင်ဆန်းဈေး) หรือ "ตลาดนายพลอองซาน" และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนทำให้กลายเป็นตลาดสำคัญของเมืองย่างกุ้งมาจนถึงในปัจจุบัน

การเปลี่ยนชื่อจากตลาดสก๊อตเป็นตลาดนายพลอองซาน ไม่มีปัญหาการต่อต้านอันใด เพราะสถานที่อยู่ในเขตของคนพม่าซึ่งถือว่าท่านนายพลเป็นวีรบุรุษของชาติ  ;D


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ม.ค. 20, 20:52
ถนนข้างหน้าชื่อเดียวกับตลาดคือ "ถนนโบจ๊กอองซาน" ဗိုလ်ချုပ်အောင်ဆန်းလမ်း หรือ "ถนนนายพลอองซาน" เปลี่ยนจากชื่อเดิมคือ Montgomery Road (ตามชื่อของ Dr. William Montgomerie ศัลยแพทย์ทหารชาวสก๊อตผู้วางผังเมืองย่างกุ้ง) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ม.ค. 20, 20:52
สมัยอาณานิคม ชื่อสถานที่ต่าง ๆ ในย่างกุ้งไม่ว่าจะเป็นถนน, ตลาด, สวนสาธารณะ มักเกี่ยวข้องหรือเป็นชื่อของคนอังกฤษที่มาปกครองพม่า ครั้นเมื่อได้รับเอกราชชื่อเหล่านั้นจึงถูกเปลี่ยนเป็นชื่อพม่าแทน

พ.ศ. ๒๔๒๘ อังกฤษสร้างสวนสาธารณะ Dalhousie Park (ตามชื่อ Lord Dalhousie ข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษประจำอินเดีย พ.ศ. ๒๓๙๑ - ๒๓๙๙) ขึ้นทางเหนือของ Royal Lake (ปัจจุบันคือ ทะเลสาปกันดอจี - ကန်တော်ကြီး) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเจดีย์ชเวดากอง

ภาพจากแผนที่เมืองย่างกุ้ง พ.ศ. ๒๔๕๗

https://www.powerpublications.com.au/call-for-participants-site-and-space-in-southeast-asia/


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ม.ค. 20, 20:53
ด้านหน้าของ Dalhousie Park มีอนุสาวรีย์พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ เด่นเป็นสง่า (ภาพบน) ครั้นพม่าได้รับเอกราชจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "สวนโบจ๊กอองซาน" (ဗိုလ်ချုပ်ပန်းခြံ) หรือ สวนนายพลอองซาน อนุสาวรีย์กษัตริย์อังกฤษถูกทุบทิ้งและสร้างอนุสาวรีย์วีรบุรุษของพม่าคือ นายพลอองซาน ขึ้นแทน (ภาพล่าง)

https://yangontimemachine.com/2018/06/21/dalhousie_kandawgyi_statue_edward_aung_san/


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 28 ม.ค. 20, 10:47
เข้าใจพม่าแหละครับ แต่พอทุบของเดิมทิ้งแล้ว สร้างใหม่ ก็ทำได้ไม่สวยเท่าของเดิมเลยครับ มองดูแล้วแค่ย้ายพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดออกไป แล้วนำท่านนายพลมายืนแทน ก็น่าจะพอแล้วนี่ครับ


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ม.ค. 20, 19:38
ผู้ที่ทุบอนุสาวรีย์กษัตริย์อังกฤษทิ้งคือ ญี่ปุ่น ผู้เข้ายึดครองพม่าต่อจากอังกฤษระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๕ - ๒๕๘๘   ส่วนอนุสาวรีย์นายพลอองซานเป็นผลงานของ Edward Bainbridge Copnell ประติมากรชาวอังกฤษและผู้ช่วยชาวพม่า รัฐบาลอังกฤษเป็นผู้ออกค่าก่อสร้างเพื่อเป็นของขวัญแก่รัฐบาลพม่า  นัยว่าเพื่อลบล้างความเชื่อที่ว่าอังกฤษอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารนายพลอองซาน


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ม.ค. 20, 20:52
บน  : สวนดัลฮูซี พ.ศ. ๒๔๓๘
ล่าง : สวนนายพลอองซาน พ.ศ. ๒๕๖๐

https://yangontimemachine.com/2017/12/08/the-royal-lake-kandawgyi/


กระทู้: นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ก.ค. 22, 10:35
วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เวลาประมาณ ๑๐.๓๐ น. ขณะที่การประชุมสภาบริหารจะเริ่มต้นขึ้น  กลุ่มชายฉกรรจ์ในชุดทหารมีอาวุธครบมือบุกเข้าไปในสถานที่ประชุม สาดกระสุนสังหารนายพลอองซานและสมาชิกสภาอีก ๖ คน คนร้ายหลบหนีไปได้ แต่สุดท้ายจับได้ว่าเป็นลูกสมุนของอูซอ อดีตนายกรัฐมนตรี คู่แข่งทางการเมืองของนายพลอองซาน จุดประสงค์ในการสังหารนายพลอองซาน เพื่อตนจะได้ขึ้นเป็นผู้นำคนต่อไป ในที่สุดอูซอถูกตัดสินประหารชีวิต

วันที่ ๑๙ กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันวีรชน (Martyrs' Day) ของพม่า

วันนี้เป็นวันครบรอบ ๗๕ ปีที่นายพลอองซาน วีรบุรุษแห่งชาติพม่า ถูกลอบสังหาร  บทกวีที่แต่งขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของเขา ท่อนหนึ่งกล่าวว่า

เขาคือผู้นำมาซึ่งเอกราช
เขาคือพ่อของประเทศนี้
พรที่เขาให้แก่เราคือทุกคำที่เขาพูด
เราจะสามารถนำเขาออกจากใจของเราได้อย่างไร