เรือนไทย

General Category => วิเสทนิยม => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 06, 16:33



กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 06, 16:33
 กระทู้นี้ตั้งให้คุณติบอ  ปะเหมาะเคราะห์ดี ถูกใจ
พวกเรือนไทยอาจจะได้ขนมจากติบอเบเกอรี่มาแจกจ่ายกันทั่วถึง

รายชื่อหนังสือที่มาของกระทู้ จะบอกตอนท้ายกระทู้นะคะ
******************************
หลักฐานเกี่ยวกับขนมไทย เก่าที่สุดเท่าที่ดิฉันหาได้บนแหลมทองนี้ คือ ไตรภูมิพระร่วง ที่พญาลิไท โปรดให้รวบรวมขึ้นจากคัมภีร์พุทธสามสิบกว่าเรื่องของอินเดีย  มาเรียบเรียงใหม่เป็นของสุโขทัย

ขนมที่ว่า นักปราชญ์สุโขทัยท่านเรียกว่า "เข้าหนมต้ม"  ก็คือขนมต้มเรานี่ละค่ะ    อยู่ในตอนพระเจ้าอโศกมหาราชถวายกัณฑ์

กาลวันหนึ่งพระองค์จิงให้หาเข้าหนมต้มได้ ๑๖,๐๐๐ ลูก   พระองค์จิงถอดแหวนพระธำมรงค์วงหนึ่งออกจากพระกรแห่งพระองค์   พระองค์จิงใส่เข้าในเข้าหนมนั้น
.
.


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 06, 17:07
 ส่วนผสมของขนมต้มในสมัยสุโขทัย มีแป้งข้าวเหนียวดำป่น ผสมน้ำตาล  ส่วนไส้มะพร้าวเพิ่มเข้าไปทีหลัง
แป้งจากข้าว   น้ำตาล มะพร้าวเป็นส่วนประกอบหลักของขนมไทยมาจนถึงสมัยอยุธยา   เดาว่าแม่บ้านชาวกรุงศรีฯ ก็ยังก้มหน้าก้มตาทำขนมยอดนิยมกันอยู่

ขอสารภาพว่าไม่รู้รายละเอียด ว่าขนมสมัยต้นอยุธยาชนิดอื่นๆ มีอะไรบ้าง  
พระเจ้าอู่ทอง เจ้าสามพระยา  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสวยขนมชนิดไหนก็นึกไม่ออก
ใครทราบช่วยบอกด้วยจะเป็นพระคุณยิ่ง
มารู้อีกทีก็สมัยท้าวทองกีบม้า  สมัยพระเพทราชา นั่นก็ราชวงศ์บ้านพลูหลวง แล้ว


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 19 ก.ค. 06, 17:43
 เรียน อ. เทาชมพู ที่เคารพครับ
ขออนุญาตนั่งชิมขนมต้มขาว ณ ครัวเรือนไทยครับ
หลังจากที่ไปชิมครัวติบอมาแสนนานเนิ่นครับ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 ก.ค. 06, 19:20
 แหะ แหะ...ชาวประมงอย่างป๋มนี่มีสิทธิ์ได้ลิ้มชิมรส ขนมขะต้ม ของอาจารย์อ๊ะเป่า ก็ม่ายรุ

ครือว่า เวลาออกทะเล นี่ผมก็ไม่เอาอ่าว...เขาเลยไม่ให้ยุ่งกับใบเรือ เพราะชอบชักใบให้เรือเสีย.......ฮิฮิ

พญาลิไทท่านศิษย์เก่า ลังกาศึกษาขรับ
อาจารท่านอยู่เมืองพัน อุตส่าพาฝูงสามีมาบวชท่าน
มหาเสถียรพงษ์จอมตั้งชื่อ แซวว่าหนังสืออ้างอิงสามสิบฝ่าเล่มนี่
ชั้นสองกับชั้นสามทั้งนั้นแหละขอรับ เพราะฉะนั้นจึงแต่งเอาแถวๆ อนุราธปุระ กะโปโลนารุวะแค่นี้แหละ ไม่ถึงอินตะระเดีย

ท่านมหานี่ก้อ....ซีเรียดเกินเหตุ มาหาว่ามหาลิไทของพวกเรา แต่งคัมภีร์ชั้นสอง
ตอนนั้นก็แซวท่านไม่ทัน ท่านสตาร์ตรถโฟล์ค ปรื่น ปรื่น หายเข้าซอยสารภีในทันใด
ขอแซวย้อนหลังฝากอาจาร์ยเทาไปละกัน ว่าคัมภีร์หมวดโลกศาสตร์เล่มใหนๆ ก็ไม่อ้างพระไตรปิฎก เพราะไม่มีสิ่งที่ต้องการครบ เลยต้องเก็บตกมันแถวอรรถกถานี่แหละ

สำหรับขนมต้มนี่ ของโปรดครูใหญ่ของผม ไม่ให้ผมชิม ผมก็ขอสักลูกไปถวายท่านมหาวิเณศวร ท่านคงโปรดจนแดนส์กระจายทีเดียว


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 19 ก.ค. 06, 20:03
 มานั่งน้ำลายสอด้วยอีกคนค่ะ อาจเป็นความรู้สึกส่วนตัวนะคะแต่เท่าที่เคยกินมา ขนมต้มที่เมืองเพชร อร่อยสุด อาจเป็นเพราะคุ้นลิ้นเพราะได้กินมาตั้งแต่เด็กๆ แป้งที่เหนี่ยวนุ่ม ใส้ขนมทำจากถั่วดำกวนหยาบๆ หอมน้ำตาลโตนด มะพร้าวทึนทึกขูดเป็นเส้นยาวที่หุ้มข้างนอกอีก ยิ่งกินยิ่งมัน มีเท่าไหร่ก็หมด ที่กรุงเทพนี่หาอร่อย ยากเหลือเกินค่ะ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 19 ก.ค. 06, 21:15
 ขนมโมทกะนี้ ก็ได้ชิมเป็นอานิสงส์บ่อยๆครับ ที่โรงเรียนต้องไหว้ครูดนตรีทุกวันพฤหัส ก็จะได้เป็นบุญลิ้นต่อจากครูท่านเหมือนกัน อร่อยหนักหนาแถมท้องอิ่มเพราะแป้งทั้งลูก หนักกระเพาะเรียนต่อตอนบ่ายได้โดยไม่ต้องอาศัยข้าวกลางวันเลยครับ เสียดายว่าไหว้เฉพาะวันพฤหัส


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 06, 21:52
 ฟังแล้วอยากกินขนมต้มเมืองเพชรค่ะ   ผ่านไปทีไรเจอแต่ขนมหม้อแกง  จนชินเสียแล้ว
จะเอามาตั้งบนโตกวางกลางนอกชานเรือนไทย ให้อิ่มกันไปคนละสองสามลูก
ใครแอบเม้มของพระคเณศไปละก็  ท่านหวดเอาด้วยบาศก์ไม่รู้ด้วย

จากไตรภูมิพระร่วง ทำให้ดิฉันคิดว่าขนมต้มในสังคมสุโขทัย เห็นทีจะเป็นขนมสำคัญไม่ธรรมดา     ถึงกับมีในไตรภูมิว่าเป็นขนมหลวงของพระเจ้าอโศก
อาจจะถ่ายทอดมาจากตำราเดิมในอินเดีย    แต่ชาวสุโขทัยก็คงจะเชื่อถือขนมชนิดนี้ด้วยละค่ะ
จนถึงทุกวันนี้เรายังมีอยู่ประกอบพิธีไหว้  หรือบนบานศาลกล่าวด้วยขนมต้มแดงขนมต้มขาวอยู่เลย

ข้ามมาถึงขนมใหม่ที่ชาววังสมัยพระเพทราชารู้จัก  ท้าวทองกีบม้าได้ชื่อว่าเป็นผู้นำวัฒนธรรมใหม่ของการทำขนมไทย  คือ มีไข่เป็นส่วนประกอบ
ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง  พวกนี้ละค่ะ
แล้วยังมีทองพลุ  ทองม้วน ขนมผิง ขนมไข่เต่า ขนมฝรั่ง ขนมสมปันนี และขนมหม้อแกง

เขาว่ากันว่า ฝอยทองที่โปรตุเกสนั้นกินเป็นของคาว   ทำเส้นใหญ่พันกินกับแฮม    ไม่ใช่เป็นเส้นเล็กละเอียดอย่างของเราที่กินเป็นขนมหวาน


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: อ๊อฟ ที่ 19 ก.ค. 06, 22:28
 ไม่ทราบเคยอ่านบทความนี้กันหรือยังครับ "ขนมที่ถูกลืม" โดยคุณเทาชมพู เขียนไว้เมื่อหลายปีก่อน เห็นเข้ากับเรื่องนี้เลยหยิบมาให้อ่านกันครับ

 http://www.vcharkarn.com/include/article/showarticle.php?Aid=184  


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ค. 06, 22:09
 ขอบคุณค่ะคุณอ๊อฟ   ดิฉันหาไม่เจอ   ว่าแต่บทความพวกนี้อยู่ในห้องไหนกันคะ จะได้เปิดประตูได้ถูก
****************************
ท้าวทองกีบม้าหรือท่านผู้หญิงวิชเยนทร์ ได้สร้างขนมไทยเชื้อสายฝรั่งให้เป็นตำนานมาจนถึงทุกวันนี้
เป็นจุดพลิกผันของขนมไทย ตรงนี้ละค่ะ

หลังจากนั้นมาจนถึงอยุธยาตอนปลาย  ชาวเมืองคงนิยมกินขนมกันมาก    ถึงกับมี "ตลาดป่าขนม" ระบุเอาไว้ในหนังสือคำให้การของขุนหลวงหาวัด ว่า

" ขนมย่านป่าขนม  ชาวบ้านย่านนั้นทำขนมขาย  ขนมกรุบ ขนมพิมพ์ถั่ว  ขนมสำปะนี และขนมแห้งต่างๆ  ชื่อตลาดป่าขนม"

ขนมพวกนี้เป็นไง รอคุณติบอมาแจมดีกว่า


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 21 ก.ค. 06, 09:01
 อยากกินขนมหม้อแกงเมืองเพชรจังค่ะ ยังจำถึงรสชาติหวานมันที่ไม่มีใครทำได้เหมือนได้ ยิ่งเอาไปแช่ตู้เย็นไว้แล้วก็เอามากินนะ อึ๊ย อร่อยอย่าบอกใครเลยค่ะ ชอบขนมไทยจังค่ะ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: อ๊อฟ ที่ 21 ก.ค. 06, 17:33
บทความนั้นอยู่บน ห้องเรือนไทย ครับ

เข้าจากเมนูด้านบน (ที่ปรากฏอยู่ที่หน้าหลักทุกหน้า)
   Menu -> เนื้อหาหลัก -> เรือนไทย หรือ ตรงไปที่ http://www.vcharkarn.com/reurnthai/
   ก็จะโผล่มาที่ เรือนไทย ซึ่งรวมทั้งบทความ(และ กระทู้)ไว้ครับ

ที่ด้านล่างของกรอบบทความ จะมีตัวเลขบอกหน้า (-1- [2] [3] [4] [5] | |หน้าถัดไป >>>) ก็เลือกหน้าที่ต้องการครับ หรือกด "หน้าถัดไป >>>" เรื่อยๆก็ได้ครับ

ที่เมนูด้านซ้ายของเรือนนี้ ก็จะมีรายชื่อของห้องย่อย ๆ เช่น
ศิลปะ วัฒนธรรม
ภาษา วรรณคดี
ประวัติศาสตร์
หน้าต่างโลก
โบราณคดี
ซึ่งหากกดเข้าไป ก็จะแสดงรายการบทความ (และ กระทู้) ภายในห้องย่อยนี้เท่านั้นครับ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ค. 06, 17:54

.
.
ขอบคุณค่ะคุณอ๊อฟ  


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 21 ก.ค. 06, 19:14
 เดินมาทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ หยิบขนมหนึ่งชิ้น  แล้วก็ย่องจากไปอย่าง เ งี .  ย . .  บ . . . เ . . . . งี . . . . .ย . . . . . . .บ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: สุขุมวงศ์. ที่ 21 ก.ค. 06, 21:17
 อ. นำความรู้มาสู่ชาวประชาอีกเช่นเคย ขอขอบพระคุณเป็นยิ่ง นัก


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 21 ก.ค. 06, 21:49
 แวะมาชิมขนมอีกรอบครับ ดึกๆอย่างนี้น้ำหนักคงขึ้นแน่ๆ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 22 ก.ค. 06, 00:24
 ขอบพระคุณสำหรับกระทู้ครับอาจารย์ ต้องขอประทานโทษด้วยครับที่ผมเข้ามาตอบช้าไปหลายวัน
สองสามวันที่ผ่านมานี้ไม่ทราบเหมือนกันครับ ว่าอินเตอร์เนตที่บ้านเป็นอะไร ช้าได้ช้าดีทั้งเช้าและเย็นเลยครับ


ขอออกตัวก่อนนะครับ ว่าเรื่องขนมไทย เป็นเรื่องที่ผมถนัดบ้าง ไม่ถนัดบ้างนะครับ
บางอย่างเคยเห็นผู้ย่าทำ มีคุณยายคุณป้าอีกหลายๆท่านเป็นผู้ช่วย แต่ก็หลายปีมาแล้วล่ะครับ
ทุกวันนี้แต่ละท่านที่ทำก็ล้มหายตายจากกันไปเกือบหมดแล้ว ว่าแล้วก็อดคิดถึงคนทำขนมไม่ได้



ปล. สมาชิกท่านไหนไหว้ครูโขน ละคร ดนตรีไทยบ่อยๆ มาเล่าเรื่องขนมโมทกะให้ฟังหน่อยสิครับ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ค. 06, 21:42
 ในหนังสือ คำให้การของขุนหลวงหาวัด  อีกเหมือนกัน ที่พูดถึงขนมอีกสองชนิด คือขนมครกและขนมเบื้อง   แต่ว่าไม่ได้พูดถึงลักษณะขนมโดยตรง  ไปพูดถึงเตา

" บ้านหม้อ  ปั้นหม้อข้าวหม้อแกงใหญ่เล็ก  และกระทะ เตาขนมครก ขนมเบื้อง"

ขนมครกกับขนมเบื้องคงเป็นที่ชอบกินกันมาก  อาจจะถึงขั้นทำขายด้วย  ไม่ใช่ว่าทำกันกินในบ้านเท่านั้น เพราะขนาดมีอุตสาหกรรมทำเตาขาย    แสดงว่าแพร่หลายมาก

วัฒนธรรมของอยุธยาตอนปลายเชื่อมต่อกับรัตนโกสินทร์    คนในวัยทำงานที่มาตั้งกรุงใหม่ ล้วนเกิดทันก่อนเสียกรุง   เพราะธนบุรีมีอายุแค่ 15 ปี
ก็พอจะอนุมานได้ว่า ขนมอะไรที่ชาวกรุงเก่าเคยกินเคยชอบ ชาวกรุงใหม่ก็ทำกินจากสูตรเดิมนั่นแหละ  ผู้ใหญ่ที่เคยทำมาแต่เดิมยังรอดตายมาทำให้ลูกหลานชาวกรุงเทพกินได้ทัน

หลักฐานขนมในรัชกาลที่ 1 มีค่ะ ขอตัวมาต่อพรุ่งนี้นะคะ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: ชายองค์ ที่ 26 ก.ค. 06, 13:00
 อ.เทาครับ
ผมสงสัยว่า มะพร้าวเป็นพืชพื้นถิ่นที่นี่ หรือพืชที่มาจากที่อื่นครับ ?
คนไทย ใช้มะพร้าวเมื่อไหร่ ?
เท่าที่สังเกต ทางล้านนา ขนมมักจะไม่ใช้มะพร้าวเลย ใช้ในพิธีกรรมมากกว่า...
แกงทั้งหลายก็มักไม่มีกะทิ
แกงที่มีกะทิ ก็มีแต่ภาคกลางกับใต้เสียเท่านั้น

พอพูดถึงแกง ก็ทำให้นึกถึงคำว่า แกงจืด ซึ่งได้สูญไปจากสมองเด็กสมัยใหม่ไปเสียแล้ว กลายเป็น ต้มจืด แทน...

พูดถึง ขนม ผมว่าที่พบทุกภาค และเป็นขนมในพิธีกรรมก็เป็น ขนมต้มแดง-ขาว (ไม่ทราบจะเกี่ยวกับอินเดีย หรือไม่ เพราะทำให้นึกถึงพระคเณศ) รวมถึงพวกข้าวต้มต่างๆที่ ห่อด้วยใบพ้อบ้าง ห่อด้วยใบตองแล้วเอาไปต้มบ้าง ต่างก็คล้ายกันทั้งสิ้น...

นอกเรื่องไปเยอะ พอดีผมชอบกินน่ะครับ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 26 ก.ค. 06, 13:17
 ขนมหม้อแกงเมืองเพชรที่ปัจจุบันมีขายโดยทั่วไปตามตลาดหรือร้านขนมหวานสองข้างทางในจังหวัดเพชรบุรีนั้น หากเปรียบเทียบกับรสชาดที่ตูก้าเคยลิ้มชิมรส(ข้างๆเตาอบ) เมื่อเกือบสามสิบปีก่อน ขอบอกเลยนะคะ ว่าคนละเรื่องกันทีเดียว  
  เมื่อสมัยยังเป็นเด็กน้อย เวลามีงานบุญที่บ้าน จะเป็นเวลาที่พวกเราเด็กๆมีความสุขมาก เพราะงานครัวนั้นเป็นงานใหญ่มาก แม่ครัวใหญ่จะเป็นรุ่นยาย ย่า โดยเฉพาะงานของหวาน เป็นงานสนุกของเราเด็กๆ เพราะจะได้มีหน้าที่ตอกไข่เป็ดใส่กะละมังใบเขื่อง(นึกภาพกะละมังที่สามารถบรรจุไข่เป็ดนับพันใบเถอะค่ะ ว่าใหญ่ขนาดไหน)  เแล้วพี่ๆที่โตหน่อยก็อาจได้รับอนุญาตให้ทำการแยกไข่แดงออกจากไข่ขาว  ไข่แดงจะเอาไว้ทำขนมทองหยอด  ขนมฝอยทอง ส่วนไข่ขาวนี่แหละค่ะที่เอาไปทำขนมหม้อแกง  ส่วนผสมอีกอย่าง ของขนมหม้อแกงที่ตูก้าชอบมากคือเผือก เมื่อท่านผู้ใหญ่ต้มเผือกเสร็จแล้วทิ้งไว้ให้เย็น ก็จะนำมาบี้ให้แหลก ขั้นตอนนี้ตูก้าก็จะไปเอาถ้วยเล็กๆใส่น้ำตาลปึกมาตั้งข้างๆ หยิบเผือกที่เนื้อร่วนๆใส่ปากแล้วกัดน้ำตาลปึกเคี้ยวตาม หยู..อร่อย อย่าบอกใครเชียวค่ะ(ใครเคยเห็นวิธีการทำน้ำตาลโตนดบ้างคะ..ไว้จะมาเล่าให้ฟังคราวหน้านะคะเพราะตูก้าเคยเกาะขอบกระทะขูดตังเมกินเล่นมาแล้ว..แหะ  แหะ.. )
   เมื่อส่วนผสมเสร็จแล้ว ท่านแม่ครัวใหญ่ก็จะนำกระทะทองเหลืองใบมหึมา(ในสายตาตูก้าสมัยนั้น)  ขึ้นตั้งไฟพร้อมตั้งน้ำเชื่อม พอเดือดจะเห็นบรรดายายๆ  หยิบแป้งทองหยอดใส่น้ำเชื่อมที่เดือดๆ ใช้คำว่าหยิบจริงๆนะคะ แต่ไม่รู้ท่านมีวิธีหยิบอย่างไร เม็ดทองหยอดที่ได้จึงกลมสวยเป็นรูปหยดน้ำเท่ากันทุกลูก พอท่านเผลอ เราเด็กๆ ก็จะลองหยิบบ้างแต่แทนที่จะเป็นลูกรูปหยดน้ำ กลับได้ลูกทองหยอดรูปยาวๆเหมือนลอดช่องทุกทีเลยค่ะ (  )  
  ส่วนขนมหม้อแกงนั้น ก็จะอบด้วยเตาอบ สมัยนั้นไม่มีหรอกนะคะเตาอบไฟฟ้าน่ะ เป็นเตาอบที่ใช้ถ่านคะ โดยเตาอบสี่เหลี่ยมยาวๆที่ด้านล่างจะเป็นที่ใส่ถ่านที่เผาไฟไว้ก่อนจนแดงแล้ว ตรงกลางจะเป็นตะแกรงสำหรับวางถาดขนม(ขนาดของถาดขนมประมาณ 60 * 60 ซม.) ซึ่งวางได้หลายถาด ส่วนด้านบนจะวางกาบมะพร้าวเผาไฟค่ะ ที่นี้พอขนมสุกทั่วทั้งงานก็จะอบอวลไปด้วยกลิ่นขนม  พวกเราบรรดาเด็กๆซึ่งก็เป็นลูกหลานของแม่ครัวเอก ก็จะได้รับขนมหวานที่สุกใหม่ๆเป็นของรางวัลที่ช่วยงานผู้ใหญ่ อร่อยเหลือเกินค่ะ(โดยเฉพาะทองหยอดเส้นลอดช่องฝีมือของเราเอง อิอิ)...เฮ้อบรรยากาศ แบบนั้นสมัยนี้คงหาไม่ได้แล้วนะคะ...


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 06, 18:32
มาเล่าต่อค่ะ

ในรัชกาลที่ 1 ชาวกรุงเทพเขานิยมกินขนมอะไรบ้าง   ถ้าทายแบบมีแหล่งอ้างอิง ก็ต้องดูจากงานใหญ่ๆประจำปี  ว่าเขาทำอาหารการกินอะไรกันบ้าง
อย่างในงานพระราชพิธีสมโภชน์พระแก้วมรกต และฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารา ในพ.ศ. 2352    เราอาศัยอ่านได้จากจดหมายเหตุความทรงจำ กรมหลวงนรินทรเทวี
อาหารในงาน   เลี้ยงกันใหญ่โตมโหฬาร   ในเมื่อเป็นอาหารสำหรับพระสงฆ์ ก็แน่นอนว่าต้องสรรหากันมาแต่ของดี ของมีหน้ามีตา   ชาววังประกวดประขันฝีมือกันทำส่งออกมา

ของคาวที่ระบุไว้ว่าทำถวายพระสงฆ์วันละ 2000 รูป  คือไส้กรอก  ไข่เป็ดต้ม  ไก่พะแนง  หมูผัดกับกุ้ง  มะเขือชุบไข่ทอด ไข่เจียว  ลูกชิ้น กุ้งต้ม  หน่อไม้ผัด  ผักน้ำพริก ปลาแห้งแตงโม และข้าว

ส่วนของหวานที่ระบุไว้ก็คือ ขนมไส้ไก่  ขนมฝอย  ข้าวเหนียวแก้ว ขนมผิง  กล้วยฉาบ หน้าเตียง หรุ่ม  สังขยา ฝอยทอง และขนมตะไล


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ค. 06, 09:04
 หรุ่ม กับ หน้าเตียง หรือบางแห่งเรียกว่า ล่าเตียง   มีส่วนผสมแบบของคาวมากกว่าของหวาน คนไทยนำมาเป็นของว่าง
ไม่มีน้ำตาล แป้ง กะทิ อย่างขนมไทยดั้งเดิม  แม้ว่ามีไข่แต่ก็ไม่ได้ผสมลงไปเป็นส่วนหนึ่งของขนมอย่างทองหยิบหรือฝอยทอง แต่ว่าแยกออกเป็นไข่หุ้มไส้ที่เป็นเนื้อสัตว์ปนผัก
สองอย่างนี้เกือบจะเหมือนกัน แตกต่างกันนิดหน่อยที่ไส้  ว่าจะทำด้วยหมู  กุ้ง หรือไก่

ต้นตระกูลไม่ใช่ขนมไทย   ฟังชื่อก็รู้ อย่างหรุ่ม สำเนียงออกไปทางอาหรับ  หน้าเตียงหรือล่าเตียงคงจะเพี้ยนมาจากภาษาเดียวกัน  คนไทยจับมาแปลงเป็นคำไทยเสียสนิท  ทั้งที่ลักษณะขนมไม่มีอะไรเกี่ยวกับเตียงเลย

ทั้งสองอย่างนี้คงจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา   เป็นที่นิยมกันจนถึงรัตนโกสินทร์  
ถ้าหากถามว่าเข้ามามีหน้ามีตาอยู่ในงานพระราชพิธีได้อย่างไร   ก็เดาว่าคนสำคัญในสมัยนั้นที่สืบเชื้อสายมาจากอาหรับหรือเปอร์เชีย  
มีทั้งขุนนาง และนางใน  คงจะนิยมทำกันจนเป็นที่ยอมรับกันแพร่หลาย

หรุ่มhttp://www.sarakadee.com/feature/2001/04/klong_bang-luang.htm

ล่าเตียง
 http://www.gourmetthai.com/Recipes/Content.asp?ID=232  


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ค. 06, 09:09
 แกะรอยต่อไปว่าชาวบ้านสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เขากินขนมหรือของหวานอะไรกัน   เอากันแบบพื้นบ้านไม่ประดิดประดอยอย่างชาววัง
ไปเจอหลักฐานจากประวัติของสุนทรภู่    กล่าวกันว่าสมัยท่านบวชเป็นพระ   ไปรับนิมนต์ชาวบ้าน  
ชาวบ้านกล่าวถวายภัตตาหารไม่เป็น  ท่านเองก็คงจะไม่เป็นเหมือนกัน  หรือว่าเป็นแต่อาจนึกสนุก ก็เลยสอนว่า

"อิมัสมิงริมฝั่ง  อิมังปลาร้า  กุ้งแห้งแตงกวา  อีกปลาดุกย่าง
ช่อมะกอก ดอกมะปราง  เนื้อย่าง ยำมะดัน
ข้าวสุกค่อนขัน  น้ำมันขวดหนึ่ง  น้ำผึ้งครึ่งโถ
ส้มโอแช่อิ่มทับทิมสองผล   เป็นยอดกุศล
สังฆัสสะเทมิ"


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 28 ก.ค. 06, 10:35
 เพิ่งได้มีโอกาสเข้ามาชิมขนมไทยในนี้อีกเป็นครั้งที่ 2 ครับอาจารย์
อ่านแล้วหิวขึ้นมาจับใจตั้งแต่หลังมื้อเช้า อยากรับประทานขนมอีกแล้วครับ



เดี๋ยวเย็นนี้ค่ำๆ กลับบ้าน ผมว่าจะลองหาเรื่องเครื่องบวงสรวงพระแก้วมาแบ่งกันอ่านครับผม


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ค. 06, 11:03
 ล่วงมาถึงรัชกาลที่  2 ยุคนี้เรียกได้ว่าขนมไทยได้รับการเชิดชูขึ้นมาถึงระดับชาติ  
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชนิพนธ์กาพย์เห่เรือ  แหวกจากแนวเดิมที่เป็นชมเรือ ชมนก ชมไม้ ดังที่เห็นได้จากพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เมื่อสมัยปลายอยุธยา
มาเป็นชมเครื่องคาวหวาน     ซึ่งอ่านแล้วก็คือเครื่องเสวยนั่นเอง กล่าวกันว่าผู้มีฝีมือปรุงได้เยี่ยมยอดคือสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระมเหสี
และอีกท่านหนึ่งคือพระสนมเอก เจ้าจอมมารดาเรียมหรือสมเด็จพระศรีสุลาไลย  พระชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

กาพย์เห่เครื่องคาวหวานนี้ดูเผินๆ มี "ของคาว"(ถ้าเป็นของเสวยเรียกว่าเครื่องต้นคาว) และ "ของหวาน" (หรือเครื่องต้นหวาน)
แต่ถ้าจะแบ่งละเอียด ลงไปอีก   ก็จำแนกได้เป็น ข้าว  เครื่องต้นคาว  เครื่องเคียงแกง  เครื่องเคียงแขก   เคียงเครื่องจิ้ม เคียงเกาเหลา  เครื่องหวาน  และเคียงหวาน
ฟังแค่นี้ก็เหนื่อยแล้ว  
ไปที่ขนมดีกว่าค่ะ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ค. 06, 15:19
 ขนมไทยในกาพย์เห่เครื่องคาวหวาน มีอะไรบ้าง  ลองนับดูนะคะ

ข้าวเหนียวสังขยา
สังขยาหน้าตั้งไข่.......................ข้าวเหนียวใส่สีโศกแสดง
เป็นนัยให้เคลือบแคลง...............แจ้งว่าเจ้าโศกเศร้าเหลือ

ซ่าหริ่ม
ซ่าหริ่มลิ้มหวานล้ำ.................... แทรกใส่น้ำกะทิเจือ
วิตกอกแห้งเครือ...................... ได้เสพย์หริ่มพิมเสนโรย

ขนมลำเจียก
ลำเจียกชื่อขนม.........................นึกโฉมฉมหอมชวยโชย
ไกลกลิ่นดิ้นแดโดย.....................โหยไห้หาบุหงางาม

ขนมมัสกอด
มัสกอดกอดอย่างไร....................น่าสงสัยใคร่ขอถาม
กอดเคล้นจะเห็นความ.................ขนมนามนี้ยังแคลง

ลุตตี่
ลุดตี่ นี่น่าชม............................. แผ่แผ่นกลมเพียงแผ่นแผง
โอชาหน้าไก่แกง........................ แคลงของแขกแปลกกลิ่นอาย

ขนมจีบ
ขนมจีบเจ้าจีบห่อ........................ งามสมส่อประพิมประพาย
นึกน้องนุ่งจีบถวาย....................... ชายพกจีบกลีบแนบเนียน

ขนมจีบที่ว่านี่คนละอย่างกับขนมจีบซาละเปา   เป็นขนมจีบไทย
รูปทรงคล้ายถุง มีไส้ของคาวอยู่ข้างใน
วิธีปั้นขนมจีบไทย ที่ชาววังทำกัน  คือใช้ก้อนแป้งวางบนฝ่ามือ  กดด้วยนิ้วโป้งแล้วหมุนเร็วๆจนแป้งกลายเป็นแผ่นบางแล้วจะห่อตัวเป็นรูปหม้อ   เหมือนช่างปั้นหม้อ  
ใส่ไส้ข้างใน  
ตรงปากขนมที่ห่อเป็นหม้อนั้นต้องจีบเรียงในทางเดียวกันเหมือนกลีบพลีต     คนที่ทำได้เก่ง จีบจะออกมาเรียบสวย

ฝีมือจีบขนมจีบเป็นหนึ่งในสี่วิชาที่สาวชาววังต้องเรียน คือปั้นขนมจีบ  ริ้วมะปราง   จีบพลูยาว และละเลงขนมเบื้อง

ขนมเทียน
รสรักยักลำนำ..................... ประดิษฐ์ทำขนมเทียน  
คำนึงนิ้วนางเจียน................. เทียนหล่อเหลาเกลากลึงกลม

ทองหยิบ
ทองหยิบทิพย์เทียมทัด........... สามหยิบชัดน่าเชยชม
หลงหยิบว่ายาดม................... ก้มหน้าเมินเขินขวยใจ

ขนมผิง
ขนมผิงผิงผ่าวร้อน................... เพียงไฟฟอนฟอกทรวงใน
ร้อนนักรักแรมไกล.................... เมื่อไรเห็นจะเย็นทรวง

รังไร
รังไรโรยด้วยแป้ง....................... เหมือนนกแกล้งทำรังรวง
โอ้อกนกทั้งปวง......................... ยังยินดีด้วยมีรัง

ทองหยอด
ทองหยอดทอดสนิท.................... ทองม้วนมิดคิดความหลัง
สองปีสองปิดบัง........................... แต่ลำพังสองต่อสอง

ขนมจ่ามงกุฎ
งามจริงจ่ามงกุฎ........................... ใส่ชื่อดุจมงกุฎทอง
เรียมร่ำคำนึงปอง......................... สะอิ้งน้องนั้นเคยแล

ขนมบัวลอย
บัวลอยเล่ห์บัวงาม........................ คิดบัวกามแก้วกับตน
ปลั่งเปล่งเคร่งยุคล........................ สถนนุชดุจประทุม

ขนมช่อม่วง
ช่อม่วงเหมาะมีรส........................... หอมปรากฏกลโกสุม
คิดสีสไบคลุม................................ หุ้มห่อม่วงดวงพุดตาน

ฝอยทอง
ฝอยทองเป็นยองใย..................... เหมือนเส้นไหมไข่ของหวาน
คิดความยามเยาวมาลย์.................  เย็บชุนใช้ไหมทองจีน

ว่ากันว่ากาพย์เห่ มีหลายบทที่เป็นความหลังระหว่างสมเด็จพระพุทธเลิศหล้ากับสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ (เจ้าฟ้าบุญรอด)เมื่อครั้งทรงรักกันในรัชกาลที่ ๑  ต้องปกปิดเป็นความลับไม่ให้ใครรู้
โดยเฉพาะตอนที่ว่า

ทองหยอดทอดสนิท.................... ทองม้วนมิดคิดความหลัง
สองปีสองปิดบัง........................... แต่ลำพังสองต่อสอง


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: -AnToiNetty- ที่ 30 ก.ค. 06, 19:44
 เอ่อ ..
ขนุมกุมภามาศ
คือ ขนมหม้อแกง
รึป่าวครับ ?


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 06, 14:36
ความสำคัญของขนมไทยมีมากแค่ไหนก็ลองคิดดู  ว่ามันมีบทบาทในวรรณคดี
ขนาดที่ว่าถ้า"ขุนช้างขุนแผน"ไม่มีตอนเอ่ยกันขึ้นมาถึงขนมไทยละก็     ฉบับหอพระสมุดอาจจะขาดเนื้อเรื่องในตอนท้ายๆไปประมาณ ๑ ใน ๔ หรือ ๕ ของเรื่องทั้งหมดก็ว่าได้
ต้องแต่งกันใหม่หรือหาสำนวนอื่นมาต่อกันให้วุ่นวายทีเดียว

ขนมไทยที่เป็นหัวข้อพิพาทสำคัญ คือขนมเบื้อง หนึ่งในสี่ที่ชาววังต้องเรียนรู้นั่นละค่ะ

ผู้หญิงที่เป็นต้นเหตุ มี ๒ คน คือศรีมาลากับสร้อยฟ้า
ศรีมาลาเป็นลูกสาวเจ้าเมืองพิจิตร   แม้ว่าไม่ได้เข้าไปเป็นชาววังอย่างแม่พลอย  แต่ก็มีฝีมือการเหย้าการเรือนไม่น้อยกว่านางใน
คงเป็นเพราะเป็นลูกผู้ดี   แม่คงอบรมถ่ายทอดวิชาให้  
เมื่อสามีสั่งให้ทำขนมเบื้องเพื่อพลายชุมพลน้องชาย    ศรีมาลาก็กระวีกระวาดทำโชว์ฝีมือ
ส่วนนางสร้อยฟ้า แม้ว่าเป็นชาววังเต็มตัว แต่เธอเป็นชาววังลานนาซึ่งคงไม่ทำขนมเบื้อง    หรือถ้าทำก็ระดับนางข้าหลวงทำ มากกว่าเจ้าหญิงลงมาทำเอง

ผลก็เลยกลายเป็นแบบนี้

สร้อยฟ้าศรีมาลาว่าเจ้าคะ.............ตั้งกระทะก่อไฟอยู่อึงมี่
ต่อยไข่ใส่น้ำตาลที่หวานดี...................แป้งมีเอามาปรุงกุ้งสับไป
ศรีมาลาละเลงแผ่นบางบาง..................แซะใส่จานวางออกไปให้
สร้อยฟ้าไม่สันทัดอึดอัดใจ...................ปามแป้งใส่ไล้หน้าหนาสิ้นดี
พลายชุมพลว่าพี่สร้อยฟ้า....................ทำขนมเบื้องหนาเหมือนแป้งจี่
พระไวยตอบว่าหนาหนาดี....................ทองประศรีว่ากูไม่เคยพบ
ลาวทำขนมเบื้องผิดเมืองไทย...............แผ่นผ้อยมันกระไรดังต้มกบ
แซะม้วนเข้ามาเท่าขาทบ....................พลายชุมพลดิ้นหรบหัวร่อไป

สร้อยฟ้าโกรธที่ถูกว่าเรื่องทำขนมเบื้องไม่เป็น    นางก็เลยต่อยแป้งหกคว่ำกระทะ เดินหนีเข้าเรือน
เรื่องยังไม่จบง่ายๆ กลายเป็นศึกในเรือนที่กินแดนไปถึงตบตีกันชุลมุนระหว่างเมียทั้งสอง  
พลายชุมพลเข้าห้ามก็ถูกสร้อยฟ้าพลั้งมือผลักตกล่องลงไปขาครูดกับล่อง  เลือดไหลพรู
คุณย่าทองประศรีเห็นหลานรักบาดเจ็บก็ออกมาโวยวาย   เรื่องลุกลามไปกันใหญ่โต   พระไวยเห็นสร้อยฟ้าฤทธิ์มากนักก็สั่งสอนด้วยไม้เรียวตีเนื้อตัวเป็นริ้วรอย

สร้อยฟ้าแค้นคนในบ้าน  จึงคิดทำเสน่ห์ให้พระไวยหลงรัก  อาศัยอาคมของเถรขวาด พระทุศีลที่ติดตามมาจากเชียงใหม่
เรื่องราวยาวยืดไปจากนั้นอีกมาก   กลายเป็นศึกระหว่างขุนแผนกับพระไวย   พลายชุมพลหนี     ขุนแผนจับเถรขวาดได้ ไปจนพลายชุมพลปราบจระเข้เถรขวาด
นับเล่มได้หลายสมุดไทย
ขอหยุดไว้แค่นี้ก่อนดีกว่าค่ะ   เพื่อจะบอกว่าเรื่องราวใหญ่โตกินเนื้อที่มากมายในขุนช้างขุนแผน เกิดขึ้นมาก็เพราะขนมเบื้องเป็นเหตุนั่นเอง
น้ำผึ้งหยดเดียวก่อเหตุใหญ่มาเสียนักต่อนักแล้ว


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ส.ค. 06, 08:28
 คำว่า "ขนม" ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ไม่ได้แปลว่า "ขนม" ซึ่งเป็นของหวาน เท่านั้น  "ขนม" หมายถึงของว่างซึ่งเป็นของคาวด้วย
อย่างขนมค้างคาวเจ้าครอกทองอยู่  ขนมไส้หมูเจ้าครอกวัดโพธิ์  
(อ่านลิ้งค์ประกอบด้วยค่ะ)  
ขนมเบื้องที่ศรีมาลาทำ ก็จะเห็นว่ามีไส้กุ้งด้วย
เป็นขนมที่เป็นของคาวทั้งสามอย่าง

ขนมไส้หมูของเจ้าครอกวัดโพธิ์ ในรัชกาลที่ ๑ มาเปลี่ยนชื่อเป็นขนมจีบ ในรัชกาลที่ ๒  
เดี๋ยวนี้ขนมจีบไทย หลีกทางให้ขนมจีบ ติ๋มซำ ของจีนไปเสียแล้ว

มีเกร็ดเล่ามาว่า สมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ทรงมีฝีมือในการทำเครื่องเสวยมาก จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุให้ทรงแยกทางจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เพราะเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีเป็นเหตุ
เลยเสด็จออกจากพระบรมมหาราชวังไปประทับที่พระราชวังเดิมกับพระราชโอรสองค์เล็ก เจ้าฟ้าจุฑามณี
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ก็ทรงงอนง้อ  ด้วยการส่งคนไปทูลขอให้ทำเครื่องเสวยส่งกลับเข้ามาในพระบรมมหาราชวัง
เพราะเสวยของคนอื่นแล้วไม่ถูกพระโอษฐ์  เสวยไม่ได้
แต่สมเด็จฯก็พระทัยเด็ด   นอกจากไม่เสด็จกลับมา  เครื่องเสวยที่ถวายกลับมาให้ก็กล่าวกันว่ารสชาติทำอย่างเสียไม่ได้   มากไปบ้างน้อยไปบ้าง  จนเสวยไม่ลง
จึงเป็นอันว่ามิได้ทรงพบกันอีกจนสิ้นรัชกาล

ส่วนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ  มีเกร็ดมาอีกว่า โปรดขนม หรือของหวานที่สมเด็จพระบรมราชชนนีปรุง  เรียกว่าข้าวเหนียวหนาว
เสียใจที่หาไม่เจอว่าหน้าตาเป็นยังไง
กล่าวกันว่าเมื่อทรงพระเยาว์  โปรดเสวยนักหนา  ถ้าไม่ได้เสวยทันพระทัยก็จะเอ็ดอึงว่า
"ของของแม่ข้าทำ  ทำไมไม่ให้ข้ากิน"


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ส.ค. 06, 09:02
 มีขนมเบื้องอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่าขนมเบื้องอ้าปาก    จัดเป็นขนมมีชาติมีตระกูลทำนองเดียวกับขนมเบื้องที่ศรีมาลาทำ  คือเป็นขนมชาววัง
ม.จ.พูนศรีเกษม เกษมศรี ทรงเล่าไว้ว่า

"ขนมเบื้องสวรรค์หรือขนมเบื้องอ้าปากนี้  เป็นของว่างที่มีชื่อเสียงมานานแล้ว
รัชกาลที่ ๖ ทรงกล่าวถึงในบทเห่เรือที่ทรงพระราชนิพนธ์  งานใหญ่ๆในวังหลวงที่มีการเลี้ยงเครื่องว่างตอนดึก  
ให้มาตามคนเฒ่าคนแก่ไปนั่งทำ
ขนมเบื้องสวรรค์นี้ ม.จ.หญิงศุขศรีสมร  ได้เคยทำไปขายในงานฉลองรัฐธรรมนูญ
ตามตำรับที่ตกทอดมาทางสกุล พนมวัน ณ อยุธยา
ได้ทราบว่าขนมเบื้องนี้ทำกันแต่วังวัดโพธิ์"


ขนมเบื้องอ้าปาก ก็คือขนมเบื้องญวน  แต่เวลาทำ ใส่ไส้ทีหลัง


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 06 ส.ค. 06, 20:40
 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมามีโอกาสกลับไปเพชรบุรี ตอนเช้าจึงรีบกระวีกระวาดไปตลาดเช้า หลังธนาคารกรุงเทพ สาขาเพชรบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ขายขนมเมืองเพชรแบบชาวบ้านๆ เพื่อจะหาขนมต้มมาฝาก อาจารย์เทาชมพูค่ะ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 06 ส.ค. 06, 20:44
นี่แหละค่ะ  ขนมต้มเมืองเพชร


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 06 ส.ค. 06, 20:55
และนี่คือใส้ขนมต้มที่ทำจากถั่วแดงค่ะ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 06 ส.ค. 06, 21:08

ขนมชนิดนี้ คนเพชรเรียก "ข้าวเหนียวตัด" ค่ะ  เป็นข้าวเหนียวมูลกับกระทิ แล้วใส่ถาด เวลามีคนซื้อ แม่ค้าก็จะตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ ตอนกินเอาน้ำตาลทรายโรยอีกที....ฮืมมม ...อร่อย..อิอิ..  


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 07 ส.ค. 06, 11:31
 เสียดายไปซื้อขนมเปียกปูนไม่ทัน ขายหมดไปก่อนเลยไม่มีโอกาส นำภาพมาให้ดู ที่เมืองเพชรขนมเปียกปูนจะโรยหน้าด้วยมะพร้าวขูด แล้วตามด้วยงาดำคั่วแล้วป่นผสมเกลือพอเค็มนิดๆ เวลากินพร้อมๆกันจะมีความหวานหอมของขนมเปียกปูน มันๆจากมะพร้าวขูด เค็มนิดๆและหอมกลิ่นงาคั่วมากๆค่ะ ตูก้าไม่เคยเห็นที่ไหนขายขนมเปียกปูนแบบนี้เลยนอกจากที่เมืองเพชร


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ส.ค. 06, 11:42
 น่าหม่ำทุกภาพค่ะ
ขายที่ร้านไหนคะ  เผื่อไปเมืองเพชรจะแวะ
ไม่ถือเป็นโฆษณานะคะ
บอกมาหลายๆร้านก็ได้
ดิฉันเจอแต่ร้านขนมหม้อแกง  


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 07 ส.ค. 06, 15:07
 รูปของคุณ Tuka007 เล่นเอาผมน้ำลายหกเลยครับ

ตอนเด็กๆจะชอบมากเลย ข้าวเหนียวตัด กับ ถั่วตัด ต้องกินควบอย่างละชิ้นเสมอ

อีกอย่างคือ ข้าวเม่าคั่ว เดี๋ยวนี้หาซื้อยากแล้ว เดือนก่อนบ่นให้แม่ฟังดังๆ แม่อุตส่าห์พยายามทำให้กิน

ไม่เหมือนเท่าไหร่

แต่รสมือแม่ ไม่อร่อยปากแต่หวานซึ้งตรึงใจครับ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 07 ส.ค. 06, 18:37
 อยากินจังเลยครับ

เพิ่งคุยกับน้องคนนึงว่าถ้าเทียบเพชรบุรี กับอยุธยาแล้ว เพชรบุรีน่าอยู่กว่าหลายสิบเท่า
อาหารคาวหวาน ขนมข้าวต้ม รสชาติดีมีให้เลือกชิมอยู่ทั่วเมือง แล้วก็คุยกันต่อ ว่าอยากไปเที่ยวเพชรบุรีนี่แหละครับ
สงสัยผมคงต้องเข้ามานั่งจดแผนที่ของคุณtuka007 เสียแล้วสิครับ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 07 ส.ค. 06, 23:41
หลังธนาคารกรุงเทพสาขาเพชรบุรีจะเป็นตรอกเล็กๆสำหรับคนเดินซื้อของ ช่วงเช้ามืดจะมีแม่ค้านำขนมพื้นบ้านมาขายหลายสิบเจ้าค่ะ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 08 ส.ค. 06, 00:18
 ข้าวเม่าคั่ว ของคุณ CrazyHOrse เป็นแบบเดียวกับที่ ตูก้า รู้จักหรือปล่าวคะ  

ข้าวเม่าแผ่นบางๆ คั่วไฟอ่อนๆจนกรอบ ทิ้งไว้ให้เย็น  ขูดมะพร้าวทึนทึกเป็นเส้นบางๆแล้วโรยด้วยน้ำตาลทรายผสมเกลือนิดๆ พอเค็มประแล่มๆ   เวลากินจะได้กลิ่นหอมของข้าวเม่ากรอบๆ ได้เคี้ยวมะพร้าวมันๆ ลิ้นรับรสหวาน มีรสเค็มพอติดปลายลิ้น ....เฮ้อ...แอบอิจฉาผู้ที่ยังมีมือแม่มาคอยทำของอร่อยๆให้ทานจังค่ะ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 08 ส.ค. 06, 00:33

ฟักทองเชื่อมนี้ ทุกจังหวัดคงหาทานกันได้ไม่ยาก

ความสำคัญคงอยู่ที่ฟักทอง ต้องเนื้อมันๆ และน้ำตาลที่นำมาเชื่อมต้องเป็นน้ำตาลใหม่ เพราะจะทำให้หอมกลิ่นน้ำตาล ถ้าไม่มีน้ำตาลโตนด  ใช้น้ำตาลมะพร้าวก้อได้ค่ะ เคี่ยวให้ เหนียว จนน้ำตาลซึมเข้าไปอยู่ในเนื้อฟักทอง จนใส อยากเพิ่มรสชาดก้อทานแบบเพชรบุรีที่มีมะพร้าวขูดโรยมาแบบนี้ก้อได้ค่ะ  


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 08 ส.ค. 06, 00:44
ไหนๆก็ไหนๆแล้วนะคะ

ขนมที่ตูก้าชอบมาตั้งแต่เด็ก ก้อเห็นจะเป็น อันนี้แหละค่ะ

ข้าวตู  ที่เคี้ยวหนึบๆติดฟัน หวานๆมันๆ  แล้วก็หอมกลิ่นเทียนอบ (ซึ่งบางคนเหม็น)


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 08 ส.ค. 06, 00:53
ส่วนจานนี้ คนเพชร เรียก ขนมต้มแดง ค่ะ พอดี ขนมต้มขาวขายหมดแล้ว เลยอด ...((แหะ  แหะ..แค่ไปมางวดนี้ เจอขนมหลายชนิดที่ตั้งใจซื้อมากิน.. เอ้ย....ซื้อมาถ่ายรูป ฝาก อ.เทาชมพูกับเพื่อนๆทุกท่าน โดยเฉพาะคุณติบอ  ผู้ที่ อ. เทาชมพูเปิดกระทู้นี้ให้..   ตูก้าน้ำหนักขึ้นมาหลายโลเลย..อิอิ..))

.


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: Japonica ที่ 08 ส.ค. 06, 03:13
คห 27
ข้าวเหนียวหนาวที่เคยพบ คือข้าวเหนียวสุกปั้นเป็นก้อนพอคำ (โต) แล้วชุบไข่ที่ปรุงรสเค็มปะแล่มใส่พริกไทย
แล้วลงไปทอดจนกรอบเหลือง ดูไม่ออกว่าเป็นของหวานหรือของคาว หรือใช่อย่างเดียวกับที่พระจอมเกล้าฯ
ทรงตรัสเล่าหรือไม่ นิยมกินคู่กับไก่ย่าง หมูย่าง แทนข้าว รสชาติคล้ายๆข้าวจี่ที่ชาวอีสานปิ้งขาย

ข้าวจี่ คือข้าวเหนียวสุก ทำเป็นแผ่นแบนๆ ชุบไข่ แล้วนำไปปิ้งจนกรอบเหลือง หอมฉุย ที่ตลาดรังสิต
ตอนเช้าคนทำงานจะซื้อไปกินแทน ข้าว 4 แผ่น 20 บาท อร่อยจนข้าวเหนียวหมดก่อนกับเสียอีก

อาจารย์กาญจนา ภาษาไทยวันละ คำอธิบายว่า จี่ เป็นคำไทยแท้ แปลว่า ปิ้งหรือย่าง
แต่ไม่ว่าที่หลวงพระบาง กัมพูชา หรือเวียดนาม จะเห็นอาหารประเภทนี้ทุกประเทศ
โดยเฉพาะเวียดนาม เมนูฮิตอันหนึ่งคือ ข้าวหนียวทอดกับไก่ย่าง ลักษณะข้าวเหนียว คือข้าวเหนียวชุบไข่
เหมือนข้าวเหนียวหนาวบ้านเรา

ตกลงเลยไม่ทราบว่าข้าวเหนียวทอด หรือข้าวจี่ เป็นอาหารของชาติใดแน่
.


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 08 ส.ค. 06, 13:08
 ชอบขนมที่ทำมาจากข้าวเหนียวหลายอย่างเหมือนกันค่ะ เช่นข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวแก้ว  แล้วก็ตอนนี้ ข้าวเหนียวน้ำกระทิทุเรียน มีขายโดยทั่วไป แต่ของเมืองเพชรที่แตกต่างจากที่อื่นคือข้าวเหนียวน้ำกระทิทุเรียน ชาวเพชรจะไม่ใช้ข้าวเหนียวมูลแต่จะใช้ ข้าวเหนียวนึ่งธรรมดา อาจเป็นเพราะน้ำกระทิของเราทำหวานจัดมาก หากนำข้าวเหนียวมูลมาเข้าด้วยกันจะไม่อร่อยเท่า และที่นิยมใส่ถ้วยกินพร้อมกับข้าวเหนียวน้ำกระทิทุเรียนคือ ข้าวโพดขาวที่ปาดบางๆ  เวลากินเข้ากันดีค่ะ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 08 ส.ค. 06, 13:11

.  


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 ส.ค. 06, 13:35
 ข้าวเม่าคั่วที่ผมคุ้นเคยจะเป็นเม็ดนุ่มๆ โรยน้ำตาลกับมะพร้าวขูดครับ

สงสัยอยู่เหมือนกันว่าคั่วยังไง ทำไมมันถึงได้เป็นอย่างนี้    


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ส.ค. 06, 09:03
 อ่านของคุณตูก้าและคุณอาชาผยอง ชักอยากชวนไปกินขนมไทยด้วยกัน
แต่ตอนนี้ต้องกลับเข้าเรื่องต่อ

รัชกาลที่ 5 เป็นยุคที่อิทธิพลตะวันตกเฟื่องฟูในราชสำนัก   รวมมาถึงวัฒนธรรมการกินด้วย   อาหารฝรั่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งของคาวและหวาน

ตำหนักพระพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ  ขึ้นชื่อทั้งของคาวและหวาน  ขนมบางอย่างดูจากวิธีทำแล้วไม่ใช่ของไทย แต่จะว่าเป็นของฝรั่งก็ไม่ได้ถอดแบบมา   เรียกว่าได้เค้าอิทธิพลฝรั่งดีกว่าค่ะ
อย่าง "กุหลาบแก้ว"

กุหลาบแก้วทำจากกุหลาบมอญของจริง   เอากลีบทีละกลีบชุบลงในน้ำตาลทรายที่เคี่ยวเหนียวจนเป็นเกล็ดขาว  จนหมดดอก ตั้งแต่กลีบเล็กจนกลีบใหญ่
แล้วใช้ปากคีบเอาติดเข้าไปกับก้านกุหลาบตามเดิม  ก้านเองก็ชุบน้ำตาลด้วย
ต้องรีบทำ เพราะถ้าน้ำตาลแห้งเสียก่อนจะไม่ติด  ติดเข้าไปทีละชั้นจนครบเป็นดอกกุหลาบมอญทั้งดอกตามเดิม

พอแห้ง  น้ำตาลที่เคลือบจะกลายเป็นแก้วสีขาวขุ่นบางๆ  หุ้มกลีบกุหลาบไว้ทั้งดอก มองทะลุเห็นกลีบสีชมพูข้างในเหมือนหุ้มแก้วจริงๆ
จะทำหลายๆดอก ปักแจกันไว้ดูเล่นก็ได้   หรือทำไว้กินก็ได้ค่ะ กุหลาบมอญเป็นดอกไม้ที่กินได้   ใช้กลีบโรยหน้าขนมอย่างวุ้นกระทิ เพราะกลิ่นหอมแรง


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ส.ค. 06, 09:15
 ขนมอีกอย่างหนึ่งในตำหนักพระวิมาดา ที่น่ากินมาก คือลูกกวาดไทย
ทำตามแบบลูกกวาดเมืองนอก แต่ว่าเป็นภูมิปัญญาไทยเราเอง

เริ่มด้วยเอาเม็ดแตงโมมากระเทาะเอาเปลือกออก  เอาแต่เนื้อข้างใน
ถั่วแขก ถั่วเหลือง ถั่วลิสง เม็ดบัว  เอามาคั่วทำให้สุกก่อน  แล้วใส่ลงในกระทะทอง ซึ่งตั้งบนไฟอ่อนๆ
เอาน้ำตาลเชื่อมข้นๆพรมให้ทั่ว   ใช้นิ้วทั้งห้าคนกลับไปมาในกระทะที่ร้อนบนเตา  จนกว่าน้ำตาลจะแห้งจับเม็ดขาว
ถ้ายังไม่เกิดเป็นหนามแหลมๆจับตามผิวเม็ดเหล่านี้  ก็เอาน้ำตาลพรมลงไปอีก
จนน้ำตาลจับตามผิวเม็ดถั่วเป็นหนามแหลมฟูขึ้นมาทั่วกัน

จำเป็นต้องใช้นิ้วคนน้ำตาลและพรม  ถ้าหากว่าใช้ช้อน  น้ำตาลจะไม่จับผิวเป็นหนามแหลม  เป็นแค่น้ำตาลหุ้มเฉยๆ

แต่วิธีทำก็โหดเอาการ  เพราะใช้ปลายนิ้วคนกระทะหนักเข้า ถูกับก้นกระทะ เจอความร้อนนานๆ ผิวที่ปลายนิ้วจะสึก   บีบเข้าเลือดไหลซึม

ลูกกวาดไทยมีหลายสีเย็นตา   ขาว ชมพูอ่อน  ฟ้าอ่อน เหลือง เขียวใบเตย  ใส่ขวดโหลสีปนกันจะดูน่ารัก  
พระวิมาดาฯทรงให้นางข้าหลวงทำแจกเป็นของชำร่วยแก่ผู้มาเข้าเฝ้าในเทศกาลสงกรานต์


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 10 ส.ค. 06, 10:18
 ขนมในประวัติศาสตร์ไทยนี่ก็ไม่ใช่เล่นเลยนะครับ คิดว่าคงทำสารนิพนธ์ได้สักเล่ม

เคยได้ยินเรื่องลูกกวาดไทยกับกุหลาบแก้วที่อาจารย์เทาชมพูเล่ามานานแล้วครับ แต่ก็ไม่เคยได้เห็นของจริงสักที อย่าว่าแต่เป็นบุญปากเลย แค่ได้เห็นเป็นบุญตาก็ชื่นใจแล้ว อยากชมรูปจริงๆครับ หรือใครพอจะเมตตาสงเคราะห์ทำให้ทานบ้างก็คงดี แต่คงต้องยอมทรมานตัวเองหน่อย

สวัสดีครับคุณตูก้า วันเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมาผมไปเมืองเพชร แต่ไม่ได้กินขนมหรอก เพราะเพื่อนผมใกล้เกลือกินด่าง ไปร้องกินเครปฝรั่งข้างทางเสีย แล้วก็มาบ่นว่าไม่อร่อย แถมขากลับก็ต้องรีบขึ้นรถทัวร์ เป็นอันว่าคราวนี้อดขนมเมืองเพชรไปเสียเปล่า แต่ไม่เป็นไรครับ คาดว่าคงจะได้ไปอีกตอนปลายๆเดือนนี้ ตอนนี้ตัดใจจากเมืองเพชรไม่ได้แล้วครับ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ส.ค. 06, 11:10
 ถ้าใครทำ  ขอชมแค่รูปด้วยอีกคน  เป็นบุญตา
ม.ล.เนื่อง นิลรัตน ท่านเล่าว่าเวลาจับกุหลาบแก้ว ติดเข้าเป็นดอก ต้องเบามือมาก
ไม่งั้นกลีบร่วงหมด  เพราะแรงเกาะของน้ำตาลนั้นบอบบางมาก   เวลาทำต้องแทบจะไม่หายใจ
ท่านเคยกิน   บอกว่าก็เหมือนกินน้ำตาลเราดีๆนี่เอง หวานแสบคอ
รสชาติกุหลาบแก้วคงไม่เด่นเท่าไร  ไปเด่นที่วิธีทำ

ส่วนลูกกวาดไทย  วิธีทำ ถึงกับได้เลือด  อ่านแล้วยังสยอง  ไม่เอานิ้วลงไปคนในกระทะร้อนก็ไม่ได้หนามลูกกวาดเสียด้วย  
ใครทำให้คุณกุรุกุลากินได้นี่น่าจะได้ใบประกาศเกียรติคุณเหมือนตอนบริจาคเลือด


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 10 ส.ค. 06, 13:08
 คิดแล้ว คิดอีกว่าจะลองทำกุหลาบแก้วดูบ้าง แต่จนใจที่มือจับจอบ  จับเสียมอย่าง ตูก้า คงไม่สามารถทำได้ เพราะคงต้องใช้ความมือเบาอย่างที่สุด   ส่วนลูกกวาดไทย วิธีทำน่ากลัวมาก ตอนที่ทำนี่ สงสัยว่า ท่านเหล่านั้นคงต้องมือเบาและเร็วมาก ลูกกวาดที่ได้จึงมีหนามสวย อันนี้คิดเอาเองนะคะ

วันเสาร์ อาทิตย์ต้นเดือนหน้า ตูก้าจะไปเมืองเพชรอีกเหมือนกัน เพราะพระน้องบวชอยู่ที่นั่น คุณกุรุกุลากับเพื่อน ไปพร้อมกันได้นะคะ ถ้าไม่รังเกียจไปเป็นเด็กวัดสักวันสองวัน


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 10 ส.ค. 06, 13:54
 อ่านกระทู้นี้แล้ว เกิดอาการหิวขนมขึ้นมาทันที
โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นภาพของคุณ tuka007  

อ่านกระทู้ของอาจารย์เทาชมพูแล้วเกิดความสงสัยว่า
พระเจ้าอโศกท่านเอาแหวนใส่ในขนมต้มทำไมครับ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 10 ส.ค. 06, 14:52
สวัสดีค่ะ คุณนิรันดร์ ขอต้อนรับด้วย ขนมโสมนัส หอมๆจานนี้ค่ะ

   


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 10 ส.ค. 06, 16:58
 คาดว่าจะไปวันที่ 26-27 น่ะครับ คุณตูก้า แต่ก็คงต้องดูเรื่องความเหมาะสมอีกที รอเพื่อนๆที่ไปด้วยกันโหวตครับ ว่าจะไปไหนระหว่างเพชรบุรีกับอยุธยา คิดว่าถ้าไปก็คงได้ชิม "น้ำตาลหวานซ่านดินฟ้า" ของจริงเสียที


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 10 ส.ค. 06, 23:55
เออ.... ผมเคยทำดอกไม้ฉาบครับอาจารย์ คิดว่าหน้าตาคงไม่ได้ต่างจากกุหลาบแก้วซักเท่าไหร่ เพียงแต่ที่ผมทำมันง่ายกว่าเยอะน่ะครับ
เพราะใช้ดอกอาฟริกันไวโอเลต ทำเสร็จแล้วก็เอามาใช้แต่งหน้าขนมเค้กอีกทีหนึ่ง (รสชาติก็ไม่ต่างอะไรกับกินน้ำตาลหวานๆจริงๆแหละครับ จนบางคนบ่นว่าเอาน้ำตาลโรยหน้าก็สิ้นเรื่อง ทำไปเสียเวลาเปล่า)


ปล.1 ว่างๆ ถ้ามีสมาชิกท่านไหนยินดีเสียสละดอกอาฟริกันไวโอเลตให้ผมซัก 40 หรือ 50 ดอก จะลองทำให้รับประทานดูครับ

ปล.2 ท่าทางคุณกุรุกุลาจะไปหัวเสียทีเพชรบุรีมาหนักเอาการนะครับนี่ เห็นบ่นเรื่องถ่ายรูปแล้วมือสั่นมาก..... ผมว่าลองใจเย็นๆหน่อยดีมั้ยครับ เสียดายแบตเตอรี่นะครับก้อนนึงหลายบาท

ปล.3 ข้อแม้สำหรับดอกไม้นะครับ ถ้าพ่นยาฆ่าแมลงหรือปุ๋ยมา รับประทานเข้าไปแล้วท้องเสียผมไม่รับผิดชอบครับ อิอิ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 06, 08:08
 น่าสนใจดอกแอฟริกันไวโอเล็ตแก้ว  ที่ว่าทำง่ายนั้นคือชุบน้ำตาลลงไปทั้งดอกหรือไงคะ
วิธีทำ คุณติบอว่าไม่ยาก  แต่มันยากตรงหาดอกไม้นี่ละค่ะ  


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 11 ส.ค. 06, 10:14
ขอเปลี่ยนเป็นดอกกล้วยไม้ได้มั้ยคะ คุณติบอ ท่าทางจะหาได้ง่ายกว่า แบบว่า ใช้ทานได้เหมือนกัน ถ้าได้จะยอมลงทุน ขนไปให้สัก คันรถหนึ่งน่ะค่ะ ...แหะ แหะ...

.


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 06, 16:21
 ต่อไปนี้ก็เป็นการเล่าเรื่องสัพเพเหระเกี่ยวกับขนม

ขนมอีกอย่างที่รู้จักกันดี  คือขนมครก    ดิฉันเคยกินขนมครกใหม่จากเตา กับกาแฟร้อน เป็นอาหารเช้า  รู้สึกว่าโลกน่าอยู่อีกหลายชั่วโมงกว่าจะเที่ยง  
ชาววังอย่างม.ล.เนื่อง กินขนมครกหน้าเครื่อง  มีเครื่องหลายอย่างโรยหน้าให้อร่อยหนักขึ้นไปอีก   เช่นกุ้งสับ  
เคยกินขนมครกโรยหน้าด้วยข้าวโพดเหมือนกันค่ะ  แต่ชอบของเดิมที่ไม่มีหน้ามากกว่า

นึกถึงขนมปัง  คำว่า ปัง นั้นมาจากภาษาฝรั่งแน่ละ  จะโปรตุเกสหรือฝรั่งเศสก็ตาม แต่ไม่ใช่ไทยหรือบาลีแน่นอน
ทีนี้ คำว่าขนมที่ไทยใส่เข้าไปนำหน้า ปัง นี่สิ ชวนให้คิด
ว่าชาวอยุธยาเขามองขนมปังเป็นของว่าง หรือของหวานกันหรือ  
ผิดกับฝรั่งที่มองแบบเดียวกับเรามองข้าวสวย
เขากินขนมปังกันอย่างไร  แบบไหน กินกับอะไร   ยังนึกคำตอบไม่ได้ค่ะ
เพราะขนมฝีมือท้าวทองกีบม้า ไม่มีขนมปังปนอยู่เลย

รู้แต่ว่าชาววังสมัยแม่พลอย คือในรัชกาลที่ 5 พกพาขนมปังหมูหยองเป็นเสบียงติดตัวไปกินกลางทาง
เมื่อออกจากวังไปเปลี่ยนอากาศที่บางปะอิน   เพราะสมัยนั้นเดินทางโดยรถไฟไปบางปะอินก็หลายชั่วโมง
ขนมปังหมูหยองเป็นของกินเล่นชั้นหรูของชาววัง  

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  ขนมปังข้าวสาลีขาดแคลน   คนไทยก็ทำขนมปังจากแป้งข้าวเจ้าขึ้นมาแก้ขัด
แสดงว่าคนไทยกินขนมปังกันแพร่หลาย  ขาดตลาดไปก็เดือดร้อน


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 11 ส.ค. 06, 22:41
 ด้วยความที่เป็นเด็กบ้านนอก แล้วก็โตมากับท่านผู้ใหญ่ ตูก้าเลยมีประสบการณ์  ((อีกแล้ว)) กับ ขนมครก ด้วยค่ะ อาจารย์ เคยเห็น โม่หินที่ใช้โม่แป้งขนมครกมั้ยคะ  ไม่รู้ในกรุงเทพ ใครยังใช้อยู่บ้าง

ตอนนั้นเป็นเรื่องสนุกมากทีเดียวค่ะที่ได้ตักข้าวที่แช่น้ำ หยอดลงในรู แล้วพอท่านผู้ใหญ่หมุนโม่ ข้าวที่ทุกบดแล้วจะไหลออกมาด้านล่าง ตูก้า ก็จะใช้ช้อนกวาดให้ไหลมาตามรางแล้วก็จะตักหยอดไปใหม่ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆจนกว่า โม่หินจะบดให้เม็ดข้าวละเอียดจนเป็นเนื้อแป้ง....เป็นงานที่สนุกค่ะ

ตอนที่สนุกอีกก็เห็นจะเป็นตอนแคะขนมครกนี่แหละ สมัยนั้นใช้..เอเรียกอะไรคะ กระทะหรือปล่าว..ที่เป็นหลุมสำหรับหยอดแป้งน่ะค่ะ สมัยนั้นใช้เป็นดินเผา รวมทั้งฝาปิดด้วยหลุมหนึ่งก็มีฝาปิด อันหนึ่ง ..ก่อนหยอดแป้งทุกครั้งเห็นท่านผู้ใหญ่ใช้ผ้า ชุบผงอะไรไม่รู้ทาลงในหลุมพอโดนกระทะร้อนๆ ก็จะมีควันหอมๆ..มารู้ภายหลังท่านว่าเป็น ชัน ค่ะ จะทำให้ขนมครกร่อนแคะง่าย..


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 12 ส.ค. 06, 00:05
 วิธีการทำดอกอาฟริกันไวโอเลตฉาบไม่ยากมากนะครับอาจารย์

เริ่มจากล้างดอกไม้ให้สะอาด ผึ่งให้แห้ง

พอดอกไม้แห้งดีก็ละลายน้ำตาลที่เหลวแต่เหนียวพอจะแข็งตัวได้ในอุณหภูมิห้อง เวลาจะลองก็ทดลองหยดลงน้ำดูก็ได้ครับ (เหมือนเวลาทำครองแครงล่ะครับ)

แล้วเอาพู่กันระบายสีน้ำมันเบอร์กลางๆมาชุบน้ำตาลทาลงบนดอกไม้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังแล้วก็เรียบร้อยแล้วครับ




ปล. คุณtukaครับ เสียดายดอกไม้ออก หรือจะเอาดอกข้างล่างนี่มาให้ผมชุบน้ำตาลดีครับ อิอิ
ถ้าจะเอาดอกนี้มาทำ ผมขอค่าทำเป็นต้นไม้ทุกต้นที่ตัดดอกออกไปแล้วด้วยนะครับ หิหิ



.


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 12 ส.ค. 06, 14:16
คุณติบอ เจ้าขา นั่นน่ะ รองเท้านารีเหลืองกระบี่  หรือปล่าวคะ  

ขอเปลี่ยนเป็น ดอกนี้ได้มั้ยคะ

.


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 15 ส.ค. 06, 22:24
 ขนมไทยๆ ที่ตูก้าคิดว่ามีให้กินที่เมืองเพชรที่เดียว เห็นจะเป็น ขนมโค  ซึ่งก็หากินยากแล้วเห็นมีแต่ร้านเจ้เล็ก ท่าหิน เท่านั้นที่ทำขาย แต่เดิมนั้น ขนมโค ชาวบ้านจะนำมาตักแจก ในวงแข่งขันวัวลาน  ในการทำต้องทำใส้ก่อนนะคะ โดยใช้มะพร้าวทึนทึกกวนกับน้ำตาลโตนดและถั่วทองคั่ว กวนจนเหนียวพอปั้นได้ แล้วปั้นเป็นลูกกลมๆขนาดประมาณไข่นกกระทา แล้วอบด้วยดอกมะลิ อบเทียน ใส้นี้ควรทำไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 2 วัน

ตัวแป้งนั้นให้นวดด้วยน้ำอบดอกมะลิ นวดจน นิ่มเนียนมือถ้าต้องการเพิ่มรสชาดต่างๆก็ใช้น้ำใบเตยบ้าง ดอกอัญชันบ้างผสมเข้าไป  นำมาปั้นให้หุ้มใส้จนมิด แล้วนำไปต้มในน้ำที่เดือดพอสุก  ขนมลอยขึ้นมาก็ตักใส่หม้อ น้ำกระทิ เวลากินใส่ถั่วทองคั่วไปหน่อยจะอร่อยหอมดีค่ะ

ไปเพชร คราวที่แล้ว ซื้อ ขนมโค ติดมือมาด้วยตั้งใจจะนำมาเก็บภาพก่อน แต่ลืมบอกคนที่บ้าน กลับจากทำงานหมดไปซะแล้ว ไว้สิ้นเดือนไปเมืองเพชรอีกทีจะเก็บภาพมาให้ดูค่ะ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 16 ส.ค. 06, 09:33
 แหม น่าเสียดานะครับ คุณตูก้า แต่แค่บรรยายผมก็น้ำลายสอเสียแล้ว อยากกินไปหมด นึกถึงขนมครกหน้าวัดกษัตราธิราช อยุธยาขึ้นมาแล้วก็ขำไม่หาย กินเข้าไปแล้วถึงได้รู้ว่ามันบูดเหม็นเปรี้ยว เลยต้องทิ้ง ขนาดซื้อเช้าๆนะเนี่ย

ถ้าให้อร่อยอีกที่ก็ต้องขนมครกวัดเจ้าย่าครับ  ที่เคยโพสไปแล้ว อันนั้นต้องไปเช้าๆ เพราะคุณย่าแกตื่นเช้า ไปสายก็อดกิน

อินทนนท์เผือกของคุณติบอไม่ต้องชุบน้ำตาลหรอกครับ ตัดดอกเก็บไว้แล้วยกมาให้ผมกินทั้งต้นเลยดีกว่า


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 16 ส.ค. 06, 09:46
 สำหรับ ขนมปัง ผมว่าเป็นอาหารหลักของฝรั่งอยู่แล้ว เมื่อเข้ามาในอยุธยาก็อาจจะคิดถึง "ข้าว" ของตัวเอง เคยอ่านมาได้ความว่า ขนมปังนั้นต้องสั่งเข้ามาจากญี่ปุ่น ก็คงค่อนข้างทุลักทุเลทีเดียว นอกจากนี้ ขนมปังยังเป็นสิ่งที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์ด้วย เป็นอาหารที่จำเป็นไม่น้อย และคงเข้ามาพร้อมกับมิชชันนารีครับ (แต่ก็เคยได้ยินว่าถ้าไม่มีขนมปังก็อาจใช้อย่างอื่นที่สามารถทดแทนได้เช่นเดียวกัน เช่น ข้าว )


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 06, 11:24
 ดิฉันเห็นเหมือนคุณกุรุฯคือขนมปัง คือ"ข้าว"ของฝรั่ง   กินกับเนื้อ ผัก ฯลฯ ทำนองเดียวกับคนไทยกินข้าว กับ กับข้าว
แต่แปลกใจว่าคนไทยไม่ยักเรียกว่า "ข้าวปัง" กลับเรียกว่า "ขนมปัง"  
ยังตีโจทย์ไม่แตกว่าทำไมเรียก "ขนม" ปัง     เพราะเราเอาข้าวฝรั่งมากินเป็นของว่างหรืออย่างไร


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: pon2829 ที่ 16 ส.ค. 06, 12:09
ขอลบข้อความนี้ค่ะ กรุณาอย่าเข้ามาโฆษณาเว็บในเรือนไทยอีกนะคะไม่ใช่จุดประสงค์ของเรือนไทย-เทาชมพู


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 16 ส.ค. 06, 14:19

อ่านเรื่องขนมแล้วอยากไปเมืองเพชรจังค่ะ เมื่อ 2 วันก่อนพี่สาวที่รักมากที่ทำงานเห็นว่าดิฉันชอบหม้อแกงมาก ซื้อทานชิ้นละ 5 บาทกับนมเป็นมื้อเช้าเกือบทุกวัน และบ่นถึงหม้อแกงเมืองเพชรบ่อยๆ เธอเลยกรุณาซื้อหม้อแกงหนองมน-ชลบุรีมาให้แทน ก็อร่อยค่ะแต่สู้ที่เมืองเพชรไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว นึกแล้วดิฉันยังอยากไปเที่ยวเมืองเพชรอีก อยากไปมากๆๆๆๆๆเลยค่ะ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 16 ส.ค. 06, 23:07
 โอเคค่ะ คุณนางมารน้อย เดี๋ยวตูก้าจัดไปทัวร์กินขนมเมืองเพชรกัน อิอิ..

เสาร์ - อาทิตย์ ต้นเดือนหน้า ตูก้า จะลงไปเมืองเพชร มีใครสนใจจะเกาะล้อไปด้วยกันมั้ยคะ ((หาคนหารค่าน้ำมัน..ฮ่าๆๆ))  แล้วจะเอาขนมหม้อแกงมาฝากค่ะคุณนางมารน้อย


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 22 ส.ค. 06, 20:50
 วันนี้ พี่สาวทำแตงไทย น้ำกระทิให้ทานค่ะ เลยนึกถึงขนมเก่าเมืองเพชรอีกชนิดหนึ่ง  ซึ่งปัจจุบันนี้ ไม่มีขายโดยทั่วไปแล้วค่ะ นอกจากจะทำกินกันเองที่บ้าน

คิดว่าทุกท่านคงเคยกินกระยาสารท กันแล้ว หนึ่งในส่วนผสม คือข้าวตอก ชาวเมืองเพชรจะนำข้าวตอกนี้แหละค่ะ มาทำขนมหวาน เรียกกันว่า ข้าวตอกน้ำกระทิ บางที ตูก้าจะผสมข้าวโพด หรือไม่ก็เผือกด้วยค่ะ ผสมกับน้ำกระทิหอมหวาน มีน้ำแข็งป่นเกล็ดเล็กๆ โรยหน้า อร่อยอย่าบอกใครเลยเชียว

วิธีทำข้าวตอกน้ำกระทิ  จะใช้ข้าวเปลือกที่เป็นข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียวก็ได้ค่ะ  แช่น้ำทิ้งไว้ ประมาณ 2 ชั่วโมง ล้างน้ำออกแล้วผึ่งให้แห้ง  จากนั้นนำมาคั่วให้สุกในกระทะ (สมัยก่อนใช้คั่วในหม้อดินค่ะ  แต่เดี๋ยวนี้ ไม่มีแล้ว) พอข้าวปะทุ เมล็ดพองทั่วกัน เป็นข้าวตอก แล้ว นำมาเลือก กากข้าว(ข้าวเปลือกที่ประทุไม่หมด) ออกให้หมด  ให้เหลือข้าวตอกที่เป็นสีขาวล้วน สำหรับไปกินกับน้ำกระทิ...

น้ำกระทิที่ทำ ต้องใช้น้ำตาลใหม่ๆค่ะ น้ำกระทิจึงจะหอมน่ากิน


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 23 ส.ค. 06, 09:17

อุ้ยคุณตูก้าขา พูดแล้วก็อยากกินค่ะ ข้าวตอกน้ำกะทิน่าอร่อยเนาะ เมื่อเช้าพี่สาวสุดที่รักก็ซื้อหม้อแกงถั่วจากหนองมนมาให้ค่ะอร่อยดีเหมือนกัน แต่คิดถึงหม้อแกงเมืองเพชรอ่ะ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 06, 09:30
 กระทู้นี้ไม่เกรงใจน้ำหนักตัวมั่งเล้ย


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: ทามะ ที่ 26 ส.ค. 06, 12:00
 โหน่ากินทุกอย่างเลยไม่เกรงใจน้ำหนักแล้วขอบอก(ของโปรดมากๆขนมหวานของไทยนี่


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 26 ส.ค. 06, 19:43
 ขนมที่คนมาเยือนเมืองเพชรมักซื้อติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝากอีกชนิดหนึ่ง คือ ขนมบ้าบิ่น  ส่วนใหญ่ทุกเจ้าก็จะอร่อยเหมือนๆกัน แต่ ตูก้า ชอบ ของสงวนโพธิ์พระที่สุด

ขนมบ้าบิ่นนี่ ถ้าจะให้อร่อยเคล็ดลับอยู่ที่ มะพร้าวที่ใส่ต้องเป็นมะพร้าวอ่อนเกือบทึนทึก และน้ำใช้คลุกเคล้าส่วนผสมควรเป็น น้ำมะพร้าวน้ำหอมค่ะ แล้วเวลาอบใช้ไฟล่างอ่อนๆ ส่วนไฟบนเป็นไฟปานกลางเพื่อให้หน้าขนมสวยงาม


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 26 ส.ค. 06, 19:49
 "ขนมแม่เอ้ย" หนังสือรวบรวมสาระเรื่องราวขนม โดย ส.พลายน้อย อธิบายว่า ขนมนี้เมื่อในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยมีคนเขียนไปถาม ก.ศ.ร.กุหลาบ เอดิเตอร์หนังสือสยามสมัยประเภท ว่าทำไมจึงเรียกขนมชนิดนี้ว่าขนมบ้าบิ่น ก.ศ.ร.กุหลาบตอบว่าที่เรียกว่าอย่างนี้ เพราะเมื่อก่อนนั้น "ป้าบิ๋น" แกเป็นคนทำขึ้น เลยเรียกว่า "ขนมป้าบิ๋น" ต่อมาเลยเรียกเพี้ยนเป็น "ขนมบ้าบิ่น"

ขณะหนังสือซองคำถามของสารคดี อธิบายความโดยนำคำสัมภาษณ์ คุณยายเป้า (ประสาทพร) มณีประสิทธิ์ ซึ่งเป็นชาวกุฎีจีน ชุมชนนานาชาติย่านฝั่งธนบุรี (คำว่า กุฎี หรือ กุฏิ หมายถึงเรือนที่อยู่อาศัยของนักบวช ส่วนที่คนทั่วไปเรียกกันว่า กุฎีจีน จริงแล้วคือวัดซางตาครู้ส เป็นชุมชนที่สืบเชื้อสายมาจากชาวโปรตุเกส) คุณยายเป้ายืนยันว่าบ้าบิ่นเป็นขนมที่คิดขึ้นในเมืองไทย เกิดมีขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ท่านว่าญาติผู้ใหญ่ของมารดาชื่อ "แม่บิ่น" เป็นผู้ประดิษฐ์คิดทำขนมนี้ขึ้น แต่เดิมคงเรียกว่า "ขนมป้าบิ่น" แต่แล้วอย่างไรกลายเป็นขนมบ้าบิ่นไปก็ไม่ทราบ อาจเป็นเพราะคนถนัดปากกับคำบ้าบิ่นมากกว่า

ที่มาของชื่อ "บ้าบิ่น" อีกสายมาจาก ไพโรจน์ บุญผูก นักเขียนสารคดี ซึ่งให้ความเห็นแย้งว่า ขนมบ้าบิ่นที่เคยได้ยินคนพูดว่าชื่อมาจากคุณป้าบิ่นต้นตำรับ ฟังดูแล้วเป็นคำอธิบายที่ง่ายเกินไป ไม่ค่อยอยากจะเชื่อ เพราะดูจากลักษณะของขนมบ้าบิ่นแล้วน่าจะได้มาจากต่างประเทศ จึงค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต พบว่าที่โปรตุเกสมีขนมชื่อ "เกลชาดาซ เดอ กรูอิงบรา" (Queijadas de Coimbra) ซึ่งใช้เนยแข็ง ส่วนบ้านเราใช้มะพร้าวแทน

ชื่อ บ้าบิ่น จึงน่าจะมาจากคำว่า bra อันเป็นคำท้ายสุดของ Queijadas de Coimbra ไทยคงจะเรียกสั้นๆ ว่า ขนมบ้า แล้วก็เติม บิ่น เข้าไป กลายเป็นชื่อขนมบ้าบิ่น มาจนทุกวันนี้

และในงาน นิทรรศการขนมนานาชาติ จัดโดยภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.2541 ได้จำแนกกลุ่มขนมหวานของไทยที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมโปรตุเกส คือ ทองหยิบ ฝอยทอง ทองหยอด บ้าบิ่น ลูกชุบ ขนมผิง ทองม้วน ขนมหม้อแกง ขนมไข่ กะหรี่ปั๊บ และมีหลักฐานพบว่าในโปรตุเกส ขนมที่ชื่อ ตรูซูช ดาช กัลดัช (Trouxos das caldas) คือต้นตำรับทองหยิบ ขนม Fios de Ovos คือฝอยทอง และขนม เกลชาดาซ เดอ กรูอิงบรา เป็นต้นตำรับขนมบ้าบิ่น

ที่มา:รู้ไปโม้ด มติชน


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 27 ส.ค. 06, 01:08
 สองสามวันมานี้ ได้ยินชื่อ "กุหลาบแก้ว" อยู่หลายหน ฟังแล้วนึกถึงกุหลาบแก้วตำหนักสวนบัวจังครับ
แต่กุหลาบแก้วดอกใหม่ รสชาติจะหวานหอมชื่นใจเหมือนกุหลาบแก้วดอกเก่าหรือเปล่าก็ไม่ทราบนะครับ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 27 ส.ค. 06, 21:47
ขนมไทยที่ตูก้าพูดถึงวันนี้ เชื่อว่าทุกท่านคงต้องเคยกินค่ะ  ตูก้าก็กินมาตั้งแต่เด็กๆ  ชอบร้องขอให้คุณแม่ทำให้ทาน

.


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: ทามะ ที่ 13 ก.ย. 06, 11:34
 แม้คุณตูก้านี่เก่งนะคับผมชอบทานมากๆเลยคับขนมหวานไทยๆนี่ผมขอขอบคุณท่านผู้ตั้งกระทู้ขนมหวานนะคับเพราะเดี๋ยวนี้เด็กๆรุ่นใหม่ไม่ค่อยจะนิยมทานเท่าไรคับช่วยกันรักษาความเป็นไทยไว้ให้มากๆนะคับ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 21 ก.ย. 06, 17:52
ขนมไทยชื่อเพราะหน้าตาสวยงามอย่างหนึ่งที่ดิฉันมาชอบตอนหลังๆก็คือกลีบลำดวน เพราะได้ไปรับประทานฝีมือครอบครัวไทยแถวๆเทเวศร์
อื้อฮือ นุ่ม หวานผสมเค็มได้สัดส่วน ละลายช้าๆในปาก เหมือนช็อกโกแลต อร่อย..หอมนุ่มนวลเพราะอบอย่างดีค่ะ
หาเจ้าอร่อยยากมาก
ไม่ได้ถ่ายรูปไว้ค่ะ
ขนมชื่อเพราะ รูปสวย ปั้นยากอีกอย่างก็คือช่อม่วงค่ะ บางเจ้าสวย แต่ไร้รสชาติ มีรูปมาฝากค่ะ แต่ทำไม่เป็น...


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 21 ก.ย. 06, 20:39
 "เม็ดขนุน"   เป็นขนมที่มีไข่เป็นส่วนผสมหลัก  โดยเฉพาะไข่แดงของไข่เป็ด มัก จะเป็นขนมที่จะควบคู่ กับฝอยทอง และทองหยิบเสมอ อีกทั้งยังเป็นขนมไทยที่ทำ กันในงานมงคลอีกด้วย ที่เรียกว่าเม็ดขนุน คงเป็นเพราะรูปร่างที่คล้ายเมล็ดในยวง ขนุนนั่นเอง   รสชาติหวานหอมของน้ำเชื่อม และความหวานมันที่ได้มาจากถั่วกวน ((แต่บางที่ ตูก้าเห็นเขาใช้เผือกกวนค่ะ  ซึ่งตามความเห็นส่วนตัวแล้ว อร่อยสู้ถั่วกวนไม่ได้))  ทำให้กลายเป็นของหวานจานโปรดของหลายต่อ หลายคนไป

ที่ร้านแม่เล็กท่าหินหน้าวัดป้อม ที่เมืองเพชร มีเม็ดขนุนที่มีขนาดเล็กกว่าของที่อื่น ขนาดของเม็ดสม่ำเสมอกัน ไข่แดงที่หุ้มออกสีเหลือง มีกลิ่นหอมชวนกินไม่คาวไข่ รสหวานมัน ผิวของเม็ดเป็นมันด้วยน้ำเชื่อมไม่ขึ้นเกล็ด  


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 21 ก.ย. 06, 20:43

ขนมอีกอย่างที่ไม่ค่อยเห็นจังหวัดอื่นทำกันมากนัก ที่เมืองเพชรเรียกข้าวเหนียวตัดหน้าสังขยาถั่วดำค่ะ  


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: OBORO ที่ 22 ก.ย. 06, 21:39
 อยากทราบประวัติความเป็นมาของขนมมงคลต่างๆ พวก ทองเอก จ่ามงกุฎ ครับบอกส่วนประกอบกับวิธีทำนิดๆหน่อยก็ได้ครับ  อยากทานมากๆแต่ไม่เคยหาซื้อทานได้เลย หายากมากๆครับ ถ้าจะกรุณาขอช่วยนำรูปมาลงให้ได้ไหมครับ อยากกินมากๆ
กิเลสครอบงำแล้วครับ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 23 ก.ย. 06, 10:55
 สวัสดีค่ะคุณ  OBORO เข้าไปดูที่นี่ค่ะ เรื่องขนมมงคลต่าง

 http://www.doae.go.th/LIBRARY/html/detail/craftwork/kanommongkon%202/sanajun/page_1.html

 http://www.ku.ac.th/e-magazine/april45/know/kanom.html  


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: OBORO ที่ 23 ก.ย. 06, 13:26
 ขอบคุณครับคุณ tuka สำหรับลิงค์ที่มีประโยชน์ ลำพังตัวผมเองถ้าจะให้ทำแค่กล้วยบวชชียังไม่เคยทำเลยครับ อิอิ อันนี้ก็ไม่คิดหวังเลยว่าจะทำได้ แต่ว่าจะลองจดสูตรไปให้คนที่บ้านลองทำดูครับ ลองดูสักตั้ง เพราะหาทานยังงัยก็หาคนมาขายอยู่แล้ว


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 23 ก.ย. 06, 15:22
 ยังดีนะคะ ตอนสมัยเป็นเด็กอยากกินกล้วยบวชชีมากเลย พี่ชายของตูก้า อยากเอาใจน้องสาวเลยตั้งใจทำกล้วยบวชชีให้กิน  แต่ด้วยความเป็นเด็ก แทนที่จะใส่เกลือเพื่อเพิ่มความเค็ม คุณใหญ่พี่ชายกลับใส่น้ำปลาแทน  กล้วยบวชชีวันนั้นเลยรสชาดแปลกๆมีกลิ่นคาวๆด้วยค่ะ ..อิอิ..


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: OBORO ที่ 23 ก.ย. 06, 18:07
 กล้วยบวชชีสูตรใหม่งัยครับ ไม่เหมือนใครดี ฮุๆ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: Package ที่ 04 ต.ค. 06, 16:16
 อร่อยครับ ... ชอบ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 04 ต.ค. 06, 21:45
 อ่ะ...คุณPackage ชอบกล้วยบวชชีใส่น้ำปลาเหรอคะ ....อิอิ..


วันพระที่ผ่านมาได้ลาของไหว้ที่ห้องพระลงมา..วันนี้คุณพี่สาวเลยทำกล้วยบวชชีพอดีค่ะ...เดี๋ยว ตูก้า จะทานเผื่อเพื่อนๆทุกคนนะคะ...          


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: Malagao ที่ 09 ต.ค. 06, 21:12
 ขนมไทย 9 มงคล…ทั้งอร่อยและความหมายดี


โดย ผู้จัดการออนไลน์   5 กรกฎาคม 2548 16:56 น.








      ขนมไทยของเรานั้น นอกจากจะหอมหวาน กินได้อร่อยแล้ว ก็ยังมีความหมายที่เป็นมงคลอีกด้วย วันนี้ “108 เคล็ดกิน” จึงได้นำเอาขนมไทยที่มีชื่อเป็นมงคล 9 อย่าง และความหมายดีๆ ของแต่ละอย่างมาเล่าสู่กันฟัง
     
      เริ่มจากขนมไทยที่คุ้นเคยกันดีอย่าง ทองหยิบ ทองหยอด และฝอยทอง ซึ่งคำว่าทองในชื่อก็เป็นความหมายว่าให้มีทองไหลมาเทมาเหมือนชื่อ โดยเฉพาะฝอยทองที่มักจะใช้ในงานมงคลสมรสนั้น มีเคล็ดว่าห้ามตัด แต่ต้องปล่อยให้เป็นเส้นยาวๆ เพื่อที่ชีวิตสมรสจะได้ยืนยาวต่อไป
     
      ส่วนเม็ดขนุน ก็มีชื่อเป็นสิริมงคลที่หมายความว่าจะช่วยให้มีคนสนับสนุน หนุนหลังให้กิจการงานต่างๆ สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และขนมชั้นก็เหมาะสำหรับคำอวยพรที่ว่า ขอให้ได้เลื่อนขั้นเลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่ง และถ้าจะให้ดี ขนมชั้นนี้ก็ต้องมี 9 ชั้น จะได้ก้าวหน้า เลื่อนขั้นเร็วๆ
     
      ขนมทองเอก นอกจากชื่อจะเป็นทองแล้ว ก็ยังมีทองคำเปลวติดอยู่บนขนมด้วย ซึ่งคำว่าเอกนั้นแปลว่าที่หนึ่ง การให้ขนมทองเอกนั้นก็เหมือนว่าอวยพรให้เป็นที่หนึ่ง และขนมจ่ามงกุฎ ซึ่งหมายถึงการมีเกียรติสูงสุด เป็นเจ้าคนนายคน ขนมทั้งสองอย่างนี้ก็จะใช้เป็นการแสดงความยินดีที่ได้เลื่อนตำแหน่ง
     
      และขนมสองอย่างสุดท้ายก็คือ ขนมถ้วยฟู ซึ่งหมายถึงการอวยพรให้มีความเจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟู และขนมเสน่ห์จันทน์ ซึ่งใช้ผลจันทน์ จากต้นจันทน์มาเป็นส่วนผสมให้มีกลิ่นหอม และเชื่อว่าจะทำให้มีเสน่ห์ มีคนรักใคร่ มักจะใช้ในงานมงคลสมรส
     
      ทั้งอร่อยทั้งมีความหมายดีๆ แบบนี้ จะเอาไว้กินเองหรือมอบให้เป็นของขวัญในโอกาสต่างๆ ก็ไม่เลวเหมือนกันนะ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: jumo ที่ 08 เม.ย. 07, 09:14
 ;D เหมือนขนมเยลลี่สีแดงใส่ใส้มะพร้าวจังเลยนะครับ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: กอประกาญจน์ ที่ 12 เม.ย. 07, 09:12
เพิ่งได้ย้อนไปอ่านที่คุณตูก้าเล่าเรื่องขนมโคค่ะ ที่สงขลาก็มีขนมโคค่ะแต่ไม่เหมือนของเมืองเพชรแบบที่คุณตูก้าเล่า ของสงขลาคล้ายขนมต้มขาวแต่ไส้ทำมาจากน้ำตาลแว่นค่ะ น้ำตาลแว่นคือน้ำตาลโตนดที่หยอดลงในกรอบกลมๆ (น่าจะทำจากตอกมังคะ เป็นเส้นแข็งๆ หน่อยค่ะ) สมัยก่อนชิ้นหนึ่งเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว แต่ปัจจุบันมีแว่นเล็กๆ ด้วยค่ะ

วิธีทำแป้งขนมโคสงขลาดูจะใกล้เคียงกับแป้งขนมโคเมืองเพชรค่ะ ตอนทำก็เอาแป้งมาปั้นเป็นลูกกลมขนาดพอคำโดยหั่นน้ำตาลแว่นเป็นชิ้นประมาณ 1 เซนติเมตรใส่เป็นไส้ แล้วเอาแป้งที่ยัดไส้แล้วไปต้มค่ะ แป้งลอยเมื่อไรเป็นอันว่าขนมสุก ตักขึ้นมาคลุกมะพร้าวขูดฝอยแล้วทานได้เลย ถ้าทานตอนยังร้อนๆ พอกัดเข้าไปไส้จะละลาย รสน้ำตาลแว่นหวานอ่อนๆ ออกมาคลุกเคล้ากับแป้งอร่อยมากค่ะ ทุกวันนี้ที่สงขลายังมีขายอยู่ค่ะ ส่วนที่กรุงเทพฯ ถ้าโอกาสดีๆ มีแม่ค้าทำขายแถวแฟลตคลองจั่นด้วยค่ะ

มีขนมอีกอย่างที่คล้ายๆ กันคือขนมหัวล้าน ถ้าดิฉันจำไม่ผิด ไส้ขนมหัวล้านคือกระฉีก ลูกขนมหัวล้านจะใหญ่กว่าขนมโคพอประมาณและทานกับกะทิ ไม่ได้เอาไปคลุกมะพร้าวแบบขนมโค ขนมหัวล้านนี่ดิฉันไม่ได้ทานมายี่สิบกว่าปีแล้วค่ะ น่าจะยังมีอยู่แต่ดิฉันไม่มีโอกาสทานเองมากกว่า

ขนมทางใต้อีกชนิดที่คนใต้บางคนยังไม่รู้จักเลยคือขนมดู ทำจากแป้งข้าวเหนียวเอามาปั้นกับน้ำตาลเป็นก้อนเล็กๆ นิ่มๆ จะว่าไปก็รสคล้ายข้าวตูของภาคกลางอยู่ค่ะ แต่ขนมดูจะนิ่มและแห้งกว่าข้าวตูมาก อีกทั้งยังไปคลุกแป้งมาจนออกขาวๆ ด้วย อร่อยดีค่ะ ไม่นานมานี้เพื่อนซื้อมาฝากจากสงขลาลองเอามาให้เพื่อนร่วมงานชิมก็ชอบกัน

ขอเล่าถึงขนมอีกชนิดที่เด็กใต้ชอบทานกันมากคือขนมขี้มอด ทำจากแป้งข้าวเจ้าและมะพร้าวคั่วบดละเอียดผสมเกลือกับน้ำตาล โดยมากจะใส่ถุงหรือซองกระดาษยาวๆ ค่ะ วิธีกินยอดนิยมคือเทจากถุงใส่ปากเลย ถ้าใครเทใส่จานแล้วตักกินถือว่าเชยสุดๆ ค่ะ ขี้มอดที่อำเภอเมืองสงขลาหาได้ตามร้านขายของที่ระลึกค่ะ หวานเค็มมันกินเพลินดีนักแล ขนมขี้มอดนี้ดิฉันคิดว่าภาคกลางก็น่าจะมีแต่เพื่อนที่ทำงานบอกว่าไม่เคยเห็นค่ะ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 11 ก.ย. 07, 17:01
ตามรันกระทู้เก่าๆให้หายคิดถึงนะคะ ช่วงนี้มีเวลามากแล้ว จะไปหาขนมไทยอร่อยๆมาฝากกันอีกค่ะ 


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: agree ที่ 11 ก.ย. 07, 19:07
นี่ใช่ขนมลืมกลืนหรือเปล่าครับ ?


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ย. 07, 21:10
สวัสดีค่ะคุณตูก้า ไม่ได้เจอกันเสียนาน
เว็บนี้มีรูปขนมสวยๆค่ะ  เลยเอามาฝาก
 www.shc.ac.th/learning/kanomthai.htm
พร้อมภาพตัวอย่างข้างล่าง  ชอบขนมกลีบลำดวนไหมคะ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: agree ที่ 12 ก.ย. 07, 07:35
รู้สึกว่าขนมไทยอย่างกลีบลำดวนหาซื้อยากมากเลยนะครับในสมัยนี้


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: agree ที่ 14 ก.ย. 07, 18:32
เข้าไปในเว็บที่คุณเทาชมพูโพสต์ให้ เจอภาพ ๆ หนึ่งไม่มีชื่อบอก ขนมอะไรครับ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ย. 07, 18:48
ขนมลืมกลืน ค่ะ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: หนานคำ ที่ 16 ก.ย. 07, 11:32
ขนมต้มขาวแถวๆบ้านทุ่งริมแม่น้ำน้อยที่อยุธยาไส้ใช้น้ำตาลหม้อหรือน้ำตาลปีบก้อนเท่าปลายก้อย บางทีก็ใช้มะพร้าวทึนทึกขูดด้วยกระต่ายจีนกวนกับน้ำตาลทำนองเดียวกับหน้ากระฉีกเป็นไส้  เห็นขนมต้มไส้ถั่วแดงแล้วน้ำลายสอ มีโอกาสไปเมืองเพชรเมื่อใดคงต้องไปลองหามาชิมดูบ้าง


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 18 ก.ย. 07, 19:38
สวัสดีครับ อาจารย์เทาชมพู
อาจารย์pipat
คุณ crazyhorse
คุณนิลกังขา
คุณหนานคำ
คุณ tuka007
และอีกหลายๆท่านครับ



ผมนอนจมงานอยู่หลายเดือน
เข้ามากระทู้นี้อีกที...... หิวอีกแล้วครับ แหะๆ
คิดถึงภาพถ่ายขนมสวยๆหน้าตาน่ารับประทานของพี่ tuka มากครับ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ย. 07, 08:49
ขอต้อนรับกลับเรือนไทยค่ะ คุณติบอ
ตอนนี้งานน้อยลงบ้างหรือยัง    ถ้ามีเวลาว่างจะได้ชวนคุยเรื่องเก่าๆกันอีก


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 19 ก.ย. 07, 16:50
ขอบพระคุณครับอาจารย์
ช่วงนี้งานผมมากบ้างน้อยบ้างไปตามระเบียบครับ
แต่ที่เกือบสัปดาห์มานี้ได้เข้ามานั่งจุ้มปุ๊กเล่นอินเตอร์เนตจนเก้าอี้บุ่ม
เพราะลำไส้ไม่ค่อยดีอยู่ครับ
ออกจากบ้านไปซุกซนที่ไหนไม่ได้ครับผม :'(
พี่คนนึงฝากค้นหนังสือที่หอสมุด ก็ยังค้นให้ไม่เสร็จเสียที


(แต่หลังจากช่วงนี้ไป งานคงน้อยลงแล้วล่ะครับ
เพราะผมโอนงานที่ต้องออกจากบ้านไปทำให้เพื่อนๆรุ่นเดียวกันไปหมดแล้วครับผม)


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: รัตติกาล ที่ 24 ก.ย. 07, 13:56
พูดถึงขนนไทย ต้องนี้ข้าวต้มมัด

ผมว่าอร่อยสุดแล้วละ มากมากด้วย
 ;D ;D ;D ;D


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: Mb. ที่ 24 ก.ย. 07, 21:19
เพิ่งได้เข้ามากระทู้นี้ ชอบขนมไทยๆที่หวานๆ อย่างสังขยา ฝอยทอง ทองหยิบมากๆเลยครับ
แต่หาเจ้าที่ทำดีๆลำบากเหมือนกัน บางเจ้าก็เคลือบน้ำตาลเสียจนขึ้นเป็นเกล็ดเชียว

ปล. เเจมเรื่องดอกไม้ของคุณติบอนิดหนึ่งนะครับ ดูเผินๆนึกว่าเป็นเหลืองกระบี่เหมือนกัน ถ้าสังเกตุดีๆแล้วถึงเป็นอย่างที่คุณกุรุกุลาว่า
แต่ต้นนี้ไม่เผือก เป็นได้แค่กึ่งเผือก (semi-alba) เพราะว่ายังมีจุดสีดำเหลืออยู่บนหลังคาครับ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 25 ก.ย. 07, 17:11
 ;D  สวัดดีค่ะคุณติบอ ....ไม่เจอนานมากมายเลย   คิดถึงคุณติบอเหมือนกันค่ะเวลาได้ทานขนมอร่อยๆ..อิอิ..พี่ตูก้าแอบทานเผื่อทุกครั้งนะคะ..
    เมื่อ อาทิตย์ที่แล้วตูก้าไปเมืองเพชร เพราะญาติผู้ใหญ่เสีย ..เลยมีโอกาส ได้กินขนมเปียกปูนตำหรับเมืองเพชรมีมะพร้าวทึนทึกขูดโรยหน้าด้วยงาดำป่นคั่วเกลือพอเค็มปะแล่ม เวลากินแล้วนอกจากรสหวานของขนมเปียกปูน ยังมีความมันจากมะพร้าวขูด รสเค็มนิดๆ ยังจะหอมกลิ่นขนมเปียกปูนพร้อมกลิ่นงาดำคั่ว.... ฮื้มมมมม ..อร่อยมากเลยค่ะ ((พี่ตูก้าชิมเผื่อน้องติบอไป 2 ห่อ นะคะ..อิอิ))  แล้วจะเอารูปมาฝากวันหลังนะคะ ;D


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: agree ที่ 25 ก.ย. 07, 17:25
ขนมชั้น กับ ขนมเปียกปูน มีวิธีทำที่คล้าย ๆ กันหรือเปล่าครับ


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 26 ก.ย. 07, 12:44
ไม่เคยทำเหมือนกันค่ะ ทั้งขนมชั้นและขนมเปียกปูน  แต่ตามความคิดของตูก้าแล้วก้อความทรงจำเก่าๆสมัยคุณยายทำงานบุญที่บ้าน ขนมทั้งสองอย่างนี่วิธีการทำไม่เหมือนกันค่ะ

สวัสดีค่ะคุณรัตติกาล เห็นด้วยค่ะว่าข้าวต้มมัดก็อร่อยแต่ตูก้าชอบที่ใส้กล้วยออกงอมหน่อยนะคะจะหวาน ในข้าวเหนี่ยวใส่ถั่วดำด้วย อร่อยมากเลยค่ะ  ..เมื่อสมัยวัยรุ่นตูก้าเคยพักอยู่บ้านเพื่อนที่เป็นคนใต้ ช่วยคุณแม่เพื่อนทำข้าวต้มมัดขายแถวห้วยขวาง จนเป็นความรู้ติดตัวเคยนำไปใช้เลี้ยงชีพเมื่อยามตกงานอยู่พักหนึ่งเลยค่ะ..คนใต้เค้าไม่เรียกข้าวต้มมัดค่ะ เค้าเรียกข้าวเหนี่ยวห่อกล้วย..ตอนแรกๆที่คุณแม่เพื่อนพูดถึงตูก้า งง มากค่ะ ไม่รู้ว่ามันคือขนมอะไร พอคุณแม่เพื่อนทำจึงถึงบางอ้อว่า ข้าวต้มมัดนี่เอง

สวัสดีคุณหนานคำด้วยค่ะ แวะเมืองเพชรเมื่อไหร่อย่าลืมหาทานนะคะขนมต้มกับขนมเปียกปูน ตำหรับเมืองเพชร  ;D


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: Plearn ที่ 01 พ.ย. 09, 02:02
เพิ่งได้อ่านกระทู้นี้ค่ะ เป็นกระทู้ที่ไม่เกรงใจกันจริง ๆ ยิ่งอ่านยิ่งรู้สึกว่าอยากทาน

ขอเพิ่มเติมสักนิดนะค่ะ

ขนมไทย ส่วนมาก มักจะมีส่วนผสมของ แป้ง น้ำตาล มะพร้าว เป็นหลัก
ส่วนขนมตระกูลทอง ก็จะมีส่วนผสมของไข่ เพิ่มเติมเข้ามา

ถ้าจะให้แนะนำขนมอยากแนะนำ ขนมสี่ถ้วย ค่ะ
เป็นขนมโบราณ ทานกับน้ำเชื่อม ใส่น้ำแข็ง ที่มาพร้อมกันสี่ถ้วยและมีชื่อคล้องจองกัน
ไข่กบ (เม็ดแมงลัก)
นกปล่อย (ลอดช่อง)
นางลอย (ข้าวตอก)
อ้ายตื้อ (ข้าวเหนียวดำ)
มีโอกาสก็ลองหามาชิมนะค่ะ

ขนมไทย มีให้ชิมอีกเยอะค่ะ แล้วจะหาขนมแปลก ๆ มาให้ชิมอีกนะค่ะ






กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 02 พ.ย. 09, 12:42
เข้ามาอ่านกระทู้นี้ตอนเที่ยง ขนมบางอย่างไม่รู้จักจริงๆครับ เช่น ขนมโมทกะ ขนมกุมภามาศ ขนมไส้ไก่ ขนมหน้าเตียง ขนมมัสกอด

ท่านคห.ที่ 45 ครับ คห.ของท่านเป็นเรื่องของข้าวเม่าคลุก กับข้าวเม่าคั่ว ครับผม

เมื่อเด็กๆเคยทานข้าวแขก ใส่กระทง ข้างล่างเป็นข้าวแฉะๆ น่าจะหุงด้วยกระทิ ข้างบนเป็นเหมือนครีมแบบหน้าตะโก้ แต่สีเหลืองๆมีหอมหรือกระเทียมโรยอยู่ด้วย ได้ทานครั้งสุดท้ายน่าจะประมาณปี 2483 ตอนคูณแม่พาไปเที่ยวงานภูเขาทอง(แล้วขอดูละครลิงไม่ยอมกล้บ) เดี๋ยวนี้ไม่มีขาย ไปเมืองแขกก็พยายามหา แต่ไม่เจอครับผม ท่านผู้ใดทราบที่ขายในกทม.มั่งเอ่ย

ท่านคห.58 ครับ ผมก็โม่แป้งทำขนมครกบ่อยๆครับ สมัยยังโม่ไหวครับ

วันก่อนไปเดินเล่นที่ถนนข้าวสาร เห็นข้าวจี่ ก็เลยบอกคนขายว่า หนูขอซื้อข้าวจี่ หน่อย คนขายบอกว่า ไม่ใช่ ลุง อันนี้ข้าวเหนียวปิ้ง

อ้อ เคยเถียงกับท่านดร.สมเกียรติฯ เรื่องไข่หงษ์กับไข่เห....ครับผม ท่านว่าอันเดียวกัน ผมว่าไม่ใช่ ครับผม เพราะเท่าที่ผมเคยเรียก ถ้าไข่หงษ์ เปลือกจะแข็งและฉาบน้ำตาลครับ ถ้าไข่เห.จะใช้สาคูเป็นเปลือกไข่ครับ นุ่ม สีออกน้ำตาล และไม่มีอะไรฉาบครับผม


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 พ.ย. 09, 13:50
กำลังค้นตำราทำกับข้าวของเหล่ากุลสตรีในขุนช้างขุนแผนอยู่พอดี

จึงยื่นหน้าเข้ามานิดหนึ่งเจ้าค่ะ



ล่าเตียงคือ ของว่างคาว    
ร่างแหทำจากไข่เป็ดตีพอแตก  ใช้นิ้วจุ่มโรยขวางไปขวางมาในกะทะที่ทาน้ำมันไว้นิดหน่อย  
ห่อไส้ที่ทำจากกุ้งสับผสมกระเทียมรากผักชีและเกลือค่ะ



มัสกอด ก็คือ เค้กชนิดหนึ่ง  ใส่ทั้งไข่ขาวไข่แดง  ตีหรือ ชักกับน้ำตาล  ใส่แป้งสาลีหน่อยหนึ่ง  ไม่มาก  เทลงในพิมพ์ที่ทาน้ำมันไว้แล้ว
พอขนมจวนสุกก็ทาหน้าด้วยไข่ขาวไข่แดงน้ำตาลทรายใส่มะนาวนิดหนึ่ง  อบต่อก็สุก   ใส่น้ำฝางหน้าก็จะเป็นสีชมพู

ชักไข่  คือการ ตีไข่ แบบกึ่งอุตสาหกรรม    มีเชือกผูกโยงไว้กับที่ตีไข่     กระตุกถี่ ๆ
ขดลวดก็จะกดลงแล้วสปริงกลับ        เคล็ดคือต้องเพิ่มความเร็วขึ้นเรื่อยๆ       จนไข่ตั้งยอดแข็ง

สมัยโน้นไม่มีเครื่องตีไข่นี่คะ

ขืนนั่งตี  คนที่ตีไข่ก็จะเหนื่อยตายเสียก่อน  หรือร้องไห้เสียน้ำตา  เรียกว่าน้ำตาเรี่ยน้ำตาราด เพราะเมื่อยต้นแขน
ขืนมาวานแม่ช้อยตีไข่     แล้วแม่พลอยมาช่วย      ขนมจะแยกตัว

เรื่องขนมไข่เหี้ยนั้นไม่เคยได้ยินรายละเอียด


กระทู้: ขนมไทย
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 02 พ.ย. 09, 15:06
ฮิ ฮิ ศุกร์ เสาร์ ผมจะไปบริหารร้านคารา...ที่นั่นจะมีรูปปั้นท่านพิ..ครับผม ดูของที่เจ้าแม่ผม เธอถวาย แล้วสงสัยครับ(แต่มิกล้าเอ่ยปาก) มีใครที่จะแนะนำได้ไหมครับว่าท่านน่าจะนิยมวัฒนธรรมอาหาร แบบไหน สั้นๆคือ ควรจะถวายแบบไหนน่ะครับ (ถ้านอกเรื่องกราบขออภัยด้วยนะครับ ที่จริงว่าจะเข้าไปเรียนถาม ในห้องวัฒนธรรมอินเดีย-ไทย แต่เขาตัวแดงครับผม)
มานิต