เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: sakoln1 ที่ 09 ม.ค. 12, 11:56



กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: sakoln1 ที่ 09 ม.ค. 12, 11:56
  ผมสงสัยว่าในปัจจุบันหนังสือของก.ศ.ร.หายากมากและราคาแพงมาก ทั้งที่ท่านก็ทำหนังสือตลอดอายุของท่าน(คาดว่าไม่ต่ำกว่า30ปี)
แต่กลับกลายว่าในปัจจุบันหาหนังสือของท่านไม่ได้ คุณเทาชมพูก็เคยเขียนเหมือนกันว่าถูกเผา ถ้าเป็นจริงอยู่ในช่วงเวลาไหน ช่วยอธิบายด้วยครับ


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ม.ค. 12, 14:13
ปัจจัยที่ทำให้หนังสือของ ก.ศ.ร. กุหลาบมีราคา

๑. ความนิยมในตัว ก.ศ.ร. ที่ทำให้เกิดการเสาะหาหนังสือมาเป็นสมบัติของตัวเองมากขึ้นในหมู่นักสะสมหนังสือเก่า และมิใคร่จะยอมปล่อยหนังสือออกมาในวงการเท่าใดนัก บางท่านเก็บหนังสือมิใช่ฉบับเดียว หากแต่มีหลายฉบับ

๒. อายุของหนังสือทำให้คุณภาพกระดาษสลายตามกาลเวลา ทำให้หนังสือเก่าเหลือน้อย

๓. ไม่ใช่นักสะสมในประเทศเท่านั้นที่ชมชอบหนังสือเก่าของไทย นักสะสมชาวต่างประเทศก็ล้วนแสวงหาไม่น้อยไปกว่ากัน อีกทั้งมีเงินหนามากกว่าเสียด้วย ดังนั้นแล้วคาดว่าหนังสือดี ๆ ราคาแพง ๆ ย่อมตกไปอยู่ต่างประเทศได้ง่ายกว่า

ทั้งนี้ล้วนป็นปัจจัยทำให้ปริมาณการหมุนเวียนของหนังสือเก่า ก.ศ.ร. ดูเหมือนมีน้อยและหายาก เมื่อหายาก ก็เป็นไปตามกลไก อุปสงค์ อุปทาน สามารถเบ่งราคาได้เมื่อเป็นของหายากครับ

สำหรับเรื่องการเผาหนังสือของ ก.ศ.ร. ยินดีรับฟังสมาชิกท่านอื่นต่อไป


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 09 ม.ค. 12, 14:48
จำได้ว่าเคยอ่านพบเรื่องนี้เช่นกัน

ไปค้นและอ่านแบบผ่านตาในหนังสือ จดหมายเหตุเรื่องไต่สวนนายกุหลาบ ฉบับ pdf ก็ไม่พบเรื่องนี้





กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ม.ค. 12, 15:08
หนังสือเก่าแพงหรือไม่แพง ยังมีปัจจัยเสริมอีกคือ คุณภาพของหนังสือ และอายุของหนังสือที่ส่วนมากจะเล่นหากันในสมัยรัชกาลที่ ๔-๖ หาหากหนังสือไม่บอบช้ำ ไม่มีรอยพับ ก็ย่อมเบ่งราคาได้

โรงพิมพ์หนังสือก็เป็นปัจจัยที่บ่งบอกถึงคุณภาพงานได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น

โรงพิมพ์ครูสมิท
โรงพิมพ์บ้านพระเทพลู
โรงพิมพ์นายสิน
โรงพิมพ์วัชรินทร์
โรงพิมพ์นายทเพ
โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ
โรงพิมพ์พัสดุอุษมะยนต์
โรงพิมพ์พานิชเจริญศรี


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 ม.ค. 12, 16:14



        ในฐานะนั่งเล่นอยู่ในเรือนมานานแล้ว     ไม่ค่อยได้ทำประโยชน์สมใจนึก     จึงเรียนขออนุญาตตอบแทนท่านเจ้าของเรือน

เพราะจู่ๆจะบุกมาชวนท่านผุ้ใหญ่ไปเล่นเพลงเรือได้อย่างไร    อย่างน้อยที่สุดดิฉันก็นั่งปัดฝุ่นหนังสือเก่าอยู่นอกชาน

วันนี้ก็ไปตามหนังสือหายากแถวพัฒนาการมา  ได้มา ๕ เล่ม   เป็นภาษาอังกฤษ ๑ เล่ม
     

        ความเข้าใจผิดที่ว่าหนังสือต้องห้ามทั้งหลายมักโดนเผา  มาจากการทำลายหนังสือครั้งใหญ่ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศจีน

ยึดไปเผาจนที่ตำราแพทย์ศาสตร์เหลือแต่ตำราตอนเป็ดตอนไก่


       เมืองไทยนั้น   มีคนดีมีสติปัญญามาปกครองบ้านเมืองเรื่อยมา     ท่านเห็นว่าหนังสือกฎหมายจะเอื้อผลประโยชน์ให้กับต่างชาติ 

จะกระทบกระเทือนการเจรจาต่อรองต่าง ๆ  ท่านก็สั่งให้เก็บเสียบ้าง   โดยจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้พิมพ์เป็นค่าจ้างค่าออนไป     

เรื่องที่สมัยเจ็ดแปดปีก่อนเขียนกันมาๆอย่างผิด ๆ  จนหวิดจะถูก  คือ หนังสือกฎหมายของนายโหมด

เขียนว่าเผาทั้งนั้น           วารสารที่ลงเรื่องนี้มีการ อับเดท  หลายครั้ง  และในที่สุดก็ถูกต้องที่ว่าจะนำไปบรรจุเจดีย์แต่ยังไม่ได้บรรจุ  เลยคืนเจ้าของไป

เจ้าของคือนายโหมดท่านไม่ได้เดือนร้อนจิตใจดังไฟผลาญแต่ประการใด    เพราะท่านเป็นขุนนางตระกูลผู้ภักดี  และสตางค์ก็เยอะ  ขุดหลุมฝังไว้ข้างเว็จถมไป

เรื่องลูกท่านไปแต่งงานกับลูกฝรั่งเข้าก็ผิดจริงนั่นแหละ     พี่น้องท่านสามสี่คนก็ยังกตัญญูต่อเจ้าแผ่นดิน         ต่อมาก็ได้รับราชการกันใหม่

ตัดหนังสือประวัติตัวเองออกไป ๑ หน้าเท่านั้นเอง


        ก.ศ.ร. กุหลาบ  หาหนังสือมาทั้งชีวิต  ตั้งแต่ท่านบวชเณร    ท่านคลานเข้าไปเก็บจดหมายที่พระสงฆ์โยนทิ้ง

        หนังสือที่ท่านนำไปแสดงที่ห้องเลขที่ ๑๗   ครูสมิทก็ยืมไปพิมพ์ตั้งหลายเรื่อง       ลงไว้มั่นคงมายืมมาจากห้อง ๑๗ ในงานแสดงสินค้า

รายชื่อหนังสือ คุณอ้วนธงขัยเธอก็พิมพ์ไว้ยาวเหยียดเชียว


        เมื่อก.ศ.ร. กุหลาาบ สึกมาหลังจากบวชพระ  อายุ ๒๗   ท่านก็พิมพ์หนังสือกฎหมายนายโหมดขึ้นเป็นครั้งแรก   บรัดเลก็รับพิมพ์ต่อไป 

ใครโมเมว่าบรัดเลพิมพ์ก่อน   ใช้หลักฐานอะไรคะ



กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 ม.ค. 12, 16:31


        หนังสือของ ก.ศ.ร. กุหลาบ  เป็นหนังสือระดับนักสะสมงอนคนขาย      เพราะไปขายให้นักอ่านหน้าใหม่

นักอ่านมีขบวนการสนับสนุน   อ่านกันตั้งแต่ก.ศ.ร. อาบน้ำในอ่างเคลือบสีเหลืองขอบเขียว   นุ่งผ้าผืนสั้น ๆ

ใส่ทองเต็มตัว    มีพริกชี้ฟ้าเขียวๆแดง ๆคาดเอวด้วย   เพราะท่านอยู่กับเจ้านายฝ่ายใน   ท่านเลี้ยงเพื่อให้บวชให้

นับเป็นบุพการีผู้ทำคุณให้เป็นคนแรก              ก.ศ.ร. กุหลาบก็บังอาจคุยไว้หน่อยว่า "พระมารดาฉันนั้นเป็นเจ้า"

เป็นมหาดเล็กไล่กา        ต่อมาท่านก็เขียนหนังสือขาย    เขียนซ้ำกันจังเลย  เพราะถอดออกมาจากสยามประเภททุกบท


        เรื่องก.ศ.ร. กุหลาบนี้    เล่ากันได้นาน     รับรองไม่มีซ้ำกับคนอื่น
         


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 ม.ค. 12, 16:48


        สมัยรัชกาลที่ ๔          ก.ศ.ร. พิมพ์ คำประกาศของทางการออกขายหลายเล่ม         คนขายก็ตื่นเต้นว่าหนังสือหายาก

เพราะความที่ตัวเองไม่เคยอ่าน         เก็บเศษผุ ๆ ของหนังสือมาขาย   ก็ยังขายได้ขายดี        คนที่มีสยามประเภทเล่ม ๗ ขึ้นไปก็นั่งทำหน้าเฉยๆ

ไม่มีสัมพันธไมตรีกันอย่างแรง  ฉันจะไม่แอะเลยฉันเป็นหนึ่งในสามที่มีครบชุด     สองในสามคนนี้รับมรดกบิดามาคนหนึ่ง   รับมรดกญาติผู้ใหญ่ที่เป็นคุณข้างในมาคนหนึ่ง

ลำพังตนเองคงไม่มีกำลังพอ


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ม.ค. 12, 20:09
เข้ามาฟังคุณวันดีเล่าเรื่อง ก.ศ.ร. เมื่อเยาว์วัยกับอ่างน้ำ สมบัติอันล้ำค่าติดตัวมาแต่เด็ก ทราบเช่นกันว่าเป็นเด็กที่ถูกอุปการะและเติบโตในรั้วในวัง แต่ที่สงสัยที่เอาพริกชี้ฟ้าเขียว ๆ แดง ๆ มาคาดเอวไว้ ก็ชวนสงสัยอยู่  ???

อันที่จริงความคิดของ ก.ศ.ร. กุหลาบนั้นนับว่าล้ำสมัยเกินสังคมในยุคดังกล่าวจะคิดทัน เสมือนออกเกียร์ออโต้มาขับ ทุกคนตามกันไม่ทัน


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ม.ค. 12, 20:22
หนังสือของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ไม่มีใครสั่งให้เผา

สิริ ประชาลักษณ์ ให้ความเห็นไว้ในเรื่อง "ก.ศ.ร.กุหลาบ : ผู้ดิ้นรนเพื่ออารยธรรมเยี่ยงโลก" ในหนังสือ "หลังเทวาลัย" ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่า

"เป็นเรื่องประหลาดและน่าเศร้าที่รัฐบาลสยามทำตัวเป็นปฏิปักษ์คอยจองล้างจองผลาญบุคคลผู้ใฝ่ความรู้ท่านนี้ ในทำเนียบ "รายนามหนังสือพิมพ์ข่าวซึ่งออกเป็นระยะในประเทศสยาม" ซึ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อวันที่  ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๔ ไม่ปรากฏว่ามีนาม "สยามประเภท" อยู่เลย!  รัฐบาลสยามปฏิเสธหนังสือทุกเล่มของท่าน ก.ศ.ร.กุหลาบ กล่าวว่าไม่ใช่ "หนังสือ" (ทำนองเดียวกับงานเขียน ๒ เล่มของแหม่มแอนนา ซึ่งรัฐบาลสยามใช้ความพยายามทุกวิถีทางขัดขวางมิให้มีการจัดพิมพ์ขึ้น) หนังสือของท่านจึงหาอ่านได้ยากจนทุกวันนี้ เพราะมันถูกนำไปใส่หีบลั่นกุญแจ และติดป้าย "ทรงอายัด" ห้ามประชาชนอ่าน!!  เมื่อมีผู้ไปขอค้นคว้า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ องค์สภานายกหอพระสมุด ทรงให้พิมพ์หนังสือว่าด้วยเรื่อง "จดหมายเหตุเรื่องไต่สวนนายกุหลาบ" ออกมาเผยแพร่แทน ภาพของท่าน ก.ศ.ร.กุหลาบจึงเลอะเลือนไป และมีอยู่ ๒ ทางสำหรับอนุชนรุ่นต่อมา นั่นคือทางแรกไม่ทราบและไม่รู้จักว่าท่าน ก.ศ.ร.กุหลาบ เป็นใคร แม้แต่ชื่อก็ไม่เคยได้ยิน หรือมิฉะนั้น,ในทางที่สอง ถ้าจะรู้จักก็รู้จักในฐานะที่ท่านเป็นนัก "กุ" ผู้มีสติไม่สมบูรณ์นัก"


 :-X

แต่ถูกกระทำเทียบเท่ากับการเผา

 :(


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ม.ค. 12, 20:38
ถ้าที่ไหนเผาหนังสือกันได้ ก็ไม่ต้องแปลกใจที่ต่อไปจะเผาคน”
“Where they have burned books, they will end in burning human beings.”
ไฮน์ริช ไฮเนอ, จากบทละคร Almansor (1821)

:o


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 ม.ค. 12, 22:02


คุณหนุ่ม!!!        สายห้อยเอวทำด้วยทองคำลงยาค่ะ


        ก.ศ.ร. กุหลาบ   ภูมิใจในการมีหนังสือมากกว่าใคร ๆ     ในบั้นปลายของชีวิต   ท่านแต่งงานใหม่อีกหนหนึ่ง

ได้ข่าวมาจาก น.ส.พ. ในสิงคโปร์     ที่พาดหัวหน้ารองแสดงความยินดี        ท่านคงหาคนไว้ปรนนิบัตินั่นเอง

หนังสือฝรั่งจะยกย่องคนหนังสือพิมพ์ด้วยกันไม่ใช่เรื่องแปลก      ความเข้าใจผิดของท่านที่ได้ข่าวมา แน่นอนท่านเป็นคนเขียนท่านก็ต้องรับผิด

แต่จะเป็นการซักถามแหล่งข่าวเรื่องงานพระศพ  แล้วชี้นำและสรุปเรื่องเองก็เป็นได้          หลายเรื่องในวังท่านก็คงสับสนอยู่เหมือนกัน

เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะจำได้ทุกเรื่องเพราะออกจากวังเมื่ออายุ ๑๓   


        ถ้าท่านไม่มัวพิมพ์หนังสือแจกในโอกาสต่าง ๆ   ท่านคงมีสตางค์  ใกล้เคียงกับเสมียนฝรั่งคนอื่น ๆ       และตัวคนเดียวเข็นสยามประเภทได้สิบกว่าปี 

สาแหรกต่างๆท่านได้นำมาลงก่อนใคร   ดูจากปีพิมพ์ของหนังสือก็พอ     ถ้าข้อมูลผิดพลาดทายาทก็คงนินทาท่านกันกระหึ่มเพราะเป็นเวลาที่ตระกูลอำมาตย์ดังๆ

มีอยู่ไม่กี่ตระกูล             

       
       คนไทยไม่เผาหนังสือหรอกค่ะ   จะข้ามกรายยังทำไม่ลง    อากาศร้อนอยู่แล้ว     

       


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ม.ค. 12, 10:40
  ผมสงสัยว่าในปัจจุบันหนังสือของก.ศ.ร.หายากมากและราคาแพงมาก ทั้งที่ท่านก็ทำหนังสือตลอดอายุของท่าน(คาดว่าไม่ต่ำกว่า30ปี)
แต่กลับกลายว่าในปัจจุบันหาหนังสือของท่านไม่ได้ คุณเทาชมพูก็เคยเขียนเหมือนกันว่าถูกเผา ถ้าเป็นจริงอยู่ในช่วงเวลาไหน ช่วยอธิบายด้วยครับ
ดิฉันเคยเขียนไว้ที่ไหนว่าถูกเผาคะ   กรุณาค้นหาให้ด้วย เพราะค้นเองแล้วไม่เจอ


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: sakoln1 ที่ 10 ม.ค. 12, 21:10
17 พ.ย. 2548 (10:35)
เมื่อเลิกทำหนังสือในวัยชรา นายกุหลาบเลิกทำหนังสือ แต่เลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างพิมพ์หนังสือ สิ่งพิมพ์ต่างๆและนามบัตร

ด้วยราคาถูกกว่าที่อื่น ทำให้มีผู้มาว่าจ้างไม่ขาดระยะ ก็พอเลี้ยงชีพได้แม้ว่ายากจนลงกว่าเมื่อวันต้นมากก็ตาม



ในบั้นปลาย นายกุหลาบเริ่มเลอะเลือน หนังสือสยามประเภทในยุคท้ายๆจึงผิดเพี้ยนไปอย่างมาก

ทำให้หนังสือสยามประเภทถูกเก็บและทำลาย เพื่อไม่ให้เป็นหลักฐานที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดอีกต่อไป

แต่ก็ยังมีจำนวนหนึ่งเหลือรอดอยู่เป็นสมบัติส่วนตัวของเอกชน จึงมีมาให้อ่านจนทุกวันนี้



นายกุหลาบถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อพ.ศ. 2464 ในรัชกาลที่ 6 อายุ 87 ปี
เทาชมพู   


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ม.ค. 12, 10:12
การรับรู้ข้อมูลว่าหนังสือของ ก.ศ.ร. นั้นถูกเผา อาจจะเป็นเพราะได้ข้อมูลในเชิงที่ว่า

"โรงพิมพ์สยามประเภทของนายกุหลาบได้เกิดเพลิงไหม้"...(เอนก นาวิกมูล) ซึ่งทำให้ผลงาน สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ได้รับความเสียหายจำนวนมาก อาจจะมีการพูดกันไปว่าเอกสารโดนเผา ๆ ๆ จนเกิดความเข้าใจผิดดังกล่าวได้


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 11 ม.ค. 12, 11:01
17 พ.ย. 2548 (10:35)

ในบั้นปลาย นายกุหลาบเริ่มเลอะเลือน หนังสือสยามประเภทในยุคท้ายๆจึงผิดเพี้ยนไปอย่างมาก

ทำให้หนังสือสยามประเภทถูกเก็บและทำลาย เพื่อไม่ให้เป็นหลักฐานที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดอีกต่อไป




เท่าที่อ่านนะครับ ไม่เห็นมีคำว่า "เผา" เลยสักคำเดียว

"ถูกเก็บและทำลาย" อาจจะไม่ได้หมายความว่า "เผา" นะครับ  :o


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ม.ค. 12, 11:08
17 พ.ย. 2548 (10:35)

ในบั้นปลาย นายกุหลาบเริ่มเลอะเลือน หนังสือสยามประเภทในยุคท้ายๆจึงผิดเพี้ยนไปอย่างมาก

ทำให้หนังสือสยามประเภทถูกเก็บและทำลาย เพื่อไม่ให้เป็นหลักฐานที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดอีกต่อไป




เท่าที่อ่านนะครับ ไม่เห็นมีคำว่า "เผา" เลยสักคำเดียว

"ถูกเก็บและทำลาย" อาจจะไม่ได้หมายความว่า "เผา" นะครับ  :o

นี่คุณอาร์ต ทำยังกะอยู่สมัยจิ๋นซีหว่างตี้  ;D..... หนังสือสยามประเภท ต่างตกอยู่ในมือบรรดาเศรษฐีและนักเล่นหนังสือเก่ามิใช่หรือท่าน  ;D


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ม.ค. 12, 11:10
หนังสือเล่มนั้นต่างหากที่มีคำว่า  "เผา"

ราชกิจจาปี วันอาทิตย์ เดือน ๙  แรม ๕ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๒๑      ลงว่า
หนังสือนิราศหนองคายที่ตีพิมพ์เย็บเป็นเล่มไว้นั้น  ใครได้ซื้อมาอ่านมาฟัง  ให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง 
เก็บเอามาเผาไฟเสียให้สิ้น  อย่าให้มีแบบฉบับเหลืออยู่ได้

ให้เอาตัวอ้ายทิมขุนพิพิธภักดี ในกรมพระสุรัสวดี เป็นคนคิดนิราศหนองคาย ถ้อยคำฟุ้งซ่านร่านระเหลือเกินมากนัก ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๕๐ จำคุกไว้ และหนังสือนิราศหนองคายที่ตีพิมพ์เย็บเป็นเล่มไว้นั้น ใครได้ซื้อมาอ่านมาฟัง ให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเก็บเอามาเผาไฟเสียให้สิ้น อย่าให้มีแบบฉบับเหลืออยู่ได้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จาก ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕ นำเบอร์ ๑๕๓
วันอาทิตย์เดือน ๙ แรม ๕ ค่ำ ปีขาล

ล้วนความจริงไม่แกล้งมาแต่งปด      ได้จำจดผูกพันจนวันกลับ
ถึงความร้ายการดีที่ลี้ลับ               ได้สดับเรื่องหมดจดจำมา
ซึ่งบางพวกไม่ได้ขึ้นไปทัพ             บางคนกลับผูกจิตริษยา
แล้วกล่าวโทษติฉินแกล้งนินทา        ค่อนขอดว่ากองทัพเสียยับเยิน

หลวงพัฒนพงษ์ภักดี (ทิม สุขยางค์)


Where they have burned books, they will end in burning human beings.
Dort, wo man Bücher verbrennt, verbrennt man am Ende auch Menschen.

Heinrich Heine
จากบทละคร Almansor (๑๘๒๑)

 :o


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 12, 11:21
ขอโทษคุณจขกท.ด้วยที่ยังค้นไม่เจอว่าอ้างอิงจากหนังสือเล่มไหนค่ะ    จำได้แต่ว่าเป็นหนังสือต้องห้าม  แต่ไม่คิดว่าจะถึงขั้นถูกเผาอย่างนิราศหนองคาย


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ม.ค. 12, 11:33

        หนังสือของก.ศ.ร. นั้น  เป็นหนังสือหายากจริง  แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหาไม่ได้

ในระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมานี้  มีนายหน้าหาหนังสือเก่า/นักสะสม ที่ขายหนังสือของ ก.ศ.ร. เสียเพลิน  

ฉายาที่เรียกกันคือ "คุณแว่นดำ"    เขามีรูปชุดต่างๆที่ขายไปแล้วด้วย   ทำให้หลายคนได้เห็นว่ามีชุดเหล่านี้อยู่จริง
  
ที่สามปีมานี้ไปทำธุรกิจส่วนตัวเสียแล้ว      

        เจ้าของร้านหนังสือเก่าแทบทุกคนเป็นคนสมัยใหม่   มีความรู้ที่ได้ศึกษามาเป็นอย่างดี

        นักสะสมหนังสือเก่าระดับอาวุโสผู้มีธุรกิจส่วนตัว   ก็ตามเก็บหนังสือของก.ศ.ร. กุหลาบ  และ นายวรรณกัน

มีอยู่รายหนึ่ง   น้ำท่วมบ้านเสียหายพอประมาณ    แต่โรงงานส่งออกท่วมจนมิดหลังคา    ได้ติดต่อดิฉันมาขอข้อมูล

เรื่อง "ตุลวิภาคพจนกิจ"   ที่เพิ่งไปเจอมาหยก ๆในราคาไม่แพง      โรงงานยังไม่ทันแห้งเลย

       กระดาษพิมพ์ในยุคต้นรัชกาลที่ ๔ นั้น  มาจากอเมริกาพร้อมกับเครื่องพิมพ์เลย       ต่อมาก็ใช้กระดาษจากฝรั่งเศส

ถ้าหนังสือรุ่นนั้นไม่เก็บดีจริงๆ   ประคองขึ้นอ่านก็แทบขาดกลางแล้วค่ะ     เท่าที่เห็นในสภาพดี  คือกรุที่เก็บในตู้ไม้เนื้อแข็งทั้งหนาและหนัก


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ม.ค. 12, 12:54
ขอโทษคุณจขกท.ด้วยที่ยังค้นไม่เจอว่าอ้างอิงจากหนังสือเล่มไหนค่ะ    จำได้แต่ว่าเป็นหนังสือต้องห้าม  แต่ไม่คิดว่าจะถึงขั้นถูกเผาอย่างนิราศหนองคาย

เมื่อเลิกทำหนังสือในวัยชรา  นายกุหลาบเลิกทำหนังสือ  แต่เลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างพิมพ์หนังสือ  สิ่งพิมพ์ต่างๆและนามบัตร

ด้วยราคาถูกกว่าที่อื่น ทำให้มีผู้มาว่าจ้างไม่ขาดระยะ  ก็พอเลี้ยงชีพได้แม้ว่ายากจนลงกว่าเมื่อวันต้นมากก็ตาม


ในบั้นปลาย นายกุหลาบเริ่มเลอะเลือน    หนังสือสยามประเภทในยุคท้ายๆจึงผิดเพี้ยนไปอย่างมาก

ทำให้หนังสือสยามประเภทถูกเก็บและทำลาย   เพื่อไม่ให้เป็นหลักฐานที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดอีกต่อไป

แต่ก็ยังมีจำนวนหนึ่งเหลือรอดอยู่เป็นสมบัติส่วนตัวของเอกชน   จึงมีมาให้อ่านจนทุกวันนี้


นายกุหลาบถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อพ.ศ. 2464 ในรัชกาลที่ 6   อายุ 87 ปี

คุณเทาชมพูคงอ้างอิงจากหนังสือ ก.ส.ร. กุหลาบ ของ คุณมนันยา ธนะภูมิ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๕ หน้า ๗๐-๗๑)

นายกุหลาบมีอายุยืนมากและยังได้เขียนหนังสือโดยอาศัยการค้นคว้าจากเอกสารประวัติศาสตร์และโบราณคดีของตนอยู่จนถึงบั้นปลายของชีวิต แต่ในเมื่อความจำเลอะเลือนเสียแล้ว ผลงานที่ปรากฏในระยะหลังการทำหนังสือสยามประเภทจึงไม่มีคุณค่าอะไรหรือผิดเพี้ยนไปจากความจริงอย่างมาก ดังนั้นจึงปรากฏว่าผู้มีอำนาจทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้สั่งเก็บและทำลายหนังสือของนายกุหลาบอย่างถอนรากถอนโคน   หนังสือของนายกุหลาบเท่าที่เหลือรอดมาได้ก็โดยการเก็บซ่อนตามบ้านต่าง ๆ ของบุตรหญิงหรือตามบ้านผู้ชอบสะสมของเก่าไม่กี่ท่าน ซึ่งเรื่องนี้นายกุหลาบได้บันทึกไว้และดูเหมือนจะเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในวงการผู้รักหนังสือ

คุณมนันยามีเชิงอรรถตอนนี้ไว้ด้วย

แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการสั่งเก็บและทำลายหนังสือเลยสักนิด

 ;D


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ม.ค. 12, 13:17
เชิงอรรถนี้ คุณมนันยาต้องการขยายความข้อความตอนท้ายนี้มากกว่า

ซึ่งเรื่องนี้นายกุหลาบได้บันทึกไว้และดูเหมือนจะเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในวงการผู้รักหนังสือ

ที่โรงพิมพ์ซึ่งเป็นที่อยู่ของนายกุหลาบด้วยนั้นมีสรรพตำรามาก เจ้านายหลายพระองค์เสด็จมาประทับคุยด้วยเป็นประจำในฐานะคนชอบหนังสือและวิชาความรู้ด้วยกัน เท่าที่บุตรหลานของนายกุหลาบจำได้มีกรมหมื่อนพงศาดิศรมหิป กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร ส่วนกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณนั้นโปรดนายกุหลาบมากกว่าใคร มักเสด็จมาคุยเวลาค่ำ ๆ เสมอ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพไม่เคยเสด็จมาหานายกุหลาบ แต่บุตรหลานในสกุลตฤษณานนท์กล่าวตรงกันว่าเคยให้มหาดเล็กถือลายพระหัตถ์มาถามนายกุหลาบเรื่องความรู้ต่าง ๆ หลายครั้ง ลายพระหัตถ์เหล่านั้นนายกุหลาบเคยเก็บรักษาไว้ แต่ต่อมาภายหลังไฟไหม้บ้านหลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ผู้เป็นหลาน จึงสูญไป

 ;D


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ม.ค. 12, 17:28
ผมทราบแต่ว่า  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าไว้ในหนังสือนิทานโบราณคดี
หรือในลายพระหัตถ์ประทานแก่เจ้าคุณอนุมานฯ ว่า  หนังสือนายกุหลาบนั้น
ที่หอพระสมุดมีอยู่  พระองค์ได้โปรดให้เจ้าหน้าที่หอพระสมุดใส่ตู้ลงกุญแจ
อายัดไว้ไม่ให้เอาออกให้บริการแก่ผู้ใด  การที่มีหนังสือนายกุหลาบที่หอพระสมุด
ก็เป็นเพราะไปตามข้อบังคับว่าต้องส่งหนังสือที่พิมพ์ให้หอพระสมุดด้วยเป็นหลักฐานการพิมพ์
ส่วนหอพระสมุดได้รับแล้ว จะให้บริการหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหอพระสมุด

กรณีหนังสือนายกุหลาบนั้น  แม้หอพระสมุดไม่ให้เอาออกบริการ 
แต่ก็ใช่ว่า  นอกหอพระสมุดจะไม่มีให้อ่าน  แต่หนังสือของนายกุหลาบ
เป็นหนังสือเล่มหนาเล่มใหญ่หรือเป็นชุด มีราคาไม่เบา คนทั่วไปคงซื้อหาไม่ไหว
ส่วนเล่มเล็กๆ น้อยๆ ก็มีบ้าง  แต่ก็มักจะสูญหายไปตามกาลเวลา
เพราะคนไทยมักเก็บหนังสือไม่ใคร่ดี  (บวกกับคุณภาพหนังสือของนายกุหลาบ
ก็ไม่สู้ดีมากนัก) ทำให้เก็บรักษาให้อยู่ในสภาพดีได้ยาก

หนังสือของนายกุหลาบ ไม่ได้มีเนื้อหาอันตรายมากขึ้นขนาดหนังสือบางประเภท
ที่มีการห้ามเผยแพร่ในยุคหนึ่ง   แต่เพราะความน่าเชื่อถือของตัวนายกุหลาบ
ซึ่งมีเหตุจากการออกหนังสือสยามประเภทก็ดี หนังสือพระประวัติ...ก็ดี
มีส่วนทำให้ชื่อเสียงนายกุหลาบตกต่ำลง  ในสยามประเภทเล่มหลังๆ  ผู้ที่เคยอ่านแล้ว
บอกว่า  อ่านไม่สนุก ไม่ค่อยมีเรื่องน่าสนใจอย่างเล่มต้นๆ และมีหน้าน้อยลง  เหมือนว่า
นายกุหลาบเริ่มหมดวัตถุดิบในการเขียน  (ที่สำคัญ จำนวนสมาชิกก็ถดถอยลงมาก
ซึ่งมีผลต่อต้นทุนในการพิมพ์ครั้งต่อๆ มาด้วย) แต่นายกุหลาบรักการเขียนพิมพ์หนังสือ
จึงยอมขาดทุนพิมพ์ต่อมาอีกหลายปี 

หนังสือนายกุหลาบนั้นแม้จริงก็มีที่เป็นคุณเป็นสาระที่หาอ่านจากหนังสือไม่ได้หลายเรื่อง
แต่เพราะนายกุหลาบมีตำหนิเรื่องความน่าเชื่อถือ  ทำให้การยอมรับข้อมูลที่นายกุหลาบเขียน
ย่อมไม่เป็นที่ยอมรับจากสังคมไทย   แม้จะมีจะผู้หยิบยืมข้อมูลนายกุหลาบมาใช้
(มากบ้างน้อยบ้าง บ้างก็คัดลงทั้งดุ้น) ก็ไม่กล้าอ้างว่าเอามาจากหนังสือนายกุหลาบ
เพราะเกรงว่าจะเสียชื่อตัวเอง  จนกระทั่งผ่านมาหลายสิบปี หรือเกือบศตวรรษ
จึงเริ่มมีคนเริ่มอ้างอิงหนังสือนายกุหลาบมากขึ้น  เป็นที่ยอมรับมากกว่าเดิมในระดับหนึ่ง
แต่ระยะเวลาที่ผ่านมา  ได้ทำให้หนังสือของนายกุหลาบสูญไปกับกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
ที่คงเหลืออยู่ก็มีน้อยมาก   และมีราคาซื้อขายในวงการสูงมาก  อันเป็นธรรมชาติของหนังสือเก่าหายาก


เรื่องเอาหนังสือนายกุหลาบไปเผานั้น  ยังไม่เคยได้ยินหรืออ่านจากที่ใด
ส่วนการทำลายนั้น  คงต้องหาหลักฐานอ้างอิงที่ไม่ใช่การพูดอ้างตามกันมา
ยิ่งถ้าได้หลักฐานร่วมสมัยด้วยยิ่งดี  จะได้น่าเชื่อถือ  หลักฐานชั้น ๒ ๓ ๔ ...
อ้างบ่อยๆ บางทีคนรุ่นหลังมาอ่านก็อาจคิดสงสัยว่า น่าเชื่อเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด
ทีนี้กระบวนขุดค้นพิสูจน์ความจริงก็จะเกิด  แล้วข้อเท็จจริงก็จะตามมา
ซึ่งหลายเรื่องก็ได้เกิดขึ้นแล้ว  เช่น สตรีสูงศักดิ์คนหนึ่งวายชนม์ด้วยเหตุอันใดแน่ เป็นต้น


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 12, 20:30
โทร.ไปถามคุณมนันยาเมื่อครู่นี้เอง  ถึงแหล่งข้อมูล เรื่องหนังสือนายกุหลาบถูกทำลาย

เรื่องนี้ไม่มีหลักฐานในหนังสือใดๆ แต่เป็นการบอกเล่าจากปากของหลานปู่นายกุหลาบ  ชื่อคุณหลวงอภิบาลบุริมสิทธิ์    ท่านเป็นบุตรของนายชาย บุตรชายนายกุหลาบ

คุณมนันยามีศักดิ์เป็นหลานของคุณหลวง  แต่ไม่ใช่หลานแท้ๆ     คุณตาของเธอเป็นบุตรของธิดานายกุหลาบที่ชื่อลูกจันทน์    ส่วนคุณยายเป็นธิดาของธิดานายกุหลาบอีกคนหนึ่งชื่อตลับ    สรุปว่าคุณตาคุณยายเป็นลูกพี่ลูกน้องสืบเชื้อสายจากนายกุหลาบทั้งคู่
ส่วนคุณหลวงอภิบาลเป็นน้องชายของคุณตลับอีกทีหนึ่ง
เมื่อคุณมนันยาอยากจะศึกษาเรื่องนายกุหลาบ  ได้ไปเรียนถามคุณหลวงอภิบาลฯ ขออ่านหนังสือของนายกุหลาบที่คุณหลวงอาจจะมีอยู่บ้าง   ก็ได้คำตอบว่า
" ไม่มีหรอก ในบ้าน  'ท่าน' สั่งให้ทำลายหมด"
แต่ ' ท่าน' ที่ว่านี้คือท่านไหน  คุณหลวงฯไม่ได้บอก คุณมนันยาก็ไม่ทราบ

ไม่รู้ว่าคำบอกเล่าของคุณหลวงอภิบาลฯ จะถือเป็นหลักฐานชั้นที่หนึ่งได้หรือไม่       แต่คุณมนันยายืนยันว่าเรื่องนี้เป็นที่รู้กันในบรรดาลูกหลานเครือญาติ  ไม่มีใครมีหนังสือนายกุหลาบอยู่ในครอบครองสักคน

แม้แต่ตอนที่คุณมนันยาไปที่หอสมุดแห่งชาติเพื่อหาหนังสือของนายกุหลาบมาอ่าน  ก็ได้รับแจ้งว่าอยู่ในห้องหนังสือต้องห้าม(ภาษาราชการเรียกว่าอะไรไม่ทราบ   ภาษาบอกเล่าเป็นคำนี้)  ถ้าจะเข้าไปอ่านต้องขออนุญาตจากผอ.หอสมุด ในขณะนั้นคือคุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ
คุณมนันยาก็ไปขออนุญาตคุณหญิง  ก็ได้รับอนุญาต   พบว่าหนังสือนายกุหลาบที่ถูกต้องห้ามนั้นมีอยู่หลายเล่ม หลายประเภท  ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือประเภทใดประเภทหนึ่ง      ห้ามถ่ายเอกสาร ต้องจดด้วยมือ ลอกข้อความออกมา


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ม.ค. 12, 21:19

อ้างอิงลำดับวงศ์ตระกูล ก.ศ.ร. กุหลาบ  กล่าวข้อความพิสดาร  โดย ก.ศ.ร. เป็นผู้เรียบเรียงเอง
พิมพ์ ๓๐๐ ฉบับ
สำหรับชำร่วยแถมพกญาติมิตรบันดาที่มาช่วยในการศพนาย ก.ศ.ร. กุหลาบ
ลงพิมพ์ไว้เป็นที่รฤก
กรุงเทพมหานคร
ร.. ๑๒๐


หน้า ๑๐๖ -  ๑๐๗

ธิดาเกิดณะวันพฤหัสบดีเดือนยี่ขึ้นสิบห้าค่ำ  ปีเถาะ  นพศกจุฬศักราช ๑๒๒๙ ปี  เวลา ๘ ทุ่มกับ ๙ นาที

พระองค์เจ้ากินรีประทานชื่อว่า  "ลูกจันทน์"     มารดาชื่อหุ่นเป็นภรรยาแต่งงาน

ลูกจันทน์มีสามีแต่งงานชื่อนายแช่ม   เป็นมหาดเล็กในพระราชวังบวร ฯ รัชกาลที่ ๕  กรุงเทพฯ 

และเป็นหลานพระยาโยธาเขื่อนขันธ์(โต)

แม่ลูกจันทน์ มีบุตรกับนายแช่ม ๕ คนเป็นคนชั้นที่ ๘

๑.   นายเชื้อ

๒.   นายชิต

๓.   เป็นหญิงไม่มีชื่อ

๔.   เป็นหญิงไม่มีชื่อ

๕   เป็นชายชื่อชวน


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ม.ค. 12, 21:25

อ้างอิงเดิม

ธิดาเกิดณะวันอาทิตย์เดือนอ้ายแรมเก้าค่ำ  ปีระกา  เบฯจศกจุฬศักราช ๑๒๓๕
เวลาเช้า ๓ โมงกับ ๔๐ นาที
พระองค์เจ้ากินรีประทานชื่อว่า  "ตลับ"   มารดาชื่อหุ่น  เป็นภรรยาแต่งงาน

แม่ตลับมีสามีชื่อนายถมยา  เป็นบุตรพระศรี(เป๋า)เจ้ากรมตำรวจภูธร เมืองนครราชสีมา

แม่ตลับมีบุตรหญิงชื่อแม่ดรุณ


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ม.ค. 12, 21:54
เรื่องนี้ไม่มีหลักฐานในหนังสือใดๆ แต่เป็นการบอกเล่าจากปากของหลานปู่นายกุหลาบ  ชื่อคุณหลวงอภิบาลบุริมสิทธิ์ ท่านเป็นบุตรของนายชาย บุตรชายนายกุหลาบ

ชื่อคุณหลวงอภิบาลบุริมศักดิ์  (นัดดา ตฤษณานนท์) กระมัง

 ;D


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ม.ค. 12, 22:39

ชีวประวัติส่วนตัว   บันทึกโดยตนเอง
หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ (นัดดา  ตฤษณานนท์)

เริ่มบันทึก  วันที่ ๒๔ กันยายน  พ.ศ. ๒๕๐๗

เรื่องราวของฝ่ายบิดาของคุณหลวงเป็นที่ทราบดีกันอยู่ทั่วไป      ขอคัดลอกทางมารดา



ตาชื่อ  นายชื่น  จรุงศรี(ผู้ใหญ่บ้าน)   ยายชื่อ นางหนู     แม่ชื่อสว่าง

ตากับยายเป็นเจ้าของตลาดที่ตั้งอยู่บนถนนทิพากกร  จังหวัดนครปฐม    บัดนี้ตลาดไม่มีแล้ว  เพราะถูกตัดเป็นถนนไปหมด


นัดดา เกิดที่บ้านถนนทิพากร  ตำบลตลาดเก่า  อำเภอเมือง  จังหวัดนครปฐม

เมื่ออายุได้ ๕ ขวบ  บิดาย้ายไปรับราชการ ณ จังหวัดชลบุรี   แม่และน้องสาว(นางหญิง  ทรัพยสาร)ก็ได้ติดตามไปอยู่ด้วย

บ้านพักเป็นบ้านเช่าอยู่ใกล้สพานศาลเจ้า


การศึกษานั้น   เรียนมูลบทบรรพกิจกับคุณเหรียญ  อัศวนนท์
ต่อมาเรียนที่โรงเรียนสตรีวิทยา  ถนนราชบพิธ

ต่อมาย้ายไปอยู่โรงเรียน บำรุงวิทยาของคุณแม่พันเอกหลวงสารานุประพันธ์(นวล  ปาจิณพยัคฆ์)

ต่อมาไปเรียนที่โรงเรียนวัดสุทัศน์        ตอนเย็นเรียนวิชาภาษาอังกฤษเพิ่มเติมที่โรงเรียน United School ของพันเอกพระยาวรรณศาสตร์พลยุทธ(ดาลูซ  ลุศนันท์)

คัดลอกมาฝากพอเป็นสังเขปค่ะ


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ม.ค. 12, 05:26



รองอำมาตย์เอก หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ (นัดดา  ตฤษณานนท์)

ชาตะ  วันที่ ๒๔ กันยายน  พ.ศ. ๒๔๔๑

มรณะ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๕๒๖

   
        น่าเสียดายที่คุณหลวงมิได้เล่าเรื่องปู่ของท่านไว้เพราะทันเห็นกัน

พี่น้องของคุณหลวง

๑.   เจ้าของประวัติ
๒.   นางหญิง  ทรัพยสาร
๓.   ด.ญ. ประคอง     ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๘ ขวบ
๔.   ด.ญ. สงวน   ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๕ ขวบ
๕.   ด.ช. อุดม   ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๑๔  ขวบ
๖.   นายประชุม  ตฤษณานนท์
๗.  น.ส. มานิตย์   ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๑๘ ปี
๘.  นางอนงค์  วัณณรถ   ภรรยา นายเชย วัณณรถ
๙   คุณหญิงโฉมศรี  กระจ่างเนตร  ภรรยา พลเรือเอก ศิริ  กระจ่างเนตร

น้องอีก ๔ คน  หญิง ๒  ชาย  ๒  เสียชีวิตตั้งแต่เล็กมาก


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ม.ค. 12, 05:50
        

ขออภัยที่เลี้ยวออกนอกเรื่องเล็กน้อย

ตามคคห ๓๑  ของคุณหลวงเล็ก

"อ้างบ่อยๆ บางทีคนรุ่นหลังมาอ่านก็อาจคิดสงสัยว่า น่าเชื่อเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด

ทีนี้กระบวนขุดค้นพิสูจน์ความจริงก็จะเกิด  แล้วข้อเท็จจริงก็จะตามมา

ซึ่งหลายเรื่องก็ได้เกิดขึ้นแล้ว  เช่น สตรีสูงศักดิ์คนหนึ่งวายชนม์ด้วยเหตุอันใดแน่ เป็นต้น"


         ขอเรียนคุณหลวงที่นับถือว่า   เรื่องราวของสตรีสูงศักดิ์อีกคนหนึ่ง  ที่แต่งกายเป็นชาย

ได้ลงเรือเดินสมุทรติดตามนักการทูตไทยผู้กำลังไปปฏิบัติราชการต่างประเทศ   จนก่อความยุ่งเหยิง

กระทั่งนักการทูตผู้นั้นต้องลาออกจากราชการและจำต้องออกจากสยามไป  คนรุ่นหลังก็ได้เขียนขึ้นแล้ว
        
รอคอยการตรวจสอบจากราชการ    นับถือในความความคิดที่แหลมคมของคนรุ่นหลังเป็นอันมาก   สมัยหนึ่งในพันทิป

มีการสนทนาเรื่องนี้กัน     แต่ครานั้น  ไม่มีใครรู้จักสตรีผู้นั้นเลย

        
        สักวันหนึ่งคงมีผู้เขียนเรื่องสตรี ...ที่ไปหว่านเสน่ห์แถวภูเขาทอง  มีคนตามกรอ  จนเจ้าพระยา ๑ คน  และ

พระยา ๑ คนเดือดร้อน  พร้อมหลักฐานอ้างอิง


      


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ม.ค. 12, 10:58
เลี้ยงตามคุณวันดีมาติด ๆ

       
         ขอเรียนคุณหลวงที่นับถือว่า   เรื่องราวของสตรีสูงศักดิ์อีกคนหนึ่ง  ที่แต่งกายเป็นชาย

ได้ลงเรือเดินสมุทรติดตามนักการทูตไทยผู้กำลังไปปฏิบัติราชการต่างประเทศ   จนก่อความยุ่งเหยิง

กระทั่งนักการทูตผู้นั้นต้องลาออกจากราชการและจำต้องออกจากสยามไป  คนรุ่นหลังก็ได้เขียนขึ้นแล้ว
        
รอคอยการตรวจสอบจากราชการ    นับถือในความความคิดที่แหลมคมของคนรุ่นหลังเป็นอันมาก   สมัยหนึ่งในพันทิป

มีการสนทนาเรื่องนี้กัน     แต่ครานั้น  ไม่มีใครรู้จักสตรีผู้นั้นเลย
 
      
        สักวันหนึ่งคงมีผู้เขียนเรื่องสตรี ...ที่ไปหว่านเสน่ห์แถวภูเขาทอง  มีคนตามกรอ  จนเจ้าพระยา ๑ คน  และ

พระยา ๑ คนเดือดร้อน  พร้อมหลักฐานอ้างอิง

คงเป็นกระทู้นี้ในพันทิป

ชีวิตดั่งนิยาย-พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ กระดูกสันหลังพระปิยะมหาราช?  (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/07/K8075368/K8075368.html)

 ;D


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ม.ค. 12, 11:44
       

        รับขวัญคุณเพ็ญชมพูด้วยกระทู้นี้

อะแฮ่ม  คุณเพ็ญชมพูคนเก่ง   โชคดีที่เราไม่เคยเล่นซ่อนหากันเนาะ

(มีเสียงกระแอมแถวนี้เกรียวเลยว่าจะไปซ่อนหลังพุ่มไม้ไหวหรือ)

ข้อมูลของดิฉันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาค่ะ  เพราะอ่านเพิ่มขึ้นก็ไปเจอเรื่องแปลก ๆ

เรื่องก.ศ.ร. กุหลาบ  ข้อมูลเก่าโกร๊กที่ใช้  คือที่อยู่ในอ้างอิงค่ะ  หน้า ๑๑๒  บอกจำนวนภรรยาว่ามี ๘ คน

บุตร  เป็นหญิง ๑๖  และ ชาย ๑    ตกโลหิตคนหนึ่ง 

ตอนที่ทำบัญชีเหลือบุตรหญิง ๕ คน  บุตรชายคนหนึ่งเท่านั้น


        หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านเรานี้   เมื่อ ๙๖  ปีมานี้   ลอกข่าวมาจากหนังสือเดลิเมล์  ว่า

ก.ศ.ร. กุหลาย  อายุ ๘๔ ปี  ได้สมรสกับ  แม่ จอม (ผู้เป็นหญิงงาม)  อายุ ๓๐ ปี   ทั้งบ่าวสาวได้ถ่ายรูปคู่ และจดทะเบียนตามกฎหมาย

หนังสือพิมพ์ว่า  "This couple has their picture taken and their names enrolled in the registered in accordance with religious and legal requirement on July 1".

อ้าว!??!      ทะเบียนอะไรกันเล่า            ตามธรรมเนียมฝรั่ง  หนังสือพิมพ์ก็อวยพรให้การสมรสผลิตทายาทออกมาอีกคน   ซึ่งจะเป็นคนที่ ๒๒

        เดลิเมล์จ๋า   นับผิดจ้ะ    เมื่อรวมหลานบุตรของบุตรถึงมี ๒๒ คนจ้ะ

        อ่านอะไรก็อ่านให้จบก่อนซิจ๊ะ

        นี่คือข้อมูลเก่าที่ไม่มีใครทันเห็น          ดิฉันไปเก็บมาจากตึกหลังที่ทำงานคุณวีมีค่ะ




กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ม.ค. 12, 12:09

เมื่อคุณมนันยาอยากจะศึกษาเรื่องนายกุหลาบ  ได้ไปเรียนถามคุณหลวงอภิบาลฯ
ขออ่านหนังสือของนายกุหลาบที่คุณหลวงอาจจะมีอยู่บ้าง   ก็ได้คำตอบว่า
" ไม่มีหรอก ในบ้าน  'ท่าน' สั่งให้ทำลายหมด"
แต่ ' ท่าน' ที่ว่านี้คือท่านไหน  คุณหลวงฯไม่ได้บอก คุณมนันยาก็ไม่ทราบ

ไม่รู้ว่าคำบอกเล่าของคุณหลวงอภิบาลฯ จะถือเป็นหลักฐานชั้นที่หนึ่งได้หรือไม่       
แต่คุณมนันยายืนยันว่าเรื่องนี้เป็นที่รู้กันในบรรดาลูกหลานเครือญาติ 
ไม่มีใครมีหนังสือนายกุหลาบอยู่ในครอบครองสักคน

แม้แต่ตอนที่คุณมนันยาไปที่หอสมุดแห่งชาติเพื่อหาหนังสือของนายกุหลาบมาอ่าน 
ก็ได้รับแจ้งว่าอยู่ในห้องหนังสือต้องห้าม(ภาษาราชการเรียกว่าอะไรไม่ทราบ   ภาษาบอกเล่าเป็นคำนี้) 
ถ้าจะเข้าไปอ่านต้องขออนุญาตจากผอ.หอสมุด ในขณะนั้นคือคุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ
คุณมนันยาก็ไปขออนุญาตคุณหญิง  ก็ได้รับอนุญาต   พบว่าหนังสือนายกุหลาบที่ถูกต้องห้ามนั้น
มีอยู่หลายเล่ม หลายประเภท  ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือประเภทใดประเภทหนึ่ง     
ห้ามถ่ายเอกสาร ต้องจดด้วยมือ ลอกข้อความออกมา

ถ้อยคำของพยานที่เคยใช้ชีวิตร่วมสมัยกับนายกุหลาบย่อมเป็นหลักฐานชั้นที่ ๑ ได้
และน่ารับฟังอยู่   แต่ก็ควรพิจารณาบริบทแวดล้อมจากการให้การของคุณหลวงอภิบาลฯ ด้วย
ผมไม่ทราบว่า  คุณมนันยาไปสอบถามจากหลวงอภิบาล เมื่อหลวงอภิบาลอายุได้เท่าไร
แต่คงจะห่างจากปีที่พิมพ์หนังสือ ก.ส.ร.กุหลาบ ครั้งแรก ๒๕๓๙  พอสมควรทีเดียว


อย่างไรก็ดี  สิ่งไม่ควรมองข้าม คือ ข้อมูลประวัติหลวงอภิบาลฯ (ทราบว่า นักสะสมตามหากันนัก)
ที่คุณวันดีได้เอามาลงไว้   บ่งบอกว่า  นายชาย  บิดา และหลวงอภิบาลฯ ไม่ได้อาศัยอยู่กับนายกุหลาบ
ในระยะเริ่มแรกที่นายกุหลาบเริ่มพิมพ์หนังสือสยามประเภท  กล่าวอย่างนี้  บางคนอาจจะแย้งว่า
ก็นายกุหลาบอ้างนายชายเป็นคนถามเอาความรู้ต่างๆ จากนายกุหลาบ ลงในสยามประเภทไม่ใช่หรือ
ข้อนี้แก้ได้ว่า  นายกุหลาบคงแต่งเอาชื่อนายชายมาเป็นตัวละครดำเนินเรื่องเท่านั้น
ตัวจริงนายชายคงรับราชการอยู่ต่างจังหวัด    เมื่อคุณหลวงอภิบาลฯ ติดตามบิดาไปอยู่ต่างจังหวัด
โอกาสที่จะได้รู้เห็นกิจการของนายกุหลาบก็คงเมื่อคุณหลวงอภิบาลเติบโตได้หลายขวบ
ถึงกระนั้นก็คงไม่ได้คลุกคลีอาศัยอยู่กับนายกุหลาบมากนัก  เพราะนายชายมีเรือนแล้ว
คงจะอาศัยอยู่บ้านต่างหาก  แต่คงได้ไปเยี่ยมนายกุหลาบบ้าง


ส่วนเรื่องทำลายหนังสือที่นายกุหลาบพิมพ์ไว้นั้น  ผมคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นภายหลังที่นายกุหลาบถึงแก่กรรม
เมื่อ ปี ๒๔๖๔   ตามที่มีคนค้นคว้าไว้  บอกว่า นายกุหลาบเลิกออกสยามประเภท เมื่อปี ๒๔๕๑
แต่จากนั้นก็ยังพิมพ์หนังสืออื่นๆ ออกมาอีก  ส่วนสยามประเภทที่เหลืออยู่ คงจะส่งขายตามร้านหนังสือ
แต่คงจะขายไม่สู้ดีนัก  เพราะสยามประเภทรวมเล่มรายปีแต่ละเล่ม มีราคาสูง  ประกอบกับ
หนังสือที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ พงศาวดาร หรือเรื่องเก่าๆ ในปลายรัชกาลที่ ๕ ก็มีพิมพ์ทยอยกันออกมา
โดยเฉพาะหนังสือของพอพระสมุด  มีทั้งพิมพ์แจกในงานศพสามัญชน และงานพระศพเจ้านาย
และโรงพิมพ์ต่างๆ ขอไปพิมพ์จำหน่าย  ซึ่งน่าจะถูกกว่าหนังสือสยามประเภทมาก
นั่นอาจจะเป็นเหตุให้นายกุหลาบหันมาพิมพืหนังสือเล่มเล็กและบางลง  เพื่อจะได้ขายได้ราคาไม่แพง
แต่เรื่องเก่าๆ ที่นายกุหลาบพิมพ์ขายนั้น  ก็ไม่ใช่เทรนด์  ที่คนที่พออ่านออกเขียนได้ในสังคมตอนนั้นสนใจ
เพราะในช่วงนั้น หนังสือพิมพ์ก็มีออกมามากหัว  หนังสือนิยายแปลก็เริ่มมีบ้างแล้ว
เรื่องอ่านเล่น  ก็มีหนังสือวัดเกาะเพราะหนักหนา ที่ราคาย่อมเยา  หนังสือนายกุหลาบจึงตกเทรนด์


เมื่อนายกุหลาบไม่มีทุนพิมพ์หนังสือต่อไปได้  อาจจะยุติกิจการโรงพิมพ์สยามประเภท
ประกอบกับอายุมากขึ้น  จึงไม่สะดวกที่จะทำงานโรงพิมพ์ต่อไป  กระนั้นหนังสือที่พิมพ์แล้ว
คงจะค้างอยู่ในโรงพิมพ์พอสมควร  แน่นอนว่า  ลูกหลานของนายกุหลาบคงจะไม่มีใครสนใจ
ที่จะดำเนินกิจการโรงพิมพ์ต่อจากบิดา  เพราะต่างมีกิจการอาชีพอื่นที่ดีกว่า ชำนาญกว่างานโรงพิมพ์
เมื่อนายกุหลาบถึงแก่กรรมแล้ว  มรดกในโรงพิมพ์ จึงไม่มีใครรับ  อาจจะต้องขายโรงพิมพ์ไป
แต่หนังสือในโรงพิมพ์นั้น  หากไม่ได้เอาไปให้โรงพิมพ์ใดรับไปขายต่อ   ลูกหลานก็คงทำลายหมด
เพื่อไม่ให้คนอื่นที่ไม่ใช่ลูกหลานเอาไปหาประโยชน์  วิธีการที่ดีที่สุดก็คือการเผาทำลาย
นั่นอาจจะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้หนังสือนายกุหลาบหมดสิ้นในครั้งนั้น


ส่วนต้นฉบับหนังสือนายกุหลาบ  หากไม่ถูกทำลาย  ก็คงจะเอาไปถวายวัดหรือหอพระสมุด
เพื่อเป็นกุศลอุทิศแก่นายกุหลาบ  

ส่วนโรงพิมพ์นายกุหลาบนั้น  ต่อมาก็กลายเป็นโรงพิมพ์ชื่อดังที่ออกหนังสือดีมีสาระประโยชน์
ซึ่งสมัยหนึ่งเจ้าคุณหนึ่ง คุณพระหนึ่ง คุณหลวงหนึ่ง  เป็นนักประพันธ์มีชื่อได้ส่งผลงานไปลงพิมพ์
อยู่บ่อยๆ


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ม.ค. 12, 14:15
ผมไม่ทราบว่า  คุณมนันยาไปสอบถามจากหลวงอภิบาล เมื่อหลวงอภิบาลอายุได้เท่าไร
แต่คงจะห่างจากปีที่พิมพ์หนังสือ ก.ส.ร.กุหลาบ ครั้งแรก ๒๕๓๙    พอสมควรทีเดียว

ที่ถูกต้องคือ

คุณเทาชมพูคงอ้างอิงจากหนังสือ ก.ส.ร. กุหลาบ ของ คุณมนันยา ธนะภูมิ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๕  หน้า ๗๐-๗๑)

รองอำมาตย์เอก หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ (นัดดา  ตฤษณานนท์)

ชาตะ  วันที่ ๒๔ กันยายน  พ.ศ. ๒๔๔๑


มรณะ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๕๒๖

นับถึงปีที่พิมพ์หนังสือ คุณหลวงฯ ก็อายุได้ ๘๔ ปี

คุณมนันยาน่าจะสอบถามข้อมูล่จากคุณหลวงอภิบาลฯ ก่อนหน้านั้นไม่นานนัก ซึ่งขณะนั้นคุณหลวงฯ ก็น่าจะมีอายุประมาณ ๘๐ ปี

 ;D


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ม.ค. 12, 16:23
คุณเพ็ญฯ มาช่วยแก้ ขอบคุณครับ  ผมใช้สลับไปสลับมาอยู่สองสามเล่ม
เลยจำพลาดไป

เอ แต่คุณเพ็ญฯ กรุณาช่วยหาข้อมูลให้หน่อยว่า คุณหญิงกุลทรัพย์ 
ได้เป็นผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติ ระหว่างปีใดถึงปีใด
เข้าใจว่าน่าจะเป็นราวๆ ปี ๒๕๒๐ หรือเปล่า

เพราะถ้าคุณมนันยาไปสอบถามคุณหลวงอภิบาลฯ ในช่วงก่อน
หรือช่วงที่คุณหญิงดำรงตำแหน่งผอ.หอสมุดแห่งชาติ 
คุณหลวงอภิบาล อายุได้เกือบ ๘๐ ปี หรือเกินกว่านั้นเล็กน้อย

เรื่องคำให้การของคุณหลวงอภิบาลนั้น  เท่าที่อ่านดูจากคำที่คุณเทาชมพู
ได้ถ่ายทอดมาจากคุณมนันยา   ส่อว่า  คุณอภิบาลอาจจะไม่ค่อยทราบข้อมูล
เกี่ยวกับนายกุหลาบมากนัก   ทำให้คุณมนันยาต้องไปหาข้อมูลถึงหอสมุดแห่งชาติ


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ม.ค. 12, 22:09
เอ แต่คุณเพ็ญฯ กรุณาช่วยหาข้อมูลให้หน่อยว่า คุณหญิงกุลทรัพย์  
ได้เป็นผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติ ระหว่างปีใดถึงปีใด
เข้าใจว่าน่าจะเป็นราวๆ ปี ๒๕๒๐ หรือเปล่า

คุณหลวงเล็กเข้าใจถูกแล้ว คุณหญิงกุลทรัพย์เป็นผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๐ - พ.ศ. ๒๕๒๙

เมื่อคุณมนันยาอยากจะศึกษาเรื่องนายกุหลาบ  ได้ไปเรียนถามคุณหลวงอภิบาลฯ ขออ่านหนังสือของนายกุหลาบที่คุณหลวงอาจจะมีอยู่บ้าง   ก็ได้คำตอบว่า
" ไม่มีหรอก ในบ้าน  'ท่าน' สั่งให้ทำลายหมด"
แต่ ' ท่าน' ที่ว่านี้คือท่านไหน  คุณหลวงฯไม่ได้บอก คุณมนันยาก็ไม่ทราบ

ถึงคุณหลวงอภิบาลฯ จะเคยมีหนังสือของนายกุหลาบ ก็คงสูญไปเพราะท่าน "ไฟ" แล้ว

แต่ต่อมาภายหลังไฟไหม้บ้านหลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ผู้เป็นหลาน จึงสูญไป

 ;D


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ม.ค. 12, 03:16


หนังสือที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพ
หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์​(นัดดา  ตฤษณานนท์)

ณ เมรุวัดธาตุทอง
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๗

หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์  อายุ ๒๓ ปี  ได้อุปสมบทหนึ่งพรรษา ณ วัดราชบพิธ


อนุสรณ์  ของ  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราข  สกลมหาสังฆปริณายก

         อาตมากับคุณหลวง  ได้อุปสมบทร่วมพระอุปัชฌาย์  คือเจ้าพระคุณ พระเจ้าวรวงศเธอ  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า

สกลมหาสังฆปรินายก  จำพรรษา ณ วัดราชบพิธ  อยู่กุฏิใกล้เคียงกัน  เมื่อพุทธซักราช ๒๔๖๔   จึงคุ้นเคยกันสนิทสนมในฐานะภิกษุรุ่นเดียวกัน

คุณหลวงอภิบาลบุริมศักดิ์   มีอัธยาศัยงาม  น่านับถือ   รักหมู่รักคณะเป็นอันดี    ได้จดจำนวกะภิกษุรุ่นเดียวในครั้งอุปสมบท  ตลอดชีวประวัติ

ตราบเท่าการสิ้นชีวิตของแต่ละคนไว้    จนถึงได้สั่งให้บุตรธิดาขอร้องอาตมา   ซึ่งเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดในสมัยอุปสมบท   ยังมีชีวิต

เหลืออยู่เพียงผู้เดียว   ได้กรุณาเป็นประธานนำไฟพระราชทานเพลิงศพ          นับว่าคุณหลวง ฯ มีนิสัยมั่นคงต่อสำนักอุปสมบทของตนมิขาดสาย

สมลักษณะอุบาสกโดยแท้ 





กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ม.ค. 12, 03:42


คำไว้อาลัยของญาติ

       อาศัยที่พี่หลวงเป็นคนชื่นบาน  มีอารมณ์ขันอยู่เสมอ   โรคภัยเบียดเบียนน้อย    จึงมีอายุ

ยืนยาวถึง ๘๕ - ๘๖ ปี        ในบั้นปลายของชีวิตก็มีความเป็นอยู่อย่างสงบ  สุขกาย  สุขใจ

ไม่มีกังวลห่วงใยใคร  เพราะลูก ๆ ทั้ง ๗ คน  มีครอบครัวเป็นหลักฐาน     ความเป็นอยู่เรียบร้อยสมบูรณ์

พูนสุข



ลูก ๆ

        คุณป๋าจากไป  เมื่ออายุ  ๘๕ ปี สองเดือน  ด้วยโรคหัวใจวาย


หลานปู่

       คุณปู่ปรกติแล้วจะเป็นคนช่างพูดช่างคุย  และมักจะมีเรื่องราวเกร็ดความรู้ของบรรพบุรุษมาเล่าให้หลาน ๆ ฟังเสมอ

โดยเฉพาะเมื่อหลานคนใดถามขึ้น   ท่านก็จะพอใจและพูดคุยด้วยความสนุกสนาน


หลานตา

       คุณตาเป็นนักสะสมตัวยง  โดยเฉพาะหนังสือ  ตุณตามีหนังสือเป็นตู้ ๆ    หนังสือส่วนใหญ่เก่ามากจนกระดาษเหลือง

เพราะเก็บไว้นานตั้งแต่คุณตายังหนุ่ม         หนังสือที่ขาดไม่ได้ในตู้ของคุณตา  คือ  พระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ ๖ และ วรรณคดีไทย

แต่น่าเสียดายที่ตอนน้ำท่วมปี ๒๕๒๖  หนังสือของคุณตาเสียหายไปหลายเล่ม  เพราะเปียกน้ำ       ที่จริงเรื่องนี้  คุณยายห้ามเล่าให้คุณตาฟัง 

เพราะกลัวว่าคุณตาจะเสียดาย



กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ม.ค. 12, 03:53

ชีวะประวัติส่วนตัว   หน้า  ๒๔

        ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔   ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดใกล้บ้าน    ซึ่งในขณะนั้นบิดามารดามีบ้านอยู่ที่ถนนมหรรณพ  กรุงเทพมหานคร


   


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 13 ม.ค. 12, 23:10
ขอร่วมแจมด้วยครับ อ่านคำถามจ.ข.ก.ท. แล้วก็พยายามนึกว่า ถ้าจะโดนเผา ก็อาจจะเป็นตอนที่แต่งประวัติสมเด็จพระสังฆราช ร.ศ. 119

ไปค้น พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีไปมาักับ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตอนท้ายๆ เรื่อง ไต่สวนนายกุหลาบ ก็ไม่พบว่า องค์คณะกรรมการสอบสวน ทรงให้เผาหนังสือ ...... ในหลวงรัชกาลที่ 5 ก็ทรงพอพระทัยกับคำวินิจฉัยของคณะไต่สวน ไม่ได้มีการ "สั่งเก็บ" หรือ "เผาทำลาย" ในพระราชหัตถเลขา แต่อย่างใด ..........

ผมเคยได้มีโอกาสเห็นหนังสือ ของก.ศ.ร. กุหลาบ จากบ้านนักสะสมนิรนามท่านหนึ่ง ท่านเล่าว่า สมัยเจ้าคุณปู่ กับคุณพ่อ ซึ่งเป็นนักสะสมหนังสือตัวยง  ต้องเก็บหนังสือของ ก.ศ.ร. กุหลาบใส่หีบล็อกกุญแจ เอาไปซ้อนไว้ ไม่ได้ใส่ตู้กระจกสวยงาม อย่างเช่นหนังสือของหมอสมิท หรือราชกิจจานุเบกษา และอื่นๆ  (เสียดายไม่ได้ถามว่า เพราะอะไร?)  ...................

ด้วยความที่ บรรพบุรุษส่งมรดก(หนังสือ) ต่อกับทายาทผู้รู้คุณค่า จึงอยู่รอดมาได้จนปัจจุบัน  แต่หลายๆ บ้าน ลูกหลานไม่รู้คุณค่าของ สิ่งที่ตัวเองได้รับมรดกมา  ขายซาเล้งเห็นเป็นของไร้ค่าก็เยอะ ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หนังสือยุคกระโน้น ค่อยๆ สาบสูญหายไปมากกว่าการถูกเผา


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 28 มิ.ย. 12, 10:42

คุณเทาชมพูคงอ้างอิงจากหนังสือ ก.ส.ร. กุหลาบ ของ คุณมนันยา ธนะภูมิ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๕ หน้า ๗๐-๗๑)

นายกุหลาบมีอายุยืนมากและยังได้เขียนหนังสือโดยอาศัยการค้นคว้าจากเอกสารประวัติศาสตร์และโบราณคดีของตนอยู่จนถึงบั้นปลายของชีวิต แต่ในเมื่อความจำเลอะเลือนเสียแล้ว ผลงานที่ปรากฏในระยะหลังการทำหนังสือสยามประเภทจึงไม่มีคุณค่าอะไรหรือผิดเพี้ยนไปจากความจริงอย่างมาก ดังนั้นจึงปรากฏว่าผู้มีอำนาจทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้สั่งเก็บและทำลายหนังสือของนายกุหลาบอย่างถอนรากถอนโคน   หนังสือของนายกุหลาบเท่าที่เหลือรอดมาได้ก็โดยการเก็บซ่อนตามบ้านต่าง ๆ ของบุตรหญิงหรือตามบ้านผู้ชอบสะสมของเก่าไม่กี่ท่าน ซึ่งเรื่องนี้นายกุหลาบได้บันทึกไว้และดูเหมือนจะเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในวงการผู้รักหนังสือ


คุณมนันยา คงอ้างอิงจากบทความ  "ก.ศ.ร. กุหลาบ ผู้ดิ้นรนเพื่ออารยธรรมเยี่ยงโลก" ของสิริ ประชาลักษณ์ วารสารหลังเทวาลัยของฝ่ายปฏิคมคณะอัำษรศาสตร์ ปี ๒๕๑๘ ฉบับที่ ๒ อีกที

ในหนังสือของคุณมนันยาเล่มเดียวกับที่คุณ เพ็ญชมพูกล่าวถึง จะอยู่ที่หน้า ๖๙ ต่อ ๗๐

"ยังพอมีงานของท่านผู้นี้อยู่บ้าง น่าที่จะมีผู้นำเอางานเหล่านี้มาพิมพ์กันอีก ก่อนที่จะสูญสลายไปเพราะการถูกกว้านมาทำลาย เป็นเรื่องน่าเศร้าและน่าขมขื่นเพียงใดสำหรับวงวิชาการของไทย เมื่อนึกถึงภาพของหนังสือจำนวนมากทีี่ผู้รักความรู้ท่านหนึ่งพากเพียรเขียนขึ้น แต่กลับต้องถูกปฏิเสธและถูกทำลายทิ้งโดยที่ประชาชนไม่มีโอกาสได้อ่าน"

คุณ สิริ ประชาลักษณ์ จะอ้างอิงจากที่ใดต่อ คงต้องค้นกันต่อไปครับ

ที่อ่านแล้ว ไม่พบว่า กล่าวถึงการถูกเผา - เก็บทำลาย คือ บทความ "ท้าทายบันทึกประวัติศาสตร์ ซึ่งพระราชวงศ์ไทย จารึกไว้เมื่อปลายคริสศตวรรษที่ ๑๙ กรณีเรื่องของ ก.ศ.ร. กุหลาบ โดย เคร๊ก เจ. เรโนลดล์ แปล - พิมพ์โดยสยามอารยะ พ.ศ. ๒๕๓๘

(แปลจาก The Case of K.S.R. Kulap: A Challenge to Royal Historical Writing in Late 19th Century Thailand Craig J. Reynolds - ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Australia's national university ) ในวารสารสยามสมาคม (J.S.S.) Vol. ๖๑ Part II, กรกฏาคม ๑๙๗๓ (พ.ศ. ๒๕๑๖)

แต่ อ. เคร๊ก อ้างหนังสือ นิทานชาวไร่ ของ นาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี อยู่หลายครั้ง น่าไปลองค้นต่อน่ะครับ.........


กระทู้: ขอถามคุณเทาชมพู-เอกสารจากที่ใดบอกว่าหนังสือก.ศ.ร.กุหลาบถูกเผา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 มิ.ย. 12, 10:51
Craig J. Reynolds นักประวัติศาสตร์ไทย ชาวอเมริกัน ได้วิจารณ์ ก.ศ.ร.กุหลาบ ไว้ว่า

"การที่จะมองข้าม ก.ศ.ร.กุหลาบไปโดยพิจารณาแต่เพียงว่าเขาเป็นนักกุ และนักปลอมแปลงนั้นจะเป็นการมองข้ามประวัติศาสตร์ไทยปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ต่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากงานของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ยังมีอะไรน่าสนใจอีกหลายประการ และก่อให้เกิดสีสันแก่วงสังคมของชาวสยามในช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่อย่างมาก อาทิเช่น ในด้านของการเป็นนักหนังสือพิมพ์ เขาได้บุกเบิกและขัดเกลาเทคนิคการพิมพ์หนังสือพิมพ์และใช้ความเป็นสื่อมวลชนของเขานั้น พาตนไปสู่ความมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศ"

สิริ ประชาลักษณ์ ให้ความเห็นไว้ในเรื่อง "ก.ศ.ร.กุหลาบ : ผู้ดิ้นรนเพื่ออารยธรรมเยี่ยงโลก" ในหนังสือ "หลังเทวาลัย" ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่า

"เป็นเรื่องประหลาดและน่าเศร้าที่รัฐบาลสยามทำตัวเป็นปฏิปักษ์คอยจองล้างจองผลาญบุคคลผู้ใฝ่ความรู้ท่านนี้ ในทำเนียบ "รายนามหนังสือพิมพ์ข่าวซึ่งออกเป็นระยะในประเทศสยาม" ซึ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อวันที่  ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๔ ไม่ปรากฏว่ามีนาม "สยามประเภท" อยู่เลย!  รัฐบาลสยามปฏิเสธหนังสือทุกเล่มของท่าน ก.ศ.ร.กุหลาบ กล่าวว่าไม่ใช่ "หนังสือ" (ทำนองเดียวกับงานเขียน ๒ เล่มของแหม่มแอนนา ซึ่งรัฐบาลสยามใช้ความพยายามทุกวิถีทางขัดขวางมิให้มีการจัดพิมพ์ขึ้น) หนังสือของท่านจึงหาอ่านได้ยากจนทุกวันนี้ เพราะมันถูกนำไปใส่หีบลั่นกุญแจ และติดป้าย "ทรงอายัด" ห้ามประชาชนอ่าน!!  เมื่อมีผู้ไปขอค้นคว้า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ องค์สภานายกหอพระสมุด ทรงให้พิมพ์หนังสือว่าด้วยเรื่อง "จดหมายเหตุเรื่องไต่สวนนายกุหลาบ" ออกมาเผยแพร่แทน ภาพของท่าน ก.ศ.ร.กุหลาบจึงเลอะเลือนไป และมีอยู่ ๒ ทางสำหรับอนุชนรุ่นต่อมา นั่นคือทางแรกไม่ทราบและไม่รู้จักว่าท่าน ก.ศ.ร.กุหลาบ เป็นใคร แม้แต่ชื่อก็ไม่เคยได้ยิน หรือมิฉะนั้น,ในทางที่สอง ถ้าจะรู้จักก็รู้จักในฐานะที่ท่านเป็นนัก "กุ" ผู้มีสติไม่สมบูรณ์นัก"


 :-X

 ;D