เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: ดาวกระพริบ ที่ 23 เม.ย. 06, 23:57



กระทู้: ขอเรียนถามคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆ เกี่ยวกับบทกลอนของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยร.3ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระพริบ ที่ 23 เม.ย. 06, 23:57
 จากกระทู้สมเด็จเจ้าพระยานะคะ
ที่คุณเทาชมพูยกบทกลอนมาค่ะ

"เดี๋ยวขอเล่าถึงผ้าสมปักก่อน

เรื่องนี้มาจากคำอธิษฐานของคุณพุ่ม กวีหญิงคนสวยฝีปากกล้าในสมัยรัชกาลที่ ๓
คำอธิษฐานนี้แต่งเป็นคำคล้องจองกัน จุดมุ่งหมายก็คือ"แซว" บุคคลที่ท่านเอ่ยถึง
มีดังนี้ค่ะ

-ขออย่าให้เป็นชิดของเจ้าคุณผู้ใหญ่
-ขออย่าให้เป็นคนใช้ของเจ้าพระยานคร
-ขออย่าให้เป็นคนต้มน้ำร้อนของพระยาศรี
-ขออย่าให้เป็นมโหรีของพระยาโคราช
-ขออย่าให้เป็นสวาสดิของพระองค์ชุมสาย
-ขออย่าให้เป็นฝีพายของเจ้าฟ้าอาภรณ์
-ขออย่าให้เป็นละครของแม่น้อยบ้า
-ขออย่าให้รู้ชาตาเหมือนอาจารย์เซ่ง
-ขออย่าให้เป็นนักเลงอย่างท่านผู้หญิงฟัก
-ขออย่าให้เป็นสมปักของพระนายไวย
-ขออย่าให้เป็นดอกไม้ของเจ้าคุณวัง "

อยากทราบรายละเอียดน่ะค่ะ ว่าคุณพุ่ม ได้เขียนแซวใครบ้าง อย่างไรค่ะ

ขอบคุณนะคะ


กระทู้: ขอเรียนถามคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆ เกี่ยวกับบทกลอนของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยร.3ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 06, 09:47
 - ขออย่าให้เป็นชิดของเจ้าคุณผู้ใหญ่
เจ้าคุณผู้ใหญ่หมายถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)สมุนายก ซึ่งเป็นแม่ทัพคู่บารมีในรัชกาลที่ ๓
ท่านเป็นคนดุ ไม่เห็นแก่หน้าใคร   คนใกล้ชิดมักถูกเฆี่ยนหลังลายเสมอถ้ารับใช้ไม่ถูกใจ

-ขออย่าให้เป็นคนใช้ของเจ้าพระยานคร
นี่ก็คล้ายๆกัน  คนใช้เจ้าพระยานครมักถูกลงโทษแปลกๆ เช่นพายเรือช้าไปท่านก็สั่งให้ฝีพายถองเรือ

--ขออย่าให้เป็นคนต้มน้ำร้อนของพระยาศรี
พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) เป็นขุนนางใหญ่ที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ  จึงมีคนไปหาไม่ขาดสายทั้งวัน    เมื่อแขกไปถึงทางบ่าวเจ้าของบ้านก็ต้องยกน้ำร้อนน้ำชามาต้อนรับ
ใครเป็นคนต้มน้ำร้อนก็ต้องต้มกันทั้งวันไปจนดึกดื่น ไม่เป็นอันได้พักผ่อน

-ขออย่าให้เป็นมโหรีของพระยาโคราช
พระยาโคราช เจ้าเมืองนครราชสีมา อยากมีวงมโหรีในบ้านเหมือนขุนนางผู้ใหญ่ในกรุง  แต่หาชาวกรุงไม่ได้
ท่านก็จับพวกข่าพวกลาวซึ่งเป็นเชลยมาหัดมโหรีแทน   ฝีมือคงแย่เอาการ
-ขออย่าให้เป็นสวาสดิของพระองค์ชุมสาย


กระทู้: ขอเรียนถามคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆ เกี่ยวกับบทกลอนของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยร.3ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 06, 09:48
 หมายเหตุ: ที่ยกมาไม่ใช่กลอนค่ะ เรียกว่าคำคล้องจอง
แล้วจะมาต่อจนจบนะคะ


กระทู้: ขอเรียนถามคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆ เกี่ยวกับบทกลอนของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยร.3ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระพริบ ที่ 24 เม.ย. 06, 19:07
 ขออนุญาต นั่งรอเลยนะคะ


กระทู้: ขอเรียนถามคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆ เกี่ยวกับบทกลอนของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยร.3ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 24 เม.ย. 06, 20:02
 มานั่งรอด้วยคนครับ

เอ.. เคยทราบมาว่า สมัยนั้น ไม่นิยมให้ผู้หญิงเรียนหนังสือกัน เพราะเกรงว่าจะริไปตอบโต้เพลงยาวกับผู้ชายพายเรือ
กรณีคุณพุ่มนี่เป็นข้อยกเว้นรึอย่างไรครับ?
ผมเดา(เอาเอง)ว่าสมัยนั้นก็คงไม่ปลื้มเอาเท่าไหร่ที่คุณพุ่ม มาเป็นกวีหญิง เรียนรู้หนังสือเฉกเช่นเดียวกับผู้ชาย อาศัยดูจาก  สมญานามที่คุณพุ่มได้รับ ว่า " บุษบาท่าเรือจ้าง"
ต้องขอรบกวนอาจารย์เทาชมพู  ช่วยให้ความเห็น และให้ความรู้ เสียแล้วล่ะครับ


กระทู้: ขอเรียนถามคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆ เกี่ยวกับบทกลอนของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยร.3ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 25 เม.ย. 06, 06:52
 ถ้าจำไม่ผิด สมญานาม บุษบาท่าเรือจ้าง มาจากการที่ท่านอาศัยอยู่ในเรือนแพ ดังนั้นจึงไม่น่าเป็นการเรียกในทางลบ (ถ้าผิดพลาดอย่างไร อาจารย์เทาชมพูกรุณาแก้ให้ดิฉันด้วยนะคะ)

ท่านถวายบังคมลา จากการเป็นพนักงานเชิญพระแสงของรัชกาลที่สาม ไปเป็นหม่อมของพระปิ่นเกล้าฯ รัชกาลที่สามท่านประพันธ์กลอนบทนี้ เมื่อคุณพุ่มกลับมาอยู่ในวังหลวงเหมือนเดิมค่ะ

เจ้าช่อมะกอก             เจ้าดอกมะไฟ
เจ้าเห็นเขางาม            เจ้าตามเขาไป
เขาทำเจ้ายับ              เจ้ากลับมาไย
เขาสิ้นอาลัย               เจ้าแล้วหรือเอย


กระทู้: ขอเรียนถามคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆ เกี่ยวกับบทกลอนของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยร.3ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 06, 09:00
เรื่องราวก็เป็นอย่างที่คุณ  B เล่าค่ะ
สมญา "บุษบาท่าเรือจ้าง" ไม่ใช่คำดูถูกดูหมิ่น  แต่เป็นเพราะเธออาศัยอยู่ในเรือนแพของพระยาราชมนตรี ผู้บิดา
คุณพุ่มเป็นสาวสวย และสาวเปรี้ยวประจำยุค   มีความรู้อ่านออกเขียนได้  แต่งกลอนได้ซึ่งนับว่าหายากในหมู่สตรีสมัยนั้น
แพของคุณพุ่มมีเจ้านายหนุ่มๆเสด็จไปร่วมวงสักรวากันเป็นประจำ เช่นเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์(ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ)  กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ เป็นต้น

คุณพุ่มเข้ามารับราชการในราชสำนักรัชกาลที่ ๓  เป็นพนักงานเชิญพระแสง  
ตำแหน่งนี้ไม่ใช่เจ้าจอม หรือนางข้าหลวงอย่างแม่พลอย  เป็นพนักงานฝ่ายใน  อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าสิบสองนางพระกำนัล
(อย่าเพิ่งขอให้อธิบายคำนี้  มีหนังสือแล้วค่ะแต่หายังไม่เจอตามเคย)
เรื่องต่อไปก็เป็นอย่างที่คุณ B เล่า

กลับมาเรื่องกระทู้
-ขออย่าให้เป็นสวาสดิของพระองค์ชุมสาย
พระองค์เจ้าชุมสาย  กรมขุนราชสีหวิกรม พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ (ต้นราชสกุลชุมสาย) สวาสดิในที่นี้หมายถึงมหาดเล็กคนโปรด
กล่าวกันว่าใครเป็นมหาดเล็กคนโปรด ทรงใช้สอยบ่อยก็มีเรื่องให้กริ้วบ่อยพอกัน เวลาใช้ไม่ได้ดังพระทัย  เลยโดนจำโซ่ตรวน    แย่กว่าคนที่ไม่ได้โปรดปราน


กระทู้: ขอเรียนถามคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆ เกี่ยวกับบทกลอนของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยร.3ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 06, 09:08
 -ขออย่าให้เป็นฝีพายของเจ้าฟ้าอาภรณ์
เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ ประสูติแต่เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี   ต้นราชสกุล อาภรณกุล
ว่ากันว่าฝีพายของพระองค์ต้องขานถี่และยาวกว่าฝีพายเรืออื่นเวลาเสด็จไปไหนมาไหน  คงคอแหบคอแห้งไปตามๆกัน

-ขออย่าให้เป็นละครของแม่น้อยบ้า
แม่น้อยบ้าเป็นธิดาพระยานครราชสีมา(ทองอิน)  เป็นเจ้าของโรงละคร    
ละครเจ้าอื่นพอเล่นเขารับเงินค่าจ้าง  แต่ละครของแม่น้อยบ้าถึงไม่ได้เงินก็เล่น  
รับค่าว่าจ้างเป็นพริก กะปิ หอม กระเทียม อะไรก็ได้แล้วแต่คนจ้างจะให้  เอามาแจกตัวแสดง

-ขออย่าให้รู้ชาตาเหมือนอาจารย์เซ่ง
อาจารย์เซ่งเป็นหมอดู  ใครไปดูก็ทำนายว่าดี  คนก็เลยขึ้นกันมาก  
ในที่สุดแกลืมดูชะตาตัวเองหรือไม่ก็ดูไม่ถูก   มีคราวหนึ่งถูกลงพระอาญา


กระทู้: ขอเรียนถามคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆ เกี่ยวกับบทกลอนของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยร.3ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 06, 09:14
 -ขออย่าให้เป็นนักเลงอย่างท่านผู้หญิงฟัก
ท่านผู้หญิงฟักเป็นเมียของเจ้าพระยาท่านหนึ่งในรัชกาลที่ ๓ นิสัยชอบเล่นการพนัน  เข้าไปเล่นในบ่อนเป็นประจำ
วิธีหลอกดึงความสนใจของเจ้ามือคือนั่งโป๊  เปิดผ้าถุงให้ดูของดี
เจ้ามือหลงดูทางนี้ พรรคพวกท่านผู้หญิงก็แอบโกงเจ้ามือได้
ทำเอาท่านผู้หญิงเล่นรวยไปเลย

-ขออย่าให้เป็นสมปักของพระนายไวย
อธิบายแล้วค่ะ

-ขออย่าให้เป็นดอกไม้ของเจ้าคุณวัง "
เจ้าคุณวังคือเจ้าจอมมารดาตานี ในรัชกาลที่ ๑ เกิดจากภรรยาเก่าของเจ้าพระยามหาเสนา(บุนนาค)
ท่านเป็นช่างดอกไม้   ใครมีงานมีการก็ไปขอให้ท่านช่วยทำดอกไม้   ดอกไม้ในสวนของเจ้าคุณวังจึงถูกเด็ดตลอดเวลา
ไม่มีโอกาสอยู่กับต้นจนบาน

มีอีกข้อสุดท้ายค่ะ
-ขออย่าเป็นระฆังวัดบวรนิเวศ
สมัยรัชกาลที่ ๓ เจ้าฟ้ามงกุฎผนวชอยู่วัดบวรนิเวศ  วัดอื่นตีระฆังกันแค่วันละ ๒ เวลา
แต่วัดนี้พระองค์ท่านโปรดให้ตีระฆังเป็นสัญญาณวันละหลายครั้ง
ระฆังวัดบวรเลยถูกตีแทบไม่ได้หยุด


กระทู้: ขอเรียนถามคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆ เกี่ยวกับบทกลอนของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยร.3ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 25 เม.ย. 06, 09:16
 ขอขอบพระคุณอาจารย์ กับคุณบี ครับที่หาเรื่องราวดีๆมาให้อ่าน ประดับความรู้กัน    


กระทู้: ขอเรียนถามคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆ เกี่ยวกับบทกลอนของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยร.3ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 เม.ย. 06, 21:21
 "สมัยนั้น ไม่นิยมให้ผู้หญิงเรียนหนังสือกัน"

ผมขอแย้งความเห็นนี้ครับ
ลองอ่านประวัติเจ้านายตั้งแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ลงมา ส่วนมากทีเดียวที่ทรงศึกษากับครูผู้หญิง จนถึงขึ้นสมุด จากนั้นจึงค่อยแยกวิชาเฉพาะ แต่เรื่องกลอนนี่ ก่อนโสกันต์ก็น่าจะทรงได้บ้างแล้ว

ถ้าจะลองทำบัญชีกวีหญิงครั้งรัตน์โกสินทร์ ผมว่าจะได้ถึงสองโหลนะครับ แถมบางคน ไม่แพ้ผู้ชายเลย สุนทรภู่ยังยอมนะครับ

และใครเอ่ย เป็นสตรีเพียงนางเดียว ที่ทรงโปรดให้ตรวจแก้ ลิลิตนิทราชาคริต

อันนี้ขอเชิดชูกวีหญิงหน่อยนะครับ ถูกมองข้ามมาตั้งหลายร้อยปี


กระทู้: ขอเรียนถามคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆ เกี่ยวกับบทกลอนของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยร.3ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 26 เม.ย. 06, 00:57
 เดานะคะคุณ พิพาท

สมเด็จหญิงน้อยค่ะ


กระทู้: ขอเรียนถามคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆ เกี่ยวกับบทกลอนของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยร.3ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 26 เม.ย. 06, 05:14
 เพิ่งเห็นว่าในความเห็นที่ห้าของดิฉัน ใช้ราชาศัพท์ผิด

ขอแก้ไขเป็น ทรงพระราชนิพนธ์ นะคะไม่ใช่ ประพันธ์


กระทู้: ขอเรียนถามคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆ เกี่ยวกับบทกลอนของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยร.3ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 26 เม.ย. 06, 07:38
 ลิลิตเรื่องนี้ พระราชนิพนธ์ตั้งแต่ยังหนุ่มฟ้อเชียวละครับ
กรรมการเป็นผู้ชายดูเหมือนจะสี่ เดี๋ยวจะไปหาหนังสืออ้างอิงมาเฉลย (อยู่ที่ทำงาน)

ระหว่างนี้ เชิญร่วมสนุกกันต่อ ของรางวัลเป็นเพลงของครูมี(แขก)
สนใจกันใหมครับ


กระทู้: ขอเรียนถามคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆ เกี่ยวกับบทกลอนของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยร.3ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 06, 08:12
"สมัยนั้นไม่นิยมให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ"
หมายถึงชาวบ้านชาวช่อง ทั่วไปอย่างบรรพสตรีของเราๆนี่แหละค่ะ
ไม่ได้หมายถึงเจ้านายฝ่ายใน  

มีกวีหญิง ๒ โหลต่อประชากรหญิงนับล้านทั่วประเทศ   คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วอาจจะต่ำว่า 1% นะคะ


กระทู้: ขอเรียนถามคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆ เกี่ยวกับบทกลอนของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยร.3ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เวคิน ที่ 26 เม.ย. 06, 12:48
 แล้วกลอนบทอื่นๆของคุณพุ่มล่ะครับไม่ทราบว่าพอจะหาได้ที่ไหน เคยไปที่หอสมุดฯ ก็ไม่มี ทั้งในห้องธรรมดาและห้องหนังสือเก่า


กระทู้: ขอเรียนถามคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆ เกี่ยวกับบทกลอนของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยร.3ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระพริบ ที่ 27 เม.ย. 06, 13:49
 กลับมาอ่านแล้วค่ะ
ขอบคุ๕ คุณเทาชมพูอีกครั้งนะคะ

ขอตอบคำถามคุณ pipat
พระองค์เจ้าหญิงบุตรี หรือเปล่าคะ

คุ้นๆ ว่าอ่านจากวิชาการนี่แหละค่ะ :)


กระทู้: ขอเรียนถามคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆ เกี่ยวกับบทกลอนของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยร.3ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 เม.ย. 06, 20:37
 เพื่อยืนยันว่าไม่มั่ว แบบโอเอเน็ต เชิญคุณดาวกระพริบเล่ารายละเอียดเพิ่มสักนิดนะครับ


กระทู้: ขอเรียนถามคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆ เกี่ยวกับบทกลอนของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยร.3ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระพริบ ที่ 28 เม.ย. 06, 21:25
 แหะๆ ขอสารภาพว่า
จำได้เพียงเท่านี้ ที่จำพระนามท่านได้
เพราะมีเพื่อนรุ่นน้อง ชื่อบุตรีค่ะ

ทราบแต่ว่าเป็นพระราชธิดาในพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ถ้าสอบ โอ เอเน็ต คอมพิวเตอร์คงไม่ตรวจข้อสอบให้แน่ๆ


กระทู้: ขอเรียนถามคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆ เกี่ยวกับบทกลอนของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยร.3ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Rinda ที่ 29 เม.ย. 06, 11:57
 อาจารย์สอนภาษาไทยของดิฉันเล่าว่า กวีในวังท่านหนึ่งมีฝีพระโอษฐ์คมคายมาก
สมัยยังสาว หากใครแซวท่าน ท่านทรงสามารถว่ากลอนสดโต้ตอบได้ที
กวีท่านนั้นน่าจะเป็น พระองค์เจ้าหญิงบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระราชธิดาองค์เล็กใน ร. 3
(เป็นเพื่อนเล่นกับพระราชนัดดา 2 องค์ ที่ ร. 3 ทรงรับอุปการะ ด้วยกำพร้าพ่อคือ พระองค์เจ้าโสมนัสฯ
และ หม่อมเจ้ารำเพย แต่องค์บุตรีแก่ชันษากว่า 6 ปี)

ประสูติเมื่อวันอังคาร เดือน 8 บูรพาสาฒ ขึ้น 6 ค่ำ ปีชวดสัมฤทธิศก จ.ศ. 1190 ในเจ้าจอมมารดาอึ่ง
ธิดาเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต  กัลยาณมิตร)  

รัชกาลที่ 5 โปรดฯให้เป็นท้าวสมศักดิ์ และต่อมาทรงโปรดฯสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าอัยยิกาเธอ
กรมหลวงวรเสรฐสุดา อาทิอักษรวรรคศรี สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 5 เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 12 แรม 12 ค่ำ
ปีมะเมีย จ.ศ. 1269  พระชันษา 80 ปี พระองค์ได้รับการยกย่องให้เป็นครูบาอาจารย์ สอนหนังสือในวังค่ะ


กระทู้: ขอเรียนถามคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆ เกี่ยวกับบทกลอนของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยร.3ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 เม.ย. 06, 12:28
 น่ากลัวต้องแบ่ง CD เป็นส่องแผ่น แจกเสียทั้งคู่
กรมหลวงวรเสรฐสุดา ทรงได้รับยกย่องรองมาจากสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนฯ
ใครตอบได้ใหมครับ ว่าเหตุผลเช่นไร

ผมเคยมีบุญตา เห็นลายพระราชหัตถ์เลขา (ของจริง และทรงด้วยพระองค์เอง) ในรัชกาลที่ 5 สั่งพระองค์เจ้าประวิช(...กระมัง ไม่ได้สอบปี ท่านทรงไว้ลอยๆ อย่างนั้น) ให้จัดการเชิญกรมหลวงฯ ประพาสรถไฟ ตอนนั้นกรมหลวงวรเสรฐสุดาพระชันษามากแล้ว แต่อยากลองของใหม่

อ่านแล้วรู้สึกถึงความรักใคร่ต่อกรมหลวงฯ เหมือนพวกเราคงอยากพาคุณยายไปดูปลาที่พารากอนมังครับ


กระทู้: ขอเรียนถามคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆ เกี่ยวกับบทกลอนของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยร.3ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Rinda ที่ 29 เม.ย. 06, 21:36
 ว่ากันว่าสำนักตักศิลาของท่าน ถือว่าเป็นสำนักศึกษาแห่งแรกของพระราชกุมารพระราชกุมารี
ในรัชกาลที่ 4 และ 5 แทบจะทุกพระองค์ นอกจากนี้พระองค์ทรงเป็นราชนารีผู้ประเมินคุณสมบัติกุลสตรีไทย

สมัยรัชกาลที่ 3 ราชสำนักมีการโล้สำเภาไปค้าขายไกลโพ้นยังแผ่นดินตงง้วน สร้างความมั่งคั่งมหาศาล
เจ้าจอมมารดาอึ่ง แม่ของพระองค์บุตรี เป็นลูกเจ้าสัวโต (ภายหลังเป็นเจ้าพระยานิกรบดินทร์มหินทรมหากัลยามิตร)
ซึ่งโล้สำเภาเหมือนกัน และใกล้ชิดสนิทในฐานะข้าแผ่นดินของ ร.3 มั้กๆ ตั้งแต่ยังทรงเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

เจ้าสัวโต จึงเป็นขรัวตา ของพระองค์บุตรีนั่นเอง

เพราะพระปรีชาสามารถทางด้านอักษรศาสตร์สูง ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชนิพนธ์ "ลิลิตนิทราชาคริต" พระองค์เจ้าหญิงบุตรี เป็นกวีหญิงแต่เพียงพระองค์เดียว
ที่ได้ทรงรับเลือกท่ามกลางจินตกวีชายให้เข้าร่วม ช่วยกันตรวจแก้ใบหน้าแท่น (ตรวจปรู้ฟ)

ด้วยพระจริยาวัตรที่งดงามน่าชื่นชม และพระปรีชาสามารถด้านอักษรศาสตร ร.5  จึงโปรดเกล้าฯ สถาปนา
ให้เป็น พระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา (พระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน)

ลิลิตนิทราชาคริต (นิทรา=หลับ ชาคริต=ตื่น) ทรงใช้เวลา 29 วันในการนิพนธ์เพื่อประทานแจก
พระบรมวงศานุวงศ์ในวันขึ้นปีใหม่ เมื่อเสร็จแล้วจึงให้กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นผู้ชำระ ก่อนให้
พระศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูร) ตรวจอีกครั้งหนึ่ง

มีโคลงเตือนสติสอนใจหลายท่อน ที่จำได้ตั้งแต่สมัยเรียนคือ หน้าต่างมีหู ประตูมีช่อง ความลับไม่มีในโลก
เป็นคติที่นางจอบแก้ว ได้เตือนบุตรชาย อาบูหะซัน ตอนกำลังคลั่งให้ระมัดระวังวังคำพูดคำจา ดังในโคลงนี้

ผิวใครผู้อื่นอ้าง...........คำอัน นี้นา
พ่อจักคิดฉันใด...........ดั่งนี้
กำแพงย่อมมีกรรณ.....คอยสดับ
ดีชั่วใช่จักอั้น.............โอษฐ์เอื้อนออกเอง


กระทู้: ขอเรียนถามคุณเทาชมพูและท่านอื่นๆ เกี่ยวกับบทกลอนของคุณพุ่ม กวีหญิงในสมัยร.3ค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 เม.ย. 06, 21:54
 ผมหมดตัวแน่ ต้องเพิ่ม CD เป็น 3 แผ่นซะแล่ว
อย่าเพิ่งจบนะครับ คุณ Rinda คงได้รับถ่ายทอดข้อมูลมาลึกซี้งมิใช่น้อย อย่าเก็บไว้คนเดียวนะครับ

ขอบคุณล่วงหน้า