เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: pipat ที่ 12 ส.ค. 07, 18:50



กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 12 ส.ค. 07, 18:50
สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท

คนที่วินิจฉัยนิราศพระบาทล้วนแต่เกิดไม่ทันสุนทรภู่ รวมทั้งตัวผมเอง
ผมจึงขอยืมคำของกวีผู้แต่งนิราศพระบาท มาวินิจฉัยงานของท่าน
ดังนี้

1 วินิจฉัยเดิม
บอกว่าสุนทรภู่แต่งเรื่องนี้ในปี 2350 เมื่อตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ซึ่งผนวชเป็นพระภิดษุ ไปพระบาท
แต่งหลังจากนิราศเมืองแกลง และขณะนั้นทะเลาะกับแม่จันทร์

2 หลักฐานรองรับการวินิจฉัย
.......ไม่มี

3 วินิจฉัยใหม่
แต่งโดยมหาดเล็กกองระวังหน้าในรัชกาลที่ 4 เมื่อปีขาล 2409

4 หลักฐานรองรับการวินิจฉัย
เพียบ(ครับ)


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 12 ส.ค. 07, 18:50
หลักฐาน 1
กวีบอกว่า.....
"ผนังในกุฎีทั้งสี่ด้าน โอฬาร์ฬารทองทาฝาผนัง
จำเพาะมีสี่ด้านทวารบัง ที่พื้นนั่งดาดด้วยแผ่นเงินงาม"
แปลว่า ผนังด้านในเป็นลายเขียนทองทั้งสี่ด้าน พื้นเป็นแผ่นเงิน
แปลว่า กวีไปเห็นผนังนี้อย่างเร็วสุดก็รัชกาลที่ 3 เพราะในรัชกาลที่ 1 ผนังยังเป็นลายชาด
ส่วนพื้นเงินนั้น มาปูแผ่นเงินในรัชกาลที่ 3 เช่นกัน หลังเกิดไฟไหม้มณฑปน้อย
(ดูตำนานพระบาท และพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์)
อนึ่ง พระยากษาปณ์ฯ ผู้สานเสื่อเงิน บอกไว้ในอัตชีวประวัติว่า ท่านเป็นผู้สานเสื่อเงินในรัชกาลที่ 3
แปลว่า เจ้าพระยาทิพากรวงศ์อาจจะจดผิด
ผมเชื่อคนสานมากกว่าคนที่นั่งแต่งพงศาวดารอยู่ที่บ้าน แต่จะเชื่อใคร ก็ต้องเชื่อว่าไม่มีพื้นปูแผ่นเงิน
และลายทองที่ผนังในรัชกาลที่ 1

หลักฐานที่ 2
กวีบอกว่า.....
"เจ้าเณรน้อยเสด็จมาดูน่ารัก พระกลดหักทองขวางกางถวาย
พี่เหลียวพบหลบตกลงเจียนตาย กรตะกายกลิ้งก้อนศิลาตาม"
ตำราเดิมบอกว่าเจ้าเณรน้อยคือกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ
แต่กระบวนเสด็จใหญ่โตสูงศักดิ์ขนาดนี้ ไม่ใช่ขบวนของเจ้าเณรระดับพระองค์เจ้ากระมัง
ที่สำคัญ ระบุว่าพระกลดเป็นชั้น"หักทองขวาง"
มีผู้ชำนาญการพระราชพิธีบอกว่า เป็นระดับเจ้าฟ้ารัชทายาทเท่านั้น

เจ้าเณรน้อยองค์นี้ จึงเป็นเจ้าฟ้าพระองค์หนึ่งพระองค์ใดในไม่กีพระองค์
ที่จะทันไปนมัสการพระบาท ในวันที่ผนังเป็นลายทองและพื้นปูแผ่นเงิน

หลักฐานที่ 3
กวีบอกว่า
"กองคเชนทร์เกณฑ์ช้างยี่สิบเชือก มาจัดเลือกกองหมอขึ้นคอไส
ที่เดินดีขี่กูบไม่แกว่งไกว วิสูตรใส่สองข้างเป็นช้างทรง
แล้วผ่อนเกณฑ์กองช้างไว้กลางทุ่ง เวลารุ่งจะเสด็จขึ้นไพรระหง
ที่สี่เวรเกณฑ์กันไว้ล้อมวง พระจอมพงศ์อิศยมบรรทมพลันฯ"
ขบวนของกวีนี่ น่าจะเกินฐานันดรพระองค์เจ้าวังหลังไปมาก
ช้างยี่สิบเชือก....
มีสี่เวรล้อมวง....
สองข้อนี้ ที่ปรึกษาการราชพอธีของผมบอกว่า ทำพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ศีรษะกระเด็นได้ง่ายๆ
คำว่า"ล้อมวง" เป็นศัพท์เฉพาะนะครับ ใช้กับพระมหากษัตริย์เท่านั้น
สี่เวรก็เหมือนกัน
พระองค์เจ้าที่มีสี่เวร และมีล้อมวงได้
ทั้งประวัติศาสตร์ ก็เห็นจะมีแต่พระองค์เจ้าทับเท่านั้แหละครับ
และต้องมีตอนรัชกาลที่ 3 เท่านั้น อีกด้วย

หลักฐานที่ 3
เจ้าฟ้ารัชทายาทที่เสด็จพระบาทในปีขาลได้
มีพระองค์เดียวครับ
สามเณรเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตรประชานารถ

ใครจะค้านก็ขอเชิญครับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 12 ส.ค. 07, 22:14
ยังค้านไม่ออกครับ

กลอนสุนทรภู่มีรูปแบบอุดมคติคือ OOXXYOYO ทุกบาท
ระหว่างคำที่สามและสี่ใช้สัมผัสอักษรหรือสัมผัสสระปะปนกัน ในขณะที่คำที่ห้ากับเจ็ด(บางทีเป็นหก)จะเป็นสัมผัสสระครับ

กลอนนิราศเกือบทุกเรื่องของสุนทรภู่ใช้รูปแบบตายตัวเช่นนี้มากกว่า 80% ครับ

แต่ นิราศพระบาท ดูจากหลุดจากอุดมคติมากกว่านิราศเรื่องอื่นๆครับ

กล่าวกันว่าเป็นเพราะเรื่องนี้แต่งตั้งแต่เมื่อสุนทรภู่ยังหนุ่ม

แต่เหตุผลนี้ดูชอบกลครับ เพราะนิราศเมืองแกลงที่แต่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ยังมีความเป็นกลอนอุดมคติของสุนทรภู่มากกว่านิราศพระบาทเยอะเลยครับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ส.ค. 07, 08:26
แล้วจะอธิบาย" แม่จันทร์" ในเรื่องนี้ได้ยังไงคะว่าเป็นใคร
นางเอกในนิราศสุพรรณ ก็แม่จันทร์
หรือว่านางในนิราศจะชื่อจันทร์ซ้ำแล้วซ้ำอีก
ดิฉันยังติดใจข้อนี้ละค่ะ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 14 ส.ค. 07, 01:18
"ถึงบางซื่อชื่อบางนี้สุจริต เหมือนซื่อจิตที่พี่ตรงจำนงสมร
มิตรจิตขอให้มิตรใจจร ใจสมรขอให้ซื่อเหมือนชื่อบาง"

     
“ เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น     ระวังตนตีนมือระมัดมั่น
เหมือนคบคนคำหวานรำคราญครัน  ถ้าพลั้งพลันเจ็บอกเหมือนตกตาล ”
     
“ โอ้กระแสแดวเดียวทีเดียวหนอ  มาเกิดก่อเกาะถนัดสะกัดหน้า
ต้องแยกคลองออกเป็นสองทางคงคา  นี้หรือคนจะมิน่าเป็นสองใจ “
     
“ อนิจจาธานินทร์สิ้นกษัตริย์  เหงาสงัดเงียบไปดังไพรสนฑ์
แม้กรุงยังพรั่งพร้อมประชาชน  จะสับสนแซ่เสียงทั้งเวียงวัง “
     
“ ถึงแม่ลาเมื่อเรามาก็ลาแม่  แม่จะแลแลหาไม่เห็นหาย
จะถามข่าวเช้าเย็นไม่เว้นวาย  แต่เจ้าสายสุดใจมิได้มา “

อืม... คุณ CH ครับ แต่ผมว่ากลอนที่ผมยกมานี่  ทางสุนทรภู่ทั้งนั้นเลยนะครับ  เหมือนฟังเพลงคาราบาว  แต่งสไตล์ใดก็เป็นคาราบาวครับ  การเล่นคำเล่นอักษรเล่นสัมผัส  อย่าบอกอีกนะครับว่าเป็นคนในสำนักท่านอีก .... 8)

ถึงพบเพื่อนที่รู้จักเคยรักใคร่    ก็เฉยไปเสียมิได้จะทักถาม
แต่คอยฟังเทวราชประภาษความ    เมื่อไรจะคืนอารามวัดระฆัง

ท่านกวีคนนี้เกี่ยวกับวัดระฆังแน่ๆ

ได้วันครึ่งถึงเวียงประทับวัด    โทมนัสอาดูรค่อยสูญหาย
นิราศนี้ปีเถาะเป็นเคราะห์ร้าย    เราจดหมายตามมีมาชี้แจง

นิราศนี้ผมคิดว่าปีเถาะครับ  คงไม่ใช่ปีขาล  แต่เป็นปีเถาะที่ พ.ศ.เท่าไหร่อันนี้คงต้องคิดต่อ  พอเห็นความเห็นคุณพิพัฒน์ทีไรผมเขวทุกที  เพราะเหตุผลคุณพิพัฒน์น่าคิดทุกที  ทำให้คิดว่ากลอนลักษณะประมาณนี้  ใครๆก็แต่งในสมัยก่อนแบบถ้าเป็นสมัยนี้  ก็เป็นแนวเพลงที่แพร่หลายอ่ะครับ  ก็ต้องขออ่านตามและแทรกบ้างนะครับ  ขอบพระคุณมากๆ  ทำให้ผมได้คิดเยอะเลย  เพราะแต่ก่อนเพียงแต่อ่านแล้วก็เชื่อไปตามที่ศึกษาจากครูบาอาจารย์......... ;)


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 ส.ค. 07, 02:42
ผิดพลาดไปหน่อย ขอบคุณที่ท้วง ผมพิมพ์เร็วเกินไป และสั้นเกินไป แถมไม่เปิดเท๊กส์
ปีขาล คือปีที่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทรงบรรพชาครับ
และอยู่ในสามเณรเพศหกเดือน เข้าปีเถาะ
ระหว่างนั้น ได้ตามเสด็จรัชกาลที่ 4 ขึ้นเหนือ พงศาวดารจดว่าทรงนมัสการพระพุทธชินราช
แต่จดไว้สั้นมาก แค่นั้นเอง มีรูปถ่ายเป็นการเพิ่มเติมอีกชุดหนึ่ง

กวีคนนี้ ไม่ใช่ทำหน้าที่อาลักษณ์
เป็นพลพาย ถึงนอนกลิ้งริมหาดทราย ด้วยความเหนื่อยที่อยุธยา
พอถึงพระบาท ก็เปลี่ยนไปเป็นกองระวังหน้า ไสช้าง เดินนำขบวนเสด็จ
แสดงว่าเป็นทหาร

เป็นทหารที่เก่งกลอนยิ่งยวด
ไม่มีตรงใหนกระมัง ที่ชี้ว่าสุนทรภู่จะเป็นพลพาย เป็นกองตระเวณ คือออกแนวบู้
อาชีวะผิดกันถึงเพียงนี้ จะยกทางกลอนมา เพียงเพื่อบอกว่าเป็นคนเดียวกัน
เห็นจะฟังไม่ขึ้น ยิ่งถ้าว่าตามสูตรของคุณเครซี่ฯ
สามารถวางแผนผังกลอนออกมาได้แน่วแน่อย่างนั้น
ทางกลอนแบบสุนทรภู่ก็เป็นของทำตามได้ไม่ยุ่งยาก

นิราศพระบาทนี้ มีพิรุธขนาดใหญ่ถึง เจ็ดแห่ง ผมขี้เกียจลากยาว
ขอฟันเปรี้ยงทีเดียว ไม่ให้ต่อว่าเป็นของรัชกาลที่ 4 ปีเถาะ 2409

มิเช่นนั้น จะต้องหาเจ้าฟ้ารัชทายาทที่เสด็จพระบาทในปีเถาะ มาให้ได้
ผมหามาหลายปีแล้วครับ

ไม่พบ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ส.ค. 07, 11:40
เรื่องลีลากลอน วัดเชิงคุณภาพมันยากครับ บางคนฟังว่าดี อีกคนว่ายังไม่ถึง คุยกันก็จบยาก

กลอนสุนทรภู่มีลักษณะพิเศษ อย่างที่รู้ๆกันว่าสัมผัสในพราวพราย ดูด้วยตาบางทีแยกไม่ออก สู้วัดกันเชิงปริมาณเลยไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่พอทำได้ครับ

เมื่อคืนผมนั่งนับนิราศพระบาทไปราว ๖๐ บท ได้ตัวเลขว่าสัมผัสคู่หน้า(คำที่ ๓ ไป ๔ หรือ ๕) ขาดสัมผัสถึงร้อยละ ๔๑ ในจำนวนนี้ราวครึ่งหนึ่งมีสัมผัสคำที่ ๒ ไป ๓ มาทดแทน อีกครึ่งหนึ่งหายไปเฉยๆ

ในขณะที่สัมผัสคู่หลัง (คำที่ ๕ ไป ๖ หรือ ๗ หรือ ๘) ขาดสัมผัสไปถึงร้อยละ ๑๗

* สัมผัสในที่นี้รวมทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษรแล้ว

นับเรื่องอื่นแล้วจะนำมาเสนอในโอกาสต่อไป แต่คะเนด้วยสายตา เห็นว่าไม่มีเรื่องไหนขาดสัมผัสคู่หน้าเกินร้อยละ ๒๐ ครับ

เรื่องนี้คงไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่านิราศพระบาทไม่ใช่งานของสุนทรภู่ แต่ชี้ให้เห็นถึงความแปลกของนิราศเรื่องนี้ เพราะรูปแบบกลอนยังห่างจากกลอนอุดมคติของสุนทรภู่อยู่มาก ประวัติเดิมไม่ว่าสำนักใด ให้นิราศพระบาทแต่งไล่เลี่ยกับนิราศเมืองแกลง ก่อนหลังกันเพียงหนึ่งปี

ดูจะเป็นเวลาที่น้อยเกินไปสำหรับความเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ครับ

ถ้านิราศพระบาทเป็นของสุนทรภู่จริง ก็น่าคิดว่าเป็นเรื่องที่แต่งก่อนเรื่องอื่นๆนานมากครับ ขัดแย้งกับข้อมูลที่คุณ pipat ยกขึ้นมาอยู่ไกลโข


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ส.ค. 07, 12:48
ถ้าจะพูดถึง"ทาง" กลอนอย่างที่คุณอาชายกมา   ขอวางระเบิดไว้อีกลูก แต่ยังไม่ถอดสลัก
ว่า ขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงาม ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงวิเคราะห์ว่าเป็นฝีมือสุนทรภู่  เพราะทรงดูจากลักษณะการแต่งกลอน
ถ้าเอา"ทาง"ของคุณอาชาฯไปจับ   โดยยึดหลักจากแบบแผนการแต่งกลอนนิราศหลายๆเรื่องของสุนทรภู่  พบว่าไม่ใช่" ทาง" ของสุนทรภู่

ลองอ่านดูนะคะ
ขุนแผนว่าจะอยู่ดูไม่ได้                     ในคุกใหญ่ยากแค้นมันแสนเข็ญ
เหมือนกับอยู่ในนรกตกทั้งเป็น            ไม่ว่างเว้นโทษทัณฑ์สักวันเลย
แต่พ่อนั้นท่านเจ้ากรมยมราช              อนุญาตให้อยู่ทับในหับเผย
คนทั้งหลายนายมุลก็คุ้นเคย               เขาละเลยพ่อไม่ต้องถูกจองจำ

สัมผัสในออกมาเป็นแบบนี้
000 0X 0X0                  000 0X 0X0
ส่วนนิราศเป็นแบบนี้
001 1X 0X0                  001 1X 0X0

แม้แต่ในบทละครรามเกียรติ์ที่ว่ากันว่าสุนทรภู่แต่งต่อจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ฯ  ก็ไม่มีแบบแผนตาม "ทาง"ของสุนทรภู่
ถ้าเทียบกับบทละคร "อภัยนุราช"แล้ว    "ทาง"ในละครเรื่องนี้เดินรอยกลอนเพลงยาวแบบสุนทรภู่
ถ้าในประวัติ ไม่บอกว่าเป็นสุนทรภู่แต่งกลอนรามเกียรติ์ต่อจากรัชกาลที่ ๒  อ่านแต่ตัวกลอนบทละคร จะไม่รู้เลยค่ะว่าเป็นฝีมือสุนทรภู่


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ส.ค. 07, 13:17
กลอนสุนทรภู่จะยืดหยุ่นบ้างครับ ยิ่งสัมผัสคู่หน้า ใช้สัมผัสอักษรเป็นสัดส่วนค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับคู่หลัง และสัมผัสในจะใช้สัมผัสระหว่างสระสั้นกับสระยาวได้ครับ
ขุนแผนว่าจะอยู่ดูไม่ได้
ในคุกใหญ่ยากแค้นมันแสนเข็ญ
เหมือนกับอยู่ในนรกตกทั้งเป็น
ไม่ว่างเว้นโทษทัณฑ์สักวันเลย
แต่พ่อนั้นท่านเจ้ากรมยมราช
อนุญาตให้อยู่ทับในหับเผย
คนทั้งหลายนายมุลก็คุ้นเคย
เขาละเลยพ่อไม่ต้องถูกจองจำ

ขาดสัมผัสคู่หน้าไปสามแห่ง แต่สองแห่งในนั้นทดแทนด้วยสัมผัสอักษรคู่ ๒-๓ ครับ

ก็ต้องถือว่ามาก เมื่อเทียบกับมาตรฐานกลอนสุนทรภู่ แต่อาจจะต้องเอากลอนมาประมวลมากกว่านี้จึงจะใช้เป็นสถิติได้ครับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ส.ค. 07, 13:26
ถ้าจะเถียง ก็ต้องเถียงว่า เสียงสัมผัสคู่หน้าที่คุณอาชาฯ ยกมา ก็ไม่ใช่ทางชัดเจนของสุนทรภู่อีกนั่นแหละ
ทางชัดเจนคือนิยมสัมผัสสระ มากกว่าพยัญชนะ สั้นก็สัมผัสสั้น  ยาวก็สัมผัสยาว ถ้าสัมผัสพยัญชนะ ก็ต้องอักษรตัวเดียวกัน

เมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้         ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย
ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ        เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกา                   


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ส.ค. 07, 13:38
ใช่อย่างที่อาจารย์ว่าครับ นิยมใช้สัมผัสสระมากกว่า

แต่ก็ยอมให้สัมผัสอักษร และสัมผัสสระสั้นยาวด้วยครับ ซึ่งถ้ารวมทุกอย่างหมด เรียกได้ว่ามีสัมผัสไม่น้อยกว่า 80-90% เลยครับ
ดูบทที่อาจารย์ยกมา ถ้ายึดแบบเคร่งครัดจะขาดสัมผัสคู่หน้าไปบาทหนึ่ง แต่ยึดเกณฑ์อะลุ้มอล่วยที่ว่า บาทนั้น "ที่" สัมผัสอักษรกับ "ธา" ครับ ถือว่าไม่ขาดสัมผัส

ผมไปอ่านกำเนิดพลายงาม เห็นว่าบางช่วงบางตอนชัดเจนว่าไม่ใช่กลอนแบบสุนทรภู่ ข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนมาคือเสียงคำสุดท้ายของวรรคสอง กลอนแบบสุนทรภู่นิยมใช้เสียงจัตวาเท่านั้นครับ (เกือบ 100%)

มีผู้พิมพ์ออนไลน์ไว้บางส่วนที่นี่ครับ
http://www.b.yimwhan.com/board/show.php?user=windchimedream&page=3&topic=3&Cate=6 (http://www.b.yimwhan.com/board/show.php?user=windchimedream&page=3&topic=3&Cate=6)


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ส.ค. 07, 13:58
ชวนคุณอาชาและท่านอื่นๆ มาดูกลอนบทละคร ๓ บทนี้เทียบกันดีกว่า    ดูจากสำนวนกลอน  ดูออกไหมคะว่าคนแต่งคนเดียวกัน

๑)นทีตีฟองนองระลอก                   คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลค่นขุ่น
เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน      อานนท์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท       สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
บดบังสุริยันตะวันเดือน                 คลาดเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา

๒)เห็นนางหนึ่งงามแฉล้มแช่มช้อย     นั่งร้อยดอกดวงพวงบุปผา
ทรงโฉมประโลมเลิศลักขณา         พักตราจิ้มลิ้มยิ้มแย้ม
ผิวเนื้อนวลละอองเป็นสองสี          โอษฐ์นางอย่างลิ้นจี่จีนแต้ม
ขอบขนงก่งเหมือนดังเดือนแรม      ทั้งสองแก้มเพียงพระจันทร์วันเพ็ง

๓)มานอนในไพรพนมต้องลมว่าว       อนาถหนาวน้ำค้างพร่างพฤกษา
หอมดอกกลอยสร้อยสนสุมณฑา    มะลิลาลมโชยมาโรยริน
ดอกไม้สดรสรื่นชื่นแช่ม                เหมือนกลิ่นแก้มแจ่มนวลชวนถวิล
หอมบุปผาสารพันลูกจันทน์อิน        ไม่เหมือนกลิ่นนุชเนื้อที่เจือจันทน์


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ส.ค. 07, 16:23
ยังไม่มีใครเข้ามาตอบ  เลยขอเดินหน้าไปก่อน
เอาหมุดมาอีก ๒ ดอก ช่วยปักหาเวลาให้คุณพพ.  ไม่ทราบว่าพอจะเป็นหมุดได้ไหม

๑)พินิจนางแม่ค้าก็น่าชม            ท้าคารมเร็วเร่งอยู่เซ็งแซ่
ใส่เสื้อตึงรึงรัดดูอัดแอ           พี่แลแลเครื่องเล่นเป็นเสียดาย
แม่ค้าไทยที่ตลาดขวัญ สมัยรัชกาลไหนสวมเสื้อรัดรูปกันคะ    ไม่ได้ห่มตะแบงมานหรอกหรือ

ส่วนตรงนี้ เจอสาวมอญที่สามโคก(ปทุมธานี)
๒)                                        เห็นมอญแต่งตัวเดินมาตามทาง
ตาโถงถุงนุ่งอ้อมลงกรอมส้น       เป็นแยบยลเมื่อยกขยับอย่าง
เห็นขาขาววาวแวบอยู่หว่างกลาง ใครยลนางก็เป็นน่าจะปรานี
มอญที่ว่า  ไม่แน่ใจว่าเป็นพวกมอญใหม่หรือเปล่าคะ ที่อยู่แถวสามโคก  การที่ยังนุ่งผ้าถุงตาโถงตามแบบมอญ ก็น่าจะอพยพมาไม่นานนัก
ในนิราศอีกเรื่องหนึ่ง  เล่าถึงมอญว่าตัดผมกันไรผมจับเขม่าเป็นสาวไทยกันหมดแล้ว   ก็คงเป็นยุคหลังละมัง




กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ส.ค. 07, 16:55
กลอนสามสำนวนนี้ สำนวนที่สามเป็นกลอนแบบสุนทรภู่ จะติดขัดบ้างก็ตรงวรรคแรกของบทที่สอง ดอกไม้สดรสรื่นชื่นแช่ม ใช้แค่สองคำในท่อนนี้ แต่โดยรวมแล้วก็ยังเป็นรูปแบบกลอนสุนทรภู่ เสียงกลอนก็เป็นเสียงกลอนแบบสุนทรภู่

สองสำนวนแรก การแบ่งวรรคตอนเป็นกลอนเสภาแบบดั้งเดิม ใช้โครงกลอนหกเติมคำตามความเหมาะสม ไม่ใช่รูปแบบกลอนของสุนทรภู่ แต่เรื่องแบบกลอนนั้นชี้ชัดไม่ได้ เพราะถ้ากวีต้องแต่งภายใต้การกำกับของผู้เป็นนาย ย่อมต้องแต่งตามแบบของนาย แต่เสียงกลอนเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่เปลี่ยนไม่ได้ครับ

กลอนสองสำนวนแรก ผมไม่อยากจะเชื่อว่าเป็นงานของสุนทรภู่ เพราะเสียงกลอนไม่ใช่ครับ ขอเชิญลองพิจารณาดูเถิด


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ส.ค. 07, 17:13
มารอฟังความเห็นท่านอื่นๆค่ะ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 ส.ค. 07, 21:38
ส่งการบ้านครับ

๑)นทีตีฟองนองระลอก               คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลค่นขุ่น
เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน      อานนท์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท       สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
บดบังสุริยันตะวันเดือน                คลาดเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา
ใช้ความเปรียบที่เด็ดมาก กินความอย่างมโหฬาร บ่งว่าภูมิรู้แน่น เข้าใจเรื่องจักรวาลวิทยา
กล้าจะใช้วิชาเพื่อข่มทุกคนที่อ่าน เป็นกวีของแท้

๒)เห็นนางหนึ่งงามแฉล้มแช่มช้อย     นั่งร้อยดอกดวงพวงบุปผา
ทรงโฉมประโลมเลิศลักขณา         พักตราจิ้มลิ้มยิ้มแย้ม
ผิวเนื้อนวลละอองเป็นสองสี          โอษฐ์นางอย่างลิ้นจี่จีนแต้ม
ขอบขนงก่งเหมือนดังเดือนแรม      ทั้งสองแก้มเพียงพระจันทร์วันเพ็ง
เปรียบเทียบอย่างเด็กฝึกงาน ใช้คำและความพื้นๆ ไม่มีสารใหม่ในสารเก่า

๓)มานอนในไพรพนมต้องลมว่าว   อนาถหนาวน้ำค้างพร่างพฤกษา
หอมดอกกลอยสร้อยสนสุมณฑา    มะลิลาลมโชยมาโรยริน
ดอกไม้สดรสรื่นชื่นแช่ม                เหมือนกลิ่นแก้มแจ่มนวลชวนถวิล
หอมบุปผาสารพันลูกจันทน์อิน        ไม่เหมือนกลิ่นนุชเนื้อที่เจือจันทน์
สองท่อนไม่กินกัน ช่วงแรกออกแนวเศร้าที่จำพราก แต่ดันชมว่าดอกไม้หอม ใช้คำที่จรุงใจ
แม้จะตบท้ายว่าหอมสู้น้องนุชไม่ได้  มันก็ช้าไปแล้วเพราะได้เผยไต๋ว่าไม่เศร้าจริง

สรุปว่า กลอนที่ 1 นี่เป็นผู้เรียนมาก คิดใหญ่ไม่คิดเล็ก ฉลาดล้ำลึก น่าจะเป็นสุนทรภู่
ที่ 2 เลิกแต่งกลอนได้ก็จะดี เป็นแต่ครูพักลักจำ
ที่ 3 แต่งกลอนได้แต่คงเอาดีทางนี้ยาก ไปหางานที่เหมาะกับตัว แล้วใช้กลอนมาเสริมบารมีจะดีกั่ว
 


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 15 ส.ค. 07, 02:07
อิอิ.... ส่งการบ้านอาจารย์เทาชมภูบ้าง

นทีตีฟองนองระลอก                  คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลค่นขุ่น
เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน      อานนท์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท       สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
บดบังสุริยันตะวันเดือน                คลาดเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา

ถ้ากลอนสุนทรภู่เปรียบเป็นคาราบาวแบบผมชอบคิด  อันนี้กลายเป็นประเภทสุเทพ หรือ ธานนินทร์ อ่ะครับ  กลอนดีแต่กลิ่นไม่ใช่(อิอิ... พูดแนวสมัยนิยม)  อาจเป็นเพราะทางกลอนรามเกียรติ์ที่แต่งไว้แล้วสำเนียงแบบนี้อ่ะครับ  เลยทำสำเนียงกลอนให้กลมกลืน  เพราะเป็นการแต่งเสริม (แบบตำราว่าไว้)  นี่คิดในทางที่เข้าข้างบทเรียนครับ  จุดมุ่งหมายการแต่งเพื่อใช้เป็นบทละครสำหรับเล่นละครใน 

เห็นนางหนึ่งงามแฉล้มแช่มช้อย     นั่งร้อยดอกดวงพวงบุปผา
ทรงโฉมประโลมเลิศลักขณา         พักตราจิ้มลิ้มยิ้มแย้ม
ผิวเนื้อนวลละอองเป็นสองสี          โอษฐ์นางอย่างลิ้นจี่จีนแต้ม
ขอบขนงก่งเหมือนดังเดือนแรม      ทั้งสองแก้มเพียงพระจันทร์วันเพ็ง

อันนี้ประมาณพงษ์เทพอ่ะครับ  สัมผัสสองคำท้ายเยอะแบบนี้หรือมาสัมผัสเจ็ดกับแปด  ไม่ค่อยเยอะนักครับถ้าเป็นท่านสุนทรภู่  จะนิยม  ห้ากับเจ็ดมากกว่า

มานอนในไพรพนมต้องลมว่าว        อนาถหนาวน้ำค้างพร่างพฤกษา
หอมดอกกลอยสร้อยสนสุมณฑา    มะลิลาลมโชยมาโรยริน
ดอกไม้สดรสรื่นชื่นแช่ม                เหมือนกลิ่นแก้มแจ่มนวลชวนถวิล
หอมบุปผาสารพันลูกจันทน์อิน        ไม่เหมือนกลิ่นนุชเนื้อที่เจือจันทน์
เจ้าพี่เอ๋ยเชยอื่นไม่ชื่นจิต               เหมือนเชยชิดโฉมน้องประคองขวัญ
มานอนเดียวเปลี่ยวใจในไพรวัน       สะอื้นอั้นอกน้องมัวหมองเอย ฯ

บทละครอภัยนุราชนี้สิ  สำเนียงของท่านสุนทรภู่ครับ  ใกล้เคียงที่สุดในสามหัวข้อที่ยกมา  แต่พวกนี้เป็นบทละครครับ  คงจะมาเปรียบกับนิราศทั้งในด้านรสชาติหรือสำนวน  คงไม่ได้กระมังครับ  ยิ่งอภัยนุราชมีร่ายมีกาพย์  สลับไปด้วย

ขุนแผนว่าจะอยู่ดูไม่ได้                     ในคุกใหญ่ยากแค้นมันแสนเข็ญ
เหมือนกับอยู่ในนรกตกทั้งเป็น            ไม่ว่างเว้นโทษทัณฑ์สักวันเลย
แต่พ่อนั้นท่านเจ้ากรมยมราช              อนุญาตให้อยู่ทับในหับเผย
คนทั้งหลายนายมุลก็คุ้นเคย               เขาละเลยพ่อไม่ต้องถูกจองจำ

อันนี้ท่านอาจารย์ลองขับเสภาดูสิครับ  มันเข้ากันดีมากเลย  แต่ลองเอานิราศมาขับเป็นเสภาดูสิครับ  อันนี้ผมคิดว่าแตกต่างกันตรงที่จุดประสงค์ครับ

อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวล้วนๆ  ไม่ได้ปรึกษาคนข้างๆ....อิอิ  ;)


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 07, 09:23
มาเฉลย
กลอนบทที่ ๑  นทีตีฟองนองระลอก  เล่าไว้ในประวัติของสุนทรภู่ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงวินิจฉัยไว้
เล่าว่าเป็นตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงแต่งบทละครรามเกียรติ์มาถึงตอนบรรยายรถทรงของทศกัณฐ์  ตอนออกศึกกับพระราม
ต้องให้ใหญ่โตโอ่อ่ากว่ารถพญายักษ์ทั้งหมดที่มาช่วยรบ 
ทรงแต่งไปได้ครึ่งหนึ่งก็ติด
รถเอยรถที่นั่ง                         บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล       ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน
ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง           เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
สารถี่ขี่ขับเข้าดงแดน                พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุณ

 สุนทรภู่จึงมาต่อตอนนี้

กลอนบทที่ ๒ มาจากบทละครพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ในรัชกาลที่ ๒
แม้เรียกว่าบทละครพระราชนิพนธ์   แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทรงแต่งเองทั้งหมด 
ตามขนบที่ทำมาคือโปรดให้ชุมนุมกวีหน้าพระที่นั่งช่วยกันแต่งขึ้น  แล้วมาอ่านถวาย แก้ไขจนเห็นเหมาะสมแล้วก็ให้อาลักษณ์เขียนลงในสมุด เก็บไว้
ดังนั้นอาจเป็นฝีปากกวีสมัยรัชกาลที่ ๒ คนใดคนหนึ่งก็ได้

กลอนบทที่ ๓  มาจากอภัยนุราช   บทละครของสุนทรภู่

กลอนทั้ง ๓ เรื่อง ๓ สำนวนนี้เป็นกลอนบทละคร    จุดมุ่งหมายที่เอามาคือเทียบ "ทาง" หรือ"ลีลาการแต่ง" 
อาจจะพอมองเห็นลีลาการแต่งนิราศได้ค่ะ    ไม่ถึงกับไม่ได้    เพราะไม่ได้ต่างกันมากขนาดเอากลอนไปเทียบกับโคลง

ดิฉันไม่บอกว่าเป็นของใคร แต่ถามว่าดูออกไหมว่าคนเดียวกันแต่ง
คือตั้งใจจะลบความรู้สึกฝังใจว่าสุนทรภู่(หรือไม่ใช่สุนทรภู่) แต่ง   ออกไปก่อน   เพราะส่วนใหญ่ผู้ศึกษาเรื่องสุนทรภู่   จะปักใจจากประวัติ  ไม่คิดจะสอบทานหรือมองทางอื่น   
ทำให้การศึกษาเรื่องสุนทรภู่ วนเวียนซ้ำกันอยู่ในวงเดิม 

คำตอบของ ๓ หนุ่ม ๓ มุมในกระทู้นี้ ทำให้รู้ว่า ถ้าเราลบประวัติที่เชื่อกันออกไป   ไม่เอาตัวคนแต่งมาเป็นหลัก
แต่เอาเนื้อๆของกลอนมาเป็นหลัก   
จะได้คำตอบอะไรดีๆเยอะเทียว   อย่างน้อยมันก็แปลกไปกว่าที่เราเคยเชื่อกันมา

ที่น่าสนใจคือคุณอาชาตอบว่า กลอนบทที่ ๑ ไม่น่าจะเป็นคนเดียวกับสุนทรภู่
ตรงกันข้ามกับคุณพิพัฒน์ ที่มองเห็นว่าน่าจะเป็นสุนทรภู่
ส่วนคุณ Bana ตอบแบบนักวิชาการที่รู้แล้วว่าใครแต่ง  ยังขัดภูมิรู้ที่ติดแน่นไม่ออก


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 07, 09:35
บท นทีตีฟองนองระลอก    ถ้ามองจาก "ทาง" ที่แต่ง  แบบคุณอาชามอง  จะเห็นได้ว่าสำนวนนี้ไม่เหมือนสุนทรภู่
ถ้าหากว่าจะค้านอย่างคุณ Bana ค้านว่านี่เป็นกลอนบทละคร  ไม่สามารถเอามาเปรียบกับนิราศที่เรากำลังพูดกันอยู่
ดิฉันก็เอาตอนหนึ่งของบทละครอภัยนุราชมาให้เห็น  ว่า "ทาง" ของสุนทรภู่ในกลอนบทละคร ยังฉายแววออกมาจนได้ ไม่ว่าจะแต่งอะไร
อย่างในกลอนบทที่ ๓
แล้วนี่ถ้าแต่งถวายพระเจ้าแผ่นดิน  ท่านจะเลือกทางของท่าน หรือทางของรัชกาลที่ ๒
ถ้าคุณตอบว่า เลือกทางของรัชกาลที่ ๒ ซิครับ  เพราะแต่งต่อจากพระองค์ท่านนี่ ก็ต้องกลมกลืนกัน
ก็หมายความว่าคุณพิพัฒน์เข้าใจถูกแล้ว  ว่านี่สุนทรภู่

แต่ถ้าตอบว่า สุนทรภู่มี"ทาง" ของตัวเองที่เป็นแบบแผนชัดเจน  ไม่ว่าแต่งอะไรก็ต้องฉายแวว"ทาง"นั้นออกมาจนได้
กลอนในข้อ ๑ นั้น ก็เป็นอย่างที่คุณอาชาผยองว่า คือ ไม่ใช่ของสุนทรภู่
ถ้าถามว่าเป็นของใคร
ดิฉันก็ตอบว่าเป็นของรัชกาลที่ ๒ พระองค์ท่านนั่นแหละ  ไม่ใช่ของกวีคนหนึ่งในสมัยของท่านอย่างในกลอนบทที่ ๒
รสชาติผิดกันไกล

ถ้าอ่านแล้วขัดใจว่า ทำไมไม่ให้คำตอบฟันธงลงไปเป๊ะๆ  ว่าใช่หรือไม่ใช่  มาตั้งข้อแม้อยู่ได้
คำตอบคือไม่ใช่หมอดูทางในนี่คะ     จะได้ตอบลงไปอย่างมั่นใจ 
เรื่องวรรณคดีก็ดี ประวัติศาสตร์ก็ดี ตีความกันจากเนื้อหาที่เจอทั้งนั้น ๑๐ คนก็ตีความได้ ๑๐ อย่าง ไม่มีคำตอบลงตัวอย่าง ๒+๒ ย่อมเท่ากับ ๔


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 07, 11:03
ใครหลงเข้ามาตอบในกระทู้นี้ มีการบ้านแยะค่ะ 
เอามาให้ทำ
กลอนนิราศ ๒ บท นี้ คุณลองคิดดูว่า บทไหนบอกฝีมือเชิงศิลป์กว่ากัน
แล้วจะมาเฉลย
๑)  เสนาะเสียงเทศนาปุจฉาถาม          ในสนามเสียงสนั่นเนินสิงขร
เป็นวันบรรณรสีรวีวร                           พระจันทรทรงกลดรจนา
ไฟตะเกียงเรียงรอบพระมณฑป             กระจ่างจบจันทร์แจ่มแอร่มผา
ดอกไม้พุ่มจุดงามอร่ามตา                    จับศิลาแลเลื่อมเป็นลายลาย
พระจันทร์ส่องต้องยอดมณฑปสุก          ในหน้ามุขเงางามอร่ามฉาย
นกบินกรวดพรวดพราดประกายพราย       พลุกระจายช่อช่วงดังดวงเดือน

๒)ครั้นเย็นค่ำย่ำมืดขมุกขมัว                 พี่นึกกลัวกลับมาที่อาศัย
พระจันทร์ส่องท้องป่าพนาลัย                จุดดอกไม้เพลิงวางตามตะเกียง
ถวายพระแท่นอุทิศตั้งจิตหวัง                จุดพลุดังก้องลั่นสนั่นเสียง
กระจายฟุ้งพลุ่งใหญ่ไฟพะเนียง             ขึ้นสูงเพียงปลายรังดังสะท้าน
บ้างก็จุดอ้ายตื้อเสียงหวือหวูด                กรวดก็ฉูดพุ่งปราดอยู่ฉาดฉาน
มีคนดูกรูเกรียวเที่ยวสำราญ                  ประกอบการบูชาประสาจน


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 15 ส.ค. 07, 15:32
เปรียบเทียบเชิงศิลป์นั้นเปรียบไม่ถูกครับ เพราะผมเป็นคนไม่มีศิลป์
แต่ถูกฝึกมาให้สู้ตาย เมื่อเข้าห้องสอบแล้วก็ต้องพยายามตอบครับ ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น

อ่านกลอนสองสำนวนนี้แล้วรู้สึกว่า สำนวนแรกเหมือนดูลิเก สำนวนหลังเหมือนฟังเพลงลูกทุ่ง

ส่งคำตอบสั้นๆเพียงเท่านี้ โปรดปรานีเถิดหนาท่านอาจารย์  ;D


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 ส.ค. 07, 15:57
มาตอบข้อสอบแรกซ้ำว่า
ถ้าสูตรของคุณอาชาฯ รับได้ ความตอนนี้ ก็ไม่ใช่ฝีปากสุนทรภู่
เป็นการเอาเรื่องอาไรก้อม่ายรุ ยัดเข้าในชีวิตท่าน
หรือ
ท่านแปลงตน ให้ใหญ่เท่าพระราชนิพนธ์ แต่ความที่อ่านนั้น ผู้แต่งมีวุฒิภาวะสูงเกินคนปกติไปมาก

สำหรับบทสาม ทำผมผิดหวังมาก ว่าท่านกวีเอก ทำไมต้มแกงจืดได้จืดสนิทอย่างนี้


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 07, 19:20
ลีลา(หรือทาง)ที่แต่งชมรถทรงนั้น   ถ้าไม่รู้ว่าสองคนแต่งต่อกัน ก็เนียนสนิทเหมือนคนเดียวแต่ง
ถ้าบอกว่าสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าทรงแต่งเองทั้งบท  ก็เชื่อค่ะ   เพราะทรงเป็นทั้งกวีและศิลปิน  ไม่น่าจะจนถ้อยคำกับเรื่องง่ายๆแค่ชมรถ
ถ้าใครไปเปิดดูรามเกียรติ์ทั้งสองรัชกาล จะเห็นว่าบทอาบน้ำแต่งตัว กับบทรถทรง มีให้อ่านถี่ยิบเกือบจะทุกหน้า
ออกศึกทีก็อาบน้ำทรงเครื่องที    นั่งรถทรงกันที ทั้งสองฝ่าย    ซ้ำๆกัน
บทแบบนี้ไม่ต้องอาศัยอารมณ์หรือการดำเนินเรื่องที่ยากเย็น   ไม่มีอารมณ์ ไม่มีศัพท์อะไรที่แปลกแหวกแนว  ดำเนินไปตามขั้นตอน คือชมตัวรถ  บอกถึงสัตว์ที่เทียม  เครื่องสูง แล้วก็เคลื่อนรถ กระเทือนพื้นพสุธาแค่ไหน
แทบจะเรียกได้ว่าเป็นแพทเทิร์นเสียด้วยซ้ำ
ยกอีกตอนมาก็ได้ รถทรงทศกัณฐ์เหมือนกันค่ะ

รถเอยรถทรง                   ดุมวงกงแก้วมรกต
บุษบกหน้าบันชั้นลด          งอนรถปักธงลงยันต์
เทียมเทพอาชาพาชี          สารถีขี่ขับแข็งขัน
เครื่องสูงจามรทอนตะวัน     ฉัตรชั้นชุมสายรายเรียง
สังข์แตรกลองประโคมโครมครึก     ก้องกึกกังวานประสานเสียง
ทวยหาญโห่ร้องซ้องสำเนียง          พ่างเพียงพระสุเมรุจะเอนลง
นกหกหงส์ห่านทะยานเหิน             สัตว์สิงวิ่งตะเพิ่นไพรระหง
เร่งรถรีบรัดจัตุรงค์                        หมายตรงมาสมรภูมิชัย

แต่ถ้าถามว่าบทชมรถทรงบทไหนเด็ดที่สุด ก็บทที่สมเด็จทรงเล่าในประวัติว่าสุนทรภู่แต่งนั่นแหละค่ะ
คำเปรียบเทียบ ของบทหลัง โอฬารกว่าบทอื่นๆ  แต่"ทาง" เป็นแบบรัชกาลที่สองมากกว่าแบบเฉพาะตัวของสุนทรภู่


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 ส.ค. 07, 19:31
เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์
เครื่องสูงทั้งหมด ต้องสร้างใหม่ เพราะเจ้าตากแทบจะมิได้สร้างสิ่งสำคัญไว้เลย
เวชยันตราชรถก็ต้องสร้าง บุษบกพระแก้วก็ต้องสร้าง
มหัฆภัณฑ์อีก เครื่องราชูปโภคทั้งหมด....ฯลฯ

คนที่อยู่ร่วมสมัยก็ต้องอยากเอ่ยถึงละครับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 07, 19:39
ถ้าพิจารณาจากตัวบท ในถ้อยคำที่ใช้  บทรถทรง ผู้แต่งต่อมีความรู้เรื่องไตรภูมิดีพอจะหยิบยกมาใช้ได้อย่างมั่นใจ
รถของทศกัณฐ์ ยิ่งใหญ่พอจะทำให้โลกไหวทั้งพื้นดินและมหาสมุทร กระเทือนไปถึงปลาอานนท์ที่หนุนโลก  เป็น"อธิพจน์" (hyberbole) ที่นำมาใช้ในรูปสมจริง ได้เนียนมาก
ถ้าเทียบฝีปากกับบทแรกที่เริ่มชมรถทรงเอาไว้แล้ว   คุณพพ.บอกว่าใหญ่เท่าพระราชนิพนธ์ นั้น  เห็นด้วย
ถ้าเป็นขุนนางหนุ่มชั้นผู้น้อยคนหนึ่ง แต่งอย่างมั่นใจเฉียบขาดขนาดนี้  ก็น่าจะผ่านจาก ซีสาม พรวดเดียวขึ้นเป็นซีสิบได้
แต่ถ้าไม่มีขุนนางคนไหนทำได้ขนาดนี้   บทนี้เป็นพระราชนิพนธ์ล้วนๆ

ลองเอาวิชานับแบบคุณอาชาฯนำทางมาก่อน  มาใช้บ้าง ด้วยการนับจำนวนสิงห์เทียมรถ
บทนี้ กวีบรรจุสิงห์เข้าไปเทียมล้อรถ ข้างละหนึ่งแสนตัว
แต่บทอื่นๆ เทียมม้าชั้นเยี่ยมบ้าง  เทียมสิงห์บ้าง แต่เหลือข้างละสี่พันเอง
กวีอื่นใจไม่ถึงเท่ากวีท่านนี้ค่ะ   จินตนาการไม่เก่งกล้าเท่า


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 16 ส.ค. 07, 01:38
อ่ะ   คุณครูให้การบ้านอีกแล้ว  บทไหนมีฝีมือในเชิงศิลป์  หรือว่าลีลาในบทประพันธ์บทไหนดีกว่ากัน  บทแรกคือสุดยอดครับ เป็นเสาวรจนีที่ไม่มากเกินไป  คือไม่ใช่พรรณนาเกินจริง  แต่มองแล้วชมด้วยบทประพันธ์อย่างมีศิลป์  แบบคนที่ไม่ได้ไปด้วยนึกภาพตามได้แบบไม่ขัดเขิน  มีชีวิตครับเรียกว่ามีชีวิตชีวาแบบชมโดยรอบได้ทั้งบรรยากาศ  สีสัน  เสียง  อารมณ์ ในวันเพ็ญ  งามครับ  ผมขออนุญาตใช้คำว่า งาม

ประจวบจนสุริยนเย็นพยับ                              ไม่ได้ศัพท์เซ็งแซ่ด้วยแตรสังข์
ปี่ระนาดฆ้องกลองประโคมดัง                          ระฆังหงั่งหงั่งหง่างลงครางครึม
มโหรีปี่ไฉนจับใจแจ้ว                                     วิเวกแว่วกลองโยนตะโพนกระหึม
ทุกที่ทับสัปปุรุษก็พูดพึม                                 รุกขาครึ้มครอบแสงพระจันทร
เสนาะเสียงเทศนาปุจฉาถาม                            ในสนามเสียงสนั่นเนินสิงขร
เป็นวันบรรณรสีรวีวร                                      พระจันทรทรงกลดรจนา
ไฟตะเกียงเรียงรอบพระมณฑป                       กระจ่างจบจันทร์แจ่มแอร่มผา
ดอกไม้พุ่มจุดงามอร่ามตา                              จับศิลาแลเลื่อมเป็นลายลาย
พระจันทร์ส่องต้องยอดมณฑปสุก                    ในหน้ามุขเงางามอร่ามฉาย
นกบินกรวดพรวดพราดประกายพราย                 พลุกระจายช่อช่วงดังดวงเดือน

ส่วนบทที่สองขออนุญาตเริ่มแต่ต้นบทนะครับ

พระสุริยายอแสงแฝงคีรี                                เสียงชะนีโหยหวนรัญจวนใจ
เห็นเสือด้อมกวางเดินเนินพนัส                        เล็มระบัดใบหญ้าที่อาศัย
วิ่งคะนองลองเชิงระเริงใจ                               เห็นคนไปวิ่งซอกตามตรอกเตริ่น
หมีกระโดดหมูคุดเที่ยวมุดแฝง                        แรดก็แรงกินหนามไม่ขามเขิน
ชะมดสมันหันหาพากันเดิน                             ละมั่งเมินมองเมียงฟังเสียงคน
กะรอกกะแตแย้ตุ่นเที่ยวดุนดุด                       บ้างคุ้ยขุดดินป่าพนาสณฑ์
พี่เที่ยวเดินดูสนุกทุกตำบล                            ก็ต่างคนต่างสำราญบานฤทัย

ครั้นเย็นค่ำย่ำมืดขมุกขมัว                              พี่นึกกลัวกลับมาที่อาศัย
พระจันทร์ส่องท้องป่าพนาลัย                         จุดดอกไม้เพลิงวางตามตะเกียง
ถวายพระแท่นอุทิศตั้งจิตต์หวัง                       จุดพลุดังก้องลั่นสนั่นเสียง
กระจายฟุ้งพลุ่งใหญ่ไฟพะเนียง                      ขึ้นสูงเพียงปลายรังดังสะท้าน
บ้างก็จุดอ้ายตื้อเสียงหวือหวูด                        กรวดก็ฉูดพุ่งปราดอยู่ฉาดฉาน
มีคนดูกรูเกรียวเที่ยวสำราญ                           ประกอบการบูชาประสาจน

เป็นลีลาที่เราสามารถคิดตามได้ครับในบทแรก  ถ้าใครเคยเดินป่า  อะไรจะไปเห็นสัตว์มากมายหลายชนิดเพียงนั้น  เห็นเสือเห็นหมีเห็นกวางเห็นแรด  อยู่ลำบากล่ะครับ  เรียกว่าเห็นบ้างเติมบ้างไปตามกลอน  เรียกเป็นลีลา เสาวรสจนีได้  แต่ไม่ได้รูปเสียงกลิ่นรส  เท่าบทแรกครับ  แต่ก็เพราะด้วยคำและสัมผัส  ขออนุญาตใช้คำว่า  ไพเราะ

ทางกลอนในรามเกียรติ์  ถ้าท่านกวีแต่งเติม  คงต้องรักษาทางกลอนของเดิมไว้นะครับ  แต่จะบังอาจไปใหญ่เทียบพระราชนิพนธ์นั้น  มันก็คงจำเป็นล่ะครับถ้าท่านแต่งเอง  ตรงนี้ล่ะครับบ่งบอกถึงจินตนาการอันกว้างไกลของท่าน (แต่แบบมีหลักเกณฑ์นะครับ)  จินตนาการนี่ล่ะครับ  เป็นจุดเด่นจุดหนึ่งที่พวกเรายกย่องท่านมหากวีไม่ใช่เหรอครับ  เช่นที่เราเห็นได้มากในเรื่อง พระอภัยมณี.......... ;)


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 07, 08:25
๑) มาเฉลย
บทแรกมาจากนิราศพระบาท ที่คุณพพ.กำลังพิสูจน์ว่าสุนทรภู่ไม่ได้แต่ง
บทที่สองมาจากนิราศพระแท่นดงรัง ของนายมี หลวงศุภมาตรา ศิษย์สุนทรภู่
๒)เห็นด้วยกับคุณ Bana ว่ากลอนบทแรก  มีชั้นเชิงการแต่งแพรวพรายกว่าบทที่ ๒
บทที่สอง  เล่นสัมผัสคล้องจองรื่นหูตามแนวของสุนทรภู่  แต่การใช้ถ้อยคำ นิยมคำสามัญ
เป็นการบอกเล่าภาพที่เห็น เหมือนมองผ่านกล้องถ่ายวิดีโอ   ไม่มีอารมณ์เกี่ยวข้อง
ถ้าเทียบกับบทแรก  อารมณ์คนแต่งดื่มด่ำกับการฉลองพระบาท มากกว่าคนแต่งบทที่สอง


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ส.ค. 07, 09:37
ผมก็ชอบบทแรกครับ อ่านสนุก มีอารมณ์ที่โยกสูงวาบหวิวดีนัก
กวีคนนี้เก่งจริงๆ
ถ้าตัดท่านสุนทรออกไปแล้วละก้อ เราจะได้อัจฉริยะกวีผู้เป็นฝีพายและกองระวังหน้ามาอีกคน
เก่งทั้งบู้และบุ๋น หายากนัก


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 07, 10:17
ถ้าทฤษฎีของคุณพพ.ถูกต้อง ว่าคนแต่งนิราศพระบาท ไม่ใช่สุนทรภู่  แต่เป็นฝีพาย มหาดเล็กหนุ่มคนหนึ่ง ในรัชกาลที่ 4  ตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัว
หรือไม่ อย่างน้อยก็ตามเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ครั้งบรรพชาเป็นสามเณร  หากว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จไปด้วย   
แต่น่าจะเสด็จ ถึงมีการล้อมวงที่ประทับ
เราจะแกะรอยอะไรได้บ้าง
เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ประสูติ พ.ศ. 2396   บรรพชาเป็นสามเณร พระชนม์ราวๆ 11 ก็เป็น พ.ศ. 2407
เรื่องนี้แต่งประมาณปี   2407  กวีหนุ่มน่าจะอายุ 20 ต้นๆ  เพราะมีเมีย ครองเรือนกันแล้ว กำลังงอนกันอยู่นานเป็นแรมเดือน
แกก็น่าจะเกิดพ.ศ. 2387 หรือก่อนนั้นไม่กี่ปี  อาจจะ 2384-5
ฝีมือขนาดนี้ ไม่น่าจะอับจนเป็นฝีพายหรือมหาดเล็กไปจนแก่     ในรัชกาลที่ 5 ก็โปรดคนมีความรู้ทางการกวี
ลองมองหาดูเล่นๆดีไหม  ใครพอจะจำได้ว่าขุนนางเก่งเรื่องกวีนิพนธ์ ท่านไหนเกิดประมาณปีพวกนี้บ้าง
ดิฉันยังนึกไม่ออกค่ะ   
ที่จริง  ถ้ากวีฝีพายคนนี้มีอายุยืนยาวมาจนรัชกาลที่ 5 อาจจะอยู่จนถึงต้นรัชกาลที่ 6 ได้   เพื่อนพ้องรุ่นน้องและวงศ์วารว่านเครือ ไม่มีเหลือตัวมาท้วงติงสมเด็จกรมพระยาดำรงฯบ้างหรือ ว่านิราศพระบาทเนี่ย   พ่อ(หรือลุง) หรือเจ้าคุณเจ้ากรม ของข้าพระพุทธเจ้าแต่งเองพะย่ะค่ะ
หาใช่สุนทรภู่ไม่


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ส.ค. 07, 11:37
ท่านเป็นเณรปี 2409 ครับ พระชนม์ 13 หลังโสกันต์แล้ว


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 07, 12:11
งั้นขอแก้ไขใหม่ค่ะ
เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ประสูติ พ.ศ. 2396   บรรพชาเป็นสามเณร พระชนม์ราวๆ 13 ก็เป็น พ.ศ. 2409
เรื่องนี้แต่งประมาณปี   2409  กวีหนุ่มน่าจะอายุ 20 ต้นๆ  เพราะมีเมีย ครองเรือนกันแล้ว กำลังงอนกันอยู่นานเป็นแรมเดือน
แกก็น่าจะเกิดพ.ศ. 2389 หรือก่อนนั้นไม่กี่ปี  อาจจะ 2385-7

อีกเรื่องหนึ่งที่ยังสงสัย
เจ้าเณรน้อยเสด็จมาดูน่ารัก               พระกลดหักทองขวางกางถวาย

ถ้ากลดระดับหักทองขวาง กางให้เจ้าฟ้า ไม่ใช่พระองค์เจ้า  เจ้าฟ้าพระองค์นี้อาจจะเป็นเจ้าฟ้าพระองค์อื่นในสมัยรัชกาลที่ 1-4

อ่านดูแล้วเหมือนเจ้าฟ้าเณรมีพระชนม์น้อยกว่า 13  หรือไม่ก็พระวรกายเล็ก ดูเด็ก  ถึงใช้คำว่า น่ารัก
อาจจะเป็นเจ้านายที่บวชเมื่อพระชนม์เยาว์กว่า 13

เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงมีพระองค์เจ้าหญิงผ่อง ตั้งแต่พระชนม์เท่าไรคะ 
เมื่อพระชนม์ 13 พระวรกายน่าจะสูง เริ่มเป็นหนุ่มแล้ว   


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ส.ค. 07, 12:29
มีพระรูปทรงเป็นเณรอยู่ 3 ท่า ก็พอจะใช้คำว่าน่ารักได้ครับ
เมื่อสึกมา ท่านจึงได้แตกเนื้อหนุ่ม และมีพระวรกายสูงสง่า ผิดไปจากเดิมมากครับ
อาจจะเป็นเรื่องของฮอร์โมนที่พลิกผันของการเจริญพันธุ์

หลังจากมณฑปพระบาทเขียนผนังลายทอง และปูแผ่นเงินแล้ว
มีเจ้าฟ้าที่น่าจะได้พระกลดหักทองขวางก็เพียงเจ้าฟ้ากลาง(พระมารดาเป็นเจ้าฟ้า)
เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์(พระมารดาเป็นพระนางเธอ)
และเจ้าฟ้าจาตุรน เจ้าฟ้าภาณุรังสี....เท่านั้น


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 07, 18:11
กำลังนึกถึงเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมีค่ะ  ส่วนเจ้าฟ้าภาณุรังษีฯยังทรงพระเยาว์มากในปลายรัชกาลที่ ๔ 


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ส.ค. 07, 18:27
เจ้าฟ้าจาตุรน ประสูติปีมเสง 2399 พระชนม์ 13 ในปี 2412 ปีมเสงต่อมเมีย
นับยังไงก็ไม่ตกปีเถาะเคราะห์ร้ายครับ

แล้วปีนั้น เราไม่ใช้ช้างขึ้นพระบาทแล้วมังครับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 18 ส.ค. 07, 00:02
ตามความเป็นจริงแล้ว  เป็นสามเณรพระองค์เจ้าวาสุกรี  ไม่ได้เลยเหรอครับ  เพราะสามเณรรูปนี้ก็เป็นระดับพระเจ้าน้องยาเธอเชียวนะครับ  ถึงเป็นพระองค์เจ้าตอนประสูติก็ตาม  แต่ก็ต่อมาก็เป็นสามเณรที่ร่วมพระราชบิดาเดียวกับพระเจ้าอยู่หัว  หรือไม่มีทางที่จะทรงกลดหักทองขวางได้ (แม้เป็นกรณีพิเศษก็ตาม) 

อิอิ  .......อันนี้คิดอยากให้เป็นไปตามกระบวนอ่ะครับ  ท่านพิพัฒน์อย่าเพิ่งดุนา......... :P


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 18 ส.ค. 07, 01:35
ม่ายดุหรอก....ฮึ่ม(เสียงกระแอม)
แล้วจะเอาไงดีกับลายทองที่ผนัง และแผ่นเงินปูพื้นล่ะนั่น
อีกอย่าง พระบาทน่ะ เพิ่งเสร็จปลายรัชกาลที่ 1
เพราะฉะนั้น จะมีการเดินทางไปเที่ยวกันเอิกเกริกอย่างในกลอน ก็กระไรอยู่

เอาเถอะ....เราจะว่ากันด้วยพิรุธใหญ่
เรื่องลายทองแผ่นเงิน นั่นคงใหญ่พอ
แล้วที่กวีเป็นพลพายกับพลช้างล่ะท่าน ท่านจะแก้ตัวว่ายังไง
กรมอาลักษณ์บ้านใหนละที่ต้องมาพายเรือในกระบวน มาด้วยน่ากลัวยังไม่ได้เลย

แล้วกระบวนยิ่งใหญ่ขนาดนั้น ท่านอ่านว่าเป็นกระบวนของพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ได้ละหรือ

ฮึ่มมม...ไม่ดุครับ ไม่ดุ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 19 ส.ค. 07, 06:51
เรื่องพระกลดหักทองขวาง

ผมคิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะเป็นพระกลดทรงของพระองค์เจ้าครับ และไม่คิดด้วยว่าพระเจ้าแผ่นดินจะทรงอวยพระยศพระเกียรติให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้า ให้มากมายขนาดนั้น โบราณท่านถือนะครับเรื่องสูงต่ำ ถ้าอวยพระเกียรติให้สูงเกินศักดิ์แล้ว ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องดีเรื่องมงคลนะครับ ท่านถือว่าเป็นอัปมงคล...ขอประทานโทษ ขออนุญาตพูดด้วยคำเก่าๆ ที่ฟังอาจหยาบคือ เป็น 'จัญไร' แก่เจ้านายผู้ทรงได้รับพระเกียรติยศนั้นด้วยซ้ำ ผมเชื่อว่าพระเจ้าอยู่หัวท่านคงไม่ให้พระองค์เจ้าวาสุกรีทรงพระกลดชั้นสูงขนาดนั้นหรอก ท่านคงจะทรงเป็นห่วงสวัสดิภาพของพระองค์เจ้าพระองค์นั้นอยู่บ้าง

จริงๆ แล้ว เจ้าฟ้าธรรมดาๆ ยังทรงพระกลดหักทองขวางไม่ได้เลยนะครับ ต้องเป็นพระมหากษัตริย์ กรมสมเด็จพระ (หรือต่อมาคือ สมเด็จพระ) หรือเจ้าฟ้าชั้นพิเศษผู้ทรงสัปตปฎลเศวตฉัตรเท่านั้น แต่เอาเถิด ถ้าเจ้าฟ้าธรรมดาๆ ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณามากๆ ก็อาจจะพระราชทานให้ทรงได้

ปกติเจ้าฟ้าทรงได้เฉพาะเครื่องสูงทองแผ่ลวดครับ (ขนาด "พระบรมสารีริกธาตุ" ยังทรงเครื่องสูงได้แค่ทองแผ่ลวดเลยครับ)

ฉะนั้น พระองค์เจ้า กับหักทองขวางนี่ ...อย่าหวัง


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 07, 10:43
ฮึ่ม ระดับคุณ UP มาตีความเรื่องพระกลดหักทองขวาง..แตกกระจายจริงๆ  ดิฉันไม่หาญไปเถียง
ในรัชกาลที่ ๑ ถึง ๕ เจ้าฟ้าชั้นพิเศษผู้ทรงสัปตปฎลเศวตฉัตร  เกิดมาเป็นเจ้าฟ้า ไม่ใช่เลื่อนขึ้นเป็น  และยังพระชนม์น้อยขนาดเพิ่งบรรพชาเป็นสามเณร   ในแผ่นดินของสมเด็จพระราชบิดา
มี ๓ พระองค์   ถูกไหมคะ 

เจ้าฟ้ามงกุฎ
เจ้าฟ้าจุฑามณี
และ
เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กับเจ้าฟ้าภาณุรังษีไม่เข้าข่าย


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 ส.ค. 07, 11:34
ต้องนับครอกเจ้าฟ้ากุณฑลด้วย
สุนทรภู่แต่งเพลงยาวถวายโอวาทถวาย มีนัยยะว่า ทรงอยู่ในลำดับครองแผ่นดินด้วยครับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 07, 12:39
ทำหนังสือราชสกุลวงศ์ หาย ยังหาไม่เจอว่าเก็บไว้ตู้ไหน  เลยติดขัดไปหมดเวลาจะตรวจสอบหลักฐาน
เจ้าฟ้าอีก ๓ พระองค์  เจ้าฟ้าอาภรณ์ เจ้าฟ้ากลาง เจ้าฟ้าปิ๋ว
พระองค์ไหน พระชนม์พอจะบรรพชาในปีเถาะ คะ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 ส.ค. 07, 13:50
ปีเถาะต้องสงสัย ประกอบด้วย
2350
2362
2374
2386
2398
2410

เจ้าฟ้าอาภรณ์(น่าจะ)โสกันต์ปลายรัชกาลที่ 2 หรือไม่ก้อ ปีแรกของรัชกาลที่ 3 2367-8 พระบาทยังไม่ปูแผ่นเงิน
เจ้าฟ้ากลาง ประสูติปีเถาะ 2362 จึงควรจะโสกันต์ปีมโรง 2375 บรรพชาปีรุ่งขึ้น มเสง
เจ้าฟ้าปิ๋วประสูติปีมะแม 2365 ควรโสกันต์ ปีวอก 2378  บรรพชาปีรุ่งขึ้น ระกา

เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ประสูติปีฉลู 2396 โสกันต์ปี ฉลู 2408 แล้วบรรพชาปีขาล 2409 สึกปีเถาะ 2410
จะเห็นว่าเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทรงโสกันต์ตอนพระชนม์ 12 เต็ม ปกติ จะโสกันต์ 13
และแม้ว่าเจ้าฟ้ากลางโสกันต์ 12 บ้าง ก็ยังไม่บรรพชาในปีเถาะครับ

อย่างไรก้อดี
แม้จะเป็นเจ้าฟ้ากลางจริงๆ ที่บังเอิญโสกันต์-บรรพชาเร็ว
บังเอิญได้รับพระราชทานพระกลดหักทองขวางจากรัชกาลที่ 3
(หักหน้าเจ้าฟ้ามงกุฏและเจ้าฟ้าน้อย และพระเชษฐาคือฟ้าอาภรณ์ต้องสงสัยว่าเป็นขบถด้วย)

นิราศนี้ ก็ยังแต่งโดยพลพายกองระวังหน้า
ไม่ใช่ท่านภู่ ซึ่งในปีนั้น 2374-5 เป็นครูพระที่เพิ่งแต่งเพลงยาวอำลาอาลัยลูกศิษย์
อ้าว...เผลอแผล็บเดียว ถอดจีวรไปพายเรือซะแล่ว
และนายมุ่ย ซึ่งจะต้องเป็นคนไปทำแผ่นเงินอะไรนั่น ก็ยังบวชเณรอยู่ เพราะสหชาติกับฟ้ากลาง
ต้องรีบสึกไปตีเงินด้วยวัยเพียง 12 โอ้....คิดแล้วกุ้มมมมม์ขนาด

นี่เขาอ่านกวีนิพนธ์กันด้วยสมองข้างใหนหนอ
แล้วคนที่อ่านกลอนได้อย่างนั้น จะให้ผมเชื่อวินิจฉัยท่านๆ อีกสามกระบุงโกยที่ตามต่อกันมา...
สืบเชื้อสายมารุ่นต่อรุ่น มาถึงปีนี้ก็กว่าห้าสิบปีแล้ว
อาจารย์กะคุณเครซี่ อ่านมาแค่สองอาทิตย์ สร้างข้อสงสัยในพิรุธได้เพียบ
เฮ้ออออ เวงกัม......



กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 19 ส.ค. 07, 14:30
ถ้าจะว่าตามตรง ..."เจ้าฟ้าชาย" ในช่วงต้นๆ กรุงนั้น ไม่มีพระองค์ไหนที่มีพระเกียรติยศพิเศษถึงระดับ "ทูลกระหม่อม" แต่ "แรกประสูติ" เลยครับ

ที่สำคัญ เจ้าฟ้าสมัยโน้นไม่มีพระองค์ไหนได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นพิเศษถึงขึ้นสัปตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตรขาว ๗ ชั้น) ฉะนั้น เจ้าฟ้าที่ทรงพระกลดหักทองขวางได้ ก็คงเข้าข่ายพระมหากรุณาพิเศษ ไม่ใช่ได้โดยพระเกียรติยศจริงๆ

เจ้าฟ้าชั้นเอก ชั้นทูลกระหม่อม พระองค์แรกแต่แรกประสูติที่เป็นทางการจริงๆ นั้น ก็ได้แก่ เจ้าฟ้ามงกุฎ และเจ้าฟ้าจุฑามณี เป็นรุ่นแรก

เจ้าฟ้าอาภรณ์ เจ้าฟ้ามหามาลา และเจ้าฟ้าปิ๋ว พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ ที่ประสูติแต่เจ้าฟ้ากุณฑล นั้นถึงโดยพฤตินัยจะเป็นทูลกระหม่อม แต่ก็ "ติด" อยู่ที่ไม่ทรงอวยพระเกียรติให้เสมอทูลกระหม่อม เพราะสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงขอพรไว้ ฉะนั้น ก็เรียกกันเพียง "สมเด็จ" ผมเชื่อว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ คงไม่ทรงกล้ายกย่องเจ้าฟ้า ๓ พระองค์นี้อย่างใหญ่โตออกหน้านักแน่ๆ ต่อมา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ก็ทรงออกพระนามเจ้าฟ้ามหามาลาเพียง "สมเด็จปู่" ไม่ใช่ทูลกระหม่อม

ส่วนเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี และเจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ โดยพระกำเนิดนั้นทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้น "สมเด็จ" เท่านั้นเองนะครับ พระจอมเกล้าฯ ท่านยังรับสั่งไว้เองว่า "แม่เพยนี้ถึงในกรุงเทพฯ ท่านทั้งปวงว่าเป็นเจ้าเล็กเจ้าน้อย..."

เรื่องเจ้าฟ้าที่ประสูติแต่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงเป็น "สมเด็จ" มาแต่เมื่อแรกประสูตินั้น ยืนยันได้จากการที่เราเรียกเจ้าฟ้าภาณุรังษีว่า "สมเด็จวังบูรพา" หรือ "สมเด็จชาย" ไม่อย่างนั้นเราก็เรียกทูลกระหม่อมไปแล้วล่ะครับ

สรุป เจ้าฟ้าผู้มีพระเกียรติยศยิ่งใหญ่ทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัยนับแต่แรกประสูติพระองค์แรกๆ นั้น คือ เจ้าฟ้ามงกุฎ และเจ้าฟ้าจุฑามณี ครับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 21 ส.ค. 07, 03:06
ขอบพระคุณท่าน UP ที่ให้ความกระจ่างคราวนี้จะได้วิเคราะห์ด้วยความมั่นใจซะที

แบบนี้แปลว่า  เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์  ไม่อยู่ในข่ายแน่นอน  มีในข่ายแค่สองพระองค์  คือเจ้าฟ้ามงกุฏฯกับเจ้าฟ้าน้อย

มาถึงตอนนี้ก็ต้องจิบกาแฟแล้วหยิบพาราฯมาอีกสองเม็ด  เพราะในวัยที่เจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์นี้  เป็น  เณรน้อยเสด็จมาดูน่ารัก   ไม่สามารถจะตอบท่านพิพัฒน์ได้ในเรื่องเงื่อนไขสำคัญที่เป็นปมที่แก้ไม่ตก  เรื่อง ลายทองที่ผนัง และแผ่นเงินปูพื้น

ท่านพิพัฒน์ขอรับทำไงดี  เณรน้อยพระองค์นี้กล้าฟันธงไม๊ขอรับ  ว่าเป็นพระองค์ใด

ขออนุญาตให้การบ้าน ..................อิอิ  ???


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 ส.ค. 07, 09:56
ผมฟันขาดวิ่นไปแล้วนี่ท่าน
เจ้าฟ้าที่น่าจะเป็น ตามราชประเพณีมีสองพระองค์ดังทั่นอั๊บยกมาแสดง
แต่เจ้าฟ้าที่เป็นจริงๆ ตามกลอน ก็คือเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ย่อมจะทรงพระกรุณาฯ เป็นกรณีพิเศษได้
และได้ทรงพระกรุณา


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 21 ส.ค. 07, 13:15
ถึงเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ จะเป็นเจ้าฟ้าชั้น "สมเด็จ" แต่ก็ถือว่าทรงเป็น "หัวแถว" ของบรรดาเจ้าฟ้าทั้งปวงครับ เพราะในเวลานั้น พระจอมเกล้าฯ ไม่ทรงมีเจ้าฟ้าชั้นเอก คือชั้น "ทูลกระหม่อม"

เจ้าฟ้าโสมนัส ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ก็สิ้นพระชนม์ตั้งแต่แรกประสูติ

พระจอมเกล้าฯ ทรงยกย่องพระเกียรติยศของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เป็นพิเศษกว่าเจ้าฟ้าทั่วๆ ไปแน่นอน แต่จะถึงขนาดพระราชทานเครื่องสูงหักทองขวางให้หรือไม่ ไม่ขอยืนยันครับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ส.ค. 07, 13:39
ถ้าหากว่าเป็นเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์  นิราศพระบาทก็แต่งในปลายรัชกาลที่ 4 
คุณพิพัฒน์บอกว่า "เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ประสูติปีฉลู 2396 โสกันต์ปี ฉลู 2408 แล้วบรรพชาปีขาล 2409 สึกปีเถาะ 2410"
นิราศพระบาทก็แต่งในช่วงที่ใกล้สึกแต่ยังไม่ทันสึก

ถ้าเรื่องนี้แต่งโดยมหาดเล็ก พลพาย   ในปลายรัชกาลที่ 4    ลีลาการแต่งกลอนสุภาพแบบสุนทรภู่คงแพร่หลาย เรียกได้ว่าเป็น สกูลสุนทรภู่

เรื่องนี้มีหลักฐานแข็งแกร่งกว่าเรื่องอื่น  ในเรื่องพื้นดาดด้วยเงิน   และพระกลดหักทองขวาง


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 ส.ค. 07, 14:55
หลักฐานที่แข็งแกร่งนั้น ผมยังไม่พบเลยสักเรื่อง
ถ้าจะเชื่อพระนิพนธ์สมเด็จ ผมว่าแม้แต่พระองค์ท่าน หากทรงตรวจสอบอีกรอบ ก็คงไม่เชื่อพระองค์เอง
เมื่อมีผู้ท้วง อย่างมีหลักเกณฑ์ก็ทรงอนุมัติตาม เช่นเรื่องหาบุญยัง...เป็นต้น
บุญยัง ยังมาปรากฏในนิราศสุพรรณ "บอกบทบุญยังพยาน พยักหน้า" แล้วจะให้ตความอย่างไร

มาว่ากันที่ไกล้เหตุการณ์ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องยกให้ตากุหลาบไกล้สุด....ทำไมไม่เชื่อ
ท่านที่แต่งประวัติสุนทรภู่ก็บอกต้องกันว่าพ่อเป็นคนเมืองแกลง แต่อ้างนิราศเมืองแกลง
ซึ่งเป็นนิราศที่ไม่มีตรงใหนเลย บอกว่าเป็นฝีปากสุนทรภู่ นอกจากลีลากลอน
แต่ผมกลับเห็นว่าลีลาไม่ชัดเจน ชัดเจนกว่าก็คือกวีเป็นคนผิวบาง คนอย่างนี้ทำตัวเหมือนในรำพันพิลาปไม่ได้ดอก

นิราศเมืองเพชร ปีแต่งก็เห็นกันโต้งๆ ว่าผิดจากชีวิตสุนทรภู่ ก็อ้างฝีปากอีก
เป็นหลักฐานที่หากจะมีน้ำหนักก็เสมอด้วยลมพัดผ่านร่องใบไม้ ใบไม้ไม่ไหวติง
เราต้องการมากกว่าฝีปาก จึงจะยืนยันได้ว่าเป็นงานของใคร
เครื่องมือวิเศษที่เรียกว่าฝีปากนี้ ยังเอางานสองชิ้นออกจากชีวิตกวีคู่หนึ่ง
คือนิราศหนูพัด กับนิราศเณรกลั่น บาปกรรมจริงๆ

รำพันพิลาป แต่งหลังจากสึกมาตั้งนาน อาจจะแต่งคราวรัชกาลที่ 4 แล้วด้วยซ้ำ
ก็ยังจะลากเจ้าหญิงพระองค์หนึ่งมากุ๊กกิ๊กกับกวีเฒ่า ทั้งๆที่ไม่มีหลักฐาน"อันแข็งแกร่ง" เลย
คิดดูถี พระองค์ลักขณาลาผนวชเมื่อปี 2372 พอถึง 2375 ก็สิ้นพระชนม์
ในช่วงนั้น ตรงกับวันเวลาในเพลงยาวถวายโอวาท ที่ว่าเริ่มสอน 2372 แล้วเจ้าฟ้ากลางจะต้องโสกันต์ 2374
สุนทรภู่ไม่มีทางแยกร่างหนึ่งไปบอกสักรวาพระองค์ลักขฯ ซึ่งอีกไม่นานก็ทรงประชวรเพราะฝิ่น
แล้วสุนทรภู่ยังต้องห่มผ้าเหลืองเข้าวังหน้าพระลานไปสอนหนังสือ

ขัดแย้งกันถึงเพียงนี้ ท่านยังจะเชื่อทั้งสองเรื่องหรือ และต้องเชื่อเรื่องไปพึ่งพระองค์ลักขฯ เท่านั้น
ความโรมานส์เรื่องอาจเอื้อมรักเจ้าหญิง ที่ท่านโปรดปรานจึงจะเกิด

แต่ผมเห็นว่าไม่มีวันเกิดได้ เพราะครูพระท่าน เช้าขึ้นก็เดินมาวังหน้าพระลาน สอนหนังสือจนลูกศิษย์ต้องโสกันต์
แกจึงถวายบังคมลาไปหาสมบัติ นี่ผมว่าตามหลักฐานที่ผมเห็นว่า"แข็งแกร่ง" เท่าที่จะสอบจากถ้อยคำกวีออกมาได้
ท่านจะแย้ง ก็ต้องเอาหลักฐานที่เทียบเท่ามาสู้ ขออย่าอ้างคำจากคนที่สันนิษฐานผิดบ่อยๆเลยครับ อย่างไรก็หักล้างมิได้

เมื่อไม่อาจเกี่ยวข้องกับพระองค์ลักขณานุคุณ ซึ่งรวมไปถึงพระองค์เจ้าหญิงวิลาสด้วย
ประวัติกวีตอนตกยาก ก็กลายเป็นไม่ตกยากไปฉิบ นอกจากไม่ตกยาก ยังอู่ฟู่ด้วย
เพราะเป็นข้าเจ้าฟ้า จะมากจะน้อยก็ต้องเหนือกว่าลอยเรือจ้างรับเขียนเพลงยาว
ก็แล้วถ้าตกยาก ท่านเอาเงินที่ใหนไปลุยหัวเมือง

ผมอ่านนิทานเรื่องสุนทรภู่ที่เชื่อตามกันมาแล้วรู้สึกเหลือเชื่อว่า การสอบข้อมูลนั้น ทำไมเขาไม่ทำกัน
เขียนประวัติกวีออกมาเป็นร้อยๆ ท่าน กลัวสุนัขจนเดินตามผู้ใหญ่กันหมด

โฮ่ง โฮ่ง โฮ่ง


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 21 ส.ค. 07, 22:39
บรู๊ววววววว .........
เอาล่ะท่าน  ถ้าจะให้ใกล้เคียงที่สุด น่าจะต้องเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ  และนิราศเรื่องนี้แต่งโดยฝีพายมหัศจรรย์  ที่ทั้งเป็นพลพายเหนื่อยจนสายตัวแทบขาด  และยังมีเวลามาแต่งนิราศเพราะๆอีกด้วย  ในเวลาสามสี่วันที่เดินทาง  แล้วเซ่อซ่าเกือบเดินไปชนกับเจ้าสามเณร

และอีกท่านก็เป็นครูพระ  ที่เป็นครูต้องระดับ ผช.  รศ.  หรืออาจเป็น ศจ. ด้วยซ้ำ  ที่มีวัยวุฒิ (เป็นผู้ใหญ่พอ)  คุณวุฒิ (เป็นผู้ที่อย่างน้อยต้องเคยสอนคนระดับลูกขุนนางหรือลูกพระองค์เจ้ามานักต่อนัก)  ชาติวุฒิ (เป็นที่เคารพนับถือ มีที่มาที่ไป มีชาติตระกูลพอสมควร)  ถึงจะได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยสอนเจ้าฟ้าพระองค์น้อยสองพระองค์  ที่เรียกว่าอยู่ในข่าย แคนดิเดท ที่อาจได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วย

แต่ไม่มีประวัติที่บ่งบอกว่าเป็นพระราชาคณะหรือเปล่า (เพราะเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ก็ระดับสมเด็จโต)  หรือเป็นผู้ที่มีผลงานก่อนหน้าที่จะมาถวายการสอน หรือเคยเป็นขุนนางระดับแนวหน้าในฝ่ายบุ๋น  แล้วผลงานชั้นหลังหรืออาจจะชั้นแรก  ประเภท พระอภัยมณี 94 เล่ม  และอื่นๆอีก  จะเอาเวลาตอนไหนมาแต่งมิต้องลามมาถึงสมัย รัชกาลพระพุทธเจ้าหลวงดอกหรือ

ผมว่ารำพันพิลาป  น่าจะเป็นคำตอบที่ดีอีกเรื่องหนึ่ง  เพราะนอกจากเรื่องปลวก  ก็กล่าวถึงสถานที่ที่เกี่ยวพันกับนิราศหลายเรื่อง..... :-[


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 22 ส.ค. 07, 21:43
สวัสดีคะพี่ๆ ทุกท่าน ขออนุญาตเสนอความคิดเห็นนิดหน่อยคะ

คือว่า

หนูขอเสนอมุมมองตามพงศาวดาร
ซึ่งอาจแย้งกับข้อมูลของพี่ๆ ดังนี้ค่ะ
เจ้าเณรจุฬาลงกรณ์ ทรงผนวชนาน 6 เดือน
ที่ว่าพระองค์ทรงผนวชปีขาล ๒๔๐๙ แล้วไปลาผนวชปีเถาะ ๒๔๑๐ อาจไม่เป็นจริง
เพราะถ้าจะเป็นได้ ก็คือต้องผนวชในเดือนสิบเอ็ดหรือสิบสอง
แต่ว่าคนโบราณไม่มีใครบวชระหว่างพรรษา หรือหลังตักบาตรเทโว
มีแต่บวชก่อนเข้าพรรษาเท่านั้น

หนูหยิบพงศาวดาร ร.5 มาให้ดูกันค่ะ

ถึงปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙ เป็นกำหนดซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงผนวช
เป็นสามเณรตามราชประเพณี พระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดฯให้จัดการตามแบบเจ้าฟ้าทรงผนวช เหมือนอย่างครั้งพระองค์ทรงผนวช
เป็นสามเณรในรัชกาลที่ ๒ คือ เมื่อวันพุธ เดือน ๘ ขึ้น๖ ค่ำ….


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 22 ส.ค. 07, 21:46
พระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือถึงเมืองพิษณุโลก
โปรดฯให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงผนวชเป็นสามเณรโดยเสด็จไปในเรือพระที่นั่ง
อรรคราชวรเดชด้วยเสด็จออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑
ในสมัยนั้นลำแม่น้ำทางเมืองเหนือยังกว้าง เมื่อขาขึ้นเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชจักร
ข้าง ๒ ปล่องเป็นเรือไฟขนาดยาว ๓๐ วา ยังเข้าปากน้ำเกยไชยขึ้นทางลำน้ำเมืองพิจิตรเก่า
ได้ถึงเมืองพิษณุโลก แต่ขากลับน้ำลดต้องล่องทางคลองเรียงที่เป็นลำน้ำเมืองพิจิตรทุกวันนี้
และเมื่อขาเสด็จขึ้นไปนั้น เสด็จประทับทอดพระเนตรวัดโพธิประทับช้างในลำน้ำเมืองพิจิตรเก่า
ซึ่งเป็นของพระเจ้าเสือทรงสร้างไว้แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา กล่าวกันว่าเพราะเสด็จสมภพที่นั่น
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นประพาสวัดโพธิประทับช้าง

อาศัยเหตุที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นสามเณรทรงผ้ากาสาวพัตร จึงมีรับสั่งให้ทรงพระราชยานต่างพระองค์
และโปรดฯให้ข้าราชการแห่นำตามเสด็จเหมือนกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน ส่วนพระองค์เองนั้น
ทรงพระราชดำเนินตามไปโดยลำพังทั้งขาขึ้นขาลง

และเมื่อสมโภชพระพุทธชินราช ณ เมืองพิษณุโลกนั้น โปรดฯให้ทรงกำกับทหารมหาดเล็ก ซึ่งเป็นพนักงานการมหรสพด้วย(๒) และครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชศรัทธาสร้างวิหารพระเหลือ(หลังใหญ่) ที่ในวัดพระศรีมหาธาตุ และโปรดฯให้ทำศิลาจารึกติดไว้ที่วิหารนั้นยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้
พระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือครั้งนั้น
เสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯเมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑๑ แรม ๑๑ ค่ำ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง
ผนวชเป็นสามเณรอยู่ ๖ เดือน ถึงเดือนยี่ ปีขาลนั้นจึงได้ลาผนวช


[สรุปว่าผนวชปีขาล ลาผนวชปีขาล เเละเจ้าเณรจุฬาลงกรณ์ไม่ได้เสด็จพระบาท ]



กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 22 ส.ค. 07, 22:15
ขอบคุณพี่บุ้งมากๆ  ที่ให้ความกระจ่างในเรื่องเจ้าเณร 

ดังนั้นเอาเกณฑ์ท่าน UP มาวินิจฉัย  ก็ต้องเหลือเจ้านายเพียงสองพระองค์  คือเจ้าฟ้ามงกุฏฯ และเจ้าฟ้าน้อย

ทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่ทรงผนวชเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2361  บรพพชาที่วัดพระแก้ว  แล้วประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุฯ  ออกพรรษาก็ลาผนวช  ไม่ปรากฏว่าได้เดินทางไปไหน  แม้แต่ที่พระพุทธบาท

ทูลกระหม่อมฟ้าน้อย  ไม่เจอประวัติว่าทรงผนวชเป็นสามเณรมีแต่เข้ารับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเชษฐา  เมื่อมีพระชนมายุ 16 พรรษา

ยาพาราแกล้มกาแฟ  แล้วพยายามคิดเลยไปถึง  พระบรมฯเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ  เพราะมองไม่เห็นพระองค์ใดจริงๆครับท่านพิพัฒน์....... ???


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 23 ส.ค. 07, 00:20
ผมสอบพระราชกิจจานุเบกษาเจอดีเข้าให้

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2439/040/477_1.PDF (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2439/040/477_1.PDF)

วันที่ ๒๘ ธันวาคม เวลาเช้า ๓ โมงเศษ เสด็จขึ้นนมัสการพระพุทธบาทแล้ว ทรงพระดำเนินไปตามทางบนเขา เฃตรพระพุทธบาท ทรงสลักพระนาม จ,ป,ร, ในศิลาน่าผาตามทางแห่งหนึ่ง และรัตนโกสินทร์ศก ๗๙ . ๙๑ . ๑๐๒ . ๑๑๕ . เปนที่หมายคราวที่เสด็จพระราชดำเนิน มานมัสการพระพุทธบาท

ตรงกับพุทธศักราช ๒๔๐๓, ๒๔๑๕, ๒๔๒๖, ๒๔๓๙ ตามลำดับ

เป็นอันสรุปได้ว่าไม่ใช่สามเณรเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์อย่างแน่นอนครับ

หน้าค้นพระราชกิจจาฯนี้มีประโยชน์มากครับ
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/RKJ/announce/search.jsp (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/RKJ/announce/search.jsp)


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 23 ส.ค. 07, 02:03
เจอพี่บุ้ง และ ท่าน CH นับว่าได้ของดีและได้ความกระจ่าง

ได้คำยืนยันของสองท่านในเรื่องเจ้าเณรน้อยเสด็จมาดูน่ารัก  ว่าไม่ใช่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ แน่นอน

และยังได้เวปราชกิจจานุเบกษาไว้ให้ค้นหาอีกด้วย

เงื่อนไขเริ่มงวดลงแต่ก็ยังไม่สามารถจะทราบได้ว่าเจ้าเณร พระองค์นี้เป็นใคร  แต่น่าค้นหา..... ???

ขออนุญาตดูบอลก่อน  อิอิ.   Eng  VS   Ger


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 07, 09:02
เห็นจะมีแต่คุณพิพัฒน์ที่จะแถลงไขปัญหาได้ละค่ะ
อ่านข้างล่าง พูดถึงสมเด็จพระจอมเกล้าเสด็จเรือกลไฟ  แล้วกลับมาเทียบกับบรรยากาศในนิราศพระบาท
พายเรือไป    กลางคืนล้อมวงรอบที่ประทับ    มีนางในนั่งในขบวนช้าง...
บรรยากาศย้อนไปคล้ายสมัยเจ้าฟ้ากุ้งมากๆค่ะ    ก็ต้องต้นรัตนโกสินทร์นั่นแหละที่ยังสืบสายวัฒนธรรมอยุธยาเหมือนถอดพิมพ์กันมา

ขอตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า ถ้าเราหาเจ้าฟ้าสมัยรัชกาลที่ ๑-๓ ที่บรรพชาปีเถาะไม่ได้   ก็แปลว่ากลดหักทองขวางในสมัยนั้นอนุโลมให้ใช้กับพระองค์เจ้าได้
แต่คุณ UP คงจะค้อนเอาแน่ๆ

จากข้อมูลที่คุณหนอนบุ้งไปหามาให้     บรรยากาศตอนปลายรัชกาลที่ ๔ นั้นทันสมัยขึ้นมากแล้ว   
ถ้างั้นอย่างเร็วที่สุดนิราศพระบาทแต่งสมัยต้นรัชกาลที่ ๔ เมื่อยังพายเรือกันอยู่
ถ้าท่านกวีนิราศพระบาท มีโอกาสเห็นพระเจ้าอยู่หัวเสด็จโดยเรือกลไฟ ก็น่าจะเอ่ยถึง



กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 23 ส.ค. 07, 10:19
อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องแผ่นเงินปูพื้น ที่เป็นตัวจำกัดอายุ

ผมสงสัยมานานแล้วว่าแผ่นเงินนั้นอาจมีอยู่ก่อนแล้ว เพียงแต่มาปูใหม่หรือซ่อมแซม เพียงแต่ยังหาหลักฐานไม่ได้

บัดนี้... เจอแล้วครับท่าน อยู่ในบุณโณวาทคำฉันท์ ที่พระมหานาคแต่งไว้ช่วงปลายอยุธยา (น่าจะแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ดังนี้ครับ

 ฉลักมุกทุกทวาร        อัษฐบานบเพี้ยนกัน
ล้วนแล้วณเครือพรร-    ณรายพรายลลายตา
 พื้นในหิรัญลาด         ก็สอาดอลังการ์
ราบรอบพระบาทา       ทศพลวิมลมี
 มณฎปเยาวในนั้น       คณพรรณมณีดี
พวงกลิ่นสุมาลี           รยาบย้อยอร่ามเรือง

พื้นปูแผ่นเงินอยู่แล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังนั้นเรื่องเวลาเก่าไปนั้นคงไม่ต้องกังวลแล้ว คงเหลือประเด็นพระกลดหักทองขวางอย่างเดียว

หากเชื่อตามพงศาวดารว่า เจ้าฟ้ามงกุฎทรงบรรพชาอยู่เพียง ๗ เดือน ก็เป็นอันว่าไม่ใช่เจ้าฟ้ามงกุฎไปอีกหนึ่ง

เหลืออยู่แต่เจ้าฟ้าจุฑามณีที่ยังหาหลักฐานไม่ได้ครับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 23 ส.ค. 07, 12:31
ขออนุญาตค้อนหนึ่งขวับ แล้วจึงบ่นอุบอิบในทำนองที่เคยบ่นไปแล้วว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่กวีท่านแต่งเพลินไป เห็นอะไรทองๆ ก็เรียกหักทองขวาง นึกว่าคนนอกๆ วังคงไม่รู้หรอกว่ามันต่างกันอย่างไร เหมือนกับเวลาชาวบ้านเห็นชุดปกติขาว ก็บอกว่า "แต่งขาวซะเต็มยศ" ซึ่งจริงๆ แล้ว "ปกติขาว" กับ "เต็มยศ" มันคนละแบบกันเลย

ยังไงๆ ผมก็ไม่สมัครจะคิดว่าพระองค์เจ้า (แถมยังทรงพระเยาว์ ไม่ได้ทำราชการอะไรจนมีความดีความชอบพิเศษสุด) สามาถทรงพระกลดหักทองขวางได้จริงๆ ครับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 23 ส.ค. 07, 15:39
เวลาผิดไปเดือนเดียว ผมไม่ถือเป็นสำคํญครับ
กวีท่านบ่นว่าสาวเจ้างอนแต่เดือนสามจนเดือนสี่ แล้วปิดท้ายว่านิราศนี้ปีเถาะ เคราะห์ร้าย
ตรงนี้ ต้องปักหมุดไว้หนึ่งดอกก่อน

หมุดดอกที่สอง ก็คือ จะเชื่อกวีคนนี้หรือไม่ หรือจะเชื่อเอกสารราชการ ซึ่งผมไม่เคยไว้ใจในความถูกต้องเท่าใดนัก
แม้แต่ราชกิจจาก็ตาม ยิ่งในสมัยที่ไม่มีการมานั่งจับผิดอย่างพวกเราทุกวันนี้ ยิ่งต้องใส่ใจ
เอาล่ะ กวีบอกว่าอะไร
บอกว่าฉันเป็นหนุ่มฉกรรจ์ แข็งแรง เพิ่งจะเริ่มติดพันสาว มีความรู้ดี คารมดี และเป็นข้าในราชสำนักที่มีหน้ามีตาไม่เบา
ฉันตามเสด็จเจ้านายชั้นสูง ไปพระบาท กระบวนเสด็จนั้นโอ่อ่า เต็มยศ นางในเป็นฝูง
ฉันไปเห็นพระบาทในสภาพที่มีแผ่นเงินปูพื้น ผนังเขียนลายทอง และเจ้านายน้อยพระองค์หนึ่ง
เป็นเณรมีพระกลดหักทองขวางเป็นเครื่องยศ

ทั้งหมดข้างต้น เกิดเมื่อปีเถาะ 2350 หรือ 2362 หรือ 2374 หรือ 2386 หรือ 2398 หรือ 2410
ปี พ.ศ. ที่ว่า ความจริงต้องเปลี่ยนเป็นจุลศักราช ลงท้ายด้วยปีเอกศก โทศก ไปตามที่เป็นจริง แต่จะเหนื่อยพวกท่าน ผมจึงละไว้
ทำให้เพี้ยนได้นะครับ

คราวนี้จะไขข้อสงสัย
แผ่นเงินสมัยบ้านเมืองดีน่ะ เจ๊กบ้ามันมาขนไปหมดแล้วครับ แล้วตัวมณฑปก็ถูกเผาราบไปแล้ว
รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างใหม่ โดยใช้แบบจากพระมณฑปวัดพระแก้ว และกรมพระราชวังบวร ทรงพระราชศรัทธา
ถึงกับแบกเครื่องลำยองขึ้นเขาด้วยพระองค์เอง เครื่องลำยองก็อยู่บนหลังคา ที่เป็นตัวนาคเลื้อยบนหลังคา
ในที่นี้ผมเดาว่าคงเป็นซุ้มรังไก่ที่ประดับยอดพระมณฑป ซึ่งขนาดย่อมกว่าลำยองปกติที่ยาวเป็นวา
แม้กระนั้น ชิ้นหนึ่งก็หลายสิบกิโลอยู่ ....ผมยังเชื่อด้วยว่า ในสมัยรัชกาลที่ 1 ประเพณีไหว้พระบาท คงยังไม่รื้อฟื้นเต็มที่ ต้องรัชกาลที่ 2 จึงจะครึกครื้น
จึงทรงแต่งกาพย์ห่อโคลงแข่งเจ้าฟ้ากุ้ง
เอาละ ตกลงว่าแผ่นเงินในปุณโณวาทนี่ ยกออกนะครับ

เรื่องหักทองขวาง ผมไม่ค้อนอย่างคุณอั๊บนะครับ ผมโวยเลย
เป็นการแก้ตัวที่ไม่เข้าท่า เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น เท่ากับกวีคนนี้มั่ว  เรื่องอื่นๆก็คงมั่วด้วย มันจะไปกันใหญ่
ความจริงยังมีเครื่องช่วยกวีที่ทุกท่านแกล้งเมิน ทำไมท่านต้องโดดหลบขบวนเณรน้อยเล่า
โดดหลบก็เพราะมีตำรวจนำไง ถามว่าพระองค์เจ้าเมืองใหนเสด็จโดยมีเกียรติยศอย่างนี้
ท่านอาจจะบอกว่า รัชกาลที่ 4 เสด็จไปใหนก็อย่างลำลอง ผมก็ขอตอบว่าลำลองแค่ใหน ราชประเพณีก็ไม่เลิก เพียงแต่ลดความเข้มงวด
ทีนี้เสด็จกลางป่า จะตามสะบายเหมือนเดินท่าเตียน เป็นไปไม่ได้
และแม้แต่เสด็จตามสะบาย กวีของเราเองก็เพลินจนแทบจะตัดหน้าฉาน ใครๆก็ต้องหลบ
ทั้งหมดสรุปว่า เณรน้อนท่านบิ๊กครับ

ส่วนเรื่องเรือกลไฟอะไรนั่น ขอบอกว่าคลองที่ไปพระบาท ติชื้นครับ เรือเข้าไม่ได้ เรือนั้นน่ะฝีจักรข้างนะครับ
อีกประการหนึ่ง การเสด็จพระบาท เป็นราชประเพณี พระจุลจอมเกล้ายังต้องรำง้าวก่อนเสด็จขึ้นเลย ขนาดบ้านเมืองทันสมัยแล้วก็ตาม....

ผมอ่านแบบเหมารวม อาจจะขาดส่วนละเอียดไปบ้าง
ขอขอบคุณที่ทักท้วง
แต่ยังดื้อ ไม่เปลี่ยนความเห็นครับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 23 ส.ค. 07, 17:14
เรื่องราชกิจจานุเบกษาผิดได้นั้นผมเห็นด้วยครับ (ถึงแม้จะคิดว่าโอกาสผิดจะน้อยกว่าพลพายนิรนาม :-X)

แต่ดูเรื่องนี้แล้วมันก็ไม่น่าผิดง่ายๆเพราะเป็นเรื่องที่รัชกาลที่ ๕ ทรงสลักเอง และปีที่สลักไว้ ๗๙, ๙๑ ดูแล้วนึกไม่ออกว่าจะผิดยังไงให้ไปลงที่ ๘๖ (๒๔๑๐) ได้

เพื่อความมั่นใจผมเลยไปหาข้อมูลแหล่งอื่นมายืนยัน ก็ได้จดหมายเหตุโหรของจมื่นก่งศิลป์ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๘ มาดังนี้ครับ

ปีวอก จ.ศ.๑๒๒๒ ณ วันอาทิตย์ ขึ้นแปดค่ำ เดือน ๔ เสด็จพระพุทธบาท
เป็นเหตุการณ์ในรัชกาลที่ ๔ ตรงกับ ร.ศ. ๗๙ (๒๔๐๓) เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์คงจะโดยเสด็จพระราชบิดาในครั้งนี้

ปีวอก จ.ศ.๑๒๓๔ ณ วันอาทิตย์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๓ เพลาเช้าโมงเศษเสด็จลงเรือพระที่นั่งกลไฟไปพระพุทธบาท
ตรงกับ ร.ศ. ๙๑ (๒๔๑๕) คราวนี้เป็นรัชกาลที่ ๕ แล้ว

ตรงกับราชกิจจานุเบกษาพอดี ไม่มีปัญหา

ดังนั้นขอยืนยันอีกครั้งว่า เจ้าเณรน้อยไม่มีทางเป็นเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ไปได้ครับ

แต่เรื่องพระกลดหักทองขวาง ผมยังคิดว่ากวีไม่น่ามั่ว น่าจะมีคำอธิบายที่ดีกว่านี้ นอกจากนี้พิจารณาจากปีประสูติเจ้าฟ้าจุฑามณี(๒๓๕๑) ก็ยากครับที่จะทรงเป็นเณรน้อยเสด็จไปพระบาทในปี ๒๓๖๒ ได้ แต่ก็ยังไม่ปิดประตูเสียทีเดียวครับ

เรื่องแผ่นเงิน ถ้าคุณ pipat ว่าเช่นนั้น ผมก็ไม่มีอะไรมายันครับ แต่ยังอดคิดไม่ได้ว่า สมัยร.๑ ท่านจะไม่ทรงให้ปูแผ่นเงินตามอย่างสมัยอยุธยาเชียวหรือ  :-\


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 23 ส.ค. 07, 17:30
พ.ศ. 2403 เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระชนม์  7 ขวบครับ ประสูติ 2396
แผ่นเงินนั้น ตามพงศาวดารก็บอกว่าทำในรัชกาลที่ 3 ยังมียันได้อีกข้อคือ พงศาวดารจดละเอียดว่า
ลายผนังครั้งรัชกาลที่ 1 เขียนเป็นลายชาด พอได้ซ่อมใหญ่ ท่านก็เลยปิดทองไปเสียด้วย
ทีนี้ ดูจากคำพรรณาสถานที่ สังเกตว่าทำได้สมบูรณ์งดงามมากแล้ว ผมเห็นว่าไม่ใช่สภาพครั้งแรกปฏิสังขรณ์
โดยเฉพาะที่ระบุต้นลั่นทมร่มรื่น

จะเล่าเรื่องความน่าสงสัยของพระราชพงศาวดาร เรื่องแผ่นเงินนี่แหละ
นายโหมดเล่าไว้ในประวัติตนเองว่า ได้ไปสานเสื่อเงินที่นี่ ครั้งรัชกาลที่ 3
แต่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ท่านจดว่า สมัยรัชกาลที่ 3 ปูแผ่นเงิน แล้วลิขาด เกี่ยวผ้านุ่งคนมาไหว้
พระจอมเกล้าจึงโปรดให้กรมพระเทเวศร์อำนวยการแปลงให้เป็นเสื่อเงิน

แบบนี้ ท่านจะเชื่อใครครับ ระหว่าคนไปทำกับมือ หรือคนที่มารวบรวมตอนปลายชีวิต และตาบอดแล้วด้วย
เอกสารราชการสมัยก่อน มักจะเพี้ยน เพราะหมายออกไปอย่างหนึ่ง ทำจริงเป็นอีกอย่างหนึ่ง
ต้องหากรณีแวดล้อมมาช่วยครับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 07, 18:46
ไม่มีความรู้เรื่องพ.ศ. เรื่องแผ่นเงิน และผนังทอง   จึงหันไปแกะรอยอีกทางหนึ่ง
ดูว่าเจ้านายของกวีนิราศพระบาท เป็นใคร   แกะรอยจากตัวบทกวีล้วนๆ ไม่นำพระวินิจฉัยของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ มาประกอบ

ก็มีคำระบุชัดเจนพอสมควร
๑) เจ้านายพระองค์นี้ ไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดิน  แต่เป็นเชื้อสาย"สุริยะ"

จนพระหน่อสุริย์วงศ์ทรงพระนาม
พระนามแปลว่าเชื้อสายสุริยะ
๒) เจ้านายพระองค์นี้ กำลังบวชอยู่ในขณะนั้น
จากอารามแรมร้างทางกันดาร

จอมนรินทร์เทวราชประภาษสั่ง     จะกลับยังอาวาสเกษมสันต์
และ
ฝ่ายพระหน่อสุริย์วงศ์ทรงสิกขา  ขึ้นศาลาโสรจสรงวารีศรี

คำว่า"หน่อสุริย์วงศ์" ที่ใช้ซ้ำกันหลายๆครั้ง ไม่ใช่พระนาม  เพราะโบราณคนสามัญไม่เรียกพระนามเจ้านายหรือแม้แต่ขุนนางใหญ่โตกันตรงๆ ถือเป็นการไม่เคารพ
แต่ใช้คำนี้เพื่ออธิบายว่าเจ้านายองค์นี้ทรงเป็นเทือกเถาเหล่ากอใคร
คำตอบ = หน่อ คือลูก  สุริย์วงศ์= เชื้อสายสุริยะ
กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข   พระนามเดิม  พระยาสุริยอภัย ในสมัยธนบุรี

๓) เป็นเจ้านายวังหลัง
ถึงวัดธารมาใหม่ใจระย่อ      ของพระหน่อสุริย์วงศ์พระวังหลัง   
๔) เจ้านายที่กำลังผนวชพระองค์นี้ บรรทมในเรือระหว่างเดินทาง
                                           พงศ์นารายณ์นรินทร์วงศ์ที่ทรงญาณ
บรรทมเรือพระที่นั่งบังวิสูตร        เขารวบรูดรอบดีทั้งสี่ด้าน
ครั้นรุ่งเช้าราวโมงหนึ่งนานนาน   จัดแจงม่านให้เคลื่อนนาวาคลาฯ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 07, 22:03
ข้อสงสัยอีกข้อที่เกี่ยวกับเจ้านายวังหลังในเรื่องนี้

ถ้าล่วงมาถึงปลายรัชกาลที่ ๔  วังหลังหมดบทบาทไปนานแล้วนะคะ    เหลือแต่วังบรรยากาศรกร้างอย่างที่นายมีบรรยายไว้ 
ถึงวังหลังเป็นวังสงัดเงียบ                เย็นยะเยียบหย่อมหญ้านิจจาเอ๋ย

รวมทั้งเชื้อสายก็เหลือระดับหม่อมเจ้า  ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง   
ไม่มีเจ้านายผู้ชายเชื้อสายวังหลัง  แม้กำลังผนวชก็ยังมีบารมีใหญ่โต  มีพลพาย  มีล้อมวง  มีช้าง ๒๐ เชือกขนนางในไปเที่ยวพระพุทธบาท   
ดูคึกคักเอิกเกริกอย่างที่บรรยาย   

อีกข้อที่ตั้งข้อสังเกตเฉยๆ  แปลกใจว่า นางในที่ไปเที่ยวพระพุทธบาท   ดูผู้ชายถึงเนื้อถึงตัวได้ง่ายจัง
จริงอยู่ว่าไม่ใช่เจ้านายสตรี หรือเจ้าจอมหม่อมห้ามแน่ๆ
แต่ระดับนางข้าหลวงอย่างแม่พลอยในปลายรัชกาลที่ ๕  ไปไหนมาไหนก็ต้องมีผู้ใหญ่คุมตัวอย่างเข้มงวด
ไม่ฟรีอย่างสาวๆพวกนี้   ผู้ชายถึงเนื้อถึงตัวง่ายมาก  บรรดาท้าวนางทั้งหลายที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลไปไหนกันหมด

สงสารนางชาวในที่ไปด้วย           ทั้งโถถ้วยเครื่องแต่งแป้งขมิ้น
หวีกระจกตกแตกกระจายดิน         เจ้าของผินหน้าหาน้ำตาคลอ
จะปีนขึ้นกูบช้างไม่กางขา            แต่โดยผ้ากรีดกรอมทำซอมซ่อ
มือตะกายสายรัดสกนธ์คอ            เห็นช้างงองวงหนีดก็หวีดอึง
แต่ปีนไพล่เหนี่ยวพลัดสุหรัดขาด    สองมือพลาดพลัดคว่ำลงต้ำผึง
กรมการบ้านป่าเขาฮาตึง              ทำโกรธขึ้งเรียกพวกผู้ชายเร็ว
บ้างขึ้นช้างพลางฉวยข้อมือฉุด       ดังอุณรุทจับกินนรที่ในเหว
ไม่นึกอายอัประมาณเป็นการเร็ว     บ้างโอบเอวอุ้มนางขึ้นช้างพังฯ
     

เที่ยวชมห้องปล่องหินเป็นพู่ย้อย      มีน้ำย้อยหยาดหยัดอย่างเม็ดฝน
พอเทียนดับลับแลไม่เห็นคน           ผู้หญิงปนเดินปะปะทะชาย
เสียงร้องกรีดหวีดก้องในห้องถ้ำ      ชายขยำหยอกแย่งผู้หญิงหวาย
ใครกอดแม่แปรกอกแตกตาย          ใครปาดป้ายด้วยดินหม้อเหมือนแมวคราว
ครั้นออกจากคูหาเห็นหน้าเพื่อน       มันมอมเปื้อนแปลกหน้าก็ฮาฉาว
บ้างถูกเล็บเจ็บแขนเป็นริ้วยาว          ก็โห่กราวกรูเกรียวไปเที่ยวดงฯ
   
เห็นหญิงชายว่ายคล่ำในลำธาร       เสียงประสานสรวลสันต์สนั่นอึง
เห็นชีต้นปนประสกสีกากลุ้ม            โถมกระทุ่มฟองฟุ้งอยู่ผลุงผึง
พี่หลีกเลียบไปให้พ้นที่คนอึง          กระทั่งถึงธารเกษมค่อยสร่างใจฯ
   
ชีต้น  แปลว่าพระก็ลงเล่นน้ำกับผู้ชายผู้หญิงด้วยหรือคะ?



กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 23 ส.ค. 07, 22:37
อิอิ..... โถท่านอาจารย์  ยกกลอนมาเอาซะผมเห็นภาพเลย  เห็นหลวงพี่ตีโป่งกระทุ่มน้ำเล่นกับพวกหนุ่มๆสาวๆ  ดูไม่จืด.....อิอิ

อันนี้มองบรรยากาศโดยรวมนะครับ  ลองนึกดูนะครับท่านอาจารย์ดูแปลกๆ

ภาพวัดและบริเวณโดยรอบคลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากมาย  มีทั้งเจ้านายที่เป็นพระเสด็จมากับบริวารช้างม้าพลพรรคกลุ่มใหญ่  อีกทางก็เป็นเณรทรงพระกลดหักทองขวาง  แปลว่าบิ๊กกว่าอีก  ก็ต้องหมู่ใหญ่กว่าหรือพอพอกัน  นี่ไม่นับว่าไม่รู้มีใครๆอีกหรือไม่  พวกหนุ่มๆสามๆก็ไม่สำรวมวิ่งเล่นเดินขวักไขว่  จนพ่อกวีของเราเกือบไปชนบวนเสด็จเจ้าเณรด้วยซ้ำ  แล้วก็แปลกอีกข้อ  เจ้าเณรน้อยเสด็จมาดูน่ารัก  บิ๊กระดับนี้ระดับเป็นรองแต่พระมหากษัตริย์  เหนือคนทั่วหล้าแต่เอ่ยถึงนิดเดียวแบบไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร  แถมยังมีพระหนุ่มสาวไม่สำรวมอีกเล่นกันโดยไม่ระวังว่าใกล้ๆมีเจ้านายมาหลายพระองค์  เพราะคนแต่ก่อนยิ่งกลัวเกรงเจ้านายยิ่งกว่าอะไร  นึกภาพแล้วสับสนพอพอกับความไม่สำรวมของนางในแบบท่านอาจารย์เทาชมภูว่าล่ครับ  ลองมโนภาพดูครับท่านอาจารย์........... :-[


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 24 ส.ค. 07, 00:26
ผมเองก็เห็นบรรยากาศอย่างนั้น จึงไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องครั้งรัชกาลที่ 1
ยิ่งอาจารย์ถอดความออกมาเสียโจ่งแจ้งอย่างนี้ ยิ่งหนักเข้าไปอีก
ราชสำนักครั้งที่เปิ๊ดสะก๊าดที่สุด ตามที่ท่านว่ามา ก็เห็นอยู่ยุคเดียวแหละครับ

เรื่องแม่พลอยนั้น ผมยังไม่เทกระเป๋าตามคุณชาย เพราะท่าน"แต่ง"เรื่องขึ้น
ถ้าเป็นอย่างท่านว่าจริง จะมีเรื่องคาวๆ ตั้งแต่วิสูตรถูกหนูกัด
เรื่องหม่อมลำดวน เรื่องคุณโม่ง-หม่อมเป็ดสวรรค์ เรื่องพระปิ่นเกล้าถูกวางยา
ฯลฯ....ฯลฯ...
จนถึงร้ายแรงที่สุดก็เรื่องอ้ายโตกับหม่อมยิ่งหรือครับ

เนื้อหานั้นแสดงว่า แต่งในยุคที่การถือเคร่งย่อหย่อนลง ชายหญิงสังสันท์กันไกล้ชิดขึ้น
แต่พระบาทก็ยังเป็นยอดของที่เที่ยวเล่นอยู่

ฝีมือถอดกลอน(ปั๊กกะตู..ของคุณครูเทาชมพู ยังเนี๊ยบหาคนสู้ได้ยาก)
แต่ผมไม่เห็นความเกี่ยวพันระหว่างพระหน่อสุริยวงศ์ กับพระสุริยอภัยฯเลยฮับ
ให้ดิ้นตาย....ฮิฮิ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ส.ค. 07, 09:09
เรื่องแม่พลอยนั้น ผมยังไม่เทกระเป๋าตามคุณชาย เพราะท่าน"แต่ง"เรื่องขึ้น
ถ้าเป็นอย่างท่านว่าจริง จะมีเรื่องคาวๆ ตั้งแต่วิสูตรถูกหนูกัด
เรื่องหม่อมลำดวน เรื่องคุณโม่ง-หม่อมเป็ดสวรรค์ เรื่องพระปิ่นเกล้าถูกวางยา
ฯลฯ....ฯลฯ...
จนถึงร้ายแรงที่สุดก็เรื่องอ้ายโตกับหม่อมยิ่งหรือครับ

คนละเรื่องค่ะ
สมัยม.ร.ว.คึกฤทธิ์แต่งสี่แผ่นดินเมื่อเกือบ ๖๐ ปีก่อน  เจ้านายสตรี เจ้าจอม ชาววังยังเหลืออยู่อีกมาก
พอจะจับผิดทักท้วงได้ถ้าหากว่าเขียนผิด  แต่ก็ไม่มีใครท้วง  ก็แสดงว่าท่านเขียนบรรยากาศได้ถูก
หม่อมแดงเป็นชาววัง  ยังไงก็ถ่ายทอดบรรยากาศให้ลูกชายฟังไม่ผิดหรอกค่ะ
เรื่องคาวๆที่คุณพพ.ยกมา ล้วนเป็นเรื่องลอบเร้นปิดบัง แหวกประเพณี   ไม่มีตอนไหนบอกเลยว่าเที่ยวเตร่กันได้เปิดเผยอย่างในนิราศ
เรื่องเล่นเพื่อน ในหม่อมเป็ดสวรรค์และคุณโม่ง เป็นเรื่องของทอมกับดี้   ไม่ใช่ชายกับหญิงฟรีสไตล์อย่างในนิราศพระบาท
ในวังมีแยะอยู่แล้วจนสมเด็จพระจอมเกล้าฯต้องทรงห้ามพระราชธิดาว่าอย่ามี



แต่ผมไม่เห็นความเกี่ยวพันระหว่างพระหน่อสุริยวงศ์ กับพระสุริยอภัยฯเลยฮับ
ให้ดิ้นตาย....ฮิฮิ

เป็นอาการของโรคดื้อฟีเวอร์ค่ะ  หุหุ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 24 ส.ค. 07, 10:54
อาจารย์มิเข้าใจประเด็นของกระผม
คุณชายน่ะ เธอแต่งเรื่องขึ้น อะไรที่ดีๆ จะมีใครไปท้วงล่ะครับ ว่าไม่จริงหรอก เรื่องจริงชั่วกว่านั้น
อย่างบอกว่า ชาววังเนี๊ยบสุดๆ ห่มสีตามวัน หอมติดกระดาน ใครๆ ก็ต้องบอกว่าจิง จิง จิงเจ้าค่า
ที่ใหนจะบอกว่า ไม่จริ๊ง แต่ละนางขี้ไคลกบบ้องหู ดำเป็นเหนี่ยงตัวก้อเหม็น ขัดขี้ไคลกันจนขมิ้นหมดตำหนัก
อบกลิ่นร่ำดับกลินผีตายซากกันสาละวน ถูกใหมครับ

แต่กวีของเรา ท่านเห็นอะไร ก็เล่าออกมาเป็นเรื่องสนุก ของจริงอาจจะไม่เปิ๊ดสะก๊าดเหมือนในกลอน
แต่การระมัดระวัง ถือเนื้อถือตัวที่ย่อหย่อน ก็ต้องมีละค๊าบบบบ ความเฟลิ๊ตมันจึงแพลมออกมาเป็นระยะ
สาวเล่นเพื่อนกันจนเป็นตำนานอย่างนี้ ไม่เห็นปรากฏในสี่แผ่นดิน ก็คงแก้ตัวว่า สมัยร 5-6 ไม่มีแล้ว.......

แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผมสนใจครับ
ผมสนใจว่า คุณชายไม่ได้เขียนรายงาน แต่เขียนนิยาย จะเอาเป็นข้ออ้างอิงนั้น ยาก
อ้างได้แต่ที่ท่านเขียนไว้ ที่ท่านไม่เขียน ใช่ว่าไม่มี

เอาอย่างนี้ดีฝ่า ขอความเมตตา ช่วยเทียบความสำนวนและบรรยากาศของรามเกียรติ์สามยุค ว่าต่างกันเพียงใหน
แล้วค่อยมาเทียบดูกับกลอนต้องสงสัยของเรา


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 ส.ค. 07, 10:56
ขอสรุปสถานการณ์ (ตามความเห็นของผม) ก่อนนะครับ
- มีเจ้าฟ้าสามพระองค์ที่เข้าข่ายว่าน่าจะมีสิทธิ์ได้พระกลดหักทองขวางคือ เจ้าฟ้ามงกุฎ เจ้าฟ้าจุฑามณี และเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
- กวีระบุตอนท้ายว่าเขียนนิราศเป็นปีเถาะ แต่ถ้าคิดว่ากลับมาถึงเดือนสามแล้ว อาจอนุโลมว่าเป็นเหตุการณ์ปีขาล รุ่งอีกเดือนข้ามมาเป็นปีเถาะจึงเขียนนิราศ
- พระหน่อสุริย์วงศ์ทรงสิกขาที่จะประภาษสั่งกลับอารามวัดระฆังน่าจะทรงบิ๊กมาก

- เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ไม่ใช่แน่ๆเพราะถึงแม้จะบรรพชาเป็นสามเณรในปีขาล ๒๔๐๙ แต่พระองค์สลักไว้ที่พระพุทธบาทว่าเคยเสด็จ ๒๔๐๓, ๒๔๑๕ ฯลฯ ยกเว้นเสียแต่ว่าพระองค์จะทรงลืมไปว่าเคยโดยเสด็จพระราชบิดามาเมื่อครั้งทรงบรรพชาเป็นสามเณร ซึ่งผมไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ครับ
- เจ้าฟ้ามงกฎบรรพชาปีฉลู ๒๓๖๐ พงศาวดารว่าทรงบรรพชาอยู่ ๗ เดือน แปลว่าต้นปีขาลก็ลาบรรพชา ไม่มีทางจะมาพระพุทธบาทปลายปีขาล ๒๓๖๑ ได้
- เจ้าฟ้าจุฑามณีในปีขาล ๒๓๖๑ เพิ่งจะ ๑๐ ชันษา ยังไม่น่าเป็นสามเณร

ทีนี้ขออนุญาตใส่หมวกกันน็อคก่อนครับ เอาละ...พร้อมครับ
ผมจะขอเสนอข้อสันนิษฐานใหม่

ปีขาล ๒๓๓๗ สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุ้ย กรมขุนเสนานุรักษ์ ทรงผนวช พงศาวดารไม่ได้ระบุว่าทรงบวชนานเท่าใด
พระหน่อสุริย์วงศ์ทรงสิกขาจะเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ได้หรือไม่ ทรงบิ๊กพอไหม? พงศาวดารว่าผนวชแล้วประทับที่วัดสมอราย(ราชาธิวาส) แต่จะประทับที่วัดนี้ตลอดหรือไม่? จะทรงกลับมาประทับที่วัดระฆังใกล้วังของพระองค์ได้ไหม?

หากรับพระหน่อสุริย์วงศ์ทรงสิกขาพระองค์นี้แล้ว ผมจะขอเสนอเจ้าเณรน้อยต่อไป
ในปีเดียวกัน ดูเหมือนจะไม่มีเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ ๑ ที่เข้าเกณฑ์บรรพชาเลย แต่...

ยังมีเจ้าฟ้าอยู่พระองค์หนึ่ง พระชันษา ๑๕ ในปีนั้น พระบิดาเป็นกษัตริย์ ฝ่ายพระมารดานั้น กำเนิดเป็นสามัญชน แต่มีพ่อเป็นกษัตริย์ และแม่เป็นพระบรมราชินี
ครับ... เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ กรมขุนกษัตรานุชิต ที่รู้จักกันดีในนาม เจ้าฟ้าเหม็น นั่นเอง


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ส.ค. 07, 13:19
ในนิราศพระบาทมีเจ้านาย ๒ พระองค์

๑)ถึงวัดธารมาใหม่ใจระย่อ      ของพระหน่อสุริย์วงศ์พระวังหลัง 
องค์นี้เป็นเจ้านายวังหลังแน่นอน
วังหลังยิ่งใหญ่ก็ในรัชกาลที่ ๑  มาถึงรัชกาลที่ ๒ เจ้านายพระโอรสทั้งสามก็ยังพระนามเลื่องลืออยู่
แต่มาถึงรัชกาลที่ ๔ ไม่เหลือแล้ว เพราะไม่มีวังหลังพระองค์ใหม่  หมดไปตั้งแต่ปลายร. ๑ เหลือแต่หม่อมเจ้า  ยังไงก็ไม่มีการเสด็จเอิกเกริกแบบนั้น
๒) เจ้าเณรน้อยเสด็จมาดูน่ารัก
เจ้าฟ้าเณรองค์นี้   นึกถึงกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์อยู่เหมือนกันค่ะ
ถ้าเป็นเจ้าฟ้าเหม็น  รัชกาลที่ ๑ โปรดปรานเป็นพิเศษ น่าจะพระราชทานกลดหักทองขวาง
ว่าแต่ว่าท่านอายุครบบวชเณรปีไหนล่ะคะ



กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 ส.ค. 07, 14:35
ถึงวัดธารมาใหม่ใจระย่อ      ของพระหน่อสุริย์วงศ์พระวังหลัง
กลอนตรงนี้บรรยายเมื่อผ่านวัดธารมา พระวังหลังอาจเสด็จด้วยหรือไม่ก็ได้ครับ ไม่ได้เจาะจง

กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ฃทรงผนวชปีขาล ๒๓๓๗ พระชันษา ๒๑ (ประสูติ ๒๓๑๖) ไม่ทราบว่าทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อใด แต่ไม่น่าจะย้อนหลังไปเกิน ๘ ปี ซึ่งไม่ตกในเกณฑ์ที่จะเป็นเจ้าเณรน้อยในปีขาลหรือปีเถาะ

ต้นปี ๒๓๓๗ สมเด็จพระสังฆราช(ศรี) สิ้นพระชนม์ พระตำหนักที่วัดระฆังว่างลง เพราะสมเด็จพระสังฆราชองค์ต่อมา (สุก) ประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุ เป็นไปได้หรือไม่ว่าพระภิกษุเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์จะย้ายมาประทับที่พระตำหนักนี้ ซึ่งอยู่ติดกับวังของพระองค์ (หากผมเข้าใจไม่ผิด ช่วงต้นรัชกาลที่ ๑ กรมขุนเสนานุรักษ์ประทับอยู่ที่บ้านหลวงเดิมที่เจ้าพระยาจักรีอาศัยระหว่างแผ่นดินกรุงธนบุรี ติดกับด้านใต้ของวัดระฆัง)

ดังนั้น กรมขุนเสนานุรักษ์ อาจเป็นพระหน่อสุริยวงศ์ทรงสิกขา ที่ประทับอยู่วัดระฆัง และเป็นเจ้านายของกวีนิราศพระบาทนี้ครับ

เจ้าฟ้าเหม็นประสูติ ๒๓๒๒ ถึงปีขาล ๒๓๓๗ ที่กรมขุนเสนานุรักษ์ทรงผนวช ก็จะ ๑๕ ชันษา อยู่ในเกณฑ์ที่จะบรรพชาเป็นสามเณรในปีนี้ ตามประวัติ ร.๑ ทรงโปรดเจ้าฟ้าเหม็นเป็นพิเศษ และหากพิจารณาว่าร.๑ ทรงเฉลิมพระยศย้อนหลังพระมารดาเป็นเจ้าฟ้าแล้ว ก็น่าจะเข้าเกณฑ์ที่จะระราชทานพระกลดหักทองขวางนะครับ (ขอความคิดเห็นคุณ UP ด้วย)

หากเป็นไปได้ ก็มีโอกาสว่าเจ้าเณรน้อยคือเจ้าฟ้าเหม็นครับ

นอกจากนี้พิจารณาปัจจัยแวดล้อมอื่น การศึกระหว่างช่วงปีนั้นเบาลงแล้ว (ปีก่อนหน้านั้นเพิ่งจะขับพม่าพ้นไป) และการปฏิสังขรณ์พระพุทธบาทก็ทำเมื่อหลายปีก่อนหน้านั้น (และไม่รู้ว่ามีการทำเพิ่มเติมระหว่างนั้นอีกหรือไม่)

ผมว่าเข้าเค้าครับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 24 ส.ค. 07, 18:28
ถ้าเป็นเจ้าฟ้า ผมพอจะปลงใจเชื่อได้ว่าพระเจ้าอยู่หัวอาจพระราชทานพระกลดหักทองขวางครับ

เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ หรือเจ้าฟ้าเหม็นนั้น เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาฉิม (พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๑) ถ้าจะว่าไปแล้ว โดยพระชาติกำเนิดนั้นก็ทรงเป็นเจ้านายที่มีพระอิสริยยศยิ่งใหญ่มากทีเดียวล่ะครับ ถ้าไม่คิดถึงการผลัดราชวงศ์ เจ้าฟ้าพระองค์นี้ก็เรียกได้ว่าเป็น "อุภโตสุชาติ" ทีเดียวเชียว ผนวกกับพระเมตตาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ในฐานะพระอัยกา (ตา) ทรงมี ทำให้น่าคิดอยู่เหมือนกัน ...เจ้าฟ้าเหม็นทรงยิ่งใหญ่ขนาดไหน ก็ถึงขนาดว่าทรงปฏิสังขรณ์วัดอภัยทายารามแล้ว "พระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์" คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยกัน ...ไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆ สำหรับเวลานั้นครับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ส.ค. 07, 18:33
ถึงวัดธารมาใหม่ใจระย่อ           ของพระหน่อสุริย์วงศ์พระวังหลัง
ไม่ใช่ค่ะคุณอาชา กลอน ๒ วรรคนี้แปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากมาถึงวัดธาร ซึ่งเป็นวัดของเจ้านายของกวีหนุ่มคนนี้เอง
คำว่า"พระวังหลัง"มาประกอบ"พระหน่อสุริย์วงศ์" ก็แสดงว่าเป็นคำขยาย   เจ้านายของกวีเป็นเชื้อสายกรมพระราชวังหลังแน่นอน

การใช้ราชทินนามเดิมของกรมพระราชวังหลัง  ไม่ใช่เรื่องแปลก   ลองเปรียบเทียบกับราชวงศ์"จักรี"   ก็ใช้คำนี้จากราชทินนามเดิม


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: Gotz21 ที่ 24 ส.ค. 07, 19:20
ความเห็นส่วนตัวของผู้รู้น้อยนะครับ แล้วก็ต้องออกตัวไว้ก่อนว่าไม่ได้ตามอ่าน ความคิดเห็นต่างๆ
จากท่านสมาชิกทั้งหมด แต่ พออ่านตอนต้น ของ ท่านเจ้าของกระทู้แล้ว ก็มานั่งนึก(เอาเอง)ว่า
ในการเขียนวรรณคดี ผู้แต่งไม่จำเป็นต้องอธิบายสิ่งที่ผู้แต่งเห็น ตามความจริงที่เป็น
เพราะวรรณคดี ไม่ใช่ จดหมายเหตุ  สุนทรภู่ อาจแต่งก่อนนานแล้ว  แล้วจึงมีการนำมาบันทึก
ในปัจจุบันกวี ก็มักเป็นเช่นนี้ การนำเอาจินตนาการมาใส่ในเรื่องราว จึงไม่ใช่ของแปลก
ดังนั้นจึงเห็นว่า จุดประสงค์ของวรรณคดีก็คือ สร้างความบันเทิง อย่างมีศิลปะ
คนที่อ่านงานวรรณคดี ก็ควรจะสำเหนียกไว้บ้างว่า ความสมจริงสมจัง อาจจะถูกบดบังไป
เช่น ทำไมไม่มีใครถามว่า เป็นไปได้ยังไง ที่พระอภัยมณี จะมีภรรยาเป็นครึ่งคนครึ่งมนุษย์
เพราะทุกคนรู้ว่ามันคือเรื่องแต่งนั่นเอง มีการวางตัวละครอย่างสมเหตุสมผลที่เราเรียกว่า possibility


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 24 ส.ค. 07, 20:29
เจ๊กบ้ามันมาขนไปหมดแล้วครับ

แหม คุณพี่ขา รู้สึกกระเทือนเลื่อนลั่นถึงบรรพบุรุษของหนูทีเดียว  :-\

ขออนุญาตส่งความเห็นต่ออีกนิดค่ะ

ถึงพบเพื่อนที่รู้จักเคยรักใคร่..........ก็เฉยไปเสียมิได้จะทักถาม
แต่คอยฟังเทวราชประภาษความ....เมื่อไรจะคืนอารามวัดระฆัง
พี่จะได้ทูลลาไปหาเจ้า.................เป็นทุกข์เท่านี้แลน้องไม่วายหลัง
พอแรมค่ำหนึ่งวันนั้นท่านพระคลัง...หาบุญยังไปฉลองศาลาลัย


หนูสะดุดคำว่า “ท่านพระคลัง” หาบุญยังไปฉลองศาลาลัย
ท่านพระคลังที่มีละคร ก็คือ จีนกุน หรือท่านกุน
เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ท่านเป็น พระยาพระคลัง
ถึงรัชกาลที่ ๒ ถึงจะเลื่อนเป็น เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ที่สมุหนายก
เป็นไปได้ไหมคะ ว่าตอนไปพระบาท “ท่าน” ยังเป็นแค่พระยาพระคลัง?


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 24 ส.ค. 07, 21:11
บรรพบุรุษคุณบุ้งคงมิใช่พวกเจ๊กเลว ที่คุมพวกออกปล้นฆ่าซ้ำเติมประเทศที่ตัวเองได้หนีภัยเข้ามาอาศัยเป็นที่ค้มภัยดอกครับ

ส่วนเรื่องจินตนาการในบทประพันธ์นั้น หากสนใจก็เสนอมาหรือไปเปิดเป็นกระทู้ใหม่ได้เลยครับ
ผมอาศัยกระทู้นี้ เพื่อขอถกกันเรื่องข้อมูลและข้อเท็จจริงที่รองรับงานประพันธ์
อันอาจจะช่วยให้มองวรรณกรรมได้รอบด้านมากขึ้น
แต่ถ้าคิดว่ามองผ่านจินตนาการทางวรรณศิลป์แล้ว ได้รับอรรถรสเต็มเปี่ยม ก็เป็นโชคดีอย่างยิ่ง

พระคลังจะเป็นท่านใหนยังไม่ทราบ
แต่บุญยังโต้โผคณะละคอนนี่ เท่าที่รู้จักก็มีอยู่ท่านเดียว เกิดมีสองท่าน ก็ยุ่งอยู่
แต่ผมก็ยังสงสัยว่า มีหลักฐานหรือไม่ว่าครั้งรัชกาลที่ 1 เกิดคณะละคอนแก้บนระดับนี้แล้ว
ขอที่เป็นหลักเป็นฐานหน่อยนะครับ
จินตนาการไม่เอา


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 ส.ค. 07, 22:41
เรื่องวัดธารมาใหม่ ความหมายผมคือว่า อ่านจากกลอน

เห็นวัดวาอารามตามตลิ่ง        ออกแจ้งจริงเหลือจะจำในคำเขียน
พระเจดีย์ดูกลาดดาษเดียร      การเปรียญโบสถ์กุฏิ์ชำรุดพัง
ถึงวัดธารมาใหม่ใจระย่อ        ของพระหน่อสุริย์วงศ์พระวังหลัง
อุตส่าห์ทรงศรัทธามาประทัง    อารามรั้งหรือมางามอร่ามทอง

บอกแค่ว่า พระวังหลัง (หรือพระโอรส) เป็นผู้บูรณะวัดธารมา แต่ไม่ได้บอกว่า พระวังหลัง(หรือพระโอรส) เสด็จมาด้วย หรือเป็นเจ้านายของกวีแต่อย่างใด

คำว่าสุริยวงศ์ตรงนี้ปรากฎอีกในที่อื่นในนิราศพระบาทนี้อีก แต่ผมคิดว่าหมายถึงกษัตริย์เท่านั้นเองครับไม่จำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นใคร หรือเชื้อสายใด

คำนี้ยังมีอยู่ในพระอภัยมณีตอนสุดสาครเข้าเมืองการเวก มีตอนหนึ่งว่า
พินิจดูมุนีฤๅษีน้อย              ช่างแช่มช้อยชื่นในฤไทยหวัง
สมเป็นหน่อสุริย์วงศ์ดำรงวัง     เหมือนเดือนปลั่งเปล่งฟ้านภาไลย ฯ
พระบิดาของพระอภัยมณีคือท้าวสุทัศน์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวงศ์ของสุริยะเลยครับ
(* ยกพระอภัยมณีมา เพราะถือเป็นงานยุคสมัยใกล้เคียงกัน ไม่ได้สรุปว่าเป็นงานของกวีคนเดียวกันนะครับ ;D)

เรื่องบุญยังผมอ่านแล้ว แต่ก็หาคำตอบไม่ได้ ซึ่งไม่แปลก เพราะความตอนนี้ยังแปลกันไปคนละทางสองทาง ฝ่ายที่แปลว่าเป็นนายบุญยังก็ยังไม่รู้ประวัติของนายบุญยังอยู่ดี ดังนั้นต้องเลือกพิจารณาจากข้อมูลที่มีหลักฐานหนักแน่นเป็นหลักก่อนครับ

เพราะหลักฐานในเรื่องนี้ก็เป็นอย่างที่เห็นครับ ถ้าตีความเจ้าเณรน้อยเป็นเจ้าฟ้าสามพระองค์ก่อนหน้านี้ ล้วนแล้วแต่มีปัญหาขัดข้องอย่างรุนแรง
กรณีเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ อย่างน้อยก็ได้สองแหล่งที่มีที่มาแตกต่างกันยืนยันความถูกต้องให้แล้ว หนึ่งในนั้นก็ยังมาจากพระองค์เองด้วย
กรณีเจ้าฟ้ามงกุฏ พงศาวดารเขียนในสมัยของพระองค์ หากผิดก็ยังต้องเป็นเรื่องเดิมอีก คือพระองค์ทรงจำผิดเอง
ทั้งสองกรณีผมว่ามันเกินจะเชื่อได้นะครับ

กรณีเจ้าฟ้าจุฑามณี ประตูไม่ถึงกับปิด แต่ต้องเชื่อว่าพระองค์บรรพชาเมื่อ ๑๐ ชันษา และยังต้องหาพระหน่อสุริย์วงศ์ทรงสิกขาที่วัดระฆัง และซูเปอร์บิ๊กขนาดมีขบวนใหญ่โตขนาดนี้ได้

หรือต้องยอมรับว่ากวีมั่วเขียนเรื่อยเปื่อยไปเอง?  :'(


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 25 ส.ค. 07, 00:47
กลับมาอ่านอีกที

ขอแก้จาก "ฝ่ายที่แปลว่าเป็นนายบุญยังก็ยังไม่รู้ประวัติของนายบุญยังอยู่ดี" เป็น "ผมไม่มีความรู้เรื่องนายบุญยัง" น่าจะเข้าท่าเข้าทางกว่า หากคุณ pipat มีอะไรดีๆจะมาขยายก็ขอขอบคุณล่วงหน้าเลยครับ  ;D

ลองคุ้ยจากในเน็ตดู ว่ากันว่านายบุญยังสร้างวัดลครทำในปี ๒๓๙๔ ถ้าเรื่องนี้เป็นจริง คงยากที่นายบุญยังคนนี้จะถูกหาไปเล่นที่พระบาทในปี ๒๓๓๗ แต่ยังหาคำอธิบายที่เข้าท่าเข้าทางไม่ได้ครับ จะบอกว่าเป็นคนละบุญยังก็ดูจะกำปั้นทุบดินไปหน่อย (ถึงแม้จะเป็นไปได้ก็ตาม เพราะมีตัวอย่างจากอีกบุญยังหนึ่ง ลูกนายทองสุข ละครเมืองเพชร ดูจะวันเวลาแล้ว เป็นไปได้ว่าตั้งชื่อตามนายบุญยังคนดัง)

ส่วนเจ้าพระยาพระคลัง (กุน) นั้น เป็นแทนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่ตายเมื่อ ๒๓๔๘ ครับ ถ้านิราศพระบาทเป็นปี ๒๓๕๐ ตามพระวินิจฉัยสมเด็จดำรง พระคลังนี้ก็จะเป็นท่านกุน

ไม่ทราบว่าคุณหนอนบุ้งเอาข้อมูลว่าท่านกุนมีละครจากไหนหรือครับ พอจะขยายได้มากกว่านี้หรือเปล่า?

ท่านกุนนี้เข้าใจว่าเป็นพระคลังอยู่ไม่นานก็เลื่อนเป็นสมุหนายก แต่ผมหาไม่เจอว่าเมื่อไหร่ หากคิดว่าเป็นท่านกุน(ที่คุณหนอนบุ้งว่ามีละคร) นิราศพระบาทก็อาจต้องบังคับตกปี ๒๓๕๐ ตามพระวินิจฉัยซึ่งไม่สอดคล้องกับเรื่องเจ้าเณรน้อยพระกลดหักทองขวาง และพระหน่อสุริยวงศ์ผู้ทรงอำนาจครับ

เห็นทีจะเป็นไปได้ยาก  :(


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 25 ส.ค. 07, 02:48
ง่ะ  นักเรียนรอบดึก(สงัด)รายงานตัว

นิทานกับนิราศ  คนละแนวครับ  นิราศเป็นแนวบรรยายและพรรณนาโวหาร  บรรยายและพรรณนาถึงสถานที่  ซึ่งเมื่อเผยแพร่ไปแล้วต้องมีจริงเห็นจริง  แม้เปรียบเปรยในลักษณะอุปมาอุปไมยบ้าง  ก็แค่เสริมตามฉันทลักษณ์  หรือให้มีความวิจิตรตามจินตนาการของกวี  และที่สำคัญโดยมากมักเปรียบกับสตรีอันเป็นที่รัก  ส่วนนิทานไม่จำเป็นต้องมีความจริงเข้ามาปะปนก็ได้  เป็นเรื่องจินตนาการล้วนๆ

นิราศพระบาท  ในความเห็นนี้มีบุคคลที่เราอยากทราบว่าคือใคร  หรือน่าจะเป็นใคร  ในความเป็นไปได้มากที่สุด  สองท่านคือ 
1. ผู้ที่กวีตามเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท
2. เจ้านายที่เป็นเณรน้อย  ที่กวีเกือบชนเข้ากับขบวนเสด็จ

เพื่อที่จะตอบปัญหาเรื่องผู้แต่งว่าเป็นใครหรือควรเป็นใคร or no name

ก็พยายามหากันโดยแกะตามเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่แทรกในเรื่อง  โดยท่านอาจารย์เทาชมภู  ท่านทำหน้าที่ได้ยอดเยี่ยมสุดๆ  และท่านพิพัฒน์ก็แสดงเหตุผลที่ชัดเจนน่าฟังจนผมเคลิ้มคล้อยตามท่านไปหลายครั้ง..อิอิ

ท่าน CH ก็พยายามค้นคว้าเรื่องราวต่างๆมาเสริม  ทำให้ผมได้รับความรู้เพิ่มเติมอีกมากมาย  ผมเองก็มีเวลาน้อยเนื่องจากงานแต่ก็พยายามหาเหมือนกันไม่ได้อะไรมาก  หาไปทีไรเจอแต่พระวินิจฉัย  หรือเรื่องของพระยาปริยัติ(แพ) ในคำสัมภาษณ์ต่างๆ

เดี๋ยวนี้ที่เจอบ้างก็  เรื่องของวัดธรรมาราม  ในทะเบียนประวัติ ของกรมศิลปากร  กล่าวมาตั้งแต่การส่งคณะสงฆ์สยามวงศ์ไปลังกา  แล้วมีท่านหนึ่งมาอยู่ที่วัดนี้  เรื่องการบูรณะแต่ครั้งกรุงศรี  และการบูรณะของกรมพระราชวังหลัง

เรื่องวัดระฆัง เป็นวัดที่กรมพระราชวังหลังให้ความอุปถัมภ์  และเป็นวัดที่เจ้านายในพระราชวังหลังทุกพระองค์ทรงผนวชที่นี่  หรือผนวชแล้วมาประทับที่นี่

ในนิราศกล่าวถึงวัดธรรมาราม และ วัดระฆัง  อย่างน่าวิเคราะห์ว่ากวีน่าจะเกี่ยวข้องบ้าง  แบบเห็นวัดนี้แล้วนึกถึงเจ้านาย

หรืออย่างกลอนที่พี่บุ้งยกมา  " เมื่อไรจะคืนอารามวัดระฆัง"
แปลว่ามีความเป็นไปได้มากว่าตามเสด็จเจ้านายที่บวช  และเป็นเจ้านายในพระราชวังหลัง  เพราะพำนักวัดระฆัง  แต่ไม่กล้าฟันธง  เกรงท่านพิพัฒน์ดุเอา  เพราะหลักฐานยังไม่ชัด  แม้แต่พระยาพระคลัง(จีนกุน)  ก็หาดูเรื่องละครใน รัชกาลที่ 1-2 ไม่เจอครับที่ยืนยันโดยละเอียดในเรื่องท่านมีละครดังในสังกัด  เจอแต่เรื่องของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี  ที่เก่งเรื่องรำละครและมีตัวละครเก่งๆในสังกัดเยอะ  ส่วนเรื่องบุญยังยิ่งไม่พบเลยครับถ้าพบก็มีแต่เกี่ยวกับสุนทรภู่

อิอิ.........อยากให้หาอ่ะครับ  แล้วความน่าจะเป็นที่สุดของบุคคลทั้งสอง  คือเจ้านายพระที่กวีตามเสด็จ และ เจ้าเณรน้อย  น่าจะเป็นใครที่สุด  ถ้าได้ตรงนี้ทุกอย่างน่าจะแจ่มขึ้นบ้างล่ะครับ .......... ???

พอเห็นท่าน UP มายืนยันว่าทรงกลดหักทองขวางเป็นเจ้าฟ้าพอรับได้  ค่อยยังชั่ว  ความน่าจะเป็นเยอะเลยคราวนี้


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 25 ส.ค. 07, 16:09
บรรพบุรุษคุณบุ้งคงมิใช่พวกเจ๊กเลว ที่คุมพวกออกปล้นฆ่าซ้ำเติมประเทศที่ตัวเองได้หนีภัยเข้ามาอาศัยเป็นที่ค้มภัยดอกครับ

ถ้าหมายถึงช่วงกรุงแตก เห็นทีจะไม่ใช่แน่ๆ เพราะบรรพบุรุษของหนูเพิ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเมื่อไม่ถึงร้อยปีนี่เองค่ะ

กลับเข้ามาที่บทเรียนกันต่อ

กำลังจะเข้ากลดหักทองขวางค่ะ
หนูขออนุญาตนำเสนอข้อเท็จจริงตามพงศาวดารอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อปี พ. ศ ๒๓๓๑ หลังสร้างกรุงฯ ได้ เพียง ๖ ปี
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (ทรงศักดินา ๔๐,๐๐๐)
พระชนมายุครบ ๒๑ พระบาท สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงพระราชศรัทธา จะให้ทรงผนวชถวายพระราชกุศล พร้อมกับพระเจ้าหลานเธอ ๒ พระองค์ คือ เจ้าฟ้า กรมหลวงนรินทรนเรศร์ และเจ้าฟ้า กรมหลวงเทพหริรักษ์ (ทรงศักดินา ๑๕,๐๐๐)
ปรากฏว่าแม้ธรรมเนียมโบราณให้ผู้มีศักดินาสูงกว่าเป็นนาคเอก

แต่ครั้งนั้นการกลับกลายเป็นว่าพระเจ้าหลานเธอ ทั้งสองพระองค์ ทรงเป็นนาคเอกและนาครอง
เพราะมีพระชนม์แก่กว่าพระเจ้าลูกยาเธอ
ดังนั้น หลังสร้างกรุงฯ ระเบียบแบบแผนยังไม่ลงตัว
อะไรที่ผิดแผกแหวกธรรมเนียม แต่หาก ธ ประสงค์ใด
ก็ทรงดลบันดาลให้เป็นไปตามพระราชหฤทัยได้

กลับมาถึง “กลดหักทองขวาง”
หนูยังเชื่อว่า “เจ้าเณรน้อย” คือ “พระองค์เจ้าวาสุกรี”
และการที่ “เจ้าเณรน้อย” ได้รับเกียรติสูงส่ง เพราะเป็น “พระองค์เจ้า”
ที่เป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระมหากษัตริย์ขณะนั้น ซึ่งจะได้รับเกียรติสูงกว่า “พระองค์เจ้า”
ที่เป็นพระหน่อของ “วังหน้า” และ “วังหลัง”

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ (กรมพระวังหลัง) ก็เป็นที่โปรดปรานของ ร. ๑ มาก
ตอนพระองค์ทรงผนวชในปี พ.ศ. ๒๓๔๕ ที่วัดพระศรีสรรพเพชญดาราม (วัดพระแก้ว)
“พระองค์เจ้าวาสุกรี” ขณะนั้นมีพระชนม์ ๑๒ พรรษา ก็ทรงผนวชเป็นหางนาคของกรมพระวังหลัง
ภายหลังที่กรมพระวังหลังทรงลาสิกขาแล้ว แต่เจ้าเณรยังทรงผนวชต่อ
ยังความปลาบปลื้มแก่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เป็นอันมาก
เพราะเป็นครั้งแรกที่เจ้านาย เสด็จอยู่ในร่มกาสาวพัตร์เป็นเวลานาน
เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงพอพระทัย ก็น่าจะทรงพระราชทาน “กลดหักทองขวาง” ได้


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 ส.ค. 07, 16:20
ยังมาติดที่สมัยพระองค์เจ้าวาสุกีนั้น
ไม่มีลายทองที่ผนังและแผ่นเงินปูพื้น
และปีเถาะ 2350 พระชนม์ 17 ย่าง 18 เกินคำว่าเฌรน้อยน่ารักไปแล้วกระมัง
อีกทั้งนางในสมัยรัชกาลที่ 1 ไม่น่าจะปล่อยเนื้อปล่อยตัวอย่างในกลอน

พ่อผมก็จีนอพยพตรับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 25 ส.ค. 07, 20:39
หนูอยากเห็นเป็นบุญตาสักหน่อยเถอะค่ะ
ว่าเป็นประโยคไหน จากเอกสารอ้างอิงที่ไหน ที่ทำให้คุณพี่พิพัฒน์มั่นอกมั่นใจว่า
ไม่มีลายทองที่ผนังและแผ่นเงินปูพื้นที่พระพุทธบาท
รบกวนคุณพี่คัดมาให้ชมหน่อยสักสี่สาห้าบรรทัดจะได้มั้ยค่ะ 
จะเป็นพระคุณล้นหลามเชียว นึกเสียว่าเอาบุญค่ะ

เหตุผลของหนูคือ วัดสมัยอยุธยาหลายแห่ง
ผนังและเพดานเป็นลายทองถมเถไป
การสานเสื่อเงินก็มีตั้งแต่ดึกดำบรรพ์โน่นแล้ว


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 25 ส.ค. 07, 20:47
คำว่า “เจ้าเณรน้อย” ในชันษาสิบเจ็ด อาจจะดูน่ารักก็ได้สำหรับผู้ใหญ่ในยุคนั้น
คงไม่เหมือนสมัยนี้ ที่เด็กอายุสิบสาม ก็แก่กร้านโลกกันเสียมาก
และเมื่อถูกปลงพระมัสสุ และพระเกศา จนล้านเลี่ยน
เกลี้ยงเกลาขาวสะอาด สงบเสงี่ยมสำรวม ใต้ผ้าเหลือง
เป็นเณรมาหลายพรรษา วันๆ ขีดๆ เขียนๆ ไม่ได้ไปกระโดดโลดเต้นที่ไหน
จะได้ล่ำบึก กล้ามขึ้นเป็นมัดๆ อาการเช่นนี้ เป็นไปได้มั้ยว่าท่านผู้เขียนเห็นแล้วว่าน่ารักน่าชม


ส่วนกิริยาวาจาของนางใน ที่กวีบรรยายนั้น
เป็นตอนที่กำลังขึ้นช้าง หนุ่มๆ ต้องดัน ต้องฉุด เป็นธรรมดา
คิดว่าเป็นกรณียกเว้น รวมความว่า
ความสำรวมที่ใช้ในวัง เมื่อมาถึงกลางป่าพนาลัย
อาจหย่อนหลวมนิดหน่อยก็เป็นได้มังคะ
จะขึ้นช้างทั้งที จะทำกิริยาสำรวมพับเพียบเช่นในวัง เห็นทีจะลำบากแย่

ทั้งนี้ ทั้งนั้น การเขียนบอกเล่าเรื่องราว หากจะเขียนแบบราบเรียบเฉยเมย
ท่านผู้อ่านรุ่นหลังๆ ก็คงไม่หยิบขึ้นมาสัมมนากันเช่นเวลานี้มังคะคุณพี่


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 ส.ค. 07, 22:31
หนูบุ้งต้องไปหาหนังสือสามเล่มนี้อ่าน ห้องสมุดคงมี
ประวัติบรรพบุรุษและตระกูลอมาตยกุล ล่าสุดคุณหมอพูนพิศพิมพ์ฉบับเต็มไว้แล้ว
พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์
ตำนานพระพุทธบาท สระบุรี กรมศิลปากรรวบรวมจัดพิมพ์
อ้อ คำให้การขุนโขลน ก็น่าอ่านนะครับ

ลายทองที่ผนัง ไม่ใช่ว่า นึกอยากมีก็มีได้ เป็นของสูงและแพงจ้ะ
แพงทั้งทอง แพงทั้งรัก และแพงทั้งช่าง
สมัยรัชกาลที่ 1 นั้น ทรงทำให้ผนังภายนอกของวัดพระแก้วเป็นลายทองบนพื้นชาด ได้เพียงเท่านั้นทั้งพระราชอาณาจักร
ต้องรอถึงรัชกาลที่สาม จึงเปลี่ยนผนังนี้ เป็นลายกระแหนะปูน ปิดทองประดับกระจก
ซึ่งเป็นเทคนิคตกแต่งที่แพงที่สุดที่เราจะทำถวายพระศาสนาได้ แพงกว่าปิดทองร่องชาดขึ้นไปอีก

สมัยรัชกาลที่ 1 จึงมีตำนานเพียงว่า พระมณฑปนั้นประดับภายในด้วยการเขียนลายชาด
ส่วนการอ้างว่าเสื่อเงินมีทำมานานนมแล้ว ยังมองไม่เห็นว่าจะเกี่ยวอะไรกับที่ถกกัน
จะบอกว่ามีมาแต่อยุธยา ผมก็บอกแล้วว่า พวกจีน คุมกันเป็นกองโจร บุกปล้น รื้อไปขายหมดแล้ว
พระพุทธบาทนั้น แทบว่าจะกลายเป็นทราก จนถึงกับต้องทรงสร้างใหม่
รูปทรงที่เห็นเป็นงานช่างครั้งรัชกาลที่ 1 ที่งามที่สุดนอกพระนคร

แต่อยากจะให้ใช้จินตนาการระดับเดียวกับที่ใช้ในเรื่องดันก้นนางในว่า ปีเถาะ 2350 นั้น
พระบาทเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ จะร่มรื่นงดงามอย่างที่พรรณาในกลอนหรือ

หรือว่ากวีคนนี้ เห็นอะไรก็เล่าเป็นอย่างอื่นได้หมด
จงใจล่อเราให้หลง
แม้กระทั่งเด็กหนุ่มกำยำวัยสิบเจ็ดเอินมาก็ร้องว่าน่ารัก
วัยเท่านี้ มีลูกได้หลายคนแล้วนะครับ ถ้าเป็นผู้ดี

ไม่เหลาะแหละเหมือนเด็กยี่สิบห้าทุกวันนี้ดอก


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 25 ส.ค. 07, 22:41
อยากให้คุณหนอนบุ้งลองอ่านช่วงต้นๆของกระทู้นี้ดูนะครับ เพราะคุณ UP ชี้แจงไว้พอสมควรเกี่ยวกับระดับของเครื่องสูง

ต่างจากเรื่องลำดับนาคอยู่มากนะครับ เกินกว่าจะเอามาเทียบกันได้

แค่เจ้าฟ้าที่พิจารณากันอยู่ ๔ พระองค์นี้ บางพระองค์ก็ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะใช้เครื่องสูงหักทองขวางได้อยู่แล้วครับ พระองค์เจ้าวาสุกรีอยู่ไกลเกินกว่าที่จะเป็นไปได้จริงๆ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 25 ส.ค. 07, 23:22
เพียงแต่นายโหมดซึ่งได้ถวายตัวเป็น มหาดเล็กในรัชกาลที่ ๓ และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เป็นมหาดเล็กรายงานกำกับ ราชการกรมช่างสิบหมู่, ช่างทำเรือพระที่นั่งและเรือกระบวนต่างๆ แล้วให้ไปกำกับช่างสานเสื่อเงินสำหรับปูลาดในมณฑปพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี
บรรณานุกรม , กำธร เลี้ยงสัจจธรรม ,กรณีริบหนังสือกฏหมาย , ๙ กรกฎาคม ๒๕๒๗ ,หนังสือศิลปวัฒนธรรม

ง่ะ....ปูสมัยรัชกาลที่ ๓  งั้นต้นรัชกาลที่ ๔ โดยประมาณ  เป็นเวลาที่มหาดเล็ดยอดฝีพายจอมกวีตามเสด็จ(ใครล่ะ)  แล้วไปเจอเณรน้อย(องค์ไหนล่ะ)  แล้วเจ้าฟ้าหน่อพระวังหน้า(พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า) มีสิทธิ์ได้รับพระราชทานกลดหักทองขวางได้ไม๊ครับ  ท่าน UP กรุณายืนยันหน่อยครับ

แต่ที่พี่บุ้งว่ามาก็ไม่อาจจะละเลยนะครับ ::)


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 26 ส.ค. 07, 01:19
คนละไม้ละมือ
ขอบคุณคร๊าบบบ......

อย่างที่ผมบอก นายโหมดแกอายุ 13 เมื่อปี 2374 เพราะฉะนั้น เสื่อเงินจะต้องสานตอนแกสักยี่สิบกว่าๆ
คือสัก 2374+10 + อีกสัก 5 เพราะงานที่รับ ไม่ใช่สะเล็กสะน่อย เป็นหัวหน้าช่างและ

สานสำเร็จ ใช้ๆ ไป พอถึงปลายรัชกาลที่ 4 เสื่อเงินก็สู้บาทาศรัทธาทั้งหลายไม่ไหว
แหลกหมด รัชกาลที่ 4 จึงต้องเปลี่ยนเป็นแผ่นเงิน
นี่ว่าตามที่หลักฐานเขาอนุญาต

แต่หลักฐานไม่อนุญาตพระกลดไปถึงโอรสวังหน้าครับ คุณบานา(รอบดึก)
ต้องหาเจ้าฟ้าสามเณร(วังหลวง)ให้ได้ ในปี 2390 ลงมา จึงจะได้เห็นแผ่นเงิน


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ส.ค. 07, 10:10
เมื่อม.ร.ว. คึกฤทธิ์แต่งสี่แผ่นดิน   สิ่งสมมุติคือตัวละคร แต่ฉาก รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีค่านิยมทั้งหลายในวังเมื่อรัชกาลที่ ๕   ท่านยึดถือไว้ตรงตามจริง
สี่แผ่นดินเป็นวรรณกรรมที่"อิง" บรรยากาศเป็นจริง  เป็นการแหวกขนบการแต่งแต่ก่อนที่คุณหลวงวิจิตรวาทการและนักเขียนก่อนหน้า เช่น "ลพบุรี" เขียนไว้ คืออ้างตัวละครจริง แต่ฉากนั้นสมมุติขึ้นมา
ดังนั้นความเคร่งครัดของนางใน สมัยรัชกาลที่ ๕ ที่จะไม่ให้ชายใดเข้าใกล้ถึงแตะเนื้อต้องตัว จึงเชื่อได้ว่าจริง
ผิดกับนางในพระบาท  ไอ้หนุ่มโอบเอวอุ้มขึ้นหลังช้าง หน้าตาเฉย  เป็นอะไรกันที่ไหน ถึงทำกันได้ง่ายขนาดนั้น   ก็เลยแปลกใจค่ะ
อย่าว่าแต่นางในสมัยโน้น  ที่เรายังบอกไม่ถูกว่ารัชกาลไหนเลย  แม้แต่ยุคนี้ก็เถอะ คุณบุ้งไปเที่ยวอยุธยา จะให้ควาญช้างแปลกหน้า ไม่ใช่เพื่อน ไม่ใช่แฟน โอบเอวอุ้มคุณขึ้นช้างหน้าตาเฉยละหรือ 
นางในวัง รวมพวกข้าหลวงอย่างแม่พลอย   ถือว่าเป็นสตรีอยู่ในข่ายนางราชภัฏกษัตรีย์     เพราะว่าจะทรงพระกรุณาเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าจอมเมื่อใดก็ได้   ดังนั้นผู้ชายอย่าว่าจะแตะเนื้อต้องตัวตามสบายเลย  จะมาเยี่ยมถึงที่อยู่ก็ยังทำไม่ได้  มีญาติมาเยี่ยมก็ต้องออกไปพบข้างนอก
เรื่องนี้ก็ยังไม่มีคำตอบว่าทำไมสาวๆในนี้ฟรีกันถึงในนั้น

ส่วนแผ่นเงิน  คิดนอกหลักฐานว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดให้สร้างขึ้นใหม่ แทนของเก่าที่ถูกเผาราบไปนั้น
ของเก่ามีแผ่นเงินปู  ตามที่พระมหานาคพรรณนาไว้
จำลองของงามเป็นพุทธบูชา  เป็นปูชนียสถานสำคัญ   ท่านก็คงไม่ปล่อยพื้นไว้ลุ่นๆ อาจจะมีแผ่นเงินปูไว้  ตามรอยอยุธยา  ปูมากน้อยแค่ไหนแล้วแต่
ผ่านมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึง ๕ ปาเข้าไปหลายสิบปี      แผ่นเงินเดิมอาจชำรุดหมดแล้ว  เจ้าคุณโหมดเลยต้องมาสานเสื่อเงินแทนที่




กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 26 ส.ค. 07, 10:49
เจ้าฟ้าวังหน้า เช่น เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ นั้นถือเป็นเจ้าฟ้าชั้นตรีครับ พระเกียรติยศต่ำกว่าเจ้าฟ้าชั้นเอกและชั้นโทเสียอีก ขนาดเจ้าฟ้าชั้นเอกและชั้นโทอย่างธรรมดาสามัญยังแทบจะทรงเครื่องสูงหักทองขวางไม่ได้แล้ว ถ้าไม่ทรงพระมหากรุณาเป็นพิเศษ ฉะนั้น ผมไม่คิดว่าเจ้าฟ้าชั้นตรีจะทรงเครื่องสูงหักทองขวางได้ครับ

เครื่องสูงวังหน้ากับเครื่องสูงวังหลวงมีลักษณะแตกต่างกันมาก เรียกได้ว่าแทบจะเป็นคนละระบบ วังหน้ามีเครื่องสูงเป็นสำรับเฉพาะสำหรับวังหน้า หักทองขวางใช้ได้อย่างมากก็เพียงพระองค์ของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์เดียวเท่านั้น


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 26 ส.ค. 07, 15:12
ก่อนอื่นต้องขอกล่าวขอบพระคุณพี่ๆ ทุกท่านที่กรุณาหนอนบุ้งค่ะ

อย่าคิดเป็นอื่นเลยนะคะ หนอนบุ้งก็อยากรู้อยากเห็น อยากแสดงออกนิดหน่อยตามที่สงสัยอยู่ คุยกันต่อเลยดีกว่า

ขอบคุณ คุณพี่พิพัฒน์ ค่ะ ที่ได้แนะนำหนังสือ
หนูไปพลิกอ่านพงศาวดาร ร 3 จนหมดเล่ม ไม่เห็นมีตอนใดเลยที่กล่าวถึงพระบาท
มีตอนเดียวที่กรมหมื่นรักษ์รณเรศ อิ๊บเงินค่าขึ้นพระบาทเข้ากระเป๋าตัวเอง
แล้วถูกถอดเป็นหม่อมไกรสรค่ะ

ส่วนในพระราชหัตถเลขา ร. 4 ที่มีถึงกรมหมื่นฯ พระราชโอรส
พระองค์ท่านทรงตรัสถึงพระบาท ว่าต่างๆ นาๆ เช่น เมียชอบอ้อนให้ผัวพาไปพระบาท
เลยฟังดูว่าเหมือนตอนคุณเปรมถามแม่พลอยเรื่องไปพระบาท
คงโก้เหมือนผัวชวนเมียไปชอปปิ้งปารีสอะไรมังคะ

อีกเล่มหนึ่งที่คุณพี่แนะนำให้หนูอ่านของ น.พ. พูนพิศ อมาตยกุล
หนูเปิดตู้หนังสือของคุณแม่ เจอเล่มนี้ แทบช้อค
331 ปี สกุลอมาตยกุล (พ.ศ. 2529 )ที่ในนี้มีอัตชีวประวัติ ยาว 28 หน้า
ของท่านโหมด อมาตยกุล

ท่านโหมด เล่าอะไรไว้หลายอย่าง (แต่เรื่องสานเสื่อเงินคงอยู่ส่วนอื่น)
เช่น คืนสวรรคต กรมหลวงรักษณ์รณเรศ ค้นพระวรกายของเจ้าฟ้า พ
จนพระ…..ไหลนอง
แค่ 28 หน้านี้ สามารถทำให้หนังสือประวัติศาสตร์ทั้งหมด ต้องเปลี่ยนโฉม
ท่อนหลังนี้อ่านแล้วโปรดลบของหนูได้เลย เพราะหนูกลัวเหมือนกัน

**อ้อ…ถามพี่ๆอีกข้อค่ะ กรมดำรงในฐานะอุปนายกวชิรญาณ จะไม่รู้จัก
กลดหักทองขวางเชียวหรือคะ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 26 ส.ค. 07, 16:11
ขอโทษด้วยน้องรัก....แหนะ ตีหนิท
บอกผิดรัชกาล พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 4 ครับ
ส่วนเม็มหมั่วร์ของพระยากษาปณ์ ลองดูที่เล่มเล็ก บางๆ งานศพท่านผู้ใดจำมิได้ จะเป็นพระยาปฏิภาณวิเศษหรือไม่หนอ
แต่อาจารย์ตรี อมาตยกุลเป็นผู้จัดพิมพ์แน่ๆ

ที่น้องบุ้งสงสัยเรื่องสมเด็จฯดำรง ไม่ทราบเรื่องพระกลดหักทองขวางนั้น
ตอบว่ารู้จักแน่นอน แต่ในการเรียบเรียงงานประพันธ์นั้น บางครั้งก็ทรงไว้ใจผู้ช่วย อาจจะทรงเห็นว่าเป็นเรื่องปลีกย่อย
ผมเชื่อด้วยซ้ำ ว่าจะมิได้ทรงอ่านเรื่องของสุนทรภู่ละเอียดทุกหน้า

หากว่าทรงอ่าน จะต้องวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น ผมเชื่อเช่นนั้น


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 28 ส.ค. 07, 03:03
สองบทที่เป็นข้อกังขา

ผนังในกุฎีทั้งสี่ด้าน                         โอฬาร์ฬารทองทาฝาผนัง
จำเพาะมีสี่ด้านทวารบัง                     ที่พื้นนั่งดาดด้วยแผ่นเงินงาม  

ในเนื้อความชัดเจนในความงามและสมบูรณ์ของสถานที่  ถ้านับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อครั้งปลาย รัชกาลที่ ๓  ช่วงเวลาต้องเปลี่ยน และเจ้าเณรกับเจ้านายที่กวีตามเสด็จก็ต้องคิดกันใหม่

พี่เข้าเคียงเบื้องขวาฝ่าพระบาท            อภิวาทหัตถ์ประนังขึ้นทั้งสอง
กราบกราบแล้วก็ตรึกรำลึกปอง             เดชะกองกุศลที่ตนทำ  

สับสนบ้างล่ะครับ  ในกลอนบอกว่าตัวเองเหนื่อยล้า  พายเรือมาทั้งวัน  แปลว่าเป็นแค่พลพายธรรมดา  แต่ท่อนนี้ เข้าเคียงเบื้องขวา เจ้านาย  ไม่ธรรมดาครับการเข้าเบื้อขวาเจ้านายขณะเข้านมัสการก็ตาม  มหาดเล็กพลพายธรรมดาเข้าไม่ถึงแน่ๆ  แล้วเป็นคนระดับไหนกันแน่  ท่านอาจารย์เทาชมภู  ช่วยแก้ข้อกังขาหน่อยครับ .......................... ::)


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 07, 08:38
ตอบคุณ Bana และคุณพิพัฒน์ด้วยค่ะ
ไปเจอเว็บนี้
http://www.heritage.thaigov.net/religion/prabat/index1.htm

พระมหากษัตริย์ในพระราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์  ต่อมาก็ได้ทรงทำนุบำรุงปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่าง ๆ ของพระพุทธบาท  ให้อยู่ในสภาพที่ดีเลิศอยู่ตลอดมา  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระมกุฏภัณฑเจดีย์ที่อยู่ใกล้พระมณฑปองค์หนึ่ง  และสร้างเครื่องบนพระมณฑปใหญ่ กับสร้างพระมณฑปน้อย  ทั้งให้เปลี่ยนแผ่นเงินปูพื้นพระมณฑป เป็นเสื่อเงินและได้ทรงยกยอดพระมณฑป  พร้อมทั้งบรรจุพระบรมธาตุ  ที่พระมกุฏภัณฑเจดีย์  เมื่อปี พ.ศ. 2403

ถ้าเป็นความจริงก็แปลว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ  ปฏิสังขรณ์พระพุทธบาทขึ้นมาใหม่  ทรงจำลองตามแบบของเดิมรวมทั้ง แผ่นเงินปูพื้น ด้วย
ส่วนเสื่อเงินเพิ่งมาสานกันในรัชกาลที่ ๔


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 07, 08:43
คราวนี้ตอบคุณ Bana คนเดียว
เมื่ออ่านนิราศพระบาทมาถึงตอนนี้ก็คิดอย่างเดียวกับคุณค่ะ ว่ากวีคนนี้ช่างใหญ่โตเกินหน้าพลพาย  เข้าเคียงเจ้านายได้เชียวหรือ

พี่เข้าเคียงเบื้องขวาฝ่าพระบาท          อภิวาทหัตถ์ประนังขึ้นทั้งสอง
กราบกราบแล้วก็ตรึกรำลึกปอง                   เดชะกองกุศลที่ตนทำ
มาคำรพพบพุทธบาทแล้ว                          ขอคุณแก้วสามประการช่วยอุปถัมภ์
ฉันเกิดมาชาตินี้ก็มีกรรม                             แสนระยำยุบยับด้วยอับจน

มาอ่านอีกตอนถึงเข้าใจ
อธิษฐานแล้วก็ลาฝ่าพระบาท                      เที่ยวประพาสในพนมพนาสัณฑ์
ขึ้นเขาโพธิ์ลังกาศิลาชัน                             มีสำคัญรุกขโพธิ์ลังกาเรียง

คือท่านไปอธิษฐานอยู่ข้างขวาของ "ฝ่าพระบาท" ในรูปข้างล่างนี้ค่ะ  ไม่ใช่ฝ่าพระบาทเจ้านาย
อธิษฐานเสร็จแล้วก็ลาออกมาข้างนอก  ไปเดินเที่ยวป่ารอบพระบาทตามสบาย  ถ้าตามเสด็จเจ้านายอยู่ จะเดินเอ้อระเหยไปไหนมาไหนไม่ได้
พอเดินเที่ยวชมนกชมไม้อยู่นี่เอง    ขบวนเสด็จของเจ้าเณรผู้มีพระกลดหักทองขวาง ก็เพิ่งจะมาถึงทางข้างหลัง    กวีหนุ่มพลพายเดินลอยชายอยู่ตามสบายตัดหน้าโดยไม่รู้ตัว  ต้องตะกายหลบเจียนตาย ไม่งั้นหวายลงหลัง


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 ส.ค. 07, 09:13
เรื่องเสื่อเงินนั้น
มีที่มาจากสามแหล่ง คือบันทึกของนายโหมด
พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 4
และพระนิพนธ์อธิบายเรื่องพระบาท ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ

เนื้อหาของหอมรดกตามเวบที่ลิ้งค์มานั้น เป็นงานประจำของข้าราชการ เขียนให้เด็กนักเรียนอ่าน
อ่านแล้วเหมือนรายงานประจำรายวิชา ส่งผม ผมก็ต้องให้ทำใหม่
อ่านเพลินๆ น่ะได้ครับ แต่อ้างอิงมิได้ เพราะไม่มีที่มา
เป็นคำพูดลอยๆ จะบอกว่ายกเมฆก็จะเกินไป เอาว่านั่งเทียนคงพอ
เอกสารรัชกาลที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องนี้ นอกจากข้อความไม่กี่บันทัดในพงศาวดารแล้ว
ก็ไม่พบในที่อื่น


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 07, 20:15
กลับไปอ่านนิราศพระบาทอีกที

จำเพาะมีสี่ด้านทวารบัง       ที่พื้นนั่งดาดด้วยแผ่นเงินงาม

แผ่น กับ  ผืนไม่เหมือนกันนะคะ
แผ่น  เล็กกว่า  ผืน
เราไม่เคยเรียกเสื่อ ว่า แผ่น เลย
ถ้าหากว่าเป็นเสื่อเงิน    กวีเรียกว่า  ผืนเงินงาม น่าจะถูกต้องมากกว่า
แผ่น  นี่   นึกภาพว่าเป็นโลหะชิ้นเล็กๆ  ปูเรียงกัน เหมือนแผ่นกระเบื้อง   แต่ถ้าเสื่อละก็ ไม่เป็นแผ่นแน่  ต่อให้เล็กขนาดไหนก็ไม่เป็นแผ่น  ต้องเป็นผืน


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 ส.ค. 07, 22:27
ผมจะเล่าตามหลักฐานนะครับ
หากจะอ่านฉบับเดิมก็ลองหาตำนานพระพุทธบาทแบบกรมศิลปากร เล่มบางๆ นิยมพิมพ์ในงานศพ
ในนั้นมีพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หรือพระนิพนธ์เรื่องตำนานวัตถุสถานที่พระนั่งเกล้าทรงสถาปนา
หรือประชุมพงศาวดารภาค 33 เทศนาพระราชประวัติรัชกาลที่ 3 ก็น่าจะมี
เล่ากันมาสรุปว่า ในสมัยรัชกาลที่ 3 คนไปไหว้พระบาทแล้วทำเทียนไหม้ ลามพระมณฑปน้อยที่ครอบรอยพระพุทธบาทเสียหาย
จึงโปรดให้ซ่อมใหญ่ นอกจากสร้างพระมณฑปน้อยใหม่แล้ว ก็โปรดให้ตีแผ่นเงินปูพื้น และปิดทองผนัง
ซึ่งในรัชกาลที่ 1 เพียงแต่เขียนลายชาดไว้เท่านั้น

ต่อมา พื้นเงินใช้ไปๆ แผ่นเงินก็ลิ ขาดออกจากกัน เกี่ยวผ้านุ่งชาวบ้านเสียหาย
รัชกาลที่ 4 จึงโปรดให้ยุบแผ่นเงินทั้งหมด หลอมทำเป็นลวด แล้วสานเป็นเสื่อเงินแทน
ที่ว่ามาก็เป็นเหตุเป็นผลแก่กันดีอยู่

และน่าจะสรุปได้ว่า กวีฝีพายจอมล่ำของเรา มาเที่ยวพระบาท ในวันที่พื้นปูแผ่นเงิน และผนังทาทอง
ส่วนใครจะเชื่อว่ารัชกาลที่ 1 โปรดให้ทำพื้นเงินและเขียนลายทองแล้ว
ก็โปรดเชิญหลักฐานมา น่าเชื่อ ผมก็จะเชื่อ

ทีนี้ บังเอิญผมไปอ่านหนังสือประวัติบรรพบุรุษและสกุลอมาตยกุล พบว่า นายโหมดท่านเล่าเองว่า
ครั้งรัชกาลที่ 3 ท่านเป็นผู้รับโปรดเกล้าให้ไปพระบาท ไปสานเสื่อเงินเอง
ผมก็เลยเชื่อท่าน เพราะท่านเป็นผู้ปฏิบิติ
แล้วเลยเชื่อต่อว่า ถ้ากวีมาเห็นพื้นแผ่นเงิน ก็น่าจะหลังนายโหมดทำเสื่อ แล้วเสื่อมันแหลกเหลวไป
คือกลับกันกับเรื่องเล่า

แต่จะเป็นรัชกาลใดที่ทำแผ่นเงิน ก็ต้องหลังรัชกาลที่ 1

เอาง่ายๆ อย่างนี้ละกัน


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 28 ส.ค. 07, 22:50
กลับมาอ่านอีกที

ขอแก้จาก "ฝ่ายที่แปลว่าเป็นนายบุญยังก็ยังไม่รู้ประวัติของนายบุญยังอยู่ดี" เป็น "ผมไม่มีความรู้เรื่องนายบุญยัง" น่าจะเข้าท่าเข้าทางกว่า หากคุณ pipat มีอะไรดีๆจะมาขยายก็ขอขอบคุณล่วงหน้าเลยครับ  ;D

ลองคุ้ยจากในเน็ตดู ว่ากันว่านายบุญยังสร้างวัดลครทำในปี ๒๓๙๔ ถ้าเรื่องนี้เป็นจริง คงยากที่นายบุญยังคนนี้จะถูกหาไปเล่นที่พระบาทในปี ๒๓๓๗ แต่ยังหาคำอธิบายที่เข้าท่าเข้าทางไม่ได้ครับ จะบอกว่าเป็นคนละบุญยังก็ดูจะกำปั้นทุบดินไปหน่อย (ถึงแม้จะเป็นไปได้ก็ตาม เพราะมีตัวอย่างจากอีกบุญยังหนึ่ง ลูกนายทองสุข ละครเมืองเพชร ดูจะวันเวลาแล้ว เป็นไปได้ว่าตั้งชื่อตามนายบุญยังคนดัง)

ส่วนเจ้าพระยาพระคลัง (กุน) นั้น เป็นแทนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่ตายเมื่อ ๒๓๔๘ ครับ ถ้านิราศพระบาทเป็นปี ๒๓๕๐ ตามพระวินิจฉัยสมเด็จดำรง พระคลังนี้ก็จะเป็นท่านกุน

ไม่ทราบว่าคุณหนอนบุ้งเอาข้อมูลว่าท่านกุนมีละครจากไหนหรือครับ พอจะขยายได้มากกว่านี้หรือเปล่า?

ท่านกุนนี้เข้าใจว่าเป็นพระคลังอยู่ไม่นานก็เลื่อนเป็นสมุหนายก แต่ผมหาไม่เจอว่าเมื่อไหร่ หากคิดว่าเป็นท่านกุน(ที่คุณหนอนบุ้งว่ามีละคร) นิราศพระบาทก็อาจต้องบังคับตกปี ๒๓๕๐ ตามพระวินิจฉัยซึ่งไม่สอดคล้องกับเรื่องเจ้าเณรน้อยพระกลดหักทองขวาง และพระหน่อสุริยวงศ์ผู้ทรงอำนาจครับ

เห็นทีจะเป็นไปได้ยาก  :(

ขอตอบ คคห 74
ต้องขอโทษด้วย หนอนบุ้งเพิ่งสอบเสร็จค่ะ
หนูกลับไปค้นสมุดจดโน้ตเรื่องนิราศพระบาท เกี่ยวกับเจ้าพระยาพระคลัง
มีความคลาดเคลื่อนจากความจำบางประการ


พอแรมค่ำหนึ่งวันนั้นท่านพระคลัง…..หาบุญยังไปฉลองศาลาลัย
มีละคอนผู้คนอลหม่าน………………...กรับประสานสวบสวบส่งเสียงใส
สุวรรณหงส์ทรงว่าวแต่เช้าไป………...พี่เลี้ยงใส่หอกยนต์ไว้บนแกล


หนูจดว่า พระยาพระคลัง (กุน) เดิมชื่อพระราชประสิทธิ์
เลื่อนเป็นพระยาศรีพิพัฒน์ (รับราชกาลมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี)
เป็นเศรษฐีที่ร่ำรวยจากการค้าสำเภา
สละทรัพย์สร้างศาลาหลายแห่ง เช่น ที่ด่านขนอน นนทบุรี
ท่านหาละครของครูบุญยัง ซึ่งเป็นนายละครนอกมีชื่อเสียงที่สุดสมัยนั้น
มาฉลองศาลาที่ท่านสร้างไว้ในลานพระพุทธบาท
ละครที่กำลังเล่นและกวีกล่าวถึงคือ สุวรรณหงส์


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 28 ส.ค. 07, 22:52
ละครนอกมีมาแต่ครั้งอยุธยาแล้ว
เป็นละครที่แสดงกันนอกราชธานี แต่เดิมคงมาจากการละเล่นพื้นเมือง
และร้องแก้กัน... แสดงได้ทุกเรื่องยกเว้น ๓ เรื่อง คือ อิเหนา อุณรุฑ และรามเกียรติ์
บทละครที่แสดงมีดังนี้ คือ สมัยโบราณ มีบทละครนอกอยู่มากมาย
แต่ที่มีหลักฐานปรากฏมีเพียง ๑๔ เรื่อง คือ การะเกด คาวี ไชยทัต พิกุลทอง
พิมพ์สวรรค์ พิณสุริยวงศ์ มโนห์รา โม่งป่า มณีพิชัย สังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัย
สุวรรณศิลป์ สุวรรณหงส์ และโสวัต
http://www.thaidances.com/data/index.asp


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 28 ส.ค. 07, 22:59
หนอนบุ้งเห็นด้วยกับ คคห ๘๙ ค่ะ


ถ้าเป็นความจริงก็แปลว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ  ปฏิสังขรณ์พระพุทธบาทขึ้นมาใหม่  ทรงจำลองตามแบบของเดิมรวมทั้ง แผ่นเงินปูพื้น ด้วย



จากพงศาวดาร ร. 1 พ.ศ. ๒๓๒๙

[วังหน้า] จึงให้ช่างยกเครื่องบนพระมณฑปและยอดเสร็จแล้ว
ให้จัดการลงรักปิดทองประดับกระจก
แล้วให้ทำพระมณฑปน้อยกั้นรอยพระพุทธบาท
ภายในพระมณฑปใหญ่ เสาทั้ง ๔ กับทั้งเครื่องบนและยอด
ล้วนแผ่นทองคำหุ้มทั้งสิ้น
และการพระมณฑปใหญ่น้อยสำเร็จบริบูรณ์แล้ว
ก็เสด็จพระราชดำเนินกลับยังกรุงเทพมหานคร
ขึ้นเฝ้า....ร. 1....กราบทูลถวายพระราชกุศลซึ่งเสด็จขึ้นไป
สถาปนาพระมณฑปพระพุทธบาทใหม่แล้วสำเร็จบริบูรณ์

หนูตีความว่า
1. ซ่อมใหญ่ค่ะ
2. ภายในพระมณฑปใหญ่ เสาทั้ง ๔ …ล้วนแผ่นทองคำหุ้มทั้งสิ้น
ตรงกับที่กวีบรรยายว่า....ผนังในกุฎีทั้งสี่ด้าน โอฬาร์ฬารทองทาฝาผนัง
3. จาก พ. ศ. ๒๓๒๙ ถึง ๒๓๕๐ เป็นเวลา ๒๐ ปี นานพอที่บริเวณจะร่มรื่น


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 ส.ค. 07, 23:55
หนอนบุ้งผูนี้ หากเอาดีทางวิชาการ ภายหน้าจะมีชื่อเสียงเป็นที่ยกย่อง

แต่วันนี้ หนูต้องอ่านหนังสือให้ดีๆ อีกนิดหน่อย
1 การลงรักปิดทองประดับกระจกนั้น ทำกับเครื่องบน
2 หนูบุ้งต้องอ่านประโยคนี้ใหม่ อ่านอย่างนี้ไม่ได้ครับ
======แล้วให้ทำพระมณฑปน้อยกั้นรอยพระพุทธบาท
======ภายในพระมณฑปใหญ่ เสาทั้ง ๔ กับทั้งเครื่องบนและยอด
======ล้วนแผ่นทองคำหุ้มทั้งสิ้น
อ่านแบบหนอนบุ้ง จะเข้าใจว่า "ภายในพระมณฑปใหญ่ เสาทั้ง ๔ …ล้วนแผ่นทองคำหุ้มทั้งสิ้น"

ตรงนี้ต้องอ่านว่า "แล้วให้ทำพระมณฑปน้อยกั้นรอยพระพุทธบาทภายในพระมณฑปใหญ่
เสาทั้ง ๔ กับทั้งเครื่องบนและยอด(ของพระมณฑปน้อย) ล้วนแผ่นทองคำหุ้มทั้งสิ้น

หนูไม่ต้องตีความครับ แค่อ่านเฉยๆ ก็ได้ความแล้ว
คือ เอกสารไม่ได้กล่าวถึงผนังและพื้น กล่าวถึงแต่เพียงว่า เครื่องบน ปิดทองประดับกระจก
และ
พระมณฑปน้อยที่ครอบรอยพระพุทธบาท ท่านให้ปิดทองทั้งองค์
เสาที่ระบุ ไม่ใช่ของพระมณฑปใหญ่ๆ ไม่มีเสา

ตรงนี้ยังหมายความว่า หากเอกสารจดมาละเอียดถูกต้อง ท่านก็แค่ปิดทองเท่านั้น มิได้ประดับกระจกอีกด้วย
อาจจะเป็นเพราะยังหาช่างที่ฝีมือเลิศไม่ได้ หรือเหตุอะไรที่เหลือจะเดา

สรุปอีกทีก็คือ การปฏิสังขรณ์พระพุทธบาทนั้น เท่าที่ทำในรัชกาลที่ 1 เอกสารไม่ช่วยหนูหนอนบุ้งมากนัก
ผมจึงยังไม่คล้อยตามนะครับ

ส่วนเรื่องสุวรรณหงส์(ถูกหอก)นั่น
เท่าที่ผมเคยตามรอยมา เป็นงานประพันธ์ครั้งรัชกาลที่ 3 ผมก็อยากเจอต้นฉบับครั้งรัชกาลที่ 1
แต่ทั้งตัวเล่ม จิตรกรรมฝาผนัง และระเด่นลันได ล้วนบอกตรงกันว่า นิยมครั้งรัชกาลที่ 3

ผมยังเชื่อต่อไปอีกด้วยว่า การเที่ยวพระบาท มาเป็นเทศกาลสนุกสนานของชาวกรุงก็ต้องรอถึงรัชกาลที่ 3 บ้านเมืองเป็นปึกแผ่นแล้ว
ตอนศึกอนุนะครับ พอเกิดเรื่องปุ๊ป สะเทือนมาถึงสระบุรีทันที
ในยุคนั้น ผมคาดว่า ความมั่นคง คงออกมานอกบางกอกไม่มากนัก
ครั้งรัชกาลที่ 1 แม้แต่ในเกาะเมืองอยุธยา ก็ยังไม่น่าไว้ใจ
เพียงแต่มีคนมาไหว้พระเทพบิดรที่วัดพุทไธสวรรย์ เท่านั้นเอง ต้องเชิญพระเทพบิดรเข้ากรุง
นี่สะท้อนว่า ครั้งรัชกาลที่ 1 บทกวีเที่ยวเล่นอย่างนิราศเมืองแกลง หรือนิราศพระบาท
ที่อ้างถึงพระคลังแก้บน ละคอนนายบุญยัง....ฯลฯ

เกิดมะด้ายครับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 29 ส.ค. 07, 00:52
อิอิ  แผ่นเงินหายเรียบตอนระหว่างเกิดสงคราม  ผมหาหลักฐานการปฏิสังขรณ์ใหญ่ในรัชกาลที่ 1 ไม่เจอครับ  เจอแต่กรมพระราชวังบวรฯ  ทำเครื่องบนครับ

เมื่อพม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2309  พวกจีนอาสา จำนวน 300  คน  ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลคลองสวนพลู ได้พากันไปยังพระพุทธบาท  แล้วลอกทองคำที่หุ้มพระมณฑป  และแผ่นเงินที่ปูลาดพื้นพระมณฑปไป แล้วเผาพระมณฑปเสีย เพื่อปกปิดการกระทำของตน  

ก็มณฑปโดยเผา  แล้วตอนนั้น(ร.1)ต้องยอมรับว่าบ้านเมืองยังไม่นิ่ง  แต่ก็มีพระราชศรัทธายกเครื่องบนใหม่  คือพูดง่ายทำแต่องค์มณฑปอ่ะครับ(เครื่องมุง)

ล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท  เสด็จไปอำนวยการปฏิสังขรณ์พระมณฑป  พระองค์ได้ทรงมีพระราชศรัทธา รับแบกตัวลำยองเดรื่องบนหนึ่งตัว แล้วเสด็จพระราชดำเนินตั้งแต่ท่าเรือ ไปจนถึงพระพุทธบาท  นับเป็นเยี่ยงอย่างที่ยอดเยี่ยม เป็นที่ปรากฏแก่มหาชนในการทำนุบำรุงรักษาพระพุทธศาสนา  

แล้วมาเจออีกทีก็คราวมหาดเล็กนายโหมดคุมช่างไปสานเสื่อเงินอ่ะครับ  ซึ่งก็แล้วเสร็จสมบูรณ์จริงๆก็รัชสมัยรัชกาลที่ ๔ ครับ


ขอบพระคุณมากครับท่านอาจารย์เทาชมภู  ผมเข้าใจแล้วครับ  ที่แท้ก็ฝ่าพระบาท  เป็นคำเรียกรอยพระพุทธบาท ???


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 29 ส.ค. 07, 11:18
ขอนำเจ้าฟ้าสามพระองค์ในเจ้าฟ้ากุณฑลมาพิจารณาด้วย เพื่อให้คลายความข้องใจ
- เจ้าฟ้าอาภรณ์ประสูติ ๒๓๕๙ โสกันต์ ๒๓๗๑ เมื่อโสกันต์เพิ่งจะเปลี่ยนแผ่นดินได้ ๒ ปี ทั้งยังติดศึกเวียงจันทน์ ดูเหมือนจะไม่ได้รับการถวายพระเกียรติมากนัก พิธีโสกันต์ทำโดยสังเขป อีก ๓ ปีต่อมาเป็นปีเถาะ ๒๓๗๔ ก็ยังถือว่าอยู่เกณฑ์บรรพชาได้ แต่คงยากที่จะได้รับพระราชทานกลดหักทองขวางครับ
- เจ้าฟ้ากลาง ประสูติ ๒๓๖๒ โสกันต์ ๒๓๗๔ ควรบรรพชาอย่างเร็ว ๑ ปีหลังจากนั้น เลยปีเถาะไปปีหนึ่ง แต่ก็ยังมีข้อขัดข้องเดิมอยู่ดี คือพิธีโสกันต์ทำโดยสังเขป ไม่ได้รับการถวายพระเกียรติมากนัก
- เจ้าฟ้าปิ๋ว ประสูติ ๒๓๖๕ โสกันต์ ๒๓๗๗ ไม่อยู่ในเกณฑ์ปีเถาะ และพิธีโสกันต์ก็ยังทำโดยสังเขปเช่นเดียวกันครับ

(เรื่องพิธีโสกันต์ที่ทำโดยสังเขป อ้าง ประกาศพระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ในประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ เล่ม ๓)

สรุปว่ายากที่จะเป็นพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในสามพระองค์นี้ แต่ถ้าจะเป็นไปได้(แบบไม่น่าเชื่อ)ก็คือ เจ้าฟ้าอาภรณ์ครับ

ถ้าพิจารณาเฉพาะเจ้าฟ้าตั้งแต่ ร.๓ เป็นต้นมา นอกจากสามพระองค์นี้แล้ว ก็มีเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ แล้วก็ข้ามไปเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศซึ่งสภาพการเดินทางไม่สอดคล้องกับบทนิราศครับ

กรณีเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์หลักฐานแย้งชัดเจน เพราะพระองค์บรรพชา ๒๔๐๙ แต่ไม่เคยเสด็จพระบาทในปีนั้น ในขณะที่เมื่อเสด็จในปี ๒๔๐๓ เพิ่ง ๗ ชันษา ยังไม่บรรพชา ไม่ต้องพิจารณาประเด็นอื่นต่อเลย

เมื่อไม่มีพระองค์ใดในช่วงเวลานี้ที่เข้าเกณฑ์ ดูท่าว่าจะต้องมีอะไรผิดสักอย่าง


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 ส.ค. 07, 12:08
ผมยังไม่ตัดเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ออก แม้ว่าคุณเครซี่จะยกจารึกมาอ้าง
เพราะผมยังไม่ได้อ่านกรณีแวดล้อมของวันที่โปรดให้สร้างจารึกนั้น
อันที่จริง คำของกวี ถ้าเราคิดว่าแกไม่เพี้ยน ก็คือ
ในปีเถาะ ปีหนึ่ง ซึ่งพระมณฑปพระพุทธบาท เป็นสถานจาริกที่ครึกครื้นของประชาชนทั่วไป
ปีนั้น การตกแต่งภายใน มีหลักฐานว่า พื้นปูแผ่นเงิน
และฝาผนังภายใน เขียนลายปิดทองแล้ว
มีการเสด็จพระบาทเป็นขบวนใหญ่ ขบวนนี้ เกี่ยวข้องกับวัดระฆังด้วย

แต่การเสด็จ ยังเป็นกระบวนใหญ่ ตามโบราณราชประเพณี
ผู้ตามเสด็จ เป็นสามเณรทรงฐานันดรศักดิ์สูงยิ่ง วัยน่ารัก เห็นจะทรงบรรพชาไม่นาน
กวีผู้แต่ง ก็เป็นข้าราชบริพาร ระดับไม่ใหญ่โตนัก น่าจะเป็นฝ่ายทหาร
วัยก็คงไม่เกินสามสิบ จึงยังรับงานฝีพายได้

ข้อมูลข้างต้น ก็เห็นว่าเกิดได้ปลายรัชกาลที่ 3 จนถึงต้นรัชกาลที่ 5 เท่านั้น
ถ้ายืดมาถึงรัชกาลที่ 5 ก็จะได้ปีเถาะ 2422 และ 2432 เพิ่มมา

ต้องไปสอบจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันต่อครับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 29 ส.ค. 07, 13:52
นิราศวัดรวกของหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) บันทึกการเดินทางไปพระพุทธบาทในปี ๒๔๒๔ เริ่มต้นเรื่องที่วัดรวก(หรือวัดไม้รวก)ตรงท่าเรือ

ผมยังหาประวัติวัดรวกเป็นมั่นเหมาะไม่ได้ แต่ว่ากันว่าเป็นวัดร้างมาแต่สมัยอยุธยา มาสร้างใหม่ในสมัย ร.๓

นิราศพระบาทไม่เอ่ยถึงวัดนี้ ทั้งที่ควรจะอยู่ตรงท่าเรือตรงที่ค้างแรมก่อนจะออกเดินทางด้วยช้างในวันรุ่งขึ้น

ถือเป็นข้อสังเกตหนึ่งเท่านั้น เพราะสิ่งที่ไม่ได้พูดถึง คงด่วนสรุปว่าไม่มีไม่ได้ครับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 07, 16:58
มาช่วยสรุปให้อีกคน
ปีเถาะ ในรัชกาลไหนไม่ทราบ  มีกวีคนหนึ่งเพิ่งทะเลาะกับเมียมาหยกๆ รูปการณ์น่าจะเป็นผัวหนุ่มเมียสาว ยังไม่มีลูกกัน
กวีคนนี้ไม่มียศไม่มีตำแหน่งขุนนาง   ไม่งั้นคงบอกบ้างแล้ว   ไปในขบวนทำหน้าที่พลพาย มีเพื่อนหนุ่มๆเป็นพลพายด้วยกัน
เจ้านายของกวีหนุ่ม  ไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดิน  เป็นเจ้านายที่ผนวชอยู่วัดระฆัง  เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท   เดินทางเรือจากวัดล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา  ค้างคืนกลางทาง  ก่อนจะขึ้นบกด้วยขบวนช้างไปถึงพระพุทธบาท
แต่ว่าพระเจ้าแผ่นดินท่านเสด็จไปในครั้งนี้หรือไม่  กวีไม่ได้เอ่ยถึง   บอกแต่ว่ามีนางในตามเสด็จกันไปหลายคน
แต่ไม่ระบุว่ามีโขลน  หรือท้าวนาง  หรือผู้หญิงผู้ใหญ่ที่ทำหน้าที่ควบคุมข้าหลวงสาวๆไปในขบวนนางในด้วย
รูปการณ์เหมือนนางในพวกนี้ เป็นบ่าวสาวๆในวังแห่งใดแห่งหนึ่ง  ไม่ถึงกับเป็นนางข้าหลวงลูกผู้ลากมากดีในพระบรมมหาราชวัง   ผู้ชายถึงสามารถจะถูกเนื้อต้องตัว  และเฮฮาลวนลามได้โดยไม่เกรงพระราชอาญา

พระพุทธบาทที่ไปเห็น กวีบอกว่าสง่างดงาม อลังการ  ปฏิสังขรณ์อยู่ในสภาพดี การตกแต่งสวยมาก  ลวดลายต่างๆก็สุกปลั่งระยับตา
แสดงว่ายังอยู่ในสภาพใหม่หรือค่อนข้างใหม่   ไม่หมอง ไม่ชำรุดทรุดโทรม
ถ้าตกแต่งเสร็จสัก ๒๐ ปีน่าจะหมองบ้างแล้ว


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 07, 17:30
ผนังในกุฎีทั้งสี่ด้าน                     โอฬาร์ฬารทองทาฝาผนัง
จำเพาะมีสี่ด้านทวารบัง               ที่พื้นนั่งดาดด้วยแผ่นเงินงาม
มณฑปน้อยสรวมรอยพระบาทนั้น  ล้วนสุวรรณแจ่มแจ้งแสงอร่าม
เพดานดาดลาดล้วนกระจกงาม      พระเพลิงพลามพร่างพร่างสว่างพราย  
ตาข่ายแก้วปักกรองเป็นกรวยห้อย ระย้าย้อยแวววามอร่ามฉาย
หอมควันธูปเทียนตลบอยู่อบอาย  ฟุ้งกระจายรื่นรื่นทั้งห้องทองฯ

ลักษณะสิ่งก่อสร้าง  อร่ามตาทีเดียว  กระจกที่ปิดก็ยังอยู่สมบูรณ์ดีไม่ชำรุด กวีถึงเรียกว่างาม
ผนังนั้น"ทาทอง" ไม่ใช่" เขียนลายทอง" หรือ "ลงรักปิดทอง"  ส่วนพื้นที่นั่ง ดิฉันตีความว่า ยังไม่ใช่ยุคเสื่อปู  เป็นยุคแผ่นเงินปู    ความบอกไว้ชัดเจนแล้ว
แผ่นเงินนั้นจะสร้างในรัชกาลไหนก็ตาม   ก็ต้องเป็นช่วงหลังจากสร้างใหม่ในรัชกาลที่ ๑ และก่อนปีใดปีหนึ่ง ในรัชกาลที่ ๔ ที่เจ้าคุณกษาปน์(โหมด) มาสานเสื่อ
เว็บที่คุณพพ.บอกว่าเขานั่งเทียนเขียน   ดิฉันว่าเขาเข้าใจถูกแล้ว   นิราศพระบาทเป็นหลักฐานว่าหลังจากพระบาทถูกพวกจีนปล้นทำลายไป  ก็มีการสร้างขึ้นมาใหม่อย่างสวยงาม  และมีการสร้างแผ่นเงินเอามาปูด้วย  แม้ไม่ได้ระบุในหลักฐานที่คุณพพ.ค้นมาได้ ก็ระบุไว้ในนิราศพระบาทนี้แหละ

ลองนึกดูว่าเมื่อรัชกาลที่ ๑ ท่านทรงสร้างพระบาทขึ้นมาใหม่   ท่านจะทรงละเลยของงามอย่างแผ่นเงินทีเดียวหรือคะ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 07, 18:15
ย้อนกลับมาเรื่องกวีเอก ว่าเราพอแกะรอยอะไรได้บ้างจากตัวหนังสือเรื่องนี้
ขบวนเสด็จคราวนี้มีเจ้าฟ้าเณรเสด็จมาพระองค์หนึ่ง      พระองค์ไหนยังเถียงกันอยู่ในกระทู้    ไม่ลงตัวกันได้
ในหนังสือ"ชีวิตและงานของสุนทรภู่"  มีเชิงอรรถของคุณธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ระบุว่า
"สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า เจ้าสามเณรน้อยองค์นี้  คงจะเป็นสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส  ขณะนั้นทรงผนวชสามเณร และคงจะเสด็จมาพระพุทธบาทในเทศกาลนี้ด้วย"

ลองเช็คพระประวัติกรมพระปรมาฯดูหน่อยไหมคะ  ท่านบรรพชาสามเณรปีไหน
อีกอย่าง  สมมุติว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงวินิจฉัยงานของสุนทรภู่ผิด เพราะทรงยึดถือตำนานคำบอกเล่าที่พระยาปริยัติฯ รวบรวมไว้ ผิดไป
แต่เจ้านายอย่างท่านที่น่าจะเคยเห็นพระกลดหักทองขวางมาแต่ประสูติก็ว่าได้ 
จะจำผิดขนาดว่า พระองค์เจ้ากางกลดหักทองขวางก็ได้   เทียวหรือ

ดิฉันไม่ได้บอกว่าคุณ UP ผิด  ความจำในเรื่องเหล่านี้ของคุณ UP ก็แม่นยำอยู่มาก
ส่วนเรื่องการนับพระชนม์ของเจ้าฟ้าแล้วไม่มีพระองค์ไหนลงตัวกับการบรรพชาในปีเถาะ  ก็เป็นความถูกต้อง

ถ้าหากว่าสมเด็จฯท่านก็พูดถูก  คุณ UP ก็พูดถูก   การนับปีบรรพชาก็ถูก  เรียกว่าถูกกันทุกฝ่าย
ก็หมายความว่า ครั้งหนึ่งในอดีต พระกลดหักทองขวางนั้นอาจจะใช้สำหรับพระองค์เจ้าที่ทรงพระกรุณาเป็นพิเศษได้ นอกเหนือจากเจ้าฟ้า


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 29 ส.ค. 07, 18:45
เขียนจากความจำก่อนนะครับ ไม่มีเวลาตรวจสอบ

พระองค์เจ้าวาสุกรีบรรพชาราว ๒๓๔๕ ครับ ถึงปี ๒๓๕๐ ตามพระวินิจฉัยสมเด็จดำรง ก็บรรพชามา ๕ ปี

ผมยังคิดว่ายากครับที่จะทรงพระกรุณาขนาดนี้ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าระดับสมเด็จพระสังฆราชมีสิทธิ์ใช้เครื่องสูงหักทองขวางหรือเปล่า ถ้าสามเณรเจ้าฟ้าวาสุกรีได้ใช้ก็เท่ากันหรือไม่ก็เกินสมเด็จพระสังฆราชเลยนะครับ

แถมปีนั้นพระองค์เจ้าวาสุกรีพระชนม์ตั้ง ๑๗ เข้าไปแล้ว ไม่มีทางน่ารักแน่ๆครับ

ความเห็นส่วนตัวผม โอกาสที่สามเณรเจ้าจะเป็นพระองค์เจ้าวาสุกรีแทบจะเป็นศูนย์

หลักฐานที่มีตอนนี้ ขัดข้องเกือบทุกพระองค์ เหลือที่พอเป็นไปได้คือ
- เจ้าฟ้ามงกุฎ แต่ต้องให้พงศาวดารผิดเรื่องระยะเวลาที่ทรงบรรพชา และ/หรือปีที่บรรพชา
- เจ้าฟ้ากลาง ปีเลยไปปีหนึ่ง และดูเหมือน ร.๓ จะไม่ทรงโปรดขนาดจะพระราชทานพระกลดหักทองขวาง (ประกาศ ร.๔ มีความว่าพิธีโสกันต์ทำแบบสังเขป จนคนเอาไปซุบซิบกันว่าเป็นเพราะ "ไม่มีเจ้าของ") แถมเป็นช่วงหลังศึกเจ้าอนุวงศ์ จะไปรบเวียดนามต่อ ไม่อยู่ในบรรยากาศผ่อนคลาย
- เจ้าฟ้าเหม็น ไม่มีหลักฐานสนับสนุน แต่ก็ไม่มีหลักฐานขัดแย้ง
ทั้งนี้ยกเรื่องแผ่นเงินเสื่อเงินออกไปก่อน ไม่อย่างนั้นก็ไปต่อไม่ได้ครับ ผิดทุกข้อ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 ส.ค. 07, 19:05
เรื่องพื้นปูแผ่นเงินในรัชกาลที่ 1 ไม่มีหลักฐานรองรับ ท่านก็จะเอาความสันนิษฐานมาเป็นพยานให้ได้ ....ผมละกลุ้ม
ความเชื่อที่ว่า ในเมื่อท่านซ่อมท่านก็น่าจะทำให้ดี แต่ท่านจะทำดีแค่ใหนเราไม่มีหลักฐาน
จึงใช้วิธี"เชื่อ"ไว้ก่อน ว่าท่านต้องทำดีแน่ๆ ละน่า
ตีความอย่างนี้ ผมไม่เห็นด้วย

สวช.มาตีขลุมว่าพระราชวงศ์จักรีทรงดูแลศาสนสถานแห่งนี้อย่างดี
ผมไม่อยากจะเถียง
แต่อยากจะถามว่า ที่ว่าดีนั้น ดีอย่างไร ในเมื่อเอกสารที่ผมเข้าถึงได้ บอกเพียงว่า
ผนังเขียนลายชาด คือเป็นสีแดง อันเป็นการตกแต่งที่ดีที่สุดในยุคนั้นแล้วนะครับ

ท่านอาจจะไม่ทราบว่า
ผนังพระอุโบสถวัดพระแก้วครั้งรัชกาลที่ 1 ก็เป็นผนังเขียนลายชาด เหมือนกัน
ความหรูหราอย่างที่เห็น(และอย่างที่ไปปรากฏที่พระพุทธบาท) ทำเมื่อในรัชกาลที่ 3

ส่วนพระมณฑปน้อยก็แค่ปิดทองเท่านั้นเอง หาได้ประดับกระจกไม่
รัชกาลที่ 1 จะเคยเสด็จพระบาทหรือไม่ หลักฐานก็ยังไม่มี
แต่ท่านก็การันตีละว่า สร้างเสร็จยี่สิบปี ต้องร่มรื่นแน่ๆ
อีกท่านหนึ่งบอกว่าต้องไปเห็นมาก่อนยี่สิบปี เพราะนานขนาดนั้น ควรจะหมองแล้ว

ผมคงต้องไปพระบาท แล้วทำรีคอนสตรั๊คมาให้เห็นว่า
พระบาทครั้งรัชกาลที่ 1 นั้นเงียบเหงาเพียงใดเสียละกระมัง


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 07, 20:07
เข้ามายืนกรานว่าแผ่นเงินที่ปู ตามคำของกวี  ไม่ใช่เสื่อค่ะ
อ่านแต่ละตอน   กวีคนนี้ยังหนุ่มแน่น แข็งแรง บันทึกอะไรต่อมิอะไรละเอียดลออ  มองไกลๆก็ยังเห็นรายละเอียด
ขนาดนั่งเรือ ท่านยังมองฝั่งเห็นต้นหมากรากไม้  เห็นกระทั่งแมงภู่บินตอมลูกจันทน์

พฤกษาสวนล้วนได้ฤดูดอก              ตระหง่านงอกริมกระแสแลสล้าง
กล้วยระกำอัมพาพฤกษาปราง          ต้องน้ำค้างช่อชุ่มเป็นพุ่มพวง
เห็นจันทน์สุกลูกเหลืองตลบกลิ่น      แมงภู่บินร่อนร้องประคองหวง
พฤกษาพ้องต้องนามกานดาดวง       พี่ยลพวงผลจันทน์ให้หวั่นใจ

แสดงว่าสายตาไม่สั้น
เชื่อว่ามองออกถึงความแตกต่างระหว่างเสื่อเงินกับแผ่นเงิน
เสื่อเงินสานสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่แผ่นเงิน ปูก่อนค่ะ  ไม่เชื่อว่าเป็นรัชกาลที่ ๑ ก็ไม่ว่ากัน  ยังเหลืออีกตั้ง ๒ รัชกาล


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 29 ส.ค. 07, 20:08
หนูนำพระนิพนธ์ของกรมพระยาดำรงฯ มาฝาก

มาจนถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
จึงโปรดฯ ให้สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท
เสด็จขึ้นไปทรงอำนวยการปฏิสังขรณ์พระมณฑปพระพุทธบาท เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐
ให้พระยาราชสงครามเป็นนายช่างปรุงเครื่องบนพระมณฑปขนขึ้นไปจากกรุงเทพฯ

ครั้งนั้นกรมพระราชวังบวรฯ ทรงพระราชศรัทธารับแบกตัวลำยองเครื่องบนตัว ๑
ทรงพระราชดำเนินตั้งแต่ท่าเรือขึ้นไป จนถึงพระพุทธบาท ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่
ข้าราชการทั้งนายไพร่ที่ขึ้นไปทำการปฏิสังขรณ์ครั้งนั้น บานมุข ๘ บาน

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็โปรดฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ตามแบบอย่างที่พระเจ้าบรมโกศ
ได้ทรงสร้างไว้ ยังปรากฏอยู่จนทุกบัดนี้ แต่ฝาผนังข้างใน (พระมงคลทิพมุนีว่า
เมื่อกะเทาะปูนฝาผนังออก เห็นรอยถือปูนผนังเป็น ๓ ชั้น ชั้นแรกถือปูนแล้วทาสีแดง

ชั้นที่ ๒ ปิดทองทึบ ชั้นที่ ๓ เขียนลายทอง เขียนลายทองนั้นทราบได้แน่ว่า
เขียนในรัชกาลที่ ๕ เนื่องต่อการที่เสด็จไปสักการบูชาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔

จึงสันนิษฐานว่า ครั้งปฏิสังขรณ์ครั้งรัชกาลที่ ๑ เห็นจะเป็นแต่ล่องชาด
ไม่ได้คาดแผ่นกระจกเงาดังแต่ก่อนอีกต่อมา นอกจากพระมณฑป
สิ่งอื่นที่ชำรุดทรุดโทรมก็ได้โปรดฯให้ซ่อมแซมในรัชกาลที่ ๑ ทั่วไป

เพราะฉะนั้นในรัชกาลที่ ๒ ของที่ทรงบูรณะในรัชกาลที่ ๑ ยังบริบูรณ์อยู่
จึงไม่ปรากฏว่าได้มีการปฏิสังขรณ์อย่างใดอีก


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 29 ส.ค. 07, 20:09
ในรัชกาลที่ ๓ ปรากฏว่าได้ทรงปฏิสังขรณ์เครื่องพระมณฑปใหญ่
และมีเหตุไฟเทียนบูชาไหม้ม่านแล้วเลยไหม้พระมณฑปน้อย
ที่สวมรอยพระพุทธบาท ต้องทำใหม่ และบางทีจะปิดทองฝาผนังในคราวนี้

นอกจากนี้หาได้ทรงสร้างสิ่งใดไม่ กล่าวกันว่าเป็นเพราะพระบาทสมเด็จ
พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเลื่อมใส ดำรัสว่าพระพุทธเจ้าได้ประทาน
พระธรรมเทศนาในหัตถิปโทปมสูตร สํยุตตนิกาย มหาวรรค (พระไตรปิฎก
ฉบับพิมพ์ในรัชกาลที่ ๕ หน้า ๕๔) ว่าขนาดรอยเท้าสัตว์ทั้งหลาย
ย่อมอยู่ในรอยเท้าช้างฉันใด เหมือนกับธรรมทั้งหลายก็ย่อมอยู่
ในอัปมาทธรรมดังนี้

ถ้าพระพุทธองค์ได้ทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้จริงไซร้ ก็จะทรงอุปมาว่ารอยเท้าสัตว์ทั้งหลาย
ย่อมอยู่ในรอยเท้าของพระตถาคต เพราะรอยพระพุทธบาทใหญ่โตกว่า ๒ เท่ารอยเท้าช้าง

เล่ากันมาดังนี้ แต่กรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ ๓ นั้นทรงเลื่อมใส
พระพุทธบาทมาก เมื่อเสด็จกลับจากปราบขบถเวียงจันทน์
ทรงอุทิศถวายเครื่องสูงที่แห่เสด็จในการสงครามคราวนั้นไว้เป็นพุทธบูชา
และทรงสร้างพระเจดีย์ตามแบบพระธาตุพนมไว้ด้วยองค์ ๑


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 29 ส.ค. 07, 20:12
ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า
ถึงข้อเท็จจริงในเรื่องตำนานพระพุทธบาทจะเป็นอย่างไรก็ตาม พระพุทธบาท
เป็นมหาเจดียสถานอันประชาชนเลื่อมใสศรัทธามากมาแต่โบราณ แม้เป็นอุเทสิก
เจดีย์ก็ควรทำนุบำรุง จึงทรงบูรณปฏิสังขรณ์

สิ่งที่ทรงสร้างใหม่ก็มีหลายสิ่ง คือพระมงกุฎภัณฑเจดีย์ที่อยู่ใกล้พระมณฑปองค์ ๑
และโปรดฯ ให้สร้างเครื่องบนพระมณฑปใหญ่และสร้างพระมณฑปน้อย
เปลี่ยนของซึ่งสร้างครั้งรัชกาลที่ ๓ ให้งดงามมั่นคงกว่าเก่า
ทั้งให้เปลี่ยนแผ่นเงินปูพื้นพระมณฑปเป็นเสื่อเงิน
แลทรงสร้างเทวรูปศิลาที่เขาตกด้วย

ในรัชกาลที่ ๔ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปทรงนมัสการพระพุทธบาท
และทรงยกยอดพระมณฑปและบรรจุพระบรมธาตุที่พระมงกุฎภัณฑเจดีย์
เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 29 ส.ค. 07, 20:20
ถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท ๔ ครั้ง
เสด็จชั้นก่อนมีรถไฟเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ ครั้ง ๑

เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๒๕ ครั้ง ๑ เมื่อทำทางรถไฟแล้วเสด็จพระราชดำเนินอีก ๒ ครั้ง

ในรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง และซ่อมผนังข้างในพระมณฑป
ให้เขียนเป็นลายทอง และบันไดนาคทางขึ้นพระมณฑปนั้นเดิมเป็นบันได ๒ สาย

โปรดฯ ให้สร้างเติมอีกสาย ๑ เป็น ๓ สาย และหล่อศีรษะนาคด้วยทองสัมฤทธิ์ที่เชิงบันได
เติมของครั้งรัชกาลที่ ๑ ด้วย ต่อมาถึงปลายรัชกาล เครื่องพระมณฑปชำรุดมาก

โปรดฯ ให้หล่อใหม่ ให้พระพุฒาจารย์ (มา) วัดจักรวรรดิราชาวาส
เมื่อยังเป็นที่พระมงคลทิพมุนี ตำแหน่งผู้รักษาพระพุทธบาท เป็นนายงานทำการจนสำเร็จ
ยังแต่จะยกพระจุลมงกุฎเหนือพุ่มข้าวบิณฑ์พระมณฑป สิ้นรัชกาลเสียก่อน

ถึงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นไปยกยอดพระมณฑปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖
และโปรดฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ต่อมาจนสำเร็จ เรื่องตำนานพระพุทธบาทมีดังแสดงมา


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 07, 20:24
"เปลี่ยนของซึ่งสร้างครั้งรัชกาลที่ ๓ ให้งดงามมั่นคงกว่าเก่า
ทั้งให้เปลี่ยนแผ่นเงินปูพื้นพระมณฑปเป็นเสื่อเงิน "
ขอบคุณค่ะคุณหนอนบุ้ง  
เห็นด้วยไหมคะ ว่ากวีหนุ่มคนนี้มาเห็นแผ่นเงินปูพื้นพระมณฑปในรัชกาลที่ ๓

ตอนนี้กำลังย้ายไปปักหมุดเวลาที่อื่นค่ะ

พี่เร่งเตือนเพื่อนชายพายกระโชก ถึงสามโคกต้องแดดยิ่งแผดแสง
ให้รุ่มร้อนอ่อนจิตระอิดแรง         เห็นมอญแต่งตัวเดินมาตามทาง
ตาโถงถุงนุ่งอ้อมลงกรอมส้น       เป็นแยบยลเมื่อยกขยับอย่าง
เห็นขาขาววาวแวบอยู่หว่างกลาง ใครยลนางก็เป็นน่าจะปรานี

มอญสามโคกมาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์    ไม่ใช่มอญใหม่    เลยปักหมุดไม่ได้
พยายามปักอีกตอน ตรงสาวมอญที่กวีเห็น นุ่งผ้าถุงทอแบบที่เรียกว่า "ตาโถง" (กรุณาดูรูปประกอบ)
มีใครเชี่ยวชาญเรื่องผ้าพอจะบอกได้ไหมคะว่า ผ้าตาโถง มีมาแต่สมัยไหน  
หรือสาวมอญนุ่งผ้าตาโถงกันสมัยรัชกาลไหน



กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 29 ส.ค. 07, 20:30
นี่สะท้อนว่า ครั้งรัชกาลที่ 1 บทกวีเที่ยวเล่นอย่างนิราศเมืองแกลง หรือนิราศพระบาท
ที่อ้างถึงพระคลังแก้บน ละคอนนายบุญยัง....ฯลฯ

เกิดมะด้ายครับ


เอ หนูกลับคิดว่า ๑๕ ปี ในสมัยกรุงธนบุรี เป็นช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน
ครั้นถึง ร.๑ บ้านเมืองเริ่มตั้งลำได้ ฝ่ายบู๊ก็บู๊กันไป ฝ่ายบุ๋นก็ผลิตวรรณคดีหลายเรื่อง
เช่น กากีคำกลอน ร่ายยาวมหาชาติ ลิลิต ๒ เรื่อง สมบัติอมรินทร์
และแปลสามก๊กจากพงศาวดารจีน ราชาธิราชจากพงศาวดารมอญ
นอกจากนี้ ร. ๑ ทรงปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่ทั้งวัด แม้ยังไม่เสร็จก็ตาม

พระนิพนธ์ตำนานละครอิเหนา ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
กล่าวว่าละครนอกที่เล่นกันนอกวังและใช้ผู้ชายเป็นตัวแสดง
ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า มีฉบับอยู่ในหอพระสมุด ด้วยกัน ๑๙ เรื่อง
แต่ไม่จบสักเรื่องเดียว คือ
๑. เรื่องการเกษ (หรือการะเกด)...... ๒. คาวี
๓. ไชยทัต................................ ๔. พิกุลทอง
๕. พิมพ์สวรรค์........................... ๖. พิณสุริวงศ์
๗. นางมโนราห์.......................... ๘. โม่งป่า
๙. มณีพิไชย............................. ๑๐. สังข์ทอง
๑๑. สังข์ศิลป์ไชย....................... ๑๒. สุวรรณศิลป์
๑๓. สุวรรณหงส์..........................๑๔. โสวัต
๑๕. ไกรทอง.............................. ๑๖. โคบุตร
๑๗. ไชยเชษฐ์............................. ๑๘. พระรถ
๑๙. เรืองศิลป์สุริวงศ์

ใน ร. ๒ พระองค์เจ้าทับ ทรงนิพนธ์สังข์ศิลป์ไชย
ใน ร. ๓ พระองค์เจ้าทินกร ทรงนิพนธ์มณีพิไชย (ยอพระกลิ่นกินแมว)
สุวรรณหงส์ แก้วหน้าม้า และนางกุลา


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 29 ส.ค. 07, 20:37
กรณีเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์หลักฐานแย้งชัดเจน เพราะพระองค์บรรพชา ๒๔๐๙ แต่ไม่เคยเสด็จพระบาทในปีนั้น ในขณะที่เมื่อเสด็จในปี ๒๔๐๓ เพิ่ง ๗ ชันษา ยังไม่บรรพชา ไม่ต้องพิจารณาประเด็นอื่นต่อเลย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงผนวชเป็นสามเณร ๒ ครั้ง

ครั้งเเรก ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๐๔
ครั้งที่สอง ๒๔๐๙


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 07, 20:49
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงผนวชเป็นสามเณร ๒ ครั้ง

ครั้งเเรก ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๐๔
ครั้งที่สอง ๒๔๐๙ 
ข้อความเมื่อ: วันนี้ เวลา 20:30ข้อความโดย: หนอนบุ้ง    :o :o :o :o :o

ถ้าหากว่าเจอพระองค์จริงของ"เจ้าเณรน้อย" แล้วละก็   
เจ้านายของกวีที่ผนวชอยู่วัดระฆังและเป็น "พระหน่อสุริย์วงศ์พระวังหลัง" จะเป็นใครล่ะคะ ในปลายรัชกาลที่ ๔?
ในปลายรัชกาลที่ ๔ เชื้อสายวังหลัง เหลือหม่อมเจ้าเป็นอย่างสูง 


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 29 ส.ค. 07, 20:59
"เปลี่ยนของซึ่งสร้างครั้งรัชกาลที่ ๓ ให้งดงามมั่นคงกว่าเก่า
ทั้งให้เปลี่ยนแผ่นเงินปูพื้นพระมณฑปเป็นเสื่อเงิน "


หนูคิดว่า "เปลี่ยนแผ่นเงินปูพื้น" แผ่นเงินอาจจะเป็นของตกทอดมาตั้งเเต่ครั้ง ร. ๑ ก็ได้
ไม่มีตรงไหนเจาะจงว่า แผ่นเงินมาจาก ร.๓ ลองอ่านดูดีๆ สิคะ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 29 ส.ค. 07, 21:04
ขอบคุณคุณหนอนบุ้งที่คัดมาให้อ่านกันครับ น่าสนใจมากครับ

พระหน่อสุริย์วงศ์พระวังหลังในนิราศบอกแค่ว่าเป็นคนสร้างวัดธารมาใหม่ครับ ที่อื่นๆในนิราศเป็นเพียงแต่ พระหน่อสุริย์วงศ์ ไม่มีพระวังหลังตามหลังครับ ดูจากลักษณะการกล่าวถึงแล้ว น่าจะเป็นคนละพระองค์กันครับ ดังนั้นเรื่องนี้ไม่ขัดข้อง

ปัญหาคือบรรพชาครั้งแรก เป็น ๒๔๐๔ หรือครับ? ใกล้เคียงกับ ๒๔๐๓ ที่เสด็จพระพุทธบาทครั้งแรกนะครับ (ร.๕ เสด็จพระบาทรวม ๕ ครั้ง ครั้งแรกตามเสด็จ ร.๔ ปี ๒๔๐๓)

น่าจะลองตรวจสอบดู น่าสนใจๆ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 29 ส.ค. 07, 21:16
เรื่องการตกแต่งภายในมณฑป ขอเรียบเรียงเรื่องราวอีกครั้งนะครับ

จะมีสองประเด็น คือ พื้น กับ ผนัง

- นิราศพระบาทว่า พื้นเป็นแผ่นเงิน ผนังปิดทอง

พระวินิจฉัยสมเด็จดำรงที่คุณหนอนบุ้งยกมาเรียบเรียงได้ดังนี้

- ร.๑ พื้นไม่ทราบ ผนังเขียนลายชาด
- ร.๓ พื้นปูแผ่นเงิน ผนังเขียนลายชาด
- ร.๔ พื้นเสื่อเงิน ผนังปิดทอง
- ร.๕ พื้นเสื่อเงิน ผนังเขียนลายทอง

ข้อมูลจากคุณ pipat ว่านายโหมด อมาตยกุลว่าตนไปสานเสื่อเงินตั้งแต่สมัย ร.๓ หมายความว่า
- ปลาย ร.๓ พื้นเสื่อเงิน ผนังเขียนลายชาด

เอาข้อมูลจากนิราศพระบาทมาใส่ หาที่ลงไม่ได้  ???

แต่ถ้าลองตัดข้อมูลจากนายโหมดทิ้งไป พอจะหาช่องว่างได้ว่า
นิราศพระบาทเขียนสมัย ร.๔ เมื่อผนังปิดทองแล้ว แต่พื้นยังไม่เป็นเสื่อเงิน ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็ต้องราวปี ๒๔๐๓ นี่แหละ

ถ้า ร.๕ บรรพชาปี ๒๔๐๓ ก็เป็นไปได้นะครับว่าเจ้าเณรน้อยคือพระองค์ !!!


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 ส.ค. 07, 21:42
ไม่เคยทราบว่าทรงบรรพชาสองครั้ง ขอหลักฐานด้วยครับ
เรื่องเสื่อเงินและแผ่นเงินกลายเป็นความสับสนที่ผมสร้างขึ้นเสียแล้ว
ผมมิได้เขียนว่ากวีมาเห็น"เสื่อ"เงินนะครับ คำกลอนก็ชัดเจนอยู่
แต่ผมตั้งข้อสังเกตว่า กวีมาเห็นแผ่นเงินน่ะ มันเป็นช่วงเวลาใหน
เพราะ

ตามเอกสาร รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้ยุบแผ่นเงินสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ลิเกี่ยวผ้านุ่งคนมาไหว้
ทำเป็นลวดเพื่อสานเป็นเสื่อ
ข้อความนี้อยู่ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 4 และเป็นข้อยืนยันว่าในรัชกาลที่ 3
พื้นข้างในปูแผ่นเงิน
(ส่วนท่านจะเหมาให้เป็นของรัชกาลที่ 1 ให้ได้ ต้องไปเถียงเจ้าพระยาทิพากรวงศ์เอาเอง)

นี่คือหลักฐานประโยคแรก
ซึ่งถ้าเชื่อ กวีก็มาเห็นพระบาทในรัชกาลที่ 3 หรือ 4 ก่อนยุบแผ่นเงิน


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 ส.ค. 07, 21:46
แยกมาอีกข้อ เพื่อไม่ให้ปนกัน
แต่ผมเจอบันทึกของนายโหมด บอกว่า ตนเอง มาสานเสื่อเงิน
"ในปลายรัชกาลที่ 3"

ดังนั้น ข้อความของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ จึงถูกค้านโดยคำของคนที่ไปทำงานมาจริงๆ
ผมก็สองจิตสองใจ เลือกเชื่อท่านโหมด เพราะท่านไปทำงานมาจริง
แต่ท่านขำ นั่งรวบรวมเอกสารอยู่ที่บ้าน

ผมไม่เคยกล่าวว่ากวีเห็นเสื่อเป็นแผ่น หรือเห็นแผ่นเป็นผืนเลยครับ

เรื่องเจ้าฟ้าทรงบรรพชาสองครั้งนี่ น๊อคผมปลายคางเลย เกิดมาเพิ่งได้ยิน
ขออ่านข้อมูลแก้มึนหน่อยครับ .....น้องบุ้ง


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 29 ส.ค. 07, 22:17
จาก 120
ขอชี้แจงคุณพี่พิพัฒน์ก่อนค่ะ  :)

อัตชีวประวัติท่านโหมดยาว 28 หน้า
ไม่มีตอนไหนเกี่ยวกับเสื่อเงินเลยนี่คะ
แต่ตรงที่มีว่าท่านไปคุมสานเสื่อเงินนั่น คนอื่นเขียนถึงท่าน
ไม่ใช่ท่านเขียนเกี่ยวกับตัวเอง


เดิมพระยากระสาปนกิจโกศล ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๓
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น
มหาดเล็กรายงานกำกับราชการกรมสิบหมู่ ช่างทำเรือพระที่นั่ง และเรือกระบวนต่างๆ
แล้วโปรดเกล้าให้ไปกำกับช่างสานเสื่อเงินสำหรับปูลาดในมณฑปพระพุทธบาท
ที่จังหวัดสระบุรี
(๓๓๑ ปี สกุลอมาตย์ และ ๗๓ ปี แห่งการพระราชทานนามสกุล อมาตยกุล ๒๕๒๙ หน้า ๔๕)

ทีนี้ท่านโหมด เกิด ๒๓๖๒
แต่งงาน ๒๓๘๐
ถึงตอนนี้ ร. ๔ ก็เป็นใหญ่ซะแล้ว
จะสานเสื่อปีไหนละเนี่ย


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 29 ส.ค. 07, 22:37
ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒๕ เรื่องสถานที่แลวัดถุซึ่งสร้างในรัชกาลที่ ๔ มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธบาทดังนี้

พระตำหนักที่พระพุทธบาท
  เมื่อปีมะเสง พ.ศ.๒๔๐๐ ทรงปฏิสังขรณ์พระมณฑปพระพุทธบาทจึงโปรดให้สร้างพระตำหนักในบริเวณพระราชวังเก่าที่ท้ายพิกุลซึ่งเปนที่ร้าง ว่างอยู่  ให้มีที่ประทับแลเรือนข้างในข้างน่าหลายหลัง
  ( พระตำหนักแลเรือนในบริเวณวังที่พระพุทธบาท ในรัชกาลที่  ๕   ได้เสด็จไปประทับ   ๒   ครั้ง  ต่อมาชำรุดหักพังจะปลูกพลับพลาใหม่จึงรื้อหมด    ไม่มีอไรเหลืออยู่  )

พระพุทธบาท
  ที่พระพุทธบาทนั้นได้ทรงบุรณปฏิสังขรณ์หลายอย่าง คือ
  พระมณฑปเล็กที่สวมรอยพระพุทธบาทองค์ที่สร้างเมื่อรัชกาลที่ ๒ ไฟไหม้ม่านแล้วเลยไหม้พระมณฑปนั้นยับเยินไปแต่เมื่อรัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดให้พระยาราชสงครามเปนนายงานสร้างเปลี่ยนใหม่
  พระมณฑปใหญ่เครื่องเดิมชำรุด โปรด ฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติเปนแม่กอง รื้อเครื่องบนซ่อมแซมตัวไม้ใหม่
  ข้างในพระมณฑปเดิมคาดด้วยแผ่นเงินชำรุดไป โปรด ฯ ให้กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ เปนนายงานสานสื่อเงินปูใหม่
  พระวิหารหลวง พระอุโบสถ ศาลาโรงธรรม คลังเครื่องพุทธบูชา แลกุฎีสงฆ์ ที่ชำรุดก็โปรดให้ปฏิสังขรณ์ทั่วทุกแห่ง
  แลโปรดให้สร้างพระตำหนักที่ประทับในพระราชวังเดิมที่ท้ายพิกุลด้วย ในการที่ทรงบุรณปฏิสังขรณ์พระพุทธบาทครั้งนั้น เจ้านายแลข้าราชการผู้ใหญ่มีศรัทธาสร้างสถานต่างๆ โดยเสด็จในการพระราชกุศลด้วยก็หลายอย่าง คือ
  กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงบุรณปฏิสังขรณ์ตึกเก่าที่น่าวัดพระพุทธบาท หลัง ๑
  กรมหลวงมเหศวรศิววิลาศ  ทรงซ่อมแซมสระสามเส้นที่ขังน้ำสำหรับสัปรุษอาไศรยแห่ง ๑
  สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ สร้างศาลาที่พักของสัปรุษที่ท่าเรือ เปนเครื่องก่ออิฐถือปูน ๓ หลัง ขุดบ่อน้ำทำศาลาเครื่องไม้ในระยะทางขึ้นพระบาท  ตั้งแต่บางโขมดจนถึงเขาตกหลายแห่ง สร้างกุฎีสงฆ์ที่วัดท้ายพิกุล ๗  หลัง ในบริเวณพระพุทธบาทสร้างโรงธรรมหลัง ๑ ศาลา ๙ ห้อง หลัง ๑
  เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหกลาโหม บุรณตึกเก่าที่ริมบ่อโพงหลัง ๑   
  เจ้าพระยาทิพากรวงศ์บุรณโรงเครื่องริมประตูยักษ์หลัง ๑ สร้าง กุฎีสงฆ์ที่วัดท้ายพิกุลหลัง ๑
  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนิรขึ้นไปยกยอดพระมณฑปเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 30 ส.ค. 07, 00:53
คุณบุ้งกะผมอ่านคนละฉบับครับ
ผมยังไม่ได้อ่านฉบับหมอพูนพิศ อ่านแต่ฉบับที่นายตรี อมาตยกุลพิมพ์

ส่วนข้อความในปชพ.24 เพี้ยนครับ
"พระมณฑปเล็กที่สวมรอยพระพุทธบาทองค์ที่สร้างเมื่อรัชกาลที่ ๒
ไฟไหม้ม่านแล้วเลยไหม้พระมณฑปนั้นยับเยินไปแต่เมื่อรัชกาลที่ ๓
ถึงรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดให้พระยาราชสงครามเปนนายงานสร้างเปลี่ยนใหม่"

1 เรื่องมณฑปน้อย ท่านขำจดว่า กรมพระราชวังบวรสร้างแต่รัชกาลที่ 1
2 เรื่องไฟไหม้ อ่านแล้วเหมือนว่ารัชกาลที่ 3 จะมิได้ทำอะไร ปล่อยไว้อย่างนั้น
ท่านขำจดไว้ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ว่า
"พระพุทธบาทที่เมืองปรันตะปะนั้น พระมณฑปชั้นในไฟไหม้ โปรดให้พระยาพิชัยสงคราม(เพชร์) ขึ้นไปทำใหม่
ทั้งมณฑปชั้นนอกซ่อมแซมด้วย สถาปนาให้งามดีดังเก่า"
แล้วท่านมาเติมรายละเอียดไว้ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 4 (ซึ่งก็คือต้นเดิมของข้อความที่สมเด็จตอนไปใช้)
เฉพาะเรื่องพื้น ขอลอกมาดังนี้
"พื้นในพระมณฑปเดิมปูแผ่นเงิน กาลนานมาแผ่นที่เชื่อมกันเข้าไว้หลุดออกจากกัน ก็เปนแง่เหลี่ยมเกี่ยวผ้านุ่งสัตบุรุษขาดไป
ฤดูหนึ่งก็หลายสิบคน จะเชื่อมเสียใหม่ก็เห็นจะไม่ติด จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระเจ้าน้องยาเธอ
กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ เปนแม่กองเอาแผ่นเงินเดิมมาหลอมชักเปนลวดเส้นแบบสานเปนเสื่อเงินขึ้น....."

จะเห็นว่า สมเด็จทรงแปลงท่านขำหลายคำ จะไม่สนใจก็ได้
แต่ในงานช่างนั้น แม่กองสั่งนายงานนะครับ
และข้อมูลใหม่ว่า พระมณฑปน้อยสร้างครั้งรัชกาลที่ 2 นี่ ก็แปลกจากเดิม มากๆๆๆๆๆๆ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 30 ส.ค. 07, 01:55
อิอิ  รอบดึกยังมาเจอท่านพิพัฒน์  ไปค้นเรื่องแผ่นเงินเสื่อเงิน  พี่หนอนบุ้งเล่นเอาข้อมูลใหม่ๆมาแสดง  ตั้งตัวเกือบไม่ทัน.......ดูแล้วยังก้ำกึ่งครับหลักฐานต้องชัดกว่านี้เรื่องการบูรณะ
ส่วนผมขอติดใจแต่เรื่อง เครื่องสูง ที่เจ้าเณรน้อยทรงนั้น  กวีท่านกล่าวว่าถือพระกลดหักทองขวาง  เป็นไปได้ไม๊ครับ  เป็นเพียงกลดที่ปักดิ้นหักทองขวาง  ไม่ใช่ฉัตร ๗ ชั้น ๕ ชั้น หรือฉัตรชุมสาย  พวก พระอภิรุมชุมสาย ที่เป็นเครื่องสูงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินอ่ะครับ  เหมือนลายธงสามชายที่นำขบวน เหมือนเถรขวาดในขุนช้างขุนแผน  หรือที่ถวายกับพระบางรูปอย่างในครั้งรัชกาลที่ ๒ ถวายแก่พระที่รักษาพระทันตธาตุ

ถวายเครื่องยศอย่างสังฆราช             ตลกบาตรตาลิปัตรพัดย่าม
ล้วนปักหักทองขวางสำอางงาม          ขี่เรือม่านคานหามกั้นสัปทน

เมื่อจัดพระได้พร้อมแล้ว ถึงเดือน ๒ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ป็จอ ฉศก พ.ศ. ๒๓๗๕ โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์สมณทูตเข้าไปรับผ้าไตรแลเครื่องบริขารต่อพระหัตถ์ แลโปรดให้จัดต้นไม้เงินทอง ๑๖ สำรับเทียนใหญ่ธูปใหญ่ ๓๐๐ คู่ เป็นของทรงพระราชอุทิศส่งไปบูชาพระทันตธาตุ และพระเจดียฐานในลังกาทวีป แลโปรดให้จัดเครื่องสมณบริขาร ๓ สำรับ คือ บาตร ฝาแลเซิงประดับมุก ถลกบาตรสักหลาดแดง ไตรแพรปักสี ย่ามหักทองขวางเป็นของพระราชทานพระสังฆนายก พระอนุนายก แลพระเถระซึ่งรักษาพระทันตธาตุ ณ เมืองสิงขัณฑศิริวัฒนบุรี  แลมีสมณสาสน์ของสมเด็จพระสังฆราช ไปถึงพระสังฆนายกด้วยฉบับหนึ่ง โปรดให้หมื่นไกร กรมการเมืองนครศรีธรรมราช เป็นไวยาวัจกรสมณทูต แลคุมต้นไม้เงินทองสิ่งของพระราชทานไปด้วย

ถ้าเป็นเพียงกลดแล้วเป็นของที่พระราชทานแก่พระหรือเณรที่ทรงโปรดได้  จะสิ้นข้อกังขาเรื่องเจ้าเณรที่เป็นพระองค์เจ้า  แต่ถือกลดปักดิ้นหักทองขวางที่รับพระราชทานมา  แต่ไม่ใช่ฉัตรที่เป็น อภิรม

ข้อนี้ต้องอาศัยท่าน UP อีกแล้วล่ะครับ  คือพยายามคิดหาทางออกน่ะครับ  ขอบพระคุณ........ :-[



กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 30 ส.ค. 07, 02:26
ต้องมาเฝ้าจอ เดี๋ยวหนอนบุ้งเอาอะไรแปลกๆ มาใส่อีก

จำได้คลับคล้ายคลับคราว่าที่พระที่นั่งทรงผนวช
มีพระรูปสามเณรเจ้าฟ้าเสด็จมาเทศน์ที่วัดพระแก้ว ดูเหมือนมีกลดกั้นกางถวาย


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 07, 10:06
ข้อมูลไหลมาเทมา จนงง  ::)

ในนิราศพระบาท บอกว่าสิ่งที่กางให้เจ้าเณรน้อยที่เป็นเจ้านาย คือ" พระกลด"
เจ้าเณรน้อยเสด็จมาดูน่ารัก               พระกลดหักทองขวางกางถวาย
คุณ Bana หมายความว่าพระกลดปักหักทองขวางที่ว่านี้ ทำนองเดียวกับย่ามปักทองขวาง ที่พระราชทานพระเถระชั้นผู้ใหญ่ งั้นหรือคะ
งั้นเจ้านายระดับพระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้า ถ้าผนวชก็มีกลดนี้ได้
คนละอย่างกับเครื่องสูงปักหักทองขวางสำหรับเจ้าฟ้า?



กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 30 ส.ค. 07, 11:57
แอ่นแอ๊นนน...

เอาแล้วล่ะครับ เกิดมหกรรมครั้งใหญ่ที่ทุกท่านจะต้องตกตะลึงพรึงเพริด

ผมขอถอนคำพูด (บางส่วน) เรื่องพระกลดหักทองขวางครับ

แต่ก่อนอื่น ขอบอกก่อนว่าเครื่องยศอันเป็นสมณบริขาร เช่น ถลกบาตร ย่าม ฯลฯ สามารถใช้ผ้าปักหักทองขวางได้ แม้ปัจจุบัน พระราชาคณะชั้นสามัญก็ยังได้รับพระราชทานพัดยศปักหักทองขวาง ฉะนั้น "เครื่องยศ" หักทองขวางนั้นไม่ต้องเป็นเจ้าก็ใช้ได้ แต่ "กลด" ไม่ใช่เครื่องยศ แต่เป็น "เครื่องสูง" ฉะนั้น เป็นคนละระบบกัน เอามาเทียบกันไม่ได้ครับ

สิ่งที่จะบอกให้ทุกท่านมึนคือ พระองค์เจ้า (อาจ) ทรงพระกลดหักทองขวางได้

พระกลดหักทองขวางในสำรับพระอภิรุมของพระมหากษัตริย์ และเจ้าฟ้าผู้ทรงสัปตปฏลเศวตฉัตรนั้น แน่นอนครับ หักทองขวางทั้งหมด ตั้งแต่ฉัตร ๗ ฉัตร ๕ ฉัตรชุมสาย บังแทรก บังสูรย์ และพระกลด

แล้วสำหรับเจ้านายลำดับรองจากนี้ล่ะ ทรงเครื่องสูงสำรับ "พระอภิรุม" หักทองขวางได้มั้ย

ตอบว่า ไม่ได้

แล้วทรง "พระกลดหักทองขวาง" ได้มั้ย

ตอบว่า....(อาจ) ได้ ครับ!!!

เจ้าฟ้าทั่วๆ ไปนั้นทรง "เครื่องสูงทองแผ่ลวด" ก็จริง แต่พระกลดนั้นทรงใช้ของแตกสำรับ คือทรง "พระกลดหักทองขวาง" อันนี้เป็นปกติ

ส่วนพระองค์เจ้าลูกหลวงทั่วๆ ไปนั้นทรง "เครื่องสูงทองแผ่ลวด" ก็จริง แต่พระกลดนั้นทรงใช้ของแตกสำรับ คือทรง "พระกลดขาวลายทอง" อันนี้ปกติ

แต่...

พอดีว่าค้นเจอเอกสารจดหมายเหตุงานพระศพ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ ค้นๆ ดูเลยได้ความกระจ่างว่า


มีบางกรณี สำหรับพระองค์เจ้าหรือเจ้านายที่ทรงพระอิสริยยศเสมอด้วยพระองค์เจ้า (เช่น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี) แต่ทรงได้รับพระราชทานพระมหากรุณาเป็นพิเศษ ทรงพระกลดหักทองขวางได้ครับ!

อรรถาธิบายก่อนๆ มานั้นผมไม่ถี่ถ้วนพอ เลยทำให้ทุกท่านอลหม่านไป ขออภัย

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงได้รับพระราชทานเครื่องประกอบพระเกียรติยศเสมอด้วย "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" แต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนชั้นพระโกศขึ้นเป็นพระโกศทองน้อยเสมอ "สมเด็จเจ้าฟ้า"

ในการพระศพนั้น หมายรับสั่งระบุว่า

"จัดเครื่องสูงทองแผ่ลวด ๑ สำรับพร้อมด้วยฐานปักไปตั้งแต่ง"

และ

"จัดพระกลดหักทองขวางไปกั้นพระศพที่พระที่นั่งทรงธรรม"

ฉะนั้น ผมขอเรียนให้ทุกท่านทราบว่า ...เจ้านายชั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ซึ่งเป็นพระองค์เจ้าชั้นลูกหลวง นั้น หากว่าทรงพระมหากรุณาเป็นกรณีพิเศษ สามารถทรงพระกลดหักทองขวางได้ครับ

ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ของท่านทั้งหลายแล้วว่าจะวินิจฉัยเป็นประการใด


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 07, 12:06
อ่านของคุณ UP แล้วต้องขอยาดมส้มโอมือ ผลิตภัณฑ์โอทอปของปทุมธานี มาดมหน่อยให้เข้ากับบรรยากาศ
งั้นก็เป็นไปได้ว่า พระองค์เจ้าลูกหลวงอย่าง พระองค์เจ้าวาสุกรี ทรงมีสิทธิ์ใช้กลดหักทองขวางได้ งั้นหรือคะคุณ UP


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 30 ส.ค. 07, 12:24
ไม่ได้บอกว่าทรงมีสิทธิ์

แต่บอกว่า "อาจ" เป็นไปได้ครับ

 ;D


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 30 ส.ค. 07, 12:32
พระองค์เป็นๆ เห็นจะมิได้
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 พระราชทานเลื่อนพระเกียรติยศสำหรับในพระโกศนะครับ

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงได้รับพระราชทานเครื่องประกอบพระเกียรติยศเสมอด้วย
"พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"
แต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนชั้นพระโกศขึ้นเป็นพระโกศทองน้อยเสมอ
"สมเด็จเจ้าฟ้า"


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 30 ส.ค. 07, 12:45
พระองค์ผู้ทรงเลื่อนเกียรติยศพระโกศของพระนางเจ้าสุวัทนาฯ คือ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ครับผม

พระนางเจ้าสุวัทนาฯ สิ้นพระชนม์เมื่อ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๒๘

แต่สิ่งที่คุณ พพ.พูดนั้นก็ไม่ผิดครับ

เครื่องประกอบพระเกียรติยศของเจ้านายนั้น ถ้าไม่ใช่พระมหากษัตริย์ที่มีการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค หรือสถลมารค แล้ว เจ้านายนั้นๆ มักจะไม่ได้ทรงเครื่องสูงตามพระเกียรติยศหรอกครับ จะได้ก็ต่อเมื่อหาพระองค์ไม่แล้ว เว้นแต่จะเสด็จในกระบวนพยุหยาตรา หรือกระบวนแห่อย่างใหญ่ อย่างเช่นโสกันต์ ส่วนถ้าเป็นการใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างที่เรียกว่า everyday use จะไม่ทรงนำพระกลดตามพระเกียรติยศออกทรงเลย เช่น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตลอดพระชนมชีพไม่เคยได้ทรงพระกลดหักทองขวาง เวลาทรงพระดำเนินไปไหนมาไหนหรอกครับ ก็ทรงพระกลดแพรธรรมดาๆ (พระกลดยอดเจดีย์) นี่แหละ ต่อเมื่อสวรรคตแล้ว พระกลดที่กั้นพระโกศพระบรมศพ และพระโกศพระบรมอัฐิ จึงเป็นหักทองขวาง


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 30 ส.ค. 07, 14:38
 :)แค่หักทองขวางนะคะ เขียนให้อ่านได้กันเป็นหน้าๆเลย.. ติดตามอ่านอยู่ค่ะท่านทั้งหลาย


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 30 ส.ค. 07, 20:38
เรื่องเจ้าฟ้าทรงบรรพชาสองครั้งนี่ น๊อคผมปลายคางเลย เกิดมาเพิ่งได้ยิน
ขออ่านข้อมูลแก้มึนหน่อยครับ .....น้องบุ้ง

ฮี่ๆๆๆ หนูไม่ได้มั่วค่ะคุณพี่พิพัฒน์
หนูอ่านพบ 2 ครั้ง แล้วที่ว่า ร. 5 ทรงผนวชเป็นเณร 2 ครั้งแล้ว ก่อนเสด็จเถลิงราชสมบัติ
เจ้ากรรมที่พระราชพงศาวดาร ร. 5 ของคุณแม่ ขาดไปครึ่งเล่มแรก ยังไม่มีกะตังซื้อใหม่ค่ะ
เสียใจที่ไม่ได้เช็คด้วยมือตัวเอง แต่ดูรายละเอียดอย่างอื่นก็ตรงหมดค่ะ
ดูที่นี่ไปพลางๆ ก่อนดีมั้ยค่ะ
http://www.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/pastevent/past_ram42.htm
ข้อความจากเว็บที่ยกมา
๑๙ กรกฎาคม ๒๔๐๔
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ครั้งยังไม่ขึ้นครองราชย์ ทรงบรรพชาเป็นสามเณร

(อ้อ..เว็บนี้เป็นเว็บทหาร เครือเดียวกับเว็บที่คุณเทาชมพูให้ลิ้งค์มาใน คคห 89 ค่าเรตติ้งความน่าเชื่อมันต้องเซม เซม)
ตอบคุณ Bana และคุณพิพัฒน์ด้วยค่ะ
ไปเจอเว็บนี้
http://www.heritage.thaigov.net/religion/prabat/index1.htm


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 30 ส.ค. 07, 20:59
พี่หนอนบุ้งเล่นเอาข้อมูลใหม่ๆมาแสดง  ตั้งตัวเกือบไม่ทัน.......ดูแล้วยังก้ำกึ่งครับหลักฐานต้องชัดกว่านี้เรื่องการบูรณะ


หนูนำพระนิพนธ์ของกรมพระยาดำรงฯ มาฝาก

คุณBana อยากให้คุณดูอีกทีตามที่อ้างนำก่อนเนื้อหาว่า "...กรมพระดำรงฯ..."
ไม่ได้นั่งเทียนเขียนเอง ไม่ทราบคุณได้อ่านละเอียดพอมั้ย ว่าเนื้อหาเป็นเรื่องของการบูรณะ
ทำให้เราอยากคิดว่าคุณน่าจะไม่ได้อ่านให้ละเอียดเสียก่อน จึงวิจารณ์ว่าก้ำกึ่ง หมายว่าหลักฐานไม่ชัดเจน

อืมม์ 
สิ่งที่เรายกมาคือพระนิพนธ์ของกรมพระยาดำรงฯ
เชิญสอบเทียบดูเสียก่อนดีมั้ย ก่อนที่มาบอกว่า "ก้ำกึ่ง" ว่าที่ยกมานั้นตรงกันกับต้นฉบับของท่านมากน้อยเพียงใด


ปล. ขอโทษเถอะนะ คุณ Bana....ชื่อของคุณเทาชมพู ใช้พยัญชนะ "พ"
ไม่ทราบว่าทำไมคุณจึงเรียกคุณเทาชมพู ด้วยพยัญชนะ "ภ" "เทาชมภู"
สงสัยเหลือกำลัง


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 30 ส.ค. 07, 21:10
เอกสารรัชกาลที่ 4 นั้น ผ่านตาผมไม่น้อย
ยังไม่เคยเห็นตรงใหนที่ระบุว่ารัชกาลที่ 5 บรรพชาสามเณร 2 ครั้งเลยนะครับ
อยากเห็นจริงๆ

ส่วนคูณบานาก็ อย่าไปดุแกเลยครับ แกเป็นยามรอบดึก งานอย่างนี้หาคนทำยาก....55555
พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 5 มีฉบับเดียว ขอเวลาไปอ่านสามเที่ยว แล้วจะมารายงานครับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 07, 21:14

ปล. ขอโทษเถอะนะ คุณ Bana....ชื่อของคุณเทาชมพู ใช้พยัญชนะ "พ"
ไม่ทราบว่าทำไมคุณจึงเรียกคุณเทาชมพู ด้วยพยัญชนะ "ภ" "เทาชมภู"
สงสัยเหลือกำลัง

คุณหนอนบุ้งถามขึ้นมาก่อน    ดิฉันก็สงสัยเหมือนกันละค่ะว่าทำไมคุณBana ถึงสะกดนามแฝงดิฉันว่า เทาชมภู  นอกจากนี้   ก็ยังมีสมาชิกอื่นบางคนสะกดเหมือนกันเปี๊ยบ
เคยเห็นหนังสือเก่าๆสมัยรัชกาลที่ ๗  สะกด บางลำภู   สีชมภู     ไม่อยากคิดว่าคุณ Bana เป็นคนยุคนั้น
หรือหนุ่มฮิปฮอปเขาสะกดกันว่า ชมภู   เหมือนคุณทวด  เรามันตกยุคไปเอง

ชนกลางอากาศกับคุณพิพัฒน์  เลยมาพิมพ์เพิ่มเติม
อยากถามเหมือนกันว่า เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์บรรพชา ๒ หน  เพราะอะไร  คุณหนอนบุ้งระบุได้มั่นใจขนาดมีพ.ศ. กำกับมาด้วย แสดงว่าข้อมูลเรื่องนี้มีมูล


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 30 ส.ค. 07, 22:08
ส่วนคูณบานาก็ อย่าไปดุแกเลยครับ แกเป็นยามรอบดึก งานอย่างนี้หาคนทำยาก....55555

คุณพี่พิพัฒน์ พูดแบบนี้ลำเอียงจัง   :-\

หนูอุตส่าห์หลังขดหลังแข็งพิมพ์มาให้ได้สนทนากัน

ถึงความรู้จะไม่แน่นเหมือนพี่ๆ หลายคน แต่หนูก็ตั้งใจนะค่ะ

แหม โดนจับผิด ทั้งไม่ผิดแบบนี้ หนูเสียกำลังใจจัง  :-\  :'(   :'(  :'(


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 30 ส.ค. 07, 22:14
1.ต้องขออภัยพี่หนอนบุ้ง  เพราะได้มีการบอกว่าอย่าพยายามยึดพระวินิจฉัยของสมเด็จฯท่าน  เลยอาจกล่าวล่วงไปหน่อย  อีกอย่างอาจดึกอย่างท่านพิพัฒน์ว่าแต่ไม่มีเจตนาจะทำให้โกรธหรือสงสัยจริงๆ
2.ต้องขออภัยท่านอาจารย์เทาชมพูเป็นอย่างสูง  ด้วยความสัตย์  ไม่มีเจตนานำชื่อของท่านมาล้อเล่นหรือล้อเลียนอะไร  และไม่มีเจตนาจะเขียนให้ผิดอย่างนั้น  และสัญญาว่าจะไม่ทำอีกเลย


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 30 ส.ค. 07, 22:54
ลายทองที่ผนัง ไม่ใช่ว่า นึกอยากมีก็มีได้ เป็นของสูงและแพงจ้ะ
แพงทั้งทอง แพงทั้งรัก และแพงทั้งช่าง

๑. หนูว่าทองสมัยก่อนนั้นเมืองไทยเราล่อนเองในห้วย ก็พอได้ทองค่ะ
แล้วแต่ก่อน สำเภาต่างชาติมาซื้อข้าวจากไทย ก็เอาทองมาแลก
อัตราแลกเปลี่ยน ก็กำหนดกันเอง

ดังนั้นทองพอมี ไม่น่าแพงเกินเอื้อม
ทองบาทหนึ่ง ตีเปลวแล้วได้ตั้งแยะ ถ้าแปะผนังมณฑป จะใช้กี่บาทกันเชี้ยว?

ต้นรักขึ้นในป่า สมัยก่อนเดินหลีกแทบไม่พ้น กลัวคันง่ะ
น้ำยางดำเหนียว ไม่ต้องซื้อต้องหาที่ไหน หวดด้วยพร้าหรืออีโต้จึกเดียวก็ได้แล้ว
ช่างปิดทองที่รอดตายตอนกรุงแตก ถึงสมัย ๒๓๓๐ ก็อาจอายุ ๕๐++

โดยสรุป หนูคิดว่า ถูกทั้งทอง ถูกทั้งรัก และถูกทั้งช่าง
(อีกอย่างเจ้าภาษี นายอากร ที่รวยๆ คราบ้านเมืองมีงาน อย่าคิดว่าจะไม่โดนลงขันนะคะ)

๒. ถ้ากวีไปพระบาทในสมัย ร ๓ จริง
มีหรือจะไม่บรรยายเจดีย์คล้ายพระธาตุพนม?



กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 30 ส.ค. 07, 22:59
คุณหนอนพิมพ์ยาว แต่คุณบา สรุปสั้น(ไปหน่อย) ถือว่าต่างก็พยายามแสวงหาความรู้
อย่าเคืองกันเลยนะครับ
กระทู้สุนทรภู่ ยิ่งมีสมาชิกน้อยๆ อยู่ หายไปละเหงาแย่
 ;D  ;D  ;D


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 30 ส.ค. 07, 23:07
เรื่องปิดทอง ขออธิบายอย่างนี้
ศิลปะในรัชกาลที่ 1 ไม่ใคร่มีทอง ท่านอาจจะไม่ทันสังเกต
ผมเคยบอกแล้วว่า แม้แต่ผนังพระอุโบสถพระแก้วมรกต ยังเป็นลายเขียนชาด
(จากสังคีติยวงศ์)
นั่นคืออาคารสูงศักดิ์ที่สุดในพระราชอาณาจักรแล้วนะครับ ยังมีทองไม่พอปิดเลย
ต้องรอถึงรัชกาลที่สาม ท่านจึงทำเสียหรูสุดๆ

การใช้สามัญสำนึก ต้องระวังว่าไม่มีข้อมูลแวดล้อมที่คัดค้าน
ไม่งั้นก็สันนิษฐานฟรี
เหนื่อยกว่าพิมพ์ดีดยาวๆ อีกนะนั่น....555555


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 30 ส.ค. 07, 23:36
คุณพี่จ๋า
วัดพระเเก้ว ใหญ่ยาว 19 โยชน์
รายละเอียดไรต่อมิไรแยะไปหมด
ขนาดสัตว์ในป่าหิมพานต์ยังขนมาจนหมดป่า

ส่วนพระบาทนั้น เนื้อที่เท่าเเมวดิ้นตาย
จะทำดีนิดหน่อยปะไรมี

**ไหนๆ ก็คุยกันถึงช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ใครทราบบ้างคะว่า น้องสาวบุษบาท่าเรือจ้างเป็นใคร
หนูพึ่งอ่านเจอ แปลกใจ... ใยเธอมั่งมีถึงขนาดรับจำนำ
คาดบั้นพระเอว (เข็มขัด) เพชรของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ได้
กว่าจะไถ่ ก็ตอนทรงเถลิงเเล้ว

ใครว่าหนูมั่วอีก จะค้อนให้ตาคว่ำเลยค่ะ ฮี่ๆๆๆ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 31 ส.ค. 07, 00:01
น้องเอ๋ย
วัดพระแก้วเมื่อแรกสร้าง ไม่ได้ใหญ่โตอย่างที่เห็นปัจจุบันนะครับ
มีพระอุโบสถหนึ่งหลัง ตั้งในวงล้อมพระระเบียง มีหอระฆังอยู่ข้างๆ
นอกพระระเบียงออกไป ขุดสระ ปลูกหอไตรกลางน้ำ ที่ด้านหน้า ริมสระ ก่อเจดีย์ทองสององค์
ถัดออกมามีหอพระมณเฑียรธรรม
เดากันว่า อาจจะมีหอพระเล็กๆ อีกหนึ่งหลัง อยู่ไกล็ๆหอพระมณเฑียรธรรม
(อ่านจากพระราชพงศาวดาร สังคีคิยวงศ์ และจดหมายเหตุพระศรีภูริปรีชา....)

ทั้งหมด มีแค่นี้เอง
ยกเว้นวัดโพธาราม ที่ทำอย่างใหญ่โตมโหฬารแล้ว วัดอื่นก็ขนาดกระทัดรัดครับ
มาจนปลายรัชกาลนั่นแหละ ที่เริ่มสร้างของใหญ่ อย่างวัดมหาสุทธาวาส วัดสระแก เป็นอาทิ

แม้แต่วัดพระแก้ว ถ้าไม่ใช่เพราะไฟไหม้หอไตร ท่านก็คงไม่สร้างพระมณฑปดอก

เชิญคุณบานามาค้าน
อยากเห็นตัวหนอน "ค้อนให้ตาคว่ำเลยค่ะ ฮี่ๆๆๆ"


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ส.ค. 07, 10:34
ฮี่ๆๆๆ หนูไม่ได้มั่วค่ะคุณพี่พิพัฒน์
หนูอ่านพบ 2 ครั้ง แล้วที่ว่า ร. 5 ทรงผนวชเป็นเณร 2 ครั้งแล้ว ก่อนเสด็จเถลิงราชสมบัติ
เจ้ากรรมที่พระราชพงศาวดาร ร. 5 ของคุณแม่ ขาดไปครึ่งเล่มแรก ยังไม่มีกะตังซื้อใหม่ค่ะ
เสียใจที่ไม่ได้เช็คด้วยมือตัวเอง แต่ดูรายละเอียดอย่างอื่นก็ตรงหมดค่ะ
ดูที่นี่ไปพลางๆ ก่อนดีมั้ยค่ะ
http://www.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/pastevent/past_ram42.htm
ข้อความจากเว็บที่ยกมา
๑๙ กรกฎาคม ๒๔๐๔
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ครั้งยังไม่ขึ้นครองราชย์ ทรงบรรพชาเป็นสามเณร  

ถ้าเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์บรรพชาเป็นสามเณร จริง เมื่อ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๐๔ เหมือนหลักฐานในเว็บ
ปีนั้นเป็นปีสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเทพศิรินทรฯ   พอดี
เป็นไปได้ไหมว่าเป็นการบวชเณรหน้าไฟ ระยะสั้นๆ  แล้วมาบรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้งเมื่อโสกันต์แล้ว


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ส.ค. 07, 20:42
ระหว่างรอคำตอบจากคุณพิพัฒน์เรื่องบรรพชา ๒ ครั้ง   ขอเปลี่ยนฉากมาอีกมุมหนึ่ง 

กรุณาอย่าลืมว่าเรามีเจ้านายผนวชอยู่วัดระฆังอีกองค์ ในนิราศพระบาท
เป็น" พระหน่อสุริยวงศ์ "ซึ่งมีคำขยายว่า "พระหน่อสุริยวงศ์ พระวังหลัง"  เป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดธารมา(ใหม่)   วัดนี้ก็อยู่ระหว่างบางปะอินกับอยุธยา
ไปค้นในเน็ต เจอสั้นๆว่า
วัดธารมา ปัจจุบันชื่อวัดธรรมาราม สร้างมาไม่น้อยกว่า414ปี พม่าเคยมาตั้งค่ายที่วัดนี้ และปรากฏบุคลสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับวัดธารมาคือพระอุบาลีมหาเถระ และพระอริยะมุนี้มหาเถระได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาที่ศรีลังกา
                  - วัดธารมาตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา
http://www.school.net.th/library/webcontest2003/100team/dlbs089/summary.htm
ในนิราศพระบาทบอกไว้ว่า

เห็นวัดวาอารามตามตลิ่ง    ออกแจ้งจริงเหลือจะจำในคำเขียน
พระเจดีย์ดูกลาดดาษเดียร   การเปรียญโบสถ์กุฏิ์ชำรุดพัง
ถึงวัดธารมาใหม่ใจระย่อ      ของพระหน่อสุริย์วงศ์พระวังหลัง
อุตส่าห์ทรงศรัทธามาประทัง อารามรั้งหรือมางามอร่ามทอง  

วัดธารมาเป็นวัดเก่าแก่  แต่ว่ามาปฏิสังขรณ์ใหม่ปิดทองงดงามด้วยเจ้านายวังหลัง   ถ้าหากว่ารู้ประวัติวัดว่าเจ้านายวังหลังองค์ไหนที่บูรณะปฏิสังขรณ์  เราก็น่าจะอนุมานได้ถึงยุคของนิราศพระบาท
คุณอาชาผยองไม่เชื่อว่าพระหน่อสุริยวงศ์ที่เป็นเจ้านายของกวี จะเป็นองค์เดียวกับพระวังหลังที่ซ่อมแซมวัดธารมา หรือตามที่กวีเรียกว่าวัดธารมา(ใหม่)
แต่ดิฉันว่าองค์เดียวกัน   คำว่าพระวังหลังเป็นคำขยายเท่านั้นเอง
เจ้านายวังหลังรุ่งเรืองอยู่แค่ ๒ ชั่วคน คือกรมพระราชวังหลัง และพระโอรส    พอถึงชั้นพระนัดดา ก็เงียบๆกันลงไปแล้ว     พระยศก็เป็นเพียงพระอนุวงศ์เท่านั้น
คำว่าวังหลังดูจะมีความหมายกับกวีที่แต่งนิราศพระบาทและนิราศเมืองเพชรยิ่งกว่าวังอื่น   เรายังคงจำหม่อมบุนนาควังหลังได้
ส่วนวังอื่นๆ ไม่ปรากฏชัดเจนว่าวังไหน     ในนิราศเมืองแกลงก็ไม่ระบุพระนามเจ้านาย    ในนิราศภูเขาทอง  เอ่ยถึงพระเจ้าแผ่นดินโดยตรงเลยทีเดียว
 


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 31 ส.ค. 07, 21:22
รอเอกสารคุณบุ้ง เรื่องนี้ไม่เคยทราบว่ามี
ส่วนเรื่องวังหลังนั้น
อ่านหลายหนแล้ว ยังไม่เห็นว่ากวีจะมีความผูกพันธ์อะไรกับวังหลัง
ตัวแกเป็นข้าเจ้านายชั้นสูงอยู่แล้ว อ่านที่แกขี่ช้างก็น่าจะเดาได้ว่าเป็นกองคเชนทร์
ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีฐานะอันสูง สูงกว่าเป็นข้าวังหลัง

ที่อ้างถึงพระหน่อสุริยวงศ์ ก็เป็นคำตามแบบแผน ไม่กล่าวลงลึกเข้าไป
เดาว่าเหมือนเราเห็นวัดลิงขบก็คงเล่าแบบที่กวีเล่าไว้
แต่ตัวเราเป็นตำรวจจราจรก็คงเล่าเรื่องกองกำลัง การจัดเวร ตำแหน่งหน้าที่ มากหน่อย

กวีของเราท่านก็เล่าเรื่องขบวนเรือ เรื่องการเดินทางเป็นหลัก
เรื่องอื่น เป็นของแถมกระมังครับ

ร่องรอยไม่ชัดเจนจริงๆ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ส.ค. 07, 21:39
งั้นเอาใหม่
กลับไปอ่านอีกครั้ง    ดิฉันลองตีความใหม่ ที่ไม่เคยคิดมาก่อน
สมมุติว่าพระหน่อสุริยวงศ์ มีความหมายกว้างๆ ถึงเจ้านายชั้นพระราชโอรส หรือพระโอรส  จะเป็นไปได้ไหม

จนพระหน่อสุริย์วงศ์ทรงพระนาม     จากอารามแรมร้างทางกันดาร
ด้วยเรียมรองมุลิกาเป็นข้าบาท        จำนิราศร้างนุชสุดสงสาร
ตามเสด็จเสร็จโดยแดนกันดาร         นมัสการรอยบาทพระศาสดาฯ
   
ถึงวัดธารมาใหม่ใจระย่อ                 ของพระหน่อสุริย์วงศ์พระวังหลัง
อุตส่าห์ทรงศรัทธามาประทัง            อารามรั้งหรือมางามอร่ามทอง
ตรงนี้ แปลตามใจคุณพพ.และคุณอาชาผยองว่า  พระโอรสของกรมพระราชวังหลังมาปฏิสังขรณ์   แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นพระหน่อสุริยวงศ์องค์เดียวกับที่เป็นเจ้านายของกวี

ย้อนกลับมาถึงพระหน่อองค์ที่ไปพระพุทธบาท  รู้แน่ว่ากำลังบวชอยู่ แต่เป็นพระหรือเป็นเณร ไม่แน่เสียแล้ว
ฝ่ายพระหน่อสุริย์วงศ์ทรงสิกขา        ขึ้นศาลาโสรจสรงวารีศรี
ข้างพวกเราเฮฮาลงวารี                  แต่โดยดีใจตนด้วยพ้นพาย

คำว่า "พระหน่อสุริยวงศ์" เป็นคำมีความหมายเดียวกับ "พงศ์นารายณ์นรินทร์วงศ์" และ "พระจอมพงศ์อิศยม" ขอให้สังเกตคำว่า "พงศ์" ซึ่งมีความหมายเดียวกับ "หน่อ"

ถ้าเป็นยังงั้น เจ้านายที่ว่ามี ๒ พระองค์ ก็อาจจะเหลือพระองค์เดียว   เป็นพระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดินที่เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท ขณะบรรพชาเป็นสามเณร ประทับอยู่ที่วัดระฆัง

ส่วนท่านกวีของเรานั้นแม้จะพายเรือ แต่ก็ไม่ใช่ไพร่ฝีพาย   บอกเอาไว้ชัดเจนว่าเป็น
อันพวกเราเหล่าเสวกามาตย์               เหนื่อยอนาถนิทราดังอาสัญ
แสนวิตกอกพี่นี้ผูกพัน                                 ให้หวั่นหวั่นเวทนาด้วยอาวรณ์


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ส.ค. 07, 21:56
ทีนี้  ถ้าจะมองให้ได้ว่าเจ้านายที่เสด็จไป  มีแค่พระองค์เดียวไม่ใช่สองพระองค์  ก็มองได้แบบนี้
๑) ตามเส้นทางเดินทาง   ท่านกวีบรรยายถึงเจ้านายที่ตัวท่านเป็นข้าบาทเสียละเอียดลออ  ขนาดจะแวะพักเสวยที่ไหนก็บอก
ถึงวังตำหนักพักพลพอเสวย          แล้วก็เลยตามแควกระแสไหล
ทั้งน้ำลงน่าสลดระทดใจ              โอ้น้ำไหลเจียวยังมีเวลาลง

๒)  ทรงพักค้างแรมกลางทาง ก็บอกไว้ละเอียดว่าเจ้านายบรรทมในเรือ  ส่วนผู้ตามเสด็จไปนอนบนหาด
ทั้งไพร่นายนอนกลาดบนหาดทราย    พงศ์นารายณ์นรินทร์วงศ์ที่ทรงญาณ
บรรทมเรือพระที่นั่งบังวิสูตร              เขารวบรูดรอบดีทั้งสี่ด้าน
ครั้นรุ่งเช้าราวโมงหนึ่งนานนาน จั        ดแจงม่านให้เคลื่อนนาวาคลาฯ
๓) พอถึงปลายทาง สุดทางเรือ  เจ้านายสรงน้ำ ก็บอกไว้
ฝ่ายพระหน่อสุริย์วงศ์ทรงสิกขา           ขึ้นศาลาโสรจสรงวารีศรี
ข้างพวกเราเฮฮาลงวารี                    แต่โดยดีใจตนด้วยพ้นพาย
๔) จากนั้นเดินทางบก ก็บอกอีกนั่นแหละ ว่าทรงช้างต่อไปตามทุ่ง ต้องค้างคืนกลางทาง จัดล้อมวง  รักษาความปลอดภัยขณะบรรทม
กองคเชนทร์เกณฑ์ช้างยี่สิบเชือก        มาจัดเลือกกองหมอขึ้นคอไส
ที่เดินดีขี่กูบไม่แกว่งไกว                     วิสูตรใส่สองข้างเป็นช้างทรง
แล้วผ่อนเกณฑ์กองช้างไว้กลางทุ่ง         เวลารุ่งจะเสด็จขึ้นไพรระหง
ที่สี่เวรเกณฑ์กันไว้ล้อมวง                   พระจอมพงศ์อิศยมบรรทมพลันฯ
๕) เมื่อมาถึงพระพุทธบาท    เจ้านายของท่านกวีนั้นบรรยายว่าเสด็จไปถึง  หลังจากนั้นก็ไม่เอ่ยถึงอีกเลยว่าทรงไปทำอะไรประทับตรงไหน บรรทมตรงไหน
เหมือนหมดหน้าที่ของท่านกวีเพียงแค่นั้น
แต่บรรยายถึงเจ้าเณรที่กางพระกลดหักทองขวาง แทน
๖) ในตอนจบ  ใช้คำเอ่ยถึงเจ้านายว่า
จอมนรินทร์เทวราชประภาษสั่ง               จะกลับยังอาวาสเกษมสันต์
วันรุ่งแรมสามค่ำเป็นสำคัญ                    อภิวันท์ลาบาทพระชินวร
ขนาด" จอมนรินทร์เทวราช" เห็นทีจะไม่ใช่" หน่อสุริยวงศ์" เท่านั้นละมัง  สุ้มเสียงฟังยิ่งใหญ่กว่ากันเยอะ
คำนี้ถ้าใช้ในที่อื่น จะนึกถึงอย่างอื่นไม่ได้นอกจากพระเจ้าแผ่นดิน
ถามว่า ถ้ามีเจ้านายองค์เดียวเท่านั้นคือเจ้าฟ้าเณรพระองค์น้อย  จะเป็นไปได้ไหมคะ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 31 ส.ค. 07, 23:10
เณรน้อยน่ารัก คงไม่เป็นผู้ประภาษสั่ง คงมีพระอภิบาลซึ่งสูงศักดิ์กว่าพระองค์
ระดับกองคเชนทร์ ยี่สิบเชือก เห็นว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น ลดลงมาก็เป็นเจ้าฟ้าน้อย
 ถ้าเณรน้อยเสด็จพระองค์เดียว ขนนางในไปทำไมมากมาย

ผมเดาว่าน่าจะเป็นกระบวนหลวง เต็มพระเกียรติยศครับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 01 ก.ย. 07, 10:44
http://www.school.net.th/library/webcontest2003/100team/dlbs089/summary.htm
ในนิราศพระบาทบอกไว้ว่า


ทั้งยังบอกอีกว่า

[กวี??]....บันทึกรายละเอียดที่ปรากฏในวัดพระพุทธบาทได้ชัดเจนละเอียดและถูกต้อง
ซึ่งปัจจุบันมีปรากฏอยู่จริงดังนี้
- ร่มโพธิ์ / พิกุล
- ยักษ์ 2 ตน เฝ้าประตูทางเข้า
- บันไดนาค
- รูปดาบส
- สิงโตต้น 2 ตัว
- ฐานมณฑป
- เสามณฑปล้อมด้วยกระจก
- รูปบัวหงายปลายเสามณฑป
- ใบโพธิ์ ( ห้อยรอบมณฑป )
- หน้าบ้านเหนือประตูพระมณฑป
- บานประตูมุข
- มณฑปน้อย
- เขาโพธิ์ลังกา
- ถ้ำประทุนคีรี
- บ่อพรานล้างเนื้อ


หนอนบุ้ง เกาศรีษะแกรกๆ ฉงนว่า
เออแน่ะ กวีบรรยายครบถ้วนทุกสิ่ง
แต่ทำไมหนอท่านจึงไม่เอ่ยถึงพระธาตุคล้ายพระธาตุพนมที่สร้างปลาย ร. ๓???
คำตอบคือ....ก็สมัยที่กวีไปพระบาท พระธาตุนั้นยังไม่มี น่ะซีท่าน หรือว่าไม่จริงกันแน่จ๊ะพี่ๆ ทุกท่านขา   :)


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 01 ก.ย. 07, 10:50
เพื่อตอบคำถามของคุณพี่พิพัฒน์ ที่ว่าขนาดวัดพระแก้ว วัดสำคัญในสมัยนั้น
ฝาผนังยังเป็นแค่ชาด แล้วพระบาทจะมีฝาผนังทองได้อย่างไร


หนูขอตอบว่า
๑. วัดพระบาท ต้องการซ่อมแซมเพื่อให้เหมือนของเดิม
จะปิดทองที่ฝาผนัง ก็ไม่ได้หมดเปลืองกระไรมาก
ส่วนวัดพระแก้วเป็นวัดสร้างใหม่ มีทรัพย์เท่าไรก็ใส่ไปแค่นั้นก่อน

๒. ความสำคัญของพระบาทมีมานานแล้ว
นานแค่ไหน เจ้าฟ้ากุ้งในสมัยกรุงศรีอยุธยายังเสด็จพระราชดำเนินชม

ส่วนวัดพระแก้ว ในขณะนั้นยังสำคัญไม่เพียงพอที่จะเรียกว่า “คู่บ้านคู่เมือง”
เพราะเป็นวัดแบรนด์นิว อายุกี่ปี? ขนาดใช้ “ไม้ทองหลาง” ขัดตาทัพ

เมื่อพิจารณาดูแล้ว จะเห็นได้ว่าพระบาทนั้นแกรนด์กว่าด้วยประการทั้งปวง


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 01 ก.ย. 07, 13:17
คุณหนอนบุ้งคร๊าบบบ.....อ่านข้อมูลอย่างนั้นมิได้นะคร๊าบบบบบ.....
มันสลับที่สลับทางไปหมด และเพี้ยนสนิทเลยท่าน

ท่านจะเชิญพระพุทธบาทสระบุรี มาวางเหนือวัดพระแก้วมิได้....บาป
ตอนปราบดาภิเษก เปลี่ยนรัชกาลมาเป็นพระพุทธยอดฟ้า
ท่านยกพระแก้วมรกตเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำพระเจ้าตากทรงพระสติแตก เพราะทานพระบารมีพระแก้วมรกตมิได้
เมืองหลวงใหม่ ท่านก็ตั้งชื่อว่ากรุงรัตนโกสินท์
ก็ในจักรวาลนี้ มีแก้วสีเขียวอันพึงเคารพอยู่ที่ใหนอีก ถ้าไม่ใช่พระแก้วมรกต

พระอุโบสถนี้ มีชื่อเรียกเต็มยศว่า "พระศรีรัตนอุโบสถ" คำว่า "ศรีรัตน" เป็นสรรพนามสูงสุดที่จะคิดได้แล้วครับ
ส่วนพระพุทธบาทนั้น มิใช่ความจำเป็นเร่งด่วน สถาปนากรุงแล้วถึง 15 ปี จึงเริ่มปฏิสังขรณ์
และกว่าจะเสร็จก็คงใกล้ๆ สิ้นรัชกาล เพราะไม่ปรากฏว่าจะทรงกระทำการเฉลิมฉลองอันใด
ให้สมกับคำยกย่องของคุณหนอนบุ้งเลย

ผมจึงเชื่อว่าเทศกาลไหว้พระบาทอย่างประเพณีหลวงนั้น เริ่มในรัชกาลต่อมา


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 07, 16:24

ส่วนวัดพระแก้ว ในขณะนั้นยังสำคัญไม่เพียงพอที่จะเรียกว่า “คู่บ้านคู่เมือง”
เพราะเป็นวัดแบรนด์นิว อายุกี่ปี? ขนาดใช้ “ไม้ทองหลาง” ขัดตาทัพ

เมื่อพิจารณาดูแล้ว จะเห็นได้ว่าพระบาทนั้นแกรนด์กว่าด้วยประการทั้งปวง

อ่านของหนูบุ้ง แล้วนึกว่า หนูตีถูกขนดหางพญานาคพิพัฒน์เข้าให้แล้ว   
แล้วก็จริง  คุณพิพัฒน์ รี่เข้ามาแทบไม่ทันเชียว
วัดพระแก้ว เป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง  เหมือนวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ของกรุงศรีฯ เชียวนะหนู
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ สถาปนาฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นเป็นที่ตั้งเมืองหลวง 
ท่านก็ตั้งพระทัยจะชะลอกรุงศรีอยุธยาให้กลับคืนมาใหม่ สุดกำลังความสามารถ  ฟื้นฟูทั้งศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วรรณคดี เรียกขวัญกำลังใจของคนไทยกลับคืนมา
เรียกว่าเป็น Renaissance กันทีเดียวรัชกาลนี้

ไม่งั้นนายนรินทร์ธิเบศร์ ไม่ยอยศ รัตนโกสินทร์หรอก ว่า

อยุธยายศล่มแล้ว           ลอยสวรรค์ ลงฤๅ
ปรางค์รัตน์สิงหาสน์บรร    เจิดหล้า
บุญเพรงพระหากสรรค์     ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ
บังอบายเบิกฟ้า             ฝึกฟื้นใจเมือง

วัดพระแก้ว สำคัญมากค่ะ  มากกว่าวัดไหนๆในเขตกำแพงเมือง   แม้แต่วัดโพธิ์ที่เป็นวัดกษัตริย์สร้างก็ยังสำคัญไม่เท่า
เอาไปเทียบกับพระพุทธบาทที่อยู่ห่างไป ต้องพายเรือเดินทางไปสองวันสองคืนได้ไง   



กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 02 ก.ย. 07, 20:21
โอ โอ เข้ามารับการสั่งสอนจากอาจารย์ทุกท่านค่ะ ขออภัยเป็นอย่างสูง  ;D

คงเป็นความเขลา และเขลา ของหนูที่ไม่มีอะไรเจือปน (โง่บริสุทธิ์)
หนูทราบว่าแปลนพระบรมมหาราชวังจำลองมาจากกรุงเก่า
แต่คิดไม่ถึงว่าวัดใหม่ๆ จะเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งสูงส่งบางอย่าง
และมีความหมายใหญ่โตเท่าที่พี่ๆ กรุณาบรรยายมา

หนูมาเขวตรงเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ค่ะ เพื่อนๆ บางคนทายกันว่า
ที่พ่อเปรมชวนแม่พลอยไปพระบาทนั้น ท่านอาจารย์หม่อมผู้ประพันธ์
อาจกล่าวเป็นนัยให้พระเอกชวนนางเอก “เข้าห้องหอ” เอาดื้อๆ

แต่อาจารย์ภาษาไทยบอกว่าเป็นแฟชันของคนสมัยก่อน ที่ครั้งหนึ่งในชีวิต
ขอไปสักการะพระพุทธบาท คงจะเหมือนที่ฝรั่งคนหนึ่งพูดถึงปราสาทเขมรว่า
“See Angkor Wat and die”

หนูขออนุญาตยกพระนิพนธ์มาให้ชมอีกหน่อยค่ะ

ในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ ๒ (พระเจ้าบรมโกศ พ.ศ. ๒๒๗๕ – ๒๓๐๑)
ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวแต่ว่าทรงพระราชศรัทธาเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาททุกปี
และว่าครั้งหนึ่งจำเริญงาช้างต้นพระบรมจักรพาฬถึงไส้งาเกรงช้างจะเป็นอันตราย
จึงโปรดฯ ให้ทำเครื่องสดผูกช้างนั้นปล่อยถวายเป็นพระพุทธบูชาที่พระพุทธบาทดังนี้
 
แต่สถานที่ต่างๆ ที่มีอยู่ ณ พระพุทธบาทส่อให้เห็นว่าจะได้ทรงปฏิสังขรณ์ในรัชกาล
พระเจ้าบรมโกศอีกครั้งหนึ่ง มีสิ่งที่สร้างใหม่เล่ากันมาเป็นแน่นั้น คือบานประตูพระมณฑป
ว่าสร้างเป็นบานมุกในครั้งรัชกาลพระเจ้าบรมโกศทั้ง ๘ บาน ความที่แต่งพรรณนาในฉันท์บุณโณวาท
(ที่หอพระสมุดฯ พิมพ์) ก็พรรณนาสิ่งซึ่งมีอยู่ในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศทั้งนั้น


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 02 ก.ย. 07, 20:26
ถึงรัชกาลพระเจ้าเอกทัศ (พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ พ.ศ. ๒๓๐๑ – ๒๓๑๐)
เมื่อพม่าเข้ามาตั้งล้อมกรุงฯ ในปีจอ พ.ศ. ๒๓๐๙ เดิมพวกจีนที่อยู่ในกรุงฯ อาสาต่อสู้ข้าศึก
จึงจัดให้กองจีนตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลคลองสวนพูล

ต่อมาจีนพวกนั้นคบคิดกันประมาณ ๓๐๐ คน คุมกันขึ้นไปยังพระพุทธบาท
ไปเลิกทองคำที่หุ้มพระมณฑปน้อยอันทรงรอยพระพุทธบาท
และแผ่นเงินที่ปูลาดพื้นพระมณฑป เอามาเป็นอาณาประโยชน์แล้วเลยเผาพระมณฑปเสีย
เพื่อจะให้ความสูญ

พระมณฑปพระพุทธบาทก็เป็นอันตรายยับเยิน ถึงครั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี
ติดการศึก ก็ไม่มีเวลาที่จะได้สร้างพระมณฑปพระพุทธบาทให้คืนดีดังแต่ก่อน

มาจนถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดฯ
ให้สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท เสด็จขึ้นไปทรงอำนวยการปฏิสังขรณ์
พระมณฑปพระพุทธบาท เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐……

……แต่กรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ ๓ นั้นทรงเลื่อมใสพระพุทธบาทมาก
เมื่อเสด็จกลับจากปราบขบถเวียงจันทน์ ทรงอุทิศถวายเครื่องสูงที่แห่เสด็จในการสงครามคราวนั้น
ไว้เป็นพุทธบูชา และทรงสร้างพระเจดีย์ตามแบบพระธาตุพนมไว้ด้วยองค์ ๑

ส่วนพระพุทธบาทนั้น มิใช่ความจำเป็นเร่งด่วน สถาปนากรุงแล้วถึง 15 ปี จึงเริ่มปฏิสังขรณ์
และกว่าจะเสร็จก็คงใกล้ๆ สิ้นรัชกาล เพราะไม่ปรากฏว่าจะทรงกระทำการเฉลิมฉลองอันใด

๑. ฉลองกรุงแล้วแค่ ๕ ปี จึงปฏิสังขรณ์มังคะ (พ.ศ. ๒๓๓๐)
๒. แค่ท่านพระคลังสร้างศาลากว้างคืบยาวศอกเสร็จ ยังมีละครนอกใหญ่โต
แล้วถ้าหากปฏิสังขรณ์พระมณฑปเสร็จ มีประตูมุข ๘ บาน แล้วไรต่อมิไรเยอะแยะ
โดยพระอนุชาทรงเป็นหัวเรือใหญ่เอง หนูเดาว่าคงฉลองกันครึ่งค่อนเดือนแน่

(ถ้าพี่ๆ ฟันธงเรื่องพระบาทแล้ว อยากเชิญให้เปิดกระทู้โคลงทวาทศมาศ
หรือยวนพ่ายก็ได้ หนูร้อนวิชาอยากทราบหลายประเด็นค่ะ)


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 ก.ย. 07, 23:07
ขอบคุณที่ประท้วง....เอ้ย ท้วง
นับผิดไปตั้งสิบปี ตกเลขจริงๆ ขออภัยด้วยครับ

มาย้ำอีกทีว่า พระพุทธบาทไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญมากอย่างที่หนูคิด
ในเทศนาพระราชประวัติ(คราวฉลองกรุงเทพ 100 ปี) ไม่มีระบุความสำคัญของที่นี่
แต่อธิบายเรื่องวัดพระแก้วหลายประโยคอยู่

เชิญเปิดกระทู้ที่อยากสนทนาได้เลยครับ
จะตามไปอุดหนุน


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 03 ก.ย. 07, 16:33
คุณเปรมชวนแม่พลอยขึ้นพระบาทในคืนส่งตัว
         
       ......พลอยนั่งก้มหน้าดูพรมสีแดง เป็นลายดอกกุหลาบเหลืองอย่างพินิจพิเคราะห์ เหมือนกับจะทำความรู้จักกับขนสัตว์ในพรมนั้นทุกเส้น
ทั้งสองคนต่างนั่งนิ่งอยู่อีกนาน ในที่สุดคุณเปรมก็กระถดตัวเข้าใกล้อีกนิดหนึ่ง แล้วถามขึ้นด้วยน้ำเสียงที่เบาเกือบเป็นกระซิบ และด้วยถ้อยคำ
ที่พลอยไม่นึกเลยว่า
                                  "แม่พลอยจ๋า แม่พลอยเคยขึ้นพระบาทหรือยัง"

มีพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ กล่าวถึงการไปพระพุทธบาทดังนี้ ครับ

          พระราชหัตถเลขาพระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ(พระองค์เจ้านพวงศ์ -พระราชโอรสองค์แรกก่อนทรงผนวช)
ความว่า

            "...พิเคราะห์เถิดถึงใจผู้หญิงแทบทุกหนทุกแห่งทั้งแก่ทั้งสาวมักร่านอยู่ในที่จะใคร่ไปพระพุทธบาท
     มีผัวก็สำออยผัว มีบิดามารดาก็อ้อยอิ่งวิงวอนให้พาไปพระพุทธบาทนั้นเปนปรกติ
     จนเปนลัทธิติดตำราเล่าเปนนิยายเยาะเย้ยกันสืบมา ว่าเจ้าบ่าวไปนอนหออยู่สามคืนแล้ว
     เขาส่งตัวเจ้าสาวๆ ไปอายนั่งก้มหน้าอยู่ เจ้าบ่าวจึงปราไสว่าปีนี้แม่จะไปพระบาทฤๅไม่นะจ๊ะ
     ซึ่งปราไสเรื่องพระบาทขึ้นก่อน ก็เพราะว่ารู้ผู้หญิงนั้นคันอยู่ในอยากจะไปพระบาทยิ่งนัก
     จะพูดให้ชอบใจจึงยกเรื่องนั้นขึ้นก่อน..."

ที่มา: พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว / ทรงรวบรวมโดย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
องค์การค้าของคุรุสภา, 2506
         
จากกระทู้ห้องสมุด pantip 


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 03 ก.ย. 07, 21:25
ดูกร ท่านทั้งหลาย….เห็นทีคงปิดกระทู้ได้เสียทีมังคะ
หนูได้อ่านพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๒, ศึกษาภัณฑ์ ๒๕๒๖, หน้า ๑๒๕

กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นแม่กองสร้างพระมณฑปขึ้นใหม่
ของเดิมครั้งกรุงเก่าทำเป็นห้ายอดเห็นไม่งาม
ทำใหม่ครั้งนี้แก้เป็นยอดเดียว การสร้างพระมณฑปในรัชกาลที่ ๑ สำเร็จแต่พระมณฑปใหญ่
แต่พระมณฑปน้อยสวมรอยพระพุทธบาทข้างในอีกชั้น ๑ ยังหาได้ทำไม่
เมื่อปีระกา เบญจศกนี้ จึงโปรดให้สร้างพระมณฑปเล็กข้างในให้บริบูรณ์ตามเดิม*

[*ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระมณฑปเล็กเปลี่ยนใหม่
พระมณฑปเล็กที่ทำครั้งรัชกาลที่ ๒ เอาลงมาปรุงในวิหารพระบาทจำลองในบริเวณพระพุทธบาท
ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้]

หนูมึนแล้วค่ะ รบกวนสายตาที่ยังไม่ล้า
โปรดช่วยกันดูให้ทีว่าในนิราศพระบาท
กวีบรรยายเข้าลักษณะรัชกาลที่ ๑ หรือ ๒ กันเเน่คะ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 03 ก.ย. 07, 22:40
เออ....วันนี้หนอนบุ้งมาแปลกแฮะ
ประกาศปิดกระทู้ แต่ปิดท้ายด้วยการกวนกระทู้ต่อ....555555

ฟังดีๆ นะจ๊ะ
"มณฑปน้อยสวมรอยพระบาทนั้น ล้วนสุวรรณแจ่มแจ้งแสงอร่าม"

ยังไงก็ไม่ใช่สภาพครั้งรัชกาลที่ 1 และถ้าถือตามปีระกาเบญจศก ก็ตก 2356 ปีเถาะเคราะร้ายก็ต้องหลังจากนี้ เป็นอย่างน้อย 2362
ปีนั้นเจ้าฟ้าใหญ่พระชนม์ 16 แล้ว ฟ้าน้อยเพิ่ง 11 ย่าง 12 ยังไม่โสกันต์

อยากรู้แน่ ก็ต้องเหมารถไปพระบาท ไปดูมณฑปเล็กที่ถูกรื้อไปเก็บไว้ที่วิหารพระบาทจำลอง
ซึ่งสมเด็จอาจจะกล่าวรวบรัดไปหน่อย
เนื่องจากของเดิมที่ว่าสร้างครั้งรัชกาลที่ 2 ถูกไฟไหม้เสียหายไปแล้ว
ที่เชิญไปเก็บนั่นเป็นของรัชกาลที่ 3 ซ่อมใหม่

ยิ่งค้นก็ยิ่งสนุกแฮะ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ก.ย. 07, 23:04
หนูบุ้งยกมา ยิ่งทำให้เวียนหนักเข้าไปอีก  ???

พงศาวดาร ร.๒ ฉบับสมเด็จดำรงชำระที่หนูบุ้งยกมาบอกว่า สมัย ร.๑ มณฑปเล็กยังไม่ได้ทำ

แต่พงศาวดาร ร.๑ ฉบับท่านขำ กับฉบับพระราชหัตถเลขาบอกตรงกันว่าทำมณฑปเล็กแล้ว

เอ๊ะ.. ยังไง มันต้องผิดสักที่นึงสิครับ

ไม่รู้พงศาวดาร ร.๒ ฉบับท่านขำว่ายังไง ผมไม่มีครับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 04 ก.ย. 07, 00:47
สมเด็จก็ใช้ฉบับท่านขำแหละครับ ไม่ได้มีของใหม่ แต่ทรงเก็บเรื่องเป็นหมวดหมู่
การที่ท่านขำจดละเอียดในฉบับร. 2 ว่า กระทำการในปีระกาเบญจศก ทำให้น่าเชื่อว่าจะถูกต้อง
ธรรมดาจดหมายเหตุนั้น หมายกับการปฏิบัติไม่ตรงกันได้

ฉบับ ร. 1 นั้น ท่านก็ว่าตามจดหมายเหตุที่เล่าเรื่องการสร้างซึ่งเน้นพระอุตสาหของกรมพระราชวังบวรฯ
เรื่องอื่น อาจจะคลาดเคลื่อนได้
พอมาฉบับ ร. 2 ท่านก็ว่าไปตามจดหมายเหตุประจำรัชกาล มีก็บอกว่ามี เห็นจะไม่มั่ว

สรุปว่า ซวยละเรา จะเอาไงกันแน่จ๊ะเนี่ย


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ย. 07, 20:56
หนูบุ้งคงไม่ใจร้าย   ปิดกระทู้ทั้งๆยังไม่มีใครตอบคำถามนะคะ

แต่เวียนเดินเพลินชมมาตามกัน        ตามช่องชั้นกำแพงแก้วอันแพรวพราย
ทั้งซุ้มเสามณฑปกระจกแจ่ม            กระจังแซมปลายเสาเป็นบัวหงาย
มีดอกจันทน์ก้านแย่งสลับลาย         กลางกระจายดอกจอกประจำทำฯ
พื้นผนังหลังบัวที่ฐานปัทม์              เป็นครุฑอัดยืนเหยียบภุชงค์ขยำ
หยิกขยุ้มกุมวาสุกรีกำ                    กินนรรำรายเทพประนมกร
ใบระกาหน้าบันบนชั้นมุข                สุวรรณสุกเลื่อมแก้วประภัสสร
ดููยอดเยี่ยมเทียมยอดยุคุนธร           กระจังซ้อนแซมใบระกาบัง
   
๏ บานทวารลานแลล้วนลายมุก         น่าสนุกในกระหนกดูผกผัน
เป็นนาคครุฑยุดเหนี่ยวในเครือวัลย์    รูปยักษ์ยันยืนกอดกระบองกุม
สิงโตอัดกัดก้านกระหนกเกี่ยว           เทพเหนี่ยวเครือกระหวัดหัตถ์ขยุ้ม
ชมพูพานกอดก้านกระหนกรุม           สุครีพกุมขรรค์เงื้อในเครือวง
รูปนารายณ์ทรงขี่ครุฑาเหิน              พรหมเจริญเสด็จยังบัลลังก์หงส์
รูปอมรกรกำพระธำมรงค์                  เสด็จทรงคชสารในบานบัง
ผนังในกุฎีทั้งสี่ด้าน                         โอฬาร์ฬารทองทาฝาผนัง
จำเพาะมีสี่ด้านทวารบัง                    ที่พื้นนั่งดาดด้วยแผ่นเงินงาม  
มณฑปน้อยสรวมรอยพระบาทนั้น       ล้วนสุวรรณแจ่มแจ้งแสงอร่าม
เพดานดาดลาดล้วนกระจกงาม           พระเพลิงพลามพร่างพร่างสว่างพราย
ตาข่ายแก้วปักกรองเป็นกรวยห้อย      ระย้าย้อยแวววามอร่ามฉาย
หอมควันธูปเทียนตลบอยู่อบอาย        ฟุ้งกระจายรื่นรื่นทั้งห้องทองฯ  

สมมุติว่า มาอ่านโดยไม่รู้ว่าพระพุทธบาทที่บรรยายนี้   สร้างหรือปฏิสังขรณ์ในสมัยไหน   จะได้ความรู้สึกอย่างไรบ้าง
คำตอบ
๑)  อลังการงานสร้าง  ในด้านศิลปะตกแต่ง  ทั้งเงิน ทอง กระจก ประดับกันแพรวพราว  แสดงถึงงานฝีมือและเงินทองที่ลงไปในงานนี้ ไม่น้อย
๒)  การตกแต่งยังสภาพดี  ใหม่หรือค่อนข้างใหม่  ไม่เก่าคร่ำหมอง     หลักฐานอ่านได้จากกระจก ที่บรรยายไว้กระทบแสงเทียนก็สว่างพราย
นอกจากนี้กวียังเน้นคำว่า แจ่ม เลื่อม แพรว พราย  บอกให้รู้ว่าตื่นตาตื่นใจกับสภาพที่เห็นมากทีเดียว
๓) ลายมุกที่บรรยาย เป็นฝีมือช่างชั้นเยี่ยม ทำอย่างประณีตบรรจง
๔) ยังไม่มีเสื่อเงินปู  แต่พื้นดาดด้วยแผ่นเงินซึ่งยังไม่ชำรุดทรุดโทรม
๕ ) มณฑปที่บรรยาย  หรูหรามาก  ปิด(หรือทา) ทองอร่ามไปทั้งองค์  น่าจะเห็นแต่ไกล

ตรงกับการตกแต่งในรัชกาลที่ ๑ หรือ ๓  รัชกาลไหนมากกว่ากัน ก็โปรดพิจารณาค่ะ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 04 ก.ย. 07, 21:25
เออ....วันนี้หนอนบุ้งมาแปลกแฮะ
ประกาศปิดกระทู้ แต่ปิดท้ายด้วยการกวนกระทู้ต่อ....555555

แหม หนูมีน้ำใจนักกีฬาล่ะไม่ว่า
เรากำลังถกประเด็นว่านิราศพระบาทแต่งในรัชกาลใด
ใจหนูน่ะ เอนเอียงไปแบบดั้งเดิม แต่คุณพี่ประกาศทฤษฎีใหม่

ทีหลังหากหนูเจอข้อมูลที่ไปเข้าทางคุณพี่พิพัฒน์
หนูจะนั่งทับ อุบเงียบเอาไว้คนเดียว  :-X

เออ แล้วหนูจะตอบคำถามคุณเทาชมพูยังไงดีล่ะค่ะ ยังไม่อยากยงธงขาวค่ะ  :'( :'( :'(


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 04 ก.ย. 07, 22:01
ตอบว่าไม่ใช่รัชกาลที่ 1 นั่นละแน่นอนครับ
แต่ไม่น่าจะเป็นรัชกาลที่ 3 ด้วย รัชกาลนี้ไม่เห็นใช้การปิดทองประดับกระจกกับการตกแต่งภายในครับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ย. 07, 09:07
การตกแต่งพระมณฑปที่แพรวพราวอลังการขนาดนี้ ถ้าไม่ใช่รัชกาลที่ ๓ จะเป็นรัชกาลที่ ๔ หรือไงคะ

จนป่านนี้ดิฉันยังนับไม่ถูกว่าเจ้านายในนิราศพระบาท มีกี่พระองค์
ถ้านับตามสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็มี ๒ พระองค์
๑) พระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระโอรสในกรมพระราชวังหลัง  ผนวชอยู่วัดระฆังในรัชกาลที่ ๑
สันนิษฐานว่าทรงตีความจากคำว่า "พระหน่อสุริย์วงศ์พระวังหลัง "  หมายความว่าลูกกรมพระราชวังหลัง
วัดธารมา(ใหม่) อาจจะบูรณะโดยพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ก็เป็นได้
การเอ่ยถึง"พระวังหลัง" ในที่นี้แสดงว่ากวีรู้เรื่องเจ้านายพระองค์นี้ไม่มากก็น้อย  ถ้าล่วงมาถึงรัชกาลที่ ๔  กรมพระราชวังหลังเป็นเรื่องไกลตัวมากแล้ว     เจ้านายวังหลังในรัชกาลที่ ๔ ก็เหลือหม่อมเจ้าน้อยองค์  ไม่มีบารมีมากนัก
๒) เจ้าเณรน้อย  กรมพระปรมานุชิต   ซึ่งบรรพชาตั้งแต่ทรงพระเยาว์และผนวชต่อมา

ถ้าหากว่านับส่วนตัว  มี ๓ พระองค์
๑) เจ้านายของกวี องค์นี้พระนามใดไม่ทราบ แต่ผนวชอยู่วัดระฆังในช่วงเวลานั้น   
๒) เจ้าฟ้าเณร
๓) พระเจ้าแผ่นดิน  ถ้าหากว่าเจ้าฟ้าพระองค์เล็กๆเสด็จมา  น่าจะเสด็จมากับสมเด็จพระราชบิดาด้วย คงไม่มาพระองค์เดียว

เกิดปุจฉาขึ้นมาอีกแล้ว
เพิ่งนึกขึ้นได้ข้อหนึ่ง  กรมพระราชวังท่านผนวชอยู่ระยะหนึ่ง ดูเหมือนปลายรัชกาลที่ ๑  แล้วสึกออกมาทำศึก
ถ้าหากว่าเจ้านายของกวีเป็นกรมพระราชวังหลังเอง  ก็น่าจะใช้คำว่า "จอมนรินทร์เทวราชประภาษสั่ง จะกลับยังอารามเกษมสันต์"  ได้เหมาะสมกว่าหมายถึงพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ นะคะ

คำว่าจอมนรินทร์เทวราช   ปกติหมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน    แต่พระเจ้าแผ่นดินก็ไม่มีพระองค์ไหนผนวชขณะครองราชย์
รองลงมาที่พอจะใช้คำนี้ได้ ก็คือกรมพระราชวังบวรฯ วังหน้า   และรองลงไปคือกรมพระราชวังหลัง  ถึงกระนั้นก็ต้องยกย่องกันสูงมาก
ในบรรดาเจ้านายระดับนี้  มีกรมพระราชวังหลังพระองค์เดียวเท่านั้นที่ผนวช ขณะดำรงสถานภาพเป็นกรมพระราชวังหลังอยู่


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 ก.ย. 07, 10:03
ตามหลักนักสืบวิทยา ชั้นปีที่หนึ่งภาคเรียนสอง
ท่านว่า
จะจับเท็จ ต้องจับส่วนที่ดิ้นไม่หลุดก่อน

นักสืบตาถั่วอย่างผม เสนอให้รื้อพระบาทครับ....ฮี่
ดูว่าสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นอย่างไร รัชกาลที่ 2 3 4 เป็นอย่างไร
เอาอิหยั่งงี้
ถามอาจารย์ที่กะลังหัวหมุน ให้หมุนเพิ่มว่า
ท่านคิดว่าพระบาทครั้งรัชกาลที่ 1 จะหรูเริ่ดอย่างระบุในกลอนฤา
พงศาวดารท่านจดเพียงว่า
(หลังพรรณาพระวิริยะของกรมพระราชวังเรื่องแบกตัวลำยองแล้ว ท่านจึงเล่าต่อว่า)
"จึงให้ช่างยกเครื่องบนพระมณฑปและยอดเสร็จแล้ว ให้จัดการลงรักปิดทองประดับกระจก
แล้วให้ทำพระมณฑปน้อยกั้นรอยพระพุทธบาทภายในพระมณฑปใหญ่
เสาทั้งสี่กับทั้งเครื่องบนและยอดล้วนแผ่นทองหุ้มทั้งสิ้น
และการพระมณฑปใหญ่น้อยสำเร็จบริบูรณ์แล้ว ก็เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร....."

ระหว่างงานสร้าง มีศึกใหญ่เกิดต่อเนื่อง ตั้งแต่ศึกไทรโยค ซึ่งรบกันเป็นทัพสิบหมื่น
แล้วมาต่อด้วยศึกเชียงใหม่ รวมทั้งยังมีคดีองเชียงสือเข้าแซมอีก
ผมก็ต้องขอเดาอย่างคนตาบอดว่า
การที่พระพุทธบาท เห็นจะสำเร็จเพียงพระมณฑป
อาณาบริเวณคงยังไม้ได้ปรับปรุง
หากอยากทราบรายละเอียดมากกว่านี้ ก็ต้องไปหาพงศาวดารมาอ่านต่อ

ข้อนี้ คุณหนอนบุ้ง เมื่อเสร็จงานบรรพชาสามเณรสองครั้งของเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์แล้ว
คงว่างพอไปค้นเพิ่ม.....55555


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 06 ก.ย. 07, 13:34
ผมยังหาเรื่องบรรพชา ๒๔๐๔ ไม่เจอมากไปกว่าที่เห็นในเว็บแบบไม่มีรายละเอียดและที่มาที่ไปครับ
ที่แน่ๆคือ ร.๔ และเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เสด็จพระบาทปี ๒๔๐๓ เวลามันเหลื่อมกันอยู่

สมัยนั้นการขึ้นปีใหม่ จะเริ่มนับเดือนเมษา เสด็จช่วงเดือนสามปี ๒๔๐๓ นับแบบคนสมัยนี้ก็เป็นปี ๒๔๐๔ แล้ว แต่ข้อมูลคุณหนอนบุ้งว่าบรรพชาเดือนกรกฎา ๒๔๐๔ มันก็หลุดออกไปอีก

มันยังไงกัน  ???


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 06 ก.ย. 07, 13:52
ลืมไปครับ เชียร์ให้ผ่าออกมาดูให้รู้แร้วรู้แรดด้วยคน ข้องใจขนาดครับ  ;D


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 06 ก.ย. 07, 19:32
ผมก็ต้องขอเดาอย่างคนตาบอดว่า
การที่พระพุทธบาท เห็นจะสำเร็จเพียงพระมณฑป
อาณาบริเวณคงยังไม้ได้ปรับปรุง

แหม คุณพี่พิพัฒน์ล่ะก้อ หนอนบุ้งขอเบรกหน่อยเถอะ จี๊ดเดียวเอง อย่าเพิ่ง  >:( ใส่หนูนะคุณพี่ขา  ;)

ก็แค่จะทำให้อาณาบริเวณร่มรื่น ไม่น่าจะไปยากอะไรนี่คะ
ตาสีตาสาสมัยนั้นที่ศรัทธาในพระบรมศาสนามีอยู่ดกดื่น ยิ่งงานหลวงด้วยแล้ว มีหรือจะไม่มาร่วมด้วยช่วยกัน
กับแค่จอบสองสามเล่ม เหลียมหวดหญ้าอีกสักอัน
สำทับด้วยลั่นทมสักสามสิบกิ่ง ต้นนี้ขึ้นไม่ยากนัก
รกฟ้าขานางยางตะเคียน ก็กระหน่ำซ้ำลงไป
แค่นี้แสงแดดที่ไหนจะลอดเล็ดไปถึงพื้น
แถมต้นโพธิ์อีกซัก 3 ต้น หรือต้นกร่างอีกสักหน่อยก็ไม่น่าจะยากนี่คะ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 ก.ย. 07, 20:34
ฟังคุณน้องหนูบุ้งเล่าแล้ว ดูเหมือนศิลปะวัฒนธรรมไทยออกจะง่ายๆ เหมือนขายของที่สวนจตุจักรเลยน่ะนา
คุณน้องทราบใหมครับ ว่าตระกูลจีนมีชื่อแห่งบางกอก
เพื่อจะปลูกบ้านหนึ่งหลังริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขาต้องเตรียมการอย่างไร
เขาแค่หาที่ดินแปลงหนึ่ง เพื่อปลูกอ้อยครับ ปลูกให้พอสำหรับใช้ตำปูนฉาบ
ที่เราเรียกปูนน้ำอ้อยน่ะครับ
นั่นคือหนึ่งปีล่วงหน้าครับ เพื่อสะสมน้ำอ้อย (ความจริงคือท่อนอ้อย)

แล้วปูนน่ะครับ
ไม่มีซีเมนต์ไทยหรือทีพีไออะไรเทือกนั้น
เขาก็ต้องกวาดซื้อหอยครับ หอยแครง
เก็บไว้หนึ่งภูเขา

จากนั้นก็ไปว่านายช่างมา ต้องเป็นช่างที่ไว้ใจได้ เพื่อจะมาอำนวยการก่อสร้าง ให้ถูกต้องตามคตินิยม
ที่เล่ามานี่ ยังไม่เข้าเขตเริ่มก่อสร้างเลยนะครับ

ส่วนพระพุทธบาทของคุณหนูบุ้งน่ะครับ
โบราณท่านกัลปนาทั้งอาณาบริเวณไว้กับพระบาท มีขุนโขลนเป็ฯนายบ้าน ไม่ต้องขึ้นกับใคร
ไม่มีหรอกนะครับตาสีตาสาที่จะเดินดุ่มๆ เข้ามาช่วยแผ้วถางทาง โยกย้ายหินไปวางตรงมุมที่เหมาะเจาะ
ต้นไม่ที่จะลงก็ต้องเตรียมมาไม่ให้เฉาตาย
ว่าแต่ว่า
ต้นลั่นทมนี่ สมัยรัชกาลที่ 1 มีหรือยังผมก็อยากรู้เหมือนกัน

แฮ่ม
 8)  8)  8)


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ย. 07, 20:36
"จึงให้ช่างยกเครื่องบนพระมณฑปและยอดเสร็จแล้ว ให้จัดการลงรักปิดทองประดับกระจก
แล้วให้ทำพระมณฑปน้อยกั้นรอยพระพุทธบาทภายในพระมณฑปใหญ่
เสาทั้งสี่กับทั้งเครื่องบนและยอดล้วนแผ่นทองหุ้มทั้งสิ้น
และการพระมณฑปใหญ่น้อยสำเร็จบริบูรณ์แล้ว ก็เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร....."
คุณพิพัฒน์ตีความว่า อะไรที่ไม่ได้ระบุแปลว่ายังไม่ได้ทำ  ไม่ได้บอกว่าปูพื้นด้วยแผ่นเงิน แปลว่ายังไม่ได้ปู  ไม่ได้บอกว่าทาทองที่ผนัง แปลว่ายังไม่ได้ทา
ใช่ไหมคะ
แต่มีคำว่า"การพระมณฑปใหญ่น้อยสำเร็จบริบูรณ์" ไม่ได้รวมถึงการตกแต่งภายในด้วยหรือคะ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 ก.ย. 07, 23:33
"การพระมณฑปใหญ่น้อยสำเร็จบริบูรณ์"
ตรงนี้ต้องใช้ข้อมูลเปรียบเทียบนะครับ ไม่มีหลักฐานโดยตรง

พระพุทธบาทนั้น ตามคำให้การขุนโขลน เป็นเมืองอิสระ ใหญ่โตสมบูรณ์
แต่เมื่อกรุงแตก ทุกอย่างก็หมดสภาพ จนถึงมีเจ๊กชั่วจากคลองสระบัวคุมกันเข้าปล้น เผาเอาทองไป
ท่านคิดว่า ทัพโจรยกมา 300 คน พระบาทจะเหลืออะไรใหมครับ

ถึงรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเตรียมการสร้างใหม่ แต่ค้างอยู่ ยังไม่ได้ยกยอด คือสร้างได้แค่ผนัง
กรมพระราชวังบวรจึงมาสร้างต่อ
พระราชพงศาวดารจดรายการไว้ ก็เพียงเท่าที่ผมลอกมาข้างบน ไม่มีอะไรกว่านั้น
แล้วจะทราบอย่างไรว่า สร้างอะไรบ้าง

ตอบว่า เดาได้ดังนี้
1 ระยะเวลาทำการไม่นานนัก
ศึกพม่าเสร็จสิ้นเมื่อ เดือนสี่ปลายปีมะเมีย อัฐศก พอถึงปีมแม นพศกก็เกิดศึกเชียงใหม่
ต่อเนื่องกับพระราชทานอาวุธให้องเชียงสือ
ถึงเดือนยี่ปีมแม จึงจัดทัพไปตีทวาย
แปลว่า มีเวลาทำการที่พระพุทธบาท ไม่ถึงปี
ก็ต้องเดาว่า ทำได้เพียงสร้างพระมณฑปแหละครับ พงศาวดารจึงไม่ได้จดอะไรมากไปกว่านั้น

2 สร้างไว้งามเพียงใด
กวีกล่าวถึงการปิดทองประดับกระจกภายนอก และลวดลายอย่างวิเศษว่า
"ทั้งซุ้มเสามณฑปกระจกแจ่ม....พื้นผนังหลังบัวที่ฐานบัทม์ เป็นครุฑอัดยืนเหยียบภุชงค์ขยำ....กินนรรำรายเทพประนมกร"
ตรงนี้อธิบายผนังด้านนอกพระมณฑป ลักษณะเหมือนกับที่ปรากฏที่พระมณฑปวัดพระแก้วและพระอุโบสถ
ตรงนี้พระศรีภูริปรีชาท่านแต่งโคลงบอกไว้ว่าทำครั้งรัชกาลที่ 3
ครั้งรัชกาลที่ 1 เป็นผนังเขียนลาย

ก็ต้องสันนิษฐานว่า แม้แต่วัดพระแก้ว ซึ่งทรงสร้างอย่างยิ่งใหญ่ ก็ยังทำได้เพียงลายเขียนทอง
ท่านจะทำ "ซุ้มเสามณฑปกระจกแจ่ม...." ไว้นอกพระนครในยามหน้าสิ่วหน้าขวานหรือ
เดียวพวกเจ๊กก็มาอีกรอบดอก

ทั้งหมดอย่าเชื่อผม เชิญไปอ่านเอกสารอีกรอบนะครับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: วรณัย ที่ 09 ก.ย. 07, 08:48
ยิ่งอ่านก็ยิ่งให้งง

ส่วนตัวเชื่อว่า สุนทรภู่แต่งในบางส่วน แล้วมาชำระใหม่
จะเรียกว่า กบว. ตรวจมาใช้ใหม่ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงนั้น
การเปลี่ยนแปลงรายละเอียกก็น่าเกิดขึ้น

คงไม่มีใครที่นำมาใช้ในยุคนั้นซึ่งเป็นระบบเจ้านาย จะยอมให้งานของสุนทรภู่ออกมาทั้งหมด
คิดแค่นี้แหละครับ เพราะรายละเอียด ดูในนี้ก็ระยิบระยับ

เอารูปพระบาทมาฝากล่ะกัน
 ;D ;D ;D


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ก.ย. 07, 18:25
ระหว่างสอบเส้นทางกำสรวลสมุทร เจอประเด็นที่น่าสนใจบางอย่างครับ

ถึงเกาะเกิดเกิดเกาะขึ้นกลางน้ำ     เหมือนเกิดกรรมเกิดราชการหลวง
จึงเกิดโศกขัดขวางขึ้นกลางทรวง   จะตักตวงไว้ก็เติบกว่าเกาะดิน
รำพึงพายตามสายกระแสเชี่ยว      ยิ่งแสนเปลี่ยวเปล่าในฤทัยถวิล
สักครู่หนึ่งก็มาถึงบางเกาะอิน        กระแสสินธุ์สายชลเป็นวนวัง
อันเท็จจริงสิ่งนี้ไม่รู้แน่              ได้ยินแต่ยุบลแต่หนหลัง
ว่าที่เกาะบางอออินเป็นถิ่นวัง        กษัตริย์ครั้งครองศรีอยุธยา
พาสนมออกมาชมคณานก          ก็เรื้อรกรั้งร้างเป็นทางป่า
อันคำแจ้งกับเราแกล้งสังเกตตา     ก็เห็นน่าที่จะแน่กระแสความ
แต่เดี๋ยวนี้มีไม้ก็ตายโกร๋น           ทั้งเกิดโจรจระเข้ให้คนขาม
โอ้ฉะนี้แก้วพี่เจ้ามาตาม             จะวอนถามย่านน้ำพี่ร่ำไปฯ

กวีเรียกบางปะอินว่า "บางอออิน" บางปะอินเวลานั้นยังรกร้างอยู่ ทราบว่า ร.๔ ทรงให้สร้างพระทีนั่งไว้หลังหนึ่ง แต่หาไม่เจอว่าปีไหนครับ


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ก.ย. 07, 18:34
นิราศวัดเจ้าฟ้า กล่าวถึงบางปะอินไว้ ขอยกมาอย่างยาวหน่อย เพราะมีอะไรแปลกๆ

ถึงเกาะเกิดเกิดสวัสดิ์พิพัฒน์ผล        อย่าเกิดคนติเตียนเป็นเสี้ยนหนาม
ให้เกิดลาภราบเรียบเงียบเงียบงาม     เหมือนหนึ่งนามเกาะเกิดประเสริฐทรง
ถึงเกาะพระไม่เห็นพระปะแต่เกาะ      แต่ชื่อเพราะชื่อพระสละหลง
พระของน้องนี้ก็นั่งมาทั้งองค์           ทั้งพระสงฆ์เกาะพระมาประชุม
ขอคุณพระอนุเคราะห์ทั้งเกาะพระ      ให้เปิดปะตรุทองสักสองขุม
คงจะมีพี่ป้ามาชุมนุม                   ฉะอ้อนอุ้มแอบอุราเป็นอาจิณฯ
    
ถึงเกาะเรียงเคียงคลองเป็นสองแยก   ป่าละแวกวังราชประพาสสินธุ์
ได้นางห้ามงามพร้อมชื่อหม่อมอิน     จึงตั้งถิ่นที่เพราะเสนาะนาม
หวังถวิลอินน้องละอองเอี่ยม           แสนเสงี่ยมงามพร้อมเหมือนหม่อมห้าม
จะหายศอตส่าห์พยายาม               คงจะงามพักตร์พร้อมเหมือนหม่อมอิน
อาลัยน้องตรองตรึกรำลึกถึง           หวังจะพึ่งผูกจิตคิดถวิล
เวลาเย็นเห็นนกวิหคบิน                ไปที่ถิ่นทำรังปะนังนอน
บ้างแนบคู่ชูคอเข้าซ้อแซ้              เสียงจอแจโจนจับสลับสลอน
บ้างคลอเข้าเคล้าเคียงประเอียงอร     เอาปากป้อนปีกปกอกประคอง
ที่ไร้คู่อยู่เปลี่ยวเที่ยวเดี่ยวโดด        ไม่เต้นโลดแลเหงาเหมือนเศร้าหมอง
ลูกน้อยน้อยคอยแม่ชะแง้มอง         เหมือนอกน้องตาบน้อยกลอยฤทัย
มาตามติดบิดากำพร้าแม่               สุดจะแลเหลียวหาที่อาศัย
เห็นลูกนกอกน้องนี้หมองใจ            ที่ฝากไข้ฝากผีไม่มีเลย
ถึงเกาะเรียนเรียนรักก็หนักอก          แสนวิตกเต็มตรองเจียวน้องเอ๋ย

ไม่ได้ออกชื่อชัดเจนว่าบางปะอินหรือบางอออิน


กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ก.ย. 07, 18:45
ที่ว่าแปลกคือ ในเส้นทางนี้ จากใต้ขึ้นเหนือ ต้องผ่าน เกาะเกิด, บางปะอิน, เกาะพระ และ เกาะเรียน ตามลำดับ ดังแผนที่นี้ครับ (จาก Google Earth)



กระทู้: สุนทรภู่ไม่ใช่ผู้แต่งนิราศพระบาท
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ก.ย. 07, 18:59
แต่นิราศวัดเจ้าฟ้า ลำดับเอาเกาะบางปะอินมาอยู่หลังเกาะพระ
ไม่รู้ว่ามีสำนวนอื่นที่ความต่างจากนี้หรือไม่ครับ