เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 13, 07:29



กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 13, 07:29
คนรุ่นผมนี่ก็ถือว่าเป็นรุ่นปู่แล้ว ผ.ศ.อุดมศรี บูรณศิริ อาจารย์ของผมที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จะกล่าวถึงในกระทู้นี้จึงต้องถือว่าท่านเป็นรุ่นทวด บัดนี้อายุเก้าสิบเศษแล้วยังรื่นเริง แข็งแรง สามารถมาร่วมกิจกรรมสำคัญๆกับคณะได้บ่อยๆในฐานะอาจารย์อาวุโส ต้นปีนี้นิสิตเก่าคณะสถาปัตย์ได้งานฉลองการก่อตั้งคณะมาครบ๘๐ปีกัน จารย์ดมศรีก็ไปในงานนี้ด้วย ผมเสียอีกไม่เอาแล้วงานสมัยนี้ เพราะเค้าเปิดเครื่องเสียงกันหนวกหูเหลือกำลัง จะคุยอะไรกันก็ไม่รู้เรื่อง
 
ตั้งใจเอารูปนี้มาโฆษณาหน่อยว่าอาจารย์รุ่นทวดของผมท่านป๊อบปูล่าอย่างไรในหมู่ลูกศิษย์ลูกหาที่บางคนท่านคงคุ้นๆหน้าอยู่


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 13, 07:33
เจอในเวปของสภากาชาดไทยว่าเมื่อสองปีที่ผ่านมาท่านนำเงินสะสมของท่านเอง๑ล้านบาทไปบริจาคให้ สุดยอดจริงๆ ในเวปของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็เห็นภาพท่านไปทำพิธีเปิดศูนย์บริการของสมาคมที่ตึกเอมโพเรียมในฐานะสมาชิกอาวุโสที่สุดด้วย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 13, 07:36
เดือนที่แล้วเพื่อนผมเอาหนังสือนี้มาให้ ผมเห็นรูปท่านบนหน้าปกมีอยู่ก็ใจหายวาบ ถามเพื่อนว่า เฮ้ย ! งานอะไร ?!? เพื่อนบอกว่า ไม่ใช่ม่ายช่าย ยัง..ยัง จารย์ดมศรีเอามาแจกเฉยๆ
…เฮ้อ แล้วไป

ชื่อหนังสือบนปกเขียนว่า “ลูกถาปัด”คนหนึ่ง ในเล่มก็มีข้อเขียนของท่านเล่าอะไรต่อมิอะไรเป็นเรื่องๆไป บางเรื่องผมอ่านแล้วก็เห็นว่าน่าจะถ่ายทอดมาให้ชาวเรือนไทยอ่านด้วย เช่นเรื่อง อดีตถนนสุขุมวิทที่ผมเห็น จึงขอถือโอกาสนี้อนุญาตท่านทางเน็ทนี่แหละ อาจารย์คงไม่ว่าผมนะครับ 
ไม่เป็นไรน่ะ อย่างมากท่านก็คงคิดค่าลิขสิทธิ์แค่ตบหลังผมสักป้าบหนึ่งเท่านั้น


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 13, 07:38
ผมจะยกมาเขียนเล่าเรื่อยๆนะครับ ใครจะปาด หรือจะแซงหน้าแซงหลังชนท้ายทุบหลังคาก็เชิญตามสะดวก เพราะเรื่องของจารย์ดมศรีมีหลากอรรถรส สามารถแยกเข้าซอยได้ตลอด แต่อย่าไปโผล่ออกทะเลก็แล้วกันเดี๋ยวจะกู่ไม่กลับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 13, 07:56
ก่อนจะไปถนนสุขุมวิท ท่านเล่าประวัติของท่านน่าสนใจทีเดียว ตระกูลบูรณศิริของท่านถือเป็นตระกูลขุนนางเก่าแก่ สืบต่อจากสมัยอยุธยามาจนถึงรัตนโกสินทร์ บรรพบุรุษของท่านได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์

ผมเกิดเมื่อ พ.ศ. 2465 ภายใต้การปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 คุณพ่อคือ คุณหลวงเลขาวิจารณ์ (ศรีศุกร์ บุรณศิริ) รับราชการเป็นเลขาของท่านเจ้าคุณเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม คุณแม่คือ นางเลขาวิจารณ์ (จิตรารมย์ บุรณศิริ) บ้านของผมอยู่ที่ถนนทรงวาดหน้าบ้านติดแม่น้ำเจ้าพระยา หลังบ้านติดถนน (เพราะสมัยโบราณนั้นหน้าบ้านต้องติดแม่น้ำ เพราะการจราจรทางน้ำสะดวกกว่า) มีห้องแถว 2 ชั้นอยู่ 9 ห้อง ถัดมาก็มีที่ว่างหลังบ้าน มีมะม่วงใหญ่มาก 2 ต้น ต่อมาก็เป็นตึกใหญ่โบราณสี่เหลี่ยม ถัดออกมาไปอีกก็มีลานกว้างปูด้วยหินแกรนิตแผ่นสี่เหลี่ยม ขนาด 50 ซม.ต่อไปถึงริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีบันใดท่าน้ำใหญ่เป็นที่อาบน้ำและซักผ้าของคนเช่าบ้านในบริเวณนั้น และมีโป๊ะยื่นลงไปในแม่น้ำ ใช้ขึ้นสินค้าที่มาจากเมืองจีนและต่างจังหวัด (ของร้านคนจีนที่มาเช่าคุณย่าอยู่) มี “เสาตะเกียบ” ใหญ่ 2 ต้น เพื่อกันเรือใหญ่มากระแทกโป๊ะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 13, 07:58
รูปคุณพ่อของคุณทวดอีกรูปหนึ่ง

(ต้องการไกด์พาแยกเข้าซอยบูรณศิริครับ)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ย. 13, 08:57
ซอยบุรณศิริ  มีต้นซอยย้อนหลังไปถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช   ต้นตระกูลเป็นพราหมณ์เมืองพาราณสี  เข้ามารับราชการอยู่ในอยุธยา    ก็คล้ายๆกับตระกูลบุณยรัตพันธุ์ที่ว่าเป็นพราหมณ์พฤฒิบาศมาจากอินเดีย เข้ามารับราชการในอยุธยาเหมือนกัน    จากนั้นก็กลายเป็นไทยนับถือพุทธศาสนาในตอนปลายอยุธยา
เรื่องราวของผู้สืบตระกูลในช่วงปลายอยุธยา ขาดหายไป  ใครทราบกรุณาเชื่อมให้ด้วยค่ะ
มารู้จักอีกครั้งตอนกลางซอย  คือ ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4    ผู้สืบตระกูลนี้คือเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาบดี(บุญศรี)เสนาบดีกระทรวงวัง     เมื่อท่านชราแล้วพระเจ้าอยู่หัวทรงเลื่อนเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี   เพื่อให้ผู้อื่นได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ต่อไป
ถ้าสนใจประวัติท่านก็หาอ่านได้ใน "ตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์"ค่ะ

ในรัชกาลที่ 3  เมื่อเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์แพ้ศึก   ถูกจับตัวมากรุงเทพพร้อมด้วยบุตรภรรยา    หนึ่งในจำนวนบุตรีเจ้าอนุวงศ์ชื่อ "พัน" ได้มาเป็นภรรยาคนหนึ่งของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี   มีธิดาคนหนึ่งชื่อแหวว   หม่อมแหววผู้นี้ต่อมาได้เป็นภรรยาหม่อม (หมายถึงอนุภรรยา)ของเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค)  มีธิดาด้วยกัน 2 คน    หนึ่งในจำนวนนั้นชื่อแดง  ต่อมาคือหม่อมของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ   บุตร 2 คนในจำนวน 6 คนของท่านก็คือม.ร.ว.เสนีย์ และม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ก.ย. 13, 09:01
ร่วมด้วยช่วยพาเข้าซอย "บุรณศิริ"

เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่)  (ท่านผู้นี้เป็นสกุลอื่นๆ อีกหลายสกุล  ซึ่งไม่จำเป็นต้องกล่าวในที่นี้) มีบุตร  ๒  คน  คือ
๑ เจ้าพระยาสุรินทราชา  (จันทร์)  เป็นต้นสกุลจันทโรจวงศ์
๒ พระยาวิเศษสุนทร  (นาก หรือบุนนาค  นกเล็ก)

พระยาวิเศษสุนทร  (นาก)  มีบุตรหลายคน  ที่สำคัญ คือ
๑ หลวงเสน่ห์สรชิต  (พราหมณ์)
๒ พระยาจินดารังสรรค์  (แก้ว  หรือแก้วแขก)  เป็นต้นสกุลภูมิรัตน
๓.เจ้าจอมมาดาพุ่ม  ในรัชกาลที่ ๑  

เจ้าจอมมารดาพุ่ม   เป็นพระมารดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าคันธรส  กรมหมื่นศรีสุเรนทร์  ส่วนหลวงเสน่ห์สรชิต  (พราหมณ์) มีบุตร  คือ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี  (บุญศรี)  เป็นต้นสกุลบุรณศิริ

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ย. 13, 09:17
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ โปรดเกล้าพระราชทานแก่ผู้สืบเชื้อสายจาก เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) ว่า "บุรณศิริ" สะกดแบบโรมันว่า Purnasiri    ผู้ขอพระราชทานคือพระยามหานิเวศนานุรักษ์ (กระจ่างตา)  ข้าราชการกระทรวงวัง (นอกราชการ)  หลานปู่ของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี
คำว่า บุรณศิริ  น่าจะมาจากคำว่า บุญศรี นามเดิมของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี

เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีสร้างวัดในกรุงเทพไว้วัดหนึ่ง  เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพระยามหาอำมาตย์ ในรัชกาลที่ 3  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามให้ว่า " วัดศิริอำมาตยาราม "  ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้พระราชทานเปลี่ยนใหม่เป็น " วัดบุญศิริมาตยาราม "
มาถึงรัชกาลที่ 5  เรียกนามวัดเสียใหม่เป็น " วัดบุรณศิริมาตยาราม " ยังเรียกชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ   อยู่ใกล้ๆโรงแรมรอยัล   ที่ถนนอัษฎางค์หลังกระทรวงกลาโหม


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 ก.ย. 13, 10:15
ก่อนจะไปถนนสุขุมวิท ท่านเล่าประวัติของท่านน่าสนใจทีเดียว ตระกูลบูรณศิริของท่านถือเป็นตระกูลขุนนางเก่าแก่ สืบต่อจากสมัยอยุธยามาจนถึงรัตนโกสินทร์ บรรพบุรุษของท่านได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์

ผมเกิดเมื่อ พ.ศ. 2465 ภายใต้การปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 คุณพ่อคือ คุณหลวงเลขาวิจารณ์ (ศรีศุกร์ บุรณศิริ) รับราชการเป็นเลขาของท่านเจ้าคุณ


รบกวนอา ใหม่อีกครั้ง คงรีบพิมพ์  ???


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 13, 15:26
ต้นฉบับเขียนไว้เพียงเท่านี้ครับ ที่ลอกมาลงไว้ถูกต้องแล้ว

รับราชการเป็นเลขาของท่านเจ้าคุณเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม
ไม่ได้ระบุชื่อ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ย. 13, 15:40
มาขยายความเพราะคุณหลานไม่ได้บอกคุณอาให้แจ่มแจ้งลงไป  ว่าคุณหลานสงสัยว่าคุณอารีบพิมพ์คำไหน
กล่าวคือ
คุณหนุ่มหมายถึงว่า พ.ศ. 2465  ไม่ได้อยู่ในรัชกาลที่ 7 ค่ะ   ยังเป็นรัชกาลที่ 6 อยู่    
สิ้นรัชกาลที่ 6 เมื่อพ.ศ. 2468  


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 13, 15:44
ต้นฉบับเป็นตามนั้นครับ คุณทวดคงหลงไปซะแล้ว

ปู่ก็หลงๆด้วย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 13, 15:46
ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีบันใดท่าน้ำใหญ่เป็นที่อ่าบน้ำและซักผ้าของคนเช่าบ้านในบริเวณนั้น และมีโป๊ะยื่นลงไปในแม่น้ำ ใช้ขึ้นสินค้าที่มาจากเมืองจีนและต่างจังหวัด (ของร้านคนจีนที่มาเช่าคุณย่าอยู่) มี “เสาตะเกียบ” ใหญ่ 2 ต้น เพื่อกันเรือใหญ่มากระแทกโป๊ะ

“เสาตะเกียบ” นั้นทำด้วยซุงไม้แข็งทั้งต้น เส้นผ่าศูนย์กลางราว 60 ซม. ยาวราว 7-8 เมตร ตอกตะปูถี่ๆ และฉาบปูนขัดมันรอบต้น ระหว่างระดับน้ำขึ้นสูงสุดและน้ำลงต่ำสุด เพื่อกันไม้ผุ เสาตอนเหนือน้ำไม่ฉาบปูน เพราะถ้าถูกเรือกระแทกปูนจะแตก ถ้าเป็นไม้แข็งทนได้ไม่แตก

ผมพยายามหาภาพเสาตะเกียบมาให้ดู แต่หายากมาก ที่นำมาลงนี้พอให้เข้าใจว่าคุณทวดหมายถึงอะไร


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ย. 13, 16:00
เสาตะเกียบ หน้าตาแบบนี้หรือเปล่าคะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 13, 16:24
คล้ายกันครับ แต่นี่เป็นแบบสมัยใหม่ ส่วนใหญ่เป็เสาคอนกรีตใส่ยางรถยนต์เก่าไปเป็นตัวกันกระแทก

บุรณศิริเป็นตระกูลใหญ่ที่สมาชิกในตระกูลคงจะรู้จักกันไม่ถ้วนทั่วด้วยซ้ำ แต่สายของจารย์ดมศรีท่านจัดว่ามีฐานะดีมาก ทราบจากที่ท่านเล่าเรื่องบ้านของคุณพ่อ

 ตึกที่ผมเกิดนั้นเป็นตึกโบราณกำแพงหนาราว 50 ซม. ตรงช่องหน้าต่างนั่งได้ทั้งตัวเลย ภายในตึกมีที่ว่างกลางบ้าน ในนั้นมีสระน้ำ สวนเล็กๆ มีโอ่งมังกรปากกว้างมาจากเมืองจีนปลูกบัวอยู่ 5-6 โอ่ง และในโอ่งนั้นมีปลาตัวเล็กชื่อ ปลา”หัวตะกั่ว” แยะเลย ทั้งๆ ที่ไม่มีใครมาเลี้ยง ทำให้ผมสนุกกับการช้อนปลาในโอ่งบัวมาก ทำให้คิดถึงคำโบราณที่ว่า “น้ำถึงไหนปลาถึงนั่น” เป็นความจริงเลย และน้ำในโอ่งทุกโอ่งจะใสเสมอเพราะบัวเป็นเครื่องกรอกน้ำของธรรมชาติ แต่ในโอ่งเหล่านั้นไม่ค่อยมีดอกบัวเลย เพราะถูกแดดไม่เพียงพอ (ไม่มีแดดก็มีมีดอก)

ที่ลานหน้าบ้านด้านแม่น้ำเจ้าพระยาปูด้วยหินแกรนิตๆ แผ่นสี่เหลี่ยมผิวหน้าไม่เรียบนัก (เพราะสกัดด้วยมือ) ขนาดราว 50 ซม. หินเหล่านี้ได้มาจากหินถ่วงเรือเพื่อไม่ให้เรือโคลงมากนักขณะแล่นกลางทะเล (ที่เรียกกันว่า “อับเฉา” ของเรือที่มาจากเมืองจีนมาจอดที่ท่าน้ำและขนมาทิ้งไว้ที่บ้านเรา เพื่อขนสินค้าจากเมืองเราไปเมืองจีนต่อไป ฉะนั้น บ้านเราจึงมีลานหินกว้างๆ และโอ่งเคลือบลายมังกรปากกว้าง ๆ ของจีนเหมาะสำหรับปลูกบัวด้วยประการฉะนี้
พออายุ 5-6 ขวบ ไฟก็ไหม้ห้องแถวทั้ง 9 ห้อง แต่ไม่ได้ไหม้ตึกใหญ่ เพราะมีเรือ “ผจญเพลิง” ของตำรวจน้ำ และเรือของทหารเรืออีก 1 ลำ มาช่วยดับให้ และต้นมะม่วงใหญ่ 2 ต้นนั้นก็ช่วยกันไฟให้ตึกใหญ่ด้วย แต่ก็ตายไปครึ่งหนึ่งทั้ง 2 ต้น ต้นไม้ดีฉะนี้แหละนะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 13, 16:25
พ.ศ. 2472 เราก็ย้ายบ้านไปอยู่ที่ซอย “ศาลาแดง” ถนนสีลม บ้านหลังนี้ออกแบบโดยคุณหลวงบูรกรรมโกวิท และปีนี้เองเหตุการณ์ที่ไม่นึกไม่ฝันก็เกิดขึ้นคือ ภราดา “ไมเกิ้ล” (อธิการ) และภราดา “ฮีแลร์” อาจารย์ใหญ่ ร.ร. อัสสัมชัญ มาที่บ้านและขอให้เราพี่น้อง 3 คนไปเรียนที่ ร.ร. อัสสัมชัญ สมัยนี้ต้องไปขอร้องขอเสียค่า “แปะเจี๊ยะ” เป็นแสน!! แปลกดีนะเหตุการณ์ระหว่างสมัย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 13, 16:27
อ่ะ คุณหนุ่มสยาม ศิษย์เก่าอัสสัมจะประท้วงอะไรมั้ย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 ก.ย. 13, 16:36
ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีบันใดท่าน้ำใหญ่เป็นที่อ่าบน้ำและซักผ้าของคนเช่าบ้านในบริเวณนั้น และมีโป๊ะยื่นลงไปในแม่น้ำ ใช้ขึ้นสินค้าที่มาจากเมืองจีนและต่างจังหวัด (ของร้านคนจีนที่มาเช่าคุณย่าอยู่) มี “เสาตะเกียบ” ใหญ่ 2 ต้น เพื่อกันเรือใหญ่มากระแทกโป๊ะ

“เสาตะเกียบ” นั้นทำด้วยซุงไม้แข็งทั้งต้น เส้นผ่าศูนย์กลางราว 60 ซม. ยาวราว 7-8 เมตร ตอกตะปูถี่ๆ และฉาบปูนขัดมันรอบต้น ระหว่างระดับน้ำขึ้นสูงสุดและน้ำลงต่ำสุด เพื่อกันไม้ผุ เสาตอนเหนือน้ำไม่ฉาบปูน เพราะถ้าถูกเรือกระแทกปูนจะแตก ถ้าเป็นไม้แข็งทนได้ไม่แตก

ผมพยายามหาภาพเสาตะเกียบมาให้ดู แต่หายากมาก ที่นำมาลงนี้พอให้เข้าใจว่าคุณทวดหมายถึงอะไร


ตัวอย่างเสาตะเกียบ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 ก.ย. 13, 16:42
พ.ศ. 2472 เราก็ย้ายบ้านไปอยู่ที่ซอย “ศาลาแดง” ถนนสีลม บ้านหลังนี้ออกแบบโดยคุณหลวงบูรกรรมโกวิท และปีนี้เองเหตุการณ์ที่ไม่นึกไม่ฝันก็เกิดขึ้นคือ ภราดา “ไมเกิ้ล” (อธิการ) และภราดา “ฮีแลร์” อาจารย์ใหญ่ ร.ร. อัสสัมชัญ มาที่บ้านและขอให้เราพี่น้อง 3 คนไปเรียนที่ ร.ร. อัสสัมชัญ สมัยนี้ต้องไปขอร้องขอเสียค่า “แปะเจี๊ยะ” เป็นแสน!! แปลกดีนะเหตุการณ์ระหว่างสมัย

การเรียนของโรงเรียนอัสสัมชัญนั้น ในสมัยเริ่มแรกท่านอธิการมีเจตนาช่วยเหลือให้บุตรหลานได้รับการศึกษา เพื่อจะได้รำเรียนเขียนอ่าน มีความรู้ด้านภาษาอังฤษ ฝรั่งเศส คำนวณเป็นจะได้เป็นเจ้าคนนายคน ไม่ลำบากยากจน เป็นคติประจำของอัสสัสัมชัญ ภารดาหลายท่านให้บุตรหลานเข้าเรียนที่โรงเรียนแบบฟรี ๆ ได้ครับ ท่านช่วยเหลือเด็ก

สำหรับสมัยนี้ก็เป็นทุกโรงเรียนแหละครับ 555 อยู่ที่จะเปิดปากพูดหรือหลับตาทำเป็นไม่เห็นเท่านั้น :-X :-X


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 13, 16:48
เอาละนะครับ พอหอมปากหอมคv
.
.

นี่ รูปคุณทวดตอนเป็นนักเรียนอัสสัม
ผมคุ้นๆหน้าจัง เหมือนดาราเด็กที่เล่นเรื่อง Home Alone รึเปล่า?


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 13, 16:53
ขณะที่เรียนอยู่ที่อัสสัมชัญนั้น เมื่อพ.ศ.2475 พวกเราตื่นเต้นมากที่ได้ขึ้นรถยนต์ข้ามสะพาน “พระพุทธยอดฟ้าฯ” ซึ่งตอนกลางสะพานยกเปิดด้วยเครื่องจักรให้เรือใหญ่ๆผ่านไปได้เป็นสะพานแรกของกรุงเทพฯ ที่ให้รถข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปฝั่งธนบุรีได้แทนการข้ามน้ำด้วยเรือจ้าง ทำให้การคมนาคมของกรุงเทพฯ ธนบุรีดีขึ้นมาก
และก็ตื่นเต้นอีกครั้งเมื่อมีการยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เรื่องชนิดนี้ผมไม่รู้มากนัก ตื่นเต้นตามเขาไปด้วย
   
นักเรียนอัสสัมชัญสมัยนั้นมีเครื่องแบบคือ กางเกงขาสั้นสีน้ำเงิน เสื้อนอกคอปิดสีขาวกระดุม 5 เม็ด ถึงเท้าสีขาวและรองเท้าสีดำ เด็กที่ไม่มีถึงเท้ารองเท้าก็เดินเท้าเปล่า มีหลายคนเหมือนกัน และมีครูคนหนึ่งนุ่งกางเกงแพรจีน “ปังลิ้น” สีดำ เสื้อนอกคอปิดขาวและเท้าเปล่า
   
ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ นี้มีดีมากอีกอย่างหนึ่งคือ รับเด็กยากจนมาอยู่ฟรีอีกด้วย แต่ต้องถือศาสนาคริสต์ ซึ่งพวกเราเรียกว่า “เด็กใน” (ผมได้เลขประจำตัว 9269 แต่ไม่ใช่เด็กใน)

มีซอยอ้สสัมชัญให้เข้าไปหาความรู้ไหมครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ย. 13, 17:07

มีซอยอ้สสัมชัญให้เข้าไปหาความรู้ไหมครับ

มีเด็กอัสสัมอยู่แถวนี้คนหนึ่ง รูปเพียบ แผนที่หลายพับ 
น่าจะตัดถนนเข้าไปได้จนถึงแม่น้ำละค่ะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 ก.ย. 13, 19:05

มีซอยอ้สสัมชัญให้เข้าไปหาความรู้ไหมครับ

มีเด็กอัสสัมอยู่แถวนี้คนหนึ่ง รูปเพียบ แผนที่หลายพับ 
น่าจะตัดถนนเข้าไปได้จนถึงแม่น้ำละค่ะ

ให้เกียรติจังเลยครับ  :-[ ซอยแห่งอัสสัมชัญเข้าได้เสมอครับ

บุคคลที่จบจากโรงเรียนอัสสัมชัญนั้นเรียกว่าได้เป็น "อัสสัมชนิก" อย่างเต็มปาก นักเรียนจะมีเลขประจำตัวเป็นเอกลักษณ์ตั้งแต่นักเรียนคนแรกหมายเลข ๑ เรื่อยมาจนทุกวันนี้ก็ราว ๕๐,๐๐๐ กว่าคนได้

คติพจน์ที่อัสสัมชนิกต้องท่องได้คือ "จงตื่นเถิด เปิดตาหาความรู้ เรียนคำครู คำพระเจ้าเฝ้าขยัน จักอุดมสมบัติ ปัจจุบัน แต่สวรรค์ดีกว่า เราอย่าลืม"

เป็นการสรุปชีวิตของ ๑ ชีวิตได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยมีประติมากรรมนี้โดยฝีมือ อ.ศิลป์ พีระศรีและลูกศิษย์ร่วมปั้นไว้


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 ก.ย. 13, 19:20
ปฐมบทการก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ เริ่มจากบาทหลวงกอลมเบต์ ชาวฝรั่งเศส ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดสวนท่าน (อาสนาวิหารอัสสัมชัญในปัจจุบัน) เห็นว่าการศึกษาให้กับบุตรหลานชาวสยามนั้น
ท่านต้องให้ความรู้ ใน พ.ศ. ๒๔๒๐ ท่านเริ่มทำการหาเด็กชาวสยาม ชาวจีน ชาวแขก และบุตรหลานต่าง ๆ ให้เข้ามาเรียนโดยใช้บ้านของหลวงพ่อกันตอง เป็นที่เรียนในระยะเริ่มแรก
โดยบ้านหลวงพ่อกันตอง ตั้งอยู่ใกล้วัดสวนท่าน ซึ่งเคยเป็นที่พำนักของบาทหลวงลาโนดีร์ (ผู้เป็นล่ามไปกับราชทูตในสมัยรัชกาลที่ ๔ ไปอังกฤษ และเป็นผู้ซื้อกล้องถ่ายรูปเข้ามายังสยามเป็นท่านแรก)
โรงเรียนครั้งแรกใช้ชื่อว่า ""โรงเรียนอาซมซานกอเล็ศ"

การเรียนครั้งแรกนั้นมีนักเรียนเพียง ๑๒ คน แต่บาทหลวงกอลมเบต์ก็ไม่ย่อท้อ พยายามไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีนักเรียนเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งเมื่อโรงเรียนเริ่มปักฐานได้มั่นคงแล้วก็เรี่ยไรเงินจาก
พ่อค้าต่าง ๆ เพื่อทำการสร้างตึกเรียนแห่งแรก และขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานเงินทุน ๘๐ ชั่ง และสมเด็จพระพันปีก็พระราชเงิน
ทุนร่วมเข้ามาอีก

และวันที่โรงเรียนปลาบปลื้มเป็นล้นพ้นเมื่อ วันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์
ตึกเรียนหลังแรก โดยทรงเสด็จมายังโรงเรียนโดยเรือ และทรงมาวางศิลาฤกษ์ ทรงจับเกรียงและค้อนเคาะที่แผ่นหิน ทรงตรัสว่า "ให้ที่นี้ถาวรมั่นคงสืบไป"

ภาพถ่ายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์โรงเรียนอัสสัมชัญ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 ก.ย. 13, 19:29
บทบาทของโรงเรียนในระยะหลัง บาทหลวงกอลมเบต์ได้ขอให้คณะเซนต์คาเบียลเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือเรื่องบุคคลากร เนื่องจากนักเรียนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ "ภารดา ฟ. ฮีแฬร์"
ได้เข้ามาช่วยเหลืออย่างมาก ท่านรักเมืองไทยมาก และสามารถแต่งหนังสือเรียนดรุณศึกษาไว้ให้เล่าเรียนกัน แม้ว่าในช่วงภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไทยมีปัญหาเกี่ยวกับฝรั่งเศส บรรดาบาทหลวง
ก็ต้องถูกให้ออกไปนอกประเทศ แต่การศึกษาก็ไม่ขาดช่วง ภายหลังท่านก็ได้กลับมาสร้างความเจริญให้กับโรงเรียนจนวาระสุดท้าย

ภาพถ่ายเหล่านักเรียนที่ครบ ๑,๕๐๐ คน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 ก.ย. 13, 19:34
ภาพนักเรียนอัสสัมชัญ ในยุคแรกต่างแต่งชุดอะไรก็ได้ไม่จำกัด ภายหลังเริ่มแต่งขาสั้น เสื้อกระดุม ๕ เม็ด สวมหมวก แต่ยังไม่สวมรองเท้า

ภาพนี้ถ่ายไว้ขณะกำลังเปิดประตูใหญ่โรงเรียน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ย. 13, 20:06
บุคคลสำคัญของอัสสัมชัญ   ภราดาฟ.ฮีแลร์   ผู้ชำนาญภาษาไทยถึงขั้นแต่งบทกวีนิพนธ์ได้


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ก.ย. 13, 22:14
ชื่ออัสสัมชัญ นั้นเด่นมาช้านาน ยังมีพยานปรากฏรับรอง   ;D


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ย. 13, 22:44
หอมกลิ่นกุหลาบ ซึมซาบขจรไกล   หอมฟุ้งจรุงใจ อบไปทั่วทิศทาง

อ้าว  เข้าผิดซอย  ขอโทษทีค่ะ... :-[


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 13, 07:17
ขอบคุณอัสสัมชนิก และทุกท่านครับ

การเดินทางมาโรงเรียนในสมัยนี้มีหลายวิธีคือ เดินสำหรับผู้ที่มีบ้านอยู่แถวนั้น จักรยาน (สมัยนั้นต้องมีทะเบียนและ “ใบขับขี่” ด้วย) มีกันมากเหมือนกันเป็นรถจักรยานมาจากอังกฤษ มีหลายยี่ห้อ เช่น “เฮอร์คิวลิส” “ราเล่ห์”  “ฮัมเบอร์” ฯลฯ ต่อมาก็รถรางและรถเมล์ ราคาค่าโดยสารเท่ากัน เช่นจากสีลมถึงตรอกวัดแขก 1 สตางค์ (สำหรับรถรางนั้นมีชั้น 1 ด้วย ราคาเพิ่มอีกเท่าตัว โดยมีเบาะสีขาวรอง และมีที่กั้นกับชั้น 2) ถึงตรอกพระยาพิพัฒน์ 2 สตางค์ ถึงศาลาแดง 3 สตางค์ ถึงประตูน้ำ 4 สตางค์ (ประตูน้ำนี่แหละเป็นที่พบปะของหนุ่มสาวที่มา “มอร์นิ่วว๊อล์ค” กันตอนเช้ามืดมาเดินคู่กัน อวดเครื่องแต่งตัวและมากินโจ๊ก กาแฟและปาท่องโก๋ ฯลฯ
สำหรับรถเมล์มีคนขายตั๋วและนายตรวจด้วย เวลานายตรวจจะเปลี่ยนไปตรวจรถคันอื่นเข้าก็กระโดดลงไปในขณะรถกำลังวิ่ง มีท่าทางสวยๆ และกระโดดขึ้นคันที่สวยมาได้อย่างสวยงาม
จากนั้นก็เป็นรถยนต์ส่วนตัว รถยนต์นี้มีน้อยกะมีราวๆ 6,000 คัน เท่านั้น ทั้งๆที่ราคาถูกมาก(สำหรับสมัยนี้) รถยนต์สปอร์ตยี่ห้อ บี.เอส.เอ ของอังกฤษ 2 ประตู 4 ที่นั่ง เปิดประทุน ราคา 2,500 บาท รถเก๋ง “โอลสโมบิล” ของอเมริการาคา 3,700 บาท (ผ่อนเดือนละ 100 บาทก็ได้) แต่ค่าครองชีพในสมัยนั้นถูกมาก  เช่น เงินเดือนราชการสัญญาบัตรตั้งต้นเดือนละ 80 บาท เท่านั้น แม่ครัว 15 บาท เด็กรับใช้ 10 บาท คนสวน 15 บาท คนขับรถ 30 บาท แม่บ้าน 30 บาท เป็นอย่างไรบ้างสำหรับสมัยนี้!

ในภาพเป็นรถเมล์ที่ถ่ายในปี๒๔๗๒ ช่วงๆที่คุณทวดกล่าวถึง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 13, 07:39
รถยนต์ครับ ไม่ทราบที่เห็นในภาพมียี่ห้ออะไรมั่ง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 13, 07:45
รถราง ชั้นหนึ่งและชั้นสองอยู่ในคันเดียวกันนั่นเอง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 13, 07:49
ขอเล่าชีวิตใน ร.ร.อัสสัมชัญต่อ เข้าเรียน 8.30 นาฬิกา พัก 10 นาที ตอน 10.10 นาฬิกา ต่อจากนั้นพักเที่ยง 12.00 นาฬิกา เข้าเรียน 13.10 นาฬิกา พัก 10 นาทีตอน 14.30 นาฬิกา และเลิกเรียน 16.00 นาฬิกา

ร้านขายอาหารที่นี่มี 2 กลุ่ม พวกเล็กและพวกใหญ่ มีอาหารแปลกๆ อร่อยๆ หลายอย่างต่างๆ กัน เช่น ข้าวราดแกงชามละ 3 สตางค์ ก๋วยเตี๋ยวน้ำหรือแห้ง 3 สตางค์ น้ำส้มใส่น้ำแข็งถ้วย 1 สตางค์ ถ้วยใหญ่ 2 สตางค์ “ไอติมแท่ง” เป็นหลอดยาวๆ  มีหลายอย่างเช่น ลิ้นจี่, ทุเรียน, ขนุน, ลำไย, นมสด, ถั่วแดง, วานิลา, ช็อคโกเล็ต, ข้าวโพด ฯลฯ แท่งละ 1 สตางค์ 6 แท่ง 5 สตางค์ แค่นั้นยังไม่พอบางคนเดินไปไกลถึงลานหน้า “โรงภาษีร้อยชักสาม” (เป็นโรงภาษีเก็บได้เพียง 3% เท่านั้น) ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ลมพัดเย็นดี มีอาหารหลายอย่างเหมือนกัน สิ่งที่พวกเราชอบเรียกกันว่า “สามโก” เป็นข้าวราดสตูเนื้อแตงร้านหั่นชิ้นบางๆ ใส่นิดหน่อย ชามละ 3 สตางค์ อร่อยด้วย อีกร้านหนึ่งเป็นหาบทองเหลืองรูปร่างคล้ายปิ่นโตใหญ่ๆ (เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้เห็นแล้ว) ขายเนื้อและเครื่องในวัวตุ๋น ร้านนี้ราคาแพงหน่อย ชามละ 5 สตางค์ แต่อร่อยดี คนกินกันมากเหมือนกันและการกินต้องยืนกินนะ!

การที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ชั้นประถมเรียนอย่างโรงเรียนอื่น ๆ แต่พอถึง ม.1 การเรียนทุกวิชาเป็นภาษาอังกฤษ หรือฝรั่งเศส เท่านั้น (แล้วแต่ใครจะเลือก) ภาษาไทยมีเฉพาะวิชาภาษาไทยเท่านั้น แต่กระทรวงธรรมการในสมัยนั้นมีกฎว่าการสอบ ม.6, ม.8 นั้น ถ้าตกภาษาไทยถือว่าตกทั้งหมด

ภาพไอติมแท่งแบบหาบเร่ รูปนี้ดูเหมือนลุงไก่กับคุณหนุ่มจะนำมาเล่นทายปริศนาอะไรกันสักอย่างนึงแล้ว


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ก.ย. 13, 09:23
ขอแนบภาพบรรยากาศโรงเรียนอัสสัมชัญ น่าจะในยุครัชกาลที่ ๖ โรงเรียนมีนักเรียนจำนวนมากทั้งชั้นประถมและมัธยมเรียนอยู่ที่นี่
ไกลภาพจะเห็นตึกไม้สัก ๓ ชั้นสร้างด้วยไม้ปลูกสร้างคร่อมไว้กลางพื้นที่โรงเรียน และด้านหลังอีก ๑ หลัง รวม ๒ หลังด้วยกัน
ภายหลังอาคารนี้ถูกย้ายไปปลูกสร้างที่โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ และบางอาคารโดนระเบิดเสียหาย

สำหรับโรงอาหารที่กล่าวถึงนั้น ก็คืออาคารที่เห็นในภาพขวามือ เดิมเป็นหลังคาไม้ ภายหลังสร้างเป็นคอนกรีตเสาโรมัน เป็นอาคารชั้นเดียว
เรียกกันในหมู่นักเรียนว่า "ตึกเตี้ย" หน้าตึกเตี้ยจะเป็นก๊อกน้ำดื่ม ให้นักเรียนได้ดื่มตลอดเวลา แม้ว่าเวลาผ่านไปเป็นร้อยปีแล้ว ธรรมเนียม
การสร้างน้ำก๊อกให้นักเรียนดื่มที่โรงเรียนนี้ยังคงมีอยู่ในรุ่นผม หน้าโรงอาหารจะต้องมีก๊อกน้ำเรียงเป็นแนวยาวตลอดอาคารให้นักเรียนดื่ม


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 13, 10:04
แต่งเครื่องแบบเสื้อขาวกางเกงขายาวเหมือนนายร้อยน่ะใครครับ ครูหรือนักเรียน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ก.ย. 13, 10:45
แต่งเครื่องแบบเสื้อขาวกางเกงขายาวเหมือนนายร้อยน่ะใครครับ ครูหรือนักเรียน

ไม่ทราบเหมือนกัน อิอิ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 13, 10:59
ว้า


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 13, 11:14
พ.ศ. 2480 พวกเราเรียนอยู่ชั้น ม.6 วิทยาศาสตร์ แผนกฝรั่งเศส กระทรวงมีบัญชามาว่าปีหน้า (2481) จะมี ม.8 เป็นปีสุดท้าย เมื่อจบ ม.6 แล้วต้องเข้าไปเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมฯ และเข้ามหาวิทยาลัย ไม่มี ม.7, ม.8 อีกแล้ว เมื่อจบ ม.6 แล้วพวกเรา 8 คน ก็ตัดสินใจเรียน ม.8 ควบ ม.7 ภายในปีเดียว รู้สึกว่าหนักมากเหมือนกันเพราะเรียนที่ ร.ร. อัสสัมชัญ 8.30 น. ถึง 16.00 น.  17.00 น. ไปเรียนพิเศษกวดวิชาที่โรงเรียนศิริศาสตร์ ถึง 21.00 น. ต้องกลับไปทำการบ้านของ ร.ร. อัสสัมชัญอีก และโชคดีก็มาหาเราโดยจบ ม.8 ปีสุดท้ายด้วยกันทั้ง 8 คน (แทบตายแต่ก็ยิ้มได้)

ในเวลาเรียนนั้นนักเรียนส่วนมากมองนักเรียนนายเรือเป็นอันดับแรก (เพราะเครื่องแบบสวย มีห้อยกระบี่ด้วย โก้จัง) เพราะในเวลานั้นเด็กนักเรียนไม่รู้ว่าจะไปเรียนต่ออะไร ที่ไหน? เพื่อดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร?.... ไม่มีอาจารย์มาช่วยแนะแนวให้ เพ้อเจ้อไปตามประสาเด็กๆ ผมก็เลยรีบไปสมัครสอบนักเรียนนายเรือทันที แต่เข้าไม่ได้ เพราะตรวจโรคมีผลว่าเป็นริดสีดวงตา ซึ่งขณะนั้นคนกลัวโรคนี้กันมากเพราะติดเชื้อง่ายมาก จ๋อยเลย

พ.ศ. 2482 ก็หันเข็มมาที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ พอไปสอบก็จ๋อยอีกเพราะตกภาษาอังกฤษ (เพราะเรียนภาษาฝรั่งเศส) เลยไปเข้าธรรมศาสตร์ฯ (ยังมีบัตรประจำตัวของธรรมศาสตร์อยู่จนบัดนี้) ในปี 2483 มีเพียง 9 เดือนเท่านั้น เพราะมีการเปลี่ยนแปลงการขึ้นปีใหม่จาก 1 เมษายน เป็น 1 มกราคม จะเป็นการบังเอิญหรือเทวดามาโปรดก็ได้ แผนกสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ อนุญาตให้สอบภาษาฝรั่งเศสแทนภาษาอังกฤษได้ ผมจึงได้เป็น “ลูกถาปัด” เต็มตัวในแผนกสถาปัตยกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พูดถึงนักเรียนนายเรือ สมัยนั้นถือเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งของนักเรียนชาย ในขณะที่อักษรศาสตร์จุฬา เป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งของนักเรียนหญิง จบแล้วได้เป็นบุคคลระดับครูบาอาจารย์แน่นอน
เรื่องในตระกูลผมเองกล่าวถึงคุณลุงคนหนึ่งที่การเรียนดีมาก เลือกสอบเข้าโรงเรียนนายเรือและสามารถเข้าได้ ทั้งๆที่ระดับสมองและไอคิว น่าจะเรียนแพทย์ได้โดยไม่เกินวิสัย ก็ไม่ทราบว่าจะน่าเสียดายหรือเปล่า เพราะคุณลุงสร้างเกียรติประวัติมากมาย โดยเฉพาะเป็นทหารเรือคนเดียวในประวัติศาสตร์ทหารไทย ที่ทหารบกยอมหลีกทางให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม คนเดียวหนึ่งเดียวจริงๆจนบัดนี้


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ก.ย. 13, 11:15
นี่เป็นภาพตึกใหญ่ของโรงเรียนอัสสัมชัญ ที่มีการวางศิลาฤกษ์โดยสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวิชรุณหิศ สยามมงกุฎราชกุมาร ด้านหน้าเป็นซอยบูรพา (เจริญกรุง ๔๐) มาด้วยรถยนต์ เดินมา หรือปั่นจักรยาน นั่งเรือมาก็ได้นะครับ

นึกถึงงานเขียนของพระยาอนุมาราชธน ท่านเป็นอัสสัมชนิกเช่นเดียวกัน บ้านท่านอยู่แถวสี่พระยา ท่านก็นั่งรถรางมา แล้วก็เดินมาโรงเรียนเช่นเดียวกัน พอท่านมีลูกชายก็ให้เข้าโรงเรียนอัสสัมชัญเหมือนอย่างท่าน

แต่ขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นพระยาแล้ว ท่านซื่อรถยนต์คนงาม แต่ท่านไม่ยอมขึ้น แต่ให้ลูกท่านขึ้นรถยนต์ไปโรงเรียนอัสสัมชัญ ส่วนท่านก็เดินหรือนั่งรถรางไปทำงาน

มีคนเดินเข้ามาถามท่านว่า ท่านเป็นพระยาทำไมไม่นั่งรถ และปล่อยให้ลูกนั่งรถโก็เลย

ท่านก็ตอบว่า "เขาเป็นลูกพระยา ต้องนั่งรถดี ๆ ส่วนฉันมันลูกเจ็ก (หรือลูกจีน จำไม่ได้) ก็อาศัยเดินกับนั่งรถรางเนี่ยแหละ"  :-[


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 13, 11:58
เอ้า ต่อครับ ต่อ

พวกเราผ่านการสอบคัดเลือกมาได้ 10 มาจากโรงเรียนเตรียมอุดมฯ 10 คน โดยไม่ต้องสอบคัดเลือก(ดีจัง) พอวันเปิดเทอมเราก็เข้าไปเรียนที่แผนกสถาบัตยฯ เป็นบ้าน 3 ชั้น เก่าๆ นอกรั้วจุฬาฯ (บ้านเจ้าคุณภะรตฯ) ซึ่งถูกรื้อมาเป็นตึกสำนักงานเลขาฯเดี๋ยวนี้ โดยอาจารย์ศิววงษ์ กุญชร ณ อยุธยา เป็นหัวหน้าแผนก
ชั้นล่างของบ้านเป็น Studio ของปี 1 พอเราเข้าไปก็เห็นโต๊ะเขียนแบบอยู่ 50 ตัว เราจึงรู้ว่าเป็นโต๊ะของพวกพี่ๆ ที่รอจะเรียนพร้อมเราอยู่ 30 คน!!
ชั้น 2 ของตัวตึกเป็น Studio ของปี 2 และห้องทำงานของอาจารย์ 4-5 คนอยู่ในห้องเดียวกัน มีอาจารย์ศิววงษ์,  อาจารย์เฉลิม, อาจารย์แหลมฉาน, อาจารย์รำไพ ฯลฯ
ชั้น 3 เป็นห้องวาดหุ่น (มีชีวิตและไม่มีชีวิต) ห้องนี้พวกพี่ๆ ชอบกันมากกับหุ่นที่มีชีวิต บางทีก็เจอะหุ่นลุงจันทร์ (ภารโรงเก่าแก่ของเรา)
ออกจากตึกไปเป็นโรงเรือนไม้ยาวๆ Studio 3 และ 4 อยู่ที่ปีก 2 ข้าง ตรงกลางเป็นห้องโล่งๆ มีโต๊ะปิงปอง 1 ตัว ผู้เล่นต้องเป็นผู้ชนะเท่านั้น ผู้ที่แพ้ต้องออกไปให้ผู้อื่นเข้ามาเล่นบ้าง โดยมีกองเชียร์เยอะแยะ และพวกกองเชียร์ก็หาโอกาสเข้าไปเล่นเหมือนกัน แต่ต้องมือดีนะถึงได้เล่นนานๆ

เรือนพระยาภะรตราชา สร้างเป็นที่พักของผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยหนึ่งที่ต้องอยู่ประจำ เพื่อดูแลนิสิตที่ต้องอยู่หอพักเช่นกัน หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้ใหญ่ในคณะราษฎร์ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งนั้นแทนโดยไม่สนใจจะเข้าอยู่ในเรือนพัก ชื่อเรือนจึงไม่เปลี่ยนแต่ตัวพระยาภะรตต้องระเห็จไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนในวชิราวุธวิทยาลัย ก่อนจะขึ้นเป็นผู้บังคับการ และลงตัวในตำแหน่งดังกล่าวจนถึงแก่อนิจกรรม จุฬาฯได้ทำการอนุรักษ์เรือนพระยาภะรตไว้ ปัจจุบันใช้ประโยชน์เป็น "ภูมิปัญญาเมธีสโมสร" คือสถานที่จัดการประชุม สัมนาต่างๆ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 13, 12:17
พอปลายปี พ.ศ. 2483 พวกถาปัดก็ย้ายมาเรียนที่ตึกสถาปัตยฯเดี๋ยวนี้ที่อาจารย์ของเราเป็นผู้ออกแบบ ต่อมาก็เติมและเปลี่ยนแปลงอีกมา พวกเราปี 1 ก็ต้องช่วยกันขนของเป็น “เบ๊” โดยมีพวกพี่ๆ ช่วยเหลือ เหนื่อยแต่สนุกดีเหมือนกัน

ตึกคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ออกแบบโดยอาจารย์ลูเชียง คอบเป้ สถาปนิกชาวเบลเยี่ยมที่รับราชการอยู่ที่กรมโยธาธิการด้วย มีเรื่องเล่าว่าอาจารย์เขียนแบบค้างไว้เพราะยังคิดไม่ออกจะให้ตรงปลายของตึกจบอย่างไร จนลูกสาวตัวน้อยของท่านไปเล่นบนโต๊ะทำงานของพ่อ แล้วเอาเป๊กกดเล่น บังเอิญไปตรงกับปลายตึก อาจารย์คอบเป้มาเห็นเข้าเลยบรรลุซาโตริ ใส่ฟุลสต๊อบเข้าไปเต็มๆสี่จุดเลยดังที่เห็น


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 13, 12:25
ด้านหลังตึกมีบริเวณเล็กๆ มีบ้านเล็กๆของแม่ “เล็ก” ที่ทำอาหารหร่อยๆ และราคาถูกของเรา ข้าวชามละ 1 สตางค์ และกับข้าวต่างๆ ก็ชามละ 1 สตางค์ เหมือนกัน น้ำแข็งใส่น้ำหวานก็ 1 สตางค์ ทำให้พวกเรามีอาหารกลางวันถูก ๆ กินโดยไม่ต้องออกไปไกลๆ
 
ถ้าอยากกินดีหน่อยก็ไปสามย่าน มีร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัวอร่อยอยู่เจ้าหนึ่ง พวกเราให้ร้านนี้ชื่อว่าร้าน “ซาก” ชื่อนี้ได้มาจาก “เนื้อ” ที่ถูกต้มมาจนเปื่อยจนเหลือแต่ “ซาก” มาให้เรากินอร่อยๆ ชามละ 3 สตางค์ ข้าวเปล่า 1 สตางค์ อิ่มดีเหมือนกัน

คนสมัยนี้ (พ.ศ. 2546) คงตกใจกับราคาอาหารในสมัยนั้น และในสมัยนั้นยังมีเหรียญครึ่งสตางค์มาใช้อีก แต่ใช้ได้ไม่นานก็เลิกไป

แหะๆ อาจารย์ขะรับ คนสมัยนี้ไม่ได้ตกใจกับราคาอาหารในสมัยนั้นเท่าไหร่ เขาตกใจกับราคาข้าวแกงในสมัยนี้ตามข่าวล่าสุด ว่ากำลังจะปรับขึ้นเป็นจานละ ๕๐บาท(อ่านว่าห้าสิบบาทครับอาจารย์)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ก.ย. 13, 14:19
แนบรายชื่อห้องเรียนฝรั่งเศส ม.๖ ปีการศึกษา ๒๔๘๐ อยู่ห้องฝรั่งเศส เลขที่ ๔๐


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 13, 15:13
ม.ร.ว.จุรีพรหม กมลาสนี่ก็สถาปนิกเหมือนกันนะครับ อ๋อ รุ่นเดียวกับจารย์ดมศรีด้วย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ย. 13, 17:45
ตัดรูปอัสสัมชนิกในค.ห. 34 มาขยายให้เห็น
รูปนี้มีคนปะปนกันหลายรุ่น   มีทั้งเด็กนักเรียน ครู และที่เหลือเป็นอะไรยังไม่แน่ใจนัก
เด็กนักเรียนสวมเสื้อนอกขาวนุ่งกางเกงดำแค่เข่า    พวกขายาวสีขาวน่าจะเป็นครู  แต่คงมีคนนอกที่ไม่ใช่ครูนักเรียนรวมอยู่ด้วย
มีคนหนึ่งสวมเสื้อยาวเลยเข่าเหมือนอินเดีย 


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 13, 19:00
เครื่องแบบนักเรียนที่เห็นในภาพ ก็เหมือนเครื่องแบบนักเรียนทั่วไปในสมัยนั้นทั้งโรงเรียนราษฎร์และโรงเรียนหลวง แปลกใจตรงที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงธรรมการเห็นว่าเสื้อนอก(ราชปะแตน) สำคัญกว่ารองเท้า ทั้งๆที่ไทยเป็นเมืองร้อน ถนนหนทางเมื่อตากแดดได้ที่ยิ่งร้อนกว่าอากาศมาก


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ก.ย. 13, 19:15
ตัดรูปอัสสัมชนิกในค.ห. 34 มาขยายให้เห็น
รูปนี้มีคนปะปนกันหลายรุ่น   มีทั้งเด็กนักเรียน ครู และที่เหลือเป็นอะไรยังไม่แน่ใจนัก
เด็กนักเรียนสวมเสื้อนอกขาวนุ่งกางเกงดำแค่เข่า    พวกขายาวสีขาวน่าจะเป็นครู  แต่คงมีคนนอกที่ไม่ใช่ครูนักเรียนรวมอยู่ด้วย
มีคนหนึ่งสวมเสื้อยาวเลยเข่าเหมือนอินเดีย 

ผมมองว่าเป็นนักเรียนชั้นโต (ใส่กางเกงขายาว) และเด็กเล็ก (ใส่กางเกงขาสั้น)

ในสมัยก่อนที่จะมียุนิฟอร์มคือ กระดุม ๕ เม็ดนั้น คนไทยก็นุ่งผ้าโจง คนจีนก็นุ่งกางเกงกุยเฮง บ้างไว้ผมเปียก็มี ส่วนอิสลามนุ่งโสร่ง ส่วนฝรั่งก็นุ่งผ้าตามภาษา สวมหมวก เหล่านี้เป็นยุคเริ่มแรกครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ก.ย. 13, 19:18
สำหรับยูนิฟอร์มหรือเครื่องแบบที่คุณทวดกล่าวถึงนั้น เริ่มใน ค.ศ. ๑๙๓๓ โดยเริ่มให้ใส่เสื้อราชประแตนกระดุม ๕ เม็ด นุ่งกางเกงสีน้ำเงิน สวมถุงเท้ารองเท้าหนัง สวมหมวกกะโล่ ครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ก.ย. 13, 19:21
เครื่องแบบนักเรียนที่เห็นในภาพ ก็เหมือนเครื่องแบบนักเรียนทั่วไปในสมัยนั้นทั้งโรงเรียนราษฎร์และโรงเรียนหลวง แปลกใจตรงที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงธรรมการเห็นว่าเสื้อนอก(ราชปะแตน) สำคัญกว่ารองเท้า ทั้งๆที่ไทยเป็นเมืองร้อน ถนนหนทางเมื่อตากแดดได้ที่ยิ่งร้อนกว่าอากาศมาก

รองเท้ามีราคาแพงกระมังและยังไม่เป็นที่นิยมในคนไทย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 13, 19:24
อ้างถึง
สำหรับยูนิฟอร์มหรือเครื่องแบบที่คุณทวดกล่าวถึงนั้น เริ่มใน ค.ศ. ๑๙๓๓ โดยเริ่มให้ใส่เสื้อราชประแตนกระดุม ๕ เม็ด นุ่งกางเกงสีน้ำเงิน สวมถุงเท้ารองเท้าหนัง สวมหมวกกะโล่ ครับ

ที่เห็นในรูป มีทั้งหนังแท้ และทำจากหนังสัตว์เน๊าะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 13, 19:29
ขอเก็บตกรูปหนึ่งครับ

เป็นภาพท่านเจ้าเรือนเอามาให้ชม (ไม่ใช่เจ้าเรือนห้องนี้ แฟนๆไม่ต้องดีใจ)
เรือนพระยาภะรต หรือเรือนเจ้าคุณภะรต มาจากท่านผู้นี้ ภะรตราชา อ่านว่า พะ-รด ราชา นะครับ ไม่ใช่ ภะ ระ ตะ

เห็นหน้าใจดีอย่างนี้ :-X  ความจริงท่านดุมากกกกกกก


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ก.ย. 13, 19:34
ขอเก็บตกรูปหนึ่งครับ

เป็นภาพท่านเจ้าเรือนเอามาให้ชม (ไม่ใช่เจ้าเรือนห้องนี้ แฟนๆไม่ต้องดีใจ)
เรือนพระยาภะรต หรือเรือนเจ้าคุณภะรต มาจากท่านผู้นี้ ภะรตราชา อ่านว่า พะ-รด ราชา นะครับ ไม่ใช่ ภะ ระ ตะ

เห็นหน้าใจดีอย่างนี้ :-X  ความจริงท่านดุมากกกกกกก


ดูรูปก็กลัวแล้วครับ  8)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 13, 19:37
ไปก่อนละ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ย. 13, 19:42

เป็นภาพท่านเจ้าเรือนเอามาให้ชม (ไม่ใช่เจ้าเรือนห้องนี้ แฟนๆไม่ต้องดีใจ)
ถ้าท่านเป็นเจ้าเรือนห้องนี้     จะมีใครสักกี่คนกล้ามาโพสต์กระทู้


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 13, 20:10
กลัวม๊ายยยยยยยยย ?


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 13, 20:21
หนี ๆ ๆ ไปต่อเรื่องเครื่องแบบ

เครื่องแบบของนิสิตจุฬาฯนั้น สำหรับนิสิตา(หรือนิสิตหญิงเดี๋ยวนี้) เป็นเสื้อเชิ้ตาวและกระโปรงสีกรมท่า เครื่องแบบของนิสิตเป็นเครื่องแบบยุวชนนายทหารคือ กางเกางขายาวเสื้อนอกกระดุมทองเหลือง 7 เม็ด สีขี้ม้าทั้งชุด มีเข็มขัดคาดทับเสื้อนอก หมวกแบบนายทหาร แต่คาดแถบสีแดง ถุงเท้ารองเท้าดำ ที่คอเสื้อและที่อินทรธนูบ่า มีเครื่องหมายประดับเป็นเครื่องหมายของหน่วยและชั้นของการศึกษา เครื่องแบบฝึกวิชาทหารเป็นกางเกงขาสั้นเสื้อเชิ้ต สีขี้ม้าทั้งชุด ถุงเท้ายาวและรองเท้าหนังสีดำ ใช้หมวกใบเดิม เมื่อนิสิตออกไปนอกเขตจุฬาฯ ต้องแต่งเครื่องแบบทุกครั้ง ทำให้นิสิตทุกคนต้องรักษาเกียรติ และวินัยของเครื่องแบบจุฬาฯ(ดีมากๆ)

การเรียนยุวชนนายทหารนี้มีประโยชน์มากได้รู้วิชาทหาร และทำให้ได้พบปะและสนิทสนมกับนิสิตคณะต่างๆ เพราะการเรียนพร้อมกันทุกคณะ บางทีก็มีการขานชื่อแทนกันก็ได้ ทำให้สนิทสนมมากขึ้น เมื่อไปทำงานก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี มีตัวอย่างเช่น เมื่อผมไปรับงานสร้างโรงไฟฟ้าที่พิษณุโลก พอจะส่งงานก็กลัวว่าจะต้องมีค่าน้ำร้อนน้ำชา แต่เปล่าเลย เพราะนายช่างใหญ่ก็วิศวฯจุฬาฯ ข้าหลวง(เดี๋ยวนี้เรียกว่าท่านผู้ว่าราชการจังหวัด)ก็จุฬาฯ เลยเซ็นรับรองงานได้โดยง่าย จุฬาฯ ด้วยกันเชื่อใจกัน ขอขอบพระคุณพี่ๆ ด้วยครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 13, 20:25
ภาพนิสิตกับนิสิตาสมัยก่อนสงครามอีกรูปนึง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ย. 13, 20:27
นำภาพนิสิตจุฬา มาประกอบ  แต่หลังยุคยุวชนทหารมาประมาณ 20 ปี

ป.ล. อย่านึกว่าเอาคืนไม่ได้นะ ท่าน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.ย. 13, 20:28
ขอเก็บตกรูปหนึ่งครับ
เป็นภาพท่านเจ้าเรือนเอามาให้ชม (ไม่ใช่เจ้าเรือนห้องนี้ แฟนๆไม่ต้องดีใจ)
เรือนพระยาภะรต หรือเรือนเจ้าคุณภะรต มาจากท่านผู้นี้ ภะรตราชา อ่านว่า พะ-รด ราชา นะครับ ไม่ใช่ ภะ ระ ตะ
เห็นหน้าใจดีอย่างนี้ :-X  ความจริงท่านดุมากกกกกกก

ยังเห็นภาพตัวจริงของท่านติดตาอยู่เลย
ใส่กางเกงทรงขอบเอวยันเกือบลิ้นปี่ งอแขนฉากช่วยขยับกางเกงไม่ให้เลื่อนหลุดลงไป ฝ่ามือพร้อมตะปบ พร้อมออกเสียงชี้.....   เท่านั้นแหละ   ว้าววววว  
กลัวแบบต้องซ่อนหัวเราะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.ย. 13, 20:30
หนี ๆ ๆ ไปต่อเรื่องเครื่องแบบ......

หนีไม่ทัน หลบก็ไม่ทัน  ถูกฝ่ามือมหากาฬตะปบเข้าให้แล้ว อ่ะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 13, 20:58
อ้างถึง
ยังเห็นภาพตัวจริงของท่านติดตาอยู่เลย
ใส่กางเกงทรงขอบเอวยันเกือบลิ้นปี่ งอแขนฉากช่วยขยับกางเกงไม่ให้เลื่อนหลุดลงไป ฝ่ามือพร้อมตะปบ พร้อมออกเสียงชี้.....   เท่านั้นแหละ   ว้าววววว   

หนีไม่ทัน หลบก็ไม่ทัน  ถูกฝ่ามือมหากาฬตะปบเข้าให้แล้ว อ่ะ

กลัวแบบต้องซ่อนหัวเราะ

ซ่อนหัวเราะเพราะฉี่ราดละซี้


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 13, 21:04
ผมต้องซีเรียสหน่อย มีคนขู่จะแก้แค้น เอาจารย์ดมศรีมาเป็นตัวช่วยดีกว่า

ระหว่าง พ.ศ. 2484-2488 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นมายึดคณะเราภายในจุฬาฯ คณะเดียวเท่านั้น เราต้องย้ายไปอาศัยคณะวิศวฯ ได้อยู่ที่นึกแดงริมถนนอังรีดูนังค์ พอพ.ศ.2487-2488 พวกเรากำลังเรียนชั้นปีที่ 5 กำลังทำ THESIS อีก 3 เดือนก็จะจบแล้ว จุฬาฯ ประกาศหยุดเรียน เพราะพันธมิตรมาทิ้งระเบิดบ่อยมาก แต่พวกเราก็ยังขี่จักรยานเที่ยวกันสนุกสนาน ขี่จักรยานไปดูที่ถูกทิ้งระเบิด มีบ้านอยู่หลังหนึ่งสนามหน้าบ้านมีผ้าไหมสีต่างๆ กองเป็นหย่อมๆ นั้นคือ หางของลูกระเบิดเพลิงที่ไม่ระเบิด ตัวลูกระเบิดจมไปในดิน หางของมันก็เลยกองอยู่บนพื้นสนาม สีต่างๆสวยดีเหมือนกัน

เครื่องบินที่มาบอมบ์กรุงเทพเป็นแบบนี้


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 13, 21:27
ในสมัยสงครามนั้นน้ำมันแพงมาก จึงมีรถ 3 ล้อใช้คนปั่น นั่งได้ 2 คน วางของได้นิดหน่อย ราคาค่าโดยสารพอสมควร มาเป็นรถโดยสารคล้ายแท็กซี่สมัยนี้

สมัยก่อนรถสามล้อ เราก็มีรถลากหรือที่เราเรียกกันว่า รถเจ๊ก เพราะเป็นรถลาก 2 ล้อมีคนจีนเป็นคนลาก เวลาเรานั่งรถเจ๊กรู้สึกสงสารคนลากจัง คิดว่าเขาคงใช้แรงหนักมาก บางทีขณะที่เขาลากไป เขาคงหิวมากแวะข้างทางที่มีร้านข้าวต้มซื้อข้าวต้มเปล่า 1 ฃามใส่ซีอิ๊วมาหน่อย 1 สตางค์ ซดเพียง 1-2 นาที ก็ลากไป (น่าสงสารมากนะ) เมื่อมีรถ 3 ล้อ เข้ามามากขึ้น รถเจ๊กก็ค่อยๆ หายไป


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ก.ย. 13, 21:44
ขณะทีเกิดสงครามนั้น บ้านที่ศาลาแพงอยู่ใกล้สวนลุมพินี ซึ่งพวกทหารญี่ปุ่นตั้งไฟฉาย, ปตอ., และปืนกล แยะเลย เราเลยต้องสร้างที่หลบภัยในบ้านเพื่อให้คนในบ้านใช้หลบภัย และให้ความรู้สึกที่ดีและอบอุ่นแก่คนเหล่านั้นเมื่อเวลา “หวอ” มา คนก็ลงหลุมกันหมด ดูเครื่องบินมันมา ไฟฉายหลายดวงก็ส่องไฟจับที่เครื่องบินเป็นจุดเดียว เห็นเครื่องบินสว่างด้วยลำไฟฉายเหมือนกับเครื่องบิน บินลอยอยู่กลางแสงไฟฉาย สวยมาก แล้ว ปตอ. และปืนกลของเราก็ยิงขึ้นไปเห็นเป็นจุดแดงๆ เป็นสายขึ้นไปด้วยปืนกล และลูกแตกของ ปตอ. ก็ระเบิกใกล้ๆ เครื่องบินสีเงินนั้น แล้วมันก็ยิงปืนกลเป็นสาย จุดแดงๆ ลงมาและทิ้งระเบิดลงมาด้วย มองเห็นสวยงามและสนุกมาก ผมก็พากย์ให้คนในหลุมฟังด้วยการเห็นครั้งแรกและคงจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว ตลอดเวลาสงครามนั้น พวกพันธมิตรมุ่งทำลาย “ไปรษณีย์กลางบางรัก” ซึ่งที่ตั้งอยู่ริมถนนเจริญกรุง ระหว่างถนนสุริยวงศ์ และถนนสีพระยา เครื่องบินมาโจมตีจุดนี้มากที่สุด แต่ทำอะไรไม่ได้เลยจนสิ้นสงคราม “คงกะพันชาตรี” ร้าน “สแตนดาร์ชู” เป็นตึกแถวข้างหน้า “ไปรษณีย์กลาง” ระเบิดพังไปเลย ลูกที่สองลงห่างบันไดหน้าตึก “ไปรษณีย์กลาง” 2 เมตรเท่านั้น แต่ไม่ระเบิด ลูกที่ 3 “ม่วงแค” ที่อยู่หลังตึกนั้นก็ระเบิด เป็นเรื่องเหลือเชื่อจริง ๆ อยู่ได้คงทนตลอดเวลาของสงคราม

เรื่องที่ที่ทำการไปรษณีย์กลางบางรักแคล้วคลาดจากระเบิดนี่ พอเครื่องบินสัมพันธมิตรผ่านไปแล้ว มีผู้ยืนยันนั่งยันนอนยันว่าตนเห็นกับตา พญาครุฑที่หัวมุมตึก ปฏิมากรรมฝีมือศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีนั้น ได้แสดงสปิริตในความรักชาติอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง พุ่งบินออกมาบินปัดลูกระเบิดไปตกที่อื่นหมด คนฟังก็ฟังอ้าปากหวอไปตามๆกัน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ย. 13, 22:09
เรื่องครุฑ  เคยได้ยินคล้ายๆกัน ต่างกันในรายละเอียดค่ะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ก.ย. 13, 22:24
เมื่อไปทำงานก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี มีตัวอย่างเช่น เมื่อผมไปรับงานสร้างโรงไฟฟ้าที่พิษณุโลก พอจะส่งงานก็กลัวว่าจะต้องมีค่าน้ำร้อนน้ำชา แต่เปล่าเลย เพราะนายช่างใหญ่ก็วิศวฯจุฬาฯ ข้าหลวง(เดี๋ยวนี้เรียกว่าท่านผู้ว่าราชการจังหวัด)ก็จุฬาฯ เลยเซ็นรับรองงานได้โดยง่าย จุฬาฯ ด้วยกันเชื่อใจกัน ขอขอบพระคุณพี่ๆ ด้วยครับ

ทั่วราชอาณาจักรนี้เราเป็นหลักอยู่แต่ละส่วน
ชาวจุฬาฯ จึงควรรู้ค่าแห่งเกียรติภูมิจุฬาฯ
พร้อมกันอภิรักษ์ พิทักษ์ให้อยู่คู่ฟ้า
วุฒิศักดิ์จุฬาฯ วัฒนาอยู่นิจนิรันดร์


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5728.0;attach=42352;image)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ย. 13, 22:31
^
ชอบเพลงนี้ 
คนแต่งเนื้อร้อง  หาคำศัพท์ได้อลังการมาก


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 07:22
อ้างถึง
เรื่องครุฑ  เคยได้ยินคล้ายๆกัน ต่างกันในรายละเอียดค่ะ
ไม่เล่าสักหน่อยหรือครับ ต่างกันอย่างไร


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 08 ก.ย. 13, 08:02
ไม่เล่าสักหน่อยหรือครับ ต่างกันอย่างไร
[/quote]

เท่าที่ทราบทางฝั่งขะโน้นเขาปัดระเบิดไม่ให้มาถูกประตูน้ำภาษีเจริญ
ส่วนที่ว่าเขาปัดลูกระเบิดปรมาณูนี่คงไม่ใช่ เพราะตอนนั้นอเมริกายังอยู่ในระหว่างการทดสอบระเบิดอยู่ในทะเลทรายที่ประเทศของเขา

 ;D   :)



กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 08:43
นั่นแม่ชีธรรมกายกระมั้งครับลุงไก่ ฝั่งโน้นแม่ชี ฝั่งนี้ครุฑ แล้วมีที่ไหนอีกบ้างล่ะที่มีผู้เห็นอาวุธลับ Patriot missile ของประเทศไทย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 08:45
^
จะเข้ามาเล่าต่อเมื่อไหร่ก็เชิญตามสะดวกนะครับ

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จเรียบร้อย หลังจากพระราชทานรัฐธรรมนูญแล้ว ปี๒๔๗๒ คณะราษฎร์ก็จัดงานฉลองขึ้นเป็นปีแรกในบริเวณพระราชอุทยานสราญรมย์  จนถึงปี๒๔๘๒ ส่วนของจังหวัดพระนครได้ย้ายสถานที่ไปจัดกัน ณ สวนอัมพร งานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นงานฤดูหนาวที่จัดกันทุกจังหวัดตอนต้นเดือนธันวาคมของทุกปี ถือเป็นงานใหญ่ที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณเต็มที่ให้กรมกองทั้งหลายไปออกร้านเพื่อให้ความรู้ความบันเทิงแก่ประชาชน ซึ่งต่างก็เตรียมเสื้อกันหนาวไว้จะใส่ประกวดประขันกันในงานนั้น
ในปี๒๔๘๓ ขณะที่คนไทยกำลังสนุกสนานเพลิดเพลินกับงานฉลองรัฐธรรมนูญ กองทัพลูกพระอาทิตย์ก็ยกพลขึ้นบกพร้อมกันทั่วทั้งแหลมทอง หวังอาศัยประเทศไทยเป็นทางผ่านไปรบกับอังกฤษในมลายูและสิงคโปร์ สงครามโลกครั้งที่สองจึงได้เปิดยุทธภูมิใหม่ขึ้นในอุษาคเนย์นับตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๓ นั้น


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ก.ย. 13, 08:50
เรื่องที่ที่ทำการไปรษณีย์กลางบางรักแคล้วคลาดจากระเบิดนี่ พอเครื่องบินสัมพันธมิตรผ่านไปแล้ว มีผู้ยืนยันนั่งยันนอนยันว่าตนเห็นกับตา พญาครุฑที่หัวมุมตึก ปฏิมากรรมฝีมือศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีนั้น ได้แสดงสปิริตในความรักชาติอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง พุ่งบินออกมาบินปัดลูกระเบิดไปตกที่อื่นหมด คนฟังก็ฟังอ้าปากหวอไปตามๆกัน

มีผู้ถามนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ในการแสดงปาฐกถา เมื่อวันที่ ๒๓ พ.ย. ๒๕๐๖ ว่า ในสมัยที่มีการ "คอรัปชัน" การก่อสร้าง ที่เรียกกันล้อ ๆ ว่า "กินหินกินปูน" คือ ขณะที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปรากฏว่ากรุงเทพฯ โดนทิ้งระเบิดสถานที่สำคัญหลายแห่ง แต่กรมไปรษณีย์โทรเลข ที่เรียกกันว่า ไปรษณีย์กลาง ซึ่งเป็นตึกใหญ่โตสูงตระหง่านที่สุดในย่านสุรวงศ์สี่พระยานั้นฝ่ายสัมพันธ มิตรจงใจทิ้งระเบิดลงมาหลายครั้ง แต่ไม่ถูกเลย พลาดไปบ้าง ระเบิดด้านบ้าง ลูกหนึ่งตกลงไปฝังด้านหน้าก็ปรากฏว่าด้านไม่ระเบิด ถึงบางคนเล่าลือว่ามีคนเห็นครุฑ ๒ ตัวหน้าตึกบินขึ้นไปปัดระเบิด

จึงมีผู้ไปถามนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างขึ้น (สมัยเป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ปี ๒๔๗๘–๒๔๘๔) ว่าลงของดีอะไรไว้หรือไม่อย่างไร นายควงฯ ก็ตอบ (ลงในหนังสือพิมพ์) ว่า

"มีซีคุณของดี เมื่อเวลาสร้างตึกนี้ ไม่มีใครไปกินกำไรสักสตางค์ แล้วนั่นไม่ใช่ของดีหรือ"

จาก "เวียงวัง" ของจุลลดา ภักดีภูมินทร์ นิตยสารสกุลไทยรายสัปดาห์

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley16.png)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 09:15
อ๋อ เรื่องนี้เอง
นึกว่าเป็นเรื่องอภินิหารพญาครุฑ ที่แท้อภินิหารนายควงนี่เอง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ย. 13, 09:25
อ้างถึง
ไม่เล่าสักหน่อยหรือครับ ต่างกันอย่างไร
ที่ได้ยินมาคือระหว่างสงคราม  ครุฑกระพือปึก ปัดระเบิดไปตกที่อื่นค่ะ
พญาครุฑกวักปีกทีหนึ่ง เคลื่อนกายไปได้ไกล ๑ โยชน์ (๔๐๐ เส้น)  แสดงว่ากำลังปีกแรงมาก  พอจะปัดระเบิดให้เฉไปพ้นตึกไปรษณีย์ได้


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 09:30
อ้อ ไม่ได้บินนะครับ แค่กระพือปีกเฉยๆ อื้อฮือแฮะ

"ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" เร็วๆ ท่องไว้ ๆ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 09:33
เมื่อไม่มีที่จะเรียนแล้ว ผมไม่อยากให้เวลาที่ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ผมจึงสมัครเข้าเป็นนายทหารเรือ เพื่อรับใช้ชาติยามที่ชาติต้องการ และตามที่อยากจะเป็นตั้งแต่เมื่อจบ ม.8 แล้ว ผมก็ได้เป็นว่าที่นายเรือตรีประจำการที่กรมอู่ทหารเรือ โดยผลจากจบการเรียนวิชาทหารและได้อนุปริญญาแล้วก็ได้เป็นนายทหารเลย(ประโยชน์จากการเรียนวิชายุวชนนายทหาร) ได้รับเงินเดือน 600 กว่าบาท อู้ฟู่มาก ในขณะนั้นค่าครองชีพก็สูงขึ้นเหมือนกัน เพราะสงครามทำให้ของใช้ขาดแคลน ราคาสูงขึ้นเรื่อยๆไม่มีลง สูงมาจนถึงทุกวันนี้ นี่แหละผลของสงคราม

ขณะที่ผมเป็นนายทหารเรืออยู่นั้น ต้องไปคุมงานก่อสร้าง ร.ร. นายเรือที่ “เกล็ดแก้ว” สถานที่ก่อสร้างสวยงามมาก เป็นอ่าวสวยและมีเกาะเป็ดอยู่ข้างหน้า ตอนกลางวันมีร้านกาแฟอยู่ร้านเดียว กลางคืนไม่มีร้านอาหารเลย ผมต้องไปอาศัยอยู่กับพวกหมอโสดของ ร.พ. ทหารเรือที่สัตหีบ ห่างจาก “เกล็ดแก้ว” 11 กิโลเมตร ตอนเช้าจะไปทำงานมีอาหารเช้าคือ ข้าว1หม้อ ไข่ดาวเท่าจำนวนนายทหารที่มีอยู่ น้ำปลาพริกขี้หนูชามใหญ่ นี่แหละอาหารเช้าของนายทหารเรือที่พวกเราอยู่ ต่อมาก็มีรถขนนักโทษทหารไปทำงานที่ “เกล็ดแก้ว” มารับผมไปด้วย เลิกงานก็พามาส่ง
ตอนเย็นตามบ้านพักนายทหารโดยมากจะมีการดื่มกันอยู่ที่เฉลียงหน้าบ้าน นายทหารคนใดผ่านมาก็เรียกมาร่วม “กรุ้บ” กันด้วยทุกคน นี่แหละน้ำใจของทหารเรือ เหล้าในเวลาสงครามนั้นหายาก มีเหล้ากล้วยขวดละ 1บาท (เป็นเหล้าที่ชาวบ้านเอากล้วยมาทำกันเอง) อย่างดีหน่อยก็ยาดองกระดูกเสือ กินกันไปตามแกนและเพื่อสังสรรค์ตามคำเชิญของนายทหารเหล่านี้ ทำให้เรารู้จักสนิทสนมกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่มากขึ้นด้วย

ก่อนสงครามสงบนั้น กองทหารญี่ปุ่นฮึ่มๆกับรัฐบาลไทย กลัวไทยจะแปรพักตร์ เพราะมีข่าวของเสรีไทย ฉะนั้นทางกองทัพเรือที่สัตหีบก็เตรียมสู้ตายที่นั่นถ้าทหารญี่ปุ่นบุกไทย เลยตั้งป้อมปืนใหญ่และปืนกลหลายแห่งตามข้างถนนก่อนที่ญี่ปุ่นจะมาถึงสัตหีบ เดชะบุญสงครามจบไปด้วยดี(โล่งอกไปที)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 11:17
ถึงเรื่องสำคัญทันยุคสมัยเจี๊ยบของคุณทวด คุณเหลนทั้งหลายโปรดอ่าน

ในเวลาสงครามนั้นน้ำมันเบนซิน ตามปั๊มมีการปันส่วนให้เพียงเดือนละ 10 ลิตร (ราคาจำไม่ได้แน่ดูเหมือนลิตรละ 2-3 บาทเท่านั้น) แต่ราคาในตลาดมืด 20 ลิตรต่อ 300 บาท ฉะนั้นคนส่วนมากจึงขี่จักรยาน นายทหารก็มีขี่จักรยานเหมือนกัน แต่รถเมล์ไทยประดิษฐ์คิดทำแก๊สจากถ่านหุงข้าวนี่แหละเทเข้าไปในถังกลมๆ สูงราว 1 เมตร แล้วก็หมุนที่มีมือจับ สักครู่รถก็วิ่งได้ คนไทยช่างคิดการดัดแปลงแก้ไขปัญหาในเวลาวิกฤตดีเหลือเกิน และยังมีอีกที่เอาน้ำยางพารามากลั่นเป็นน้ำมันแทนน้ำมันเบนซินได้ คนไทยเก่งจริงๆ

เรื่องทำแก็สจากถ่านหุงข้าว เรียกว่าgasify เดี๋ยวนี้ยังทำกันอยู่บ้างแต่ไม่ถึงกับมาฉุดเครื่องยนต์รถเมล์ ส่วนการนำน้ำยางพารามากลั่นเป็นน้ำมันในสมัยสงครามนี่ คุณ ravio แควนเก่าของผมสมัยอยู่พันทิปเขียนไว้ในบล็อก ผมโยงสายอากาศไว้ให้แล้ว ใครสนใจก็เข้าไปคลิ๊กอ่านได้ทั้งฝ่ายม๊อบและฝ่ายปราบม๊อบ

http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=ravio&month=06-2011&date=20&group=6&gblog=58

ไม่ทราบว่าคุณ ravio ใช้ชื่อใดในเรือนไทยหรือเปล่า หรือเป็นเสือซุ่มประเภทอ่านเฉยๆ ไม่เห็นชื่อคุณนานแล้ว เลิกเล่นกระทู้ไปหรือยัง
คิดถึง ๆ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 11:42
เมื่อสงครามสงบลง ผมก็ลางานไปเรียนต่อที่คณะ ขณะมาเรียนที่จุฬานั้นผมต้องแต่งเครื่องแบบนายเรือตรี(จะแต่งยุวชนไม่ได้เพราะผมเป็นนายทหารแล้ว)

ช่วงหลังสงคราม ดูเหมือนจะมีรุ่นพี่ของจารย์ดมศรี เป็นนายทหารเรือที่กองทัพส่งมาเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์อีกหนึ่งท่าน มาเรียนต่อให้จบปริญญาด้วย คือนายเรือตรีสมหมาย ภิรมย์ ซึ่งน่าจะเป็นบุุคคลในภาพซึ่งผมเจอจากหนังสือเล่มอื่น

ท่านที่ผมกล่าวถึงนี้ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อตามรัฐนิยม รับราชการเป็นสถาปนิกทหารเรือจนใกล้เกษียณ แล้วจึงย้ายมาเป็นคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นอธิบดีกรมศิลปากรจนเกษียณอายุราชการ  ชื่อ ยศ และตำแหน่งสุดท้ายของท่านคือ ศาสตราจารย์ พลเรือตรีสมภพ ภิรมย์ ราชบัณฑิตสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 11:49
ส่วนจารย์ดมศรีนั้น

ในวันหนึ่งขณะที่ผมทำThesisอยู่ ท่านเจ้าคุณ(พระยาประกิตกลศาสตร์ คณบดีคณะสถาปัตยฯ)มาพูดกับผมว่า “ดม มาช่วยกันสอนหน่อย” เมื่ออาจารย์ต้องการเช่นนั้น ผมจึงต้องมาเป็นอาจารย์ที่คณะสถาปัตย์ฯหลังจากที่ผมจบและได่รับพระราชทานปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โดยแต่งเครื่องแบบขาวเต็มยศของนายเรือคาดกระบี่ด้วย ทับเสื้อครุยปริญญา ในเวลานั้นรู้สึกภูมิใจและโก้เก๋มาก

รูปนี้มีค่าทางประวัติศาสตร์ ผมไม่เคยเห็นภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่๘ ขณะพระราชทานปริญญาบัตรให้บัณฑิตจุฬาผู้สำเร็จการศึกษามาก่อน เพราะเสด็จพระราชดำเนินมาเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในรัชสมัยของพระองค์


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 11:57
จากวิกี้

ในระหว่างเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 นั้น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลได้เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตร ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกในรัชสมัย และมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นการพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งสุดท้ายในรัชสมัย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 12:09
ต่อไปจากนี้ไป ท่านก็เขียนเล่าเกี่ยวกับเรื่องภายในวงการสถาปนิก และของคณะสถาปัตย์ที่ท่านเป็นอาจารย์จนเกษียณ ผมเห็นว่าแค่ที่ลงมาแล้วก็น่าจะพอเพียงต่อการที่ท่านๆจะรู้จักจารย์ดมศรีของผม ขอลงภาพเก็บตกในจุฬาอีกนิดหน่อย แล้วเราจะไปต่อเรื่องถนนสุขุมวิทที่คุณทวดเคยเห็นกัน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 12:23
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และบรรดาสถาปนิก ถืออาจารย์นารถ โพธิประสาท เป็นบุพพการีผู้ก่อให้เกิดการเรียนการสอนวิชาสถาปัตยกรรมขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ท่านผู้นี้จบมาจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ แต่น่าเสียดาย หลังจากที่ภาควิชาสามารถแยกออกจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มาเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้ ท่านก็ล้มเจ็บและถึงแก่กรรม อาจารย์ศิววงศ์ กุญชร ณ อยุธยา สถาปนิกจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้สืบต่อการทำงานของท่าน จนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เป็นปึกแผ่น

ทั้งสองท่านที่กล่าวมา ไม่ได้เป็นคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ทั้งคู่


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ย. 13, 12:28
ศาสตราจารย์ พลเรือตรีสมภพ ภิรมย์ เมื่อครั้งเป็นบัณฑิตหนุ่มของจุฬาฯ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 12:37
ท่านไม่ยักกะแต่งเครื่องแบบนายทหารเรือ สวมเสือครุยทับแฮะ สงสัยไม่ค่อยจะชอบห้อยกระบี่เหมือนจารย์ดมศรี


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 12:41
กิจกรรมหลักของมหาวิทยาลัยในสมัยคุณทวดและปู่ คือเล่นกิฬาและเชียรกิฬากันเป็นบ้าเป็นหลัง สนุกซะเหลือเกิน หลายคนสนุกเพลินก็ต้องรีไทร์ไปเพราะอาจารย์ท่านไม่สนุกด้วย ปู่เองก็เสียวๆจะไม่รอดทุกปี

สงสัยว่าทำไมจารย์ดมศรีจึงเน้นเอารูปกองเชียรคณะบัญชีมาลงน้อ สงสัยอาจารย์กับลูกศิษย์จะมีรสนิยมเดียวกันตรงนี้


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 12:53
กองเชียรถาปัด ชอบเล่นเป็นอินเดียนแดง ผู้ร้ายผู้น่าเห็นใจในหนังคาวบอยฮอลิวู๊ดที่เข้ามาตีตลาดเมืองไทย จนเด็กๆชอบเล่นเป็นคาวบอยสู้กับอินเดียนแดงเหมือนเด็กสมัยนี้เล่นเป็นไอ้มดเอ็กซ์ ดูซิครับ ทุ่มแรงทุ่มทุนมหาศาลตั้งกองเชียรไปให้กำลังใจนักกิฬา ทั้งๆที่รู้ว่าแพ้แน่ เพราะเป็นคณะเล็กคนน้อย หาตัวนักกิฬาที่จะไปสู้กับเขาได้ลำบาก


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 13:08
จบเป็นสถาปนิกกันแล้ว ยังเล่นอินเดียนแดงอยู่เลย

วัฒนธรรมนี้ยังคงอยู่แม้จะเปลี่ยนรูปแบบไปบ้าง รุ่นผมนั้นตอนรับน้องใหม่รุ่นพี่จะให้แต่งเป็นอินเดียนแดง มาให้พี่ๆทั้งที่ไปจบแล้วและยังไม่จบpaintสีที่ใบหน้าและลำตัว เรียกพิธีกรรมนี้ว่า "ศีลจุ่ม" เมื่อทุกคนแสนจะสวยงามแล้ว ก็จะออกไปแห่เชือก คือช่วยกันแบกเชือกท่อนเท่าแขนยาวหลายสิบเมตรไปรอบถนนภายในจุฬา แล้วมาข้ามคลองหน้าคณะที่สมัยจารย์ดมศรีเรียกคลองไผ่สิงโต แต่สมัยผมเป็นแค่บ่อไปแล้ว รุ่นพี่จะช่วยลากเชือกขึ้นฝั่งอีกด้านหนึ่ง

การลงน้ำตรงนี้เป็นกุศโลบายที่ดี เพราะสีจะถูกล้างออกไปเยอะ หลังจากนั้นก็จะเข้าไปในตึก รุ่นพี่จะช่วยกันเทน้ำเย็นเจี๊ยบลงมาจากชั้นสอง สะใจเหมือนเล่นน้ำตกในฮอกไกโด หมดน้ำเย็นก็ต่อด้วยน้ำที่ฉีดโดยสายยางให้ฟอกสบู่ชำระล้างร่างกายจนสะอาด แล้วไปแต่งตัวสวมเครื่องแบบพระราชทานมาทานอาหารค่ำแบบหรูกับครูบาอาจารย์และพี่ๆ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 13:26
อาหารค่ำ สมัยผมเลี้ยงโต๊ะจีนกันเลยนะนั่น น้องใหม่จะถูกจับแยกไปนั่งกับรุ่นพี่ที่แต่งตัวอย่างหล่อกันมาเหมือนกัน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 13:51
ผมไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมรับน้องมานานแสนนาน พอเขียนถึงตรงนี้เลยต้องไปแอบดูในเฟสบุ๊คเค้าหน่อยว่าเค้าทำอย่างไร

มันก็เปลี่ยนไปละครับ แต่รากเหง้าวัฒนธรรมศีลจุ่มยังอยู่ อินเดียนแดงคนสมัยนี้ไม่รู้จักแล้วก็ให้มันผ่านไป แห่เชือกยังอยู่แต่จุฬาถมสระหน้าคณะหมดแล้ว หมดที่จะเล่นข้ามฟากเลยต้องเอารถดับเพลิงมาล้างสีให้น้องใหม่


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 13:56
ตรงที่รุ่นผมมายืนให้รุ่นพี่ทำน้ำตกมาล้างตัวให้นั้น เค้าเปลี่ยนมาให้น้องใหม่ยืนรับใบจามจุรีที่รุ่นพี่ขึ้นไปยืนโปรยปรายมาให้ ก็คงซาบซึ้งดีครับ ตอนนี้


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 14:08
พอละครับเรื่องถาปัด เดี๋ยวนัดเจอกันที่หัวถนนสุขุมวิทนะครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 08 ก.ย. 13, 17:52
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และบรรดาสถาปนิก ถืออาจารย์นารถ โพธิประสาท เป็นบุพพการีผู้ก่อให้เกิดการเรียนการสอนวิชาสถาปัตยกรรมขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ท่านผู้นี้จบมาจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ แต่น่าเสียดาย หลังจากที่ภาควิชาสามารถแยกออกจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มาเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้ ท่านก็ล้มเจ็บและถึงแก่กรรม อาจารย์ศิววงศ์ กุญชร ณ อยุธยา สถาปนิกจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้สืบต่อการทำงานของท่าน จนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เป็นปึกแผ่น

ทั้งสองท่านที่กล่าวมา ไม่ได้เป็นคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ทั้งคู่


อ่านประวัติเรื่องราวของคณะวิศวกรรมศาสตร์มาหลายเวอร์ชั่น ไม่เคยมีการกล่าวถึงการที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เคยเป็นแผนกวิชาในสังกัดเลย จนต้องสอบถามคุณวิกกี้ ก็ได้รับคำอธิบายที่เป็นความรู้ใหม่ขึ้นมา

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C_%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%AC%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%A2

ต้องไปอ่านพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๘๖ ต่ออีก

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2486/A/007/198.PDF

ตอนนั้นคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ ยังเรียนอยู่ที่คณะวิศวะฯ ท่านก็ไม่เคยเอ่ยถึงไว้ในงานเขียนของท่านเลย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 08 ก.ย. 13, 18:11
เสาตะเกียบ หน้าตาแบบนี้หรือเปล่าคะ

นึกถึงคำถามที่อาจารย์ ฯ ฝากไว้ .. วันนี้นั่งเรือข้ามฟากจากฝั่งพระสมุทรเจดีย์มาทางฟากปากน้ำ
ได้เห็นเสาตะเกียบพอดีที่ท่าเรือพระสมุทรเจดีย์ จึงนำมาฝากอาจารย์ฯ ครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ก.ย. 13, 18:59
ตรงที่รุ่นผมมายืนให้รุ่นพี่ทำน้ำตกมาล้างตัวให้นั้น เค้าเปลี่ยนมาให้น้องใหม่ยืนรับใบจามจุรีที่รุ่นพี่ขึ้นไปยืนโปรยปรายมาให้ ก็คงซาบซึ้งดีครับ ตอนนี้

พร้อมกันในวันนี้เอง    ร้องเพลงครื้นเครงเต็มที่
หมายเอาจามจุรี        เป็นเกียรติเป็นศรีของชาวจุฬาฯ


(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 08 ก.ย. 13, 19:16
ตรงที่รุ่นผมมายืนให้รุ่นพี่ทำน้ำตกมาล้างตัวให้นั้น เค้าเปลี่ยนมาให้น้องใหม่ยืนรับใบจามจุรีที่รุ่นพี่ขึ้นไปยืนโปรยปรายมาให้ ก็คงซาบซึ้งดีครับ ตอนนี้

พร้อมกันในวันนี้เอง    ร้องเพลงครื้นเครงเต็มที่
หมายเอาจามจุรี        เป็นเกียรติเป็นศรีของชาวจุฬาฯ


(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)

http://www.youtube.com/watch?v=qliKlX6WcJs


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ย. 13, 19:33
ยังไม่ก้าวเท้าออกจากจุฬาสักที  เลยเอา MV เพลงจามจุรี ศรีจุฬามาฝาก
พระเอกอยู่ถาปัด แต่นางเอกอยู่คณะไหนยังดูไม่ออก  สมมุติว่าอยู่บัญชีก็แล้วกันค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=DUHhLuuQdUk


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 08 ก.ย. 13, 19:39
ในชีวิตจริงของศิษย์เก่าสถาปัตย์คนหนึ่ง คือ ซูโม่กิ๊ก กิจ กิจเจริญ นางเอกตัวจริงเป็นสาวคณะรัฐศาสตร์ครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 20:50
ดูMVของท่านอาจารย์เทาชมพูแล้วผมมึนจริงๆ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ย. 13, 20:57
ดูแล้วไม่เข้าใจเรื่อง หรือว่ารายละเอียดมันไม่สมจริงคะ?


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 21:19
ทั้งสองอย่างเลยครับ ช่วยเล่าเรื่องหน่อยก็ดี ตัวละครมันเยอะไปหมดหน้าตาก็เหมือนๆกัน

นิสิตปีหนึ่งเมื่อเข้าเรียนใหม่ๆ อาจารย์จะสอนเรื่องโครงสร้างของอาคาร แล้วแต่ละคนต้องทำหุ่นจำลองโครงสร้างบ้านไม้ชั้นเดียวอย่างที่เห็นในMVน่ะครับ ความจริงท่านให้ทำในstudio ทำกันไปถามกันไป ไม่มีใครกล้าคาบเอาไปอวดสาวที่ไหนให้บรรลัยเหมือนในหนัง เข้าเรียนใหม่ๆอาจารย์ท่านเข้มมาก ขู่ทุกวันเรื่องรีพีทรีไทร์ ไม่มีใครกล้าไปทำขี้หลีที่ไหน

ภาพที่เอามาให้ดูนี้เป็นเพื่อนร่วมรุ่นของผม คนซ้ายคือพิเชต ศุภกิจจานุสันต์ เดี๋ยวนี้เป็นประธานบริษัทกลุ่มบริษัท L.P.N. ที่ทำคอนโดระดับกลางขายระเบิดเถิดเทิงทั่วประเทศ เด็กๆหน้าตาตี๋ๆเดี๋ยวนี้หน้าตาแบบเจ้าสัว คนกลางไปหากินต่างประเทศ คนริมขวาคือนิธิ สถาปิตานนท์ ประธานกลุ่มบริษัทA49 ศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรม เด็กๆผอมดำ เดี๋ยวนี้อ้วนดำล่ำบึ๊ดเพราะมีอันจะกิน ภูมิฐานสมเป็นสถาปนิกใหญ่ระดับอาเซียน

ที่เอามาแขวนคอน่ะ ไม่ใช่เชือผูกรองเท้านะครับ เนคไท แฟชั่นสมัยนั้นนิยมเล็กๆอย่างนี้


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ย. 13, 21:44
รูปขาวดำสามหนุ่มยังขาดสถาปนิกดีเด่นไปอีกคน     ;D

MV ที่คุณนวรัตนไม่เข้าใจ  ดิฉันก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน  นึกว่าจะอธิบายให้ฟังได้   เห็นพระเอกในเรื่องเป็นหนุ่มถาปัด
ย้อนกลับไปดูอีก 2 รอบ    พอปะติดปะต่อได้ว่าตอนแรกพระเอกชอบสาวคนหนึ่ง แต่เธอมีแฟนแล้วเป็นนิสิตด้วยกัน ไม่รู้คณะไหน   ส่วนสาวอีกคนที่เป็นเพื่อน  ตอนแรกทำท่าเหมือนจะเป็นนางรอง   แอบชอบพระเอกฝ่ายเดียว  ตอนจบเลื่อนขึ้นเป็นนางเอกแทน
ส่วนพระเอกนั้นซวยซ้ำซ้อน ไหนบ้านจำลองจะพังเพราะความซุ่มซ่ามของนางรอง    ไหนงานสเกตช์แบบจะถูกโอเลี้ยงหก  เพราะความซุ่มซ่ามของหญิงสาวที่ไม่รู้ว่าเข้าไปนั่งเฝ้าหนุ่มอยู่ได้ยังไงในตึกเรียนของเขา  กงการอะไรก็ไม่รู้

ตอนจบดูไม่ออก  คนอื่นๆจบเป็นบัณฑิตกันหมดแล้ว  พระเอกไม่จบเพราะโอเลี้ยงหกใส่งานวิทยานิพนธ์หรืออะไรก็ไม่แน่ใจ    เห็นไปยืนถ่ายรูปกับเหล่าบัณฑิตหน้าตาเฉย     แต่พวกสถาปัตย์เรียน 5 ปี  คณะอื่นอย่างอักษร บัญชี รัฐศาสาตร์หรือวิศวะเรียนแค่ 4 ปี    ถ้าเข้าเรียนพร้อมกัน  ถึงโอเลี้ยงไม่หก   พระเอกก็ไม่จบพร้อมเพื่อนต่างคณะอยู่แล้ว

ลักษณะหนึ่งของละครย้อนยุคไทยคือถ้าไม่ใช่สมัยโบราณชนิดนุ่งโจงกระเบนห่มผ้าแถบ    ก็จะลงที่ยุคเดียวคือนุ่งกระโปรงบานแล้วสวมหมวกปีกกว้าง     ทั้งๆในความเป็นจริง กระโปรงนิวลุคของสาวๆที่ใช้ผ้าสี่ห้าเมตรเพิ่งเข้ามาเป็นแฟชั่นหลังสงครามโลก     เป็นยุคที่จอมพลป.พ้นอำนาจไปแล้ว จึงไม่มีใครสวมหมวกอย่างสมัยสงครามอีก
ในเรื่องเข้าใจว่าสมมุติเป็นยุคสิ้นสงครามโลกใหม่ๆ ดูจากทรงผมของสาวๆ      นิสิตหญิงสมัยนั้นไม่จับมือถือแขนเพื่อนชายในมหาวิทยาลัยหรือคณะ   และไม่ไปจุ้นจ้านที่คณะของเขาด้วย     



กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 21:47
จุ้นจ้านกันนักก็ปล่อยไปตามทางของเค้าก็แล้วกัน

ข้อความโดย: ลุงไก่
อ้างถึง
อ่านประวัติเรื่องราวของคณะวิศวกรรมศาสตร์มาหลายเวอร์ชั่น ไม่เคยมีการกล่าวถึงการที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เคยเป็นแผนกวิชาในสังกัดเลย จนต้องสอบถามคุณวิกกี้ ก็ได้รับคำอธิบายที่เป็นความรู้ใหม่ขึ้นมา

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมเริ่มขึ้นที่โรงเรียนเพาะช่าง โดยอาจารย์นารถ โพธิประสาทผู้ได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษกลับมารับราชการสอนและได้เป็นผู้วางหลักสูตรสถาปัตยกรรมขั้นทดลองเมื่อ พ.ศ. 2473 รับนักเรียนเพาะช่างที่เรียนวิชาวาดเขียนเข้าเรียน 2 รุ่นรวม 30 คน

การทดลองสอนปรากฏผลเป็นที่น่าพอใจ กระทรวงธรรมการจึงมีคำสั่งที่ 75/12679 ลงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2475 ให้โอนแผนกสถาปัตยกรรมของโรงเรียนเพาะช่างไปขึ้นกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อมาในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนาคณะฯ ได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศให้เป็นแผนกวิชาสังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่เนื่องลักษณะวิชาและการเรียนการสอนแตกต่างกัน มหาวิทยาลัยจึงแยกแผนกวิชาสถาปัตยกรรมเป็นแผนกอิสระหลักสูตรอนุปริญญา 3 ปี ขึ้นตรงต่อมหาวิทยาลัยและแต่งตั้งพระเจริญวิศวกรรมรักษาการณ์ในตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิสระสถาปัตยกรรมดังกล่าว

รูปปั้นท่านอาจารย์นารถ ตั้งอยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ พลเรือตรี สมภพ ภิรมย์ สมัยเป็นนายกสมาคมสถาปนิกสยามเมื่อปีพ.ศ.๒๕๑๐ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการจัดสร้าง ให้ผมเป็นเบ๊ที่เรียกตำแหน่งโก้ว่าเลขานุการคณะกรรมการ คอยวิ่งแต็ดๆๆๆประสานงานทุกเรื่อง ตั้งแต่ให้ศิษย์เพาะช่างของท่านอาจารย์นารถชื่อจิตร(ประกิต) บัวบุศย์ ศิลปินแห่งชาติ เป็นปฏิมากร  จนติดตั้งเสร็จ ระดมทุนได้มากมายเกินค่าจัดสร้างจนสามารถตั้งเป็นทุนการศึกษานารท โพธิประสาทให้เด็กสถาปัตย์ได้อีก

ในภาพจะเห็นจารย์ดมศรีเป็นผู้คล้องพวงมาลัยสักการะบุรพาจารย์ท่านนี้ในวันครบรอบ๘๐ปีของคณะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 ก.ย. 13, 21:50
อ้างถึง
รูปขาวดำสามหนุ่มยังขาดสถาปนิกดีเด่นไปอีกคน

หลายคนเลยครับ แต่พอเหอะ เดี๋ยวไปไม่ถึงสุขุมวิทตามนัด   


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ย. 13, 22:03
เอาภาพสุขุมวิทในความทรงจำ มาเซิฟๆค่ะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 09 ก.ย. 13, 00:34
เสาตะเกียบ หน้าตาแบบนี้หรือเปล่าคะ

นึกถึงคำถามที่อาจารย์ ฯ ฝากไว้ .. วันนี้นั่งเรือข้ามฟากจากฝั่งพระสมุทรเจดีย์มาทางฟากปากน้ำ
ได้เห็นเสาตะเกียบพอดีที่ท่าเรือพระสมุทรเจดีย์ จึงนำมาฝากอาจารย์ฯ ครับ

คุณลุงไก่ลงทุนไกลเลยนะครับ   แม่น้ำตรงหน้าเมืองสมุทรปราการกว้างน่าดู ประมาณ 1 กม.แต่พอพ้นหน้าน้ำหลากไปแล้ว วันที่น้ำแห้งสุดนี่ถ้ามองจากทางฝั่งเจดีย์ จะเห็นหาดเลนยื่นออกไปไกลจนเหมือนว่าจดฝั่งตรงข้าม ใจหายเลย
            เห็นว่ามีโครงการจะทำสะพานแขวน(เฉพาะคนเดิน)ข้ามจากฝั่งเจดีย์ไปเกาะป้อมผีเสื้อสมุทรมาสัก 2 ปีแล้ว จนต้องย้ายท่าเรือข้ามฟากเขยิบไปจากที่เดิม ตามรูปของคุณลุงไก่ก็ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเชื่อมสองฝั่งนั้นเลย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 09 ก.ย. 13, 06:52
 แม่น้ำตรงหน้าเมืองสมุทรปราการกว้างน่าดู ประมาณ 1 กม.แต่พอพ้นหน้าน้ำหลากไปแล้ว วันที่น้ำแห้งสุดนี่ถ้ามองจากทางฝั่งเจดีย์ จะเห็นหาดเลนยื่นออกไปไกลจนเหมือนว่าจดฝั่งตรงข้าม ใจหายเลย

ภาพแรก - บริเวณนี้หละครับที่คุณ Jalito เอ่ยถึง ยามน้ำลดจะเห็นชายเลนกินไปถึงครึ่งแม่น้ำ บรรดานกน้ำจะพากันมาเดินย่ำเลนหาอาหารกัน ร่องน้ำลึกสำหรับการเดินเรือจะอยู่ทางด้านฝั่งซ้ายของแม่น้ำหรือทางด้านทิศตะวันออก

ภาพที่สอง - ที่ผมวงกลมไว้ในภาพ อาคารที่เห็นลิบ ๆ ฝั่งตรงข้าม คืออาคารโรงเรียนนายเรือครับ ได้ข่าวมาว่าทางกองทัพเรือมีแผนจะย้ายไปอยู่ที่สัตหีบ ชลบุรี ในพื่นที่ของ สอ รฝ ด้านหนึ่งติดทะเล อีกด้านหนึ่งติดสุขุมวิท

ภาพที่สาม - ดังนั้นจึงต้องมีกระโจมไฟสัญญานไว้กลางแม่น้ำ เพื่อให้เรือรู้ว่าร่องน้ำลึกอยู่ตรงไหน ชายเลนน้ำตื้นอยู่ตรงไหน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 09 ก.ย. 13, 07:02
ตรงที่รุ่นผมมายืนให้รุ่นพี่ทำน้ำตกมาล้างตัวให้นั้น เค้าเปลี่ยนมาให้น้องใหม่ยืนรับใบจามจุรีที่รุ่นพี่ขึ้นไปยืนโปรยปรายมาให้ ก็คงซาบซึ้งดีครับ ตอนนี้

หวังว่ารุ่นพี่สถาปัตย์คงไม่ได้แอบรูดใบจามจุรีจากต้นในรั้วจุฬาฯ มาโปรยรับน้องนะครับ

รุ่นพี่วิศวะฯ สมัยก่อน แอบไปตัดเอาจากริมถนนพหลโยธินแถวหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โน่น


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 07:14
เอ ไม่ทราบเหมือนกันครับ แต่สมัยผมคงหาเอาในจุฬานี่แหละยังมีที่ๆเป็นป่าเยอะไป แต่อนาคตไม่แน่ อาจใช้ใบจามจุรีพลาสติก

เลยอดแถมไม่ได้ ว่าจะพอแล้วเชียว

เอารูปสมัยผมที่รุ่นพี่ให้แต่งเป็นอินเดียนแดงเข้าพิธีศีลจุ่มมาให้ชมเพิ่ม และรูปแห่เชือกลงสระหน้าคณะก่อนไปอาบน้ำตกในคอร์ทภายในคณะ
ที่เอามาเพื่อให้เด็กๆไม่ต้องกลัวพิธีรับน้องของพวกเราชาวจุฬา สมัยไหนๆก็ไม่มีป่าเถื่อนโหดร้าย แต่เต็มไปด้วยพิธีกรรมที่จะประทับอยู่ในใจน้องใหม่ตราบนานเท่านาน กว่าที่อัลไซเมอร์จะพรากความจำนั้นไป


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 07:16
^
ลืมใส่โมเสกตามแฟชั่น เอ้า where ๆ is a where ๆ ไหนๆก็ไหนๆ เลยตามเลยก็แล้วกัน

แห่เชือกข้ามคลอง(ซึ่งเหลือแค่เป็นสระ) แล้วมาอาบน้ำตกในคณะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 07:23
อีกหนึ่งในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่อัลไซเมอร์นำมาคืนให้ผมหลังการพักผ่อนที่เพียงพอ ก็คือพิธีแห่โคม โคมนี้เสมือนหนึ่งวิญญาณของสถาปนิกที่สืบทอดต่อๆกันชั่วลูกชั่วหลาน ก่อนวันรับน้องใหม่ อาจารย์สอนวิชาพื้นฐานการออกแบบ (Design Fundamental)จะสั่งให้นิสิตปีหนึ่งทำโคมของตนขึ้นเพื่อเก็บเป็นคะแนนสอบ ทุกคนจะตั้งใจประดิษฐ์คิดค้นแบบแปลกๆมาทำโคม ซึ่งจะประกวดชิงรางวัลกันในคืนรับน้องใหม่ด้วย

พออาบน้ำแต่งเครื่องแบบพระราชทานแล้วก็มืดค่ำพอดี น้องใหม่จะถือโคมตั้งขบวนหน้าคณะ แล้วเดินร้องเพลงแห่โคมไปรอบหอประชุมจุฬา ก่อนจะกลับเข้าคณะ ตอนเข้ามาในห้องโถงหน้าตึกใหญ่จะประทับใจสุดๆ เพราะรุ่นพี่เก่าๆที่จบไปแล้วมารอรับแน่นขนัด โปรยใบจามจุรีให้พร้อมร่วมเปล่งเสียงเพลงแห่โคมสะท้อนห้องกึกก้องสะเทือนเข้าไปถึงใจอันเป็นที่ตั้งของจิตวิญญาณ

ดังนั้น ไม่ว่าเป็นงานใดของเหล่าสถาปนิกที่เป็นพิธีรีตอง จะต้องมีการแห่โคมทุกครั้ง
http://www.youtube.com/watch?v=kvmGUNLU1lc
ในคลิปนี้ แห่โคมในวันฉลองสถาปัตย์๘๐ปี อยู่นาทีที่ ๓.๔๔ แต่อย่าลืมย้อนไปฟังเพลงเต็มๆในช่วงต้นด้วยนะครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 07:33
สำหรับชาวจุฬาทุกคนที่เข้ามาอ่านครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ย. 13, 07:35
พอละครับเรื่องถาปัด เดี๋ยวนัดเจอกันที่หัวถนนสุขุมวิทนะครับ

แนบแผนที่ประกอบให้ดูว่า เดิมถนนเพลินจิตร ไปหยุดเพียงทางรถไฟที่วิ่งไปยังสถานีแม่น้ำ (ท่าเรือคลองเตย) หากเทียบในปัจจุบันก็บริเวณใต้ทางด่วนเพลินจิตร หรือสถานีรถไฟฟ้า BTS เพลินจิตร


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 07:46
อดีต “ถนนสุขุมวิท” ที่ผมเห็น

เวลานี้ (พ.ศ. 2547) ผมอายุ 82 ปีแล้ว อยากจะเล่าถึงถนนสุขุมวิทที่ผมได้เห็นมา ถ้าเล่าผิดพลาดอะไรบ้างก็อภัยให้คนแก่บ้างนะครับ

เมื่อผมอายุราว 5-6 ขวบ (ราว พ.ศ. 2470) ถนนสุขุมวิทยังไม่มี มีแต่ถนนเพลินจิตร มาสิ้นสุดแค่ทางรถไฟสาย “มักกะสัน-ช่องนนทรี” เท่านั้น มีทางรถไฟกั้นอยู่ที่สุดทางถนนเพลินจิตรนั้น ทางขวามือมีบ้าน 2 ชั้นสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ของพระยาผดุงฯ ซึ่งเป็นบิดาของคุณจำกัด พลางกูร รูปร่างเล็กแบบบาง เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านเป็นเสรีไทยที่เดินทางด้วยเท้าหลบกองทหารญี่ปุ่นจากประเทศไทยไปถึง “จุงกิง” ประเทศจีน เพื่อติดต่อกิจการของเสรีไทย และได้สิ้นชีวิต ณ ที่นั่น เป็นเหตุการณ์ที่น่าสดุดียิ่งนัก


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ย. 13, 07:56
ถนนเพลินจิต เดิมเขียนว่า "ถนนเพลินจิตร์" ถูกตัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ โดยได้รับนามจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

เดิมในสมัยปลายรัชกาลที่ ๕ มีเส้นทางดินอยู่ก่อนแล้ว และเรียกว่า "ถนนหายห่วง" เนื่องจากการเดินทางมาตรงนี้มีความยากลำบากในการเดินทาง ลำบากจนหายจากความสบายไปเลย
 
เป็นถนนที่ตัดใหม่เชื่อมต่อระหว่างถนนพระราม ๑ ไปสิ้นสุดที่ทางรถไฟสายตะวันออก เมื่อการตัดถนนเรียบร้อยแล้วบริเวณนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นยุคที่บ้านเมืองมีความเจริญกว่ารัชกาลที่ผ่านมา ท้องทุ่ง สายลมเย็นสบายทำให้เกิดการกว้านซื้อที่ดินและจัดสรรปลูกบ้านไว้ชานเมือง บรรดาเศรษฐีและเจ้านายต่างก็มาซื้อที่ดินแถวนี้เพื่อพักอาศัย ในช่วงรัชกาลเดียวกันก็เกิด "ซอยร่วมฤดี" ขึ้นมา


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 08:05
ที่ลูกศรชี้คือวังของสมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ที่เรียกตำหนักไม้ วังวิทยุ ใช่ไหมครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 08:15
ต่อจากนั้น “ถนนสุขุมวิท” จึงได้เริ่มขึ้นตั้งแต่สุดถนนเพลินจิตร และสร้างต่อไปทางทิศตะวันออกไปสุดที่ซอยวัฒนา(สุขุมวิท 19 เดี๋ยวนี้)เท่านั้น เป็นถนนลาดยางกว้างๆ  2 เลน รถสวนกันได้สบายๆ สองข้างถนนเป็นคลอง“บางกะปิ” ทั้งสองข้างถนนส่วนมากเป็นนา และ”กระต๊อบ”ชาวนา บางแห่งก็มีป่า”สะแก” (ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งขึ้นเป็นกลุ่มๆ ในที่รกร้าง)ริมทางรถไฟตอนสุดซอยนานา(สุขุมวิทซอย 4 เดี๋ยวนี้)  ซึ่งผมแอบขี่ม้าจากบ้านศาลาแพงออกถนน ”สาธร” เข้าสวนลุมพินีข้ามถนนวิทยุซอย”โปโลคลับ” ข้ามทางรถไฟเข้าป่าสะแกเลย ได้อารมณ์ดีมากในป่าสะแก ไปออกถนนสุขุมวิทที่ปลายซอยนานา และขี่ม้าเที่ยวข้างถนนโล่ง ๆ สบายมาก


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ย. 13, 08:17
ที่ลูกศรชี้คือวังของสมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ที่เรียกตำหนักไม้ วังวิทยุ ใช่ไหมครับ

บ่ ใช่ ก๋า วังกรมพระชัยนาทอยู่หลังทิวสน ลึกจากถนนเข้าไป ๗ แปลง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 08:19
ที่ลูกศรชี้คือวังของสมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ที่เรียกตำหนักไม้ วังวิทยุ ใช่ไหมครับ
ไม่ใช่ค่ะ   วังของท่านอยู่ลึกจากถนนเพลินจิตไปมากกว่านี้   ไปทางสถานทูตอเมริกา      ที่ดินตรงลูกศรชี้น่าจะเป็นบริเวณโรงแรมพลาซ่าแอทธินีค่ะ
รูปนี้ถ่ายก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อาจจะถอยหลังไปถึงรัชกาลที่ 7     ต้นไม้ครึ้มเต็มไปหมด   สวยมาก


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 08:22
หัวมุมถนนวิทยุ เมื่อสมัยจบจุฬาใหม่ๆ มีตึกอพาร์ตเมนต์เป็นแท่งกลมๆ ไม่ใช่ที่ดินของราชสกุลรังสิตหรือครับ

นี่ ดูครับนี่ ไฮโซจริงของกรุงเทพยุคนั้นต้องขี่ม้า เดี๋ยวนี้ขี่รถสปอร์ตก็ได้แค่เต๊ะจุัยอยู่กลางถนน รถติดๆคนเดินถนนก็ไปได้เร็วกว่า


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 08:25
“ถนนสุขุมวิท” จึงได้เริ่มขึ้นตั้งแต่สุดถนนเพลินจิตร และสร้างต่อไปทางทิศตะวันออกไปสุดที่ซอยวัฒนา(สุขุมวิท 19 เดี๋ยวนี้)เท่านั้น เป็นถนนลาดยางกว้างๆ  2 เลน รถสวนกันได้สบายๆ สองข้างถนนเป็นคลอง“บางกะปิ” ทั้งสองข้างถนนส่วนมากเป็นนา  

เอาคุณหนุ่ม เปิดเกมมา


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 08:34
หัวมุมถนนวิทยุที่มาชนกับถนนเพลินจิต  มุมหนึ่งน่าจะเป็นบริเวณวังของหม่อมเจ้าชัชชวลิต เกษมสันต์   อีกมุมหนึ่งเป็นบ้านไม้สองชั้นหลังใหญ่ หน้าตาเหมือนฉากละครย้อนยุคประเภทบ้านเจ้าคุณ  ต่อมาทำเป็นร้านอาหารแล้วรื้อหายไปกลายเป็นธนาคาร ค่ะ
นึกไม่ออกว่าอพาร์ตเม้นท์กลมๆอยู่ไหน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 08:55
ตรงข้ามฝั่งกับธนาคารครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 08:56
ตอนเด็กๆ ดิฉันอยู่สุขุมวิทช่วงสั้นๆ ประมาณหนึ่งหรือสองปี  สมัยนั้นชื่อสุขุมวิทยังไม่เกิด หรือเกิดแล้วก็ไม่มีใครเรียก   เขาเรียกแถวนั้นว่า "บางกะปิ"      ถนนสุขุมวิทเส้นใหญ่ถ้าวิ่งจากเพลินจิตไปมีคลองเล็กๆ (ซึ่งควรเรียกว่าคูน้ำขนาดกว้าง) ขนาบถนน ไปตลอดตั้งแต่ทางรถไฟช่องนนทรี จนถึงสะพานพระโขนงซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของความเจริญชานเมือง   ลงสะพานไปก็เหมือนออกต่างจังหวัด มีแต่ท้องนา
สุขุมวิทซอยต้นๆ มีบ้านเรือนคึกคักเฉพาะต้นซอย  ตึกใหญ่ๆของเศรษฐีก็อยู่ริมถนนนี่แหละค่ะ   ตึกที่ยังเหลือให้เห็นปัจจุบันคืออดีตบ้านของท่านม.ล.ปิ่น มาลากุล ที่ท่านทำพินัยกรรมถวายเจ้านาย    ตึกนอกนั้นหายเรียบกลายเป็นตึกแถวหรือศูนย์การค้าหรือโรงแรมไปหมดแล้ว
ลึกเข้าไปในซอย  ก็มีบ้านอยู่ห่างๆกัน   อย่างซอยไชยยศ(สุขุมวิท 11)  มีบรรยากาศคล้ายๆอย่างในรูปข้างล่าง   ดิฉันหารูปจริงไม่ได้  ได้แต่รูปคล้ายๆ  
ถ้าจะใช้จินตนาการคิดตาม   ก็ตัดรูปรถยนต์ออกไป  เปลี่ยนถนนในภาพเป็นถนนลาดยางตรงต้นซอยแล้วเลยเข้ามาไม่กี่ร้อยเมตร  ก็เป็นถนนขรุขระมีกรวดหินแหลมๆฝังอยู่บนพื้นถนน ยังไม่ได้ลาดยาง    มีบ้านเรือนอยู่ห่างๆกัน มองเห็นทุ่งนาโล่งโปร่งลึกเข้าไป  
สุขุมวิทเป็นนามาก่อน ไม่ใช่สวนอย่างฝั่งธน  ความเจริญกระจุกอยู่ริมถนน    ลึกเข้าไปซอยไหนซอยนั้น ยิ่งซอยไกลๆอย่างซอยไปดีมาดีและทองหล่อ  เป็นนาเหมือนอยู่นอก อ.เมืองสุพรรณบุรี


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 08:58
ตรงข้ามฝั่งกับธนาคารครับ
ตรงข้ามฝั่งธนาคาร มุมหนึ่งเป็นสถานทูตอังกฤษ  อีกมุมหนึ่งเป็นตึกใหญ่ ทรงเหลี่ยม  แบบเป็นบ้านเศรษฐีค่ะ
เหมือนบ้านเดิมของอาจารย์ดมศรีของคุณนวรัตน   น่าจะสร้างสมัยเดียวกัน  


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ย. 13, 09:04
“ถนนสุขุมวิท” จึงได้เริ่มขึ้นตั้งแต่สุดถนนเพลินจิตร และสร้างต่อไปทางทิศตะวันออกไปสุดที่ซอยวัฒนา(สุขุมวิท 19 เดี๋ยวนี้)เท่านั้น เป็นถนนลาดยางกว้างๆ  2 เลน รถสวนกันได้สบายๆ สองข้างถนนเป็นคลอง“บางกะปิ” ทั้งสองข้างถนนส่วนมากเป็นนา  

เอาคุณหนุ่ม เปิดเกมมา

จะเปิดเกม ก็เมื่อประโยคนี้แล " สองข้างถนนเป็นคลองบางกะปิ” เป็นไปได้หรือ  ???

ก่อนที่จะมีคำว่าถนนสุขุมวิท ถนนนี้เคยชื่อ "ถนนปากน้ำ"


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 09:20
ก็เห็นอยู่
แผนที่ของคุณก็พออ่านออกว่าคลองบางกะปิในสมัย(?)หนึ่งอยู่ที่ไหน ก่อนที่จะโดนมั่วไปเป็นคลองแสนแสบไป

ผมคิดว่าผมยังพอจะเกิดทันนะ ที่ถนนปากน้ำถูกมั่วว่าเป็นถนนบางกะปิ คลองหรือคูข้างถนนที่เกิดขึ้นเพราะถูกขุดเอาดินมาพูนเป็นถนนก็เลยพลอยถูกมั่วว่าเป็นคลองบางกะปิด้วย คลองบางกะปิเดิมจึงต้องหลบไปเป็นคลองแสนแสบ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 09:24
อ้างถึง
อีกมุมหนึ่งเป็นตึกใหญ่ ทรงเหลี่ยม  แบบเป็นบ้านเศรษฐีค่ะ
เหมือนบ้านเดิมของอาจารย์ดมศรีของคุณนวรัตน   น่าจะสร้างสมัยเดียวกัน 

นั่นแหละครับ บ้านใคร ต่อมาได้สร้างเป็นอพาร์ตเม้นท์ราคาแพงที่ว่าให้ฝรั่งเช่า
 

 
 
 


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 09:27
ในฐานะชาวบางกะปิเก่า  ขอยืนยันว่า คำว่า บางกะปิใช้กันแพร่หลาย(เป็นศัพท์ทางการของคำว่า "มั่ว  ;) ) หมายถึงทำเลแถบสุขุมวิทซอย 1 ไปจนถึงสะพานพระโขนง    ถนนที่พาดผ่านก็เรียกว่าถนนบางกะปิ  ไม่มีใครเรียกถนนปากน้ำ    คูน้ำกว้างๆข้างถนนก็เข้าใจกันว่าเป็นคลองบางกะปิ    
คูริมถนนกว้างขนาดบ้านริมถนนต้องทำสะพานกว้างๆให้รถยนต์แล่นข้ามไปเพื่อเข้าประตูบ้าน      ความกว้างของคูเกือบเท่ากับถนนสองเลน  เรียกว่าคลองขนาดย่อมก็คงได้  จำได้แม้แต่มีคนมาหาปลาในคูนั้นด้วยค่ะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 09:30
อ้างถึง
อีกมุมหนึ่งเป็นตึกใหญ่ ทรงเหลี่ยม  แบบเป็นบ้านเศรษฐีค่ะ
เหมือนบ้านเดิมของอาจารย์ดมศรีของคุณนวรัตน   น่าจะสร้างสมัยเดียวกัน  

นั่นแหละครับ บ้านใคร ต่อมาได้สร้างเป็นอพาร์ตเม้นท์ราคาแพงที่ว่าให้ฝรั่งเช่า  

ขอตัวไปรื้อฟื้นความจำสักพัก   เคยมีเพื่อนอยู่แถวนั้นเหมือนกัน อาจจะสอบถามได้
คิดว่าไม่ใช่ที่ดินของท่านผู้หญิงเลอศักดิ์บุตรีพระยาภักดีนรเศรษฐ์(นายเลิด)   ที่ดินท่านคือฝั่งซ้าย  บ้านที่ว่าอยู่ฝั่งขวา
อาจจะเป็นที่ดินของเจ้านาย ไม่แน่ใจว่าพวกสวัสดิวัตน์หรือไม่

คนที่ปลูกตึกอยู่ริมถนนเพลินจิตมาตั้งแต่ก่อน/หลังสงครามโลก   ถ้าไม่ใช่เจ้านายก็เศรษฐีใหญ่ จึงสามารถซื้อที่ดินผืนใหญ่ๆได้   ส่วนสามัญชนเต็มร้อยต้องไปหาที่ดินลึกๆเข้าไปในซอย  เป็นที่ดินแบ่งขายเป็นแปลงๆ  ตอนสงครามโลกที่ดินด้านใกล้ทางรถไฟช่องนนทรีขายราคาถูกมาก   เพราะไม่มีใครเอา   ตกตารางวาละหกสลึง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 09:36
พอถนนตอนนี้เสร็จ(สุดที่ซอยวัฒนา)  ผู้ที่มีเงินก็พากันมาปลูกบ้านสวยๆ กันมากขึ้น จนได้ชื่อว่า “บางกะปิ” แหล่งของคนรวย เพราะมีรถยนต์สวยๆ มาวิ่งกันสบายๆมากขึ้น(ควายค่อยๆหายไป) เพราะในสมัยนั้นรู้สึกว่าบริเวณนี้อยู่นอกเมืองมากจริงๆ

พอมีคนมาอยู่มากขึ้น ที่ดินริมถนนก็ขาดแคลน จึงทำให้มีถนนซอยมากขึ้น ซอยซ้ายมือเป็นเลขคี่ทั้งหมด ซอยขวามือเป็นเลขคู่ แต่ในเวลานั้นยังไม่มีเลขซอย มีแต่ชื่อ
ซอยแรกซ้ายมือชื่อว่า “รื่นฤดี” (ซอย 1 เดี๋ยวนี้) สุดซอยนี้ลงคลอง "แสนแสบ" เป็นบ้านของคุณพระเจริญวิศวกรรม อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านมีลูกสาวสวย อยู่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ทำให้มีคนเข้าออกในซอยคึกคักขึ้น เดี๋ยวนี้มีโรงพยาบาล “บำรุงราษฎร์” ที่กลางซอย 1 ซึ่งทะลุออกซอยนานาเหนือ(แยกซอย 4)ได้ ที่ดินในบริเวณซอยนานาเหนือ(ซอย 3) และซอยนานาใต้(ซอย4) ส่วนมาเป็นของนาย A.E. NANA ชาวอินเดียผู้ร่ำรวย
   
ในซอยนานาใต้(ซอย 4)นี้ เกือบสุดซอย(เป็นซอยแยกชื่อซอยสมาหาร) มีบ้านของ พล.ร.ต. สมภพ ภิรมย์ ปริญญาตรีสถาปัตย์รุ่นแรก ส่วนกลางซอยนั้นเป็นบ้านของ ศ.รอ. กฤษฎา อรุณวงษ์ อดีตคณบดีคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ(มาปลูกที่หลัง)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 09:54
ซอยนานาใต้ ปี ๒๕๑๗ ครับ
ของคุณหนุ่มมีรูปเดียวกันนี่หรือเปล่า
อ้างถึง
ก่อนที่จะมีคำว่าถนนสุขุมวิท ถนนนี้เคยชื่อ "ถนนปากน้ำ"
เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้แหละ นับเป็นความรู้ใหม่เอี่ยมทีเดียว ขอบคุณมาก


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ย. 13, 10:00
ถนนสายปากน้ำ ถูกระบุในแผนที่ท่องเที่ยวกรุงเทพ เดิมไม่ได้ใช้สุขุมวิท ๑ สุขุมวิท ๒ แต่เรียกตามชื่อซอยนั้น ๆ เช่น ซอยนานา ซอยอโศก ซอยวัฒนา เป็นต้น

จะเห็นจากแผนที่ว่าหากหันหลังให้ทางรถไฟ มองไปทางทิศตะวันออก ซ้ายมือจะเป็นถนน ขวามือเป็นคลอง ที่เกิดจากการขุดดินเอามาทำถนน จึงเกิดร่องคุน้ำขึ้น

ตามตัวอย่างในภาพขวามือ

จำได้ว่ายายข้าพเจ้ามาซื้อที่ดินแถวซอยกลาง ในราคาวาละ ๒๐๐ บาท  ;D


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 10:02
ปากซอย 6 สุขุมวิท เป็นบ้านของ ม.ร.ว. มิตรอรุณ เกษมศรี และ ศ.ม.ร.ว. แน่งน้อย ศักดิ์ศรี ต่อมาท่านได้ขายไป 100 ล้าน(เนื้อที่ 1000 ต.ร.ว.) ส่วนอีกฝั่งของซอย 6 เป็นบ้านของคุณฉลอง เคียงศริ ซึ่งขายต่อมาอีก 1 ปี ขายได้ 160 ล้าน ส่วนที่ของคุณแม่ปากซอย 12 (ซอยจิตรลมุล) ขายให้ มจ.หญิงองค์หนึ่งไป ได้เพียง(10,000)หมื่นเดียวเท่านั้น (1000 ตร.วา ๆ ละ 10 บาท ก็เป็นหมื่นบาท) คนซื้อไปขายต่อ 300,000 ราคาที่ดินคนละเวลา แตกต่างกันมากนะ!!
ในซอย 6 นี้มีซอยแยกติดต่อกับซอย 4 ได้ ผมได้ออกแบบและสร้างแฟลต เป็นตึก 3 ชั้นของ ม.ร.ว. เกษมโภค เกษมศรี ซึ่งยังอยู่จนบัดนี้
   
ที่ในซอย 12 ตรงกันข้ามกับบ้านผมนั้นว่างอยู่ 11 ไร่ มีแขกใช้เป็นที่เลี้ยงควาย 4-5 ตัว รีดนมขาย ผมเคยซื้อมาลองชิมนมควายดู ก็ใช้ได้ ที่นี้เป็นของ มจ.หญิงบุญจิราฯ ต่อมาได้ขายให้บริษัทแขกไป เวลานั้นคนต่างชาติซื้อที่ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นบริษัทซื้อได้ ฉะนั้นพวกแขกจึงรวมตัวเป็นบริษัทซื้อไปทั้งหมด ทำเป็น แฟลตสูงๆ 10 กว่าชั้น ทั้งนี้ไม่เหลือที่ให้ควายอยู่เลยสักตัว อนิจจา....
   
เยื้องซอย 12 เป็นซอย 11 ซอยไชยยศ ได้ชื่อนี้เพราะมีบ้านของพระยาไชยยศสมบัติ(เสริม กฤษณามระ) อดีตคณบดีคณะบัญชีของจุฬาฯ และยังเป็นซอยที่หนุ่ม ๆ เข้าออกมากผิดปกติ เพราะมีบ้านของ ม.ล. พร้อมจิตร สนิทวงศ์ และ ม.ล. พร้อมศรี พิบูลสงคราม สองดาราดวงเด่นของกลุ่มจักรยานกลุ่มใหญ่ที่โฉบฉายไปมาเป็นแสงสีจุดเด่นของถนนสุขุมวิท


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 10:06
ภาพดาวประจำซอย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ย. 13, 10:07
ซอยนานาใต้ ปี ๒๕๑๗ ครับ
ของคุณหนุ่มมีรูปเดียวกันนี่หรือเปล่า
อ้างถึง
ก่อนที่จะมีคำว่าถนนสุขุมวิท ถนนนี้เคยชื่อ "ถนนปากน้ำ"
เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้แหละ นับเป็นความรู้ใหม่เอี่ยมทีเดียว ขอบคุณมาก

ถนนสายปากน้ำ (ถนนสุขุมวิท) นั้นหากดูตามประกาศในราชกิจจาฯ แล้วพบว่าประกาศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ ให้เริ่มก่อสร้างต่อจากถนนเพลินจิตไปยังจังหวัดสมุทรปราการ จึงเป็นที่มาของถนนปากน้ำ ในช่วงระยะเวลาหนึ่งครับ
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2476/A/237.PDF


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 10:14
รูปของคุณหนุ่มนี่ ในภาพถ่ายนี้คุ้นๆว่าจะเป็นถนนสุขุมวิทช่วงที่เลยปากน้ำ ไปทางคลองด่าน ออกสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงไปสู่ชลบุรี

ส่วนในแผนที่ ตกทางรถไฟสายปากน้ำ(^)ที่ขนานถนนพระราม๔ทางด้านทิศใต้  ซึ่งวิ่งถี่กว่ารถไฟสายตะวันออกไปอรัญประเทศ ผมคุ้นกับรถไฟของนายพลริชลิวสายนี้มาก บ้านน้าผมอยู่บางกะปิ เด็กๆไปค้างกับน้าบ่อยเพราะติดพี่ชายสองคนลูกของน้า นอนดูรถไฟวิ่งผ่านหลังบ้านทั้งวัน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 10:42

เยื้องซอย 12 เป็นซอย 11 ซอยไชยยศ ได้ชื่อนี้เพราะมีบ้านของพระยาไชยยศสมบัติ(เสริม กฤษณามระ) อดีตคณบดีคณะบัญชีของจุฬาฯ และยังเป็นซอยที่หนุ่ม ๆ เข้าออกมากผิดปกติ เพราะมีบ้านของ ม.ล. พร้อมจิตร สนิทวงศ์ และ ม.ล. พร้อมศรี พิบูลสงคราม สองดาราดวงเด่นของกลุ่มจักรยานกลุ่มใหญ่ที่โฉบฉายไปมาเป็นแสงสีจุดเด่นของถนนสุขุมวิท[/color]
ม.ล.พร้อมจิตร สนิทวงศ์ ต่อมาคือม.ล.พร้อมจิตร ยมะสมิต สาวๆ  สวยมาก  จำได้ว่าท่านเป็นนักเรียนเก่าร.ร.มาแตร์เดอีด้วย

ก่อนมาอยู่ซอยไชยยศ   ดิฉันเคยไปอยู่ที่ซอยไปดีมาดีใกล้ซอยทองหล่อ เป็นระยะเวลาสั้นๆ    ซอยไปดีมาดีเป็นทางตัดเข้าไปในทุ่งนา   มีบ้านอยู่ห่างกันมาก ยิ่งกว่าซอยไชยยศหลายเท่า    บางส่วนยังเป็นบ่อเลี้ยงปลารูปสี่เหลี่ยมเหมือนบึงใหญ่ มีคันดินพูนขึ้นมาตรงขอบบ่อ  ชาวบ้านอยู่ในกระต๊อบหลังคามุงจาก  ถ้าไม่ทำนาก็ขายอะไรเล็กๆน้อยๆ   
ส่วนชาวกรุงที่ไปปลูกบ้านอยู่ ลึกเข้าไปจากปากซอย     ร้อยและร้อยเป็นบ้านไม้  สมัยนั้นไม่มีใครมีเงินพอจะปลูกตึกได้   ตรงกันข้ามกับสมัยนี้ที่ใครปลูกบ้านไม้ได้ ถือว่าเงินเหลือกินเหลือใช้   บ้านไม้ส่วนใหญ่เป็นบ้านสองชั้นหรือไม่ก็บ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง   ไม่ทาสี เห็นสีเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลเก่าแก่ไปตามเวลา     ถ้าเป็นบ้านคนฐานะค่อนข้างดีถึงจะทาสีเหลือง สีฟ้า สีเขียว  ไม่ทาสีขาวหรือครีม   
ต่อมาบ้านใต้ถุนสูงก็ค่อยๆหายไป    เพราะเจ้าของดัดแปลงใต้ถุนเป็นห้องชั้นล่างกลายเป็นบ้านสองชั้น  ส่วนใหญ่ก็เริ่มก่ออิฐฉาบปูน ในชั้นล่าง   


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 10:52
ช่วงที่อเมริกาทำสงครามเวียตนามนั้น ปากซอยไชยยศมีโรงแรมแบบสร้างด่วนขึ้นมารองรับพวกนายทหารอเมริกันที่มาพักรบในเมืองไทย ชื่อโรงแรมชวลิตตามเจ้าของ
เมื่อสงครามเลิกโรงแรมนี้ก็ตั้งตัวได้แล้ว จึงทุบตึกเก่าอันแสนน่าเกลียด(ในภาพ)ออก สร้างอาคารใหม่ให้ชื่อว่าแอมบาสเดอร์  ทางเข้าออกของโรงแรมในซอยไชยยศอยู่หน้าบ้านม.ล.ปิ่น มาลากุล พอดี บ้านหลังนี้มีผู้เช่าจากสำนักงานทรัพย์สินฯ ไปทำร้านอาหารขายฝรั่ง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 10:58
ต่อมาเป็นซอย19(ซอยวัฒนา) เป็นจุดจบของถนนสุขุมวิทในเวลานั้น สุดซอยวัฒนามีโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนสตรีกินนอน เพราะในเวลานั้นโรงเรียนอยู่ห่างไกลจากเมืองมาก ทำให้นักเรียนไปมาไม่สะดวก และในซอยนั้นมีบ้านของอาจารย์พิเศษคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ เป็นชาวอิตาเลียนชื่อ อี.มันเฟรดี.ซึ่งมาเปลี่ยนเป็นชื่อไทยว่า เอกฤทธิ์ หมั่นเพ้นดี (เข้ากันดีมากนะ)

ก่อนที่จะสร้างถนนสุขุมวิทนั้น คุณแม่ลงเรือจ้างในคลองบางกะปิ มาซื้อที่ข้างคลองนั้น ตารางวาละ 5 บาท ลึกเข้าไปที่ผมอยู่นั้น ตารางวาระ 6 สลึง (หนึ่งบาทห้าสิบสตางค์) ไร่ละ 600 บาทเท่านั้น เมื่อก่อนซอย 12 มีชื่อว่า”จิตร-ลมุล” เพราะว่าจิตรนั้นเป็นชื่อของคุณแม่ และลมุล นั้นป็นชื่อของคุณหญิงลมุล ปฏิภาณพิเศษ ซึ่งร่วมลงทุนสร้างสะพานข้ามคลองบางกะปิ และสร้างซอย 12 จากถนนสุขุมวิทจนถึงคลอง”ไผ่สิงโต” คลองนี้ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่คลองเตย ผ่านสวนลุมพินี ผ่าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตัดกับคลอง”อรชร” เดี๋ยวนี้คลอง ”อรชร” หายไปแล้วเพราะการขยายถนน”อังรีดูนัง” และผ่านหน้าตึกคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ (ซึ่งในอดีตนิสิตรับน้องใหม่ด้วยการจูง(ลาก)น้องใหม่ข้ามคลองไผ่สิงโต เข้ามาในตึกคณะฯ ตอนนั้นพวกเด็กๆ สนุกกันมาก) ไปออกคลองมหานาค เวลานี้คลองไผ่สิงโตที่ผ่าน รพ.จุฬาฯ และ ม.จุฬาฯ หายไปเรียบร้อยแล้ว


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ศานติ ที่ 09 ก.ย. 13, 11:03
อ่านแล้วคิดถึงความหลัง  หลังสงครามโลกที่ ๒ คุณพ่อผมซึ่งเป็นนายทหารอากาศลาออกจากราชการเพื่อไปทำงานกับบริษัท Standard Vacuum Oil ซึ่งเริ่มมาดำเนินกิจการในเมืองไทย พาลูกน้องสักเกือบสิบคนได้ไปเปิดบริการน้ำมันอากาศยานที่ดอนเมือง นายทหารที่ลาออกจากราชการตามไปด้วยมี ร.ท.ศุลี มหาสันทนะ ไปเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่ดอนเมือง ที่เหลือเป็นพวกช่างในกรมช่างอากาศ ตอนนั้นสงครามเพ่ิงเลิกเรามีแต่เครื่องบินญึ่ปุนที่ได้มาระหว่างสงคราม จะบินก็ขายหน้า ส่วนเครื่องบินอเมริกันที่มีก็ตั้งแต่ก่อนสงคราม เก่าแก่เต็มทน เช่น Hawk พับฐาน ปีกสองขั้น พ่อเลยไปหา ผบ.ทอ. ดูเหมือนจะเป็นจอมพลฟื้น เพื่อขออนุญาตลาออกจากราชการ ท่านบอกว่าอนุญาตให้ลาออกได้ ถ้าอีกสองคนที่ไปเรียนอเมริกามาด้วยกันรับรองว่าจะไม่ลาออก สมัยนั้นบริษัท Standard Vacuum Oil เป็นบริษัทที่ตั้งจากการร่วมลงทุนโดย Standard Oil of New York (Socony Mobil) ใช้ตราม้าบิน กับ Standard Oil of New Jersey (Esso ต่อมาเป็น Exxon) แบ่งกันขายผลิตภัณฑ์  รถยนตร์ใช้ตราม้าบิน  อากาศยานใช้ Esso  

เมื่อลาออกจากราชการก็เลยต้องย้ายบ้านออกจากกรมช่างอากาศที่บางซื่อ ไปเช่าบ้านที่ปากซอยต้นสน ถนนเพลินจิต ทะแยงมุมจากสถานทูตอังกฤษ อีกฟากของซอยต้นสนเป็นสถานทูตเดนมาร์ค บ้านที่เช่าอยู่เป็นตึกสองชั้นสีขาว เช่าจากชายา มจ.สกล วรวรรณ  บ้านถัดไปเป็นบ้านของคุณ บุญมา วงสวรรค์ ลูกเขย มจ.สกล เลยเข้าไปหน่อยเป็นบ้านของคุณ เนิ่น ศิลปี ลูกสองคนเป็นเพื่อนกับผม สุดซอยมีบ้าน มจ.โวฒยากร วรวรรณ  ต่อจากนั้นเป็นทุ่งนามีซากรถถังญี่ปุ่นกับปืนใหญ่สนามจอดทิ้งไว้หลายคัน หลายกระบอก ตอนนั้นอายุ ๑๒ หรือ ๑๓ ขวบ ไปปีนเล่นบ่อยๆ

บ้านที่เช่าจากชายาท่านสกล เสียอย่างเดียว ขะโมยปีนขึ้นนอกชานชั้นบนได้ง่ายโดยเข้าทางหลังบ้าน ทุกห้องมีสวิชกดกริ่งเรียกดังในครัว วันหนึี่งแม่อยู่ในครัวได้ยินเสียงกริ่งก็งง เพราะไม่มีใครอยู่ในบ้าน ลองขึ้นไปชั้นบนพอดีเห็นหลังนักย่องเบากำลังปีนลงจากนอกชาน ไม่ทราบว่าทำไมเขาถึงกดกริ่ง คงไม่รู้ว่าเป็นปุ่มอะไร  อีกคราวโดนขะโมยอีก พอดีพ่อกำลังจะไปประชุมเมืองนอกเลยมีเงินเหรียญอเมริกันแลกไว้อยู่ในลิ้นชักตู้ โชคดีที่นักย่องเบาไม่รู้ค่าเงินดอลล่าเลยหยิบไปแค่เงินบาท ทิ้งดอลล่าไว้

เช้าๆผมเดินไปสี่แยกราชประสงค์เพื่อขึ้นรถเมล์ขาวไปถนนประมวล ถนนดูเหมือนจะแค่สอง lane ข้างๆเป็นคู ทางเดินนอกจากจะแคบแล้วยังต้องใช้ร่วมกับม้าแข่งที่คนเลี้ยงเขาจูงไปออกกำลังที่สปอร์ตคลับ กลัวม้าถีบโดยเฉพาะถ้าเดินไล่หลัง

อยู่แถวนั้นก็ดีอย่าง เดินเข้าไปในซอยต้นสนก็มีเพื่อน จรูญศักดิ์ กับ วราห์ ศิลปี ถ้าข้ามถนนเพลินจิต เดินเข้าปาร์คนายเลิศ ไปบ้านนายเลิศก็มีเพื่อนสนิท สมพงษ์ จุ้ยศิริ อาศัยอยู่บ้านนายเลิศ มีบ่อยครั้งที่เห็นเขารีดเสื้อรีดกางเกงนักเรียนของเขา ผมก็ไปยืนดู จนเก่งพอใช้ได้  สมพงษ์ (ศาสตราจารย์แล้ว) เล่าให้ฟังว่าต้นไม้ใหญ่ในซอยปาร์คนายเลิศมีคนชอบปัสสาวะที่โคนต้น เขาเอาป้าย 'กรุณาอย่าปัสสาวะ' ไปปิดก็ไม่ได้ผล 'ห้ามเยี่ยว' ก็ไม่ได้ผล ลอง 'ที่หมาเยี่ยว' ก็ไม่สำเร็จ ไปสำเร็จเอาเมื่อเอาผ้าแดงไปพันรอบโคนต้น หลังจากนั้นมีคนมาไหว้กันเรื่อยๆ

หลังสงครามใหม่ๆ ถนนวิทยุไม่มีสายไฟสายโทรศัพท์เลย คนขะโมยตัดไปขายหมด  คำว่า วิทยุ ดั้งเดิมก่อนเรียก radio เขาเรียก wireless set ดูเหมือนอังกฤษยังใช้อยู่  ไทยเราเลยแปลชื่อถนนวิทยุ ว่า Wireless Road  ฝรั่งแถวนั้นเอามาพูดกันว่า ถนนสมชื่อจัง wireless จริงๆ ไม่มีสายไฟสายโทร.เลย โดนตัดขายเกลี้ยง  ถนนวิทยุข้างสถานทูตอังกฤษสมัยนั้นเปลี่ยวมาก มีจี้กันบ่อยๆ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 11:12

เช้าๆผมเดินไปสี่แยกราชประสงค์เพื่อขึ้นรถเมล์ขาวไปถนนประมวล ถนนดูเหมือนจะแค่สอง lane ข้างๆเป็นคู ทางเดินนอกจากจะแคบแล้วยังต้องใช้ร่วมกับม้าแข่งที่คนเลี้ยงเขาจูงไปออกกำลังที่สปอร์ตคลับ กลัวม้าถีบโดยเฉพาะถ้าเดินไล่หลัง

สุดซอยร่วมฤดีซอยแยกที่เคยอยู่ มีคอกม้าอยู่สุดซอย ติดกับบ้านคุณบุญถิ่นหรือคุณบุญชนะ อัตถากร(จำไม่ได้ว่าท่านไหน)   ก่อนสว่างคนเลี้ยงม้าต้องพาม้าเดินเป็นแถวมาตามทางในซอย เพื่อพาไปออกกำลัง      บ้านสมัยนั้นไม่ติดแอร์ ติดแต่มุ้งลวด จึงได้ยินเสียงฝีเท้าม้ากุบกับเข้ามาถึงห้องนอน   เป็นสัญญาณให้รู้ว่าใกล้เวลาจะตื่นนอนไปโรงเรียนได้แล้วค่ะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ศานติ ที่ 09 ก.ย. 13, 11:24
ผมมีรถเมล์ขาวเป็นนาฬิกาปลุก เพราะอู่อยู่ในซอยปาร์คนายเลิศ ตีห้าก็เริ่มออกวิ่ง ตอนหลังเคยชินเลยไม่ตื่น พอย้ายไปซอยร่วมฤดีสองสามวันแรกตื่นตีห้า แรกๆนึกไม่ออกว่ามีอะไรผิดปกติ ขาดเสียงรถเมล์ขาวนั่นเอง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 11:53
   ด้านหลังบ้านเป็นทางรถไฟช่องนนทรี  (ตอนนี้เป็นทางด่วน) เป็นที่โล่งกว้างทำให้ชั้นบนของบ้านได้รับลมแรงจากทางรถไฟเต็มที่   ห้องนั้นไม่ต้องเปิดพัดลมเลย     แต่มีรถไฟวิ่งผ่านบ้านวันละหลายๆหน  ตอนไปอยู่ใหม่ๆก็ตื่นเต้นวิ่งไปเกาะหน้าต่างดูรถไฟซึ่งวิ่งฉิวมีควันดำอยู่ตรงหัวรถจักร      ไม่กี่วันต่อมาก็เบื่อเลิกดูไปเอง
  ก่อนรถไฟมา มีสัญญาณให้รู้จากใต้ดินคือคลื่นความสั่นสะเทือนจะมาตามพื้นดิน  ถึงชั้นล่างของบ้าน   เป็นอันรู้ว่าอีกไม่กี่นาทีรถไฟมาแล้ว   ริมทางรถไฟสองข้างเป็นคูน้ำกว้าง เมื่อก่อนคงเป็นคลอง   ตอนที่เห็นมีแต่ผักตบชวาเต็มไปหมด   ใช้สัญจรไปมาไม่ได้  ชาวบ้านถมดินให้คูน้ำขาดเป็นช่วงๆเพื่อจะได้เดินจากซอยออกไปที่ทางรถไฟ แล้วข้ามไปสุขุมวิทได้   
   ตอนเย็นๆ  ก็ออกทางหลังบ้านไปเดินเล่นที่ทางรถไฟบ่อยๆ    มีชาวบ้านออกมานั่งเล่นเดินเล่นกัน  แม่จูงลูกมาป้อนข้าว    บางคนมานั่งอ่านหนังสือ  เด็กออกมาเล่นว่าว    คล้ายสวนสาธารณะเล็กๆ      บางครั้งก่อนรถไฟมา จะมีช่างตรวจทางยืนมาในรถโยกซึ่งโยกเร็วมาก โยกรถล่วงหน้ามาก่อน  พอรถไฟมาเห็นลิบๆชาวบ้านก็ลงจากรางรถไฟ หลบไปข้างทาง   ทำได้สบายเพราะข้างทางกว้างมากค่ะ    พอรถไฟไปก็กลับมารวมกันเหมือนเดิม


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 12:01
อ้างถึง
ต้นไม้ใหญ่ในซอยปาร์คนายเลิศมีคนชอบปัสสาวะที่โคนต้น เขาเอาป้าย 'กรุณาอย่าปัสสาวะ' ไปปิดก็ไม่ได้ผล 'ห้ามเยี่ยว' ก็ไม่ได้ผล ลอง 'ที่หมาเยี่ยว' ก็ไม่สำเร็จ ไปสำเร็จเอาเมื่อเอาผ้าแดงไปพันรอบโคนต้น หลังจากนั้นมีคนมาไหว้กันเรื่อยๆ

อย่างฮาเลยครับ
คิดถึงตัวเองสมัยเป็นเด็กน้อย ชอบปัสสาวะใส่ 'ที่หมาเยี่ยว'มาก เพราะเกรงใจคนแถวนั้นจะไปฉี่สุ่มสี่สุ่มห้าก็กลัวเขาจะเหม็น เอา'ที่หมาเยี่ยว'นั่นแหละ ไหนๆเขาก็จัดไว้ให้หมาแล้ว เป็นคนแท้ๆทำไมจะขอใช้บ้างไม่ได้


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ย. 13, 12:10
อ้างถึง
ต้นไม้ใหญ่ในซอยปาร์คนายเลิศมีคนชอบปัสสาวะที่โคนต้น เขาเอาป้าย 'กรุณาอย่าปัสสาวะ' ไปปิดก็ไม่ได้ผล 'ห้ามเยี่ยว' ก็ไม่ได้ผล ลอง 'ที่หมาเยี่ยว' ก็ไม่สำเร็จ ไปสำเร็จเอาเมื่อเอาผ้าแดงไปพันรอบโคนต้น หลังจากนั้นมีคนมาไหว้กันเรื่อยๆ

อย่างฮาเลยครับ
คิดถึงตัวเองสมัยเป็นเด็กน้อย ชอบปัสสาวะใส่ 'ที่หมาเยี่ยว'มาก เพราะเกรงใจคนแถวนั้นจะไปฉี่สุ่มสี่สุ่มห้าก็กลัวเขาจะเหม็น เอา'ที่หมาเยี่ยว'นั่นแหละ ไหนๆเขาก็จัดไว้ให้หมาแล้ว เป็นคนแท้ๆทำไมจะขอใช้บ้างไม่ได้

ภาพเก่า พ.ศ. ๒๔๙๓ กำแพงวัดพระเชตุพนฯ ย่านท่าเตียน ที่ริมกำแพงวัดก็มีเขียนไว้  ;)
เครดิทภาพ ดิมิทรี


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 12:26
ภาพนี้คือปากน้ำ เจอเข้าโดยบังเอิญในกูเกิ้ลค่ะ
เห็นแล้วก็อดนึกถึงชานเมืองกรุงเทพแถวสุขุมวิทไม่ได้


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 12:33
ท่านอาจารย์เทาชมพูไปเร็วจัง ผมยังงุ่มง่ามอยู่กับคุณหมอศานติกับคุณหนุ่มรัตนสยามเลย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 09 ก.ย. 13, 12:35
ซอยนานาใต้ ปี ๒๕๑๗ ครับ
ของคุณหนุ่มมีรูปเดียวกันนี่หรือเปล่า
อ้างถึง
ก่อนที่จะมีคำว่าถนนสุขุมวิท ถนนนี้เคยชื่อ "ถนนปากน้ำ"
เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้แหละ นับเป็นความรู้ใหม่เอี่ยมทีเดียว ขอบคุณมาก

ถนนสายปากน้ำ (ถนนสุขุมวิท) นั้นหากดูตามประกาศในราชกิจจาฯ แล้วพบว่าประกาศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ ให้เริ่มก่อสร้างต่อจากถนนเพลินจิตไปยังจังหวัดสมุทรปราการ จึงเป็นที่มาของถนนปากน้ำ ในช่วงระยะเวลาหนึ่งครับ
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2476/A/237.PDF

ถนนช่วงนี้ก่อนที่จะได้ชื่อว่า ถนนสุขุมวิท มีชื่อว่า ถนนกรุงเทพ-สมุทรปราการ ไม่ใช่ ถนนปากน้ำ
ลองเอาสถานที่สิ่งก่อสร้างในปัจจุบันไปวางไว้ในแผนที่เดิม ก็จะเป็นดังนี้
๑. ถนนบางนาตราด
๒. ถนนปู่เจ้าสมิงพราย
๓. ถนนเทพารักษ์
๔. ถนนสุขุมวิทช่วงสมุทรปราการ-บางปู-คลองด่าน-ฉะเชิงเทรา
๕. สะพานภูมิพล (สะพานวงแหวนอุตสาหกรรม)
๖. พิพิธภัณฑ์ช้างสามเศียร ตรงโค้งถนนตรงนี้ ยังเรียกกันติดปากว่า "โค้งเกริก" เพราะเดิมวิทยาลัยเกริกอยู่ที่ตรงนี้



กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 09 ก.ย. 13, 12:39
รูปของคุณหนุ่มนี่ ในภาพถ่ายนี้คุ้นๆว่าจะเป็นถนนสุขุมวิทช่วงที่เลยปากน้ำ ไปทางคลองด่าน ออกสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงไปสู่ชลบุรี

ส่วนในแผนที่ ตกทางรถไฟสายปากน้ำ(^)ที่ขนานถนนพระราม๔ทางด้านทิศใต้  ซึ่งวิ่งถี่กว่ารถไฟสายตะวันออกไปอรัญประเทศ ผมคุ้นกับรถไฟของนายพลริชลิวสายนี้มาก บ้านน้าผมอยู่บางกะปิ เด็กๆไปค้างกับน้าบ่อยเพราะติดพี่ชายสองคนลูกของน้า นอนดูรถไฟวิ่งผ่านหลังบ้านทั้งวัน

ภาพในอดีตกับภาพในอนาคต - อาจจะไม่ใช่บริเวณเดียวกัน แต่คลองในภาพคือคลองเดียวกัน ชื่อว่า "คลองชลประทาน" เลียบขนานไปกับถนนสุขุมวิทจากปากน้ำไปถึงคลองด่าน



กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 12:41
ท่านอาจารย์เทาชมพูไปเร็วจัง ผมยังงุ่มง่ามอยู่กับคุณหมอศานติกับคุณหนุ่มรัตนสยามเลย
ถ้าเรื่องหมาละก็ รู้ว่ายาว
ป๋มรอป๋าได้ค้าบ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 09 ก.ย. 13, 12:46
ภาพนี้คือปากน้ำ เจอเข้าโดยบังเอิญในกูเกิ้ลค่ะ
เห็นแล้วก็อดนึกถึงชานเมืองกรุงเทพแถวสุขุมวิทไม่ได้

ภาพที่อาจารย์ฯ นำมาลง คือบริเวณหมายเลข ๗ ครับ เชิงสะพานข้ามคลองมหาวงศ์ ใกล้กับสถานีรถไฟมหาวงศ์
ผมยังเสียดายอยู่ทุกวันนี้ที่ไม่ได้ถ่ายภาพซากสถานีเก่าไว้ ที่ยังมีตัวอาคารสถานี หอถังน้ำสำหรับใช้เติมลงในหัวรถจักรอยู่ ปัจจุบันกลายเป็นท่าทรายไปแล้ว

มาพบภาพในอินเตอร์เน๊ตพอดี เลยขอเพิ่มเติมภาพซะเลย ภาพซ้ายเป็นภาพถนนสุขุมวิทฝั่งขาเข้ากรุงเทพ ภาพขวาเป็นภาพฝั่งขาเข้าสมุทรปราการ สะพานที่เห็นคือสะพานข้ามคลองมหาวงศ์



กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 13:13
อ้างถึง
ถ้าเรื่องหมาละก็ รู้ว่ายาว
ป๋มรอป๋าได้ค้าบ
กาโต้ของผมมันรออยู่ไหนไม่ทราบ อาจเกิดเป็นคนแล้วตามที่ผมสั่งมันไว้ก่อนตาย แต่บอกมันไปแล้วว่าผมจะไม่ตามมันไปนะ ทางใครทางมัน

ว่าแล้วก็ไปทางสุขุมวิทของจารย์ดมศรีต่อ เดี๋ยวจะห่างกลุ่มหน้าเกินไป ท่านผ่านปากน้ำไปโน่นแล้ว

ขั้นต่อมาทางการก็ตัดถนนสุขุมวิท(ที่เรียกกันว่าตัดถนนนั้นที่จริงคือการสร้างถนนต่อไปนั่นเอง)จนถึงจังหวัดสมุทรปราการ

ต่อมาในช่วงนี้ก็เกิดซอยอโศก (ซอย 21) ไปถึงคลองแสนแสบเท่านั้น ซอยอโศกเป็นซอยเล็กๆ ธรรมดา มีบ้าน ดร.เสริม วินิจฉัยกุล อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง อยู่ติดกับบ้านคุณพระตุลย์ฯ และ พล.ร.ต. ประจวบและคุณหมออัมพิกา พลกล้า (สร้างทีหลัง) กับคุณ(ท่านผู้หญิง) พึงใจ ศรลัมพ์
เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ซอยเสียแล้ว กลายเป็นถนนใหญ่ จราจรหนาแน่น สองข้างถนนก็เป็นอาคารใหญ่สูงๆ เต็มไปหมด ส่วนมากเป็นอาคารพาณิชย์ แต่ขาดแคลนที่จอดรถ ฉะนั้นร้านค้าที่ไม่มีที่จอดรถมักอยู่ไม่ได้

ซอย 23 (ซอยประสานมิตร) สุดซอยเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูประสานมิตร เดี๋ยวนี้เป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรจน์ มีทางเข้าออกหลายทาง ออกทางถนนเพชรบุรีตัดใหม่ก็ได้ ออกทาง”อโศก” ก็ได้ มีนักศึกษามากมาย เจริญมากก่อนถึง ร.ร. เป็นบ้านของ พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ อัศวินแหวนเพชร ของ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ และภรรยาของคุณพุฒ ก็เป็นอาจารย์ในโรงเรียนนั้นด้วย ปากซอยประสานมิตรเป็นบ้านหลบภัยสงครามมาจากซอยรองเมืองของคุณพิจิตต ฐิติเวส ซึ่งเป็นดาวดวงหนึ่งในกลุ่มจักรยานกลุ่มใหญ่ของสุขุมวิทเช่นกัน

ปากซอย 22 ริมถนนสุขุมวิท เป็นกรมอุตุนิยมของทหารเรือ ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นสวน “เบญจศิริ” อันสวยงามแล้ว และมี “แอมโพเรียม” เกิดเพิ่มขึ้นอีกด้วย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 13:22
ซอย 26 วอยอารี มีบ้านของ ศ.มรว. แหลมฉาน หัสดินทร และ ศ.เฉลิม รัตนทัศนีย์ อดีตอาจารย์คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ และบ้านของพระยาบูรณศิริพงษ์ (ประโมทย์ บูรณศิริ) ซึ่งในบ้านนั้นมีงาช้างใหญ่แกะสลักซ้อนกันถึง 3 ชั้น และระบายสีให้เห็นความลึกตื้นของแต่ละชั้น เป็นของเก่าโบราณมาก

ซอย 39 ซอยพร้อมพงษ์ ในซอยนี้มีที่ของครอบครัว ม.ล. พร้อมจิตร ทำให้เกิดซอยแยกชื่อพร้อมหลายซอย เช่น ซอยแยก “พร้อมศรี” “พร้อมใจ” “พร้อมจิตร” ฯลฯ และปากซอยนี้มีร้านอาหารและร้านข้าวต้มอร่อยๆ ซึ่งมีผู้นิยมกันมาก โดยเฉพาะในเวลา 24 น. ล่วงไป (ในสมัยนั้น)

ครูดมศรีลืมซอย๒๔ หรือซอยเกษมไป ในซอยนั้นมีซอยแยกชื่อเมธีนิเวศ หรือพวกบ้านพิชัยญาติที่หัวหิน เป็นบุนนาคสายสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย สืบราชทินนามมาถึงเจ้าพระยาพิชัยญาติ(ดั่น บุนนาค) ท่านขายบ้านแถวสุรวงศ์มาซื้อที่ที่สุขุมวิทนี้ให้ลูกหลานแบ่งกันอยู่หลายสิบหลัง อุ่นหนาฝาคั่งมาก เดินนิดเดียวก็ถึงเอมโพเรี่ยม


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 13:30
สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2483-2489 รถยนต์ในกรุงเทพฯ ก็มีเพียงหกพันกว่าคันเท่านั้น รถของท่านอดีตนายกรัฐมนตรี คุณหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ทะเบียน 6666 เวลานั้นน้ำมันแพงมากและไม่ใคร่มีด้วย เลยต้องมีการปันส่วนน้ำมันคันละ 10 ลิตรต่อเดือน ราคาน้ำมันเวลานั้นราคาราว 2-3 บาทเท่านั้นเอง แต่ในตลาดมืด 20 ลิตรต่อ 300 บาท คนจึงหันมาขี่จักรยานกันมาก

ถนนสุขุมวิทตอนเย็น ตั้งแต่ซอย 1 จนถึงซอย 49 (ซอยกลาง) จะมีการขี่จักรยานสวยๆ และคนขี่ก็สวยมากๆด้วย ฉายกันเป็นกลุ่มๆ ส่วนมากแต่งตัวกันสวยหยดย้อย และมีบอร์ดี้การ์ด ขี่ตามกันเป็นพรวน(น่าสนุกมากนะ) เหล่าดาราในกลุ่มนั้นก็มี คุณพร้อมจิตร สนิทวงศ์ คุณพร้อมศรี พิบูลย์สงคราม จากซอยไชยยศ คุณ(หมอ)วิภาวี พยุงเวช  คุณ(หมอ)อัมพิกา ศรลัมพ์ และคุณ(ท่านผู้หญิง)พึงใจ ศรลัมพ์ จากซอยอโศก และ คุณพิจิตต์ ฐิติเวส จากซอยประสานมิตร รถจักรยานส่วนมาก็เป็นจากอังกฤษ เช่นยี่ห้อ “รัชวิชเวิต” “ซันบีม” “ฮัมเบอร์”  “ราเล่ห์”  “เฮอร์คิวลิส" ฯลฯ  บางคันแพงๆ ล้อมีเบรกคุม และมีเกียร์ กับที่วัดความเร็วด้วย ในสมัยนั้นรถจักรยานก็ต้องมีทะเบียน คนขี่ก็ต้องมีใบอนุญาตให้ขับขี่ด้วย และต้องไม่ต่อทะเบียนและใบขับขี่ทุกปี น่าเบื่อจัง เพราะมีคนเข้าคิวกันเป็นร้อยๆ
 
พอสิ้นสงครามน้ำมันก็ถูกลง รถยนต์ก็วิ่งมากขึ้น กลุ่มจักรยานสาวสวยก็หมดไป กลายเป็นนั่งรถยนต์เพียวแทนกัน เลยมีรถยนต์หายกันบ่อยๆ พอสงครามสงบ พวกนักเรียนนอกเสรีไทยก็กลับเข้ามา เลยมีการเต้นรำที่สวนอัมพรกันทุกอาทิตย์ ผู้ที่ไปเต้นรำที่สวนอัมพรนั้นส่วนมากรู้จักกัน ผู้ชายบางคนแต่งสากล บางคนแต่ง”ทักซิโด้” ส่วนผู้หญิงส่วนมากประโปรงยาวสีสวยๆ ในการเต้นรำแต่ละครั้งจะขาดเสียมิได้ของกลุ่มดาวจรัสแสงของ”สุขุมวิท”

เวลานั้นในกรุงเทพฯ ห้ามขายอาหารในเขตเทศบาลเกิน 24.00 น. ฉะนั้นพวกชอบเที่ยวกลางคืนและเต้นรำต้องย้ายที่กินข้าวต้มตอนดึก จากตลาดประตูน้ำไปอยู่ที่ปากซอยพร้อมพงษ์ (นอกเขตเทศบาลแล้ว) ดังนั้น สุขุมวิทตอนดึกจึงมี “ทักซิโด้” และ กระโปรงยาวชุดหยดย้อยสีต่าง ๆ เฉิดฉายเกลื่อนสุขุมวิท แถวซอยพร้อมพงษ์ สนุกสนานกันมาก


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ย. 13, 13:33
^
^
รู้สึกท่านวิ่งรถเร็ว คงเติมน้ำมันก๊าดโซลีน เร่งคันเริ่งเต็มฝีเท้า  ;D

มาหยุดรอกินสเต็กโชคชัย ที่ตึกโชคชัย ตึกสูงที่สุดบนนถนนสุขุมวิทก่อนไหม


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 13:45
จอดตรงนี้ละกัน
ซอย 49 (ซอยกลาง) ลึกเข้าไปเป็นบ้านของ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ ยมนาค และอาจารย์ต่อพงษ์ ยมนาค อดีตคณบดี คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ และใกล้กันนั้นผมมีที่อยู่ 200 ตารางวา จึงลองสร้างบ้านแฝดคู่แรกของกรุงเทพฯ ทำได้เป็นบ้าน 4 หลัง และมีที่พอเป็นสวนที่จอดรถไว้ทุกหลัง พวกโรงพยาบาล “สมิติเวช” มาสร้างขึ้นข้างๆ ที่ของผมที่เป็นบ้านแฝดสองคู่สี่หลัง ทำให้จอแจผมเลยขายไปหมดเลย

ซอย 56 (ซอยนภาศัพท์) ปากซอย 36 ที่ติดกับถนนสุขุมวิทชื่อ “ซอยนภาศัพท์ เพราะสกุลนภาศัพท์มีที่อยู่ในซอยนี้มาก แต่พอเลยเข้าไปออกถนนพระราม 4 กลับมีชื่อ “ซอยแสนสบาย” (แปลกดีนะ)

ซอย 55 (ซอยทองหล่อ) เป็นซอยแคบๆ เพราะมีคูขนานไปด้วย ถนนแย่มาก ผมไปสร้างบ้านหลังหนึ่งในเวลา 4 เดือน แหนบรถผมหักไป 2 ครั้ง แต่ก็เป็นบ้านที่ทำให้ผมมีอาชีพเพิ่มขึ้นอีกคือ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างที่ไม่ต้องลงทุนเลย แต่ก็ทำได้ดีตลอดมาถึง 19 ปี สร้างบ้านได้ประมาณ 200 หลัง ซอยทองหล่อเดี๋ยวนี้เป็นถนนใหญ่ไปแล้ว มีร้านค้าใหญ่ๆ เต็ม 2 ข้างทาง จราจรก็หนาแน่น มีทางแยกออกไปซอยอื่นอีกมาก

ซอย 63 หรือซอยเอกมัย ยาวออกไปชนคลองแสนแสบเลย มีบ้านอดีตนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมทย์ อยู่ด้วย ซอยแยกเอกมัย 15 ออกไปชนคงอง “เป้ง” ซึ่งในครั้งนั้นคลองกว้าง 12.00 ม. แต่เดี๋ยวนี้เทศบาลทำเป็นลำรางระบายน้ำเป็นกำแพงคอนกรีตทั้งสองข้าง แต่กว่างเพียง 4.00 เมตรเท่านั้น (เป็นไปได้อย่างไร?) เดี๋ยวนี้ซอย 63 นี้กลายเป็นถนนเอกมัย ข้ามคลองแสนแสบไปเชื่อมกับถนนเพชรบุรีตัดใหม่ มีรถเมล์ให้ความสะดวกด้วย และมีซอยแยกเชื่อมซอยทองหล่อ อีกทางก็แยกไปเชื่อมกับซอย 71 เป็นการช่วยการจราจรของถนนใหญ่ให้เบาบางลงบ้าง

เมื่อข้ามสะพานพระโขนงไปก็ไปถึงจังหวัดสมุทรปราการ ก่อนถึงจังหวัดสมุทปราการเล็กน้อยต้องผ่านบ้าน พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ซึ่งเคยเป็น “หัวหน้าคณะปฏิรูป” ของรัฐบาลของเราในสมัยหนึ่ง เมื่อสุขุมวิทถึง  สมุทปราการก็ทำให้จังหวัดรุ่งเรืองเจริญขึ้นทันที รถรางกรุงเทพ-ปากน้ำก็เลิกไป เพราะติดต่อทางถนนสุขุมวิทรวดเร็วและสะดวกกว่า แต่เวลานี้จึงได้คิดว่า ถ้ารถรางยังไม่เลิกหรือจะมีใหม่คงจะช่วยการจราจรดีขึ้นมาก


จารย์ดมศรีลืมซอยสุขุมวิท๓๔ หรือซอยสุภางค์ที่บ้านน้าผมอยู่ที่นั่นได้อย่างไร ปากซอยนี้มีสถาบันชวาลาอันเก่าแก่ตั้งอยู่จวบจนปัจจุบัน เมื่อก่อนเป็นบ้านใหญ่สองชั้น ผมมองจากบ้านน้าเข้าไปหลังบ้านเขา เห็นผู้หญิงเดินๆนั่งๆกันขวักไขว่ พี่ผมบอกพวกเธอเป็นหมอนวด ผมยังคิดว่าโรงพยาบาลนี้แปลกกว่าที่อื่น แต่ไม่นานต่อมาก็หายโง่

หลังบ้านน้าเป็นทุ่งนา มองไปสุดลูกหูลูกตา แต่จะมีรถไฟ(จารย์ดมศรีเรียกรถราง)วิ่งผ่านไปผ่านมาเป็นระยะๆ ได้ยินเสียงชัดเจนเหมือนอยู่ใกล้ๆ
ตรงข้ามซอยสุภางค์เป็นซอยช่องลม สุขุมวิท ๕๑ มีโรงงานทำเค็กและขนมปังทันสมัยใหญ่เบ่อเรื่มตั้งอยู่ ชื่อไซเลอร์ เบเกอรี่ (Seiler's Bakery)ฝรั่งมาจอดรถซื้อกันเยอะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ย. 13, 14:01
สมัยก่อนเท่าที่จำได้ ถนนสุขุมวิทจะมีตึกที่สูงที่สุดในย่านนี้ รู้สึกจะสูงเพียง ๒๔ ชั้นเท่านั้นก็นับว่าสูงที่สุดในกว่า ๔๐ ปีที่ผ่านมา

ตึกโชคชัยออกแบบโดย อ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ

ข้อความจากลุงบ๊อบเล่าเรื่องตึกโชคชัยว่า

เรื่องของโชคชัยสเต๊กเฮ้าส์ เป็นตำนานมานานมาก กล่าวคือ ในช่วงที่เกิดสงครามเวียตนาม มีการสร้างตึกโชคชัยที่สุขุมวิท ด้วยความสูง 26 ชั้น ซึ่งสูงที่สุดในประเทศไทย ก่อนหน้านั้นอย่างเก่งแค่ 7 ชั้น 9 ชั้น แถวเยาวราช พอปี 2511 ก็เปิดดำเนินการ โดยให้รัฐบาลอเมริกันเช่าไป 23 ชั้น เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของสำนักงานภาคพื้นแปซิฟิค โดยมีหน้าที่เพื่อสนับสนุนสงครามเวียตนาม หน่วยงานหลักในตึกโชคชัย คือหน่วยข่าวกรองหรือที่เรารู้จักกันดีวย่า CIA สายลับเดินกันเต็มตึก รวมทั้งศูนย์วิทยุเพื่อการรับส่งข่าวสาร ดังนั้นหลังคาจึงเต็มไปด้วยเสาอากาศวิทยุ และที่เหลืออีกสามชั้นทางเจ้าของตึกก็เก็บไว้ใช้เปิดสำนักงานและมีการเปิด ร้านอาหารเพื่อรองรับเจ้าหน้าที่ในตึก โดยขั้นแรกเปิดร้าน Eddie Coffee Shop ที่ชั้น 25 โดยลูกค้าเป็นพวกทำงานในอาคารทั้งหมด กิจการไปด้วยดี ไปได้สวย ไปด้วยเชลส์

แต่พออเมริกันแพ้สงครามมีการถอนทหารออก ปี 2514 จึงปรับปรุงร้าน Eddie Coffee Shop ใหม่หมด ทำเป็นร้านเคาบอยตะวันตก เปิดใหม่เป็นร้าน Chokchai Steak House เป็นที่ฮือฮามาก และที่ทำให้สเต๊กส์ที่นี่ขายดี ราคาจะถูกกว่าตามโรงแรมใหญ่ พวกเนื้อวัวเป็นวัวที่เขาเลี้ยงเองที่ฟาร์มโชคชัย ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพได้ ตอมาจึงเปิดชั้น 26 ซึ่งเป็นชั้นดาดฟ้า เปิดภัตตาคารเป็นแบบโอเพ่นแอร์ จำลองบรรยากาศแบบฮาวายมาไว้บนยอดตึกสูงที่สุดของไทย ทุกคืนจะมีการแสดงแบบฮาวาย โดยเฉพาะระบำฮูล่าส่ายเอว สุดยอด ใช้ชื่อว่า Hawaiian Roof Garden และเปิดไนท์คลับที่ชั้น 24 เพื่อรองรับนักเที่ยวชื่อ Chokchai Club เป็นสถานที่เต้นรำที่ดังมาก เพราะอยู่สูงที่สุดทำให้เห็นวิวทิวทัศน์ของกรุงเทพยามค่ำคืน พวกคนมีกะตังค์เข้าไปใช้บริการมากมาย ที่โชคชัยคลับมีพวกวงดนตรีดัง ๆ หลายวงมาแสดง Royal Sprite ก็เคยประจำที่นี้ แต่หลังจากเกิดวิกฤตการเงินปี 2524 ทำให้กิจการสะดุด จึงประกาศขายตึกโชคชัยเพื่อชำระหนี้ เชื่อไหมประกาศขายอยู่ร่วมสิบปี ไม่มีคนซื้อ เพราะทุกคนเจอมนสุมทั้งนั้นใหญ่บ้างเล็กบ้าง ผลสุดท้ายขายให้กับ ผู้ที่มีฉายาว่า ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า เป็นแขกชื่อ สุระ จันทร์ศรีชวาลา ผู้เทคโอเวอร์ธนาคารแหลมทองมาสด ๆ ร้อน ๆ และได้ย้ายสำนักงานใหญ่ธนาคารแหลมทองมาไว้ที่ชั้นหนึ่งของตึกนี้

เรื่องของตึกโชคชัย เมื่อก่อนมีโชว์รูมวถยนตร์เปิดดำเนินการที่ชั้น ๆ หนังเจมส์บอนด์ตอน The Man With The Golden Gun มาถ่ายทำในประเทศเทย ฉากขับรถไล่ล่ากันบนถนนเริ่มจากตึกนี้ พระเอกขับรถพุ่งชนกระจกโชว์รูมไปไล่จับผู้ร้าย ตอนนั้นข้าง ๆตึกมีโรงหนังชั้นหนึ่งมาเปิดชื่อโรงหนังไดเร็คเตอร์ ที่นี้แหละที่วงดัง Sherbet (Highway) มาเปิด concert 15 รอบตรงนี้ ภายหลังเปลี่ยนกิจการเป็นร้านเหล้ารขนาดใหญ่ชื่อ RPM ดังอยู่พักแล้วหายไป บอกต่ออีกนิด ข้าง ๆ ตึกโชคชัยเข้าซอย 24 ไปพอเลยปั้มน้ำมันมีที่จอดรถ แล้วเดินข้ามถนนมา ก๋วยเตี๋ยวหมูอร่อยมาก ดังมานาน แต่อย่าไปตอนเที้ยงนะ คนแน่นมาก


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 14:06
   อย่างที่เคยเล่าว่าสมัยโน้น  (ก่อนยุคมีตึกโชคชัยสิบกว่าปี)   ความเจริญของชานเมืองกรุงเทพหยุดอยู่แค่สะพานพระโขนง   ซอยที่ไกลปืนเที่ยงที่สุดคือซอยเอกมัย  ซอยที่ใกล้กว่านั้นอย่างซอยไปดีมาดีและซอยทองหล่อก็ยังมีทุ่งนาให้เห็นค่อนซอย  ถ้าไม่ได้อยู่แถวปากซอยแล้วเปลี่ยวเอามากๆ  ค่ำลงก็น่ากลัวแม่นาคพระโขนงจะมาเยือนเป็นที่สุด     จึงไม่มีใครอยากไปอยู่          
   ตอนพ่อตั้งใจจะย้ายบ้านไปอยู่ชานเมือง  มีที่ดินบอกขายแถวซอยที่ว่านี้ แม่ยังคัดค้านบอกว่าไกลเกินไป ถ้าจะปลูกบ้านอยู่ ก็มาทำงานไม่ทัน     แล้วก็ยังไกลความเจริญมากด้วย ไฟฟ้าน้ำประปาไม่สะดวกทั้งสองอย่าง
   ซอยไปดีมาดี และซอยทองหล่อ ราคาที่ดินพอๆกัน   แต่ซอยกลางในสมัยโน้นไม่มีใครอยากไปอยู่ เพราะยุคหนึ่งชื่อเสียงไม่ค่อยดีนัก  นัยว่าเป็นแหล่งที่อยู่ของเมียน้อยที่นักการเมืองแอบไปปลูกบ้านซุกซ่อนไว้    และอีกกระแสบอกว่ามีสำนักอย่างว่าไปเปิดที่นั่นด้วย     ที่ดินเลยราคาตก   จริงเท็จอย่างไรไม่ทราบเหมือนกันค่ะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 14:10
^
ต้องไปถามป.อินทรปาลิต พี่ผมพาขับรถเข้าไปสำรวจซอยกลางตามพลนิกรกิมหงวน ลึกเข้าไปเจอแต่สลัม ไม่มีอย่างที่คุณป.กล่าวถึงเลย

ตึกโชคชัยกำลังก่อสร้าง ตึกนี้ทำให้เหล็กรูปพรรณหลายขนาดขาดตลาดในกรุงเทพไปหลายเดือน

จำได้ว่าเมื่อกรุงเทพเกิดแผ่นดินไหวในปี๒๕๑๘  คนที่ทำงานบนตึกโชคชัยวิ่งแข่งกันหนีตายลงบันไดมายืนอยู่กลางถนนสุขุมวิท บาดเจ็บกันไปหลายคน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 14:11
เมื่อก่อนสุขุมวิทไม่มีตึกสูงเลย    จู่เมื่อมีตึกโชคชัยเกิดขึ้น ก็เลยกลายเป็นเสาสูงชะลูดอยู่แห่งเดียวบนถนน  มองเห็นได้ไกลมากเพราะไม่มีอะไรบดบัง    จำได้ว่ามองจากบ้านที่ร่วมฤดี ยังมองเห็นเลย
อเมริกาแพ้สงครามเวียตนามน่าจะประมาณพ.ศ. 2518 ค่ะ  ปี 2514  ทหารยังคึกคักอยู่


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 14:13
^
ต้องไปถามป.อินทรปาลิต

อืมม์ ใช่  คุณ ป. พูดถึงสำนักเจ๊อะไรคนหนึ่งที่สามเกลอไปอุดหนุน   อยู่ที่ซอยกลาง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ย. 13, 14:14
เมื่อก่อนสุขุมวิทไม่มีตึกสูงเลย    จู่เมื่อมีตึกโชคชัยเกิดขึ้น ก็เลยกลายเป็นเสาสูงชะลูดอยู่แห่งเดียวบนถนน  มองเห็นได้ไกลมากเพราะไม่มีอะไรบดบัง    จำได้ว่ามองจากบ้านที่ร่วมฤดี ยังมองเห็นเลย
อเมริกาแพ้สงครามเวียตนามน่าจะประมาณพ.ศ. 2518 ค่ะ  ปี 2514  ทหารยังคึกคักอยู่

บนตึกโชคชัยนั้น มีนาฬิกาไฟฟ้าตั้งอยู่ บอกวันที่และอุณหภูมิให้คนที่ถนนได้เห็นกัน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 14:19
อ้างถึง
อืมม์ ใช่  คุณ ป. พูดถึงสำนักเจ๊อะไรคนหนึ่งที่สามเกลอไปอุดหนุน   อยู่ที่ซอยกลาง

เจ๊หนอมครับ ต่อมาเจ๊หนอมเลยเป็นฉายาของจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีไป ;D


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ย. 13, 14:21
ภาพนี้จากเนต บอกว่าเป็นถนนสุขุมวิท ดูแล้วก็คงสัก ๔๐-๔๕ ปีก่อนได้ ยังจำได้ว่าลูกกรงปลูกต้นไม้ของ กทม. เป็นโครงเหล็ก เก่า ๆ หน่อยก็โยกเล่นได้ ถนนนั้นมีขอบปูนแบ่งถนน จัดระบบการรถแบบ Two way คือสวนกันไปมาได้ ภายหลังเขาจัดระบบใหม่แบบ One Way จนถึงทุกวันนี้


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 14:24
    เพลินจิตและสุขุมวิทเป็นทำเลที่อยู่อาศัยชานเมือง ซึ่งขยายไปทางตะวันออกตั้งแต่รัชกาลที่ 7  หนาตาขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2     คึกคักขึ้นมากในช่วงพ.ศ. 2500 เป็นต้นมา    
    ศูนย์รวมการชุมนุมของชาวบ้านอีกแห่งหนึ่งคือวัด       สมัยนั้นวัดธาตุทองได้ชื่อว่าเป็นศูนย์รวมของคนสุขุมวิทที่จะไปทำบุญ ไปสวด ไปเผาญาติกันที่นั่น  จนเรียกกันเล่นว่าๆ "วัดเศรษฐี" เพราะได้ชื่อว่าเป็นวัดโอ่อ่ามีหน้ามีตา   เพราะคนอยู่สุขุมวิทค่อนข้างจะมีสตางค์บำรุงวัดได้มาก     ในเมื่อรถไม่ติด  ก็ไปถึงไม่ลำบากลำบนนัก  แม้จะดูไกลก็ตาม


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 14:27
ดูจากแฟชั่นกางเกงของสาวเสื้อดำ ก็ประมาณยุค 1970s ละค่ะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 14:30
ต้นถนนสุขุมวิทเลยหละ แถวหน้าซอย ๒ มั้ง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ย. 13, 14:30
   เพลินจิตและสุขุมวิทเป็นทำเลที่อยู่อาศัยชานเมือง ซึ่งขยายไปทางตะวันออกตั้งแต่รัชกาลที่ 7  หนาตาขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2     คึกคักขึ้นมากในช่วงพ.ศ. 2500 เป็นต้นมา    
    ศูนย์รวมการชุมนุมของชาวบ้านอีกแห่งหนึ่งคือวัด       สมัยนั้นวัดธาตุทองได้ชื่อว่าเป็นศูนย์รวมของคนสุขุมวิทที่จะไปทำบุญ ไปสวด ไปเผาญาติกันที่นั่น  จนเรียกกันเล่นว่าๆ "วัดเศรษฐี" เพราะได้ชื่อว่าเป็นวัดโอ่อ่ามีหน้ามีตา   เพราะคนอยู่สุขุมวิทค่อนข้างจะมีสตางค์บำรุงวัดได้มาก     ในเมื่อรถไม่ติด  ก็ไปถึงไม่ลำบากลำบนนัก  แม้จะดูไกลก็ตาม

ใช่ครับ วัดธาตุทองเป็นวัดที่ดังมาก อยู่ตรงข้ามและเยื้องกับสถานีขนส่งตะวันออก

วัดธาตุทองนั้น เดิมตรงนี้ไม่มีวัดเป็นทุ่งนา มูลเหตุแห่งการสร้างวัดเนื่องจาก ในสมัยเริ่มมีการก่อสร้างท่าเรือคลองเตยนั้นมีวัดตั้งอยู่ในพื้นที่เวนคืน ๒ วัดคือ วัดเงินและวัดทอง และทางราชการได้ทำการผาติกรรมโดยสร้างวัดขึ้นมาใหม่ซึ่งก็คือ วัดธาตุทอง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 14:35
สถานีขนส่งเอกมัยดังว่า


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ย. 13, 14:40
วาดแผนที่ซอยเอกมัย และถนนสุขุมวิท แหล่งสนุกหรรษา มีลานโบว์ลิ่งและศาลาโฟร์โมส ไว้ทานไอศกรีมด้วยถ้วยสีส้ม แก้วน้ำสีส้ม ช้อนสีส้ม
ตรงข้ามเป็นสหกรณ์ร้านค้า ที่จะเป็นสมาชิก ต้องบอกเลขสมาชิกทุกครั้งที่แคชเชียร์ รู้สึกว่าจะเป็น เลขสมาชิกห้าหลักและจะได้เงินคืนทุกปี
เครื่องคิดเงินเป็นเครื่องใหญ่มาก มีปุ่มกดแบบโบราณ จิ้ม ๆ ๆไปเรื่อย เดี่ยวถาดเก็บธนบัตรก็เด้งออกมา

ตรงฝั่งถนนสุขุมวิทจะเป็นสถานีขนส่งสายตะวันออก ใครจะไประยอง จันทน์ ตราด มาที่นี่ และอยู่ติดกับท้องฟ้าจำลอง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 14:42
อ้างถึง
เมื่อก่อนสุขุมวิทไม่มีตึกสูงเลย    จู่เมื่อมีตึกโชคชัยเกิดขึ้น ก็เลยกลายเป็นเสาสูงชะลูดอยู่แห่งเดียวบนถนน  มองเห็นได้ไกลมากเพราะไม่มีอะไรบดบัง    จำได้ว่ามองจากบ้านที่ร่วมฤดี ยังมองเห็นเลย
อีกรูปนึงครับ ตึกโชคชัยนี้ทำให้อาจารย์รังสรรค์ "เกิด" ในฐานะสถาปนิกชั้นนำของยุค ต่อมาท่านก็ดังได้กว่าเดิมโดยไม่ต้องพึ่งสถาปัตยกรรม


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ย. 13, 14:48
ตอนเด็ก ๆ จำได้ว่า กุ้งอะไรไม่รู้ตัวใหญ่มากสีแดง ๆ ด้วยหลอดนีออนเป็นเส้น ๆ แล้วก็มีมือกับปากทาลิปสติกสีแดงใหญ่มาก แวป ๆ ได้สวยมาก ๆ

ตอนนี้ถึงได้รู้ว่ากุ้งนั้นคือ ร้านอาหารทะเลซีฟู๊ด และ อาบอบนวด ตามลำดับ ;D


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 14:49
หัวมุมถนนวิทยุ เมื่อสมัยจบจุฬาใหม่ๆ มีตึกอพาร์ตเมนต์เป็นแท่งกลมๆ ไม่ใช่ที่ดินของราชสกุลรังสิตหรือครับ

กระทู้นี้จะว่าวิ่งเร็วปานจรวดก็ไม่ใช่  ต้องเรียกว่าวิ่งเฉียดความเร็วของแสง  วันเดียวเข้าไปสามสี่หน้าแล้ว
ไปถามเพื่อนมาถึงอาคารที่คุณ NAVARAT.C ถามถึง  ได้คำตอบมาตามนี้ค่ะ

" หัวมุมถนนเพลินจิตฝั่งเดียวกับสถานทูตนั้น ปัจจุบันเป็นโรงแรม และติดกันคืออาคารสำนักงานมี HomePro เป็นที่สังเกต ส่วนเพลินจิตอาเขตกลายเป็นที่ว่างติดกับบ้านของคุณบุญชิต เกตุรายนาค ใช่ไหมคะ ฝั่งตรงข้ามหัวมุมคือ มหาทุนพลาซ่า เจ้าของที่ดินคือ ท่านผู้หญิงสุประภาดา ที่นักเรียนเตรียมรุ่นพี่สาวคนรอง(ห่างกัน 4 ปี)เรียกว่า "อาจารย์หญิง"....เพลินจิตอาเขตเดิ้นมากสมัยนั้นเพราะมี Foodland Supermarket ที่ทุกคนชอบมาซื้อของ"


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 15:02
ไม่ใช่เพลินจิตอาเขตครับ
อาคารที่ผมว่าอยู่บนที่ดินตรงหัวมุมถนนวิทยุ เป็นแปลงแรกเลย แปลงที่สองคืออิมพีเรียล โฮเตลซึ่งปัจจุบันคือพลาซาเแอทธินี


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 15:08
อ๋อ นึกออก
เป็นส่วนหนึ่งของวังหม่อมเจ้าชัชชวลิต เกษมสันต์มาก่อนค่ะ   ตอนนี้ก็น่าจะตกเป็นของทายาทของท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์

กลับไปดูรูปในหน้า 8  ว่าจะถามแล้ววิ่งตามกระทู้ไม่ทัน
พี่แหม่ม ดร.สุรพล วิรุฬรักษ์หรือเปล่านี่


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 15:13
ช่ายแล้นขรับ นั่นแหละพี่เค้าหละ

ไหนๆก็กลับไปแถวเพลินจิตรแล้ว อยากทราบว่านี่เคยเป็นบ้านของใครครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 15:22
ซอยอะไรคะ  ดูไม่ออก


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 15:25
ซอยอะไรคะ  ดูไม่ออก ซอยร่วมฤดีหรือ?


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 09 ก.ย. 13, 15:38
ภาพนี้จากเนต บอกว่าเป็นถนนสุขุมวิท ดูแล้วก็คงสัก ๔๐-๔๕ ปีก่อนได้ ยังจำได้ว่าลูกกรงปลูกต้นไม้ของ กทม. เป็นโครงเหล็ก เก่า ๆ หน่อยก็โยกเล่นได้ ถนนนั้นมีขอบปูนแบ่งถนน จัดระบบการรถแบบ Two way คือสวนกันไปมาได้ ภายหลังเขาจัดระบบใหม่แบบ One Way จนถึงทุกวันนี้

ไม่ใช่ถนนสุขุมวิทอย่างแน่นอนครับ แต่จะเป็นถนนอะไรนั้น ผมเดาว่าเป็นถนนสุรวงศ์ช่วงแถว ๆ พัฒน์พงศ์


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 09 ก.ย. 13, 15:41
ช่ายแล้นขรับ นั่นแหละพี่เค้าหละ

ไหนๆก็กลับไปแถวเพลินจิตรแล้ว อยากทราบว่านี่เคยเป็นบ้านของใครครับ

ถ้าผมจำไม่ผิด คุณวิกรม กรมดิษฐ์ เคยมาเช่าหลังบ้านนี้เปิดเป็นบริษัทเป็นครั้งแรกหลังจากที่เรียนจบวิศวกรรมเครื่องกลจากไต้หวัน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ย. 13, 15:42
ซอยนายเลิศ อยู่ตรงข้ามเยื้องซอยร่วมฤดี


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 15:42
อ้างถึง
ซอยอะไรคะ  ดูไม่ออก ซอยร่วมฤดีหรือ?

ปากซอยนายเลิดครับ ซอยแรกจากทางด่วนเลย ฝั่งเดียวกับสถานทูตอังกฤษ
อ้าว โดนภาพสวยงามปาดตกเก้าอี้ไปเลย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 15:44
ไม่เคยเข้าไปซอยนี้เลยค่ะ  เลยตอบอะไรไม่ได้  


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 15:49
ภาพนี้จากเนต บอกว่าเป็นถนนสุขุมวิท ดูแล้วก็คงสัก ๔๐-๔๕ ปีก่อนได้ ยังจำได้ว่าลูกกรงปลูกต้นไม้ของ กทม. เป็นโครงเหล็ก เก่า ๆ หน่อยก็โยกเล่นได้ ถนนนั้นมีขอบปูนแบ่งถนน จัดระบบการรถแบบ Two way คือสวนกันไปมาได้ ภายหลังเขาจัดระบบใหม่แบบ One Way จนถึงทุกวันนี้

ไม่ใช่ถนนสุขุมวิทอย่างแน่นอนครับ แต่จะเป็นถนนอะไรนั้น ผมเดาว่าเป็นถนนสุรวงศ์ช่วงแถว ๆ พัฒน์พงศ์

ตามเอารูปมาลงให้ดู
ถนนเส้นนี้แคบเกินกว่าจะเป็นสุขุมวิทนะคะ

ลองไปเสิชชื่อ "ทอมมี่เยมส์ "ที่เห็นในป้าย     ได้คำตอบว่าตั้งอยู่แขวงคลองเตย เขตพระโขนง

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทอมมี่เยมส์
ทำการส่งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายภายในประเทศ ได้แก่ เพชร พลอย นิล จินดา ไข่มุก ทุกชนิด
ที่อยู่ 132-134 สุขุมวิท แขวงคลองเตย เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร 10110



กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 16:03
ผมยอมแพ้ครับ ตอนแรกนึกว่าเป็นตึกที่อยู่ปากซอย๓ สุขุมวิท


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 09 ก.ย. 13, 16:11
อ้างถึง
ถ้าเรื่องหมาละก็ รู้ว่ายาว
ป๋มรอป๋าได้ค้าบ

ขั้นต่อมาทางการก็ตัดถนนสุขุมวิท(ที่เรียกกันว่าตัดถนนนั้นที่จริงคือการสร้างถนนต่อไปนั่นเอง)จนถึงจังหวัดสมุทรปราการ

ต่อมาในช่วงนี้ก็เกิดซอยอโศก (ซอย 21) ไปถึงคลองแสนแสบเท่านั้น ซอยอโศกเป็นซอยเล็กๆ ธรรมดา มีบ้าน ดร.เสริม วินิจฉัยกุล อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง อยู่ติดกับบ้านคุณพระตุลย์ฯ และ พล.ร.ต. ประจวบและคุณหมออัมพิกา พลกล้า (สร้างทีหลัง) กับคุณ(ท่านผู้หญิง) พึงใจ ศรลัมพ์
เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ซอยเสียแล้ว กลายเป็นถนนใหญ่ จราจรหนาแน่น สองข้างถนนก็เป็นอาคารใหญ่สูงๆ เต็มไปหมด ส่วนมากเป็นอาคารพาณิชย์ แต่ขาดแคลนที่จอดรถ ฉะนั้นร้านค้าที่ไม่มีที่จอดรถมักอยู่ไม่ได้

ขอเลี้ยวเข้าถนนอโศกหน่อยครับ

ขออนุญาตบันทึกไว้ก่อนที่จะลืม "ถนนอโศกดินแดง" คงจะเกิดขึ้นในยุคที่จอมพลถนอมท่านเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล มีการตัดถนนเชื่อมระหว่างซอยอโศกกับถนนดินแดง ที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า "โค้งทรราชย์" ที่มาของชื่อนี้ ท่านเล่ากันในสมัยนั้นว่าบรรดาท่านผู้เป็นใหญ่ในยุคนั้นท่านได้ไปกว้านซื้อที่ดินย่านห้วยขวางบางกะปิกันมาก จนมีความคิดที่จะต้องตัดถนนเข้าไปในที่แปลงนั้น ก็ให้บังเอิญว่าตรงที่ถนนดินแดงมาตัดกับซอยอโศกนั้นอยู่ตรงที่ดินของ "จอมพลตุ๊" พอดี จึงทำให้ถนนต้องเลี้ยวแบบหักข้อศอกเก้าสิบองศา แทนที่จะค่อยๆ ตีโค้งไปอย่างถนนทางหลวงทั่วไป ปัจจุบันก็คือสี่แยกถนนรัชดา-พระรามเก้า ตรงอาคารฟอร์จูนรัชดา

ผมจำไม่ได้ว่าเคยผ่านตรงโค้งทรราชย์นี้ตั้งแต่เมื่อไร แต่ผมจำโค้งทรราชย์นี้ได้ไม่ลืม เป็นถนนราดยางแคบขนาด 2 เลนพูนดินสูงขึ้นมาจากระดับดินเดิมสักเมตรกว่าๆ มีไหล่ทางกว้างสักเมตรหนึ่ง รถสวนกันได้พอดี มองออกไปบริเวณถนนรัชดาไปทางห้วยขวางในปัจจุบันมีสภาพเป็นท้องทุ่งนาจนสุดสายตาทั้งซ้ายและขวา ...


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ย. 13, 16:40
ผมยอมแพ้ครับ ตอนแรกนึกว่าเป็นตึกที่อยู่ปากซอย๓ สุขุมวิท

ข้อสันนิฐานถูกแล้วครับ อยู่เลยซอยนานาใต้ นิดเดียว ปัจจุบันก็อยู่ตรงก่อนถึงโรงแรมแลนด์มาร์ค ครับ เทียบภาพปัจจุบันให้ดู


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 16:52
ดิฉันรู้สึกว่าถนนในภาพทั้งสองมันใหญ่เล็กไม่เท่ากันอยู่นั่นเองละค่ะ   ถนนปริศนาดูเล็กกว่านะคะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ย. 13, 18:43
ดิฉันรู้สึกว่าถนนในภาพทั้งสองมันใหญ่เล็กไม่เท่ากันอยู่นั่นเองละค่ะ   ถนนปริศนาดูเล็กกว่านะคะ


ที่ดูเล็กเพราะว่าฟุตบาธใหญ่ และตำแหน่งการถ่ายภาพเอียงเข้าหาตึกมากกว่า ภาพสีในปัจจุบันครับ เลยทำให้รู้สึกว่าถนนเล็ก ทั้งนี้อ้างอิงตาม

๑. ห้องแถวที่ ๑๓๒ - ๑๓๔
๒. อาคารฝั่งตรงข้ามที่ทำหลังคากันสาดเป็นแนวโค้ง ๆ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 19:02
ในเมื่อยังป้วนเปี้ยนกันอยู่แถวเพลินจิต  ก็ขอย้อนอดีตเหตุการณ์ในซอยร่วมฤดีเมื่อ 42 ปีก่อนให้อ่านกันสักเรื่องนะคะ

พอเข้าซอยจากถนนเพลินจิตมาไม่กี่ก้าว   เป็นที่ตั้งของโรงแรมอิมพีเรียล (เดิม)   โรงแรมนี้ด้านหน้าหันออกถนนวิทยุ  ด้านหลังชนกับซอยร่วมฤดี    เป็นโรงแรมขนาดไม่ใหญ่โตนัก  เล็กกว่าดุสิตธานี  แต่ก็ดูเป็นโรงแรมชั้นดี     สมัยนั้นคนไทยทั่วไปยังไม่ค่อยจะได้มีธุระปะปังเข้าโรงแรมไปกินบุฟเฟ่ต์ หรือสัมมนา หรือมีกิจกรรมสังคมเป็นปกติอย่างสมัยนี้   โรงแรมก็เป็นที่พักของแขกชาวต่างประเทศ   ยุคนั้นทหารอเมริกันเข้ามาเยอะเพราะเป็นช่วงสงครามเวียตนาม  ฝรั่งเดินกันเกลื่อนถนนเพลินจิต

กลางดึก คืนหนึ่งได้ยินเสียงรถหวอดับเพลิงดังโหยหวน  ก็รีบลุกเลิ่กลั่กมาดูว่าไฟไหม้แถวไหน   ใกล้บ้านหรือเปล่า     มองออกไปทางหน้าต่างห้องนอน มองเห็นไฟกำลังไหม้โรงแรมอิมพีเรียล เห็นชัดเพราะเป็นตึกหลายชั้น        ยิ่งกลางดึก รอบๆบ้านเงียบและมืด ก็ยิ่งเห็นแสงไฟ  มีเสียงคนกรีดร้องกันแว่วๆพอได้ยินมาถึงบ้าน  น่ากลัวมาก  
ได้แต่ยืนตัวสั่น  ไม่รู้จะทำยังไงถูก     เกาะหน้าต่างสวดมนตร์เอาใจช่วยผู้ที่ติดอยู่     คิดว่ารถดับเพลิงคงช่วยได้บ้างไม่มากก็น้อย   จนกระทั่งง่วงก็กลับไปนอน   สงสารแขกที่มาพักจับใจ

วันรุ่งขึ้นอ่านข่าวใหญ่ในไทยรัฐพบว่าโรงแรมไหม้วอดวายทั้งหลัง      พรม ผ้าม่านเป็นเชื้อไฟอย่างดี ลุกลามไปทุกชั้น  ดับไม่ไหว   ฝรั่งที่มาพักตายไปหลายคน  นึกในใจว่าเจ้าของเขาคงขายที่ดินหรือเปลี่ยนไปสร้างอย่างอื่นขึ้นมาแน่ๆ  
ที่ไหนได้ เจ้าของกลับฮึดสู้ สร้างโรงแรมอิมพีเรียลขึ้นใหม่ใหญ่โตกว่าเก่า     ดำเนินกิจการมาอีกนานเป็นสิบๆปีก่อนจะกลายเป็นโรงแรมพลาซ่า แอทธินีอย่างในปัจจุบัน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 20:10
ถนนเพลินจิตมีเพลิงไหม้ที่น่าตกอกตกใจหลังจากนั้นอีกหลายปี      เลยหัวมุมซอยมาหน่อย  มีศูนย์การค้าชื่อ Big Bell เกิดขึ้นมาช่วงประมาณทศวรรษ 1980s      วันร้ายคืนร้ายก็เกิดเพลิงไหม้ขึ้นมา  แต่ว่าไม่สูญเสียมากมายอย่างโรงแรมอิมพีเรียล  คนหนีออกมาทัน   
ศูนย์การค้าก็เลิกกิจการไป   กลายเป็นบริษัทมหาทุนพลาซ่าในเวลาต่อมา   ตอนนี้ยังอยู่หรือเป็นอะไรไม่ทราบ   เพราะผ่านทีไรไม่เคยสังเกตสักที  คุณหนุ่มสยามจำได้ไหมคะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ย. 13, 20:52
จำได้ครับ ยังเคยไปเดินห้าง Big Bell  รู้สึกเจ้าของจะเป็นของเพื่อนพ่อ แต่ก็ไม่เคยถามอะไรมาก หลังจากไฟไหม้ห้างคงหมดเงินไปมาก ตอนนี้ King Power มาตั้งอยู่ ให้บริการขายของแก่นักท่องเที่ยว ดูไม่ค่อยเหงาเหมือนแต่ก่อน ส่านด้านบนเป็นตลาดเสื้อผ้า


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 21:01
กระทู้ชักจะนิ่งแล้ว แสดงว่าทุกคนพร้อมที่จะไปกับจารย์ดมศรีต่อ

เมื่อข้ามสะพานพระโขนงไปก็ไปถึงจังหวัดสมุทรปราการ ก่อนถึงจังหวัดสมุทปราการเล็กน้อยต้องผ่านบ้าน พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ซึ่งเคยเป็น “หัวหน้าคณะปฏิรูป” ของรัฐบาลของเราในสมัยหนึ่ง เมื่อสุขุมวิทถึง  สมุทปราการก็ทำให้จังหวัดรุ่งเรืองเจริญขึ้นทันที รถรางกรุงเทพ-ปากน้ำก็เลิกไป เพราะติดต่อทางถนนสุขุมวิทรวดเร็วและสะดวกกว่า แต่เวลานี้จึงได้คิดว่า ถ้ารถรางยังไม่เลิกหรือจะมีใหม่คงจะช่วยการจราจรดีขึ้นมาก

หลายปีต่อมา สุขุมวิทก็คลานต่อไปบางปะกง ต้องผ่าน“บางปู” สำนักงานทรัพย์สินฯสร้าง “สะพานสุขตา-ศาลาสุขใจ” ซึ่งทำเป็นสะพานออกไปในทะเล สุดสะพานเป็นสถานที่กว้างใหญ่โปร่งสบาย ได้บรรยากาศกลางทะเลดีจริงๆ มีฟลอร์เต้นรำ และห้องพักสำหรับให้คนมาพักผ่อนรับลมทะเล มีที่จอดรถหลายสิบคัน ทำให้เกิดมีการเต้นรำวันอาทิตย์กลางวันทุกอาทิตย์ พวกเท้าไฟทั้งหลายสนุกสนานกันสุดเหวี่ยง และบริเวณที่นั่งข้างเวทีนั้นเป็นระเบียบโปร่งมีหลังคาคลุม มีคนและเด็กๆ ชอบโยนขนมปังและกากหมู (ซึ่งได้จากครัว) ให้นกนางนวล ซึ่งตอบรับโดยโฉบเฉี่ยวอาหารเหล่านั้นก่อนตกถึงน้ำ ทำให้ประชาชนและเด็กๆ สนุกสนานกันมาก
แต่เดี๋ยวนี้สะพานสุขตา ศาลาสุขใจ ถูกรื้อและสร้างใหม่ กลับไม่ดีเหมือนของเก่า กลายเป็นทำห้องแอร์ ไม่ได้บรรยากาศได้ลมชมทะเล อาคารไม่โปร่งเหมือนเดิม และไม่มีที่จอดรถ ทำให้คนไปเที่ยวกันน้อยลงมาก วิธีแก้ง่ายๆ ก็คือทำที่จอดรถให้มากยิ่งขึ้น(ทำไม่ยากเลย) และแก้อาคารให้โปร่งขึ้น จะได้เป็นที่พักผ่อนที่ดีเพิ่มขึ้นอีก


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 21:17
เคยไปบางปู จึงยังพอจำได้ค่ะ ว่าจอดรถไว้บนสะพานยาวแล้วเดินเข้าไปจนถึงห้องโถงใหญ่สุดสะพาน    เป็นห้องโล่งๆเปิดให้ลมพัดเข้ามาได้เต็มที่    พื้นที่ตรงกลางเป็นไม้ สำหรับเป็นฟลอร์เต้นรำ   ส่วนตรงขอบๆมีที่นั่งและของกิน  ภาพส่วนนี้เบลอไปหน่อยแล้วจึงเล่าไม่เต็มปาก   
ที่ชัดก็คือมีระเบียงทางเดินยาวยื่นไปเหนือพื้นโคลนเบื้องล่าง ทั้งด้านซ้ายและขวา     บางปูไม่มีหาดทราย มีแต่โคลนอยู่ข้างล่าง    นกนางนวลบินว่อนกันเต็มฟ้า   เข้ามาใกล้คนอย่างไม่ตื่นคนแม้แต่น้อย      ที่นั่นมีกากหมูขายเป็นถุงๆ ให้เด็กไปเหวี่ยงขึ้นฟ้า นกก็โฉบมากินอย่างแม่นยำ  สนุกกันตรงนี้เอง
เด็กๆยังเด็กเกินกว่าจะสงสัยว่าทำไมนกนางนวลชอบกินกากหมู      ใครหนอไปหัดให้มันกิน ท่าทางมันชอบเสียด้วย    ถ้าเป็นสมัยนี้คงสงสัยว่านกไม่มีไขมันจุกเส้นเลือดบ้างหรือ

อาจารย์อุดมศรีไม่ได้เล่าถึงบังกะโลหลังเล็กๆที่สร้างให้คนไปพักค้างแรมชั่วคราว    อยู่ก่อนถึงสะพานสุขตา   คิดว่าคงอยู่ไม่นานก็รื้อหมดกันไป 


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 09 ก.ย. 13, 21:17
คุณณลฝากให้หาภาพถนนสุขุมวิทเก่า ๆ ให้หน่อย ผมก็จนใจเพราะเป็นเด็กฝั่งธน แต่่ไม่อยากขัดใจพ่อหนุ่มสยาม

ชมภาพน้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ ที่ถนนสุขุมวิทไปก่อนนะครับ




กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 09 ก.ย. 13, 21:25
รบกวนสอบถามครับ ไม่ทราบว่าท่านใดพอจะทราบตำแหน่งของสนามมวยของราชกรีฑาสโมสรบ้างไหมครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 21:27
อ้างถึง
อาจารย์อุดมศรีไม่ได้เล่าถึงบังกะโลหลังเล็กๆที่สร้างให้คนไปพักค้างแรมชั่วคราว    อยู่ก่อนถึงสะพานสุขตา   คิดว่าคงอยู่ไม่นานก็รื้อหมดกันไป

เล่าไว้นิดนึงครับ

อ้างถึง
“สะพานสุขตา-ศาลาสุขใจ” ซึ่งทำเป็นสะพานออกไปในทะเล สุดสะพานเป็นสถานที่กว้างใหญ่โปร่งสบาย ได้บรรยากาศกลางทะเลดีจริงๆ มีฟลอร์เต้นรำ และห้องพักสำหรับให้คนมาพักผ่อนรับลมทะเล มีที่จอดรถหลายสิบคัน

เพราะบังกะโลชั่วคราวเหล่านี้นี่เอง จึงได้สร้างกิจกรรมอย่างหนึ่งขึ้น และเป็นที่มั่วสุมของวัยรุ่นบางจำพวก

สมัยยังเป็นละอ่อนกันอยู่ ผู้ใหญ่พาพวกเราเด็กๆหลายคนนั่งรถกินลมไปถึงสะพานสุขตา เมื่อแดดยังเปรี้ยงอยู่จึงยังไม่ได้เลี้ยงนก ผู้ใหญ่พาเข้าไปในศาลาสุขใจเพื่อหลบร้อน ซึ่งดนตรีกำลังบรรเลงอย่างเร้าใจ ชายหนุ่มหญิงสาวก็สวิงกันสุดเหวี่ยง เวลานั้นใกล้สงกรานต์ ส่วนใหญ่จะมีปืนฉีดน้ำเล็กๆฉีดใส่กัน มีสองสามสาวสวมกระโปรงสั้นผ้าพริ้วๆหน่อย เต้นร้อคกับจิ๊กโก๋ หมุนตัวทีเห็นก.ก.น. พวกนั่งโต๊ะริมฟลอร์ก็ระดมยิงไปที่เป้าหมายนั้น เด็กๆตื่นเต้นกันใหญ่ ผู้ใหญ่ซึ่งทำท่าลังเลอยู่แล้วว่าจะอยู่หรือจะไปดี เลยตัดสินใจ บอก กลับ ๆ ๆ

พวกเราเลยอดหมด นอกจากอดดูของดีแล้ว ยังอดกินน้ำหวาน อดเลี้ยงนก ระหว่างเดินทางกลับยังต้องทนฟังผู้ใหญ่วิพากษ์สถานที่แห่งนี้เสียอย่างกับเป็นอเวจีขุมหนึ่งทีเดียว


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 21:37
อ้างถึง
รบกวนสอบถามครับ ไม่ทราบว่าท่านใดพอจะทราบตำแหน่งของสนามมวยของราชกรีฑาสโมสรบ้างไหมครับ
ตอนเป็นนิสิตจุฬาตั้งแต่ปี๒๕๐๙ ผมก็เข้าไปที่นั่นบ่อยอยู่ จบแล้วเข้าเป็นสมาชิก จนถึงบัดนี้ ไม่เคยทราบ หรือได้ยินใครพูดถึงสนามมวยของราชกรีฑาสโมสรเลยครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 21:43
     อดเลย  
     เห็นใจเด็กๆที่ไม่รู้เรื่องรู้ราว  และก็เห็นใจผู้ใหญ่ที่ไม่อยากให้เด็กๆเห็นเรื่องแบบนี้เป็นของธรรมดา ใครๆก็ทำกัน
  
     ป่านนี้จิ๊กโก๋กับสาวกระโปรงสั้นเหล่านั้น คงจะเป็นทวดกันไปหมดแล้วละค่ะ  

    


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 09 ก.ย. 13, 21:47
วัดธาตุทอง มีที่มาจากวัด ๒ วัดคือวัดพระธาตุกับวัดทองล่างค่ะ  ทั้ง ๒ วัดอยู่แถวคลองเตย  ตอนจะสร้างท่าเรือคลองเตยจึงย้ายวัดมาสร้างใหม่รวมชื่อเป็นวัดธาตุทอง  ท่านเจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์ (นพ อังกุรปัญโญ)  เป็นเจ้าอาวาสอยู่ ๔๐ ปี  เป็นที่เคารพของประชาชน  ท่านมรณภาพไปสัก ๑๐ ปีแล้ว

วัดธาตุทองเป็นวัดใหญ่ในย่านนี้  มีศาลาสวดพระอภิธรรมศพร่วม ๕๐ ศาลา  คนที่เสียชีวิตย่านนี้ส่วนใหญ่ก็มาตั้งศพเก็บศพที่นี่  เคยเป็นที่ร่ำลือว่ามีผีหลอก  เข้าใจว่าสมัยก่อนด้านหลังเป็นป่าช้า มีที่บรรจุศพแบบก่อปูนเป็นหลังเล็กๆ พอเอาโลงเข้าไปเก็บได้ ๑ โลง  ทาสีขาว  มองไปเห็นเป็นสีขาวๆ เรียงราย  บรรยากาศคงวังเวงอยู่

เลยวัดธาตุทองมาหน่อยก็เป็น รพ. สุขุมวิท  เมื่อก่อนพื้นที่นั้นเป็นอะไรก็จำไม่ได้เสียแล้ว  ถัดจากนั้นมาก็เป็นซอยสุขุมวิท ๖๕ (ซอยชัยพฤกษ์)  อยู่ตรงข้าม รร. ศรีวิกรณ์

ซอยชัยพฤกษ์เมื่อก่อนเป็นบ้านเรือนเป็นส่วนใหญ่  เข้าซอยเลยชุมสายโทรศัพท์ชัยพฤกษ์ตรงมาจนสุดทางจะเป็นบ้านคุณบุญชนะ อัตถากร  เลี้ยวขวาจะมีบ้านใหญ่อยู่หลังหนึ่ง  เป็นบ้าน พล. ต. ต. ไมตรี บัณเย็น  ธิดาของท่านเป็นคุณแม่ภรรยา มรว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร  ถัดมาเป็นบ้านหลังใหญ่สวยเด่นมากสมัยนั้นของอดีตนักเขียน บรรณ ศักดิ์ศรี

ซอยชัยพฤกษ์นี้มีซอยแยกมากมาย  สามารถออกไปได้ทั้งซอยเอกมัย  และคลองตัน

ถัดจากซอยชัยพฤกษ์จะเป็นซอยสุขุมวิท ๖๗  ไม่ทราบชื่อซอย  ปากซอยเป็น รร. สมถวิล ของคุณหญิงสมถวิล สังขะทรัพย์  ซึ่งต่อมาภายหลังย้ายออกไปตั้งแถวสุขุมวิท ๖๒
 
ผ่านมาอีกไม่ไกลเป็นสุขุมวิท ๖๙  ไม่ทราบชื่อซอย  ปากซอยมีที่ทำการไปรษณีย์  จากนั้นก็เป็นสุขุมวิท ๗๑ คือพระโขนง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 21:47
กลับ ๆ ๆ ๆ
กลับไปแถวเอกมัยก่อนครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 21:55
อ้างถึง
ป่านนี้จิ๊กโก๋กับสาวกระโปรงสั้นเหล่านั้น คงจะเป็นทวดกันไปหมดแล้วละค่ะ
น่าจะเป็นโรคติดต่ออะไรสักอย่าง ตายก่อนจะได้เป็นปู่ย่าตายายซะมากกว่าครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 09 ก.ย. 13, 21:56
ระยะทางจากทองหล่อ(สุขุมวิท ๕๕) ถึงพระโขนง  สมัยก่อนชาวย่านนั้นเดินกันชิลๆ ค่ะ  พระโขนงมีตลาดใหญ่  มีโรงหนังพระโขนงรามากับพระโขนงเธียเตอร์  เดี๋ยวนี้พระโขนงกำลังบูม  คอนโดแพงๆ ตรม. ละแสนกว่าขึ้นมากมาย  ตึกแถวเก่าๆ คงโดนรื้อกันหมดแล้ว  ดิฉันไม่ได้ไปมานาน  ถ้าไปก็คงหลง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 09 ก.ย. 13, 22:06
สุขุมวิทฝั่งคู่ตั้งต้นจากทางรถไฟ  หันหน้าไปทางตะวันออก  ขวามือมีบ้านไม้ใหญ่สวยมาก  ที่ดินแปลงลึกจึงมองเห็นสนามกว้างใหญ่หน้าบ้าน  ทำให้บ้านดูสวยเด่น  เสียดายถูกรื้อไปตอนโดนเวนคืนสร้างทางด่วน  สุขุมวิทฝั่งคู่ช่วงต้นๆ จำได้ว่ามีกลุ่มบ้านปลูกในรั้วเดียวกันอยู่ ๔-๕ หลัง  ดูอบอุ่นร่มรื่น  ภายหลังก็ต้องหลีกทางให้คอนโด  จำชื่อเจ้าของไม่ได้แต่เคยอ่านลูกหลานให้สัมภาษณ์ว่าพอมีคอนโดมาขึ้นเบียดล้อมรอบก็อยู่ไม่ได้  เวลาเขาก่อสร้างกันอิฐหินก็ตกลงมาใส่  ขนาดพื้นที่บ้านเขากว้างมาก  ยังต้องขายแล้วย้ายออกนอกเมือง

ช่วงกลางๆ มีบ้านแก้วเรือนขวัญของคุณวัฒนา อัศวเหม

สมัยนั้นถ้าคุยถึงสุขุมวิท  ฝั่งคี่จะฟังดูดีกว่าฝั่งคู่  แต่ถ้าเป็นเอกมัยฝั่งคู่จะฟังดูดีกว่าฝั่งคี่ค่ะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 22:17
อ้างถึง
ระยะทางจากทองหล่อ(สุขุมวิท ๕๕) ถึงพระโขนง  สมัยก่อนชาวย่านนั้นเดินกันชิลๆ ค่ะ  พระโขนงมีตลาดใหญ่  มีโรงหนังพระโขนงรามากับพระโขนงเธียเตอร์

จำได้อย่างหนึ่งว่า พระโขนงมีศูนย์การค้าใหญ่ และมีห้างสรรพสินค้าไดมารูของญี่ปุ่นมาตั้งสาขาอยู่ด้วย ห้างนี้ไม่ทราบเป็นอย่างไร เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจประเภทนี้ในเมืองไทยแท้ๆ แต่ไม่สำเร็จสักที่นึง
อ้างถึง
ช่วงกลางๆ มีบ้านแก้วเรือนขวัญของคุณวัฒนา อัศวเหม
นี่ก็จำได้ บ้านแก้วเรือนขวัญ อาหารอร่อยสุดยอด เพิ่งจะทราบชื่อเจ้าของนี่แหละครับ
บ้านแก้วเรือนขวัญ ตั้งทีหลัง บ้านไร่ปลายนา ที่เพชรบุรีตัดใหม่ แต่อยู่ยงคงกระพันกว่า


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 22:38
 
สุขุมวิทฝั่งคู่ตั้งต้นจากทางรถไฟ  หันหน้าไปทางตะวันออก  ขวามือมีบ้านไม้ใหญ่สวยมาก  ที่ดินแปลงลึกจึงมองเห็นสนามกว้างใหญ่หน้าบ้าน  ทำให้บ้านดูสวยเด่น  เสียดายถูกรื้อไปตอนโดนเวนคืนสร้างทางด่วน  

ถ้าเดินไปสุขุมวิท จากทางรถไฟ  ซอยแรกทางขวามือคือซอยสุขุมวิท 2   ซอยนี้ไม่ได้โดนเวนคืนค่ะ  
เมื่อมีการสร้างทางด่วนช่องนนทรี   ฝั่งที่ถูกเวนคืนคือฝั่งซอยร่วมฤดี แต่ฝั่งขวาที่มีทางรถไฟคั่นอยู่ก่อนถึงสุขุมวิทอยู่เป็นปกติค่ะ    เพราะการทางพิเศษไม่แตะต้องทางรถไฟ    บ้านปากซอยร่วมฤดีที่เป็นบ้านไม้หลังใหญ่ก็หายไปทั้งหลัง      

พยายามทบทวนว่าบ้านไม้ที่คุณ tita พูดคือบ้านปากซอยสุขุมวิท 2 หรือเปล่า  ดิฉันจำไม่ได้เลยว่ามี   จำได้แต่ว่าพอข้ามทางรถไฟมาจากเพลินจิตก็มีตึกแถวยาวอยู่ทางขวามือ  จนถึงปากซอยนานาใต้  (สุขุมวิท 4)  ในตึกแถวนี้มีภัตตาคารจีนชื่อมังกรทอง หรือ Golden Dragon  ห้องริมซ้ายสุดก่อนถึงปากซอย เป็นร้านเสริมสวยชื่อเนาวรัตน์ ปัจจุบันเปลี่ยนมือเจ้าของเป็นออฟฟิศทัวร์หรืออะไรทำนองนี้  ที่จำได้แม่นเพราะแม่มาทำผมที่ร้านนี้ประจำ

แต่ถ้าฟากตรงข้ามละก็ มีบ้านไม้แบบรัชกาลที่ 6 สวยมากอยู่ 2 หลังค่ะ  ตอนนี้เป็นตึกแถวปากซอยก่อนถึงนานาเหนือ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 09 ก.ย. 13, 22:46
เอ คิดไปคิดมา  บ้านไม้น่าจะอยู่ก่อนข้ามทางรถไฟจริงน่ะแหละค่ะ  เพราะพอเวนคืนสร้างทางด่วนแล้ว  เหมือนกับยังเหลือพื้นที่ปลูกบ้านใหม่หลังไม่ใหญ่  เข้าออกตรงใต้ทางด่วน

บ้านแก้วเรือนขวัญยังอยู่เหรอคะ  นานมากแล้ว  

เรียงลำดับชักไม่ค่อยถูก  ฝั่งคู่จะมีซอยสายน้ำทิพย์  เป็นที่ตั้ง รร. สายน้ำทิพย์ กับ รร. สายน้ำผึ้ง

ถัดมาอีกเป็นสถานทูต  ไม่แน่ใจว่าฟิลิบปินส์หรืออินโดเนเซีย  ตั้งอยู่ปากซอยซึ่งเมื่อก่อนเคยเป็นที่ตั้งวังละโว้  ปากซอยอีกด้านเป็นร้านกับข้าวชาววัง

วังรื่นฤดีของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ อยู่ซอยสุขุมวิท ๓๘  ส่วนฝั่งคี่  ซอยแสงมุกดาเป็นที่ตั้งวังเลอดิสของสมเด็จพระพี่นางฯ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 13, 22:51
บ้านไม้หลังสวยที่คุณ tita พูดถึงอยู่ปากซอยร่วมฤดี     มาหายไปเพราะที่ดินถูกเวนคืน   ดิฉันก็พยายามหาว่าใคร 
เพื่อนใน FB บอกว่าเป็นบ้านของคุณจำกัด พลางกูร บุตรพระยาผดุงวิทยาเสริม    แต่ไม่แน่ใจว่าจำถูกหรือเปล่านะคะ   
ติดกันมีร.ร.แพรัตอนุสรณ์ของดร. ชวาล แพรัตกุล   นี่ก็หายไปเพราะถูกเวนคืนเช่นกัน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 ก.ย. 13, 23:41
^
ที่กล่าวถึงกันอยู่นี้ หลังเดียวกันหรือเปล่าครับ
อ้างถึง
เมื่อผมอายุราว 5-6 ขวบ (ราว พ.ศ. 2470) ถนนสุขุมวิทยังไม่มี มีแต่ถนนเพลินจิตร มาสิ้นสุดแค่ทางรถไฟสาย “มักกะสัน-ช่องนนทรี” เท่านั้น มีทางรถไฟกั้นอยู่ที่สุดทางถนนเพลินจิตรนั้น ทางขวามือมีบ้าน 2 ชั้นสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ของพระยาผดุงฯ ซึ่งเป็นบิดาของคุณจำกัด พลางกูร รูปร่างเล็กแบบบาง เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านเป็นเสรีไทยที่เดินทางด้วยเท้าหลบกองทหารญี่ปุ่นจากประเทศไทยไปถึง “จุงกิง” ประเทศจีน เพื่อติดต่อกิจการของเสรีไทย และได้สิ้นชีวิต ณ ที่นั่น เป็นเหตุการณ์ที่น่าสดุดียิ่งนัก


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 10 ก.ย. 13, 00:01
คุณณลฝากให้หาภาพถนนสุขุมวิทเก่า ๆ ให้หน่อย ผมก็จนใจเพราะเป็นเด็กฝั่งธน แต่่ไม่อยากขัดใจพ่อหนุ่มสยาม

ชมภาพน้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ ที่ถนนสุขุมวิทไปก่อนนะครับ



ปี ๒๕๒๖ ถนนสุขุมวิทโดนน้ำท่วมหนักจากด้านในกรุงออกมาจนถึงแยกบางนาเลยทีเดียว ลึกสุดบริเวณหน้าตลาดบางจากถึงปากชอยสุขุมวิท 62 ระดับน้ำสูงเกือบถึงพื้นรถเข็นที่แม่ค้าใช้วางของขาย  BTS คงใช้ระดับสูงสุดที่ว่านี้เป็นเกณฑ์ตอนก่อสร้างทางเท้าบริเวณสถานีฺBTSบางจาก ระดับทางเท้าจึงสูงจากพื้นถนนมาก และโชคดีที่การทางพิเศษฯสร้างทางด่วนเส้นบางนา-ท่าเรือเสร็จพอดี จึงกู้วิกฤตการเดินทางเข้ากรุงของคนกรุงเทพฯตอนล่างและคนปากน้ำไว้ได้ทันท่วงที


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 10 ก.ย. 13, 00:23
ยังมีบ้านอีกหลังที่แถวๆหัวถนนสุขุมวิทที่ยังไม่มีใครพูดถึง ชื่อที่ประตูหน้าบ้านเขียนว่า 'A.E. NANA' เป็นบ้านไม้สองชั้น ที่น่าสนใจคือเลขที่บ้าน เลขที่ 1 แปลว่าเป็นบ้านหลังที่ 1ของถนนสุขุมวิทละมังครับ เมื่อก่อนมองเห็นเด็กแขกมีหัวจุกเตะบอลเล่นกันที่สนามหน้าบ้าน  ตอนนี้ร้านแมคโดนัลด์ยึดไปค่อนสนามแล้วครับ ต้องมองจากBTSถึงจะเห็นตัวบ้าน เคยมีรูปบ้าน'นานา'ลงในหัวข้อหนึ่งในเรือนนี้แล้ว บ้านนี้น่าจะเป็นต้นกำเนิดของย่านนานามังครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ย. 13, 05:59
อ้างถึง
ซอยแรกซ้ายมือชื่อว่า “รื่นฤดี” (ซอย 1 เดี๋ยวนี้) สุดซอยนี้ลดคลอง”แสนแสบ” เป็นบ้านของคุณพระเจริญวิศวกรรม อดีตคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านมีลูกสาวสวย อยู่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ทำให้มีคนเข้าออกในซอยคึกคักขึ้น เดี๋ยวนี้มีโรงพยาบาล “บำรุงราษฎร์” ที่กลางซอย 1 และทะลุออกซอยนานาเหนือ (ซอย 4) ได้ ที่ดินในบริเวณซอยนานาเหนือ(ซอย 3) และซอยนานาใต้ (ซอย4) ส่วนมากเป็นของนาย A.E. NANA ชาวอินเดียผู้ร่ำรวย

คุณทวดกล่าวไว้เท่านี้

แต่หลายคนคงจำได้ ตอนที่กทม.กำลังขยายถนนนานาเหนือ ทางด้านจากคลองแสนแสบมาเสร็จหมดแล้ว รถต้องมาติดเป็นคอขวดอยู่ที่บ้านหลังหนึ่งที่ปากซอย กว่าจะผ่านไปได้เกือบชั่วโมง ลูกสาวไปโรงเรียนมาแตร์สายตลอด อย่างนี้เป็นปีๆ ข่าวว่าเจ้าของบ้านไม่ยอมให้เวนคืน ต่อสู้ทางศาลกันอยู่ไม่ทราบเกี่ยงราคากันอย่างไร กว่าจะยอมรื้อออกไปในที่สุด โดยเจ้าของบ้านยกป้ายทวงบุญคุณอะไรสักอย่างจากกทม. ผมจำรายละเอียดไม่ได้

เฮ้อ แต่รถก็ติดเหมือนเดิม ดีขึ้นนิดเดียว


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 10 ก.ย. 13, 06:26
มารอขึ้นรถที่สถานีขนส่งเอกมัย เตรียมเที่ยวท่องถนนสุขุมวิทต่อไป

 :)   ;D   :P



กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ก.ย. 13, 09:47
อ้างถึง
ซอยแรกซ้ายมือชื่อว่า “รื่นฤดี” (ซอย 1 เดี๋ยวนี้) สุดซอยนี้ลดคลอง”แสนแสบ” เป็นบ้านของคุณพระเจริญวิศวกรรม อดีตคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านมีลูกสาวสวย อยู่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ทำให้มีคนเข้าออกในซอยคึกคักขึ้น เดี๋ยวนี้มีโรงพยาบาล “บำรุงราษฎร์” ที่กลางซอย 1 และทะลุออกซอยนานาเหนือ (ซอย 4) ได้ ที่ดินในบริเวณซอยนานาเหนือ(ซอย 3) และซอยนานาใต้ (ซอย4) ส่วนมากเป็นของนาย A.E. NANA ชาวอินเดียผู้ร่ำรวย

คุณทวดกล่าวไว้เท่านี้

แต่หลายคนคงจำได้ ตอนที่กทม.กำลังขยายถนนนานาเหนือ ทางด้านจากคลองแสนแสบมาเสร็จหมดแล้ว รถต้องมาติดเป็นคอขวดอยู่ที่บ้านหลังหนึ่งที่ปากซอย กว่าจะผ่านไปได้เกือบชั่วโมง ลูกสาวไปโรงเรียนมาแตร์สายตลอด อย่างนี้เป็นปีๆ ข่าวว่าเจ้าของบ้านไม่ยอมให้เวนคืน ต่อสู้ทางศาลกันอยู่ไม่ทราบเกี่ยงราคากันอย่างไร กว่าจะยอมรื้อออกไปในที่สุด โดยเจ้าของบ้านยกป้ายทวงบุญคุณอะไรสักอย่างจากกทม. ผมจำรายละเอียดไม่ได้

เฮ้อ แต่รถก็ติดเหมือนเดิม ดีขึ้นนิดเดียว

จำได้ครับ แต่ก่อนผมใช้ซอยนานาเหนือ วิ่งรถเพื่อออกถนนสุขุมวิท เดิมฝั่งหนึ่งเป็นถนนและอีกด้านหนึ่งเป็นคลอง และเมื่อการจราจรช่วงปี ๒๕๓๙ - ๒๕๔๐ มีการถมคลองนี้เพื่อทำเป็นถนน ซึ่งบริเวณปากซอยนานาช่วงทางเข้าบริเวณธนาคารกรุงไทยนั้นถนนกว้างจำนวน ๔ ช่องอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่มาติดปัญหาเรื่องการเจรจาเวนคืนที่ดินของบริษัท งานทวี จำกัด (ตามในราชกิจจานุเบกษา http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2540/A/036/28.PDF) จำได้ว่าก็ติดกันอยู่พักหนึ่งเพื่อเบี่ยงการจราจร

ตอนนั้นมีสาเหตุเนื่องจากปัญหารถติดอยู่ซอยนานาเหนือมีสาเหตุ ๒ อย่างคือ

๑. ร้านขายเบเกอรี่ที่อยู่ตรงปากซอยนานาเหนือ มีรถมาจอดซื้อขนมเบเกอรี่กันมาก ทำให้รถหยุด รถชะลอความเร็ว ทำให้รถติดพัวพัน

๒. สาเหตุจากขยายถนนตามเรื่องด้านบน ซึ่งทางบริษัท งานทวี จำกัด ได้มีการแขวนผ้าเขียนสีว่า ได้บริจาคที่ดินเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร ประมาณนี้ครับ

ทั้งนี้ปัจจุบันนี้ก็ยังรถติดหนักและแย่กว่าเดิมอีก  :(


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ย. 13, 10:34
นานาเหนือในอดีตอันนานโพ้น เป็นอย่างไรจำไม่ค่อยได้เพราะไม่ค่อยได้เข้า    แต่ก็คิดว่าไม่ต่างจากนานาใต้เท่าไหร่ คือเป็นที่อยู่อาศัย  มีบ้านเป็นหลังๆเป็นสัดส่วน
เมื่อข้ามทางรถไฟช่องนนทรีมาสุขุมวิท  ริมถนนมีบ้านไทยแบบรัชกาลที่ 6 อยู่ 2 หลัง  บนพื้นที่ประมาณ 200 ตารางวา   เป็นบ้านสวยที่หายไปเมื่อไหร่จำไม่ได้ คงจะช่วงตัดทางด่วนช่องนนทรี   
ตอนเด็กๆอายุสิบกว่าขวบ ไปหาเพื่อนในซอยร่วมใจ(สุขุมวิท 15) อยู่บ่อยๆ เพราะมีเพื่อน 2 คนอยู่ในซอยนี้      ในซอยไม่มีร้านค้าหรือตึกแถวเลย มีแต่บ้านเป็นหลังๆมีบริเวณเป็นสัดส่วน     เวลากลางวันเพื่อนชวนมากินขนมนอกบ้าน ก็ข้ามจากปากซอยมาซื้อขนมจากร้านฝั่งตรงข้าม  ซึ่งมีแมกกาซีนต่างประเทศขายในร้านด้วย 
ขากลับ หาทางเถลไถล เดินกลับเข้าไปในซอยถัดไป เข้าใจว่าเป็นสุขุมวิท 17  เพราะว่าทะลุกลับไปถึงสุขุมวิท 15 ได้    จำได้ว่าปากซอยมีบ้านหลังหนึ่งหน้าตาเหมือนบ้านทรงวิคตอเรียนของฝรั่ง   คือมีหอคอยหลังคาโดมอยู่มุมตัวบ้านด้วย    บริเวณบ้านกว้างเป็นสนามหญ้า แต่ปล่อยไว้เฉยๆไม่ได้ตกแต่ง     ไม่รู้จนแล้วจนรอดว่าเป็นบ้านคน หรือว่าเป็นโบสถ์ฝรั่ง หรืออะไรกันแน่ค่ะ 
เมื่อผ่านสุขุมวิทอีกครั้งในหลายปีต่อมา  ก็คงไม่ต้องบอกว่าหาร่องรอยไม่เจออีกเลย   แม้แต่ปากทางเข้าบ้านเพื่อน ถ้าไม่นับซอยดีๆก็หาไม่เจอเหมือนกัน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ย. 13, 11:04
อ้างถึง
ซอยกลางในสมัยโน้นไม่มีใครอยากไปอยู่ เพราะยุคหนึ่งชื่อเสียงไม่ค่อยดีนัก  นัยว่าเป็นแหล่งที่อยู่ของเมียน้อยที่นักการเมืองแอบไปปลูกบ้านซุกซ่อนไว้    และอีกกระแสบอกว่ามีสำนักอย่างว่าไปเปิดที่นั่นด้วย ที่ดินเลยราคาตก  จริงเท็จอย่างไรไม่ทราบเหมือนกันค่ะ
ต้องไปถามป.อินทรปาลิต พี่ผมพาขับรถเข้าไปสำรวจซอยกลางตามพลนิกรกิมหงวน ลึกเข้าไปเจอแต่สลัม ไม่มีอย่างที่คุณป.กล่าวถึงเลย
อืมม์ ใช่  คุณ ป. พูดถึงสำนักเจ๊อะไรคนหนึ่งที่สามเกลอไปอุดหนุน   อยู่ที่ซอยกลาง
เจ๊หนอมครับ ต่อมาเจ๊หนอมเลยเป็นฉายาของจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีไป

นึกเรื่องนึงขึ้นมาได้ พิกัดของซ่องเจ๊หนอมนี่ฝังหัวผมอยู่นาน มีโอกาสเข้าซอยใดในสุขุมวิทย่านนั้นก็สอดส่ายสายตา หาว่าบ้านใดพอจะเข้าเค้าบ้านที่คุณป.บรรยายไว้บ้าง

มาสดุดตาอยู่บ้านหลังหนึ่งในซอยไชยยศ อยู่ด้านขวามือประมาณเลยกลางซอยไปไม่มาก เป็นบ้านไม้สองชั้นขนาดย่อมทาสีชมพูอ่อนเกือบขาว รั้วค่อนข้างโปร่ง มีสนามหน้าบ้าน มองเข้าไปภายในเห็นรถจอดซุ่มอยู่คันสองคันเสมอ แต่บ้านนี้แปลก ผ่านไปทีไรหน้าต่างประตูปิดหมด สงสัยจะเป็นบ้านอย่างว่า

นมนานต่อมาไปเที่ยวเป็นฝูงกลับจากไหนกันไม่ทราบ รถแวะไปส่งเพื่อนคนหนึ่งชื่อช้าง(บอกชื่อไว้หน่อยเผื่อคุณตั้งจะรู้จัก) เขาเป็นเด็กโพธารามนะ แต่ให้รถมาจอดลงที่บ้านในซอยไชยยศหลังนี้ ผมงงเหลือกำลัง ถามเขาว่านี่บ้านนายเรอะ เขาบอกว่า บ้านคุณน้า เวลาเข้ามาเรียนกรุงเทพจะมาอยู่กับคุณน้านี่แหละ นึกว่าไม่มีคนอยู่ ผมต่อ เห็นปิดประตูหน้าต่างหมด เขาบอกว่าฮื่อ คุณน้ากลัวโขมยมาก จะปิดไว้ตลอด
 
ผมเซ็งจริงๆที่ทฤษฎีของผมที่คิดว่าถูกต้องกลับกลายเป็นผิดมาตลอด รำพึงรำพันออกไปว่า นึกว่าซ่องเจ๊หนอม เขาตอบเป็นภาษาไทยแปลเป็นละตินกลับมาว่า ไอ้วารานุส ;D


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ย. 13, 11:11
อ้างถึง
มารอขึ้นรถที่สถานีขนส่งเอกมัย เตรียมเที่ยวท่องถนนสุขุมวิทต่อไป
ไปคร้าบปาย

เมื่อสุขุมวิทถึง “บางปะกง” ต้องหยุดอยู่ริมฝั่งเพราะยังไม่มีสะพาน ต้องข้ามด้วยแพขนานยนต์ จึงทำให้รถต้องเข้าคิวรอแพกันยาวทีเดียว เมื่อข้ามแพไปแล้วก็ถึงชลบุรี
เมื่อสร้างสะพานแล้วเสร็จ ช่วยให้คนกรุงเทพฯ ได้ลิ้มรสอาหารทะเลสดๆกันมากขึ้น เมื่อการติดต่อกับกรุงเทพฯสะดวก เลยทำให้ชลบุรีเจริญขึ้นด้วย

ดูจากภาพแพขนานยนต์ข้ามแม่น้ำบางปะกงที่หามาได้แล้ว เห็นลำเล็กนิดเดียว คิดถึงจอมพลป.ตอนนั่งซีตรองหนีจอมพลสฤษดิ์ปฏิวัติ มุ่งหน้าจะไปเขมร แต่ต้องมาติดแหง็กที่ท่าข้าม รอแพขนานยนต์กว่าจะมาถึง กว่าจะลงแพเคลื่อนไปขึ้นอีกฝั่งหนึ่งได้ คงร้อนรนใจชายชาติทหารไม่น้อย ถ้าจอมพลสฤษด์สั่งให้ทหารตามมา หรือให้หน่วยรบที่เมืองชลมารอดัก อาจจะมีข่าวโจรจีนมลายูมาชิงท่านจอมพลที่ท่าข้ามอีกก็เป็นได้


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ย. 13, 11:13
เรื่องชื่อเสีย(ง)ของซอยกลางยุค 2490s หรือ 2500s ต้นๆ  เป็นเรื่องจริง   มีเอ่ยไว้ในหนังสือหลายเล่ม     แต่รายละเอียดเป็นยังไงยังคลุมๆเครือๆอยู่
ประสบการณ์ของท่านนวรัตน เขาเรียกว่า "อิน" ค่ะ  " อิน" กับนิยายสามเกลอมากๆ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ก.ย. 13, 11:14
ร้านวิลล่า ร้านในดวงใจตอนเด็ก ๆ  ;D


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ย. 13, 11:16
ถึงบางแสนก็ทำให้เกิดสถานที่ตากอากาศ และได้ลงเล่นน้ำทะเลได้ ที่ใกล้กรุงเทพฯที่สุดไปกลับในวันเดียวได้ จึงมีประชาชนไปเที่ยวสนุกสนานกันมากมาย มีโรงแรมและบังกะโลมาให้พักมากขึ้น แม้แต่จอมพลสฤษฎ์ ธนรัชต์ ก็ไปสร้างอาคารสวยงามที่ “แหลมแท่น”
จากบางแสนมีทางเลียบทะเลไปเชื่อมกับอ่าวศิลา ระหว่างทางนั้นมีการเลี้ยงหอยนางรมกันมาก ทำให้ได้กินหอยนางรมสดๆอร่อยๆราคาถูก และเปิดโอกาสให้คนได้เห็นการทำครกของคน”อ่างหิน” การค้าขายก็เจริญขึ้นเรื่อยๆ จนครกหินเป็นOTOPของอ่างหินเลย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ก.ย. 13, 11:19
สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ในตอนนั้นแม่จำความได้แล้ว แม่เล่าว่าสะพานข้ามแม่น้ำได้ไปร่วมฉลองวันเปิดสะพานด้วย เขาให้ขึ้นไปเดินข้ามสะพานกันสนุกสนาน
ที่บ้านเลยมีภาพสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงสะพานแรกให้ดูเป็นอนุสรณ์


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ย. 13, 11:24
พอปิดเทอม  พ่อพาไปบางแสนบ่อยกว่าไปหัวหิน  เพราะไปหัวหินเป็นเรื่องใหญ่ ต้องไปอยู่นานเป็นสัปดาห์หรือบางทีก็เป็นเดือนถึงจะคุ้ม  แต่บางแสนไปกลับได้ในวันเดียว อย่างดีก็ค้างคืนหนึ่ง
ในยุคที่ไม่มีสวิมมิ่งพูล    การได้ไปลอยคอในทะเลเป็นสวรรค์สำหรับเด็ก   เล่นน้ำกันตั้งแต่เช้าจนเย็น กลางวันวิ่งขึ้นมากินข้าวที่แม่เตรียมไปให้จากบ้าน    แดดเผาหลังไหล่จนเกรียมทั้งๆแช่ในน้ำทะเล  ตกกลางคืนปวดระบมไปทั้งหลัง แถมจับไข้อีกต่างหาก

ยังจำได้ถึงบังกะโลเล็กๆในดงมะพร้าวริมหาด    เป็นกระท่อมชั้นเดียว  ทาสีเหลืองแก่ๆ มีบันไดเตี้ยๆ  ยกพื้นสูงจากพื้นดินปนทรายเล็กน้อยพอมิให้ทรายปลิวเข้ามาเปรอะเปื้อน แต่ก็ต้องกวาดทรายออกไปอยู่ดี     เป็นบังกะโลของทางการ  ไม่ใช่เอกชน  ให้เช่าได้เวลามาพักที่บางแสนค่ะ
คิดว่าจนบัดนี้ก็ยังหลงเหลืออยู่นะคะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ก.ย. 13, 11:29
ถึงบางแสนก็ทำให้เกิดสถานที่ตากอากาศ และได้ลงเล่นน้ำทะเลได้ ที่ใกล้กรุงเทพฯที่สุดไปกลับในวันเดียวได้ จึงมีประชาชนไปเที่ยวสนุกสนานกันมากมาย มีโรงแรมและบังกะโลมาให้พักมากขึ้น แม้แต่จอมพลสฤษฎ์ ธนรัชต์ ก็ไปสร้างอาคารสวยงามที่ “แหลมแท่น”
จากบางแสนมีทางเลียบทะเลไปเชื่อมกับอ่าวศิลา ระหว่างทางนั้นมีการเลี้ยงหอยนางรมกันมาก ทำให้ได้กินหอยนางรมสดๆอร่อยๆราคาถูก และเปิดโอกาสให้คนได้เห็นการทำครกของคน”อ่างหิน” การค้าขายก็เจริญขึ้นเรื่อยๆ จนครกหินเป็นOTOPของอ่างหินเลย

ท่านทวดไปบางแสน ไม่ได้แวะขุดหอยเสียบหรือ  ??? หอยเสียบที่ทะเลบางแสนนั้น มีเยอะมากจนเอามาดองใส่น้ำปลาขายกันให้ดาษดื่น สมัยนี้คงน้อยไปเยอะแล้ว


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ย. 13, 11:35
เดี๋ยวๆ กลับไปร้านวิลลาในดวงใจของผม(เหมือนกัน)หน่อยนึงก่อน

ตอนเขาเริ่มมีผักไฮโดรโพนิกขายกันใหม่ๆ ที่วิลลาแห่งนี้แหละขายกิโลละ๗๐บาท เป็นแรงดลบันดาลใจให้ผมทดลองปลูกผักโดยวิธีนี้บ้าง ลงทุนไปโขอยู่แต่ก็ได้ผลน่าพอใจ เมื่อเก็บเกี่ยวได้ครั้งแรกก็ให้ลูกน้องเอาตัวอย่างไปเสนอที่วิลลา ว่าเขาจะให้ราคาสักเท่าไหร่ ลูกน้องหน้าแห้งกลับมาบอกว่า เขารับฝากขายให้กิโลละ๑๔บาทครับ เครดิต๔๕วัน ผมคิดในใจว่าโอ้โห ๑๔บาทนี่กำไรนิ๊ดเดียวจริงๆ แต่เขาตั้งราคาขายในห้าง๗๐บาท มันแพงไปจนคนไม่ซื้อ ปล่อยให้ผักเหี่ยวทุกวัน ถ้าราคาเจอกันสักกลางๆ คนปลูก คนขาย ก็จะพอได้พอดี คนซื้อก็สำราญ ให้ลูกน้องโทรไปต่อรองอีกทีว่า ราคา๑๔บาทน่ะซื้อขาดได้ไหม ลูกน้องรายงานกลับ เค้าบอกว่าไม่ได้ครับ

ตกลง ผมเลยมีผักไฮโดรโพนิกส์ไว้รับประทานเองทุกวัน และวิ่งไล่แจกเพื่อนบ้านและพี่น้องเพื่อนฝูง เป็นภาระหนักก็ประการหลังนี่แหละ พอเห็นว่าไม่รุ่งแน่เลยเลิก


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 10 ก.ย. 13, 11:38
/ขออนุญาตแทรกข้อมูลนิดหน่อย  ไม่ต้องหยุดเดินทางหรือย้อนกลับนะคะ  

พออ่านเรื่องถนนสุขุมวิทแล้วก็รู้สึกอิน  สมัยก่อนถนนสุขุมวิทเป็นถนนที่สวยงามมาก  ขนาดกว้างกำลังพอดี  สะอาดสะอ้าน  สองข้างทางมีบ้านเรือนคหบดีสลับกับตึกแถวสองชั้นทรงเรียบ  ร้านค้าตามตึกแถวเป็นร้านเก่าแก่ดั้งเดิมบ้าง ร้านกระจุ๋มกระจิ๋มเก๋ๆ บ้าง  มีร้านอาหารอร่อยๆ มากมาย
 
ครั้งหลังสุดที่ผ่านไปเมื่อหลายปีมาแล้ว  รู้สึกเศร้าใจกับความเปลี่ยนแปลง  ถนนที่เคยโปร่งโล่ง  ตอนนี้มองหาท้องฟ้าก็ถูกรถไฟฟ้าบัง  สองข้างก็เป็นคอนโดเบียดเสียดแน่นขนัด  ด้านล่างตามทางเท้าก็ระเกะระกะด้วยรถเข็นแผงลอย  สกปรกรกรุงรัง  หรือจะเป็นเหมือนกันไปหมดทั้งเมือง?

ดิฉัยเคยจดชื่อซอยสุขุมวิทต่างๆ เก็บเอาไว้  ตั้งใจว่าสักวันหนึ่งเมื่อมีเวลาเป็นของตัวเองมากพอ  จะลองเดินสำรวจความเป็นไปในปัจจุบันดู  ขออนุญาตเอามาฝากไว้ตรงนี้ด้วยดีกว่า  ท่านผู้รู้จะได้ช่วยตรวจสอบความถูกต้อง  และช่วยเติมชื่อซอยที่ดิฉันจำไม่ได้
  
1. รื่นฤดี 2. ผาสุก 3. นานาเหนือ 4. นานาใต้ 5. เลิศสิน/1 6. ใจสมาน 7. เลิศสิน/2 8. ปรีดา 9. รื่นจิตร 10. แสนสำราญ
11. ไชยยศ 12. สุขใจ 13. แสงจันทร์ 14. แพรกสามัคคี 15. ร่วมใจ 16. สามมิตร 17. – 18. พิชิต 19. วัฒนา 20. สายน้ำผึ้ง
21. อโศก 22. สายน้ำทิพย์ 23. ประสานมิตร 24. เกษม 25. แดงประเสริฐ 26. อารีย์ 27. ประภัทรศร 28. บรรณสาร 29. หลักเขต  30. สันตินฤมาน
31. สวัสดี 32. บ้านไทย 33. แดงอุดม 34. สุภางค์ 35. เจริญนิเวศน์ 36. นภาศัพท์ 37. – 38. สันติสุข 39. พร้อมพงศ์ 40. บ้านกล้วยใต้
41. ภิรมย์ 42. กล้วยน้ำไท 43. แสงมุกดา 44. เทพประสิทธิ์ 45. สุขเสมอ 46. ภูมิจิตร 47. บ้านดอน 48. ปิยะวัชร 49. กลาง 50. -
51. ช่องลม 52. – 53. มาดีไปดี 54. รัตนพราหมณ์ 55. ทองหล่อ 56. สายทิพย์ 57.  – 58. – 59. บุญชนะ 60. –
61. เศรษฐบุตร 62. – 63. เอกมัย 64. – 65. ชัยพฤกษ์ 66. – 67. ศรีจันทร์ 68. – 69. สาลีนิมิตร 70. – 71. พระโขนง (ปรีดีพนมยงค์)

ปล. จดไว้แค่ซอย 71 ค่ะ  เพราะเลยจากนี้ก็เรียงไม่ค่อยถูกแล้ว


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ก.ย. 13, 11:39
พอปิดเทอม  พ่อพาไปบางแสนบ่อยกว่าไปหัวหิน  เพราะไปหัวหินเป็นเรื่องใหญ่ ต้องไปอยู่นานเป็นสัปดาห์หรือบางทีก็เป็นเดือนถึงจะคุ้ม  แต่บางแสนไปกลับได้ในวันเดียว อย่างดีก็ค้างคืนหนึ่ง
ในยุคที่ไม่มีสวิมมิ่งพูล    การได้ไปลอยคอในทะเลเป็นสวรรค์สำหรับเด็ก   เล่นน้ำกันตั้งแต่เช้าจนเย็น กลางวันวิ่งขึ้นมากินข้าวที่แม่เตรียมไปให้จากบ้าน    แดดเผาหลังไหล่จนเกรียมทั้งๆแช่ในน้ำทะเล  ตกกลางคืนปวดระบมไปทั้งหลัง แถมจับไข้อีกต่างหาก

ยังจำได้ถึงบังกะโลเล็กๆในดงมะพร้าวริมหาด    เป็นกระท่อมชั้นเดียว  ทาสีเหลืองแก่ๆ มีบันไดเตี้ยๆ  ยกพื้นสูงจากพื้นดินปนทรายเล็กน้อยพอมิให้ทรายปลิวเข้ามาเปรอะเปื้อน แต่ก็ต้องกวาดทรายออกไปอยู่ดี     เป็นบังกะโลของทางการ  ไม่ใช่เอกชน  ให้เช่าได้เวลามาพักที่บางแสนค่ะ
คิดว่าจนบัดนี้ก็ยังหลงเหลืออยู่นะคะ

บังกะโลเหล่านี้เคยไปสมัยที่คนไทยยังไม่แห่ไปเที่ยวกันเหมือนปัจจุบันนี้ ไปนอนมีที่นอนเก่า ๆ ยัดด้วยนุ่น เข้าไปก็ต้องทำความสะอาดกันพักใหญ่ แบกอุปกรณ์ของทานเตรียมจากรุงเทพฯ ไปกันเองบ้าง น้ำดื่มใส่ขวดแก้ว อาหาร ขนมปัง เรียกว่าไม่กลัวอดตาย ทิวมะพร้าวที่พริ้วไหว กับห่วงยางสีดำใหญ่ ๆ ให้เช่าก็เป็นสวรรค์น้อย ๆ ของเด็ก ๆ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ย. 13, 11:42
ยังจำได้ถึงบังกะโลเล็กๆในดงมะพร้าวริมหาด    เป็นกระท่อมชั้นเดียว  ทาสีเหลืองแก่ๆ มีบันไดเตี้ยๆ  ยกพื้นสูงจากพื้นดินปนทรายเล็กน้อยพอมิให้ทรายปลิวเข้ามาเปรอะเปื้อน แต่ก็ต้องกวาดทรายออกไปอยู่ดี     เป็นบังกะโลของทางการ  ไม่ใช่เอกชน  ให้เช่าได้เวลามาพักที่บางแสนค่ะ แต่ผีดุนะคะ ขอบอกก่อนค่ะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ย. 13, 12:03
อ้างถึง
บังกะโลเหล่านี้เคยไปสมัยที่คนไทยยังไม่แห่ไปเที่ยวกันเหมือนปัจจุบันนี้ ไปนอนมีที่นอนเก่า ๆ ยัดด้วยนุ่น เข้าไปก็ต้องทำความสะอาดกันพักใหญ่ แบกอุปกรณ์ของทานเตรียมจากรุงเทพฯ ไปกันเองบ้าง น้ำดื่มใส่ขวดแก้ว อาหาร ขนมปัง เรียกว่าไม่กลัวอดตาย ทิวมะพร้าวที่พริ้วไหว กับห่วงยางสีดำใหญ่ ๆ ให้เช่าก็เป็นสวรรค์น้อย ๆ ของเด็ก ๆ
ทำไมยิ่งคุยกันนานเข้า  ยิ่งรู้สึกว่าคุณ siamese อายุเริ่มก้าวเร็ว ใกล้ดิฉันกับคุณนวรัตนเข้าไปทุกที      ไม่ว่าอะไรคุณก็จำได้  ร่วมยุคสมัยกันหมด
(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5728.0;attach=42352;image)

แต่ผีดุนะคะ ขอบอกก่อนค่ะ

ผีดุจริงง่ะ    ไม่ค่อยไว้ใจเลยว่าท่านจะมาลูกเล่นไหนอีก
โปรดขยายความ ชอบฟังเรื่องผีค่ะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ก.ย. 13, 12:12
อ้างถึง
บังกะโลเหล่านี้เคยไปสมัยที่คนไทยยังไม่แห่ไปเที่ยวกันเหมือนปัจจุบันนี้ ไปนอนมีที่นอนเก่า ๆ ยัดด้วยนุ่น เข้าไปก็ต้องทำความสะอาดกันพักใหญ่ แบกอุปกรณ์ของทานเตรียมจากรุงเทพฯ ไปกันเองบ้าง น้ำดื่มใส่ขวดแก้ว อาหาร ขนมปัง เรียกว่าไม่กลัวอดตาย ทิวมะพร้าวที่พริ้วไหว กับห่วงยางสีดำใหญ่ ๆ ให้เช่าก็เป็นสวรรค์น้อย ๆ ของเด็ก ๆ
ทำไมยิ่งคุยกันนานเข้า  ยิ่งรู้สึกว่าคุณ siamese อายุเริ่มก้าวเร็ว ใกล้ดิฉันกับคุณนวรัตนเข้าไปทุกที      ไม่ว่าอะไรคุณก็จำได้  ร่วมยุคสมัยกันหมด

เริ่มชักสงสัยเช่นกัน 55+ แต่ตอนเด็ก ๆ ก็เที่ยวแบบตามที่เล่ามา การเที่ยวในสมัยก่อนนั้นถือเป็นอะไรที่ตื่นเต้นมาก ต้องเตรียมการวางแผนไป เพราะถนนยังมีน้อย คนก็น้อย ก็ต้องเตรียมไป

ทุกวันนี้ไปหัวหิน นอนในโรงแรม ยังติดเอาหม้อหุงข้าวพกไปเลย 555+


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ย. 13, 12:43
ปล่อยพวกที่ล่วงหน้าไปบางแสน ไปเล่นน้ำทะเลอยู่ที่นั่นก่อน  ย้อนกลับมาพาคุณ tita ข้ามสะพานพระโขนงอีกที
สะพานพระโขนงในยุคกรุงเทพหยุดความเจริญแค่สะพาน  เป็นจุดแบ่งเขตแดนโดยแท้   พอลงสะพานไปก็คือคลอง(หรือคูน้ำ)ข้างถนน  มีบ้านเล็กบ้านน้อยชั้นเดียวปลูกอยู่ประปรายใกล้สะพาน    แต่มองไปก็คือทุ่งนาเวิ้งว้าง   ไม่มีซอยไม่มีอะไรทั้งสิ้น   เป็นอย่างนี้ไปตลอดทางที่ถนนพาไปจนถึงบางปู     มีแต่ป่าจากอยู่ข้างทาง  บางครั้งก็มีคนเลี้ยงเป็ดต้อนเป็ดมาลอยอยู่ในบ่อข้างถนน  มองเห็นกระต๊อบมุงจากของชาวนาอยู่ตรงโน้นบ้างตรงนี้บ้าง   
เดี๋ยวนี้ถ้าจะดูทิวทัศน์แบบนี้ เห็นจะต้องออกไปต่างจังหวัดไกลมากๆ 

มีเพื่อนคนหนึ่ง พ่อย้ายจากในเมือง  มาอยู่ซอยรัตนพราหมณ์ (เลยสะพานพระโขนง)เป็นบ้านแรก     เธอเล่าว่าย้ายไปอยู่ใหม่ๆ   ยุงบินแต่ไม่กัด   เพราะยุงมันไม่รู้จักคนมาก่อน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 10 ก.ย. 13, 13:18
ดิฉันขอสารภาพว่าตอนเด็กๆ แทบจะไม่ได้ข้ามสะพานพระโขนงเลย  นอกจากตอนเดินทางไปบางแสน  สมัยนั้นพระโขนงถือว่าเป็นชายขอบเมืองอย่างที่คุณเทาชมพูว่า  บางนาบางจากนี่คือชนบทสมตามชื่อโดยแท้ 

แม้แต่พระโขนงเอง  ก็ยังเป็นถนนเล็กๆ สองข้างทางบางช่วงก็ยังเป็นทุ่งอยู่  มีสะพานไม้ให้คนเดินเข้าไป

พูดถึงพระโขนง  จำได้ว่าสมัยก่อนโน้นมีบ้านสวยเด่น  ตั้งตระหง่านข้างทางอยู่หลังหนึ่ง  ชี้ชวนกันชมว่านี่ไงบ้านที่ถ่ายทำหนัง (ของคุณฉลอง? สองสิงห์สองแผ่นดิน?)  ชาวบ้านย่านนั้นฮือฮากันมาก


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ย. 13, 13:37
    ความทรงจำอีกอย่างเกี่ยวกับถนนสุขุมวิทใกล้ๆสะพานพระโขนง  คือตรงเชิงสะพานมีบ้านอยู่กลุ่มหนึ่ง  เรียกว่ากลุ่มเพราะมีหลายหลังรวมอยู่ในบริเวณเดียวกัน   เป็นบ้านของจอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล    หลานตาของท่านเป็นเพื่อนเรียนชั้นเดียวกันกับดิฉัน       วันหนึ่งเธอก็ชวนไปบ้าน    ทางเข้าบ้านต้องข้ามสะพานคอนกรีตเข้าไป  เพราะมีคูกว้างๆคั่นระหว่างถนนสุขุมวิทกับกำแพงบ้านคน  
    เดาว่าคุณหลวงคงซื้อที่ดินผืนนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ยังเป็นทุ่งนา     จึงซื้อได้เป็นผืนกว้างพอจะปลูกบ้านได้หลายหลัง  มีอาณาเขตระหว่างบ้านเป็นสัดส่วน     เพื่อนพาไปไหว้คุณหลวงซึ่งชราภาพมากแล้ว เห็นท่านนั่งเก้าอี้โยก นิ่งๆอยู่ในห้องหนึ่ง    ไม่ได้ทักทายหรือพูดคุยกับเด็กๆอย่างเรา

    เพื่อนพาเดินออกทางหลังบ้าน ไปหาเพื่อนร่วมชั้นเรียนอีกคนหนึ่ง   พบว่าหลังบ้านเป็นสวนมะพร้าวเล็กๆ  อยู่ติดกับทุ่งนา    มีบ้านใหม่ๆเป็นบ้านไม้รูปทรงโปร่ง   ใต้ถุนสูง   ปลูกอยู่เรียงเป็นแถว   มีที่ว่างนิดหน่อยคั่นตัวบ้านแต่ละหลัง       คงจะเป็นบ้านของคนที่อพยพจากในเมืองมาอยู่ที่ใหม่    ไม่มีรั้วกั้นระหว่างบ้าน  มีแผ่นซีเมนต์สี่เหลี่ยมปูเป็นทางเดินผ่านหน้าบ้านแต่ละหลังไป          
      ตอนนั้นไม่ได้นึกอะไรทั้งนั้นนอกจากดีใจที่เจอเพื่อน    หลายสิบปีต่อมาจึงสงสัยถึงการปลูกบ้านเหมือนๆกันแบบนั้นว่าเป็นบ้านจัดสรรในยุคที่เรายังไม่รู้จักคำว่าบ้านจัดสรร หรือเปล่า   เพราะปลูกเหมือนกัน และดูว่าปลูกในคราวเดียวกันด้วยค่ะ
   ลักษณะบ้านคล้ายๆรูปที่ไปหามาลงให้ดู  แต่ว่าบ้านของจริงไม่ได้ทาสี  บันไดเป็นไม้ ไม่ได้ปูกระเบื้อง     สมัยนั้นไม้ยังหาง่ายอยู่มาก และราคาถูกกว่าปลูกตึก    
   หลังบ้านคุณตาของเพื่อน ก็คือห่างจากถนนสุขุมวิทเชิงสะพานพระโขนง ลึกเข้าไปไม่ถึง 500 เมตร    สภาพชนบทมีดงมะพร้าว มีทุ่งนายังมีให้เห็นอยู่เลย  


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ก.ย. 13, 13:37
ดิฉันขอสารภาพว่าตอนเด็กๆ แทบจะไม่ได้ข้ามสะพานพระโขนงเลย  นอกจากตอนเดินทางไปบางแสน  สมัยนั้นพระโขนงถือว่าเป็นชายขอบเมืองอย่างที่คุณเทาชมพูว่า  บางนาบางจากนี่คือชนบทสมตามชื่อโดยแท้ 

แม้แต่พระโขนงเอง  ก็ยังเป็นถนนเล็กๆ สองข้างทางบางช่วงก็ยังเป็นทุ่งอยู่  มีสะพานไม้ให้คนเดินเข้าไป

พูดถึงพระโขนง  จำได้ว่าสมัยก่อนโน้นมีบ้านสวยเด่น  ตั้งตระหง่านข้างทางอยู่หลังหนึ่ง  ชี้ชวนกันชมว่านี่ไงบ้านที่ถ่ายทำหนัง (ของคุณฉลอง? สองสิงห์สองแผ่นดิน?)  ชาวบ้านย่านนั้นฮือฮากันมาก

ถนนสายบางนา เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ ๆ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ก.ย. 13, 13:52
ไปแถวสายสุขุมวิท สายเก่า แถวบางนา บางพลีแวะทานขนมจาก กันด้วยนะครับ ห่อในกระดาษแก้วสีชมพู ตอนเด็กๆ ชอบซื้อทาน เป็นแท่งยาว ๆ เรียว ๆ ไหม้ ๆ แต่สมัยนี้ใช้ใบจากหนา


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ย. 13, 14:20
ท่านทวดไปบางแสน ไม่ได้แวะขุดหอยเสียบหรือ  ??? หอยเสียบที่ทะเลบางแสนนั้น มีเยอะมากจนเอามาดองใส่น้ำปลาขายกันให้ดาษดื่น สมัยนี้คงน้อยไปเยอะแล้ว
ตอนไปบางแสน ไม่เคยไปขุดหอยเสียบ   แต่จำได้ว่ามีหอยเสียบดองน้ำเกลือขายใส่ขวด แบบขวดแม่โขงอยู่มากมาย   ส่วนชายหาดบางแสนมีปูลม   ไล่ตะครุบมันไม่ทันสักที เพราะมันมุดรูหนีไปเร็วมาก   ตามพื้นหาดซึ่งเป็นทรายสีคล้ำ ไม่ขาวอย่างหัวหิน  มีรูปูลมซึ่งปากรูมีทรายเป็นเม็ดกลมๆเหมือนประคำ กลาดเกลื่อนอยู่เต็มชายหาด
บางคนจับได้ก็เอามาชุบแป้งทอดกัน   เห็นว่าอร่อยนะคะ แต่ส่วนตัวแล้วไม่ชอบกิน  เห็นมันวิ่งหนีอยู่เมื่อครู่นี้เอง ต้องมาเข้าปากเราเสียแล้ว

ถึงบางแสนก็ทำให้เกิดสถานที่ตากอากาศ และได้ลงเล่นน้ำทะเลได้ ที่ใกล้กรุงเทพฯที่สุดไปกลับในวันเดียวได้ จึงมีประชาชนไปเที่ยวสนุกสนานกันมากมาย มีโรงแรมและบังกะโลมาให้พักมากขึ้น แม้แต่จอมพลสฤษฎ์ ธนรัชต์ ก็ไปสร้างอาคารสวยงามที่ “แหลมแท่น”
จากบางแสนมีทางเลียบทะเลไปเชื่อมกับอ่าวศิลา ระหว่างทางนั้นมีการเลี้ยงหอยนางรมกันมาก ทำให้ได้กินหอยนางรมสดๆอร่อยๆราคาถูก และเปิดโอกาสให้คนได้เห็นการทำครกของคน”อ่างหิน” การค้าขายก็เจริญขึ้นเรื่อยๆ จนครกหินเป็นOTOPของอ่างหินเลย
ผู้ใหญ่เล่าว่าคนใหญ่คนโตสมัยจอมพลป  น่าจะเป็นตัวท่านหรือไม่ก็พลต.อ.เผ่า  เคยไปสร้างบ้านสวยไฮโซอยู่บนเชิงเขาสามมุข  ไว้ตากอากาศ   มีถนนลาดยางอย่างดีผ่านหน้าบ้านไป   ยังเหลือตึกยุคนั้นหนึ่งหรือสองหลังอยู่บนเขาสามมุขให้เห็นค่ะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ย. 13, 14:22
ไปแถวสายสุขุมวิท สายเก่า แถวบางนา บางพลีแวะทานขนมจาก กันด้วยนะครับ ห่อในกระดาษแก้วสีชมพู ตอนเด็กๆ ชอบซื้อทาน เป็นแท่งยาว ๆ เรียว ๆ ไหม้ ๆ แต่สมัยนี้ใช้ใบจากหนา
ขนมจาก สมัยโน้น ต้องจากปากน้ำ จ้า


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ก.ย. 13, 14:32
ไปแถวสายสุขุมวิท สายเก่า แถวบางนา บางพลีแวะทานขนมจาก กันด้วยนะครับ ห่อในกระดาษแก้วสีชมพู ตอนเด็กๆ ชอบซื้อทาน เป็นแท่งยาว ๆ เรียว ๆ ไหม้ ๆ แต่สมัยนี้ใช้ใบจากหนา
ขนมจาก สมัยโน้น ต้องจากปากน้ำ จ้า

ใช่แล้ว ขนมจากปากน้ำ อันแสนอร่อย

อันที่จริงแล้วว่าด้วยเรื่องขนมจาก เป็นขนมที่ทำกินกันเองในท้องถิ่นที่ชายเลน เช่น สมุทรสาคร - เพชรบุรี - ฉะเชิงเทรา - จันทบุรี - ตราด
ก็ไม่ทราบว่าใครเป็นต้นกำเนิดของขนมจาก ไปจังหวัดตราด ก็บอกว่าเป็นขนมท้องถิ่น ไปตลาดหนองมนก็เห็นขายกันดาษดื่น ไปถึงองค์พระปฐมเจดีย์ก็มีขายให้เพียบ
ไปถึงหน้าวัดหลวงพ่อโสธร ก็มีให้มากอยู่ ดังนั้นขนมใบจาก คงเป็นทำง่าย ตัดใบจาก คลุกแป้งใส่มะพร้าว เอามาปิ้งก็ขายได้

ยุคก่อนตอนเด็ก ๆ ขนมใบจากจะกลัดด้วยไม้กลัดตามที่ อ.เทาชมพูแนบมา ภายหลังเอาเร็ว เอาง่าย จัดการใช้เข็มเย็บกระดาษเลย เร็วสะดวก แต่ผมไม่ค่อยชอบเท่าไร

แนบภาพคุณยายขายขนมใบจากที่สมุทรสาคร พ.ศ. ๒๔๗๘


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ย. 13, 14:50
ตอนเด็กๆไม่เคยกินขนมจากจากที่อื่น  เคยกินแห่งเดียวคือปากน้ำ    เรียกว่าใครไปปากน้ำกลับมาต้องมีขนมจากมาฝากคนทางกรุงเทพค่ะ   เหมือนใครไปนครปฐมต้องมีข้าวหลามกลับมา    เดี๋ยวนี้ แพร่หลายไปหลายจังหวัด   จนไม่รู้แหล่งไหนเป็นแหล่งไหนแล้ว

ลวดเย็บกระดาษเป็นอุปกรณ์อันตรายมากในการเย็บห่อขนม หรือกระทงของว่าง   ร้านอาหารดีๆหลายแห่ง ชอบปรับไฟให้สลัวๆเพื่อเพิ่มบรรยากาศ   ทำให้คนกินมองเห็นลวดไม่ถนัด อาจติดไปกับขนม หรือของว่างเวลาใส่ปากเคี้ยว  
แค่ทิ่มเหงือกก็ว่าหนักแล้ว    ถ้ากลืนลงกระเพาะไปนี่น่ากลัวจริงๆค่ะ  

 อย.เตือนอันตรายจากลวดเย็บกระดาษเย็บกระทงขนม (http://www.npc-se.co.th/npc_date/npc_previews.asp?id_head=5&id_sub=17&id=644)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ย. 13, 17:18
อ้างถึง
ผีดุจริงง่ะ    ไม่ค่อยไว้ใจเลยว่าท่านจะมาลูกเล่นไหนอีก
โปรดขยายความ ชอบฟังเรื่องผีค่ะ

ขอประทานโทษ ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านเพิ่งกลับมาครับ

แม้จะเคยไปพักสักหนสองหน ผมก็ไม่ได้มีประสพการณ์โดยตรงที่บังกะโลบางแสนหรอกครับ แต่เคยเห็นในเวป ท่านคลิ๊กเข้าไปอ่านกันเองแล้วกัน

เช่น เรื่องผีดุ
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROamIyd3hPRE14TURjMU1nPT0

เรื่องคนดุ
http://www.komchadluek.net/detail/20100617/63225/%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%8A%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%96.html#.Ui7wFdA5Ndg




กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ย. 13, 17:29
เอาเรื่องนี้ดีกว่า จารย์ดมศรีของผมเขียนเกี่ยวกับสิ่งลึกลับไว้ด้วย จะลงในกระทู้โน้นของคุณประกอบก็คงพอได้ แต่กั๊กไว้ลงที่นี่ดีกว่า เพราะเกี่ยวกับถนนสุขุมวิทด้วย
คุณทวดเขียนเองไว้ดังนี้ครับ

เรื่องจริง “เรื่องผีผี”

เมื่อ 2-3 วันมานี้ผมได้ดูโทรทัศน์ช่อง 9 เวลาประมาณ 23.00 น. ได้ฟังเรื่อง“ทรงเจ้าเข้าผี” ซึ่ง“ร่างทรง”หลายคนตอบคำถามอย่างไรผมไม่ขอกล่าว แต่นึกถึงเรื่อง“ผีเข้า”ที่ผมประสบมาด้วยตัวเองสัก 2 เรื่อง

ผมเวลานี้อายุ 82 ปีแล้ว ขอเล่าเรื่องที่ผมพบมาจริงๆ ให้คุณฟังว่ามันเป็นอะไร? เมื่อ พ.ศ. 2495 ผมอยู่กับคุณแม่ อยู่บ้านคนละหลังในบริเวณเดียวกัน (บ้านเลขที่ 16 ถนนสุขุมวิท ซอย 12) บ้านคุณแม่ปลูกในสระบัวทั้งหลัง หน้าบ้านมีร้านไม้เลื้อยร่มเย็นดี รอบๆ สระบัวและรอบๆ บ้านปลูกต้นไม้ใบสีต่างๆ กัน แต่จัดให้น่าเอ็นดู คนในบ้านทั้งสองหลังจึงชอบมานั่งเล่นที่เรือนต้นไม้นี้เสมอ แต่บ้านผมไม่ได้ตั้งศาลพระภูมิ

อยู่มาวันหนี่งราวๆบ่ายโมง คนที่เสร็จจากอาหารกลางวันก็มานั่งคุยกันที่นี่ ผมก็ยืนคุยอยู่ด้วย อยู่ๆก็มีเด็กผู้หญิงแถวบ้านอายุราวๆ 12-13 ปี ที่นั่งฟังผู้ใหญ่คุยกัน ก็กระโจนลงในสระบัว ลักษณะนอนหงายมือกางเท้ากางลอยอยู่ในสระ แต่ไม่ลอยอย่างคนธรรมดาลอย เช่น “แม่ชีลอยน้ำ”(ลอยปริ่มๆ ตัว) แต่เด็กคนนี้ลอยอย่างตุ๊กตาที่เด็กเล่นตกน้ำ คือลอยบนน้ำ คนสวนรีบเอาไม้ที่ใช้ช้อนใบไม้เขี่ยเข้ามา ก็ลอยมาเบาๆ เหมือนเขี่ยตุ๊กตา
   
เมื่อเอาขึ้นมาจากน้ำ เด็กคนนั้นก็มองดูพวกเราทุกคนไม่พูดอะไร เมื่อเขามองตัวเองก็พูดขึ้นว่า “ใครเอาผ้าถุงมาให้กูนุ่ง” แต่เสียงนั้นเป็นเสียงผู้ชาย(เพราะเด็กผู้หญิงคนนั้นนุ่งผ้าซิ่น) ก็ไม่มีใครตอบ แต่มีคนหนึ่งถามขึ้นว่า “คุณเป็นใคร มาทำไม”
“กูผ่านมาก็แวะเข้ามาเที่ยว”
ต่อมาสักครู่หนึ่งก็มีคนพูดขึ้นมาว่า “มาเที่ยวแล้วก็กลับไปซิ” เด็กคนนั้นก็ตอบทันทีว่า “กูยังไม่กลับ” ต่อมาก็ไม่มีใครพูดด้วยอีกเลย สักครู่หนึ่งเขาก็พูดขึ้นว่า “กลับก็กลับวะ” แล้วเด็กคนนั้นก็ล้มหงายลงไป
พอเด็กลุกขึ้นมาก็ถามขึ้นว่า “ทำไมตัวหนูเปียก”
“ก็แกโดน้ำลงไปนี่”
“หนูไม่ได้โดด หนูว่ายน้ำไม่เป็น”
พวกเราซักอย่างไรๆ เด็กก็ไม่รู้เรื่องอะไรเลย

เป็นอะไรกันแน่ครับ เรื่องจริงเรื่องนี้
เวลานี้บ้านหลังนี้และสระบัวก็ยังอยู่ที่เดิมครับ ใครอยากมาดูก็เชิญเลยครับ แต่จะมีคนโดดน้ำให้ดูหรือเปล่า ผมตอบไม่ได้ครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ย. 13, 17:34
เรื่องจริงเรื่องที่ 2 (เรื่องผีผี)
   
เรื่องจริงเรื่องที่ 2 นี้เกิดขึ้นในบริเวณบ้านหลังนั้น 16 สุขุมวิท ซอย 12) เวลาผ่านมาจากเรื่องแรกประมาณ10 ปี(ราว พ.ศ. 2505)
ผมเลี้ยงน้ำชาให้มิสเตอร์จิมมี่ โกว์ และภรรยา ที่มาจากปีนังที่ลานใต้ต้นประดู่ ริมสระว่ายน้ำของลูกๆ 5 คนของผม ผู้ที่มาวันนั้นมี 4 คน คือ มิสเตอร์ จิมมี่ โกว์ ภรรยา เพื่อนของจิมมี่ที่เป็นหมอ และ พล.ร.ต. แชน ปัจจุสานนท์ ซึ่งสนิทกับผมและจิมมี่ด้วย

ราวๆ 6 โมงเย็นแขกก็กลับ เดินมาขึ้นรถ ภรรยาของจิมมี่ก็ล้มลงที่ถนนคอนกรีตในบ้าน พวกเราก็รีบอุ้มขึ้นมา คุณจิมมี่ก็บอกทันที่ว่า “ผีเข้าแล้ว” เราก็พาเธอไปนั่งเก้าอี้ยาวที่ห้องอาหาร คุณจิมมี่ก็โทรศัพท์ถึงพระที่วัดมหาธาตุให้เอาหวายมาด้วย (แสดงว่าผีเข้าเธอที่กรุงเทพฯ หลายครั้งแล้ว) คุณจิตต์ภรรยาของผมก็ไปเอาน้ำมนต์มาให้เธอดื่ม เมื่อดื่มเข้าไปเล็กน้อยก็ร้องไห้และปัดขวดน้ำมนต์ คุณพิจิตต์เลยเอาน้ำมนต์ราดศรีษะเธอและถามว่า เธอเป็นใคร มาทำไม? เธอก็ตอบว่าเป็นทวดของผู้หญิงคนนี้ เวลานี้ลำบากมาก ไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่กิน มาบอกลูกหลานทีไร ก็ถูกไล่ ถูกทุบตีทุกครั้ง คุณพิจิตต์ก็ตอบว่าจะส่งส่วนบุญไปให้ตามที่เธอต้องการ ตกลงไหม? เท่านั้นเองเธอก็ลืมตาเป็นปกติทันที ทุกๆคนดีใจแต่คุณจิมมี่แปลกใจมากที่ “ผีออก” เร็วเช่นนี้ ส่วนภรรยาคุณจิมมี่เมื่อได้สติแล้วเธอไม่รู้อะไรเลยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น

เช้าวันรุ่งขึ้นเราก็เอาข้าวเหลืองถาดหนึ่ง ผ้าขาวพับหนึ่ง พระพุทธรูปองค์หนึ่ง และศาลพระภูมิไม้ไปถวายท่านเจ้าคุณวัดธาตุทอง และเล่าให้ท่านทราบ ท่านก็บอกให้จิมมี่เอาพระไปไว้ที่บ้านปีนัง และเอาศาลพระภูมิไปไว้ที่บ้านหรือวัดก็ได้ คุณจิมมี่รีบบอกทันทีว่าเอาศาลพระภูมิไว้ที่วัดดีกว่า (คงจะกลัวมาก)

เมื่อเราเดินออกจากวัด เราก็คุยกันว่าเรื่องคงเสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณจิมมี่บอกว่า ไม่อยากเชื่อเพราะเรื่องก็เกิดขึ้นอย่างนี้ทุกที คุณจิมมี่ไปปีนังก็เอาพระพุทธรูปไปไว้ที่บ้าน แต่เอาศาลพระภูมิไปไว้ที่วัด

จนบัดนี้ก็ไม่มีข่าวว่า“ผีเข้า”ภรรยาคุณจิมมี่อีก เรื่องนี้ทำให้ผมคิดว่า ผีมีจริง แต่ไม่น่ากลัวอะไรเลย พูดกันเข้าใจได้ การทำบุญ ผีก็รับได้จริง ผีก็มีสัจจะเหมือนกัน ได้รับบุญได้ที่อยู่ที่กินและได้บารมีของพระพุทธรูปแล้วก็ไม่มาขออะไรอีก เรื่องจริงเรื่องนี้ท่านเห็นอย่างไรครับ?

ผมขออุทิศส่วนกุศลให้ “ท่านที่อยู่ที่ใดก็ตาม” จงได้รับส่วนกุศลที่ท่านต้องการทุก ๆ อย่าง สมความปรารถนาตลอดไปเถิด

อุดมศรี บุรณศิริ
พฤษภาคม 2547


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ก.ย. 13, 17:36
แหม กระทู้นี้มีทุกเรื่องทุกรสจริงๆ แต่คุณเพ็ญไปไหน ทำไมยังไม่เข้ามา


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ย. 13, 17:39
 :-X


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 10 ก.ย. 13, 17:51
ตามไม่ทันแล้ว มาติดน้ำท่วมถนนอยู่หน้าโรงพักพระโขนงนี้เอง

(เหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๑๔)




กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 10 ก.ย. 13, 17:56



เรียนถามคุณณล - ถนนบางนาตราดในภาพอยู่ในช่วง กม ที่เท่าไหร่ พอจะพิกัดให้แคบลงได้ไหม

ผมผ่านถนนบางนาตราดตั้งแต่กำลังก่อสร้าง จนก่อสร้างเสร็จเป็นถนน ๔ เลน แล้วขยายเป็น ๘ เลน จนกระทั่งมีทางยกระดับลอยฟ้าบูรพาวิถีที่ยาวที่สุดในประเทศ
แต่ผมมั่นใจว่าผมไม่เคยเห็นถนนบางนาตราดช่วงหักโค้งขึ้นสะพานดังในภาพเลย และถนนบางนาตราดที่ก่อสร้างในช่วงแรกเป็นถนนลาดยางแอสฟัลท์ มีร่องน้ำอยู่ช่วงกลางถนนแยกผิวทางจราจรขาเข้าและขาออกจากกัน
ไม่ใช่ผิวถนนคอนกรีตที่มีเกาะกลางถนนอย่างในภาพ



กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ย. 13, 20:12
ระหว่างรอคุณหนุ่มสยามมาตอบคุณลุงไก่  ก็ขอชวนท่านอื่นๆที่หายขวัญหนีดีฝ่อเรียบร้อยแล้ว   เดินกลับไปในอดีตเมื่อครั้งสุขุมวิทยังเป็นถนนกว้าง มีรถวิ่งฉิวผ่านไปมา  ทางเท้าริมถนนสะอาดเรียบ   สองข้างถนนมีตึกที่อยู่อาศัยหลังงามๆ อย่างในภาพนี้


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 10 ก.ย. 13, 20:39
อ้างถึง
รบกวนสอบถามครับ ไม่ทราบว่าท่านใดพอจะทราบตำแหน่งของสนามมวยของราชกรีฑาสโมสรบ้างไหมครับ
ตอนเป็นนิสิตจุฬาตั้งแต่ปี๒๕๐๙ ผมก็เข้าไปที่นั่นบ่อยอยู่ จบแล้วเข้าเป็นสมาชิก จนถึงบัดนี้ ไม่เคยทราบ หรือได้ยินใครพูดถึงสนามมวยของราชกรีฑาสโมสรเลยครับ

ขอบพระคุณครับ พอดี ผมอ่านจากหนังสือปริทัศน์มวยไทย ที่ครูเขตร์ ศรียาภัย ท่านแต่งไว้ครับ ท่านเล่าไว้ว่า ตอนสมัยครูสุนทร (กิมเส็ง) ทวีสิทธิ์ เริ่มชกมวยใหม่ ๆ ได้มาเปรียบมวยที่สนามมวยที่ปัจจุบันมีพื้นที่อยู่ในราชกรีฑาสโมสรครับ  ถ้าเป็นอย่างที่คุณ NAVARAT บอกมา สงสัยถ้ามีสนามมวยนี้จริง คงจะยกเลิกไปนานแล้วก็เป็นได้ครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ก.ย. 13, 22:14
แหม กระทู้นี้มีทุกเรื่องทุกรสจริงๆ แต่คุณเพ็ญไปไหน ทำไมยังไม่เข้ามา

ติดตามอยู่เสมอ              ยังไม่เจอที่คุ้นเคย
หากทราบไม่ทำเฉย         มาตอบแน่แม้ไม่เชิญ
       

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley16.png)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ย. 13, 22:21
สุขุมวิทเป็นถนนสายแรกที่มี KFC ขาย ตั้งแต่สมัยใช้ชื่อว่า Kentucky Fried Chicken  มีป้ายเล็กๆรูปถังไก่ทอดสีแดงสลับขาวและหน้าของผู้พันแซนเดอส์ประทับอยู่    ในร้านแถวๆซอยวัฒนา   ประมาณพ.ศ. 2510 ปลายๆ   
ใครจำได้บ้างคะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 10 ก.ย. 13, 23:09
จำได้ครับอาจารย์ ตอนที่ใช้ชื่อเต็มยศจำได้แม่นขึ้นใจ แต่พอเปลี่ยนเป็นชื่อย่อ มักจะสับๆสนๆกับ JFK


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 11 ก.ย. 13, 05:49
จำได้ครับอาจารย์ ตอนที่ใช้ชื่อเต็มยศจำได้แม่นขึ้นใจ แต่พอเปลี่ยนเป็นชื่อย่อ มักจะสับๆสนๆกับ JFK

แล้วคำย่อ JPS นี่มีที่มาอย่างไรครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ย. 13, 06:36
โฆษณาแฝงหน่อย

ร้านนี้หรือเปล่าครับ บรรยายภาพว่าถ่ายปี ๒๕๑๓ อีตานายพันยังไม่ลงพุงเท่าไหร่


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ย. 13, 06:44
[quote]" หัวมุมถนนเพลินจิตฝั่งเดียวกับสถานทูตนั้น ปัจจุบันเป็นโรงแรม และติดกันคืออาคารสำนักงานมี HomePro เป็นที่สังเกต ส่วนเพลินจิตอาเขตกลายเป็นที่ว่างติดกับบ้านของคุณบุญชิต เกตุรายนาค ใช่ไหมคะ ฝั่งตรงข้ามหัวมุมคือ มหาทุนพลาซ่า เจ้าของที่ดินคือ ท่านผู้หญิงสุประภาดา ที่นักเรียนเตรียมรุ่นพี่สาวคนรอง(ห่างกัน 4 ปี)เรียกว่า "อาจารย์หญิง"....เพลินจิตอาเขตเดิ้นมากสมัยนั้นเพราะมี Foodland Supermarket ที่ทุกคนชอบมาซื้อของ"[/quote]

ย้อนไปเก็บตก


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ย. 13, 07:00
แล้วก็ไปกันต่อ

เมื่อผ่าน”ศรีราชา” ก็ทำให้เกิดที่ตากอากาศชายทะเลขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่มาทางรถยนต์ได้สะดวก เมื่อก่อนมีเกาะเล็กๆ หน้าอ่าว แต่เดี๋ยวนี้ทำถนนเชื่อมกับถนนริมฝั่งแล้ว ในสมัยนั้นมีเหตุน่าเสียใจอย่างมากคือ ฝรั่งคู่หนึ่งเพิ่งแต่งงานใหม่มาเล่นน้ำทะเลที่ “แหลมแท่น” ถูกฉลามกัด และกัดนายแฉล้ม (ชาวบ้าน)ที่หาดใกล้ที่ว่าการอำเภอ (เมื่อก่อนนี้อยู่ติดถนนเลียบชายหาด) ทำให้คนไม่กล้าลงเล่นน้ำกันพักหนึ่ง

คุณเพ็ญมีอะไรจะเล่าเรื่องฉลามในเมืองไทยไหมครับ ส่วนมากเป็นพันธุ์ไหน

เมื่อก่อนผมเคยอ่านในหนังสือพิมพ์ ขนาดเดินข้ามสะพานไปเกาะลอยยังมีคนเห็นฉลาม สยามรัฐสัปดาห์วิจารย์เคยลงปกเป็นรูปฉลามว่ายอยู่บนผิวๆน้ำ บอกว่าเป็นภาพฉลามเสือถ่ายที่ใต้ถุนร้านอาหารที่ยื่นออกไปในทะเลที่ศรีราชา มีข่าวคนถูกฉลามกัดที่นั่นบ่อยๆจนไม่มีใครกล้าลงเล่นน้ำ นัยว่าแถวนั้นเป็นทะเลน้ำลึก ในขณะที่แถวหัวหินไม่เคยมีข่าวเรื่องฉลามเลย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ย. 13, 07:03
ต่อจาก “ศรีราชา” ก็ถึง “บางละมุง” (บางทีก็เรียกกันว่า “นาเกลือ”) เป็นอำเภอเล็กๆ ริมทะเล มีชาวบ้านปลูกบ้านยื่นไปในทะเลอยู่มากเหมือนกัน รู้สึกว่าสบายและน่าอยู่มาก

เวลานั้น “เมืองพัทยา” ยังไม่มี แต่มีทางเดินจากบางละมุงเข้าป่า แค่ข้ามเขาไปอีก 2-3 กม. ก็เจอหาดทรายที่สวยและกว้างมากยาว 500 ม. เรียบและขาวสะอาด รู้สึกว่าเป็นหาดที่สวยและกว้างมากที่สุดในเมืองไทยเท่าที่เห็นในสมัยนั้น(พ.ศ. 2487) มีศาลเจ้าแม่อยู่ศาลหนึ่งที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ หาดพัทยาเมื่อเวลาน้ำลงนั้นกว้างและเรียบสวยมาก คล้ายหาด “เดโทน่า บีช” ของอเมริกา แต่ของเราเล็กกว่า ชายหาดของ “พัทยา” มีต้นมะพร้าวและต้นไม้ต่างๆ เขียวขจี เป็นบรรยากาศสวยงาม สดชื่น บริสุทธิ์ ที่สุด

แต่อนิจจา เวลานี้ ทัศนียภาพอันสวยงามและบรรยากาศอันสดชื่น บริสุทธิ์ ก็หายไปด้วยแท่งคอนกรีตของอาคารต่างๆ ที่รกหูรกตามาก หาดทรายก็แคบเข้ามามาก ไม่เหมือนเมื่อก่อนนี้เลย (ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร? ท่านใดทราบโปรดบอกเอาบุญด้วยครับ) น่าเสียดายมากที่สุด แต่กลายเป็นสถานตากอากาศชายทะเลที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ย. 13, 08:05



เรียนถามคุณณล - ถนนบางนาตราดในภาพอยู่ในช่วง กม ที่เท่าไหร่ พอจะพิกัดให้แคบลงได้ไหม

ผมผ่านถนนบางนาตราดตั้งแต่กำลังก่อสร้าง จนก่อสร้างเสร็จเป็นถนน ๔ เลน แล้วขยายเป็น ๘ เลน จนกระทั่งมีทางยกระดับลอยฟ้าบูรพาวิถีที่ยาวที่สุดในประเทศ
แต่ผมมั่นใจว่าผมไม่เคยเห็นถนนบางนาตราดช่วงหักโค้งขึ้นสะพานดังในภาพเลย และถนนบางนาตราดที่ก่อสร้างในช่วงแรกเป็นถนนลาดยางแอสฟัลท์ มีร่องน้ำอยู่ช่วงกลางถนนแยกผิวทางจราจรขาเข้าและขาออกจากกัน
ไม่ใช่ผิวถนนคอนกรีตที่มีเกาะกลางถนนอย่างในภาพ



ภาพนี้เป็นการก่อสร้างถนนด้วยการปูคอนกรีต ช่วง พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นการก่อสร้างถนนบางนา-ตราดช่วงแรกตอนพระโขนง-บางนาครับลุงไก่


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ย. 13, 08:15
ไปศรีราชา ต้องไปเที่ยวเกาะลอย สมัยก่อนพากันเดินไปยังสะพานไม้ (ในเวปรถไฟไทยกล่าวว่า สะพานนี้ด้านข้างจะเป็นทางรถไฟวางรางไว้เรียบร้อยเป็นของบริษัท ศรีราชา ที่มีโรงงานใหญ่อยู่บนฝั่ง)

นี่เป็นภาพของครอบครัวที่พากันเดินกลับจากเกาะลอย น่าจะช่วง พ.ศ. ๒๔๙ กว่า ๆ

เมื่อเดือนที่แล้วไปเที่ยวเกาะลอย เป็นสะพานปูนขนาด ๔ ช่องจราจร ผู้คนเยอะมาก และเห็นประกาศว่าทางเทศบาลศรีราชาจะทำการปิดสะพานเพราะเริ่มชำรุดและจะสร้างใหม่เป็นระบบสะพานขึง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ย. 13, 09:00
โฆษณาแฝงหน่อย

ร้านนี้หรือเปล่าครับ บรรยายภาพว่าถ่ายปี ๒๕๑๓ อีตานายพันยังไม่ลงพุงเท่าไหร่
เพิ่งเห็นร้านนี้    แสดงว่า KFC มีมากกว่า 1 ร้านที่สุขุมวิท     เพราะในความทรงจำของดิฉัน KFC เล็กๆที่เคยเห็นมีอะไรคล้ายๆบูธตั้งอยู่ริมถนนด้วยค่ะ   หรือว่าจะเป็นร้านเดียวกันแต่ยกบูธออกไปแล้วก็ไม่ทราบ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ย. 13, 09:06

เวลานั้น “เมืองพัทยา” ยังไม่มี แต่มีทางเดินจากบางละมุงเข้าป่า แค่ข้ามเขาไปอีก 2-3 กม. ก็เจอหาดทรายที่สวยและกว้างมากยาว 500 ม. เรียบและขาวสะอาด รู้สึกว่าเป็นหาดที่สวยและกว้างมากที่สุดในเมืองไทยเท่าที่เห็นในสมัยนั้น(พ.ศ. 2487) มีศาลเจ้าแม่อยู่ศาลหนึ่งที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ หาดพัทยาเมื่อเวลาน้ำลงนั้นกว้างและเรียบสวยมาก คล้ายหาด “เดโทน่า บีช” ของอเมริกา แต่ของเราเล็กกว่า ชายหาดของ “พัทยา” มีต้นมะพร้าวและต้นไม้ต่างๆ เขียวขจี เป็นบรรยากาศสวยงาม สดชื่น บริสุทธิ์ ที่สุด


ภาพข้างล่างคือ Daytona Beach ที่อาจารย์อุดมศรีเอ่ยถึง อยู่ที่ฟลอริดาค่ะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ย. 13, 09:12
มีอีกแห่งหนึ่ง ระหว่างบางแสนกับพัทยา ที่ครั้งหนึ่งทำท่าว่าจะพัฒนาเป็นหาดชายทะเลให้คนไปเที่ยว   คือ "หาดผาแดง"  แต่แล้วก็พับฐานไป ไม่มีใครเอ่ยถึงอีกเลย   เหลือแต่เพลง "หาดผาแดง"ของสุนทราภรณ์ไว้เป็นอนุสรณ์
อาจารย์อุดมศรีเอ่ยถึงไว้หรือเปล่าคะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ย. 13, 09:40
ภาพพัทยาในอดีต
เครดิต คุณเจียวต้าย  จากเว็บพันทิป


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ย. 13, 09:42
บางละมุง
เครดิต คุณเจียวต้าย  จากเว็บพันทิป


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ย. 13, 11:45
ย้อนกลับมาที่บางแสน   เขาบอกว่าเป็น "บางแสนบีช รีสอร์ท" อยู่ตรงไหนกันนี่


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ย. 13, 11:55
กลับไปที่พัทยา  รูปซ้ายคงสมัยอาจารย์อุดมศรี  รูปขวาน่าจะสมัยท่านนวรัตน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 11 ก.ย. 13, 12:51
อาจารย์เทาชมพู อ้างถึงคุณลุงเจียวต้าย .. ผมขออนุญาตอ้างถึงคุณลุงเจียวต้ายบ้าง

จากกระทู้เก็บตกจากตู้หนังสือใน "คลับไร้สังกัด" หัวข้อกระทู้ "เก็บตกจากตู้หนังสือ" ผมเก็บบทความที่คุณลุงฯ สแกนจากหนังสือ "ชาวกรุง" มาให้อ่าน
ผมจำเลขกระทู้ไม่ได้ จึงขอนำเฉพาะหน้าแรกมาให้ชมก่อน เป็นบทความของคุณวริน อมาตยกุล เป็นเหตุการณ์ที่บางปูเมื่อวันที่ ๘ ธนวาคม ๒๔๘๔
วันที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเข้าสู่ประเทศไทย



กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 11 ก.ย. 13, 13:15
ไปศรีราชา ต้องไปเที่ยวเกาะลอย สมัยก่อนพากันเดินไปยังสะพานไม้ (ในเวปรถไฟไทยกล่าวว่า สะพานนี้ด้านข้างจะเป็นทางรถไฟวางรางไว้เรียบร้อยเป็นของบริษัท ศรีราชา ที่มีโรงงานใหญ่อยู่บนฝั่ง)

นี่เป็นภาพของครอบครัวที่พากันเดินกลับจากเกาะลอย น่าจะช่วง พ.ศ. ๒๔๙ กว่า ๆ

เมื่อเดือนที่แล้วไปเที่ยวเกาะลอย เป็นสะพานปูนขนาด ๔ ช่องจราจร ผู้คนเยอะมาก และเห็นประกาศว่าทางเทศบาลศรีราชาจะทำการปิดสะพานเพราะเริ่มชำรุดและจะสร้างใหม่เป็นระบบสะพานขึง

ที่ถูกต้องคือบริษัทศรีมหาราชาจำกัด ที่เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ท่านได้ไปขอทำสัมปทานตัดไม้ที่ศรีราชาครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ย. 13, 14:24
ถนนสุขุมวิท ไปปากน้ำและบางปู จะต้องผ่าน "โค้งบางปิ้ง" ซึ่งเป็นโค้งที่มีผู้เสียชีวิตเมื่อก่อนมากมายนะครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 11 ก.ย. 13, 17:16
ถนนสุขุมวิท ไปปากน้ำและบางปู จะต้องผ่าน "โค้งบางปิ้ง" ซึ่งเป็นโค้งที่มีผู้เสียชีวิตเมื่อก่อนมากมายนะครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ย. 13, 18:44
รูปของลุงไก่ไม่ใช่โค้งบางปิ้งครับ

โค้งบางปิ้งอยู่บนถนนสุขุมวิท เลยทางเข้าตัวเมืองไปหน่อย เป็นโค้งใหญ่ก่อนถึงปากซอยเข้าฟาร์มจระเข้เดี๋ยวนี้  จะเห็นต้นโพธิ์ใหญ่และศาลเจ้าพร้อมพวงมาลัยดอกไม้ธูปเทียนๆกับศาลพระภูมิหักๆคนเอามาทิ้งมากมาย ผ่านไปสังเกตุได้ชัด
เมื่อก่อนขยายถนนคนขับรถมาคว่ำตายกันเยอะ เพราะถนนโค้ง แทนจะยกขอบขึ้นเพื่อรับแรงหนีศูนย์ นี่กลับไม่มี ประกอบกับถนนลาดยางโบราณมันจะลื่นเวลาฝนตก ใครขับมาเร็วๆเป็นเสร็จ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ย. 13, 18:55
นอกจากนั้น บางปิ้งเมื่อห้าสิบปีก่อนมีชื่อเสียในเรื่องของสถานที่เที่ยวผู้หญิงราคาถูกของชาวประมงและพวกขับรถบรรทุก มีซ่องรวมกันแออัดอย่างกับเป็นหมู่บ้าน

สุขุมวิทเมื่อเลยบางปิ้งออกไป กว่าจะก็มีหมู่บ้านอย่างว่านี้อีกก็ที่อ่างศิลา เพราะเป็นย่านเรือประมงเทียบฝั่งเหมือนกัน พวกลูกเรือออกทะเลนานๆ ถึงฝั่งแทนที่จะรีบกลับบ้าน กลับแวะมาหาของฝากเมียที่นั่นก่อน

ผมไม่ทราบเหมือนกันว่า ใครเป็นผู้ออกคำสั่งปราบหมู่บ้านที่ตั้งท้าทายกฏหมายเหล่านี้ และเมื่อไหร่


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ย. 13, 20:26
ถัดจากบางปิ้งไป ก็จะถึงคลองด่าน ในสมัย 2480-2499 การเดินทางระหว่างบางปะกง - กรุงเทพ ใช้เส้นทางสุขุมวิทสายเก่านี้ การเดินทางใช้เวลาสองสามวัน และรถโดยสารจะมาหยุดพักครึ่งทางที่คลองด่านนี้. ที่คลองด่านมีวัดบางเหี้ยตั้งอยู่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาสมานมัสการหลวงพ่อปาน ผู้สร้างเขี้ยวเสืออันโด่งดัง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ก.ย. 13, 20:40
ฮ้า...การเดินทางใช้เวลาสองสามวันเชียวหรือ ไม่ถึงหรอก ถ้าไปโดยรถยนต์อย่างมากก็วันเดียว ออกจากกรุงเทพเช้าก็ถึงชลบุรีก่อนค่ำ

ป่าจากตลอดแนวถนนเลียบทะเลนั้นยุงชุมมาก ดุที่สุด ผมเจอมาแล้ว มันเกาะเต็มแขนเต็มขาเอามือลูบก็ไม่หนี ยอมบี้แบนตายไปกับมือ หมดชุดนี้ชุดใหม่มารุมอีก

ถ้าสองสามวันจริง ต้องมีที่พักแรม ไม่มีไม่ได้ ถึงตายเชียวนา นี่จากกรุงเทพถึงท่าข้าม ไม่ปรากฏหลักฐานที่พักคนเดินทางเลย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ย. 13, 20:43
เรื่องหลวงพ่อปาน ปรากฎในพระราชหัตถเลขาว่า
"พระครูปานมาหาด้วย พระครูปานรูปนี้เป็นที่นิยมกันในทางวิปัสสนาและธุดงควัตร คุณวิเศษที่คนเลื่อมใสคือให้ลงตะกรุด ด้ายผูกข้อมือ รดน้ำมนต์ ที่นิยมกันมากนั้นคือรูปเสือแกะด้วยเขี้ยวเสือ เล็กบ้างใหญ่บ้าง ฝีมือหยาบๆ ข่าวที่ร่ำลือกันว่า เสือนั้นเวลาจะปลุกเสกต้องใช้เนื้อหมู เสกเป่าไปยังไรเสือนั้นกระโดดลงไปยังเนื้อหมูได้ ตัวพระครูเองเห็นจะได้รับความลำบากเหน็ดเหนื่อย ในการที่ใครๆ กวนให้ลงโน่นลงนี่ เขาว่าบางทีหนีไปอยู่ป่าช้า ที่พระบาทก็หนีขึ้นไปอยู่เสียที่บนเขาโพธิ์ลังกา คนก็ยังตามขึ้นไปกวนไม่เป็นอันหลับอันนอน แต่บริวารเห็นจะได้ผลประโยชน์ในการทำอะไรๆ ขาย มีแกะรูปเสือเป็นต้น    ถ้าปกติราคาตัวละบาท เวลาแย่งชิงกันก็ขึ้นไปตัวละ 3 บาท ว่า 6 บาทก็มี ได้รูปเสือนั้นแล้วจึงไปให้พระครูปลุกเสก สังเกตดูอัชฌาสัยก็เป็นอย่างคนแก่ใจดี กิริยาเรียบร้อย อายุ 70 ปีแล้ว ยังไม่แก่มาก รูปร่างล่ำสันใหญ่โต เป็นคนพูดน้อย"


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ย. 13, 21:36
ถัดจากบางปิ้งไป ก็จะถึงคลองด่าน ในสมัย 2480-2499 การเดินทางระหว่างบางปะกง - กรุงเทพ ใช้เส้นทางสุขุมวิทสายเก่านี้ การเดินทางใช้เวลาสองสามวัน และรถโดยสารจะมาหยุดพักครึ่งทางที่คลองด่านนี้. ที่คลองด่านมีวัดบางเหี้ยตั้งอยู่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาสมานมัสการหลวงพ่อปาน ผู้สร้างเขี้ยวเสืออันโด่งดัง
เมื่อญี่ปุ่นบุกไทยในปลายปี พ.ศ. 2484  ขึ้นทางปากน้ำ   ถ้าเส้นทางนี้ใช้เวลานานขนาดนั้นกว่าจะถึงกรุงเทพ  ชาวกรุงเทพคงรู้ตัวกันทันแล้วมั้งคะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ย. 13, 21:51
ตอนเด็กๆเมื่อพ่อแม่พาไปเที่ยวบางแสน   กลางทาง รถต้องข้ามแม่น้ำกว้างชื่อแม่น้ำบางปะกง    ตัวสะพานเป็นคอนกรีตยังดูใหม่  ตัวสะพานกว้าง  ชื่อหรูหรามาก ว่า "สะพานเทพหัสดิน"  ฟังแปลกหูจนทำให้จำชื่อมาได้จนบัดนี้  รถต้องลดความเร็วลงนิดหน่อยเมื่อขึ้นสะพาน  เพราะบางครั้งก็มีรถสวนมา  แต่ส่วนใหญ่ไม่มี  เส้นทางยังโล่งมาก    ทำให้มีโอกาสเห็นแม่น้ำบางปะกงว่ากว้างจริงๆ สองฝั่งมีแต่ทิวไม้ ไม่เห็นมีบ้านคน

อินทรเนตรช่วยย่อห้องสมุดมาให้ในจอตรงหน้า จึงหาประวัติได้ว่าสะพานนี้ตั้งชื่อตามพระยาเทพเทพหัสดิน สยามพิชิตินทรสวามิภักดิ์ อุดมศักดิ์เสนีพิริยะพานะ (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา)  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  สมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม  ท่านเป็นคนเสนอคณะรัฐมนตรีขอสร้างสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง เพราะเมื่อก่อนจะข้ามแม่น้ำ รถต้องข้ามแพขนานยนต์ถึงจะสามารถข้ามไปฝั่งตรงข้ามได้  ก็ทุลักทุเลไม่สะดวกแก่การเดินทาง
  สะพานแรกที่สร้างเป็นสะพานแบบตอม่ออยู่กลางแม่น้ำ หมุนไปมาได้สะดวกให้เรือผ่านได้ เมื่อเรือผ่านไปแล้วจะหมุนมาเชื่อมกับถนนเป็นเส้นตรง ให้ชื่อว่า "สะพานเทพหัสดิน"   เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 646.00+16+16.40+41.60 เมตร รวมความยาวทั้งสิ้น 340 เมตร ทางจราจรกว้าง 6.00 เมตร มีทางเท้า 2 ข้าง กว้างข้างละ 0.040 เมตร มีเสาตอม่อรองรับสะพาน 25 ตัน เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2492 แล้วเสร็จบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 12เมษายน 2494  บริษัทสง่าพาณิชย์เป็นผู้รับจ้าง รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 6,124,000.00 บาท 
   สะพานเทพหัสดินที่เคยเห็น ถูกรื้อเพื่อสร้างใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 11 ก.ย. 13, 22:31
ถนนสุขุมวิท ไปปากน้ำและบางปู จะต้องผ่าน "โค้งบางปิ้ง" ซึ่งเป็นโค้งที่มีผู้เสียชีวิตเมื่อก่อนมากมายนะครับ
http://www.mypaknam.com/webboard/?menu=f9213511a9e1f5e0b2d56e5b27a292b2&topic_id_get=289

โค้งดุๆของถนนสุขุมวิทแถวสมุทรปราการที่เป็นท็อปทรีมีดังนี้(เรียงลำดับจากสามแยกหอนาฬิกาถึงเมืองโบราณ)
 โค้งชัยมงคล ตรงการไฟฟ้าสมุทรปราการ บัดนี้(ก็ยึ่สิบปีขึ้น)มีปลายถนนศรีนครินทร์มาจิ้มกลายเป็นสามแยกไปแล้ว เมื่อก่อนยกขอบที่โค้งด้านนอกตามหลักวิชา และมีหลักนำทางปักเป็นไกด์ ถัดออกไปยังมีแนวสนทะเลกันอีกชั้นแต่็ก็ยังไม่วาย  ขอบทางด้านนอกยกสูงกว่าพื้นท้องนาด้านล่างมาก เป็นโค้งเลี้ยวขวา เปลี่ยวน่ากลัว
 โค้งบางปิ้ง อยู่เลยชุมชนตลาดบางปิ้งไปนิด เป็นจุดเริ่มต้นที่จะมีคลองชลประทานตีคู่ไปกับสุขุมวิทจนถึงทางเข้าบางบ่อ ถ้าหลุดโค้งก็ลงคลองไปเลย เป็นโค้งเลี้ยวขวา
 โค้งโพธิ์ อยู่ก่อนถึงทางเข้าฟาร์มจระเข้เล็กน้อย เมื่อก่อนเป็นอันดับหนึ่งด้านสถิติ อาจเป็นด้วยลักษณะโค้งที่เข้าและออกอย่างกระทันหัน และเป็นถนน2สวนไปมา ที่ริมทางเคยมีศาลเล็กศาลใหญ่ตั้งอยู่เป็นร้อย ภายหลังรีเนมเป็นโค้งโพธิสัตว์ แผนที่ของอาจารย์ NAVARAT.C โค้งโพธิืหลุดขอบล่างออกไป มีถนนสายลวดมาเข้ากลางโค้งพอดี ปัจจุบันเป็น4เลน ติดตั้งสัญญาณไฟเรียบร้อย เป็นโค้งเลี้ยวซ้าย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 12 ก.ย. 13, 05:45
อ้อ .. โค้งต้นโพธิ์นี่หมายถึงตรงที่ถนนสายลวดมาบรรจบถนนสุขุมวิทนี่เอง
ทุกวันนี้คงจะแหกโค้งไม่ได้แล้ว เพราะรถติดไม่แพ้ที่กรุงเทพฯ จะได้ก็แต่แหกไฟแดงอย่างเดียว
แต่ปากซอยเข้าฟาร์มจรเข้นี่สิ ต้องลุ้นเอาเองว่าจะเลี้ยวเข้าได้ไหม เพราะรถทางตรงจากบางปูมักจะไม่ยอมหยุดให้รถฝั่งตรงข้ามลี้ยวเข้า

สะพานเทพหัสดินขณะกำลังก่อสร้าง
ครั้งสุดท้ายตอนที่ปิดการจราจรไม่ใช้สะพานแล้วก่อนการรื้อทิ้ง เป็นสถานที่ตกปลาของบรรดาพรานเบ็ดทั้งหลาย





กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ย. 13, 06:28
อ้างถึง
ย้อนกลับมาที่บางแสน   เขาบอกว่าเป็น "บางแสนบีช รีสอร์ท" อยู่ตรงไหนกันนี่
อยู่บริเวณกลางหาดเลยครับ เดิมชื่อโรงแรมบางแสนเฉยๆ รัฐบาลลงทุนให้อ.ส.ท.(องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)เป็นผู้บริหาร ก่อนจะเจ้งไปตามระเบียบ แล้วให้เอกชนสัมปทานไปดำเนินการต่อจนในปัจจุบัน

ส่วนบังกะโลเป็นของเทศบาล เมื่อก่อนอยู่กระจัดกระจายรอบๆโรงแรม เต็มพื้นที่สี่เหลี่ยมระหว่างถนนนั่นแหละครับ ดูในกูเกิลเอิร์ธคงรื้อทิ้งไปเยอะ ที่เหลือๆอยู่สภาพก็ดังที่เห็น


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ย. 13, 06:41
สุขุมวิทผ่านไปที่ไหนก็ทำให้เกิดสถานตากอากาศทะเลมากขึ้นเรื่อยๆ พอถึง “ระยอง” ทำให้อ่าวเล็กๆ หลายอ่าวแถบนั้นมีที่พักตากอากาศเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เช่น “บ้านเพ” ก็เป็นทางไปเที่ยว “เกาะเสม็ด” ซึ่งมีหาดทรายบางอ่าวสวยมาก เม็ดทรายขาวละเอียดเหมือนน้ำตาลทรายจริงๆ และทำให้เกิด “รีสอร์ท” ขึ้นรอบเกาะ ทำให้ชาวเลมีงานทำมากขึ้น และรับเงินมากขึ้นด้วยสบายแฮ

ต่อจากหาด“บ้านเพ” ก็ถึงหาด“สวนสน”  มีต้นสนมากทั้งสองข้างทางทำให้บริเวณร่มรื่น และน้ำทะเลก็ใสสะอาด ถัดไปก็ถึง“วังแก้ว”สถานตากอากาศสวยงามและใหญ่โต ต่อไปก็เป็นรีสอร์ท “หินสวยน้ำใส”

ต่อไปเรื่อยก็ถึงหาด “แม่รำถึง” และ ”แหลมแม่พิม” ซึ่งมีอนุสาวรีย์ของท่าน “สุนทรภู่” ยอดกวีเอกของเราอยู่ในบริเวณสวนอันงดงาม


ถนนสุขุมวิทที่ผ่านตัวเมืองระยองในสมัยก่อน (เครดิตภาพ เทศบาลนครระยอง)
เดี๋ยวนี้ระยองเจริญขึ้นเพราะท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังและมาบตาพุด มีถนนระดับไฮเวย์ต้ดขึ้นใหม่หลายสาย ทำให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมต่างๆขึ้นมากมาย คนต่างถิ่นหลั่งไหลเข้าไปหางานทำ นิคมอุตสาหกรรมแถวนั้นบางแห่ง ผมเข้าไปแล้วนึกว่าตนเองกำลังอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเลยทีเดียว


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ย. 13, 07:19
สองรีสอร์ทที่จารย์ดมศรีกล่าวถึง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ย. 13, 08:00
ภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดระยอง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ย. 13, 08:26
รูปข้างล่างนี้คงถ่ายช่วงประมาณพ.ศ. 2506-2514    มองเห็นคำขวัญของจอมพลถนอม กิตติขจรอยู่ทางขวาของภาพ   คำขวัญนี้เข้ามาแทน งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่ถูกปลดป้ายไปแล้วเมื่อหมดยุคสมัยของท่าน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ย. 13, 09:00
" จงทำดี จงทำดี จงทำดี "นี้ เขาว่าท่านได้รับความบันดาลใจจากพยางค์ที่ท่านรำพึงรำพันบ่อยๆ อันเนื่องจากศรีภรรยาของท่านชื่อ"จงกล"ครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ย. 13, 09:12
 ;D


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 12 ก.ย. 13, 12:08
ถัดจากบางปิ้งไป ก็จะถึงคลองด่าน ในสมัย 2480-2499 การเดินทางระหว่างบางปะกง - กรุงเทพ ใช้เส้นทางสุขุมวิทสายเก่านี้ การเดินทางใช้เวลาสองสามวัน และรถโดยสารจะมาหยุดพักครึ่งทางที่คลองด่านนี้. ที่คลองด่านมีวัดบางเหี้ยตั้งอยู่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาสมานมัสการหลวงพ่อปาน ผู้สร้างเขี้ยวเสืออันโด่งดัง

เผลอหน่อยเดียวไปถึงระยองแล้ว ยังไม่ได้แวะพัทยา บางละมุง สัตหีบเลย

ที่คุณณลกล่าวว่าการเดินทางต้องใช้เวลาถึงสองวันและต้องแวะพักที่คลองด่านก่อนนั้น ผมเข้าใจว่าคงเป็นการเดินทางด้วยเรือไปตามคลองสำโรงเพื่อไปเมืองบางปะกงและเมืองแปดริ้ว เพื่อจะได้ไม่ต้องแล่นเรือออกไปทางปากน้ำเจ้าพระยา ลัดเลาะไปตามชายฝั่ง ซึ่งมีคลื่นลมแรง เป็นอันตรายกับเรือเล็ก

ถาวร สุวรรณ อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เพื่อนสนิทของ สนิท เอกชัย (เรือใบ) ชาวชลบุรี เขียนบันทึกไว้ในหนังสือ "ฝ่าทะเลน้ำหมึก" ไว้ดังนี้

โดยปกติแล้วผมมักจะเข้ากรุงเทพฯ (หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบ พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๘๙) อยู่ค่อนข้างบ่อยเฉพาะวันเสาร์หรือไม่ก็วันอาทิตย์ ออกจากชลบุรีตีสี่ (รถเมล์) เสียเวลารอแพขนานยนต์ที่ท่าข้ามบางปะกง แล้วจึงจะเดินทางต่อเข้าไปจอดที่สามแยก (คงจะหมายถึงแยกเฉลิมบุรีหรือแยกต้นประดู่-ลุงไก่) ผมจะไปดูละครเวทีที่เฉลิมนคร หรืออีกทีก็เฉลิมไทยรอบเที่ยง พอละครเลิกก็กลับมาขึ้นรถที่สามแยก ถึงบ้านก็ราวสองทุ่ม หรือบางทีก็ไปที่พิมพ์ไทย-สยามนิกร ซึ่งอยู่ที่ถนนสีลม ต้องเดินข้ามคลองด้วยสะพานไม้ ผมจะนั่งรถราง ...


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 12 ก.ย. 13, 12:15
ภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดระยอง

อาจารย์ NAVARAT C. แวะผ่านนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดก่อนเข้าเมืองระยอง ผมก็ต้องตามหลังไปแวะมั่ง กับอดีตหม้อข้าวที่เคยหล่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่รอดมาถึงทุกวันนี้

โรงงานระยองโอเลฟินส์ริมถนนสุขุมวิทที่ชุดของผมเข้าไปบุกเบิกตั้งแต่ยังเป็นทุ่งกว้างสลับเนินดิน มีแต่แสงแดดกับฝุ่นและโคลนยามเมื่อฝนตกลงมา ต้องนั่งหลบฝนกันตามท่อคอนกรีตมั่ง ตู้ยามมั่ง






กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ย. 13, 15:21
ยังอู้ๆอยู่แถวระยองก็พอได้ครับ
กลับไปในเมืองแวะดูถนนยมจินดากัน สมัยลุงไก่ไปบุกเบิกระยองกับสมัยนี้เห็นจะไม่ค่อยเปลี่ยนเท่าไหร่ ถ้าดูจากภาพนี้


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ย. 13, 15:39
เดี๋ยวนี้คนราย๊องเขาอนุรักษ์ไว้ดี น่าไปเดินเที่ยวฮิ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ย. 13, 15:42
ไม่รู้รูปของใครต่อใครฮิ ขอเอามาโชว์อย่าว่ากันนะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ย. 13, 15:43
สองรูปสุดท้ายแล้วฮิ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 12 ก.ย. 13, 17:57
ภาพถนนยมจินดาในเมืองระยอง บอกตามตรงผมไม่รู้จักเลย คงจะมาพัฒนาการหลังจากที่ผมจากระยองกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ แล้ว

ช่วงที่ทำงานอยู่ที่ระยอง ในวันหยุดถ้าไม่กลับบ้านที่กรุงเทพฯ ก็จะขับรถไปตามถนนเลียบชายทะเลไปเรื่อยๆ จากบ้านเพไปจนถึงหาดแม่พิมพ์ที่อำเภอแกลงระยอง

บางครั้งก็ต่อไปยังเขตจันทบุรี  แล้วก็กลับมาระยองทางถนนสุขุมวิท

ตามถนนเส้นที่ม่วงในภาพแผนที่ วิวทิวทัศน์สองข้างทางสวยดี



กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.ย. 13, 19:07
ถัดจากบางปิ้งไป ก็จะถึงคลองด่าน ในสมัย 2480-2499 การเดินทางระหว่างบางปะกง - กรุงเทพ ใช้เส้นทางสุขุมวิทสายเก่านี้ การเดินทางใช้เวลาสองสามวัน และรถโดยสารจะมาหยุดพักครึ่งทางที่คลองด่านนี้. ที่คลองด่านมีวัดบางเหี้ยตั้งอยู่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาสมานมัสการหลวงพ่อปาน ผู้สร้างเขี้ยวเสืออันโด่งดัง

เผลอหน่อยเดียวไปถึงระยองแล้ว ยังไม่ได้แวะพัทยา บางละมุง สัตหีบเลย

ที่คุณณลกล่าวว่าการเดินทางต้องใช้เวลาถึงสองวันและต้องแวะพักที่คลองด่านก่อนนั้น ผมเข้าใจว่าคงเป็นการเดินทางด้วยเรือไปตามคลองสำโรงเพื่อไปเมืองบางปะกงและเมืองแปดริ้ว เพื่อจะได้ไม่ต้องแล่นเรือออกไปทางปากน้ำเจ้าพระยา ลัดเลาะไปตามชายฝั่ง ซึ่งมีคลื่นลมแรง เป็นอันตรายกับเรือเล็ก

ถาวร สุวรรณ อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เพื่อนสนิทของ สนิท เอกชัย (เรือใบ) ชาวชลบุรี เขียนบันทึกไว้ในหนังสือ "ฝ่าทะเลน้ำหมึก" ไว้ดังนี้

โดยปกติแล้วผมมักจะเข้ากรุงเทพฯ (หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบ พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๘๙) อยู่ค่อนข้างบ่อยเฉพาะวันเสาร์หรือไม่ก็วันอาทิตย์ ออกจากชลบุรีตีสี่ (รถเมล์) เสียเวลารอแพขนานยนต์ที่ท่าข้ามบางปะกง แล้วจึงจะเดินทางต่อเข้าไปจอดที่สามแยก (คงจะหมายถึงแยกเฉลิมบุรีหรือแยกต้นประดู่-ลุงไก่) ผมจะไปดูละครเวทีที่เฉลิมนคร หรืออีกทีก็เฉลิมไทยรอบเที่ยง พอละครเลิกก็กลับมาขึ้นรถที่สามแยก ถึงบ้านก็ราวสองทุ่ม หรือบางทีก็ไปที่พิมพ์ไทย-สยามนิกร ซึ่งอยู่ที่ถนนสีลม ต้องเดินข้ามคลองด้วยสะพานไม้ ผมจะนั่งรถราง ...


ถามทางบ้านมาแล้วครับ คือเป็นแบบนี้

ประมาณปี พ.ศ. 249 กว่า ๆ ทางครอบครัวเห็นลู่ทางการเดินทางระหว่าง ท่าไข่ - กรุงเทพ มีการขนส่งไข่เป็ดจำนวนมาก โดยใช้เส้นทางสุขุมวิทสายเก่าผ่านบางปู ไปยังกรุงเทพได้ จึงได้ต่อรถบรรทุกหัวโต ด้านหลังให้คนนั่งได้ แล้วจ้างคนขับรถวิ่งระหว่าง บางปะกง ไปหัวลำโพง วิ่งวันละเที่ยว

ออกรถประมาณบ่ายโมง ถึงหัวลำโพงประมาณบ่ายสี่ บ่ายห้าโมงเป็นต้น โดยจะพักรถแวะทานข้าวกันที่คลองด่าน รถที่วิ่งรับส่งผู้โดยสารใช้ชื่อ "ศรีสอ้าน" ภายหลังย้ายท่ารถไปแถววัดดวงแข

หลังจากนั้นเมื่อมีการจัดระเบียบการเดินรถในเขตกรุงเทพ จึงไม่ได้วิ่งรถสายนี้ แต่กลับไปวิ่งรับผู้โดยสารระหว่าง แปดริ้ว-เมืองชล แทนครับ

โดยพ้นคลองด่านไป ก็จะเจอ "คลองผีขุด" และ "คลองสอง" และ "ท่าไข่"


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ย. 13, 19:56
และแล้ว ถนนสุขุมวิทที่คุณทวดเคยเห็นก็มาถึงท่อนสุดท้าย
   
ขับรถไปตามสุขุมวิทไปเรื่อยๆ ก็ถึง “จันทบุรี” เป็นจังหวัดที่มีผลไม้อร่อยๆ มากที่สุด ที่มีชื่อมากก็คือ ทุเรียน เงาะ สละ ระกำหวาน ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีพลอยสีสวยๆ อีกมากมาย สุขุมวิทก็ทำให้ “เมืองจันท์” เจริญขึ้นเรื่อยไป

ถ้าขับตะบึงต่อไปอีกก็ถึง “ตราด” มีที่พักตากอากาศดีๆหลายแห่ง และเป็นจุดสำคัญที่จะต่อไปยังกาะสวยๆ อีกหลายเกาะ เช่น “เกาะช้าง” “เกาะกระดาษ” “เกาะกรูด” “เกาะแรด” ฯลฯ ทุกๆ เกาะมีที่พักตากอากาศดีๆ ทั้งนั้น

สุขุมวิทก็ยังมีต่อไปจนถึง “หาดเล็ก” ซึ่งสุดชายแดนไทย-เขมร

และในเวลานั้นใครจะรู้ว่าเวลานี้ ถนนสุขุมวิทจะกว้างออกไปเป็นถนน 6 เลน มีรถลอยฟ้า รถใต้ดินอีก แต่รถก็ยังติดกันมากเหลือเกิน ทำให้เสียเงินค่าน้ำมันปีละหลายหมื่นล้านออกนอกประเทศ (จะแก้ไขอย่างไรดี ช่วยกันคิดด้วยครับ) ผืนนาที่เป็นทุ่งรวงทอง กระต๊อบชาวนาและควาย (เพื่อนแท้ของชาวนา) ก็หายไป กลายเป็นร้านค้า ที่ทำการสูง 30-40 ชั้น คอนโดฯ สูงๆ ก็เกลื่อนไปหมด ไม่น่าอยู่เหมือนเมื่อก่อนเลย และในเวลาต่อๆไปอีก “สุขุมวิท” ที่รักของเราจะเป็นอย่างไร ช่วยกันคิดช่วยกันแก้ไขกันหน่อยครับ

                        อุดมศรี บุรณศิริ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ย. 13, 20:27
ขอแวะที่สวนสน  บ้านเพ ตอนวีคเอนด์สักครั้งนะคะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ย. 13, 22:31
ย้อนกลับไปหาประวัติของถนนสุขุมวิท จากวิกิพีเดีย ซึ่งไม่รู้ว่าถูกต้องหรือผิดพลาดตรงไหนบ้าง  ถ้าผู้รู้พบข้อผิดพลาด กรุณาแก้ไขให้ด้วยนะคะ

ถนนสุขุมวิท มีวงเล็บว่า (Thanon Sukhumvit)   ไม่ยักเรียกว่า Sukhumvit Street   อาจเป็นเพราะมันยาวมาก บางส่วนก็น่าจะเรียกว่า Highway มากกว่า street
ในประวัติบอกว่า ระยะทางส่วนใหญ่เป็น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 สายกรุงเทพมหานคร-หาดเล็ก เป็นเส้นทางคมนาคมหลักเส้นหนึ่งของประเทศไทย เริ่มนับหลักกิโลเมตรที่ 0 จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง โดยได้เริ่มต้นเรียกชื่อถนนสุขุมวิทตั้งแต่กรุงเทพมหานครบริเวณเพลินจิตหลังจากข้ามทางรถไฟสายปากน้ำ ตัดผ่านเขตคลองเตย เขตพระโขนง และเขตบางนา ก่อนเข้าเขตจังหวัดสมุทรปราการ ผ่านเข้าสู่จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และไปสิ้นสุดที่จังหวัดตราด ปัจจุบันทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 318 (ช่วงตัวเมืองตราดถึงด่านพรมแดนบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่) ได้ถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 ทำให้ถนนสุขุมวิทมีระยะทางเพิ่มขึ้นอีก 89 กิโลเมตร



กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ย. 13, 22:34
ถนนสายนี้แต่ก่อนมีชื่อว่า "ถนนกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ" เพราะปลายถนนนี้ไปถึงตัวเมืองสมุทรปราการ เปิดใช้งานเมื่อ 8 กันยายน พ.ศ. 2479 ต่อมาถนนสายนี้ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น "ถนนสุขุมวิท" ตามราชทินนามของพระพิศาลสุขุมวิท (ประสพ สุขุม) บุตรเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และท่านผู้หญิงตลับ พระพิศาลสุขุมวิทเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวงคนที่ 5 และเป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา พระพิศาลสุขุมวิทได้ทุ่มเทในการก่อสร้างทางหลวงสำคัญของประเทศเป็นอย่างยิ่ง คณะรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามจึงได้มีมติให้ตั้งชื่อทางหลวงสายกรุงเทพฯ-ตราด ว่า ถนนสุขุมวิท เพื่อเป็นเกียรติแก่พระพิศาลสุขุมวิท เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2493

ถนนสุขุมวิทช่วงต้น ๆ สายที่ผ่านกรุงเทพมหานคร ถือเป็นเขตธุรกิจสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ตามซอยต่าง ๆ ตลอดแนวถนนสุขุมวิทในช่วงนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งบันเทิงใหญ่ของเมืองอีกด้วย และที่สำคัญถนนสุขุมวิทยังมีแนวระบบขนส่งมวลชนตามแผนแม่บท ซึ่งก็คือรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิทด้วย โดยวิ่งเหนือถนนสุขุมวิทตั้งแต่สถานีเพลินจิตถึงสถานีแบริ่งหรือสุดเขตกรุงเทพมหานคร และในปัจจุบันได้มีการสร้างส่วนต่อขยายระยะที่ 2 ระหว่างแบริ่ง - สมุทรปราการ โดยส่วนต่อขยายดังกล่าวจะยกระดับถนนสุขุมวิทตลอดเส้นทาง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี พ.ศ. 2559


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ย. 13, 07:39
อ้างถึง
ปัจจุบันทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 318 (ช่วงตัวเมืองตราดถึงด่านพรมแดนบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด) ได้ถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 ทำให้ถนนสุขุมวิทมีระยะทางเพิ่มขึ้นอีก 89 กิโลเมตร


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ย. 13, 07:41
ชายแดนระหว่างประเทศไทยกับเขมรครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ก.ย. 13, 08:44
จากประกาศคำแก้ไขชื่อถนนสุขุมวิทนี้ แสดงให้เห็นว่า ในการประกาศครั้งแรกนั้นใช้ชื่อ "ถนนสุขุวิทย์" มี ย การันต์ ซึ่งต่อมาพบว่าเป็นความผิดพลาดในราชทินนามจึงมีการประกาศแก้ไขใหม่ โดยเริ่มประกาศ พ.ศ. ๒๔๙๓ และมีการแก้ไขใน พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นเวลา ๑๐ ปี


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ก.ย. 13, 09:19
แนวถนนสุขุมวิท บนแผ่นป้ายปูน พ.ศ. ๒๔๙๓


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: Rattananuch ที่ 13 ก.ย. 13, 10:48
อ้างถึง
ย้อนกลับมาที่บางแสน   เขาบอกว่าเป็น "บางแสนบีช รีสอร์ท" อยู่ตรงไหนกันนี่
อยู่บริเวณกลางหาดเลยครับ เดิมชื่อโรงแรมบางแสนเฉยๆ รัฐบาลลงทุนให้อ.ส.ท.(องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)เป็นผู้บริหาร ก่อนจะเจ้งไปตามระเบียบ แล้วให้เอกชนสัมปทานไปดำเนินการต่อจนในปัจจุบัน

ส่วนบังกะโลเป็นของเทศบาล เมื่อก่อนอยู่กระจัดกระจายรอบๆโรงแรม เต็มพื้นที่สี่เหลี่ยมระหว่างถนนนั่นแหละครับ ดูในกูเกิลเอิร์ธคงรื้อทิ้งไปเยอะ ที่เหลือๆอยู่สภาพก็ดังที่เห็น

น่าจะเป็น รร.บางแสน เฮอริเทจ ที่กำลังปรับปรุงอยู่ตอนนี้นะคะ อยู่กลางหาดบางแสนพอดี เมื่อปีก่อนเดินผ่านเวลาออกกำลังกายตอนเช้า เห็นปิดร้างอยู่ มองเข้าไปเห็นอาคารแบบในรูปแต่ดูใหม่กว่า ยังคิดเลยว่าน่าเสียดาย ทำไมปล่อยทิ้งร้างไว้ ปรับปรุงใหม่มาได้ หลายเดือนแล้วล่ะค่ะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ย. 13, 10:52
ครับน่าจะใช่ ประวัติโชกโชนทีเดียวตึกนี้

นี่คุณRattananuchสมัครเป็นสมาชิกเข้ามาเพื่อpostข้อความนี้เลยหรือครับ ตื่นเต้นๆ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: Rattananuch ที่ 13 ก.ย. 13, 11:10
มิได้ค่ะ เป็นสมาชิกนานแล้ว เคยเข้ามาแสดงความเห็นหลายครั้ง แต่คราวนี้ไม่รู้ทำไมถึงขึ้นเป็นตอบครั้งที่ 1


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ย. 13, 11:29
อ้าว

โรงแรมนี้ผมคุ้นเคย สมัยอยู่มัธยมปลาย ปิดเทอมกลางไปพักบ้านเพื่อนที่บางแสนสามสี่คนกันเป็นอาทิตย์ วันหนึ่งไปนั่งทานอาหารเจอรุ่นพี่คนนึงโดยบังเอิญ ชื่อพี่เชาว์ เป็นหัวหน้าโรงเรียนตอนเราเด็กๆ ทุกคนจำได้ และจำแม่นว่าพี่เค้าขี่มอเตอร์ไซด์ไปคว่ำต้องรักษาตัวอยู่นาน กลับมาเรียนอีกทีแผลเป็นเบ่อเริ่ม หัวโกร๋นผมเผ้าก็ไม่มี เล่ากันว่าหนังศีรษะของพี่เค้าถลกตั้งแต่ท้ายทอย ตลบขึ้นไปหมวกแบร์เรต์ครอบหัวกบาลอยู่ แต่หมอเก่ง รั้งชีวิตพี่เค้าไว้ได้

เราก็ลุกขึ้นไปไหว้ พอพี่เค้ารู้ว่าเป็นรุ่นน้องก็ดีใจมาก เมื่อมานั่งคุยกันเราจึงเห็นว่าพี่เค้าคืนมาไม่ครบร้อยเท่าไหร่ นอกจากความหล่อจะหายไปสิ้นแล้ว พูดจายังถามอย่างตอบไปอย่าง ยิ่งกว่าไปไหนมาสามวาสองศอกอีก คุยอะไรก็วกวนซ้ำซาก แต่เค้ารู้ตัวนะ บอกว่าพี่ได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง มันวิ้งๆตลอด พอทานเสร็จก็ควักเงินจ่าย บอกว่าพี่ขอเลี้ยงน้องๆนะ แล้วชวนเราไปเที่ยวที่ทำงานของพี่เค้าก่อน ที่นั่นเลยละ โรงแรมบางแสนอันหรูเริ่ด ออกมาเห็นรถจิ๊ปตราโรงแรมก็เอาวะเป็นไงเป็นกัน นั่งรถพี่เขาไปเที่ยวโรงแรมที่เงินในกระเป๋าพวกเราไม่อำนวยให้เข้าไปได้ ก็โอเคทุกอย่างดีครับ พี่เค้าบอกว่ามีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการอะไรทำนองนี้
 
ที่เล่าให้ฟังไม่มีอะไร แต่ฉายภาพว่าทำไมโรงแรมมันถึงเจ้งไง รุ่นพี่ผมคนนี้แสดงว่ามีเส้นใหญ่มั่กๆ สามารถได้รับการบรรจุให้ทำงานในตำแหน่งใหญ่โต ทั้งๆที่มีสภาพร่างกายดังที่เห็น ก็อย่างนี้แหละระบบราชการสมัยนั้น


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 13 ก.ย. 13, 12:13
แวะบางแสนแล้ว อย่าลืมแวะสถานีรับสัญญาณดาวเทียมแห่งแรกของไทยที่ศรีราชาด้วยล่ะครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 13 ก.ย. 13, 12:26
ย้อนกลับไปหาประวัติของถนนสุขุมวิท จากวิกิพีเดีย ซึ่งไม่รู้ว่าถูกต้องหรือผิดพลาดตรงไหนบ้าง  ถ้าผู้รู้พบข้อผิดพลาด กรุณาแก้ไขให้ด้วยนะคะ

ถนนสุขุมวิท มีวงเล็บว่า (Thanon Sukhumvit)   ไม่ยักเรียกว่า Sukhumvit Street   อาจเป็นเพราะมันยาวมาก บางส่วนก็น่าจะเรียกว่า Highway มากกว่า street
ในประวัติบอกว่า ระยะทางส่วนใหญ่เป็น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 สายกรุงเทพมหานคร-หาดเล็ก เป็นเส้นทางคมนาคมหลักเส้นหนึ่งของประเทศไทย เริ่มนับหลักกิโลเมตรที่ 0 จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง โดยได้เริ่มต้นเรียกชื่อถนนสุขุมวิทตั้งแต่กรุงเทพมหานครบริเวณเพลินจิตหลังจากข้ามทางรถไฟสายปากน้ำ ตัดผ่านเขตคลองเตย เขตพระโขนง และเขตบางนา ก่อนเข้าเขตจังหวัดสมุทรปราการ ผ่านเข้าสู่จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และไปสิ้นสุดที่จังหวัดตราด ปัจจุบันทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 318 (ช่วงตัวเมืองตราดถึงด่านพรมแดนบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่) ได้ถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 ทำให้ถนนสุขุมวิทมีระยะทางเพิ่มขึ้นอีก 89 กิโลเมตร



ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องกิโลเมตรที่ 0 ของทางหลวงแผ่นดินหลัก

http://rightsara.com/2012/09/KorMor0.html

และขอแก้ไขข้อมูลในเวปที่นำมาแปะ ในหัวข้อสรุปที่ว่า "หลักกิโลเมตรที่ 0 ของถนนเพชรเกษม อยู่ที่วงเวียนใหญ่ ใช้งานจริงเป็นจุดเริ่มต้นบอกระยะเส้นทางภาคใต้" ที่ถูกต้องคือ หลักกิโลเมตรที่ 0 ของถนนเพชรเกษมจะอยู่ที่เชิงสะพานเนาวจำเนียรที่ทอดข้ามคลองบางกอกน้อย

เพราะถนนช่วงระหว่างวงเวียนใหญ่ถึงสะพานเนาวจำเนียร ใกล้ๆ สามแยกบางยี่เรือ คือ ถนนอินทรพิทักษ์


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ก.ย. 13, 14:09
ถนนจากสัตหีบ ไปยังจันทบุรี ช่วง พ.ศ. ๒๔๙๑ หามาฝากครับ
เครดิดภาพ Wisconsin


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 13 ก.ย. 13, 20:40
จากคห.293 ผู้อาวุโสในภาพนอกจากอาจารย์อุดมศรีแล้ว ท่านคือใครกันบ้างครับ เรียนถามอาจารย์ NAVARAT.C ครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ก.ย. 13, 20:49
แวะบางปู อีกนิดหนึ่ง เมื่อวันเสาร์ที่แล้วมีโอกาสได้ไปแวะบางปูอีกครั้งหนึ่ง พบว่าถนนสุขุมวิทเส้นนี้มีการก่อสร้าง BTS กำลังวางตอม่อทำเสาเข็มอยู่กลางถนน ดังนั้นอีกไม่นานความเจริญก็ทำให้แถวนี้เจริญยิ่ง ๆ ไปอีก

เข้ามาที่บางปูสะพานสุขตา ก็ไม่ให้รถยนต์เข้าไปได้แล้ว จะมีที่จอดรถให้บริการเป็นลานกว้างแล้วพากันเดินไปที่ศาลาริมทะเล หรือ จะนั่งรถกอล์ฟติดน้ำมัน หรือ สามล้อเล็กให้บริการถึงศาลาได้ครับ

ศาลาก็ยังเป็นเหมือนเดิมคือให้บริการขายอาหารทะเล และมีการจัดบอร์ดการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาที่นี้ด้วย

ศาลาที่ยื่นออกไปนั้น ในภาพเก่า พ.ศ. ๒๔๙๓ ของวิลเลียมฮันท์ เห็นว่า มีการสร้างไม้ลื่นให้เล่นน้ำด้วย เก๋ไม่น้อยทีเดียว


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ย. 13, 20:55
อ้างถึง
จากคห.293 ผู้อาวุโสในภาพนอกจากอาจารย์อุดมศรีแล้ว ท่านคือใครกันบ้างครับ เรียนถามอาจารย์ NAVARAT.C ครับ

ผมไม่รู้จักท่านเลยครับ หรือเคยรู้จักแต่จำไม่ได้จริงๆ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ย. 13, 21:01
อ้างถึง
มีการสร้างไม้ลื่นให้เล่นน้ำด้วย เก๋ไม่น้อยทีเดียว
ไม่ทราบใครจะไปเล่น ที่นั่นน้ำลงเห็นเลน น้ำขึ้นก็เป็นน้ำโคลน คุณไปเที่ยวมาสังเกตุเห็นอย่างนั้นมั้ย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ย. 13, 21:08
จำได้แต่ว่าพื้นข้างล่างเป็นโคลน เห็นทะเลอยู่ไกลลิบๆ   แต่ในรูปนี้ทำไม้ลื่นเหมือนกับว่าข้างล่างเป็นน้ำทะเลใสเหมือนบางแสน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ก.ย. 13, 21:28
 ??? ใช่แล้ว พื้นล่างเป็นโคลน แต่ในภาพนอกจากซ้ายและขวา ตรงกลางมีสปริงบอร์ดอีกสามตัว ให้บริการด้วย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ย. 13, 21:35
แล้วพื้นทะเลในภาพถ่ายนี้ล่ะคะ   มองไม่ชัด   คุณหนุ่มสยามคิดว่าเป็นน้ำทะเลใสๆ เหนือพื้นโคลน เวลาน้ำขึ้นก็ลึกพอจะว่ายน้ำได้    หรือว่าก็ยังเป็นทะเลโคลนอยู่ดีน่ะแหละ
สร้างไม้ลื่น สปริงบอร์ดกันขนาดนี้   กะให้ว่ายน้ำกันแน่เลย     ถ้าน้ำข้างล่างว่ายไม่ได้ ไม่มีใครกล้าโดดเพราะมีแต่จะดิ่งลงไปในโคลน  ก็น่าเสียดายงบประมาณก่อสร้าง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ย. 13, 21:40
สงสัยจะเอาไว้ให้หนุ่มสาวจำพวกนี้ไว้เปลี่ยนบรรยากาศ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ก.ย. 13, 21:48
อีกหนึ่งเรื่องที่ต้องบันทึกไว้

ประมาณยี่สิบปีก่อน ชาวตราดได้ช่วยกันคัดค้านการขยายถนนสุขุมวิทด้วยการตัดโค่นต้นยางเก่าแก่ริมถนน ณ บ้านวันยาว จนในที่สุดกรมทางหลวงแผ่นดินต้องยอมแก้แบบ เปลี่ยนแนวถนนใหม่อ้อมป่ายางดังกล่าว ถนนสุขุมวิทตรงบริเวณนั้นจึงมีทั้งถนนสุขุมวิทและสุขุมวิทเก่า


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ย. 13, 21:49
สงสัยจะเอาไว้ให้หนุ่มสาวจำพวกนี้ไว้เปลี่ยนบรรยากาศ

^
แนวถนัดของกูรูเพ็ญทีเดียว   เข้ามาอ่านประจำแต่ยังไม่มีจังหวะจะร่วมวงไม่ใช่หรือคะ
กรุณาแนะนำหนุ่มสาวไฮโซของบางปู ข้างใต้ศาลาสุขใจหน่อยได้ไหม


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ก.ย. 13, 21:52
แล้วพื้นทะเลในภาพถ่ายนี้ล่ะคะ   มองไม่ชัด   คุณหนุ่มสยามคิดว่าเป็นน้ำทะเลใสๆ เหนือพื้นโคลน เวลาน้ำขึ้นก็ลึกพอจะว่ายน้ำได้    หรือว่าก็ยังเป็นทะเลโคลนอยู่ดีน่ะแหละ
สร้างไม้ลื่น สปริงบอร์ดกันขนาดนี้   กะให้ว่ายน้ำกันแน่เลย     ถ้าน้ำข้างล่างว่ายไม่ได้ ไม่มีใครกล้าโดดเพราะมีแต่จะดิ่งลงไปในโคลน  ก็น่าเสียดายงบประมาณก่อสร้าง
ถ้าเขาทำเขื่อนคอนกรีต ขุดเลนออกไปเฉพาะในเวิ้งนี้ คงพอจะโดดสปริงบอร์ดได้ หน้าไม่ทิ่มโคลน แย่งปลาตีนอีก 555


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ก.ย. 13, 09:10
ช่วงน้ำขึ้น น้ำลง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ก.ย. 13, 09:21
เอายังงี้ม๊ะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 14 ก.ย. 13, 11:06
อ้างถึง
จากคห.293 ผู้อาวุโสในภาพนอกจากอาจารย์อุดมศรีแล้ว ท่านคือใครกันบ้างครับ เรียนถามอาจารย์ NAVARAT.C ครับ

ผมไม่รู้จักท่านเลยครับ หรือเคยรู้จักแต่จำไม่ได้จริงๆ
ขอบคุณครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ก.ย. 13, 19:50
อ้างถึง
siamese
ภาพนี้จากเนต บอกว่าเป็นถนนสุขุมวิท ดูแล้วก็คงสัก ๔๐-๔๕ ปีก่อนได้ ยังจำได้ว่าลูกกรงปลูกต้นไม้ของ กทม. เป็นโครงเหล็ก เก่า ๆ หน่อยก็โยกเล่นได้ ถนนนั้นมีขอบปูนแบ่งถนน จัดระบบการรถแบบ Two way คือสวนกันไปมาได้ ภายหลังเขาจัดระบบใหม่แบบ One Way จนถึงทุกวันนี้

ลุงไก่
ไม่ใช่ถนนสุขุมวิทอย่างแน่นอนครับ แต่จะเป็นถนนอะไรนั้น ผมเดาว่าเป็นถนนสุรวงศ์ช่วงแถว ๆ พัฒน์พงศ์

เทาชมพู
ถนนเส้นนี้แคบเกินกว่าจะเป็นสุขุมวิทนะคะ
ลองไปเสิชชื่อ "ทอมมี่เยมส์ "ที่เห็นในป้าย     ได้คำตอบว่าตั้งอยู่แขวงคลองเตย เขตพระโขนง
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทอมมี่เยมส์
ทำการส่งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายภายในประเทศ ได้แก่ เพชร พลอย นิล จินดา ไข่มุก ทุกชนิด
ที่อยู่ 132-134 สุขุมวิท แขวงคลองเตย เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร 10110

NAVARAT.C ผมยอมแพ้ครับ ตอนแรกนึกว่าเป็นตึกที่อยู่ปากซอย๓ สุขุมวิท

siamese
ข้อสันนิฐานถูกแล้วครับ อยู่เลยซอยนานาใต้ นิดเดียว ปัจจุบันก็อยู่ตรงก่อนถึงโรงแรมแลนด์มาร์ค ครับ เทียบภาพปัจจุบันให้ดู

เทาชมพู
ดิฉันรู้สึกว่าถนนในภาพทั้งสองมันใหญ่เล็กไม่เท่ากันอยู่นั่นเองละค่ะ   ถนนปริศนาดูเล็กกว่านะคะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ก.ย. 13, 19:56
^
เจอคำเฉลยแล้วครับ จากเวปย้อนอดีต..วันวาน คุณWizลงภาพข้างบนไว้พร้อมบรรยายว่า

สุขุมวิทปี 2517 แถวร้านทอมมี่เยมส์ที่ดังเรื่องเครื่องทองเหลืองและ ตาการะ อาบอบนวด  
 
และมีคุณPok Gs เขียนข้อมูลเพิ่มอีกว่า

ทอมมี่ เยมส์ ร้านอาโกวผม ถัดไปอีกหน่อย ร้านทอมสัน เสริมสวย สุปรีดา แล้วก็ร้านแม่ผม ถัดไปมี สุกี้แสนอร่อย นัมเบอร์วัน ด้านหลังอาคาร อาบอบนวดหาดพัทยา เจ้าของอ่างสมัยนั้นขับเฟอรารี่เฟี้ยวน่าดู กลางคืนมีบาร์รำวงภูกระดึง มีภัตตาคารมังกรทอง อาหารจีนอร่อยโครต
ฝั่งตรงข้ามคืออาคารนายเลิศ ถัดไป ตึกที่มีป้ายโฆษณาโค้ก ตึกสรรพากรเก่า(ปัจจุบันย้ายไปสุขุมวิท11) ตึกนี้ตอนนี้เป็นร้านภูฟ้า

ตอนเย็นเลิกเรียน เดินจากสุขุมวิท 8 รร.วรรณวิทย์ มานั่งเล่นน้ำพุหน้าสหกลการมีความสุขจริงเลย ปัจจุบันกลายเป็นตึกระฟ้านามว่าแปซิฟิกแล้ว

ร้านแม่ผมกลายเป็นโรงแรมแลนด์มาร์ค เราก็ย้ายไปฝั่งตรงข้าม อาคารพาณิชย์ซื้อขาดไม่ต้องเซ้งรอวันย้าย แต่น่าเบื่อที่สุดคือทางเท้าที่ถูกยึดเป็นแผงขายของกลางคืน รถเข็นขายเหล้าเบียร์ เดินไปส่งลูกไปโรงเรียนเหม็นเยี่ยวสุดๆ อนาจแท้



กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ย. 13, 21:03
สุขุมวิทจริงๆด้วย   ดูไม่เป็นสุขุมวิทเลยเชียว


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ก.ย. 13, 21:22
อ้างถึง
ผมยอมแพ้ครับ ตอนแรกนึกว่าเป็นตึกที่อยู่ปากซอย๓ สุขุมวิท
ผมเห็นว่าผนังเล็กๆ(parapet wall)บนหลังคาโค้งมันหายไป จึงนึกว่าคนละตึกกัน ที่แท้คือตึกนายเลิดจริงๆด้วย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ย. 13, 21:51
กำลังทบทวนบนถนนสุขุมวิท   โรงเรียนแรกคือโรงเรียนวรรณวิทย์

http://www.youtube.com/watch?v=Wn8cX3HUOkI


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ย. 13, 22:05
อีกโรงเรียนหนึ่งที่รู้จักเพราะเคยเข้าไปเที่ยวเวลาโรงเรียนมีงาน   เพื่อนไปเรียนอยู่ที่นั่น คือโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย    เป็นโรงเรียนประจำหญิงล้วน     อยู่ที่สุขุมวิทซอย 19  ค่ะ
เปิดสมุดความทรงจำอันยาวนานพบว่าจำอะไรไม่ได้มาก นอกจากว่าใครไปเรียนที่นั่นต้องอยู่ประจำ   ไม่ได้ไปกลับบ้านทุกวันอย่างโรงเรียนอื่นๆ    อีกอย่างที่แปลกก็คือนักเรียนที่นี่เขานุ่งกระโปรงแดง  ไม่ได้นุ่งสีน้ำเงินอย่างนักเรียนทั่วไป     แต่เราไม่ค่อยได้เห็นนักเพราะพวกเธอไม่ได้ออกมาข้างนอก   


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ก.ย. 13, 05:25
อ้างถึง
ช่วงกลางๆ มีบ้านแก้วเรือนขวัญของคุณวัฒนา อัศวเหม
นี่ก็จำได้ บ้านแก้วเรือนขวัญ อาหารอร่อยสุดยอด เพิ่งจะทราบชื่อเจ้าของนี่แหละครับ
บ้านแก้วเรือนขวัญ ตั้งทีหลัง บ้านไร่ปลายนา ที่เพชรบุรีตัดใหม่ และอยู่ยงคงกระพันกว่า
ในภาพจะเห็นป้ายภัตตาคารบ้านแก้วเรือนขวัญเสี้ยวหนึ่ง อยู่ด้านขวามือพอเดาได้ ฝั่งตรงข้ามเป็นอาบอบนวดเทอเม่ สร้างช่วงสงครามเวียตนาม อยู่บริเวณปากซอยไชยยศ ถ้ดไปเห็นป้ายโรงแรมชวลิต  


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ก.ย. 13, 05:35
ย้อนกลับไปต้นถนนนิดนึง

ปากซอยนานาเหนือ ถ่ายจากปากซอยนานาใต้ คนละยุคกัน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ก.ย. 13, 05:51
มองจากฝั่งนานาใต้ไปตามถนน มีอาบอบนวดชื่อดังฝรั่งถ่ายภาพไว้ เลยไปเห็นตัวโรงแรมชวลิตและป้ายใหญ่ของโรงแรมแมนฮัตตันที่ตั้งอยู่ในซอยถัดไป นี่ก็สร้างรับทหารอเมริกันเหมือนกัน
ที่ว่างก่อนถึงโรงแรมชวลิตคงเป็นของธนาคารกสิกรไทยแล้ว ต่อมาได้สร้างตึกของธนาคารขึ้น ชั้นบนๆเป็นที่ทำการของบริษัทหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 15 ก.ย. 13, 09:16
ไปถึงจังหวัดตราดสุดถนนสุขุมวิท ทางตันแล้ว .. กลับมาเริ่มต้นใหม่

ถนนสุขุวิทหน้าพิพิธภัณฑ์ช้างสามเศียร สมุทรปราการ สมัยที่ยังไม่ได้ก่อสร้างทางยกระดับถนนกาญจนาภิเษก
ที่วงกลมไว้ในภาพ คือจุดบรรจบของถนนทางรถไฟสายเก่าหรือทางรถไฟสายปากน้ำที่มาบรรจบกับถนนสุขุมวิท และขนานกันไปจนถึงเมืองสมุทรปราการ จะเห็นว่าถนนจะโค้งออกทางซ้าย
โค้งนี้หละครับที่เรียกว่า "โค้งเกริก" จนทุกวันนี้ สถิติคนข้ามถนนถูกรถชนตายมั่ง ไม่ตายมั่ง ไม่น้อยหน้าโค้งบางปิ้งกับโค้งโพธิ์


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 ก.ย. 13, 10:43
ถามลุงไก่ว่า "ซอสพริกศรีราชา" สำหรับไข่เจียว สำหรับฮ้อยจ้อ หรือ ออส่วน มีอะไรเกี่ยวข้องกับอำเภอศรีราชาไหม ลุงไก่


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 15 ก.ย. 13, 13:57
ถามลุงไก่ว่า "ซอสพริกศรีราชา" สำหรับไข่เจียว สำหรับฮ้อยจ้อ หรือ ออส่วน มีอะไรเกี่ยวข้องกับอำเภอศรีราชาไหม ลุงไก่

ซอสพริกศรีาชาก็มีต้นกำเนิดจากที่ศรีราชาสิครับ เหมือนข้าวหลามหนองมนนั่นแหละ มีถิ่นกำเนิดที่ตลาดหนองมน

ถนนสุขุมวิทบริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์ช้างสามเศียร สมุทรปราการ ระหว่างการก่อสร้างทางยกระดับถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 15 ก.ย. 13, 16:14
ไปถึงจังหวัดตราดสุดถนนสุขุมวิท ทางตันแล้ว .. กลับมาเริ่มต้นใหม่

ถนนสุขุวิทหน้าพิพิธภัณฑ์ช้างสามเศียร สมุทรปราการ สมัยที่ยังไม่ได้ก่อสร้างทางยกระดับถนนกาญจนาภิเษก
ที่วงกลมไว้ในภาพ คือจุดบรรจบของถนนทางรถไฟสายเก่าหรือทางรถไฟสายปากน้ำที่มาบรรจบกับถนนสุขุมวิท และขนานกันไปจนถึงเมืองสมุทรปราการ จะเห็นว่าถนนจะโค้งออกทางซ้าย
โค้งนี้หละครับที่เรียกว่า "โค้งเกริก" จนทุกวันนี้ สถิติคนข้ามถนนถูกรถชนตายมั่ง ไม่ตายมั่ง ไม่น้อยหน้าโค้งบางปิ้งกับโค้งโพธิ์

ชื่อโค้งเกริก เพราะอาจารย์เกริก มังคละพฤกษ์มาตั้งวิทยาลัยเกริกที่นี่ บรรยากาศของวิทยาลัยกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมที่เคยเป็นสวนแและลำคลองดีมาก มีบริเวณอยู่ตรงริมหัวโค้งพอดี ทำให้นักเรียนเสี่ยงอันตรายตอนข้ามถนน จึงมีการสร้างสะพานลอยให้นักเรียนเดินข้าม ต่อมาถูกรื็้้้้้้้อไปตอนสร้างแยกต่างระดับสุขุมวิท
แต่เดิมคนรุ่นเก่าเรียกโ้ค้งนี้ว่า โค้งจระเข้ เขาว่ามีศาลหัวจระเข้อยู่แถวนี้ และมีสถานีจระเข้ของรถไฟปากน้ำ
ป.ล. เรียนคุณลุงไก่ว่าไม่ทราบเลยครับเจ้าของหินสวยน้ำใสเรียนสถ.ลาดกระบังรุ่นไหน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 15 ก.ย. 13, 16:37
ที่จุดตัดถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้ตัดถนนสุขุมวิท มีโรงงานประกอบรถยนต์ยี่ห้อดัง 2 โรงตั้งเยื้องเป็นแนวทะแยงผ่านจุดตัด  หนึ่งคือโตโยต้าอยู่แนวตต/น อีกหนึ่งคือเบ๊นซ ของเสี่ยเล็กธนบุรีพานิชย์แนวตอ/ต ทั้งสองเจ้าถูกเฉือนที่แถวขอบๆเพื่อทำ Off ramp ทั้งคู่


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ย. 13, 16:40
มาช่วยคุณลุงไก่ยกมือตอบอาจารย์หนุ่มสยาม  เรื่องประวัติซอสศรีราชา  เล่าโดยลูกหลานในตระกูลเจ้าของ

แต่เริ่มเดิมทีเขาเรียกว่า น้ำพริกศรีราชา เป็นน้ำจิ้มอาหารต่าง ๆ รวมทั้งเอาไว้ใส่ในก๋วยเตี๋ยวผัด อย่างราดหน้า ผัดซีอิ๊ว

คนแรกที่ได้คิดทำน้ำพริกนี้ขึ้นมาชื่อ กิมซัว ทิมกระจ่าง เป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่ตั้งรกรากอยู่ในศรีราชา ญาติเราที่ศักดิ์เป็นป้าเรียกว่า ก๋งกิมซัว แต่ตามลำดับแล้ว เขาเป็นเหล่าก๋งของป้า เพราะเป็น ก๋งของย่าเรา

นายกิมซัวมีอาชีพค้าขาย ออกเดินเรือค้าขายอยู่ในภาคตะวันออก ตอนหนุ่ม ๆ เคยเดินทางไปค้าขายยังเขมร และได้เข้าไปทำการค้าในวังของเจ้าเขมรด้วย เห็นว่าเคยได้หม่อมในวังเจ้าเขมรองค์หนึ่งด้วย (ท่ีบ้านเขานินทาบรรพบุรุษกันอย่างนี้เลย)

สมัยนั้นทั้งเขมรและเวียดนามตกภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ในกัมพูชาจึงมีคนเวียดนามที่คนฝรั่งเศสอพยพมาอยู่เยอะ นายกิมซัวไปเห็นคนญวนเอาพริกหมักน้ำส้มสายชูมาบดละเอียดแล้วกลายเป็นน้ำพริกที่เนื้อเนียนเข้ากันดี เห็นแล้วติดใจเลยไปดูคนเวียดนามเขาทำน้ำพริกชนิดนี้ ตอนกลับมาศรีราชาก็นำกรรมวิธีการทำน้ำพริกมาดัดแปลงให้ถูกปากคนในครอบครัวที่เมืองไทย กลายเป็นอาหารประจำบ้านไป

นอกจากนี้ยังได้ดัดแปลงอาหารญวนที่น้ำเอาแผ่นแป้งก๋วยเตี๋ยวมาห่อผักชนิดต่าง ๆ แล้วมีน้ำจิ้มเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ ราด กลายมาเป็น ก๋วยเตี๋ยวบก อาหารประจำครอบครัว ที่ต่อมามีคนเอามาดัดแปลงแก้ไข ไปในรูปแบบต่าง ๆ

แต่เนื่องจากศรีราชาเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ คนไปมาหาสู่กันบ่อย ๆ คนส่วนใหญ่ก็จะติดใจกับน้ำพริกสูตรนายกิมซัว ทำให้มีคนมาขอไว้เพื่อเอาไปกินที่บ้าน หลังจากนั้นต่อมา ลูก ๆ หลาน ๆ ก็เห็นว่าน่าจะทำเป็นธุรกิจได้ จึงตั้งหลักทำน้ำพริกกันในเขตบริเวณบ้าน เริ่มมีการหมักน้ำพริกปริมาณมาก ๆ ในโอ่ง จากอาหารประจำบ้าน จึงกลายเป็นธุรกิจในครัวเรือน

ต่อมาก็เห็นลู่ทางการค้าขึ้นในบรรดาลูกหลาน ก็จะแบ่งเป็นสองสาย สายหนึ่งทำขายในชื่อว่า น้ำพริกศรีราชา ตราภูเขาทอง เพื่อเป็นเกียรติกับบรรพบุรุษคือ ก๋งกิมซัว (กิมซัว ภาษาจีนแต้จิ๋วแปลว่า ภูเขาสีทอง) และใช้ฉลากเป็นรูปภูเขาทองวัดสระเกศ ในสมัยก่อนยังไม่มีกฎหมายจดทะเบียนการค้า ทำให้เอาโบราณสถานมาเป็นตราการค้าได้ ส่วนอีกสายหนึ่ง มีญาติเราชื่อ ย่าถนอม ทิมกระจ่าง (ต้องไปสืบก่อนว่าญาติฝ่ายไหน) เอาไปทำเป็นการค้าภายใต้ชื่อ ศรีราชาพานิช

ขวดแบบใหม่ เดี๋ยวนี้หาซื้อขวดแบบเก่าที่เป็นทรงเหล้ากลมไม่ได้แล้ว

สำหรับซอสศรีราชาตราภูเขาทองนั้น ในยุคแรกที่วางขายนั้น จะบรรจุอยู่ในขวดขนาดเท่าเหล้าขวดกลม มีความเผ็ดสามระดับ และมีภาษาจีนกำกับ ต่อมา ก็ได้เริ่มเอาไปวางขายที่อเมริกา เริ่มแรกที่ซาน ฟรานซิสโกก่อน จนติดตลาดในร้านของชำและซุเปอร์มาร์เก็ตเอเชียในแคลิฟอร์เนีย จนกระทั่งมีบริษัทผลิตเครื่องปรุงเอเชียของอเมริกาได้พยายามผลิตซ้อสศรีราชาเพื่อแข่งกับสินค้านำเข้า จนปัจจุบันซ้อสยี่ห้อนั้นติดตลาด ในชื่อของ Sriracha Hot Sauce ที่มีตราไก่เป็นสัญลักษณ์

ส่วนซอสศรีราชาพานิช ถูกซื้อกิจการโดยบริษัทไทยเทพรส ซึ่งมีผลิตภัณฑ์เดิมคือซีอิ๊วกับซอสปรุงรสยี่ห้อภูเขาทองอยู่แล้ว แต่ชื่อก็ยังเรียกว่าศรีราชาพานิชอยู่ แต่ตราภูเขาทองของบริษัทนี้เป็นรูปภูเขาสีทอง ไม่ใช่ภูเขาทองวัดสระเกศ

ตอนนี้ซอสศรีราชาก็มีหลากหลายยี่ห้อมากขึ้น รสชาติเพี้ยนบ้าง ปะปนกันไป แต่สำหรับคนที่อยากรู้ว่ารสชาติดั้งเดิมเป็นยังไงให้ลองหาตราภูเขาทองมากิน แต่หาค่อนข้างยากหน่อย ส่วนศรีราชาพานิชที่ขายไปนั้น ญาติที่เขาทำตราภูเขาทองบอกว่ารสชาติเพี้ยนแล้ว ส่วนยี่ห้ออื่น เราไม่เคยกิน มีความพยายามที่จะทำซอสศรีราชาเป็นสินค้าโอท็อป แต่ก็ไม่รอด เพราะคนทำไม่รู้สูตร และซอสศรีราชาไม่เคยทำเป็นโรงงานในตัวอำเภอศรีราชาเลย ตัวโรงงานที่ทำเคยมีอยู่แถววงเวียนใหญ่ (เมื่อก่อนเราไปวิ่งเล่นบ่อย ๆ) แล้วก็ย้ายไปราชบุรี (เพราะผลิตโอ่งไว้หมักพริก – อันนี้เราคิดเอง)

สุดท้าย แล้วเรามาเกี่ยวกับน้ำพริกศรีราชาได้ยังไงเหรอ นายกิมซัวมีลูกสาวคนหนึ่งชื่อ นางเพิ่ม นายกิมซัวนั้นให้ไปแต่งงานกับขุนจักกะพากพานิชกิจ (ต้นตระกูลจักกะพาก) ซึ่งเป็นพ่อหม้าย เนื่องจากน้องสาวนายกิมซัวซึ่งเป็นภรรยาเสียชีวิต หลังจากนั้นนางเพิ่มก็มีบุตรสามคน คนสุดท้องคือย่าเรา ย่าราตรีเป็นลูกนอกพินัยกรรม คือพี่ ๆ ได้ส่วนแบ่งไปหมดแล้ว ย่าราตรีเลยได้ทรัพย์สินที่เพิ่งหาได้หลังจากแบ่งพินัยกรรม (ซึ่งออกมาเยอะกว่าเพื่อน)

สังเกตว่าตราภูเขาทองเป็นรูปภูเขาทองวัดสระเกศ ภาษาอังกฤษเรียก Grand Mountain

ส่วนเรื่องทำน้ำพริกเป็นกิจกรรมในครัวเรือนของทางตระกูลทิมกระจ่าง แต่ย่าค่อนข้างสนิทกับแม่ (ทวดเพิ่ม) และก็ญาติฝ่ายแม่ เราก็เลยคุ้นเคยกับญาติฝั่งนู้นไปด้วย ปัจจุบันที่บ้านเราจะเรียกกันว่าน้ำพริกศรีราชา และจะบอกให้คนอื่นเรียกว่าน้ำพริกตามชื่อเดิม เราก็อนุรักษ์นิยมโดยการเรียกน้ำพริกไปด้วยเลย แต่หัวเรื่องเราเขียนว่าซอสพริกศรีราชา ซึ่งคนจะรู้จักในชื่อนี้มากกว่า จะได้ไม่งง

มันจะมีอีกหลายยี่ห้อ ซอสยี่ห้อโกศล ยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ เราไม่ได้ถามญาติเลยว่าเป็นญาติกันหรือเปล่า แต่รู้สึกว่าไม่น่าจะใช่ เพราะเห็นพูดแค่สองยี่ห้อนี้เองอะ

http://paworn.wordpress.com/2012/01/23/%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B2/


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ก.ย. 13, 17:57
อ้างถึง
ป.ล. เรียนคุณลุงไก่ว่าไม่ทราบเลยครับเจ้าของหินสวยน้ำใสเรียนสถ.ลาดกระบังรุ่นไหน
จำได้ว่าลุงไก่ถามถึงคือเจ้าของหินสวยฟ้าใสนะครับ

ส่วนเจ้าของหินสวยน้ำใสเป็นสถาปนิกจุฬาทั้งคู่ ภรรยาน่ะรุ่นพ้ม สามีน่ะรุ่นพี่ก่อนหนึ่งปี


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ก.ย. 13, 18:00
อ้างถึง
อ้างถึง
อ้างถึง
ระยะทางจากทองหล่อ(สุขุมวิท ๕๕) ถึงพระโขนง  สมัยก่อนชาวย่านนั้นเดินกันชิลๆ ค่ะ  พระโขนงมีตลาดใหญ่  มีโรงหนังพระโขนงรามากับพระโขนงเธียเตอร์


จำได้อย่างหนึ่งว่า พระโขนงมีศูนย์การค้าใหญ่ และมีห้างสรรพสินค้าไดมารูของญี่ปุ่นมาตั้งสาขาอยู่ด้วย ห้างนี้ไม่ทราบเป็นอย่างไร เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจประเภทนี้ในเมืองไทยแท้ๆ แต่ไม่สำเร็จสักที่นึง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ก.ย. 13, 18:36
กลับไปแถวนานาใต้ใหม่ เลยขึ้นมาประมาณซอย๘ จะมีหาบเร่ ๘-๑๖ นั่งขายประจำ G.I.ผิวหมึกคนนี้กำลังควักกระเป๋าซื้อทองหยิบของป้าแก

สมัยนี้หาบเร่อย่างป้ายังจะพอเห็นได้มั้ยน้อ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ย. 13, 18:52
เคยเห็นหาบเร่ไข่ปิ้ง  แต่คนหาบไม่ใช่ป้าแก่ๆ อีกแล้ว     เป็นผู้ชายที่ล่ำสันแข็งแรงมาแทนที่
ด้วยความร้อน และแออัดตามถนนหนทาง   ป้าคงเดินทั้งวันไม่ไหว


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 15 ก.ย. 13, 20:07
ที่จุดตัดถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้ตัดถนนสุขุมวิท มีโรงงานประกอบรถยนต์ยี่ห้อดัง 2 โรงตั้งเยื้องเป็นแนวทะแยงผ่านจุดตัด  หนึ่งคือโตโยต้าอยู่แนวตต/น อีกหนึ่งคือเบ๊นซ ของเสี่ยเล็กธนบุรีพานิชย์แนวตอ/ต ทั้งสองเจ้าถูกเฉือนที่แถวขอบๆเพื่อทำ Off ramp ทั้งคู่

คุณเล็ก-ประไพ วิริยะประไพกิจ เจ้าของโรงงานบ๊นซ์ธนบุรีประกอบรถยนต์ ท่านเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์ช้างสามเศียรด้วย คนส่วนใหญ่จะทราบเพียงว่าท่านเป็นเจ้าของเมืองโบราณที่บางปูเท่านั้น ท่านฟ้องศาลปกครองให้ระงับการก่อสร้างทางยกระดับ กลัวว่าแรงสั่นสะเทือนจากการตอกเสาเข็มจะทำให้โครงสร้างองค์ช้างสามเศียรเสียหาย ทางเจ้าของงานต้องปรับแก้แบบก่อสร้างใหม่เ็ป็นเสาเข็มเจาะแทน งานช้าไปเกือบหนึ่งปี และผมก็ถูกบังคับให้ไปทำเสาเข็มเจาะ เพราะพวกคนที่เก่งกว่าเขาไม่อยากจะไปทำ

ตอนนั้นด้านหลังโรงานโตโยต้ายังเป็นป่าจากอยู่เลย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ย. 13, 22:20
ย้อนกลับมาที่สุขุมวิทตอนต้นอีกครั้งค่ะ    ยังป้วนเปี้ยนอยู่แถวนี้
 
ที่มาของชื่อซอยบางซอย   http://www.thaigoodview.com/node/87906
        - ซอยนานา (สุขุมวิท ซอย ๔) เป็นชื่อซอยที่มีคนแขกอาศัยอยู่เยอะ ส่วนที่มาของชื่อก็มาจากนามสกุลของ เล็ก นานา อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร   เขาผู้นี้เป็นเจ้าของที่ดินหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร จนได้รับฉายาว่า "ราชาที่ดินกรุงเทพมหานคร"   จากการที่มีที่ดินมากจึงทำให้ซอยหนึ่งในถนนสุขุมวิทได้รับการตั้งชื่อตามนามสกุลตนเอง
       -  ซอยพร้อมพงษ์ (ซอยสุขุมวิท ๓๙) มีประวัติมาจากตระกูลของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช (พร้อม สนิทวงศ์ ) ต้นสกุล "สนิทวงศ์" มีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ครั้งเมื่อท่านรับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๕ - ๖ ได้ซื้อที่ดินบริเวณนี้ และปลูกบ้านไว้เป็นที่พักผ่อนของครอบครัว    พระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราชมีพระโอรสธิดาที่เกิดจากหม่อมต่างๆ ทั้งสิ้น 14 องค์ ซึ่งซอยต่างๆ ในละแวกนี้จึงมาจากชื่อพระโอรสธิดา และในส่วนของชื่อซอยพร้อมพงษ์ก็เป็นชื่อของพระโอรสองค์เล็ก ซึ่งน่าจะไปพ้องเสียงกับคำว่า พร้อมพงศ์ ซึ่งเป็นชื่อพระบิดา จึงได้ใช้ชื่อ พร้อมพงษ์ เป็นชื่อซอยหลัก และใช้ชื่อพร้อมต่างๆ เป็นชื่อของซอยรอง ส่วนซอยพร้อมมิตรนั้นไม่ได้เป็นญาติกัน แต่เป็นการตั้งชื่อให้เป็นไปในทางเดียวกันนั้นเอง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ก.ย. 13, 22:27
มีภาพซอยพร้อมพงค์ในอดีตมาให้ดูด้วยครับ ต้องก่อน๒๕๑๑ เพราะกรุงเทพยังมีสามล้ออยู่เลย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ย. 13, 22:35
น่าอยู่จริงๆ   บรรยากาศเงียบสงบ  ตามบ้านมีต้นไม้ร่มรื่น   
ดูจากรั้ว  ความเป็นอยู่ในยุคนั้นคงมีกินมีใช้ไม่ฝืดเคือง    เจ้าของบ้านจึงปักรั้วไว้หลวมๆ   แสดงว่าแถวนี้ไม่มีโจรไม่มีขโมยให้ต้องป้องกันกันเลยนะคะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ก.ย. 13, 22:43
เดี๋ยวนี้น่าจะเป็นโค้งนี้มังครับ เสาไฟฟ้ายังเอียงเหมือนเดิมเลย แต่บรรยากาศเปลี่ยนไปเยอะแค่ไหนดูเอา


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ย. 13, 22:50
น่าจะใช่     บรรยากาศเป็นคนละเมืองกันทีเดียว
ความเปลี่ยนแปลงของเอกชน(รั้ว กำแพง บ้านช่อง พาหนะ) เปลี่ยนเร็วมาก    ส่วนภาครัฐ นอกจากถนนเปลี่ยนจากลาดยางเป็นคอนกรีต  ด้านสาธารณูปโภคยังเปลี่ยนช้า   เสาไฟฟ้าต้นเดิมทำงานจนหง่อมก็ยังไม่ปลด


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ย. 13, 08:10
ไม่ได้จะเอารูปคุณป้าสมัยยังสาวมาให้ลุ้นนะครับ แต่บังเอิญว่าคุณป้าไปเก้ๆกังๆอยู่แถวปากซอยร่วมใจ สุขุมวิท๑๕ เพราะป้ายชื่อโรงแรมแมนฮัตตันที่เห็นข้างหลังลิบๆมันฟ้อง

รถเมล์ข้างหลังคุณป้าเป็นสาย๔๕ ท่าช้าง-ปากน้ำ ถือเป็นสายสถุล ทั้งคนขับและกระเป๋าคัดเอาอสรกุ๊ยมานำเสนอทั้งนั้น ผู้โดยสารต้องทำตัวลีบๆอยู่ในโอวาทให้ดี ไม่งั้นมันด่าพ่อล่อแม่เอาหัวหดจริงๆ พวกรถเมล์สีส้มนี้ จัดอยู่ในลีกเดียวกับพวกอาชีวะในกีฬาตีรันฟันแทง ที่จัดหนักกันบ่อยๆในเมืองหลวงสมัยผมเป็นวัยสะรุ่น


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 13, 08:54
มีภาพซอยพร้อมพงค์ในอดีตมาให้ดูด้วยครับ ต้องก่อน๒๕๑๑ เพราะกรุงเทพยังมีสามล้ออยู่เลย
(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5753.0;attach=43312;image)
จอมพลสฤษดิ์ ยกเลิกสามล้อในกรุงเทพเมื่อพ.ศ. 2503    เพราะฉะนั้นรูปนี้ต้องถ่ายก่อนนั้น  คิดว่าหลายปีด้วย
อาจเป็นในช่วง 2490 ต้นๆ
ปัดฝุ่นสมุดความทรงจำ จำได้ว่ามีเพื่อนคนหนึ่งอยู่ในซอยพร้อมพงษ์  เคยไปหาที่บ้าน   ซอยพร้อมพงษ์ในช่วงประมาณพ.ศ. 2505  เปลี่ยนจากในรูปขาวดำมากแล้ว  เกือบเหมือนรูปสี  เพียงแต่รถยังวิ่งเข้าออกได้สบาย 


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ย. 13, 09:35
หน้าปากซอยสุขุมวิท๑๗ครับ ใครทราบบ้างว่าซอยนี้ชื่ออะไร เป็นซอยตันเล็กๆ ถัดไปซอย๑๙คือซอยวัฒนา

มุมภาพหันไปทางต้นถนน ตึกแถวชุดที่เอเซียบุ๊คส์เคยตั้งอยู่นั้น ถึงวันนี้คงถูกรื้อไปแล้ว เขาจะสร้างอะไรขึ้นมาก็ไม่รู้


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 ก.ย. 13, 10:17
ถนนสุขุมวิท มีอีกตึกหนึ่งที่ชอบมองตอนเด็ก ๆ คือ ตึกรูปทรงแบบนี้ ไม่รู้ว่าเรียกว่าอะไร แต่ผมเรียกว่า "ตึกฝักข้าวโพด" เป็นของโรงแรมแอมบาสเดอร์


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 16 ก.ย. 13, 13:48
คห. ๓๔๒

ที่มาของชื่อซอยบางซอย  ดิฉันเข้าใจว่าต้นเรื่องคงออกไปจากห้องสมุดพันทิปแหละค่ะ  
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/10/K5889135/K5889135.html
 (ftp://http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/10/K5889135/K5889135.html)

คห. ๓๔๗

“รถเมล์ข้างหลังคุณป้าเป็นสาย ๔๕ ท่าช้าง-ปากน้ำ ถือเป็นสายสถุล ทั้งคนขับและกระเป๋าคัดเอาอสรกุ๊ยมานำเสนอทั้งนั้น ผู้โดยสารต้องทำตัวลีบๆ อยู่ในโอวาทให้ดี ไม่งั้นมันด่าพ่อล่อแม่เอาหัวหดจริงๆ พวกรถเมล์สีส้มนี้ จัดอยู่ในลีกเดียวกับพวกอาชีวะในกีฬาตีรันฟันแทง ที่จัดหนักกันบ่อยๆในเมืองหลวงสมัยผมเป็นวัยสะรุ่น”

รถเมล์สีส้ม รถ บขส. สาย ๒๕ ไม่ใช่หรือคะ  ที่วิ่งระหว่างท่าช้าง – ปากน้ำ  แล้วก็มีสีส้มสาย ๔๐ กับ ๗๙ อีกสาย เหมือนกับจะวิ่งเส้นใกล้ๆ กัน  เข้าไปใจกลางเมือง  สาย ๔๕ คลับคล้ายว่าจะเป็นรถสีเขียวเข้มๆ (หรือเปล่า?)  แต่ขับแย่พอกัน  สมัยโน้นจะขึ้นแต่รถเมล์ขาวของนายเลิศค่ะ  สาย ๒ กับสาย ๔๘  ค่อยขับสุภาพหน่อย


คห. ๓๔๙

“หน้าปากซอยสุขุมวิท ๑๗ ครับ  ใครทราบบ้างว่าซอยนี้ชื่ออะไร  เป็นซอยตันเล็กๆ  ถัดไปซอย ๑๙ คือซอยวัฒนา”

ดิฉันเคยพยายามรวบรวมชื่อซอยถนนสุขุมวิทเอาไว้  ย้อนไปดู (คห. ๒๒๕) ก็ไม่มีชื่อซอยสุขุมวิท ๑๗ เหมือนกัน  คงจะเป็นซอยสั้นๆ และตัน  สงสัยคงจะต้องไปด้อมๆ ดูชื่อสักวัน


คห. ๓๕๐

“ถนนสุขุมวิท มีอีกตึกหนึ่งที่ชอบมองตอนเด็กๆ คือ ตึกรูปทรงแบบนี้  ไม่รู้ว่าเรียกว่าอะไร  แต่ผมเรียกว่า "ตึกฝักข้าวโพด"  เป็นของโรงแรมแอมบาสเดอร์”

พอเห็นตึกทรงนี้แล้วก็เลยนึกถึงตึกทรงคล้ายๆ กันอีกแห่ง  อยากจะขอเชิญเดินทางเลยไปที่ซอยสุขุมวิท ๖๓ (เอกมัย) สักหน่อยค่ะ  

นอกจากตึกโชคชัยที่คาดว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒  ยืนเด่นเป็นตึกสูงที่สุดในประเทศไทยด้วยความสูง ๒๖ ชั้น มากว่า ๑๓ ปี  ก่อนจะเสียตำแหน่งให้กับสำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ถนนสีลม ความสูง ๓๓ ชั้น ในปี ๒๕๒๔

ถนนสุขุมวิทยังมีตึกสูงอีกแห่งหนึ่งในซอยเอกมัยคืออาคารไทปิงทาวเวอร์  ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคอนโดมิเนียมแห่งแรกๆ ของประเทศไทย  ดำเนินการโดยบริษัทอุตสาหกรรมพรมไทย จำกัด  ซึ่งมีตระกูลศรีวิกรณ์เป็นเจ้าของกิจการ  เริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี ๒๕๒๒  แล้วเสร็จในปี ๒๕๒๔  ความสูง ๓๓ ชั้น  จำนวน ๓๐๐ ยูนิต  จัดเป็น Talk of the Town ของชาวบ้านย่านนั้นที่ยังอยู่บ้าน ๒ ชั้นกัน

อาคารไทปิงทาวเวอร์ก็มีรูปทรงแท่ง คล้ายๆ กัน  คงจะเป็นรูปแบบที่ทันสมัยในยุคนั้น


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 16 ก.ย. 13, 13:59
อาคารไทปิงทาวเวอร์ค่ะ  การก่อสร้างมั่นคงแข็งแรงมาก  ยังคงยืนสวยเด่นทัดเทียมคอนโดรุ่นลูกหลานในปัจจุบัน  ทุกวันนี้ก็ยังมีการประกาศเช่าห้องกันอยู่ตลอด  เนื่องจากอยู่ในทำเลที่ดี  ขนาดห้องกว้างขวาง  และมีที่จอดรถเฉพาะของแต่ละห้อง  ชนิดที่ว่าคอนโดรุ่นหลังๆ ไม่สามารถทำได้

(http://www.bangkokcondofinder.com/wp-content/uploads/2012/07/building-taiping.jpg)

(http://www.taipingtowers.com/TaiPingTowers.jpeg)

(http://kobayashi.co.th/Img-Apt/Sukhumvit/506_TaipingTower/21.jpg)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 16 ก.ย. 13, 14:24
กระทู้ในเว็บพันทิปกระทู้หนึ่ง  มีรูปเก่าๆ อยู่มากมายค่ะ  ใน คห. ๑๕๑ จะเห็นรูปบ้านในซอยเอกมัย  ลักษณะบ้านจะเป็นรูปทรงบ้านในยุคนั้น  สังเกตด้านข้างของบ้านจะเห็นอาคารไทปิงทาวเวอร์อยู่ด้วย

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/09/K7047936/K7047936.html (ftp://http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/09/K7047936/K7047936.html)


ขออนุญาตเจ้าของบ้านไว้ด้วยนะคะ

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/09/K7047936/K7047936-151.jpg)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ย. 13, 15:26
อ้างถึง
รถเมล์สีส้ม รถ บขส. สาย ๒๕ ไม่ใช่หรือคะ  ที่วิ่งระหว่างท่าช้าง – ปากน้ำ  แล้วก็มีสีส้มสาย ๔๐ กับ ๗๙ อีกสาย เหมือนกับจะวิ่งเส้นใกล้ๆ กัน  เข้าไปใจกลางเมือง  สาย ๔๕ คลับคล้ายว่าจะเป็นรถสีเขียวเข้มๆ (หรือเปล่า?)  แต่ขับแย่พอกัน  สมัยโน้นจะขึ้นแต่รถเมล์ขาวของนายเลิศค่ะ  สาย ๒ กับสาย ๔๘  ค่อยขับสุภาพหน่อย

ท่าช้าง-ปากน้ำ สาย๒๕ จริงๆแหละครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ย. 13, 15:32
รถเมล์ขาวของนายเลิศ สาย๒กับสาย๔๘ ผมจำได้ครับ แต่รถเมล์ขาวกับรถมินิบัสเขียวในภาพนี่คงสมัยหลัง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ย. 13, 16:06
ตามไปอ่านในเวปพันทิปที่คุณtitaโยงไว้ให้แล้ว คิดถึงท่านที่ช่วยกันเล่าเรื่องในนั้นหลายคนที่เคยคุ้นๆกัน เดี๋ยวนี้ท่านหายไปหมด คงเบื่อจะเล่นเน็ทเต็มที่ ถ้าผ่านมาทางนี้ผมขอแสดงความคิดถึงด้วยครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ย. 13, 16:18
ติดใจรูปนี้แหละ เข้าใจว่าอยู่ซอยต้นๆ แต่ยังดูไม่ออกว่าตึกอะไรเป็นอะไร


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ย. 13, 16:25
วัฒนาวิทยาลัยสมัยคุณทวด


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 16 ก.ย. 13, 16:37
/อย่าหาว่าชักออกนอกเรื่องเลยนะคะ  ดิฉันกลับติดใจภาพพิธีแรกนาขวัญมากกว่า  คือสมัยนั้นเทพีเขาคัดอย่างนั้นหรือคะ  ท่านคงเดินลำบากมากเลย

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/09/K7047936/K7047936-130.jpg)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 13, 16:48
ชื่อกระทู้คือ "เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด" อนุโลมว่าจะเล่าถึงเรื่องอื่นนอกจากสุขุมวิทก็น่าจะได้(มั้ง)
คุณ tita ไปได้รูปนี้มาจากไหนคะ    ดิฉันไม่เคยเห็นเทพีแรกนาในวัยนี้เลย    เพิ่งเห็นเป็นครั้งแรก

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/09/K7047936/K7047936-130.jpg)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ย. 13, 16:51
เอ้า..พวกเรา ขึ้นรถ สาย๒๕ปากน้ำ-ท่าช้างมาพอดี ลงสนามหลวงไปช่วยท่านอาจารย์ใหญ่หน่อย

ขึ้นแล้วก็ชิดในเร็วๆด้วย เดี๋ยวกระเป๋ามันด่าเอา
เอ...เทพีแรกนานี่เค้าใช้สาวพรหมจารีไม่ใช่เหรอ โอ้....ไปอัญเชิญสาวพรหมจารีที่ไหนมาเนี่ย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 13, 16:54
ก็เคยเห็นแต่แบบนี้จริงๆนี่นา
เด็กเกรียนที่โหนรถเมล์มาน่ะ  เคยเห็นกะเขามั่งรึเปล่า สมัยยังเด็กๆ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 16 ก.ย. 13, 16:55
กระทู้นี้แหละค่ะ  http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/09/K7047936/K7047936.html

คห. ๑๓๐


"เอ้า..พวกเรา ขึ้นรถ สาย ๒๕ ปากน้ำ-ท่าช้างมาพอดี ลงสนามหลวงไปช่วยท่านอาจารย์ใหญ่หน่อย

ขึ้นแล้วก็ชิดในเร็วๆ ด้วย เดี๋ยวกระเป๋ามันด่าเอา"


จะไม่ใช่แค่ด่าน่ะสิคะ  สมัยนั้นมีเอากระบอกตั๋วเคาะหัวด้วย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ย. 13, 17:00
อ้างถึง
จะไม่ใช่แค่ด่าน่ะสิคะ  สมัยนั้นมีเอากระบอกตั๋วเคาะหัวด้วย
นี่ เกรียนคนนี้สิ รู้จริง

ตกลงคุณยายทั้งหลายข้างบนโน่น สาวพรหมจารีเหรอ โอ้อมิตตพุทธ



กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 16 ก.ย. 13, 17:07
ชื่อกระทู้คือ "เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด" อนุโลมว่าจะเล่าถึงเรื่องอื่นนอกจากสุขุมวิทก็น่าจะได้(มั้ง)
คุณ tita ไปได้รูปนี้มาจากไหนคะ    ดิฉันไม่เคยเห็นเทพีแรกนาในวัยนี้เลย    เพิ่งเห็นเป็นครั้งแรก



พาอาจารย์เทาชมพู ไปรอแย่งเมล็ดข้าวเปลือกหน่อย

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000063853


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 16 ก.ย. 13, 17:13
อ้างถึง
ป.ล. เรียนคุณลุงไก่ว่าไม่ทราบเลยครับเจ้าของหินสวยน้ำใสเรียนสถ.ลาดกระบังรุ่นไหน
จำได้ว่าลุงไก่ถามถึงคือเจ้าของหินสวยฟ้าใสนะครับ

ส่วนเจ้าของหินสวยน้ำใสเป็นสถาปนิกจุฬาทั้งคู่ ภรรยาน่ะรุ่นพ้ม สามีน่ะรุ่นพี่ก่อนหนึ่งปี

คนที่บอกผมเป็นรุ่นพี่สถาปัตย์ จากซุ้มหัวตะเข้ ครับ แต่จะรุ่นเดียวกันไหม - ปีหน้าพี่แกก็จะเลิกทำงานตามวาระกลับไปนั่งเฝ้าบ้านรับประทานบำนาญแล้วครับ

ร้านเอเซียบุคส์ เท่าที่ผมผ่านครั้งล่าสุด ตึกยังอยู่นะครับ แต่จะยังเปิดขายอยู่หรือไม่นี่ ไม่ทราบครับ

ลองนึกถึงรถเมล์ในเส้นทางถนนสุขุมวิทเมื่อก่อน เท่าที่นึกออก

สาย ๒ สำโรง-ปากคลองตลาด
สาย ๒๕ ปากน้ำ-ท่าช้าง
สาย ๓๘ ขนส่งหมอชิต-ขนส่งเอกมัย
สาย ๔๐ ขนส่งสายใต้-ขนส่งเอกมัย
สาย ๔๕ ปากน้ำ-หัวลำโพง
สาย ๔๘ พระโขนง-วัดโพธิ์
สาย ๗๑ บางกะปิ-สะพานพุทธ



กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ย. 13, 17:25
ตามระโยงไร้สายของลุงไก่ไป ได้ความสำคัญมาว่า
ต่อมาหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะคัดเลือกข้าราชการหญิงจำนวน 14 คน แล้วส่งรายชื่อและประวัติของข้าราชการเหล่านั้น เพื่อเข้ารับการคัดเลือกในตำแหน่งเทพีคู่หาบเงิน โดยข้าราชการหญิงที่เข้ารับการคัดเลือกต้องถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติคือ เป็นข้าราชการระดับ 3 ขึ้นไป เป็นผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้ว เป็นโสด เป็นกุลสตรี และมีสุขภาพแข็งแรง

แสดงว่า การคัดเลือกคุณยายมาเป็นเทพีสมัยนั้นคงยากลำบากมากพอควร


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 16 ก.ย. 13, 17:48
ผมหมายถึงข้อความเหล่านี้ครับ

จากท่านท้าวฝ่ายใน ถึงสาวกระทรวงเกษตรฯ
       
       “เท่าที่ผมเคยศึกษาค้นคว้ามา พอจะจำได้ว่า เมื่อก่อนนี้ เทพีแบกคานหาบในพิธีพืชมงคลไม่ใช่สาวๆ แต่เป็นคุณท้าว เป็นนางในของราชสำนักที่อายุก็คงจะไม่ใช่อยู่ในวัยที่เรียกว่า 'สาวๆ' แล้ว แต่ไม่ว่าเมื่อก่อนหรือทุกวันนี้ ผมก็มีความเห็นว่า เทพีในพิธีพืชมงคลคงไม่ได้เน้นถึงความสวยงามนัก
       
       เป็นคำบอกเล่าจาก สมบัติ พลายน้อย หรือ ส.พลายน้อย นักเขียนผู้ฝากผลงานแนวสารคดี ตำนาน นิทาน และสารานุกรมที่ทรงคุณค่ามากมาย
       
           
       แล้วทำไมพิธีพืชมงคลในครั้งเก่าก่อน จึงมีคุณท้าวนางในทั้งหลายมารับหน้าที่เป็น 'เทพี' แบกคานหาม ส.พลายน้อย ตอบว่า
       
       “เมื่อก่อนนั้นพระมหากษัตริย์ทรงประกอบพิธีเป็นพระยาแรกนา ทรงเป็นผู้ไถหว่านด้วยพระองค์เอง ดังนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ไถหว่าน การจะให้ผู้หญิงอื่นมาเป็นเทพีก็คงไม่เหมาะไม่ควร หน้าที่ดังกล่าวจึงตกอยู่แก่บรรดาคุณท้าวนางใน เพื่อให้สมพระเกียรติ เป็นการเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ ในยุคต่อๆ มา เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงประกอบพิธีนี้ด้วยพระองค์เองแล้ว ผู้ที่มาเป็นพระยาแรกนาก็คือปลัดกระทรวงเกษตรฯ เพราะฉะนั้น ตำแหน่งเทพีก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคุณท้าวเหมือนเมื่อก่อน แต่ตกเป็นหน้าที่ของข้าราชการผู้หญิงในกระทรวงเกษตรฯ”
       


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 13, 17:56
พาอาจารย์เทาชมพู ไปรอแย่งเมล็ดข้าวเปลือกหน่อย

ลุงไก่มัวแต่ไปดูขบวนพระยาแรกนา   ดิฉันเลยได้เมล็ดข้าวเปลือกมาแค่เนียะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ย. 13, 18:07
อ้างถึง
ผมหมายถึงข้อความเหล่านี้ครับ

จากท่านท้าวฝ่ายใน ถึงสาวกระทรวงเกษตรฯ
       
       “เท่าที่ผมเคยศึกษาค้นคว้ามา พอจะจำได้ว่า เมื่อก่อนนี้ เทพีแบกคานหาบในพิธีพืชมงคลไม่ใช่สาวๆ แต่เป็นคุณท้าว เป็นนางในของราชสำนักที่อายุก็คงจะไม่ใช่อยู่ในวัยที่เรียกว่า 'สาวๆ' แล้ว แต่ไม่ว่าเมื่อก่อนหรือทุกวันนี้ ผมก็มีความเห็นว่า เทพีในพิธีพืชมงคลคงไม่ได้เน้นถึงความสวยงามนัก
       
       เป็นคำบอกเล่าจาก สมบัติ พลายน้อย หรือ ส.พลายน้อย นักเขียนผู้ฝากผลงานแนวสารคดี ตำนาน นิทาน และสารานุกรมที่ทรงคุณค่ามากมาย
       
           
       แล้วทำไมพิธีพืชมงคลในครั้งเก่าก่อน จึงมีคุณท้าวนางในทั้งหลายมารับหน้าที่เป็น 'เทพี' แบกคานหาม ส.พลายน้อย ตอบว่า
       
       “เมื่อก่อนนั้นพระมหากษัตริย์ทรงประกอบพิธีเป็นพระยาแรกนา ทรงเป็นผู้ไถหว่านด้วยพระองค์เอง ดังนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ไถหว่าน การจะให้ผู้หญิงอื่นมาเป็นเทพีก็คงไม่เหมาะไม่ควร หน้าที่ดังกล่าวจึงตกอยู่แก่บรรดาคุณท้าวนางใน เพื่อให้สมพระเกียรติ เป็นการเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ ในยุคต่อๆ มา เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงประกอบพิธีนี้ด้วยพระองค์เองแล้ว ผู้ที่มาเป็นพระยาแรกนาก็คือปลัดกระทรวงเกษตรฯ เพราะฉะนั้น ตำแหน่งเทพีก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคุณท้าวเหมือนเมื่อก่อน แต่ตกเป็นหน้าที่ของข้าราชการผู้หญิงในกระทรวงเกษตรฯ”
เข้าใจครับ อ่านแล้วแต่ไม่ได้บอกเรื่องสาวพรหมจารีที่ผมเคยอ่านมาจากไหนสักแห่ง ว่าเทพีแรกนาจะต้องเป็นสาวพรหมจารีเท่านั้น คุณส.พลายน้อยก็ไม่ได้เขียนตรงนี้ไว้ เลยไม่ได้ป้ายมาลง

แต่อ่านๆไปช่วงท้ายบทความเจอคุณสมบัติของเทพีแรกนาปัจจุบัน ที่ระบุว่าต้องเป็นโสด ก็สอดคล้องกับเรื่องราวที่ผมเคยอ่านมา สมัยนี้เขาคงไม่ระบุคุณสมบัติไปโจ่งแจ้ง แค่ว่าโสดก็โอเคแล้ว แสดงว่าความจำของผมยังไม่เสื่อมจนหมดสภาพ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 16 ก.ย. 13, 21:39
ไปค้นคำทำนายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ แล้วก็ให้หัวเราะเบาๆ อยู่ในลำคอ ไม่รู้จะโทษใคร ..

กลับมาดูท้องนาริมถนนสุขุมวิทสายเก่าย่านคลองด่าน-บางบ่อ-บางปะกง ชาวนาแถบนี้คงไม่อยากได้น้ำฝนกันหรอก

บางบ่อไม่ได้มีแต่บ่อปลาสลิดอย่างเดียวหรอก




กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ย. 13, 22:05
พืชที่ขึ้นคู่กับนาเกลือก็คือต้นชะคราม จะพบได้ตามคันดินทั่วไป ผมจำได้ว่าทุกครั้งที่คุณยายของผมนั่งรถยนต์ผ่านนาเกลือแถวคลองด่าน สมัยนั้นถนนธนบรีปากท่อยังไม่มี คนกรุงจะเห็นนาเกลือได้เฉพาะบนถนนสุขุมวิทเท่านั้น คุณยายจะสั่งให้ลูกหลานหยุดรถ แล้วตนจะลงไปหักกิ่งชะคราม ซึ่งหักง่ายมาก ประเดี๋ยวเดียวก้ได้กำใหญ่ เย็นนั้นเราจะได้ทานยำใบชะครามแสนอร่อยกันทั้งบ้าน

ใบชะครามเป็นพืชน้ำเค็ม ต้องนำมาลวกน้ำร้อนให้หมดเค็มก่อน แล้วจึงยำอย่างยำถั่วพูหรือยำผักกูด ใส่กุ้งใส่ไข่ ราดกระทิ โรยหอมเจียว อร่อยอย่าบอกใครทีเดียว


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ย. 13, 22:08
ยำใบชะคราม ยังหาทานได้ที่ร้านอาหารแถวที่มีนาเกลือ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 13, 22:16
ร้านไหนทำแกงคั่วปูไข่ใส่ใบชะครามบ้าง?


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ย. 13, 22:19
ไม่ทราบครับ
 
แล้วใบชะครามใส่เท่าที่เห็น หรือจมอยู่ใต้น้ำแกงหมดล่ะครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 13, 22:35
เห็นแค่นี้ละค่ะ  สงสัยใบชะครามหายาก


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ย. 13, 22:57
^ผักชีโรยหน้าแท้ๆ^

ไหนๆลุงไก่ก็พามาถึงนาเกลือแล้ว ผมก็ขอพาเลยไปหาดบางแสนอีกที รู้สึกว่ายังไม่ได้เอ่ยถึงเรือใบ ใครมาบางแสนสมัยนั้นต้องเช่าเรือใบไปลอยในทะเลกันจึงจะครบเครื่อง แต่ไม่ยักมีผู้ใหญ่คนไหนตามใจพาผมลงเรือใบสักครั้ง แต่ก็ไม่ได้ติดใจเท่าไหร่ เพราะผมก็ค้นพบตัวเองทีหลังเหมือนกันว่าผมเป็นสัตว์บกไม่ใช่สัตว์น้ำ

ความจริงเรือใบบางแสนไม่ได้หรูเริ่ดอะไร เป็นเรือประมงนั่นเอง พอถนนสุขุมวิทดีขึ้นคนหลั่งไหลกันมา ชาวประมงก็หันมาจับนักท่องเที่ยวแทนการจับปลา เหนื่อยน้อยกว่าแต่รายได้ดีกว่า ได้ค่าสปอนเซ่อร์โฆษณาด้วย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ย. 13, 23:03
ลงรูปข้างบนไปแล้วจึงได้คิดว่า ทำไมบางแสนเรือใบมันน้อยจัง มีตั้งรูปละลำ
ความจริงมันมีเยอะอยู่นี่นา


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 13, 23:08
ความทรงจำในวัยเด็กที่หาดบางแสน  อีกเรื่องคือลงเล่นน้ำทะเล จะขาดห่วงยางเสียมิได้     ในยุคนั้นห้างร้านในกรุงเทพยังไม่สั่งห่วงพลาสติคเป่าลมสีสวยมาขายเด็กๆ      เด็กที่ว่ายน้ำยังไม่เป็นจึงต้องอาศัยห่วงยางในของรถยนต์ สีดำมอๆ สวมตัวลงไปลอยคอโต้คลื่น
ไม่ต้องขนจากกรุงเทพให้ลำบาก    เพราะแถวชายหาด  มีเด็กชาวบ้านเอามาให้เช่าครั้งละ 5 บาท  
ยางรถยนต์ไม่ได้ผลิตมาให้เด็กเล่น   ด้านในของห่วงจึงมีท่อเล็กๆโผล่ออกมาสำหรับสูบลม   คลื่นซัด โดนท่อกระแทกตัวเข้าบ่อยๆก็เจ็บตัว   ต้องคอยหมุนให้มันไปอยู่ข้างหลัง  ทุลักทุเลหน่อย  แต่สนุกเข้าก็ลืมไปได้เหมือนกัน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.ย. 13, 23:19
เห็นด้วยครับ ม่วนชื่นกว่าเรือใบเป็นไหนๆ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 17 ก.ย. 13, 05:48
ใครได้ไปเที่ยวบางแสนในยุคโน้นนี่ กลับบ้านกรุงเทพฯ คุยได้สามวันไม่จบจริงๆ
พี่ชายผมชอบขับรถจักรยานเสือหมอบขี่จากบ้านที่ซอยุดมสุขบางนาไปเที่ยวที่บางแสนในวันโรงเรียนหยุด ตอนที่ถนนบางนาตราดก่อสร้างเสร็จใหม่ๆ .. เก่งแฮะ


ผมไมทันบางแสนยุคเรือใบ มาเที่ยวครั้งแรกในยุคห่วงยางในรถยนต์ให้เช่าแล้ว ถนนดำราดยาง ร้านอาหารยอดนิยมคือหาบเร่ที่เดินขายไปทั่ว
เที่ยวเล่นน้ำกันเสร็จก็ไปเที่ยวเขาสามมุขกันต่อ ความเชื่อที่ว่าใครไปเที่ยวเขาสามมุขกับแฟนนี่ กลับมาต้องเลิกรากันทุกราย จะเป็นความจริงเช่นใด แต่ที่เห็นตัวอย่างคือแกนนำกลุ่มที่พาผมไปเที่ยวในครั้งแรกนั้นกำลังเป็นแฟนกันอยู่ หลังจากนั้นไม่กี่ปี ต่างคนต่างแยกไปแต่งงานกับแฟนของตัวเอง .. จริงแฮะ

จะพายายเฒ่าที่บ้านไปเที่ยวมั่งวันนี้ จะสำเร็จตามแผนการที่วางไว้ในใจไหมนี่ ? นึกขึ้นได้ว่าเคยไปเที่ยวด้วยกันแล้วนี่นา ทำไมยังติดหนึบอยู่ด้วยกันจนทุกวันนี้




กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ก.ย. 13, 07:39
สงสัยคงไปอธิฐานไว้แล้วแกล้งทำเป็นลืม

อ้างถึง
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ณ หมู่บ้านชาวประมงแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี มีหญิงสาวผู้หนึ่งชื่อว่า สาวมุข หรือ สาวมุก เป็นหญิงสาวสวยชาวเมืองบางปลาสร้อย ผู้กำพร้าบิดามารดา อาศัยอยู่กับยายที่กระท่อมเชิงเขาสามมุขแห่งนี้ ต่อมาสาวมุขได้พบรักกับหนุ่มนามว่า แสน บุตรกำนันบ่าย เศรษฐีแห่งบ้านหิน (อ่างศิลา) ซึ่งอยู่ห่างจากเขาสามมุขไปประมาณ ๕ กิโลเมตร จุดเริ่มต้นของความรักเกิดจาก วันหนึ่งสาวมุกได้เก็บว่าวของหนุ่มแสนที่หลุดลอยมาได้ หนุ่มแสนจึงมอบว่าวนั้นให้เป็นที่ระลึก ทั้งสองต่างสัญญาว่า จะรักกันชั่วนิรันดร และใช้สถานที่บริเวณเชิงผาแห่งนี้นัดพบกัน แต่เมื่อความทราบถึงกำนันบ่าย ผู้ซึ่งรังเกียจความยากจนของสาวมุข จึงบังคับแสนให้แต่งงานกับหญิงสาวที่ตนเลือกให้ด้วยความพึงพอใจ ในวันที่แต่งงานนั้น สาวมุขได้เดินทางมาอวยพรและรดน้ำสังข์แก่คู่บ่าวสาว พร้อมทั้งคืนแหวนที่แสนเคยให้ไว้ กว่าที่แสนจะรู้ว่าอะไรเกิดขึ้น สาวมุขก็ได้วิ่งหนีหายไปบนเชิงเขาริมหน้าผา และสาวมุขได้ตัดสินใจโดดหน้าผาบูชาความรักจนถึงแก่ชีวิต ด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้ง แสนจึงโดดหน้าผาตายตามไปอีกคนหนึ่ง จากเหตุการณ์นี้เอง ภูเขาที่เป็นอนุสรณ์แห่งความรักของหนุ่มแสนและสาวมุขจึงชื่อว่า เขาสามมุข    ส่วนชายหาดบริเวณใกล้เคียงได้ชื่อว่า บางแสน ดังที่ปรากฏเป็นตำนานจนถึงทุกวันนี้  เนื่องจากเป็นศาลเจ้าที่เกิดจากความรัก จึงมีหนุ่มสาวนำว่าวที่ตนเองกับคนรักมาถวายเพื่อให้เจ้าแม่อวยพรให้รักสมหวัง  


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ก.ย. 13, 09:41
(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5753.0;attach=43361;image)

หน้าตาคุ้น ๆ ใช่คนแถวนี้หรือเปล่าน้อ

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley16.png)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 13, 09:46
ถามใครน้อ?

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5709.0;attach=41782;image)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ก.ย. 13, 10:10
หม่ายช่ายพ้มฮิ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 13, 10:33
เห็นจะหาจำเลยแถวนี้ไม่ได้เสียแล้วค่ะ  คุณเพ็ญ   เห็นจะต้องยกประโยชน์ให้คุณลุงไก่ไปละกัน   


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 17 ก.ย. 13, 21:31
ท่านจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ใช้เส้นทางสุขุมวิทจากชิดลมถึงคลองใหญ่เป็นเส้นทางลี้ภัย โดยมีนายตำรวจผู้หนึ่งติดตามอารักขาถึงชายแดน เป็นการใช้เส้นทางนี้เป็นครั้งสุดท้ายในวันสุดท้ายบนผืนแผ่นดินไทย ผู้ใหญ่เคยบอกว่าท่านมีบ้านพักตากอากาศที่ริมคลองชลประทานแถวบางปู เวลานั่งรถผ่านถนนสุขุมวิทแถวนั้นเมื่อก่อนจะพยายามมองหาว่าเป็นบ้านหรูริมคลองหลังไหนกันแน่ แทบไม่มีใครนึกว่าท่านผู้นำที่มีเคยอำนาจล้นฟ้าจะมีวันนี้
อะไรหนอที่ทำให้ระดับหัวแถวหลายคนของคณะราษฎรต้องไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศตอนบั้นปลาย หรือจะเป็นประมาณคำพูดที่ว่า'คอยดูไปเถอะพวกแกจะผลัดกันเอากิโยตินตัดหัวกันเอง' :(


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 17 ก.ย. 13, 21:35
เห็นจะหาจำเลยแถวนี้ไม่ได้เสียแล้วค่ะ  คุณเพ็ญ   เห็นจะต้องยกประโยชน์ให้คุณลุงไก่ไปละกัน  

ขอบคุณครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 13, 22:04
ท่านจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ใช้เส้นทางสุขุมวิทจากชิดลมถึงคลองใหญ่เป็นเส้นทางลี้ภัย โดยมีนายตำรวจผู้หนึ่งติดตามอารักขาถึงชายแดน เป็นการใช้เส้นทางนี้เป็นครั้งสุดท้ายในวันสุดท้ายบนผืนแผ่นดินไทย ผู้ใหญ่เคยบอกว่าท่านมีบ้านพักตากอากาศที่ริมคลองชลประทานแถวบางปู เวลานั่งรถผ่านถนนสุขุมวิทแถวนั้นเมื่อก่อนจะพยายามมองหาว่าเป็นบ้านหรูริมคลองหลังไหนกันแน่ แทบไม่มีใครนึกว่าท่านผู้นำที่มีเคยอำนาจล้นฟ้าจะมีวันนี้
อะไรหนอที่ทำให้ระดับหัวแถวหลายคนของคณะราษฎรต้องไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศตอนบั้นปลาย หรือจะเป็นประมาณคำพูดที่ว่า'คอยดูไปเถอะพวกแกจะผลัดกันเอากิโยตินตัดหัวกันเอง' :(


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 18 ก.ย. 13, 05:38
ตามข้อความนี้ บ้านพักของจอมพล ป. คงไม่ได้อยู่ริมคลองชลประทาน แต่อยู่ในบ้านพักตากอากาสบางปูนั่นแหละครับ

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ท่านกล่าวไว้ว่า "... ถึงผมจะเข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยแล้ว แต่ยังคงกลับมารับใช้ท่านในวันเสาร์-อาทิตย์ตลอดมา ท่านจอมพล ป. ชอบไปบางปู ท่านรักบางปูมากที่สุด ตอนนั้นบางปูเป็นหาดโคลนแล้วตัดถนนพูนดินเข้าไป ผมตามไปรับใช้ท่านเช่นเคย ท่านจอมพล ป. จะรับประทานอาหารกลางวันและนอนพักในตอนบ่ายจากนั้นจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ เป็นประจำ..."
(พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน - ท่านจอมพล ป. พิบูลสงครามกับผม, ๒๕๓๖)

แสดงว่าการเดินทางระหว่างกรุงเทพ-บางปู คงจะสะดวก ใช้เวลาเดินทางสัก ๒-๓ ชั่วโมง ที่ไม่ต่างกับปี ๒๕๕๖ นี้

นายตำรวจที่ติดตามอารักขาท่านจอมพล ป. ไปส่งจนสุดชายแดน คือ ร้อยตำรวจเอก ชุมพล โลหะชาละ (ยศขณะนั้น) ครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ก.ย. 13, 07:52
^
ผมก็ว่าอย่างนั้นแหละหนา แต่ยังหาหลักฐานไม่ได้จึงนิ่งไว้ก่อน
รูปในเน็ทไม่ระบุชัด แต่ผมจำได้ว่าบ้านรับรองที่ท่านชอบไปเป็นหลังใหญ่ที่สุดในหมู่ ดูๆแล้วก็น่าจะหลังบนนั้นแหละ ตอนนี้ปล่อยไว้จนโทรมสุดๆ

หลังเล็กขนาดมาตรฐานหน่อย ทหารเขาก็ซ่อมไว้พอดูได้

อีกอย่างหนึ่งอยากจะบอกว่า ที่ท่านไม่นิยมค้างที่นั่นคงจะเพราะยุงชุมมากและดุเหลือเกิน ผมคิดว่าสมัยผมเป็นเด็กน้อยนั้น บ้านคนทั่วไปจะไม่มีมุ้งลวดนะครับ จำได้ชัดว่าลุงเคยอุ้มผมไปเที่ยวค้างบ้านนายทหารที่โรงเรียนนายเรือปากน้ำ แรกๆเรื่องคิดถึงแม่อยากกลับบ้านก็พอทนได้หรอก พอเย็นเข้าหน่อยพระอาทิคย์ยังไม่ตกดินยุงบินมาเป็นก้อนๆจากป่าจาก ดำดิ่งคามิกาเช่ใส่ทุกคนแบบพลีชีพ ต้องหนีเข้าบ้านปิดประตูหน้าต่าง ก็เบาลงหน่อยแต่ก็ไม่พ้นมัน ผมก็เริ่มร้องไห้คิดถึงแม่ ลุงกับป้าท้อใจมาก วันรุ่งขึ้นคุณลงรีบเอาขึ้นรถขับไปส่งบ้าน เข็ดกันไปทั้งลุงทั้งหลาน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ก.ย. 13, 07:54
เอารูปสะพานสุขตาศาลาสุขใจช่วงน้ำทะเลขึ้นสูงมาให้ชม พอจะเล่นสไลเดอร์กันไหวมั้ย สมัยเมืองไทยยังไม่รู้จักswimming poolนี่ เล่นน้ำคลองกันก็แฮปปี้สุดๆแล้ว นี่น้ำทะเลเชียวนา จะเป็นโคลนๆหน่อยก็ ย๊อม


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ก.ย. 13, 08:00
เวทีลีลาศของที่นั่นอีกที ถ้าเป็นอย่างนี้ตลอด วันนั้นผู้ใหญ่คงไม่รีบตาตื่นพาพวกผมกลับบ้าน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 ก.ย. 13, 10:06
ภาพถ่ายทางอากาศ เห็นสภาพบ้านพัก ตามแนวชายเลน สถานตากอากาศบางปู (ยุงคงเยอะน่าดู)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ก.ย. 13, 10:21
^
ไม่เห็นหลังใหญ่ที่อยู่ใกล้มาทางถนนสุขุมวิทนะ บ้านที่ว่าไม่ได้อยู่แนวริมทะเลครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 ก.ย. 13, 10:26
^
ไม่เห็นหลังใหญ่ที่อยู่ใกล้มาทางถนนสุขุมวิทนะ บ้านที่ว่าไม่ได้อยู่แนวริมทะเลครับ

คงเป็นหลังนี้แน่ ๆ ตึกใหญ่หลังเดียว มีบึงน้ำอยู่ด้านข้าง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ก.ย. 13, 10:34
ช่าย   ใช่ ใช่ ใช่ ใช่ ช่าย

ได้รางวัลไปเล้ย พักฟรี๒คืน แถมมุ้ง๑หลัง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ย. 13, 17:50
^
มาแถมยันต์ให้ด้วยค่ะ  พักตั้ง 2 คืน 
ไปถึงก่อนเที่ยง  อยู่แค่บ่ายๆกลับก็น่าจะพอแล้ว


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 19 ก.ย. 13, 18:17
ร้านหนังสือ Asia Books ยังเปิดขายตามปกติครับ



กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 20 ก.ย. 13, 09:48
สวัสดีค่ะ ทุกท่าน หลังจากแอบอ่านอยู่นาน ได้จังหวะสอบถามพอดี
ภาพเอเชียบุคที่คุณลุงไก่โพสต์ไว้ เห็นแผงลอยขายของที่ฟุตบาท จำได้ว่าเมื่อประมาณปี 2530 นั้นคนขายที่แผงลอยแถบนี้ จะเป็นคนใบ้แทบทั้งหมด ขายของได้เพราะใช้กดเครื่องคิดเลขบอกราคา แถมบนถนนที่เสียงจ้อกแจ้กจอแจ คนขายยังพูดคุยกันได้ เพราะใช้ภาษามือ เดินผ่านแถวนี้ทีไรก็แปลกใจทุกที ไม่ทราบเหมือนกันว่า ปัจจุบันยังเป็นเหมือนแต่ก่อนหรือไม่


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ย. 13, 10:24
นั่นน่ะซิครับ เหมือนจะมีขบวนการอะไรสักอย่างหนึ่งคุมผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน เดียวนี้ก็ดูเหมือนจะยังเป็นอย่างเดิมนะครับ แต่ก็ไม่ค่อยได้ไปเดินนานแล้ว


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 20 ก.ย. 13, 11:40
รูปร้านหนังสือเอเซียบุ๊คส์ข้างบน  คลับคล้ายคลับคลาว่าสมัยก่อนเหมือนจะมีบ้านหลังหนึ่งอยู่ด้านหลังด้วยใช่ไหมคะ  

สมัยโน้นป้ายรถเมล์มักจะอยู่หน้าบ้านหลังใหญ่ๆ สวยๆ  อย่างตรงป้ายรถเมล์ซอยทองหล่อ  เวลายืนรอรถเมล์ชอบดูบ้านเขาน่ะค่ะ  อิอิ  บ้านสมัยนั้นจะดูสวยสงบร่มรื่นดี

เคยไปทานอาหารที่ชั้น 3 ของเซ็นทรัลชิดลม  ชอบนั่งริมหน้าต่าง  มองลงมาเห็นบ้านของตระกูลบีกริมมส์  สวยงามมาก  เสียดายรื้อไปเสียแล้ว



กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ก.ย. 13, 11:52
เอเซียบุคส์เองเป็นตึกแถว ด้านหลังมีบ้านไม้สีขาวๆใช่ไหมครับ

ที่อื่นที่ว่ามา ผมนึกไม่ออกแล้วว่าหน้าตาบ้านเป็นอย่างไร


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ก.ย. 13, 18:55
ได้อ่าน บ้านทรายทอง ฉบับพ.ศ. 2493 เล่าว่า พจมานนั่งสามล้อมายังบ้านทรายทอง บ้านอยู่ถนนวิทยุ สามล้อส่งแล้วบ่ายหน้าไปถนนเพลินจิตต์ พร้อมกับกลิ่นฟางแห้งจากเขตรถไฟช่องนนทรี สามล้อจะไปแยกราชประสงค์


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ย. 13, 20:05
กลิ่นโคลนสาบควายจากเขตรถไฟช่องนนทรี ช่างแรงจริงหนอ  ขนาดสามล้อเลี้ยวไปทางราชประสงค์ยังได้กลิ่น


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ย. 13, 11:10
นึกได้ว่าไม่ไกลจากบ้านทรายทอง    ถ้าสามล้อมาถึงถนนเพลินจิตแล้วเลี้ยวขวา ถีบข้ามทางรถไฟไปสู่ละแวกที่เรียกว่า "บางกะปิ"   ก็จะเจอซอยเล็ก ที่เป็นซอยบ้านของคุณนายสมร แม่ม่ายผู้มีลูกสาวคนสุดท้องชื่อปริศนา     ในซอยมีคูน้ำข้างทาง คงจะขุดไว้เพื่อเอาดินขึ้นมาถมซอย
บ้านของปริศนาเป็นบ้านไม้สองชั้นหลังเล็กๆ เนื้อที่ไม่กว้างนัก เพียงไร่ครึ่ง  :o  มีสนามด้านหน้า รถขับเข้ามาแล้วเลยเข้าไปจอดในโรงรถได้  ด้านหลังเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวของคุณยายของปริศนา
นี่ขนาดบ้านแม่ม่ายจนๆ ในกรุงเทพสมัยสงครามโลกครั้งที่สองนะคะ

ถ้าคุณนายสมรเก็บบ้านหลังนี้ไว้ได้จนถึงปัจจุบัน  ขายที่ดินหนึ่งไร่ครึ่งในซอยสุขุมวิทต้นๆไป เห็นจะนั่งนับแบ๊งค์อย่างเพลิดเพลินได้หลายร้อยล้าน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 ก.ย. 13, 11:29
ทั้งปริศนา และ พจมาน ต่างประสพชะตากรรมเดียวกัน คือ บิดาเสียชีวิตไปเสียก่อน เสมือนเสาหลักของครอบครัวหายไป

ถ้าพจมาน เดินทางไปดูการถมถนนเหรือเดินเล่นไปทาน KFC แถวสุขุมวิท ก็อาจจะเจอปริศนา ที่นั่นก็ได้


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.ย. 13, 09:28
tita
อ้างถึง
เรียงลำดับชักไม่ค่อยถูก  ฝั่งคู่จะมีซอยสายน้ำทิพย์  เป็นที่ตั้ง รร. สายน้ำทิพย์ กับ รร. สายน้ำผึ้ง

ถัดมาอีกเป็นสถานทูต  ไม่แน่ใจว่าฟิลิบปินส์หรืออินโดเนเซีย  ตั้งอยู่ปากซอยซึ่งเมื่อก่อนเคยเป็นที่ตั้งวังละโว้  ปากซอยอีกด้านเป็นร้านกับข้าวชาววัง

วังรื่นฤดีของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ อยู่ซอยสุขุมวิท ๓๘  ส่วนฝั่งคี่  ซอยแสงมุกดาเป็นที่ตั้งวังเลอดิสของสมเด็จพระพี่นางฯ

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เคยมีที่ประทับส่วนพระองค์แห่งแรก ณ สวนรื่นฤดี ถนนราชสีมาตัดกับถนนสุโขทัย แต่ครั้นเมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จออกไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษ จึงทรงขายที่ดินสวนรื่นฤดีให้แก่กองทัพบก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

ต่อมาทั้งสองพระองค์ ทรงพระดำริที่จะเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวร จึงทรงซื้อที่ดินจากนายเออี นานา ในท้ายซอยสันติสุข สุขุมวิท 38 ซึ่งมีพื้นที่กว่า 7 ไร่ แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้สร้างวังขนาดย่อมขึ้นในพุทธศักราช 2500 เพื่อเป็นที่ประทับ โดยมีพลเรือตรีสมภพ ภิรมย์ ศิลปินแห่งชาติ เป็นสถาปนิก แล้วเสด็จไปประเทศอังกฤษอีกในปี พ.ศ. 2501 เพื่อทรงเตรียมพระองค์เสด็จกลับประเทศไทยเป็นการถาวร จากนั้นจึงได้เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 เมื่อทรงประทับ ณ วังแห่งใหม่ จึงได้ขนานนามวังดังกล่าวว่า วังรื่นฤดี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 อันมีความหมายว่า ความเบิกบานสบายใจ  ตั้งอยู่เลขที่ 69 ซอยสุขุมวิท 38 กรุงเทพมหานคร และพระองค์ได้ประทับอยู่ตราบกระทั่งสิ้นพระชนม์

ขอแยกกระทู้ไปเป็น ภาพเก่าแต่แรกสร้าง “วังรื่นฤดี” นะครับ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5766.0


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 24 ก.ย. 13, 11:20
"เรียงลำดับชักไม่ค่อยถูก  ฝั่งคู่จะมีซอยสายน้ำทิพย์  เป็นที่ตั้ง รร. สายน้ำทิพย์ กับ รร. สายน้ำผึ้ง ถัดมาอีกเป็นสถานทูต  ไม่แน่ใจว่าฟิลิบปินส์หรืออินโดเนเซีย  ตั้งอยู่ปากซอยซึ่งเมื่อก่อนเคยเป็นที่ตั้งวังละโว้  ปากซอยอีกด้านเป็นร้านกับข้าวชาววัง"

ผมเป็นเด็กกรุงเทพเสียเปล่า เพิ่งจะรู้ว่ามีโรงเรียนสายน้ำทิพย์ด้วยก็วันนี้เอง รู้แต่ว่าโรงเรียนสายน้ำผึ้งอยู่ซอยสายน้ำทิพย์ สุขุมวิท ๒๒ และโรงเรียนสายปัญญาอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษมใกล้โรงเรียนเทพศิรินทร์

สำหรับสถานทูตอินโดเนเซียนั้นผมเห็นอยู่ที่ถนนเพชรบุรีมาตั้งแต่ไปเดินเล่นที่ห้างไทยไดมารู ราชประสงค์ คงจะไม่ใช่ที่ถนนสุขุมวิทหรอกครับ

เรียนถามอาจารย์ NAVARAT C. ดีกว่า

โรงเรียนเทพศิรินทร์ หรือ โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์
โรงเรียนปทุมคงคา หรือ โรงเรียนวัดปทุมคงคา
โรงเรียนนวลนรดิศ หรือ โรงเรียนวัดนวลนรดิศ
โรงเรียนราชบพิธ หรือ โรงเรียนวัดราชบพิธ
และ โรงเรียนมัธยมวัดราชบูรณะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: Rattananuch ที่ 24 ก.ย. 13, 11:44
เป็นศิษย์เก่ารร.สายน้ำผึ้ง ค่ะ ส่วนสถานทูตใกล้ๆ คือสถานทูตฟิลิปปินส์ เวลานั่งรถเมล์ไปโรงเรียน ยังคิดว่าสถานทูตแห่งนี้เล็กกะทัดรัดดีค่ะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.ย. 13, 12:38
พอรับการบ้านมาปุ๊บก็ใช้พระอินทรเนตรปั๊บ
ท่านตอบมาเป็นเสียงเดียวว่า  โรงเรียนที่ยกนามมาถามเหล่านี้ไม่มีคำว่าวัดนำหน้าแล้วครับ

ผมคิดว่าโรงเรียนที่เข้าไปขอใช้ที่ธรณีสงฆ์ในวัดต่างๆนั้น แรกเริ่มจะเรียกว่าโรงเรียนวัดโน้นวัดนี้ทุกโรงเรียนไป

แต่ต่อมา ได้มีโรงเรียนหลายแห่งเปลี่ยนชื่อโดยเอาคำว่า วัด ออก โรงเรียนที่เปลี่ยนชื่อนั้นฝ่ายผู้บริหารโรงเรียน หรือผู้ปกครอง มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อชื่อวัดนำหน้า โดยคิดว่าเป็นโรงเรียนชั้นสอง และไม่นิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนวัด เป็นเหตุให้ คณะอนุกรรมาธิการกิจการพระพุทธศาสนา ในคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ของสภาผู้แทนราษฎร เสนอต่อมหาเถรสมาคมเพื่อให้ออกคำสั่งแก่โรงเรียนวัดที่ใช้พื้นที่ของวัดหรือธรณีสงฆ์ที่เปลี่ยนชื่อแล้วรวมทั้งกำลังจะเปลี่ยนชื่อให้นำชื่อ วัด ใส่ไปดังเดิม ซึ่งมหาเถรสมาคมเห็นชอบตามข้อเสนอ จึงได้ออกมติมหาเถรสมาคมห้ามเปลี่ยนชื่อโรงเรียนโดยตัดคำว่าวัดออกส่วนโรงเรียนที่เปลี่ยนชื่อไปแล้วให้เปลี่ยนกลับใช้ชื่อเดิม ทั้งนี้ให้ยกเว้นโรงเรียนที่ใช้ชื่อพระราชทาน ส่วนโรงเรียนใดไม่ปฏิบัติตามจะห้ามใช้พื้นที่ของวัด ตลอดจนที่ธรณีสงฆ์อื่นๆ นอกจากคำสั่งเรื่องการเปลี่ยนชื่อแล้วยังได้ให้สถาบันการศึกษาหรือโรงเรียนวัดร่วมมือกับทางวัดในการพัฒนาโรงเรียน

โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ก็ยังยืนยันจะใช้โรงเรียนเทพศิรินทร์เฉยๆโดยอ้างว่าชื่อดังกล่าวได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ แล้วเดี๋ยวนี้เขาขยายกิจการ ไปตั้งสาขาที่โน่นที่นี่ อย่างเช่นเทพศิรินทร์ร่มเกล้า เทพศิรินทร์นนทบุรี เทพศิรินทร์สมุทรปราการ ฯลฯ จะเอาคำว่าวัดติดไปด้วยก็กระไรอยู่

ส่วนโรงเรียนวัดอื่นๆที่ไม่ใช้คำว่าโรงเรียนวัด…..   ก็คงอ้างเหตุผลเดียวกันนี่กระมังครับ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 24 ก.ย. 13, 13:03
ขอนำข้อมูลของโรงเรียนปทุมคงคามาสมทบ  พอดีเมื่อวันก่อนเพิ่งอ่านเจอศิษย์เก่า ปค. ท่านเขียนไว้ในบล็อค  ท่านเขียนไว้ที่ต้นบล็อคว่า "เมื่อไปพบเรื่องราวที่ผมเขียนใน bloggang ในเว็บอื่นๆ โดยคนทำก็อปไปทั้งบล็อก หากผู้นำไปใช้ไม่ได้หาประโยชน์โภคผลใดๆ ผมก็อนุโมทนาสาธุด้วย อย่างน้อยก็ได้เผยแพร่ไปในกลุ่มอื่นๆ"  เลยขออนุญาตเผยแพร่ข้อมูลที่มีประโยชน์ของท่าน  http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=klongrongmoo&month=10-2010&date=25&group=13&gblog=10 (ftp://http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=klongrongmoo&month=10-2010&date=25&group=13&gblog=10)

อ่านจากข้อมูลเข้าใจว่าการเปลี่ยนชื่อจากเดิม โรงเรียนมัธยมวัดปทุมคงคา มาเป็นโรงเรียนปทุมคงคา น่าจะมีขึ้นในช่วงการย้ายโรงเรียนมาที่เอกมัย


(http://www.bloggang.com/data/klongrongmoo/picture/1288705583.jpg)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 24 ก.ย. 13, 13:37
คุณลุงไก่คะ  รร. สายน้ำทิพย์กับ รร. สายน้ำผึ้งอยู่ในซอยเดียวกัน  คลับคล้ายจะอยู่ตรงข้ามกันเป็นโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องน่ะค่ะ  ส่วนรายละเอียดว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไรอยากจะถามคุณ Rattananuch เหมือนกันค่ะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ก.ย. 13, 20:04
ขอแนบแผนที่อากาศให้ดูเมื่อยุค พ.ศ. ๒๔๙๕ ถึงการเติบโตของถนนสุขุมวิทและกลุ่มหมู่บ้านเรือนที่กระจายตัวอยู่ย่านสุขุมวิท

โดยกลุ่มบ้านจะหนาตัวริมถนนสุขุมวิท และด้านหลังลึกเข้าไปจะเป็นทุ่งนาเก่า

ที่มาของภาพกรมแผนที่ทหาร โดยสำเนาของคุณหม่องวิน มอร์ไซด์


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 13, 09:08
๕๑ ปีมาแล้ว สุขุมวิทตอนต้นยังมีที่ดินว่างผืนใหญ่ๆเหลือเฟือ    ถ้าดูแผนที่ทางอากาศในปัจจุบันนี้ คงแน่นเอี้ยดราวกับคนละถิ่นกัน

ผมเป็นเด็กกรุงเทพเสียเปล่า เพิ่งจะรู้ว่ามีโรงเรียนสายน้ำทิพย์ด้วยก็วันนี้เอง

ดิฉันก็อดีตเด็กกรุงเทพ   เพิ่งจะรู้ว่ามีร.ร.สายน้ำทิพย์ที่สุขุมวิท    ไปถามครูกู๊กดู  ท่านตอบว่าเป็นร.ร.สังกัดการประถมศึกษา   มีประวัติร.ร.แต่ว่าเข้าไปอ่านไม่ได้ เพราะจะต้องมีล็อคอินรหัสผ่านถึงจะเข้าไปรู้ประวัติโรงเรียนได้ค่ะ   ทำไมต้องจำกัดการเข้าถึงด้วยก็ไม่ทราบ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 27 ก.ย. 13, 09:08
เข้ามาตามอ่านค่ะ เรื่องซอสพริกศรีราชานี่เพิ่งทราบนะคะนี่ว่าเจ้าของไปเอาสูตรมาจากน้ำพริกญวรเป็นเรื่องน่าสนใจมาก เพราะเคยได้ยินคุณกอล์ฟจากรายการเทยเที่ยวไทยเล่าว่า ปัจจุบันทางเวียดนามซื้นลิขสิทธิ์ชื่อซอสพริกศรีราชาไปแล้วเอาไปทำต่อ อย่างนี้รสชาติน่าจะดั้งเดิมกว่าหรือเปล่า เพราะเจ้าของสูตรแท้ๆเอาไปทำ



กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ก.ย. 13, 09:46
เข้ามาตามอ่านค่ะ เรื่องซอสพริกศรีราชานี่เพิ่งทราบนะคะนี่ว่าเจ้าของไปเอาสูตรมาจากน้ำพริกญวรเป็นเรื่องน่าสนใจมาก

คุณมารน้อยคงอ่านมาจากความเห็นนี้

คนแรกที่ได้คิดทำน้ำพริกนี้ขึ้นมาชื่อ กิมซัว ทิมกระจ่าง เป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่ตั้งรกรากอยู่ในศรีราชา ญาติเราที่ศักดิ์เป็นป้าเรียกว่า ก๋งกิมซัว แต่ตามลำดับแล้ว เขาเป็นเหล่าก๋งของป้า เพราะเป็น ก๋งของย่าเรา

นายกิมซัวมีอาชีพค้าขาย ออกเดินเรือค้าขายอยู่ในภาคตะวันออก ตอนหนุ่ม ๆ เคยเดินทางไปค้าขายยังเขมร และได้เข้าไปทำการค้าในวังของเจ้าเขมรด้วย เห็นว่าเคยได้หม่อมในวังเจ้าเขมรองค์หนึ่งด้วย (ท่ีบ้านเขานินทาบรรพบุรุษกันอย่างนี้เลย)

สมัยนั้นทั้งเขมรและเวียดนามตกภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ในกัมพูชาจึงมีคนเวียดนามที่คนฝรั่งเศสอพยพมาอยู่เยอะ นายกิมซัวไปเห็นคนญวนเอาพริกหมักน้ำส้มสายชูมาบดละเอียดแล้วกลายเป็นน้ำพริกที่เนื้อเนียนเข้ากันดี เห็นแล้วติดใจเลยไปดูคนเวียดนามเขาทำน้ำพริกชนิดนี้ ตอนกลับมาศรีราชาก็นำกรรมวิธีการทำน้ำพริกมาดัดแปลงให้ถูกปากคนในครอบครัวที่เมืองไทย กลายเป็นอาหารประจำบ้านไป

เรื่องนี้เหมือนกับที่เราเคยถกกันว่าศิลปการร่ายรำไทยเอามาจากเขมรหรือเขมรเอามาจากไทย แต่แท้ที่จริงแล้ววัฒนธรรมมีการถ่ายเทกันไปมา

เรื่องนาฏศิลป์และดนตรี ถ้าเทียบกันระหว่างลาวและเขมร ของเขมรจะมีส่วนคล้ายไทยมากกว่า จนหลายคนเข้าใจว่าไทยรับเอามาจากเขมร และคนเขมรเองก็อาจเช่นนั้น

ความจริงแล้ว วัฒนธรรมมีการถ่ายเทกันไปมา อินเดียถ่ายทอดเรื่องนาฏศิลป์ให้เขมร ต่อมาสมัยอยุธยาตอนต้นก็รับอิทธิพลมาจากเขมรอีกทอดหนึ่ง จนเมื่อตอนต้นของสมัยรัตนโกสินทร์ไทยก็ถ่ายทอดวิชากลับให้เขมร

เรื่องนี้ก็น้ำพริกศรีราชาก็เช่นเดียวกัน คุณกิมซัวเอาวิธีทำมาจากญวน ดัดแปลงให้เข้ากับปากคนไทย และยี่ห้อ "ศรีราชา" ของคุณกิมซัวก็กลับไปเป็นของญวนแล้วที่อเมริกาในปัจจุบัน


รู้เปล่า? ... "ซอสศรีราชา"กำลังดังระดับโลก ขายดิบขายดี แต่ไม่ได้ผลิตโดยคนไทย !!

ซอสศรีราชากำลังดังระดับโลก

ถ้าคุณได้ยินว่า ซอสศรีราชาที่แสนอร่อยของเรากำลังดังจรดเหนือใต้ออกตกในอเมริกา และในทุกภัตตาคารทั้งระดับกลางและระดับสูงจะต้องมีประจำบนโต๊ะ คุณจะรู้สึกอย่างไรคะ

ดีใจแทนคนไทยใช่ไหมคะ

แต่เมื่อรู้ว่า มันไม่ใช่ซอสที่คนไทยทำ แต่กลายเป็นคนเวียดนามทำ โดยใช้สูตรเดียวกับซอสศรีราชา และถูกเรียกว่า Rooster Sauce ตามรูปไก่งวงที่อยู่บนขวด แต่ก็ยังคงใช้ชื่อเรียกทั่ว ๆ ไปว่าเป็นซอสศรีราชา คุณจะรู้สึกอย่างไรล่ะทีนี้

โกรธ เสียดาย ประมาณนี้ใช่ไหมคะ

เมื่อ ตอนผู้เขียนเห็นข่าวนี้ที่มีพาดหัวว่า ซอสศรีราชากำลังขึ้นไปฮอตอยู่ในภัตตาคาร ก็ดีใจนึกว่าโอโห ซอสศรีราชาไปทำชื่อทั่วโลกเหมือน กระทิงแดง Red Bull แต่พอรู้ว่าคนเวียดนามเอาสูตรของเราไปต่างหาก ก็คอตกทีเดียว

และยังนึกเสียดายว่าคนไทยมีอาหารที่อร่อยเยี่ยมมากมาย แต่ไม่สามารถทำการตลาดให้กว้างไกลได้ นับเป็นการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจอย่างมหาศาล และน่าเจ็บใจขึ้นไปกว่าเมื่อคนอื่นเอาสิ่งที่เราเป็นคนเริ่มต้นคิดไปต่อยอดจนร่ำรวย

คนไทยยังไม่เชี่ยวชาญการตลาดใช่หรือไม่ เป็นเรื่องน่าคิด เรามักพอใจอยู่แค่ขายได้พอกินพอใช้ไปวัน ๆ

ต่างชาตินั้นจะเริ่มจากสูตรอาหาร ไม่ว่าจะเป็นไก่ทอดเคนตั๊กกี้ หรือโดนัท คริสปี้ ครีม แล้วเขาก็คิดวิธีทำการตลาดที่จะทำให้สามารถขายได้ปริมาณมาก ๆ เริ่มตั้งแต่วิธีการผลิต บรรจุหีบห่อ ขนส่ง และการโฆษณาประชาสัมพันธ์

ทำไมโค้ก เป๊ปซี่ ถึงขายไปได้ทั่วโลก ทำไมผลิตภัณฑ์ตัวเดียว ถึงทำเงินได้มหาศาล และทำให้คนมีงานทำมากมาย

ทำไมแกงมัสหมั่นซึ่งเป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในโลก ถึงไม่มีคนคิดหาทางเก็บรักษา บรรจุขวด หรือถุงพลาสติกที่เรียกว่า pouch แล้วส่งขายได้ทั่วโลก ให้แม่บ้านอเมริกัน อิตาเลียน ญี่ปุ่น เกาหลี เทใส่หม้ออุ่น หรือเข้าไมโครเวฟ เสิร์ฟได้ทันที

คราวนี้ลองมาดูความเป็นมาของเจ้าซอสศรีราชาที่ว่า ที่ไม่ได้เป็นของคนไทยกัน

สินค้าตัวนี้ผู้ผลิตคือ Huy Fong Foods ซึ่งอยู่นอกเมืองลอสแองเจลิส

เจ้าของบริษัทนี้ชื่อ เดวิด ทราน อายุ ๖๘ ปีแล้ว ขณะนี้บริษัทของเขาได้กลายเป็นบริษัทอาหารที่เติบโตเร็วที่สุด แซงหน้าบริษัทอย่าง Heinz ด้วยผลิตภัณฑ์หลักเพียงหนึ่งเดียวคือซอสพริกศรีราชา Rooster Sauce นี้

ปีที่แล้วซอสที่ว่านี้ขายไปแล้วถึง ๒๐ ล้านขวด

เรื่องของ รสชาติเป็นเรื่องปากต่อปาก เหมือนอาหารร้านอร่อยก็บอกต่อกัน บริษัทนี้ไม่เคยเสียเงินทำแคมเปญโฆษณา ไม่มี fanpage ไม่มีทวิตเตอร์ มีเว็บของบริษัทก็จริง แต่ก็มีเพียงให้รู้ว่ามีตัวตน ไม่ได้อัพเดตมาตั้งแต่ปี ๒๔๕๖ เป็นปรากฏการณ์พิเศษจริง ๆ ที่บริษัทไม่ต้องมีสิ่งเหล่านี้ก็สามารถสร้าง follower ได้มากมาย

เดี๋ยวนี้ไม่มีใครรู้จักซอสพริกศรีราชาที่มีต้นกำเนิดจากอำเภอศรีราชา มีแต่คนรู้จักซอสศรีราชาของ ฮุย ฟอง

เมษายน ปีที่แล้ว บริษัทวิจัยตลาด IBISWorld เปิดเผยว่า ซอสพริกคืออุตสาหกรรมที่เติบโตเป็นอันดับที่ ๘ ถัดจากการผลิตแผงวงจรพลังงานแสงอาทิตย์ และบอกว่ารายรับของธุรกิจซอสพริกในปี ๒๕๕๕ ไต่ไปถึง หนึ่งพันล้านเหรียญ และมีอัตราเติบโตปีละ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ทุกปี มิไยว่าเศรษฐกิจทั่วไปจะดิ่งลงเหว

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เกี่ยวเนื่องกับการที่ประชากรผิวเหลืองอพยพไปอยู่ในอเมริกามากขึ้นด้วย

ตั้งแต่ ปี ๒๕๔๓ ประชากรผิวเหลืองเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๕ และไม่เพียงแต่คนเอเชียนเหล่านี้จะบริโภคซอสพริกศรีราชากันอย่างเป็นล่ำเป็น สัน ก็ยังชวนเพื่อน ๆ ให้ลิ้มลองด้วย ต่อมาภัตตาคารต่าง ๆ ก็ถึงเวลายกซอสพริกศรีราชาขึ้นตั้งโต๊ะ

ตอนนี้ซอสศรีราชาของ ฮุย ฟอง ก็ถูกนิตยสารอาหาร Cook"s Illustrated ยกให้เป็นซอสพริกรสเยี่ยมที่สุดในโลกไปแล้ว แซงหน้า Frank"s Red Hot, Cholula Hot Sauce, และ Tabasco ที่เราเคยชินกันดีและมักเห็นวางอยู่บนโต๊ะในร้านอาหารฝรั่ง

พูดถึงโทบาสโก พวกเราคนไทยที่คุ้นเคยกับของอร่อย ก็รู้สึกมาตั้งนานแล้วว่าไม่ถูกลิ้น รสไม่ได้กลมกล่อมอย่างซอสศรีราชาสักนิด

คุณ เดวิด ทราน เอาซอสพริกศรีราชามาชิม แล้วก็ลองทำดู แล้วก็ทำสำเร็จในเวลาเพียงไม่กี่วัน เขาใช้พริกชี้ฟ้า บดด้วยมือ เติมน้ำส้มสายชู น้ำตาล เกลือ และสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือกระเทียม เท่านี้เอง ทุกวันนี้ก็มีสูตรอยู่เท่านี้แหละ ตอนแรกเขาก็คิดจะทำขายเพื่อนผู้อพยพด้วยกัน แต่รสชาติที่ถูกปากของมันทำให้แพร่หลายไปยังรวดเร็ว แล้วราคาก็ถูก อร่อยก็อร่อย ขวดขนาด ๒๘ ออนซ์ ราคา ๔ เหรียญเท่านั้น

คนที่ช่วยเขาทำการตลาดและบรรจุภัณฑ์คือพ่อตาของเขา ที่ไปจัดหาขวดแก้วมาบรรจุโดยเลียนแบบขวดอาหารทารกที่พวกทหารอเมริกันทิ้งไว้ ในสงครามเวียดนาม แล้วก็ใช้รถเชฟโรเลตเก่า ๆ ขนไปส่ง

ภัตตาคารต่าง ๆ ยินดีใช้ซอสของเขาเพราะไม่บูดไม่เน่า พอมีจำนวนขายมากเข้าก็เปิดโรงงาน

ทุกวันนี้โรงงานของ ฮุย ฟอง มีขนาดใหญ่โตมโหฬารถึง ๖๕๕,๐๐๐ ตารางฟุต ใครผ่านไปทาง เออร์วินเดล ในลอสแองเจลิส ก็จะเห็นอาคารนี้ ตั้งเด่นเป็นสง่าบ่งบอกถึงความสำเร็จของซอสศรีราชาสัญชาติเวียดนาม-อเมริกัน ดังว่านี้

ใครไปอเมริกา อย่าซื้อซอสของ ฮุย ฟอง กลับบ้านเชียวละ อายเขาตาย

จาก คอลัมน์โลกหมุนเร็ว ของคุณเพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์  ฉบับวันที่ ๘-๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ (http://www.prachatalk.com/webboard/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2-%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B2-%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81-%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%B5)

ซ้าย ซอสศรีราชาของเถ้าแก่กิมซัว   ขวา ซอสศรีราชาของเถ้าแก่เดวิด ทราน

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ก.ย. 13, 09:58
เอา Rooster Sauce มาให้ชม ก็ใช้ Sriracha ด้วย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ก.ย. 13, 10:00
เพราะเคยได้ยินคุณกอล์ฟจากรายการเทยเที่ยวไทยเล่าว่า ปัจจุบันทางเวียดนามซื้นลิขสิทธิ์ชื่อซอสพริกศรีราชาไปแล้วเอาไปทำต่อ อย่างนี้รสชาติน่าจะดั้งเดิมกว่าหรือเปล่า เพราะเจ้าของสูตรแท้ๆเอาไปทำ

คุณ Easy rider ให้ข้อมูลเรื่องลิขสิทธิ์ต่อท้ายบทความข้างบนเพิ่มเติมว่า   

ซอสศรีราชามีการนำเข้า California ประมาณปี ๑๙๖๘ ลูกชายเจ้าของเป็นผู้นำเข้าไปเอง

เป้าหมายหาตลาดขายเพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ,เรียนไปขายไป จนเรียนจบ จึงได้ทำตลาดอย่างจริงจัง

ตลาดซอสศรีราชา(แท้) ขายดีมากต่อมา จริงคิดผลิตที่แม็กซิโก เพราะมีวัตถุดิบครบ

มัวแต่วุ่นวายอยู่กับคุณภาพวัตถุดิบและการขาย จนลึมเรื่องลิขสิทธิ จึงถูกคนชาติอื่นแฮบเอาไปแด็ก ด้วยประการะชะนี้

ผู้นำเข้าไปบุกตลาดอเมริกา คือคนตระกูลทิมกระจ่าง ครับ

ปูลู. หัวใจของการทำซอสศรีราชาคือวัตถุดิบ พริกจะต้องแดง ๑๐๐เปอร์เซนต์ น้อยไปด่าง มากไปเน่า,พริกแม็กยี่โกมีปัญหามากตรงนี้


ป.ล. การสะกดคำและสำนวนที่ใช้เป็นของคุณ Easy rider เน้อ

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley16.png)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ก.ย. 13, 10:10
คุณเพ๊ญ ๆๆ เขามีแบบ ลิปส์ปาล์ม ทาปากด้วย  ::) ::)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 13, 15:00
ขอเชิญคุณ simese พาเพื่อนฝูงย้อนกลับไปชมสะพานสุขตาที่บางปู กับคุณล้วน ควันธรรม
ถ้าคุณเพ็ญชมพูจะเอาซอสศรีราชาไปจิ้มอาหารว่างที่นั่นด้วยก็ไม่ผิดกติกาอันใด


http://www.youtube.com/watch?v=XQ215YNg0KE


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ก.ย. 13, 15:09
ขอเชิญคุณ simese พาเพื่อนฝูงย้อนกลับไปชมสะพานสุขตาที่บางปู กับคุณล้วน ควันธรรม
ถ้าคุณเพ็ญชมพูจะเอาซอสศรีราชาไปจิ้มอาหารว่างที่นั่นด้วยก็ไม่ผิดกติกาอันใด


ขอบคุณครับ จะเห็นว่าสะพานสุขตา สร้างด้วยไม้ คลาสสิกมาก ๆ เลย ยิ่งมีนกนางนวลโผบิน ได้บรรยากาศสุด ๆ

http://www.oknation.net/blog/anontaseeha/2012/07/08/entry-1


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 13, 15:21
จากลิ้งค์โอเคเนชั่นข้างบนนี้ค่ะ
รูปวงดนตรีน่าจะถ่ายประมาณ 2505  เพราะวงสตริงคอมโบ หรือเรียกกันว่าวงชาโด้เกิดขึ้นในยุคนั้นค่ะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 13, 15:23
แต่รูปนี้น่าจะทศวรรษ 2490s   ดูจากแฟชั่นกระโปรงผู้หญิง และกางเกงทรงลุงของผู้ชาย


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 ก.พ. 14, 10:21
ค้นหาคำตอบเรื่องคลองบริเวณจุฬาลงกรณ์ มาให้ อา Navarat.C แล้วนะครับ
๑. คลองนางใบ้ จากคลองสวนหลวงวิ่งมายังศาลเทพารักษ์ (จุดเหลือง)

๒. คลองสะพานสูง ด้านทิศเหนือ จากด้านหอพักนิสิต (มาบุญครอง) ลงมาชนที่ตั้งโรงพักพลตระเวนย่อยหัวลำโพง

๓. คลองอุเทน ด้านตะวันออก วิ่งจากโรงพักพลตระเวนย่อยหัวลำโพง ผ่านหน้าคณะสถาปัตยกรรม ไปออกคลองอรชร


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ก.พ. 14, 10:53
รับทราบครับ

เออ แล้วทำไมจึงชื่อคลองอุเทน แล้วมีวิทยาลัยช่างก่อสร้างอุเทนถวายมาตั้งสถาบันขึ้นแถวนั้น ความหมายคืออะไร


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 ก.พ. 14, 11:09
รับทราบครับ

เออ แล้วทำไมจึงชื่อคลองอุเทน แล้วมีวิทยาลัยช่างก่อสร้างอุเทนถวายมาตั้งสถาบันขึ้นแถวนั้น ความหมายคืออะไร

คลองอุเทนนั้น เรียกมาก่อนหรือว่าเรียกตามชื่อ "สะพานอุเทน" ประมาณนี้ครับ โดยที่เกี่ยวเนื่องกับสะพานอุเทน

ชื่อ อุเทน เป็นเทวดาดีดพิณ โดยกรมสรรพากรเป็นผู้ใช้ตราประจำกรม ทั้งนี้กรมสรรพากรได้มีการสร้างสะพานข้ามคลองนี้

เพื่อน้อมเกล้าน้อมถวายรัชกาลที่ ๖ เพื่อความเจริญของบ้านเมือง ที่ตัวสะพานทำเป็นตราพระอุเทนดีดพิณ อันเป็นตรากรมสรรพากรครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ก.พ. 14, 11:13
อ้อ ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่ครับ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ก.พ. 14, 11:26
ชื่อ อุเทน เป็นเทวดาดีดพิณ  โดยกรมสรรพากรเป็นผู้ใช้ตราประจำกรม ทั้งนี้กรมสรรพากรได้มีการสร้างสะพานข้ามคลองนี้

อุเทน ไม่ใช่ชื่อเทวดาดอก แต่เป็นชื่อกษัตริย์แห่งกรุงโกสัมพี มีประวัติอยู่ในหนังสือธรรมบทแปล ภาค ๕ เป็นบทตอนหนึ่ง ซึ่งรวมอยู่ในเรื่อง พระนางสามาวดี ซึ่งนายประพัฒน์ ตรีณรงค์ แห่งกรมศิลปากร ได้เขียนไว้ในหนังสือ ศิลปากร ว่า

พระอุเทนธิราชเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปลันตาปะแห่งกรุงโกสัมพี เมื่อยังอยู่ในพระครรภ์ นกหัสดีลิงค์ได้โอบเอาพระราชมารดาไปปล่อยไว้ที่คาคบไม้ใหญ่ในป่า และได้ประสูติที่นั่นยามรุ่งอรุณ จึงมีพระนามว่า อุเทน แปลว่า รุ่งอรุณที่ปราศจากเมฆหมอก ต่อมาอัลลกัปปดาบส นำไปทำนุบำรุงและ สอนมนต์ชื่อหัสดีกันต์และพิณสามสาย เมื่อดีดพิณและสาธยายมนต์ สามารถทำให้ช้างหนี หรือช้างเข้ามาหาก็ได้ เมื่อพระเจ้าปลันตาปะ สวรรคตพระเจ้าอุเทนทรงนำกองทัพช้างเข้าสู่กรุงโกสัมพี และได้เสด็จขึ้นครองราชย์ นับแต่บัดนั้น

ข้อมูลจาก เว็บกรมสรรพากร (http://www.rd.go.th/publish/3449.0.html)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ก.พ. 14, 11:43
คลองอุเทนนั้น เรียกมาก่อนหรือว่าเรียกตามชื่อ "สะพานอุเทน" ประมาณนี้ครับ โดยที่เกี่ยวเนื่องกับสะพานอุเทน

ชื่อสะพานมีมาก่อนชื่อคลอง มีประวัติดังที่คุณหนุ่มเคยเล่าไว้ดังนี้

(http://i570.photobucket.com/albums/ss148/rin1965/259834_1591899697560_1837942025_1020850_3498897_n.jpg)

หลังจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เสด็จสู่สวรรคตในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ ได้หนึ่งปี ได้มีคณะข้าราชการเสมียนพนักงานกรมสรรพากรใน โดยมีพระยารัชฎากรโกศลเป็นหัวหน้า ได้พร้อมใจกันสละทรัพย์รวบรวมเงินได้ถึง ๘,๐๑๕ บาท ๔๐ สตางค์ มีกำหนดการจะนำไปสร้างสะพานอุทิศส่วนกุศลถวายแด่รัชกาลที่ ๕
 
ท่านเจ้าพระยายมราชได้ทูลเกล้าฯ เสนอชื่อของสะพานให้ทรงเลือกถึง ๔ ชื่อ คือ สะพานอุเทนอุทิศ สะพานสรรพากรในอุทิศ สะพานบริวารถวาย สะพานเบญจมราชูทิศ ปรากฎว่าไม่ทรงโปรดทั้ง ๔ ชื่อนั้นเลย แต่ทรงพระราชทานชื่อให้ใหม่ เป็นพระราชกระแสรับสั่งลงมาว่า "ส่วนสะพานของกรมสรรพากรในนั้นให้ชื่อว่า อุเทนถวาย ดูจะกะทัดรัดดี"

นาม "อุเทนถวาย" จึงเป็นนามพระราชทาน และเมื่อเปรียบเทียบกับชื่อ ๔ ชื่อ ที่ทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงเลือกนั้น "อุเทนถวาย" เหตุที่กรมสรรพากรได้นำพระรูปพระเจ้าอุเทนธิราชดีดพิณ มาเป็นเครื่องหมายประจำกรมก็เพราะพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในการใช้พิณ และมีมนต์เรียกช้างได้ จึงใช้เป็นสัญลักษณ์ให้มีความหมายเรียกชวนประชาชนให้นำภาษีอากรมาบำรุงรัฐและตามประวัติของกรมสรรพากรยังมีตราพระเจ้าอุเทนธิราชดีดพิณใช้เป็นเครื่องหมายอยู่ ๒ แบบ

ข้าราชการกรมสรรพากรใน ได้ร่วมกันจัดพิธีเปิดสะพานอุเทนถวายเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๖ หลังจากได้ทำการก่อสร้างสะพานจนเสร็จเรียบร้อย และถ้าจะนับจากวันที่ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามก็เป็นเวลาเกือบ ๒ ปี มีบันทึกถึงพิธีจัดงานไว้ว่าตอนเช้ามีพิธีถวายภัตตาหารพระสงฆ์ เวลาบ่ายพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ตอนเย็นรัชกาลที่ ๖ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งผ่านสะพานเพื่อเป็นสิริมงคลแก่เหล่าข้าราชการทั้งปวงที่ร่วมใจกันจัดสร้างสะพานถวาย

หลังจากเสด็จพระราชดำเนินผ่านสะพานแล้ว ได้มีพระบรมราชโองการให้เปิดไฟฟ้าแสงสว่างประจำถนนหัวลำโพงนอกกับถนนปทุมวันที่ได้ติดตั้งแสร็จพร้อมเปิดใช้งานได้ในวันนี้ด้วย

สะพานอุเทนถวาย เป็นสะพานข้ามคลองเล็กๆตั้งอยู่ที่หัวมุมรั้วของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพอดี มิได้ตั้งติดกับโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายทีเดียวนัก คือยังมีโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาคั่นอยู่ลักษณะของสะพานเป็นโครงเหล็ก มีลูกกรงเป็นเหล็กหล่อมีลวดลายงดงามแบบเดียวกับสะพานอื่น ๆที่ได้สร้างในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๕

สะพานอุเทนถวาย ได้ถูกรื้อถอนไปเช่นเดียวกับสะพาน "เฉลิม" บางสะพานเมื่อพ.ศ. ๒๕๐๕ ในยุคกรุงเทพฯ พัฒนา ซึ่งได้มีการถมคลองรื้อสะพานเพื่อขยายถนนให้กว้างขึ้นให้รับกับความเจริญเติบโตของบ้านเมือง แม้ว่าสะพานอุเทนถวายจะไม่มีให้เห็นแล้ว แต่ชื่อของ อุเทนถวายยังคงอยู่คู่กับสถานศึกษาที่มีชื่อว่า "โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย" พัฒนามาเป็น "วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตอุเทนถวาย" พัฒนามาเป็น "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย" และในปัจจุบันได้พัฒนามาเป็น "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย"

และถ้าเทียบตำแหน่งของสะพานและตึกที่เห็นหลังภาพ เป็นตึกคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  ดังนั้นสะพานนี้ก็อยู่ตรงประตูรั้วจุฬาบริเวณประตูทางเข้าหน้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ครับ

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 14, 20:46
รูปนี้ น่าจะเรียกว่ายุคคุณทวดได้ เพราะคุณปู่คุณย่าทั้งหลายน่าจะยังวัยเด็กหรืออย่างมากก็วัยรุ่น
ก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  วงดนตรีไทยที่ขึ้นหน้าขึ้นตาในสังคมมากที่สุดคือวงบิ๊กแบนด์สุนทราภรณ์   มีนักร้องมากมายล้วนแต่มีเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จัก   เพลงสุนทราภรณ์แพร่เสียงอยู่ตามวิทยุ และแพร่ภาพพร้อมเสียงทางทีวี   เป็นรายการสุดท้ายของคืนวันใดวันหนึ่งในเจ็ดวันนี่แหละ ทางช่อง 4 บางขุนพรหม

นักร้องสุนทราภรณ์ดังๆในภาพข้างล่างนี้ ส่วนใหญ่ขึ้นไปขับกล่อมบนสวรรค์กันหลายปีแล้วค่ะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 26 ก.พ. 14, 10:37
คุณยาย  โมชิกา  ลงรูปนี้ไว้ในบอร์ดไร้สังกัด
โมชิกา คือนักเขียนผู้ใช้นามปากกา "จันทรำไพ"
ยายโมรู้จักสนิทกับมนันยาเป็นอย่างดีเห็นถ่ายรูปด้วยกันที่เมืองนอก
รูปนี้ในงานรับน้องใหม่ มีลุงต่วยนั่งอยู่ด้วย
   เหตุเกิดปีไหนไม่บอกไว้

เมื่อพูดถึงสะพานอุเทนถวาย นึกถึงรูปนี้ที่เกิดใกล้ๆกัน



กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 14, 11:12
คุณจันทรำไพเคยเรียนคณะสถาปัตยฯ จุฬา   รุ่นไหนไม่ทราบแต่ก่อนคุณ visitna น่าจะแบบไม่เห็นฝุ่น     สมัยเธอแทบจะไม่มีผู้หญิงเรียกถาปัดกันเลย
คิดว่าประมาณพ.ศ. 2500 ต้นๆค่ะ


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 ก.พ. 14, 13:13
เพิ่งทราบว่า คุณยาย Mochica เป็นน้องสาว นายผี ขวัญใจคุณชูพงศ์

ตามคุณยายเล่าไว้ใน พันทิป (http://www.atriumtech.com/cgi-bin/hilightcgi?Home=/home/InterWeb2000&File=/home2/searchdata/Forums/http/www.pantip.com/cafe/isolate/topic/M3096034/M3096034.html) ว่า

ยายไม่รู้จัก "นายผี" น่ะ
เคยเห็นหน้าหนเดียว  ตอนที่ยายยังตัวกระจิ๋วหลิว
...แค่นั้นเอง

ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกันเท่าไร

อาจมีคล้ายๆกันก็ตรงที่
ยายเข้ากับพวก "ในป่า"  แถวๆถิ่น ละติน
...แค่นั้นเอง


(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 14, 15:41
ยี่เกพวกนี้น่าจะเป็น เทียด มากกว่าทวด   ถ่ายเมื่อพ.ศ. 2456  ในต้นรัชกาลที่ 6  ค่ะ
เคยอ่านนิยายเก่าๆพบว่าพวกลิเกชอบสูบฝิ่น    ผอมอย่างนี้น่าจะมีเค้า


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 18 ก.ย. 14, 08:36
เรื่องนี้................เล่าขานกันไปอีกหลายชั่วอายุ
เรื่องนํ้าท่วม 2485 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 18 ก.ย. 14, 08:37
เพิ่ม


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 18 ก.ย. 14, 08:38
.


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 18 ก.ย. 14, 08:39
.


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 18 ก.ย. 14, 08:40
.


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 18 ก.ย. 14, 08:41
.


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 18 ก.ย. 14, 08:42
.


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 18 ก.ย. 14, 08:43
.


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 18 ก.ย. 14, 08:43
.


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 18 ก.ย. 14, 08:44
.


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 18 ก.ย. 14, 08:47
โรงพยาบาลกลาง   ตึกนี้สมัยหนึ่งเป็นตึกฉุกเฉิน  ปัจจุบันไม่รู้ว่ายังมีอยู่หรือไม่


กระทู้: เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 19 ก.ย. 14, 17:04
ตึกอุบัติเหตุของ    รพ.กลางภาพสุดท้าย
พี่เรืองศักดิ์ ขณะนี้อยู่ที่เกาหลีอุตส่าห์
ไลน์มา แจ้งว่ารื้อไปแล้วตอนนี้กลายเป็นที่ว่าง
 
ตึกนี้นักข่าวรุ่นเก่าจะรู้จักดีเพราะเป้นแหล่งข่าว
สำคัญในเรื่องอุบัติเหตุและอาชญากรรม
ช่วงเช้านักข่าวจะต้องมารอทำข่าวที่นี่โดยอยู่ในร้านกาแฟฝั่งตรงข้าม
ถ้าอ่านหนังสือเช่น ทะเลนํ้าหมึกของคุณถาวร สุวรรณ หรือ หนังสือของคุณภราดร ศักดา  จะเข้าใจ