เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 13, 21:45



กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 13, 21:45
ต้นราชสกุล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
เริ่มกระทู้โดย: giggsmay ที่ 24 เม.ย. 13, 10:13
 ;Dมาขอนั่งที่โต๊ะหน้ากระดานดำเลยคะ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร พระประวัติของพระองค์ท่านไม่เป็นที่เผยแพร่สักเท่าไหร่


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 13, 11:21
    ย้อนกลับไปเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ยังทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎอยู่ในรัชกาลที่ 2    พระชันษายังไม่ถึงปีผนวช   ก็ทรงมีหม่อมแล้วหนึ่งคน  ชื่อหม่อมน้อย 
    หม่อมน้อย เมื่อเกิดมาควรจะมีฐานันดรศักดิ์เป็นหม่อมเจ้า  เพราะว่าบิดาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า  พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช   ทรงพระนามว่าเจ้าฟ้าชายทัศไภย    ซึ่งประสูติในกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (เจ้าหญิงฉิม) ธิดาของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช (หนู)   เจ้าฟ้าชายทัศไภยมีพระเชษฐาองค์หนึ่งทรงพระนามว่า สมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศพงศ์ ต้นราชสกุล "พงษ์สิน"
    เมื่อเปลี่ยนราชวงศ์    บรรดาพระราชโอรสสมเด็จพระเจ้าตากสินก็เปลี่ยนฐานะจากเจ้านายลงมาเป็นสามัญชน    ส่วนหนึ่งได้เข้ารับราชการ    สมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศไภยและพระเชษฐาทรงมีความรู้ทางการแพทย์  จึงได้เป็นแพทย์หลวงประจำอยู่ในราชสำนัก บรรดาศักดิ์พระพงศ์นรินทร์และพระอินทร์อภัย(หรือบางแห่งเรียกว่าพระอินทร์อำไพ)
    พระอินทร์อภัยลักลอบรักใคร่กับเจ้าจอมในรัชกาลที่ 2  ถูกจับได้ถือเป็นการผิดกฎมนเทียรบาลอย่างร้ายแรงจึงถูกประหารชีวิต  แต่ลูกเมียก็อยู่เป็นปกติต่อมา ไม่ได้รับโทษแต่อย่างใด
    หม่อมน้อยได้เป็น "ข้างใน" ของเจ้าฟ้ามงกุฎ  มีพระโอรส 2 องค์ ตอนแรกประสูติดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้า  องค์แรกคือหม่อมเจ้านพวงศ์  และองค์ที่สองคือหม่อมเจ้าสุประดิษฐ์
 


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 13, 11:44
    ในปลายรัชกาลที่ 2  สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมทางฝั่งธนบุรี   กับหม่อมน้อยและหม่อมเจ้าชายลูกเธอเล็กๆ 2 องค์ดังกล่าว    เมื่อหม่อมเจ้าชายนพวงศ์พระชันษาได้ 2 ขวบ  หม่อมเจ้าสุประดิษฐ์พระชันษาได้ 1 เดือนกว่าๆ     พระชนกก็ออกผนวช  ตามธรรมเนียมของกุลบุตรในสมัยนั้น     พระองค์ท่านก็คงไม่ได้ตั้งพระทัยว่าจะผนวชอย่างถาวร  เพราะพระราชภารกิจทางบ้านเมืองในฐานะสมเด็จเจ้าฟ้าก็ยังรออยู่อีกมาก    
   พอผนวชได้แค่ 15 วัน  ก็เกิดเหตุผันผวนทางบ้านเมืองอย่างนึกไม่ถึง  คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เกิดประชวรหนักอย่างกะทันหัน   ประชวรแค่ 1 วันก็ตรัสไม่ได้อีก   จึงมิได้ทรงออกพระโอษฐ์มอบราชสมบัติให้เจ้านายพระองค์ใด   ประชวรอยู่ 7 วันก็เสด็จสวรรคต      เจ้านายที่อยู่ในข่ายที่จะได้ราชสมบัติมี 2 พระองค์อย่างที่รู้ๆกันคือกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์และเจ้าฟ้ามงกุฎ   แต่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงมีบารมีมากกว่า  
     เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทรงปรึกษาหารือเจ้านายผู้ใหญ่ที่ทรงเคารพนับถือควรจะเอาราชสมบัติไหม    มีกรมขุนอิศรานุรักษ์ผู้เป็นน้า เพียงพระองค์เดียวที่เห็นควร นอกนั้นบอกว่ายังไม่ถึงเวลา เช่น กรมหมื่นเดชาดิศร และกรมหมื่นนุชิตชิโนรส หรือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส  เจ้าฟ้ามงกุฎจึงตัดสินพระทัยผนวชต่อโดยไม่มีกำหนดสึก
    หม่อมเจ้าเล็กๆสององค์นั้นจึงอยู่กับหม่อมแม่ต่อมา


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 13, 11:54
     ผู้ที่ยื่นมือเข้ามาอุปถัมภ์ค้ำจุนหม่อมเจ้านพวงศ์และหม่อมเจ้าสุประดิษฐ์ คือ "สมเด็จพระอัยกี"  สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีพันปีหลวง ผู้เป็นพระราชชนนีในสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎนั่นเอง     สมเด็จพระศรีสุริเยนทรท่านประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมกับพระราชโอรสองค์เล็ก เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์(หรือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)  ก็ทรงชุบเลี้ยงพระนัดดาเล็กๆ 2 องค์นี้ต่อมา  มีโอกาสก็พาเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ อยู่เป็นประจำ
     มีเรื่องเล่าซึ่งลือกันมาผิดๆ ว่า หม่อมเจ้าเล็กๆทั้งสององค์นี้เข้าไปอยู่ในวังกับกรมขุนกัลยาสุนทร   และพระนามนพวงศ์กับสุประดิษฐ์เป็นพระนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ    แต่ตามความจริงแล้วไม่ใช่     ทั้งสององค์ทรงอยู่กับสมเด็จย่าที่พระราชวังเดิมมาตลอด   ส่วนพระนาม ทรงได้กันมาจากคนละแห่ง   พระนามนพวงศ์ ทรงได้รับจากสมเด็จพระสังฆราช(ญาณสังวร) เป็นผู้ถวาย    ส่วนพระนามสุประดิษฐ์เป็นพระนามพระราชทานจากสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎเอง
    
     เจ้านายเล็กๆสององค์นี้เป็นสุขอยู่ใต้พระบารมีสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ มาจนหม่อมเจ้านพวงศ์พระชันษา 15 ปี  หม่อมเจ้าสุประดิษฐ์พระชันษา 13 ปี   สมเด็จย่าก็เสด็จสวรรคต
     เหตุการณ์ในช่วงนี้ ขาดรายละเอียดที่เป็นหลักฐานเอกสาร   มีแต่คำบอกเล่าว่า ครอบครัวเล็กๆที่มีแต่แม่และลูกชาย ก็เกิดอาการ "บ้านแตก" ต้องแยกย้ายกันไปคนละทาง   ทั้งสององค์ก็มาผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ  อาศัยพระบารมีอยู่ใกล้ชิดพระราชชนกอยู่ชั่วระยะหนึ่ง
     ส่วนหม่อมน้อย  ก็ออกจากพระราชวังเดิมมาอาศัยพระพงษ์นรินทร์ ผู้เป็นลุงอยู่ที่บ้านของท่าน


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 13, 18:56
      ทั้งหม่อมเจ้านพวงศ์และหม่อมเจ้าสุประดิษฐ์น่าจะบรรพชาเป็นสามเณรอยู่หลายพรรษา   จนพระชันษาครบปีบวชถึงได้ผนวช  แต่ทั้งสององค์ก็มิได้มุ่งจะเอาดีในทางธรรม  แต่สมัครพระทัยจะกลับมาทางโลกเสียมากกว่า      
      เมื่อสมเด็จพระบรมชนกมีพระราชประสงค์จะให้พระโอรสผนวชต่อไปไม่มีกำหนดสึก เพื่อเล่าเรียนเอาความรู้ชั้นเปรียญ      หม่อมเจ้านพวงศ์ก็ทรงมาถึงทางแยกว่าจะเดินทางไหนดี   ทรงตัดสินพระทัยว่าเอาทางโลกดีกว่า  ก็หนี ลาสิกขาบท   ทำเอาโดนกริ้ว    ถึงกับต้องหลบหนีออกจากกรุงเทพไปซ่อนองค์อยู่ที่เขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี   ร้อนถึงเจ้าฟ้ามงกุฎต้องส่งคนไปติดตามเอาพระโอรสกลับมา   ทรงลงโทษ ขังไว้ใต้พระปั้นหยาสักพัก  พอหายกริ้วก็พระราชทานอภัยโทษให้
    เวลานั้นหม่อมเจ้านพวงศ์เป็นหนุ่มเต็มตัวแล้ว พระชันษา 19  ก็เกิดประชวรพระโรคเรื้อรังขึ้นมา รักษาลำบาก   เจ้าฟ้ามงกุฎจึงให้ออกไปรักษาองค์อยู่ที่บ้านพระพงษ์นรินทร์ผู้เป็นพี่ชายของคุณตา      หม่อมเจ้านพวงศ์เกิดผูกสมัครรักใคร่กับหญิงสาวชื่อนกแก้ว   เมื่อความทราบถึงเจ้าฟ้ามงกุฎก็ทรงให้พระพงษ์นรินทร์เป็นผู้ใหญ่ไปสู่ขอ  ก็ทรงอยู่กันมาจนมีพระโอรส พระนามภายหลังว่าพระองค์เจ้าจิตราภรณ์
    เมื่อทรงมีครอบครัวแล้ว  จะอาศัยพระพงษ์นรินทร์อยู่ก็ลำบาก  เพราะบ้านช่องมีแต่จะคับแคบขึ้นทุกที     เจ้าฟ้ามงกุฎจึงขอให้พระพงษ์นรินทร์จัดการซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง ปลูกบ้านให้พระโอรส  ก็ทรงอยู่บ้านนั้นมาจนตลอดรัชกาลที่ 3


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 13, 19:07
   ส่วนหม่อมเจ้าสุประดิษฐ์ เมื่อเจริญพระชันษาขึ้นเป็นหนุ่ม ก็ทรงก่อประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกับเจ้าพี่ขึ้นมาอีกองค์หนึ่ง     คือไม่สมัครพระทัยจะเอาดีทางธรรม  แต่จะเอาดีทางโลก    ไม่ทราบว่าทรงทูลขอสมเด็จพระราชชนกแล้วไม่โปรดประทานให้ หรือว่าไม่กล้าขอกันแน่     รู้แต่ว่าวันหนึ่งก็หนีสิกขาบท ลาผนวชแบบเดียวกันเอาดื้อๆ
   หม่อมเจ้าสุประดิษฐ์ตั้งแต่เยาว์พระชันษา ทรงเป็นหลานชายที่ทูลกระหม่อมอาโปรดปรานมาก    ทูลกระหม่อมอาที่ว่านี้ก็คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์       สาเหตุที่โปรดปรานก็คือเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศท่านโปรดทรงปืน  ก็หัดหลานเล็กๆทั้งสององค์ให้หัดยิงปืน      ปรากฏว่าหม่อมเจ้านพวงศ์ไม่โปรดปืน ก็ทรงหลีกเลี่ยงไม่ค่อยจะหัด    ผิดกับหม่อมเจ้าสุประดิษฐ์ที่ไม่กลัวปืนมาแต่เด็ก   เมื่อผู้ใหญ่สอนให้ยิงก็ยิง    จึงเป็นที่โปรดปรานราวกับเป็นพระราชโอรสองค์หนึ่ง       เมื่อสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเสด็จขึ้นครองวังหน้า  ก็โปรดเกล้าฯ อนุญาตเป็นพิเศษ ให้หม่อมเจ้าสุประดิษฐ์ซึ่งขณะนั้นทรงกรมเป็นกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธรแล้ว  จะเสด็จเข้านอกออกในวังหน้าเมื่อใดก็ได้ทั้งสิ้น เหมือนกับเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ     ส่วนหม่อมเจ้านพวงศ์มิได้ทรงรับสิทธิพิเศษข้อนี้
    เมื่ออากับหลานรักกันมากเช่นนี้     หม่อมเจ้าสุประดิษฐ์รู้องค์ว่าลาผนวชโดยไม่ได้รับพระราชานุญาตเป็นต้องโดนเจ้าฟ้ามงกุฎกริ้วหนักแน่นอน  ก็ทรงหนีร้อนไปพึ่งเย็นที่ทูลกระหม่อมอา   คือพอออกจากวัดบวรนิเวศก็ข้ามฟากไปพระราชวังเดิมที่ประทับ  แล้วอาศัยพระบารมีคุ้มภัยอยู่ที่นั่น


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 13, 20:25
   เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศฯหรือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงรับหม่อมเจ้าสุประดิษฐ์ไว้ด้วยดี     ต่อมา เมื่อมีพระบรมราชโองการจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ให้ทรงบัญชาการทัพ เดินทางไปรบกับญวน  ก็ทรงนำหลานเธอองค์นี้ไปในกองทัพด้วย    เมื่อหม่อมเจ้าสุประดิษฐ์ไปกราบบังคมลาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ  เพื่อจะไปทัพ ก็ได้รับพระกรุณาพระราชทานเสื้อเยียรบับไปในการออกศึกครั้งนี้
   ทั้งขาไปและขากลับ  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงพระกรุณาหม่อมเจ้าสุประดิษฐ์มาก    ทรงเอาไว้ใกล้พระองค์ตลอด   โปรดให้บรรทมในห้องเดียวกัน  ทรงดูแลเป็นอย่างดี  จนกระทั่งกลับมาถึงกรุงเทพ     ในตอนนั้นหม่อมเจ้าสุประดิษฐ์ทรงเป็นหนุ่มเต็มตัวแล้ว    คงจะถึงเวลามีหม่อมห้าม  จึงเสด็จไปอาศัยอยู่กับหม่อมเจ้านพวงศ์พระเชษฐา ที่คลองบางลำพูฝั่งเหนือ   และอยู่ที่บ้านเดียวกันจนตลอดรัชกาลที่ 3

   เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต   พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ    พระราชโอรสทั้งสองพระองค์ก็ทรงเลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็นพระองค์เจ้าตามโบราณราชประเพณี    สมเด็จพระบรมราชชนกพระราชทานสร้อยพระนามว่าพระองค์เจ้าชายนพวงศ์ วรองค์เอกอรรคมหามกุฎ ปรมุตมราโชรส และพระองค์เจ้าชายสุประดิษฐ วรฤทธิราชมหามกุฎ บุรุษยรัตนราชวโรรส


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 13, 20:40
       บัดนี้ เจ้านายทั้งสองพระองค์ก็กลายเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ เป็นพระราชโอรสเพียง 2 พระองค์ในขณะนั้นของพระเจ้าแผ่นดิน     พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานวังให้ประทับอยู่ แยกกันเป็นสัดส่วน        วังของพระองค์เจ้านพวงศ์ คือที่เดิมซึ่งเคยเป็นบ้านของพระพงษ์นรินทร์ และรวมบ้านพระอินทร์อภัยคุณตาของพระองค์ท่านด้วย     ขณะนั้นบ้านว่างอยู่  ไม่มีเจ้าของเพราะพระพงษ์นรินทร์ถึงแก่กรรมไปตั้งแต่ในรัชกาลที่ 3      ส่วนบ้านที่เคยเป็นของพระองค์เจ้านพวงศ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯก็ทรงยกให้เป็นวังของพระองค์เจ้าสุประดิษฐ์
      พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดปรานพระราชโอรสทั้ง 2 พระองค์ในฐานะพระเจ้าลูกยาเธอรุ่นใหญ่  ทรงหวังว่าจะได้เป็นกำลังของบ้านเมือง และเป็นที่พึ่งของพระราชโอรสธิดาที่จะประสูติในภายหน้า       ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาทั้งสองพระองค์ขึ้นทรงกรมเป็น กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส  และ  กรมหมื่นวิษณุนาทนิภาธร
       แต่มารดาคือเจ้าจอมมารดาน้อยนั้นมีเรื่องให้ไม่โปรด จนกลายเป็นกริ้วหนัก    เห็นได้จากพระราชหัตถเลขาฉบับวันพุธขึ้น 5 ค่ำ เดือน 12  พ.ศ. 2398   ทรงมีไปถึงเจ้าจอมที่โปรดปรานคือเจ้าจอมมารดาผึ้ง มีข้อความตอนหนึ่งว่า

      " ข้าออกเรือกระบวรมาจากตำหนักน้ำ...ขึ้นมาถึงวัดเขมาตลาดแก้ว เวลาเช้า    มีเรือเก๋งลำหนึ่งพายตามขึ้นมา  แข่งเรือที่นั่งของข้า   เกินหน้าเรือตำรวจ  เรือที่นั่งรองทุกลำ   แข่งจนเก๋งเคียงเรือกันยาเรือที่นั่ง   แต่แรกข้าสำคัญว่านางหนูลูกรำเพย( หมายถึงเจ้าฟ้าหญิงจันทรมณฑล) จะร้องไห้   มารดาจะให้เอาใส่เรือเก๋งขึ้นมาส่งให้ข้ากระมัง ข้าจึงร้องถามไปว่าเรือใคร  เรือนั้นมีม่านบังมิด  มีผู้หญิงนั่งท้ายหลายคน  เรือตำรวจตามไปก็สำคัญว่าเรือข้างในในกระบวน  จึงไม่มีใครห้ามปล่อยให้พายขึ้น  สรรเพธภักดีร้องถามหลายคำก็ไม่บอก   ข้าถามหลายคำว่าอะไรๆ เรือใครก็ไม่บอก   บ่าวผู้หญิงข้างท้ายก็หัวร่อเยาะด้วยบานเต็มที่ จนคนในเรือที่นั่งโกรธว่าหัวร่อเยาะ  ข้าคิดจะเอาปืนยิงตามกฎหมาย  ก็กลัวจะถูกคนตายเขาจะลือไปว่าดุร้ายใจเบาทำคนตายง่ายๆ  พายแข่งไล่เรือที่นั่งอยู่นาน เห็นผิดทีแล้ว  จึงได้ร้องให้ตำรวจไล่จับ  ครั้นเรือไปจับจะฉุดเรือมาจึงพายหนีห่างออกไป  ไล่ไปไกลจึงได้ตัวเรือมา  ได้ความว่าเป็นเรือมารดากรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส มาทำหน้าเป็นเล่นตัว ล้อข้าต่อหน้าธารกำนัล  น่าชังนักหนา  ข้าสั่งให้พระอินทรเทพจับคุมเรือลงมาส่งตัวนายเข้ามาให้จำไว้ บ่าวให้จำไว้ข้างหน้า  ข้าได้เขียนหนังสือมาให้กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสทราบแล้ว  ได้มีไปสั่งถึงท้าวศรีสัจจา  ท้าวโสภสนิเวศน์ ให้เอาตัวจำไว้ให้มั่นคง กว่าข้าจะกลับลงไป  อยากจะใคร่ให้เอาๆตัดหัวเสียตามสกุลพ่อมัน แซ่นี้มักเป็นเช่นนั้น"


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 13, 21:04
  แต่พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงกริ้วไปอย่างนั้นเอง      กลับมาถึงกรุงเทพ  กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้มารดา  ก็พระราชทานอภัยให้   

  เจ้าจอมมารดาน้อยถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ 4 นั้นเอง   ปลงศพที่สวนหลังวังกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร    ถึงตรงนี้  ขอเล่าเกร็ดเพิ่มเติมว่ากรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ทรงสร้างวัดขึ้นในเนื้อที่ตรงนั้น    และสร้างเจดีย์ขึ้นตรงที่ปลงศพเจ้าจอมมารดาน้อย    พอสร้างไปได้เล็กน้อย ไม่ทันแล้วเสร็จก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน เมื่อ พ.ศ. 2405    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ  จึงทรงโปรดให้กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสทรงสร้างวัดต่อ แต่ก็สิ้นพระชนม์อีกใน 5 ปีต่อมา ในพ.ศ. 2410 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงรับเป็นผู้สร้างวัดต่อมาจนสำเร็จ พระราชทานนามวัดว่า วัดตรีทศเทพ มีความหมายว่า "เทวดาสามองค์เป็นผู้สร้าง"

     ในการนี้ทรงสร้างพระพุทธรูปประธานถวายในพระอุโบสถ   โปรดฯให้สร้างพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร 2 องค์ เพื่ออุทิศฉลองแก่ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร และกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส ประดิษฐานไว้สองข้างพระพุทธรูปประธาน


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
เริ่มกระทู้โดย: giggsmay ที่ 24 เม.ย. 13, 21:33
 :Dมารอท่านอาจารย์ตั้งแต่บ่ายสนุกมากเลยคะอยากจะเรียนต่อไม่ทราบว่าท่านอาจารย์มีเกร็ดชีวิตเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับ พระองค์เจ้านพวงศ์ และ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ อีกมั้ยคะ พอดีเคยอ่านในนิตยสารพลอยแกมเพชรอ่านเจอแว่บๆว่า รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดพระธิดาของพระองค์เจ้านพวงศ์จนพระเจ้าลูกยาเธอของรัชกาลที่ 4 อิจฉาเอาอ่ะคะ


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 เม.ย. 13, 21:36
ในพ.ศ. 2410 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงรับเป็นผู้สร้างวัดต่อมาจนสำเร็จ พระราชทานนามวัดว่า วัดตรีทศเทพ มีความหมายว่า "เทวดาสามองค์เป็นผู้สร้าง"

ตรีทศ ตามรูปศัพท์แปลได้ว่า สิบสาม (หรือสิบสามครั้ง = สามสิบ)

วัดตรีทศเทพจึงน่าจะแปลว่า วัดแห่งเทวดาสิบสาม (หรือสามสิบ) องค์ แต่มิใช่เช่นนั้น หากแปลว่า วัดแห่งเจ้าชายสามพระองค์  (ตรี = สาม ทศเทพ มาจาก ทสาเทพ = ชายเทวดา ก็คือเจ้าชายนั่นเอง)  ;D



กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 13, 21:43
:Dมารอท่านอาจารย์ตั้งแต่บ่ายสนุกมากเลยคะอยากจะเรียนต่อไม่ทราบว่าท่านอาจารย์มีเกร็ดชีวิตเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับ พระองค์เจ้านพวงศ์ และ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ อีกมั้ยคะ พอดีเคยอ่านในนิตยสารพลอยแกมเพชรอ่านเจอแว่บๆว่า รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดพระธิดาของพระองค์เจ้านพวงศ์จนพระเจ้าลูกยาเธอของรัชกาลที่ 4 อิจฉาเอาอ่ะคะ
มีเกร็ดอีกนิดหน่อยค่ะ   อีกวันสองวันน่าจะจบกระทู้นี้ได้

ข้อพิสูจน์ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงรักพระราชโอรสพระองค์ใหญ่มากแค่ไหน  คือกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส เคยถวายพระธำมรงค์ให้สมเด็จพระบรมราชชนก     สมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงสวมติดนิ้วพระหัตถ์อยู่เสมอ  รับสั่งว่า
" เป็นแหวนของพ่อใหญ่   ถ้าหากว่าหายคิดถึงเมื่อไร ก็จะถอด"   
แต่ก็ไม่เคยถอดเลย  ตราบจนเสด็จสวรรคต


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
เริ่มกระทู้โดย: กะออม ที่ 25 เม.ย. 13, 07:35
     หม่อมเจ้านพวงศ์เกิดผูกสมัครรักใคร่กับหญิงสาวชื่อนกแก้ว   เมื่อความทราบถึงเจ้าฟ้ามงกุฎก็ทรงให้พระพงษ์นรินทร์เป็นผู้ใหญ่ไปสู่ขอ  ก็ทรงอยู่กันมาจนมีพระธิดา พระนามภายหลังว่าพระองค์เจ้าจิตราภรณ์


อาจารย์คะ  หม่อมเจ้าจิตราภรณ์ เป็นพระโอรสค่ะ


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 13, 09:16
ขอบคุณค่ะ  ในหนังสือไม่ได้บอกว่าเป็นชายหรือหญิง เลยเข้าใจจากพระนามว่าเป็นหญิง

(ต่อ)

พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯสถาปนาทรงกรม  เป็นกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร  เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 12 แรม 11 ค่ำ ปีมะโรงอัฐศก พ.ศ. 2399   ทำหน้าที่บังคับบัญชาราชการในกรมพระคลังมหาสมบัติ
เจ้ากรม คือ หมื่นวิษณุนาถนิภาธร
ปลัดกรม   หมื่นดัษกรกำราบ
สมุห์บัญชี   หมื่นทราบสกลการ

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯยังพระราชนิพนธ์โคลงประทานพร  9 บท  ซึ่งน่าจะหาอ่านได้ยากแล้วในปัจจุบัน จึงขอนำลงทั้งหมด ตามนี้
(คงตัวสะกดแบบเดิม)

                  สุประดิษฐ์เจ้าบัดนี้                        มียศ
              เป็นต่างกรมปรากฏ                           ชื่อแล้ว
              จงเกษมส่างกำสรด                           เสวยศุข เทอญพ่อ
              จงปราศสรรพภัยแผ้ว                         ผ่องพ้นอันตราย

                 จงสบายกายพ้นโรค                       ร้อยประการ
              จงสถิตย์นับพรรษกาล                        เกือบร้อย
              จงทรงยศยิ่งนาน                              เสมอสม่ำ ไปเทอญ
              สมบัติอย่าได้น้อย                             เร่งได้โดยเจริญ


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 13, 09:21
                   สุพรรณบัฏจารึกชี้                       นามกร
               วิศณุนารถนภาธร                            แต่งตั้ง
               เติมติดต่ออักษร                             กรมหมื่น
               กำกับคชนามทั้ง                             พจนให้จาตุพร

                   คืออายุพรรณสุขทั้ง                     กำลัง
               จงประสิทธิโดยหวัง                         ว่าให้
               เกียรติยศชื่อฦๅดัง                           ตลอดโลก เทอญนา
               เข็มขัดนี้จงได้                                รับไว้เป็นขวัญ

                   แหวนนามแลแผ่นชี้                     ดวงชะตา
               สีทับทิมมาลา                               ส่งเส้า
               เสื้อจีบกับภูษา                              เจียรบาด ตาดแฮ
               แหวนรอบเรียงนพเก้า                       อีกทั้งสังข์ไชย







กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 13, 17:08
                             ดาบอย่างญี่ปุ่นใช้                   เฉลิมยศ
                        ฝักเคลือบยาปรากฏ                      กนกหุ้ม
                        ง้าวทวนคู่ตามบท                        จรเชิด ไปนา
                        อีกหอกปืนแฝดคุ้ม                       คิดร้ายแต่ศัตรู
                      
                             เสื้อโหมดฝรั่งเศสทั้ง                ดุมลับ
                        พิจิตรด้วยทองประดับ                    ก่องแก้ว
                        ผ้ากรวยนุ่งรองรยับ                       เส้นตัด ลายแฮ
                        อีกเครื่องชาทองแผ้ว                     กับถ้วยหยกสาม

                              พุทธรูปสั่นกริ่งแท้                  โบราณ
                        อีกพระงาคชสาร                          เศวตรแท้
                        เจ้าจงรับทุกประการ                       แล้วเก็บ ไว้นา
                        สรรพศัตรูจงแพ้                           แต่เจ้าทุกสถาน

                              เสื้อญี่ปุ่นตาดทั้ง                    แท่งทอง ดิบนา
                        ลืมใส่ชื่อในของ                           ว่าแล้ว
                        ทองแท่งยี่สิบสอง                         สำหรับ แจกนา
                        แด่พี่แลน้องแผ้ว                           จิตรให้ไมตรี


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 13, 19:57
    ตำแหน่งของกรมหมื่นวิษณุนาถฯ คืออธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ ถือเป็นตำแหน่งใหญ่    พระองค์ท่านก็ทรงอุตสาหะปฏิบัติราชการด้วยดี   ได้ชื่อว่าเป็นเจ้านายที่ทรงพระปรีชาเฉียบแหลม  เป็นที่เคารพนับถือในหมู่เจ้านายขุนนางใหญ่น้อย     พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯไว้วางพระราชหฤทัยว่าเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง    ถึงโปรดฯให้เสด็จออกไปดูงานต่างประเทศถึงสิงคโปร์และเกาะหมาก(ปีนัง)   กับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์   เมื่อพ.ศ. 2404   
    ในสมัยรัชกาลที่ 4  ไปสิงคโปร์และเกาะหมากก็ถือว่าห่างไกลเกือบจะเท่ากับไปยุโรปก็ว่าได้        กรมหมื่นวิษณุนาถฯเป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่เสด็จไปถึงที่นั่น

    ผลงานทางด้านศาสนา คือทรงปฏิสังขรณ์วัดไว้แห่งหนึ่งที่นครชัยศรี  เดิมชื่อ “วัดใหม่ริมจวน”   ทรงสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร สถูป และมณฑลพระอีกคู่หนึ่งขึ้น ณ วัดแห่งนี้ จึงได้ชื่อว่า  “วัดใหม่สุปดิษฐาราม” มาจนถึงปัจจุบันนี้



กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 13, 20:09
กรมหมื่นวิษณุนาถฯ ทรงมีพระโอรสธิดาหลายพระองค์    ส่วนใหญ่เป็นพระธิดา  มีพระโอรสเพียง 3 องค์
พระโอรสธิดาที่ประสูติในรัชกาลที่ 3  มี 3 องค์ คือ
    หม่อมเจ้าหญิงจันทร เป็นชายาของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบงกช พระโอรสในกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส
    หม่อมเจ้า(ชาย)สถิตย์เสถียร (พ.ศ. ๒๓๙๒-๒๔๗๓) เป็นพระโอรสองค์ใหญ่   ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยภรณ์ตติยจุลจอมเกล้า สืบราชสกุลสุประดิษฐ์
    หม่อมเจ้าแก้วกัลยา   องค์นี้ได้บำรุงเลี้ยงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์    เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์    จึงโปรดเกล้าฯพระราชทานพระสุพรรณบัฏ   สถาปนาขึ้นเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแก้วกัลยาณี (พ.ศ. ๒๓๙๒-๒๔๕๖) เสกสมรสกับ หม่อมเจ้าเดช นพวงศ์

    ส่วนพระโอรสธิดาที่ประสูติในรัชกาลที่ 4  คือ
    หม่อมเจ้าหญิงโสภา  (พ.ศ. ๒๓๙๖-๒๔๔๙)
    หม่อมเจ้าหญิงสฤกษาสัณฐาน (พ.ศ. ๒๓๙๖-๒๔๕๑)
    หม่อมเจ้าหญิงพวงผกา (พ.ศ. ๒๓๙๖-?)
    หม่อมเจ้าหญิงยุพี  (พ.ศ. ๒๓๙๖-?)
    หม่อมเจ้า(ชาย)สง่างาม  (พ.ศ. ๒๔๐๐-๒๔๖๐)
    หม่อมเจ้า(ชาย) ปิยะภักดีนาถ  (พ.ศ. ๒๔๐๐-๒๔๗๑)รับราชการในกระทรวงคลังในรัชกาลที่ 6  มียศเป็นมหาอำมาตย์โท
    หม่อมเจ้าหญิงกมลมาศ (พ.ศ. ๒๔๐๓-?)
    หม่อมเจ้าหญิงวงแข  (พ.ศ. ๒๔๐๔-๒๕๕๔)   


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 13, 20:14
    เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่เจ้านายสำคัญในต้นรัชกาลที่ 4 พระองค์นี้ ควรจะได้เป็นกำลังในราชการต่อไปจนถึงรัชกาลที่ 5  แต่ก็ไม่ทรงมีโอกาสเช่นนั้น   เพราะประชวร สิ้นพระชนม์ตั้งแต่พ.ศ. 2405  หลังจากกลับมาจากสิงคโปร์ได้ปีหนึ่ง     พระชันษาแค่ 38 ปี     
    ส่วนพระเชษฐา กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส ซึ่งว่ากันว่าประชวรเรื้อรังมาหลายปี ตั้งแต่ยังหนุ่ม    กลับมีพระชันษายืนยาวกว่า   สิ้นพระชนม์ในพ.ศ. 2410  หลังจากนั้นอีก 5 ปี


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 13, 20:25
     มีข้อสังเกตเล็กๆน้อยๆก่อนจบกระทู้  คือพระนามทรงกรมของพระราชโอรสรุ่นใหญ่ทั้ง 2 พระองค์   ได้รับพระราชทานเป็นพระนามของเทพเจ้าสำคัญในศาสนาพราหมณ์ทั้งคู่   คือ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส  และ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
     เทพเจ้าสูงสุดตามคติของอินเดียตามความเชื่อของไทย  จนไปปรากฏในวรรณคดีไทยเรื่องรามเกียรติ์ มี 3 องค์  คือพระศิวะ(หรือพระอิศวร)  พระพรหม และพระนารายณ์ (หรือพระวิษณุ)     พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเลือกพระนามมาแล้ว 2 องค์    แต่เมื่อมาถึงพระราชโอรสพระองค์ต่อไปคือสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์   ก็มิได้ทรงเลือกพระนามจากเทพเจ้าองค์ที่ 3 ที่เหลืออยู่คือพระพรหม  แต่ทรงเลือกพระนามของพระคเณศแทน      สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เมื่อพระชันษาได้ 9 ขวบ ทรงกรมครั้งแรก เป็น กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ
    ส่วนพระนามของพระพรหมนั้น พระราชทานให้พระราชโอรสอีกพระองค์หนึ่ง คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์  ทรงกรมเป็นกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์