เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: อุปนิกขิต ที่ 13 ก.ย. 23, 14:47



กระทู้: อาหารไทยแท้ข้อมูลนี้ถูกต้องไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: อุปนิกขิต ที่ 13 ก.ย. 23, 14:47
อาหารไทยแท้ข้อมูลนี้ถูกต้องไหมครับ

=========

อาหารไทยแท้ เป็นอาหารที่ทำกันมาตั้งแต่โบราณ โดยไม่ได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ ส่วนมากจะเป็นอาหารแบบง่าย ๆ เช่น ต้มโคล้ง ข้าวแช่ แกงป่า น้ำพริก และหลน
ขนมไทยแท้ จะไม่มีส่วนประกอบที่ทำมาจากไข่ หากทำมาจากไข่จะเป็นขนมที่ได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ แต่ขนมไทยแท้ทำมาจากแป้ง น้ำตาล กะทิเป็นส่วนใหญ่ เช่น ขนมถ้วย ขนมเปียกปูน ขนมเปียกอ่อน ตะโก้ ลอดช่อง ขนมปลากริมไข่เต่า ขนมใส่ไส้ และขนมครก เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูล : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=692268309601701&id=100064556145468

#อาหารไทยแท้ #ขนมไทยแท้
#สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ
#สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่:เว็บไซต์: https://www.opm.go.th
Facebook : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สปน.
Youtube : https://www.youtube.com/thaiidentity


กระทู้: อาหารไทยแท้ข้อมูลนี้ถูกต้องไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ย. 23, 18:54
ข้าวแช่ มาจากมอญ นะคะ


กระทู้: อาหารไทยแท้ข้อมูลนี้ถูกต้องไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ย. 23, 19:57
คนอยุธยารู้จักไก่แน่นอน  เมื่อมีไก่ป่าให้พระลอตามไก่ได้  ไก่บ้านก็ต้องมีเหมือนกัน     ทำไมคนไทยจะเอาไข่มาทำทั้งของคาวของหวานไม่ได้  ต้องรอท้าวทองกีบม้ามาทำให้ดูอยู่คนเดียวหรือคะ


กระทู้: อาหารไทยแท้ข้อมูลนี้ถูกต้องไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ย. 23, 09:21
เชิญอ่านอาหารโบราณในกระทู้นี้นะคะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=7108.0


กระทู้: อาหารไทยแท้ข้อมูลนี้ถูกต้องไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 14 ก.ย. 23, 15:11
ผมสะดุดตาตรงชื่อ ลอดช่อง ครับ

เพราะลอดช่องน่าจะเป็นขนมหวานที่ผมรู้จักมักคุ้นเป็นชื่อต้นๆ เพราะบ้านเกิดอยู่ใกล้ร้านลอดช่องสิงคโปร์ ที่สามแยก

โตมาหน่อยผมก็ได้อ่านบทความบอกเล่าว่า

ชื่อลอดช่องสิงคโปร์ ได้มาเพราะร้านเค้าอยู่ตืดกับโรงหนังชื่อสิงคโปร ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นเฉลิมบุรี
บทความที่ผมเคยอ่านนั้นว่า คนสิงคโปร์เค้าไม่กิน และ ไม่รู้จักลอดช่อง ผมก็เชื่อตามนั้นมาตลอด...

กระทั่งวันหนึ่งที่ผมมีโอกาสไปทำธุระที่สิงคโปร์ ผมกลับพบว่า ตามฟู้ดคอร์ทที่เค้าย้ายร้านค้าริมถนนเข้าไปอยู่รวมกัน มีร้านขายลอดช่องหลายๆร้าน คนสิงคโปร์เค้าก็กินและชอบกินลอดช่อง ที่รสชาติละม้ายกับรสชาติของลอดช่องบ้านเรา

ผมจำเหตุการณ์ที่พบแย้งกับความรู้เดิมๆนั้นอยู่นานนับสิบปี กระทั่งวันที่การสืบค้นสาระความรู้บนอินเตอร์เน็ตง่าย สะดวก

ผมเรียนรู้ว่า ลอดช่องที่ผมรู้จัก มีชื่อฝรั่งว่า เซนดอล เมื่อเข้าไปสืบค้นก็ได้ความว่า ลอดช่องเป็นอาหารที่กินกันทั่วไปทั้งอาเซียน

ฝรั่งชาวดัตช์จดบันทึกเรื่องลอดช่องที่นิยมกินในประเทศอินโดนีเซียมาก่อนแล้วเป็นศตวรรษ

ลองอ่านดูสิครับ

https://en.wikipedia.org/wiki/Cendol


กระทู้: อาหารไทยแท้ข้อมูลนี้ถูกต้องไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ย. 23, 17:00
น่าตื่นเต้นมากค่ะ เป็นความรู้ใหม่ว่าลอดช่องไม่ใช่ของหวานไทยแท้  แต่มีต้นกำเนิดมาจากนอกประเทศ   ขอบคุณคุณนามแปลงมากค่ะ
ดิฉันไปค้นคำว่า cendol  ก็เจอหลายเว็บ   ระบุตรงกันว่า  ลอดช่องเป็นของกินเก่าแก่  ถอยหลังไปถึงศตวรรษที่ 12   ประเทศที่ประกาศว่าฉันเป็นเจ้าของคือชวาหรืออินโดนีเซีย  ไม่ใช่มาเลเซียอย่างที่เข้าใจกัน  ลอดช่องภาษาชวา เรียกชื่อว่า Dawet   มีหลักฐานอยู่ในบันทึกโบราณของชวาหลายแห่งด้วยกัน   
เมื่อDawet เริ่มที่ชวา  จะแพร่มาที่มลายูก็ง่ายนิดเดียว รั้วแทบจะติดกันอยู่แล้ว  จากนั้นจะเดินทางขึ้นมาที่อยุธยาก็ไม่ยากอีกนั่นแหละ

https://sea.mashable.com/culture/3213/fun-fact-the-cendol-is-a-900-year-old-dessert


กระทู้: อาหารไทยแท้ข้อมูลนี้ถูกต้องไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ย. 23, 17:07
แต่ลอดช่องชวา (หรืออินโดนีเซีย)กับลอดช่องมลายู (หรือมาเลเซีย)ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียวนะคะ
cendol ของชวา หน้าตาเป็นเครื่องดื่ม  ส่วน chendol ของมลายู หน้าตาเป็นของหวาน 
ของไทยเราคล้ายมลายูมากกว่า  ชวนให้คิดว่าเป็นวัฒนธรรมที่เรารับมาจากทางใต้สุดของแหลมทองก็ได้


กระทู้: อาหารไทยแท้ข้อมูลนี้ถูกต้องไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ก.ย. 23, 17:35
หน้าตาของ ลอดช่องชวา ก็คล้ายกับ ลอดช่องไทย นั่นแหละ เพียงแต่แตกต่างในเรื่องวัตถุดิบและวิธีทำ

ลอดช่องจากอินโดนีเซีย ถือว่าเป็นต้นกำเนิดให้กับของหวานประเภทนี้เลยก็ว่าได้ อินโดนีเซียเรียกลอดช่องว่า "เจ็นดล" (cendol) แปลว่า โหนก หรือ โป่ง
 ตามรูปร่างของแป้งลอดช่องสีเขียว ๆ คล้ายหนอนตัวบวม ๆ



แรกเริ่มเดิมที ลอดช่องชวา ทำจากแป้งที่ได้จากต้นตาว (พืชตระกูลปาล์ม คล้าย ๆ มะพร้าว หรือต้นตาล มีขึ้นอยู่ทั่วไปในหมู่เกาะอินโดนิเซีย)
หรือไม่ก็แป้งจากต้นสาคู (พืชตระกูลปาล์มเช่นกัน ภาคใต้ของไทยเราก็มี) ซึ่งเป็นแป้งที่ให้ความเหนียวเคี้ยวหนึบสู้ฟัน แต่ด้วยความที่แป้งต้นตาว หรือแป้งสาคู มีขั้นตอนการทำที่ยุ่งยาก
เลยหันมาใช้แป้งข้าวเจ้าแทน ซึ่งตัวแป้งจะมีความเปื่อยกว่า ไม่หนึบเหมือนใช้แป้งสาคู
แต่กระนั้น คนโบราณก็มีเคล็ดลับก้นครัว คือการผสมน้ำปูนใสลงไปในแป้งข้าวเจ้า
แบบเดียวกับขนมเปียกปูน เพราะน้ำปูนใสมีแคลเซียม จึงช่วยให้แป้งข้าวเจ้าเด้งหนึบขึ้นมาได้



ส่วนวิธีทำน้ำกะทิของอินโดนั้น จะไม่เคี่ยวกะทิกับน้ำตาลให้เข้ากัน แบบลอดช่องไทย
แต่จะแยกเป็นน้ำกะทิสดหม้อหนึ่งกับน้ำตาลเคี่ยวอีกหม้อหนึ่ง รวมเป็น ๒ หม้อ
โดยใช้น้ำตาลมะพร้าว หรือน้ำตาลจากต้นตาว มาเคี่ยวจนเหนียวข้น มีสีเข้ม แบบคาราเมล



เมื่อจะกิน จึงตักลอดช่องและกะทิใส่ชาม รินน้ำตาลข้นใส่เพื่อความหวาน ค่อย ๆ คน เพื่อให้น้ำตาลละลาย บ้างใส่เนื้อขนุน หรือทุเรียนลงไปด้วย เพิ่มรสชาติ เพิ่มกลิ่น และสีสันในการกิน "เจ็นดล" หรือลอดช่องตำรับชวา ได้เป็นอย่างดี

ข้อมูลจาก มิวเซียมสยาม (https://www.museumsiam.org/km-detail.php?CID=200&CONID=5755)


กระทู้: อาหารไทยแท้ข้อมูลนี้ถูกต้องไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 23, 18:14
อาหารไทยแท้ควรจะมีลักษณะเป็นเช่นใด    

ขอให้ความเห็นที่ประมวลได้มาจากสิ่งที่ได้สัมผัสเมื่อครั้งต้องเดินทางเข้าทำงานในพื้นที่ชนบทและพื้นที่ทุรกันดารต่างๆ ซึ่งต้องใช้ชีวิตคลุก
อยู่กับวิถีของชาวบ้านในพิกัดพื้นที่ๆเรียกว่า 'บ้าน...' (ซึ่งมีบ้านที่อยู่อาศัยเพียง 2-3 หลังคาเรือน) และพิกัดสถานที่ๆเรียกว่า 'หมู่บ้าน...' (ซึ่งมีบ้านที่อยู่อาศัยเพียง 5-6 หลังคาเรือน)    บ้านและหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลและเข้าถึงได้ยากเหล่านี้มีทั้งที่อยู่กันมาแต่ดั้งเดิมนานมากมาแล้ว (ตั้งแต่ครั้งสมัยสงครามเก้าทัพก็มี สมัยรัชกาลที่ 3 ก็มี  สมัยรัชกาลที่ 5 ก็มี  กระทั่งสมัยพระนเรศวรฯเดินทัพก็มี)  และทั้งที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ใหม่ก็มี (โดยเฉพาะช่วงหลัง พ.ศ.2510)  

พิจารณาจากสภาพของการตั้งอยู่ในสภาพที่โดดเดี่ยวนานมาพอสมควร ก็น่าจะพออนุโลมได้ว่าสิ่งที่ได้สัมผัสมานั้นยังคงมีความเป็นสภาพเดิมๆอยู่มาก      


กระทู้: อาหารไทยแท้ข้อมูลนี้ถูกต้องไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 23, 19:20
ภาพแรกคือเครื่องครัว ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า ที่ต้องมีประจำครัวก็จะมี หม้อ (ดินหรือโลหะ) ไห ครกไม้ กะละมัง เขียงไม้ มีดครัวขนาดเล็ก (ใช้เอนกประสงค์ เช่น หั่น/ซอยผัก ปอกเปลือกผลไม้ ฯลฯ)  เตาไฟที่ใช้ฟืน ใช้ขาเป็นก้อนหินหรือเหล็กสามขา  กระบอกน้ำทำจากไม้ไผ่ 3-4 กระบอก เกลือ พริกแห้ง ตะแกรงไม่ไผ่สานขนาดฝ่ามือ ไม้ปลายแหลมยาวประมาณ 30 ซม.  ก็จะประมาณนี้ 

ภาพนี้ ในความเห็นของผม น่าจะพอทำให้จินตนาการออกไปพอได้ว่า  ลักษณะรูปร่างหน้าตาของอาหารไทยที่เรียกว่าเป็นอาหารไทยแท้นั้นน่าจะออกไปในทางใด  ที่เด่นออกมาก็คือ ดูจะเป็นอาหารที่นิยมปรุงด้วยวิธีการ ต้ม ตำ ยำ ย่าง  เป็นอาหารที่ไม่มีกระบวนการทอด (ไม่มีการใช้กระทะ)  เป็นอาหารที่นิยมจะให้กลิ่นและรสของเครื่องปรุงกระจายออกมาผ่านกระบวนการบดขยี้ (ตำ)  เป็นอาหารที่นิยมเอาของสดต่างๆมารวม
คลุกเข้าด้วยกันแล้วปรุงรสให้นัว   และนิยมเครื่องปรุงและอาหารที่ผ่านการย่างหรือหมก(ขี้เถ้า)


กระทู้: อาหารไทยแท้ข้อมูลนี้ถูกต้องไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ย. 23, 19:35
เชิญอ่าน

เปิบพิสดารสมัยอยุธยา
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=442.0


กระทู้: อาหารไทยแท้ข้อมูลนี้ถูกต้องไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ย. 23, 18:51
ที่คณะทูตจากเปอร์เซียได้บันทึกเรื่องของอาหารการกินสมัยอยุธยาไว้นั้น ดูจะมีสาระสำคัญบ่งชี้ว่า คนไทยในสมัยนั้นบริโภคสัตว์น้ำเป็นพื้นฐานและพวกสัตว์เล็กที่สามารถจับได้ง่ายด้วยอุปกรณ์ดักสัตว์เช่นพวก 'แล้ว' ชนิด/ลักษณะต่างๆ     และที่ว่าบริโภคสัตว์ที่ตายแล้ว ก็คงจะต้องเป็นเช่นนั้น เพราะเขามีความเชื่อของการกินสัตว์บนฐานของคำสอนทางศาสนาต่างกับเรา   

อนึ่ง ที่ว่าหนังสัตว์พวกกวางเป็นสินค้าสำคัญในสมัยนั้น ผมมีความเห็นว่าเกือบทั้งหมดน่าจะเป็นหนังเก้งมากกว่า (Barking deer)  เพราะกวางเป็นสัตว์ที่ตัวค่อนข้างใหญ่ ใช้การดักจับค่อนข้างยาก (หรือว่ามีการใช้ปืนแก็ปกันแพร่หลายในสมัยนั้นแล้ว ? )   ต่างกับเก้งที่ตัวเล็กและค่อนข้างจะมีความเชื่องมากกว่า พบได้ง่ายกว่าและยังชอบหากินอยู่ในบริเวณชายป่า/ชายทุ่ง     กรณีของการล่ากวางหรือเก้งจนได้หนังของมันในปริมาณมากพอจนกลายเป็นสินค้าได้นี้ ก็น่าจะบ่งชี้ว่าจะต้องมีการเอาเนื้อของพวกมันมาบริโภค ซึ่งวิธีการบริโภคเนื้อของคนไทยแบบบ้านๆแท้ๆนั้นก็ดูจะมีอยู่ 2 ลักษณะที่สำคัญ คือ ในลักษณะของการสับให้ละเอียดแล้วปรุง (ลาบ) ซึ่งจะกินในลักษณะเป็นกับแกล้มมากกว่าที่จะเป็นจานกับข้าว  และในลักษณะของการย่างแห้ง ซึ่งจะนำมากินในลักษณะเป็นของกินแนมกับข้าว (ข้าวสวยหรือข้าวเหนียว)   

บันทึกนั้น ให้ภาพรวมๆในเชิงของวิถีชีวิตของคนไทยในสมัยนั้น แต่ในเชิงของความเป็นจานอาหารที่ปรุงเพื่อการกินในแต่ละมื้ออาหารนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
   


กระทู้: อาหารไทยแท้ข้อมูลนี้ถูกต้องไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ก.ย. 23, 11:35
คนอยุธยารู้จักไก่แน่นอน เมื่อมีไก่ป่าให้พระลอตามไก่ได้ ไก่บ้านก็ต้องมีเหมือนกัน ทำไมคนไทยจะเอาไข่มาทำทั้งของคาวของหวานไม่ได้  ต้องรอท้าวทองกีบม้ามาทำให้ดูอยู่คนเดียวหรือคะ

ขนมไทยแท้ที่ทำจากไข่มีอะไรบ้างน้อ ???


กระทู้: อาหารไทยแท้ข้อมูลนี้ถูกต้องไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 23, 18:33
ขนมไทยแท้ที่ทำจากไข่มีอะไรบ้างน้อ ???


กระทู้: อาหารไทยแท้ข้อมูลนี้ถูกต้องไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ย. 23, 19:08
นึกออกอยู่สองสามอย่างครับ แต่ไม่รู้ว่าจะถูกต้องหรือไม่ ก็มีสังขยา บัวลอยไข่หวาน ไข่ป่าม(ภาคเหนือ)  ;D

ขนมส่วนใหญ่ต้องมีแป้งเป็นส่วนผสม  สำหรับในโลกซีกตะวันออกนั้น แป้งหลักๆที่ใช้แต่ดั้งเดิมกันมาน่าจะเป็นแป้งจากข้าวที่ใช้บริโภคกัน  ก็อาจจะมีพวกแป้งที่ได้มาจากพืชหัวบางชนิด(ที่เป็นพืชในพื้นถิ่น)ใช้ผสมผสานร่วมไปด้วย เช่น แป้งท้าวยายม่อมของไทย  แป้งจากหัวบุก...

สำหรับขนมของไทยเราแต่ดั้งเดิมนั้น ควรจะอยู่ในลักษณะของใช้แป้งสามชนิด คือแป้งข้าวจ้าว แป้งข้าวเหนียว และแป้งท้าวยายม่อม    ซึ่งจะต่างกับในซีกโลกตะวันตกที่แป้งสาลีเป็นแป้งพื้นฐานในการทำอาหารและขนมต่างๆ  ก็จนกระทั่งเกิดประเทศอเมริกากระมัง แป้งจากข้าวโพดจึงได้เข้ามามีบทบาทในการทำอาหารและขนมต่างๆของโลกตะวันตก    

ก็เลยเป็นเรื่องน่าสนใจว่า ของกินของคนต่างชาติที่มาอยู่ในเมืองไทยในสมัยอยุธยาที่ต้องใช้แป้งสาลีนั้น  แป้งสาลีได้ซึมเข้าใช้ไปอยู่ในเมนู/จานอาหารไทยใดบ้าง ก็เดาเอาในเบื้องแรกว่าน่าจะเป็นอาหารที่เรียกกันว่าอาหารชาววัง  และในทำนองกลับกัน พวกแป้งข้าวจ้าว แป้งข้าวเหนียว และแป้งท้าวยายม่อม(?)นั้น ก็ย่อมจะเข้าไปเป็นส่วนผสมอยู่ในเมนู/จานอาหารของชาวต่างชาติบ้าง เช่น..?

เคยได้สนทนากับชาวญี่ปุ่นวัยชรา เขาเล่าว่า หลังสงครามโลกยุติลง ญี่ปุ่นขาดแคลนอาหารมาก การบรรเทาที่ได้รับการช่วยเหลือจะเป็นพวกแป้งสาลี และของกินที่ทำขึ้นมาบนพื้นฐานของแป้งสาลี ก็เป็นสัมผัสที่แปลกและรู้สึกว่าเป็นของกินที่ไม่เข้าท่าเอาเสียเลย คือต่างจากสัมผัสแบบข้าวจ้าวโดยสิ้นเชิง   คนญี่ปุ่นได้พัฒนาการทำอาหารและของหวานที่ต้องใช้แป้งสาลีตั้งแต่นั้นมา จนในที่สุดก็เป็นอย่างที่ได้ลิ้มรสและว่ากันว่าอร่อยกันในทุกวันนี้      


กระทู้: อาหารไทยแท้ข้อมูลนี้ถูกต้องไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ก.ย. 23, 09:35
นึกออกอยู่สองสามอย่างครับ แต่ไม่รู้ว่าจะถูกต้องหรือไม่ ก็มี สังขยา บัวลอยไข่หวาน ไข่ป่าม(ภาคเหนือ)

"สังขยา" มาจากไหน
คงไม่ใช่ไทยแท้หนา
เสาะสืบแหล่งที่มา
'ทองกีบม้า' พามาไทย

(https://f.ptcdn.info/061/024/000/1412252843-SdJWxC-o.jpg)

"บัวลอย" มีที่มา
จากไหนหนาน่าสงสัย
จากจีนถิ่นแดนไกล
สู่เมืองไทยไหมเล่าเออ

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6179.0;attach=53467;image) (https://f.ptcdn.info/557/035/000/1442537793-IMG34862-o.jpg)


กระทู้: อาหารไทยแท้ข้อมูลนี้ถูกต้องไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 23, 18:11
นึกออกถึงไข่ปิ้งหรือไข่หมกขี้เถ้าร้อนๆให้สุก ไข่ตั๋วหรือไข่ข้าวนึ่งหรือต้ม และข้าวจี่ทาไข่ ที่ทำเป็นของกินเล่น  ซึ่งก็คงจะไม่ใช่อีกเช่นกัน  ก็เลยต้องรอเฉลยว่าขนมไทยแท้ที่ทำจากไข่ว่าจะมีอะไรบ้าง  ฤๅจะเป็นขนมหม้อแกงซึ่งก็น่าจะมีต้นตอมาจากทางอินเดีย ?

ขนมที่รู้จักและคุ้นหูก็ดูจะมีแต่ของปลอมเช่น ขนมไข่เหี้ย/ไข่หงส์ ขนมปลากริมไข่เต่า ขนมไข่นกกระทา ซึ่งดูจะเป็นขนมรุ่นใหม่    และก็มีพวกไข่ที่เอาไปทำเป็นอาหารคาวที่มีรสหวานนำเช่น ไข่ลูกเขย ไข่ปลาต้มกะทิ (ไข่ปลาโอ ไข่ปลาดุก ไข่ปลากระบอก)


กระทู้: อาหารไทยแท้ข้อมูลนี้ถูกต้องไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 23, 18:13
ตกเมนูไข่ปลาริวกิวต้มกะทิไปอีกหนึ่งเมนูครับ


กระทู้: อาหารไทยแท้ข้อมูลนี้ถูกต้องไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 23, 19:16
ขนมต่างๆที่ว่ากันว่ามาจากท้าวทองกีบม้าบ้าง จากอินเดียบ้าง จากจีนบ้าง  เอาเข้าจริงก็แค่ ข้อสันนิษฐาน  ที่พิสูจน์ได้อย่างฝอยทองของโปรตุเกส ลอดช่องของมลายู  มีน้อย   โดยมากก็ลอกตามกันมา   จึงทำให้ดิฉันคิดว่าวัฒนธรรมการกินของคนบนแหลมทอง น่าจะมีมานานแล้วตั้งแต่ก่อนอยุธยา  เพราะแคว้นหรืออาณาจักรต่างๆบนแหลมทองไม่ว่าทวารวดี  ศรีวิชัย สุโขทัยก็เจริญรุ่งเรืองยาวนานหลายร้อยปี    น่าจะพัฒนาวัฒนธรรมการกินของตัวเองได้    ไม่น่าเชื่อว่าต้องรอโปรตุเกส  อินเดีย  จีน มาเลย์ เขมร ลาว พม่ามาทำให้ดูเป็นตัวอย่างก่อน    ถ้าไม่ทำ  คนไทยก็อด คิดเองไม่เป็น

เครื่องปรุงพื้นฐานของขนมหวาน ที่ได้จากท้องถิ่น  ประกอบด้วยแป้งซึ่งได้จากข้าวที่เป็นอาหารหลัก จะข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียวก็แล้วแต่ท้องถิ่น   ความหวานได้จากตาลที่อยู่ในพืชท้องถิ่นอีกเหมือนกัน   ถึงเรียกของหวานชนิดนี้ว่า "น้ำตาล"  แล้วก็กะทิ  จากมะพร้าว เพิ่มความมันให้รสชาติกลมกล่อม    ถ้าจะมีไข่ผสมเข้าไปด้วย  ก็เป็นธรรมดาเพราะเป็ดไก่เป็นสัตว์เลี้ยงในท้องถิ่นอยู่แล้ว   
อาหารคาวหลายชนิดของไทยนิยมใช้ไข่เป็ดมากกว่าไข่ไก่   เช่นไข่เค็ม    ขนมหวานหลายอย่างของไทยก็นิยมใช้ไข่เป็ดเหมือนกัน   


กระทู้: อาหารไทยแท้ข้อมูลนี้ถูกต้องไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ก.ย. 23, 09:35
ฤๅจะเป็นขนมหม้อแกงซึ่งก็น่าจะมีต้นตอมาจากทางอินเดีย ?

"หม้อแกง" ใช่ไทยแท้
ที่แน่แน่ใช่ของแขก
ฝรั่งแต่เริ่มแรก
บางส่วนแปลกแตกต่างไป


มีขนมโปรตุเกสชนิดหนึ่งชื่อ Tigelada (Tigela = ชาม หรือ ถ้วย) มีส่วนผสมหลักคือ ไข่ น้ำตาล และนม

https://youtu.be/_ne7MW-PZOs

เป็นขนมอีกชนิดหนึ่งที่ท้าวทองกีบม้านำสูตรและวิธีมาเดัดแปลงโดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ในไทย (สมัยอยุธยา) เช่นเปลี่ยนจากนมเป็นกะทิ ขนมที่ได้มีชื่อไทยว่า ขนมกุมภมาศ (แปลว่า หม้อทอง) เป็นขนมในรั้วในวัง ต่อมาจึงเผยแพร่สู่ชาวบ้านในชื่อสามัญคือ ขนมหม้อแกง

https://youtu.be/g8ObRm50ZaU


กระทู้: อาหารไทยแท้ข้อมูลนี้ถูกต้องไหมครับ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ย. 23, 20:01
เห็นด้วยกับ อ.เทาชมพู ครับ

เห็นว่า ที่ว่าเป็นอาหารแท้ๆของประเทศหนึ่งใดนั้น  หากย้อนไปไกลๆจริงๆก็ดูจะพบว่าต้นกำเนิดส่วนมากมีถิ่นกำเนิดในที่อื่นๆ  เพียงแต่มีการเอาแบบอย่างมาแปลงใช้วัตถุดิบและใช้อุปกรณ์ของท้องถิ่นทำ  เมื่อทำกันต่อๆมานานเข้า ในระหว่างทางก็มีการพัฒนาใช้อุปกรณ์และมีการปรับแต่งตัวอาหารต่างๆจนกลายเป็นอาหารที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน  เกิดมีความอร่อย เป็นที่นิยมว่าเป็นของดีของถิ่น เกิดมีเรื่องราวที่ผูกพันเข้าไปกับประเพณี/วัฒนธรรม  กลายเป็นเมนูอาหารที่ต้องมี.. แล้วก็กลายเป็นอาหารประจำถิ่นหรือชาตินั้นๆไป 

สตูว์หรือต้มหรือตุ๋นเป็นอาหารของทุกประเทศ   Irish stew มีลักษณะเฉพาะเป็นอาหารประจำชาติของ Ireland   Goulash stew มีลักษณะเฉพาะเป็นอาหารประจำชาติของ Hungary    เนื้อตุ๋น ก็มีลักษณะเฉพาะเป็นของจีน   เอาะหลาม ก็มีลักษณะเฉพาะเป็นของลาว   ต้มเปรอะ ก็มีลักษณะเฉพาะเป็นของอิสานบ้านเรา   ฮังเล ก็มีลักษณะเฉพาะเป็นของภาคเหนือ  ของภาคใต้ก็น่าจะเป็นแกงไตปลา 

ลาบเนื้อสัตว์ก็มีกินกันทั้งซีกโลกตะวันตกและตะวันออก ของฝรั่งเรียกแบบกินดิบว่า Steak Tartare กินโดยคลุกกับใข่สด  เรียกแบบกินสุกว่า Hamburger Steak    ของไทยเราหากดิบก็เรียก ลาบดิบ  หากเอาไปทำให้สุกก็เรียกว่า ลาบสุก  หากเป็นลาบทางเหนือก็จะใส่เครื่องเทศ เรียกว่าลาบเหนือหรือลาบเมือง หากเป็นแบบสุกก็เรียกว่า ลาบคั่ว   หากเป็นลาบทางอีสานก็จะใส่ข้าวคั่วเรียกว่า ลาบอีสาน ซึ่งก็จะมีทั้งแบบดิบ ใส่เลือด และสุกด้วยน้ำ    ทางภาคใต้ก็มี หากแต่มีแต่แบบใส่เครื่องแกงแล้วทำให้สุกเรียกว่า คั่วกลิ้ง

ก็ไม่รู้ว่าที่ใครคือต้นตอ หรือใครเลียนแบบใคร หรือใครลอกเลียนใคร

ก๋วยเตี๋ยวมีต้นตำรับมาจากจีนแน่ๆ  ก๋วยเตี๋ยวของจีนดูจะเป็นแต่ก๋วยเตี๋ยวน้ำเท่านั้น  ก๋วยเตี๋ยวแห้งและแบบที่ใส่ถั่วลิลงบดก็ดูจะมีแต่เฉพาะในไทย  จะว่าเป็นของจีนหรือของไทยเช่นใดดี 

ความเป็นตัวตนของความเป็นอาหารที่เรียกว่าอาหารไทยนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ