เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: luanglek ที่ 28 เม.ย. 10, 08:27



กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 เม.ย. 10, 08:27
เรื่อง   " พริฏิษ   แฟกฏอรี่ "  เป็นตอนที่ ๕ ของบทความขนาดยาวเรื่อง  รัตนศัพท์สงเคราะห์  เขียนโดยผู้ที่ใช้นามแฝงว่า  ตวันสาย   ซึ่งยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนนักว่าเป็นผู้ใด   


เรื่อง   " พริฏิษ   แฟกฏอรี่ "   ลงพิมพ์ครั้งแรกในทวีปัญญา  ฉบับประจำเดือนมกราคม  ร.ศ. ๑๒๔  ฉบับที่  ๒๒   ซึ่งต่อมาได้พิมพ์รวมเล่มใหม่ใน พ.ศ. ๒๕๒๖  ในทวีปัญญา เล่ม ๕   บทความนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติพ่อค้าฝรั่งชื่อ หันแตร  ที่เข้ามาตั้งห้างค้าขายในสมัยรัชกาลที่ ๓ และประวัติความเป็นมาของตึกแขกหรือตึกราชทูต  ซึ่งเท่าที่ได้เล่าให้ผู้มีใจรักหนังสือเก่าบางท่านฟัง   เขาก็ออกอาการตื่นเต้นว่า  มีข้อมูลบางประการที่เพิ่งเคยได้ยิน   8)


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 28 เม.ย. 10, 08:40
ในที่นี้   จะขอเก็บความเรื่อง " พริฏิษ   แฟกฏอรี่ " ในทวีปัญญา เล่ม ๕ มาเล่า  บางตอนอาจจะคัดตัวบทมาลงบ้างเท่าที่จำเป็น 


ผู้เขียนเริ่มเรื่องว่า   คำว่า  "แฟกฏอรี่"   (Factory)  นี้   ปรากฏว่ามีใช้ในสยามประเทศนี้มาตั้งแต่คริศต์ศตวรรษที่ ๑๖  ดังที่ปรากฏในเนื้อความจดหมายเหตุของชาวต่างอีรอบ (Europe) ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเรื่อยมาจนถึงสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง   ที่เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา   มีชาวปตูกัน วิลันดา ฝรั่งกะแก้ว  เอศปันยอน เป็นต้น   ชาวอีรอบเหล่านี้ได้ตั้งโรงงานรับซื้อขายสินค้า  เรียกว่า  แฟกฏอรี่    โดยมีชาติวิลันดาตั้งแฟกฏอรี่ที่พระประแดง เรียกว่า  แอมซเตอรแดม   และอีกแห่งที่กรุงศรีอยุธยาข้างใต้วัดพะแนงเชิงลงไป  เป็นต้น 

ถึงตอนนี้ผู้เขียนเขียนว่า  "ขอยกไว้ก่อนจะพรรณาก็จะเข้า "แบบกบประดำ" ไป   จึงขอกล่าวแต่ในส่วนกรุงรัตนโกสินทร์นี้   ที่มีหลักฐานพอจะอ้างอิงได้..."   สงสัยว่า  แบบกบประดำ   หมายถึงอะไร?  กันแน่ ???


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 เม.ย. 10, 09:12
เยี่ยม


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 เม.ย. 10, 09:45

คุณหลวงกรุณาเขียนให้ละเอียดเรื่อง ตึกแขก ด้วยนะคะ   ว่า กว้างยาวลึกเท่าใด

เพราะสะดุ้งใจว่า  นี่คือ การค้นพบของเรือนไทยว่า  ตึกแขกนี่เป็นที่ที่ นางแป้น วิ่งเข้าไปกระมัง

(อกอีแป้นแล่นลึกเข้าตึกแขก)

สงสัยว่าหน้าไม่กว้างแต่ลึกกระมัง

มีบันทึกสองสามฉบับที่เล่าว่า นำสินค้าไปเปิดขายที่บ้านท่านเจ้าคุณ


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 29 เม.ย. 10, 13:18
เรื่อง "พริฏิษ  แฟกฏอรี่"  ในสมัยรัตนโกสินทร์

เมื่อกะปิตันหันตรีบาระนีเข้ามาสยามเพื่อขอทำสัญญาทางพระราชไมตรีการค้าขายในสมัยรัชกาลที่ ๓  ในครั้งนั้นได้มีพ่อค้าชาวอังกฤษผู้หนึ่ง  ชื่อ หันแตร  (Hunter)  นำปืนมัสเก็ตคาบศิลาอย่างใหม่ ทำที่เมืองเทศ (อินเดีย) เข้ามาจำนวน  ๑,๐๐๐  กระบอก  พร้อมด้วยสินค้าอังกฤษบางอย่าง  และจะขออนุญาตตั้งห้างทำการค้า   แล้วได้นำปืน  ๑,๐๐๐  กระบอกนั้นไปน้อมเกล้าฯ ถวายผ่านเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกระลาโหมในกาลนั้น  (สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่)  เจ้าพระยาพระคลังได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณารัชกาลที่  ๓  ทั้ง ๒ เรื่อง  ตามที่นายหันแตรต้องการ   เมื่อรัชกาลที่ ๓ ทรงทราบแล้ว ก็มีพระราชหฤทัยยินดี   และทรงเห็นว่านายหันแตรนี้มีคุณแก่สยามมาก  ด้วยเอาปืนอย่างดี มาน้อมเกล้าฯ ถวายถึง ๑,๐๐๐ กระบอก  อันเป็นเวลาที่สยามกำลังต้องการพอดี  เพราะสยามกำลังทำสงครามกับญวน  จึงรับสั่งให้เจ้าพระยาพระคลังรับไว้   และโปรดเกล้าฯ ให้ทาสีแดงที่รางปืนนั้นเป็นเครื่องหมาย   อันเป็นที่มาของชื่อเรียกปืนนั้นว่า  ปืนรางแดง  จัดเป็นปืนเล็กคาบศิลาชนิดหนึ่งในโรงแสงเวลานั้น



นอกจากนั้นรัชกาลที่  ๓ ยังมีรับสั่งให้เจ้าพระยาพระคลังได้เป็นธุระจัดการเรื่องที่ทางสำหรับตั้งห้างค้าขายของนายหันแตรตามที่ได้นายหันแตรขอมา   ท่านเจ้าพระยาพระคลังได้กราบบังคมทูลว่า   ถ้าให้นายหันแตรสร้างหอห้างขึ้นเอง  เกลือกว่าต่อไปจะเป็นการยุ่งยากขึ้นในแผ่นดิน   จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นายหันแตรเช่าตึกค้าขายดีกว่า   โดยท่านจะจัดแบ่งที่ดินของท่านที่หน้าวัดประยุรวงศาวาสส่วนหนึ่ง  สำหรับทำที่ให้เช่า   กับขอพระราชทานเงินภาษีไม้ไผ่ที่ขึ้นกับกรมท่า  มาใช้เป็นทุนสร้างตึกและห้างในที่ของท่าน  และขอน้อมเกล้าฯ ถวายให้เป็นของหลวงด้วย   รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงฟังดังนั้นก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่ท่านเจ้าพระยาพระคลังขอทุกประการ


ท่านเจ้าพระยาจึงได้จัดการแบ่งที่หน้าวัดประยุรวงศ์  ตอนเหนือถนนสะพานฉนวนหน้าวัดไว้เป็นสนามม้า   ซึ่งที่ตรงนี้    ต่อมาได้เป็นที่ทำเมรุพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยาพระคลังผู้เป็นเจ้าของที่ดินนั้น   หลังจากนั้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศได้ออกทุนสร้างตึกปั้นหยา  ๒  ชั้น ๑ หลัง  ตึกยาวใหญ่หลังหนึ่ง   ตึกแถว  ๒  ชั้นมีด้านเหนือจดที่ดิของพระราชานุวงษ์  หลังหนึ่ง   โดยเว้นทางระหว่างตึกแขกเพื่อให้พระราชานุวงษ์ใช้เป็นทางเดินขึ้นลงทางแม่น้ำ   และเป็นเขตระหว่างตึกแขกเมืองกับตึกที่ทำใหม่นี้กับโรงสังกะสีหน้าตึกปั้นหยาด้วย   ทำเป็นห้างท่าเรือเจ้าพระยา  ให้หลวงพ่อยิ้มกงสี   (พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ ) ตั้งกงสี   ห้างที่ไว้สินค้านั้นได้น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นส่วนมรดก   ในสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่  เพื่อเป็นประโยชน์แก่พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๔   ครั้นหลวงพ่อยิ้ม (พระพิศาลยิ้ม) เลิกการห้างแล้ว  ได้ทำเป็นห้างให้นายมูลเลอร์  ไมสเนอ  เช่า  แล้วต่อมาได้กลายเป็นโรงพิมพ์บางกอกไตมส์   เดี๋ยวนี้  (ในเวลาที่ผู้เขียนเล่าเรื่อง)  ได้ใช้เช่าเป็นโรงเรียนพลตระเวน  ชื่อว่า  ตึกชิรญาณ



กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 29 เม.ย. 10, 13:39
ที่ดินที่ต่อจากที่ดินข้างเหนือนั้น  เป็นที่ดินริมแม่น้ำ   หน้ากว้าง  ๑  เส้นเศา  ด้านหลังกว้าง  ๑๙  วา เศษ  ด้านเหนือยาว  ๒ เส้นเศษ   ด้านใต้ยาว  ๓๕  วาเศษ  ก่อสร้างตึกสามชั้นอยู่กลาง  ข้างตึกทำตึกแถวสองชั้น   ทั้งสองข้างมีเฉลียงใหญ่สำหรับไว้สินค้า   กลางเป็นชาลาและมีที่สำหรับเสมียนคนงานอยู่พร้อมสรรพ   มีครัวและกำแพงหน้าตึกสองข้างตึกนั้น   เป็นเขตขอบยกเป็นห้างแฟกฏอรี่ให้หันแตรเช่าทำการค้าขาย   ที่ดินนี้ไปจดคลองคูวัดประยุรวงศ์   ด้านเหนือเป็นฉางเกลือ   หมอบลัดเลได้เช่าที่ดินนี้ทำโรงพิมพ์และมีโรงกลึง   จนกระทั่งต่อมา  ในรัชกาลที่ ๔  รัชกาลที่ ๔ ได้พระราชทานที่ดินปากคลองบางกอกใหย๋ให้หมอบลัดเลอาศัย  หมอบลัดเลจึงได้ย้ายไปอยู่ที่ใหม่   ข้างหลังตึกที่ทำใหม่นี้กับที่ฉางเกลือเป็นบ้านหลวงแก้วอาญัติ  (โต)  บุตรของท่านเจ้าพระยาพระคลัง   --- หลวงแก้วอาญัตินี้ต่อมาเป็นที่พระยาราชานุประพันธ์  ปลัดทูลฉลองกรมท่าคนแรกได้รับพระราชทานพานทอง   คู่กับพระยาพิพัฒโกษา   ซึ่งต่อมาป่วยเป็นโรคหืดเรื้อรัง  รับราชการไม่ได้  รัชกาลที่ ๔ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเป็นยที่พระราชานุวงษ์  ด้วยมีพระราชดำริว่า  เป็นพระยาไม่ได้  จึงต้องเป็นพระตามตำแหน่งราชนิกูล  อย่างพระพงษอมรินทร ที่พระมหาราชครูปโรหิตาจารย์  เป็นพระพิเศษกินพานทอง  ได้ให้มารับเบี้ยหวัดท้ายหม่อมเจ้า---ที่ดินนี้มาจดถนนหน้ากำแพงวัดประยุรวงศ 

เมื่ปลูกตึกขึ้นแล้วนายหันแตรได้เข้าเช่าอยู่   ฝรั่งในกาลนั้นจึงได้เรียกชื่อว่า  "พริฏิษ  แฟกฏอรี่"  เป็นศัพท์แก้วแรกมีในสมัยรัตนโกสินทร์ครั้งนั้น

 8)


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 พ.ค. 10, 08:51
ผู้เขียนได้อธิบายต่อไปอีกว่า

คำว่า "แฟกฏอรี่" (factory) มีมูลศัพท์มาจากคำในภาษาละตินว่า  "แฟกตุม" (factum) แปลว่า กระทำการงาน   เดิมนั้นใช้หมายถึงชื่อที่ตั้งทำการของพ่อค้าหรือผู้รับทำการที่ตั้งอยู่ในเมืองต่างประเทศ  และเพื่อป้องกันการรุกรานและความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลของประเทศที่ไปตั้งอยู่  ลักษณะเช่นนี้ชาติปตุกัน (หรือโปรตุเกส) ได้เริ่มตั้งขึ้นแฟกฏอรี่ที่เมืองมาเก๊าในจีนก่อน  แล้วเลยยึดเอาเป็นเมืองขึ้นในกาลต่อมาเป็นเวลา ๓๐๐ ปีเศษ  (นับถึงปี ร,ศ,๑๒๔)   ฝ่ายอังกฤษได้ตั้งแฟกตอรี่ที่กวางตุ้งแล้วเลยยึดเอาเกาะฮ่องกงไว้ครอบครองจนปัจจุบัน  (นับถึงปี ร,ศ,๑๒๔)  ที่อินเดียก็มีเช่นกัน  คือ เดิมพวกฝรั่งเข้ามาขอตั้งแฟกฏอรี่โรงงานก่อน  แล้วจึงค่อยเอิบเอื้อมอำนาจตั้งป้อมปราการป้องกันอำนาจรัฐบาลและพลเมืองของประเทศนั้นไม่ให้มากดขี่ข่มเหง   จนกระทั่งเกิดทะเลาะต่อสู้ลุกลามจนกระทั่งยึดอินเดียได้โดยมาก   เจ้าพระยาพระคลัง (สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย (ดิศ))เล็งเห็นการณ์ไกลและมีตัวอย่างอยู่แล้ว  จึงได้กราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๓ ว่าขอให้พวกฝรั่งนั้นเป็แต่เช่าถือที่ดินทำการไม่ให้ก่อสร้างเอาเอง



ต่อมาในปัจจุบัน  การตั้งแฟกฏอรี่ตามความเข้าใจอย่างเดิมนั้นสิ้นไป  ด้วยว่ามีการติดต่อแก่กันใกล้ชิดมากขึ้น   ความปลอดภัยของพ่อค้าต่างชาติก็มีมากขึ้นด้วย   การปกครองโดยยุติธรรมของรัฐบาลต่างๆ ดีขึ้น   บรรดาลูกค้าที่เข้ามาตั้งห้างค้าขายในประเทศเหล่านั้น  ก็ไม่ได้ตั้งเป็นแฟกฏอรี่อย่างเดิม   แฟกฏอรี่ตามเนื้อความกฎหมายกำหนดไว้หมายเอาว่า  บรรดาตึกรามหรือโรงเรือนในที่ที่มีการกั้นล้อมเป็นเขตใช้แรงเครื่องยนต์ไอน้ำ น้ำ หรือเครื่องยนต์อื่นๆ  ในการทำหัตถกรรมการงานต่างๆ  มีการทำฝ้าย สำลี ขนสัตว์ ผม ไหม ป่าน ปอยู้ต ที่ใช้ทำกระสอบกุหนี่ เป็นต้น   ไม่ว่าจะทำด้วยวัตถุเดียวหรือวัตถุผสมกันหรือแยกกันก็ตาม   มีกิจการที่ทำด้วยมือหรือเครื่องยนต์ต่างๆ ช่วยทำ   นับเป็นแฟกฏอรี่ทั้งนั้น    และมีกฎหมายบังคับกำหนดไว้ด้วย



คำว่า  พริฏิษ (British) เป็นคำคุณศัพท์ของคำว่า  พริษเฏน  คือ อังกฤษ  เมื่อเอามาขยายคำว่าแฟกฏอรี่  มุ่งหมายเอาเฉพาะห้างของชาวอังกฤษ   เพราะนายหันแตรเป็นพ่อค้าชาวอังกฤษ   ฝรั่งทั้งหลายในสมัยรัชกาลที่ ๓ จึงเรียกตำบลที่ตั้งห้างของนายหันแตรนั้นว่า พริฏิษ แฟกฏอรี่  อันเพิ่งเกิดมีในสมัยรัตนโกสินทร์    แต่โดยสามัญคนทั่วไปไม่ได้เรียกว่า  พริฏิษ แฟกฏอรี่   คงเรียกเป็น  ตึกหันแตรบ้าง  ห้างหันแตรบ้าง   และต่อมาบริเวณนั้นก็ได้เป็นตึกแขกเมืองไป



กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 พ.ค. 10, 12:51
ประวัตินายหันแตร

เมื่อนายหันแตรเข้ามาตั้งการค้าขายในเมืองสยามแล้ว    ก็ได้บันทุกสินค้าอังกฤษต่างๆ  เข้ามาขายและรับสั่งของที่ใช้ในราชการด้วย   มีเครื่องอาวุธต่างๆ ภาชนะ  สิ่งของที่ใช้ในเรือกำปั่นหลวง  เป็นต้น   นอกจากนี้ยังมีสินค้าอื่น เช่น กระจกเงาแผ่นใหญ่ เครื่องแก้วเจียระไน  น้ำตะกั่วตัดขาวบ้างสีบ้าง   เครื่องถ้วยชามจานปอสเลน  กระเบื้อง  แพร ผ้าสักหลาด  เป็นต้น  สินค้าเหล่านี้เป็นที่ชื่นชอบแก่ผู้มีบรรดาศักดิ์ในสมัยนั้นมาก   นายหันแตรยังได้ทำการจัดซื้อสินค้าที่มีในเมืองไทย  บรรทุกออกไปส่งขายในเมืองนอกด้วย  เรียกว่าเป็นพ่อค้าสินค้านำเข้าและพ่อค้าสินค้าส่งออก   ในช่วงแรกของการค้าขาย  นายหันแตร  มีกำไรมาก  พระเจ้าแผ่นดินก็โปรดมาก   และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็นที่หลวงอาวุธวิเศษ   ด้วยเป็นผู้จัดหาซื้ออาวุธเข้าให้ราชการ   

เรื่องนายเปี่ยมหันแตร

อนึ่ง ในครั้งนั้น   มีนายมหาดเล็กผู้หนึ่งชื่อ  เปี่ยม  เกิดในตระกูลเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช  นายเปี่ยมนี้มีรูปร่างสูงใหญ่ขาว   พระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกนายเปี่ยมนี้ว่า  หันแตร  และได้กลายเป็นคำต่อท้ายชื่อนายเปี่ยมนี้ต่อมาว่า  นายเปี่ยมหันแตร  เป็นคำที่สามารถกราบบังคมทูลได้   นายเปี่ยมคนนี้ได้รับราชการต่อมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ ๕ ) เป็นที่พระพิเรนทรเทพ   แล้วต่อเกิดทำผิดต้องโทษถึงถอดออกจากราชการ   (รายละเอียดนั้น  นายกุหลาบได้เขียนไว้  หากมีโอกาสคงได้เล่าต่อไป)

เรื่องนายหันแตรแต่งงานกับท่านผู้หญิงทรัพย์ (คาโรไลน์)

นายหันแตรได้ตั้งการค้าขายจนได้เป็นพ่อค้าใหญ่ในกรุงเทพฯ    ต่อมานายหันแตรได้แต่งงานกับหญิงเชื้อสายปตุกัน  ซึ่งเรียกกันโดยสามัญว่า พวกฝรั่งกะฎีจีน  หญิงคนนี้ชื่อ  คาโรไลน์ ทรัพย์   ผู้คนทั่วไปและบ่าวต่างเรียกภรรยานายหันแตรนี้ว่า  ท่านผู้หญิงทรัพย์   เพราะนายหันแตรมีตำแหน่งเป็นที่หลวงอาวุธวิเศษ   ท่านผู้หญิงทรัพย์แต่งกายแปลกกว่าหญิงฝรั่งกะฎีจีนทั่วไป  กล่าวคือ  ท่านผู้หญิงมักเกล้าผมมวย  นุ่งผ้าจีบ  สวมเสื้อคอ ห่มแพรแถบห้อยคอห่มแพรเพลาะสีนวลบ้าง  สีดำบ้าง   เสมอ   ท่านผู้หญิงเที่ยวจำหน่ายสินค้าตามวังเจ้า  บ้านขุนนาง และยังเข้าในพระราชวังได้ด้วย   ท่านจึงเป็นที่คุ้นเคยในหมู่ผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งหลาย    ต่อมา   นายหันแตรกับท่านผู้หญิงทรัพย์ มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ นายโรเบิตหันแตร   นายหันแตรได้ส่งไปเรียนที่เมืองนอกแต่ยังเด็กเล็ก   


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ค. 10, 13:04
อ่านแล้วสนุกค่ะ    พระพิเรนทรฯคนนี้หรือเปล่าที่เป็นที่มาของสำนวน เล่นพิเรนทร์?
สงสัยว่าท่านผู้หญิงทรัพย์ เป็นคาธอลิคหรือเปล่า  เธอถึงมีชื่อฝรั่งด้วย  ถ้าใช่ก็แปลว่าได้รับชื่อนี้ตอนรับศีลแบ็พติสม์

วาดภาพแฟชั่นของท่านผู้หญิงทรัพย์ไปด้วยขณะอ่าน    
นุ่งจีบ-นึกออก     ชุดไทยบรมพิมานก็ยังนุ่งจีบอยู่    ตัวนางในละครกรมศิลปากรก็นุ่งจีบ
เสื้อคอ- เดาว่าเป็นเสื้อผู้หญิงที่ตัดคอกลมหรือลึกลงมา   ไม่มีปก  ถ้าคอกลมลึกเหมือนหูกระเช้า เรียกว่าคอกระเช้า
แพรแถบห้อยคอ - เคยเห็นรูปท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร มีแพรห้อยคอ หรือจะเรียกว่าคล้องคอก็ได้ เป็นแพรผืนเล็กยาว  
ส่วนแพรเพลาะห่ม เป็นแพรผืนกว้างคลุมไหล่ทิ้งชายยาว


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 พ.ค. 10, 13:26
อ่านแล้วสนุกค่ะ    พระพิเรนทรฯคนนี้หรือเปล่าที่เป็นที่มาของสำนวน เล่นพิเรนทร์?
สงสัยว่าท่านผู้หญิงทรัพย์ เป็นคาธอลิคหรือเปล่า  เธอถึงมีชื่อฝรั่งด้วย  ถ้าใช่ก็แปลว่าได้รับชื่อนี้ตอนรับศีลแบ็พติสม์

วาดภาพแฟชั่นของท่านผู้หญิงทรัพย์ไปด้วยขณะอ่าน   
นุ่งจีบ-นึกออก     ชุดไทยบรมพิมานก็ยังนุ่งจีบอยู่    ตัวนางในละครกรมศิลปากรก็นุ่งจีบ
เสื้อคอ- เดาว่าเป็นเสื้อผู้หญิงที่ตัดคอกลมหรือลึกลงมา   ไม่มีปก  ถ้าคอกลมลึกเหมือนหูกระเช้า เรียกว่าคอกระเช้า
แพรแถบห้อยคอ - เคยเห็นรูปท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร มีแพรห้อยคอ หรือจะเรียกว่าคล้องคอก็ได้ เป็นแพรผืนเล็กยาว 
ส่วนแพรเพลาะห่ม เป็นแพรผืนกว้างคลุมไหล่ทิ้งชายยาว


เรื่องที่มาของคำว่าพิเรนทร์นี้  เท่าที่ฟังมา  ยังไม่มีใครตอบได้ชัดเจนว่ามาจากไหน   แต่พระพิเรนทรเทพ (เปี่ยม หันแตร) คนนี้  ท่านทำผิดเรื่องขัดดาบเข้าใกล้ที่ประทับ

ท่านผู้หญิงทรัพย์นั้น  เข้าใจว่าเป็นพวกเชื้อสายโปรตุเกสที่สืบเชื้อสายต่อมาจากพวกโปรตุเกศในสมัยกรุงเก่า  พวกนี้เมื่อกรุงเก่าเสียแก่พม่าก็ได้ย้ายมาอยู่กรุงธนบุรีด้วย   บรรดาฝรั่งที่เข้ามาเมืองไทยในช่วงต้นกรุงคงแต่งงานกับฝรั่งกะฎีจีนเหล่านี้  เพราะเห็นเป็นเชื้อฝรั่งเหมือนกัน   อันที่จริงฝรั่งโปรตุเกสที่อยู่ชุมชนตามหัวเมืองท่ามีอยู่ในประเทศแถบนี้มากมาย   และคงอยู่ต่อมาแม้โปรตุเกสจะหมดอิทธิพลทางทะเลแล้ว  ท่านผู้หญิงก็น่าจะเป็นคาธอลิกอย่างพวกโปรตุเกสครับ

เรื่องเครื่องแต่งตัวสตรีสมัยก่อน  ผมไม่ถนัด   แต่น่าจะมีผู้อื่นที่ถนัดกว่า  สามารถจะอธิบายได้ชัดเจน  โดยเฉพาะการแต่งตัวอย่างท่านผู้หญิงกลีบ  มหิธร  นึกได้คนหนึ่ง   เดี๋ยวก็คงมาตอบให้


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: JD ที่ 07 พ.ค. 10, 14:07

พวกฝรั่งกะฎีจีน  หญิงคนนี้ชื่อ  คาโรไลน์ ทรัพย์   ผู้คนทั่วไปและบ่าวต่างเรียกภรรยานายหันแตรนี้ว่า  ท่านผู้หญิงทรัพย์   เพราะนายหันแตรมีตำแหน่งเป็นที่หลวงอาวุธวิเศษ   ท่านผู้หญิงทรัพย์แต่งกายแปลกกว่าหญิงฝรั่งกะฎีจีนทั่วไป  กล่าวคือ  ท่านผู้หญิงมักเกล้าผมมวย  นุ่งผ้าจีบ  สวมเสื้อคอ ห่มแพรแถบห้อยคอห่มแพรเพลาะสีนวลบ้าง  สีดำบ้าง   เสมอ   ท่านผู้หญิงเที่ยวจำหน่ายสินค้าตามวังเจ้า  บ้านขุนนาง และยังเข้าในพระราชวังได้ด้วย   ท่านจึงเป็นที่คุ้นเคยในหมู่ผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งหลาย    ต่อมา   นายหันแตรกับท่านผู้หญิงทรัพย์ มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ นายโรเบิตหันแตร   นายหันแตรได้ส่งไปเรียนที่เมืองนอกแต่ยังเด็กเล็ก   


สับสนนิดหน่อยครับตรงที่ว่า
นายหันแตร+ คาโรไลน์ ทรัพย์ -->นายโรเบิต หันแตร (บุตร)


ส่วนท่อนนี้
     ‘ฝรั่งพุทเกด’ คือ ฝรั่งโปรตุเกศ ว่าภรรยาของหันแตร เป็นเชื้อสายโปรตุเกศ
สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (พอลคอน) สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โน้น
นับถือศาสนาแคทอลิค ชื่อฝรั่งว่าแองเจลิน่า (ชื่อนักบุญ) ชื่อไทยว่า ทรัพย์

ดูล่างสุด ที่ลิ้งค์นี้
http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=1923&stissueid=2517&stcolcatid=2&stauthorid=13


สรุปว่า ภาพนี้ แองเจลินา ทรัพย์ เป็นภรรยาของหันแตรผู้พ่อ หรือผู้ลูกครับ


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 พ.ค. 10, 14:39
ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๗ - ๒๔๓๘     ท่านผู้หญิงกลีบแต่งงานโดยนุ่งผ้าลายขัดมัน 
คาดเข็มขัดเงินโดยใส่เสื้อมีเอ็นปลายเอวแหลมติดลูกไม้โดยรอบ
ห่มแพรจีบสไบเฉียง  ไม่ได้สวมรองเท้า


ในปี ๒๔๔๙  ท่านผู้หญิงได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้าฝ่ายใน

ท่านนุ่งผ้ายกไหมอย่างดีโจงกระเบน   ใส่เสื้อแพรอย่างดีแขนยาวคอตั้งติดริบบิ้นและติดลูกไม้อย่างละเอียด
ตัดเย็บด้วยฝีมือประณีตมาก

สะพายแพรสีชมพูปักตราจุลจอมเกล้า  ตามแบบที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้วางระเบียบไว้
สำหรับแพรปักตราจุลจอมเกล้า  เป็นผืนแพรสะพายจากบ่าซ้าย  มารวบสองชายเข้าด้วยกันที่เอวขวา

ที่บ่า  ตัดเนื้อแพรให้คอดและผายออกตอนอกกับตอนหลัง
ส่วนที่รวบตรงเอวนั้นก็ตัดเนื้อแพรให้คอดเช่นเดียวกัน

ชายแพรทั้งสองข้างที่ห้อยลงมานั้น  กว้างเท่ากับตอนหน้าอกและตอนหลัง
และมีรูปดวงตราปักด้วยไหมและดิ้นทั้งสองชาย  ชายละดวง
บนผืนแพรปักด้วยดิ้นเป็นตัวอักษร จ.จ.จ. เป็นระยะ ๆ ตลอดผืน


( หนังสืออนุสรณ์ ท่านผู้หญิง ๒๕๐๔ )


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 พ.ค. 10, 15:28
ผมเล่าตามเนื้อความในบทความ ชื่อ รัตนศัพท์สงเคราะห์  ของ "ตวันสาย" ในทวีปัญญา    ส่วนข้อมูลผิดถูกอย่างไร   ต้องขอให้ผู้เข้ามาอ่านช่วยสอบสวนอีกที   


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 07 พ.ค. 10, 16:07
นายหันแตรมักคิดหาสินค้าที่เป็นที่ถูกใจผู้มีบรรดาศักดิ์และคนไทยทั่วไปเข้ามาขายอยู่เสมอ

เรื่องพรมน้ำมันแรกมีในเมืองสยาม


คราวหนึ่งนายหันแตรสั่งพรมน้ำมันเข้ามาขาย  เพราะเป็นของแรกมีในอังกฤษเพิ่งเข้ามาเมืองไทย   เจ้าพระยาพระคลังชอบใจพรมน้ำมันนั้น  แต่ด้วยเป็นของต่างประเทศที่แปลกประหลาดเข้ามาในเมืองไทย   จำต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๓ ได้ทอดพระเนตรเสียก่อน  ต่อเมื่อไม่โปรดแล้ว  เหลือจากนั้นจึงนำออกจำหน่ายแก่ผู้อื่นได้    พรมน้ำมันนั้นมีพระราชดำริว่าจะให้นำไปปูในโบสถ์วิหาร   ก็เห็นจะไม่ทนทานอย่างแผ่นหิน  ครั้นจะนำไปปูท้องพระโรงก็ไม่พอแก่ลายชนิดเดียวกัน  ถ้าจะนำไปปูที่ใหญ่กว้าง  ก็ต้องสั่งโดยวัดขนาดตัดทำจำเพาะพอแก่ลายและขอบอย่างเดียวกัน  

เป็นอันว่า คราวนั้น รัชกาลที่ ๓ ไม่โปรดพรมน้ำมันของนายหันแตร   จึงเป็นโอกาสให้เจ้าพระยาพระคลังกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตรับซื้อพรมน้ำมันนั้นไว้   แล้วถ่ายตัวอย่างเขียนเพดานโบสถ์วิหารการเปรียญบ้าง  (เอาแบบลายพรมน้ำมันนั้นไปเขียนเพดานโบสถ์วิหารการเปรียญ)  และพรมที่สั่งเข้ามานั้นก็ปูที่หอนั่งเก่าของท่าน  จึงได้กลายเป็นตัวอย่างลือเลื่องเรื่องพรมน้ำมันในคราวนั้น




กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 พ.ค. 10, 19:32
เรื่องรั้วเหล็กแลกน้ำตาลทราย


ครั้งหนึ่ง นายหันแตรได้สั่งรั้วเหล็กบรรทุกเรือกำปั่นเข้ามาบอกขายในกรุงเทพฯ  รั้วเหล็กนั้นเป็นอย่างรั้วเหล็กที่กั้นไฮด์ปาร์กและพระราชวังบักกิงฮัมในกรุงลอนดอน    เจ้าพนักงานได้นำความกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๓   พระองค์ไม่โปรดด้วยว่าราคาแพงนัก  และจะไม่มีใครกล้าซื้อไว้ได้  เมื่อมีพระราชกระแสว่าไม่โปรดรั้วเหล็กแล้ว  นายหันแตรจำจะต้องบรรทุกรั้วเหล็กไปจำหน่ายที่อื่น  อันจะเป็นการขาดทุนทั้งระวางและค่ารั้วเหล็กที่ได้ซื้อมาขาย   แต่เจ้าพระยาพระคลังเห็นเป็นโอกาสและชอบใจใคร่ได้ด้วย    ครั้นจะซื้อไว้  ราคาก็แพงนัก   และเงินที่ท่านมีในขณะนั้นไม่พอซื้อรั้วเหล็กของนายหันแตร   

ในเวลานั้น  เจ้าพระยาพระคลังกำลังทำโรงหีบน้ำตาลอยู่หลายแห่ง   มีที่เมืองนครเขื่อนขันธ์เป็นต้น    ท่านจึงได้เจรจากับนายหันแตรว่า  ท่านจะขอแลกเปลี่ยนรั้วเหล็กของนายหันแตรกับน้าตาลทรายของท่านลำต่อลำ     นายหันแตรคิดเห็นว่าการแลกเปลี่ยนนี้ไม่ขาดทุน   พอที่จะหากำไรได้  จึงตอบตกลงตามที่ท่านเจ้าพระยาพระคลังเสนอมา   เจ้าพระยาพระคลังจึงนำความกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๓ ว่า  รั้วเหล็กของนายหันแตรนั้น  เมื่อพระองค์ไม่โปรดเกล้าฯ  ให้ซื้อไว้แล้ว   นายหันแตรจำต้องบรรทุกรั้วเหล็กออกไปจากกรุงเทพฯ  เป็นการขาดประโยชน์ของลูกค้าผู้นำสินค้าเข้ามาที่พระนคร   ท่านจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตแลกเปลี่ยนรั้วเหล็กกับน้ำตาลอันเป็นสินค้าเมืองสยามผลิตเอง   และขอรับพระราชทานรั้วเหล็กไว้บูชาในพระศาสนา  โดยจะใช้เป็นรั้วกั้นประดับที่วัดประยุรวงศาวาส   รัชกาลที่ ๓  ได้ทรงฟังดังนั้นก็โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่ท่านขอ


จากนั้น   ท่านก็ให้นายหันแตรขนรั้วเหล็กขึ้นชั้นกั้นที่หน้ากำแพงปูนอีกชั้นหนึ่ง   และกั้นรอบภุเขาและสระน้ำวัดประยุรวงศาวาส   ทำให้วัดประยุรวงศาวาส ได้ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  วัดรั้วเหล็ก  ส่วนเรือที่บรรทุกรั้วเหล็กเข้ามานั้น   ท่านเจ้าพระยาพระคลังก็ให้บรรทุกน้ำตาลทรายจนเต็มลำเรือออกให้นายหันแตรไปจำหน่ายที่ต่างประเทศ   เป็นอันว่าได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายโดยไม่ต้องซื้อด้วยเงิน   และนายหันแตรก็ได้ค่าระวางเรือและค่ารั้วเหล็ก   นั่นก็นับเป็นครั้งแรกที่มีรั้วเหล็กในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์   "อันเป็นนิยมแฟชชั่นมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓  จนปัตยุบันนี้กั้นประดับตามวัดวังแลบ้านผู้มีบรรดาศักดิ์อยู่เดี๋ยวนี้"



กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 พ.ค. 10, 20:17

เรื่องนายเปี่ยมหันแตร

อนึ่ง ในครั้งนั้น   มีนายมหาดเล็กผู้หนึ่งชื่อ  เปี่ยม  เกิดในตระกูลเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช  นายเปี่ยมนี้มีรูปร่างสูงใหญ่ขาว   พระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกนายเปี่ยมนี้ว่า  หันแตร  และได้กลายเป็นคำต่อท้ายชื่อนายเปี่ยมนี้ต่อมาว่า  นายเปี่ยมหันแตร  เป็นคำที่สามารถกราบบังคมทูลได้   นายเปี่ยมคนนี้ได้รับราชการต่อมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ ๕ ) เป็นที่พระพิเรนทรเทพ   แล้วต่อเกิดทำผิดต้องโทษถึงถอดออกจากราชการ   (รายละเอียดนั้น  นายกุหลาบได้เขียนไว้  หากมีโอกาสคงได้เล่าต่อไป)


ไปตามหาข้อมูลนายเปี่ยมหันแตรของนายกุหลาบมาเล่าครับ


นายเปี่ยม เป็นบุตรชายคนหนึ่งของพระยาอนุชิตชาญไชย  (ขุนทอง) ซึ่งเป็นน้องชายของเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช  บุณยรัตพันธุ์)  นายกุหลาบว่า นายเปี่ยมคนนี้เป็นคนประหลาดควรจะออกชื่อไว้ให้ชื่อปรากฏ   นายเปี่ยม  ได้เริ่มรับราชการเป็นมหาดเล็กพิเศษในรัชกาลที่ ๓    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นนายเปี่ยมนี้มีรูปร่างสูงใหญ่คล้ายกับนายฮันเตอร์ นายห้างชาวอังกฤษที่ตั้งห้างค้าขายสรรพสินค้าอยู่ที่ตึกสูงหน้าวัดประยุรวงศาวาส  จึงมีพระราชดำรัสเรียกนายเปี่ยมนั้นว่า  เปี่ยมหันแกร   นายเปี่ยมหันแตรทำราชการในรัชกาลที่ ๓  ได้เป็นที่จ่าจิตรนุกูล  มีตำแหน่งราชการในกรมมหาดเล็กฝ่ายพระราชวังบวรเมื่อราชการในพระราชวังบวรได้ลงมาสมทบในพระบรมมหาราชวัง (หลังจากสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์เสด็จทิวงคตแล้ว)


ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ นายจ่าจิตรนุกูล (เปี่ยมหันแตร) ได้กลับขึ้นไปรับราชการในพระราชวังบวรตามเดิม  ครั้งนั้น  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบวรราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญบัตรให้จ่าจิตรนุกูล  เป็น จมื่นสิทธิแสนยารักษ์  ปลัดกรมพระตำรวจในพระราชวังบวร   ครั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว  ข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรก็ลงมาทำราชการสมทบในพระบรมมหาราชวังอีก  รัชกาลที่ ๔ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อน  จมื่นสิทธิแสนยารักษ์  เป็น  พระพรหมสุรินทร์   เจ้ากรมพระคำรวจฝ่ายในพระราชวังบวร  (ส่วนพระพรหมสุรินทร์ (ยง) คนเก่า  ซึ่งเป็นบุตรพระนมใพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็นที่ พระยานรานุกิจมนตรี  จางวางพระสุรัสวดีฝ่ายในพระราชวังบวร)


ต่อมา  ได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อน  พระพรหมสุรินทร์ เป็น พระอินทรเทพ  เจ้ากรมพระตำรวจในพระบรมมหาราชวัง   (ส่วนพระอินทรเทพ  (ยัง)  คนเก่า  ได้รับโปรดเกล้า ฯ เป็นที่พระยาเพชรปาณี)


ในรัชกาลที่  ๕  ได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอินทรเทพ (เปี่ยมหันแตร) เป็นพระพิเรนทรเทพ  เจ้ากรมพระตำรวจ  (พระพิเรนทรเทพคนก่อนได้เลื่อนเป็นพระยาปราจีนบุรี)


ครั้งหนึ่ง  รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุดปรดเกล้าฯ ให้ เจ้ากรม ปลัดกรมพระตำรวจขัดกระบี่ฝรั่งแห่เสด็จแทนหอก   พระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินออกจากพระบรมมหาราชวัง  แล้วเสด็จฯ เข้าในพระบรมมหาราชวัง  ครั้งนั้น  พระพิเรนทรเทพ  (เปี่ยมหันแตร) ได้ขัดกระบี่แห่เสด็จเข้ามาในพระบรมมหาราชวัง   แต่ยังไม่ได้ปลดกระบี่ออก   ขัดกระบี่แนเสด้จเข้าไปถึงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย  เวลานั้นพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ได้เสด็จขึ้นข้างใน   ประทับอยู่ในพระฉากที่พระเฉลียงด้านตะวันออก    มีผู้นำความที่พระพิเรนทรเทพขัดกระบี่แห่เสด็จเข้ามาในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยไปกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ  จึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีปรึกษาโทษพระพิเรนทรเทพ    เสนาบดีได้ทำความเห็นปรึกษาโทษกราบบังคมทูลขอพระราชทานให้ถอดพระพิเรนทรเทพ (เปี่ยมหันแตร)ออกจากตำแหน่งยศ  

ในตอนท้าย  นายกุหลาบได้เขียนลงท้ายว่า  " เรื่องนี้ที่กล่าวไว้เพื่อจะให้ข้าราชการใหม่ๆ  จะได้ระวังไม่ทำผิดให้เปนเช่นนี้"


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 พ.ค. 10, 21:35
ขอเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับชาวโปรตุเกสในประเทศไทย

เรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนชาวโปรตุเกสในประเทศไทยมีคนเขียนไว้น้อย  หายาก   
โชคดีที่มีคนค้นคว้าเรื่องนี้ไว้  จึงจะขอนำมาถ่ายทอดต่อดังนี้

(เก็บความจากบทความเรื่อง  "ภาษาของผู้สืบเชื้อสายโปรตุเกสในประเทศไทย" ของ รองศาสตราจารย์กีรติ  บุญเจือ  (ตำแหน่งวิชาการในขณะนั้น)  พิมพ์ในหนังสือ วัฒนธรรมพื้นบ้าน : ภาษา   เป็นหนังสือในชุดไทยศึกษา  เล่มที่ ๓ )


เมื่อโคลัมบัสพบทวีปอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. ๑๔๙๒  (พ.ศ. ๒๐๓๕)  พระเจ้ากรุงดปรตุเกสจึงได้ทรงลงทุนสนับสนุนให้นักเดินเรือชาวโปรตุเกสออกเดินเรือแสวงหาดินแดนใหม่  เพื่อหาตลาดสินค้าและหาดินแดนยึดครองแข่งกับสเปนบ้าง  วาสโกดากามา  เดินทางมาถึงอินเดีย  เมื่อ ค.ศ. ๑๔๙๘ (พ.ศ.๒๐๔๑)  ต่อมา  อัลบุเคร์เค - Albuqueque  เข้ายึดครองมะละกา ได้สำเร็จเมื่อ ปี ค.ศ. ๑๕๑๑ (พ.ศ. ๒๐๕๔)  ในปีเดียวกันนี้  ก็ได้ส่งทูตในนามรัฐบาลโปรตุเกสเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาและขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตทำการค้าขายกับสยามในสมัยรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดี ที่ ๒   ครั้งนั้นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตและทรงต้องรับทูตโปรตุเกสเป็นอย่างดี  นับแต่นั้นก็มีพ่อค้าเข้ามาค้าขายในสยาม  และบ้างก็เข้ามาตั้งหลักแหล่งเกิดลุกหลานเป้นชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสสืบมา


พ่อค้าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาค้าขายในสยามครั้งนั้นไม่มีบันทึกว่ามีใครชื่ออะไรบ้าง  และมีบทบาทอย่างไรในสมัยนั้น   ชาวโปรดเกสเหล่านั้นนับถือศาสนาคริสต์คาทอลิก  เมื่อเข้ามาค้าขายตั้งหลักแหล่งมากขึ้น  ย่อมต้องมีนักบวชเข้ามาประกอบพิธีกรรมตามศาสนาคริสต์  บาทหลวงชาวโปรตุเกสที่ปรากฏนามในบันทึกว่าได้เดินทางเข้ามาประกอบพิกรรมให้ชาวโปรตุเกสในกรุงศรีฯ  ในปี ค.ศ. ๑๕๕๕  (พ.ศ. ๒๐๙๘)ตรงกับสมัยรัชกาลสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ ว่า บาทหลวง Jerome  of  the Cross กับบาทหลวง  Sebastian  of  Conto  แห่งคณะโดมินิกันเดินทางจากมะละกาตามคำสั่งผู้สำเร็จราชการโปรตุเกส   ในระยะหลังจากนั้น   ชาวโปรตุเกสและชาวโปรตุเกสที่เกิดในสยาม  ก็ได้ใช้ภาษาไทยแทรกปะปนกับภาษาโปรตุเกสมากขึ้นโดยลำดับ  มีหลักฐานในสมัยต่อมาว่า  หนังสือภาษาไทยคริสต์ที่สังฆราชลาโนเขียนขึ้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มีศัพท์ สำนวนโปรตุเกสปนอยู่มาก


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 พ.ค. 10, 08:16
ข้อมูลจากชาวบ้านมิตตคาม  เล่าว่า

ราวสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์  ชาวโปรตุเกสกลุ่มหนึ่งราว ๖๐-๗๐ ครอบครัวได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร  จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้รับชาวฝรั่งโปรตุเกสเหล่านี้รับราชการเป็นทหารอาสาสมัครโปรตุเกส  และพระราชทานที่ดินตำบลสวนพลู อันเป็นบริเวณเหนือวัดราชาธิวาสในปัจจุบัน  เป็นที่ตั้งภูมิลำเนา  หน้าที่ของทหารอาสาเหล่านี้  คือ ป้องกันข้าศึกที่อาจจะเข้ามาทางทะเลขึ้นมาตามลำน้ำเจ้าพระยา  ชาวโปรตุเกสเหล่านี้นอกจากมีเป็นทหารแล้ว   ยังมีความรู้ด้านการก่อสร้าง  การตีทอง  และการประมงด้วย   เมื่อมีชุมชนชาวโปรตุเกส จากนั้นก็มีบาทหลวงคาทอลิกชาวโปรตุเกสเข้ามาสอนศาสนาด้วย   

นามสกุลชาวโปรตุเกสที่เข้ามาในสยามครั้งนั้นพอสืบได้ดังนี้   

Libeiro   Fonsca   De Jesu   Diaz   Da Cruz   De Horta    De  Paiva    Frereiro    Pezro   Rodiguez  เป็นต้น

ทั้งนี้ รศ.กีรติ  ท่านได้ไปตรวจดูที่ป้ายหลุมศพชาวโปรตุเกสและได้สอบถามจากคนเก่าแก่เชื้อสายโปรตุเกสที่ปัจจุบันได้เปลี่ยนปใช้นามสกุลไทยหมดแล้ว


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 พ.ค. 10, 12:19
ต่อมา   ชาวโปรตุเกสกลุ่มนี้เกิดขาดบาทหลวงโปรตุเกสเข้ามาดูแลด้านศาสนาในชุมชน  ก็ได้บาทหลวงชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นมิชชันนารีเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในสยาม ชื่อ ลาโน (Laneau) เข้ามาดูแลกิจการศาสนาในชุมชนชาวโปรตุเกสแทน  ในครั้งนั้นบาทหลวงลาโนได้ทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสมเด็จพระนารายณ์ขอที่ดินสร้างโบสถ์คริสต์ในบริเวณค่ายทหารโปรตุเกสนั้น  ทั้งนี้แต่เดิมที่ยังไม่มีการสร้างโบสถ์คริสต์   ชาวชุมชนโปรตุเกสจะไปประชุมประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่บ้านหลังใหญ่ๆ หลังใดหลังหนึ่งในหมู่บ้าน  โดยเฉพาะบ้านหัวหน้าค่าย  และบาทหลวงก็คงอาศัยอยู่ที่บ้านหัวหน้าค่ายนั่นเอง


โบสถ์ที่แรกสร้างแต่ครั้งนั้นคงเป็นโบสถ์ไม้จึงไม่เหลือซากมาให้เห็นในปัจจุบัน   โบสถ์นี้ได้รับนามขนานว่า  "โบสถ์แม่พระปฏิสนธิ์นิรมล" และยังเป็นนามโบสถ์นี้ในหมู่บ้านมิตตคามอยู่จนปัจจุบัน

มาถึงตรงนี้ อยากขอให้ท่านเข้ามาอ่านช่วยหารูปโบสถ์แม่พระปฏิสนธิ์นิรมลมาลงให้สักหน่อย :)


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 พ.ค. 10, 13:47
ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี   พระองค์ได้ทรงรับเอาชาวบ้านมิตตคามเชื้อสายโปรตุเกสเข้ารับราชการเป็นทหารรักษาพระองค์    และในคราวที่เกิดกบฏพระยาสรรค์เข้ายึดพระราชวัง    พวกทหารเชื้อสายโปรตุเกสก็ได้สู้รบกับพวกกบฏอย่างเข้มแข็ง ทำให้รักษาพระราชวังได้อย่างปลอดภัย  ระหว่างที่รอสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเสด็จฯ กลับเข้ามาพระนคร  เมื่อทรงจัดการบ้านเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ทหารเชื้อสายโปรตุเกสเหล่านั้นก็ได้รับราชการในหน้าที่ทหารฝรั่งอาสาสมัคร


รัชกาลที่ ๑ ได้ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระปบมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศืจักรี  ในปี ๒๓๒๕    ในกาลนั้น  เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) เป็นเจ้าปกครองเขมร  มีใจฝักใฝ่ข้างญวน   รัชกาลที่ ๑ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยายมราช  (แบน)  ยกทัพไปปราบปรามจับเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) มาสำเร็จโทษได้    จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระยายมราช (แบน) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองเขมร   โยรัชกาลที่ ๑ได้ทรงชุบเลี้ยงโอรสธิดาของเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ไว้เป็นเจ้าเมืองเขมรสืบต่อไป    

พระยายมราช (แบน) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองเขมรไม่นาน  พวกแขกจามก็ยกทัพมาตีเขมร  พระยายมราชเห็นท่าจะสู้ต้านไว้ไม่ไหวจึงได้ล่าทัพเข้ามาเมืองบางกอก  โดยพานักองเอง (ผู้เป็นรัชทายาทเมืองเขมร) เข้ามาพร้อมทั้งเจ้านายและขุนนางเขมรจำนวนมาก  ซึ่งในจำนวนนั้น  มีชาวเขมรที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกด้วยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารรัชกาลที่ ๑  ด้วย


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 พ.ค. 10, 14:19
เมื่อเข้ามาถึงพระนครแล้ว  รัชกาลที่ ๑ ได้โปรดเกล้าฯ ชุบย้อมนักองเองเป็นอย่างพระราชบุตรบุญธรรม   ส่วนนักองอีกับนักองเภา  สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงขอรับพระราชทานไปทรงชุบย้อมในฐานะสนม   ส่วนข้าราชการเขมรโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ที่ตำบลเดียวกับชุมชนชาวเชื้อสายโปรตุเกส    ด้วยทรงเห็นว่าชาวเขมรเหล่านี้นับถือคริสต์อย่างเดียวกับพวกโปรตุเกศคงจะร่วมสบสังวาสในทางศาสนาได้    จากนั้นมา    หมู่บ้านชาวโปรตุเกสแห่งนี้ก็ได้ชื่อว่า หมู่บ้านเขมรติดปากมาจนบัดนี้   

อนึ่งชาวบ้านมิตตคามเองได้เล่าไว้ว่า  มีชาวโปรตุเกศที่เป็นทหารอาสาสมัครในเมืองเขมรยกครอบครัวเข้ามาอยู่ร่วมกับชาวเขมรด้วย  จึงทำให้รัชกาลที่ ๑   มีรับสั่งให้ชาวเขมรเหล่านั้นไปตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กับชาวโปรตุเกส


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ค. 10, 14:31
อ้างถึง
รัชกาลที่ ๑ ได้โปรดเกล้าฯ ชุบย้อมนักองเองเป็นอย่างพระราชบุตรบุญธรรม   ส่วนนักองอีกับนักองเภา  สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงขอรับพระราชทานไปทรงชุบย้อมในฐานะสนม   

เพิ่งเคยเห็นสำนวน "ชุบย้อม" ในความหมายว่า "ชุบเลี้ยง"    แปลกใจถึงที่มา   
คำว่าชุบย้อม   ทำให้นึกไปถึงวิธีย้อมผ้า


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 พ.ค. 10, 15:24
บทความตามต้นฉบับ  ผู้เขียนเขาใช้คำว่าชุบเลี้ยง   แต่ผมมาเปลี่ยนใช้เป็นคำว่า ชุบย้อม  อันเป็นคำที่เคยใช้กันมาแต่เดิม คู่กับ  ชุบเลี้ยง   คำนี้เคยใช้มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ แล้วก็ค่อยๆ หายไปในสมัยต่อมา


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ค. 10, 15:26
เป็นความรู้ใหม่
ชุบย้อม ที่ใช้คู่กับ ชุบเลี้ยง  ความหมายเหมือนกัน  หรือต่างกันอย่างไรคะ ???


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 พ.ค. 10, 15:36
เข้าใจว่าความหมายเหมือนกัน  สุดแต่ว่าใครชอบใช้คำใดมากกว่า   ก็มีเหมือนกันที่คำไทยมีความหมายเหมือนกัน มีใช้อยู่ด้วยกันร่วมสมัยกันมา  ภายหลังคำใดคำหนึ่งก็ค่อยหายไป  อย่าง  คำว่า  เวียนเทียน  กับ  เดินเทียน  สมัยก่อน  ท่านแยกใช้ชัดเจน   แต่เดี๋ยวใช้แต่เวียนเทียนอย่างเดียวรวมหมด  แถมความหมายยังกลายเป็นอื่นอีก  เรื่องคำอย่างนี้ต้องคุยแยกออกเป็นอีกกระทู้ครับ    :)


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 10 พ.ค. 10, 16:06
กลับเข้าสู่เรื่องชาวโปรตุเกสในสยามกันต่อครับ

เมื่อเหตุการณ์ทางเมืองเขมรสงบราบคาบ  ชาวเขมรที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารโดยอพยพเข้ามาพร้อมพระยายมราช (แบน)  ตั้งแต่ปี ๒๓๒๕  ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตย้ายกลับไปเมืองเขมรไปโดยส่วนมาก  รัชกาลที่ ๑ ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่ขอ   ครั้งนั้นคงมีแต่ชาวโปรตุเกสกับชาวเขมรที่แต่งงานกับชาวโปรตุเกสในค่ายทหารคงอาศัยอยู่ในเมืองบางกอกต่อไป

มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่เป็นเกียรติประวัติของชาวโปรตุเกสในสยาม

รัชกาลที่ ๑  โปรดเกล้าฯ ให้ชาวมิตตคามรับราชการทหารเป็นเหล่าทหารอาสาสมัครในกรมท่าช้าง  เรียกว่า  อาสาสมัครโปรตุเกส   เมื่อมีการสั่งปืนใหญ่ชนิดใหม่เข้ามาใช้ในราชการสงครามครั้งนั้น  รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้า ฯ ให้มีการทดลองยิงปืนใหญ่ดังกล่าว ถวายเพื่อทอดพระเนตร  ณ บริเวณปากน้ำเจ้าพระยา   ชาวมิตตคามเล่าสืบต่อกันมาว่า   รัชกาลที่ ๑ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่เอาผ้าขาวผูกปากตุ่มใบเขื่อง   แล้วปล่อยลอยอยู่กลางลำน้ำ    จากนั้นมีรับสั่งให้ทหารอาสาแขกยิงปืนลองฝีมือก่อน  ๒  นัด  กระสุนพลาดเป้าทั้ง ๒ นัด    แล้วรับสั่งให้ทหารอาสาจีนลองยิงดูบ้าง  ปรากฏว่า  ทหารอาสาจีนยิงถูก ๑ นัด พลาด ๑ นัด     ที่สุดมีรับสั่งให้ทหารอาสาโปรตุเกสลองยิงดูบ้าง  ปรากฏว่า กระสุนตกตรงเป้าหมาย ทั้ง ๒ นัด  แต่รัชกาลที่ ๑ ทรงแคลงพระทัยว่าอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญ   จึงมีรับสั่งให้ทหารอาสาโปรตุเกสลองยิงปืนอีกนัดหนึ่ง  ผลประกฏกระสุนตกตรงเป้าหมายอีก   ว่ากันว่าผู้ที่ยิงปืนถูกเป้าหมายครั้งนั้น  เป็นชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส แห่งบ้านมิตตคาม  ชื่อ นายแก้ว  สกุล  ลีเบยโร  ( Libeiro )  จึงมีรับสั่งให้ตามตัวนายแก้วมาเฝ้าฯ  รับสั่งถามความดู  จึงได้ทราบว่า  นายแก้วนี้ไม่ได้ยิงปืนไปตามบุญตามกรรมแต่ได้คำนวณระยะยิงตามสูตรที่ได้ร่ำเรียนสั่งสอนสืบทอดกันมาในหมู่ชาวโปรตุเกส    เมื่อได้ทรงทราบเช่นนี้จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกเหล่าทหารอาสาสมัตรโปรตุเกสขึ้นเป็นกองทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่หน้า  และโปรดเกล็ฯ ตั้งนายแก้ว  ลีเบยโร  เป็นที่จางวางเจ้ากรมทหารฝั่งแม่นปืนใหญ่หน้า    มีโรงเก็บปืนใหญ่อยู่ที่บริเวณวังสราญรมย์ในปัจจุบัน    มีหน้าที่ควบคุมเรือพระที่นั่งในกระบวนเสด็จฯ ทางชลมารคทุกครั้ง   กับรักษาพระบรมมหาราชวังในระหว่างที่ในหลวงเสด็จฯ ไปประพาสนอกพระนครด้วย


นอกจากนี้ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งตำแหน่งหัวหน้าค่ายโปรตุเกส  ซึ่งมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินคดี  ลงโทษผู้กระทำผิดถึงโทษโบย จำ กักขัง และจองจำ   นายแก้ว  ลีเบยโร    ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยซื่อสัตย์สุจริตและกล้าหาญ  จึงได้เลื่อนเป็นที่พระยาวิเศษสงครามรามภักดี   และได้เป็นต้นตระกูลของสกุล  "วิเศษรัตน์"  และ  "วงศ์ภักดี"  และได้มีลูกหลานเหลนรับราชการสืบทอดราชทินนามพระยาวิเศษสงครามรามภักดี นี้ต่อมาตามลำดับดังนี้ คือ  พระยาวิเศษสงครามรามภักดี   (แบน)  พระยาวิเศษสงครามรามภักดี   (นอน)  และพระยาวิเศษสงครามรามภักดี   (แก้ว) (ชั้นเหลน)

(ยัง   ยังมีต่ออีกครับ) :o


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 พ.ค. 10, 08:56
นายแก้ว  ซึ่งเป็นเหลนของพระยาวิเศษสงครามรามภักดี   (แก้ว) คนแรก   ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นที่พระยาวิเศษสงครามรามภักดี ต่อมา  ในสมัยรัชกาลที่ ๒   และรับราชการต่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๓   



ครั้นมาในสมัยรัชกาลที่ ๓   สยามมีเหตุต้องยกทัพไปรบกับญวนเพื่อชิงเมืองเขมร   พระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว) คนที่ ๒ ได้รับมอบหมายให้เคลื่อนกองทหารฝรั่งแม่นปืนไปร่วมรบกับทัพใหญ่ที่มีเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เป็นแม่ทัพด้วย   ในการสงครามครั้งนั้น   ยังมีกองทหารอาสาเชื้อสายโปรตุเกสอีกกองหนึ่ง  ซึ่งมีพระยาณรงค์ฤทธิโกษา  (ไม่ทราบนามเดิม)  ซึ่งเป็นคนเชื้อสายโปรตุเกศเช่นกัน เป็นผู้คุมกองทหารนั้นไปร่วมรบกับญวนด้วย   เข้าใจว่ากองทหารที่มีพระยาณรงค์ฤทธิโกษาคุมไปนี้  คงเป็นทหารเชื้อสายโปรตุเกสจากบ้านกุฎีจีน  ซึ่งได้แยกออกจากบ้านมิตตคามไปตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่นั่นเอง


ในระหว่างที่กองทหารอาสาโปรตุเกสทั้งของพระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว) และพระยาณรงค์ฤทธิโกษา  รบติดพันอยู่กับทัพญวน  ณ บริเวณปากคลององเจืองอยู่นั้น   มีชาวญวนที่นับถือศาสนาคริสต์จำนวนมาก ที่หนีมาหลบซ่อนตัวอาศัยอยู่ในป่าในเขตพื้นที่การยึดครองของกองทัพสยาม   ทั้งนี้เป็นเพราะพระเจ้ามิ่งหมางกว่างเด๊  ซึ่งเป็นพระเจ้ากรุงเวียดนามในครั้งนั้นได้ทรงมีประกาศห้ามชาวญวนนับถือศาสนาคริสต์  และทรงวางบทลงโทษผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ถึงขั้นประหารชีวิต    ว่ากันว่าพระองค์ได้มีรับสั่งให้เจ้าหน้าที่จับชาวญวนคริสต์จำนวนหนึ่งไปประหารชีวิตเป็นตัวอย่างข่มขวัญแล้วด้วย   บรรดาชาวญวนที่ไม่ยอมละทิ้งการนับถือศาสนาคริสต์จึงหนีมาหลบซ่อนตัวตัวอยู่ตามป่าเขา  มีบริเวณคลององเจือง  เมืองโจดก เป็นต้น   


ชาวญวนคริสต์เหล่านี้ได้ทราบว่า  ที่เมืองสยามนั้น  พระเจ้าแผ่นดินมีพระมหากรุณาธิคุณ  โปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรสามารถนับถือศาสนาได้อย่างเสรี   ชาวญวนคริสต์ส่วนหนึ่งจึงได้ร้องขออพยพย้ายครอบครัวติดตามกองทัพสยามเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้าแผ่นดินสยามด้วย  ตามคำบอกเล่าที่เล่าสืบต่อกันมา  บ้างว่ามีชาวญวนคริสต์อพยพเข้ามาราว  ๕๐๐ คนเศษ   บ้างก็ว่าอพยพเข้ามาราว  ๗๐๐  คนเศษ    การที่ชาวญวนคริสต์ได้อพยพเข้ามายังเมืองสยามครั้งนี้  นัยว่าบรรดาทหารเชื้อสายโปรตุเกสที่ไปร่วมรบในกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา  คงจะได้พูดจาชักชวนชาวญวนคริสต์เหล่านั้นให้เข้ามาอยู่เมืองสยาม  ด้วยเป็นศาสนิกศาสนาเดียวกัน   โดยเบื้องต้นคงเข้ามาอาศัยอยู่ในค่ายทหารไทยก่อน  พร้อมกันนั้นก็ได้ให้รวบรวมชายฉกรรจ์อาสาสมัครชาวญวนคริสต์ที่เข้ามาในค่ายนั้น  มาฝึกการรบเพื่อป้องกันตัวและครอบครัว   เมื่อทัพสยามยกกลับ  บรรดาอาสาสมัครเหล่านี้ก็ได้ขออพยพย้ายครอบครัวของตนเข้ามาเมืองสยามด้วย   ด้วยเกรงว่าหากยังอยู่ที่เมืองญวนคงจะไม่พ้นต้องถูกจับตัวถูกประหารชีวิต


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 พ.ค. 10, 11:03
เมื่อกองทัพกลับเข้ามาถึงพระนคร   เจ้าพระยาพระคลังได้นำเจ้าพระยาบดินทรเดชา  พระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว)  พระยาณรงค์ฤทธิโกษา  และขุนนางทหารชั้นผูใหย๋ที่ไปราชการทัพครั้งนั้นเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงานราชการสงคราม  และคงจะได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชดำริเรื่องชาวญวนคริสต์ที่อพยพตามกองทัพสยามเข้ามาด้วย   

ครั้งนั้นพระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว)ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตรับผิดชอบดูแลบรรดาชาวญวนคริสต์ที่อพยพเข้ามานั้น   โดยได้พาพวกญวนคริสต์ไปตั้งค่ายที่บริเวณวัดส้มเกลี้ยง  อันอยู่ติดกับค่ายโปรตุเกสด้านเหนือ     พร้อมกันนั้นพระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว) ก็ได้คัดเลือกชายฉกรรจ์ชาวญวนคริสต์รวมตัวกันตั้งเป็นกองทหารอาสาสมัคร  และให้สักท้องแขนว่า  "ญวนอาสาสมัคร"   ทั้งให้ตั้งนายกองนายหมวดดูแลปกครองกันเอง   โดยขึ้นตรงต่อพระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว)   (แสดงว่า ในการทำสงครามกับญวนนั้น   ทหารอาสาสมัครญวนเหล่านี้คงจะอยู่ในการดูแลของพระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว) อยู่ก่อนแล้ว) 


ต่อมา  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีพระราชดำริว่า  พระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว)  มีหน้าที่รับผิดชอบมาก  ทั้งฝ่ายกองทหารฝรั่งแม่นปืน  และฝ่ายทหารอาสาสมัครญวนใหม่ซึ่งรวมอยู่ด้วยกันนั้น   จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฝ่ายทหารอาสาสมัครญวนขึ้นเป็นกองทหารแม่นปืนใหญ่ชาวญวนเป็นกองขึ้นใหม่ต่างหาก   และมีรับสั่งให้ตั้งหัวหน้าชาวญวนมีอำนาจบังคับบัญชาการกองทหารนั้น  เป็นที่พระยาบรรลือสิงหนาท   จางวางเจ้ากรมทหารแม่นปืนใหญ่หลัง   กับมีอำนาจดูแลปกครองชาวญวนอพยพทั้งหมด

จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔    กรมทหารแม่นปืนใหญ่หลังจึงได้ย้ายไปทำหน้าที่ทหารรักษาพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  และเปลี่ยนชื่อเป็นกองทหารปืนใหญ่ญวนหน้า  ซึ่งตั้งกองบัญชาการอยู่ที่วังหน้า


ส่วนกองทหารในการบังคับบัญชาของพระยาวิเศษสงครามรามภักดี   (แก้ว)  ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่วังหลวง   

 ;)


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 พ.ค. 10, 15:25
นับตั้งแต่นั้นมา  ชาวบ้านมิตตคามก็แบ่งออกเป็น  ๒  กลุ่ม   ชาวบ้านมิตตคามที่สืบเชื้อสายชาวโปรตุเกสต่อมาหลายชั่วคน   ได้ใช้ภาษาไทยเป็นพื้น  ส่วนภาษาโปรตุเกสนั้นหาคนพูดไม่ได้แล้ว   ภาษาเขมรที่เคยใช้พูดเมื่อมีชาวเขมรอพยพเข้ามาก็เหลือคนรู้และพูดได้ไม่มากนัก   อย่างไรก็ตาม   ภาษาไทยก็ยังใช้ในสวดมนต์การประกอบพิธีกรรมในโบสถ์   แต่รูปแบบพิธียังรักษาตามธรรมเนียมชาวโปรตุเกสดั้งเดิมไว้ได้โดยมาก   มีพิธีแห่แหนพิธีถอดพระในวันศุกร์ใหญ่  (วันที่ระลึกวันมรณกรรมของพระเยซู)  และการให้ศีลให้พรกันเมื่อพบหน้ายังใช้ภาษาโปรตุเกส  แต่ออกเสียงเพี้ยนไปและไม่มีใครเข้าใจความหมายแล้ว


พระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว) คนที่ ๒ ได้บริจาคทรัพย์สร้างโบสถ์ในบ้านมิตตคามใน  ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นที่พักศพก่อนนำไปฝังในสุสาน  ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดน้อย   พระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว) ถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลที่ ๓ นั้น   ต่อมา  รัชกาลที่ ๓ ได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งนายจัน  ซึ่งเป็นน้องชายพระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว)  เป็นที่พระยาวิเศษสงครามรามภักดี


พระยาวิเศษสงครามรามภักดี (จัน)  มีประวัติว่าเกี่ยวข้องกับการต้อนรับทูตอเมริกัน  เมื่อ พ.ศ.
๒๓๙๓  (ดูรายละเอียดในประชุมพงศาวดารภาคที่  ๖๒ ) โดยมีความสังเขปว่า  วันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๕ ปี ๒๓๙๓  ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระยาวิเศษสงครามรามภักดี (จัน) จางวางทหารแม่นปืนใหญ่  หลวงวุฒิสรเดช  เจ้ากรมทหารปืนใหญ่   และหลวงฤทธิสำแดง  เจ้ากรมทหารแม่นปืน  ไปรับทูตขึ้นเรือนรับรอง  แล้วมีรับสั่งให้พระยาวิเศษสงครามรามภักดี (จัน)ฝรั่งไปเบิกเงินเจ้าภาษีกรมท่าพระคลังสินค้า  จัดหาพวกครัวฝรั่งมาประจำทำกับข้าวฝรั่งเลี้ยงทูตจนกว่าทูตจะกลับ


พระยาวิเศษสงครามรามภักดี (จัน)  ถึงแก่อนิจกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๔    รัชกาลที่  ๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระเพลิงแผลงผลาญ  บุตรของพระยาวิเศษสงครามรามภักดี (จัน)  รักษาราชการแทน   แต่ยังไม่ทันที่ได้โปรดเกล้าเลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาวิเศษสงครามรามภักดี ก็ด่วนถึงแก่กรรมไปเสียก่อน   ส่วนทายาทของพระเพลิงแผลงผลาญ  ขณะนั้นยังเล็กนัก   รัชกาลที่ ๔  จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งนายเกิด  มหาดเล็กดำรงตำแหน่งเป็นพระยาวิเศษสงครามรามภักดี   ว่ากันว่านายเกิด  มหาดเล็กคนนี้ต่อมาได้สมรสกับหญิงในบ้านมิตตคามคนหนึ่ง  และได้สมัครใจเข้ารีตนับถือคริสต์ด้วย


อนึ่งนายเกิด  มหาดเล็ก  ผู้นี้ มีเกร็ดประวัติว่า  ในสมัยที่พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎยังประทับอยู่  ณ  วัดราชาธิวาส   ได้โปรดให้นายเกิด  มหาดเล็ก  คนนี้ไปเชิญบาทหลวงปาเลอกัวซ์จากโบสถ์คอนเซ็ปชั่น  (โบสถ์ใน) มาเฝ้าสนทนาเรื่องวิทยาการความรู้ต่างๆ กับพระองค์ที่วัดราชาธิวาสอยู่เนือง ๆ  เพราะวัดราชาธิวาสกับโบสถ์คอนเซ็ปชั่น  (โบสถ์ใน)  อยู่ใกล้กัน    ;D


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 พ.ค. 10, 16:02
พระยาวิเศษสงครามรามภักดี (เกิด) ถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลที่ ๕    จากนั้นรัชกาลที่ ๕ ก็ได้โปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้นายนุช  ทายาทพระเพลิงแผลงผลาญ  เป็นที่พระยาวิเศษสงครามรามภักดีสืบต่อไป   

พระยาวิเศษสงครามรามภักดี (นุช)  นี้เป็นต้นตระกูล  วิเศษรัตน์  เจ้าคุณได้สมรสกับ หม่อมราชวงศ์หนู  พึ่งบุญ  ธิดาในหม่อมเจ้ากรุง   พึ่งบุญ     มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ นายเจิม  ได้เป็นที่พระยาสมุทรศักดารักษ์  (เจิม  วิเศษรัตน์)  ท่านเป็นนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญรุ่นแรกๆ  ร่วมรุ่นกันพระยาอนุมานราชธน  (ยง  เสฐียรโกเศศ)  และพระยาวิสูทธากร  (ต้นสกุล  ทรรทรานนท์)  ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าราชการหนองคาย  นครพนม สมุทรสงคราม ราชบุรี และปทุมธานี 

พระยาวิเศษสงครามรามภักดี (นุช)  ถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลที่ ๕   จากนั้นก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งนายแจ่ม  ผู้เป็นพี่ชายของพระยาวิเศษสงครามรามภักดี (นุช)  เป็นที่พระยาวิเศษสงครามรามภักดี ต่อไป    พระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แจ่ม) คนนี้เป็นต้นสกุล  วงศ์ภักดี   เจ้าคุณถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลที่ ๖   จากนั้น  ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งนายสิทธิ์  บุตรชายของพระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แจ่ม)   เป็นผู้ปกครองบ้านมิตตคามในตำแหน่งพระวิเศษสงคราม    ส่วนตำแหน่งจางวางทหารแม่นปืนใหญ่นั้น  โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งนายนพ   ฟอนเซคา  เป็นหมื่นจิตใจหาญ  ดำรงตำแหน่งแทน    พระวิเศษสงคราม (สิทธิ์  วงศ์ภักดี)  มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อนายมรกต   วงศ์ภักดี เป็นที่พระประจักษ์ยุทธธน


บรรดาผู้สืบเชื้อสายชาวโปรตุเกสมาตั้งแต่สมัยอยุธยานั้นได้คุ้นเคยกับการใช้นามสกุลมาตลอด   ครั้นต่อมา รัชกาลที่ ๖ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้น  ผู้สืบเชื้อสายชาวโปรตุเกสเหล่านี้ก็ได้เปลี่ยนมาใช้นามสกุลไทย   มีที่ได้รับพระราชทานนามสกุล  เช่น  สกุล วิเศษรัตน์  กับ วงศ์ภักดี  ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากตระกูล Libeiro    สกุล นพประไพ  สืบสกุลมาจากตระกูล  Fonseca    สกุล ดารุทยาน  สงวนแก้ว  ตาวิชกุล  และรัศมิมาน  สืบสกุลมาจากตระกูล  De Horta   สกุล  อนงค์จรรยา  และขมังดิษฐ์  สืบสกุลมาจากตระกูล Rodiguez   เป็นต้น


จบเรื่องชาวเชื้อสายโปรตุเกสในเมืองไทย  (เฮ้อ เหนื่อย) :o


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 พ.ค. 10, 12:27
พระยาวิเศษสงครามรามภักดี (จัน)  คนนี้มีชื่อเป็นฝรั่งว่า  เบเนดิก   (จากจดหมายเหตุเรื่องทูตอเมริกันฯ )8)


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 พ.ค. 10, 13:00
เรื่องเรือกลไฟ

กาลต่อมา   ที่เกาะอังกฤษได้คิดสร้างเรือกลไฟขึ้นได้แล้ว  และเรือนั้นทำด้วยเหล็กหาได้ทำด้วยไม้อย่างเรือทั่วๆ ไปที่เคยมีมา   ทั้งสามารถเดินทะเลบรรทุกสินค้าได้    นายหันแตรเห็นว่าเรือนี้น่าจะขายได้ในกรุงสยามจึงได้สั่งเรือเหล็กนั้นเข้ามา ๑ ลำ   เมื่อเรือเหล็กนั้นเข้ามายังกรุงสยาม   ชาวพระนครได้แตกตื่นแห่แหนไปดูเรือนั้นกันมาก  ด้วยลือกันว่าเหล็กลอยน้ำได้   

เจ้าพนักงานได้นำความกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๓    ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท    ในชั้นแรก   ในหลวงทรงสงสัยจึงได้มีรับสั่งให้เจ้าพนักงานไปตรวจสอบเรือนั้นดูแล้วนำความมากราบบังคมทูลรายงาน    เจ้าพนักงานไปตรวจสอบเรือแล้วมาเฝ้าฯ กราบบังคมทูลว่า   ได้ตรวจดูเรือตามที่ได้รับรับสั่งแล้ว  เห็นว่าเรือนั้นเป็นแผ่นเหล็กย้ำด้วยหมุด   มีเครื่องจักรเป็นลิ้นสูบ  มีเพลาไปต่อกับจักรข้างท้าย   มีหม้อน้ำติดไฟใช้ฟืนและถ่านเป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำขังไอไว้  แล้วเปิดให้ไอเดินตามท่อมาเข้าลิ้นสูบกดให้ชักขึ้นชักลงให้เพลาที่ติดกับใบจักรนั้นหมุนไปทางหนึ่ง    เดินหน้าอีกทางหนึ่ง   ถอยหลังก็ได้   ทรงฟังรายงานเจ้าพนักงานแล้วก็หาได้ทรงเชื่อว่าเหล็กนั้นจะลอยน้ำได้   ทั้งนี้เป็นเพราะยังไม่ได้ทอดพระเนตรเรือนั้น   จนชั้นว่า  ได้เอาบาตรเหล้กลงลอยน้ำแสดงให้ทอดพระเนตร  ก็ยังมิได้ทรงเชื่ออีก


ร้อนถึงพระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นอินทรอมเรศร์   (คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ   กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศร์) ได้มีพระดำริด้วยกับมหาดเล็กหลวงนายหนึ่ง   ซึ่งเป็นผู้ชำนาญในเรื่องเข็มมีสตีรและเครื่องจักร เครื่องยนต์กลไก   เพราะได้ร่ำเรียนวิชาความรู้กับหมอเฮาส์ และสังฆราชยวง    มหาดเล็กคนนี้มีเครื่องเจาะ เครื่องกลึงอยู่ด้วย  จึงได้มีพระดำริให้เอาแผ่นเหล็กมาเจาะและย้ำเข้าเป็นรูปเรือเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายในหลวง  พอเป็นจัวหย่างให้ได้ทอดพระเนตร   พร้อมกับได้ทรงทดลองปล่อยเรือที่ทำนั้นลอยน้ำที่หน้าพระที่นั่งด้วย    รัชกาลที่  ๓ ได้ทอดพระเนตรเห็นว่าเรือเหล็กนั้นไม่รั่วไม่จมจริงดังเขารายงานครั้งก่อนนั้นแล้ว   ก็ทรงสบโอกาสพระบรมราโชบาย   จึงมีพระราชดำรัสว่า    "พ่อโตก็ทำได้จะไปซื้อของมันทำไม   เมื่อเราต้องการจะใช้ทำเอาเองก็ได้"  (งานเข้าล่ะสิครับ ;D)   

จึงไม่โปรดเกล้าฯ ให้ซื้อเรือเหล็กของนายหันแตรนั้นไว้     ทั้งยังมีพระราชดำริว่า   นายหันแตรนี้คอยแต่จะคิดหาทางหลอกลวงสยามโดยหาสิ่งขิงสินค้าต่างๆ จากเมืองนอกมาขายแพงเอาเงินทองเมืองสยามไปมากมาย   นับแต่นั้น  ความโปรดปรานแก่นายหันแตร (หลวงวิเศษอาวุธ) ที่ทรงมีมาแต่เดิมนั้นก็เสื่อมคลายลงอยู่ในเกณฑ์ต้องพิพาท   


ฝ่ายนายหันแตรขายเรือเหล็กแก่พระคลังหลวงไม่ได้  ก็ต้องนำเรือนั้นกลับออกไปจำหน่ายที่อื่น  เป็นการเสียประโยชน์ขาดทุนมาก   ;D


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 พ.ค. 10, 13:17
เรื่องเรือเหล็กของนายหันแตรนั้น  คงเป็นเหตุของเรื่องพระนายไวยวรนาถ (ช่วง  บุนนาค) ได้คิดสร้างเรือกลไฟขึ้นใช้เป็นครั้งแรกของสยามในกาลต่อมา


เรื่องของนายหันแตร  พ่อค้าอังกฤษในกรุงสยามยังไม่หมดแต่เท่านั้น   

ต่อมา   นายหันแตรเห็นว่า   หอยเบี้ยที่ใช้แลกเป็นเงินปลีกในท้องตลาดกรุงสยาม  ซึ่งเป็นของที่แขกเทศบันทุกเข้ามานั้นมีกำไรมาก  และราคาซื้อขายกันก็ขึ้นลงไม่แน่นอน  สุดแต่ว่าจะมีเบี้ยหอยเข้ามามากหรือน้อย    นายหันแตรได้ความคิดสั่งเอากะแปะทองแดง(เหรียญทองแดง) ตีตราช้างและตัวหนังสือว่าเมืองไทย เป็นกะแปะเล็กๆ ทำที่เมืองเบอร์มิงคำม์  (ตามต้นฉบับ) เข้ามาในสยามด้วยหมายจะได้กราบบังคมทูลให้รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้กะแปะทองแดงนี้เป็นเงินปลีกแลกเปลี่ยนในท้องตลาดแทนหอยเบี้ยนั้น


เมื่อนายหันแตรนำกะแปะทองแดงที่สั่งทำนั้นมาทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๓   พระองค์ทอดพระเนตรแล้วไม่โปรดและไม่โปรดเกล้าฯ ให้ใช้กะแปะนั้นด้วย   นายหันแตรจึงต้องขาดทุนไปกับการทำกะแปะทองแดงนี้มาก     กะแปะนั้นนับว่าเป็นคราวแรกในเมืองไทยที่มีเหรียญเงินตรา  แม้จะไม่ได้นำมาใช้ก็ตาม   จนกระทั่งรัชกาลที่  ๔ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงกสาปน์ทำกะแปะดีบุกและ โสฬศ อัฐ เสี้ยว ซีกทองแดงใช้แทนหอยเบี้ยขึ้น


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 พ.ค. 10, 14:02
นายหันแตรเห็นท่าว่าจะอยู่ค้าขายในเมืองสยามต่อไปไม่ได้  จึงได้เรียกมิสเตอร์เยมส์  เฮส์ <James  Hays> เข้ามาอยู่ในห้าง  ด้วยคงจะหมายให้เข้าหุ้นด้วย  และได้ทำการเป็นเสมียนอยู่ในพริฏิษแฟกฏอรีนั้น  เรียกชื่อกันโดยสามัญว่า เสมียนยิ้ม หรือ ยิ้มเฮส์    และนายหันแตรยังได้เรียกนายโรเบิต  หันแตร ลูกชายที่ออกไปเรียกหนังสือเมืองนอกให้มาอยู่ที่ห้างด้วย   

จากนั้นนายหันแตรก็ได้ให้เจ้าพนักงานนำความกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๓  ว่าตนจะขอกราบถวายบังคมทูลลากลับออกไปอยู่เมืองนอก   กิจการห้างค้าขายที่ทำอยู่นั้น  ได้ให้เสมียนยิ้มเฮส์ดูแลต่อไป   เมื่อเจ้าพนักงานนำความกราบบังคมทูลในหลวง   ในหลวงได้มีรับสั่งถามว่า  เสมียนยิ้มกับเฮส์ที่นายหันแตรจะให้อยู่ดูแลห้างต่อนั้น  เป็นพี่น้องกันหรืออย่างไร   เจ้าพนักงานกราบบังคมทูลว่า  เป็นคนเดียวกัน แต่สองชื่อ  (สมัยนั้นคนไทยยังไม่นามสกุลใช้ จึงได้ทรงสงสัย) 


เมื่อนายหันแตรได้นำความกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๓ แล้ว  ก็เดินทางออกจากกรุงสยามไปเมืองนอก  เล่ากันว่า  นายหันแตรจะไปฟ้องไทยด้วย   เมื่อนายหันแตรออกจากสยามไปแล้วก็สูญชื่อไป  หาได้กลับมาอีกเลย


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 พ.ค. 10, 14:26
ฝ่ายท่านผู้หญิงทรัพย์  ภรรยานายหันแตร  เมื่อนายหันแตรยังทำการค้าขายอยู่ที่พริฏิษ แฟกฏอรีมีกำไรมากนั้น  ท่านผู้หญิงได้ซื้อที่ดินในตำบลกุฎีจีนไว้แปลงหนึ่ง  แล้วสร้างตึกไว้ให้คนเช่าแห่งหนึ่ง  และได้ปรากฏชื่อต่อมาภายหลังว่า  ห้างมาแลบยูเลียน   

นอกจากนี้ ได้สร้างตึกปั้นหยาที่หลังตึกที่ให้เช่าเข้ามาริมคลองคูวัดประยุรวงศาวาส  นอกเขตกุฎีจีน  นอกกำแพงป่าช้า   สำหรับท่านผู้หญิงอยู่อาศัยเอง

นายโรเบิต  หันแตร  บุตรชายได้มาอาศัยอยู่กับท่านผู้หญิงทรัพย์    นายโรเบิต  ได้แต่งงานกับบุตรสาวของพระยาวิเศษสงครามรามภักดี  (ไม่แน่ใจว่า คนใด)  บ้านเขมร   มีบุตรชาย  ๒  คนชื่อ  นายโรเบิต ๑  นายชอน ๑   ได้ส่งไปเรียนหนังสือที่เมืองนอก   


ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๔  นายโรเบิต  หันแตร  ได้มาทำราชการอยู่กับฯพณฯ สมุหพระกระลาโหม  ในตำแหน่งเสมียนล่ามไทย   ฯพณฯ  ได้กราบบังคมทูลขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายโรเบิต  หันแตร เป็นที่หลวงสุรสาคร  เจ้าท่า  และได้อยู่ในตำแหน่งนี้มา  จนกระทั่งกปิตันบุชเข้ามากรุงสยาม  จึงได้โปรดเกล้าฯ  ให้กปิตันบุชเป็นที่หลวงวิสูตรสาครดิษฐ์ เจ้าท่า แทนหลวงสุรสาคร 


ส่วนเสมียนยิ่มทำการค้าขายที่พริฏิษ แฟกฏอรี  ภายหลังนายหันแตรกลับไปแล้ว  ก็ไม่ได้มีกำไรอย่างครั้งนายหันแตรทำการค้า   มีแต่ขาดทุนจนต้องเลิกทำการค้าที่พริฏิษ  แฟกฏอรีนั้น   จากนั้นก็มีนายโยเสพ  ฝรั่งอังกฤษเข้ามาเช่าที่พริฏิษ  แฟกฏอรีตั้งห้างค้าขายต่อไป  แต่เผอิญถึงแก่กรรมในกาลไม่นาน   จึงได้มีกปิตันปลอน  ฝรั่งอังกฤษเข้ามาเช่าที่ทำการค้าต่ออีก   แต่ก็ทำกิจการได้ไม่นานนัก  ต้องเลหลังล้มละลาย   จากนั้นรัชกาลที่ ๔  จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกที่พริฏิษ  แฟกฏอรีให้เป็นที่สำหรับรับแขกเมืองต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาเจริญพระราชไมตรี   นับแต่นั้น  บริเวณพริฏิษ  แฟกฏอรีจึงได้เรียกชื่อใหม่ว่า  ตึกแขกเมือง  ในกาลต่อมา


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 พ.ค. 10, 14:33
  เรื่องอัฐทองแดง    

     ในปี พ.ศ. ๒๓๗๘  ปีที่ ๑๒ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่สาม  โปรดเกล้าให้
พระยาจุฬาราชมนตรี(นาม)   หลวงท่องนะที(บุญ)  และ  ขุนศรีสมุทรเขต(เนตร)  ออกไปตรวจภูมิประเทศที่เมืองสิงคโปร์  และเมือง
กะหลาป๋าในประเทศชวา    ได้กลับมากราบทูลเรื่องเมืองทั้งสองใช้เบี้ยทองแดง

จึงทรงพระราชดำริสั่งเจ้าพระยาคลัง(ดิษ)ให้คิดสั่งเบี้ยทองแดงกับฝรั่งให้ส่งมาดูเป็นตัวอบ่างเพื่อทรงทอดพระเนตรก่อน

เจ้าพระยาคลังบัญชาให้นายช่างเขียนแบบเป็นสองชนิด

เบี้ยด้านหนึ่งเขียนว่า เมืองไท  มีดาวสองดวง อยู่ข้างบนหนึ่งดวง ข้างล่างหนึ่งดวง       อีกด้านหนึ่งมีรูปช้างและตัวเลข ๑๑๙๗

เบี้ยอีกชนิดหนึ่ง ด้านหนึ่งเขียนว่าเมืองไทย และดาวสองดวง        แต่อีกด้านหนึ่งมีรูปดอกบัวบานแฉ่ง มีใบบัวเห็นด้านข้าง

รัชกาลที่สามไม่โปรด  ได้ทรงซักไล่เลียงเจ้าพระยาคลังอยู่เป็นเวลานาน

เจ้าพระยาคลังก็มีกิริยาอาการดั่งปาเรวัตโปฎก (อ่านคุณหลวงเล็กบ่อยๆ ก็พลอยอ่านออกว่าแปลว่าอะไร)

สรุปแล้วไม่โปรด  เบี้ยที่นำเข้ามา  ๑ ถัง   นั้นก็ตกอยู่ในมือ

หลวงพัฒนพงศ์ภักดี(ทิม)
มิศเตอร์การะโด
หลวงจินดารัก(จัน)
และ ก.ศ.ร. กุหลาบ
รวมถึงบุคคลอื่น ๆ
(อ้างอิง สยามประเภท   เล่ม ๓ หน้า ๑๑๘๔ - ๑๑๘๘)

เรื่องต่อมาก็มีว่า มีสุภาพสตรีไทย สมรสกับชาวต่างประเทศ  ได้สั่งซื้อเหรียญนี้ หนึ่งเหรียญ  ในราคา ห้าแสนบาท(ลงในพันทิปสี่ห้าปีมาแล้ว)
เธอได้แสดงรูปว่าเหรียญนั้นยังบรรจุอยู่ในซองโลหะบางๆของเดิม

นักสะสมหนังสือแนวหน้าแห่งวงการที่เป็นนักสะสมเหรียญได้อธิบายให้ดิฉันฟังว่า เหรียญราคาแพงกว่าหนังสือหลายเท่าเพราะเป็นที่นิยม
จนบัดนี้ดิฉันก็ไม่สามารถจะยอมรับได้ ว่า เบี้ยทองแดง ราคา ครึ่งล้าน
ก็ไม่สำคัญอะไรเพราะดิฉันไม่ใช่นักสะสมเหรียญ



กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 พ.ค. 10, 14:36
อ้า...ดีครับ   มีข้อมูลอย่างนี้   ต้องเอานำเสนอ  ผิดถูกเดี๋ยวค่อยพิจารณากัน


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ค. 10, 14:45
ตอนเขียนเรื่อง บูรพา  จำได้ว่าเคยเขียนถึงหันแตรคนพ่อว่าเคยขู่รัฐบาลสยาม ขนาดจะเอาเรือรบมาปิดทาง
แต่สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ท่านไม่ทรงเกรงกลัว
ความขัดแย้งกับหันแตรกับสยาม มีหลายเรื่องด้วยกันค่ะ    ในที่สุดเขาก็ออกจากสยามไป
ส่วนลูกชายที่เป็นล่ามนั้น   หมอบรัดเลย์เล่าว่าดื่มสุราเป็นอาจิณ  จนเมาตกน้ำตาย

โรเบิต ฮันเตอร์ เป็นผู้ที่เจอฝาแฝด อินจัน เข้าโดยบังเอิญ   มองเห็นช่องทางจะทำเงินได้ก็เลยขอ(ซื้อ)มาจากพ่อแม่
ยังค้นกูเกิ้ลไม่เจอประวัติของเขา ว่าตายเมื่อไร  ต้องขอแรงสมาชิกอีกแล้ว


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 พ.ค. 10, 22:46

สยามประเภทเล่ม ๑  ตอน ๑ - ๑๒  หน้า ๗๗๒ - ๗๗๓  แจ้งว่า
(พ.ศ. ๒๓๘๗)

   เมื่อ วันที่ ๒๔ เดือนเฟบรุเอรี ศักราช ๑๘๔๔  มิศเตอร์หันเต้อได้ทิ้งบุตรภริยาไว้ในกรุงเทพ 
หานับไปได้ไม่

เพราะราชาธิปไตยสยามอ้างว่า ทรัพย์ภรยาเป็นคนไทย  บุตรหันเต้อต้องไปไม่ได้
ต้องอยู่กับมารดาตามกฎหมายไทย

หันเต้อออกไปถึงแก่กรรมที่เมืองอินเดีย


ได้พยายามโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาหลายวันแล้วค่ะ  ไม่มีรายการ
เรื่องการฝังศพ
หันเต้อเป็นคนสก้อต


ในหน้า ๗๗๑  บอกว่าภรรยาเป็นชาววังหลัง  แต่มาเข้ารีดบาดหลวงบ้านกระดีจีน  ถือศาสนาโรมันกะทอลิก(บาดหลวงฝรั่งเศส)

โรเบิศ หันเต้อผู้บุตร ได้ภรรยา เป็นบุตรีพระยาวิเศษสงครามรามภักดีจางวางกรมทหารปืนใหญ่(แก้ว)  ถือศาสนาโรมันกะทอลิก

ต่อมาโรเบิศ ได้เป็นหลวงสุดสาครในกรมท่า



กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 พ.ค. 10, 22:06
หนังสือจดหมายเหตุ The Bangkok Recorder  May lst  1865  No. 5

หน้า ๒๒

ความมรณ


     ณ วันพุธ เดือนห้า แรมเก้าค่ำ  ปีฉลู สัพตศก       มิศเตอ โรเบิด หันแตร  ผู้เป็นล่ามแลเสมียน  ในเจ้าพระยาศรีสุริย์วงษ

ถึงแก่อนิจกรรมที่บ้านเขา


      มีข่าวว่าถึงแก่กรรมเพราะกินสุรา  ได้ยินว่าเขาอดได้ห้าเดือนแล้วมิได้รับประทานเลย   แต่เมื่อก่อนตายได้ห้าวัน  

มีคนอังกฤษที่เป็นเพื่อนกันสองสามคนมาเยี่ยม   เขาเห็นเหล้าฝรั่งเศสตั้งอยู่สองขวดสามขวด   แต่ยังหาได้เปิดออกไม่

เป็นเหล้าที่เพื่อนของมิศหันแตรคนหนึ่งฝากมาให้เมื่อครั้งก่อน         มิศหันแตรตั้งใจว่าจะไม่กิน  แต่คนนั้นมาชักชวนให้กิน

มิศหันแตรขัดเขามิได้   จึ่งเปิดขวดออกให้เขากิน             ตั้งแต่นั้นมามิศหันแตรก็กินบ่อยๆ

ใจก็วุ่นวายไป          เมื่อใกล้จะตายก็ลงท้องนัก


(มิศ คือ มิศเตอร์)
(บรัดเล ถือโอกาสอบรมเรื่อง โทษของสุราอีกยาวเลยค่ะ)


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 พ.ค. 10, 08:30
ขอขอบคุณคุณวันดีที่กรุณาหาข้อมูลมาเสริมเพิ่มให้สมบูรณ์มากขึ้น

บางกอก รีคอร์เดอร์ นี่มีประโยชน์จริงๆ   ฉบับที่ในหลวงโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพคุณสมหมาย  ฮุนตระกูล   มีสองสี  คือ ปกสีเทา  กับปกสีนำตาล  เนื้อหาเหมือนกัน  เป็นที่นิยมของนักสะสมและค้นคว้ากันนักหนา     ทราบว่าราคาเล่มละหลายพัน ;)


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 พ.ค. 10, 09:39

     สี่พันบาท  นานมาแล้ว


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 พ.ค. 10, 10:03

       ความที่คุณหลวงเล็กนำมาเล่า  น่าฟังเพราะอ้างอิงพิงกันไว้แน่นหนาปานกระบุงที่ขุนแผนสาน

ใครจะมาเพิ่มเติมได้        ดิฉันมีข้อมูลจากแหล่งอื่นก็นำมาลงปะทะไว้ก่อน

อาจจะเรียกว่าสนองบัญชาสนับสนุน    (เพิ่มเติม เป็นศัพท์ที่กลัวมาก  โผล่มาทีไรยุ่งทุกที)



     อันที่จริงก็เป็นห่วงคุณหลวงอยู่  เกรงว่าท่านผู้ใดเกิดอ้าง Romance of the Harem เข้า คุณหลวงจะวิงเวียน

เพราะตัวภรรยาหันแตรนั้น เกิดชื่อ  โรซา  เป็นลูกของอำแดง ทรัพย์

ตาหันแตรนี่แกเป็นคนสก้อต ที่ตะหนี่เหนียวแน่น  แถมเป็นโปรเตสแต้นท์  แกเลยส่งลูกชายสองคนไปเมืองสก้อตเสีย

ถ้าเชื่อเรื่อง แหม่มโรซานี้   ก็ต้องเชื่ออะไรพิลึก ๆ ที่ขวัญใจของนักค้นคว้าทางประวัติศาสตร์คนหนึ่ง เล่าไว้

ทราบแค่นี้เองค่ะ




กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 พ.ค. 10, 09:43

   อ่านเรื่องเรือแกล้วกลางสมุทรอยู่เมื่อวันวาน 

เนื่องจากต้องไปวิ่งเก็บ หมุด ที่คุณท่านเจ้าของเรือนแจก

จึงต้องปั่นกระทู้ของตนเองก่อน   ฮ่ะ ๆ   สหายย่อมเข้าใจ



กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 พ.ค. 10, 10:54
เล่าเรื่องบทความตำนาน พริฏิษ  แฟกฏอรี ต่อ

ตวันสาย ผู้เขียนบทความยาว รัตนศัพท์สงเคราะห์  ตอน พริฏิษ  แฟกฏอรี  ได้เล่าต่อไปว่า

เมื่อเซอร์  ยอน เบาวริง  เดินทางเข้ามาทำสนธิสัญญากับสยาม   ตึกในบริเวณพริฏิษ  แฟกฏอรี  ชำรุดเสียหายอยู่ ยังไม่ได้ซ่อมแซม   จึงต้องปลูกทำเนียบรับเซอร์ ยอน เบาวริง  ในบริเวณพริฏิษ  แฟกฏอรี แทน    จากนั้นจึงได้เริ่มการซ่อมตึกแขกเมืองอีก   

ครั้นต่อมา  มองตีงี ราชทูตกรุงฝรั่งเศสได้เข้ามาเจรจาทำสนธิสัญญากับสยาม  ตึกแขกเมืองนั้นยังซ่อมไม่แล้วเสร็จ   ทางราชการไทยจึงได้จัดหอนั่งของสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ให้เป็นที่พักของคณะราชทูตฝรั่งเศส   ด้วยครั้งนั้นราชทูตฝรั่งเศสได้พาครอบครัวเข้ามาด้วย

ตึกแขกเมืองในพริฏิษ  แฟกฏอรี นั้นเมื่อซ่อมแซมแล้วเสร็จ  ในยามที่ว่างแขกเมืองเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับกรุงสยาม   ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตึกแขกนั้นเป็นที่อาศัยของบรรดาฝรั่งที่เข้ามารับราชการอยู่กับรัฐบาลสยาม   อันมี นายเบตเมน  เป็นต้น



กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 พ.ค. 10, 11:29
ในสมัยปลายรัชกาลที่ ๔  ทางราชอาณาจักรออสโตรฮังการี  ได้มีบอกล่วงหน้ามายังกรุงสยามว่า  ทางพระเจ้ากรุงออสโตรฮังการี  จะแต่งราชทูตเดินทางด้วยเรือรบเข้ามาเจริญพระราชไมตรีทำสนธิสัญญาทางการค้ากับสยามและญี่ปุ่น  มายังกรมท่า

ฝ่ายสยามได้ทราบความนั้นแล้ว   จึงเจ้าพระยาพระคลังว่าราชการการต่างประเทศครั้งนั้นได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตปรับปรุงซ่อมแซมพริฏิษ  แฟกฏอรีเป็นที่รับแขกเมืองนี้อีก  โดยขอใหพระศรีธรรมสาสน (พระยาศรีสรราช (วัน)) เป็นนายด้านผู้จัดการซ่อมตึกหลังกลางใหม่   โดยต่อมุขหน้าตึกเป็นที่นั่งและต่อมุขหลังเป็นที่รับประทานอาหาร   ส่วนตึกแถวด้านใต้  ให้รื้อเครื่องบนลงทำใหม่เป็นเฉลียงให้แคบเข้า  กับทำครัวไปใหม่   ฟากตึกแถวด้านเหนือ  ยังไม่ทันได้ซ่อม  คงเดิมอยู่   ในการซ่อมพริฏิษ  แฟกฏอรีครั้งนั้นได้ใช้เงินภาษีข้าวเป็นทุน  การนี้ทำเมื่อปีมะโรง  สัมฤทธิศก ๑๒๓๐ 

ส่วนคณะราชทูตกรุงกรุงออสโตรฮังการี  กว่าจะเดินทางมาถึงกรุงสยามก็ล่วงรัชกาลที่ ๔ เข้าสู่รัชกาลที่ ๕ แล้ว    อัสมิราลแบรอนฟอนเปดซ์  อรรคราชทูตและเป็นผู้บังคับกองเรือรบที่เข้ามานั้น  ได้เข้าพักที่พริฏิษ  แฟกฏอรีนั้นตามที่ได้จัดเตรียมไว้จนกระทั่งได้ทำสัญญากับสยามเสร็จ เดินทางกลับออกไป


ครั้นต่อมา  ราชทูตอิศปันยอน (สเปน) โดย ซินยอแปตชอต เป็นอรรคราชทูต  เดินทางเข้ามาเจริญพระราชไมตรีและทำสัญญาการค้าขายกับสยาม  ก็ได้พักที่ที่พริฏิษ  แฟกฏอรีนี้   ในกาลครั้งนั้น  เรือรบสเปนได้มาทอดสมอจอดในลำน้ำเจ้าพระยาตรงหน้าตึกแขกเมือง   ราชทูตสเปนได้จัดให้นายทหารและกลาสีเรือรบจัดการแสดง " แทงฉลู"  ตามอย่างสเปน  ที่ชาลาหลังตึกแขกเมืองนั้น

การ " แทงฉลู" คราวนั้น มีเจ้านาย  ข้าราชการ และคนต่างประเทศไปดูกันมาก  ผู้เขียนได้เล่าว่า  พวกสเปนได้เอาวัวไปขังในที่มืดเพื่อให้วัวคลั่งเป็นบ้าแล้วปล่อยออกมา ที่สนามแทงฉลู    ในสนามนั้นมีคนสเปนแต่งตัวหรูหรา  ๒ - ๓ คนถือธงสี  และกระบี่ยาว  ล่อวัวให้วิ่งไล่แล้วแทงด้วยกระบี่เป็นเกมกีฬา  การแทงฉลูนั้นถ้าวัวไม่บ้าคลั่งแล้วก็จะไม่วิ่งไล่คนแทง   คนที่ถือกระบี่ก็จะเอากระบี่แทงวัวนั้นให้เจ็บวัวจะได้ไล่ขวิดไล่ทอ  แล้วก็เอากระบี่แทงอีก  ดูเป็นการน่าสังเวช  มากกว่าเป็นการสนุกสนาน


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 พ.ค. 10, 14:56
หลังจากนั้น   ราชทูตออสโตรฮังการี  ชื่อ  แบรอนการิเจ  เข้ามาเปลี่ยนหนังสือสัญญาที่กรุงสยามอีก  ก็ได้พำนักในพริฏิษ  แฟกฏอรีนี้


อนุวรรตกาลผ่านไป  ครั้นต่อมา   ฝั่งลำน้ำเจ้าพระยาด้านตะวันออกมีการตัดถนนมากขึ้น   มีการใช้รถม้าสัญจรแทนเรือมากขึ้น   ทำให้ฟากตะวันออก (พระนคร) เจริญยิ่งกว่าฟากตะวันตก ที่ยังเป็นท้องที่อัสดงคตอยู่


ฝ่าย ฯพณฯ เจ้าพระยามหาโกษาธิบดี (ท้วม ?)ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตซื้อบ้านเจ๊สัวเสง  ที่ถนนเจริญกรุง  ริมสะพานเล้กคลองผดุงกรุงเกษม  จัดสร้างเป็นตึกรับแขกเมืองใหม่ ให้อยู่ฟากตะวันออก  เพื่อการคมนาคมของทูตสะดวกขึ้น  ซึ่งต่อมาบริเวณนั้นได้กลายเป็นศาลโบริสภาที่ ๑   

ส่วนที่พริฏิษ  แฟกฏอรี ที่เคยเป็นตึกแขกมาแต่เดิม  นั้นทิ้งร้างว่างเปล่าอยู่    บางทีก็มีฝรั่งที่เข้ามารับราชการในสยามมาพักอาศัยบ้าง   ต่อมา   เจ้าพระภาสกรวงศ์ได้รื้อบ้านสร้างใหม่   ท่านเจ้าคุณได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขออาศัยในที่พริฏิษ  แฟกฏอรีนั้น  ด้วยรื้อเรือนสร้างใหม่    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ขอ     ภายหลัง  เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ได้ประกอบกิจราชการมีความชอบมาก  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินตรงพริฏิษ  แฟกฏอรีนั้นให้เป็นบำเหน็จราชการแก่เจ้าพระภาสกรวงศ์  ดังได้มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานที่ดินพริฏิษ  แฟกฏอรีนั้น  ซึ่งกล่าวถึงรายละเอียดความกว้างยาวของพื้นที่  อาณาเขต  และสิ่งก่อสร้างในที่ดินนั้น   ผู้เขียนบทความนี้ได้ไปขออนุญาตเจ้าพระยาภาสกรวงศ์คัดลอกข้อความตามต้นฉบับพระราชหัตถเลขาพระราชทานที่ดินมาลงไว้ด้วย



กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 พ.ค. 10, 15:18
พระราชหัตถเลขา

           สมเด็จพระปรมินทรมหาจุลาลงกรณ  พระจุลจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยามซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินใหญ่  ในรัชกาลที่ ๕ ในพระบรมวงษ์  วึ่งได้ประดิษฐานแลดำรงกรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยา ณ ประเทศบางกอกนี้
              ขอปรกาศให้ไว้แก่ท่านทั้งปวง   ผู้ควรจะได้รู้ความในหนังสือสำคัญนี้ให้ทราบว่า    ตึกที่หลวงสำหรับรับแขกเมืองชาวต่างประเทศ   ซึ่งเรียกว่าบริติชแฟกฏอรี่น่าวัดประยุรวงษาวาศ  ด้านน่าริมแม่น้ำกว้าง  ๒๐  วา  ๒  ศอก   ด้านหลังกว้าง  ๑๙  วา  ๑  ศอก   ด้านเหนือตั้งแต่กำแพงบ้านลงแม่น้ำยาว  ๓๕  วา  ๑  ศอก   มีตึกใหญ่หลังหนึ่ง  ๓  ห้อง  ยาว  ๗  วา  ๒๐  ศอก  ขื่อกว้าง   ๔  วา  เฉลียงรอบกว้าง   ๕  ศอก   มุขน่าชั้นล่างกว้าง   ๙  ศอก   ยาว  ๑๐  ศอก   มุขหลังชั้นล่าง   ๓  ห้อง  ยาว  ๔  วา   ขื่อกว้าง   ๑๐  ศอก   มีเรือนแถวด้านเหนือหลังหนึ่งยาว  ๒๐  วา  ๒  ศอก  ขื่อกว้าง  ๓  วา  ๑  ศอก  เฉลียงกว้าง   ๓  วา  เรือนแถวด้านใต้หลังหนึ่งยาว   ๑๙  วา  ๒  ศอก   ขื่อกว้าง  ๓  วา  ๑  ศอก   เฉลียงกว้าง  ๕  ศอก  ๑ คืบ   ครัวไฟเก่าหลังหนึ่ง  ยาว  ๕  วา  ๑  ศอก   ขื่อกว้าง  ๓  วา  ๑  ศอก   ครัวไฟใฟม่หลังหนึ่ง  ยาว  ๕  วา  ขื่อกว้าง  ๓  วา  มีกำแพงน่าบ้าน   ๓  ด้าน   แลกำแพงสกัดหลังหมดเขตรบ้าน  ที่ดินกับตึกกำหนดที่ว่ามานี้   ข้าพเจ้าได้ยอมให้พระยาภาสกรวงษ์อยู่พักอาไศรยมาประมาณ  ๕  ปีแล้ว   บัดนี้พระยาภาสกรวงษ์มีความชอบ  ได้รับราชการข้อสำคัญเปนคุณประโยชน์แก่แผ่นดินเปนอันมาก    ข้าพเจ้ายอมยกที่ตึกดังว่ามาแล้วนั้น  ให้เปนสิทธิ์เปนทรัพย์แก่พระยาภาสกรวงษ์ชั่วลูกหลาน   ตามแต่พระยาภาสกรวงษ์จะปลูกสร้างเปลี่ยนแปลงตามชอบใจ   และจะขายจะยกให้ผู้หนึ่งผู้ใดก็ตามแต่ใจเปนอันพ้นจากแผ่นดินแล้ว     ต่อไปภายน่าพระเจ้าแผ่นดินฤาท่านผู้มีอำนาจจะต้องประสงค์ที่ตำบลนี้ด้วยเหตุอันหนึ่งอันใด   ก็ขอให้พระยาภาสกรวงษ์ได้รับราคาตามสมควรแก่ที่นั้น   ขออย่าให้ต้องกฎหมายว่า   ควรจะต้องไล่เสียเปล่าๆ   ดังตำราเก่านั้นเลย   จดหมายประกาศนี้  ข้าพเจ้าได้ให้เขียนเปนสอง ฉบับความต้องกันได้ลงตราราชหัดถเลขาของข้าพเจ้าเปนสำคัญ   แลมอบให้พระภาสกรวงษ์ฉบับ  ๑  มอบให้กรมพระนครบาลฉบับ  ๑  ตั้งแต่วัน ๕  แรม ๖  ค่ำ  เดือน  ๙  ปีมะโรงโทศก  ศักราช  ๑๒๔๒  เปนปีที่  ๑๓  เปนวันที่  ๔๓๐๗  ในรัชกาลปัตยุบันนี้


(พระราชหัดถเลขา) สยามินทร์


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 25 พ.ค. 10, 15:35
เมื่อเจ้าคุณภาสกรวงศ์ได้รับพระราขทานที่ดินพริฏิษ  แฟกฏอรีนั้นแล้ว   ท่านก็ขอที่ฉางเกลือซึ่งอยู่ด้านเหนือของที่ดินพริฏิษ  แฟกฏอรี่  และเคยเป็นที่ที่หมอบลัดเลเช่าอยู่  แล้วได้กลายเป็นโรงเลื่อยตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าคุณกลาง  แต่เป็นที่ดินชายธง   ข้างหน้าริมแม่น้ำกว้าง  ด้านหลังแคบ   เมื่อได้ที่ดินนั้นแล้วท่านเจ้าคุณก็รื้อตึกด้านเหนือ  รวมพื้นที่กับที่พริฏิษ  แฟกฏอรี่ เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน แล้วก่อสร้างตึกเรือนใหม่   ปรากฏเป็นบ้านเจ้าภาสกรวงศ์ต่อมา  ฯฯ   

ตำนาน"พริฏิษ  แฟกฏอรี่" อันเป็นตอนหนึ่ง  ในบทความยาวเรื่อง  รัตนศัพท์สงเคราะห์   เขียนโดย  ตวันสาย  ลงพิมพ์ในทวีปัญญา  เล่ม ๕   ก็สิ้นสุดแต่เพียงเท่านี้   แต่การถกเถียงเกี่ยวกับเนื้อหาข้อมูลนั้นยังไม่สิ้นสุด   ยังมีเรื่องที่ควรศึกษาอีกมาก  เช่น  เรื่อง ท่านผู้หญิงทรัพย์   เรื่อง  นายหันแตร ทั้งพ่อและลูก   เรื่อง  การต่อเรือในสมัยรัชกาลที่ ๓    เรื่อง  เชื้อสายชาวโปรตุเกสในเมืองไทย  เป็นต้น   เชิญท่านผู้มีข้อมูลฟาดฟันได้ตามสมควร


กระทู้: ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 10, 15:48
ไม่มีอาวุธจะฟาดฟัน  ได้แต่ขอบคุณคุณหลวงเล็ก สำหรับข้อมูลหายากเรื่องนี้ค่ะ