เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ค. 22, 10:43



กระทู้: ตุ๊กตาหินโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ค. 22, 10:43
จาก FB ของ Arnond Sakworawich
14 กรกฎาคม เวลา 08:25 น.  ·

การค้นพบตุ๊กตาหินโบราณร่วม 100 ตัวที่ใต้ถนนข้างกำแพงแก้ววัดพระแก้ว
สำนักพระราชวังซ่อมถนนบริเวณกำแพงแก้ววัดพระศรีรัตนศาสดารามฝั่งศาลหลักเมืองและกระทรวงกลาโหม เมื่อทำท่อระบายน้ำและขุดถนนพบตุ๊กตาหินโบราณที่ชำรุดนิดหน่อยนับร้อยตัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ขุดค้นและให้กรมศิลปากรบูรณะให้สภาพดีเยี่ยมดังเดิม ตุ๊กตาหินเหล่านี้น่าจะมาจากเมืองจีนเป็นหินอับเฉาถ่วงท้องเรือใบสำเภาที่เราใช้ค้าขายกับจีน ขาไปบรรทุกหนัก ขากลับมีแต่ของเบาเช่นแพรไหม ใบชา เลยต้องซื้อตุ๊กตาหินถ่วงท้องเรือกลับมากันเรือโคลงเคลง

ผมไปวัดพระแก้วมา เห็นตุ๊กตาหินใหม่เอี่ยมอ่องมาตั้งเพิ่มเต็มไปหมดรอบวัดพระแก้วราวหนึ่งร้อยตัวเลยถามเจ้าหน้าที่ ได้ความว่าทรงพระกรุณาให้กรมศิลปากรขุดค้นข้างกำแพงแก้ว แต่ยังอยู่ในรั้วพระบรมมหาราชวัง แล้วนำมาบูรณะและจัดแสดงในวัดพระแก้ว
อย่าได้นึกว่าเป็นของใหม่หรือทำเลียนแบบของโบราณ แต่เนื่องจากฝังดินมาเป็นร้อยปี การสึกกร่อนจะน้อยกว่าตุ๊กตาหินที่ตากแดดตากลมมาเป็นร้อยปีครับ


กระทู้: ตุ๊กตาหินโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ค. 22, 10:43
 :)


กระทู้: ตุ๊กตาหินโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ค. 22, 11:12
ตุ๊กตาหินในวัด ไม่ใช่ของแปลกสำหรับคนไทย เป็นที่คุ้นตากันมายาวนานเกือบเท่าอายุของกรุงเทพก็ว่าได้   บางตัวก็เล็กๆไม่กี่ฟุต บางตัวก็มหึมา  ไม่ควรเรียกว่าตุ๊กตา แต่ควรเรียกว่ารูปสลักหิน
คำบอกเล่าต่อๆกันมาคือ รูปหินเหล่านี้นำมาจากเมืองจีน  เรียกกันว่าเป็น "อับเฉาเรือ" คำนี้ไม่ใช่ภาษาไทย  เป็นภาษาจีนออกเสียงแบบไทยๆ มาจากคำว่า 壓艙石 (จีนกลางออกเสียงว่า หย่าชัง/สือ) แปลว่า "หินถ่วงท้องเรือ"

คำบอกเล่าต่อๆกันมาคือ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 สยามค้าขายสินค้ากับประเทศจีน ทางเรือสำเภา เวลาเดืนทางไปจีน บรรทุกสินค้าไปเต็มเรือ  ขายหมดแล้ว พอขากลับ สินค้าที่ขนกลับมาจากจีนเป็นสินค้าน้ำหนักเบา เช่นพวกผ้าแพรผ้าไหม เรือสำเภาต่อด้วยไม้ น้ำหนักเบา เมื่อเจอคลื่นลมแรงจะโคลงจนล่มได้
สำเภาไทยจึงหาหินมาถ่วงน้ำหนักไว้ใต้ท้องเรือเพื่อปรับสมดุล   หินพวกนี้คือที่มาของรูปสลักจีนเหล่านี้


กระทู้: ตุ๊กตาหินโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ค. 22, 11:31
    หินที่ใช้แกะสลัก เป็นหินประเภท   agalmatolite ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียก หินฮ่วยเส่งง้ำ ภาษาไทยว่าอะไรไม่รู้ค่ะ   (เดี๋ยวคุณเพฺ็ญชมพูหรือท่านอื่นๆที่รู้คงเข้ามาบอกเอง)       เป็นหินสีเขียวอมเทา มีมากในประเทศจีนและญี่ปุ่น   ลักษณะพิเศษของหินคือ เมื่อขุดขึ้นมาใหม่ๆ เนื้อยังอ่อน   สามารถแกะสลักได้ง่าย  แกะแล้วทิ้งตากแดดตากลมไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ จะแข็งตัวเป็นหินเนื้อแข็ง  ผ่านไปเป็นร้อยปีก็ยังไม่แตกพัง
    ข้อนี้ตอบโจทย์ของสิงโตหินคาบแก้วได้หายข้องใจ ว่าทำไมแก้วที่ใหญ่กว่าปากสิงโตถึงเข้าไปอยู่ในปากได้   ก็เพราะตอนทำ ดินยังนุ่มอยู่นั่นเอง
   ส่วนคำถามว่า หินเหล่านี้แกะเรียบร้อยมาจากเมืองจีน ใส่สำเภาเอามาขายไทย เพราะได้ราคาดีกว่าขนเอาหินแท่งๆใส่เรือมาอย่างเดียว   หรือว่าขนหินแท่งใส่เรือมาแล้วค่อยมาสลักในไทย   เดาว่าน่าจะทำได้ทั้ง ๒ แบบ  แต่อย่างแรกน่าจะเยอะกว่า  เพราะถ้าขนหินแท่งมาสลักในไทยหลังจากข้ามน้ำข้ามทะเลมาหลายเดือน หินน่าจะแข็งหมดแล้ว สลักตัวใหญ่ๆยาก   ถ้าทำได้ก็คือตุ๊กตาจีนตัวเล็กๆ สลักโดยช่างเชื้อสายจีนในไทย   อาจจะทำกันเป็นหมู่บ้าน ดังที่มีชื่อตรอกสลักหินเป็นหลักฐานอยู่

   ในรัชกาลที่ ๒ และต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  การค้าสำเภาเฟื่องฟูรุ่งเรืองมาก  เพราะทรงค้าสำเภาเองตั้งแต่ยังทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์          ทรงมีพระราชนิยมในศิลปกรรมจีน   จะเห็นได้จากตุ๊กตาหินจีนและรูปจำหลักหินแบบต่างๆ ตามวัดที่ทรงสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์  นอกจากนี้ก็ได้จากพ่อค้าชาวจีนนำมาถวายเป็นเครื่องบรรณาการ    เรียกว่าพระเจ้าแผ่นดินก็โปรดปราน และพ่อค้าจีนก็ได้ทั้งหน้าตา และโปรโมทสินค้าได้ด้วย


กระทู้: ตุ๊กตาหินโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ค. 22, 11:40
 ปัจจุบัน  ในประเทศจีนก็ยังมีสินค้าแกะสลักด้วยหิน agalmatolite กันอยู่


กระทู้: ตุ๊กตาหินโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 22, 10:41
     ต่อมาในเดือนกรกฎาคม  2565   สำนักพระราชวัง เผยแพร่ข้อมูล ในหมวดข่าวประชาสัมพันธ์และกิจกรรม เรื่อง “ขุดพบประติมากรรมหินสลัก ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง" ความว่า

    เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ในการปรับปรุงเส้นทางเข้าชมภายในพระบรมมหาราชวัง บริเวณประตู มณีนพรัตน์ไปยังประตูสวัสดิโสภา ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงก่อสร้างได้ขุดพบประติมากรรมหินสลักจำนวนมาก จึงได้ทำการเปิดการขุดค้นทางโบราณคดี จากหลักฐานพบว่าเป็นประติมากรรมรูปบุคคลหลากหลายเชื้อชาติ และสัตว์ในเทพนิยาย ซึ่งจารึกที่พบบนประติมากรรมหินสลักบางตัว ระบุเป็นภาษาจีน ว่าทำที่มณฑลกวางตุ้ง มณฑลกวางโจว
     จากการสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในเบื้องต้นพบว่า ประติมากรรมหินหลักเหล่านี้ปรากฏในภาพถ่ายเก่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประดับตกแต่งอยู่โดยรอบพระอารามและมีการโยกย้ายในรัชสมัยต่อๆกันมา ซึ่งมีหลักฐานจากภาพที่ตีพิมพ์ในหนังสือทั้งในประเทศและต่างประเทศ
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ทำการอนุรักษ์ซ่อมแซมประติมากรรมหินสลัก และนำมาประดับในวัดพระศรีรัตนศาสดารามบริเวณตำแหน่งเดิมหรือใกล้เคียงตามหลักฐานที่ปรากฏ

ภาพข้างล่าง คือภาพถ่ายเก่า


กระทู้: ตุ๊กตาหินโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 22, 10:49
ตุ๊กตาหินโบราณเหล่านี้กลายเป็นเรื่องฮือฮา   ก่อให้เกิดคำถามตามมาหลายคำถาม ถึงที่มา จุดประสงค์ของการนำมาวาง  ตลอดจนการนำไปฝังดิน  
ขอรวบรวมความเห็นและคำตอบมาให้อ่านกันค่ะ


จาก FB  สยามพหุรงค์ โดย หนุ่มรัตนะ

ตุ๊กตาหินอ่อนประดับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
.
ข่าวการค้นพบตุ๊กตาหินอ่อนจำนวนมากที่ถูกฝังดินอยู่บริเวณนอกพระระเบียงคดในสนามหญ้าระหว่างรั้วกำแพงพระบรมมหาราชวังในปีพุทธศักราช 2564 และได้นำขึ้นมาบูรณะและถูกนำมาตั้งไว้ในตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับในยุคสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
.
ตุ๊กตาหินอ่อนนี้มีประวัติเริ่มต้นในระหว่างที่กรุงเทพมหานครครบรอบ 100 ปี ตรงกับปีพุทธศักราช 2425 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บรรดาเจ้านายต่างๆ ร่วมฉลองเสด็จพระราชกุศลจัดการซ่อมแซมบูรณะวัดทั้งหมด หนึ่งในการนี้โปรดเกล้าฯ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากมลาศเลอสรร (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแก่เจ้าจอมมารดาเที่ยง) รวมทั้งมิสเตอร์อาบาศเตอร์ร่วมจัดหาตุ๊กตาจากต่างประเทศ รวมทั้งเจ้าฟ้ามหามาลาไปตัดหินที่สระบุรีให้ทำการซ่อมแปลงเครื่องประดับศิลาและกระถางต้นไม้ต่างๆ รวมทั้งหุ้มทองแดง ลงรักปิดทองรูปมารแบกสุวรรณเจดีย์ทั้งสอง และสั่งศิลาเครื่องตั้งประดับพระอารามใหม่เป็นอันมาก ซึ่งปรากฏอยู่ในภาพถ่ายเก่าถึงการมีอยู่ของตุ๊กตาหินอ่อนเหล่านี้ซึ่งถูกตั้งประดับเรียงรายในบริเวณวัด


กระทู้: ตุ๊กตาหินโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 22, 10:51
จนเมื่อถูกขุดค้นพบใหม่ในปี 2565 จึงมีหลายคนสงสัยว่าตุ๊กตาเหล่านั้นสูญหายไปและถูกฝังได้อย่างไร ซึ่งจากการดูภาพเก่าในช่วงระยะเวลาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพที่ทำการลงสีนี้) พบเริ่มมีการประดับตุ๊กตาจำนวนน้อยลง จนกระทั่งสูญหายหมดในช่วงระยะเวลาที่กรุงเทพมหานครครบรอบ 150 ปี ตรงกับปีพุทธศักราช 2475 ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีบัญชีรับ-จ่ายเกี่ยวข้องกับการรื้อย้ายตุ๊กตาและงานประดับกระถางต้นไม้อยู่ในรายการบูรณะ
.
ในภาพเป็นตุ๊กตาหินอ่อนประดับอยู่หน้ากรอบประตูหินหน้าหอพระคันธารราษฎร์ในสมัยรรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ดูจากลักษณะกระเบื้องหลังคามีการทาสีขาวใหม่เป็นการบูรณะวัด น่าจะเป็นในช่วงงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชสมโภช ครั้งที่ 2 ในปีพุทธศักราช 2454
.


กระทู้: ตุ๊กตาหินโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 22, 10:54
'ไกรฤกษ์ นานา' เปิดหลักฐานเก่าสุด ไขปริศนาต้นตอ 'ตุ๊กตาหินวัดพระแก้ว'

 ถาม : อาจารย์คะ รูปแกะสลักหินอ่อนที่ลานวัดพระแก้ว มีที่มาที่ไปอย่างไร ตามหลักฐานเก่าสุด ที่เคยถูกค้นพบค่ะ ?
   ตอบ : มีคำยืนยัน ทั้งข้อมูลและรูปภาพครับ พบต้นตอ มีอยู่ในเอกสารเก่าสุดจากต่างประเทศ สมัยรัชกาลที่ 5
     ตามที่ได้มีการค้นพบ รูปแกะสลักหินอ่อนจำนวนมาก ฝังอยู่ใต้ดินภายในวัดพระแก้ว เมื่อเร็วๆนี้ ตรวจสอบแล้วมีบันทึกอยู่ในเอกสารต่างประเทศ ที่เชื่อถือได้ จากสมัยรัชกาลที่ 5 ดังต่อไปนี้ :-
  ( 1 ) หนังสือชื่อ Turrets, Towers & Temples เขียนโดย Esther Singleton ตีพิมพ์ที่อังกฤษเมื่อปีค.ศ. 1898 เขียนว่า” วัดที่ศักดิ์สิทธิ์และงดงามที่สุดในสยามเห็นจะเป็นวัดพระแก้ว ภายในตกแต่งด้วยรูปปั้นสลักศิลา โดยรอบพระอุโบสถ เป็นศิลปกรรมที่สั่งเข้ามาจากเมืองจีน ในรัชกาลก่อน
       แต่ยังมีรูปปั้นหินอ่อน เป็นรูปผู้มีชื่อเสียงจากยุโรปหลายตัว ถูกสั่งทำเป็นพิเศษ สำหรับปี ค.ศ. 1882 เพื่อประดับตบแต่งคราวบูรณะวัดพระแก้ว ครั้งใหญ่เนื่องในงานฉลองสมโภช กรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี โดยพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน “

https://www.thaipost.net/x-cite-news/182106/


กระทู้: ตุ๊กตาหินโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 22, 11:17
จาก FB  JUDIA Gallery ยูเดียเเกลเลอรี่

#ตุ๊กตาหินโบราณวัดพระแก้ว
หนังสือพิมพ์ L’Illustration ฉบับวันที่ 31 ตุลาคม ปี 1891 (พ.ศ. 2434) ลงภาพข่าวงานพระราชพิธีทรงผนวชเป็นสามเณรของสมเด็จเจ้าฟ้า #มหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2434
ความน่าสนใจอยู่ที่มุมขวาของภาพปรากฎภาพลายเส้นของ #ปราสาทพระเทพบิดร ใน #วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งถูกประดับประดาด้วยด้วย #ตุ๊กตาหินแกะสลัก ในอิริยาบทต่างๆเป็นจำนวนมาก
ตุ๊กตาหินเหล่านี้ตรงกับรูปลักษณ์ของตุ๊กตาที่พึ่งค้นพบจากริมกำแพงพระบรมมหาราชวังเมื่อไม่นานมานี้ และหากนับจากปีที่ฉลองพระนครครบ 100 ปี ( พ.ศ. 2425) แสดงว่าตุ๊กตาหินเหล่านี้ถูกวางประดับไว้เป็นเวลาเกือบสิบปีแล้ว ณ วันที่หนังสือถูกตีพิมพ์ออกไป


กระทู้: ตุ๊กตาหินโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 22, 11:22
ข้อมูลที่มาของตุ๊กตาหินพวกนี้    อ่านได้จากคำตอบของคุณ ภาณุเมศวร์ บุนนาค ใน FB ที่โพสตอบคุณ Kornkit Disthan



ทูล สมเดจพระเจ้าบรมวงษเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์

ด้วยการแต่งวัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้งนี้ หม่อมฉันได้มอบให้พระยารัตนโกษา แลพระอนุรักษโยธา เปนผู้ทำรูปสัตวรูปคนด้วยศิลาเปนเครื่องประดับตั้งรายตามวัดตามแต่จะทำได้ แต่ศิลาที่จะทำนั้น ศิลาเขาฉะโงกที่กรมช้างทำไว้แต่เดิมจะมีอยู่บ้าง ฤๅท่านจะทรงคิดหาเพิ่มเติมขึ้นบ้าง ถ้าพระยารัตนโกษาจะไปขอประทานศิลาทำรูปสัตวเหล่านี้ ขอให้ท่านรับสั่งให้จ่ายให้ทำการตามสมควรที่จะทำได้

จดหมายมา ณ วันศุกร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๓ ปีเถาะเอกศก ๑๒๔๑
สยามินทร์

https://www.facebook.com/thepmontri.limpaphayom/posts/pfbid028DUQySyZGN84uEQdrjMiqiTfFV4jkYnhQ4r6eVhs7V5kYswmU5UTNVe79p7p7FBql?comment_id=1223689215073925&reply_comment_id=1241665623272223&notif_id=1658031163254791&notif_t=comment_mention&ref=notif


กระทู้: ตุ๊กตาหินโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 22, 11:32
จากพระราชหัตถเลขาข้างบนนี้ ทำให้ได้คำตอบว่าตุ๊กตาหินเหล่านี้ทำในประเทศไทยนี้เอง   ไม่ได้ส่งมาจากจีน และไม่ได้เป็นอับเฉาเรือ
สร้างขึ้นเฉพาะกิจ   คือเพื่อประดับตบแต่งคราวบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้งใหญ่  เนื่องในงานฉลองสมโภช กรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี พ.ศ. 2425
หินที่ใช้สลักคือหินจากเขาชะโงก จังหวัดนครนายก    อาจจะมีหินจากที่อื่นด้วย
เพราะดูจากรูปถ่ายข้างล่างคห.นี้   ตุ๊กตาหินน่าจะแกะสลักจากหินมากกว่า 1 ชนิด



กระทู้: ตุ๊กตาหินโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 22, 12:18
ตุ๊กตาหินเหล่านี้ตั้งประดับวัดพระแก้วอยู่จนถึงรัชกาลที่ 7   จึงถูกย้ายออกจากวัด  หลักฐานได้จากราชกิจจานุเบกษาปี 2473 สรุปค่าใช้จ่ายในการบูรณะค่ารื้อย้ายตุ๊กตา กระถางต้นไม้ จำนวนเงิน 431 บาท


หลักฐานจากFB  คุณ "หนุ่มรัตนะพันทิป ณล"



กระทู้: ตุ๊กตาหินโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 22, 12:21
ทำไมถึงต้องเอาไปฝังดิน   
ม.ร.ว. ชัยนิมิตร นวรัตน เฉลยคำตอบว่า

ทำไมต้องฝังดิน ?
สมัยที่ยังไม่มีเครื่องทุ่นแรง ง่ายที่สุดคือขุดแล้วฝัง เรื่องนี้ไม่แปลก สมัยรัชกาลที่ ๕ ก็มีการเอาปืนใหญ่วังหน้าที่ไม่ใช้แล้วฝังภายในกำแพงพระราชวังบวรสถานมงคลนั่นแหละครับ
สมัยนี้มาขุดพบเข้าบอกว่าอยู่กลางสนามหลวง

 


กระทู้: ตุ๊กตาหินโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: Neo ที่ 18 ก.ค. 22, 01:02
อาจารย์ครับ แล้วทำไมสภาพ ตุ๊กตาพวกนี้มันเหมือนใหม่มากๆ ทุกตัวเลยหล่ะครับ มันอยู่ใต้ดินเป็นร้อยๆปีเลยใช่มะครับ


กระทู้: ตุ๊กตาหินโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ค. 22, 08:31
พวกหิน และโลหะ เป็นสิ่งที่ไม่ย่อยสลาย  การฝังดินยังรักษาสภาพไว้ได้ดีกว่าตากแดดตากฝนอีกค่ะ 

ถ้าอ่านประวัติศาสตร์สมัยเสียกรุงครั้งที่ 2   จะพบว่าชาวกรุงศรีอยุธยาฝังสมบัติแก้วแหวนเงินทองไว้ในดินมากมาย ก่อนจะอพยพหนีจากเมือง หรือถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย   เป็นเหตุให้ในสมัยธนบุรี มีการขุดค้นสมบัติเหล่านี้ขึ้นมาอีกครั้ง

หลักฐานคือรายงานของบาทหลวงคอร์  เขียนส่งไปที่วาติกัน ว่า
“...ในเมืองไทยทุกวันนี้คงจะไม่มีเงินใช้เป็นแน่ เพราะพวกพม่าได้ขนไปจนหมดสิ้น เพราะฉะนั้นการที่ได้มีการค้าขายกันในทุกวันนี้ก็เป็นด้วยพวกจีนได้ไปเที่ยวขุดเงินทองที่ฝังไว้ตามดินและบรรจุไว้ในพระเจดีย์นั้นเอง

ทรัพย์สมบัติที่ชาวอยุธยาฝังไว้มีจำนวนมหาศาล เจ้าของที่รอดชีวิตก็กลับมาขุดเอาของตัวไป แต่ส่วนใหญ่ก็ตายหรือถูกกวาดต้อนเป็นเชลย สมบัติที่ฝังไว้ก็ตกเป็นเหยื่อของชาวบ้านที่ออกขุดค้นหากันโกลาหล
ขุนนางผู้หนึ่งคือ พระยาวิชิตณรงค์ จึงยื่นขอผูกขาดขุดหาสมบัติไม่มีเจ้าของ โดยจะส่งเงินเข้าหลวงปีละ ๕๐๐ ชั่ง ซึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรีก็พระราชทานอนุญาต "

สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2   เมื่อระเบิดลงกรุงเทพอย่างหนัก  ชาวกรุงก็ฝังพวกของใช้ต่างๆไม่ว่าจะเป้นถ้วยโถโอชาม เครื่องใช้ที่ไม่ผุกร่อนง่ายลงฝังไว้ใต้ถุนบ้าน   หมดสงครามแล้วจะได้ขุดเอามาใช้ได้อีก
พื้นดินเป็นเหมือนกล่องพัสดุเก็บของพวกนี้ไว้ได้มิดชิด    ถ้าระเบิดไม่ทิ้งตูมเดียวลงไปที่นั้นพอดี รับรองว่าอยู่ปลอดภัยจนสิ้นสุดสงคราม

ในเมื่อตุ๊กตาหินไม่ย่อยสลาย  ขุดขึ้นมาก็ยังคงสภาพครบถ้วนไม่แตกหัก   หากมีส่วนชำรุดนิดๆหน่อยๆมาแต่เดิมก็ซ่อมแซมให้เรียบร้อย  อาบน้ำขัดตัวให้สะอาดเสียหน่อย  ก็ออกมาสภาพเอี่ยมอ่องอย่างที่คุณเห็นนี่แหละค่ะ


กระทู้: ตุ๊กตาหินโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ค. 22, 08:48
    การฝังสมบัติ หรือของที่ไม่ใช้แล้วแต่ทำลายยากลงไปในดินเป็นวิธีการของคนโบราณ   ไม่มีอาถรรพณ์อะไรทั้งนั้นค่ะ
    คนละอย่างกับการฝังรูปฝังรอย ตามที่เขียนไว้ในขุนช้างขุนแผน    ไม่ต้องไปตื่นเต้นหรือตกใจว่าตุ๊กตาหินเหล่านี้ถูกฝังเพราะเหตุผลอะไรอื่น แล้วคาดเดากันไปต่างๆ ออกทะเลไปทุกที
    ตุ๊กตาเหล่านี้สร้างขึ้นเฉพาะกิจ คือในการสมโภช ๑๐๐ ปีกรุงเทพ    เอาไว้ประดับสถานที่ให้ดูมีสีสันน่าตื่นตาตื่นใจ   ไม่ใช่ของมีค่าที่จะต้องเก็บรักษาไว้อย่างหวงแหนระมัดระวัง     เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า อาจจะดูเกะกะไม่เข้ากับสถานที่   หรือว่าพระราชนิยมในรัชกาลต่อๆมาเปลี่ยนไป    จึงมีการเคลื่อนย้ายเอาออกไปจากวัด  
    ในเมื่อตุ๊กตาเป็นของหลวง    โดยเฉพาะมีไว้ประดับวัด   เรื่องจะรับเอามาแบ่งกันไปให้บ้านโน้นวังนี้ เพื่อไว้ประดับบ้าน  คนโบราณเขาถือ  ไม่มีใครทำกัน     ถือว่าเอาของวัดเข้าบ้านไม่เป็นมงคลแก่ตนเอง   แต่ถ้าเอาสมบัติส่วนตนไปถวายวัดละก็เป็นเรื่องดี   สมัยก่อนจึงมีการรื้อบ้านถวายวัดกันไปเป็นหลังๆ ถือว่าได้บุญแรงค่ะ
    ถ้าเป็นของพระราชทานก็ไปอย่าง  แต่พระเจ้าแผ่นดินก็ไม่พระราชทานของวัดให้เจ้านายหรือขุนนางคนไหนเอาไปใช้อยู่แล้วค่ะ


กระทู้: ตุ๊กตาหินโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ก.ค. 22, 12:35
จาก FB ของ Arnond Sakworawich
14 กรกฎาคม เวลา 08:25 น.

ตุ๊กตาหินเหล่านี้น่าจะมาจากเมืองจีนเป็นหินอับเฉาถ่วงท้องเรือใบสำเภาที่เราใช้ค้าขายกับจีน ขาไปบรรทุกหนัก ขากลับมีแต่ของเบาเช่นแพรไหม ใบชา เลยต้องซื้อตุ๊กตาหินถ่วงท้องเรือกลับมากันเรือโคลงเคลง

ตุ๊กตาไม่อับเฉา (แล้วหนอ)

ตุ๊กตานานาชาติที่ว่ากันว่าเพิ่งขุดพบแล้วมาตั้งตามจุดต่างๆ ของวัดพระแก้ว สำหรับคนที่ "เล่นภาพเก่า" น่าจะคุ้นกันดี เพราะในภาพถ่ายเก่า ๆ มักมีพวกมันโผล่มาติดกล้องตัวสองตัว

ตุ๊กตาพวกนี้แรกนำมาติดตั้งไว้คราวสมโภชพระนคร ๑๐๐ ปี (พ.ศ. ๒๔๒๕) คือในรัชกาลที่ ๕ จากนั้นพวกมันก็หายไป (น่าจะหายไปคราวฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปีหรือเปล่าก็ไม่รู้?) จนมาถูกพบอีกครั้ง แล้วกลับมายืนสลอนในวัดพระแก้วกันอีกครา

กะด้วยสายตา ตุ๊กตาพวกนี้ใช้หินคนละประเภทกับตุ๊กตาจีนที่เรามักเรียกว่า "ตุ๊กตาอับเฉา" ตามวัดหลวงต่าง ๆ ซึ่งมีมากและงามมากที่วัดโพธิ์กับวัดแจ้ง

ในฐานะผู้ไม่เชี่ยวชาญเรื่องหิน แต่ชอบสู่รู้แบบเดา ๆ ผมคิดว่าตุ๊กตาหินวัดพระแก้วนี้น่าจะใช้หินเกาะสีชัง อย่างที่เรียกว่าศิลาลาย (ขาวดำ) เป็นแหล่งหินที่นิยมใช้กันแต่โบราณ นอกจากหินจากลพบุรี ราชบุรี เพชรบุรี

ว่ากันด้วยสุนทรียะแล้ว ตุ๊กตาพวกนี้ไม่งาม แม้จะดูแปลกตา ยิ่งแปลกตาในยุคสมโภชพระนคร ๑๐๐ ปี ด้วยความที่มันประหลาด (exotic) เป็นคอนเทนต์ประเภท "สิบสองภาษา" ซึ่งคนสมัยก่อนชอบ เพราะทำให้ตื่นตาตื่นใจกับโลกภายนอก  

"สิบสองภาษา" นี้แปลเป็นภาษาไทยรัชกาลที่ ๑๐ ก็คือ "นานาชาติ" นั่นเอง

ที่มันเป็น exotic เพราะดูไม่เข้ากับวัดพระแก้ว แต่น่าจะเข้ากับงาน "นาเชอนัลเอกซฮิบิเชน" (National exhibition) ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๕ โปรดให้จัดขึ้นพร้อมกับการเฉลิมพระนคร มีการจัดแสดงข้าวของต่างๆ  ในประเทศให้คนไทยได้เปิดหูเปิดตา

ตุ๊กตาพวกนี้น่าจะเป็นของจำพวก "เอกซฮิบิเชน" คือจัดแสดงให้คนไทยชมหน้าตาต่างด้าวด้วย และรักษาธรรมเนียมต่างชาติต่างภาษามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารด้วย สะท้อนถึงความเป็นศูนย์กลางจักรวาลแบบไทย ๆ ดังที่วัดโพธิ์ก็มีภาพสิบสองภาษา แต่เหลืออยู่ไม่เท่าไรแล้ว ด้วยวาดเป็นจิตรกรรมจึงลบเลือนง่าย

กลับมาที่หิน ด้วยความที่ผมเดาว่ามันเป็นหินเกาะสีชัง ดังนั้นมันจึงไม่ใช่ของนำเข้า แต่มีอักษรจีนสลักไว้ที่บางตัวเขียนว่า 粵東 (เยว่ตง)

เยว่ตงนี้หมายถึง ตะวันออก (ตง) ของแคว้นเยว่ (มณฑลกวางตุ้ง) หมายถึงเมืองคนแต้จิ๋วทั้งปวง คือ ซัวเถา ซัวบ้วย แต้จิ๋ว และเก๊กเอี๊ย

ช่างที่สลักอาจจะมาจากเมืองเหล่านี้

โดยเฉพาะเมืองเก๊กเอี๊ย (揭陽) นั้นขึ้นชื่อลือชาในเรื่องแกะสลักหินเป็นยิ่งนัก ถ้าไม่นำช่างเข้ามาก็ ส่งหินไทยไปให้สลัก แต่น่าจะอย่างแรกมากกว่า

ผมจึงสงสัยว่าเจ้าสิ่งที่เรียกว่า "ตุ๊กตาอับเฉา" ที่เรานำเข้าจากจีนน่าจะสั่งจากเก๊กเอี๊ยนี่เอง แต่รวมๆ แล้วตุ๊กตาจีนในไทยเป็นสกุลช่างเตี่ยซัว (潮汕)  คือเยว่ตง/ถิ่นคนพูดแต้จิ๋วเกือบจะทั้งหมด

แต่ผมไม่เชื่อว่าตุ๊กตาพวกนี้คืออับเฉา (และยิ่งในวัดพระแก้วยิ่งไม่น่าจะใช่)

อับเฉานั้นเป็นภาษาจีน คือ 壓艙石 (จีนกลางออกเสียงว่า หย่าชัง/สือ) แปลว่า "หินถ่วงท้องเรือ" ส่วนใหญ่ที่หลงเหลือให้เห็นล้วนแต่เป็นหินก้อนบึก ๆ หรือไม่ก็เป็นหินแผ่นโต ๆ ไม่มีสลักเสลาให้วิจิตรบรรจง

ฝั่งไทยมักเล่ากันว่าไทยไปค้าที่เมืองจีนกลับมาเรือเปล่า กลัวจะเรือโคลงจึงเอาตุ๊กตาพวกนี้ถ่วงเรือมาด้วย

ลองคิดดูสิครับ เดินเรือเป็นเดือน ๆ ผ่านคลื่นลม ตุ๊กตาจีนในไทยล้วนแต่ละเอียดลออ บางตัวลวดลายบอบบางราวกับผ้าลูกไม้ จะใช้เป็นถิ่นถ่วงเรือได้อย่างไร  มิพังป่นปี้หรือ

ขนาดส่งของข้ามเขตกทม. กันทุกวันนี้ห่อกันเป็นขนมชั้นยังแตกวายป่วงเอาง่าย ๆ

วัดโพธิ์นั้นตุ๊กตาแตกหักหลายตัว เพราะคนไปจับบ้าง ถูกลูกบอลเตะอัดเอาบ้าง ขนาดนี้ยังไม่รอด แล้วเจอคลื่นลมทะเลจีนใต้จะไปเหลือหรือ?

ดังนั้น ผมคิดว่าตุ๊กตาพวกนี้ไม่ใช่อับเฉาไว้ถ่วงเรือหรอก แต่สั่งเข้ามาจริงจังอย่างทนุถนอม

หรือหากไม่สั่งก็ทำขึ้นเองในประเทศสยามนี้โดยใช้ช่างจีน

โดยหินที่ใช้เป็นหินเขียวภูเขาไฟ/หินอัคนี ดังที่สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมด็จพระสังฆราชจอมกวีแห่งวัดโพธิ์ทรงเรียกว่า "เสลานิล"

แต่บางตำราก็บอกว่ามีการส่งแบบไปให้จีน "หล่อศิลาเทียม" ซึ่งแปลว่าตุ๊กตาพวกนี้บางตัวใช้หินปลอมกระมัง และใช้วิธีหล่อขึ้นรูปไม่ใช่สลักเอา ซึ่งผมยังค้นไม่เจอว่าคืออะไรและทำกันอย่างไร

ว่ากันตามหลักฐานประวัติศาสตร์ คนไทยไปค้าที่จีนไม่เห็นจะต้องสั่งอับเฉาที่แต่งเสียสะสวยให้ขาดทุนทำไม สู้เอาหินลุ่น ๆ มาถ่วงไม่ดีกว่าหรือ หรือไม่ก็หินถ่วงนั่นแหละเอามาสลักตุ๊กตาในเมืองไทย ยิงปืนนัดเดียวได้กำไรสองต่อเห็น ๆ

เรื่องกำไรของสยามนั้นสำคัญนัก ทางจีนสมัยชิงบันทึกว่า สยามเองนี่แหละที่หาเรื่องไปจิ้มก้องจีน (มาถวายคำนับพระเจ้ากรุงจีน) ทั้งที่จีนบอกให้มา ๓ ปีครั้ง แต่สยามมาบ่อยครั้งเกิน เพราะต้องการค้าขายเอากำไร

นอกจากมาถี่จนน่าละเหี่ยใจ สยามยังตุกติกโดยใช้สิ่งที่เรียกว่า "สินค้าอับเฉา" (壓艙貨物) คือเอาสินค้าอ้างว่าเป็นอับเฉาถ่วงเรือมาเพื่อจะได้รับการยกเว้นภาษีนั่นเอง

ฉลาดเป็นกรดแต่รุ่นบรรพชนจริง ๆ พวกเรา

ป.ล. ตุ๊กตาหินวัดพระแก้วนั้น นาน ๆ ไปก็คงจะชินตากัน และมันทนทานเอาเรื่องอยู่ เพระเป็นหินแกร่ง ผิดกับ "ตุ๊กตาอับเฉา" ตามวัดต่าง ๆ ที่งามกกว่าหลายเท่า ทุกวันนี้พังพินาศรวดเร็วมาก ผมคิดว่าควรจะเริ่มเป็นห่วงกันได้แล้ว ขอบอกว่าตุ๊กตาพวกนี้เมืองจีนก็แทบไม่มีครับ เป็นสมบัติศิลปะจีนที่มีในเมืองไทยมากที่สุด แต่ก็ถูกละเลยมากที่สุดเหมือนกัน

จาก เฟซบุ๊กของคุณกรกิจ ดิษฐาน (https://www.facebook.com/719626953/posts/pfbid0247BF8TnRQShvHtUTkcvYTPAc9vCyik8KcBd68Q7sGf3zVtcHzHoBN6ybS4U5MBvJl/?d=n)


กระทู้: ตุ๊กตาหินโบราณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ค. 22, 17:32
จาก FB  คุณ Surawich Verewan

การตกแต่งวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วยประติมากรรมศิลานั้น มีปรากฏในจดหมายเหตุการ บูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในการฉลองพระนครครบ ๒๐๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๒๕ หน้า ๑๖๙ ได้ระบุไว้ว่า
.
“...ถึงรัชกาลที่ ๕ คราวเตรียมงานสมโภชพระนคร ๑๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอและพระราชวงศ์หลายพระองค์ควบคุมรับผิดชอบงาน บูรณะปฏิสังขรณ์ฐานไพทีกับสิ่งประดับตกแต่ง ตลอดจนปูชนียสถานบนฐานไพที...”
.
“...ด้านข้างศาลารายทั้ง ๑๒ หลังนั้นประดับด้วยกระถางไม้ดัดต่างๆ...นอกจากนี้บางศาลามีกระถาง ไม้ดอก มีรูปสัตว์กระต่ายเล็กๆ และนกเคลือบประดับบ้าง บางศาลามีโต๊ะตั้งจานใส่รูปจำลองสัตว์ต่างๆ เช่น ปลา เป็ด นก และปู กับมีตุ๊กตาศิลาแต่งกายแบบจีน มอญ และฝรั่งทำท่าเหมือนจะซื้อขายสินค้ากันบ้าง...”
.
ส่วนการนำประติมากรรมศิลามาฝังนั้นสันนิษฐานว่าน่าจะดำเนินการในช่วงสมัยรัชกาลที่๖เนื่องในงาน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เอกสารหอจดหมายเหตุสมัยรัชกาลที่ ๖ เรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ระหว่างวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๔๕๔ – ๑๗ มีนาคม ๒๔๖๔ หนังสือกระทรวงโยธาธิการ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธ์ิ มีหนังสือกราบบังคมทูลฯ ลงวันที่ ๑๖ สิงหาคม ร.ศ.๑๓๑ (พ.ศ.๒๔๕๕) เรื่องการพระบรมราชาภิเศกสมโภช ซึ่งจะตั้งพระราชพิธีที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ยังมีสิ่งที่ชำรุดและซ่อมค้างอยู่ จึงได้ประมาณราคาค่าใช้จ่าย ต่าง ๆ ในรายการที่ ๗ เก๋งบอกหนังสือหน้าพระอารามทั้ง ๔ หลัง เนื่องจากไม่ใช้งานอาคารดังกล่าว ตัวเก๋งชำรุดเสียหายอย่างมากรวมถึงด้านหลังกลายเป็นที่ทิ้งของโสโครกจึงเห็นสมควรที่จะรื้อและขนของที่รื้อกับ กองของโสโครกออกแล้วทำพื้นให้เรียบร้อย
.
ต่อมาในหนังสือที่ว่าการกรมศิลปากร กรมหลวงนเรศร์วรฤทธ์ิ มีหนังสือกราบบังคมทูลฯ ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๖ เรื่องการแก้บันไดพระทวารพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในบัญชีรายการทำบันไดนั้น ได้ระบุรายการค่ารื้อและย้ายตุ๊กตาหิน และแท่นหิน ปูหินหน้าพระอุโบสถเพิ่มเติม

https://www.facebook.com/surawich.verawan