เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8
  พิมพ์  
อ่าน: 5097 ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 26 เม.ย. 23, 19:06

แน่นอนว่า เรื่องหนึ่งที่ต้องคุยกันในวงสมานมิตรก็จะเกี่ยวกับสถานที่ๆจะไป ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องอธิบายกันอย่างยืดยาว เพราะชาวบ้านเขากลัวเราจะพาคนของเขาไปเป็นอันตราย   สิ่งที่ได้มาก็คือชื่อของห้วย ดอย(จุดสูงข่ม) จุดที่สำคัญต่างๆ พร้อมๆไปกับเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง และสถานที่ๆหรือจุดที่แปลกที่เขาอยากจะพาเราไปดู    แหล่งทรัพยากรทางเศรษฐกิจหลายแหล่งได้พบสืบเนื่องมาจากการสนทนาในวงสมานมิตรเช่นนี้

เมื่อคุยกันเรื่องสถานที่ๆจะไป นอกจากจะสอบถามเรื่องของชื่อสถานที่/พื้นที่แล้ว ก็จะมีเรื่องของระยะทางและเวลาที่จะใช้ในการเดินไปและกลับ  ซึ่งมาตรฐานโดยประมาณตามปกติก็คือ เดินในพื้นที่ราบตามปกติ ใน 1 ชม.จะได้ระยะทางประมาณ 4-5 กม.   หากเดินในห้วยจะได้ระยะทางระหว่าง 1-3 กม. ขึ้นอยู่กับเป็นห้วยแห้งหรือหร้อยมีน้ำและลักษณะของพื้นท้องห้วยว่าเป็นเช่นใด (หิน กรวด ทราย) ซึ่งก็จะต้องพิจารณาอีกด้วยว่า ระยะทางเดินในพื้นที่จริงกับระยะทางในแผนที่มันจะต่างกันอย่างมาก ในแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 นั้น ระยะ 1 มม.จะเท่ากับ 50 เมตรในพื้นที่ (1 ซม.=500 ม.ในพื้นที่)

เมื่อตั้งคำถามกับชาวถิ่นว่า ไกลใหม ซึ่งก็เป็นคำถามตามปกติ  คำตอบที่ได้รับก็อาจจะมี เช่น บ่อไก๋-ก๊ำเดียว(ไม่ไกลเดี่๋ยวเดียวเอง), ไก่ขันก็ได้ยิน, ระยะสามหลัก(ระยะประมาณ 3 หลัก กม.), ตันกิ๋นข้าวงาย(ทันกินอาหารเช้า), ปิ๊กมาตันกิ๋นข้าวแลง(กลับมาทันกินอาหารเย็น), บึ๊ดนึง(สักพัก), ห่อข้าวไปโตย(ห่อข้าวติดตัวไปด้วย) ...ฯลฯ.   ก็ลองนึกดูว่าเราจะประเมินระยะทางในพื้นที่เช่นใด       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 27 เม.ย. 23, 18:02

ก็คงจะประเมินว่าไม่ไกลนัก  แต่เมื่อเดินจริงก็จะพบว่าไกลโขอยู่ทีเดียว  ไก่ขันก็ได้ยินนั้น ลืมนึกไปว่าจุดที่จะไปนั้นอยู่อีกฝั่งของหุบห้วย ใช้เวลาเดินระดับครึ่งวันเลยทีเดียว  เช่นกัน ที่ว่าไปทันกินข้าวเช้า ก็นึกไม่ถึงว่าเขาออกเดินหลังตื่นนอนตอนตีสี่ และเวลาอาหารเช้าของพวกเขาก็จะอยู่ประมาณสิบโมงเช้า ก็หมายถึงใช้เวลาเดินประมาณ 6 ชม.    ระยะสามหลักนั้น คือระยะประมาณ 3 กิโลเมตร  มักจะเกิดจากคำถามของเราเองว่าระยะทางกี่หลัก หลักกิโลเมตรสมัยก่อนนั้นทำด้วยไม้ บางจุดก็หายไปด้วยสาเหตุต่างๆ  ระยะจริงอาจจะหลาย กม. แต่เหลือหลักให้เห็นเพียงเท่านั้น

ก็คงจะพอเห็นภาพว่าภาษาถิ่นนั้น มันพอจะบ่งย้อนไปถึงความเป็นอยู่ วิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรมของผู้คน   ความหมายของศัพท์และคำพูดของภาษาถิ่นเหล่านั้น อาจจะมีความเป็นจำเพาะที่ต่างออกไปจากที่เทียบเคียงหรือที่แปลมาเป็นภาษากลางดังที่เราเข้าใจกัน 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 27 เม.ย. 23, 19:04

ย้อนกลับไปที่เรื่องของทางน้ำ 

คำว่า ห้วย เป็นคำที่มีความเข้าใจตรงกันระหว่างความหมายในภาษาถิ่นกับภาษากลาง ทั้งในเชิงของลักษณะทางกายภาพและคุณสมบัติของมัน

เมื่อกลุ่มห้วยเล็กๆส่งน้ำมารวมกันจนเป็นทางน้ำที่มีน้ำไหลตลอดปีหรือเกือบตลอดปี ภาษาถิ่นเหนือจะเรียกทางน้ำสาขาเช่นนี้ว่า น้ำแม่... (น้ำแม่สาย น้ำแม่แจ่ม น้ำแม่กวง น้ำแม่ลาว น้ำแม่สรวย ...ฯลฯ)   เมื่อน้ำแม่...ไหลมารวมกัน ก็จะเรียกว่า น้ำ (น้ำปิง น้ำวัง...)   

ในภาษาอีสานใต้ ทางน้ำสาขาดูจะใช้คำว่า ลำ (ลำตะคอง ลำปลายมาศ ลำน้ำเสียว ลำโดม...ฯลฯ) ในภาษาอีสานเหนือใช้คำว่า น้ำ (น้ำพอง น้ำอูน น้ำเชิญ ...ฯลฯ)  เมื่อลำ...ไหลมารวมกัน ก็จะเรียกว่า น้ำ (น้ำชี น้ำมูล น้ำสงคราม)

ในภาษาใต้ ทางน้ำสาขาดูจะใช้คำว่า คลอง (คลองสก คลองสวี คลองบางหมี...ฯลฯ)  เมื่อคลองไหลมารวมกันก็จะยังคงเรียกว่าคลอง (คลองหลังสวน คลองกระบุรี ?)

คลองในความหมายของภาษาไทยกลาง ให้ความหมายออกไปในทางน้ำที่สามารถใช้สัญจรได้หรือเป็นทางน้ำที่ใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับเรือกสวนไร่นา และใช้คำว่าแม่น้ำสำหรับทางน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำลึกและไหลตลอดทั้งปี
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 28 เม.ย. 23, 19:41

เมื่อเป็นภาษาไทยกลาง  ซึ่งใช้กันในหมู่ผู้คนที่อาศัยและหาเลี้ยงชีพอยู่ในพื้นที่ราบที่เรียกว่าที่ราบลุ่มเจ้าพระยา  พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ราบที่อยู่ในส่วนปลายของลำน้ำหลายสาย  ตัวแผ่นดินเป็นตะกอนของกรวด หิน ทราย ดิน ที่แม่น้ำนำพามาตกตะกอน (alluvial plain)  ในขณะที่นำพาตะกอนมา ตัวแม่น้ำเหล่านั้นเองก็กัดเซาะร่องน้ำของตัวเอง แกว่งไปทางซ้ายที-ทางขวาที (meandering) หรือไม่ก็ตัดลัดตรงบริเวณที่เป็นคอคอดของทางน้ำ คลองลัด (cut chute) ละทิ้งเส้นทางน้ำไหลแต่เดิม ทำให้ส่วนที่เป็นลำน้ำเดิมตื้นเขิน แปรสภาพไปเป็น'บึง'บ้าง 'หนอง'บ้าง...ตามแต่จะเรียกกัน (oxbow lake)  (รวมทั้งทางน้ำเล็กบ้างใหญ่บ้างที่เป็นส่วนแยกจากลำน้ำหลัก ซึ่งเกิดมาจากน้ำล้นตลิ่ง (natural levee) แล้วไหลเซาะเป็นร่องระบายน้ำออกไป _crevasse spray)  พื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยาก็มีลักษณะพื้นฐานเป็นดังที่ให้ภาพอย่างคร่าวๆดังที่กล่าวมา   แต่ละสถานที่ก็จะมีคำเรียกที่ต่างกันไปตามแต่ละภาษาที่เห็นว่าควรจะใช้คำที่มีคุณสมบัติตรงกับลักษณะนั้นๆเช่นใด
 
ก็เห็นว่า ด้วยที่แอ่งเจ้าพระยาเป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำ เป็นแหล่งรวมของชาติพันธุ์และวิถีชีวิตของผู้คนต่างๆ ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีการตั้งชื่อเรียกสถานที่ต่างๆตามนิยมของชาติพันธุ์ของตน  เมื่อลักษณะทางธรรมชาติบางอย่างไม่มีคำในความหมายที่จะใช้เรียกในหมู่ตน ก็ต้องเรียกไปตามที่ผู้อื่นเขาเรียกกัน  ภาษาไทยภาคกลางก็เลยมีคำที่คละทั้งเหนือ อีสาน กลาง ใต้ ตะวันออก และของชาติอื่นๆ  ซึ่งอาจจะเป็นเหตุให้คำในภาษาไทยนิยมที่จะมีคำที่มีความหมายคล้ายกันพ่วงอยู่ด้วย  เช่น แม่น้ำแคว ลำน้ำ  ลำธาร  ลำห้วย โต๊ะต่าง ภูเขา ...     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 29 เม.ย. 23, 19:19

คำในภาษาไทยกลางแบบพื้นๆดูจะเป็นเรื่องปกติที่จะมีสองคำติดกันหรือเป็นวลี  ซึ่งน่าจะแบ่งออกไปได้เป็นพวกคำต่อท้ายเพื่อขยายความของคำที่เป็นกริยา (เดินไป วิ่งมา กินข้าว ดื่มน้ำ) และที่ขยายความของคำที่เป็นนาม (มะม่วง บ้านใหญ่ หม้อดิน...)   อีกพวกหนึ่งก็เป็นพวกสร้อยคำ ซึ่งส่วนมากจะใช้กันในภาษาพูด (ท้อแท้ ใหญ่โต เที่ยวเตร่ รถรา คันเคิน เที่ยวเท่อว สูงเสิง กินเกิน...)  อีกพวกหนึ่งก็เป็นพวกขยายความให้ครบองค์ประกอบของเรื่องนั้นๆ หรือเป็นลักษณะของวลีที่มีคำหรือเสียงสอดคล้องกัน (กินเหล้าเมายา ขับรถขับรา เทียวไปเทียวมา ...)  แล้วก็พวกคำที่มีสมญานามต่อท้ายต่างๆ

ก็มีข้อน่าสังเกตว่า พวกคำขยายกริยาในลักษณะคำต่อท้ายนั้น จะเหมือนๆกันทุกภาค  แต่คำขยายนามนั้นแต่ละภาคดูจะมีคำเรียกนำหน้าเป็นการเฉพาะ โดยเฉพาะในด้านการบริโภค ในกรณีผลของต้นไม้ก็เช่น ในภาคเหนือใช้คำว่า บะ นำหน้า   ในภาคอีสานใช้คำว่า บัก   ในภาคใต้ดูจะใช้คำว่า ลูก   สำหรับในภาคกลางนั้นโดยพื้นๆก็ใช้คำว่า มะ แต่หากจะให้หมายถึงตัวผลไม้จริงๆก็จะต้องมีคำว่า ลูก เติมไปข้างหน้า  แถมก็ยังมีที่เรียกชื่อไม่เหมือนกับที่ภาษาถิ่นเขาเรียกกันอีก เช่น สับปะรด ที่ภาษาถิ่นเรียกกันว่า บะขะนัด ย่านัด บักนัด
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 29 เม.ย. 23, 19:43

พูดถึงชื่อบักนัดแล้วทำให้นึกถึง เค็มบักนัด ของอุบลราชธานี  เอามาทำเป็นหลนแบบอาหารของคนภาคกลาง กินกับผักสด อร่อยจริงๆครับ 

เค็มบักนัด ได้มาจากการหมักเนื้อปลาสวาย หรือเนื้อปลาเทโพ สับปะรด และเกลือ  หากเป็นของที่พิถีพิถันทำด้วยการหั่นเนื้อปลาและสับปะรดให้เป็นชิ้นลูกเต๋าเล็กๆขนาดประมาณเม็ดถั่วเหลืองละก็สุดยอดไปเลย  กินกับขมิ้นขาว มะเขือตอแหล ฝักลิ้นฟ้าเผา(ฝักเพกา) ผักกาดขาว  หรือกับยอดมะกอกที่เอามาอังไฟแรงๆให้ใบสยบ  อืม์         
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 29 เม.ย. 23, 20:35

หน้าตาเป็นหลนมากค่ะ  ดูน่าอร่อย


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 30 เม.ย. 23, 19:12

ครับ ก็คือหลนที่ใช้เค็มบักนัดทำ   

หลนทั้งหลาย _ หลนกะปิ หลนเต้าเจี้ยว หลนปูเค็ม หลนแหนม หลนปลาร้าใส่ปลาดุก หลนปลาอินทรีย์เค็ม หลนปลากุเลาเค็ม หลนไข่ปลาริวกิวดอง หลนปลาส้ม หลนส้มฟัก ฯลฯ _ ผักแนมที่จะทำให้มีความอร่อยมากขึ้นควรจะต้องเป็นพวกผักสดที่ออกรสเปรี้ยวนิดๆ โดยเฉพาะพวกใบอ่อนยอดไม้ต่างๆ _ยอดมะม่วง ยอดมะกอก ยอดมะดัน ยอดมะปริง ยอดกาหยี(มะม่วงหิมพานต์) ยอดชะมวง ฯลฯ  ที่ผมชอบจริงๆจะเป็นยอดมะกอกและ ขมิ้นขาว

หลนเป็นอาหารที่ดูจะมีการทำกินเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง โดยเฉพาะในพื้นที่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา  ผักแนมที่ดูจะต่างออกไปก็ดูจะเป็นสายบัวสด  ซึ่งสายบัวเองก็เป็นผักพื้นฐานที่มีการนำไปใช้ในการทำอาหารหลายๆอย่างในพื้นที่ จะว่ามีความเป็นเอกลักษณ์ก็น่าจะพอได้ (ผัดสายบัว แกงส้มสายบัว/ไหลบัว แกงกะทิสายบัว ใช้เป็นผักแนม ..)   ที่เห็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ในพื้นที่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาอุดมไปด้วยแหล่งนัำที่เป็นส่วนเดิมของแม่น้ำที่โค้งไปโค้งมา ซึ่งเมื่อมีน้ำขังนิ่งอยู่ ตะกอนละเอียดก็จะตกตะกอนเป็นดินโคลนที่พื้นท้องน้ำ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเจริญพันธุ์ของต้นบัว   

ในกรณีที่มีน้ำขังในระดับตื้นมากก็จะเหมาะสำหรับต้นกระจับ ต้นแห้ว และต้นบอน   หัวกระจับและหัวแห้ว โดยพื้นๆก็เอามาต้มกินกันเป็นของกินเล่น ก็มีที่เอาไปทำต่อเป็นของหวาน    ส่วนบอนนั้น คนไทยใม่นิยมกินหัวบอน แต่นิยมกินส่วนที่เป็นต้นของมัน ด้วยที่กินแล้วมันคันคอ ก็เลยจะต้องทำให้มันสุกจริงๆจึงจะทำให้กินแล้วไม่รู้สึกคันคอ  เพื่อความแน่ใจ เมนูอาหารก็จึงมักมีการใช้ส้มมะขามเปียกในการปรุงรส (เพื่อกำจัดสารที่ทำให้คัน) ก็เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ปฏิบัติกันในทุกภุมิภาคของไทย      ต้นบุกก็เช่นกัน เผาให้สุกจนนิ่มมากๆคล้ายมะเขือยาวเผา ฉีกให้เป็นเส้น แล้วขยำกับน้ำมะขามเปียก แล้วก็เอามากินเป็นผักแนมกับน้ำพริกได้อย่างอร่อยเหาะเลย 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 01 พ.ค. 23, 19:05

ในภาษาเหนือ พืชที่เอามาทำอาหารได้ดูจะมีการจัดแบ่งเป็นกลุ่มและใช้ใช้คำนำหน้าชื่อแยกกัน ซึ่งพอจะจับความได้ว่า พวกพืชที่ใช้เป็นเครื่องปรุงในอาหารต่างๆตามปกติ จะขึ้นต้นด้วยคำว่า หอม เช่น หอมแดง หอมขาว(กระเทียม) หอมด่วน(สะระแหน่) หอมป้อม(ผักชี) หอมป้อมเปอะ(ผักชีฝรั่ง)....  พวกที่ขึ้นต้นชื่อว่าหอมเหล่านี้ เป็นพวกที่มีกลิ่นแรง การเพิ่มหรือลดปริมาณมีผลทำให้กลิ่นของอาหารเปลี่ยนไป ทำให้รู้สึกว่าชวนกินหรือไม่ชวนกินได้  ในภาษาอีสานก็มีคำน้ำหน้าแบบนี้เหมือนกัน แต่ดูจะมีน้อยคำ ก็อาจจะเป็นด้วยที่อาหารอีสานพื้นบ้านใช้เครื่องปรุงน้อยกว่าอาหารของภาคเหนือ เช่น หอมแป (ผักชีฝรั่ง) 

พวกพืชที่เอาใบมามาใช้ในลักษณะของผักในแกงและต้มต่างๆ ทั้งเหนือ อีสาน และภาคกลางล้วนใช้คำว่า ผัก น้ำหน้าพืชนิดนั้นๆ เพียงแต่มีชื่อเรียกที่ต่างกันไป เช่น ใบชะพลู (ผักอีเลิด อิสาน, ผักแค ผักปูลิง เหนือ, นมวา ? ใต้)  ชะอม (ผักขะ ผักขา อีสาน).... มีมากมาย นึกไม่ออก ลืม และไม่รู้อีกมาก   มีข้อสังเกตว่า ชื่อของพืชผักที่กินได้ในภาษาไทยกลางทั้งหลายนั้น ดูจะไม่แตกต่างไปจากที่ภาษาใต้เขาใช้กัน

ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ภาษาถิ่นย่อมต้องมีความแตกต่างกันไป   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 02 พ.ค. 23, 19:48

ก็มีเรื่องให้ชวนให้คิดอยู่หลายๆเรื่อง   

ผู้คนในประเทศไทยเป็นกลุ่มคนที่สื่อสารกันด้วยภาษาตระกูลหนึ่ง เป็นกลุ่มภาษาที่ใช้เสียงสูง-ต่ำผันเสียงที่เปล่งออกมาให้เป็นคำที่มีความหมายต่างกันออกไป ?   ก็ชวนให้คิดว่า กลุ่มผู้คนที่สื่อสารกันด้วยภาษาเดียวกัน แต่หากตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในลักษณะ/สภาพสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติที่ต่างกัน ก็ย่อมจะต้องมีพัฒนาการทางด้านภาษาและวิถีความเป็นอยู่ของชีวิตที่แตกต่างกันออกไป รวมทั้งรายละเอียดในด้านปฏิบัติทางธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมที่ถือเหมือนๆกัน    ในเรื่องของความแตกต่างของภาษานั้น เรื่องหลักๆก็น่าจะเป็นเรื่องของสำเนียง ซึ่งแม้เราเองที่อยู่ในสภาพทางกายภาพของสังคมในปัจจุบันก็ยังพอเห็นได้ เพียงแต่ถูกบดบังด้วยการต้องใช้ภาษาเขียนเป็นมาตรฐานในการสื่อสารในวงกว้าง ซึ่งจะต่างไปจากภาษาพูดในพื้นที่จริงที่ไม่มีระบบการขยายเสียงตามเสียงของมาตรฐานภาษากลาง  กรณีเช่น ทำให้สำเนียงของผู้คนที่อยู่ในสังคมประเภทบ้านติดกันกับสังคมประเภทบ้านห่างกัน จะออกเสียง/ได้ยินเสียงคำๆเดียวกันไปในวรรณยุกต์เสียงที่ต่างกัน แปรไปตามระยะห่าง  หรือกรณีจากเสียงรบกวน เช่น เสียงจากน้ำไหลในบริเวณหัวแก่ง/ท้ายแก่ง...     รถเครื่อง เป็นรถเครื้องก็มีให้เห็น  ตำรองพาโด๊ะ(ตลิ่งสูง) เป็นวังปาโท้ก็มี เป็นวังปาโท่ก็มี เป็นวังปลาโท่ก็มี ในปัจจุบันดูจะมาหยุดอยู่ที่ วังปาโท่       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 04 พ.ค. 23, 19:23

เรื่องชวนให้คิดอีกเรื่องหนึ่งก็คือ   เมื่อพยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องของชาติพันธุ์และภาษา ก็พบว่าภาษาถิ่น(น่าจะ)เกือบทั้งหมด มีการจำแนกออกไปให้เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์  ซึ่งก็พบว่า มีคำพูดและศัพท์เป็นจำนวนมากที่มีความหมายหรือใช้เรียกของต่างๆเหมือนๆกัน (เช่น ขัว_สะพาน, ย่าง_เดิน...) หากแต่จะออกเสียงเพี้ยนกันไปจากเหตุของความสามารถในการฟังหรืออื่นใด แล้วมีการส่งทอดต่อกันไป     เรื่องของการเปล่งเสียง (pitch, tone ...) ดูจะมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อยในเรื่องของการจำแนกกลุ่ม ก็ไม่รู้ว่ามีการให้ความสนใจมากน้อยเพียงใดในด้านของการแต่งกายและอาหาร ซึ่งแต่ละกลุ่มก็ดูจะไม่ค่อยจะเหมือนกันในทางพื้นฐานความคิด
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 05 พ.ค. 23, 19:56

ที่จัดว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันนั้น โดยนัยก็น่าจะหมายรวมถึงลักษณะทางสังคม วัฒนธรรม และปรัชญาในด้านการดำรงชีวิต  ซึ่งก็น่าจะต้องมีในเรื่องของของความเหมือนที่ตั้งอยู่บนฐานของภูมิปัญญาของกลุ่มรวมอยู่ด้วย (เช่น การทำ/ใช้หลุกวิดน้ำ การถนอมอาหาร  การทำ/ใช้ประโยชน์พื้นที่ทำกิน  การใช้สมุนไพรบางชนิด ...)  รวมทั้งความเชื่อในบางเรื่อง เช่น ให้เอามืดอีโต้เสียบร่อง(กระดาน)พื้นบ้าน เพื่อผ่าลมออกไปไม่ให้พัดจนบ้านพัง  ไม่กินเนื้อสัตว์ปีกตัวใหญ่ในหมู่เพื่อน จะทำให้แตกคอกัน ...

ก็เล่าไปตามที่ตัวเองได้สัมผัสมาเมื่อหลายสิบปีก่อน เป็นภาพในสมัยที่การเข้าถึงหมู่บ้าน/ชุมชนระดับจิ๋วต่างๆ และลักษณะความเป็นเมืองยังแผ่ไปไม่ถึงสำหรับผู้คนห่างไกล    ซึ่งเห็นว่าไม่ค่อยจะสอดคล้องกับที่เคยสัมผัสมากับเรื่องทางวิชาการเมื่อได้หาอ่านหาความรู้เพิ่มเติมในภายหลัง  เช่น กรณีเรื่องของชาวไทพวน...     ทั้งหลายทั้งมวลก็เข้าใจอยู่ว่า ประเพณีและวัฒนธรรมนั้น ลักษณะจำเพาะที่เราสัมผัสกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการผสมผสานกัน บ้างก็ในด้านของ assimilation บ้างก็ในด้านของ dissemination 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 06 พ.ค. 23, 19:22

ที่เล่ามาทั้งหลาย ดูจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆที่ไม่ผูกพันกันเป็นเรื่องราวใดๆเลย  ก็นำมาเล่าเพื่อนำเสนอข้อมูลตามที่ตนเองได้ประสบจริงที่อาจจะเป็นประโยชน์ในเรื่องต่างๆอื่นใด    คิดว่า แล้วก็คงจะมีการไปเปิดเว็ปหาข้อมูลเพื่อตรวจสอบหรือหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งก็จะได้รู้จักคำและคำศัพท์ภาษาถิ่นต่างๆเพิ่มขึ้นอีกมากมาย  ซึ่งก็น่าจะทำให้พอจะสรุปกันอย่างคร่าวๆเป็นสมมุติฐานของแต่ละคนได้ว่าอะไรเป็นอะไร      ก็อาจจะทำให้เกิดเป็นกิจกรรมที่ให้ความรู้สึกยินดี มีสุขมากขึ้นในการเดินทางท่องเที่ยวและการพบปะสนทนากับบุคคลต่างถิ่น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 07 พ.ค. 23, 10:53

ตามอ่านมาเรื่อยๆ ด้วยความเพลิดเพลิน    คุณตั้งทำท่าว่าจะจบเสียแล้ว
อยากจะขอให้อธิบายตรงนี้หน่อยค่ะ   ยังไม่เข้าใจ

อ้างถึง
ทั้งหลายทั้งมวลก็เข้าใจอยู่ว่า ประเพณีและวัฒนธรรมนั้น ลักษณะจำเพาะที่เราสัมผัสกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการผสมผสานกัน บ้างก็ในด้านของ assimilation บ้างก็ในด้านของ dissemination
คืออะไรคะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 07 พ.ค. 23, 19:53

ขออภัยเป็นอย่างสูงครับ  เป็นข้อความที่ห้วนและสั้นมากเลยทีเดียว  เรื่องของเรื่องมาจากเหตุว่า ใกล้จะสองทุ่ม เลยเวลา 'ข้าวแลง' (มื้อเย็น)มานานแล้ว  ก็เลยตัดส่วนขยายความที่ดูจะยืดยาวออกไป แล้วก็ใช้ภาษาอังกฤษเข้าไปช่วยขยาย ที่จริงแล้วสาระที่จะกล่าวถึงคือเรื่องของกระบวนทัศน์ (paradigm)

โดยสรุปก็คือจะบอกเล่าว่า  ดังกรณีของไทพวนนั้น มีการตั้งรกรากกระจายอยู่เกือบจะในทุกภาคของประเทศไทยเรา จะยกเว้นก็เฉพาะในภาคใต้ (ไม่รู้ว่า ต่ำไปกว่า อ.ท่ายาง เพชรบุรี แล้วจะยังมีหรือไม่)    ในภาคเหนือ ก็เช่นที่ ทุ่งโฮ้ง จ.แพร่   ในภาคกลางก็เช่นในพื้นที่ อ.วิหารแดง สระบุรี   ในภาคตะวันตกก็เช่นที่ในพื้นที่ อ.บางปลาม้า สุพรรณบุรี, อ.พนมทวน กาญจนบุรี    ในพื้นที่ภาคตะวันออกก็เช่นในพื้นที่ พนมสารคาม ฉะเชิงเทรา    ในอีสานเหนือก็เช่นในพื้นที่อุดรธานีและหนองคาย   

ก็พอจะเห็นว่ามีความความแตกต่างกันมากในเกือบจะทุกด้านจนเกือบจะไม่เหลือความเหมือนกันในด้านใดให้เราเห็น  (ในเรื่องอาหารและวิธีการทำ ในเรื่องการเสื้อผ้าอาภรณ์และการแต่งกาย ....)   

ขอต่อวันพรุ่งนี้ครับ   
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.082 วินาที กับ 19 คำสั่ง