เรือนไทย

General Category => ชั้นเรียนวรรณกรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 เม.ย. 20, 20:12



กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 เม.ย. 20, 20:12
นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของแวดวงวรรณกรรมไทย ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ เจ้าของนามปากกา "พนมเทียน" ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เสียชีวิตลงในวัย ๘๙ ปี

เพชรพระอุมา เป็นนวนิยายที่มีผู้ติดตามยาวนานที่สุดรวมถึงมีความยาวที่สุดในโลก ตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ และหนังสือพิมพ์รายวัน ใช้ระยะเวลาในการประพันธ์ยาว ๒๕ ปี ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๐๗ - ๒๕๓๓ นอกจากนี้ พนมเทียนยังมีงานเขียนที่เป็นที่รู้จักอย่าง ละอองดาว , สกาวเดือน , รัศมีแช , แววมยุรา ซึ่งมีผู้นำมาทำเป็นภาพยนตร์ และละครทางโทรทัศน์

https://www.facebook.com/168635647132/posts/10156842045322133/


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 เม.ย. 20, 20:13
คารวาลัย ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ “พนมเทียน”

๏ ใจจรดกลางฟ้ามืด       รอฝน
จู่ฟาด ณ กมล               อัดเปรี้ยง
ฉัตรชัยหักบัดดล            พับดับ
ใจอกตกดินเกลี้ยง          เกลื่อนก้องปฐพิน ๚

๏ เขาคือฉัตรปักชัย        ท่ามสมัยวรรณศิลป์
“เพชรพระอุมา”ยิน         ระเบิดก้องในวงวรรณ
๏ ศิวาราตรี” สร้าง        งามกระจ่างระบือบรรณ
เรื่องรักอีกร้อยพัน          ละอองสร้อยอีกร้อยดวง
๏ "จุฬาตรีคูณ”รัก         ร้อยสลักหทัยทรวง
วันนี้มาลับร่วง              ร้าวใจอกลงตกดิน
๏ ฟ้ามืดยิ่งมืดอีก          เกินหลบหลีกให้พ้นสิ้น
น้ำตาไหลรินริน             อาลัยลา “พนมเทียน”
๏ ไปดีเถิดพี่ชาย           สู่จุดหมายไม่ผันเปลี่ยน
วรรณศิลป์อันพากเพียร    ย่อมส่งพี่สู่สรวงสวรรค์
๏ สรวงสวรรค์ชั้นกวี       อันเป็นศรี “ฉัตรชัย”สรร
และเป็น “วิเศษสุวรรณ-    ภูมิ”แท้ถ่องทางเทอญ

 ชมัยภร แสงกระจ่าง
 ๒๑ เมษายน ๒๕๖๓


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 เม.ย. 20, 20:15
คารวะ - อาลัย "พนมเทียน"


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 20, 20:38
วันที่ไม่มีม.จ.สดายุ มยุรฤทธิ์

ได้ข่าวการจากไปของคุณพนมเทียน ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ศิลปินแห่งชาติ เมื่อชั่วโมงก่อนนี้เอง
แฟนหนังสือทั่วประเทศคงใจหาย เสียดาย เหมือนเห็นรพินทร์ ไพรวัลย์จากไป หลายคนคงนึกถึงเพลงชุด จุฬาตรีคูณ หลายคนคงจำได้ถึง แววมยุรา ละอองดาว สกาวเดือน
โดยส่วนตัวแล้ว ใจหายเหมือนเห็นม.จ.สดายุ มยุรฤทธิ์จากไป ยังไม่ทันจะรู้ชีวิตบั้นปลายของท่าน

ม.จ.สดายุเป็นใคร?
ม.จ.สดายุเป็นตัวละครชายที่สมบูรณ์แบบที่สุดตัวหนึ่งที่คุณพนมเทียนสร้างขึ้นมา สูงศักดิ์ หล่อเหลา เก่ง ฉลาด คารมคมคายนิสัยดี มีคุณธรรม
ด้วยความครบถ้วนไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง คุณพนมเทียนจึงไม่สร้างท่านชายองค์นี้เป็นพระเอกจนแล้วจนรอด

ท่านชายสดายุปรากฏตัวครั้งแรกในนิยายเรื่อง "มัสยา" เป็นคู่แข่งของพระเอก ลักษณ์ รัตนไพศาล
ต่อมาก็ปรากฏตัวใน "แววมยุรา" เป็นเพื่อนรุ่นพี่ของพระเอก เศรษฐีสยุมภูว์ ทศพล
ถัดจากเรื่องนี้ ท่านชายมาเป็นหลานชายของพระองค์หญิงพราวนภางค์นภดล เสด็จย่าของละอองดาว
แล้วใน สกาวเดือน ท่านชายก็เริ่มเป็นหนุ่มใหญ่ เมตตาสาวน้อยสกาวเดือนเหมือนลูกสาวบุญธรรม

สิบกว่าปีมาแล้ว เคยมีโอกาสสนทนากับคุณพนมเทียน ถามท่านว่าเมื่อไหร่จะให้ท่านชายเป็นพระเอกเสียที
คุณพนมเทียนถูกใจมาก บอกว่า แค่ชื่อเรื่อง "สดายุ มยุรฤทธิ์" ก็ขายได้แล้ว
ดิฉันตอบว่าจริง แค่เห็นชื่อคนก็อยากอ่านกันทั้งประเทศแล้ว

น่าเสียดาย คุณพนมเทียนบอกว่า ท่านชายสมบูรณ์แบบเกินไป ควรเก็บเอาไว้บนหิ้งอย่างนั้น มากกว่าจะเอามาสร้างบทบาทให้เป็นนิยาย
พวกเราแฟนคลับจึงไม่มีโอกาสอ่าน "สดายุ มยุรฤทธิ์" จนแล้วจนรอด

บัดนี้ ท่านชายสดายุก็คงจะรอต้อนรับท่านผู้สร้างชีวิตให้ท่านชาย ณ สวรรค์ชั้นกวีแล้ว

ด้วยความคารวะ และอาลัยยิ่ง

แก้วเก้า/ว.วินิจฉัยกุล


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 20, 20:44
เคยเขียนวิเคราะห์วิจารณ์ "เพชรพระอุมา" ของคุณ "พนมเทียน"ไว้  เมื่อนานมาแล้ว
เห็นสมควรจะนำมาลงในเรือนไทย เพื่อระลึกถึงศิลปินแห่งชาติท่านนี้ ด้วยความคารวะและอาลัย


ที่มาของเรื่อง

ทวีปแอฟริกาในปลายคริสต์ศตวรรธที่ 19 หรือเมื่อประมาณหนึ่งร้อยปีก่อน ได้ชื่อว่า "กาฬทวีป" หรือทวีปดำ เพราะความมืดมนเร้นลับ ทุรกันดาร น่าสะพรึงกลัวสำหรับคนต่างชาติผู้เหยียบย่างเข้าไปเป็นครั้งแรก แต่แอฟริกาก็เป็นแหล่งทรัพยากรอันมีค่าที่สุดในโลก คือเหมืองเพชรที่ยังคงมีสืบต่อมาจนปัจจุบัน มหามงกุฏและเครื่องประดับพระอิสริยยศของกษัตริย์อังกฤษเป็นจำนวนมาก มีที่มาจากเหมืองเพชรแอฟริกานี้เอง โดยเฉพาะในยุคที่มหาอำนาจในยุโรป คืออังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา เริ่มแผ่ขยายอำนาจครอบครองทวีปเอเซีย แอฟริกา และออสเตรเลีย ในยุคการล่าอาณานิคมที่ว่ามา ราชอาณาจักรสยามรอดพ้นจากมหาอำนาจในยุโรปมาได้อย่างหวุดหวิด ด้วยพระบารมีและพระราโชบายอันชาญฉลาดมองการณ์ไกลในพระมหากษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 3 จนถึงรัชการที่ 5

ทวีปแอฟริกาเคราะห์ร้ายกว่า จักรวรรดิอังกฤษในยุค "พระอาทิตย์ไม่เคยตกดินในราชอาณาจักร" แผ่อำนาจเข้าไปครอบงำหลายส่วนของทวีปดำร่วมกับฝรั่งเศสและฮอลันดา ทำให้คนผิวขาวพากันเข้าไปบริหารงานอยู่ในทวีปดำนี้เป็นจำนวนมาก ในฐานะ "นาย" ของคนพื้นเมือง

หนึ่งในจำนวนคนผิวขาวเหล่านี้เป็นชายหนุ่มชื่อ เฮนรี่ ไรเดอร์ แฮกการ์ด มีฐานะเป็นเลขานุการของผู้ว่าราชการแคว้นทรานสวาล ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เข้าได้ท่องเที่ยวไปหลายแห่งในทวีปตั้งแต่ใต้สุดจนเหนือสุด อย่างที่คนร่วมชาติน้อยคนนักจะมีโอกาสเช่นเขา เขาพบทั้งทะเลทรายสุดสายตาในตอนเหนือ ตลอด จนเทือกเขาสูงใหญ่ยาวเหยียดเป็นกำแพงเสียดฟ้า และป่าดงดิบเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์แปลกประหลาดในตอนกลางและตอนใต้ของทวีป อีกทั้งชนพื้นเมืองหลายเผ่าพันธุ์หลายลัทธิศาสนา ทั้งเป็นมิตรและเป็นศตรู

เมื่อแฮกการ์ดกลับไปตั้งถิ่นฐานครอบครัวอยู่ในอังกฤษ ในอีกหลายปีต่อมา เขาพอมีเวลาว่างจากอาชีพทนายความ ก็ได้ลองแต่งนวนิยายขึ้น โดยใช้นามปากกาว่า เอช. ไรเดอร์ แฮกการ์ด อาศัยประสบการณ์จากแอฟริกาบวกกับจินตนาการอันโลดโผนตื่นเต้นสนุกสนาน สร้างนิยายใช้ฉากต่างประเทศอย่างที่คนอังกฤษสมัยนั้นนิยมกันมากขึ้นมาหลายเรื่อง ผลสำเร็จอย่างงดงามทำให้แฮกการ์ดตัดสินใจทิ้งอาชีพนักกฎหมายมาเป็นนักประพันธ์อาชีพเต็มตัว แล้วเขาก็ไม่ผิดหวัง นอกจากจะกลายเป็นเศรษฐีประจำท้องถิ่นที่เขาพำนักอยู่แล้ว ยังมีชื่อเสียงลือเลื่องไปทั่วประเทศ ปั้นปลายชีวิตก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ท่านเซอร์" ไรเดอร์ แฮกการ์ด และเมื่อถึงแก่กรรมไปแล้ว รัฐบาลประเทศแคนาดายังตั้งชื่อภูเขาและธารน้ำแข็งแห่งหนึ่งในประเทศนั้นตามชื่อของเขาไว้เป็นเกียรติอีกด้วย


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 20, 20:44
นับว่ามีวาสนาดีกว่านักประพันธ์ไทยอย่างเทียบกันไม่ได้

ตัวละครมีชื่อเสียงที่สุดที่ เฮนรี่ ไรเดอร์ แฮกการ์ด สร้างขึ้นในจำนวนนิยายมากกว่า 50 เรื่องของเขานั้น มีอยู่ 2 คน คนหนึ่งเป็นสาวงามผู้มีอายุยืนนานกว่าหนึ่งพันปีชื่อ "อาเยชา" เป็นนางพญาครองเผ่าลึกลับแห่งหนึ่งในแอฟริกา เธออาบไฟวิเศษทำให้เป็นสาวไม่รู้จักแก่ รอคอยคนรักที่ตายจากไปนับพันปีแล้วให้มาเกิดใหม่อีกครั้ง นิยายที่เธอปรากฏตัวขึ้นเป็นครั้งแรกมีชื่อสั้นๆว่า She แต่ต่อมาก็กกลับมาปรากฏอยู่ในนิยายอีกหลายเรื่องด้วยกัน คนไทยเมื่อ 60 ปีก่อนรู้จักอาเยชาในนามว่า "สาวสองพันปี" เพราะแปลเป็นนิยายไทยในชื่อนั้น

ส่วนตัวละครโด่งดังตัวที่สอง เป็นชายหนุ่มชาวอังกฤษชื่อ อัลลัน ควอเตอร์เมน เป็นพรานผิวขาวผู้ไป ผจญภัยอยู่ในแอฟริกา รู้ลู่ทาง ชำนิชำนาญในการล่าสัตว์ แกะรอย รู้จักป่าดงพงไพรเร้นลับนั้นทะลุปรุโปร่งราวกับมองฝ่ามือตัวเอง ดังนั้นจึงมีหน้าที่นำทางให้คณะสำรวจ หรือคณะนักเดินทางผิวขาวผู้มีความจำเป็นจะต้องฝ่าฟันความทุรกันดารเหล่านี้ไปจนถึงจุดหมาย ด้วยความที่เขาเป็นที่นิยมของคนอ่านอย่างไม่เบื่อหน่ายเช่นนี้ อัลลัน ควอเตอร์เมนก็เลยถูกผู้เขียนดึงออกมาผจญภัยในนิยายเรื่องแล้วเรื่องเล่า ไม่เป็นอันได้หยุดพักผ่อนกับเขาสักที

ในตอนหนึ่งของการผจญภัย กล่าวถึงชายชาวอังกฤษผู้หนึ่งเดินทางสาบสูญไปในดินแดนแอฟริกา ทำให้เพื่อนฝูงและภรรยาสาวของเขาเกิดความวิตกกังวลมาก จึงรวบรวมกันเป็นกลุ่ม ออกเดินทางติดตามค้นหา โดยจ้างอัลลัน ควอเตอร์เมนเป็นผู้นำทาง

จุดหมายปลายทางคือไปสู่เทือกเขาลึกลับที่ไม่มีใครไปถึงมาก่อน เรียกกันว่า "ถันพระนางชีบา" อันเป็นแหล่งซ่อนขุมเพชรมูลค่ามหาศาล เป็นสมบัติตกทอดมาหลายพันปี ของมหาราชผู้มีชื่อเสียงอยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิลยุคโบราณ ทรงพระนามว่า พระเจ้าโซโลมอน กษัตริย์องค์นี้ได้ชื่อว่ามีสมบัติในท้องพระคลังอย่างมหาศาล (จนกลายเป็นคำเปรียบในภาษาอังกฤษว่า as rish as King Solomon หรือร่ำรวยราวกับพระเจ้าโซโลมอน ) พระองค์ทรงเป็นพระสวามีของพระราชินีผิวดำแห่งแอฟริกาคือ พระนางชีบาองค์นี้เอง และที่เล่าลือกันมาก็คือมีชนเผ่าพื้นเมืองเผ่าหนึ่งเป็นผู้รักษาปากทางเข้าเทือกเขาและขุมเพชรแห่งนี้ จะทำหน้าที่เข่นฆ่าคนทุกคนที่ล่วงล้ำเข้าไป

เมื่อจะออกเดินทาง คณะนักผจญภัยได้รับลูกหาบเป็นชายหนุ่มชาวแอฟริกันผิวดำร่างใหญ่ผู้หนึ่ง เดินทางไปรับใช้ด้วยตามทาง หลังจากผจญภัยพบสิงสาราสัตว์และภัยธรรมชาติต่างๆก็มาถึงจุดหมายได้ในที่สุด จึงพบว่าคนใช้หนุ่มของคณะนี้แท้จริงคือลูกชายของหัวหน้าเผ่าคนก่อน ที่ถูกหมอผีประจำเผ่าทรยศฆ่าตายแล้วขึ้นครองอำนาจแทน ตัวลูกชายหนีรอดไปได้ ในที่สุดก็เดินทางกลับมาแก้แค้นแทนพ่อ ชิงตำแหน่งหัวหน้าเผ่าคืนมา แล้วอนุญาตให้กลุ่มนักเดินทางเดินกลับไปได้ ขุมเพชรนั้นก็ยังคงอยู่เป็นตำนานเช่นเดิมไม่มีใครไปแตะต้อง

การผจญภัยตอนนี้ อยู่ในนิยายชื่อ King Solomon's Mines


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 20, 20:45
พระนามของพระเจ้าโซโลมอนเป็นการออกเสียงแบบฝรั่ง ถ้าออกเสียงแบบตะวันออก คนไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน ออกเสียงเรียกว่า "สุไลมาน" หรือ "สุลีมาน" ดังนั้นเมื่อภาพยนต์เรื่อง King Solomon's Mines มาฉาย ผู้แปลชื่อหนังเป็นพากย์ไทยจึงตั้งชื่อว่า "สมบัติพระสุลี" ก็เลยไปพ้องกับชื่อ พระศุลี หรือ พระอิศวร เทพเจ้าของฮินดู กลายเป็นสมบัติเทพเจ้าแห่งชมพูทวีปไป

เมื่อกล่าวมาอย่างยาวเหยียดจนถึงตอนนี้แล้ว ท่านผู้อ่านที่ทนอ่านมาจนจบก็คงจะถึงบางอ้อ เสียทีว่า มันเกี่ยวกับหัวข้อเรื่องที่ตรงไหน

ทั้งนี้ต้องขอบอกจุดประสงค์เสียเลยว่า การเท้าความถึง King Solomon's Mines นี้ไม่ได้ต้องการแสดงว่า เพชรพระอุมา ภาค 1 เป็นงานของฝรั่ง ตรงกันข้าม ข้าพเจ้าต้องการแสดงให้เห็นว่า เรื่องนี้เป็นงานประพันธ์ของคนไทย แม้มีที่มาจากวรรณกรรมอังกฤษ แต่ก็เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ ที่มีฝีมือ มีความจัดเจนทางภาษาและจินตนาการมากที่สุดงานหนึ่งของนวนิยายยอดนิยมของไทย

ในความเห็นของข้าพเจ้าแล้ว เห็นว่า เพชรพระอุมา ภาค 1 เป็นงานที่สร้างยากกว่า King Solomon's Mines และมีลักษณะเฉพาะของตัวเองชัดมาก ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับว่า การที่สถาปนิกไทยใช้กระเบื้องมุงหลังคาและเสาปูนของฝรั่ง ตลอดจนหน้าต่างกระจกติดเครื่องปรับอากาศ มาสร้างบ้านไทย ก็หาได้ทำให้บ้านไทยนั้นกลายเป็นบ้านฝรั่งไปไม่ และยิ่งเมื่อใช้พื้นไม้สัก ฝาปะกน ฝาเฟี้ยมแบบไทย มีประตูที่มีธรณีประตูสูง มีหย่อง หรือแผ่นไม้สลักใต้หน้าต่าง มีคันทวยสลักค้ำชายคา นอกชานตั้งเขามอ และไม้ดัดตลอดจนอ่างปลาเงินปลาทอง มันก็กลายเป็นบ้านไทยประยุกต์ที่คนไทยคุ้นตากันนั่นเอง

เมื่อได้อ่าน เพชรพระอุมา ภาค 1 ครั้งแรก ในบทแรกๆ ข้าพเจ้าไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอยากจะเดาตอนต่อไปว่าเป็นอย่างไร เพราะพอจะเดาตอนจบได้ แต่ที่กลับตาลปัตรก็คือ เมื่อได้อ่านตอนต่อๆไปก็กลับตื่นเต้นขึ้นทุกขณะ และก็หมดความสนใจว่าตอนจบของเรื่องจะจบลงแบบไหนอย่างไร เพราะความสนใจไปอยู่ที่แต่ละขั้นแต่ละตอนเสียแล้ว ข้อนี้จะต้องยกให้เป็นฝีมือของพนมเทียน ในการบรรจงสลักรายละเอียด ประดับประดาทุกขั้นตอนของเนื้อเรื่องอย่างมีชีวิตชีวา

การเดินทางของคณะม.ร.ว. เชษฐา จากหุบเขาและดงอีกแห่งหนึ่ง จากสัตว์ร้ายชนิดหนึ่งไปสู่สัตว์ร้ายอีกชนิดหนึ่ง จากความเร้นลับประเภทหนึ่งไปสู่อีกประเภทหนึ่ง ล้วนมีสีสันและเสน่ห์จับใจอยู่ในตัวของมัน โดยไม่ต้องพะวงว่าเมื่อไหร่จะถึงมรกตนคร หรือถ้าหากว่าจะไม่มีวันถึงเลยในชาตินี้ก็ไม่น่าจะเสียดายนัก เพราะพนมเทียนได้ทำอย่างที่นักประพันธ์น้อยคนทำได้ คือพาคนอ่านเดินดุ่มตามไปด้วยทุกก้าว ไม่ว่าจะขึ้นเขาลงเหวหรือแวะพักแรมที่ท้องธารห้วยละหานไหน คนอ่านจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นหนึ่งในคณะเดินทาง มีความผูกพันฉันมิตรกันแน่นแฟ้นกับทุกคน ตอนไหนพวกเขาตกอยู่ในอันตรายเราก็ตกอยู่กับเขาด้วย เขารอดตาย เราก็รอดตายอย่างน่าใจหายใจคว่ำไปด้วย เขาจะอดอยาก หรืออิ่มหนำ จะสุขหรือทุกข์ จะรักหรือจะโศก เราก็ร่วมอยู่ในอารมณ์เดียวกัน ไม่ได้แปลกแยกออกไป การเดินทางนั้นจึงมีรสชาติครบถ้วนอยู่ในตัวของมัน แทบไม่ต้องสนใจด้วยซ้ำว่าจะถึงจุดหมายปลายทางเมื่อไร


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 20, 20:46
ตัวละคร
นับว่าไม่ใช่ของง่าย ที่พนมเทียนสร้างตัวละครเอกมาประชันกันถึง 6 คน และตัวละครรองที่เสริมบทบาทอย่างสม่ำเสมออีก 6 คนจนตลอดเรื่องของภาคแรก และยากมากขึ้นเมื่อต้องกำหนดบุคลิกลักษณะ นิสัยใจคอ วิธีการพูดจา ตลอดจนคุณสมบัติเฉพาะตัวไม่ให้ซ้ำกัน ชนิดที่ว่าอ่านแค่บทสนทนาก็รู้แล้วว่าใครเป็นคนพูด โดยไม่ต้องบอกชื่อ ซ้ำตัวละครเอกเหล่านั้นต่างก็สามารถสำแดงความโดดเด่นของตนออกมาได้อย่างเด่นชัด ต่างคนต่างมีความน่าประทับใจกันไปคนละแบบ ไม่มีใครถูกพระเอกนางเอกของเรื่องบดบังรัศมีให้กลืนหายไปในฉากหลัง

คนอ่านหลายคนอาจรู้สึกว่า ถ้าหากพบหน้าก็จะยกมือไหว้เชษฐาด้วยความนับถือความเป็นสุภาพบุรุษในเนื้อแท้ และความเป็นเชื้อสายราชตระกูลที่ควรแก่การยกย่อง แต่จะเอื้อมมือไปเขย่ามือกับไชยันต์ด้วยความพอใจถูกอัธยาศัย หรือก้มศีรษะให้รพินทร์ด้วยความชื่นชมและรักสนิทใจในความเป็นลูกผู้ชายแท้ แต่เมื่อเหลียวไปมองความสงบเสงี่ยมซ่อนคมของแงซาย ก็น่าส่งยิ้มทักทายด้วยความเอ็นดูและคร้ามเกรงไปพร้อมๆกัน ส่วน ดารินนั้น ย่อมเป็นที่รักของคนอ่านชายและหญิงได้สองเพศ ในขณะที่มาเรีย "แม่ตาสีดอกผักตบ" "เจ้าแม่ประโลมโลกย์" อาจจะทำให้หนุ่มหลายคนคึกคักขึ้นมาทันตาเห็นแม้เพียงแค่สบตาแวบเดียว

การสร้างตัวละครแต่ละคนให้ความสมจริงสมจังออกมาให้เห็น ชนิดเอื้อมมือไปสัมผัสเลือดเนื้อและลมหายใจกันได้เช่นนี้ จะต้องยกให้เป็นความสามารถของพนมเทียนล้วนๆ ไม่ต้องแบ่งปันให้แฮกการ์ด โดยเฉพาะเมื่อคิดว่าตัวละครเหล่านี้เป็นแบบที่นักวรรณคดีเรียกว่า flat characters หรือน้อยลักษณะ คือมีนิสัยหรืออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเด่นออกมาอย่างเดียว แต่เมื่อสามารถสร้างได้มีชีวิตชีวาเต็มไปด้วยเสน่ห์ดึงดูดใจคนอ่านตลอดความยาวเหยียดหลายสิบเล่ม ดูๆไปจะยากกว่าสร้างตัวละครที่ซับซ้อนในแง่หลากหลายอารมณ์ในหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มเดียวจบเสียอีก

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวละครเหล่านี้ดูสมจริง ทั้งที่เป็น flat characters อยู่ที่ความพิถีของพนมเทียน ที่เกือบจะไม่ยอมให้ตัวละครทำอะไรที่ออกนอกกรอบลักษณะนิสัยหรือบุคลิกของตน จนกระทั่งดูไม่น่าเชื่อ หรือผิดไปจากที่ควรเป็น เช่นดาริน ต่อให้อยู่ในห้วงรักมากแค่ไหน ก็ยังมีศักดิ์ศรีเป็นตัวของตัวเองอยู่เสมอ มาเรียแม้ว่ามีนิสัยเจ้าชู้ เห็นผู้ชายเป็นดอกหญ้าริมทางให้เด็ดไปเรื่อยๆ ก็ละเว้นเชษฐาไว้ด้วยความนับถือยำเกรง เชษฐาเองก็ไม่มีท่าทีว่าจะสนใจมาเรียในแง่นี้ ดังนั้นเหยื่อของมาเรียจึงกลายเป็นไชยยันต์ ผู้ใจอ่อนและซื่อกว่าคนอื่น ส่วนแงซายนั้นรู้กำเนิดสูงส่งของตัวเองดี สามารถปลีกตัวจากมาเรียไปได้อย่างสวยงาม ผิดกับรพินทร์ซึ่งเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดา ผู้หญิงมาเสนอจนถึงที่แล้วก็ต้องสนองไปเพื่อให้หมดปัญหา


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 20, 20:47
ภาษา
ความสามารถข้อที่สองของพนมเทียนที่เห็นแจ่มชัดมาก คือฝีมือการใช้ภาษาและการเก็บรายละเอียดของสิ่งที่ผ่านสายตา นับเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างยิ่งของผู้ยึดอาชีพการประพันธ์

พนมเทียนมีข้อนี้มากมายจนเรียกได้ว่าเหลือเฟือ จึงสามารถสลักเสลาฉากแต่ละฉาก ทั้งทิวทัศน์ ช่วงเวลา สภาพแวดล้อม ตลอดจนเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ออกมาอย่างแนบเนียน ได้ภาพชัดเจนแจ่มใส ไม่ใช่เฉพาะฉากป่าซึ่งเราอาจจะรู้สึกว่ามีต้นแบบมาจากของจริงเท่านั้น แม้ภาพที่ไม่เคยเกิดและไม่มีวันเกิดขึ้นได้ในโลก พนมเทียนก็สร้างออกมาด้วยรายละเอียดสมจริงไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นภาพเจ้างูยักษ์ออกอาละวาดที่หล่มช้าง นิทรานครที่ถล่มจมดินลงไปด้วยอำนาจของพ่อมดร้ายมันตรัย ดินแดนหลงสำรวจในยุคโลกล้านปี ไปจนถึงเทือกเขาและทุ่งราบชายแดนมรกต

รายละเอียดเหล่านี้ ถ้าเทียบกับงานศิลปะ จะเห็นได้ว่าพนมเทียนเป็นผู้พิถีพิถันทั้งในด้านรูปทรง สีสัน แสงและเงา ตลอดจนความเคลื่อนไหวที่แปรเปลี่ยนไม่หยุดนิ่ง มีแม้กระทั่งเสียง ด้วยการเลือกใช้ถ้อยคำอย่างวิจิตรบรรจง มีกลิ่นอายของวรรณคดีอยู่ในภาษาที่ใช้ เหมือนกับการแกะสลักลายซ้อนลงไปทีละชั้นจนเป็นหลายชั้นลึกละเอียด ไม่ใช่เพียงแต่ร่างคร่าวๆ พอให้เป็นรูปขึ้นมาเท่านั้น

เพื่อให้เห็นภาพ จะขอยกตัวอย่างจากบางตอนมาดังนี้
ถ้าหากว่าขอให้ใครสักคนเขียนบรรยายเหตุการณ์การเข้าไปอยู่กลางป่าเวลากลางคืน แล้วเกิดพายุฝนขึ้นมา ดูน่ากลัวมาก เขาก็อาจจะบรรยายว่า
"พายุพัดแรงมาก ต้นไม้ใหญ่สะเทือนรุนแรงไปหมดทั้งป่า จนป่ามืดมิดน่ากลัว แล้วฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก"

แต่พนมเทียนใช้คำดังนี้
ฝนฟ้ายิ่งทวีความแรงกล้าขึ้นทุกขณะ เสียงไม้ใหญ่หักล้มอยู่โครมครืน ระคนไปกับสายอสุนีบาต ทุกครั้งที่ฟ้าแลบ มองเห็นป่าลู่ระเนนไปด้วยอำนาจพายุกลางสายฝนอันหนาทึบ แล้วก็ดับวูบ ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างให้มืดทะมึนอยู่ในเหวนรกต่อไป
(ตอน ไพรมหากาฬ)


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 20, 20:47
คำบรรยายนี้มีทั้งลักษณะของป่ากลางพายุฝน(รูปทรง) ความมืดของป่าสลับกับสายฟ้าแลบและสายฝน(แสงและสีและเงา) ป่าลู่ระเนนด้วยแรงพายุ(การเคลื่อนไหว) และไม้ใหญ่หักล้มโครมครืน(เสียง)

อีกตอนหนึ่งเป็นภาพจากจินตนาการล้วนๆ ไม่ใช่ภาพจำลองจากธรรมชาติที่เคยพบเห็นอย่างในตัวอย่างนี้ แต่ก็มีครบทุกลักษณะเช่นกัน

พร้อมกับเสียงกัมปนาทของนัดที่สอง เหมือนกับเพิ่มฤทธ์ร้ายแก่เจ้างูมหายักษ์ตัวนั้นขึ้นอีก มันสะบัดดิ้นสุดแรงเกิดฟาดพงไม้และแผ่นดินเหมือนพายุทอร์นาโด ปากอันใหญ่โตอ้ากว้างมองเห็นแดงฉาน เลือดทะลักฟูมเต็มหัว ไม่มีปัญหา... นัดแรกของเขา เจาะนัยน์ตาซ้ายของมันอย่างถนัดถนี่ที่สุด หมุนคว้างส่ายร่าอยู่ไปมา ส่งเสียงขู่สนั่นราวกับหัวรถจักรไอน้ำอยู่เช่นนั้นท่อนหางวาดขึ้นไปรัดพันกับต้นยางไว้ ท่อนกลางของลำตัวโก่งงอโค้งเป็นวงขึ้นไปในอากาศสูงกว่ายอดตะแบก แล้วก็ฟาดลงมาแตะดินอีกครั้ง กระทบยอดตะแบกหักครืนแหลกยับลงมาทั้งกิ่งอย่างน่ากลัว
(ตอน ดงมรณะ เล่มที่ 4 หน้า 713)
เจ้างูยักษ์ตัวนี้มีความยาวเท่าขบวนรถไฟ เป็นสัตว์ในจินตนาการล้วนๆ หาของจริงมาเป็นแบบไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่ง่ายเลย เมื่อต้องสร้างภาพเหตุการณ์ขณะกำลังอาละวาด แต่พนมเทียนก็สามารถที่จะสร้างทั้งภาพ สีสัน เสียง การเคลื่อนไหว การเปรียบเทียบกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เห็นฤทธิ์เดชของมันชัดเจน โดยไม่มีของจริงให้จำลองออกมา
 
คนอ่านเห็นทั้งสัดส่วนความใหญ่ของมัน เมื่อหางรัดพันต้นยาง และท่อนกลางโก่งสูงกว่าตะแบก(รูปทรง) เลือดทะลักฟูมหัว(สี) หมุนคว้างส่ายร่าและท่อนกลางลำตัวโก่งโค้งเป็นวงขึ้นไปในอากาศ ฟาดลงมาจนยอดตะแบกหักครืน (การเคลื่อนไหว) ขณะมันเองก็ส่งเสียงขู่สนั่นเหมือนหัวรถจักรไอน้ำ(เสียง) ให้รายละเอียดถี่ถ้วน

ภาษาของพนมเทียนไม่เคยเป็นคำโดดๆ สั้นๆ ห้วนๆ อย่างที่สมัยนี้นิยมกัน ว่าเป็นความเรียบง่าย แต่เป็นภาษาที่อลังการ (ซึ่งสมัยนี้ไม่ค่อยเหลือให้เห็นอีกแล้ว) ประกอบด้วยคำขยาย บอกภาพ ลักษณะ อารมณ์ สีสัน ชัดเจน ดังที่ทำตารางตัวอย่างเทียบไว้ตามนี้


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 20, 20:48
ภาษาธรรมดาทั่วไป ภาษาของพนมเทียน
สีแดง แดงฉาน
แดงก่ำเป็นสีทับทิม
เลือดไหลมาก เลือดไหลทะลักออกมาโกรก
ปืนยิงออกไปดังปัง เสียงปืนกัมปนาทขึ้น
ปืน แผดเสียงสนั่น
ยิงปืน ประทับปืนลั่นกระสุนออกไปอย่างฉับไว
เล็งยิงอย่างประณีต
ใจหาย แสยงวูบไปถึงขั้วหัวใจ
ร้องลั่น ร้องก้องไปทั้งป่า
เทือกเขาสูงมาก เทือกเขาสูงทะยานเยี่ยมฟ้า
สัตว์ขนสีดำ ขนมันระยับราวกับนิล
งูจงอาง มัจจุราชลายลูกหวาย
ควายป่า มหิงษา
ช้างตัวใหญ่ พญาคชสาร
ฯลฯ

การใช้ภาษาเช่นนี้ เพียงแค่สังเกตการเลือกสรรถ้อยคำมาใช้ ก็นับเป็นความเพลิดเพลินสำหรับคนอ่านอยู่แล้วในตัว โดยแทบจะไม่ต้องอ่านต่อถึงเนื้อความด้วยซ้ำไป

เมื่อวิจารณ์มาถึงตอนนี้ ผู้อ่านหลายท่านอาจจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า จะตั้งหน้าตั้งตาชมกันจนไม่มีข้อบกพร่องอะไรบ้างหรือ สำหรับนวนิยายขนาดยักษ์เรื่องนี้ เป็นที่รู้กันว่าไม่มีงานอะไรในโลกที่สมบูรณ์แบบเสียจนไม่มีข้อบกพร่อง แต่การตั้งหน้าตั้งตาแต่จะจับผิดอย่างเดียว หรือชมเชยสรรเสริญเสียจนสุดโต่ง ย่อมไม่นับเป็นการวิจารณ์ แต่ในเมื่อ ส่วนดีของเขามีก็ต้องยกมาให้เห็น ส่วนที่มีความเห็นไปทางอื่น ก็จะค่อยๆลำดับออกมาเป็นอันดับต่อไป     


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 20, 22:40
:'(


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 22 เม.ย. 20, 07:13
ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ


โดยส่วนตัวผมชอบไอ้ลายแห่งบางลางมากที่สุด เคยเช่าหนังสือมาอ่านตอนเรียนปริญญาตรี ทั้งสนุก เห็นภาพชัดเจน และฮาเอามากๆ ถึงขนาดชวนเพื่อนนั่งรถไฟไปยะลากันเลย (แต่ไม่ได้ไป) ได้กลับมาอ่านอีกครั้งเมื่อไม่กี่ปีนี้ ก็ยังสนุกเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน รู้สึกว่าตอนหลังจะรวมเล่มใช้ชื่อจับตายหรือเปล่าจำไม่ได้แล้ว แต่สนุกจริงๆ


พระเอกในท้องเรื่องก็คือคนเขียนนั่นแหละครับ ยังอยู่ในวัยรุ่นเพิ่งหัดล่าเสือครั้งแรก ตอนนั้นมโมให้สร้างหนังแล้วเอาพี่มอส ปฏิภานมาแสดง แต่เพชรพระอุมาผมว่าอย่าสร้างเลย ให้ทำเป็นการ์ตูนหรือมังงะออกไปตีตลาดโลกดีกว่า


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 เม.ย. 20, 09:36
นิยายเรื่องแรกของเด็กสวนกุหลาบ ชั้นมัธยมปลายในนามปากกา "พนมเทียน"  ;D

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑  เด็กนักเรียนสวนกุหลาบ อายุ ๑๗  คนหนึ่ง แต่งนิยายเรื่องจุฬาตรีคูณ  บรรยายไว้เพริศแพร้วว่า

" อดีตกาลอันไกลโพ้น  กระแสแพรวเพริดเลื่อมเงาเงินประกายทองคู่หนึ่ง ไหลเรื่อยคู่ขนานกันมาจากดินแดนอันแสนไกล  และวกใกล้เข้ามาบรรจบกันเป็นวังวนวิไล เงินและทองแซมไสวมิปะปน   แหล่งนั้นบรรเจิดวิจิตรชวนฉงนเป็นยิ่งนัก   คราใดเมื่อรัตติกาลไร้เดือน ก็ดูราวกับจะยิ่งเตือนให้งดงามเป็นทวีคูณ   ด้วยว่าจะเห็นเป็นหัตถ์อสูรสอดศิลาเศวตมาทาบไว้กับฟ้าอินทนิล  รวมกันเป็นสามกระแสสินธุ์ประเสริฐ   ทิวาคล้อยผ่านรัตติกาลเคลื่อนมาแทนที่   ธารน้ำทั้งสามเมื่อรับกับรัศมีดาวก็ดูประหนึ่งจะสะท้อน ระริกระเริงริ้วเล่นลมดึกอยู่ครึกครื้น   บางครั้งสีเศร้าสลด  สะึอึกรันทดระทม  ดังว่ามีวิญญาณวิปโยคสิงสถิตอยู่   ท่านผู้เจริญ แหล่งประหลาดนี้ มีนามว่า "จุฬาตรีคูณ"

เด็กหนุ่มคนนั้นถือต้นฉบับไปพบนักแต่งเพลงผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคสองคน คือครูเอื้อ สุนทรสนาน และครูแก้ว อัจฉริยะกุล ทั้งสองท่านได้แต่งเพลงประกอบให้ ๕ เพลง  สอดคล้องกับเรื่องอย่างน่าอัศจรรย์ในการเรียบเรียงทั้งเนื้อร้องและทำนอง แล้วนำไปเป็นละครวิทยุทางกรมประชาสัมพันธ์ ชื่อเสียงของ "พนมเทียน" เป็นที่รู้จักกันนับแต่นั้น  แม้ว่าโลกหนังสือจะรู้จักชื่อเสียงท่านจาก "เพชรพระอุมา" มากกว่าก็ตามที  แต่แววของศิลปินแห่งชาติ มีให้เห็นตั้งแต่อายุ ๑๗

๒๔๙๒  ปีต่อมา  จุฬาตรีคูณ กลายเป็นละครเวที และต่อมาก็เป็นภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์อีกหลายครั้ง เพลงในเรื่องนี้ ได้ชื่อว่าเป็นเพลงชุดอมตะชุดหนึ่งของไทย เช่นเดียวกับชุด "ผู้ชนะสิบทิศ"

https://youtu.be/P3yMNFbPS70


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 22 เม.ย. 20, 10:46
           เคยแต่อ่านงานเขียนนิยาย(ค่อนข้างสั้น)เรื่อง จุฬาตรีคูณ ที่เป็นผลงานสมัยนักเรียนของท่าน จำคำนำ
หนังสือได้บ้างประมาณว่า ได้แรงใจจากล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ที่คุณพนมเทียนเคารพนับถือ ส่วนเพชรพระอุมานั้น
ยาวเกินสามารถ
          นิยายรักอย่าง ละอองดาว สกาวเดือน รัศมีแข ฯ ก็ไม่ได้อ่านแต่ได้รู้จักผ่านทางหนังละครที่รีเมคหลายรอบ
จนถึงยุคปัจจุบัน

อ้างถึง
แต่เพชรพระอุมาผมว่าอย่าสร้างเลย ให้ทำเป็นการ์ตูนหรือมังงะออกไปตีตลาดโลกดีกว่า

          นอกจากความเป็นตำนานแห่งนิยายอมตะที่มีความยาวที่สุดในโลก มีแฟนานุแฟนหรือสาวกติดตามมากมาย
ต่อเนื่องตราบจนทุกวันนี้ยังเป็นที่กล่าวถึงแล้ว
          ตำนานยาวนานของความพยายามในการหยิบมาสร้างให้เป็นภาพก็ยังคงมีหลายคนรอลุ้นกันต่อไปอย่าง
ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้สมหวังหรือไม่
         ไม่ว่าจะเป็นภาพทางจอแก้วที่วิกหมอชิตได้ลิขสิทธิ์มานานแต่ยังไม่ลงมือจนต้องต่อลิขสิทธิ์ใหม่เพราะ
ความที่เป็นงานระดับยักษ์มีแฟนานุแฟนจับจ้องจนเกร็ง จนกระทั่งเมื่อต้นปีที่แล้วมีข่าวว่าจะสร้าง แต่ตอนนี้
ยังไม่เห็นข่าวความคืบหน้า
          ส่วนภาพทางจอเงิน เคยเป็นข่าวมานานมากแล้วว่าท่าน Cinephile ดำริจะสร้างจนมีกระทู้เพชรพระอุมา
แคสติ้งคึกคักในพันทิปอยู่พักใหญ่แล้วก็ซาไป
         ไม่แน่ว่า ในที่สุดแล้วนิยายระดับตำนานขึ้นหิ้งนี้อาจจะคงอยู่บนหิ้งต่อไปโดยไม่ได้ถูกนำมาถ่ายทอดเป็น
ภาพผ่านสื่อ หรืออาจจะต้องรออีกนานต่อไป,ไม่รู้ว่าเมื่อไร
          ตอนนี้แฟนานุแฟนจึงมีเพียงภาพเพชรพระอุมาตามจินตนาการส่วนตนของแต่ละบุคคล
          ส่วนภาพเพชรพระอุมาจากหนังปี 2514 นั้น ใครที่ทันได้ชมคงยินดีที่กาลเวลาได้ทำหน้าที่เลือนภาพจำนั้นไปแล้ว


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 20, 13:04
การวางตัวแสดง เพชรพระอุมา  ที่ยังทำให้แฟนคลับฝันค้างอยู่
https://picpost.mthai.com/view/6565


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 20, 13:08
เพชรพระอุมา เคยสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปี 2514   ผู้รับบทรพินทร์ ไพรวัลย์ พระเอกของเรื่อง ไม่ใช่ดารา แต่เป็นผู้อำนวยการสร้างเรื่องนี้ ชื่อวิทยา เวสสวัฒน์  รับบทแสดงนำเอง


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 20, 13:17
รพืนทร์ ไพรวัลย์คนใหม่ที่ท่าน Cinephile วางตัวไว้เมื่อปี 2550  ชื่อชลัฏ ณ สงขลา


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 เม.ย. 20, 13:35
เพชรพระอุมา เคยสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปี 2514   ผู้รับบทรพินทร์ ไพรวัลย์ พระเอกของเรื่อง ไม่ใช่ดารา แต่เป็นผู้อำนวยการสร้างเรื่องนี้ ชื่อวิทยา เวสสวัฒน์  รับบทแสดงนำเอง

ผู้อำนวยการสร้างตั้งชื่อตัวเองในฐานะนักแสดงว่า รพินทร์ ไพรวัลย์  ประหยัดค่าจ้างผู้แสดงนำได้อีกโข  ;D


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 20, 13:45
เพชรพระอุมา ปี 2514  มีดาราอาชีพรับบทสำคัญกันทั้ง 3 คนคืออดุลย์ ดุลยรัตน์ รับบท ม.ร.ว. เชษฐา วราฤทธิ์
ประจวบ ฤกษ์ยามดี รับบท ไชยยันต์ อนันตรัย
ชนะ ศรีอุบล รับบท แงซาย
ดาราทั้งสามท่านนี้ล่วงลับไปหมดแล้ว


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 เม.ย. 20, 18:43
เพชรพระอุมา : The Next Generation  ;D

ในห้องนี้เห็นมีแฟนเพชรพระอุมาเข้ามาเยือนกันหลายคน   เลยขอตั้งกระทู้นี้ให้มาคุยอะไรก็ได้ค่ะ เกี่ยวกับนิยายเรื่องโปรดของพวกเรา

ขอเริ่มด้วยทางตัวเองก่อน
เคยวาดภาพว่า ถ้ารพินทร์ ไพรวัลย์ ดาริน เชษฐา อนุชา ไชยยันต์ มาเรีย พรานลูกหาบ  แงซายยังอยู่มาจนถึงวันนี้  พวกเขาจะทำอะไร  เป็นยังไง

รพินทร์คงอยู่ที่หนองน้ำแห้งกับดาริน   ที่นั่นกลายเป็นเขตวนอุทยาน อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า  เจ้าด้วนน่าจะยังอยู่หรือถ้าตายก็คงมีลูกมาแทนตัว
บ้านป่าของรพินทร์คงมีโขลงช้างประจำบ้าน  เท่กว่ามีร็อตไวเลอร์
รพินทร์น่าจะมีลูกชายสักคนที่เก่งเหมือนพ่อ   น่าเสียดายถ้าหากว่าเขาไม่มีทายาทจะสืบเชื้อสายจอมพราน  เพราะฉะนั้นยังไงก็ต้องมี   อาจจะมีลูกสาวอีกสักคนที่สวยและเก่งเหมือนแม่   สองคนนี่ต้องเรียนเมืองนอก  หลายประเทศด้วย  
พระเอกนางเอกของคุณพนมเทียนมักจะจบมหาวิทยาลัยอังกฤษ ฝรั่งเศสหรือเยอรมัน มากกว่ามหาวิทยาลัยเมืองไทย
อาจจะเป็นได้ว่าลูกชายรพินทร์ เรียนเก่ง รู้หมดเกือบทุกสาขา   แต่ไม่จบ  นิสัยเฮี้ยว หัวแข็ง ดื้อดึง มีทิฐิเหมือนพ่อ   อยู่ในเมืองหลวงไม่ได้เพราะทนระบบอะไรหลายๆอย่างไม่ได้
(ถ้าเรียนจบ เดี๋ยวแกจะเข้ารับราชการ เป็นนักวิชาการ ดร. หรือผู้เชี่ยวชาญไป  ไม่มาอยู่หนองน้ำแห้ง)

เชษฐากับอนุชาน่าจะยังเป็นโสดนะคะ    ดูรูปการณ์ถูกวางเอาไว้ให้เป็นเจ้าของวังกันโดดเดี่ยวมาแต่แรก  หานางเอกไม่ได้เลยทั้ง ๓ ภาค ก็คงจะหาไม่ได้ต่อไป

ไชยยันต์มีลูกชายกับมาเรีย  เจ้าหนูไพรวัลย์คนนี้ต่อไปคงจะมาคลุกคลีกับลูกของรพินทร์  ท่าทางจะหล่อเหมือนวิลลี่  เพราะเป็นลูกครึ่งตรงตามสมัยนิยม

แงซายต้องมีลูกชายแน่ ไม่งั้นบัลลังก์เทพหมดรัชทายาทสืบต่อ   แต่ลูกชายจะเรียนศิลปวิทยาการอยู่ที่มรกตนครอย่างเดียวคงไม่พอ  เสด็จพ่อคงจะเนรมิตลูกแก้วเป็น IE หรือ Netscape  ให้องค์ชายได้เล่นเน็ต  เรียนรู้ความเป็นไปในโลกภายนอกให้ทันยุคทันสมัย
เผลอๆลูกชายแงซายก็คงจะแวบมาชกกับลูกชายรพินทร์เป็นครั้งคราว  สืบทอดความเป็นเสือสองตัวในถ้ำเดียวกัน
ถ้าจะให้ดีแงซายน่าจะมีลูกสาวอีกสักคน  สวยเหมือนเมยานี    เผื่อลูกชายรพินทร์บุกป่าฝ่าดงไปพบ  จะได้ปิ๊งกันบ้าง

ตาบุญคำ คงยังอยู่ที่หนองน้ำแห้ง แก่ชราแต่ยังสวมดีหมีหัวใจเสือ   หนานอินอาจจะตายไปแล้ว  เกิด เส่ย และจัน กลายเป็นชายวัยกลางคนมีลูกชายคนละหนึ่ง เหมือนพ่อ ติดสอยห้อยตามลูกชายจอมพราน  คะหยิ่นแก่ชราปลดเกษียณแต่มีหลานชายลูกเจ้ามุกับนางอั้ว มาเป็นตัวแทนความมุทะลุของปู่  แล้วมาเป็นลูกน้องมือขวาของลูกชายรพินทร์

ยิ่งเขียนก็ยิ่งคิดถึง...


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 20, 18:47
ไม่มีโอกาสจะรู้ชีวิตหนุ่มสาว ลูกๆของตัวละครเอกในเพชรพระอุมาอีกแล้ว


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 เม.ย. 20, 07:47
มงกุฎวรรณกรรม

๏ ฉัตรชัย ชัยประโชติน้อม   พนมเทียน
   วิเศษ สุวรรณศิลป์เสถียร  สถิตแล้ว
สุวรรณ วิจิตรผจงเจียน    ใจสลัก
              ภูมิ อักษราวุธแกล้ว        มกุฎแก้วผกายสมัย

๏ พนมเทียน พนมธรรม
พนมคารวาลัย
ฉัตรชีพคือฉัตรชัย
มกุฎแก้วแห่งวรรณกรรม
๏ วิเศษศักดิ์สุวรรณศิลป์
สุวรรณภูมิคือภูมิธรรม
สร้อยอักษราคำ
จำหลักแล้วนิรันดร
๏ ประทับไว้ ณ ใจชน
บนบัลลังก์แห่งอักษร
พนมทิพยาภรณ์
ต่างพานพนม "พนมเทียน" ๚ะ๛

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
อังคาร ๒๑ เมษายน ๒๕๖๓


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 20, 14:07
Chamaiporn Bangkombang
21 เมษายน เวลา 15:33 น. ·

คารวาลัย ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ “พนมเทียน”

ใจจรดกลางฟ้ามืด.........รอฝน

จู่ฟาด ณ กมล.... ........อัดเปรี้ยง

ฉัตรชัยหักบัดดล............พับดับ

ใจอกตกดินเกลี้ยง..........เกลื่อนก้องปฐพิน

.........เขาคือฉัตรปักชัย............ท่ามสมัยวรรณศิลป์
“เพชรพระอุมา”ยิน...................ระเบิดก้องในวงวรรณ
ศิวาราตรี” สร้าง.......................งามกระจ่างระบือบรรณ
เรื่องรักอีกร้อยพัน....................ละอองสร้อยอีกร้อยดวง
"จุฬาตรีคูณ”รัก........................ร้อยสลักหทัยทรวง
วันนี้มาลับร่วง..........................ร้าวใจอกลงตกดิน
ฟ้ามืดยิ่งมืดอีก.........................เกินหลบหลีกให้พ้นสิ้น
น้ำตาไหลรินริน........................อาลัยลา “พนมเทียน”
ไปดีเถิดพี่ชาย......................... สู่จุดหมายไม่ผันเปลี่ยน
วรรณศิลป์อันพากเพียร............. ย่อมส่งพี่สู่สรวงสวรรค์
สรวงสวรรค์ชั้นกวี......................อันเป็นศรี “ฉัตรชัย”สรร
และเป็น “วิเศษสุวรรณ-..............ภูมิ”แท้ถ่องทางเทอญ

ชมัยภร แสงกระจ่าง
๒๑ เมษายน ๒๕๖๓


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 20, 21:02
คารวะอาลัย "พนมเทียน" ๐-
 
    ฉัตรชัย  ฉัตรช่อชั้น   วรรณกรรม
วิเศษ  เสกสารคำ   ค่าแก้ว
สุวรรณ  สว่างผ่องผกายนำ   นับเนิ่น นานเฮย
ภูมิ  พิสิฐวรรณศิลป์แพร้ว   พร่างฟ้ากาลสมัย ฯ
 
     เพชร  ใดกว่าเพชรแก้ว   ปลาบประกาย
พระ  อุมามาฉาย   ปิ่นฟ้า
อุ  โฆษเอกอุพราย   ระบือเกียรติ ก้องเฮย
มา  ประจักษ์เจิมใจหล้า   แหล่งพื้นพิภพบรรณ ฯ
 
     พนม  จิตสรรค์สื่อน้อม   นอบใจ
เทียน  ต่อเทียนวรรณไสว   สว่างล้ำ
พนม  จิตทอดหทัย   คารวะ วางเอย
เทียน  อมตะสว่างย้ำ   ยิ่งแท้พนมเทียน ฯ
:
.
- Black Sword -
(หมู มยุรธุชบูรพา)

http://www.homelittlegirl.com/index.php?topic=12704


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 เม.ย. 20, 10:08
จริงหรือที่ พนมเทียน คือ รพินทร์ ไพรวัลย์ ไขเบื้องหลัง เพชรพระอุมา

ในผลงานทั้งหมดของ พนมเทียน หรือ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ (พ.ศ. ๒๔๗๔ - ๒๕๖๓) หนังสือ เพชรพระอุมา ถือได้ว่าเป็นนวนิยายสร้างชื่อ เป็นผลงานสุดคลาสสิกหมวดท่องไพร การผจญภัย และเป็นเหมือนลายเซ็นเมื่อเอ่ยถึงนามปากกา พนมเทียน

คำกล่าวที่ว่า เพชรพระอุมา คือ พนมเทียน นั้นไม่ได้เป็นคำกล่าวที่เกินจริงเลย เพราะอมตะนิยายผจญภัยเรื่อง เพชรพระอุมา นั้นได้รวบรวมประสบการณ์ชีวิต ความเชื่อ ความรู้ต่าง ๆ ของฉัตรชัยตั้งแต่วัยเยาว์ ทั้งเรื่องการเดินป่า การดำรงชีพในป่า การล่าสัตว์ ธรรมชาตินิสัยของสัตว์ป่า ไสยศาสตร์ เวทมนตร์ และกฎแห่งกรรม ขมวดมาอยู่ในเรื่องนี้ทั้งหมด

ฉัตรชัย ผู้ซึ่งจากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๓ ในวัย ๘๙ ปี ด้วยโรคประจำตัวคือโรคหัวใจ เคยเขียนไว้ในหนังสือ “อินไซด์เพชรพระอุมา ภาค ๑” ว่า

“ผมเคยเจ็บหนักเกือบตายเพราะโรคหัวใจระหว่างเขียนเรื่องนี้มาได้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ก็ได้ภาวนาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายว่าจะเลิกทำบาปกรรม เลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และขอให้อยู่ต่อไปเพียงเพื่อให้เขียนเรื่องนี้ได้จบสิ้นสมบูรณ์ แล้วจะตายก็ไม่ว่า แต่ขออย่าให้ตายระหว่างที่ยังเขียนเรื่องค้างเติ่งอยู่เลย”

เขาใช้เวลาเขียนเรื่อง เพชรพระอุมา เป็นเวลาเกือบ ๒๖ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗ จนถึง พ.ศ. ๒๕๓๓ นับได้ว่า เพชรพระอุมา เป็นนวนิยายที่ยาวที่สุดเท่าที่เคยตีพิมพ์ในประเทศไทย คือ รวมเล่มเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คทั้งหมดถึง ๔๘ เล่มจนจบบริบูรณ์

เนื้อเรื่องเพชรพระอุมาเกี่ยวกับการเดินทางและการผจญภัยของพรานป่า “รพินทร์ ไพรวัลย์” ที่รับจ้างวานนำทางคณะของ ม.ร.ว. เชษฐา วราฤทธิ์ ในการออกติดตามค้นหาน้องชายคือ ม.ร.ว.อนุชา (พรานชด ประชากร) ผู้สูญหายยังดินแดนลึกลับและเต็มไปด้วยอาถรรพณ์แห่งป่า พร้อมกับเรื่องราวการตามหาขุมทรัพย์เพชรพระอุมาในตำนาน

แม้หลายคนจะอ่าน เพชรพระอุมา ครบทุกภาคทุกตอน ตอนละหลาย ๆ รอบ ทว่าด้วยความสมจริงของทั้งฉาก บทบรรยายถึงพงไพรก็ทำให้ผู้อ่านมีข้อสงสัย ตั้งสมมติฐานในใจเกี่ยวกับเพชรพระอุมามากมาย ขอชวนแฟนนักอ่านมาคลายข้อสงสัยเหล่านี้


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 เม.ย. 20, 10:11
รพินทร์ ไพรวัลย์ คือ พนมเทียน
ฉัตรชัยหรือพนมเทียนนิยมการท่องเที่ยวผจญภัยในป่าตั้งแต่เด็กและมีความเชี่ยวชาญเรื่องปืนอย่างมากเช่นเดียวกับพรานรพินทร์ ตัวละครเอกของเขา ฉัตรชัยยังเป็นคอลัมนิสต์ให้นิตยสารเกี่ยวกับอาวุธปืนและเขียนตำราเรื่องปืนโดยใช้ชื่อและนามสกุลจริง

ถึงแม้จะเป็นพรานที่เก่งกาจ แต่จุดอ่อนของรพินทร์คือโรคไข้จับสั่นหรือมาลาเรีย เมื่อใดที่อาการกำเริบ เมื่อนั้นรพินทร์หมดสภาพที่จะปกป้องใครได้ และในภาค ๒ ของ เพชรพระอุมา เขามีอาการโรคหัวใจเข้ามาแทรกซ้อนอีกซึ่งทั้ง ๒ โรคและอาการที่รพินทร์เป็นในเรื่องล้วนเป็นโรคที่ฉัตรชัยเผชิญในชีวิตจริง ถึงแม้ผู้เขียนจะหายจากโรคมาลาเรียซึ่งทำให้เขาเกือบตายในป่าหลายครั้งแต่โรคหัวใจต้องรักษาจนวาระสุดท้ายของชีวิต และเพราะโรคหัวใจนี่เองทำให้ฉัตรชัยเลิกการล่าสัตว์อย่างเด็ดขาดด้วยตระหนักถึงเรื่องบาปบุญคุณโทษและกฎแห่งกรรม

หมู่บ้านหนองน้ำแห้ง ที่รพินทร์ ไพรวัลย์ บุกเบิกและสร้างปางพักมีจริงหรือไม่
ฉัตรชัยเคยกล่าวไว้ว่า หมู่บ้านหนองน้ำแห้งมีอยู่จริง แต่ชื่อจริง ๆ คือ “หมู่บ้านหนองแห้ง” และเขาเติมคำว่า “น้ำ” ลงไปในนวนิยาย หมู่บ้านหนองแห้งเป็นหมู่บ้านกลางป่าลึกในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นที่อยู่ของพรานใหญ่พื้นเมืองนาม “หนานไพร” และฉัตรชัยก็ได้นำชื่อครูพรานคนนี้ซึ่งมีตัวตนอยู่จริงมาใส่ในนิยายให้เป็นครูพรานของรพินทร์ ตัวเอกของเรื่อง

ที่มาของชื่อ รพินทร์ ไพรวัลย์
ฉัตรชัยต้องการชื่อตัวเอกที่ฟังแล้วไม่เหี้ยมหาญดุดันเกินไป แถมยังต้องแฝงความอ่อนโยน ซึ่งค่อนข้างขัดกับบุคลิกภายนอกที่ห้าวหาญ และเฉียบขาด ดังนั้นชื่อของท่าน รพินทรนาถ ฐากูร นักปราชญ์ชาวอินเดีย จึงเป็นชื่อที่เขาคิดว่าอ่อนโยนเสนาะหู จึงนำคำว่า รพินทร์ (มาจาก ระพี แปลว่า พระอาทิตย์) มาเป็นชื่อตัวเอก เพราะชื่อเมื่อออกเสียงไม่แข็งกร้าว ทั้งความหมายยังแฝงด้วยความแข็งแกร่ง ส่วนนามสกุล ไพรวัลย์ เพื่อสื่อให้เห็นถึงอาชีพพรานและป่าดงพงไพรซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการผจญภัยครั้งนี้

ลายแทงขุมทรัพย์ เพชรพระอุมา มีที่มาอย่างไร
ในเรื่อง เพชรพระอุมา ฉัตรชัยเขียนถึงลายแทงขุมสมบัติที่ มังมหานรธา แม่ทัพพม่าเมื่อ ๔๐๐ กว่าปีเขียนไว้และได้ตกไปอยู่ในมือของ รพินทร์ ไพรวัลย์ และ รพินทร์ ก็ได้ใช้ลายแทงนี้เป็นเครื่องมือนำทางรับจ้างคณะของ ม.ร.ว. เชษฐา และ ม.ร.ว ดาริน วราฤทธิ์ ในการออกติดตามหา ม.ร.ว.อนุชา (พรานชด ประชากร) ที่หายสาบสูญ โดยกำหนดให้เนินพระจันทร์เป็นตำแหน่งสุดท้ายที่จะนำไปสู่เทือกเขาพระศิวะซึ่งเป็นที่เก็บสมบัติ

การจะเข้าถึงตำแหน่งตามลายแทงกำหนดว่าต้องรอให้ถึงเวลาขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ และจะต้องเห็น “ปิ่นพระศิวะฉายแสงเรืองรองขึ้น” อันจะทำให้เกิดปรากฎการณ์สะท้อนให้เห็นเต้าพระถันทั้งสองข้างของพระอุมาเทวี และหากไต่เขาไปตามร่องถันโดยแยกไปทางถันซีกซ้ายจะทำให้บรรลุถึงถนนของพระศิวะนำไปสู่มหาปราสาทของพระอุมาเทวีที่เก็บ

ถึงแม้ฉัตรชัยไม่ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจเรื่องดินแดนลี้ลับมรกตนคร แต่ในนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๔๗ ในบทความเรื่อง “ตามรอยลายแทงเพชรพระอุมา เพมาโค ดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งทิเบต” โดย สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ได้เขียนถึงเพมาโค (แปลว่า สถานที่แห่งดอกบัว หรือ สถานที่แห่งพุทธะ) ที่ล้อมรอบด้วยเทือกเขาหิมะสลับซับซ้อนและหุบเขาแม่น้ำแซงโป ซึ่งตามลายแทงมองเห็นเป็นร่างของนางวัชรโยคีนี (พระแม่เจ้าสามตาแห่งปัญญาของพุทธนิกายวัชรยานของทิเบต หรือ พระแม่อุมาของศาสนาฮินดู) ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับลายแทงมรกตนครในเรื่อง เพชรพระอุมา

ตำนานเพมาโคเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชนชาวทิเบต ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ว่ากันว่าโยคีสายตันตระผู้บรรลุธรรมจากแคว้นสวัสดิ์ หรือ ปากีสถาน ในปัจจุบัน เป็นพระพุทธเจ้าที่รู้จักกันในนาม ปัทมาสัมภาวะ ได้เดินทางไปทั่วทิเบตและค้นพบหุบเขาศักดิ์สิทธิ์จำนวนมากเหมาะแก่การลี้ภัยและปฏิบัติธรรมเรียกว่า เบยุล หรือ แดนลับแล พร้อมกับเขียนลายแทงกำกับไว้ก่อนนำไปซ่อน จนในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ริคซิน โกเดม ได้ค้นพบลายแทงส่วนหนึ่งในถ้ำ

ลายแทงจะระบุทางเข้าแดนลับแลจากทั้ง ๔ ทิศ โดยกำหนดเวลาตายตัวที่จะทางเข้าจะเปิดได้ และบอกสัญญาณไว้ให้สังเกต จึงยังมีแดนลับแลอยู่อีกในทิเบตที่ยังไม่ถึงเวลาเปิด สำหรับลายแทงสู่เพมาโคนั้นว่ากันว่าถูกค้นพบโดย ดอเจทองเม ผู้เปิดหุบเขานี้ในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ และเฮียน เบเกอร์ นักสำรวจชาวอเมริกัน ได้รับลายแทงจากลามะองค์หนึ่งและได้เริ่มสำรวจกับ ฮามิด ซัดดาร์ เพื่อนชาวอิหร่าน เพมาโคนอกจากจะเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในเทือกเขาหิมาลัยที่นักแสวงบุญปรารถนาไปเยือน สำหรับนักภูมิศาสตร์แล้วสถานที่ลี้ลับนี้ยังเป็นแหล่งรวมพันธุ์ไม้

https://www.sarakadeelite.com/lite/phet-pra-uma-thai-novel/


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 เม.ย. 20, 18:06
;D


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 27 เม.ย. 20, 18:37
ขอแสดงความเสียใจด้วยค่ะ ส่วนเรื่องเพชรพระอุมาได้ข่าวว่าจะมีการนำมาทำละครก็หวังว่าจะได้ดูเร็วๆนี้


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 พ.ค. 20, 20:16
ขออนุญาตแทรกตัวเข้ามาในถ้ำเสือแห่งนี้ ครับ  เพื่อให้ความเห็นเพิ่มเติมบางประการเกี่ยวกับพื้นที่ๆเป็นแรงบันดาลใจในเรื่องราวต่างๆของเพชรพระอุมา   เป็นความเห็นส่วนตัวที่สังเคราะห์มาจากกระบวนการทำงานและประสบการณ์สำรวจทำแผนที่ธรณีวิทยาในพื้นที่ทางตะวันตกของไทยเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ (ตั้งแต่ 2513) 

ก่อนที่จะเข้าเรื่องราวก็จะขอขยายความในเรื่องพื้นฐานบางประการดังนี้    พนมเทียนเริ่มประพันธ์เรื่องเพชรพระอุมาเมื่อปี 2507 ตอนอายุประมาณ 30 ปี  ท่านเกิดที่ปัตตานีเมื่อ พ.ศ.2474 เข้ามาเรียนมัธยมต้นในกรุงเทพฯ ก็หมายความว่าท่านเข้ามากรุงเทพฯเมื่อมีอายุแรกรุ่น ซึ่งพอจะบ่งชี้ว่าท่านมีประสบการณ์กับวิถีชีวิตแบบพื้นบ้านเข้มขันไม่นานมากนัก  เมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมปลายแล้วก็ไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่อินเดีย ซึ่งท่านเรียนในกลุ่มวิชาทางอักษรศาสตร์ ก็พอจะบ่งชี้ได้ว่าท่านน่าจะได้อิทธิพลทางความคิดจากบทประพันธ์และตำนานต่างๆที่ได้รับในระหว่างการศึกษา อันนำไปสู่แนวคิดในการวางโครงเรื่องของนวนิยายที่ท่านได้ประพันธ์ต่อๆมา  เมื่อท่านจบแล้วกลับมาเมืองไทย ก็เลยพอจะเห็นช่วงเวลาที่ท่านได้เริ่มเข้าป่าดงพงไพรในไทยแบบจริงๆจังๆ(ก่อนที่จะเขียนเรื่องเพชรพระอุมา) ซึ่งน่าจะเป็นช่วงประมาณปี 2500 เป็นต้นมา แล้วก็มีการเข้าป่าเป็นระยะๆต่อเนื่องจนไปถึงประมาณปี 2515  (แล้วค่อยดูเหตุผล)


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 พ.ค. 20, 20:17
ในกระบวนการทำงานของผม  จะใช้ภาพถ่ายทางอากาศมาตราส่วน 1:50,000 (ซึ่งปูพรมถ่ายครอบคลุมพื้นที่ในภูมิภาคบ้านเราเมื่อ คศ.1953 (พ.ศ.2496) เพื่อเอาไปทำเป็นแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1:50,000 ที่เรายังใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งมีการปรับปรุงไปตามกาลเวลา เอาไปทำแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1:250,000 เพื่อใช้ในการวางแผนต่างๆและใช้ในการบินในระยะต่ำ และเอาไปทำแผนที่มาตราส่วน 1:500,000 เพื่อใช้ในการบินในระยะสูง)    เพื่อแปลความหมายชนิดหิน(บางชนิดที่ทำได้) แปลความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มหินต่างๆ เพื่อเอามายกร่างแผนที่ทางธรณีฯ วางแผนการเดินสำรวจต่างๆและการเอาชีวิตรอด  เอาเป็นว่า ได้เห็นภาพแบบ 3 มิติในแง่มุมต่างๆ

ประเด็นก็คือว่า สภาพป่าในภาพถ่ายทางอากาศเมื่อครั้งแรกถ่าย เมื่อเปรียบเทียบกับที่ผมได้เดินสำรวจอยู่ในพื้นที่และได้เห็นจริงกับตา เกือบจะไม่มีความแตกต่างกันเลย  ทำให้พอประมวลได้ว่าภาพป่าที่พนมเทียนเห็นเมื่อครั้งยังเดินป่าอยู่นั้นเกือบจะไม่แตกต่างไปจากที่ผมได้เห็นและได้สัมผัสเลย รวมทั้งในเชิงของสัตว์ป่าด้วย

ผมอ่านเพชรพระอุมาแบบกระท่อนกระแท่น  แต่ในบางพื้นที่ บางครั้งก็ทำให้เกิดจินตนาการไปในทำนองเดียวกันกับคำบรรยายในนวนิยาย  

แล้วค่อยว่ากันต่อไปครับ  


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 07 พ.ค. 20, 07:21
เข้ามาติดตามท่านอาจารย์ครับ


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 พ.ค. 20, 19:09
ในช่วงทศวรรษแรกของ พ.ศ.2500 นั้น ได้มีหลายสิ่งหลายอย่างในทางเศรษกิจและสังคมเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา ทั้งในรูปที่เป็นของอะไรใหม่ๆและที่เป็นพัฒนาการต่างๆ    ซึ่งจะขอหยิบมาเพียง 2 เรื่องที่เกี่ยวข้อง   เรื่องแรกคือ การขยายตัวในด้านของการนำทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเหมืองแร่ ป่าไม้ และพลังงาน อีกเรื่องหนึ่งก็คือ การเพิ่มการเชื่อมต่อด้านการสื่อสารและการคมนาคมกับชนบทห่างไกล     

ประเด็นจาก 2 เรื่องที่ได้กล่าวถึงนี้  เฉพาะในที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะขยายความก็คือ ก็คือ เส้นทางเข้าป่าและชุมชนในพื้นที่ทุรกันดารหลายเส้นทางได้ถูกเปิดขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางที่พุ่งไปทางทิศตะวันตกสู่ป่าเขาและชายแดน   อีกเรื่องหนึ่งคือ การค้าขายนำเข้า-ส่งออกมีการขยายตัว ทำให้มีสินค้าใหม่ๆเข้ามามากขึ้นสำหรับกลุ่มคนที่มีความสนใจเฉพาะทาง

ซึ่งนักนิยมไพรก็มีสองเรื่องที่ชอบและทำกัน คือ ซื้อหรือสะสมปืนรุ่นใหม่ๆ และการออกไปเข้าป่าผจญกับความยากลำบากและลองยิงทดสอบปืนที่ได้มาใหม่    ซึ่งการจะกระทำเช่นนี้ได้ก็จะต้องเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ค่อนข้างดี จะต้องไปเป็นคณะ ด้วยที่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางค่อนข้างจะสูงมาก นอกจากนั้นแล้วก็จะต้องนัดกันในช่วงที่มีวันหยุดหรือตนเองสามารถหยุดงานได้ประมาณสัปดาห์หนึ่ง

ด้วยสภาพดังกล่าวนี้ พื้นที่ป่าที่จะไปเข้ากัน ก็ควรจะต้องไม่ไกลจากกรุงเทพฯ การเดินทางก็ไม่ควรจะต้องมีการค้างแรมในเมืองก่อนที่จะเข้าถึงชายป่า มิฉะนั้นก็อาจจะมีปัญหาในเรื่องของการขนพาอาวุธและเครื้องกระสุนต่างๆ   ผืนป่าที่มีน้ำ มีสัตว์ และห่างไกลจากชุมชน ที่จะเข้าถึงได้ตามข้อจำกัดดังกล่าวก็เลยดูจะมีอยู่ไม่กี่พื้นที่ 


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 พ.ค. 20, 18:43
ก็จะมีป่าที่เป็นไปได้ ผนวกกับข้อมูลที่พอจะมีของผมที่ได้จากการบอกเล่าและการสอบถามชาวบ้านที่เราจ้างทำงานนำทางและแบกหาม   ซึ่งเราไม่ทราบว่าคณะบุคคลเหล่านั้นใครเป็นใครนะครับ เป็นเพียงแต่รู้ข้อมูลและใช้การประเมินเอาจากองค์ประกอบต่างๆเช่น จำนวนคน รถที่ใช้ ปืนที่พกพากันมา ลักษณะของบุคคลและลักษณะทางกายภาพของเขา อุปกรณ์ครื่องใช้ต่างๆ ฯลฯ    อีกส่วนหนึ่งก็ได้จากการได้พบคณะบุคคลเหล่านั้นในพื้นที่จริงๆ

ผืนป่าที่ดูจะเป็นที่สนใจของนักนิยมไพรในสมัยนั้นก็ดูจะมี   ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่,   ป่าแม่วงก์ จ.กำแพงเพชร,  ป่าทับเสลา-ซับฟ้าผ่า จ.อุทัยธานี,   ป่าห้วยขาแข้งตอนบน (เข้าทางห้วยทับเสลาและ อ.บ้านไร่),  ป่าเขาอึมครึม-เขาโจด-ห้วยแม่พลู (เข้าทาง อ.หนองปรือ หรือ บ.หนองรี จ.กาญจนบุรี),  ป่าทุ่งนานางหรอก-สลักพระ และพื้นที่ชายเขาฝั่งตะวันตกของลำตะเพิน ช่วง อ.หนองปรือ ถึง บ.ลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี),  ป่าศรีสวัสดิ์ (อ.ศรีสวัสดิ์และ อ.ทองผาภูมิ) ตามเส้นทางเข้าสู่แหล่งแร่ตะกั่ว หนันยะ บ่อน้อย เนินสวรรค์ สองท่อ ทุ่งนางครวญ ลำเขางู บ่อใหญ่),  ป่าบ้องตี้ล่าง ใช้เส้นทางข้ามแควน้อยที่แก่งระเบิดเข้าเหมืองเต่าดำ,  ป่าโป่งกระทิง-สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ใช้เส้นทางเข้าเหมืองตะโกปิดทองและเจิงเจ้ย, ป่าหนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี 

ในความเห็นของผมนะครับ ผืนป่าหลักที่เป็น governing image สำหรับ content ของนวนิยายนั้น ดูจะอยู่ในพื้นที่ของป่าศรีสวัสดิ์เสียเป็นส่วนใหญ่


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 พ.ค. 20, 20:25
ในช่วงทศวรรษ พ.ศ.2500+นั้น วงการปืนมีการนำเข้าปืนรุ่นต่างๆหลายๆขนากและหลายยี่ห้อ  ถนนอุณากรรณซึ่งอยู่ด้านหลังของวังบูรพานั้นเป็นแหล่งค้าขายปืนที่สำคัญ 

ก็จะขอรวบรัดเอาว่าผมมีความสนใจและรู้จักปืนต่างๆอยู่พอสมควร (ในด้านรู้น้อย)   เอาเป็นว่า ในช่วงสองทศวรรษต่อมานั้น ปืนที่ขายดีเป็นที่ต้องการของชาวบ้านก็คือ ปืนลูกซองเดี่ยว และเป็นแบบ full choke  ส่วนนักนิยมไพรและนักสะสมก็จะเลือกซื้อปืนลูกซองแบบแฝดคู่ขนาน แถมยังเลือกผู้ผลิตปืนและผู้ผลิตลูกกระสุนอีกด้วย ปืนลูกซองนี้ใช้เป็นปืนหากินและป้องกันตัว ใช้ยิงไก่ป่า เก้ง กวาง งู ฯลฯ     สำหรับปืนลูกเดี่ยวของนักนิยมไพรที่จะเลือกใช้ก็จะมีที่ใช้กระสุนขนาด 30-06 springfield ขนาดพอคว่ำช้างได้ แต่ก็ยังอยากได้ขนาดใหญ่กว่านั้นอีกเป็นขนาด .375 magnum ประเภทนัดเดียว ช้างหรือกระทิงอยู่หมัดเลย ทั้งสองขนาดนี้เลือกไว้ใช้เป็นปืนป้องกันตัว   ปืนอีกขนาดก็คือลูกกรดเอาไว้ใช้หากิน ใช้ยิงนก กระรอก ฯลฯ     นอกจากปืนยาวก็คือปืนพก ที่พยายามหันไปหาปืนขนาดเล็กกว่า .45 ของทหารที่ใช้ในสงครามโลก และเปลี่ยนจากแบบกึ่งออโตเมติกเป็นแบบลูกโม่ 

ขยายความเรื่องปืนมาเพียงเพื่อจะกล่าวว่า หากไม่เข้าป่าแล้วจะมีที่ใหนที่จะสามารถทดสอบการยิงปืนยาวได้   สนามยิงปืนสั้นในยุคนั้นมีอยู่แล้วที่เรียกว่าสนามยิงปืนของ รด. ซึ่งอยูในพื้นที่ของวังสราญรมบ์ 

ก็เลยกล้อมแกล้มเอาว่า ก็จะต้องไปหาที่ทดสอบการยิงและการใช้ปืนกับเครื่องกระสุนที่ออกแบบมาให้มีความเหมาะสมในการใช้งานที่มีความแตกต่างกัน  พื้นที่ป่าที่จะใช้ในการทดสอบเรื่องเกี่ยวกับปืนจึงไม่น่าจะไกลนักจาก กทม.   

แล้วค่อยว่ากันต่อไปในเรื่อง governing image    ว่าแล้วก็ชักจะเสียวใส้ว่าจะถูกยำจนเละเสียก่อน  ;D


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ค. 20, 10:34
ไปเจอวิกิ รวบรวมปืนชนิดต่างๆในเพชรพระอุมาค่ะ   เลยนำมาลงให้คุณตั้งและท่านอื่นๆได้อ่านกัน

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B8%E0%B8%98%E0%B8%9B%E0%B8%B7%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%B2

อาวุธปืนในเพชรพระอุมา เป็นการรวบรวมรายละเอียดของปืนที่ใช้ในเรื่องเพชรพระอุมา จากความรู้และทักษะความสามารถทางด้านอาวุธปืนของพนมเทียน ในการนำเอาอาวุธปืนประเภทต่าง ๆ และกระสุนที่ใช้จากประสบการณ์จริง มาผูกเสริมเติมแต่งให้แก่ตัวละครในเพชรพระอุมา รวมทั้งกำหนดลักษณะและผลของการใช้ของปืนแต่ละประเภท ซึ่งปืนที่ใช้ในเพชรพระอุมานั้น มีจำนวนมากมายหลากหลายขนาด รวมทั้งยี่ห้อและรุ่น เช่นปืนไรเฟิล วินเชสเตอร์ .375 โมเดล 70 ปืนลูกซอง ปืนสั้นกึ่งออโตแมติกหรือแม้แต่ปืนเอ็ม 16 ที่ใช้ในการสงคราม รวมทั้งรายละเอียดและความรู้ทางด้านปืนของแต่ละกระบอก เช่น วิถีกระสุนในการปะทะเป้าหมาย แรงปะทะของปืน ฯลฯ อาวุธปืนที่ใช้ในเพชรพระอุมา มีดังนี้


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 พ.ค. 20, 18:32
ไปเจอวิกิ รวบรวมปืนชนิดต่างๆในเพชรพระอุมาค่ะ   เลยนำมาลงให้คุณตั้งและท่านอื่นๆได้อ่านกัน

ขอบคุณมากครับ  เป็นข้อมูลที่น่าสนใจ ทำให้ได้เห็นภาพอะไรหลายอย่างมากขึ้นครับ

ปืนยาวขนาด .375 นั้น ผมเคยเอาปืนของพ่อเข้าป่าและเคยยิงเป้าเล่นโดยใช้กระสุนเก่าเก็บ   ในครั้งกระนั้นเป็นการเดินสำรวจเส้นทางผ่านป่าลึก โดยเดินตัดป่าจากห้วยขาแข้งไปทางทิศตะวันตกเข้าหาแม่น้ำแควใหญ่ในพื้นที่เหนือจากปากลำขาแข้งขึ้นไป  ในพื้นที่ย่านนั้นมีช้างป่าและหมีควายอยู่มากมาย ซึ่งเป็นสัตว์ป่าประเภท charge คนได้ ก็เลยเอาปืนขนาดใหญ่หน่อยไปด้วยเพื่อป้องกันตัว ทำให้มีความรู้สึกปลอดภัยและมีความมั่นใจมากขึ้น    ปืนยาวขนาด .375 Magnum นั้น มีขนาดค่อนข้างใหญ่และน้ำหนักค่อนข้างมาก ไม่เหมาะที่จะใช้พกพาเข้าป่าด้วยการสะพายหรือแบกเมื่อเป็นการการเดินป่าแบบยาวต่อเนื่อง ไม่เหมาะที่จะใช้ในลักษณะของการตั้งรับ(ด้วยความเทอะทะของมัน) แต่เหมาะที่จะใช้ในลักษณะของการเฝ้าและซุ่มยิงในเวลากลางวัน ในระยะไกล และในพื้นที่โล่ง เพราะจะต้องประทับให้แน่นให้ดีๆมิฉะนั้นจะถูกพานท้ายตบแก้มและปืนหลุดมือ   ด้วยที่แรงถึบของมันสูงมาก ปืนขนาดนี้จึงไม่เหมาะที่จะใช้ในการนั่งห้างและส่องสัตว์ อาจทำให้พลัดตกจากห้างส่องสัตว์หรือห้างพังก็ได้   แรงถีบจะมากมายเพียงได ?  ก็ขนาดตัวผมน้ำหนักใกล้ 70 กก. ประทับใหล่ยืนยิงยังต้องถอยหลังเป็นก้าว 


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 พ.ค. 20, 19:06
ปืนยาวขนาด .30-06 นั้น เป็นปืนลูกเดี่ยวอเนกประสงค์จริงๆ ถูกต้องแล้วที่พนมเทียนจัดให้เป็นปืนประจำตัวของรพินทร์ ไพรวัลย์  ปืนนี้มีน้ำหนักไม่มาก กระสุนหาได้ง่ายเพราะว่าใช้ขนาดและชนิดเดียวเดียวกันกับปืนของทางราชการทหารที่นักศึกษาวิชาทหารใช้ในการฝึก (ปลยบ. 88)  ใช้ยิงได้ทั้งระยะใกล้และไกล แรงปะทะดีพอได้กับสัตว์ขนาดใหญ่ หัวกระสุนทะลุเป้า ไม่ตีแกว่งจนเป้าเละ    จึงใช้ได้ในทั้งสถานการณ์ไล่ล่าหากินหรือตั้งรับ และใช้ได้กับสัตว์หลายขนาดตั้งแต่นกจนถึงช้าง   ก็เป็นปืนที่ผมพกพาเข้าป่าใหญ่ตลอด ซึ่งก็จะแบกสะพายเองเมื่อต้องเดินสำรวจแยกเดี่ยว(นำหน้าหรือรั้งท้ายในพื้นที่ๆมีช้างป่า) เสียอย่างเดียวที่มันเป็นปืนลูกเดี่ยวเลยใช้ป้องกันอย่างอื่นได้ยากหน่อย 


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ค. 20, 19:11
อาวุธปืนทั้งหมดในเรื่องเพชรพระอุมา สำหรับผู้ที่สนใจ

https://thaiammo.com/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B8%E0%B8%98%E0%B8%9B%E0%B8%B7%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD/


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 พ.ค. 20, 20:05
สำหรับปืนลูกซองนั้น คงจะไม่ไปกล่าวถึง เรื่องของมันมีค่อนข้างจะมาก  มันเป็นปืนอเนกประสงค์ที่ดีมากๆสำหรับชาวบ้านและคนทั่วๆไป มันครอบคลุมการใช้งานทั้งในเชิงตั้งรับ ขับไล่ และในเชิงรุก    ส่วนปืนยาวลูกเดี่ยวขนาดอื่นๆนั้น ดูจะนิยมใช้กันในต่างประเทศและในซาฟารี จัดเป็นพวก Collection ของนักสะสมปืนและนักท่องไพรซาฟารี

ที่ดูจะแปลกใจอยู่นิดนึงก็คือ ปืนสั้นขนาด .44 Magnum,  .45 Long Colt, และ .357 Magnum  ซึ่งทั้งหมดจะเป็นปืนแบบลูกโม่ 6 นัด      ขนาด .357นั้น เป็นแบบ double action มีการใช้โดยทั่วๆไป   แต่ขนาด .44 Magnum และ .45 Long Colt ที่กล่าวถึงนั้น เป็นปืนพกพวก single action เป็นปืนแบบคาวบอย ดูจะไม่เหมาะเลยที่จะใช้พกพาเป็นปืนประจำตัวเข้าป่าดง มือมีเหงื่อชื้นๆที่มือก็ทำให้จับด้ามปืนลื่น ยิงแล้วปืนอาจจะสะบัดหลุดออกจากมือหรือทำให้ง่ามมือฉีกได้ง่ายๆ   การคัดปลอกกระสุนก็ไม่รวดเร็ว  

ก็ว่าไปตามความเห็นส่วนตัวนะครับ มิได้มีวัตถุประสงค์จะลบหลู่ด้วยประการใดๆทั้งสิ้น นวนิยายก็คือนวนิยาย ครับ


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 พ.ค. 20, 19:19
กลับไปเรื่องของผืนป่าอีกเล็กน้อยครับ   พนมเทียนเป็นคนใต้ ซี่งเมื่อยิ่งชอบเข้าป่าดงด้วย ก็จึงได้สัมผัสกับป่าดิบชื้นมากมายในพื้นที่ภาคใต้ที่รองรับด้วยดินอันอุมดมสมบูรณ์จากการผุพังย่อยสลายของหินปูน ซึ่งทำให้ได้ผืนป่าที่เขียวชอุ่มและทึบแน่นไปด้วยไม้ทั้งประเภทเรือนยอดสูง กลาง และไม้คลุมดิน

ผืนป่าในพื้นที่ๆกล่าวถึงทั้งในฝั่งตะวันตกของภาคกลางและในพื้นที่ภาคใต้นี้ ล้วนแต่มีเอกลักษณ์ของตนบางประการ ทั้งในเชิงของ landscape, vitality, legend, reaching และ adventure challenge   ผมก็เลยมีความเห็นว่า ลักษณะจำเพาะของผืนป่าแต่ละป่าจึงน่าจะถูกนำมาใช้เป็นแรงดลใจในการเขียนเรื่องของแต่ละตอนหรือแต่ละช่วงของเหตุการณ์ของเรื่องราวในนวนิยายของพนมเทียนนี้

สภาพป่าเหล่านี้ในปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว บ้างก็กลายเป็นชุมชน บ้างก็กลายเป็นไร่เป็นสวน บ้างก็ได้กลายเป็นอุทธยาน กลายเป็นวนอุทธยาน หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าก็มี   การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เกิดขึ้นในผืนป่าเหล่านี้ดูจะเริ่มต้นเมื่อประมาณปี 2514  เมื่อได้เกิดการขัดแย้งและต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้นักนิยมไพรต้องหยุดกิจกรรม เลิกราไป และไม่ย่างกายเข้าป่าในเกือบจะทุกพื้นที่ (โดยเฉพาะในด้านตะวันตกของภาคกลาง)     คงเหลือแต่ข้าราชการกลุ่มเดียวที่เป็นนักสำรวจเช่นพวกอาชีพผมที่ยังคงเดินทำงานอยู่ในป่าดงพงไพร  กลุ่มหนึ่งเป็นพวกที่สำรวจหาและเจาะน้ำบาดาลช่วยแก้ไขการขาดแคลนน้ำและช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้รอดพ้นจากความลำบากยากเข็น  อีกลุ่มหนึ่งก็พวกสำรวจทำแผนที่ทางธรณีฯและทรัพยากร เพื่อนำไปสู่การค้นพบแหล่งทรัพยากรเพื่อความมั่นคงของประเทศทั้งแหล่งแร่และปิโตรเลียม และเป็นสายใยเชื่อมต่อความอาทรระหว่างรัฐและชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ค. 20, 19:44
เคยไปอุทัยธานีนานมาแล้ว  ผ่านต.พุเตยด้วยค่ะ  ยังนึกถึงกะเหรี่ยงพุเตยในเพชรพระอุมาอยู่เลย


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 พ.ค. 20, 20:21
สรุปความ

คิดว่าหลายท่านได้เคยอ่านเรื่องเพชรพระอุมา หลายท่านอาจจะกำลังเริ่มต้นอ่าน หลายท่านได้อ่านแบบกระท่อนกระแท่น    เอาเป็นว่า หากท่านทั้งหลายได้มีโอกาสไปท่องเที่ยวในพื้นที่ป่าที่เป็นอุทธยานแห่งชาติต่างๆในพื้นที่ๆผมได้กล่าวครอบคลุมถึง รวมทั้งหมู่บ้านหรือชุมชนที่อยู่ใกล้หรืออยู่ชายขอบอุทธยานเหล่านั้น  ก็อยากจะให้ลองนึกถึงความเป็นป่าของพื้นที่เหล่านั้นเมื่อสมัยทศวรรษ 2500 +/-  ดูทิวทัศน์ไกลๆ ดูไปให้รอบๆ คุยกับชาวบ้านดั้งเดิมถึงประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน เรื่องเล่า นิยายที่เกี่ยวข้องและความเชื่อมโยงกับ geomorphology ต่างๆที่ปรากฎอยู่ในพื้นที่   บวกกับจินตนาการเข้าไปอีกหน่อย ก็อาจจะทำให้เห็นภาพมโนของเรื่องราวของนวนิยาย ซึ่งอาจจะทำให้เห็นความลึกซึ้งในกระบวนถ้อยความคำบรรยายต่างๆ และ in ไปกับเรื่องราว    


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 พ.ค. 20, 18:23
เคยไปอุทัยธานีนานมาแล้ว  ผ่านต.พุเตยด้วยค่ะ  ยังนึกถึงกะเหรี่ยงพุเตยในเพชรพระอุมาอยู่เลย

พุเตย เป็นชื่อเรียกสถานที่ๆค่อนข้างจะใช้กันมาก ปรากฎอยู่ในหลายๆพื้นที่  ลักษณะประจำตัวของชื่อนี้คือเป็นสถานที่ๆมีน้ำผุดออกมาจากใต้ดินกลายเป็นแอ่งน้ำขังขนาดไม่ใหญ่นัก จะมีเนินหรือโหนกหินปูนโผล่ให้เห็นอยู่ใกล้ๆและมีต้นเตยป่าขึ้นอยู่   แต่หากมีน้ำไม่มาก มีแต่เพียงทำให้พื้นดินฉ่ำแฉะก็จะไปใช้คำว่า ซับ  ซึ่งลักษณะประจำตัวของซับต่างๆก็คือ จะมีพวกพืชมีหัวปกคลุมอยู่ค่อนข้างแน่น (พวกต้นบอนและอื่นๆที่มีลักษณะคล้ายกัน)  ก็มีข้อสังเกตอยู่หน่อยนึงว่า พุ มักจะอยู่ในพื้นที่ป่าเขา  ส่วน ซับ มักจะอยู่ในพื้นที่ราบลอนคลื่น

เมื่อป่าไม้ถูกทำลายไปมากเข้า ผืนดินแห้ง ระดับน้ำผิวดินลดระดับลงไปอยู่ลึกมากขึ้น น้ำที่จะเข้ามาหล่อเลี้ยงความเป็น พุ และ ซับ ก็หายไป หายไปพร้อมๆกับการขยายตัวของชุมชนที่เข้ามาทำกินในพื้นที่ๆเหล่านี้เมื่อครั้งยังมีความชุ่มชื้น  ก็เลยตั้งชื่อกันใหม่ด้วยความไม่เข้าใจในธรรมชาติ เปลี่ยนจาก พุ ไปเป็น ภู ที่ให้ความหมายที่ไม่ตรงกับสภาพทางภูมิประเทศหรือภูมืสัณฐาณอันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของเขา    ภู หลายๆแห่งในภาคเหนือที่มีการตั้งชื่อกันอย่างเพราะพริ้งก็เช่นกัน จาก พุ เป็น ภู    จาก ดอย ก็เป็น ภู   และจาก ม่อน ก็เป็น ภู เช่นกัน 





กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 พ.ค. 20, 18:59
นึกถึงอีก 2 คำ คือคำว่า หนอง กับ บึง    หนอง เป็นคำที่ใช้กันในภาษาไทย-ลาว  มีลักษณะเป็นแอ่งน้ำตลอดปีที่พบได้ในทุกระดับความสูง ก็คือ sink hole (หลุมยุบ) ส่วนมากจะเกิดจากยุบตัวของโพรงหินใต้ดิน    บึง เป็นคำที่ใช้ในพื้นที่ๆเป็นแอ่งน้ำขังในพื้นที่ราบ     ก็ยังมีอึกคำหนึ่งที่เป็นคำเก่าแก่แต่โบราณที่ใช้ก้นเฉพาะในคนในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง คือคำว่า ตะลุก ก็คือแอ่งน้าที่เกิดมาจากการขังตกค้างอยู่ในส่วนที่คดเคี้ยวของลำน้ำสายใหญ่

แล้วก็นึกเลยเถิดไปถึงคำว่า หนาน กับ ทิด    หนาน เป็นภาษาไทย-ลาวที่ใช้เรียกคนที่ผ่านการบวชเรียนมาแล้ว  ทิด เป็นภาษาไทยภาคกลางที่เรียกคนที่บวชเรียนมาแล้วเช่นกัน 

แล้วใง ?


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ค. 20, 19:19
คุณตั้งเคยได้ยินคำว่า "พรุ" ไหมคะ  เป็นคำเดียวกับ "พุ" หรือเปล่าคะ


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 พ.ค. 20, 20:27
ด้วยที่ผมไม่ได้ติดตามอ่านเพชรพระอุมาจนจบและจำได้ถึงเหตุการณ์ต่างๆ   ผมจึงมีข้อสังเกตเพียงเล็กๆน้อยๆจากการที่ได้อ่านบ้าง ได้ฟังบ้าง และมีประสบการเดินทางเข้าป่าเช่นกัน ซึ่งอาจจะเป็นผืนป่าต่างๆเหมือนๆกันก็ได้    ข้อสังเกตที่มีก็คือ การใช้ชื่อสถานที่ การเรียกชื่อคน และการบรรยายสภาพต่างๆทางธรรมชาติ ฯลฯ  มีลักษณะคละกันระหว่างคำที่ใช้ในภาษาเหนือและกลาง (และอาจจะมีใต้และอิสานด้วย ?)  ลักษณะเช่นนี้ในสมัยนั้น ดูจะพบว่ามีอยู่แต่เฉพาะในพื้นที่เลาะทิวเขาด้านตะวันตกของไทยเรา

ทั้งหมดที่ผมได้ต่อกระทู้มานี้ เป็นความเห็นที่สังเคราะห์มาจากประสบการณ์ที่มีของผม  ซึ่งคิดว่าจะพอทำให้การกลับไปอ่านเพชรพระอุมาได้มีความสุนทรีเพิ่มขึ้น และอาจจะทำให้นึกถึงการออกไปท่องเที่ยว ไปค้นหาเส้นทางตามรอยเพชรพระอุมาก็ได้  

ผิดพลาด ผิดที่ผิดทางประการใด ก็ขออภัยด้วยครับ  ;D


กระทู้: สิ้น "พนมเทียน" นักเขียนศิลปินแห่งชาติ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 พ.ค. 20, 21:23
พรุ เป็นคำในภาษาใต้ที่ใช้เรียกพื้นที่ป่าฉ่ำน้ำ ที่ผืนดินในพื้นที่นั้นประกอบไปด้วยเศษไม้และวัชพืชที่กองทับสะสมกันอยู่หนาแน่น 

พรุ ตรงกับคำว่า bog หรือ bogland หรือ wet land หรือ swamp จะเรียกเช่นใดนั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางกายภาพและการกำเนิดของมัน
พุ  ตรงกับคำว่า spring หรือ seepage  จะเรียกเช่นใด ชึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพของมัน
ซับ น้ำซับ น้ำซึม น้ำดิบ ตรงกับคำว่า seepage
 
บึง หนอง ตะลุก   สามคำนี้มีความหมายก้ำกึ่งระหว่าง wet land, oxbow lake, swamp, land subsidence

ครับ