เรือนไทย

General Category => ชั้นเรียนวรรณกรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: chupong ที่ 13 พ.ค. 11, 17:31



กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 13 พ.ค. 11, 17:31
เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ณ เรือนไทยหลังนี้ทุกท่านขอรับ

   สองสัปดาห์กว่าๆมาแล้วที่ผมคร่ำเคร่งกับการฟังนวนิยาย “ขุนศึก” ซึ่งผลิตเป็นหนังสือแถบเสียงปริมาณมากถึง ๑๒๕ ม้วน เท่าที่เคยรู้ข้อมูลจากการค้นผ่านพ่อ google นวนิยายเรื่องนี้ ท่านไม้ เมืองเดิม ประพันธ์ไว้ไม่จบ ภายหลัง น้องชายแท้ๆของท่าน คือท่านสุมทุม บุญเกื้อ จึงนิพนธ์ต่อจนปริโยสาน อันเนื่องมาจากอาสาสมัครท่านอ่าน ขุนศึก ให้ฟังตั้งแต่ต้น อ่านไปเรื่อยๆกระทั่งจบเรื่อง ทั้งมิได้บอกว่าขึ้นเล่มที่เท่าไหร่ของหนังสือตาดี ผมจึงมิรู้ว่าสำนวนของท่านไม้ เมืองเดิม จบลงตรงไหน แหละสำนวนท่านสุมทุม บุญเกื้อ เริ่มแต่ตรงตำแหน่งใด ขอท่านผู้รู้โปรดเมตตาเอื้อวิทยาทานผมด้วยเถิดครับ ผมจะได้กลับไปฟังอย่างพินิจ เพื่อศึกษาแนวทางรจนาจากนักประพันธ์พี่น้องสองท่านว่ามีข้อแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ทั้งการใช้ถ้อยคำ สำนวน ตลอดจนองค์ประกอบอื่นๆครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ



กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ค. 11, 18:53
นวนิยายเรื่อง "ขุนศึก" เป็นบทประพันธ์อมตะชิ้นสุดท้ายของ "ไม้ เมืองเดิม" เขาใช้เวลาสองปีเศษ   สร้างสรรค์งานชิ้นนี้ ในขณะที่ร่างกายป่วยไข้อย่างหนัก เป็นอัมพาตและมือสั่นจนเขียนหนังสือไม่ได้   ต้องเอาด้ายดิบพันนิ้วมือทุกนิ้วให้แน่นเสียก่อนเขียนหนังสือ ตอนหลังอาการหนักนั่งเขียนเองไม่ไหว   มีเพื่อนฝูงที่รักใคร่สมัครมาเขียนให้ โดยเจ้าตัวนอนบอกเนื้อความให้จด บางครั้งเพื่อนติดธุระต้องให้ภรรยาเป็นผู้จดคำบอก ก้านมุ่งมั่นจะเขียนเรื่องขุนศึกให้จบก่อนเขาลาจากไปสู่ปรโลก โดยกล่าวว่า   "ขุนศึกเป็นบทประพันธ์ที่กันรักมาก"
   
 แต่ก้านก็ไม่สามารถทำได้ดังใจหวัง เขาสิ้นชีวิตก่อนเขียนนวนิยายเรื่องนี้จบเรื่อง โดยจบชีวิตในวันที่ 4 มีนาคม 2484 ด้วยวัยเพียง 37 ปี ตอนสุดท้ายของนวนิยายเรื่องขุนศึกที่ "ไม้ เมืองเดิม" เขียน  ลงตีพิมพ์เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2485

หลังจากสำนักพิมพ์เพลินจิตต์จัดพิมพ์นวนิยายเรื่องขุนศึกครั้งแรกวางตลาดสัปดาห์ละเล่ม แบ่งเป็นห้าภาค รวม 40 เล่มแล้ว ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2489 มีการจัดพิมพ์ครั้งที่สองและในการพิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2484เป็นหนังสือปกแข็ง 18 เล่ม ภาพปกและภาพประกอบฝีมือ เหม เวชกร สำนักพิมพ์เพลินจิตต์และเหม เวชกร เกลี้ยกล่อมขอให้ กิ่ง พึ่งบุญ ณ อยุธยา  น้องชายของ "ไม้ เมืองเดิม"และเป็นนักเขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ นามปากกา "สุมทุม บุญเกื้อ" แต่งเรื่อง ขุนศึก ต่อให้จบสมบูรณ์ กิ่งใช้เวลา 4 เดือน เขียนตอนจบของ ขุนศึก  ผลงานของ  "สุมทุม บุญเกื้อ"จะอยู่ตอนท้ายเล่มที่ 13 และเล่มที่ 14 ทั้งเล่ม โดยเขาเขียนไว้ในคำนำว่า

 "โครงเรื่องส่วนใหญ่นั้น เป็นของ "ไม้ เมืองเดิม" โดยแม้จริง ข้าพเจ้ามีส่วนเพียงเป็นผู้บรรยายเรื่องราวโดยละเอียดสู่ท่านผู้อ่านอีกทอดหนึ่งเท่านั้น"

จากหนังสือ  สุนทรียรสแห่งวรรณคดี รศ. ดร. รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ หน้า 234-235  อ้างถึงในประยุกต์ บุญนาค  "นิยายอิงพงศาวดาร"ขุนศึก" ของ "ไม้ เมืองเดิม"พิมพ์มาแล้ว 10 ครั้ง จินตนาการของ"ไม้ เมืองเดิม"   ในนิยายอิงพระราชพงศาวดารเรื่องขุนศึก


กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 14 พ.ค. 11, 09:41
กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูอย่างยิ่งครับ สำหรับข้อมูล ถ้ากระนั้น ผมคงต้องใช้การสันนิษฐานเบื้องต้นก่อนว่า สำนวนท่านสุมทุม บุญเกื้อ น่าจะเลย “ศึกหงสาวดี” ไปแล้วกระมังครับ
 



กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 14 พ.ค. 11, 09:59
จากข้อมูลซึ่งท่านอาจารย์เทาชมพูกรุณานำมาลงไว้ กระทู้ใหม่ก็เกิดขึ้นกับผมอีกแล้วครับ ถ้าในการพิมพ์ “ขุนศึก” ครั้งที่ท่านสุมทุม บุญเกื้อ เขียนเรื่องต่อจากพี่ชายท่านนั้น คือการพิมพ์เป็นหนังสือปกแข็ง ๑๘ เล่มจบ แหละสำนวนท่านไม้ เมืองเดิม มาสิ้นสุดลงตรงท้ายๆเล่ม ๑๓ สำนวนท่านสุมทุม บุญเกื้อ ก็น่าจะอยู่ท้ายเล่ม ๑๓ ดังกล่าว เรื่อยมาตราบถึงเล่ม ๑๘ ไม่น่าจะสิ้นสุดแค่เล่ม ๑๔ เท่านั้น เอาหละครับ... หากข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า สำนวนท่านสุมทุม บุญเกื้อ จบลงตรงเล่ม ๑๔ แล้วอีกสี่เล่มที่เหลือ เป็นสำนวนผู้ใด ผมตั้งปรัศนี มิได้มีจุดประสงค์อื่นใดทั้งสิ้น นอกจาก สืบค้นเพื่อศึกษาประวัตินวนิยายอมตะเรื่องหนึ่ง เท่านั้นจริงๆครับ



กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ค. 11, 10:11
การพิมพ์แต่ละครั้ง จำนวนเล่มไม่เท่ากัน อาจเป็น ๑๔ หรือ ๑๘ เล่ม ก็ได้  ดิฉันก็ไม่ทราบว่าเรื่องขุนศึกที่คุณชูพงศ์ได้ฟัง อ่านจากขุนศึกพิมพ์ครั้งที่เท่าไร 
ยังหาไม่พบว่าไม้ เมืองเดิม เขียนค้างไว้ในตอนไหนค่ะ


กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 14 พ.ค. 11, 10:32
เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูครับ

   ขุนศึกที่ผมฟัง อาสาสมัครท่านอ่านฉบับสำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร พิมพ์ ๑๐ เล่มจบ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ ครับ แต่เนื่องจากท่านอ่านรวดเดียวตลอด มิได้บอกขึ้นเล่มที่เท่าไร/ตอนไหน การฟังเพื่อประสงค์ค้นคว้าเปรียบเทียบสำนวนจึงทำให้ผมยุ่งยากใจเพราะหาจุดจบกับจุดเชื่อมต่อระหว่างนักประพันธ์ทั้งสองท่านด้วยตัวเองไม่พบครับผม



กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ค. 11, 10:53
ถ้าไม่พบก็อาจตีความได้ว่า คุณสุมทุม บุญเกื้อมีสำนวนภาษา กลมกลืนกับไม้ เมืองเดิม จนหารอยต่อไม่พบ ก็เป็นได้ค่ะ


กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 พ.ค. 11, 14:02


     เป็นแฟนพี่เสมามานาน  ขืนไม่แวะกระทู้นี้  
อาจารย์ประยุกต์ บุนนาค ที่เคารพยิ่งของวันดี    ต้องกระแอมใส่เป็นแน่แท้


เรามาพูดกันเรื่อง บรรณาคาร ๒๕๒๓  สิบเล่มชุดนะคะ

สุมทุม บุญเกื้อเริ่มงานของท่านใน เล่ม ๘  ค่ะ  ประมาณหน้า สองร้อยกว่า

งานของท่านเนียนมากทีเดียว  เพราะท่านก็เป็นนักเขียนพงศาวดารมาไม่น้อย

นานมากมาแล้วที่ไม่ได้อ่านขุนศึก  เพราะอ่านแล้วรู้สึกว่า ต้องฝ่าพงหนามหลายครั้ง  เหนื่อยใจ

จำได้ลาง ๆ ว่า เมื่อขุนศึกจบลงอย่างกระทันหัน  เมื่อ แม่นางอำพัน มารดาของณรงค์วิชิต  พาลูกชายไปหามหาเสนาที่บ้าน
และแสดงความเป็นญาติ

มหาเสนาจางวางพระตำรวจรักษาพระองค์ฝ่ายพระราชวังจันทรเกษม  ได้ช่วยเหลือณรงค์วิชิตตามสมควร


       สำนวนของ สุมทุม บุญเกื้อ นั้น  ระวังที่จะยก การขัดเคืองใจของตัวละครเอก ๆ ในเรื่องขึ้นมาโดยสม่ำเสมอ
ไม่ใครก็ใครคนหนึ่งต้องหาเรื่องทะเลาะกัน  แล้วขอโทษซึ่งกันและกัน  เป็นจบเรื่องไป


       อาจารย์ประยุกต์นั้น  ยังศึกษา เรื่องศึกสงครามและดาบไทยอยู่เป็นนิจ

คำอธิบายของท่านเป็นวิทยาศาสตร์  มีอ้างอิง       และความจำยังดีเยี่ยม

ได้กราบขอความรู้จากท่านบ่อย ๆ            ท่านยังจำได้ว่าดิฉันเคยถามเรื่องจตุรังคบาทไว้

โดยไม่เสียเวลา  ท่านก็อธิบายต่อความรู้ให้ได้ในทันที


     เมื่อดิฉันตอบคำถามของท่านไม่ได้   ดิฉันก็จะเสคุยเรื่อง "ขุนศึก"
ท่านรู้ทันและหัวเราะเบา ๆ        เพราะท่าน รัก นวนิยายเรื่องขุนศึก มาก


     ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้  ได้ขอความรู้ท่านเรื่อง "ดาบตองสู่"  และ "พระแสงของ้าว"      
ท่านบอกว่า บางอย่างต้องมาดูเอง   จะได้เห็นว่าพู่ที่คอง้าวพริ้วอย่างไร





กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 14 พ.ค. 11, 17:18
เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูตามตรงครับ ผมจับรอยต่อ ความแตกต่างไม่ได้จริงๆ ขอคารวะนักเขียนทั้งสองท่าน เพราะท่านสามารถบรรสมกลมกลืนลีลาประพันธ์ได้อย่างเนียนสนิท ถือเป็นความสามารถเอกอุจริงๆครับ

   สวัสดีครับ คุณวันดี

   ผมขออนุญาตเปิดอภิปรายประเด็นหนึ่งซึ่งค้างคาใจมานานตรงนี้เสียเลยนะครับ นั่นคือเรื่อง “สามัคคีเภทของทหารไทยในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ครับ จริงหละ ในนวนิยาย “ขุนศึก” นั้น เสมา (แหละบรรดาศิษย์) กับกลุ่มของหมู่ขัน ขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้งกันตลอดเวลา ไอ้จะวิวาทกันตอนยังไม่โดยเสด็จฯ งานพระราชสงครามนั่นก็ตามประสานักเลงเถิด ผมยังทนฟังได้ แต่ถึงขนาดร่วมในยุทธภูมิอันมีสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จฯ เป็นองค์จอมทัพ ผมฟังแล้วรู้สึกพิกลๆครับ เพราะมิใช่แต่จะชิงความดีความชอบกันธรรมดาเท่านั้น ทว่าถึงขนาด “ไทยฆ่าไทย” ให้ข้าศึกเห็นเลย ตัวอย่างที่ปรากฏชัดก็เช่น ศึกละแวกหนแรก ตอนรบกันตรงป่าระนาม กองทัพพระราชมนูถูกล้อม พลไพร่อันเสมาคุมถูกตีล่าถอย แล้วก็เกิดศึกไทยกันเองขึ้นเมื่อฝ่ายหมู่ขันกับพวกยกกันขึ้นมา โดยขุนรามเดชะนำพล ขนาดยินเสียงปี่กลองประโคมสำแดงว่าทัพพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ใกล้เข้ามาแล้วก็ยังคุมพลไทยหั่นกันต่อ จวบทัพหลวงใกล้จะถึงนั่นแหละจึงสำนึกเกรงพระราชอาชญาหย่าศึก เท่าที่ผมเคยฟังมา รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทแกล้วทหารรองพระบาทบงสุ์ทั้งปวงอาจองสามัคคีกลมเกลียวเหนียวแน่นนัก อีกองค์พระจอมมกุฎอยุธยาก็ทรงเด็ดขาดยิ่ง ฉะนั้น เป็นไปได้หรือที่จะเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น ทหารสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ลางผู้ลางเหล่า) เกิดมหาโมหันธ์ถึงกับแยกแยะมิออกว่าเมื่อไรควรหักล้างกัน เมื่อไรควรร่วมมือประจัญศัตรู อนาถหนอ! ผมขอความเห็นสักเล็กน้อยครับ
     

   


กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 พ.ค. 11, 05:16


      เริ่มอ่าน"ขุนศึก"  เมื่อยังอายุน้อย    รู้สึกว่าเหนื่อย  กว่าพระเอกจะได้ดี

พระราชพงศาวดารไม่รู้จัก   มารู้จักในหนังสือชุดนี้ค่ะ

เมื่อเริ่มทำงาน  มีหนังสือ กฎหมายตราสามดวง   พิชัยสงคราม  รู้สึกว่าอ่านง่าย

จะเข้าใจอย่างตลอด ทะลุ ผ่าน หรือไม่   ไม่ใช่สิ่งสำคัญ

เริ่มจะจับทางได้ว่า "ไม้ เมืองเดิม"  อ่านหนังสือมามากเหลือเกิน

คำพูดจาของหลาย ๆ คน ประทับใจ       ชดเชยกับความอาฆาต ริษยาที่ผจญมา


จะขอยกบางตอนที่ชอบ  มาคุยกัน   ตอบอาจจะไม่ตรงประเด็น  ขออภัย


     "สองฝ่ายพลก็ประดังประดาเป็นตะลุมบอน   แต่สมิงนี้รุ่งเรืองด้วยฝีมือกรากเข้ามาด้วยกลพระรามข้ามสมุทร

ขุนศึกก็รับด้วยพระพุทธเจ้าห้ามมารกั้นแต่สองดาบชูยิ้มมิหวั่น  และคอยดูเชิงอยู่    ครั้นสมิงนั้นเปลี่ยนกลมาครุฑ

เฉี่ยวนาคได้จักร่อนขึ้นสู่นภากาศ      ขุนพลก็ร่ายเข้ารบด้วยหนุมานเผาลงกา       และทันใดนั้นสมิงก็รำล่อ

เป็นดาบศลีลาศคืนอาศรมหันหลังให้         และชม้ายดูผิว์หลงกลก็จักประหารเสีย   แต่ขุนพลก็แสร้งติดตาม

ด้วยนารายณ์น้าวศร  และกรากถึงตัวเข้ารบด้วยสันดาบ"


     "พออุดมฤกษ์พระโหราธิบดีก็ลั่นฆ้องไชย    ราชครูวิทยาจารย์เป่ามหาสังข์ดุริยางค์ดนตรีฆ้องกลองก้องสนั่น

ทั่วท้องมหาอรรณพนที   พลพายส่งเสียงรับโห่กระหึ่มกังวาลนฤนาทไปสุดท้องน้ำ   เงื้อง่าปีกพายดั่งปีกฝูงผึ้ง

บังพระทินกร   แล้วเคลื่อนเรือพยุหยาตราโดยชลมารคหมายที่ประทับพลับพลาไชยปากโมก"


     "ช่างเหล็กก็ชักม้ากราดขึ้นหน้าปราดเข้าปะทะขุนพลพระยาตะเกิง"


      อ่านแล้วแทบไม่หายใจ



กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 พ.ค. 11, 05:55

       ตอนหมื่นคงคชบาลคิดจะถ่ายทอดวิชาให้เจ้าตะพุ่น

พี่เสมาพูดถูกใจ  ขอรับความรู้ไว้เมื่อพบผู้เหมาะสมจะสั่งสอนต่อให้เต็มฝีมือ

หมื่นคงคชบาลถูกใจมาก  เลยตกลงใจนะถ่ายทอดให้ทั้งหมด  โดยไม่ขยักไว้

อ่านตอนนี้ทีไร  อดขำไม่ได้ค่ะ


       ขนาดแม่หญิงดวงแขน้องสาวณรงค์วิชิตยังพูดว่า  "อันฝีมือและวิชารบนั้น

เป็นคุณวิเศษแลความดีของคนเราแต่ภายนอก     แต่อุตสาหะมานะและสัตย์ซื่อกตัญญู

เป็นคุณธรรมอันวิเศษอยู่ภายใน"


(สำนวนของ สุมทุม บุญเกื้อ   นำสุรา เข้ามาบ่อยครั้งค่ะ)



มหาเสนาได้สั่งสอนสินและสมบุญว่า(ตอนนี้ฝีมือ สุมทุม  บุญเกื้อนะคะ)

     "เออ....สินและสมบุญน้องกู   มึงจงจำเริญเถิด     ขอมึงจงชนะศึกศัตรูทุกสารทิศ"   แล้วขุนพล

ก็ยกมือไหว้ไปเบื้องวัดพระศรีสรรเพชญ์กล่าวแต่โดยควรด้วยสีหน้าอิ่มเอิบ   ดังเกิดปิติสุขขึ้นในหัวใจ

"ขออานุภาพและอิทธิปาฎิหาริย์แห่งคุณพระศรีรัตนไตร   จงยังให้บังเกิดเป็นประหนึ่งกำแพงแก้ว

และเกราะเพชร  คุ้มครองปกป้องน้องของข้าทั้งสองให้พ้นจากพยันตรายทั้งปวงด้วยเถิด"


     "พี่จักขอเจ้าเพียงจงทนุถนอมน้ำใจ  รักษาความสามัคคีในระหว่างพวกพ้องที่ร่วมงานกัน

ไม่เลือกนายเลือกบ่าว    อีกข้อหนึ่งจงอย่าประมาทไม่ว่าการใดทั้งสิ้น"




กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 15 พ.ค. 11, 11:30
ผมขออนุญาตใช้กระทู้นี้ประกาศหาหนังสือเล่มหนึ่งของท่านไม้ เมืองเดิม เลยนะครับ

   ขณะนี้ ผมกำลังตามหานวนิยายเรื่อง “ทหารเอกพระบัณฑูร” ครับ ตั้งใจไว้ว่า จะซื้อเก็บเป็นสมบัติส่วนตัวเล่มหนึ่ง กับบริจาคให้ห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติอีกเล่มหนึ่ง จึงอยากทราบว่า พอจะหาซื้อได้จากที่ไหนครับ
 


กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 15 พ.ค. 11, 11:49
เรียนถามคุณวันดีขอรับ

   บทสนทนาระหว่างพระมหาเถรเสียมเพรียม กับพระเจ้าตองอูที่ปรากฏในนวนิยาย “ขุนศึก” นั้น มาจากพระราชพงศาวดารเล่มใดครับ แหละตอนนี้ ท่านไม้ เมืองเดิม หรือท่านสุมทุม บุญเกื้อ เป็นผู้ถ่ายทอดสู่ผู้อ่าน/ผู้ฟังครับ?
 


กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 15 พ.ค. 11, 12:33
               เข้ามาแจมเรื่อง ขุนศึก ภาคละครโด่งดังของสถานีโทรทัศน์ช่องสี่ บางขุนพรหม ครับ

คุณ  บูรพา อารัมภีร เขียนเล่าไว้ใน เพลงของพ่อ เพลงละคร (เก่า) ว่า

                 ละครทีวีสมัยโน้นเขาแสดงกันสดๆ ร้องกันจริงๆ ไม่มีอัดเสียงหรือบันทึกเทปหรือ
ทำเป็นหนังเหมือนสมัยนี้ นักแสดงดาราทีวีที่เล่นต้องใช้ความสามารถของตนเองล้วนๆ
คือต้องซ้อมต้องท่องบทต้องจำคิว เล่นให้แม่นยำรวมถึงต้องร้องเพลงได้ด้วย เพราะเวลาแสดงจริง
ตอนออกอากาศให้คนดู แล้วเล่นผิดพูดผิดก็ผิดไปเลยไม่มีการเทคใหม่แต่อย่างใด

                 ละครที่ผมชอบมากติดตามดูตอนเด็กแทบจะไม่พลาดเลยคือเรื่อง ขุนศึก ของ ไม้เมืองเดิม
แสดงทางสถานีทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ตอนนั้นยังเป็นสีขาวดำ ดารานำชายคือ กำธร สุวรรณปียะศิริ
เล่นเป็น เสมา นางเอกคือ อารีย์ นักดนตรี รับบท แม่หญิงเรไร
                 ละครเรื่องนี้เล่นติดต่อกันเป็นปีๆ ใครพลาดดูตอนไหนก็ต้องให้คนที่เขาดูเล่าให้ฟัง
เพราะสมัยโน้นอดแล้วอดเลย


กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 15 พ.ค. 11, 12:35
             ในละครขุนศึกมีเพลงเพราะหลายเพลง ที่ผมชอบก็เป็นเพลงเอกของเรื่อง
ชื่อเพลง ฟ้ารักดิน ครูชาลี อินทรวิจิตร แต่งเนื้อร้อง ทำนองเป็นของพ่อผม ครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร
                เป็นเพลงร้องคู่ของพระเอกนางเอกในเรื่อง เนื้อเพลงเป็นอย่างนี้

(ญ) อุ่นอารมณ์สมสุขอย่างนี้มีแต่เราสอง

(ช) อกดินถวิลลำพองคิดปองฟ้าไกลพาให้ตรม ชวดชมแล้วซมซานเศร้า

(ญ) หวั่นกระไรฟ้าดินใจตรงกัน

(ช) แต่กระนั้นยังพรั่นมิเบา ไม่ทำให้เจ้าเฉา ไม่ให้เจ้าช้ำ อกดินถวิลครวญคร่ำ

(ญ) อกฟ้าระกำยิ่งกว่า

(ช) ไหว้วอนขอพรเทวา ให้ดินเสมอฟ้าที

(ญ) ถึงยามราตรี

(ช) ฟ้ามีแสงจันทร์

(ญ) ขอปันแสงจ้า

(ช) เมตตาให้ฟ้าโลมดิน แอบจูบลูบไล้ยุพิน จูบดินด้วยแสงจันทร์ส่อง

(ญ) เชื่อใจเพียงใคร่จะลอง ก็กลัวจะหมองมิวาย

(ช) ทุกทิวา

(ญ) ทุกราตรี

(ช) สองชีวี

(คู่) มิมีหน่าย ไม่สลายคลายรักเอย

                  เพลงฟ้ารักดินก็โด่งดังจากตอนโน้นเป็นต้นมา แม้ปัจจุบันในรายการคอนเสิร์ตตามเวทีต่างๆ
ก็ยังได้ยินเพลงนี้อยู่เสมอ


กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 15 พ.ค. 11, 12:40
          ได้เคยฟังเพลงนี้บันทึกเสียงในเวลาต่อมาโดยคุณกำธร และคุณอารีย์
แต่ในยูทูบ เป็นเสียงของ คุณชายถนัดศรี และคุณนํ้าผึ้ง

          นึกอยู่ว่า น้ำผึ้งไหน เมื่อได้ฟังเสียงแล้วจึงจำได้ว่า น้ำผึ้งคือชื่อเดิมของคุณนงลักษณ์ โรจนพรรณ
นักแสดงชื่อดังอีกคนหนึ่งของช่องสี่ บางขุนพรหม ครับ

เชิญรับฟังเพลงไพเราะ เพลงเอกประกอบละครขุนศึก ครับ

                http://www.youtube.com/watch?v=1MOo_FYucvY


กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 15 พ.ค. 11, 14:15
เรียนคุณศิลาครับ ผมได้ข่าวมาว่า บริษัททีวีซีนเตรียมจะสร้างละคร “ขุนศึก” ถ้าสำเร็จ ผมคนหนึ่งหละครับจะคอยดูตั้งแต่ตอนแรก เพราะนวนิยายเรื่องนี้ เปิดฉากอย่างเกริกไกร ณ เมืองแครง เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพ ครั้นตกพระโอษฐ์สิ้นพระราชดำรัส สำเนียงทวยทแกล้วทหารนับแสนก็โหมโห่กาหล ปืนไฟใหญ่น้อยคำรณนฤนาท ถ้าฉากเปิดเรื่องเขาสร้างดีก็จะดูต่อ แต่ถ้าไม่เหมือนในจินตนาการของผมซึ่งเกิดขึ้นจากภาพพจน์ที่ท่านไม้ เมืองเดิม นฤมิตอักษรไว้ ก็คงจะปิดทีวีแล้วเลิกกันครับ

   สารภาพกับคุณศิลาครับ คนรุ่นหลังอย่างผม เคยคุ้นกับเพลง “ขุนศึกกำสรวล” มากกว่า “ฟ้าโลมดิน” อยากทราบว่า เพลงนี้ ประพันธ์โดยครูเพลงท่านใดขอรับ

 


กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 16 พ.ค. 11, 09:53
             ชื่อเพลง ฟ้า"รัก"ดิน ครับ  ตามข้อมูลของทายาทผู้ประพันธ์ทำนองที่ระบุไว้ในความเห็นก่อน
                   คำร้องโดย ครูชาลี อินทรวิจิตร ทำนองโดย ครูแจ๋ว - สง่า อารัมภีร

             อายุของเพลงประมาณ 50 ปีแล้ว แต่ยังเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นเก่าเพราะความไพเราะของเนื้อและทำนอง
             ละครขุนศึกเมื่อประมาณกึ่งศตวรรษนั้นจัดเป็นตำนานของช่องสี บางขุนพรหมที่ปัจจุบันคือ ช่องเก้า อสมท. ครับ

              


กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 พ.ค. 12, 10:47
เรียนคุณศิลาครับ ผมได้ข่าวมาว่า บริษัททีวีซีนเตรียมจะสร้างละคร “ขุนศึก” ถ้าสำเร็จ ผมคนหนึ่งหละครับจะคอยดูตั้งแต่ตอนแรก เพราะนวนิยายเรื่องนี้ เปิดฉากอย่างเกริกไกร ณ เมืองแครง เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพ ครั้นตกพระโอษฐ์สิ้นพระราชดำรัส สำเนียงทวยทแกล้วทหารนับแสนก็โหมโห่กาหล ปืนไฟใหญ่น้อยคำรณนฤนาท ถ้าฉากเปิดเรื่องเขาสร้างดีก็จะดูต่อ แต่ถ้าไม่เหมือนในจินตนาการของผมซึ่งเกิดขึ้นจากภาพพจน์ที่ท่านไม้ เมืองเดิม นฤมิตอักษรไว้ ก็คงจะปิดทีวีแล้วเลิกกันครับ

ขุนศึกของทีวีซีนตอนแรก  (http://www.tv2clip.com/5463tv-%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3-%E0%B8%82%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81-%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%881-%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%81-%E0%B8%A2%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-01-%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1-2555.html) เริ่มแล้วเมื่อวาน (๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕)

เอาตอนแรกมาให้คุณชูพงศ์ตัดสินใจว่าจะเปิดทีวีดูต่อหรือไม่

http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=s7izb38PmEE

 ;D


กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 พ.ค. 12, 15:20
คำบอกเล่าจากคุณชุ่ม ณ บางช้างกล่าวเรื่องบุคลิกของ ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา (ไม้ เมืองเดิม) ว่า

"ก้านมีรูปร่างสันทัดคน ผมสั้นเกรียน ตาเสียไปข้างหนึ่ง ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นข้างซ้ายหรือข้างขวา ผิวค่อนข้างขาว แต่กร้าน

หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนวัดราชบพิตร อายุ ๑๒ ปี บิดาท่านนำไปฝากเข้ารับราชการอยู่ในสังกัดกรมมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๖ ราวพ.ศ. ๒๔๖๕ และท่านได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาเป็นระยะเวลา ๕ ปี จึงได้ลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ ซึ่งท่านอายุได้ ๑๗ ปีเพื่อประกอบทำงานส่วนตัว

แต่เมื่อลาออกแล้วก็มิได้เป็นไปตามที่คาดหวัง จึงกลายเป็นคนว่างงาน ในช่วงนี้เองจึงได้เที่ยวเตร่ไปตามหัวเมืองต่าง ๆ คบเพื่อนฝูงมาก และ "เริ่มติดสุราจนเป็นนิสัย" ซึ่งตรงนี้เองทำให้ท่านเข้ากับชาวชนบทได้เป็นอย่างดี อีกทั้งชนบทนั้นสมบูรณ์ด้วยสุราเถื่อนมากมาย

และในห้วงเวลาเดียวกันนี้เคยขึ้นไปสมัครงานสังกัดกองทาง จังหวัดเชียงใหม่ ในความควบคุมของหลวงยันตรกิจ ซึ่งเป็นช่วงก้านไม่สมหวังในความรัก และในระหว่างที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ได้เริ่มเขียนนวนิยายเรื่องยาว "ขุนศึก" และส่งลงมาตีพิมพ์ยังกรุงเทพฯ"

ข้อมูลจากวิเคราะห์เรื่องขุนศึก โดยสุวรรณ เชื้อนิล พ.ศ. 2520


กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 พ.ค. 12, 15:37
การวิเคราะห์เรื่องขุนศึก ของไม้เมืองเดิมนั้นท่านวิเคราะห์ไว้ว่า เรื่องขุนศึกนี้ท่านได้อิทธิพลจากเรื่องขุนช้างขุนแผน

ขุนแผนและเสมา มีชีวิตในวัยเยาว์ในเส้นทางเดียวกันคือ ร่ำเรียนวิทยาคมจากพระสงฆ์ โดยขุนแผนเรียนจากสำนักวัดป่าเลไลย์ ส่วนเสมาร่ำเรียนจากสำนักดาบวัดพุทไธสวรรค์ ต่างมีอาวุธคู่กายคือ ดาบฟ้าฟื้นในขุนแผน และดาบสองมือในเสมา


กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 พ.ค. 12, 16:51
สำนวนของไม้ เมืองเดิมสิ้นสุดตรงที่ หมื่นสินและสมบุญศิษย์รักของเสมา ได้ลอบทำร้ายหลวงณรงค์วิชิตและวิเศษไกรสรสองสหายจนสลบ หลวงณรงค์ได้รับบาดเจ็บ และงานมงคลการแต่งงานของหลวงณรงค์วิชิตและเรไรจึงเลื่อนกำหนดออกไป

สำนวนของสุมทุม บุญเกื้อ เริ่มที่ หลวงณรงค์วิชิต ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปทัพเพื่อช่วยเมืองเมาะลำเลิงรบกับพม่า


กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 พ.ค. 12, 18:00
       ขอคุยจากความทรงจำ

ขุนแผนประกอบคาถาอาคมแล้วจ้างครูดาบตีดาบด้วยเงิน ๑๕ ชั่ง  เป็นเงินจำนวนสูงประมาณค่าตัวธิดาเจ้าเมืองสุโขทัย
พ่อของขุนแผนมีตำราเก็บไว้ในตู้   แม่ยังอ่านออกเขียนได้สอนหลานต่อมา  แสดงว่ามีภูมิหลังทางทหารและมีตำราไสยศาสตร์
ตามความคิดของนักขับเสภาหลายคน

วันหนึ่งขุนแผนก็คบคิดกับมอญ(ลูกชายคนเล็ก)ยกทัพเข้ามาในพระราชอาณาจักรเพื่อล้างแค้นลูกชายคนโตที่ทวงบุญคุณพ่อ   จะเป็นอุบายประการใดก็โทษประหารทั้งสิ้น
เสียดายที่ได้เขียนเรื่องดำน้ำไว้เลอเลิศน่านับถือยิ่ง   เรื่องลุยไฟยังหาหลักฐานไม่ได้  นอกจากตอนนางสีดาลุยไฟ          
  

เวลาของเสมาเป็นระยะเวลากอบกู้เอกราช   บ้านเมืองยังไม่สงบ  ญาติพี่น้องแตกแยกไปตามหัวเมืองต่าง ๆ  ใช้ชีวิตยากเข็ญ    ไม่รู้จักกัน
เสมาเรียนพิชัยสงคราม  ท่องตำราการวางค่าย  การยกทัพข้ามภูมิประเทศต่าง ๆ เรียนการต่อสู้ป้องกันตัวจากสำนักดาบมาตรฐาน
เสมาเป็นผู้ใช้แรงงาน  ตีเหล็ก  อยู่หน้ากองไฟ   ไม่เข้าใจระเบียบราชการ  จึงโดนกลั่นแกล้งเมื่อแรกเข้ารับราชการ   เสมาอาศัยพระพุทธคุณเป็นที่พึ่ง
เมื่อเอ่ยถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   เสมาก็พนมมือเหนือเกล้า   พร้อมจะใช้ชีวิตเป็นราชพลี




คุณสมบัติของพระเอกเสภากับนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องขุนศึกที่เหมือนกัน คือ ความรักชาติ  พลีชีวิตเพื่อบ้านเมือง  ยอมรับโทษทัณฑ์
โดยสงบ


บุคคลิกของพระเอกแทบทุกคนของคุณชุ่ม ณ บางช้าง  เป็นผู้มีบุญมากำเนิด    มีของวิเศษที่อาจารย์เลี้ยงไว้ให้(ตำราเลี้ยงม้าหิน คือวางหญ้าไว้หน้าม้าเป็นเดือน เป็นปี
จนวิญญาณม้ามากำเนิด  คือกินหญ้า)
มีอมุษย์(ไม่ใช่คน)มาเห็นเมีย  
มีนางงามที่ชำนาญเพลงอาวุธมาช่วยรบ  และสร้างบ้านสร้างเมืองได้เมื่ออายุยังน้อยเกือบทั้งสิ้น   อ่านสนุก  


ผู้ชาย  สามแบบ      ฉากหลังคนละเวลา     อาวุธเกือบเหมือนกัน



กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 พ.ค. 12, 04:50


        ความรักและความผิดหวังในเรื่องขุนช้างขุนแผน  เป็นเรื่องดูดดื่มจับใจคนอ่านคนฟัง
คนท่องจำไว้ได้มาก  ไม่ว่าจะเป็นตอนอาบน้ำไขบัวตะกั่วทำ(บ่าวที่มีหน้าที่ตักน้ำในเรือนคงบ่นอุบในตอนเช้าว่าเล่นอาบน้ำเปลืองจัง) 
หรือสร้อยฟ้าเรียนรู้เรื่องการปรนนิบัติได้รวดเร็ว

เมื่อพระไวยนอนนึกว่าตอนแต่งงานจะเข้าห้องผู้หญิงคนไหนก่อน    คนอ่านคนฟังก็ถอนหายใจอิจฉาพระไวยตาม ๆ กัน
ทั้งเมื่อเรือเล็กแล่นเข้าอ่าวตื้น  หรือเรือสำเภากินใบออกทะเลไป     เป็นธรรมชาติอันงดงามที่ท่านผู้เขียนจินตนาการไว้


        ชาวบ้านชาวสวนที่กรำงานหนักมาทั้งวัน  แล้วมาฟังการขับเสภาก็เข้าใจได้ถึงความไพเราะของถ้อยคำและสำนวนของผู้ขับบางรายที่ "อร่อย" ถึงลือ
เมื่อมีการพิมพ์หนังสือ ขุนช้างขุนแผน ออกมา      ชาวบ้านร้านถิ่นก็ยินดีออกเงินอันหาได้ยาก  แลกซื้อไว้ให้ลูกอ่านให้ฟังที่บ้าน
หนังสือที่เริ่มพิมพ์ออกมาเป็นความรู้ และเรื่องแปล  จำนวนพิมพ์น้อยมาก  และรายได้จากสมาชิกไม่พอค่าพิมพ์ด้วยซ้ำไป


        ความรักของเสมาเป็นความภักดีของผู้ชายที่มองผู้หญิงที่สูงกว่า  ผู้ชายที่มีฝีมือในการรบที่ต้องฟันฝ่ากว่าจะได้แต่งงานออกเรือนกับนางข้าหลวงคนงาม
เหนื่อยยากสาหัสนัก


        จำได้ว่าเมื่อหนังสือออกมาไม่นานนัก  มีผู้วิจารณ์ว่า  ไม่สมจริงเพราะต้นจำปีที่ไหนจะโตขนาดนั้น        ข้าพเจ้าก็งงไปนานเพราะโตมาในบ้านที่มี
ต้นไม้สูงใหญ่ร่มรื่นทั้งบริเวณ   เมื่อวันก่อนก็ทอนจำปีและจำปาเสียสองต้นเพราะสูงใหญ่เกินเก็บ        ว่าจะเขย่าต้นพิกุลหน้าบ้านเก็บดอกมาฝากคุณหนุ่มสยาม
ก็ไม่มีแรงพอเพราะตื่นมาอ่านหนังสือแต่เช้าตรู่


กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 พ.ค. 12, 08:19
ขอบคุณคุณวันดีที่ตื่นเช้ามาอธิบายอีกครั้ง อันว่าจำปีและพิกุลนั้น กลิ่นหอมนั้นต้องทวนลมได้ฉันใด ความรักของเสมากับเรไรกลับทวนกระแสความรักง้องอนกันระหว่างชายหนุ่มและหญิงสาวได้อย่างมิรู้ลืม

แม้ว่าแหวนปากโมกน้อยจะเป็นวัตถุพยานแห่งรักทำให้มีอิทธิพลด้านกำลังใจให้ขุนศึกไชยชาญขุนพลออกรบโดยมิหวั่นเกรงอันตรายใด ๆ เพื่อที่จะกลับมาคืนแหวนให้กับคนรักได้ แต่อีกใจหนึ่งก็ถวายมอบให้แก่องค์พระมหากษัตริย์ผู้เป็นเจ้าชีวิตได้ในเพลาเดียวกัน

ต้นจำปีนั้นเป็นไม้ใหญ่ ลำต้นสูงแข็งแรง ไม้นำมาทำเครื่องเรือนได้ดีไม่แพ้ไม้สัก แต่คนถือคติทำนองไม้จำปี จำปานำมาใช้ทำมาใช้ทำของประเภทหนึ่ง เลยติไม่ยอมใช้ไม้จำปี ดั่งเครื่องดนตรีทางมอญใช้ในงานศพจนติว่าเครื่องมอญใช้กับงานอวมงคลเท่านั้น ต้นจำปีสูงใหญ่เกินกว่าตึก 5 ชั้น สูงเท่าตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอสก็เคยเห็นมาแล้ว

อยากได้กลิ่นดอกพิกุลพร้อมลูกพิกุลสีแดง ๆ นำมาขยี้เล่นเสียให้มันส์มือ

"ชมดอกไม้เบ่งบานสลอน, ฝูงภมรวะว่อนใฝ่หา.
ดอกพิกุลยี่สุ่นจำปา, ลมพัดพารำเพยขจร.
เกดกระถินส่งกลิ่นหอมฟุ้ง, กำจายจรุงระรื่นเกสร.
จันทน์กะพ้อช่างล่อภมร, ให้หลงเริงร่อนบินว่อนตอม"


กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 10 พ.ค. 12, 18:42
กราบขอบพระคุณคุณศิลา คุณหนุ่มสยาม และคุณวันดีเป็นพหุคูณครับที่เมตตานำข้อมูลมาเพิ่มเติม กระผมเห็นจะปล่อยให้ท่านผู้อื่นชม “ขุนศึก” ฉบับช่องสามยุค ๒๕๕๕ แทนแล้วหละครับ คุณน้าท่านเห็นเสมาสมัยโลกาภิวัตน์ ถึงกับออกปาก “ทำไมยังขาวอยู่เลย ขนาดไปย้อมมาแล้วนะเนี่ย” สิ่งที่ผมกำลังคอยดูต่อไป คือจะมีสำนักพิมพ์ไหนนำ “ขุนศึก” มาตีพิมพ์ใหม่หรือเปล่า พิมพ์ โดยไม่สนใจว่ากระแสละครจะดังหรือไม่ดัง พิมพ์ เพราะอยากให้คนรุ่นใหม่ซึ่งยังไม่เคยอ่านได้เสพอรรถรส ผมทราบว่า มีสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง เคยตีพิมพ์งานของท่านไม้ เมืองเดิม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่ผ่านมานี่เอง เขาพิมพ์ “นางถ้ำ” “บางระจัน” “สินในน้ำ” แหละ “ชายสามโบสถ์” ครับ ผมก็เลยซื้อนางถ้ำ กับชายสามโบสถ์ ให้ห้องสมุดสมาคมคนตาบอดแห่งชาติไปเรียบร้อย หวังว่า อีกไม่นาน จะเห็น “ขุนศึก” สิบเล่มจบ ใส่กล่องใหม่เอี่ยม รูปเล่มน่าพิศ น่าสะสมวางบนแผงหนังสือบ้าง จำได้ว่า สมัยช่องเก้าสร้างขุนศึก (พ.ศ. อะไรก็เลือนเสียแล้วครับ) ก็มีหนังสือตีพิมพ์ใหม่มาให้อ่านกัน ขายดีเสียด้วย ผมรำๆจะซื้อแล้วในตอนนั้น แต่ยังฟังผู้ชนะสิบทิศของท่านยาขอบไม่จบครับ จึงประวิงไว้ ซื้อ “บางระจัน” “สำเภาล่ม” “รอยไถ” “แผลเก่า” ของท่านไม้ เมืองเดิม มาเก็บแทน โชคดี แม่พระคงคาท่านเอื้ออนุกูล หนังสือชุดนั้นรอดจากมหาอุทกภัยปีกลายไปอย่างหวุดหวิดจวนเจียนเต็มที เพี่ยง... ถ้าขุนศึกพิมพ์ใหม่ ผมจะยุหนุนให้ห้องสมุดสมาคมคนตาบอดซื้อ ส่วนตัวเอง รอฟังเมื่อผลิตเป็นซีดีแล้ว คิดว่าสิบเล่ม คงบรรจุลงซีดีสักสองสามแผ่นกระมังครับ (มิใช่ขี้เหนียวไม่อยากซื้อเก็บไว้นะครับ แต่ น้ำท่วมปีก่อนสอนให้รู้ว่า ยิ่งหนังสือเยอะ ภาระขนย้ายยิ่งแยะ ครั้นน้ำลด กว่าจะจัดเข้าตู้หมด แทบกระอักครับผม)


กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 15 พ.ค. 12, 22:16
ผมขออนุญาตใช้กระทู้นี้ประกาศหาหนังสือเล่มหนึ่งของท่านไม้ เมืองเดิม เลยนะครับ

   ขณะนี้ ผมกำลังตามหานวนิยายเรื่อง “ทหารเอกพระบัณฑูร” ครับ ตั้งใจไว้ว่า จะซื้อเก็บเป็นสมบัติส่วนตัวเล่มหนึ่ง กับบริจาคให้ห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติอีกเล่มหนึ่ง จึงอยากทราบว่า พอจะหาซื้อได้จากที่ไหนครับ
 


คิดถึงคุณชูพงค์
ก็ได้มาำพบคำรำพึงรำพันว่าอยากจะได้ "ทหารเอกพระบัณฑูร" ไว้ครอบครอง
ไม่รอช้าลุงไก่ได้บังเอิญผ่านสถานที่คาดว่าจะพบ "อ้ายเดือน ออกหลวงกลาโหม" ทหารคู่พระทัยพระบัณฑูร คิดว่าจะหามาฝากคุณชูพงค์ให้ได้สามเล่มสมความรำพัน
อนิจจาเอย ... ปรากฎว่าเหลือเป็นเล่มสุดท้ายในร้าน ถ่ามไถ่ดูแล้ว ทราบมาว่าจะไม่พิมพ์ใหม่อีกแล้ว
หากคุณชูพงค์ไม่รังเกียจ ลุงไก่ก็จะขออ่านให้จบสักสามรอบก่อนจึงจะส่งมอบให้คุณชูพงค์
ก็คงจะสมคะเนของอ้ายเสมาเป็นแม่นมั่น
สำนวนของ "ไม้เมืองเดิม" นี่อ่านยากชะมัด ผมก็เพิ่งได้เคยอ่านเป็นครั้งแรกเสียด้วย
อ่านสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังยังง่ายกว่าตั้งแยะ

คิดว่าจะทำเป็นหนังสือเสียงให้คุณชูพงค์ได้ฟัง ก็เกรงไปว่าสำนวน ลีลาการอ่าน จะออกไปทางแนวของคุณวีระ ธีรภัทร ตอนจัดรายการวิทยุ แบบตามใจผู้จัด ขัดใจผู้ฟัง
คุณชูพงค์จะทนฟังได้หรือเปล่า?

สำหรับหนังสือชุดสิบเล่ม "ขุนศึก" นั้น ที่้ร้านยังมีเหลืออีกหลายชุด ผมกะ่ว่าต้นเดือนหน้าจะไปถอยออกมาหนุนหัวนอนแทนหมอนให้ได้เป็นแม่นมั่น

หลังไมค์มาหาผม คงจะสมดังจินตนา หรือจะให้ผมโทรไปหาที่ทำงานก็ได้ ไม่คิดค่าโทร



กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 17 พ.ค. 12, 15:06
กระผมกราบขอบพระคุณคุณลุงไก่เป็นอย่างสูงยิ่งครับที่เมตตา แต่คุณลุงมีอัญมณีไว้ประดับเรือนแล้ว ผมมิบังอาจแม้แต่ขอยืมบรรณทรัพย์ล้ำค่าจากคุณลุงหรอกครับ ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ผมจะยึดสุภาษิตข้อนี้ ตามหา “ทหารเอกพระบัณฑูร” ของท่านไม้ เมืองเดิม ตามกำลังความสามารถของตนสืบไป เชื่อว่าสักวันคงได้มาครับผม



กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ดีเจกบ ที่ 21 พ.ค. 12, 16:32
คุณชูพงศ์ค่ะ ยังคงอยากได้หนังสือ ทหารเอกพระบัณฑูรย์ อยู่หรือปล่าวคะ ดิฉันได้มาเพราะความบังเอิญ
จึงตั้งใจที่จะแบ่งปันให้คุณชูพงศ์ 1 เล่มค่ะ :D


กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 22 พ.ค. 12, 10:07
เรียนคุณดีเจกบครับ

   ผมขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งครับที่คุณเมตตา ความอยากได้หนังสือ “ทหารเอกพระบัณฑูร” บทประพันธ์ล้ำค่าของท่านไม้ เมืองเดิม สารภาพตามตรงว่ายังมีอยู่ครับ แต่ลดความปรารถนาเฉพาะตัวเองลงแล้ว ที่ยังเหลือคือ อยากเสาะแสวงนวนิยายเล่มนี้เข้าห้องสมุดหนังสือเสียงของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยเพื่อหาอาสาสมัครอ่านลงซีดีต่อไปครับ ตัวผมนั้น รอฟังเมื่อซีดีเสร็จเห็นจะเหมาะกว่า ไม่ต้องรบกวนญาติผู้ใหญ่ทางบ้านท่านด้วย เพื่อนๆคนตาบอดอีกมากมายก็จะพลอยได้ฟังเช่นกันครับ
 


กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 พ.ค. 12, 10:48
คุณชูพงศ์ค่ะ ยังคงอยากได้หนังสือ ทหารเอกพระบัณฑูรย์ อยู่หรือปล่าวคะ ดิฉันได้มาเพราะความบังเอิญ
จึงตั้งใจที่จะแบ่งปันให้คุณชูพงศ์ 1 เล่มค่ะ :D

น้ำใจคุณดีเจกล มากหลาย ขอขอบคุณอีกแรงที่ช่วยเหลือคุณชูพงค์ ยังไงก็ช่วยอึดต่ออีกนิดได้ไหมครับ ทำบุญด้วยคลิปเสียงอัดเสียงเรื่องทหารเอกพระบัณฑูรย์ เป็นอะไรที่ท้าทายจริง ๆ ครับ

ผมก็ไม่รู้ว่าการอ่านหนังสือแบบนี้ ต้องมีเสียงประกอบม้าวิ่ง กุ๊บ ๆ ดาบฟันเช้ง ๆ ด้วยหรือไม่ เพื่อเพิ่มอรรถรส ตลอดจนน้ำเสียงการเจรจา ชาย หญิง ต้องทำให้เหมือนจริง ดุดัน หวาน ซึ้ง ตรงนี้ต้องรบกวนคุณชูพงค์ช่วยอธิบายประกอบ และกรณีที่ไม่สามารถเดินทางไปที่ห้องอัด บ้านคนตาบอดได้ เราอัดคลิปเสียงอัดเป็นไฟล์ด้วยตนเองที่บ้าน แล้วส่งให้คุณชูพงศ์อ่านก็น่าจะทำได้นะครับ


กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: ดีเจกบ ที่ 22 พ.ค. 12, 13:12
ตามที่คุณหนุ่มสยามแนะนำน่าสนใจมากค่ะรอคุณชูพงศ์มาตอบ ถ้าไม่มีอะไรยุ่งยากก็จะทำไปให้คาะ เพราะยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่น่าสนใจนำมาอ่านให้
ฟังค่ะ อาทิเช่น หนังสือพระราชนิพนธิ์ของสมเด็จพระเทพฯ เป็นต้น :-[


กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 22 พ.ค. 12, 16:19
เรียนคุณหนุ่มสยาม คุณดีเจกบ ตลอดจนทุกท่านผู้มีการุณยเจตนาครับ

   ก่อนอื่น กระผมขอขอบพระคุณในความปรานีของทุกท่านที่มีประสงค์จะถ่ายทอดข้อความในหนังสือสู่พวกเราคนตาบอดเพื่อเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ให้กว้างไกลสดใสขึ้น ข้อซึ่งคุณหนุ่มสยามถามว่า จำเป็นต้องอ่านให้สมบูรณ์ราวกับละครวิทยุหรือไม่นั้น คำตอบคือ ไม่จำเป็นครับ เสียงเดียวนี่แหละ หากอ่านชัดเจนทุกอักขระ ไม่ดังหรือเบาเกินไป ไม่ช้าหรือเร็วเกินควร ใส่ลีลาเล็กน้อยพอให้ได้รสชาติบ้าง มิใช่อ่านอย่างเด็กท่องหนังสือ พวกเราก็ติดกันงอมแงมครับ แต่ เรื่องการผลิตนั้น มันมีขั้นตอนอยู่ครับ เพื่อความถูกต้องตามมาตรฐาน ผมขออนุญาตเรียนว่า ขอท่านผู้เปี่ยมจิตอนุกูลโปรดสละเวลาของท่านไปเยือนห้องสมุดคนตาบอดแห่งชาติสักครั้งหนึ่งเถิดครับ สำหรับเรียนรู้วิธีใช้โปรแกรม เรามีโปรแกรมผลิตหนังสือเสียงโดยเฉพาะเพื่อให้หนังสือเล่มนั้นสะดวกต่อการนำไปใช้ประโยชน์มากที่สุดครับ อีกทั้งมีหลักเกณฑ์การอ่าน เพื่อที่ว่าหนังสือซึ่งท่านลงแรงอ่านนั้นจะได้ผ่านเกณฑ์การตรวจพิจารณาให้บริการคนตาบอดยืมสมประสงค์ ที่นั่น หากท่านใดจะขอฟังหนังสือเสียงตัวอย่างสำหรับเป็นต้นแบบก็มีพร้อมสรรพครับ

   ท่านที่สนใจ โปรดติดต่อ
ห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย  หมายเลขโทรศัพท์ ๐๒ ๒๔๖-๓๘๓๕ ต่อ ๒๐๒ ขอสายคุณวาสนา กลีบเมฆ (หัวหน้าฝ่ายผลิต) คุณผจงจิต ช่างเสนาะ (ผู้ช่วยคุณวาสนา) คุณศักดิธร อุบลวัฒน์ (เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจหนังสือ) คุณชลทิพย์ ยิ้มย่อง (ผู้ตรวจหนังสือร่วมกับคุณศักดิธร) เบื้องต้น ไต่ถามข้อมูลจากคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนรวมกันก็ได้ครับ

   อันที่จริง ผมมีหนังสือเสียงเรื่อง “นางถ้ำ” บทประพันธ์ของท่านไม้ เมืองเดิม ผลิตเรียบร้อยแล้ว เป็นตัวอย่างของหนังสือเสียงที่มีคุณภาพ แต่ตัวเองทำคลิปก็ไม่เป็น จึงมิรู้จะส่งซีดีให้ท่านอย่างไร ต้องกราบขอประทานอภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

ด้วยคารวจิตต่อทุกท่าน
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ



กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: djkob ที่ 29 พ.ค. 12, 21:03
คุณชูพงศ์ที่เคารพ

      จะกรุณาทำเป็น COPY ให้สัก 1 แผ่นได้หรือไม่คะ เพราะอยากฟังมากค่ะ จะฝากที่อยู่ไว้ให้ส่งมาทางไปรษณีย์จะสะดวกไหม๊คะ
วันนี้ได้ไปที่ห้องสมุดเสียงของคนตาบอดมาแล้วค่ะ น่าสนใจมากค่ะ จะพยายามศึกษาโดยเร็วจะได้รีบอ่าน ทหารเสือพระบัณฑูรย์ ได้ให้ฟังกันค่ะ   8)


กระทู้: ขอความรู้เกี่ยวกับนวนิยาย "ขุนศึก" ของ ท่านไม้ เมืองเดิม ครับ
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 30 พ.ค. 12, 13:51
เรียนคุณดีเจกบที่เคารพครับ

   ผมนำความจำนงของคุณเรียนหัวหน้าฝ่ายผลิตของห้องสมุดแล้ว ท่านให้คำตอบมาว่า ห้ามสมาชิกทำสำเนาซีดีจากห้องสมุดครับ แม้แต่จะสำเนาให้เพื่อนตาบอดด้วยกันก็มิได้ หากท่านใดประสงค์จะได้หนังสือเสียง ต้องติดต่อขอทำสำเนาด้วยตัวเองครับ ทั้งนี้ เพราะทางห้องสมุดเคยมีบทเรียนมาก่อน นั่นคือ ซีดีหนังสือเสียง “เพชรพระอุมา” บทประพันธ์ของท่านพนมเทียน มีคนก็อปปี้นำไปจำหน่ายหารายได้เข้าตัวครับ คนตาดีที่ซื้อไปก็ช่างกระไรเลย พวกคุณมีตาอ่านหนังสือ ถ้าให้เหตุผลว่าหนังสือแพงเพราะหลายเล่ม จะยืมห้องสมุดประชาชนอ่านก็มิใช่เรื่องยาก ทำไมมาเบียดบังคนตาบอดเล่า ทางห้องสมุด จึงจำเป็นต้องตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาครับผม