เรือนไทย

General Category => ทันกระแส => ข้อความที่เริ่มโดย: heha ที่ 18 พ.ย. 17, 16:32



กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 18 พ.ย. 17, 16:32
อ่านข่าวนิตยสารขวัญเรือนจะอำลาแผงฉบับธันวาคม 2560 นี้เป็นฉบับสุดท้าย
ด้วยความใจหายและเสียดาย
สตรีสารไปนานแล้ว สกุลไทย พลอยแกมเพชร แล้วก็ขวัญเรือน

บ้านเพื่อนผมเป็นเอเย่นต์ นสพ. ประจำจังหวัด เคยขายได้วันละ 4,000 ฉบับ
คิดง่ายๆ ว่าฉบับหนึ่งกำไร 1 บาท (คิดราคาส่งให้แก่สายมอเตอร์ไซค์ที่รับไปส่งบ้านเรือนแต่ละย่าน)
ก็อยู่สบาย แต่มาระยะหลังเพื่อนเริ่มบ่นว่ายอดขายลดลง คนหันไปอ่านข่าวทางเน็ต
นิตยสารแพงๆ เช่น 70-100ื บาท ปกหนึ่งปักษ์หนึ่งสั่งไม่เกิน 2-5 เล่ม
นักอ่านอยากได้ต้องโทรสั่ง เพราะเอเย่นต์ บางปกต้องซื้อขาด คืนไม่ได้

ข้อสังเกต
1) ถ้าทยอยกันปิดตัวลงเรื่อยๆ เท่ากับว่าเวทีสำหรับนักเขียนหน้าใหม่จะค่อยๆ น้อยลง
ผมหวั่นๆ อยู่ว่าแล้วเราจะค้นพบช้างเผือกเชือกใหม่ได้ทางไหนครับ
คงต้องจัดประกวดงานเขียน เพื่อให้งานของตนเองออกไปสู่โลกภายนอกกระมังครับ

2) ผมสังเกตว่านิตยสารที่เป็นเรื่องเป็นราว อยู่ไม่ได้ (อาจเพราะราคาสูง)
แต่นิตยสารที่เล็งกลุ่มแม่บ้านและนักอ่านระดับชาวบ้านกลับอยู่ได้ (ราคาราวยี่สามสิบบาท)
ดังนั้นราคาน่าจะเป็นปัจจัยตัวหนึ่ง

3) ไม่ใช่แต่ไทยที่ประสบปัญหา ต่างประเทศก็แย่ครับ
เอาข่าวสารขึ้นเน็ต ทำให้ฉบับกระดาษยอดหด
แก้ปัญหาโดยการให้นักอ่านจ่ายค่าสมาชิก แล้วลอกอินเข้าไปอ่าน
ผลคือกร่อย คนไม่อ่าน ทำให้นักเขียนที่เคยเป็นแม่เหล็กดูด ขาดแฟนติดตาม
จนเว็บนั้นต้องเปิดให้อ่านฟรีเหมือนเดิม ใช้สปอนเซอร์ออนไลน์ช่วย แต่ก็ไม่ดีดังเดิม
บางเว็บถึงกับร้องขอให้นักอ่านช่วยจ่ายโดยสมัครใจ หากยังต้องการอ่านสิ่งดีๆ

4) เมื่อเศรษฐกิจฟื้น เราจะเห็นฉบับใหม่ (อาจทีมเดิมๆ) เปิดตัวใหม่มั้ยครับ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 17, 17:35
เพิ่งเขียนไว้ใน Facebook  ในเรื่องเดียวกันพอดี
เชิญอ่าน และเชิญออกความเห็นค่ะ

ฝันร้ายของคนรักหนังสือ/สิ่งพิมพ์ (๑)

นิตยสารขวัญเรือนปิดตัวลงไปอีกฉบับหนึ่งแล้ว ย้ำเตือนให้คนในสังคมไทยเห็นชัดขึ้นอีกครั้งว่า โลกหนังสือที่เรารู้จักกันมาตลอดศตวรรษที่ ๒๐ จะมาถึงจุดหักเหขนาดใหญ่ในศตวรรษที่ ๒๑ จนถึงขั้นไม่มีวันกลับคืนไปเหมือนเดิมอีก
ไม่อยากจะทำนายให้ใจฝ่อกัน เพราะตัวผู้เขียนเองก็ใจฝ่อไม่น้อยกว่าใคร แต่อดคิดไม่ได้ว่า สิ่งที่จะจากไปเป็นอันดับต่อไปคือหนังสือเล่ม เพราะคนจะไม่หยิบหนังสือขึ้นมาอ่านหน้าแล้วหน้าเล่า ตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้าย อย่างออกอรรถรส บางครั้งก็ดื่มด่ำจนลืมกินลืมนอน ทั้งหมดนี้ กำลังจะถูกเก็บลงหีบที่ชื่อว่า "อดีต" เช่นเดียวกัน

ถ้าอย่างนั้น คนรุ่นศตวรรษที่ ๒๑ เขาอ่านอะไร?
คำตอบก็มีให้เห็นกันอยู่แล้วตามถนนหนทาง ในรถไฟฟ้า ในลิฟต์ ในคิวรอรถตู้ ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัยฯลฯ ทุกคนก้มลงอ่านหน้าจอเล็กๆขนาดไม่เกินฝ่ามือ บรรจุถ้อยคำสั้นๆ อ่านจบได้ในหน้าเดียว หรืออย่างมากก็สองหน้า นอกนั้นเป็นภาพเสียส่วนใหญ่
หน้าจอเป็นตัวกำหนดการเขียนการอ่าน ให้คนยุคดิจิทัล ต้องอ่านอะไรสั้นๆ เขียนอะไรสั้นๆ สั้นที่สุดเท่าที่นิ้วจะจิ้มลงไปได้สะดวก บางทีก็มีสติกเกอร์สำเร็จรูปพร้อมคำเอาไว้ให้จิ้มแทนคำตอบ ไม่ยุ่งยากต้องพิมพ์

ผลก็คือ คนยุคดิจิทัล จะเรียบเรียงข้อความยาวๆไม่เป็น แม้แต่การสร้างประโยคก็กลายเป็นเรื่องยาก ไม่ต้องพูดถึงการเขียนอะไรเป็นเรื่องเป็นราว เอาให้เขียนได้แค่ ๑ หน้ากระดาษ A 4 ก็เกือบจะล้มตายกันไปตามๆกัน
ในเมื่อสื่อสารกันด้วยภาษาแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว ภาษาใหม่ก็จะเกิดขึ้น เป็นภาษาคำเดียว หรือสองสามคำ โดดๆ ง่ายๆ สั้นๆ ไม่ต่อเนื่อง เอาเป็นว่าอ่านแล้วรู้กันระหว่างคนพิมพ์กับคนอ่านก็พอแล้ว ส่วนคนอื่นๆจะรู้หรือไม่ ไม่ต้องคำนึงถึง
หนังสือจะกลายเป็นของตกยุคที่คนยุคดิจิทัลไม่อ่าน นอกจากถูกบังคับให้อ่าน การสื่อสารแบบเดิมคือเขียนอย่างถูกต้องทั้งรูปประโยคและภาษาที่เหมาะสม กลายเป็นสิ่งที่ยากเย็นเกินกว่าจะทำได้ แล้วมันก็จะหมดไปเอง
โลกที่ไม่มีหนังสือ มีแต่หน้าจอแคบๆ จะทำให้หลักสูตรวิชาภาษาและวิชาที่เกี่ยวกับการสื่อสาร พลิกคว่ำถล่มทลายจนไม่เห็นเค้าเดิม

ขอตื่นจากฝันร้ายแค่นี้ก่อนค่ะ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 17, 17:36
ฝันร้ายของคนรักหนังสือ/สิ่งพิมพ์ (๒)

ในประเทศไทย ถ้าถามถึงจำนวนคนรักหนังสือ กับคนไม่หนังสือ อย่างไหนมีมากกว่ากัน
คำตอบนี้แทบจะไม่ต้องเสียเวลาคิด เพราะคำพูดที่ว่า คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๘ บรรทัด แพร่หลายมานานแล้ว ยังไ่ม่มีใครค้านจนบัดนี้
เมื่อโลกดิจิทัลขยายตัว สถิติ ๘ บรรทัดอาจจะยิ่งน้อยลงไปอีก เพราะคนจำนวนมาก พบว่า่เฟซบุ๊ค ไลน์ และทวิตเตอร์ ก็เพียงพอแล้วสำหรับการใช้สายตาในยามว่าง นอกเวลาทำงาน
เพราะมันตอบสนองสิ่งที่หนังสือให้ไม่ได้ คือการสื่อสารสองทาง ขณะที่หนังสือเป็นการสื่อสารทางเดียว

นอกจากนี้ ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไปจากศตวรรษก่อน ทำให้ในโลกของหนุ่มสาวเต็มไปด้วยความเปลี่ยวเหงา ชนิดการสื่อสารทางเดียวไม่อาจถมให้เต็มได้
ในศตวรรษก่อน วัยรุ่นยังอยู่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว จนโตเป็นหนุ่มสาว เรียนจบแต่งงานแล้วบางคนก็ไม่แยกบ้าน หรือแยกก็ยังไปมาหาสู่กันอยู่สม่ำเสมอ การสื่อสารสองทางจึงเป็นของปกติในชีวิตประจำวัน
แต่ในยุคนี้ เด็กออกจากบ้านมาอยู่หอพักกันมากมาย ตั้งแต่มัธยมปลายจนระดับมหาวิทยาลัย เรียนจบแล้วก็ยังไม่กลับไปอยู่กับพ่อแม่ ส่วนใหญ่ต้องการชีวิตอิสระมากกว่าอยู่ในสายตาผู้ใหญ่
หนุ่มสาวเหล่านี้มีอยู่มากที่เช่าห้องอยู่ตามลำพัง ถ้าหาคู่ไม่ได้ เพราะวันๆมัวแต่ทำงาน ไม่มีโอกาสพบปะใครนอกสถานที่ทำงาน การพบผู้คนผ่านทางหน้าจอมือถือ เป็นทางออกที่ง่ายสุด
หรือไม่ บางคนมีคู่แล้ว แต่ก็อยากรู้จักคนใหม่ๆโดยไม่ต้องเหนื่อยไปแสวงหาถึงที่ไหน ก็ทำได้ผ่านมือถือนี่เอง
ระหว่างคุยกับคนใหม่ๆที่รู้จักกันง่ายดาย กับการนั่งอ่านหนังสืออยู่คนเดียวในห้องพัก อย่างไหนจะสร้างรสชาติให้ชีวิตมากกว่ากันสำหรับคนหนุ่มสาว เราก็คงได้คำตอบไม่ยาก

บทบาทของหนังสือในชีวิตประจำวันจึงหายากขึ้นทุกที ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็นเล็กๆ เช่น เมื่อที่อยู่อาศัยลดขนาดลงเหลือแค่ห้องพัก เนื้อที่จำกัดจำเขี่ย การเก็บหนังสือมากๆก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว หนังสือเล่มหรือสิ่งพิมพ์ต้องหลีกทางให้ของใช้ประจำวันอยู่ดี
หนังสืออีเล็กทรอนิกส์ที่ไม่กินที่ เพราะมีอุปกรณ์อันเดียวสามารถอ่านหนังสือได้เป็นหมื่นเป็นแสนเล่ม น่าจะเป็นคำตอบสำหรับข้อนี้


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 18 พ.ย. 17, 19:34
เห็นด้วยกับท่านอาจารย์ทุกบรรทัดครับ


เมื่อวานเย็นวันศุกร์ ไปรับทานอาหารปิ้งย่าง ประจวบเหมาะกับทหารต่างชาติที่มาร่วมฝึกได้เบรคเสาร์อาทิตย์
ออกมารับทานเช่นกัน เด็กวัยรุ่นอายุราว 20 จำนวน 12 คน ใส่แว่นตาเสีย 10 คน
เลยสงสัยว่าเพราะเพ่งจอดิจิตัลรึเปล่า เลยทำให้สายตาไปพร้อมเพรียงกันเช่นนี้

หนังสือเล่ม นิยายฝรั่งพอคเก็ตบุคเล่มละ 3-6 ดอลลาร์ จะได้รับผลกระทบบ้างหรือเปล่า น่าคิดนะครับ
หนังสือนวนิยายแบบ 300-800 หน้าของไทย จะถูกหางเลขบ้างเปล่า
คงอีกไม่นานก็ทราบครับ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 17, 20:21

หนังสือเล่ม นิยายฝรั่งพอคเก็ตบุคเล่มละ 3-6 ดอลลาร์ จะได้รับผลกระทบบ้างหรือเปล่า น่าคิดนะครับ
หนังสือนวนิยายแบบ 300-800 หน้าของไทย จะถูกหางเลขบ้างเปล่า
คงอีกไม่นานก็ทราบครับ

ความพ่ายแพ้เชิงธุรกิจของสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ Barnes & Noble ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1873   คงจะเป็นคำตอบได้ส่วนหนึ่งค่ะ
หนังสือนวนิยายไทยตอนนี้ ถ้าไม่ได้ทำละครทีวี ก็คงเกิดยากกว่าเก่ามาก   เพราะไม่มีสื่ออย่างนิตยสารเป็นสนามให้โชว์ฝีมือ และให้ผู้จัดละครมองเห็นพล็อตตั้งแต่แรกลง


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 19 พ.ย. 17, 09:59
Barns & Nobles ไปเสียแล้วหรือครับ ผมเพิ่งทราบนี่แหละ
แต่ก่อนเคยเป็นแฟนเมล์ออร์เดอร์  สั่งหนังสืออัตของเชอร์ชิลแ
ะบทบาทของท่านตอนสงครามโลกอย่างเพลิดเพลิน

ความช่ำชองและเชี่ยวกรากในธุรกิจการพิมพ์ ถือลิขสิทธิ์นับพันปก
ตลอดเวลากว่า 100 ปี สนพ ก็ไม่อาจต้านคลื่นซึนามิดิจิทัลที่ถาโถม
กวาดล้างสื่อสิ่งพิมพ์ให้หายวับชั่วพริบตา




กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 17, 10:59
Barnes &Noble ยังไม่ถึงกับม้วนเสื่อไปโดยสิ้นเชิง  แต่ก็ยอมรับความพ่ายแพ้เชิงธุรกิจ เพราะไปแข่งขันกับอเมซอน ในเรื่องค้าแทบเล็ตแล้วสู้ไม่ได้   ขาดทุนมากกว่า 475 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2014 
ตอนนี้ก็ปิดสาขาไปเยอะค่ะ   ไม่รู้ว่าจะต่อลมหายใจไปได้อีกนานเท่าไร  ยังหาข่าวล่าสุดไม่เจอ



กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 19 พ.ย. 17, 12:21
เดี๋ยวนี้นิยายไทยขายออนไลน์กันหมดแล้ว แต่ผมไม่รู้จะซื้อเล่มไหนอ่านดี น้องเมีย-บำเรอ-มาเฟีย-เจ้าชาย เหมือนกันไปหมด เลยกะมาเก็บของเก่าร่วมร้อยเล่มให้หมดเสียก่อน ปัญหาก็คือไม่มีเวลาจะอ่าน บร๊ะ!!


ส่วนนิยายไปเป็นละครก็มักจะมาจากสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ซึ่งยังแข็งแกร่งมาก ที่จะสอดแทรกเข้ามาได้จากนิยายเขียนออนไลน์ต้องดังระเบิดระเบ้อจริง ๆ ทางฝั่งนิยายเมืองนอกผมว่าตลาดเขาแข็งโคตร บางประเทศอ่านหนังสือกันหมดยังไงก็ขายออก ประกอบกับนักเขียนส่วนมากพยายามรักษาคุณภาพตนเอง คนก็เลยตัดสินใจจ่ายเงินได้ง่ายไม่ต้องคิดมาก


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 17, 12:56
ก็เช่นเดียวกับ Barnes&Noble ละค่ะ    ร้านหนังสือในไทยจะได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์ ที่กวาดนิตยสารจมหายกันมาแล้ว
ร้านเล็กๆจะเจอศึกหนักก่อน    ต่อมาก็คือร้านใหญ่หลายสาขา เปิดตามศูนย์การค้า    ถ้าไม่ปรับรูปแบบก็อาจจะไปไม่รอดในระยะยาว
สำนักพิมพ์ ก็อยู่ในรัศมีของคลื่นเช่นกัน    สำนักพิมพ์เล็กๆจะเจอศึกหนักกว่าสำนักพิมพ์ใหญ่ เพราะสายป่านสั้นกว่า  อาจจะเหนื่อยในการจัดอีเว้นท์ หรือโฆษณาผลงานในโซเชียลมิเดีย

รูปแบบของหนังสือเล่ม จะกลายมาเป็นอีบุ๊คเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีข้อสงสัย    บางที อีบุ๊คอาจจะถึงขั้นแทนที่ก็ได้  แต่คงไม่ใช่วันนี้พรุ่งนี้  ให้เวลา 5 ปี ก็จะรู้หมู่รู้จ่ากัน

ส่วนอาชีพนักเขียน.... :'( :'( :'(


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 17, 13:18
ในศตวรรษที่ ๒๑  โลกที่เรารู้จักจะถูกดูดกลืนเข้าไปในวัตถุอิเล็กทรอนิกส์ ขนาดเท่าฝ่ามือที่เราพกพาติดตัวอยู่    มันจะกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ขนาดที่ว่าวันไหนลืมเอาติดตัวไปทำงาน หรือเครื่องช็อต หรือหาย    เราจะทำอะไรไม่ได้เลย  มีอาการยิ่งกว่าถูกลักตัวพาไปปล่อยเกาะกลางทะเลเสียอีก
ทุกอาชีพ ต้องอาศัยสมาร์ทโฟน  ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้นอาจจะพัฒนาเป็นจีเนียสโฟนไปแล้ว  เพราะมีแอ๊พอะไรต่อมิอะไรเข้ามาบันดาลทุกสิ่งในชีวิต  ให้ไม่ต้องกระดิกตัวยิ่งกว่านี้
ในโลกปัจจุบันและอนาคต  สมาร์ทโฟนช่วยให้ทำธุรกรรมการเงินโดยไม่ต้องขับรถไปธนาคาร    จะจ่ายเงิน โอนเงิน เช็คยอดเงินเข้าเงินออก ไล่ตามหาลูกหนี้ ฯลฯ ทำได้แค่ปลายนิ้ว 
มือถือมีแอ๊พตรวจสุขภาพของเราอย่างละเอียด  และบังคับได้ด้วยว่าวันนี้กินอะไรได้ กินอะไรไม่ได้บ้าง    จะทำนายทายทักโรคที่มีแนวโน้มจะเป็น และป้องกันไม่ให้เป็นด้วยวิธีไหน    จะกำหนดอาหารสุขภาพไว้ให้เสร็จรวมทั้งบังคับให้ออกกำลังกาย เดินวันละกี่พันก้าว ก็ว่ากันไป   ถ้าไม่ทำตามนั้น มันจะฟ้องไปถึงบริษัทประกันสุขภาพให้เรียกค่าประกันชีวิตเพิ่ม   และหน่วยงานควบคุมสุขภาพประชาชนของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อมีผลต่อบำเหน็จบำนาญ
สำหรับหนอนหนังสือ ถ้าอยากจะรู้ประวัติของนโปเลียน เจงกิสข่าน   หรือบูเช็กเทียน  จะละเอียดแค่ไหนก็ควานหาได้จากในมือถือนี่แหละ  เพราะมันจะโยงเข้ากับข้อมูลในห้องสมุดใหญ่ๆทั่วโลก   นอกจากนี้ถ้าอยากรู้รายละเอียดเฉพาะเรื่อง   กูเกิ้ลก็จะเนรมิตมาให้ได้ในพริบตา  ไม่ต้องเปิดหนังสืออ่านหน้าแล้วหน้าเล่า หมดไป ๒๐๐ หน้ากว่าจะหาพบ อย่างเมื่อก่อน
การศึกษานอกห้องเรียน ไม่ได้จำกัดเฉพาะจบม. ๖ อีกแล้ว  จะเรียนจนจบปริญญาเอกที่ฮาร์วาร์ดหรือออกซฟอร์ดก็ยังได้  โดยนั่งอยู่ที่บ้านในกรุงเทพนี่แหละ   เพราะยังไงเสีย ในศตวรรษที่ ๒๑ นี้  การเรียนออนไลน์จะต้องเปิดในทุกมหาวิทยาลัย   ยิ่งในประเทศใหญ่ๆที่ใครๆก็อยากไปเรียน     มหาวิทยาลัยจะมีรายได้ไหลมาเทมาจากการเรียนออนไลน์    ขอเพียงแต่มีสติปัญญาพอเรียนตามหลักสูตรเขาทัน  และมีสตางค์พอจะจ่ายค่าเทอม 
เด็กนักเรียนไม่ต้องกวดวิชาตั้งแต่เข้าเตรียมอนุบาลยันม.๖ อย่างยุคนี้  เพราะมหาวิทยาลัยมีที่ว่างมากมายไม่มีขอบเขต ให้เรียนอยู่ที่บ้าน หรือจะแวะไปคณะก็ไม่มีใครว่า    อยากเข้าที่ไหนเอานิ้วจิ้มชื่อคณะได้เลย  ส่วนจะเรียนจบไม่จบ ว่ากันอีกเรื่อง

ไว้แค่นี้ก่อนค่ะ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 19 พ.ย. 17, 14:20
ต่อไปหนังสือที่ระลึกงานศพ อาจเป็นดิจิตัลไฟล์บนแผ่นซีดี เพราะถูกกว่าเปเปอร์เวอร์ชั่น


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 17, 15:08
น่าจะมีแล้วนะคะ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 19 พ.ย. 17, 16:12
เศร้าครับ ร้านซีเอ็ดบุ๊ค ที่ผมทำงาน ทยอยปิดสาขา เพราะคนซื้อหนังสือน้อยลง

https://pantip.com/topic/37103499


ร้านหนังสือในร้านฮาร์ดแวร์เชนใหญ่ระดับประเทศ สาขาใกล้บ้านผม เจียนอยู่เจียนไป
ภาวนาอย่าปิดเลย เอาไว้เดินแก้เหงา


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 17, 16:33
คุณเฮฮาสังเกตไหมคะ  ว่าในกระทู้ที่คุณลิ้งค์มาให้นั้น  หนอนหนังสือที่เข้ามาตอบ เกือบทุกคนบอกว่าซื้อหนังสือน้อยลงกว่าก่อน หรือไม่ก็ไม่ได้ซื้อมาพักใหญ่แล้ว
นี่ก็คือคำตอบว่าทำไมร้านหนังสือถึงทยอยจากไป
เมื่อการอ่านฟรีเข้ามาในมือถือ    การอ่านเสียเงินก็ต้องถอยออกไป

เมื่อ 21 เมษายน 2556    เรายังจัดงาน “กรุงเทพมหานคร เมืองหนังสือโลก 2556” อยู่เลย   ผ่านมา 4 ปี  ปรากฎการณ์ในเมืองหนังสือโลก คือนิตยสารทยอยปิด ร้านหนังสือทยอยปิดกันเป็นแถวๆ    
อ่านพบข่าวทีไรก็ใจหาย

ไม่รู้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะลุกขึ้นมาทำอะไรกันบ้างหรือยัง ก่อนจะไม่เหลือหนังสือใหม่ในเมืองหนังสือโลกอีก


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: rozicki ที่ 20 พ.ย. 17, 11:02
สวัสดีครับ อย่างนั้นผมคงเป็นคนตกยุค ที่ยังฟังเพลงจากแผ่นเสียง กับอ่านหนังสือ pocket book อยู่อย่างมีความสุข
 วันหยุดเสาร์-อาทิตย์นี่ อ่านหนังสืออยู่บ้านทั้งวันยังได้ครับ เพลินดีด้วย นี่ก็ว่าจะพาลูกสาวไปหอสมุดแห่งชาติ สอนให้รู้จักการสืบค้นหนังสือครับ ตั้งมั่นไว้ว่าอย้างไรเสีย ก็อยากให้ลูกรักการอ่านครับ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: unicorn9u ที่ 20 พ.ย. 17, 11:45
พอได้รู้ก็ยิ่งใจหาย
ตอนเด็ก เติบโตมากับ บางกอก สกุลไทย หญิงไทย ขวัญเรือน ที่อาศัยอ่านของแม่ จนติด และอ่านทุกตัวอักษรไม่เว้นโฆษณา
อ่านจนจำได้ว่าฉบับไหน วางแผงวันไหน และคอยเร่งแม่ให้ไปซื้อ

ยุคนี้ ไปที่แผงหนังสือแล้วสะท้อนใจ สงสัยกลับไปบ้านคงต้องรื้อของเก่าๆมาอ่านระลึกความหลัง


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 20 พ.ย. 17, 12:50

ตอนเด็ก เติบโตมากับ บางกอก สกุลไทย หญิงไทย ขวัญเรือน ที่อาศัยอ่านของแม่ จนติด...
ยุคนี้ ไปที่แผงหนังสือแล้วสะท้อนใจ สงสัยกลับไปบ้านคงต้องรื้อของเก่าๆมาอ่านระลึกความหลัง


ผมไปอัพเดทรายชื่อหนังสือที่ยังมีชีวิต (ชีวา?)
เล่มที่คล้ายขวัญเรือน ยังมีอยู่หนึ่งปกครับ
เล่มที่คล้ายพลอยแกมเพชร ก็ยังมีอยู่อีกหนึ่งปก เป็นของค่ายใหญ่ สายป่านน่าจะยาว
เมื่อคู่แข่งเหลือน้อยลง หวังว่าวิกฤตจะกลายเป็นโอกาสยืดลมหายใจ


ข้างบ้านผมสมัยก่อนเป็นร้านทำฟันแบบจีน
รับ "สตรีสาร" ให้คนอ่านขณะรอคิว ผมวิ่งเข้าออกบ้านหมอฟัน พลิกอ่านคอลัมน์ที่ชอบ
เป็นเรืองสำหรับเด็กเขียนโดยคุณบรรจบ พันธุเมธา (ถ้าจำไม่ผิด)

มาได้ยินชื่อท่านอีกทีจากคุณเพ็ญชมพู ที่แนะนำ "กาเลหม่านไต"
ผมสั่งหนังสือมาแล้ว คารวะความบากบั่นของท่านที่บุกป่าฝ่าอัสสัมเมื่อห้าสิบกว่าปีก่อน
ปัจจุบันยังแย่ ถนนหนทางสมัยก่อนไม่รู้ว่าจะแย่แค่ไหน
ที่อ่านกาเลหม่านไตแล้วหงุดหงิดนิดนึง คือท่านอาจารย์บรรจบเอ่ยชื่อเมืองเป็นภาษาไทย
ต้องอ่านไปนึกไปว่าตรงกับชื่ออังกฤษอะไร เช่น อ๋อ Dibrugarh
บางทีก็ถอดไม่ออกว่าคือเมืองอะไรแน่
อัสสัมอยู่ปลายจมูก ไปกี่ครั้งก็สนุกทุกครั้ง คราวหน้าจะตามรอย อ. บรรจบ ครับ

นิตยสาร สตรีสาร ได้รับรางวัลพระเกี้ยวทองคำ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในฐานะนิตยสารส่งเสริมภาษาไทยดีเด่น เมื่อปี พ.ศ. 2530 จนดำเนินการถึงปี 2539 จึงได้ปิดตัวลงไป (วิกิ)
ประเทศไทยยังต้องการนิตยสารดีๆ ที่ช่วยส่งเสริมภาษาไทย
ถ้าสื่อที่ส่งเสริมภาษาไทยทยอยปิดลง อีกหน่อยภาษาไทยของเยาวชนจะแย่
คงจะเป็นเหมือนอาจารย์เทาฯ กล่าวไว้ คือ ห้วนๆ สั้นๆ สไตล์แชท
บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร สาธกโวหาร และเทศนาโวหาร คงสูญสิ้น



กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 20 พ.ย. 17, 13:49
“เนชั่นสุดสัปดาห์” ฉบับสุดท้ายก่อนลาแผง “เทพชัย” ชี้ “พายุออนไลน์” เกินกำลังสื่อจะรับได้

https://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9600000056378

ทั้งนี้ พายุของความเปลี่ยนแปลงลูกล่าสุด ดูจะเกินกำลังของคนในวงการสื่อไทยที่จะรับมือได้
ความจริงมันไม่ได้ถาโถมใส่เฉพาะสื่อในประเทศไทยเท่านั้น แต่สื่อทั่วโลกก็โดนกระหน่ำกันถ้วนหน้า
ทุกวันนี้สื่อสิ่งพิมพ์ไม่ได้มีความหมายต่อสังคมมากเหมือนที่เคยเป็น เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ทำให้
เราเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารได้ทุกที่ทุกเวลา เราสามารถรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้แทบจะทันที
ผ่านทางโทรศัพท์มือถือโดยไม่ต้องเดินไปที่แผงหนังสือ หรือเปิดเครื่องรับโทรทัศน์ด้วยซ้ำ
คนรุ่นใหม่แทบไม่แตะหนังสือพิมพ์ด้วยซ้ำ เพราะทุกอย่างที่อยากรู้อยากเห็นวิ่งเข้ามาหาผ่านทางมือถือ
หรือเครื่องมือสื่อสารยุคใหม่ในรูปแบบอื่นๆ ตลอดเวลา
      
       “เนชั่นสุดสัปดาห์ เห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ และได้พยายามปรับตัวมาตลอด เราเป็นสื่อแรกๆ
ที่ขยายตัวเข้าไปในโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดีย เพื่อให้เข้าถึงท่านผู้อ่านได้รวดเร็วและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
แต่แม้กระนั้นก็ตาม การปรับตัวของเราก็ไม่สามารถช่วยให้เรายืนต้านกระแสความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ต่อไปได้
ด้วยยอดผู้อ่านที่ลดลง และการสนับสนุนจากบรรดาสปอนเซอร์ที่หันเหไปหาสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง
ทำให้เราต้องตัดสินใจทำในสิ่งที่เราพยายามหลีกเลี่ยงมาตลอด เราจำเป็นต้องยุติเนชั่นสุดสัปดาห์
ในรูปแบบของนิตยสารรายสัปดาห์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราจะยุติบทบาทการรายงานและวิเคราะห์
เหตุการณ์บ้านเมือง” นายเทพชัย กล่าว

------------

เล่มที่ยังแข็งแรง (รายวันหรือสัปดาห์) มีคนจอดรถถามซื้อ เป็นประเภทมือเท้าเข่าศอก
ช่วงไหนปิดฤดูกาลยอดก็ตก วันไหนมีแข่งก็คึกคัก การพนันก็มีส่วน
หนังสือพวกนี้เป็นประเภทรายงานผล วิเคราะห์ ได้เสีย อัตราต่อรอง มิใช่ประเภทส่งเสริมภาษาไทยเป็นแน่


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ย. 17, 22:02
เพิ่งรู้จากค.ห.นี้เองว่าเนชั่นสุดสัปดาห์จากไปอีก ๑ รายแล้ว
เครือเนชั่นถือว่าเป็นยักษ์ใหญ่ตนหนึ่งในวงการ  มีแขนมีขาหลากหลายราวกับทศกัณฐ์    เมื่อต้องตัดแขนขาออกไปบ้างอย่างตอนนี้ก็ทำให้คนอ่านใจหายเป็นธรรมดาค่ะ

จริงที่คุณเทพชัยว่า  ส่วนสำคัญที่สุดของข่าวสารที่คนต้องการเสพ คือความรวดเร็วฉับไวของข่าว    มือถือรายงานข่าวได้เร็วกว่าสิ่งพิมพ์หรือแม้แต่โทรทัศน์    สมมุติว่ามือปืนกำลังกราดยิงผู้คนอยู่ในซีกโลกตะวันตกโน้น   แทบว่ากระสุนยังไม่หมดแม็ก   ผู้รอดตายก็ส่งภาพหรือคลิปวิดีโอเข้าโซเชียลมิเดียได้ทันเหตุการณ์แล้ว    โทรทัศน์อาจจะแจ้งข่าวด่วนตามมาทันภายในครึ่งชั่วโมง   ส่วนหนังสือพิมพ์ต้องรอจนเช้า   ถึงตอนนั้น ข่าวก็ไม่น่าตื่นเต้นอีกต่อไป

ทางรอดของหนังสือพิมพ์ ตอนนี้ก็คงจะมีออนไลน์ไปก่อน   หล่อเลี้ยงโดยสปอนเซอร์  เพราะคนอ่านชินกับของฟรีอยู่แล้ว


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 20 พ.ย. 17, 22:38
การเมืองรายสัปดาห์เหลือ ๒ ปก คือ มติชน และสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ครับ

ปล หากวารสารจะอำลาแผง กรณีที่นิยายแต่ละเรื่องยังไม่รูดม่าน
เขาทำอย่างไรครับ



กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ย. 17, 08:29
นักเขียนก็เขียนต่อจนจบ   แล้วให้สนพ.รวมเล่มค่ะ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ย. 17, 08:38
ฝันร้ายของคนรักหนังสือ/สิ่งพิมพ์ (๓)

สาเหตุสำคัญอีกอย่างที่ทำให้หนังสือและสิ่งพิมพ์เสียเปรียบออนไลน์ ก็คือ  ในโลกออนไลน์ ทุกอย่างฟรี    แต่ในโลกที่สื่อสารด้วยกระดาษ ทุกอย่างมีราคาค่างวด
ถ้าคุณรับหนังสือพิมพ์ ๓-๔ ฉบับทุกวัน  อ่านนิตยสารเดือนละ ๒-๓ เล่ม   ซื้อหนังสือเล่มอีกด้วยเวลาไปร้านหนังสือ   ค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวมแล้วหลายพันบาทต่อเดือน    แต่ถ้าคุณหาอ่านทั้งหมดนี้ออนไลน์  มันฟรี  เสียเพียงค่ามือถือรายเดือนเดือนละไม่กี่ร้อยเท่านั้น
สำหรับหนุ่มสาวรายได้ขั้นต้นเดือนละ ๒-๓ หมื่น   ส่วนต่างของทั้งสองอย่างนี้มีความหมายกับพวกเขามาก    เขาก็ถอยจากการอ่านที่ต้องเสียเงินไปสู่การอ่านฟรี   นอกจากนี้เขาอาจพบว่า ข่าวสารต่างๆที่ลงในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร ก็เอาไปจากโลกโซเชียลนั่นเอง  ถ้าเป็นงั้นก็เลิกซื้อ อ่านฟรีโดยตรงดีกว่า
ชีวิตทำงานของคนยุคนี้ ไม่ได้เริ่มแค่เช้าถึงเย็น  แต่เมื่อบวกการเดินทาง ชาวกรุงเริ่มตั้งแต่ก่อนสว่างไปจนถึงมืด  บางทีก็ดึก   คนต่างจังหวัดอาจจะใช้เวลาเดินทางน้อยกว่า  แต่งานทั้งราชการและเอกชนบางแห่งไม่ว่าจังหวัดไหน กินเวลารวมไปถึงเสาร์อาทิตย์ด้วย  ในรูปของการอบรม สัมมนา ปฏิบัติการ  ดูงาน ฯลฯ สารพัดอย่าง
ทั้งหมดนี้ต่อให้เป็นคนรักหนังสือยังไงก็หอบหิ้วหนังสือติดตัวไปด้วยไม่ไหว     เวลาว่างน้อยนิดขณะเดินทาง หรือพักผ่อนก่อนเข้านอน อ่านอะไรจากมือถือดูจะง่ายและสะดวกที่สุด   ติดต่อกับแฟนหรือพ่อแม่พี่น้องทางบ้านก็ง่าย
วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว  เปิดทางให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท  รูปแบบการอ่านเดิมๆก็ถูกเบียดแทรกจนตกเวทีไป

หนังสือที่พิมพ์ด้วยกระดาษ ต่อไปจะเป็นความบันเทิงใจเฉพาะกลุ่ม คือกลุ่มคนสูงวัย หรือหนุ่มสาวที่ชอบอ่านอะไรยาวๆ และไม่อยากเคืองตากับแสงหน้าจอ    แต่คนกลุ่มนี้ ก็ต้องมีเงินในกระเป๋ามากพอจะอุดหนุนราคาหนังสือ ที่ยิ่งพิมพ์น้อยลงราคาอาจจะแพงมากขึ้นด้วย


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ย. 17, 19:14
การเมืองรายสัปดาห์เหลือ ๒ ปก คือ มติชน และสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ครับ

ปล หากวารสารจะอำลาแผง กรณีที่นิยายแต่ละเรื่องยังไม่รูดม่าน
เขาทำอย่างไรครับ

ตอบไปข้างบนนี้แล้วว่า นักเขียนก็เขียนไปจนจบ แล้วส่งสำนักพิมพ์รวมเล่มค่ะ
ตอบไปแล้วนึกได้ว่า น่าจะขยายความได้อีกหน่อย ก็คือ การสิ้นสุดของนิตยสาร ไม่ได้มีผลกระทบกระเทือนแค่ผู้บริหารและทีมงานเท่านั้น
นักเขียนไม่ว่านวนิยายหรือคอลัมน์ประจำก็โดนซึนามิถล่มไปเต็มๆ
พูดถึงด้านนวนิยาย   รายได้หลักมาจากการเขียนเป็นตอนๆ    รายได้จากการรวมเล่ม(ถ้าไม่ได้พิมพ์เองขายเอง) มีน้อยกว่าหลายเท่า
นอกจากนี้ การเขียนเป็นตอนๆ เท่ากับการประชาสัมพันธ์นวนิยายไปด้วยในตัว สำหรับผู้จัดละครโทรทัศน์    แค่อ่านไม่กี่ตอน ก็อาจเกิดความสนใจ ขอจองหรือขอซื้อไว้ก่อนเรื่องจะจบก็ทำได้
เมื่อไม่มีสนามนิตยสารจะลง   ผู้จัดละครก็ไม่รู้ว่าจะไปตามอ่านนวนิยายใหม่ๆของนักเขียนเหล่านั้นได้ที่ไหน  ก็ทำให้เกิดทางตันสำหรับนักเขียนขึ้นมาเช่นกัน


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 22 พ.ย. 17, 22:34
ขอบคุณครับ

อาจารย์พอทราบไหมครับ ลิขสิทธิ์ของนิยายที่ไปทำละครทีวี
ราคา "ต่ำสุด" ที่เคยมีการตกลงกัน เป็นเลขกี่หลักครับ
ไม่นับเรืองท่ปลอดลิขสิทธิ์ที่เอาไปทำฟรีได้


ปล. หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่ยังอยู่ตกสำรวจไป 1 ฉบับ
คือ ผู้จัดการรายสัปดาห์


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ย. 17, 09:42
เคยอ่านพบใน pantip ว่านักเขียนใหม่ได้ค่าลิขสิทธิ์เป็นเลข ๕ หลักค่ะ  แต่จะหลักมากหลักน้อย ไม่ทราบเหมือนกัน ไม่เคยถาม
ส่วนเงื่อนไขอื่นๆก็แล้วแต่จะตกลงกัน    ส่วนใหญ่ทางช่องจะมีฟอร์มสัญญามาให้เซ็น  แต่นักเขียนส่วนน้อยบางคนเป็นข้อยกเว้น คือมีสัญญาของตัวเอง
สัญญาพวกนี้คือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์  ไม่ใช่สัญญาขายลิขสิทธิ์    ถ้าขายลิขสิทธิ์ไป เท่ากับผลงานหลุดลอยจากนักเขียนไปเลยค่ะ

กฎหมายบ้านเราเก็บภาษีค่อนข้างแรงกับค่าลิขสิทธิ์ อาจเป็นเพราะเห็นว่าต้นทุนซึ่งเป็นนามธรรม เช่นแรงสมอง ประสบการณ์ชีวิต การค้นคว้าฯลฯ ไม่นับเป็นต้นทุนทางรูปธรรมได้  ไม่เหมือนการผลิตสินค้าทั่วไปที่มีต้นทุนจับต้องได้   
นอกจากนี้สำนักพิมพ์ต่างๆก็มีการหักค่าใช้จ่ายในการพิมพ์สูงมาก   รวมทั้งค่าสายส่งด้วย    ผิดกับอเมริกา นักเขียนได้ 50/50 กับสำนักพิมพ์  พิมพ์จำหน่ายทั่วโลกด้วย  เรียกว่าถ้าเป็นนักเขียนเบสเซลเลอร์ ก็เป็นเจ้าสัวไปตามๆกัน    แต่ภาษีเขาก็โหดกว่าของเรามากเช่นกัน

กลับมาทางวงการหนังสือไทย    มองในแง่ธุรกิจ  การเปลี่ยนจากสิ่งพิมพ์เป็นเทคโนโลยี  จะว่ามีผลลบโดยสิ้นเชิงกับนักเขียนก็ไม่ใช่   เพราะทำ e book คิดกำไรเป็น %  นักเขียนได้มากกว่าพิมพ์เล่มกระดาษหลายเท่า   แต่คนอ่านอีบุ๊คยังมีน้อยกว่าคนอ่านหนังสือเล่มค่ะ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: สองล้อ ที่ 05 ธ.ค. 17, 18:43
นิยายสมัยใหม่ก็แบบว่านะครับทำแบบขอไปที ไม่ได้เกิดความรู้สึกน่าอ่านเลย ผมเองคอนิยายกำลังภายในสมัยนี้ก็ไม่ได้ซื้ออ่านแล้วครับ หนังสือแบบเป็นเล่มเองก็ซื้อเก็บเฉพาะที่ชอบจริงๆ อีกข้อการละเมิดลิขสิทธิ์ก็ทำกันง่ายมากกว่าเดิม อ่านฟรีดูฟรีก็มีคนใจดีคอยแจก มีคนสปอยล์ไว้
คิดไปก็ลำบากพอดูเลยต้องหันไปอ่านนิยายต่างประเทศแทน ถึงแม้จะไม่เก่งภาษาก็พองูๆปลาๆไปได้ เลยจัดเจ้า amazon kindle มาก็สะดวกสบายดีครับไม่ต้องไปนั่งเดินเลือก ไม่ต้องลุ้นว่ามีของไหม สภาพเล่มยับเยินเพียงใด จ่ายเงิน โหลด อ่านจบ แค่นั้นเอง ความรู้สึกจับต้องเล่ม ความเป็นเจ้าของมันก็เลยค่อยๆเสื่อมหายไป


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ธ.ค. 17, 20:18
เคยอ่านหนังสือผ่านอุปกรณ์พวกนี้เหมือนกันค่ะ     เขาคุยว่าแสงมันถนอมสายตามากกว่าหนังสือ   แต่ความเคยชินทำให้รู้สึกว่ารูปเล่มไม่เหมือนกัน จะพลิกหน้ากระดาษก็ไม่มีให้พลิก 
แต่อีกหน่อย หนังสืออาจหายากขึ้น  ก็ต้องกลับไปเลื่อนหน้าจอเอาละค่ะ

สิ่งที่ดีคือหนังสือคลาสสิคเก่าๆที่หาซื้อในรูปเล่มกระดาษได้ยากเย็นมหาศาล  แถมฉบับได้มายังเก่าคร่ำคร่า   เขาถ่ายลงจอให้อ่านง่ายขึ้นเยอะ  แถมยังหาได้สะดวกอีกด้วย  อ่านฟรีหรือไม่ก็เสียเงินน้อยกว่าซื้อเล่มอีกต่างหาก


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: สองล้อ ที่ 05 ธ.ค. 17, 21:39
เคยอ่านหนังสือผ่านอุปกรณ์พวกนี้เหมือนกันค่ะ     เขาคุยว่าแสงมันถนอมสายตามากกว่าหนังสือ   แต่ความเคยชินทำให้รู้สึกว่ารูปเล่มไม่เหมือนกัน จะพลิกหน้ากระดาษก็ไม่มีให้พลิก 
แต่อีกหน่อย หนังสืออาจหายากขึ้น  ก็ต้องกลับไปเลื่อนหน้าจอเอาละค่ะ

ใช่ครับอาจารย์ ผมเองแต่ได้มาก็ไม่ค่อยใส่ใจอ่านนัก เพราะมันคนละอารมณ์กัน อ่านจากจอภาพมันก็แปปๆ เบื่อ เลยหันไปซื้อหนังสือเล่มเข้ามาทับกันอีก ทีนี้ซื้อไปซื้อมาเริ่มรู้สึกผิดกับเจ้า หนังสือบนจอ เลยต้องอ่านจนเกิดความเคยชินไป กลายเป็นติดนิสัยสบาย ไปไหนมาไหนไกลๆเมื่อก่อนต้องพกนิยายไปหลายๆเล่ม เดี๋ยวนี้ก็ เครื่องเดียวจบ ไม่หนัก


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ธ.ค. 17, 09:46
คนรุ่นที่เกิดในยุคมิลเลนเนียม ตอนนี้ก็โตเข้าสู่วัยรุ่น 17 ปีแล้ว  น่าจะคุ้นกับหนังสือจากจอมากกว่าหนังสือเล่ม   ที่สำคัญคือพกพาสะดวก อย่างที่ว่า


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 06 ธ.ค. 17, 13:11
ต่อไปคิดว่าจะมีนักเขียนอาชีพย้ายค่ายไปเขียนลง นสพ รายวัน บ้างไหมครับ
เช่น นวนิยายประจำวันอาทิตย์ หรือจันทร์ ทำนองนี้ครับ

ปล. แต่ นสพ. รายวัน เขามักมีเรื่องย่อละคร ลงเป็นตอนๆ อยู่แล้ว อาจซ้ำซ้อนกัน


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ธ.ค. 17, 13:57
ไม่น่าจะมีนะคะ
ผู้อ่านกลุ่มเป้าหมายของน.ส.พ.รายวันไม่ใช่คอนวนิยาย     แต่เป็นผู้เสพข่าวสารและคอลัมน์การเมือง/สังคม    มีคอละครทีวีอยู่ส่วนหนึ่งด้วย  จึงมีเรื่องในละครทีวีหลังข่าวลงตอบสนองคนอ่านกลุ่มนี้
หลายสิบปีมาแล้ว  น.ส.พ.บางฉบับอย่างไทยรัฐเคยลงนิยายไทยเป็นตอนๆและนิยายกำลังภายใน      แต่นั่นก็หลายสิบปีแล้ว  ความนิยมก็คงเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
การปิดตัวของนิตยสารเก่าแก่ยาวนานอย่างบางกอก และสกุลไทย ตลอดจนนิตยสารอื่นๆที่อายุยืนนานมาหลายทศวรรษ  เป็นการยืนยันได้ว่าคนอ่านยุคนี้มีทางเลือกความบันเทิงที่ไม่ใช่นิยายเป็นตัวนำอีกแล้วค่ะ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: naga ที่ 07 ธ.ค. 17, 07:54
จำความได้ ก็มีสกุลไทยเป้นพี่เลี้ยง โตมาอีกหน่อยมีเพื่อนชื่อ ดิฉัน และตามด้วยเพื่อนใหม่ พลอยแกมเพชร ครั้นวัยศีกษาได้เพื่อนสนิทใหม่ สารคดีและศิลปวัฒนธรรม


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: TreeSira ที่ 08 ธ.ค. 17, 10:04
ความที่โลกยังคงหมุนอยู่
ก็เลยทำให้พัฒนาการหลายๆ ด้านยังคงเดินหน้าของมันต่อไป
เมื่อก่อนมีใครเคยรู้ว่า จะเอากล่องเหล็กใส่ปีก ขึ้นไปบินบนฟ้าได้อย่างไร

เมื่อก่อนผมก็เป็นสมาชิกหนังสือหลายเล่ม
พอมาอายุปูนนี้ ก็ต้องโล๊ะหนังสือเก่าไปถวายห้องสมุดวัดเสียมากต่อมาก เพราะไม่มีที่จะเก็บ

ทุกวันนี้ก็อาศัย download หนังสือที่เขาอนุญาตให้ download มาเก็บไว้
หาง่าย... ไปไหนก็อ่านได้ เพราะอยู่ในโทรศัพท์


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: TreeSira ที่ 08 ธ.ค. 17, 10:11
https://archive.org/details/thaicremationcopy

อันนี้เอามาแบ่งปันกันครับ
ผมได้ "ของ" ดีๆ จากที่นี่เยอะมาก
ขอขอบคุณท่าน มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ธ.ค. 17, 10:33
ขอบคุณค่ะ ที่นำมาแบ่งปัน
ดิฉันก็ได้อาศัยหนังสือในลิ้งค์นี้เยอะเหมือนกัน  ไม่ต้องไปถึงธรรมศาสตร์


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ธ.ค. 17, 08:53
ล่าสุด  ข่าวเศร้าของร้านหนังสือ   ดอกหญ้าสยามสแควร์ประกาศปิดตัวสิ้นเดือนนี้

สู้ค่าเช่าไม่ไหว! ร้านหนังสือ “ดอกหญ้า” สาขาสยามฯ หมดสัญญาเช่าสิ้นเดือน ธ.ค.นี้
14:37น. 8 ธ.ค. 2560

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/71283


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 09 ธ.ค. 17, 15:40
ข่าวนิตยสารดิฉันปิดตัว!? ทำหลายคนช็อก ฉบับสุดท้ายส่งท้ายปี

https://mgronline.com/celebonline/detail/9600000124129


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 09 ธ.ค. 17, 15:51
ไมาทราบว่าคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน และนิเทศฯ มหาวิทยาลัยต่างๆ
เขา downsizing ด้านการเรียนการสอนวารสาร (publishing) บ้างไหมครับ
ด้วยเหตุผลว่าตลาดรองรับแรงงานหดตัวลง
หรือว่างานวารสารเป็นพื้นฐานวิชาชีพที่สำคัญไม่ว่าบัณฑิตจะไปทำงานองค์กรไหน
ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไรมาก

นานมาแล้ว ผมไปเยี่ยมพี่ที่ทำงานในซานฟราน
ตกเย็นเรานั่งรถไฟกลับบ้านพี่ที่ซานโฮเซ ห่างไป 50-60 ไมล์
ผมจะซื้อ นสพ. อ่านเล่นฆ่าเวลา แต่พี่บอกให้รอสักครึ่งทาง เดี๋ยวมีของฟรี
พอคนเริ่มทยอยลงรถไฟ เขาทิ้ง นสพ. กรอบบ่ายไว้เกลื่อนรถ
พอรถไฟสุดสาย คนลงหมด นสพ. เกลื่อนรถ ไม่มีใครหอบเอาไปอ่านต่อที่บ้าน
ภาพแบบนี้ ปัจจุบันแทบมองไม่เห็น เพราะคนอ่านข่าวจากโทรศัพท์


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ธ.ค. 17, 16:26
คุณเฮฮาเคยอ่านเจอข่าวนี้หรือยังคะ
อธิการบดี ม.กรุงเทพ ลั่นไม่ได้ยุบวารสารศาสตร์ - พบปรับโครงสร้างใหม่ “บรอดแคสต์ติ้งและวารสารศาสตร์ดิจิทัล”
https://www.manager.co.th/OnlineSection/ViewNews.aspx?NewsID=9600000081475

MGR Online - “เพชร โอสถานุเคราะห์” อธิการบดี ม.กรุงเทพ ปฏิเสธตัดสินใจปิดภาควิชาวารสารศาสตร์ แนะรอคณบดีและฝ่ายวิชาการชี้แจง อีกด้านพบปรับโครงสร้าง เปลี่ยนชื่อเป็น “ภาควิชาบรอดแคสต์ติ้งและวารสารศาสตร์ดิจิทัล”
       
       ความคืบหน้ากรณีที่มีรายงานว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จะยุบภาควิชาวารสารศาสตร์ในคณะนิเทศศาสตร์ ไปรวมกับภาควิชาวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์แทน พร้อมกับได้มีการโยกย้ายอาจารย์ประจำภาควิชาวารศาสตร์ กระจายไปยังภาควิชาอื่นๆ โดยจะมีการประกาศถึงการปิดภาควิชาดังกล่าวในเร็วๆ นี้ กระทั่ง ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ชี้แจงต่อศิษย์เก่า ว่า ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้ยุบภาควิชาวารสารศาสตร์ แต่เป็นการรวมหลักสูตรกับภาควิชาวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
       
       วันนี้ (10 ส.ค.) มีรายงานเพิ่มเติมว่า นายเพชร โอสถานุเคราะห์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Petch Osathanugrah” ระบุว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ไม่เคยตัดสินใจปิดภาควิชาวารสารศาสตร์ อย่าเชื่อข่าวโคมลอย โดยให้ติดตามการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการจากคณบดีและฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยอีกครั้ง
       


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 09 ธ.ค. 17, 16:42
ขอบคุณครับ

ไม่่ถึงกับ close down
แต่คงเป็น down size

เพราะนักเรียนคงลงทะเบียนเรียนวารสารน้อยลง
ทางคณะคงต้องทำฉลากใหม่  เปลี่ยนชื่อภาควิชาให้ทันกระแส
ไม่ถึงกับเลิกจ้าง แต่อาจโอนย้ายบุคลากรไปทางดิจิตัล



ปล เมื่อเดือนที่แล้ว ผมไปแผงหนังสือเพื่อน
เพื่อนบอกแต่ว่าขวัญเรือนลาโรง แต่ไม่เห็นพูดว่าดิฉันก็รูดม่านด้วย เงียบเชียบจัง


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ธ.ค. 17, 18:02
   "ภาควิชาบรอดแคสต์ติ้งและวารสารศาสตร์ดิจิทัล"   ชื่อภาควิชาบอกทิศทางของการสื่อสารได้ชัดว่าจะไปทางไหน   นศ.ที่เรียนจบถึงจะหางานทำในยุคนี้ได้นะคะ
   ยุคนี้น่าจะเป็นการสิ้นสุดของนิตยสาร/วารสารที่พิมพ์ลงกระดาษ    ต่อไปนิตยสาร/วารสาร ออนไลน์น่าจะเติบโตขึ้นเช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ออนไลน์ทั้งหลาย
    ฝรั่งหรือญี่ปุ่นที่นั่งรถไฟพลางอ่านหนังสือ(พิมพ์)  ในเจนเนอเรชั่นต่อไปคือนั่งอ่านข่าวและเรื่องราวทั้งหลายจากมือถือแทน


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 09 ธ.ค. 17, 18:12
เราต้องทำนายอนาคตไปอีกหน่่อยนึงว่า
สื่อดิจิตัลจะมีรายได้ทางโฆษณาเท่านั้น
หรือสามารถเก็บค่าอ่านได้ด้วย (ถ้าทำได้ก็สุดยอด)


อยากทราบว่ายักษ์ใหญ่แบบ Times และ Newsweek
ประสบปัญหาเล็กน้อย หรือมากถึงขั้นบัลลังก์สะเทือนไหมครับ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ธ.ค. 17, 18:59
        การสื่อสารออนไลน์เริ่มต้นด้วยของฟรี    เพื่อให้คนติด     ต่อไปติดแล้วไม่มีทางเลือกอื่น คงมีการจ่ายกันบ้าง เพราะเดี๋ยวนี้โอนเงินไปทั่วโลกง่ายแค่บอกเลขบัตรเครดิต   ผิดกับเมื่อก่อน ต้องไปถึงธนาคาร กรอกโน่นกรอกนี่กว่าจะโอนกันได้ 
       ยังไม่ได้ข่าวจะว่ายักษ์จะเซหรือไม่นะคะ    ต้องคอยดูกันต่อไป    ถ้าได้ข่าวแล้วจะกลับมาบอกในกระทู้ค่ะ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ธ.ค. 17, 20:00
ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในโลกดิจิทัลที่จะเข้ามาแทนโลกอนาล็อคที่เรารู้จักกันมาในศตวรรษก่อน พิสูจน์ถึงคำของชาร์ลส์ ดาร์วินที่ว่าไว้เรื่อง Survival of the fittest   รูปแบบหนังสือที่เราคุ้นเคยมาตั้งแต่เกิด ถูกเบียดแทรกด้วยรูปแบบใหม่  แต่เนื้อหาอาจไม่ต่างไปจากเดิมเท่าไรนัก
คือถ้าไม่ยึดติดกรอบเดิม   เราก็จะได้อ่านข่าวเหมือนเดิม   เพียงแต่เลื่อนปลายนิ้วผ่านจอ ไม่ได้พลิกหน้ากระดาษกรอบแกรบ
อยากอ่านนิยายดังๆ ก็จะอ่านออนไลน์  ซื้ออีบุ๊ค    เพราะถ้านักเขียนไม่หันมาทางนี้กัน  ยังคงยึดถือการพิมพ์ขายทีละ 2000-3000 เล่มต่อครั้ง ก็จะมีแต่นักเขียนยอดนิยมเท่านั้นที่อยู่รอด ไม่จมหายไปในกระแสดิจิทัล
แทนที่จะมีสำนักพิมพ์ มีบก.คัดเลือกกลั่นกรองเรื่อง อย่างเมื่อก่อน    นักเขียนอาจจะต้องทำ blog  หรือมีเว็บอิสระของตัวเอง  รู้วิธีหาสปอนเซอร์  และหารายได้จากคนอ่านโดยตรง 

เคยอ่านพบว่านักเขียนรุ่นใหม่คนหนึ่ง ทำงานหารายได้สะสมไว้แล้วนำเงินนั้นมาพิมพ์หนังสือขายเอง   หนังสือขายได้น้อยมาก  เงินก็สูญ กำลังใจก็ร่อยหรอ     นึกเห็นใจเธอมาก แต่ความที่ไม่รู้จักกันก็เลยไม่อาจแนะนำว่า ถ้าเป็นดิฉันจะเก็บเงินรายได้ไว้ แล้วเขียนฟรีลง blog หรืออะไรก็ตามที่เขาเปิดโอกาสให้ลงฟรี   ทำแบบนี้แม้ว่าไม่ได้กำไร แต่ก็ไม่ขาดทุน  เงินในกระเป๋ายังอยู่ครบ 
เขียนแบบเปิดโอกาสให้คนอ่านเข้ามาแสดงความเห็นได้ จะได้รู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง   จากนั้นอุดช่องโหว่ไปเรื่อยๆ  ในที่สุดพอยอดคนเข้ามาอ่านมากๆเข้า  หาสปอนเซอร์ก็จะง่ายขึ้นเอง   
การอยู่รอดต้องมีวิวัฒนาการค่ะ    เรากำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่  ไม่ต่างจากสมัยไดโนเสาร์เจอความเปลี่ยนแปลงขั้นวิกฤตของโลกเมื่อหลายพันล้านปีก่อนทีเดียว


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 09 ธ.ค. 17, 20:30


เคยอ่านพบว่านักเขียนรุ่นใหม่คนหนึ่ง ทำงานหารายได้สะสมไว้แล้วนำเงินนั้นมาพิมพ์หนังสือขายเอง  
หนังสือขายได้น้อยมาก  เงินก็สูญ กำลังใจก็ร่อยหรอ     นึกเห็นใจเธอมาก  


1) ที่พิมพ์เอง เพราะโรงพิมพ์ไม่รับ หรือว่าตัวเองอยากลองทำเองทั้งวงจรครับ
2) การที่โรงพิมพ์จะพิมพ์หรือไม่พิมพ์ เขาคิดหนักไหมครับ
ผมเห็นว่าการพิมพ์หนังสือเล่มของนักเขียนหน้าใหม่ มันเสี่ยงพอสมควร
หากคนอ่านไม่รู้จักเลย โรงพิมพ์อาจต้องแบกสตอคค้างนานสิบปี ผมเกรงว่าต้องขนมาเลหลังในงานหนังสือ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ธ.ค. 17, 21:26
๑) อาจเป็นได้ทั้งสองทางค่ะ 
๒) โรงพิมพ์ทำธุรกิจ   สินค้าคือหนังสือ  สินค้าตัวใหม่ ยี่ห้อไม่เป็นที่รู้จัก  เจ้าของธุรกิจก็ต้องคิดหนักหน่อยว่าจะผลิตขายดีไหม เพราะคนแบกกำไรขาดทุนคือตัวเขาเอง  ไม่ใช่ตัวคนสร้างสินค้าขึ้นมา
ถ้าสินค้าเป็นที่รู้จักดีอยู่แล้ว  ยี่ห้อรับประกันได้ ผลิตรุ่นใหม่ออกมาก็ย่อมมีแนวโน้มว่าจะขายได้อีก   เหมือนรถยนต์ ถ้ายี่ห้อนี้ติดตลาด ผลิตรุ่นไหนออกมาก็เชื่อว่าขายได้   แต่ถ้าเป็นรถยนต์ยี่ห้อใหม่ไม่มีใครรู้จัก    บริษัทจัดจำหน่ายคงคิดหนักหน่อยละค่ะ

งานเขียนสมัยก่อนมีคอมพิวเตอร์  ต้องพิมพ์ทีละเยอะๆถึงจะคุ้มกับการลงทุน  แต่พอคอมพิวเตอร์เข้ามา ถือแผ่นดิสก์(เดี๋ยวนี้คงเป็นอะไรที่เล็กกว่านั้น) ไปจ้างพิมพ์ พริ้นท์ออกมาจากต้นฉบับ จะสั่งจำนวนมากน้อยเท่าใดก็ได้
บางคนก็เลยทำเอง เรียกว่าหนังสือทำมือ ค่ะ  ไม่ทราบเคยได้ยินหรือเปล่า


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 09 ธ.ค. 17, 23:11

บางคนก็เลยทำเอง เรียกว่าหนังสือทำมือ ค่ะ  ไม่ทราบเคยได้ยินหรือเปล่า


เคยได้ยินครับ แต่ไม่ทราบความหมาย คิดว่าเป็นหนังสือที่เปิดแล้วมีอะไรโผล่ขึ้นมา
เฃ่น บ้านตุ๊กตา สัตว์ เหมือน 3 มิติครับ

Technology wipes out the weak in favor of the strong!


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ธ.ค. 17, 09:37
หนังสือทำมือคืออะไร?   หนังสือทำมือคือหนังสือที่เราขีด ๆ เขียน ๆ เอาเอง   ทำต้นฉบับเอง   ซีร็อกเอง  เย็บเล่มเอง  โดยไม่ผ่านโรงพิมพ์  โดยไม่มีรูปแบบตายตัวที่แน่นอน   ขึ้นอยู่กับความสร้างสรรค์ของผู้จัดทำ   หนังสือทำมือนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของนักอยากเขียน   ที่พยายามอยากจะเผยแพร่งานเขียน - ความคิดสู่สาธารณชน   ซึ่งแน่นอนที่นักอยากเขียนเหล่านั้นเป็นผู้ที่ซึ่งมีอิสระในการถ่ายทอดทุกความรู้สึกผ่านมันสมองและสองมือ  โดยปราศจากกฏเกณฑ์และเป็นอิสระจากการถูกควบคุมทางกลไกของการตลาดด้านสิ่งพิมพ์   หนังสือทำมือเริ่มจากคนกลุ่มเล็ก ๆ และขยายวงกว้างแทรกซึมไปในมุมหนึ่งของสังคม   เป็นอีกกระแสหนึ่งที่น่าจับตา
https://www.gotoknow.org/posts/110740




กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ธ.ค. 17, 09:40
จำนวนพิมพ์หนังสือ อาจไม่ต้องพิมพ์มากๆ เพื่อให้ต้นทุนถูกลงอย่างเมื่อก่อน  แต่เป็นการพิมพ์แบบพรีออเดอร์ คือร้านค้าต้องการหนังสือจำนวนเท่าใด ก็สั่งมาที่สำนักพิมพ์   สนพ.ก็พิมพ์ไปตามจำนวนนั้น
ถ้าหนังสือเกิดขายดี ก็จะมีการสั่งมาอีก    แต่ถ้าขายไม่ดี ก็หยุดอยู่แค่นั้น  ไม่มีหนังสือค้างสต๊อค หรือมีก็น้อยมาก 


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 17, 16:25
“ดำรง พุฒตาล” เตรียมประกาศข่าวสำคัญท่ามกลางเสียงลือ ‘คู่สร้างคู่สม’ ลาแผงอีกฉบับ
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม มีการเปิดเผยถึงการเตรียมประกาศข่าวสำคัญของนิตยสารคู่สร้างคู่สม โดยนายดำรง พุฒตาลในรายการมองรอบด้าน สุดสัปดาห์ วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคมนี้ ทางสถานีโทรทัศน์ TNN24 ช่อง 16 เวลา 17.05-18.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาเกิดกระแสข่าวว่านิตยสารดังกล่าวจะปิดตัวลง โดยจะวางแผงฉบับสุดท้ายในวันที่ 20 ธันวาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งผู้อ่านส่วนหนึ่งได้เข้าไปสอบถามในช่องแสดงความคิดเห็นของเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘คู่สร้างคู่สม (ประเทศไทย) จำกัด’ แต่ยังไม่มีคำตอบ

นอกจากนี้ ในโลกโซเชียล ยังมีการแชร์ข้อความจากเฟซบุ๊ก Nitipan Tangnopparat ของนายนิติพันธ์ ตั้งนพรัตน์ ทายาทร้านหนังสือเก่าแก่ของจังหวัดพิษณุโลก อย่าง ‘เสียงทิพย์ บุ๊คเซ็นเตอร์’ ซึ่งโพสต์ข้อความว่า

“เรื่องช็อคอันดับท็อปๆของปีนี้ คู่สร้างคู่สม กล่าวอำลา เป็นหัวที่คิดว่าจะไปเป็นคนสุดท้าย ทำไมทำกันหยั่งนี้”

เมื่อข้อความดังกล่าวเผยแพร่ออกไป มีผู้แสดงความคิดเห็นว่ารู้สึกใจหาย และเสียอย่างมาก โดยส่วนหนึ่งระบุว่า ไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจากเป็นนิตยสารเก่าแก่ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ‘มติชนออนไลน์’ ได้สอบถามไปยัง นายตาลเด่น พุฒตาล บุตรชาย ได้รับคำตอบเบื้องต้นว่า ขอให้นายดำรง พุฒตาล เป็นผู้ชี้แจง อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถติดต่อนายดำรงได้

กระทั่ง ล่าสุด มีการประกาศว่านายดำรง พุฒตาล จะเปิดเผยข่าวสำคัญของคู่สร้างคู่สม ผ่านช่อง TNN24 ดังที่กล่าวมาแล้ว

ส่วนข่าวสำคัญที่ว่านี้ จะเป็นข่าวช็อคของคนไทยทั้งประเทศหรือไม่ ต้องติดตาม.

https://www.prachachat.net/spinoff/entertainment/news-86148


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 12 ธ.ค. 17, 17:24

2) ผมสังเกตว่านิตยสารที่เป็นเรื่องเป็นราว อยู่ไม่ได้ (อาจเพราะราคาสูง)
แต่นิตยสารที่เล็งกลุ่มแม่บ้านและนักอ่านระดับชาวบ้านกลับอยู่ได้ (ราคาราวยี่สามสิบบาท)
ดังนั้นราคาน่าจะเป็นปัจจัยตัวหนึ่ง



ผมคิดว่าคู่สร้างคู่สมจะลาจากเป็นปกสุดท้ายเสียอีก
ราคาเบา อ่านเพลินทุกหน้า
มีคนเอาหนังสือมือสอง (ของแม่เขา) ปกนี้มาขายเล่มละ 5 บาท
ผมยังซื้อมา 10 เล่ม


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 17, 17:32
ใครๆก็คิดยังงั้นค่ะ  กลุ่มเป้าหมายของคสคส กว้างขวางมาก  ราคาทำให้เข้าได้ถึงฐานล่าง เนื้อหาสาระก็อ่านกันได้ทุกกลุ่ม
ถ้าจะต้องยุติลงไปจริงๆ ก็ทำนายได้ว่าอนาคตของนิตยสารไทยบนแผ่นกระดาษเห็นจะจบแล้ว

แต่...มองในอีกแง่หนึ่ง คนอ่านก็ยังอ่านข่าวสาระและบันเทิงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบเท่านั้น

หลังจากอ่านข่าวและคอลัมน์ออนไลน์มาพักหนึ่ง ดิฉันพบว่ากลับไปอ่านในหน้ากระดาษไม่ได้ มันกลายเป็นข่าวตกยุคไปแล้ว แม้แค่วันเดียว
สรุปว่าไม่ทันใจ  เพราะเราอ่านข่าวคืบหน้าจนรู้ผลของข่าวแล้ว ขณะที่ข่าวในหน้ากระดาษยังแค่เกาะประเด็นหน้าแรก   

ส่วนการบันเทิง ก็มีอีกแบบที่นิตยสารทำไม่ได้คือการสื่อสารสองทางในโซเชียลมิเดีย    เราคุยกับนักร้องดาราคนโปรดได้โดยตรง ด้วยการส่งข้อความไปหา ไปกดไลค์ ฯลฯ ไม่ต้องผ่านหน้ากระดาษคอลัมน์     ข้อนี้ทำให้การสื่อสารมีชีวิตชีวากว่าแบบเดิมมากค่ะ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 12 ธ.ค. 17, 17:37
ในเมื่อปิดกันไปมากๆ ในแผงไม่มีไรให้อ่าน
คนที่ทนอยู่ทนพิมพ์ อาจถูกหวยจังเบอร์ ขายดิบขายดีขึ้นมาก็ได้นะครับ
สังเกตไหมครับวันตรุษวันสารท โต้รุ่งแม่ค้าไม่มา
คนที่มาขาย ผัดไมทันเชียว


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 17, 20:20
ก็อยากจะให้เป็นอย่างนั้นค่ะ  เป็นรางวัลสำหรับเจ้าที่อดทนอยู่เป็นลำดับสุดท้าย

ไปอ่านพบข้อเขียนของคุณ Buak Bangbuathong ใน FB  น่าสนใจ เขียนแบบคนวงใน  เลยลอกมาให้อ่านกันค่ะ

นิตยสารปิดตัว
.
มีเรื่องนึงที่อยากจะแลกเปลี่ยนความเห็นกันนะฮะ คือ ทุกครั้งที่มีหนังสือ/นิตยสารปิดตัว จะมีคอมเมนต์/ความเห็นตามมาหลากหลาย และมีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความเห็นว่า เสียดาย ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะหลายคนก็โตขึ้นมาพร้อม ๆ กับการอ่านนิตยสารบางเล่มที่ปิดตัวไป บางเล่มก็เป็นนิตยสารที่พ่อหรือแม่อ่านประจำ อะไรงี้
.
ขนาดคนอ่านยังเสียดาย คนทำนี่ยิ่งโคตรเสียดาย ไม่มีใครอยากปิดหรอกครับ ของใครเป็นยังไงไม่รู้ แต่ของผมที่เคยทำมาตั้งแต่ยังไม่ออกเล่มแรกเลยนี่นะ รักเหมือนลูกอ่ะ (ไม่ได้สิ ไม่มีลูก เดี๋ยวจะว่าไม่อิน ต้องบอกว่ารักเหมือนพดด้วงอ่ะ)
.
ไม่อยากปิด แล้วปิดทำไม?
.
มันยังงี้ครับ (อันนี้ใครรู้แล้วสไลด์ข้ามไปได้เลยครับ) นิตยสารเล่มนึงจะมีรายได้หลักมาจากสองทางด้วยกัน คือ ยอดขายแผง+สมาชิก และโฆษณา ซึ่งโดยรวม ๆ เฉลี่ยของวงการสัดส่วนรายได้จะอยู่ที่ประมาณ ๒๐/๘๐ คือ ยอดขายแผง+สมาชิก ได้ ๒๐% อีก ๘๐% มาจากโฆษณา (เล่มที่ผมเคยทำนี่สัดส่วนยอดขายแผงสูงกว่านี้หน่อย ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเราขายแผงและสมาชิกได้เยอะ หรือว่าเราขายโฆษณาได้น้อยกันแน่ นี่กูจะขำ หรือเศร้าดี 5555) และถ้าเล่มไหนที่หัวใหญ่ มีพลังเยอะ ก็อาจจัดอีเวนต์เป็นรายได้เพิ่มอีกทาง
.
ทีนี้เมื่อซักสามหรือสี่ปีก่อนมันเริ่มมีจุดเปลี่ยน คนซื้อนิตยสารลดลง จะด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่แต่ละบุคคล ผมเคยตั้งโพสต์ถามเพื่อน ๆ ใน fb นี่แหละว่า ใครที่ยังซื้อนิตยสารเป็นประจำอยู่บ้าง? คำตอบที่ไม่แปลกใจเลยคือ เหลือน้อยมากนะฮะ ที่ยังซื้อนี่ส่วนใหญ่ก็ซื้อพวก National Geographic ให้ลูกอ่าน หรือซื้อเพื่อเก็บไว้อ่านเอง แต่ก็ยังไม่ได้อ่านนะ ขนาดผมเองเป็นคนทำหนังสือ เมื่อก่อนซื้อประจำหลายเล่มยังลดมาเรื่อย ๆ เล่มที่ซื้อประจำล่าสุดคือ Monocle กับ offscreen และตอนนี้ก็ไม่ได้ซื้อทุกเล่มแล้ว เลือกซื้อแค่บางเล่มที่สนใจก็พอ อยากอ่านนะแต่มันอ่านไม่ทัน
.
พอยอดขายลดลงยอดสมาชิกลดลง (เท่ากับว่ารายได้หายไปทางนึงแล้วนะ) เอเจนซี่หรือแบรนด์ต่าง ๆ ที่ลงโฆษณาก็ไม่รู้ว่าจะเสียเงินซื้อแอดลงไปให้ลิงที่ไหนอ่านนะครับ นี่ยังไม่นับรวมถึงเรื่องการวัดผลที่ได้จากการลงแอดอีกนะ เรื่องนี้สื่อสิ่งพิมพ์โดนสื่อออนไลน์ตีกระจุยเลย ออนไลน์นี่วัดผลได้ จับกลุ่มแยกเซ็กเมนต์ได้ ทำโน่นได้ ทำนี่ได้ ลูกค้าชอบมาก ซึ่งก็ไม่แปลกที่เงินที่จะมาลงในสิ่งพิมพ์จะถูกย้ายไปสื่ออื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ
.
พอฟังแบบนี้ก็จะมีคอมเมนต์ว่า ปรับตัวสิ ลดต้นทุนสิ ไปออนไลน์สิ เปลี่ยนเป็น free copy สิ ฯลฯ
.
ผมว่าสื่อสิ่งพิมพ์ทุกเจ้าก็เห็นนะครับ และก็รู้ด้วยว่าต้องปรับตัว แต่ทีนี้แต่ละคนมันมีกำลังไม่เท่ากัน บางเล่มที่เขาปริ่ม ๆ น้ำอยู่ เจอคลื่นแรงหน่อยเขาก็ไม่ไหว ก็จากไปก่อน บางเล่มมองออกว่าต้องไปออนไลน์ แต่ถ้าจะทำให้ดีต้องลงทุนอีกเยอะ เขาก็อาจจะคิดว่า งั้นกูพอดีกว่า ยังเหลือเงินติดไม้ติดมือบ้าง บางเล่มทำออนไลน์ไปแล้ว แต่รายได้มันมาไม่ทันกับโฆษณาที่หายไป สู้อยู่สักพักแล้วไม่ไหวก็จากไปเหมือนกัน
.
หรือถ้าจะให้เปลี่ยนไปเป็น free copy ฝากลมหายใจไว้กับโฆษณาอย่างเดียว บางคนก็ไม่สะดวกใจที่จะอยู่ในระบบแบบนั้นนะครับ รวมถึงบางเล่มทำมาหลายสิบปีผ่านยุครุ่งเรืองมา เก็บเกี่ยวมามากแล้ว เจ้าของอายุมากอยากวางมือ ลูกหลานก็ไม่มีใครมาทำต่อ งั้นก็เลิกดีกว่า แบบนี้ก็มี
.
ที่เล่ามานี่ไม่ได้จะบอกว่า คนอ่านผิดที่ไม่ยอมซื้ออ่านนะครับ อย่าเข้าใจแบบนั้นเป็นอันขาด ในภาพรวมมันยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกมาก แต่เนื่องจากนี่ไม่ใช่วิทยานิพนธ์เรื่องสื่อสิ่งพิมพ์ก็เลยหยิบแค่บางส่วนมาเล่าเท่าที่เห็นและมีประสบการณ์ตรงนะครับ
.
ใครคิดเห็นยังไงก็แชร์กันได้ครับ...


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 12 ธ.ค. 17, 22:03
https://pantip.com/topic/35092194


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 13 ธ.ค. 17, 10:10
คสคส circulation ไม่น้อยนะครับ 2 แสนเล่ม เดือนออกสามครั้ง
น่าจะยังมีกำไร แต่คงไม่หวือหวาเหมือนก่อน


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 13 ธ.ค. 17, 10:37

ข่าวไม่ดีเกี่ยวกับคู่สร้างคู่สม

"เกิดกระแสข่าวลือในโลกโซเชียลมีเดียหลังมีข่าวว่านิตยสาร ‘คู่สร้างคู่สม’ เตรียมจะปิดตัว โดยจะวางแผงฉบับสุดท้ายในวันที่ 20 ธันวาคมนี้

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Nitipan Tangnopparat” หรือนายนิติพันธ์ ตั้งนพรัตน์ ทายาทร้านเสียงทิพย์ บุ๊ก เซนเตอร์ ในจังหวัดพิษณุโลก ได้ออกมาโพสต์ข้อความว่า “เรื่องช็อกอันดับท็อปของปีนี้ “คู่สร้าง คู่สม” กล่าวอำลา เป็นหัวที่คิดว่าจะไปเป็นคนสุดท้าย ทำไมทำกันหยั่งนี้” สะเทือนวงการนิตยสารความรู้ทั่วไปที่มีราคาย่อมเยาราคาบนปก 30 บาท ของบริษัท คู่สร้างคู่สม (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีนายดำรง พุฒตาล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (เลือกตั้ง) 6 ปี และเป็นผู้ผลิตพิธีกร และผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์เป็นเจ้าของ

อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดกระแสข่าวลือในโลกออนไลน์ว่านิตยสารคู่สร้างคู่สมกำลังเตรียมจะปิดตัวลง โดยจะวางแผงฉบับสุดท้ายในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลฯ อย่างหนัก ทั้งนี้ ด้านนายดำรงขอเป็นผู้ชี้แจงเองผ่านรายการ ‘มองรอบด้าน สุดสัปดาห์’ ในวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคมนี้ คาดว่าจะมีการเปิดเผยอนาคตสำคัญของนิตยสาร ‘คู่สร้างคู่สม’

สำหรับ “นิตยสารคู่สร้างคู่สม” วางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2523 ในราคา 8 บาท เป็นนิตยสารที่พัฒนามาจากรายการโทรทัศน์และวิทยุที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมผู้ฟังมาก่อน โดยได้ ทาริกา ธิดาทิตย์ นักแสดงชื่อดังในสมัยนั้นมาขึ้นปกฉบับปฐมฤกษ์ ส่วนปกล่าสุดที่วางจำหน่ายไปเมื่อ 10 ธันวาคมที่ผ่านมาได้ ณเดชน์ คูกิมิยะ และญาญ่า-อุรัสยา สเปอร์บันด์ มาขึ้นปก โดยมีคอลัมน์ดูดวงเป็นคอลัมน์โปรดของใครหลายคน หากนับถึงตอนนี้เท่ากับว่าคู่สร้างคู่สมจะมีอายุครบรอบ 37 ปีในปีใหม่ที่จะถึงนี้"

ที่มา https://mgronline.com/onlinesection/detail/9600000125200


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 17, 10:46
ถ้าหากว่าคสคส. ยังอยู่ยกคงกระพัน   คุณดำรงคงไม่เตรียมแถลงเป็นเรื่องใหญ๋ทางทีวีในวันที่ 16 มั้งคะ
เพราะถ้ามีข่าวลือว่าหนังสือจะเลิก ทั้งๆยังตีพิมพ์จำหน่ายตามปกติ  ผู้บริหารต้องรีบชี้แจงเพราะข่าวในทางลบย่อมมีผลต่อยอดขายและสปอนเซอร์มาก
คงต้องรีบบอกทันทีว่าไม่จริง   ไม่รั้งรอจนวันที่ 16


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 13 ธ.ค. 17, 10:56
โอย ขอโทษนะคะ  เพิ่งเห็นว่าโพสข้อมูลซ้ำกับที่คุณเทาชมพูโพสเมื่อวาน  วันก่อนก็เหมือนกับโพสรูปซ้ำกับท่านอื่นด้วย

นี่เป็นปัญหาหลักของดิฉันเลยค่ะในการอ่านข้อมูลจากแท็บเล็ตหรือมือถือ  คือมักเปิดข้ามโดยไม่รู้ตัว  เพราะกดผิด หรืออ่านไม่ครบ  เพราะตัวหนังสือเล็กเกิน



กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 17, 11:13
ไม่เป็นไรค่ะ คุณ tita  นำลงก็ดีค่ะ คนอ่านได้ไม่ต้องเปิดย้อนไปหน้าก่อนๆ ติดตามเรื่องได้เลย

https://positioningmag.com/1149933
เปิดรายได้ “ดิฉัน คู่สร้าง-คู่สม” ในวันที่ “แม็กกาซีน” ต้องปิดตัวลง

ท่ามกลาง “สื่อดิจิทัล” มาแรง การเติบโตก้าวกระโดด และทรงอิทธิพล “ทำลาย”(Disrupt) หลายธุรกิจให้ระส่ำ หนึ่งในนั้นคือ “ธุรกิจสิ่งพิมพ์” ซึ่งได้เห็นการ “ปิดตัว” ของแม็กกาซีนหลายหัว โดยเฉพาะในปี 2559 ได้เห็นแม็กกาซีนที่อายุ 10 ปีขึ้นไป ต้องอำลาแผงเป็นแถบๆ ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารแฟชั่น  VOLUME นิตยสาร Image  นิตยสาร Cosmopolitan นิตยสารวัยรุ่นหัวนอก Seventeen นิตยสาร WHO ที่นำเสนอเรื่องราวของเหล่าเซเลบรตี้เมืองไทย นิตยสารสกุลไทย นิตยสารพลอยแกมเพชร แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์บ้านเมือง เป็นต้น

สื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้ล้วนอยู่คู่กับสังคมไทยและผู้อ่านมานาน แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นอกจาก “ดิจิทัล” ที่โหดซัดธุรกิจจนปรับตัวไม่ไหว ยังเผชิญพิษเศรษฐกิจ “ลูกค้าที่เคยซื้อสื่อโฆษณาแม็กกาซีน” หนังสือพิมพ์ลดลงต่อเนื่องช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยลบ 2 เด้งทำให้ผู้ประกอบการต้อง “กลืนเลือด” และท้ายที่สุด เมื่อไม่ไหวต้องโบกมืออำลาแผง

บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด(KWP) อ้างอิงรายงานจากกรุ๊ปเอ็ม ระบุสถานการณ์ของผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภค(คอนซูเมอร์)ใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาซื้อสื่อแม็กกาซีนลดลงต่อเนื่องในช่วง 8 ปี

ปี 2553 มูลค่าการซื้อสื่ออยู่ที่ 4,999 ล้านบาท
ปี 2554 มูลค่าเพิ่มเป็น 5,146 ล้านบาท
ปี 2555 มูลค่าลดเหลือ 4,842 ล้านบาท
ปี 2556 มูลค่าลดเหลือ 4,721 ล้านบาท
ปี 2557 มูลค่าลดเหลือ 4,171 ล้านบาท
ปี 2558 มูลค่าลดเหลือ 3,642 ล้านบาท
ปี 2559 มูลค่าลดเหลือ 2,558 ล้านบาท
ปี 2560 มูลค่าลดเหลือ 1,600 ล้านบาท
แนวโน้มปี 2561 คาดว่าการซื้อสื่อโฆษณาผ่านแม็กกาซีนจะลดเหลือ 1,440 ล้านบาท
ส่วนแม็กกาซีน 2 รายที่ปิดตัวลงไป อย่าง “ดิฉัน” ของบริษัท แอ็ดวานซ พับลิชชิ่ง จำกัด ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานอยู่ในภาวะ “ขาดทุน” อย่างต่อเนื่อง
ปี 2559 บริษัทมีรายได้รวมกว่า 65 ล้านบาท ลดลง 16.78% ขาดทุนกว่า 34 ล้านบาท ลดลง 132.16%
ปี 2558 บริษัทมีรายได้รวมกว่า 78 ล้านบาท ลดลง 13.81% ขาดทุนกว่า 14 ล้านบาท ลดลง 159.84%
ปี 2557 บริษัทมีรายได้รวมกว่า 91 ล้านบาท ลดลง 15.47% ขาดทุนกว่า 5 ล้านบาท ลดลง 721.47%
ขณะที่ปี 2555- 2556 บริษัทมีรายได้หลัก 100 ล้านบาท มีกำไรสุทธิหลักล้าน และลดเหลือหลักแสนบาทตามลำดับ

ส่วนบริษัท คู่สร้าง-คู่สม (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของ “คู่สร้าง-คู่สม”

ปี 2560 บริษัทมีรายได้รวมกว่า 125 ล้านบาท หดตัว 37.49% กำไรสุทธิกว่า 38 ล้านบาท หดตัวลง 40.18%
ปี 2559 มีรายได้รวมกว่า 200 ล้านบาท หดตัว 32.28% กำไรสุทธิกว่า 64 ล้านบาท ลดลง 36.21%
ปี 2558 มีรายได้รวมกว่า 296 ล้านบาท หดตัว 12.08% กำไรสุทธิกว่า 100 ล้านบาท ลดลง 10.69%
ตัวเลขผลประกอบการที่ “ลดลง” กำไรเป็น “ตัวแดง” ทุกปี ทางออกสุดท้ายที่ผู้ประกอบการต้องเลือกคือการ “ปิดตัว” ซึ่งเชื่อว่าการปรับตัวของตลาดยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ ตราบใดที่ผู้บริโภคลดการซื้อ เสพสื่อสิ่งพิมพ์ อนาคตอาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงบนแผงหนังสืออีกก็เป็นได้


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 13 ธ.ค. 17, 11:42
คสคส circulation ไม่น้อยนะครับ 2 แสนเล่ม เดือนออกสามครั้ง
น่าจะยังมีกำไร แต่คงไม่หวือหวาเหมือนก่อน

จริงดังคาด บริษัทยังมีกำไร แต่ทำไมรีบชิ่ง
หนังสือบนแผงน้อยลง ตัวเลขอาจทะยานขึ้นก็ได้
คุณดำรงไม่ได้เป็นเจ้าของคนเดียว เจ้าของร่วมอาจเห็นเป็นอื่น งั้นรอแถลงดีกว่าครับ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ธ.ค. 17, 16:52
"คู่สร้างคู่สม"เปิดใจอำลาสื่อกระดาษ
(คัดมาบางตอนค่ะ)
พอถึงวันหนึ่งที่เทคโนโลยีเปลี่ยน โลกเปลี่ยน ทำให้พฤติกรรมของคนก็เปลี่ยนตามไปด้วย ณ วันนี้เป็นยุคที่ทุกอย่างสมาร์ทหมด สิ่งที่เคยยุ่งยากเป็นปัญหาก็กลับกลายเป็นของง่ายขึ้นมา เมื่อก่อนหากคิดจะค้นคว้าก็ต้องเข้าห้องสมุดดูหนังสือ แต่วันนี้แค่ดูที่จอเล็กๆ ในฝ่ามือเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างก็มารวมกันอยู่ในจอเล็กๆ เครื่องนั้นจนหมดสิ้น

ความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร ความบันเทิง และแรงบันดาลใจต่างๆ ล้วนอยู่ในอากาศ ก็แค่ใช้อุปกรณ์ยุคใหม่ดึงเข้ามาใช้เท่านั้น มันก็จะตอบสนองความต้องการได้หมด สมัยนี้สถานที่และกาลเวลาจึงไม่เป็นอุปสรรคในการรับรู้อีกแล้ว

วันนี้โลกทั้งโลกอยู่ในฝ่ามือของเราจึงไม่มีใครสนใจตัวหนังสือในแผ่นกระดาษอีก

และในที่สุดคนยุคใหม่ก็เริ่มไม่คุ้นเคยที่จะอ่านหนังสือแผ่นกระดาษอีกแล้ว ทำให้หนังสือที่เคยอ่านกันมาตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตายายเริ่มอยู่ไม่ได้และในที่สุดก็ค่อยๆ ปิดตัวล้มหายตายจากไปตามกัน

ส่วนตำราต่างๆ ก็เหมือนกัน หากอยากค้นคว้าก็ต้องไปที่ห้องสมุด พอไปถึงแล้วหนังสือให้เลือกก็มีแค่ไม่กี่สิบเล่ม ไม่เหมือนการค้นหาจากหน้าเว็บที่มีให้เลือกเป็นแสนเป็นล้านรายการ มันดีกว่าและสะดวกกว่าเยอะเลย แค่เรียนรู้วิธีดูว่าแหล่งข้อมูลใดเชื่อถือได้แค่ไหนเท่านั้น ทุกอย่างก็จะสะดวกมาก

เมื่อมันง่ายดายซะขนาดนี้แล้วใครจะถ่อไปที่แผงหนังสือล่ะครับ ก็อ่านจากเครื่องบนฝ่ามือนี่แหละสะดวกสุด ทำให้คนสมัยนี้ไม่ยอมอ่านหนังสือที่เป็นกระดาษอีกแล้ว

ผลก็คือหนังสือดีๆ ที่มีคุณค่าต่างพากันปิดตัวลงเล่มแล้วเล่มเล่า บางเล่มมีอายุมานานกว่าครึ่งศตวรรษ แต่ที่สุดก็ต้องหยุดทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้แต่เพียงเท่านี้ นี่คือการสิ้นสุดยุคของกระดาษอย่างแท้จริงครับ ท่านผู้อ่าน!

จากสถานการณ์ที่ผมเล่ามานี้ แม้คุณดำรงและกอง บ.ก.จะมีความตั้งใจดีขนาดไหนก็ตามเถอะ แต่ก็ไม่อาจต้านยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้

ระบบ Digital ได้มาป่วนและเปลี่ยนโลก ในที่สุดคุณดำรงก็ตัดสินใจหยุดหนังสือที่ท่านผู้อ่านถืออยู่ขณะนี้เอาไว้แต่เพียงเท่านี้เช่นกัน

นี่คือฉบับสุดท้ายที่ท่านจะได้จับต้องหนังสือ "คู่สร้างคู่สม" ครับ!

หมดแล้วครับ หนังสือดีๆ ที่ทั้งคนอ่านและคนเขียนเป็นเสมือนคนในชายคาเดียวกัน รู้จักกันประหนึ่งเป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นเพื่อนฝูง ญาติมิตรกัน

บรรยากาศดีๆ ที่ผ่านมาก็เชื่อว่าเป็นยุคเก่าที่ผ่านไปแล้ว เราก็นำเอามาเก็บไว้ในความทรงจำดีๆ ก็แล้วกันนะครับ ต่อไปนี้ก็เลือกวิธีใหม่ในการอ่านตามยุคสมัยของมันก็แล้วกัน

สิ่งเดียวที่ทีมงานของเราอยากขอเอาไว้คือ อย่าให้คนไทยหยุดอ่านหนังสือ ทุกคนต้องอ่านต่อไปครับ จะในรูปแบบไหนก็ดูที่ยุคสมัยของมัน

อ่านข้อเขียนเต็มๆได้ที่นี่
http://www.thaipost.net/?q=node/39425


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ธ.ค. 17, 20:52
 :o

https://youtu.be/1MmGaGuAnOo


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ธ.ค. 17, 21:08
เป็นเรื่องน่าเศร้า  น่าใจหาย มากค่ะ
ยังนึกไม่ออกเลยว่าโลกที่ไม่มีหนังสือให้เห็นเวลาเดินออกจากบ้านไปไหนมาไหน จะเป็นยังไง      แล้วก็ไม่อยากได้คำตอบด้วย


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 16 ธ.ค. 17, 22:16
ข้อสังเกต

1 คุณดำรงเป็นแขกรับเชิญ แต่ช่วยทำให้รายการ "โฟลว" ได้ดี เจนเวทีมาก
ผมเห็นมาตั้งแต่เล็ก ไม่นึกว่าอายุ 75 แล้ว หนุ่มกว่าวัย

2 มะเช้า ผมไปแวะเอเยนต์บ้านเพื่อน ไปอ่านฟรี ช่วยขาย นสพ ตอนเช้าไปด้วย
เพื่อนลดให้คนรับไปขาย 15%  ตก 8.50 บาท ไปขายปลีก 10 บาท
บางคนรับไปขาย 5 ฉบับ (กำไร 7.50 บาท) บางคน 6-10 ฉบับ เป็นกองทัพมด
กำไรไม่ได้เป็นกอบเป็นกำ อาศัยได้ทุกวัน เป็นความผูกพันระหว่างคนกระจายสินค้าและคนซื้อ ดีกว่าอยู่เปล่าๆ

3 เป็นอย่างนี้นี่เอง คนอ่านไม่ซื้อ สายส่งปิดตัว เอเย่นต์ในจังหวัดกระเทือน
สมัยก่อน ท่ารถต้องมีแผงหนังสือ เดี๋ยวนี้ไม่มีใครซื้อ เพื่อนแพคหนังสือส่ง 7
บางสาขารับ บางสาขายุบ shelves ไปแล้ว




กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ธ.ค. 17, 08:53
เท่าที่ติดตามอ่านในโซเชียลมิเดีย  ทุกครั้งที่นิตยสารปิดตัว จะมีคนเข้ามาแสดงความเสียใจและอาลัยไม่ขาดสาย
แต่ในจำนวนที่เสียใจ   มีจำนวนมากสารภาพว่า เมื่อก่อนเคยอ่านนิตยสารนั้น  แต่หลังๆไม่ได้อ่านแล้ว

ตรงนี้แหละคือเหตุผลหลัก ค่ะ

เมื่อเทคโนโลยีของการสื่อสารไร้พรมแดนเข้ามา    คนอ่านพบว่าจะหาอ่านอะไรมีได้ไม่จำกัด  ยิ่งวันยิ่งมีมากขึ้น  ที่สำคัญคืออ่านฟรี และสำคัญที่สุดคือไม่ใช่อ่านอย่างเดียว  แต่อ่านและเขียนตอบได้   คุยกันได้จากทุกมุมโลก ไม่ใช่เฉพาะแฟนคุยกับแฟนจากสถานที่คนละแห่งเท่านั้น
คุณตาคุณยายคุณลุงคุณป้าเคยอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสารและหนังสือเล่ม มาตลอดชีวิต   วันหนึ่งลูกซื้อสมาร์ทโฟนมาให้พร้อมกับสอนวิธีเล่นไลน์กับเฟซบุ๊ค   ถ้าท่านเป็นครูบาอาจารย์ปัญญาชน ลูกก็สอนวิธีค้นจากกูเกิ้ลให้
เท่านั้นแหละ  ตื่นขึ้นมา  ท่านเหล่านี้ก็ไม่เป็นอันทำอะไรนอกจากส่งรูปดอกไม้สีประจำวัน อรุณสวัสดิ์ กู๊ตมอร์นิ่ง ให้เพื่อนสนิทมิตรสหาย น้องชายน้องสาว ลูกๆหลานๆ ฯลฯ  หมดเวลาไม่ต้องอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับเช้า  อยากรู้ข่าวก็เข้าหนังสือพิมพ์ออนไลน์
คุณยายส่งหลานไปโรงเรียนแล้ว  แวะไปทำผมที่ร้าน   เมื่อก่อนหยิบนิตยสารมาอ่านฆ่าเวลา  ตอนนี้หยิบมือถือมาส่งไลน์นัดเพื่อนไปกินข้าวกลางวันกัน  คุยกัน แชร์ข่าวแชร์รูปกัน  ไม่มีเวลาอ่านหนังสือ
คุณลุงคุณป้าก็นั่งอ่านเฟซบุ๊ค แชร์รูป ไปกินที่ไหนถ่ายรูปอาหารมาลง ส่งให้เพื่อนฝูงดู    ไปเที่ยวที่ไหนก็ส่งรูปลงเฟซแบบเดียวกัน จะเอาเวลาที่ไหนมาอ่านหนังสือล่ะ
ผ่านไปสักพัก  เดินไปปากซอยตอนเช้าๆ อ้าว แผงหนังสือปิดไปซะแล้ว ขายพื้นที่ให้ร้านสะดวกซื้อ   จะเดินไปถึงศูนย์การค้าก็ไม่ไหว แถมเดินไปยังไม่เจอร้านหนังสืออีก  เพราะสาขานี้ปิดไปอีกแล้ว
หนักๆ เข้า   ก็เลยไม่อ่านหนังสือ เพราะไม่มีหนังสือจะอ่าน
เอวัง


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 17 ธ.ค. 17, 10:24
^ ใช่ค่ะ

การเข้ามาของเทคโนโลยีการสื่อสารไร้พรมแดนส่งผลกระทบหลักจริงๆ  ถึงแม้ว่ารายได้ของสิ่งพิมพ์ตามความเห็นของคุณ Buak Bangbuathong ตาม คห. 53  "มันยังงี้ครับ (อันนี้ใครรู้แล้วสไลด์ข้ามไปได้เลยครับ) นิตยสารเล่มนึงจะมีรายได้หลักมาจากสองทางด้วยกัน คือ ยอดขายแผง+สมาชิก และโฆษณา ซึ่งโดยรวมๆ เฉลี่ยของวงการสัดส่วนรายได้จะอยู่ที่ประมาณ ๒๐/๘๐ คือ ยอดขายแผง+สมาชิก ได้ ๒๐% อีก ๘๐% มาจากโฆษณา (เล่มที่ผมเคยทำนี่สัดส่วนยอดขายแผงสูงกว่านี้หน่อย ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเราขายแผงและสมาชิกได้เยอะ หรือว่าเราขายโฆษณาได้น้อยกันแน่ นี่กูจะขำ หรือเศร้าดี 5555) และถ้าเล่มไหนที่หัวใหญ่ มีพลังเยอะ ก็อาจจัดอีเวนต์เป็นรายได้เพิ่มอีกทาง"
 
แต่ด้วยความนิยมอ่านหนังสือในรูปแบบดั้งเดิมลดลง  เอเยนซี่และแบรนด์โฆษณาก็ย้ายออก  เท่าที่ทราบมาราคาโฆษณาในสื่อดิจิตอลก็ถูกกว่า  สามารถจัดทำรูปแบบการโฆษณาให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายตรงตามความต้องการ  วัดผลได้แม่นยำขึ้น  รายได้จากการโฆษณาที่สิ่งพิมพ์ในรูปแบบเดิมได้รับจึงหมดไป  สังเกตจากนิตยสารผู้หญิงที่เคยเล่มหนาชนิดถ้านอนอ่านแล้วหล่นใส่หน้านี่เจ็บน้ำตาร่วง  ก็เหลือเล่มบางๆ กัน  ดิฉันได้อ่านหนังสือ Health&Quisine ในเครืออมรินทร์ ฉบับสุดท้ายก่อนปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 (เสียดายที่ให้คนที่จำเป็นต้องใช้ไปแล้ว)  คุณเมตตา อุทกะพันธ์ แจ้งว่ายอดตีพิมพ์ลดลงไม่มาก  แต่รายได้จากโฆษณาลดลงจนไม่คุ้มที่จะพิมพ์จำหน่ายอีกต่อไป  ซึ่งน่าเสียดายมากเพราะเป็นหนังสือที่ประณีตสวยงามและมีตำราอาหารอร่อยๆ ที่ทำไม่ยาก  ยังคิดว่าในเครืออมรินทร์น่าจะเป็นเล่มอื่นที่ต้องปิดตัวก่อน  โดยเฉพาะนิตยสารเกี่ยวกับบ้านซึ่งมีอยู่ 3 หัว  ไม่คิดว่าจะเป็น Health&Quisine

แต่ที่น่าทึ่งมากคือเครือต่วยตูน  ที่ทั้งพ็อคเก็ตบุ๊คและต่วยตูนพิเศษยังยืนหยัดอยู่ได้  (ล่าสุดต่วยตูนพิเศษขึ้นราคาเป็น 100 บาทแล้ว  จากราคาเมื่อตีพิมพ์ฉบับปฐมฤกษ์ 3 บาท)  เล่มล่าสุดก็ยังมีผู้ใจดีอุปถัมภ์สมัครสมาชิกให้โรงเรียนต่างๆ อีกหลายโรงเรียน  อาจเป็นเพราะเขาไม่ได้พึ่งโฆษณามาตั้งแต่แรกเลยรับมือได้ดีกว่าหนังสือที่อิงโฆษณา


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 19 ธ.ค. 17, 00:56
หนังสือที่เหลืออยู่ "กุลสตรี" ยังอยู่ดีไหมหนอ
ใครพอได้ข่าวไรบ้างไหมครับ
เหลือติดแผงอีกสักปี ใครๆไปหมด เดี๋ยวร้านทำผมเหงาแย่


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ธ.ค. 17, 21:23
กุลสตรียังอยู่ค่ะ   
นิตยสารบางเล่มก็ไปทำออนไลน์ เปฺดเพจเฟซบุ๊ค ยกเฉพาะคอลัมน์ที่คิดว่าน่าสนใจสำหรับคนอ่านเฟซไปลง
กุลสตรีก็ทำเหมือนกันค่ะ

เข้าร้านทำผม ลูกค้านั่งจิ้มมือถือกันทุกคนค่ะ   ไม่มีนิตยสารวางเป็นตั้งให้อ่านอย่างเมื่อก่อนแล้วด้วย


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 21 ธ.ค. 17, 20:42
วันนี้ดูรายการย้อนหลัง ช่องไทยรัฐที่คุณจอมขวัญเชิญคุณดำรงมาออกรายการ

คุณดำรงเล่าว่าแม่บ้านในสำนักพิมพ์ พอว่างก็จะช่วยรับโทรศัพท์บ้าง ตัดจดหมายทางบ้านที่ส่งมาคุยกับ บก. บ้าง
แม่บ้านสังเกตมาพักใหญ่แล้วว่า จม. ไม่มี โทรศัพท์ไม่ดัง
ทำหนังสือแล้วคนไม่ซื้อ โฆษณาไม่เข้า แล้วจะอยู่ได้ไหมนี่


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ธ.ค. 17, 20:59
เราจะพูดใหม่ได้ไหมว่า คนไทยทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าไม่อ่านหนังสือ   แต่เขาไปอ่านหนังสือที่ไม่ได้พิมพ์บนกระดาษต่างหาก
หนังสือที่เป็นสิ่งพิมพ์จึงประสบความผันผวนอย่างแรง    ขณะที่หนังสือที่พิมพ์บนจอ ส่งผ่านคลื่น  กำลังเฟื่องฟูขึ้นมาแทน

มองในแง่ของคนอ่าน  ตั้งแต่มีอินทรเนตร  ดิฉันได้อ่านอะไรที่ไม่มีโอกาสได้อ่านในหนังสือที่เป็นสิ่งพิมพ์  มากจนนึกไม่ถึง 
ยกตัวอย่าง สมัยเรียนครูสั่งให้อ่านหนังสือเป็นตั้งๆเอามาอภิปรายกันในชั้น   ทีนี้ ภาษามันยาก  ก็อ่านได้ช้า  บางเล่มอ่านไม่รู้เรื่องเลย และอ่านไม่จบด้วย    จำได้ว่ามันติดข้องอยู่ในใจมานาน
เช่นเรื่อง The Man of Property ของ John Galsworthy 
ในห้องสมุดของที่ทำงานไม่มีเรื่องนี้   ในร้านหนังสืออย่างเอเชียบุ๊คและดวงกมลก็ไม่มี   แต่ถึงมีก็คงไม่ซื้อเพราะคงอ่านไม่จบอีก 
มาอ่านรู้เรื่องเป็นครั้งแรกจากกูเกิ้ล เมื่อลองไปหาดูแล้วพบเรื่องย่อ   เลยรู้ว่าอ๋อ เป็นยังงี้เอง

วรรณกรรมเก่าๆที่หาซื้อไม่ได้อีกแล้ว ในประเทศไทยไม่มีสักเล่มเดียว บัดนี้จะหาอ่านเท่าไหร่ก็หาได้เพราะหมดลิขสิทธิ์แล้ว ก็มีเว็บนำลงให้อ่านฟรี
ข่าวคราวบางอย่างที่เราไม่มีโอกาสรู้เลยถ้าไม่มีนิตยสารหรือคอลัมน์ไหนลงเรื่องให้รู้   บัดนี้จะเอาสักเท่าไหร่ก็ได้   เช่นรู้ว่าดาราที่เคยติดใจตามชมภาพยนตร์ของเขาและเธออย่างสนุกสนานในวัยเด็ก  บัดนี้ถ้าไม่กลายเป็นคุณทวดก็ขึ้นสวรรค์กันไปหมดแล้ว 
อย่างภาพยนตร์ชุด Bewitched  ไปสวรรค์กันยกทีม 

ดิฉันก็เลยรู้สึกว่า เก่าไปใหม่มา  ก็มีดีมาชดเชยสิ่งที่เสียไปได้เช่นกันค่ะ   


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 22 ธ.ค. 17, 02:30
การกำเนิดของสมาร์ทโฟน และเท็บเล็ตน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ
เมืองไทยเรามีอินทรเนตรเมื่อประมาณปี 199X กว่าๆ คนอ่านเรื่องราวทางเนตมากขึ้นแต่ยังไม่ถึงกับทิ้งสื่อสิ่งพิมพ์เสียทีเดียวเพราะต้องอ่านจากคอมพิวเตอร์ หรือไม่ก็ computer laptop ซึ่งแน่นอนว่ามันอุ้ยอ้ายพกพายาก ดังนั้นการซื้อหนังสือนิตยสารเป็นเล่มๆถือติดมือไปอ่านที่โน่นที่นี่เช่นไปรอแฟน รอเพื่อนหรือแม้กระทั่ง..ยามปลดทุกข์ ฯลฯ ก็ยังเป็นทางเลือกของคนส่วนใหญ่อยู่
แต่พอมี iphone รุ่นแรกขึ้นมาประมาณปี 2007 ซึ่งมันก็คือคอมพิวเตอร์ส่วนตัวดีๆนี่เองที่ติดต่อกับโลกอินทรเนตรได้ทั้งหมด แค่พกเท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟนที่หน้าจอใหญ่ๆหน่อยก็อ่านหนังสือได้ไม่จำกันที่ แล้วดันมีสื่อโซเชียลอย่างเฟสบุ๊คขึ้นมาอีก ตอนนี้ใครๆก็กลายเป็นนักข่าว กลายเป็นนักเขียนกันได้ง่ายๆ จากผู้อ่านอย่างเดียวก็กลายเป็นผู้เขียนกันบ้าง เพราะเฟสบุ๊คเชื่อมต่อผู้ใช้ให้ถึงกันได้อย่างรวดเร็วเขียนอะไรลงไปในหน้าเพจแล้วมีการกดไลค์กดแชร์มันก็กระจายไปได้รวดเร็ว เรียกว่านอกจากอุปกรณ์จะสะดวกกว่าแล้ว สื่อโซเชียลที่มีพลังการกระจายข้อมูลสูง ก็ดึงดูดความสนใจและเวลาของผู้อ่านไปจากหนังสือสิ่งพิมพ์ทั้งหลายทั้งสิ้นด้วยประการฉะนี้แล


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ธ.ค. 17, 10:47
 ;D


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 29 ธ.ค. 17, 17:01

นิตยสารในไทยเคยมีมากกว่า 200 หัวบนแผงหนังสือ แต่ทยอยปิดตัวไปกว่าครึ่ง ในรอบสองสามปีมานี้การปรับตัวให้อยู่รอดมีทั้งเปลี่ยนจากรายปักษ์เป็นรายเดือน ลดปริมาณหน้ากระดาษลง เพื่อลดต้นทุนและหันไปทำอี-แม็กกาซีน นำเสนอเนื้อหาทางออนไลน์

ผู้บริหารนิตยสารกุลสตรียอมรับว่าแม้มีแฟนประจำ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงวัยทำงาน แต่ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากเล่มอื่นๆ การอยู่ให้รอดใช้วิธีปรับเปลี่ยนเนื้อหาคอลัมน์ให้ทันสมัย แต่ก็ยังคงมีเอกลักษณ์มีนวนิยายเรื่องยาว 6 เรื่องต่อฉบับ หาเซเลบขึ้นปกให้โดนใจ และปรับรูปลักษณ์และสาระให้เข้ากับสื่อออนไลน์ด้วย ทั้งลงในเว็บไซต์ kullastreemag.com และโซเชียลมีเดีย โดยปีที่ผ่านมายอดสั่งซื้อนิตยสารผ่านทางออนไลน์เติบโตขึ้นมาก

ระยะหลังกุลสตรีซึ่งจำหน่ายรายเดือนมียอดพิมพ์เป็นแสนเล่ม ผู้บริหารเชื่อว่าธุรกิจยังคงไปได้ เพราะการอ่านในกระดาษมีคุณค่าในตัวเอง ยังมีลูกค้า แต่ต้องปรับตัวอย่างมากและสร้างความโดดเด่นในทุกฉบับ

http://www.tnamcot.com/view/5a38e4a0e3f8e420ab433d78


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ธ.ค. 17, 17:19
ทางรอดอีกทางของนิตยสารคือ อี แมกกาซีน ค่ะ  สมัครสมาชิกแล้วล็อคอินเข้าไปอ่าน


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: ธสาคร ที่ 30 ธ.ค. 17, 00:56
เจ้าของร้านหนังสือที่ท่าพระจันทร์เล่าว่า (แกดูโทรทัศน์มาอีกทอดหนึ่ง) คุณดำรง พุฒตาล แกน้อยใจแฟนวารสารที่ถ่ายรูปบทความ/นิยายจากคู่สร้างคู่สม แล้วส่งต่อๆกันให้เพื่อนอ่าน ถึงแม้คู่สร้างคู่สมยังพอมีกำไรอยู่ แต่ก็ต้องปิดตัวลงก่อนวัยอันควร ด้วยเหตุแห่งความน้อยใจอีกปัจจัยหนึ่ง
.
ผมมานึกๆดู วารสาร100ทั้ง100 จัดเรียงพิมพ์เป็นคอลัมน์ๆ ทำให้ก๊อปปี้ผลงานได้ง่าย
ไล่ถ่ายรูปเรียงลงไปตามคอลัมน์ ผู้รับแชร์ก็เปิดอ่านสะดวกเรียงไปทีละรูป
ถ้าสำนักพิมพ์จัดเรียงการพิมพ์ใหม่ พิมพ์อักษรยาวไปจนสุดบรรทัดค่อยขึ้นบรรทัดใหม่ แบบเดียวกับจดหมายราชการ
ถ้าผู้ก๊อปปี้ถ่ายรูปแบบ close-up เหมือนเดิม ผู้รับแชร์จะอ่านจากหน้าจออย่างสะดุดติดขัด ปัดเลื่อนหน้าจอกันอุตลุด
.
ผู้ก๊อปปี้คงต้องตะแคงกล้องเพื่อถ่ายรูปให้ติดตลอดบรรทัด นั่นคือต้องยกกล้องให้ห่างออกมา
ตัวหนังสือก็จะเล็กลง ผู้รับแชร์จะอ่านไม่สะดวก ต้องถ่างจอ ใช้นิ้วเลื่อนไปมาตลอดเพื่ออ่านให้จบบรรทัด
ยิ่งถ้าสำนักพิมพ์พลิกโฉมการพิมพ์ เปลี่ยนมาพิมพ์ท่านอน (ตามความยาวของกระดาษ)
การถ่ายรูป 1 ครั้ง = 1 หน้ากระดาษ ตัวอักษรเหลือจิ๋วเดียว
.
แค่ความเห็นประหลาดๆเท่านั้นครับ ไม่รู้จะเข้าท่าหรือไม่หนอ
ผมไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟนน่ะครับ จินตนาการเอาเองล้วนๆ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 30 ธ.ค. 17, 09:30

ทางรอดอีกทางของนิตยสารคือ อี แมกกาซีน ค่ะ  สมัครสมาชิกแล้วล็อคอินเข้าไปอ่าน


บางที เราได้หนังสือเล่มโปรด ขึ้นเตียงนอนอ่าน หลับคาหนังสือไปเลย
อี แมกกาซีน นอนอ่านเมื่อยแขนครับ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ธ.ค. 17, 10:34
จริงค่ะ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ธ.ค. 17, 21:23
วันนี้ไปกินข้าวที่ศูนย์การค้า   เห็นคนที่นั่งรอฆ่าเวลาอยู่ ไม่มีใครเลยไม่ใช้เวลาว่างในการอ่าน  แต่ไม่อ่านหนังสือ   ทุกคนก้มหน้าอ่านมือถือกันหมดค่ะ 
การอ่านของคนไทยคงเพิ่มพูนขึ้นกว่าเมื่อก่อน  เพียงแต่ไม่อ่านสิ่งพิมพ์    ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันไม่มี  แม้แต่คนที่ไปด้วยกันก็หยิบมือถือขึ้นมาอ่านและจิ้มแทนที่จะพูดกับอีกฝ่าย
เมื่อก่อน  เวลานั่งรอคิวร้าน หรือรออะไรก็ตาม   มักจะมีคนมานั่งใกล้ๆ มองกันไปมาแล้วยิ้มให้กัน หรือบางทีก็ถามไถ่กันนิดๆหน่อยๆ   ส่วนใหญ่เป็นคุณป้าที่ช่างพูดและคงจะเหงา   แต่เดี๋ยวนี้ป้าๆน้าๆ ทั้งหลาย พกมือถือกันทุกคน  โทรคุยกันเองแล้วค่ะ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 31 ธ.ค. 17, 22:23
ผมไปได้ไฟล์หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นแบบ pdf มา หนังสือประมาณเกือบ 400 หน้า มีประวัติจอมพลสฤษดิ์ตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อยเลย ผม คิดเอาเองว่าไม่น่าจะติดลิขสิทธิ์ใด ๆ แล้ว เลยเอามาแจก สมาชิกเรือนไทยท่านไหนสนใจไปโหลดได้ที่นี่ครับ


https://drive.google.com/open?id=1z1rG65kRb4ZFjjnesUxJdLukho44X7wL


โดยส่วนตัว ตอนนี้ผมเปลี่ยนอุปกรณ์อ่านหนังสือมาใช้ ipad หน้าจอขนาด 9.7 นิ้ว สำหรับอ่านหนังสือต่างๆ ที่เป็น pdf สะดวกมากครับ ส่วนหนังสือที่เป็น ebook ภาษาอังกฤษที่ซื้อจาก Amazon ใช้ app kindle ก็อ่านง่าย เจอศัพท์ที่ไม่รู้จักก็เปิด dic จากโปรแกรมดูความหมายได้เลย มีเครื่องเดียวพกหนังสือไปอ่านได้ทุกที่ ถ้าได้หน้าจอ 10.1 นิ้วจะยิ่งมีพื้นที่หน้าจอใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีก


ผมติดนิสัยเวลากินข้าวหรือเข้าห้องน้ำต้องมีอะไรไปอ่าน อ่านจาก tablet นี่กินไปอ่านไปก็ง่าย ไม่ต้องหาอะไรมาทับกันหน้าพลิกแบบหนังสือกระดาษหนาๆ แถมไม่ต้องคอยหาที่คั่นหนังสือ เบื่ออ่านหนังสือก็เล่นเน็ตได้อีก หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพจอมพลสฤษดิ์ข้างบนนี่อ่านจาก tablet ipad เหมือนอ่านจากหนังสือกระดาษเลย เบาดีด้วย นอนตะแคงอ่านก็ได้ คว่ำก็ดี อ่านในที่มืดที่สว่าง จอปรับแสงได้อีก แบ็ตก็อึด ชาร์จก็เร็ว ตอนนี้หนังสือกระดาษที่อ่านอยู่คือที่ยืมจากห้องสมุดมาหรือแบบที่หาแบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้ แต่โดยส่วนตัวติดใจแบบอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าแล้วครับเพราะอรรถรสผมมาจากตัวหนังสือ ไม่ใช่มาจากการสัมผัสเล่มหนังสือ


ผมยก tablet อันเก่าขนาด 10.1 นิ้วให้ลูกชายไป มันช้าจนเล่นเกมส์ไม่ไหว แต่ใช้อ่านหนังสือได้สบาย ทำให้เจ้าตัวอ่านข้อมูลต่างๆ จาก wikipidia ได้ง่ายกว่าอ่านจากคอมพิวเตอร์หรือมือถือจอเล็ก เบื่ออ่านหนังสือก็ไปดูสารคดีต่างๆ จาก youtube ได้อีก  เป็นการปลูกฝังเด็กให้รักการอ่าน เพียงแต่สื่อการอ่านเปลี่ยนจากหนังสือเล่มเป็นแบบอื่นแทน คลังความรู้ต่าง ๆ มีมากขึ้นและเข้าถึงได้ง่ายกว่ายุคหนังสือกระดาษเยอะ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้น


ปัญหาของหนังสือยุคใหม่โดยเฉพาะภาษาไทยคือ ebook มีให้เลือกอ่านไม่เยอะพอ และที่มีให้อ่านผมยังรู้สึกว่ามันแพงเกินไปหน่อย เพราะ ebook ที่ไม่ได้มีต้นทุนเรื่องค่ากระดาษและความเสี่ยงจากการสต๊อกของ หลายเล่มราคากลับถูกกว่าหนังสือกระดาษไม่มาก เช่นหนังสือกระดาษขาย 350  ebook ขาย 320 ทำให้ทำใจซื้อยากครับ ผมซื้อ ebook จาก Amazon ไว้หลายสิบเล่ม มีทั้งของฟรีจากหนังสือที่หมดลิขสิทธิ์ไปแล้ว ส่วนที่จ่ายเงินส่วนใหญ่ราคาเล่มละ 0.99 ปอนด์หรือไม่ถึง 50 บาท แพงสุดคือ 2.99 ปอนด์หรือไม่ถึงร้อยห้าสิบบาท ส่วน ebook ไทยแพงกว่าเยอะ   ขนาดจะอุดหนุนนิยายของท่านอาจารย์ใหญ่ทีละหลายๆ เล่มยังสู้ไม่ไหว หันไปยืมห้องสมุดแทน สะสมไว้แต่เล่มที่ใจชอบจริงๆ


ผมเองก็ไม่รู้ต้นทุนและการคิดราคาของนักเขียนไทย ไม่รู้ว่าต้นทุนค่ากระดาษคิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ของราคาหนังสือ 1 เล่ม แต่การที่ ebook ไทย และหนังสือกระดาษของไทยโดยเฉพาะนิยายต่างๆ ราคาแพงเมื่อเทียบกับมาตรฐานรายได้ของคนไทย เลยยิ่งเป็นการสนับสนุนให้มีการทำ pdf เถื่อนกันมากยิ่งขึ้นไปอีก


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ธ.ค. 17, 23:40
กำลังจะไป count down  พอดีเห็นคุณชายประกอบเทพแวะเข้ามา  เลยต้องมาทัก   หายไปนานนะคะ
เอื้อเป็นยังไงบ้าง   ปรับตัวเข้ากับร.ร.ใหม่ได้หรือยัง

ราคาอีบุ๊คเท่าที่ทราบถูกกว่าราคาหนังสือเล่ม ประมาณ 20% ค่ะ   เพราะต้นทุนน้อยกว่า    ไม่ต้องมีค่ากระดาษ ค่าหมึกพิมพ์+ แท่นพิมพ์   สายส่ง  ฯลฯ  แต่จะต่ำกว่ามากก็ไม่ได้ มันจะกลายเป็นตัดราคาหนังสือ   
สมมุติว่าหนังสือขาย 350 บาท   อีบุ๊คจะลดเหลือ 50 บาท ก็ไม่ได้    ถ้างั้นใครเขาจะซื้อหนังสือล่ะคะ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 01 ม.ค. 18, 08:29
ฮิฮิ ความเห็นแรกของปี 2561  สวัสดีปีใหม่ท่านอาจารย์ใหญ่และสมาชิกทุกท่านครับ


ผมไม่ได้หายไปไหน วนเวียนอยู่แถวนี้ครับ เพียงแต่ไม่ค่อยได้ตอบอะไร เน้นอ่านมากกว่า มาทีอ่านกระทู้ต่างๆ แบบรวดเดียวแทน ส่วนเอื้อตอนนี้อยู่ ม.1 แล้ว แม้โรงเรียนจะดีมีชื่อเสียง แต่ก็ต้องทน ๆ เรียนหนังสือไปกับหลักสูตรทำลายเด็กมากกว่าพัฒนาเด็กของกระทรวงศึกษาบ้านเรา  ถ้าจะพูดว่าทำลายยังไงคงต้องว่ากันยาว แต่ทั้งเอื้อและผมเห็นพ้องต้องกันว่าหลักสูตรเรามันไม่ได้เรื่องและไม่ส่งเสริมสติปัญญาผู้เรียนเท่าไหร่ แต่เป็นการยัดเยียดข้อมูลสำเร็จรูปมากมายที่ผู้วางหลักสูตรคิดแทนเด็กว่านี่จำเป็นต้องรู้แบบทำลายความอยากรู้อยากเห็นและการคิดของเด็กอย่างมาก เพียงแต่ผมเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้ กำลังทรัพย์ก็จำกัด ก็ต้องให้เอื้อทนเก๊กซิมเรียน ๆ กันต่อไป


กลับมาเรื่อง ebook เมื่อราคายังไม่ถูกมากพอที่จะดึงดูดคนให้ซื้อ เมื่อไม่ซื้อก็โหลดฟรีซะแทน ปัจจุบันมี pdf หนังสือต่างๆ ให้โหลดเต็มไปหมด เช่นพวกนิยายจีน ออกวันนี้ตอนเย็นมีให้โหลดแล้ว ของท่านอาจารย์ใหญ่ยังมีให้โหลดหลายเล่ม กลายเป็นการสร้างนิสัยไม่ดีและความเคยชินให้คนอ่านฟรีไปแทน  


ส่วนถ้า ebook ราคาถูกไป ตัดราคาหนังสือกระดาษ แล้วใครจะซื้อหนังสือกันหละ ก็ต้องบอกว่าสุดท้ายหนังสือกระดาษก็จะต้องหายไปในเวลาอีกไม่นานนับจากนี้ครับ หนังสือจะกลายเป็นสิ่งสะสมแทน อย่างผมเองงานสัปดาห์หนังสือที่ตลอดชีวิตผมไม่เคยพลาด  ปีที่แล้วผมไม่ไปซักงาน  เราไม่สามารถฝืนเทคโนโลยีและวิธีชีวิตแบบใหม่ของมนุษย์ไปได้ การพยายามยื้อสิ่งที่กำลังถูกแทนที่ สุดท้ายก็กลายเป็นการตัดโอกาสของตัวเองไป เท่าที่พอรู้มานักเขียนดังๆ จะได้ค่าเขียนประมาณ 20-30% ของราคาหนังสือ ถ้าลดราคา ebook เหลือแค่ 50% ของราคาหนังสือกระดาษ ก็น่าจะเพิ่มยอดขายได้อีกเยอะ เพราะคนจะอ่านหนังสือบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  ส่วนคนที่มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับด้านการพิมพ์ สุดท้ายก็ต้องปรับเปลี่ยนไปทางอื่นครับ  เพราะด้วยการมาของเทคโนโลยี บางอาชีพหายไป แต่ก็มีอาชีพหรือช่องทางใหม่ๆ เข้ามาแทนที่


อีกปัญหาที่เห็นคือการขายหนังสือในรูป pdf  file ที่หลาย ๆ web site ขายในลักษณะนั้นจะมีปัญหาป้องกันการ copy ยาก ปัจจุบันมี platform หนังสืออิเล็กทรอนิกส์หลายเจ้าที่หนังสือถูกเก็บบนระบบ cloud ต้องใช้โปรแกรมพิเศษของ platfrom นั้น ๆ ในการอ่าน ทำให้ป้องกันปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ดีกว่า ดังนั้นนักเขียนต้องไปพึ่ง platform เช่น Ookbee (มาจากคำว่า ebook) หรือ Amazon Kindle ในการขายผลงานแทน นอกจากนี้ยังมีช่องทางที่เอื้อต่อนักเขียนใหม่ๆ ในการขายผลงานเยอะแยะเลย ตอนนี้มีคนเขียนนิยายขายเป็นตอนๆ แล้ว


แต่โดยส่วนตัวผมเองไม่เคยซื้อหนังสือไทยจาก Ookbee เพราะคิดว่ามันยังแพงไป เลยส่งเงินออกนอกประเทศไปซื้อจาก Amazon แทน แต่ในเวลาอีกไม่นานคงเลี่ยง Ookbee ไม่ได้


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 12 ม.ค. 18, 19:16
เปิดรายได้ “ดิฉัน คู่สร้าง-คู่สม” ในวันที่ “แม็กกาซีน” ต้องปิดตัวลง

https://positioningmag.com/1149933


ข้อมูลที่ให้มาไม่มีของปี 2560
ถ้าดูตาม trend ประมาณการรายได้ปี 2560 คงอยู่ที่ 70 ล้าน กำไรคงไม่ถึง 10 ล้านบาท
ยังไม่ถึงกับเลือดซิบ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 18, 19:51
ธุรกิจอะไรก็ตาม ถ้ายิ่งทำกำไรยิ่งน้อยลง   มองอนาคตแล้วก็มีแต่จะน้อยลงไปเรื่อยๆ  ไม่มีทางมากขึ้นหรือแม้แต่เท่าเดิม   เจ้าของก็คงจะอยากหยุดมากกว่าจะเหนื่อยทำต่อไปจนถึงวันขาดทุน
ยิ่งถ้าเป็นคนที่อยู่ในวัยพักผ่อน     เขาก็คงอยากจะพักสบายๆ ใช้เงินที่สะสมไว้มากมายให้คุ้มเหนื่อย ก่อนจะไม่มีโอกาสได้ใช้



กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ม.ค. 18, 19:58
ภาพนี้พอจะบอกอะไรได้ตรงกับหัวข้อกระทู้ไหมคะ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 13 ม.ค. 18, 06:27
ท่องเฟสดอกหญ้าอุดร ยี่สิบกว่าปีก่อนรถบรรทุกขนหนังสือ 500 กล่องมาเปิดร้าน
วันนี้ร้านแพคกล่องสตอคหนังสือกลับบริษัท เศร้าและเสียดาย
ทายว่าเมื่อหน้าร้านลดลง ลูกค้าต้องชอปหนังสือผ่านเน็ตครับ
ค่ายใหญ่อีกร้านใกล้บ้าน จวนแหล่มิจวนแหล่


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 18, 11:21
มันจะล้มเป็นโดมิโน่กันทั้งระบบค่ะ 
เมื่อก่อน ไปจ่ายของที่ซูเปอร์ในศูนย์การค้า เจอร้านหนังสือก็แวะเข้าไปดู    ต่อมาร้านหนังสือค่อยๆหายไป อยากซื้อต้องไปงานหนังสือที่ศูนย์ประชุมฯ หรือที่ไหนที่เขาออกร้าน
ถ้าไม่ได้ไปที่นั่นก็ซื้อหนังสือไม่ได้   หาอ่านเอาจากกูเกิ้ลง่ายกว่า
หนักๆเข้าเลยไม่ซื้อหนังสือ
ร้านหนังสือขายไม่ได้ ก็ปิดตัว   สำนักพิมพ์ก็หาที่จำหน่ายไม่ได้  พิมพ์น้อยลง  โรงพิมพ์ก็พลอยรับงานน้อยลงไปด้วย
หนักๆเข้า โลกหนังสือที่เรารู้จักก็จะค่อยๆเฟดไปจากชีวิตประจำวัน  มีแต่การอ่านจากหน้าจอเข้ามาแทน


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 13 ม.ค. 18, 12:08
มันจะล้มเป็นโดมิโน่กันทั้งระบบค่ะ 
 
ห้องสมุดประชาชนต่างๆ จะกลายเป็นห้องสมุดหนังสือเก่า หรืออาจใช้เป็นที่จัดกิจกรรมอื่น


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 13 ม.ค. 18, 19:03

ภาพนี้พอจะบอกอะไรได้ตรงกับหัวข้อกระทู้ไหมคะ


หัวกระทู้ = หนังสือหมดแผง (หนังสือเจ๊ง)
ภาพนี้.. = แผงหมด (แผงเจ๊ง)


อ่านข่าวย้อนหลัง ลางไม่ดี ตั้งเค้ามาสองสามปีแล้วครับ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ม.ค. 18, 22:24
การอ่านจากหน้าจอเล็กอย่างมือถือ (หรือมินิไอแพด) กับการอ่านหนังสือเล่ม มันมีข้อจำกัดที่แบ่งแยกวิธีการอ่าน และความรู้สึกจากการอ่าน ชนิดแยกได้เป็นคนละแขนงคนละกิ่งกันเลยค่ะ
การอ่านหนังสือ ถ้าเป็นคนชอบอ่าน  อ่านยาวเท่าไรก็ไม่ถอย  ยิ่งยาวยิ่งสนุก  ข้อนี้แฟน "เพชรพระอุมา" คงยืนยันได้ว่าจริง
ตัวหนังสือบรรทัดแล้วบรรทัดเล่าจะพาเราเข้าไปในโลกของจินตนาการ แม้ว่าอ่านสารคดี เราก็จะวาดภาพขึ้นมาจากตัวหนังสือ   ฝึกสมองและได้ความเพลิดเพลินทางอารมณ์ไปพร้อมๆกัน

แต่มือถือหรือเครื่องมือสื่อสารขนาดเล็กๆ  ตอบสนองข้อนี้ไม่ได้   ขนาดจอทำให้มันเหมาะที่จะใช้อ่านอะไรสั้นๆ ง่ายๆ ไม่ต้องประณีตละเลียดทีละน้อยเพื่อซึมซับเข้าไปในอารมณ์     มันก็เลยเหมาะกับบทสนทนาสั้นๆทางไลน์ หรือเมสเซนเจอร์   เหมาะจะดูภาพเคลื่อนไหวสั้นๆ  ภาพถ่ายง่ายๆ ของเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง เพื่อดูว่าเขาทำอะไรอยู่ ไปเที่ยวไหน  ไม่ใช่ภาพถ่ายระดับงานศิลปะ

ต่อไปเมื่อหนังสือส่วนใหญ่อำลาแผง    เหลือมือถือที่หนุ่มสาวก้มหน้าดูกันทุกเวลาทุกโอกาส      รสชาติของการเสพวรรณกรรมจะหายไป  เหลือแต่การอ่านข่าวสั้นๆ  ส่งและรับข่าวคราวสั้นๆ คำพูดสั้นๆโต้ตอบกัน
ทุกอย่างสั้น ห้วน ง่าย ไปหมด 
ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันก็จะสั้น ห้วน ง่าย แบบเดียวกัน



กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: สองล้อ ที่ 14 ม.ค. 18, 18:41
สวัสดีปีใหม่ครับ ทุกท่าน

อาจารย์เทาชมพูพูดถึงเพชรพระอุมา นึกขึ้นได้ว่าตัวผมเองได้ซื้อหาฉบับ e-book ไว้จนครบแต่ก็ไม่เคยได้อ่านเลย  ฉบับพิมพ์ยังชวนอ่านกว่า  อีกทั้งตัวเองมี kindle แล้วก็ยังไม่ขวนขวายหาหนังสือเล่มมาให้รกบ้านอีก อีกอย่างนึงคือนิยายสมัยนี้มีช่องทางการจัดจำหน่ายหลากหลาย หน้าร้านเลยอาจน้อยลง อย่างไปร้านหนังสือใหญ่ๆตามห้าง บนชั้นหนังสือก็มีแต่จำพวกนิยายวัยรุ่น อะไรแปลกๆ แต่ถ้าอยากได้หนังสืออะไรที่ไม่มีในร้านก็กลับมาสั่งบนเว็บของร้าน สะดวกสบายโปรโมชั่น ส่วนลดมีบ่อยกว่าเดินไปซื้อ พวกนิตยสาร ผมว่าคงอยู่ยากเพราะในอินเตอร์เนต มี content ใหม่ๆอัพเดทตลอดเวลา แถมผู้เขียนบทความสามารถโต้ตอบกับผู้อ่านได้โดยตรง


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ม.ค. 18, 18:51
อ่านของคุณสองล้อ ขอเรียบเรียงใหม่
1  ชอบอ่านเพชรพระอุมาที่เป็นเล่มมากกว่า e book 
2  พอถึงหนังสืออื่นกลับชอบอ่านทาง kindle (ก็คืออ่าน e book นั่นแหละ) เลยไม่อยากซื้อหนังสือเล่มให้รกบ้าน
3  ตามร้านหนังสือ ไม่มีหนังสือที่คุณอยากได้ (ข้อนี้ตรงกับใจดิฉัน) สั่งซื้อทางเน็ตง่ายกว่า
4  นิตยสารมีเนื้อหาที่ช้ากว่าอินเทอร์เน็ต
5  อินเทอร์เน็ตสื่อสารได้ 2 ทางระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่านโดยตรง   นิตยสารทำไม่ได้

เห็นด้วยค่ะ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ม.ค. 18, 19:36
ไป  7-11 ใกล้บ้าน   แผงมีหนังสือน้อยจนดูโหรงเหรง   
พอกลับมาเปิดโน้ตบุ๊คดู   พบ Google play เสนอหนังสือให้อ่านโดยไม่ต้องกระดิกตัวออกไปไหน

เลือกหนังสือจากหนังสือนับล้านเล่มบน Google Play รวมถึงหนังสือออกใหม่ หนังสือขายดีของ New York Times® หนังสือเรียน และหนังสือคลาสสิกที่ฟรี ปรับขนาดแบบอักษรได้อย่างง่ายดาย และปรับประสบการณ์การอ่านของคุณได้มากยิ่งขึ้น อ่านแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ และอ่านต่อจากจุดที่คุณอ่านค้างไว้บนโทรศัพท์ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ เริ่มต้นอ่านได้เลยวันนี้!

หนังสือยังมีให้อ่าน แต่คงหาบนแผงยากขึ้น    ไปหาง่ายในจอค่ะ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 20 เม.ย. 18, 14:57
นิตยสารที่กำลังจะกลายเป็นตำนานเล่มล่าสุด

ปิดตำนาน! “สตาร์พิคส์” นิตยสารหนังฝรั่ง ลาแผงเดือนนี้

http://www.banmuang.co.th/news/entertain/109010

                นิตยสารสตาร์พิคส์รายเดือนประกาศปิดตัว หลังอยู่คู่แผงหนังสือไทยมากว่า 52 ปี
โดยฉบับที่ 888 เดือนเมษายน 2561 จะเป็นฉบับสุดท้าย


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 เม.ย. 18, 15:44
จากไปอีกหนึ่งรายแล้ว :'( :'( :'(


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: tita ที่ 29 ส.ค. 18, 08:32
อาการไม่ค่อยดีอีกรายแล้ว

นิตยสารแพรวออกประกาศเรื่อง “ปรับเปลี่ยนการวางแผงของนิตยสารแพรว"  โดยระบุว่า เนื่องด้วยสถานการณ์ของสิ่งพิมพ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก  นิตยสารแพรวจึงต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการอ่านในปัจจุบัน  โดยเปลี่ยนจากรายปักษ์เป็นรายเดือน  ซึ่งจะเริ่มปรับเป็นรายเดือนฉบับแรกในเดือนตุลาคมเป็นต้นไป จะวางแผงทุกวันที่ 5 ของทุกเดือน ปิดต้นฉบับล่วงหน้า 30 วัน



กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 ส.ค. 18, 09:30
บางฉบับที่ฟื้นคืนชีพมาก็มี

        จากข่าวเดิมเรื่อง การปิดตัวลงของนิตยสารภาพยนตร์ต่างประเทศระดับตำนานไทย Starpics ที่ฉบับที่ 888

        ต่อมาได้ปรากฏข่าวแจ้งจากหน้าฟบ.ว่า  เนื่องจากบรรณาธิการผู้ก่อตั้ง คุณสุชาย เตชศรีสุธี ยังรู้สึกทำใจไม่ได้
จึงตัดสินใจที่จะทำนิตยสาร Starpics รายเดือนขึ้นมาอีกครั้ง

ปกสตาร์พิคส์ แบับที่ 889 June 2018 


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 29 ส.ค. 18, 09:41
ส่วนเล่มนี้ยังอยู่

          เปิดศักราชใหม่ “กุลสตรี” นับได้ว่า เป็นนิตยสารเพื่อสาระและความบันเทิงของครอบครัวเพียงฉบับเดียว
ที่ยังยืนหยัดบนแผงหนังสือ....
          “วิศรุต ส่งเสริมสวัสดิ์” ทายาทรุ่นที่ 3 ของ “กุลสตรี” เป็นเวลาหลายปีแล้วที่เขาเข้ามาดูแลกิจการในฐานะ
บรรณาธิการบริหาร (บก.บห.) ยอมรับว่า ไม่อยากให้ปิดตัว ซึ่งเป็นความกดดันไม่น้อย เพราะขณะนี้สื่อสิ่งพิมพ์ต้อง
เผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม พยายามนำความกดดันนั้นมาเป็นแรงผลักดัน
พัฒนาเนื้อหาเพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้....
          ด้วยลึก ๆ ของผู้ชายที่ชื่อ “วิศรุต ส่งเสริมสวัสดิ์” ยังอยากให้ผู้อ่านจดจำกุลสตรีในรูปเเบบ “เล่ม” มากกว่า
“ออนไลน์” นั่นเอง

https://www.isranews.org/isranews-article/62139-kullastreemag.html


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 29 ส.ค. 18, 10:50
BNK 48 ทุกฉบับเลยครับ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 18, 19:51
เอาใจช่วยให้ "กุลสตรี" อยู่ยืนยงคงกระพันค่ะ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 18, 19:53
ว่าแต่ พวกเราเคยอ่านนิยายแชทหรือยังคะ
https://www.beartai.com/review/appreview/181328

นี่ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของนิยายออนไลน์ ที่เป็นคลื่นลูกใหม่ของยุคดิจิทัล เข้ามาแทนนิยายพิมพ์บนกระดาษอย่างที่เราคุ้นกันมาเป็นร้อยปี



กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 30 ส.ค. 18, 20:37
จอยรดานี่ต้องเขียนผ่านมือถืออย่างเดียวเสียด้วย สายตาผมยิ่งดีๆ อยู่ด้วย ไหนยังจะโรคนิ้วล๊อคถามหาอยู่ร่่ำไป เคยว่าจะลองดูเล่นๆ เลยไม่เอาดีกว่า


เข้าใจเรื่องโลกหมุนไปนะครับ แต่ยังอยากเห็นเด็กมัธยมไทยวางมือถือแล้วไปทำอย่างอื่นบ้าง (นักศึกษาไม่อยากยุ่งเดี๋ยวโดนตบ!) ไม่ใช่อะไรกลัวสายตาสั้นเหมือนผม อดเป็นนักบินเลย...ว่าเขาไปโน่น ฮ่า ฮ่า


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ย. 18, 09:23
ฤๅร้านหนังสือจะหายไป ทีละร้าน ทีละร้าน  :o  :(

ปิดตำนาน ๓๐ ปี ร้านหนังสือดังขอนแก่นเลิกกิจการ คนอ่านเปลี่ยนหันพึ่งอินเทอร์เน็ต

https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1127046


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.ย. 18, 16:06
ฤามันจะถอยหลังเข้าคลองเฉพาะบ้านเรา บ้านอื่นเมืองอื่นเขามีแต่เปิดกันหรือไม่ก็ดำรงไว้

https://www.facebook.com/worldeconomicforum/videos/255406508494861/ (https://www.facebook.com/worldeconomicforum/videos/255406508494861/)


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 18 ก.ย. 18, 18:23
ยังไงก็ยังชอบหนังสือเล่มค่ะ มันให้ความรู้สึกความเป็นเจ้าของ มีความรู้สึกผูกพันเพราะมันจับต้องได้


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ต.ค. 18, 21:01
“คนรุ่นใหม่ไม่อ่านหนังสือ ไม่จริง เขาย้ายไปอ่านที่อื่น” คำกล่าวปิดตัวนิตยสาร Student Weekly

นิตยสารสอนภาษาอังกฤษอายุร่วม 49 ปีอย่าง S Weekly (หรือชื่อเดิมที่หลายคนรู้จัก คือ Student Weekly) ประกาศยุติการผลิตฉบับพิมพ์ ย้ายสู่ออนไลน์ลงเว็บไซต์ Bangkok Post แทน ระบุเครื่องมือการเรียนรู้ในโลกนี้อยู่บนออนไลน์แล้ว

Gary Boyle บรรณาธิการนิตยสาร S Weekly (ชื่อเดิมคือ Student Weekly) เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ Bangkok Post ว่า ที่ผ่านมา Bangkok Post ได้ผลิตนิตยสารที่ชื่อว่า Student Weekly ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2512 ภายใต้ชื่อ Kaleidoscope ซึ่งทำให้เห็นว่านิตยสารยุคแรกที่ลุคดูจริงจัง ภาพเป็นแบบขาวดำ และยังไม่มีการสัมภาษณ์บุคคลที่มีชื่อเสียง ซึ่งต่อมาก็ถูกปรับลุคให้ดูสดใส ภาพเป็นสี และมีการสัมษณ์คนดังมากขึ้น

“การศึกษากำลังจะมีการเปลี่ยน เราก็ต้องปรับตัวเช่นกัน การเรียนรู้ไม่ได้สิ้นสุดแค่ที่ตำราเรียนเท่านั้น คลังข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดของข้อมูลและเครื่องมือการเรียนรู้ในโลกนี้อยู่บนออนไลน์แล้วและสามารถเข้าถึงได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ ข้อความอย่างเดียวก็ถือว่าดี แต่ข้อความบวกเสียงบวกวีดีโอนั้นดีกว่า การเรียนรู้และเข้าถึงคอนเทนต์ภาษาอังกฤษบนอินเทอร์เน็ตนั้นมีมากขึ้น ดังนั้นมันกลายเป็นความท้าทายต่อนิตยสารต่างๆ ที่เลือกจะยังคงอยู่” Gary กล่าว

ต่อมา Student Weekly เปลี่ยนชื่อเป็น S Weekly จนในที่สุด 30 กันยายน 2561 ก็ประกาศว่า S Weekly จะผลิตนิตยสารแบบพิมพ์เป็นฉบับสุดท้ายแล้ว โดยไม่มี S Weekly เวอร์ชัน E-Book แต่จะอัพเดทเนื้อหาการเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาอังกฤษผ่านเว็บไซต์ Bangkok Post ใน Section ที่ชื่อว่า “Learning” แทน

https://techsauce.co/news/student-weekly-magazine-says-goodbye/


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 16 ต.ค. 18, 13:41
สมัยเรียนมัธยม ผมต้องอ่านด้วยนะครับ หนังสือนี้


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: aaax ที่ 02 พ.ย. 18, 13:17
ข่าวจากเพื่อนที่ปัตตานี ตอนนี้ B2S ปัตตานีก็ปิดตัวไปอีกหนึ่งสาขาครับ.


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ย. 18, 14:49
ต่อไปร้านหนังสือ (ไม่ว่าชื่อไหน)จะเหลือไหมนี่?


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ย. 18, 15:08
https://imonkey.blog/2017/08/12/%E0%B8%BAa-book-is-dead/?fbclid=IwAR3lNF_TYaPXa3H-FU9yfGhx4X5hVCFM1tMIyJO7lRgs8XWtAGS9rGhVDXU

หนังสือกำลังจะตาย” เพราะนักอ่านไม่สนใจ หรือคนเขียนเองที่อ่อนไหวและเปราะบาง
1

 

หนังสือกำลังจะตาย?

หนังสือกำลังจะหายไป?

ทำไมคนไทยไม่อ่านหนังสือ?

เชื่อว่าไม่มากก็น้อยใครหลายคนคนเคยได้ยินประโยคแบบนี้ เราถามคำถามนี้กับตัวเอง และโยนความตายของกระดาษให้ผู้อ่านรับผิดชอบมานานกว่า 20 ปี

ผมเชื่อในพลังของคำถาม
การมุ่งเน้นหาคำตอบของคำถามที่ดีมีค่า
ถ้าวันนี้เราถามกลับไปว่า “ทำไมหนังสือหรือกระดาษต้องตาย?”  และคำตอบที่ผมได้…


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ย. 18, 15:09
2

     ผมอ่านหนังสือ “จดหมายถึงเพื่อน” ของกนกพงศ์
อ่านแล้วอยากเขียนจดหมายรึ? ก็ไม่ถึงขนาดนั้น แต่อ่านแล้วเจอการพูดคุย ความคิดเห็นจริง ๆ ที่ไร้ความเป็นกลาง ชอบ ไม่ชอบถูกบรรยายถ่ายทอดออกมาอย่างดิบด้าน เขียนออกมาให้ผู้คุ้นเคยได้รับรู้ รับทราบ พร้อมคำลงท้ายว่า “รัก” สั้น ง่าย จริงใจ

จนมาถึงประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ กนกพงศ์บอกว่า บ่อยครั้งที่มีการเสวนาเกี่ยวกับวรรณกรรมไทยกำลังจะหายไป การจัดงานเหล่านี้ไม่ได้ช่วยอะไร ไม่ได้ปลุกจิตสำนึกในการอ่าน เป็นเพียงการเรียกระดมกันไปพูดคุย แลกเปลี่ยนของกลุ่มคนเดิม หน้าเดิม เวียนกันพูดเวียนกันคุยเรื่องเดิม รับเสียงปรบมือเสียงเดิม แล้วกลับไปสู่จุดเดิม เราเสวนาในอ่างกันมานานกว่า 20 ปีแล้ว ก็เหมือนเดิม ไม่มีใครสนใจงานประเภทนี้ วรรณกรรมเพื่อชีวิตกำลังจะตาย กนกพงศ์พูดซ้ำ ยอดพิมพ์จำหน่าย 3-400 เล่ม พอให้คนเขียนได้หายใจ แต่ระยะเวลาในการผลิตงานนั้นแสนนาน แค่ครั้นจะให้ไปเขียนงานที่ขายได้ แบบวินทร์ แบบปราบดา ก็ทำใจไม่ได้ เขียนไม่เป็น คงต้องยอมรับ ก้มหน้าก้มตาเขียนงานต่อไป…

“วรรณกรรมคืออะไร”
เนื้อความจดหมายที่ วินทร์ เขียนถึง ปราบดา หลังจากอ่านหนังสือเล่มเดียวกับผม
ซึ่งน่าจะเป็นการเขียนชี้แจงถึงประเด็น “เขียนแบบวินทร์ แบบปราบดา”


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ย. 18, 15:10
วินทร์เล่าคล้ายอึดอัดว่า “วรรณกรรมในความหมายของคนไทยคือ งานเขียนที่ลุ่มลึก หนักอึ้ง อ่านยาก ต่างจากคำว่า Literature ของฝรั่งที่เขานับเหมารวมงานเขียนเกือบทุกประเภท ซึ่งถ้าเปรียบคำว่าวรรณกรรมของไทย น่าจะเป็นแขนงหนึ่งของฝรั่งที่เรียกว่า Literary Merit ซึ่งแม้แต่ในต่างประเทศก็เป็นวรรณกรรมที่ขายยาก แต่วรรณกรรมเหล่านี้ตายไปจริงหรือ ความจริงคือไม่ เพราะถ้ามันตายเราก็เลิกถกกัน และไปเล่นประเด็นอื่น บ้านเราไม่มีนักเขียนที่ยอมตายเพื่อให้ได้เขียนมากนัก เขา (กนกพงศ์) ยังบอกอีกว่างานเขียนที่ลุ่มลึก สะท้อนความต่างชั้น ปัญหาสังคม สะท้อนอารมณ์นั้นไม่มีวันตาย (แต่กลับโอดครวญว่ามันกำลังจะตาย?–ผู้เขียน) ไม่ใช่เพราะมันพูดเรื่องดาษดื่นของสังคม แต่มันเป็นคุณค่าของวรรณกรรม

เป็นประเด็นที่น่าถกหากเขายังอยู่ ในมุมมองของกนกพงศ์ที่ว่าไว้ว่า ต่อไปในอนาคตจะมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า นักเขียน เช่นคุณและผม (วินทร์และปราบดา) มากขึ้น เรื่องความลุ่มลึกของเนื้อหาจะลดลงเพราะการตลาดจะุขดหลุมและฝังกลบ สำหรับผมเเล้วเรื่องแบบนี้ไม่ได้อยู่ในความสนใจ ผมมองว่าการยึดอาชีพนักเขียนก็เป็นเรื่องหนึ่ง การเสนอแนวคิดก็เป็นเรื่องหนึ่ง คล้ายพ่อครัวที่สรรหารสชาติมานำเสนอ แต่การขายให้ได้เป็นอีกเรื่อง สวมหมวกทีละใบ เมื่อเป็นนักเขียนมีหน้าที่เขียนให้จบ เมื่อเขียนจบต้องขายก็เป็นอีกเรื่อง เราต้องขายให้ได้ ถ้าขายไม่ได้ นักเขียนในยุคนี้ก็ทำงานชิ้นต่อไปไม่ได้ ผมก็สะทกสะท้อนใจเมื่อนึกถึงการพิมพ์วรรณกรรมสะท้อนสังคมในปัจจุบันแต่ละครั้งไม่ถึงหมื่นเล่ม

มันเปลี่ยนไป แต่ก็ไม่ใช่ว่ารับไม่ได้…”

 

3

“จดหมายถึงเพื่อน” ยังมีเรื่องราวมากมายที่ถูกกล่าวถึง แต่สิ่งที่ผมเองสังเกตคือการเดินทางของตัวกนกพงศ์เอง การต้องไปร่วมงานต่าง ๆ ไปหาเพื่อนฝูงรวมถึงต้องต้อนรับแขกทั้งกลุ่มนาครและคณะอื่น ๆ ที่มาเยี่ยมเยือน หลายครั้งที่เขาขอโทษที่ไม่ได้อ่านเรื่องสั้นที่เพื่อนส่งมาให้ช่วยดู หลายครั้งที่เขาต้องผลัดเป้าหมายการเขียนเรื่องสั้นหรือแม้กระทั่งนิยายที่อยากเขียนออกไปอย่างไร้จุดหมาย บางเรื่องตกพื้น ซึมหายราวกับสายฝนที่พรมบ้านเขาไม่รู้จบ

“เป็นนักเขียนต้องเขียน ให้ผลงานบ่งบอกว่ามันดีหรือไม่ดี ถ้าดีมันก็ขายได้ ไม่ดีก็ขายไม่ได้ แค่นั้นเอง” ปองวุฒินักเขียนที่เรียกได้ว่าเป็นนักเขียนจริง ๆ ในยุคนี้พูด “มึงไม่รู้หรอกว่างานที่มึงคิดจะดีหรือไม่ดี จนกว่ามันจะถูกเขียนออกมา” เขาย้ำกับผม

ตรงนี้ทำให้ผมคิดว่า หากกนกพงศ์เขียนตามแนวทางที่เขาอยากเขียน และใช้เวลากับงานของตัวเองจริงจัง เขาจะมีงานมากมายแค่ไหน และมีชิ้นไหนที่จะกลายเป็นหนังสือที่มีสถาบันหรือผู้คนต่าง ๆ ประกาศว่า ‘ต้องอ่าน’ น่าเสียดายที่ผมทำได้แค่คิด

 

“นักเขียนบ้านเราเปราะบาง ต่างจากนักเขียนฝรั่ง”

“ทำไม” ผมถาม

“ก็ดูสิ นักเขียนฝรั่งเขาก้มหน้าก้มตาเขียนในสิ่งที่เขาคิดเขาเชื่อ แม้จะมีเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบกายเกิดขึ้น เขาใช้งานเขียนเป็นเครื่องมือหากินไปพร้อม ๆ กับต่อสู้ แต่นักเขียนบ้านเราเวลามีอะไรขึ้นมาก็รวมตัว ประกาศก้องถึงจุดยืน อ่อนไหว เสียดสี ประชดประชัน ทำทุกอย่างยกเว้น เขียนงานตัวเอง” ภู่มณีอธิบายความคิดของเขาเมื่อผมถามผ่านโปรแกรมพูดคุยออนไลน์

น่าคิดนะ– ผมคิด

 

4

ทำไมหนังสือต้องตายด้วยในเมื่อมีข้อมูลว่ายอดจำหน่ายหนังสือเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ผมทบทวนประสมกับสิ่งที่นักเขียนหลาย ๆ คนคิดและรู้สึก “มันไม่ตายเพราะถ้ามันตายเราคงเลิกพูดถึงมันแล้ว” ผมคิดว่าประโยคนี้สำคัญ

บทสรุปเรื่องวรรณกรรมบ้านเราที่ซบเซา หรือแม้แต่มีการประกาศว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด เหล่านี้ผมเชื่อว่ามันไม่มีความจริง เพียงแต่มันถูกปรับเปลี่ยน โยกย้าย และต้องพึ่งปัจจัยมากมายมาสนับสนุนให้ไปต่อ หนังสือทุกวันนี้แจกฟรีกลับหาเงินได้มากกว่าจงใจพิมพ์มาขาย การถูกเผยแพร่มีประโยชน์มากกว่าการถูกยกย่องแล้วนำไปเก็บไว้บนหิ้ง ผู้อ่านเปลี่ยนไป ผู้เขียนก็ต้องเปลี่ยนตาม หน้าที่ของนักเขียนคือเขียนงานของคุณเอง ทำตามแนวทางที่คุณต้องการ และอยากทำ

“ผมไม่เชื่อว่าคำว่า ‘วรรณกรรมสร้างสรรค์’ จะดีกว่าวรรณกรรมหรือนิยายธรรมดาอื่น ๆ เพราะทุกชิ้นงานคือ ‘วรรณกรรมสร้างสรรค์’ มันถูกคิดขึ้นมา สร้างขึ้นมาไม่ว่าจะถูกทำมาเพื่อตอบโจทย์หรือตอบสนองอะไร” ปองวุฒิให้สัมภาษณ์ GM

“ผมว่าหนังสือก็คือหนังสือ มันไม่ได้ถูกแบ่งว่าเป็นประเถทไหนอย่างไร สำหรับผมมันถูกแบ่งแค่เพียง ‘เขียนดี’ กับ ‘เขียนไม่ดี’ ผมเชื่อว่าเราสามารถเขียนนิยายสยองขวัญที่สะท้อนสังคม มีภาษาสวยงามและลุ่มลึกได้ อยู่ที่ว่าคุณเขียน ถึง ไหม” วินทร์กล่าวย้ำในจดหมายถึงปราบดา

กลับมาที่คำถาม “ทำไมหนังสือหรือกระดาษต้องตาย?” สำหรับผมคำตอบนี้ง่ายมาก

“มันจะตายเพราะนักเขียน ไม่เขียนมันออกมาไงละ”


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ย. 18, 15:29
วินทร์เล่าคล้ายอึดอัดว่า “วรรณกรรมในความหมายของคนไทยคือ งานเขียนที่ลุ่มลึก หนักอึ้ง อ่านยาก ต่างจากคำว่า Literature ของฝรั่งที่เขานับเหมารวมงานเขียนเกือบทุกประเภท ซึ่งถ้าเปรียบคำว่าวรรณกรรมของไทย น่าจะเป็นแขนงหนึ่งของฝรั่งที่เรียกว่า Literary Merit ซึ่งแม้แต่ในต่างประเทศก็เป็นวรรณกรรมที่ขายยาก

ขออธิบายหน่อยว่า literary merit แปลตามตัวว่าคุณค่าของงานประพันธ์     งานประพันธ์ทุกชนิดไม่ใช่ว่าผลิตออกมาแล้วจะมีคุณค่าขึ้นมาทันทีโดยอัตโนมัติ  แต่จะต้องมีคุณสมบัติหลายอย่างประกอบอยู่ในนั้นจนได้รับการยอมรับนับถือว่า มีคุณค่า   เท่าที่นักวิชาการวรรณกรรมเขาวัดกันก็คือ  งานนั้นต้องอ่านได้ยืนยาวข้ามยุคสมัยโดยไม่ล้าสมัย   มีตัวละครที่สมจริงเหมือนมีเลือดเนื้อมีชีวิตให้รู้จักได้  มีความซับซ้อนทางอารมณ์   มีความเป็นตัวของตัวเองไม่ลอกแบบใคร และแสดงถึงสัจธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งของชีวิต
วรรณกรรมไทยประเภทที่คุณวินทร์เอ่ยถึง น่าจะตรงกับอีกคำหนึ่ง คือ serious fiction  หมายถึงนวนิยายและเรื่องสั้นที่เขียนขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเน้นเนื้อหาสาระที่เชื่อว่าประเทืองปัญญา    เช่นสะท้อนสังคมในวงกว้าง   แสดงอุดมการณ์ทางการเมือง หรือศาสนา หรือปรัชญา    งานประพันธ์ประเภทนี้มีประปรายนับแต่หลังปี 2475 เป็นต้นมา    แล้วมาเฟื่องฟูในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน 2516  แล้วก็ยังเบ่งบานมาเรื่อยๆโดยมีรางวัลซีไรต์เป็นเกียรติคุณรองรับ
แต่ปัจจุบัน  เวลาผ่านมาครึ่งทศวรรษ  ความรู้สึกนึกคิดของหนุ่มสาวแต่ละยุคเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม   เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากมาย ไม่ใช่แค่คอมพิวเตอร์หรือมือถือ  แต่หมายถึง การสื่อสารไร้พรมแดน ที่มีเกมส์ออนไลน์  และแอ๊พสารพัดแบบ   งานประพันธ์แบบเก่าก็เหมือนกับถูกเบียดให้ถอยห่างจากกลางเวที  เปิดเนื้อที่ให้ของใหม่ๆเข้ามาเป็นศูนย์กลางความสนใจ
นักเขียนคนไหนปรับตัวได้ก็อยู่รอดต่อไป  มากน้อยแค่ไหนแล้วแต่  คนไหนปรับตัวไม่ได้ก็อาจจะหายไปจากกระแสหลัก
หนังสือที่เป็นกระดาษกำลังลดจำนวนลง   ถ้านักเขียนเขียนอีบุ๊คไม่เป็น  ก็ยากที่จะอยู่ได้ในยุคสื่อสารผ่านหน้าจอ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 05 พ.ย. 18, 09:36
แต่ B2S สาขาตามห้างในกรุงเทพ กลับขยายใหญ่โตมาก ที่เซนทรัลพระรามสามแถวบ้างผม ขนาดของร้านแทบจะเป็น 20% ของ ชั้นนั้นๆเลยครับ สาขาที่เมกะบางนาก็ใหญ่บึ้ม ที่พิจิตรสาขาเล็ก แต่ก็มีคนเข้าอยู่ตลอดนะครับ


กระทู้: ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ย. 18, 10:35
ฺB2S  ขายอะไรอีกหลายอย่างนอกจากหนังสือ   เดิมมีของใช้ในสำนักงาน   เดี๋ยวนี้มีเล่นของกินด้วย   ก็นับว่าเป็นทางช่วยที่ดีค่ะ