เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: จ้อ ที่ 06 ก.พ. 01, 00:57



กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 06 ก.พ. 01, 00:57
พอดีจะแปะกาพย์เปิดข้าวของจิตร ภูมิศักดิ์
ในกระทู้เพลงไทย

แต่ผิดพลาดเลยขออนุญาติเปิดเป็นกระทู้ใหม่ดีกว่า
/>
เพื่อท่านใดมีคำประพันธ์ที่มีคติสอนใจดีๆ จะได้แบ่งกันครับ


/>
อันนี้ไปลอกมาจากบ้านผะหมีครับ href='http://pamee.hypermart.net/verse.html#top'
target='_blank'>http://pamee.hypermart.net/verse.html#top

/>


เปิบข้าวทุกคราวคำ............จงสูจำเป็นอาจิณ
/>
เหงื่อกูที่สูกิน......................จึงก่อเกิดมาเป็นคน
/>
ข้าวนี้น่ะมีรส......................ให้ชนชิมทุกชั้นชน
/>
เบื้องหลังสิทุกข์ทน..............และขมขื่นจนเขียวคาว


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 15 ม.ค. 01, 05:00
อันนี้ก็เด็ด ... ไม่ทราบว่ามาจากไหน ใครแต่งครับ?

เจ็ดวันเว้นว่างดีดซ้อม.........ดนตรี
อักขระห้าวันหนี...................เนิ่นช้า
สามวันจากนารี....................เป็นอื่น
วันหนึ่งเว้นล้างหน้า..............อับเศร้าศรีหมอง


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 15 ม.ค. 01, 08:05
อันที่๒นี่พึ่งเคยเห็นครบบท
บรรทัด๒กับ ๔ พึ่งเคยเห็น
(เอ โครงนี่เขานับกันอย่างไร ลืมซะเเล้ว จะว่า ท่อนก็รู้สึกไม่ใช่
จะว่าบาท ก็ไม่เชิง)

จะใช่จากโครงโลกนิติหรือเปล่า


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ม.ค. 01, 09:03
คุณ Jor คำประพันธ์ในข้อ ๑ มาจากโคลงโลกนิติค่ะ  
ของเดิมเป็นภาษิตข้อคิดของอินเดียโบราณ   เมื่อมาถึงไทยก็มีหลายสำนวนด้วยกัน ผิดเพี้ยนกันไปบ้าง  ต่อมาสมเด็จกรมพระยาเดชาดิศรทรงมาชำระเรียบเรียงและรวบรวมขึ้นใหม่

คุณภูมิ   โคลงนับกันเป็น"บท"  มี ๔ บรรทัด
แต่ละบรรทัดเรียกว่า "บาท" ค่ะ


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ม.ค. 01, 16:37
คุณJor เอาบทนี้มาฝากค่ะ

จะหามณีรัตน์.......รุจิเลิศก็อาจหา
เพราะมีวนิชค้า.....และดนูก็มั่งมี
ก็แต่จะหาซึ่ง.........ภริยาและมิตรดี
ผิทรัพยะมากมี......ก็บ่ได้ประดุจใจ
("มัทนะพาธา" พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)

นรชาติบัณฑิต ย่อมไม่กังวลสิ่งที่ไม่เห็นทางจะได้  ไม่โทมนัสถึงสิ่งที่เสียไป ไม่ตะลึงหลงเลอะแม้ในยามวิบัติ
("หิโตปเทศ" ของ เสฐียรโกเศศ)

บทนี้ยากหน่อย  ใครจะลองตีความดูบ้างคะ

พระสมุทรไหวหวาดห้วย........คลองสรวล
เมรุพลวกปลวกสำรวล.............ร่าเร้า
สีหราชร่ำคร่ำครวญ................สุนัขเยาะ หยันนา
สุริยส่องยามเย็นเข้า.................หิ่งห้อยยินดี
(โคลงโลกนิติ)


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: เพลิน ที่ 15 ม.ค. 01, 18:57
"น้ำที่ใสเย็นสนานชำระกาย สายสร้อยไข่มุกสวมศอ
น้ำมันจันทร์ชโลมลูบไล้ สิ่งเหล่านี้
ได้ในเวลาเหนื่อย ร้อนร่าน ย่อมเป็นที่บานกมล

แต่ได้สนทนากับผู้ที่เป็นสัตบุรุษ
ฟังน้ำวาจาแจ่มบริสุทธิ์สุนทรไพเราะ เป็นสติควรสดับ
นับว่าได้ความชื่นรื่นสรานใจยิ่งกว่า
"

หิโตปเทศ

แทนใจแด่เพื่อนๆเรือนไทยที่น่ารักทุกคนค่ะ เว็บนี้คุยสนุกกว่าที่ไหน

ขอโทษด้วยนะคะ พิมพ์ยอผู้หยิงไม่ได้ค่ะ


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: เพลิน ที่ 15 ม.ค. 01, 19:05
ต่อด้วยโคลงบทนี้ละกันค่ะ

ใดใดในโลกล้วน......อนิจจัง
คงแต่บาปบุนยัง.......เที่ยงแท้
คือเงาติดตัวตรัง........ตรึงแน่น อยู่นา
ตามแต่บาปบุนแล้.....ก่อเกื้อ รักษา

ไม่มีต้นฉบับในมือ ไม่แน่ใจว่าจำถูกหรือเปล่านะคะ
คิดว่ามาจากลิลิตพระลอค่ะ


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: เพลิน ที่ 15 ม.ค. 01, 19:20
มีความสุขที่ได้โพสต์ ขออีกบทนึงละกันนะคะ

ใครเป็นลูกศิษย์ท่านพุทธทาส คง "ซึ้ง" กับบทนี้ไม่มากก็น้อย

ไม้ร่าย
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ลมร่ายไม้ร่ายระเริงเสียง.........ส่ายเพียงแผ่นฟ้าภูผาไหว
แดดสาดส่องปรุทะลุใบ..........ไล้ไม้โลมไม้ลงมาดิน
หริ่งหริ่งเรื่อยรับระยับไม้..........ร่ายเพลงแห่งไพรและเพิงหิน
ผีเสื้อใบไม้พริบพรายบิน.........ค่อยร่วงค่อยรินระเริงรำ
ความนิ่งมีในความไม่นิ่ง...........ลึกซึ้งหนึ่งสิ่งในสิ่งส่ำ
หยัดร่างหยั่งรากแกร่งกรากกรำ..ทำโดยไม่ทำตลอดทา
ดวงแดดเลือนดับกับพื้นทราย....ใบไม้ทักทายกับลมป่า
ความเงียบกึกก้องอยู่โลกา........เสียงของธรรมดาอันได้ยิน

เพราะจังเลยเนอะ

ต้องออกตัวอีกแล้วนะคะว่าไม่มีต้นฉบับกับตัว
หากใครพบข้อผิดพลาดขอความกรุณาแก้ให้ด้วยค่ะ
ขอบคุณค่ะ


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ม.ค. 01, 19:39
ไพเราะมากค่ะ คุณเพลิน

อ่านแล้วนึกถึงอีกบทของท่านพุทธทาส
สั้นๆ แต่ชอบมาก

In the silence of mind, one can listen to grass.
จิตว่างได้ยินหญ้าพูด


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ม.ค. 01, 20:01
คุณจ้อ  ที่นี่มีสุภาษิตไทยให้อ่านจนอิ่มเลยค่ะ

http://203.154.104.10/service/mod/heritage/nation/proverb/proverb.htm


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: แม่หญิง ที่ 15 ม.ค. 01, 22:21
พระราชนิพนธ์ในพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ค่ะ

ถึงสูงศักดิ์อัครฐานสักปานไหน
ถึงวิไลเลิศฟ้าสง่าศรี
ถึงเก่งกาจฉลาดกล้าปัญญาดี
ถ้าไม่มี "คุณธรรม" ก็ต่ำคน


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 16 ม.ค. 01, 01:48
โคลงบทนี้เคยเป็นต้นเค้าของการเขียนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง หลายปีมาแล้วครับ ตั้งแต่ยังไม่มี ปปช. (แต่มี ปปป. แล้ว) มาจากโลกนิติ- มั้งนะ?

อ่านจบแล้วจะเห็นเหมือนผมไหมครับว่า เป็นเรื่องสั้นชั้นดีได้หนึ่งเรื่องทีเดียว
- จ่ายทรัพย์วันละบาทซื้อ มังสา
นายหนึ่งเลี้ยงพยัคฆา ไป่อ้วน
สองสามสี่นายมา กำกับ (กันเฮย?)
บังทรัพย์สี่ส่วนถ้วน เสร็จสิ้นเสือตายฯ

นักหัดเขียนมือสมัครเล่นคนหนึ่งที่ผมรู้จักดี เคยเอาไปขยายเป็นเรื่องสั้นชื่อ "ทอง ชิ้นเนื้อ และมนตรีพระราชา"  ตั้งแต่ - เอ ขอนึกก่อน ราวๆ ก่อน 2535 นะครับ ยุคที่มีการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน โดยข้ออ้างว่ามีนักการเมืองบางคน "ร่ำรวยผิดปกติ"  (สมัยนี้เราไม่ค่อยได้ยินสำนวนนี้แล้ว)

โคลงบทที่ว่าปลวกหัวเยาะเยาะภูเขา ฯลฯ ค่อนข้างลึกซึ้งครับ ขอนึกนานๆ หน่อย


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 16 ม.ค. 01, 02:57
ขอบคุณครับคุณเทาชมพู ผมอ่านจนอิ่มไปเลย


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 16 ม.ค. 01, 04:02
โคลงบทที่สองของคุณเทาชมพู เห็นคุณ นกข. คิดนานๆ
ผมขอคิดนานบ้างแล้วกัน

แต่บทแรกที่เอามาฝากนี่ อ่านแล้วสะกิดใจ ตะหงิดๆ
สงสัยผมจะต้องรีบหาซะแล้วสิครับ ... แหะๆๆ


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 16 ม.ค. 01, 09:14
อ.ชนก เขียนเอาไว้
อันความรู้หาได้จากการเรียน
ส่วนฝีมือเราต้องเพียรฝึกฝน
ชื่อเสียงนั้นเป็นเพียงลมปากคน
อย่ากังวลใส่ใจให้มากความ


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ม.ค. 01, 10:03
ธรรมดาถิ่นใดไร้นักปราชญ์  ณ ถิ่นนั้นผู้มีปัญญาแต่เล็กน้อยมักยอตัวว่าเลิศ   เปรียบเหมือนในดินแดนอันไร้รุกขชาติ  ชั้นแต่ต้นละหุ่งก็ขึ้นชื่อว่าเป็นไม้ใหญ่
****************************************
"ผู้นี้เป็นพวกเราหรือพวกอื่น?" นี่เป็นปัญหาของผู้มีใจคับแคบ  
ผู้มีใจกว้างขวางย่อมถือว่า ผู้อยู่เหนือพสุธาทั้งหมด เป็นพวกเดียวกัน
********************************************
อันว่าทรชน แม้จะมีความรู้เป็นอาภรณ์  ก็ต้องหลีกเลี่ยงเสียจนพ้น  อย่าได้สมาคมข้องแวะเป็นอันขาด
 เปรียบเช่นอสรพิษประดับดวงมณี  เชื่อได้ว่าจะไม่ทำอันตรายละหรือ?
*********************************************
สัตบุรุษ แม้จะโกรธแค้น ก็มิเปลี่ยนกิริยาให้วิกล  
น้ำในสาคร จะเอาฟางติดไฟสุมสักเท่าไร  ก็หาทำให้น้ำเย็นกลายเป็นร้อนไม่
*********************************************
การเข้าเป็นพวกกลมเกลียวกัน จะมีแก่โลหธาตุเพราะธรรมชาติเป็นโลหะเหมือนกันเป็นเครื่องประสาน
จะมีแก่สัตว์จัตุบาททวิบาท เพราะสรีรรูปเป็นเครื่องประสม
จะมีแก่คนโง่เขลา เพราะความขลาดและความโลภเป็นเครื่องชักจูง
จะมีแก่สัตบุรุษเพราะทรรศนะปรีชาเป็นเครื่องสมาน

(หิโตปเทศ)


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 17 ม.ค. 01, 00:15
การเข้าประสมกลมเกลียวกัน ข้อสุดท้ายของคุณเทาชมพู จากหิโตปเทศ ทำให้ผมนึกถึงคำขวัญของสมาคม - ดูเหมือนจะเป็น สยามสมาคม? เป็นสมาคมวิชาการเก่าแก่อันหนึ่งของเมืองไทย
อดีตบรรณาธิการอาวุโสมากของวงการหนังสือเมืองไทยท่านหนึ่ง เคยยกคำขวัญนี้มา บอกว่า "วิชายังให้เกิดมิตรภาพ"

ขยายความว่า การได้สนทนาแลกเปลี่ยนทัศนะในหมู่ผู้สนใจวิชาการเรื่องคล้ายๆ กัน ทำให้เกิดความสุขทางใจและรู้สึกสนิทสนมกันมาก เหมือนเช่นบนเรือนไทยนี้
ขอบคุณทุกท่านครับ


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 17 ม.ค. 01, 00:27
จาก หิโตปเทศ เท่าที่จำได้คร่าว ๆ นะครับ

ผู้ใด เห็นสัตว์โลกอื่นเสมอด้วยตนเอง เห็นภริยาผู้อื่นเสมอด้วยมารดาตน เห็นทรัพย์สินของผูอื่นเสมอด้วยก้อนดิน ผู้นั้นแลเป็นบัณฑิต...

เปลี่ยนจากเมืองแขกไปเมืองจีนบ้าง จากธรรมะในพุทธศาสนานิกายเซน หรือ ฉาน
...โศลกของชินเชา ศิษย์เอกของท่านสังฆปริณายกองค์ที่ 5 แห่งนิกายเซน ผู้มีสิทธิได้รับสืบทอดตำแหน่ง (แต่ในที่สุดไม่ได้)
"กายนี้ คือต้นโพธิ์
ใจของเรา คือกระจกเงาอันใส
เราเฝ้าดูด้วยความระวังทุกชั่วโมง
และไม่ยอมให้ฝุ่นละอองจับ"

...โศลกของท่านเว่ยหล่าง หรือท่านฮุยเหนิง ผู้ได้รับสืบทอดตำแหน่งตัวจริง เป็นสังฆปริณายก องค์ที่ 6
"ไม่มีต้นโพธิ์
ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสะอาด
เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว
ฝุ่นละอองจะลงจับอะไร?"


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: พวงร้อย ที่ 17 ม.ค. 01, 02:10
เห็นด้วยกับคุณ นกข มากเชียวค่ะ  สำหรับความร่มรื่นทางปัญญาใน เรือนไทย  ไปได้หนังสือ "สุภาษิตพระร่วง" จากเที่ยวก่อน เลยคัดมาฝากค่ะ

"...
ปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง..............สร้างกุศลอย่ารู้โรย
อย่าโดยคำคนพลอด..............เข็นเรือทอดกลางถนน
เป็นคนอย่าทำใหญ่...............ข้าคนไพร่อย่าไฟฟุน
คบขุนนางอย่าโหด...............โทษตนผิดรำพึง
อย่าคะนึงถึงโทษท่าน.............หว่านพืชจักเอาผล
เลี้ยงคนจักกินแรง...............อย่าขัดแข็งผู้ใหญ่
อย่าใฝ่ให้ตนเกิน................เดินทางอย่าเดินเปลี่ยว
นำ้เชี่ยวอย่าขวางเรือ............ที่ซุ้มเสือจงประหยัด
จงเร่งระมัดฟืนไฟ...............ตนเป็นไทอย่าคบทาส
อย่าประมาทท่านผู้ดี..............มีสินอย่าอวดมั่ง
ผู้เฒ่าสั่งจงฟังความ..............ที่ขวากหนามอย่าเสียเกือก
ทำรั้วเรือกไว้กันตน..............คนรักอย่าวางใจ
ที่มีภัยจงพึงหลีก.................ปลีกตนไปโดยด่วน
ได้ส่วนอย่ามักมาก...............อย่ามีปากกว่าคน
รักตนกว่ารักทรัพย์...............อย่าได้รับของเข็ญ
เห็นงามตาอย่าปอง..............ของฝากท่านอย่ารับ
ที่ทับจงมีไฟ....................ที่ไปจงมีเพื่อน
ทางแถวเถื่อนไคลคลา............ครูบาสอนอย่าโกรธ
โทษตนผิดพึงรู้.................สู้เสียสินอย่าเสียศักดิ์
ภักดีอย่าด่วยเคียด..............อย่าเบียดเสียดแก่มิตร
ที่ผิดช่วยเตือนตอบ..............ที่ชอบช่วยยกยอ..."

เอาแค่นี้ก่อนนะคะ

ชอบ หิโตปเทศ ที่คุณเทาชมพูเอามาให้มากเลยค่ะ  ไม่เคยอ่านเลย

น่าสงสัยว่าในหลักสูตรการศึกษาสมัยนี้  เน้นด้านการสอนเรื่อง คุณธรรม กันขนาดไหนบ้างนะคะ


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ม.ค. 01, 09:32
คุณนกข. มีหนังสือเล่มไหนที่คุณไม่เคยอ่านไหมคะ  ดิฉันจะไปหามา เผื่อจะถูกล็อตเตอรี่ไปพร้อมๆกันด้วยไงคะ

คุณพวงร้อย  หลักสูตรม.ปลายมีวิชาพุทธศาสนาค่ะ   เคยเอามาอ่านก็เขียนดีค่ะ เรียบเรียงง่ายๆ  มีเหตุผล
แต่ก็เป็นเพียงวิชาหนึ่งในหลายๆวิชา   เด็กเก่งของเราตอนนี้มักจะเรียนสายวิทย์  หนักไปทางด้านฟิสิกส์เคมีกันมาก

ถ้าคุณพวงร้อยชอบหิโตปเทศ ดิฉันมีมาฝากอีก เพราะทั้งเล่มเป็นข้อคิดเตือนใจที่คมคายทั้งนั้น   ยังหาซื้อได้ที่แพร่พิทยาค่ะ

แม้มีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงขณะเดียว  แต่เป็นคนมีชื่อลือขจรในหมู่มนุษย์  ไม่เสื่อมทรามจากความรู้ ความกล้าหาญ และชื่อเสียง  นี้ผู้รู้สรรเสริญว่ามีชีวิตอยู่จริง
*********************************************
สตรีจะงาม เพราะจงรักในสามี   คนอนาถาจะงามเพราะมีความรู้  ผู้ประพฤติพรตจะงาม เพราะขันติ
*********************************************
น้ำในสระ  ร่มเงาไม้ไทร  สตรีลำเพาพักตร์  เรือนที่ก่อด้วยอิฐ เหล่านี้  ในฤดูหนาวอบอุ่น  ในฤดูร้อนก็เย็นสบาย
*********************************************
ทรัพย์ใด เจ้าของเผื่อแผ่แก่เพื่อนมนุษย์ ตนเองก็บริโภคอิ่มหนำ  ทรัพย์นั้นจึงเป็นอันนับว่าทรัพย์(เครื่องบำรุงสุข) แท้จริง
*********************************************
เพื่อนทุกคนที่มาเสวนากันบนเรือนไทย   ถึงแม้หลายคนอยู่ไกลกันคนละทวีป  ดิฉันก็รู้สึกเหมือนเป็นมิตรสนิท   ขอบคุณที่พวกคุณสร้างบรรยากาศน่ารื่นรมย์ตลอดมาค่ะ


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: กระบี่อิงฟ้า ที่ 17 ม.ค. 01, 09:34
มีสองขามายืนบนผืนภพ         มีตาครบคู่สองมาส่องหน
มีสองแขนพิทักษ์รักษาตน          มีกมลไว้เพื่อเชื่อตนเอง
   ผมจำบทเต็มๆไม่ได้  และจำผู้แต่งไม่ได้ด้วยใครทราบช่วยหน่อยครับ


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: นนทิรา ที่ 17 ม.ค. 01, 09:34
ชอบกระทู้นี้มากเลยค่ะ อ่านแล้วได้คิด ได้สะกิดใจ
ชอบ หิโตปเทศ ด้วยค่ะ เป็นผลงานของเสฐียรโกเศสหรือคะ ภาษาสละสลวยมาก แค่ได้อ่านความงดงามของภาษาก็คุ้มแล้ว แล้วยังมีความหมายเป็นคติสอนใจอีก แปลกจริงที่ว่า หนังสือดีๆเช่นนี้ หาซื้อยากมากๆ หรือไม่ก็หาซื้อไม่ได้เลย เสียดายนะคะ


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ม.ค. 01, 11:08
ค่ะ หิโตปเทศ เป็นผลงานของเสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน) ที่ท่านทำคนเดียว  ไม่ได้ร่วมงานกับนาคะประทีป(พระสารประเสริฐ)
เป็นหนังสือที่ดิฉันเรียนตอนปี ๔ ค่ะ
ยังพอมีที่แพร่พิทยา เซนทรัลปิ่นเกล้า  แต่หนังสือแบบนี้หาคนรู้จักน้อยมาก  ขายยาก    ก็เลยไม่ค่อยวางจำหน่าย

หิโตปเทศ ดัดแปลงมาจากคัมภีร์ปัญจตันตระของอินเดีย  ซึ่งเป็นคัมภีร์โบราณอายุอยู่ในราวพ.ศ. ๑๒๐๐  แปลเป็นหลายภาษา  ภาษาอังกฤษชื่อว่า Pilpays Fable ค่ะ  แต่ของเสฐียรโกเศศ แปลมาจากฉบับภาษาสันสกฤต

เห็นคุณนนทิราชอบ เลยเอามาฝากอีกค่ะ

มีบุตรที่ฉลาดคนเดียว  ย่อมดีกว่ามีบุตรที่โง่เง่าตั้งร้อยคน
 อันว่าดวงจันทร์แม้ขึ้นแต่ดวงเดียว  ย่อมกำจัดความมืดให้ปราศหายไปได้  
แต่ดวงดาวนับร้อย ย่อมไม่อาจจะกำจัดความมืดให้สว่างได้เพียงพอ
******************************************
มีทรัพย์ ๑  ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน ๑  มีภรรยาน่ารัก ๑  มีภรรยาที่มีวาจาสุภาพเรียบร้อย ๑  มีบุตรที่อยู่ในโอวาท ๑  มีความรู้ทำประโยชน์แก่มนุษย์ ๑  เหล่านี้เป็นสิริมงคล ๖ ประการ ในโลก
******************************************
กรรมทั้งมวล ต้องอาศัยความเพียรพยายามจึงสำเร็จ  มิใช่จะเป็นผลได้มาแต่ความตั้งใจดีโดยเฉยๆเท่านั้น  
 เปรียบเหมือนสิงโต  ถ้านอนหลับอยู่  ไฉนกวางจะวิ่งแร่ถลันมาสู่ปากเล่า?
******************************************
ถึงผู้ที่โง่เขลาก็อาจจะเป็นที่นับถือในที่ประชุมได้  ถ้าผู้นั้นสวมเครื่องแต่งกายงดงาม  
คงจะมีผู้นับถือผู้ที่โง่เขลานั้น   ตราบเท่าผู้นั้นยังไม่แย้มปากพูดออกมา
*******************************************
ถ้าเสพด้วยคนชั่วอาจจะทำใจให้ชั่วได้  และย่อมประพฤติตนเป็นไปตามที่ได้เสวนะ  
เพราะฉะนั้นถ้าเสพกับผู้ที่ประเสริฐแล้วก็ย่อมประเสริฐตามกัน
*******************************************
วิสัยคนมีปัญญา ย่อมใช้เวลาศึกษาศิลปวิทยาและโคลงฉันท์กาพย์กลอน  
แต่ผู้ที่โง่เขลาย่อมใช้เวลาประพฤติการชั่ว  พอใจแต่กินนอน และก่อการวิวาท
******************************************
ผู้ที่ไม่รั้งสติบังคับใจของตนให้อยู่  จึงจะประพฤติการบุญกุศลเท่าไรๆก็หารับประโยชน์ไม่  
เสมือนชำระล้างกายช้าง จะถูเท่าไรก็ไม่สะอาด  
ความรู้มีอยู่ แต่ไม่สนใจจะประพฤติตาม  
ก็เหมือนเครื่องอาภรณ์ประดับหญิงที่ทรามโฉม


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ม.ค. 01, 11:12
ของคุณกระบี่อิงฟ้าที่ยกมา  ดิฉันไม่เคยเห็นค่ะ
ใครนึกออกบ้างคะ?


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 17 ม.ค. 01, 18:05
ขออนุญาตเดานะครับ "มีสองขามายืนบนผืนภพ มีตาครบคู่สมองมาส่องหนฯ"  นี่ น่าจะเป็นงานเขียนของ อุชเชนี ครับ แต่ไม่แน่ใจ


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 17 ม.ค. 01, 19:28
อันนี้มาจากโคลงโลกนิติ
- ยามจนทนกัดก้อน  กินเกลือ
ไม่เที่ยวแล่เนื้อเถือ  พวกพ้อง
อดอยากเยี่ยงอย่างเสือ  สงวนศักดิ์
โซก็เสาะใส่ท้อง  จับเนื้อกินเองฯ
และ
- เสียสินสงวนศักดิ์ไว้  วงศ์หงส์
เสียศักดิ์สู้ประสงค์   สิ่งรู้
เสียรู้เร่งดำรง  ความสัตย์ ไว้นอ
เสียสัตย์อย่าเสียสู้  ชีพม้วยมรณาฯ


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 18 ม.ค. 01, 04:18
จำได้อีกอันหนึ่ง คิดว่าเป็นพระนิพนธ์ของรัชการลที่ 6 (ไม่แน่ใจ?)
เคยได้ยินบ่อยๆ ครับ ถ้าพิมพ์ผิดขออภัยครับผม

ผู้ใดถึงได้เรียนรู้.......วิชา
แต่รูปร้ายกริยา........โฉดด้วย
ใจงามบ่รักษา...........ปล่อยขาด
ผู้นั้นได้ชื่อม้วย.........ชีพสิ้นสุดสกล


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ เจริญกูล ที่ 06 ก.พ. 01, 12:57
ไม่รู้ว่าเด็กผู้หญิงสมัยนี้จะฟังบทนี้รู้เรื่องไหม โดยเฉพาะชาวเซ็นเตอร์พอย์ท

อย่าเดินกรายย้ายอกยกผ้าห่ม
อย่าเสยผมกลางทางหว่างวิถี
อย่าพูดเพ้อเจ้อไปไม่สู้ดี
เหย้าเรือนมีกลับมาจึงหารือ

กับ

อันนัยตาพาตัวให้มัวหมอง
เหมือนทำนองแนะออกบอกกระแส
จริงไม่จริงเขาก็เอาไปเล่าแซ
คนรังแกมันก็ว่านัยตาซน


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 มี.ค. 24, 11:35
หิโตปเทศ เป็นผลงานของเสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน) ที่ท่านทำคนเดียว  ไม่ได้ร่วมงานกับนาคะประทีป(พระสารประเสริฐ) เป็นหนังสือที่ดิฉันเรียนตอนปี ๔ ค่ะ
ยังพอมีที่แพร่พิทยา เซนทรัลปิ่นเกล้า  แต่หนังสือแบบนี้หาคนรู้จักน้อยมาก  ขายยาก    ก็เลยไม่ค่อยวางจำหน่าย

หิโตปเทศ ดัดแปลงมาจากคัมภีร์ปัญจตันตระของอินเดีย  ซึ่งเป็นคัมภีร์โบราณอายุอยู่ในราวพ.ศ. ๑๒๐๐  แปลเป็นหลายภาษา  ภาษาอังกฤษชื่อว่า Pilpays Fable ค่ะ  แต่ของเสฐียรโกเศศ แปลมาจากฉบับภาษาสันสกฤต

ในแวดวงนักอ่านหนังสือบ้านเรา ถือได้ว่า หิโตปเทศ ฉบับแปลโดยเสฐียรโกเศศ นาคะประทีป เป็นพากย์ไทยที่คุ้นเคยกันยิ่งกว่าสำนวนแปลของคนอื่น ๆ ทั้งที่มีอยู่ก่อนหรือภายหลัง พ.ศ. ๒๔๕๙ อันเป็นที่หิโตปเทศหรือกถาสุนทรานุศาสนี แปลจากฉบับภาษาอังกฤษของ "คารม พ.ศ. ๒๔๕๙"* ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาโดยการดำเนินการของโรงพิมพ์ไทย ถนนรองเมือง กรุงเทพฯ

*คารม คือนามแฝงร่วมของเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป


จากคำแถลง ๑ มกราคม ๒๕๔๑ ในหนังสือ หิโตปเทศ
http://www.openbase.in.th/files/satienbook132.pdf


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 24, 12:14
     ในยามทุกข์ ใจหนักแน่น  ในยามสุขสงบเสงี่ยม ในที่ประชุมพูดอาจอง   ในรณรงค์ใจแกล้วกล้า  ในยศ นิยมยินดี ในการศึกษามีความเพียร  ข้อเหล่านี้เป็นสมบัติประจำอยู่ครบแก่ผู้มหาตมะ

                                                            หิโตปเทศ


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 มี.ค. 24, 12:35
มีสองขามายืนบนผืนภพ         มีตาครบคู่สองมาส่องหน
มีสองแขนพิทักษ์รักษาตน       มีกมลไว้เพื่อเชื่อตนเอง

ผมจำบทเต็มๆไม่ได้  และจำผู้แต่งไม่ได้ด้วยใครทราบช่วยหน่อยครับ

เพื่อศักดิ์นักสู้

                    ไม่ต้องการ...
                    ความสงสารปานใดจากใครสิ้น
                    ไม่ชอบมีชีวิตติดแผ่นดิน
                    โดยถูกหมิ่นถูกสมเพชเวทนา
                    ไม่คิดง้อขอให้ใครช่วยเหลือ
                    ความจุนเจือจากใครไม่เคยหา
                    ไม่ชอบให้ใครกล่อมย้อมอุรา
                    เรื่องพึ่งพาอาศัยไม่ต้องการ
                    ไม่เคยหวังพลังใดจากใครหมด
                    ทั้งศักดิ์ยศสดใสลาภไพศาล
                    ไม่หวังให้ใครหนุนบุญบันดาล
                    ชอบผลงานทุกอย่างสร้างด้วยตัว
                    ไม่เคยหวังกำลังใจจากใครด้วย
                    ยอดมอดม้วยมิให้ใครคุ้มหัว
                    ไม่ชอบให้ใครประมาทว่าหวาดกลัว
                    วานคนชั่วช่วยใดไม่เคยคิด
                    ขอภูมิใจในศักดิ์ของนักสู้
                    ขอเป็นผู้ทระนงความทรงสิทธิ์
                    ขอจองหองผยองศรียิ่งชีวิต
                    ขอมีจิตโอหังกำลังตน
                    มีสองขามายืนบนพื้นภพ
                    มีตาครบคู่สมองมาส่งหน
                    มีสองมือถือพิทักษ์รักค่าตน
                    มีกมลมาเพื่อเชื่อตนเอง

                            วนิดา สถิตานนท์
        
 หนังสือเรียนภาษาไทย หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ. ๒๕๒๔


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 24, 19:01
 :)


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มี.ค. 24, 16:08
จากเพจ  วิถีแห่งพุทธะ


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 24, 10:43
 :)


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 เม.ย. 24, 11:42
ถึงร่ำเรียนเพียรศึกษากว่าพันวัน
จะขยันอย่างไรไม่อาจสู้
ได้เรียนกับนักปราชญ์ราชครู
ท่านผู้รู้เที่ยงแท้ แค่วันเดียว

สุภาษิตญี่ปุ่น


กระทู้: กาพย์-โคลง-กลอน และคติสอนใจ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 เม.ย. 24, 17:26
จงเกื้อกูลฝันไว้มิให้หาย
หากว่าฝันมลายตายจากจิต
ถึงอยู่ก็ซังกะตายไร้ชีวิต
เหมือนนกปีกถูกลิดรอนจากกาย