เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: Nuchana ที่ 12 ก.พ. 06, 12:52



กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 12 ก.พ. 06, 12:52
 ในสมัยรัชกาลที่ 4 กรุงสยามได้ทำหนังสือสัญญาค้าขายกับฝรั่งต่างประเทศแล้ว การทำหนังสือสัญญาย่อมเป็นปัจจัยต่อการเก็บภาษีอากรเป็นสำคัญ ในสมัยนี้เอง ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเภทภาษีอากรต่างๆให้เหมาะสมแก่สภาพเศรษฐกิจและสังคมสมัยนั้น เมื่อพูดถึงรายได้แผ่นดิน สังฆราชปาเลอกัวได้สืบค้นพบจำนวนรายได้ตามตาราง ใน ค.ห. 1

ดิฉันคัดมาฝากเผื่อมีผู้อ่านสนใจ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตเรื่องรายได้ดังนี้
1) ค่าแรงแทนการรับราชการเป็นรายได้เกือบกึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด ซึ่งไม่ทราบว่าจะเหมือนไพร่ส่วยหรือไม่
2) รายได้จาก property taxes เรือกสวนไร่นาแปลงใหญ่ มีความสำคัญมาก ราว 20% ของแผ่นดินทีเดียว
3) รายได้จากนาแปลงน้อย หรือภาษีจากนวลน้องคณิกา (ซึ่งได้มากกว่าค่าภาคหลวงเหมืองทองที่บางสะพานเสียอีก) เมื่อไปอ่านบทความเรื่องนครโสเภณีของ อ. เทาชมพู ด้านหน้า จึงเข้าใจว่ามาม่าซังคงมีหลายสำนัก และกิจการคงจะเฟื่องฟูมาก จึงสามารถแบ่งเงินให้แผ่นดินได้เป็นกอบเป็นกำ
4) อากรหวย ก.ข. ก็ได้มากกึง 4 แสนบาท เมื่อเปรียบเทียบกับความนิยมของชาวพม่าที่ใจจดใจจ่อกับการออกหวยของราชสำนักพม่าในเรื่อง พม่าเสียเมือง จึงน่าจะสรุปได้ว่า ทั้งคนไทยคนพม่าเป็นนักเสี่ยงโชคตัวยง


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 12 ก.พ. 06, 12:54

รายได้แผ่นดินในรัชกาลที่ 4 (จากหนังสือ พระจอมเกล้าฯ พระผู้เปิดประตูอารยธรรมสู่อารยประเทศ)


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 12 ก.พ. 06, 17:14
อืมมมม...

นึกถึง วัดใหม่ยายแฟง หรือวัดคณิกาผล ครับ

ผมขอเดาต่อว่า นั้นแปลว่าสมัยนั้น พรบ. ที่กำหนดให้การค้าประเวณีเป็นความผิด ยังไม่ออกใช้บังคับ ดูเหมือนจะมาถึงสมัยไม่ ร. 5 ก็ ร. 6 นั่นแหละจึงเริ่มมีการออก พรบ. ควบคุม/ จัดระเบียบ (เข้าใจว่ายังไม่ใช่ป้องกันปราบปราม เพราะดูยังไม่ถือว่าการค้าประเวณีเป็นความผิดอยู่ดี) ดูเหมือนมุ่งในแง่ของการควบคุมโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะใช้คำเรียกชื่อพระราชบัญญัติว่า พรบ. ควบคุมหญิงสัญจรโรค หรืออะไรทำนองนั้นนะครับ "สัญจรโรค" ภาษาสมัยนั้น เรายุคนี้เรียกว่า โรคติดต่อครับ

เดี๋ยวนี้ตามกฏหมายบนกระดาษ ก็ดูเหมือนว่าการค้าประเวณีเป็นความผิดแล้ว แต่ในทางปฏิบัติก็ดูจะเอาผิดกันจริงไม่ค่อยได้เท่าไหร่

เรื่องอากรภาคหลวงเหมืองทอง ให้ผมเดาเหตุผลที่เป็นรายได้เข้ารัฐบาลกลาง น้อยกว่าภาษีจากน้องๆ หนูๆ เสียอีก นั้น ผมขอเดาว่า ก่อนการจัดตั้งกระทรวงการคลังและการจัดระบบภาษีสรรพากรสมัยใหม่ (และก่อนการพยายามจัดตั้งรัฐชาติสยามสมัยใหม่ ซึ่งเริ่มจริงจังในรัชสมัยในหลวง ร. 5) ดูเหมือนค่าภาษี ค่าอากร ค่าอะไรต่ออะไรนี่ ชาวบ้านหรือผู้ประกอบการจะจ่ายกันหลายทาง ทางหนึ่งแน่นอนก็จ่ายรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ แต่อีกทางหนึ่งก็จ่ายทางการส่วนท้องถิ่นด้วย เพราะระบบการปกครองสมัยนั้นยังหลวมๆ กว่าสมัยนี้ เจ้าเมืองที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไป "กินเมือง" ในหัวเมืองข้างนอกนั้น คงจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เข้าจวนเจ้าเมืองได้ด้วย "หลวงท่าน" คือรัฐบาลกลางก็คงจะอนุญาต เพราะเข้าใจว่าสมัยนั้นข้าราชการ รวมทั้งพนักงานปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่มีเงินเดือน เบี้ยหวัดเงินปีก็อาจจะไม่กี่สตางค์ ดังนั้น เมื่อมีผลประโยชน์เกิดในพื้นที่เก็บภาษีอากรได้ ส่วนหนึ่งอาจจะเก็บส่งคลังหลวงที่กรุงเทพฯ ตามอัตราที่กำหนดไว้ อีกส่วนก็คงเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเมืองและเจ้าเมืองนั้นๆ

บางตะพานอยู่ลงไปทางประจวบคีรีขันธ์ใช่ไหมครับ ทองบางตะพานดังมาแต่โบราณ เหมือนมีในเสภาขุนช้างขุนแผนด้วย ก็คืออยู่นอกกรุงเทพฯ ออกไป รัฐบาลกลางจะเก็บค่าภาคหลวงเต็มเม็ดเต็มหน่วยนักก็จะไม่มีกลไกจะลงไปตามถอนขนห่าน ก็คงต้องถ้อยทีถ้อยอาศัย แบ่งให้ท่านเจ้าเมืองประจวบฯ บ้างกระมัง

ส่วนค่าภาษีนครโสเภณีนั้น ผมเดาเอาเองว่า ไม่ใช่เก็บจากน้องหนูอาชีพพิเศษทุกแห่งทั่วพระราชอาณาจักร (ที่จริงผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่า หัวเมืองนอกๆ ออกไป สมัยโน้น มีอาชีพนี้กันรึเปล่า เป็นล่ำเป็นสันขนาดไหน) แต่เอาเถอะสมมมติว่าถึงที่อื่นอาจจะมีธุรกิจนี้ (บ้าง แต่คงน้อย) ผมก็เชื่อว่า ภาษีตัวนี้เก็บเอาจากสำนักน้องหนูในพระนครนั่นแหละ ดังนั้นจึงถอนขนห่าน เอ๊ย เก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ใกล้หูใกล้ตานี่ครับ


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 12 ก.พ. 06, 17:17
 อ้อ - มีข้อมูลเกี่ยวกับการเก็บภาษีอากรสมัยโน้นที่เก็บกับ แอมเพิล ริช ไหมครับ?


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 12 ก.พ. 06, 17:32
 คุณนิล ลองวิเคราะห์พฤติกรรมให้หน่อยซิคะ

เวลานางเอกบ้านทรายทอง เอากุหลาบไปเป็นกำลังใจที่ทำเนียบ พระเอกหันขวับมาพูดว่า "อิจฉาไหม"
พูดให้คนหมั่นไส้ทำไมน่ะ ไม่พูดเขาอาจจะไม่เกลียด แต่พอพูดแล้วมันรู้สึกเข้ากระดูกดำทันที
ทำไมผู้นำถึงมีวาทศิลป์ในการทำให้คนด่าได้รวดเร็วอย่างนี้

เคยเห็นลานจอดรถเขียนว่า ample parking แต่ไม่เคยเห็นคนเอาคำว่า "ample" มาตั้งชื่อบริษัท
เหมือนกับหาเรื่องให้ "วดด" โดยเฉพาะหลายๆกรณีกลิ่นมันโชยออก เออ...ถ้าเงินตัวบริสุทธิ์ละก็
ตั้งชื่อเช่นนั้นก็พลอยอนุโมทนาไปด้วย

รู้สึกว่าจะเป็นสิงห์ดำเหมือนกันนะคะ ที่ตะโกนว่า "ฉันไม่อิจฉาคุณ ฉันเกลียดคุณ" [polite version]


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 12 ก.พ. 06, 17:39
 สนใจรายได้ของแผ่นดินสมัยก่อนค่ะ เคยอ่านพบว่าสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
กรุงสยามต้องเสียค่าปรับให้ต่างชาติเป็นเงินก้อนโตมาก
(กำลังนึกอยู่ว่าเหตุการณ์ไหน) เรียกว่าแทบ broke the bank หรือขอดพระคลังกันเลยทีเดียว
อาศัยใบบุญจากการผูกสำเภาไปค้ากับต่างประเทศในรัชกาลก่อนๆ ทำให้มีเงินก้อนนั้นไว้ไถ่ประเทศ

รายได้ของแผ่นดิน มาจาก 2 ทางด้วยกันคือ
1. รายได้จากส่วยอากร เช่น

"ส่วยสัดพัทธนากร” ที่เก็บจากผู้ไม่ประสงค์จะถูกเกณฑ์แรงงาน  
“ภาษีอากร" ผลประโยชน์ที่เก็บจากผู้ที่มีรายได้จากจากทรัพยากรของแผ่นดิน เช่น
ภาษีผ่านด่าน หรือจังกอบ เช่น สิบหยิบหนึ่ง
อากรค่านา เก็บจากผู้ประกอบอาชีพทำนา
อากรสมพัตสร เก็บจากผู้ปลูกพืชไร่ประเภทไม้ล้มลุก เช่น ข้าวโพด มันเทศ ถั่ว งา กล้วย
อากรค่าน้ำ เก็บจากผู้ประกอบอาชีพประมง
อากรบ่อนเบี้ย เก็บจากบ่อนการพนัน
อากรสุรา เก็บจากผู้ผลิตสุรา
อากรตลาด เก็บจากร้านค้า และผู้มาขายของในตลาด

2. รายได้จากการค้าของหลวงและผลประโยชน์จากพ่อค้าต่างชาติ
เช่น การผูกสำเภาไปค้าขายต่างประเทศ และซื้อของต่างประเทศกลับมาขายในกรุงสยาม


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 12 ก.พ. 06, 17:50
 ตอบ ค.ห. ที่ 3

Ample rich ในสมัยก่อน เห็นท่าจะเกี่ยวพันกับ อาชีพเสือนอนกิน เช่น อาชีพเก็บภาษีอากร
(ทำไม้...อาชีพนี้แสนงายแต้ๆ  แต่ต้องให้เจ๊กประมูลไปทำด้วยก็ไม่รู้ เช่น เทือกเถาคุณเปรม
ในเรื่องสี่แผ่นดิน ก็มีอาชีพเหมาเก็บภาษี)

นายอากรตลาด ทำหน้าที่เก็บภาษีพ่อค้าแม่ขาย ม.ล. ศรีฟ้าฯ ลดาวัลย์ เล่าว่า สมัยก่อนทั้งกรุงเทพฯ
และเมืองนนทบุรี มีกำนันตลาด ทำหน้าที่เก็บเงินคนเดียวกันตลอดมา คือท้าวเทพากร อันกำนันตลาดนี้
ได้ผลประโยชน์จากแผ่นดินโดยมิต้องลงทุนลงแรง จึงมั่งมีนัก

มีความปรากฏในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๓ เวลาที่ท้าวเทพากร
ถึงแก่กรรมนั้น มีทรัพย์สมบัติมากมาย ลูกหลานต่างแย่งชิงทรัพย์มรดกเป็นความกันวุ่นวาย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงทรงพระราชดำริว่า ท้าวเทพากรมั่งมีก็ด้วยอาศัยทำตลาด
ได้ผลประโยชน์จากแผ่นดิน ลูกหลานจะมาแย่งกัน มรดกมากนัก ไม่ชอบ จึงโปรดฯให้เจ้าพนักงาน
พระคลังมหาสมบัติ ไปขนเอาเงินมาไว้ในพระคลัง ๑,๐๐๐ ชั่ง ที่เหลืออยู่อีกมากจึงโปรดฯให้แบ่งปันกัน
ตามผู้ใหญ่ผู้น้อย

และเงิน ๑.๐๐๐ ชั่งนี้ ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯให้นำออกมาใช้ขุดคลองมหาสวัสดิ์เชื่อมคลองบางกอกน้อย
ทะลุออกแม่น้ำท่าจีน


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 12 ก.พ. 06, 19:22
 ฮี่ๆๆๆๆ
... ไม่มีความเห็นครับ เดี๋ยวทั่นผู้นำจะหาว่าผมเป็นขาประจำด้วยอีกคน (ไม่ควรเปิดประเด็นเรื่องแอมเพิ่ล ริชเล้ย ตู...)
แต่ขอเรียนว่า คุณทักษิณทำอะไรดีๆ ไว้ก็มาก จริง แต่ตัวคุณทักษิณนั่นแหละกับพวกพ้องก็ทำอะไรไม่ดีไว้มาก ทำอะไรที่เป็นการขัดขาตัวเองไว้ก็มาก จนพอชั่งเทียบกันแล้ว ตาชั่งมติมหาชนชักจะแกว่ง ๆ ไปข้างหมั่นไส้ท่านมากขึ้นเรื่อยๆ อันนี้จะให้พวกเกล้ากระผมทำอย่างไรล่ะครับ ท่านทำตัวท่านเองนี่ครับ

กลับมาเรื่องในประเด็นต่อดีกว่า

ผมเข้าใจว่าคุณ จขกท. ในความเห็นที่ 5กำลังพูดถึงเรื่องของ "เงินถุงแดง" ที่ในหลวง ร. 3 พระราชทานไว้แก่แผ่นดิน ครับ

แต่เงินถุงแดงนั้น ไม่ใช่ภาษีอากรนี่? จำได้ว่า ตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ ร. 3 หรือกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์สมัยนั้นท่านทรงเป็นพ่อค้า ค้าขายเก่ง สมัยนั้นก็แต่งสำเภาไปค้าเมืองจีนแหละเป็นหลัก อาจจะไปที่อื่นๆ ด้วย ท่านทรงค้าของท่านเป็นส่วนพระองค์นอกจากที่รับราชการมาจนกระทั่ง ร. 2 ซึ่งทรงเป็นเสด็จพ่อของท่าน ทรงเรียกล้อๆ ว่า "เจ้าสัว"

เมื่อสิ้นรัชกาล ร. 2 ที่ประชุมขุนนางเจ้านายต่างๆ พร้อมใจกันเชิญท่านเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เป็น ร. 3

ท่านก็รับรักษาแผ่นดิน รับบริหารราชการแผ่นดินมาจนสิ้นรัชกาลของท่าน และทรงตระหนักอยู่เสมอว่า ร. 2 มีพระโอรสอีกองค์หนึ่ง คือเจ้าฟ้ามงกุฏ ผู้ต่อมาจะได้เป็น ร. 4

เมื่อจวนจะสิ้นรัชกาล ในหลวง ร. 3 จึงพระราชทานแผ่นดินคืนแก่คณะเจ้านายขุนนาง มิได้ทรงกำหนดว่าบัลลังก์จะต้องเป็นของเชื้อสายของพระองค์เอง และได้พระราชทาน "เงินถุงแดง" อันเป็นเงินส่วนพระองค์ที่ทรงค้าขายหามาได้เอง ไว้ในพระคลังหลวงด้วย ทรงขอแบ่งไว้ปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ที่ทรงผุกพันด้วยไปเป็นส่วนน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่ท่านพระราชทานให้แผ่นดินไทยหมด มีรับสั่งราวกับจะทรงรู้ล่วงหน้าว่า เอาไว้เผื่อจะต้องใช้ไถ่แผ่นดิน

ล่วงมาจนถึงสมัย ร. 5 ก็เกิดเหตุจริงๆ ครับ คือวิกฤตการณ์ปากน้ำที่สยามปะทะกับฝรั่งเศส แล้วก็ถูกบังคับให้เสียค่าปรับมากมายก่ายกอง ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีกับตราดไว้เป็นประกันด้วย เราเป็นลูกแกะตอนนั้น เขาเป็นหมาป่า กำลังแข็งกล้ากว่าเราแยะ ในที่สุดเราก็ต้องยอม ดีกว่าเสียเอกราช

และส่วนหนึ่งของเงินค่าปรับทีเราเอาไปจ่ายให้เขา ก็คือเงินถุงแดง อันมาจากพระมหากรุณาธิคุณใน ร. 3 พระราชทานไว้ให้นั่นเอง


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 12 ก.พ. 06, 20:18
อ๋อ...ที่พูดถึงไม่ได้ต้องการจะพูดว่าเงินก้อนนั้นเป็นเงินอากร แต่เป็นเงินกำไรจากการ
ผูกสำเภาไปขายกับต่างประเทศ

คุณนิลแน่ใจหรือคะว่า เงินนั้นเรียกว่า "เงินถุงแดง" ทำไมชื่อต้องมาพ้องกับถุงแดงที่เอาไว้
หุ้มร่างทุบด้วยท่อนจันทร์ (สะกดไม่ถูก) ตอนสำเร็จโทษเจ้านายด้วย

สัปดาห์ที่ผ่านมาไปงานสัปดาห์หนังสือที่รามาฯมาค่ะ ได้ถกเขมรของหม่อมคึกฤทธิ์มา และอีกเล่ม
หยิบขึ้นมาแล้ว แต่ไม่ค่อยได้ยินชื่อ จึงวางลง ชื่อเกี่ยวกับฝรั่งศักดินาอะไรทำนองนี้ ใครเคยอ่านบ้างไหมคะ
*******

พูดถึง Ample Rich ผู้ใหญ่ในสมัยก่อนก็รู้จัก ‘ฉ้อราษฎร์บังหลวง’ หรือว่ากันเต็มๆก็ว่า
‘ฉ้อ (โกง) ราษฎรและ (เบียด) บังเงินหลวง’ กันแล้ว

ม.ล. ศรีฟ้าฯ เล่าว่าเรื่องโกงๆที่ดังๆอีกเรื่องหนึ่งคือ การออกรางวัลล็อตเตอรี่ปลายรัชสมัย ร.6
ไม่มีใครไม่รู้จักพระยานนทิเสน ซึ่งก็ไม่เชิงว่าเป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวงทีเดียวนัก แต่เป็นการล็อครางวัล
ให้คนบ้านตัวเองถูกรางวัลกันพรึบ โดนคาดหน้าตราชื่อตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

เรื่องมีอยู่ว่า ในวันพระบรมราชสมภพ มีปวงข้าราชบริพารได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินสมทบทุน
ซื้อเรือรบหลวงอันทันสมัยตามพระราชดำริ ทุกคนก็ช่วยกันหาเงินด้วยวิธีต่างๆ รวมทั้ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงร่วมด้วย

           ในการหาเงินมีการออกสลากล็อตเตอรี่ โดยมีพระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี เป็นประธาน
เมื่อหวยออก  ปรากฏว่าคนในบ้านของพระยานนทิเสน ถูกล็อตเตอรี่กันทั้งบ้าน
หนังสือพิมพ์ ๒-๓ ฉบับ สมัยนั้น ต่างก็พากันพูดถึงการล็อคเลข
เมื่อคนพูดกันอื้ออึงไปทั้งเมือง ก็มีคนแต่งกลอนลำตัดด่า พิมพ์ออกมาขายดิบขายดี
คนจำกลอนท่องกันเกร่อทั่วบ้านทั่วเมือง เพื่อประนามคนโกง เห็นแก่ประโยชน์ของพวกพ้อง

แม้นเวลาจะผ่านไปหลายปี  คนรุ่นปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอา ก็ยังพูดกันถึงพระยานนทิเสน
เรียกว่าเรื่องล็อตเตอรี่ครั้งนั้น ทำให้พระยานนทิเสนเปรอะเปื้อนมัวหมองจนลบไม่หาย
ใส่ตระกร้า ล้างน้ำ กันอย่างไร ก็ยังมีกลิ่นติด มีราคีสลัดไม่หลุด ลบล้างไม่ออก
เพราะคนในสมัยกระโน้น เขายกย่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นอันดับหนึ่ง ดังโคลง

           “สุจริตคือเกราะบัง ศาสตร์พ้อง”

          ม.ล. ศรีฟ้าฯ สรุปว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการ ‘คอรัปชั่น’ เสียทีเดียว  แต่เรียกว่าเอาประโยชน์
ให้ญาติพี่น้องบริวาร วงศ์วานว่านเครือตัวเอง คนโบราณเขาฉลาด รู้จักแยกแยะ และใช้เหตุผลในการวิเคราะห์

เรื่องล้อคหวยยังไม่จบแค่นี้ เคยได้ยินมาว่าในสมัยก่อนมีการล็อคเลขเวลาออกหวย โดยเอาหินไปแช่น้ำ
เวลาจะล้วงหิน ก้อนไหนเย็น ก็ให้คนหยิบหยิบก้อนนั้น มีใครจำรายละเอียดได้บ้างคะ


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: นทีสีทันดร ที่ 12 ก.พ. 06, 20:27
 อยากทราบว่าเงินถุงแดงนี่มีมูลค่าสมัยร.3 สักเท่าไหร่หรอครับ แล้วเป็นลักษณะอย่างไร เงินเหรียญ หรือทองคำ ฯลฯ ใช้หมดไปแล้วหรือยัง


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 12 ก.พ. 06, 20:40
 เอ...บทความอันนี้ของอาจารย์ มันลอยมาจากที่ใดคะเนี่ย ไม่เคยเห็นเลย



.....พระราชดำรัสนี้น่าประหลาดตรงที่เมื่อเวลาผ่านไปอีกหลายสิบปี จนถึง ร.ศ. ๑๑๒   ก็เกิดเป็นความจริงขึ้นมา  

  เมื่อไทยถูกฝรั่งเศสปรับโทษเป็นเงิน ๓ ล้านบาท จนท้องพระคลังมีไม่พอ    ก็ได้ ' เงินถุงแดง '

 ส่วนนี้ไปสมทบ   ไถ่บ้านเมืองเอาไว้ได้จริงๆ  แสดงว่าเงินถุงแดงที่ทรงสะสมไว้ มีจำนวนมากมายทีเดียว


 http://vcharkarn.com/reurnthai/redbag.php  


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 12 ก.พ. 06, 20:52
 ค.ห. 9 คุณนที อ่านบทความของอาจารย์อันนี้ด้วย ก็จะทราบทั้งหมดค่ะ



ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง... คงจะต้องบังคับขับไส : วิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒



ผลจากความเสียพระราชหฤทัย  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงกับทรงพระประชวรหนัก

  ถึงกับมีพระราชปรารภว่าจะสวรรคตเสียดีกว่าจะอยู่ดูบ้านเมืองตกเป็นของต่างชาติ อานิสงส์จากบรรพบุรุษ

และน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทย    วิกฤติการณ์ครั้งนั้นจึงผ่านพ้นไปได้ในสภาพบอบช้ำแบบ

'ยอมสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต '  



ความเข็ดขยาดที่จะต้องตกในอำนาจของต่างชาติยังเป็นความรู้สึกต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖

ไม่มีใครลืมได้    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชนิพนธ์เตือนใจไว้ว่า



ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง.................คงจะต้องบังคับขับไส

เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำกรำไป................ ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย

เขาจะเห็นแก่หน้าค่าชื่อ............... จะนับถือพงศ์พันธุ์นั้นอย่าหมาย  

ไหนจะต้องเหนื่อยยากลำบากกาย.. ไหนจะอายทั่วทั้งโลกา
 http://vcharkarn.com/reurnthai/crisis112.php



ดูซิ...ถ้าแปรรูป กฟผ. ไป แล้วเขาเอาไปขายให้สิงคโปร์อีก เราคนไทยอาจเหมือนถูก "ปิดประตูตีแมว"

เพราะเขาจะขึ้นค่าไฟอย่างไรก็ได้


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 13 ก.พ. 06, 09:55
เพิ่มเติมความเห็นที่ ๘ เรื่องลอตเตอรี่เสือป่าครับ

คดีเรื่องนี้สืบเนืองมาจากในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น  มีพระบรมราโชบายที่จะหาเงินเพื่อจัดซื้ออาวุธให้เสือป่า  จริงๆ แล้วก็คือ การสร้างสมกำลังอาวุธไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินดังพระราชนิพนธ์ที่ว่า แม้หวังตั้งสงบ  จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ  สัตรูกล้ามาประจัญ  จะอาจสู้ริปูสลาย  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพลเสือป่า พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี (แม๊ค  เศียนเสวี) เสนาธิการเสือป่าเป็นแม่กองออกลอตเตอรี่เสือป่า  ภายหลังจากที่มีการออกลอตเตอรี่แล้วปรากฏว่าผู้ถูกรางวัลล้วนเป็นคนในบ้านของท่านเจ้าคุณนนทิเสนฯ  จึงเกิดการร่ำลือกันว่า เวลาจะออกลอตเตอรี่นั้นท่านใช้วิธีเอาลูกปิงปองที่จะออกเบอร์นั้นไปแช่น้ำแข็งไว้ก่อน  เวลาหยิบเบอร์ออกมาจึงได้เบอร์ที่ท่านกำหนดไว้  เมื่อความทราบถึงพระเนตรพระกรรณโปรดให้ต้งกรรมการศาลรับสั่งขึ้นชำระ  ได้ความตามสัตย์ว่า พระยานนทิเสนฯ ทุจริตจริง  จึงลงพระราชอาญาถอดออกจากยศบรรดาศักดิ์  ริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และลงโทษจำคุกดูเหมือนจะสิบปี  ทั้งๆ ที่ท่านผู้นี้ได้ชื่อว่า เป็นผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทและเป็นที่โปรดปรานมากคนหนึ่ง  แต่เมื่อทำผิดก็ต้องรับพระราชอาญาเต็มตามความผิดเหมือนกัน
หลังจากเกิดคดีนี้  บรรดาผู้ที่เคยใช้นายสกุลเศียนเสวีต่างก็เปลี่ยนไปใช้นามสกุลอื่นกันหมด  เพราะทนอับอายมิได้

ในเรื่องภาษีค่าภาคหลวงทองคำที่ว่าเก็บได้น้อยกว่าอากรชนิดอื่นนั้น  ขอให้ท่านผู้สนใจลองหาคำพิพากษาคดีพระปรีชากลการมาอ่านกันครับ  ในคำพิพากษาได้อธิบายถึงการบังหลวงไว้อย่างละเอียดทีเดียว

ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น  วิธีการเก็บภาษีอากรนั้นใช้วิธีแบบจีนที่พ่อค้าจีนนำเข้ามา  คือ วิธีประมูลผูกขาดอากรชนิดต่างๆ ในพื้นที่ที่กำหนดกัน  โดยผู้ประมูลเสนอเงินอากรให้แก่รัฐจำนวนหนึ่ง  แล้วรับสัมปทานไปเก็บอากรที่ตนประมูลได้  โดยเลือกตั้งอัตราเอาตามใจชอบ  และเพื่อให้การเก็บอากรนั้นได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย  นายอากรก็ต้องไปผูกสัมพันธ์ฝากเนื้อฝากตัวกับเจ้านายหรือขุนนางผู้ใหญ่  ต้องมีการส่งส่วยสาอากรให้แก่ผู้เป็นใหญ่  เพื่ออาศัยอิทธิพลของผู้เป็นใหญ่คุ้มครองมิให้มีคู่แข่ง  ในขณะเดียวกันนายอากรก็เลี้ยงอั้งยี่ไว้เป็นกำลังด้วย  ด้วยสาเหตุเหล่านี้นายอากรจึงมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก  รวมทั้งมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน ทำให้ยอดเงินอากรที่จะส่งพระคลังนั้นมักจะไม่ได้เต็มจำนวนตามที่ประมูลมา  นายอากรมักจะเป็นลูกหนี้ค้างส่งเงินอากร  สุดท้ายยอมล้มละลายกันเป็นส่วนใหญ่
นอกจากนั้นเมื่อนายอากรนำเงินมาส่งแก่เสนาบดีจตุสดมถ์  ท่านเสนาบดีก็มิได้แยกเงินอากรซึ่งเป็นของรัฐกับทรัพย์สินส่วนตัวออกจากกัน  มีการใช้จ่ายปนเปกัน  จึงเป็นสาเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์  และยกเลิกระบบผูกขาดภาษีโดยนายอากร มาเป็นวิธีจัดเก็บภาษีสรรพากร ภาษีสรรพสามิตและศุลกากรดังเช่นทุกวันนี้


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 13 ก.พ. 06, 10:41
 ขอบคุณ คุณ V_Mee for insightful info ka.
เอ...แล้วทำไมนายอากรโดยมากเป็นคนจีนล่ะคะ ขุนนางไทยไม่กล้าเสี่ยงหรือคะ


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.พ. 06, 14:59
คุณ Nuchana น่าจะไปหานวนิยายเรื่อง "รัตนโกสินทร์" ของว.วินิจฉัยกุล มาอ่าน
คนละเรื่องกับ "รัตนโกสินทร์ "ของคุณปองพล อดิเรกสาร

แล้วจะเข้าใจบทบาทของนายอากรสมัยรัชกาลที่ 3 ค่ะ
ในสมัยรัชกาลที่ 1-3 คนจีนเข้ามาเป็นขุนนางไทยกันเยอะ    
จะแบ่งแยกเด็ดขาดว่านี่นายอากรจีน นั่นขุนนางไทย
ไม่มีเส้นคั่นเด็ดขาดยังงั้นค่ะ


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 13 ก.พ. 06, 18:57
 Definitely, next in line. Thanks ka.

นึกถึงเลาะวัง พระองค์ที่ประสูตรวันจันทร์ เดือนเจ็ด ปีจอ ลูกเจ้า หลานเจ็ก คือ กรมพระจันทร์
ท่านก็ทรงเป็นหลานตาของนายอากรจีน (เจ้าสัวยิ้ม) เหมือนกันนะคะ จำได้ว่าตอนท่านเสด็จไป
เรียนเมืองนอก ท่านทรงมีเงินใช้มากกว่าที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงประทาน อ่านแล้วถึงบางอ้อ
เป็นเพราะมีเจ้าจอมมารดารวยนั่นเองค่ะ


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 14 ก.พ. 06, 12:39
 สำหรับหัวเมืองเหนือว่ามีเมืองอะไรบ้าง พอจะเดาได้ค่ะ แต่ของหัวเมืองทางใต้ ใครทราบบ้างว่า
ใช่หัวเมืองมลายู 3-4 เมืองไหมคะ

เคยอ่านพบอยู่ตอนหนึ่งค่ะ (ความจำอาจคลาดเคลื่อน) ที่อังกฤษกราบทูล ร. 5 ว่าเจ้าเมืองหัวเมือง
แสดงเจตจำนงว่าต้องการไปอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ พระองค์ท่านรับสั่งกับผู้ใกล้ชิดทำนองว่า
กรุงสยามได้เครื่องราชบรรณาการจากเมืองเหล่านั้น 3 ปีครั้งเท่านั้น ถ้าหากประสงค์เช่นนั้นจริง ก็ไม่ทรงขัดข้อง


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 14 ก.พ. 06, 13:54
 หัวเมืองมลายูที่ว่า น่าจะหมายถึง ไทรบุรี  กลันตัน  ตรังกานู และปลิศ  

สำหรับไทรบุรีนั้นมีความเป็นไทยมากกว่าอีก ๓ เมือง  เจ้าเมืองไทรบุรีนั้นได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาไทรบุรี  บุตรชายของท่านคนหนึ่งได้มาเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์  และสามารถพูดไทยได้ชัดเจนคือ ฯพณฯ ตนกู อับดุล ราห์มาน หรือเรียกแบบแขกต้องว่า "เราะห์มาน" ครับ


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 16 ก.พ. 06, 09:34
 ตาม คห. 8 และ 9 เรื่องเงินถุงแดง

บทความของคุณเทาชมพูเล่าไว้แล้วจริงครับ ผมเพียงขอเสริมและขอเดาต่ออีกหน่อยเท่านั้น

ประการแรก เงินถุงแดงใสไว้ในถุงและถุงเป็นสีแดงจริงๆ เผอิญไปตรงกับการเชิญเจ้านายที่ต้องพระราชอาญาถึงประหารเข้าถุง เพื่อประหารด้วยท่อนจันทน์ แต่ไม่เกี่ยวกัน เป็นการบังเอิญเฉยๆ

ผมเคยอ่านที่ไหนไม่รู้จำไม่ได้ว่า ลักษณะของเงินในถุงแดง ผู้ใหญ่ที่เกิดทันเห็น เล่าสืบๆ มาว่า มีส่วนหนึ่งเป็นเงินเหรียญกษาปณ์ เป็นเหรียญๆ จำนวนมาก คงจะทำด้วยโลหะมีค่าที่ใช่เป็นสื่อกลางการค้าขายในสมัยนั้น และนอกจากเป็นรูปเหรียญกษาปณ์แบนๆ ก็อาจจะมีที่เป็นลิ่มหรือเป็นรูปอื่นด้วย

หนังสือเกี่ยวกับเหรียญโบราณหรือประวัติเงินตราคงจะบอกได้ว่า ในสมัย ร. 2 ของเรา ซึ่งเป็นช่วงที่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงค้าสำเภา หน้าตาเงินที่ใช้อยู่เป็นอย่างไร ผมเข้าใจว่าที่ว่าเห็นเป็นเหรียญแบนๆ น่าจะเป็นอีแปะจีน อาจมีเหรียญเงินเงินตราต่างประเทศของเมืองฝรั่งด้วย เพราะฝรั่งตีเหรียญใช้มานานแล้วและเงินเมืองฝรั่ง (หลายเมือง) ได้เข้ามาใช้แพร่หลายเป็นสื่อกลางทางการค้าอยู่ในภูมิภาคเอเชียนี้นานแล้วเหมือนกัน

แต่ส่วนสยามเราเอง เข้าใจว่าตอนนั้นเรายังใช้เงินพดด้วงอยู่ สยามมามีโรงกษาปณ์ผลิตเงินหนาตาเป็นเหรียญๆ อย่างเดี๋ยวนี้ใช้กันก็ในสมัยหลัง ร. 2  ลงมาแล้ว


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 16 ก.พ. 06, 09:40
 ประการสอง ข้อนี้ผมเดา

เมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงค้าขายกับทางเมืองจีนมาก (แม้ว่าพระองค์เองจะมีสายพระโลหิตไทยใต้มุสลิมอยู่ในพระวรกายก็ตาม) ก็น่าจะเข้าพระทัยและทรงทราบถึงธรรมเนียมจีนไม่น้อย ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อพระองค์ทรงรับราชสมบัติขึ้นเป็น ร. 3 นั้นพระราชนิยมในทางศิลปะในรัชกาลนี้ก็เป็นอย่างจีน

ดังนั้นเมื่อทรงค้าขายได้เงิน พูดภาษาธรรมดาก็ว่า เซ็งลี้ฮ้อ มา ควรจะเก็บไว้ที่ไหนถึงจะเป็นมงคลรวยๆๆๆๆ ขึ้นไปอีก ถ้าว่าทางจีนก็ต้องเก็บใส่ไว้ในอะไรที่สีแดงๆ เพราะสีแดงเป็นสีมงคลของจีน

จะเป็นที่มาของถุงที่มีสีแดงได้ไหม?

พูดกันอย่างเดาๆ ตามประสาผม กล่าวได้ว่าเงินถุงแดงพระราชมรดก ร. 3 นั่นน่ะ ก็คืออั่งเปา (เงินห่อแดง) ถุงใหญ่ที่พระราชทานไว้ให้แผ่นดินไทยนั้นเอง


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 16 ก.พ. 06, 09:51
 ลองเดาอีกทาง คราวนี้ทางธรรมเนียมไทย

เงินถุงแดงนั้นถ้าผมเข้าใจไม่ผิดเป็นส่วนหนึ่งของเงินพระคลังข้างที่ หรือเปล่า? คือเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในพระมหากษัตริย์ ไม่เกี่ยวกับเงินในราชการแผ่นดินที่อยู่ในพระคลังหลวง ท่านทรงหาได้ของท่านมา แต่เมื่อจะสวรรคตก้พระราชทานไว้เป็นสมบัติส่วนรวมของประเทศทั้งก้อน

ทีนี้ ในเมืองจีนสมัยก่อน สีประจำองค์ฮ่องเต้นั้นคือสีเหลืองทอง ดังจะเห็นว่าฉลองพระองค์เหลืองทองลายมังกรห้าเล็บนั้น คนอื่นแต่งไม่ได้เป็นอันขาดตลอดทั่วทั้งแผ่นดินจีน มีแต่จักรพรรดิองค์เดียวเท่านั้นที่ทรงได้

ในเมืองไทยเราเดี๋ยวนี้ ดูเหมือนคล้ายๆ จะถือกันว่าสีที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ คือสีเหลืองเหมือนกัน อย่างน้อยคุณสนธิ นสพ. ผู้จัดการก็ดูจะบอกว่ายังงั้น อาจจะเป็นเพราะเป็นสีของธงมหาราช ครุฑแดงบนพื้นเหลือง

(แต่สีที่แทนพระมหากษัตริย์ในธงชาติไทยนั้นคือสีน้ำเงิน และเป็นการบังเอิญหรืออย่างไรไม่ทราบ สีธงมหาราชของกัมพูชาก็เป็นสีน้ำเงิน)

แต่ผมกำลังจะบอกว่า ผมเข้าใจว่าไทยเราโบราณถือว่าสีประจำพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะเป็นการส่วนพระองค์ คือสีแดงครับ เคยอ่านเจอว่าในหลวง ร. 6 เมื่อเสด็จฯแปรพระราชฐานไปหาดเจ้าสำราญ เวลาลงทรงพระสำราญเล่นน้ำทะเลกับคนของท่าน ทรงพระสนับเพลากางเกงอาบน้ำสีแดง หรือทรงผ้านุ่งสีแดงอะไรนี่ อยู่องค์เดียว ผู้ตามเสด็จต้องใส่สีอื่น สีอะไรก็ได้ แต่ห้ามสีแดง

เงินส่วนพระองค์พระเจ้าแผ่นดินไทย จึงต้องใส่ถุงสีแดงเพราะอย่างนี้หรือเปล่าหนอ?


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 17 ก.พ. 06, 07:06
 ออกมายืนยันกับคุณนิลฯ ว่าสีประจำองค์พระมาหกษัตริย์ไทย คือสีแดงครับ
ก่อนที่จะมีการนำของบางอย่างเข้ามาเพิ่มรวมอยู่ในเครื่องเบญจราชกกุธภัณธ์
ของอีกอย่างที่เคยอยู่ในเครื่องแสดงยศของพระมหากษัตริย์ คือฉลองพระองค์รัตกัมพล หรือเสื้อที่ตัดจากผ้าแคชเมียร์สีแดง
ในสมัยก่อนของต่างๆอีกหลายชนิด ก็จำกัดสีแดงไว้เฉพาะองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น
แต่ปีจจุบันความนิยมที่ว่าก็เสื่อมลงตามยุคสมัย จนหลายคนเข้าใจไปแล้วว่าสีแดงเป็นของคนจีน
(ที่จริง ไม่ว่าจีนไทยส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะถูกจะแพงก็ขอแดงๆไว้ก่อนนะครับ อิอิ)



อ่อๆ ลืมไป แม้กระทั่งผ้าขาวม้าสำหรับทรงสนานก็จะใช้สีแดงเช่นกันครับ


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 19 ก.พ. 06, 13:30
 เรื่องสีประจำสถาบันพระมหากษัตริย์และสีประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น

ผมเคยคุยกับอาจารยสวัสดิ์  จงกล ผู้เชี่ยวชาญประจำหอประวัติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ถึงเรื่องเสื้อครุยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งมีอยู่ ๒ ชนิด ๔ แบบ คือ
๑)  ครุยบัณฑิตพิเศษ  พื้นสำรด (ถบสีพื้นที่ขอบเสื้อครุยและที่ต้นแขน ปลายแขน) เป็นสีเหลือง  ครุยนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อแรกเสด็จฯ เหยียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๒) ครุยบัณฑิต ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ ช้น คือ
    ชั้นเอก หรือ ดุษฎีบัณฑิต  พื้นสำรดสีแดง
    ชั้นโท และตรี หรือ มหาบัณฑิต และบัณฑิต  พื้นสำรดสีดำ
ท่านอาจารย์สวัสดิ์ได้ตั้งคำถามถามผมว่าเหตุใดจึงใช้สำรดต่างสีกัน  หลังจากที่ถกกันอยู่นานพอสมควรจึงได้ข้อสรุปว่า ครุยบัณฑิตพิเศษนั้นน่าจะเหมือนกับฉลองพระองค์อาจารย์ซึ่งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นองค์ปฐมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖  ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเสด็จฯ เหยียบวชิราวุธวิทยาลัยเป็นครั้งแรก  ทางโรงเรียนก็ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์พระบรมราชูปถัมภกซึ่งก็คือฉลองพระองค์อาจารย์แบบที่เคยถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแล้ว  ฉะนั้นฉลองพระองค์บัณฑิตพิเศษที่จุฬาลงกรณ์ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นก็คือฉลองพระองค์สำหรับพระบรมราชูปถัมภกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั่นเอง  และเหตุที่กำหนดให้สำรดเป็นสีเหลืองทองนั้นก็น่าจะมีความหมายถึงพระบรมราชวงศ์จักรีซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกุลเชษฐ์แห่งพระบรมราชวงศ์  ดังเช่นที่ปรากฏในสีธงมหาราช หรือสายสะพายมหาจักรีบรมราชวงศ์  แต่โดยที่องค์พระบรมราชูปถัมภกจะมีได้เพียงครั้งละ ๑ พระองค์  จึงทูลเกล้าฯ ถวายเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น  เมื่อทราบความดังนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์บัณฑิตพิเศษแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน  แต่จะเป็นปีใดขอสารภาพว่าจำไม่ได้ครับ

ส่วนครุยบัณฑิตที่กำหนดสำรดเป็นสีแดงและดำนั้น  ก็น่าจะเป็นการถวายพระเกียรติยศแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสองรัชกาลที่ทรงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชสมภพในวันอังคาร  และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เสด็จพระราชสมภพในวันเสาร์  สำหรับสีประจำวันเสาร์นั้นตามตำราพิชัยสงครามท่านกำหนดไว้เป็นสีดำ  พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ นั้น จึงทรงใช้สีดำกับสีน้ำเงินแก่เป็นสีประจำพระองค์  ส่วนวันอังคารนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ทั้งสีชมพูอ่อน เช่นสายสะพายจุลจอมเกล้า  สีแดงเช่นแพรแถบเหรียญราชรุจิในพระองค์ หรือแดงกับขาวเช่นแพรแถบเหรียญรัตนาภรณ์ในพระองค์  แต่ดูจะโปรดสีแดงมากกว่าเพราะได้ทรงใช้สีแดงเป็นสีเครื่องแบบนายทหารในกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์  ส่วนสีบานเย็นเป็นสีของกระทรวงวัง  ด้วยข้อสรุปนี้จึงเชื่อกันว่า สำรดสีแดงสำหรับดุษฎีบัณฑิตจึ่งน่าจะหมายถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนมหาดเล็ก  ส่วนสำรดสีดำสำหรับมหาบัณฑิตและบัณฑิตนั้นต้องหมายถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระมหากรุณาโปรดให้ยกโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓  ก่อนที่จะโปรดให้ยกโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร. ขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ เพื่อเป็นเครื่องเชิดชูพระเกียรติคุณในสมเด็จพระบรมชนกนาถ และเป็นอนุสรณ์ถึงการฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ "๓ รอบมโรงนักษัตร" เมื่อวันที่  ๑  มกราคม ๒๔๕๙ ด้วย

ในประเด็นเรื่องพระภูษาแดงนั้น  เท่าที่ฟังมาจากคุณมหาดเล็กผู้ใหญ่ ท่านว่า แต่เดิมมาพระมหากษัตริย์ไทยทรงนุ่งผ้าขาวม้าแดงกันทุกพระองค์ครับ  เพราะผ้าเหลืองนั้นเป็นสัญลักษ์หมายถึงพระพุทธศาสนาและหมายถึงพระสงฆ์ซึ่งทรงเคารพกราบไหว้  และในสมัยโบราณนั้นมีธรรมเนียมนุ่งผ้าสีตามวัน  แต่สำหรับวันพระแล้วพระมหากษัตริย์และเจ้านายคือตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไปท่านจะทรงแดง  แม้จะมิใช่วันอาทิตย์ก็ตาม  มีเรื่องเล่าว่าในสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้น  ถ้ามีข้าราชการคนใดนุ่งแดงมาในวันพระก็มักจะเสด็จไปคำนับผู้นั้นแล้วก็ทรงหันไปรับสั่งกับเจ้านายที่ตามเสด็จมาว่า วันนี้เรามีพยาธิเพิ่มขึ้น  แต่ก็ไม่ปรากฏว่าทรงกริ้วหรือทรงลงโทษข้าราชการผู้นั้นอย่างไร

ส่วนสีน้ำเงินในธงไตรรงค์นั้น  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชนิพนธ์คำอธิบายไว้ในเครื่องหมายแห่งไตรรงค์พระราชทานไปลงในดุสิตสมิตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ว่า
    ขอร่ำรำพันบรรยาย          ความคิดเครื่องหมาย
แห่งสีทั้งสามงามถนัด
    ขาวคือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์     หมายพระไตรรัตน์
และธรรมะคุ้มจิตไทย
    แดงคือโลหิตเราไซร้        ซึ่งยอมสละได้
เพื่อรักษะชาติศาสนา
    น้ำเงินคือสีโสภา            อันจอมประชา
ธโปรดเป็นของส่วนองค์
    จัดริ้วเข้าเปนไตรรงค์       จึงเปนสีธง
ที่รักแห่งเราชาวไทย
    ทหารอวรตารนำไป         ยงยุทธวิชัย
วิชิตก็ชูเกียรติสยาม

โปรดสังเกตในวรรคที่ว่า  "น้ำเงินคือสีโสภา  อันจอมประชา  ธ โปรดเป็นของส่วนองค์"  ความหมายคือสีน้ำเงินนี้ จอมประชาคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดใช้เป็นสีประจำพระองค์  เพราะเสด็จพระราชสมภพในวันเสาร์ซึ่งตามตำราพิชัยสงครามนั้นกำหนดให้ทรงเครื่องดำ  ส่วนตำราสวัสดิรักษากำหนดเป็นสีม่วงคราม  เนื่องจากไม่โปรดสีม่วงที่เป็นสีเศร้า  จึงทรงเลี่ยงมาใช้สีดำกับสีน้ำเงินแก่  แล้วก็อาจจะทรงจงใจที่จะใช้สีน้ำเงินแก่ให้สอดคล้องกับสีของธงยูเนียนแจ๊คของสหราชอาณาจักร  หรือธงชาติฝรั่งเศส  รัสเซีย เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกาที่ต่างก็ใช้สามสีนี้เหมือนกัน


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 23 ก.พ. 06, 15:03
 คดีพระปรีชากลกาล (สำอาง อมาตยกุล) เหตุเกิด ณ ปี พ.ศ. 2421 พระปรีชาฯ เป็นข้าหลวงเมืองปราจีนบุรี
แต่ที่กลายเป็นเรื่องใหญ่โตที่ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ก็เพราะพระปรีชาฯ ได้แต่งงานกับ
น.ส. Fanny ธิดาคนโตของมิสเตอร์น็อกซ์ (Knox)กงสุลเยนเนอรัลของอังกฤษประจำกรุงสยามในเวลานั้น
และที่คนไทยรู้จักกันดีเมื่ออ่านเรื่อง "แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม" กล่าวคือ นาย Louis Leonowens
บุตรชายของ Anna Leonowens พระอาจารย์สอนภาษาอังกฤษในพระบรมมหาราชวังสมัยนั้น
ได้แต่งงานกับบุตรสาวคนเล็กของนายน็อกซ์นี่เอง

พระปรีชากลการ ขณะเป็นข้าหลวง หรือเจ้าเมืองปราจีนบุรี ได้เบิกเงินหลวง
ไปลงทุนทำบ่อทองถึง 15,500 ชั่งเศษ แต่ส่งทองให้หลวงเพียง 111 ชั่งกว่าเท่านั้น

ซึ่งต่ำกว่าคาดหมายมาก ประจวบกับมีราษฎรชาวปราจีนฯ
ได้มาร้องทุกข์ว่าถูกพระปรีชาฯ กดขี่ข่มเหงทารุณนานัปการ พระปรีชาฯ จึงมีความผิดถึง 3 ประการ คือ

1. ฉ้อราษฏร์บังหลวงเรื่องบ่อทอง

2. ใช้อำนาจไม่เป็นธรรมในการปกครอง

3. เป็นขุนนางผู้ใหญ่ แต่แต่งงานกับชาวต่างชาติโดยไม่ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต
ซึ่งขัดต่อพระราชประเพณีของการปกครองของไทย

จึง ๆ แล้วนายน็อกซ์ไม่เต็มใจที่จะให้ลูกสาวแต่งงานกับพระปรีชาฯ ถึงกับไม่ยอมให้จัดงานที่
สถานกงสุลอังกฤษ กับห้ามไม่ให้พระปรีชากับแฟนนี่ไปมาหาสู่ด้วย และยังทำความตกลงกันว่า
ถ้าพระปรีชาต้องโทษอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เงิน 5,000 ปอนด์ ที่พระปรีชาต้องให้เป็นเหมือนเงิน
สินสอดทองหมั้นแก่แฟนนี่ จะเอาเป็นสิทธิของแฟนนี่ และแฟนนี่ก็ไม่เกี่วข้องกับโทษนั้นด้วย
แต่นายน็อกซ์ยังเปิดโอกาสให้ลูกสาวกลับมาอยู่บ้านพักกงสุลตามเดิมได้ ถ้ากลับใจถอนตัว
ไม่ไปอยู่กับพระปรีชา แต่เเฟนนี่ปฏิเสธ

แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนั้นพระปรีชาฯ กำลังต้องโทษและอยู่ในระหว่างสอบสวน ด้วยความเป็นพ่อ
นายน็อกซ์ถึงกับยื่นคำขาดต่อทางการไทยว่า จะเรียกเรือรบจากฮ่องกงเข้ามาบอมบ์บาร์ดกรุงเทพฯ
แล้วจับตัวสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ไปเป็นจำนำในเรือรบ จนกว่าจะปล่อยตัว
บุตรเขยให้เป็นอิสระ

เพราะคำขู่ขึงขังจริงจังดังกล่าว จึงเกิดข่าวลือเรื่องรือรบอังกฤษจะเข้ามายิงปืนใหญ่ถล่มกรุงเทพฯ
จึงเกิดความปั่นป่วนอลเวงไปทั่ว เพื่อระงับเหตุดังกล่าว ทางการไทยจึงต้องจัดส่งราชทูตชุดพิเศษ
ออกไปเจรจาความเมืองเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ยังกรุงลอนดอนโดยด่วน

ทูตที่ส่งอย่างฉุกละหุกก็มีพระยาภาสกรวงศ์ (ชุมพร บุนนาค) เพราะรู้จักขนบธรรมเนียมและ
ภาษาอังกฤษดี และจหมื่นสราภัยสฤษดิการ (เจิม แสง - ชูโต) เป็นอุปทูต แต่จหมื่นฯ นั้นเพ่งกลับจาก
การทำแผนที่เมืองลพบุรีได้เพียง 3 วัน และยังป่วยไข้อยู่ เครื่องแต่งตัวที่ใช้ในยุโรปก็ไม่มี จะตัดเย็บก็ไม่ทัน
แต่เผอิญก่อนหน้าที่นายน็อกซ์จะก่อเรื่องนั้น ทางรัฐบาลไทยกำลังดำเนินการจัดตั้งสถานทูตขึ้นใน
กรุงลอนดอนเป็นครั้งแรก จมื่นฯ จึงได้เอาเสื้อผ้าของนายจ่ายวด ซึ่งจะไปเป็นอุปทูต ณ กรุงลอนดอน
มาใช้แทน ปรากฏว่าไม่เหมาะกับตัวจหมื่นเลย เพราะแขนเสื้อกับขากางเกงสั้นไปมาก แต่ก็จำเป็น
จะต้องนำไปใช้พลาง ๆ ก่อน

เมื่อคณะราชทูตเดินทางถึงเมืองสิงคโปร์ ก็ได้เข้าพบผู้ว่าราชการเมืองสิงคโปร์ เล่าเรื่องนายน็อกซ์
อาละวาดให้ฟัง และราชทูตก็ได้มีโทรเลขถึงพระสยามธุระพาหะ (D.K. Mason) กงสุลไทยที่
กรุงลอนดอน ให้นำความบอกกว่าวแก่ Lord Salzburry เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษว่า
ราชทูตไทยจะมาขอเจรจาความเมืองเป็นพิเศษ และขอให้รัฐบาลอังกฤษเรียกเรือรบกลับ
รัฐบาลอังกฤษได้ยินยอมให้ราชทูตไปพบ และได้โทรเลขเรียกเรือรบให้เดินทางกลับที่ตั้งด้วย

ระหว่างนั้น เรือรบอังกฤษที่นายน็อกซ์เรียกไป ก็แล่นเข้ามาถึงกรุงเทพฯ และได้ทอดสมออวดธงอยู่ไม่นาน
ก็แล่นกลับออกไป โดยไม่ได้ยิงปืนแม้แต่นัดเดียว ต่อมาพระสยามฯ เห็นว่าข่าวคราวเงียบหายไปนาน
จึงได้ติดต่อเพื่อน ๆ ที่เป็นสมาชิกสภาล่างและสภาสูงของอังกฤษให้ช่วยเตือนท่านลอร์ดฯ
ในสภาปาเลียเมนต์ ซึ่งเป็นผลให้นายน็อกซ์ถูกเรียกตัวกลับประเทศอังกฤษ ไม่ให้เกี่ยวข้องกับ
ประเทศสยามอีกต่อไป

ร.๕ ได้พระราชทานฎีกาไปให้สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน หรือ เสนาบดีสภา (Councilor of state)
พิจารณา ผลก็คือ คดีนี้เป็นคดีร้ายแรงมาก เป็นการ "ทำการดูถูกดูหมิ่นอาญาแผ่นดินนัก
ประพฤติการกำเริบหมิ่นประมาทนัก ไม่มีความยำเกรงต่อผู้ใหญ่" จึงเรียกตัวพระปรีชาฯ
เข้ามากรุงเทพฯ แล้วมีคำสั่งให้จำตรวนนำตัวไปคุมขังเพื่อทำการสอบสวนต่อไป

พระปรีชาฯ ก็ตระหนักดีว่าตนเองได้กระทำผิด ดังข้อความจดหมายที่มีถึงแฟนนี่ว่า.-

"...ด้วยตัวฉันเป็นคนไทย ในหลวงกริ้วลงพระราชอาญาเฆี่ยนแล้ว ก็จะค่อยคลายกริ้วลงทุกที
อย่าให้เเฟนนี่วุ่นวายไป ธรรมเนียมไทยก้บธรรมเนียมฝรั่งไม่เหมือนกัน จะเอาเหมือนธรรมเนียม
ฝรั่งไม่ได้ จะภาฉันมีความผิด ฉันเห็นใจแล้วว่าแฟนนี่รักฉันมาก...."

หมายเหตุ: มีหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ เรื่อง "ตัวตายเพราะได้เมียฝรั่ง" และ เรื่อง
"Fanny and the Regent of Siam"

 http://webboard.nationgroup.com/swb/view.php?page=2&rid=6&tid=4577&PHPSESSID=8842dd4c9779fd5db20539100e41f03c  


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 23 ก.พ. 06, 18:16
 อีกเล่มที่น่าอ่านครับ "ลักษณะของนายทุนไทย  ในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๗ - ๒๔๘๒ บทเรียนจากความรุ่งโรจน์สู่โศกนาฏกรมม"  ของ พรรณี  บัวเล็ก  
หนังสือนี้เป็นผลงานวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตระดับดีเยี่ยม  ที่ให้ความรู้ในเรืองระบบภาษีในยุคเจ้าภาษีนายอากร  การค้าข้าวของพ่อค้าชาวจีน  และการก่อตัวของสกุลพ่อค้าชาวจีนในสังคมไทย  รวมทั้งเรื่องอั้งยี่


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 24 ก.พ. 06, 14:18
 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทูลเกล้าฯ ถวายครุยพระบรมราชูปถัมภกเมื่อโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๙ ครับ

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก เสด็จออก ณ สนามหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ทรงรับการถวายชัยมงคลจากชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธปฏิมาแก้วผลึก สลักจากแก้วใสบริสุทธิ์ งดงามมากเป็นของทูลพระขวัญ

ส่วนเรื่องสีแดงกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นก็มีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่ หากจำไม่ผิด สีประจำโรงเรียนมหาดเล็ก (ซึ่งวิวัฒนาการมาเป็นจุฬาฯ) ก็เป็นสีแดงชาด ปกหนังสือ "รเบียบการโรงเรียนมหาดเล็ก" ก็เป็นสีแดงชาดเช่นกันครับ

เห็นด้วยกับคุณ V_Mee ครับว่าการทรงพระภูษาแดงของพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องปกติครับ

เคยอ่านบทสัมภาษณ์หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ท่านก็ตรัสเล่าว่า แม้เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตใหม่ๆ แล้วมีการสรงพระบรมศพเป็นการภายในนั้น ก็จัดให้พระบรมศพก็ทรงพระภูษาแดงลอยชาย ก่อนจะเปลี่ยนเป็นเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ตามราชประเพณี

หากลองสังเกตภาพเก่าๆ จะเห็นว่าผ้าห้อยหรือพันพลับพลารับเสด็จในอดีตนั้น เป็นริ้วสีขาวแดงเสมอ ไม่มีการใช้สีประจำวันพระบรมราชสมภพหรือวันประสูติอย่างในปัจจุบัน

บางท่านก็ตีความว่าเป็นสีที่แสดงถึงความเป็น "พระเดช-แดง" และ "พระคุณ-ขาว" ซึ่งเจ้านายจะต้องทรงบริหารให้ได้ดุลในพระทัย

แต่น่าแปลกที่เมื่ออดีต การจัดสถานที่รับเสด็จพระมหากษัตริย์ในต่างประเทศโดยเฉพาะในยุโรปก็ใช้สีแดงขาวเช่นกัน เหมือนจะเป็นราชประเพณีสากล ผมนึกเล่นๆ ไปว่า หรือจะเลียนสีมาจากธงอังกฤษยุคก่อนที่จะใช้ยูเนี่ยนแจ็ก ซึ่งมีเพียงสีขาวและแดง อันนี้เป็นข้อสันนิษฐานนะครับ ไม่ยืนยัน


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 24 ก.พ. 06, 14:27

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


กระทู้: รายได้แผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 24 ก.พ. 06, 14:56

สังเกตริ้วผ้า (แดงขาว) พันเสาปะรำรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จังหวัดลำพูน