เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: พลอยไพลิน ที่ 11 พ.ย. 00, 19:00



กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: พลอยไพลิน ที่ 11 พ.ย. 00, 19:00
ได้ยินมาว่าตัวละครในเรื่องสี่แผ่นดินเป็น'เงา'ของบุคคลจริงๆ
ถ้าอย่างนั้นแล้ว 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดินล่ะคะเป็นเสด็จพระองค์ไหน


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 09 พ.ย. 00, 13:59
Is she a daughter of King Rama IV, which means that she is King Rama V's sister?


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ย. 00, 14:56
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ไม่ได้บอกว่าเป็นองค์ไหนค่ะ ทราบแต่ว่าเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔  คือพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๔ ก็คือเป็นพระขนิษฐาในรัชกาลที่ ๕  
เสด็จ หรือเสด็จพระองค์หญิง ในพระบรมมหาราชวังมีอยู่มากมายหลายสิบองค์
ท่านอาจจะนำลักษณะของหลายๆองค์มาผสมผสานกันเข้าก็ได้
แล้วอีกอย่าง  ท่านผู้ประพันธ์ไม่เคยรับออกมาตรงๆนะคะว่า ตัวละครของท่านเป็น " เงา" ของใคร แม้แต่คุณหญิงประเสริฐศุภกิจ (จำเริญ ไกรฤกษ์) ก็เป็นเพียง "หนึ่ง"ในสตรีร่วมสมัยรัชกาลที่ ๕ และ ๖หลายๆคนที่ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เก็บเอามาสร้างเป็นแม่พลอยเท่านั้น
คุณหาอ่านได้ในหนังสือ "พิเคราะห์คึกฤทธิ์ พินิจสี่แผ่นดิน" พิมพ์โดยสนพ.ดอกหญ้า ในบทความชื่อ " แม่พลอยมีตัวจริง? "ค่ะ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: โบว์สีชมพู ที่ 09 พ.ย. 00, 15:27
คุณเทาชมพูคะ หนังสือพิเคราะห์คึกฤทธินี่ใครแต่งคะ และยังมีขายอยู่ไหมคะ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ย. 00, 16:02
เป็นรวมบทความวิจารณ์สี่แผ่นดิน รวมทั้งที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เขียนเองลงในสยามรัฐ ถึงเบื้องหลังสี่แผ่นดินด้วยค่ะ
ผู้เขียนบทความ มี ก.สุรางคนางค์  อ.เจือ สตะเวทิน  สุชาติ สวัสดิ์ศรี  ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ คุณรัญจวน อินทรกำแหง ฯลฯ
พิมพ์ครั้งแรกปี ๓๔ จะพิมพ์ต่อมาอีกหรือเปล่าไม่ทราบ
อาจจะมีเหลือตามสาขาดอกหญ้านะคะ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: วราลี ที่ 09 พ.ย. 00, 16:05
ถ้าจะลองวิเคราะห์ดู ดิฉันว่า'เสด็จ'ในเรื่องแม่พลอยคงจะเป็น 'สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี' ค่ะ เพราะว่า'เสด็จ'ที่เป็นพระขนิษฐาและเป็นมเหสีของรัชกาลที่ ๕ ก็มีแค่สี่พระองค์ คือพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี แล้วก็พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี แต่เคยดูละครเรื่องสี่แผ่นดินเมื่อประมาณเกือบสิบปีก่อน ที่ฉัตรชัยแสดงคู่กับจินตหรา จำได้ว่าตอนหนึ่งแม่พลอยได้ตามเสด็จเสด็จตอนที่เสด็จเสด็จพร้อมกับเสด็จอีกพระองค์หนึ่งนั้น เสด็จที่แม่พลอยเป็นข้าหลวงอยู่เสด็จตามรัชกาลที่ ๕ เป็นคนที่สามหรือคนที่สี่ แสดงว่าไม่น่าจะเป็นพระนางเจ้าสว่างวัฒนาหรือพระนางเจ้าเสวภาผ่องศรี ซึ่งเป็นมเหสีอยู่ในลำดับที่หนึ่งกับที่สอง จึงน่าจะเป็นพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีมากกว่า แล้วอีกอย่างหนึ่ง แม่พลอยในเรื่องสี่แผ่นดินก็มาจากตระกูลบุนนาค ในสมัยก่่อนเวลาเขาเอาลูกสาวไปฝากไว้ในวังฝ่ายใน เขามักจะฝากกับเจ้านายที่เป็นพระญาติ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีท่านก็มาจากสกุลบุนนาค ท่านเป็นพระธิดาของรัชกาลที่ ๔ ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสำลี นามสกุลเดิมบุนนาค นามสกุลเดียวกับแม่พลอยค่ะ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ย. 00, 16:27
เสด็จในสี่แผ่นดินไม่ได้เป็นพระมเหสีในรัชกาลที่ ๕ นี่คะ
้เป็นพระขนิษฐาซึ่งมีตำหนักอยู่ต่างหาก เหมือนพระองค์เจ้าอื่นๆ
อ่านสำนวนสี่แผ่นดินของคุณวราลีแล้วงงค่ะ  ขอชมที่คุณไม่งง
ตามสด็จไปไหนกันหรือคะ  อ่านแล้วไม่เข้าใจเรื่องลำดับที่ว่า
ส่วนที่พลอยไปเป็นนางข้าหลวงของเสด็จ ก็เพราะแม่แช่มแม่ของพลอยเป็นข้าหลวงเดิม และอีกอย่างคือคุณพ่อของแม่แช่มคือตาของพลอยเป็นหลานเจ้าจอมมารดาของเสด็จค่ะ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: วราลี ที่ 09 พ.ย. 00, 16:45
คุณเทาชมพูลองไปเช่าหนังละครเรื่องสี่แผ่นดินที่ฉัตรชัยแสดงคู่กับจินตหรามาดูใหม่สิคะ คุณเทาชมพูไม่เคยได้ยินเรื่องล้อที่ว่า "เสด็จให้มาทูลถามเสด็จว่าเสด็จจะเสด็จพร้อมกับเสด็จหรือไม่เพคะ" เลยหรือคะ?


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ย. 00, 17:20
จำได้ค่ะ ประโยคนี้อยู่ในสี่แผ่นดิน  เป็นประโยคที่แสดงภาษาชาววังได้เยี่ยมมาก
 จะเรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ของสี่แผ่นดินก็ได้ เพราะถ้ายกประโยคนี้ขึ้นมาจะไม่มีใครสับสนกับนิยายเรื่องอื่นเลย

"สวดมนต์เย็นบนพระที่นั่งบ่ายวันนี้มังคะ  เสด็จให้มาทูลถามเสด็จว่าจะเสด็จหรือไม่เสด็จ   ถ้าเสด็จจะเสด็จ  เสด็จจะเสด็จด้วย"
และเสด็จก็ตรัสตอบว่า
" พลอยถ้าจะยังไม่เคยได้ยินภาษาชาววัง  ไหน พลอยบอกมาลัยเขาสิว่า เสด็จให้ไปทูลเสด็จว่าเสด็จจะเสด็จ  ถ้าเสด็จจะเสด็จด้วย เสด็จก็จะดีพระทัยมาก"

ที่งงน่ะคือคุณวราลีเอาละครขึ้นมาเป็นตัวอย่าง  อ่านแล้วไม่เข้าใจ  หรือถ้าพยายามเข้าใจก็ตีความว่า ในฉากมีขบวนเสด็จตามรัชกาลที่ ๕
โดยที่เสด็จ(ในละคร) ตาม เป็นลำดับที่สามหรือคนที่สี่
งั้นหรือคะ?
ถ้าเป็นอย่างนั้น  ดิฉันว่าอย่าเอาละครเป็นหลักเลยค่ะ  จะผิด  เพราะผู้จัดและผู้กำกับจัดตัวละครให้มีจำนวนน้อยกว่าในหนังสือ   อาจเพื่อความสะดวกของมุมกล้องและอะไรหลายๆอย่างตามแบบการทำละครทีวี   ไม่สามารถจะทำตามในหนังสือได้ครบ
ุถ้าเอาหนังสือเป็นหลัก  ในงานพิธีโสกันต์ทูลกระหม่อม  มีกระบวนแห่    พระเจ้าอยู่หัวเสด็จ และสมเด็จเสด็จลงพร้อมเจ้านายทรงพระเยาว์อีกหลายพระองค์เสด็จผ่านไป
 พลอยหมอบเฝ้าอยู่อีกนาน  จนขาชาเหมือนเป็นเหน็บ  จึงเห็นเสด็จเสด็จผ่านหน้าไป  แสดงว่าไม่ได้ตามเสด็จในลำดับใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัวอย่างในละครแน่ๆค่ะ

เสด็จไม่ใช่พระนางเจ้าสุขุมาลฯ  เพราะในเรื่องใช้คำว่าเสด็จ ตลอด   ไม่ใช่ พระนาง
พระมเหสีทั้งสี่พระองค์ที่ว่ามา มีพระนามเฉพาะค่ะ คือสมเด็จพระตำหนัก   สมเด็จที่บน   ส่วนพระนางเจ้าสุขุมาลฯ เรียกว่า "พระนาง" และพระวิมาดาฯ ชาววังเรียกว่า " ท่านองค์เล็ก"


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: วราลี ที่ 09 พ.ย. 00, 18:44
ดีใจค่ะที่คุณเทาชมพูนึกประโยคที่ว่าออก



กลับมาประเด็นเดิมว่า 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดินเป็นใคร ดิฉันทราบดีค่ะว่า "ฉากทั้งหลายทั้งปวงที่ผู้เขียนนำมาใช้ในการเขียนเรื่องนี้เป็นของจริงทั้งสิ้น และได้พยายามสอบสวนให้ตรงกับความจริง คลอดจนรวบรวมพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มครั้งนี้ ก็ได้พยายามจนสุดความสามารถ ที่จะให้ราบละเอียดแห่งชีวิตที่ได้นำมาบรรยายนั้นถูกต้อง ตรงต่อความจริงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ฉะนั้น ฉากละครเรื่อง 'สี่แผ่นดิน' จึงเป็นของจริงทั้งหมด แต่ตัวละครนั้นกลับเป็นของสมมุติ ฯลฯ" เพราะฉะนั้นดิฉันถึง'ลองวิเคราะห์'อย่างที่ดิฉันได้กล่าวไว้แล้ว จากฉากที่ดิฉันจำได้ในหนังสือและจากละครที่ได้เคยดูมา ว่าเงาของตัวละครนั้นบางส่วนคงมาจากบุคคลที่ผู้เขียนรู้จักในชีวิตจริง ดิฉันเคยอ่านเจอว่าพวกคุณป้าของม.ร.ว.คึกฤทธิ์หลายท่านถวายตัวเป็นคุณข้าหลวงของพระญาติที่เป็นพระราชธิดา ถ้าจะว่ากันเฉพาะพระราชธิดาของรัชกาลที่ ๔ ที่เป็นสายสกุลบุนนาคซึ่งสกุลทางฝ่ายมารดาของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ คือเป็นบุนนาคสายของสมเด็จเจ้าพระยาพระองค์น้อย ก็มีอยู่แค่ ๒ พระองค์คือ พระองค์เจ้าหญิงบุษบงเบิกบาน กับ พระองค์เจ้าหญิงสุขุมาลมารศรี ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสำลี(เป็นธิดาของสมเด็จเจ้าพระยาพระองค์น้อย) แล้วเวลารัชกาลที่ ๕ เสด็จไปไหนมาไหน ก็มักจะเป็นฝ่ายหน้าหรือฝ่ายในพระองค์สำคัญๆอย่างพระมเหสี พระอัครชายา พระราชชายา หรือเจ้าจอมคนสำคัญบางท่าน จากเหตุการณ์หรือฉากแวดล้อมทั้งหมดที่ว่ามา ดิฉันจึงคิดว่า'เสด็จ'ในละครเรื่องสี่แผ่นดินน่าจะเป็น'เงา'หรือมีเค้ามาจาก 'สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี' ค่ะ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: วราลี ที่ 09 พ.ย. 00, 18:51
ถ้าจะพูดให้ถูก กลัวคุณตีความผิด ก็คงต้องพูดใหม่ว่า ฉากตำหนักของเสด็จหรือฉากในวังฝ่ายในในเรื่องสี่แผ่นดิน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์คงได้เค้าโครงมาจากเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมาจากพวกคุณป้าที่เป็นคุณข้าหลวงของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี ค่ะ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: วราลี ที่ 09 พ.ย. 00, 19:01
คุณเทาชมพูคงจะเห็นด้วยนะคะว่าบางทีผู้แต่งนิยายต่างๆ มักนำเค้าโครงมาจากเรื่องจริงใกล้ๆตัว เพราะฉะนั้นประโยคที่คุณเทาชมพูเขียนเองว่า "และอีกอย่างคือคุณพ่อของแม่แช่มคือตาของพลอยเป็นหลานเจ้าจอมมารดาของเสด็จค่ะ"  คุณเทาชมพูน่าจะเดาได้นะคะว่า เจ้าจอมมารดาที่ว่าหมายถึงใคร และเสด็จที่ว่านั้นน่าจะเป็นพระองค์ได้บ้าง


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ย. 00, 19:04
ดิฉันสังเกตอย่างหนึ่งว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ระมัดระวังในการเอ่ยอ้างเรื่องตัวละครของท่านที่เป็นเจ้านาย ว่ามาจากพระองค์จริง องค์ไหน
อ่านหลายหนในบทความของท่าน ก็จับไม่ได้ว่าท่านหมายถึงพระองค์ใด
แต่อธิบายรวมๆถึงคุณลักษณะของเสด็จเอาไว้ว่า
" ในวังเป็นโลกอีกโลกหนึ่งที่มีแต่ผู้หญิงก็จริง  แต่ก็ไม่มีความเปล่าเปลี่ยว  
เพราะในวังสมัยนั้นเป็นศูนย์กลางของโลกภายนอก  เนื่องด้วยเป็นทีประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ประกอบด้วยพระเจ้าน้องนางเธฮ เช่นเสด็จ
ซึ่งทรงได้รับการศึกษาสูง  ภาษาต่างประเทศบางภาษานั้น  ก็ได้ทรงศึกษากันไว้มากจนใช้การได้
ทางภาษาบาลีนั้น บรมวงศ์ฝ่ายในบางพระองค์ทรงช่ำชอง ถึงกับทรงทักพระในขณะที่พระสวดผิดได้  เช่นพระสวดอนุโมทนา เผลอไปว่า โส อัตถสัทโธ  วิรุฬโห พุทธศาสเน
ท่านก็ทรงทักว่า " ท่านเจ้าขา  อิฉันเป็นผู้หญิงเจ้าค่ะ"
พระก็รู้ตัว  แก้คำสวดให้เป็นอิตถีเพศว่า " สา อัตถสัทธา วิรุฬหา  พุทธสาสเน"
ทางภาษาอังกฤษ  ถึงจะไม่รับสั่งได้คล่องแคล่วก็ฟังได้เข้าพระทัย   และทรงอ่านเข้าพระทัยได้เรื่องราวตลอด
สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เคยทรงหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษชื่อ Straits Times ทุกวันเป็นประจำ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: อุบลวัณณา ที่ 17 ก.ย. 05, 06:34
 อ่านดูข้อความการเสวนาของคุณวราลีกับคุณเทาชมพูก็สนุกดีนะครับ เพราะต่างฝ่ายต่างให้ข้อมูลกันดี อย่างไรก็ตามผมเห็นว่า คุณเทาชมพูให้ข้อมูลที่น่าเป็นไปได้มากกว่า คุณวราลีดูสับสนและไม่ค่อยรู้เรื่องราวละเอียดพอเพียงนะครับ "เสด็จ"ในสี่แผ่นดิน ผู้แต่งไม่ได้บอกนะครับ ว่าเป็นเงาของท่านผู้ใด แต่ที่สันนิษฐานว่า เป็น สมเด็จพระปิตุฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี ไม่น่าจะใช่ เพราะขณะช่วงรัชกาลที่ห้า พระองค์ท่านได้รับสถาปนาที่พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ชาววังจะออกพระนามว่า "พระนาง" และพระองค์ก็มีพระราชโอรส และพระราชธิดาส่วน"เสด็จ"ในสี่แผ่น ไม่มีการกล่าวถึงพระโอรสและพระธิดา ดังนั้นแล้วข้อนี้ตัดออกไปได้ ผมเห็นด้วยกับคุณเทาชมพูที่ว่า อาจจะเป็นพระน้องนางเธอพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง หรือหลายพระองค์รวมๆกัน(พระองค์เจ้าโสมาวดีฯ, พระองค์แขไขดวง, พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอาง,ฯลฯ มากมายครับ) ในระดับชั้นพระองค์เจ้า...และผู้แต่งไม่ได้บอกว่าเสด็จมาจากสายสกุลบุนนาค เพียงแต่บอกว่าแช่ม(แม่ของพลอย)เป็นญาติห่างๆของเสด็จ และเสด็จก็โปรดและสงสารแช่มเพราะเป็นหลานห่างๆเท่านั้นเอง แม่แช่เลยพาพลอยมาถวายตัวกับเสด็จที่เป็นเจ้านายเก่า และอีกช่วงเห็นได้ชัดตอนที่คุณเชยพี่สาวต่างมารดามาเยี่ยมพลอย ช่วงพลอยอยู่ในวัง คุณเชยไปพักที่ตำหนักเจ้าจอมก๊ก"ออ" ซึ่งถ้ารู้ประวัติศาสตร์ดี เจ้าจอมก๊ก"ออ "นี่แหละสายสกุลบุนนาค และช่วงที่เสด็จสิ้นพระชนม์ พระศพตั้งที่หอธรรมสังเวส(ลองหาดูละครสี่แผ่นดิน ช่องเก้าที่เพิ่งจบไป) ไม่ได้ตั้งที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่สำหรับสมเด็จพระปิตุฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี เห็นมีการเชิญพระบรมศพมาจากวังบางขุนพรมนะครับ มีรายละเอียดอีกเยอะครับ ยังไงก็แล้วแต่ผมว่าไม่ใช่ ตามที่คุณวราลีพูดถึงแน่ แต่จะเป็นใครก็แล้วแต่ เราก็ได้รับความรู้จากเรื่องสี่แผ่นดินเป็นอย่างมากครับ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 18 ก.ย. 05, 11:19
 ในความเห็นผม  กลับมองว่า บรรยากาศในเรื่องในวังที่คุณชสยคึกฤทธิ์ท่านบรรยายไว้  ส่วนใหญ่น่าจะเป็นบรรยากาศในราชสำนักสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง มากกว่า  เนื่องจากเมื่อคุณชายยังเยาว์ก่อนออกไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษนั้น  คุณชายได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระพันปีหลวง  ซึ่งในช่วงเวลานั้นเสด็จออกไปประทับที่พระตำหนักพญาไทแล้ว  แทบจะมิได้เสด็จเข้าไปประทับในพระราชฐานชั้นในเลย  บรรยากาศในวังหลวงจึงเป็นเรื่งที่คุณชายน่าจะฟังมาจากผู้ใหญ่ที่เคยใช้ชีวิตในวังหลวงมากกว่า


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ย. 05, 13:14
 น่าสนใจมากค่ะ     คนนอกอย่างดิฉันไม่มีโอกาสเห็นบรรยากาศไม่ว่าวังหลวง หรือวังพญาไท
ใคร่ขอให้คุณ V_Mee ช่วยเล่าต่อด้วยถ้ามีเวลา

ดิฉันทราบแต่ว่าเมื่อม.ร.ว. คึกฤทธิ์ยังเยาว์มาก  หม่อมแดง หม่อมแม่ของท่าน
พาคุณชายเข้าไปเฝ้าเสด็จ ในเขตพระราชฐานชั้นใน   หลายต่อหลายครั้ง
คุณชายก็คงได้ซึมซับภาพเต๊ง  ตำหนักใหญ่น้อย  ภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาววัง มาบ้าง
พอจะมาใช้เป็นฉากในแผ่นดินที่ 1 ได้  ไม่ผิดพลาด

ส่วนเสด็จ ของพลอย  ดิฉันเคยนึกสงสัยอยู่หลายครั้งว่า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ได้ "แบบร่าง" มาจากเจ้านายพระองค์ใด

ตอบ ค.ห. 13

เสด็จของแม่พลอยไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสกุลบุนนาค    ตาของพลอยที่เป็นหลานเจ้าจอมมารดาของเสด็จ  ผู้แต่งก็ไม่ได้ระบุว่ามาจากสกุลไหน
แต่  แม่พลอยเป็นพวกสกุลบุนนาค ทางพ่อ    ข้อนี้แน่นอน  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ กล่าวไว้เอง  เป็นบทความลงในน.ส.พ. สยามรัฐ
ในหนังสือกล่าวไว้ว่า   เจ้าคุณพ่อของแม่พลอยเป็นก๊ก ฟากขะโน้น   ซึ่งคำนี้ เป็นคำเรียกคนในสกุลบุนนาค   ก่อนสมัยที่จะมีการใช้นามสกุล

ฟากขะโน้น หรือฟากข้างโน้น หมายถึงฝั่งธน  ซึ่งเป็นถิ่นฐานที่อยู่ของสกุลบุนนาค
แบ่งเป็น 2 สาย คือก๊กฟากขะโน้นบ้านบน  และก๊กฟากขะโน้นบ้านล่าง


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ย. 05, 13:16
 (ต่อ)
"ช่วงพลอยอยู่ในวัง คุณเชยไปพักที่ตำหนักเจ้าจอมก๊ก"ออ"
คงจะมาจากละคร  ในหนังสือ คุณเชยพักอยู่กับพลอยในตำหนักเดียวกัน


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 ก.ย. 05, 01:13
 โดยส่วนตัวม.ร.ว.คุหฤทธิ์  ปราโมช นั้น  ท่านเล่าว่า  ท่านมีเชื้อสายแขกทางสกุลบุนนาค  และ "เจ๊ก" ทางสกุลไกรฤกษ์  เวลาท่านคุยกับท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา (ไกรฤกษ์) มาลากุล  ท่านก็จะใช้สรรพนามสำหรับท่านผู้หญิงว่า "เจ๊"  
ผมเคยคุยกับเหลนซึ่งสกุลตรงลงมาจากเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร  บุนนาค) ถึงสภาพความเป็นอยู่ของฟากข้างโน้นในสี่แผ่นดิน  ก็ได้รับการยืนยันว่า คือสภาพของบ้านเรือนท่านผู้ใหญ่ในสกุลบุนนาคที่เคยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่  ตั้งแต่วัดประยุรวงศาวาส เรื่อยไปจนถึงย่านวัดพิชยญาติการาม  ฝั่งตะวันออกก็เริ่มจากริม่น้ำเจ้าพระยาเรื่อยไปจนถึงวงเวียนเล็ก  จะเลยไปถึงสี่แยกบ้านแขกหรือเปล่าไม่แน่ใจเหมือนกันครับ  พอมีการเวนคืนเมื่อคราวสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าก็แยกย้ายกันไปชุดหนึ่ง  เพราะแนวสะพานและถนนผ่าลงกลางที่ดินของสกุลบุนนาคเลยทีเดียว  สมัยเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนก็ยังคงมีบ้านเรือนของพวกบุนนาคหลงเหลืออยู่ไม่น้อย  ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านไม้ทรงปั้นหยากันแล้ว  แต่ก็มาโดนกวาดไปอีกรอบก็คราวเวนคืนสร้างสะพานสมเด็จพระปกเกล้าและความเจริญยุคใหม่ที่ข้ามฝั่งไปพร้อมกับสะพานใหม่  เลยไม่เหลือบ้านของพวกบุนนาคให้เห็นอีกเลย

"เสด็จ" ในเรื่องสี่แผ่นดินนั้น  วานท่านผู้รู้ทั้งหลายลองพิจารณาดูว่า คุณชายจะได้แบบอย่างจากสมเด็จพระปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร  ซึ่งในรัชกาลที่ ๖ ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอที่ทรงสนิทสนมและได้เสด็จออกงานร่วมกับล้นเกล้าฯ ยิ่งกว่าสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอหรือพระเจ้าน้องเธอพระองค์ใดๆ เพราะในพระราชสำนักสมเด็จพระพันปีหลวงทั้งในพระบรมมหาราชวังและที่พระตำหนักพญาไทนั้น  ก็จะมีแต่ทูลกระหม่อมหญิงประทับอยู่ในฐานะที่ทรงเป็นพระราชธิดาบุญธรรมในสมเด็จพระพันปีหลวงเพียงพระองค์เดียว  เจ้านายผู้ใหญ่อีกพระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์  นอกนั้นก็จะเป็นหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง และบุตรธิดาข้าราชบริพารทั้งหลาย  
ในเมื่อคุณชายท่านเติบโตมาในราชสำนักสมเด็จพระพันปีหลวง  จึงน่าจะเป็นไปได้ว่า ท่านน่าจะติดภาพของทูลหม่อมหญิงวไลยฯ มากกว่าเจ้านายพระองค์อื่น  

อนึ่ง ในบทประพันธ์เรื่องสี่แผ่นดินนั้น  คุณชายท่านเขียนว่า แม่พลอยแต่งดำไปรอเฝ้าถวายลังคมพระบรมศพ  ในระหว่างทางที่อัญเชิญจากพระที่นั่งอัมพรกลับเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง  ผมมาสะดุดตรงที่แม่พลอยแต่งดำนี่แหละครับ  เพราะธรรมเนียมไทยเรานั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตต้องไว้ทุกข์ใหญ่มีกำหนด ๑ ปี  การไว้ทุกข์ใหญ่ในสมัยก่อนต้องแต่งขาวทั้งแผ่นดิน  และต้องโกนผมทั้งหมดไม่ว่าหญิงหรือชาย  แต่ในคราวที่รัชกาลที่ ๕ สวรรคตนั้นได้มีพระบรมราชโองการให้งดการโกนผมทั้งแผ่นดิน  ด้วยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้มีพระราชดำรัสสั่งไว้แต่ก่อนสวรรคต  แต่การแต่งขาวทั้งแผ่นดินนั้นยังคงอยู่  ดังมีประกาศเรื่องผ้าขาวขาดตลาดและมีการโก่งราคาเกิดขึ้นในช่วงนั้น


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 20 ก.ย. 05, 12:22
 ผมว่า  "เสด็จ"  ในเรื่องสี่แผ่นดินนั้นไม่ได้แบบอย่างมาจากเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งโดยเฉพาะครับ  แต่น่าจะมาจากจินตนาการเป็นส่วนใหญ่บวกกับพระนิสัยบางอย่างของเจ้านายที่ท่านผู้แต่งคุ้นเคยก็เป็นได้

ในส่วนของผมมความน่าจะเป็นไปได้ของเจ้านายที่ท่านผู้แต่งอาจจะยืมสัยของท่านมาก็คือ  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  ชั้น  4  พระองค์เจ้ากาญจนากร  เพราะท่านผู้แต่งเคยเขียนไว้ว่า

"...ผมเองเวลาป่วยไข้  เมื่อยังเป็นเด้กได้รับประทานยาของเสด็จพระองค์กาญจนา  ซึ่งทรงมีความรู้ในทางรักษาโรค  แม่ผมนับถือมาก..."  แต่เจ้านายพระองค์นี้จะต่างจาก  "เสด็จ"  ในสี่แผ่นดินตรงที่ว่า  เสด็จในสี่แผ่นดินไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าทรงมีความรู้ในทางรักษาโรคหรือเปล่า  และสิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่  7  ในขณะที่เสด็จของพลอยสิ้นเมื่อต้นรัชกาลที่  6

ผมลองไปค้นๆ  ดู เท่าที่ผมเจอเจ้านายในรัชกาลที่  4  พระองค์เดียวที่สิ้นพระชนม์เมื่อต้นรัชกาลที่  6  คือ  "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  ชั้น  4  พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ์"  ในเจ้าจอมมารดาเที่ยง  สิ้นพระชนม์เมื่อ  2  สิงหคมม  2456

แต่ผมก็ค่อนข้างเห็นด้วยกับคุณ  V_mee  ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นพระองค์เจ้าพวงสร้อยสะอางค์  แต่ก็เคยเห็นแต่เพียงท่านผู้แต่งเขียนถึงเจ้านายพระองค์นี้ว่า  เคยไปเที่ยวห้างของท่านที่ตั้งอยู่ในฝ่ายใน


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ย. 05, 13:19
 ไปเปิดสี่แผ่นดินอ่านดูอีกที    ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ท่านไม่ได้บอกว่าแม่พลอยแต่งสีดำหรือขาวค่ะคุณ V_Mee  ท่านพูดคลุมๆไปว่าแต่งเครื่องไว้ทุกข์

ขอลอกมาให้อ่านค่ะ

"...อย่างน้อยที่สุดที่ตนจะทำได้ในวันนี้ ก็คือ ไปคอยเฝ้าถวายบังคมพระบรมศพตามข้าถนนหนทาง    ยังดีกว่านั่งอยู่ในบ้านโดยไม่มีจิตใจจะทำอะไรถูก  
พอนึกออก พลอยก็รีบแต่งกายเข้าเครื่องไว้ทุกข์  บอกนางพิศให้ไปตามรถม้ามาคันหนึ่ง   แล้วก็ขึ้นรถม้าออกจากบ้านสองคนกับนางพิศ   มุ่งหน้าไปทางถนนราชดำเนิน

ตลอดทางที่พลอยผ่าน  มีแต่ชาวบ้านร้านตลาดแต่งกายไว้ทุกข์  นุ่งดำ  เดินมุ่งหน้าไปทางเดียวกันทั้งสิ้น"
*******************
พลอยแต่งขาวหรือดำก็ไม่ทราบ   แต่ชาวบ้านนุ่งดำ  ไม่ได้บอกว่าสวมเสื้อขาวหรือดำ
ดิฉันเดาว่าเป็นเรื่องกะทันหัน ชาวบ้านเพิ่งรู้ว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต  ผ้านุ่งขาวคงไม่มีติดบ้านกันกี่บ้านนัก
ผ้านุ่งดำหาง่ายกว่า ก็เลยนุ่งดำไปก่อน   แล้วค่อยหาผ้าขาวมาแต่งทุกข์กันในวันรุ่งขึ้น  
แต่ตอนถวายพระเพลิงพระบรมศพ  คงแต่งขาวกันทั้งเมือง


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ย. 05, 13:40
 ลักษณะของ"เสด็จ" ที่ประมวลได้จากคำบรรยายของม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ก็คือ เมื่อพลอยยังเล็ก เพิ่งเข้าวัง เสด็จทรงอยู่ในวัยกลางคน แก่กว่าคุณสายไม่กี่ปี  
คุณสาย มีผมหงอกประปรายแล้ว น่าจะไม่ต่ำกว่า 40 เสด็จน่าจะมีพระชนม์ประมาณ 45 พรรษา
เมื่อพลอยโตเป็นสาวอายุ 18  คุณเปรมจัดผู้ใหญ่มาสู่ขอ  เสด็จก็คงมีพระชนม์เลย  50 พรรษาแล้ว

เสด็จทรงมีพระฉวีขาวผุดผ่อง  มีราศีของความเป็นเจ้านาย แม้ว่าแต่งพระองค์ไม่ผิดชาววังอื่นๆที่เป็นนางข้าหลวงก็ตาม

"สิ่งที่ดึงดูดความสังเกตของพลอยมากกว่าอื่นๆ ในพระองค์เสด็จ  ก็คือพระเนตรทั้งคู่ ซึ่งดำขลับเป็นประกาย
พระเนตรคู่นั้นดูเหมือนจะมองดูพลอยและมองทะลุไปตลอดทั้งตัว พลอยรู้สึกทันทีว่าพระเนตรคู่นั้นมีอำนาจบังคับคนได้
แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกด้วยว่า พระเนตรคู่นั้นเต็มไปด้วยความเมตตา
อาจยึดถือเป็นที่พึ่งอันแท้จริงได้เช่นกัน"

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอย่างอื่น คือเสด็จทรงบุหรี่   และทรงอ่านหนังสือภาษาต่างประเทศได้ด้วย   ตามที่บรรยายไว้ในเรื่องนะคะ
และทรงเป็นเจ้านายสตรีที่ฉลาดเฉลียว แหลมคม ในเรื่องของมนุษย์  เห็นได้จากตอนที่ทรงสอนพลอยในเรื่องของพี่เนื่อง  เมื่อรู้ว่าพี่เนื่องนอกใจไปมีเมีย  ไม่ได้ซื่อสัตย์ต่อความรักของพลอย

"จะเป็นกรวดหรือเป็นเพชร  ถ้าเราไปนึกรักมันเข้า แล้วหายไปเมื่อไร ก็เสียดาย
ยิ่งรักมากก็ยิ่งเสียดายมาก   บางคนถึงเสียคนไปก็มี
ถ้าเราไม่อยากทุกข์มาก ไม่อยากเสียคน  ก็อย่าไปรักอะไรให้มากนัก  
ถึงจะรักก็ต้องรู้กำพืดว่ามันเป็นเพชร หรือเป็นกรวด  
ถ้ารู้ราคาจริงๆของมันเสียแล้ว  ถึงมันจะหายไป เราก็ไม่เสียดายมันนัก"

ส่วนอื่นๆเช่นคำรับสั่งของเสด็จเวลาตรัสกับนางข้าหลวง    ดิฉันคิดว่าท่านทรงมีคารมคมคาย  บางทีก็ทรงเหน็บแนมให้เจ็บๆคันๆ   แต่ไม่ถึงขั้นบริภาษเลยจนครั้งเดียว
ทรงพระเมตตานางข้าหลวงมาก ใครทูลลาไปสมรสก็ประทานเงินทองของมีค่าให้   อย่างพลอยก็ได้ทั้งเข็มกลัดเพชรรูปช่อดอกไม้ฝรั่งและสร้อยทับทิมสลับเพชรอีก 2 เส้น  ราคาน่าจะแพงเอาการในสมัยนั้น
นอกจากนี้เสด็จมักจะกริ้วง่าย แต่หายเร็ว   กริ้วทีก็ข้าหลวงก็อกสั่นขวัญแขวนต้องหลบหน้า  แม้แต่คุณสายเอง    แสดงว่าทรงมีทั้งพระเดชและพระคุณพร้อมกัน

อ่านแล้ว    โดยส่วนตัว  เสด็จมีบางส่วนทำให้ดิฉันนึกถึงสมเด็จพระพันปี  ไม่ได้นึกถึงเจ้านายชั้นพระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้า พระองค์ใดเลย


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 ก.ย. 05, 17:46
ลักษณะของ"เสด็จ" ที่ประมวลได้จากคำบรรยายของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ก็คือ เมื่อพลอยยังเล็ก เพิ่งเข้าวัง เสด็จทรงอยู่ในวัยกลางคน แก่กว่าคุณสายไม่กี่ปี
คุณสาย มีผมหงอกประปรายแล้ว น่าจะไม่ต่ำกว่า 40 เสด็จน่าจะมีพระชนม์ประมาณ 45 พรรษา
เมื่อพลอยโตเป็นสาวอายุ 18 คุณเปรมจัดผู้ใหญ่มาสู่ขอ เสด็จก็คงมีพระชนม์เลย 50 พรรษาแล้ว
เมื่อรัชกาลที่ ๕ สวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๕๓ นั้น  สมเด็จพระพันปีหลวง  เพิ่งมีพระชนมายุ ๔๗ พรรษา  เมื่อคุณเปรมจัดผู้ใหญ่มาสู่ขอในรัชกาลที่ ๖ นั้น  สมเด็จพระพันปีหลวงก็ทรงเจริญพระชนมายุราว ๕๐  พรรษาแล้ว  และเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒
ในรัชกาลที่ ๖

สิ่งที่ดึงดูดความสังเกตของพลอยมากกว่าอื่นๆ ในพระองค์เสด็จ ก็คือพระเนตรทั้งคู่ ซึ่งดำขลับเป็นประกาย
พระเนตรคู่นั้นดูเหมือนจะมองดูพลอยและมองทะลุไปตลอดทั้งตัว พลอยรู้สึกทันทีว่าพระเนตรคู่นั้นมีอำนาจบังคับคนได้
แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกด้วยว่า พระเนตรคู่นั้นเต็มไปด้วยความเมตตา  อาจยึดถือเป็นที่พึ่งอันแท้จริงได้เช่นกัน"
ตรงนี้น่าจะตรงกับสมเด็จพระพันปีหลวง  ที่กล่าวกันว่าพระเนตรทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจมาก  แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงพระมหากรุณาแก่คุณข้าหลวงและข้าราชบริพารยิ่งนัก

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอย่างอื่น คือเสด็จทรงบุหรี่ และทรงอ่านหนังสือภาษาต่างประเทศได้ด้วย ตามที่บรรยายไว้ในเรื่องนะคะ
ตรงน้น่าจะตรงกับทูลหม่อมหญิงวไลยครับ

ทรงพระเมตตานางข้าหลวงมาก ใครทูลลาไปสมรสก็ประทานเงินทองของมีค่าให้ อย่างพลอยก็ได้ทั้งเข็มกลัดเพชรรูปช่อดอกไม้ฝรั่งและสร้อยทับทิมสลับเพชรอีก 2 เส้น ราคาน่าจะแพงเอาการในสมัยนั้น
นอกจากนี้เสด็จมักจะกริ้วง่าย แต่หายเร็ว กริ้วทีก็ข้าหลวงก็อกสั่นขวัญแขวนต้องหลบหน้า แม้แต่คุณสายเอง แสดงว่าทรงมีทั้งพระเดชและพระคุณพร้อมกัน
ยิ่งตรงนี้ยิ่งเหมือนสมเด็จพระพันปีหลวงที่สุดเลยครับ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 ก.ย. 05, 19:56
 ขอเพิ่มเติมครับ  
สมเด็จพระพันปีหลวงนั้น  พระอิสริยศักดิ์เดิมก็ทรงเป็นพระองค์เจ้า  และล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ก็ทรงออกพระนามว่า "เสด็จแม่" มาโดยตลอด  แม้จะทรงรับสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินีแล้ว  ก็ยังทรงเป็น "เสด็จแม" มาตลอด  แต่กับสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้านั้น  กลับทรงขานพระนามว่า "สมเด็จป้า"


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 21 ก.ย. 05, 16:13
 บางส่วนจากหนังสือเรื่อง  "พิเคราะห์คึกฤทธิ์  พินิจสี่แผ่นดิน"

เรื่อง  "ความไม่เข้าใจที่มีต่อสี่แผ่นดิน"  เขียนโดย  พลตรี  ม.ร.ว.  คึกฤทธิ์  ปราโมช

"...ตัวละครสำคัญในเรื่องคือเสด็จนั้น  ถูกต้องตามที่คุณแม่ของคุณ  ว.วินิจฉัยกุล  ท่านว่าไว้ทุกประการ  ผมขอคัดมาลงในที่นี้อีกหน

---  อ๋อ  เสด็จน่ะหรือ  ก้เป็นน้องของพระเจ้าแผ่นดินไงเล่า  น้องของรัชกาลที่  ๕  นั่นแหละ  แต่ว่าท่านเกิดจากเจ้าจอมมารดา  ท่านก้อยู่ในวังนะซี  มีเยอะแยะตั้งหลายสิบองค์  ท่านเป็นพระองค์เจ้าทั้งนั้นแหละ  เรียกกันสั้นๆ  ว่าเสด็จ  ---

ข้างในพระบรมมหาราชวังในสมัยนั้นมีพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในอยู่มากจริง  เรียกกันว่าเจ้านายข้างใน  ...  ถ้าจะพูดถึงเจ้านายพระองค์อื่นที่มิใช่เจ้านายตน  ก้ออกพระนามว่าแล้วเติมคำว่าพระองค์เข้าไปขางหน้า  เช่น  พระองค์กาญจนา  หรือถ้าจะให้นอบน้อมขึ้นไปอีกก็มักจะเรียกว่า  เสด็จพระองค์กาญจนา

มีที่สังเกตได้อีกทางหนึ่งว่า  เสด็จในเรื่องสี่แผ่นดิน  เป็นพระราชธิดาพระบาทสมเด้จพระจอมเกล้าฯ  ได้แก่คำรับสั่งกับข้าหลวง  เพราะพระเจ้าลูกเธอรัชกาลที่ ๔  รับสั่งกับข้าหลวงด้วยศัพท์โบราณ  คือใช้คำว่าข้ากับเจ้า  ...  พอถึงพระราชธิดาในรัชกาลที่  ๕  ศัพท์นั้นก็เปลี่ยนไป  ทรงเรียกพระองค์ว่าฉัน  และทรงเรียกข้าหลวงว่าแก  ...

 ...  เช่นเสด็จ  ซึ่งทรงได่รับการศึกษาสูง  ภาษาต่าประเทสบางภาษานั้น  ก็ทรงศึกษากันไว้มากจนใช้การได้

ทางภาษาบาลีนั้น  บรมวงศ์ฝ่ายในบางพระองคืทรงช่ำชอง  ถึงกับทรงทักพระในขณะที่สวดผิดได้  ...  ทางภาษาอังกฤษ  ถึงจะไม่รับสั่งได้คล่องแคล่วก็ฟังเข้าพระทัย  และทรงอ่านเข้าพระทัยได้เรื่องราวโดยตลอด  สมเด็จพระพันวัสสาพระอัยยิกาเจ้าเคยทรงหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษชื่อ  Straits  Times  ทุกวันเป็นประจำ  ...

ความรู้เรื่องโลกภายนอกและปัญหาต่างๆ  ภายนอกนั้น  เสด้จมิได้รับจากการคุยกับข้าหลวงเท่านั้น  เพราะเจ้านายฝ่ายในต้องขึ้นเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวตามกาล  จะต้องได้นยินพระราชดำรัสเกี่ยวกับราชการแผ่นดินเนืองๆ  และมากอยู่  นอกจากนั้นยังมีเมียเจ้านายขุนนางผู้ใหญ่ไปเข้าเฝ้าถึงในวังสลับกันมิได้ขาด  ...

แม้แต่เหตุการณ์ต่างๆ  ในหัวเมืองก็ทรงทราบเป็นส่วนมาก  ยังมีคนที่ป็นพระญาติอยู่นอกวังเข้าเฝ้าทูลปัญหาชีวิตของคนภายนอกเพื่อขอประทานพระกรุราอยู่เนืองๆ  ทำให้เจ้านายข้างในเข้าพระทัยปัญหาชีวิตต่างๆ  มากกว่าที่ใครจะนึก

...  ผมเองเคยเข้าร้านสรรพสินค้าเป็นหนแรกในชีวิตเมื่ออายุเจ็ดขวบ  ที่ตำหนักเสด้จพระองค์สร้อย  (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  ชั้น  4  พระองคืเจ้าพวงสร้อยสอางค์)  ในวัง  ชาววังสมัยนั้นเรียกว่า  "ห้างเสด็จพระองค์สร้อย"  ...

ผมเองเวลาป่วยไข้ เมื่อยังเป็นเด็กได้รับประทานยาของเสด็จพระองค์กาญจนา ซึ่งทรงมีความรู้ในทางรักษาโรค แม่ผมนับถือมาก  ...


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 21 ก.ย. 05, 16:23
 ต่อครับผม

เสด็จนั้น  มีมากมายหลายพระองค์ก็จริง  ทรงมีวุฒิแตกต่างกันไป  แม้แต่อาหารที่ตั้งเครื่องก็มีรสไม่ตรงกัน  เช่น  เครื่องที่บน  (สมเด็จพระพันปีหลวง)  มักจะแก่หวานจัด  เครื่องพระตำหนัก  (สมเด็จพระพันวัสสา)  ก็ลดหวานลงมีผักมากขึ้น  ไม่สู้จะมีไขมัน  เครื่องพระนาง  (สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลย์มารศรี  พระราชเทวี)  ก็มักจะเค็มนำ  แต่ก็จะต้องมีหมูหวานยืนเครื่องทุกพระองค์  ...

เสด็จบางพระองค์ไม่เหมือนใคร

แม่เคยพาผมไปเฝ้าเสด็จพระองคืหนึ่งซึ่งแต่งพระองค์สะอาดเรียบร้อยที่สุด  ตำหนักก็สะอาดหาที่ติมิได้

ระหว่างที่กราบเสด็จอยู่นั้นได้ยินเสียงเสด็จทรงทักแม่  แต่ผมมัวแต่ก้มหน้ามิได้มองอะไร

พอเงยหน้าขึ้นมาก้แลเห็นและได้ยินเสด็จรับสั่งกับเสาตำหนักว่า  "ชื่ออะไรจ๊ะ"

ผมเป็นเด็กโง่  จึงไม่ทูลตอบ  แต่คอยฟังว่าเสามันจะทูลเสด็จว่ามันชื่ออะไร

เท่านั้นแม่ผมก็ซัดเผียะเข้าที่ขาและดุด้วยเสียงกระซิบว่า  "เจ้านายทรงรับสั่งถามด้วยทำไมไม่ทูล"

ผมก็ร้องเยขึ้นตามประสาเด็กโง่  แต่ก็ได้มองเห็นทั้งน้ำตาว่า  เสด็จทรงชี้นิ้วไปที่กระโถนเงินบ้วนพระโอษฐ์  และกระดิกนิ้วพระหัตถ์เป็นเชิงตักเตือนแล้วรับสั่งว่า

"แม่แดงก็ทำลูกแรงเกินไป  เด็กตัวเล็กเท่านี้จะให้แกรู้อะไรมาก"

ผมก็ตกตะลึงว่ากระโถนของเสด็จชื่อเดียวกับแม่ผม

ต่อไปแม่ก็ทูลเสด็จแบบคนเข้าเฝ้า  เสด็จก็รับสั่งตอบเป็นปกติได้เรื่องราว  แต่ก็รับสั่งกับของใช้ที่วางอยู่ในห้องที่ประทับทุกครั้งไป

-----  จบแล้วคับ  -----


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: bookaholic ที่ 22 ก.ย. 05, 10:09
 มายืนยันคำตอบอีกคนครับ
ฟากขะโน้นบ้านบน หมายถึงบุนนาคสายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์
ฟากขะโน้นบ้านล่าง  หมายถึงบุนนาคสายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ  
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ มีเชื้อสายบุนนาคบ้านล่าง  ทางหม่อมแดง แม่ของท่านครับ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ย. 05, 10:06
 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชท่านตั้งใจไว้ว่าจะเขียนอธิบายศัพท์ต่างๆในสี่แผ่นดินให้คนรุ่นหลังเข้าใจ    เพราะท่านมาทราบว่าพวกเขาไม่เข้าใจศัพท์เกี่ยวกับบุคคลและอื่นๆ ใน"สี่แผ่นดิน" เสียแล้ว
แต่ท่านก็ถึงแก่อนิจกรรมไปก่อนจะเขียนงานชิ้นนี้ไว้เป็นรูปเป็นร่าง  

ดิฉันไม่ทราบว่าท่านเคยให้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้ไว้ในข้อเขียนตอนใดตอนหนึ่งในสยามรัฐหรือไม่   เพราะไม่เคยเจอ
ตัวดิฉันเอง พอรู้บ้างเล็กๆน้อยๆ  ก็เลยขอเอามาลงในเว็บนี้ เผื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษาเรื่อง "สี่แผ่นดิน"

ตอนต้นของเรื่อง  เมื่อพลอยตามแม่เข้าไปอยู่ในวัง  เริ่มตั้งแต่เดินเข้าประตูวัง    ก็ได้ยินแม่ถามโขลนว่า
" หลวงแม่เจ้าเป็นอย่างไรบ้าง"
ก็มีเสียงตอบว่า
" ก็ยังงั้นๆแหละ  เจ็บๆไข้ๆ อายุท่านมากแล้ว"

พลอยเกิดความสนใจขึ้นมาใหม่  เพราะชื่อคนว่าหลวงแม่เจ้านี้ไม่เคยได้ยินมาแต่ก่อนเลย  อดความอยากรู้ไว้ไม่ไหว  ต้องกระตุกแขนแม่แล้วกระซิบถามว่า
" แม่จ๋า หลวงแม่เจ้านี่ใครจ๊ะแม่"
แม่หันมาบอกว่า " นั่นแหละนายโขลนละ พลอยจำไว้เถิด"

หลวงแม่เจ้า ในที่นี้คือ ท้าวศรีสัจจาดำรง  ดูแลพนักงานโขลน  มีสำนักอยู่ชั้นล่าง ใต้หอนิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร
ส่วนหน้าที่ของโขลน คล้ายตำรวจวัง  รักษาถนนหนทางในเขตพระราชฐานฝ่ายใน  ตรวจตราดูความเรียบร้อย  และจัดเวรยามตระเวนรอบๆ ในเวลากลางคืนด้วย
ประวัติของท้าวศรีสัจจาดำรง ใครมีบ้างคะ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 05, 14:36
 "แล้วใครอยู่ที่แถวเต๊งนี่จ๊ะ แม่" พลอยซักต่อ
" โอ๊ย ใครต่อใครเยอะแยะไปหมด " แม่ตอบ "คุณพนักงานก็มี  คุณเถ้าแก่ก็มี คุณห้องเครื่องก็มี ข้าหลวงที่บนก็มี"

คุณเถ้าแก่ (หรือบางทีสะกดว่า เฒ่าแก่)  เรียกกันว่า ท้าวนางนักพฤธิชราฉลองพระโอษฐ์
มีหน้าที่ควบคุมดูแลนางในเวลาออกไปทำธุระต่างๆ นอกเขตพระราชฐาน หรือไปติดต่องานกับบุรุษฝ่ายหน้า
และควบคุมเวลาบุรุษฝ่ายหน้ามีกิจธุระเข้ามาในเขตพระราชฐาน  เช่นเป็นหมอหรือช่าง  
ผู้ชายพวกนี้ถูกห้าม มิให้เดินไปไหนมาไหนคนเดียว ต้องมีท้าวนางติดตามควบคุมทุกก้าว
คุณเถ้าแก่ ซึ่งเป็นสตรีวัยกลางคนขึ้นไป   อยู่ในพระบรมมหาราชวังมานาน ก็มักได้ดำรงตำแหน่งนี้
แบ่งเป็น 4 ตำแหน่งคือ ท้าวสมศักดิ์ ท้าวโสภานิเวศ  ท้าวอินทรสุริยา ท้าวศรีสัจจา
ในรัชกาลที่ 5 มีตำแหน่งท้าวทรงกันดาล กับท้าวภัณฑสาร เพิ่มขึ้น
และยังมีตำแหน่ง ท้าวราชกิจวรภัตร ดูแลห้องเครื่อง (โรงครัว)


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 28 ก.ย. 05, 11:53
 คุณเทาชมพูครับ  ผมค้นเจอแต่ตำแหน่ง  "ท้าวศรีสัจจา"  แต่ไม่พบ  "ท้าวศรีสัจจาดำรง"  เลยครับ  ตอนแรกผมเข้าใจว่าท้าวศรีสัจจาดำรง    คงจะเป็นราชทินนามเต็มของท้าวศรีสัจจา    แต่ไปดูในรายชื่อผู้ที่ได้รับตราจุลจอมเกล้าฯ  ในสมัยรัชกาลที่  5  ก็ปรากฎแต่เพียง  "ท้าวศรีสัจจา"  ครับ  ซึ่งก็คงเป็นตำแหน่งเดียวกัน

สำหรับนามของคุณท้าวเท่าที่ผมหาพบ

1.  ท้าวศรีสัจจา  (เลื่อน)  
2.  ท้าวศรีสัจจา  (เจ้าจอมมารดาอิ่ม  ในรัชกาลที่  4)
   ท่านผู้นี้อย่างน้อยที่สุดต้องรับราชการในปี  2446  หรือก่อนหน้านั้น
3.  ท้าวศรีสัจจา  (เหลี่ยม)
   ท่านผู้นี้อย่างน้อยที่สุดต้องรับราชการในปี  2454  หรือก่อนหน้านั้น


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 28 ก.ย. 05, 12:15
 มาเพิ่มเติ่มคุณเทาชมพูเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ของข้าราชการฝ่ายในครับ

ท้าววรคณานันท์  เป็นตำแหน่งท้าวนางสูงสุดในทำเนียบข้อราชสำนักฝ่ายใน  ในสมัยรัชกาลที่  5  มีหน้าที่ดูแลปกครองข้าราชสำนักฝ่ายในต่างพระเนตรพระกรรณ  ขึ้นตรงต่ออธิบดีฝ่ายใน

ท้าววรจันทร  เป็นหัวหน้าท้าวนางทั้งปวง  มีหน้าที่บังคับบัญชาราชการทั่วไปในราชสำนักฝ่ายใน  ตลอดจนมีหน้าที่ตักเตือนว่ากล่าวพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน  และพระสนมกำนัล

ท้าวทรงกันดาร  เป็นผู้บัญชาการพระคลังใน  มีท้าวภัณฑสารนุรักษ์เป็นผู้ช่วย

ท้าวศรีสัจจา  ดูแลรักษาด้านความปลอดภัย  ว่าการกรมโขลนจ่า  ที่ควบคุมประตูวัง  และอารักขาทั่วไป  มีท้าวโสภานิเวศน์  เป็นผู้ช่วย

ท้าวสมศักดิ์  ว่าการพนักงานทั้งปวง  เช่น  การจัดเครื่องพระสุธารส  พระศรี  เครื่องนมัสการ  ดูแลหอพระและปูชนียสถานในราชสำนักฝ่ายใน

ท้าวอินทรสุริยา  ว่าการห้องเครื่องวิเศษ  ดุและเรื่องอาหาร  มีท้าวนางในโรงวิเศษเป็นผู้ช่วย

เจ้าจอมเถ้าแก่  มีหน้าที่ฝึกหัดข้าราชสำนักฝ่ายใน

เถ้าแก่  มีหน้าที่ออกไปประสานกิจการต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายหน้า

ผู้รับรับสั่ง  มีหน้าที่เชิญกระแสพระราชดำรัสไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง

เดี๋ยวมาต่อครับ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 30 ก.ย. 05, 23:50

ผมคิดวิเคราะห์มาตั้งนานจนได้ความว่าเสด็จพระองค์หญิงน่าจะคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีนาคสวาทดิ์เพราะด้วยเหตุผลหลายประการ คือในเรื่องของตำหนักที่ท่านอยู่จะเป็นตำหนักคล้ายที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์คือมี2ชั้น มีห้องโถงสูงใหญ่ สามารถมองเห็นที่บน(พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ปัจจุบันรื้อลงแล้ว เพราะเก่าแก่เกินจะบำรุงได้) และพระองค์ท่านยังสิ้นพะชนม์ในสมัยหลังรัชกาลที่5สด็จสู่สวรรคาลัย ได้ไม่นาน และพระศพก็ตั้งอยู่ที่ศาลาธรรมสังเวชเช่นกัน แล้วความคิดทีบอกว่าท่านคือ พระมเหสีในร.5ผมว่าเป็นความคิดที่ดี แต่ผมคิดว่าแทบเป็นไปมิได้เลยเพราะพระมเหสีในร.5จะตามหลังด้วยไม่ใช่พระองค์หญิงครับ  


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 01 ต.ค. 05, 00:46

พระทีนั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ทีไกล้กับพระทีนั่งอมรพิมาณมณีในพระบรมหาราชวัง  


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 01 ต.ค. 05, 00:55

ดูสภาพพระทีนั่งทั้ง2องค์สิครับเก่าแก่เกินทีจะบำรุงได้แล้ว และอีกหลายองค์นะครับประมาณสัก5-6องค์ได้ถูกรื้อถอนหมดเลยครับ น่าเสียดายเนอะครับ แต่ถ้าไม่รื้ออีกหน่อยถ้าถล่มลงมาเองจะเป็นปัญหาใหญ่นะครับ ส่วนพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสถ์ กับพระที่นั่งสมมติเทวราชอุบัติถูกสร้างขึ้นใหม่ในปัจจุบันเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท  


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 05, 11:02
 รอคุณหยดน้ำมาต่อค่ะ
ดิฉันเคยอ่านเรื่อง"คุณพนักงาน" ประเภทต่างๆ แต่ว่าหาหนังสือไม่เจอแล้ว
จำได้กะท่อนกะแท่นว่า คุณพุ่ม บุษบาท่าเรือจ้าง เคยเป็น "คุณพนักงานเชิญพระแสง" ในรัชกาลที่ 3
ใครพอจะช่วยขยายความได้บ้างคะ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 05, 09:58
 มาต่อเรื่อง สี่แผ่นดิน ตอนหนึ่งกล่าวถึง "คุณท้าว" ดังนี้ค่ะ
" ถ้าเป็นการเฝ้าสมเด็จโดยเฉพาะแล้ว  เสด็จมักจะเสด็จขึ้นทางบันไดด้านตะวันออก  ข้างที่มีดาดฟ้าและร้านดอกไม้
แต่พลอยก็ได้ส่งเสด็จเพียงอัฒจันทร์ข้างล่างและนั่งรออยู่จนกว่าจะเสด็จกลับ
เพราะการที่จะขึ้นบันไดไปชั้นบนนั้น  จะต้องผ่านห้องที่นั่งของคุณท้าวผู้ซึ่งมีคนยำเยงเกรงวาสนาทั้งวัง
เพียงแต่รู้ว่าคุณท้าวนั่งอยู่ในห้องก็ทำให้พลอยตัวเล็กลงจนเกือบจะเป็นละอองฝุ่นเสียแล้ว
ถ้าขืนอาจหาญล่วงล้ำผ่านขึ้นไป  เพียงแต่คุณท้าวท่านมองดูเท่านั้น   พลอยก็คงจะละลายหายไปด้วยความกลัวตรงนั้นเอง

ดิฉันสงสัยว่าคุณท้าวที่เอ่ยถึงในนี้ คือท้าววรจันทร    ไม่ทราบว่าท่านผู้รู้ที่เข้ามาอ่าน จะช่วยชี้แจงได้ไหมว่าถูกหรือเปล่า
ตำแหน่งท้าววรจันทร อย่างที่คุณหยดน้ำโพสต์ไว้   เป็นหัวหน้าท้าวนางทั้งปวง มีหน้าที่บังคับบัญชาราชการทั่วไปในราชสำนักฝ่ายใน ตลอดจนมีหน้าที่ตักเตือนว่ากล่าวพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน และพระสนมกำนัล

ถ้าเป็นท้าววรจันทร  ก็คือเจ้าจอมมารดาวาด ในรัชกาลที่ 4
เจ้าจอมมารดาวาด เคยเป็นข้าหลวงในตำหนักสมเด็จพระนางโสมนัสฯ มาก่อน  รำเป็นตัวอิเหนาได้สง่างามมาก  อีกบทหนึ่งที่ท่านรำได้งามไม่มีใครสู้คือบทท้าวมาลีวราช  
ความสามารถอีกอย่างคือเล่าเรียนเขียนอ่านได้ เป็นศิษย์ของแหม่มแอนนามาก่อน

ท่านได้เป็นท้าววรจันทร์เมื่ออายุ 45 ปี  ในรัชกาลที่  5 เป็นอยู่นานกว่า 40 ปี   ถึงแก่อนิจกรรมเมื่ออายุ 98 ปี นับว่าเป็นเจ้าจอมที่อายุยืนยาวมากท่านหนึ่ง
ท้าววรจันทรมีพระองค์เจ้า องค์หนึ่ง  คือพระองค์เจ้าโสณบัณฑิต กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ต้นราชสกุล โสณกุล
และเป็นย่าของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าธานีนิวัต  กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 05, 09:59

ภาพท้าววรจันทร ค่ะ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 06 ต.ค. 05, 09:43
 มาต่อเรื่องพนักงานครับผม  แต่คงเป็นส่วนของพนักงานในสมัยรัชกาลที่  5  ครับ


หม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม  ดิศกุล  พระธิดาองค์ใหญ่ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เคยถวายตัวเป็นข้าหลวงในพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี  พระราชเทวี  จนกระทั่งได้เลื่อนขึ้นเป็นคุณพนักงาน  ได้ทรงบันทึกชื่อและหน้าที่ของพนักงานเหล่านั้นไว้เท่าที่ทรงจำได้


-  พนักงานภูษา  ---  เจ้าจอมมารดาวาด
-  พนักงานพระสุคนธ์  ---  เจ้าจอมมาดาเหม
-  พนักงานพระสุธารส
-  พนักงานพระศรี  ---  หม่อมราชวงศ์สร้อย
-  พนักงานพระที่  ดูลาดพระยี่ภู่  ตลอดจนงานประสูติเจ้าฟ้า
-  พนักงานพระแสง  ---  หม่อมเจ้าเบญจางค์
-  พนักงานนมัสการ  เป็นผู้ช่วยจุดธูปเทียนและดอกไม้  จัดพระแท่นพระพุทธรุปทุกรัชกาลในงานถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
-  พนักงานเฝ้าหอพระมณเฑียร  หรือหอพระบรมอัฐิ
-  พนักงานเฝ้าหอพระสุราลัยพิมาน  หรือหอพระพุทธรูป
-  พนักงานเช็ดกวาดห้องบนพระที่นั่ง  มีพระองค์เจ้าอรไทเทพกัญญา  พระองค์เจ้าแขไขดวง  ทรงเป็นผู้กำกับ

-  พนักงานสนองพระโอษฐ์  ทำหน้าที่เชิญพระบรมราชโองการไปที่  "อ๊อฟฟิสหลวง"  ซึ่งอยู่ข้างพระที่นั่งจักรี   และคอยประสานติดต่อกับเจ้าหน้าที่ต่างๆ  ระหว่างฝ่ายหน้า  กับฝ่ายใน  ---  หม่อมเจ้าถนอม  หม่อมเจ้าผอบ  สนิทวงศ์

-  พนักงานห้องเครื่องต้น  ---  ม.จ.สารภี  ลดาวัลย์  ม.จ.สบาย  นิลรัตน์  ม.จ.ประทุม  นิลรัตน์  ม.จ.เมาฬี  ปราโมช  เป็นต้น

-  พนักงานกลาง  ทำหน้าที่เชิญเครื่องเสวยจากห้องเครื่องต้น
-  พนักงานลงพระบังคน
ผู้รับสั่ง  มีหน้าที่กำกับแพทย์ที่เข้ามารักษาไปตามตำหนัก

ต่อจากชั้นพนักงาน  ก็เป็นชั้น  "นาย"  ข้าราชการระดับล่าง  โดยมากสังกัดกรมโขลน

-  ทนายเรือน  (นาย  ถมยา)  มีหน้าที่กำกับแพทยืเข้ามารักษา
-  นายหุ่นโขลน  กำกับโณงประเคน  ซึ่งทำสำรับถวายพระสงฆ์ในงานพระราชพิธีต่างๆ
-  นายหริดโขลน  ดูแลคุกในพระราชวัง
-  นายชวาลา  ทำหน้าที่จุดโคมและนำคบไฟ  เนื่องจากในสมัยนั้นไม่มีไฟฟ้า  และมีข้อกำหนดว่าผูสัญจรไปมาในพระราชฐานชั้นในตอนกลางคืนต้องถือโถมไฟให้มีแสงสว่างติดตัวไปด้วย  นอกจากนี้ยังทำหน้าที่กำกับแพทย์ถวายงานนวดด้วย  ตำแหน่งนี้อยู่ในการกำกับดูแลของพนักงานสนองพระโอษฐ์


จะสังเกตได้ว่าผู้รับหน้าที่เป็น  "นางพนักงาน"  นั้น  ส่วนใหญ่มักจะเป็นเชื้อพระวงศ์  หรือไม่ก็สตรีชั้นสูงที่เคยรับราชการมาก่อนและนอกจากนี้ยังมีพนักงานเฉพาะหน้าที่อื่นๆ  อีก  แต่เป็นพนักงานชั้นล่างๆ  คือ  เช่น  วิเสท  พิณพาทย์  ช่างเย็บ  ช่างย้อม  ช่างเขียน  ช่างบาตร  เป็นต้น


สำหรับตำแหน่งอีกอันหนึ่งที่สำคัญก็คือ  "นางอยู่งาน"  ไม่ใช่เจ้าจอมอยู่งานนะครับ    มีหน้าที่เชิญเครื่องราชูปโภคตามเสด็จ  และผลัดเวรประจำอยู่บนพระราชมณเฑียรเพื่อคอยรับรับสั่ง  หรือที่เราเคยได้ยินกันบ่อยๆ  ว่า  "นางพระกำนัล"  ตำแหน่งนี้สูงกว่า  "นางพนักงาน"  ครับ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 06 ต.ค. 05, 10:03
 ส่วนคุณพุ่ม  ธิดาพระยาราชมนตรี(ภู่)  นั้น  เป็นพนักงานพระแสงครับอย่างที่คุณเทาชมพูบอกอ่ะครับ  แต่จะทำหน้าที่อะไรนั้นผมก็ยัไม่รู้เลยครับ  จะว่ามีหน้าที่เชิญพระแสงตามเสด็จ  มันก็เป็นหน้าที่ของนางพระกำนัลอ่ะครับ  แล้วยังไงจะล้องไปหาข้อมูลครับผม


"คุณท้าวผู้ซึ่งมีคนยำเยงเกรงวาสนาทั้งวัง"  จริงๆ  แล้วก็น่าจะหมายถึงท้าววรจันทรนะครับ  แต่ดูจากตำแหน่งหน้าที่ของท่านไม่น่าจะไปนั่งประจำอยู่ที่นั่นได้ในประวัติท้าววรจันทร  พระนิพนธ์ในกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร  เขียนไว้ว่า

"...การบังคับบัญชาตัดสินราชการโดยมากก็นั่งว่าไปที่เรือนของท่าน  บ่ายลงจึงจะต้องขึ้นไปบน  และจะกลับมาได้ต่อเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ  ขึ้นจากออกขุนนางแล้ว  แต่บางคราวที่ราชการฉุกเฉินต้องขึ้นไปบนจนดึกดื่นก็มี..."

ผมคิดว่าน่าจะเป็นคุณท้าวท่านอื่นมากกว่าครับ

รัชกาลที่ทรงเคยรับสั่งถึงท้าววรจันทรไว้ว่า  "...เรื่องท้าววรจันทรนั้น  ฉันขอเสียที  รู้อยุ่แล้วว่าไฟก้อย่าเอามือเข้าไปจี้  ...  เขาไม่ได้เดินเหิรเข้ามา  ฉันเอาเขาเข้ามาเอง..."


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 05, 10:17
 เกร็ดจาก สี่แผ่นดิน  อีกตอนหนึ่ง ก็คือ
"เล่ากันว่าวันหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นตลับงาใบเล็กของเสด็จอธิบดี  ที่ทรงใช้มานานจนงานั้นแดงเป็นมันดูงามดี  จึงมีพระราชดำรัสว่า ตลับงานี้ใช้นานไปก็งามเป็นสีแดง
พอจะเล่นกันได้อย่างฝรั่งเล่นกล้องสูบบุหรี่ทำด้วยดินขาว  เรียกว่ากล้องเมียร์ชอม"

คำว่า"เล่น" อย่างเล่นตลับงา เล่นกล้อง  หมายความว่า "สะสม"

ดิฉันเคยเห็นตลับงา ว่ารูปร่างหน้าตาเป็นยังไง   เสียดายหาภาพไม่ได้  เลยไม่ได้โพสต์
ใครมี กรุณานำมาลงด้วยจะขอบคุณมากค่ะ

ส่วนกล้องสูบบุหรี่ที่เรียกว่า "กล้องเมียร์ชอม"  นึกไม่ออกว่าเป็นยังไง  เก็บความสงสัยมานาน จนกระทั่งไปเห็นภาพเข้าในวันหนึ่ง
พบว่ามันก็คือไปป์นี่เอง  ส่วนปลายแทนที่จะทำเป็นทรงกลมเรียบๆสีขาวอย่างที่เราเห็นกันในภาพนี้
ก็ปั้นเป็นงานศิลปะ    รูปทรงต่างๆแล้วแต่ช่างจะประดิดประดอย


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 05, 10:18
 นี่คือกล้องเมียร์ชอม ที่นักสะสม มีกัน  
ตรงปลายออกแบบเป็นรูปต่างๆ ไม่ซ้ำกัน
สวยงามมาก  


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 05, 10:19
 กล้องเมียร์ชอม อีกแบบหนึ่ง


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 05, 10:20
 นี่ก็อีกแบบ   น่าจะเอาไว้ดูมากกว่าเอาไว้สูบ  


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 05, 10:21
 กล้องเมียร์ชอมทำเป็นศีรษะหญิงสาว


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: Gotz21 ที่ 06 ต.ค. 05, 12:14
 ไม่ว่า"เสด็จ" จะเป็น พระองค์ใด แต่ผมว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้ทำให้สี่แผ่นดิน เป็นเรื่องราวที่ไม่ตาย ไปจากพวกเรา อย่างน้อยก็มีกลุ่มสมาชิกเรือนไทย มาช่วยกันแสดงความคิดเห็นอยู่ นี่แหละ ความงดงามของวรรณกรรม


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: samongi ที่ 06 ต.ค. 05, 12:52
 เห็นด้วยค่ะ  ดิฉันเองติดใจสี่แผ่นดิน  จนในขณะที่ทำฐานข้อมูล E-Book  ต้องหยิบเรื่องนี้มาเลยค่ะ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 06 ต.ค. 05, 20:02
 ท่านมรว คึกฤทธิ์ท่านทำปริศนาไว้ให้เรางงเล่นหลายอย่างเลยนะครับ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 06 ต.ค. 05, 20:05

พระที่นั่งบรรณคมสรณีย์ที่ถูกทุบทำลายไปแล้ว ในพระบรมหาราชวัง


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 05, 07:56
 มาต่อเรื่องกล้องเมียร์ชอม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ทรง"เล่น" กล้องเมียร์ชอมเช่นกันค่ะ
เป็นของสะสมที่สวยงามประณีตมาก
อย่างภาพนี้


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 05, 07:57
 กล้องเมียร์ชอม ที่ทรงสะสมไว้ อีกภาพหนึ่ง


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 05, 07:58
 กล้องเมียร์ชอมเหล่านี้ อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 05, 08:40

ขอบคุณค่ะคุณหยดน้ำ
ถ้าหากว่าไม่ใช่คุณท้าววรจันทร   ก็ต้องค้นคว้ากันต่อไป ว่าน่าจะเป็นคุณท้าวท่านใด

ย้อนมาถึงคำว่า "เสด็จอธิบดี"
"เสด็จอธิบดี "ในที่นี้ คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี   พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาสำลี
ทรงมีหน้าที่รับผิดชอบกิจการเกี่ยวกับพระราชฐานฝ่ายในทุกประการ

เสด็จทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านหนังสือ และงานประดิษฐ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพับผ้าเช็ดหน้าเป็นรูปสัตว์ต่างๆ
แกะสลักหินอ่อนเป็นตุ๊กตาตัวเล็กๆ  ถักร้อยลูกปัด  ถักไหม พรม สานตะกร้า และดอกไม้กระดาษ
ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงเป็น "อธิบดีบัญชาการฝ่ายใน" ดูแลทั่วทั้งพระนิเวศน์สถาน  จนถึงรัชกาลที่ 7

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  2475  เสด็จฯตามเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ไปประทับ ณ เมืองบันดุง อินโดนีเซีย  ประทับอยู่ถึง 13 ปีก่อนจะกลับมาประเทศไทย
สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2501 พระชนม์ยืนยาวถึง 94 ปี

ในพระฉายาลักษณ์ข้างบนนี้  เสด็จอธิบดี(พระองค์ขวา) ทรงฉายกับสมเด็จพระปิตุฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี  พระอัครราชเทวี
ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าลูกเธอ ร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกัน


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 05, 08:50
 ขอโทษที   ภาพโดดไปหน่อย  
มีภาพกล้องเมียร์ชอม ของหลวง
มาให้ชมอีกภาพค่ะ
ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ  


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 05, 10:11
 อีกตอนหนึ่ง  เป็นเกร็ดเรื่องย่อย แทรกเข้ามา
คุณสายเล่าถึงชีวิตสาวชาววัง ชื่อ "คุณสายหยุด" อยู่ตำหนักเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ให้แม่ของพลอยฟัง
คุณสายหยุดเป็นลูกสาวคนใหญ่คนโต   พ่อเป็นเจ้าพระยา  ปู่ย่าตาทวดเป็นเจ้าคุณราชินิกุล  นิสัยโอ้อวดเอาการ
เข้ามาในวังก็หวังว่าจะได้เป็นเจ้าจอม

"ทีแรกพอโกนจุกได้ไม่กี่วัน   เขาก็เที่ยวคุยว่า  คนอย่างเขาไม่มีเสียละที่จะต้องหาหีบหมากใช้
อย่างเขาต้องกินหีบหลวง"
แต่คุณสายหยุดก็ไม่ได้เป็นเจ้าจอมสักที   นานเข้าก็กลับไปเยี่ยมบ้านชั่วคราว แล้วกลับมาพร้อมด้วยหีบหมากทองหรูหราใบหนึ่ง
บอกว่าเป็นหีบที่เจ้าคุณพ่อสั่งจากนอก  เป็นหีบทอง ฝามีวงกลมเป็นตาข่ายฝังเพชร บนตาข่ายมีงูเขียวทำด้วยมรกตเม็ดเล็กๆซึ่งเป็นปีมะเส็งปีเกิด
แล้วคุยว่า หีบหลวงเขาไม่อยากจะกิน   เพราะซ้ำกับคนอื่นดาษดื่น  เวลาขึ้น ก็เฟื่องฟูไปประเดี๋ยวเดียว แล้วก็ต้องไปหมอบประจำห้องเหลือง   สู้กินหีบของเจ้าคุณพ่อไม่ได้


อ่านแล้วสงสัยว่าหีบหลวงและหีบทองที่กล่าวไว้ในหนังสือ มีรูปร่างหน้าตาเป็นยังไง
จนได้ภาพมาภาพหนึ่ง เป็นหีบทองพระราชทานเจ้าจอมมารดามรกฏ     รูปร่างคงจะคล้ายกับหีบทองจากเมืองนอกของคุณสายหยุด
หมายเหตุ กล่องเล็กๆอีก 3 ใบนั้นคือตลับฝังเพชรค่ะ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 05, 10:17

หีบทองใบนี้ ไม่ทราบประวัติและที่มา  แต่เห็นว่าเป็นหีบที่ฉลุลวดลายสวยมาก
ฝีมือช่างไทยสมัยรัตนโกสินทร์
ก็เลยนำมาลงไว้ในกระทู้เดียวกันค่ะ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 10 ต.ค. 05, 11:18

เอาหีบหมากมาฝากอาจารย์เทาฯอีกใบนึงครับ
ไม่ได้เข้ามาเล่นแบบเป็นจริงเป็นจังอยู่นาน ได้แต่ตามอ่านกระทู้(อย่างไม่ค่อยทัน)
เพิ่งจะมีโอกาสตอนปิดเทอมนี่ล่ะครับ

ใบนี้เป็นทองลงยาครับ เสียดายจำไม่ได้แล้วว่าเซฟรูปจากเวบไหนครับ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 10 ต.ค. 05, 11:33
 แต่ในหนังสือเรื่อง"เลาะวัง"เขาเขียนไว้เต็มๆว่า"เสด็จพระองค์หญิง"คือ"พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้นที่5 พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร"

แต่ผมไม่คิดว่าเป็นอย่างงั้นหรอก แต่ในหนังสือมันเขีนอย่างนี้โดยใช้ตัวอักษรสีดำ ผมไม่เชื่อเลยว่าจะใช่พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร

เพราะเสด็จพระองค์หญิงท่านสิ้นพระชนม์ในปลายรัชกาลที่5ต้นรัชกาลที่6หน่อยๆ แต่พระองค์เจ้าวาปีบุษบากรท่านมีพระชนมายุถึง"รัชกาลที่9"เชียว

งั้นเรามาพูดถึงพระองค์เจ้าในร.4-5ที่ทรงมีพระชนมายุถึงรัชกาลปัจจุบันดีกว่า

พระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 ที่มีพระชนม์มาถึงรัชกาลปัจจุบัน

- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี สิ้นพระชนม์เมื่อ พศ.2505 พระชันษา 97 ปี

- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี สิ้นพระชนม์เมื่อ พศ.2501 พระชันษา 94 ปี

- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ สิ้นพระชนม์เมื่อ พศ.2493 พระชันษา 84 ปี

- สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สวรรคต พศ.2498 พระชันษา 93 ปี

----------------------------------------------------------------------------------

แต่ถ้าเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ที่มีพระชนม์มาถึงรัชกาลที่ปัจจุบัน เท่าที่รวบรวมได้ก็มี ...

- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงประภาพรรณพิไลย สิ้นพระชนม์เมื่อ พศ. 2491 พระชันษา 63 ปี

- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอาทรทิพยนิภา สิ้นพระชนม์เมื่อ พศ.2501 พระชันษา 69 ปี

- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอดิศัยสุริยาภา สิ้นพระชนม์เมื่อ พศ.2506 พระชันษา 74 ปี

- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวาปีบุษบากร สิ้นพระชนม์เมื่อ พศ.2524 พระชันษา 90 ปี

- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงเหมวดี สิ้นพระชนม์เมื่อ พศ.2515 พระชันษา 79 ปี

และพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ที่มีพระชนม์อยู่จนถึงรัชกาลที่ 9 ก็คือ

- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร สิ้นพระชนม์เมื่อ พศ.2494 พระชันษา 66 ปี

ไปดูพระรูปกันได้ที่"ภาพเมืองไทยในอดีต4"นะครับ นี่เป็นพระรูปของพระองค์เจ้าวาปีบุษบากร


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 10 ต.ค. 05, 12:26
 เจ้านายไทย แบ่งออกเป็น พระบรมวงศ์ และ พระอนุวงศ์

- พระบรมวงศ์ (ณาติสนิท) คือ เจ้าฟ้า และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า (รวมถึง ที่สถาปนาให้เป็นพระเจ้าบรมวงศ์ด้วย )
- พระอนุวงศ์ (ณาติห่าง) คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ลงมาถึง หม่อมราชวงศ์ หม่อมเจ้า

สมัยก่อนมีธรรมเนียมวัง
ข้าราชบริพารจะขานถึงพระเจ้าอยู่หัวว่า ทูลกระหม่อม เต็มๆ (ห้ามเรียกย่อ)

ส่วนเจ้าฟ้า ก็อาจจะเรียก ทูลหม่อม หรือ ทูลกระหม่อม+พระนาม

ถ้าเป็นพระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายก็ใช้ ใช้เสด็จ........... จะทรงกรม หรือมิทรงกรมก็แล้วแต่

ส่วนเสด็จพระองค์...  ใช้เรียกพระบรมวงศ์ ชั้นพระองค์เจ้า หมายถึง พระองค์เจ้าที่ทรงศักดิ์เสมอพระราชบุตรีในรัชกาลก่อน

สมมติว่า
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้นที่4 พระองค์เจ้าบุษบงบัวผัน---เสด็จพระองค์บุษบง
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้นที่ 5 พระองค์เจ้าเหมวดี------- เสด็จพระองค์เหมวดี
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี -------- เสด็จพระนางสุวัทนา

แต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัตมิ์ พระวรชายา พระองค์นี้ ลองสังเกตตามหน้าหนังสือพิมพ์ ว่าขานพระนามว่า เสด็จพระองค์หญิง

อ่านในหนังสือแพรว  ในเล่มสัมภาษณ์พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์  ท่านทรงเรียกพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ว่า  " เสด็จพระองค์หญิง  " เหมือนกัน  

ตกลงคือเสด็จพระองค์หญิงมีหลายพระองค์มากครับ หากมัวมานั่งวิเคราะห์คงปวดหัวตายแน่ครับ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 10 ต.ค. 05, 12:33
 “ชาววัง” ถือเป็นระดับชนชั้นสูงในสังคมไทยแต่โบราณ สามัญชนนอกรั้ววังมักมองภาพชีวิตความเป็นอยู่ของ “ชาววัง” ไว้เลิศหรูทั้งที่ความเป็นจริงความเป็นอยู่ของคนชาววังยังแบ่งออกเป็นหลายระดับชั้นด้วยกัน ชาววังชั้นสูงก็คือพระมหากษัตริย์ เจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งประสูติและศึกษาเล่าเรียนอยู่ในรั้ววัง และเมื่อเจริญพระชันษาแล้วก็ยังประทับอยู่ในวัง

           ส่วนชาววังชั้นสูงที่มิได้เป็นพระราชธิดาหรือผู้มีเชื้อสายเกี่ยวดองกับพระเจ้าแผ่นดิน ก็จะเป็นพวกลูกผู้ดีเชื้อสายขุนนาง ราชนิกูลต่างๆ ที่เข้ามาถวายตัวอยู่ในวังแล้ว แต่ว่าอยู่กับเจ้านายพระองค์ไหน ตำหนักไหน แต่ก็อยู่ในเขตรั้วกำแพงพระราชวังเช่นกัน ซึ่งชาววังที่ถือว่าเป็นระดับชั้นสูงนี้ หากเป็นเจ้านายชั้นพระราชธิดาและเชื้อพระวงศ์ราชนิกูลต่างๆ จะต้องศึกษาเล่าเรียนด้านอักษรศาสตร์ เพื่อสามารถเขียนหนังสือแต่งโคลงฉันท์ กาพย์ กลอนได้ นอกจากนี้ ยังต้องเล่าเรียนหัตถกรรม การฝีมือ การปักสะดึง การดอกไม้ การฝีมือด้านต่างๆ ด้านการอาหาร รวมไปถึงการดนตรี

           ยังมีชาววังชั้นสูงอีกประเภทหนึ่งเรียกว่าเป็น “นางพนักงานประเภท 1” อาจะเป็นพนักงานชาวที่ พนักงานพระศรี พนักงานพระภูษา ผู้ที่ทำราชการนี้มักเป็นสตรีในวังชั้นหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ที่เคยรับราชการมาแล้วเมื่อรัชกาลก่อน ส่วน “นางอยู่งานประเภท 1” ผู้ที่ทำราชการประเภทนี้มักเป็นสตรีชาววังแรกรุ่นสาวๆ โดยจะทำหน้าที่เชิญเครื่องราชูปโภคหรือคอยตามเสด็จ ผลัดเวรกันอยู่บนราชมณเฑียรตามแต่เจ้านายจะใช้สอย

           สำหรับชาววังชั้นกลางก็คือลูกหลานของคหบดีหรือขุนนาง อำมาตย์ที่รับราชการในวังและให้ลูกเข้ามาศึกษาในวังด้วย ชาววังระดับนี้ที่เป็นหญิงจะขึ้นตรงกับเจ้านายในวังพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ส่วนชาววังระดับล่างสุดเรียกว่า “โขลน” ส่วนผู้ชายเรียกว่า “ไพร่หลวง” ชาววังชั้นนี้จะผลัดเปลี่ยนกันเข้ารับหน้าที่ในพระราชวัง มีหน้าที่รักษาประตูวังหรือรับใช้งานต่างๆ

           ชาววังในครั้งอดีตเมื่อถึงเวลาจะเข้าเฝ้าฯ เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินหากเป็นชายที่เป็นขุนนาง ข้าราชการมักไม่ใคร่ใส่เสื้อเข้าเฝ้าฯ แต่จะเข้าเฝ้าฯด้วยกิริยานอบน้อมโดยการหมอบคลานเข้ามากราบไหว้ ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพเทิดทูนพระมหากษัตริย์ของตนอย่างสูงสุด จนมาเลิกระเบียบธรรมเนียมการหมอบคลานเอาเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๔-๕ เพราะมีการติดต่อกับชาวต่างชาติมากขึ้น

           ประเพณีชาววังที่น่ากล่าวถึงอีกอันหนึ่งเห็นจะเป็นธรรมเนียมการแต่งกายของสตรีในวังที่ถือเป็นกฎเกณฑ์สำคัญเวลาจะเข้าเฝ้าฯพระเจ้าแผ่นดินคือ ต้องแต่งองค์ด้วยผ้าลายและสะพักแพรที่ต้องมีสีสันตามวันอย่างถูกต้อง โดยต้องนัดหมายแต่งองค์ให้เหมือนกันทุกพระองค์ รวมไปถึง “หีบหมากเสวย” ที่เจ้านายสมัยนั้นทรงเสวยหมากกันก็จะนัดหมายให้ใช้หีบหมากเสวยเหมือนๆ กันทุกพระองค์ เช่น หีบหมากทอง หีบหูหิ้วรูปนาค ฯลฯ

 ในส่วนของการแต่งกายมาจากสี่แผ่นดินเวลาขึ้นเฝ้าฯให้ถูกต้องตามวัน เป็นดังนี้

           วันอาทิตย์ ทรงผ้าลายสีลิ้นจี่ ทรงสะพักแพรสีโศกหรือทรงผ้าสีเขียวใบไม้ ทรงสะพักสีทับทิม
           วันจันทร์ ทรงผ้าเหลืองอ่อน ทรงสะพักแพรสีน้ำเงินหรือสีบานเย็น ทรงผ้าสีนกพิราบน้ำเงินหม่น ทรงแพรสีจำปาแดง
           วันอังคาร ทรงผ้าสีม่วงอ่อน ทรงแพรสีโศกหรือผ้าสีโศก ทรงแพรสีม่วง
           วันพุธ ทรงผ้าสีเหล็กหรือสีถั่วเขียว ทรงสะพักแพรสีจำปาอ่อน      หรือ     แก่ ทรงแพรสีเหลือง หรือสีแก่กว่า
           วันพฤหัสบดี ทรงผ้าสีแสด
           วันศุกร์ ทรงผ้าสีน้ำเงินแก่ ทรงแพรสีเหลือง
           วันเสาร์ ทรงผ้าลายพื้นม่วง ทรงแพรสีโศก

           วันพระ ทรงผ้าสีแดง ทรงสะพักแพรสีชมพู ผู้ที่จะนุ่งแดงได้นั้น จะต้องเป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์เท่านั้น บรรดาข้าราชการ ข้าราชบริพาร หรือข้าหลวงชาววังต่างๆ ไม่สามารถนุ่งแดงอย่างเจ้านายได้เลย ส่วนวันที่ต้องไว้ทุกข์ก็จะทรงผ้าสีม่วง ทรงสะพักแพรสีนวลหรือทรงผ้าสีเขียว ทรงแพรสีม่วงอ่อนหรือม่วงแก่

           ส่วน “ทรงผม” ชายหญิงของชาววังในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ก็ยังคงไว้ตามประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยาคือ เด็กก็ยังคงไว้ผมจุกทั้งชายและหญิง ผู้ชายไว้ผมมหาดไทย ผู้หญิงไว้ผมปีกมีเรือนผม แต่ในสมัยหลังเปลี่ยนเป็นตัดเกรียนรอบศีรษะ แต่ไว้ผมเป็นพู่ข้างหูสำหรับเกี่ยวดอกไม้ หรือเครื่องประดับทั้งสองข้างเรียกว่า “ผมทัด”

           ทรงผมชายหญิงยุครัตนโกสินทร์ เริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ โดยผู้ชายให้เลิกไว้ผมทรงมหาดไทย ให้เปลี่ยนเป็นผมยาว ฝ่ายผู้หญิงให้เลิกไว้ผมปีก เปลี่ยนเป็นไว้ผมยาวแทน โดยมี “เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าจอมมารดาแพ)” สนมเอกองค์แรกของรัชกาลที่ ๕ เป็นสตรีท่านแรกที่อาสาเปลี่ยนทรงผมปีกมาไว้ผมยาวตามอย่างตะวันตก และเพื่อสนองพระราโชบายของพระราชสวามี

           แฟชั่นการไว้ผมยาวจึงเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในวังหลวง โดยมีเจ้านายฝ่ายหญิงในวังเริ่มไว้ผมยาวตามอย่างกันบ้าง แต่ต่อมาก็เลิกไว้ เพราะดูแลรักษายาก แฟชั่นนี้จึงเงียบหายไป

ที่มา http://www.yingthai-mag.com/  


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ต.ค. 05, 09:46

"สี่แผ่นดิน" เล่าถึงงานโกนจุกของพลอย  
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์บรรยายการแต่งกายในงานโกนจุกไว้ว่า
"เกี้ยวทำด้วยทองคำประดับเพชรพลอยแวววาม   ผ้ายกทองสีสด   มีนวมสวมรอบคอ ตรึงเครื่องเพชรต่างๆเข้ากับนวม  มีแหวน สายสร้อย จี้ และของอื่นๆอีกเป็นอันมาก"

ภาพที่นำมาลงนี้เป็นเด็กหญิงในชุดโกนจุก  ถ่ายเมื่อพ.ศ. 2339  ประมาณ 3-4 ปีหลังจากพลอย    เป็นเครื่องแต่งกายแบบเดียวกัน


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ต.ค. 05, 09:48

สาวชาววังสมัยเดียวกับพลอย    
พลอยน่าจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้า และมีทรงผมแบบนี้ สมัยที่พบกับคุณเปรม

หมายเหตุ :สตรีในภาพที่ 60 และ 61 เป็นบุคคลเดียวกัน  คือคุณหญิงนิมิราชทรงวุฒิ  (เนือง วินิจฉัยกุล)


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: Package ที่ 11 ต.ค. 05, 11:23
 เสด็จจะเสด็จหรือไม่เสด็จ ถ้าเสด็จจะเสด็จ เสด็จก็จะเสด็จด้วยเพคะ ... ผมจำได้คับว่าคำพูดนี้เคยนำไปออกข้อสอบสอบเข้า ที่ โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์คับ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 11 ต.ค. 05, 11:23
 คุณ vun ต้องเพิ่ม พระราชโอรส(พระบรมวงศ์ชั้น 4)ที่ทรงพระชนม์ชีพจนถึงปัจจุบันด้วยอีก 1 พระองค์ครับ ได้แก่  สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ครับ(ไม่มีพระรูปมาให้) เพราะพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี 2490


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 11 ต.ค. 05, 12:33
 การออกพระนามเจ้านายอย่างลำลอง  โดยปกติแล้วมีธรรมเนียมดังนี้ครับ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  +  เจ้าฟ้าชั้นเอก  =  ทูลกระหม่อม

พระอัครมเหสี  +  เจ้าฟ้าชั้นโท  =  สมเด็จ

พระองค์เจ้า  ที่เป็นพระราชบุตร  พระราชบุตรีของพระเจ้าแผ่นดิน  =   เสด็จพระองค์ฯ   และถเทรงกรมก้จะออกพระนามว่า  "เสด็จในกรม"

พระองค์เจ้า  ที่เป็นพระเจ้าหลานเธอของพระเจ้าแผ่นดิน  =  พระองค์  เช่น  พระองค์จุลฯ  พระองค์ภาฯ  เป็นต้น  ในหนังสือเกิดวังปารุสก์ฯ  ของพระองค์จุลฯ  ทรงเขียนไว้ว่า  เจ้านายชั้นนี้จะเรียกเสด็จก็ๆด้

พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้า  =  ท่านพระองค์  เช่น  ท่านพระองค์มาริศฯ  เป็นต้น

หม่อมเจ้า  =  ท่าน

สำหรับพระเจ้าวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์  พระวรชายาฯ  ทราบมาว่าสมเด็จพระบรมฯ  โปรดให้ข้าราชบริพารในวังศุโขทัยออกพระนามว่า  "เสด็จพระองค์หญิง"  เช่นเดียวกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ  ที่ข้าราชบริพารในพระองค์จะออกพระนามว่า  "เสด็จพระองค์หญิง"  แต่โดยทั่วๆ  ไปก้จะออกพระนามว่า  "พระองค์ศรีรัศมิ์"  หรือ  "พระองค์โสม"


การออกพระนามเจ้านายชั้น  พระเจ้าวรวงศ์เธอ  ว่า  "เสด็จ"  นั้น  เนื่องจากในในช่วงหลังๆ  มานี้เจ้านายชั้น  "เสด็จ"  เหลือน้อยพระองค์  จึงได้มีผู้ออกพระนามเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่มีศักดิ์เป็นพระเจ้าหลานเธอในรัชกาลก่อนๆ  ว่า  "เสด็จ"  เช่น  พระเจ้าวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา  ก็มีผู้ออกพระนามว่า  เสด็จฯ  ผู้สำเร็จราชการบ้าง  เสด็จอาทิตย์บ้าง  หรือพระองค์อาทิตย์เฉยๆ  ก็ได้  และอีกพระองค์หนึ่งที่ได้ยินกันบ่อยก็คือพระเจ้าวรวงศ์เอ  พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล  ทีมทักออกพระนามว่า  "เสด็จพระองค์ชายใหญ่"  ครับ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 11 ต.ค. 05, 12:54
 คุณเทาชมพูครับ

เรื่องคุณท้าวนั้น  ผมคิดว่าคุณชายคึกฤทธิ์  ท่านน่าจะหมายถึง  "ท้าววรคณานันท์  (ม.ร.ว. ปั้ม  มาลากุล)"  มากที่สุดครับ

เพราะในสมัยรัชกาลที่  6  คุณท้าวท่านนี้ท่านมีอำนาจรองลงมาจากคุณท้าววรจันทร  ได้บังคับบัญชาราชการในวังหลวง  มีที่บังคับบัญชาราชการอยู่ในที่บน  เป็นคนโปรดและได้ถวายการรับใช้ใกล้ชิดสมเด็จพระพันปีหลวง  จึงนับได้ว่าท่านเป็นคุณท้าวที่เรืองวาสนาในวังหลวงมากคนหนึ่งครับ

เพราะในความเป็นจริงแล้วคุณชายคึกฤทธิ์  มีโอกาสได้เห็นและใกล้ชิดกับราชสำนักฝ่ายในในสมัยรัชกาลที่  6  มากที่สุด  ในขณะที่ท่านไม่เคยเห็นราชสำนักในรัชกาลที่  5  มาก่อน  ท่านอาจจะมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสบรรยากาศในวังหลวงในขณะที่สมเด็จพระพันปีหลวง  ทรงเข้าไปประทับในวังหลวงอยู่ระยะหนึ่ง  ผมจึงเข้าใจว่าราชสำนักฝ่ายในในสมัยรัชกาลที่  5  จากนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน  ได้รับอิทธิพลของราชสำนักในรัชกาลที่  6  มาค่อนข้างมากเหมือนกันครับ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 05, 09:09
 ขอบคุณคุณหยดน้ำที่ให้ข้อมูลเพิ่มค่ะ

ไปหารายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับท้าววรคณานันท์ มาดู
พบเพียงสั้นๆว่า ท่านคือเจ้าจอมปั้ม  ธิดาในพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นปราบปรปักษ์  มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าท้าวนางชั้นสูงสุดในทำเนียบข้าราชบริพารฝ่ายใน ในรัชกาลที่ 6

หมอสมิธ แพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระพันปีฯ เล่าถึงคุณปั้ม และคุณปุยผู้น้องสาว ว่า
" น้องชายของท่านทั้งสองรับราชการอยู่ในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง   (หมายถึงเจ้าพนะยาธรรมาธิกรณาธิบดี(ม.ร.ว. ปุ้ม มาลากุล)
ทั้งคุณปั้มและคุณปุย มีนิสัยร่าเริง  มีลักษณะท่าทางง่ายๆสบายๆ และมีรูปร่างอ้วนท้วนเหมาะสมแก่ฐานะ
ท่านทั้งสองเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยความสามารถ   คุณปั้มผู้พี่มีหน้าที่ควบคุมดูแลข้าราชสำนักโดยทั่วไป
เป็นผู้ถือพระราชทรัพย์  ดูแลห้องเครื่อง และรับผิดชอบงานทุกอย่างยกเว้นเฉพาะหน้าที่ภายในห้องพระบรรทม
สำหรับผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาอาจจะมองว่าท่านเป็นผู้ที่เคร่งครัดในระเบียบวินัย    แต่เนื่องจากสมเด็จพระพันปีหลวงทรงเป็นเจ้านายที่ช่างพิถีพิถัน    ดังนั้นการที่จะควบคุมข้าราชสำนักให้ปฏิบัติตามพระราชประสงค์ได้ ก็จำเป็นที่จะต้องเข้มงวดกวดขันเป็นเรื่องธรรมดา

อ่านแล้ว  นึกถึงคุณสายค่ะ     ถามตัวเองว่าม.ร.ว. คึกฤทธิ์ จำลองภาพบางส่วนมาใส่ไว้ในตัวคุณสาย ใน"สี่แผ่นดิน" หรือเปล่านะ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 12 ต.ค. 05, 16:41
"...ถ้าเป็นการเฝ้าสมเด็จโดยเฉพาะแล้ว เสด็จมักจะเสด็จขึ้นทางบันไดด้านตะวันออก ข้างที่มีดาดฟ้าและร้านดอกไม้  แต่พลอยก็ได้ส่งเสด็จเพียงอัฒจันทร์ข้างล่างและนั่งรออยู่จนกว่าจะเสด็จกลับ  เพราะการที่จะขึ้นบันไดไปชั้นบนนั้น จะต้องผ่านห้องที่นั่งของคุณท้าวผู้ซึ่งมีคนยำเยงเกรงวาสนาทั้งวัง..."



พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์  มีทางขึ้นอยู่ตั้งอยู่เยื้องกับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน  (ด้านตะวันออก)  เป็นอัฒจรรย์หินอ่อนกว้างประมาณ  3  เมตร  สูงจากพื้นดินราว  1  เมตร  ก็จะเป็นชานชาลาหินอ่อนสี่เหลี่ยมมีประตูเหล็กโปร่งลวดลายสวยงาม  2  บานใหญ่สำหรับปิดทางขึ้นอัฒจันทร์นี้ได้เวลาต้องการปิดเมื่อเสด็จอยู่  (น่าจะหมายถึงอัฒจันทร์ข้างล่างที่พลอยพูดถึง)  พ้นชานชาลานี้เข้าไป  ตัวอัฒจันทร์จะแยกออกขึ้นไปสู่บนพระที่นั่งได้  2  ทาง  ทางซ้ายขึ้นพระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์  (น่าจะเป็นส่วนที่มีดาดฟ้าและร้านดอกไม้)  และทางขวาพระที่นั่งเทพดนัยนันทยากร


อัฒจันทร์นี้ใช้เป็นที่สำหรับเจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์  เจ้าจอม  คุณพนักงานที่มีหน้าที่ขึ้นเฝ้าฯ


ใต้  "ที่บน"  ซึ่งอยู่ตรงทางชานชาลาหน้าอัฒจันทร์  ที่มีประตูเหล็กอยู่  แบ่งออกเป็นห้องต่างๆ  หลายห้อง  ได้แก่  ห้องเก็บเครื่องใช้ประจำวันของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาฯ  ห้องของพระพี่เลี้ยง  พระนมในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  บางห้องเคยใช้เป็นที่ประทับของพระบรมวงศ์  เช่น  ห้องเสด็จพระองค์สร้อยฯ  และห้องของหม่อมเจ้าหญิงในอุปการะ  ตลอดจนห้องเก็บพัสดุภัณฑ์  และของมีค่าของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาฯ  ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าจอมหม่อราชวงศ์ปั้ม  (คุณใหญ่)  เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์แป้ม  (คุณห้องทอง)  แห่งราชสกุลมาลากุล  ผู้มีหน้าที่ประจำ


หนังสือสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ  ของอุทุมพร  เขียนเกี่ยวกับราชสำนักสมเด็จที่บนไว้ว่า

"...เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  ทรงได้รับสถาปนาพระอิสสริยยศขึ้นไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสี  ...  บรรดาเจ้านายที่ทรงรักใคร่ต้องพระอัธยาศัยกันมาย่อมเข้ามาถวายความภักดีร่วมอยู่ในพระบารมีเป็นคณะพระราชสำนักสมเด็จที่บน  หลายพระองค์  อาทิ  พระองค์เจ้าศรีนาคสวาสดิ  พระองค์เจ้าแขไขดวง  พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์  และพระองค์เจ้านารีรัตนา  เป็นต้น  นอกจากเจ้านายหลายพระองค์ดังกล่าวแล้วก็ยังมีพระสนมที่เป็นผู้อยู่ในราชตระกูลอันนับเป็นเชื้อพระวงศ์  คือ  เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์แป้น  ...  เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์ปั้ม  ...  เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์แป้ม  ...  เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์แป้ว  มาลากุล  พระธิดาในกรมหมื่นปราบปรปักษ์ซึ่งทั้ง  ๔  ท่านนี้เป็นข้าหลวงคนสนิทที่สมเด็จทรงโปรดปรานไว้วางพระราชหฤทัยมอบให้เป็นนางสนองพระโอษฐ์มีอำนาจว่ากล่าวดูแลคนทั้งปวงโดยสิทธิ์ขาด..."


จากข้อความนี้ช่วยสนับสนุนประเด็นที่ว่า  "เสด็จในสี่แผ่นดิน"  น่าจะถูกสมมติเป็น "พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ"  มากขึ้น  (หากไม่พิจารณาเรื่องลักษณะนิสัย)  เพราะทั้งวันสิ้นพระชนม์  และความเกี่ยวพันกับสมเด็จที่บนค่อนข้างใกล้เคียงกับในเรื่องสี่แผ่นดินครับ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 12 ต.ค. 05, 16:52
 ส่วนเรื่องลักษณะนิสัยของท้าววรคณานันท์  (เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์ปั้ม  มาลากุล)  เห็นด้วยกับคุณเทาชมพูอย่างยิ่งครับผม  อย่างไรก็ดีคุณท้าวที่แม่พลอยบอกว่า  "...ผู้ซึ่งมีคนยำเกรงวาสนาทั้งวัง..."  ผมยังเข้าใจว่าคุณชายคึกฤทธิ์  ท่านหมายถึงท้าววรคณานันท์  ในสมัยรัชกาลที่  6  มากกว่าจะเป็นท้าววรจันทร  หรือท้าววรคณานันท์ในสมัยรัชกาลที่  5  จริงๆ  ครับ  (คือสมมติให้ท้าววรคณานันท์  (เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์ปั้ม  มาลากุล)  ในสมัยรัชกาลที่  6  ไปเป็นคุณท้าวผู้ใหญ่ในสมัยรัชกาลที่  5 ตามที่ท่านได้พบเห็นครับ)


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 05, 09:29
 ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยทำให้กระทู้นี้มีรสชาติเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ    จากความรู้ที่ช่วยถ่ายทอดเป็นวิทยาทานให้ค่ะ

ขอย้อนไปถึงบ้านคลองบางหลวง ที่พลอยอยู่มาตั้งแต่เกิด ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ บรรยายว่า
เป็นตึกทันสมัยสำหรับระยะเวลาระหว่างพ.ศ. 2425 ถึง พ.ศ. 2435
เป็นตึกก่ออิฐ ฉาบด้วยปูนขาว  หลังคามุงกระเบื้องจีนเป็นลูกฟูก   หน้าตึกเป็นบันไดขึ้นสองข้างมาบรรจบกัน
ตรงกลางเป็นชาลาย่อมๆ แล้วจากนั้นก็มีบันไดตรงขึ้นไปชั้นบนของตึก บนตึกมีเฉลียงเดินได้รอบ  ลูกกรงมีลูกมะหวดกระเบื้องสีเขียวแก่
พ้นจากเฉลียงเข้าไปก็มีห้องใหญ่ๆ 3 ห้อง

ตอนอ่าน ก็นึกไม่ออกว่าบ้านเจ้าคุณพ่อของพลอยเป็นแบบไหน  จนกระทั่ง วันหนึ่งไปเห็นบ้านเก่าแก่ที่เจริญพาสน์
เป็นบ้านของพระยาราชานุประพันธ์( ทุ้ย บุนนาค) ซึ่งตกทอดมาถึงบุตรี  คุณหญิงอายุยืน ภรรยาพระยาอรสุมพลาภิบาล( เด่น บุนนาค)
ลูกหลานยังอยู่ในบ้านนี้มาจนปัจจุบัน
จึงพอนึกภาพออกว่าบ้านใน "สี่แผ่นดิน" คล้ายแบบนี้เอง

ภาพนี้อาจมองไม่ชัดนัก แต่คงพอสังเกตได้ว่า บันไดทางขึ้นอยู่นอกตัวบ้าน  ตามความเชื่อไทยโบราณว่าบันไดไม่ควรอยู่ในตัวบ้านจะไม่เป็นมงคล  
เป็นบันไดสองข้างทอดขึ้นไปบรรจบที่ชานตรงกลาง แล้วพอเลี้ยวเข้าไปก็เป็นเฉลียงชั้นบน  
ในภาพ เฉลียงอยู่ด้านหลังของลูกกรง ที่มีหน้าต่างบานเกล็ด  จากเฉลียงก็เห็นประตูใหญ่ๆ 3 บาน เปิดเข้าไปในห้อง 3 ห้อง เหมือนในหนังสือ
หลังคาบ้านนี้เป็นกระเบื้องลูกฟูก  เหมือนในหนังสืออีกเช่นกัน

เห็นบ้านคล้ายๆอย่างนี้อีกหลังหนึ่ง เป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดบุรณศิริ  ซึ่งอยู่ใกล้ท้องสนามหลวง ถัดโรงแรมรัตนโกสินทร์ไปทางถนนอัษฎางค์   สภาพค่อนข้างชำรุดทรุดโทรม


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 05, 09:41
 บ้านของคุณเปรม ที่พลอยไปอยู่หลังแต่งงาน   ในเรื่องบอกว่าอยู่ริมคลองพ่อยม
คลองพ่อยม คือคลองสาทร  ปัจจุบันไม่เหลือแล้ว
ชื่อถนนสาทร มาจากหลวงสาทรราชายุกต์ หรือเจ้าสัวยม    ท่านบริจาคที่ดินบริเวณนี้ให้ตัดเป็นถนนสาทร
ชื่อถนนสะกดผิดกันมาหลายสิบปี  เพิ่งแก้ไขให้ถูกต้องไม่กี่ปีนี้เอง


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ต.ค. 05, 09:47
 งานโสกันต์ หรืองานโกนจุกเจ้านายระดับเจ้าฟ้าและพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้า  มีเขาไกรลาสจำลอง เป็นที่สรงน้ำหลังโสกันต์
สร้างจากโครงไม้ไผ่สาน  หุ้มดีบุกแล้วทาสีให้เหมือนศิลา สร้างมณฑปใหญ่บนยอดเขา และบุษบกที่สรงน้ำ  
ใส่ต้นไม้ และต่อน้ำพุในเขา  กั้นราชวัตรปักฉัตรโดยรอบบริเวณ
ภาพนี้คือภาพเขาไกรลาส อย่างในเรื่องสี่แผ่นดินค่ะ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ต.ค. 05, 09:54

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ  ในเครื่องทรงในพระราชพิธีโสกันต์


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ต.ค. 05, 09:57

สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช  กรมหลวงสงขลานครินทร์ ในเครื่องทรงในพระราชพิธีโสกันต์


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ต.ค. 05, 09:59

ผู้ใหญ่ช่วยแต่งกายให้เด็กที่เข้าพิธีโกนจุก
ในภาพเป็นเกศากันต์ของพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 19 ต.ค. 05, 10:19
 ดิฉันขอเรียนถามอาจารย์ค่ะว่า ทำไมเด็กชายและเด็กหญิงถึงเข้าพิธีโกนจุกอายุไม่เท่ากัน หวังว่าอาจารย์คงไม่ตอบว่า that’s just  the way it is เหมือนที่ดิฉันได้รับมาเมื่อถามเพื่อนๆค่ะ ขอบคุณค่ะ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ต.ค. 05, 16:25
 เท่าที่เคยได้ยินจากผู้ใหญ่  เด็กชายและหญิงเป็นหนุ่มสาวเร็วไม่เท่ากันค่ะ  
เด็กผู้หญิงอายุครบ ๑๑ ย่าง ๑๒  จะเริ่มมีหน้าอก      พอพ้นโกนจุกก็ถึงเวลาห่มผ้า(แถบ หรือสไบ)ได้แล้ว แสดงว่าพ้นวัยเด็ก รูปร่างเริ่มเปลี่ยนแปลง ประจำเดือนเริ่มมา
แต่เด็กผู้ชายยังโตช้ากว่าผู้หญิง มีความเปลี่ยนแปลงช้ากว่า ก็เลยโกนจุกช้ากว่า ประมาณ ๑๓ ปี  
ถ้าท่านใดมีเหตุผลอื่นนอกจากนี้ ช่วยเล่าให้ฟังด้วยนะคะ
ยังงี้จะเรียกว่า Just the way it was  ได้ไหมคะ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 19 ต.ค. 05, 21:57

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงฯ ตามคำบรรยายบอกว่าทรงฉายเมื่อ ปี พ. ศ. 2404
(ไม่แน่ใจว่า source ระบุปีผิดรึเปล่าค่ะ)

พระองค์จะทรงพระภูษาเช่นนี้ ทุกวันหรือไม่ค่ะ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ต.ค. 05, 10:14
 เรื่องการแต่งพระองค์ประจำวันคงต้องถามคุณ V_Mee คุณ UP หรือคุณหยดน้ำ
ดิฉันก็ไม่ทราบว่าทรงอย่างนี้ทุกวันหรือไม่  

คุณ V_Mee  คะ
ดิฉันไปเจอบันทึกของ ม.ร.ว. เทวาธิราช ป. มาลากุล สมุหราชพิธีประจำรัชกาลที่ 6 7 8 และ 9 เลยคัดบางตอนมาให้อ่าน

ท่านเล่าถึงเหตุการณ์วันสวรรคตในรัชกาลที่ 5
ตอนนั้นท่านอายุยังน้อย เพิ่งกลับจากต่างประเทศ  ยังไม่ทันเข้ารับราชการ แต่ฝึกหัดติดต่อกับกรมพระราชพิธีกระทรวงวัง

ท่านเล่าถึงการแต่งกายไว้ทุกข์ของประชาชนว่า
"ในวันนั้น พอสาย  เมื่อประชาชนได้ทราบข่าวสวรรคตกันแล้ว   ดูตระหนกตกใจและเศร้าโศกกันมาก   แลไปทางไหนเห็นแต่สีดำอันเป็นเครื่องแต่งกายของประชาชนแทบทั่วทั้งเมือง
ทั้งนี้เป็นโดยสมัครใจของเขาเอง   ไม่มีการบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด
เขารักพระมหากษัตริย์ของเขา   เขาก็แสดงออกไปเช่นนนั้นโดยสุจริตกรรม  
และเป็นการสมควรแท้ที่ประชานถวายพระนามสมเด็จพระมหากษัตริย์ของเขา พระองค์นั้น ว่า
"สมเด็จพระปิยมหาราช"
เป็นอันยุติกันว่า ในวันเสด็จสวรรคต ประชาชนแต่งดำ  ไม่ได้แต่งขาว


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ต.ค. 05, 09:23
 จาก สี่แผ่นดิน

ในปทานุกรมของชาววังนั้น  คำว่า "เพื่อน" ไม่มีปรากฏ    ถ้าจะมีก็ต้องบอกให้ชัดว่าเป็นเพื่อนอะไร   เป็นต้นว่า เพื่อนเล่น เพื่อนคุย
ถ้าบอกว่าใคร เป็น "เพื่อน" กับใครๆ  เป็นเกิดเหตุ  
ฉะนั้น พลอยกับช้อยจึงเป็น "คนรู้จักชอบพอกันมาแต่เด็กๆ" ไม่ยอมพูดว่าเป็นเพื่อนกันเป็นอันขาด
สำหรับพลอยนั้นถ้าใครมาทอดสะพานชวนเป็นเพื่อน   พลอยก็วิ่งหนีทุกครั้งไป
ส่วนช้อยนั้น  ใครขืนมาท่านั้นเป็นเจ็บตัว  เพราะช้อยด่าให้เจ็บๆ

เพื่อน ภาษาชาววัง หมายถึงเลสเบี้ยน   มาชวนเป็นเพื่อนก็คือมาชวนเป็นทอมกับดี้กัน
การเล่นเพื่อนของสาวชาววังเป็นสิ่งแพร่หลาย  บันทึกไว้ในวรรณคดีไทยหลายเล่ม  อาจจะเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วสำหรับผู้หญิงที่อยู่กันเป็นหมู่มากๆ ไม่มีโอกาสพบปะเพศตรงข้าม  
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ถึงกับทรงกำชับพระราชธิดาไว้ว่า ถ้าจะมีพระสวามีก็มีไป แต่อย่าเล่นเพื่อน แสดงว่าการเล่นเพื่อนคงเป็นเรื่องรู้กันมาดี   แม้เป็นเรื่องผิดก็ยังละเมิดกันอยู่


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ดารากร ที่ 21 ต.ค. 05, 19:33
 คุณเทาชมพูยกประเด็นนี้ขึ้นมา ทำให้ดิฉันนึกถึงเรื่องหม่อมสุดกับหม่อมขำหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "คุณโม่งกับหม่อมเป็ด"  ข้าหลวงในกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวค่ะ ที่ชาววังในสมัยก่อนโจษจันกันถึงขนาดนำไปขับเสภากันทีเดียว

หม่อมสุดได้รับสมญาว่า คุณโม่ง เพราะว่า
"เอาแพรเพลาะหอมกรอมหุ้มกันคลุมโปง
จึงตรัสเรียกว่าคุณโม่งแต่นั้นมา"

ส่วนหม่อมขำ ได้รับสมญาว่าหม่อมเป็ด เนื่องจาก
"เดินเหินโยกย้ายส่ายกิริยา
จึงชื่อว่าหม่อมเป็ดเสด็จประทาน"


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: vun ที่ 21 ต.ค. 05, 23:23
 หม่อมสุด ก็คือ คุณโม่ง เดิมเป็น หม่อมห้าม ในกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ (เป็นวังหน้าและพระโอรสของรัชกาลที่ 3) เมื่อกรพระราชวังบวรฯ สวรรคตแล้วจึงเข้ารับราชการในพระบรมมหาราชวังอยู่ที่ตำหนักกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 23 ต.ค. 05, 12:47
 เรื่องสี่แผ่นดิน และละครแห่งชีวิต มีความเป็นวรรณกรรม "ร่วมสมัย" ดิฉันอยากทราบว่า

หลังจากคลื่นนักเรียนนอกได้ทยอยกลับสู่สยามประเทศตั้งแต่ปลายรัชสมัย ร.5 ต่อ ร. 6 เป็นต้นมา ถึงราว พ.ศ. ใด
ที่ "โพลีแกมี" ในสังคมไทยเริ่มซาลง (just a halt would do, ไม่ต้องถึงกับ complete stop หรอกค่ะ)

เห็นคุณเปรม ก็ไม่มีนางเล็กๆ
เห็นพระองค์จุล ก็ไม่ทรงมีเหมือนกัน
ขอบคุณค่ะ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 05, 13:22
Polygamy =The condition or practice of having more than one spouse at one time. Also called plural marriage. ( การมีคู่สมรสมากกว่าหนึ่งในเวลาเดียวกัน)

ไม่รู้จะตอบยังไงค่ะว่ามันซาลงในยุคไหน   เพราะตามความรู้สึกของดิฉัน จนปี ค.ศ. 2005 แล้วก็ยังไม่เห็นซาลง   เพียงแต่ไม่เปิดเผย ออกหน้าออกตาเป็นทางการอย่างเมื่อก่อน   โดยมากก็แค่รู้ๆกันในหมู่เพื่อนฝูงญาติมิตร  

ถ้าจะเอาเกณฑ์มาตรฐานอะไรสักอย่างมาวัดมากกว่าความรู้สึก คงจะต้องกฎหมายมั้งคะ     มีกฎหมายไทยออกมาให้ชายไทยมีภรรยาถูกต้องตามกฎหมายได้คนเดียว ดูเหมือนจะหลังพ.ศ. 2475  
ถ้าคุณ UP หรือท่านอื่นๆที่ทราบเรื่องกฎหมาย  ช่วยเข้ามาเพิ่มเติมหรือแก้ไขให้ถูกต้องด้วยจะเป็นพระคุณ

คุณเปรม ท่านเป็นพระเอกนิยาย   จะรักเดียวใจเดียวกับแม่พลอยก็ไม่แปลก  (แม้ว่าก่อนแต่งท่านแอบมีเมียบ่าวในบ้านไว้คนหนึ่งก็เถอะ)   แต่ผู้ชายร่วมสมัยกับคุณเปรม มีฐานะในสังคมสูง หรือร่ำรวยมีอำนาจ ในโลกของความเป็นจริง ส่วนใหญ่ทำตรงกันข้าม    
ส่วนพระองค์จุลฯ ท่านทรงใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในต่างประเทศ ก็อาจทรงยึดขนบธรรมเนียมของยุโรป ที่มีภรรยาคนเดียว  หรืออาจจะเป็นพระนิสัยที่ท่านทรงรักและซื่อสัตย์ต่อหม่อมเอลิซาเบธ  
เจ้านายพระองค์อื่นมิได้ทรงยึดถือตามนี้    คุณ Nuchan ลองย้อนหากระทู้เจ้าดาราทองอ่านดูก็ได้ค่ะ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 05, 13:27
 เรื่องสาวชาววังเลสเบี้ยน  เห็นคุณติบอเคยส่งข่าวมา
ตั้งท่าจะเล่าแล้วก็เงียบไป  
ถ้าจะเล่าก็เชิญตั้งกระทู้ใหม่ได้เลยค่ะ  


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 25 ต.ค. 05, 14:59
 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ครอบครัว นั้น ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๗ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ๒ ปีครับ

มาตรา ๑๔๕๒ บัญญัติว่า "ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้"

นับเป็นจุดสิ้นสุด Polygamy โดย "นิตินัย" ในประเทศไทยครับ

แต่โดย "พฤตินัย" นั้นเห็นจะไม่มีวันสิ้นสุดกระมังครับ

อนึ่ง แนวคิดและการพยายามให้ประเทศไทยเป็น Monogamy เห็นจะเริ่มขึ้น และเด่นชัดมากในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มขึ้นจากการจดทะเบียนสมรสก่อน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับให้มีผัวเดียวเมียเดียว

ในพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ เรื่อง "โคลนติดล้อ" บท ๘ ได้ทรงกล่าวถึงการจดทะเบียนสมรสไว้ว่า

"อีกประการหนึ่ง ทั้งในกองทัพบกและในพระราชสำนักในเวลานี้มีกฎข้อบังคับในเรื่องการจดทะเบียนภรรยาแล้ว และข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า ถ้าสาธารณชนแสดงความปรารถนาที่จะให้มีการจดทะเบียนภรรยาสำหรับใช้ทั่วไปแล้ว รัฐบาลก็คงจะรีบจัดการออกกฎหมายในเรื่องจดทะเบียนการแต่งงาน ซึ่งข้าพเจ้าได้ทราบว่ารัฐบาลกำลังดำริอยู่แล้ว"


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 25 ต.ค. 05, 15:10
 คุณเปรมของแม่พลอยนั้น เป็นข้าราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างเต็มตัว และเคารพบูชาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นเป็นอย่างยิ่ง

คิดเล่นๆ ว่าคุณเปรมคงมีโอกาสได้อ่านพระราชนิพนธ์เรื่องโคลนติดล้อ บท ๘ ที่ทรงตำหนิการมีเมียลับๆ หรือการไปมีสัมพันธ์กันอย่างชั่วครั้งชั่วคราวเป็นแน่ ทำให้ทราบพระราชนิยมในรัชกาลนี้อย่างแจ่มชัดและถือปฏิบัติกับครอบครัวของเธอเอง ไม่ให้ยอมตกอยู่ใต้อารมณ์ที่จะชักจูงให้ไปมีนางเล็กๆ ที่ไหนเลย

ขอเชิญพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ เกี่ยวกับการ "แต่งงานชั่วคราว" มาให้อ่านกัน ดังนี้

"....ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะพูดกับท่านผู้มีสติปัญญาความคิดและซึ่งความเห็นมีน้ำหนัก ท่านเห็นว่าเป็นของควรแหละหรือ ที่เมืองไทยอันเป็นประเทศที่รุ่งเรืองแล้วในหมู่ประเทศทั้งหลาย จะยังคงมีหลักแห่งสกุลวงศ์ง่อนแง่นอยู่เช่นนี้ ถ้าเราจะทำให้กิจการภายในครอบครัวของเราแน่นหนากว่าการแต่งงานชั่วคราวไม่ได้แล้ว นามสกุลใหม่ของเราจะมีประโยชน์อะไรเล่า ? เมื่อไม่มีความมั่งคงตราบใด สมบัติและเกียรติคุณแห่งสกุลวงศ์ของเราก็ไม่ปราศจากอันตรายได้ตราบนั้น ลักษณะแห่งการแต่งงานกันโดยธรรมดาโลกนั้นย่อมขัดกับทางจรรยา ข้อนี้ย่อมปรากฏแก่คนทั้งปวง เพราะเหตุเป็นเครื่องบำรุงความชั่วร้ายหลายอย่าง มีการร่วมประเพณีปนเปและการทำชู้เป็นต้น ทั้งเปิดประตูให้แก่หญิงแพศยาได้เข้ามาในสมาคมแห่งหญิงผู้ดี และให้โอกาสแก่หญิงเถื่อนเหล่านี้มาล่อลวงชายหนุ่มๆ ที่จะเป็นคนดีให้ฉิบหายขายตนไปมากแล้ว

ท่านจะไม่คิดถึงบุตรหญิงและบุตรชายของท่านซึ่งจะเป็นผู้รับรักษาเกียรติคุณแห่งชาติไทยต่อไปบ้างหรือ ? ท่านทั้งหลายจะไม่ช่วยกันขัดขวางไม่ให้เขาฆ่าชาติของเขาเสียเองหรือ ? ท่านจะไม่ช่วยกันทำลายความประพฤติอันลามกไม่มีอายซึ่งมีอยู่ในหมู่เราโดยเปิดเผยหรือ ?

ขอจงสงสารผู้หญิงและเด็กสาวของเราบ้าง ขอจงช่วยให้เขาได้รับความยุติธรรมและเสมอภาค ขอจงช่วยให้เขาได้รับเกียรติยศอย่างที่เขาควรจะได้ในฐานะที่จะเป็นมารดาแห่งชาติเรา ขอจงช่วยให้เขาได้รู้สึกความภูมิใจในนามว่าภรรยา โดยใช้ศัพท์อันนี้ในทางที่ควรเถิด ! ถ้าท่านทั้งหลายได้ช่วยกันทำให้สำเร็จแล้ว ก็จะเป็นข้อที่เราทั้งหลายควรจะรู้สึกภาคภูมิใจได้อันหนึ่งโดยแท้"


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 25 ต.ค. 05, 15:12
 ขอเสริมความในย่อหน้า ๒ สักนิดนะครับ

....ทำให้ทราบพระราชนิยมในรัชกาลนี้อย่างแจ่มชัดและถือปฏิบัติกับครอบครัวของเธอเอง ไม่ให้ยอมตกอยู่ใต้อารมณ์ที่จะชักจูงให้ไปมีนางเล็กๆ ที่ไหนเลย "นับแต่มีแม่พลอย"


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 05, 16:50
 ทัศนะเรื่อง polygamy ของคนในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นยังไง  
อาจจะลองพิจารณาดูได้จากความเห็นของเสด็จ เมื่อทรงทราบว่าคุณเปรมมีเมียและมีลูกอยู่ในบ้านแล้วอย่างไม่เปิดเผย
***************
พอช้อยทูลเรื่องตาอ้น  ก็กริ้วแหวทีเดียว  รับสั่งว่าถ้าทรงทราบเรื่องนี้ก่อนจะไม่ประทานอนุญาตให้พลอยแต่งกับคุณเปรมเป็นอันขาด
เรื่องแม่ของตาอ้น เสด็จก็กริ้วอีก รับสั่งว่าคงจะต้องออกจากบ้านไปเพราะคุณเปรมไล่  เพื่อจะได้แต่งงานกับพลอยเท่านั้นเอง

" คุณเปรมบอกว่าเขาออกไปมีสามีใหม่โดยสมัครใจมังคะ"

" ฮ้าย! ข้าไม่เชื่อ" เสด็จรับสั่ง "นี่คงไล่มันออกจากบ้าน พรากแม่พรากลูกมันหรอก   นึกว่ามีเงินจะทำอะไรก็ทำได้  
ข้าสงสารอีนังผู้หญิงคนนั้นมันออก   นี่ป่านนี้จะไปถูกข่มเหงที่ไหนอีกก็ไม่รู้
ธรรมดาคนในบ้าน เมื่อมันมีลูกก็ต้องเลี้ยงดูมันไป  จะเป็นอะไรหนักหนา  
คนอย่างเจ้าเปรมจะมีเมียหลายคนก็ยังได้  นางพลอยยังคงไม่หึงหรอก  
 แต่นี่ใจร้าย  ชอบใจขึ้นมาก็เอาเป็นเมีย  ไม่ชอบใจก็เฉดหัวไป   ข้าเกลียดขี้หน้าเสียจริงทีเดียว  คนอะไรก็ไม่รู้  
นางพลอยระวังตัวให้ดีเถิด ต่อไปมันเบื่อเจ้าขึ้นมา  มันก็จะไล่เสียอีกคน  แล้วเจ้าก็จะต้องวิ่งกลับเอาลูกมาให้ข้าเลี้ยงอย่างแม่เจ้าอีกน่ะแหละ ข้ากลุ้มใจนัก"

ถ้ามองตามทัศนะนี้  ดิฉันตีความว่าค่านิยมในสมัยนั้นน่าจะเป็นทำนองนี้
1  polygamy  เป็นเรื่องธรรมดาของชายเจ้าของบ้าน
2   สามีที่มีฐานะดี   มี polygamy ถือว่าไม่ใจร้ายเท่ากับเลิกจากคนที่หนึ่งเพื่อมีคนที่สอง  หรือเลิกกับคนที่สองเพื่อมีคนที่สาม
3   ภรรยาที่ดีย่อมไม่หึงหวงพฤติกรรม polygamy ของสามี
4   ภรรยาที่อยู่กับสามีที่มี polygamy เป็นเรื่องดีกว่าต้องแยกทางไปเลี้ยงชีพคนเดียว
5   แม่มักไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ตามลำพัง ในกรณีเลิกร้างกับสามี   ถ้าอยู่ในภาวะ polygamy จะดีกว่า

ไม่ได้หมายความว่าคิดกันยังงี้ทุกบ้าน  แต่อย่างน้อยความคิดแบบนี้ก็คงมีกันแพร่หลายเป็นที่ยอมรับ  เสด็จจึงทรงเห็นอย่างนี้

ผลดีของการอยู่แบบ polygamy คือผู้ชายได้ความพอใจที่มีหญิงได้หลายคนพร้อมกัน   แต่เขาก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูทุกคน เป็นการแลกเปลี่ยนความพอใจ    
ส่วนผู้หญิงที่อยู่ในระบบนี้ ได้ความมั่นคงทางด้านการเงิน ความเป็นอยู่ และการเลี้ยงดูลูก เป็นการตอบแทน


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 26 ต.ค. 05, 10:01
 ขอขอบพระคุณสำหรับคำอธิบายเพิ่มเติมค่ะ นึกๆดูก็ขันค่ะ นักเรียนนอกยุคเก่า ต้องการเป็นคนหัวใหม่
เปิดรับวิทยาการแบบใหม่ การปกครองแบบใหม่ แต่พอถึงเรื่องในเรือน กลับยังนิยมฮาเร็มแบบเก่า
เท่ากับเลือกรับเอาแต่วิถีที่ยังความพอใจสูงสุด ดิฉันตั้งข้อสังเกต 2 ข้อ
1. คุณชายคึกฤทธิ์ ท่านใส่รายละเอียดให้ตัวละครของท่าน ชนิดไม่ให้ "ปีน" กับประวัติศาสตร์
เหมือนที่คุณ UP กล่าวใน ค.ห.ที่ 87

ดิฉันยังนึกถึงตอนตาอ้นไปติดตะรุเตา สงสัยว่าท่านจะเลียนแบบ "เสด็จกรมขุนชัยนาทฯ" หรือเปล่า
แต่พอค้นดู จึงทราบว่านักโทษการเมืองสมัย 2480 ที่ถูกส่งไปสตูลมีไม่น้อยทีเดียว

2. เวลาฝ่ายชายจะมีหม่อมคนใหม่ ต้องปรึกษาหม่อมแรก หรือให้หม่อมแรกยินยอมก่อนไหมค่ะ
เห็นหม่อมเก่ากับหม่อมใหม่สมานฉันท์กันดีเหลือเกินค่ะ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 05, 10:47
คุณ Nuchan คะ   ดิฉันเข้าใจว่าในบรรดาพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 5 มี 2 พระองค์เท่านั้นที่ ทรงมี"คู่สมรส" หนึ่งเดียว
คู่แรกคือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร  และสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี
คู่ที่สองคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร  กับหม่อม Elizabeth Scharnberger

ผิดถูกยังไงขอผู้รู้มาอธิบายอีกทีนะคะ

การครองเรือนในสมัยนั้นมีระบบอาวุโส    โดยมากภรรยาเอก มีอำนาจในเรือนสูงสุด    ผู้มาทีหลังก็ต้องเคารพนบนอบและยอมรับฐานะที่ด้อยกว่า  
ภรรยาเอกบางคนก็หาเมียน้อยให้สามีเสียเอง  เพื่อสะดวกในการปกครอง
แต่ความไม่สมานฉันท์ก็มีอยู่ให้เห็น อย่างในสี่แผ่นดินก็กรณีแม่แช่ม แม่ของพลอย คุณหญิงเอื้อมภรรยาเอกของเจ้าคุณพ่อของพลอย แยกทางกับสามีเพราะหึงแม่แช่ม
อย่างในเรื่องจริงก็กระทู้ที่เราเพิ่งจบกันไป   หม่อมแม่ของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงไงคะ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 05, 10:51
 นักโทษการเมืองจากคดีกบฎบวรเดช มีชะตากรรมที่น่าสงสารมาก   คุณ Nuchan อาจจะหาอ่านได้ในหนังสือชีวประวัติหลายเล่ม  
ดิฉันเคยอ่านจากชีวประวัติของคุณสอ เสถบุตร  เป็นหนังสือที่ระลึกในงานศพของท่าน
บันทึกของพระยาศราภัยพิพัฒน์ ก็เป็นหนังสือที่มีคุณค่าอย่างยิ่งเล่มหนึ่ง


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 26 ต.ค. 05, 11:27
 เข้าใจว่ายังมีพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๕ อีกพระองค์หนึ่งคือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ที่มีหม่อมแต่เพียงผู้เดียว หม่อมของท่านคือหม่อมแผ้วครับ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 05, 11:41
 ถูกของคุณ UP ค่ะ  
ลืมพระองค์ท่านไป  เพราะไปนับจากหนังสือ จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ ที่ระบุพระนามพระโอรสธิดาเป็นหลัก  
ในเมื่อเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสิมาไม่ทรงมีพระโอรสธิดา ก็เลยไม่เจอชื่อหม่อมแผ้ว

ก่อนนี้ดิฉันเข้าใจว่ามีเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศรอีกพระองค์หนึ่งที่มีพระชายาองค์เดียวคือพระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตรฯ
มาทราบทีหลังว่าท่านมีหม่อมอีกคนชื่อหม่อมลดา แต่ไม่มีโอรสธิดา


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 05, 09:11
 สี่แผ่นดิน เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากยุโรป
มีละครรำ เรื่องอิเหนา ที่ฝ่ายในได้จัดขึ้นถวายในงานรับเสด็จ
พลอยได้ตามเสด็จไปที่โรงละครที่สวนศิวาลัย

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ บรรยายว่า
บรรดาท่านที่ออกรำในคืนนั้น ล้วนแล้วแต่สูงด้วยเกียรติและอายุ  ตัวที่เยาว์วัยที่สุดคือท่านชายองค์เล็กที่แสดงเป็นสียะตรา  ที่จริงก็คือหลานย่าของท่านผู้แสดงเป็นอิเหนา

ละครรำในคืนนั้น ผู้แสดงเป็นอิเหนาคือคุณท้าววรจันท์  สียะตราคือหม่อมเจ้าธานีนิวัต(กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร). โอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิธาดา


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 20 พ.ย. 05, 06:40
 ดิฉันเข้าใจว่ายังมีรัชกาลที่ 7 ที่เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 อีกพระองค์ ที่มี "คู่สมรส" พระองค์เดียวด้วยนะคะคุณเทาชมพู คุณ UP


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 20 พ.ย. 05, 17:21
 1. เพิ่มความเห็นที่ 90,92,93,95 ครับ
เคยอ่านเจอในหนังสือเล่มหนึ่ง ระบุว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ทรงมีหม่อม 1 คน แต่ต่อมาเลิกรากันไปเพราะพระราชบิดาและพระประยูรญาติไม่ทรงเห็นด้วยครับ
2. ไม่แน่ใจว่ากรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงมีหม่อมและชายากี่คนครับ ทราบแต่เฉพาะหม่อมสุ่นเท่านั้น
3. กรมหมื่นวรวัฒน์ศุภากร (สะกดผิดถูกตรงไหนบอกด้วยครับ) ทรงมีหม่อมและชายาเท่าใดครับ ทราบแค่ว่าไม่มีเชื้อสายสืบลงมา และหม่อมเจ้าฉวีวาดเคยทรงเป็นชายาก่อนที่จะย้ายไปเขมรครับ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ย. 05, 10:44
 ขอบคุณค่ะคุณ B   คุณ UP กับดิฉันมองข้ามไปได้ยังไงกันเนี่ย

ตอบคุณศรีปิงเวียง
ผู้หญิงคนนั้นยังไม่ทันเป็นหม่อมค่ะ  มีข่าวว่าเริ่มพบปะกัน   ก็ถูกตัดไฟเสียแต่ต้นลม


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 03 ส.ค. 06, 12:51
 ต้องอย่าลืมนับรัชกาลที่ 7 ด้วยนะคะ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: learn147 ที่ 16 ก.พ. 10, 10:52
ดิฉันเข้าใจว่ายังมีรัชกาลที่ 7 ที่เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 อีกพระองค์ ที่มี "คู่สมรส" พระองค์เดียวด้วยนะคะคุณเทาชมพู คุณ UP
เข้าใจเหมือนกันครับ ผู้รู้ช่วยชี้แนะหน่อยครับ


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 ก.พ. 10, 12:05
ทราบว่าเป็นเช่นนั้น  แต่ก็มีเรื่องเล่าว่าก่อนที่รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงพบรักกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีนั้น  พระองค์เคยมีพระราชหฤทัยปฏิพัทธ์กับเจ้านายสตรีในราชสกุลองค์หนึ่งอยู่ก่อนด้วย   แต่ต่อมาภายหลังก็ทรงเหินห่างจากเจ้านายพระองค์นั้นไป   อยากทราบว่าเป็นเจ้านายสตรีองค์ไหน  อ่านหนังสือของหม่อมเจ้าพูนพิศมัยก็คงทราบ   :-X


กระทู้: 'เสด็จ' ในเรื่องสี่แผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 28 ก.พ. 10, 22:47
ต่อครับผม


เสด็จนั้น  มีมากมายหลายพระองค์ก็จริง  ทรงมีวุฒิแตกต่างกันไป  แม้แต่อาหารที่ตั้งเครื่องก็มีรสไม่ตรงกัน  เช่น  เครื่องที่บน  (สมเด็จพระพันปีหลวง)  มักจะแก่หวานจัด  เครื่องพระตำหนัก  (สมเด็จพระพันวัสสา)  ก็ลดหวานลงมีผักมากขึ้น  ไม่สู้จะมีไขมัน  เครื่องพระนาง  (สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลย์มารศรี  พระราชเทวี)  ก็มักจะเค็มนำ  แต่ก็จะต้องมีหมูหวานยืนเครื่องทุกพระองค์  ...


เสด็จบางพระองค์ไม่เหมือนใคร


แม่เคยพาผมไปเฝ้าเสด็จพระองคืหนึ่งซึ่งแต่งพระองค์สะอาดเรียบร้อยที่สุด  ตำหนักก็สะอาดหาที่ติมิได้


ระหว่างที่กราบเสด็จอยู่นั้นได้ยินเสียงเสด็จทรงทักแม่  แต่ผมมัวแต่ก้มหน้ามิได้มองอะไร


พอเงยหน้าขึ้นมาก้แลเห็นและได้ยินเสด็จรับสั่งกับเสาตำหนักว่า  "ชื่ออะไรจ๊ะ"


ผมเป็นเด็กโง่  จึงไม่ทูลตอบ  แต่คอยฟังว่าเสามันจะทูลเสด็จว่ามันชื่ออะไร


เท่านั้นแม่ผมก็ซัดเผียะเข้าที่ขาและดุด้วยเสียงกระซิบว่า  "เจ้านายทรงรับสั่งถามด้วยทำไมไม่ทูล"


ผมก็ร้องเยขึ้นตามประสาเด็กโง่  แต่ก็ได้มองเห็นทั้งน้ำตาว่า  เสด็จทรงชี้นิ้วไปที่กระโถนเงินบ้วนพระโอษฐ์  และกระดิกนิ้วพระหัตถ์เป็นเชิงตักเตือนแล้วรับสั่งว่า


"แม่แดงก็ทำลูกแรงเกินไป  เด็กตัวเล็กเท่านี้จะให้แกรู้อะไรมาก"


ผมก็ตกตะลึงว่ากระโถนของเสด็จชื่อเดียวกับแม่ผม


ต่อไปแม่ก็ทูลเสด็จแบบคนเข้าเฝ้า  เสด็จก็รับสั่งตอบเป็นปกติได้เรื่องราว  แต่ก็รับสั่งกับของใช้ที่วางอยู่ในห้องที่ประทับทุกครั้งไป


-----  จบแล้วคับ  -----


นี่แหละค่ะ ที่ดิฉันอยากรู้จริงๆคือเสด็จพระองค์นี้เป็นพระองค์ใด......คือคาใจมานานมากแล้วค่ะ