เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 29 ส.ค. 10, 16:09



กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ส.ค. 10, 16:09
อ้างถึง
นอกจากเรื่องราวทางการเมืองที่เข้มข้น หม่นมืดแล้ว ยุคนั้นยังมีอีกด้านหนึ่งที่สว่าง(?) และ
มีเสน่ห์อย่างยิ่งนั่นก็คือ ศิลปะ วัฒนธรรม
           ไม่ว่าจะเป็น หนัง ละคร เพลงปลุกใจ เพลงจูงใจ ผลงานของหลวงวิจิตรฯ ครูเอื้อ ฯลฯ
สถาปัตยกรรม, ประติมากรรม ปรากฏเป็นตึกราม อนุสาวรีย์ และ วิถีชีวิตวัฒนธรรมการแต่งกาย
ภาษา(วิบัติ) อาหาร

สรุปว่า ถ้าเป็นไปได้ อยากให้แยกซอยหนึ่งเป็นกระทู้ใหม่เรื่อง   ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป. ครับ


ผมเห็นด้วยครับที่จะแยกเรื่องนี้ออกไปเป็นกระทู้ใหม่ เพราะเรื่องศิลปวัฒนธรรมไทยยุคจอมพลป.เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อคนไทยมากมาย มีทั้งดีและไม่ดี บางเรื่องที่ทำไปก็ยืนยงมาจนทุกวันนี้ ส่วนบางเรื่องแม้จะยังไม่สิ้นยุคสิ้นสมัย ก็จอดสนิท

ผมไม่สามารถจะเรียบเรียงออกมาจากสมองได้ในขณะนี้หรอกนะครับ แม้จะมีหนังสือดีๆอยู่ข้างตัว อยากจะจบเรื่องเกี่ยวกับการเมืองเสียก่อน มิฉะนั้น ไม่เพียงแต่ผู้จะเขียนสับสวิตช์ไม่ทันเท่านั้น สมองผู้อ่านก็คงจะเกิดการลัดวงจรจนสลับสับสนไปด้วย เพราะศิลปวัฒนธรรมไทยยุคจอมพลป.ไม่ได้เกิดจากจินตนาภาพบริสุทธิ์ หากวางเป้าหมายไว้ที่การสร้างภาพการเมืองที่ท่านผู้นำอยากจะให้เป็น 

ก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรหรอกนะครับ ฝรั่งเขาก็ทำกันมานมนาน เพียงแต่ว่าเขามือถึงกว่า
เอาเป็นว่า ผมขอติดไว้ก่อนก็แล้วกันนะครับ แล้วจะกลับมาว่ากันในเรื่องนี้ใหม่ ถ้าทอดเวลาไปสักนิด ท่านอาจารย์เทาชมพูก็คงจะได้เข้ามาเติมให้ได้ มากกว่าที่ท่านแย้มไว้ข้างบน


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 10, 16:25
อ้างถึง
ถ้าทอดเวลาไปสักนิด ท่านอาจารย์เทาชมพูก็คงจะได้เข้ามาเติมให้ได้ มากกว่าที่ท่านแย้มไว้ข้างบน

เรียนท่านประธานที่เคารพ
เล่นไม้นี้กันเลยหรือคะ ท่าน    :o


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ส.ค. 10, 16:38
^
ครับผม


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 29 ส.ค. 10, 17:26

จินตนาการความรู้และความบันเทิงขนานมหึมาที่กำลังจะได้อ่าน  แล้วรื่นเริง


ก็คงต้องเริ่มที่กระทรวงวัธนทำ

ตัวบุคคลที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำ  คณะผู้ทำงาน

จดหมายส่วนตัวของท่านจอมพลที่พรมน้ำหอม(น่าจะกลิ่นตาบู  ไม่น่าจะใช่กลิ่นตุ๊กตาคู่)ข้อมูลมีอยู่ในเล่มศตวรรษสีเขียว

ยัยแหม่มชื่ออะไรหนอที่รับทำหมวกจนรวยอึดทึ่ด   คนที่ทำหมวกขายนี่ไม่ใช่สกุลผู้ดีแน่นอน(เคยมีบทสัมภาษณ์ที่ไหนสักแห่ง)

การสมรสหมู่ที่เจ้าสาวต่างมีเวลผ้าโปร่ง(ดูจากรูปสมัยนั้น)

การเลี้ยงน้ำชา  การทำแซนวิช  การทำก๊วยเตี๋ยว  กระทรวงที่ทำแล้วท่านจอมพลลืมชม  ไปชมกรมที่ไม่ได้ทำ

กระทู้แปลกๆในสยามรัฐถามว่าใครชอบกินมะม่วงแก้วหรือมะม่วงเนื้อละเอียด  (ทำหายไปในกองสมบัติแล้วจ้ะ  ปีนี้คงหาไม่เจอ)

เครื่องเพชรของท่านผู้หญิง(ในเล่มศตวรรษสีเขียวปกแข็งมีพาดพิงถึงนิด ๆ)



     มาเพื่ออ่านอย่างเดียวเจ้าค่ะ     เพราะมีสนธืสัญญาผูกมัดหลายฉบับ 

ต้องเฝ้ากระทู้หนังสืออนุสรณ์  กลัวปลวกขึ้นเพราะไม่มีคนอ่าน

ว่าจะเล่าเรื่อง  "ห้าแผ่นดิน" (หรือ ท่านผู้หญิงที่ทั้งมารดาและมารดาสามี ก็เป็นท่านผู้หญิง)


เขียนแบบนี้จะเรียกว่าสนับสนุนได้กระมังคะ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 10, 17:38
คุณวันดีแง้มฝาหีบสมบัติให้ดูแว๊บบบบเดียว แล้วปิด   :'(
ในช่วงสายฟ้าแลบ ทันเห็นคำนี้

อ้างถึง
ว่าจะเล่าเรื่อง  "ห้าแผ่นดิน" (หรือ ท่านผู้หญิงที่ทั้งมารดาและมารดาสามี ก็เป็นท่านผู้หญิง)

อยากฟังเรื่องท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา  ค่ะ  จนป่านนี้ดิฉันยังจำไม่ได้สักที ว่าท่านชื่อดุษฎี (เฉยๆ) หรือดุษฎีมาลา


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 29 ส.ค. 10, 22:19
ผมเห็นรูปใน คคห ๓๖๖ แล้วแว่วเสียงเพลง Santalucia มาแต่ไกล
ซูมา เร ลูชิก้า ลาสโทร ดาเจนโทร...........


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 ส.ค. 10, 22:29
ถูกต้องครับ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี สุดยอดปฏิมากรระดับปรมาจารย์ผู้มีอิทธิพลต่อศิลปกรรมยุคจอมพลป.อย่างมาก   แต่....


ไปว่ากันกระทู้โน้นนะครับ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 10, 22:41
ถ้ารวมอาจารย์ศิลป์ด้วย ก็พอจะแจมได้บ้างเล็กน้อยค่ะ



กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 30 ส.ค. 10, 09:20
จะรอคอยกระทู้ในฝัน ครับ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 10, 09:33
กระทู้ศิลปวัฒนธรรมสมัยจอมพล ป.  เป็นมหากาพย์ระดับยักษ์อีกกระทู้หนึ่งแน่นอน     แค่หัวข้อย่อยแต่ละข้อก็ปั่นได้เกิน ๑๐๐ ค.ห.อยู่แล้ว

ลองภาสาวัธนธัม ซ้อมมื(ไม่มีตัว อ) ไปก่อน

ดิฉันเชื่อว่าคุนสิลาน่าจะซาบข้อมูนด้านวัธนธัมของท่านผู้นำมากทีเดียว     ขอเชินมาร่วมวงไพบูนด้วยนะคะ
ส่วนตั้งกระทู้    คุณนวรัดพร้อมเมื่อใด ท่านก็คงตั้งเมื่อนั้นค่ะ

ปัดฉิมลิขิด :  พาบจอมพลป. ที่คุนสิลาหามา   ชักพาบออกมาสวยทุกพาบเลย  

 ;)


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 ส.ค. 10, 09:41


อยากฟังเรื่อง วรรณคดีสาร(เคยเห็นอยู่แถวนี้ ๑ เล่ม) และ วัฒนานุเบกษา(หายากมาก)

เรื่องคุณหลวงสารานุประพันธ์พอจะคุยได้บ้าง  ไม่มากไม่น้อยไปกว่านักอ่านทั่วไป


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 30 ส.ค. 10, 10:00
ขอเพิ่มเติมอีกสัก 1 เรื่องค่ะ

นอกจากเรื่อง ศิลปะ และ วัฒนธรรม แล้ว สมัยเด็กจำได้ลางเลือนเต็มที ไม่แน่ว่าจะถูกต้องหรือไม่คือ

ท่านจอมพลคนหัวปี เป็นผู้สนับสนุนส่งเสริมให้คนไทยกินก๋วยเตี๋ยวกันอย่างแพร่หลาย เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมใหม่
จนมีเรื่องคุณหลวง ซ่อนห่อก๋วยเตี๋ยวไว้บนหัว เอาหมวกสวมทับไว้ พอเดินมาเจอคนรู้จัก ต้องทักทายกันอย่างตะวันตก ด้วยการเปิดหมวก ความลับก็แตกพร้อมกับหน้าคุณหลวง

ก๋วยเตี๋ยวแม้จะมีคนจีนนำเข้ามากินนานแล้ว แต่ก็เป็นแต่ในหมู่คนจีน
หลังจากรัฐบาลส่งเสริม ก๋วยเตี๋ยวก็อยู่ยงคงกระพัน และ แพร่หลายไปทั่วประเทศจนบัดนี้


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 10, 10:04
หนังสือที่คุณวันดีเอ่ยถึง ไม่เคยอ่านค่ะ  ต้องขอแรงคุณวันดี
เรื่องคุณหลวงสาราฯ ท่านเป็นหนึ่งในคนสนิทของจอมพลป. ส่วนดิฉันจำได้แต่ผลงานเรื่อง"แพรดำ" กับเรื่องแปล The Hound of Baskervilles

ก๋วยเตี๋ยวที่คุณร่วมฤดีพูดถึง เป็นเรื่องฮิทติดอันดับเมื่อปี 2485 น้ำท่วมใหญ่  มีการชักชวนให้ทำและกินก๋วยเตี๋ยวกันทั่วบ้านทั่วเมืองค่ะ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 ส.ค. 10, 14:48
ถ้าหากใครมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่อง "โหมโรง" คงได้เห็นบรรยาศของความอึดอัดใจของนักดนตรีไทยสมัยจอมพล ป.

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างอิงประวัติชีวิตของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ปรมาจารย์ด้านดนตรีไทยท่านหนึ่ง

รอบที่ฉายหน้าพระที่นั่ง หลังทอดพระเนตรจบ สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ รับสั่งถามทายาทของหลวงประดิษฐ์ไพเราะที่มารอเข้าเฝ้าฯ อยู่ว่า "พบเนื้อเพลงแสนคำนึงหรือยัง?" คุณหญิงทายาทหลวงประดิษฐ์กราบบังคมทูลว่า "ยังไม่พบ สูญหายไปตั้งแต่สมัยจอมพล ป. เพคะ"

เพลง "แสนคำนึง" คือเพลงระบายความอึดอัดใจนั้นออกมา

http://www.youtube.com/watch?v=rSgVz67fWTo


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 31 ส.ค. 10, 14:58
การมองข้ามวัฒนธรรมเดิมของไทย ไปนิยมฝรั่ง ดูจะเป็นเรื่องวุ่นวายนะคะ

การเต้นรำแบบ Ball Room กับการรำวงมาตรฐาน เข้าใจว่าจะอยู่ในยุคท่านจอมพล ป.ทั้งคู่

อันไหนมาก่อน ใครเกิดทันช่วยกรุณาแถลงให้หายสงสัยด้วยค่ะ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ส.ค. 10, 21:11
รำวงมาตรฐาน มีขึ้นในสมัยวัธนธัมของจอมพลป.   ฟังจากเนื้อร้องก็รู้ว่าเป็นเรื่องชาตินิยม    เข้าใจว่าคนแต่งเนื้อคือท่านผู้หญิงละเอียด
คำว่า "ดอกไม้ของชาติ" ก็คือศัพท์สมัยนี้ละค่ะ
ส่วนลีลาศแบบบอลรูม  เข้ามาก่อน   มีหนังสือเอ่ยถึงการเต้นเวียนนาวอลทซ์ที่วังไกลกังวล ตั้งแต่รัชกาลที่ ๗  เคยได้ยินมาว่าหม่อมกอบแก้ว อาภากรฯ เต้นรำจังหวะวอลทซ์ได้เก่งมาก


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 01 ก.ย. 10, 06:49
ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพกล่าวถึง "สี่ปุโรหิต" ในยุควัธนธัมนำไทยไว้ว่า

"ในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น  กล่าวกันว่า พระราชธรรมนิเทศนั้นได้เป็นหนึ่งใน “สี่ปุโรหิต” คู่บารมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม  ซึ่งที่มาของชื่อเรียกนี้มาจากการที่จอมพล ป. มักพูดอยู่เสมอว่า ในมโหสถชาดกนั้น  มีปุโรหิตอยู่สี่คนที่ช่วยว่าราชการงานต่าง ๆ ให้กับมโหสถ  และโดยส่วนตัวท่านเองนั้นก็มี “ปราชญ์” สี่คนคอยช่วยงานการด้วยเช่นกัน คือ  “ยง  เถียร  เพียร  นวล”  อันหมายถึง พระยาอนุมานราชธน (ยง  เสฐียรโกเศศ)  หลวงวิเชียรแพทยาคม (เถียร  ตูวิเชียร)  พระราชธรรมนิเทศ (เพียร  ไตติลานนท์) และหลวงสารานุประพันธ์ (นวล  ปราจิณพยัคฆ์) 

ในยุควัธนธัมนำไทยนั้น  ได้มีการปรับปรุงภาษาไทยครั้งใหญ่  ซึ่งกล่าวกันว่า เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยได้ยินยอมให้ญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย  เพื่อทำสงครามปลดปล่อยชนผิวเหลืองในสงครามมหาเอเชียบูรพา  และแม่ทัพญี่ปุ่นได้ยื่นข้อเรียกร้องแก่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นว่า ภาษาไทยนั้นเรียนรู้ได้ยาก  เพราะมีพยัญชนะ  สระ และวรรณยุกต์หลากหลายมาก  เพื่อความสะดวกจึงเห็นสมควรให้ใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาราชการแทน  จอมพล ป.  พิบูลสงคราม จึงหาทางออกโดยแจ้งให้แม่ทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยทราบว่า ประเทศไทยมีภาษาอยู่สองชุด ชุดแรกสำหรับใช้ในราชการซึ่งอาจจะเรียนยากสักหน่อย  ส่วนอีกชุดสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันและสามัญชนทั่วไปนิยมใช้กัน  ซึ่งชุดนี้น่าจะตรงกับความต้องการของญี่ปุ่น  แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยมิได้แบ่งภาษาออกเป็นสองชุดอย่างที่แจ้งแก่ญี่ปุ่น  ด้วยเหตุนี้จึงมีการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีและแต่งตั้งคณะกรรมการวัธนธัมไทยขึ้น  มีจอมพล ป.  พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานกรรมการ พระยาอนุมานราชธน (ยง  เสฐียรโกเศศ) และพระราชธรรมนิเทศ เป็นรองประธานกรรมการคนที่ ๑ และ ๒ ตามลำดับ  กับมีผู้ทรงคุณวุฒิทางภาษาอรกอีก ๒๓ คนร่วมเป็นกรรมการ  คณะกรรมการปรับปรุงตัวอักษรไทยนี้  ใช้เวลาประชุมเพียง ๒ ครั้ง  ในวันที่  ๒๓ และ ๒๖ พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๘๕  ก็สามารถปรับปรุงตัวอักษรไทยแล้วเสร็จ  และได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี  เมื่อวันที่  ๒๙  พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๘๕  กำหนดให้ลดรูปพยัญชนะไทยลงเหลือเพียง ๓๑ ตัว  ประกอบด้วยอักษร “ก ข ค ง จ ฉ ช ซ ญ ด ต ถ ท ธ น บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ส ห อ ฮ “  กับได้มีการตัดสระ ใ (ไม้ม้วน) ออก  ส่วนตัว “ทร” ให้ใช้ “ซ” แทน  และได้ตัดเชิงล่างของ “ญ” ออก" 


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ย. 10, 07:51

ต่อจากความเห็นของคุณวีหมี

ผมเคยได้อ่านเรื่องที่มาอธิบายกันตอนหลังว่า ต้นเหตุที่จอมพลป.คิดและผลักดันภาษาไทยวิบัติขึ้นมาในช่วงนั้น เพราะญี่ปุ่นจะบังคับให้บรรจุภาษาญี่ปุ่นให้เรียนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาบ้าง ให้เป็นภาษาราชการของไทยบ้าง ผมก็ฟังหูไว้หู มิอยากเชื่อไปทั้งหมด เพราะมันเป็นไปได้ยากที่จะเป็นเช่นนั้น ด้วยว่า

1 ในประเทศที่ญี่ปุ่นปลดปล่อยแท้ๆ อย่าง มลายู และสิงคโปร ไม่พูดถึงจีนและฟิลลิปปินส์เพราะผมไม่ทราบ แต่สองประเทศดังกล่าวข้างต้นญี่ปุ่นยังทำไม่ได้เลย นอกจากผลักดันให้มีการสอนในระดับสูงๆ เท่านั้น

2 ญี่ปุ่นอาจจะมาปรารภเรื่องความซับซ้อนของภาษาไทยจริง ผมเคยมีเพื่อนญี่ปุ่นคนหนึ่ง บริษัทส่งมาทำธุรกิจในเมืองไทยแต่อาศัยเป็นคนมีพรสวรรค์ทางภาษา เลยสนใจเรียนภาษาไทย เรียนแล้วก็มาบ่นอย่างว่าและแสดงความเห็นว่า ถ้าอักษรไทยทำให้ง่ายลงแบบญี่ปุ่นมีตัวอักษรคันจิ(อักษรดั้งเดิมที่เอามาจากจีน)  และตัวคะตะคะนะ ที่คิดขึ้นใหม่ให้ง่ายลงมาก และสามารถออกเสียงตามภาษาต่างประเทศได้ ก็จะดี (เพื่อนคนนี้เก่งมาก เรียนการศึกษาผู้ใหญ่ของไทยอยู่2ปีก็สอบเทียบประถม4ได้) ผมคิดว่าตอนนั้นญี่ปุ่นคงมาขายไอเดียนี้ให้จอมพลป. แล้วท่านอาจจะเห็นดีเห็นชอบ อยากให้ภาษาไทยมีศัพท์แสงและตัวสะกดง่ายลงเช่นนั้นบ้างก็ได้

3 สมมุติว่าญี่ปุ่นมาขอร้องแกมบังคับไทยจริงๆให้หลักสูตรไทยสอนภาษาญี่ปุ่น ในฐานะผู้นำประเทศ ถ้าเห็นว่าหากฝืนไม่ได้จริงๆ เพราะญี่ปุ่นใหญ่มากและจะใหญ่อย่างนั้นไปอีกนานๆในโลกนี้ การเรียนภาษาญี่ปุ่นก็มีประโยขน์ในการสื่อสัมพันธ์กับเขาเช่นภาษาอังกฤษนั่นแหละ เรียนไว้เป็นภาษาที่2 ก็ไม่น่าจะเสียหาย
แต่หากว่า ญี่ปุ่นไม่ใหญ่จริง แต่แพ้สงครามตามอย่างที่เป็นไป ก็เลิกเรียน เหมือนในมลายูและสิงคโปรที่กลับไปเรียนภาษาอังกฤษเหมือนเดิม ไม่เห็นจะต้องไปทำอะไรกับภาษาไทยของเราถึงขนาดนั้น

4 ภาษาไทยของจอมพลป. มิใช่แค่อักขระวิบัติ แต่เป็นภาษาวิบัติ มีความมุ่งหมายที่จะปฏิวัติภาษาไทยแบบหลวงเสียใหม่ให้สมกับที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้ว ยกตัวอย่าง เช่น สรรพนามทั้งหมดที่แสดงระดับชนชั้นของบุรุษที่1กับที่2 เปลี่ยนเหลือเพียงท่านกับฉัน การวันเฉลิมพระชนม์พรรษาให้เปลี่ยนไปใช้ในเกิดในพระเจ้าอยู่หัว แทนเป็นต้น

ผมจึงคิดว่า การที่มาบอกภายหลังว่าที่ทำไปอย่างนั้น เพราะญี่ปุ่นอย่างโน้นอย่างนี้ ผมจึงเห็นว่าเป็นเพียงข้อแก้ตัว หลังจากถูกคนไทยด่ายับเยินไปแล้ว


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 10, 11:15
มาดึงกระทู้ขึ้น

ภาสาไทยของจอมพน ป.  ถ้าหากว่ายังไช้กันหยู่   ย่อมมีผนไห้วิชา "นิรุกติศาสตร์"  สาบสูนไปจากประเทสไทยโดยสิ้นเชิง  รวมทั้งราชบันดิดก็จะไม่มีงานทำ   ออกพดจะนานุกรมไม่ได้    เพราะการสะกดแบบไหม่นี้  จะปิดกั้นพัธนาการ(สะกดถูกไหมเนี่ย)ไม่ไห้เราเห็นได้เลยว่า สัพท์แต่ละคำมีที่มาจากภาสาใด   ทำไมถึงสะกดด้วยอักสรตัวนี้ ไม่ไช่ตัวนั้น  และเราก็จะไม่มีหลักเกนท์บอกได้ด้วยว่า คำที่ถูกต้องเปนหย่างไร

โอย เหนื่อย


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ย. 10, 11:19
ในโอกาสเปิดเป็นกระทู้ใหม่ ขอเรื่มต้นแบบเป็นทางการเสียหน่อย
อะไรที่เป็นทางการของผม แปลว่าไปลอกเขามาครับ

ในสมัยที่รัฐบาลจอมพลป.พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของวัฒนธรรมไทยให้เป็นไปตามสากลสมัยนั้น  ได้ออกระเบียบแบบแผนในนามของนายกรัฐมนตรีหรือเป็นคำสั่งของสำนักนายกรัฐมนตรี แด่ไม่มีหน่วยงานที่จะรับไปดำเนินงานโดยเฉพาะ ฉะนั้นรัฐบาลจึงได้ออกพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๔๘๕ ขึ้นฉบับหนึ่ง เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๘๕ มีข้อความสำคัญตอนหนึ่งว่า (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

   
มาตรา ๘ ไห้จัดตั้งสภาวัธนธัมขึ้นสภาหนึ่งเรียกว่า “สภาวัธนธัมแห่งชาติ”และไห้สภานี้เป็นนิติบุคคล
มาตรา ๙ ไห้สภาวัธนธัมแห่งชาติมีหน้าที่
(๑) ค้นคว้า ดัดแปลง รักสาและส่งเสริมวัธนธัมแห่งชาติที่มีอยู่
(๒) ค้นคว้า ดัดแปลง รักสาและส่งเสริมวัธนธัมแห่งชาติที่มีอยู่
(๓) เผยแพร่วัธนธัมแห่งชาติไห้เหมาะสมกับกาลสมัย
(๔) ควบคุมและหาวิธีปลูกฝังวัธนธัมแห่งชาติในจิตไจของประชาชนจนเป็นนิสัย
(๕) ไห้ความเห็น รับปรึกสาและปติบัติการตามความมุ่งหมายของรัฐบาลไนกิจการอันเกี่ยวกับวัธนธัมแห่งชาติ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ย. 10, 11:21
การจัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาตินั้นได้จัดทำกันอย่างฉับไว คือได้ประกาสพระราชบัญญัติข้างต้นในหนังสือราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๔๘๕ ซึ่งหมายความว่ามีผลบังคับใช้ในวันนั้น และในวันที่ ๒๙ กันยายนนั้นเอง ทางราชการก็ได้ประกอบพิธีเปิดสภาวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้นที่วังบางขุนพรหม ซึ่งมีรายละเอียดตามข่าวของกรมโคสนาการ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๔๘๕ ดังต่อไปนี้

 “ทางราชการได้ประกอบพิธีเปิดสภาวัธนธัมแห่งชาติ น สถานที่วังบางขุนพรหม พระนคร เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน สกนี้ โดยตอนเช้าเวลา ๑๐.๐๐ น. พระเถระ ๑๐ รูป มีสมเด็ดพระวันรัตวัดมหาธาตุเปนประธานจเรินพระพุทธมนต์และประน้ำโปรยซายพระพุทธมนต์ เส็ดแล้วถวายภัตตาหาร

ตอนบ่ายเวลา ๑๖.๐๐ น. พนะท่านนายกรัฐมนตรีไปยังวังบางขุนพรหม จุดธุปเทียนนมัสการพระและสมาทานสีลแล้ว รัถมนตรีว่าการกระซวงสีกสาธิการอ่านรายงานเชินกะทำพิธีเปิด พนะท่านนายกรัถมนตรีกล่าวตอบ แล้วออกจากปรำพิธีไปที่หน้าประตูไหย่กดดุมปล่อยกะแสไฟฟ้าเปิดป้ายผ้าคลุมสภาวัธนธัมแห่งชาติ ขณะนี้พระสงค์สวดชัยมงคลคาถา เจ้าหน้าที่กรมสิลปากรลั่นค้องชัย และประโคมเครื่องดุริยางค์ จบแล้วพนะท่านนายกรัถมนตรีถวายจตุปัจจัยไทยธัมพระสงค์อนุโมทนาแล้วเปนเส็ดพิธี ต่อจากนี้ เลขาธิการสภาวัธนธัมแห่งชาติเชินพนะท่านนายกรัถมนตรีไปสู่ตัวตึกวัธนธัมสถานซึ่งได้จัดไห้เปนที่เลี้ยงน้ำชา และเริ่มการเลี้ยงจ้ำชาแขกที่มาไนงานนี้โดยทั่วกัน ไนระหว่างการเลี้ยงพนะท่านนายพันเอกประยูร ภมรมนตรี รถมนตรีว่าการกะซวงสึกสาธิการ ได้กล่าวเชินชวนดื่มเพื่อกล่าวตอบ และชวนดื่มเพื่อความสำเหร็ดและความมั่นคงสถาพรของสภานี้ ไนงานนี้ทางราชการได้เชินคณะรัถมนตรี อธิบดีและข้าราชการชั้นพิเสสซึ่งเปนแขกผู้มีเกียรติมาประชุมเปนจำนวนประมาณ ๒๐๐ คน”

 ป้ายสภาวัฒนธรรมแห่งชาติดังกล่าวติดไว้เหนือประตูระหว่างเสาใหญ่ทั้งสองตรงหัวมุมวังบางขุนพรหมด้านสี่แยกบางขุนพรหมปัจจุบันนี้


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 10, 11:21
ตัวหย่างคำสะกดด้วยภาสาวัธนธัม

ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุด             ไม่สิ้นสุดความรักสมัคสมาน
แม้ เกิด ในใต้หล้าสุทาทาน           ขอพบพานพิสวาดไม่คลาดคลา
แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหันนบ            พี่ขอพบศรีสวัดเป็นมัดฉา
แม่เป็นบัวตัวพี่เป็นพุมรา             เชยผกาโกสุมปทุมทอง
เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่             เป็นราชสีสมสู่เป็นคู่สอง
จะติดตามซามสงวนนวลละออง         เป็นคู่ครองพิสวาดทุกชาดไป


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ย. 10, 11:23
นี่ก็ตัวอย่างครับ


เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษา ขอนำคำกล่าวเชิญของพณท่านพันเอกประยูร ภมรมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชา ในการเปิดสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๔๘๕ มารวมไว้ด้วย ดังต่อไปนี้

กราบเรียน พนะท่านนายกรัถมนตรี เนื่องด้วยได้มีประกาสพระราชบัญญัติวัธนธัมแห่งชาติ โดยกำหนดไห้มีสภาวัธนธัมแห่งชาติขึ้นทางราชการจึงได้จัดการประกอบพิธีเปิดสภาขึ้นไนวันนี้ แต่โดยที่ได้กำหนดการกะทันหัน กิจการบางหย่างอาดไม่สมบูรน์จึงขอประทานอภัยไนที่นี้ด้วย วัธนธัมย่อมเปนของคู่กับชาติ ครอบงำชีวิตและความเปนหยู่ของชาติทั้งไนทางจิตไจ ขนบทำเนียมประเพนีการครองชีพ ตลอดจนสิลปกัมนานาประการ วัธนธัมจึงเปนรากถานอันสำคัญยอดยิ่งไนความมั่นคงและความจเรินของชาติ ซึ่งนานาประเทศต่างเร่งส่งเสิมและเผยแพร่หยู่หย่างขมักขเม้นถ้าชาติไดรักสาวัธนธัมของตนไว้ได้มิไห้เสื่อมคลาย หรือสามาถขยายไห้ไพสาลไปได้ ก็ย่อมถึงซึ่งวัธนธัมอันพึงครอบจิตใจ และความเปนหยู่ของชาตินั้น ๆ ไว้ได้โดยสิ้นเชิง ตามที่ได้มีพระราชบัญญัติวัธนธัมแห่งชาติ พุทธสักราช ๒๔๘๕ และพระราชกริสดีกากำหนดวัธนธัมออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น ก็ได้เปนไปไนทางกำหนดไห้ราสดประพรีติปติบัติไนบางประการอันเปนปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อวัธนธัมแห่งชาติ แต่วัธนธัมยังมีกิจการอื่นอีกมากหลายอันจะพึงต้องปลูกฝังและจัดทำเพื่อความวัธนาถาวรของชาติ ด้วยเหตุนี้จึงเปนการสมควนยิ่งที่จะได้มีองค์การกลางเกี่ยวกับการส่งเสิมวัธนธัมของชาติขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อกำหนดรูปลักสนะและแนวประสานตลอดจนการควบคุมวัธนธัมประจำชาติไว้ไห้มั่นคงไห้จเรินงอกงาม และสามารถแผ่ขยายไปไห้เหมาะสมกับนโยบายได้อีกด้วย ฉะนั้น สภาวัธนธัมแห่งชาติที่ได้กำเนิดขึ้นนี้ ก็เปนที่หวังว่าจะได้เปนกำลังสำคันไนการปรับปรุง บำรุงและส่งเสริมวัธนธัมแห่งชาติไทยไห้ไพบูลย์ยิ่งขึ้นตามลำดับสมกาลสมัย และวัธนธัมอันได้รับการทำนุบำรุงแล้วนี้ก็จะส้างความเข้มแขงเชิดชูและรักสาชีวิตของประเทสชาติไว้ได้อย่างมั่นคง ซึ่งเปนยอดปราถนาของมวนชนชาวไทยยามนี้ นะบัดนี้ ลุสุภดิถีมงคลเริกส์แล้ว ไนนามของสภาวัธนธัมแห่งชาติ ขอเชินพนะท่านนายกรัถมนตรีกะทำพิธีเปิดป้ายนามวัธนธัมสถาน เพื่อได้เปนแหล่งกลางแห่งวัธนธัมของชาติ เป็นสรีสง่าแก่ประเทสไทยสืบไปตลอดกาลนาน


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ย. 10, 11:25
 เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวจบแล้ว ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติกล่าวตอบ ดังต่อไปนี้


ท่านรัถมนตรีว่าการกะซวงสึกสาธิการ และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ฉันได้ฟังรายงานจัดตั้งสภาพวะนธัมแห่งชาติ ด้วยความสนไจยิ่ง และฉันขอสันเสินความพยายามของท่านทั้งหลายที่ได้ร่วมแรง ร่วมไจกันประกอบก่อไห้เกิดผลเปนวัธนธัมสถานอันน่าชื่นชมยินดี นักประวัติสารทแม้ที่เปนชาวต่าวชาติ ก็ได้ยอมรับว่าชาติไทยของเรานั้นได้มีวัธนธัมอันดีมาแต่โบราณกาล นักปราชญ์ชาวตะวันตกหลายคนที่เขียนบรรยายความเปนไปแห่งชาติไทยในสมัยโบราณก็ยอมรับว่า ไทยมีวัธนธัมอย่างสูงไม่น้อยกว่าชาติได ๆ ไนสมัยเดียวกัน แต่ประวัติสารทของไทยเราเต็มไปด้วยความลำบากยากแค้นมาตลอดกาล เราต้องทำการรบต่อสู้เพื่อความเปนหยู่ของชาติมาทุกสมัย ความสนไจไนทางวัธนธัมได้ลดน้อยลงไปไนสมัยหลัง ๆ แต่เราย่อมซาบกันอยู่ดีแล้ว ว่าความจเรินก้าวหน้าของชาตินั้น วัธนธัมเปนส่วนสำคัญยิ่ง ความงอดงามทางวัธนธัมย่อมเปนความงอกงามของชาติด้วยเหมือนกัน อนึ่งไนโลกสมัยปัจจุบันนี้ ไม่มีชาติไดจะสามารถปลีกตัวอยู่โดดเดี่ยว โดยไม่เกี่ยวข้องกับชาติอื่น ๆ ซึ่งเป้นเพื่อร่วมโลก เราจำเปนต้องมีการติดต่อทางคมนาคมและสังคม และไนการที่จะติดต่อกับชาติทั้งหลายนั้น เราก็จำเปนต้องมีวัธนธัมไห้เสมอกับชาติอื่น ๆ ถ้ามิฉะนั้นก็ไม่มีใครหยากมาติดต่อด้วย หรือถ้ามาติดต่อด้วยก็มาไนถานที่เปนผู้มีความจเรินมากกว่าเรา กะทำไห้เราเปนชาติที่ต่ำต้อยและไนที่สุดก็จะต้องถูกบังคับไห้หยู่ไต้อำนาด แต่ถ้าวัธนธัมดีเท่ากันเราก็สามาถจะรักสาเกียรติศักดิ์ความเปนเอกราชและทุกสิ่งทุกหย่างของเราไว้ได้ ด้วยเหตุดั่งนี้ไนระหว่างเวลา ๔ – ๕ ปีนี้ เราจึงได้ทำความพยายามขวนขวายบำรุงวัธนธัมแห่งชาติหย่างขมักขเม้นเริ่มต้นตั้งแต่ตัวคนไปจนถึงวัตถุเครื่องอุปโภคบริโภค เราพยายามส้างวัธนธัมทั้งไนทางกายและไนทางไจและบัดนี้เราก็ได้เห็นกันแล้วว่าวัธนธัมนั้นมีความสำคันหยู่เพียงได เราจำเปนต้องตั้งหน้าทำการบำรุงกันต่อไป และเมื่อมาถึงขั้นนี้ การที่จะทำงานบำรุงวัธนธัมแต่เพียงเปนงานปลีกย่อยหรืองานอดิเรกนั้นย่อมไม่เพียงพอ เราจำจะต้องทำกันเปนงานไหย่ และต้องทำกันหย่างจิงจัง ฉะนั้นฉันจึงชื่นชมยินดีไนการที่ท่านทั้งหลายได้ลงแรงจัดตั้งวัธนธัมสถานขึ้น และฉันมีความปลาบปลื้มที่ได้เห็นงานตั้งวัธนธัมสถานเปนผลสำเหร็ดไนวันนี้ บัดนี้ถึงอุดมเริกส์ ฉันจึงขอตั้งสัตยาธิถานอาราธนาคุณพระสรีรัตนตรัยช่วยอภิบาลรักสาสภาวัธนธัมแห่งชาติ ซึ่งฉันจะได้เปิดขึ้นนะบัดนี้ ไห้จเรินถาวร และขอไห้ผู้ประกอบก่อส้างสภาวัธนธัมแห่งชาตินี้ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ที่จะดำนเนินงานต่อไป จงประสบความสุขสวัสดี และความสำเหร็ดไนงานการทั้งหลาย เพื่อไห้สภาวัธนธัมแห่งชาตินี้เปนอุปกรณ์เครื่องชูเกียรติ และส่งเสิมความรุ่งโรจน์สถาพรแห่งประเทสชาติที่รักของเรา ด้วยสัตยาธิถานอันนี้ฉันขอเปิดวัธนธัมสถานนะบัดนี้”


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ย. 10, 11:26
เมื่อตั้งวัธนธัมสถานขึ้นแล้วคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทยในยุคนั้น ได้ประกาศหลักเกณฑ์ทางด้านภาษาเพิ่มเติมออกมา ดังนี้
ให้ตัดอักษรที่มีเสียงซ้ำกันออก โดยตัด ฃ ฅ ฆ ฌ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ศ ษ และ ฬ ออก สระก็ตัด ใ ฤ ฤา ฦ ฦา ออก ถือว่าตัวหนังสือไม่มีใช้แล้วก็ไม่กระทบกระเทือนการใช้ภาษาไทยจึงเอาออกได้  ดังนั้นตัวหนังสือไทยยังคงเหลือตัวอักษรเพียง ก ข ค ง จ ฉ ช ซ ญ ด ต ถ ท ธ น บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ บ ย ร ล ว ส ห อ ฮ ตัวที่ตัดออกไปนั้นให้ใช้คำที่เสียงพ้องกันที่เหลือแทน เช่น ส แทน ศ ษ น แทน ณ ด แทน ฎ เป็นต้น

ตัว ญ นั้นโดยทั่วไปให้เขียนโดยใช้ตัว ย แทน แต่ในกรณีต้องเขียนคำบาลีหรือสันกฤต ให้ใช้ตัว ญ ได้ แต่ได้ตัดเชิงตัว ญ ออก คงมีรูปเพียง ญ เช่น  ผู้หญิง เป็น ผู้หยิง ใหญ่ เป็น ไหย่  เป็นต้น
 ตัวกล้ำ ทร ที่ออกเสียงเป็น ซ  ให้ใช้ตัว ซ เขียนแทน เช่น ทราบ เป็น ซาบ ทรุดโทรม เป็น ซุดโซม ทราย เป็น ซาย ทรัพย์ เป็น ซับ ทรวง เป็น ซวง
 ตัว ย ที่ อ นำให้เปลี่ยนเป็น ห นำ เช่น อยู่ อย่าง อย่า อยาก เขียนเป็น หยู่ หย่าง หย่า หยาก
 หลักทั่วไปใช้คำบาลีแทนสันสกฤต เช่น กัน ธัม นิจ สัจ แทน กรรม ธรรม นิตย์ สัตย์ เว้นแต่คำที่ใช้รูปบาลีมีความหมายหนึ่ง และสันสกฤตในรูปอีกความหมายหนึ่ง คงใช้ทั้งสองคำ แต่เปลี่ยนรูปการเขียนตามอักษรที่เหลืออยู่ เช่น มายา เป็น มารยา วิชชา เป็น วิชา วิทยา, กติกา, กริสตีกา, สัตราวุธ (ศาสตราวุธ), สาสตราจารย์ (ศาสตราจารย์), วิทยาสาสตร์ (วิทยาศาสตร์) และสูนย์กลาง (ศูนย์กลาง)
 ร หัน ในแม่ กก กบ กด กม ยกเลิกให้ใช้ไม้หันอากาศแทน เช่น อุปสัค วัธนา บัพ กัมการ แต่ ร กันในแม่กน ยังคงมีใช้ได้ เช่น สรรค (อุปสรรค), บรรพบุรุส (บรรพบุรษ) ,วรรนคดี (วรรณคดี) เป็นต้น
 คำที่มาจากบาลี ถ้าตัวสะกดมีอักษรซ้ำ หรืออักษรซ้อน ในกรณีตัวหลังไม่มีสระกำกับ ให้ตัดตัวสะกดตัวหน้า เช่น อัตภาพ (อัตตภาพ) หัถกัม (หัตถกรรม) ทุข (ทุกข์) อัคราชทูต (อัคคราชทูต) รัถบาล (รัฐบาล) เสถกิจ (เศรษฐกิจ) แต่ถ้าตัวหลังมีสระกำกับไม่ต้องตัดตัวสะกด เช่น อัคคี สัทธา(ศรัทธา)
 ไม้ไต่คู้ ใช้เฉพาะในกรณีต้องการให้ออกเสียงสั้น เช่น เม็ด เล็ก เย็บ เห็น ถ้าไม่ใช้อาจมีความหมายเป็นอย่างอื่น แต่ถ้าไม่มีไม้ไต่คู้ จะเขียน 'เปน' ส่วนคำที่ไม่ได้ออกเสียงสั้นจริง เช่น กะหรอมกะแหรม ตะเบง ไม่มีไม้ไต่คู้ คำที่มาจากบาลีสันสกฤต ก็ไม่มีไม้ไต่คู้ เช่น เบญจ เพชร เวจ คำต่างประเทศที่จำเป็นให้คงใช้ได้ เช่น เช็ค
 คำ 'กระ' ให้เขียนเป็น 'กะ' เช่น กระจ่าง กระทิ เป็น กะจ่าง กะทิ
 คำที่ถอนมาจากคำต่างประเทศให้เขียนตามเสียงเป็นหลัก เช่น ตำรวจ เป็น ตำหรวด กำธร เป็น กำทอน  

อักขรวิธีแบบนี้มาเลิกใช้เมื่อ พ.ศ.2488 หลังจากหมดยุคจอมพลป. จากนั้นคนไทยก็เขียนภาษาไทยอย่างดั้งเดิมด้วยพยัญชนะ 44 ตัว สระ 21 รูป 32 เสียง


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ย. 10, 11:37
กำทอน ฮะฮ้า ถึงตรงนี้เพิ่งจะรู้  เพื่อนที่เพิ่งเข้าปีหนึ่งด้วยกันคนหนึ่งของผม ชื่อเขียนอย่างนี้แหละ ผมไปถามเค้าว่า คุณเป็นกระเป๋ารถเมล์หรือครับ คือว่าตอนนั้นค่าโดยสารรถเมล์ 50 สตางค์ตลอดสายน่ะครับ กระเป๋าจึงกำเหรียญ50ไว้ในมือ ใครจ่ายแบงค์มาก็ทอนเหรียญไป กระเป๋ารถเมล์จึงเหมาะที่จะชื่อคุณกำทอนมาก เพื่อนใหม่ของผมทำหน้างง แล้วบอกว่า เปล่าครับ กำทอนแปลว่าอะไรไม่รู้เหมือนกัน

ลืมบอกไป เพื่อนคนนี้เขาแก่กว่ารุ่นมาก สงสัยจะเกิดทันยุคภาษวิบัติของจอมพลป.

ถ้าคุณกำทอนมาอ่านก็รู้ซะ ชื่อคุณมาจากกำธร โฮ้ย ชื่อดารานะเนี่ย


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 01 ก.ย. 10, 12:56
อ้างถึง
เพราะศิลปวัฒนธรรมไทยยุคจอมพลป.ไม่ได้เกิดจากจินตนาภาพบริสุทธิ์ หากวางเป้าหมายไว้ที่การสร้างภาพการเมืองที่ท่านผู้นำอยากจะให้เป็น

อันที่จริง ไม่เพียงแต่ศิลปะวัฒนะธรรมเท่านั้นนะคะที่ถูกแต่งเติมเพื่อรับใช้ ระบอบ ของท่านจอมพล ป.
ประวัติศาสตร์เช่นกันที่จนวันนี้ ก็ได้เห็นมีการถกเถียงว่าอะไรถูกต้องกันแน่

หนังสือ คำให้การของหลวงอดุลย์ เคยอ่านเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว หากจำไม่ผิด ในคำให้การนั้นเอง
หลวงอดุลย์จะได้พูดตรง ๆ ออกมาว่า หลวงวิจิตร ฯ เป็นพวกสอพลอท่านผู้นำ คล้อยตามไปเสียทุกเรื่อง
จึงมีการแต่งประวัติศษสตร์ให้เกิดอาการรักชาติในระดับ "คลั่งชาติ" เชิดชูคนไทย เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย
อ้างว่าคนไทยมีหลายเผ่า

รำวงเผ่าไทย ที่มีเนื้อร้องกล่าวถึงชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่รวมกันเรียกว่าไทย ดูจะถูกลืมเลือนไปจากการพิสูจน์ว่า คนไทยมาจากไหนกันแน่


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ก.ย. 10, 13:48
คุยเรื่อง "แสนคำนึง" ต่อ

ในยุคที่กระแสการเมือง "เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย" และ "มาลานำไทยไปสู่มหาอำนาจ" อบอวลอยู่ในจิตสำนึกของคนไทยโดยทั่วไป การออกนโยบายปฏิวัติทางวัฒนธรรมหลายอย่างจากผู้นำประเทศในขณะนั้น ได้รับการตอบสนองจากบุคคลรอบด้าน มีการขานรับด้วยพฤติกรรมเอาอกเอาใจกันมากมาย (ดูคล้าย ๆ กับสมัยนี้เลย) เบื้องหลังของเพลง "แสนคำนึง" ได้รับการบอกเล่าโดยทายาทของท่านเอง คือ อาจารย์บรรเลง ศิลปบรรเลง สาคริก (นางมหาเทพกษัตรสมุห) บันทึกความหลังไว้ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง บางตอนว่า

สงครามโลกครั้งที่ ๒ ผ่านไป หลังจากที่ประเทศไทยเข้าร่วมกับสัมพันธมิตร คือญี่ปุ่นแล้ว ท่านผู้นำของประเทศไทยในสมัยนั้น ก็เร่งปรับปรุงสภาพของประชาชนไทยให้เทียมทันมิตรประเทศ อาทิ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ชายต้องแต่งสากลนิยม หญิงต้องนุ่งกระโปรงสวมหมวกทุกคน จึงจะเป็นสัญลักษณ์ว่า ไทยเป็นชาติมหาอำนาจเทียมทันมิตรประเทศเหล่านั้นเหมือนกัน.....

....ท่านหันมาพิจารณาเรื่องศิลปะ เห็นว่าการดนตรีของไทยนั้นคร่ำครึ ล้าสมัย ป่าเถื่อน เป็นที่น่าอับอายแก่มวลมหามิตร ท่านก็เลยออกคำสั่งเป็นทางราชการ ห้ามเล่นเครื่องดนตรีไทยบางชนิดทั่วประเทศ จะเล่นได้ก็แต่ดนตรีสากลเท่านั้น....ในยุคนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอะไรต่ออะไรตามใจท่านผู้นำอย่างมากมาย

การที่ทางการสั่งห้ามนักดนตรีไทยเล่นดนตรีไทยนั้นเป็นคำสั่งที่เด็ดขาด ขนาดที่จะแอบเล่นเองภายในบ้านก็ไม่ได้ เพราะถ้ามีเสียงดังลอดออกไปนอกบ้านอาจมีความผิด นักดนตรีไทยทุกคนรู้สึกเศร้าใจ ท้อใจ หมดกำลังใจ รู้สึกหมดอิสรภาพ ผู้ที่รักการดนตรีทั้งหลายหมดความสุขในชีวิต เสียดายอาลัยที่ศิลปะของชาติจะต้องสูญไป....

อ.บรรเลงเล่าว่า "คุณพ่อของข้าพเจ้า หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ท่านเป็นผู้หนึ่งที่รู้สึกโทมนัสในคำสั่งห้ามเล่นดนตรีไทยนี้มาก ท่านได้ระบายความรู้สึกของท่านออกมาด้วยการแต่งเพลงขึ้นเพลงหนึ่ง ชื่อเพลง "แสนคำนึง" โดยท่านนำทำนองเพลงลาวเพลงหนึ่งซึ่งได้คิดแต่งไว้บ้างแล้วนำมาประดิษฐ์ใหม่ให้มีลีลาแผกไปจากเดิม แล้วก็แต่งเนื้อร้องระบายความเคียดแค้นที่ถูกห้ามเล่นดนตรีไทย บทร้องนั้นแต่งไว้ยาวหลายคำกลอน..."

"แต่ครั้นพอนำมาให้พี่สาวของข้าพเจ้า (คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง) อ่านเพื่อจะสอนให้ร้อง พี่สาวของข้าพเจ้าอ่านจบแล้วฉีกทิ้งทันที คุณพ่อเอาสองมือตบหน้าผากของท่านแล้วร้องว่า "ฉีกของพ่อทำไม"...พ่อจะให้ร้องให้ฟัง และเก็บเอาไว้อ่าน พี่สาวของข้าพเจ้าตอบว่า "ถ้าไม่ฉีกทิ้ง เดี๋ยวพลั้งเผลอ หรือใครมาค้นบ้านได้อ่านเข้า คุณพ่อจะติดตะราง" เมื่อเป็นดังนั้น คุณพ่อเลยต้องหาเนื้อร้องใหม่ ได้เนื้อร้องจากเรื่อง "ขุนช้างขุนแผน" ซึ่งพอจะมีความหมายเข้ากับชื่อเพลงที่ท่านเรียกว่า "แสนคำนึง" ได้ เพลงนี้เมื่อภายหลังเลิกห้ามเล่นดนตรีไทย (เลิกไปเองโดยปริยายหลังสงคราม) ก็ได้นำออกสอนศิษย์ของท่านจนเป็นที่แพร่หลายมาจนทุกวันนี้"

บางตอนจากหนังสือ "หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) มหาดุริยกวีลุ่มเจ้าพระยาแห่งอุษาคเนย์" โดย อานันท์ นาคคง อัษฎาวุธ สาคริก และสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นบรรณาธิการ)

 :(



กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 10, 13:50
ตอนเด็กๆดิฉันเรียนประวัติศาสตร์ ถึงอาณาจักรสุโขทัย อยุธยาและรัตนโกสินทร์  เรียงลำดับเหมือนเป็นเส้นตรง  คืออย่างแรกเกิดก่อน ต่อมาก็เสื่อม   แล้วก็เกิดอย่างที่สอง   และเมื่ออย่างที่สองจบลง ก็เกิดอย่างที่สาม คือปัจจุบัน
ต่อมาโตขึ้น ถึงได้รู้ว่าจริงๆแล้วในแหลมทองสมัยโน้นมีอาณาจักรกระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง   สุโขทัยเป็นหนึ่งในนั้น  อยุธยาเองก็มีประวัติศาสตร์อโยธยาของตัวเอง ซึ่งน่าเป็นอาณาจักรที่เจริญไม่น้อยมาก่อน  ดูการสร้างพระพนัญเชิงเป็นตัวอย่าง
ไม่เคยเรียนประวัติศาสตร์ล้านนา(หรือที่ไทยเมืองหลวงเรียกว่าลานนา)จากตำราเรียนเลย   ทวารวดี และตามพรลิงค์ ก็เช่นกัน ไม่เคยได้ยินชื่อ

แต่เดาว่าเด็กรุ่นหลังๆคงเรียนไม่เหมือนดิฉันแล้ว    

เมื่อมีงานโรงเรียนตอนป. ๑  ไม่ทราบว่าคุณร่วมฤดีเคยเห็นในร.ร.หรือเปล่าคะ   ของดิฉันมีการแสดงชุดต้นตระกูลไทย  ก็เรียงลำดับตั้งแต่สุโขทัย  เพื่อนๆก็ถูกจับแต่งตัวเป็นบุคคลสำคัญในอดีต หลายสิบคน  ขึ้นต้นเพลงปลุกใจว่า "ต้นตระกูลไทย ใจท่านเหี้ยมหาญ" มาจากสมัยชาตินิยม  ผู้แต่งคือคุณหลวงวิจิตรวาทการ
ผ่านมายี่สิบกว่าปี  ลูกสาวดิฉันตอนอยู่อนุบาล ๑ ก็ออกไปรำชุด ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว จากละครเรื่องพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ของคุณหลวงวิจิตรอีกเช่นกัน
แสดงว่าวัธนธัมยังปลูกฝังในหลักสูตรได้ยาวนานจริงๆ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 01 ก.ย. 10, 13:53
(http://sphotos.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-snc4/hs150.snc4/36864_133117766709191_100000329062638_241980_6697192_n.jpg)

เอาตัวอย่าง ภาษาไทยยุคท่านผู้นำ มาให้ชมครับ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 10, 14:07
ฟังเพลงไทยเดิม แสนคำนึง ได้ที่นี่ค่ะ
http://www.phrapiyaroj.com/homrong2/page3.html


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 01 ก.ย. 10, 14:18
เรื่องการปรับปรุงระบบการเขียน หากอ้างว่าเพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้นั้น ผมยอมรับได้ครับ

จีนซึ่งมีการปรับปรุงในเวลาไล่เลี่ยกัน (และก็โดนสวดพอๆกัน) ส่งผลให้คนอ่านออกเขียนได้ง่ายขึ้นจริง

ลาวก็มีการปรับปรุงเหมือนกัน นัยว่ารับแนวคิดไปจากไทย(?) ผมไม่แน่ใจว่าที่จุดเริ่มต้นนั้นเป็นอย่างไร แต่ถึงปัจจุบัน ระบบการเขียนของลาวนั้นมีหลักมีเกณฑ์ชัดเจนและช่วยให้คนลาวไม่ต้องกังวลกับเรื่องสะกดผิดสะกดถูกอีกต่อไป

แล้วของเรา ? ผมไม่อยากจะติเรือทั้งโกลน แต่เห็นเขาเก็บ ธ กับ ภ เอาไว้ ผมก็รับไม่ได้แล้วครับ

ไม่รู้จะเหลือไว้ทำอะไร หาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้เลย แทนที่จะทำให้มันง่าย กลับต้องมาคอยจำข้อยกเว้นไว้อยู่ดี


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 01 ก.ย. 10, 14:24
ลงชื่อเข้าชั้นเรียน ครับ

อ่านภาสาวัธนธัมแล้วชวนมึน ต้องอาศัยคู่มืออักสรภาสาวัธนธัม

      เปนคู่มือสำหรับการเขียนอักสรแบบไหม่ โดย อุทัย พูลมา พิมพ์ที่โรงพิมพ์ดำรงธรรม
ถนนสมเด็ดเจ้าพระยา ธนบุรี พ.ส. 2485


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 10, 14:38
ที่จิงถ้าได้ยินยังไง  ก้อเขียนไปตามนั้นจะง่ายกว่า  เหมือนภาสาในเนท    :)

เก็บ ท ไว้ตัวเดียว  พ ก็ตัวเดียว
เช่น วัทนทัม   พัทนาการ  คุณศิลาก็ต้องชื่อคุณสิลา  เก๋กว่าชื่อกำทอนอยู่ดีละค่ะ
ถ้าเรายังใช้กันมาจนทุกวันนี้ ชื่อคุณอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  จะสะกดยังไงนะ?   
อพิสิท เวดชาชีวะ  งั้นหรือคะ ?


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 01 ก.ย. 10, 14:48
ผมคิดว่า ถ้าได้ยินแล้วยังไม่แน่ใจว่าต้องเขียนหย่างไรถือว่าล้มเหลวแล้วคับ

ต้องเอาหย่างลาว อะพิสิด เวดชาชีวะ

แม่กด จะเอา ท เอา ช มาเป็นตัวสะกดทำไมเล่าคับ

;D

จะว่าไป แบบลาวนี่ก็ง่ายดีนะคับ ไม่เห็นต้องแก้สักกี่คำเลย



กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 10, 15:23
จิงค่ะ ขอสะกดตามเสียงไห้คุณม้าอ่านนะคะ
ปันหาคือพาสาจอมพนปอ ไม่ไช่ว่าได้ยินหย่างไร  ก้อเขียนตามนั้น  ยังรักสาคัมบางคัมที่ซั้มเสียงไว้  เลยทำไห้เขียนยาก  เขียนง่ายต้องเขียนหย่างดิฉันสะกดค่ะ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 10, 15:54
คุณศิลาตั้งประเด็นจากกระทู้เก่าให้พูดถึงศิลปวัฒนธรรมสมัยจอมพล ป. ที่ว่าเป็นด้านสว่าง(?) ของท่าน    ดิฉันยังไม่พบว่าด้านอื่นสว่างกี่แรงเทียน  แต่ในด้านภาษา รู้สึกว่ามืดมากกว่าสว่าง    เพราะการสะกดแบบใหม่จะว่าทำให้ง่ายขึ้นมันก็ไม่เชิง    เพราะหลักเกณฑ์ไม่ชัดเจน  เห็นด้วยตามที่คุณม้าคอมเม้นท์มา
ถ้าแก้ให้ง่ายสุดคือสะกดตามได้ยิน ไม่ต้องไปคำนึงถึงอะไรทั้งสิ้น     เสียง  ท พ  ย ตัวเดียวพอแล้ว   แต่ไปเก็บ ถ ธ เอาไว้ให้รุงรังเปล่าๆ   ญ ก็ตัดเชิงออก ทำไมก็ไม่รู้
สิ่งสำคัญอีกอย่างของรูปภาษา คือความรู้สึกขณะอ่าน     จริงอยู่  คำก็ออกเสียงเหมือนกันระหว่าง"อะพิสิด" กับ "อภิสิทธิ์"  แต่สัมผัสทางสายตาไม่เหมือนกัน   ตัวอักษรที่มีที่มาจากบาลีสันสกฤตประทับลงในความรู้สึกของคนไทยภาคกลางมาหลายร้อยปีแล้วว่าขลังและสง่างาม   อาจเป็นเพราะเป็นภาษาของพระไตรปิฎก  ผ่านศรัทธาในพระพุทธศาสนามาอีกชั้นหนึ่ง    นอกเหนือจากกฎเกณฑ์ที่ต้องมาเรียนกันอย่างเวียนหัว  ทั้งหมดนี้ ทำให้ภาษาวัธนธัมไม่ประทับใจคนไทย   เมื่อพ้นยุคจอมพลป.  ถูกยกเลิกไป ก็ไม่มีเสียงคัดค้าน


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: srisiam ที่ 01 ก.ย. 10, 16:07

สิ่งสำคัญอีกอย่างของรูปภาษา คือความรู้สึกขณะอ่าน     จริงอยู่  คำก็ออกเสียงเหมือนกันระหว่าง"อะพิสิด" กับ "อภิสิทธิ์"  แต่สัมผัสทางสายตาไม่เหมือนกัน   ตัวอักษรที่มีที่มาจากบาลีสันสกฤตประทับลงในความรู้สึกของคนไทยภาคกลางมาหลายร้อยปีแล้วว่าขลังและสง่างาม   อาจเป็นเพราะเป็นภาษาของพระไตรปิฎก  ผ่านศรัทธาในพระพุทธศาสนามาอีกชั้นหนึ่ง    นอกเหนือจากกฎเกณฑ์ที่ต้องมาเรียนกันอย่างเวียนหัว  ทั้งหมดนี้ ทำให้ภาษาวัธนธัมไม่ประทับใจคนไทย   เมื่อพ้นยุคจอมพลป.  ถูกยกเลิกไป ก็ไม่มีเสียงคัดค้าน

เห็นด้วยเป็นหย่างยื่งคับ-ขอบิน ทะ บาด ตัว ท ธ พ ภ  ไว้ก่อนนะคับคุนเคซี่ฮ้อด

 ;D



หลังคาโบสถ์ที่มีช่อฟ้าใบระกาหางหงษ์  ย่อมต่างจากหลังคาเรียบๆแน่นอน


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ก.ย. 10, 16:36
ญ ก็ตัดเชิงออก ทำไมก็ไม่รู้

ตรงนี้ท่านจอมพลมีความเห็นตรงกับจิตร ภูมิศักดิ์

(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/01/K5040700/K5040700-10.jpg)


อยากทราบเหตุผลของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่เห็นว่าตัว ญ ไม่ควรมีเชิงครับ
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/01/K5040700/K5040700.html

 ;D


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 01 ก.ย. 10, 16:49
เมื่อวานได้ประชุมร่วมกับคณะทำงานจัดทำสารคดรเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ที่เพิ่งกลับจากญี่ปุ่น  ทีมงานแจ้งให้ทราบว่า ได้พบจดหมายเหตุที่กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นบันทึกเรื่องล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ เสด็จประพาสญี่ปุ่นเมื่อร้อยกว่าปี  แต่ปัญหาใหญ่คือ จดหมายเหตุนั้นบันทึกไว้ด้วยอักษรตันจิโบราณสมัยเมจิ  ซึ่งคนญี่ปุ่นปัจจุบันอ่านไม่ได้  เอกสารราว ๕๐ หน้า อ่านได้แต่เฉพาะพระนาม "วชิราวุธ" เท่านั้น  เรื่องการเรียนภาษาไทยจึงน่าจะเป็นยาขมสำหรับชาวญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นแน่

สำหรับเอกสารจดหมายเหตุชุดดังกล่าวได้ทราบว่า มีนักเรียนไทยที่เคยไปเรียนวรรณคดีญี่ปุ่นที่ญี่ปุ่นรับจะช่วยอ่านและแปลให้แล้วครับ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: pa15 ที่ 01 ก.ย. 10, 17:42
มารายงานตัวเข้าเรียนค่ะ  พอได้ติดตามอ่านไม่ทราบว่าจะหัวเราะ หรือ ร้องไห้ดีกับภาษาไทยที่ใช้ในสมัยนั้น ความสวยงามของภาษาไทยหายไปหมด แต่ต้องขอขอบคุณอาจารย์ทุกท่านนะค่ะ ที่ไขความกระจ่างถึงหนังสือเก่า ๆ ที่เคยเห็นและสงสัยว่าทำไมเขาสะกดอย่างนั้น  ตอนนี้ทราบแล้วค่ะ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 10, 19:12
ตัวอักษรขอมมีเชิงอยู่มากมายหลายตัว   ไทยเราก็ตัดออกไปเกือบทุกตัว 
ถ้าเหลือเชิง ญ เอาไว้  ไม่ให้เวลาเขียนหวัดๆ ไปสับสนกับ ณ  ดิฉันก็ไม่รังเกียจเชิงหรอกค่ะ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 02 ก.ย. 10, 01:24
เข้ามาลงชื่อรอบดึกครับ

แสดงตัวว่าเพิ่งจะเข้าเรียน มาช้าไปหลายวัน
พอดีว่า ต้องไปเป็นเจ้าภาพสามคืนและเป็นประธานทอดผ้าฯให้กับลูกน้อง วันนี้เพิ่งเสร็จกิจ


เห็นหัวข้อกระทู้แล้ว ก็เลยต้องลงชื่อซิทอิน นั่งอ่านนั่งเรียนครับ

ว่าแล้วก็ ขอถามคำถามข้อเดียว แต่อาจจะเป็นสองคำถามนะครับ


ผมจำไม่ได้ว่า ได้ยินหรือได้อ่านมาจากใหน

แต่ท่านๆในวงการสถาปัตยกรรม เคยเล่าให้ฟังว่า ศาลากลาง(จังหวัด)สำเร็จรูป  และ โบสถ์สำเร็จรูปแบบ ก ข ที่เราเห็นกันได้ทุกหัวระแหงในเมืองไทย
ก็ล้วนแล้ว เป็นผลพวงจากดำริ และ ข้อกำหนด จากสมัยของท่านผู้นำฯ

ไม่ทราบว่า จริงแท้แค่ใหนครับ

ผมว่า ท่าน จขกท น่าจะให้ความเห็นได้ในฐานะสถาปนิกผู้ใหญ่นะครับ
 ;D ;D ;D



กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 10, 09:41
ก็จริงอยู่ครับ สมัยจอมพลป.มีแบบสำเร็จรูปดังว่าออกมาจริงๆ พอสร้างออกมาแล้ว คนชอบก็มีแต่คนไม่ชอบมากกว่า

ก่อนสงครามจะเริ่มต้นก็เข้าสู่ยุคของModern Architectureแล้ว เพราะวัสดุก่อสร้างใหม่ๆสามารถทำโครงสร้างได้แข็งแรงขึ้น เช่นเหล็กเมื่อเทียบกับไม้แล้วเมื่อนำมาสร้างอาคาร ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีเสาหรือคานที่ใหญ่โต และถี่เหมือนเดิม ส่งผลให้หน้าตาของสถาปัตยกรรมเปลี่ยนแปลงไปด้วย และในยุคนี้ ความต้องการประโยชน์ใช้สอยของอาคารก็มีมากขึ้นกว่าเดิมที่อาคารขนาดใหญ่ จะออกแบบเพื่อเป็นโบสถ์วิหารของพระเจ้า หรือวังของพระจักรพรรดิ์เท่านั้น

ฮิตเลอร์เป็นคนแรกๆที่ต้องการรูปแบบสถาปัตยกรรมใหม่ๆที่สะท้อนถึงพลังอำนาจของอาณาจักรไรซ์ที่3 และAlbert Speer คือสถาปนิกที่ตีโจทย์แตกได้ใจฮิตเลอร์ จอมพลป.ก็จึงมีหลวงบุรกรรมโกวิท(ล้อม บุรกรรมโกวิท) อธิบดีกรมโยธาเทศบาลเป็นสถาปนิกคู่ใจในสมัยท่านผู้นำพาไทยไปสู่มหาอำนาจ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 02 ก.ย. 10, 09:48
มาลงชื่อเข้าเีรียนตอนสาย ๆ ค่ะ

กระทู้นี้จะต้องเป็นกระทู้คุณภาพคับแก้วที่ต้องเก็บสะสมค่ะ

ทุกอย่างที่เขียนกันในนี้ จากหลักฐาน จากการวิเคราะห์และแสดงความเห็นที่หลากหลาย

ต่อไปภายหน้า หากจะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย(ซ้ำบ่อย ๆ )

ใครจะทำอะไรแบบท่านจอมพลคนหัวปีจะได้คิดก่อนทำให้ดี ๆ ค่ะ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 10, 09:55
คนไทยเป็นผู้นิยมตามแฟชั่นมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เริ่มจะเป็นชาตินั้นแขกดังก็ตามแขก พอจีนดังก็ตามจีน สมัยหลังฝรั่งดังก็หันมาตามฝรั่ง ผมเคยบอกว่า ลัทธิการเมืองเป็นแฟชั่น สิ่งที่เป็นนามธรรมขนาดนั้นยังเป็นแฟชั่นแล้วที่เป็นรูปธรรมอย่างสถาปัตยกรรมจะเหลือเหรอ

อาคารสมัยนิยมขณะนั้นจะให้ความรู้สึกชัดๆด้วยการเสริมปฏิมากรรมลงไป เมื่อรับแฟชั่นนี้มาแล้ว ปฏิมากรรมแบบไทยๆก็ใช้ไม่ได้ ต้องเอาแบบของฝรั่งมาใช้ด้วย โชคดีของจอมพลป.ที่ได้อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ปรมาจารย์ชาวอิตาเลี่ยนของชาวศิลปากรมาสนองนโยบาย แม้คนจะไม่ชอบรูปโฉมอาคาร(เพราะงบก่อสร้างกระจิ๊ดเดียว เลยทำให้อลังการอย่างฝรั่งไม่ได้) แต่เห็นรูปปั้นเหมือนของอาจารย์ศิลป์แล้วก็นิ่งไป


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 10, 09:57
พอหลังสงคราม จอมพลป.ก็เปลี่ยนรสนิยมใหม่ หันมานิยมไทยจัดทั้งๆที่เมื่อก่อนเห็นว่าล้าสมัย ในด้านสถาปัตยกรรมนั้นก็มีนโยบายให้อาคารราชการจะต้องมีเอกลักษณ์ไทย โดยเฉพาะหลังคาทรงจั่วซ้อน และปิดด้านจั่วด้วยปั้นลมและช่อฟ้าใบระกา

นี่เป็นเหตุให้เกิดศาลากลาง(จังหวัด)สำเร็จรูปขึ้นโดยกรมโยธาธิการ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่ชอบ เรื่องสวยไม่สวยนั้นก็เรื่องนึง แต่เรื่องซ้ำซากเหมือนกันหมดมันน่าเบื่อ แล้วยังแถมเปิดประเด็นท้องถิ่นนิยมอีก จะเอาสถาปัตยกรรมกรุงเทพไปยัดเยียดให้อิสาน เหนือ ใต้ได้อย่างไร พอหมดยุคจอมพลป.ก็มีการปลดล็อคนี้  หากจะสร้างก็ให้มีการออกแบบใหม่ภายใต้เอกลักษณ์ไทยท้องถิ่นได้ ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ออกข้อกำหนดท้องถิ่นให้อาคารเอกชนที่สร้างในเขตเมืองต้องมีกาแล คนเจียงใหม่ก็ด่ากันอีก

คือเรื่องชอบไม่ชอบนี่ ความคิดคนไม่เหมือนกัน ถ้าเปิดโอกาสให้แสดงความเห็นได้ ก็จะเห็นความหลากหลาย ซึ่งต้องการข้อสรุป บางทีที่ผู้ตัดสินใจก็มิได้สรุปตามความเห็นส่วนใหญ่ เพราะคนกลุ่มนี้จะไม่พูด กลุ่มสนับสนุนที่พูดก็พูดน้อย กลุ่มที่พูดมาก พูดดัง และปากจัดมักจะเป็นกลุ่มค้าน ผู้ตัดสินใจจึงมักจะหลีกเลี่ยงปัญหากับคนกลุ่มนี้

ส่วนโบสถ์สำเร็จรูปนั้น เป็นแบบของกรมศาสนา มีให้เลือกจะเอาแบบ ก ข คก็ได้ เรื่องโบสถ์นี้ไม่เกี่ยวกัน แต่เป็นเพราะแต่เดิม พระท่านอยากจะสร้างอะไรก็สร้าง ทำให้เพี้ยนไปตามนิมิตของท่านบ้าง ผิดแบบแผนประเพณีไปบ้าง กรมศาสนาจึงกำหนดให้ต้องส่งแบบมาเพื่อขออนุญาตก่อสร้างก่อน แต่เมื่อแบบส่งมาแล้วใช่ว่าจะผ่านง่ายๆ ให้กลับไปแก้โน่นแก้นี่ บ่อยๆเข้าท่านก็ขอให้กรมศาสนาออกแบบให้เลยซึ่งกรมก็ไม่มีสถาปนิกจะออกแบบให้เป็นพิเศษได้ นอกจากมีแบบมาตรฐานให้
แต่อาคารทางศาสนาที่มีสถาปนิกออกแบบถูกต้อง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้แบบมาตรฐานครับ แต่ยึดแนวข้อกำหนดในมาตรฐานก็เป็นอิสระในการออกแบบได้


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 02 ก.ย. 10, 10:12
หากอาคาร ยังต้องมีแบบมาตรฐาน ให้พากันทำตามละก้อ

นี่คือหลักฐานว่า ท่านเป็นเผด็จการ ในกระดูกเชียวค่ะ ไม่เปิดประตูให้ใครคิดเองทำเองกันเลย

นโยบาย แบบมาตรฐาน จึงเป็นการ ฆ่าศิลปินสะกัดกั้นความคิดสร้างสรรให้แน่นิ่ง

สงสัยมาแต่เด็กค่ะว่า ทำไมอาคารต่าง ๆ ในสวนลุมพินี(ลากมาใกล้บ้านหน่อยนะคะ)

เช่น ห้องสมุดประชาชน อาคารพิพิธภันฑ์ (ปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นสโมสรคนชรา)

หน้าตาแปลก ๆ คล้าย ๆ อุโบสถที่พุทธมณฑล


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 10, 10:21
^
ตอนนั้นหรือตอนนี้เขาก็ด่ากันอย่างที่ว่าแหละครับ
อะไรที่มันฝืนความรู้สึกนึกคิดของคนส่วนใหญ่(ไม่จำเป็นต้องใหญ่ที่สุดด้วย)ก็อยู่ไม่ได้นาน


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 02 ก.ย. 10, 10:25
แวะเข้ามาลงชื่อเข้าเรียนสายไปหน่อย พายุเข้า เน็ตเลยระส่ำระสายไปหมดเลยค่ะ :'(
เดี๋ยวพอมีเวลาและเน็ตเป็นปกติ จะตามอ่านย้อนหลังนะคะ :D


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 02 ก.ย. 10, 10:35
รูปอาคาร หรือ ศาลพระถูมิกันแน่คะ รูปที่ 46 อันล่างน่ะค่ะ
 
ชอบใจมากที่มีรูปปั้นคนนั่งปิดหน้าปิดตาอยู่ที่หัวบันได

กำลังคิดว่า หากอาจารย์เฉลิมชัย โฆสิตพิพัฒน์แห่งวัดร่องขุ่นที่เชียงราย

เกิดและโตทันมาพบท่านจอมพลคนหัวปีในยุคเดียวกัน อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง

เริ่มด้วยเสียงโวยวาย....จบด้วยคุกตะรางหรือเปล่าหนอ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 10, 10:52
ตัวอย่างสถาปัตยกรรมที่สนองจิตวิญญาณของผู้สร้าง

อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่1 ทำแบบคติไทยที่จัดเก็บอัฐิในสิ่งก่อสร้างทรงเจดีย์

อนุสาวรีย์แบบโมเดิร์น แทนยอดแหลมขึ้นไปเสียบฟ้าของเจดีย์ด้วยปลายหอกปลายปืน เสริมด้วยปฏิมากรรมRealisticที่ส่งผลกระทบความรู้สึกของมนุษย์ได้โดยไม่ต้องตีความ สามารถสื่อให้เข้าใจถึงบทบาทและความเสียสละของผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในอนุสาวรีย์นั้น จึงใช้สนองวัตถุประสงค์(ของท่านผู้นำ)ในการเร่งเร้าให้รักชาติได้อย่างมีพลัง


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 02 ก.ย. 10, 11:22
        ภาพแรกสุดใน ความเห็นที่ ๔๕ ของอาจารย์นวรัตน - อาคารโรงภาพยนตร์ทหารบก น่าจะมาจาก
รายการพินิจนคร ตอน ลพบุรี ซึ่งส่วนหนึ่งของรายการนำเสนอสถาปัตยกรรมอาคาร อนุสาวรีย์ยุคท่านผู้นำหลายแห่ง

          เนื่องจากท่านผู้นำต้องการสร้างเมืองใหม่แห่งที่ 2 ที่นั่น จึงได้มีการสร้างอาคารล้ำสมัยไว้มากมาย
รองจากกรุงเทพฯ ได้แก่ อาคารส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการทหาร การศึกษา การประปา การไฟฟ้า โรงพยาบาล
รวมทั้งโรงภาพยนตร์แห่งนี้

          โรงภาพยนตร์ทหาน(ร)บก นับว่าเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรม ที่สำคัญแห่งหนึ่ง
ของลพบุรี สร้างขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2482 เพื่อเป็นรมณียสถานของเมือง และอาจใช้เป็น
ที่ประชุมสภาได้ หากเกิดเหตุคับขันยามสงครามโลกและต้องย้ายเมืองหลวงมาที่นี่
          ตัวอาคารมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของยุคสมัย(อาร์ต เดโค) เป็นโรงมหรสพที่ทันสมัยและ
เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยรองจากโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง มีอายุนานถึง 70 ปีแล้ว

         แต่ปัจจุบันนี้ร่วงโรยตามกาล จนชาวลพบุรีที่เห็นคุณค่าต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์โรงภาพยนตร์นี้
และอาคารอื่นๆ แห่งยุคท่านผู้นำที่มีอยู่มากมายในจังหวัด

อีกหนึ่งอาคารยุคท่านผู้นำในลพบุรี - โรงพยาบาลอานันทมหิดล


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 10, 11:50
รูปอาคารข้างบนเป็นแฟชั่นของModern Architecture ของยุคนั้น ตึกกล่อง หลังคาแบน ช่องประตูหน้าต่างที่ไม่มีกฏเกณฑ์ ขอให้เป็นสี่เหลี่ยมเท่านั้น สถาปัตยกรรมนี้ไม่ได้มาจากจอมพลป. แต่เป็นอิทธิพลจากยุโรปที่ระบาดเข้ามาในสมัยของท่านโดยสถาปนิกไทยที่จบจากเมืองนอก

ส่วนโบสถ์วัดศาลาลอย โคราช สถาปัตยกรรมร่วมสมัยของสกุลช่างล้านช้างนี้ เป็นฝีมือของวิโรฒ ศรีสุโร สถาปนิกที่จบเมืองไทย ผู้เป็นทั้งปราชญ์และกวี เกิดที่ปัตตานีแต่ไปเจริญในอิสาน เป็นบูรพาจารย์ของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนเสียชีวิต เป็นอาจาย์ใหญ่สอนอยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผลงานการออกแบบโบสถ์วัดศาลาลอยที่ผมเอามาให้ดูนั้น ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น แนวบุกเบิกอาคารทางศาสนา ของ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ปี พ.ศ.2516
 
นอกจากนี้ท่านยังมีผลงานการออกแบบและตกแต่งอาคารทางศาสนาในแนวสถาปัตยกรรมร่วมสมัยอีกมาก เช่น พระธาตุศรีมงคล จังหวัดสกลนคร เจดีย์พิพิธภัณฑ์อาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนคร มหาเจดีย์นภเมทนีดล บนดอยอินทนนท์จังหวัดเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของจังหวัดเลย เป็นต้น 
เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนที่ลือเลื่องท่านก็เป็นผู้ริเริ่มพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์จนติดตลาด ใครไปด่านเกวียนหากมีโอกาสควรไปชมพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว ชื่อพิพิธภัณฑ์เกวียนที่รวบรวมเกวียนสวยๆทั่วประเทศไทยไว้ และยังมีเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน ทั้งงานจักสาน ถักทอ แกะสลัก ที่ท่านรวบรวมไว้ทั้งชีวิตด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว
อาจารย์วิโรฒมีผลงานด้านหนังสือ คือ ธาตุอีสาน สถาปัตยกรรมกลุ่มชนสายวัฒนธรรมไต-ลาว สิมอีสาน เป็นต้น รางวัลที่ได้รับ นอกจากรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยามแล้ว ยังได้รับรางวัล บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขางานช่างผีมือ ของมูลนิธิเสฐียร โกเศศ และนาคะประทีป ได้รับพระราชทานปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย พุทธศักราช  ได้รับพระราชทานประกาศเกียรติคุณ สถาปนิกดีเด่นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม พุทธศักราช ๒๕๔๐ เรื่องสิมอีสาน จากคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ

ที่ผมเอาผลงานของท่านมาเปรียบเทียบกับแบบก.ข.ของกรมศาสนา ก็เพื่อแสดงให้เห็นอิสรภาพของสถาปนิก เช่นเดียวกับโบสถ์วัดร่องขุ่นของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่แม้ไม่ใช่สถาปนิกก็ตาม
โบสถ์ของท่านทั้งสองถูกวิพากษ์วิจารณ์พอกัน ของอาจาย์วิโรฒจะโดนว่าแรงไปจนขัดศรัทธา ส่วนอาจารย์เฉลิมชัยจะโดนว่ามากไปจนไม่ใช่สถาปัตยกรรม อย่างที่ผมบอกแหละครับ ขึ้นอยู่กับความชอบ-ไม่ชอบที่เป็นปัจเจกของมนุษย์



กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 02 ก.ย. 10, 14:33
กล่าวโดยสรุปคร่าวๆ (อาจารย์แก้ไขให้ด้วย) ลักษณะสถาปัตยกรรมยุคท่านผู้นำแยกเป็นสองช่วง คือ

        - จอมพลป.๑ ช่วงพ.ศ. ๒๔๘๑-๘๔

        งานออกแบบของทางราชการโดยสถาปนิกไทยที่จบจากต่างประเทศ เป็นสถาปัตยกรรมทันสมัยหรือสมัยใหม่
เช่น  กรมไปรษณีย์โทรเลข บางรัก
            อาคารรูปทรงเรขาคณิต แกร่งคอนกรีต

        - จอมพลป.๒ พ.ศ. ๒๔๙๐ - ๒๕๐๐

          มีการเน้นเอกลักษณ์ของชาติ ปรากฏงานสถาปัตยกรรมทางราชการออกแบบเป็นไทยประยุกต์(อย่างง่ายๆ)
โดยการนำหลังคาไทยไปสวมลงบนกล่อง

หอประชุมม.เกษตรศาสตร์

"วิทยาลัยเกษตรศาสตร์" ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" ใน สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 10, 14:48
^
^

ถูกต้องครับ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 10, 15:07
อาคารใหญ่เหล่านี้  จัดเข้าจอมพลป. 2  หรือจอมพลสฤษดิ์คะ

(http://www.proprofs.com/flashcards/upload/q2165365.jpg)


(http://www.bloggang.com/data/shabu/picture/1137252395.jpg)


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 10, 19:17
ระหว่างรอท่านกูรูใหญ่กว่า   ขอย้อนกลับมาเรื่องภาษาในยุควัธนธัมอีกครั้ง
จอมพลป. เห็นว่า ภาษาของอารยประเทศ (คือภาษาอังกฤษน่ะละค่ะ) มีสรรพนาม I กับ You  เท่านั้น ใช้ได้กับทุกชนชั้น     ผิดกับไทยที่มีมากมายเกินจำเป็น  แบ่งชนชั้นวรรณะกันเปล่าๆ   ก็เลยกำหนดให้คนไทยพูดกันว่า ฉัน  ท่าน ลงท้ายว่า จ้ะ   มีคำขอบใจและขอโทษ ประกอบ
ถ้าหากว่าข้อกำหนดนี้ยังใช้มาจนทุกวันนี้   นักเขียนคงตกงานกันนับไม่ถ้วน     แถวๆนี้ก็คงมีอยู่ด้วยคนหนึ่ง  
ลองนึกภาพจะเด็ดพูดภาษานี้ดู

"ข้าพเจ้ารักจันทราด้วยใจภักดิ์ แต่รักกุสุมาด้วยใจปอง"
มาเป็น
" ฉันรักจันทราด้วยใจภักดิ์ แต่ฉันรักกุสุมาด้วยใจปอง จ้ะ"

"รักสตรีข้าพเจ้ารักได้หลายนาง แต่เมืองมาตุภูมินั้นจะรักไว้แต่เมืองเดียว"
มาเป็น
"รักสตรี ฉันรักได้หลายท่าน แต่เมืองมาตุภูมินั้นจะรักไว้แต่เมืองเดียวจ้ะ"

ส่วนที่เด็ดกว่านี้ก็มี

"เราจะบังคับให้เจ้าถวายสัตย์ แก่พระประธานในวิหารกุโสดอว่า เบื้องหน้าวาสนาจะรุ่งโรจน์ประการใด ก็จะไม่คิดแย่งเศวตฉัตรมังตราเป็นอันขาด... "
ต้องเปลี่ยนเป็น
"ฉันจะบังคับให้ท่านถวายสัตย์ แก่พระประธานในวิหารกุโสดอว่า เบื้องหน้าวาสนาจะรุ่งโรจน์ประการใด ก็จะไม่คิดแย่งเศวตฉัตรมังตราเป็นอันขาดนะจ๊ะ"  

ภาษาอย่างเดียวกันนี้  ถ้าหม่อมพรรณรายโต้ตอบกับพจมาน ในบ้านทรายทอง  ก็เป็นเวอร์ชั่นที่อ่านกันไม่จืดเลยทีเดียว
ขอโทษที่ไม่มีหนังสือบ้านทรายทองที่บ้าน   เลยต้องคิดบทสนทนาเอาเองค่ะ
เช่นหม่อมพรรณรายอาจกราดเกรี้ยวกับนางเอกว่า
" แม่พจมาน    ท่านอย่าเผยอมาคิดว่าท่านเองจะได้เป็นเจ้าของบ้านทรายทอง  หน้าอย่างท่าน  ฉันไม่มีวันยอมรับเป็นสะใภ้นะจ๊ะ"


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 10, 21:52
อ้างถึง
อาคารใหญ่เหล่านี้  จัดเข้าจอมพลป. 2  หรือจอมพลสฤษดิ์คะ

คำถามบรรทัดเดียวนี่แหละครับ ทำให้ผมไปเตรียมคำตอบและรูปประกอบนานหลายชั่วโมง

ผมไม่คิดว่าการจัดรูปแบบสถาปัตยกรรมในเมืองไทยจะแบ่งไปตามยุคของนายกรัฐมนตรี แม้ว่าอิทธิพลทางการเมืองจะมีผลต่อการออกแบบก็ตาม
ในสมัยรัชกาลที่7ขึ้นไป สถาปัตยกรรมร่วมสมัยจะจ้างนายช่างฝรั่งมาออกแบบและคำนวนโครงสร้าง เช่นพระที่นั่งอนันตสมาคม และบ้านนรสิงห์หรือทำเนียบรัฐบาลซึ่งเป็นแบบฝรั่งล้วน แต่บางครั้งก็โปรดเกล้าฯให้สถาปนิกไทยแต่งตัวตึกฝรั่งให้เป็นไทย เช่นพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ที่มีผู้วิจารณ์ว่าเหมือนฝรั่งใส่ชฎา หรือโบสถ์วัดเบญจมบพิตรที่กลมกลืนจนคนแยกไม่ออกว่าตรงไหนที่เป็นแบบแผนของฝรั่ง

แต่เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว สถาปัตยกรรมก็ถูกใช้เพื่อสนองนโยบายทางการเมือง ที่จะไม่สร้างอะไรเพื่อสนองพระราชสำนักอีกต่อไป พอดีกับกระแสแฟชั่นใหม่พวกนีโอพลาสติก นีโอคลาสสิก อาร์ตเดกอ ระบาดขึ้นในยุโรปและอเมริกา ท่านผู้อ่านไม่ต้องไปจำศัพท์อะไรพวกนี้นะครับ ปวดสมอง เอาเป็นว่ารูปแบบใหม่ที่เป็นทรงกล่อง ทรงแท่งสี่เหลี่ยมที่เรียกรวมๆว่าModern Architectureก็แล้วกัน รัฐบาลคณะราษฏร์เห็นเข้าก็คว้าหมับมาทำตึกสองข้างทางถนนราชดำเนิน เป็นLandmarkของกรุงเทพยุคใหม่นำสมัยทันที แล้วกำหนดให้สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วยรูปแบบใหม่ที่แยกถนนดินสอ กับทั้งให้ตัดถนนประชาธิปไตยขึ้นใหม่ จากศูนย์กลางของอนุสาวรีย์ลิ่วไปผ่ากลางพระราชวังดุสิตออกเป็น2เสี่ยง จนไปจรดถนนนครชัยศรี นัยว่าเป็นเคล็ดที่จะไม่ให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชกลับมาอีก


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 10, 21:57
อย่างไรก็ตาม Modern Architecturecแบบกล่องๆก็มิได้มีผู้นิยมชมชอบไปหมด คนที่ไม่ชอบก็มี ฝรั่งจึงยังคงสร้างด้วยแบบเดิมๆ เอาเอกลักษณ์ของท้องถิ่นมาใช้กับเทคโนโลยีทางการก่อสร้างสมัยใหม่ คนไทยก็นิยมเอาบ้านทรงยุโรปมาปลูกในเมืองไทยเหมือนกัน รวมถึงเอามาใช้ในสถาปัตยกรรมสาธารณะขนาดใหญ่ด้วย ที่เด่นๆก็มีคณะวิทยาศาสตร์จุฬา และตึกโดมเป็นต้น


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 10, 21:59
อาคารบางหลัง ได้ออกแบบและก่อสร้างไปบ้างแล้วแต่สมัยก่อน เช่นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯได้ทรงวางศิลาฤกษ์คณะอักษรศาสตร์ที่เรียกว่าเทวาลัยไว้ ก็สร้างต่อมาจนเสร็จ รวมทั้งหอประชุมที่มาแล้วในสมัยหลังด้วย พวกนี้เป็นสถาปัตยกรรมไทยที่สร้างด้วยโครงสร้างแบบใหม่
 
แต่อาคารที่ออกแบบหลังการปฏิวัติได้ฉีกรูปโฉมแบบโบราณดังกล่าว  มาเป็นไทยประยุกต์ คล้ายสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของยุโรปที่เคยเอามาสร้างกันอยู่แล้ว เช่นหอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างขึ้นสมัยจอมพลป.เป็นอธิการบดี และเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย ท่านมีส่วนผลักดันมากให้มีรูปแบบเป็นเช่นนั้น อาคารร่วมสมัยในยุคจอมพลป.จะเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ทั้งสิ้น

ตรงนี้เองที่บางคนจะเรียกว่าเป็นสถาปัตยกรรมจอมพลป. แต่ในด้านวิชาการก็เรียกรวมๆกันไปว่าสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ สถาปัตยกรรมจอมพลป.น่าจะหมายถึงพวกแบบมาตรฐานที่ส่งไปสร้างศาลากลาง และที่ทำการของรัฐบาลที่ออกแบบอย่างลวกๆมากกว่า


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 10, 22:02
หมดยุคของจอมพลป. แต่งานก่อสร้างที่กำลังทำอยู่ หรือพวกแบบแล้วเสร็จ ได้งบประมาณไปแล้วก็ทำต่อไป โรงละครแห่งชาติที่มาเสร็จในสมัยจอมพลสฤษดิ์ได้พยายามจะประยุกต์สถาปัตยกรรมไทยลงไปในอาคารที่ต้องสนองวัตถุประสงค์ในการดูที่ชัดเจนทุกมุมมอง และการฟังที่ไม่มีจุดบอดหรือจุดสะท้อน ไม่สอดคล้องและมีปัญหาตลอดแม้ปัจจุบันก็แก้ยังไม่ตกอีกหลายจุด


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 10, 22:05
แฟชั่นของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ก็เปลี่ยนไปมีที่ใหม่กว่าตลอดเวลา ตึกกล่องไม่มีใครสร้างอีกต่อไป หลังจอมพลป.สถาปนิกมีอิสระมากขึ้นในการออกแบบอาคารที่สามารถสนองประโยชน์ใช้สอยได้อย่างตรงไปตรงมา


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 10, 22:07
รวมทั้งอิสระที่จะออกแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ ที่ไม่โดนตีกรอบให้ต้องทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ด้วย


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 10, 22:07
แฟชั่นของสถาปัตยกรรมเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น เช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ที่ต้องตามยุคสมัยให้ทัน


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 10, 22:08
สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ถูกนำมาสนองการใช้เพื่อศาสนา เช่นเดียวกับเป็นจุดขายสำหรับอาคารบางอย่าง เพื่อแสดงเอกลักษณ์ของท้องถิ่น


ผมเพียงแต่อยากจะบอกว่า สถาปัตยกรรมจอมพลป.ถึงมี ก็มีในยุคสมัยสั้นๆ การเกิดขึ้นของสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ มิใช่ไม่มีจอมพลป.แล้วจะเกิดไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติที่มันจะเกิดขึ้นเอง ดังนั้นหากรัฐบาลให้เพียงนโยบาย เช่นกำหนดเพียงว่าอาคารประเภทใดบ้างที่ควรจะต้องมีเอกลักษณ์แสดงความเป็นไทย โดยไม่บังคับว่าจะต้องประกอบด้วยช่อฟ้าใบระกา ก็จะได้สถาปัตยกรรมที่ดีกว่าที่ผ่านมาแน่นอน


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 02 ก.ย. 10, 23:07
โอ้โห   
ได้กอบโกยความรู้ด้านสถาปัตยกรรมสมัยท่านผู้นำฯ
(ซึ่งผมเคยได้ยิน บางท่านเรียกว่า "สัญสถาน อันเป็นผลิตผลจากยุคเผด็จการและการคลั่งแบบไทยเชื้อชาติเดียว")


ต้องขอบพระคุณ คุณครู Navarat.C ที่กรุณาครับ

และต้องขอบพระคุณ คุณครูท่านอื่นๆทุกท่านเช่นกันครับ


ทีนี้ เราก็ได้เรียนเรื่องภาษา เรื่องสถาปัตยกรรม ยุคท่านผู้นำกันแล้ว
จากหัวข้อ ศิลปะ วัฒนธรรม ยังเหลืออีกหลายเรื่อง เหมือนกันนะครับเนี่ย

คิดว่า อีกไม่นานคงถึง เรื่องนาฎศิลป์ เรื่องธรรมเนียมปฎิบัติและวิถีชีวิต ฯลฯ

รอให้คุณครู จบเรื่องตึก อาคาร ประติมากรรม ปฎิมากรรม ฯลฯ กันก่อน
จะว่าไปหากไม่เป็นการแทรก ก็อยากจะขอเรียนถามท่านกูรู เพิ่มเติม นะครับว่า
"ในสมัยนั้น มีการสร้างพระพุทธรูปใหม่ บ้างหรือไม่ครับ"

ขอบพระคุณครับ
 :) :) :) :)


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ย. 10, 08:00
ขอนำชมอาคารเรียนที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยพุทธศํกราช ๒๔๘๑ เนื่องจากเป็นความฉลาดของการออกแบบช่องระบายอากาศ ทำเป็นตัวเลขติดไว้ เลยได้ทราบถึงช่วงเวลาดังกล่าว ก็คงตกอยู่ในช่วงสมัยจอมพล ป. (รุ่น1) ปัจจุบันอาคารนี้ถูกเรียกว่า "ตึก ๒" ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตอนสมัยเรียนจำได้ว่าตัวอาคารแข็งแรงมาก ผนังคอนกรีตหนากว่าธรรมดา และพื้นหินขัดแน่นหนามาก


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ย. 10, 08:03
ต่อมาเป็นอีกตึกหนึ่งของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เช่นเดียวกัน ปัจจุบันกลายเป็นห้องสมุดของโรงเรียน "ตึก ๔" ตัวอาคารออกแบบสองชั้น มีหน้าต่างและช่องแสง ทรงกล่อง เรียบง่ายเช่นกัน


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 08:04
อ้างถึง
"ในสมัยนั้น มีการสร้างพระพุทธรูปใหม่ บ้างหรือไม่ครับ"

มีครับ องค์ที่สำคัญที่สุดที่จอมพลป.มีส่วนเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นคือ องค์ที่ประดิษฐานใจกลางพุทธมณฑลชื่อ พระศรีศากยะทศพลญาณฯ  เป็นพระพุทธรูปยืนปางลีลาขนาดใหญ่ พุทธลักษณะทรงยกพระบาทขวาจะก้าว ห้อยพระหัตถ์ขวาท่าไกล พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระป้องไปเบื้องหน้าเป็นกิริยาเดิน หล่อด้วยทองสำริดหนัก 17,543 กิโลกรัม โดยแบ่งหล่อเป็นชิ้นต่างๆ ขององค์พระ รวม 137 ชิ้น แล้วจึงนำไปประกอบกับโครงเหล็กบนฐานพระพุทธรูป เพื่อเชื่อมรอยต่อและปรับแต่งให้เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นพระพุทธรูปสูง 15.875 เมตร ถือเป็นพระพุทธรูปลีลาหล่อด้วยทองสำริดที่มีลักษณะงดงาม และมีขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์

พุทธลักษณะดังกล่าวได้ประยุกต์มาจากพระพุทธรูปปางลีลาสมัยสุโขทัย โดยมี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งในตอนแรกที่ออกแบบไว้นั้น พระพุทธรูปมีความสูงเพียง 2.14 เมตร แต่เพื่อให้สอดคล้องกับโอกาสที่พระพุทธศาสนาอายุครบ 2,500 ปี จึงได้มีการขยายขนาดเพื่อให้ได้เป็น 2,500 กระเบียด (1 กระเบียด เท่ากับ 1/4 นิ้ว) ดังนั้น พระศรีศากยะทศพลญาณฯ ในปัจจุบัน จึงมีความสูงถึง 15.875 เมตร ใหญ่กว่าขนาดต้นแบบ 7.5 เท่า

“พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” เป็นนามพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ทรงเททองพระเกตุมาลา เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2524 ระหว่างกำลังดำเนินการสร้างอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการสร้างองค์พระพุทธรูปด้วย


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 08:06
ชนกันกับคุณหนุ่มสยาม เชิญต่อเลยครับ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ย. 10, 09:11
ต่อนะครับ อาจารย์ NAVARAT.C, เห็นตอบท้ายไว้เรื่องพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยจอมพล ป. ก็เลยจะขอต่อยอดไปเลยเสียทีเดียว จะได้ต่อเนื่องกันไป

พระพุทธรูปองค์หนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยจอมพล ป. คือ พระพุทธรูปปางลีลา ศิลปะสุโขทัย สร้างไว้ พ.ศ. ๒๔๙๗ สำหรับประดิษฐานไว้ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ซึ่งศิลปะแม้ว่าจะดึงเอาอิทธิพลต้นแบบจากสุโขทัย แต่กิริยา หาได้นิ่มนวล อ่อนโยนเหมือนสมัยนั้นไม่ แต่ต้องฉับไว เชื่อมั่นในตัวผู้นำ ช่างที่ปั้นจึงปั้นองค์พระพุทธรูปปางลีลา ดูแล้วเสมือนทรงมีพลังก้าวย่างอย่างว่องไว มากกว่าสมัยโบราณ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ย. 10, 09:17
และจากการที่พระพุทธศาสนา อยู่ยั่งยืนมาจวนครบ ๒๕๐๐ ปี คณะรัฐบาลมีมติที่ก่อสร้างอนุสรณ์สถานในการนี้ โดยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้มีการออกแบบ หล่อร่างพระพุทธรูปไว้ถึง ๔ แบบ โดยแบบหนึ่งคือ แบบเสมือนจริง สูง ๘๐ ซม. แต่คณะกรรมการได้เลือกตัดสินใจใช้แบบศิลปะสุโขทัยประยุกต์มากกว่า จึงมีมติจัดสร้างพระพุทธรูปปางลีลาสมัยสุโขทัย ขึ้นมา


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 03 ก.ย. 10, 09:19
ขออวยพรให้กระทู้นี้ อายุยืน...ยาวววววว และขออัญเชิญผู้รู้ร่วมกันระดมข้อมูลมาไว้ที่นี่มาก ๆ ค่ะ

พระพุทธรูปที่คุณ Siamese นำมาให้ชม ปางลีลา (แบบรีบ ๆ) ดูแล้วสวยแบบไทย ๆ นะคะ
แต่แบบที่พุทธมณฑล เป็นแบบเหมือนคนจริง ๆ เพราะฝรั่งปั้น มักจะมีกล้ามเนื้อเหมือนจริง

ที่แปลกค่ะ ทำไมต้องยกมือห้าม หรือ เป็นปาง "ปรองดองแห่งชาติ" คะ
ทำไมสร้างสมัยเดียวกันแต่ยกมือคนละข้าง หรือ นี่คือเหตุที่ปรองดองไม่สำเร็จ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ย. 10, 09:27
วิหารพระมงคลบพิตร ก็เป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยจอมพล ป. เมื่อพ.ศ. ๒๔๙๙ เช่นกัน


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 09:30
โครงการพุทธมณฑลนี้ต้องใช้งบประมาณ 25 ล้านบาท แต่กระทรวงการคลังมีเงินอนุมัติให้เพียง 4 ล้านบาท ด้วยความมุ่งมั่นว่า พุทธมณฑลต้องสำเร็จทันช่วงกึ่งพุทธกาล จอมพลป.จึงได้ระดมทุน โดยมอบหมายให้พล.ต.อ.เผ่า เป็นประธานจัดสร้างพระศรีศากยะทศพลญาณจำลอง เป็นพระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ สร้างพระเนื้อทองคำ 2,500 องค์ เนื้อเงิน เนื้อนาก เนื้อชิน 2,421,250 องค์ เนื้อดินเผา 2,421,250 องค์ กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯทรงประกอบพิธีเททอง และ กดพิมพ์เป็นปฐมฤกษ์ ณ วัดสุทัศนเทพวราราม โดยตามโครงการจะสร้างให้ครบทั้งหมด 5 ล้านองค์ แต่ปรากฏว่าบล็อกแตกก่อน ต่อมาจึงได้สร้างเหรียญใบเสมาเพิ่มขึ้นอีก

หลังแล้วเสร็จก็จัด พุทธาภิเษกกันเป็นมหาพิธีที่ยิ่งใหญ่ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ทำพิธีกรรมถึง 2 ครั้ง ทางการนิมนต์ พระคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิมาปลุกเสก 108 รูป สุดท้ายได้จัดฉลองสมโภช ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ช่วง เทศกาลวิสาขปุรณมีบูชา ในปี (2500) ตรงกับวันที่ 12 ถึง 18 พฤษภาคม 7 วัน 7 คืน...สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ประธานฝ่ายฆราวาส นับว่าเป็นการ ทำธุรกิจพระเครื่องโดยรัฐบาลเป็นครั้งแรก และใหญ่สุดนับแต่มีการตั้งประเทศ

ในยุคเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วนั้น พระเครื่องที่ออกมาถือว่ามากมายมหาศาล การจำหน่ายจ่ายแจกพระ 25 พุทธศตวรรษ ดำเนินการกันทุกรูปแบบ เนื่องด้วยจำนวนองค์พระมีมากพอๆกับจำนวนประชาชนในสมัยนั้น ประชาชนได้ร่วมทำบุญเป็นเจ้าของทั้งโดยศรัทธาและโดยเกรงใจเซลล์แมน แต่ละบ้านมีกันคนละหลายๆองค์

แล้วก็ยังเหลือตกค้าง บางส่วนยังคงอยู่ตามสถานที่ราชการ (สมัยนั้นรัฐบาลส่งพระ 25 พุทธศตวรรษ ผ่านจังหวัดและหน่วยราชการ ในการจำหน่ายสู่ประชาชน) ซึ่งก็นำไป บรรจุลงกรุเจดีย์ และ โบราณสถาน หลายจังหวัด อย่างไรก็ตาม ถือว่าบรรลุตามประสงค์ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่สามารถเริ่มต้นจัดสร้างพุทธมณฑลได้ แม้จะมาสำเร็จบริบูรณ์ในยุคของพล.อ.เปรม ก็ตาม


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 03 ก.ย. 10, 10:15
          คุณ siamese มีรูปพระพุทธรูปโดยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี อีกไหมครับ

            รออาจารย์นวรัตนพาไปดูประติมากรรมต่อจากสถาปัตยกรรม และปฏิมากรรม ครับ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ย. 10, 10:20
ใช่ครับ อาจารย์ NAVARAT.C

เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ตรงกับวันจันทร์ และเป็นวันวิสาขบูชา เวลา ๑๔.๒๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินด้วยเฮลิคอปเตอร์จากพระราชวังไกลกังวัง ทรงเป็นองค์ประธานหล่อพระเกตุมาลา พระพุทธรูปประธานพุทธมณฑล และเสด็จพระราชดำเนินกลับ เวลา ๑๘.๒๐ นาที


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ย. 10, 10:58
ตอบคุณ SILA  ผลงานปั้นพระพุทธรูป โดยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 03 ก.ย. 10, 12:07
^ ขอบคุณ ครับ

            คั่นรายการจาก  Realtime ของนสพ. Bangkok Post ฉบับวันนี้
            มีเรื่องหนังไทยรีเมค ชั่วฟ้าดินสลาย ที่สร้างจากนิยายของ เรียมเอง(มาลัย ชูพินิจ)

          แทรกมาในกระทู้นี้เพราะเนื้อหาบทความบางส่วนพาดพิงถึงยุคสมัยจอมพลป.และ
            อาจเป็นของรับประทานเล่นก่อนที่อาจารย์เทาชมพูอาจจะเล่าถึงนิยายสมัยนั้น และนักเขียน
เขียนนิยายยุคภาษาวิบัติอย่างไร ครับ

            ชั่วฟ้าดินสลาย เป็นนิยายปี พ.ศ. ๒๔๘๖ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองสิบปีเศษ
ตัวนิยายเล่าเหตุการณ์ในป่าลึกห่างไกลและไม่มีเรื่องราวของเมืองกรุงหลังการเปลี่ยนแปลง
            แต่ด้วยหนึ่งในลักษณะของการทำหนังและละครของผู้กำกับ เขียนบท คือ หม่อมน้อย
(ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล) ที่จะต้องมีการตีความและเสริมบทปูมหลัง ที่มาของตัวละคร
(เช่น เหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ในละครช่างมัน ฉันไม่แคร์ และ ฉากต่างแดนที่ตาอั้นไปเรียนนอก
แล้วกลับมาร่วมในกลุ่มเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในสี่แผ่นดิน)

          คราวนี้ ในหนังจึงมี(ในหนังสือ - ไม่มี) ฉากสั้นๆ ที่เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในกรุง
ที่ยังก้องอยู่ในมโนนึกและสำนึกของตัวละครโดยเฉพาะยุพดีที่เป็นสาวจากเมืองกรุงมาอยู่ป่า
ชอบฟังเพลงฝรั่ง และอ่านงานของคาริล ยิบราน

ชั่วฟ้าดินสลาย ครั้งแรก


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 03 ก.ย. 10, 12:10
หม่อมน้อยเห็นว่าเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองในกรุงเทพฯ เป็น

           fitting backdrop for an unconventional, taboo-flirting woman like Yupadee,
who flees the brutality of the real world into the lull of fantasy provided by
Western books and music.

         "But what Yupadee thinks she knows about love and life is superficial.
She only reads about it and fantasises about it. She reads Khalil Gibran and
understands only the shell of it, not the essence," says Mom Noi.

         "To me, this is like what most of us do with democracy.
We know only the surface of it but we keep talking about it.
And when we can't control it, we get a lot of people into trouble,
like Yupadee did. I don't think that has changed over the years."

http://www.bangkokpost.com/entertainment/movie/194377/from-here-to-eternity

ชั่วฟ้าดินสลาย ครั้งล่า สไตล์หม่อมน้อย


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 12:13
พอดีไฟฟ้าที่บ้านดับไป2-3ซั่วโมง กระทู้ของผมตามไม่ทัน ขอโทษครับที่ขอย้อนกลับไปนิดนึง

รูปของคุณหนุ่มสยาม แสดงให้เห็นรูปแบบอาคารที่สร้างขึ้นมากในสมัยจอมพลป. ก็เพราะว่าดำรงตำแหน่งในระยะแรกนั้นเป็นสิบปี จึงมีอาคารทรงกล่องเกิดขึ้นมากมาย ส่วนใหญ่แล้วคนใช้อาคารนั้นจะไม่ค่อยชื่นชอบเท่าไรเพราะมันไม่เหมาะกับเมืองร้อน ฝนตกชุกอย่างบ้านเรา ลองคิดถึงคนซิครับ ถ้าไปยืนตากแดด สวมงอบกับสวมหมวกแก๊ป ฝนตกแดดออกอะไรจะสบายกว่ากัน

หลังคาแบนแบบตึกแถว นอกจากจะร้อน(เพราะไม่มีแอร์) ก็ยังรั่วซึมแก้ปัญหาไม่ตก หลายตึกเช่นคณะสถาปัตย์จุฬาเองแท้ๆ ยังแก้ด้วยคำตอบสุดท้าย คือมุงหลังคาจั่วทับไปบนหลังคาแบน สิ้นเรื่องสิ้นราวไป หน้าต่างก็ต้องมาเติมกันสาด เพราะแดดทะลุทะลวงมาถึงกลางห้อง ฝนสาดมาก็เปียก ในที่สุดโมเดิร์นอาคิเต็กเจอร์ก็ไปไม่รอด และคนก็ไปด่าจอมพลป.กันยกใหญ่ เพราะชอบสร้างไว้เยอะนั่นเอง


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 12:15
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่จอมพลป.โดนปัญญาชนวิจารณ์อย่างหนักหน่วงก็คือ การเข้าไปบูรณะโบราณสถานในเมืองเก่าทั่วๆไป ยุคนี้เป็นยุคที่กำแพงเมืองโบราณถูกรื้อทิ้งมากที่สุด เช่นลำพูน แพร่ น่าน เพราะท่านไม่ชอบอะไรที่ดูเก่าๆชำรุดทรุดโทรม วิหารพระมงคลบพิตรที่คุณหนุ่มสยามเอาภาพให้ดูนั่นเดิมเป็นเช่นนี้ ผมโตพอทันจะได้เห็น จำได้ว่าทางกรมศิลปากรแผ้วถางเตียนแล้ว ในส่วนที่เป็นตัววิหารสามารถเข้าไปนั่งกราบพระได้ คล้ายกับที่เมืองเก่าสุโขทัยในปัจจุบันที่ทำถูกต้องตามหลักของการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ส่วนวิหารพระมงคลบพิตรนั้น ท่านสั่งให้สร้างตัววิหารขึ้นใหม่เลยโดยไม่ฟังเสียงทัดทานของใครทั้งสิ้น ตอนเสร็จใหม่ๆขนาดผมเป็นเด็กยังไม่ชอบ มันดูจอมปลอมชอบกล ขัดแย้งกับทัศนียภาพของเมืองเก่า ที่แม้จะเป็นทรากปรักหักพัง แต่ก็มีเสน่ห์ในตัวของมัน

แต่เดี๋ยวนี้ดูดีขึ้น เพราะมีการปรับปรุงมากมายในสมัยหลังๆ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 12:16
เจดีย์เจ้าสามพระยาก็เช่นกัน อยู่ดีๆก็มีอะไรขาวโพลน เป็นสิ่งแปลกปลอมที่งอกทะลุขึ้นมาผิดสภาพแวดล้อม ตอนเสร็จใหม่ๆน่าเกลียดมาก ดูเหมือนจะไม่ได้รับคำชมเลย ท่านก็ท้อๆ ไม่บูรณะที่ไหนเพิ่ม เลยเป็นโชคดีของกรุงเก่า มิฉะนั้นอาจจะสอบตกไม่ได้เป็นมรดกโลกตั้งแต่เสนอครั้งแรก

เดี๋ยวนี้เจดีย์ทั้งสามดูดีขึ้น เพราะเสน่ห์แห่งกาลเวลาได้บ่มให้ความหยาบกระด้างของวัสดุให้บรรเทาความกร้าวร้าวลง ของบางอย่างนั้นความเก่าดูดีกว่าความใหม่ โบราณสถานและโบราณวัตถุนั้น แน่เสียยิ่งกว่าแน่ที่ยิ่งเก่ายิ่งมีราคา ไม่ใช่เก่าสกปรกรกเลอะเทอะนะครับ เก่าแต่บำรุงรักษาไว้ให้คงสภาพเดิมอย่างดี นั่นคือการอนุรักษ์ที่ถูกต้อง ไม่ใช่อนุรักษ์ของเก่าด้วยการทุบทิ้งให้หมดแล้วสร้างใหม่ ท่านผู้อ่านลองสังเกตุตัววิหารมณฑปเดิมสิครับ ถูกทุบไปแล้ว ในภาพปัจจุบันที่เห็นเหมือนเสากำแพงโบราณนั่นน่ะ สร้างขึ้นใหม่


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 12:19
โบราณสถานหลายแห่งในโลกเขาทิ้งสภาพปรักหักพังไว้เดิมๆ แต่เพื่อสร้างมโนภาพแก่ผู้มาเยี่ยมชมว่า แต่ก่อนนั้นมีรูปลักษณ์อย่างไร เขาจะมีมุมหนึ่งที่มีภาพเขียนใส่กระจกไว้ ใช้หลักการของหนังการ์ตูน มองภาพผ่านกระจกที่ว่าจะเห็นภาพข้างหน้าในทัศนียภาพที่เป็นอย่างนั้นเมื่อแรกสร้าง

คล้ายๆกับการซ้อนภาพที่ผมนำมาให้ดูในภาพข้างบน และในภาพนี้ คือวัดไชยวัฒนารามครับ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ย. 10, 12:38
ขอบคุณอาจารย์ NAVARAT.C  สำหรับการอธิบายเรื่อยการบูรณะกรุงเก่า วัตถุโบราณคงกระจายหายไปมากเลยนะครับ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ย. 10, 13:27
วิหารพระมงคลบพิตร เมื่อครั้งอาจารย์ NAVARAT.C เข้าไปกราบคงมีสภาพเป็นอย่างนี้เป็นแน่ มีการจัดแต่งภูมิทัศน์ให้เรียบร้อยสวยงาม ท่อนแขนขวาองค์พระได้ถูกต่อเข้ากับองค์พระเป็นที่เรียบร้อย


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ย. 10, 13:31

          อาจเป็นของรับประทานเล่นก่อนที่อาจารย์เทาชมพูอาจจะเล่าถึงนิยายสมัยนั้น และนักเขียนเขียนนิยายยุคภาษาวิบัติอย่างไร ครับ
            

          อย่างที่เล่าไว้ข้างบนนี้แล้วค่ะ  ว่าภาษาวัธนธัมเป็นหนามยอกอกชิ้นใหญ่ของนักเขียนในยุคสงครามโลก     เพราะนอกจากอักขระที่ต้องสะกดกันใหม่เหมือนคนเขียนผิดทุกบรรทัดแล้ว    สรรพนามก็เป็นอีกอย่างที่บั่นทอนความละเมียดละไมในภาษาพูดของพระเอกนางเอกลงไปไม่มีเหลือ
         นักเขียนใหญ่บางคน ( น่าจะเป็นยาขอบ)  ถึงกับเลิกเขียนเรื่องร่วมสมัยไปเลย เพราะทนไม่ได้ที่จะพระเอกสารภาพรักกับนางเอกว่า "ฉันรักท่านจ้ะ"   
             ส่วนกวีนั่นไม่ต้องพูด  ถ้ายึดถือกันเคร่งครัด  โคลงศรีปราชญ์ก็คงจะถูกพิมพ์ใหม่ จาก เรียมร่ำน้ำเนตรถ้วม  ถึงพรหม  เป็น ฉันร่ำน้ำเนตรถ้วม ถึงพรหม  จากนั้น  กวีก็จะแล้งแหล่งสยามไปเอง

           อย่างไรก็ตาม ดิฉันขอบอกให้คุณ SILA ใจชื้นขึ้นมาอีกนิดหนึ่งค่ะ  ว่า  ในด้านเพลงสุนทราภรณ์  ขุนพลเพลงอัจฉริยะอย่างครูแก้วและครูเอื้อ ก็ยังอุตส่าห์ผลิตงานสนองวัธนธัมขึ้นมาจนได้   
       ครูเอื้อไม่มีปัญหาเท่าไรหรอก เพราะจอมพลป.ท่านไม่เข้ามาก้าวก่ายเรื่องทำนองเพลง  ท่านไม่ชอบเพลงไทยเดิม แต่ถ้าดัดแปลงไทยเดิมเป็นไทยสากล -ท่านชอบ  ดูเป็นเรื่องเกลียดตัวกินไข่อยู่บ้าง ถ้าจะมองกันไป
            แต่เนื้อร้องที่ครูแก้วเขียนเป็นประจำนี่สิ   ต้องยกนิ้วโป้งให้สองมือว่าท่านหาทางลุยของท่านเข้าไปจนได้
            ขอยกเพลงมาให้เห็นชัดๆนะคะ  ชื่อ "ภาษารัก"
     คำร้อง แก้ว อัจริยะกุล                  ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน       


 
  หนุ่มสาวเมื่อถึงคราวชื่นชู้
ต่างคนต่างรู้กัน รู้เท่าทันความนัย
ดวงตาแลดูก็รู้ดวงใจ
ความหมายสิ่งไรรู้ได้ที่ในแววตา

หากแม้กิริยานิ่งเฉย
แต่ตาเปิดเผยความ อ่านนัยตามภาษา
อันดวงตาก็คือสื่อหัวใจ มีอะไรระบายด้วยสายตา
แน่นอนหนักหนา  เหมือนวาจารักใคร่

ท่อนข้างบนนี้ไม่เท่าไหร่  ไพเราะด้วยลีลาคำตามแบบครูแก้ว  แต่ฉ็อทเด็ดอยู่ข้างล่าง

ท่านมองฉันเพลินเนิ่นนาน ขอลาปวงท่านมินานเท่าใด
ตาเท่านั้นฝากไว้ใช้แทนดวงใจรักใคร่รำพัน
ท่านมอง ฉันมองจ้องกัน
รู้เชิงกันมั่น รู้กันด้วยตา

เพลงนี้ นักร้องหญิงร้องคู่ คือคุณชวลี ช่วงวิทย์  กับคุณมัณฑนา  โมรากุล   
คนแต่ง ต้องใช้ ฉัน ท่าน ตามรัฐนิยมเปี๊ยบ



           




กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ย. 10, 13:34
รัฐนิยมสมัย


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ย. 10, 13:37
วกกลับเข้ามาหัวข้อเดิมนะครับ นำภาพศาลาสันติธรรม เชิงสะพานมัฆวานฯ เห็นว่าการก่อสร้างสถาปัตยกรรม เป็นรูปแบบเดียวกันกับยุคสมัยจอมพล ป.


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 13:57
เรื่องอยุธยาอีกหน่อย ขอบคุณคุณหนุ่มสยามที่เอาภาพวิหารพระมงคลบพิตรสมัยผมเด็กๆมาลงให้ ผมพยายามหาอยู่แต่หาไม่ได้

เพื่อนรักของแม่ผมเป็นภรรยาของคุณสุทัศน์ สิริสวย ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาสมัยนั้น ผมจึงได้ไปเที่ยวบ่อย บางครั้งไปค้างอยู่หลายวัน ตอนกรุวัดราชบูรณะแตก ผมมีโอกาสได้เห็นสมบัติกษัตริย์ที่กรมศิลปากรขุดขึ้นมาได้อย่างใกล้ชิด จำได้แค่ว่าทองทั้งนั้น อย่างอื่นจำไม่ได้เลย

สมบัติของกรุงศรีอยุธยาถูกปล้นสดมภ์มาตั้งแต่พม่ารีบถอยทัพกลับ ทั้งคนไทยคนจีนพากันขุดล่าหาสมบัติที่พม่าตกหล่นกันแบบใครดีใครได้ จบจนสมัยนี้ก็ยังมีมั้ง ตอนที่ผมเล่านั้น โจรมาขุดเจดีย์วัดราชบูรณะ ให้ลึกกว่าที่โจรสมัยก่อนๆขุดไปแล้ว กรุแตกของดีๆทั้งนั้น ขนของออกมาเผอิญซวยมีตำรวจน้ำดีจับได้ ทางราชการจึงเห็นว่าปล่อยไม่ได้แล้ว ถ้าไม่ลงมือขุดเองโจรจะเอาไปหมด จึงระดมสรรพกำลังมาขุดกันทั่วกรุง ส่วนใหญ่ที่ได้ๆกันก็เป็นพระ ที่เรียกว่าพระกรุ บางองค์เป็นแผ่นดีบุกยาวเป็นศอกก็มีเช่นพระใบขนุน นับหมื่นองค์ ทางราชการเอามาตั้งราคาขายให้ราษฎร คนแห่กันไปบูชารถติดยาวเหยียด พวกทองคำไม่ได้ปล่อยนะครับ เก็บไปไว้ในพิพิธภัณฑ์ พวกที่นำมาปล่อยส่วนใหญ่ก็ชำรุด ขนาดผู้ว่ายังไม่ได้ที่สวยๆ(แต่เขาว่าเซียนได้ไปหมดแล้ว) บ้านผมไปดูกันเฉยๆ อาจจะมีใครบูชามาสักองค์สององค์ ตอนหลังมีข่าวว่าพระอยุธยาเฮี้ยนหนัก มีคนเอามาคืนกัยเยอะก็เลยเอามาคืนมั่ง ไม่เหลือถึงผมเลย

ถ้ามองในมุมของคนที่เชื่อเรื่องนี้ พระที่อยู่ในกรุส่วนหนึ่งเป็นพระที่มีคนสร้างขึ้นเพื่อสะเดาะเคราะห์ ถ้าไปเอาพระพวกนั้นมา ก็เท่ากับไปรับทุกข์ของเขาไว้ แต่คนไม่เชื่อก็มี เซียนพระหลายคนก็บอกว่าผมเล่นเป็นศิลปะ เรื่องพุทธคุณหรือไสยคุณผมไม่ถือ ขอให้พระสวยก็แล้วกัน แต่ตอนนั้น พอใครรถคว่ำตายหนังสือพิมพ์ก็ชอบลงข่าวว่ามีพระอยุธยาอยู่ในรถ เจอยังงี้เข้าไม่กี่ราย คนเอาไปคืนกันเป็นแถว


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 14:10

ตึกองค์การสหประชาชาติหลังเก่าที่เชิงสะพานมัฆวาน ก็เป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ของจอมพลป. ที่มีกฏเกณฑ์ให้ใส่ปั้นลม ช่อฟ้า หางหงสุ์ ตรงปลายหลังคา และหาที่ใส่ลายกนกปูนปั้นตามขอบๆผนังและหน้าต่างเสียหน่อย เพื่อแสดงเอกลักษณ์ไทย

ตรงนี้อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ท่านหนึ่งของผมเลคเช่อร์ว่า เป็นความคิดที่ตื้นเขินเต็มที


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ย. 10, 14:23
ค้างคาใจเรื่องการสร้างพระพิมพ์สักหน่อย จากการที่พบพระพิมพ์เนื้อโลหะ ซึ่งเป็นส่วนผสมของตะกั่วและดีบุกผสมกัน ซึ่งเรียกว่า เนื้อชิน นำมาหลอมรวมกันแล้วใช้ปรอทแล่นพิมพ์ก่อนเท เพื่อให้น้ำโลหะแล่นติดพิมพ์ได้สวยงามจับใจ มีอยู่ด้วยกันหลายพิมพ์ทรง และพระพิมพ์ล้อสมัยศิลปะละโว้ ก็มากอยู่ ทำให้คิดในใจว่า คาดว่าคงเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อมๆเลยทีเดียว

คติการสร้างพระพิมพ์บรรจุในกรุ ถือคติหลายอย่างแล้วแต่เจตนา สำหรับชนชั้นนำ สร้างเป็นหมื่นๆ แสนๆองค์แล้วจารใบทองคำ ระบุหวังผลนิพาน หวังสืบทอดพระศาสนาย่อมพึงกระทำ แต่สำหรับระดับไพร่ อยากจะสร้างพระบรรจุร่วมกรุ คงทำได้ยาก คงต้องหาเช่าแล้วจารด้วยลายมือ บูชาหย่อนลงในกรุเป็นแน่
รวมทั้งชาวต่างชาติ ชาวจีนด้วย เนื่องจากพบคำจารึกอุทิศให้แก่แซ่วงศ์ตระกูลของตนเอง บ้างเขียน บ้างสลักลงในเนื้อพระเลย

ดังนี้การบรรจุกรุมีได้หลายความหมายแล้วแต่เจตนาของบรรบุรุษเป็นที่ตั้ง สำหรับจะเฮี้ยนอย่างไร ก็เคยได้ยินมาว่า "ของเขาแรง จริง"


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 14:34
สมบัติมีค่าในกรุวัดราชบูรณะ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: proudtobethai ที่ 03 ก.ย. 10, 15:22
กระทู้นี้มีแต่ของสวยๆงามๆให้ชม :) ขอบคุณค่ะ

นอกเรื่องนิดนึงได้ไหมคะ จำได้ว่า หลายปีก่อน มีข่าวสมบัติโกโบริ ที่นักการเมืองคนหนึ่งจะไปขุดหา..
ไม่ทราบเรื่องนี้ ตอนจบเป็นยังไงคะ ขออภัยทุกท่านด้วยนะคะ ที่ถามนอกเรื่อง...


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ย. 10, 15:31
มีภาพเครื่องทองจากกรุวัดราชบูรณะมาให้ดูอีกค่ะ

(http://www.gmwebsite.com/upload/7wat.com/content/p0009.jpg)       

(http://www.hotsia.com/thailandinfo/ayutaya/img02.jpg)

(http://www.hotsia.com/thailandinfo/ayutaya/img07.jpg)

ขุมทองโกโบริ เงียบหายไปแล้ว   เคยอ่านพบว่าต่างประเทศก็เจอขุมทองแบบนี้เหมือนกัน  เป็นแก๊งค์ต่างชาติทำงานระดับอินเตอร์ค่ะ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 16:56
เอาละครับ เราจะไปว่าเรื่องอื่นกัน

ความจริงก่อนเรื่องภาษาวิบัติ จอมพลป.ท่านมีแนวคิดในเรื่องจะยกระดับวัฒนธรรมของชาติไปสู่แนวที่ท่านคิดของท่านเองว่าดี เพื่อจะให้มีผลบังคับ สามารถปฏิบัติได้จริง ท่านจึงต้องออกกฏหมายมารองรับ เรียกว่า พระราชบัญญัติ บำรุงวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2483 มีข้อความดังนี้


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 16:58
2


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 16:58
3


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 03 ก.ย. 10, 16:59
เสริม ค.ห .82 ผมเคยเรียนไว้ในเว็บนี้แหละ(แต่จำกระทู้ไม่ได้)ว่า ตอนผมเด็กๆผมมาวิ่งเล่น มาเก็บพุทรา ได้เคยปีนป่ายองค์พระแบบไม่มีวิหารนั้น ก็เป็นไปตามแบบภาพนี้แหละ ครับผม แต่ผมจำได้ว่าองค์พระ น่าจะไม่สูงเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นะครับผม
มานิต


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 17:08
^
ขอบคุณคุณmanitครับ

เรื่ององค์พระที่ว่า ผมไม่ทราบเหมือนกัน เขาได้ยกขึ้นให้สูงกว่าเดิมหรืออย่างไรครับ องค์เดิมก็สูงมากอยู่แล้ว ถ้ายกจริงคงต้องเป็นงานวิศวกรรมระดับชาติ น่าจะมีบันทึกไว้นะครับว่าทำอย่างไร แต่ผมไม่เคยเห็นจริงๆครับ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 17:20
 และอาศัยอำนาจตามกฏหมายดังกล่าว ท่านก็ออกประกาศว่าด้วยรัฐนิยมขึ้นหลายฉบับ
รัฐนิยมคืออะไร ผมว่าให้ท่านอธิบายเองดีกว่า ท่านผู้อ่านก็โปรดทำความเข้าใจเอาเองด้วย

เราจะเรียกว่า "รัฐนิยม" คือ การปฏิบัติให้เป็นประเพณีนิยมที่ดีประจำชาติ เพื่อให้บุตรหลานอนุชนคนไทยเรายึดถือเป็นหลักปฏิบัติ รัฐนิยมนี้มีลักษณะและละม้ายคล้ายคลึงกับจรรยามรรยาทของอารยชนจะพึงประพฤตินั่นเอง ในรัฐนิยมยังมีพฤติกรรมเพิ่มพิเศษขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือ "อำนาจมหาชน”

อำนาจมหาชนนั้นแปลรูปมาจากมติมหาชน ซึ่งเราเคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว หมายความว่า การทำสิ่งใดให้ดำเนินตามความเห็นของส่วนมากของชาติ ความเห็นดีเห็นชอบของประชาชนส่วนใหญ่นั้น ก่อให้เกิดอำนาจมหาชนขึ้น อำนาจมหาชนนั้น สามารถทำการปรับปรุงหรือปราบปรามกลุ่มชนส่วนน้อยที่ยังว่านอนสอนยาก ไม่ทำตนให้ดีขึ้นมาเสมอกับผู้อื่นได้ การปราบปรามคนจำพวกนี้ บางทีก็ไม่อยู่ในข่ายของกฎหมายจะเอื้อมไปถึง เพราะยังไม่มีหลักอันใดมาเป็นกรณีให้ต้องสร้างกฎหมายขึ้นสำหรับเรื่องนั้น ยกตัวอย่างเช่นผู้ชายคนหนึ่งเข้ารังแกผู้หญิงผู้เป็นเพศอ่อนกว่าตนกลางถนนหลวง รัฐนิยมก็มีว่า ผู้ชายคนนั้นควรได้รับโทษจากอำนาจมหาชนให้สมกับความประพฤติผิดอารยชนนั้น หรือเช่นเมื่องานบุปผชาติวันที่ ๓ เดือนนี้ มีบุคคลบางคนที่อ่อนทั้งศีลธรรมและการศึกษา แทนที่จะใช้ดอกไม้หรือลูกปา สายรุ้งขว้างนางบุปผชาติ กลับใช้ก้อนอิฐบ้าง ขยะมูลฝอยข้างถนนบ้าง ของอากูลต่างๆบ้าง ปาเข้าไปที่สตรีเพศเป็นต้น การกระทำอย่างนี้ไม่ใช่การกระทำของคนเจริญแล้ว เพราะคนเจริญแล้วไม่รังแกเพศอ่อน และยิ่งในคราวนั้น สุภาพสตรีได้มาทำงานเป็นการช่วยชาติด้วย ก็ยิ่งเป็นการกระทำไม่ดีดั่งว่านั้นเลย

ฉะนั้นเมื่อเรามีรัฐนิยมขึ้น ควจำพวกนี้ก็จะต้องได้รับโทษจากอำนาจมหาชนโดยตรงและโดยทันที เหมือนดั่งเราเคยได้ฟังเรื่องเกิดขึ้นในอารยประเทศบ่อยๆ ว่า คนที่รังแกผู้หญิงก็ถูกราษฎรกลุ่มใหญ่จับตัวมาสำเร็จโทษเสียก็มี และคราวผู้ร้ายเข้าทำการปลงพระชนม์พระเจ้าแผ่นดินยูโกสลาเวียในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปีก่อนก็เช่นเดียวกัน อำนาจมหาชนได้เข้าจัดการกับผู้ร้ายคนนั้นเสียก่อนที่กฎหมายบ้านเมืองจะเอื้อมแขนเข้ามาถึง แต่ของไทยเราอาจไม่ทำรุนแรงถึงเช่นนั้น จะเพียงรุมกันว่ากล่าวอย่างแรง หรือหยุดยั้งไม่ให้ฝืนรัฐนิยมของเรา หรือช่วยกันจับตัวส่งเจ้าหน้าที่ก็น่าจะเพียงพอ"


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 17:23
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๑

เรื่อง การใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ

     โดยที่ชื่อของประเทศนี้ มีเรียกกันเป็นสองอย่าง คือ “ไทย” และ “สยาม” แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า “ไทย” รัฐบาลเห็นสมควรถือเป็นรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศให้ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความ นิยมของประชาชนชาวไทย ดั่งต่อไปนี้

ก. ในภาษาไทย
     ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติให้ใช้ว่า “ไทย”
ข. ในภาษาอังกฤษ
     ๑. ชื่อประเทศ ให้ใช้ว่า THAILAND
     ๒.ชื่อประชาชน และสัญชาติให้ใช้ว่า THAI
     แต่ทั้งนี้ ไม่กะทบถึงกรณีที่มีบทกฎหมายบัญญัติคำว่า “สยาม” ไว้ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒ เป็นต้นไป
     ประกาศมา ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี  


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 17:26
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๒

เรื่อง การป้องกันภัยที่จะบังเกิดแก่ชาติ

     ด้วยรัฐบาลพิจารณาเห็นว่า ชาติไทยต้องเป็นที่เทอดทูลของชาวไทยอย่างสูงสุดเหนือสิ่งใดๆ การป้องกันรักษาชาติย่อมเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ร่วมชาติกันจักต้อง ป้องกันอันตรายหรือความเสื่อมโทรมของชาติที่อาจมีมาด้วยประการต่าง ๆ จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดั่งต่อไปนี้

     ๑. ชนชาติไทยต้องไม่ประกอบกิจการใด ๆ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์และความปลอดภัยของชาติ
     ๒. ชนชาติไทยต้องไม่เปิดเผยสิ่งซึ่งอาจเป็นผลเสียหายแก่ชาติให้ชนต่างชาติล่วงรู้เลยเป็นอันขาด การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ
     ๓. ชนชาติไทยต้องไม่ทำตนเป็นตัวแทนหรือเป็นปากเสียงของต่างชาติ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติไทย ต้องไม่ออกเสียงหรือแสดงตนเข้าข้างต่างชาติในกรณีที่เป็นปัญหาระหว่างชาติ การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ
     ๔. ชนชาติไทยต้องไม่แอบอ้าง ซื้อขายที่ดินแทนชนต่างชาติ ในทางที่เป็นภัยแก่ชาติ การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ
     ๕. เมื่อปรากฏว่า มีผู้หนึ่งผู้ใดทรยศต่อชาติ เป็นหน้าที่ของชาวไทยต้องเอาใจใส่รีบระงับเหตุนั้น

     ประกาศมา ณ วันที่ ๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 17:27
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๓

เรื่อง การเรียกชื่อชาวไทย

     ด้วยรัฐบาลเห็นว่า การเรียกชาวไทยบางส่วนไม่ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของผู้ถูกเรียกก็ดี การเรียกชื่อแบ่งแยกคนไทยออกเป็นหลายพวกหลายเหล่า เช่นไทยเหนือ ไทยอิสาณ ไทยใต้ ไทยอิสลามก็ดี ก็ไม่สมควรแก่สภาพของประเทศไทย ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแบ่งแยกมิได้
     จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้
     ๑. ให้เลิกการเรียกชาวไทย โดยใช้ชื่อที่ไม่ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของผู้ถูกเรียก
     ๒. ให้ใช้คำว่า “ไทย” แก่ชาวไทยทั้งมวลไม่แบ่งแยก
     ประกาศมา ณ วันที่ ๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 17:29
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๔

เรื่อง การเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี

     ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า ธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นสิ่งสำคัญประจำชาติ พึงได้รับความเชิดชูเคารพของชาวไทยทั้งมวล จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้
     ๑. เมื่อได้เห็นการชักธงชาติขึ้น หรือลง จากเสาประจำสถานที่ราชการตามเวลาปกติ หรือได้ยินเสียงแตรเดี่ยวหรือนกหวีดเป่าคำนับ หรือให้อาณัติสัญญาณการชักธงชาติขึ้นหรือลดธงลง ให้แสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม
     ๒. เมื่อได้เห็นธงชัยเฉลิมพล ธงเรือรบ ธงประจำกองยุวชนทหาร หรือธงประจำกองลูกเสือ ซึ่งทางราชการเชิญผ่านมา หรืออยู่กับที่ประจำแถวทหาร หรือหน่วยยุวชน หรือลูกเสือ ให้แสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม
     ๓. เมื่อได้ยินเพลงชาติ ซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในงานพิธีอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงาน หรือที่อยู่ในวงงานนั้น แสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม
     ๔. เมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในโรงมหรสพ หรือในงานสโมสรใด ๆ ก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงานหรือที่อยู่ในวงงานหรือในโรงมหรสพนั้น แสดงความเคารพ โดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม
     ๕. เมื่อได้เห็นผู้ใดไม่แสดงความเคารพดั่งกล่าวในข้อ ๑ – ๒ – ๓ และ ๔ นั้น พึงช่วยกันตักเตือนชี้แจงให้เห็นความสำคัญแห่งการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี

ประกาศมา ณ วันที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๒

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี  


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 17:30

 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๕

เรื่อง ให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย

     เนื่องด้วยสถานะการณ์ของโลกอยู่ในสภาพสงคราม ทุกประเทศทั้งที่เป็นคู่สงครามและเป็นกลาง จำต้องสนับสนุนการเกษตร พาณิชย์และอุตสาหกรรมของชาติเป็นพิเศษ คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ถึงเวลาจำเป็นที่จะต้องชักชวนชาวไทยให้กระทำเช่นนั้น จึ่งได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้
     ๑. ชาวไทยพึงพยายามบริโภคแต่อาหารอันปรุงจากสิ่งซึ่งมีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย
     ๒. ชาวไทยพึงพยายามใช้เครื่องแต่งกายด้วยวัตถุที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย
     ๓. ชาวไทยพึงช่วยกันสนับสนุนงานอาชีพ การเกษตร พาณิชย์ อุตสาหกรรม และวิชาชีพ ของชาวไทยด้วยกัน
     ๔. กิจการสาธารณูปโภคอันใด ที่รัฐบาลหรือชาวไทยจัดให้มีขึ้นแล้ว ชาวไทยพึงพยายามใช้และสนับสนุน
     ๕. ชาวไทยผู้ประกอบการเกษตร พาณิชย์ อุตสาหกรรม งานอาชีพ หรือวิชาชีพ อันได้รับการสนับสนุนโดยรัฐนิยมฉะบับนี้ ต้องพยายามรักษามาตรฐานปรับปรุงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น และดำเนินกิจการนั้นๆ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตทุกประการ

     ประกาศมา ณ วันที่ ๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๒

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี  


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 17:31

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๖

เรื่อง ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ

     ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ ซึ่งได้ประกาศไว้ ณ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ นั้น ทำนองเพลงเป็นที่นิยมแพร่หลายตามสมควรแล้ว แต่เนื้อร้องจะต้องมีใหม่ เพราะชื่อประกาศได้เรียกว่าประเทศไทยแล้ว จึ่งได้ประกาศให้ประชาชนเข้าประกวดแต่งมาใหม่ บัดนี้ คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกเนื้อร้องบางบทเสนอให้คณะรัฐมนตรีวินิจฉัย คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาพิจารณาแล้ว ลงมติพร้อมกันตกลงตามบทเพลงของกองทัพบกโดยแก้ไขเล็กน้อย
     จึ่งประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้
     ๑.ทำนองเพลงชาติ ให้ใช้ทำนองเพลงของพระเจนดุริยางค์ตามแบบที่มีอยู่ ณ กรมศิลปากร
     ๒. เนื้อร้องเพลงชาติ ให้ใช้บทเพลงของกองทัพบก ดั่งต่อไปนี้
ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย

     ประกาศมา ณ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี  



กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 17:38
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๗

เรื่อง ชักชวนให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติ

     โดยที่รัฐบาลพิจารณาเห็นว่า การที่ชาติของเราจะเจริญก้าวหน้าสมความปรารถนาอันดีได้ ย่อมอยู่ที่ข้าราชการจะต้องช่วยกันทำงานตามหน้าที่อย่างเข้มแข็ง และใฝ่ใจทุกวิถีทางที่จะช่วยสนับสนุนพี่น้องชาวไทยให้มีทางประกอบอาชีพ โดยหวังให้ฐานะของคนทุกคนดีขึ้นเป็นลำดับ
     อนึ่ง งานสร้างชาติเป็นงานที่ใหญ่ยิ่ง ต้องช่วยกันอย่างพร้อมเพรียง ถ้าพี่น้องชาวไทยทุกคนพยายามแสวงหาอาชีพอันสุจริตสำหรับตนเองและครอบครัวโดย ไม่เลือกงาน ประกอบการงานของตนให้มีรายได้พอที่จะทำนุบำรุงครอบครัวของตนให้รุ่งเรือง ยิ่งขึ้น ก็ย่อมจะทำให้ชาติของเราเจริญรวดเร็วโดยมิต้องสงสัย การที่พี่น้องชาวไทยช่วยกันทำงานเช่นนี้ ย่อมได้ชื่อว่าร่วมกันสร้างชาติ คณะรัฐมนตรีจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ ดั่งต่อไปนี้
     “ชาวไทยทุกคนต้องร่วมกันสร้างชาติ โดยทุกคนซึ่งมีกำลังกายดีต้องทำงานประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง ผู้ไม่ประกอบอาชีพเป็นหลักฐาน นับว่าเป็นผู้ไม่ช่วยชาติ และไม่ควรได้รับความนับถือของชาวไทยทั่วไป”

      ประกาศมา ณ วันที่ ๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี



กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 17:40
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๘

เรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี

     โดยเหตุที่ได้บัญญัติให้เรียกชื่อประเทศว่าประเทศไทย รัฐบาลจึงเห็นสมควรแก้ไขบทเพลงสรรเสริญพระบารมี มิให้มีคำว่า สยาม และตัดทอนข้อความและทำนองให้กระทัดรัดเหมาะสมยิ่งขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยม แก้ไขบทเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบพิศดาร ให้มีข้อความดั่งต่อไปนี้
ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาล บรมกษัตริย์ไทย
ขอบันดาล ธประสงค์ใด
จงสิทธิดั่ง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายไชย ชโย
     ส่วนทำนองเพลงแบบสังเขปนั้นให้คงไว้ตามเดิม

     ประกาศมา ณ วันที่ ๒๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 17:42
.


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 17:43
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๙

เรื่อง ภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองดี

     ด้วยรัฐบาลพิจารณาเห็นว่า การที่ชาติไทยจะดำรงถาวรและเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปนั้น ย่อมต้องใช้ภาษาและหนังสือของชาติเป็นส่วนประกอบอันสำคัญ คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศรัฐนิยมไว้ดั่งต่อไปนี้
     ๑. ชนชาติไทย จะต้องยกย่อง เคารพ และนับถือภาษาไทย และต้องรู้สึกเป็นเกียรติยศในการพูดหรือใช้ภาษาไทย
     ๒. ชนชาติไทย จะต้องถือว่า หน้าที่ของพลเมืองไทยที่ดีประการที่หนึ่งนั้น คือ ศึกษาให้รู้หนังสือไทยอันเป็นภาษาของชาติ อย่างน้อยต้องให้อ่านออกเขียนได้ ประการที่สอง ชนชาติไทยจะต้องถือเป็นหน้าที่อันสำคัญในการช่วยเหลือสนับสนุนแนะนำชักจูง ให้พลเมืองที่ยังไม่รู้ภาษาไทย หรือยังไม่รู้หนังสือไทย ให้ได้รู้ภาษาไทย หรือให้รู้หนังสือไทยจนอ่านออกเขียนได้
     ๓. ชนชาติไทย จะต้องไม่ถือเอาสถานที่กำเนิด ภูมิลำเนาที่อยู่หรือสำเนียงแห่งภาษาพูดที่แปร่งไปตามท้องถิ่นเป็นเครื่อง แสดงความแตกแยกกัน ทุกคนต้องถือว่า เมื่อเกิดมาเป็นชนชาติไทย ก็มีเลือดไทยและพูดภาษาไทยอย่างเดียวกัน ไม่มีความแตกต่างกันในการกำเนิดต่างท้องที่หรือพูดภาษาไทยด้วยสำเนียงต่าง ๆ กัน
     ๔. ชนชาติไทย จะต้องถือเป็นหน้าที่ในการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีแห่งชาติ ช่วยแนะนำชักชวนกันสั่งสอนผู้ที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจหน้าที่พลเมืองดีของชาติ ให้ได้รู้ได้เข้าใจในหน้าที่พลเมืองดีแห่งชาติไทย

     ประกาศมา ณ วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 17:45
.


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 17:46
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๑๐

เรื่องการแต่งกายของประชาชนชาวไทย

     ด้วยรัฐบาลได้สังเกตเห็นว่า การแต่งกายของประชาชนชาวไทยในสาธารณสถานหรือที่ชุมนุมชน ยังไม่สุภาพเรียบร้อยสมกับวัฒนธรรมของชาติไทย
     คณะรัฐมนตรีจึ่งได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดั่งต่อไปนี้
     ๑. ชนชาติไทยไม่พึงปรากฏตัวในที่ชุมนุมชน หรือสาธารณสถาน ในเขตต์เทศบาล โดยไม่แต่งกายให้เรียบร้อย เช่น นุ่งแต่กางเกงชั้นใน หรือไม่สวมเสื้อ หรือนุ่งผ้าลอยชายเป็นต้น
     ๒. การแต่งกายที่ถือว่าเรียบร้อยสำหรับประชาชนชาวไทย มีดั่งต่อไปนี้
ก. แต่งเครื่องแบบตามสิทธิและโอกาสที่จะแต่งได้
ข. แต่งตามแบบสากลนิยมในทำนองที่สุภาพ
ค. แต่งตามประเพณีนิยมในทำนองที่สุภาพ

     ประกาศมา ณ วันที่ ๑๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 17:48
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๑๑

เรื่อง กิจประจำวันของคนไทย

     ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า การรู้จักปฏิบัติกิจประจำวันเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวแก่การผะดุง ส่งเสริมวัฒนธรรมของชาติ อันจะเป็นผลให้ประชาชนพบเมืองไทยทั่วไปมีสุขภาพแข็งแรงมั่นคง เป็นกำลังของชาติสืบไป คณะรัฐมนตรีจึ่งได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดั่งต่อไปนี้
     ๑. ชนชาติไทยพึงแบ่งเวลาในวันหนึ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ปฏิบัติงานที่เป็นอาชีพส่วนหนึ่ง ปฏิบัติกิจส่วนตัวส่วนหนึ่ง และพักผ่อนหลับนอนอีกส่วนหนึ่ง ให้เป็นระเบียบและมีกำหนดเวลาอันเหมาะสมจนเกิดเป็นนิสสัย
     ๒. ชนชาติไทยพึงปฏิบัติกิจประจำวันตามปกติดั่งต่อไปนี้
        ก. บริโภคอาหารให้ตรงตามเวลาไม่เกิน ๔ มื้อ
        ข. นอนประมาณระหว่าง ๖ ถึง ๘ ชั่วโมง
     ชนชาติไทยพึงตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ประกอบกิจการงานของตนโดยไม่ท้อถอย และหลีกเลี่ยง กับควรหยุดเพื่อรับประทานอาการและพักกลางวันไม่เกิน ๑ ชั่วโมง เมื่อพ้นกำหนดเวลาทำงานเวลาเย็น ควรออกกำลังกายโดยเล่นกิฬากลางแจ้งวันหนึ่งอย่างน้อย ๑ ชั่วโมง หรือประกอบงานอื่น เช่น ทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ หรือปลูกต้นไม้ เป็นต้น เมื่อชำระล้างร่างกายแล้ว รับประทานอาหาร
     ๓. ชนชาติไทยพึงใช้เวลาว่างเวลากลางคืน ทำการงานอันจำเป็นที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จ หรือสนทนาปราศัยกับบุคคลในครอบครัว มิตรสหาย ศึกษาหาความรู้โดยการฟังข่าวทางวิทยุกระจายเสียง อ่านหนังสือ หรือในการมหรสพ หรือศิลปกรรม แล้วแต่โอกาส
     ๔. ชนชาติไทยพึงใช้เวลาในวันหยุดงาน ให้เป็นประโยชน์แก่ร่างกายและจิตต์ใจ เช่นประกอบกิจในทางสาสนา ฟังเทศน์ ทำบุญ ศึกษาหาความรู้ ท่องเที่ยว เล่นกิฬา หรือพักผ่อนเป็นต้น.

     ประกาศมา ณ วันที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๔

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี



กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 17:49
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๑๒

เรื่อง การช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก คนชราหรือคนทุพพลภาพ

     ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า ในการอยู่ร่วมกันแห่งชุมนุมชนนั้น ความมีใจเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในเยาว์วัย คนชราหรือคนทุพพลภาพ เป็นวัฒนธรรมอันหนึ่งซึ่งบุคคลจักต้องปฏิบัติ
     คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดังต่อไปนี้
     ๑. ในที่สาธารณสถานหรือในถนนหลวง ให้บุคคลทำการช่วยเหลือคุ้มครองโดยลักษณะที่จะยังความปลอดภัยให้แก่เด็ก คนชราหรือคนทุพพลภาพในการสัญจรไปมา หรือในการหลบหลีกภยันตราย
     ๒. ผู้ใดสามารถกระทำการช่วยเหลือคุ้มครองดังกล่าวในข้อ ๑ ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้มีวัฒนธรรม ควรได้รับความนับถือของชาวไทย

     ประกาศมา ณ วันที่ ๒๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๕

จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 17:56
รัฐนิยมดังกล่าวออกประกาศมาทั้งหมด12ฉบับ ผมนำมาลงให้ครบแล้ว

ท่านอ่านแล้วจะเห็นว่า บางเรื่อง รัฐบาลสมัยนั้นเข้าไปดูแลความประพฤติของราษฎรถึงขั้นรายละเอียดทีเดียว
และบางอย่างก็มีผลในทางปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน

น่าวิเคราะห์ ซึ่งผมคงจะได้กล่าวถึงในโอกาสต่อไป


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ย. 10, 20:25
                      คำปราศรัยนายกรัฐมนตรี

"อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วกัน  เพราะก๋วยเตี๋ยวมีประโยชน์แก่ร่างกาย มี
รสเปรี้ยว เค็ม หวาน พร้อมทำได้เองในประเทศไทย ทุกอย่างราคาถูก หาได้สะดวก
และอร่อยด้วย"

"ถ้าพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยวคนละหนึ่งชามทุกวัน คิดชามละห้าสตางค์ วันหนึ่ง
จะมีคนกินก๋วยเตี๋ยวสิบแปดล้านชาม ตกลงวันหนึ่งเงินค่าก๋วยเตี๋ยวของชาติไทย หนึ่ง
วันเก้าสิบล้านสตางค์เท่ากับเก้าแสนบาท เป็นจำนวนเงินหมุนเวียนมากพอใช้ เงินเก้า
แสนบาททุก ๆ วันนี้ก็ไหลไปสู่มือชาวไร่ ชาวนา ชาวทะเล ทั่วกันไม่ตกไปถึงมือใคร
และเงินบาทก็มีราคาหนึ่งบาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เสมอ ไม่ใช่ซื้ออะไรไม่ได้อย่างทุกวันนี้
ซึ่งเท่ากับไม่มีประโยชน์เต็มที่ในค่าของเงินมันเอง"

                              จอมพล ป. พิบูลสงคราม
                                                      7 พฤศจิกายน 2488


(มีประชากร 18 ล้านคน, ก๋วยเตี๋ยวชามละ 5 สตางค์)


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ก.ย. 10, 21:20
เพื่อสนองนโยบายรัฐนิยม ในเรื่องไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ จอมพลป.ท่านก็สั่งให้กระทรวงพาณิชย์ลงทุนตั้งของห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทยสมัยนั้น มีชื่อว่าห้างไทยนิยม ตรงหัวมุมตึกแถวล็อกแรกขวามือด้านผ่านฟ้า ชาวกรุงเทพเรียกควบกันไปว่า ห้างไทยนิยมผ่านฟ้า

ส่วนตรงสี่แยกคอกวัว ตรงกันขามกับธนาคารออมสิน มีอีกห้างหนึ่งใช้อักษรย่อเป็นชื่อว่า อ.จ.ส. ดูเหมือนจะมาจากชื่อเต็มๆว่าองค์การจัดหาสินค้า แต่ละวันมีผู้มาอุดหนุนห้างทั้งสองกันอย่างเนืองแน่นน่าชื่นใจ แต่ต่อมาไม่กี่ปี อยู่ดีๆทั้งสองห้างก็ทยอยปิดไปเฉยๆ

ในรูปจะเห็นว่าทุกคนเชื่อเรื่องมาลานำไทยไปสู่มหาอำนาจเป็นอันดี รวมทั้งอีหนูตัวเล็กที่ไม่รู้ว่าเอาหมวกอาบน้ำของคุณแม่มาใส่หรือเปล่า ส่วนเรื่องคนไทยควรซื่อสัตย์สุจริตคงมีคนเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง ร้านวัธนธัมเลยเจ้งไป


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ย. 10, 21:24
                      คำปราศรัยนายกรัฐมนตรี

"อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วกัน  เพราะก๋วยเตี๋ยวมีประโยชน์แก่ร่างกาย มี
รสเปรี้ยว เค็ม หวาน พร้อมทำได้เองในประเทศไทย ทุกอย่างราคาถูก หาได้สะดวก
และอร่อยด้วย"

"ถ้าพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยวคนละหนึ่งชามทุกวัน คิดชามละห้าสตางค์ วันหนึ่ง
จะมีคนกินก๋วยเตี๋ยวสิบแปดล้านชาม ตกลงวันหนึ่งเงินค่าก๋วยเตี๋ยวของชาติไทย หนึ่ง
วันเก้าสิบล้านสตางค์เท่ากับเก้าแสนบาท เป็นจำนวนเงินหมุนเวียนมากพอใช้ เงินเก้า
แสนบาททุก ๆ วันนี้ก็ไหลไปสู่มือชาวไร่ ชาวนา ชาวทะเล ทั่วกันไม่ตกไปถึงมือใคร
และเงินบาทก็มีราคาหนึ่งบาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เสมอ ไม่ใช่ซื้ออะไรไม่ได้อย่างทุกวันนี้
ซึ่งเท่ากับไม่มีประโยชน์เต็มที่ในค่าของเงินมันเอง"

                           

แล้วข้าวแกง ที่ชาวบ้านกินกันมาแต่ไหนแต่ไร  เครื่องปรุงต้องสั่งจากนอกรึไงคะ   ถึงสู้ก๋วยเตี๋ยวไม่ได้   


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ย. 10, 21:47
กลับมาเรื่องวัธนธัม
จะว่าวัธนธัมของจอมพลป.ไม่ได้ผลเสียเลยก็ไม่ใช่      เพราะบางอย่างเมื่อไม่ถูกบังคับให้ทำอีก  ก็ไม่ทำ  อย่างเรื่องตัวสะกด สรรพนาม หมวก ฯลฯ  แต่บางเรื่องไปแล้วไปลับ  ไม่กลับมาอยู่ความนิยม
อย่างแรกคือหมาก
หลังยุควัธนธัม ที่ห้ามกินหมาก  คนเมืองหลวงก็ไม่นิยมหมากกันอีก  คงจะนิยมฟันขาวมากกว่าฟันดำ  และหมากไม่เข้ากับการแต่งกายแบบตะวันตก    หมากก็ค่อยๆลดความสำคัญลง  จนหมดไปจากปากคนไทยเอง
อย่างที่สองคือการแต่งกาย   
พอเริ่มด้วยชุดตะวันตกที่เรียกว่าชุดสากลได้   คนไทยก็ไม่กลับไปห่มผ้าแถบนุ่งโจงกระเบน หรือนุ่งลอยชายเอาผ้าขาวม้าพาดบ่าอีกเลย   กลับมารับแฟชั่นฝรั่งตั้งแต่หัวถึงเท้า
ที่ประหลาดคือคนไทยแต่งอะไรแต่งได้  ตั้งแต่เสื้อนอก กระโปรงยาว  รองเท้าบู๊ต   แต่ไม่ชอบสวมหมวก  จะเป็นเพราะไม่สะดวกสบายอย่างในเพลงข้างล่างนี้หรือไงก็ไม่ทราบ

ฟังเพลงได้ที่นี่ค่ะ
http://www.maama.com/music/view.php?id=016207

เพลง สวมหมวก
คำร้อง จมื่นมานิตย์นเรศร์
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน
ขับร้อง มัณฑนา โมรากุล

เชิญซิคะ เชิญร่วมกันสวมหมวก
แสนสะดวกสบายด้วย ทั้งสวยหรู
ปรุงใบหน้าให้อร่าม งามหน้าดู
อีกจะชูอนามัยให้มั่นคง

สมศักดิ์ศรีมีสง่าเป็นอารยะ
หมวกนี้จะชวนให้ชมสมประสงค์
ถึงไม่สวยหมวกจะช่วย เสริมทรวดทรง
งามระหงเลิศวิไลหญิงไทยเรา

อย่ารีรอเลยเจ้าขามาช่วยกัน
สมานฉันท์สร้างไทยให้เทียมเขา
สวมหมวกเถิดจะสำรวยสวยไม่เบา
สนองเค้าท่านผู้นำกล่าวคำชวน


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ก.ย. 10, 21:59
เรื่องขายก๋วยเตี๋ยว เป็นนโยบายของจอมพล ป. ที่เห็นความสำคัญของการค้าขาย เมื่อในประกาศอีกข้อหนึ่งได้สนับสนุนให้คนไทยเลี้ยงหมู ปลูกผัก เพาะถั่วงอก ก็ควรขายก๋วยเตี๋ยวเสียให้ครบวงจร เพราะก๋วยเตี๋ยวมีรสอร่อย มีทั้งหมูและผักและถั่วงอกอยู่ในนั้น จึงมีนโยบายทำหนังสือเวียนแจกไปทุกจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอและครูใหญ่ทุกโรงเรียนขายก๋วยเตี๋ยวคนละหนึ่งหาบ และให้กรมประชาสงเคราะห์พิมพ์คู่มือการทำก๋วยเตี๋ยวออกแจกจ่าย สมัยนั้นข้าราชการที่ขึ้นหน้าขึ้นตาทั้งหลายจึงมีหน้าที่ขายก๋วยเตี๋ยวกันเป็นการใหญ่ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสนองนโยบายรัฐด้วยดี


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ย. 10, 22:22
บางทีนโยบายชาตินิยมของท่าน ก็มองข้ามอะไรไปบ้าง  ว่าก๋วยเตี๋ยวนั้นเป็นอาหารจีน  เช่นเดียวกับการเลี้ยงหมู   อาหารไทยและเนื้อสัตว์ของไทยๆเช่นปลา  (หรือจะรวมไก่ด้วยก็ได้) ยังมีให้กินได้อีกแยะ 


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: pa15 ที่ 04 ก.ย. 10, 06:34
มารายงานตัวเข้าเรียน  เรื่องการกินหมาก ที่จำความได้นะค่ะ ตากับยาย ไม่ปลื้มในเรื่องนี้เท่าไหร่ค่ะ จะบ่นทุกครั้งที่เล่าถึงเรื่องนี้ เพราะท่านโตมากับการกินหมาก  แต่คุณปู่คุณย่ากลับนิยมชมชอบค่ะ หันมาสูบบุหรี สูปไปป์ และใช้ของฝรั่งค่ะ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 04 ก.ย. 10, 07:12
เรื่องให้ข้าราชการขายก๋วยเคี๋ยวนี้  ท่านหม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล ซึ่งเวลานั้นเป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษาได้รับสนองนโยบายของท่านผู้นำด้วยการจัดก๋วยเตี๋ยวไปขายที่กระทรวงศึกษาธิการ  ปรากฏว่าขายดีมากแต่ไม่ได้เงินค่าก๋วยเตี๋ยว  เพราะลูกค้าของท่านซึ่งล้วนเป็นข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการต่างก็มาช่วยรับประทานก๋วยเตี๋ยวของท่านอธิบดีโดยไม่จ่ายสตางค์  เพราะถือกันว่าเป็นการช่วยท่านอธิบดีปฏิบัติราชการจะได้ไม่ต้องหอบข้าวของกลับบ้าน 


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ก.ย. 10, 08:27
ขอโทษครับ มีเรื่องแทรกนิดนึง
คือสถาปัตยกรรมจอมพลป.นี่ถูกทุบไปเกือบหมด จนคนเกิดเสียดายขึ้นมาเหมือนกัน ตามข่าวครับ


 ชมรมอนุรักษ์ลพบุรีโวย เอกชนทุบโรงหนังโบราณ ร้องพ่อเมืองจี้รับเหมาระงับ 
 
ลพบุรี:นายภูธร ภูมะทน ประธานชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อม จ.ลพบุรี เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนพร้อมด้วยนายจันทร์ บัวสนธ์ อดีตประธานชมรมฯ นายโรจน์ ดุลยากร และกรรมการบริหารชมรมฯ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเป็นผู้รับหนังสือแทน เพื่อ ขอให้ยับยั้งการก่อสร้างอาคารใหม่ของเอกชนด้านหลังโรงภาพยนตร์ทหารบก เนื่องจากโรงภาพยนตร์ทหารบกมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเป็นศิลปกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2482 อีกทั้งยังเป็นรมณียสถานของเมืองลพบุรีรวมทั้งใช้ประโยชน์เป็นที่ประชุมสภาหากเกิดสงครามโลกและจำเป็นต้องย้ายเมืองหลวงมาที่ลพบุรี

ทั้งนี้อาคารโรงภาพยนตร์ทหารบกมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของยุคสมัย คือ สถาปัตยกรรมแบบอาร์ต เต โค ที่หาดูได้ยากในประเทศไทย และเป็นสถาปัตยกรรมโรงมหรสพที่ทันสมัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยรองจากโรงหนังเฉลิมกรุง มีอายุนานกว่า 70 ปี ซึ่งขณะนี้กรมธนารักษ์ดูแลและให้แก่เอกชนเช่า แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการทุบอาคารที่เป็นส่วนประกอบของโรงภาพยนตร์ ซึ่งก่อนหน้านี้หลังจากที่มีการเข้าเช่าพื้นที่ของทางเอกชนมานานกว่า 10ปีได้มีการทุบทำลายโบราณวัตถุต่างๆของอาคารโรงหนังทหารบกแห่งนี้ไปแล้วหลายส่วนจนทำให้ชาวบ้านเริ่มไม่พอใจและได้ร้องเรียนส่วนราชการและผู้ว่าฯหลายสมัย แต่ก็ไม่มีใครดำเนินการแต่อย่างใด และหากครั้งนี้ยังไม่มีการดำเนินการอีกทางชมรมอนุรักษ์จะเข้าร้องเรียนที่กรุงเทพฯ ต่อไป

"ทางราชการผู้ครอบครองควรมีนโยบายอนุรักษ์และดูแลรักษาอาคารสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามให้เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ของจังหวัด ไม่ควรอนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารใดๆ ขึ้นใหม่แทนพื้นที่ที่เป็นส่วนประกอบของโรงภาพยนตร์ทหารบก แต่หากว่าไม่สามารถหยุดยั้งการก่อสร้างใหม่ในส่วนนี้ได้ สมควรให้มีการออกแบบอาคารที่จะสร้างขึ้นใหม่ให้กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมโรงภาพยนตร์ทหารบก"นายภูธร กล่าว

 ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ผวจ.ลพบุรี เปิดเผยว่า หลังได้รับหนังสือร้องเรียนแล้ว ตนเรียนว่าเพิ่งมาดำรงตำแหน่งเมื่อตุลาคมปีที่แล้วที่ผ่านมา ยังไม่ทราบว่า จ.ลพบุรี มีสิ่งสำคัญมากน้อยเพียงใด แต่จะขอรับไว้และจะนำไปพิจารณาเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือโดยเร็ว ซึ่งในขั้นต้นจะ ไปเจรจากับผู้รับเหมาเพื่อให้หยุดการก่อสร้างจนกว่าจะดำเนินการเรียบร้อยเพื่อไม่ให้สถาปัตยกรรมดังกล่าวได้สูญเสียไป คากว่าภายใน 1 เดือนก็จะทราบผล  



กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ย. 10, 10:18
เอาบทความที่เคยเขียนในเว็บวิชาการ มาลงให้อ่าน   แล้วจะมาขยายทีหลัง

ยุคไม่ขำ..วัธนธัมไทย
เทาชมพู

      ออกจากบ้านไปไหนมาไหนต้องสวมหมวก ...ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยต้องมาขายก๋วยเตี๋ยวกัน เพราะเป็นนโยบายระดับชาติ ...ผู้ชายผู้หญิงต้องเปลี่ยนชื่อให้สมกับเพศของตน ชื่อพ่อแม่ตั้งมาใช้ไม่ได้ ...คนไทยถูกห้ามกินหมาก ...ควรเลี้ยงไก่ ปลูกผักในบ้าน ...พูดกันให้ใช้คำว่า "ฉัน" "ท่าน" และลงท้ายว่า "จ้ะ" ไม่ใช่ "คุณ" "ผม" "ฉัน" หรือ "ครับ" และ "ค่ะ"
             เคยอ่านพบเรื่องนี้แล้วขำกลิ้ง มารู้ทีหลังว่าคนสมัยนั้นนอกจากไม่ขำยังถือเป็นเรื่องซีเรียส เพราะเป็นยุครัฐนิยม หรือยุค "วัธนธัม" เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๒ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ประชาชนต้องปฏิบัติตามนโยบายของท่านผู้นำอย่างเคร่งครัด



จอมพล ป. ประสงค์จะปลูกฝังความรักชาติและให้คนไทยสมานสามัคคี มองเห็นความสำคัญของชาติไทย ตลอดจนทำให้ประเทศมีความเจริญเช่นเดียวกับประเทศอารยะทั้งหลายทางตะวันตก จึงออกประกาศมา ๑๒ ฉบับ เนื้อความเป็นยังไงขอไม่เอามาลงเพราะยาวมาก แต่ในจำนวนนี้มีหลายเรื่องที่กระทบกระเทือนความเป็นอยู่ของคนไทย เพราะมันเข้ามากำกับชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันกันเลยทีเดียว

เรื่องแรกคือเริ่มต้นด้วยการชักชวนให้ชายหญิงแต่งกายให้ดีมีระเบียบแบบสากล ผู้หญิงเลิกนุ่งโจงกระเบนมานุ่งผ้านุ่งหรือกระโปรง ผู้ชายนุ่งกางเกงแบบฝรั่ง ทุกคนควรสวมรองเท้าและไม่กินหมากเพื่อจะได้ไม่บ้วนน้ำหมากเลอะเทอะ ออกจากบ้านต้องสวมหมวก แต่เมื่อไม่ได้ผลเพราะประชาชนไทยไม่ชิน รัฐก็มีคำสั่งให้ข้าราชการทุกคนสวมหมวก แม้แต่นักเรียนก็มีหมวกเป็นส่วนประกอบเครื่องแบบ ส่วนชาวบ้านถ้าจะไปติดต่อราชการต้องสวมหมวก ในที่สุดก็กลายเป็นว่าทุกคนออกจากบ้านต้องสวมหมวก ไม่กินหมาก ไม่งั้นตำรวจจะมาเตือนได้ง่ายๆ ส่วนจะเป็นหมวกอะไรแบบไหนรัฐไม่ว่า คุณยายจะขอยืมหมวกกะโล่ของคุณตามาสวมก็ไม่เป็นไร คุณตาหาหมวกไม่ได้จะยืมหมวกเด็กนักเรียนข้างบ้านมาสวมแก้ขัดตอนออกจากบ้าน ก็ไม่มีใครว่าอีกเหมือนกัน

อีกเรื่องคือการกำหนดชื่อคนไทยเสียใหม่ เพราะรัฐเห็นว่าชื่อคนไทยแต่เดิมไม่มีระเบียบ เป็นชื่อไม่ไพเราะก็มี และชื่อไม่แบ่งเพศเป็นหญิงชายก็มาก จึงมีประกาศมากำหนดเสียใหม่ว่าผู้หญิงควรชื่อแบบไหน ผู้ชายควรชื่อแบบไหน ในประกาศบอกไว้ละเอียดเช่นชื่อผู้หญิงควรมีความหมายถึงความสวยงาม เครื่องประดับหรือดอกไม้ ส่วนผู้ชายก็ควรชื่ออะไรที่เข้มแข็งเช่นแปลว่าอาวุธ ทำให้เกิดอลหม่านล้านเจ็ดในหมู่ผู้มีชื่อไม่คล้อยตามเพศมาตั้งแต่เกิดเพราะพ่อแม่ตั้งให้แบบนั้น
อย่างนักหนังสือพิมพ์อาวุโสท่านหนึ่งชื่อนายประหยัดศรี ก็ต้องเปลี่ยนเป็นนายประหยัด ศ. สุภาพสตรีผู้หนึ่งชื่อสมัย ก็ต้องเติมคำว่าสวาทเข้าไปเป็นสมัยสวาท ขนาดนางสาวไทยชื่อเรียม ก็ต้องเปลี่ยนเป็นเรียมรมย์ แม้แต่สมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้าทรงพระนามเดิมว่า สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา ก็ทรงได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนพระนามเสียใหม่เพราะพระนามเดิมฟังเป็นเพศชาย ทำให้กริ้ว ตรัสตอบมาว่า " ชื่อของฉัน ทูลกระหม่อม (หมายถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ผู้เป็นสมเด็จพระบรมราชชนก) พระราชทานให้ ท่านทรงทราบดีว่าฉันเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย"

           ส่วนเรื่องขายก๋วยเตี๋ยว เป็นนโยบายของจอมพล ป. ที่เห็นความสำคัญของการค้าขาย เมื่อในประกาศอีกข้อหนึ่งได้สนับสนุนให้คนไทยเลี้ยงหมู ปลูกผัก เพาะถั่วงอก ก็ควรขายก๋วยเตี๋ยวเสียให้ครบวงจร เพราะก๋วยเตี๋ยวมีรสอร่อย มีทั้งหมูและผักและถั่วงอกอยู่ในนั้น จึงมีนโยบายทำหนังสือเวียนแจกไปทุกจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอและครูใหญ่ทุกโรงเรียนขายก๋วยเตี๋ยวคนละหนึ่งหาบ และให้กรมประชาสงเคราะห์พิมพ์คู่มือการทำก๋วยเตี๋ยวออกแจกจ่าย สมัยนั้นข้าราชการที่ขึ้นหน้าขึ้นตาทั้งหลายจึงมีหน้าที่ขายก๋วยเตี๋ยวกันเป็นการใหญ่ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสนองนโยบายรัฐด้วยดี

     อีกเรื่องหนึ่งที่มีผลกระทบหนักต่อครูมากกว่าอาชีพอื่น คือจอมพล ป. ริเริ่มให้ใช้ตัวสะกดแบบใหม่ในบทเรียนภาษาไทย
ตัดตัวอักษรบางตัวที่เห็นว่าไม่จำเป็นออกไป เช่น ฆ ฌ ญ ฒ ศ และ รร อย่างวัฒนธรรม ก็สะกดว่า "วัธนธัม" อ่านออกเสียงอย่างไรก็สะกดตามนั้น อย่างคำว่า เสริม ก็ให้เขียน เสิม หญิง เขียนว่า หยิง และกำหนดคำสรรพนามให้เรียกกัน เพียง "ฉัน" และ "ท่าน" ลงท้ายว่า "จ้ะ" นอกจากนี้ยังมีคำติดปากอีกคือ "ขอโทษ " และ "ขอบใจ"
           ถ้าเกิดในยุคนั้น ดิฉันจะถามคุณจ้อว่าได้รับบทความที่ส่งไปหรือยัง ก็ต้องถามว่า "ท่านได้รับบทความของฉันหรือยังจ๊ะ?" และคุณจ้อก็จะต้องตอบว่า "ฉันได้รับบทความของท่านแล้วจ้ะ ขอบใจ" หรือไม่ก็ "ขอโทษ ฉันได้รับแล้วแต่ยังไม่ได้ตอบท่านจ้ะ" ถ้าทนพูดกันไหวก็พูดกันอย่างนี้ต่อไป ถ้าทนไม่ไหวก็ต้องเลิกพูดกัน นักประพันธ์หลายคนอย่างยาขอบ และมาลัย ชูพินิจ เลิกเขียนนิยายในช่วงนั้นไปเลยเพราะไม่อาจทนเขียนให้พระเอกพูดกับนางเอกว่า  "ฉันรักท่านจ้ะ"


           อีกเรื่องที่ว่าจะไม่ขำแล้วก็อดขำไม่ได้ คือพอถึงเวลาชักธงชาติขึ้นเสาทุกคนจะต้องหยุดยืนเคารพธงชาติ แต่เคร่งครัดมากกว่าตอนนี้ ขนาดหมอขึ้นเยี่ยมคนไข้ช่วงเช้า ก็ต้องหยุดยืนตรงอยู่ข้างเตียง คนไข้นอนอยู่บนเตียงถ้าลุกไหวก็ต้องลุกขึ้นยืนบนเตียง จนธงชาติขึ้นสู่เสาเรียบร้อยถึงจะนอนลงต่อไปได้

     เมื่อหมดยุค "วัธนธัม" เพราะเปลี่ยนตัวผู้นำ คนไทยก็ถอดหมวก คนแก่คนเฒ่ากลับมานุ่งโจงกระเบนกินหมาก ผู้คนพูดจากันแบบเดิม หันมาเรียนหนังสือภาษาไทยและสะกดตัวกันอย่างเดิม เหลือเรื่องนี้ไว้เป็นตำนานเท่านั้น  


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ก.ย. 10, 13:34
สรุปใจความย่อของประกาศรัฐนิยมทั้งสิบสองฉบับ ผมจะว่าไปเรื่อยๆนะครับ ท่านอยากจะแทรกอะไรก็เชิญ

รัฐนิยมฉบับที่ 1 เรื่องการใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ ให้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ตามที่เรียกขานประชาชนว่าคนไทย ชื่อประเทศก็ควรเรียกว่าประเทศไทย  และติดๆกันนั้นก็มีประกาศรัฐนิยมออกมาอีก ฉบับที่ 3 เรื่องการเรียกคนในประเทศว่า “คนไทย” แม้มีเชื้อสายอื่นก็ให้ถือว่ามีสัญชาติไทย มิให้แบ่งแยก เป็นความต่อเนื่องจากรัฐนิยมแบบแรก

เรื่องนี้มีผู้วิจารณ์ไปแล้วอย่างกว้างขวางทุกยุคทุกสมัย แต่ไหนแต่ไรมาแผ่นดินที่เป็นของคนไทยนี้ มีชนชาติอื่นอยู่ร่วมอาศัยด้วยเป็นอันมาก ทั้งลาว เขมร และมลายู ช่วงต่อมายังมีจีนอีก ดินแดนตรงนี้คนไทยจึงเรียกว่าสยาม อันหมายถึงดินแดนที่มีคนหลายเชื้อชาติคล้ายกันมาอยู่ร่วมกัน (แทบทุกประเทศทั่วโลกก็เป็นเช่นนี้) ชื่อสยามก็เหมาะสมอยู่ แต่จอมพลป.ท่านจะเอาอย่างอาณาจักรไรซ์ที่3ของฮิตเลอร์ ที่รวมคนทุกเชื้อชาติที่ใช้ภาษาที่มีรากฐานเยอรมันมาไว้ใต้ธงนาซีเดียวกัน เมื่อประกาศว่าสยามเปลี่ยนเป็นไทยแล้ว พวกที่เรียกตนเองเป็นอื่นเมื่ออยู่ในแผ่นดินนี้ก็ให้เรียกคนไทยด้วย นโยบายกลืนชาตินี้จะว่าดีก็ดี เพราะจุดที่ดีที่สุดคือขจัดการแบ่งแยกยกตนข่มท่าน ขีดวงความเป็นเจ้าของประเทศไว้แต่ชนกลุ่มเดียว ส่วนที่ไม่ดีมันงอกหางตอนหลังที่ไปยัดเยียดวัธนธัมไทยให้กับผู้อื่น พวกลาวพวนลาวโซ่งที่กลายเป็นไทยพวนไทยโซ่งยังไม่สู้กระไร แต่พวกแขกมลายูที่กลายเป็นไทยมุสลิมไปแล้วถึงกับกระอัก พวกเขมรและลาวในดินแดนที่เอากลับคืนมาจากฝรั่งเศสได้ใหม่ๆในยุคนั้นถึงกับต้องอพยพเผ่นหนีวัธนธัมไทยแบบไปขอตายดาบหน้า

พม่าก็เคยเอาอย่างไทยนี่แหละ พอได้เอกราชก็เรียกประเทศของตนว่าสหภาพพม่า แต่คนไทยใหญ่ มอญ คะฉิ่น ยักไข่อะไรทั้งหมดนี่ไม่ค่อยจะพอใจ ในที่สุดก็ต้องมาเปลี่ยนป็นเมียนมาร์ ในความหมายคล้ายๆกับสยาม เมื่อสักสิบปีนี้เอง


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ก.ย. 10, 13:39
ขอวกกลับลำ เรื่องสถาปัตยกรรมสมัยจอมพล ป. อีกครั้งหนึ่ง ได้พบแบบร่าง "อนุสาวรีย์ไทย" ซึ่งเป็นการออกแบบในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๒ ตามนโยบายเมืองไทยสมัยใหม่ ก่อนภาวะสงครามโดยคิดจะสร้างสิ่งมหัศจรรย์ของประเทศและของโลกเลยทีเดียว เป็นอาคารยอดแหลม เน้นสถาปัตยกกรมไทยสมัยใหม่ ตั้งไว้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จ.สมุทรปราการ ชั้นบนทำเป็นกระโจมไฟคอยส่องเรือรบและเรือสินค้า ภายในอาคารใช้พื้นที่สุงสุดคือ กะให้เป็นโรงแรมขนาดหรู และห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง ห้องลีลาศ ไปในคราวเดียวกัน แต่อนิจจาการก่อสร้างไม่สำเร็จเนื่องจากเกิดภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๒ เสียก่อน


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ก.ย. 10, 14:19
^
แบบที่คุรหนุ่มสยามนำมาให้ดูนี้ผิดไปจากรสนิยมของท่านผู้นำในช่วงสมัยแรก เปรียบเทียบได้กับสถาปัตยกรรมประเภทLandmarkที่ออกแบบและได้สร้างไปแล้ว อีกอย่างหนึ่ง อัตราส่วน(scale)ของอาคาร ดูจากขนาดช่องประตูหน้าต่าง ฯลฯ ไม่น่าจะเป็นอาคารขนาดใหญ่ที่สามารถจะบรรจุโรงแรมขนาดหรู และห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง ห้องลีลาศ ไปในคราวเดียวกันได้

อย่างไรก็ดีสถานที่ตากอากาศขนาดหรู และห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยงและห้องลีลาศในคราวเดียวกัน ท่านได้ไปสร้างไว้ที่บางปู ที่ยื่นออกไปในทะเลโคลน ตั้งชื่อว่าสถานฟักฟื้นกองทัพบก สะพานสุขตา ศาลาสุขใจไงครับ

แบบนี้อาจจะเป็นแบบร่าง และท่านไม่เอากระมัง จึงไม่ได้สร้าง


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ก.ย. 10, 14:32
ตอนที่กล่าวถึงการบูรณะวิหารพระศรีสรรเพชร ผมค้นหารูปนี้อยู่นาน กลัวไม่ทันการเลยลงรูปอื่นไปก่อน บัดนี้หาเจอแล้ว จึงเอามาลงให้ดูว่านี่คือโบราณสถานก่อนที่จอมพลป.จะบูรณะให้เป็นสิ่งที่ก่อสร้างที่ผุดขึ้นใหม่ในยุคสมัยของท่าน


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ก.ย. 10, 15:08
งั้นผมให้อาจารย์ NAVARAT.C ดูภาพลายเส้นของมูโอต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศส บันทึกไว้ เป็นภาพพวิหารพระมงคลบพิตร ดูว่ารกชัฎขนาดไหน


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ก.ย. 10, 15:40
ผมจะเปรียบเทียบให้ชมครับ ว่าหลังจากยุคท่านผู้นำแล้ว การอนุรักษ์โบราณสถานเขาทำกันอย่างไร

ในอยุธยาเอง เป็นดังนี้



กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ก.ย. 10, 15:41
ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อีกหนึ่งมรดกโลกของไทย เขาทำอย่างนี้


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ก.ย. 10, 15:45
อนุรักษ์มิได้แปลว่าแตะต้องไม่ได้ การอนุรักษ์ก็เพื่อให้กลับมาสนองความต้องการของมนุษย์ต่อได้ แต่อาจจะเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยของอาคารไปบ้างก็ย่อมได้

นี่เป็นวัดไชยวัฒนารามก่อนการอนุรักษ์
และหลังจากทำการอนุรักษ์แล้ว


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ย. 10, 20:36
ระหว่างรอท่านนวรัตนมาเล่าเรื่องสถาปัตยกรรมต่อ     ขอคั่นโปรแกรมด้วยเรื่องประกาศรัฐนิยมฉบับที่ ๘  แม้เป็นประกาศสั้นๆแต่ก็มีความสำคัญมาก   
แรกเริ่มตั้งแต่เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย  เอาเข้าจริงก็ไม่ได้เปลี่ยนแค่ชื่อประเทศ     ผลที่ตามมาเป็นพรวน ก็คืออะไรที่มีคำว่า "สยาม" ก็พลอยเดือดร้อน  ถูกไล่ที่จนหายไป  มีคำว่า "ไทย" เข้ามาแทนที่
หนึ่งในจำนวนนั้นคือเพลงสรรเสริญพระบารมี  ก็ถูกตัดทอนคำว่า "สยามินทร์" ออกไป  เนื้อเพลงก็ถูกรวบรัดตัดความให้สั้น   เหลือเพียงแค่นี้เอง


ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๘
เรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี
     โดยเหตุที่ได้บัญญัติให้เรียกชื่อประเทศว่าประเทศไทย รัฐบาลจึงเห็นสมควรแก้ไขบทเพลงสรรเสริญพระบารมี มิให้มีคำว่า สยาม และตัดทอนข้อความและทำนองให้กระทัดรัดเหมาะสมยิ่งขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยม แก้ไขบทเพลงสรรเสริญพระบารมีแบบพิศดาร ให้มีข้อความดั่งต่อไปนี้

ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาล บรมกษัตริย์ไทย
ขอบันดาล ธประสงค์ใด
จงสิทธิดั่ง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายไชย ชโย
     ส่วนทำนองเพลงแบบสังเขปนั้นให้คงไว้ตามเดิม

     ประกาศมา ณ วันที่ ๒๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ย. 10, 20:56
เคยเขียนไว้ในกระทู้ใดกระทู้หนึ่ง ก่อนหน้านี้ ถึงรัฐนิยมที่ก้าวล้ำเข้ามาถึงในบ้านช่องห้องหับ  ในมุ้งในม่านของประชาชนไทย    แต่เอามาฉายซ้ำอีกทีก็ดี เผื่อมีบางท่านยังไม่เคยอ่าน
รัฐนิยมของท่านจอมพล ป. ไม่ใช่แค่ประกาศกว้างๆเท่านั้น  แต่มีรายละเอียดยิบย่อย ถึงขั้นวางระเบียบในชีวิตประจำวันของประชาชนไว้ทั้งเช้าสายบ่ายเย็น กลางค่ำกลางคืน  
กำหนดกระทั่งว่าควรนอนกี่ชั่วโมง  แต่ละช่วงวันควรเอาเวลาไปทำอะไรบ้าง   แม้แต่กินอาหารก็กำหนดว่าให้กินตรงเวลา และไม่ควรเกิน ๔ มื้อ
ครั้งแรกที่อ่านเจอ  แปลกใจว่าคนไทยทั่วไปเขาไม่ได้กินกันอย่างมากก็วันละ ๓ มื้อหรอกหรือ    ถ้าเป็นคนจนก็กินน้อยกว่านั้น   ท่านกำหนดราวกับคนไทยสมัยนั้นกินกันวันละ ๔-๕ มื้อ หรืออาจจะมากถึง ๖-๗ มื้อ  จนต้องมาห้ามว่า ๔ มื้อพอแล้ว
หลายปีมาแล้ว มีนิสิตอักษรศาสตร์รุ่นหลานมาสัมภาษณ์แม่ถึงเรื่องในอดีต ยุคจอมพลป.  แม่เล่าถึงประกาศข้อนี้ว่ารัฐบาลท่านบอกว่าไม่ควรกินเกิน ๔ มื้อ
แล้วต่อท้ายว่า ยายเองเกิดมาไม่เคยกินข้าววันละ ๔ มื้อเลยหนู   แล้วไม่เคยเห็นใครบ้านไหนเขากินกันถี่ขนาดนั้นด้วย

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๑๑

เรื่อง กิจประจำวันของคนไทย
     ด้วยรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า การรู้จักปฏิบัติกิจประจำวันเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวแก่การผะดุง ส่งเสริมวัฒนธรรมของชาติ อันจะเป็นผลให้ประชาชนพบเมืองไทยทั่วไปมีสุขภาพแข็งแรงมั่นคง เป็นกำลังของชาติสืบไป คณะรัฐมนตรีจึ่งได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดั่งต่อไปนี้

     ๑. ชนชาติไทยพึงแบ่งเวลาในวันหนึ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ปฏิบัติงานที่เป็นอาชีพส่วนหนึ่ง ปฏิบัติกิจส่วนตัวส่วนหนึ่ง และพักผ่อนหลับนอนอีกส่วนหนึ่ง ให้เป็นระเบียบและมีกำหนดเวลาอันเหมาะสมจนเกิดเป็นนิสสัย

     ๒. ชนชาติไทยพึงปฏิบัติกิจประจำวันตามปกติดั่งต่อไปนี้
        ก. บริโภคอาหารให้ตรงตามเวลาไม่เกิน ๔ มื้อ
        ข. นอนประมาณระหว่าง ๖ ถึง ๘ ชั่วโมง

     ชนชาติไทยพึงตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ประกอบกิจการงานของตนโดยไม่ท้อถอย และหลีกเลี่ยง กับควรหยุดเพื่อรับประทานอาการและพักกลางวันไม่เกิน ๑ ชั่วโมง เมื่อพ้นกำหนดเวลาทำงานเวลาเย็น ควรออกกำลังกายโดยเล่นกิฬากลางแจ้งวันหนึ่งอย่างน้อย ๑ ชั่วโมง หรือประกอบงานอื่น เช่น ทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ หรือปลูกต้นไม้ เป็นต้น เมื่อชำระล้างร่างกายแล้ว รับประทานอาหาร

     ๓. ชนชาติไทยพึงใช้เวลาว่างเวลากลางคืน ทำการงานอันจำเป็นที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จ หรือสนทนาปราศัยกับบุคคลในครอบครัว มิตรสหาย ศึกษาหาความรู้โดยการฟังข่าวทางวิทยุกระจายเสียง อ่านหนังสือ หรือในการมหรสพ หรือศิลปกรรม แล้วแต่โอกาส

     ๔. ชนชาติไทยพึงใช้เวลาในวันหยุดงาน ให้เป็นประโยชน์แก่ร่างกายและจิตต์ใจ เช่นประกอบกิจในทางสาสนา ฟังเทศน์ ทำบุญ ศึกษาหาความรู้ ท่องเที่ยว เล่นกิฬา หรือพักผ่อนเป็นต้น.

     ประกาศมา ณ วันที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๔

พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

---------------------------------------


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ย. 10, 21:50
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของคนไทยจากรัฐนิยม นอกจากต้องเลิกหมาก ต้องแต่งกายแบบตะวันตก สวมหมวก สวมรองเท้า แล้ว  ก็คือเรื่องเปลี่ยนชื่อ
แต่เดิมมาชื่อของสามัญชนไทย ไม่แบ่งเพศ   นอกจากนี้ชาวบ้านมีค่านิยมตั้งชื่อลูกให้น่าเกลียดเข้าไว้  เป็นเคล็ดความเชื่อว่าผีจะได้รังเกียจ ไม่เอาตัวไปแต่ยังเยาว์  เพราะอัตราการตายของทารกยังสูงมาก      จอมพลป. เห็นว่ายังไม่มีวัธนธัม    จึงกำหนดใหม่ ว่าคนไทยควรจะมีชื่อที่มีความหมายดี   และแบ่งแยกให้ถูกต้องตามเพศ    
ดิฉันไม่มีรายละเอียดในประกาศ  ถึงข้อกำหนดที่รัฐบาลแจกแจงไว้ยิบย่อยไม่แพ้เรื่องกิจวัตรประจำวัน    แต่จำได้ว่า ชื่อผู้ชายควรมีความหมายถึงอาวุธ  หรือแปลว่าเข้มแข็งกล้าหาญ ทำนองนี้   ส่วนผู้หญิงก็ควรชื่ออะไรที่แปลว่าสวยๆงามๆ หรือดอกไม้ เครื่องประดับ     ถ้าหากว่าคุณเพ็ญชมพูและคุณไซมีสหาเจอช่วยกรุณานำมาลงให้ด้วยนะคะ

ประชาชนปั่นป่วนกันอีกระลอกหนึ่งจากต้องเปลี่ยนชื่อให้ตรงกับเพศ       อาจารย์สมัย พงศทัต (คุณนวรัตนน่าจะรู้จัก) เป็นหญิง จึงชื่อสมัยไม่ได้ ฟังเป็นชายเกินไป    ต้องเปลี่ยนเป็นสมัยสวาท       แม่ของเพื่อนดิฉันชื่อเจียม ต้องเปลี่ยนเป็นเจียมจิตร     ชื่อบางชื่อไม่รู้จะจัดเข้าเพศไหนเพราะได้ทั้งสองเพศ อย่างชื่อถนอม   ผู้หญิงชื่อถนอมจึงต้องเติมศรีเข้าไปเป็นถนอมศรี    ส่วนผู้ชายก็เติมเป็นถนอมศักดิ์     ชื่อเฉลิมก็แบบเดียวกัน คือน.ส.เฉลิมศรี และนายเฉลิมศักดิ์
ส่วนคุณประหยัดศรี นาคะนาทซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ชายแท้   คุณพ่อตั้งชื่อว่าประหยัดศรี    เกิดเสียดายชื่อ ไม่อยากเปลี่ยนใหม่หมด   จึงเปลี่ยนเป็น ประหยัด ศ. นาคะนาท  ก็รอดตัวไป


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ย. 10, 21:58
ระเบียบรัฐนิยมเรื่องกำหนดชื่อให้มีความหมาย ชายเป็นชาย หญิงเป็นหญิง  เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ  นายกรัฐมนตรีถึงกับแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะการนี้   โปรดดูรูปข้างล่าง
แถวนั่ง จากซ้ายไปขวา
๑.หม่อมกอบแก้ว อาภากร (ท่านเป็นหม่อมในพระองค์เจ้าอาทิตฯ ผู้สำเร็จราชการ   เป็นผู้นำแฟชั่นมาตั้งแต่ยังสาว  แต่งตัวสวยมาก)
๒.ไม่ทราบนาม
๓.พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
๔.พระนางเธอลักษมีลาวัณย์
๕.คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์
แถวยืน จากซ้ายไปขวา
๑.พระปฏิเวทวิศิษฎ์
๒.พระราชธรรมนิเทศ
๓.พระยาสุนทรพิพิธ
๔.พ.อ.หลวงสารานุประพันธ์
๕.พระสารประเสริฐ
๖.พระยาอนุมานราชธน


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ก.ย. 10, 22:04
ขอเพิ่มเติมรายละเอียด เด็กๆก็พลอยได้รับการส่งเสริมทางวัฒนธรรมใหม่ โดยครูชอุ่ม ปัญจพรรค์  แต่งขึ้น พ.ศ. ๒๔๙๘

เด็กเอ๋ย เด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน

หนึ่ง นับถือศาสนา
สอง รักษาธรรมเนียมมั่น
สาม เชื่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์
สี่ วาจานั้น ต้องสุภาพอ่อนหวาน
ห้า ยึดมั่นกตัญญู
หก เป็นผู้รู้รักการงาน
เจ็ด ต้องศึกษาให้เชี่ยวชาญ ต้องมานะบากบั่น ไม่เกียจไม่คร้าน
แปด รู้จักออมประหยัด
เก้า ต้องซื่อสัตย์ตลอดกาล น้ำใจนักกีฬากล้าหาญ จะเหมาะกับกาลสมัยชาติพัฒนา
สิบ ทำตนให้เป็นประโยชน์ รู้บาปบุญคุณโทษ สมบัติชาติต้องรักษา เด็กสมัยชาติพัฒนาจะเป็นเด็กที่พา ชาติไทยเจริญ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ก.ย. 10, 23:28
รอคอยการฟังเรื่องการอนุรักษ์ ด้วยอีกคนครับ

ภาพการบูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง ก่อนและหลัง


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 10, 08:04
เอางานอนุรักษ์โบราณสถานที่มีปัญหามากที่สุดโครงการหนึ่งในอดีตมาฝากเป็นอุทาหรณ์

ประตูท่าแพเมืองเชียงใหม่ ขณะก่อนปี2528นั้นจะมีสภาพตามที่เห็น รถวิ่งผ่านประตูเมืองไปตามถนนได้


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 10, 08:05
ครั้นคุณชัยยา พูนศิริวงศ์สถาปนิกใหญ่จากสำนักผังเมืองมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านได้ทำโครงการรื้อประตูท่าแพเพื่อสร้างใหม่ โดยให้เหตุผลว่าประตูที่เห็นอยู่นั้น สร้างในสมัยจอมพลป. ไม่ถูกต้องตามหลักฐานโบราณคดี เท่านั้นเองพวกกลุ่มอนุรักษ์ที่โด่งดังอยู่ในเชียงใหม่ก็ออกมารณรงค์คัดค้าน บอกว่าถึงจะสร้างใหม่คนละสมัย แต่ก็เก่า ถือเป็นโบราณสถานแล้วเหมือนกัน ประตูนั้นกว้างขวางดีอยู่ ผู้ว่าจะมาทำให้แคบลงแล้วปิดเส้นทางจราจร แถมดึงเอาพระว่าอ้างว่าจะทำให้ลมผ่านไม่สะดวกถือเป็นขึด(เสนียด)ต่อเมือง ด่าผู้ว่าทุกวันให้พับโครงการ ผู้ว่าก็ได้นักโบราณคดีจากเมืองหลวงไปเป็นแนวร่วม โต้กันไปโต้กันมาพอเหนื่อย ซาลงไปแล้วผู้ว่าก็ไฟเขียวให้ผู้รับเหมาเอารถไถดันกำแพงจนราพนาสูร แล้วเอารถตักๆใส่รถบรรทุกวิ่งหายไปในเวลาอันรวดเร็ว


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 10, 08:09
พอการก่อสร้างที่บอกว่าเหมือนหลักฐานโบราณคดีเริ่มต้น คนก็งงมากว่าผู้ว่าจะสร้างตึกแถวหรืออย่างไร คือตอกเข็มทำตอม่อเป็นระยะแล้วผูกเหล็กหล่อคานคอดิน ตั้งเสาเทคานคอนกรีตลอยๆเหมือนจะทำอาคาร พอเริ่มเอาอิฐมาก่อเหมือนผนังคนจึงเริ่มเข้าใจ อ้อ ผู้ว่าจะทำกำแพงเมืองแบบกลวงข้างใน อ้าว..นี่หลอกกันชัดๆไหนว่าจะอนุรักษ์ตามแบบทางโบราณคดี คราวนี้ผู้ว่าโดนถล่มอีกยกใหญ่ ทั้งจากกลุ่มเดิมที่พักให้น้ำกลับมาสดอย่างเดิมและกลุ่มนักต่อต้านสมทบจากเมืองหลวง เซไปเซมาจวนเจียนจะโดนน็อค แม้ผู้ว่าจะไปเอารูปมาแสดงว่าฝรั่งเขาก็อนุรักษ์กันด้วยวิธีนี้ ไม่มีใครบ้านั่งเรียงอิฐกำแพงหนาตั้งสี่ห้าเมตรกันอีกแล้วในเมื่อเทคโนโลยี่สมัยใหม่มันเอื้ออำนวยให้ทำอย่างง่ายได้ เขาก็จะทำเพียงแค่“สร้างฉาก”แบบถาวรขึ้นมาทั้งนั้น


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 10, 08:15
คุณชัยยา พูนศิริวงศ์ท่านไม่ใช่มวยวัดนะครับ ท่านเป็นนักเรียนอังกฤษจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล วิธีการอนุรักษ์โดยสร้างโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นใหม่ แล้ววางหินที่ค่อยๆรื้อลงมานั้น กลับไปปะตามตำแหน่งที่ถูกต้องเหมือนของเก่า ฝรั่งทำกันมากมาย พอเสร็จแล้วดูไม่ออกว่าข้างในกลวงเหมือนกัน กำแพงเมืองของเชียงใหม่เป็นอิฐดินเผา ขยับออกนิดนึงก็กลายเป็นเศษเล็กเศษน้อย จึงต้องรื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่อย่างเดียว แต่อธิบายอย่างไรฝ่ายที่คัดค้านก็ไม่เห็นด้วย

แต่พอสร้างเสร็จแล้วท่านก็ปรับอาณาบริเวณแถวนั้นเป็นสวนสาธารณะเพื่อกิจกรรมของคนเมืองไป ปรับการจราจรเป็นวันเวย์ตลอดแนวคูเมือง รถก็ติดน้อยลง คนเชียงใหม่ก็เงียบเสียง

เดี๋ยวนี้ อิฐที่ก่อไว้เนี๊ยบจนดูออกว่าจอมปลอม ก็เริ่มเก่าลง นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ๆก็ไม่รู้สึกว่าถูกหลอกให้มาดูของที่เพิ่งสร้างใหม่ไม่กี่สิบปีมานี้


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 10, 08:22
ดังนั้น งานนี้ผมว่าท่านผู้ว่าพลาดไปมาก ถ้าการก่อสร้างนั้นท่านทำรั้วปิดบังสายตาคนเสีย ไม่ให้เขาเห็นเบื้องหลังว่าทำอย่างไร ท่านคงไม่ต้องโดนกระหน่ำถึงสองยกเต็มๆ ถึงกับเสียรังวัดไปเยอะ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 10, 08:28
งานอนุรักษ์กำแพงเมืองเชียงใหม่ส่วนที่เหลือ ไม่มีใครกล้าใช้วิธีเดียวกับท่านอีกเลย เช่นที่แจ่งหัวลิน ทางไปขึ้นดอยสุเทพ
ตอนสร้างกลับเข้าที่เดิมใช้คนงานก่ออิฐกลับไปทีละแผ่นๆ


อ้อ..เดี๋ยวนี้เขาให้เปลี่ยนจากสะกดด้วยร.เรือมาเป็นล.ลิงนะครับ ลินแปลว่าท่อ
เมื่อก่อนตรงนี้มีท่อที่ระบายน้ำเข้าเมือง


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 10, 08:42
คราวนี้มาดูกำแพงเมืองที่ถูกทุบในสมัยจอมพลป.มาให้ดูครับ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 10, 08:44
ความจริงทุกยุคทุกสมัยก่อนหน้าก็มีการทุบกำแพงเมืองทิ้งมาโดยตลอด เพราะการยุทธ์สมัยใหม่มันไม่ได้ใช้สงครามป้อมค่ายรักษาพระนครดังก่อน เพียงแต่สมัยจอมพลป.เป็นนายกยาวนาน ก็เลยมีผลงานทางนี้เยอะไปด้วย


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 10, 08:47
กำแพงเมืองเก่าเคยถูกมองว่าหมดประโยชน์ ไร้คุณค่าแล้ว สมควรรื้อทิ้ง เอาแนวกำแพงทำถนนดีกว่า หรือปล่อยให้คนมาจับจองบุกรุกเพื่อสร้างบ้านเรือน เมื่อจะเอาที่คืนก็ลำบากเสียแล้ว


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 10, 08:48
เดี๋ยวนี้ กำแพงเมืองถือเป็นโบราณสถานที่เป็นเสน่ห์แห่งเมือง นับว่าเป็นทรัพยากรทางด้านการท่องเที่ยวที่ทำให้เศรษฐกิจสะพัด เป็นClean Industry ที่นำเงินมาสู่บ้านเมืองและกระจายไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึงกว่าอื่น ทุกบ้านทุกเมืองพยายามที่จะทำนุบำรุงทรัพยากรที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษอย่างสุดฤทธิ์

แต่บางแห่งก็สายเกินไปเสียแล้ว


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 10, 08:53
เราเคยเอาสิ่งที่ล้ำค่า ไปแลกถนนเส้นเล็กๆ เพียงอ้างความจำเป็นที่จะหาพื้นที่ในเมืองให้รถวิ่ง

เราไม่เคยสำเหนียกว่า โดยหลักคิดเช่นนี้ จะทุบบ้านทุบเมืองกันอีกสักเท่าไหร่ จึงจะแข่งขันกับสายการผลิตรถยนต์ได้ทัน


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ย. 10, 10:06
มาให้กิ๊ฟ
ไม่อยากขัดจังหวะด้วยหัวข้อวัฒนธรรมอื่นๆค่ะ   ขอฟังเรื่องอนุรักษ์ไปก่อน


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 ก.ย. 10, 10:14
ขอบพระคุณครับ เรื่องนี้เอาเท่าที่ว่ามาแล้วคงเพียงพอ

เชิญเรื่องอื่นเถิดครับ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ย. 10, 11:46
อยากจะชวนท่านที่เข้ามาอ่าน ลงล้อมวงกันอ่านโจทย์วัธนธัมของท่านจอมพล ให้แตก

ข้อแรกคือเรารู้ว่า จอมพลป. รับความคิดจากตะวันตกมา ๒ ข้อใหญ่ๆ  ข้ออื่นอาจมีอีกแต่ดูกันทีหลัง    ข้อแรกคือท่านไปดูงานเมืองฝรั่งมา ท่านก็อยากให้ประเทศศิวิไลซ์เหมือนฝรั่ง   เริ่มด้วยประชาชนแต่งกายกันแบบฝรั่ง จะได้เป็นระเบียบวินัยงามตา     ท่านคงเห็นว่าการแต่งกายเท่าที่มีอยู่ในประเทศสยาม ไม่อาจจะทำให้มีระเบียบหรืออย่างไรก็ไม่แน่    ทั้งที่ผู้ชายสยามก็นุ่งกางเกงกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๖  ไม่ได้นุ่งโจงกระเบนกันทั่วเมืองอย่างในต้นรัชกาลที่ ๕  เพียงแต่ไม่ใช่กางเกงและเสื้อนอกอย่างฝรั่งเท่านั้น
ข้อที่สองคือท่านเชื่อมั่นในชาตินิยม  จึงพยายามรวมให้ประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ได้ชื่อว่าไทย ไม่ใช่สยาม  ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ   ถึงกับประกาศห้ามใช้คำว่าไทยแล้วตามด้วยเชื้อชาติหรือศาสนา

แต่นโยบายของท่านจอมพลป.จะว่าเดินเป็นเส้นตรงไม่ลัดเลี้ยวก็ไม่ใช่    มีข้อขัดแย้งอยู่หลายอย่าง   ที่เห็นๆคือท่านนิยมความเป็นไทย แต่ไม่ให้กินหมาก   ทั้งๆคนไทยก็กินมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย     ให้แต่งกายแบบฝรั่ง พูดจาใช้สรรพนามแบบฝรั่ง  มีคำว่าขอบใจและขอโทษติดปาก   ให้สามีจูบลาภรรยาก่อนออกจากบ้านแบบฝรั่ง     แต่พอถึงอาหารการกิน กลับชักชวนให้กินก๋วยเตี๋ยวแบบจีน   

นอกจากนี้ที่สำคัญคือไม่ชอบเพลงไทยเดิม    แม้แต่การบรรเลงเพลงไทยเดิมก็ต้องเปลี่ยนชื่อที่มีคำว่า ลาว เขมร จีน พม่า อันเป็นที่มาของทำนองเพลง ออกไปหมด   นอกจากนี้ยังต้องเรียบเรียงใหม่ให้เข้าหลักสากล   ขุนพลเพลงอย่างครูเอื้อ สุนทรสนาน จึงนำเพลงไทยเดิมจำนวนมากมาเรียบเรียงใหม่เป็นทำนองแบบสากล     ท่านจอมพลก็พอใจกับเพลงไทยแบบนี้ เพลงแบบนี้ในตอนแรกเราจึงเรียกว่า ไทยสากล

ดิฉันก็เลยดูว่าวัธนธัมของจอมพล ป. ไม่ใช่นโยบายที่เดินตามวัฒนธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นหลัก  คือจะว่าเป็นฝรั่งหมดก็ไม่ใช่  เป็นไทยยุคใดยุคหนึ่งก็ไม่เชิง     แต่น่าจะเป็นวัธนธัมตามความเห็นชอบของท่านผู้นำ ว่าท่านชอบอะไรท่านก็ออกประกาศมาให้ประชาชนเห็นดีไปตามนั้น   ผสมผสานกันได้หลายชาติ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 07 ก.ย. 10, 14:16
อาจารย์เทาชมพูสรุปได้ดีมาก ๆ ค่ะ
กราบขอบพระคุณทุกท่านที่มาให้ความรู้ค่ะ
ต่อไปภายหน้าใครคิดจะย้อนกลับมาใช้ชื่อประเทศว่าสยาม
ก็ต้องศึกษาสาเหตุของการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นไทยเสียก่อน


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ย. 10, 16:55
เร็วๆนี้ก็มีความพยายามเสนอให้ประเทศไทยกลับไปใช้ชื่อ "สยาม"  คุณร่วมฤดีหาอ่านได้ในกูเกิ้ลค่ะ

http://www.osknetwork.com/modules.php?name=News&file=article&sid=3528

ชาญวิทย์" เสนอรัฐบาลเปลี่ยนชื่อประเทศไทยเป็น"สยาม" เพื่อความสมานฉันท์ พร้อมเสนอยุบทิ้งวุฒิสภา-คืนสถานะ จ.ธนบุรี

นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง-ข้าราชการบำนาญ ได้ทำหนังสือเวียนผ่านอีเมล์ เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเปลี่ยนชื่อจากประเทศไทย เป็นประเทศสยาม ยกเลิกวุฒิสภา และคืนสถานะจังหวัดธนบุรี
เนื้อหาของหนังสือเรียกร้องดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้

สืบเนื่องจากการที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี มีดำริที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ และเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นนั้น กระผมใคร่ขอเสนอข้อแก้ไขเพิ่มเติม 3 ข้อ ดังต่อไปนี้ คือ

(1)ขอให้แก้คำในภาษาไทยที่ใช้ว่ารัฐธรรมนูญ “ แห่งราชอาณาจักรไทย ” เป็นรัฐธรรมนูญ “ แห่งราชอาณาจักรสยาม ” หรือรัฐธรรมนูญ “ แห่งสยาม ” และในภาษาอังกฤษให้เปลี่ยนจาก The Kingdom of Thailand เป็น The Kingdom of Siam หรือ of Siam ทั้งนี้ เพื่อความ “ รักสามัคคี ” “ สมานฉันท์ ” และ “ ปรองดอง ” และให้ประเทศของเรา ซึ่งมีประชากรกว่า 60 ล้านคนนั้นเป็นที่

“รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย ไท/ไต ยวน ลาว ลื้อ มลายู มอญ ขะแมร์ กูย แต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน ไหหลำ แคะ จาม ชวา ซาไก มอแกน ทมิฬ ปาทาน เปอร์เซีย อาหรับ ฮ่อ พวน ไทยใหญ่ ผู้ไท ขึน เวียด ยอง ลั๊วะ/ละว้า ม้ง เย้า กะเหรี่ยง ปะหล่อง มูเซอร์ อะข่า กำหมุ มลาบรี ชอง ญากูร์ บรู โอรังลาอุต ฝรั่ง (ชาติต่างๆ) แขก ( ชาติต่างๆ) ลูกครึ่ง ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ” กว่า 50 ชนชาติและภาษา”

(2)ขอให้แก้ไขให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีแต่เพียงสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร โดยให้ยกเลิก สว. หรือวุฒิสมาชิก

(3)ขอให้ดำเนินการออกกฎหมายที่เป็นประชาธิปไตย โดยคืนสถานะเดิมอันเป็นตัวของตัวเองและศักดิ์ศรีของ “ จังหวัดธนบุรี ” ที่ถูกยุบรวมและทำลายลงด้วยประกาศและอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนับเมื่อปี พุทธศักราช 2514/15

ส่วนตัวดิฉันเห็นว่าเปลี่ยนแต่ชื่อคงไม่มีผลอะไร    ถ้าเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนนโยบายที่ฝังรากลึกมาตั้งแต่สมัยเปลี่ยนจาก "สยาม" เป็น "ไทย" สมัยโน้น



กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 07 ก.ย. 10, 17:01
ลองคาดเดาความคิดจิตใจท่านผู้นำ ครับ

           ท่านมั่นใจในอำนาจเกินร้อย เพราะท่านและคณะสามารถเปลี่ยนการปกครองที่มีมาแต่เดิมหลายร้อยปี
ได้สำเร็จ ด้วยคณะพรรคพวกพร้อมพรั่งมีพลังอำนาจเต็มๆ
           ท่านเชื่อว่าความรู้ที่ได้ศึกษาจากตะวันตกนั้นเป็นของดี ชาวไทยส่วนใหญ่ในขณะนั้นยังมีความรู้น้อย
           เมื่อท่านเป็นผู้นำของชาติ ท่านจึงต้องชี้นำทางอย่างละเอียดยิบทุกย่างก้าวราวพ่อกับลูก

           ในยุคท่านผู้นำมีสิ่งก่อสร้างบนโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง นั่นคือ พระบรมราชานุสรณ์ และ
เจดีย์ยุทธหัตถี ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี ซึ่งในเวลาต่อมา ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ของพระนเรศวรมหาราชตามมาในหลายจังหวัด

อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยอภิปรายเมื่อครั้งหนังเรื่องตำนานพระนเรศวรมหาราชออกฉายว่า

            พระนเรศวรผู้ปรากฏเรื่องราวในพงศาวดารนับร้อยหน้าได้รับการสร้างภาพลักษณ์เป็น มหาบุรุษ
ผู้กอบกู้อิสรภาพ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อราชอาณาจักรถูกต่างชาติตะวันตกคุกคาม พระองค์ทรงโปรดให้
ประชุมแต่งโคลงภาพพระราชพงศาวดาร และจัดแสดงภาพเขียนเหตุกาณ์จากพงศาวดารเปิดให้ประชาชนชม
ที่ท้องสนามหลวง เป็นการเปิดความรู้เรื่องกษัตริย์จากแวดวงราชสำนักสู่ประชาชน
            ในสมัยรัชกาลที่ ๖ หลังจากได้มีความพยายามค้นหาจนพบเจดีย์ยุทธหัตถี (พ.ศ. ๒๔๕๖)
แต่ติดขัดเรื่องงบประมาณในการบูรณะ
            นอกจากนี้ ยังมีการพิมพ์งานภาพจากวัดสุวรรณดารามซ้ำหลายครั้ง ทำให้ประชาชนได้รับรู้เรื่องราว
ของพระนเรศวรอย่างกว้างขวางขึ้น

            ถึงสมัยท่านผู้นำภาพลักษณ์ของพระนเรศวรยังคงอยู่แต่ไม่โดดเด่นเท่าเดิม แม้ละครปลุกใจของ
หลวงวิจิตรวาทการก็ไม่มีเรื่อง พระนเรศวรมหาราช โดยตรง หากแต่มี อานุภาพพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
(ที่อาจจะสื่อความหมายแนวทางการปกครองของท่านผู้นำ) มี เลือดสุพรรณ และ มีงานเขียน ใครฆ่าพระเจ้าตาก
           แต่พระบรมราชานุสรณ์ ดอนเจดีย์ก็สำเร็จลงได้ในสมัยท่านผู้นำ (พ.ศ. 2495) สร้างเป็นเจดีย์แบบลังกา
ทรงกลมใหญ่ สูง 66 เมตร ฐานกว้างด้านละ 36 เมตร ครอบเจดีย์องค์เดิมไว้


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 07 ก.ย. 10, 17:05
           อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชออกแบบโดย อ.ศิลป์ พีระศรี ทรงพระคชาธารศึก หันพระพักตร์
ไปทางทิศตะวันตก พระคชาธารประกอบด้วยกลางช้าง ท้ายช้างและสัปคับ พร้อมด้วยอาวุธชนิดต่าง ๆ
ฐานล่างสลักภาพนูนตอนกระทำยุทธหัตถี และประกาศอิสรภาพ

ในวันที่  ๒๕ มกราคม ๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบ
พระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสรณ์


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ย. 10, 20:25
คงจะเลี้ยวตามคุณ SILA ออกไปสู่เรื่องศิลปะ สมัยจอมพลป.ได้เสียที

ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นช่างชาวอิตาเลียนที่รัฐบาลอิตาลีคัดเลือกมาถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ตามพระราชประสงค์ที่จะได้ประติมากรชาวตะวันตกมาทำราชการในสยาม  เพื่อฝึกฝนชาวสยามให้รู้จักปั้นรูปแบบตะวันตก     ประเทศในยุโรปที่เป็นเลิศทางประติมากรรม ก็ไม่มีที่ไหนดีกว่าอิตาลี
ประติมากรหนุ่มที่ผ่านการแข่งขันกับผู้สมัครอื่นๆถึง ๒๐๐ คน   ชื่อคอร์ราโด เฟโรจี ( Corrado Ferocil) เป็นชาวเมืองฟลอเรนซ์  เป็นศิลปบัณฑิตของราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ (The Royal Academy of Art of Florence) จบหลักสูตรวิชาช่าง 7 ปีในขณะที่มีอายุ 23 ปี  ได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียน ต่อมาสอบคัดเลือกรับปริญญาบัตรเป็นศาสตราจารย์ มีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์วิจารณ์ศิลป์และปรัชญา   และเชี่ยวชาญในศิลปะแขนงประติมากรรมและจิตรกรรม   ในพ.ศ. 2466 ท่านชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรป
ด้วยเหตุนี้ ประติมากรจากอิตาลีจึงได้มาสยาม เป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2466 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากร สถานแห่งราชบัณฑิตสภา

ศาสตราจารย์เฟโรจี ทำงานอยู่ในสยามตั้งแต่รัชกาลที่ 6    ผลงานสำคัญๆที่ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้คือปั้นต้นแบบสำหรับพระปฐมบรมราชานุสรณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2472 - 2477  อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พ.ศ. 2484 พระราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวนลุมพินี และการออกแบบพระพุทธรูปปางลีลา ประธานพุทธมณฑล

พอเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2   ชาวอิตาเลียนในประเทศไทยตกเป็นเชลยของญี่ปุ่น แต่รัฐบาลไทยขอควบคุมตัวท่านศาสตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรจี ไว้เอง  หลวงวิจิตรวาทการได้ดำเนินการทำเรื่องราวขอโอนสัญชาติจากอิตาเลียนมาเป็นสัญชาติไทย โดยเปลี่ยนชื่อของท่านให้มาเป็น "นายศิลป พีระศรี" เพื่อคุ้มครองท่านไว้ ไม่ต้องไปถูกเกณฑ์เป็นเชลยศึกให้สร้าง ทางรถไฟสายมรณะ และ สะพานข้ามแม่น้ำแคว เมืองกาญจนบุรี


เว็บนี้เก็บเรื่องราวของอาจารย์ศิลปไว้น่าสนใจ
http://www.moomkafae.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=188972&Ntype=4
ท่านเป็นบุคคลแรก ที่เริ่มสร้างอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ขึ้นในเมืองไทย ด้วยฝีมือและความสามารถของช่างไทย แทนการสั่งปั้นหล่อมาจากต่างประเทศ ทำให้ประเทศชาติประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้เป็นอันมาก งานสร้างอนุสาวรีย์ของท่านมีมากมาย อาทิ  พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ปี๒๔๗๕) ออกแบบโดยสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ปี ๒๔๗๗), พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (ปี ๒๔๘๔), พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช (ปี๒๔๙๓-๒๔๙๔) นายสิทธิเดช แสงหิรัญ นายปกรณ์ เล็กสน นายสนั่น ศิลาภรณ์  ผู้ช่วย, พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ดอนเจดีย์ (ปี ๒๔๙๙) นายสนั่น ศิลาภรณ์ นายสิทธิเดชแสงหิรัญ และคนอื่นๆ ผู้ช่วย, อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ดอยสุเทพ เชียงใหม่ (เฉพาะศีรษะ) นายเขียน ยิ้มศิริ ผู้ช่วย  ฯลฯ
   
       อย่างไรก็ตามแม้ท่านจะเป็นผู้ปั้น แต่สำหรับงานออกแบบแล้ว ก็ไม่ใช่จะตรงตามที่ท่านต้องการเสียทั้งหมดทีเดียวนัก มีรายละเอียดบางส่วนจากบทความเรื่อง ผลงานที่ไม่มีใครรู้จักของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี  โดย น.ณ ปากน้ำ ท่านบันทึกไว้ว่า

      “ ข้าพเจ้าเคยได้เห็นภาพเสก็ตช์ของอนุสาวรีย์พระปฐมบรมราชานุสรณ์  ท่าทางที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ประทับนั่งบนพระราชอาสน์ก็สวยงามสง่ามาก คือเอนพระอังสาเล็กน้อย พระบาทวางเหลื่อมกัน  โดยพระบาทข้างที่พระอังสายื่นออกมานั้นอยู่เบื้องนอก พระพักตร์เชิดอย่างสง่า ท่าแบบนี้เป็นท่าที่จัดไว้อย่างสวยงามมีชีวิตชีวา ไม่ดูประทับนั่งเฉยๆอย่างที่เห็นปัจจุบัน ข้อนี้ข้าพเจ้ารู้ความจริงภายหลังว่า คณะกรรมการได้ติชม แก้ไข พระบรมรูปให้เป็นท่าทางปัจจุบันนี้เอง เพราะเหตุนี้จึงออกเป็นเรื่องขมขื่นของท่านปฏิมากรเอกมิใช่น้อย ”


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ย. 10, 20:35
        ตอนแรก รัฐบาลสยามทำสัญญาจ้างศาสตราจารย์ศิลปทำงาน ๓ ปี ได้รับเงินเดือน ๘๐๐ บาท ค่าเช่าบ้านต่างหาก  มีสิทธิลาพักผ่อนไปเยี่ยมบ้านเกิด ๙ เดือน เมื่อทำงานครบสามปีแล้ว  ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการทำสัญญาต่อไป หลังจาก ๓ ปีก็เลิกได้ แต่ต่อมา ก็รัฐบาลได้ต่อสัญญาโดยไม่มีกำหนด
      ช่วงแรกที่ท่านทำงาน  ได้รับความลำบากมากเพราะผู้บังคับบัญชาระดับสูงไม่เข้าใจงานอย่างช่างและศิลปิน  สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงทราบและได้ทรงช่วยเข้าช่วยเหลือหลายอย่าง 
              อาจารย์ศิลปอยู่ในสยามต่อมาในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำในรัชกาลที่ ๗  จนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒   หลังสงครามโลก เงินเดือนที่ได้รับน้อยจนไม่พอค่าใช้จ่าย ท่านต้องขายรถยนต์ บ้านและที่ดิน ขี่จักรยานสองล้อมาสอนหนังสือ   ในที่สุดท่านก็เดินทางกลับอิตาลีในปี ๒๔๙๒ และต่อมาจึงเดินทางกลับประเทศไทยอีกครั้งและรับราชการเรื่อยมา  ดำรงตำแหน่ง คณบดีจิตรกรรมและศิลปกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
ท่านถึงแก่กรรมหลังจากผ่าตัดเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ ๑๔  พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๕  รวมอายุได้ ๖๙ ปี.

(http://1.bp.blogspot.com/_TimNnqPryxU/R5RyUzMre_I/AAAAAAAAAeM/e9ZNpXFJbZY/s320/sil01.jpg)


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 08 ก.ย. 10, 11:03
         ท่องเน็ทพบเว็บ  โครงการศิลป พีระศรี สรรเสริญ ซึ่งมี

คำชี้แจง : ศิลป พีระศรี ย้อนอนุรักษ์นามเดิม ก่อนพ.ศ. 2528 "ศิลป" ไม่มีการันต์

          หนังสือออนไลน์รวมเรื่องราว "ศิลป" น่าสนใจมากมายที่

http://www.panyathai.com/silpa/silpa.html

หนึ่งในผลงานของท่านก่อนมาเมืองไทย - พระพิรุณ ในสวนโรมัน หลังวังพญาไท (ติดกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า)

ภาพจาก http://www.pixpros.net/forums/showthread.php?t=822


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 08 ก.ย. 10, 14:02
พระพิรุณรูป ^^นี้ สวยงามมากค่ะ
สวยกว่าที่เป็นตราประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เสียอีก
ไม่เคยเห็นมาก่อนค่ะ ต้องหาเวลาไปดูของจริง
 ไม่น่าเชื่อว่า ฝัร่ง จะทำงานศิลป์แบบไทยได้งามถึงเพียงนี้


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 08 ก.ย. 10, 14:28
ก่อนไปดูของจริง ที่วังพญาไท
เชิญคุณร่วมฤดีดูรูปและเรื่องราวพระพิรุณของอ.ศิลป ตามลิงค์ที่ลงไว้ ครับ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ย. 10, 14:41
ศาสตราจารย์ศิลป กับมหาวิทยาลัยศิลปากร
        
ถ้าจะพูดถึงผลงานจอมพลป.ด้านสนับสนุนศิลปะในประเทศไทย ก็ต้องยกความดีให้ว่ารัฐบาลท่านเห็นความสำคัญของการเรียนการสอนศิลปะ ไม่ใช่แค่ระดับโรงเรียนอย่างเมื่อก่อน  แต่ว่ายกขึ้นไปถึงปริญญาตรี
ใน พ.ศ.2485   พอกรมศิลปากรแยกจากกระทรวงศึกษาธิการไปขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี    รัฐบาลจอมพลป.มีคำสั่งให้อธิบดีกรมศิลปากร พระยาอนุมานราชธนตราพระราชบัญญัติยกฐานะโรงเรียนศิลปากรขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ตอนแรกมีคณะจิตรกรรมประติมากรรม คณะเดียว  เปิดสอนเพียง 2 สาขาวิชาคือ สาขาจิตรกรรมและสาขาประติมากรรม  มีศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรีเป็นผู้อำนวยการสอนและดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรก   ศิลปะในไทยจึงเริ่มมีในระดับปริญญา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ใน พ.ศ.2491 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้นำศิลปะไทยไปแสดง ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปีนี้ท่านได้เดินทางกลับไปประเทศอิตาลีและเดินทางกลับมาประเทศไทยอีกครั้ง ในต้นปีพ.ศ.2492        

พ.ศ.2496 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้เป็นประธานกรรมการสมาคมศิลปะแห่งชาติ ซึ่งขึ้นกับ สมาคมศิลปะนานาชาติ (International Association of Art)
 ในปีพ.ศ.2497 ได้เป็นผู้แทนศิลปินไทยไปร่วมประชุมศิลปินระหว่างชาติครั้งแรกที่ประเทศออสเตรีย   ท่านได้นำเอกสารผลงานศิลปะและบทความชื่อศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย(Contemporary Art inThailand) ไปเผยแพร่ในการประชุม   ทำให้นานาชาติรู้จักประเทศไทยดีขึ้น   ท่านเป็นคนแรกที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนศิลปะระหว่างศิลปินไทยและศิลปินต่างประเทศ

รูปข้างล่างนี้อาจารย์ศิลปกำลังปั้นพระรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ด้วยดินเหนียว


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 08 ก.ย. 10, 16:36
รูปพระวรุณรูปกังกล่าว  เอกสารจดหมายเหตุระบุว่า ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายช่างร่างแบบแล้วส่งออกไปให้ โปรเพซเซอร์ เฟโรจี ที่เมืองฟลอเรนซ์เป็นผู้ปั้นหล่อแล้วส่งกลับเข้ามาเมืองไทยราว พ.ศ. ๒๔๖๕  ก่อนที่จะมีการสมโภชพระราชวังพญาไท

จากการค้นคว้าของบรรดาศิษย์ ศ.ศิลป์  ทราบกันมาว่า ก่อนที่ศาสตราจารย์ศิลป์จะเข้ามาเมืองไทยได้ปั้นเทวดาส่งเข้ามาก่อน  แต่ไม่ทราบว่าเป็นรูปอะไรและอยู่ที่ไหนจนได้ไปที่พระราชวังพญาไทจึงได้ทราบเรื่องพระวรุณจากวิทยากรอาสาสมัครโดยบังเอิญ  และยังมีอีกเรื่องที่ยังติดค้างและตามหากันไม่พบ คือ ต้นแบบเหรียญพระบรมรูป  จากหลักฐานที่กลุ่มศิษย์อาจารย์ศิลป์ค้นพบระบุว่า ก่อนที่ทางราชการจะจ้างศ.ศิลป์เข้ามารับราชการในเมืองไทยนั้น  ท่านชนะการประกวดแบบเหรียญพระบรมรูปล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ มาก่อน  ทางราชการจึงตัดสินใจจ้างท่านเข้ามา 

เคยเห็นแบบเหรียญพระบรมรูปล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ อยู่เหรียญหนึ่งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๓๐ เซนติเมตร  หล่อด้วยโลหะหนักมากทีเดียว  เมื่อทราบข่าวจากศิษย์อาจารย์ศิลป์ถึงเรื่องชนะการประกวดแบบเหรียญดังกล่าว  ได้ไปตามหาที่หอวชิราวุธานุสรณ์แต่ไม่มีใครทราบว่าย้ายไปเก็บไว้ที่ไหน  เพราะห้องที่เคยเก็บเหรียญนี้ถูกแปลงเป็นสำนักงาน  เลยไม่ทราบว่าต้นแบบเหรียญพระบรมรูปนั้นเป็นผลงาน ศ.ศิลป์หรือไม่  ถ้าได้เห็นจ้นแบบเหรียญนั้นอีกครั้ง  คงต้องสังเกตที่เปลือกพระเนตร  ซึ่งถ้าเป็นผลงาน ศ.ศิลป์  เปลือกพระเนตรทั้งสองข้างจะต้องเป็น ๓ ชั้นข้างหนึ่ง  และอีกข้างหนึ่งเป็น ๔ ชั้น  เรื่องนี้ อ.พินิจ  สุวรรณยุณย์ ศิลปินแห่งชาติเป็นผู้เล่าว่า  ศ.ศิลป์ ท่านมักจะกำชับศิษย์ของท่านว่า เวลาปั้นพระบรมรูปล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ต้องระวังเรื่องเปลือกพระเนตรให้มาก  สุดท้ายเวลาศิษย์ของท่านปั้นพระบรมรูปรัชกาลที่ ๖  จึงมักจะก๊อปปี้พระบรมรูปส่วนพระเจ้าที่ ศ.ศิลป์ ปั้นไว้เมื่อคราวหาทุนสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ที่สวนลุมพินีกันเป็นหลัก


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 09 ก.ย. 10, 17:23
        ศิลปะในยุคท่านผู้นำนี้ คงจะนับได้ว่าเป็นแสงสว่างส่องความหม่นมืดแห่งสมัยนั้น
          ท่านผู้นำคงรักศิลปะ มีดนตรีในหัวใจ จึงให้การสนับสนุน ในขณะเดียวกันก็ใช้ศิลปะรับใช้
นโยบายของท่าน

         ท่องเน็ทดูงานปั้นบางชิ้นของอ.ศิลป  ครับ

ครุฑร่วมสมัย  ประติมากรรมชิ้นเอกของสยามประเทศ โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีและศิษย์

          หล่อจำลองขึ้นใหม่จากผลงานต้นแบบคือ ครุฑที่อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบ
และจัดสร้างของศ.ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยไทยและกลุ่มศิษย์ ในช่วงประมาณปีพ.ศ.2486
ที่ความนิยมนำรูปปั้นมาประดับตกแต่งหน้าอาคารสำนักงานต่างๆ เริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทย       


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 09 ก.ย. 10, 17:25
         ได้รับอนุมัติจากบริษัท ไปรษณีย์ไทยให้ทำการหล่อจำลองรูปครุฑจนกระทั่งจัดทำแล้วเสร็จปลายปี 2551
         มีขนาดความสูง 4 เมตร  กว้าง 6 เมตร น้ำหนัก 3 ตัน
           แสดงที่ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ ซอยนวลจันทร์


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 09 ก.ย. 10, 17:26
พระรูปเหมือนสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ผลงานพิสูจฝีมือชิ้นแรกของ อ.ศิลป์ พีระศรี


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 09 ก.ย. 10, 17:28
ทับหลัง "จงตื่นเถิด" โดย ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี จาก assumptionboard

ห้องประชุมใหม่ โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 09 ก.ย. 10, 17:32
      ช้างต้นแบบ อ.ศิลป์ พีระศรี ปั้นไว้สำหรับพระบรมราชานุสาวรีย์ดอนเจดีย์ ซึ่งถูกแก้ไขไม่ได้ใช้ตามแบบนี้ในที่สุด
อยู่ที่สวนรมณีนาถ (เรือนจำเดิม) ถนนมหาไชย


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 09 ก.ย. 10, 17:34
      "อนุสาวรีย์ตำรวจ " เดิมตั้งอยู่หน้าตึกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปทุมวัน
       ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ปั้นรูปหุ่นตำรวจอุ้มคนเจ็บ มีเด็กญาติคนเจ็บเกาะขา
       สร้างขึ้นเสร็จพร้อมกับตึกสำนักงานตำรวจและได้ทำพิธีเปิดในวันตำรวจเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2496
      ปัจจุบันนี้ได้นำไปไว้ที่โรงเรียนนายสิบตำรวจบางเขน โดยกรมตำรวจสมัยที่ พล.ต.อ.เภา สารสิน
เป็นอธิบดีได้จัดสร้างพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 ประดิษฐานแทน


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 09 ก.ย. 10, 17:36
ผลงานปั้นชิ้นสุดท้ายของอ.ศิลป   


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ย. 10, 21:08
ผลงานนูนต่ำ อ.ศิลป์ พีระศรี


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 09 ก.ย. 10, 21:11
ผลงาน "จงตื่นเถิด เปิดตาหาความรู้ เรียนคำครู คำพระเจ้า เฝ้าขยัน จะอุดมสมบัติ ปัจจุบัน แต่สวรรค์ดีกว่าเราอย่าลืม" ติดตั้งอยู่ที่หอประชุมสุวรรณสมโภช โรงเรียนอัสสัมชัญ เป็นอาคารหอประชุมที่ทันสมัยที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก่อนที่ตึกนี้จะถูกทุบทิ้งเพื่อสร้างตึกอาคารเรียนใหม่ทดแทน และประติมากรรมได้ถูกติดตั้งไว้ที่หอประชุมอาคารใหม่


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 22 ก.พ. 12, 11:14
เข้ามาค้นในกระทู้นี้ใหม่ เพราะเพิ่งได้ชมละคร โหมโรง ทางโทรทัศน์ Thai PBS มีการพูดถึงเรื่อง รัฐนิยม
ยังสงสัยอยู่เรื่องการใช้คำพูด จ๊ะ กับคำว่า ฉัน-ท่าน ที่มีประกาศให้ใช้กันในสมัยนั้น

ก่อนหน้านี้ คนไทยใช้คำพูดแบบไหนกันคะ  ???

ชาววัง น่าจะใช้คำว่า คะ เป็นปกติ แต่คำว่า ครับ ไม่ทราบใช้กันเมื่อใด แต่ดูทันสมัยมากกว่าคำว่า จ๊ะ แต่ท่านกลับไม่ให้ใช้

เมื่อคืน ในละครเอ่ยถึงการทักทายด้วยคำว่า สวัสดี
ยังลุ้นอยู่ว่าคุณตำรวจจะให้ภรรยาหอมแก้มก่อนออกจากบ้านหรือไม่ พลาดบทนี้ไปได้อย่างไร

เรื่องประกาศรัฐนิยมนี้ คนคงรู้กันน้อย บางคนยังไม่คิดว่าเป็นเรื่องจริง
ดิฉันเคยฟังผู้ใหญ่เล่ากัน ฟังแล้วก็ตลกดี แต่ถ้าเราอยู่ในยุคสมัยนั้น คงเป็นเรื่องจริงจังจนแทบจะทำอะไรไม่ถูกเลยเทียว


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 ก.พ. 12, 11:53


        ในงานหนังสือครั้งที่ผ่านมา    ที่ร้านของน้องดา  มีหนังสือ ความลับของพระแก้วมรกต  สภาพมิ้นต์(เหมือนออกใหม่)

วางโชว์       ดิฉันเวียนไปอ่านหลายครั้ง  แต่ขาดทุนรอนที่จะเก็บหนังสือมา  เพราะราคาสูง

หลังจากนั้นก็ไปคร่ำครวญตามร้านขายหนังสือมือสองว่าอยากอ่าน         สหายผู้หนึ่งรำคาญมากเลยให้ หนังสือมา  เอิงเอย!

หนังสือแต่งโดยอารยันต์คุปต์      มีรายละเอียดมากมายที่ไม่ทันเห็นในหนังสือเล่มอื่น


เริ่มในหน้า ๘๙๖  เรื่องกบฎแมนแฮตตัน  วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๔  ที่ท่าราชวรดิตถ์   นายวิลเลียมเทอเนอร์อุปทูตอเมริกันเป็นผู้มอบเรือขุดให้

จอมพล ป. พิบูลสงครามในเครื่องแต่งกายชุดชาร์คสกินสีขาว  เนคไทยเขียว   กระเป๋าเสื้อนอกมีผ้าเช็ดหน้าพื้นเขียวขลิบขาวแลบออกมาเล็กน้อย

เมื่อเดินเข้าสู่โรงพิธีแล้ว   พระสงฆ์ก็เริ่มสวดชัยมงคลตามประเพณี         บรรดาทูตานุทูตและครอบครัวนายทหารชั้นผู้ใหญ่  พร้อมด้วยหม่อมกอบแก้ว

อาภากร  ก็ได้ไปเข้าร่วมในพิธี

        พอจอมพล ป. พิบูลสงครามก้าวขึ้นบนเรือขุดแมนแฮตตันได้เพียง ๓ นาทีเท่านั้น   น.ต. มนัส  จารุภา  ก็เปิดปากร้องประกาศด้วยเสียงอันดังว่า

"อย่าให้คนออกข้างนอก!   อย่าให้คนออกข้างนอก!!     ทุกคนยืนนิ่งอย่าเคลื่อนไหว!!!"      เมื่อแรกเสียงร้องอยู่ไกล ๆ  แล้วก็ใกล้เข้ามา ๆ

น.ต. มนัส  จารุภา  ถือปืนกลใหม่ถอดด้ามวิ่งเข้ามาด้วยท่าขึงขัง

"จับจอมพล!  จับจอมพล!!   จอมพลลงมาให้จับดี ๆ !!!"

       จอมพลป. ได้ก้าวออกมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ของ อี.ซี.เอ.เอ.เอฟ.ดี.  (ขอไม่ใส่ชื่อเพราะเกรงมือค้นจะไปค้นมาเติมให้ผิด

วัตถุประสงค์ของคนกำลังเล่าเรื่องวัฒนธรรมท่านผู้นำอยู่) ขาวอเมริกันกระโดดไปขวางหน้า  และดันจอมพลป.ไปติดอยู่กับผนังเรือ

        "คนอื่นไม่เกี่ยว   ต้องการจอมพลป. เพียงคนเดียว"

เรือเปิดหัวติดเครื่องคอยท่าอยู่แล้ว          แขกเหรื่ออีกประมาณ ๕๐ คนก็ทะยอยกันกลับหมดเพราะจอมพลป.ถูกจี้บังคับลงเรือเปิดหัว   

ในขณะที่ผู้ร้ายคุมตัวลงเรือเรียบร้อยแล้ว  ก็พลันได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้นที่หัวเรือเปิดหัว   จึงต่างพากันตกตะลึงอีกครั้งหนึ่ง 

โดยไม่เข้าใจว่าจะเป็นเสียงระเบิดของเครื่องเรือ  หรือเสียงปืนของผู้ร้ายแน่


        หม่อมกอบแก้ว  อาภากร  ได้เดินเลียบไปทางกราบซ้ายของแมนฮัตตัน   แล้วใช้ผ้าเช็ดหน้าโบกไปมา  เป๋นการอำนวยพรให้

จอมพล ป. พิบูลสงครามปลอดภัยและสวัสดีมีชัยในทำนอง  ก้อดสปีด  หรือ บองวอยเอ็จ (God speed or Bon voyage)  ซึ่งหมายความว่า

ไปดีมาดีนะท่านจอมพล



กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: ศุศศิ ที่ 05 มี.ค. 12, 17:18
รู้จักคำว่า รัฐนิยม ครั้งแรกจากหนังสือเล่มนี้


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 12, 20:07
ภาพปกแสดงว่าสามเกลอ เลี้ยงไก่ ปลูกผัก  และสวมหมวก แบบรัฐนิยมอย่างเคร่งครัด


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 06 มี.ค. 12, 09:34
อีกปกค่ะ... ;D


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มี.ค. 12, 18:33
นานๆกลับไปอ่านกระทู้เก่า ก็เพลิดเพลินดีเหมือนกัน     เพิ่งดูออกว่าดิฉันให้การบ้านท่านนวรัตนโหดเอาการอยู่เหมือนกัน    แต่ตอนนั้นไม่รู้จริงๆ  นึกว่าคุยกันตามสบาย
ขอต่อกระทู้ด้วยวัฒนธรรมยุคจอมพลป.  ที่จบไปแล้วในยุคโลกาภิวัตน์   คือละครปลุกใจของหลวงวิจิตรวาทการ


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 12, 10:46
อาคารกระทรวงยุติธรรม  (เดิม) หรือศาลฎีกาในปัจจุบัน เป็นสถาปัตยกรรมยุคท่านผู้นำ อีกแห่งหนึ่ง    มีความเป็นมาว่าคณะรัฐมนตรีได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาเลือกรูปแบบก่อสร้าง เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๒   มีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นประธานกรรมการ
ประธานกรรมการส่งหลวงจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ ไปดูแบบอย่างอาคารกระทรวงและศาลยุติธรรมในประเทศต่างๆ     ในที่สุดก็พบว่าอาคารกระทรวงและศาลของสวิตเซอร์แลนด์เป็นแบบที่สวยงามเป็นศรีสง่า และเหมาะสมกับประเทศไทย  :o
จึงจำลองแบบมาก่อสร้าง   บริษัทไทยโยนกประมูลการก่อสร้างไปในราคา ๓๘๘,๐๐๐  บาท (สามแสนแปดหมื่นแปดพันบาท)


กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 07 มี.ค. 12, 12:46
อาคารศาลยุติธรรมที่ริมสนามหลวงนี้นัยว่า สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในการที่ไทยได้รับเอกกราชทางการศาลคืนกลับมาโดยสมบูรณ์

แต่ก่อนหน้านั้นเมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงนำประเทศสยามเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้สบโอกาสเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  การแก้ไขสนธิสัญญานั้นมาแล้วเสร็จสมบูรณ์ในรัชกาลที่ ๗ เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม  พ.ศ. ๒๔๖๙ ในวันนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระบรมอัฐิในรัชกาลที่ ๔ ๕ และ ๖ ร่วมการฉลองความเสมอภาคของกรุงสยาม  ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน 

ในการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาคราวนั้นมีเงื่อนไขว่า ประเทศคู่สัญญาทั้ง ๑๔ ประเทศจะยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือศาลไทย  เมื่อประเทศไทยประกาศใช้ ประมวลกฎหมายอาญา  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์ ครบทั้ง ๔ ฉบับแล้ว  ต่อจากนั้นจึงได้มีการตราพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเพื่อเลิกศาลต่างประเทศ  ทำให้มีการยุบเลิกศาลต่างประเทศไปตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม  พ.ศ. ๒๔๗๘ และในการยุบเลิกศาลต่างประเทศครั้งนี้  ทางราชการได้จัดสร้างศาลจังหวัดเชียงใหม่ขึ้นเป็นอนุสรณ์ในพื้นที่ที่เคยโรงพิธีช้างสำคัญที่ฝั่งตรงข้ามศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ (สามกษัตริย์)  เพื่อเป็นที่ทำการศาลแทนศาลต่างประเทศที่ริมน้ำปิง (ที่ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  เชิงสะพานนวรัฐฝั่งใต้)

เมื่อประเทศไทยประกาศใช้ประมวลกฎหมายทั้ง ๔ ฉบับครบแล้ว  จึงได้เปิดการเจรจากับ ๑๔ ประเทศคู่สัญญาเดิมเพื่อทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่ตัดเรื่องศาลต่างประเทศออกไป  เมื่อลงนามในสัญญาฉบับใหม่กันแล้ว  รัฐบาลจึงได้รือศาลสนามสถิตยุติธรรมเดิมออก  แล้วสร้างศาลยุติธรรมขึ้นใหม่ดังที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้  แล้วก็เลยเหมาเอาว่า ศาลที่สร้างใหม่นี้เป็นอนุสรณ์ของการได้รับเอกสารทางการศาลกลับคืนมา

ภาพล่าง  เป็นภาพศาลจังหวัดเชียงใหม่ที่เปิดใช้งานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙  อาคารนี้น่าจะเป็นสถาปัตยกรรมแบบท่านผู้นำในยุคแรกๆ





กระทู้: ศิลปะ วัฒนธรรมยุคท่านผู้นำ - จอมพลป.
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 12, 15:46
โรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพ สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๔๙๓  น่าจะเป็นสถาปัตยกรรมยุคจอมพลป. ได้เช่นกัน