เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: Wu Zetian ที่ 07 ม.ค. 16, 23:00



กระทู้: คำว่า "พระถังซัมจั๋ง" บูเช็กเทียน" ควรเขียนสะกดแบบไหนดีครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wu Zetian ที่ 07 ม.ค. 16, 23:00
ผมสงสัยว่าในกรณีที่คำจากภาษาต่างประเทศที่ต้องถอดเสียงเป็นภาษาไทย เวลานำมาเขียนเป็นสารคดี ควรจะใช้แหล่งอ้างอิงอย่างไรดีครับ ในกรณีที่คำเหล่านี้ไม่มีในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน
เช่น
1. คำว่า พระถังซัมจั๋ง ควรเขียนว่า ซัม หรือ ซำ ครับ
2. คำว่า บูเช็กเทียน ควรเขียนว่า เช็ก หรือ เช็ค ครับ
ขอบคุณครับ


กระทู้: คำว่า "พระถังซัมจั๋ง" บูเช็กเทียน" ควรเขียนสะกดแบบไหนดีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 ม.ค. 16, 08:48
ในวิกกิมีหลายชื่อมาก มีชื่อจริงและชื่อในบทประพันธ์ไซอิ๋ว
เหี้ยนจังหรือสำเนียงกลางว่า เสวียนจั้ง (จีน: 玄奘; พินอิน: Xuánzàng; ประมาณ ค.ศ. 602 – 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 664[2]) หรือที่รู้จักในนิยายไซอิ๋วว่า ถังซัมจั๋ง (จีน: 唐三藏)

ทีนี้คำว่า ซัม ในชื่อ (三)  คือ สาม

ระบบเลขสามอ่านว่า 三 san1 ซาน = 3


กระทู้: คำว่า "พระถังซัมจั๋ง" บูเช็กเทียน" ควรเขียนสะกดแบบไหนดีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ม.ค. 16, 10:23
คุณจะเขียน ซัม หรือ ซำ ก็ได้ค่ะ  เพราะการทับศัพท์ของราชบัณฑิตฯ ไม่ได้กำหนดว่า กรณีที่เสียงเดียวกันแต่สะกดคนละอย่าง ต้องเลือกแบบไหน
บูเช็กเทียน   น่าจะเป็น เช็ก   เพราะเช็ค มาจากภาษาอังกฤษว่า check


กระทู้: คำว่า "พระถังซัมจั๋ง" บูเช็กเทียน" ควรเขียนสะกดแบบไหนดีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ม.ค. 16, 10:45
เช็ค มาจากภาษาอังกฤษว่า check
ท่านรอยอินบอกว่า เช็ค มาจากภาษาอังกฤษว่า cheque หมายถึง หนังสือตราสาร ซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้สั่งจ่าย สั่งธนาคารให้ใช้เงินจํานวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งหรือให้ใช้ตามคําสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับเงิน

คำว่า check หากทับศัพท์โดยใช้ หลักเกณฑ์ของท่านรอยอิน  (http://www.royin.go.th/wp-content/uploads/2015/03/2371_6847.pdf) ก็ต้องเป็น เช็ก


กระทู้: คำว่า "พระถังซัมจั๋ง" บูเช็กเทียน" ควรเขียนสะกดแบบไหนดีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ม.ค. 16, 10:50
อันที่จริงคำว่า cheque ตามหลักเกณฑ์ของท่านรอยอินก็ต้องทับศัพท์เป็น เช็ก เช่นกัน แต่คำว่า เช็ค คงใช้มาก่อนหลักเกณฑ์นี้จะคลอด จึงคงใช้กันต่อมา ท่านรอยอินคงไม่ชอบใช้ตัวสะกดด้วย "ค" ดังนั้นคิดว่าท่านคงชอบคำว่า "บูเช็กเทียน" มากกว่า  ;D


กระทู้: คำว่า "พระถังซัมจั๋ง" บูเช็กเทียน" ควรเขียนสะกดแบบไหนดีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ม.ค. 16, 12:49
เช็ค มาจากภาษาอังกฤษว่า check
ท่านรอยอินบอกว่า เช็ค มาจากภาษาอังกฤษว่า cheque หมายถึง หนังสือตราสาร ซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้สั่งจ่าย สั่งธนาคารให้ใช้เงินจํานวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งหรือให้ใช้ตามคําสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับเงิน


ไม่ได้นึกถึง cheque  นึกถึง check ค่ะ เช่น เช็คชื่อ
ขอบคุณที่มาแก้ไขเพิ่มเติมให้


กระทู้: คำว่า "พระถังซัมจั๋ง" บูเช็กเทียน" ควรเขียนสะกดแบบไหนดีครับ
เริ่มกระทู้โดย: ธสาคร ที่ 10 ม.ค. 16, 00:06
คำที่ยังไม่บัญญัติลงพจนานุกรม  ผมจะใช้วิธีเทียบเคียงแนวทาง
บูเช็กเทียน  ควรใช้ ก.ไก่  เพราะเทียบเคียงกับคำจีนอื่นแล้ว  ล้วนใช้ ก ทั้งหมด เช่น เต็กกอ, เล็กกี, ซุนเซ็ก, อาเจ็ก
พระถังซัมจั๋ง  อันนี้2จิต2ใจครับ 
ซัมจั๋ง...ถ้าเทียบกับ หลวงจีนซันเต๋อ, ซันเหมาพเนจร, สะพานซังฮี้
ซำจั๋ง...ถ้าเทียบกับ ซำปอกง, ซำปอฮุก


กระทู้: คำว่า "พระถังซัมจั๋ง" บูเช็กเทียน" ควรเขียนสะกดแบบไหนดีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ม.ค. 16, 08:28
ซัมจั๋ง...ถ้าเทียบกับ หลวงจีนซันเต๋อ, ซันเหมาพเนจร, สะพานซังฮี้

"ซันเหมา" เขียนตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า "ซำเหมา" (三毛 - ผมสามเส้น) ไม่มี "ซัมเหมา" มาเป็นคู่แข่ง

คำว่า "ซำเหมา" พอเทียบกับ "ซำจั๋ง" (三藏 - ไตรปิฎก) ได้  ;D


กระทู้: คำว่า "พระถังซัมจั๋ง" บูเช็กเทียน" ควรเขียนสะกดแบบไหนดีครับ
เริ่มกระทู้โดย: ธสาคร ที่ 11 ม.ค. 16, 00:45
ผมเปลี่ยนใจมาเลือกข้าง ซำจั๋ง แล้วครับ
เพราะได้ เตียซำฮง กับ ติ่มซำ มาสนับสนุนอีก 2 เสียง


กระทู้: คำว่า "พระถังซัมจั๋ง" บูเช็กเทียน" ควรเขียนสะกดแบบไหนดีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ม.ค. 16, 09:36
เรื่องการใช้สระอำ หรือ อัม ความจริงก็พอมีหลักเกณฑ์อยู่ ศาสตราจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม ให้หลักเกณฑ์ไว้กว้าง ๆ แต่ไม่ครอบคลุมถึงคำที่มาจากภาษาจีน

๑.  การใช้สระ “อำ”

           ก. ในกรณีที่เป็นคำไทยแท้ ๆ เช่น กำ ขำ คำ จำ ดำ ตำ ทำ นำ ฯลฯ หรือเป็นคำเขมรที่เรานำมาใช้ในภาษาไทย ได้แก่คำว่า “อำพราง” (ปิดบังโดยลวงให้เข้าใจไปทางอื่น) “อำแดง”  (คำนำหน้าชื่อหญิงสามัญในสมัยโบราณ) “อำปลัง” (เคลือบคลุม) “อำพน” (มาก, ดาษดื่น, ล้วน, น่าดู, งาม, งามสล้าง) “อำพะนำ” (อมความไว้, นิ่งเฉย, ไม่พูด) “อำพัน” (ยางไม้ที่กลายเป็นหิน, สีเหลืองใสเป็นเงา) “อำไพ” (งาม, สว่าง, สุกใส) “อำเภอ” (เขตปกครองท้องที่ เล็กกว่าจังหวัด ใหญ่กว่าตำบล) “อำมหิต” (ดุร้าย, ร้ายกาจ, ทารุณ) “อำยวน” (ความลับ, ปิดบัง, พราง, อำพราง)

          ข. คำที่แผลงมาจาก อ ในภาษาบาลีหรือสันสกฤต เช่น
          อนรรฆ    แผลงเป็น          อำนรรฆ    (หาค่ามิได้, เกินที่จะประมาณราคาได้)
          อมฤต            “            อำมฤต      (น้ำทิพย์, เครื่องทิพย์)
          อมาตย์          “             อำมาตย์    (ข้าราชการ, ที่ปรึกษา)

          ค. เป็นคำที่แผลงจาก อ เป็น อำน เช่น
          อวย         แผลงเป็น        อำนวย
          อาจ             “             อำนาจ

๒. การใช้คำว่า  “อัม”
 
          ก. คำที่มาจากภาษาบาลีหรือสันสกฤต ที่มีพยัญชนะในวรรค ป ตามหลัง เช่น อมพาต (โรคที่ทำให้อวัยวะบางส่วนตายไป กระดิกไม่ได้) อัมพวา อัมพวัน (ป่าหรือสวนมะม่วง) อัมพร (ฟ้า, อากาศ) อัมพา (แม่, หญิงดี) อัมพิล (มีรสเปรี้ยว) อัมพุ (น้ำ) อัมพุช (เกิดในน้ำ หมายถึง ปลา) คัมภีร์ สัมมา (โดยชอบ) ฯลฯ
          ข. คำที่ถอดมาจากภาษาตระกูลยุโรป ที่ขึ้นต้นด้วย am และไม่มีสระตามหลัง เช่น Ambrose ถอดเป็น “อัมโบรส” Amfortas ถอดเป็น “อัมฟอร์ตาส” Amphibia ถอดเป็น “อัมฟิเบีย” เป็นต้น.

จาก ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. ๒๕๒๘. หน้า ๓๖๘. (http://www.thaigoodview.com/node/36128)