เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 25 มิ.ย. 08, 14:47



กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 มิ.ย. 08, 14:47
ตามบัญชาของคุณเทาชมพู
เพื่อการสนทนาขยายวงความรู้เรื่องสุนทรภู่


หนังสืออนุสรณ์ในงานฌาปนกิจ  นางจันทร์  ตาละลักษมณ์ ๒๕๓๓
อ่านด้วยความขอบพระคุณ บุตร ของ ของ นางจันทร์ ที่ได้พิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นมาด้วยเจตนาอันประเสริฐ

ขอเล่าประวัติของท่านผู้วายชนม์เพื่อกราบระลึกพระคุณที่ได้อ่านหนังสืออันมีค่าอย่างยิ่งไว้ ณ ที่นี้

ท่านสมรสกับ ร.ต.เขม  บุตรของเจ้าคุณปริยัติธรรมธาดา
ท่านเป็นหนอนหนังสือ  และได้อ่านหนังสือที่ท่านเจ้าคุณสะสมไว้หลายตู้ใหญ่  สามารถจำโคลงกลอนของสุรทรภู่ อิเหนาและหนังสืออื่นๆได้มากมาย
ตลอดระยะเวลาอันยาวนานของท่านกว่า ๙๐ ปี ได้เป็นร่มโพธิร่มไทรของครอบครัว  อบรมลูกหลานให้เป็นผู้มีความกตัญญู ประพฤติดีประพฤติชอบ




อธิบดีกรมศิลปากร นายทวีศักดิ์  เสนาณรงค์  เล่าไว้ใน คำนำว่า

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖   พระยาปริยัติธรรมธาดา  ได้รวบรวมค้นคว้า ประวัติสุนทรภู่  และบันทึกเรื่องราวจากมุขปาฐะของบุคคลที่เคยรู้จักหรือมีความรู้เกี่ยวกับสุนทรภู่  อันเป็นวิธีค้นคว้าที่ทันสมัยตรงกับหลักการการค้นคว้าวิจัย

ต้นฉบับที่เป็นลายมือ เก็บไว้ที่กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์
พิมพ์เป็นครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๙ ในงานฉลองครบรอบ ๒๐๐ ปี กวีเอกสุนทรภู่
การพิมพ์ครั้งนี้ ๒๕๓๓ เป็นครั้งที่สอง  พิมพ์ ๕๐๐ เล่ม


คุณกุลทรัพย์  เกษแม่นกิจ  ได้อธิบายไว้ในเชิงอรรถว่า
"ได้จัดพิมพ์ไปตามต้นฉบับที่พบ โดยมิไ้ด้ตัดต่อเพิ่มเติมหรือแก้ไข  นอกจากทำเชิงอรรถเพิ่มเติมในบางแห่ง
....................................
พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษณ์)เป็นผู้บุกเบิกริเริ่มศึกษาค้นคว้าประมวลความรู้เกี่ยวกับสุนทรภู่
และได้รวมรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆซึ่งเป็นการหาข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักการศึกษาค้นคว้า
และทั้งผู้อ่านจะได้ทราบหลักฐาน แนวความคิด และข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุนทรภู่ที่ผู้ค้นคว้าประมวลได้ในสมัยแรกเริ่ม
เมื่อความรู้เกี่ยวกับสุนทรภู่ยังไม่เป็นที่ทราบทั่วกัน"




กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 มิ.ย. 08, 15:14
ประวัติสุนทรภู่

หน้า ๑ 

"ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น  ฝ่ายจินตกวีมีชื่อคือหมายเอาสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเป็นประธานแล้ว 
มีท่านที่ได้รู้เรื่องราวในทางนี้กล่าวว่าพระองค์มีเอตทัคคสาวกในการสโมสรกาพย์กลอนโคลงฉัณท์อยู่ ๖ นาย  คือ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ๑
ท่านสุนทรภู่ ๑
นายทรงใจภักดิ์ ๑
พระยาพจนาพิมล(วันรัตทองอยู่) ๑
กรมขุนศรีสุนทร ๑
พระนายไวย ๑  ภายหลังเป็นพระยากรุง(ชื่อเผือก) ๑
ในหกท่านนี้แล  ได้รับต้นประชันแข่งขันกันอยู่เสมอ"


เรียนคุณเทาชมพู
ขออนุญาตใส่เลขที่หน้า  เพราะจะได้รวมความที่เป็นเรื่องเดียวกันไว้ด้วยกัน
ต้นฉบับเป็นหน้าสั้นๆ  ยังมิได้เรียบเรียง
จะคัดลอกมาแต่เรื่องแปลกๆที่ไม่เป็นที่ทราบโดยทั่วไป
แต่จะเอ่ยนามผู้ที่ท่านเจ้าคุณได้ไปสัมภาษณ์ไว้ืุทุกรายและย่อความ



กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 มิ.ย. 08, 15:41
สุนทรภู่ จาก  นายแก้วภักดี  หน้า ๕ - ๖


"ท่านสุนทรภู่นี้มีเรื่องราวเป็นอันมาก  แต่คนนั้นได้ไว้บ้าง  คนนี้ได้ไว้บ้าง  สืบสวนยังไม่ทั่วถึง 
แลท่านผู้จำเรื่องราวได้ก็ออกตัวว่าเป็นแต่เขาว่า ท่านหารับว่าจริงหรือปฏิเสธไม่
แต่ข้าพเจ้ามีความเห็นชัดว่าเป็นธรรมดากิตติของผู้โด่งดัง  ก็ย่อมมีผู้นิยมจำกันมา
ถ้าไม่เป็นกิตติของท่านผู้นั้นแล้ว  เหตุไฉนจึงโด่งดังเป็นข่าวให้จำเล่าสืบกันมาได้เล่า



ธรรมดาคนที่กล่าวสุนทร กล่าวสุภาษิตนี้  ย่อมมีผู้นิยมจำกันอยู่เอง  เช่นกล่าวว่า

     เขากินหมูหนูพัดสู้กัดเกลือ          ไม่ง้อเรือแหหาปลาจำแบ

เท่านี้ก็ยังอุตส่าห์จำกันมา      ความจะกล่าวปรารภเรื่องอะไร  ครั้งไร  ในหนังสือไร  ผู้จำก็บอกไม่ได้
อันหนูพัดนั้นก็ย่อมรู้กันว่า เป็นลูกรักซึ่งจะไปไหนจะห่างร้างไม่ได้เลย



ฝีปากของท่านสุนทรภู่นี้มีผู้ชอบจำกันเป็นกบ่อนกแบ่น       คือชมว่าท่านจะเอ่ยอะไรขึ้นแล้วกินความทุกอย่าง
ชั้นบทกลอนก็ไม่ขัดเขินเลย  อย่างชมกรุงศรีอยุธยาบทหนึ่งว่า

     กรุงศรีอยุธยาเจ้าข้าเอ๋ย             รักจะเชยก็ได้ชมสมประสงค์

แล้วจะมีต่อไปมากมายอยู่  แต่ผู้จำยกมาชมได้เท่านี้  ว่าเป็นความทรงจำไม่รู้ที่มา




ยังอีกข้อหนึ่ง
     ถึงจะมีวิมานสถานทิพย์               ลอยละลิบเลิศมนุษย์สุดประถม
     แม้นไม่มีคู่เคียงเรียงภิรมย์            ก็เกรียมกรมกรอมใจไม่สบาย

ในเรื่องนี้ผู้ชม กล่าวว่า  พูดถูกใจดำมนุษย์  ถูกธรรมดาความจริงของชายหนุ่มหญิงสาวทั้งหลาย"



กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 มิ.ย. 08, 15:51
"เรื่องนี้ นายแก้วภักดี  เป็นข้ารา่ชการในกรมมหาดเล็ก  ซึ่งเวลานี้( พ.ศ. ๒๔๕๖ เมื่อแต่งเรื่องนี้)มีอายุ
แลตั้งเคหสถานขายหนังสืออยู่ในตรอกหลังตึกถนนบำรุงเมือง เป็นผู้เล่าให้ฟัง     

แต่เจ้าของไม่รับว่า
เป็นเรื่องที่แน่นอนว่า เป็นของสุนทรภู่  เพราะเป็นเรื่องจดจำ



เมื่อได้ความแค่นี้   ข้าพเจ้าจึงถามถึงกำเนิดชาติภูมิ   ท่านผู้นี้ก็บอกว่า

เป็นคนชาวเมืองแกลง
ตำบลบ้านอยู่ที่เนินค้อ  เรียกว่าบ้านเนินค้อ

แลจะได้เข้ากรุงมาเมื่อไรไม่ได้ความ"   


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 มิ.ย. 08, 17:18
สาธุ........
ขอบคุณขนาด


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 มิ.ย. 08, 18:13
เคหสถานของสุนทรภู่


หน้า ๑๒
"ท่านอาจารย์สุนทรภู่มีผู้รู้จักโดยมากว่า  ได้เคยมีเคหสถานอยู่ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแถบวัดมหาธาตุนี้เอง



หน้า ๑๖
สุนทรภู่นี้  มีกล่าวกันอีกว่า  เมื่อเวลารับราชการอยู่นั้น  บ้า่นช่องไม่มี  อยู่เรือประทุน
มีผู้เห็นโดยมากว่า  จอดอยู่ท่าช้างวังหลวงเสมอ ๆ
เพราะจำได้แม่นยำ  คือแลเห็นสำรับคู่หนึ่งปิดฝาชีแดงตั้งอยู่หน้าเรือเสมอ



นัยว่าการที่ต้องจอดเรืออยู่ท่าช้างวังหลวงนี้  มีเกี่ยวราชการที่รับสั่งให้หาเนืองๆ
ต่างว่าทรงพระราชนิพนธ์เรื่องใดขึ้น  ก็เป็นต้องตามหาตัวมา  ให้เป็นคนฟังคอยทักท้วงในบางแห่งเสมอ ๆ
เพราะฉะนั้นจึงต้องจอดอยู่ที่นั่นเป็นกิจกว่าที่อื่น



หน้า ๕๔
ตำแหน่งบ้านเรือนที่อยู่ของท่านสุนทร(ภู่) ที่เข้าใจแน่นั้น  คืออยู่ที่วังหลังแห่ง ๑   ที่ท่าช้าง(วังหลวง)แห่ง ๑



หน้า ๕๕
ที่บ้านที่วังหลังนั้น  ตามที่หม่อมราชวงศ์หญิงเล่าว่า 
เรือนของท่านสุนทร(ภู่)  ได้ตั้งอยู่ที่ริมกำแพงวังหลัง 
เพราะฉะนั้น  เข้าใจว่าบ้านที่วังหลังนั้นคงจะเป็นที่เดิมอยู่ในที่นั้นมาก่อน
มีในนิราศสุพรรณเป็นโคลงว่า
               วังหลังครั้งหนุ่มเหน้า               น้องเอย
         เคยอยู่คู่ชื่นเชย                          ค่ำเช้า
         ยามนี้ที่เคยเลย                          ลืมพัก

ก็ที่ที่ท่าช้างนั้นว่า เป็นที่พระราชทาน(เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ ทรงพระราชทาน) มีในนิราศสุพรรณ เป็นโคลงว่า

                ท่าช้างหว่างค่ายล้อม              แหล่งสถาน
         ครั้งพระโกษโปรดประทาน               ที่ให้
         เคยอยู่คู่สำราญ                          ร่วมเย่า  เจ้าเอย
         เห็นแต่ที่มิได้                             พบน้องครองสงวน

ที่ว่าท่าช้างนั้น  เห็นจะเป็นที่ ท่าช้างวังหลวง
หว่างค่าย นั้น  เห็นจะเป็นที่หว่างป้อม  เพราะคนชั้นเก่ามักจะเรียกรวมคำว่า  ค่ายป้อม
(เข้าใจว่าที่ข้างป้อมท่าช้างวังหลวง)"



กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 มิ.ย. 08, 18:30
ขอบคุณคุณพิพัฒน์ค่ะที่แวะมาอ่าน

จำเดิมได้เก็บวลีหรูหราแปลเองยังไม่ค่อยเข้าใจจากที่ท่านเจ้าคุณทิ้งไว้  ตั้งใจจะนำมาตั้งชื่อกระทู้
ประมาณว่า  ฯสุนทราอาคเตเมปุจฉา  หรือ   สังสาสุภสารสะท้านดิน
มีผู้เล่าถึงวลีนี้ถึงสามท่าน

ความเป็นนักอ่านก็กลับคืนมาทัน  ว่ามีบุญแค่ไหนที่ได้พบ ได้อ่าน  นำมาเล่าต่อได้ เพื่อจะฟังความคิดอ่านของทุกท่านในเรือนไทย

มีเรื่องสนุก ๆ อีกมากค่ะ

จะพิมพ์มาอีกเรื่อย ๆ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มิ.ย. 08, 18:51
เข้ามาขอบคุณคุณ Wandee ค่ะ  ที่มาสนองตามที่ร้องขอไป 

อ้างถึง
ฝีปากของท่านสุนทรภู่นี้มีผู้ชอบจำกันเป็นกบ่อนกแบ่น       คือชมว่าท่านจะเอ่ยอะไรขึ้นแล้วกินความทุกอย่าง
ชั้นบทกลอนก็ไม่ขัดเขินเลย  อย่างชมกรุงศรีอยุธยาบทหนึ่งว่า

     กรุงศรีอยุธยาเจ้าข้าเอ๋ย             รักจะเชยก็ได้ชมสมประสงค์

แล้วจะมีต่อไปมากมายอยู่  แต่ผู้จำยกมาชมได้เท่านี้  ว่าเป็นความทรงจำไม่รู้ที่มา

ยังอีกข้อหนึ่ง
     ถึงจะมีวิมานสถานทิพย์               ลอยละลิบเลิศมนุษย์สุดประถม
     แม้นไม่มีคู่เคียงเรียงภิรมย์            ก็เกรียมกรมกรอมใจไม่สบาย

กลอนบาทข้างบน ไม่อยู่ในนิราศเรื่องไหนทั้งสิ้น  ถ้ามีจริงก็คงเป็นผลงานที่เราไม่รู้จักกัน   เข้าใจว่ามีหลายเรื่องที่สูญหายไป

ส่วนกลอนบาทล่าง  ข้อความ ๓ วรรคแรก อยู่ในนิราศพระแท่นดงรัง ของนายมี    มีแต่วรรคสุดท้ายเท่านั้นลงไม่เหมือนกัน
ความเต็มๆในนิราศพระแท่นดงรัง ว่าอย่างนี้ค่ะ

ถึงมีเพื่อนก็เหมือนพี่ไม่มีเพื่อน                     เพราะไม่เหมือนนุชนาฏที่มาดหมาย
มีเพื่อนเล่นก็ไม่เหมือนกับเพื่อนตาย              มีเพื่อนชายก็ไม่เหมือนกับเพื่อนชม
ถึงจะมีวิมานสถานทิพย์                              อันลอยลิบเลิศมนุษย์สุดประถม
แต่ไม่มีคู่เคียงเรียงภิรมย์                            จะเกรียมตรมตรึกหาเป็นอาจิณ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 มิ.ย. 08, 20:56
เจ้าคุณท่านเก็บความ จากความทรงจำของบุคคลต่างๆ ไว้มากมาย
ที่น่าสนใจมีอยู่สองสามท่าน เหตุที่สนใจก็เพราะเป็นผู้เคยเจอะเจอตัวจริงของท่านสุนทร
ปีรวบรวม คือ 2456 ตามตำราเก่า ก็ถือว่าห่างจากปีตายของท่านสุนทรถึง 58 ปี
จะว่ามาก ก็นับว่ามากโขอยู่
เทียบปัจจุบัน ก็เหมือนเก็บข้อมูลทหารไทยในสงครามเกาหลี
แต่ก็ยังไม่เห็นความยากลำบากนัก เพราะสงครามเกาหลี มีเอกสารมาก อยู่ในยุคที่หนังสือพิมพ์หาง่ายแล้ว

เราจะเห็นจากความสับสนที่ท่านบันทึกความทรงจำของหลายท่าน ที่เอากลอนคนอื่นมาปนเป็นของท่านกวีเอก
อย่างนิราศพระแท่นดงรัง ถ้าคุณธนิต ไม่ฟันธงเมื่อหลายสิบปีก่อน ทุกวันนี้ก็คงยังถือว่าเป็นของท่าน
ในวันนั้น ท่านเจ้าคุณได้เจอบุคคลหนึ่ง ซึ่งบอกว่าได้ไปขมาศพท่านสุนทร
ตรงนี้น่าสนใจ

การที่ต้องขมาศพนั้น บ่งบอกว่า เคยมีความสัมพันธ์กัน และอายุไม่น่าจะห่างกันนักหนา
เพราะถ้าห่างกันมาก ต้องใช้ว่าเคารพศพ ไม่ใช่ขมาศพ
ตำราบอกว่าสุนทรภู่ตายอายุ 69 (2329-2398)
คนที่จะไปขมาศพ จะอ่อนกว่าสักเท่าไรเชียว ถ้าวันนั้นอายุ 20 มาเจอเจ้าคุณก็ต้อง 78
ถ้าวันนั้น 30 เจอเจ้าคุณก็ปาเข้าไป 88 แล้วถ้าอายุ 40 มิปาเข้าไปร่วมร้อยหรือ

ผมไม่พบว่าเจ้าคุณท่าน จะบอกเกี่ยวกับบุคคลผู้นี้ทำนองว่าอายุมาก หรือแก่เฒ่าอะไรเป็นพิเศษ
แปลว่าเมื่อท่านพบ"เพื่อนร่วมรุ่น" ของสุนทรภู่ ท่านผู้นั้น คงแก่ตามปกติ อาจจะอายุ 60-70
แปลต่ออีกว่า ท่านผู้นั้น อายุต้องไม่ห่างท่านสุนทรภู่ขนาดเป็นปู่กับหลาน น่าจะแค่พี่ใหญ่และน้องเล็ก

คิดกลับไปกลับมาหลายตลบ สรุปได้ว่า ปีตายท่านสุนทร เห็นจะไม่ห่างปีที่ท่านเจ้าคุณทำวิจัยสักเท่าไรนัก
แปลว่าท่านสุนทรอาจจะตายหลัง 2398 มาอีกหลายปีดีดัก

คนต่อไปคือท่านฑัต พระยาสโมสรสรรพการ
จะขอให้เล่าถึงข้อมูลจากท่านผู้นี้ก่อน จะได้ใหมครับ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 25 มิ.ย. 08, 21:08
ลงชื่ออ่านครับ
เจ้าของกระทู้จะได้มีแรงมาแปะต่อ
ขอบคุณครับ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 มิ.ย. 08, 21:16
ขอบคุณค่ะ คุณเทาชมพู
ยังมีเรื่องที่ต้องขอคำอธิบายอีกหลายเรื่อง


เคหสถาน
หน้า ๑๓
ในที่นี้สืบได้แต่เจ้าคุณธรรมถาวร วัดระฆัง

ทราบอยู่แต่ตอนภายหลังว่า  เมื่อท่านสุนทรภู่ชราลงแล้ว  กราบถวายบังคมลาออกนอกราชการ
รวบรวมทุนทรัพย์ได้พอสมควร   แล้วไปซื้อสวนอยู่ที่ตำบลบางระมาดติดกับสวนที่บ้านของเจ้าคุณ

สวนนั้นก็ไม่ได้ทำประโยชน์อันใด  ให้ไอ้โข่บ่าวอยู่รักษา   ท่านสุนทรก็อยู่ที่สวนนั้น
หากินทางแต่งหนังสือบทกลอนเพลงยาวไปตามเพลง

มีกล่าวว่าไอ้โข่เป็นคนเกกมะเหรกมาก  ว่ายากเย็นเต็มที  มีความมาถึงท่านอาจารย์ไม่ค่อยว่างเลย
ท่านอาจารย์ก็เก่งในการปราบ   เขาว่าเฆี่ยนแต่ละครั้งไม่ปรา่นี   มันก็ดื้อขืนเกเรให้เิกิดความอยู่เสมอ ๆ มา

นัยกล่าวว่า  ท่านชราหนักลงก็ได้ถึงแก่กรรมที่บ้านสวนนั้นเอง


หลวงพรหมา(จัน)ยืนยันว่าได้เป็นผู้คุ้นเคยกับท่านสุนทรภู่มาก
เวลาทำศพที่วัดใหม่ชิโนรสนี้เอง   ท่านยังได้ไปขมาศพในการฌาปนกิจด้วย



หน้า ๖๐

ภายหลังต่อมาในรัชกาลที่ ๔   ท่านสุนทร(ภู่่่่)  ได้กลับเข้ารับราชการอีกตามเดิม 
ได้รับตำแหน่งยศบันดาศักดิ์ เป็นพระสุนทรโวหาร จางวางกรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายกรมพระราชวังบวร

ในที่สุดไปซื้อที่สวน หรือที่บ้าน(ของนายจุ้ย ปู่ของนายกลั่น) อยู่ที่ตำบลบางละมาด  ริมวัดเรไร  ใกล้เคยงกับโยมของพระธรรมถาวร (วัดระฆััง) เยื้องกันกับวัดเชิงเลน  แล้วก็อยู่ในที่(บางละมาด) นั้นจนตลอดชีวิต  เมื่อถึงแก่กรรมอายุได้ ๘๐ ปีเศษ




กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 มิ.ย. 08, 21:37
ขอบคุณค่ะคุณ Oam

เรื่องนี้พยายามเรียงข้อมูลเรื่องเดียวกันไว้ใกล้ ๆกันก่อนค่ะ



รับทราบค่ะคุณพิพัฒน์  เรื่องศพ หรือ อัฐิที่บรรจุก็ แปลกออกไปค่ะ




หน้า ๕๓  พระสุนทรโวหาร(ภู่)เป็นจินตกวีอย่างวิเศษคนหนึ่งในชั้นรัตนโกสินทร์   ตัวท่านเองก็ล่วงลับดับสูญไปหลายสิบปีมาแล้ว
แต่ยังมาได้เค้าเงื่อนซึ่งควรจะเป็นประวัติไว้นั้นมีอยู่

โดยทางสันนิษฐานตามที่ควรจะนำมาเป็นสิ่งสำคัญได้   คือหนังสือเรื่องนิราศต่างๆซึ่งเป็นถ้อยคำสำนวนของท่านสุนทร(ภู่)แต่งไว้เองบ้าง
กับอาศัยการสืบถามได้ความจากผู้อื่น  ที่เคยได้ยินได้ฟังมาจากผู้ที่เป็นคนคุ้นเคยในรุ่นเดียวกัน  หรือมีอายุทันกัน(กับท่านสุนทรภู่นั้นบ้าง) 
และจำเอาเรื่องราวของท่านสุนทรภู่(เกือบจะเป็นนิยายอันหนึ่ง)เล่าต่อ ๆ กันมา

เมื่อถึงที่สุดแห่งชีวิตแล้ว  เข้าใจว่าศพหรืออัฐิคงจะเอามาบรรจุไว้ในกุฏิวัดสระเกศ























กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 มิ.ย. 08, 22:14
ตามที่คุณพิพัฒน์อยากอ่านค่ะ

สุนทรภู่  จาก  พระยาสโมสรสรรพากร(ทัด)

หน้า ๗ - ๑๒

(ขออนุญาตตัดตอนที่เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วออกไปบ้าง  แต่ถ้ามีอะไรที่แปลกจะคัดมาทันทีค่ะ)



"ตามที่ได้ความจากพระยาสโมสรสรรพากร(ทัด)  มีว่าดังนี้

นายพัดบุตรเมื่ออายุได้ ๔๐ ปี  และเจ้าคุณสโมสร  อายุก็ราว ๒๕  ซึ่งในเวลานี้ก็ ๗๐แล้ว  (๒๔๕๖)
ได้มาสามิภักดิ์รับใช้การอยู่ในเจ้าคุณ  จึงได้คุ้นเคยเรื่องราวสุนทรภู่แต่นั้นมา

บรรยายความว่าการที่ท่านสุนทรภู่ต้องโทษบ่อย ๆนั้น  โดยพระราชโองการให้ไปจำไว้  ในเหตุที่มารดากล่าวหาอยู่เนือง ๆ ว่าเป็นคนขัดโอวาท  หรือใช้คำทุภาษิตต่อมารดาอย่างแรง




หน้า ๗ ๘ และ หน้า ๙  พูดถึง  น้ำใสไหลเย็น    กลาดเกลื่อนจตุรงค์ตรงมา  ที่เป็นกลอนทอด  คือทอดไม่เหมาะความ
ที่แก้ตอนสีดาผูกคอตายนั้น เป็น  วายุบุตรแก้ได้ดังใจหมาย    เขาว่า โปรดมาก ถึงกับได้รับพระราชทานรางวัล



เจ้าคุณสโมสร ฯ เล่าต่ออีก เมือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ทรงพระราชนิพนธ์สังข์ทองตอนเขยทั้ง ๖ หาปลา
พระราชนิพนธ์ว่าดังนี้

             สงสารแต่เงาะป่าประดาเสีย        จะพาเมียสุ่มช้อนจนอ่อนหิว

ในตอนนี้กล่าวว่าทรงมาพักอยู่ตรงนี้นานอยู่   จึงโปรดให้ท่านสุนทรภุ่ต่อ  ก็หายใจถวายว่า

             เห็นเต็มนักก็จะได้แต่ปลาซิว       พระจะกริ้วโกรธาด่าตี

พระราชนิพนธ์เมื่อทรงติดขัดแล้ว  ทรงยอมให้นักปราชญ์แก้   แต่ที่แก้ถวายนั้นหาจำเป็นที่จะทรงแทรกทรงต่อทั้งดุ้นไม่  แล้วแต่พระราชวิจารณ์ 
เพราะฉะนั้นตกอยู่ในเรื่องทรงแปลงแก้ไขใหม่อีกครั้งหนึ่งเสมอทุกคราว  ขอให้เทียบดู

คำเดิมว่า  พระจะกริ้วโกรธาด่าตี   เมื่อทรงชำระว่า  พระจะกริ้วโกรธาให้ฆ่าฟัน


แต่ในบทที่ว่า  จะพาเมียซุ่มซ่อนจนอ่อนหิว  ในฉบับพิมพ์ ๑๒๕(พ.ศ. ๒๔๔๙)เห็นจะพลาดเมื่อเวลาลงพิมพ์
ผู้ตรวจไม่เข้าใจคำว่า  สุ่มปลา ช้อนปลา   เคยชำนาญแต่การซุ่มการซ่อน  เห็นว่าเงาะจะพาหญิงไปซุ่มไว้ในป่า  จึงได้แก้คำ สุ่ม เป็น ซุ่ม  คำ ช้อน เป็น ซ่อน  ไถลไป"













กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 มิ.ย. 08, 23:21
ขอบคุณอีกครั้งครับ คอขวดที่ตีบตันในการศึกษาของผม ค่อยกว้าง คิดคล่องขึ้นหน่อย
---------------------------
มีหมุดเวลาอยู่ในข้อความนี้ ที่บอกว่าเจ้าคุณอายุ 70 เมื่อปี 2456 แปลว่าท่านเกิด ราว 2388
นายพัดบุตรสุนทรภู่ แก่กว่า 15 ปี นายพัดจึงเกิดเมื่อ 2371
คือเกิดในปีที่ 4 ของรัชกาลที่ 3 พูดง่ายๆ ก็คือเกิดปีที่เจ้าอนุตายนั่นแหละครับ

ถ้าเป็นไปตามนี้ สิ่งที่ผมเพ้อเจ้อมาแต่นานนม ก็สมคเน.....5555555
คือปี 2370 ท่านภู่ยังสามารถมีการเจริญพันธุ์กับภริยาได้ แปลว่ามิได้บวช.....

แต่ ช้าก่อน
แล้วใครล่ะที่เป็นพระ ที่สอนหนังสือเจ้าฟ้าทั้งสอง และแต่งเพลงยาวถวายโอวาทในปี 2373
นี่ละครับ กลอันยอกย้อนของหลักฐาน
ถ้าเราเชื่อเจ้าคุณปริยัติ สมเด็จก็ผิด
แต่ถ้าเราเชื่อเจ้าคุณขึ้นมาจริงๆ เราอาจจะมีสุนทรภู่หลายคนเอาน่ะซี

เจ้าคุณสโมสรนั้น เป็นศิษย์ของนายเศวตศิลา อาละบาสเตอร์
เป็นกุเรเตอร์ไทยคนแรก เมื่อท่านรับงานนั้นเป็นต้นรัชกาลที่ 5 2517 ถ้าจำไม่ผิด ยังเป็นหนุ่ม
(ถ้าคุณ wandee มีหนังสือ 100 ปีพิพิธภัณฑ์ จะมีบทความของอาจารย์ชิน อยู่ดี
กล่าวถึงข้าราชการรุ่นแรกของมิวเซียมคองคอเดีย มีกล่าวถึงหนุ่มฑัต และระบุอายุไว้
ผมอ่านมานานเกินไป จำสาระมิได้)

จับหลักว่า ท่านคงเกิดปี 2390 กว่าๆ เป็นอย่างเร็ว หรือสัก 2400 เป็นอย่างช้า
ตรงนี้ คือข้อกังขาของผม เพราะมาถึง 2356 ก็จะอายุเพียง 60 กลางๆ ห่างจาก 70 อยู่ไม่น้อย
เสียดายที่หาปีเกิดของท่านไม่ได้

ปริศนานี้ จึงค้างอยู่

ถ้าท่านสุนทรตาย 2398 ปีนั้น ท่านฑัตก็ยังเพิ่งหัดเดิน หัดพูด หรือหัดอ่านกอ ข้อ กอ กา
สรุปความว่ายังจำความไม่ได้




กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 25 มิ.ย. 08, 23:53
ขอบคุณครับ

สนใจข้อมูลจากผู้ที่เคยเจอตัวสุนทรภู่เป็นพิเศษเหมือนกันครับ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 มิ.ย. 08, 07:10
สมใจนึกแล้วค่า   รับฟังความคิดของคุณพิพัฒน์
อ่านของคุณชิน อยู่ดีน้อยมากค่ะ
ตามอ่านว่าสุดท้ายครูสมิทได้แจกเงินนายพัดนายตาบหรือไม่ สงสัยมานาน  ยังไม่ชัดค่ะ
วันหน้าจะคุยกันเรื่อง อาลาบาสเตอร์ ไหมคะ  พอมีเอกสารกระจัดกระจายอยู่บ้าง
ตอนคุณหญิงแหม่มกลับบ้าน ท่านเลหลังแม้กระทั่งกระป๋องสังกะสีในสวน

สวัสดีค่ะคุณ Crazy HOrse




กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 มิ.ย. 08, 07:35
หน้า ๑๐     เจ้าคุณสโมสรฯ


"ยังมีความอัศจรรย์ของท่านสุนทรภู่อีกประการหนึ่ง  ซึ่งเห็นจะน้อยคนที่ได้รู้เรื่อง
คือ   ใครไม่เคยเห็นจะเพิ่งเคยเห็นว่า  ท่านสุนทรภู่แต่งโคลงเป็นหรือไม่   เพราะว่าเรื่องที่ปรากฏแพร่หลายท่านสุนทรภู่เคยแต่งแต่กลอน
 คือกลอนสวด กลอนแปด  กลอนนิราศ  กลอนเสภา  กลอนเพลงยาว

แต่เจ้าคุณสโมสรฯ ได้หลักฐานมาจากนายพัดบุตรของท่านอาจารย์นั้น
แสดงว่าท่านสุนทรภู่แต่งโคลงฝีปากและโวหารพริ้งเพราะพอใช้
ควรฟังควรจำอยู่

นายพัดผู้จำได้เคยว่าให้เจ้าคุณฟังดังนี้

              แจ้วแจ้วจักจั่นจ้า                       จับใจ
              หริ่งหริ่งเสียงเรไร                       ร่ำร้อง
              แซงแซวส่งเสียงใส                     ทราบโสต

ได้สามบาทแค่นี้    จะเป็นเจ้าคุณจำได้ไว้แต่สามบาท  หรือจะเป็นนายพัดจำได้แต่สามบาท  ข้อนี้หาได้สืบสวนไม่
ในทำนองเป็นทีเล่นโคลงอักษรล้วน  เป็นลักษณะโคลงกลบท
จะว่าเวลาใดเป็นใครเปล่งอุทานในเรื่องใดก็ไม่แจ้ง
.......................................
เชิงอรรถ แจ้งว่า   โคลงนิราศสุพรรณ
.......................................

จะเรียกว่าชมนกชมไม้ก็เข้าเชิงอยู่    ทำนองก็จะเป็นแรมไพรลักษณะนิราศนั้นเอง
แต่งลักษณะโคลงชนิดนี้ย่อมจะเป็นโคลงประกวดประขันกัน"



กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 มิ.ย. 08, 07:45
หน้า ๑๐

"เรื่องของท่านสุนทรภู่นี้  ตามที่ข้าพเจ้าเคยกล่าวแล้วโดยมากว่า  เป็นกิตติศัพท์
เพราะว่าต่างคนต่างได้ฟังเล่า     ต่างคนต่างได้จดจำมาตามที่พอใจหรือไม่พอใจแต่ติดหูมาเองก็มี
เพราะฉะนั้นครั้นสอบสวน  ขอคัดความจดจำของท่านเหล่านั้นมา 
วัตถุ  ประเทศ  กาล  ก็คลาดกันไป
แต่จำเป็นต้องเขียนตามที่ท่านเล่าให้ฟัง  ถึง วัตถุ  กาล  ประเทศ จะคลาดกันไปก็ดี

ข้อนั้นเมื่อรู้ได้แล้ว  ผู้อ่านทั้งหลาย   ควรจะยกเว้นความเข้าใจตามออกไว้
คงถือเอาแต่เนื้อเรื่องว่า   ถึงแม้จะมีผู้กล่าวต่าง ๆ  โดย กาล  วัตถุ  ประเทศ ก็ดี
เนื้อเรื่องนั้นเป็นพยานกันเอง
ให้เห็นว่าคำนั้นเป็นของท่านสุนทรภู่จริง"


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 มิ.ย. 08, 08:11
สุนทรภู่  จาก  พระอมรสินธพ(นก)

หน้า ๑๔


"พระอมรสินธพ  อายุ ๗๗ เวลานี้(๒๔๕๖)   ว่า

เมื่อท่านอายุได้ ๑๖ ปี  เข้าทำการอยู่ในห้องอาลักษณ์วังหน้า   เวลานั้นได้เห็นท่านสุนทรภู่เข้ารับราชการอยู่แล้ว

เวลาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้อุปราชาภิเษกแล้ว  ราวสัก ๗ ปี
รู้สึกว่าท่านสุนทรภู่ท่านมีอายุ ๑๘  ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก  ได้รับราชการอยู่อายุก็จวนจะหง่อม ๆ  ราว ๗๐ เศษ
เพราะว่าเวลาเดิน มีหลานชายคอยประคองปีกในที่บางแห่งอยู่เสมอ


ได้เห็นบาญชีเบี้ยหวัดจางวางพระอาลักษณ์วังหน้า ๒ ชั่ง


เวลานั้น  ใบฎีกามี  ของสมเด็จพระปรมา(เชิงอรรถว่า  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)  ได้เป็นหลวงลิขิตปรีชา เจ้ากรมพระอาลักษณ์
ท่านผู้นี้เจ้ายศเจ้าศักดิ์    ถือความมั่งมีภาคภูมิเต็มที่อย่างขุนนางโบราณ
คือ บ่าวไพร่นุ่งห่มร่มค้างคาว  กล้องยาแดงกาน้ำเป็นต้น

สุนทรภู่ถึงเป็นจางวางก็จริง   แค่ลดความมั่งมีให้ท่านเจ้ากรม

เวลาจะนั่งจะเดินอยู่ในกิริยาเป็นผู้ถ่อมตน  ยอมเป็นผู้ที่ ๒
ไม่ตีตนเสมอเลย"



กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 มิ.ย. 08, 08:28
หน้า ๑๔

พระอมรสินธพ(นก)



"ในดวงที่พระอมรสินธพได้เห็นนั้น    ในปูมเป็นสมุดข่อยขนาดใหญ่   สั้นกว่าสมุดมาลัย
เป็นสมุดหลวงของกรมอาลักษณ์วังหน้า
มีดวงชะตาเจ้านายและข้าราชการสำคัญ ๆ อยู่ในนั้นมากมายนัก

จำได้ว่า  วัน ๒  ปีมะเมีย


ได้รู้สึกชัดว่า  แก่กว่าเจ้าพระยาบดินทร์เดชา ๑ ปี

นัยหนึ่ง เจ้าพระยาบดินทร์เดชาแก่กว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว    ในพระดำรัส เรียก  พี่บดินทร์  ฉันใด
สุนทรก็แก่กว่าเจ้าพระยาบดินทร์ฉันนั้น"





กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 26 มิ.ย. 08, 09:01
บางทีผมอาจจะพลาดเรื่องปีที่ท่านฑัตกุเรเตอร์รับหน้าที่ คือกรมศิลปากร ถือว่าปี 2417 เป็นกำเนิดกิจการพิพิธภัณฑสถาน
แต่อาจารย์ชินท่านเขียนถึงพนักงานรุ่นแรก ซึ่งน่าจะกินเวลามาถึงปีที่โปรดให้เปิดหอคองคอเดีย
ขอสงวนความเห็นที่เด็ดขาดไว้ก่อนนะครับ

ยังพบว่าท่านฑัต เสียชีวิตเมื่อก่อน 2472 เพราะหนังสืองานศพของท่าน พิมพ์ปีนั้น
"นิบาตชาดก เล่ม 10 นวกนิบาต และ ทสกนิบาต. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2472
พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพลโทพระยาสโมสรสรรพการ (ทัด ศิริสัมพันธ์)"
ผมมีนิบาตชาดกอยู่บ้าง แต่ยากที่จะค้นเจอ
คงต้องขอแรงคุณน้องติบอ ถ้าแวะผ่านมา ช่วยสอบห้องสมุดให้ด้วย

การที่ท่านตาย 2472(?) แปลว่าอยู่ต่อมาจากสมัยพระยาปริยัติฯสัมภาษณ์อีก 16 ปี คือตายตอน 86 นับว่าอายุยืนมากจริงๆ

ข้อมูลอีกทางหนึ่ง อาจจะทำให้คุณ wandee และนักเลงหนังสือตื่นเต้น
คือท่านเจ้าคุณเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของ เป โมรา ปฏิภาณกวีแห่งสยามยุคใหม่
เปโมรานั้น เป็นมหาดเล็กรุ่นแรกของพระพุทธเจ้าหลวง แปลว่าเพิ่งแตกเนื้อหนุ่มเอาตอนต้นรัชกาลนั่นเอง
แสดงว่า ยอดกวีจะต้องมาจากสาแหรกตระกูลชั้นสูง เหมือนท่านฑัต ซึ่งนับญาติได้ทางพระเทพศิรินทร์
อันเป็นที่มาของนามสกุลพระราชทาน ศิริสัมพันธ์

ชนชั้นผู้ดีนั้น ไม่รับราชการกันตอนแก่ ต้องถวายตัวตั้งแต่เริ่มใช้งานได้ สัก 15 ปี เป็นต้นไป
ผมจึงยังรักจะเชื่อว่า ท่านฑัต เมื่อเป็นสิบตรีกุเรเตอร์แห่งหอคองคอเดียนั้น น่าจะเป็นหนุ่มน้อยไม่ใช่หนุ่มใหญ่ (ที่เกิดปี 2388)
และถ้าท่านเกิดปีนั้น จะทำให้ท่านได้เป็นพันเอกเจ้ากรมยุทธโยธาคนแรกในวัย 59 (เมื่อปี 2447) อายุมากเกินจะไต่เต้าเป็นพลโทซึ่งเป็นยศสุดท้าย
คิดดูเถิดว่า ท่านอวบ เปาโรหิตย์ ได้เป็นเจ้าพระยามุขมนตรี ตั้งแต่อายุ 48 แม้ว่าจะเร็วผิดปกติไปบ้าง
แต่ท่านฑัต เป็นราชีนีกูล ผ่านงานสำคัญมากมาย อายุ 59 ไกล้เกษียณแล้วเพิ่งเป็นพันเอก

เห็นจะผิดปกติกว่า

ข้อมูลนี้ ทำให้ต้องชั่งน้ำหนักบันทึกของเจ้าคุณปริยัติให้ละเอียด
แต่ถือว่าเป็นการชั่ง หรือจำแนกที่คุ้ม เพราะท่านบอกที่มาของข้อมูลไว้ละเอียด
ต่างจากสมเด็จฯ ดำรง ที่ทรงปรุงข้อความจนกลมกล่อม รับประทานคล่อง
แยกธาตุมิได้

ขอจบความเห็นเกี่ยวกับท่านฑัต เพื่อมิให้แทรกการนำเสนอของคุณ wandee
ส่วนเรื่องอาละบาสเตอร์ ถ้ามีรัตนโกษ เห็นจะเขียนได้สนุก
รอรับฟังล่วงหน้าครับ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 มิ.ย. 08, 09:37
เพลงยาว
หน้า ๑๘


"ท่านสุนทรภู่เป็นนักเลงเก่งในเรื่องฝีปากสังวาสและกลอนสังวาสไม่มีตัวสู้
พวกหนุ่มจะไปรักหญิงที่ไหนก็มาหาท่านสุนทรภู่ให้แต่งเพลงยาวไปให้หญิง
ฝ่ายหญิงจะรักผู้ชายคนใดก็มาหาสุนทรภู่  หรือได้รับเพลงยาวเข้าก็มาหาท่านสุนทรภู่

การเป็นอยู่เช่นนี้   ท่านสุนทรภู่จึงรุ่มรวยหาสู้อัตคัตเงินทองใช้สอยไม่
ถึงไม่ได้ทำเรือกสวนไร่นาค้าขายอะไรก็จริง  แต่มีของกินของใช้เงินทองอัฐฬสติดพกติดมืออยู่เสมอ
เพราะว่ามีผู้นับถือบูชากำนัลอยู่ไม่ขาด

วิธีแต่งเพลงยาวนั้น  นัยว่ามีกติกาอยู่ ๓ บทเท่านั้นไม่มากมาย

กะเป็นใบที่ ๑  ที่๒  ที่๓

เรียกใบแรก ๕ ตำลึง     ใบที่ ๒   ๑๐ ตำลึง     ใบที่ ๓  หนึ่งชั่ง      ถึงใบ ๓  สัญญาเป็นได้ตัว

ใจความในใบแรกว่าด้วยการชมโฉมเป็นพื้น
ในใบที่ ๒  ว่าด้วยการรับเลี้ยงดูถนอมเอาใจทุกอย่าง
ในใบที่กล่าวว่าได้ตัวแต่ข้อความผู้เล่าหาได้จำไว้ไม่

การเป็นดังนี้

แต่ถ้าเราจะตรวจสอบในหนังสือที่ท่านอาจารย์สุนทรแต่งไว้  เช่น ลักษณวงศ์  พระอภัยมณีเป็นต้น
ก็พอจำเค้าของวิธีแต่งได้ตามรูปความที่กล่าวมาแล้วนั้น"


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 26 มิ.ย. 08, 09:49
คำของพระอมรสินธพก็มีพิรุธครับ
ท่านอายุ 77 ในปีสัมภาษณ์ จึงเกิด 2379
อายุ 16 ตกปี 2395 เป็นปีแรกของรัชกาลที่ 4 เป็นอาลักษณ์วังหน้า ได้เห็นท่านภู่รับราชการอยู่แล้ว

ประโยคต่อมาเริ่มสับสน
เพราะบอกว่าเมื่อพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อุปราชาภิเษกแล้วราวสัก 7 ปี
ท่านสุนทรภู่ท่านมีอายุ 18 ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก อย่างนี้ก็อ่อนกว่าคุณพระสิ
ตรงนี้เห็นจะต้องแก้ข้อความที่ว่าอุปราชาภิเษก เป็นอย่างอื่น เช่นทรงกรม เมื่อพ.ศ. 2375
สุนทรภู่ก็จะถวายตัวเมื่อสัก 2382 ลงมา ไกล้เคียงกับที่ผมมั่วว่าท่านแต่งรำพันพิลาปเมื่อจะไปพึ่งฟ้าน้อย

มาถึงประโยคต่อไป บอกว่าได้รับราชการอยู่อายุก็จวนจะหง่อม ๆ  ราว 70 เศษ
เพราะว่าเวลาเดิน มีหลานชายคอยประคองปีกในที่บางแห่งอยู่เสมอ
ตรงนี้หมายความว่า เมื่อสิ้นพระปิ่นเกล้า ท่านสุนทรอายุเรือน 70 ก็คือเป็นคนยุค 2339-2340
แต่สมเด็จฯ ทรงอ้างดวงอาลักษณ์ขี้เมา บอกว่าท่านภู่เกิด 2329 ยังห่างกันถึง 10 ปี
ซึ่งผมยังเห็นว่า ฟ้าน้อยเห็นจะไม่รับคนอายุ (2394-2329 =) 65 ปี มาเป็นอาลักษณ์แน่
55 ละก้อ พอไหวครับ

ประโยคสุดท้าย ก็เด็ด
"เวลาจะนั่งจะเดินอยู่ในกิริยาเป็นผู้ถ่อมตน  ยอมเป็นผู้ที่ ๒ ไม่ตีตนเสมอเลย"
คนที่รักสุนทรภู่เห็นจะต้องกลับไปเปลี่ยนพฤติกรรมอหังการของกวีในดวงใจเสียใหม่
เป็นต้นว่ากล้าเย้าพระเจ้าแผ่นดิน กรมหมื่น พระสงฆ์องค์เจ้า
ถ้าจะแข็ง ก็คงแข็งในเชิงกลอน

หรือมิเช่นนั้น ท่านก็ยำเกรงในกรมสมเด็จพระปรมาฯ
จนแม้เจ้ากรมของพระองค์ ท่านภู่ก็มิกล้าตีตนเสมอ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 26 มิ.ย. 08, 09:59
แต่ท่านสุนทรจะถวายตัวในปี 2375 เมื่ออายุ 18 ไม่ได้
เพราะท่านจะอายุ 14 ในปี 2371 เมื่อสอนหนังสือเจ้าฟ้า และบอกว่าตัวเองชื่อเสียงลือเลื่อง

เราจึงต้องหาให้ได้ว่า ท่านอายุ 18 ในปีอุปราชาภิเษกของใคร
หรือเมื่อท่านอายุ 18 มีอะไรสำคัญในพระประวัติเจ้าฟ้าน้อย
ที่เน้นเจ้าฟ้าน้อย เพราะเป็นที่แน่ชัดว่าสุนทรภู่เป็นข้าในพระองค์
สมมติว่า ถวายตัวตั้งแต่ทรงประสูติ ท่านภู่ก็จะมีปีเกิดเก่าสุด ก่อน 2352 ไปอีก 18 ปี
คือเกิด 2334 ไม่มีทางอายุมากกว่านี้
และจะมีอายุ 70 กลางๆ เมื่อฟ้าน้อยสวรรคต


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 มิ.ย. 08, 10:05
เพลงยาวทำไมแพงจัง  ยังกับงานแปลให้ยูเอ็น

เรื่องเปซายัน  พอทราบค่ะ

ทำไมนายโหมดไม่เล่าเรื่องสุนทรภู่บ้างเลยคะ  ท่านช่างเล่าจะตาย


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 26 มิ.ย. 08, 10:59
อย่าว่าแต่นายโหมดเลยครับ ตั้งแต่ปาเลกัวส์ หมอปลัดเล และนายฝาหรั่งอะไรหนอ ที่มารับจ้างฟ้าน้อย
ไม่มีเอ่ยถึงยอดกวีผู้มีชื่อเสียงระบือลือเลื่องผู้นี้
แม้แต่นายกุหลาบ ก็ยังเอ่ยถึงเพียงสังเขป เทียนวรรณก็ชมแต่งาน ไม่เล่าประวัติเหมือนกัน

นายโหมดเป็นขุนนางวังหลวง มีศักดิฐานะค่อนข้างสูง
ถ้าไม่มัวหมองเพราะลูกชาย เห็นจะได้เป็นเจ้าพระยาเป็นแน่
ถือว่าห่างชั้นจากอาลักษณ์(แก่ๆ) แห่งวังหน้ามิใช่น้อย
อีกประการหนึ่ง ท่านสนใจกลไกและการช่าง ไม่เอ่ยถึงกวีจึงไม่แปลกครับ

คำให้การเรื่องอาชีวะของท่านสุนทรภู่ ยังขัดแย้งกับตำนานความยากจนข้นแค้นของมหากวี ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ
ตอนท้ายเล่ม จะมีคำให้การของอีกท่านหนึ่ง บอกว่าท่านสุนทรไปซื้อสวนไว้ และมีหลานอยู่คน ถูกตีเจียนตายประจำ
ก็บ่งบอกว่า ท่านภู่ของผม เป็นนักเขียนมือทองไม่แพ้นักประพันธ์ไส้ไม่แห้งยุคปัจจุบัน
รวยพอจะตั้งตัวเป็นหลักฐาน

ก่อนเสียชีวิต ศาสตราจารย์เวลล่า กำลังทำวิจัยประวัติสุนทรภู่
ทราบว่าท่านดั้นด้นเข้าในสวนบางกอกน้อย จนไปเจอญาติสุนทรภู่
ได้เก็บข้อมูลไว้ แต่ก็มาโดนรถเมล์สาย 15 ทับตายอย่างน่าสยอง
เป็นอันสิ้นสุดการหาข้อมูลจากวงศ์วารว่านเครือตัวเป็นๆ แต่เพียงเท่านั้น
หวังว่าสักวันหนึ่ง เอกสารของท่านศาสตราจารย์อาจจะเผยออกมาบ้างกระมัง

เมื่อตอนที่ผมเริ่มตีความประวัติท่านสุนทรภู่เสียใหม่
งานของพระยาปริยัติฯ ช่วยส่งเสริมให้ผมรื้อคุ้ยมติเดิมกระจุยกระจาย สนุกสนาน
แต่ประหลาดใจที่กรมศิลปากร ไม่รับมติของท่านเจ้าคุณเอาเลย

อ้างอย่างเดียวว่าไม่ตรงกับพระนิพนธ์สมเด็จดำรง
เป็นผม จะอ้างว่าพระนิพนธ์ ไม่ตรงกับข้อมูลของท่านเจ้าคุณ(ตะหาก....ฮือๆๆๆๆ)


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 มิ.ย. 08, 11:36
อ้างถึง
เวลาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้อุปราชาภิเษกแล้ว  ราวสัก ๗ ปี
รู้สึกว่าท่านสุนทรภู่ท่านมีอายุ ๑๘  ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก  ได้รับราชการอยู่อายุก็จวนจะหง่อม ๆ  ราว ๗๐ เศษ
เพราะว่าเวลาเดิน มีหลานชายคอยประคองปีกในที่บางแห่งอยู่เสมอ

ยังมีอะไรแย้งๆกันอยู่ เรื่องอายุและ พ.ศ.
แต่ที่แน่ๆ
ตรงนี้ไม่ได้แปลว่าสุนทรภู่อายุ ๑๘ ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก เมื่อสมเด็จพระปิ่นเกล้าอุปราชาภิเษกได้ ๗ ปี
แต่หมายความว่า
" สุนทรภู่ ถวายตัวเป็นมหาดเล็กเจ้าฟ้าจุฑามณี  ตั้งแต่อายุได้ ๑๘     
เมื่อเจ้าฟ้าทรงขึ้นเป็นสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  ได้ ๗ ปี    ตัวสุนทรภู่ยังรับราชการอยู่ หง่อมขนาดอายุ ๗๐ เศษแล้ว"

มาเรียงลำดับใหม่
สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ อุปราชาภิเษกได้ ๗ ปี   คือพ.ศ. ๒๓๙๕+๗ = ๒๔๐๒
สุนทรภู่อายุเจ็ดสิบกว่า  ตีเสียว่า ๗๒ ปี
แปลว่าท่านเกิดประมาณ  ๒๓๓๐ บวกลบนิดหน่อย
เกิดในรัชกาลที่ ๑ 
อายุ ๑๘ ก็ ๒๓๔๘  ถวายตัวเป็นมหาดเล็กเจ้าฟ้าจุฑามณี
แต่ว่าเจ้าฟ้าจุฑามณี ประสูติ ๒๓๕๑

เพราะฉะนั้นสุนทรภู่ต้องอายุ ๑๘ หลังปี ๒๓๕๑ แน่ๆ ถัดมาอีกหลายปีด้วย  คือเจ้าฟ้าต้องทรงโตพอจะวิ่งเล่นได้แล้ว ถึงมีมหาดเล็ก





กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 มิ.ย. 08, 11:48
มีการกล่าวถึง หลวงพินิจอักษร  เสมียนตรากรมมหาดไทยผู้เป็นศิษย์

หน้า ๑๑



"ท่านสุนทรเวลานั้นบวชอยู่ที่วัดมหาธาตุ  กำลังเชี่ยวชาญกลกลอนมีชื่อเสียงมาก
มีศิษย์หาพอใจนับถือบูชาอยู่บ้างเซ็งแซ่

วันหนึ่งกำลังแต่งเรื่องพระอภัยมณี   มาถึงตอนที่เกษราเป็นไข้
ศรีสุวรรณแปลงเป็นพราหมณ์หมอเข้าไปรักษา

ในคำกลอนตอนที่กล่าวนั้นว่าดังนี้

สว่างช่วงดวงเดือนช่างเหมือนแม่           ไม่มีแผลบาดกายเท่าปลายเข็ม


ก็ชะงักติดอยู่ตั้งแต่ฉันเช้าจนเพลก็ยังไม่ออก     มีกล่าวว่า   หลวงพินิจอักษร
เสมียนตรากรมมหาดไทยผู้เป็นศิษย์  เคยไปเยี่ยม  นั่งคอยอยู่ที่เคยฉันเพล  นานแล้วไม่เห็นออกมาฉัน
จึงได้โผล่เข้าไปดู     เห็นพระอาจารย์ภู่นอนค้ำพังพาบอยู่

ก็พูดจาไต่ถามสนทนากัน

ท่านอาจารย์บอกว่าติดกลอนเลยไม่ฉัน


ท่านศิษย์เลยขอดูแล้วต่อให้  ว่าดังนี้

ดอกไม้หนิดกรีดเล็บเฝ้าเก็บเล็ม             ยังตกเต็มอยู่นะเจ้าเยาวมาลย์



นัยว่าพ่อเอ๋ย  แหวกม่านให้เท่านี้   ต่อนั้นไปท่านอาจารย์ก็ว่าฉุยเป็นเกลียวเข้าไปทีเดียว
ในระยะนี้  ท่านเสมียนตราต้องกลับเป็นผู้เขียนตามบอกจนอ่อนหู

เขาว่าเป็นอยู่เช่นนั้นในนิสัย  คือถ้าติดอยู่แล้วหลุดออกไปได้
เลยดันพังไหลเป็นทะลักทะเลไปทีเดียว"


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 มิ.ย. 08, 11:55
จะเก็บแนวทางที่คุณเทาชมพูแนะนำไว้กำกับการอ่านต่อไปค่ะ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 26 มิ.ย. 08, 11:59
         บทความจากนสพ. มติชนวันนี้ ครับ

http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pra01260651&day=2008-06-26&sectionid=0131

       มหิดลปัดฝุ่น"ประวัติสุนทรภู่" ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา ฉลอง222ปีมหากวีรัตนโกสินทร์

        ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ซึ่งถือเป็นผลงานการค้นคว้าประวัติชีวิตสุนทรภู่
ฉบับแรก คือ เมื่อ พ.ศ.2456...
       สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงจัดได้พิมพ์ขึ้น เป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาส
222 ปีชาตกาล "มหากวีสุนทรภู่"

       สิ่งหนึ่งที่ถือว่ามีความ "พิเศษ" กว่าประวัติสุนทรภู่ฉบับอื่นๆ คือ การได้รวบรวมเอาเกร็ดประวัติต่างๆ ไว้ได้ค่อนข้างมาก
ซึ่งจะไม่พบในประวัติสุนทรภู่ฉบับอื่นๆ ด้วยเพราะได้ข้อมูลจากบุคคลที่คุ้นเคยกับสุนทรภู่และอยู่ร่วมสมัยกับสุนทรภู่หลายท่าน

         ตัวอย่างเช่น เกร็ดเรื่องรัชกาลที่ 2 จะทรงเล่นต่อกลอน แต่จะหาใครเล่นด้วยแล้วสนุกเช่นสุนทรภู่เป็นไม่มี
จึงรับสั่งให้เอาบทพระราชนิพนธ์ที่ทรงเป็นกระทู้ไว้ไปพระราชทานให้สุนทรภู่แต่งต่อ ซึ่งขณะนั้นสุนทรภู่ยังถูกจำอยู่ในคุก

... เล่าว่ารัชกาลที่ ๒ ทรงพระกระทู้ต้นบทไว้ว่า กะรุ่งกะริ่ง กะฉุ่งกะฉิ่ง แล้วให้ใครต่อก็ไม่ออก ไม่รู้หนเหนือหนใต้ว่าจะต่อ
ไปทางไหน จึงรับสั่งให้เอาไปให้สุนทรภู่ ซึ่งก็ต่อกลอนมาว่า "เข็ดแล้วจริงๆ ไม่ทำต่อไป" อ่านรวมว่า
"กะรุ่งกะริ่ง กะฉุ่งกะฉิ่ง เข็ดแล้วจริงๆ ไม่ทำต่อไป" ครั้นนำทูลเกล้าถวาย ก็ทรงพระราชทานโทษให้หลุดจากเวรจำแต่วันนั้นตามขอ ...

        นอกจากนี้ ยังมีเกร็ดเรื่องพระครูวัดพระปฐมเจดีย์ประชันกลอนกับสุนทรภู่ ที่แสดงให้เห็นถึง "อหังการ์กวี"
ระหว่าง "กวีเมืองกรุง" กับ "กวีบ้านนอก" เป็นเรื่องที่ได้จากการสัมภาษณ์ พระยาสโมรสรฯ มีใจความว่า

          เจ้าคุณสโมสรฯกล่าวว่า ครั้งหนึ่งท่านอาจารย์สุนทรภู่ออกไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ท่านพระครูปฐมเจดีย์นั้นเอง
เป็นจินตกวีอยู่ในถิ่นนั้นเอง ทั้งชำนาญภาษาบาลีด้วย จึงนึกว่าจะลองเล่นเพลงมคธกับสุนทรภู่ ดูทีว่าหรือจะดีแต่กลกลอนเท่านั้น
หรือจะดีทั้งสองอย่าง ถ้าเช่นนั้นท่านพระครูก็จะได้รับความชมเชยบ้างว่า ตนก็เป็นปราชญ์พอใช้เหมือนกัน

แต่ความมุ่งหมายผิดไปถนัด คือ เมื่อเยี่ยมท่านอาจารย์ ก็กล่าวธรรมปฏิสันถารขึ้นดังนี้ว่า
           "สุนฺทฺราอาคเตเมปุจฺฉา อหํกิรวจนฝูงชนา ปสํสาศุภสารสะท้านดินฯ.."
 
แล้วส่งสำเนาเขียนให้ท่านสุนทร สุนทรที่จะไม่พอใจจะเห็นเป็นว่าพระบ้านนอกขอกนามาหาก็ผิดประเพณีเยี่ยมเยียน
หรือจะติว่าอวดรู้สู้รู้ปั้นล่ำ ธรรมเนียมคนจะไปมาหาสู่กันก็จะต้องทักทายปราศรัยจนมีโอกาสต่อกันได้แล้ว จึงจะควรพูด
ควรสนทนาเรื่องปัญหาน้อยใหญ่ทางสมณประเพณี จึงจะเป็นสิริมงคล จึงเขียนตอบพุ่งลงไปว่า
           "..ถึงเป็นปราชญ์ก็เป็นปราชญ์นอกประเทศ เป็นเชื้อเปรตมิใช่ปราชญ์ในราชฐาน"
แล้วส่งให้ท่านพระครู จะได้แสดงกิริยาอย่างไรต่อไปก็เป็นหมดคำกล่าวเพียงเท่านี้

           สุนทรภู่ก็เป็นนักเลงเก่งในเรื่องฝีปากสังวาสแลกลอนสังวาส ไม่มีตัวสู้ พวกหนุ่มจะไปรักหญิงที่ไหนก็มาหาท่านสุนทรภู่
หรือได้รับเพลงยาวเข้าก็มาหาท่านสุนทรภู่ ท่านสุนทรภู่จึงรุ่มรวยมีเงินทองใช้สอยถึงไม่ได้ทำเรือกสวนไร่นาค้าขายอะไร

           พระยาปริยัติธรรมธาดาเขียนไว้ว่า วิธีแต่งเพลงยาวของสุนทรภู่นั้น นัยว่ามีกติกาอยู่ ๓ บท เท่านั้นไม่มากมาย
โดยใบที่ 1 เรียกค่าใบแรก 5 ตำลึง ใบที่ 2 เป็น 10 ตำลึง ใบที่ 3 หนึ่งชั่ง ถึงใบสามสัญญาเป็นได้ตัว

           ในบั้นปลายชีวิตสุนทรภู่ได้กราบถวายบังคมลาออกนอกราชการแล้วไปซื้อสวนอยู่ตำบลบางระมาด
หากินทางแต่งหนังสือบทกลอนเพลงยาวจนกระทั่งถึงแก่กรรม ที่บ้านสวนบางระมาดนั้นเอง
           นอกจากนี้พระยาปริยัติธรรมธาดายังได้กล่าวถึง "หนูพัด" ซึ่งเป็นทายาทคนสุดท้ายของ สุนทรภู่ไว้ด้วย

           มีบุตรที่ปรากฏชื่อเสียง คือเณรหนูพัดนั้น เวลานี้ว่ายังมีตัวอยู่ แต่ยังสืบไม่พบ คำกล่าวเล่าลือว่า
หมอสมิทได้ตั้งโรงพิมพ์เก็บหนังสือของท่านอาจารย์ มีพระอภัยมณี เป็นต้น พิมพ์ขายจนรุ่มรวยแล้วคิดถึงท่านอาจารย์สุนทรภู่
เที่ยวสืบหาพระทายาทจะรางวัล ก็ได้ตัวท่านพัดมาบำเหน็จบำนาญไปจนเต็มใจรักที่จะให้ได้


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 มิ.ย. 08, 12:13
สุนทรภู่  จาก  พระอมรสินธพ(นก)

หน้า ๑๕

"เมื่อบวชแล้วเขาก็ว่าเที่ยวซุ่ม ๆ ซ่อน ๆ อยู่ตามวัดโน้นวัดนี้  หาสู้จะประจำสำนักไม่
นัยว่าแน่แท้อยู่นั้นเดิมอยู่วัดเลียบ(เชิงอรรถว่า วัดราชบูรณะ)นี้บ้าง  แล้วย้ายไปวัดอื่น ๆ

ที่ผู้ได้พบแน่แท้นั้น คือ อยู่วัดคอกหมู(เชิงอรรถว่า วัดสิตาราม)

เวลานั้นคลองมหานาคยังกำลังเล่นแข่งเรือแพกันสนุกสนานด้วยการจับระบำรำฟ้อนแลละเบงเพลงลำต่างๆ




ท่านหมื่นเทพสวัสดิ์(บัว)ปลัดกรม กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ    ยังได้ไปนิมนต์อาจารย์ภู่มาลงเรือ  ให้เป็นต้นบทบอกสักกะวา

มีผู้จำได้ว่า  สักกะวาวาสสนพุทธเอ๋ย   ประชันกับท่าน

ถึงไม่เห็นตัว  พอได้ฟังบท  ก็รู้ว่า  ขรัวครูเข้ามานั่งอยู่กลางวง"



กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 มิ.ย. 08, 12:21
ขอบคุณ คุณ SILA  ค่ะ

ดีจังที่ยังไม่ได้เขียนซ้ำ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 มิ.ย. 08, 12:35
พระยาโอวาทวรกิจ(แก่น)

หน้า ๑๖

"การบวชพระนั้น  สืบได้ที่พระอมรสินธพ(นก) ว่าอยู่วัดราชบูรณะ(วัดเลียบ) พอเป็นเงา ๆ
มาสืบสมได้อีกที่พระราชวรวงศ์ พระองค์เจ้าสุทัศน์   ว่า

พระยาโอวาทวรกิจ(แก่น)  เป็นผู้ได้ทราบเรื่อง  เคยเล่าถึงให้ศิษย์หาของท่านฟังเล่นเนือง ๆ ว่า

การเล่นอักษรกลอนสด  เวลานั้นที่วัดเลียบก็อยู่ข้างเอิกเริกเซ็งแซ่อยู่
เป็นการแสดงว่าวัดนั้นเป็นถิ่นจินตกวีได้วัดหนึ่งในท่ามกลางพระนคร


แลพระอาจารย์ภู่ได้สั่งกับศิษย์หาบางคนว่า   ต่อไปภายหน้าจะหาผู้เล่นกลอนกลน้อยตัว
เมื่อสิ้นท่านลงเสียคนหนึ่งแล้ว
ก็ยังเห็นอยู่แต่  พระครูกล่ำ  วัดหมู(อัปสรสวรรค์)

เมื่อใดใครขัดข้องข้อใดบทใด  ก็ให้ไปหาท่านไต่ถามดูเถิด

คือแสดงว่าเป็นคู่หูกัน

เมื่อภายหลังมา  ก็มีผู้ไปหารือจริง  แต่ท่านก็ไม่ขยายอะไรนัก"



กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 26 มิ.ย. 08, 13:21
ผมอยากจะใช้การตีความเป็นเครื่องมือสุดท้าย เมื่อจนแต้ม

ในกรณีที่บอกว่าสุนทรภู่เป็นมหาดเล็กเจ้าฟ้าน้อยนั้น ปมสำคัญยังมิใช่เรื่องอายุเท่าไรจึงมาถวายตัว
แต่เป็นปมที่ว่า ท่านเป็นข้าฟ้าน้อยแล้ว ไฉนจึงเป็นข้าเจ้าฟ้ากุณฑลด้วย
ยังไม่นับที่สมเด็จท่านให้เป็นข้าวังหลัง ข้าพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ ข้าพระองค์เจ้าลักขณษนุคุณ
และข้ากรมหมื่นอัปษณ......เฮ้อเหนื่อย จึงมาขึ้นกับเจ้าฟ้าน้อย เป็นไปมิได้

ถ้ายอมรับหลักฐานของพระยาปริยัติ เราจึงต้องกำหนดใหม่ว่า
ช้านานที่สุด ที่ท่านสุนทรจะเป็นข้าฟ้าน้อย ก็คือเมื่อทรงประสูติ ไม่จำเป็นว่าท่านจะต้องวิ่งเล่นจึงจะมีมหาดเล็กได้
ผมเชื่อว่า เมื่อประสูติแล้ว ยศศักดิ์บริวารย่อมบังเกิด ในแง่นี้ สุนทรภู่จึงแก่กว่าฟ้าน้อยได้เพียง 18 ปี
แปลว่า จะเกิดก่อน 2334 มิได้ ยิ่งถ้ามาถวายตัวตอนฟ้าน้อยแปดขวบ ท่านก็จะเกิด 2342 หนุ่มหนักเข้าไปกว่าเดิมอีก
นี่เท่ากับล้มดวงอาลักษณ์ขี้เมาลงราบคาบที่เดียว เพราะดวงนั้นบอกว่าเกิด 2329

ถ้านายภู่เข้าเป็นมหาดเล็กฟ้าน้อยเมื่ออายุ 18 จริง แกก็น่าจะอายุ 26-27 เมื่อได้สอนฟ้าน้อย
และอายุ 32 เมื่อโปรดให้สอนฟ้าอาภรณ์ในปีสุดท้ายของรัชกาล

ทีนี้ นิราศเมืองเพชร ก็เป็นอันขีดออกจากบาญชีท่านภู่ได้ถาวรละครับ
กวีที่แต่งนิราศเมืองเพชร แกมีเจ้านายเป็นเสด็จ แต่เจ้านายตาภู่น่ะ ทูลกระหม่อมครับ
ห่างกันเกินจะหักหาญ ยึดเอาความเห็นมหาชนเข้ามาล้าง


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 26 มิ.ย. 08, 13:27
ข้อมูลที่ว่าท่านเก่งกาจในหมู่นักเลงกลอน
และมีสำนักอยู่วัดเลียบนั้น น่าสนใจ

คุณสถิตย์ เสมานิล ผู้ยังคงหายสาปสูญอยู่จนบัดนี้ เป็นศิษย์วัดเลียบ
ท่านอวดไว้หน่อยๆ ว่าวัดนี้ในประวัติการกลอน ไม่น้อยหน้าวัดใหนๆ
และยังบอกอีกว่า มีความรู้มุขปาฐะ ตกทอดมายังรุ่นท่านไม่น้อยเลย เป็นเรื่องแปลกๆ แต่ก็ไม่ได้เล่าไว้เป็นชิ้นเป็นอัน

ครูสถิตย์ท่านเกิดกลางรัชกาลที่ 5
น่าเชื่อว่าความดังของท่านภู่คงจะคลุ้งวัดอยู่ แต่ไม่ยักมีเกร็ดในงานเขียนของคุณสถิตย์
มิหนำซ้ำ เมื่อเขียนเรื่องสุนทรภู่แหนงพระนั่งเกล้า(คุณสถิตย์เป็นคนแรกที่สวนกระแสเรื่องสุนทรภู่ต้องราชภัย)
ท่านก็ไม่อ้างเรื่องก๊อสสิบจากวัดเลียบเลย

ผมจึงไม่ค่อยอยากปลงใจเชื่อว่า ท่านภู่ดังที่วัดเลียบ
หนำซ้ำท่านยังด่าเจ้าอาวาสวัดนี้ด้วยซ้ำ


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 มิ.ย. 08, 15:51
คุณสถิต  เสมานิล  ไม่มีประวัติ เทียนวรรณเท่าไร  มีแต่ ศิริพจนภาค เล่มเดียว  และ บทความของเทียนวรรณในหนังสือประตูใหม่รายปักษ์อีกสองบทความ
ดูจะรู้จัก ก.ศ.ร. กุหลาบมากกว่า


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 มิ.ย. 08, 16:22
มูลบทบรรพกิจ

หน้า ๕๑

"มหาลัภ  วัดชนะสงครามเล่าว่า  ได้ฟัง สมเด็จพระวนรัตน(แดง)วัดสุทัศน์  ปรารภว่า
เมื่ออยู่วัดสระเกศ ได้คุ้นเคยกับสุนทรภู่

แลว่า  พระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย) ได้บวชอยู่วัดสระเกศ  ได้เป็นศิษย์สุนทรภู่
จึงเก็บเอาต้นร่างพระไชยสุริยา ก  กา  ไว้ได้

จึงได้มาแต่งคำเทียบเป็นบทเรียน  เรียก มูลบทบรรพกิจ  แลกล่าวว่า ท่านอาจารย์สุนทรภู่เมื่อบวชอยู่วัดสระเกศได้แต่งหนังสือนั้น


เมื่อตรวจความในมูลบทแล้วมีอยู่แห่งหนึ่งว่า  ภุมราการุณสุนทร  ไว้หวังสั่งสอน  เด็กอ่อนยังเยาว์เล่าเรียน"



กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 มิ.ย. 08, 16:36
เสภา พระราชพงศาวดารกรุงเก่า    สืบได้แต่ เจ้าคุณราชวัลลภานุสิฐ

หน้า ๓๙
(คัดย่อ)

ว่า สุนทรภู่ได้แก้ถวาย ตอนราชสารหงษา

เจ้าคุณเล่าว่า  เดิมได้ตำราสมุดของพระสาสาสน์พลขันธ์ เมื่อครั้งโน้นเป็นขุนมหาสิทธิโวหาร

พระอมรสินธพ(นก) เล่าว่า   ต่อมาสมุด ๕ เล่มได้ตกไปอยู่ที่พระยามหาอำมาตย์(หรุ่น)


กระทู้: ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 มิ.ย. 08, 16:45
หน้า  ๒๙



"ท่านอาจารย์ภู่นี้    ข้าพเจ้าจับนิสััยได้อยู่  ในข้อที่ว่าท่านจะเป็นนักปราชญ์กลกลอนหรือตลกคะนอง
สมพาสสังวาสกำสรวลครวญคร่ำอย่างไรก็ดี     หาทิ้งโลกคติไม่

จะกล่าวคำในที่ใด  เรื่องนั้นถึงจะมีคติโลกเป็นพื้นก็จริง  หาทิ้งคติธรรมไม่

คงใส่คติธรรมลงไว้เป็นดอกดวงเสมอ"