เรือนไทย

General Category => ระเบียงกวี => ข้อความที่เริ่มโดย: willyquiz ที่ 15 มี.ค. 11, 22:28



กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 15 มี.ค. 11, 22:28
     กราบคารวะท่านเจ้าเรือนและเหล่าผู้อาวุโสทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิทุกท่านจากใจจริงของสมาชิกใหม่  ปกติก็ขออ่านเพียงอย่างเดียวเพื่ิอประเทืองสติปัญญาแห่งตน  แต่อ่านมาแรมปียังไม่มีท่านผู้ใดหรือกระทู้ใดจะคลายความกระหายใคร่รู้ได้จึงจำใจต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกอีกคนหนึ่งของเรือนไทยทั้งที่ตนเองมีความรู้น้อยซ้ำยังพิมพ์แบบสัมผัสไม่เป็นเสียอีกได้แต่จิ้มทีละตัวอักษร  ทั้งนี้ก็เพียงแต่ขอตั้งกระทู้เพื่อขอความรู้จากท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายน่ะครับ
    ผมอยากให้ท่านที่ชำนาญในชั้นเชิงกวีช่วยประพันธ์บทกวีประเภทกลบทหรือกระทู้เป็นทานให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไป  สมาชิกของเรือนไทย โดยเฉพาะตัวผมเองที่เข้ามาเยี่ยมชมเพื่อไม่ให้สูญหายไปจากวงวรรณกรรมของเรา  ถ้ามีเกร็ดหรือสิ่งควรรับรู้เกี่ยวเนื่องกับกลบทหรือกระทู้นั้นๆ ก็ขอความรู้นั้นเป็นทานแก่สาธารณะด้วยครับ
     เมื่อกว่าสี่สิบปีที่แล้วขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น  คุณครูให้การบ้านเป็นโคลงกลบทอะไรก็ได้แล้วแต่ใจ  ผมนึกไปนึกมาได้ยินเพลง "บัวตูมบัวบาน" ของ อ. พร ภิรมย์ จึงนำมาตั้งเป็นโจทย์  ตั้งชื่อกลบทที่คิดขึ้นเองนี้ว่า "กลบทอักษรล้วนสลักแก้ว" แล้วส่งคุณครู  ดังนี้
                                   บัวตูมตูมเต่งตั้ง                    เตือนตา
                              ตาต่อตามเต็มตา                       ไต่เต้า
                              เต้าตูมเต่งต้องตา                       ตาตื่น
                              ตื่นเต่งตึงตุ่มเต้า                        แตะต้องตูมบัว  ฯ
                                   บัวบานบานเบียดแบ้               ใบบัว
                              บัวเบี่ยงใบบังบัว                        บู่บี้
                              บี้แบนบ่าวบีบบัว                        บัวบ่ง
                              บ่งบ่าวบุกบดบี้                          บ่นบ้าบานบัว  ฯ
     แล้วนำเพลง "รักเร่" ของคุณ มัณฑณา โมรากุล กับดอก "ชวนชม" ที่พ่อปลูกไว้หน้าบ้านมาเป็นโจทย์เพิ่มเพื่อให้ครบสี่บท
                                   รักเร่ระเร่าร้อน                     เรรวน
                              รวนระเรรารวน                          เริดร้าง
                              ร้างระร่อนรักรวน                        รวนร่วง
                              ร่วงระรุ่ยรีบร้าง                          เร่งเร้นเร่รัก  ฯ
                                   ชวนชมชวนชื่อชี้                   ชายชม
                              ชมเช่นแชเชือนชม                      เชื่องช้า
                              ช้าเชิงเชี่ยวชาญชม                      ชมชื่น
                              ชื่นเชื่อมชั้นเชิงช้า                       แช่มช้อยชมชวน  ฯ
     จากกลบทการบ้านชิ้นนี้เองที่คุณครูบอกว่าผมเป็นคนนอกตำรา ไปเอาหลักเกณฑ์มาจากไหน  ไม่มีใครเขาแต่งโคลงกันแบบนี้  ผมเลยเปลี่ยนชื่อกลบทชิ้นนี้ของผมเสียใหม่
ว่า "กลบทอักษรนอกตำรา" เสียเลย
     คำถาม :  ใครเป็นผู้กำหนดว่ากลบทจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  มีหลักฐานบ้างหรือไม่ที่ตั้งกรอบแห่งกลบทไว้  ถ้ามี อ้างอิงจากแหล่งใด
     ขอบคุณครับ.



กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มี.ค. 11, 09:09
คุณทำได้ ๒ อย่าง
๑ ใช้ search engine ของเรือนไทย   ดูตรงคำว่า "ค้นหา" ในแถวบนของหน้าแรก    แล้วค้นคำว่า กลบท เลือกจากห้อง ภาษาและวรรณคดี    จะมีกระทู้เก่าๆ พูดถึงเรื่องนี้
๒ อ่านกระทู้ กลโคลง

    http://www.reurnthai.com/index.php?topic=496.0


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 มี.ค. 11, 09:26
ผมเห็นว่า  โคลงกลบทนี้  อยู่นอกตำรา  อย่างที่อาจารย์ของคุณบอก
เพราะโคลงกลบทไม่ว่าจะมีบังคับพิเศษอย่างไร 
ก็จะไม่แต่งให้คำคำเดียวกันมารับสัมผัสในบทเดียวกัน

อย่างโคลงของคุณ ใช้คำคำเดียวกันรับส่งสัมผัสทุกบท
ถือว่าผิดฉันทลักษณ์อย่างแรง   

โคลงกลบทที่ใช้อักษรล้วนทั้งบทนั้น  คิดว่าไม่น่าจะมี
มีแต่ใช้พยัญชนะล้วนเฉพาะบาท

กลบทนั้น  ก็คือคำประพันธ์ที่แต่งตามข้อกำหนดฉันทลักษณ์
ของร้อยกรองแต่ละชนิด  และเพิ่มลักษณะพิเศษที่ทำให้แต่งได้ยาก
ขึ้นไปอีก  เช่น  แต่งใช้อักษรสลับในวรรคเดียว 
กำหนดให้คำแรกของวรรคเป็นคำสุดท้ายของวรรคด้วย
กำหนดให้ใช้แต่คำตายทั้งบท   เป็นต้น   
กลบทนั้น  ก็คือ  กลวิธีการแต่งร้อยกรองให้พิเศษยิ่งกว่าธรรมดา
แต่ไม่ได้หมายความว่า  แต่งแล้วจะไพเราะดีเสมอไป
เพียงแต่สิ่งที่ท้าทายความสามารถของผู้มีความสามารถในการแต่ง
ที่มีความชำนาญในพื้นฐานการแต่งคำประพันธ์แล้ว 
ให้ประลองฝีมือกัน


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 16 มี.ค. 11, 09:51
     มีโคลงกลบทอยู่ชนิดหนึ่งชื่อว่า "ช้างประสานงา" แต่กลบทชนิดนี้กลับแยกออกเป็นสองตำราซึ่งแตกต่างกันอย่างมากโดยไม่ทราบจริงๆ ว่าชนิดใดเป็นของแท้หรือเป็นของเทียม  หรือเพียงแต่ชื่อ
มาพ้องกันเข้าโดยบังเอิญ  แต่ก่อนที่จะยกตัวอย่างมาให้เห็น  ผมขอเรียนให้ทราบก่อนว่า  ผมจะตั้งโจทย์ของผม (ชื่อเรื่อง) เป็นดอกบานชื่นเสมอ  เนื่องจากว่าโดยความเห็นส่วนตัวของผม  บานชื่น
เป็นดอกไม้ที่สะอาดหมดจด บริสุทธิ์ ไม่จำเป็นจะต้องอาศัยกลิ่น (ไม่ว่าหอมหรือเหม็น) เพื่อยั่วยวน  หรืออาศัยสีสันที่ฉูดฉาดเพื่อเรียกร้อง   เปรียบดังสาวชนบทที่ใสซื่อและสะอาด  ดอกบานชื่นจึง
ประทับใจผมอยู่ตลอดมา
     เข้าเรื่องดีกว่าครับ  กลบทช้างประสานงารูปแบบแรกจะต้องตีเป็นตารางเพื่อบรรจุอักษรเป็นลักษณะของปริศนา  ผู้ที่อ่านจะต้องมีความรู้พอจึงจะอ่านได้  แต่ผมกล่าวไว้เป็นเบื้องต้นแล้วว่ามีความรู้
น้อย  แม้แต่การพิมพ์ผมยังต้องจิ้มทีละตัวอักษร   ดังนั้นผมจะวางรูปแบบไว้ตามธรรมดา  แต่จะกำหนดตัวเลขการอ่านไว้ให้  ผู้อ่านก็อ่านไล่ไปตามหมาบเลขเท่านั้น  รูปแบบมีดังนี้
                    
                    ด้วยเกี่ยวนาม ๓            ๒ (๙) นิ่ม               ๔ (๗) มา               ๘ หมายแสวงหา
                                                 ๑ (๑๐) เนื้อ             ๕ (๖) ลา
                    ราโรยบ่ ๑๓                ๑๒ (๒๑) ชื่น            ๑๕ (๑๘) คง            ๑๙ กลางใจเอื้อ
                                                ๑๑ (๒๒) บาน           ๑๖ (๑๗) อยู่            ๒๐ ยั่วยิ้ม

     ตามปกติจะต้องมีการตีกรอบไว้เพื่อบรรจุอักษรไว้ภายใน  แต่ผมทำไม่เป็นนะครับ   เมื่อเฉลยแล้วรูปแบบจะเป็นดังนี้
                                                  
                                                   เนื้อนิ่มนามเกี่ยวด้วย                     มาลา
                                              ลามาหมายแสวงหา                           นิ่มเนื้อ
                                              บานชื่นบ่โรยรา                               คงอยู่
                                              อยู่คงกลางใจเอื้อ                             ยั่วยิ้มชื่นบาน  ฯ

     นี่คือโคลงกลบทช้างประสานงารูปแบบหนึ่ง    ส่วนอีกตำราหนึ่งแตกต่างออกไปไม่ยุ่งยากเท่ารูปแบบแรกนัก  ดังนี้

                                                   นางเอยคมเนตรน้อง                     "เบนชาย"
                                             "บานชื่น" เพียงกรุยกราย                       'พี่เต้น'
                                             'เพียรติด' ดั่งเงาฉาย                           "เคียงร่าง"
                                             "ค่อนรุ่ง" บ หลีกเร้น                           ร่ำร้องรอสูรย์  ฯ
    
     ข้อกำหนดของกลบทช้างประสานงารูปแบบนี้เป็นไปตามเครื่องหมายที่ได้ทำไว้ให้เห็นเท่านั้น
     คำถาม : อาจารย์ท่านใดพอจะให้ความกระจ่างในเรื่อง "โคลงกลบทช้างประสานงา" ทั้งสองรูปแบบนี้ได้บ้างครับ
     ขอบคุณครับ.  


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 16 มี.ค. 11, 13:04
     ขอบพระคุณคุณหลวงมากครับที่ให้ความเห็นในเรื่องนี้   คล้ายกับที่คุณครูผมสอนไว้เกือบทุกประการ   แต่ขณะนั้นผมมีอายุแค่ 12-13 ขวบ เพิ่งจะเรียนวิชาการประพันธ์
อยากจะแสวงหาสิ่งใหม่ๆ ด้วยตนเอง (คิดนอกกรอบ) เลยคิดค้นด้วยตนเองตามประสาเด็กๆ  ด้วยเหตุนี้ผมจึงเดินตามรอยบุรพาจารย์มาตั้งแต่นั้น  เดี๋ยวนี้ผมอ่านบทกวีของศิลปิน
ระดับชาติที่เขียนอะไรแปลกๆ นอกกรอบที่คุณครูเคยสอน ผมจึงไม่ค่อยประทับใจเท่าไรนัก (ทั้งๆ ที่เขายกย่องกัน) ผมขอเดินตามรอยท่านดังเดิมสบายใจกว่า
     และกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ใหญ่เจ้าเรือนที่กรุณาแนะแนวทางให้  ผมอ่านอย่างใจจดใจจ่อทีเดียว  แต่เดิมเมื่อครั้งที่ท่านแสดงความเห็นใน ชั้นเรียนวรรณกรรม (คนเขียน
เพลง) ที่มีต่อเพลง Harper Valley P.T.A. นั้น  ยอมรับว่าผมมองท่านด้วยความแปลกใจและไม่ยอมรับในความคิดเห็นนั้น  แม่คนหนึ่งจะมีลูกสูงสุดได้สักกี่คน  แต่ครูอาจารย์
เพียงคนเดียวสามารถมีลูก (ศิษย์) ได้นับหมื่น (แล้วแต่อายุราชการ)    ส่วนใหญ่เด็กจะเชื่อครูหรือกลัวครูมากกว่าพ่อแม่เสียอีก  ถ้าครูทำตัวอย่างที่ไม่ดีแบบเดียวกับที่แม่เด็กทำแล้ว
จะถือสิทธิอันใดที่จะไปประณามแม่ของเด็ก  ผลสุดท้ายเด็กนั่นเองที่เป็นผู้รับกรรม  แต่ตอนนี้ผมขอกราบขออภัยท่านในมโนกรรมที่ผมก่อเอาไว้ครับ
     กระทู้ที่ท่านแนะให้ผมเข้าไปดูนั้นผมไม่เคยอ่านมาก่อนเลยครับ มีประโยชน์มาก คุณพลายงามเก่งจริงๆ   แต่ท่านไม่คิดว่ามันยากเกินไปสำหรับยุวชนที่กำลังเริ่มต้นหรือครับ
เพราะกลโคลงที่ลงกันไว้นั้นส่วนใหญ่เป็นกลโคลงอักษร (ปริศนา) เกือบทั้งนั้น  ดูเอาจากหลานผมที่เบ้หน้าก็พอจะทราบว่าเกินความสามารถของแกเกินไป  ผมเพียงอยากให้มีการ
แสดงความสามารถในการประพันธ์เชิง "กลบท" ธรรมดาไม่ใช่ "กลบทอักษร หรือ ปริศนา" เพื่อยุวชนที่เริ่มจะให้ความสนใจสามารถที่จะเข้าร่วมแสดงความสามารถด้วย  ดูตัวอย่าง
จากโคลง "กลบทช้างประสานงา" ทั้งสองแบบที่ผมลงไว้ก็ได้  หนึ่งเป็นโคลงกลบทอักษร  หนึ่งเป็นโคลงกลบทธรรมดา  โคลงกลบทอักษรนั้น ถ้าผมไม่เฉลยไว้ให้  จะมีเยาวชนสัก
กี่ท่านที่สามารถอ่านได้อย่างถูกต้อง   แต่กลบททั่วไปอ่านแล้วเข้าใจได้ทันที
     ผมตั้งกระทู้นี้เพื่อเชื้อเชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายได้กรุณาแสดงความสามารถของท่านประพันธ์โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย แบบ "กลบท" ให้ปรากฎไว้เป็นที่เรียนรู้แก่บุคคล
ทั่วไป  เรามีกลบทมากมายที่ยังไม่เป็นที่รับรู้หรือถูกเก็บงำเอาไว้  หากท่านเปิดเผยออกมาก็จะเป็นประโยชน์แก่สมาชิกเรือนไทยและแก่บุคคลทั่วไปทั้งหลายที่เข้าเยี่ยมชมนะครับ
ผมกราบเรียนเชิญท่านผู้ทรงคุณวุฒิแต่งเป็นตัวอย่างเพื่อฝากฝีปาก (กา) ของท่านอีกครั้งครับ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มี.ค. 11, 13:41
ไม่ถนัดเรื่องแต่งกลบท   ขอเชิญท่านอื่นๆค่ะ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 16 มี.ค. 11, 14:15
ไม่เก่งด้านกลบทเช่นกันค่ะ
แต่จะขอเชิญ กลบท ของบรมครูมนตรี ตราโมท จากหนังสือ ม.ต.ปกิณกนิพนธ์ (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พิมพ์พระราชทาน ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายมนตรี ตราโมท ม.ป.ช. ม.ว.ม. ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ 22 เดือนตุลาคม พุทธศักราช 2538 )
ถ้าสนใจด้านนี้ลองหามาศึกษาดูนะคะ

โคลงกลบทสาลินี
เป็นโคลงกลบทที่ผู้อ่านสามารถอ่านเป็นสาลินีฉันท์ ๑๑ ก็ได้ และเป็นโคลงสี่สุภาพ ก็ได้ค่ะ

 "หยาดฝน"

สาลินีฉันท์ ๑๑

ฝนพรำฉ่ำชุ่มพื้น          สุธาชื่นหทัยชน
ผาสุกเรื้องรุกขผล        และดอกดาระดาษคลี่

โลกปลดกำเดาเปลื้อง     อุบัติเปล้ประดาปรีด์
ชาวนาสวนซิกซี้           สราญยิ่งขยันทำ

งานเร่งจ้ำให้ทัน            ฤดูกาลวรุณฉ่ำ
ชนที่ชอบเที่ยวช้ำ           มนัสแค้นพิรุณโปรย

โคลงสี่สุภาพ
 
ฝนพรำฉ่ำชุ่มพื้น            สุธา
ชื่นหทัยชนผา-            สุกเรื้อง
รุกขผลและดอกดา-       ระดาษคลี่
โลกปลดกำเดาเปลื้อง      อุบัติเปล้ ประดาปรีด์

ชาวนาสวนซิกซี้           สราญ
ยิ่งขยันทำงาน             เร่งจ้ำ
ให้ทันฤดูกาล              วรุณฉ่ำ
ชนที่ชอบเที่ยวช้ำ         มนัสแค้น พิรุณโปรย

สำหรับภาพด้านล่างเป็น โคลงกลบทช้างประสานงา ค่ะ

"คนึงรัก"


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 16 มี.ค. 11, 18:13
     ประทับใจมากครับคุณ DD ขอบพระคุณอย่างสูงครับ  จริงอย่างที่ผมบอกไว้เลยครับว่าของดียังถูกซุกซ่อนอยู่อีกมากมาย  อย่างน้อยผมก็ได้รับทราบเพิ่มเติมว่า
ยังมีโคลงกลบท "ช้างประสานงา" อีกรูปแบบหนึ่งซึ่งผมไม่เคยรับรู้มาก่อน  ผมต้องบันทึกเอาไว้เป็นข้อมูลส่วนตัวแน่นอน
     โดยปกติผมใช้วิชาครูพักลักจำ  อ่านพบที่ไหนผมก็จะคัดลอกเอาไว้เพื่อเป็นแม่แบบ เมื่อหลานๆ ให้แต่งเป็นตัวอย่างผมก็จะแต่งให้โดยอาศัยแม่แบบที่บันทึกไว้
(ของเดิมมักจะเป็นภาษาโบราณขนาดบางคำหาในพจนานุกรมไม่ได้) เป็นแนวทาง  การแต่งก็จะใช้ภาษาง่ายๆ ให้สมกับวัยของหลานๆ  แต่ข้อจำกัดของผมก็คือ  ผม
ไม่รู้เลยว่าบทประพันธ์นั้นถูกต้องตามแบบแผนฉันทลักษณ์ของเดิมหรือไม่  ผมจึงได้มาขอความรู้จากเหล่าคณาจารย์ในที่นี้ครับ
     ล่าสุดหลานให้แต่งกลอนเพลงยาวแบบกลบทให้ดูแล้วต้องโรแมนติกหรือเป็นเรื่องราวของชีวิตคนเสียด้วย เป็นโจทย์ที่ค่อนข้างหินสำหรับผมจริงๆ เพราะผมไม่ถนัด
ในแนวนี้ แต่ก็จำใจต้องแต่งให้เพื่อเป็นกำลังใจให้แก  ผมขออนุญาตยกตัวอย่างบางช่วงบางตอนมาลงไว้ในที่นี้ ถ้ามีสิ่งใดผิดพลาดขอท่านผู้รู้ช่วยเสนอแนะด้วยครับ

     ๑. กลบทกบเต้นต่อยหอย :-
                                                                                             "ยอดดวงใจไยด่วนจาก" มาพรากหนี
                              "เจ้ามิซึ้งจึงมาซ้ำ" ทำย่ำยี                                    "ล้วงใจพี่ลี้จำพราก" กระชากไป
                              "เหลือแต่กายลายตกกระ" สะท้อนจิต                        "แม้คำนิดมิตรเคยนอน" ร่วมหมอนไหม
                              "ยังมิเคยเย้ยแม่ค่อน" ให้ร้อนใจ                              "ด้วยเหตุไรได้ห่างรัก" หักอำลา

     ๒. กลบทกบเต้นสลักเพชร :-
                              "เคยทั้งสุขคราทุกข์เศร้า" เจ้าอยู่ข้าง                          "ไม่ทิ้งห่างแม้ทางเห็น" เป็นปัญหา
                              "จับมือพี่เจ้ามิพราก" จากสายตา                               "ร่วมทางมาเราท้ามัน" มิหวั่นเลย
                              "ยามรันทดยื่นรสถ้อย" คอยปลุกปลอบ                        "รักต่างมอบรู้ตอบมาน" หวานเฉลย
                              "ด้วยคำเจ้าด่ำเข้าใจ" ให้เสบย                                 "อกอุ่นเคยอิงเอ่ยคำ" จำนรรจ์พร

     ๓. กลบทกวางเดินดง :- (กระทู้ ; ไยเจ้ารีบด่วนมาหนีจากไป)
                              ไย เอ๋ยเจ้าสายใยใจสวาท                                      เจ้า เอ๋ยคลาดคลาล่วงดวงสมร
                              รีบ เอ๋ยเจ้ารีบพรากมาจากจร                                   ด่วน เอ๋ยเจ้าด่วนร้อนมิผ่อนคลาย
                              มา เอ๋ยลมเย็นเย็นมาเป็นเพื่อน                                 หนี เอ๋ยเลือนลับไปไม่ขวนขวาย
                              จาก เอ๋ยลาจากเร้นไม่เห็นกาย                                  ไป เอ๋ยเจ้าไปหายคล้ายดังลม
 
 


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 17 มี.ค. 11, 10:24
     หลานชายบังเกิดเกล้าโทรศัพท์มาต่อว่าปู่แต่เช้ามืดว่าปู่ก็เข้าอีหรอบเดียวกันกับหนังสือกลบทสุภาษิตในตู้หนังสือของเรือนไทยนั่นแหละ
คือไม่อธิบายอะไรเลยไม่บอกกลวิธีให้รู้ว่าทำไมจึงเรียกว่ากลบทชนิดนั้นๆ เคล็ดการดูอยู่ตรงไหน   ปู่เองก็จนด้วยเกล้าไม่รู้จะตอบหลานให้
เหมาะสมอย่างไร ได้แต่บอกว่าปู่บอกไม่ได้เพราะตัวปู่เองก็ต้องใช้วิธีสังเกตุดูและแยกแยะความแตกต่างจากโคลงกลอนธรรมดา  ผู้ที่ดูแลเว็บ
แต่ละท่านล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ  ถ้าปู่อธิบายความผิดพลาดไปก็จะเป็นผลเสียเสียมากกว่า  ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการพิจารณา
เอง  เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า "กลบท" ดังนั้นย่อมต้องมีข้อแตกต่างกว่าโคลงกลอนธรรมดาแน่นอน  ปู่เองก็ทำเครื่องหมายให้ผู้อ่านสังเกตุเอา
เองอยู่แล้ว
    อนุสนธิจากการที่หลานชายโทรศัพท์มาแต่เช้า  ทำให้หวนนึกถึงตนเองตอนที่อยู่ในวัยนั้นที่เพิ่งเริ่มแต่งโคลงกลอนเป็น  เห็นอะไรก็อยากเขียน
ออกมาเป็นโคลงกลอนเสียทั้งหมด  มีอยู่เกมหนึ่งซึ่งชอบเล่นกับเพื่อนคอเดียวกันคือ "ใครเอ่ย" และ "อะไรเอ่ย" เป็นโคลงหรือกลอน เลยอยาก
ลงเอาไว้เป็นตัวอย่างให้ลองขบคิดกันดู (ขอนอกเรื่องกลบทสักนิดหนึ่ง)
     
     ใครเอ่ย? :-
                                          คือโศภิตแต่ตัน            พิจารณ์
                                     คือรัศมิมาน                     รุ่งเร้า
                                     คือขอวรทาน                   จากท่าน
                                     คือปริศนาเรียงเข้า              นั่นแล้นามนาง  ฯ
     


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 18 มี.ค. 11, 10:58
     เอ! ปริศนายากเกินไปหรือนี่  เอ้า งั้นลองดูใหม่  เอาชื่อเดิมนี่แหละแต่แก้แค่ชั้นเดียวก็แล้วกัน

                                     คำแรกบอกกล่าวไว้      ดีงาม
                                สองรัศมีวาม                  ผ่องแผ้ว
                                สามคือสิ่งขอตาม             ใจชอบ
                                เรียงประสมกันแล้ว           แน่แท้นามนาง ฯ

     บอกใบ้ให้นิดว่า คิดคำแรกได้แล้วให้ตั้งไว้ก่อน แล้วค่อยคิดคำต่อไป  หากคิดได้ถึงสองคำเชื่อว่าเมื่อนำมารวมกันแล้วก็พอจะเดาออก


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 19 มี.ค. 11, 02:33
                                                    สุ คืองามแน่แท้       ความหมาย
                                               ภา ดั่งแสงพรรณราย       รุ่งแจ้ง
                                               พร คือสิ่งหญิงชาย         หวังมุ่ง จริงนา
                                               คงบ่มีใครแย้ง              ชื่อนี้สุภาพร ฯ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 19 มี.ค. 11, 04:48
     ๔. กลบทกินนรเก็บบัว :-
                                               เมื่อ'คิด'ถึง'คิด'ทวนหวนเรื่องหลัง                  แม้'กระ'ทบ'กระ'ทั่งยังสุขสม
                                               พี่'หยอก'ล้อ'หยอก'เอินเพลินอารมณ์              เจ้า'ทำ'ซม'ทำ'ซบครบกระบวน
                                               แกล้ง'แง่'งอน'แง่'เง้าเอากับพี่                      นิ้ว'ลอบ'จี้'ลอบ'จิ้มแล้วยิ้มสรวล
                                               ทำ'สะ'บัด'สะ'บิ้งล้อพอสมควร                     ให้'พี่'ทวน'พี่'ย้ำแต่คำ"รัก"

     ๕. กลบทครอบจักรวาล :-
                                               'เจ้า'ต้องการอย่างไรตามใจ'เจ้า'                   'หนัก'มิเบาเราทนมิบ่น'หนัก'
                                               'ภักดิ์'เที่ยงแท้แน่ในน้ำใจ'ภักดิ์'                    'แจง'คำ"รัก"สักล้านครั้งพี่ยัง'แจง'
                                               'ยาม'พี่ไข้ได้เจ้านั่งเฝ้า'ยาม'                       'แสง'ไฟตามต้องตาเจ้ารา'แสง'
                                               'แรง'พิษไข้ร้อนรุ่มเจ้าทุ่ม'แรง'                     'ซับ'พิษแห้งหายป่วยเจ้าช่วย'ซับ'

     ๖. กลบทตรีประดับ :-  (อักษรสามหมู่, ตรีเพชร  เห็นเรียกอยู่ในบางแห่ง)
                                               แล้วต้ม'ข้าวข่าวขาว'ขึ้นพราวหม้อ                   เตรียมกับ'รอร่อร้อ'พอเสร็จสรรพ
                                               เจ้ายก'ช้อนช่อนชอน'ป้อนปากรับ                   แกมบังคับให้'เคี้ยวเคี่ยวเคียว'กลืน
                                               ต้ม'น้ำน่ำนำ'มารอท่าพี่                              ครั้นได้'ทีที่ที้'พี่แกล้งขืน
                                               เจ้า'เง้าเง่าเงา'งอดกอดอกยืน                       พี่'รืนรื่นรื้น'หวัวจนตัวงอ

     ๗. กลบทธงนำริ้ว :-
                                               "'ดูดู'ซีทำเข้าเจ้ากอดอก                            'มามา'ยกน้ำมาวางข้างพี่หนอ
                                               'แกล้งแกล้ง'หยอกดอกหนาทำหน้างอ              'งอนงอน'ง้อขอดีด้วยช่วยการุณย์
                                               'โอ๋โอ๋'แต่ช้าแต่แม่กานดา                           'นำนำ'มาผ้าซับกับน้ำอุ่น
                                               'เหนอะเหนอะ'เนื้อตัวแย่แล้วแม่คุณ                 'ทำทำ'บุญกับพี่หน่อยเถิดกลอยใจ"

     ๘. กลบทบวรโตฎก :-
                                               'สะเทิ้น'อายหน่ายหนีให้พี่คิด                        'สะท้อน'จิตติดตรึงจึงหวั่นไหว
                                               'สะท้าน'ทรวงหน่วงหนักรักทรามวัย                  'สะเทื้อน'ใจไยแกล้งทำแล้งรา
                                               'ขนาบ'ข้างพลางพลอดกอดกระชับ                  'ขนาน'รับกับทรวงดวงยิหวา
                                               'ขนอง'หันผินให้ไยแก้วตา                           'ขนาง'หน้าหรือน้องต้องจุมพิต

     ๙. กลบทบัวบานกลีบขยาย :-
                                               'เจ้าอาย'เอียงเบี่ยงบ่ายส่ายหน้าหลบ                 'เจ้าอาย'ซบอกงุดพี่ฉุดติด
                                               'เจ้าอาย'เหนียมเตรียมหนีพี่ประชิด                   'เจ้าอาย'ปิดป้องปัดพัลวัน
                                               'เจ้าอาย'ปรางค์พลางแนบแอบอกหวง                'เจ้าอาย'ทรวงกรกกปกสองถัน
                                               'เจ้าอาย'โอษฐ์เม้มมิดปิดไรทันต์                     'เจ้าอาย'กรรณคู่งามหรือทรามเชย


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 20 มี.ค. 11, 01:51
     ๑๐. กลบทบุษบารักร้อย :-
                                                   จัดเตรียมพร้อมทุก'อย่างอย่าง'หน้าที่                    ประเสริฐ'ศรีศรี'เรือนมิเชือนเฉย
                                                   เอาใจ'ใส่ใส่'ใจไม่ละเลย                                 สุดจะ'เอ่ยเอ่ย'ถ้อยเรียงร้อยพจน์
                                                   ทุกยามเช้าเจ้า'ตื่นตื่น'ขึ้นก่อน                            แต่ยาม'นอนนอน'ทีหลังดังกำหนด
                                                   เป็นประ'จำจำ'ได้ไม่เคยคด                               เจ้าวาง'กฎกฎ'เจ้าสุดเข้าใจ

     ๑๑. กลบทพยัคฆ์ข้ามห้วย :-
                                                   แต่'ถึง'คราเคราะห์กรรมนำมา'ถึง'                         รักเราจึง'ไหว'เคลื่อนสะเทือน'ไหว'
                                                   เจ้า'ไป'หลงคำคนจนจาก'ไป'                             แสนอาลัย'ช้ำ'ชอกตอกอก'ช้ำ'
                                                   ใครเล่าจะ'รัก'เจ้าเท่าพี่'รัก'                                มาด่วนหัก'ถลำ'คลาดพลาด'ถลำ'
                                                   สุด'ระกำ'กรรมบาปสาป'ระกำ'                            ลม'แรง'คำซ้ำซัดสะบัด'แรง'

     ๑๒. กลบทสะบัดสะบิ้ง :-
                                                   แรกพาทีมีท่า'ละล้าละลัง'                                ทำดุจดังเคืองข้อง'ระหองระแหง'
                                                   บึ้งใบ้ใจน้อย'ตะบอยตะแบง'                             หน่ายแหนงเกรี้ยวกราด'ฟูมฟาดฟูมฟาย'
                                                   พี่ถามเรื่องราวเจ้า'วิงเว้าวิงวอน'                          กลับโดนย้อนยอกคำ'ระส่ำระสาย'
                                                   ส่ายพักตร์ผมรุ่ย'ขจุยขจาย'                             งมงายงงหนัก'หัวปักหัวปำ'

     ๑๓. กลบทอักษรสังวาส :-
                                                  'เหงาเศร้า'จิตคิดไปให้'หนักนัก'                          'ฤทธิ์พิษ'รักแรงร้ายร่าย'คำพร่ำ'
                                                  'เคยเอ่ย'หวานพาลขมลม'น้ำคำ'                          'แกล้งแทง'ย้ำเหน็บแนมแกม'ปึ่งตึง'
                                                  'คงหลง'ผิดคิดไปใช่'แสนแค้น'                           'รักหนัก'แน่นทำเอาเจ้า'จึงหึง'
                                                  'เพียงเสียง'ล้อต่อคำค'นึงอึง'                             'หามา'ขึ้งขุ่นเจ็บเก็บ'มิดชิด'

     ๑๔. กลบทคำตาย :- (สะกดด้วยตัวอักษรคำตายทุกคำ)
                                                  อนาถหนักรักขาดสวาทหลุด                              เพราะนาฏนุชเหน็บอกกลับปกปิด
                                                  ลอบสลัดตัดพรากจากยอดมิตร                           มิคาดคิดผิดคาดประหลาดนัก
                                                  หากหลับเนตรหยุดตรึกนึกวาดภาพ                       จะซับซาบอาบจิตคิดประจักษ์
                                                  อดีตแรกแตกยับกับพิษรัก                                ก็เพราะปักจิตพลาดคลาดเหตุลึก

     ๑๕. กลบทอักษรงูกินหาง :- (ซ่อนรูปเอาไว้)
                                                  ใครเล่าบอกหลอกเจ้า                                    จงตรองตรึกนึกให้ออก
                                                  อย่าทักทึกนึกกล้า                                        ศึกในใจล้ำลึก
                                                  เขาคนนั้นพลันป่น                                         เจ้าหวั่นไหวไยนั่น
                                                  พูดไยไพใครปูด                                          พี่ไม่เคยเอ่ยใส่ไคล้


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 27 มี.ค. 11, 20:41
กลอนเพลงยาว :-

                                                                   -: ตัวสำรอง :-

                                                                                       พี่หมายปองน้องนุชดุจกระต่าย
                                     หมายโลมบุหลันพรรณราย                       เฉิดฉายพรายประจบนภดล
                                     รักน้องน้องรักหักสวาท                          คลาดแคล้วแคล้วคลาดพิลาสหน
                                     ตรอมอกอกตรอมพี่ปลอมปน                    ช้ำทนทนช้ำน้ำตาคลอ
                                     โหยหามาหายมลายสิ้น                          อกวิ่นวาบไหวกระไรหนอ
                                     คนข้างคอยเคล้าพะเน้าพะนอ                    งอนง้องอเง้าเฝ้าเอาใจ
                                     เขาดูแลพี่แลดูอยู่ห่างห่าง                       เขาควงข้างพี่ครวญคร่ำน้ำตาไหล
                                     เขาอิงแอบพี่อึกอักหนักหทัย                    เขาจรไกลพี่จึ่งกรายหมายพบนวล
                                     คิดฮึกฮักหรือหักงิ้วให้ปลิวสิ้น                   เพื่อยุพินโฉมงามทรามสงวน
                                     มิกลัวแล้วงิ้วหนามจะลามลวน                   มัวครางครวญคำเศร้าไม่เข้าการ
                                     หากรวยรื่นฝืนจิตคิดถึงพี่                        อาจจะมีใจปลงด้วยสงสาร
                                     น้ำใจน้องนาชนุฎกุสุมาลย์                       ขอเป็นทานพี่หน่อยกลอยใจเอย  ฯ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: อกนิษฐ์ ที่ 28 มี.ค. 11, 14:12
มาชื่นชมคุณ willyquiz  ;D

อ่านสำนวนที่เรียบลื่นงดงาม ชัดคม แสดงถึงวัยวุฒิ คุณวุฒิทางท่าน

ดูกลบทแต่ละบทที่ยกมาก็แยบยล และเป็นแบบอย่างที่ดี น่าอิจฉาหลาน ๆ ของท่านจัง

พึ่งแวะเข้ามาเห็นกระทู้นี้ ต่อไปจะแวะมาบ่อย ๆ ครับ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 28 มี.ค. 11, 18:39
     ขอบคุณคุณอกนิษฐ์ครับ  ชมกันอย่างนี้เดี๋ยวผมก็ลอยตามคุณขึ้นไปหรอก (แต่สงสัยคงขึ้นไปไม่ถึง สูงเหลือเกิน)  เรื่องก็มาจากหลานปู่หลานตา
ตัวดีทั้งหลายเป็นต้นเหตุ   ตอนนี้ก็ไปลากเอาเพื่อนๆ มาร่วมแจมเข้าอีกแล้ว   กำหนดให้ผมสอนวิธีแต่งโคลง-กลอนทุกชนิด แล้ววางหัวข้อให้เสียด้วย
ทำอย่างกับผมเป็นเจ้าของเว็บอย่างนั้นแหละ  เดี๋ยว อ. เทาชมพู เหล่ผมตาย    ผมขอเรียนเชิญคุณอกนิษฐ์ให้แสดงฝีมือให้เยาวชนดูเป็นตัวอย่างด้วย
ครับ   คิดเสียว่าเป็นวิทยาทานแก่เด็กๆ นะครับ
     แม่หนูคนหนึ่งแอบเอาโคลงกระทู้ที่เธอแต่งไว้มาให้ผมดู  ความพยายามของเธอดีครับแต่เธอยังไม่เข้าใจดีพอ  เนื้อความในโคลงของเธอไม่ตรงกับ
กระทู้ที่เธอตั้งขึ้นมา   กระทู้มีอยู่สองชนิด คือ กระทู้มีความหมาย กับกระทู้ที่ไม่มีความหมาย   กระทู้ที่มีความหมายจะต้องแต่งถ้อยความให้สอดคล้อง
กับกระทู้นั้น   ส่วนกระทู้ที่ไม่มีความหมายจะแต่งอย่างไรก็ได้  กระทู้ของเธอคือ "กำแพงมีหู ประตูมีช่อง" กับ "คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก" ซึ่งเป็นกระทู้
ที่มีความหมายทั้งคู่  แต่ด้วยเวลาจำกัดผมเลยแต่งไว้ให้เธอดูเป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ เอาไว้ ซึ่งผมยังไม่พอใจนัก (ผมยังไม่ได้แก้ไขเลย)

                                    กำ    แหงหาญพล่อยพลั้ง        เจรจา
                                    แพง  เพลี่ยงเสียราคา             ต่ำต้อย
                                    มี     ความลับคับคา              ควรคิด
                                    หู     กระหายฟังถ้อย             ทั่วถ้วนทุกมุม

                                    ประ   สงค์เก็บเรื่องร้าย           หรือดี
                                    ตู     ไตร่ตรองพาที              มิดเมี้ยน
                                    มี     ตาส่องราวี                  หาข่าว
                                    ช่อง  อาจนำชี้เสี้ยน               ศึกเข้าทำลาย  ฯ

                                    คับ   แคบเขตบ้านพัก            อาศัย
                                    ที่    สุดเพียงราวไพร             หลับพริ้ม
                                    อยู่   เย็นหากดวงใจ              เป็นสุข
                                    ได้   แก่คนมักยิ้ม                ต่อสู้โชคชะตา

                                   คับ    ดวงจิตขัดข้อง              ทุกข์ทน
                                   ใจ     วิตกวกวน                  อัดอั้น
                                   อยู่    มิสุขร้อนรน                 อกเร่า
                                   ยาก   หยั่งกายควรดั้น             ดุ่มด้นค้นทาง  ฯ

     เนื่องจากกระทันหันเกินไปจึงแต่งได้ไม่ดีนัก  และบอกให้เธอลองหัดตั้งกระทู้อื่นๆ หลายๆ แบบ โดยยกตัวอย่างให้เธอดู

                                   ปากหวานก้นเปรี้ยว  อย่า          พึงทำ
                                   ปากว่าตาขยิบ        ปรำ          ชั่วให้
                                   ปากคอเราะราย      นำ            ศักดิ์เสื่อม
                                   ปากเปราะปากโป้ง   ไซร้          เลี่ยงเว้นเจรจา  ฯ

     นอกจากนี้ยังมีกระทู้ที่ไม่มีความหมายซึ่งเราจะใส่เรื่องราวใดๆ ลงไปก็ได้   ดูโคลงกระทู้ของบรมครูศรีปราชญ์เป็นตัวอย่าง

                                  ทะ  เลแม่ว่าห้วย                   เรียมฟัง
                                  ลุ่ม  ว่าดอนเรียมหวัง               ว่าด้วย
                                  ปุ่ม  เปือกว่าปการัง                 เรียมร่วม ความแม่
                                  ปู   ว่าหอยแม้กล้วย                ว่ากล้ายเรียมตาม  ฯ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 30 มี.ค. 11, 08:36
                         -: หญิงเลว :-                                                              -: ชายทราม :-

            ทะ  เล่อทะล่าล้ำ          กลางวง                                             ทะ  เล้นทะลึ่งล้อ          กุลสตรี
            ลุ่ม  เลศเจตจำนง         แร่เร้น                                               ลุ่ม  หล่มแห่งกามินี        ต่ำช้า
            ปุ่ม  ปูดเปิดโดยจง        ใจร่าน                                               ปุ่ม  เปือกว่าฟองนที       เหลิงเล่น
            ปู   ล่อลวงชายเคล้น      หื่นห้ำกามา  ฯ                                      ปู   ร่ำปูราณร้า             บ่พ้นเดรัจฉาน  ฯ


                        -: หญิงงาม :-                                                                -: ชายดี :-

            ทะ  นุถนอมเกียรติไว้     ยืนยาว                                              ทะ  ลุกลางปล้องแส่       หมดดี
            ลุ่ม  ลึกวจีพราว           อ่อนน้อม                                           ลุ่ม  ลึกวาทวาที            เลิศล้ำ
            ปุ่ม  ปมก็ บ สาว          ไส้ออก มาเฮย                                     ปุ่ม  ปมเงื่อนพจนีย์         หลีกเลี่ยง นาพ่อ
            ปู   ชกะปูชิตพร้อม       พุทธเจ้าโมกษา  ฯ                                  ปู   ลาดไมตรีซ้ำ           กล่าวด้วยพจีพร  ฯ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: อกนิษฐ์ ที่ 30 มี.ค. 11, 16:47
"เมื่อกว่าสี่สิบปีที่แล้วขณะที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น" คะเนจากประโยคนี้ท่าน willyquiz ก็น่าจะอายุราว 50-60 ปีแล้ว อาวุโสมากกว่าผมเกินสิบปี ขออนุญาตเรียกน้าวิลลี่นะครับ

โคลงกลบทอักษรล้วนสลักแก้วที่มีแรงบันดาลใจมาจากเพลงบัวตูมบัวบานของน้าวิลลี่ นับว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์มาก เด็กอายุสิบกว่าเขียนได้ขนาดนี้ต้องถือว่าฉายแต่น้อย เสียดายที่อาจารย์ท่านไม่อยู่ในวิสัยที่จะเจียรนัยเพชร ทำให้มิอาจฉายแววที่แท้จริงได้แต่เริ่ม

น้าวิลลี่ถามว่า "ใครเป็นผู้กำหนดว่ากลบทจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  มีหลักฐานบ้างหรือไม่ที่ตั้งกรอบแห่งกลบทไว้  ถ้ามี อ้างอิงจากแหล่งใด"

ผมมิใช่ครูบาอาจารย์ ได้แต่วิชาครูลักพักจำมา แม้จะด้อยในภูมิ แต่ก็อยากจะตอบ เผื่อเป็นวิทยาทานสำหรับผู้ไม่รู้ อาจจะมิใช่คำตอบตรงตัว แต่ก็อาจพอเทียบเคียงให้เป็นแนวคิดว่า

ตำรากลบทที่นักกวีไทยใช้เป็นแนวทางศึกษา หลัก ๆ มีอยู่ ๓ เล่มคือ จินดามณี แต่งโดยพระโหราธิบดี มีกลบทอยู่ ๖๐ ชนิด  ศิริวิบุลกิตติ์ แต่งโดยหลวงศรีปรีชา (เซ่ง) มีกลบอยู่ ๘๕ ชนิด และประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ มีทั้งหมด ๙๗ ชนิด มีทั้งกล อักษร และกลแบบ ส่วนใหญ่ ซ้ำกับกลบทใน ศิริวิบุลกิตติ์ [อ้างอิงจาก "กวีนิพนธ์ไทย เล่ม ๒"  โดย สุภาพร มากแจ้ง] ในเน็ตนี้ มีคนรวบรวมมาโพสต์หลายแห่งเหมือนกัน ค้นหาเร็ว ๆ เจอใน http://www.watkoh.com/forum/index.php?topic=2466.30 ก็พอเป็นแนวทางได้ นอกจากนี้ในเน็ตก็ยังเจออีกเล่มคือ กลบทสุภาษิต ของ หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) ยอดกวีเมืองจันท์

ในความเห็นส่วนตัว การแต่งกลบทเป็นการฝึกฝีมือ เป็นการแสดงฝีมือของกวี ผู้ที่มีความสามารถเข้าขั้นแล้วสามารถคิดกลบทใหม่ ๆ ได้เองโดยไม่มีข้อจำกัด เพียงแต่แบบที่ต่างแล้วให้ความไพเราะกลับมีไม่มาก กลบทที่สร้างขึ้นมาหากไปลดเสน่ห์ของฉันทลักษณ์ก็ไม่น่าพิสมัยอะไร จึงไม่ค่อยมีใครแต่งเรื่องราวยาวเป็นกลบทมากนัก แต่มักแทรกกลบทเพียงวางวรรคบางบาท ย้ำ บางวรรคบางบาท เท่านั้น เพื่อสร้างสีสัน นอกจากนี้การแต่งกลบทสำหรับผู้เริ่มฝึกหัด เป็นเรื่องที่ดี เหมือนนักดาบที่ฝึกซ้อมให้แม่นฉมัง ถึงเวลาใช้งาน มันจะไหลลื่นออกมาเอง โดยไม่ต้องบอกว่าเป็นกลบทอะไร

หากจะคิดกลบทใหม่ ๆ ออกมา ส่วนมากก็ต้องไปเทียบตำราเก่าเสียก่อนว่าซ้ำกับของเก่าหรือเปล่า ซึ่งมักจะพบเสมอ ๆ ในเน็ต ที่มีผู้คิดกลบทขึ้นมาเอง เข้าใจว่าเป็นของใหม่ ก็ใส่ชื่อเพื่อเตือนความจำ ปรากฏภายหลังว่าซ้ำกับของเก่าเสียส่วนมาก แต่ก็มิได้ผิดอะไรหากจะสร้างขึ้นมา และก็พบอยู่บ่อย ๆ ถือเป็นการลับฝีมือของกวีรุ่นใหม่ ๆ เป็นของเล่นสนุก นับว่าดีเสียอีก เด็กรุ่นใหม่จะได้ไม่เบื่อฉันทลักษณ์โบราณไปเสียก่อน

หากจะถามว่าผมรู้เรื่องกลบทมากไหม ก็สามารถตอบได้ว่า รู้ไม่มาก และไม่ค่อยแต่งเท่าไหร่ เห็นน้าวิลลี่แต่งมาเยอะ ก็เห็นว่าน่าทึ่งอยู่ไม่น้อย จึงเข้ามาชื่นชม หากมีเวลาพอ จะร่วมแต่งด้วยครับ

        กลบทกลแบบเบ้า            เบาราณ
    กวีร่ำอักขระจาร                  แจ่มหล้า
    พิเศษพิสิษฐ์สาร                 สรรค์เสนาะ
    ลายลักษณ์เฟ้นอวดฟ้า           เฟื่องฟุ้งจรุงสยาม ฯ





กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 30 มี.ค. 11, 19:54
     ผมไม่เคยนึกต่อว่าอาจารย์ผมเลยครับ  ถ้าคุณอกนิษฐ์อ่าน คคห. ของคุณหลวงเล็กแล้วจะเข้าใจ  เพราะนั่นคือสิ่งที่อาจารย์สอนผมครับ  ผมว่าท่านเมตตาผมเป็นพิเศษเสียด้วยซ้ำ
ถึงกับบอกให้ผมพกปทานุกรมนักเรียนติดตัวไว้เสมอเผื่อนึกอะไรไม่ออก  ผมว่าท่านเป็นแรงบันดาลใจของผม  กับอีกคนหนึ่งซึ่งทำให้ผมสนใจโคลงกลอนก็คือ pen-pal เพื่อนทาง
จดหมายของผมเมื่อในอดีต  เธอเป็นสาวป่าซาง ลำพูน อายุเท่ากัน แต่ชั้นเชิงในการแต่งโคลงกลอนของเธอผมทาบไม่ติดเลย  ชื่อของเธอก็คือปริศนา "ใครเอ่ย ?" ของผมไงครับ
เราเขียนกลอน-กาพย์-โคลง ทายปัญหากันทางจดหมายครับ  บางครั้งจดหมายทั้งฉบับก็เป็นคำกลอนหมด (เธอเขียนนะครับ ตอนนั้นผมไม่เก่งถึงขนาดเขียนยาวๆ แบบนั้น)  และมี
ภาษาคำเมืองแทรกมาด้วย   เธอคนนี้ทำให้ผมพยายามอย่างหนักเพื่อไม่ให้อายเธอได้ ในฐานะเราเป็นชาวกรุงใหม่และเธอเป็นชาวกรุงเก่า (เธอบอกอีกน่ะแหละ)
     เพราะเหตุดังนี้ ผมจึงอยากตามใจเด็กๆ ด้วยการแต่งอะไรก็ได้ตามที่ถูกแกขอ  นี่ผมก็ถูกขอมาจนไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหนแล้ว  ผมจึงอยากให้คุณอกนิษฐ์มาร่วมสนุกแต่งให้เด็กๆ
ดู  ลำพังผมคงไปได้ไม่กี่น้ำหรอกครับ  แค่ขอให้ผมแต่งฉันท์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ผมก็มึนตึ๊บแล้ว  นี่ก็กำลังพยายามอยู่ไม่รู้ว่าจะไปได้ถึงไหน  ข้อสำคัญ
พวกโคลงกลอนต่างๆ พวกแกกำหนดให้ผมใช้ชื่อแม่บ้านผมเป็นหลัก เป็นการป้องกันไม่ให้ผมไปลอกโคลงกลอนของใครมาหลอกพวกแกน่ะครับ  ผมก็ต้องตามใจพวกแกตามเคย

กลอนดอกสร้อย :-

                                                                  -: บานชื่น :-
                                            บานเอ๋ยบานชื่น                            บุปผาอื่นหมื่นแสนมิแม้นเหมือน
                               เจ้าสวยสดงดงามตามติดเตือน                          ดั่งดวงเดือนเด่นฟ้ากว่าหมู่ดาว
                               อยู่แดนดินถิ่นใดใครก็รัก                               ซึ้งประจักษ์ใจเทียบเปรียบดังสาว
                               ชื่อบานชื่นชื่นบานหวานทุกคราว                        ยามเอื้อนกล่าววจีพี่ซึ้งเอย  ฯ

กลอนสักวา :-

                                                                  -: บานชื่น :-
                                         สักวามาลีมีดื่นดก                             พี่ขอยกบานชื่นขึ้นยืนสู้
                               ให้เป็นหนึ่งเหนือค่าความน่าดู                           คนมิรู้ร่านเยาะเพราะโง่งม
                               ใครจะว่าใดงามตามใจเขา                              แต่ลำเพาของพี่นี้งามสม
                               บุษบาดอกอื่นเขาชื่นชม                                พี่เพียงดมดอกบานชื่นรื่นใจเอย  ฯ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 11, 20:13
กลบท มีอยู่หลายบทในนิราศสุพรรณ ของสุนทรภู่

(สรล้วน)
(๒๘๖) ๏ เขาเขียวโขดคุ่มขึ้น                เคียงเคียง
ร่มรื่นรุกข์รังเรียง                                 เรียบร้อย
โหมหัดหิ่งหายเหียง                            หัดหาด แห้วแฮ
ยางใหญ่ยอดยื่นย้อย                          โยกโย้โยนเยนฯ

(ราชสีห์เทียมรถ)
(๒๙๒) ๏ ยลโศกยามเศร้ายิ่ง                ทรวงเย็น
คิดสุดขัดแสนเข็ญ                                 โศกไข้
หวนหนาวหากนึกเห็น                           หน้าแห่ง น้องแฮ
ดวงจิตเด็จจากได้                                จึ่งดิ้นจำโดยฯ

(สกัดแคร่)
(๒๙๖) ๏ หนาวลมห่มผ้าห่อน                  หายหนาว
ฟ้าพร่ำน้ำค้างพราว                                พร่างฟ้า
เด่นเดือนเกลื่อนกลาดดาว                       ดวงเด่น
ใจเปล่าเศร้าซบหน้า                              นึกน้องหมองใจฯ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 31 มี.ค. 11, 05:44
     ได้เห็นอาจารย์ใหญ่เข้ามาเยี่ยมเยือนอีกครั้งพร้อมด้วยของขวัญ  ผมรู้สึกดีใจและมีกำลังใจขึ้นอีกอักโข   อาจารย์มาเยี่ยมก็ดีแล้ว ผมจะได้ถือโอกาสขออนุญาต
ใช้พื้นที่นี้เพื่อสอนเยาวชนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งซึ่งอยากเป็นกวีกับเขาบ้าง   ในฐานะอาจารย์เป็นเจ้าของบ้านและผมเป็นผู้มาเยือน เลยอยากทำอะไรให้ถูกต้องเสียก่อน
น่ะครับ  หวังว่าอาจารย์คงเมตตาเด็กๆ

สัททุลลวิกกีฬิตฉันท์ :-

                          (แบบ)               ั   ั   ั   ุ   ุ   ั   ุ   ั   ุ   ุ   ุ   ั*

                                            ั   ั   ุ   ั   ั*                                                           ุ   ั+

                                                ั   ั   ั   ุ   ุ   ั   ุ   ั   ุ   ุ   ุ   ั+

                                                                         -:มหาราชสดุดี :-

                                               น้อมเกล้าด้วยศิระหัตถ์ประนมมนสิการ
                                           สมเด็จพระภูบาล                                                         บดี
                                               นบนอบองค์อติราชสฤฎิสตุตี
                                           สืบวงศ์ ธ จักรี                                                            ปฐม
                                               รังสรรค์เสริมวรพงศ์วิบุลวรุตดม
                                           รุ่งเรืองวิจิตรสม                                                           กษัตริย์
                                               ปกป้องผองภยพาลพิพิธริปุขจัด
                                           แน่วแน่บรมวัตร                                                           ศรัณย์
                                               บำรุงราษฎร์ทะนุรักษ์ประจักษ์คุณอนันต์
                                           เชื้อชาติ บ กีดกัน                                                         ประสาท
                                               แดนกันดารทุรคมมิพันยุคลบาท
                                           ทุกถิ่นมหาราช                                                            เสด็จ
                                               เสโทราวชลธารถะถั่งพระนฤเบศ
                                           มวลชนสิสังเวช                                                            สลด
                                               แนวหนามในวนสัณฑ์เกาะเกี่ยว บ มิระทด
                                           ราชันยกำหนด                                                             เจริญ
                                               โปรยหลั่งราชกรุณาประชาพิระเผชิญ
                                           โดยทรงพระดำเนิน                                                        วิจัย
                                               ประนมกรอภิวาทน์ ณ บาทพระภุวไนย
                                           หากโดยเสด็จใด                                                           สราญ
                                               ขอพรหมินทร์อกนิษฐ์สถิตวรภิบาล
                                           เอื้อองค์พระกอปรการ                                                     กุศล
                                                ขอเดชแห่งวรญาณวิสุทธิ์พระทศพล
                                           พุทธานุภาพดล                                                             ชโย   ฯ

                                                                                             ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
                                                                                               ข้าพระพุทธเจ้า willyquiz


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 31 มี.ค. 11, 09:23
คุณ willyquiz แต่งสัททุลวิกกีฬิตฉันท์ ๑๙ เป็นบทอาศิรวาท
ขอชมเชยว่าคุณแต่งฉันท์ยากได้ดีครับ  เลือกใช้คำมาแต่งดี
มีสัมผัสเสียงพยัญชนะ   อย่างไรก็ตาม ยังมีที่ผิดครุลหุฉันท์ในบางตำแหน่ง
ดังนี้

 รังสรรค์เสริมวรพงศ์วิบุลวรุตดม
รุ่งเรืองวิจิตรสม                        กษัตริย์

คำว่า วรุตดม  มาจาก  วร  +  อุตดม (อุตฺตม)
คำนี้ อ่าน วะรุตดม หากให้อ่านว่า วะรุตะดม  ก็จะผิดภาษาไป
เป็นไปได้ก็ควรใช้คำอื่นที่ไม่ฝืนรูปคำตามหลักภาษา

โปรยหลั่งราชกรุณาประชาพิระเผชิญ
โดยทรงพระดำเนิน                      วิจัย

คำว่า ทรงพระดำเนิน เป็นราชาศัพท์สำหรับเจ้านายระดับพระองค์เจ้า
พระเจ้าอยู่หัวต้องใช้ราชาศัพท์ว่า ทรงพระราชดำเนิน
เข้าใจว่า คุณต้องการใช้ทรงพระดำเนิน เพื่อให้ลงฉันทลักษณ์ได้พอดี
แต่ก็ทำให้ผิดหลักการใช้ราชาศัพท์ เป็นการลดระดับราชาสัพท์ของพระเจ้าอยู่หัวให้ต่ำลง
ซึ่งเป็นข้อที่พึงระวังและหลีกเลี่ยง

คำว่า  พิระ  ลดเสียงมาจากคำว่า  พีระ  (วีระ) ที่แปลว่า กล้า ใช่หรือไม่ครับ
หากเป็นเช่นนั้น  ก็ควรระวังด้วยว่า   การเปลี่ยนเสียงสระยาวเป็นสั้น หรือสั้นเป็นยาว
อาจจะทำให้ความหมายของคำเปลี่ยนไปด้วย   โชคดีว่า พิระ ในภาษาไทยและบาลี
ไม่มี   แต่ในบาลีมี วิร เป็นธาตุกริยา  แปลว่า งดเว้น   (เช่น  มังสวิรัติ แปลว่า การงดเว้นเนื้อสัตว์)
ฉะนั้นขอแนะนำให้ระวังไว้ด้วยครับ


ประนมกรอภิวาทน์ ณ บาทพระภุวไนย
หากโดยเสด็จใด                          สราญ

คำว่า  ประนม  ในตำแหน่งคำว่า ประ  ต้องเป็นคำครุ
แต่  ประ เป็นคำลหุ  ถือว่าผิดฉันทลักษณ์  ถ้าเปลี่ยนเป็น ก้มกราบ หรือ บังคม
ก็จะถูกฉันทลักษณ์


ขอพรหมินทร์อกนิษฐ์สถิตวรภิบาล
เอื้อองค์พระกอปรการ                   กุศล
ขอเดชแห่งวรญาณวิสุทธิ์พระทศพล
พุทธานุภาพดล                           ชโย   ฯ

ฉันท์สองบทนี้  แต่งได้ไพเราะดีครับ  ใช้คำก็เหมาะสม
แต่มีที่พึงแนะนำ คือ ควรจะเรียงลำดับขอพระพระพุทธเจ้าขึ้นก่อน
เพราะพระพุทธเจ้าสูงกว่าพระพรหมชั้นอกนิษฐพรหม
ตามธรรมเนียมการแต่งบทอาศิรวาท  เราจะขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ไล่ลำดับจากสูงสุดลงมา และนิยมขอพรพระรัตนตรัยเป็นอันดับแรก
แล้วจึงจะเป็นเทวดาอารักษ์ต่างๆ   ในกรณีบทประณามพจน์ก็ใช้เรียงลำดับอย่างนี้เหมือนกัน
ซึ่งสามารถดูแบบอย่างได้จากงานของนักประพันธ์ที่มีมาแล้วได้


ผมขออนุญาตแนะนำคุณแต่เท่านี้ครับ  หากจะเป็นการทำให้คุณไม่พอใจอย่างไร
ก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย   กระนั้นก็ขอให้กำลังใจแก่คุณให้ฝึกฝนการแต่งร้อยกรองได้เก่งขึ้นครับ










กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 31 มี.ค. 11, 17:36
     ผมอ่านย่อหน้าสุดท้ายของคุณหลวงแล้วไม่ค่อยสบายใจ  ผมเป็นผู้น้อยต้องค่อยประนมกรครับ   ผมอาจมีวัยวุฒิ แต่คุณวุฒิผมยังน้อยครับ  ในทางตรงกันข้าม
ผมรู้สึกดีใจและภาคภูมิที่คุณหลวงได้กรุณาเขียนคำติชมแนะนำมา  นั่นหมายถึงว่าอย่างน้อยบทกวีของผมยังมีค่าพอที่จะให้คนอื่นๆ อ่านได้  และผมขอให้คุณหลวง
ได้ช่วยแก้ไขเพิ่มเติมข้อผิดพลาดที่คุณหลวงพบด้วยนะครับ  ผมไม่ยอมให้อัตตาธิไตยของผมมาทำลายเยาวชนที่บังเอิญเข้ามาอ่านเว็บหน้านี้เป็นเด็ดขาดครับ
     ผมมีจุดอ่อนสองอย่างขณะที่แต่งคำฉันท์บทนี้ คือ
     ๑. นี่เป็นฉันท์บทแรกที่ผมแต่งในรอบสามสิบปี  ความเรื้อเวทีทำให้เกิดจุดอ่อนขึ้น
     ๒. ความเร่งรีบ  ห่วงกังวล  กลัวที่จะไปธุระไม่ทันเวลา  ทำให้ละเลยลืมแก้ไขข้อผิดพลาดของตนเอง  นึกขึ้นได้เมื่อสายเสียแล้ว

     ผมขอชี้แจงคุณหลวงดังนี้ครับ
     1. "รังสรรค์เสริมวรพงศ์วิบุลวรุตดม"  น้อมรับข้อผิดพลาดโดยดุษฎีครับ  ที่จริงเมื่อครั้งที่อ่านสามัคคีเภทคำฉันท์ ผมเคยพบถ้อยคำทำนองนี้หลายแห่งและตั้งใจ
         ที่จะไม่นำมาใช้เอง (ทำนองเดียวกับที่อ่านโคลงโบราณแล้วพบ เอกโทษ โทโทษ แล้วไม่เคยนำมาใช้ด้วยตนเองเลย)    แต่ครั้งนี้ผมมองข้ามโดยไม่ได้แยก
         รากศัพท์เสียก่อน   คุณหลวงละเอียดมากครับ (แสดงถึงความมีคุณวุฒิสูงกว่าผมมาก)
     2. "โปรยหลั่งราชกรุณาประชา'พิระ'เผชิญ"    ตอนแต่งครั้งแรกใช้คำว่า 'วิระ' ซึ่งหมายถึงกล้าหาญครับ  แต่ไม่สัมผัสกับ ประชา คำหน้า และ เผชิญ ที่ตามมา
         จึงแผลง ว เป็น พ ซึ่งเป็นเรื่องปกติในภาษาไทย  เนื่องจากว่าตอนนี้พจนานุกรมไม่ได้อยู่ที่นี่ผมจึงยังตรวจสอบไม่ได้  หากตรวจสอบแล้วจะขอความคิดเห็น
         อีกครั้งหนึ่งครับ (แต่สมัยก่อนผมใช้คำว่า วิระ บ่อยมากในการแต่ง อินทรวิเชียรฉันท์  ผมจึงนำมาใช้เหมือนเป็นธรรมชาติ)
     3. "โดยทรงพระดำเนิน" กับ "ประนมกรอภิวาทน์"  เป็นความผิดพลาดทางเทคนิคครับ   ผมได้แก้ไขเอาไว้แล้ว  แต่ยังไม่ถูกใจเสียทีเดียวจึงมาร์คเอาไว้ก่อน
         และเวลาก็ดึกมากผมจึงนอนคิดว่าจะใช้คำอะไรดี คิดเพลินๆ ก็เลยหลับไป  พอตื่นขึ้นมาหลังจากทำธุระส่วนตัวเสร็จ  ก็รีบมานั่งพิมพ์กะจะให้เสร็จก่อนหกโมงเช้า
         เลยเกิดความผิดพลาดขึ้น   มารู้ตัวก็อยู่นอกบ้านเสียแล้ว 
              ที่ผมยังไม่ถูกใจก็คือ ประโยคแรกผมแก้เป็น "ราชัน ธ ดำเนิน" เพราะใช้ทั้งราชันย และ ธ มาครั้งหนึ่งแล้ว  ส่วนประโยคที่สองนั้นนอกจากผิด ครุลหุ แล้ว
         ยังเป็นคำเริ่มต้นตั้งแด่บาทแรก พร่ำเพรื่อเกินไป ผมจึงแก้เป็น "สองกรน้อมอภิวาทน์ ณ บาทพระภุวไนย" แต่ยังไม่ได้ขีดฆ่าของเดิมทิ้ง  จึงผิดพลาดขึ้น
     4. สองบทสุดท้ายที่คุณหลวงกล่าวถึงอาจเป็นเพราะอวิชชาของผมเอง  ก่อนแต่งคำฉันท์บทนี้ผมได้วางโครงเรื่องเอาไว้แล้วและกำหนดไว้แล้วว่าจะต้องจบลงแบบนี้
         ไม่ทราบว่าคุณหลวงพอจะรับฟังเหตุผลของผมได้ไหม      เวลาผมสวดมนต์ผมจะเริ่มด้วยบทชุมนุมเทวดาก่อนเสมอ   และเมื่อสวดเสร็จผมก็จะปิดท้ายด้วย
         อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ........... เพื่อเป็นการบูชาคุณพระรัตนตรัยเป็นครั้งสุดท้าย  ซึ่งผมคิดว่าเปรียบเหมือนผมแต่ง
         คำฉันท์นั่นเอง   ผมขอบูชาคุณแห่งพุทธอำนาจอันบริสุทธิ์เป็นครั้งสุดท้ายเพื่อให้ทรงคุ้มครองในหลวงของผม  ผมจึงแต่งไว้เป็นบทสุดท้ายครับ   แต่ไม่ทราบ
         มาก่อนว่าการแต่งในลักษณะนี้เป็นการผิดธรรมเนียม   ยามปกติเวลาผมแต่งเรื่องยาวผมก็จะเริ่มบูชาครูด้วยคุณพระศรีรัตนตรัยก่อนเสมอแล้วตามด้วยเทพองค์อื่น
         แต่ครั้งนี้มาผิดพลาดไป เพราะคาดไปไม่ถึง   ขอบพระคุณที่ตักเตือนครับ

     คำชี้แจงและตักเตือนของคุณหลวงในครั้งนี้ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะตัวผมเท่านั้น  ลูกหลานและเยาวชน และสมาชิกท่านอื่นที่บังเอิญเข้ามาอ่านก็พลอยได้รับผลประโยชน์
ไปด้วย  ผมขอให้คุณหลวงได้กรุณาชี้แนะด้วยยามที่เกิดข้อผิดพลาดขึ้นทุกครั้งนะครับ  ขอขอบพระคุณไว้ล่วงหน้า


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 31 มี.ค. 11, 17:48
สมแล้วที่คุณหลวงเล็กรับราชการอยู่กระทรวงมุรธาธร ;D
ไทย บาลี สันสกฤต ฝรั่ง ขอม
ชำนาญนัก

อย่างนี้คงย้ายไปกระทรวงอื่นไม่ได้


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 01 เม.ย. 11, 05:40
     กระทรวงมุรธาธรนี่อยู่ตรงส่วนไหนของเรือนไทยหรือครับคุณ art47 หวังว่าคงไม่ใช่บนหลังคานะครับ ???

     หลานคนหนึ่งโทรศัพท์มาเมื่อคืน บอกว่าได้อ่านเรื่อง pen pal ในอดีตของผมแล้วอยากจะทำอย่างนั้นบ้าง ขอให้แต่งโคลงปริศนาใครเอ่ยให้ดูอีกสักครั้ง
จะหัดแต่งเอาไปทายเล่นกับเพื่อนๆ บ้าง พอดีกับที่ผมกำลังอ่านนวนิยายของนักประพันธ์ท่านหนึ่งอยู่  จึงยกเอาชื่อของท่านมาเป็นปริศนาเสียเลย

                                                          ใครเอ่ย ?

                                     แพรวพราวพรายแพร้วเลื่อม          นุสรณ์
                                   รองรุ่งราวภากร                         ก่องแก้ว
                                   อรช คืออร                             พิสุทธิ์
                                   อีกหนึ่งรังสีแผ้ว                         ผ่องเนื้อฉัพพรรณ  ฯ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 เม.ย. 11, 08:57
คุณwillyquiz  คำว่า  ราชันย  แปลว่า ความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน   
คำนี้จะนำมาใช้แทนคำว่า ราชัน ไม่ได้  ราชันเป็นคำภาษาสันสกฤตแปลว่า พระเจ้าแผ่นดิน
แต่อยู่ในรูปที่ยังไม่ได้แจกวิภัติ   เช่นเดียวกับคำว่า  ราช กับ ราชย
ราช แปลว่ากษัตริย์  หรือเกี่ยวข้องกับกษัตริย์  แต่ ราชย  แปลว่า ความเป็นกษัตริย์
ฉะนั้น ครองราชสมบัติ หรือ ครองราชย์ ควรเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง
ไม่ใช่ ครองราชยสมบัติ

4. สองบทสุดท้ายที่คุณหลวงกล่าวถึงอาจเป็นเพราะอวิชชาของผมเอง  ก่อนแต่งคำฉันท์บทนี้ผมได้วางโครงเรื่องเอาไว้แล้วและกำหนดไว้แล้วว่าจะต้องจบลงแบบนี้
         ไม่ทราบว่าคุณหลวงพอจะรับฟังเหตุผลของผมได้ไหม      เวลาผมสวดมนต์ผมจะเริ่มด้วยบทชุมนุมเทวดาก่อนเสมอ   และเมื่อสวดเสร็จผมก็จะปิดท้ายด้วย
         อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ........... เพื่อเป็นการบูชาคุณพระรัตนตรัยเป็นครั้งสุดท้าย  ซึ่งผมคิดว่าเปรียบเหมือนผมแต่ง
         คำฉันท์นั่นเอง   ผมขอบูชาคุณแห่งพุทธอำนาจอันบริสุทธิ์เป็นครั้งสุดท้ายเพื่อให้ทรงคุ้มครองในหลวงของผม  ผมจึงแต่งไว้เป็นบทสุดท้ายครับ   แต่ไม่ทราบ
         มาก่อนว่าการแต่งในลักษณะนี้เป็นการผิดธรรมเนียม   ยามปกติเวลาผมแต่งเรื่องยาวผมก็จะเริ่มบูชาครูด้วยคุณพระศรีรัตนตรัยก่อนเสมอแล้วตามด้วยเทพองค์อื่น
         แต่ครั้งนี้มาผิดพลาดไป เพราะคาดไปไม่ถึง   ขอบพระคุณที่ตักเตือนครับ

อ๋อ  บทชุมนุมเทวดาที่ขึ้นว่า สัคเค กาเม จะ รูเป  ... แล้วลงท้ายว่า ธัมมะสะวะนะกาโล  อะยัมภะทันตา ๓ จบ  นั่นหรือครับ
บทชุมชุมเทวดา  ไม่ใช่บทที่บ่งบอกว่าเป็นการนมัสการขอพรเทวดา  แต่เป็นเชื้อเชิญเทวดาอมนุษย์ให้มาประชุมกันเพื่อฟังธรรม
บทชุมนุมเทวดานั้น  ปกติแล้ว พระภิกษุสงฆ์จะกล่าวขึ้นก่อนที่เริ่มเจริญพระปริต (จะเป็น ๗ หรือ ๑๒ ตำนานก็แล้วแต่)จากนั้นจะตามด้วย
บทขัดตำนาน  แล้วจึงจะเริ่มเจริญพระปริต  ถ้าจะหาแนวยึด  คุณชอบสวดมนต์คุณควรใช้ลำดับตามบทมงคลจักรวาฬใหญ่
ย้ำอีกครั้ง  การเชิญเทวดา ไม่ใช่การขอพรครับ 


กระทรวงมุรธาธร  เป็นกระทรวงที่ทำหน้าที่รักษาตราประทับที่ใช้สำหรับแต่งตั้งขุนนางสัญญาบัตร
ตลอดจนทำหน้าที่เขียนใบสัญญาบัตรแต่งตั้งข้าราชการทั้งหลาย  จริงๆ แล้วคงมีงานด้านอื่นๆ อีก
มุรธา แปลว่า ศีรษะ  หรือ ตรา ก็ได้    มุรธาภิเษก  แปลว่า  การรดน้ำที่ศีรษะ หรือการรดน้ำพระเจ้าอยู่หัว
คุณอาร์ทชมผมมากไปแล้ว    ;D


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 01 เม.ย. 11, 10:44
     บังเอิญแอบเข้ามาอ่านเลยเห็นข้อความของคุณหลวงเล็กเข้า  ต้องรีบทิ้งงานมาตอบคุณหลวงก่อน
     คุณหลวงเข้าใจผิดครับ  ผมไม่ได้สวดชุมนุมเทวดาเพื่อขอพรจากเทพทั้งหลายครับ   แต่อัญเชิญเทพเทวัญทุกชั้นฟ้ามาฟังผมสวดพุทธมนต์ครับ  และการอัญเชิญเทวดา
ผมก็ใช้อยู่สองรูปแบบคือ   ถ้าผมจะสวดมนต์บทใหญ่ เช่น สิบสองตำนาน ธัมมะจักกัปปะวัตตะนะสูตร  อาทิตตะปะริยายะสูตร หรือ อะนัตตะลักขะณะสูตร  ผมจะใช้บทชุมนุม
เทวดาใหญ่  ซึ่งขึ้นต้นว่า   สะมันตา จักกะวาเฬสุ อัตราคัจฉันตุ เทวะตา.......  ถ้าผมจะสวดมนต์บทย่อ เช่นเจ็ดตำนาน หรือบทอื่นๆ  ผมจะใช้บทชุมนุมเทวดาที่ขึ้นต้นว่า
สะรัชชัง สะเสนัง สะพันธุง นะรินทัง......  แต่ไม่ว่าจะสวดมนต์บทใหญ่หรือบทย่อ  ผมจะลงท้ายด้วยการอัญเชิญเทวดากลับ  ด้วยบท ทุกขัปปัตตา จะ นิททุกขา.....  แล้วตาม
ด้วยบทมงคลจักรวาลใหญ่ (สิริธิติมะติเตโช...) อีกครั้ง  เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการการสวดมนต์แล้ว ผมจึงบูชาพระรัตนตรัยอีกครั้งเป็นเสร็จพิธี (ถ้ายังไม่เหนื่อย ผมก็จะภาวนา
พระคาถาชินบัญชรอีกเจ็ดคาบด้วย)
     ผมวางโครงเรื่องบทอาศิรวาทของผม เหมือนบทสวดมนต์ คือเชิญให้ทุกคนได้รับรู้ว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงงานเพื่อพสกนิกรของพระองค์หนักขนาดไหน  แล้วด้วยอานิสงค์แห่งการ
ที่พระองค์ท่านทรงงานหนัก  ผมจึงขอบารมีแห่งพระพุทธเจ้าเพื่อคุ้มครองพระองค์ท่านเป็นครั้งสุดท้าย  ข้อนี้เป็นเจตนาของผม   แต่ตอนนี้ผมรู้จากคุณหลวงแล้วว่า  การแต่งอาศิรวาท
ลักษณะนี้เป็นการผิดธรรมเนียม  นั่นเป็นเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผมครับ
     อีกข้อที่ต้องขออภัยคุณหลวงเล็กที่ผมเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการหยอกล้อของคุณ art47 ต่อคุณหลวง  จึงโพสท์ข้อความที่ไม่ค่อยเหมาะสมลงไป  ผมขออภัยครับ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 เม.ย. 11, 12:04
ไม่หรอกครับ  คุณอาร์ท เธอชอบยั่วผมประจำอย่างนี้แหละ
สนุกดี   อย่าคิดมากครับ   

ที่ผมท้วงคุณเรื่องเอาลำดับเทพมาก่อนพระพุทธเจ้านั้น
และคุณอ้างเหตุผลจากการสวดมนต์ของคุณว่า
ก่อนสวดมนต์ต้องชุมนุมเทพก่อน  แล้วจึงสวดมนต์
คุณจึงได้วางโครงบทอาศิรวาทตามลักษณะการสวดมนต์
ซึ่งแบบอย่างผิดกัน  จะเอาเทียบกันไม่ได้
จึงได้แย้งมาเช่นนั้น   


ประเด็นฉันท์อาศิรวาทนั้น ของดไว้เท่านี้นะครับ
คุณลองเอาบทใหม่มาลงอีกนะครับ   


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 02 เม.ย. 11, 17:43
     จัดให้ตามคำขอของหนูน้อยหน้าตาจิ้มลิ้มคนหนึ่ง

                                                            กลอนเพลงยาว กลบทดวงเดือนประดับดาว :-

                                                                        -: ท่องเที่ยว :-

                                                                                                    หมองหม่น จนจิต คิดขุ่นข้อง
                                     เรื้อรัง นังนุง มุ่งหมายมอง                                    จับจ้อง ตรองตรึก พฤกษ์พงไพร
                                     เขียนขาน กานท์กลอน โอ้อรเอ๋ย                             เฉื่อยเฉย เลยละ วะวาบไหว
                                     มุ่งมั่น ขันขับ จับจองใจ                                       หลงใหล ในน้อง ต้องติดตาม
                                     พร้อมพรัก ชักชวน นวลนิลเนตร                              หาเหตุ เทศ่ที่ยว เลี้ยวลดหลาม
                                     เรียงราย ชายชล ค้นคุ้งคาม                                  ติดตาม งามงอน จรจัดแจง
                                     งดงาน สานสิ่ง ยิ่งยุ่งยาก                                     ซุกซาก กากกอง นองเน่าแหนง
                                     ส่งสาป คราบคน ปนปลอมแปลง                             เสแสร้ง แทงทับ ลับหลังลง
                                     ลืมโลก โศกเศร้า เฉาเฉื่อยโฉ่                                เมาโม้ โอ้อวด ลวดลายหลง
                                     ก้อยเกี่ยว เที่ยวถิ่น ยินยืนยง                                 ไพรพง คงคา ดาดาษแดน
                                     แควคุ้ง กรุงเก่า เนาแนวน่าน                                  พุพ่าน ฉานฉ่า ผาแผกแผน
                                     สวนสัตว์ จัดจำ ถ้ำเถื่อนแทน                                 เนืองแน่น แล่นเลี้ยว เกรี้ยวกราดเกรง
                                     เขาเขื่อน เตือนตา ท้าทิวทัศน์                                ส่ำสัตว์ ลัดเลาะ เหยาะโหย่งเหยง
                                     วอกวิ่ง ลิงไล่ ไต่โตงเตง                                      โฉงเฉง เร่งรัด กัดแก้มกัน
                                     ทาบทาม ตามต่อ ยอยกย่อง                                 นาฏน้อง อ่ององค์ คงคิดขัน
                                     ชั้นเชิง เริงร่าย ทายทางทัน                                   ผายผัน วันว่าง อ้างเองเอย  ฯ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 02 เม.ย. 11, 20:51
     ผมขอเรียนถามคุณหลวงเล็กเกี่ยวกับบทประพันธ์บางส่วนบางตอนจากเรื่องรามเกียรติ์ (จะเข้าไปถามใน ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรตฺ์ ก็เห็นว่าไม่ถูกกาลเทศะ)
หนังสือของผมส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจมน้ำเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพ ฯ ปี ๒๕๒๖  จึงไม่รู้จะไปค้นคว้าได้จากที่ใด
     ผมจำได้เพียงบางส่วน  แต่กะพร่องกะแพร่งเต็มที  ขอความกรุณาคุณหลวงช่วยเติมส่วนที่ขาดหายไปให้ครบทั้งหมดด้วยนะครับ  ผมจะเก็บเอาไว้ศึกษา

                                           บัดนั้น                         ขุนโหรผู้่ฒ่าทั้งสี่
                             รับสั่งแล้วดูคัมภีร์                            โดยฤกษ์ดิถีประติทิน
                             อันชันษาพระจักรกฤษณ์                    เทวาสถิตอยู่เมษสิ้น
                             .................มาอยู่มิน                   ราหูอสุรินทร์เล็งลัคน์
                             แล้วเทียบชะตาพระนคร                     .....................
                             ........................                     .....................
     ผมจำได้เท่านี้แหละครับ  แต่ที่พิมพ์มานี่ไม่รู้จะถูกหรือเปล่า  มันนานเหลือเกินแล้ว      แล้วมีอีกตอนหนึ่ง

                            ...............จะต้องฆาต                   ..........วิปลาศร้ายสิ้น
                            แม้นมาตรถึงองค์อัมรินทร์                   เป็นปิ่นถึงเทพเทวา
                            ...จะจุติไปจากสถาน                        ไม่ตั้งอยู่นานในยศถา
                           ...........พิเภกอสุรา                         ........ลงกา........(อาจจะเป็น สืบไป)
     ผมพยายามเค้นสมองแล้ว   แต่ก็ทำได้ดีที่สุดแค่นี้
     
     ผมอยากรู้เพราะอยากขึ้นรูปดวงชะตาบรรจุเพระเคราะห์ตามคำประพันธ์เอาไว้ศึกษาลักษณะของพระเคราะห์ที่ว่ารัายเป็นอย่างไรครับ
ถ้าคุณหลวงทราบว่าแต่ละบทดังที่กล่าวใครเป็นผู้ประพันธ์  ขอความกรุณาบอกให้ผมทราบด้วยครับ ขอบพระคุณมาก
                     


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 02 เม.ย. 11, 22:01
    ผมขอเรียนถามคุณหลวงเล็กเกี่ยวกับบทประพันธ์บางส่วนบางตอนจากเรื่องรามเกียรติ์ (จะเข้าไปถามใน ๑๐๐ คำถามเรื่องรามเกียรตฺ์ ก็เห็นว่าไม่ถูกกาลเทศะ)
หนังสือของผมส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจมน้ำเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพ ฯ ปี ๒๕๒๖  จึงไม่รู้จะไปค้นคว้าได้จากที่ใด
     ผมจำได้เพียงบางส่วน  แต่กะพร่องกะแพร่งเต็มที  ขอความกรุณาคุณหลวงช่วยเติมส่วนที่ขาดหายไปให้ครบทั้งหมดด้วยนะครับ  ผมจะเก็บเอาไว้ศึกษา

                                           บัดนั้น                         ขุนโหรผู้่ฒ่าทั้งสี่
                             รับสั่งแล้วดูคัมภีร์                            โดยฤกษ์ดิถีประติทิน
                             อันชันษาพระจักรกฤษณ์                    เทวาสถิตอยู่เมษสิ้น
                             .................มาอยู่มิน                   ราหูอสุรินทร์เล็งลัคน์
                             แล้วเทียบชะตาพระนคร                     .....................
                             ........................                     .....................
     ผมจำได้เท่านี้แหละครับ  แต่ที่พิมพ์มานี่ไม่รู้จะถูกหรือเปล่า  มันนานเหลือเกินแล้ว      แล้วมีอีกตอนหนึ่ง

                            ...............จะต้องฆาต                   ..........วิปลาศร้ายสิ้น
                            แม้นมาตรถึงองค์อัมรินทร์                   เป็นปิ่นถึงเทพเทวา
                            ...จะจุติไปจากสถาน                        ไม่ตั้งอยู่นานในยศถา
                           ...........พิเภกอสุรา                         ........ลงกา........(อาจจะเป็น สืบไป)
     ผมพยายามเค้นสมองแล้ว   แต่ก็ทำได้ดีที่สุดแค่นี้
    
     ผมอยากรู้เพราะอยากขึ้นรูปดวงชะตาบรรจุเพระเคราะห์ตามคำประพันธ์เอาไว้ศึกษาลักษณะของพระเคราะห์ที่ว่ารัายเป็นอย่างไรครับ
ถ้าคุณหลวงทราบว่าแต่ละบทดังที่กล่าวใครเป็นผู้ประพันธ์  ขอความกรุณาบอกให้ผมทราบด้วยครับ ขอบพระคุณมาก
                      

วันเสาร์-อาทิตย์ คุณหลวงเล็กจะติดงานราษฎร์ที่เคหะสถาน
ผมจึงสวมฐานะเป็นมวยแทนมาตอบคำถามของคุณ willyquiz ;D

บทที่ 1 อยู่ในตอนราชาภิเษกพระราม
"บัดนั้น                           ขุนโหรผู้เฒ่าทั้งสี่
รับสั่งแล้วดูในคัมภีร์              โดยฤกษ์ดิถีประนินทิน
อันในชันษาพระจักรกฤษณ์       เทวาสถิตอยู่เมษสิ้น
ลัคน์จันทร์นั้นจรมาอยู่มิน         ราหูอสุรินทร์เล็งลัคน์
แล้วเทียบชาตาพระนคร          จะถาวรถึงที่พญาจักร
แต่พระเคราะห์โคจรนั้นร้ายนัก    เทวาเสริดพักตร์วุ่นไป
จะจากพระนครไปนอนป่า         จะราชาภิเษกยังไม่ได้
แต่เทวัญนั้นเข้าดลใจ             ที่ร้ายให้กลับเป็นดี
ทูลว่ายังสิบห้าวัน                 ขึ้นสามค่ำวันจันทร์เดือนสี่
เพลาย่ำรุ่งห้านาที                เป็นศรีศุภฤกษ์สถาวร ฯ"

บทที่ 2 อยู่ในตอนราชาภิเษกไพนาสุริยวงศ์
"บัดนั้น                           ขุนโหรผู้ปรีชาหาญ
ก้มเกล้ารับราชโองการ           แล้วจับกระดานชนวนมา
จึ่งตั้งสมผุสพระจันทร์            คูณหารเดือนวันชันษา
สอบใส่ในดวงพระชะตา          เสาร์มาเป็นสิบเอ็ดแก่ลัคน์
พระหัสเป็นศรีตกทวาร           จะได้ผ่านสวรรยาอาณาจักร
เดือนหน้าราหูมาพัก              ทับลัคน์ในราศีมิน
อังคารถึงจันทร์จะต้องฆาฏ       พระคเราะห์ใหญ่วิปลาศร้ายสิ้น
แม้นมาตรถึงองค์อมรินทร์       เป็นปิ่นฝูงเทพเทวา
ก็จะจุติไปจากสถาน             ไม่ตั้งอยู่นานในยสถา
อันพญาพิเภกอสุรา              จะคืนผ่านลงกาสืบไป
คิดแล้วกราบทูลทันที            รุ่งขึ้นพรุ่งนี้ฤกษ์ใหญ่
ต้องตามพระกุมารชาญชัย       ได้ทั้งชันษาชะตาเมือง
ครอบครองโภไคยไอศูรย์        จะเพิ่มพูนเกียรติยศลือเลื่อง
สมบัติพัสถานจะรุ่งเรือง          ไพร่เมืองจะสุขสถาวร ฯ"


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 03 เม.ย. 11, 09:49
     ขอบคุณคุณ art47 มากเลยครับ  คันในหัวใจอยู่นานแล้ว   คราวนี้ชัดเจนจนไม่จำเป็นต้องขึ้นรูปดวงชะตาเลย   ดวงชะตานี้มีพระเคราะห์หกองค์กุมลัคนา
อยู่ที่ราศีเมษ   มีจันทร์สถิตราศีมีน เรือนวินาสน์    มีราหูสถิตราศีตุลย์ เรือนปัตนิ  เข้าลักษณะดวงพินธุบาทว์  ตามสูตร
                                              เสาร์เพ่งเล็งลัคน์แล้   อสุรา
                                            ภุมเมศอัษฎา            ว่าไว้
และเมื่ออ่านถึง "เทวาเสริดพักร์วุ่นไป" จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมจึงต้องจากเมืองไปอยู่ป่า   ผู้แต่งต้องเชื่ยวชาญวิชาโหราศาสตร์อย่างแน่นอน  ผมสงสัยว่าคงจะเป็น
ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๑ ใช่ไหมครับ  คุณ art47 ช่วยเฉลยที    และมีตอนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำนายทายทักแบบนี้อีกไหมครับ?


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: ธีร์ ที่ 03 เม.ย. 11, 16:22
แนะนำอ่านเล่มนี้ดีกว่าไหมครับ ผมว่าน่าจะมีคำตอบให้ครบนะครับ ไม่ว่าในแง่ไหนๆที่ท่านต้องการทราบ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: ธีร์ ที่ 03 เม.ย. 11, 16:38
หนังสือของ อ.เทพ สาริกบุตรครับ

โหราศาสตร์ในวรรณคดีครับ

อีกอย่าง ลัคน์ ในโครงกลอนนี้ อ.เทพ ท่านว่า วางไว้ที่ เมษ เช่นเดียวกับ พระเคราะห์อื่นๆ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 03 เม.ย. 11, 22:58
     ได้พบ ไดอารี่เก่าๆ ของผมเล่มหนึ่งในลังหนังสือ ซึ่งได้บันทึกเรื่องราวประจำวันขณะกำลังทำงานพิเศษอย่างหนึ่งเป็นเวลาหกวันจนงานแล้วเสร็จ  เป็นบันทึกที่บอก
กิจวัตรตั้งแต่ยามเช้าจนกลับเข้าถึงบ้านตลอดทั้งหกวันเป็นกลอนสุภาพ  ผมเห็นว่ามีบางช่วงบางตอนที่นำมาเปิดเผยได้โดยไม่เกี่ยวกับงาน  ผมจึงอยากนำมาลงไว้ให้
เยาวชนดูว่า เราสามารถจะบันทึกอะไรก็ได้ที่เราได้พบเห็นเป็นร้อยกรองโดยไม่มีขีดจำกัด  พอให้เป็นตัวอย่าง

                           .......................................                   ....................................... ฯ
                              ถึงหน้าบ้าน ขานเพรียก เรียกบางมด                  ยิ่งกำสรด สลดแน่น แสนขัดขวาง
                           รถวิ่งวุ่น ฝุ่นเหลือ ไม่เจือจาง                             ทั่วทั้งบาง บ่งไร้ น้ำใจจริง
                           อ้ายพวกชั่ว ตัวการ ในย่านนี้                             มันขับรถ เร็วรี่ ดั่งผีสิง
                           มิสนใจ ใครเดือดร้อน ห่อนประวิง                        หรือมันชิง หมาเกิด เตลิดรู
                           ถิ่นบางมด เคยงดงาม นามอุโฆษ                        เสนาะโสต แซ่ซ้อง ทั้งสองหู
                           มีส้มสูก ลูกไม้ พรายพร่างพรู                            ทุกคนรู้ ส้มหวาน กว่าย่านใด
                          ทั้งหญิงสาว ชาวสวน ล้วนงามสิ้น                          หอมรวยริน กลิ่นสะอาด ผุดผาดใส
                          งามจรรยา มารยาท สวยบาดใจ                           บัดนี้ไร้ ร้างลด หมดความงาม
                          ไม้ร่มรื่น ยืนต้น บนไร่สวน                                กลับผันผวน เป็นพง รกดงหนาม
                          บ้างเป็นตึก ตื่นตา เขาว่างาม                              แต่มองตาม ตาเรา ว่าเฉาจัง
                          มีถนน หนทาง ตัดขวางไขว้                               รุกล้ำไร่ เรือกสวน ทวนความหลัง
                          เหล่าแมกไม้ ไพรพง คงผุพัง                              ใครจะยั้ง หยุดห้าม ความเจริญ
                          มีคำเปรียบ สองคน ยลตามช่อง                          ว่าตนมอง เห็นชัด ไม่ขัดเขิน
                          ตึกใหญ่โต โอฬาร์ น่าเพลิดเพลิน                         ดีกว่าเดิน ดินดาล รำคาญตีน
                          อีกคนมอง แมกไม้ ไพรพฤกษา                          น้ำดินหญ้า หนูหนอน โคลนก้อนหิน
                          ล้วนสวยสด งดงามล้น บนผืนดิน                          เป็นทรัพย์สิน สูงค่า กว่าตึกราม
                          ใครจะว่า อย่างไร ตามใจท่าน                             ฉันขอมั่น มุ่งไป ไม่ไต่ถาม
                          ท่านว่าสวย สดหนา ฉันว่างาม                             ท่านว่าทราม ตามท่าน ฉันสบาย ฯ

                           


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 03 เม.ย. 11, 23:37
                                             แล้วขับคลาน ผ่านทาง บางปะแก้ว                       เห็นแต่แถว ท้ายรถ มิหดหาย
                                          ข้างถนน คนชุลมุน อยู่วุ่นวาย                               ไม่มุ่งหมาย เห็นแก้ว เป็นแนวเรียง
                                          ชื่อ ปะแก้ว แน่วแน่ แค่พบปะ                               หรือใครจะ ปะได้ ฉันใคร่เถียง
                                          คงปะหน้า แก้วน้อง เคยมองเมียง                           ใช่ปะเรียง แก้วแตก แยกกระเด็น
                                          แม้นใครรู้ ประวัติ อย่างชัดแจ้ง                              ช่วยแจกแจง จงจิต ให้คิดเห็น
                                          ฉันอยากทราบ ซึ้งความ ตามประเด็น                        บางปะแก้ว ชื่อเป็น มาเช่นไร ฯ

     ข้อความต่อจากนี้เป็นเรื่องของงานเกือบทั้งสิ้น   แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เกิดขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งเกือบจะรุนแรง  แต่ก็ทำความเข้าใจกันได้ในที่สุดโดย
ไม่มีการขุ่นข้องหมองใจกัน

                                         .....................................                         .......................................
                                         อึ่งเลือดเย็น ใช่อุ่น อันขุ่นข้น                                จึงทำตน เย็นเยือก ไสเสือกฝัน
                                         สะเทินบก สะเทินน้ำ สุดตามทัน                             ใจไม่มั่น หันวก ตกน้ำตาย
                                         ตัวพี่กับ อึ่งน้อง ต้องประปาก                                เพราะพิษจาก โกรธา น่าใจหาย
                                         เกือบไปแล้ว สิพี่ยา น่าเสียดาย                             สุดจะหน่าย ใจเศร้า เหงาดวงแด
                                         แม้อึ่งน้อง บอกไว้ ไม่ถึอโทษ                               แต่คงโกรธ อยู่บ้าง เหมือนดังแผล
                                         ตกสะเก็ด เข็ดขาม เมื่อยามแล                              รอก็แต่ เวลา เยียวยาใจ
                                         เมื่อเลือดเย็น ขอเนื้อเย็น เป็นดังเลือด                       อย่าแดเดือด ให้เย็นฉ่ำ ดุจน้ำไหล
                                        ดั่งวารี ดับร้อน ผ่อนพิษไฟ                                   เลือดอึ่งได้ คลายทุกข์ ให้ทุกคน
                                        สร้างกุศล ผลบุญ เกื้อหนุนด้วย                               ขออึ่งช่วย นำพา อย่าฉงน
                                        เสียงไพเราะ เสนาะจิต เป็นมิตรชน                           ให้เกิดผล ผ่องแผ้ว เป็นแนวทาง ฯ

     แล้วก็กลับเป็นเรื่องงานและเรื่องอื่นๆ อีก  มาสุดสิ้นวันตรงบทที่ว่า

                                        สายวิชชุ ชิงแลบ วับแวบวาบ                                 ดูแปลบปลาบ ซาบซ่าน สะท้านเสียว
                                        วายุอื้อ อึงพัด สะบัดเกลียว                                  บัดเดี๋ยวเดียว พิรุณซ้ำ กระหน่ำลง
                                        สรุปความ ตามขั้น ในวันนี้                                   งานไม่ดี ดับยุ่ย เป็นผุยผง
                                        ถึงฟ้าปล่อย ลอยละ ไม่พะวง                                พรุ่งนี้คง ดีเอง ร้องเพลงรอ  ฯ                     
                                         


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 06 เม.ย. 11, 10:37
ไดอารี่หกวัน (ต่อ)  เป็นเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐  ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปี ฉลู  นพศก จ.ศ. ๑๓๕๙

                                         สิบห้าค่ำ ฉ่ำเย็น เป็นวันพระ                      วันนี้จะ สมใจ หรือไม่หนอ
                                    ไหว้พระจันทร์ วันนี้ ไม่รีรอ                            จะทดท้อ ไปไย ให้ป่วยการ
                                    ประเพณี ไหว้พระจันทร์ นั้นสวยสด                    เคยงามงด เปี่ยมสุข สนุกสนาน
                                    เหล่าชาวจีน จัดมา กันช้านาน                          เวลาผ่าน ผันแปร แย่กว่าเดิม
                                    เคยตั้งโต๊ะ บูชา อยู่หน้าบ้าน                           ทุกเรือนชาน นอบไหว้ ได้เฉลิม
                                    มีทั้งธูป เทียนแดง มาแต่งเติม                         ขนมเสริม สร้างชื่อ บรรลือนาม
                                    ขนมเปี๊ยะ สาลี่ มีจันอับ                                อีกพร้อมสรรพ ผลไม้ ให้ล้นหลาม
                                    สอดสีแข่ง แดงขาว ดูพราวงาม                        เหมือนม่วยยาม เอียงอาย ชม้ายมอง
                                    มาบัดนี้ มีแต่ แค่ความเงียบ                            ใจเย็นเยียบ เฉียบเฉา แสนเศร้าหมอง
                                    ประเพณี แก่เก่า เขาไม่มอง                            เหมือนจะฟ้อง จันทร อนิจจัง
                                    สิ่งใดเล่า โลกนี้ มีเที่ยงแท้                            คงก็แต่ ความดี เป็นที่ตั้ง
                                    ขืนเมามัว ตัวสั่น ดันทุรัง                               จะหยุดยั้ง อเวจี ไม่มีทาง  ฯ
                                         คืนนี้ท่าน ทายว่า พระราหู                        จะโจมจู่ จันทร์เจ้า เข้าขัดขวาง
                                    จันทราลี้ หนีเร้น ไม่เว้นวาง                            ราหูย่าง เยื้องเย้า แล้วเข้าอม
                                    ประนมกร วอนท่าน จันทรเศขร์                        แสนวิเวก ใจทุกข์ มิสุขสม
                                    น่าสงสาร จันทร์เจ้า เศร้าอารมณ์                      พระสยม- ภูช่วย อวยพรจันทร์  ฯ
                                         จะขอเล่า เรื่องไว้ ในที่นี้                          หากจะมี คนค่อน กลอนของฉัน
                                    ก็ยกโทษ โปรดให้ ไม่ว่ากัน                           ฉันจะบรร- ยายความ จงตามมา
                                    เรื่องราหู พอเห็น เป็นสังเขป                           ลูกท้าวเวป- จิตติ- สุรินทร์หนา
                                    มารดรชื่อ ว่านาง สิงหิกา                              ตอนเกิดมา กายี นี้พิกล
                                    เป็นยักษา ท่อนบน ใครดลสร้าง                       ส่วนท่อนล่าง เป็นงู ดูสับสน
                                    เกศาหยอง พองเนตร เศษสกนธ์                      ทั้งตัวตน ดำปี๋ เหมือนหมีควาย
                                    ครั้งนารายณ์ มหิทธิ์ วิษณุโลก                         องค์พระโมก- ขเทวัญ ทรงมั่นหมาย
                                    จะกวนน้ำ อมฤต พิชิตตาย                            หวังให้กาย อมตะ ชนะยม
                                    จึงทรงเกณฑ์ เทวัญ ทั่วชั้นฟ้า                         ทั้งยักษา มาด้วย ช่วยผสม
                                    ต่างรื่นเริง ยินดี อภิรมย์                               ล้วนบังคม ก้มกราบ ซาบซึ้งใจ
                                    แต่ราหู หลบหลีก ปลีกตัวหนี                          อสุรี คิดชั่ว ทำหัวใส
                                    พอกวนเสร็จ ย่องแนบ แอบเข้าไป                    ลักดื่มได้ หลายอึก นึกยินดี
                                    พระอาทิตย์ กับจันทร์ นั้นเห็นเข้า                      จึงได้เฝ้า ทูลเรื่อง เคืองยักษี
                                    ทรงพิโรธ โกรธเกรี้ยว อสุรี                            พระจึงมี บัญชา หาตัวพลัน
                                    แต่ราหู รู้ตัว จึงกลัวโทษ                               รีบแล่นโลด โดดหนี หลบลี้หัน
                                    พระจึงขว้าง จักรใส่ ไปไล่ทัน                          จักรก็บั่น หั่นกลาง หางกระเด็น
                                    ด้วยเดชน้ำ อมฤต ชีวิตอยู่                             องค์ราหู ไม่ตาย กายยังเห็น
                                    แสนเจ็บปวด รวดร้าว เศร้าลำเค็ญ                     ราหูเร้น หลีกหลบ ไปกบดาน
                                    แต่นั้นมา คราใด ได้โอกาส                            ราหูคราส จันทรา อย่างกล้าหาญ
                                    คราสภากร ตอนที่ สุรีย์กาล                            แสนสงสาร ดวงตะวัน กับจันทร
                                    มีเกร็ดย่อย หน่อยหนึ่ง ควรพึงรู้                        หางราหู ขาดกลิ้ง ข้ามสิงขร
                                    สู่บาดาล ลึกโข ชโลธร                                 โบราณสอน เป็นพระเกตุ เพศวิญญาณ์  ฯ
                                         อันราหู คู่จันทร โหรสอนไว้                       ในดวงใคร คู่คง จงศึกษา
                                    เพราะคู่นี้ ดีชั่ว กลั้วกันมา                              ท่านเรียกว่า 'คู่สมพล' ให้ผลแรง
                                    เรื่องรักใคร่ ใฝ่ต่ำ ทำจ้วงจาบ                          สันดานหยาบ หญิงชาย คนหน่ายแหนง
                                    ชอบกักขฬะ กะคู่ขา ราคะแรง                         ไม่เคยแหยง กฎหมาย ท้าทายเอา
                                    มีนิสัย ลักลอบ ชอบสร้างหนี้                          เงินไม่มี หลอกล่อ ต่อคนเขลา
                                    มักผิดหวัง เรื่องคู่ อยู่มิเบา                             เพราะถูกเขา ทิ้งทำ อยู่ร่ำไป
                                    แต่คู่นี้ ก็มี ส่วนดีบ้าง                                  คงแบบอย่าง ให้เห็น เป็นวิสัย
                                    ชอบต่อสู้ อดทน ผจญภัย                             มัชฌิมวัย มีทรัพย์ นับอนันต์  ฯ
                                                                                            .............................  ฯ
                                    รีบผันผก วกมา ผ่านท่าข้าม                           ไม่อยากถาม ความต่อ ขอสนอง
                                    ขึ้นทางด่วน แจวอ้าว ดาวคะนอง                      เคยขึ้นล่อง คล่องใจ ไปประจำ
                                    ดาวคะนอง ลองตรึก คิดนึกอยู่                        เพราะไม่รู้ ดาวคะนอง ตรองแล้วขำ
                                    คนคะนอง ลองเล่น เห็นประจำ                        แต่สุดช้ำ ดาวคะนอง สมองงง
                                                                                            ................................  ฯ
                                         มองอัมพร ตอนที่ เกือบตีหนึ่ง                   แล้วรีบบึ่ง รถเห กลับเคหา
                                   ดูราหู จู่โจม โลมจันทรา                               จะรีบหา ไม้เกราะ มาเคาะกัน
                                   โอ้ราหู ดูเศร้า เงื่องเหงาหงอย                         เหมือนจะถอย น้อยแรง ไม่แข็งขัน
                                   ทำอาดอืด ยืดยวด คล้ายปวดฟัน                      จึงทำพรั่น พรึงอยู่ ดูชอบกล
                                   กว่าจะจับ จันทร์ได้ ให้กระดาก                        แสนลำบาก ยากเหลือ เหนือเวหน
                                   อมจันทร์เจ้า เข้าไป ไม่ทานทน                        แล้วรีบพ่น ออกมา มิช้าเลย
                                   ขอจบเรื่อง ราวลง ที่ตรงนี้                             เหนื่อยกายี ง่วงสุด ดุจเฉลย
                                   จะพักผ่อน นอนแนบ แอบเสบย                       ขอลาเลย เจ้าข้า อย่าอาลัย  ฯ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: unalum2019 ที่ 10 เม.ย. 11, 17:40
ขอชื่นชมครับท่าน (ได้ทั้งความรู้และมึนไปเลยสมแล้วที่ผมตกภาษาไทย  :( )


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 05 ก.ค. 11, 13:39
ขออนุญาตดึงกระทู้กลับขึ้นมาเพื่อเขียนให้เยาวชนกลุ่มหนึ่งได้อ่านครับ


                                                      (โคลงสุภาพสอนน้อง)


                                                        โคลงสองสุภาพ

(ผัง)                                  O     O     O    เอก    โท*         O    เอก     O      O     โท*
                                เอก   โท     O    O                         (O     O)
                                  O    O    O    O    เอก    โท*         O   เอก     O       O    โท*



ในบทหนึ่งมี ๓ วรรค   โดยวรรคที่หนึ่งและวรรคที่สอง  จะมีวรรคละห้าคำ  ส่วนวรรคที่สามมีสี่คำ
และจะมีสร้อยอีกสองคำหรือไม่จำเป็นต้องมีก็ได้

บังคับให้คำสุดท้ายของวรรคที่หนึ่งสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่สอง   ถ้าแต่งเป็นเรื่องยาว  ต้อง
ให้คำสุดท้ายของวรรคที่สามสัมผัสกับคำที่ ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ ในวรรคแรกของบทต่อไป

บังคับวรรณยุกต์ เอก โท หกคำ  เป็นวรรณยุกต์เอก ๓ คำ  วรรณยุกต์โท ๓ คำ (ตามผัง)  อาจจะ
ใช้คำตายแทนวรรณยุกต์เอกได้  แต่จะใช้คำอื่นแทนวรรณยุกต์โทไม่ได้และห้ามใช้คำตายที่ผันด้วย
วรรณยุกต์โทในตำแหน่งบังคับวรรณยุกต์โท 
ไม่ควรใช้คำ เอกโทษ โทโทษ (ถ้อย-ท่อย เป็นเอกโทษ, เน่า-เหน้า เป็นโทโทษ)
ไม่ควรใช้คำที่มีวรรณยุกต์ เอก โท นอกตำแหน่งบังคับวรรณยุกต์ให้มากนัก
ในคำสุดท้ายของบทควรเป็นคำเสียงจัตวาไร้รูป  ห้ามใช้คำที่มีรูปวรรณยุกต์และคำตาย

ในแต่ละวรรคอาจจะเพิ่มพยางค์เสียงสั้น (คำลหุ) ได้  แต่ไม่ควรให้มีมากจนอ่านตามทำนองไม่ได้



                            ตัวอย่าง

     พากเพียรมิย่อท้อ                         บานชื่นควรพิศข้อ
บ่งให้เขียนตาม
สงสัยถามไฝ่รู้                                  เรียนร่ำควรใจสู้
ทั่วหล้านิยม
เพียงนอนชมไขว่ห้าง                                    มิเร่งเขียนเสริมสร้าง
เก่งได้ไฉนมี
อยากเป็นกวีอย่าได้                                     เพียงอ่านเขาเขียนไว้
แต่งดั้นแนวตน                                          นาแม่
อดทนคนแซ่ซ้อง                                        บานชื่นคงเห็นพ้อง
พี่ให้แนวทาง                                            มาเอย   ฯ
     


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 05 ก.ค. 11, 14:12
                                                            โคลงสามสุภาพ

                            O    O    O    O    O                     O    O    O    เอก    โท
                      O  เอก    O    O    O   โท                    เอก   โท    O    O           (O    O)

                      O    O    O    O    O                           O    O    O    เอก    โท


บทหนึ่งมีสี่วรรค  โดยวรรคที่หนึ่ง วรรคที่สอง วรรคที่สาม มีวรรคละห้าคำ     ส่วนวรรคที่สี่มีสี่คำ    และจะมีสร้อยอีกสองคำหรือไม่จำเป็นต้องมีก็ได้

บังคับให้คำสุดท้ายของวรรคที่หนึ่งสัมผัสกับคำที่หนึ่งหรือสองหรือสามของวรรคที่สอง   คำสุดท้ายของวรรคที่สองสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่สาม
ถ้าแต่งเป็นเรื่องยาว  ต้องให้คำสุดท้ายของวรรคที่สี่สัมผัสกับคำที่ ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ ในวรรคแรกของบทต่อไป

บังคับวรรณยุกต์ เอก โท หกคำ  เป็นวรรณยุกต์เอก ๓ คำ  วรรณยุกต์โท ๓ คำ (ตามผัง)    ส่วนอื่นเหมือนโคลงสองสุภาพ


                              ตัวอย่าง

     รวมใจกันคิดทำ                             เราเดินนำก่อนหน้า
บานชื่นคงมิช้า                                   อย่าได้เชือนแช
มัวงอแงชาเฉย                                  ทำละเลยล่วงแล้ว
คนรุ่นหลังมิแคล้ว                               ส่อสิ้นเชิงกวี      แน่เฮย
ถอยหลังหนีลงคลอง                            มัวไปมองต่างด้าว
ใครเล่าจะนำก้าว                                พี่น้องเราเดิน
ทำหมางเมินกลกานท์                           กลับตาหวานใส่ชู้
คนรุ่นหลังพลาดรู้                               บ่นบ้าติเตียน      เรานา
ควรพากเพียรบันทึก                            กำลังผนึกต่อต้าน
ทาสฝรั่งนอกเขตบ้าน                           ไล่ให้ไปไกล
มารวมใจขีดเขียน                              สอนบทเรียนเพื่อนพ้อง
สักกี่ปีก็ต้อง                                    เร่งสร้างกวีชน       ฯ                   


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 05 ก.ค. 11, 14:53
                          โคลงสี่สุภาพ

                             โท    เอก   
         O     O     O    เอก    โท                           O     O     (O     O)

  O    เอก    O     O    O                                   เอก    โท

  O     O    เอก    O     O                                   O    เอก    (O     O)

  O    เอก    O     O    โท                                  เอก    โท     O     O     ฯ




ในบทหนึ่งมี  ๔ บาท    ในบาทหนี่งมีสองวรรค   โดยวรรคหน้ามีห้าคำ และวรรคที่สองมีสองคำ ส่วนบาทที่สี่วรรคที่สองมีสี่คำเขียนติดกัน
บาทที่หนึ่งและบาทที่สามวรรคที่สองจะมีสร้อยอีกสองคำหรือไม่จำเป็นต้องมีก็ได้  สร้อยคำสุดท้ายนิยมให้เป็นคำที่ไม่มีความหมาย




กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 05 ก.ค. 11, 15:00
เกิดความผิดพลาดในการส่งข้อความขอเขียนต่อนะครับ

บังคับวรรณยุกต์ เอก โท ๑๑ คำ  เป็นวรรณยุกต์เอก ๗ คำ  วรรณยุกต์โท ๔ คำ (ตามผัง)


                   ตัวอย่าง

     แผนภาพเขียนเพื่อให้             นวลนาง

บานชื่นมีแนวทาง                      แต่งเน้น

อีกโคลงที่เรียงวาง                     เคียงคู่    มาเฮย

เรียกสี่สุภาพเฟ้น                      เฟื่องฟุ้งมวลกวี     ฯ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 05 ก.ค. 11, 15:26
                          โคลงสี่ตรีพิธพรรณ

                            โท   เอก
       O     O     O    เอก    โท                O     O          (O     O)

O    เอก    O     O     O                       เอก    โท

O    O    เอก     O     O                       O    เอก          (O     O)

O    เอก    O     O    โท                      เอก    โท     O     O     ฯ


แผนบังคับเหมือนโคลงสี่สุภาพเกือบทุกอย่าง  ยกเวันเปลี่ยนสัมผัสจากคำสุดท้ายของบาทที่หนึ่ง สัมผัสกับคำที่สามของบาทที่สอง


                      ตัวอย่าง

     รจนาโคลงเพื่อน้อง                   นวลฤดี

ขานชื่อตรีพิธพรรณ                       เอ่ยอ้าง

รัดรึงดั่งวิธี                                แบบบ่ง     มานา

บานชื่นเลบงบ้าง                         อ่านแจ้งเชิญสนอง      ฯ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 05 ก.ค. 11, 15:53
                                โคลงสี่จัตวาทัณฑี


                           โท    เอก
       O     O     O    เอก    โท                      O     O          (O     O)

O    เอก    O     O     O                             เอก    โท

O     O    เอก    O     O                              O    เอก          (O     O)

O    เอก    O     O     โท                            เอก    โท     O     O     ฯ   



แผนบังคับเช่นเดียวกันกับโคลงสี่สุภาพ  แต่เปลี่ยนสัมผัสจากคำสุดท้ายของบาทแรก  มาสัมผัสกับคำที่สี่ของบาทที่สอง

มีการเพิ่มสัมผัสสระของคำที่สองและคำที่สาม ของบาทที่สองและบาทที่สามด้วย  โคลงโบราณอาจจะไม่เคร่งครัดนัก  แต่
ในปัจจุบันนิยมแต่งตามแบบแผน


                     ตัวอย่าง

     บาทแรกวรรคท้ายส่ง              ถึงกัน

สองจัดรัดพันพยางค์                   สี่คล้อง

บาทสามล่ามกระสัน                   วรรคหนึ่ง     ท้ายแฮ

จัตวทัณฑีพ้อง                  ชื่อชี้คำโคลง     ฯ

     โคลงสุภาพห้าอย่าง              มาตรฐาน     นี้นา

เขียนส่งนงคราญแสดง                เด่นสล้าง

คืนวันหมั่นขับขาน                    เพียรแต่ง     ไว้เฮย

รักษ์ชื่อคนเสริมสร้าง                 จุ่งซ้อมนิพนธ์     ฯ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 05 ก.ค. 11, 17:36
                                   โคลงสองดั้น


       O     O     O    เอก    โท            O     เอก     O     โท     โท

เอก    O

O     O     O    เอก     โท                  O     เอก     O     โท     โท



โคลงสองดั้นให้ดูตามแบบแผนที่เขียนไว้ข้างบนเป็นตัวอย่าง  ส่วนบังคับอื่นๆ ใช้แบบแผนของโคลงสองสุภาพ


                          ตัวอย่าง

     เชลงกลกานท์ยื่นให้                บานชื่นเก็บไว้ใช้
อย่าฉงน
แทนตัวตนอ่านแจ้ง                      นวล บ่ ควรร้างแล้ง
ใส่ใจ
ฝึกปรือในหลั่นชั้น                       ติดต่อตามข้อขั้น
เร่งเรียน
ควรพากเพียรอย่าท้อ                   คิดหวั่นเกรงผู้ล้อ
ไป่ควร
ตามกระสวนเช่นนี้                       เพียรอ่านเขียนข้อชี้
บ่งมา
ขอบูชาแม่เจ้า                          ภารตีให้เข้า
ช่วยนาง
เพียงนำทางแก่น้อง                     บานชื่นคงอื้อก้อง
ทั่วแดน                                                 ฯ       


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 05 ก.ค. 11, 18:08
                                         โคลงสามดั้น


      O     O     O     O     O                         O     O     O    เอก     โท

O    เอก    O     O    โท    โท                       เอก    O

O     O     O     O     O                               O     O     O    เอก     โท


โคลงสามดั้นให้ดูจากแผนบังคับข้างบนเป็นตัวอย่าง  แบบบังคับอื่นให้ถือตามโคลงสองสุภาพ หรือโคลงสามสุภาพ
โคลงสามดั้นมีลักษณะเหมือนโคลงสองดั้น  แต่เพิ่มวรรคหน้าขึ้นมาอีกหนึ่งวรรค มีห้าคำ  ห้ามใช้วรรณยุกต์
คำสุดท้ายของวรรคหน้าต้องสัมผัสกับคำแรก หรือคำที่สอง หรือคำที่สามของวรรคที่สอง

                         ตัวอย่าง

     ฝนซาตอนปลายวัสส์               ผลัดเหมันต์ทั่วหล้า
ชนต่างเตรียมเสื้อผ้า                    อุ่นไอ
เหลียวมองไปรอบตัว                    ใจระรัวสั่นเศร้า
ชายคู่หญิงคล้อเคล้า                    ร่าเริง
คิดเปิดเปิงไปไกล                       ใครหนอใครช่วยได้
โถพี่อกร้าวไหม้                         เปลี่ยวตน
นวลนางคนใดหนอ                      พอจะนำช่องชี้
โยงคู่ชายผู้นี้                            กล่าววอน
อาทรดวงใจหนัก                        ขาดคนรักร่วมข้าง
หนาวเอ่ยหนาวน้ำค้าง                   อ่อนทรวง
หากมีดวงยีหวา                         คนเดิมมาแต่งแต้ม
คอยส่งรอยยิ้มแย้ม                     ยั่วใจ
อกสุมไฟผิดกาล                        คงเบิกบานสร่างเศร้า
บานชื่นเอยยิ้มเย้า                       ช่วยที            ฯ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 05 ก.ค. 11, 18:50
                                          -: โคลงสี่ดั้น :-

                                          โคลงดั้น วิวิธมาลี


                            โท    เอก
       O     O     O    เอก     โท                      O     O          (O     O)

O    เอก    O     O     O                              เอก    โท

O     O    เอก    O     O                               O    เอก         (O     O)

O    เอก    O     โท    โท                             เอก     O

                            โท    เอก
       O     O     O    เอก     โท                      O     O          (O     O)

O    เอก    O     O     O                             เอก    โท



ลักษณะการประพันธ์ให้ดูตามแบบด้านบน  แต่ขอให้สังเกตบาทสุดท้ายของบท  จะมีวรรณยุกต์โทเพิ่มขึ้นในคำที่สี่   ซึ่งจะ
สัมผัสกับคำสุดท้ายของบาทที่สอง

บาทสุดท้าย  วรรคหลังจะมีสองคำ  บังคับวรรณยุกต์เอกที่คำแรก

คำสุดท้ายของบทจะต้องสัมผัสกับคำที่ห้าของบาทที่สองของบทต่อไป


                         ตัวอย่าง

     มาลีหอมยั่วเย้า                      ดอมดม

บานชื่น บ มิควร                          เอ่ยอ้าง

หลากสีส่งสวยสม                        แทนกลิ่น   หอมฤๅ

ราวดั่งเทพสร้างแสร้ง                     แด่ชน

     บุปผาชาติทั่วด้าว                    แดนดิน

มีชื่อตามตายล                           ทั่วหล้า

ถึอควรเช่นทรัพย์สิน                      คงคู่    ภพนา

บานชื่นงามฟ้าค้าง                        ล่องลอย        ฯ



กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 05 ก.ค. 11, 19:24
                                          -: โคลงสี่ดั้น :-

                                          โคลงดั้น บาทกุญชร


                            โท    เอก
       O     O     O    เอก     โท                      O     O          (O     O)

O    เอก    O     O     O                              เอก    โท

O     O    เอก    O     O                               O    เอก         (O     O)

O    เอก    O     โท    โท                             เอก     O

                            โท    เอก
       O     O     O    เอก     โท                      O     O          (O     O)

O    เอก    O     O     O                             เอก    โท


ลักษณะการประพันธ์โคลงดั้น บาทกุญชร เป็นเช่นเดียวกับโคลงดั้น วิวิธมาลี   ต่างกันเพียงเพิ่มสัมผัสระหว่างบทอีกหนึ่งจุดคือ
คำสุดท้ายของบาทที่สามของบทแรก  จะสัมผัสกับคำที่สี่ของวรรคแรกของบทต่อไป


                             ตัวอย่าง

     วสันต์คลายเคลื่อนคล้อย               เลยไป    แล้วฤๅ

หนาวยิ่งกาลเหมันต์                         แผ่นพื้น

ปวงสาวบ่าวเริงใจ                           เสริมแต่ง    กายเฮย

ชวนเที่ยวกันครื้นคล้อง                     คู่เคียง

     เราเดียวดายแล้งคู่                     เดินควง    นาพ่อ

โสตแว่วคำสำเนียง                          ล่อล้อ

เจ็บแปลบอยู่ในทรวง                       คาคั่ง     โอ้อก

คงแต่เพียงพ้อเพ้อ                          บ่นเปรย      ฯ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 05 ก.ค. 11, 19:29
ไม่ทราบว่าเกิดผิดพลาดขึ้นที่จุดใด  ตัวอักษรจึงหายไป  ขอยกมาใหม่ตรงนี้

                             ตัวอย่าง

     วสันต์คลายเคลื่อนคล้อย               เลยไป    แล้วฤๅ

หนาวยิ่งกาลเหมันต์                         แผ่นพื้น

ปวงสาวบ่าวเริงใจ                           เสริมแต่ง    กายเฮย

ชวนเที่ยวกันครื้นคล้อง                     คู่เคียง

     เราเดียวดายแล้งคู่                     เดินควง    นาพ่อ

โสตแว่วคำสำเนียง                          ล่อล้อ

เจ็บแปลบอยู่ในทรวง                       คาคั่ง     โอ้อก

คงแต่เพียงพ้อเพ้อ                          บ่นเปรย      ฯ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 05 ก.ค. 11, 19:59
หากว่าคุณลุงไก่มีโอกาสเข้ามาอ่านในกระทู้นี้  ผมขอเรียนว่า คุณลุงไก่ได้ใจผมไปเต็มๆ ในการแต่งโคลง  แต่ผมไม่อยากเข้าไปโพสท์อะไร
ในกระทู้นั้น  ผมจึงใช้เนื้อที่ตรงนี้ส่งสาส์นถึงคุณลุงไก่

คุณลุงไก่อาจจะยังไม่สันทัดในบทร้อยกรองในตอนนี้  แต่นั่นไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรตราบใดที่ยังมีความพยายามอยู่

มีโคลงโบราณชนิดหนึ่งซึ่งหาคนรู้จักได้น้อยมากเรียกว่า โคลง มหาสินธุมาลี  ลักษณะผังเป็นเช่นเดียวกับโคลงสี่สุภาพ  แต่ไม่มีการบังคับวรรณยุกต์
คุณลุงไก่สามารถเขียนได้ตามใจโดยไม่ต้องห่วงข้อบังคับเรื่องวรรณยุกต์เลย เพียงแค่รักษาจุดบังคับสัมผัสที่เขากำหนดเอาไว้เท่านั้น  โคลงของ
คุณลุงไก่เป็นดังนี้


               เลือดแดงแรงฤทธิ์กล้า          โรมรัน
          น้ำเปล่าใสดุจอัน                     บริสุทธิ์
          พี่น้องคลานตามกัน                  จากอุทร   แม่นา
          ดูดดื่มกษีราร่วมเต้า                  ย่อมเข้าใจกัน       

จุดสีแดงคือจุดที่คุณลุงไก่พลาดไป สองคำนี้ต้องสัมผัสกัน  คุณลุงไก่ลองไปแก้ไขใหม่  ผมอยากจะเรียนว่า  ถ้าคุณลุงไก่สามารถแต่งได้โดยไม่ต้องใช้
วรรณยุกต์ใดๆ เลย นั่นนับว่าเยี่ยมครับ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 06 ก.ค. 11, 08:31
ไม่ทราบว่าเกิดผิดพลาดขึ้นที่จุดใด  ตัวอักษรจึงหายไป  ขอยกมาใหม่ตรงนี้

                             ตัวอย่าง

     วสันต์คลายเคลื่อนคล้อย               เลยไป    แล้วฤๅ

หนาวยิ่งกาลเหมันต์                         แผ่นพื้น

ปวงสาวบ่าวเริงใจ                           เสริมแต่ง     กายเฮย

ชวนเที่ยวกันครื้นคล้อง                     คู่เคียง

     เราเดียวดายแล้งคู่                     เดินควง    นาพ่อ

โสตแว่วคำสำเนียง                          ล่อล้อ

เจ็บแปลบอยู่ในทรวง                       คาคั่ง     โอ้อก

คงแต่เพียงพ้อเพ้อ                          บ่นเปรย      ฯ


ขอทักท้วงตามเท่าที่เคยได้เรียนมาจากครู
การส่งและรับสัมผัสในตัวอย่างโคลงบาทกุญชร
ที่คุณwillyquiz มีทีผมติดใจคือ คำที่ขีดเส้นใต้ ๒ แห่งนั้น
จริงอยู่ว่า  ครูบาอาจารย์โบราณท่านอนุโลมให้สลับตำแหน่งคำเอกคำโท
ในโคลงดั้นบาทกุญชรได้  แต่การสลับตำแหน่งนั้นมีเหตุผลอธิบายได้
ว่าบางทีคำที่หาได้หรือเนื้อความไม่เอื้อให้ใส่คำเอกก่อนคำโทตามบังคับฉันทลักษณ์
เมื่อเป็นเช่นนี้  ท่านก็เลยอนุโลมให้สลับตำแหน่งคำโทมาอยู่ก่อนคำเอกได้
แต่ก็ไม่ใช่ว่าสลับคำเอกคำโทได้ทุกตำแหน่ง  ที่อนุโลม
คือตำแหน่งคำเอกคำโท ในบาทแรก เท่านั้น บาทที่สองไม่ได้อนุโลมตามนัยนี้

และถึงจะสลับตำแหน่งคำเอกคำโทในบาทแรก  แต่การรับสัมผัสก็ไม่เปลี่ยนแปลง
นั่นหมายความว่า  เมื่อส่งคำสัมผัสซึ่งเป็นตำแหน่งคำเอกวรรคหลังบาทที่ ๓ จากบทก่อน
ก็ต้องมารับสัมผัสด้วยคำเอกในวรรคหน้าบาทที่ ๑ โคลงบทต่อไป 
ไม่ว่าคำเอกจะอยู่ในตำแหน่งคำที่ ๔ หรือคำที่ ๕ ก็ตาม เพราะลักษระของโคลง
ย่อมส่งและรับสัมผัสด้วยตำแหน่งคำประเภทเดียวกัน  ไม่ข้ามประเภทเด็ดขาด
คือ คำสุภาพ(คำที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์)ส่งและรับสัมผัสกับคำสุภาพ 
คำเอกส่งและรับสัมผัสกับคำเอก และคำโทส่งและรับสัมผัสกับคำโทเท่านั้น

ฉะนั้น  จากตัวอย่างโคลงดั้นบาทกุญชรที่คุณwillyquiz นำมาแสดง
โคลงบทแรกบาทที่ ๓ วรรคหลัง คำที่ ๒ คือว่า  แต่ง  ซึ่งเป็นตำแหน่งคำเอกถูกต้อง
ส่งสัมผัสมายังตำแหน่งคำเอกในโคลงบทที่ ๒ วรรคหน้า  คำที่ ๔ (กรณีไม่สลับตำแหน่งคำเอกคำโท)
หรือคำที่ ๕ (กรณีสลับตำแหน่งคำเอกคำโท)  แต่คุณwillyquiz
ให้คำว่า แล้ง ซึ่งเป็นตำแหน่งคำโทรับสัมผัส คำว่า แต่ง ซึ่งเป็นคำเอก ซึ่งไม่ถูกต้องตามฉันทลักษณ์
ที่ถูกต้อง ต้องรับสัมผัสตรงตำแหน่งคำว่า คู่ นั้น  ซึ่งคำว่า คู่ ย่อมไม่รับสัมผัสกับคำว่า แต่ง
เมื่อสลับตำแหน่งคำเอกคำโท  การรับสัมผัสก็ต้องย้ายตำแหน่งตามไปด้วยถึงจะถูก
ตัวอย่างนี้ยังไม่เหมาะที่จะใช้เป็นตัวอย่างดังได้แย้งมาด้วยประการฉะนี้




กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 06 ก.ค. 11, 08:47
หากว่าคุณลุงไก่มีโอกาสเข้ามาอ่านในกระทู้นี้  ผมขอเรียนว่า คุณลุงไก่ได้ใจผมไปเต็มๆ ในการแต่งโคลง  แต่ผมไม่อยากเข้าไปโพสท์อะไร
ในกระทู้นั้น  ผมจึงใช้เนื้อที่ตรงนี้ส่งสาส์นถึงคุณลุงไก่

คุณลุงไก่อาจจะยังไม่สันทัดในบทร้อยกรองในตอนนี้  แต่นั่นไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรตราบใดที่ยังมีความพยายามอยู่

มีโคลงโบราณชนิดหนึ่งซึ่งหาคนรู้จักได้น้อยมากเรียกว่า โคลง มหาสินธุมาลี  ลักษณะผังเป็นเช่นเดียวกับโคลงสี่สุภาพ  แต่ไม่มีการบังคับวรรณยุกต์
คุณลุงไก่สามารถเขียนได้ตามใจโดยไม่ต้องห่วงข้อบังคับเรื่องวรรณยุกต์เลย เพียงแค่รักษาจุดบังคับสัมผัสที่เขากำหนดเอาไว้เท่านั้น  โคลงของ
คุณลุงไก่เป็นดังนี้


               เลือดแดงแรงฤทธิ์กล้า          โรมรัน
          น้ำเปล่าใสดุจอัน                     บริสุทธิ์
          พี่น้องคลานตามกัน                  จากอุทร   แม่นา
          ดูดดื่มกษีราร่วมเต้า                  ย่อมเข้าใจกัน        

จุดสีแดงคือจุดที่คุณลุงไก่พลาดไป สองคำนี้ต้องสัมผัสกัน  คุณลุงไก่ลองไปแก้ไขใหม่  ผมอยากจะเรียนว่า  ถ้าคุณลุงไก่สามารถแต่งได้โดยไม่ต้องใช้
วรรณยุกต์ใดๆ เลย นั่นนับว่าเยี่ยมครับ

ขอบคุณครับที่ท้วงติง ผมแต่งไม่เป็นหรอกครับ อาศัยความจำจากที่เคยเรียนมาว่าคำจะสัมผัสกันตรงไหน มาถึงบาทสุดท้าย ตอนนั้นผมนึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะต้องไปสัมผัสกับบาทไหน

แต่ขอความหมายอย่างที่ใจอยากจะเขียนเอาไว้ก่อน ผลก็ออกมาเช่นนี้ แล ...

สมัยที่เรียนก็มีคำโคลงปลอบใจตัวเอง

               ใดใดในโลกล้วน                   จนิจจัง
          คนไม่อ่านหนังสือยัง                    สอบได้
          (กู)อ่านหนังสือหัวแทบพัง              ยัง  สอบตก
         ......

เหลือบันทัดสุดท้ายนี่แหละครับ แต่งต่อให้สัมผัสไม่ได้จนทุกวันนี้ ... ใครก็ได้ ... ช่วยผมที    :'(   :'(     :'(




                


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 06 ก.ค. 11, 10:18
"แต่ก็ไม่ใช่ว่าสลับคำเอกคำโทได้ทุกตำแหน่ง  ที่อนุโลม
คือตำแหน่งคำเอกคำโท ในบาทแรก เท่านั้น บาทที่สองไม่ได้อนุโลมตามนัยนี้

และถึงจะสลับตำแหน่งคำเอกคำโทในบาทแรก  แต่การรับสัมผัสก็ไม่เปลี่ยนแปลง
นั่นหมายความว่า  เมื่อส่งคำสัมผัสซึ่งเป็นตำแหน่งคำเอกวรรคหลังบาทที่ ๓ จากบทก่อน
ก็ต้องมารับสัมผัสด้วยคำเอกในวรรคหน้าบาทที่ ๑ โคลงบทต่อไป 
ไม่ว่าคำเอกจะอยู่ในตำแหน่งคำที่ ๔ หรือคำที่ ๕ ก็ตาม เพราะลักษระของโคลง
ย่อมส่งและรับสัมผัสด้วยตำแหน่งคำประเภทเดียวกัน  ไม่ข้ามประเภทเด็ดขาด
คือ คำสุภาพ(คำที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์)ส่งและรับสัมผัสกับคำสุภาพ 
คำเอกส่งและรับสัมผัสกับคำเอก และคำโทส่งและรับสัมผัสกับคำโทเท่านั้น"

กราบขอบพระคุณ คุณหลวงเล็ก เป็นอย่างยิ่งต่อคำทักท้วงที่มีค่าประดุจทองคำข้างบนนี้  ผมขอยอมรับความบกพร่องนี้ด้วยความซาบซึ้งอย่างที่สุด
ทำให้ผมนึกถึงคุณครูผู้สอนวิชา การประพันธ์และวรรณคดี ของผมอย่างจับใจ  ท่านคอยตักเตือนแก้ไขข้อบกพร่องของผมอยู่เสมอดุจเดียวกับที่
คุณหลวงเล็กกระทำในขณะนี้  ผมไม่ทราบว่าผมพลาดไปได้อย่างไรทั้งๆ ที่ผมก็แต่งมาเสียนักต่อนัก  ครั้งสุดท้ายที่ผมแต่งโคลงดั้นบาทกุญชร ก็เมื่อ
ครั้งที่ สมเด็จพระเทพ ฯ ท่านทรงเป็นองค์ประธานในการบูรณะวัดพระแก้ว  ผมได้แต่งเอาไว้ประมาณสี่สิบบท  แต่จำไม่ได้ว่าเก็บเอาไว้ที่ใด  อยาก
จะนำเอามาตรวจสอบดูว่าผมพลาดพลั้งในการส่งสัมผัสแบบนี้หรือเปล่า

ลูกหลานคนใดที่ไ้ด้เข้ามาอ่านขอให้จดจำข้อความของคุณหลวงเล็กข้างบนไว้ให้ดีอย่าพลาดพลั้งแบบนี้อีก

ผมขอเปลี่ยนแปลงบทตัวอย่างของโคลงดั้นบาทกุญชรสักเล็กน้อยเพื่อให้ถูกฉันทลักษณ์ตามที่ได้ถูกคุณหลวงเล็กทักท้วงมาดังนี้

                             ตัวอย่าง

     วสันต์คลายเคลื่อนคล้อย               เลยไป    แล้วฤๅ

หนาวยิ่งกาลเหมันต์                         แผ่นพื้น

ปวงสาวบ่าวเริงใจ                           เสริมแต่ง    กายเฮย

ชวนเที่ยวกันครื้นคล้อง                     คู่เคียง

     ชายชาญชิงแย่งยื้อ                    คนควง    ไปนา

โสตแว่วคำสำเนียง                          ล่อล้อ

เจ็บแปลบอยู่ในทรวง                       คาคั่ง     โอ้อก

คงแต่เพียงพ้อเพ้อ                          บ่นเปรย      ฯ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 06 ก.ค. 11, 15:11
เรียนคุณ willyquiz  ที่เคารพยิ่งครับ

   กระทู้นี้อวยประโยชน์แก่ผู้สนใจในด้านร้อยกรองเป็นอย่างยิ่ง ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่เข้ามาอ่านด้วยความปรีดิ์เปรมเอมอิ่มนักหนา พร้อมกัน ก็ขอเรียนเสนอความเห็นบางประการครับ

   ขณะนี้ คุณ willyquiz  กำลังเขียนถึงโคลงประเภทต่างๆ มีโคลงประดิษฐ์ใหม่ชนิดหนึ่งซึ่งตำราร้อยกรองบางเล่มลืมเลือน (อาจโดยไม่เจตนา) นั่นคือ “โคลงห้าพัฒนา” ครับ ผู้ประดิษฐ์ฉันทลักษณ์นี้ขึ้นคือ ท่านจิตร ภูมิศักดิ์ ลีลาทรงพลังไม่น้อยเลย กวีร่วมสมัยท่านหนึ่งที่ยังนำโคลงห้าพัฒนามาใช้ในงานนิพนธ์หลายชิ้น คือ ท่านคมทวน คันธนู นอกจากนำมาใช้แล้ว ยังขนานนามโคลงดังกล่าวว่า “โคลงจิตรลีลา” เพื่อเชิดชูกวีผู้ต้นคิดอีกด้วย ผมจึงขออนุญาตเรียนเสนอต่อคุณ willyquiz ครับ หากกระทู้นี้มีโคลงห้า ขอได้โปรดพิจารณา โคลงห้าพัฒนา หรือโคลงจิตรลีลาด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ



กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 06 ก.ค. 11, 18:28
เรียนคุณ chupong ที่นับถือยิ่ง

     ผมรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างที่สุดที่คุณ chupong ได้แวะเข้ามาเยี่ยมเยือนกระทู้นี้  ก่อนอื่นผมขอเรียนว่าผมได้ชี้นำให้เยาวชนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งดู
คุณ chupong เป็นตัวอย่างของการศึกษาที่ไม่เคยหยุดนิ่งที่คนมีร่างกายปกติสมบูรณ์ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง  คุณ chupong น่าจะเป็นกำลังใจให้เด็กๆ กลุ่ม
นี้ได้อย่างดีที่สุดนะครับ

     ผมขอเรียนคุณ chupong ว่าผมไม่คุ้นเคยกับ "โคลงห้าพัฒนา" หรือ "โคลงจิตรลีลา" นี่เลยครับ ผมรู้จักแต่โคลงโบราณ "จิตรดา" และ "มหาจิตรดา" ซึ่ง
เป็นโคลงสุภาพ เท่านั้น  อันที่จริงผมก็เคยอ่านผลงานของคุณ จิตร ภูมิศักดิ์ อยู่เหมือนกัน ดูเหมือนว่าบนหิ้งหนังสือของผมก็มีผลงานแปลของคุณ จิตร ภูมิศักดิ์
เรื่อง "แม่" กับ "คนขี่เสือ" (เท่าที่นึกออก) อยู่ด้วย  แต่ "โคลงห้าพัฒนา" ผมไม่เคยผ่านตาเลยครับ

     ถ้าหาก คุณ chupong ไม่รังเกียจ ผมขอเชื้อเชิญคุณ chupong นำตัวอย่างหรือผลงาน "โคลงห้าพัฒนา" มาลงไว้ให้ผมและเยาวชนได้ชมด้วยได้ไหมครับ
ผมอยากเห็นผังและกฎเกณฑ์ต่างๆ ในด้านการประพันธ์ของโคลงชนิดนี้ว่ามีลีลาอย่างไร

     หากคุณ chupong มีข้อแนะนำอย่างหนึ่งอย่างใดขออย่าได้ลังเลที่จะแจ้งให้ผมทราบนะครับ  ผมพร้อมน้อมรับคำแนะนำต่างๆ ด้วยความยินดีครับ

ขอแสดงความนับถือ
   willyquiz

     


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 06 ก.ค. 11, 23:51
สมาชิกใหม่ของกลุ่มเยาวชนได้เข้ามาอ่านกระทู้นี้แล้วไม่เห็นมีกลอนหก  จึงอยากจะขอดูลีลากลอนหกของผมบ้าง  โดยปกติผมไม่ชอบเขียนกลอนหกเลย
เพราะรู้ตนเองดีว่าไม่สันทัด   จึงขาดความชำนาญ   แต่เพื่อตามใจเด็ก  จึงขอแต่งลัดคิวให้ดูก่อนพอให้เห็นเป็นแนวทางเท่านั้น

                      กลอนหก

                  -: สังขารรำพึง :-

     เจียมตน จนจิต คิดหนัก          แอบรัก บานชื่น ฝืนอยู่
แต่เพียง ลอบมอง ย่องดู              หดหู่ โหยหา อาลัย
ระริก ระรี้ ระรื่น                       เขาชื่น ชูชิด พิศมัย
เราอยู่ ผู้เดียว เปลี่ยวใจ               สงสัย สับสน อลเวง
เขาหนุ่ม เขาหล่อ พอหรือ            จึงถือ อารมณ์ ข่มเหง
เราแก่ กุฏฐัง วังเวง                   กลัวเกรง อกยับ อับอาย
แก่แล้ว เลยเจียม เสงี่ยมตน          กระมล พลอยแห้ง แรงหาย
จิตตัว นัวเนีย เสียดาย                ยังหมาย มุ่งหวัง ดังเดิม
คิดแล้ว คิดเล่า เฝ้าคิด                ปลุกจิต จนคึก ฮึกเหิม
มิหวั่น ขันแข่ง แรงเติม                จะเสริม สร้างชื่อ ลือนาม
แก่ตัว หัวใจ ไม่แก่                   ยอมแพ้ แต่ต้น คนหยาม
เขาหนุ่ม เขาหล่อ ก็ตาม              ทาบทาม ท้าสู้ ดูกัน
ใครดี ใครได้ ไว้ชม                  ใครล้ม อย่าข้าม ตามหยัน
ใช่คน พิโรธ โกรธกัน                 แบ่งปัน น้ำใจ ไว้ดี
เป็นมิตร สนิทมั่น กันเถิด             คงเกิด ผลเห็น เป็นศรี
แพ้พ่าย ในเชิง นารี                  ชีวี ใช่พ่าย แพ้เอย   ฯ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 07 ก.ค. 11, 22:44
มีโคลงโบราณชนิดหนึ่งซึ่งหาคนรู้จักได้น้อยมากเรียกว่า โคลง มหาสินธุมาลี  ลักษณะผังเป็นเช่นเดียวกับโคลงสี่สุภาพ  แต่ไม่มีการบังคับวรรณยุกต์

ธรรมชาติของโคลงต้องมีการบังคับวรรณยุกต์ครับ โคลงโบราณที่เคยเห็นถ้าไม่เคร่งครัดก็จะไม่เคร่งครัดที่สัมผัส แต่เสียงวรรณยุกต์นั้นยังมีบังคับแน่ มากหรือน้อยแล้วแต่ใครจะเขียนผังบังคับมากน้อยเท่านั้นเอง

โคลงมหาสินธุมาลีก็คือโคลงสี่สุภาพที่เรารู้จักกันทุกวันนี้นี่เอง มีผู้ตั้งสมมติฐานว่าโคลงมาจากรูปแบบกาพย์ชนิดหนึ่งของอินเดีย ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีการกำกับวรรณยุกต์ เพราะภาษาบ้านเขาไม่มีวรรณยุกต์ เมื่อเขียนโคลงมหาสินธุมาลีเป็นภาษีบาลีจะเรียกว่าโคลงก็ไม่ไดแล้ว จึงมีผู้เลี่ยงไปเรียกว่า "กาพย์มหาสินธุมาลี" ครับ

โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าโคลงมีที่มาจากรูปแบบการประพันธ์ของอินเดียครับ รูปแบบการประพันธ์โคลงแพร่หลายอยู่ในกลุ่มคนพูดภาษาที่มีวรรณยุกต์ นอกจากไทย-ไตแล้ว ทางจีนก็มีคล้ายๆกันครับ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 07 ก.ค. 11, 23:43
มีโคลงโบราณชนิดหนึ่งซึ่งหาคนรู้จักได้น้อยมากเรียกว่า โคลง มหาสินธุมาลี  ลักษณะผังเป็นเช่นเดียวกับโคลงสี่สุภาพ  แต่ไม่มีการบังคับวรรณยุกต์

ธรรมชาติของโคลงต้องมีการบังคับวรรณยุกต์ครับ โคลงโบราณที่เคยเห็นถ้าไม่เคร่งครัดก็จะไม่เคร่งครัดที่สัมผัส แต่เสียงวรรณยุกต์นั้นยังมีบังคับแน่ มากหรือน้อยแล้วแต่ใครจะเขียนผังบังคับมากน้อยเท่านั้นเอง

โคลงมหาสินธุมาลีก็คือโคลงสี่สุภาพที่เรารู้จักกันทุกวันนี้นี่เอง มีผู้ตั้งสมมติฐานว่าโคลงมาจากรูปแบบกาพย์ชนิดหนึ่งของอินเดีย ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีการกำกับวรรณยุกต์ เพราะภาษาบ้านเขาไม่มีวรรณยุกต์ เมื่อเขียนโคลงมหาสินธุมาลีเป็นภาษีบาลีจะเรียกว่าโคลงก็ไม่ไดแล้ว จึงมีผู้เลี่ยงไปเรียกว่า "กาพย์มหาสินธุมาลี" ครับ

โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าโคลงมีที่มาจากรูปแบบการประพันธ์ของอินเดียครับ รูปแบบการประพันธ์โคลงแพร่หลายอยู่ในกลุ่มคนพูดภาษาที่มีวรรณยุกต์ นอกจากไทย-ไตแล้ว ทางจีนก็มีคล้ายๆกันครับ

เราเชื่อกันว่าโคลงโบราณนั้นดัดแปลงมาจาก "คัมภีร์กาพยสารวิลาสินี"  ไทยเรานำมาดัดแปลงใช้ทั้งหมด ๘ ชนิด คือ

๑. โคลงสินธุมาลี                    ๒. โคลงมหาสินธุมาลี
๓. โคลงนันททายี                   ๔. โคลงมหานันททายี
๕. โคลงจิตรดา                      ๖. โคลงมหาจิตรดา
๗. โคลงวิชชุมาลี                    ๘. โคลงมหาวิชชุมาลี

เนื่องจากผมไม่มีหนังสืออ้างอิงอีกแล้ว เหลือแต่เพียงความทรงจำกับข้อมูลย่อๆ ที่จดบันทึกไว้ในสมุดส่วนตัว  จึงไม่สามารถอธิบายความพิสดารได้
แต่จำได้ว่าต้นฉบับภาษาบาลีจะเรียกว่ากาพย์  เมื่อมาเขียนเป็นภาษาไทยจะเรียกว่าโคลง  ซึ่งจะต่างจากโคลงทั่วไปที่มีการบังคับวรรณยุกต์   เมื่อ
ไม่มีการบังคับวรรณยุกต์ จึงเรียกกันว่าโคลงโบราณ เพื่อให้เห็นความแตกต่างกับโคลงทั่วไปครับ  เนื่องจากโคลงโบราณเป็นโคลงที่แต่งได้ง่ายๆ จึง
ขาดความนิยมและค่อยๆ เสื่อมสูญหายไป


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 ก.ค. 11, 10:26
เนื่องจากโคลงโบราณเป็นโคลงที่แต่งได้ง่ายๆ จึงขาดความนิยมและค่อยๆ เสื่อมสูญหายไป

มันผิดธรรมชาตินะครับ
1. ถ้าแต่งง่าย ทำไมถึงขาดความนิยมและเสื่อมสูญไป มีแต่ว่าเพราะมันไม่ไพเราะหรือแต่งยากเกินไป ถึงน่าจะขาดความนิยมและเสื่อมสูญไปได้
2. หากโคลงโบราณเคยมีคนแต่งแล้วเสื่อมสูญไปในภายหลัง ทำไมไม่มี "โคลงโบราณ" ของเก่าเหลือมาให้เห็นบ้างเลย มีแต่ในตำรา(ที่เขียนในยุคไหน?) กับที่แต่เป็นภาษาบาลี (ซึ่งไม่ใช่ของเก่าแก่มาก)

โคลงที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคนี้น่าจะเป็นโองการแช่งน้ำ หรือไม่ก็ท้าวฮุ่ง ซึ่งก็มีการบังคับวรรณยุกต์ครับ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 08 ก.ค. 11, 12:25
     ผมขอเรียนคุณ Crazy HOrse ว่า เรากำลังเข้าใจคลาดเคลื่อนกันนะครับ  คำว่า "โคลงโบราณ" มิได้หมายถึงโคลงที่มีอายุเก่าแก่ยืนนาน
นับหลายร้อยปีดังนั้น   แต่ที่เรียกว่า "โคลงโบราณ" เนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นโคลงที่ถูกดัดแปลงมาจากกาพย์ต้นฉบับภาษาบาลี  เมื่อนำมาใช้จึง
ไม่มีการบังคับใช้วรรณยุกต์  จึงเรียกกันว่าโคลงโบราณ   ผมจำไม่ได้แล้วว่าต้นฉบับเดิมมีกาพย์อยู่กี่ชนิด  แต่รู้แน่ว่าเรานำมาใช้ ๘ ชนิด เพราะ
ผมโน๊ตไว้ในบันทึกส่วนตัวน่ะครับ  เพราะฉะนั้น "โคลงโบราณ" จึงเป็นชื่อเฉพาะที่ใช้เรียกโคลงชนิดหนึ่งเท่านั้น  ไม่ได้หมายถึง "โคลงเก่าแก่โบราณ"
ตามที่คุณ Crazy HOrse เข้าใจอยู่ในขณะนี้แต่อย่างใด
     เราทราบกันดีว่าตั้งแต่โบราณกาลมา  การประพันธ์ต่างๆ เป็นเรื่องของบุคคลชั้นสูงเท่านั้น  ชาวบ้านธรรมดาตามท้องไร่ท้องนาเห็นเป็นเรื่องสูง
เกินเอื้อม  ยกเว้นก็เพียงแต่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับในรั้วในวังเท่านั้น  ผมไม่เคยได้อ่านบทประพันธ์ยุคเก่าชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะชนิดไหน อ่านแล้วเข้าใจได้ง่ายๆ
เลยสักครั้ง  คำที่ควรจะใช้เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆ ท่านก็เปลี่ยนไปใช้ศัพท์ที่ยากๆ เสียอย่างนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจที่โคลงโบราณจะค่อยๆ สูญหายไป
อันเนื่องมาจากการที่แต่งได้ง่ายจนเกินไปนั่นเอง  แต่งกลอนสุภาพยังยากกว่าเสียอีก   แม้แต่ในยุคปัจจุบันก็เถอะ ดูได้เลยว่ากวีชั้นนำของบ้านเราใช้ภาษา
และกฎเกณฑ์แบบปกติหรือไม่  ถ้าไม่เป็นภาษาที่ใช้ ก็ต้องเป็นรูปแบบอะไรสักอย่างที่แตกต่างออกไป
     ผมว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์นะครับที่มักจะแสวงหาอะไรที่ท้าทายกว่าอยู่เสมอ  อะไรที่ง่ายเกินไปเราก็ไม่ค่อยชอบเหมือนกัน 


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 08 ก.ค. 11, 14:52
ที่คุณwillyquiz กล่าวมานั้น ถูกเพียงส่วนเดียว
คัมภีร์กาพย์วิสารวิลาสินีและคัมภีร์กาพย์คันถะซึ่งนับถือกันมาแต่โบร่ำโบราณว่า
เป็นต้นกำเนิดของโคลงนั้น  แท้จริงเป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้นในเมืองไทยนี่เอง
ในดินแดนที่เป็นอาณาจักรล้านนา   เข้าใจว่าพระภิกษุเป็นผู้แต่งคัมถีร์ดังกล่าว
โดยอาศัยแบบอย่างจากคัมภีร์ภาษาบาลีอื่นๆ เป็นต้นแบบ

อันที่จริงคัมภีร์กาพย์ทั้ง ๒ คัมภีร์  ก็ไม่ได้มีฉันทลักษณ์โคลงเท่านั้น
ยังฉันทลักษณ์ที่คล้ายกับร่าย และกาพย์อยู่ด้วย

โคลงโบราณเหล่านั้น  กำหนดแต่รูปโท  ไม่ได้กำหนดรูปเอก
โคลงโบราณเหล่านั้น  นิยมใช้เสียงเป็นเกณฑ์ในการกำหนดคำเอกคำโท
ลักษณะดังกล่าวทำให้โคลงโบราณมีฉันทลักษณ์ที่ยืดหยุ่นและแต่งได้หลากหลายแบบ
แต่ต่อมา  ผู้ที่แต่งโคลงคงค้นพบว่า  โคลงบางแบบไพเราะดีจึงพยายามรักษาเอาไว้
จนกลายเป็นโคลงดั้นและโคลงสุภาพต่อมา  ซึ่งก็มีที่มาจากโคลงโบราณเหล่านั้น

อันที่จริงโคลงเป็นฉันทลักษณ์ดั้งเดิมของคนในดินแดนแถบนี้
เพราะโคลงมีการกำหนดเอกโท  ซึ่งปรากฏเป็นเอกลักษณ์ในภาษาตระกูลไท-ไต
ถ้าพิจารณาจากวรรณกรรมท้องถิ่นภาคเหนือและภาคอีสาน
จะเห็นได้ว่าโคลงเริ่มมาจากพื้นเมือง  และเมื่อโคลงแพร่หลายในภาคกลาง
ก็ได้ยกระดับเข้าไปสู่ราชสำนัก   เพราะโคลงนั้นเริ่มมีการแต่งที่ประณีตขึ้น
อันที่จริงโคลงที่ดี  ต้องใช้คำน้อยแต่งแล้วกินความมาก ถึงจะแสดงว่าผู้แต่งมีความสามารถ
โคลงที่แต่งแบบบรรยายความเหมือนความเรียงนั้น  โบราณมักไม่ทำ
เพราะจะเสียลักษณะโคลง   ในราวช่วงรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา
การแต่งโคลงจะเป็นแบบบรรยาย  ใช้คำใส่ลงไปตรงๆ ไม่ใช่คำน้อยกินความมากอย่างก่อน
ทำให้โคลงเริ่มด้อยความไพเราะลง  ซึ่งไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่างื  เพราะหาได้ทั่วไป

ส่วนว่าชาวบ้านไม่สนใจการแต่งร้อยกรองคงไม่ใช่  ร้อยกรองชาวบ้าน
อย่างกลอนหัวเดียว  แหล่ต่างๆ หรือคำประพันธืพื้นบ้าน นั่นก็เป็นร้อยกรอง
เพียงแต่ชาวบ้านอาจจะไม่นิยมจดเก็บไว้  ขณะที่ราชสำนักจดเก็บไว้ดี
วรรณกรรมชาวบ้านสมัยก่อนใช้หูฟัง  จึงแต่งบรรยายให้เข้าใจง่าย
ได้ฟังแล้วเข้าใจทันที  ในราชสำนักนั้นมีทั้งที่อ่านฟังเอาศิลปะและความงาม
การแต่งร้อยกรองจึงประณีต  อ่านแล้วอาจจะต้องอ่านซ้ำเพื่อเข้าถึงอรรถรสที่ซ่อนไว้

โคลงโบราณนั้น  ในสมัยรัชกาลที่ ๖  ได้ทรงศึกษาและทรงประดิษฐ์โคลงเยี่ยงโบราณขึ้นมาหลายแบบ
แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม  เพราะฉันทลักษณ์ได้พัฒนามาเกินกว่าที่จะย้อนกลับไปหาของเก่าได้อีก
โคลงเยี่ยงโบราณจึงไม่เป็นที่ยม   

ร้อยกรองปัจจุบันไม่ว่ากาพย์กลอนโคลงร่าย(ไม่ต้องพูดถึงฉันท์)ที่แต่งยาก
เพราะเราเพิ่มข้อบังคับให้มากขึ้นไปเอง  เพราะเห็นว่า คนนั้นแต่งอย่างนี้เพราะดี
จึงเอาอย่างบ้าง   แต่หารู้ไม่ว่า  ความไพเราะไม่ได้จำกัดเพียงรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่ง
อย่างกลอนสุนทรภู่  มีสัมผัสในก็เพราะดี  พอไปอ่านเสภาขุนช้างขุนแผนบางตอน
ที่เป็นสำนวนของเก่าไม่เน้นสัมผัสในเลย  ก็อ่านเพราะดีเหมือนกัน  แต่คนสมัยต่อมานิยมว่า
กลอนมีสัมผัสในเพราะ  ต้องวางจังหวะในวรรค ๓-๒-๓ หรือ ๓-๓-๓ จึงจะไพเราะดี
แต่หารู้ไม่ว่า  นั่นเท่ากับบังคับให้การแต่งกลอนที่บังคับน้อย เป็นเรื่องยุ่งยาก
จึงมีคนคิดฉันทลักษณ์อื่นๆ ขึ้นใหม่  หรือแม้แต่กลอนเปล่า  เพราะเบื่อฉันทลักษณ์เก่า

พูดมายาว ขอยุติเท่านี้


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 08 ก.ค. 11, 15:04
^
พูดมายาว ขอยุติเท่านี้
+++

เขาเรียกว่าจัดให้ชุดใหญ่  ;)


ด้วยการอธิบายของคุณหลวงเล็ก นั้นงดงามและเฉียบคมเสมอ อีกหน่อยจะได้เป็นปราชญ์แห่งสยามแน่นอน  ;) ควรค่าแห่งกระทู้นี้ยิ่งนักครับ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 08 ก.ค. 11, 16:09
ผมกำลังจะเข้ามากราบขอบพระคุณ คุณหลวงเล็ก คุณ Siamese แอบเข้ามาทำหน้าที่แทนเสียแล้ว

ผมก็เลยไม่ต้องเสริมอะไรอีก  นอกจากขอย้ำว่า ขอบพระคุณ คุณหลวงเล็ก คุณ Crazy HOrse

และคุณ Siamese มากๆ ครับ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 ก.ค. 11, 16:29


ก่อนจะได้เป็นอะไร  ต้องได้เป็นคุณพระก่อน


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 08 ก.ค. 11, 21:14
ผมต้องขออภัยคุณ chupong เป็นอย่างยิ่งครับ  ผมไม่ทันเห็นข้อความของคุณ chupong ทั้งสองครั้งที่ส่งมาด้านหลังจริงๆ เพิ่งจะเห็นเมื่อสักครู่นี่เอง
ปล่อยผ่านไปเสียหลายวัน

ผมอยากเรียนให้คุณ chupong ทราบว่า กระทู้นี้มีขึ้นได้ก็เพราะความคิดของเยาวชนกลุ่มหนึ่งซึ่งติดต่อกับผมโดยตรงไม่สะดวก  จึงมาอาศัยช่องทางนี้ 
ลำพังผมทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ไม่เป็นเลยครับ  นี่ก็กำลังค่อยๆ เรียนรู้อยู่

ผมไม่กล้ายกตัวว่าเป็นผู้มีความสามารถด้านร้อยกรองเลยครับ  ตรงกันข้าม ผมคิดว่าผมรู้น้อยมากจึงมาขอความช่วยเหลือจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เว็บนี้  ผมน่ะ
แก่เกินแกงไปแล้วครับ  ยอมรับว่าสมองฝ่อไปเยอะเพราะขาดความต่อเนื่อง   แต่ดูเหมือนว่ามีคนสนใจเรื่องร้อยกรองโดยเฉพาะ "กลบท" น้อยมากๆ ผม
จึงเหมือนฉายเดี่ยวไปเลย  ผมไม่ได้มุ่งหมายให้ใครมายึดถือร้อยกรองของผมเป็นตัวอย่าง  ผมเพียงแต่แต่งให้ลูกหลานของผมกับเพื่อนๆ ดูเค้าโครง ลีลา
ของกลกลอนแต่ละชนิดเท่านั้น  ผมต้องถูกเด็กพวกนี้กำหนดโน่นนี่อยู่เสมอ  ผมก็อายเหมือนกันครับ แต่เด็กๆ แกภูมิใจกับชื่อที่ให้ผมใช้เป็นตัวอย่าง  ผมก็
ไม่เข้าใจพวกแกนักหรอก  แต่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวัยอย่างนี้  ถ้ามีสิ่งใดที่ดึงพวกแกออกมาจากอบายมุขทั้งหลายแหล่ได้  ผมยินดีทำให้ครับ

โคลงของคุณ chupong เพราะมาก ผมขออนุญาตนำมาแสดงที่กระทู้นี้ได้ไหมครับ  ผมอยากให้เด็กๆ ได้เห็นว่านี่คือผลงานของผู้พิการทางสายตา  ให้มี
ความมานะอย่างคุณ chupong บ้าง  อย่าทำอะไรเหลาะแหละเป็นเด็ดขาด   ถ้าคุณ chupong อนุญาต กรุณาแจ้งให้ผมทราบด้วยนะครับ

ขอบพระคุณต่อถ้อยคำทุกถ้อยคำ ตัวอักษรทุกตัวอักษรที่ได้เขียนไว้และสิ่งที่ส่งไปให้ด้วยความสำนึกในบุญคุณครับ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 09 ก.ค. 11, 11:39
เรียน คุณ willyquiz
 ที่เคารพยิ่งครับ

   ผมขอย้ำยืนยันครับ ว่าผมเคารพ ศรัทธา ในฝีมือของคุณเสมอ และสำนึกตลอดเวลา ในข้อที่ ฝีมือของผมนั้น ยังมิได้แม้เศษหนึ่งส่วนโกฏิของคุณเลย แต่ถ้าคุณ willyquiz
 พอจะเล็งเห็นค่าของงานอันด้อยราคานี้อยู่บ้าง ถึงกับนำลงกระทู้ ก็ถือเป็นเกียรติสำหรับคนเล็กๆอย่างผมเหลือเกิน ซึ่งผมขอกราบขอบพระคุณด้วยจิตคารวะสูงสุดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ



กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 09 ก.ค. 11, 14:44
     ผมขอขอบคุณในคำยกย่องของคุณ chupong ครับ  แต่ดังที่ผมเรียนไปแล้วว่า  ผมไม่เก่งถึงขนาดนั้น  ผมจะชี้ให้คุณ Chupong เห็นถึงความ
บกพร่องของผมตอนนี้เลยก็ได้    ถ้าคุณ chupong ย้อนกลับไปอ่าน "โคลงคั้นบาทกุญชร" เสียใหม่จะพบความผิดพลาดทันที

    วสันต์คลายเคลื่อนคล้อย               เลยไป    แล้วฤๅ

หนาวยิ่งกาลเหมันต์                         แผ่นพื้น

พบแล้วใช่ไหมครับ  ผมมีโอกาสแก้ตัวตอนที่คุณหลวงเล็กทักท้วงเรื่องการส่งสัมผัสผิดพลาด  แต่ผมก็พลาดอีกเป็นครั้งที่สองจนได้  รู้ตัวก็ต่อเมื่อได้ส่ง
ข้อความไปแล้ว  และแก้ไขอะไรไม่ได้  นอกจากจะนำมาลงซ้ำใหม่อีกครั้ง
     กวีที่เก่ง และดี จะไม่ทำอย่างผมหรอกครับ  เขาจะต้องรีบแก้ไขทันทีที่พบเห็นข้อบกพร่องในงานของตนเอง  แต่ผมไม่ใช่กวี เป็นเพียงคนชอบเขียน
ร้อยกรองเท่านั้น ผมจึงปล่อยผ่านไปเสีย  ถ้ามีคนทักท้วงผมก็จะแก้ไขให้  ถ้าไม่มีคนทักท้วงผมก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจอะไร  ถ้าอ่านกันอย่างสังเกตจริงๆ
จะเห็นข้อผิดพลาดอย่างนี้หลายแห่งครับ  อย่างเช่น ขนมในวันไหว้พระจันทร์ เป็นต้น  ข้อบกพร่องอย่างนี้กวีที่ดีรับไม่ได้  แต่ผมรับได้ เพราะผมถือว่าผม
ไม่ได้ไปลอกเลียนดัดแปลงของใครมา  ผมใช้สติปัญญาของตนเองเขียนขึ้นมา  พวกชอบลอกสิครับน่ารังเกียจ  เพราะฉะนั้นผมไม่เคยเดียดฉันท์ผลงาน
ร้อยกรองของคนที่ใช้ความสามารถของตนเองเขียนขึ้นเลย ไม่ว่าจะดูย่ำแย่สักขนาดไหน  ดังนั้น จะเอาผลงานของผมไปเป็นตัวอย่างไม่ได้โดยเด็ดขาด 
แม้แต่ลูกหลานของผม  ผมก็บอกดั่งนี้   ถ้าจะอ่านเล่นเพื่อความเพลิดเพลินก็พอได้  โปรดเข้าใจด้วยนะครับ
และกระทู้นี้ ไม่มีสีครับ สีเดียวที่มีคือ สีผ้ากาสาวพัสตร์  คุณ chupong แสดงความสามารถได้เต็มที่ถ้าไม่ไปละเมิดบุคคลใดบุคคลหนึ่งเข้า

เรียน คุณ willyquiz  ที่เคารพยิ่งครับ
« ส่งให้: willyquiz เมื่อ: 07 ก.ค. 11, 10:53 »
อ้างถึง  ตอบ  ลบทิ้ง 
โดยส่วนตัวผมชอบลีลาโคลงห้าพัฒนา เพราะฟังกระชับกระชั้นทรงพลังดีนักครับ ถ้าแต่ง ผมมักใช้กับอารมณ์เคร่งเครียด ดังเช่นบทนี้ครับ

   มวลหมู่ร้าย                  มารุม
กินเมืองสุม                     สิ่งเปื้อน
ยลชุกชุม                       ชอบโอ่
ยังยิ้มเยื้อน                     อย่างเสบย

   เผยธาตุแท้                  ทวยผอง
ภูตลำพอง                      เผ่นผ้าย
หืนจองหอง                     ใจห่าม
หลากล้วนร้าย                  เรื่องราว

   หลายข่าวย้ำ                 ยิน ยล
ชวนปวงชน                     ช่วยเกื้อ
รวมทุกหน                      ทุกแห่ง
มาล้างเชื้อ                      ชั่วทราม

   ตามเอ่ยอ้าง                 เอิกขาน
ใดสามานย์                     หมั่นจ้อง
ใดสาธารณ์                     โซรมถิ่น
เร็วพร้อมพร้อง                  พร่ำแถลง

   แจงเล่ห์แล้                  แลเห็น
ใครเลือดเย็น                   ย่าม ปล้น
กอปรความเข็ญ                ขมขื่น
ขับให้พ้น                       พ่านหนี พาลหนี

   จัดรูปแบบการพิมพ์ไม่สวยอีกแล้ว แถมฝีมือแต่งของผมยังแสนต่ำต้อยด้อยเดี้ยอีกต่างหาก ผมส่งมาให้คุณ Willyquiz
พิจารณา เพื่อโปรดวิจารณ์ ปรับปรุง แก้ไข ชี้แนะ สั่งสอน เอื้อวิทยาทานตามแต่คุณจะเมตตาเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

ผมได้นำลงให้ทั้งหมดโดยมิได้แต่งเติมแก้ไขเลยแม้แต่น้อย

ขอบพระคุณ คุณ chupong มากครับ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: อกนิษฐ์ ที่ 15 ก.ค. 11, 08:53
ที่ว่า โคลงโบราณ มาจาก คัมภีร์กาพย์วิสารวิลาสินีและคัมภีร์กาพย์คันถะ นั้นน่าจะเป็นการ "จับบวช" อย่างที่ จิตร ตั้งสมมติฐานไว้

นั่นคือ โคลง เป็นรูปแบบคำประพันธ์ที่มีมานานแล้วในดินแดน ล้านนา-ล้านช้าง ด้วยธรรมชาติการเอื้อนคำสูงต่ำตามวรรณยุกต์

แต่เพื่อให้ขลัง นักปราชญ์บางกลุ่มก็เลยต้องอ้างให้เหมือนมีมาจากคัมภีร์ แต่ทว่าคัมภีร์บาลี สันสกฤตไม่มีที่ใดใช้เอก-โทเลย ก็เลยต้องโมเมว่าโคลงนี้นะโบราณ ตั้งแต่สมัยยังไม่บังคับเอก-โท  มีการจัดรูปแบบออกมาให้เข้าเค้า แต่ก็เมื่อแต่งขึ้นมาชั้นหลัง (เชื่อว่าใหม่กว่า โองการแช่งน้ำ) ไม่มีใครนำไปใช้จริง มันก็เลยอยู่แต่ในตำราเรียน ถึงรัชกาลที่ ๖ จะพยายามปลุกผีขึ้นมา ด้วยโคลงเยี่ยงโบราณ อีกหลายรูปแบบ แต่ก็เฉาเหมือนเดิม

...แม้แต่ปัจจุบัน กวีชั้นแนวหน้าอย่าง อังคาร จันทาทิพย์ จะปรับ โคลงสินธุมาลี มาใช้ในบทกวีสมัยใหม่ ก็ยังคงเคร่ง เอก-โท ตามพื้นฐานแห่งโคลงอยู่ดี

โคลงที่อ้างว่าไม่บังคับเอก-โท จึงตายไปกับนิยามของมันเองแต่ต้น ตายเพราะขัดกับหลักแห่งโคลงที่ชี้วัดด้วยเอก-โท ตายเพราะมันเป็นแค่ "จับบวช" ในบางสมัยเท่านั้นเอง

"โคลงโบราณ" จึงไม่ "โบราณ" จริง แต่แอบอ้าง "โบราณ" เท่านั้น


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 15 ก.ค. 11, 11:47
     กลับมาจากวัดตั้งใจจะมาโพสท์ข้อความฝากถึงเด็กคนหนึ่งซึ่งมาขอความช่วยเหลือ  แต่ได้มาเห็นข้อความของคุณอกนิษฐ์ทำให้รู้สึกดีใจเหมือนได้พบ
กับมิตรสหายเก่าที่จากกันไปนานอีกครั้งหนึ่ง  ขอต้อนรับด้วยความยินดีครับ
     ขอเรียนถามคุณอกนิษฐ์ว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับ "โคลงโบราณ" เพิ่มเติมมากกว่านี้ไหมครับ  ของผมมีแต่เพียงบันทึกสั้นๆ ที่เขียนเอาไว้เท่านั้น  ผมไม่สามารถ
จดจำรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เลย  ข้อความที่ผมโพสท์ลงไปล้วนแต่เป็นความทรงจำในอดีตเท่านั้น  จึงเกิดความผิดพลาดของข้อมูลขึ้น
     บางข้อความที่คุณอกนิษฐ์ได้เขียนไว้นั้นทำให้ผมสงสัยเป็นอย่างยิ่ง คือ  "...แม้แต่ปัจจุบัน กวีชั้นแนวหน้าอย่าง อังคาร จันทาทิพย์ จะปรับ โคลงสินธุมาลี
มาใช้ในบทกวีสมัยใหม่ ก็ยังคงเคร่ง เอก-โท ตามพื้นฐานแห่งโคลงอยู่ดี"    ถ้ามีการเคร่ง เอก-โท แล้วจะเรียกโคลงโบราณได้อย่างไรเล่าครับ  ก็
ควรจะเรียกชื่อไปตามชนิดของโคลงที่มีแบบแผนบังคับนั้นๆ มิใช่หรือ  ผมขออนุญาตนำ "โคลงสินธุมาลี" ที่ผมได้เขียนขึ้นไว้ในอดีตสักชิ้นหนึ่งมาแสดงเพื่อปรับ
ความเข้าใจให้ตรงกัน  และคุณอกนิษฐ์จะได้อธิบายให้ผมเข้าใจได้บนรากฐานความของความเข้าใจเดียวกันนะครับ

                                             โคลงสินธุมาลี

                             เนตรมองนองมากเหลือ           ชลธาร
                        ลอยคอรอคอยนาน                    มารศรี
                        มองหามาหายขาน                     เสียงเพรียก
                        เห็นนวลหวนเนตรหนี                  เสียวทรวง     ฯ

                                              ท่าน้ำวัดราชสิงขร
                                  วันอาทิตย์ที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๑

     ถ้านับจนถึงวันนี้ โคลงสินธุมาลีที่ผมแต่งขึ้นนี้มีอายุได้ ๔๓ ปีเศษแล้ว  คุณอกนิษฐ์จะเห็นได้ว่าผมมิได้ใช้วรรณยุกต์เลยแม้แต่ตัวเดียว  แต่ใช้วิธีการบังคับเสียงแทน
อันที่จริงเขามิได้ห้ามการใช้วรรณยุกต์แต่อย่างใด  สามารถใช้ได้โดยไม่บังคับตำแหน่งเท่านั้น  แต่ผมยังอยู่ในช่วงของวัยรุ่นต้องการความแปลกใหม่  ผมก็แต่งมันให้
แหวกแนวออกไปเท่านั้นโดยการไม่ใส่รูปวรรณยุกต์เสียเลย
     ผมขอคำแนะนำถึงความแตกต่างของโคลงโบราณที่มีการบังคับวรรณยุกต์ที่คุณอกนิษฐ์กล่าวถึง  กับโคลงโบราณที่ไม่มีการบังคับตำแหน่งวรรณยุกต์ตามที่ผมเข้าใจ
ว่าแตกต่างกันด้านไหนบ้าง  มีผังของการบังคับรูปหรือไม่ครับ

ขอบคุณคุณอกนิษฐ์ล่วงหน้าครับ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 15 ก.ค. 11, 13:28
     คุณทศพลส่ง Email ถึงผมโดยไม่แจ้งให้ผมทราบว่าได้มาได้อย่างไร  ปล่อยให้ผมคาดเดาเอาเองอย่างนี้ไม่ถูกต้องนะครับ  ผมจะตอบให้ครั้งนี้เพียงครั้งเดียว
ครั้งหน้ากรุณาสมัครเป็นสมาชิกเรือนไทยเสียให้เรียบร้อยเสียก่อนนะครับ  และผมไม่ตอบ Email กับคนที่ผมไม่รู้ที่มาที่ไปครับ
     กลอนทั้งแปดบทที่คุณส่งไปให้ผมดูและขอให้ผมช่วยดัดแปลงแก้ไขโดยที่คุณบอกว่าเป็น "กลอนเพลงยาว" นั้น  ผมขอบอกว่าผมไม่ทำการบ้านให้ใครนะครับ
เพราะผมสงสัยว่านี่อาจจะเป็นการบ้านก็ได้  เนื่องจากดูคุณรีบร้อนเหลือเกิน  แต่ผมจะขอแนะนำชี้แจงแทนก็แล้วกัน
     กฎเกณฑ์และหลักการของกลอนเพลงยาวคุณคงได้เรียนรู้มาจากคุณครูผู้สอนแล้วผมจะไม่อธิบายเพิ่มอีก   กลอนของคุณยังเรียกว่ากลอนเพลงยาวไม่ได้นัก
เพราะขาดสัมผัสในมากเกินไป  ไม่มีการเล่นคำใดๆ เลย  แต่งเหมือนบรรยายความเสียมากกว่า  แม้กระนั้น ในบทที่สองและบทที่เจ็ดก็ยังมีความหมายเดียวกันเป็น
การบรรยายความซ้ำซากที่ไม่น่าเกิดขึ้นกับกลอนเพียงแปดบท   มีการใช้คำที่ไม่เหมาะสมเช่น "หน่อมแน้ม" ในบทที่สี่   ผมเข้าใจดีว่าคุณต้องการให้สัมผัสกับคำว่า
"แก้ม" ในวรรคหน้า  แต่ควรเลือกใช้คำที่ดีกว่านี้   ข้อสรุปก็คือ
๑. ขาดสัมผัสในมากเกินไป ทั้งสัมผัสสระ และสัมผัสพยัญชนะ
๒. ขาดการเล่นคำ  การเล่นคำเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของกลอนเพลงยาว จะขาดไปเสียมิได้ (คุณอาจจะใช้กลอนกลบทชนิดใดชนิดหนึ่งแทนก็ได้)
๓. มีการใช้คำแสลงโดยไม่เหมาะสมกับทางกลอน
๔. มีการใช้ถ้อยความโดยมีความหมายซ้ำซาก
     ลองใหม่อีกครั้งนะครับ  ต้องใช้ความใจเย็นค่อยๆ คิด  อย่าบีบคั้นตนเองมากเกินไป  แต่ดูเหมือนคุณกำลังตกอยู่ในสภาพที่กำลังสับสนอยู่  ผมสังเกตได้จาก
คำถามสองข้อที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัวเองของคุณ
ถาม  : ทำอย่างไรผมถึงจะแต่งกลบทได้เก่งอย่างคุณลุงอ่ะคับ?
ตอบ  : ก. ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องกับกาลเทศะ
         ข. ใช้หัวใจนักปราชญ์ สุ จิ ปุ ลิ (ฟัง คิด ถาม เขียน) ช่วย  และตามมาด้วย  แต่ง แต่ง แต่ง และ แต่ง ให้มากๆ
ถาม  : คุณลุงว่าเราจะเรียนโคลงกลอนไปทำไมอ่ะคับ?  ผมไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไรเลย
ตอบ  : ผมไม่มีความคิดเห็น  นอกเสียจากว่าคุณจะบอกผมเสียก่อนว่า  อะไรทำให้คุณถามคำถามข้อแรก
     ผมอยากบอกคุณทศพลว่า  คุณนั้นใกล้เกลือกินด่าง  คุณมีคุณครูผู้สอนอยู่ใกล้ตัวอยู่แล้ว  ทำไมจึงไม่ปรึกษาท่านล่ะครับ  คุณต้องหัดตัวเองให้มีความไว้วางใจ
ในตัวของคุณครูผู้สอนเสียก่อน  ไม่ใช่มาไว้วางใจคนที่คุณไม่รู้จักอย่างผม  ไม่เข้าใจสิ่งใดคุณก็เข้าหาท่านเพื่อปรึกษาเลย  คุณควรถือบทกลอนทั้งแปดบทที่คุณแต่ง
ขึ้นนี้ไปเรียนปรึกษาท่าน  ให้ท่านชี้ถึงข้อบกพร่อง  แล้วคุณก็แก้ไขตามที่ท่านบอก  นั่นจึงจะเป็นวิถีทางที่ถูกต้อง
     สิ่งหนึ่งที่ผมชอบในกลอนของคุณคือ  มีความมานะพยายามแฝงอยู่ในบทกลอน  แสดงว่าคุณเขียนขึ้นเองจริง  และเมื่อเขียนขึ้นเองแล้วจงภูมิใจในต้วเองเถิดว่า
เราได้ใช้ความสามารถที่เรามีอยู่ในขณะนี้โดยไม่ได้ไปลอกใครเขามา  ผมขอยกย่อง และอย่าเพิ่งท้อใจนะครับ  ผมขออวยพรให้คุณประสบความสำเร็จด้วยดี


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: chupong ที่ 15 ก.ค. 11, 16:41
เรียนท่านผู้อ่านกระทู้นี้ทุกๆท่านครับ

   ผมอ่านเรื่องโคลงสินธุมาลีแล้ว ทำให้นึกอะไรขึ้นมาได้อย่างหนึ่ง ขออนุญาตคุณ willyquiz
  บันทึกไว้เสียเลยครับ

   ท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นกวีท่านหนึ่งซึ่งดัดแปลงรูปแบบโคลงสินธุมาลีของเก่าทำให้กลายเป็นโคลงชนิดหนึ่ง ที่มีฉันทลักษณ์ผสมระหว่างโคลงสี่สุภาพกับโคลงดั้น  กล่าวคือ บาทแรกถึงบาทสาม ตำแหน่งคำเอกคำโทก็ดี การส่งสัมผัสก็ดี เช่นเดียวกับโคลงสี่สุภาพ ข้อแตกต่างอยู่ตรงบาทสุดท้าย คือวรรคหน้าคำที่สี่แหละห้าใช้โทคู่ (คำโทสองคำติดกัน) วรรคหลังมีเพียงสองคำ ให้คำหนึ่งเป็นคำเอก อีกคำใช้ปิดท้ายบท ซึ่งลักษณะเช่นนี้ ดุจเดียวกับบาทสี่ของโคลงดั้นวิวิธมาลี หรือบาทกุญชรนั่นเอง ท่านใดได้อ่านหนังสือ “เพียงความเคลื่อนไหว” ก็จะพบโคลงดังกล่าวในบทกวีชื่อ “ที่ราบแล้ง ณ แหล่งลุ่ม” ครับ

   “ปลาตีนปีนไต่เต้น                  ตมตีน
ตีนเตอะตมจมปีน                     ป่ายจ้อง
ปูดำหลับจำศีล                  ปาริสุทธิ์
คลื่นไป่ครืนครื้นคล้อง                  ขลาดโหม

   เหือดโพยมล่มแล้งทั่ว            ทะเลหนาว
หอมกลิ่นโคลนปนคาว               คละคลุ้ง
เวิ้งว้างว่างวายยาว                  ยืดเหยียด
ฟ้าจรดฟ้าเฟื้อยฟุ้ง                     ฝั่งฝัน

   เงียบวันยันค่ำคล้าย               ความตาย
ดึกดื่นดื่นดาวราย                  หรี่แล้ง
ตาแห่งห่าโหงพราย               พร่าผุด
อำมหิตโหดเหี้ยมแห้ง               หุ่นผี

   เสียงสีเสียงส่ายแสร้ว            ใบสน
เสียงปิศาจสวดมนต์               มี่ซ้อง
เสียงสาปสั่งบังหน                  หกคว่ำ
คว่ำบาตรบาปบ้ายต้อง               ติดดิน

   อย่ายินอย่ารู้เรื่อง                  ใดเลย
สูประชาชนเฉย                     ชืดชื้น
เช่นนั้นนั่นเทียวเหวย               หวามนุษย์
กี่ชาติกี่ชั้นตื้น                  ต่ำทราม”

   สิ่งที่ผมต้องกราบขอขมาท่านผู้อ่านมีอยู่สองประการครับ หนึ่ง เนื่องจากคนตาบอดพิมพ์ แหละในขณะพิมพ์นั้นมิอาจรบกวนคนตาดีได้ (เนื่องด้วยท่านมีภารกิจ) รูปแบบโคลงจึงออกมาโย้เย้ ขอท่านโปรดอย่าถือสาเลยนะครับ สอง ผมพิมพ์บทกวีนี้จากความทรงจำล้วนๆ ฉะนั้น หากมีคำใดวิปลาสคลาดเคลื่อน “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” แหละหากท่านใดจะกรุณาแก้ไขให้ทุกคำตรงตามหนังสือของท่านอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ก็จะเป็นพระคุณยิ่งครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ




 


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 16 ก.ค. 11, 13:12
สวัสดีครับคุณ chupong

ผมประมวลข้อความจากคุณหลวงเล็ก  + คุณอกนิษฐ์ + คุณ chupong  ก็พอจะมองเห็นภาพขึ้นลางๆ บ้างแล้วเกี่ยวกับโคลงโบราณและโคลงเยี่ยงโบราณ  คาดว่าเป็นเรื่องของ
ข้อสันนิษฐานใหม่หักล้างข้อสันนิษฐานเดิมและถ้ามีข้อสันนิษฐานที่ใหม่กว่าเพิ่มเข้ามาก็คงจะนำมาหักล้างกันอีกต่อไป  ในทำนองเดียวกันกับคนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต
จริงหรือไม่  จนบัดนี้ก็ยังไม่มีข้อยุติ
และเมื่อได้อ่านข้อความของคุณหลวงเล็กที่ได้กล่าวไว้ว่า
คัมภีร์กาพย์วิสารวิลาสินีและคัมภีร์กาพย์คันถะซึ่งนับถือกันมาแต่โบร่ำโบราณว่า
เป็นต้นกำเนิดของโคลงนั้น  แท้จริงเป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้นในเมืองไทยนี่เอง
ในดินแดนที่เป็นอาณาจักรล้านนา   เข้าใจว่าพระภิกษุเป็นผู้แต่งคัมถีร์ดังกล่าว
โดยอาศัยแบบอย่างจากคัมภีร์ภาษาบาลีอื่นๆ เป็นต้นแบบ
ผมจึงมิได้ประหลาดใจอะไรมากนัก  เพราะแม้แต่ในขณะบวชเป็นภิกษุสงฆ์พรรษาแรกยังเป็นพระนวกะ     ขณะที่กำลังท่องจำบทขัดสัคเค (บทขัดชุมนุมเทวดา) ผมก็ได้พบ
ความผิดปกติของพระคาถาบางประการ  รู้สึกถึงความคุ้นตาอันเนื่องจากเคยแต่งมาก่อน  จึงลองตรวจสอบดู  แล้วก็พบว่า เป็นคำฉันท์นั่นเอง  แต่จะเรียกว่าฉันท์อะไรผมเองก็ไม่ทราบ 
แต่รูปแบบของพระคาถาตั้งแต่  “สะรัชชัง สะเสนัง.....จนถึง.....ปะริตตัง ภะณันตุ.” เป็นรูปแบบของ “ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒”  ผิดกันแต่รูปแบบของสัมผัสที่ไม่เหมือนกัน  กับคำ
สุดท้ายของบทตรงคำว่า “ภะณันตุ” ซึ่ง “ตุ” เป็น ลหุ ผิดรูปแบบไป   และตั้งแต่ “สัคเค กาเม.....จนถึง.....สาธะโว เม สุณันตุ”  นี้เป็นรูปแบบของ “สัทธราฉันท์ ๒๑” อย่างไม่ต้อง
สงสัย  แต่ก็เช่นเคย  รูปแบบของสัมผัสไม่ตรงกับแบบแผนที่เคยได้รับรู้ร่ำเรียนมา  และคำว่า “ตุ” เป็นคำ ลหุ ปิดท้ายเช่นเดิม  ก็ไม่รู้ว่าผู้ประพันธ์ บทขัดสัคเค นี้นำมาจากคัมภีร์ฉบับ
หรือผูกใดและนำมาประพันธ์ไว้เป็นบทสวดมนต์ให้พวกเรายุคหลังได้ใช้ในการอัญเชิญเทวดาก่อนจะทำการสวดมนต์ตามปกติมาตั้งแต่สมัยใด
ดังนั้นเมื่อได้อ่านข้อความของคุณหลวงเล็กผมจึงรู้สึกเฉยๆ  คัมภีร์ใดจะเป็นต้นกำเนิดผมก็นับถือเป็นแบบอย่างเช่นเดียวกัน  สิ่งที่ได้ก็คือความรู้เพิ่มเติมเท่านั้น  ผมก็ยังอาศัยรูปแบบนั้นๆ
เป็นครูตามปกติ   แต่ที่เรียกความสนใจของผมก็คือความพยายามฟื้นฟูโคลงโบราณขึ้นมาอีกโดยกำหนดรูปแบบเสียใหม่ดังที่คุณ chupong ได้นำโคลงของคุณ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
มาลงไว้ให้ชม  แต่ไม่ได้บอกชื่อไว้  ดังนั้นผมขอเรียกว่า “โคลงดั้นโบราณสินธุมาลี” ไปก่อนก็แล้วกัน 


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 16 ก.ค. 11, 13:18
โคลงดั้นโบราณสินธุมาลี ที่คุณ chupong นำมาลงไว้นี้ไม่ได้เป็นของแปลกใหม่สำหรับผมเลย  ผมเคยแต่งและกำหนดรูปแบบเอาไว้ก่อนหน้านั้นนานแล้วโดยนำเอาโคลงสี่สุภาพกับ
โคลงดั้นวิวิธมาลีกับโคลงดั้นบาทกุญชรมาผสมผสานกัน  แต่เมื่อพิจารณาไปแล้วรู้สึกเกิดความลำบากใจในการส่งสัมผัสระหว่างบทขึ้นมา  อุปสรรคคือจะส่งสัมผัสไปยังคำใดของบท
ต่อไปดีนั่นเอง  ของเก่าท่านก็กำหนดเอาไว้เหมาะสมดีแล้ว  และถ้าจะแต่งเดี่ยวแบบโคลงสี่สุภาพ  ผมก็ไม่เล็งเห็นถึงความแตกต่างของโคลงสี่สุภาพที่มีความไพเราะอยู่แล้วเลย  ผม
จึงละความสนใจแล้วมุ่งไปหาแนวทางอื่นๆ ต่อไป  อันที่จริงถ้าจะคำนึงถึงข้อเขียนของคุณหลวงเล็กที่กล่าวไว้ว่า
ร้อยกรองปัจจุบันไม่ว่ากาพย์กลอนโคลงร่าย(ไม่ต้องพูดถึงฉันท์)ที่แต่งยาก
เพราะเราเพิ่มข้อบังคับให้มากขึ้นไปเอง  เพราะเห็นว่า คนนั้นแต่งอย่างนี้เพราะดี
จึงเอาอย่างบ้าง   แต่หารู้ไม่ว่า  ความไพเราะไม่ได้จำกัดเพียงรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่ง
อย่างกลอนสุนทรภู่  มีสัมผัสในก็เพราะดี  พอไปอ่านเสภาขุนช้างขุนแผนบางตอน
ที่เป็นสำนวนของเก่าไม่เน้นสัมผัสในเลย  ก็อ่านเพราะดีเหมือนกัน  แต่คนสมัยต่อมานิยมว่า
กลอนมีสัมผัสในเพราะ  ต้องวางจังหวะในวรรค ๓-๒-๓ หรือ ๓-๓-๓ จึงจะไพเราะดี
แต่หารู้ไม่ว่า  นั่นเท่ากับบังคับให้การแต่งกลอนที่บังคับน้อย เป็นเรื่องยุ่งยาก
จึงมีคนคิดฉันทลักษณ์อื่นๆ ขึ้นใหม่  หรือแม้แต่กลอนเปล่า  เพราะเบื่อฉันทลักษณ์เก่า
อ่านจบแล้ว เราจะมองเห็นสัจธรรมที่ว่า  ความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด  เรามีรูปแบบของโคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย มากมายอยู่แล้วให้เลือกใช้ตามความสามารถของแต่ละ
บุคคล  แต่เราก็ไม่ยอมหยุดยั้งอยู่แค่นั้น  เราก็พยายามจะแสวงหาสิ่งใหม่ๆ มาเพิ่มเติมอีก  ซึ่งจะว่าผิดก็ไม่ได้อีกเช่นกัน  เพราะการหยุดอยู่กับที่ก็เท่ากับเรียกหาความเสื่อมโทรมเท่านั้น
เอง   อย่างตัวผมเองผมก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องบังคับตัวเองให้แต่งกลอนโดยมีสัมผัสในอยู่ด้วยเสมอ  ทำไมจึงต้องพยายามแต่งกลบทต่างๆ ด้วยทั้งๆ ที่ปวดสมองจะตาย  ทำไมต้อง
พยายามคิดค้นร้อยกรองรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่เห็นมีในตำรามาตั้งแด่วัยเด็กเพื่อที่ว่าจะได้ชื่อว่าตนเองเป็นคนบัญญัติขึ้นมาแล้วก็ถูกคุณครูบอกว่า “พวกนอกตำรา”    ดังที่คุณหลวงเล็กบอก
เอาไว้ว่า  เป็นเรื่องยุ่งยาก  “ความไพเราะไม่ได้จำกัดเพียงรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่ง”  ข้อนี้ผมว่าเป็นความจริงอย่างที่สุด  มันอยู่ที่ฝีมือของผู้ประพันธ์เสียมากกว่า ถ้าฝีมือดี จะแต่งร้อยกรอง
ชนิดใดก็เพราะทั้งนั้น      คุณ chupong เองก็มีฝีมือฉกาจฉกรรจ์พอตัว  ลองแต่ง “โคลงมหาสินธุมาลี” โดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ของรูปแบบวรรณยุกต์ให้ปวดสมองมาให้เพื่อนสมาชิก
เรือนไทยอ่านบ้างสิครับ  ผมอยากชมรูปแบบของโคลงโบราณในความคิดของผู้พิการทางสายตาว่าจะออกมาในทางไหน  แตกต่างจากพวกเราที่มีสายตาปกติหรือไม่  ใครจะบอกได้ว่าคุณ
chupong อาจมองโลกในความมืดได้เข้าใจถ่องแท้กว่าพวกเราที่อยู่ในโลกของความสว่างเสียอีกก็เป็นไปได้  คนตาดีแต่อาจจะเป็นประเภทตาบอดตาใสอย่างผมก็คงมีอยู่บ้างละครับ  โลกนี้
บางครั้งมันก็โสมมจนอาจจะเป็นการโชคดีที่ไม่ได้เห็นเสียเลยก็มีอยู่มากมายหลายมุม  แต่ถ้าเป็นการรับรู้โดยผ่านทางโสตสัมผัสกับจากการอ่านและนำมาถ่ายทอดในแง่มุมของตนเอง  ผมคิดว่า
เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก  ผมอาจจะนำเอารูปแบบความคิดของคุณ chupong มาเป็นแม่แบบของผมบ้างก็เป็นไปได้ครับ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 16 ก.ค. 11, 16:39
เหมือนกับกลอนตอนหนึ่ง  ในบทลครเรื่องเวนิชวาณิช
พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ ที่ว่า

  "อันชนใดไม่มีดนตรีกาล         ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ       เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์
ฤาอุบายมุ่งร้ายฉมังนัก               มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี
และดวงใจย่อมดำสกปรก            ราวนรกเช่นกล่าวมานี้
ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้             เราควรมาฟังดนตรีเถิดชื่นใจ..."

ก็ต้องอ่านว่าอับ-ปะ-หลัก เช่นกัน 

ในกลอนวรรณคดีเก่าๆ หลายเรื่องก็มีอย่างนี้  ถ้าไม่เข้าใจวิธีอ่าน
ก็เข้าใจว่าคนโบราณแต่งพลาด 

ได้เข้าไปอ่านกระทู้ “บทพระราชนิพนธ์เรื่อง อิเหนา” และได้เห็นข้อความของคุณหลวงเล็กในส่วนนี้  และเห็นว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกระทู้นี้โดยตรง   ผมจึงขออนุญาตคุณหลวงเล็กนำข้อความ
ข้างบนนี้มาบรรจุไว้ในกระทู้นี้ด้วยนะครับ  ควรมิควรแล้วแต่จะกรุณาพิจารณาให้ด้วยครับ

ข้อความด้านบนนี้ทรงคุณค่าต่อเยาวชนในยุคนี้เป็นอย่างยิ่งและรวมไปถึงบุคคลทั่วไปด้วย  ผมบอกได้เลยว่าเป็นประสบการณ์ตรงต่อตัวผมหลายครั้งหลายหน   (เยาวชนคนใดที่สนใจด้านการ
ประพันธ์และวรรณคดีควรต้องจำใส่ใจไว้ให้มั่นเลยทีเดียว)  เมื่อผมได้นำบทพระราชนิพนธ์แปลตรงบาทที่คุณหลวงเล็กได้กล่าวไว้คือ “อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ  เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์“
ไปให้หลายๆ บุคคลอ่าน รวมถึงคุณครูท่านหนึ่งที่สอนเด็กมาตั้งแต่เรียนจบครู จนกระทั่งเกษียณ   ต่างก็อ่านว่า อับ-ปะ-ลัก ทุกคน  เมื่อผมบอกว่า อ่านว่า อับ-ปะ-หลัก ไม่มีใครเชื่อผมเลยยกเว้น
คุณครูที่ผมกล่าวถึง

ผมได้เอา ”นิราศภูเขาทอง” ในบท

     ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด                      คิดถึงบาทบพิตรอดิศร
โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร                   แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น
พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด                 ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ
ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น                         ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา
จะสร้างพรตอตส่าห์ส่งส่วนบุญถวาย                ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา
เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา                         ขอเป็นข้าเคียงบาททุกชาติไป  ฯ

ให้เด็กๆ อ่านให้ฟัง   เด็กเกือบทุกคนอ่านผิดหมดตรงคำที่ผมให้สีแดงเอาไว้     ผมว่าปัญหานี้ไม่ใช่เป็นปัญหาของเด็กหรอกครับ   แต่เป็นปัญหาของคุณครูผู้สอนบางท่านว่ารู้จริงหรือเปล่า   
หรือรู้แล้วแต่ละเลยไปเสีย    แม้แต่คำประพันธ์ของผมเองตรงวรรค “น้ำใจน้องนาฏนุชกุสุมาลย์”   เมื่อผมให้ลูกหลานผมอ่าน  ต่างก็อ่าน กุ-สุ-มาน กันหมดทุกคน   จนกระทั่งผมบอก
นั่นแหละจึงจะเข้าใจ    ปัจจุบันเยาวชนกลุ่มนี้รู้วิธีการอ่านลักษณะนี้กันหมดแล้วทุกคนแต่ไม่ทราบว่าเยาวชนท่านอื่นๆ ที่ไม่มีโอกาสเข้ามาอ่านในบ้านเรือนไทยจะเข้าใจหรือไม่หากขาดการ
อบรมสั่งสอนจากคุณครู
ที่จริงแล้วนิราศภูเขาทองบทดังกล่าวเป็นเสมือนบทอาขยานในยุคสมัยของผม  คุณครูก็จ้ำจี้จ้ำไชบอกให้อ่านอย่างถูกวิธีตลอดเวลาจนจำได้ขึ้นใจ  แต่ในยุคสมัยปัจจุบันไม่ทราบว่ายังมีการ
สอนแบบนี้อยู่อีกหรือไม่  ทำไมจึงดูเหมือนว่าเยาวชนในยุคนี้ไม่ค่อยเข้าใจกันเลย

แต่เนื่องมาจากบทพระราชนิพนธ์ท่อนที่คุณหลวงเล็กอัญเชิญมาผิดไปจากหนังสือเรียนอยู่บ้าง  และในตู้หนังสือเรือนไทยก็ไม่มีให้ดูเปรียบเทียบ  ผมจึงขออนุญาตอัญเชิญมาลงไว้อีกครั้ง
เพื่อการเปรียบเทียบของเยาวชนครับ

จากหนังสืออ่านกวีนิพนธ์เรื่อง เวนิสวาณิช ของกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓๘  พ.ศ. ๒๕๒๖)

องค์ที่ ๕   : ลอเร็นโซ สนทนากับ นางเช็สสิกา
..............................
..............................
ชนใดที่ไม่มีดนตรีกาล
ในสันดาน, เป็นคนชอบกลนัก,
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ,
เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์
หรืออุบายมุ่งร้ายฉมังนัก;
มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี,
และดวงใจย่อมดำสกปรก
ราวนรก: ชนเช่นกล่าวมานี่
ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้.
เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ.


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: อกนิษฐ์ ที่ 16 ก.ค. 11, 18:10
สวัสดีครับ มาเสวนาเรื่องโคลงโบราณไม่โบราณจริง ต่อครับ

ความเห็นเกี่ยวกับโคลงโบราณของจิตร ภูมิศักดิ์ ขอคัดมาดังนี้

"...ด้วยเชื่อกันว่าโคลง, ทั้งของไทยและของลาว, เป็นกาพย์กลอนที่มีต้นกำเนิดจากคัมภีร์สันสกฤตชื่อ 'กาพย์สารวิลาสินี' และคัมภีร์ 'กาพยคันถะ' ฉะนั้นชื่อโคลงต่าง ๆ จึงออกมาจากคัมภีร์ทั้งสองนี้แทบจะทั้งสิ้น โดยเฉพาะจากคัมภีร์แรก.

คัมภีร์กาพย์สารวิลาสินีนั้น เดิมเป็นตำรากาพย์ของสังสกฤต แล้วมาภายหลังได้มีผู้ถอดเป็นภาษาบาลี ไทยได้ถอดตำรานี้ออกเป็นภาษาไทยอีกต่อหนึ่ง เป็นหนังสือที่เชื่อถือกันว่าเป็นต้นตำราโคงไทย ... เป็นหนังสือที่ถอดไม่นานนัก.

ผู้ถอดตำรานี้ ได้นำเอากาพย์ของสันสกฤต-บาลี มาวางแยกวรรคออกแบบไทย ทั้งนี้เพราะกาพย์เหล่านั้น ล้วนมีบาทละ ๗ คำ และมี ๔ บาท แยกออกเป็นวรรคหน้า ๕ คำ และวรรคหลัง ๒ คำ ได้อย่างโคลงดั้นของไทยพอดี

กาพย์เดิมของของบาลี-สันสกฤต มิได้กำหนดเสียงวรรณยุกต์เอกโท เพราะทั้งสองภาษานั้นไม่มีวรรณยุกต์ และไม่มีระดับเสียง ผู้ถอดออกเป็นไทยได้พยายามเอาเอกโทเข้าช่วย ทำให้รูปร่างดูคล้ายโคลงดั้นมากทีเดียว แต่ก็ยังบอกำกับไว้ว่าไม่บังคับเอกโท มีแต่บังคับสัมผัสเช่น

วิชชุมาลี:
            ข้าแต่พระพุทธเกล้า       มุนินทร์
    ลายลักษณะพระบาท             วิจิตร
    ชนนิกรไว้อาจิณ                   คืนค่ำ
    ตั้งกระหม่อมข้านิตย์              เท่ามรณ์ ฯ

จิตรลดา:
            พระจันทร์เพ็งแผ้ว          สรัทกาล
    ชช่วงโชติพรายงาม                 รุ่งฟ้า
    ในชนชื่นบานนิตย์                  ทุกหมู่
    รัศมีเรืองกล้าแหล่ง                 เวหา ฯ

และมีมีอีกมากอย่าง และแต่ละอย่างนั้น ถ้าคำลงท้ายเพิ่มเป็น ๔ คำ ก็ให้เพิ่มคำ 'มหา' นำหน้าชื่อเข้าไป เช่น 'มหาสินธุมาลี' ซึ่งคล้ายโคลงสี่สุภาพ ดังนี้ :

            ข้าแต่พระพุทธเจ้า            ใจปราชญ์
    รัศมีองค์โอภาส                       รุ่งฟ้า
    พระสุรเสียงเพราะฉลาด              โลมโลก
    สัตบุรุษทั่วหล้า                       ชมนิตย์ชื่อธรรม ฯ

แต่อย่างไรก็ดี ผู้ถอดก็ยังกำกับไว้เสมอว่า ไม่บังคับเอกโท ซึ่งข้อนี้เราก็จับได้ชัด ๆ ทีเดียวว่า ผู้ถอด, ในขณะที่เขียนบอกว่าไม่บังคับเอกโทนั้น, ก็อดที่จะเอาเอก-โท ตามความเคยชินของไทยวางลงไปด้วยไม่ได้อยู่ดี, ก็ถ้าหากว่าไม่ถือเอก-โทจริง ๆ, และไม่มีความเคยชินในเอก-โทจริง ๆ แล้ว, ตัวอย่างที่แสดงทั้งหมด ก็ไม่น่าจะลงท้ายบาทสองด้วยคำโทเสียแทบทั้งนั้น

และถ้าหากไม่เคยมีความรับสำนึกในความงามของเอกโทมาก่อน, ในความไพเราะมาก่อน, ก็คงจะไม่ต้องบอกใคร เพราะไม่มีใครสนใจเอกโทกันทั้งนั้น, ที่ต้องบอกไว้ว่าไม่บังคับเอกโทนั้น ก็เพราะในชีวิตวรรณคดีของชนชาติไทย ได้มีความรับสำนึกในรสไพเราะของระดับเสียงเอกโทอยู่ก่อนแล้วนั่นเอง

เรื่องของตำรากาพย์สารวิลาสินี จึงเป็นเรื่องของการดัดแปลงกาพย์กลอนบาลี-สันสกฤตให้เข้ากับลักษณะของไทย หรือถ้าจะพูดกันอย่างเข้มงวด ก็คือพยายามจะลากเอาเรื่องโคลงไทย-ลาวให้เป็นของที่มีกำเนิดจากภาษาบาลี-สันสกฤต ...

...เป็นเรื่องของการ จับบวช, และแม้แต่คำว่า บวช นั้นเอง ก็โดนจับบวชนานแล้วด้วย เขมรโบราณสมัยก่อนนครหลวงใช้ว่า โบส มาถึงสมัยนครหลวง เขมรทางแถบทะเลสาบ ออกเสียง โอ เป็น อัว จึงใช้ว่า บวส ไทยสุโขทัยยืมคำนี้มาใช้ว่า บวส ตรงตามรูปพื้นเมือง แต่มาภายหลังนักเลงดีจับมาเข้าวัดเสียเป็น บวช ดังที่พระสังฆราชวชิรญาณวงศ์ อธิบายว่า คำนี้ มีรากเหง้ามาจากภาษาบาลีว่า ปพฺพชา, เอา พ เป็น ว ได้รูปเป็น ปวฺวชา แล้วตัดเป็นไทยว่า "บวช" โคลง-กาพย์กลอนที่ถือระดับเสียงวรรณยุกต์เป็นหลักสำคัญของไทย-ก็ได้ถูกจับบวชดังนี้เช่นกัน

จะให้เรายอมเชื่อว่า โคลงไทย-ลาว ที่ถือเอกโทเป็นหลักชี้ขาดมีกำเนิดมาจากกาพย์กลอนบาลี-สันสกฤต ที่ไม่มีระดับเสียงเอกโทนั้น เราสุดที่จะกลืนลงคอได้ !"
(จิตร ภูมิศักดิ์, โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา, พิมพ์ครั้งที่ ๓, เมษายน ๒๕๔๗. หน้า ๒๔๘.)

จิตร ภูมิศักดิ์ เชื่อว่าโคลงไทย-ลาว ไม่ได้กำเนิดมาจาก คัมภีร์กาพทั้ง ๒ เล่มนั้น การจับบวชดังกล่าว จึงไม่สำเร็จมากนัก ไทยยังคงเรียกโคลงอย่างไทยอยู่ เช่น โคลงดั้น โคลงสุภาพ แต่ดูเหมือนว่าลาวคงได้รับอิทธิพลจากราชสำนักสยามเหมือนกันที่นำชื่อ วิชชุมาลี และ มหาสินธุมาลี เป็นชื่อโคลงของตน ทั้งที่มีลักษณะเอกโทของตนเฉพาะ

โคลงโบราณ หรือโคลงสี่ในตำรากาพย์ ไม่ค่อยปรากฎในวรรณคดีไทย นอกจากงานพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น พระนลคำหลวง และลิลิตนารายณ์สิบปาง เป็นต้น (สุภาพร มากแจ้ง, กวีนิพนธ์ไทย ๑, โอเดียนสโตร์, ๒๕๓๕.)

โคลงโบราณ ๑๐ ชนิด มาจากคัมภีร์กาพย์สารวิลาสินี ๘ ชนิด คือ วิชชุมาลี, มหาวิชชุมาลี, จิตรลดา, มหาจิตรลดา, สินธุมาลี, มหาสินธุมาลี, นันททายี, มหานันนททายี  และจากคัมภีร์กาพย์คันถะ ๒ ชนิดคือ ทีฆปักษ์ และรัสสปักษ์ (กำชัย ทองหล่อ - หลักภาษาไทย)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดัดแปลงสัมผัสโคลงโบราณ เพิ่มเป็นโคลงโบราณแผลง ๔ ชนิด คือ วิชชุมาลีแผลง, จิตรลดาแผง, สินธุมาลีแผลง และนันททายีแผลง และทรงประดิษฐ์โคลงสี่เลียนแบบโคลงโบราณอีก ๔ ชนิด คือ วชิระมาลี, มุกตะมาลี, รัตนะมาลี และจิตระมาลี

จริง ๆ ไม่ค่อยชอบคำว่าโคลงโบราณเท่าไหร่ เพราะมันโบราณไม่จริง ซึ่งจะเห็นว่าตำราของ อ.สุภาพร มากแจ้ง เรียกว่าโคลงตามตำรากาพย์ ดูจะเข้าที บอกที่มาที่ไปได้ดี ไม่ใช่เหมาเอาว่าโบราณ คือเก่ากึ๊กโบราณ

กวีที่แต่งโคลงชนิดนี้ มีไม่มาก

๑. พระศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) -  มูลบทบรรพกิจ (พ.ศ.๒๔๑๔)

    เอกองค์ทรงภาคย์พ้น     พรรณา
พระเบิกบงกชบาน            คลี่คล้อย
ปวงสัตว์เสพย์นิทรา          เตือนตื่น
สรวมบาทพระนั้นสร้อย       เทริดเศียร

ดวงเดียวโอภาสพ้น          พันทิวา   กรเฮย
บานเบิกบงกชคลา           คลี่คล้อย
เตือนสัตว์สร่างนิทรา         ใสผ่อง   ภักตร์แฮ
บัวบาทเรณูสร้อย            เทริดเกล้าเราเกษม

ข้อสังเกต
- โคลงทั้งสองบทมีเนื้อหาเดียวกัน
- ตำแหน่งเอกโทครบตามอย่างโคลงดั้น และโคลงสี่สุภาพ
- โคลงบทที่สองเป็นลักษณะโคลงสี่สุภาพ ขณะที่บทแรกไม่ใช่โคลงดั้น เพราะผิดธรรมชาติโคลงดั้งที่ต้องแต่งสองบทขึ้นไป (พ.ณ.ประมวลมารค ให้ข้อสังเกตว่าโคลงแบบนี้น่าจะเรียกว่า สินธุมาลา/มหาสินธุมาลา)


๒. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว - พระบรมราชาธิบายในการประพันธ์

มีพระบรมราชาธิบายในการประพันธ์โคลงแบบต่าง ๆ รวมทั้ง โคลงโบราณ โคลงโบราณแผลง และโคลงเยี่ยงโบราณ โดยในโคลงมหาสินธุมาลี นั้นทรงบอกไว้ว่า เหมือนโคลงสุภาพ แต่ไม่จำกัดโท

สินธุมาลี
            ข้าแต่พระพุทธเจ้า          ใจปราชญ์
    รัศมีองค์โอภาส                     รุ่งฟ้า
    พระสุรเสียงเพราะฉลาด            โลมโลก
    สัตบุรุษทั่วหล้า                      ชมนิตย์ ฯ

สินธุมาลีแผลง
            ข้าแต่พระพุทธเจ้า          ใจปราชญ์
    รัศมีองค์โอภาส                     รุ่งฟ้า
    พระสุรเสียงเพราะฉลาด            โลมโลก
    สัตบุรุษส้าเสก                       ชมนิตย์ ฯ   

มหาสินธุมาลี
            ข้าแต่พระพุทธเจ้า          ใจปราชญ์
    รัศมีองค์โอภาส                     รุ่งฟ้า
    พระสุรเสียงเพราะฉลาด            โลมโลก
    สัตบุรุษทั่วหล้า                      ชมนิตย์ชื่อธรรม ฯ

ข้อสังเกต
- แม้จะไม่เคร่งคำเอก แต่จุดที่เป็นคำโทในโคลงสี่มักจะใช้วรรณยุกต์โท หรือบางครั้งก็เป็นคำตาย  เพื่อรักษาระดับเสียงให้ใกล้เคียงโคลงสุภาพ/โคลงดั้น


๓. ขรรค์ชัย  บุนปาน - ฟ้าแล่บแปล๊บเดียว

ขาวกลีบบัว (พ.ศ.๒๕๑๒)

     ถวายพิษฐานพระไว้        บูชา   ฟังแม่
เกิดเพื่อแรงปรารถนา           แห่งรัก
โกมุทแผ่วลอยมา              รับพี่  รักพี่
โกมุทรักพี่แล้ว                 อย่าสลาย ฯ

    หนึ่งชาติหนึ่งเสน่ห์ด้วย      ดอกบัว   เดียวเอย
ใครสดับใครใคร่หวัว            ใคร่เถิด
เหยียดหยันเยาะเย้ยทั่ว          สามโลก  ก็ดี
พี่จักเชิดหน้าท้า                  โลกสาม ฯ

ข้อสังเกต
- คล้ายโคลงดั้นแต่ไม่ใช่โคลงดั้น
- จบอย่างโคลงดั้น แต่ไม่มีการส่งสัมผัสแบบโคลงดั้น
- ใช้คำตายในตำแหน่งคำโทวรรคที่สอง, แต่ตำแหน่งเอกโทอื่น ๆ กลับเคร่งเหมือนโคลงสี่ทั่วไป 
- ขณะที่สัมผัสวรรค ๑-๒-๓ เป็นอย่างโคลงสินธุมาลี แต่การสัมผัสวรรค ๒ กับ วรรค ๔ ลึกเข้าไปถึงตำแหน่งที่ ๓ (สินธุมาลีแผลง จะรับสัมผัสตำแหน่งที่ ๔) 


๔. เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ -  เพียงความเคลื่อนไหว

ที่ราบแล้ง ณ แหล่งลุ่ม (๒๕๑๘) (ก๊อปจากคุณชูพงศ์ ซึ่งมีความจำเก่งมาก ผิดแค่คำเดียว คือ ซร้อง, คุณชูพงศ์คงจะอ่านโคลงด้วยหู จึงจำแม่นและเขียนโคลงด้วยเสียงไม่เพี้ยนเลย น่านับถือจริง ๆ )

ปลาตีนปีนไต่เต้น                 ตมตีน
ตีนเตอะตมจมปีน                 ป่ายจ้อง
ปูดำหลับจำศีล                    ปาริสุทธิ์
คลื่นไป่ครืนครื้นคล้อง            ขลาดโหม

   เหือดโพยมล่มแล้งทั่ว          ทะเลหนาว
หอมกลิ่นโคลนปนคาว             คละคลุ้ง
เวิ้งว้างว่างวายยาว                 ยืดเหยียด
ฟ้าจรดฟ้าเฟื้อยฟุ้ง                 ฝั่งฝัน

ข้อสังเกต
- เคร่งครัด เอก ๗ โท ๔
- วรรคสุดท้ายมี ๒ คำ อย่างโคลงดั้น และใช้โทคู่อย่างโคลงดั้น
- สัมผัสอย่างโคลงสี่สุภาพ (รวมทั้งร้อยโคลงด้วย)
- พ.ณ.ประมาลมารค เขียนไว้ชัดว่านี่คือ โคลงสินธุมาลี


๔. ศักดิ์ศิริ  มีสมสืบ - มือนั้นสีขาว

ถอดหน้ากาก (๒๕๓๑)

พี่ชายสวมหน้ากาก     ผีร้าย
น้องสาวหวีดวี้ดว้าย     วุ่นวิ่ง
พี่โยนหน้ากากทิ้ง       ยิ้มแฉ่ง
น้องน้อยวิ่งรี่แย่ง        ฉกหน้ากากสวม

น้องสาวสวมหน้ากาก    ผีร้าย
พี่ชายร่ายมนต์ขลัง      ขมังขม้ำ
น้องสาวเข้ากอดปล้ำ    ดุเดือด
กอดพิชิตดูดเลือด       เสื่อมแล้วมนต์ขลัง

ข้อสังเกต
- วรรคสุดท้ายมี ๔ คำ แบบโคลงสี่สุภาพ
- เสียงในตำแหน่งเอกโทยังคงเป็นแบบโคลงสี่สุภาพ แม้จะไม่เคร่งรูปวรรณยุกต์
- สัมผัสแบบกาพย์ นั่นคือคำสุดท้ายของวรรคสัมผัสกับคำที่ ๓ หรือ ๕ ของวรรคถัดไป
-แบบนี้ไม่นับเป็นโคลงโบราณแน่ ๆ เพราะฉีกตำราเรื่องสัมผัสไปมาก

๕. อังคาร  จันทาทิพย์ -  แนวรบด้านตะวันออก (http://www.oknation.net/blog/pimkawee/2011/02/10/entry-1) (ก.พ.๒๕๕๔)

โคลงสินธุมาลี
ต้นสายปลายเหตุ ต้น-------------------กำเนิดไหน
หลักแหล่งคุ้มชีวิตไหล------------------เลือดข้น
ว่านเครือ รัฐ ชาติ ใคร------------------กำหนดเขต
แยกเหล่า ทำลายต้น-------------------ตัดสิน

ถิ่นฐาน ทาง ซ้อนทับ-------------------อารยธรรม
พันผูกวิถีชีวิตกำ-----------------------เนิดสร้าง
สู่กรอบครอบปิดงำ---------------------เงื่อนเปลี่ยน
รุกประดังพนมดงรักร้าง------------------แรมรา

ข้อสังเกต
- กวีระบุอย่างตั้งใจว่านี่เป็น โคลงสินธุมาลี ไม่ใช่โคลงดั้น
- ตำแหน่งที่ควรจะเป็นเอกโทในโคลงสี่ทั่วไปก็ยังคงเป็นคำเอกคำโท ยกเว้นวรรคสุดท้ายที่ลดโทไป ๑ ตำแหน่ง และไม่เคร่งเอก


ตามที่กล่าวมา โคลงโบราณจึงไม่โบราณจริง ถึงแปลงสัมผัสอย่างไรก็ต้องมีเอกโทจึงจะนับเป็นโคลง

โคลงที่แสดงความโบราณจริง ๆ คือ โคลงห้า อย่างลิลิตโองการแช่งน้ำ เพราะปัจจุบันยังไม่มีใครฟันธงว่ามีฉันทลักษณ์เป็นอย่างไร มีแต่จิตร ภูมิศักดิ์ ที่อธิบายและจัดรูปแบบโคลงได้อย่างน่าเชื่อถือที่สุด และได้เสนอแนะรูปแบบใหม่ คือ โคลงห้าพัฒนา ก็มีคนแต่งไม่มากนัก อย่างที่รู้กันอยู่

ที่เสวนาเรื่องนี้ แค่แลกเปลี่ยนความรู้ อย่าเข้าใจผิดว่าห้ามแต่งนะครับ ใครอยากประดิษฐ์อย่างไร ก็ตามใจเถิด แต่บางอย่างบูรพาจารณ์ก็ทดลองมาแล้ว อะไรใช้ได้ ใช้ไม่ได้ก็ควรเรียนรู้และปรับปรุงกันต่อไปครับ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 16 ก.ค. 11, 19:44
ยอดเยี่ยมเลยครับคุณอกนิษฐ์  ผมไม่ทราบว่าจะกล่าวคำขอบคุณอย่างไรดีจึงจะคุ้มค่า   ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องนี้มีสาเหตุเพียงนิดเดียวจากที่ผมต้องการให้กำลังใจคุณลุงไก่ที่แต่ง
โคลงสี่สุภาพผิดพลาดจากรูปแบบปกติไป  ผมจึงอยากให้คุณลุงไก่เริ่มต้นด้วยการแต่งโคลงง่ายๆ ไปก่อนโดยอย่าเพิ่งไปคำนึงถึงรูปวรรณยุกต์ให้มากนัก    ซึ่งวิธีนี้เองผมก็
ใช้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก   และผมยอมรับสารภาพว่าผมเองก็รู้เรื่องโคลงโบราณไม่มากนักนอกจากที่จดบันทึกเอาไว้ในสมุดส่วนตัว   คุณหลวงเล็กมาช่วยไขกุญแจไว้ก่อนและ
คุณอกนิษฐ์ก็มาเปิดโลกของโคลงโบราณให้สว่างเบื้องหน้าผมนี่เอง

หลังจากผมเริ่มแต่งโคลงชนิดต่างๆ เป็น  ผมก็ไม่เคยให้ความสนใจกับโคลงโบราณอีกเลย    โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่มีอะไรที่ท้าทายมากนัก  แต่งทีไรก็มักจะไปลงที่รูปแบบ
ของโคลงชนิดใดชนิดหนึ่งอยู่เสมอ  ผมจึงกำหนดไว้กับตัวเองเลยว่าถ้าแต่งจะต้องเป็นการเล่นคำหรือเป็นกลบทไปเลย  ถ้าผมไปพบเห็นโคลงสี่สุภาพแบบกลบทรูปแบบใหม่ๆ
ที่ไม่เคยพบมาก่อน  ผมจะฝึกหัดด้วยการแต่งแบบโคลงโบราณเสียก่อนเสมอ (ในสมัยยังเด็กนะครับ) เนื่องจากไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องของการวางรูปวรรณยุกต์   และเมื่อรู้หลัก
ดีแล้วจึงจะแต่งตรงตามข้อกำหนดนั้นๆ

การที่ผมมีเจตนาที่ดีต่อคุณลุงไก่เป็นเบื้องต้น  กลับได้ผลตอบแทนเป็นคุณค่าที่ประเมินไม่ได้สำหรับผมจริงๆ  ขอขอบพระคุณคุณหลวงเล็กและคุณอกนิษฐ์ในเรื่องนี้อย่างที่สุดครับ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: อกนิษฐ์ ที่ 16 ก.ค. 11, 20:33


สมัยที่เรียนก็มีคำโคลงปลอบใจตัวเอง

               ใดใดในโลกล้วน                   จนิจจัง
          คนไม่อ่านหนังสือยัง                    สอบได้
          (กู)อ่านหนังสือหัวแทบพัง              ยัง  สอบตก
         ......

เหลือบันทัดสุดท้ายนี่แหละครับ แต่งต่อให้สัมผัสไม่ได้จนทุกวันนี้ ... ใครก็ได้ ... ช่วยผมที    :'(   :'(     :'(




               

โคลงบทนี้ ผมก็จำได้ครับ สมัยเรียน ม.ต้น มีคนเขียนไว้บนโต๊ะเรียนหลังห้อง ผมชอบนั่งหลังห้อง ก็เลยเจอมันทุกวันจนจำได้ ดังนี้ครับ


            ใดใดในโลกล้วน         อนิจจัง
    คนไม่ดูสือยัง                    สอบได้
    คนท่องแทบหัวพัง               สอบตก    นาพ่อ
    เพราะเหตุฉะนั้นไซร้             อย่าได้อ่านมัน ฯ

พอเข้ากรุงเทพฯ เคยเสวนากับเพื่อน ๆ รู้สึกว่าโคลงบทนี้แพร่ไปทุกภาค บางจุดอาจต่างกันบ้างแต่เนื้อหาเดียวกัน ซึ่งไม่ปรากฏว่าใครเป็นคนแต่ง นับว่าเป็นสุดยอดแห่งโคลงจริง ๆ จำได้กันทั้งประเทศ (หมายเหตุ: บาทแรกมาจาก ลิลิตพระลอ)


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ก.ค. 11, 20:42
โคลงบทนี้ ผมก็จำได้ครับ สมัยเรียน ม.ต้น มีคนเขียนไว้บนโต๊ะเรียนหลังห้อง ผมชอบนั่งหลังห้อง ก็เลยเจอมันทุกวันจนจำได้ ดังนี้ครับ


            ใดใดในโลกล้วน         อนิจจัง
    คนไม่ดูสือยัง                    สอบได้
    คนท่องแทบหัวพัง               สอบตก    นาพ่อ
    เพราะเหตุฉะนั้นไซร้             อย่าได้อ่านมัน ฯ

พอเข้ากรุงเทพฯ เคยเสวนากับเพื่อน ๆ รู้สึกว่าโคลงบทนี้แพร่ไปทุกภาค บางจุดอาจต่างกันบ้างแต่เนื้อหาเดียวกัน ซึ่งไม่ปรากฏว่าใครเป็นคนแต่ง นับว่าเป็นสุดยอดแห่งโคลงจริง ๆ จำได้กันทั้งประเทศ (หมายเหตุ: บาทแรกมาจาก ลิลิตพระลอ)

ใดใดในโลกล้วน       อนิจจัง
คงแต่บาปบุญยัง       เที่ยงแท้
คือเงาติดตัวตรัง       ตรึงแน่น อยู่นา
ตามแต่บาปบุญแล้     ก่อเกื้อรักษา

จาก ลิลิตพระลอ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 ก.ค. 11, 11:01
ผมจึงมิได้ประหลาดใจอะไรมากนัก  เพราะแม้แต่ในขณะบวชเป็นภิกษุสงฆ์พรรษา
แรกยังเป็นพระนวกะ     ขณะที่กำลังท่องจำบทขัดสัคเค (บทขัดชุมนุมเทวดา)
ผมก็ได้พบความผิดปกติของพระคาถาบางประการ  รู้สึกถึงความคุ้นตา
อันเนื่องจากเคยแต่งมาก่อน  จึงลองตรวจสอบดู  แล้วก็พบว่า เป็นคำฉันท์นั่นเอง
แต่จะเรียกว่าฉันท์อะไรผมเองก็ไม่ทราบ 

แต่รูปแบบของพระคาถาตั้งแต่  “สะรัชชัง สะเสนัง.....จนถึง.....ปะริตตัง
ภะณันตุ.” เป็นรูปแบบของ “ภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒”  ผิดกันแต่รูปแบบ
ของสัมผัสที่ไม่เหมือนกัน  กับคำสุดท้ายของบทตรงคำว่า “ภะณันตุ” ซึ่ง “ตุ”
เป็น ลหุ ผิดรูปแบบไป   และตั้งแต่ “สัคเค กาเม.....จนถึง.....สาธะโว เม
สุณันตุ”  นี้เป็นรูปแบบของ “สัทธราฉันท์ ๒๑” อย่างไม่ต้องสงสัย 
แต่ก็เช่นเคย  รูปแบบของสัมผัสไม่ตรงกับแบบแผนที่เคยได้รับรู้ร่ำเรียนมา 
และคำว่า “ตุ” เป็นคำ ลหุ ปิดท้ายเช่นเดิม  ก็ไม่รู้ว่าผู้ประพันธ์ บทขัดสัคเค นี้
นำมาจากคัมภีร์ฉบับหรือผูกใดและนำมาประพันธ์ไว้เป็นบทสวดมนต์
ให้พวกเรายุคหลังได้ใช้ในการอัญเชิญเทวดาก่อนจะทำการสวดมนต์ตามปกติ
มาตั้งแต่สมัยใด

ในบทสัคเค  หรือบทชุมนุมเทวดา นั้น
เต็มๆ ว่า

สัคเค กาเม จะ รูปเป คิริสิขะระตะเฏ จันตะลิกเข วิมาเน
ทีเป รัฏเฐ จะ คาเม ตะรุวะนะคะหะเน เคหะวัตถุมหิ เขตเต
ภุมมา จายันตุ เทวา ชะละถะละวิสะเม ยักขะคันธัพพะนาคา
ติฏฐันตา สันติเก ยัง มุนิวะระวะจะนัง สาธะโว เม สุณันตุฯ

หมายเหตุ  ภาษบาลีเขียนแบบไทย
เป็นสัทธราฉันท์ ๒๑

พยางค์ "ตุ" ท้ายบาทที่ ๔ นั้น  ตามคัมภีร์ฉันท์วุตโตทัย
หรือแม้แต่คัมภีร์ปิงคลฉันท์ของทางสันสกฤต 
ได้กำหนดให้ ลหุปลายบาท  นับเป็น ครุ  ทั้งสิ้น

ลองดูตัวอย่างอื่น เช่น

พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
คฺรีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ

บทนี้ เป็นวสันตดิลกฉันท์  "นิ" เป็น ลหุ ปลายบาทเหมือนกัน
ให้ถือเป็นครุได้เช่นกัน


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 17 ก.ค. 11, 13:48
ขอบพระคุณคุณหลวงเล็กมากครับที่ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้    ผมมีจุดอ่อนคือไม่เคยสนใจตามสืบค้นถึงที่มาของบทร้อยกรองชนิดต่างๆ อย่างจริงจังเลย   
เมื่อไปอ่านพบจากที่ใดก็จะจดบันทึกไว้เป็นข้อความสั้นๆ เท่านั้น   อย่างเช่นผมบันทึกไว้ว่า  “ตำราฉันท์อินเดียที่สำคัญมี ๒ เล่ม คือ คัมภีร์สุโพธาลังการ
และ คัมภีร์ วุตโตทัย เดิมเขียนเป็นภาษาสันสกฤตแปลเป็นภาษาบาลีในภายหลัง”  แต่ไม่เคยติดตามสืบค้นเลยว่า  ร้อยกรองชนิดใด  มาจากคัมภีร์เล่มใด   
ทำให้ตนเองเหมือนคนตาบอดที่กำลังคลำหาทางอยู่ท่ามกลางแสงแดดนี่ละครับ

จากคำอธิบายของคุณหลวงเล็กพอจะทำให้ผมเข้าใจได้ว่า   เมื่อได้มีการแปลงฉันท์ให้มาเป็นภาษาไทย  เราก็ได้เพิ่มกฎเกณฑ์ในการบังคับสัมผัสขึ้นมาใหม่   
แต่ชื่อของฉันท์นั้นๆ ยังคงไว้ตามต้นฉบับอยู่    ความเข้าใจดังนี้ถูกต้องหรือไม่ครับ   (เมื่อผมเห็นว่า ในบทขัดสัคเค เป็นรูปแบบของคำฉันท์ผมก็ตรวจสอบ
ดังที่เคยกล่าวไว้  ถึงแม้ลหุ ครุ จะตรงกัน  แต่การส่งสัมผัสไม่เหมือนกัน  ซึ่งแสดงได้ว่า ของดั้งเดิมไม่ได้ให้ความสำคัญกับการส่งสัมผัสมากนัก   แต่เรามา
กำหนดกันเองภายหลัง  แต่คงชื่อไว้ตามเดิม)

เมื่อสมัยผมยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น  ผมเห็นว่าการแต่งโคลงกลอน เป็นเรื่องที่ไม่ท้าทายอะไรเลย  จึงเรียนปรึกษาคุณครูผู้สอน  ท่านก็ได้นำแผนผังของฉันท์
ต่างๆ มาให้ผมมากมาย (ซึ่งยังไม่มีการสอนในชั้นเรียนปกติ) เป็น วรรณพฤติทั้งหมด  และระบุฉันท์ที่นิยมใช้ในวรรณคดีต่างๆ ไว้ให้ด้วย  ผมขอเรียนถาม
คุณหลวงเล็กว่า  รูปแบบผัง ของฉันท์ต่างๆ ที่คุณครูนำมาให้   คุณครูท่านบอกว่าเป็นของสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่ง
พระองค์ท่านได้ทรงแปลงมาจากคัมภีร์ภาษาบาลี คัมภีร์วุตโตทัย  แต่ไม่ได้กล่าวถึง คัมภีร์สุโพธาลังการเลย  ผมขอเรียนถามว่าเราได้มีการแปลงคัมภีร์
สุโพธาลังการ และ คัมภีร์ปิงคลฉันท์ ที่คุณหลวงได้กล่าวไว้มาเป็นกาพย์หรือฉันท์ของไทยบ้างไหมครับ  ขอเรียนถามเพียงเท่านี้ครับ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 ก.ค. 11, 09:01
เรียน คุณwillyquiz

คัมภีร์ สุโพธาลังการ เป็นตำราประเภทอลังการศาสตร์ 
ตำราอลังการศาสตร์ เป็น ตำราที่แสดงกลวิธีแต่งร้อยกรองให้ไพเราะ
นั่นหมายความว่า  เมื่อศึกษาการแต่งร้อยกรองจนแต่งได้แล้วถูกต้อง
ตามลักษณะของคำประพันธ์ต่างๆ แล้ว   ยังไม่พอต้องเรียนรู้ด้วยว่า
การแต่งให้ไพเราะกินใจ มีศิลปะ นั้นจะทำอย่างไร

ยกตัวอย่างว่า  เราแต่งกลอนสุภาพได้
คือ ฉันทลักษณ์ถูก จำนวนคำในวรรคไม่ขาดไม่เกิน
เสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรคไม่ผิดเสียง  สัมผัสบังคับครบ
แต่ถ้าพิจารณาเรื่องความไพเราะ  กลอนที่เราแต่งได้นั้น
อาจจะไม่ไพเราะ ไม่จับใจ

เพราะขาดการตกแต่งให้มีศิลปะ หรือเรียกว่าวรรณศิลป์
การตกแต่งให้มีความไพเราะนั้นทำได้หลายอย่าง
อย่างร้อยกรองไทย  ก็เพิ่มสัมผัสใน  เพิ่มสัมผัสเสียงพยัญชนะ
ซ้ำคำ  เล่มคำ  หลากคำ  ซ้ำความ  ใช้กลบท
ใช้คำตายรับส่งสัมผัส  ใส่โวหารภาพพจน์ (อุปมา อุปลักษณ์
อติพจน์  สัทพจน์  ปฏิพากย์พจน์ ฯลฯ)หรือใส่ลักษระอื่นๆ
ที่ทำให้เกิดวรรณศิลป์  คนอ่านอ่านแล้วจับใจประทับใจ

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น  คือลักษณะที่ตำราอลังการศาสตร์สอน

คัมภีร์สุโพธาลังการ เป้นคัมภีร์เดียวที่ใช้ในการแต่งร้อยกรองบาลี
ประวัตินั้นว่า แต่งโดยพระภิกษุชาวลังกา  โดยอาศัยคัมภีร์อลังการศาสตร์
ของสันสกฤตเป็นต้นแบบ มีนาฏยศาสตร์ของพระภรตมุนี เป็นอาทิ

ส่วนคัมภีร์ปิงคลฉันท์นั้น  เป็นคัมภีร์ฉันท์ของสันสกฤตที่นับถือกันว่า
เป็นคัมภีร์ฉันท์เก่าแก่สุด  ในคัมภีร์นี้มีฉันท์สันสกฤตหลายชนิด
ฉันท์เหล่านี้  ได้ตกทอดมาอยู่ในคัมภีร์วุตโตทัยด้วยหลายฉันท์

คัมภีร์วุตโตทัยนั้นเป็นคัมภีร์ที่พระภิกษุใช้เป็นตำราเรียนกันมายาวนาน
โดยรับมาจากลังกาอีกทอดหนึ่ง   พระพม่า   ล้านนา  และไทย
ล้วนให้คัมภีร์ สุโพธาลังการ และวุตโตทัย ในการศึกษาทั้งสิ้น
และมีการแต่งอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา อธิบายความไว้ด้วย


ส่วนที่ถามว่า

ผมขอเรียนถามว่าเราได้มีการแปลงคัมภีร์สุโพธาลังการ และ คัมภีร์ปิงคลฉันท์
ที่คุณหลวงได้กล่าวไว้มาเป็นกาพย์หรือฉันท์ของไทยบ้างไหมครับ 

คำตอบข้างต้นคงตอบคุณได้ส่วนหนึ่งแล้วล่ะครับ
ที่เหลือไว้ผมจะมาตอบต่อไปคราวหน้า


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 20 ก.ค. 11, 22:16
ผมอ่านข้อความของคุณหลวงเล็กกลับไปกลับมาหลายเที่ยว  ด้วยความสนใจ  โดยเฉพาะตรงข้อความที่ว่า

การตกแต่งให้มีความไพเราะนั้นทำได้หลายอย่าง
อย่างร้อยกรองไทย  ก็เพิ่มสัมผัสใน  เพิ่มสัมผัสเสียงพยัญชนะ
ซ้ำคำ  เล่มคำ  หลากคำ  ซ้ำความ  ใช้กลบท
ใช้คำตายรับส่งสัมผัส  ใส่โวหารภาพพจน์ (อุปมา อุปลักษณ์
อติพจน์  สัทพจน์  ปฏิพากย์พจน์ ฯลฯ)หรือใส่ลักษระอื่นๆ
ที่ทำให้เกิดวรรณศิลป์  คนอ่านอ่านแล้วจับใจประทับใจ

ผมอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก  เพราะเป็นความฝันตั้งแต่วัยเด็กเลยทีเดียวที่จะแต่งร้อยกรองให้โดดเด่นแตกต่างจากผู้อื่น
แต่ก็ทำไม่ได้   อาจเนื่องมาจากสติปัญญาความสามารถไปไม่ถึงขั้นนั้น   ทำได้ก็เพียงแต่พยายามแต่งให้ดีเต็ม
ความสามารถของตนเองเท่านั้นเอง   แต่ไม่เสมอไปก็เป็นเฉพาะบางกรณีและบางโอกาสเท่านั้น
หากคุณหลวงเล็กมีสิ่งใดที่พอจะชี้แนะเพิ่มเติมได้อีก   ผมขอความกรุณานะครับ  ได้โปรดช่วยชี้แนะผมด้วยครับ
ผมจะสำนึกในบุญคุณอย่างยิ่ง


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 20 ก.ค. 11, 23:15
ระหว่างการค้นหาสมุดบันทึก กาพย์-ฉันท์ ส่วนตัว  ถึงแม้จะยังไม่พบ   แต่ก็ไปพบกระดาษที่ฉีกจากสมุดที่เขียนร้อยกรองในวัยเด็กเอาไว้
๒-๓ ชิ้น สอดแทรกอยู่ในหนังสือ  บางชิ้นยังเขียนไม่เสร็จแต่งคาไว้  บางชิ้นเขียนเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้เกลา   ผมอยากเอามาลงไว้ให้กับ
เยาวชนกลุ่มหนึ่งได้อ่านผลงานในวัยเด็กของผม   แต่สำหรับท่านอื่นที่ได้เข้ามาอ่านโปรดเข้าใจด้วยว่า  ร้อยกรองพวกนี้ออกมาจากความคิด
ของเด็กวัยเพียง ๑๓-๑๔ ปี เท่านั้น   ไม่ใช่ความคิดเห็นในปัจจุบันที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว  และผมจะไม่แก้ไขแต่งเพิ่มเติมอะไรอีก  จะลอกออก
มาจากของเดิมทั้งหมดเพื่อให้เห็นความคิดและลีลาของเด็กอย่างผมในขณะนั้น
ชิ้นแรกนี้คาดว่าได้ไปอ่านพบสุภาษิตฝรั่งประโยคหนึ่งเข้าจากที่ใดที่หนึ่งจึงจดเอามาเป็นหัวเรื่อง  แล้วเกิดความคิดต่อต้านไม่เห็นด้วยจึงระบาย
คัดค้านออกมาด้วยโคลงสี่สุภาพ    สุภาษิตนั้นบอกไว้ว่า  "Painters and poets have leave to lie." "จิตรกรและกวีมีสิทธิที่จะกล่าวคำเท็จ"
และผมเขียนคัดค้านว่า

     จิตรกรกวิไซร้             ชำนาญ
ลวงล่อบนผลงาน              ซ่อนเร้น
มุสาต่างอาหาร                 ฤๅท่าน
ไยจึ่งจำยกเว้น                 ไป่พ้อกลโกง  ฯ

     เพียงภาพวาดแต้มแต่ง    ลวงตา
เขียนประดิษฐ์อักษรา          ล่อไว้
กลับชมชื่นหรรษา              วิพากษ์    ดีเฮย
ดูดั่งวานรได้                    เล่นแก้วธำมรงค์  ฯ

     ไตรรัตน์คือเครื่องชี้        นำทาง
ฉายส่องภพมิวาง               รุ่งเร้า
กลใดจึ่งจืดจาง                 อรุณรุ่ง
หลบดิ่งลึกลงเข้า               สู่ห้วงอเวจี  ฯ

ขอทำความเข้าใจย้ำอีกครั้งว่า  นี่เป็นความคิดของเด็กวัย ๑๓-๑๔ ปี  ผมมิได้มีเจตนาหยามหมิ่น จิตรกร หรือ กวี ผู้ใดทั้งสิ้น


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 21 ก.ค. 11, 00:11
อีกชิ้นหนึ่งแต่งเป็น "อินทรวิเชียรฉันท์" แต่ไม่จบทิ้งค้างเอาไว้  แล้วหันไปแต่งเป็น "กาพย์ฉบัง ๑๖" แทน ในเรื่องเดียวกัน
แต่ถึงจะแต่งค้างเอาไว้  ก็ยังคงอยากให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้เห็นอยู่ดี   สาเหตุแห่งเนื้อเรื่องเกิดขึ้นเพราะ  ได้มีเพื่อนฝูงในวัย
เด็กกลุ่มหนึ่งไปก่อความเสียหายเอาไว้และไม่มีเงินไปชดใช้เขา  บังเอิญขณะนั้นผมมีเงินอยู่จำนวนหนึ่งจึงให้เพื่อนขอยืมไป
ก่อน   แต่เมื่อถึงกำหนดกลับไม่มีใครนำเงินมาคืนจนถึงปัจจุบันนี้  จึงแต่งร้อยกรองระบายอารมณ์

๑๑
O    พลาดเป็นอุทาหรณ์                    อนุสรณ์ก็เตือนใจ
พิศพร้อมระวังภัย                            บมิควรจะนิ่งเฉย
เกิดเป็นมนุษย์ชาติ                          จะมิพลาดมิมีเลย
มากน้อยสิต้องเคย                          ผิว์บจำก็เต็มทน
ฉันเองนะพลาดแล้ว                         สหแก้วสหายกล
ร้อยลิ้นกะลาวน                             มนโลภฤชากร
สูบเลือดและเชือดเนื้อ                      ตะกละเหลือนะฝูงหนอน
ซุกไซ้และไชชอน                           มลคูถก็ดูดกิน
ถึงคราจะตอบแทน                          อุระแค้นบเคยยิน
เฉื่อยช้าและชาชิน                           ทุรมิตรกระทำลง

เนื่องจากยังไม่มีเปยยาลน้อยปิดท้าย  จึงคาดว่าผมยังแต่งไม่เสร็จและหันไปแต่งเป็นกาพย์ฉบัง ๑๖ แทน
เรื่องมันเกิดขึ้นและแต่งขึ้นกว่าสี่สิบปีแล้วผมจึงจำได้ไม่ค่อยแน่ชัดนัก


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 21 ก.ค. 11, 01:23
เป็นเหตุการณ์เดียวกันกับที่แต่งเป็น อินทรวิเชียรฉันท์ เอาไว้   แต่จำไม่ได้ว่าทำไมจึงเปลี่ยนใจมาแต่งเป็น "กาพย์ฉบัง ๑๖"
อาจจะเป็นเพราะยิ่งแต่งยิ่งพลุ่งพล่าน  เพราะมีเรื่องจะต้องใช้เงินแต่เรียกเงินคืนไม่ได้ จึงเริ่มจะใช้ถ้อยคำรุนแรงซึ่งไม่เหมาะ
กับฉันท์  จึงหยุดแต่ง   เมื่ออารมณ์ดีขึ้นจึงมาแต่งใหม่เป็นกาพย์ฉบัง (คิดว่าอย่างนั้น)

๑๖
O    แม่เอยแม่พระธรณี                       ลูกสูญเสียหนี้
แม่ชี้ทางออกได้ไหม
O    ไม่เคยเอาเปรียบแก่ใคร                  แม่รู้ด้วยใจ
ลูกเป็นฝ่ายให้เสมอมา
O    มิใช่เรียกความเมตตา                     ร้องขอกรุณา
จากแม่ให้ช่วยด้วยจน
O    ลูกกล่าวด้วยเหตุด้วยผล                  ฟันฝ่าอดทน
กระทำแต่สิ่งดีงาม
O    ช่วยผู้ตกยากทุกยาม                      ทั่วทุกเขตคาม
ด้วยกายด้วยใจปรานี
O    แต่แล้วคุณงามความดี                    กลับหลีกหลบหนี
ในยามที่ลูกต้องการ
O    แม่เอยเหล่าอันธพาล                     อันโซซมซาน
คือเพื่อนอันเคยการุณย์
O    เขายืมเขาขอให้ขุน                       ด้วยเงินอุดหนุน
จากเลือดจากเหงื่อแรงกาย
O    แม่เอยเขามิอับอาย                       หน้าด้านฉิบหาย
ไยแม่จึงไม่หันมอง
O    ทำดีไยดีมิครอง                           น้ำใจเปี่ยมนอง
ของลูกเหือดหายไปไหน
O    ลูกนี้แสนอ่อนอกใจ                       ทำดีเพื่อใคร
เมื่อไรดีจึงได้มา                                ฯ

























กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 21 ก.ค. 11, 02:14
O    แม่เอยแม่พระคงคา                       ลูกหลั่งน้ำตา
บูชาพระแม่แต่เดิม
O    กายนี้มีธาตุแม่เสริม                       เป็นหนึ่งแต่งเติม
จนครบไฟ ลม น้ำ ดิน
O    มนุษย์ได้ดื่มอาบกิน                       ชำระราคิน
คุณแม่เนื่องนับอนันต์
O    ลูกนี้วิโยคโศกศัลย์                        ด้วยเหตุผลอัน
ได้กล่าวกับแม่ธรณี
O    ลูกท้อต่อเพื่อนอัปรีย์                      มูลเหตุคดี
จากที่เขายืมเงินทอง
O    ปัญหามากมายก่ายกอง                   เขาบอกคับข้อง
ยากแท้ที่จะคลี่คลาย
O    แม้เป็นทรัพย์สินอย่าหมาย                หลีกลี้หนีหาย
หลบหน้าหลบตาพาสูญ
O    แม่เอยอกลูกอาดูร                        ต้องเอื้อเกื้อกูล
รินแม่ใส่ถังรั่วรู
O    เขามิอัปยศอดสู                           รีดเลือดจากปู
หรือเคยก่อกรรมกันมา
O    หากวิบากกรรมค้ำคา                      จากอดีตเวลา
ลูกจะก้มหน้าใช้กรรม
O    ขอแม่จงช่วยอุปถัมภ์                      ล้างเวรที่ทำ
ด้วยเดชแห่งพระแม่เทอญ                       ฯ

                        ด้วยความรันทดแสนสาหัส
                 วันอาทิตย์ที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๑

ชิ้นนี้ลงวันที่ที่แต่งเอาไว้ด้วย   แต่ชิ้นที่เป็นโคลงสี่สุภาพไม่ได้ระบุเอาไว้ อาจจะเป็นเพราะลืมก็เป็นได้

ความคิดฟุ้งซ่านของเด็กวัย ๑๓-๑๔ ปี ผมได้อ่านอีกครั้งแล้วก็ต้องหัวเราะกับตนเอง   ผิดหวังทำอะไรใครไม่ได้ก็ฟ้องดินฟ้องน้ำ
ไปเรื่อยเปื่อยตามเรื่องตามราว  ทวงหนี้ไม่ได้  เห็นอะไร  เกิดเหตุการณ์อะไร  ไปเที่ยวที่ไหน  มีเรื่องชกต่อยกับใคร  เก็บมาเขียน
เป็นร้อยกรองเสียหมด  ถ้าบันทึกร้อยกรองของผมไม่จมน้ำเสียเมื่อปี ๒๕๒๖ คงมีเรื่องมาเขียนลงกระทู้นี้ต่อเนื่องได้เป็นปีๆ ก็คงไม่หมด
นึกแล้วก็น่าเสียดาย  แม้แต่ มิตร ชัยบัญชา สมัครลงเลือกตั้งเป็น ส.ส. ผมยังเก็บเอามาเขียนเป็นกาพย์ยานี ๑๑ ยาวเหยียด  อ่านกัน
สนุกสนาน มีทั้งล้อเลียน เสียดสี ชมเชย และอวยพรให้ด้วย  ก็ผมยังเป็นเด็กอยู่มาหาเสียงกับพวกเด็กๆ อย่างผม  คงไม่ปล่อยเอาไว้แน่
เหงาดินสอตายเลย


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 ก.ค. 11, 16:27
การแต่งร้อยกรองอย่างที่คุณ willyquiz แต่งนั้น
เปรียบเหมือนภาพวาดอิมเพรสชั่นนิสม์ 
เมื่อได้เห็น ได้ยิน หรือได้รับรู้เหตุการณ์อะไรบางอย่าง
แล้วรู้สึก "โดน"  ก็สามารถระบายออกมาได้ทันที
ยิ่งถ้าคนที่ชำนาญฉันทลักษณ์หลายแบบ
ก็จะแต่งเป็นร้อยกรองได้ยาวทีเดียว 
ส่วนจะไพเราะกินใจประทับใจคนอ่านหรือไม่นั้น
ขึ้นอยู่กับความชำนาญและศิลปะของแต่ละคน

การแต่งแบบกระทันหันอย่างนี้  บางทีก็ได้กลอนดีๆ เหมือนกัน
ผมแต่งกลอนมานาน  โดยเฉพาะกลอนสด  มีหลักของตนเองว่า
เมื่อจะแต่งกลอนเรื่องอะไรก็ตาม  ขนาดไม่ยาวมาก
ต้องขึ้นต้นให้จับใจ  และลงท้ายให้ประทับจิต
ซึ่งเป็นหลักเดียวกับการพูดในที่ประชุมชน

ต้องมีกลอนวรรคทองในกลอนที่แต่ง
วรรคทองในร้อยกรองนั้น  ใช่ว่าจะทำให้มีกันง่ายๆ
ต้องฝึกและอ่านให้มาก   บางทีคำง่ายก็ประทับใจคนได้
ไม่ต้องใช้คำยากเสมอไป   

เมื่อแต่งเสร็จ  ให้ทิ้งไว้ก่อน  รอจนความประทับใจ
หรือความตื่นตัวตื่นเต้น  จางไปก่อน  แล้วกลับมาอ่านใหม่
ทีนี้จะแก้ไขอะไรตรงใดให้ไพเราะจับใจก็ทำได้เลย

(แต่ถ้าแต่งกลอนสด  ทิ้งระยะอย่างนี้ไม่ได้  ไม่ทันกิน)

ส่วนความยาวของคำประพันธ์นั้น  ขึ้นอยู่กับเนื้อหา
ถ้าเนื้อหาไม่มีอะไร  เป็นเรื่องอารมณ์ล้วนๆ ควรแต่งให้สั้น
อย่าให้ยาวมาก  เพราะอารมณ์จะจางไปกับจำนวนบท



กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 25 ก.ค. 11, 21:29
กราบเรียนคุณหลวงเล็กที่เคารพยิ่ง

     ข้อเขียนของคุณหลวงเล็กแต่ละครั้งทำให้ผมมีเรื่องต้องขบคิดเสมอ  และต้องคิดครั้งละนานๆ เพื่อขบให้แตก
ครั้งนี้ก็เช่นกัน   ดูเหมือนเป็นข้อคิดเห็นธรรมดาสำหรับผู้อื่น   แต่สำหรับผมนี่ไม่ธรรมดาเลย  เอาเพียงแค่ประโยค
ที่กล่าวว่า
 
เมื่อจะแต่งกลอนเรื่องอะไรก็ตาม  ขนาดไม่ยาวมาก
ต้องขึ้นต้นให้จับใจ  และลงท้ายให้ประทับจิต
ซึ่งเป็นหลักเดียวกับการพูดในที่ประชุมชน

นี่ก็มีคุณค่ามหาศาลแล้วละครับ
อ่านดูง่ายๆ  แต่ปฏิบัติจริงยากมาก   เมื่อเป็นเด็กผมมีอัตตารุนแรงมากในเรื่องร้อยกรอง  ทะนงตัวว่าเด็กในวัยเดียวกันแม้แต่กลอนสุภาพ
ยังแต่งไม่เป็นเลย    แต่ผมสามารถแต่งโคลง กาพย์ ฉันท์ ได้แล้ว  โดยที่คุณครูยังไม่ได้สอนในชั้นเรียนเสียด้วยซ้ำ
ถ้าผมมีดินสอ สมุดอยู่ในมือแล้วขอให้บอกมาเถอะว่าจะให้แต่งอะไร  จะเอาบทประพันธ์ชนิดไหน (ที่ไม่ใช่ฉันท์) ผมสามารถเขียนเป็น
โครงเรื่องออกมาได้ทันที

แต่พอได้อ่านข้อเขียนของคุณหลวงเล็กแล้วผมถึงกับสะดุ้ง  “ขึ้นต้นให้จับใจ  และลงท้ายให้ประทับจิต”  ทำไมผมไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลย
ผมมัวไปมุ่งแต่กระพี้เสียมากกว่า  ไปมุ่งแต่หาคำศัพท์สูงๆ     คนอื่นเขาอ่านวรรณคดีเพื่อเอาเนื้อเรื่อง  แต่ผมอ่านเพื่อหาคำศัพท์กับบท
ประพันธ์แปลกๆ ประเภทกลบท  สมัยนั้นผมท้าเรียงตัวเลยไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ในเรื่องอ่านวรรณคดี  หาคนอ่านมากขนาดผมยากมาก
ดังนั้นความรู้ด้านคำศัพท์ของผมจึงกว้างมาก  สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ตีบตันง่ายๆ  อย่างเช่น ป่า ผมสามารถใช้คำได้เยอะแยะไปหมด 
สัตว์ต่างๆ  อย่างเช่น “สารไมย”  มีใครสักกี่คนที่รู้ว่าแปลว่า หมา   แต่เด็กอย่างผมรู้       แต่ผมก็ไม่นิยมเอาคำศัพท์บรรดานี้มาใส่ในบท
ร้อยกรองปกติของผมนอกจากจะเป็นประเภทกลอนพาไป หรือมีเจตนาโดยเฉพาะ  อย่างเช่นการแต่งฉันท์ซึ่งจำเป็นต้องรู้ศัพท์มากกว่าปกติ   
ผมภูมิใจมากที่พอถามถึงเรื่อง “อัษฎมูรติ” กับพวกผู้ไหญ่  แล้วเขาส่ายหน้ากัน  เพราะผมสามารถอธิบายได้เป็นฉากๆ ไปเลย    แต่พอมา
ถึงปัจจุบันนี้  อักษรศักดิ์สิทธิ์ทั้งแปดตัวอักษรผมยังเรียงลำดับไม่ถูกเลย  นี่คือจุดอ่อนอย่างรุนแรงของผม    ผมจึงเอาดีทางร้อยกรองไม่ได้
เพราะมุ่งไปผิดทางตั้งแต่เด็กนั่นเอง   เดี๋ยวนี้กว่าผมจะนึกคำศัพท์ได้แต่ละคำช่างยากเย็นเสียจริง   จะเขียนจะแต่งอะไรดูติดขัดไปหมด   วาง
รูปคำผิดๆ ถูกๆ  ฯลฯ   (แต่แล้วพวกเด็กๆ ก็สอนผมเองว่าการแต่งคำประพันธ์ที่ใช้คำศัพท์ที่ยากแก่การเข้าใจเป็นสิ่งที่เด็กๆ เกลียดที่สุด  เด็กๆ
เกลียดวรรณคดีก็เพราะเรื่องคำศัพท์นี่ละครับ)

อีกประโยคหนึ่งของคุณหลวงเล็กคือ

ต้องมีกลอนวรรคทองในกลอนที่แต่ง
วรรคทองในร้อยกรองนั้น  ใช่ว่าจะทำให้มีกันง่ายๆ
ต้องฝึกและอ่านให้มาก   บางทีคำง่ายก็ประทับใจคนได้
ไม่ต้องใช้คำยากเสมอไป
  
ผมเข้าใจผิดมาเองโดยตลอด   วรรคทองของผมจึงกลายเป็นการเล่นคำในบทกลอน-การแสดงความสามารถในการใช้กลบทต่างๆ ไปเสีย 
ซึ่งในบทร้อยกรองของผมจะแทรกไว้ด้วยเสมอ และทำเช่นนี้มาตั้งแต่เด็กแล้ว  นั่นกลับกลายเป็นตรงกันข้ามกับความหมายของคุณหลวงเล็ก
ไปเลย   ผมไม่คิดว่ากระทู้นี้จะมีค่าอะไรมากมายนัก   แต่มาถึงตอนนี้ผมคิดว่าหากเยาวชนที่มีใจรักในทางการประพันธ์ร้อยกรองได้เข้ามาอ่าน
และได้เห็นความคิดเห็นของคุณหลวงเล็กกับความผิดพลาดในอดีตของผมคงจะมีมุมมองที่กว้างขวางมากขึ้น

คำชมบางครั้งก็เสมือนยาพิษ   แต่คำติติงบางครั้งก็กลับกลายป็นยาบำรุงกำลังได้      ข้อเขียนของคุณหลวงเล็กคล้ายกับเป็นกระจกเงาให้ผม
ส่องมองความผิดพลาดของตนเองในอดีตและปัจจุบันได้ชัดขึ้น  ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 ก.ค. 11, 12:04
สิ่งที่คุณ willyquiz มานั้น  ผมก็เคยเป็นมาเหมือนกัน
ผมอ่านหนังสือกลวิธีการแต่งกลอนเล่มหนึ่ง  เขากล่าวว่า
คนแต่งร้อยกรองส่วนใหญ่ต้องมีทั้งอหังการและมมังการ
อหังการ คือ ตัวฉัน  มมังการ คือ ของฉัน
คนแต่งร้อยกรองมีกันแทบทั้งนั้น  สุดแต่จะมีมากมีน้อย
ถ้าไม่มีเลยก็แต่งร้อยกรองออกมาได้ไม่ดี
ถ้ามีมากไปน้อยไปก็แต่งร้อยกรองออกมาได้ไม่ดีเหมือนกัน


สมัยผมเป็นนักเรียนไปแข่งขันแต่งกลอนสด (เป็นทีม)
ครูจะให้ฝึกแต่งกลอนสดวันละ ๒-๓ กระทู้  
(ถ้าวันไหนหัวแล่นดี  ไฟแรง ก็ ๔ กระทู้)  
ฝึกอย่างนี้  สัปดาห์ละ ๓ วัน  คือ จันทร์ พุธ ศุกร์ ตอนเช้า
จับเวลาเหมือนไปแข่งจริง  กระทู้ละ ๑๐-๑๕ นาที
เกินนี้  ถือว่าไม่ผ่าน  จำได้ว่าฝึกอยู่อย่างนี้ เกือบ ๓ ปี ในช่วงเรียนม.ปลาย


ถ้าช่วงไหนใกล้จะมีไปแข่งขันงานใหญ่อย่างแข่งขันกลอนสด
ที่ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ราวเดือนสิงหาคม (ต่อกับงานยุวกวีศรีศิลป์
ที่คุรุสภา)  จะซ้อมกันทุกวัน  แถมมีการบ้านให้แต่งต่อที่บ้านด้วย
ช่วงนั้น  จะคิดอะไร  มันไหลออกมาเป็นกลอนได้หมด
(ส่วนจะไพเราะหรือเปล่า นั้นเป็นอีกเรื่อง)


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 ก.ค. 11, 13:08
ผมเองเริ่มเรียนรู้เรื่องร้อยกรองด้วยตนเองก่อนจะเรียนกับครู
และเริ่มมาหัดแต่งร้อยกรองเป็นเรื่องเป็นราวตอนเรียนม.ต้น

เมื่อถูกครูเลือกเป็นตัวแทนแต่งกลอนสด  สืบต่อจากรุ่นพี่
การแต่งกลอนสดนั้น ไม่เหมือนกลอนแห้ง
คือ ต้องคิดให้ไว  คิดให้แตกต่างจากคนอื่นแต่สร้างสรรค์ชัดเจน
และที่สำคัญพลาดไม่ได้เลย

การแข่งขันกลอนสด  ถ้าจะว่าไปแล้ว  มันก็ไม่สดเสียทีเดียว
เพราะทุกทีมที่เข้าแข่งขันล้วนที่แต่ซุ่มฝึกแต่งกลอนสดกันมาหลายกระทู้
การฝึกเหล่านั้น  คือการเดาใจกรรมการว่าจะออกกระทู้อะไรในเวลาแข่งขันจริง  
การแข่งขันกลอนสดแต่ละเวทีก็ตั้งกระทู้มีแนวต่างๆ กันไป

บางที่ชอบออกแนวการเมือง สังคม และเหตุการณ์ปัจจุบัน  
ถ้าเป็นแบบนี้  ถ้าติดตามข่าวสารบ้านเมือง ต้องอ่านข่าวย้อนไปหลายเดือนด้วย
ว่าเขามีข่าวอะไร  เพราะข่าวเหล่านั้น มักจะเอาเป็นกระทู้กลอนได้หมด
ใครไม่ตามข่าวสาร ไม่ทราบรายละเอียดก็แต่งไปไม่ตลอด
และถึงรู้ข่าวแต่ก็ต้องตีความให้ต่างจากทีมอื่น  อันนี้ยากขึ้นไปอีก
เพราะแต่งพื้นๆ เหมือนทีมอื่น ไม่มีแนวคิดอะไรโดดเด่นก็จะได้คะแนนน้อย
ถ้าไม่สามารถคิดให้ต่างได้ ก็ต้องแต่งให้ดีที่สุด  เวทีที่ออกแนวนี้
สำหรับทีมที่เคยผ่านมาบ้างจะชอบเพราะท้าทายดี  ตื่นเต้น
เลือกใช้คำได้เต็มที่  

บางที่ไม่ออกแนวบู๊อย่างข้างต้น  ออกแนวสุภาพหรือหวาน
ถ้าไปแข่งในเวทีอย่างนี้  ต้องระมัดระวังการใช้คำให้มาก
หวือหวามากไม่ได้เด็ดขาด  ถ้าเผลอก็เสียคะแนนทันที



กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 ก.ค. 11, 13:39
การเลือกใช้คำ  ผมมีประสบการรณ์จากการไปแต่งกลอนสด

หลายที่ที่ไปแข่งขันแต่งกลอนสด  มักให้เริ่มแต่งกระทู้กลอนอาศิรวาท
สุดแต่ละว่าจะตั้งหัวเรื่องว่าอะไร  โดยมากเกี่ยวกับเจ้านาย
ซึ่งทุกทีมจะเก็งกระทู้เหล่านี้มาแล้ว  บางทีมอาจจะเอากลอนที่เคยฝึกแต่ง
มาใส่ในกลอนที่แต่งสด  (บอกแล้วว่าไม่สดหรอก) ปรับคำนิดหน่อย
ก็ใช้ได้  กลอนอย่างนี้  คนแต่งมักใช้คำสูงคำยากๆ
เพราะคิดว่าจะทำให้ได้คะแนนมาก   หรือหวังว่ากลอนจะไพเราะ
กว่าของคนอื่น   บางทีก็ใช้คำยากเต็มทุกวรรค  ถ้าอ่านให้ฟัง
บางทีก็คิดตามไม่ทันว่า  เขาแต่งว่าอะไร  เพราะคำยากเยอะเกินไป
แปลไม่ออกทันทีที่ได้ยิน   ยิ่งถ้าคนไม่รู้จักศัพท์เลยจะงงมาก


ผมได้ครูดีช่วยแนะนำให้ว่า  ถ้าจำเป็นต้องใช้คำยาก
ให้เลือกใช้คำที่ไม่ยากมาก   คนฟังแล้วพอแปลออก
และให้วรรคละคำ  อย่าใส่เสียเต็มวรรค  และควรจะเกลี่ยให้ทุกวรรค
ของกลอนที่แต่งมีคำยากในระดับเดียวกันเหมือนกันทุกวรรค
อย่าพยายามใช้คำที่ไม่ค่อยมีคนใช้หรือคำบางคำที่มีความหมาย
บางความหมายที่คนสมัยนี้ไม่ใช้แล้ว  หรือบางคนเท่านั้นที่ใช้
เอามาใช้  เพราะจะทำให้กลอนมีตำหนิ  คือ  คนแต่งรู้
แต่คนอ่านไม่รู้กับคนแต่งด้วย 

กลอนอะไรที่เปิดพจนานุกรมแต่ง เอาศัพท์ยากๆ มาใส่พราวไปหมด
อาจจะไพเราะ  แต่คนอ่านจะหน่ายว่า  อ่านไปแล้วไม่เข้าใจ
ผมอยากจะยกตัวอย่างจากงานของ น.ม.ส. หลายเรื่อง
เช่น กนกนคร และ พระนลคำฉันท์ 
งานของน.ม.ส.ที่กล่าวมาแล้วนี้  มีตำหนิอยู่ที่ทรงเปิดดิกชันนารี
สันสกฤตแล้วเลือกใช้คำในดิกฯนั้นมาแต่ง   คำเหล่านั้นไม่มีใช้ในภาษาไทย   
ทำให้ต้องทรงทำคำอธิบายศัพท์ไว้ท้ายเรื่อง
บางทีก็ใช้คำไทยโบราณซึ่งปัจจุบันไม่ได้ใช้ในความหมายเดิมแล้ว
แต่ก็ทรงเลือกเอาความหมายเดิมมาใช้  คนอ่านถ้ารู้ไม่ถึงก็เข้าใจพลาดได้
บางทีก็ทรงเอาความหมายบางความหมายของคำบางคำซึ่งปกติคนไม่ใช้กันมาใช้
ก็ทำให้เข้าใจยากเหมือนกัน


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: อกนิษฐ์ ที่ 11 ส.ค. 11, 10:52
ขออนุญาตร่วมวงเหล้า(เล่า)ความหลังมั่งครับ  ;D

จากที่ผมชอบแต่งโคลงตอนม.3 พอขึ้นม.4 อ.ประจำชมรมวรรณศิลป์จึงมาคว้าตัวผมไปเป็นตัวแทนโรงเรียน ทั้งที่ผมไม่เคยย่างกรายไปชมรมของท่านเลย แต่เพื่อนในชมรมรู้จักผมดีว่าฝีมือเหนือกว่าพวกเขา อาจารย์ล็อคตัวผมไปเลย สภาพตอนนั้นน่าขำมาก ผมนั่งเรียนคณิตศาสตร์อยู่ดี ๆ อ.เดินมาพร้อมนักเรียนตัวโต ๆ อีก 2 คน ขออนุญาตอ.ที่สอนอยู่พาผมไปพบ ผอ.โรงเรียน ผอ.พยักหน้าหงึก ๆ ผมมีเวลาเตรียมตัว 3 วันก่อนถูกจับยัดใส่รถตู้ไปแข่งโคลงสดที่กรุงเทพฯ พร้อมเพื่อนอีก2คนนั้น ทีมโรงเรียนต่างจังหวัดไร้อันดับอย่างโรงเรียนผมเขี่ยทีมจากโรงเรียนดัง ๆ ร่วงระนาว ทะลุเข้ารอบชิงชนะเลิศที่หอสมุดแห่งชาติ อ.มนตรี ตราโมช เป็นประธานกรรมการตัดสิน แข่งเสร็จไม่ได้ชนะเลิศหรอกครับ แต่ตอนมอบรางวัล อ.มนตรี ยกโคลงที่ผมแต่งมาวิจารณ์ แทนที่จะเป็นโคลงที่ชนะเลิศ ท่านบอกว่าโคลงผมควรชนะเลิศแต่ต้องตัดตกไปเพราะผิดไปหนึ่งคำ เป็นคำยากที่แม้แต่กรรมการท่านอื่นยังไม่แน่ใจ ต้องเรียนถามอ.มนตรีเพื่อตัดสินใจ อาจารย์ท่านบอกใช้คำผิด ถูกตัดคะแนนบานเลย และอาจารย์เกลาให้สดๆ เปลี่ยนแค่อักษรนำตัวเดียวเท่านั้นก็อาจจะชนะเลิศได้... ตอนนั้นร้องไห้เลย ไม่รู้ว่าดีใจหรือเสียใจ แต่ฝังใจจนบัดนี้ครับ

บทเรียนที่ได้รับคือ 1. การแต่งสด จริง ๆ แล้วก็ไม่สดหรอก เพราะผมงัดกระทู้ที่ผมเคยฝึกไว้ก่อนหน้านั้นมาดัดแปลงนิดหน่อย สามวันผมแต่งไว้เกิอยร้อยกระทู้ โดยมีอ.ตรวจทานและให้คำแนะนำ แข่งจริงเจอกระทู้ซ้ำกับที่แต่งไว้เกือบร้อยละ 70 ส่วนบทเรียนที่ 2. คือไม่ควรใช้คำยาก เพราะคำยากมีหลายความหมาย ขึ้นอยู่กับริบทนั้น หากไม่ระวัง คนอ่านอาจตีความผิด เผลอ ๆ ความที่มันเป็นคำยาก เราอาจใช้มันในความหมายที่ผิด ๆ เสียเอง ถึงกับทำให้บทกลอนเสียหายได้เลย

จึงเห็นด้วยกับคุณลุงหลวงเล็กว่าควรพิถีพิถันในการเลือกใช้คำ และหลีกเลี่ยงการใช้คำยากครับ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 16 ส.ค. 11, 20:41
สวัสดีครับคุณอกนิษฐ์

     ผมหวนนึกไปถึงโคลงบทหนึ่งที่ว่า

     นาคีมีพิษเพี้ยง        สุริโย
เลื้อยบ่ทำเดโช             แช่มช้า
พิษน้อยหยิ่งโยโส          แมงป่อง
ชูแต่หางเองอ้า             อวดอ้างฤทธี ฯ

     ผมก็คือแมงป่องตัวนั้นนั่นเอง    ส่วนนาคีทั้งหลายท่านก็ซุ่มตัวเองคอยมองแมงป่องอย่างผมชูหางอวดอ้างฤทธี  แล้วก็คงหัวเราะอยู่ในใจ

     ผมเปิดกระทู้นี้ขึ้นตามคำขอร้องของเยาวชนกลุ่มหนึ่งเพื่อขอความรู้เรื่อง “กลบท” จากท่านผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลาย  เนื่องเพราะรู้ถึงความสามารถอันมี
อยู่อย่างจำกัดของตนเอง   แต่ไม่มีท่านใดมาร่วมแต่งให้เยาวชนดูเป็นตัวอย่างบ้างเลย  ผมก็ต้องเขียนเอง แต่งเองไปเรื่อยๆ   แต่เมื่อแต่งไปเพียงแค่สิบ
กว่ากลบทเท่านั้นเด็กก็รับไม่ไหวเสียแล้ว   เพียงแค่ “กลบทกบเต้นต่อยหอย” เพียงชนิดเดียวจนป่านนี้ยังไม่มีเด็กคนไหนเขียนแต่งได้ถูกต้องสักที   เด็ก
จึงขอเปลี่ยนเป็นอะไรที่ง่ายกว่า   นั่นจึงเป็นที่มาของการสอน รูปแบบของโคลงชนิดต่างๆ เบื้องต้น   จริงอยู่ที่ผมอาจจะแต่งร้อยกรองชนิดไหนก็ได้เท่าที่
ผมรู้จัก   แต่ถ้าถึงกับเป็นการสอนแล้ว   ดูเหมือนว่าผมกำลังประจานตัวเองอยู่ต่อหน้าสาธารณะชนไปเสียแล้ว   

     การด้นกลอนสดอย่างที่คุณหลวงเล็กและคุณอกนิษฐ์กล่าวไว้นั้นเป็นอะไรที่ผมไม่เคยทำได้เลย   ผมจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีสมุดและดินสอเท่านั้น   แต่ถึง
อย่างนั้นก็ตามในยามที่มีใครมาอยู่ใกล้ๆ ผมขณะที่กำลังเขียนร้อยกรอง  ผมก็เขียนแต่งไม่ออกเช่นเดียวกัน  ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร   อาจจะเป็นเพราะ
สมาธิยังไม่นิ่งพอ      ถ้าเทียบกับคุณหลวงเล็กและคุณอกนิษฐ์แล้ว  ผมก็เป็นแค่ฝุ่นธุลีนั่นเอง

     ภายหลังจากที่ผมได้อ่านข้อเขียนของคุณหลวงเล็ก,  คุณ chupong  และคุณอกนิษฐ์ แล้ว  ผมก็ชักรู้ตัวของผมเองแล้วว่าผมมีความสามารถน้อยขนาด
ไหนแต่ยังกล้าบังอาจมาเขียนร้อยกรองสอนเยาวชนอย่างไม่เจียมตนเสียอีก  นึกแล้วก็ขันตนเอง  ขยายขี้เท่อไปเท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ซี

     ยังโชคดีอยู่บ้างที่ระยะหลังนี้ผมเข้าหน้าเว็บเรือนไทยไม่ค่อยจะได้เอาเสียเลย  ประกอบกับปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ผมต้องห่างๆ ไป  รวมทั้งจ้องมองจอ
คอมพิวเตอร์นานๆ ไม่ได้ จึงไม่ได้เขียนแต่งอะไรเพิ่มเติมขึ้นมา  มิฉะนั้นอาจจะมีข้อผิดพลาดให้เห็นอีกก็เป็นได้   แต่ก็เป็นโชคดีของเยาวชนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้
ด้วยเช่นกันที่ยังมีคุณหลวงเล็ก คุณอกนิษฐ์ คอยแก้ไข  ชี้แจง  เพิ่มเติมสิ่งที่ผมพลาดไป

     การเขียนร้อยกรอง หรือบทกวี หรืออะไรก็ตามที  นอกจากมีพรแสวงแล้วยังต้องมีพรสวรรค์ประกอบด้วย  ผมนั้นมีแต่พรแสวงแต่ขาดพรสวรรค์  เมื่อผม
เปิดกระทู้ใหม่ๆ นั้นคุณ D D ได้กรุณานำกลบทของครู มนตรี ตราโมท กับ โคลงกลบทช้างประสานงา มาลงไว้ให้ชม   จนบัดนี้ผมยังไม่สามารถแต่งตาม
ครูมนตรีได้เลย  ยากมากๆ  เป็นความสุดยอดในความสามารถเฉพาะตัวของท่านจริงๆ    ส่วนโคลงกลบทช้างประสานงาถึงแม้จะแต่งได้  แต่อ่านแล้วเอาดี
ไม่ได้เช่นกัน    ผมจึงไม่เคยเร่งรัดต่อว่าพวกเด็กๆ ว่าทำไมเขียนร้อยกรองให้ดีไม่ได้สักทีเพราะเข้าใจธรรมชาติในเรื่องนี้   ถ้าคุณอกนิษฐ์มีเคล็ดลับอะไรดีๆ
ที่คิดว่าพอจะช่วยส่งเสริมเด็กๆ ได้บ้าง  ผมขอเรียนเชิญบอกให้เด็กได้ทราบบ้างนะครับ  เด็กเหมือนไม้อ่อนที่ยังดัดได้ง่าย   ถ้าได้เริ่มต้นอย่างถูกต้องและมี
ความเข้าใจแล้ว  เราอาจจะมีกวีประดับแผ่นดินเพิ่มขึ้นอีกก็เป็นได้   ผมยังนึกเสียใจที่ได้มาอ่านข้อเขียนของคุณหลวงเล็กช้าไปสี่สิบปีเลย  จนยากจะแก้ไข
สำนวนเดิมๆ ที่คุ้นเคยได้เสียแล้ว   และเกรงว่าเด็กๆ จะลอกเลียนการเขียนแบบเอาความง่าย ความเร็วเข้าว่าอย่างผมจนลืมความละเอียดอ่อนไป

     แต่มีอย่างหนึ่งที่เป็นประโยชน์อย่างคาดไม่ถึงก็คือ  บังเอิญผมได้เห็นเด็กบางคนคัดข้อความสำคัญออกมาจากสิ่งที่ได้อ่าน  เช่นข้อเขียนของคุณหลวงเล็ก
และของผม  รวมทั้งจากหนังสืออื่นๆ แล้วบันทึกลงในสมุดอย่างที่ผมเคยทำในอดีต  แต่ไม่บันทึกแหล่งที่มาของข้อความเช่นกัน  เมื่อผมเริ่มเขียนกระทู้ผมจึง
ได้เห็นจุดอ่อนในข้อนี้เพราะไม่สามารถอ้างอิงถึงแหล่งที่มาจึงไม่สามารถติดตามรายละเอียดได้  ผมจึงบอกให้เด็กแก้ไขในส่วนนี้เสีย   เพราะต่อจากนี้ไปก็จะ
เป็นโลกของ E-Book แล้ว  หากมีข้อมูลของต้นแหล่งก็จะเป็นประโยชน์แก่ตัวของเด็กเองในอนาคตในการค้นคว้าหารายละเอียด  ส่วนนี้เรียกว่าผลพลอยได้
ของเด็กแท้ๆ

     หากคุณอกนิษฐ์มีสิ่งใดที่พอจะแนะนำได้  โปรดเจียดเวลามาเขียนเล่าสู่ให้อ่านกันบ้างนะครับ


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: อกนิษฐ์ ที่ 18 ส.ค. 11, 11:35
สวัสดีครับคุณน้าวิลลี่ และทุก ๆ ท่าน

ตัวผมเองยังอ่อนอาวุโสอยู่มาก ฝีมือยังอยู่ในขั้นฝึกหัดเสมอมา ไม่กล้ารับคำชมของคุณน้าหรอกครับ ความรู้ที่มีอยู่ก็ได้แต่จำขี้ปากของคนอื่นมาเล่าต่อ ที่นำมาลงประกอบการเสวนาก็ขายขี้เท่อผมเสียมากกว่าครับ อย่านำมาเปรียบเทียบอะไรเลยครับ ร้อยกรองของน้าวิลลี่ถือว่าอยู่ในชั้นครูมีครบทุกอย่างที่ร้อยกรองควรมีแล้วครับ

ผมเชื่อทั้งพรแสวงและพรสวรรค์ครับ คนมีพรสวรรค์จะดีในช่วงเริ่มต้น ทำให้เรียนรู้ได้เร็ว คนมีพรแสวงอาจเหนื่อยกว่าในการตั้งตัว แต่พอถึงขั้นทำเป็นแล้ว ก็เหมือนกัน ไม่ต่างกันเลย แถมคนมีพรแสวงจะได้เปรียบเรื่องมีบทเรียนที่มากกว่าด้วยซ้ำ

การเขียนร้อยกรองนั้น ผมเห็นด้วยว่าสมาธิต้องดีครับ ถึงจะไหลออกมาได้ หากไม่มีสมาธิ คำเดียวก็เขียนไม่ออกครับ เพียงแต่ผมชอบคิดชอบคิดโคลงในสมองเมื่อมีเวลาว่างจากอื่น ๆ คิดได้สักบท วาดไว้ในอากาศแล้วก็มีความสุข ไม่ค่อยร่างในกระดาษเท่าไหร่ เพราะร่างลงกระดาษทีไร ก็ต้องแก้ไปแก้มาให้วุ่นวาย เลยคิดจนเสร็จแล้วค่อยจดลงในกระดาษครับ

บางคราวขณะขับรถไป รถติด มองเห็นฝนตกลงกระจกหน้ารถ ก็วาดโคลงในอากาศ ฆ่าเวลาเล่น ๆ

        เปาะแปะเปาะแปะหน้า           กระจกรถ  ฝนเอย
        ชวนปะติดปะต่อโคลงสด        เสนาะน้ำ

จากนั้นก็ลืมไปครับว่าจะแต่งอะไรต่อ รถติดนาน ๆ เข้าเริ่มเป็นเรื่อง ใจร้อนรนครับ กลัวไปถึงที่หมายไม่ทันเวลา ผบ.ทบ.(ผู้บังคับบัญชาที่บ้าน) ต้องหน้าบึ้งแน่ ๆ คิดว่าเราแวะไปเจ๊าะแจ๊ะสาวที่ไหนแน่ ๆ หาคำแก้ตัว จะตอบว่า "ติดฝน" แม่ก็ต้องว่า อีฝนไหน? ไปนั่นแน่ ๆ ว้า ๆ คิดไปคิดมาก็เลยต้องรีบชิงเป็นฝ่ายรุกเสียก่อน โทรไปบอกว่าฝนตกมากรถติดหนึบ แม่หัวเราะว่ารู้แล้วเขาออกข่าวทีวีด้วย พอรู้ดังนั้นก็เย็นใจเหมือนฝนโบกขรพัตรตกมาต้องกาย โคลงที่เหลือก็ไหลมา

        รถติดจิตเริ่มสลด                ผิดนัด   แม่ฮา
        ฝนหนัก, รีบโทรย้ำ              พี่นี้ติดฝน ฯ

แล้วก็ครื้มอกครื้มใจ คิดได้อย่างไรนะเนี่ยเรา บาทสุดท้ายใช้ลักษณะ "กลบทครอบจักรวาล" เริ่มและจบด้วยคำเดียวกันคือ "ฝน" แถมฝนมีหลายความหมายให้ตีความเล่น เข้าลักษณะการเล่นคำสลับความหมาย ใช้คำง่าย ๆ ท่องกลับไปกลับมาสองสามรอบจำได้ มองน้ำฝนแล้วก็มีความสุข

        เปาะแปะเปาะแปะหน้า          กระจกรถ  ฝนเอย
        ชวนปะติดปะต่อโคลงสด        เสนาะน้ำ
        รถติดจิตเริ่มสลด               ผิดนัด   แม่ฮา
        ฝนหนัก, รีบโทรย้ำ             พี่นี้ติดฝน ฯ

ผมคิดว่าหากจะฝึกเด็กแต่งโคลง คงต้องเขียนอะไรง่าย ๆ ใกล้ ๆ ตัว เขียนเรื่องธรรมดาเสียก่อน เด็กรู้สึกสนุก จะฝึกเขียนให้ดีขึ้น และอยากเขียนกลบทอยากเขียนอะไรที่ยาก ๆ ขึ้นเองครับ

ผมเคยเขียนโคลงแบบ (โครงที่เน้นรูปเอก ๗ โท ๔ ครบ) เล่นกับเพื่อน ๆ มีคนแต่งตามบ้าง แต่สักพักก็มีหลายคนไปหากลบทมาเล่น หาโคลงดั้นมาเล่น เพื่อแสดงความสามารถ ก็นับว่าเป็นตัวจุดชนวนได้ดีทีเดียว ...

        ๏ โคลงแบบคือบ่เน้น            ในความ
        คงแต่รูปตรงตาม                 แต่งจ้า
        เจ็ดเอกสี่โทงาม                  งอนดั่ง    แบบนา
        คำส่งสัมผัสห้า                    แห่งต้องตำรา ๚

        ๏ โคลงความคือท่านเน้น        ในความ
        สารสื่อชัดเจนตาม               แต่งไว้
        โคลงคงค่างดงาม               งามแง่   ความนา
        สารส่งภาษาไซร้                บ่สู้ฉวัดเฉวียน ๚

        ๏ โคลงเสียงคือส่งเน้น          ในเสียง
        เสนาะสื่อสรรสำเนียง            หนุ่มเหน้า
        คำคลาคล่ำความเคียง           ขวักไขว่  นาพ่อ
        เสียงส่งหวานสุขเศร้า            ซ่านซึ้งหทัยหวาม ๚

        ๏ โคลงเคลงคือเล่นเน้น          สนุกสนาน สนองพ่อ
        ละเลงเล่นจนแหลกราญ          เรื่อยเจื้อย
        ยกมาสี่บทหาญ                  สนองห่าม
        โคลงสี่บาทสลึงเลื้อย             ลั่นฆ้องฉลองชัย ชะโย โห่ฮิ้ว เป๊กพ่อ แฮ่ ๆ ๚

        อกนิษฐ์, ๒๒ พ.ย.๔๖


ยกมาขายขี้เท่อครับ เป็นการเขียนสนุก ๆ ไร้สาระหน่อยก็ขออภัยครับ



กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: willyquiz ที่ 18 ส.ค. 11, 14:12
     น่าทึ่งมากครับคุณอกนิษฐ์  ทั้งเรื่องที่เล่าและโคลงที่นำมาประกอบ  นี่ละครับคือความคล้ายคลึงและแตกต่าง   ความคล้ายคลึงคือการคิดร้อยกรองได้ตลอดเวลา 
ความแตกต่างคือผมต้องจดบันทึกเดี๋ยวนั้นทันที   มิฉะนั้นได้หลังจะลืมหน้าและจะพาลืมไปถึงหลังด้วย   แค่ลุกจากที่ๆ ผมนั่งเขียนอยู่ผมก็ลืมแล้วครับถ้าไม่เขียนบันทึก
เอาไว้ก่อน   วาดไว้ในสมองโดยไม่ลืมอย่างคุณอกนิษฐ์ผมทำไม่ได้ครับ  ผมจึงด้นกลอนสดไม่ได้   ข้อนี้ผมเทียบคุณอกนิษฐ์กับคุณหลวงเล็กไม่ได้เลยครับผม

     ผมถูกคุณครูจัดผมไว้เป็นพวก “นอกคอก” คือมักจะคิดอะไรไม่เหมือนนักเรียนคนอื่นๆ เสมอ  อย่างเช่น  คุณครูบอกว่าปัจจุบันไม่นิยมการใช้ “เอกโทษ-โทโทษ”
กันแล้ว   แต่ความคิดของผมในขณะนั้นคือ  นี่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการประพันธ์โคลง  เอกโทษ-โทโทษ น่ารักจะตาย ทำไมจึงไม่นิยมกัน   เมื่อคิดดังนั้นผมก็เริ่มแต่ง
ร่ายและโคลงสุภาพ (โคลง ๒-๓ และ ๔ สุภาพ) มากมายหลายบท  ใช้เวลาเป็นเดือนๆ โดยใช้วรรณยุกต์ เอกโทษ-โทโทษ ล้วนๆ ตรงจุดที่บังคับ  ทั้งๆ ที่ยากแสนยาก
เพราะมันผิดธรรมชาติ    แต่ผมก็เพียรแต่งจนสำเร็จ   นี่เป็นสันดานของผมตั้งแต่เด็กๆ เลยครับ

     เมื่อผมอยู่ ม. ๑ ผมได้แต่ง “นิราศถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง” หลังจากขึ้นต้นบทด้วยการไหว้ครูเสร็จ  ผมก็เริ่มตั้งแต่สถานีหัวลำโพงไปจนถึงสถานีปลายทางคือสถานีหนองโดน
(จ. สระบุรี) และกล่าวเลยไปถึงสถานีป่าหวายและลพบุรีเล็กน้อย   แต่นิราศของผมเป็นแต่เรื่องเสียดสีทั้งสิ้น  ไม่ว่าจะเป็นสถานีไหนผมก็เอามาเขียนเป็นด้านเสียดสีไปหมด 
อย่างเช่นสถานีบางเขนเพราะคนบางเขนใช้ดาบไม่เป็น  สถานีหลักสี่เพราะนับเลขไม่เป็นนับได้แค่สี่  สถานีชุมทางบ้านภาชีแต่ไม่เห็นมีม้าคงจะอดอยากจนจับม้าไปกินหมด 
สถานีบ้านหมอคงจะมีแต่คนป่วยกันยกหมู่บ้าน ฯลฯ  กล่าวง่ายๆ ก็คืออะไรที่เขาไม่ทำกัน  เด็กอย่างผมกลับทำไปเสียหมด  แต่สิ่งหนึ่งที่ผมไม่เคยขาดในการแต่งเรื่องยาวก็คือ
การเล่นคำหรือการใช้กลบทมาประกอบบทร้อยกรองแทรกไว้เป็นระยะเสมอ (แต่ยอมรับว่าไม่ค่อยสันทัดในเรื่องโคลงสักเท่าใด)

     พอได้อ่านข้อเขียนของคุณหลวงเล็กแล้วผมจึงรู้ว่าเป็นความเขลาในวัยเด็กของผมแท้ๆ หลงผิดคิดไปว่าถ้าได้แต่งอะไรที่ยากๆ แล้วจะเด่นเหนือกว่าคนอื่น  จะเพราะกว่าคนอื่น   
ตอนนี้ผมสำนึกตัวแล้วครับ  ผมจึงว่าผมเป็นเพียงแค่ “แมงป่อง” เท่านั้นเอง

     ส่วนที่ผมบอกว่าผมมีแต่พรแสวงไม่มีพรสวรรค์นั้นเพราะ เมื่ออยู่ชั้น ป. ๖-๗ ผมก็เหมือนเด็กคนอื่นๆ โดยทั่วไปคือพอจะแต่งกลอนสุภาพได้บ้างเล็กน้อย  แต่กลับไปเขียนส่งให้
เพื่อนทางจดหมายสองสามบท  แต่แล้วเธอกลับเขียนตอบเป็นกลอนสุภาพทั้งฉบับเลย   ตั้งแต่นั้นผมบ้าไปเลย (เพราะไม่อยากยอมแพ้เด็กผู้หญิงต่างจังหวัด) ผมเอาแต่อ่านๆๆ
พระอภัยมณี-นิราศต่างๆ ของสุนทรภู่  เรื่อยไปจนถึงวรรณคดีเรื่องอื่นๆ อีก เพื่อหาวิธีการแต่งร้อยกรองอื่นๆ เอามาอวดเธอเท่านั้น   แต่พื้นฐานด้านนี้ผมไม่มีเลย  ดูได้จากหลังจาก
ที่ผมละทิ้งเรื่องร้อยกรองไป  ผมก็ชักสมองตันยามเมื่อต้องการแต่งใหม่   คนมีพรสวรรค์คงไม่เป็นอย่างนี้

     จากโคลงของคุณอกนิษฐ์ที่ยกมาลงไว้และปีที่ระบุการแต่ง  แสดงถึงความเฉียบคมของคุณอกนิษฐ์ที่มีมานานแล้ว  น่าเสียดายนะครับถ้าจะเก็บเอาไว้อ่านเพียงลำพังตน  ผมขอ
อนุญาตเสนอว่าถ้ายังมีอีกน่าจะนำมาลงไว้เผื่อแผ่แก่บุคคลอื่นที่ได้เข้ามาอ่านในกระทู้นี้บ้างนะครับ   คิดเสียว่ามาร่วมสนุกด้วยกันก็แล้วกัน


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 ส.ค. 11, 10:29
พรสวรรค์เราไม่มีแต่กำเนิด            ความชำนาญล้วนแต่เกิดจากฝึกฝน
หมั่นเรียนรู้ดูตัวอย่างของบางคน     และต้องค้นต้องอ่านอย่าคร้านคลาย
พื้นฐานนั้นต้องจดจำย้ำบ่อยบ่อย     แล้วค่อยค่อยพัฒนาให้หลากหลาย
แต่งร้อยกรองก็จะเป็นเรื่องง่ายดาย   อย่ามัวหมายพรสวรรค์ มันไม่มี


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 19 ส.ค. 11, 10:58
^    ;D


กระทู้: โคลง กลอน กาพย์ ฉันท์ ร่าย
เริ่มกระทู้โดย: อกนิษฐ์ ที่ 12 ก.ย. 11, 18:34
 ;D ชอบกลอน คำของพี่ (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4729.0) ของท่านประยอม ซองทอง ที่คุณเทาชมพูเอามาลงครับ



ระหว่างรอ เอาโคลงที่เขียนไว้นานแล้วมาลงครับ


โคลงกระทู้โบราณ

๏ ทะ..เลจักจัดตั้ง...............เมืองลอย
ลุ่ม..ฤ ดอนหอคอย.............เสียดฟ้า
ปุ่ม..กลสั่งงานประดอย.........ประดิษฐ์วิทย์..เจริญเฮย
ปู..สะพานหินระย้า..............ยื่นคว้าดาวไฉน ๚

๏ ทุ..รชนจักขจัดสิ้น............จากภพ
มุ..ทิตาน้อมนบ.................คติตั้ง
สุ..ธีปราชญ์ครันครบ............นครเฟื่อง..ฟูฮา
ดุ..ริยะครึกครื้นทั้ง...............ค่ำเช้าสนุกสนาน ๚

๏ อุ..ดมสิทธิพร้อม..............เสรี
สา..ธุชนภักดี....................ช่วยค้ำ
นา..ครรุ่งเรืองศรี.................ศิลป์ศาสตร์
รี..รี่รสธรรมล้ำ...................เลิศเลี้ยงใจเมือง ๚

๏ โก..ลาหลห่อนรู้................รานชน
วา..จกสอนศาสน์กมล............ผ่องแผ้ว
ปา..ลีรุ่งเรืองผล..................จิตผ่อง
เปิด..ส่องใจเมืองแก้ว............เกริกฟ้าเกินสวรรค์ ๚

๏ จก..กายเป็นเขื่อนกั้น..........อุปสรรค
จี้..จิตวิริยะจัก....................ขจัดคร้าน
รี้..พลพหลพรรค.................เพียงอัช..ฌาแฮ
ไร..รี่ตริรอบด้าน.................ดับร้ายสลายหลง ๚ะ๛

อกนิษฐ์ - 31 ต.ค. 45