เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: ลุงไก่ ที่ 26 ต.ค. 10, 10:51



กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 26 ต.ค. 10, 10:51
พระศรีศากยมุนี เป็นพระประธานในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยเนื้อโลหะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดองค์หนึ่ง มีขนาดหน้าตักกว้าง 3 วา 1 คืบ ซึ่งเดิมประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมา เพื่อจะประดิษฐานยังวัดที่สร้างขึ้นกลางพระนคร ใกล้เสาชิงช้า ดังในพระราชพงศาวดารกล่าวถึงการอัญเชิญพระศรีศากยมุนีมายังกรุงเทพมหานคร ในครั้งนั้นว่า

"ลุ จุลศักราช 1170 ปีมะโรง สำริดศก (พ.ศ.2351) เป็นปีที่ 27 ในรัชกาลที่ 1 ณ วันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 11 ค่ำ เชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ ลงมาจากเมืองสุโขทัย หน้าตัก 3 วาคืบ สมโภชที่หน้าตำหนักแพ 3 วัน ครั้น ณ เดือน 6 ขึ้น 14 ค่ำ เชิญชักพระขึ้นจากแพทางประตูท่าช้าง ไปทำร่มไว้ข้างถนนเสาชิงช้า ประตูนั้นเรียกว่า ประตูท่าพระ มาจนทุกวันนี้ เหตุว่าต้องรื้อประตู จึงเชิญเข้าไปได้ พระพุทธรูปองค์นี้ภายหลังได้ถวายพระนามว่า พระศรีศากยมุนี"
 
หลังสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก การสร้างวัดสุทัศนเทพวรารามยังไม่แล้วเสร็จ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ดำเนินการต่อ ดังในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า

"ในปีมะเมียจัตวาศกนั้น ทรงพระราชดำริว่า พระโต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้เชิญลงมาจากวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย และได้สร้างวัดประดิษฐานไว้กลางพระนคร ที่ใกล้เสาชิงช้า โดยพระราชดำริจะสร้างวิหารใหญ่ขนาดวิหารวัดพนัญเชิง ที่กรุงเก่า พระวิหารนั้นยังค้างอยู่ จึงโปรดให้สร้างพระวิหารนั้นต่อมา จนยกเครื่องบนเสร็จ ค้างอยู่แต่ยังไม่ได้ยกช่อฟ้าใบระกา อนึ่งบานประตูพระวิหารนั้นโปรดให้สลักลายขุดด้วยไม้แผ่นเดียว รมหมื่นจิตรภักดี เป็นนายงาน เมื่อคิดอย่างสำเร็จแล้ว ให้ยกเข้ามาในท้องพระโรงทรงสลักด้วยฝีพระหัตถ์ก่อน แล้วจึงให้ช่างทำต่อไป"

แสดงว่าสมัยรัชกาลที่ ๑ นอกจากจะมีกำแพงรอบพระบรมมหาราชวังอย่างปัจจุบันแล้ว อาจจะมีกำแพงเมืองรายไปตามริมฝั่งเจ้าพระยาด้วย แต่จะไปบรรจบกับกำแพงของพระราชวังบวรฯ หรือไม่ ?






กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 26 ต.ค. 10, 11:24
การอัญเชิญพระศรีศากยมุนีจากประตูท่าช้างไปยังเสาชิงช้า คงจะใช้เส้นทางถนนหน้าพระลาน ไปข้ามสะพานช้างโรงสี แล้วตามถนนเสาชิงช้า



กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 ต.ค. 10, 21:56
ถูกต้องแล้วครับลุงไก่ บริเวณรอบเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยก่อน มีการสร้างกำแพงพระนครล้อมไว้ และมีประตูเมืองและช่องกุด ให้ประชาชนเดินเข้าออก ประตูท่าช้างหรือประตูท่าพระ เป็นชื่อเรียกสถานที่เดียวกันแต่ต่างกรรมต่างวาระ
ประตูนี้เป็นประตูเพื่อใช้สำหรับนำช้างจากโรงช้างในพระบรมมหาราชวังลงไปอาบน้ำ จึงเรียกว่า ท่าช้าง และท่าพระก็เป็นอีกนามหนึ่ง ซึ่งต้องรื้อประตูออก เนื่องจากพระมีความใหญ่ และสุงกว่าประตูพระนคร จึงต้องรื้อประตูนี้ทิ้ง และเมื่อรื้อทิ้งแล้วก็ไม่ได้มีการสร้างประตูกลับที่เดิม คงเหลือแต่ชื่อเรียกปรากฎไว้

แนวกำแพงพระนครและประตูท่าพระ ตามจุดไข่ปลา


กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 ต.ค. 10, 21:57
แนวแผนที่กำแพงพระนคร สมัย ร.๕ ยังมีแนวกำแพงอยู่ แต่ไม่มีประตูท่าพระ


กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 ต.ค. 10, 21:58
ให้ลุงไก่ดูแนวกำแพง หน้าวัดโพธิ์ และประตู "นกยุง" ครับ


กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 ต.ค. 10, 22:02
สำหรับภาพในความคิดเห็นที่ ๑ เป็นประตูสุนทรทิสา สร้างในรัชกาลที่ ๒-๓ เป็นทรงฝรั่ง


กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 27 ต.ค. 10, 18:47
คุณ siamese ครับ ผมเข้าใจมาตลอดว่ากำแพงชั้นนอก จะมีเฉพาะในแนวคลองรอบเมืองที่ขุดขึ้นใหม่ แต่จะไม่มีกำแพงทางด้านแม่น้ำเจ้าพระยา อ่านเรื่องประตูท่าพระ ท่าช้างมานานก็ไม่เคยคิดสงสัยกับเรื่องนี้
วันนี้เพิ่งไปได้ภาพมาจากเวปท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง แต่เป็นข้อมูลระดับตติยภูมิแล้ว ก็ขอนำมาประกอบพอกล้อมแกล้มไปก่อนนะครับ
ไปค้นเรื่องชื่อของป้อมต่างๆ มาได้ครบ ดังนี้
๑. ป้อมพระสุเมรุ อยู่มุมกำแพงด้านตวันตกข้างเหนือ ใต้ปากคลองบางลำพูบน
๒. ป้อมยุคนธร อยู่บนกำแพงด้านเหนือ เหนือวัดบวรนิเวศวิหาร
๓. ป้อมมหาปราบ อยู่บนกำแพงด้านเหนือ
๔. ป้อมมหากาฬ อยู่บนกำแพงด้านตวันออก ใต้ประตูพฤฒิบาศ เยื้องคลองมหานาค
๕. ป้อมหมูทลวง อยู่ด้านตะวันออก ตรงน่าสถานมหันตโทษ (คุกใหม่)
๖. ป้อมเสือทยาน อยู่ด้านตวันอก เหนือประตูสามยอด
๗. ป้อมมหาไชย อยู่ด้านตวันออก น่าวังบุรพาภิรมย์
๘. ป้อมจักรเพ็ชร์ อยู่ด้านใต้ เหนือปากคลองโอ่งอ่าง หรือคลองคูพระนคร
๙. ป้อมผีเสื้อ อยู่ด้านใต้ ใต้ปากคลองตลาด
๑๐. ป้อมมหาฤกษ์ อยู่ด้าใต้ตรงหลังโรงเรียนสุนันทาไลย
๑๑. ป้อมมหายักษ์ อยู่ด้านตวันตก ตรงวัดพระเชตุพน
๑๒. ป้อมพระจันทร์ อยู่ด้านตวันตกริมท่าพระจันทร์ มุมวัดมหาธาตุข้างเหนือ
๑๓. ป้อมพระอาทิตย์ อยู่ด้านตวันตก มุมพระราชวังบวรข้างเหนือ
๑๔. ป้อมอิสินธร อยู่ด้านตวันตก ใต้วังพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์




กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 29 ต.ค. 10, 08:51
ถูกต้องแล้วครับลุงไก่ บริเวณรอบเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยก่อน มีการสร้างกำแพงพระนครล้อมไว้ และมีประตูเมืองและช่องกุด ให้ประชาชนเดินเข้าออก ประตูท่าช้างหรือประตูท่าพระ เป็นชื่อเรียกสถานที่เดียวกันแต่ต่างกรรมต่างวาระ
ประตูนี้เป็นประตูเพื่อใช้สำหรับนำช้างจากโรงช้างในพระบรมมหาราชวังลงไปอาบน้ำ จึงเรียกว่า ท่าช้าง และท่าพระก็เป็นอีกนามหนึ่ง ซึ่งต้องรื้อประตูออก เนื่องจากพระมีความใหญ่ และสุงกว่าประตูพระนคร จึงต้องรื้อประตูนี้ทิ้ง และเมื่อรื้อทิ้งแล้วก็ไม่ได้มีการสร้างประตูกลับที่เดิม คงเหลือแต่ชื่อเรียกปรากฎไว้

แนวกำแพงพระนครและประตูท่าพระ ตามจุดไข่ปลา

ในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี และ พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ข้อ ๒๑๗. ณ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ยกทรงเลื่อนชักตามทางสถลมาร พระโองการตรัสให้แต่งเครื่องนมัสการพระ ทุกหน้าวังหน้าบ้านร้านตลาดตลอดจนถึงที่
พระราชวิจาณ์ - การชักเลื่อนพระตามทางบกนั้น แพพระพุทธรูปได้มาเทียบที่ท่าช้าง แต่ที่ท่าช้างประตูเมืองไม่ตรงตามถนน ถึงแม้ว่าจะตรงถนนพระก็ใหญ่กว่าประตูเข้าไม่ได้ จึงตองรื้อกำแพง เมื่อแห่พระมาถึงแล้วจึงก่อกำแพงขึ้นใหม่ ด้วยเหตุนี้ในราชการจึงเรียกเป็นท่าพระมาจนทุกวันนี้.

อีกเรื่องหนึ่งคือกำแพงริมแม่น้ำเจ้าพระยานี้รื้อลงเมือใด?


กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 ต.ค. 10, 09:36
กำแพงพระนครและประตูเมืองที่ล้อมรอบกรุงรัตนโกสินทร์ ถูกรื้อลงในช่วงเวลาต่างๆกัน ไม่ใด้รื้อพร้อมกันเสียทีเดียว การรื้อลงเนื่องจากมีการตัดถนนอย่างใหม่ สมัยกลางรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประตูเมืองซึ่งสร้างในรัชกาลที่ ๑ และซ่อมเสริมในรัชกาลที่ ๓ ปูนเริ่มหมดอายุและเริ่มทะลายลง ทับคนตาย ทำให้ประตูเมืองถูกทุบทิ้งก่อนเพื่อป้องกันอันตราย  ส่วนกำแพงพระนครค่อยๆรื้อลงเพื่อขยายผิวถนน
ดังภาพนี้เป็นภาพกำแพงเมืองตั้งแต่ท่าเตียนลงไปถึงบริเวณโรงเรียนราชินี ครับ


กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 29 ต.ค. 10, 13:29
กำแพงพระนครและประตูเมืองที่ล้อมรอบกรุงรัตนโกสินทร์ ถูกรื้อลงในช่วงเวลาต่างๆกัน ไม่ใด้รื้อพร้อมกันเสียทีเดียว การรื้อลงเนื่องจากมีการตัดถนนอย่างใหม่ สมัยกลางรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประตูเมืองซึ่งสร้างในรัชกาลที่ ๑ และซ่อมเสริมในรัชกาลที่ ๓ ปูนเริ่มหมดอายุและเริ่มทะลายลง ทับคนตาย ทำให้ประตูเมืองถูกทุบทิ้งก่อนเพื่อป้องกันอันตราย  ส่วนกำแพงพระนครค่อยๆรื้อลงเพื่อขยายผิวถนน
ดังภาพนี้เป็นภาพกำแพงเมืองตั้งแต่ท่าเตียนลงไปถึงบริเวณโรงเรียนราชินี ครับ

มุมล่างซ้ายของภาพน่าจะเป็นรางรถรางนะครับ

ผมนำภาพนี้มาฝากครับ คงจะถ่ายจากพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม รบกวนอธบายกลุ่มอาคารสองชั้นทางขวามือของภาพว่าที่ไหนด้วยครับ



กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 30 ต.ค. 10, 21:59
อาคารสองชั้นสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ เพื่อใช้เป็นออฟฟิศศาลต่างประเทศ ครับ


กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 30 ต.ค. 10, 22:06
อาคารชั้นเดียวด้านซ้ายมือของออฟฟิตศาลต่างประเทศ น่าจะเป็นอาคารหลังนี้นะครับ

ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๖ เรื่องตำนานวังเก่า ความตอนหนึ่งกล่าวว่า " ... ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ วังเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ว่าง ทำนองจะเปนวังมีตำหนักรักษาบริบูรณ์กว่า จึงโปรดฯ ให้ย้ายไปประทับที่วังท่าเตียน เอาที่วังก่อนทำคลังสินค้าและโรงวิเสท บางที่เรื่องจะเปนเช่นว่านี้ กรมหมืนสุรินทรรักษ์ประทับอยู่ที่วังท่าเตียนจนสิ้นพระชนม์ เจ้าจอมมารดาตานีของกรมหมื่นสุรินทรรักษ์อยู่ต่อมจนอสัญกรรม และหม่อมเจ้าในกรมหมื่สุรินทรรักษ์อยู่ต่อมา จนถึงรัชกาลที่ ๔ จึงสร้างศาลต่างประเทศกับตึกหลวงที่วังตรงนั้น ..."

เรื่องกำแพงพระนครด้านแม่น้ำเจ้าพระยา เท่าที่ผมพยายามค้นหาข้อมูลและสังเกตจากภาพ แทบไม่มีกล่าวถึงเรื่องนี้เลย ทำให้ผมสันนิษฐานว่ากำแพงพระนครเลียบแม่น้ำน่าจะเข้าบรรจบกับกำแพงของพระบรมมหาราชวังที่มุมของกำแพงมากกว่าทั้งที่บริเวณหัวถนนท้ายวังและหัวถนนหนาพระลานครับ

ส่วนภาพที่คุณ siamese นำมาแสดง ที่ประตูกำแพง เหนือปากประตูอ่านได้ว่า "สำนัก..." ผมเดาต่อไม่ได้ว่าจะเป็นสำนักอะไร





กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: Lonelybankz ที่ 31 ต.ค. 10, 03:37
ตอบคุณลุงไก่ ภาพนั้นคือ สำนักงานจัดการผลประโยชน์ของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ครับ ปัจุบันกำแพงเมืองส่วนนี้ไม่มีแล้ว มีการทุบออก และ สร้างเป็นกำแพงชั้นนอกของบ้านจักรพงษ์ ท่าเตียนไปแล้ว


กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: Lonelybankz ที่ 31 ต.ค. 10, 03:41
กลุ่มอาคารออฟฟิศ สษลต่างประเทศนั้น ต่อมามีการสร้างโรงละครปริ๊นซ์เธียเตอร์ ของเจ้าพระยามหินทร์ธำรงศักดิ์ ( เพ็ง เพ็ญกุล ) ขึ้นในบริเวณนั้น อาคารที่คุณลุงได่นำมาแสดง ผมคิืดว่าไม่น่าจะใช่อาคารด้านซ้ายมือของ ออฟฟิศต่างประเทศครับ น่าจะเป็นอาคารเก่าแถวๆตลาดท่าเตียน หรือ ท่าโรงโม่มากกว่า


กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 31 ต.ค. 10, 08:17
กลุ่มอาคารออฟฟิศ สษลต่างประเทศนั้น ต่อมามีการสร้างโรงละครปริ๊นซ์เธียเตอร์ ของเจ้าพระยามหินทร์ธำรงศักดิ์ ( เพ็ง เพ็ญกุล ) ขึ้นในบริเวณนั้น อาคารที่คุณลุงได่นำมาแสดง ผมคิืดว่าไม่น่าจะใช่อาคารด้านซ้ายมือของ ออฟฟิศต่างประเทศครับ น่าจะเป็นอาคารเก่าแถวๆตลาดท่าเตียน หรือ ท่าโรงโม่มากกว่า

อาคารที่กล่าวถึงนั้น ผมสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นอาคารดังศรชี้ในภาพ ภาพนี้ผมได้จาก http://www.oursiam.in.th ยังไม่ได้เห็นของจริงครับ คราวหน้าถ้าผ่านไปทาเตียน คงต้องย่งเข้าไปดูด้วยตาตนเองให้ได้

สำหรับโรงละครปริ๊นซ์เธียเตอร์นั้น ผมไม่เคยทราบว่ามีอยู่ ทราบแต่ว่าครั้งหนึ่งเคยมีโรงภาพยนต์ปริ๊นซ์เธียเตอร์ จะอยู่ที่ไหนก็ชักจะเลือนๆ แต่จำได้ว่าผมเคยเข้าไปดูหนังที่โรงนี้ครับ


กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 31 ต.ค. 10, 09:20
จากพระนิพนธ์เรื่องตำหนักแพ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตอนหนึ่งทรงอธิบายเรื่องของท่าเตียนไว้ว่า

"... ที่ท่าหน้าศาลต่างประเทศนั้นเรียกกันว่าท่าเตียน ไม่เห็นเตียนเลี่ยนสักหน่อย มีแต่ฝุ่นฝอยและตึกโรงรุงรัง เหตุไฉนจึงเรียกว่าท่าเตียน เพราะมีเหตุขึ้นคราวหนึ่งจึงเรียกว่าท่าเตียน ที่ท่านั้นแต่เดิมในแผ่นดินกรุงธนบุรี เจ้าตากสั่งให้ปลูกโรงใหญ่ๆ ๘ หลังริมน้ำไว้เรือรบศีรษะมีดโกนต่อท่าวัดโพธิ์ขึ้นไปจดท้ายประตูแดง ที่ใกล้ๆ ริมๆ โรงเรือ ๘ หลังนั้นเจ้าตากห้ามไม่ให้ใครปลูกเหย้าเรือนอยู่ใกล้โรงเรือเพราะกลัวจะเป็นเชื้อไฟ ที่นั้นจึงเป็นที่กว้างยาว

ครั้นถึงรัชชกาลที่ ๑ กรุงเทพฯ มหานครนี้ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) รื้อโรงเรือ ๘ หลังไปปลูกที่บางละมุดแขวงเมืองนนทบุรี แล้วถอยเอาเรือรบทั้งสิ้นไปไว้ในโรงเรือบางละมุด ครั้นรื้อโรงเรือแล้ว จึงโปรดให้เจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ซึ่งเป็นตาพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าเสวตรฉัตรทำที่นั้นเป็นวังพระราชทานพระจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าเสวตรฉัตร กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ๆ เสด็จอยู่ที่นั้นช้านานจนสิ้นพระชนม์ในรัชชกาลที่ ๓ เจ้าบุตรหลานของท่านก็อยู่ต่อมา

จนถึงรัชชกาลที่ ๔ มีเหตุใหญ่เกิดเพลิงไหม้ที่วังกรมหมื่นสุรินทรรักษ์หมดสิ้น เจ้าบุตรหลานก็แยกย้ายไปอยู่ที่อื่น ที่ตรงนั้นก็ว่างเปล่าเป็นที่หลวงอย่างเดิม เมื่อไฟไหม้นั้นเตียนโล่งตลอดตีนท่าหน้าวัดโพธิ์ เป็นท่าจอดเรือจ้างข้ามไปส่งวัดอรุณราชวราราม คนเป็นอันมากเห็นว่าที่นั้นเตียนจึ่งเรียกว่าท่าเตียนมาช้านาน

ครั้งหนึ่งได้สั่งให้พระยาเพ็ชรพิไชยเป็นแม่กองก่อตึกทำศาลชำระความชาวต่างประเทศประชุมชำระที่นั้น ศาลนั้นก็ได้สร้างที่ตรงท่าเตียน และที่ต่อใต้เหนือศาลนั้นก็ได้ก่อตึกเป็นที่อาศัยของคนเป็นราชการหลายหลัง จนที่ท่าเตียนนั้นก็เต็มไปด้วยตึกและโรงร้านตลาดไม่มีที่ท่าเตียนแล้ว คนเป็นอันมากที่ไม่ได้เห็นท่าเตียนก็ยังคงเรียกว่าท่าเตียนอยู่จนทุกวันนี้ ไม่มีใครเรียกว่าท่าศาลต่างประเทศเลย มีบัตรหมายใช้ราชการอยู่บ้างว่าเรือราชทูตต่างประเทศมาประทับที่ท่าหน้าศาลต่างประเทศจะขึ้นคานหามขึ้นรถแห่ไปทางสถลมารคเข้าในพระบรมมหาราชวัง ดังนี้มีอยู่บ้างเป็นครั้งเป็นคราว ไม่เรียกเป็นพื้นปากๆ ว่าท่าเตียนนั้นมากแทบจะทั่วพระนคร ..."

สมัยยังเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ท่านเล่าให้ฟังว่าที่ท่าเตียนนั้น เป็นเพราะว่ายักษ์วัดแจ้งข้ามมาตีกับยักษ์วัดโพธิ์ที่ตรงท่าเตียนนั้น จนบ้านเรือนราบไปหมด
และยังจำโฆษณาหนังเรื่อง "พญาโศก" ของคุณเชิด ทรงศรี ตอนหนึ่งว่า "ยักษ์วัดแจ้งแต่งตัวโก๋ ชวนยักษ์วัดโพธิ์ไปดูพญาโศก พญาโศกดี๊ดี พญาโศกดี๊ดี ฉายวันนี้ที่เอ็มไพร์" แต่จะ "ล้านแล้วจ้า" อย่างหนังของ "ดอกดิน กลยามาลย์" หรือไม่ จำไม่ได้แล้วครับ



กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 พ.ย. 10, 08:31
ขอทักท้วง 

ตำหนักแพ เป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ครับ
ไม่ใช่พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สำนวนของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
กับสำนวนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แตกต่างกันมาก  ผู้ที่เคยอ่านมามมากย่อมทราบดี


กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 01 พ.ย. 10, 11:09
ขอทักท้วง 

ตำหนักแพ เป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ครับ
ไม่ใช่พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สำนวนของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
กับสำนวนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แตกต่างกันมาก  ผู้ที่เคยอ่านมามมากย่อมทราบดี

ขออภัยกับความผิดพลาดของผมเอง และขอขอบคุณ คุณหลวงเล็กด้วยครับครับ



กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: pierre ที่ 22 ก.พ. 11, 08:57
อ้างถึง
"...ครั้งหนึ่งได้สั่งให้พระยาเพ็ชรพิไชยเป็นแม่กองก่อตึกทำศาลชำระความชาวต่างประเทศประชุมชำระที่นั้น ศาลนั้นก็ได้สร้างที่ตรงท่าเตียน และที่ต่อใต้เหนือศาลนั้นก็ได้ก่อตึกเป็นที่อาศัยของคนเป็นราชการหลายหลัง..."

ศาลชำระความชาวต่างประเทศที่ว่านี้ ในปัจจุบันอยู่ที่ไหนคะ ยังอยู่ที่เดิมคือแถวท่าเตียนรึเปล่า??


กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ก.พ. 11, 09:15
อ้างถึง
"...ครั้งหนึ่งได้สั่งให้พระยาเพ็ชรพิไชยเป็นแม่กองก่อตึกทำศาลชำระความชาวต่างประเทศประชุมชำระที่นั้น ศาลนั้นก็ได้สร้างที่ตรงท่าเตียน และที่ต่อใต้เหนือศาลนั้นก็ได้ก่อตึกเป็นที่อาศัยของคนเป็นราชการหลายหลัง..."

ศาลชำระความชาวต่างประเทศที่ว่านี้ ในปัจจุบันอยู่ที่ไหนคะ ยังอยู่ที่เดิมคือแถวท่าเตียนรึเปล่า??

ในเรื่องวังกรมหมื่นสุรินทรรักษ์นี้มีข้อสงสัยอยู่ ด้วยเสด็จออกจากวังแต่ในรัชกาลที่ ๒ จะประทับอยู่ที่ไหนก่อนเสด็จมาประทับวังท่าเตียนสืบหาได้ความไม่ สันนิษฐานว่าบางทีจะได้พระราชทานที่วังคลังสินค้า เสด็จประทับต่อเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีก็เปนได้ แต่ที่วังนั้นไฟไหม้ตำหนักเก่าเสียหมด เห็นจะสร้างแต่เปนตำหนักประทับชั่วคราว ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ วังเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ว่าง ทำนองจะเปนวังมีตำหนักรักษาบริบูรณ์กว่า จึงโปรด ฯ ให้ย้ายไปประทับที่วังท่าเตียนเอาที่วังก่อนทำคลังสินค้าและโรงวิเสท บางทีเรื่องจะเปนเช่นว่านี้ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ประทับอยู่ที่วังท่าเตียนจนสิ้นพระชนม์ เจ้าจอมมารดาตานีของกรมหมื่นสุรินทรรักษ์อยู่ต่อมาจนอสัญกรรม และหม่อมเจ้าในกรมหมื่นสุรินทรรักษ์อยู่ต่อมา จนถึงรัชกาลที่ ๔ จึงสร้างศาลต่างประเทศกับตึกหลวงที่ตรงวังนั้น


กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ก.พ. 11, 09:22
ถ้าเทียบกับตำแหน่งปัจจุบัน ก็ตรงตลาดท่าเตียน โดยจัดทิศมุมตึกตรงกับศาลาราย ๒ หลัง ตรงประตูยอดวัดพระเชตุพนฯกับแผนที่ครับ


กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 22 ก.ค. 12, 09:35
ปัญหาเรื่องหนึ่งที่คาใจอยู่แต่สมัยที่ตั้งกระทู้นี้ขึ้นมา คือ การอัญเชิญพระศรีศากยมุนีจากประตูังท่าพระไปยังพระวิหารวัดสุทัศนเทพวรารามนั้นใช้เส้นทางใด เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีการตัดถนนภายในพื้นที่กำแพงพระนคร เส้นทางที่จะใช้อัญเชิญ น่าจะเป็นจากประตูวังท่าพระ เลียบกำแพงพระบรมมหาราชวัง แล้วเลี้ยวขวาที่มุมกำแพง เลี้ยวซ้ายเข้าแนวถนนบำรุงเมือง ข้ามสะพานช้างโรงสี มุ่งตรงไปยังวัดสุทัศน์ฯ

ดังนั้นจึงน่าจะมีแนวถนนนี้ก่อนแล้วเพื่อการสัญจรจากพระนครไปยังวัดสุทัศน์และเทวสถาน และคงจะทำการกรุยทางก่อสร้างเป็นถนนและสร้างสะพานช้างเพื่อการอัญเชิญพระศรีศากยมุนีนี้เอง ในภายหลังเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๔ จึงทรงพระราชดำริก่อสร้างขึ้นเป็นถนนบำรุงเมือง

และแนวถนนเดิมนี้ได้ตัดตรงไปยังกำแพงพระนครที่ตรงที่เรียกว่าประตูผี คงจะเป็นประตูช่องกุดแต่เดิม เพราะมีหลักฐานว่าได้มีการก่อสร้างสะพานช้างข้ามคลองข้างวัดสุทัศน์ตามแนวถนนบำรุงเมืองถัดจากเสาชิงช้ามา ปัจจุบันคือสี่แยกถนนบำรุงเมืองตัดถนนอุณากรรณ




กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ก.ค. 12, 12:30
ปัญหาเรื่องหนึ่งที่คาใจอยู่แต่สมัยที่ตั้งกระทู้นี้ขึ้นมา คือ การอัญเชิญพระศรีศากยมุนีจากประตูังท่าพระไปยังพระวิหารวัดสุทัศนเทพวรารามนั้นใช้เส้นทางใด เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีการตัดถนนภายในพื้นที่กำแพงพระนคร เส้นทางที่จะใช้อัญเชิญ น่าจะเป็นจากประตูวังท่าพระ เลียบกำแพงพระบรมมหาราชวัง แล้วเลี้ยวขวาที่มุมกำแพง เลี้ยวซ้ายเข้าแนวถนนบำรุงเมือง ข้ามสะพานช้างโรงสี มุ่งตรงไปยังวัดสุทัศน์ฯ

ดังนั้นจึงน่าจะมีแนวถนนนี้ก่อนแล้วเพื่อการสัญจรจากพระนครไปยังวัดสุทัศน์และเทวสถาน และคงจะทำการกรุยทางก่อสร้างเป็นถนนและสร้างสะพานช้างเพื่อการอัญเชิญพระศรีศากยมุนีนี้เอง ในภายหลังเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๔ จึงทรงพระราชดำริก่อสร้างขึ้นเป็นถนนบำรุงเมือง

และแนวถนนเดิมนี้ได้ตัดตรงไปยังกำแพงพระนครที่ตรงที่เรียกว่าประตูผี คงจะเป็นประตูช่องกุดแต่เดิม เพราะมีหลักฐานว่าได้มีการก่อสร้างสะพานช้างข้ามคลองข้างวัดสุทัศน์ตามแนวถนนบำรุงเมืองถัดจากเสาชิงช้ามา ปัจจุบันคือสี่แยกถนนบำรุงเมืองตัดถนนอุณากรรณ




แนวเส้นทางที่ตรงที่สุด ที่องค์พระขึ้นท่าพระแล้ววกเข้าถนนบำรุงเมือง นำองค์พระรอประดิษฐานไว้ที่ลานคนเมืองในปัจจุบันนี้ ถนนกรุยทางถมอิฐตะแคงรับน้ำหนักพอได้ หรือไม่ก็ใช้ไม้กระดานวางพาด เอาตะเฆ่ขึ้นวางลากบนแผ่นไม้ก็น่าจะได้

ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเดิมนั้นพีื้นที่ของวัดสุทัศน์เป็นพื้นที่หนองน้ำ เป็นบึงบอนใหญ่มาก่อน ต้องมีการถมดินปริมาณมากดังนั้นการถามดินจำนวนมากย่อมต้องมีการสร้างถนนเพื่อบรรทุกดินถมเข้ายังพื้นที่ด้วย



กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 25 ก.ค. 12, 15:26
1. ดินที่นำมาถม ขุดมาจากพื้นที่ใด
2. จะมีส่วนสัมพันธ์กับคลองข้างวัดสุทัศน์หรือไม่
3. และจะมาสัมพันธ์กับ "คลองสะพานถ่าน" หรือไม่
4.จากข้อ 3 ซึ่งจะมาสัมพันธ์กับอิฐตะแคงที่มาทำถนน คือก้อนอิฐดินเผาหรือที่เราเรียกว่าอิฐมอญ ต้องใช้ถ่านในการเผา


กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ก.ค. 12, 15:52
3. และจะมาสัมพันธ์กับ "คลองสะพานถ่าน" หรือไม่

เรื่องคลองสะพานถ่านมีที่มาเกิดจากมียายท่านหนึ่งขายถ่านไม้ริมคลองดังกล่าว จึงเรียกกันตอ่มาว่า สะพานถ่าน (ตาม ก.ศ.ร.)  ;D


กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 25 ก.ค. 12, 16:50
เรื่องสะพานถ่านนี้ เท่าที่ผมอ่านพบ คลองหลอดวัดราชบพิธนี้ เดิมมีชื่อว่า "คลองสะพานถ่าน" และสะพานถ่านไม่ได้มีสะพานเดียว แต่มี ๒ สะพาน คือ สะพานถ่านปากคลองหลอดข้างวัดราชบพิธบนถนนอัษฎางค์ ตรงที่ กทม มาสร้างสะพานหกปัจจุบันและสะพานถ่านที่สะพานถนนอุณากรรณหัวมุมตลาดบำเพ็ญบุญ

ที่มาของชื่อนี้คงจะมากกว่าที่คุณยายแกมาเปิดร้านขายถ่านเป็นแน่ คุณหนุ่มอาจจะต้องสืบสาวราวเรื่องไปถึงที่มาของถนน "ตีทอง" ด้วย

และอาจจะต้องสืบย้อนลงไปจนถึงการสร้างถนนเจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร ในเรื่องของโครงสร้างของถนนและอาคารตึกทั้งหลายที่เลียนแบบโครงสร้างแบบยุโรปมาจากสิงคโปร์ จำเป็นจะต้องใช้อิฐดินเผาจำนวนมากมาย เพียงแต่ว่าไม่มีบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้ในประวัติศาสตร์ให้คิดไปถึงเตาเผาอิฐในพื้นที่แถบนี้

เรื่องนี้ผมคงต้องรบกวนคุณหนุ่มในการค้นคว้าครับ ข้อมูลของผมมีไม่พอ




กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 26 ก.ค. 12, 22:04
อ้างถึง - ข้อมูลจาเวปของฝ่ายบริหารงานอนุรักษ์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ตึกแถวริมถนนสระสรง - ลงท่า

           พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำริร่วมกับสมเด็จพระวันรัต (แดง) ที่จะพัฒนาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมบริเวณหลังวัดสุทัศน์เทพวราราม พระราชดำริในเบื้องต้นคือทำถนน 2 สาย ใหญ่เลียบสระน้ำเดิม เพื่อเชื่อมถนนตีทอง กับอุณากรรณ และทำเขื่อนริมน้ำให้สวยงาม และขุดคลองเพื่อเป็นทางเดิน และระหว่างถนนทั้งสองด้าน โดยจะปลูกเป็นตึกแถวของพระคลังข้างที่ ระหว่างตึกแถวจะคงรักษาสระน้ำ และศาลาจัตุรมุขไว้ตามเดิม แต่จะก่อกำแพงกั้นไว้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ถนนด้านที่ติดกับวัดจึงได้ชื่อว่าสระสรง ซึ่งอาจสันนิษฐานได้ว่าน่าจะมาจากบริเวณแนวที่สร้างตึกแถวมีสระน้ำใหญ่ของวัด 2 สระและศาลาจัตุรมุขตรงกลาง ซึ่งสระใหญ่ 2 สระนี้คงเป็นที่สำหรับพระภิกษุ สามเณร ใช้สรงน้ำ (อาบน้ำ) แนวตึกแถวดังกล่าวจึงได้ชื่อว่าตึกแถวถนนสระสรง ส่วนตึกแถวถนนลงท่า สันนิษฐานได้ว่า ตึกแถวบริเวณนี้ติดกับคลองวัดราชบพิตร หรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า 'คลองสะพานถ่าน' ลำคลองนี้เป็นแหล่งขนส่งสินค้า โดยเฉพาะเรือขนถ่าน เข้ามาขายในพระนคร ในบริเวณนี้จึงน่าจะมีท่าน้ำสำหรับขนถ่ายสินค้า ตลอดจนผู้อยู่อาศัยบริเวณนี้คงจะใช้ท่าน้ำแห่งนี้ในชีวิตประจำวัน จึงเป็นที่มาของชื่อตึกแถวถนนลงท่า

และอ้างถึง -คำบรรยายนำชมวัดสุทัศน์แก่คณะครูอาจารย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ จากหนังสือ วัดของเรา โดย สมบัติ จำปาเงิน พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐
"... ถัดไปเป็นกุฏิก่ออิฐถือปูนเป็นตึกโบราณสองชั้นแบ่งเป็นหมู่ได้ ๑๕ หมู่ นอกจากนี้มีสระสรงอยู่ท้ายวัดทางด้านใต้ เป็นที่น่าเสียใจว่าปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว เพราะถูกถมเสียเมื่อไม่นานมานี้ ..."

ในภาพถ่ายทางอากาศของ William Hunt เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ก็ไม่ปรากฎว่ามีสระน้ำภายในด้านทิศใต้ของวัดสุทัศน์
1 - ถนนสระสรง
2 - ถนนลงท่า
3 - ถนนหน้าวัง
4 - บริเณที่สันนิษฐานว่าเป็นสระสรง


ผมสันนิษฐานเอาเองว่าบริเวณที่เคยเป็นสระน่าจะถูกถมเสียเพื่อก่อสร้างกุฏิในเขตสังฆาสเพิ่มเติม แต่จะเป็นในปีใดคงต้องค้นหาหลักฐานกันต่อไป









กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ก.ค. 12, 07:27
^
ส่วนขยายบริเวณท้ายวัดสุทัศน์ แสดงลักษณะท่าลงสรง  คงจะช่วยให้ลุงไก่เห็นลักษณะโครงสร้างและคลองสะพานถ่านได้ชัดเจนยิ่งขึ้น


กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 27 ก.ค. 12, 12:16
ถนนตีทอง เป็นย่านที่อยู่ของชุมชนที่ทำทองคำเปลว

บริเวณถนนตีทองนี้ มีซอยชื่อ ซอยสุขา ตั้งอยู่ด้วย

เขาว่าแต่ก่อนนี้เป็นที่ตั้งของห้องสุขาสาธารณะ คนแถบนี้ต้องมาใช้บริการที่นี่

  :) :D  ;D


กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ก.ค. 12, 19:28
อ้างถึงคำบรรยายลุงไก่

"ตึกแถวริมถนนสระสรง - ลงท่า

           พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำริร่วมกับสมเด็จพระวันรัต (แดง) ที่จะพัฒนาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมบริเวณหลังวัดสุทัศน์เทพวราราม พระราชดำริในเบื้องต้นคือทำถนน 2 สาย ใหญ่เลียบสระน้ำเดิม เพื่อเชื่อมถนนตีทอง กับอุณากรรณ และทำเขื่อนริมน้ำให้สวยงาม และขุดคลองเพื่อเป็นทางเดิน และระหว่างถนนทั้งสองด้าน โดยจะปลูกเป็นตึกแถวของพระคลังข้างที่ ระหว่างตึกแถวจะคงรักษาสระน้ำ และศาลาจัตุรมุขไว้ตามเดิม แต่จะก่อกำแพงกั้นไว้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ถนนด้านที่ติดกับวัดจึงได้ชื่อว่าสระสรง ซึ่งอาจสันนิษฐานได้ว่าน่าจะมาจากบริเวณแนวที่สร้างตึกแถวมีสระน้ำใหญ่ของวัด 2 สระและศาลาจัตุรมุขตรงกลาง ซึ่งสระใหญ่ 2 สระนี้คงเป็นที่สำหรับพระภิกษุ สามเณร ใช้สรงน้ำ (อาบน้ำ) แนวตึกแถวดังกล่าวจึงได้ชื่อว่าตึกแถวถนนสระสรง ส่วนตึกแถวถนนลงท่า สันนิษฐานได้ว่า ตึกแถวบริเวณนี้ติดกับคลองวัดราชบพิตร หรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า 'คลองสะพานถ่าน' ลำคลองนี้เป็นแหล่งขนส่งสินค้า โดยเฉพาะเรือขนถ่าน เข้ามาขายในพระนคร ในบริเวณนี้จึงน่าจะมีท่าน้ำสำหรับขนถ่ายสินค้า ตลอดจนผู้อยู่อาศัยบริเวณนี้คงจะใช้ท่าน้ำแห่งนี้ในชีวิตประจำวัน จึงเป็นที่มาของชื่อตึกแถวถนนลงท่า"

แนบแผนที่ประกอบ พศ. ๒๔๕๐ เป็นแผนที่ที่ดีมาก ๆ ลุงไก่จะได้เห็นลักษณะตามที่บรรยายมาทั้งหมด


กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ก.ค. 12, 19:37
เทียบกับการจัดสรรที่ดินห้องแถวถนนลงท่า ถนนสระสรงในปัจจุบัน


กระทู้: ประตูท่าพระ - ประตูท่าช้าง
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 28 ก.ค. 12, 05:57
ถ้าคุณหนุ่มจะกรุณาอีกเรื่องหนึ่งคือ คลองวัดสุทัศน์ถูกถมไปเมื่อใด? เพราะในแผนที่กรุงเทพฯ ปี ๒๔๗๙ ที่ท่าน พล.ต.ต.พีระพงศ์ ดามาพงศ์ นำมาใช้ประกอบและอ้างถึงในหนังสือสามเกลอของท่าน

คลองวัดสุทัศน์ยังคงอยู่ ในในภาพถ่ายปี พ.ศ. ๒๔๘๙ คลองวัดสุทัศน์หายไปแล้ว ...

คงจะหายไปพร้อมกับการก่อสร้างอาคารเทศบาลนครกรุงเทพกระมัง?