เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: CrazyHOrse ที่ 13 ก.ย. 07, 15:45



กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ก.ย. 07, 15:45
ชื่อบางกอกมาจากไหน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คุยได้เรื่อยๆ เฉพาะในเรือนไทยก็เชื่อว่าเคยคุยกันมาไม่น้อยกว่า 3-4 ครั้งแล้ว
เมื่อเคยคุยแล้ว จะให้มาคุยอีกโดยไม่มีอะไรใหม่อาจจะโดนโห่ได้ครับ คราวนี้ก็เลยขอชวนดูให้รอบด้านมากขึ้น นอกจากมองหาบนพื้นโลกแล้ว ต้องออกนอกโลก ดูจากอวกาศด้วยว่าว่าชื่อบางกอกนี้มาแต่ใดกันแน่

ข้อสันนิษฐานเรื่องชื่อบางกอกมีหลายตำรา แต่ที่มีเค้าความเป็นไปได้ และได้รับการพูดถึงมากที่สุดมี 2 อย่าง
1. แต่เดิมชื่อบางเกาะ เพราะมีการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ระหว่างทางน้ำสายเก่าและสายใหม่จึงมีสภาพเป็นเกาะ
2. บริเวณนี้เคยมีต้นมะกอกมากจึงเรียกว่าบาง(มะ)กอก

ก็ขอคุยอยู่บนพื้นฐานของข้อสันนิษฐานทั้งสองนี้ก่อนนะครับ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ก.ย. 07, 15:59
ข้อแรกก่อน บางกอกมาจากบางเกาะหรือเปล่า?

แม่น้ำเจ้าพระยานี้ เดิมเป็นแม่น้ำที่มีความคดเคี้ยวมาก โดยเฉพาะช่วงใกล้ปากแม่น้ำ ซึ่งเป็นดินดอนปากแม่น้ำที่เกิดใหม่อายุราวหนึ่งพันปีมานี้เอง ความคดเดี้ยวของปากแม่น้ำเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดดินตะกอนมาทับถม ดินแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาจึงเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การสร้างตึก เอ๊ย... ทำการเกษตรมาก

แต่ความคดเคี้ยวนี้ก็กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในยุคที่การค้าทางทะเลเฟื่องฟู แม่น้ำเจ้าพระยาจึงถูกขุดลัดหลายช่วงหลายตอน

พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามีพระราชดำรัสของพระเจ้าเสือเกี่ยวกับการขุดคลองลัดในแม่น้ำเจ้าพระยาสรุปความได้ดังนี้
- คลองลัดบางกอกขุดในปี ๒๐๖๕ รัชกาลพระไชยราชา
- คลองลัดวัดชลอขุุดในปี ๒๐๘๑ รัชกาลพระมหาจักรพรรดิ์
- คลองลัดเกร็ดใหญ่ ช่วงเมืองปทุมธานีขุดปี ๒๑๕๑ รัชกาลพระเจ้าทรงธรรม
- คลองลัดช่วงเมืองนนทบุรี ขุดปี ๒๑๗๘ รัชกาลพระเจ้าปราสาททอง
- คลองลัดเกร็ดน้อย ตรงปากเกร็ด ขุดปี ๒๒๖๕ รัชกาลพระเจ้าท้ายสระ (อันนี้หลังรัชกาลพระเจ้าเสือแล้ว ผมเติมเองให้ครบ)

ศักราชที่ปรากฎ สมเด็จดำรงทรงว่า "เอาแน่ไม่ได้" ในขณะที่ผมหาเรื่องการขุดคลองเหล่านี้ในพงศาวดารสมัยอยุธยาไม่พบ คาดว่าอาจจะหาไม่ทั่ว ผู้ใดพบเห็นโปรดนำมาแบ่งกันดูด้วยครับ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ก.ย. 07, 16:05
บรรดาคลองขุดเหล่านี้ เมื่อขุดแล้ว ย่อมทำให้พื้นที่ระหว่างแม่น้ำสายเก่าและคลองขุดลัด (ที่ปัจจุบันเป็นลำแม่น้ำทั้งสิ้น ยกเว้นแต่คลองขุดวัดชลอ) มีสภาพเป็นเกาะ มีน้ำล้อมรอบ

แต่มีเพียงแห่งเดียวที่ในปัจจุบันนี้คนเรียกว่าเกาะ นั่นคือเกาะเกร็ดครับ

ลองดูภาพถ่ายจากดาวเทียม สนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการโดย Google Earth จะเห็นสภาพความเป็นเกาะชัดเจน ลำน้ำที่โค้งไปทางซ้ายเป็นลำแม่น้ำเดิม ที่ตัดตรงลงมาเป็นคลองขุดลัดที่พงศาวดารว่าขุดในสมัยพระเจ้าท้ายสระ ปี ๒๒๖๕ เกือบๆสามร้อยปีที่แล้ว



กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ก.ย. 07, 16:10
ลองเทียบดูกับคลองขุดบางกอกที่ผมจับภาพมาที่สเกลเดียวกันให้สามารถเปรียบเทียบขนาดได้ดังนี้ครับ



กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ก.ย. 07, 16:23
แนวที่ปักหมุดดอกจันไว้ให้นั่นแหละครับคือลำแม่น้ำเดิมก่อนพระไชยราชาทรงให้ขุดคลองในปี ๒๐๖๕ ถ้าผมไม่ปักหมุดไว้จะดูยากมาก เพราะลำน้ำตื้นเขินและแคบลงจนมีสภาพเป็นคลองไปแล้ว

ปากคลองทางตอนเหนือคือคลองบางกอกน้อย ในขณะที่ปากคลองตอนใต้นั่น เป็นคลองบางกอกใหญ่ หรือคลองบางหลวงครับ

ถ้าดูในภาพ ลำน้ำสายเก่านี้ช่วงคลองบางกอกน้อยจะกว้างกว่าส่วนที่เหลือ โดยลำคลองที่กว้างนั้นจะมาจากคลองที่ไหลมาบรรจบด้านบน ราวดอกจันดอกที่สี่จากปากคลอง

คลองสายนั้นคือคลองวัดชลอ ที่ขุดลัดมาจากลำแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าหน้าวัดชลอมาออกตรงนี้ ที่พงศาวดารว่าพระมหาจักรพรรดิ์ทรงให้ขุดในปี ๒๐๘๑ ครับ

พิจารณาเฉพาะเกาะที่เกิดจากการขุดคลองลัดบางกอกนั้น จะเห็นได้ว่ามีขนาดใหญ่กว่าเกาะเกร็ดหลายเท่า นอกจากนี้สภาพการตื้นเขินของลำแม่น้ำสายเก่า ทุกวันนี้พูดได้เต็มปากว่าไม่มีสภาพเป็นเกาะ ขนาดดูภาพจากดาวเทียมยังไม่ค่อยจะเห็นเป็นเกาะเลยครับ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ก.ย. 07, 16:34
โดยธรรมชาติของลำน้ำ ถ้าน้ำไหลแรง น้ำก็จะกัดเซาะเอาดินทั้งจากตลิ่งและก้นลำน้ำนั้นไป ทำให้ลำน้ำกว้างและลึกขึ้น แต่หากน้ำไหลช้า ตะกอนที่ถูกพัดพามากับน้ำก็จะตกตะกอนสะสมให้ลำนั้นนั้นตื้นเขินและแคบลง

นอกจากนี้ทางใดน้ำไหลไปได้สะดวก น้ำก็จะไหลไปทางนั้นมากกว่าครับ

คลองลัดพวกนี้ แรกเริ่มขุดมีขนาดไม่ได้กว้างเป็นแม่น้ำอย่างนี้ พงศาวดารบอกว่าการขุดคลองโคกขามสมัยพระเจ้าเสือนั้น กว้างเพียง ๘ วา (ประมาณ ๑๖ เมตร) ที่เหลือเป็นผลงานของธรรมชาติ

โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าคลองลัดพวกนี้ขยายกว้างเป็นแม่น้ำในเวลาเพียงไม่กี่ปี เจอน้ำหลากมาไม่กี่ครั้งก็เรียบร้อยครับ

ในขณะที่เส้นทางลำน้ำเก่านั้นจะค่อยๆตื้นเขินลง ช้าเร็วเท่าไหร่ขึ้นกับว่าช่วงลำน้ำนั้นยาวแค่ไหน และน้ำไหลสะดวกแค่ไหนด้วย

ด้วยเหตุนี้ เกาะที่เกิดจากการขุดคลองลัดบางกอก น่าจะมีช่วงเวลาที่ถูกล้อมด้วยลำแม่น้ำทุกด้าน เป็นช่วงระยะเวลาไม่นานนัก

และเมื่อประเมินจากขนาดของพื้นที่แล้ว รู้สึกว่าจะเกินกำลังที่คนจะจินตนาการเห็นความเป็นเกาะของพื้นที่ตรงนี้ได้ครับ

Google Earth บอกผมว่า บางกอก ไม่น่าจะมาจาก บางเกาะ ครับ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ก.ย. 07, 16:50
ทีนี้มาดูข้อสันนิษฐานว่า บางกอก มาจากบาง(มะ)กอก นั่นแหละ ไม่ได้เพี้ยนมาจากชื่ออื่นใด

ก่อนอื่นขอพิจารณาคำว่า "บาง" ก่อน

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า
บาง ๑    น. ทางนํ้าเล็ก ๆ, ทางนํ้าเล็กที่ไหลขึ้นลงตามระดับนํ้าในแม่นํ้า
   ลําคลอง หรือทะเล; ตําบลบ้านที่อยู่หรือเคยอยู่ริมบางหรือใน
   บริเวณที่เคยเป็นบางมาก่อน, โดยปริยายหมายถึงทั้งหมู่ เช่น
   ฆ่าล้างบาง ย้ายล้างบาง.


พจนานุกรม ฉบับมติชน ให้ความหมายว่า
ทางน้ำเล็กๆ, บริเวณที่ลุ่มน้ำท่วมถึง; ตำบลที่อยู่ริมบางหรือในบริเวณที่เคยเป็นบางมาก่อน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายความหมายว่า
ย่านหรือบริเวณที่มีคลองเข้าไปตัน
(ผมหยิบเอามาจาก เว็บนี้ (http://blogdecarre.blogspot.com/2005/09/blog-post_11.html) นะครับ หาไม่เจอว่ามาจากพระนิพนธ์เรื่องไหน)

แต่แปลกใจอยู่เหมือนกันที่ถามญาติๆคนวัย ๕๕-๘๕ ปีหลายคนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ ให้ความหมายว่าเป็นย่านที่อยู่อาศัยริมคลอง แต่ไม่ได้สื่อความหมายในแง่ว่าเป็นทางน้ำเลย

ตอนที่พยายามปักหมุดเส้นทางนิราศสุพรรณ พบว่ากวีพูดถึงบางทุกครั้งที่ผ่านปากคลอง ถึงแม้ว่าในบางแห่ง ชุมชนในคลองนั้นไม่ได้อยู่ใกล้กับปากคลองเลย

ยิ่งอ่านนิราศวัดเจ้าฟ้า (เณรหนูพัดหัดประดิษฐ์คิดอักษร) ด้วยแล้ว
ชาวบ้านนั้นปั้นอีเลิ้งใส่เพิงพะ        กระโถนกระทะอ่างโอ่งกระโถงกระถาง
เขาวานน้องร้องถามไปตามทาง    ว่าบางขวางหรือไม่ขวางพี่นางมอญ
เขาเบือนหน้าว่าไม่รู้ดูเถิดเจ้า       จงถามเขาคนข้างหลังที่นั่งสอน
ไม่ตอบปากบากหน้านาวาจร        คารมมอญมิใช่เบาเหมือนชาวเมืองฯ

สองแง่สองง่ามหน่อยนะครับ แต่ชัดเจนว่ากวีใช้ "บาง" ในความหมายของทางน้ำ ไม่ใช่ชุมชนริมน้ำ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ก.ย. 07, 17:09
พิจารณาเรื่องการขุดคลองลัดในสมัยก่อน ผมเชื่อว่าคนโบราณนั้นขุดแบบมีแผน การกำหนดเส้นทางที่จะขุด ได้มีการพิจารณาเพื่อลดงานในการขุดเป็นอย่างดี

ดูตัวอย่าง การขุดคลองมหานาคในสมัย ร.๑ ไม่มีรายละเอียดบอกไว้ บอกแต่ว่าขุดจากคลองรอบกรุงตรงวัดสะแก(สระเกศ)ไปทางตะวันออก แต่เมื่อพิจารณาภาพถ่ายทางอากาศ จะเห็นว่าขุดไปออกคลองบางกะปิ ซึ่งเป็นคลองธรรมชาติที่มีมาแต่เดิม (ดูจากความคดเคี้ยว)

หรือพิจารณาเส้นทางคมนาคมจากกรุงเทพไปหัวเมืองทางตะวันออก (นครปฐมและสุพรรณบุรี) ต้องผ่านคลองโยง ซึ่งเป็นคลองเส้นเดียวกับคลองบางใหญ่ ดูจากแผนที่เห็นได้ชัดว่าคลองบางใหญ่คดเคี้ยว แต่ช่วงคลองโยงไปออกแม่น้ำเจ้าพระยานั้นตรงแน่ว ลักษณะเป็นคลองขุดครับ

และเมื่อพิจารณาเส้นทางคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาในแต่ละจุด จะเห็นว่าไม่เป็นแนวตรง บางคลองโค้งเล็กน้อย ในขณะที่คลองบางกอกนั้นโค้งเดียว แต่เป็นโค้งใหญ่ อ้อมพอดู

ยุคสมัยที่ขุด ฝรั่งเริ่มเข้ามาแล้ว จะให้ช่วยส่องกล้องรังวัดก็อาจจะได้ (อันนี้ต้องไปสอบดูว่าวิชารังวัดของฝรั่งเริ่มมียุคไหน) แต่ถึงไม่มีการรังวัด ก็ไม่น่าเชื่อว่าจะขุดอ้อมได้ขนาดนี้

ตอนนี้กำลังจะเข้าช่วงที่ใช้วิชาเดาเป็นหลัก นักวิชาการทั้งหลายโปรดวางหมวกไว้ ณ ที่นี้ก่อน มิฉะนั้นอาจทำใจไม่ได้ครับ  ;D


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ย. 07, 17:22
มีอีกความหมายค่ะ  แต่อาจจะพาคุณอาชาผยองออกจากเกาะ เข้ารกเข้าพงไป

โอ้บางกอกกอกเลือดให้เหือดโรค      แต่ความโศกนี้จะกอกออกที่ไหน.
แม้นได้แก้วแววตามายาใจ               แล้วก็ไม่พักกอกดอกจริงจริง
                                                        (นิราศพระประธม)
กอก แปลว่า ดูดเอาออก 


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ก.ย. 07, 17:23
คือผมกำลังจะบอกว่า คลองลัดบางกอก ไม่ได้เป็นคลองขุดใหม่ทั้งเส้น แต่ขุดต่อจากลำคลองเดิม(ซึ่งอาจเป็นปลายตันหรือกลางคลองตรงช่วงใดช่วงหนึ่ง) ไปทะลุออกอีกด้านหนึ่ง

คลองเดิมนี่แหละครับที่น่าจะชื่อ บางกอก มาแต่ดั้งเดิมแล้ว  ;D

เมื่อคลองลัดนี้ขุดเสร็จ ทั้งคลองนี้ก็เลยเป็น บางกอก ไปด้วย

และตำบลนี้ก็เรียกว่าบางกอกมาแต่เมื่อใดก็ไม่รู้ ส่วนจะเพราะมีมะกอกอยู่มากหรือไม่นั้น ไม่รู้ แต่ก็เป็นไปได้ครับ

มีเสียงแว่วมาว่าวัดแจ้งนั้นเดิมชื่อวัดมะกอก แต่เป็นเสียงแว่วจริงๆ เพราะผมไม่รู้อะไรมากกว่านี้เลย แต่ให้สงสัยว่าตรงปากคลองบางกอกใหญ่ ตรงนี้จะเป็นปากคลองบางกอกเดิมก่อนขุดคลองลัดได้หรือไม่?

อันนี้ต้องขอถามท่านนักวิชาการทั้งหลายว่ามีหลักฐานอะไรมากกว่านี้มาช่วย (ยำ) ผมบ้างไหมครับ

ปล. หลังจากเขียนร่างแนวคิดนี้จบแล้ว ไปเปิดดูหนังสือ "กรุงเทพมาจากไหน" ของค่ายยักษ์ เอ๊ย.. ค่ายมติชน มีแผนที่แม่น้ำเจ้าพระยาโบราณก่อนขุดคลองลัดบางกอกที่ไม่ได้ระบุที่มาที่ไป ไม่มีรายละเอียด ไม่มีคำอธิบาย แต่มีคลองเล็กๆตรงหน้าวัดแจ้ง ตรงกับจินตนาการของผมพอดี ผมเปล่าลอกนะครับ

และพาลสงสัยด้วยว่า ท่านคิดอย่างผมแต่ไม่กล้าเขียนเพราะกลัวโดนโห่หรือเปล่าก็ไม่รู้  ;D


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: วรณัย ที่ 13 ก.ย. 07, 17:29
เข้ามาร่วมวงด้วย ความรู้อันมั่วนิ่มไปตามกระแสน้ำ

ผมเพิ่มอีกแนวคิดหนึ่งของชื่อ "บางกอก" ว่ามาจาก "บ้านเกาะ" เพิ่มเติมจากสองสันนิษฐานเดิม
ผมยังลังเลชื่อของ "บาง" ผู้ว่า"น่าจะ"มีความหมายถึงที่ลุ่มที่กว้างใหญ่ และนำมาใช้กับบ้านเกาะ กลายมาเป็นบางเกาะ เพราะระดับน้ำและแผ่นดินเริ่มแห้งกว่าแต่ก่อน

ในหน้าน้ำหลาก ทุ่งบ้านเกาะ น้ำจะท่วมทั้งหมด จะมีบางส่วนเท่านั้นที่เป็นชุมชนอยู่ที่ดอนเหนือน้ำ ตรงนั้นควรจึงถูกเรียกว่า"เกาะ"
ส่วนคำว่า"บาง" ควรจะอยู่ที่ราบลุ่มกว้าง ๆ สลับคูคลองและน่าจะเป็นคำใช้เรียกบางกอกก็หลังสมัยกลางอยุธยามาแล้ว มีการจัดถิ่นฐาน ปรับคูคลอง พื้นที่ดินมากขึ้นกว่าเดิม

ชื่อบ้านเกาะ ก็ถูกเรียกในภาษาต่างประเทศ ซึ่งไม่แน่ชัดนักว่า บ้านเกาะ หรือ บางเกาะ (บางที บางครั้ง)

ก็มั่วนิ่มไปครับ

โครงข่ายแม่น้ำเจ้าพระยาในยุคตะกอนยังไหลได้บนผิวดิน ท่วมที่ไร ดินก็สูงขึ้น ตะกอนมหาศาลทับถมในหน้าน้ำ ในร่องน้ำลึกน้ำไหลแรง ก็เซาะแม่น้ำเป็นทางกว้าง
ในหน้าน้ำ น้ำพาตะกอนไปทับถมคลองเล็กก็ต้องขุดกันทุกปีไป

แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นโครงข่าย มีลำน้ำสายย่อยอีกมาก ลำน้ำย่อยอาจจะเป็นคลองเล็กที่ขุดเชื่อมกันเอง หรือเป็นคลองตามธรรมชาติ
เมื่อมีโครงข่าย ผืนดินก็เป็นเหมือนเกาะเล็ก เกาะน้อย และคลองโครงข่ายนี่แหละ ก็เป็นคลองธรรมชาติเดิม ที่มีการมาขุดเพิ่มเติม ขยายเป็นคลองลัด จนกลายมาเป็นแม่น้ำใหญ่ ก็เป็นไปได้

เช่นบ้านเกาะเล็ก บ้านเกาะใหญ่

ดำน้ำไปแค่นี้ก่อนล่ะกัน เอาแผนที่มาแจม

1 ขุดในสมัยพระไชยราชา ตรงหน้าวัดอรุณกับพระบรมหาราชวัง ขุดเสร็จ ก็เป็นเกาะใหญ่ เรือฝรั่งเคยเดินทางเก่าแล้วไกล ก็ไม่อ้อมไป มาใช้ทางใหม่ แต่บางลำก็ต้องอ้อมเพราะติดต่อชุมชนบ้านเกาะไว้ เมื่อขุดคลอง ชาวจ่างชาติจึงเรียกว่า "บ้านเกาะ"(ใหญ่)
2 ขุดในสมัยพระมหาจักรพรรดิ์ กลายมาเป็นสองเกาะ เลยต้องมีเกาะใหญ่เกาะน้อย เดี๋ยวหลง ส่วนคลองเดิมก็คงยังใช้อยู่ เพราะชุมชนยังไม่ย้ายมาคลองขุดใหม่ทั้งหมดหรอก

3 พระเจ้าปราสาททอง ตรงนี้น้ำคงแรงขึ้น ตัดได้เร็วกว่า 2 ครั้งแรก ชุมชนตามแม่น้ำเดิมก็ยังคงใช้อยู่อีกนั่นแหละ ยังไม่ตื้นเขิน มีวัดโบราณสมัยอยุธยา ตั้งอยู่ตามคลอแม่น้ำเก่าหลายแห่ง  กว่าจะย้ายวัดออกมาที่เจ้ายาใหม่ จึงไม่ค่อยมีวัดโบราณก่อนกลางกรุงศรีอยุธยา





กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ก.ย. 07, 18:07
อาจารย์ขจร สุขพานิช เป็นท่านแรกที่เสนอแนวคิด "บางเกาะ"
ท่านพบคำนี้ ในจดหมายที่คุณหญิงจันทร์เขียนถึงกะปิตันไลท์ เรียกเมืองหลวงกรุงเทพว่า บางเกาะ
ได้พิมพ์แล้วหลายหน แต่หนแรกพิมพ์เป็นเล่มบางๆ แจกในวันคล้ายวันเกิดของท่าน
ค่ายยักษ์ไม่เคยให้เกียรติกรณีนี้เลย สาเหตุก็ต้องไปถามเจ้าของค่ายเอาเอง

คนโบราณ ไม่ต้องมีน้องกู๊ก ก็บอกได้ครับ ว่าเมืองของตัวเป็นเกาะ
อย่างคำอธิบายภูมิสถานอยุธยา ก็เรียกเมืองตนว่าเกาะ มีคูขื่อหน้า และรูด้วยว่าเป็นเกาะรูปสำเภา
ส่วนคนบางกอกจะรู้อย่างนั้นด้วยหรือไม่
ก็ต้องยกพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 4 ทรงส่งไปพิมพ์กับหมอปลัดเลยในหนังสือจดหมายเหตุ
เล่าเรื่องคนออกจากบ้านที่ตรงวังหลัง แล่นเรือมาจนเที่ยง ก่อไฟหุงข้าว
นึกออกว่าลืมเกลือ ก็เดินลัดสวนกลับไปเอามา ถึงที่หุงข้าว ข้าวก็สุกพอดี

นั่นย่อมชี้ได้ว่าคลองอ้อมรอบเกือบจะเป็นเกาะอยู่แล้ว


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ก.ย. 07, 18:29
บางกอกดูดน้ำออกเลยหรือครับอาจารย์ อันนี้ผมตัดออกเพราะอธิบายไม่ถูกครับ แอ็บสแตร็คเกินเหตุ  ;D

แผนที่คุณวรณัยแจ๋วเลยครับ ขอบคุณมากครับ ว่าจะทำแผนที่ตรงนี้มาลงให้ดูเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยมีฝีมือใช้โปรแกรมวาดภาพเท่าไหร่ เลยอู้ซะงั้น แหะๆ

เมื่อตะกี้นึกได้ ถ้าขบวนกำสรวลสมุทรท่านไม่ชิงเลี้ยวขวาเข้าคลองด่านไปก่อน มาถึงตรงนี้เอ่ยชื่อบางกอกไว้ซะหน่อยก็โป๊ะเชะ ไม่ต้องเดาให้เสียเวลา

ทีนี้เรื่องความหมายของ บาง ก่อนนะครับ

ผมพยายามจะหาความหมายเก่าของคำนี้ แต่จนใจที่หาไม่ได้เก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ถ้าตั้งสมมติฐานไว้ก่อนว่า บาง ในรัตนโกสินทรน์ตอนต้น "น่าจะ" มีความหมายเหมือนสมัยอยุธยา เพราะสภาพสังคมไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก

ตอนแกะนิราศมาประกอบแผนที่ (ไฟล์หมุด google earth เวอร์ชั่นเก่ามีในกระทู้นิราศสุพรรณในเรือนไทยนี่แหละครับ ส่วนเวอร์ชั่นใหม่ซึ่งสมบูรณ์กว่าของเก่ามากผมแช่เย็นไว้ที่สภาพ 90% มาพักใหญ่แล้ว สมบูรณ์เมื่อไหร่จะเอามาลงครับ) เชื่อว่า บาง แปลว่าลำน้ำหรือคลองซอยเลยครับ แต่จำเป็นต้องมีชุมชนด้วยหรือไม่ อันนี้ยังไม่แน่ใจ นอกจากนี้ที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี่ต่ำมาก หาที่ดอนชนิดที่น้ำไม่ท่วมเลยได้ยาก แต่บ้านไทยถ้าไม่ใช่เรือนแพ ก็เป็นบ้านยกสูง ไม่กลัวน้ำอยู่แล้ว

ทีนี้เรื่องบ้านเกาะ แต่เท่าที่อ่านนิราศ (อีกแล้ว)  คำว่าบ้านนี่จะปรากฎใช้เรียกชุมชนตรงบริเวณทีี่ไม่มีคลอง(บาง) ครับ ส่วนมากจะเป็นชุมชนริมแม่น้ำ มีบ้างที่เป็นชุมชนริมทางสัญจรทางบก ซึ่งมีไม่มาก เพราะไม่ใช่เส้นทางสัญจรหลักในสมัยโบราณ

ถ้ามีบ้านเกาะอยู่จริง ก็น่าจะเป็นบ้านที่อยู่ริมลำน้ำเจ้าพระยา แต่จะเป็นสายไหน? ที่สำคัญเฉพาะคลองบางกอกน้อยช่วงก่อนถึงวัดชลอ ก็มีชุมชนบางต่างๆเพียบเลยครับ ถ้าบ้านเกาะใหญ่ บ้านเกาะน้อยเคยมีจริง ก็คงต้องเป็นสมัยที่เก่ามาก ก่อนคนจะมาตั้งหลักแหล่งกันตรงนี้ ซึ่งก็แปลกอีก เพราะกำศรวลสมุทรก่อนขุดตลองลัดเจ้าพระยาเหล่านี้ ระบุชื่อชุมชน "บาง" ต่างๆ ในเส้นทางไว้หลายชื่ออยู่แหล้วครับ

โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าเป็นไปได้ยากครับ กับข้อสันนิษฐานนี้

ทีนี้บางกอกใหญ่ กับบางกอกน้อยมาจากไหน

กำลังจะดำน้ำอีกแล้วครับ ใครจะตามมาโปรดกลั้นหายใจ...  ;D

เดาว่า สองชื่อนี้เกิดขึ้นเมื่อลำแม่น้ำเดิมตื้นเขินเป็นคลองไปแล้วครับ คลองลัดบางกอกกลายเป็นแม่น้ำ

บางกลายเป็นแม่น้ำ แล้วแม่น้ำกลายเป็นบาง ว่างั้นเถอะ

แถวนั้นเรียกบางกอก (เพราะบางกอกเดิม ที่กลายเป็นแม่น้ำไปแล้ว) แล้วบางกอกมันอันไหนล่ะ เพราะตรงนั้นเห็นอยู่สองบาง เรียกบางกอกทั้งสองบางเลยหรือ (ถึงทะลุถึงกันก็เถอะ)

มันก็เลยกลายเป็นบางกอกใหญ่ กับบางกอกน้อยไป

ม่ายงั้นคุยกันไม่รู้เรื่อง


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ก.ย. 07, 18:45
อ้า... จริงครับ อ.ขจร สุขพานิช เสนอข้อสันนิษฐานนี้ไว้เป็นคนแรก ต้องขอให้เครดิตไว้ก่อน เพราะผมมิใช่ยักษ์  ;D

เมื่อก่อนตอนเด็กๆ ผมคิดเอาเอง เชื่อสนิทใจว่าบางกอก คือบางมะกอกนั่นแหละ อย่าได้สงสัยเลย

แต่หลายปีที่แล้วได้อ่านข้อสันนิษฐานเรื่อง บางเกาะ ก็เลยเปลี่ยนใจ เพราะไม่มีวี่แววป่ามะกอกแถวนี้เลย

ด้วยความเป็นคนโลเล อีกหลายปีต่อมา มาอ่านใหม่แล้วชักเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เพราะข้อสันนิษฐาน bangkoc = บางกอะ ดูเหมือนจะเอาภาษาปะกิดเข้ามาร่วมวงมากไปหน่อย คล้ายๆกับที่มีคนบอกว่า ปราสาท = pyathat = พระธาตุ เพราะไปอ่านเขียนแบบพม่า

ไม่นานมานี้ มาดูน้องกุ๊กแล้วรู้สึกว่ามันไม่ให้บรรยากาศเกาะครับ ถ้าคลองลัดบางกอกทำให้เกิดเกาะ แล้วทำไมคลองลัดอื่นไม่เรียกเกาะไปด้วย จะว่าเลิกเห่อก็ไม่น่าใช่เพราะเกราะเกร็ดมาทีหลังตั้งสองร้อยปียังเรียกเกาะเกร็ดอยู่เลย

ที่สำคัญ บางเกาะน้อย ไฉนถึงได้ใหญ่กว่าบางเกาะใหญ่ได้  ???

เหมียนเดิมครับ ไม่ค่อยอยากเชื่อ แต่อาจจะถูกก็ได้ครับ เพราะผมไม่มีไทม์แม็ชชีน  ;D


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ย. 07, 18:49
ถ้าคุณหญิงจันทร์แห่งถลาง เรียกเมืองหลวงว่า บางเกาะ สมัยรัชกาลที่ ๒ หรือ ๓   มาถึงนิราศพระประธม ที่สุนทรภู่แต่งเมื่ออายุมากแล้ว   บางเกาะกลายเป็นบางกอกไปเรียบร้อย
กวีท่านไม่ได้หมายความถึงมะกอกเสียด้วย   แต่หมายถึง กอกเลือด หรือดูดเลือดออกมา  
การดูดเลือดเสียออกจากร่างกายเป็นวิธีรักษาโรคแบบหนึ่ง    ไปตรงกับวิธีของฝรั่งโบราณ ที่เขาใช้ปลิงดูดเลือดออกจากร่างกาย  ของไทยใช้อะไรไม่ทราบค่ะ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ก.ย. 07, 19:00
ตรงนี้ผมไม่แน่ใจว่า กวีเล่นคำหรือความหมายมันกลายจนนึกกวีไม่นึกถึงเลยจริงๆนะครับ

อย่างบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ อันนี้ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัันว่าถึงยุคนั้น ได้ยินชื่อบางพูดแล้วจะไม่นึกถึงมะพูดเลยหรือเปล่า


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 13 ก.ย. 07, 23:26
.


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 13 ก.ย. 07, 23:28
"จากกรุงเก่าถึงปากน้ำ"


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: วรณัย ที่ 14 ก.ย. 07, 09:04
อย่างไร ผมก็ยังไม่ตัดชื่อของ "บ้าน" ออกจากแนวคิดครับคุณ CrazyH
เห็นคุณหนอนบุ้ง เอาแผนที่แกมเฟอร์มาลงไว้ ก็เป็นรูปเดียวกับผังในปัจจุบัน
เพียงแต่แม่น้ำสายเก่ามันตื้นเขินและแคบจนกลายเป็นคลองไปแล้ว

แต่ในยุคปลายกรุงศรีอยุธยา แม่น้ำยังคงจะมีขนาดใหญ่พอควร
จากแผนที่ แกมเฟอร์ และแผนที่ฝรั่งเศสขที่ผมเอามาแจมด้วย
ต่างเขียนชื่อของบางกอกว่า Bankoc-Bankok ไม่ใช่ Ban"g"kok
ขึ้นเหนือขึ้นไป ชื่อที่เราคุ้นหู บางไทร บางปะอิน ไม่มีบันทึกไว้ หรือเป็นชื่อเรียกใหม่ของคนกลุ่มศูนย์อำนาจไปตั้งชื่อให้ ?

Samkoc ตรงกันทั้งสองแผนที่ ในจุดของวัดสิงห์ เขตนั้น ไม่มีหมู่บ้านที่เรียกว่า"บาง"เลยสักแห่ง มีแต่เรียกว่า "บ้าน" และในแผนที่ทั้งสองชุด ก็ เขียนว่า Ban นำหน้าทั้งหมด
ซึ่งตรงกับ Bancok ที่ในยุคปลายกรุงศรีอยุธยา ยังไม่ได้เรียกว่า "บาง" แต่เรียกว่า"บ้าน"

ถ้าเรียกว่าบาง แผนที่ต่างประเทศทั้งหมด ก็คงมีความแตกต่างของตัวอักษรบ้าง แต่ทั้งสองชุด เหมือนกันอย่างกับลอกกันมา
จากหลักฐานนี้ ชิ่อบางกอกอาจจะมาจาก"บ้านเกาะ"ก่อนถูกเปลี่ยนโดยกลุ่มคนในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ที่ตั้งถิ่นฐานในที่งุ่มมีแม่น้ำและเพาะปลูกข้าวเรียกคำว่า"บาง"แทนความของคำว่า"หมู่บ้าน"แล้วค่อยย้อนกลับไปเรียกชุมชนอื่น ๆ ว่าบาง ส่วนที่เคยเป็นชุมชนเก่าที่เรียกตัวเองว่า"บ้าน" ก็เรียกทับไป

บ้านเกาะ เป็นชุมชนเก่าแก่
บางเกาะ เป็นชุมชนใหม่ ที่อพยพเข้ามาหลังสมัยกรุงศรีอยุธยา

ผมจึงยังลังเลที่จะตัดสันนิษฐานว่า "บ้านเกาะ"ออก

ข้อแย้งอีกข้อหนึ่ง
เหล่าวรรณกรรม ล้วนเกิดขึ้นหลังการโยกย้ายมาตั้งชุมชนและตั้งชื่อชุมชนใหม่ว่า "บาง" ที่มีขนาดใหญ่กว่า"บ้าน"
นิราศทั้งหลายเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงชื่อแล้ว ก็เป็นไปได้
ยิ่งในนิราศสมุทร ที่เชื่อกันกันใหม่ว่ามีอายุตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาตอนต้น ยิ่งมีคำว่าบางที่ดูเหมือนกับแสดงภาพของชุมชม แต่ไม่ปรากฏคำว่าบ้าน หรือก็ปรากฏน้อยมาก
ยิ่งอ้างว่า แต่งในต้นอยุธยา เพราะบรรยายภาพในแม่น้ำสายเก่า ไม่บรรยายสองฝั่งของแม่น้ำขุดใหม่ แสดงว่ายังไม่ได้ขุด

แต่ผมก็ยังสงสัยว่า หากขุดแล้ว แล้วมีภาพของโครงข่ายแม่น้ำ เป็นสามเกาะใหญ่ ผู้คนยังคงนิยมเดินทางตามลำน้ำเก่า เพราะชุมชนตั้งอยู่มาก ไม่ได้ย้ายมาที่แม่น้ำใหม่ การเดินทางไปเที่ยวหรือเยี่ยมญาติ ก็ต้องไปเส้นเก่า

ส่วนเส้นใหม่ที่ขุดไว้ ส่วนใหญ่จะเป็นชุมชนชาวจีนมาตั้งบ้านเรือนอยู่ใหม่มากกว่าคนดั้งเดิม แล้วก็เรียกตัวเองหรือถูกเรียกว่า"บาง"

บางอาจจะนิยมเรียกจากคนในที่ลุ่มน้ำ น้ำท่วมขีงในภูมิภาคด้านล่าง แล้วเมือ่กลุ่มนี้มีอำนาจรัฐ ก็กลับขยายขึ้นไปเรียกด้านบน

ผมคิดไปเรื่อยเปื่อย

เพราะสงสัยว่า หาก กำสรวลสมุทรไม่ได้ถูกชำระมาแต่งใหม่เพิ่มเติมในหลายส่วน หรือเป็นต้นฉบับล้วน ที่ไม่เคยถูกเปลี่ยนแปลง หรือต่อเติมแล้ว คำว่า"บ้าน"ที่ตั้งริมน้ำก็ควรจะมีมากพอ ๆ กับคำว่าบางที่หมายความรวมทั้งชุมชน

แต่เห็นมีแต่คำว่า"บาง"

ประเด็นผมจึงมาอยู่ที่ "บ้านกับบาง" ส่วนเกาะนั้นไม่สงสัย
เพราะถ้ามีความแตกต่างของคำ แผนที่ของต่างประเทศก็ไม่น่าลิ้นพัน สองคำนี้ กลายมาเป็น Ban ทั้งหมด หรือจะแปลว่าบาง แต่บ้านเก่าที่สามโคก เกือบทั้งหมดเรียกตัวเองว่า"บ้าน" ตรงกับแผนที่

บ้านมาก่อนบาง เมื่อชุมชนขยายตัวมาเป็นเมืองหลวงที่กรุงธนบุรี จึงเปลี่ยนคำว่าบ้านมาเป็นบาง กรือบางแทนชุมชนใหญ่ มีบ้านเป็นองค์ประกอบ ตามแนวคิดผม
หรือ ไม่เคยเป็นบ้าน แต่ก็มีคำว่า Ban ทั่วไปในแผนที่
หรือจะเรียกสลับว่า บ้านและบาง แล้วทำไมแผนที่จึงไม่แยกสองคำ หรือเรียกยากไป
หรือกำสรวลสมุทรที่เก่าแก่ พูดแต่คำว่าบาง ไม่มีคำว่าบ้าน หรือมีก็น้อย แล้วกำสรวลสมุทร ต้นฉบับ เขียนอย่างนั้น หรือถูกแต่งใหม่"บางส่วน"ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์
หรือ กำสรวลสมุทรจะเป็นหลักฐานที่ดีที่สุด ที่โต้แย้งไม่ได้ ต้องเป็น"บาง" เท่านั้น

ส่วนวรรณกรรมอื่น เกิดขึ้นหลังจากบ้านเกาะ(ของผม) จากชุมชนระดับบ้านเล้ก ๆ ทางผ่านเข้ามหานครใหญ่ ได้กลายมาเป็น"บางเกาะ" แล้ว เพราะมีชุมชนใหญ่มาตั้งบ้านเรือนหลังจากการเสียกรุงฯ

ไปเรื่อยเลยเนอะ เรา!!!




กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 14 ก.ย. 07, 11:38
บางกอก น่าจะคือบางกอก
ไม่ใช่บางมะกอก
บ้านดิฉัน ตั้งแต่เล็กๆ คุณยายก็เรียกบางกะบัว
เดี๋ยวนี้กลายมาเป็นบางกอบัว แต่ไม่มีบัวมาตั้งแต่คุณยายเกิด
บางกะเจ้า แปลยังไงก็ไม่ออก มีทั้งที่พระประแดง ที่สมุทรสาคร..
ก็ยังไม่ผันไปไหน
เคราะห์ดี ฝั่งตรงข้ามบ้านชื่อบางจาก บางนา
คนสมัยไหนๆแปลออกเลยไม่กล้าเปลี่ยน
สงสัยว่า ทำไมพจนานุกรมแปลบางว่าทางน้ำ
เราแปลว่าย่าน หรือถิ่นที่อยู่ชายน้ำ
บางเมือง กับดอนเมืองจึงต่างกัน
บางเมืองอยู่ก่อนปากน้ำ ดอนเมืองอยู่ทางเหนือของเมืองบางกอก
ทั้งหมดเป็นเวิร์บทูเดาล้วนๆค่ะ
แต่ไม่สุ่ม4สุ่ม5นะคะ คุณม้าคลั่ง


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: วรณัย ที่ 14 ก.ย. 07, 14:12
ต้องใช้เวลาซักเดี๋ยว
จะเอาแผนที่วาเลนติน และ ของใครไม่รู้ที่เขียนสำรวจแม่น้ำ มาเทียบชื่อว่า
ฝรั่งเขาเรียก "บ้าน" กับ"บาง" ต่างคำกันหรือเปล่า หรือเขาเรียกรวมกัน

ฉบับจริงอยู่ที่บ้าน ต้องเข้าไปดูก่อนครับ
อันนี้เอามาจากเนท




กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ก.ย. 07, 15:13
เรื่อง Bankok ตรง Ban จะอ่านว่า บ้าน หรือ บาง ชี้ชัดไม่ได้ครับ ไม่ได้เขียนแยกคำไว้ ก็ออกเสียงรวบได้ จะ ng, nk หรือ nc ฝรั่งก็ออกเสียงปิดคล้าย ง ของเราได้ทั้งนั้นครับ แต่ก็เห็นด้วยครับว่าไม่ต้องรีบตัดออก

ส่วนเรื่อง เกาะ นี่ พอดูแผนที่ฝรั่งละเอียดแล้ว สงสัยต้องกลับมาคิดใหม่ เพราะเห็นเรียกเป็นเกาะไว้หลายเกาะเลย งานนี้ เกาะ come back ครับ

เรื่อง บาง นี่สงสัยต้องตอบอย่างยาวครับคุณกุ้งแห้ง ภาษามันเปลี่ยนไปได้ตามเวลาครับ ขอเวลาเตรียมข้อมูลและภาพประกอบโดยวิตถาร เอ๊ย.. พิสดารก่อนนะครับ อิอิ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: วรณัย ที่ 14 ก.ย. 07, 16:22
แผนที่ Town of Bangkok ตันรัตนโกสินทร์ (ค.ศ.1828 หรือ พ.ศ.2371) จากหนังสือ "Early Mapping" ของโทมัส ซัวเร (Thomas Saurey)  หน้าตาสี่เหลี่ยมคล้ายบล็อค ลายเส้นทางน้ำเขียน Menam River แสดงพื้นที่ 2 ฝั่งเจ้าพระยา พระราชวัง วัดพระแก้ว เกาะรัตนโกสินทร์ ล้อมรอบด้วยคลอง 3 ชั้น คือ คลองคูเมือง คลองบางลำพู และคลองสามเสน นอกจากนี้แสดงมาตราส่วน เส้นบรรทัด ระบบไมล์ไว้ชัดเจน

พิมพ์ที่สิงคโปร์ ปี ค.ศ.1999(พ.ศ.2542) เกี่ยวกับเรื่องแผนที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นแผนที่เก่าที่สุดของกรุงเทพ ฯ ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มเรียกบางกอก  Bangkok ชัดเจน แต่จะเป็นเกาะหรือกอก นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

แผนที่ load มาจากเนท สมัยอยุธยายังแสดงชื่อ Bancok ตัว Ban กับ Cok ยังติดกันอยู่

กำลังหาอยู่ว่า "บาง"ในแผนที่เขียนว่าอย่างไรครับ

เดี๋ยวไปค้นแผนเก่าที่ชัด ๆ ก่อน


ส่วนคำบ้าน และบาง ที่คุณ CrazyH บอกว่าออกเสียง ng nk อาจจะออกว่า บางได้ เพราะตัวอักษรติดกัน
ผมก็มีสังเกตในแผนที่ทั้งสอง ว่ามีคำว่า Ban แบบติดและไม่ติดกัน หรือ Banแบบติด จะอ่านแบบ"บาง" และถ้าแยก จะอ่านแบบ"บ้าน"
แต่พอย้อนไปดูเฉพาะชื่อที่ติดกันเป็นพิเศษ พบว่าที่หนาสามโคก มี ชื่อ Banกัน  แต่ครงนั้นไม่มีชื่อ"บาง" นำหน้าชุมชนเลย

จึงยังเอะใจ เดี๋ยวขออีกสัก 2 - 3 แผนที่ เดี๋ยวก็รู้


คิดนอกกรอบ มันสนุกอย่างนี้แหละ เขาคิดอย่างไรไว้ ลองหาที่แตกต่างออกไปอีก
เพราะสุดท้ายมันก็จบที่"บางกอก" ตอนต้นรัตนโกสินทร์อยู่ดี

ที่สำคัญ กำรวลสมุทร ไม่ได้พูดชื่อ "บางเกาะ"เอาไว้ด้วย แสดงว่า เพิ่งเกิด หรือยังไม่มี เพราะยังไม่ได้ตัดเส้นทางน้ำ หรือเรียกบางกอก ก็ยังไม่เห็นในวรรณกรรม
ต้นฉบับแรก ๆ หรือเก่าสุดสะกดอย่างไร ยังไม่เคยเห็น เห็นแต่ที่ปรับตัวเขียนมาแล้วเท่านั้น




กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ก.ย. 07, 17:47
ผมเจอ Ban เขียนแยก แต่เป็น บาง เพียบเลยครับ

รายละเอียดแปะไว้ก่อน

แต่เรื่องความแตกต่างของภาษาและการออกเสียง ต้องระวังให้มากเหมือนกัน บาง กับ บ้าน คิดๆดู หูฝรั่งแยกได้ไม่ง่ายนักครับ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 14 ก.ย. 07, 19:57
มะกอก  มาจากภาษามอญ  มักกอก  น.ลูกไม้ผลสีเขียว ขนาดหัวแม่มือเขื่องๆ ทรงรีๆ และมีรสเปรี้ยว

วัดแจ้งเดิมชื่อ วัดมะกอก  แต่วัดแจ้งคงซึ่งน่าจะสร้างภายหลังการขุดคลองลัดจากปากคลองบางกอกน้อยตัดตรงมายังปากคลองบางกอกใหญ่ (ช่วงที่ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ.๒๐๘๕  สมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช  ซึ่งถ้าเรียก "บางเกาะ" ก็คงจะเรียกตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว

Bankor  แผลงมาเป็น  Bangkok  เป็นทฤษฎีที่ผู้คนเชื่อมากที่สุด  เพราะอะไรก็ตามถ้าเกี่ยวกับฝาหรั่ง  บ้านนี้เมืองนี้มักให้คะแนนเยอะอยู่แล้ว  ในเอกสารชาวต่างชาติที่หมายถึงกรุงธนบุรีนั้น บางครั้งก็เขียนเป็น Bangkoh หรือ "บางเกาะ" ซึ่งมีความหมายสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ คือย่านหรือบางที่เป็นเกาะ

คำว่า  บาง  เท่าที่ท่าน CH อ้างพจนานุกรมชัดเจนครับ  เป็นนิยามที่ใช้กัน  แต่เราต้องยอมรับก่อนว่าภาษาเรามีอิทธิพลมาจากภาษาต่างชาติมาก 
ด้วยเหตุผล ๒ ประการ คือ
๑. เพราะภาษาไทยมีศัพท์ไม่พอใช้ และ
๒. เพราะความต้องการสื่อความหมายทั้งกับเผ่าพันธุ์เดียวกันและเผ่าพันธุ์ที่เราต้องการสัมพันธ์ด้วยได้ง่าย
       กล่าวคือเราจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาของเพื่อนบ้านเพื่อความเข้าใจในการติดต่อสื่อสาร หรือบางครั้งกลายเป็นความเคยชินจนกระทั่งนำมาเชื่อมต่อกันเป็นคำซ้อน โดยที่มีความหมายเหมือนกัน เช่นทองคำ "ทอง" นั้นมาจาก "ทอ" ในภาษามอญ และ "คำ" เป็นภาษาตระกูลไทย-ลาว ซึ่งแปลว่าทอง ฝาละมี "ฝา" เป็นภาษาไทยแน่นอน แต่คำว่า "ละมี" โดดๆ ไม่มีความหมายในภาษาไทย เพราะมาจากภาษามอญว่า "แหละมี" ที่แปลว่าฝาหม้อ

       ต่อไปนี้ก็ถึงคราวที่จะอธิบายความหมายของเมือง "บางกอก" ในแบบที่ไม่เคยมีใครกล่าวถึงมาก่อน"บาง" ตามความหมายที่ได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น ว่าเป็นย่านหรือบริเวณที่มีคลองเข้าไปตัน ทางน้ำเล็กๆ บริเวณที่ลุ่มน้ำท่วมถึง ตำบลที่อยู่ริมบางหรือในบริเวณที่เคยเป็นบางมาก่อน เหล่านี้เป็นความหมายในภาษาไทยปัจจุบัน เมื่อนำมาเทียบกับ "บัง" ในภาษามอญ ( ) ที่แปลว่า "เรือ" จะพบว่ามีความเกี่ยวข้องกันในลักษณะที่เป็นพาหนะใช้สัญจรทางน้ำ ในภาษามอญยังมีศัพท์ที่เกี่ยวกับเรือและสถานที่ คือ "เสน่ะห์บัง ( )" แปลว่าท่าเรือ ไม่แตกต่างจากคำว่า "คลอง" ในภาษาไทย ซึ่งสารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๐๕ ระบุว่า คำนี้มีปรากฏอยู่ในภาษามอญ ยังไม่พบในคำไทยเดิม ที่มาของ "คลอง" คือ "กล่อง ( )" ในภาษามอญ มอญใช้ในความหมายว่า "ทาง" ทุกชนิดแต่ไทยเรารับมาใช้ในความหมายว่าทางน้ำเป็นหลัก แต่บางครั้งก็ใช้ในความหมายทั่วๆ ไปที่ใช้ในภาษามอญ เช่น คลองเลื่อย คลองธรรม

       "บัง" ได้กลายเป็น "บาง" ถูกนำมาใช้ในความหมายว่าย่าน หรือสถานที่จอด และขึ้นลงเรือ รวมไปถึงชุมชนที่อยู่โดยรอบ อย่างบางโพ บางปลา และ "บางกอก" เป็นต้น"กอก" ในพื้นสำเนียงภาษามอญมีด้วยกันหลายคำ อย่าง โกก (หนาว เย็น สะท้าน) โก่ก (เรียก) ก่อก (ล้วง, ภาษี) เมื่อได้บางเป็นตัวตั้งแล้ว ต่อด้วยหนาวเป็น "บางหนาว" ก็คงไม่เข้าที เพราะเมืองเราอยู่เขตร้อน "บางเรียก" ได้ไหม เรียกเรือ เรือเรียก หรือท่าเรียกเรือ (เรือ) คงไม่เข้าท่าเหมือนกัน หากเป็น "บางภาษี" ดูจะสอดคล้องมากกว่า[ก่อก] ๑. น. ภาษี ๒. ก. ล้วง เอามาสอดคล้องกับหน้าที่ของเมือง "บางกอก" ในอดีตที่เป็นบาง ย่าน มีป้อมปราการสำหรับป้องกันข้าศึกศัตรูทางทะเลที่จะเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งเป็นเมืองท่าหน้าด่านที่มีความสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา สำหรับเก็บภาษีจากเรือสินค้าต่างชาติทั้งขาเข้าและขาออก เมื่อพ่อค้าหรือทูตต่างชาติต้องการจะเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา จะต้องจอดเรือใหญ่ไว้ที่ปากน้ำเจ้าพระยา แล้วลงเรือเล็กมาติดต่อกับเจ้าเมืองธนบุรีหรือที่ชาวต่างชาติรู้จักกันดีว่า "บางกอก" เพื่อแจ้งให้ทางกรุงศรีอยุธยาทราบเสียก่อน จึงจะเดินทางเข้าไปในพระนครศรีอยุธยาได้

      ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแง่หนึ่งให้พิจารณา  ถ้าไม่เข้าท่าก็ต้องขออภัยครับ  แต่ก็น่าคิดครับอิทธิพลของภาษาและความน่าจะเป็นในเหตุและผล  ถ้าพอเข้าเค้าก็พิจารณาครับ  ถ้าไม่เข้าท่าก็ทิ้งประเด็นนี้ได้เลยครับ........



กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ก.ย. 07, 21:44
เข้าใจว่าคุณ Bana จะลืมใส่เครดิตที่มาของข้อความข้างบนนะครับ
เป็นข้อเขียนของคุณองค์ บรรจุน ลิงก์ที่ผมชี้ไปในคคห.ต้นๆของกระทู้นี้ก็บทความนี้แหละครับ ช่วยๆกันหน่อย อย่าให้กลายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ครับ

ได้เศษกระดาษจากหนังสือ The Short History of the Kings of Siam ของวันวลิต Jeremias van Vliet จาก books.google.com เขียนว่า Banckocq เขียนแบบไม่ต้องตีความเลย ต้องอ่านว่า บางกอก สถานเดียว ดังนี้ครับ



กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 15 ก.ย. 07, 13:05
คุณองค์ บรรจุนนี่คงเป็นมอญ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 18 ก.ย. 07, 00:10
คุณองค์ บรรจุนนี่คงเป็นมอญ

ยืนยันว่าเป็นมอญค่ะ ดูที่นี่ www.monstudies.com


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: วรณัย ที่ 18 ก.ย. 07, 08:59
บาง มาจาก ภาษามอญ ก็น่าคิดมาก และเป็นไปได้

เอาวาเลนติน มาอีกที ก็ยังแยก บางกับบ้าน ไม่ออก ถ้ามันมีบาง มันต้องมีบ้าน
หรือเราอ่านภาษาดัชต์ไม่ออก จึงเลียนเสียงไม่ได้
เอามาให้ดูก่อน เผื่อใครอ่านออกครับ
_____________________________________________________________________________

วันวลิต ฉบับแปลมาเป็นภาษาอังกฤษ ทับศัพท์คำเรียกภาษาดัชต์หรือเปล่าครับ




กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ก.ย. 07, 13:06
เยี่ยมมากครับ ถ้าคุณวรณัยจะสแกนตอนเหนือจากนี้ขึ้นไปมาลงด้วย จะขอบคุณมากๆเลยครับ กำลังข้องใจช่วงราชครามขึ้นไปถึงเกาะเมืองครับ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 18 ก.ย. 07, 21:41
มาร่วมวงฟังครับ
บางหรือบ้าน? เกาะหรือกอก? น่าคิดทั้งนั้น ยังไม่ปักใจเชื่อ ตราไว้ก่อนทั้งสองทาง หรือสี่ทาง

ขอเสนอโดยไม่มีที่มาที่ไป ไม่รู้จะอ้างอะไร อ้างได้แต่ความคุ้นๆ เหมือนเคยเห็น คลับคล้ายคลับคลา -ของตัวเอง  ว่า "บาง" อาจแปลว่าที่ที่มีน้ำในภาษาไทยเดิมมาก่อน จะมาจากมอญหรือไม่ก็ไม่ทราบครับ แต่ผมเคยเห็นใช้ในทำนองสร้อยคำ ว่า บึงบาง

ถ้า บึง มันเป็นแหล่งน้ำทำนองทะเลสาบ หรือสระ หรือแอ่ง คือไม่ใช่ทางน้ำที่ไหลไปไหนๆ ได้ พระมติสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ที่ว่า บาง คือคลองที่เข้าไปตันตรงย่านนั้น (แต่ไม่ใช่คลองตัน) ก็น่าคิดอยู่ แต่แล้วถ้ายังงั้น ทำไมต่อมา บางอะไรต่อบางอะไรหลายแห่งถึงได้อยู่ริมคลอง ทางน้ำไหล ล่ะ? แม้แต่บางกอกเองก็ริมน้ำเจ้าพระยา?

เว้นแต่ว่า มั่วอีกแล้วครับ อย่างคุณ CH ว่าคือ เดิมมันเป็นคลองที่ตันอยู่ ไม่คลอด เพิ่งมีการขุดต่อทะลุถึงกันให้ตลอดกลายเป็นคลองบางกอกน้อยและใหญ่สมัยหลัง?

มั่วยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ครับ
 


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 18 ก.ย. 07, 21:49
ส่วน คห. ที่คุณ Bana ยกมา ที่ว่ามาจากภาษามอญ บัง ว่าเรือ และอะไรบังจำไม่ได้ ว่าท่าเรือ ที่จอดเรือ นั้น
ผมนึกไปถึงอู่ต่อเรือ ที่เร็วๆ นี้มีข่าวในหลวงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ ทรงปล่อยเรือ ต. ลงน้ำ หรือนึกถึงพิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี ท่าเก็บเรืออย่างนั้นก็มีลักษณะเป็นคลองเล้กๆ เข้าไปตันในแผ่นดินเหมือนกัน
แต่นี่คงบังเอิญ เพราะเป็นลักษณะ dock ของฝรั่ง ซึ่งไม่คิดว่าไทยหรือมอญจะรับมาใช้จนกระทั่งสมัยค่อนข้างใหม่แล้วครับ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 18 ก.ย. 07, 22:54
ขออนุญาตนำภาพโรงจอดเรือสมัยอยุธยา
จากผนังด้านหลังพระประธานวัดมหาธาตุเพชรบุรี
มายืนยันคำตอบของคุณนิลกังขาครับ

ตอนถ่ายภาพนี้คนถ่ายมีอาการคล้ายจะเป็นสันนิบาตอยู่
เนื่องจากอดน้ำ อดข้าว เดินฝ่าแดดมาเกือบชั่วโมง
และสะพายเป้ยังชีพใบโตอยู่บนหลังครับ

แถมน้องกล้องเจ้ากรรม 3 ล้าน pixel
ยังไม่มีระบบกันสั่นกันเบลอซะอีก
ภาพเลยอกมาได้เท่านี้

ขออภัยด้วยนะครับ


.


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ก.ย. 07, 23:51
ต้องเปลี่ยนชื่อไฟล์เป็นภาษาอังกฤษก่อนครับคุณติบอ ไม่อย่างนั้นจะดูภาพไม่ได้ บั๊กระบบ ฝรั่งทำมา ไม่กล้าแตะครับ

สำหรับบางกอก จะมาจาก บาง หรือ บ้าน เรื่องนี้ยังฟันธงไม่ได้ครับ (ถึงส่วนตัวผมเองจะเชื่อว่าเป็น บาง ซะ 95%) แต่ความหมายของ บาง นั้น คิดว่าชัดเจนครับ

จะลองขุดหาจากวรรณคดีเก่าให้ดูนะครับ

ลิลิตพระลอ พบคำว่า บาง (เฉพาะที่มีความหมายเชิงสถานที่) ครั้งเดียว ดังนี้

...เห็นแนวน้ำบางบึง ชรทึงธาร ห้วยยหนอง...

ชรทึง พจนานุกรม ร.บ.๒๕๔๒ ให้ความหมายดังนี้
ชรทึง    [ชฺระ] น. แม่นํ้า, ใช้ว่า จทึง ฉทึง ชทึง สทิง สทึง หรือ สรทึง ก็มี.
   (ข. สฺทึง ว่า คลอง).

กำสรวลสมุทร มีชื่อสถานสถานที่ที่ขึ้นด้วยบางหลายชื่อ
ชื่อที่ยังสอบไม่ได้แน่คือ บางขดาน, บางกรูด, บางพลู, บางค่อม, บางนายยี่, บางสบู, บางคล
ชื่อที่สอบออกมาได้คือ บางกะจะ, บางพูด, บางเขน, บางพลู, บางฉนัง, บางจาก, บางรมาด, บางผึ้ง เป็นชื่อตำบลที่เป็นชื่อลำน้ำทั้งสิ้น
นอกจากนี้ก็มีคำว่าบางอีกหนึ่งแห่ง ที่มีความหมายเชิงสถานที่ดังนี้
- เทท่าบึงบางบา         บ่าใส้
ซึ่งน่าจะแปลว่าลำน้ำอีกเหมือนกัน

ทวาทศมาส พบดังนี้
อันนี้แปลได้
- แสนบางบึงห้วยแห่ง    เหมุทก

สองอันนี้เห็นจะเป็นชื่อสถานที่ บางขดาน กับบางถมอ อยู่ไหนก็ไม่แน่ชัด
- ตกบางขดานดิน        สดือแม่
- ครึ่งบางถมอชั้น        ง่าพาย ยอพาย ฯ

ขอสรุปเองว่า สมัยอยุธยาตอนต้น อย่างน้อยบางมีความหมายว่าลำน้ำแน่ แต่ไม่รู้ว่ามีความหมายอื่นหรือไม่นะครับ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ก.ย. 07, 23:58
ที่สำคัญ นิราศต้นรัตนโกสินทร์ ขี่ GoogleEarth ดูจากอวกาศ ฟันธงได้ว่า บางทุกบางเป็นชุมชนริมคลอง บางที่มีแลบเรียกออกมาว่า บ้านบาง... เหมือนกับที่เรียกบางตำบลลอยๆ แต่บางทีก็เอาบ้านแปะหน้า เช่น ลายตากฟ้า, บ้านลานตากฟ้า

สำนึกคนโบราณต้นรัตนโกสินทร์ (และเชื่อว่าย้อนขึ้นไปด้วย เพราะสภาพสังคมไม่เปลี่ยน) บางก็คือคลองนั่นเองครับ

ผมเชื่อว่าคนโบราณรักษาชื่อบางกอกเอาไว้ได้ จากชื่อลำบางเดิมที่เคยอยู่ที่นี่ บางกอก ที่น่าจะเป็นบางแยกจากริมเจ้าพระยาสายเดิมตรงปากคลองบางกอกใหญ่ขึ้นเหนือไปในแนวลำน้ำเจ้าพระยาปัจจุบันนี้นี่เองครับ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 ก.ย. 07, 15:19
ยังขาดวรรณคดีเก่าอีกเรื่อง ลิลิตยวนพ่าย

เรื่องนี้เหนื่อยหน่อย เพราะไม่มีใครทำออนไลน์ไว้ ผมเคยพิมพ์ไว้บางส่วน คืบหน้าไปได้ไม่มากเพราะพิมพ์สัมผัสแบบ โป๊ก.. โป๊ก.. โป๊ก... ไม่ใช่ตะล็อกต๊อกแต๊ก แถมการสะกดแบบโบราณนี่ยากเย็นแสนเข็ญ ว่างจัดเมื่อไหร่จะงัดเอามาพิมพ์ต่อครับ

นอกเรื่องไปเยอะ สรุปได้ว่าต้องเปิดอ่านแบบผ่านๆ ก็เลยเจออยู่ที่เดียว

บางเมงเปนขื่หน้า        ขวางขนนน ก่อนแฮ
มีแม่ยมเปนแย่          แก่งก้นน
เข้าสามเกือบกนนกรร   เมืองมิ่ง เขาแฮ
คูคอบสามช้นนซรึ้ง      ขวางแขวง ฯ

สะกดตามหนังสือนะครับ ขี้เกียจแก้ เพราะแปลไม่ค่อยจะออก แต่เห็นได้ชัดว่าบางเมงนี่เป็นลำน้ำอย่างไม่มีข้อสงสัย ส่วนอยู่เมืองไหนนั้นยังไม่ได้ไปอ่านละเอียด แต่เป็นหเมืองเหนือแล้วครับ

น่าสงสัยว่าบางเมงนี่เป็นชื่อท้องถิ่น หรือว่าชื่อที่ทางอยุธยาเรียก เพราะอาจชี้ที่มาของคำนี้ได้ครับ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ย. 07, 15:29
กำศรวลว่าหินภาษา  แล้ว  ยวนพ่ายยิ่งโหดหินเมื่อเทียบกัน

ลองถอดดูก่อน ยังไม่ได้เทียบกับหนังสือที่ปริวรรตแล้วนะคะ

บางเมงเป็นขื่อหน้า        ขวางขนัน ก่อนแฮ
มีแม่ยมเป็นแย่              แก่งกั้น
เข้าสามเกือบกันกรร       เมืองมิ่ง เขาแฮ
คูคอบสามชั้นซึ้ง           ขวางแขวง ฯ

ขอถอดกลอนประตูหน้าต่างออกมาอย่างหลวมๆว่า  ด่านกั้นเมืองมี ๓ ด่านธรรมชาติ คือ
๑ บางเมง อาจเป็นชื่อลำน้ำ
๒ แม่น้ำยม
๓ เป็นชื่อเขาอะไรสักอย่าง
รวมด่านธรรมชาติ ๓ ชั้น ขวางกั้นไว้ไม่ให้ถึงเมืองง่ายๆ




กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 ก.ย. 07, 20:52
กลับไปอ่านใหม่ ได้ความว่าเป็นเมืองเชียงชื่น(ศรีสัชนาลัย)

บางเมงเป็นขื่อหน้า         ขวางขนัน ก่อนแฮ
มีแม่ยมเป็นแย่             แก่งกั้น
เข้าสามเกือบกันกรร       เมืองมิ่ง เขาแฮ
คูคอบสามชั้นซึ้ง           ขวางแขวง ฯ

ขนัน พจนานุกรมว่า บัง, ขวาง, ล้อม ในที่นี้คงหมายความว่าบางเมงนี่ขวางอยู่

มีแม่ยมเป็นแย่ อันนี้แย่มากๆ คืออ่านไม่รู้เรื่อง พจนานุกรมไม่ให้ความหมายอะไรที่ใกล้เคียงไว้ เป็นไปได้หรือไม่ว่า แย่ คือ แป ก็จะเป็น
มีแม่ยมเป็นแป             แก่งกั้น
พอจะมั่วๆเข้าใจได้อยู่

เข้าสามเกือบกันกรร อ่า... ขอไทลีนอลด้วยคร้าบ ปวดหัวคร้าบ
เข้าสาม นี่เป็นไปได้ไหมว่าจะเป็น เขาสาม คนคัดลอกแถมไม้โทมาฟรีๆให้ปวดหัวเล่น
เกือบกัน พจนานุกรมไม่มี แต่เคยได้ยินว่าแปลว่า เกยกัน
บาทนี้น่าจะแปลว่ามีเขาสามลูกเป็นแนวป้องกันเมืองอยู่

คอบ พจนานุกรมว่า ครอบ, รักษา บาทนี้แปลว่ามีคูเมืองซ้อนป้องกันอีกสามชั้น

แผนที่ GoogleEarth บริเวณศรีสัชนาลัยมีรายละเอียดน้อย ต้องไปดูอีกเจ้าหนึ่ง PointAsia.com

ซูมดูตัวเมืองจะๆ ในกำแพงเมืองตอนเหนือมีเขาอยู่สองลูก และมีภูเขานอกเมืองอีก แม่น้ำยมไหลอ้อมมาจากตะวันออกมาตะวันตก เป็นคูเมืองในทิศเหนือ แต่ดูยังไงก็ไม่ลงตัวกับโคลงบทนี้

ดูจนมึน นึกได้ว่าถ้าลงรายลัเอียดแล้วแก้ปัญหาไม่ได้ ท่านให้ถอยมาดูภาพรวมไกลๆสักที

โอ้... เห็นอะไรบางอย่างแล้ว




กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 ก.ย. 07, 21:02
ตอนนี้ต้องสวมวิญญาณเสนาธิการทหารอยุธยา วางแผนเข้าตีเมืองเชียงชื่น

เมืองเชียงชื่นตั้งอยู่ในที่ราบริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม แม่น้ำยมโอบล้อมทางตะวันออกไว้ตลอด ทางตะวันตกมีเทือกเขาเรียงตัวกันเป็นแนวป้องกันตามธรรมชาติต่อจากแม่น้ำยมทางทิศเหนือยาวลงมาตลอดฝั่งตะวันตกของที่ราบ

ทัพอยุธยามาจากทางใต้ก็ต้องเข้าทางช่องทางใต้ระหว่างเทือกเขานี้กับแม่น้ำยม ตรงนั้นมีลำห้วยอยู่หลายสายในแนวตะวันตกไปตะวันออก เป็นขื่อหน้าป้องกันการโจมตีจากทางด้านใต้นี้

เป็นชัยภูมิตั้งรับศึกที่ดีมากในยุคที่ยังไม่มีเครื่องบินทิ้งระเบิดกับเรือปืนครับ

โคลงบทนี้อธิบายภาพรวมของที่ราบเมืองเชียงชื่น ไม่ได้เจาะจงแค่ในกำแพงเมืองครับ ชัดเจน แจ่มแจ้ง เป็นระบบป้องกันที่ป้องกันได้ทั้งที่ราบเลย


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 20 ก.ย. 07, 06:58
กราบสวัสดี อาจารย์เทาชมพู คุณพิพัฒน์ และทุกๆ ท่านครับ (หายไปนาน อิอิ  ;D)
ขอมาแจมสั้นๆ ก่อนนะครับ น่าสนใจมากเรื่องชื่อบางกอก ได้ยินผ่านหูผ่านตามาเยอะเหมือนกันครับ เกี่ยวกับทฤษฎีต่างๆ

มาอ่านตอนกำลังจะนอนพอดี ถ้ามีเวลาจะมาแจมต่อนะครับ ...

ส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่า "บางกอก" เป็นคำที่ถูกครับ เพราะว่า ชื่อท้องถิ่นเก่าๆ ส่วนใหญ่จะเป็น "สภาพแวดล้อมของพื้นที่" + พืช หรือ สัตว์ ที่พบมากในบริเวณนั้น

ในกรุงเทพฯ ก็มีชื่อทำนองเดียวกันนี้เป็นสิ่งยืนยันว่า "บางกอก" ก็น่าจะมีที่มาของชื่อในทำนองเดียวกันครับ เช่น

พืช: บางบอน, บางแค, บางรัก, บางลำพู, บึงกุ่ม, หนองจอก, หนองแขม, บางอ้อ,
สัตว์: บางระมาด (แรด), บางกะปิ (ลิง)

อย่างไรก็ตาม ยังมีชื่อ บาง อีกจำนวนหนึ่ง ที่ผมยังไม่ได้ตีความครับ เช่น บางนา (พื้นนา ข้อนี้อาจสนับสนุน "บางเกาะ" ได้ ???), บางเขน (ไม่แน่ใจว่าหมายถึง นกกางเขน หรือไม่), บางกะปิ (ได้ยินว่า มาจาก กะบี่ ที่แปลว่า ลิง), บางพลัด (น่าจะเป็นชื่อ พืช หรือคำเพี้ยน มากกว่าที่จะมาจากคำกริยาว่า พลัดพลาก), บางซื่อ (น่าจะเป็นชื่อ พืช หรือ คำเพี้ยน), บางคอแหลม (โนไอเดียครับ), บางขุนเทียน (น่าจะมาจาก เดิมเขตนี้เป็นที่ดินของข้าราชการชื่อ ขุนเทียน), บางขุนศรี, บางขุนนนท์, บางขุนพรหม (ทำนองเดียวกับ บางขุนเทียน) ฯ

เมื่อกี้เห็นชื่อ "บางรมาด" ในกระทู้ของคุณ CrazyHOrse คำว่า "ระมาด" ถ้าจำไม่ผิด เห็นว่าเป็นคำเขมร แปลว่า แรด ครับ
บางเชือกหนัง - คุณสุจิตต์ วงศ์เทศ เคยอธิบายไว้ว่า เพี้ยนมาจากคำเขมร "ฉนัง" แปลว่า "หม้อ"

ส่วนทำไมถึงเป็น "บางกอก" ไม่เรียก "บางมะกอก" นั่นก็เพราะว่า "มะกอก" คือ ชื่อของผล กร่อนมาจากคำว่า "หมากกอก" ส่วนชื่อต้นไม้คือ "ต้นกอก" เข้าใจว่า เนื่องจากภาษาไทยปัจจุบันจะรู้จัก ผลของต้นกอก (มะกอก) ดีกว่า จึงเรียกชื่อต้นไม้ตามชื่อของผล เป็น ต้นมะกอก ในทำนองเดียวกันกับต้นมะม่วง, มะพร้าว, มะนาว, มะกรูด, มะเฟือง, มะไฟ ฯลฯ

ส่วน ปัญหา Bankoc-Bankok อ่าน "บ้าน" หรือ "บาง" ตรงนี้เห็นด้วยกับคำอธิบายของคุณ CrazyHOrse ครับ ที่ -nc หรือ -nk สามารถออกเสียงเป็น -งก หรือ -งค ได้ เช่นคำว่า Punk ภาษาอังกฤษ ออก พั้งคฺ ไม่ออก พั้นคฺ ทั้งๆ ที่สะกดด้วย n แต่ด้วยอำนาจของ k จึงทำให้ n กลายเป็นนาสิก วรรคกัณฐชะ ไป (คือ จาก น เป็น ง)
หรือ ชื่อเฉพาะอย่าง Ankor ก็จะออกว่า อังกอรฺ ไม่ออก อันกอรฺ เป็นต้น

เรื่องที่จะจับเอา ชื่อ ที่ฝรั่งเขียนมาอธิบายนี้ ยากครับ เพราะฝรั่งหูเพี้ยนก็เยอะ ในเบื้องต้นนี้ ผมขอจับเอา คำพวก "บาง" มาดูว่า มันมีแนวโน้มที่จะไปทาง ชื่อ "พืช" หรือ ชื่อ "สถานที่" ก่อนครับ แต่เท่าที่ดู ก็มีเปอร์เซ็นต์ที่น่าจะเป็น "บางกอก" มากกว่า "บางเกาะ" หรือ "บ้านเกาะ" หรือ "บ้านโคก" หรือ "บางโคก"

ยังไม่ได้ขัดเกลาใดๆ ผิดพลาดก็ช่วยชี้แนะด้วยครับ  :-[

+++++++++++++++++++++++++++++
ปล... ขอแก้ไขเพิ่มเติมครับ พอดีไปเจอ บทความของคุณสุจิตต์เข้าพอดี เกี่ยวกับ "บางเชือกหนัง"


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 20 ก.ย. 07, 07:19
ย่านบางกอก

ในโคลงกำสรวลสมุทร

ครั้งหนึ่ง มีเจ้านายเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงของกรุงศรีอยุธยา เสด็จประทับเรือจากพระนครศรีอยุธยา ลงมาตามแม่น้ำ ผ่านชุมชนหมู่บ้านทั้งสองฝั่ง จนถึงเขตเมืองนนทบุรี แล้วถึงบริเวณที่ลำแม่น้ำไหลคดเป็นรูปโค้งเกือกม้าที่เรียกย่านบางกอก คือ กรุงเทพฯ ทุกวันนี้

เหตุการณ์ครั้งนั้นอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๑ – ๒๐๗๒ จะเป็นปีใดยังไม่รู้แน่ แต่อยู่ระหว่างแผ่นดิน สมเด็จพระบรมราชาธิราช ที่ ๓ กับ สมเด็จพระรามาธิบดี ที่ ๒ ต่อเนื่องกัน มีหลักฐานยืนยันคือโคลงดั้น จำนวน ๑๓๐ บท เรียกกำสรวลสมุทรหรือรู้จักทั่วไป ชื่อ กำสรวลศรีปราชญ์ (แต่ “ศรีปราชญ์” ไม่ได้เป็นคนแต่งเรื่องนี้) แต่งอย่างที่เรียกในชั้นหลังว่านิราศ นับเป็นหนังสือนิราศมีอายุเก่าแก่มาก หรืออาจเก่าแก่ที่สุดของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็คงได้ แต่เรื่องนี้ต้องพิจารณาต่อไปอีก

ความสำคัญของ กำสรวลสมุทร อยู่ที่พรรณนาชื่อบ้านนามเมือง และสถานที่ของกรุงเทพฯ ยุคดึกดำบรรพ์เอาไว้ด้วย ยังไม่พบเอกสารเก่ากว่าเล่มนี้ และไม่น่าจะมีให้พบแล้ว ต้องยกเป็นเอกสารเก่าสุดที่ออกชื่อบ้านนามเมืองและสถานที่ของกรุงเทพฯ กับปริมณฑล มีรายการดังต่อไปนี้

บางเขน ชื่อนี้ไม่ใช่เขตบางเขน กรุงเทพฯ ปัจจุบัน หากเป็นบางเขนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งเหนือสะพานพระราม ๖ แต่ใต้วัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี บริเวณนี้มีคลองแยกไปทางตะวันออกเรียก คลองบางเขน

เวลาที่แต่งโคลงกำสรวลสมุทร ยังไม่ชุมชน ภูมิประเทศครั้นนั้นคงเป็นทุ่งโล่ง กวีจึงพรรณนาว่า

      มาทุ่งทุเรศพี้                 บางเขน
เขนข่าวอกนมเฉลา                  ที่ตั้ง
ปืนกามกระเวนหัว                   ใจพี่ พระเอย
ฤๅบ่ให้แก้วกั้ง                       พี่คงคืนคง ฯ

บางกรูด อยู่ใต้บางเขนลงมา แต่หาร่องรอยไม่ได้ว่าอยู่ตรงไหน รู้แต่ว่าน่าจะมีต้นมะกรูดขึ้นเป็นป่า เพราะกวีพรรณนาว่า

     เยียมาสมดอกแห่ฃ้ง   ฤทัย ชื่นแฮ
เครงย่อมถงวลถงมอก      ค่ำเช้า
เยียมาเยียไกลกลาย         บางกรูด
ถนัดกรูดเจ้าสระเกล้า       กลิ่นขจร ฯ

บางพลู อยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำ ใต้บางกรูด ถัดมาทางใต้สะพานพระราม ๖ และใต้บางพลัด มีวัดบางพลูเป็นร่องรอยอยู่ ย่านนี้เห็นจะปลูกพลูไว้กินกับหมากเต็มไปหมด ดังกวีพรรณนาว่า

     เยียมาพิเศษพี้         บางพลู
ถนัดเหมือนพลูนางเสวย     พี่ดิ้น
เรียมรักษเมื่อไขดู           กระเหนียก นางนา
รสรำเพยต้องมลิ้น          ลั่นใจลานใจ ฯ

ฉมังราย อยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำ ทางใต้สะพานซังฮี้ลงมา ชื่อนี้รียกกันภายหลังต่อมาว่าสมอราย มีวัดสมอรายตั้งอยู่ ปัจจุบันคือวัดราชาธิวาส
คำเดิมว่า ฉมังราย จะเป็นคำมอญหรือคำเขมร ยังไม่รู้ แต่กวีพรรณนาว่าย่านนี้เป็นหลักแหล่งของชาวประมง ใช้อวนหาปลาในแม่น้ำ ดังนี้

      เรือมาเจียรเจียดใกล้    ฉมังราย
ฉมังนอกฉมังในใน           อกช้ำ
ชาวขุนสรมุทรหลาย         เหลือย่าน
อวนหย่อนหยั่งน้ำถ้า          ถูกปลา ฯ

บางระมาด ปัจจุบันอยู่ในคลองบางกอกน้อย แต่ยุตนั้นคือแม่น้ำ (เจ้าพระยา) สายเดิมที่ไหลคดเป็นรูปโค้งเกือกม้า
ชื่อระมาดเป็นคำเขมร แปลว่า แรด คงจะมีแรดอยู่แถบนั้น

ย่านนี้เป็นเรือกสวน มีกล้วย อ้อย และผักต่างๆ มีชาวสวนตั้งหลักแหล่งเรียงราย รวมทั้งมีตลาด (จรหลาด) ด้วย กวีพรรณนาไว้ดังนี้

       กล้วยอ้อยเหลืออ่านอ้าง   ผักนาง
จรหลาดเล็กคนหนา             ฝั่งเฝ้า
เยียมาลุดลบาง                  ระมาด
ถนัดระมาดเต้นเต้า              ไต่เฉนียน ฯ

บางฉนัง ปัจจุบันเรียกเพี้ยนเป็น บางเชือกหนัง อยู่ในคลองบางกอกน้อย ยังมีคลองบางเชือกหนังอยู่ฝั่งขวา ใต้คลองบางระมาด
ชื่อ ฉนัง เป็นคำเขมร แปลว่า หม้อ น่าเชื่อว่าชุมชนนี้มีอาชีพปั้นหม้อขาย ถ้าแปลความหมายต้องเรียก บางปั้นหม้อ หรือ บางหม้อ

ย่านนี้เป็นเรือกสวนหนาแน่น เพราะกวีพรรณนามาก่อนว่าสองฝั่งแม่น้ำ (เดิม) เต็มไปด้วยสวนผลไม้ มีมะม่วง ขนุน มะปราง ฯลฯ สวนถัดๆ ไปยังมีหมาก มะพร้าว เต็มไปหมด พวกแม่ค้าชาวบ้านต่างทำขนมแล้วเอาผลหมากผลไม้มาขาย ดังนี้

       มุ่งเห็นเดียรดาษสร้อย     แสนสวน
แมนม่วงขนุนไรเรียง             รุ่นสร้อย
กทึงทองลำดวนโดร              รสอ่อน พี่แม่
ปรางประเหลแก้มช้อย            ซาบฟัน ฯ
เยียมาแล้วไส้หย่อน               บางฉนัง
ฉนังบ่มาทันสาย                 แสบท้อง
ขนมทิพย์พงารัง                 รจเรข มาแม่
ยินข่าวไขหม้อน้อง               อิ่มเอง ฯ
ด้าวหั้นอเนกซื้อ                  ขนมขาย
อรอ่อนเลวงคิด                   ค่าพร้าว
หมากสุกชระลายปลง             ปลิดใหม่
มือแม่ค้าล้าวล้าว                 แล่นชิงโซรมชิง ฯ

 
บางจาก อยู่ฝั่งขวาแม่น้ำ (เดิม) ใต้บางเชือกหนัง มีโคลงว่า

      มลักเห็นน้ำหน้าไน่        นัยน์ตา พี่แม่
เรียมตากตนติงกาย              น่าน้อง
ลันลุงพี่แลมา                   บางจาก
เจียรจากตีอกร้อง               เรียกนางหานาง ฯ

บางนางนอง ในโคลงเขียนคร่ำครวญ “นองชลเนตร”

เมื่อกวีล่องเรือตามแม่น้ำ (เดิม) ถึงคลองบางกอกใหญ่ ได้เลี้ยวขวาเข้าคลองด่าน (ตรงวัดปากน้ำภาษีเจริญ) มุงไปทางบางขุนเทียน ผ่านตำบลบ้านแห่งหนึ่ง คือ บางนางนอง ปัจจุบันมีวัดนางนอง ตั้งอยู่ริมคลอง มีโคลงกล่าวว่า

    เสียดายหน้าช้อยชื่น         บัวทอง กูนา
ศรีเกษเกษรสาว                 ดอกไม้
มาดลบันลุนอง                  ชลเนตร
ชลเนตรชู้ช้อยไห้                ร่วงแรงโรยแรง ฯ

บรรยากาศของสองฝั่งคลองด่านย่านบางนานอง ยังเป็นเรือกสวนหนาแน่นโดยเฉพาะสวนหมาก ดังโคลงบาทแรกของบทที่ ๖๓ ว่า “ลันลุงสองฟากฟุ้ง ผกาสลา” เมื่อสัก ๕๐ ปีที่แล้ว ย่านนี้ยังมีสวนหมากแน่นสองฝั่งคลอง

++++++
ตัดตอนมาจาก: สุจิตต์ วงษ์เทศ ๒๕๔๗. นิราศเรื่องต่างๆ นิราศมาจากไหน ?. ใน กวีสยามนำเที่ยวสยามประเทศไทย. จาก เว็บไซต์ สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย [ http://www.thaipoet.net/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&Category=thaipoetnet&thispage=5&No=217593 ]
(คัดจากคำนำหนังสือกวีสยามนำเที่ยวกรุงเทพฯ มติชน ๒๕๔๗).


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 20 ก.ย. 07, 20:15
สงสัยเพิ่มครับ

คำว่า "บางพลัด" ไม่รู้ว่าจะเพี้ยนมาจาก "บางพลับ" ได้หรือไม่ ?

ต้นมะพลับ = Diospyros malabarica

ก็ไม่รู้ว่าจะมีใครแต่งตำนาน เรื่องราวประมาณการพลัดพราก มาอธิบายที่มาของ "บางพลัด" หรือเปล่า อิอิ
เคยศึกษาเกี่ยวกับที่มาของชื่อ "วัดท่าพูด" ตำนานท้องถิ่นที่เล่ากันส่วนใหญ่ก็จะไปโยงกับคำกิริยา "พูด" โดยไปเล่าว่า ท่าน้ำพูดได้บ้าง
ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมว่าน่าจะมาจากชื่อต้นไม้ "มะพูด" มากกว่า (Garcinia dulcis)

อย่าง "ท่าเตียน" ก็เช่นกัน เคยได้ยินตำนาน ยักษ์วัดโพธิ์ รบกับยักษ์วัดแจ้ง ทำให้ท่าน้ำตรงนั้น "เตียน"
ส่วนตัวผมเห็นว่า เป็นการแต่งตำนานโยงกับคำศัพท์ "เตียน" ในชั้นหลังมากกว่า


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 20 ก.ย. 07, 21:15
บางกอก ชื่อสั้น แต่แฝงประวัติศาสตร์อันยาวนานจริงๆครับ

ผมสอบชื่อหมู่บ้านทั่วประเทศไทย จากไฟล์ที่เซฟมาจากไหนก็จำไม่ได้เสียแล้ว ไม่แน่ใจว่าข้อมูลครบถ้วนหรือไม่ แต่พอเห็นภาพได้ครับ

มีแค่ ๓๐ จังหวัดที่(ยัง)ไม่พบชื่อหมู่บ้านที่มาคำว่าบางนำหน้า คือภาคเหนือทั้งหมด คือเหนือสุโขทัยขึ้นไปรวมทั้งจ.ตากด้วย และอีสานทั้งหมด ยกเว้น หนองบัวลำภู, มุกดาหาร และหนองคาย

โดยหนองคายพบชื่อบ้านบางกอกน้อย ยังสงสัยว่าไม่ได้ตั้งตามภูมิประเทศ แต่ตั้งตามชื่อบางกอกหรือเปล่า

นอกนั้นพบชื่อบาง... ทุกจังหวัดครับ

ตีความว่าอย่างไรดี


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ย. 07, 21:34
ภาคใต้ มีชื่อ"บาง"  มากไหมคะ

คุณอาชาเช็คได้ไหมว่า  ชื่อ"บาง" ในจังหวัดไกลๆกรุงเทพ  ตั้งชื่อในสมัยรัตนโกสินทร์หรือเปล่า  ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ลงมาถึงปัจจุบัน
เพราะการปกครองในระบบเทศาภิบาล  อาจทำให้มีการตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่  ด้วยภาษาของราชการ ซึ่งเป็นภาษาภาคกลางได้

นี่ข้อสันนิษฐานล้วนๆนะคะ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 20 ก.ย. 07, 22:48
ภาคใต้มีบางเยอะมากครับ ไม่ต่างจากพื้นที่ภาคกลางเลย

จังหวัดที่มีน้อยหน่อยก็มี
สตูล เจอบ้านปากบาง ชื่อเดียว แต่บางอะไรไม่ทราบ
ยะลา มีบ้านบางลาง เจอชื่อเดียวเหมือนกันครับ แต่ปัตตานี นราธิวาสนี่บางพรึ่บพรั่บเยอะแยะเลยครับ

ดูพื้นที่ที่มีบางปรากฏ เห็นชัดเลยว่าคือพื้นที่ในการปกครองของอาณาจักรอยุธยา แต่โดยทั่วไปชื่อชุมชนแบบนี้ไม่ใช่การกำหนดจากส่วนกลางหรอกครับ ต้องเป็นคนในพื้นที่ตั้งกันเอง เรียกกันเอง

เป็นโจทย์ที่น่าสนใจครับ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 21 ก.ย. 07, 12:04
จารึกนครชุม (พ.ศ.๑๙๐๐) เอ่ยถึงชื่อเมืองไว้ ๒ เมืองคือ บางพาน และ บางฉลัง
เห็นแล้วนึกได้ว่ายังมีเมืองบางยางของพ่อขุนบางกลางหาวอีก

ดังนั้น บาง นี่คงจะเป็นคำที่เก่าแก่มาก อย่างน้อยก็ย้อนไปได้ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ครับ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ย. 07, 12:10
ชื่อพ่อขุนบางกลางหาว  ก็น่าสนใจนะคะ   
แปลว่าอะไร


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ย. 07, 15:15
ชื่อบุคคลในศิลาจารึก ล้วนแต่มีความหมาย
ชื่อ รามคำแหง เราก็รู้ว่ามีที่มา     เกิดจากเจ้ารามแสดงวีรกรรม ในศึกระหว่างสุโขทัยกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด 
บาลเมือง คือผู้ทะนุบำรุงบ้านเมือง   
ไสสงคราม  ไส แปลว่า สี่   สงคราม ก็มีความหมายอยู่ในตัวแล้วไม่ต้องแปล
งัวนำถม  หรืองั่วนำถุม   งั่วแปลว่าห้า  นำถุม เคยอ่านพบว่า สันนิษฐานว่าน้ำท่วม  อาจจะเกี่ยวโยงไปถึงตำนานพระร่วงที่ทรงจมน้ำหายไป ก็เป็นได้
แล้วถ้าอย่างนั้น  บางกลางหาว  ก็ต้องมีความหมาย  ไม่ใช่ชื่อที่ตั้งขึ้นลอยๆ  ไร้ที่มาที่ไป
กลางหาว =กลางท้องฟ้า
บาง คืออะไร ที่อยู่กลางท้องฟ้า  เกี่ยวกับทำเลที่อยู่ของชุมชนหรือเปล่า  ไม่น่าจะใช่
ถ้าหากว่าหาความหมายของ บางกลางหาว ได้ ก็น่าจะเข้าใจความหมายของ"บาง" เมื่อเจ็ดแปดร้อยปีก่อนได้


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 21 ก.ย. 07, 15:26
เจอคำถามอ.เทาชมพูเข้าไป ผมอึ้งไปเกือบสามชั่วโมง  :-\ ชื่ออยู่ตรงหน้ามาหลายสิบปีกลับมองข้ามไปเสียได้ครับ

ผมคุ้นเคยกับวลี "พ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยาง" แต่พอไปค้นเข้าจริงๆ ยังไม่เจอตรงไหนที่บอกว่าพ่อขุนบางกลางหาวเป็นเจ้าเมืองบางยาง จารึกวัดศรีชุมของพระมหาเถรศรีศรัทธา (http://www.sac.or.th/jaruk/) (ใช้บริการฐานข้อมูลจารึกบ่อย ขอขอบคุณทีมงานผู้จัดทำอันอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ  :) ) ความมีแต่ว่า
...เมื่อก่อนพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นไปเมืองบางยาง ให้สิริจัดพลพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด พาพ่อขุนผาเมืองผดาจกันแลกัน...

ดังนั้น พ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยาง ถ้าไม่ใช่ใครสรุปให้เสร็จก็คงเป็นผมที่จำผิดเองแหละครับ

ถึงตรงนี้ขอปิดตำราดำน้ำตามถนัด เป็นไปได้ไหมว่า พ่อขุนบางกลางหาว คือพ่อขุนเจ้าเมืองบางกลางหาว ซึ่งอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ลึกลับพอๆกับ(หรือยิ่งกว่า)เมืองบางยาง เมื่อปราบขอมสบาดโขลญลำพงได้แล้ว พ่อขุนผาเมืองยกเมืองสุโขทัยให้แล้วแถมชื่อพระราชทานจากผีฟ้ายโศธรปุระให้อีก

ตรงนี้ต้องขยาย

ใน wiki คนเขียนบอกว่าชื่อ ศรีอิทรบดินทราทิตย์ (ที่หลัก ๑ เขียนเป็น ศรีอินทราทิตย์ จนฝ่ายยักษ์เอาไปล้อว่าพ่อขุนท่านเขียนชื่อพ่อตัวเองผิด) ความจริงแล้วท่านจงใจตัดออกเพราะ ศรีอินทรบดินทราทิตย์ = ศรี+อินทรปัต+อินทร+อาทิตย์ ตัดอินทรปัตซึ่งหมายถึงเมืองพระนครออกไปกลายเป็น ศรีอินทราทิตย์ เป็นการปลดแอกจากอำนาจขอมเมืองพระนคร

ไม่รู้ว่าความตรงนี้เขาเอามาจากไหน แต่ต้องชมเชยคนคิดว่ามีจินตนาการสูงมาก น่าจะชวนมาร่วมวงกระทู้นี้ อิอิ

เรื่องการยกชื่อให้นี้ น่าคิดว่าพ่อขุนบางกลางหาวอาจจะไม่ใช่มาจากสกุลที่มีอำนาจมากมาย เป็นพ่อขุนเมืองเล็ก ยิ่งถ้าตีความว่าชื่อบางกลางหาวเป็นชื่อเมืองไม่ใช่ชื่อตัวเท่ๆอย่างพ่อขุนผาเมืองแล้ว การยกชื่อศรีอินทราทิตย์ให้ดูจะสมเหตุสมผลขึ้นมาทีเดียว

เพื่อความไม่ประมาท ขอกลับมาคิดในแง่มุมที่ว่าบางกลางหาวอาจเป็นชื่อตัว ลำน้ำที่อยู่บนฟ้า เห็นภาพสองอย่างคือ สายรุ้ง กับทางช้างเผือกครับ อาจเป็นชื่อที่ตั้งตามนิมิต ลึกซึ้งกว่านี้อาจจะต้องไปเปิดไตรภูมิกับโองการแช่งน้ำดูก่อนครับ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ย. 07, 15:55
อ้างถึง
เมื่อก่อนพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นไปเมืองบางยาง ให้สิริจัดพลพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด พาพ่อขุนผาเมืองผดาจกันแลกัน...

มาประท้วงคุณอาชาแทนพ่อขุนบางกลางหาว
ท่านเป็นเจ้าเมืองทั้งที  ยังหาชื่อตัวไม่ได้อีกหรือคะ  ต้องเอาชื่อเมืองมาต่อท้ายตำแหน่ง  น่าน้อยใจแทน

ไม่ใช่หรอกค่ะ  บางกลางหาว ต้องเป็นชื่อตัว  จะเห็นได้จากประโยคข้างบนนี้ 
ที พ่อขุนผาเมืองท่านยังมีชื่อตัว  แยกเห็นชัดจากชื่อเมืองที่ท่านครองอยู่
ไม่งั้นก็ต้องเขียนว่า พ่อขุนบางกลางหาว ขึ้นไปเมืองบางยาง ให้สิริจัดพลพ่อขุนเมืองราด น่ะสิคะ
ถ้าบางกลางหาวเป็นชื่อเมือง ต้องเขียนว่า "เมืองบางกลางหาว"   เหมือน "เมืองบางยาง"




กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 22 ก.ย. 07, 02:49
ผมว่า "บางกลางหาว" บาง ในที่นี้อาจหมายถึง "พื้นที่" ก็ได้มั้งครับ เป็นคำซ้อนความหมาย คือ พื้นที่กลางท้องฟ้า = ท้องฟ้า ???

เคยอ่านที่ไหนไม่รู้ มีคนแปลว่า บางกลางหาว คือ ดวงอาทิตย์ เพราะ ดวงอาทิตย์อยู่กลางท้องฟ้า

อันนี้คิดเล่นๆ นะครับ "บาง" เป็นคำไทโบราณ ที่สูญความหมายไปแล้ว

อะไรที่อยู่กลางหาวได้ ตอนนี้นึกถึง "เมฆ" ไม่รู้เหมือนกันว่า ศัพท์ทางคำเมือง ไทใหญ่ หรือ ลาว เรียก "เมฆ" ว่าอะไร ???

ส่วนดวงอาทิตย์ จะลากเอา "บาง" ว่าจารึกเพี้ยนจาก "วาน" (วัน) ก็กลัวจะถูกตีหัวเสียก่อน  ;D

ตะวัน ก็น่าจะเพี้ยนมาจาก "ตาวัน" (ตา ของวัน ???)

เอาเป็นว่า ผมคิดไว้สองแบบครับ คือ บาง ที่แปลว่า พื้นที่ กับ บาง ที่สูญความหมายไปแล้ว  :-[


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 22 ก.ย. 07, 02:55
ได้ของไท-กะไดมาครับ

Proto-Thai-Kadai: *m-f[a].C
Meaning: cloud
Proto-Zhuang-Tai: *fV.C
Ong Be: ba.4
Lakkia: fa.3

เอาหละสิ ภาษาไทโบราณเรียกเมฆว่า "ฟ้า" เรียก ท้องฟ้าว่า "หาว" ???

ท้องฟ้า ก็คือ "ส่วนท้องของเมฆ" ??? อืม...


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ย. 07, 08:46
อ้างถึง
เมื่อก่อนพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นไปเมืองบางยาง


บางยางในที่นี้น่าจะใช้ในความหมายเดียวกับ บางกอก บางบอน บางรัก บางระมาด ฯลฯ อย่างในปัจจุบัน
ถ้างั้น พอจะเชื่อได้ไหมว่า บาง ในคำว่าบางกลางหาว  ก็ความหมายเดียวกัน 
ดิฉันวิเคราะห์ว่า
๑. เป็นคำนาม  เหมือนคำว่า บาง ที่ใช้ประกอบชื่อพืช สัตว์ ฯลฯ ตั้งเป็นชื่อสถานที่ต่างๆ   ไม่ใช่ บาง ที่ตรงกันข้ามกับ หนา
๒. ลักษณะการวางคำ ใน บางกลางหาว เป็น นาม+คุณศัพท์+นาม  รวมความแล้ว เป็น "นามวลี" คือกลุ่มคำนาม
๓. พิจารณาจากบริบท คือคำว่า กลาง และ หาว   หาวหมายถึงฟ้า  กลาง คือ อยู่ตรงกลาง  ถ้างั้น บาง  ก็ต้องเป็นคำนามของอะไรสักอย่างที่เอาขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้าได้ โดยไม่รู้สึกประดักประเดิดเมื่อแปลออกมาแล้ว
สมมุติว่า บาง แปลว่า ทางน้ำ
ทางน้ำกลางฟ้า  อาจจะหมายถึงสายรุ้ง หรือทางช้างเผือก อย่างที่คุณอาชาผยองว่า  ความหมายนี้ไม่ประดักประเดิด  ออกจะ poetic ด้วยซ้ำ
คนสมัยสุโขทัย poetic ในแบบกะทัดรัด  ไม่อลังการอย่างสมัยอยุธยา  แต่มีความหมายดี
ดูแต่พ่อที่เติมคำว่า คำแหง ให้ลูกชายเพราะรบชนะข้าศึกตั้งแต่อายุ ๑๙ สิคะ   
แต่ถ้าแปลว่า ถิ่น ที่อยู่  เกาะ ละแวก อะไรพวกนี้ แล้วไปอยู่กลางหาวละก็  ประดักประเดิดแน่


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 22 ก.ย. 07, 09:04
อาจารย์ประเสริฐท่านเชื่อว่าเป็น "บ่างกลางหาว"
เป็นการยกย่องว่าเก่งกล้าราวกะเหาะเหินเดินอากาส
ชื่อที่ยกคุณสมบัติสัตว์มาใช้แบบนี้ ทางไทยใหญ่นิยมกัน

หมายความว่า ชื่อนี้น่าจะมาก่อนสำนวน "บ่างช่างยุ" นิ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ย. 07, 09:21
อ้างถึง
อาจารย์ประเสริฐท่านเชื่อว่าเป็น "บ่างกลางหาว"
เป็นการยกย่องว่าเก่งกล้าราวกะเหาะเหินเดินอากาส
ชื่อที่ยกคุณสมบัติสัตว์มาใช้แบบนี้ ทางไทยใหญ่นิยมกัน

อุแม่เจ้า ! (อุทานแบบโบราณให้เข้ากับกระทู้)
แสดงว่าเชื้อสายพ่อขุนรามเป็นไทยใหญ่งั้นหรือคะ
ถ้าใช่อย่างที่ท่านสันนิษฐาน    นึกถึงซุปเปอร์แมนขึ้นมาทันที
ในยุคที่เดินทางกันด้วยช้าง แสดงฝีมือรบกันบนหลังช้าง   การเหาะเหินเดินอากาศจะเป็นความเก่งกล้าในรูปแบบไหน

ป.ล. บ่างตัวที่นิสัยไม่ดี   โด่งดังมาจากอีสป  ไทยใหญ่คงไม่รู้เรื่องด้วยมั้งคะ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 22 ก.ย. 07, 10:21
แหม่....ก้อ ร. 4 ท่านทรงหนังสือออกฟ่างฝาง
จะเพิ่มอีสปเข้าในรีซอร์สของการสร้างจารึก

ไม่เห็นจะไม่ได้ เท่อ็อก
วัฒนธรรมไทยใหญ่ก็ไม่ได้ห่างไกลจากเราเท่าใดเลย วิธีตั้งชื่อเช่นนี้ น่าจะเป็นผลมาจากเบ้าหลอมอันเดียวกัน
เก่าก่อนจะโดนระบบเทวราชากลืนกิน
ขุนบ่างกลางหาว ฟังเป็นผู้ทรงอำนาจดีจัง

อาจารย์ประเสริฐท่านคิดชื่อนี้มาตั้งนาน สมัยที่ท่านขอแก้คำว่า "ท่าว"
ท่านว่า ท่าว แปลว่าด่าวดิ้น ไม่เป็นมงคลเลย บางกลางท่าว นึกได้แต่ตายกลางสนามรบ...เอื๊อก
ท่านก็เลยเพียรอ่านจนคนอื่นเห็นท่าว เป็น หาว
แต่ที่ท่านเสนอบาง เป็น บ่าง

ไม่ยักมีคนคล้อยตาม


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ย. 07, 11:13
คุณพพ.ก็พูดเล่นจนนึกว่าจริง
อ.ประเสริฐท่านดูตัวอักษรจารึก ที่อ่านตอนแรก ท ทหาร บวก ไม้เอก    ท่านว่าไม่ใช่ เป็น ห หีบ ต่างหาก
ตัวที่คิดว่าเป็นไม้เอกนั่นแหละ คือหัวที่สองของ ห หีบ 
กลางท่าว   ฟังไม่รู้เรื่อง  แต่  กลางหาว  ฟังปุ๊บเข้าใจปั๊บว่าหมายความว่าอะไร   เลยรับกันได้ง่าย

แต่บ่างกลางหาว...ฟังแล้ว นึกไปถึงฉายาจอมยุทธในนิยายของกิมย้ง  พวกอาจารย์รุ่นแรกของก๊วยเจ๋ง
เลยยังรับไม่ได้สนิทใจค่ะ
อีกอย่าง บ่างมันร่อนจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปอีกต้นหนึ่งไม่ใช่หรือ      ตัวไหนบินได้สูงถึงกลางหาว?


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 22 ก.ย. 07, 14:23
ชื่อพ่อขุนบางกลางหาว เข้าใจว่าปรากฏอยู่ในจารึกวัดศรีชุมเพียงหลักเดียว แต่ปรากฏอยู่หลายครั้ง
จารึกวัดศรีชุมก็เหมือนจารึกอื่นๆในสมัยสุโขทัยที่ใส่วรรณยุกต์แบบตามสบายพัก (ยกเว้นหลักที่ ๑ หลักเดียว อิอิ) เมื่อคืนผมก็คิดอย่างที่อ.ประเสริฐท่านว่าครับ คือเป็นไปได้ว่าจะมีวรรณยุกต์อยู่ตรงไหนสักแห่งในชื่อนี้เหมือนกัน แต่เราไม่เห็นเพราะคนจารเกิดไม่อยากใส่วรรณยุกต์ตรงนั้น และถ้าจะมี ก็เห็นจะเป็นได้แค่บ่างนี่แหละ

แต่ บ่างกลางหาว เป็นชื่อประหลาดครับ ได้ยินแล้วนึกถึงชื่อพวกอินเดียนแดงอย่าง Sitting Bull หรือ Crazy Horse แหะๆ

เมื่อดูชื่อพ่อขุนท่านอื่นๆแล้วเห็นว่าไม่ค่อยจะเข้ากัน บาลเมือง, รามกำแหง, ลือไทย, เลอไท, ไสสงคราม, งั่วนำถม

ว่าแต่ นาวนำถม ตรงนำถมแปลว่าน่ำท่วม และจะแปล นาว ว่าอย่างไรดีครับ มะนาว? ชักจะเข้ากลุ่มบ่างกลางหาวเหมือนกัน


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ย. 07, 08:47
อ้างถึง
เมื่อดูชื่อพ่อขุนท่านอื่นๆแล้วเห็นว่าไม่ค่อยจะเข้ากัน บาลเมือง, รามกำแหง, ลือไทย, เลอไท, ไสสงคราม, งั่วนำถม
เห็นด้วยค่ะ  บ่างกลางหาว ไม่เข้าชุดกันเลย  ชื่ออื่นออกจะเท่   ฟังดูมีสง่าสมเป็นกษัตริย์
แล้วยังชื่อ พญาเม็งราย  พญางำเมือง ที่ว่าอยู่ในยุคเดียวกับพ่อขุนรามคำแหง อีกล่ะ  ก็ดูจะเข้าชุดกับบาลเมือง ลือไทย  เลอไท  ได้ดี
แม้แต่ขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด  ก็พอจะเข้าชุดกันได้
แต่ "บ่าง" รับไม่ได้จริงๆ  ไม่เข้ากันเลย    มันมีสง่าตรงไหน



กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 23 ก.ย. 07, 11:33
ถ้าดูจารึกปู่สบถหลาน (ฐานข้อมูลจารึกเรียกจารึกปู่ขุนจิดขุนจอด) รายพระนามฝ่ายสุโขทัยเป็นดังนี้

ปู่ขุนจิด ขุนจอด ปู่พระยาศรีอินทราทิตย์ ปู่พระยาบาน ปู่พระยารามราช ปู่ไสสสงคราม ปู่พระยาเลอไทย ปู่พระยางัวนำถม ปู่พระยามหาธรรมราชา พ่องำเมือง พ่อเลอไทย

ชื่อที่มาก่อน ปู่พระยาศรีอินทราทิตย์ คือปู่ขุนจิด ขุนจอด น่าสงสัยว่าปู่ขุนจิด ขุนจอดนี้เป็นบรรพชนของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์หรือเป็นผีบรรพบุรุษในความเชื่อ

แต่ถ้าเป็นชื่อบรรพชน นั่นหมายถึงว่ารุ่นก่อนหน้า พ่อขุนบางกลางหาว (อาจจะเป็นพ่อและอาหรือลุง) ชื่อจิดกับจอด เป็นชื่อสามัญมาก สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานที่ว่าพ่อขุนบางกลางหาวเป็นเจ้าเมืองเล็กๆมาก่อน ไม่ใช่วงศ์กษัตริย์ ชื่อที่ใช้ก็เลยเป็นชื่อสามัญชน

ที่น่าคิดอีกเรื่องหนึ่งคือ จารึกหลักเดียวที่ออกชื่อพ่อขุนบางกลางหาวคือจารึกวัดศรีชุมที่จารโดยมหาเถรศรีศรัทธาซึ่งเป็นวงศ์พ่อขุนผาเมือง ลักษณะเนื้อความนักวิชาการหลายท่าน (ทั้งฝ่ายยักษ์และไม่ยักษ์ซึ่งรวมถึงอ.ขจร สุขพานิช) ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นจารึกฝ่ายค้าน (คุย)ข่มวงศ์พญาลิไทซึ่งเป็นสายพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ โดยในจารึกออกชื่อพ่อขุนบางกลางหาวซ้ำถึง ๖ ครั้ง และบอกว่าพ่อขุนผาเมืองเป็นคนยกชื่อศรีบดินทราทิตย์ที่ได้รับพระราชทานจากผีฟ้ายโศธรปุระแก่พ่อขุนบางกลางหาว

เป็นไปได้ไหมว่าชื่อ บ่างกลางหาว นี่ก็ไม่ได้สง่าจริงๆนั่นแหละครับ จารึกอื่นที่จารโดยฝ่ายวงศ์พ่อขุนบางกลางหาวจึงไม่ออกชื่อนี้เลย เลี่ยงไปใช้ชื่อศรีอินทราทิตย์แทน

แต่ผมยังอยากให้เป็นชื่อสวยๆแบบ บางกลางหาว มากกว่าอยู่ดีครับ  :)

ปล. ตกไปประเด็นหนึ่ง เคยเห็นข้อสันนิษฐานที่ว่าขุนจิด กับขุนจอด เป็นขุนในเมืองจิดกับเมืองจอดที่อยู่ฝั่งพม่าในปัจจุบัน ถ้าข้อสันนิษฐานนี้เป็นจริง พ่อขุนบางกลางหาวจะเป็นเจ้าเมืองบางกลางหาวก็คงไม่ผิดกติกาอะไรนะครับ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 24 ก.ย. 07, 03:13
หลังจากอ่านข้อสังเกตของคุณ CrazyHOrse เกี่ยวกับชื่อ สั้นๆ ธรรมดาๆ แบบ จิด จอด แล้ว ตอนนี้ ผมกลับคิดไปอีกแบบครับ เป็นไปได้หรือไม่ว่า "กลางหาว" เ็ป็น ฉายา ที่ได้รับมาภายหลัง ชื่อเดิมของพระองค์น่าจะเป็น "ขุนบาง" คือ ชื่อ บาง เฉยๆ เหมือน จิด จอด

เพราะสังเกตดูแล้วว่า ชื่อเจ้าเมืองไทโบราณก็มีที่เป็นคำสั้นๆ เกี่ยวกับธรรมชาติ เหมือนกัน เช่น ผา + เมือง, นำถุม (น้ำท่วม - แต่ผมว่าแปลกๆ อยู่ น้ำท่วมไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ดี หรือ เพราะว่าความหมายไทยปัจจุบันเป็นสิ่งไม่ได้ แต่ความหมาย ไทเดิม "ท่วม" อาจหมายถึง อุดมสมบูรณ์ ??? น้ำท่วม จึงหมายถึง น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ???)

หรือ บางกลางหาว จะหมายถึง "น้ำฝน" ???

เดากันเข้าไป อิอิ  8)


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 ก.ย. 07, 12:13
ถ้า นำถม แปลว่า น้ำท่าอุดมสมบูณ์ ก็สมเหตุสมผลดีครับ เพราะสุโขทัยไม่ใช่เมืองน้ำท่วมทุกปีอย่างอยุธยา เรื่องน้ำท่าสมบูรณ์คงเป็นเรื่องที่คนคาดหวังกันมาก

แต่ถ้าแปลว่าน้ำท่วมอย่างที่เคยแปลกันมา ก็ออกไปทางการตั้งชื่อตามนิมิต คืออาจเกิดในปีน้ำท่วม (ซึ่งไม่บ่อย) ครับ

ทีนี้ชื่อ บางกลางหาว ลองแบ่งวรรคตอนอีกแบบ บางกลาง-หาว

ข้อนี้ผมแปลกใจอยู่เรื่องข้อสันนิษฐานว่านครไทยคือเมืองบางยาง สงสัยว่าสมเด็จดำรงท่านใช้หลักฐานอะไรมารองรับข้อสันนิษฐานนี้ ที่แปลกใจอีกอย่างคือที่นครไทยนี้มีวัดอยู่วัดหนึ่งชื่อวัดกลาง ไม่ทราบว่าเป็นชื่อใหม่หรือเก่าขนาดไหน

ค้นในเน็ตไปเจอ คคห.ของผู้ใช้นามว่า "คนนครไทย" ในเว็บนี้ http://wikimapia.org/1141473/th/ (http://wikimapia.org/1141473/th/) ขอยกมาเลยนะครับ
ผมขอบอกกล่าวก่อนว่า ชื่อพ่อขุนบางกลางท่าว คือ "ท่าว" แน่นอน ไม่มีคำว่า "หาว" เนื่องจากว่าภาษานครไทยเป็นภาษาคล้ายกับภาษาลาวกลาง ซึ่งภาษานี้จะอยู่ในกลุ่มติดเวียงจันทร์ เช่น เลย หนองคาย เป็นต้น คำว่า ท่าว เป็นคำเรียรบุรุษผู้ชาย แต่เนื่องจากภาษาในปัจจุบันถูกกลืนไปมากแล้ว คนรุ่นหลังจึงไม่เข้าใจ

เข้าใจว่า ท่าว ของคุณคนนครไทยคือคำเดียวกับท้าว แต่ถ้าเป็น บางกลางท่าว หรือ บางกลางท้าว ก็แปลก น่าจะเป็นท้าวบางกลางมากกว่าครับ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 ก.ย. 07, 12:19
กลับไปที่บางกอกอีกครั้ง ล่าสุดผมสอบกำสรวลสมุทรใหม่ ข้อที่ว่าเส้นทางกำสรวลฯไม่ผ่านปากคลองบางกอกใหญ่นั้น เห็นจะไม่ใช่แล้วครับ
อ.มานิต เข้าใจว่าเรือใบขทิงทองล่องมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าแล้วเลี้ยวขวาเข้าคลองด่าน ผ่านบางนางนอง เข้าคลองดาวคะนองไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางผึ้ง(บางพึ่ง)

ผมงมกับเส้นทางตรงนี้อยู่นาน คิดว่าอ.มานิตสับสนเพราะไปยึดตำบลที่ชื่อบางนางนองในปัจจุบันนี้ ซึ่งอยู่ในคลองด่าน แต่ความจริงเรือขทิงทองล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาโบราณนี่แหละไม่ได้เลี้ยวเข้าคลองด่านแต่อย่างใด จนมาผ่านบางนางนองที่ปากคลองดาวคนองปัจจุบัน แล้วถึงผ่านบางผึ้งครับ เป็นอันว่าเรือใบขทิงทองแล่นผ่านปากคลองบางกอกใหญ่ และปากคลองบางกอกในจินตนาการของผมโดยไม่กล่าวถึงสักกะแอะเลย


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 24 ก.ย. 07, 13:49
ผมจำได้ว่า เสฐียรโกเศศ กับสมเด็จฯ ครู (กรมพระนริศฯ) เคยคุยกันเรื่องชื่อพ่อขุนท่านนี้ เจ้าคุณอนุมานราชธนท่านมีงานอดิเรกคล้ายคุณ Hotaฯ คือว่างๆ ก็สืบค้นรากคำตามหลักนิรุกติศาสตร์ เทียบคำไทยกับคำในภาษาต่างๆ รอบบ้านเราว่าอาจจะได้เค้ามาจากภาษาไหนได้มั่ง และดูเหมือนท่านจะสนใจภาษากวางตุ้งหรือจีนทางใต้อื่นๆ อยู่มากด้วย

พระนาม บางกลางท่าว หรือบางกลางหาว นั้น ผมจำพระมติสมเด็จฯ ครูไม่ได้ว่าทรงสันนิษฐานว่าอะไร แต่จำได้ว่าท่านเจ้าคุณอนุมานราชธนทูลเสนอความเห็นว่า บาง นั้น น่าจะเป็นคำที่แปลว่าสว่าง จำไม่ได้ว่าท่านโยงกับศัพท์ไหนบ้างในภาษาไหน แต่ดูเหมือนจะพูดถึงภาษาไทใหญ่ด้วย และพูดถึงจีนกวางตุ้งด้วย เหมือนว่าศัพท์ที่เทียบได้กับบางในกวางตุ้งนั้นจะเป็น หม่าง หรือยังไงนี่แหละ ผมจำไม่ได้ แต่แปลว่าสว่าง (ตรงกับ หมิง ในจีนกลาง? ต้องหาหนังสือของท่าน 1 องค์กับ 1 ท่านนั้นมาอ่านอีกทีครับ)

ถ้าบาง ในที่นี้แปลว่าสว่าง ก็เข้าเค้ากับที่ใครเล่าไว้ข้างบนว่าพระนามพ่อขุนแปลว่าพระอาทิตย์ คือสว่างกลางฟ้า และไม่ใช่คำเดียวกับบางที่เป็นคำเรียกตำบลริมน้ำ จะต้องเป็นอีกคำหนึ่ง


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 24 ก.ย. 07, 20:32
คุณนิลฯ ครับ อันที่จริงผมก็ได้แรงบันดาลใจมาจากการโต้ตอบของท่านทั้งสองนั่นแหละครับ อิอิ  ;D โดยเฉพาะหนังสือชุด "บันทึกความรู้ต่างๆ"

ก่อนหน้านั้น ผมประทับใจกับพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ซึ่งแต่ละคำสาวรากศัพท์กันสุดๆ
มาตอนนี้ก็ประทับใจกับพจนานุกรมของฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน

กลับไปนี้คงต้องทำบ้างแล้ว อิอิ 8)

ุ-----------------------------------------------------

เมื่อคืน ก่อนจะหลับ "เกิดนิมิต" (  ;D ) คิดไปว่า ถ้า "บาง" คือ สายน้ำเล็กๆ ที่ไหล

ดังนั้น สายน้ำเล็กๆ "ที่ไหล" อยู่กลางท้องฟ้าคืออะไร กลางวันคงไม่มี (คุณ CrazyHOrse เสนอว่า "รุ้ง") แต่กลางคืน คุณ CrazyHOrse เสนอไปแล้ว "ทางช้างเผือก" ผมกลับคิดถึงอีกอย่างคือ "ดาวตก" เพราะ ดาวนั้นวิ่งไป เหมือนสายน้ำีที่ไหลผ่านไปในท้องฟ้ายามราตรี

เดา อย่างเดียวเลย อิอิ   :-[


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 ก.ย. 07, 21:25
ถ้าเป็นนิมิต ก็ไม่น่าจะเป็นอะไรที่มีให้เห็นได้ทุกวัน ทางช้างเผือกจึงไม่น่าใช่

แต่ดาวตกของคุณ Hotacunus ทำให้ผมนึกถึง ดาวหาง

เข้าเค้าอย่างมาก


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ย. 07, 21:27
คุณม้า คุณนิล และคุณโฮ ฯ น่าจะมีอารมณ์กวีหรือศิลปินกันทั้ง ๓ คนเลยนะคะ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 25 ก.ย. 07, 09:52
ยังสงสัยอยู่ครับ

มติของคุณ CH นั้นตั้งอยู่บนฐานว่า บางในชื่อตำบลกับบางในพระนามพ่อขุนนั้นบางเดียวกัน ซึ่งจะเป็นยังงั้นก้ได้ ไม่ใช่ก็ได้ ในภษาไทยปัจจุบันนี้ บาง แปลได้หลายอย่าง อาจจะมาจากคนละทางหรือที่จริงเป็นคนละคำแต่รูปหรือเสียงมาพ้องกันเข้า บางแปลว่า ตำบลริมน้ำอย่างที่เรากำลังสนใจ ที่ปรากฏในชื่อบางกอกนี้ก้ได้ แปลว่าไม่หนา คือ บางๆ ก้ได้ แปลว่า ไม่ทั้งหมด ไม่ทุกอัน ไม่ทุกคน ก้ได้เช่น บางสิ่งบางอย่าง บางคน

ไปค้นหนังสือรวบรวมจดหมายโต้ตอบของท่านเจ้าคุณอนุมานฯ ที่มีไปทูลสมเด็จฯ ครู ได้ความว่า ท่านเจ้าคุณค้นเจอว่า บาง คำไทอาหม ว่า สว่างเป็นประกาย และท่านสันนิษฐานว่าจะเกี่ยวกับคำว่า หมิง คำจีน ว่าสว่าง ดังนั้น บางกลางท่าว ถ้าเป็นท่าว ท่านแปลของท่านว่า พ่อขุนผู้สว่างอยู่ท่ามกลางในบรรดาท้าวทั้งหลาย หลังจากนั้นนาน จึงมีท่านผู้เสนอความคิดว่า คำหลังน่าจะเป็นหาว ก็ยังได้ความอยู่ดีว่า บางกลางหาว พ่อขุนผู้สว่างอยู่กลางฟ้า

เสฐียรโกเศศท่านตั้งข้อสังเกตต่อไปด้วยว่า ลูกหลานพ่อขุนบางกลางท่าว สืบลงมาเป็นวงศ์พระร่วง ก็ร่วงนั้นแปลว่าอะไรเล่า เปลว่ารุ่งเรือง มีแสงสว่างใช่หรือไม่?

ผมขอตั้งข้อสังเกตต่อว่า ถ้าสมมติให้เป็น บางกลางหาว ซึ่งมีบางท่านตีความว่าพระอาทิตย์ สว่างกลางฟ้า ก็ลุกหลานท่านอีกองค์หนึ่งไม่ใช่หรือที่ทรงพระนาม พ่อขุนศรีอินทราทิตย์? เข้ากันดี

ขอยกชื่ออีกเมืองหนึ่ง ซึ่งสมเด็จฯ ครูกับท่านเจ้าคุณก็คุยกันไว้เหมือนกัน คือหลวงพระบาง พระบางซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองนั้นจะแปลว่าอะไรผมก้ไม่ทราบ แต่ถ้ารับมติของท่าเจ้าคุณว่าเป็นพระสว่างก็เข้าเรื่องดี พระสำคัญทางฝั่งลาวและไทยอีสานอื่นๆ ที่ผมจำได้มีสามองค์ หลวงพ่อพระสุก พระเสริม และพระใส สุก ใส ก้แปลว่าสว่างได้ พระบางก็อาจจะเข้าชุดนี้ได้

ส่วนบางที่เป็นชื่อตำบลริมน้ำนั้น ท่านเจ้าคุณสันนิษฐานว่าจะมาจากรากศัพท์คำเดียวกับ เหมือง ครับ ในที่นี้ไม่ใช่เหมืองที่มีแร่ แต่เป็นเหมืองฝาย หรือในความหมายว่าทางน้ำ หรือระบบชลประทานอย่างหนึ่ง (ผมคิดฟุ้งต่อไปว่า แล้ว "เมือง" town มาจากคำว่าอะไร?)

เห็นได้ว่า บ กับ ม นั้นเพี้ยนไปมาหากันได้
เสนอมาให้พิจารณาหลายๆ ทางครับ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 25 ก.ย. 07, 11:29
คิดถึงพระบางล้านช้างเหมือนกันครับ แต่แปลไม่ถูก

แม้แต่บางที่แปลว่าไม่หนานี่ ผมเข้าใจว่าไม่มีใช้ในภาษาเหนือ (อีสานมีไหม?)

ถ้าจะแปลบางว่าสว่าง ก็เหนื่อยตรงที่จะอธิบายอย่างไรว่าภาษากวางตุ้งหรือไทอาหมมาโผล่ที่สุโขทัยในช่วงเวลานั้นได้ยังไง เพราะแยกทางกันมานาน และระยะทางก็ไกลกันเกินไปแล้ว ลำบากใจอยู่ครับ

ที่สำคัญ ชื่อศรีอินทราทิตย์ จารึกหลัก ๒ ที่เป็นจารึกหลักเดียวที่ออกพระนามพ่อขุนบางกลางหาว บอกว่าเป็นชื่อที่พ่อขุนผาเมืองได้รับจากกษัตริย์เขมร แล้วยกให้พ่อขุนบางกลางหาวอีกที แปลว่าชื่อศรีอินทราทิตย์ไม่ได้ตั้งตามบางกลางหาวครับ

จะว่าไปชื่อพระบางอาจะเป็นกุญแจไขปริศนาได้จริงๆครับ

ส่วนคำว่าเมือง ม กับ บ กลายกันได้ อันนี้ผมเห็นด้วยครับ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าทางลาวใช้คำว่าเมืองเป็นปกติ แต่ถ้าผมเข้าใจไม่ผิดลาว(รวมอีสานบ้านเฮา)ไม่มีคำว่าบางนะครับ อย่างชื่อพระบางยังงงกันอยู่เลยว่ามาจากไหน

กลายจากคำไม่มีความหมายเป็นคำที่คุ้นเคยไม่ใช่เรื่องแปลก แต่กลายจากคำในชีวิตประจำวันเป็นคำที่ไม่มีความหมายอาจจะเป็นไปได้ยากหน่อยครับ (แต่ก็เป็นไปได้)


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 25 ก.ย. 07, 11:53
ลองค้นจากฐานข้อมูลไท-กะได (http://starling.rinet.ru/cgi-bin/query.cgi?basename=\data\thai\kdaiet&root=config&morpho=0)

Proto-Thai-Kadai:
Meaning: canal, ditch
Proto-Zhuang-Tai: *hmɨaŋ.A

น่าคิดอยู่ครับ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 26 ก.ย. 07, 01:24
เรื่องการเพี้ยน "ม" ไป "บ" นี้ เห็นจะมีคำว่า "หมาก" กับ "บัก" มั้งครับ

อย่างมะละกอ ทางอีสานจะเรียก "บักหุ่ง" ซึ่งผมเข้าใจว่าตรงกับคำภาคกลางว่า "หมากหุ่ง" ... อันนี้ไม่ยืนยันนะครับ

ทางเขมรเรียก มะละกอ ว่า "ลหุง" ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า "หุ่ง" กับ "ลหุง" มันมาจากคำเดียวกันหรือเปล่า ???

คำว่า "บักหำน้อย" ก็น่าจะตรงกับ "ลูก (หมาก) หำน้อย" ลูกหำ ก็คือ ไข่ ทางใต้มักเรียก ไข่นุ้ย

นุ้ย นี่ผมเข้าใจว่าคือ น้อย ดังนั้น "บักหำน้อย" กับ "ไข่นุ้ย" ก็น่าจะมีความหมายเดียวกัน



กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: ศรา_อีปราส ที่ 12 พ.ย. 07, 15:54
ผมว่าน่าจะใช่ทั้ง2ข้อนะครับ แต่ผมว่าคงเรียกว่าบางกอกมาแต่อยุธยาแล้วล่ะครับ

ก็บ้านผมอยู่แถวๆคลองลัดบางกอก(ส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน) ป้ายเขียนที่มาบอกว่าคลองนี้ขุดตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วครับ แต่เหตุผลใดวันหลังมาว่ากันใหม่อีกที


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 12 พ.ย. 07, 21:24
ผมอยากจะเป็นชาวสยามเพียงเหตุผลเดียว เพราะพระราชดำรัสว่าว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อความสุขของประชาชนชาวสยาม"


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 12 พ.ย. 07, 22:02
ตอบผิดกระทู้ครับ..ขอโทษ
ความสุข ที่ถูก(ท้วง) คือ ประโยชน์สุขครับ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 13 พ.ย. 07, 02:27
             ในภาษาอิสานซึ่งหมายถึงที่ใช้ทั่วไปและในวรรณกรรมโบราณ  ปรากฏคำว่า "บาง" ในลักษณะคุณศัพท์ครับ  แต่จะใช้กับคน หมายถึงคนร่างเล็ก  แม้แต่"พระบาง"  เป็นชื่อเรียกพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ที่เป็นศิลปะเฉพาะของลุ่มน้ำโขงที่มีลักษณะเป็นองค์บอบบางเอวเล็กๆ  พบเห็นมากครับ  แล้วพระบางที่ฝั่งโน้นที่เรียกหลวงพระบาง  เป็นพระบางองค์ใหญ่ครับ
                 คำว่าบางในความหมาย  ชุมชนที่อยู่ริมน้ำ  ไม่มีแน่นอนในภาษาล้านช้างหรืออิสาน 
"พ่อขุนบาง"  ถ้าแปลในภาษาที่ผมใช้ประจำแบบไม่คิดมาก  ต้องแปลว่า เจ้าร่างเล็ก 
"กลางท่าว"  กลางเหล่าชายทั้งหลาย  ท่าวแปลว่า นาย ,ผู้ชาย  คำอิสานหรือล้านช้าง ไม่มีเสียงตรี

               "ผาเมือง"   แปลว่า  ตกมาสู่เมือง      นี่ว่าตามภาษาครับแต่ผมแปลแล้วก็ยังแปร่งๆอยู่ดี


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 07, 11:00
ได้คำสันนิษฐานเพิ่ม น่าสนใจมาก
บางกลางท่าว  = ชายร่างเล็กท่ามกลางชายทั้งหลาย
ถ้าแปลงั้นจริง   ไม่น่าจะเป็นชื่อที่ตั้งตั้งแต่เกิด  เพราะพ่อไม่น่าจะรู้ว่าทารกชายคนนี้ ตัวจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหนเมื่อเติบโตขึ้น
ถ้าชื่อแปลอย่างนี้จริงน่าจะเป็นสมญา มากกว่า  แสดงว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ต้องรูปร่างบอบบาง

ผาเมือง  = หน้าผาของเมือง


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 14 พ.ย. 07, 01:09
          เพียงแต่แปลนอกกรอบที่คิดดูน่ะครับ  แต่ไม่ใช่มั่วนะครับเป็นภาษาที่ใช้จริงๆแม้ในปัจจุบัน คงสูตรเดียวกับท่าน Hota ครับ

ผา  นอกจากจะแปลว่า หินผา  หน้าผา แล้ว
ยังแปลว่า  ตกเข้ามาสู่   เช่น   ฝนผาเข้าเฮือนบ่ปิดป่องบ่(ฝนตกเข้ามาในบ้านไม่ปิดช่องหรือ)
แปลว่า อาวุธที่ใช้ยิงสัตว์  บักท่าวถือผาเข้าดง(ไอ้หนุ่มถือผาเข้าป่า)

อืมมมม  เอาละสิ ทีนี้  ผาเมือง = ตกเข้ามาสู่เมืองหรือผ่านเมือง
                             ผาเมือง = อาวุธของเมือง
                             ผาเมือง = หน้าผาของเมือง หรืออาจจะเป็นกำแพงเมือง

เหมือนนวนิยายเรื่องหนึ่งมีนางเอกคนหนึ่งชื่อไพเราะมาก  ผมจำชื่อเรื่องไม่ได้  แต่จำได้ว่าชื่อ "แพงเมือง" (ถ้ามีลูกสาวว่าจะตั้งชื่อนี้...อิอิ)
แพงเมือง  แปลตามภาษา  ต้องแปลว่า  รักเมือง หรือ หวงเมือง


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 พ.ย. 07, 02:00
ในจดหมายเหตุทรงตั้งเจ้าเมืองครั้งรัชกาลที่ 1 ร่างสารตราจะขึ้นต้นคำสอนว่า
ขุนมีสองพวก คือขุนผา และขุนมาร

ขุนมารคงทราบแล้วว่าหมายถึงอะไร แต่ขุนผา ที่ตรงข้ามกับขุนมาร คิดๆ ไป ก็น่าจะนึกออกมั้ง....
ผา กร่อนมาจากปัญญา ขุนผาก็คือกษัตริย์นักปราชญ์ครับ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 15 พ.ย. 07, 16:31
กลางท่าว น่าจะตกไปแล้วนะครับ อ.ประเสริฐอ่านใหม่ พบว่าเดิมอ่านไว้ผิด ต้องเป็น กลางหาว ครับ

จะว่าไป ถ้าเป็น กลางท้าว ถึงทางอีสานจะออกเสียง ท่าว ก็ตาม แต่ก็ต้องเขียนว่า ท้าว อยู่ดีครับ แต่ออกเสียงต่าง แต่คำเดียวกันครับ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 16 พ.ย. 07, 01:02
              ท่าน CH พูดถึงเรื่องนี้ก็โดนผมพอดีเลยล่ะครับ  ผมตะขิดตะขวงใจมานานแล้ว  ไม่มีเหตุผลที่จะต้องมาเขียนว่า "ท้าว"  แม้แต่นิดเดียว(ถึงแม้ว่าพากันเขียนแบบนี้แบบว่าผ่าไปเขียนให้บ้านพี่น้องเราอีก เห็นเวลาพวกท่านเหล่านั้นมาแข่งกีฬา)  สงสัยคงจะติดคำว่า "คุณท้าว" ในภาษาไทยมากไป  อ่านอย่างไหนผมอยากให้เขียนกันอย่างนั่น  อนุชนจะได้ไม่สับสน  ไอ้ภาษาพวกนี้ไม่มีรากศัพท์บังคับว่าจะต้องเขียนแบบนี้  เช่น "เว่า"  แปลว่าพูด  ก็พากันเขียนว่า "เว้า"  ไม่รู้โค้งเว้าอะไรกัน  ดีนะที่คำว่า "อีหลี" ไม่ไปเขียนว่า อีลี้ อีลี่ อ่านไงเขียนงั้นเถอะครับ  แล้วไม่ต้องมาว่าเขียนผิดด้วยเพราะตรงตามหลักภาษาไทยเป๊ะ "บักท่าว" แปลว่า ไอ้หนุ่ม  ถ้าเราอ่านแบบนี้คนอีสานเก็ททันที..........อิอิ
                แต่มีหลายคำที่เขียนถูกขอชื่นชมด้วยความซาบซึ้ง เช่น "เสี่ยว"  "แซ่บ" ฯลฯ  อันนี้เป็นเพียงความคิดเห็นนะครับ  หวังว่าท่าน CH คงไม่ถือ.... ;)


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 พ.ย. 07, 11:35
เรื่องนี้มีเหตุอยู่ครับคุณ Bana

ไม่ว่าภาษาไหนในโลก ยากนักที่จะให้ทุกคนพูดออกมาได้เหมือนกันหมด มันจะต้องมีสำเนียงถิ่นที่จะมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ภาษาไทยเราก็ไม่อยู่ในข้อยกเว้นแต่อย่างใด

สำเนียงถิ่นนี้อาจต่างได้ตั้งแต่เสียงสระ เสียงพยัญชนะ จนไปถึงเสียงวรรณยุกต์อย่างที่ปรากฏมากในภาษาไทยนี่แหละครับ

ถ้าสังเกตให้ดี เสียงวรรณยุกต์ไทยกรุงเทพห้าเสียงนี้ ไม่สามารถแทนเสียงวรรณยุกต์ของสำเนียงถิ่นบางสำเนียงได้ด้วยซ้ำไป ดังนั้นจะเขียนโดยยึดเอาเสียงของวรรณยุกต์ไทยกรุงเทพเป็นหลักย่อมมีปัญหาแน่ครับ

นอกจากเรื่องแทนเสียงได้ไม่ครบแล้วยังมีปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ คำเดียวกันจะต้องเขียนแตกต่างกันไปอีกจนวุ่นวายไปหมดแน่

สุดท้ายแล้วก็ต้องจบเหมือนกับที่ภาษาอื่นๆเขาทำกัน คือเขียนเป็นมาตรฐาน แต่อ่านออกเสียงตามสำเนียงถิ่น ซึ่งค่อนข้างจะมีระบบอยู่แล้ว

ส่วนจะมีระบบยังไงขอให้ไปดูลิงก์นี้ครับ น่าจะไขข้อข้องใจได้ครับ

http://thaiarc.tu.ac.th/dialect/

แต่ถ้าสนใจจะลงลึกไปถึงชนกลุ่มน้อยด้วย มีหนังสือ "ภาษาไทยหลากหลายสำเนียง" ของ อ.ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ เข้าใจว่าน่าจะยังมีขายที่ศูนย์หนังสือจุฬา เพราะหนังสือแบบนี้ไม่ค่อยจะมีคนสนใจซื้อสักเท่าไหร่ครับ  :(


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ย. 07, 22:12
เพื่อนที่เป็นนักภาษาศาสตร์ เคยบอกว่า สำเนียงนครปฐม มีเสียงวรรณยุกต์ ๖ เสียง ไม่ใช่ ๕ เสียงอย่างคนกรุงเทพ
ดิฉันเขียนสัญลักษณ์ไม่เป็น   แต่เวลาได้ยิน รู้สึกว่าเป็นเสียงที่อยู่ระหว่างเสียงสามัญกับเสียงเอก   ไม่รู้จะใช้เครื่องหมายอะไรกำกับดี


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 17 พ.ย. 07, 15:48
สำเนียงใกล้ๆสุพรรรณหรือกาญจนบุรีใช่ไหมคะ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 18 พ.ย. 07, 09:52
เรียนคุณ Bana ครับ ขออนุญาตเพิ่มเติมคำว่า กลางหาว ครับ

"กลางหาว" ศัพท์นี้มีใช้จริงในภาษาไทใหญ่ครับ (ก๋างหาว) แปลว่า "กลางท้องฟ้า" หรือ "ท้องฟ้า" ก็ได้แล้วแต่บริบท ส่วน "บาง" จะหมายถึงอะไรนั้น ก็ยังขบไม่แตกครับ  ???

ส่วน "ผาเมือง" ผมตีความว่าหมายถึง "กำแพงเมือง" ผมก็ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวกันหรือไม่นะครับ ในตำนานไทยเก่าๆ มีชื่อเมือง ชัยปราการ วชิรปราการ (กำแพงเพชร) หรือแม้แต่เมืองกำแพงแสน ที่นครปฐม ส่วนทางล้านนา เห็นว่าคำว่า "เวียง" หมายถึง เมืองที่มีกำแพง ผมก็เลยค่อยข้างเชื่อว่า ผาเมือง น่าจะแปลว่ากำแพงเมือง แต่ "งำเมือง" ไม่รู้จะแปลได้ว่า "ผู้ปกป้องเมือง" ได้หรือเปล่า อิอิ (งำ น่าจะมีความหมายทำนองเดียวกับ ครอบงำ)

อีกประการหนึ่ง คำว่า "กำแพง" นี้ เป็นคำเขมรครับ ส่วนคำไทเดิม มักจะเอาคำสั้นๆ ง่ายๆ มาต่อกันเป็นความหมายใหม่ อย่างที่ผมเพิ่งอ่านเจอคือ ในภาษาไทใหญ่ เค้าเรียก "จิตใจ" ว่า "ต้นใจ๋" คือ เป็นต้นของใจ คงทำนองเดียวกันกับ "โหใจ๋" คือ เป็นหัวของใจ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 07, 20:43
งำ  แปลได้อย่างหนึ่งว่า เก็บ  (ในความหมายว่า รักษา   ไม่ใช่ก้มลงเก็บของ)
เรายังเห็นร่องรอยในคำว่า เก็บงำ ครอบงำ
มีราชทินนามขุนนางไทยตั้งแต่อยุธยา  ว่า ขุนงำเมือง  สมัยรัตนโกสินทร์ เป็น พระงำเมือง
คำว่า ผา    จะแปลว่า หน้า ได้ไหมคะ  อย่าง หน้าผา 

อ้อ มีอีกคำ ปืนผาหน้าไม้
ผาเมือง  อาจแปลอย่างคุณพิพัฒน์แปล
หรือแปลว่า หน้าเมือง  ด่านหน้าของเมือง  ขุนผาเมืองจะหมายถึงเจ้าหอหน้าหรือวังหน้าของเมืองได้หรือเปล่า
หรือแปลตรงๆว่า หน้าเมือง


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 19 พ.ย. 07, 02:02
           ผา  อาจมาจากคำว่า ผญา  แปลว่า ปัญญา  เพราะล้านช้างกับล้านนาจะใกล้เคียงกันมาก  ส่วนจะมาจาก ผา ม่อน ดอย  แล้วแปลว่า หน้าผาเมือง  แต่แปลว่า กำแพง  แบบท่าน Hota ว่ามาดูเข้าท่าเหมือนกันครับ  ผมพยายามหาเหมือนกันแต่ไม่เจอเลย

              งำ  มาจาก   ครอบงำ    งึมงำ   เก็บงำ  แล้วมาขยายคำว่าเมือง  เมืองเงียบ  เก็บเมือง(รักษาเมือง)
 
           แบบผมนะ(เดา) เหมือนท่าน Hota อิอิ  งำ  น่าจะมาจากคำว่า ฮำ  แปลว่าพร่างพรม(อาการของฝน)  แปลว่า คิดถึง  อันนี้เป็นศัพท์ทางล้านช้างครับปัจจุบันไม่ค่อยได้ใช้กัน.... ;)


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 พ.ย. 07, 14:55
จากลิงก์ที่ผมยกมาก่อนหน้านี้ http://thaiarc.tu.ac.th/dialect/ (http://thaiarc.tu.ac.th/dialect/)

ดูจากกล่องวรรณยุกต์จะเห็นได้ครับว่าภาษาไทยมาตรฐานที่มีเสียงวรรณยุกต์ ๕ เสียงนี้ น่าจะมีจำนวนเสียงน้อยที่สุดแล้ว
สำเนียงถิ่นภาคกลางบางจังหวัดมีเสียงเพิ่มเข้ามาคือเสียง A4 ในกล่องวรรณยุกต์ รวมเป็น ๖ เสียงอย่างที่อ.เทาชมพูว่าครับ

สำเนียงถิ่นภาคอื่นๆ บางถิ่นมีเสียงวรรณยุกต์เยอะกว่านี้อีกหลายเสียงเลยครับ

เห็นไหมล่ะครับคุณ bana ถ้าขืนเขียนตามเสียงวรรณยุกต์กรุงเทพคงวุ่นวายกันแน่เลยครับ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: otto@noblepark.org ที่ 13 ก.ค. 09, 22:58
ขอร่วมวงสนทนาด้วยคนนะครับ (จะเป็นแนวมั่วนิ่มนะครับ)

ผมสงสัยคำว่า koc ในชื่อ Samkoc และ Bankoc ที่ปรากฏบนแผนที่ฉบับเดียวกันน่าจะออกเสียงเหมือนกัน
Samkoc ทำให้ผมนึกถึง สามโคก เลยพาลคิดไปว่า koc ในคำ Bankoc จะออกเสียงเป็น โคก ด้วยหรือไม่
และเมื่อ koc ถูกตัดคำออกไปแล้ว ตัว k ไม่น่าจะเข้ามาอยู่ในคำว่า Ban อีก เลยเดาเอาว่า Ban น่าจะออกเสียงเป็น บ้าน ครับ
แต่พอเอามารวมกันอ่านว่า บ้านโคก อันนี้ไม่รู้แล้วว่าจะกลายมาเป็น บางกอก ได้อย่างไร

ถ้าผิดพลาดและทำให้กระทู้ปั่นป่วน ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ครับ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 31 ส.ค. 09, 03:14
ตอบคุณ Otto ครับ

ทั้งคำว่า Samkoc และ Bankoc เป็นคำที่ฝรั่ง "ได้ยินอย่างไรเขียนไปอย่างนั้น" ครับ เข้าใจว่าคงมาจากแผนที่ของ เดอ ลาลูแบร์ ทูตฝรั่งเศส

คือ เอาเป็นหลักในการสืบค้นไม่ได้ ถือเป็นหลักฐานชั้นรองแล้วครับ (คือ ถูกบันทึกด้วยการออกเสียงแบบฝรั่ง)

หลักฐานที่ดีที่สุดก็คือพงศาวดารไทยนี่แหละครับ เก่าที่สุดที่มีน่าจะเป็นพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา

ซึ่งก็ยืนยันได้ว่าคำว่า "บางกอก" ก็คือ "บางกอก"

ผมก็เคยอ่านผ่านตามาเหมือนกันครับ เกี่ยวกับเรื่องนี้ บางท่านก็ว่ามาจาก บ้านเกาะ หรือ บางเกาะ โดยแกะคำจากแผนที่ฝรั่ง

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ฝรั่งจดเพี้ยนมีเยอะแยะครับ
 



กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 31 ส.ค. 09, 03:30
เดอ ลาบูแบร์ เองก็บันทึกไว้ผิดครับ คือ ท่านบอกว่า "ชาวสยามเรียกเมือง Bancok ว่า เมือง Fon ซึ่งเราเองก็ไม่รู้ว่า คำว่า Bancok มาจากไหน"
นอกจากนี้ก็ตั้งข้อสังเกตว่า "มีชื่อคำสยามจำนวนมาก (คงหมายถึงชื่อสถานที่) ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า Ban ซึ่งแปลว่า "บ้าน" "

ตรงนี้ จะเห็นว่า เดอ ลาบูแบร์ ก็คาดเดาเอาตามที่ตัวเองได้ยินมา และยังสับสนระหว่าง "ธนบุรี" กับ "บางกอก" อีก ว่าเป็นเมืองเดียวกัน

เมืองฟน (หรือ ฟง) ก็คือ เมืองธน (บุรี) นั่นเองครับ แต่เดอ ลาบูแบร์ ฟังเพี้ยนเป็น ฟน (หรือ ฟง)

ดังนั้น เรื่องการใช้เอกสารต่างชาติมาสืบค้นชื่อไทย ที่ยังคงมีการใช้อยู่ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ก็ต้องระวังครับ

มิเช่นกัน ก็อาจกล่าวได้ว่า เดิม ธนบุรี ชื่อ เมืองฟง หรือ เมืองฟน ได้เช่นกัน  ;D


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 31 ส.ค. 09, 03:36
ช่วงนี้ อ่านจารึกวัดศรีชุมครับ เลย ไปเจอวลี

"เสด็จไปกลางหาว" ดังนั้น คำว่า กลางหาว มีแน่นอนครับ ซึ่งอันที่จริงก็อยู่ในจารึกหลักเดียวกันกับชื่อ พ่อขุนบางกลางหาวครับ

ดังนั้น จะเป็น ท่าว หรือ ท้าว ไม่ได้เด็ดขาด เพราะในจารึกหลักเดียวกัน มีคำว่า กลางหาว (ที่ไม่ใช่ชื่อ) อีกสองแห่ง

คำว่า "เสด็จไปกลางหาว" แปลว่า "ลอย" ครับ เป็นบทที่บรรยายถึงพระธาตุแสดงปฏิหาริย์ลอยขึ้นไปบนท้องฟ้า
อีกวลี "หมุนไปกลางหาว" แปลว่า "หมุนลอยไป" เป็นบทบรรยายตอนพระธาตุลอยเสด็จกลับ

ไปกลางหาว ก็คือ ไปอยู่ในท่ามกลางท้องฟ้า นั่นก็คือ ลอย นั่นเองครับ


กระทู้: ชื่อ "บางกอก" มาจากไหน (อีกแล้ว)
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 17 ก.ย. 09, 11:14
อ่านตามด้วยความมันครับ เข้าใจมั่ง ไม่เข้าใจมั่ง(ที่จริงอยากจะเขียนว่า รู้เรื่องมั่ง ไม่รู้เรื่องมั่ง น่ะครับ) แต่สนุกมากๆๆๆๆ ผมเป็นวิศวกรคนเดียวมั้งที่ไปเรียนไกด์ที่คณะอักษร(โดยท่านอ.วิลาศวงค์ เพื่อนผม) ท่านจัด ตอนนั้นก็ว่าชอบมาก สนุกมากแล้วนะครับ แต่อ่านที่ท่านๆเขียนแล้วสนุกยิ่งกว่า ขอบพระคุณครับ
มานิต