เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: จ้อ ที่ 17 ก.พ. 01, 10:56



กระทู้: ว่าด้วยเรื่อง ไทย บุก พม่า
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 17 ก.พ. 01, 10:56
ไม่ได้ตั้งใจจะให้เข้าบรรยากาศที่กำลังอึมครึมอยู่ตามแนวชายแดนนะครับ
เพียงแต่นั่งสงสัยขึ้นมาเฉยๆ

เท่าที่ผมจำได้ รู้สึกว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเคยยกทัพเข้าไปในเขตพม่า
และสามารถยึดเมือง(หลวง?)ได้ด้วย ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือเปล่าครับ
เป็นเมืองอังวะ หรือว่า หงสาวดี ครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่อง ไทย บุก พม่า
เริ่มกระทู้โดย: คุณพระนาย ที่ 15 ก.พ. 01, 10:23
สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรง ยกทัพไปตีพม่า สองครั้งครับถ้าผมจำไม่ผิด ท่านไปตีเมืองหงสา แต่ว่า ปรากฎว่า พม่าตอนั้นได้ย้ายเมืองหนีไปเมืองตองอูแล้ว เพราะว่า พระเจ้านันทบุเรง นั้นได้เสียจริตไปเนื่องจากเสีย ลูกชายที่เป็นอุปราชไปน่ะครับ เลยถูกยึดอำนาจโดยเจ้าเมืองตองอูไป
อีกครั้งนึงพระองค์ทรงคิดจะยกทัพไปตีเมืองตองอู รู้สึกจะยกทัพไปทางเมืองหาง หรือไงเนี่ย แต่ทรงสิ้นพระชนต์ ซะก่อน ทรงเป็นไข้ทรพิษ หรือไข้ป่านี่แหละผมจำไม่ค่อยได้แน่ชัด


กระทู้: ว่าด้วยเรื่อง ไทย บุก พม่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.พ. 01, 15:31
อย่างที่คุณพระนายว่า ค่ะ
สมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพไปถึงหงสาวดี  แต่พระเจ้าหงสาวดีทิ้งเมืองไปแล้ว จึงไม่ได้รบกันโดยตรง  
เจ้าเมืองตองอูยึดเมืองได้  ก็ออกอุบายขอผัดผ่อนบอกว่าจะไปนำพระเจ้าหงสาวดีมาถวาย
แต่ที่จริงเพื่อจะหน่วงกองทัพไทยไว้
พระนเรศวรเสด็จไปตีตองอู  แต่ไม่ได้  จึงเลิกทัพกลับมา
ศึกครั้งสุดท้ายในรัชกาล เสด็จไปตีอังวะซึ่งมีอำนาจขึ้นมาแทนหงสาวดี   ยกทัพไปทางเมืองหาง  ตั้งค่ายหลวงที่ทุ่งแก้ว
ประชวรเป็นละลอกขึ้นที่พระพักตร์  แล้วกลายเป็นบาดทะพิษ เสด็จสวรรคตที่เมืองหางนั้นเอง

มีผู้แปลว่าเป็นฝีค่ะ แล้วคงจะติดเชื้ออักเสบลุกลามจนพระอาการหนักแก้ไขไม่ได้
เพราะตามตำรายาไทยโบราณ เกือบจะไม่มียารักษาโรคติดเชื้อ    คนไทยที่ป่วยเป็นโรคติดเชื้อไม่ว่าทางไหน  ถ้าเป็นมาก มักจะตายกันทั้งนั้น
เดาว่าคงมีโรคอื่นแทรกด้วยค่ะ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่อง ไทย บุก พม่า
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 16 ก.พ. 01, 03:43
ขอบคุณครับ... ดีใจที่จำไม่ผิดครับ

คุณเทาชมพูครับ เมืองหางเนี่ยะคือเมืองอะไรหรือครับ?
หรือว่าเป็นเมืองในพม่า ... แต่ทำไมชื่อไทยจัง

สงสัยเพิ่มครับ รู้สึกว่าตอนที่ไทยมีอำนาจเข้มเข็งก็ยกทัพออกไป
ตีเมืองอื่นเขาเหมือนกัน เช่น ลาว เขมร หรือ แม้แต่มาเลเซีย
แต่ทำไมไม่บุกไปทางตะวันตกบ้าง ผมเดาว่าอาจเป็นเพราะ
มีเทือกเขา ( บรรทัด ? ) กั้นอยู่ทำให้เดินทัพลำบาก และเสียเปรียบ
( แต่ทำไมกองทัพอังวะเดินเอาเดินเอา )

หรือว่ามีแผนยุทธศาสตร์อื่น?


กระทู้: ว่าด้วยเรื่อง ไทย บุก พม่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.พ. 01, 10:10
เมืองหางเป็นเมืองชายแดนค่ะ  ใน "ไทยรบพม่า" บอกเส้นทางไว้ว่า ทัพไทยยกไปถึงเชียงใหม่ แล้วไปข้ามแม่น้ำสาละวินที่เมืองหาง  แล้วผ่านแว่นแคว้นไทยใหญ่ไปเข้าแดนพม่าที่ใกล้เมืองอังวะ
เคยอ่านพบว่ามีการค้นพบเจดีย์ที่เข้าใจว่าสร้างเป็นอนุสรณ์การสวรรคตด้วย

การแผ่อำนาจของอาณาจักรในเอเชียอาคเนย์  เป็นนโยบายของแต่ละอาณาจักรที่ไม่เหมือนกัน
พม่าถือคติ "จักรพรรดิราช" อาณาจักรของเขาเป็นศูนย์กลางอำนาจ   แผ่อำนาจออกไปในเขตแดนใกล้เคียง
อยุธยาอยู่ในเขตการแผ่อำนาจของเขา   เช่นเดียวกับเชียงใหม่ และลงไปถึงมะริดตะนาวศรีซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญ
แต่การแผ่อำนาจถึงอินเดียนั้น ทำได้ยาก เขาก็แผ่ความเป็นจักรพรรดิราชสู่อาณาจักรขนาดไล่เลี่ย หรือเล็กกว่า

ส่วนไทยเรา ไม่มีคติแบบนั้น   ในสมัยอยุธยาเชียงใหม่ก็เป็นอิสระ  ลาวหรือล้านช้างก็เหมือนกัน  มีการปรองดองกันเสียมากกว่าปกครอง
หรือปกครองก็ทำอย่างหลวมๆ  ส่งเครื่องบรรณาการสามปีครั้ง อย่างทางปัตตานีมลายู
เว้นแต่ทางไหนฮึดสู้ก่อเรื่องขึ้นมา  ทางเราก็ใช้กำลังเสียทีหนึ่ง อย่างกรณีพระยาละแวก  มักจะเป็นในสมัยที่กษัตริย์ไทยเข้มแข็ง

ในเมื่อนโยบายเป็นแบบนี้   อยุธยาก็ไม่ได้ยึดถือการแผ่อำนาจกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
เรียกว่าทำได้ก็ทำ  ทำไม่ได้ก็ไม่เอาเป็นเอาตายที่จะทำ  

ยิ่งหลังรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรแล้ว   องค์ต่อๆมามักจะเน้นเรื่องการค้าขายนำความมั่งคั่งมาให้อาณาจักรเสียมากกว่า อย่างพระเจ้าปราสาททองและพระนารายณ์ในราชวงศ์ปราสาททอง  เรื่องการรุกรานทำศึกหนักๆ ที่จะเปลืองสตางค์และไพร่พล ก็ไม่ค่อยมี

พอมาถึงราชวงศ์บ้านพลูหลวง  ก็เกิดศึกภายในแย่งราชสมบัติกันบ่อยแทบไม่เว้นรัชกาล   ไม่ค่อยจะได้ออกไปรบกับที่ไหนมากเท่าไหร่

อีกอย่างที่เคยได้ยินมาคือการแผ่อำนาจของพม่าหวังผลทางการค้าและการดึงทรัพยากรสู่อาณาจักรด้วย  อยุธยาจึงอยู่ในสายตาของพม่า
แต่ดิฉันไม่แน่ใจว่าอยุธยาเคยมีนโยบายจะไปตีพม่าเพื่อหวังผลทางขยายอำนาจการค้าสู่ทางฝั่งทะเลฝ่ายอ่าวเบงกอล  เพราะเราค้าขายทางอ่าวไทย ไม่ว่าไปจีน ญี่ปุ่น ชวา มลายู ก็ทำได้ดีอยู่แล้ว


กระทู้: ว่าด้วยเรื่อง ไทย บุก พม่า
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 ก.พ. 01, 16:16
ในยุคของพระไชยราชาธิราชอยุธยาเคยพยายามฉวยโอกาสในช่วงที่พม่าพยายามยึดครองพื้นที่ของมอญ เข้าตีเมืองเชียงกรานเพื่อเปิดช่องทางการค้าสู่อ่าวเมาะตะมะ เนื่องจากในช่วงเวลานั้นฝรั่งยังไม่เข้ามามีอิทธิพลทางการค้าในละแวกนี้ พวกพ่อค้าจะเป็นพวกอินเดีย อิหร่าน มากกว่า และการเดินเรืออ้อมมาทางช่องแคบมะละกาก็ทั้งไกล และเสี่ยงต่อโจรสลัดด้วย
หลังจากนั้นช่องทางเมืองท่าทวาย มะริด ก็ยังมีความสำคัญต่อมาจนถึงช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์เนื่องจากว่าทางเดินทางทางบกระหว่างฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของภาคใต้ทำได้ยากลำบากมาก การเดินทางโดยทางเรือจากเมืองท่าดังกล่าวทำให้การเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเหมืองดีบุกที่ภูเก็ตทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในช่วงร.๑มีความพยายามที่จะยึดคืนจากพม่าแต่ก็ไม่สามารถรักษาไว้ได้ครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่อง ไทย บุก พม่า
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 16 ก.พ. 01, 18:54
อือ... เชียงกราน ... ชื่อคล้ายๆ เมืองที่เคยได้ยินเมืองหนึ่งแฮะ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่อง ไทย บุก พม่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.พ. 01, 23:45
คุ้นๆเหมือนกันค่ะ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่อง ไทย บุก พม่า
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 17 ก.พ. 01, 13:45
How come I am also familiar with this name!


กระทู้: ว่าด้วยเรื่อง ไทย บุก พม่า
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 ก.พ. 01, 22:56
ศึกเชียงกรานเป็นสงครามที่เชื่อว่าเป็นครั้งแรกที่พม่ารุกรานไทยครับ(จากไทยรบพม่า) แต่จากหลักฐานปัจจุบัน คิดว่าไม่น่าจะใช่ ในยุคนั้นพม่ายังไม่สามารถปราบมอญได้(ยุคตะเบงชเวตี้) และถ้าเมืองเชียงกรานเป็นเมืองที่ถูกพม่ารุกรานจริง ก็ต้องผ่านพื้นที่ของมอญอีกหลายเมืองก่อน เหตุการณ์จริงคือไทยฉวยโอกาสตอนที่มอญกำลังกังวลกับการรุกรานจากพม่า เข้ายึดเมืองเชียงกรานเพื่อเปิดทางไปยึดทวายและมะริดซึ่งเป็นเมืองท่า แต่ต้องเจอกับการต่อต้านของมอญครับ
อาจจะได้ยินกันในชื่อว่าศึกเชียงไกรเชียงกรานครับ เท่าที่ทราบอยู่ในหนังศรีสุริโยทัยที่คงเข้าฉายในปีนี้ด้วยครับ แต่เนื้อเรื่องน่าจะอิงไทยรบพม่าเป็นหลักครับ