เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 07 ม.ค. 12, 20:12



กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ม.ค. 12, 20:12
บทตาโบลวิวังต์ คืออะไร  
คำนี้มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า Tableaux vivants  หมายถึงการแสดงที่ตัวแสดงในประวัติศาสตร์หรือวรรณคดี แต่งตัวออกมายืนบนเวทีเป็นหุ่นนิ่ง ไม่เคลื่อนไหวแสดงบทบาท    แล้วมีคำบรรยาย หรือเพลงประกอบให้คนดูรู้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
ศัพท์นี้ เดิมเรียกว่า "รูปภาพ"  สมเด็จฯ ท่านทรงไว้ 8  เรื่องด้วยกัน  เป็นตอนสั้นๆจากวรรณคดีขนาดยาวบ้าง จากนิทานต่างประเทศบ้าง  คือ
- พระเป็นเจ้า  บรรยายถึงพระเจ้า 3 องค์ในศาสนาพราหมณ์
- ราชาธิราช
- นิทราชาคริต
- ซิลเดอร์ริลลา(สะกดตามพระนิพนธ์)
- สามก๊ก
- ขอมดำดิน
- พระลอ
- อุณรุท
  


กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ม.ค. 12, 21:12
ตัวอย่างตาโบลวิวังต์ ของตะวันตก
ตัวแสดงไม่เคลื่อนไหว   แสดงท่าค้างอยู่ในอิริยาบถที่เห็นบนเวที


กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ม.ค. 12, 11:06
คำนี้เป็นภาษาฝรั่งเศส   ตาโบล ออกเสียงควบกล้ำ -บล- แล้วต่อด้วยสระโอ  ไม่ใช่ โบน  นะคะ  ส่วนวิวังต์ เป็นการถอดเสียงแบบไทย  ฝรั่งเศสออกเสียงว่า วิวอง ค่ะ
ตอนอยู่ป.๑  รู้จักตาโบล วิวังต์เป็นครั้งแรก เมื่อทางโรงเรียนจัดแสดงหุ่นนิ่งจากเพลงต้นตระกูลไทยของคุณหลวงวิจิตรวาทการ    เปิดฉากม่านแหวกจากกันก็ได้ยินเพลงจากแผ่นเสียง  เพื่อนๆแต่งชุดไทยเป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ตามเนื้อเพลง   ยืนเรียงแถวกันแน่นเวที  ตอนนั้นก็ได้แต่สงสัยไปตามประสาเด็ก ว่าทำไมเพื่อนไม่ร้องไม่รำอะไรเลย   ออกมายืนถือดาบอยู่เฉยๆ    คงเมื่อยอยู่เหมือนกันกว่าจะจบเพลง

โตขึ้นจนได้เรียนภาษาฝรั่งเศส  จึงรู้จักคำนี้   ก็เลยทำให้เข้าใจได้ว่า การแสดงแบบที่เราเคยเห็นตอนป. ๑ เป็นของอิมพอร์ตจากตะวันตกแน่นอน     นึกไม่ออกว่าการแสดงไทยเดิมของเราตั้งแต่อยุธยามีอะไรนิ่งๆแบบนี้หรือไม่     เพราะการแสดงไทยพอขึ้นเวทีแล้วต้องเคลื่อนไหวกันทั้งนั้น     ไม่ว่าโขน ละคร หรือหุ่นกระบอก 


กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ม.ค. 12, 11:32
หลักการของตาโบล วิวังต์คือ
๑  ต้องแสดงเรื่องอะไรที่คนดูรู้จักดีแล้ว    เพลงหรือบทพากย์เป็นส่วนประกอบเพื่อจะเข้าใจดีขึ้น     ถ้าหากว่าไปเอาเรื่องอะไรที่ไม่มีใครรู้จักมาแสดง   คนดูก็จะไม่เข้าใจว่าแสดงหุ่นนิ่งอะไรกันอยู่  ถึงมีเสียงเล่าประกอบก็คงช่วยไม่ได้มากเท่าไร
๒  ฉากที่เลือกมาควรจะมีเอกลักษณ์เด่นชัด มองแล้วรู้ว่าเป็นเรื่องอะไร    ตัวแสดงบนเวทีควรมีลักษณะพิเศษ เช่นมีการแต่งกายโดดเด่นเฉพาะตัว ให้รู้ว่าเป็นตัวนั้นตัวนี้ในตำนาน ประวัติศาสตร์ หรือวรรณคดี      ถ้ามีลักษณะพื้นๆซ้ำกันเป็นสิบเป็นร้อย อย่างพระเอกนางเอกในละครจักรๆวงศ์ๆของไทย   คนดูก็ไม่รู้ว่าตัวไหนที่มาแสดงท่าให้ดูอยู่ 

เข้าสู่พระนิพนธ์
สมเด็จฯกรมพระนริศ ทรงเข้าพระทัยหลักการเหล่านี้ดี      ในตาโบลวิวังต์เรื่องพระเป็นเจ้า   ท่านทรงเลือกเทพเจ้า ๓ องค์ที่คนไทยรู้จักกันดีที่สุด  คือพระนารายณ์  พระอิศวร  และพระพรหม
วรรณคดีเก่าแก่ของไทยที่บรรยายลักษณะเอาไว้ชัดเจนกว่าเพื่อนก็คือลิลิตโองการแช่งน้ำ หรือประกาศแช่งน้ำโคลงห้า     
อยู่ในตอนต้นเรื่อง
โอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว แผ้วมฤตยู เอางูเป็นแท่น แกว่นกลืนฟ้ากลืนดิน บินเอาครุฑมาขี่ สี่มือถือสังข์จักรคธาธรณี ภีรุอวตาร  อสูรแลงลาญทัก ททัคนิจรนาย (แทงพระแสงศรปลัยวาต)
โอมบรเมศวราย ผายผาหลวงอะคร้าว ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทร์เป็นปิ่น ทรงอินทรชฎา สามตาพระแพร่ง แกว่งเพชรกล้า ฆ่าพิฆนจัญไร (แทงพระแสงศรอัคนิวาต)
โอมชัยชัยไขโสฬสพรหมญาณ บานเศียรเกล้า เจ้าคลี่บัวทอง ผยองเหนือขุนห่าน ท่านรังก่อดินก่อฟ้า หน้าจตุรทิศ ไทมิตรดา  มหากฤตราไตร อมไตยโลเกศ จงตรีศักดิท่าน พิญาณปรมาธิเบศ ไทธเรศสุรสิทธิพ่อ เสวยพรหมาณฑ์ใช่น้อย ประถมบุญภารดิเรก บูรภพบรู้กี่ร้อย ก่อมา (แทงพระแสงศรพรหมาศ)


กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ม.ค. 12, 10:49
พราหมณ์ผู้ประกอบพิธีแช่งน้ำ น่าจะเป็นพราหมณ์ในไวษณพนิกาย  คือนิกายบูชาพระนารายณ์ว่าเป็นเทพเจ้าสูงสุด     จึงสรรเสริญพระนารายณ์ก่อนเทพเจ้าอีกสององค์ อันได้แก่พระอิศวรและพระพรหม

โอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว แผ้วมฤตยู เอางูเป็นแท่น แกว่นกลืนฟ้ากลืนดิน บินเอาครุฑมาขี่ สี่มือถือสังข์จักรคธาธรณี ภีรุอวตาร  อสูรแลงลาญทัก ททัคนิจรนาย
บทนี้หมายถึงพระนารายณ์ ที่ชาวอินเดียเรียกว่าพระวิษณุ เป็นคำแพร่หลายมากกว่านารายณ์  ถ้าจะค้นในกูเกิ้ลก็หาได้จากคำว่า Vishnu
ในตาโบลวิวังต์   สมเด็จฯ ทรงตัดเอามาแบบย่อ  เป็น
โอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว                   แผ้วมฤตยู
เอางูเป็นแท่น                             แกว่นกลืนฟ้ากลืนดิน
บินเอาครุฑมาขี่                           สี่มือถือสังข์จักรคธาธรณี
ภีรุอวตาร                                  อสูรแลงลาญทัก
ส่วนวรรคสุดท้ายตัดออกไป

ภาพข้างล่างนี้คือเทพเจ้าในรูปลักษณ์แบบอินเดีย   จากซ้าย พระพรหม  พระนารายณ์ และพระอิศวร


กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 10 ม.ค. 12, 22:00
บทตาโบลวิวังต์ คืออะไร  
คำนี้มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า Tableaux vivants   หมายถึงการแสดงที่ตัวแสดงในประวัติศาสตร์หรือวรรณคดี แต่งตัวออกมายืนบนเวทีเป็นหุ่นนิ่ง ไม่เคลื่อนไหวแสดงบทบาท    แล้วมีคำบรรยาย หรือเพลงประกอบให้คนดูรู้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร

เอกพจน์ว่า Tableau vivant (http://en.wikipedia.org/wiki/Tableau_vivant)

หม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม ดิศกุลเล่าไว้ในหนังสือ "บันทึกความทรงจำ" ว่า

ตาโบลลิว่อง ร.ศ. ๑๑๓

ในปี ร.ศ. ๑๑๓ พ.ศ. ๒๔๓๗ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงจัดให้เล่นตาโบลวิว่องเป็นภาพนิ่งประกอบเป็นโรงใหญ่ เหมือนดูภาพยนตร์เป็นกรอบรูปนิ่ง สมเด็จพระพันปีทรงตื่นเต้นมาก เล่นที่ศาลาสหัย ข้าพเจ้าได้ไปดู ทรงเล่นเป็นชุด ๆ ต่าง ๆ กัน เท่าที่จำได้มี

ชุดที่ ๑ พระผู้เป็นเจ้าทั้ง ๓ ของพราหมณ์ มี

พระอิศวร  สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ทรงแสดง

พระพรหม สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครศรีธรรมราช ทรงแสดง

พระนารายณ์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ ทรงแสดง

 ;D


กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ม.ค. 12, 09:28
งดงามมากครับ สำหรับการแสงละครภาพนิ่งแบบนี้ ซึ่งละครภาพนิ่งจะบรรเลงด้วยดนตรีสากล หากแต่อยากถาม อ.เทาชมพูว่า มีการบรรยายถึงการใช้เตรื่องดนครีหรือไม่ครับว่าเป็นแบบฝรั่งหรือแบบไทย และเจ้านายที่ทรงเล่นละครภาพนิ่งดังกล่าวคงตื่นเต้นกันน่าดู


กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 12, 11:09
มีค่ะ
เพลงที่ใช้ประกอบ เป็นเพลงไทยเดิม บอกชื่อเพลงไว้ทุกชุด
สมัยครึ่งหลังของรัชกาลที่ 5   อิทธิพลตะวันตกในสยามมองเห็นหลากหลายเกือบทุกวงการ ไม่ว่าสถาปัตยกรรมตึกรามบ้านช่อง  หนังสือ  ดนตรี การแต่งกาย   อาหารการกิน   พวกเราคุยกันมาหลายกระทู้แล้วในเรื่องเหล่านี้
ที่ดีก็คือเราไม่ได้เอามา  อย่างลอกแบบเอาดื้อๆ หากแต่เอามาแบบดัดแปลงผสมผสานให้เข้ากับของไทยแต่เดิม    กลายเป็นรสชาติที่กลมกล่อมพอเหมาะกับรสนิยมไทย
อย่างตาโบลวิวังต์ชุด นางซิลเดอร์ริลลา      เรื่องเอามาจากเทพนิยายฝรั่ง   แสดงภาพนิ่งให้คนไทยดู   เพลงประกอบก็เลยคัดเลือกมาแต่เพลงไทยเดิมออกทำนองฝรั่ง ทั้งหมด


กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 12, 11:11
สมเด็จฯทรงนิพนธ์เนื้อร้องด้วยพระองค์เอง  ตัดตอนสาวงามซินเดอเรลลาอยากไปงานเต้นรำของเจ้าชาย แต่ติดขัดว่าเสื้อผ้าเก่า   นางจึงระลึกถึงเทพธิดาแม่ทูนหัว  เทพธิดาก็เสด็จมาประทานเสื้อผ้าและรถ แต่กำชับว่าต้องกลับภายใน 2 ยาม มิฉะนั้น ความงามทั้งปวงจะหายหมด
ซินเดอเรลลารับคำ   แต่งตัวเสร็จ  ไปสู่วังเจ้าชาย  ได้เต้นรำคู่กับเจ้าชาย จนนาฬิกาเกือบ 2 ยาม จึงรีบลาเจ้าชายกลับ เจ้าชายก็ไม่ยอมให้กลับ พอระฆังย่ำ 2 ยาม นางจึงวิ่งหนีออกจากห้องจนเกือกแก้วกระเด็นหายไปข้างหนึ่ง เสื้อผ้าก็กลับเก่าขาดตามเดิม
เจ้าชายให้มหาดเล็กเที่ยวหาเป็นจ้าละหวั่นก็ไม่พบ  ได้แต่เกือกมา
จบลงแค่นี้

เชิญฟังเพลงไทยเดิมในตาโบลวิวังต์    แล้ววาดภาพตามอัธยาศัยว่าตัวแสดงอยู่ในท่าไหน ตอนไหนของเรื่อง

ร้องวิลันดาโอด

โอ้สงสารนางซินเดอเรลลา                    เสียอารมณ์ก้มหน้าน้ำตาไหล
เจ้าเธอรับเศรษฐีผู้ดีไป                         ประชุมในวังเล่นเต้นรำกัน
รูปเจ้าพอไปได้ไม่อายเขา                      แต่ผ้าเสื้อเหลือเก่าสุดผายผัน
คิดถึงเทพธิดาขึ้นมาพลัน                      ถ้าโปรดช่วยเหมือนวันก่อนจะดี

ร้องฝรั่งจรกา

แฟรีกอดมาเดอร์                                เธอทราบเสด็จมาหา
ให้ภูษารถรัตน์                                   ตรัสสั่งว่าถ้าไป
จงกลับในสองยาม                              ภูษางามงามยืน
ฝืนสั่งงามจะกลาย                               เสร็จสั่งหายวับไป

ร้องครอบจักรวาล

นางดีใจคมคัล                                   ทรงสุพรรณภูษิตแพร้ว
ขึ้นรถไปวังแก้ว                                  สู่ห้องประชุมพลันฯ


กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 12, 11:14
ร้องฝรั่งรำเท้า

ทันใดเจ้าหนุ่มเชื้อ                  เชิญนาง
แนบเกาะคู่กันพลาง                แสะเต้น
ผู้ดีเศรษฐีต่าง                      จับคู่ เต้นนา
เต้นสนุกน้อยขณะเว้น              สนุกนั้นฤๅทราม

ร้องเวสสุกรรม

นางซิลเดอร์ริลลา                  เห็นนาฬิกาเกือบสองยาม
ตกประหม่าลาเจ้างาม              เจ้าไม่ตามใจให้ไป
จนใจยืนจังงัง                       พอระฆังหง่างเสียงใส
วิ่งออกนอกห้องใน                  ลงบันไดเกือกแก้วกระเด็น
*เสื้องามกลับขาดเปื้อน            รีบไปเรือนกลัวคนเห็น
เจ้าชายให้หาเป็น                   จ้าละหวั่นหายได้เกือกมา
(ลูกบทฝรั่ง)

จบแค่นี้ค่ะ


กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 12, 11:15
ถ้าใครอยากฟังทำนองเพลง  คงไม่เกินความสามารถคุณเพ็ญชมพูจะไปหามาให้ได้ยินกัน


กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ม.ค. 12, 11:23
^
^

ขอเชิญฟัง

ตับนางซินเดอรินล่า (ครูท้วม) ตรากระต่าย (http://www.4shared.com/mp3/SCMqGgBK/___online.html)

 ;D


กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 12, 11:36
^
รวดเร็วปานหนุ่มคนข้างขวาในรูป
v


กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ม.ค. 12, 11:36
^
^

ขอเชิญฟัง

ตับนางซินเดอรินล่า (ครูท้วม) ตรากระต่าย (http://www.4shared.com/mp3/SCMqGgBK/___online.html)

 ;D

ไพเราะมาก ๆ ครับ เจ้านานน้อย ๆ ทรงยืนนิ่ง ๆ กว่า 10 นาที  ;D


กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ม.ค. 12, 13:34
น่าคิดนะครับว่า "ซินเดอร์เลรา" ได้เข้ามาโลดเล่นในราชสำนักไทย ไม่รู้ว่าการเล่านิทานก่อนนอนให้กับเจ้านายต่าง ๆ จะเป็นที่นิยมขนาดไหน และน่าจะเป็นช่วงที่รัชกาลที่ ๔ ทรงจ้างครูสอนภาษาอังกฤษเข้ามาในพระบรมมหาราชวัง  ???


กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 12, 14:11
เรื่องนางซิน มีการแปลมาก่อนแล้วในรัชกาลที่ ๕   ถ้าไม่ลงในดรุโณวาทก็วชิรญาณวิเศษ  ดูเหมือนจะเป็นพระนิพนธ์แปลของน.ม.ส.     เล่าจากความทรงจำ ไม่มีหนังสืออยู่ใกล้มือค่ะ
อ่านมาจากที่ไหนอีกสักแห่งว่า นางแอนนา เลียวโนเวนส์ บอกว่ารัชกาลที่ ๕ ทรงเลิกทาสจากหนังสือ Uncle Tom's Cabin ของนักเขียนอเมริกัน ที่นางให้อ่าน     แต่เรื่องนี้จะจริงหรือเปล่าไม่แน่ใจ  เพราะแหม่มแอนนาเป็นชาวอังกฤษ  ไม่ใช่อเมริกัน    ไม่น่าจะสนใจกับการเลิกทาส    คนอังกฤษยุควิคตอเรียนสนใจเรื่องแปลจากอินเดียและตะวันออกกลางมากกว่า

จึงเชื่อว่า อาหรับราตรี หรือ Arabian Nights  เป็นหนังสือที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงอ่านเมื่อทรงพระเยาว์    อาจจะแหม่มแอนนาสอนก็เป็นได้    ถ้าไม่ใช่แหม่มแอนนาก็เป็นครูฝรั่งชายที่เข้ามาถวายพระอักษรในภายหลัง     กลายมาเป็นพระราชนิพนธ์นิทราชาคริต ซึ่งเป็นตอนหนึ่งของอาหรับราตรี

พระราชนิพนธ์เรื่องนี้  ก็มาเป็นตาโบลวิวังต์อีกเรื่องหนึ่งของสมเด็จฯกรมพระยานริศราฯ


กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 11 ม.ค. 12, 16:57
เรียนถามค่ะ  ;D

การแสดง ตาโบลวิวังต์ นี้ ผู้แสดงนิ่งอยู่ท่าเดียวแบบภาพในกรอบรูป อยู่อย่างนี้จนจบเรื่องเลยหรือคะ
หรือว่ามีการเปลี่ยนท่าทางเมื่อจบเพลงแต่ละช่วง หรือแต่ละองก์
ปัจจุบัน มีการแสดงแบบนี้หรือไม่คะ


กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ม.ค. 12, 19:47
เรียนถามค่ะ  ;D

การแสดง ตาโบลวิวังต์ นี้ ผู้แสดงนิ่งอยู่ท่าเดียวแบบภาพในกรอบรูป อยู่อย่างนี้จนจบเรื่องเลยหรือคะ
หรือว่ามีการเปลี่ยนท่าทางเมื่อจบเพลงแต่ละช่วง หรือแต่ละองก์
ปัจจุบัน มีการแสดงแบบนี้หรือไม่คะ

มีตัวอย่างเล็ก ๆ มาให้คุณดีดี ชมครับ และใน youtube มีทั้งเปลี่ยนท่าทางเพื่อจัดองค์ประกอบใหม่ก็มีให้เห็นครับ
http://www.youtube.com/watch?v=Dyi6b-bhHNs&feature=related


กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 12, 20:36
ตาโบลวิวังต์  แปลตามตัวว่ารูปภาพที่มีชีวิต    คือเอาคนแสดงเป็นภาพนิ่ง    ลักษณะสำคัญคือความนิ่ง   ถ้าหากว่าเคลื่อนไหวก็ไม่ใช่ตาโบล  ตาโบลยุคแรกๆจึงนิ่ง  ไม่ขยับตัวเคลื่อนไหว
แต่ศิลปะไม่เคยหยุดนิ่ง  จึงมีพัฒนาการสืบต่อมา ให้เคลื่อนไหวนิดๆหน่อยๆ ได้บ้าง    เปลี่ยนแปลงไปแล้วแต่เห็นงามในแต่ละยุค  แต่ถ้าเคลื่อนไหวเสียจนหมดสภาพนิ่ง   ก็ไม่ใช่ตาโบลวิวังต์ของแท้อีกต่อไปละค่ะ


กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ม.ค. 12, 17:22
ตาโบลวิวังต์เรื่องนิทราชาคริต  ทรงจับตอนอาบูหะซันวิวาห์กับนางนอซาตอลอัวดัด เท่านั้น   ไม่มีเหตุการณ์ตอนกาหลิบปลอมตัว  อาบูหะซันกลายเป็นกาหลิบ หรือตอนแกล้งตาย   
ประกอบด้วยเพลงไทยเดิมในเนื้อสั้นๆจากพระราชนิพนธ์ ๖ เพลง  ขึ้นต้นด้วย"แขก" เกือบทั้งหมด   สมกับเนื้อเรื่อง คือ
- แขกกล่อมเจ้า
- แขกถอนสายบัว
- ร้องแขกหนัง
- ร้องแขกต่อยหม้อ
- ร้องแขกเจ้าเซ็น
- เพลงสุดท้ายคือพราหมณ์ดีดน้ำเต้า 
วาภาพตามเพลงที่ทรงเลือกมา   ภาพนิ่งบนเวทีน่าจะแสดงตอนพระเอกนางเอกในเรื่องมีพิธีวิวาห์ และเบิกบานสำราญใจกัน



กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ม.ค. 12, 21:47
นายแพทย์พูนพิศ   อมาตยกุล เขียนไว้ในบทความเรื่อง แผ่นเสียงร่องกลับทางของวังบ้านหม้อ (http://www.oocities.org/tonchababshop/new_page_7.htm)

ได้มีโอกาสไปสำรวจแผ่นเสียงโบราณรุ่นนี้ที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี  ก็ได้พบสิ่งที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นอีกว่า  มีแผ่นเสียงรุ่นเดียวกันนี้บันทึกเพลงตับอยู่ไม่น้อยกว่าสามเรื่อง  คือเรื่องสามก๊ก ตอนจูล่งออกไปช่วยนางบีฮูหยินเมียเล่าปี่แล้วนำเอาเต๊า ลูกนางบีฮูหยินฝ่าดงข้าศึกมามอบให้เล่าปี่ ได้เรียกเพลงชุดนี้ว่า "ตับจูล่ง" ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ใช้ครั้งแรกปี  ๒๔๓๗ ในงานชุดเพลงภาพนิ่งตาโบลวิวังต์ (Tableux  Vivante) มีเพลงตับเรื่องเรื่องอาบูหะซันตอนแต่งงานเรื่องพระลอ  ตอนพระลอคลั่งรัก  ที่เรียกว่า " ตับพระลอคลั่ง '' กับยังมีเพลงเกร็ดต่าง ๆ รวมมาด้วยซึ่งในคราวนี้จะเขียนเฉพาะส่วนของเพลงที่เป็นของวังบ้านหม้อเท่านั้น

ได้ค้นพบแผ่นเสียงตับเพลง " เรื่องอาบูฮาซันน่าหนึ่ง " (เขียนตามภาษาอย่างเก่าที่ปรากฎบนหน้าแผ่นเสียง) หมายเลข ๔๗๐๕๖/๑ เพลงสร้อยสม  ร้องโดยนายอิน  นายใหญ่ ที่น่าสังเกต คือ ตัวหนังสือนั้นเขียนด้วยลายมือ  แสดงว่ายังไม่ได้ใช้พิมพ์ดีด  แถมผู้เขียนข้อความบนหน้าแผ่นเสียงซึ่งเป็นกระดาษสีดำ ก็เขียนภาษาบกพร่อง คือคำว่า " ตอน " เขียนว่า "ตอ " ตกตัวอักษร "น" ไปหนึ่งตัว ซึ่งเรื่องความผิดพลาดในอักขรวิธีนี้  พบได้บ่อย ๆ ในแผ่นเสียงรุ่นนี้

(http://www.oocities.org/tonchababshop/jim1.jpg)

ขอขยายความเรื่องเพลงตับอาบูหะซันต่อไปอีกเล็กน้อยว่า  เป็นเพลงชุดที่สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงจัดขึ้นโดยใช้บทร้องมาจากพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๒๑)  อันเป็นคำประพันธ์ประเภทลิลิต  เรียกว่า"ลิลิตนิทราชาคริต" (เรื่องอาบูหะซัน)เดิมใช้ร้องประกอบการแสดงภาพนิ่ง  (Tableux  Vivante) คือใช้ละครแต่งตัวสวยงาม  ให้ตรงตามบทร้อง  ในที่นี้ก็จะแต่งเป็นแขก  มีฉากสวยงามเป็นภาพแขก  แล้วให้ตัวแสดงยืนหรือนั่งอยู่ในท่านิ่ง  ไม่กระดุกกระดิกตาก็ไม่กระพริบ  ใช้ไฟส่องให้เห็นเด่นชัด แล้วบรรเลงร้องเพลงประกอบ  พอถึงตอนดนตรีบรรเลงรับร้อง  ก็ดับไฟ  ผู้แสดงก็ขยับเขยื้อนได้นิดหน่อย  พอเพลงบรรเลงรับร้องจะหมด  ไฟก็จะสว่างขึ้น  ตัวแสดงก็นิ่งอยู่เหมือนการจัดภาพนิ่งหรือหุ่นนิ่งนั่นเอง

เพลงตับเรื่องอะบูหะซันนี้  เล่าเรื่องฉากการแต่งงานของอะบูหะซันกับนางนอซาตลอัวดัด  โดยมีพระทางศาสนาอิสลามเรียกว่า "อีแมน" เป็นผู้ทำพิธีและยังมีพรเจ้ากาหลิบพระนางโชบิเดกับตัวประกอบอื่น ๆ มาร่วมอยู่ในฉากนี้เป็นจำนวนมาก  การแสดงเป็นภาพนิ่งหรือหุ่นนิ่งจึงดูสวย  เหมือนไปชมพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไม่ผิดกันเลย

เพลงที่ร้องในตับนี้ขึ้นต้นด้วยเพลงแขกกล่อมเจ้าสองชั้น  ติดตามมาด้วยเพลงแขกถอนสายบัว  แขกหนัง  แขกต่อยหม้อ  แขกเจ้าเซ็น  และพราหมณ์ดีดน้ำเต้า  รวมหกเพลงซึ่งจะใช้เวลาบรรเลงราว ๒๕-๓๐ นาทีครบทั้งตับ

 ;D


กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ม.ค. 12, 10:27
การใช้ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์สำหรับบรรเลงร่วมกับการแสดงละครภาพนิ่งหรือตาโบลวิวังต์ (Tableaux Vivants)  (http://www.chulapedia.chula.ac.th/index.php/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%94%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B3%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87)

ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ในระยะที่เรียกว่าคอนเสิร์ตแบบไทยนั้น นอกจากจะใช้บรรเลงและขับร้องในลักษณะเป็นคอนเสิร์ตเรื่องหรือละครมืดแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ยังได้ทรงปรับปรุงบทขับร้องจากเนื้อเรื่องเก่าและบทกวีมาใช้ในการแสดงละครภาพนิ่ง หรือที่เรียกกันว่า ตาโบลวิวังต์ (Tableaux Vivants) ซึ่งเข้าใจว่าจัดทำขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๕ - ๒๔๓๗ ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ที่โปรดให้พระอนุชา และพระราชวงศ์ที่ยังทรงพระเยาว์แต่งพระองค์ต่างๆ แสดงตามท้องเรื่องในท่าที่หยุดนิ่ง ระหว่างนั้นก็ใช้ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์บรรเลงประกอบละครที่เป็นภาพนิ่งเหล่านั้น การแสดงดังกล่าวโปรดให้จัดขึ้นในพระราชฐานเพื่อทรงเก็บเงินบำรุงการกุศล

หลังจากนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงพระราชดำริว่าบทเพลงตับเรื่องสั้น ๆ เช่น เรื่องราชาธิราช ตอนสมิงพระรามหนี ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงพระนิพนธ์ขึ้นไว้แล้วนั้น จะนำมาใช้แสดงได้ จึงโปรดให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงคิดหาเรื่องอื่นๆ มาแต่งเป็นบทเพลงตอนสั้น ๆ แบบนั้น เป็นการบรรยายเรื่องประกอบภาพในฉากเพิ่มขึ้นอีก

ในครั้งนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงจัดบทเพลงถวายรวม ๘ ชุด มีแนวเนื้อเรื่องเกี่ยวกับชนชาติต่างๆ ทำนองแบบ ๑๒ ภาษาของไทย คือ

ชุดที่ ๑ กล่าวสรรเสริญเทพยดา ประกอบภาพพระเป็นเจ้าทั้ง ๓ ประเภทเป็นการไหว้ครู

ชุดที่ ๒ เรื่องราชาธิราช ประกอบภาพฉากแบบพม่า

ชุดที่ ๓ เรื่องนิทราชาคริต ประกอบภาพฉากแบบแขก

ชุดที่ ๔ เรื่องนางซินเดอร์เรลลา ประกอบภาพฉากแบบฝรั่ง

ชุดที่ ๕ เรื่องสามก๊ก ประกอบภาพฉากแบบจีน

ชุดที่ ๗ เรื่องพระลอ ประกอบภาพฉากแบบลาว

ชุดที่ ๘ เรื่องอุณรุท ประกอบภาพฉากแบบไทย

บทเพลงชุดต่าง ๆ เหล่านั้น ต่อมาก็เป็นที่นิยมนำมาใช้บรรเลงกันแพร่หลายอยู่ในวงการดนตรีไทยจนทุกวันนี้ ตั้งชื่อเรียกกันว่า ตับสมิงพระราม ตับอาบูหซัน ตับนางซิน และตับจูล่ง เป็นต้น

 ;D


กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ม.ค. 12, 10:42
ตับนิทราชาคริต

http://www.youtube.com/watch?v=uHCmakzivNk

ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ขับร้อง : กัญญา โรหิตาจล , สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงนำเนื้อหาจากวรรณคดีเรื่องลิลิตนิทราชาคริต พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ตอนวิวาห์อาบูหะซันกับนางนอซาตอลอัวดัต มาปรับปรุงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ ลักษณะพิเศษของบทร้องชุดนี้อยู่ที่แต่งเป็นร่ายกับโคลง เพลงประเภทตับเรื่อง ประกอบด้วยเพลงสำเนียงแขก ๖ เพลง มีดังนี้ ร้องแขกกล่อมเจ้า ร้องแขกถอนสายบัว ร้องแขกหนัง ร้องแขกต่อยหม้อ ร้องแขกเจ้าเซ็น ร้องพราหมณ์ดีดนํ้าเต้า - นักดนตรีปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ - ขลุ่ยเพียงออ : สุวัฒน์ อรรถกฤษณ์ , ขลุ่ยอู้ : ปี๊บ คงลายทอง , ซออู้ : ธีระ ภู่มณี , ระนาดเอก : ศักดิ์ชัย ลัดดาอ่อน , ระนาดทุ้ม : เผชิญ กองโชค , ฆ้องวงใหญ่ : สมชาย ดุริยประณีต , ระนาดทุ้มเหล็ก : มนัส ขาวปลื้ม , ฆ้องหุ่ย ๗ เสียง : ม.ล.สุลักษณ์ สวัสดิกุล , กลอง : บุญช่วย แสงอนันต์ , เอนก อาจมังกร , ฉิ่ง : บุญสร้าง เรืองนนท์

 ;D


กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ม.ค. 12, 20:20
เรื่องต่อไปที่จะเอ่ยถึงคือ สามก๊ก  ตอนจูล่งพาอาเต๊าตีฝ่าทัพโจโฉ
เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อเล่าปี่แตกทัพ เพราะแพ้โจโฉ    ลูกเมียก็กระจัดพลัดพรายไปคนละทาง   จูล่งทหารเอกอีกคนหนึ่งของเล่าปี่ควบม้าเดี่ยวไปค้นหาอาเต๊าลูกชายคนเดียวของเล่าปี่    พบนางบีฮูหยิน เมียรองของเล่าปี่อุ้มทารกอยู่   นางได้รับบาดเจ็บถูกทวนแทงขาเดินไม่ไหว    จูล่งก็คะยั้นคะยอให้นางอุ้มเด็กขึ้นม้าไป เขาจะจูงม้าให้เอง 
นางบีฮูหยินเห็นว่าทำอย่างนั้นจะไม่รอดกันทั้งหมด   นางก็ส่งทารกให้  แล้วตัวเองก็โจนลงบ่อใกล้ๆกัน ฆ่าตัวตายไปเสียให้หมดเรื่องหมดราว
จูล่งเสียใจมาก  เอาดินถมบ่อกลบศพนางไว้ให้มิดชิด  แล้วอุ้มอาเต๊าขี่ม้าตีฝ่าทัพโจโฉไปได้จนสำเร็จ

สงสัยว่านางบีฮูหยินเดินไม่ไหว  ทำไมมีแรงปีนขอบบ่อ โดดน้ำตายได้ก็ไม่รู้  จูล่งก็ไม่เห็นจะห้ามปรามอะไร



กระทู้: พระนิพนธ์บทตาโบลวิวังต์ ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ม.ค. 12, 20:24
เพลงประกอบในตอนนี้เป็นเพลงไทยเดิมขึ้นต้นว่าจีน ทั้งหมด  เริ่มต้นด้วยร้องเกริ่น  จากนั้นก็คือ จีนฮูหยิน  จีนเสียผี  จีนขิมเล็ก และจีนช้วน
วาดภาพว่าตาโบลวิวังต์ในตอนนี้   มีคนแต่งเป็นนักรบจีนกันทั้งโรง   มีแต่งตัวเป็นคุณนายอยู่คนหนึ่ง    สีสันเสื้อผ้า อาวุธ และเครื่องประดับคงจะออกมาสีสันสว่างตา สวยมาก

เพลงชุดในเรื่องนี้  เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่าเพลง "ตับจูล่ง"

http://www.youtube.com/watch?v=k01SyKSp1Mo