เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: [-Constantine-] ที่ 30 ส.ค. 06, 21:29



กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: [-Constantine-] ที่ 30 ส.ค. 06, 21:29
 อยากทราบว่าสำนวน "กินน้ำใต้ศอก", "ไก่แก่ แม่ปลาช่อน(หรือ พ่อไก่แก่ แม่ปลาช่อน ผมก็ไม่ทราบว่าอันไหนถูก)",
"ไกลปืนเที่ยง" และ "ขมิ้นกับปูน" สำนวนทั้งหลายเหล่านี้มีที่มาอย่างไรครับ

ขอบคุณครับ


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 06, 11:26
 ดิฉันขอสันนิษฐานสำนวน"กินน้ำใต้ศอก"  ตามที่ ขุนเศรษฐบุตรสิริสาร (แช เศรษฐบุตร) อธิบายไว้ในรัชกาลที่ ๗  
ว่าเมื่อสมัยก่อน เวลากินน้ำ  คนเขาอาจกินด้วยมือ  ไม่มีถ้วยหรือแก้วน้ำ  ด้วยเอามือทั้งสองกอบน้ำขึ้นมาดื่มในอุ้งมือ   น้ำที่ล้นจากอุ้งมือไหลลงไปตามศอก  
ใครที่กินน้ำจากใต้ศอก ก็คือรอน้ำส่วนน้อยที่เหลือจากคนแรกกินแล้ว   นอกจากได้น้อยแล้วยังขลุกขลักและไม่เต็มที่อีกด้วย  
ก็เลยเอามาเปรียบเทียบผู้หญิงที่เป็นเมียน้อยเขา   ว่ายังไงก็ประดักประเดิดอยู่ดี  ไม่มีสิทธิ์เต็มที่เท่าเมียหลวง

ไก่แก่แม่ปลาช่อน   คำว่า "ไก่" เพี้ยนมาจาก "กระต่าย" เป็นคำเปรียบเทียบผู้หญิงที่มีเล่ห์กลชั้นเชิงมาก
ในพระอภัยมณี  ตอนแก่ตัวลงไป เกิดเบื่อเมียทั้งสองคนคือนางสุวรรณมาลีและนางละเวง ก็ค่อนแคะเอาว่า
กระต่ายแก่แต่ละคนล้วนกลมาก
ทั้งฝีปากเปรื่องปราดฉลาดเฉลียว

ส่วนแม่ปลาช่อน เชื่อกันว่าปลาช่อนตอนวางไข่ ดุมาก กัดคนถึงตาย  ทั้งที่ปกติธรรมดา ปลาช่อนไม่มีพิษสงอะไร

แค่นี้ก่อนนะคะ


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 02 ก.ย. 06, 23:23
 ไม่เคยคิดมาก่อนเลยครับว่า " ไก่แก่" มีที่มาจากคำว่า "กระต่ายแก่"
ขอบคุณเทาชมพูแทนเจ้าของกระทู้ด้วยครับ

"ไกลปืนเที่ยง" มีที่มาจาก สมัยก่อนในเขตเมืองหลวงจะบอกเวลาเที่ยง ด้วยการยิงปืนขึ้นฟ้า ชาวบ้านที่อยู่ใกล้นครก็จะได้ยินเสียงปืนก็รู้ได้ว่าเที่ยงแล้ว ส่วนคนที่อยู่ไกลๆก็จะไม่ได้ยินจึงไม่ทราบเวลาชัดเจนนัก คำนี้น่าจะถูกใช้เปรียบเทียบความอยู่ใกล้ไกลเมืองของคนเมืองและชนบท จึงเป็นที่มาของสำนวนนี้ที่แปลว่าอยู่ห่างไกลความเจริญนั่นเองครับ
มีอีก2คำที่น่าสนใจ (แต่ไม่ใช่สำนวน) นั้นคือคำว่า "ทุ่ม" กับคำว่า "โมง" ซึ่งมีที่มาในการบอกเวลาคล้ายๆกับสำนวน ไกลปืนเที่ยง


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: [-Constantine-] ที่ 04 ก.ย. 06, 21:33
 ทุ่ม กับ โมง เป็นเสียงเคาะของเครื่องตีบางชนิดใช่มั้ยครับ

ขอขอบคุณทุกท่านที่ตอบคำถามของผม ช่วยให้ผมคลายความสงสัยได้มาก

โดยเฉพาะ "กินน้ำใต้ศอก" เนี่ยแหละครับ


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: caeruleus ที่ 06 ก.ย. 06, 17:06
 เท่าที่จำได้นะคะ (แหม เรื่องทุ่ม-โมง นี่เรียนสมัย มานะ-มานี ยังเป็นหนังสือเรียน นี่คะ)
ทุ่มคือเสียงกลอง
โมงเป็นเสียงของระฆังค่ะ

ตอน 6 โมงเช้าและเย็น เค้าจะย่ำกลอง (คือตีรัวๆแหละค่ะ) เลยเรียกว่า ย่ำรุ่งและย่ำค่ำอีกต่างหาก

ใครยังพอจำหนังสือเรียนรุ่นนั้นได้ก็ทราบอายุดิฉันซะแล้วสิ


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว ที่ 06 ก.ย. 06, 17:59
 พูดถึงเรื่องทุ่มโมง ขอนอกเรื่องสักหน่อยหนึ่ง เมื่อหลายปีก่อน มถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่ง จะเล่นมงครุ่ม ก็ทำเรื่องขอกลองมงครุ่มมาจากกรมศิลปากร เพื่อซักซ้อม แต่หลังจากเอากลองมาไม่นอนช่วงเย็นๆค่ำๆ ชาวบ้านร้านตลาดที่อยู่แถวนั้นก็ได้ยินเสียงกลองดังแว่วมาตลอดทุกวัน จนชาวบ้านต่างกล่าวกันเป้นเสียงเดียวกันว่า คงเป็นอาถรรรพ์กลองมงครุ่ม ที่สามารถจะดังได้เอง ทำให้คณะนักศึกษาและอาจารย์ที่เตรียมการแสดงไม่สบายใจเป็นอันมาก ทำพิธีบวงสรวงขอขมาก็แล้ว จัดละเม็งละครมาถวายก็แล้ว จัดเครื่องกระยาบวชสังเวยก็แล้ว เสียงกลองนั้นก็ไม่หายไป จนต่อมาเรื่องก็ได้ลืมไปหนาหูไปถึงท่านเจ้าอาวาสวัดแถวนั้น ท่านจึงบอกทางมหาวัทยาลัยว่าจะจัดการให้ หลังจากนั้นเสียงกลางที่ดังนั้นก็หายไป เป็นที่เลื่องลือเป็นอันมาก ชาวบ้านต่างไปหาท่านเจ้าอาวาสที่วัดมิไดขาด จนท่านไม่เวลาปฏิบัติศาสนกิจ ท่านจึงบอกว่า "เมื่อเดือนก่อนที่เจ้าศรัทธามาถวายกลองเพล 1 ลูก อาตมาก็ใช้ตีตอนเย็นๆ เพื่อเรียกพระเณรให้มาลงอุโบสถทำวัตร เสียงที่โยมได้ยินไม่ใช่เสียงจากกลองมงครุ่ม หากแต่เป็นเสียงจากกลองจากวัดนี้เอง"  เรื่องทั้งหมดก็เอวัง ด้วยประการฉะนี้


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 07 ก.ย. 06, 10:44
 สวัสดีครับ

สำหรับผมเคยได้ยินมาว่าคำว่า"ทุ่ม"นั้นมาจากเสียงกลองตีบอกเวลาค่ำและกลางคืน 19.00น. ตีกลอง 1 ที 20.00น.ตีกลอง 2 ที ฯลฯ ได้ยินเป็นเสียง ตุ้ม.. ต่อมาจึงเรียก19.00น.ว่า1 ทุ่ม 20.00น.ว่า 2 ทุ่ม ฯลฯ  

ส่วนคำว่า"โมง"ผมเคยได้ยินมาว่าเป็นเสียงของฆ้องครับ ไม่ตรงกับคุณ caeruleus ที่บอกว่าเป็นระฆัง (ไม่แน่ใจในข้อมูลนักหากใครทราบขอรบกวนแนะนำและแก้ไขให้ด้วยนะครับ) ฆ้องใช้ตีบอกเวลาตอนกลางวันในลักษณะเดียวกับกลอง เสียงฆ้องตีดัง โมง..... จึงเรียกเวลาตามเสียงฆ้องว่า เวลา 3 โมง ,เวลา 4 โมง ฯลฯ


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: [-Constantine-] ที่ 22 ก.ย. 06, 20:44
 ถามเพิ่มครับ  "คร่ำหวอด" และ "ม้าดีดกะโหลก"


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: thawankesmala ที่ 23 ก.ย. 06, 12:37
 แล้วคำว่า ก่อหวอด ล่ะครับ ขอเพิ่มอีกคำ


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 25 ก.ย. 06, 10:34
 เอ........ ก่อหวอดจะหมายถึงปลากัดหรือปลากระดี่ได้ไหมครับ


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: [-Constantine-] ที่ 26 ก.ย. 06, 00:11
 หาพบแล้วครับ เด็ดมาก

ปลากัดเป็นที่นิยมเพาะเลี้ยงกันมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงได้มีการนำคำศัพท์เกี่ยวกับปลากัดและการกัดปลามาประยุกต์ใช้เป็นภาษาพูดติดปากกันในปัจจุบันนี้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
    - ก่อหวอด หมายถึง การพ่นน้ำที่ผสมกับน้ำลายหรือน้ำเมือกในปากจนเป็นฟองเกาะกันของปลากัดตัวผู้ เพื่อเตรียมผสมพันธุ์ สำนวนที่ใช้พูดกัน หมายถึง การเริ่มต้น หรือเริ่มก่อสร้างตัว หรือคิดก่อการมิดีมิร้ายขึ้น
    - คร่ำหวอด หมายถึง ปลากัดตัวผู้ที่ผ่านการก่อหวอดมาหลายครั้ง โดยเฉพาะปลาที่ต่อสู้ชนะคู่ต่อสู้มันก็จะก่อหวอดขึ้นเพื่อประกาศความมีชัยของมันในระยะต่อมาทันที สำนวนที่ใช้พูดกัน หมายถึง เชี่ยวชาญ หรือชำนาญ
    - ลูกหม้อ หมายถึง ปลากัดชนิดที่เกิดจากการคัดพันธุ์ โดยผสมพันธุ์กันหลายชั้นจนเป็นปลาชั้นดีที่สุด สำนวนที่ใช้พูดกัน หมายถึง ข้าราชการตามกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่ทำงานมานานและรู้งานดี
     - ลูกทุ่ง หมายถึง ปลาชนิดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำ หรือตามทุ่ง สำนวนที่ใช้พูดกัน หมายถึง ชาวชนบทที่มีความเป็นอยู่และมีขนบธรรมเนียมอย่างชาวชนบท
    - ลูกไล่ หมายถึง ปลากัดที่แพ้แล้ว ซึ่งจะนำมาให้ปลากัดที่เลี้ยงไว้ไล่หรือซ้อมกำลัง สำนวนที่ใช้พูดกัน หมายถึง คนที่ถูกผู้อื่นข่มเหงเล่นตามใจชอบ
    - ซ้ำสาม หมายถึง ปลากัดลูกผสมระหว่างปลาสังกะสีกับปลาลูกทุ่ง สำนวนที่ใช้พูดกัน หมายถึง คนเลวต่ำช้า หรือมีเชื้อสายต่ำ
    - ถอดสี หมายถึง กิริยาอาการของปลากัดตัวผู้แสดงอาการบอกลางแพ้ สำนวนที่ใช้พูดกัน หมายถึง ครั่นคร้ามเกรงกลัว
    - พอง หมายถึง กิริยาของปลากัดที่คลี่ครีบและหางออกตั้งท่าทางพร้อมที่จะกัด สำนวนที่ใช้พูดกัน หมายถึง อวดเบ่งจองหอง

อ้างอิง : http://www.geocities.com/toostamps/stampt/2545/n687.html  


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: thawankesmala ที่ 26 ก.ย. 06, 10:21
 ยอดมากเลยครับ เดี๋ยวผมจะเอาคำศัพท์หมากรุกไทยมาอวดขอค้นก่อน


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: [-Constantine-] ที่ 26 ก.ย. 06, 22:49
 พูดถึงหมากรุก นึกขึ้นได้ เวลามีคนพูดว่า

ใช้เงินเป็นเบี้ย

ตอนแรกผมก็สงสัยว่าเงิน(ภาษาทางการ) กับเบี้ย(ภาษาชาวบ้าน) มันต่างกันตรงไหน
พอดีถามครู ครูได้ให้ข้อเสนอไว้ว่า เค้าหมายถึง ใช้แบบตัวเบี้ยของหมากรุกที่มักให้บุกไปก่อน
(และตายก่อนอย่างสิ้นเปลือง โดยที่บางตัวไร้ประโยชน์)
(อันนี้ไม่รับประกันความถูกต้องของที่มานะครับ)

ผมว่ามนุษย์ (โดยเฉพาะคนไทย) เก่งนะครับ รู้จักเอาของรอบตัวมาเปรียบเปรย
เพียงแต่เยาวชนรุ่นใหม่ไม่ได้ใกล้ชิดของใกล้ตัวเหล่านั้น ทำให้ไม่ทราบน่ะครับ


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 06, 12:22
 ม้าดีดกระโหลก  
หมายถึงกิริยากระโดกกระเดกลุนลน ไม่เรียบร้อย ใช้ว่าผู้หญิง
ม้าพยศมัก "ดีด" กับ "โขก" หรือสะกดอีกอย่างว่า "โขลก" สองคำนี้ใช้คู่กัน  
นานๆก็เพี้ยนเป็น ม้าดีดกระโหลก

เรียบเรียงจาก สำนวนไทย ของ กาญจนาคพันธุ์


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 27 ก.ย. 06, 16:00
 ไม่ดูตาม้าตาเรือ = ไม่พิจารณาให้รอบคอบ เสมือนเดินหมากด้วยความไม่ระมัดระวังทำให้ตกไปอยู่ตาม้า ตาเรือ ของฝ่ายตรงข้ามให้เขากินหมากได้โดยง่าย(ม้า กับเรือ สามารถเดินตาได้ไกลกว่าหมากตัวอื่น ต้องคอยระวังรัศมีการกินของม้า และเรือให้รอบคอบกว่าหมากตัวอื่น)

พลิกกระดาน = พลิกจากการเป็นรอง กลับมาเป็นต่อได้ (ไม่ใช่เล่นแพ้แล้วพาลคว่ำกระดานซะอย่างนั้น :_D)


รุกไล่ , ต้อนเข้ามุม , เข้าตาจน , กลเม็ด , หมกเม็ด  ฯลฯ


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: thawankesmala ที่ 27 ก.ย. 06, 17:16
 เบี้ยข้างกระดาน= คนที่ไม่ค่อยจะมีความสำคัญ
วางหมาก = กำหนดแผนการ

หมดหรือยังครับ อ้อ ยังมีชื่อเรียกกลยุทธ์ต่าง ๆ อีกครับ เช่นพระรามเข้าโกฐ (เขียนถูกไหมครับ) ปลาดุกยักเงี่ยง ม้าขโมย โคนก้าวร้าว


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 27 ก.ย. 06, 21:16
 อับจน ก็น่าจะมาจากหมากรุกนะครับ


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ย. 06, 21:20
 ล้มกระดาน  ด้วยหรือเปล่าคะ


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: [-Constantine-] ที่ 28 ก.ย. 06, 00:34
 สำนวนและคำพังเพยต่างกันอย่างไร? ครับ


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ย. 06, 08:39
 คลิกที่พจนานุกรมออนไลน์
พิมพ์คำว่า สำนวน
และ
พังเพย
จะพบคำจำกัดความ ค่ะ  


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: [-Constantine-] ที่ 28 ก.ย. 06, 17:55
 รายงาน : จากการแนะนำของคุณเทาชมพู

คำ :  สำนวน
เสียง :  สำ-นวน
นิยาม1 :  ถ้อยคำที่เรียบเรียง, โวหาร, บางทีก็ใช้ว่า สำนวนโวหาร เช่น สารคดีเรื่องนี้สำนวนโวหารดี ความเรียงเรื่องนี้สำนวนโวหารลุ่มๆ ดอนๆ.
นิยาม2 :  ถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายไม่ตรงตามตัวหรือมีความหมายอื่นแฝงอยู่ เช่น สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง,
ถ้อยคำที่แสดงออกมาเป็นข้อความพิเศษเฉพาะภาษาหนึ่งๆ เช่น สำนวนฝรั่ง สำนวนบาลี, ชั้นเชิงหรือท่วงทำนองในการแต่งหนังสือหรือพูด เช่น สำนวนเจ้าพระยาพระคลัง
(หน) สำนวนยาขอบ สำนวนไม้เมืองเดิม.
นิยาม3 :  ลักษณนามใช้เรียกข้อความหรือบทประพันธ์หนึ่งๆ เช่น อิเหนา มีหลายสำนวน บทความ ๒ สำนวน.

คำ :  พังเพย
เสียง :  พัง-เพย
นิยาม :  ถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว โดยกล่าวเป็นกลางๆ เพื่อให้ตีความเข้ากับเรื่อง เช่น กระต่ายตื่นตูม.

สรุป : คำพังเพยเป็นสำนวน(นิยาม2)แต่สำนวนไม่จำเป็นต้องเป็นคำพังเพย
จบข่าว
อ้างอิง : http://rirs3.royin.go.th/riThdict/lookup.html  


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: กงกง ที่ 15 ต.ค. 06, 22:49
 เข้ามาอ่าด้วยคนครับ

..เพิ่งรู้เหมือนกันครับว่า...ไก่แก่...มาจาก ..กระต่ายแก่..

แล้วก้อเพิ่งรู้ความหมายที่แท้จริงของ...ใช้เงินเป็นเบี้ย...ก็วันนี้แหละครับ

จากค.ห.ที่ 5
...จัดเครื่องกระยาบวชสังเวยก็แล้ว เสียงกลองนั้นก็ไม่หายไป...

แล้ว...เครื่องกระยาบวชสังเวย...นี่เป็นยังไงครับ


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: [-Constantine-] ที่ 29 ต.ค. 06, 20:01
 สำนวนไทย ที่เกี่ยวกับเงินๆทองๆมีอะไรบ้าง เอามาแชร์กันหน่อยครับ
ขอบคุณมากๆ


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: thawankesmala ที่ 17 ธ.ค. 06, 09:08
 มีเงินเรียกว่าน้อง มีทองเรียกว่าพี่
เมื่อเงินพูด ความจริงก็เงียบ
เงินใช้ผีให้โม่แป้งได้
เสียทองเท่าหัว ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร
ทองแท้ ไม่กลัวถูกลนไฟ
ค่าของเงินขึ้น ค่าของความรักก็ลด (อันนี้ผมพูดเอง ฮ่า ๆ)


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ค. 07, 10:21
เอากระทู้เก่ามาปัดฝุ่น เสียดายเนื้อหา

สำนวนไทยเกี่ยวกับเงินๆทองๆ มีอีกค่ะ
ทองไม่รู้ร้อน
เป็นทองแผ่นเดียวกัน
อย่าเอาทองไปรู่กระเบื้อง
ทองเสาชิงช้า   หมายถึงทองเหลือง





กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 ก.ค. 07, 11:03
         จาก  นิราศเมืองแกลง 

             คำโบราณท่านผูกถูกทุกสิ่ง          เขาว่าลิงจองหองมันพองขน

         จาก    พระอภัยมณี

             อาบน้ำร้อนก่อนเจ้าข้าเข้าใจ             เมื่อไม่ได้ก็ว่าสารพัน

             เพราะปีเถาะเคราะห์กรรมเกิดน้ำมาก       น้ำท่วมปากท่วมลิ้นเสียสิ้นหนา

             พระน้องยิ้มพร้อมพักตร์พจนา                อุปมาเหมือนไก่อยู่ในมือ   




กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ค. 07, 11:34
สำนวนเกี่ยวกับ ผี   :-\
ผีเข้าผีออก
ผีซ้ำด้ำพลอย
ผีถึงป่าช้า
ผีเรือนไม่ดี ผีอื่นพลอย




กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 07, 18:04
สำนวนพวกนี้ไม่เคยได้ยิน  คงเลิกใช้กันแล้ว   อยู่ในหนังสือสำนวนไทยของกาญจนาคพันธุ์ ค่ะ

ฟ้าเคืองสันหลัง  = เคราะห์กรรมร้ายแรงมาถึงตัว
ลิดตีนปู  = หาประโยชน์จากผู้น้อย
ลิ้นกระด้างคางแข็ง  = พูดจาไม่สุภาพ ไม่อ่อนน้อม
ลูกเจ้ากะซุง = ลูกเศรษฐี
ลำหนัก  = แข็งแรง
ไม่เสียปีเสียเดือน = ปฏิบัติตามธรรมเนียมเมื่อถึงเวลา
เป็นดั้งหน้า  =  ออกนำหน้ามาคอยป้องกัน


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 27 ก.ค. 07, 00:56
สำนวนเกี่ยวกับน้ำใครมีอีกเอามาแชร์กันครับ

น้ำกลิ้งบนใบบอน
น้ำเชี่ยวขวางเรือ
น้ำท่วมทุ่ง  ผักบุ้งโหรงเหรง
น้ำลึกหยั่งได้  น้ำใจหยั่งยาก
น้ำขึ้นให้รีบตัก
น้ำมาปลากินมด  น้ำลดมดกินปลา
น้ำตาลใกล้มด
น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ
น้ำพึ่งเรือ  เสือพึ่งป่า
น้ำร้อนปลาเป็น  น้ำเย็นปลาตาย  .......... :D


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 27 ก.ค. 07, 11:23
        จากนิราศเมืองแกลง     จะกรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย แม้เจ้านายท่านไม่ใช้แล้วไม่มา

        จากมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร ตอนที่ชูชกทูลขอชาลี กัณหา  ชักแม่น้ำทั้งห้า 
( คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู และ มหิ )

        ใน   Shakespeare:  Henry VI

        “Smooth runs the water where the brook is deep;
And in his simple show he harbours treason,
The fox barks not when he would steal the lamb;
No, no, my sovereign, Gloucester is a man
Unsounded yet, and full of deep deceit.”     

          น้ำนิ่ง ไหลลึก       still waters run deep 

ค้นพบว่า   เป็นคำกล่าวแต่เก่าก่อน พบตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 1400

             เป็นคำกล่าวของชนชาว Bactria ในอิหร่าน    the deepest rivers flow with least sound

              There the flode is deppist the water standis stillist.
              [c 1400 Cato's Morals in Cursor Mundi (EETS) 1672]

              Smothe waters ben ofte sithes [oftentimes] depe.
              [c 1410 J. Lydgate Minor Poems (EETS) 476]

              Where riuers runne most stilly, they are the deepest.
              [1616 T. Draxe Adages 178]

              Smooth Waters run deep.
              [1721 J. Kelly Scottish Proverbs 287]

              In maturer age the fullest, tenderest tide of which the loving heart is capable
may be described by those ‘still waters’ which ‘run deep’.
              [1858 D. M. Mulock Woman's Thoughts about Women xii.]
 
              As for her, still waters run deep, it seems. She always looked so solemn.
Fancy her shooting him!
              [1979 M. Underwood Victim of Circumstances ii. 86]

จาก Answers.com


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 27 ก.ค. 07, 13:23

     น้ำเน่า

     ถ้าจำไม่ผิด เป็นคำสำนวนเกิดขึ้นประมาณ ๓๐ กว่าปี  มาจากหน้าบันเทิง นสพ. สยามรัฐ
ในสมัยซึ่งอุดมด้วยนักวิจารณ์ปากกาคมหลายท่าน
        หมายถึง ลักษณะหนังไทยในยุคนั้น โดยเฉพาะเนื้อเรื่อง - บทที่ซ้ำซาก เดิมๆ ไม่มีพัฒนาการ
เหมือนน้ำที่นิ่ง จนเน่า
[ พล็อตจะเป็นนางเอกกำพร้า พระเอกรวย มีคณะนางอิจฉา(แม่นางอิจฉา คนรับใช้ ผู้ร้าย)กลั่นแกล้ง
แล้วจบลงด้วยความสุขสมหวังของคู่พระนาง ที่มีโบนัสก้อนโตแถมท้ายให้ จากการค้นพบล็อคเก็ท
หรือปานแดงของนางเอกเป็นหลักฐานบอกว่า เธอคือทายาทลูกท่านหลานเธอ ]   

      เร็วๆ นี้ มีผู้ต่อเติม กลายเป็น " น้ำเน่า แต่เห็น เงาจันทร์ "  หมายถึง ละครไทยในยุคปัจจุบันที่
เนื้อเรื่องยังคงลักษณะน้ำเน่าแบบหนังไทยสมัยก่อน แต่การสร้าง การเขียนบท พิถีพิถัน พัฒนาดีขึ้นกว่าเก่า

         ผิดถูก บกพร่อง ผู้รู้แก้ไข เพิ่มเติมด้วยครับ     
       


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 07, 13:52
น้ำเน่า เกิดตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๐๕  ผู้พูดคำนี้เป็นคนแรกคืออาจารย์เจือ สตะเวทิน
ท่านให้ความเห็นว่าวรรณกรรมสมัยนั้นหยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ได้พัฒนาไปทางไหน   เหมือนน้ำนิ่ง  ถ้านิ่งอยู่นานๆก็จะกลายเป็นน้ำเน่า
คำสุดท้ายนี้เอง กลายมาเป็นคำจุดประกายนักวิจารณ์ให้นำมาใช้  โดยหมายถึงประเภทของงานเขียนที่ซ้ำซาก  ไม่ขยับเขยื้อนไปจากที่เคยแต่งกัน   
แล้วก็กลายเป็นคำเรียกอย่างเหยียดหยาม ถึงนิยาย(มากกว่าบทกวีหรือเรื่องสั้น) ที่มีโครงเรื่องซ้ำๆซากๆกัน  ชนิดคนอ่านเดาตอนจบได้ตั้งแต่เริ่มต้น  ไม่มีอะไรแปลกใหม่
ต่อมาก็ถูกนำไปประกอบงานอื่นๆอีกหลายชนิด  ที่เห็นว่ามีแต่ปริมาณแต่ไม่มีคุณภาพ เช่นละครน้ำเน่า


กระทู้: สำนวน
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 27 ก.ค. 07, 16:02

       ขอบคุณอาจารย์ครับ

          ได้ยินคำว่า น้ำเน่าจากหนังไทยสมัยก่อน, ไม่ทันตอน ๒๕๐๕ ครับ

          แต่ทันได้เคยดูรายการแข่งขันตอบปัญหาภาษาไทย - "ภาษาศิลป์" ของ อ.เจือ ทางไทยทีวีช่องสี่
บางขุนพรหม ที่มีรายการแข่งขันตอบปัญหาภาษาอังกฤษของเชลล์ด้วย
          ทั้งสองเป็นรายการที่นักเรียนสมัยก่อนให้ความสนใจ ติดตามดูผู้แข่งขันที่มาจากโรงเรียนต่างๆ
ทุกสัปดาห์