เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 12, 20:14



กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 12, 20:14
http://www.unigang.com/Article/12405

 จากกรณีที่มีคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่หากเขียนเป็นภาษาไทยแล้วไม่มีวรรณยุกต์ จนอาจทำให้ประชาชนบางคนเกิดความสับสนว่าเขียนอย่างไรกันแน่นั้น
อย่างก็ตามเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 29 กันยายน นางกาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต และนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทางกองศิลปกรรมได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นประมาณ 300 ชุด เพื่อสอบถามความเห็นจากคณะกรรมการราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก และผู้ที่เกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงการเขียนคำที่ยืมจากภาษาอังกฤษใหม่ จำนวน 176 คำ ที่เขียนผิด และออกเสียงไม่ตรงกับเสียงวรรณยุกต์ตามอักขรภาษาไทย
โดยหากผลการสำรวจความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าควรเปลี่ยนคำไหน ก็จะนำไปบรรจุในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ต่อไป


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 12, 20:17
สำหรับคำศัพท์ที่อยู่ในแบบสำรวจ เพื่อขอความเห็นในการเปลี่ยนแปลงการเขียนใหม่ ดังนี้
 
1. คำที่ใส่เครื่องหมายไม้ไต่คู้เพื่อแสดงสระเสียงสั้น ได้แก่
 
           ซีเมนต์            เปลี่ยนเป็น        ซีเม็นต์
           เซต               เปลี่ยนเป็น        เซ็ต
           เซนติกรัม         เปลี่ยนเป็น       เซ็นติกรัม
           เซนติเกรด        เปลี่ยนเป็น       เซ็นติเกรด
           เซนติลิตร         เปลี่ยนเป็น       เซ็นติลิตร
           ไดเรกตริกซ์      เปลี่ยนเป็น       ไดเร็กตริก
           เทนนิส           เปลี่ยนเป็น        เท็นนิส
           นอต              เปลี่ยนเป็น        น็อต
           นิวตรอน          เปลี่ยนเป็น        นิวตร็อน
           เนตบอล          เปลี่ยนเป็น        เน็ตบอล
           เนปจูน            เปลี่ยนเป็น        เน็ปจูน
           เบนซิน            เปลี่ยนเป็น       เบ็นซิน
           แบคทีเรีย         เปลี่ยนเป็น       แบ็คทีเรีย
           มะฮอกกานี       เปลี่ยนเป็น       มะฮ็อกกานี
           เมตริก             เปลี่ยนเป็น       เม็ตตริก
           เมตริกตัน          เปลี่ยนเป็น      เม็ตริกตัน
           แมงกานิน         เปลี่ยนเป็น       แม็งกานิน
           อิเล็กตรอน        เปลี่ยนเป็น       อิเล็กตร็อน
           เฮกโตกรัม        เปลี่ยนเป็น       เฮ็กโตกรัม
           เฮกโตลิตร        เปลี่ยนเป็น       เฮ็กโตลิตร


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 12, 20:19
2. คำที่เปลี่ยนตัวพยัญชนะเป็นอักษรสูง ได้แก่
 
           คอร์ด               เปลี่ยนเป็น               ขอร์ด
           แคโทด             เปลี่ยนเป็น               แคโถด
           ซัลเฟต             เปลี่ยนเป็น               ซัลเฝต
           ไทเทรต            เปลี่ยนเป็น               ไทเถรต
           ไนต์คลับ           เปลี่ยนเป็น               ไน้ต์ขลับ
           พาร์เซก            เปลี่ยนเป็น                พาร์เส็ก
           แฟลต              เปลี่ยนเป็น                แฝล็ต
           สเปกโทร สโกป   เปลี่ยนเป็น                สเป็กโทรสโขป
           ไอโซโทป         เปลี่ยนเป็น                ไอโซโถป
 
3. คำที่ใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์เอก ได้แก่
 
           กอริลลา                  เปลี่ยนเป็น                กอริลล่า
           แกโดลิเนียม             เปลี่ยนเป็น                แกโดลิเนี่ยม
           แกมมา                   เปลี่ยนเป็น                แกมม่า
           แกลเลียม                เปลี่ยนเป็น                แกลเลี่ยม
           คูเรียม                    เปลี่ยนเป็น                คูเรี่ยม
           แคดเมียม                เปลี่ยนเป็น                แคดเมี่ยม
           แคลเซียม                เปลี่ยนเป็น                แคลเซี่ยม
           แคลอรี                   เปลี่ยนเป็น                แคลอรี่
           โครเมียม                 เปลี่ยนเป็น                โครเมี่ยม
           ซิงโคนา                  เปลี่ยนเป็น                ซิงโคน่า


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 12, 20:26
                      ซิลิคอน               เปลี่ยนเป็น              ซิลิค่อน
                      ซีเซียม                เปลี่ยนเป็น              ซีเซี่ยม
                      ซีนอน                 เปลี่ยนเป็น              ซีน่อน
                      ซีเรียม                 เปลี่ยนเป็น              ซีเรี่ยม
                      โซลา                 เปลี่ยนเป็น              โซล่า
                      ดอลลาร์              เปลี่ยนเป็น               ดอลล่าร์
                      เทคโนโลยี           เปลี่ยนเป็น               เท็คโนโลยี่
                      แทนทาลัม            เปลี่ยนเป็น              แทนทาลั่ม
                     ไทเทเนียม             เปลี่ยนเป็น              ไทเทเนี่ยม
                      เนบิวลา               เปลี่ยนเป็น               เนบิวล่า
                     ไนลอน                 เปลี่ยนเป็น               ไนล่อน
                     แบเรียม                เปลี่ยนเป็น                แบเรี่ยม
                     ปริซึม                  เปลี่ยนเป็น                ปริซึ่ม
                     ปิโตรเลียม             เปลี่ยนเป็น                ปิโตรเลี่ยม
                     แพลทินัม              เปลี่ยนเป็น                แพลทินั่ม
                     ฟังก์ชัน                 เปลี่ยนเป็น               ฟังก์ชั่น
                     ฟาทอม                 เปลี่ยนเป็น               ฟาท่อม
                     ไมครอน                เปลี่ยนเป็น               ไมคร่อน
                     ยิปซัม                  เปลี่ยนเป็น                ยิปซั่ม
                     ยูเรเนียม                เปลี่ยนเป็น               ยูเรเนี่ยม


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 12, 20:33
                          เลเซอร์          เปลี่ยนเป็น             เลเซ่อร์
                          วอลเลย์บอล    เปลี่ยนเป็น             วอลเล่ย์บอล
                          อะลูมิเนียม      เปลี่ยนเป็น             อะลูมิเนี่ยม
                          อีเทอร์           เปลี่ยนเป็น             อีเท่อร์
                          เอเคอร์          เปลี่ยนเป็น              เอเค่อร์
                          แอลฟา          เปลี่ยนเป็น              แอลฟ่า
                          ฮาห์เนียม        เปลี่ยนเป็น              ฮาห์เนี่ยม
                          ฮีเลียม           เปลี่ยนเป็น              ฮีเลี่ยม
 
4. คำที่ใส่ ห นำเพื่อแสดงเสียงวรรณยุกต์เอก ได้แก่
 
                          กะรัต             เปลี่ยนเป็น               กะหรัต
                          แกรนิต           เปลี่ยนเป็น               แกรหนิต
                          คลินิก            เปลี่ยนเป็น               คลิหนิก
                          คาทอลิก        เปลี่ยนเป็น                คาทอหลิก
                          คาร์บอเนต      เปลี่ยนเป็น                คาร์บอเหนต
                          คาร์บอลิก       เปลี่ยนเป็น                คาร์บอหลิก
                         โคออร์ดิเนต      เปลี่ยนเป็น               โคออร์ดิเหนต
                         รูเล็ตต์            เปลี่ยนเป็น                รูเหล็ตต์
 
5. คำที่เติมเครื่องหมายวรรณยุกต์โท ได้แก่
 
                          กลูโคส          เปลี่ยนเป็น                 กลูโค้ส
                          กิโลไซเกิล      เปลี่ยนเป็น                 กิโลไซเกิ้ล
                          กิโลเมตร        เปลี่ยนเป็น                 กิโลเม้ตร
                          กิโลเฮิรตซ์      เปลี่ยนเป็น                  กิโลเฮิ้รตซ์
                          กีตาร์            เปลี่ยนเป็น                  กีต้าร์
                          แกรไฟต์         เปลี่ยนเป็น                  แกรไฟ้ต์
                          คาร์บอน         เปลี่ยนเป็น                  คาร์บ้อน
                          คาร์บูเรเตอร์     เปลี่ยนเป็น                  คาร์บูเรเต้อร์
                          เคเบิล           เปลี่ยนเป็น                  เคเบิ้ล
                         โควตา           เปลี่ยนเป็น                  โควต้า           


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 12, 20:38
           ชอล์ก             เปลี่ยนเป็น                ช้อล์ก
           ซอส              เปลี่ยนเป็น                 ซ้อส
           โซเดียม          เปลี่ยนเป็น                โซเดี้ยม
           ไดนาไมต์        เปลี่ยนเป็น                ไดนาไม้ต์
           แทนเจนต์        เปลี่ยนเป็น                แทนเจ้นต์
           แทรกเตอร์       เปลี่ยนเป็น                แทรกเต้อร์
           นิกเกิล            เปลี่ยนเป็น                นิกเกิ้ล
           ไนต์คลับ          เปลี่ยนเป็น               ไน้ต์ขลับ
           ไนโตรเจน         เปลี่ยนเป็น               ไนโตรเจ้น
           บารอมิเตอร์       เปลี่ยนเป็น                บารอมิเต้อร์
           บีตา               เปลี่ยนเป็น                บีต้า
           ปาทังกา          เปลี่ยนเป็น                ปาทังก้า
           ปาร์เกต์           เปลี่ยนเป็น                ปาร์เก้ต์
           พลาสติก         เปลี่ยนเป็น                พล้าสติก
           ฟาสซิสต์         เปลี่ยนเป็น                ฟ้าสซิสต์
           มอเตอร์           เปลี่ยนเป็น                มอเต้อร์
           เมตร              เปลี่ยนเป็น                เม้ตร
           ไมกา              เปลี่ยนเป็น               ไมก้า
           ยีราฟ              เปลี่ยนเป็น               ยีร้าฟ
           เรดอน             เปลี่ยนเป็น               เรด้อน
           เรดาร์             เปลี่ยนเป็น                 เรด้าร์
           เรเดียม            เปลี่ยนเป็น                เรเดี้ยม
           ลิกไนต์            เปลี่ยนเป็น                ลิกไน้ต์
           แวนดา            เปลี่ยนเป็น                แวนด้า
           อาร์กอน           เปลี่ยนเป็น                อาร์ก้อน
           แอนติบอดี        เปลี่ยนเป็น                แอนติบอดี้
           เฮิรตซ์             เปลี่ยนเป็น                เฮิ้รตซ์
           ไฮดรา             เปลี่ยนเป็น                ไฮดร้า
           ไฮโดรเจน         เปลี่ยนเป็น                ไฮโดรเจ้น


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 12, 20:44
           6. คำที่เติมเครื่องหมายวรรณยุกต์ตรี ได้แก่
 
           กราฟ                        เปลี่ยนเป็น             กร๊าฟ
           ก๊อซ                         เปลี่ยนเป็น             ก๊อซ
           กอล์ฟ                       เปลี่ยนเป็น             ก๊อล์ฟ
           เกาต์                         เปลี่ยนเป็น            เก๊าต์
           ออกไซด์                     เปลี่ยนเป็น            อ๊อกไซด์
           โคบอลต์                     เปลี่ยนเป็น            โคบ๊อลต์
           ดราฟต์                       เปลี่ยนเป็น            ดร๊าฟต์
           ดัตช์                         เปลี่ยนเป็น             ดั๊ตช์
           ดิสโพรเซียม                เปลี่ยนเป็น             ดิ๊สโพรเซี่ยม
           เดกซ์โทรส                  เปลี่ยนเป็น             เด๊กโทรัส
           เต็นท์                        เปลี่ยนเป็น             เต๊นท์
           บาสเกตบอล                เปลี่ยนเป็น             บ๊าสเก้ตบอล
           บิสมัท                       เปลี่ยนเป็น             บิ๊สมั้ท
           แบงก์                        เปลี่ยนเป็น             แบ๊งก์
           โบต                          เปลี่ยนเป็น             โบ๊ต
           ปลาสเตอร์                   เปลี่ยนเป็น             ปล๊าสเต้อร์
           ปิกนิก                        เปลี่ยนเป็น              ปิ๊กหนิก
           ออกซิเจน                    เปลี่ยนเป็น              อ๊อกซิเย่น
           ออกซิเดชัน                  เปลี่ยนเป็น              อ๊อก ซิเดชั่น
           ออกไซด์                     เปลี่ยนเป็น              อ๊อกไซด์
           อาร์ต                         เปลี่ยนเป็น              อ๊าร์ต
           เอกซเรย์                     เปลี่ยนเป็น              เอ๊กซเรย์
           แอสไพริน                   เปลี่ยนเป็น               แอ๊สไพริน
           แอสฟัลต์                    เปลี่ยนเป็น              แอ๊สฟัลต์
           โอต                          เปลี่ยนเป็น              โอ๊ต
 
7. คำที่มีหลายพยางค์ ได้แก่
 
           คอนเดนเซอร์ เปลี่ยนเป็น ค็อนเด็นเซ่อร์
           คอนแวนต์ เปลี่ยนเป็น ค็อนแว็นต์
           คอนเสิร์ต เปลี่ยนเป็น ค็อนเสิร์ต
           คอมพิวเตอร์ เปลี่ยนเป็น ค็อมพิ้วเต้อร์
           คอมมานโด เปลี่ยนเป็น ค็อมมานโด
           คอมมิวนิสต์ เปลี่ยนเป็น ค็อมมิวนิสต์
           คูปอง เปลี่ยนเป็น คูป็อง
           เครดิตฟองซิเอร์ เปลี่ยนเป็น เครดิตฟ็องซิเอร์
           แคดเมียม เปลี่ยนเป็น แค็ดเมี่ยม
           แคปซูล เปลี่ยนเป็น แค็ปซูล

           แคลเซียมไซคลาเมต เปลี่ยนเป็น แคลเซี่ยมไซคลาเมต
           ช็อกโกเลต/ ช็อกโกแลต เปลี่ยนเป็น ช็อกโกแล็ต
           เซนติเมตร เปลี่ยนเป็น เซ็นติเม้ตร
           โซเดียมคาร์บอเนต เปลี่ยนเป็น โซเดี้ยมคาร์บอเหนต
           โซเดียมไซคลาเมต เปลี่ยนเป็น โซเดี้ยมไซคลาเหมต
           โซเดียมไฮโดรเจนกลูทาเมต เปลี่ยนเป็น โซเดี้ยมไฮโดรเจ้นกลูตาเหมต
           โซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต เปลี่ยนเป็น โซเดี้ยมไฮโดร เจ้นคาร์บอเหนต
           ดีเปรสชัน เปลี่ยนเป็น ดีเปร๊สชั่น
           เทคโนโลยี เปลี่ยนเป็น เท็คโนโลยี่
           แทรกเตอร์ เปลี่ยนเป็น แทร็กเต้อร์

           แบดมินตัน เปลี่ยนเป็น แบ็ดมินตั้น
           แบตเตอรี่ เปลี่ยนเป็น แบ็ตเตอรี่
           พลาสมา เปลี่ยนเป็น พล้าสม่า
           โพแทสเซียม เปลี่ยนเป็น โพแท้สเซี่ยม
           เมนทอล เปลี่ยนเป็น เม็นท่อล
           แมงกานีส เปลี่ยนเป็น แม็งกานี้ส
           แมกนีเซียม เปลี่ยนเป็น แม็กนีเซี่ยม
           รีดักชัน เปลี่ยนเป็น รีดั๊กชั่น
           ลอการิทึม เปลี่ยนเป็น ล็อกการิทึ่ม
           สเปกตรัม เปลี่ยนเป็น สเป๊กตรั้ม

           สเปกโทรสโกป เปลี่ยนเป็น สเป็กโตรสโขป
           ออกซิเดชัน เปลี่ยนเป็น อ๊อกซิเดชั่น
           อัลตราไวโอเลต เปลี่ยนเป็น อัลตร้าไวโอเหล็ต
           แอกทิเนียม เปลี่ยนเป็น แอ๊กทิเนี่ยม
           แอนติอิเล็ก ตรอน เปลี่ยนเป็น แอ็นติอิเล็กตร็อน
           เฮกตาร์ เปลี่ยนเป็น เฮ็กต้าร์
           เฮกโตเมตร เปลี่ยนเป็น เฮ็กโตเม้ตร


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: yong9798 ที่ 30 ก.ย. 12, 21:16
บางคำก็เห็นด้วย แต่บางคำก็ทะแม่งๆครับ ;D


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 30 ก.ย. 12, 23:43
คำที่เปลี่ยนตัวพยัญชนะเป็นอักษรสูงกับเติมไม้ตรีนี่เห็นด้วยมากๆ ครับเพราะขัดใจมานานแล้ว เช่น แฟนคลับ แต่ออกเสียงว่าเป็นแฟนขลับกันทั้งเมือง แฟลต ก็ออกเสียงว่าแฝลต กันทั้งนั้น ผมยังงงว่าทำไมเราเขียนแบบนึง ออกเสียงอีกแบบมาตั้งนาน ใครเขียนให้ถูกเสียงกลายเป็นผิดไปซะอีก


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 30 ก.ย. 12, 23:50
ภาษาอังกฤษไม่ได้ใช้ระบบวรรณยุกต์ แต่ใช้การ stress ซึ่งสามารถแปรเปลี่ยนไปตามการวางคำในประโยคและอารมณ์ของผู้พูดด้วย เป็นระบบที่แตกต่างกับภาษาไทยอย่างสิ้นเชิง ทำอย่างนี้ผมเห็นว่าหลงทาง วุ่นวายเปล่าๆ ไม่ได้อะไรขึ้นมาเลยครับ


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: mrpzone ที่ 01 ต.ค. 12, 00:18
นึกว่าในชาตินี้จะไม่มีโอกาสได้เห็นคำทับศัพท์อังกฤษมีวรรณยุกต์ซะแล้วล่ะครับ  ;D

มีอยู่หลายคำที่เปลี่ยนแล้วเข้าที และน่าจะถูกใจผู้ใช้งานภาษาไทยอีกหลายท่าน เช่น เซ็ต กอริลล่า แคลอรี่ โซล่า ฟังก์ชั่น ยิปซั่ม กีต้าร์ เคเบิ้ล โควต้า นิกเกิ้ล บีต้า (เบต้า?) ปาทังก้า ไมก้า แอนติบอดี้ โอ๊ต ไฮดร้า ฯลฯ ในกลุ่มคำเหล่านี้ผมโหวตให้อย่างไม่มีข้อแม้ เพราะแอบใช้แบบ "วิบัติ" มานานแล้วครับ

แต่มีบางคำที่น่าฉงนและน่าสนใจ เช่น เม็ตตริก/เม็ตริกตัน (ต.เต่าหายไปไหน) แอนติบอดี้/แอ็นติอิเล็กตร็อน (ไม้ไต่คู้) คำที่เปลี่ยนไปใช้อักษรสูง คำที่ใช้ ห.นำ คำที่ใช้ไม้โท (เต้อร์, เม้ตร) ฯลฯ

สำหรับความเห็นส่วนตัวแล้ว กลุ่มคำที่เป็นอักษรต่ำเมื่อเติมไม้เอกในกลุ่มที่ 3 ดูจะเป็นมิตร ไม่ต้องปรับตัวเรียนรู้ใหม่ซักเท่าไร และคิดว่าน่านำไปใช้งานมากที่สุดใน 6 กลุ่มนี้ครับ


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ต.ค. 12, 09:03
เห็นด้วยกับคุณม้าค่ะ   ตัวอย่างง่ายๆ อย่างคำว่า sure  ถ้าเป็นประโยคคำถาม Are you sure?  ก็จะออกเสียงสูงกว่าประโยคบอกเล่า Yes, I am sure

computer ถ้าจะสะกดให้คล้ายที่สุด  น่าจะเป็น คอมพิ้วเถอะ

ถ้าเปลี่ยนตามนี้จริงๆ  ต้องเปลี่ยนตัวสะกดในตำราเรียนของกระทรวงศึกษาธิการให้ถูกต้องตามนี้หรือเปล่าคะ  ถ้าต้องเปลี่ยนให้หมด  ก็คงหมดงบไปอีกเป็นพันล้าน


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ต.ค. 12, 09:19
คำเหล่านี้ต้องถือว่าเป็นคำไทยที่รับมาจากภาษาอังกฤษ เช่นเดียวกับที่คำไทยหลาย ๆ คำที่รับมาจากภาษาเขมร บาลีสันสกฤต

จุดประสงค์ของการปรับปรุงวิธีเขียนคำเหล่านี้ คงไม่ใช่เพื่อให้เขียนให้ออกเสียงตามวิธีออกเสียงของเจ้าของภาษา หากเพื่อให้ออกเสียงได้ถูกต้องตามวิธีทีคนไทยรับเอาคำเหล่านั้นมาแล้วออกเสียงแบบไทย ๆ

หลาย ๆ คำเปลี่ยนวิธีเขียนแล้วก็ดูดีขึ้น บางคำอาจจะต้องหาวิธีเขียนให้เป็นที่ยอมรับมากกว่านี้ ตัวอย่างเช่นการใช้ไม้ไต่คู้สำหรับคำให้ข้อ ๑ ดูแล้วจะรุงรังมากไปหน่อย เรื่องนี้มีทางออกโดยเทียบกับกฎเกณฑ์การใช้ไม้ไต่คู้สำหรับคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตซึ่งไม่ต้องใช้ไม้ไต่คู้กำกับเช่น เพชร, เพชฌฆาต, เบญจ, เวจ,  อเนจอนาถ

 ;D



กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ต.ค. 12, 09:45
^
อ้างถึง
จุดประสงค์ของการปรับปรุงวิธีเขียนคำเหล่านี้ คงไม่ใช่เพื่อให้เขียนให้ออกเสียงตามวิธีออกเสียงของเจ้าของภาษา หากเพื่อให้ออกเสียงได้ถูกต้องตามวิธีทีคนไทยรับเอาคำเหล่านั้นมาแล้วออกเสียงแบบไทย ๆ

เพิ่งรู้นี่แหละ  หลงเข้าใจผิดซะนานว่าเขียนให้ออกเสียงใกล้เคียงคำในภาษาเดิม  เท่าที่พยัญชนะไทยจะทำได้
แต่ถ้าออกเสียงแบบไทยๆ  ก็กัปตัน อัลเฟรด จอห์น  ลอฟตัส ต้องออกเสียงว่ากะปิตัน แอลเฟรด ยอน  ลอบเตอด  น่ะซีคะ


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 01 ต.ค. 12, 12:51
ไล่กันไม่จบหรอกค่ะ คำใหม่ๆ มีมาอยู่เรื่อย ๆ น่าจะกำหนดเป็นหลักการไว้เลยดีกว่า ว่าจะให้ใส่วรรณยุกต์หรือไม่ ใส่ไม้ไต่คู้ตรงไหน (แต่ก่อนเรียนหนังสือ คุณครูบอกว่า คำยืมจากภาษาต่างประเทศไม่ต้องใส่วรรณยุกต์)

ดูเหมือน 176 คำนี้ จะเป็นคำที่เป็นศัพท์เฉพาะทางเสียมาก แล้วสำเนียงฝรั่งเองก็ยังแตกต่างกัน

คำเก่า ๆ อย่างคำว่า แอปเปิล กีวี ลองกอง ฯลฯ จะทำอย่างไร   ???
 


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ต.ค. 12, 13:31
กลอนบทนี้ ทันสมัยดีค่ะ

เท็คโนโลยี่ แบ็ดมินตั้น อ้นลึกลับ
เที่ยวไน้ต์ขลับ เข้าคลิหนิก ปิ๊กหนิกไหน
ค็อมพิ้วเต้อร์ พิมพ์แบ๊งก์ แปลงอ๊อกไซด์
ไดนาไม้ต์ พล้าสติก เม็ตตริกตัน

ขอร์ดเท็นนิส ขอร์ดกีต้าร์ เรด้าร์บิ่น
แอ๊สไพริน คูป็อง กร๊าฟของฉัน
อิเล็กตร็อน ดอลล่าร์ สารพัน
รีดั๊กชั่น ปิโตรเลี่ยม เตรียมเป็นลม.

http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K12726289/K12726289.html


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ต.ค. 12, 13:37
คำเก่า ๆ อย่างคำว่า แอปเปิล กีวี ลองกอง ฯลฯ จะทำอย่างไร   ???
 

เท่าที่ทราบคำว่า ลองกอง ไม่ได้มาจากภาษาอังกฤษ คุณวิกกี้ (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87) เธอบอกว่ามาจากภาษายาวี 

คุณพจนีย์สับสนกับคำว่า longon (ลำไย) หรือเปล่า

 ;D


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 01 ต.ค. 12, 14:24
ดิฉันเพิ่งเห็นว่า ราชบัณฑิตฯ เจาะจงเฉพาะคำที่ยืมมาจากภาษาอังกฤษเท่านั้น

คิดว่าเป็นภาษาต่างประเทศทั้งหมด  ;D


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 01 ต.ค. 12, 14:29
เท่าที่ดูๆ เหมือนกระแสที่ไม่ต้องการให้เปลี่ยนมีเยอะเหมือนกัน เพราะเวลาจะมีการเปลี่ยนแปลงเรามักจะไม่ค่อยชอบและรู้สึกว่าของเก่าก็ดีใช้ได้อยู่แล้ว เห็นข่าวนี้ทีแรกผมยังคิดว่าเค้าไม่มีอะไรทำกันหรือไงนะ แต่พอไปอ่านรายละเอียด ดูคำบางคำที่จะเขียนใหม่ผมกลับเห็นด้วยไปกับราชบัณฑิต บางท่านบอกว่าภาษาอังกฤษเสียงมันไม่แน่นอน ขึ้นกับว่าจะ strees ตรงไหนอันนั้นก็จริง  แต่อย่างไรก็ตาม เวลาคนไทยออกเสียงคำเหล่านี้เราจะออกเสียงในลักษณะเดียวเท่านั้น การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเขียนให้ตรงกับลักษณะที่คนไทยออกเสียงให้มากขึ้นผมจึงยอมรับได้นะครับ  เช่นคอมพิวเตอร์ เราออกเสียงคอมพิ้วเต้อร์หรือคอมพิวเต้อร์กันทั้งนั้น โดยเฉพาะตัวเตอร์นี่เราเต้อกันทั้ังประเทศ แต่ตรงคอมเป็นค็อมนี่ผมว่าแปลก เพราะผมรู้สึกว่าเราออกเสียงคอมกันแบบลากเสียงยาว  


แต่เมื่อเปลี่ยนแล้วบางคำมันจะดูขัดหูขัดตามาก เช่นคำว่าเมตร เพราะเราสะกดแบบหนึ่งออกเสียงอีกแบบหนึ่งกันจนเคยชินมาก ดังนั้นพอเป็นเม้ตรนี่มันรับได้ยาก แต่ถ้าราชบัณฑิตจะเปลี่ยนแค่บางคำหรือบางส่วนก็จะมีปัญหาตามมาอีกว่าแล้วคำนั้นคำนี้ทำไมไม่เปลี่ยนอีก ดังนั้นจึงต้องทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันหมด  คิดว่าคงใช้วิธีแบบอนุโลมใช้เขียนแบบไหนก็ได้ แล้วให้ครูภาษาไทยค่อยๆ สอนเปลี่ยนหรือแก้เฉพาะในตำราใหม่ไปเรื่อยๆ ใช้เวลาหน่อยไม่ใช่เปลี่ยนโครมเดียวหมด

 


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ต.ค. 12, 14:33
                         4. คำที่ใส่ ห นำเพื่อแสดงเสียงวรรณยุกต์เอก      

การใส่ ห สำหรับคำในข้อ ๔  อาจไม่จำเป็น มีทางออกโดยเทียบเคียงกับคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตและเขมรซึ่งใช้วิธีอ่านแบบอักษรนำเช่น

บาลีสันสกฤต  - ดิลก (ดิ-หลก), สิริ (สิ-หริ), กิเลส (กิ-เหลด)

เขมร  - ตำรวจ (ตำ-หรวด), ดำรัส (ดำ-หรัด), บำราบ (บำ-หราบ)

 ;D


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ต.ค. 12, 15:16
เท็คโนโลยี่ แบ็ดมินตั้น อ้นลึกลับ
เที่ยวไน้ต์ขลับ เข้าคลิหนิก ปิ๊กหนิกไหน
ค็อมพิ้วเต้อร์ พิมพ์แบ๊งก์ แปลงอ๊อกไซด์
ไดนาไม้ต์ พล้าสติก เม็ตตริกตัน

ขอร์ดเท็นนิส ขอร์ดกีต้าร์ เรด้าร์บิ่น
แอ๊สไพริน คูป็อง กร๊าฟของฉัน
อิเล็กตร็อน ดอลล่าร์ สารพัน
รีดั๊กชั่น ปิโตรเลี่ยม เตรียมเป็นลม.

เทคโนโลยี่ แบดมินตั้น อ้นลึกลับ
เที่ยวไน้ต์ขลับ เข้าคลินิก ปิ๊กนิกไหน
คอมพิ้วเต้อร์ พิมพ์แบ๊งก์ แปลงอ๊อกไซด์
ไดนาไม้ต์ พล้าสติก เมตริกตัน

ขอร์ดเทนนิส ขอร์ดกีต้าร์ เรด้าร์บิ่น
แอ๊สไพริน คูปอง กร๊าฟของฉัน
อิเลกตรอน ดอลล่าร์ สารพัน
รีดั๊กชั่น ปิโตรเลี่ยม เยี่ยมไปเลย

หากเท่านี้ก็ พอรับได้

 ;D



กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 01 ต.ค. 12, 15:16
แวะมาตอดอีกนิด ต้องใช้คำว่า "แบ้งค่อก"  ด้วยไหมคะ  ;)


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ต.ค. 12, 15:22
ภาษาไทยมีอยู่แล้วว่า "บางกอก"

แหะ แหะ

 ;D


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 01 ต.ค. 12, 16:16
Bangkok อ่านว่า แบ๊งข็อก สิครับ ผมเห็นคนไทยอ่านอย่างนี้กันเกือบทุกคน ถ้าเป็น "บางกอก" สิ คนไทยถึงจะอ่านว่า บางกอก อย่าลืมใส่ในพจนานุกรมใหม่ด้วยนะครับท่าน :-X

ความจริงราชบัณฑิตท่านน่าจะศึกษาดูนะครับว่าภาษาอังกฤษสำเนียงไทยนี่มีที่มาอย่างไร เพราะแปลกประหลาดมาก ผมยังนึกหาเหตุผลที่ต้องเน้นพยางค์สุดท้ายเกือบทุกคำไม่ได้ เรื่องนี้เห็นได้ว่าต้องเป็นเรื่องใหม่ไม่กี่สิบปีมานี้เอง ไม่อย่างนี้คนไทยคงต้องว่า อเมริก้า เยอรมันนี่ คำเก่าๆพวกนี้กลายเป็นคำยกเว้นในระบบการออกเสียงภาษาอังกฤษสำเนียงไทยครับ


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ต.ค. 12, 20:50
คำชี้แจงจากราชบัณฑิตยสถาน


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ต.ค. 12, 20:51
เลิกงาน  แยกย้ายกันกลับบ้านได้แล้ว  ไม่มีอะไรในกอไผ่ค่ะ

จาก คม ชัด ลึก

แก้'คำทับศัพท์อังกฤษ'แค่แนวคิด
เลขาฯราชบัณฑิต แจงแก้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษแค่แนวคิด ยังไม่ทำประชาพิจารณ์

              กรณีสำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน มีดำริที่จะเปลี่ยนแปลงการเขียนคำศัพท์ที่ยืมจากภาษาอังกฤษ หรือคำทับศัพท์ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ใหม่ ด้วยเหตุที่มีคำศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาอังกฤษ 176 คำ เขียนไม่ตรงกับเสียงวรรณยุกต์ของคำนั้นๆ ตามอักขรวิธีไทย โดยอยู่ระหว่างทำแบบสำรวจความคิดเห็นจาก  คณะกรรมการราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก และผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวน 300 ชุดนั้น

               เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม น.ส.กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอส่วนบุคคลของ ศ.กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตภาษาไทย ซึ่งยังอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเป็นการภายในราชบัณฑิตยสถาน โดยการออกแบบสอบถามภายในองค์กรไปถึงภาคีสมาชิกและกรรมการวิชาการ ก่อนที่จะสรุปผลเสนอสภาราชบัณฑิตในเดือนธันวาคมนี้ จากนั้นจะต้องมีกระบวนการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ที่คนไทยทุกคนควรต้องมีส่วนร่วมในภาษาของชาติ

               เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน ยืนยันด้วยว่า จะยังไม่มีการแก้ไขคำทับศัพท์ดังกล่าวในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่จะเผยแพร่ภายในต้นปี 2556 อย่างแน่นอน เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดพิมพ์แล้ว โดยพจนานุกรมฉบับนี้ถือเป็นฉบับที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน ต่อจากฉบับ พ.ศ.2493 พ.ศ.2525 และ พ.ศ.2542 เป็นฉบับเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งบรรจุคำที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น คำว่า “แกล้งดิน” และยังเป็นฉบับแรกที่จะจัดพิมพ์ 1 แสนเล่ม แจกจ่ายให้แก่สถานศึกษา องค์กร หน่วยงาน และสื่อสารมวลชนด้วย


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ต.ค. 12, 20:58
ยุทธการ ขว้างก้อนหินถามทาง ถ้าโดนเขวี้ยงกลับมาเยอะไปหมดรับไม่ไหว ท่านให้ ถ อ ย ย  ย    ย


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ต.ค. 12, 21:33
นอกจากข้อ ๑ และข้อ ๔ เห็นด้วยกับอาจารย์กาญจนา

ขอให้อาจารย์สู้ต่อไป ขอเอาใจช่วย

จาก แฟนขลับคนหนึ่ง

 ;D


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ต.ค. 12, 22:16
ซิงโคนา กลางนา มองหายาก
คอร์ตมีมาก  แฟลตไม่มี หาที่ไหน
โดนรังสี แคโทด จะโทษใคร
กระเบื้องลอน ไนลอนใหม่ หน้าไนต์คลับ

เห็นแบเรียม เรียมแปลกใจ ให้ฉงน
เริ่มสับสน กอริลลา หามุมกลับ
เนบิวลา ชิงลาไป ไกลลิบลับ
ศัพท์ทั้งหลาย ถึงมุมอับ กลับเหมือนเดิม


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 02 ต.ค. 12, 00:32
อาจารย์กาญจนาโดนทั้งก้อนหิน ท่อนไม้ ฯลฯ หัวร้างข้างแตกไปจนต้องถอยซะแล้ว  ไม่ทราบท่านอาจารย์เทาชมพูท่านอาจารย์เพ็ญชมพูรู้จักแกเป็นการส่วนตัวรึเปล่าครับ จะฝากยาหม่องพลาสเต้อร์ยาไปให้แกหน่อย   ;D  ฝากให้กำลังใจแกด้วย

เมื่อไหนๆ เราคุ้นเคยกับการสะกดแบบนึงออกเสียงแบบนึง และเมื่อคนจำนวนไม่น้อยบอกไม่ต้องเปลี่ยน ก็ต้องใช้กันต่อไป ช่วงนี้ผมกำลังต้องสอนไอ้ตัวเล็กเด็กไทยแถวบ้านที่ตามแม่คนไทยมาอยู่ในอังกฤษ ตัวเล็กกำลังผันเสียงวรรณยุกต์อยู่ เห็นปัญหาว่าการเขียนสะกดแบบนึงอ่านออกเสียงอีกแบบนึงมันสร้างปัญหาจริงๆ ลองเอากลอนอาจารย์เทาชมพูมาให้เด็ก 7 ขวบไอ้หนูแถวบ้านคนนี้อ่านออกเสียงแบบตัดคำควบกล้ำทิ้งไป เพราะยังไม่สอน เจ้าหนูออกเสียงถูกตามตัวสะกดหมดได้เสียงดังนี้

ซิงโคนา กลางนา มองหายาก
คอดมีมาก แฟดไม่มี หาที่ไหน   (ไอ้ตัวเล็กอ่านออกมาแล้วนึกถึงปลาค้อดที่เค้าเอามาทำน้ำมันตับปลา หรือไม่ก็เอวคอดๆ กับแฟ้บ จะว่าไอ้หนูอ่านผิดก็ไม่ได้ ไอ้หนูอ่านถูก สะกดตามคำ ผู้ใหญ่ออกเสียงผิดเอง)
โดนรังสี แคโทด จะโทดใคร
กระเบื้องลอน ไนลอนใหม่ หน้าไนคับ (อ่านแล้วรู้สึกเสื้อแสงจะปริ)

เห็นแบเรียม เรียมแปลกใจ ให้ฉงน
เริ่มสับสน กอรินลา หามุมกับ
เนบิวลา ชิงลาไป ไกลลิบลับ
ศับทั้งหลาย ถึงมุมอับ กลับเหมือนเดิม

อ่านจบแล้วไม่รู้จะชมว่าอ่านถูก หรือด่าว่าไอ้หนูอ่านผิดดี  เลือกไม่ถูกจริงๆ



กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ต.ค. 12, 05:49
อาจารย์ประกอบครับ Tottenham ไอ้ตัวเล็กอ่านออกเสียงว่ากระไร


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 02 ต.ค. 12, 07:44

แต่มีบางคำที่น่าฉงนและน่าสนใจ เช่น เม็ตตริก/เม็ตริกตัน (ต.เต่าหายไปไหน) แอนติบอดี้/แอ็นติอิเล็กตร็อน (ไม้ไต่คู้) คำที่เปลี่ยนไปใช้อักษรสูง คำที่ใช้ ห.นำ คำที่ใช้ไม้โท (เต้อร์, เม้ตร) ฯลฯ


Metric ton อาจต้องเขียนว่า "เม็ตถริกทัน"
Antibody อาจต้องเขียนว่า "แอนไทบอดี้"
Antielectron อาจต้องเขียนว่า "แอนไทอีเล็คทรอน" (ต้องมีไม้ไต่คู้หรือไม่ครับ?)

จะรับได้ไหมเนี่ย?


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 02 ต.ค. 12, 14:15
อาจารย์ประกอบครับ Tottenham ไอ้ตัวเล็กอ่านออกเสียงว่ากระไร

ว้ายยยยยย ไหงอาจารย์นวรัตนมาเรียกผมอาจารย์หละนี่   คำที่ถามมาไอ้ตัวเล็กอ่านหนแรกคงออกเสียงว่าทอตเทนแฮม ไม่ใช่ทอตแน่มกระมังครับ ภาษาอังกฤษนี่มีปัญหามาก เขียนอย่างนึงออกเสียงอีกอย่าง เรียนยาก  ผมหละเบื่อที่สุก อนนี้รู้ศัพท์มากมายที่รู้ความหมายถ้าอ่านเจอ แต่ออกเสียงไม่ถูกเอาไปใช้พูดไม่ได้


มีเพื่อนคนตะวันออกกลางคนนึง พี่แกฉลาดมากรู้ 5-6 ภาษา ทั้งภาษาอาหรับ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปนนิดหน่อย แกบอกว่าภาษาเยอรมันออกเสียงง่ายกว่าภาษาอังกฤษ เพราะสะกดยังไงก็ออกเสียงยังงั้น แต่ภาษาอังกฤษนี่ออกเสียงยาก คำมากมายสะกดแบบนึงออกเสียงแบบนึง เป็นอะไรที่ @)$#*@@$$@$(%*@ มากๆ เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีและเราไม่ควรเอาอย่าง


เข้าไปถกใน pantip เจอคนยกตัวอย่างภาษาอังกฤษสะกดแบบนึงออกเสียงแบบนึง  ดังนั้นภาษาไทยเราจะสะกดแบบนึงแต่อ่านออกเสียงแบบนึงมั่งก็ไม่เป็นไร แบบนี้ผมไม่เห็นด้วย เพราะภาษาไทยเราเรามีระบบการสะกดและการออกเสียงที่แม่นยำ คำที่เป็นภาษาไทยแท้ๆ สะกดอย่างไรก็อ่านออกเสียงแบบนั้นตรงๆ  ผมเลยค่อนข้างเห็นด้วยกับการเปลี่ยนการสะกดภาษาไทยใหม่ แต่ไม่ใช่ทุกคำที่เสนอมาครับ


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ต.ค. 12, 21:03
อยู่นอกนา ขอเข้ามาร่วมวงด้วยครับ

คำทับศัพท์นั้น ผมเห็นว่าจะเขียนเป็นภาษาว่าไทยอย่างไรยังไปขึ้นว่าเราอ่านภาษานั้นๆ ออกเสียงและสำเนียงตามชาติใด (ที่พูดภาษาอังกฤษ) เช่น

anti-  มีทั้งออกเสียงว่า แอนตี้ (อักกฤษ) และ แอนไท(ต) (อเมริกัน)
tube  มีทั้งทู๊ป และ ทิ้วบ์
day  มีทั้ง เดย์ (ทั่วไป) และ ดาย (ออสเตรเลีย)
Iraq  มีทั้งอิรัก อีรัค และไอรัค (อเมริกันบางพื้นที่)
.....ile  มีทั้ง ....ไ-ร์ และ ....-ิล
 

ที่น่าสนใจคือ coke ให้เขียนว่า โคก แต่ให้ออกเสียง โค๊ก    มิฉะนั้นจะเป็น  ส่งโคกแล้วส่งยิ้ม    ;) :D ;D



กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 ต.ค. 12, 21:07
ที่น่าสนใจคือ coke ให้เขียนว่า โคก แต่ให้ออกเสียง โค๊ก    มิฉะนั้นจะเป็น  ส่งโคกแล้วส่งยิ้ม    ;) :D ;D

เรื่องนี้ ท่านรอยอิน  (http://www.royin.go.th/th/profile/index.php?SystemModuleKey=127) มีทางออกไว้แล้ว

 ;D


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ต.ค. 12, 05:54
เปิดใจราชบัณฑิตฯ “อยากเขียนแบบผิด ๆ ก็เรื่องของพวกคุณ”  (http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000121006)

ศ.ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม ประเภทวรรณศิลป์ สาขาภาษาไทย พร้อมเปิดใจ ถามตอบทุกข้อสงสัย

จู่ ๆ อะไรดลใจให้ลุกขึ้นมาปฏิวัติการเขียนครั้งใหญ่ขนาดนี้?

ไม่ใช่ว่าเพิ่งลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงนะคะ จริง ๆ แล้วกรรมการราชบัณฑิตฯ มีมติเรื่องนี้ออกมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ แล้ว เพียงแต่ว่าเรายังไม่ได้พิมพ์พจนานุกรมเล่มใหม่ ก็เลยยังไม่ได้แก้ไขอย่างเป็นทางการ แต่ในพจนานุกรมฉบับเดิมนั้นก็มีคำทับศัพท์กว่า ๒๐๐ คำแล้วที่ใส่วรรณยุกต์และเขียนได้ถูกต้อง นี่ก็เหลือแค่คำไม่กี่คำที่ยังไม่ได้แก้ ยังไม่ได้ใส่วรรณยุกต์ ก็เลยคิดว่าจะแก้ให้เสร็จไป ทางเราเองทำงานตรวจสอบและแก้ไขคำผิดมาตลอด ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเพิ่งจะมาเป็นประเด็นอะไรกันในสังคมตอนนี้ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น ถึงได้มีคนลุกขึ้นมาโวยวายอะไรกันนักกันหนา ก็แปลกดีเหมือนกันค่ะ (หัวเราะ) จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรเลย แค่เรื่องเขียนหนังสือให้ถูกต้อง
      
ทำไมไม่บัญญัติคำที่ถูกต้องไปตั้งแต่แรก มาแก้ให้จำใหม่ทีหลังยิ่งยาก?

ตอนแรกเรายังไม่แน่ใจไงคะว่าจะเขียนยังไงจึงจะถูกต้อง เพราะมันเป็นคำที่รับมาจากต่างประเทศ เลยใช้แบบนั้นไปพลาง ๆ ก่อน แต่ยอมรับว่าก็ใช้กันมานานพอสมควร มาถึงตอนนี้ ทุกคนสามารถออกเสียงได้ตรงกันแล้ว เสียงไม่เปลี่ยนแล้ว ก็ควรจะเขียนให้ถูกด้วย ยกตัวอย่างง่าย ๆ คำว่า “เฟซบุ๊ก” ทุกคนก็ออกเสียงได้ตรง ไม่มีใครออกว่า “เฝด-บุก” ในเมื่อเรามีระบบการเขียนตามอักขรวิธีที่ถูกต้องของเราอยู่ เราก็แค่เขียนให้มันตรงกับที่ออกเสียงมา มันก็เท่านั้นเอง
        
เราเป็นมนุษย์นี่คะ จะให้เรารู้ทุกอย่างทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์มันคงเป็นไปไม่ได้ เราไม่ใช่พระพุทธเจ้าที่จะตรัสรู้ได้ทุกอย่าง มันก็ต้องมีผิดบ้าง-พลาดบ้าง ตอนที่ยังไม่รู้ว่าผิดก็ทำตามที่เข้าใจว่าถูกไปก่อน แต่พอเวลามันผ่านไป รู้แล้วว่ามันไม่ถูกต้อง เราก็ลงมือแก้ไข มันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายนี่คะ ไม่ใช่ว่ารู้ว่าผิดแล้วยังจะดึงดันไม่แก้ ถ้าเป็นอย่างนั้นน่ะเสียหาย
 
อย่างคำว่า “วงศ์” เมื่อก่อนก็มีทั้งคนที่เขียนว่า “วงษ์” และ “วงศ์” เราก็ประกาศแก้ไขให้เขียนว่า “วงศ์” เป็นมาตรฐานเดียวกันหมดและใช้กันมาถึงทุกวันนี้ ครั้งนี้ก็เหมือนกันค่ะ คำยืมที่ประกาศก็มีแค่ร้อยกว่าคำ คนอาจจะตกใจว่ามันเยอะ แต่จริง ๆ แล้วเทียบกับคำทั้งหมดเป็นหมื่น ๆ คำในภาษาไทย มันแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์เลยด้วยซ้ำ
      
ถ้าประกาศใช้ตามนั้นจริง ๆ ก็จะสร้างความสับสนให้สังคมอย่างมาก เพราะทุกคนเขียนแบบเดิมจนชินแล้ว
      
ถึงใช้กันมานานแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่ามันถูกต้องนี่คะ ต้องถามว่าคุณจะเลือก “ความเคยชิน” หรือ “ความถูกต้อง” ถ้าใช้ด้วยความเคยชินแต่มันผิด แล้วทำไมไม่แก้ให้มันถูกล่ะคะ เคยทำมาผิด ๆ แล้วจะปล่อยให้ผิดต่อไปอย่างนั้นหรือ หรือว่าเห็นว่าผิดแล้วก็ควรแก้ให้ถูกต้อง ตามที่ควรจะเป็น
 
ถ้าเรายังจะใช้แบบผิด ๆ กันต่อไปแบบนี้อีกไม่รู้นานเท่าไหร่ เด็กเล็กที่ต้องเรียนหนังสือก็จะอ่านคำผิด ๆ เหล่านั้นไม่ถูก อ่านไม่ออก เราจะปล่อยให้เด็กๆ จดจำสิ่งผิด ๆ จากที่ผู้ใหญ่ทำเอาไว้และใช้กันต่อไปอย่างนั้นเหรอคะ สำหรับคนที่คัดค้าน อยากให้ลองถามตัวเองดูสิคะว่า มีเหตุผลดี ๆ สักข้อไหมที่จะไม่แก้ไขให้ถูกต้อง


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ต.ค. 12, 05:58
ที่เห็น-ที่เป็น-ที่ใช้กันอยู่ มันผิดตรงไหน?

ถ้าคุณออกเสียงว่า “สะ-นุ้ก-เก้อ” คุณก็ต้องเขียนว่า “สะนุ้กเก้อร์” จะมาเขียน “สนุกเกอร์” มันก็ออกเสียงว่า “สะ-หนุก-เกอ” น่ะสิคะ มันไม่ถูกต้อง ภาษาเรามีกฎของเราอยู่ อาจารย์ท่านวางรูปแบบไว้ตั้งแต่โบราณกาลแล้ว มีทั้งอักษรสูง-กลาง-ต่ำ มีสระสั้น-ยาว มีวรรณยุกต์ที่ผสมออกมาเป็นคำ ถ้าผสมอย่างถูกต้อง ทุกคนก็สามารถออกเสียงได้เหมือนกันหมด จะอยู่เหนือจดใต้ อยู่สุไหงโก-ลก ก็ออกเสียงเหมือนกันได้หมด แล้วทำไมเราไม่รักษากฎกันล่ะคะ ทำไมไปเอาความเคยชินที่ผิด ๆ มาเป็นบรรทัดฐาน
        
มันเป็นหน้าที่ของราชบัณฑิตฯ อยู่แล้วที่จะต้องคอยดูแลภาษาให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง ไม่เปลี่ยนไปในทางเสื่อม แต่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราเขียนภาษาต่างประเทศโดยไม่ใส่เครื่องหมายกำกับ ทั้งการสะกดการันต์ การใส่พยัญชนะ วรรณยุกต์ทั้งหมด เขียนผิด ๆ ก็เป็นการทำลายระบบอักขรวิธีของเราเอง ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านี้เราทุกคนเรียนกันมาตั้งแต่ ป.๑-ป.๒ แล้ว อ่านออก-สะกดถูก-ผันวรรณยุกต์กันได้ แต่พอมาเขียนกลับเขียนไม่ถูก เขียนไม่ตรงกับเสียง เราใช้แบบผิด ๆ กันมานานมากแล้ว มันก็น่าจะปรับให้ถูกต้อง แค่นั้นเอง
        
อย่างคำว่า “คอมพิวเตอร์” ถึงจะมาจากภาษาอังกฤษ แต่เมื่อเอามาเขียนด้วยตัวอักษรไทย ในประโยคภาษาไทย ก็ต้องเขียนให้ถูกตามหลักภาษาไทย ถ้าออกเสียงว่า “ค็อม-พิ้ว-เต้อ” ก็ต้องเขียนว่า “ค็อมพิ้วเต้อร์” หรือถ้าออกเสียงว่า “คอม-พิว-เตอ” ก็ต้องเขียนว่า “คอมพิวเตอร์” ถ้าเขียนกันถูกต้องตามเสียงที่ออกมา มันจะทำให้การเรียนการสอนง่ายขึ้นด้วย
      
คนส่วนใหญ่ก็รู้อยู่แล้วว่าคำคำนั้นออกเสียงยังไง จะเขียนเหมือนเดิมหรือเขียนแบบใหม่ ก็ไม่น่าจะใช่ประเด็น

แล้วคนที่เขาไม่รู้คำภาษาอังกฤษล่ะคะ เขาไม่รู้หรอกว่าคำว่า “คอมพิวเตอร์” ต้องออกเสียงว่า “ค็อม-พิ้ว-เต้อ” เขาก็จะอ่านตามตัวสะกดเป็น “คอม-พิว-เตอ” ไป โดยเฉพาะเด็กต่างชาติที่มาเรียนภาษาไทย เขาเจอคำแบบนี้เยอะมากแล้วเขาก็อ่านไม่ออก ไม่เข้าใจ อ่านออกมาก็ผิดหมด เด็กต่างชาติหลายคนถามเลยว่า เขียนว่า “เรดาร์” ทำไมให้อ่านว่า “เร-ด้า” ทำไมไม่ให้อ่านว่า “เร-ดา” ตามตัว เขาเรียนมาว่า “ด เด็ก + สระอา” ต้องอ่านว่า “ดา” มันก็เลยเป็นปัญหามากสำหรับเด็กต่างชาติ
      
พูดอย่างนี้ อาจถูกมองว่าใส่ใจความรู้สึกชาวต่างชาติมากกว่าคนไทยด้วยกันเอง?

ไม่ใช่ว่าสนใจเด็กต่างชาติมากกว่าเด็กไทยนะคะ นั่นเป็นแค่เหตุผลหนึ่ง เพราะวัตถุประสงค์หลักของเราก็คือภาษาไทยเพื่อคนไทย เพื่อคนที่ใช้ภาษาไทยนี่แหละค่ะ เราต้องรักษาไว้ไม่ให้ภาษาถูกทำลาย ซึ่งเขียนกันอย่างทุกวันนี้มันคือการทำลาย มันป่วนไปหมด เขียนอีกแบบแล้วไปออกเสียงอีกแบบ คนที่ไม่เข้าใจก็จะสับสนว่าเมื่อไหร่จะต้องออกเสียงโท-เสียงเอก เขียนโดยที่ไม่บอกวรรณยุกต์ ไม่บอกอะไรเลย แล้วให้รู้ให้จำเองเนี่ย มันจะถูกได้ยังไงล่ะคะ

ก็เหมือนเรามีช้อนส้อมวางอยู่ที่โต๊ะ มีเครื่องมือให้พร้อมอยู่แล้วทุกอย่างในการกิน แต่ถ้าคุณอยากลำบาก คุณก็เปิบมือ ใช้ปากกินไปก็ได้ค่ะ แต่ถามว่าในเมื่อเรามีเครื่องมือทางภาษาที่ดีอยู่แล้ว แล้วทำไมเราต้องหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้ด้วยล่ะคะ พอไม่ใช้แล้วมันก็ป่วนไปหมด เขียนก็ไม่ถูก อ่านก็ไม่ถูก แล้วยังจะดื้อใช้ต่อไปอีก ทำไมยังต้องดื้อแพ่งต่อไปอีก ก็อยากรู้เหมือนกันค่ะว่ามีเหตุผลอะไรที่จะไม่ใช้สิ่งที่ถูกต้อง ขอเหตุผลดี ๆ สักข้อหนึ่งสิคะ อยากรู้จริง ๆ
        
ภาษาไทยของเราเป็นภาษาที่มหัศจรรย์มาก เราสามารถเขียนทุกคำพูดให้ตรงตามที่ออกเสียงได้แบบไม่ผิดเพี้ยนเลย แล้วทำไมเราต้องทิ้งคุณสมบัติดี ๆ เหล่านี้ไปด้วยล่ะคะ เราจะไปเขียนตามภาษาอื่นที่เขาไม่มีวรรณยุกต์ ไม่มีสระที่แน่นอน จะไปเขียนเละเทะตามเขา ให้ทำลายภาษาของเราเองทำไม เรามีหลักของเราอยู่ เราก็ควรจะรักษาหลักเอาไว้ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องยากเลย


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ต.ค. 12, 06:03
แต่อาจจะยากสำหรับเด็กไทย เพราะเด็กไทยอ่อนเรื่องการผันวรรณยุกต์มาก เขียน “นะคะ” กับ “ค่ะ” ยังสลับกันเป็น “นะค่ะ” อยู่เลย       

แต่ยิ่งคุณไปเอาภาษาเละ ๆ มาใช้ในภาษาเรา มันก็จะยิ่งยากเข้าไปใหญ่ การรักษากฎภาษาเราเอง มันไม่ยากหรอกค่ะ วรรณยุกต์ไทยมันก็มีแค่ ๕ เสียงเท่านั้น จะจำไม่ได้กันเลยหรือ มันยากนักหนาหรือสำหรับเด็กไทยที่จะเรียน มันไม่ยากหรอกค่ะ แต่ในทางตรงข้าม ยิ่งเราไปเขียนไม่ตรงวรรณยุกต์ มันยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เด็กก็ยิ่งจะไม่รู้ว่าจะเขียนยังไง จะออกเสียงกันยังไง ยิ่งเสียหายไปกันใหญ่เลยคราวนี้
       
ที่คนส่วนใหญ่รับการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ ส่วนหนึ่งเพราะมองว่าใส่วรรณยุกต์กำกับมากไป ทำให้ดูรก บั่นทอนความสวยงามของภาษาลงไปอีก

คำทับศัพท์ที่ตั้งใจจะให้เขียนแบบใหม่ทั้งหมด ๑๗๖ คำ มันก็เหมือนคำทุกคำที่อยู่ในภาษาไทยนั่นแหละค่ะ คำว่า “แม่” “บ้าน” “พี่น้อง” ก็มีวรรณยุกต์ทั้งนั้น แค่เพิ่มคำเหล่านี้เข้าไปในประโยคนิดหน่อย มันคงไม่ทำให้ดูรกเพิ่มขึ้นหรอกค่ะ ถ้าบอกว่าใส่ไม้เอก-ไม้โท เพิ่มลงไปในคำฝรั่งพวกนี้แล้วมันไม่สวย มันรกหูรกตา ก็แสดงว่าคุณต้องเลิกใช้วรรณยุกต์ทั้งหมดทุกคำที่มีอยู่สิคะ ส่วนตัวแล้วมองว่ามันสวยจะตาย มันคือเครื่องมือทางภาษาของเรา ทำไมเราต้องไปตามชาติอื่นที่เขาไม่มีวรรณยุกต์กำกับด้วยล่ะคะ มันเรื่องอะไร
       
สุดท้ายแล้ว สังคมก็ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และราชบัณฑิตฯ ก็ยุติการแก้แล้ว รู้สึกอย่างไรบ้าง?

ส่วนตัวก็ไม่ได้รู้สึกอะไรกับกระแสสังคมอยู่แล้ว รู้สึกเฉย ๆ ค่ะ ภาษาเนี่ยนะคะ มันเป็นเรื่องของสังคม สังคมคือคนส่วนใหญ่ คนทุกคนไม่ได้พูดเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันก็ต้องมีถูกบ้าง-ผิดบ้าง ทุกคนก็มีความเห็นของตัว

แต่เราแค่ออกมาบอกสิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าเราบอกแล้ว คุณยังไม่อยากรับเอาสิ่งที่ถูกต้อง มันก็เป็นเรื่องของคุณ ทุกวันนี้ก็มีคนเขียนหนังสือผิดอีกมากมาย ตามหน้าหนังสือพิมพ์เองก็มีออกเยอะแยะไป ถ้าคุณอยากทำตามสิ่งที่ถูก ก็ทำตาม แต่ถ้าไม่อยากทำตาม ก็ทำสิ่งที่ผิดไป ก็เท่านั้นเอง มันเป็นเรื่องของคุณค่ะ

 ;D


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 03 ต.ค. 12, 07:59
เหนื่อใจ กับการแก้ให้ถูกแค่นี้ทำไมมันต้องต่อต้านกันมากมาย

เอาเถิด...


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ต.ค. 12, 14:43
ข่าวประชาสัมพันธ์ ราชบัณฑิตยสถานยืนยัน ไม่แก้คำยืมจากภาษาอังกฤษในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 (แนบท้ายข่าวในลิงก์ของคุณเพ็ญชมพู)

ราชบัณฑิตยสถานชี้แจงว่า ไม่มีการแก้ไขคำยืมจากภาษาอังกฤษในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่กำลังดำเนินการจัดพิมพ์ รวมทั้งยังไม่มีมติให้แก้ไขรูปแบบการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

น.ส.กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า ตามที่ได้มีประชาชนจำนวนมากแสดงความห่วงใยเรื่องรูปแบบการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ผ่านสื่อต่างๆ นั้น ราชบัณฑิตยสถานขอขอบคุณและขอชี้แจงว่า ราชบัณฑิตยสถานได้ถือหลักการเขียนคำในภาษาต่างประเทศ ตามพระดำริของ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน ว่า การเขียนคำในภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษออกเสียงไม่แน่นอน จะออกเสียงอย่างไรย่อมแล้วแต่ประโยค เสียงจะสูงต่ำก็แล้วแต่ตำแหน่งของคำในประโยค จึงทรงเห็นว่าไม่ควรใช้วรรณยุกต์กำกับตามเหตุผลดังกล่าว

เลขาธิการราชบัณฑิตยสถานกล่าวต่อไปว่า ในปัจจุบันราชบัณฑิตยสถานมีราชบัณฑิตสาขาวิชาต่างๆ 84 คน ภาคีสมาชิกสาขาวิชาต่างๆ 80 คน และมีคณะกรรมการวิชาการในสาขาวิชาการต่างๆ กว่า 90 คณะ ซึ่งอาจเสนอความเห็นทางด้านวิชาการให้ราชบัณฑิตยสถานพิจารณาได้ และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ในฐานะราชบัณฑิตสาขาวิชาภาษาไทย ได้เสนอขอให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษ โดยแนะให้ใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์ หรืออักษรสูง หรือใช้ ห นำในคำที่ไม่สามารถผันวรรณยุกต์ได้ ราชบัณฑิตยสถานจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางการเขียนคำที่มาจากต่างประเทศ เพื่อพิจารณาเรื่องที่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล เสนอ คณะกรรมการฯ ได้มีมติให้ออกแบบสอบถามตามข้อเสนอของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล โดยสอบถามราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก และกรรมการวิชาการของราชบัณฑิตยสถาน เพื่อรับฟังความคิดเห็นเฉพาะภายในองค์กรเป็นเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2555 และจะเสนอผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวต่อสภาราชบัณฑิต ในการประชุมครั้งที่ 4/2555 ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2555


"ผลการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะภายในองค์กรของราชบัณฑิตยสถานเกี่ยวกับหลักการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะมีผลเป็นประการใด เป็นเพียงความเห็นส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ข้อยุติ การแก้ไขคำยืมจากภาษาอังกฤษซึ่งใช้ในทางราชการ ทางการศึกษา มาเป็นเวลานาน หากมีการเปลี่ยนแปลง ย่อมมีผลกระทบสำคัญต่อการใช้ภาษาไทยของหน่วยงานราชการ นักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไป ดังนั้น จึงต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานและบุคคลดังกล่าวก่อน ตามหลักการพื้นฐานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก่อนที่จะพิจารณาดำเนินการไปในทางใดทางหนึ่ง และพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่ขณะนี้กำลังดำเนินการจัดพิมพ์นั้น ไม่ได้แก้ไขรูปแบบการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษตามที่เป็นข่าว ส่วนความคิดเห็นของประชาชนที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ราชบัณฑิตยสถานจะรวบรวมข้อมูลไว้เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป" เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน กล่าว


ในตอนท้าย เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน ได้กล่าวย้ำว่า ไม่มีการแก้ไขคำยืมจากภาษาอังกฤษในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิมพ์ และจะเสร็จพร้อมแจกให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ส่วนราชการ สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ในต้นปี 2556 เนื่องจากได้รับงบประมาณจากรัฐบาลในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ต.ค. 12, 15:12
น่าสนใจเหมือนกันว่าพระมติของสมเด็จนราธิปฯในครั้งนั้นสนับสนุนการเขียน "ทับศัพท์" ภาษาอังกฤษโดยไม่ระบุวรรณยุกต์น่าจะมีส่วนไม่มากก็น้อยในการเปิดช่องให้เกิดภาษาอังกฤษสำเนียงไทยขึ้น ใครสักคนที่เหมือนจะรู้ว่าฝรั่งออกเสียงอย่างไรคงเที่ยวสอนคนอื่นแบบผิดๆไปทั่วจนกลายเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

น่าสนใจว่า แทนที่จะไปแก้ที่ต้นตอให้ถูกต้อง กลับพยายามไปรับรองเรื่องผิดๆให้กลายเป็นถูกต้องขึ้นมา

หรือนี่คือค่านิยมใหม่ของไทยยุดหลัง 2540?

คำที่เสนอ 176 คำในครั้งนี้ น่าจะถือเป็นหัวหอกในการโยกย้ายคำที่อยู่ในหมด "เขียนทับศัพท์" เข้ามาเป็นคำไทย ดูจากคำหลายๆคำในรายการนี้ที่ผมไม่คุ้นเคยว่าน่าจะรับเป็นคำยืมที่ไทยที่มาจากภาษาต่างประเทศได้ (เช่นแคลเซียม ไซคลาเมต) และคำอีกหลายคำที่ผมคุ้ยเคยแต่ยังไม่ได้รวมเข้ามาอยู่ในรายการนี้ (เช่น โคแอกเซียล) ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาว่านี่เปลี่ยนส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ หรือถ้าเอาใกล้ตัวกว่านี้ก็กระแส AEC นี่ล่ะครับ

คำภาษาต่างประเทศ (โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ) ได้หลั่งไหลเข้ามามากมาย และจะหลั่งไหลเข้ามาอีกมหาศาล บางคำแทนด้วยคำไทยได้ บางคำเป็นศัพท์ใหม่ของฝรั่งด้วยซ้ำ ราชบัณฑิตท่านก็ขยันเสนอศัพท์บัญญัติให้ แต่ก็เป็นส่วนน้อยที่ได้รับความนิยม เราจึงต้องรับคำพวกนี้เข้ามาใช้อย่างเลี่ยงไม่ได้ แล้วเราควรจะคำพวกนี้เป็น "คำยืม" หรือ "เขียนทับศัพท์" กันแน่

ทุกวันนี้ เด็กไทย "ส่วนมาก" ต้องเรียนภาษาอังกฤษสองครั้งอยู่แล้ว ครั้งแรกเรียนจากโรงเรียน เป็นภาษาอังกฤษสำเนียงไทย (อาจจะไม่ทุกโรงเรียน โรงเรียนฝรั่งผมไม่ทราบเพราะไม่เคยเรียน แต่โรงเรียนไทยๆที่ผมเคยเรียน สอนแบบนี้กันทุกโรงเรียน) และมาเรียนภาษาอังกฤษใหม่อีกครั้งไม่ "ปะทะ" ฝรั่ง คราวนี้ต้องจดจำภาษาอังกฤษสองสำเนียง คุยกับคนไทยพูดอย่างคุยกับฝรั่งพูดอย่าง เป็นเรื่องที่สับสนพิกลจริงๆ

ผมนึกไม่ออกว่าเราจะอนุรักษ์ภาษาอังกฤษสำเนียงไทยไว้ทำไม นี่ไม่ใช่ความภาคภูมิใจของชาติ ภาษาไม่ใช่ภาษาของเรา เราพูดสำเนียงนี้ตามใครเราก็ยังไม่รู้เลย (แต่ผมมั่นใจว่าไม่ใช่คนที่รู้จักภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีแน่ๆ) แล้วทำไมเราต้องไปยึดวิธีการออกเสียงแบบนี้ไว้เป็นหลักของชาติด้วย

อย่างน้อยการเขียนแบบลักลั่นอย่างที่เป็นอยู่นี้ ถึงจะบกพร่องสักหน่อย แต่ก็ยังเปิดช่องให้เราได้ "เปลี่ยนแปลง" อะไรให้มันดีขึ้นได้บ้าง ดีกว่าปิดความบกพร่องด้วยความผิดพลาดอย่างถาวรนะครับ


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ต.ค. 12, 20:54
ในวงการประพันธ์   ตัวอักษรไทยแต่ละตัว ให้ความรู้สึกไพเราะมากน้อยต่างกัน  เมื่อประกอบเป็นคำ  ก็จะมีค่าทางความงามหรือสุนทรียะต่างกันด้วย     
ความงามจากคำเหล่านี้  ถ้านำไปเป็นเนื้อเพลง  เราจะสัมผัสได้ด้วยหู    แต่ถ้าเอามาเรียบเรียงเป็นวรรณกรรม จะสัมผัสได้ด้วยสายตา
เพราะฉะนั้น การสะกดคำนอกจากจะกระทบด้านภาษาแล้ว    ยังมีผลกระทบมาถึงวรรณกรรมด้วยค่ะ
ไม่เชื่อลองอ่านบทสนทนาข้างล่างดูนะคะ

บทสนทนาแสนหวานระหว่างคุณชายกลางกับพจมาน  ด้วยคำทับศัพท์แบบใหม่

" พจมานจ๋า  วันอาทิตย์นี้  เราจะไปไน้ต์ขลับหรือไปฟังค็อนเสิร์ตกันดี"
" น่าเสียดายค่ะคุณชายขา   ได้ข่าวว่าดีเปร๊สชั่นจะเข้า   อยากไปปิ๊กหนิกยังอดเลย"
" งั้นก็เล่นแบ็ดมินตั้นหน้าบ้านทรายทองละกันนะจ๊ะ"
" ไม่ไหวค่ะ  แดดร้อน พจกลัวรังสีอัลตร้าไวโอเหล็ต  พื้นแกรหนิตก็ลื่นจะตาย   พจไม่อยากหกล้มหัวเข่าแตกอีก  แปะปล๊าสเต้อร์จนหมดกล่องแล้ว"
"โธ่เอ๋ย!ทูนหัว   เจ็บแค่ไปทำแผลที่คลิหนิก   เธอพูดราวกับต้องให้อ๊อกซิเย่น  เอ๊กซเรย์แล้วกระดูกก็ไม่แตก ผ้าก๊อซก็ไม่ต้องใช้  กินแอ๊สไพรินสองเม็ดก็หายปวด"
" เอางี้มั้ยคะ  คุณชายกลางไปหาขอร์ตเล่นบ๊าสเก้ตบอลคนเดียวก่อน  หรือจะไปตีก๊อล์ฟก็ตามใจเถอะค่ะ "
" น้อยใจแล้วนะ   ทำไงจะให้เธอโคออร์ดิเหนตกะฉันมากกว่านี้ล่ะจ๊ะ   พจมาน"
" แหม  คุณชายขา  ก็แค่ให้ของเล็กๆอย่างแหวนเพชรสักกะหรัตสองกะหรัต  พจไม่เอาของใหญ่ๆอย่างแฝล็ตหรอกค่ะ  นะคะ นะคะ"
ฯลฯ


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ต.ค. 12, 21:53
เมื่อแก้คำให้ตรงกับเสียงอ่านมีปัญหา คงต้องแก้ตรงเสียงอ่านให้ตรงกับคำที่เขียน

ขออนุญาตนำบทสนทนาแสนหวานมาเป็นตัวอย่าง

บทสนทนาแสนหวานระหว่างคุณชายกลางกับพจมาน  ด้วยการอ่านให้ตรงกับคำที่เขียนแบบเดิม

" พจมานจ๋า  วันอาทิตย์นี้  เราจะไป ไน-คลับ  หรือไปฟัง คอน-เสิด  กันดี"
" น่าเสียดายค่ะคุณชายขา   ได้ข่าวว่า ดี-เปรด-ชัน จะเข้า   อยากไป ปิก-นิก ยังอดเลย"
" งั้นก็เล่น แบด-มิน-ตัน  หน้าบ้านทรายทองละกันนะจ๊ะ"
" ไม่ไหวค่ะ  แดดร้อน พจกลัวรังสี อัน-ตรา-ไว-โอ-เลด  พื้น แกร-นิด  ก็ลื่นจะตาย   พจไม่อยากหกล้มหัวเข่าแตกอีก  แปะ ปลาด-สะ-เตอ จนหมดกล่องแล้ว"
"โธ่เอ๋ย!ทูนหัว   เจ็บแค่ไปทำแผลที่ คลิ-นิก   เธอพูดราวกับต้องให้ ออก-ซิ-เยน  เอก-ซะ-เร  แล้วกระดูกก็ไม่แตก ผ้า-กอด  ก็ไม่ต้องใช้  กิน แอด-ไพ-ริน  สองเม็ดก็หายปวด"
" เอางี้มั้ยคะ  คุณชายกลางไปหา คอด เล่น บาด-เกด-บอน  คนเดียวก่อน  หรือจะไปตี กอบ  ก็ตามใจเถอะค่ะ "
" น้อยใจแล้วนะ   ทำไงจะให้เธอ โค-ออ-ดิ-เนด  กะฉันมากกว่านี้ล่ะจ๊ะ   พจมาน"
" แหม  คุณชายขา  ก็แค่ให้ของเล็กๆอย่างแหวนเพชรสัก กะ-รัด  สอง กะ-รัด   พจไม่เอาของใหญ่ๆอย่าง แฟลด หรอกค่ะ  นะคะ นะคะ"
ฯลฯ

คนไทยในอนาคตอาจจะอ่าน "บ้านทรายทองยุคอวกาศ" ทำนองนี้

แหะ แหะ

 ;D


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ต.ค. 12, 22:03
^


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ต.ค. 12, 22:49
 ???


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ต.ค. 12, 07:42
ผมอยากให้ท่านลองเข้าไปลองในเวปนี้ ที่ออกเสียงสะกดคำในภาษาต่างๆดู

http://www.oddcast.com/home/demos/tts/tts_example.php?sitepal

ผมเลือกเอาคำง่ายๆว่า court ให้ลองอ่านภาษาอังกฤษ

ในจำนวนสิบกว่าคนทั้งหญิงและชายจะออกเสียงเหมือน-ไม่เหมือนกันบ้าง ไล่ระดับแล้วก็ออกมาประมาณว่าอยู่ในช่วง ค้อร์ต-ขอร์ต-ข้อร์ต
คราวนี้ลองใหม่ เอาคำว่า ค้อร์ต ขอร์ต และข้อร์ต สามคำนี้ไปเลือกให้อ่านในภาษาไทยมั่ง คนอ่านอ่านออกมาสำเนียงเดียวคือ คอร์ต
นี่คือข้อเท็จในโลกที่เราสื่อสารกันทุกวันนี้

แล้วลองเอาศัพท์ในภาษาใดภาษาหนึ่งที่ไม่คุ้นหูคนไทย จะเป็นฝรั่งเศส เดนมาร์ก เสปญ ไปลองให้อ่านดู ในสิบคนจะออกสำเนียงต่างกันอย่างน้อยๆก็สามสี่แบบ ผมพยายามออกเสียงตามเขาเท่าไรก็ไม่เหมือน แล้วขอประทานโทษเถอะ หากราชบัณฑิตคิดค้นที่จะสะกดสำเนียงเหล่านั้นเป็นภาษาไทย แล้วตัวเองอ่านให้เจ้าของภาษาฟัง เขาก็คงส่ายหัว นอกจากว่าคนอ่านมีพื้นฐานแน่นจริงๆในภาษานั้นๆ หรือเคยอยู่ในประเทศเขามาแล้วจนพูดถนัดลิ้น จึงจะอ่านออกเสียงถูกต้องตามภาษาเดิมได้


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ต.ค. 12, 08:06
^
มิน่าละ ผมสอบภาษาอังกฤษ ด้วยการ Listening ตกทุกที อิอิ ;D

สำเนียงภาษาอังกฤษนั้น นุ่มลึกฟังง่าย (แบบหนัง Harry Potter) เสียงจะออกจมูกนิด ๆ ไม่เหมือนกับทางอังกฤษแบบอเมริกัน สำเนียงไปอีกแบบ


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ต.ค. 12, 08:11
ลองใช้คำ NAVARAT พวกฝรั่งอ่าน นาฟ รัด ส่วนไทยออก เนา-วะ-รัด เลยถามว่า เนา จะพิมพ์อังกฤษว่าอะไร ???


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ต.ค. 12, 08:22
คุณหนุ่มลองอ่านนี่

ขอยกคำทับศัพท์ที่โลกนี้ใช้ทั่วไปตามหลักสะกดคำญี่ปุ่นด้วยภาษาอังกฤษ คือ Tsunami ราชบัณฑิตให้เขียนภาษาไทยว่า ซึนามิ แล้วออกเสียงตามนั้น

ก่อนหน้านาน ผมเคยทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับปั้มระบายน้ำขนาดยักษ์ของญี่ปุ่นยี่ห้อ Tsurumi  เมื่่อเขาออกเสียงให้ฟัง ผมก็สะกดว่า “ซูรูมิ” ครั้งไปสัมมนาที่บริษัทเขา พวกเอเยนต์ต่างชาติต่างภาษาออกเสียงว่า ทรูรูมิ บ้าง ซูรูมิบ้าง เจ้าภาพไม่ได้ทักใครสักคนเดียวว่าออกเสียงผิด แม้จริงๆแล้วคนญี่ปุ่นอาจจะออกเสียงว่าซึรุมิ แบบที่ราชบัณฑิตว่าก็ตาม

นี่คือข้อเท็จในโลกที่เราสื่อสารกันทุกวันนี้เหมือนกัน มนุษย์พยายามทำความเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ หากคู่ร่วมสนทนานั้นมีความสำคัญพอ

คนจีนสมัยก่อน พูกทายม่ายซัก อีก็พูกของอีปาย คงทายก็ฟางอีลู้เลี่อง คงทายล่ายขงถูกจายปาย อีล่ายเงิงข้าวกาป๋าวปาย ซาบายจาย



ผมก็สะกดอย่างที่สะกดนี่แหละ ใครจะออกเสียงอย่างไรก็ช่าง ถ้าผมรู้ว่าเขาหมายถึงผมก็โอเคแล้ว ในเวปนี้ยังเขียนชื่อผมเป็นภาษาไทยด้วยตัวสะกดตั้งหลายอย่าง ผมยังโอเคเลย


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ต.ค. 12, 08:24
น่าเศร้ามากที่ในเวปนี้ เปลี่ยนเสียงเป็น Thai พูดคำว่า Bangkok เพี้ยนไปเยอะ  :'(

http://www.oddcast.com/home/demos/tts/tts_example.php?sitepal


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ต.ค. 12, 08:30
ลองเอาคำว่า tsunami ไปให้คนอังกฤษอ่าน แลัวเอาไปให้คนญี่ปุ่นอ่านซีครับ เขาออกเสียงซูๆซือๆซุๆปนๆไป จะเขียนสำเนียงนี้ให้ถูกต้องก็ต้องเขียนด้วยภาษาญี่ปุ่นนั่นแหละครับ

ใครช่วยโยงไปให้ท่านราชบัณฑิตอ่านที


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 12, 09:35
ตอบคุณเพ็ญชมพู

^
(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5391.0;attach=36459;image)

เริ่มจากคำว่า ditch ก่อน   ถ้ายังนึกไม่ออกจะบอกคำที่สองให้


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 12, 09:45
น่าจะมีใครดัดแปลงคลิปนี้เป็นภาษาไทยทับศัพท์ภาษาอังกฤษนะคะ

http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=X403uwWbyzo


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ต.ค. 12, 10:06
แหม นึกว่าเป็นโฆษณาของพวก อ.บ.ต.


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 12, 10:12
ดีจัง คุณนวรัตนใบ้คำแบบนี้    อนุเคราะห์ให้คุณเพ็ญชมพูกู่ไม่กลับ 
คุณเพ็ญเดาไม่ออก ยิ่งดี   ดิฉันจะได้ตอบแบบนี้ได้บ่อยๆ


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ต.ค. 12, 10:30
 ???


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ต.ค. 12, 14:05
อย่างฮา

ผมเอาศัพท์ที่เสนอจะบัญญัติใหม่ให้เวปที่ว่าลองอ่านดู
อันอื่นก็ออกเสียงเหมือนๆกัน ยกเว้นคำนี้

แฟลต อ่านว่า แฟลต   แฝล็ต อ่านว่า ฝะแหลต


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ต.ค. 12, 14:11
อย่างฮา

ผมเอาศัพท์ที่เสนอจะบัญญัติใหม่ให้เวปที่ว่าลองอ่านดู
อันอื่นก็ออกเสียงเหมือนๆกัน ยกเว้นคำนี้

แฟลต อ่านว่า แฟลต   แฝล็ต อ่านว่า ฝะแหลต


เข้ามาขำด้วยคน  ผมหยิบคำ "คอมพิ้วเตอร์" ให้เธออ่าน สำเสียงตลกมาก ๆ  ;D

กิโลเม้ตร เธออ่านว่า กิ โล เม้ ตอน 5555+


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 12, 14:27
 Narisa  สาวคอมพิวเตอร์ในเว็บนั้น  เธอออกเสียงอย่างนี้ค่ะ
ขอร์ต  ออกเสียงว่า ค้อด
ขอด   ออกเสียงว่า ขอด
คอร์ต  ออกเสียงว่า ขอด
คอด   ออกเสียงว่า คอด


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ต.ค. 12, 14:32
ให้เธออ่านคำที่มีปัญหา

"ตากลม" เธอก็เก่งนะ ตา-ลม

"เด็กตากลมผมยาว" เธออ่านว่า เด็ก ตาก - ลม ผมยาว


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 04 ต.ค. 12, 19:15
ถ้าจำไม่ผิดท่านอาจารย์ใหญ่ของผมจบอักษรศาสตร์มา  แต่ไม่รู้สาขาภาษาไทยรึเปล่า แต่ขอเหมารวมถามซะเลย  คือผมมีคำถามเรื่องพยัญชนะไทยบางตัวครับ สงสัยมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ตอนนั้นกลัวครูไม่กล้าถาม  ตอนนี้เป็นเด็กหนวดแล้ว แต่ไม่รู้จะไปถามครูภาษาไทยที่ไหน เลยถามท่านอาจารย์เลย

ตัวอักษรเสียงต่ำเดี่ยว ได้แก่  ง  ม  น  ร  ล ว  ย ทำไมไม่ถูกจัดให้เป็นอักษรกลางเสียเลย ในเมื่อฐานเสียงของตัวอักษรเหล่านี้ก็เป็นเสียงกลางอยู่แล้ว ถ้าจัดเป็นเสียงกลางเราก็จะผันเสียงตัวอักษรเหล่านี้ได้ 5 ระดับแบบอักษรกลาง ไม่ต้องมาเติม ห หรือ อ นำหน้ากันอีก และมันก็แทนเสียงกันได้ เช่น

มา ม่า ม้า ม๊า ม๋า  ออกเสียงว่า มา หม่า หม้า ม้า หมา  คือเปลี่ยนการออกเสียงใหม่

มา  ออกเสียง มา เหมือนเดิม
ม่า แทนที่จะออกเสียงว่า ม่า แบบมาม่าปัจจุบัน ให้ออกเสียงว่า หม่า แทน 
ม้า  ส่วนคำที่สะกดว่า ม้า ปัจจุบัน ออกเสียงแบบ ม่า หรือ หม้า แทน
ม๊า แทนเสียง ม้า ที่สะกดในปัจจุบัน
ม๋า แทนเสียง หมา 


หรือผมทำให้เสียงบางตัวหายไปรึเปล่าครับ แต่ดูแล้วก็ไม่หาย  เพราะแบบที่ใช้ ห นำ กับไม่มี ห นำ รวมแล้ว 6 คำ  แต่มันจะมีคำที่เสียงพ้องกัน 1 คำ  ดังนั้นระดับเสียงจริงๆ ของทั้ง 6 คำจะมีแค่ 5 ระดับ  ดังนั้นปรับเป็นเสียงอักษรกลางน่าจะได้  หรือเพราะมันติดกฏคำเป็นคำตายหรืออะไรรึเปล่าครับ  หรือผมผันเสียงพลาดตรงไหน หลงลืมเสียงไหนไปรึเปล่าครับ

เอ๊ะ ถ้าจำไม่ผิดท่านอาจารย์เพ็ญชมพูนี่ก็เชี่ยวชาญภาษาไทยมากด้วยเหมือนกัน ถามซะด้วยอีกท่านครับ



กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 12, 20:08
ดิฉันเป็นพวกเอกอังกฤษค่ะ       คำถามของคุณประกอบขอส่งไม้ต่อให้คุณเพ็ญชมพูนะคะ       เพราะยังไงก็เดาว่าคุณเพ็ญต้องเข้ามาตอบอยู่ดี

เท่าที่อ่านของคุณประกอบ  คุณเล่นคว่ำกฎเกณฑ์เลยนี่คะ เพื่อให้อ่านตัวอักษรได้อย่างต้องการ  
ถ้าจะทำอย่างคุณว่า  คือ  
มา  ออกเสียง มา เหมือนเดิม
ม่า ให้ออกเสียงว่า หม่า แทน
ม้า  ให้ออกเสียงว่า หม้า แทน
ม๊า แทนเสียง ม้า ที่สะกดในปัจจุบัน
ม๋า แทนเสียง หมา

เริ่มด้วยคำว่า ม่า ให้ออกเสียงว่า หม่า แทน
งั้น คำว่า ม่าน(เวที)  ร่า(เริง)  เงื้อ(ง่า)  จะออกเสียงว่าอะไร   หม่านเวที   หร่าเริง  เงื้อหง่า งั้นหรือคะ

ต่อไป  คำ  ม้า  ให้ออกเสียงว่า หม้า แทน
ปลาร้า  ก็ต้องอ่านออกเสียงว่า ปลาหร้า    หรือถ้าจะเอาเสียงเดิมไว้  ต้องสะกดใหม่ว่า ปลาร๊า    คุณน้า = คุณน๊า   น้ำปลา =น๊ำปลา
 ??? ??? ???


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 04 ต.ค. 12, 21:05

เริ่มด้วยคำว่า ม่า ให้ออกเสียงว่า หม่า แทน
งั้น คำว่า ม่าน(เวที)  ร่า(เริง)  เงื้อ(ง่า)  จะออกเสียงว่าอะไร   หม่านเวที   หร่าเริง  เงื้อหง่า งั้นหรือคะ

ต่อไป  คำ  ม้า  ให้ออกเสียงว่า หม้า แทน
ปลาร้า  ก็ต้องอ่านออกเสียงว่า ปลาหร้า    หรือถ้าจะเอาเสียงเดิมไว้  ต้องสะกดใหม่ว่า ปลาร๊า    คุณน้า = คุณน๊า   น้ำปลา =น๊ำปลา
 ??? ??? ???

ภาษาไทยฉบับประกอบปรับปรุงใหม่ จะเขียนแบบนี้แทนครับ ระบบภาษา(วิบัติ)ใหม่ ไม่ต้องใช้ ห หรือ อ นำหน้าเลย

เมื้อม้านเวทีถูกรูดลง พระเอกขี่ม๊านี๋ไปซื้อน๊ำปลาร๊าที่ร๊านน๊าสาว  น๊าร้าเริงเงื๊อง้าควานหาเจอแต่น๊ำปลาเลยบอกว่าย่าเอาไปเลยย้าไม่ชอบ

อ่านว่า: เมื่อม่านเวทีถูกรูดลง พระเอกขี่ม้าหนีไปซื้อน้ำปลาร้าที่ร้านน้าสาว   น้าร่าเริงเงื้อง่าควานหาเจอแต่น้ำปลาเลยบอกว่าอย่าเอาไปเลย ย่าไม่ชอบ    :-*


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 12, 21:33
คุณเพ็ญชมพูจะเห๋นด้วยฤๅไหม้น๋อ


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ต.ค. 12, 21:50
สิ่งที่คุณประกอบเสนอมาคือให้อักษรต่ำเดี่ยวผันได้ครบทั้ง ๕ เสียงโดยไม่ต้องใช้ ห หรือ อ มาช่วย

มา ม่า ม้า ม๊า ม๋า  ออกเสียงว่า มา หม่า หม้า ม้า หมา  

ตัวอย่างที่คุณประกอบยกมาเป็นการละเมิดกฎเกณฑ์ของภาษาไทย  มีคำเพียง ๑ คู่ที่เป็นไปได้ (ไม่นับคำว่า มา) คือ ม๋า และ หมา ซึ่งเป็นเสียงจัตวาเหมือนกัน

ม่า เป็นเสียงโท ออกเสียงว่า หม่า ซึ่งเป็นเสียงเอกได้อย่างไร

ม้า เป็นเสียงตรี ออกเสียงว่า หม้า (เสียงเดียวกับ ม่า) คงไม่ได้

ม๊า ไม่มีในสารบบการออกเสียง

สำหรับประโยคคำถามของคุณเทาชมพู

คุณเพ็ญชมพูจะเห๋นด้วยฤๅไหม้น๋อ

มีคำให้พิจารณาอยู่ ๓ คำคือ  ๑. เห๋น  ๒. ไหม้  ๓. น๋อ

คำที่ ๒ และ ๓ เห็นด้วยว่า เป็นเสียงเดียวกับ ไม่ (เสียงโท) และ หนอ (เสียงตรี)

ส่วนคำที่ ๑ ไม่มีในสารบบการออกเสียง เพราะรูปสามัญ "เห็น" ก็ออกเสียงจัตวาอยู่แล้ว

ข้อวิสัชนาก็จบลงด้วยประการฉะนี้แล

 ;D



กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 12, 22:01
ก็คุณประกอบเขาจะละเมิดกฎ   คุณเพ็ญชมพูไปตอบว่าทำไม่ได้เพราะละเมิดกฎ  ก็จบกันละค่ะ


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ต.ค. 12, 22:04
ขออนุญาตกลับเข้าสู่หัวข้อเรื่องของกระทู้

รายการ คม-ชัด-ลึก วันจันทร์ที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

http://www.youtube.com/watch?v=v2bnyxZ8YjI&feature=related  

ศ.ดร. อมรา ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยากร  

คุณครูคริสโตเฟอร์ ไรท์ พิธีกรรายการสอนภาษาอังกฤษทางโทรทัศน์ เข้าใจแจ่มแจ้ง

แต่คุณครูลิลลี่ (มีไม้เอก) ครูสอนภาษาไทย ยังคงไม่เข้าใจ

 ;D


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ต.ค. 12, 22:59
   คลิปข้างบนนี้ สรุปได้ประโยคเดียวตามที่อาจารย์อมราพูด คือบัดนี้  มีการริเริ่มให้สะกดตรงตามแบบที่คนไทยออกเสียง  ผิดกับเมื่อก่อนที่สะกดอย่างหนึ่ง ออกเสียงอีกอย่างหนึ่ง  เท่านั้นเอง
   (เว้นแต่คำว่า  New York  ยังฟังไม่รู้เรื่องว่าจะสะกดยังไง  นิวหยอก หรือ นิวยอร์ค   อ้อ! วอชิงตัน หรือวอชิงตั้น)
   แต่การสะกดตามแบบออกเสียง จำกัดเฉพาะคำทับศัพท์จากภาษาอังกฤษ     ไม่รวมภาษาไทยคำอื่นๆที่สะกดอย่าง ออกเสียงอีกอย่างมาตั้งแต่โบราณ
   อย่างไรก็ตาม  เมื่อราชบัณฑิตฯ ท่านออกมาแถลงแล้วว่าไม่เปลี่ยน  เอาไว้อย่างเดิม  ไม่มีวรรณยุกต์  ก็เห็นจะต้องยุติแต่เพียงนี้


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 04 ต.ค. 12, 23:37
ภาษาแต่ละภาษามีข้อจำกัดของตัวเองครับ

ภาษาในโลกนี้ส่วนมากแล้วไม่มีการใช้วรรณยุกต์ ที่มีวรรณยุกต์นั้น มีภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาเวียดนาม จะมีภาษาไหนอีกคงต้องถามหาจากน้องกุ๊กเพิ่มเติม พวกภาษาที่ไม่มีวรรณยุกต์นั้น เขาจึงแยกเสียงวรรณยุกไม่ได้ เหมือนโจ๊กเรื่องสอนฝรั่งให้พูดว่า "ใครขายไข่ไก่" เป็นเรื่องที่ทารุณฝรั่งมาก อย่างฝรั่งอังกฤษเสียง กอ กับ ขอ ใครไม่ได้เรียน phonetics มาเป็นอันว่าแยกไม่ออกแน่ๆ สระเสียงสั้นเสียงยาวก็ไม่มี "ใครขายไข่ไก่" จึงกลายเป็น "ครายคายคายคาย" ซึ่งรับรองได้เหมือนกันว่าไม่มีคนไทยคนไหนฟังรู้เรื่องหรอกครับ

ตัว u ภาษาญี่ปุ่นอาจออกเสียงเป็น อุ หรือ อึ ได้ ขึ้นกับผู้พูด เพราะเขาแยกสองเสียงนี้ไม่ได้ครับ อุ และ อึ มีค่าเท่ากันสำหรับคนญี่ปุ่น ซึ่งอาจทำให้เกิดเรื่องร้ายแรงได้หากมาอยู่เมืองไทย

เสียง ch ของเขาก็อาจเป็น จ หรือ ช ได้เท่าๆกัน ก็เพราะเขาแยกสองเสียงนี้ไม่ออก แต่ sh ของเขา เราคนไทยไม่มี จึงฟังว่าเป็นเสียงเดียวกับ ch (ช) แต่สำหรับเขาแล้วเป็นคนละเสียงกัน สักยี่สิบกว่าปีที่แล้วมีละครญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งมาโด่งดังในบ้านเราคือเรื่อง Oshin เราอ่านว่า โอชิน ซึ่งเป็นวิธีการอ่านที่เขย่าขวัญคนญี่ปุ่นมาก เพราะ โอ เขาแปลว่าใหญ่ ในขณะที่ sh ของเขาเราดันออกเสียงเป็น ch แล้ว ชิน ที่ใช้ ch สะกดมันแปลว่าอวัยวะเพศชายครับ

จะว่าไปแล้ว จากยุคอาณานิคมเป็นต้นมา หลายชาติยกเลิกระบบการเขียนด้วยตัวอักษรของตัวเอง ไปรับเอาอักษรโรมันมาใช้ โดยพัฒนาระบบการแทนเสียงในภาษาของชาติตนด้วยอักษรโรมัน ส่วนชาติที่ยังใช้อักษรของตัวเองอยู่ ก็พัฒนาระบบการถอดเสียงภาษาของตัวเองด้วยอักษรโรมันกันเกือบทุกชาติ เมื่อรวมพวกชาติตะวันตกเองซึ่งใช้อักษรโรมันกันอยู่แล้ว อักษรโรมันจึงการเป็นอักษรสากลที่คนแทบทุกชาติใช้สื่อสารกันได้

ระบบที่แต่ละชาติพัฒนาขึ้นมานั้น โดยมากมีกติกาที่ชัดเจนตายตัวเพื่อการออกเสียงในภาษาของตัวเองเป็นหลัก เห็นอักษรแต่ละตัว จะรู้แน่ว่าต้องออกเสียงอย่างไร แทบจะกล่าวได้ว่ามีแต่ภาษาอังกฤษเท่านั้นแหละที่ไม่ยึดหลักเกณฑ์นี้ คนไทยที่คุ้ยเคยกับภาษาอังกฤษ แต่ไม่รู้จักภาษาอื่นๆเลยจึงอ่านไม่รู้ข้อเท็จจริงข้อนี้

ความโชคร้ายซ้ำซ้อนของคนไทยก็คือ ระบบการใช้อักษรโรมันเขียนคำไทยที่ออกโดยราชบัณฑิตยสถานไม่แสดงความแตกต่างของสระเสียงสั้นเสียงยาว สระออ กับ สระโอ ก็แยกไม่ได้ ไม่มีเครื่องหมายแทนวรรณยุกต์ และที่แย่ที่สุดคือไม่สามารถแยกเสียง จ กับ ช ได้ เขียนว่า chong อาจอ่านได้ว่า จอง จ่อง จ้อง จ๋อง จง จ่ง จ้ง จ๊ง จ๋ง โจง โจ่ง โจ้ง โจ๊ง โจ๋ง ชง ฉ่ง ฉ้ง ช้ง ฉง โชง โฉ่ง โฉ้ง โช้งโฉง ชอง ฉ่อง ช่อง ช้อง ฉอง และอีกหลายเสียงที่หมดแรงจะไล่แล้ว มหัศจรรย์พันลึกดีทีเดียว ถือเป็นปัญหาของระบบการเขียนไทยด้วยอักษรโรมันที่ไม่เคยได้รับการชำระให้สมบูรณ์ ในขณะที่คนไทยส่วนมากที่ไม่เข้าใจเรื่องที่ว่าการเขียนคำด้วยอักษรโรมันนั้นแทนเสียงที่แตกต่างกันไปในแต่ละภาษา ยึดติดอยู่กับภาษาอังกฤษอย่างเดียวก็มัวเซ็งว่าทำไม Phuket ต้องเขียนแบบนี้ Bangkok ต้องเขียนแบบนี้ให้ฝรั่ง (ซึ่งหมายถึงอังกฤษที่ใช้อักษรโรมันระบบมั่วแหลก) ล้อเลียนอยู่ไม่รู้จักจบสิ้นครับ

เรื่องที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ คนในชาติที่ใช้อักษรโรมันก็ไม่ต่างจากคนไทยนัก ส่วนมากยึดติดกับระบบการแทนเสียงของชาติตัวเอง (ดีกว่าไทยหน่อยที่ไปยึดภาษาอังกฤษที่มหามั่ว) เวลาเจอคำต่างชาติที่เขียนด้วยอักษรโรมัน (แต่ใช้ระบบแทนเสียงที่ต่างออกไป) ก็สนุกสิครับ ส่วนมากจะอ่านตามระบบของชาติตัวเอง ซึ่งบางคำคนชาติเจ้าของคำนั้นฟังไม่รู้เรื่องแน่นอน อย่าง women คนจีนเห็น คงต้องอ่าน หว่อเมินก่อนเลย

ไหนๆจะบ่นแล้ว ก็ขอบ่นให้ถึงที่สุดเลย เรื่องชาติที่มีวรรณยุกต์ด้วยกันนี่แหละครับ เวลาเอาคำชาติอื่นมา ไม่เข้าใจว่าทำไมวรรณยุกต์ถึงได้เพี้ยนอุตลุด ก็เข้าใจอยู่นะครับว่าวรรณยุกต์ของแต่ละชาตินั้นไม่ตรงกันเสียทีเดียว แต่เจียมอี๊ของจีนมาเมืองไทยกลายเป็นเกี้อมอี๋ เหล่าเต้งกลายเป็นเล่าเต๊ง และอีกเป็นร้อยคำซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเพี้ยนทั้งสิ้น ภาษาเวียดนามก็เป็นอีกภาษาหนึ่งซึ่งมีระบบวรรณยุกต์ ชื่อประเทศเขาคือเหวียดนาม เราก็ไม่สนใจเสียงวรรณยุกต์ของเขา เรียกตามใจเราว่าเวียดนาม แล้วรู้ไหมครับว่าเขาเรียกประเทศเราว่าอะไร ไถลาน ครับ 555 พอกันเลย


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 05 ต.ค. 12, 08:27
ผมอยากให้ท่านลองเข้าไปลองในเวปนี้ ที่ออกเสียงสะกดคำในภาษาต่างๆดู

http://www.oddcast.com/home/demos/tts/tts_example.php?sitepal

ผมเลือกเอาคำง่ายๆว่า court ให้ลองอ่านภาษาอังกฤษ

ในจำนวนสิบกว่าคนทั้งหญิงและชายจะออกเสียงเหมือน-ไม่เหมือนกันบ้าง ไล่ระดับแล้วก็ออกมาประมาณว่าอยู่ในช่วง ค้อร์ต-ขอร์ต-ข้อร์ต
คราวนี้ลองใหม่ เอาคำว่า ค้อร์ต ขอร์ต และข้อร์ต สามคำนี้ไปเลือกให้อ่านในภาษาไทยมั่ง คนอ่านอ่านออกมาสำเนียงเดียวคือ คอร์ต
นี่คือข้อเท็จในโลกที่เราสื่อสารกันทุกวันนี้

แล้วลองเอาศัพท์ในภาษาใดภาษาหนึ่งที่ไม่คุ้นหูคนไทย จะเป็นฝรั่งเศส เดนมาร์ก เสปญ ไปลองให้อ่านดู ในสิบคนจะออกสำเนียงต่างกันอย่างน้อยๆก็สามสี่แบบ ผมพยายามออกเสียงตามเขาเท่าไรก็ไม่เหมือน แล้วขอประทานโทษเถอะ หากราชบัณฑิตคิดค้นที่จะสะกดสำเนียงเหล่านั้นเป็นภาษาไทย แล้วตัวเองอ่านให้เจ้าของภาษาฟัง เขาก็คงส่ายหัว นอกจากว่าคนอ่านมีพื้นฐานแน่นจริงๆในภาษานั้นๆ หรือเคยอยู่ในประเทศเขามาแล้วจนพูดถนัดลิ้น จึงจะอ่านออกเสียงถูกต้องตามภาษาเดิมได้


ชอบอ่านที่คุณลุงเนาวรัตน์(ขออนุญาตเรียกคุณลุงเพราะมิบังอาจตีรุ่นเท่าครับ)แสดงความเห็น
เหตุผลนี้ราชบัณฑิตควรรับไปตรึกตรองให้หนัก
เรามักจะมองด้านเดียวว่า สิ่งนี้ผิด ต้องแก้เป็นแบบนี้
แต่เรามักจะไม่ได้มองให้รอบคอบปข้างหน้าว่า ไอ้สิ่งใหม่ที่ว่านี้จะนำปัญหาหรือความโกลาหลหรือวิบัติอะไรตามมา ซึ่งการมองเช่นนี้ได้จะต้องใช้สมาธิ สติ และปัญญาอย่างมาก เพราะต้องคิดในสิ่งที่ยังจับต้องไม่ได้ เช่นเดียวกับ Einstein (ขอโทษที่ไม่ได้เขียนคำไทย เพราะกลัวผิดหลักการของราชบัณฑิต ไม่รู้ว่าจะเขียน ไอน์สไตน์, อายน์สไตน์, อายน์สตายน์, ไอน์ชไตน์, อายน์ชตายน์ ฯลฯ หมดความมั่นใจในตัวเองไปเยอะเลยครับ)
ชอบมั๊กๆครับกับเหตุผลของคุณลุง


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ต.ค. 12, 08:38
นาน น๊าน จะมีคนชมทีนึง


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ต.ค. 12, 08:40
^
ดีใจที่ได้เป็นลุง


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 12, 09:04
^
เห็นท่านดีใจที่ได้เป็นลุง เสียก่อน   ไม่งั้นจะขอให้คุณสุจิตราเรียกพี่อยู่เชียวละค่ะ


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 12, 09:15
เห็นด้วยกับคุณ Crazyhorse ค่ะ 
กลับไปอ่านคำแถลงของราชบัณฑิตฯอีกที  โปรดอ่านข้อความนี้ซ้ำอีกครั้ง

"ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ในฐานะราชบัณฑิตสาขาวิชาภาษาไทย ได้เสนอขอให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษ โดยแนะให้ใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์ หรือใช้อักษรสูง หรือใช้ ห นำในคำที่ไม่สามารถผันวรรณยุกต์ได้ ราชบัณฑิตยสถานจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางการเขียนคำที่มาจากต่างประเทศ เพื่อพิจารณาเรื่องที่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล เสนอ คณะกรรมการฯ ได้มีมติให้ออกแบบสอบถามตามข้อเสนอของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล โดยสอบถาม ราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก และกรรมการวิชาการของราชบัณฑิตยสถาน เพื่อรับฟังความคิดเห็นเฉพาะภายในองค์กรเป็นเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายในวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ และจะเสนอผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวต่อสภาราชบัณฑิต ในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๕๕ วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

เขาสอบถามทำกันเป็นการภายในองค์กร   ไม่ได้มาเกี่ยวอะไรกับประชาชนภายนอกอย่างพวกเรานี่นา

จากนั้น ท่านก็แถลงด้วยว่า
"ผลการรับฟังความคิดเห็นภายในองค์กรฯ....ไม่ว่าจะมีผลเป็นประการใด  เป็นเพียงความเห็นส่วนหนึ่ง  ไม่ใช่ข้อยุติ..."
แปลภาษาราชการเป็นภาษาชาวบ้านว่า  ไม่ว่าผลออกมาว่าเอาหรือไม่เอา   ก็หยุดไว้ลอยๆแค่นั้นแหละ  ยังไม่ตัดสินอะไรลงไปหรอก
 
กด like ข้างล่างนี้กดให้คุณม้าและคุณลุงของคุณสุจิตรานะคะ  ไม่ได้กดให้คำแถลงของราชบัณฑิตฯ


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ต.ค. 12, 09:40
อ้างถึง
เห็นท่านดีใจที่ได้เป็นลุง เสียก่อน   ไม่งั้นจะขอให้คุณสุจิตราเรียกพี่อยู่เชียวละค่ะ

ธ่อ เป็นลุงก็หล่อแล้ว ไปตลาดแม่ค้าเค้าเริ่มเรียกคุณปู่ซะด้วยซ้ำ
.
.
ขอถือโอกาสนี้ให้ตัวLIKEในความเห็นของคุณม้าล่าสุดด้วยครับ คุณม้ารู้มาก เลยต้องหงุดหงิดมากหน่อยเป็นธรรมดา
ผมไม่รู้มาก เลยไม่หงุดหงิด เขาจะออกอะไรมาก็ช่างเขา ผมก็จะเขียนแบบของผมนี่แหละ เขาบอกว่าไม่ได้บังคับนี่ สุดท้ายคนไม่เอาด้วยมากเข้าก็พับฐานไปเอง

ดูแต่ภาษาไทยของจอมพลป.นั่นประไร ยังไม่ทันสิ้นยุคเผด็จการของท่านก็ซาโยนาระ ก่อนญี่ปุ่นจะแพ้สงคราม คำนับกลับประเทศเสียอีก


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 05 ต.ค. 12, 10:13
นาน น๊าน จะมีคนชมทีนึง

ยินดีครับ
ว่าแต่ว่าวัยอย่างคุณลุงหาตุ๊กตาน่ารัก ๆ มาประกอบได้อย่างไรครับ (ล้อเล่นนะครับ)


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 05 ต.ค. 12, 11:20
ผมมีอีกแง่มุมหนึ่งในทางตรงกันข้ามของปัญหาที่ยังไม่เห็นมีใครพูดถึง นั่นคือการเขียนคำภาษาอังกฤษจากคำไทยที่เป็นชื่อ (proper noun) โดยเฉพาะชื่อหน่วยงาน ชื่อสถานที่ ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็แปลเป็นอังกฤษเองเพราะไม่รู้จะปรึกษาใครหรือจะอ้างอิงจากที่ไหน เช่น
 
"ราชวิถี"
โรงพยาบาลราชวิถี Rajavithi Hospital
มูลนิธิโรงพยาบลราชวิถี Rachavithi Hospital Foundation
สโมสรฟุตบอลราชวิถี Raj-Vithi F.C.
The Faculty of Tropical Medicine, Mahidol University "Students may use the library of the Rachavithi campus....."
สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี Rajvithi Home for Girls
TUUGO.in.th New-ccet ที่อยู่: 420/1 Rajchavithi Rd Rajchathawee, Bangkok, 10400
ฯลฯ

คำต่อไปที่ยิ่งปวดหัวมากอีก
"เจ้าพระยา"
Chaophraya "The Chao Phraya[1] is a major river in Thailand,..."
Chaopraya
Chaophya
Jaophraya
ฯลฯ

ทางออกของปัญหาควรทำอย่างไรครับ
 ???  :'(







กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ต.ค. 12, 11:36
ท่านรอยอินเตรียมทางออกไว้ให้คุณสุจิตราแล้ว

http://www.royin.go.th/upload/246/Fileupload/416_2157.pdf

 ;D


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 05 ต.ค. 12, 11:40
เข้ามาช่วยอีกแรง

การเขียนภาษาอังกฤษ - ไทย ชื่อเขต อำเภอ ทั่วประเทศ http://www.royin.go.th/upload/246/FileUpload/1723_5812.pdf

ทั้งนี้ยังมีบางคำที่บางหน่วยงานราชการยังแย้งกันอยู่ ในเรื่องการเขียนชื่อ ถนน และคลอง จะให้เป็นการถ่ายเสียง หรือ ถ่ายความหมาย  ???

เช่น ถนน ก. - Kor. Road หรือจะเขียน Thanon Kor.  เป็นต้น

คลองก็เช่นเดียวกัน คลองตัน - Khlong Ton หรือจะเขียน Ton Canal


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ต.ค. 12, 11:42
ขออนุญาตกลับเข้ามาสู่หัวข้อกระทู้อีกครั้งหนึ่ง

เรื่องการแก้ไขคำนี้มีเรื่องหนึ่งที่อาจทำความสับสนให้กับประชาชนทั่วไปรวมถึงในเรือนไทยนี้ด้วย

เอกสารที่ออกมาจากราชบัณฑิตเรียกคำเหล่านี้ว่า "คำยืม" ส่วนหัวข้อกระทู้นี้เรียกว่า "คำทับศัพท์"  

ตกลงคำทั้ง ๑๗๖ คำเป็น "คำทับศัพท์" หรือ "คำยืม"

อาจารย์กาญจนาเขียนไว้คอลัมน์ "ภาษาไทยวันนี้" เรื่อง "คำทับศัพท์ คำยืม" ในนิตยสารสกุลไทย ดังนี้

คำว่า คำทับศัพท์ เป็นคำที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ คิดขึ้นใช้เรียกคำภาษาอังกฤษที่เขียนด้วยตัวอักษรไทยในบทความทางการแพทย์ที่ตีพิมพ์ในสารศิริราช เมื่อ ๕๐ กว่าปีมาแล้ว ศาสตราจารย์ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ เป็นบรรณาธิการวารสารการแพทย์ฉบับนั้น และได้พบว่าผู้เขียนบทความและรายงานผลการวิจัยทางการแพทย์ส่วนมากเขียนบทความภาษาไทย โดยใช้คำภาษาอังกฤษที่เขียนด้วยตัวอักษรโรมันแทรกอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพราะแพทย์ได้รับการศึกษามาจากต่างประเทศ รับวิทยาการจากต่างประเทศและยังไม่สามารถแปลหรือบัญญัติคำภาษาไทยใช้เพื่อแทนคำภาษาอังกฤษนั้นได้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ จึงเสนอวิธีการทับศัพท์ เพื่อไม่ให้ปรากฏคำที่เป็นตัวอักษรโรมันในบทความภาษาไทย

การทับศัพท์เป็นเพียงการถ่ายรูปคำภาษาอังกฤษนั้นมาเป็นภาษาไทย โดยการเทียบตัวอักษรตัวต่อตัว ทั้งนี้เพื่อให้นายแพทย์ทั้งหลายสามารถแปรรูปคำทับศัพท์กลับไปสู่คำภาษาอังกฤษได้ คำทับศัพท์แสดงการออกเสียงคำภาษาอังกฤษพอประมาณ แต่ไม่ได้แสดงว่าเป็นคำยืมที่จะนำมาใช้ในภาษาไทย การทับศัพท์เป็นเพียงการเขียนคำภาษาอังกฤษชั่วคราว ด้วยตัวอักษรไทยพอเป็นเค้าให้ทราบว่า คำนั้นๆภาษาอังกฤษคือคำอะไร การเขียนจึงกำหนดให้ใกล้เคียงกับคำในภาษาอังกฤษ ใช้ตัวอักษรทั้งหมดที่มีในภาษาไทยเพื่อช่วยให้ย้อนกลับไปหาคำในภาษาอังกฤษได้ เช่น ใช้ ฆ-ก ฌ-ช ธ-ท ศ-ส ไ-ัย แทนตัวอักษรโรมันที่ต่างกัน ตัวอักษรที่ไม่ออกเสียงแม้จะอยู่หน้าคำก็เขียนไว้และใส่เครื่องหมายทัณฑฆาต เช่น คำว่า pneumonia ทับศัพท์เป็น ป์นิวมอเนีย enzyme ทับศัพท์ว่า เอ็นซัยม์ vitamin ทับศัพท์เป็น วิตะมิน syphilis ทับศัพท์เป็น ซิย์ฟิลิส anticholinergic ทับศัพท์เป็น แอนติโฆลิเนอร์จิค acanthocyte ทับศัพท์เป็น อะคันโธซัยต์ achromia ทับศัพท์เป็น อะโฆรเมีย achylia gastrica ทับศัพท์เป็น อะฆัยเลีย กาสตริคา acidosis ทับศัพท์เป็น แอศิโดสิส adenoids ทับศัพท์เป็น อะดีนอยด์ส์ เป็นต้น คำทับศัพท์เป็นศัพท์ทางวิชาการที่ใช้เมื่อยังไม่มีคำบัญญัติศัพท์หรือคำแปลที่เหมาะ ต่อมาคณะแพทย์ได้ร่วมกันคิดศัพท์บัญญัติขึ้นใช้แทนคำภาษาอังกฤษนั้นๆ จึงเกิดคำภาษาไทยที่เป็นศัพท์บัญญัติทางการแพทย์ขึ้น คำใดบัญญัติศัพท์ขึ้นใช้ได้แล้วก็ไม่ต้องใช้คำทับศัพท์อีกต่อไป คำใดไม่สามารถบัญญัติศัพท์ให้ถูกใจได้ก็รับไว้เป็นคำยืม ปรับการเขียนให้ใกล้เคียงกับเสียงที่ใช้ในภาษาไทย เช่น gout เขียนเป็น เก๊าต์ reflex เขียนเป็น รีเฟล็กซ์ ataxia เขียนเป็น อะแท็กเซีย เป็นต้น


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ต.ค. 12, 11:45
คำว่า คำยืม เป็นคำศัพท์ทางวิชาการภาษาศาสตร์ เรียกคำที่ภาษาหนึ่งรับมาจากภาษาอื่น ทุกภาษามีคำยืมจากภาษาอื่นมาใช้ในภาษาตน มากบ้างน้อยบ้างตามความจำเป็น และขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ หรือความนิยมภาษาที่ถูกยืมมาว่ามีมากน้อยเพียงใด เช่น ภาษาไทยมีคำยืมจากภาษาบาลีภาษาสันสกฤตมาก มีคำยืมจากภาษาเขมร ภาษาจีน ภาษาชวา-มลายู ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอื่น ๆ พอสมควร เป็นต้น ในทางหลักภาษา คำยืมเป็นคำที่ใช้ในภาษาผู้ยืมได้เช่นเดียวกับคำดั้งเดิมหรือคำแท้ในภาษา ในทางวัฒนธรรมและค่านิยม คำยืมจากบางภาษาอาจมีสถานะสูง แต่คำยืมจากบางภาษาอาจมีสถานะเป็นเพียงคำภาษาปาก เช่น ในภาษาไทย คำยืมจากภาษาบาลี สันสกฤต ได้รับการยอมรับว่าเป็นคำสูง เพราะใช้เป็นราชาศัพท์ และใช้ในการแต่งหนังสือประเภทร้อยกรอง ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นวรรณคดีของชาติ ส่วนคำยืมจากภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษที่ไม่ใช่ศัพท์ทางวิชาการถือว่าเป็นคำภาษาปาก ใช้ได้แต่ในภาษาพูด ไม่นิยมให้ใช้ในภาษาเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาษาราชการหรือภาษากฎหมาย

คำยืมในภาษาไทย จะรับมาจากภาษาใดก็ตาม จะใช้ในทางวิชาการ หรือใช้ในภาษาธุรกิจ ใช้เป็นภาษาทางการ หรือเป็นภาษาชาวบ้านย่อมมีสถานะเป็นคำไทยเท่าเทียมกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นการออกเสียง การปรากฏในตำแหน่งใดๆในโครงสร้างของประโยค คำยืมย่อมมีลักษณะเป็นคำไทย ในการออกเสียง คำภาษาไทยทุกพยางค์ทุกคำจะประกอบด้วยหน่วยเสียงเท่าที่มีในระบบเสียงภาษาไทย คำยืมในภาษาไทยก็มีลักษณะการออกเสียงเช่นเดียวกัน คือประกอบด้วยหน่วยเสียงพยัญชนะต้น สระ และวรรณยุกต์ เสียงพยัญชนะ เสียงสระของคำจากภาษาต่างประเทศจะปรับเปลี่ยนมาเป็นเสียงไทย และไม่ว่าคำที่ยืมมานั้นจะมาจากภาษาที่มีวรรณยุกต์หรือไม่ ทุกพยางค์ในคำยืมภาษาไทยจะมีวรรณยุกต์เสียงใดเสียงหนึ่งตามที่มีอยู่ในระบบของภาษาไทยทั้งสิ้น และเมื่อออกเสียงด้วยวรรณยุกต์ใดแล้วก็จะไม่เปลี่ยนไปเป็นวรรณยุกต์อื่น ในด้านการใช้คำ คำยืมก็จะใช้ในตำแหน่งและหน้าที่ตามลักษณะของคำไทย คำนามภาษาอังกฤษมีการเปลี่ยนรูปคำเพื่อแสดงพจน์ คำกริยาเปลี่ยนรูปเพื่อแสดงกาล แต่คำภาษาอังกฤษที่รับมาใช้ในภาษาไทยจะไม่เปลี่ยนรูปเพื่อแสดงพจน์หรือกาลเพราะภาษาไทยไม่มีวิธีการนี้ คำนามและคำกริยาภาษาไทยมีคำลักษณนามเมื่อต้องการแสดงจำนวนหรือเมื่อต้องการการชี้เฉพาะ คำภาษาอังกฤษซึ่งไม่มีลักษณนามนั้น เมื่อรับมาใช้ในภาษาไทยก็จะถูกกำหนดให้มีลักษณนามด้วย เช่น รถแวน ๒ คัน ไมโครโฟน ๒ ตัว เชิ้ต ๓ ตัว คลิก ๒ ครั้ง เป็นต้น คำยืมจะหมดสภาพของความเป็นภาษาของผู้ถูกยืม และกลายเป็นสมบัติของภาษาผู้ยืมโดยสมบูรณ์

ระบบการเขียนของภาษาไทยเป็นระบบที่รูปอักษรรูปหนึ่งแทนเสียงหนึ่ง การเขียนเป็นพยางค์หรือเป็นคำที่ใช้วิธีประสมรูปอักษรให้ได้เสียงตามที่กฎของอักขรวิธีกำหนดไว้ การอ่านคำยืมไม่ว่าจะรับมาจากภาษาใดย่อมต้องออกเสียงตามระบบเสียงภาษาไทย การเขียนคำที่รับมาจากภาษาอังกฤษโดยไม่รักษาระบบอักขรวิธีของไทย เช่น ไม่ใช้อักษรสูง ไม่ใช้ ห นำอักษรต่ำเดี่ยว ไม่ใช้เครื่องหมายวรรณยุกต์ ไม่ใช้เครื่องหมายไม้ไต่คู้ จึงเป็นที่น่าเสียดายว่า ไม่รักษาหลักอักขรวิธีไทย หรือจะเรียกว่าทำลายระบบอักขรวิธีไทยก็น่าจะได้


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ต.ค. 12, 11:54
จากคำอธิบายของอาจารย์กาญจนา สรุปได้ว่าทั้ง ๑๗๖ คำนี้เป็นคำยืมมาจากภาษาอังกฤษ มิใช่คำทับศัพท์แต่ประการใดไม่

ฝรั่งเมื่ออยู่ในเมืองเขาก็อยู่ภายใต้กฎหมายของเมืองฝรั่ง ครั้นมาอยู่เมืองไทย แปลงสัญชาติเป็นคนไทย ก็อยู่ภายใต้กฎหมายไทย  ฉันใดก็ฉันนั้น คำยืมที่มาจากภาษาอังกฤษก็แปลงสัญชาติเป็นไทยแล้ว  ไฉนจึงจะไม่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของไวยากรณ์ไทยเล่า

 ::)



กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 12, 12:17
ช้าก่อน  คุณเพ็ญ โปรดอ่านคำให้สัมภาษณ์ของศ.กาญจนา
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000121006

       จู่ๆ อะไรดลใจให้ลุกขึ้นมาปฏิวัติการเขียนครั้งใหญ่ขนาดนี้?
       ไม่ใช่ว่าเพิ่งลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงนะคะ จริงๆ แล้วกรรมการราชบัณฑิตฯ มีมติเรื่องนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว เพียงแต่ว่าเรายังไม่ได้พิมพ์พจนานุกรมเล่มใหม่ ก็เลยยังไม่ได้แก้ไขอย่างเป็นทางการ แต่ในพจนานุกรมฉบับเดิมนั้นก็มีคำทับศัพท์กว่า 200 คำแล้วที่ใส่วรรณยุกต์และเขียนได้ถูกต้อง นี่ก็เหลือแค่คำไม่กี่คำที่ยังไม่ได้แก้ ยังไม่ได้ใส่วรรณยุกต์ ก็เลยคิดว่าจะแก้ให้เสร็จไป ทางเราเองทำงานตรวจสอบและแก้ไขคำผิดมาตลอด ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเพิ่งจะมาเป็นประเด็นอะไรกันในสังคมตอนนี้ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น ถึงได้มีคนลุกขึ้นมาโวยวายอะไรกันนักกันหนา ก็แปลกดีเหมือนกันค่ะ (หัวเราะ) จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรเลย แค่เรื่องเขียนหนังสือให้ถูกต้อง

     ท่านเรียกของท่านว่า "คำทับศัพท์" ราชบัณฑิตฯออกมาแถลง ใช้คำว่า "คำยืม"
     จะให้สรุปว่ากระไรดี     


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 12, 12:45
  ตัวอย่างความแตกต่าง
  Penchompoo เป็นคำทับศัพท์จากชื่อ เพ็ญชมพู
  เพ็ญ  เป็นคำยืมจากภาษาเขมร  เพ็ญ  แปลว่าเต็ม

  คำว่า สจ๊วต  หรือพนักงานฝ่ายชาย ทำหน้าที่ต้อนรับบนเครื่องบิน  เป็นคำยืมจากภาษาอังกฤษว่า  Steward
  แต่ถ้าเขียนทับศัพท์  ต้องเขียนว่า  สต๊วด  
  ถ้าเอาวรรณยุกต์ออก คือ สตวด  
  คำนี้ เป็นคำหนึ่งซึ่งใส่วรรณยุกต์ตรีไว้จะใกล้กับเสียงเดิมมากกว่า  เพราะถ้าไม่ใส่  อ่านแล้วเสียงค่อนข้างระคายหู เกือบเท่าโค้กและโคก
  ผมจะไปสมัครงานเป็นสจ๊วต  /  ผมจะไปสมัครงานเป็นสตวด  :-\ 
 


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ต.ค. 12, 13:50
ช้าก่อน  คุณเพ็ญ โปรดอ่านคำให้สัมภาษณ์ของศ.กาญจนา
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000121006

       จู่ๆ อะไรดลใจให้ลุกขึ้นมาปฏิวัติการเขียนครั้งใหญ่ขนาดนี้?
       ไม่ใช่ว่าเพิ่งลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงนะคะ จริงๆ แล้วกรรมการราชบัณฑิตฯ มีมติเรื่องนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว เพียงแต่ว่าเรายังไม่ได้พิมพ์พจนานุกรมเล่มใหม่ ก็เลยยังไม่ได้แก้ไขอย่างเป็นทางการ แต่ในพจนานุกรมฉบับเดิมนั้นก็มีคำทับศัพท์กว่า 200 คำแล้วที่ใส่วรรณยุกต์และเขียนได้ถูกต้อง นี่ก็เหลือแค่คำไม่กี่คำที่ยังไม่ได้แก้ ยังไม่ได้ใส่วรรณยุกต์ ก็เลยคิดว่าจะแก้ให้เสร็จไป ทางเราเองทำงานตรวจสอบและแก้ไขคำผิดมาตลอด ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเพิ่งจะมาเป็นประเด็นอะไรกันในสังคมตอนนี้ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น ถึงได้มีคนลุกขึ้นมาโวยวายอะไรกันนักกันหนา ก็แปลกดีเหมือนกันค่ะ (หัวเราะ) จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรเลย แค่เรื่องเขียนหนังสือให้ถูกต้อง

     ท่านเรียกของท่านว่า "คำทับศัพท์" ราชบัณฑิตฯออกมาแถลง ใช้คำว่า "คำยืม"
     จะให้สรุปว่ากระไรดี    

เห็นคำว่า "คำทับศัพท์" ในคำให้สัมภาษณ์ของอาจารย์กาญจนาตั้นแต่แรกแล้ว และคิดว่าต้องมีผู้ถามแน่

เรื่องนี้อาจารย์กาญจนาพลาด เข้ากับคำพังเพยที่ว่า  

"สี่เท้ายังรู้พลาด   นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง"

 ;D


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 05 ต.ค. 12, 13:54
แนวคิดของอ.กาญจนาฟังดูเหมือนจะมีเหตุผลดีอยู่ ในเมื่อคำเหล่านี้แปลงสัญชาติเป็นคำไทยแล้ว ก็ควรเขียนแบบไทยๆ

แต่ในทางปฏิบัติ ทุกปีท่านราชบัณฑิตทั้งหลายต้องมาร่วมกันพิจารณาว่าปีนี้คำต่างชาติคำไหนที่กลายเป็นคไทยแล้ว และเมื่อเป็นคำไทยก็ต้องเปลี่ยนวิธีเขียน (ซึ่งหลายคำเขียนแบบนี้มา 70 ปีแล้ว) ตกลงกันเสร็จก็ประกาศออกมา เด็กไทยจะต้องมานั่งท่องจำว่าคำไหนบ้างที่ได้รับสัญชาติไทยแล้ว และท่านราชบัณฑิตท่านจะให้เขียนอย่างไร ผมคาดว่าอีก 100 ปีข้างหน้าคงมีรายการคำยืมพวกนี้สัก 5000 คำเป็นอย่างน้อย

และผมพอจะรู้แล้วว่าทำไมเด็กไทยถึงเรียนหนักระดับแนวหน้าของโลกแต่กลับมีความรู้ระดับต่ำเตี้ยติดดินเช่นนี้


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 05 ต.ค. 12, 16:44
ยิ่งได้เห็นตัวอย่างที่ท่านอาจารย์เทาชมพูยกมาคำว่าสจ๊วต ยิ่งได้เห็นความลักลั่นของการใช้คำภาษาไทยกับคำยืมภาษาอังกฤษ(ตกลงว่าเรียกว่าคำยืมใช่รึเปล่าครับ)


ในขณะที่เราออกเสียงสจ๊วต ว่า สะ-จ๊วต  ตรงตามรูปที่เขียน แต่พอ คอร์ด  เราออกเสียง ขอร์ด

ถ้าใช้ระบบแบบเดิมที่เปิดกว้าง สจ๊วตก็ควรจะเขียนว่า สจวต แต่ถ้าใครเขียนแบบนี้ คนอ่านคงทำหน้าพิกล  แต่ใครเขียน คอร์ด ว่า ขอร์ด คนอ่านก็ทำหน้ากระอักกระอ่วนอีก
ดังนั้นอาการขัดหูขัดตา มันจึงมาจากความเคยชินมากกว่า ทำให้ยอมรับแบบใหม่ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะการสะกดแบบใหม่ให้ตรงกับการออกเสียงมันไม่ดี
ตกลงมาตรฐานปัจจุบันเลยกลายเป็นว่าคำไหนนิยมเขียนแบบไหน นิยมออกเสียงแบบไหน ก็ใช้ต่อไปตามเดิม
เด็กไทย ป.2 ที่ผันเสียงเก่งแม่นยำ ถ้าไม่เคยได้ยินคำว่าสจ๊วต  คอมพิวเตอร์  คอร์ด คลับ  มาก่อน อ่านครั้งแรกคงออกเสียงว่า สะ-จวด   คอม-พิว-เตอ  คอด  คลับ(ไม่ใช่ขลับ)
ที่ทุกวันนี้ออกเสียงกันได้ถูกตามมาตรฐานไทย เพราะคนอื่นๆ ออกเสียงกันแบบนั้น อาศัยความคุ้นเคยล้วนๆ


อย่างคำว่าแฟนคลับ  เวลาเขียน ผมกลับรู้สึกขัดใจที่ต้องเขียนว่าคลับ  ดังนั้นมักจะนิยมเขียนแบบเล่นๆ ว่าแฟนขับไปเลย  
เขียนแบบมาตรฐานมันขัดใจครับ เพราะตอนประถมถูกครูบังคับเคี่ยวเข็ญให้ผันเสียงให้ถูกต้อง พอเจอบางคำมันขัดๆ สามัญสำนึก  
แต่กับคำว่าคอมพิวเตอร์  แฟลต  ผมกลับไม่ขัดใจ แม้แต่ตัวเองก็หลายมาตรฐานจริงๆ


ผมค่อนข้างเห็นต่างจากท่าน CrazyHOrse ที่บอกว่าต่อไปเด็กไทยต้องมานั่งท่องจำว่าจะเขียนอย่างไร  
เพราะถ้าเราออกมาตรฐานว่า คำไหนคนไทยนิยมออกเสียงอย่างไร ก็ให้สะกดตามเสียงนั้น ปัญหาจะไม่เกิดมาก ไม่ต้องมานั่งจำหรือบัญญัติกันอีก
จะมีปัญหาแต่คำเสียงสั้น เช่นจะเขียนว่า คอม หรือ ค็อม มากกว่า แต่เรื่องวรรณยุกต์ จะเป๊ะกว่าปัจจุบัน
ต่อไปอีก 100 ปี คำยืมคงไม่ได้มีแค่ห้าพันคำ แต่คงมีมากกว่านั้นมาก การใช้ภาษาอังกฤษในประโยคภาษาไทย จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น
ราชบัณฑิตไม่ควรพยายามไปบัญญัติคำเป็นภาษาไทยใหม่ เพื่อใช้แทนคำภาษาอังกฤษนั้นๆ แต่ให้เราใช้ทับศัพท์ไปเลย โดยเฉพาะพวกชื่อเฉพาะทั้งหลาย
ดังนั้นการเขียนให้ตรงกับที่คนไทยออกเสียง ผมไม่เห็นว่ามันจะสร้างปัญหาอะไรเลย นอกจากเราคนไทยกันเองต้องแม่นยำเรื่องการสะกด การผันเสียงวรรณยุกต์ให้มาก
เพียงแต่ถ้าจะทำแบบนั้นจริงๆ ช่วงแรกๆ มันจะขัดหูขัดตาคนรุ่นปัจจุบันมาก ผมว่าอาการขัดหูขัดตานี่แหละ ทำให้ อ.กาญจนาได้รับก้อนอิฐก้อนหินไปเต็มๆ
ถ้าตัดอคติไป ผมยังมองไม่เห็นข้อเสียของการเขียนให้ตรงกับที่เรานิยมออกเสียงจริงๆ


ปัญหาของระบบการศึกษาไทย ที่เด็กไทยโง่ลง  อันหนึ่งที่เห็นคือตำราของกระทรวงฯ มันห่วยมากๆ
เมื่อปีที่แล้วผมซื้อตำราภาษาไทยเด็ก ป.1 ของกระทรวง ตั้งใจจะเอามาสอนเด็กไทยที่บ้านที่อังกฤษ  แต่พอเอามาสอนต้องอึ้ง
ปรากฏว่าหน้าแรก สอนให้เด็กอ่านใบบัวใบโบก ไม่ทันสอนสะกด ผันเสียง  แต่ใช้วิธีให้เด็กจำเสียงของคำเป็นคำๆ ไป ดังนั้นถ้าเด็กเจอคำใหม่ที่ไม่รู้จัก จะอ่านไม่ได้
ไม่รู้ว่านักการศึกษาที่ไหนคิด  อะไรอยู่เบื้องหลังการคิดแบบนั้น มาสอนเด็กไทยแบบทำลายความสามารถในการอ่าน การสะกด การผันเสียงของเด็กแบบจงใจ
ผมต้องไปหาโหลดตำราภาษาไทย มานะมานีแบบที่ผมเรียนตอนเด็กๆ มาสอนแทน

ง่า เรียนถามท่านอาจารย์เพ็ญชมพูต่อ เรื่องมาตรฐานภาษาไทยอักษรต่ำเดี่ยวฉบับประกอบปรับปรุงใหม่ครับ  ที่ลองย้ายอักษรต่ำเดี่ยวมาเป็นอักษรกลาง เพราะอ่านแล้วยังงงๆ
เห็นท่านอาจารย์บอกว่ามันผิดกฏ   ซึ่งก็จริงครับ แต่เป็นไปได้ไหมว่ากฏเองมันก็ใช้ผิด เพราะผมยังไม่เห็นว่าเสียงคำไหนมันหายไปเลยนะครับ หรือมันหาย  ยังงงต่อไปครับ ???  ???  ???


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 05 ต.ค. 12, 17:14
ท่านรอยอินเตรียมทางออกไว้ให้คุณสุจิตราแล้ว

http://www.royin.go.th/upload/246/Fileupload/416_2157.pdf

 ;D

ต้องกราบขอบพระคุณท่านเพ็ญชมพูเป็นอย่างสูงที่ได้ช่วยกรุณาให้ข้อมูล มีระโยชน์และรวดเร็วทันใจมากเลยครับ

เพียงแต่ประเด็นของผมคือจะมีกระบวนหรือแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมอย่างไรที่จะทำให้หน่วยงานต่างๆโดยเฉพาะหน่วยงานราชการได้เขียนและใช้ภาษาอังกฤษที่ตรงกันในส่วนที่มาจากคำไทยเอง
ผมคิดว่านี่คือหน้าที่ของราชบัณฑิตที่ควรต้องทำโดยการสื่อสารกับรัฐบาลและสังคมอย่างจริงจังเพื่อให้รัฐบาลมีคำสั่งทางปกครองเพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ
ไม่ทราบว่าลุงเนาวรัตน์มีความเห็นอย่างไรครับ


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 05 ต.ค. 12, 17:20
ปัญหาอยู่ที่ว่าราชบัณฑิตยฯท่านกำหนดวิธีการเขียนทับศัพท์คำภาษาอังกฤษไว้แบบไม่กำหนดวรรณยุกต์น่ะสิครับ ดังนั้นถ้าคำที่เปลี่ยนสภาพเป็นคำยืมมีวิธีการเขียนแบบที่ต่างไป มันก็มีวิธีเดียวแหละครับที่จะรู้ว่าจะต้องเขียนแบบทับศัพท์หรือเขียนแบบคำยืม คือ "ท่องจำ" เอา

ถ้าคิดว่าจะไปแก้วิธีการเขียนทับศัพท์ อันนี้ผมว่าเริ่มจะเข้ามาอยู่ในเส้นทางมากขึ้นแล้ว แต่ก็จะพบปัญหาที่เหล่าราชบัณฑิตได้เคยพบมาเมื่อหลายสิบปีที่แล้วอีก คือภาษาอังกฤษไม่มีวรรณยุกต์ การออกเสียงสูงต่ำขึ้นกับการวางในแหน่งในประโยคและอารมณ์ของผู้พูด ซึ่งสุดท้ายเหล่าราชบัณฑิตในยุคนั้นจึงเลือกไม่กำกับวรรณยุกต์ในการเขียนทับศัพท์ครับ

แล้วถ้าบอกว่าจะเขียนทับศัพท์ตามความนิยมของคนไทย แล้วคำใหม่ๆจะออกเสียงอย่างไร เพราะยังไม่เกิดความนิยม หรือจะอ้างอิงวิธีการออกเสียงคำเก่าๆ ซึ่งเข้ารกเข้าพงอยู่แล้ว มิชวนกันเข้ารกเข้าพงไปกันใหญ่หรือครับ


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 05 ต.ค. 12, 17:26
เข้ามาช่วยอีกแรง

การเขียนภาษาอังกฤษ - ไทย ชื่อเขต อำเภอ ทั่วประเทศ http://www.royin.go.th/upload/246/FileUpload/1723_5812.pdf

ทั้งนี้ยังมีบางคำที่บางหน่วยงานราชการยังแย้งกันอยู่ ในเรื่องการเขียนชื่อ ถนน และคลอง จะให้เป็นการถ่ายเสียง หรือ ถ่ายความหมาย  ???

เช่น ถนน ก. - Kor. Road หรือจะเขียน Thanon Kor.  เป็นต้น

คลองก็เช่นเดียวกัน คลองตัน - Khlong Ton หรือจะเขียน Ton Canal

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ เพิ่งได้ทราบว่า ที่เขียนชื่อิขตตัวเองนั้นถูกต้องคือ Taling Chan
คำถามที่อยากรบกวนถามต่อคือ ผมอยู่ถนนสวนผัก แขวงฉิมพลี ไม่ทราบว่าจะหาวิธีเขียนที่ถูกต้องได้ที่ใดครับ


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 05 ต.ค. 12, 17:32
^
อ้างถึง
จุดประสงค์ของการปรับปรุงวิธีเขียนคำเหล่านี้ คงไม่ใช่เพื่อให้เขียนให้ออกเสียงตามวิธีออกเสียงของเจ้าของภาษา หากเพื่อให้ออกเสียงได้ถูกต้องตามวิธีทีคนไทยรับเอาคำเหล่านั้นมาแล้วออกเสียงแบบไทย ๆ

เพิ่งรู้นี่แหละ  หลงเข้าใจผิดซะนานว่าเขียนให้ออกเสียงใกล้เคียงคำในภาษาเดิม  เท่าที่พยัญชนะไทยจะทำได้
แต่ถ้าออกเสียงแบบไทยๆ  ก็กัปตัน อัลเฟรด จอห์น  ลอฟตัส ต้องออกเสียงว่ากะปิตัน แอลเฟรด ยอน  ลอบเตอด  น่ะซีคะ

ค้นได้จาเเน็ตมาเพิ่มความสับสนและความฮาเพื่อผ่อนคลายครับ

สมัยรัชกาลที่ 3-4-5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น เราก็ใช้ภาษาอังกฤษสำเนียงแบบสยามเยอะแยะไป อาทิ ชื่อคนนี่เราเอามายำเสียรู้เรื่องกันดี แถมจดลงในพงศาวดารด้วย เช่น

นายโรเบอร์ต ฮันเตอร์ พ่อค้าคนแรกที่เข้ามาเปิดห้างในเมืองไทยแถวๆ หน้าวัดประยุรวงศาวาสฯ คนไทยสมัยก่อนเรียกนายคนนี้ว่า นายหันแตร

ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ยอร์ช วอชิงตัน ก็กลายเป็น ยอด วัดชิงตัน กัปตัน เฮนรี่ บาร์นี่ย์ ผู้ถือหนังสือของมาร์ควีส เฮสติ้ง ผู้สำเร็จราชการของอินเดียในสมัชรัชกาลที่สาม ก็กลายเป็น กะปิตัน หันตรี บารนี ส่วนมาร์ควีส ก็เรียกว่า มารเกศ หัสตึ่ง

มาดามแอนนา เลียวโนเวนส์ ที่รัชกาลที่สี่ ทรงจ้างมาสอนภาษาพระราชโอรส และพระราชธิดา ซึ่งเธอเป็นผู้เขียนนิยายเรื่องราชสำนักสยามอย่างบิดเบือน ก็เรียกเธอว่า แมนแนวละเวน (ฟังแล้วก็สมกัน)

ส่วนทางการทหารของไทยในสมัยได้นายทหารอังกฤษมาช่วยปรับปรุงและฝึกอบรม จึงทรงเลือกจ้างร้อยเอกชาวอังกฤษทหารนอกราชการของกองทัพอังกฤษเข้ารับราชการเป็นนายทหารฝรั่งคนแรก ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ชื่อ ร้อยเอก อิมเปย์ (Impey) ได้รับมอบหมายให้ฝึกทหารในกรมอาสาลาวและเขมรในพระบรมมหาราชวัง ให้จัดเป็นกองร้อยเรียกว่า "ทหารเกณฑ์หัดอย่างอีหรอบ (อีหรอบคือยุโรปนั่นเอง, อ้อ! อังกฤษสมัยนั้นเรียกว่าวิลาสนะครับ) หรือ "ทหารเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง" การฝึกสอนทหารครั้งแรกตามแบบอย่างทหารอังกฤษโดยใช้เป็นคำอังกฤษเพราะผู้สอนไม่อาจแปลคำเป็นภาษาไทยได้ จึงออกเป็นสำเนียงดังนี้

สะเปรโบขะลัม พรหมะสันตาตุสันตา-Spread both columns from center to center
 ;D


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 05 ต.ค. 12, 17:41
ที่นี่ครับ หลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง โดยราชบัณฑิตยสถาน (http://www.royin.go.th/upload/246/FileUpload/416_2157.pdf)

สวนผัก - Suanphak
ฉิมพลี - Chimphli

คำหลังนี่ต้องขอบอกว่าถ้าใครจะอ่านเป็นจิ้มพลีก็ไม่ใช่ความผิดของคุณ เพราะจิ้มพลีก็เขียนว่า Chimphli เช่นเดียวกันตามมาตรฐานของราชบัณฑิตยสถาน

อยากให้แก้ไขเรื่อง Thai Romanization ให้สมบูรณ์กว่านี้มากกว่าครับ


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 12, 18:22
ไปหาตัว J ในอักษรโรมันไม่มี      ตัว จ  ฉ และ ช   ถอดออกมาเป็นเสียง ch เหมือนกัน   จิม  จิ้ม ฉิม  ชิม  = chim
งั้น นายเจิม  กับ นายเฉิ่ม  ก็ถอดเป็นอักษรโรมันเหมือนกันน่ะซีคะ
ภ = ph   ก่อความสับสนให้ฝรั่งที่ไม่รู้ว่านี่คืออักษรโรมัน    ตัว ph ของเขาออกเสียงเป็น f   Phuket  จึงกลายเป็นฟูเก็ต หรือฟูเกต์  ถ้าตัว t ไม่ออกเสียง  ตามแบบฝรั่งเศส
ก็สนุกดีค่ะ  ถอดเล่นเพลินๆ พักครึ่งเวลาหลังจากกระทู้นี้ลากยาวมาถึงนี่

คำว่า  Suanphak  คำหลังถ้าออกเสียงแบบอังกฤษ ก็ฉิวเฉียดเหมือนกัน    ถ้าออกเสียงแบบอเมริกันก็ค่อยยังชั่วหน่อย เป็นสวนแฟ้ก


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ต.ค. 12, 18:53
จะเกี่ยวกับประเด็นที่กำลังอภิปรายกันอยู่ข้างบนนี้หรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่มีเรื่องเล่าอยู่เรื่องหนึ่งผมจะขยายต่อให้ฟัง


เรื่องนี้ผมได้ยินมานานแล้ว จะเล่าจากความจำเดี๋ยวจะพลาด วันนี้ให้อากู๋หาข้อมูลประกอบให้ได้ความว่า ครั้งหนึ่งในเดือนสิงหาคม ปีพศ ๒๔๙๘ เอกอัครราชทูตอเมริกันชื่อ จอห์น พิวริฟอย ขับรถฟอร์ดธันเดอร์เบิร์ดไปประสานงากับรถสิบล้อบนสพานแคบๆระหว่างเดินทางไปหัวหินพร้อมกับลูกชายสองคน คนเก้าขวบตายพร้อมพ่อ อีกคนหนึ่งอายุสิบสื่รอด

เจ้ากรมข่าวลือในสมัยนั้นบรรยายเหตุการณ์ถึงเรื่องลูกชายคนที่รอดให้การต่อเจ้าหน้าที่ว่า ท่านทูตสอนให้ตนดูแผนที่ของกองทัพอเมริกันไปด้วย ใกล้ถึงจุดเกิดเหตุ ลูกชายบอกพ่อว่า ช้าๆนะพ่อ ในแผนที่บอกว่าหลังโค้งนี้จะมี a narrow bridge with a long Thai name I can’t read.

ท่านทูตบอกว่า พ่อเห็นแล้ว Not this one สพานข้างหน้ามีป้ายภาษาอังกฤษปักไว้ด้วย ชื่อ Sapankap
.
ปรึ้นนนน ๆ ๆ
.
โ  ค ร  ม


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 05 ต.ค. 12, 18:57
ที่นี่ครับ หลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง โดยราชบัณฑิตยสถาน (http://www.royin.go.th/upload/246/FileUpload/416_2157.pdf)

สวนผัก - Suanphak
ฉิมพลี - Chimphli

คำหลังนี่ต้องขอบอกว่าถ้าใครจะอ่านเป็นจิ้มพลีก็ไม่ใช่ความผิดของคุณ เพราะจิ้มพลีก็เขียนว่า Chimphli เช่นเดียวกันตามมาตรฐานของราชบัณฑิตยสถาน

อยากให้แก้ไขเรื่อง Thai Romanization ให้สมบูรณ์กว่านี้มากกว่าครับ

ขอบคุณท่านเป็นอย่างมากครับ เอกสารดังกล่าวผมได้รับจากท่านเพ็ญชมพูแล้ว
แต่เป็นเพียงหลักเกณฑ์หลักการซึ่งก็ขึ้นกับปัญญา ความขยัน เวลา ของแต่ละบุคคล ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจได้คำตอบที่ไม่ตรงกัน
ผมจึงคิดว่า ชื่อเขตปกครองเหล่านี้ควรมีที่เป็นมาตรฐานตรงกันสำหรับทุกคนดังเช่นที่ท่านเพ็ญชมพูได้กรุณาส่งมาให้ แต่นั่นมีเพียงชื่อจังหวัดและอำเภอ(หรือเขต) ครับ


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ต.ค. 12, 19:24
ง่า เรียนถามท่านอาจารย์เพ็ญชมพูต่อ เรื่องมาตรฐานภาษาไทยอักษรต่ำเดี่ยวฉบับประกอบปรับปรุงใหม่ครับ  ที่ลองย้ายอักษรต่ำเดี่ยวมาเป็นอักษรกลาง เพราะอ่านแล้วยังงงๆ
เห็นท่านอาจารย์บอกว่ามันผิดกฏ   ซึ่งก็จริงครับ แต่เป็นไปได้ไหมว่ากฏเองมันก็ใช้ผิด เพราะผมยังไม่เห็นว่าเสียงคำไหนมันหายไปเลยนะครับ หรือมันหาย  ยังงงต่อไปครับ ???  ???  ???

คุณประกอบเสนอให้เปลี่ยนแปลงกฎการผันวรรณยุกต์ใหม่ 

มา ม่า ม้า ม๊า ม๋า  ออกเสียงว่า มา หม่า หม้า ม้า หมา  คือเปลี่ยนการออกเสียงใหม่

มา  ออกเสียง มา เหมือนเดิม
ม่า แทนที่จะออกเสียงว่า ม่า แบบมาม่าปัจจุบัน ให้ออกเสียงว่า หม่า แทน 
ม้า  ส่วนคำที่สะกดว่า ม้า ปัจจุบัน ออกเสียงแบบ ม่า หรือ หม้า แทน
ม๊า แทนเสียง ม้า ที่สะกดในปัจจุบัน
ม๋า แทนเสียง หมา 

ตอบว่า

ตัวอย่างที่คุณประกอบยกมาเป็นการละเมิดกฎเกณฑ์ของภาษาไทย  มีคำเพียง ๑ คู่ที่เป็นไปได้ (ไม่นับคำว่า มา) คือ ม๋า และ หมา ซึ่งเป็นเสียงจัตวาเหมือนกัน

ม่า เป็นเสียงโท ออกเสียงว่า หม่า ซึ่งเป็นเสียงเอกได้อย่างไร

ม้า เป็นเสียงตรี ออกเสียงว่า หม้า (เสียงเดียวกับ ม่า) คงไม่ได้

ม๊า ไม่มีในสารบบการออกเสียง


ม่า และ ม้า มีเสียงเป็น โท และ ตรี ได้อย่างไร คุณประกอบลองเทียบกับอักษรกลางซึ่งมีรูปและเสียงวรรณยุกต์ตรงกันดู  ม่า-ก้า, ม้า-ก๊า

เสียงวรรณยุกต์ที่หายไปในตัวอย่างที่คุณประกอบยกมาคือเสียงเอก ซึ่งต้องใช้ ห นำ ม มาช่วย  หม่า-ก่า

 ;D





กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 12, 16:38
ช้าก่อน  คุณเพ็ญ โปรดอ่านคำให้สัมภาษณ์ของศ.กาญจนา
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000121006

       จู่ๆ อะไรดลใจให้ลุกขึ้นมาปฏิวัติการเขียนครั้งใหญ่ขนาดนี้?
       ไม่ใช่ว่าเพิ่งลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงนะคะ จริงๆ แล้วกรรมการราชบัณฑิตฯ มีมติเรื่องนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว เพียงแต่ว่าเรายังไม่ได้พิมพ์พจนานุกรมเล่มใหม่ ก็เลยยังไม่ได้แก้ไขอย่างเป็นทางการ แต่ในพจนานุกรมฉบับเดิมนั้นก็มีคำทับศัพท์กว่า 200 คำแล้วที่ใส่วรรณยุกต์และเขียนได้ถูกต้อง นี่ก็เหลือแค่คำไม่กี่คำที่ยังไม่ได้แก้ ยังไม่ได้ใส่วรรณยุกต์ ก็เลยคิดว่าจะแก้ให้เสร็จไป ทางเราเองทำงานตรวจสอบและแก้ไขคำผิดมาตลอด ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเพิ่งจะมาเป็นประเด็นอะไรกันในสังคมตอนนี้ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น ถึงได้มีคนลุกขึ้นมาโวยวายอะไรกันนักกันหนา ก็แปลกดีเหมือนกันค่ะ (หัวเราะ) จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรเลย แค่เรื่องเขียนหนังสือให้ถูกต้อง

     ท่านเรียกของท่านว่า "คำทับศัพท์" ราชบัณฑิตฯออกมาแถลง ใช้คำว่า "คำยืม"
     จะให้สรุปว่ากระไรดี    

เห็นคำว่า "คำทับศัพท์" ในคำให้สัมภาษณ์ของอาจารย์กาญจนาตั้นแต่แรกแล้ว และคิดว่าต้องมีผู้ถามแน่

เรื่องนี้อาจารย์กาญจนาพลาด เข้ากับคำพังเพยที่ว่า  

"สี่เท้ายังรู้พลาด   นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง"

 ;D

ขอขุดค.ห.นี้กลับมาอีกครั้ง  เพราะยังติดใจอยู่
ดิฉันคิดว่าคนพลาดไม่น่าจะเป็นอาจารย์กาญจนา  เพราะท่านระบุที่มาของคำทับศัพท์ 176 คำนี้ไว้ชัดเจน ว่า
"แต่ในพจนานุกรมฉบับเดิมนั้นก็มีคำทับศัพท์กว่า 200 คำแล้วที่ใส่วรรณยุกต์และเขียนได้ถูกต้อง นี่ก็เหลือแค่คำไม่กี่คำที่ยังไม่ได้แก้ ยังไม่ได้ใส่วรรณยุกต์ ก็เลยคิดว่าจะแก้ให้เสร็จไป"

คือ 176 คำนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคำ "ทับศัพท์" กลุ่มใหญ่กว่า 200 คำ  ที่ดำเนินการแก้ไขใส่วรรณยุกต์ไปเรียบร้อยแล้ว     
ในเมื่อมีที่อ้างอิงขนาดนี้จะเรียกว่าอาจารย์กาญจนพลาดอย่างไรได้    ท่านไม่ได้พูดสักคำว่า กลุ่มคำขนาดใหญ่นั้นคือคำยืม  ท่านบอกว่าเป็นคำทับศัพท์มาแต่แรก

ถ้าจะมีคนพลาด  คือคนที่เรียกกลุ่มคำใหญ่นั้นว่า "คำยืม" อันได้แก่ราชบัณฑิตฯและตัวแทนที่แถลง   โดยไม่ได้ตรวจสอบว่าที่จริงมันคือคำทับศัพท์ 
ข้อนี้เป็นไปได้หรือไม่ ฝากให้คิด

หรือจะให้คิดว่าเอาเข้าจริงแล้ว   คำยืมและคำทับศัพท์ก็เหมือนๆกันละ   ใช้คำไหนก็แทนกันได้  งั้นหรือ?
ถ้างั้นคำจำกัดความของคำยืมและคำทับศัพท์ที่คุณเพ็ญชมพูยกมา  ก็ต้องขีดทิ้งไปให้หมด    ไม่ต้องไปจำให้เสียเวลา


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ต.ค. 12, 19:24
เรื่องการใช้วรรณยุกต์ในคำทับศัพท์จากภาษาอังกฤษก็เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมาช้านาน ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ภูเก็ต วาจานนท์  (http://www.simedbull.com/journal_files/content_pdf/pdf_2499.pdf) เป็นอาจารย์แพทย์ที่เป็นที่ยอมรับในเรื่องภาษาไทยอีกท่านหนึ่ง ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการทับศัพท์ไว้ว่า วิธีการทับศัพท์ จำแนกได้เป็น ๓ วิธี คือ การถ่ายเสียง การถ่ายอักษร และการถ่ายเสียงร่วมกับการถ่ายอักษร โดยท่านได้แสดงตัวอย่างเทียบการทับศัพท์ทั้ง ๓ วิธีให้เห็นอย่างชัดเจนตามตารางที่ ๑


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ต.ค. 12, 19:32
อาจารย์ภูเก็ตได้เสนอแนวทางในการทับศัพท์ตามลำดับดังนี้

๑. ใช้เสียงของคำต่างภาษานั้นเป็นพื้นฐาน

๒. ปรับเสียงให้เหมาะกับภาษาไทยหรือตามความนิยมในภาษาไทย

๓. สะกดด้วยอักษรและอักขรวิธีในภาษาไทยตามเสียงในข้อ ๒

๔. ปรับการสะกดคำเพื่อแสดงเค้าที่มาของคำในภาษาเดิมพอสมควร โดยที่การสะกดนั้นไม่ควรกระทบกระเทือนการออกเสียงตามข้อ ๒ ทั้งไม่แตกต่างไปจากอักขรวิธีในภาษาไทยจนเกินไปนัก และอาจต้องปรับตามความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่งด้วย

อาจารย์ภูเก็ตได้ยกตัวอย่างตามแนวทางในการทับศัพท์ที่เสนอไว้ดังนี้

Vitamin (ไว-ตา-มิน) คนไทยนิยมอ่านว่า “วิตามิน” หรือ “วิตะมิน”

John (จอน) ปรับการสะกดเป็น “จอห์น” ซึ่งช่วยแยกจาก “จอน” ในภาษาไทยด้วย

Cesium (ซี-สิ-อั้ม) เมื่อออกเสียงเร็วจะเป็น “ซีเสี้ยม” ปรับการสะกดเป็น “ซีเซี่ยม” เพื่อเลี่ยงคำว่า “เสี้ยม”

Cookie (คุก-กี้) ใช้ตามเสียง

Paris (ปา-รีด) สะกดเป็น “ปารีส” (จากเสียงอังกฤษ), (ปา-รี) สะกดเป็น “ปารีส์” (จากเสียงฝรั่งเศส)

Morgagni (มอ-กาน-ยี) ปรับการสะกดเป็น“มอร์กานยี” และปรับอีกครั้งเป็น “มอร์กานญี” (เพื่อใช้ ย เฉพาะ y นญ จึงแทน gn ในคำภาษาฝรั่งเศส)

Cognac (คอน-ยัก) ปรับการสะกดเป็น “คอนยัค” และปรับอีกครั้งเป็น “คอนญัค” (เหตุผลเดียวกับข้างต้น)

Cologne (โค-โลณ) ปรับการสะกดเป็น “โคโลนย์” และปรับอีกครั้งเป็น “โคโลนญ์ (โคโลญ)” (เหตุผลเดียวกับข้างต้น และเนื่องจาก ญ เมื่อเป็นตัวสะกดออกเสียงตามแม่กน จึงอาจเขียน “โคโลนญ์” เป็น“โคโลญ” ได้ แต่ควรเขียนไว้ให้ครบเพื่อการเทียบ)



กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ต.ค. 12, 19:46
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดคณะอนุกรรมการของราชบัณฑิตยสถานกำหนดหลักเกณฑ์ไม่ให้ใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์ ยกเว้นในกรณีที่มีเสียงซ้ำกับคำไทยซึ่งทำให้เกิดความสับสน เช่น coke = โค้ก (ไม่ให้สับสนกับ “โคก”) เป็นต้น เหตุผลที่ให้ไว้คือ คำในภาษาอังกฤษไม่มีเสียงสูงเสียงต่ำตายตัว การออกเสียงสูงต่ำขึ้นกับตำแหน่งในประโยคและการเน้นของผู้พูด ถ้าจะใช้วรรณยุกต์กำหนดเสียงสูงต่ำในคำทับศัพท์ ก็จะเกิดปัญหาตามมาว่า คำใดพยางค์ใดจะเลือกใช้วรรณยุกต์ใด หรือจะกำหนดให้ออกเสียงสูงต่ำอย่างไร คำบางคำซึ่งคนไทยคุ้นเคยกันแล้ว มักจะไม่ค่อยมีปัญหา เช่นdoctor = ดอกเตอร์ คนไทยส่วนมากออกเสียงว่า “ด๊อก-เต้อ” อันที่จริงถ้าจะให้เลือกวรรณยุกต์ใส่คงทำได้ไม่ยาก แต่คำส่วนมากเรายังออกเสียงไม่แน่นอน เช่น quartz บางคนออกเสียงตรีเป็น “คว้อด” บางคนออกเสียงเอกเป็น “ขวอด” ทำให้เกิดปัญหาถกเถียงกันได้ ยิ่งถ้าเป็นคำใหม่ ๆ หรือคำที่คนไทยไม่คุ้นเคย (โดยเฉพาะศัพท์แพทย์) ไม่แน่ว่าจะออกเสียงสูงต่ำอย่างไร ถ้าใส่วรรณยุกต์กำกับไว้ อาจทำให้เกิดปัญหาได้  ที่สำคัญคือ เสียงสูงต่ำในภาษาอังกฤษไม่ได้ทำให้ความหมายเปลี่ยนไปแต่อย่างใด ลักษณะเช่นนี้ต่างจากภาษาที่มีวรรณยุกต์เช่น ภาษาไทยหรือจีน ซึ่งคำที่มีเสียงสูงต่ำต่างกัน ก็มีความหมายต่างกัน ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ การใช้ไม้ไต่คู้ จึงกำหนดให้ใช้เฉพาะในกรณีที่ต้องการให้แตกต่างจากคำไทย เช่น log = ล็อก เป็นต้น

ตอนหนึ่งจากบทความเรื่อง ความเป็นมาของศัพท์แพทย์ภาษาไทย  (http://www.simedbull.com/journal_files/content_pdf/pdf_2497.pdf) โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สัญญา สุขพณิชนันท์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กรรมการในคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์แพทยศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน (พ.ศ. ๒๕๕๑) ในนิตยสารเวชบันทึกศิริราช ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ พฤษภาคม-สิงหาคม ๒๕๕๑ หน้า ๙๓-๙๔


ขออนุญาตบ่นว่า

หากเลือกการใส่วรรณยุกต์ในคำที่เสียงคงที่แน่นอนแล้วตั้งแต่แรก คงจะง่ายกว่ามาเปลี่ยนในภายหลัง

:-X


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ต.ค. 12, 20:07
ขออนุญาตบ่นว่า

หากเลือกการใส่วรรณยุกต์ในคำที่เสียงคงที่แน่นอนแล้วตั้งแต่แรก คงจะง่ายกว่ามาเปลี่ยนในภายหลัง

:-X
ขออนุญาตบ่นกลับ ว่า
ท่านอาจไม่เจอคำอื่นๆ (นอกจากโคก-โค้ก) ที่ท่านชัวร์ว่าเป็นคำที่เสียงคงที่แน่นอน  เลยไม่ได้เลือกใส่วรรณยุกต์มาแต่แรก


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ต.ค. 12, 12:55
พิจารณาใน ๑๗๖ คำที่อาจารย์กาญจนาเสนอมาเกือบทั้งหมดที่ไม่ใส่วรรณยุกต์ ก็มีเสียงคงที่แน่นอนแล้ว (ตั้งแต่แรก)

หลายคำเมื่อไม่ใส่วรรณยุกต์ ก็จะทำให้เสียงเพี้ยนไป

ดิฉันไม่ค่อยจะขัดแย้งท่านรอยอิน เพิ่งมายกเว้นเรื่องทับศัพท์  เพราะท่านไม่ยอมให้ใช้วรรณยุกต์    ทำนองท่านอ้างว่าเวลาฝรั่งเขาออกเสียง  เสียงสูงต่ำเปลี่ยนแปลงได้ไม่คงที่ตามลักษณะของประโยค   ท่านเลยไม่ให้ใช้วรรณยุกต์กำกับคำไทยที่ถอดเสียงจากคำฝรั่ง
ส่วนดิฉันเห็นว่าคำไทยไม่ว่ามีวรรณยุกต์หรือไม่มี  คำนั้นมีเสียงวรรณยุกต์กำกับตายตัวอยู่แล้ว   ยิ่งไม่ใส่วรรณยุกต์ยิ่งออกเสียงเพี้ยนหนักเข้าไปอีก
เช่น tent  ไปออกเสียง เตนท์  หรือเต็นท์   มันก็กลายเป็นเสียง เตน (สามัญ) หรือเต็น (เสียงสั้น)อย่างนกกระเต็น  ยังไงฝรั่งเขาก็ไม่ออกเสียง tent ว่า  เต็น อยู่แล้ว
สรุป อยากเขียนว่า
footpath -หรือ ฟุตปาธ
pump     - ปั๊มพ์
tent      - เต๊นท์
แต่บางทีอยากเอาใจรอยอินขึ้นมา เพราะสอนการแปล ต้องเป็นแม่ปูที่ดีเดินตามรอยผู้ใหญ่  จึงจำต้องสะกดตามรอยอินกำหนดให้ ทั้งๆไม่เห็นด้วย
หวังว่าอีกไม่นาน รอยอินจะอนุโลม เหมือนอนุโลมให้อ่าน ขะหมักขะเม่น มาแล้ว


เห็นด้วยกับคุณเทาชมพู

tent - เต็นท์  เป็นตัวอย่างของหลักการไม่ใส่วรรณยุกต์ในคำทับศัพท์ที่มาจากภาษาอังกฤษของท่านรอยอิน

steak - สเต็ก ก็น่าจะเขียนว่า สเต๊ก

ยังไม่มีอยู่ในโผ ๑๗๖ คำของอาจารย์กาญจนา

 ;D


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 07 ต.ค. 12, 14:05
คำว่า tent เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจเรื่องการเขียนให้ตรงการออกเสียงของคนไทย

ถ้าเขียน เต็นท์ วรรณยุกต์ไม่ถูก
ถ้าเขียน เต๊นท์ สระกลายเป็นเสียงยาว ก็ไม่ถูกอีก

ภาษาไทยถูกออกแบบมาให้เขียนภาษาไทย แต่เห็นได้ชัดว่ากาลเวลาทำให้เรามาถึงจุดที่ต้องยอมรับว่า ภาษาไทยไม่สามารถใช้เขียนแทนเสียงคำไทยได้อย่างถูกต้องทุกคำ ซึ่งตรงกันข้ามกับความเชื่อของอ.กาญจนาอันเป็นหลักสำคัญในการเปลี่ยนการเขียนคำเจ้าปัญหากลุ่มนี้ครับ


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ต.ค. 12, 14:27
ถ้าเขียน เต็นท์ วรรณยุกต์ไม่ถูก
ถ้าเขียน เต๊นท์ สระกลายเป็นเสียงยาว ก็ไม่ถูกอีก  

ภาษาไทยถูกออกแบบมาให้เขียนภาษาไทย แต่เห็นได้ชัดว่ากาลเวลาทำให้เรามาถึงจุดที่ต้องยอมรับว่า ภาษาไทยไม่สามารถใช้เขียนแทนเสียงคำไทยได้อย่างถูกต้องทุกคำ ซึ่งตรงกันข้ามกับความเชื่อของอ.กาญจนาอันเป็นหลักสำคัญในการเปลี่ยนการเขียนคำเจ้าปัญหากลุ่มนี้ครับ

เห็นด้วยกับคุณม้าที่ว่า การเขียนภาษาไทยในปัจจุบันไม่สามารถใช้เขียนแทนเสียงคำไทยได้อย่างถูกต้องทุกคำ

คุณม้าอาจจะเทียบระหว่างคำว่า เตน กับ เต๊น จึงบอกว่า เต๊นท์เป็นคำเสียงยาว ความจริงคำว่า "เต๊นท์" อ่านออกเสียงสั้นก็ได้

เรื่องนี้เกี่ยวกับตำแหน่งไม้ไต่คู้ที่ถูกจำกัดลง

ลองอ่านบทความเรื่อง ตำแหน่งของไม้ไต่คู้ (๒) (http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1988) ของ อาจารย์นิตยา กาญจนะวรรณ


ไม้ไต่คู้ อักขระตัวแรกที่ค้นพบใน พ.ศ.๒๐๐๐ ดูเหมือนว่าจะเป็นอักขระที่อยู่คู่กับภาษาไทยมาอย่างยืนยงที่สุด เพราะในปัจจุบันนี้ก็ยังคงใช้กันอยู่ และคำว่า ก็ ก็ยังคงเป็นคำพิเศษคำเดียวในภาษาไทยที่เขียนในลักษณะนี้

อย่างไรก็ตาม การใช้ไม้ไต่คู้ก็มีความเปลี่ยนแปลงไปมิใช่น้อย เมื่อ ดร.นันทนา ด่านวิวัฒน์ ได้ค้นพบว่า ไม้ไต่คู้ ปรากฏครั้งแรกในศิลาจารึกวัดจุฬามณี พ.ศ.๒๒๓๐ มีหน้าที่ ทำให้สระเสียงยาวในพยางค์ที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์กลายเป็นเสียงสั้น นั้น อาจจะเป็นเพราะว่าในขณะนั้นยังไม่มีรูปวรรณยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายเช่นในสมัยหลัง และถึงแม้ว่าจะมีหน้าที่บังคับให้เสียงสั้นลงในทำนองเดียวกับไม้ตรี ดังที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ประถม ก กา แต่ตำแหน่งของไม้ไต่คู้กลับถูกจำกัดลงไป ดังนี้

๑. ในอดีตทั้งไม้ไต่คู้และไม้ตรีปรากฏอยู่เหนือสระบนได้ แต่ในปัจจุบันไม้ไต่คู้ไม่สามารถปรากฏอยู่เหนือสระบนได้ ดังที่ปรากฏในเอกสารต่อไปนี้

(จากหนังสือ แบบเรียนเร็ว ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับ พ.ศ.๒๕๔๒ : เล่ม ๑ หน้า ๙๑)

๒. ในอดีตไม้ไต่คู้สามารถปรากฏร่วมกับเครื่องหมายวรรณยุกต์ ได้ แต่ในปัจจุบันปรากฏร่วมไม่ได้ ดังปรากฏในเอกสารต่อไปนี้

(จากหนังสือ แบบเรียนเร็ว ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับ พ.ศ.๒๕๔๒ : เล่ม ๑ หน้า ๗๑)


การนำไม้ไต่คู้กลับมาสู่ตำแหน่งเดิมอาจจะให้ทั้งข้อดีและข้อเสีย

ข้อดีคือ ทำให้การอ่านง่ายขึ้น เพราะสามารถระบุได้ชัดเจนว่า สระที่เปลี่ยนรูปไปนั้นมาจากสระสั้นหรือสระยาว เช่น

เก่ง อ่านเสียงสั้น เพราะมาจาก เกะ + ง เปลี่ยนรูปสระอะ เป็นไม้ไต่คู้ แล้วใช้ร่วมกับไม้เอก

เก้ง อ่านเสียงยาว เพราะมาจาก เก + ง แล้วใช้รูปไม้โทอย่างเดียว

ในปัจจุบันนี้ที่เราอ่านได้ว่าตัวหนึ่งสั้นตัวหนึ่งยาวก็เพราะความเคยชิน แต่รูปการเขียนมิได้ช่วยอะไรเลย

ข้อเสียคือ จะต้องมีการปรับปรุงรูปการเขียนภาษาไทยเสียใหม่ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ใช้ภาษาสับสน นอกจากนี้ ยังต้องปรับปรุงทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของคอมพิวเตอร์เพื่อให้สามารถแสดงตำแหน่งได้ เพราะในปัจจุบันนี้ทำอย่างไรก็ไม่สามารถจะพิมพ์ไม้ไต่คู้ร่วมกับรูปวรรณยุกต์อื่นหรือสระบน (สระอิ สระอี สระอึ สระอือ) ได้ นอกจากจะใช้วิธีแทรก (insert) สัญลักษณ์ (symbol) ซึ่งทำให้ไม่สามารถส่งผ่านทางอีเมล์ได้

ใครมีความเห็นหรือข้อเสนอแนะอย่างไร เชิญได้เลยจ้ะ

หากอาจารย์นิตยาเสนอแก้ไขเรื่องนี้ คงจะมีเสียงค้านมากกว่าข้อเสนอของอาจารย์กาญจนาเป็นแน่แท้

ถ้าต้องการให้คำว่า "เต๊นท์" ออกเสียงสั้น ต้องเขียนเต็มรูปแบบอย่างนี้

 ;D


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 12, 22:03
^
สงสารครูลิลลี่


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ต.ค. 12, 09:41
" แสงทอง" หรือหลวงบุณยมานพพาณิชย์  เคยให้ความเห็นเรื่องการสะกดคำในพจนานุกรมไว้ ว่า

การออกเสียง Chocolate    ข้าพเจ้าเข้าใจว่า  พจนานุกรมคลาดเคลื่อนที่ให้ไว้เป็น ช๊อกโกเลต   เพราะตัวอักษรเสียงต่ำจะผันไม้ตรีไม่ได้     และถ้าจะให้เสียงถูกต้องด้วย  ต้องเขียน ช้อกโกเล้ต
ชอล์ก   ควรเป็น ช้อล์ก
เต็นท์   ควรเป็น เต๊นท์   ปทานุกรมเคยใช้ เต็นต์


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 09 ต.ค. 12, 16:18
เกือบลืมเข้ามากราบขอบคุณท่านอาจารย์เพ็ญชมพูซะแล้วครับ  แม้จะยังงงๆ  บ๊ะ ไม่มีรูปกราบ


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ต.ค. 12, 18:42
เพียงแต่คุณประกอบ      เข้ามาขอบคุณก็พอ
รูปกราบไม่ต้องหนอ      หากไม่งงคงยินดี

 ;D     



กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ธ.ค. 12, 20:27
ข่าวล่ามาเร็ว

"ราชบัณฑิต"ล้มแผนคำยืมจากภาษาอังกฤษ เสียงไม่เห็นด้วย ๑๗๘ เสียง

นายอุดม วโรตม์สิกขดิตถ์ ราชบัณฑิต ประธานสำนักศิลปกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางการเขียนคำที่ยืมมาจากต่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากนางกาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต และนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย ได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นจากคณะกรรมการราชบัณฑิต และภาคีสมาชิก รวม ๓๖๐ ชุด เกี่ยวกับการขอเปลี่ยนแปลงการเขียนคำที่ยืมจากภาษาอังกฤษใหม่๑๗๖ คำ ที่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เนื่องจากมองว่าเขียนไม่ตรงกับเสียงวรรณยุกต์ของคำนั้น ๆ ตามอักขรวิธีไทยและการอ่านออกเสียง อาทิ แคลอรี เป็น แคลอรี่, โควตา เป็น โควต้า, เรดาร์ เป็น เรด้าร์, ซีเมนต์ เป็น ซีเม็นต์, เมตร เป็น เม้ตร, คอนเสิร์ต เป็น ค็อนเสิร์ต, คอมพิวเตอร์ เป็น ค็อมพิ้วเต้อร์, คลินิก เป็น คลิหนิก เป็นต้น

นายอุดมกล่าวต่อว่า ขณะนี้กองศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน ได้สรุปผลสำรวจดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากแบบสอบถามทั้งหมด มีราชบัณฑิต และภาคีสมาชิก ตอบคำถาม และส่งคืนทั้งหมด ๒๘๓ ชุด โดยมีผู้เห็นด้วย กับข้อเสนอของนางกาญจนาที่ต้องการแก้ไขคำยืมจากภาษาอังกฤษใหม่ และให้เขียนศัพท์ให้ตรงกับเสียงวรรณยุกต์ของคำนั้น ๆ ตามอักขรวิธีไทย และการอ่านออกเสียง มี ๑๗ คน ส่วนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว มี ๑๗๘ คน นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่เห็นด้วย แต่เห็นด้วยบางคำ ๘๑ คน และไม่ลงความเห็นอีก ๗ คน รวมทั้งหมด ๒๘๓ คน

นายอุดมกล่าวว่า ในการสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ เมื่อจำแนกความเห็นของราชบัณฑิต และภาคีสมาชิกออกเป็นส่วน ๆ พบว่า สำนักวิทยาศาสตร์ ไม่เห็นด้วย ๖๑ คน สำนักศิลปกรรม เห็นด้วย ๕ คน ไม่เห็นด้วย ๔ คน เห็นด้วยบางคำ ๑๐ คน สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง เห็นด้วย ๗ คน ไม่เห็นด้วย ๑ คน เห็นด้วยบางคำ ๕ คน และไม่ออกความเห็น ๕ คน กรรมการวิชาการ กองวิทยาศาสตร์ เห็นด้วย ๑ คน ไม่เห็นด้วย ๓๐ คน เห็นด้วยบางคำ ๒๓ คน กรรมการวิชาการ กองศิลปกรรม เห็นด้วย ๑ คน ไม่เห็นด้วย ๓๕ คน เห็นด้วยบางคำ ๑๗ คน ไม่ออกความเห็น ๒ คน กรรมการวิชาการ กองธรรมศาสตร์และการเมือง เห็นด้วย ๑ คน ไม่เห็นด้วย ๓๒ คน เห็นด้วยบางคำ ๑๗ คน และไม่ระบุสังกัด เห็นด้วย ๒ คน ไม่เห็นด้วย ๑๕ คน และเห็นด้วยบางคำ ๙ คน

"ทั้งนี้ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่เบื้องต้นพบว่าคนที่ไม่เห็นด้วยหลายคน ให้เหตุผลประกอบว่าการเขียนตามแบบเดิมดีอยู่แล้ว ไม่สมควรแก้ไข หรือว่าเปลี่ยนอะไรอีก อย่างไรก็ตาม ได้นำผลการสำรวจความเห็นดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมสภาราชบัณฑิตยสถานให้พิจารณาว่าจะทำอย่างไรกับประเด็นดังกล่าว ที่ประชุมมีมติว่าเมื่อเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ก็สมควรให้ยุติเรื่องดังกล่าวไว้เท่านี้ก่อน นางกาญจนาก็ยอมรับ" นายอุดมกล่าว

นายปัญญา บริสุทธิ์ นายกราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า เมื่อผลการสำรวจออกมาเช่นนี้ เป็นการยืนยันได้ว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข เพราะของเก่าที่ดีอยู่แล้ว ดังนั้น ทางราชบัณฑิตยสถานยืนยันตอนนี้ไม่แก้คำยืมจากภาษาอังกฤษแน่นอน โดยยังถือหลักการเขียนคำในภาษาต่างประเทศ ตามพระดำริของพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน ว่าการเขียนคำในภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษออกเสียงไม่แน่นอน จะออกเสียงอย่างไรย่อมแล้วแต่ประโยค เสียงจะสูงต่ำก็แล้วแต่ตำแหน่งของคำในประโยค จึงทรงเห็นว่าไม่ควรใช้วรรณยุกต์กำกับ อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตมีเหตุผล หรือว่าเสียงส่วนใหญ่สนับสนุน ตนก็ไม่คัดค้าน

นางกาญจนากล่าวว่า เมื่อผลสำรวจความเห็นออกมาเช่นนี้ก็ยอมรับ แต่ยืนยันว่าที่อยากให้แก้วิธีเขียนคำศัพท์ดังกล่าวให้ตรงกับการเขียนตามอักขรวิธีไทยนั้น เห็นว่าหลาย ๆ คำได้แก้ และเปลี่ยนวิธีการเขียนให้ตรงตามเสียงอ่านแล้ว ดังนั้น อยากให้ทุกคนเปิดใจยอมรับ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราชบัณฑิตไม่เห็นด้วยกับแก้วิธีการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษ แต่ส่วนตัวยืนยันว่าจะใช้วิธีดังกล่าวเขียนในงานเขียนส่วนตัวต่อไป เพราะมองว่าเป็นวิธีการเขียนที่ถูกต้อง

ข่าวจาก มติชน (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355725595&grpid=&catid=19&subcatid=1903)

 ;D



กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ธ.ค. 12, 13:21
แล้วนี่ล่ะ ท่านจะว่าอย่างไร


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ธ.ค. 12, 14:51
มายสเปซ (MySpace) =  ปริภูมิอัตตโน    นึกว่าจะใช้  "อัตโนอวกาศ"   ;) เสียอีก

วิกกี้เล่าว่า รอยอินบัญญัติศัพท์คอมพิวเตอร์ไว้ตามนี้

        hardware ใช้ทับศัพท์ว่า "ฮาร์ดแวร์" หรือใช้ศัพท์ไทยว่า "ส่วนเครื่อง" หรือ "ส่วนอุปกรณ์" ก็ได้
        software ใช้ทับศัพท์ว่า "ซอฟต์แวร์" หรือใช้ศัพท์ไทยว่า "ส่วนชุดคำสั่ง" ก็ได้

นอกจากนี้ ยังมีศัพท์อื่น ๆ ที่เข้าใจผิดอย่างเดียวกัน เช่น "joystick" ที่เชื่อกันว่าราชบัณฑิตยสถานให้ใช้ว่า "แท่งหรรษา" แต่อันที่จริง ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติว่า "ก้านควบคุม"


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ธ.ค. 12, 14:57
ศัพท์ที่คุณนวรัตนนำมาเสนอเป็นผลงานบัญญัติศัพท์ของคุณ MacroArt  (http://twitter.com/macroart)

(http://farm7.static.flickr.com/6181/6032896722_51d27249d6_o.png)

 :D


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ธ.ค. 12, 15:00
ต่อมาคุณชัย ราชวัตร นำมาใช้เป็นมุขในการเขียนการ์ตูนในไทยรัฐ

 ;D


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ธ.ค. 12, 15:03
แล้วคุณสุทธิชัย หยุ่น นำไปขยายต่อ

 ;D


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ธ.ค. 12, 21:17
วิกกี้เล่าว่า รอยอินบัญญัติศัพท์คอมพิวเตอร์ไว้ตามนี้

        hardware ใช้ทับศัพท์ว่า "ฮาร์ดแวร์" หรือใช้ศัพท์ไทยว่า "ส่วนเครื่อง" หรือ "ส่วนอุปกรณ์" ก็ได้
        software ใช้ทับศัพท์ว่า "ซอฟต์แวร์" หรือใช้ศัพท์ไทยว่า "ส่วนชุดคำสั่ง" ก็ได้

นอกจากนี้ ยังมีศัพท์อื่น ๆ ที่เข้าใจผิดอย่างเดียวกัน เช่น "joystick" ที่เชื่อกันว่าราชบัณฑิตยสถานให้ใช้ว่า "แท่งหรรษา" แต่อันที่จริง ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติว่า "ก้านควบคุม"

นางกาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตและนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการโพสความหมายของคำศัพท์คอมพิวเตอร์ในอินเทอร์เน็ต โดยอ้างว่าเป็นคำศัพท์ที่ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติขึ้น อาทิ

ละมุนพรรณ หมายถึง ซอฟต์แวร์ (Software) และกระด้างพรรณ หมายถึง ฮาร์ดแวร์ (Hardware)

ซึ่งได้สร้างความเข้าใจผิดให้แก่ประชาชนอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการแปลศัพท์คอมพิวเตอร์ที่ไม่ถูกต้องอีกหลายคำ เช่น คำว่า

จิ๋วระทวย แปลมาจากคำว่า ไมโครซอฟท์ (Microsoft) โดย Micro แปลว่า เล็ก จิ๋ว และ soft แปลว่า อ่อนนุ่ม
แท่งหฤหรรษ์ แปลจาก จอยสติ๊ก (Joystick)
พหุบัญชร แปลจาก วินโดวส์ (Windows)
จุดอิทธิฤทธิ์ แปลจาก พาวเวอร์พอยท์ (Power Point)
พหุอุบลจารึก แปลจาก โลตัส โน้ต (Lotus Notes)
ภัทร แปลจาก เอ็กซ์เซล (Excel)
ปฐมพิศ แปลจาก วิชวลเบสิก (Visual Basic)
พหุภาระ แปลจาก มัลติทาสก์กิ้ง (Multitasking)
แท่งภาระ แปลจาก ทาสก์บาร์ (Taskbar)
สรรค์ใน แปลจาก บิลต์อิน (Build In) และ
ยืนเอกา แปลจาก สแตนอโลน (Standalone) เป็นต้น
    
"ขอยืนยันว่าศัพท์ดังกล่าวไม่ใช่การแปลความโดยราชบัณฑิต ซึ่งในการบัญญัติคำศัพท์คอมพิวเตอร์ของราชบัณฑิต จะมีคณะกรรมการบัญญัติศัพท์คอมพิวเตอร์ เป็นผู้ดูแลโดยเฉพาะ และการแปลความจะเน้นว่าต้องไม่ใช้ภาษากำกวม หยาบคาย หรือสองแง่สองง่าม ซึ่งตามหลักการแล้วจะมีบางคำศัพท์ที่ต้องบัญญัติขึ้นใหม่ แต่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเรียกทับศัพท์" นางกาญจนา กล่าวและว่า การโพสคำศัพท์คอมพิวเตอร์และอ้างว่าเป็นคำที่ ราชบัณฑิตบัญญัติขึ้น เป็นเรื่องที่น่าห่วง ซึ่งตนขอเตือนผู้ที่โพสข้อความ ในลักษณะดังกล่าวให้เลิกทำ อย่างไรก็ตามตนจะเสนอให้ราชบัณฑิตออกประกาศทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำศัพท์คอมพิวเตอร์ เพื่อป้องกันความสับสนในการใช้ภาษาไทยของประชาชนต่อไป

http://www.thaipoet.net/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&WBntype=1&Category=thaipoetnet&thispage=32&No=1227522


 ;D


กระทู้: คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 16, 12:16
เชิญต่อกระทู้นี้ค่ะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6600.msg154976;topicseen#msg154976
คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่ (2)