เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: นิรันดร์ ที่ 17 มิ.ย. 04, 11:02



กระทู้: ฑ นางมณโฑหน้าขาว
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 17 มิ.ย. 04, 11:02
 พอจะทราบไหมครับว่า
ทำไม ฑ นี้ บางทีก็ออกเสียง ด บางทีก็ออกเสียง ท
มีกฎเกณฑ์อะไรไหมครับ หรือว่าต้องจำเป็นคำ ๆ ไปครับ


กระทู้: ฑ นางมณโฑหน้าขาว
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 17 มิ.ย. 04, 12:18
 คลับคล้ายคลับคลาว่า ถ้ารากศัพท์จากบาลี ออกเสียง ดอ ครับ


กระทู้: ฑ นางมณโฑหน้าขาว
เริ่มกระทู้โดย: ศศิศ ที่ 17 มิ.ย. 04, 14:20
 ทางล้านนา จะออกเสียง "ดะ" ครับ

ตัวอักษร "ดะ" ของล้านนา เมื่อปริวรรตมาเป็นอักษรไทย จะปริวรรตได้ 3 ตัวเลยครับ ทั้ง "ด" "ฑ" และ "ฎ" ครับ

อย่างเช่นคำที่ปริวรรตเป็นอักษรไทยว่า

บิณฑิบาต อ่านว่า ปิน - ดิ - ป๋า - ต๊ะ


กระทู้: ฑ นางมณโฑหน้าขาว
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 09 ก.ค. 04, 12:10
ขอบคุณครับที่มาช่วยกันแสดงความคิดเห็น
ยังมีตัวอักษรอื่นอีกหลายคู่ที่ออกเสียงเหมือนกัน

ด ฎ ฑ
ต ฏ
ฑ ฒ ท ธ
ฐ ถ
พ ภ
ศ ษ ส
ข ฃ
ค ฅ ฆ
ล ฬ

ทำไมเราจึงต้องมีตัวอักษรที่ต่างกันแต่ออกเสียงเหมือนกันเป๊ะหลายตัว

ตามความเข้าใจของผม คิดว่า แต่ก่อน คงเป็นตัวอักษรที่มีเสียงต่าง ๆ กัน แต่อาจจะออกเสียงยาก คนก็เลยละเลยที่จะออกเสียงให้ถูกต้อง จนกระทั่งเหลือเป็นเสียงที่ซ้ำกันจำนวนมาก

ผมเข้าใจถูกหรือผิด ท่านผู้รู้ช่วยชี้แนะด้วยครับ  
ขอบคุณครับ


กระทู้: ฑ นางมณโฑหน้าขาว
เริ่มกระทู้โดย: ถาวภักดิ์ ที่ 09 ก.ค. 04, 14:50
 เข้าเรื่องในกระทู้โน้นเลยครับ  ด้วยอิทธิพลของพระพุทธศาสนา ปัญญาชนในยุคก่อนจำเป็นต้องเรียนพระบาลีด้วย และเพื่อความชัดเจนในความหมายของคำในพระบาลี จึงต้องมีอักษรรองรับเป็นพิเศษครับ

ความคิดแบบอาจารย์เคยเกิดขึ้นและบังคับปฏิบัติในยุคมาลานำไทยไปสู่มหาอำนาจ ถ้าอาจารย์ได้ดู"โหมโรง" และสังเกตเห็นปฏิกริยาของคนในยุคนั้นที่มีต่อนโยบายของท่านผู้นำในด้านดนตรีไทยที่ภาพยนตร์สื่อออกมา  ปฏิกริยาที่มีต่อนโยบายด้านภาษาไทยยิ่งหนักกว่าครับ


กระทู้: ฑ นางมณโฑหน้าขาว
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 ก.ค. 04, 15:47
 ตัวอักษรบางตัว เชื่อว่าน่าจะแทนเสียงที่เลิกใช้พูดกันไปแล้ว อย่าง ฅ ซึ่งถ้าจำไม่ผิดในจารึกสมัยสุโขทัยใช้มีเพียงคำเดียวที่ใช้ ฅ สะกดคือคำว่า ฅอ ดังนั้นน่าจะเรียกว่า ฅ คอ มากกว่า ฅ คน นะครับ :)

แต่ตัวอักษรส่วนมากเป็นอย่างที่คุณถาวศักดิ์ว่าครับ คือมาจากภาษาแขก แต่ผมว่าส่วนใหญ่น่าจะเป็นภาษาสันสกฤตมากกว่าที่เข้ามามีบทบาทในภาษาไทยลุ่มเจ้าพระยาในช่วงต้นๆ(ที่มีบันทึก)

เสียงเหล่านี้แขกออกเสียงแตกต่างกัน แต่เนื่องจากไม่มีเสียงนั้นใช้ในภาษาไทย คนไทยจึงออกเสียงเป็นแบบไทยๆกลายไปอย่างที่ใช้กันอยู่ครับ จะว่าละเลยที่จะออกเสียงให้ถูกต้องก็คงไม่ใช่ เพราะภาษาที่มีคนพูดในชีวิตประจำวันจะมีวิวัฒน์อยู่ตลอดเวลาทั้งความหมายและการออกเสียง เอาง่ายๆความหมายคำว่าครูกับอาจารย์สมัยนี้ก็มีการใช้งานแตกต่างจากเมื่อราว 50 ปีก่อนไม่ใช่น้อย และคำว่าข้าว ก็เพิ่งจะเปลี่ยนจากการเขียนว่า "เข้า" มาไม่กี่สิบปีนี้เอง แถมอีกคำ "น้ำ" ก็ออกเสียงว่า "น้าม" ทั้งๆที่ตอนเปลี่ยน "เข้า" เป็น "ข้าว" (ซึ่งน่าจะเป็นเพราะว่าคนกรุงเทพออกเสียงคำนี้เป็นเสียงยาวตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว) ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยน "น้ำ" เป็น "น้าม" ไปด้วย ชวนให้ผมสงสัยว่าคนกรุงตอนนั้นยังออกเสียงว่า "นั้ม" อยู่นะครับ

ผมกลับมาคิดเรื่องจอมพล ป. วิบัติภาษาไทยในตอนนั้น เพิ่งจะนึกได้ว่าแนวคิดการปรับเปลี่ยนระบบการเขียนแบบนี้ จีน ในยุคที่คอมมิวนิสต์เข้าปกครองใหม่ๆก็ทำมาก่อน ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกันคือให้คนอ่านออกเขียนได้ง่ายขึ้น น่าคิดว่าจอมพล ป.ที่ยืนหยัดอุดมการณ์ฟากตรงกันข้ามกับคอมมิวนิสต์จะหยิบยืมความคิดจีนมาหรือไม่ เรื่องนี้คงต้องรอพระเอก นิลกังขา ขี่ม้าขาวมาช่วยแล้วแหละครับ


กระทู้: ฑ นางมณโฑหน้าขาว
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 10 ก.ค. 04, 00:22
 ผมมีอีกความคิดหนึ่งนะครับ
ถ้าตัวอักษรเสียงเดียวกันใช้ตัวเดียวกันหมดทุกตัวละก็ อ่านแล้วจะปวดตามากเลย


กระทู้: ฑ นางมณโฑหน้าขาว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ค. 04, 12:05
 อาจารย์นิรันดร์คะ  ดิฉันไปถามเรื่องการออกเสียง ฑ ที่ออกเป็นทั้ง ด และ ท มาแล้วค่ะ ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนน่าพอใจ  แต่เชื่อแน่ว่ามีหลักเกณฑ์กำกับอยู่
อย่างหนึ่งที่บอกได้คือคำที่สะกดด้วย ฑ ในบาลี  ออกเสียงเป็น ด ค่ะ  แต่ทำไมคำว่า มณฑา มณโฑ มนเฑียร(โบราณ) ถึงออกเสียง ท ยังไม่ได้คำตอบ

ส่วนคำที่สะกด ต่างกันแต่เสียงเหมือนกัน  อย่างที่อาจารย์ถามมา
มีหลายตัว ที่เดิมออกกันคนละเสียง    แต่ว่าตอนหลังมาเพี้ยนเป็นเสียงเดียวกันตามสำเนียงภาคกลาง  เมื่อรับคำเหล่านี้มาใช้ในภาคกลาง
นักภาษาพบร่องรอยว่ามีหลายคำที่มาจากคำท้องถิ่น  ยังออกเสียงตามถิ่นเดิมซึ่งผิดแผกไปค่ะ
ส่วนการปฏิวัติภาษาของจอมพล ป. เป็นการเขียนภาษาไทยให้ง่ายขึ้นเท่านั้น     ไม่ได้มุ่งการออกเสียง  


กระทู้: ฑ นางมณโฑหน้าขาว
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 13 ก.ค. 04, 09:54
ขอบคุณ คุณเทาชมพู และทุกท่านที่ร่วมแสดงความคิดเห็น มากครับ  


กระทู้: ฑ นางมณโฑหน้าขาว
เริ่มกระทู้โดย: ครีมสด ที่ 23 มี.ค. 05, 21:52
 เท่าที่เคยได้เรียนตอนป.6 คลับคล้ายว่า
ฑ จะออกเสียง ทอ เมื่อคำที่ใช้ ฑ นั้นเป็นคำเป็น
และจะออกเสียง ดอ เมื่อคำที่ใช้ ฑ นั้นเป็นคำตาย
จำผิดรึเปล่าไม่ทราบนะคะ แต่น่าจะใช่นะ เพราะลองเทียบดูแล้วกับคำว่า
มณโฑ  มณฑา
บันฑิต  บัณเฑาะว์


กระทู้: ฑ นางมณโฑหน้าขาว
เริ่มกระทู้โดย: ดารากร ที่ 29 มี.ค. 05, 00:35
 จากหนังสือคู่มือภาษาไทย ม.4-5-6 Entrance ของ อ.จันจิรา จิตตะวิริยะพงษ์ อ.บ., อ.ม.(ภาษาไทย) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักพิมพ์พัฒนาศึกษา หน้า 217 พิมพ์ครั้งแรก 2544

หลักการอ่าน ฑ
         ฑ ในภาษาบาลีสันสกฤตออกเสียงเป็น /ด/ อย่างเดียว ไทยออกเสียงเป็น /ด/ อย่างบาลีสันสกฤตก็มี  ออกเสีย เป็น    /ท/ ก็มี  จึงสันนิษฐานว่าคำที่เราอ่านเป็น /ด/ นั้นน่าจะเป็นคำที่เราได้มาจากภาษาพูด คือ ได้ยินเขาออกเสียงอย่างนั้น จึงออกเสียงตามตรงกัน ส่วนคำที่เราออกเสียงเป็น /ท/ นั้น น่าจะเป็นคำที่ได้มาจากภาษาเขียน เราอ่านเอาเองตามความเข้าใจของเรา จึงได้ออกเสียงผิดไป และเมื่อแต่ละคำเคยออกเสียงกันอย่างไรก็ออกตามกันอย่างนั้นเรื่อยมา จึงสรุปว่าจะออกเสียงคำใดอย่างไรนั้นเป็นไปตามความนิยม
          1. คำที่ไทยออกเสียงเป็น /ด/ เช่น
                บัณฑิต  บัณเฑาะว์  บัณฑุกัมพล  บุณฑริก
          2. คำไทยที่ออกเสียงเป็น /ท/ เช่น
                ทัณฑฆาต  มณฑก  มณฑล  ขัณฑสกร  ขัณฑสีมา  กรีฑา


กระทู้: ฑ นางมณโฑหน้าขาว
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 29 มี.ค. 05, 08:04
 ขอบคุณทุกท่านครับ