เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 23 พ.ค. 08, 05:21



กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 พ.ค. 08, 05:21
ความคิดแรกที่เข้ามาคือ ปี่แก้ว   

ต่อมาคิดว่าไม้เนื้อแข็งเพราะพระอภัยมณีเดินทางไกลหลายครั้ง  อาจเป็นไม้ชิงชันตามตำราว่าหรือ 

ที่คิดว่าปี่แก้วก็เพราะอาจารย์ของเตียวเหลียงที่อยู่เมืองแหเฝือ ชำนาญเป่าปี่แก้ว
ครูเล่าให้เตียวเหลียงฟังว่า ปี่ไม้ไผ่อันแรกยาว ๒๒ นิ้วกึ่ง
ยังไม่ได้ตรวจสอบกับไคเภ็กเลย

เรื่องราชบุตรีจิ้นอ๋องนางลั่งหยกที่หลงใหลการเป่าปี่ จนไปเจอเซียวซู้ผู้เป่าปี่อยู่บนภูเขาสามารถเรียก
หงส์และนกยูงมารำได้
ีคู่นี้เป่าปี่แก้ว


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 พ.ค. 08, 05:43
ที่บ้านจันตคาม   ครูของพระอภัยมณีเป็นพราหม์เผ่าพฤฒา
(เรียนถามคุณเทาชมพู(ถ้า้่ว่างนะคะ)ว่า  พราหมณ์เผ่านี้มีหน้าที่ี้ทำอะไร)

เวลาสอนปี่ก็พานักเรียนขึ้นไปเป่าบนภูเขาเหมือนครูของเตียวเหลียง
คนที่หัดใหม่ๆคงส่งเสียงตะริดตี๊ดๆต่อยๆรำคาญโสตชาวบ้าน



พระอภัยมณีเรียนอยู่เจ็ดเดือนก็สำเร็จ

สิ้นความรู้ครูประสิทธิ์ไม่ปิดบัง         จึงสอนสั่งอุปเท่ห์เป็นเล่ห์กล
ถ้าแม้นว่าข้าศึกมันโจมจับ         จะรบรับสารพัดให้ขัดสน
เอาปี่เป่าเล้าโลมน้ำใจคน         ด้วยเล่ห์กลโลกาห้าประการ
คือรูปรสกลิ่นเสียงเคียงสัมผัส         เกิดกำหนัดลุ่มหลงในสงสาร
ให้ใจอ่อนนอนหลับดังวายปราณ         จึงคิดอ่านเอาไชยเหมือนใจจง

แล้วให้ปี่ที่เพราะเสนาะเสียง         ยินสำเนียงถึงไหนก็ใหลหลง


ปี่พระอภัยได้รับมาจากพราหมณ์  ก็ปี่แขก


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 พ.ค. 08, 06:04
ตอนนี้ต้องอ้างอิงแล้วค่ะ เพราะคงมีคนถามว่าไปเอามาจากไหน ทำไมไม่เคยได้ยิน

พระอภัยมณีของสุนทรภู่ ภาคจบบริบูรณ์
กรมศิลปากรชำระเพิ่มเติม
สำนักพิมพ์ก้าวหน้า  ๒๕๐๘  ไม่แจ้งจำนวนพิมพ์

อีกเจ็ดปีต่อมา สำนักพิมพ์แพร่พิทยาพิมพ์เป็นครั้งที่สอง ๑,๐๐๐ เล่ม




ตอน ๖๙  หน้า ๗๓ - ๘๙ ฉบับก้าวหน้านะคะ  พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา เมืองผลึก

ย่อเรื่อง   นางมณฑาสวรรคตเมื่อเดือนยี่ปีขาล   สินสมุทรแจ้งข่าวไปลังกา
พระอภัยมณี นางสุวรรณมาลีและนางละเวงวัณฬาซึ่งบวชเป็นฤๅษีไปเยี่ยมศพนางมณฑาที่เมืองผลึก
เรือพระอภัยมณีถูกคลื่นซัดไปเกาะกัลปังหา  พระอภัยมณีเป่าปี่ห้ามปลามาหนุนเรือ
สามพี่น้องลูกเทพารักษ์เจ้าเกาะเข้าเฝ้า


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 08, 06:14
อยากอ่านพระอภัยมณี ภาคท้าย มานานแล้วค่ะ   ไม่รู้ว่าฉบับของแพร่พิทยายังเหลืออยู่หรือเปล่า
จะต้องไปเดินหาเสียแล้ว

พฤฒา  แปลว่าเฒ่า  ไม่ได้ระบุว่าเผ่าไหน  อ่านจากบริบทน่าจะเป็นพราหมณ์ที่เรียกกันว่าพฤฒาจารย์  หมายถึงครูเฒ่า ถ้าเป็นสมัยนี้คงระดับโปรเฟสเซอร์   หรือนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางความรู้
ถ้าเป็นพราหมณ์พฤฒิบาศละก็ รู้  เป็นพราหมณ์ที่ทำหน้าที่ในพิธีคล้องช้าง   ว่ากันว่าเป็นต้นสกุลบุณยรัตพันธุ์

ความเห็นส่วนตัว
สุนภรภู่เอาเรื่องจีนมาผสมฉากอินเดีย ได้เนียนมาก   เพราะอินเดียเป็นแม่บทศิลปวิทยาการของไทยมาตั้งแต่อยุธยา  ไปเรียนวิชาก็ต้องไปอินเดีย โก้เหมือนคุณชายกลางไปเรียนที่อังกฤษ สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒
กำลังนึกว่าอินเดียมีวรรณคดีเรื่องไหนพูดถึงปี่บ้าง ยังนึกไม่ออก  ปี่นั้นเป็นของจีนมากกว่าอินเดีย อย่างในไซ่ฮั่น  ส่วนอินเดีย นึกออกแต่ขลุ่ยไม้อ้อ  พิณ  พวกนี้ละค่ะ


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 พ.ค. 08, 09:23
ขอบคุณค่ะที่กรุณาแวะมาตอบ

พระอภัยมณีฉบับก้าวหน้า  หน้า ๗๗


   ฝ่ายนางเทพเทพินนิลกัณฐี         ทั้งเจ้าตรีพลำเล่นน้ำไหล
ยินสำเนียงเสียงเพราะเสนาะใน         จับจิตใจเจียนจะหลับนั่งตรับฟัง
เห็นกำปั่นนั้นแล้วแจ้วแจ้วจอด         เสียงฉอดฉอดพลอดสัมผัสประหวัดหวัง
จึงขับปลามาในน้ำด้วยกำลัง         พูดภาษาฝรั่งร้องถามไป
นี่แน่คนบนลำเรือกำปั่น         ท่านพากันมาแ่ต่หนตำบลไหน
เมื่อตะกี้นี้สำเนียงเสียงอะไร         ใครทำไมไพเราะเสนาะดี


.............................
.............................

   ฝ่ายสามองค์ทรงฟังสังระเสริญ         ทั้งเชื้อเชิญชื่นชมด้วยสมหวัง
จึ่งขึ้นลำกำปั่นนั่งบรรลังก์         มุนีนั่งทั้งสามบอกตามตรง
เป่าที่เรือเมื่อตะกี้นั้นปี่แก้ว         ให้ดูแล้วปลอบถามตามประสงค์
ดูรูปร่างช่างงามทั้งสามองค์         เป็นเชื้อวงศ์เทวาหรือมานุษย์

ตกลง ปี่แก้ว ค่ะ


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 พ.ค. 08, 09:49
ขออนุญาต คัด คำนำ ของ อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ ดังต่อไปนี้



"..มีตอนที่หอพระสมุดสำหรับพระนครมิได้ชำระและมิได้จัดพิมพ์ไว้...............
................................................................
ดำเนินเรื่องต่อจากฉบับที่หอพระสมุด ฯ ชำระไว้ เกือบอีกเท่าตัว  กล่าวคือ เป็นหนังสืออีก  ๒๓,๕๘๘ คำกลอน  หรืออีก ๔๕ เล่มสมุดไทย
..............................
..............................
ข้าพเจ้ามีความเห็นเช่นเดียวกับกรรมการหอพระสมุด ฯ    ในข้อที่ว่า  ในตอนหลังนี้  ท่านสุนทรภู่มิได้ตั้งใจแต่งโดยประณีตเหมือนตอนก่อน
ทั้งนี้ก็คงจะเนื่องจากการที่กล่าวกันมาว่า  กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพมีรับสั่งให้ท่านสุนทรภู่แต่งถวายเดือนละ ๑ เล่มสมุดไทย
...............................
...............................

คำกลอนที่เขียนลงไว้ในสมุดไทยแต่ละเล่มนั้น  นอกจากจะมีจำนวนคำกลอนไม่เท่ากันแล้ว  ยังมีจำนวนแตกต่างกันมาก  บางเล่มก็มีเพียง ๓๔๘ คำกลอนบ้าง  ๔๑๐ คำกลอนบ้าง
ยิ่งกว่านั้นยังได้พบหลายตอนที่คำกลอนไม่รับและส่งสัมผัสกัน   แต่ในการชำระจัดพิมพ์ครั้งนี้  ได้ช่วยกันแก้ไขให้รับและส่งสัมผัสกันแล้ว
..............................


แม้นว่าคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีตอนหลังนี้  จะมีสำนวนคนอื่นปะปนอยู่และไม่ประณีตเหมือนตอนก่อน  แต่ก็ยังเหมือนเพชรเม็ดใหญ่ที่ช่างยังมิได้เจียรนัย...."


คงมีโอกาสนำตอนที่สนุกสนานอื่นๆมาฝากเรือนไทยอีก
จำได้ว่าคุณ เทาชมพู ได้พูดถึง อภัยณุราช  จึงหยิบขึ้นมาอ่านอีก  พบว่าได้อรรถรสเรื่องจีนพราวพราย


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 08, 09:52
อ่าน "ห้องสิน" ดู ก็จะเห็นอภัยนุราช ฉบับจีน ค่ะ

คิดว่าคนแต่งพระอภัยมณีตอนท้าย ไม่ใช่สุนทรภู่  จะเป็นหนูพัดหนูตาบหรือศิษย์คนไหนยังไม่รู้  สำนวนกลอนที่อ่าน ไม่ใช่โวหารท่าน


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 23 พ.ค. 08, 11:39
         วันนี้ในมติชนคุณสุจิตต์ วงษ์เทศก็เขียนเรื่องปี่พระอภัย ครับ

ปี่พาทย์มาจากไหน? "ปี่พระอภัย" หมายถึง ปัญญา

        ..... สุนทรภู่ แต่งให้พระอภัยมณีเรียนเพลงดนตรีวิชาเป่าปี่ เป็นเจตนาให้เพลงดนตรีเป็นสัญลักษณ์ของสติปัญญา
ที่ไม่แก้ปัญหาด้วยความรุนแรง เหตุที่คิดเช่นนั้น เพราะสุนทรภู่เป็น "คนปี่พาทย์" ในวัยหนุ่มเคยรับจ้างบอกบทละคร
(คณะนายบุญยัง บ้านพรานนก) อยู่หน้าวงปี่พาทย์ (นายเส็งบ้านขมิ้น ตีระนาดเอก) ถึงคนร้ายขโมยปี่พระอภัยที่ระยอง
แต่ความหมายก็เหมือนเดิมและไม่เกี่ยวข้องกับทะเลอ่าวไทย แต่เกี่ยวข้องทะเลอันดามัน ....

http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pra03230551&day=2008-05-23&sectionid=0131


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 24 พ.ค. 08, 01:02
จำได้ว่าสมเด็จเคยประทานคำอธิบายเรื่องพราหมณ์ในประเทศไทยแบ่งเป็นกี่พวก
เสียดายที่ไม่มีหนังสืออยู่กับตัว คิดว่าจะอยู่ในนิทานโบราณคดี ตอนเที่ยวเมืองพาราณสี
หรือมิเช่นนั้นก็อยู่ในตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช

วานคุณห้องสมุดเดินได้ ช่วยค้นหน่อยเถิดครับ


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 พ.ค. 08, 07:02
เที่ยวเมืองพาราณสี 

"คำของพวกพราหมณ์ในเมืองไทย ซึ่งว่าบรรพบุรุษบอกเล่ากันสืบมาว่า   พราหมณ์พวกโหราจารย์ที่เมืองพัทลุง
เดิมอยู่เมืองพาราณศรี  และพวกพราหมณ์พิธีที่เมืองนครศรีธรรมราช  ว่าเดิมอยู่เมืองรามนคร"

พบเรื่อง บ่อโทนแขก  กับ มหาราชาได้รับพระราชทานกริชฝักทองจากสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง




ในมหามุขมาตยานุกูลวงศ  ศก ๑๒๔    เล่า้เรื่องพราหมณ์ไว้์ว่า

"มีชีพ่อพราหมณ์พราหมณ ๔ ตระกูลคือ
พราหมณ์รามราช
พราหมณ์พฤติบาศ
พราหมณ์นาฬีวรรณ
พราหมณ์มะหรรต์วมพราหมณ์

จัดว่าเป็นวงศ์ตระกูลอันสูงศักดิ์อรรคถาน  สืบเนื่องเชื้อสายฝ่ายโลหิตติดต่อมาจาก พงศ์พรหมมินทรพระอิศวรศักดานุตระกูล
มีมูลเหตุอุทาหรณ์แต่กาลก่อนมีในประเทศฮินดูสถาน  เปนพราหมณ์อะวะตารมาสู่กรุงศรีสัชนาลัยศุโขทัยราชธานีที่เปนประฐมสยามเอกราชฝ่ายเหนือ  เมื่อก่อนกรุงเก่าขึ้นไปหลายร้อยปี"


ไม่แน่ใจค่ะ  เพราะ ก.ศ.ร.กุหลาบตอบได้ทุกเรื่อง(สงบ  สุริยินทร์    บุรุษรัตนของสามัญชน   เทียนวรรณ รวมสาส์น  พิมพ์ครั้งที่สาม ๒๕๔๓  หน้า ๒๗๔) ไม่มีหนังสือลึกไปกว่านี้




กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 24 พ.ค. 08, 10:00
ขอบคุณยิ่งครับ
คงต้องพึ่งสาส์นสมเด็จเป็นลำดับต่อไป

ในเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา มีกล่าวถึงศัพท์นี้

ฝ่ายองค์พระบรมราชา ครองขันธสีมาเป็นสุข
ด้วยพระกฤษฎีกาทำนุก จึงอยู่เย็นเป็นสุขสวัสดี
เป็นที่อาศัยแก่มนุษย์ในใต้หล้า เป็นที่อาศัยแก่เทวาทุกราศี
ทุกนิกรนรชนมนตรี คหบดีพราหมณพฤฒา


สังเกตดูว่า อาจจะแบ่งเป็น พราหมณฝ่ายหนึ่ง และพฤฒา อีกฝ่ายหนึ่งก็ได้
คำว่าพฤฒา ยังขยายออกมาเป็นพฤฒาจารย์ และเป็นราชทินนามฝ่ายราชบัณฑิตอีก
เห็นจะต้องไปรบกวนถึงที่โบสถ์พราหมณเสียละกระมัง


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 25 พ.ค. 08, 00:21
ถ้าเป็น ปี่ กับ แขก นี้ ผมนึกถึง แขกเป่าปีเรียกงู ครับ  ;D

คิดมุมกลับคือ สุนทรภู่ เอาละครปาหี่ของแขก เป่าปี่สะกดงู มาเปรียบเหมือนเป่าปี่สะกดคน แต่จะให้พระอภัยมณี ซึ่งเป็นเจ้าชายไปเรียนกับอาบังก็กระไรอยู่ ก็เลยให้ไปเรียนกับพราหมณ์เสีย (แขกเหมือนกัน) ดูดีมีภาษีกว่าเยอะ  ;D ... อันนี้ ขำๆ นะครับ อิอิ



กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 08, 00:47
วิชาเป่าปี่ของพระอภัย มีคุณสมบัติวิเศษเช่นเดียวกับปี่ของเตียวเหลียงในไซฮั่น  น่าจะเป็นอิทธิพลที่เห็นได้ค่ะ
สุนทรภู่นี่ล้ำสมัยนะคะ อย่าว่าพูดเล่น   เพราะถ้าย้อนกลับไปสมัยอยุธยา   อาจจะเป็น "ปี่วิเศษ" ไม่ใช่ "วิชา"
ที่แตกต่างกันคือเมื่อก่อน นิยมแต่งให้มีของวิเศษ  เรียกว่าใครหยิบขึ้นมาใช้ก็ได้ความวิเศษนั้นไป     ไม่เลือกเจ้าของ   แต่ปี่ของพระอภัย ถ้าศรีสุวรรณหยิบไปใช้ก็คงไม่มีประโยชน์ เพราะศรีสุวรรณไม่รู้วิชาเป่าปี่
นอกจากพระอภัยก็ดูเหมือนจะมีสินสมุทรนี่แหละพอเป่าได้ เพราะเคยเห็นพ่อเป่า

มาแถมกับคุณวันดีว่า ตำนานเรื่องสกุลบุณยรัตพันธุ์มาจากพราหมณ์พฤฒิบาศ  สมัยพระเจ้าปราสาททอง ดูเหมือนจะมาจากตำราของนายกุหลาบน่ะค่ะ
เพราะในยุคนั้นมีคนนิยมถามเข้าไปในแมกกาซีนของนายกุหลาบ   ว่าสกุลตัวเองมีบรรพบุรุษมาจากไหน  นายกุหลาบตอบได้หมดเลย


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 25 พ.ค. 08, 01:13
เคยค้นๆ เรื่องเมืองต่างๆ ที่กล่าวถึงในพระอภัยมณี เลยมีคำกลอนบางบทมาฝากครับ (เกี่ยวกับพราหมณ์)


๏ สิบห้าวันดั้นเดินในไพรสณฑ์      ถึงตำบลบ้านหนึ่งใหญ่หนักหนา
เรียกว่าบ้านจันตคามพราหมณ์พฤฒา       มีทิศาปาโมกข์อยู่สองคน


ข้างพวกพราหมณ์ข้ามไปเมืองสาวถี       เวสาลีวาหุโลมโรมวิสัย
กบิลพัสดุ์โรมพัฒน์ถัดถัดไป      เมืองอภัยสาลีเป็นที่พราหมณ์

จากบทกลอนจะเห็นได้ว่า สุนทรภู่คงไม่ได้เจาะจงว่าเป็นพราหมณ์ตระกูลไหน การที่ท่านใช้คำว่า "พราหมณ์พฤฒา" ก็คงเพราะให้เข้ากับสัมผัสระหว่างบทมากกว่าครับ เพราะคำว่า "พราหมณ์พฤฒา" นี้ เป็นคำกว้างๆ หมายถึง พราหมณ์ที่เป็นอาจารย์นั่นเอง

อีกบทหนึ่งที่ให้ความหมายทำนองเดียวกันคือ ฉากที่เดินทางกลับของไพร่พล ของพระอภัยมณี จะเห็นว่า เมืองต่างๆ ที่พวกพราหมณ์เดินทางกลับนั้น นำมาจากคัมภีร์ทางพุทธศาสนาทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นเมืองร่วมสมัย เหมือนเมืองอื่นๆ ที่ทหารชาติอื่นๆ เดินทางกลับ


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 พ.ค. 08, 01:31
ยกมือค้าน

อย่าหมิ่นว่ากลอนพาไป
"เรียกว่าบ้านจันตคามพราหมณ์พฤฒา       มีทิศาปาโมกข์อยู่สองคน"
เห็นใหมครับว่า พราหมณ์พฤฒา ท่านต่อด้วย ทิศาปาโมกข์ อยู่สองคน

แต่ตรงอื่น บอกแค่พราหมณ์เฉยๆ
ในยุคที่ภาษาไม่ค่อยแปร่ง และยังเป็นทาสของนายภาษา
ข้อหากลอนพาไป อย่าเพิ่งด่วนยัดเยียดครับท่าน..... ;) :D


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 25 พ.ค. 08, 02:41
ประเด็นที่ผมกล่าวไปคือ เรื่อง พราหมณ์มาจากเผ่าไหน ?
ซึ่งผมตอบไปว่า สุนทรภู่ไม่ได้ระบุครับว่าเป็นพราหมณ์เผ่าไหน หรือมาจากเมืองไหน เพราะจากคำกลอนไม่ได้บอกว่ามาจากเมืองไหน หรือเผ่าไหน เพราะการที่ท่านใช้ "พฤฒา" นี้ เป็นคำกลางๆ ไม่ได้ระุบุว่าอยู่สายงานใด หรือ มาจากเผ่าใด แต่แน่นอนว่า เป็นอาจารย์ผู้มีวิชาแก่กล้า และสูงอายุ

ส่วนประเด็นที่คุณพิพัฒน์เสนอคือ สุนทรภู่บอกว่า พราหมณ์ในบทแรกเป็นอาจารย์ ส่วนในบทที่สอง ไม่ได้บอก แล้วบอกว่าผมยัดเยียดว่ากลอนพาท่านไปเสียแล้ว

คนละประเด็นกันครับ  ;D

ดังนั้นผมจึงไม่ได้หมิ่นแต่อย่างใด  8)

-----------------------------------------

ถ้าพูดเรื่องประเด็นการใช้คำว่า "พฤฒา" ก็ต้องคุยกันอีกแบบครับ

ทิศาปาโมกข์    น. อาจารย์ผู้มีความรู้และชื่อเสียงโด่งดัง.
พฤฒ, พฤฒา    [พฺรึด, พฺรึดทา] ว. เจริญ, แข็งแรง, ใหญ่; แก่, เฒ่า, พฤทธ์ ก็ว่า. (ส.).

ก็มีความหมายเดียวกับ "พราหมณ์พฤฒา" หรือ "พฤฒาพราหมณ์" ครับ นัยคือ อาจารย์พราหมณ์ผู้สูงอายุ

่แน่นอนว่า บทแรกสุนทรภู่สื่อว่าเป็นอาจารย์เฒ่าผู้มีความรู้แก่กล้า ส่วนบทหลังไม่ได้ระบุ อาจเป็นพราหมณ์หนุ่มพราหมณ์แก่ก็ได้ครับที่ร่วมไปในกองทัพ

ถ้าให้ผมมองการใช้คำว่า "พฤฒา" ก็เพราะต้องการคำว่าที่ลงด้วย "อา" และมีควาหมายถึงอาจารย์ด้วย ซึ่งไม่ใช่กลอนพาไปครับ แต่เป็นการเลือกคำอย่างจงใจ เพราะต้องลงเสียงอา

===============================

มาเรื่องพราหมณ์สี่เผ่าครับ

พราหมณ์รามราช เข้าใจว่าเพี้ยนมาจากชื่อ รามราษฏร์ = รามรัฐ ซึ่งน่าจะตรงกับเมือง Rameswaram (ราเมศวรัม), อำเภอ Ramanathapuram (รามนาถปุรัม) รัฐทมิฬนาดู (ได้ชื่อตามเมืองที่มา)
ชื่อเมืองราเมศวรัมนี้ มีปรากฎอยู่ในจารึกโคลง ๓๒ ชนชาติ ที่วัดโพธิ์ด้วยครับ อ.ทวี เผือกสม ได้สรุปความไว้ว่า

พราหมณ์รามเหศร์ - เป็นพวกชาติเชื้อ รามรัฐ นับถือพระศิวะ ชำนาญใน "ทวาทศพิธียัชชุเวท" และเก่งในทางเวทมนตร์ นุ่งผ้าขาวมีเชิง เกล้ามวยผม สวมสายธุรำใส่ตุ้มหู สวยเสื้อครุย คอยทำหน้าที่สะเดาะเคราะห์ร้าย

พราหมณ์พฤติบาศ พราหมณ์ผู้ประกอบพิธีกรรมการคล้องช้าง (บาศ คือ บ่วง, เชือก) (ได้ชื่อตามสายงาน)

พราหมณ์นาฬีวรรณ อันนี้ไม่ทราบครับ ตามศัพท์ แปลได้ว่า
   นาฬี - (หรือ นาลี) หลอด, ก้าน, ลำ, ช่อง, ทะนาน
   วรรณ - สี, ชนชั้น
   ไม่ทราบความหมายครับ หรือ อาจหมายถึง พราหมณ์ที่มีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ เพื่อผลผลิตทางการเกษตร เทียบจาก ทะนาน ที่ใช้ตวงเมล็ดธัญญาพืช  ??? (ได้ชื่อตามสายงาน ?)

พราหมณ์มะหรรต์วม ตัวสะกดอ่านไม่เป็นคำครับ "มะ-หัน-วัม" ? ผมคิดว่า ต้นฉบับอาจพิมพ์ผิดมาจากฉบับเขียนด้วยลายมือว่า "มะหรรศวม" คือ เห็น "ศ" เป็น "ต์" ถ้าเป็นชื่อ มะหรรศวม ก็น่าจะเพี้ยนมาจากชื่อ มเหศวรัม ซึ่งน่าจะเป็นชื่อเมืองครับ

ค้นใน google พบชื่อเมืองนี้สองเมือง (อาจมีอีกก็ได้ ?) คือ Maheshwar ในรัฐมัธยประเทศ กับ Maheswaram เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในรัฐอันธารประเทศ ดูจากรูปการแล้ว ถ้า มะหรรต์วม เพี้ยนมาจาก มเหศวรัม จริง ก็น่าจะหมายถึงเมือง Maheshwar มากกว่าครับ เพราะเป็นเมืองที่ใหญ่ ส่วนเรื่องเสียงลงท้าย -รัม นั้น ก็อาจเป็นได้ว่า ผู้บันทึกได้ยินจากปากของคนที่มาจากอินเดียใต้ ซึ่งมักลงเสียงท้ายด้วย -am เมือง Maheshwar จึงกลายเป็น Maheshwaram ในภาษาของทางอินเดียใต้ (ได้ชื่อตามเมืองที่มา ?)

เห็นที่สี่เผ่าดังกล่าวคงไม่ใช่ข้อมูลขั้นสรุปครับ เพราะมีทั้งจำแนกตาม เมืองที่มา และ สายงานที่ทำ

ไปค้นดูใน wiki ดูเหมือนว่าตามประเพณีของอินเดียโบราณแล้ว ในคัมภีร์ได้จำแนกเผ่า (หรือ ชุมชน) ของพราหมณ์ในอินเดียออกเป็น เขตเหนือ กับเขตใต้ ครับ และจำแนกย่อยออกไปอีกมากมายตามเมืองต่างๆ แต่ผมดูคราวๆ ไม่พบชื่อเมืองรามราษฏร์ และ มเหศวรัม แต่อย่างใด

http://en.wikipedia.org/wiki/Brahmin_communities


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 08, 04:12
พฤฒา = senior ?
พราหมณ์พฤฒา  = senior scholar(s)
ไม่ใช่เผ่า หรือชนิดของพราหมณ์


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 พ.ค. 08, 07:07
ขอบคุณ คุณเทาชมพู สำหรับของแถมค่ะ   ชอบที่สุด

ขอบคุณคุณโฮค่ะที่อธิบายขยายความ
อ่านหนังสืออยู่คนเดียว แหะๆ...ปล่าวเปลี่ยวหัวใจค่ะ
เหมือนได้เข้าห้องเรียนเลย


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: saksiri2498 ที่ 09 ธ.ค. 09, 01:15
 :)สงสัยว่าจะเป็นปี่ที่สุนทรภู่ได้เห็นได้ยินไ้ด้ฟังในวังนั่นละครับ ปี่ในของพระประดิษฐ์ไพเราะกระมังครับ


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 ธ.ค. 09, 06:58
สวัสดีค่ะ คุณ saksiri2498


ลองดูจากเวลานะคะ


ครูมีแขก หรือ พระประดิษฐไพเราะ(มี ดุริยางกูร) ที่บทไหว้ครูเสภาว่า

"ครูมีแขกคนนี้เขาดีครัน  เป่าทยอยลอยลั่นบรรเลงลือ"



ครูปี่พาทย์ ตาม ตำนานเสภา ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่าว่า

"ครูปี่พาทย์ชื่อว่าครูมีแขก  คือเป็นเชื้อแขก  ชื่อมี
ว่าเล่นเครื่องดุริยางค์ได้เกือบทุกอย่าง   เป็นคนฉลาด
สามารถแต่งดนตรีด้วย     มีชื่อเสียงร่ำลือ

เพลงของครูมีนี้คือ  ทยอยใน   ทยอยนอก ๓ชั้น  เป็นต้น


ครูมีนี้ดีมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓

ในรัชกาลที่ ๔ ครูมีได้เป็นครูปี่พาทย์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นที่ พระประดิษฐไพเราะ  ตำแหน่งปลัดจางวางมหาดเล็ก
ได้ว่าการกรมปี่พาทย์ฝ่ายพระบวรราชวัง

อยู่มาถึงรัชกาลที่ ๕   ได้เป็นครูมโหรีของสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร"



เป็นครูของครูสิน  สมุทรสงคราม บิดาของ ครูหลวงประดิษฐไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง)




หนังสือ หลวงประดิษฐไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง) ของ คุณ อานันท์ นาคคง กับ คุณ อัษฎาวุธ  สาคริก
พิมพ์ครั้งแรก  สิงหาคม ๒๕๔๔  หน้า ๘  เล่าว่า

"สามารถแต่งเพลงให้มีลีลาที่วิจิตรพิสดารออกไปได้มากมาย  โดยเฉพาะลูกล้อลูกขัด
ที่เน้นการปรุงแต่งลีลาของทำนองลูกโยนต่าง ๆ
..................................................
..................................................
ผลงานเพลง เชิดจีน ซึ่งถือว่าเป็นเลิศในกระบวนเพลงลูกล้อลูกขัดหรือเพลงโยนทั้งหลาย
ได้ส่งผลให้ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระประดิษฐไพเราะ ในปี ๒๓๙๖"





กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 ธ.ค. 09, 08:42
อุเหม่! ช่างเป็นการตั้งกระทู้ได้ถูกใจจริง เพราะกำลังอ่านพระอภัยมณีตอนปลายอยู่พอดี 

เรียนคุณเทาชมพู  พระอภัยมณีตอนปลาย ตอนนี้ก็ยังซื้ออ่านได้ครับ
เพราะมีการนำมาพิมพ์ใหม่ น่าจะเป็นสำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคารนั่นแหละ
เอามาพิมพ์ใหม่ ๔ เล่มจบ  รวมทั้งภาคต้นภาคปลาย 
ส่วนฉบับพิมพ์ก้าวหน้า (ซึ่งปิดกิจการไปแล้วนั้น) เข้าใจว่าพิมพ์ครั้งเดียว
นัยว่าเป็นการพิมพ์เพื่อให้ครบบริบูรณ์  และว่าพิมพ์เป็นการกุศลด้วย

เรื่องปีของพระอภัยมณี  จริงอยู่ว่าปี่ของพระอภัยมณีอาจจะได้อิทธิพลจากปี่ของเตียวเหลียงในเรื่องพงศาวดารจีนเรื่องไซ่ฮั่น
บางคนตีความว่า ปี่พระอภัยมณี คือ ปัญญา   
ความเห็นส่วนตัว  ถ้าเราอ่านพระอภัยมณีแต่ต้นจนจบ  พระอภัยมณีไม่ได้เป่าปี่เล่นพร่ำเพรื่อ 
ทุกครั้งที่พระอภัยมณีเอาปี่ออกมาเป่ามักจะมีนัยยะหรือมีสถานการณ์บางอย่างให้เอาปี่นั้นออกมาใช้
การตีความว่า ปี่พระอภัยมณ๊ คือ ปัญญา  ก็น่าจะใช้ได้เหมือนกัน 
แต่ในแง่หนึ่ง  ปี่ของพระอภัยมณี ยังมีลักษณะเป็นโลกียวัตถุ 
คือ เป็นเครื่องดนตรีที่อาศัยเสียงเป็นสื่อเล้าโลมใจคนฟังให้เคลิบเคลิ้ม 
ซึ่ง เสียงดนตรี ก็เป็นหนึ่งในรสสัมผัสทางกามตัณหา 
เมื่อ ปี่เป็นต้นกำเนิดแห่งกามตัณหา  เสียงดนตรีที่ออกมาจากปี่ย่อมไม่น่าจะปัญญา

ถ้าปี่พระอภัยไม่ได้หมายถึงปัญญา แล้วจะหมายถึงอะไร 
ในความเห็นส่วนตัว  การเป่าปี่ของพระอภัยมณี เป็นการคิดในเชิงปรัชญาพุทธอยู่เหมือนกัน
คือ สุนทรภู่ให้พระอภัยพอใจที่จะเรียนวิชาปี่แทนที่จะให้เรียนวิชาการของกษัตริย์ (ผู้ปกครองและนักรบ)
อาจจะเป็นเพราะสุนทรภู่เห็นว่า แทนที่จะให้พระอภัยมณีมีอาวุธหรือชำนาญอาวุธต่างๆ อย่างวิเศษ เช่นวรรณคดีอื่นๆ
ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องต้องผจญภัย รบราฆ่าฟัน 
ก็ให้พระอภัยมณี  เป็นคนรูปงาม อ่อนแอ อ่อนโยน รักและมีความรู้เสียงดนตรี  รู้จักใช้ดนตรี(เสียง โลกียวัตถุ)
ในการกล่อมใจคน  (ถ้าเป็นอาวุธก็เหมือนเอาอาวุธไปข่มขู่บังคับเขา) และฆ่าคน (เช่นนางผีเสื้อสมุทร)
ในลักษณะนี้ พระอภัยมณีเป็นตัวละครที่สุนทรภู่สร้างขึ้นมาเพื่อให้รู้จักวิสัยของมนุษย์ปุถุชนที่ยังหลงในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส 
และเอารูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสนั้นมาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา  ถ้าปี่นั้นคือ ปัญญา  ก็คงเป็นปัญญา หรือความฉลาดในระดับโลกียะ
ซึ่งบางครั้งก็แก้ปัญหาได้  แต่บางครั้งก็สร้างปัญหาแก่ตัวพระอภัยมณีเอง 
เพราะอภัยมณีก็ยังเป็นปุถุชนที่ยังหนีไม่พ้นเรื่องรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส  ย่อมหนีไม่พ้นความหลงใหลเรื่องโลกียสุขไปได้
ถึงพระอภัยมณีไม่หลงเรื่องเสียง แต่พระอภัยมณีก็หลงรูป  ฉะนั้นพระอภัยมณีจึงมีเมียหลายคน
ในตอนท้าย พระอภัยมณีออกบวช  ถ้าจะตีความก็อาจจะตีความได้ว่า พระอภัยมณีคงจะเบื่อหน่ายในเรื่องโลกียสุข
จึงละปัญญาในระดับโลกียะ ไปแสวงหาปัญญาในระดับโลกุตตระแทน

ปี่พระอภัยมณี จึงมีความหมายลึกซึ้งมากเมื่อตีความในแง่ปรัชญาพุทธ




กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 ธ.ค. 09, 09:20
เรื่องพราหมณ์นี่  เห็นจะต้องไปค้นและคุยกันยาวๆ  เพราะมีเอกสารให้ค้นมาก
แต่อย่าเพิ่งดีใจเพราะเอกสารแต่ละชิ้นให้ความกระจ่างไม่ได้ทั้งหมด

พราหมณ์พฤฒา   น่าจะหมายถึง พราหมณ์เฒ่าผู้มีความรู้เท่านั้น 
ส่วน พฤฒา จะเป็นคำที่ตัดมาจาก พฤฒาจารย์ หรือเปล่าอันนี้ก็อาจจะเป็นไปได้

(พฤฒา เป็นคำแผลงแบบไทย คงแผลงมาจาก วุฒ หรือ วุฒิ)

พราหมณ์ ไม่เรียกเป็นเผ่า แต่เรียกเป็นโคตร(ตระกูล) แต่บางทีไทยก็เรียกตามชื่อเมืองที่พราหมณ์นั้นมา
ในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ กล่าวถึงเรื่องพราหมณ์ต่างๆ ไว้มากเหมือนกัน น่าจะลองค้นดู

พราหมณ์ นาลิวัน หรือ นาฬิวัน (นาฬิวรรณ คงเป็นคำที่เขียนตามความเข้าใจของคนไทย)
น่าจะแปลง่ายๆ ว่า  พราหมณ์ที่อยู่ในสวนมะพร้าว  สันนิษฐานว่า มาจากอินเดียใต้ แถบรัฐทมิฬนาฑู
พราหมณ์นาลิวัน เป็นพราหมณ์ที่เกี่ยวข้องในการพระราชพิธีตรียัมปวาย ตรีปวาย โล้ชิงช้า 
นัยว่า พราหมณ์เหล่านี้ขึ้นต้นมะพร้าวสูงๆ ได้เลยไม่กลัวเรื่องต้องโล้ชิงช้าสูงๆ 
พราหมณ์พวกนี้ น่าจะเป็นพราหมณ์กลุ่มหลักที่เข้ามาในเมืองไทย 
เพราะพิธีพราหมณ์ในไทยมีลักษณะเหมือนและคล้ายพิธีพราหมณ์ทางอินเดียใต้มากอยู่
กระทั่งบทสวดของพราหมณ์ไทยบางอย่างก็เป็นภาษาทมิฬเขียนด้วยอักษณคฤนถ์และอักษรทมิฬ

เอ... ผมว่าคุณเทาชมพูเปิดกระทู้ชาติพันธุ์วรรณนาในเรื่องพระอภัยมณี ก็น่าจะดีนะครับ 
ท่าทางจะสนุกเหมือนชาติพันธุ์วรรณนาในเรื่องขุนช้างขุนแผน
  ;D ;)


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ธ.ค. 09, 06:36
เรื่องพราหมณ์เก็บมะพร้าวท่าจะสนุก


เดิมมาดิฉันไม่สนใจ พระอภัยมณี  เท่าไร
อ่านพอรู้เรื่อง ว่าใครเป็นใคร และอ่านตอนที่กลอนเพราะ

มีเพื่อนอเมริกันคนหนึ่ง สนใจมาก ถึงกับวางแผนจะเดินทางตามรอยพระอภัยมณี
เพื่อนคนนี้เชียวชาญพูดอ่านเขียนไทย เขมร และ จีนได้ในระดับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก
ถ้าไม่มีเรื่องหนังสือหนังหาแล้ว คงไม่มีโอกาสได้สนทนากันเพราะฐานะทางสังคมและการงานของเขาสูงส่ง

เมื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกัน  ฝรั่งก็ดูจะสงสารดิฉันอยู่
ทนฟังไม่ได้ค่ะที่ฝรั่งจะมารู้จัก พระอภัยมณี ดีกว่าเราคนไทย
 
ดิฉันก็กลับมาสนใจพระอภัยมณี  หยิบมาอ่านบ่อยหน่อย

ก็ค่อย ๆ เรียนรู้ทีละน้อย  ว่า  สุนทรภู่เป็นนักอ่านที่อ่านพงศาวดารจีน
ท่านเป็นอาลักษณ์  จึงเข้าถึงเอกสารได้ง่าย
คนสมัยนั้นจะเปรียบเทียบผู้ใด   ก็จะเอ่ยเป็นตัวละครในวรรณคดีสำคัญๆ  รวมพงศาวดารจีนเข้าด้วย


นายวรรณหรือเทียนวรรณนั้น  ยกย่องชมเชยพระอภัยมณีไว้มาก
ดิฉันก็แกะรอยตามมา
ยังอ่านได้เรื่อยๆค่ะ


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ธ.ค. 09, 08:27
คุณวันดีครับ  ผมใคร่ถามคุณสักน้อยหนึ่งว่า ในฐานะที่คุณเป็นเซียนหนังสือเก่า
คุณเคยเห็นหรือเคยอ่านหนังสืองานศพของพราหมณ์เก่าๆ สมัยรัชกาลที่ ๕-๖-๗ บ้างหรือไม่
ที่ถามเช่นนี้ เพราะอยากจะทราบความเป็นมาของตระกูลพราหมณ์ในเมืองไทย
ผมมีแต่หนังสืองานศพของพราหมณ์ในรัชกาลปัจจุบัน
ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดความเป็นมาของตระกูลพราหมณ์ไว้

เอ...นายกุหลาบได้เคยเล่าเรื่องตระกูลพราหมณ์ไว้บ้างหรือเปล่าครับ.

เรื่องพระอภัยมณี  เคยทราบมาว่า  ฝรั่งอ่านกันมาก 
(แต่ไม่แน่ใจว่าอ่านจากฉบับไทยกันมากน้อยเท่าใด
หรืออาจจะอ่านจากฉบับแปลเป็นภาษษอังกฤษ)

สุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณี  โดยใช้วัตถุดิบหลายทาง 
ทั้งเรื่องจากประสบการณ์ชีวิตของท่านเอง  เหตุการณ์บ้านเมืองร่วมสมัย
หนังสือต่างๆ ทั้งพงศาวดารจีน (ในช่วงรัชกาลที่ ๑-๒
มีพงศาวดารจีน แปลเป็นภาษาไทยไม่กี่เรื่องมาแปลมากในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่ ๔ 
แต่เรื่องพงศาวดารจีนที่แปลในรัชกาลที่ ๓ ที่ ๔ ท่านน่าจะไม่ได้อ่านเท่าใด)
พงศาวดารไทย  และอาจจะรวมไปถึงเอกสารจดหมายเหตุในหอหลวงทั้งปวง
ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมพระอาลักษณ์  บวกกับจินตนาการตามแบบฉบับวรรณคดีจักรๆวงศ์ๆ

เรื่องหนึ่งที่แปลกใจมากเมื่ออ่านพระอภัยมณีตอนปลาย
ปรากฏคำกลอนที่เป็นการโต้ตอบเกี่ยวกับเรื่องความคิดความเชื่อทางศาสนาระหว่างพุทธกับคริสต์
ตรงนี้น่าจะสะท้อนการประทะทางความคิดระหว่างมิสชันนารีและพระสงฆ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้เป็นอย่างดี
ดีไม่ดี สันทรภู่ นี่แหละอาจจะเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่บันทึกเรื่องการดต้เถียงกันเรื่องความคิดเห็นแตกต่างระหว่างศาสนาไว้ในงานเขียนไว้ได้อย่างแนบเนียนทีเดียว





กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ธ.ค. 09, 10:09
มิกล้ารับคำว่า เซียนหนังสือเก่าค่ะ   เพราะความรู้ย่อมร่ำเรียนกันมิสิ้นสุด  ที่ไม่ทราบก็มีอีกมากมาย
พวกเราทุกคนต่างรู้ต่างมีหลักฐานกันคนละส่วน  เติมเต็มให้กันได้

แค่หนังสือสามก๊กของครูสมิทมีจริงหรือ  ก็ตกเป็นเรื่องถกเถียงกันไม่สิ้นสุด
ประวัติการพิมพ์พิสดารมาก  เพราะครูเปิดมาพิมพ์เล่มสองเลย
เนื่องมาจากหนังสือสามก๊กเล่มหนึ่งของบรัดเลยังมีอยู่ในตลาด

มีสหายที่เคารพนับถือมาถามต่อว่าบรัดเลได้พิมพ์เล่ม ๒ หรือไม่
ตอบได้สบายเลยค่ะ  ว่าบรัดเลพิมพ์ครบสี่เล่ม


เพียงแต่รักการอ่าน  สนใจสะสมหนังสือเก่า
อย่างน้อยที่สุดขออ่านเป็นพอ


ไม่ค่อยมีหนังสืออนุสรณ์ค่ะ   หาไม่ทัน


อ่านประวัติบุคคลสำคัญ  หลายท่านก็อ้างต้นสกุลมาจากพราหมณ์
สกุลขุนนางจีน  ก.ศ.ร.ก็เล่าไว้มากมาย  เพราะก.ศ.ร.รู้จักคนเยอะเนื่องจากท่านเป็นกัมปะดอร์บริษัทสีข้าวเรศลิก
ตอนนั้นเรศลิกมีเรือส่งของไปขายเมืองจีน  ชื่อ ดันนูป  กับ ราชาณัตยานุหาร
กัมปะดอร์มีอำนาจเต็มในการซื้อขายนะคะ
ถ้าก.ศ.ร. กุหลาบไม่หลงเก็บหนังสือและใฝ่ฝันจะพิมพ์หนังสืออยู่ทั้งชีวิต
ป่านนี้สกุลท่านเป็นมหาเศรษฐีไปแล้วแน่นอนค่ะ


เพื่อนฝรั่งอ่านหนังสือไทยเสียงแจ๋วเลยค่ะ
เคยนำหนังสือวัดเกาะ พระอภัยมณี ไปให้เพื่อนดู มีรูปนางพระกำนัลของนางลเวงมาปรนนิบัติพระอภัย
สหายผู้สง่างามในวงการทูตหัวเราะกันเหมือนเด็กๆเลยค่ะ  คือดิ้นปัด ๆ  ชี้แล้วชี้อีก  ยกเล่มขึ้นมากอดแนบอก
วรรณกรรมนี่สากลจริงนะคะ
เพราะท่านที่วาดปก วาดรูปแหม่มใส่เสื้อแขนพองแล้วมีผ้ากันเปื้อนด้วยค่ะ  คงจำมาจากแหม่มมิชชันนารี


สุนทรภู่เข้าใจการเมืองไทยและการเข้ามาของบาดหลวงดีมากค่ะ  ไม่งั้นจะมี บาดหลวงปีโป หรือคะ  เล่นคำเสียด้วย


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ธ.ค. 09, 11:03
สุนทรภู่เข้าใจการเมืองไทยและการเข้ามาของบาดหลวงดีมากค่ะ  ไม่งั้นจะมี บาดหลวงปีโป หรือคะ  เล่นคำเสียด้วย

POPE ----> PEPO

 ;D


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 09, 21:21
อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป         ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์
ถึงมนุษย์ครุฑทาเทวราช          จัตุบาทกลางป่าพนาสิน
แม้นปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน          ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา ...

อย่างหนึ่งที่แน่ๆคือ ปี่พระอภัยในที่นี้ ใช้เป็น Music Therapy ดนตรีบำบัด ค่ะ


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 15 ธ.ค. 09, 10:39
ผมอ่านพลาดไปหรือเปล่าไม่แน่ใจ ถ้าพลาดก็ขออภัยนะครับ คือ ปี่แก้ว กับ ปี่แขก นี่มันเป็นอย่างไรครับ ต่างกันอย่างไรครับ และทำด้วยอะไร ครับผม (ตอนเรียนหนังสือ ครูท่านเคยว่าผม ว่า "มานิต เธอทานแกงเขียวหวาน เธอไม่ต้องไปรู้หรอกว่ามันใส่อะไรบ้าง" (แต่ตอนนี้ครูท่านไม่อยู่แล้ว ผมขอถามหน่อยนะตรับผม ฮิ ฮิ))
มานิต


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 15 ธ.ค. 09, 21:57
ขอบพระคุณ คุณมานิตที่กรุณาแวะมาคุยค่ะ


         ตามความเข้าใจของดิฉัน  พระอภัยได้รับมอบปี่ที่ทำด้วยแก้วจากพราหมณ์ค่ะ
ที่มือเร็วพิมพ์ว่าปี่แขกลงไปนั้น  เพราะคิดว่าไม่ใช่ปี่ชะวาหรือปี่มอญเพราะลักษณะไม่ใช่

เท่าที่เห็นในภาพเขียนหรือรูปปั้นก็คงเป็นไม่ปี่ในหรือปี่นอก

ของไทยแท้ ๆก็มีปี่นอกที่ขนาดสั้นและเสียงแหลม   ปี่ในมีขนาดยาวกว่าและมีต่ำกว่าปี่นอก


เสียงปี่ของพระอภัยนั้น วังเวงแว่วแจ้วจับใจ
นางผีเสื้อฟังก็ วิเวกแว่ววังเวง เกิดป่วนฤดีดาลดิ้นถวิลหวัง  แสดงว่านางฟังออกว่าเป็นเพลงรัก ที่พระอภัยส่งสาร
ออกไปว่า  แล้วจะค่อยประคองเคย   ถนอมเชยชมโฉมประโลมลาน
เจ้าพราหมณ์ทั้งสามฟังก็​ซาบซ่าเสียวสดับจนหลับไป

สินสมุทรเป่าก็วิเวกวังเวงใจ  คนฟังหลับหมด

ตอนพระอภัยมณีเป่าเพื่อผลาญนางให้วางวายนั้น  เสียงปี่ เสียวซ่านซับซาบวาบหัวใจ 
นางยักษ์เลยขาดใจตาย(แต่ที่จริงเป็นวิญญานมาช่วยลูกหลานทีหลัง)

น่าจะเป็นปี่นอกกระมังคะ


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 16 ธ.ค. 09, 11:55
ขอบพระคุณครับผม
มานิต


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: direk.w ที่ 16 ธ.ค. 09, 12:10
ผมว่า เราหลงทาง กับคำถาม กันมากมาย กับคนถามที่ต้องการคำตอบ
ให้เวียนหัวกับท่านนักอ่านนักวิจารณญานผู้รู้ท่านทั้งหลาย ก็ดีแล้วครับ จะได้เรียนรู้ไปด้วยกัน

ต้องขอพระอภัยมณี ในที่นี้ด้วยนะครับ
ผมเพิ่งเข้ามาใหม่ อยากเสนอให้ทบทวนคำถามกัน นะครับ
คือถามว่าปี่พระอภัย เป็นปี่แบบไหน
มีผู้รู้ตอบแล้วว่า ปี่นอก กับปี่ใน นี่แหละครับคือชื่อหรือชนิดของปี่
คำถามต่อไป คือ ทำด้วยอะไร
สำหรับปี่นอก หรือปี่ใน ส่วนใหญ่จะทำด้วยไม้งิ้ว
หรืองิ้วดำครับ เป็นไม้เนื้อเหนียว ละเอียด เบา ทำให้มีเสียงกังวาน
เพราะกลึง ถาก ทะลวงไส้ง่าย สมัยก่อนไม่มีเครื่องจักร
ต้องทำด้วยมือ คือใช้สิ่วเจาะ เหล็กเผาไฟเจาะรู้เอา

สมัยนี้ไม้งิ้วดำหายาก อาจใช้ไม้ชิงชัน ไม้มะหาด หรือไม้มะเกลือ
ซึ่งแข็งเหนียวทนทานมาทำ
และมีเครื่องมือ เครื่องจักรที่ทันสมัยมาเจาะคว้าน จึงสวยงามตามสูตร ครับ


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 ธ.ค. 09, 17:04
ยินดีต้อนรับคุณดิเรกค่ะด้วยความยินดี


ขอเชิญแวะทุกกระทู้และมาบ่อยๆนะคะ

คุยกันมาคุยกันไปได้ความคิดหลายแนว


พระอภัยมณีเป็นวรรณกรรมก้าวหน้าที่รับอิทธิพลจากพงศาวดารจีนหลายจุดค่ะ

คุยกันได้สนุก

พระอภัยมณี บอกเองว่า ปี่แก้วนะคะ    



คคห ๔


พระอภัยมณีฉบับก้าวหน้า  หน้า ๗๗


   ฝ่ายนางเทพเทพินนิลกัณฐี         ทั้งเจ้าตรีพลำเล่นน้ำไหล
ยินสำเนียงเสียงเพราะเสนาะใน         จับจิตใจเจียนจะหลับนั่งตรับฟัง
เห็นกำปั่นนั้นแล้วแจ้วแจ้วจอด         เสียงฉอดฉอดพลอดสัมผัสประหวัดหวัง
จึงขับปลามาในน้ำด้วยกำลัง         พูดภาษาฝรั่งร้องถามไป
นี่แน่คนบนลำเรือกำปั่น         ท่านพากันมาแ่ต่หนตำบลไหน
เมื่อตะกี้นี้สำเนียงเสียงอะไร         ใครทำไมไพเราะเสนาะดี


.............................
.............................

   ฝ่ายสามองค์ทรงฟังสังระเสริญ         ทั้งเชื้อเชิญชื่นชมด้วยสมหวัง
จึ่งขึ้นลำกำปั่นนั่งบรรลังก์         มุนีนั่งทั้งสามบอกตามตรง
เป่าที่เรือเมื่อตะกี้นั้นปี่แก้ว         ให้ดูแล้วปลอบถามตามประสงค์
ดูรูปร่างช่างงามทั้งสามองค์         เป็นเชื้อวงศ์เทวาหรือมานุษย์











กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: bahamu ที่ 26 ก.ค. 12, 14:46
ปี่ของพระอภัยมณี อาจจะได้อิทธิพลจากปี่ของเตียวเหลียงในเรื่องพงศาวดารจีนเรื่องไซ่ฮั่น

สุนทรภู่ อาจจะรับมาจากขลุ่ย ของพระกฤษณะก็ได้ เรียกว่า Venu เสียงขลุ่ยมีฤทธิ์บันดาล แบบพระอภัยมณี ซึ่งรับอิทธิพลมา

ครั้นถึงฤดูใบไม้ร่วงในคืนที่แสงจันทร์สว่างไสว พระกฤษณะได้เป่าขลุ่ยเรียกเหล่านางโคปีเหล่านั้น ให้แอบหนีสามีที่กำลังหลับเข้ามาในป่า
จากนั้นก็ได้เต้นรำกัน นางโคปีทุกคนต่างรู้สึกเคลิบเคลิ้มเหมือนว่าตนได้เต้นรำกับพระกฤษณะในลักษณาการของคู่รัก

การเต้นรำนี้ยาวนานถึงหกเดือน จากนั้นทั้งหมดก็ได้ไปอาบน้ำที่แม่น้ำยมุนาร่วมกัน เมื่อนางโคปีกลับบ้านก็จำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น


กรรมอันประเสริฐของพระกฤษณะ
บทความจาก - วารสารศรีมณเฑียร ทรรศน์ / สมาคมฮินดูสมาช

ปณฺห จุรเย ชาต โห, นิรปล ชานิ เก โมห หิรทยาส เส จป ชโอเค มารท ปขโน โตหิ

ขลุ่ยแสดงให้เห็นความรู้ของพระองค์ในเรื่องดนตรี เท่าๆ กับความรักอันบริสุทธิ์ พระองค์ทรงใช้ขลุ่ยเพื่อทำให้ประชาชนเบาใจจากการทรมานของกษัตริย์กัณสะ
และพระองค์ทรงทำให้ประชาชนทั้งหมดมารวมกัน และสร้างความรักและความเสน่หาในระหว่างพวกเขา
เสียงอันไพเราะของขลุ่ยของพระองค์ไม่เพียงแต่นำประชาชนให้มารวมกันเท่านั้น แต่ยังทำให้นกและสัตว์ทั้งหลายมารวมกัน ลืมความรู้สึกที่เป็นศัตรูต่อกันในระหว่างพวกมันด้วย

แต่ในทุกวันนี้ขลุ่ยของพระองค์ยังสอนพวกเราให้รู้ว่า เราควรจะเล่นขลุ่ยของชีวิตของเราในเสียงไพเราะเช่นนั้น
ซึ่ง แสดงให้เห็นว่าโดยการฟังเสียงขลุ่ย โลกทั้งโลกควรจะรวมเข้าด้วยกัน ร้อยกันเข้าในด้ายเส้นเดียว และลืมความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกันใดๆ เกี่ยวกับคนอื่นๆ

http://www.siamganesh.com/krishna.html (http://www.siamganesh.com/krishna.html)


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ก.ค. 12, 17:46
ความคิดของคุณ bahamu น่าสนใจและน่ารับไว้พิจารณา

แต่เรื่องพระกฤษณาเป่าขลุ่ยเต้นระบำกับเหล่านางโคปีนั้น ผมไม่แน่ใจว่า
เรื่องพระกฤษณะเป่าขลุ่ยนี้เคยมีอยู่ในรายละเอียดเรื่องพระกฤษณะในนารายณ์สิบปางฉบับไทยบ้างหรือไม่
เพราะเท่าที่เห็นไม่เคยปรากฏรายละเอียดเรื่องนี้ในนารายณ์สิบปางฉบับภาษาไทย
ก็น่าสงสัยอยู่ว่า   ถ้าสุนทรภู่จะได้อิทธิพลพระกฤษณะเป่าขลุ่ยมาเป็นต้นทุนในการสร้างพระอภัยมณีเป่าปี่
สุนทรภู่ควรจะได้ข้อมูลนี้จากแหล่งข้อมูลใด  มิฉะนั้น  เราจะต้องยืดอายุการแต่งพระอภัยมณีให้ยาวข้ามมาจนถึง
รัชกาลที่ ๔-๕ ด้วยหรือไม่  เพราะช่วงดังกล่าวเริ่มมีการศึกษาภารตวิทยาที่ยุโรปกันคึกคัก
ก็น่าคิดอยู่เหมือนกัน  ว่าบางทีฝรั่งอาจจะพาพระกฤษณะเป่าขลุ่ยมาเมืองไทยก็ได้

หีรือถ้าคิดเตลิดไปอีกหน่อย   ในสมัยรัชกาลที่ ๒-๓ (จำไม่ได้แน่นอน  เพราะอายุมากแล้ว)
มีพราหมณ์คนหนึ่งเดินทางจากอินเดียมาที่ภาคใต้ (จำไม่ได้ว่าเป็นเมืองอะไร) กรมการเมืองนั้น
ได้นำตัวพราหมณ์นั้นมาสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องเมืองอินเดีย  แต่จะเป็นเพราะไม่มี "ล่ามดี" หรืออย่างไร
ทำให้คนสอบสวนเข้าใจอย่าง คนตอบเข้าใจอย่าง  คำให้การนี้ ชื่อว่า คำให้การพราหมณ์อัจจุตนันนำ
พิมพ์เป็นว้ำหลายครั้ง  แต่ก็นั่นแหละพราหมณ์อัจจุตนันนำก็ไม่ได้เล่าอะไรเกี่ยวเรื่องพระกฤษณะเป่าขลุ่ยไว้


อาจจะเป็นไปได้ว่า  สุนทรภู่อาจจะไปฟังเรื่องพระกฤษณะเป่าขลุ่ยจากพราหมณ์ที่โบสถ์พราหมณ์ก็เป็นได้
ก็แปลกใจว่า  ถ้าเช่นนั้น ทำไมพระอภัยมณีที่สุนทรภู่สร้างจึงเป่าปี่ไม่เป่าขลุ่ย  ขลุ่ยเสียงอาจจะเบาไป
เสียงทุ้มนุ่มนวลไป  สู้ปี่ไม่ได้หรือเปล่า  ก็น่าคิด  หรือว่า  ปี่จากรูปลักษณ์ของเครื่องดนตรีแล้ว
ยังมีความหมายอย่างอื่นที่สุนทรภู่แฝงไว้  ไม่เช่นนั้น  ทำไมสุนทรภู่ไม่ให้พระอภัยมณีเล่นเครื่องดนตรีอย่างอื่น
เช่น ซอ  แคน  พิณ  กระจับปี่  จ้องหน่อง  กลอง  หรือไม่ก็ให้พระอภัยมณีออกแนวฝรั่งหน่อย
เป่าแตร  คาลิเน็ต  สีไวโอลิน  หรือเป่าเมาท์ออแกน  การที่สุนทรภู่ให้พระอภัยมณีเป่าปี่น่าจะมีเหตุผล
ไม่ใช่การสร้างตัวละครเลียนแบบเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาโดยไม่มีสลักสำคัญ  พระอภัยมณีอยู่ผ่านยุคสมัยมาได้
แสดงว่าสุนทรภู่ท่านปรุงรสไว้ดี กลมกล่อมพอสมควร  ทำให้ ไม่ว่าคนไทยยุคหลังจะไม่ทันรู้เห็นความเป็นไปของสังคม
ของสุนทรภู่  ก็สามารถอ่านและซึมทราบเอาสาระในวรรณคดีที่แต่งได้


การจะพิจารณาว่าปี่ของพระอภัยมณี สุนทรภู่เอาแนวคิดมาจากไหน  ต้องดูสภาพแวดล้อมทางวรรณกรรมและสังคมวัฒนธรรม
ในสมัยที่สุนทรภู่มีชีวิตอยู่ประกอบด้วย  สุนทรภู่รับราชการในกรมพระอาลักษณ์   ที่กรมพระอาลักษณ์มีหนังสือเอกสาร
ให้ได้อ่านมากมาย   และยิ่งสมัยต้นรัตนโกสินทร์เป้นสมัยที่มีการฟื้นฟูอักษรศาสตร์ต่อเนื่องมาจากสมัยกรุงธนบุรี
ประกอบบ้านเมืองมีศึกสงครามน้อยลง   เป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างสรรค์ศิลปะ วัฒนธรรม  วรรณคดีให้งอกงามขึ้น
เพื่อทดแทนสิ่งที่สูญและเสียหายไปจากคราวที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒  การฟื้นฟูช่วงรัชกาลที่ ๑-๒-๓หรือแม้ ๔
ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจีนมากมาโดยลำดับ  การแปลวรรณกรรมจีนมาเป็นภาษาไทยในสมัยรัชกาลที่ ๑-๒
แม้จะมีไม่มาก แต่วรรณกรรมที่แปลนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญ  ซึ่งเป้นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวจีน   แม้แต่งิ้ว (ลั่นถั่น) ที่แสดงในเมืองไทย
ก็มักนำมาเล่นให้คนดูกันอยุ่เสมอ   สุนทรภู่อยู่ในสังคมช่วงนั้นก็คงได้รับรู้เช่นกัน  เพราะราชสำนัก และวัดวา
ก็เป็นแหล่งที่ได้รับอิทธิพลเหล่านี้อย่างชัดเจน   


อนึ่งเพลงปี่พระอภัยมณีนั้น  จะเอาเฉพาะเพลงปี่ตอนใดตอนหนึ่งมาพิจารณาโดยไม่ดูภาพรวมคงจะทำให้เข้าใจ
บทบาทหน้าที่ของปี่ในเรื่องนี้ได้ไม่ครบถ้วนเท่าที่ควร   เพลงของพระอภัยมณีไม่ได้เป็นไปเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง
พระอภัยมณีไม่ได้เป่าปี่เพื่อจะหาเลี้ยงชีพหรือเพื่อสร้างความสนุกสนานแก่ตนเองและผู้อื่น  ทุกครั้งที่เป่าปี่
ย่อมมีเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องชักปี่ขึ้นมาเป่า  เมื่อเป่าปี่แล้วย่อมเกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ว่าร้ายหรือดี
ที่สำคัญ อย่าลืมความตอนต้นที่อาจารย์สอนวิชาเป่าปี่แก่พระอภัยมณี  ท่านสอนพระอภัยว่าอย่างไร
ถ้าพิจารณาจุดเริ่มต้น  ปลายจะไม่แกว่ง  และเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับขลุ่ยของพระกฤษณะ  จะเห็นได้ว่ามีความเหมือนและความแตกต่าง
ขลุ่ยของพระกฤษณะเป็นเครื่องดนตรีที่สร้างความสนุกสนานในหมู่ผู้เลี้ยงโค  สามารถลืมความทุกข์ความโศกประหนึ่งว่าหลุดเข้าไปในภวังค์
หรืออยู่ในโลกความฝัน  เมื่อหมดสนุกก็จำอะไรไม่ได้   ปี่ของพระอภัยมณีสนุกสนานอย่างนั้นหรือเปล่า

มีสหายผู้หนึ่ง เป็นจำพวกชอบคิดต่าง   สหายบอกว่า นี่ถ้าสุนทรภู่ได้เดินทางไปเขตที่ราบสูงไปสักการะพระธาตุพนม
ได้ไปเห็นผู้บ่าวเป่าแคนเกี้ยวสาว ไม่แน่ว่า  พระอภัยมณีอาจจะกลายเป็นหมอแคนก็ได้   (แต่ก็ไม่ควรลืมประกาศรัชกาลที่ ๔
เรื่องห้ามเล่นแคนด้วย อิอิ)  หรือถ้าสุนทรภู่อยู่มาจนถึงรัชกาลที่ ๕ 
ใครจะรู้  สุนทรภู่อาจจะสร้างให้พระอภัยกับสามพราหมณ์เล่นแตรวงก็ได้   

แหม  สหายก็คิดสนุกจนตามไม่ทัน   ;D


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: bahamu ที่ 30 ก.ค. 12, 10:23
ในปี พ.ศ.2373 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่ามีพราหมณ์เทศท่านหนึ่งเดินทางเข้ามายังพระนคร
มีนามว่าพราหมณ์อัจจุตะนันนำมาแต่ชมพูทวีป และได้ให้การถึงความเป็นไปในเมืองพาราณสีบ้านเกิด

แม้เนื้อความจะเป็นที่ถกเกถียงถึงข้อเท็จจริงทั้งในส่วนของผู้ให้การและคำแปล แต่เรื่องนี้ก็เป็นพยานว่ากรุงเทพมหานคร
มีการติดต่อสื่อสารกับพราหมณ์เทศมาตั้งแต่เริ่มแรก และพราหมณ์เหล่านี้ย่อมนำมาซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีตามลัทธิของตนเข้ามาเผยแพร่ด้วย


หลักฐานทีทำให้เราเชื่อได้ว่าลัทธิความเชื่อแบบพราหมณ์อินเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อแนวคิดของคนกรุงเทพฯ ก็คือ
สมุดภาพ ‘ตำราเทวรูปและเทวดานพเคราะห์’ ซึ่งมีถึง 5 เล่มสมุดไทย

ที่สันนิษฐานว่าผู้ที่โปรดให้สร้างขึ้นก็คือเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ พระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ในราวๆรัชกาลที่ 4
โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้ภาพต้นแบบในการเขียนภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส, วัดสุทัศน์เทพวราราม และอีกหลายๆ แห่ง
ตำราภาพเหล่านี้ปรากฏภาพเทพเจ้าพระองค์ต่างๆในปางต่างๆกันไป ตั้งแต่พระมหาเทพทั้งสามและอวตารในรูปแบบต่างๆ
เรื่อยไปจนถึงพระศักติและเทพชั้นรอง อาทิ พระอุมาเทวี, พระลักษมีเทวี, พระขันธกุมาร, พระพิฆเณศวร เป็นต้น

และบางภาพแม้ชื่อที่จารไว้ข้างภาพจะเพี้ยนไปบ้าง แต่เราก็ยังสามารถเทียบเคียงภาพเทพเจ้าต่างๆนั้นกับภาพเทพเจ้าตามคติอินเดีย อาทิ
ภาพพระปรเมศวรปราบมุลาคะนีในสมุดไทยดำเลขที่ 32กับพระศิวะนาฎราช, ภาพพระอิศวรสร้างพระหิมพานในร่มไม้สกรมในสมุดไทยดำเลขที่ 70 กับพระทักษิณามูรติ

และที่สำคัญคือ "พระนารายณ์ทรงขลุ่ยปราบอสูรเวรำภา"(ค้นไม่พบ) กับภาพพระพลเทพถือไทยในพระสมุทรูปพระไสยสาตร เลขที่ 33

กับพระกฤษณะและพระพลราม ซึ่งทำให้เราทราบว่าอย่างน้อยผู้คนในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 4
ก็คุ้นเคยกับรูปพระกฤษณะในฐานะอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ รวมไปถึงยังรู้จักพระพลราม ในชื่อ พระพลเทพ อีกด้วย

หลักฐานสำคัญอีกชั้นหนึ่งที่ยืนยันว่าชาวกรุงเทพรู้จักมหากาพย์มหาภารตยุทธอย่างดีก็คือ คำฉํนท์นิพนธ์เรื่อง ‘กฤษณาสอนน้องคำฉํนท์’
ซึ่งสันนิษฐานว่าพระยาราชสุภาวดีและพระภิกษุอินทร์แต่งขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช มีเค้าโครงเนื้อหามาจากชีวิตของนางเทราปตี หรือนางกฤษณาในที่นี้

http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=3760.0 (http://www.hindumeeting.com/forum/index.php?topic=3760.0)


ตำนานการฟ้อนรำ

ณ ป่าตรรกะ (Taraka) เหล่าฤาษีทั้งชายและหญิงประพฤติตนไม่เหมาะสม อนาจารฝ่าฝืนเทวบัญญัติ
พระศิวะต้องการทรมานให้รู้สำนึกและกลับตัว พระศิวะจึงแปลงกายเป็นพราหมณ์ พระนารายณ์แปลงกายเป็นหญิงงามยั่วยวนเหล่าฤาษี
เพื่อให้คลั่งไคล้ไหลหลงและทะเลาะแย่งเป็นเจ้าของ เมื่อทรมานพอแล้ว ทั้งสององค์ก็กลับสู่ร่างเดิม

พอพวกฤาษีชั่วเห็นว่าเป็นพระศิวะกับพระนารายณ์แปลงกายมาหลอกลวงก็โกรธแค้น ก็เสกเสือให้ฆ่าพระศิวะ
แต่ก็ถูกพระศิวะถลกหนังเสือเป็นภูษาทรง ฤาษีจึงเสกนาคมาทำร้ายอีก พระศิวะก็ฆ่าแล้วเอามาคล้องคอเป็นสังวาลย์
พระศิวะทรงฟ้อนรำและแสดงปาฏิหาริย์ต่างๆ ให้ฤาษีกลัว ขณะนั้นมียักษ์มุยะละกะ หรืออปัสมาปุรุษ ปรากฏตัวมาช่วยฤาษี
พระศิวะจึงใช้พระบาทเหยียบยักษ์แล้วฟ้อนรำต่อจนครบ 108 ท่าจนพวกฤาษียอมแพ้ในที่สุด

การร่ายรำของพระศิวะในครั้งนี้เป็นที่เลื่องลือและยกย่องของเหล่าเทพ ต่อมาพญาอนันตนาคราชได้อ้อนวอนให้พระอิศวรฟ้อนรำอีกครั้ง
พระอิศวรจึงสัญญาว่าจะฟ้อนรำอีกครั้งที่ตำบลจิทัมพรัม (ในอินเดียใต้) อันเป็นดินแดนที่อยู่กลางจักรวาล
ครั้นถึงวันกำหนด พระอิศวรก็เสด็จลงมา โดยทรงเนรมิตสุวรรณศาลา และฟ้อนรำตามที่ได้สัญญาไว้
ซึ่งต่อมาได้มีการรวบรวมท่าฟ้อนรำทั้ง 108 ท่าเป็นตำราทางนาฏยศาสตร์ต่อไป คัมภีร์เล่าว่าระหว่างการฟ้อนรำ

พระสรัสวดีทรงดีดพิณ
"พระอินทร์ทรงเป่าขลุ่ย"
พระพรหมทรงตีฉิ่ง
พระลักษมีทรงขับร้อง
พระวิษณุทรงตีกลอง
และเทพบุตรนนทิตีตะโพน

http://my.opera.com/sawasdeeholidays/blog/ (http://my.opera.com/sawasdeeholidays/blog/)

http://fda.bpi.ac.th/View/th_dance1.html (http://fda.bpi.ac.th/View/th_dance1.html)


ดนตรีมีองค์ ๕ คือ
๑. อาตตะ กลองขึงหนังหน้าเดียว
๒. วิตตะ ตะโพน
๓. อาตตวิตตะ บัณเฑาะว์
๔. สุสิระ ปี่หรือขลุ่ย
๕. ฆนะ ดาลที่เคาะด้วยศิลาและแผ่นเหล็ก (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๔๖/๒๕๙, อภิธา.คาถา ๑๓๙-๑๔๐)

http://www.วัดลอมพระเจ้าตอง.com/tripitaka/document_tripitaka_1/document_1_1.pdf (http://www.วัดลอมพระเจ้าตอง.com/tripitaka/document_tripitaka_1/document_1_1.pdf)


ท่วงท่าการเป่าปี่แบบไทย สง่างามกว่า มีสมดุลแสดงความมุ่งมั่นในคีตบรรเลง
รูปทรงปี่ใน คล้ายโอโบของฝรั่ง(เสียงหวานกว่าปี่)

โอโบ(ปี่เหล็ก) จัดว่าเป็นเครื่องเป่าลมไม้ที่มีระบบลิ้นคุ่ กล่าวคือมีลิ้น สองชิ้นประกบกันอยู่
โอโบมีพื้นฐานมาจาก     ปี่สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ( Renaissance) ที่มีชื่อว่า Shawm(ปี่ไม้)

โอโบสมัยปัจจุบันได้ปรับปรุงมาในศตวรรษที่ 17     โดยนักประดิษฐ์เครื่องดนตรีชาวฝรั่งเศสและเยอรมัน
เสียงของโอโบคล้ายเสียงที่ออกทางจมูกหรือที่เรียกว่าเสียงนาสิก( nasal Tone) คือมีลักษณะบีบ ๆ และแหลมคม

ยังมีปี่ที่ลักษณะคล้ายกับโอโบอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า อิงริช ฮอร์น ( English horn) ซึ่งมีลักษณะ
ใหญ่กว่าโอโบเล็กน้อย จึงมีเสียงที่ต่ำกว่า โอโบปรากฎอยู่ในออร์เครสตร้า ในศตรวรรษที่ 19

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=191964 (http://www.oknation.net/blog/print.php?id=191964)


เครื่องประเภทลิ้นคู่ (Double reed)

1) โอโบ (Oboe) เป็นปี่ลิ้นคู่ที่เก่าแก่ที่สุดชาวอียิปต์โบราณ ได้เคยใช้ปี่ที่มีลักษณะ คล้ายคลึงกับปี่โอโบ เมื่อประมาณ 3,500 ปีมาแล้ว ก่อนคริสต์กาล
ชาวกรีกและชาวโรมันโบราณ มีปี่ลิ้นคู่ชนิดหนึ่งเรียกว่า "ออโรส" (Aulos) โอโบลำตัวยาวประมาณ 25.5 นิ้ว เป็นรูปทรงกรวย ทำด้วยไม้หรืออีบอไนท์

ส่วนลิ้นคู่นั้นทำจากไม้ที่ลำต้นมีข้อและปล้อง จำพวก กก หรือ อ้อ ที่ขึ้นในแถบเมดิเตอร์เรเนียน ลิ้นของปี่โอโบ ได้รับการผลิตอย่างปราณีตมาแล้วจากโรงงาน
ผู้เล่นส่วนมากนิยมนำมาตกแต่งเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับริมฝีปากของตนเอง
โอโบเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยากมาก คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าโอโบต้องใช้ลมเป่ามาก แต่ความจริงหาแล้วแม้แต่เด็กผู้หญิงก็สามารถเป่าได้

สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญอยู่ตรงที่ลิ้นคู่หรือลิ้นแฝด ผู้เล่นต้องสามารถเม้มริมฝีปาก และเป่าลมแทรกลงไประหว่างลิ้นคู่ทั้งสองที่บอบบาง เข้าไปในท่อลม
เทคนิคการควบคุมลมให้สม่ำเสมอเป็นสิ่งจำเป็นมากจึงต้องฝึกฝนกันเป็นเวลานาน

ช่วงเสียงของโอโบกว้างประมาณ 2 ออคเทฟครึ่ง เริ่มตั้งแต่ B flat ต่ำถัดจาก C กลาง สำเนียงของโอโบ ไม่สง่าผ่าเผยเหมือนฟลูท มีลักษณะแบน ๆ คล้ายเสียงออกจมูก
เหมาะสำหรับทำนอง เศร้า ๆ "บรรยากาศของธรรมชาติและลักษณะของดินแดนทางตะวันออก" หน้าที่ที่สำคัญของโอโบอีกอย่างหนึ่งคือ
เป็นเครื่องเทียบเสียงของวงออร์เคสตรา (A tuning fork for the orchestra) ก่อนการบรรเลงเครื่องดนตรีต่าง ๆ จะต้องเทียบเสียง "ลา" (A)

http://www.lks.ac.th/band/page7_2.htm (http://www.lks.ac.th/band/page7_2.htm)

http://en.wikipedia.org/wiki/Shawm (http://en.wikipedia.org/wiki/Shawm)

http://www.ollusa.edu/s/1190/ollu.aspx?sid=1190&gid=1&pgid=2561 (http://www.ollusa.edu/s/1190/ollu.aspx?sid=1190&gid=1&pgid=2561)


จริงๆสุนทรภู่ น่าจะรู้จัก Shawm และใช้เป็นปี่ในพระอภัยมากกว่าปี่ในของไทย จึงไม่ปรากฏรายละเอียดที่แน่ชัดในเรื่อง

แล้วพาไปยอดเขาให้เป่าปี่          ที่อย่างดีสิ่งใดก็ได้สิ้น 
แต่เสือช้างกลางไพรถ้าได้ยิน        ก็ลืมกินน้ำหญ้าเข้ามาฟัง
ประมาณเสร็จเจ็ดเดือนโดยวิถาร   พระกุมารได้สมอามรณ์หวัง   
สิ้นความรู้ครุประสิทธิ์ไม่ปิดบัง   จึงสอนสั่งอุปเท่ห์เป็นเล่ห์กล   
ถ้าแม้นว่าข้าศึกมันโจมจับ       จะรบรับสารพัดให้ขัดสน   
เอาปี่เป่าเล้าโลมน้ำใจคน           ด้วยเล่ห์กลโลกาห้าประการ   
คือรูปรสกลิ่นเสียงเคียงสัมผัส   เกิดกำหนัดลุ่มหลงในสงสาร   
ให้ใจอ่อนนอนหลับดังวายปราณ   จึงคิดอ่านเอาไชยเหมือนใจจง   
แล้วให้ปี่ที่เพราะเสนาะเสียง             ยินสำเนียงถึงไหนก็ไหลหลง

ดนตรีมีคุณที่ข้อไหน หรือใช้ได้แต่ข้างเที่ยวเกี้ยวผู้หญิง
พระฟังความพราหมณ์น้อยสนองถาม  จึงเล่าความจะแจ้งแถลงไข 

อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไร  ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์ 
ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช  จตุบาทกลางป่าพนาสิณฑ์ 
แม้นปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน  ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา 
ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ  อันลัทธิดนตรีดีนักหนา 
ซึ่งสงสัยไม่สิ้นในวิญญาณ์  จงนิทราเถิดจะเป่าให้เจ้าฟัง

http://hilight.kapook.com/view/24152 (http://hilight.kapook.com/view/24152)

http://www.thaigoodview.com/library/studentshow/2549/m6-1/no24-30-39/243239/praapai/sec04p02.htm (http://www.thaigoodview.com/library/studentshow/2549/m6-1/no24-30-39/243239/praapai/sec04p02.htm)


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: bahamu ที่ 30 ก.ค. 12, 13:04
oboe หรือปี่ไม้ มีปรากฏในนิทานพี่น้องตระกูลกริมส์


The Pied Piper of Hamelin นักเป่าปี่

ในปี 1284เมืองฮาเมลินในเกิดมีฝูงหนูแพร่พันธุ์เป็นจำนวนมาก ชาวเมืองต่างก็เดือดร้อนเนื่องจากหนู่เหล่านี้นอกจากจะกัดแทะเสบียงอาหารแล้ว
พวกมันยังเป็นพาหะนำโรคร้ายมาอีกด้วย แม้แต่แมวก็ยังต้องหนีเพราะหนูซึ่งมีจำนวนมากมายนั้นถึงกับเข้ามารุมทำร้ายแมวเสียด้วยซ้ำ
บรรดาชาวเมืองจึงพากันออกเงินรวมกันก้อนหนึ่งเพื่อให้เป็นรางวัลแก่ผู้ที่จะมาปราบหนูเหล่านี้ได้ ในยามนี้เองที่ปรากฏชายลึกลับผู้หนึ่งเสนอตัวจะปราบหนูขึ้นมา
ชาวเมืองก็ให้คำสัญญาว่าจะให้สิ่งตอบแทนใดๆก็ได้ตามที่เขาต้องการ

เมื่อตกลงกับชาวเมืองเรียบร้อย ชายลึกลับก็หยิบปี่ถุงออกมาและเป่าพร้อมกับออกเดินไป ท่ามกลางสายตาสงสัยของชาวเมืองนั้นเอง หนูก็พากันวิ่งออกมา
หนูทั้งหลายจากทั่วมุมเมือง พากันเดินตามหลังชายเป่าปี่ไปราวกับหลงไหลในเสียงเพลงของเขา และเมื่อไปถึงแม่น้ำเวเซอร์ซึ่งอยู่ใกล้เมือง
ชายนักเป่าปี่ก็หยุดยืนอยู่ริมแม่น้ำ ในขณะที่ฝูงหนูพากันกระโจนลงน้ำไปเรื่อยๆ จนในไม่ช้าก็ไม่มีหนูเหลืออยู่แม้แต่ตัวเดียว

ชายนักเป่าปี่กลับมาในเมืองและเรียกร้องของค่าจ้างของตัวเอง หากชาวเมืองที่นึกเสียดายเงินขึ้นมาจึงปฏิเสธโดยกล่าวว่า
"นักเป่าปี่ไม่ได้ทำอะไรเสียหน่อย พวกหนูกระโดดลงน้ำไปเองต่างหาก" และยังขู่จะจับขังนักเป่าปี่อีกด้วยถ้าเขายังมามัวตื๊ออยู่

นักเป่าปี่โกรธแค้นและกล่าวทิ้งท้ายว่า "พวกคุณต้องรักษาสัญญา ฉันจะเอาสิ่งสำคัญที่สุดของพวกคุณไป" หากไม่มีใครสนใจ ยังกลับหัวเราะเยาะเขาเสียอีก

และแล้ววันหนึ่ง นักเป่าปี่กลับมายังเมืองฮาเมลินอีกครั้ง เขาเริ่มเป่าปี่บนถนน และทันใดนั้นเอง
เด็กๆที่มีอายุมากกว่า 4 ปีต่างก็มารวมกันและเดินตามเขาไปจนในไม่ช้าเด็กชายหญิงจำนวนกว่า 130 คน
ต่างก็เต้นรำร้องเพลงตามทำนองของเสียงปี่ออกไปนอกเมือง และไม่มีใครได้เห็นพวกเขาอีกเลย

ไม่ว่าชาวเมืองจะโศกเศร้าเสียใจและพยายามค้นหาเด็กๆเหล่านั้นเช่นไร เด็กที่หายไปและชายนักเป่าปี่ก็ไม่ได้ปรากฏตัวขึ้นที่ฮาเมลินอีกเป็นครั้งที่สอง


อย่างที่เห็นข้างต้นค่ะ นิทานเรื่องนี้ คาดว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักล่ะ แต่บล๊อกนี้ไม่มีทางจะมานั่งเล่านิทานโดยไม่มีปี่มีขลุ่ยค่ะ

คราวนี้เราจะมาพูดถึงเมืองฮาเมลิน (Hamelin หรือHameln ในภาษาเยอรมัน) และความจริงในประวัติศาสตร์ของเมืองนี้กัน

ฮาเมลินเป็นเมืองในแคว้นเนียเดอร์แซสเซน ประเทศเยอรมันนี ปัจจุบันมีประชาการประมาณ 60,000 คน
เมืองนี้อยู่เลียบแม่น้ำเวเซอร์ ใกล้กับถนนเมลเพนอันมีชื่อเสียง แต่ที่เมืองนี้มีชื่ออยู่ในความทรงจำของคนส่วนใหญ่นี้เป็นเพราะนิทานเรื่องข้างต้นนี้เอง
ซึ่งนิทานเรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าของเหตุการณที่เกิดขึ้นจริงเมื่อกว่า 700 ปีก่อน
ต้นแบบของมันคือเรื่องราวประหลาดในกระจกสีของโบถส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นประมาณปี 1300 เป็นที่น่าเสียดายที่กระจกสีนี้ปัจจุบันถูกทำลายไปแล้ว
กระจกสีอันปัจจุบันเป็นบานใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นตามบันทึกที่เหลือไว้



"วันที่ 26 มิถุนายน 1284 เมืองฮาเมลิน ประเทศเยอรมันเกิดคดีเด็กจำนวนกว่า 130 คนหายสาบสูญไปอย่างกะทันหัน"
นั่นเป็นความจริงอย่างเดียวที่ถูกเหลือไว้ในบันทึกปี 1440 ซึ่งเป็นบันทึกเก่าที่สุดเท่าที่เหลืออยู่ (เรื่องของหนูถูกเพิ่มเข้ามาราวศตวรรษที่ 16)
ไม่มีใครทราบแน่นอนว่าเรื่องราวเป็นเช่นไร และเด็กๆหายไปได้อย่างไร หากด้วยเหตุนี้เมืองฮาเมลินจึงมีการตั้งกฏว่าห้ามร้องเพลงเต้นรำบนถนนที่ถูกกำหนดไว้อยู่เป็นเวลานานทีเดียว

จะอย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องนี้ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี 1606 โดยริชาร์ด โลรัน เวลส์เทกัน เวลาของคดีก็กลายเป็น 22 กรกฎาคม 1376
และเมื่อพี่น้องตระกูลกริมม์ทำการเรียบเรียงเรื่องนี้ในปี 1816 ก็ได้มีการเพิ่มเรื่องของเด็กขาแพลงกับเด็กตาบอดซึ่งไม่ได้หายตัวไปลงไปด้วย


มีการสันนิษฐานเกี่ยวกับสาเหตุมากมาย และที่มีมูลมากที่สุดได้แก่ 4 ทฤษฎีข้างล่างนี้

- เด็กๆเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ (จนน้ำในแม่น้ำเวเซอร์หรือตายในภูเขาฮอบเปนเบิร์ก)
วันที่ 26 มิถุนายน 1284 เป็น"วันเซนต์โยฮันส์และเปาโล" ฮาเมลินมีธรรมเนียมจะจุดไฟบนภูเขาฮอบเปนเบิร์กซึ่งมีภูมิประเทศเป็นหน้าผาตัด
ข้างล่างเป็นบึงลึกเป็นไปได้ว่าเด็กๆได้พากันขึ้นเขานี้ไปตอนกลางคืนและเดินตกผาไป

- เกิดโรคระบาดขึ้นและเด็กถูกพาไปอยู่ที่อื่น
ยุโรปเคยมีกาฬโรคระบาดซึ่งก็ตรงกับปี 1376 ในฉบับของผู้เขียนอีกคน นักเป่าปี่อาจจะเป็นเครื่องหมายแทนยมฑูตก็เป็นได้

- เด็กๆพากันรวมตัวออกไปจาริกแสวงบุญและไม่ได้กลับมาอีก
ในกรณีนี้ นักเป่าปี่ก็คือหัวหน้ากลุ่มนักเดินทาง

- เด็กๆพากันออกจากหมู่บ้านไปเพื่อสร้างหมู่บ้านใหม่
ในช่วงปีนี้เป็นยุคที่มีหมู่บ้านใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย เด็กชาวเมืองฮาเมลินอาจจะเป็นหนึ่งในนั้นก็ได้

จะอย่างไรก็ดี ในบันทึกซึ่งถูกค้นพบเมื่อปี 1602 ได้มีจารึกไว้ดังนี้

"ปี 1284 วันเซนต์โยฮันส์และเปาโล 26 มิถุนายน
นักเป่าปี่ใส่เสื้อหลากสีหลอกล่อเด็กๆ 130 คนออกมาจากเมืองฮาเมลินหายไปยังลานนักโทษใกล้เนินเขา"

เนินเขาดังกล่าวนี้น่าจะหมายถึงหนึ่งในจำนวนเนินเขามากมายที่ล้อมเมืองอยู่ แต่ก็ไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าเนินเขาที่ว่านี่คืออันไหนกันแน่


http://ohx3.exteen.com/20061026/the-pied-piper-of-hamelin (http://ohx3.exteen.com/20061026/the-pied-piper-of-hamelin)


เบื้องหลังความโหดร้ายของนิทานก่อนนอน

http://www.thaigoodview.com/node/63261 (http://www.thaigoodview.com/node/63261)

http://atcloud.com/stories/84500 (http://atcloud.com/stories/84500)

Pied Piper of Hamelin

http://en.wikipedia.org/wiki/Pied_Piper_of_Hamelin (http://en.wikipedia.org/wiki/Pied_Piper_of_Hamelin)


สุนทรภู่อาจได้รับฟังนิทานเรื่องนี้ จากพวกยุโรปที่เดินทางมายังกรุงเทพก็ได้ เพราะนิทานเรื่องนี้ในยุโรปเป็นที่รู้จักในวงกว้าง


Donor: Moselle Alexander (Mrs. George) McLendon
The Pied Piper of Hamelin
 Haskins Studio, Rochester, New York, 1924

http://www.baylor.edu/abl/index.php?id=48322 (http://www.baylor.edu/abl/index.php?id=48322)


กระทู้: ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 30 ก.ค. 12, 14:40
อือม์  เยอะนะเนี่ย    :o