เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 21 เม.ย. 12, 22:45



กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 เม.ย. 12, 22:45
เอ้า ถามมั่ง กูรูภาษาไทยประจำห้อง กรุณาค้นคำตอบให้หน่อย

ระเบียง  เฉลียง  นอกชาน ท่านเข้าใจว่าต่างกันอย่างไรครับ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 เม.ย. 12, 08:50
ความหมายของท่านรอยอิน

เฉลียง [ฉะเหฺลียง] น. ส่วนของเรือนที่ต่อออกมาด้านหัวและท้ายเรือน สําหรับนั่งเล่นหรือเดินติดต่อกันเป็นต้น.

ระเบียง น. พื้นเรือนที่ต่อออกไปทางด้านข้าง มีหลังคาคลุม.

นอกชาน น. พื้นเรือนที่ยื่นพ้นชายคาระเบียงออกมา.

รอท่านสถาปนิกใหญ่มาขยายความ

 ;D


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 12, 19:40
ส่งการบ้านค่ะ  ไม่รู้ว่าถูกหรือเปล่า
รูปที่ 1  เฉลียง
รูปที่ 2  ระเบียง
รูปที่ 3  นอกชาน


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 12, 19:47
แต่ใน ๒ รูปนี้ ไม่แน่ใจว่าเขาเรียกว่าอะไร
รูปซ้าย ตรงพื้นที่ชั้นบนที่มีลูกกรงกั้น เรียกว่าระเบียงหรือเฉลียง   และพื้นล่างที่มีร่มกางอยู่  เรียกว่านอกชานใช่หรือไม่
รูปขวา  พื้นที่ว่างเหนือบันได เรียกว่าเฉลียงหรือนอกชาน   ถ้ามีหลังคาคลุมเรียกว่าเฉลียง  ถ้าไม่มีหลังคาคลุมเรียกว่านอกชานใช่ไหมคะ?


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 22 เม.ย. 12, 20:17
ขอเพิ่มอีกคำนะคะ อาจารย์
"หน้ามุข"


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 12, 20:34
ผู้รู้ตัวจริงยังไม่เข้ามาตอบ   ก็เลยมีผู้รู้ไม่จริงขัดตาทัพไปก่อนค่ะ
เข้าใจว่าส่วนประกอบมีหลังคาคลุมที่ยื่นออกมาทางหน้าบ้าน  เรียกว่าหน้ามุข ค่ะ  (มุข แปลว่า หน้า)
บางทีก็เป็นห้อง  บางทีก็เป็นที่ว่าง มีลูกกรงกั้นแทนผนัง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 08:10
ที่ผมตั้งคำถามนี้ขึ้น ก็เพราะเห็นว่าเรามีความสับสนในการใช้คำว่าเฉลียงและระเบียงมาตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว ทั้งก่อนและหลังราชบัณฑิตสภาจะบัญญัติศัพท์ที่คุณเพ็ญค้นมาให้ดูนั่น

สมัยที่เรียนอยู่ที่คณะสถาปัตย์ ไม่มีครูบาอาจารย์ท่านใดเคยสอนเรื่องนี้ จะว่ามี แต่ไม่เข้าหูผม เพราะบังเอิญไปตรงกับช่วงที่ผมโดดเรียนพอดี ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะในวิชาออกแบบเขียนแบบ ก็เห็นว่าทุกคนก็ใส่กันสะเปะสะปะ คำว่าเฉลียงและระเบียงนั้น เราเข้าใจว่าเหมือนกัน อยากจะใช้คำใดก็เขียนลงไปในแบบ ไม่เคยได้ยินว่าใครถามใครตอบว่าผิดหรือถูก ครูบาอาจารย์ไม่เคยทักไม่เคยแก้ เอาอย่างนี้แล้วกัน หนังสือวิชาการที่สมาคมสถาปนิกผลิตออกมานั้น บรรยายรูปประกอบยังใช้คำว่าเฉลียงและระเบียงสับสนกับที่ราชบัณฑิตนิยามไว้ แต่คงไม่มีใครสังเกตุความสับสนดังกล่าว ผมเองแม้จะสงสัยศัพท์สองคำนี้มานาน แต่ตอนที่พยายามค้นคว้าหาคำตอบที่จะเขียนในกระทู้นี้แหละ ยิ่งใช้อินทรเนตรสอดส่องลงไปที่ไหน ก็เห็นว่าสถาปนิกทั้งหลายมีนิยามของตนเองในใช้คำว่าเฉลียงและระเบียง โดยไม่คำนึงถึงคำนิยามของราชบัณฑิตเลยสักนิดเดียว

จึงอยากจะเชิญชวน นักอักษรศาสตร์ หรือนักโบราณคดี และโดยเฉพาะนักอ่านที่ชำนาญทางวรรณคดีไทย เคยผ่านหูผ่านตามาเวลากวีสมัยก่อนบรรยายถึงส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารบ้านเรือน มีไหมที่เกี่ยวข้องกับคำเหล่านี้ ซึ่งผมขอตั้งเป็นหัวข้อของกระทู้ใหม่ว่า

ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา

เผื่อว่า เราจะได้ที่มาที่ไปอย่างถูกต้องของศัพท์แสงดังกล่าว และบางที จะเป็นประโยชน์ในการที่สถาปนิกทั้งหลาย(รวมถึงสถาปนิกที่เป็นราชบัณทิตด้วย) จะพึงทบทวนการใช้ศัพท์บัญญัติ ที่ถูกต้อง และเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ขอรบกวนท่านอาจารย์เทาชมพูช่วยกรุณาแยกออกจากกระทู้นี้ตรงไหนก็ได้ครับ แล้วแต่จะเห็นสมควร เพราะเรื่องใหม่นี้จะมีประเด็นมาก ผิดหัวข้อเรื่องเดิมที่ท่านตั้งตั้งไว้ ผู้ที่ยังติดใจเรื่องหลังคาไทยๆจะได้เข้ามาว่าต่อกันได้โดยสะดวก



กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 08:53
เคยเรียนมาเหมือนกันค่ะ  อย่างที่ราชบัณฑิตฯหรือรอยอินบอกไว้

คำว่า "ชาน" เป็นคำอันดับแรกที่นึกขึ้นได้   ในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน  บอกไว้ชัดเจนว่า
โจนลงกลางชานร้านดอกไม้                ของขุนช้างปลูกไว้อยู่ดาษดื่น
รวยรสเกสรเมื่อค่อนคืน                      ชื่นชื่นลมชายสบายใจ
กระถางแถวแก้วเกดพิกุลแกม               ยี่สุ่นแซมมะสังดัดดูไสว
สมอรัดดัดทรงสมละไม                      ตะขบข่อยคัดไว้จังหวะกัน

เรือนไทยหมู่แบบเรือนขุนช้างมีรั้วล้อมรอบตัวเรือน   ไม่ใช่ล้อมรอบพื้นที่บ้านอย่างบ้านเราสมัยนี้     เมื่อขุนแผนจะขึ้นเรือนก็ต้องปีนข้ามรั้ว     ปีนขึ้นแล้วก็โจนลงมาบนพื้นกระดาน แสดงกิริยาองอาจแบบไม่กลัวใคร  ไม่ใช่ปีนแล้วค่อยๆโหนตัวหล่นตุ้บลงมาจากรั้ว   ยังงั้นไม่สง่าสมเป็นพระเอก
พื้นที่กลางแจ้งในตัวเรือนหมู่   เป็นที่วางต้นไม้พวกไม้ดัด ซึ่งเป็นคอลเลคชั่นของเศรษฐีไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์    พวกนี้เอาไว้ในเรือนไม่ได้ เดี๋ยวตายหมด
จึงดูออกว่า ชาน ที่เรียกนั้นคือพื้นที่ปูไม้กระดานระหว่างเรือน     แต่ก็เกิดมีคำว่า นอกชาน ให้งงขึ้นมาอีกว่า ด้านนอกของชานคือตรงไหน   เข้าใจว่าความหมายเดียวกัน  ???
ข้างบนนี้บอกว่าขุนแผนโจนลง "กลางชาน"  ก็คือกลางพื้นที่ว่างระหว่างเรือนนี่ละค่ะ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 23 เม.ย. 12, 09:01
นึกได้อีกคำหนึ่งค่ะ แต่คำนี้ชัด ใช้เฉพาะบ้านทรงไทย

พะไล หรือ พาไล


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 09:21
^
ติดพะไล หรือ พาไลนี้ไว้ก่อนนะครับ


ขุนช้างขุนแผน ตอนพลายงามขึ้นเรือนเข้าหาศรีมาลา มีบทกลอนตอนหนึ่งว่า

อีเม้ยรับหลับอยู่ที่เฉลียง      ได้ยินเสียงนายร้องก็จำได้
ลุกขึ้นด้วยตระหนกตกใจ      เข้าห้องในมองเมียงถึงเตียงพลัน

น่าสงสัยว่าอีเม้ยไปนอนอยู่ส่วนไหนของเรือนไทยโบราณ
      


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 09:32
เรือนไทย ทำด้วยไม้ การจะยื่นส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารออกไปแขวนไว้เฉยๆทำได้ยาก ไม่เหมือนคอนกรีต จึงไม่ค่อยจะนิยมทำกัน

อนึ่ง คนไทยไม่รู้จะไปนั่งตากอากาศให้ยุงกัดอยู่ที่พื้นที่แคบๆนั้นทำไม ในเมื่อมีชานเรือนกว้างใหญ่สบายๆอยู่แล้ว


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 09:43
ย้อนกลับไปนึกถึงวรรณคดีไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์    นึกไม่ออกว่ามีระเบียงหรือเฉลียงอยู่ในเรื่อง    นางในวรรณคดีทั้งหลายไม่เคยยืนบนระเบียงหรือเฉลียง  แต่อยู่ในห้องกันเป็นส่วนใหญ่ ถ้าจะสบตาพระเอกก็ล้วนแต่คุณเธอเปิดหน้าต่างออกมาเห็นทั้งนั้น    เช่นนางสีดาเปิดพระแกลออกมาเห็นพระรามตอนเดินทางเข้าเมืองจะมายกศร      
อิเหนาแต่งถ้ำให้บุษบาตอนเตรียมจะลักตัว  ก็ให้บุษบาอุดอู้อยู่ในถ้ำ ไม่เห็นให้ประสันตาสร้างเฉลียงหรือระเบียงนอกถ้ำไว้ให้นั่งเล่นรับลมบ้างเลย

นางเอกทั้งหลายที่มีโอกาสยืนหรือนั่งบนเฉลียงและระเบียง    ล้วนแต่อยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมา  เพราะอิทธิพลฝรั่งเข้ามาทำให้อยู่บ้านทรงโคโลเนียล  มีเฉลียงหรือระเบียงให้ชมจันทร์ได้แล้ว   ก่อนหน้านี้จะชมจันทร์  ต้องออกไปนั่งบนชานกลางบ้าน

ในเรือนไทยภาคกลาง  พอก้าวข้ามธรณีประตูห้องออกมา ก็ถึงพาไล ค่ะ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 09:48
ม่ายช่าย?



เฉลียง   ส่วนของเรือนที่ต่อออกมาด้านหัวและท้ายเรือน สําหรับนั่งเล่นหรือเดินติดต่อกัน
ระเบียง พื้นเรือนที่ต่อออกไปทางด้านข้าง มีหลังคาคลุม
ชาน     พื้นที่นอกตัวเรือน
 
(ที่มา : พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542)

นอกชาน คือ พื้นที่ที่เป็นทางหรือลานไม้เชื่อมต่อระหว่างเรือนหลายหลังเข้าด้วยกัน บรรยากาศบริเวณนอกชานซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมระหว่างเรือนหลายหลังเข้าด้วยกัน มักปลูกต้นไม้ไว้ตรงกลางนอกชานเพื่อให้ความร่มรื่น สวนนอกชานส่วนใหญ่จะนิยมปลูกไม้กระถางซึ่งสามารถยกย้ายเปลี่ยนที่ได้

ชาน คือ ระเบียงที่อยู่ต่อเนื่องกับตัวเรือน ระเบียงนี้จะมีหลังคาคลุม และใช้เป็นที่ใช้สอยอเนกประสงค์

ข้างบนคือที่ผมลอกเขามา

ถ้าเป็นอย่างนั้น ชานและระเบียงบ้าน (ขอเน้นคำว่าบ้านหน่อย) ของเรือนไทยโบราณก็อยู่ตรงนี้


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 09:49
จึงอยากจะเชิญชวน นักอักษรศาสตร์ หรือนักโบราณคดี และโดยเฉพาะนักอ่านที่ชำนาญทางวรรณคดีไทย เคยผ่านหูผ่านตามาเวลากวีสมัยก่อนบรรยายถึงส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารบ้านเรือน มีไหมที่เกี่ยวข้องกับคำเหล่านี้ ซึ่งผมขอตั้งเป็นหัวข้อของกระทู้ใหม่ว่า

เพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ ของ คุณสุวรรณ (http://www.arts.chula.ac.th/~complit/etext/momped.htm)

เมื่อวันถวายเสภาเวลาหลัง               หม่อมเป็ดนั่งกับคุณโม่งที่ในเฉลียง  
กระซุบกระซิบกันสองคนบนระเบียง     ได้ยินออกชื่อเสียงก็ขัดใจ.....

ครั้นอรุณรุ่งรางสว่างฟ้า                   พระเดชพระคุณให้หาหม่อมเป็ดสวรรค์
เมื่อเพลาพลบค่ำทำไมกัน                จนชั้นเฉลียงเตียงหักกระจัดกระจาย 
หม่อมเป็ดทูลเบี่ยงเลี่ยงเจรจา            คนมานั่งฟังเสภามากหลาย
ตาแจ้งขับเสภาว่าแยบคาย               คนทั้งหลายไม่เคยฟังประดังมา
ประทุกมากหลายคนบนระเบียง          จนเฉลียงเก๋งหักลงหนักหนา
เป็นต้นเหตุผลเพราะเสภา                คนเข้ามาฟังนักจึ่งหักไป
พระทรงฟังกริ้วกราดตวาดดัง             ชะเจ้าช่างเบือนบิดคิดแก้ไข
เขาว่าเจ้านั่งอยู่สองคนบ่นร่ำไร           แคะไค้คมค้อนทำงอนรถ
กระทืบเท้าผึงผางกลางระเบียง           จนเฉลียงไม้สักเขาหักหมด
จะแกล้งมาพูดบิดเบี้ยวเลี้ยวลด          เขารู้พยศเจ้าทุกอย่างมาพรางกัน

อ่านดูแล้ว

ระเบียง กับ เฉลียง ดูจะเป็นที่เดียวกัน

 ;D


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 09:53
^
เยี่ยมเลยครับ

แสดงว่า ทั้งเฉลียงและระเบียง ต่างอยู่บนเรือนทั้งสิ้น ไม่ใช่ส่วนที่ยื่นไปนอกรั้วนอกเรือน


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 เม.ย. 12, 09:57
เข้ามาดู....ตอนแรกมี "ระเบียง  เฉลียง  นอกชาน ท่านเข้าใจว่าต่างกันอย่างไรครับ"  ภายหลังท่านอาจารย์เพิ่ม "ฉนวน" เข้ามาอีก  ???

ฉนวน มี ฉนวนน้ำ ฉนวนใน ทางฉนวน

รอยอินท่านว่า

ฉนวน ๑ [ฉะหฺนวน] น. ทางเดินซึ่งมีเครื่องกําบัง ๒ ข้าง สําหรับพระมหากษัตริย์
 หรือเจ้านายฝ่ายในเสด็จขึ้นลงหรือเข้าออก. ก. กําบัง, คั่น, กั้น.

แหม..มีภาพฉนวนงาม ๆ ในวังให้ชมกันเยอะแยะ  :-[


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 เม.ย. 12, 10:01
เฉลียง ในรอยอินกล่าวไว้เรื่องโบสถ์

เฉลียง [ฉะเหฺลียง] น. ส่วนของโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญที่ต่อออกมาโดย
 รอบ
หรือส่วนของเรือนที่ต่อออกมาด้านหัวและท้ายเรือน สําหรับนั่งเล่น
 หรือเดินติดต่อกันเป็นต้น. ว. เฉียง.

จะเหมือน Corridor ไหม  ???


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 10:07
^
เอามาเลยคุณหนุ่มสยาม เอารูปมาเยอะๆ ทุกคำศัพท์เลย

ขอกลับไปที่ติดไว้ก่อน


พะไล   น. เรือนหรือเพิงโถง ต่อจากเรือนเดิมหรืออยู่ในบริเวณของเรือนเดิม ใช้เป็นที่นั่งเล่นหรือประโยชน์อื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่ห้องนอน, พาไล ก็ว่า.
รอยอิน

เอ้า มีคำว่าโถงเพิ่มมาอีก

โถง หมายถึงพื้นที่โล่งๆครับ
ในรูปข้างล่าง บ้านชาวบ้านในส่วนที่หลังคาแบนคลุมอยู่ ตรงกับนิยามนี้ที่สุดครับ



กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 23 เม.ย. 12, 10:09
มาเสริมภาษาอังกฤษบ้างค่ะ (เป็นทัพเสริมตามกระทู้มา)

คำว่า Balcony กับ Terrace

  :)   ;)  :D  ;D


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 10:09
ราชบัณฑิต ศ. ดร.กาญจนา  นาคสกุล  อธิบายเพิ่มเติมจากในพจนานุกรมไว้ดังนี้

เฉลียง-ระเบียง (http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=366)


          ส่วนของบ้านเรือนที่ยื่นออกไปจากตัวบ้านนั้น มีคำเรียกอยู่ ๒ คำ คือ เฉลียง และระเบียง.

          เฉลียง เป็นส่วนของบ้านที่ต่อออกไปทางด้านหุ้มกลอง คือ ด้านหัวหรือท้ายของตัวเรือน. ถ้าเป็นโบสถ์วิหาร เฉลียง ก็คือส่วนที่อยู่หน้าโบสถ์ท้ายโบสถ์. เฉลียงเป็นที่สำหรับนั่งพัก หรือเป็นส่วนที่จะเชื่อมต่อไปกับเรือนหลังอื่นก็ได้.

          ส่วนระเบียงนั้นเป็นส่วนที่ต่อออกทางด้านข้าง. เรือนสมัยใหม่ไม่ได้สร้างให้มีความกว้างความยาวชัดเจนเหมือนเรือนโบราณ แยกเฉลียงกับระเบียงไม่ออก, ก็อาจแยกด้วยตำแหน่ง. ถ้าอยู่หน้าบ้านหลังบ้าน เรียกว่า เฉลียง เช่น เฉลียงหน้าบ้าน เฉลียงหลังบ้าน  ถ้าอยู่ข้างบ้าน เรียก ระเบียง เช่น ด้านข้างบ้านมีระเบียงยื่นออกไปให้ยืนรับลมได้ .

ผู้เขียน  ศ. ดร.กาญจนา  นาคสกุล  ราชบัณฑิต  ประเภทวรรณศิลป์  สาขาวิชาภาษาไทย สำนักศิลปกรรม

 ;D


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 10:12
คุณหนุ่มครับ


Corridor เป็นทางเดินตรงกลาง สองข้างๆเป็นห้อง

เช่นทางเดินกลางบนส่วนห้องพักของโรงแรมเป็นต้น


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 23 เม.ย. 12, 10:13
สำหรับบ้านสมัยใหม่ เคยเห็นใช้กันแบบนี้ค่ะ

เฉลียง อยู่ชั้นล่าง  ระเบียง อยู่ชั้นบน


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 10:15
โดนหักคะแนนไม่มีเหลือ    ขอฟังอย่างเดียวดีกว่า


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 10:21
^
คุณPoja (ไม่กล้าเขียนว่า "พ่อจ๋า" เดี๋ยวถูกเอ็ดเอา)

นี่แหละๆ ที่ผมว่าสถาปนิกต่างคนต่างบัญญัติศัพท์ขึ้นมาเอง

ส่วนคำว่า Balcony กับ Terrace  ไปเบิกเนตรพระอินทร์ดูเถอะครับ ฝรั่งก็ยังไม่ลงกัน เละเหมือนศัพท์ไทยนี่แหละ

ท่านอาจารย์เทาชมพูครับ
อะไรๆก็ยังสรุปไม่ได้ อย่าเพิ่งหนีไปนั่งพัก ผมเองใช่จะรู้จริงไปหมด ที่เสียงแข็งไปอย่างนั้น อาจผิดได้เสมอ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 10:30
อ้างถึง
         ส่วนระเบียงนั้นเป็นส่วนที่ต่อออกทางด้านข้าง. เรือนสมัยใหม่ไม่ได้สร้างให้มีความกว้างความยาวชัดเจนเหมือนเรือนโบราณ แยกเฉลียงกับระเบียงไม่ออก, ก็อาจแยกด้วยตำแหน่ง. ถ้าอยู่หน้าบ้านหลังบ้าน เรียกว่า เฉลียง เช่น เฉลียงหน้าบ้าน เฉลียงหลังบ้าน  ถ้าอยู่ข้างบ้าน เรียก ระเบียง เช่น ด้านข้างบ้านมีระเบียงยื่นออกไปให้ยืนรับลมได้ .

ด้วยความเคารพ ท่านเอาที่ไหนมาว่า บัญญัติศัพท์ขึ้นมาเองหรือไฉน  ศ.ภิญโญ สุวรรณคีรี   หรือราชบัณฑิตสาขาสถาปัตยกรรมท่าน อื่นๆ เคยมีสิทธิ์อภิปรายเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยบ้างไหม


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 เม.ย. 12, 10:44
ฉนวน อันแรกที่จะกล่าวถึง คือสะพานฉนวน

ฉนวนคือทางเดินที่มีเครื่องกำบัง เป็นทางเสด็จของเจ้านายฝ่ายใน กัั้นผ้าเพื่อมิให้เห็น ที่สร้างเป็นโครงสร้างตายตัวคือ สะพานฉนวนไม้ที่พระราชวังบางปะอิน และสะพานฉนวนพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม

ภาพประกอบจากเนต


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 เม.ย. 12, 10:57
ตรงไหนระเบียง ตรงไหนเรียกเฉลียง  ???


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 23 เม.ย. 12, 11:01
หนูไม่รู้ค่ะ

 :-[


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 เม.ย. 12, 11:04
ทีจะใช้งานภาพ หาภาพไม่เจอ  :'(

เอาภาพผ้าล้อมให้ดูกันก่อน ในสมัยก่อนการเสด็จออกจากฝ่ายในสู่ภายนอกจะกันผ้าลายอย่างดีเป็นทางเสด็จของเจ้านายฝ่ายใน

ฉนวนจะเป็นทางถนนธรรมดาก็ได้ ขอให้มีผ้าขึงบังไว้ เช่น ในคราวงานลอยกระทง ชาวฝ่ายในจะตื่นเต้นเป็นอันมาก เจ้าหน้าที่จะนำขึงผ้ากันไว้ เพื่อให้ฝ่ายในออกมาที่แม่น้ำเจ้าพระยากันได้ ชาวฝ่ายในพวกหม่อมเจ้าต่างสนุกสนานกันมาก เดินไปก้แอบแง้มเผยผ้าดูข้างนอก จนทำให้จ่าโขลนเอ็ดเอา


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 12:23
สรุปว่า ฉนวนคือทางเดินยาวๆ ที่เชื่อมอาคารแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง ถ้าเป็นฉนวนชั่วคราวก็มักจะทำบนระดับพื้น แต่ถ้าถาวร ก็จะทำในลักษณะเป็นสพาน

ถ้ามีผนังกั้นสายตา ถึงจะเรียกว่าฉนวน ถ้าไม่มี ก็เรียกสพาน


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 12:27
ตัวอย่าง สพานแห่งหนึ่งในฝ่ายใน ของพระบรมมหาราชวัง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 12:32
ไม่ว่ายาวหรือสั้น หรืออยู่ในพระราชวังก็ตาม


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 เม.ย. 12, 12:39
เคยเห็นการกั้นผ้า ตั้งแต่ประตูอุดมสุดารักษ์ไปยังท่าราชวรดิฐ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่หาภาพไม่เจอ เลยหยอดภาพมุมมองที่ใกล้เคียงกัน เขากันผ้าบังไว้สำหรับฝ่ายในให้เสด็จออกจากวัง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 13:05
โอ๊ะโอ๋ ไม่เคยเห็น

เข้าซอยหน่อยครับ  ๒ปล่องที่เห็นคืออะไร อันในกำแพงพระบรมมหาราชวังนั่น โรงแกสที่ไฟไหม้หรือเปล่า


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 เม.ย. 12, 13:30
โอ๊ะโอ๋ ไม่เคยเห็น

เข้าซอยหน่อยครับ  ๒ปล่องที่เห็นคืออะไร อันในกำแพงพระบรมมหาราชวังนั่น โรงแกสที่ไฟไหม้หรือเปล่า

เข้าซอยนิดเดียวนะครับ อย่าเลี้ยวเข้าไปเยอะ เดี๋ยวเจอทางลัด  ;D

ปล่องไฟที่เห็นมีอยู่ ๒ ปล่อง

ปล่องซ้ายมือนอกกำแพงพระบรมมหาราชวัง คือ ปล่องไฟสำหรับเครื่องจักรสูบน้ำ เพราะตั้งอยู่กับถังสูบน้ำ (ปัจจุบันอยู่ที่นาวิกสโมสร ตรงสนามเทนนิส) ส่วนปล่องสูงใหญ่เป็นปล่องไฟเครื่องจักรไอน้ำที่ดรงกษาปณ์แห่งที่สอง ตรงกันข้ามกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์วัดพระแก้ว)


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 13:51
อ้างถึง
         ส่วนระเบียงนั้นเป็นส่วนที่ต่อออกทางด้านข้าง. เรือนสมัยใหม่ไม่ได้สร้างให้มีความกว้างความยาวชัดเจนเหมือนเรือนโบราณ แยกเฉลียงกับระเบียงไม่ออก, ก็อาจแยกด้วยตำแหน่ง. ถ้าอยู่หน้าบ้านหลังบ้าน เรียกว่า เฉลียง เช่น เฉลียงหน้าบ้าน เฉลียงหลังบ้าน   ถ้าอยู่ข้างบ้าน เรียก ระเบียง เช่น ด้านข้างบ้านมีระเบียงยื่นออกไปให้ยืนรับลมได้ .

ด้วยความเคารพ ท่านเอาที่ไหนมาว่า บัญญัติศัพท์ขึ้นมาเองหรือไฉน  ศ.ภิญโญ สุวรรณคีรี   หรือราชบัณฑิตสาขาสถาปัตยกรรมท่าน อื่นๆ เคยมีสิทธิ์อภิปรายเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยบ้างไหม

จาก ปกในของผลงานเพลง "เฉลียงหลังบ้าน" (http://www.prapas.com/song_in.php?id=4) ของ วงดนตรี "เฉลียง"  (http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87_(%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5)) ซึ่งสมาชิกหลายคนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เฉลียงหลังบ้าน คนไทยนั้นมักใช้เป็นที่เก็บข้าวของที่แขกไม่เห็น แต่ของที่อยู่หลังบ้านนั้น ล้วนเป็นของจำเป็นทั้งสิ้น เช่น ครก ไห ตุ่ม รองเท้าแตะ ถังขยะ กาละมังแช่กางเกงใน ในขณะที่เฉลียงหน้าบ้านเป็นที่ที่ใครผ่านไปมาก็พบเห็น แต่สำหรับญาติมิตรสนิทสนมแล้ว คนไทยก็พาไปรับแขกถึงเฉลียงหลังบ้านกันทีเดียว และคราวนี้ เฉลียง ก็เปิดหลังบ้านมาให้ดูกันล่ะว่าเคยทำอะไรที่ใคร ๆ ไม่เคยเห็นบ้าง ที่จริงยังไม่หมดเสียทีเดียว แต่อันว่าคนเรานั้นกาละมังแช่กางเกงใน ซากรองเท้าขาด ๆ ก็ควรจะเก็บให้มิดชิดสักหน่อยจริงไหม

คำอธิบายข้างบนดูจะเดินตามคำอธิบายความหมายคำว่า "เฉลียง" ของท่านราชบัณฑิต  ศ. ดร.กาญจนา  นาคสกุล  

 ;D


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 13:53
ขอบคุณคุณหนุ่มครับ

ไม่ใช่โรงแกสที่ไฟไหม้นะ


คราวนี้เรามาช่วยกันหาที่มาที่ไปของเฉลียงต่อกัน




กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 13:55
ผมติดตามหาคำว่าเฉลียงทั้งในหนังสือและในเวป หายากมากครับ ในหนังสิอพระบรมมหาราชวังกล่าวถึงเฉลียงของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยไม่มีรูปภาพประกอบ  เพราะเป็นส่วนที่เรียกว่า ห้องใต้หลังคา ห้องนั้นจะมีส่วนโค้งของเพดานชั้นถัดไปนูนขึ้นมา มีที่ราบเรียบตรงสองข้างของส่วนโค้งเป็นทางคนเดินได้ตลอด ท่านเรียกทางเดินนี้ว่า“เฉลียง”
 
เฉลียงของพระที่นั่งจักรีมิได้มีส่วนหนึ่งส่วนใดยื่นไปนอกอาคาร หรือมีช่องให้ชมวิวภายนอกเลย


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 13:59
อีกแห่งหนึ่งคือพระตำหนักวังสระปทุม

สำหรับ “พระตำหนักใหญ่” ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้านั้น เป็นตำหนัก 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน มีห้องใต้ดินอีก 1 ชั้น รูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีระเบียงพื้นคอนกรีตยื่นออกมาโดยรอบพระตำหนัก มีขนาดกว้างประมาณ 22 ม. ยาว 40 ม. มีความสูงจากพื้นระเบียงรอบพระตำหนักถึงยอดหลังคาประมาณ 13.50 ม. องค์พระตำหนักยกพื้นสูงกว่าระเบียงโดยรอบ หันหน้าออกไปทางทิศเหนือ (คลองแสนแสบ) มีมุขเฉลียงยื่นออกนอกองค์พระตำหนัก 4 ทิศ โดยมีบันไดหลักขึ้นสู่ตัวอาคารขึ้นจากทางทิศเหนือ และมีบันไดขึ้นได้อีก 2 ทิศ บริเวณมุขด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออก ทาสีเหลืองทั้งองค์พระตำหนัก
บริเวณเฉลียงในพระตำหนักใหญ่ชั้นบน ซึ่งเป็นบริเวณที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดที่จะประทับเมื่อทรงตื่นบรรทมแล้ว และเสวยพระกระยาหารในที่นี้ด้วย

เหตุการณ์ครั้งสำคัญอีกเหตุการณ์หนึ่ง คือสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญสุดท้าย แห่งพระชนม์ชีพของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าคือ ทรงเป็นประธานในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 14:05
คือ หมายความว่า พิ้นที่มี่มีด้านยาวมากกว่าด้านกว้าง ที่อยู่หน้าหรือข้างๆห้องหลัก(ที่ด้านยาวมากกว่าด้านกว้างไม่มาก)นั้น จะเรียกว่าเฉลียง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 14:14
อ้างถึง
ขุนช้างขุนแผน ตอนพลายงามขึ้นเรือนเข้าหาศรีมาลา มีบทกลอนตอนหนึ่งว่า

อีเม้ยรับหลับอยู่ที่เฉลียง      ได้ยินเสียงนายร้องก็จำได้
ลุกขึ้นด้วยตระหนกตกใจ      เข้าห้องในมองเมียงถึงเตียงพลัน

น่าสงสัยว่าอีเม้ยไปนอนอยู่ส่วนไหนของเรือนไทยโบราณ

ผมหาภาพอยู่นาน ยังหาที่ชัดๆกว่านี้ไม่ได้ เฉลียงในเรือนอยู่อาศัยของชาวบ้าน คือถ้าชานที่อยู่ด้านยาวของเรือนถูกเรียกว่าระเบียงไปแล้ว ชานที่อยู่ด้านสั้นคือด้านจั่ว ที่สถาปนิกเรียกว่าด้านสะกัด(ท่านราชบัณฑิต ศ.ดร.กาญจนา นาคสกุลเรียกด้านหุ้มกลอง)นั้น ก็คงเป็นเฉลียง

ภาพนี้ มองทะลุประตูออกไป คือเฉลียง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 14:16
ทั้งหมดของสถาปัตยกรรมโบราณที่ผมหามาให้ชมนี้ ไม่ว่าเฉลียง หรือระเบียง จะอยู่ภายใต้หลังคาทั้งนั้น อย่างถ้าเฉลียงอยู่นอกชายคา อีเม้ยจะนอนได้อย่างไร


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 14:26
ระบียงมาจากคำว่า พระระเบียง หรือระเบียงคดของวัด หรือในวังจะเรียกว่าระเบียงเฉยๆ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 เม.ย. 12, 14:29
ดูแล้วเหมือนกับว่า เฉลียง เป็นทางด้านหนึ่งเป็นผนัง ด้านหนึ่งเป็นหน้าต่าง ตรงกลางเป็นทางเดินหรือเปล่า ?


จัดไปให้ อ.NAVARAT.C ลองหาคำตอบนะครับ จดหมายเหตุการซ่อมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

"....ช่อห้อยช่อตั้งกระจังฝังกระจกสี มีรูปบรมจักรกฤษณ์ทรงครุฑ สุบรรณยุคพาสุกรีตรีเศรียร ยืนตระหง่านเงื้อมสง่างาม และเฉลียงพระอุโบสถลดเชิงชายตามลำดับกันลงมาทั้งสี่ชั้น เชิงชายเฉลียงลดชั้นล่างนั้น จำหลักดอกจอกเรียบเรียงระยะเป็นจังหวะเป็นท่องแถว แล้วมีห่วงเหล็กแขวนกระดึงใบโพห้อยย้อยระย้าทั้งสี่ด้านโดยลำดับ...."



กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 เม.ย. 12, 14:30
ระบียงมาจากคำว่า พระระเบียง หรือระเบียงคดของวัด หรือในวังจะเรียกว่าระเบียงเฉยๆ

ที่เรียกระเบียงเฉย ๆ เพราะว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอาคารหลัก


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 14:35
มาดูกัน


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 เม.ย. 12, 14:38
อีกตอนหนึ่ง

"...พระศรีรัตนอุโบสถกำหนดแต่พื้นฐานยัดเยื้องอโธภาคถึงที่สุดสูงสิบสี่วาสองศอกหกนิ้ว โดยรีวัดเพียงไพทีแทรกเสาเฉลียงเบื้องทิศอัษฎงค์ตรงไปถึงไพที แทรกเสาเฉลียงทิศอุทัยนับได้สิบห้าห้อง ยาวเส้นหนึ่งกับแปดวาสอก

ด้านสกัดวัดแต่ไพทีแทรกเสาเฉลียงทิศเหนือไปถึงไพทีแทรกเสาเฉลียงทิศใต้ โดยกว้างได้สองสองวา.....กระเบื้องอันมุงพื้นหลังคาในองค์แลหลังคาเฉลียง มุขน่าหลังสีงาม..."


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 14:46
คำว่า "เฉลียง" ข้างบนเป็นคำวิเศษณ์ขยายคำนามว่า "เสา" หมายถึง "เฉียง"  หรือเปล่าหนอ

เฉลียง [ฉะเหฺลียง] น. ส่วนของโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญที่ต่อออกมาโดยรอบ หรือส่วนของเรือนที่ต่อออกมาด้านหัวและท้ายเรือน สําหรับนั่งเล่นหรือเดินติดต่อกันเป็นต้น. ว. เฉียง.

 ???


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 เม.ย. 12, 14:56
ชี้จุดเฉลียง และเสาเฉลียง ตามจดหมายเหตุ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 เม.ย. 12, 15:11
มุข, มุข- [มุก, มุกขะ-] น. หน้า, ปาก; ทาง; หัวหน้า; ส่วนของตึก
 หรือเรือนที่ยื่นออกมาจากส่วนใหญ่ มักอยู่ด้านหน้า. (ป., ส.).
 
 
มุขกระสันตะวันออก, มุขกระสันตะวันตก, พลัลพลาจตุรมุข, ตรีมุข

ยกตัวอย่างเช่น พระอุโบสถวัดบวรนิเวศ เดิมเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายหลังก่อมุขยื่นออกมา จนกลายเป็นพระอุโบสถแบบตรีมุข เป็นต้น


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 15:13
คุณหนุ่มอย่าเพิ่งไปเรื่องมุขครับ ขอร้อง

ผมกำลังงงว่า เสา๑๕ต้น ท่านนับจากไหนถึงไหน


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 15:20
"....ช่อห้อยช่อตั้งกระจังฝังกระจกสี มีรูปบรมจักรกฤษณ์ทรงครุฑ สุบรรณยุคพาสุกรีตรีเศรียร ยืนตระหง่านเงื้อมสง่างาม และเฉลียงพระอุโบสถลดเชิงชายตามลำดับกันลงมาทั้งสี่ชั้น เชิงชายเฉลียงลดชั้นล่างนั้น จำหลักดอกจอกเรียบเรียงระยะเป็นจังหวะเป็นท่องแถว แล้วมีห่วงเหล็กแขวนกระดึงใบโพห้อยย้อยระย้าทั้งสี่ด้านโดยลำดับ

เฉลียงน่าจะอยู่ในส่วนที่ผมวงไว้ แต่นับเสาไม่ลงเลขคี่  ๑๕ต้นได้ไง ทำไมไม่เป็นเลขคู่


"...พระศรีรัตนอุโบสถกำหนดแต่พื้นฐานยัดเยื้องอโธภาคถึงที่สุดสูงสิบสี่วาสองศอกหกนิ้ว โดยรีวัดเพียงไพทีแทรกเสาเฉลียงเบื้องทิศอัษฎงค์ตรงไปถึงไพที แทรกเสาเฉลียงทิศอุทัยนับได้สิบห้าห้อง ยาวเส้นหนึ่งกับแปดวาสอก

ด้านสกัดวัดแต่ไพทีแทรกเสาเฉลียงทิศเหนือไปถึงไพทีแทรกเสาเฉลียงทิศใต้ โดยกว้างได้สองสองวา.....กระเบื้องอันมุงพื้นหลังคาในองค์แลหลังคาเฉลียง มุขน่าหลังสีงาม..."


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 15:26
โอ เข้าใจแล้วครับ ขอเวลาเฉลยความหน่อย


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 15:27
ลงเรือนไทยไปธุระไม่กี่ชั่วโมง  กลับมากระทู้ติดจรวดวิ่งไป ๔ หน้าแล้ว   อ่านตามไม่ทันเอาเลยทีเดียว
ก่อนหน้ากระทู้นี้  คิดว่าเข้าใจพอสมควรว่าเฉลียงต่างกับระเบียงอย่างไร     เพราะรอยอินบอกทางไว้  แต่หลังจากอ่านถึงหน้า ๔  ก็เริ่มงงว่าอะไรคืออะไรกันแน่


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 เม.ย. 12, 15:28
โอ เข้าใจแล้วครับ ขอเวลาเฉลยความหน่อย

อั๋ยหย๋า อาจารย์ ๑๕ ห้อง คือ ๑๖ ช่วงเสานะครับ

ลงภาพให้ อาจารย์นับจำนวนระหว่างเสาได้ ๑๕ นะขอรับ ไม่ใช่เสา ๑๕ ต้น


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 เม.ย. 12, 15:31
ด้านหน้าพระอุโบสถ ๖ เสา ๕ ห้อง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 15:40
ใช่เลยคุณหนุ่มสยาม


ไพที : น. ที่รอง, แท่น, ขอบชายคา คือ ที่สุดชายคาชั้นบนต่อกับชายคาชั้นล่าง; ฐานบัวควํ่าบัวหงายที่พระเจดีย์. (ป., ส. เวที).

"...พระศรีรัตนอุโบสถกำหนดแต่พื้นฐานยัดเยื้องอโธภาคถึงที่สุดสูงสิบสี่วาสองศอกหกนิ้ว โดยรีวัดเพียงไพทีแทรกเสาเฉลียงเบื้องทิศอัษฎงค์ตรงไปถึงไพที แทรกเสาเฉลียงทิศอุทัยนับได้สิบห้าห้อง ยาวเส้นหนึ่งกับแปดวาสอก

นับได้๑๕ห้อง คือช่องระหว่างเสา๑๕ช่อง เท่ากับเสา๑๖ต้น  

ด้านสกัดวัดแต่ไพทีแทรกเสาเฉลียงทิศเหนือไปถึงไพทีแทรกเสาเฉลียงทิศใต้ โดยกว้างได้สองสองวา.....กระเบื้องอันมุงพื้นหลังคาในองค์แลหลังคาเฉลียง มุขน่าหลังสีงาม..."

แปลว่า ที่ว่างรอบอาคารพระอุโบสถ  จะเป็นทางเดินตามด้านยาว หรือเป็นโถงเอนกประสงค์ตามด้านสกัด โบราณล้วนเรียกว่า เฉลียงทั้งสิ้น


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 15:53
อ้างถึง
ดูแล้วเหมือนกับว่า เฉลียง เป็นทางด้านหนึ่งเป็นผนัง ด้านหนึ่งเป็นหน้าต่าง ตรงกลางเป็นทางเดินหรือเปล่า ?

ก็น่าจะใช่
แล้วในรูปนี้ล่ะครับ จะเรียกอะไร


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 เม.ย. 12, 15:54
มาต่อกันที่เฉลียงพระที่นั่งอัมรินทรฯ กันต่อ  :o

จากพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑

"โปรดเกล้าให้องเชียงสือเข้าเฝ้าทุกวัน องเชียงสือขี่เรือญวน ๖ คนแจวมีคนถือร่มให้ ครั้นเข้าเฝ้า ครั้นเข้าเฝ้าโปรดเกล้าให้เฝ้าข้างพระเฉลียงพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ด้านตะวันตกเหลี่ยมเสาท้องพระโรงหน้า เจ้าหน้าที่กรมพระตำรวจนั่งจัดสมาธิตามเพศญวน"

คงเป็นบริเวณจากภาพ เหล่าบรรดาองคมนตรีท่านยืนอยู่ "เฉลียงพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย"  แต่ต้องบอกว่าในสมัยรัชกาลที่ ๑ เสานั้นเป็นเสาไม้นะครับ ไม่ใช่เสาปูนสี่เหลี่ยมดังภาพปัจจุบัน

ดังนี้แล้วเกิดคำถามคือ ทำไมเฉลียงอยู่ในตัวอาคารได้  ???

ก็ต้องบอกว่าในรัชกาลที่ ๑ ท้องพระโรงยังเปิดโล่ง ไม่มีผนัง เป็นแบบท้องพระโรงที่พระราชวังเดิมขอรับ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 15:57
ค่อยๆมะงุมมะงาหราตามมา   จับได้เอาค.ห.สุดท้ายก่อนหน้านี้


แปลว่า ที่ว่างรอบอาคารพระอุโบสถ  จะเป็นทางเดินตามด้านยาว หรือเป็นโถงเอนกประสงค์ตามด้านสกัด โบราณล้วนเรียกว่า เฉลียงทั้งสิ้น


ขอแยกซอยตื้นๆ  ไม่ลึกนัก  ด้วยการลองเทียบกับฝรั่งดูนะคะ

ตามโบสถ์ฝรั่ง เขามีสิ่งก่อสร้างเล็กๆตรงทางเข้า ก่อนจะถึงตัวห้องข้างในโบสถ์    พอเทียบได้กับโถงเอนกประสงค์ตามด้านสกัดในพระอุโบสถไทย  ที่ท่าน NAVARAT.C บอกไว้ในบรรทัดข้างบนนี้
ฝรั่งเขาเรียกว่า porch  หรือเจาะจงลงไป ถ้าอยู่ตามวัด คือ church porch

เฉลียง (ตามความหมาย ๑  ในบรรดาหลายๆความหมาย ) = porch


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 15:59
อ้างถึง
ดูแล้วเหมือนกับว่า เฉลียง เป็นทางด้านหนึ่งเป็นผนัง ด้านหนึ่งเป็นหน้าต่าง ตรงกลางเป็นทางเดินหรือเปล่า ?

ก็น่าจะใช่
แล้วในรูปนี้ล่ะครับ จะเรียกอะไร

ตามรูปนี้  ฝรั่งเรียกว่า balcony


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 16:15
ภาพที่ 1  ฝรั่งเรียกว่า balcony   ภาพที่ 2 ซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน แตกต่างกันแต่ว่าอยู่ใต้หลังคา  ก็น่าจะเป็น balconyเช่นกัน
ส่วนภาพที่ 3 และ 4 ถ้าจัดกลุ่มเข้ากับภาพที่ 1 และ 2 ได้ก็น่าจะเรียกว่า balcony ได้เหมือนกัน

แต่ถ้าท่าน NAVARAT.C บอกว่าไม่เหมือนกัน   คนละอย่าง   เดี๋ยวจะหาคำฝรั่งมาให้อีกคำค่ะ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 16:38
balcony  จะแปลเป็นภาษาไทยว่าอย่างไรครับ

ถ้าจะแปล กรุณาแปลคำว่า Terrace ด้วย


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 16:48
ถ้าแปลเป็นไทยจะงง   เพราะดูจากอินทรเนตร  balcony   แปลได้หมดไม่ว่า ระเบียง เฉลียง  มุข  ชาน
แปลอังกฤษเป็นอังกฤษง่ายกว่าค่ะ
bal·co·ny 
1. A platform that projects from the wall of a building and is surrounded by a railing, balustrade, or parapet.
2. A gallery that projects over the main floor in a theater or auditorium.

ความหมายที่สองคงอยู่นอกขอบเขตกระทู้   เอาความหมายแรก  คือพื้นที่ที่สร้างยื่นจากผนังอาคาร กั้นด้วยลูกกรง(มีได้หลายแบบ)


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 16:54
คือ ฝรั่งเองก็สับสนในคำสองคำดังกล่าว เท่าๆก้บคนไทยกำลังสับสนกับคำว่าเฉลียงและระเบียงน่ะครับ

ถ้าเชื่อที่เราอภิปรายกันในคคห.ท้ายๆ ก็ต้องเฉลยว่า สองภาพหลังนี้ กรรมาธิการอนุรักษ์สิลปสถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยาม บรรยายภาพว่า เป็นระเบียง ไม่ใช่เฉลียง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 17:09
ดิฉันว่าท่าน NAVARAT ไปเปิด dictionary ในอินทรเนตรดูหมดแล้วว่าฝรั่งแปล terrace ไว้ครอบจักรวาลขนาดไหน 
  1.
a. A porch or walkway bordered by colonnades.
b. A platform extending outdoors from a floor of a house or apartment building.
2. An open, often paved area adjacent to a house serving as an outdoor living space; a patio.
3. A raised bank of earth having vertical or sloping sides and a flat top: turning a hillside into a series of ascending terraces for farming.
4. A flat, narrow stretch of ground, often having a steep slope facing a river, lake, or sea.
5.
a. A row of buildings erected on raised ground or on a sloping site.
b. A section of row houses.
c. Abbr. Ter. or Terr. A residential street, especially on a slope or hill.
6. A narrow strip of landscaped earth in the middle of a street.

แต่เวลาดิฉันแปล terrace  ในนวนิยาย   ดูจากบริบท ผู้ประพันธ์น่าจะหมายถึงข้อ b กับข้อ 2 มากกว่าอย่างอื่น     คือเป็นชาน หรือลาน จะปูกระเบื้อง ปูหญ้า ปูด้วยไม้กระดาน อะไรก็ตาม  แต่ยื่นออกจากตัวบ้าน กว้างพอสมควร  (พอที่พระเอกนางเอกจะนั่งกินลมชมวิวกันได้ )  ไม่อยู่ในชายคา  สรุปว่าฝนตกก็เปียกละค่ะ 


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 17:23
คำอธิบายต่อไปนี้ เอาความรู้สึกของผู้แปลนำหน้า  ไม่ได้เอาดิกชันนารีนำหน้า
terrace ของฝรั่งน่าจะใกล้เคียงกับคำว่า  ลาน  ชาน หรือ นอกชาน ของไทยมากกว่าระเบียงหรือเฉลียง     ถ้าถามว่าต่างกันยังไง อย่างแรกคือเทอเรสกว้างกว่าระเบียง  นั่งๆนอนๆ ยกเก้าอี้รับแขกไปตั้งทั้งชุดได้ พร้อมที่วิ่งเล่นให้ลูก   สอง เทอเรสเป็นลานเปิดเป็นส่วนใหญ่  หมายถึงว่าไปนั่งอยู่ที่นั่นแล้วแหงนชมฟ้าได้  ส่วนระเบียงมักจะแหงนเจอเพดานหรือชายคา
แต่ถ้าท่าน NAVARAT ซักต่อว่า แล้วเทอเรสแคบ กับระเบียงกว้างล่ะ   เนื้อที่อะไรจะมากกว่ากันถ้าคุณบอกว่าเทอเรสกว้างกว่าระเบียง   อย่างนี้ก็จนมุมเหมือนกัน  เพราะระเบียงบ้านมหาเศรษฐีอาจจะกว้างกว่าเทอเรสของชาวบ้านธรรมดาหลายเท่าก็ได้

สรุปว่าเอารูปไปดูเล่นอีก 2 รูปค่ะ   


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 17:34
A Terrace is a "setback" from the building line and contained within the "footprint" of the building.

A Balcony juts out beyond the building line.
In an interior court environment, you could have balconies overlooking the court yard but jutting out from the interior building line

A patio is on the ground.

ว่าแต่ว่า เราเอาเฉลียงกับระเบียงให้จบก่อนไม่ดีหรือครับ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 17:38
ขอเล่าถึงอีกคำหนึ่ง คือ porch   ถ้าจะแปลเป็นไทยเห็นจะเรียกว่าเฉลียงหน้าบ้าน ละมังคะ?

เมืองที่ดิฉันไปเรียน  ตั้งแต่ถนนสายที่ 1-10 กว่าๆ  เป็นบ้านแบบคล้ายกันหมดคือมี porch อยู่หน้าบ้าน   สาเหตุที่รูปแบบบ้านคล้ายคลึงกันก็เพราะมันเป็นเมืองจัดสรร  อันได้แก่เมืองที่สร้างขึ้นมาคราวเดียวกันหมด จากการอพยพตั้งถิ่นฐานของคนจากตะวันออกมาอยู่ทางตะวันตก  เมื่อปลายศตวรรษที่ 19    
พวกนี้ซื้อที่ดินเป็นแปลงๆที่จัดสรรกันไว้  สร้างพรึ่บเดียวเป็นเมือง  บ้านช่องเลยสร้างสมัยเดียวกัน คล้ายกันไปหมด    ไปใหม่ๆถ้าไม่จำเลขถนนให้แม่นว่าสายที่เท่าไหร่  กะเหรี่ยงไทยก็เดินหลงกลับบ้านไม่ถูก  เพราะดูสองข้างถนนบ้านมันเหมือนๆกันจนตาลาย

porch แบบนี้ไม่เคยเห็นในบ้านในกรุงเทพ     คงเป็นเพราะอิทธิพลของอเมริกันในตอนปลายศตวรรษที่ 19 ไม่ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาอย่างสไตล์โคโลเนียล    แต่ทำให้มีคำนี้เข้ามาในสมอง แต่ตอนนั้นไม่ได้นึกถึงคำว่าเฉลียง   ไปเรียกว่าระเบียงหน้าบ้าน

ป.ล. ๑  ชนกันกลางอากาศ  
       ๒  กลับมาที่เฉลียงแล้วนะคะ อาจารย์


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 17:59
porch อื่นๆ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 19:14
ขอแยกซอยลึกเข้าไปอีก  เกี่ยวกับคำว่า porch
คำนี้แปลว่า "เฉลียง" ก็ได้ค่ะ    แต่ porch ก็มีความหมายกว้างกว่าเฉลียงอีกนั่นแหละ
ขึ้นชื่อว่าเฉลียง (ที่เราใช้ปนกับคำว่าระเบียง)  มันไม่ใช่ห้อง  เป็นส่วนที่ยื่นออกจากอาคาร  มีเสา และมีลูกกรงกั้น  แต่ไม่มีผนังครบ ๔ ด้าน    มักมีด้านหลังเป็นส่วนเชื่อมติดกับตัวบ้าน   ซ้ายขวาและด้านหน้า โล่งๆ  
ส่วน porch มีได้หลายแบบ    อย่างที่นำรูปมาให้ดูก็จัดเข้าประเภท porch เรียกว่า sun porch  คือสร้างเป็นห้องกระจกไว้รับแสงสว่างและความอุ่นจากแดดซึ่งเป็นที่ปรารถนาในประเทศหนาว   จะได้ไม่ต้องอุดอู้อยู่แต่ในบ้านซึ่งมีผนังทึบกับหน้าต่างจำนวนน้อย เพื่อกันความหนาว
ห้อง sun porch แบบนี้ เราคงไม่เรียกว่าเฉลียงกระมังคะ  ท่านอาจารย์


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 19:36
สนทนามาถึงตรงนี้   อยากจะสรุปไว้ชั้นหนึ่งก่อนว่า
๑  คำว่าเฉลียง ถ้าแปลเป็นอังกฤษ  ใช้คำว่า porch   แต่คำว่า porch อาจแปลเป็นอย่างอื่นได้อีก นอกเหนือจากเฉลียง
๒  คำว่าระเบียง  ถ้าแปลเป็นอังกฤษ ใช้คำว่า balcony
คำอื่นๆแล้วแต่ท่านนวรัตนจะมาเฉลยค่ะ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 เม.ย. 12, 19:38
รายงานตัว
ลงมาจากหลังคาแล้ว เขียนไปแล้ว กดผิดหายไปแล้ว
คงจะต้องเรียบเรียงมาแจมเรื่องนี้ใหม่ครับ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 19:42
^
เมาแหง๋


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 19:51
อ้างถึง
สนทนามาถึงตรงนี้   อยากจะสรุปไว้ชั้นหนึ่งก่อนว่า
๑  คำว่าเฉลียง ถ้าแปลเป็นอังกฤษ  ใช้คำว่า porch   แต่คำว่า porch อาจแปลเป็นอย่างอื่นได้อีก นอกเหนือจากเฉลียง
๒  คำว่าระเบียง  ถ้าแปลเป็นอังกฤษ ใช้คำว่า balcony
คำอื่นๆแล้วแต่ท่านนวรัตนจะมาเฉลยค่ะ

ผมยังหานิยามคำว่า ระเบียงกับเฉลียง ไม่ลงตัวเลยครับ แล้วจะไปแปลภาษาต่างด้าวมาเป็นไทยอย่างไรได้ คือ บอกตรงๆว่าผมไม่เห็นด้วยกับรอยอินทร์น่ะครับ ถ้าท่านว่า ระเบียงกับเฉลียงเหมือนกัน จะใช้อย่างไรก็ได้ยังดีกว่า เช่น รถยนต์เหมือนกับรถเก๋ง สตางค์เหมือนกับเงิน ฯลฯ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 19:52
เวลาคุณตั้งกดผิด หรือส่งข้อความผิดทำให้ข้อความเดิมหายไป  อย่าเพิ่งพิมพ์ใหม่นะคะ   รีบกดลูกศรย้อนกลับไปหน้าเดิม  อาจจะกลับมาได้ค่ะ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 19:58
ผมยังหานิยามคำว่า ระเบียงกับเฉลียง ไม่ลงตัวเลยครับ แล้วจะไปแปลภาษาต่างด้าวมาเป็นไทยอย่างไรได้ คือ บอกตรงๆว่าผมไม่เห็นด้วยกับรอยอินทร์น่ะครับ ถ้าบอกว่า ระเบียงกับเฉลียงเหมือนกัน จะใช้อย่างไรก็ได้ยังดีกว่า เช่น รถยนต์เหมือนกับรถเก๋ง สตางค์เหมือนกับเงิน ฯลฯ

นั่นซีนะ ???


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 เม.ย. 12, 20:12
โกศาปานไปฝรั่งเศส

"...บ้านเรือนในเมืองไทยมีระเบียงอยู่หน้าบ้าน หน้าเรือนแล้วต่อระเบียงออกก็เป็นชาน แม้จะมีเรือนที่หันหน้าเข้าหากันก็ต้องทำเป็นเรือนมีชานอันเดียวกัน แต่ระเบียงต้องทำเป็นเรือนระเบียง เพราะต้องการให้โปร่งจึงจะรับลมได้ ที่เมืองฝรั่งจะทำเรือนเหมือนในเมืองไทยไม่ได้เพราะอากาศหนาว ต้องทำห้องหันหน้าเข้าหากัน และทำระเบียงแล่นกลางเป็นทางเดิน "คาเลอรี่" ..."


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 20:17
^
ต้องดูว่าใครแปล  และเทียบคำว่า ระเบียง แปลจากคำว่าอะไร

อ้างถึง
..บ้านเรือนในเมืองไทยมีระเบียงอยู่หน้าบ้าน หน้าเรือนแล้วต่อระเบียงออกก็เป็นชาน
หมายถึงส่วนนี้หรือคะ ที่เรียกว่าระเบียง?



กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 20:21
อ้างถึง
ทำระเบียงแล่นกลางเป็นทางเดิน "คาเลอรี่" ..."
คาเลอรี่ คืออะไร   ???  ???  ???
หรือหมายถึง la galerie


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 20:22
นี่เลยครับ
เอามาฉายซ้ำให้

บางท่านเรียกชานว่าระเบียง นอกชานก็เรียกว่าชานไปซะเฉยๆ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 20:26
ถาม 2 ข้อ
1 พาไลอยู่ตรงไหนคะ
จะย้อนกลับไปดูค.ห.ก่อนๆก็ตาลาย เพราะกระทู้วิ่งเร็วมาก   ขอความกรุณาฉายซ้ำอีกที
2  ส่วนที่เรียกนอกชาน  ในขุนช้างขุนแผนเรียกว่า "ชาน"   ถ้านับว่าชานคือส่วนระเบียงหน้าห้อง  ะขุนแผนโจนลง "กลางชานร้านดอกไม้"    แปลว่าปีนรั้วเสร็จก็โจนข้ามนอกชานถึงระเบียงเลยน่ะซีคะ 


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 เม.ย. 12, 20:30
มีเวปหนึ่งแปลความได้ว่า

เฉลียง คือ Terrace

ระเบียง คือ Verranda


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 เม.ย. 12, 20:32
นี่เลยครับ
เอามาฉายซ้ำให้

บางท่านเรียกชานว่าระเบียง นอกชานก็เรียกว่าชานไปซะเฉยๆ

ถ้าเอาฝาปะกนออกไป ปักเสารอบบ้าน ให้เดินได้ ก็จะเหมือน "เฉลียงรอบบ้าน"  ;)


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 20:33
ห้องที่เอาฝาไปกั้นชานเรือน ที่อยู่หลังเก้าอี้นั่น ก็เรียกพาไลได้ครับ

แต่ปัจจุบันคำนี้ตายแล้ว ถ้ากั้นเป็นห้องสมุดก็เรียกว่าห้องสมุด กั้นเป็นห้องแต่งตัวก็เรียกว่าห้องแต่งตัว คงไม่ทิ้งเป็นโถงโล่งๆเอนกประสงค์เหมือนคนโบราณ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 20:37
อ้างถึง
2  ส่วนที่เรียกนอกชาน  ในขุนช้างขุนแผนเรียกว่า "ชาน"   ถ้านับว่าชานคือส่วนระเบียงหน้าห้อง  ะขุนแผนโจนลง "กลางชานร้านดอกไม้"    แปลว่าปีนรั้วเสร็จก็โจนข้ามนอกชานถึงระเบียงเลยน่ะซีคะ

เอามาฉายซ้ำให้ (อีกที)

บางท่านเรียกชานว่าระเบียง นอกชานก็เรียกว่าชานไปซะเฉยๆ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 20:45
^
ขอบคุณค่ะ

มีเวปหนึ่งแปลความได้ว่า
เฉลียง คือ Terrace
ระเบียง คือ Verranda

ไม่ค่อยเคยได้ยินคำว่า veranda ในเมืองที่เคยอยู่ เคยได้ยินแต่ porch   ทีแรกเข้าใจว่า veranda เป็นคำเก่าใช้ในภาษาอังกฤษ ส่วน porch เป็นอเมริกัน 
ไปหาคำอธิบายจากอินทรเนตร  มีคนอธิบายว่า veranda คือ porch ขนาดใหญ่  โอ่อ่ากว่า porch ซึ่งเป็นเฉลียงระดับชาวบ้าน  มิน่า  น่าจะมีอยู่ในบ้านทางรัฐตะวันออกมากกว่าตะวันตก


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 20:51

veranda มาจากปอร์ตุกีส แปลว่า balcony ก็ได้  porch ก็ได้


อ้างถึง
ถ้าเอาฝาปะกนออกไป ปักเสารอบบ้าน ให้เดินได้ ก็จะเหมือน "เฉลียงรอบบ้าน" 

สวยดีนะครับ แต่เรือนพักอาศัยเขาไม่ทำกัน ที่เห็นดูจะมีแต่หอไตร


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 21:26
อ้างถึง
มุข, มุข- [มุก, มุกขะ-] น. หน้า, ปาก; ทาง; หัวหน้า; ส่วนของตึก  หรือเรือนที่ยื่นออกมาจากส่วนใหญ่ มักอยู่ด้านหน้า. (ป., ส.).

มาต่อตรงที่ไปขอเบรคคุณหนุ่มสยามไว้

มุขกระสัน คือส่วนของอาคารตัวที่เชื่อมต่อระหว่างอาคารที่มีขนาดใหญ่กว่า

ถ้ามีอาคารอีกอาคารหนึ่งอยู่ตรงกลาง อาคารนั้นเรียกว่ามุข(คือเป็นตัวเชื่อมเหมือนกัน)กลางครับ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 21:28
นี่ก็มุขกลางเช่นกัน


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 21:35
มุขเด็จ คือพื้นส่วนเล็กๆของอาคารที่ยื่นออกมานอกพื้นของตัวอาคารใหญ่ เพื่อใช้งานที่ต้องการให้ดูเด่นเป็นสง่า


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 เม.ย. 12, 21:43
มุข, มุข- [มุก, มุกขะ-] น. หน้า, ปาก; ทาง; หัวหน้า; ส่วนของตึก
 หรือเรือนที่ยื่นออกมาจากส่วนใหญ่ มักอยู่ด้านหน้า. (ป., ส.).
 
 
มุขกระสันตะวันออก, มุขกระสันตะวันตก, พลัลพลาจตุรมุข, ตรีมุข

ยกตัวอย่างเช่น พระอุโบสถวัดบวรนิเวศ เดิมเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายหลังก่อมุขยื่นออกมา จนกลายเป็นพระอุโบสถแบบตรีมุข เป็นต้น


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 21:53
ส่วนของอาคารที่ยื่นออกมาเช่นนี้ เรียกว่ามุขทั้งสิ้นครับ

ดังเช่นพระตำหนักเพชร ในวัดบวรฯเช่นกัน มีมุขบันไดอยู่ด้านริมอาคาร


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 21:59
ส่วนที่ยื่นออกมาจากอาคารใหญ่ตึกทั้งสามหลังนี้ คือมุขทางเข้า ที่ต้องการความเด่นเป็นสง่าทั้งสิ้นครับ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 เม.ย. 12, 22:08
มุข ภาษาอังกฤษเรียกว่าอะไรคะ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 เม.ย. 12, 22:13
ในคคห. สองอันหลังนี่ ก็ porch ครับ
 
ที่พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จออกสีหบัญชร คือ balcony


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 12, 22:13
ขอบคุณค่ะ  พอนึกตามได้
ติดที่รูปนี้ 

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5082.0;attach=31677;image)

มุขในภาพนี้ไม่น่าจะเป็น porch หรือ  balcony  แต่นึกไม่ออกว่าเรียกว่าอะไร


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 เม.ย. 12, 07:03
ข้างบนนี้ ตรงมุขบันไดเป็นporchครับ

ขึ้นบันไดแล้วไปเจอทางเดินยาวขนานไปกับห้อง เรียกterrace(เทอเรช)ครับ เพราะอยู่ภายในอาคาร ถ้าพื้นที่นี้ยื่นออกมานอกอาคารจะเรียกว่าbalcony

ไม่ว่าterraceหรือbalcony คนไทยเรียกทั้งเฉลียงและระเบียงแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว มิได้เรียกตามที่ราชบัณฑิตอยากจะให้เรียก

ผมคงต้องสรุปให้ชัดก่อนจะจบกระทู้


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 เม.ย. 12, 07:40
เมื่อวานพาลูกๆหลานๆไปเที่ยวบางปะอิน เห็นสพานฉนวนเข้าเลยเอามาฝากเป็นการขัดตาทัพไว้ก่อน

ส่วนพื้นที่ยื่นมานอกอาคารทั้งหลังใกล้และไกลสายตาถึงจะไม่ได้อยู่ภายใน แต่วางอยู่บนพื้นและมีราวลูกกรงกั้น เรียกterrace  พื้นที่โล่งขนาดใหญ่หน้าอาคารหลังไกลนั้น จะเรียกว่าdeckก็ได้

ไม่ว่าจะเป็นdeckหรือterrace ฝรั่งก็จะเข้าใจโดยไม่เห็นว่าเราใช้คำผิดๆ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 12, 09:24
รอฟังคำสรุปจากท่านนวรัตนค่ะ
คงจะเป็นประโยชน์มากสำหรับนักแปล ที่เจอคำว่า porch,terrace, balcony  และ deck

บัดนี้ เจอคำใหม่   คือ deck  เมื่อก่อน เข้าใจว่าหมายถึงดาดฟ้า  แต่พอมาเจอคำอธิบายของท่านสถาปนิกใหญ่   ก็เลยต้องไปแอบถามน้องกู๊ก
ภาพที่เห็นทำให้เริ่มมึน  เพราะกูเกิ้ลส่งภาพมาล้วนแต่เป็นนอกชานปูพื้นกระดาน

สรุปว่ารอเลกเชอร์ดีกว่า


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 เม.ย. 12, 09:51
deck เป็นคำพื้นๆครับ วัสดุที่ใช้ทำจะเป็นไม้ หรือคอนกรีต(ปูกระเบื้อง)ก็ได้ ถ้าอยากดูอย่างหลังนี่ เชิญคลิ๊กข้างล่าง


https://www.google.co.th/search?hl=th&q=terracotta+deck&bav=on.2,or.r_gc.r_pw.r_qf.,cf.osb&biw=1024&bih=540&um=1&ie=UTF-8&tbm=isch&source=og&sa=N&tab=wi&ei=aWWXT8KCLo3jrAeh48neAQ#um=1&hl=th&tbm=isch&sa=1&q=concrete+deck&oq=concrete+deck&aq=f&aqi=g-L10&aql=&gs_nf=1&gs_l=img.12..0i19l10.12775.17675.2.19935.8.8.0.1.0.0.165.667.6j1.7.0.7dWVQ_3cono&pbx=1&bav=on.2,or.r_gc.r_pw.r_qf.,cf.osb&fp=da2a91804d8a4b6e&biw=1024&bih=540


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 12, 10:19
เริ่มสับสนระหว่าง terrace กับ deck 
น่าจะแปลว่า "ลาน" 
รูปซ้าย บรรยายว่า deck  ส่วนรูปขวาคือ terrace


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 เม.ย. 12, 10:39
^
ผมจึงว่า ฝรั่งไม่ค่อยถือกับการใช้ภาษาของคำพวกนี้


คำว่าลาน ภาษาไทยใช้ในสถาปัตยกรรมเช่นในรูปข้างล่าง ส่วนใหญ่แล้วต้องกว้างขวางมาก ถ้าไม่อยู่ในวัด ก็จะต้องเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของถนน

สมัยนี้ ในบ้านก็มีลาน(เล็กๆ)ได้เหมือนกัน
ข้อแตกต่างระหว่างชานกับลาน ก็คือ ชานจะเป็นพื้นไม้ต่อกับตัวอาคาร ส่วนลาน จะเป็นหินหรือคอนกรีตทับหน้าดินเดิมไว้เฉยๆ ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของอาคาร แต่เป็นตัวเชื่อมระหว่างอาคาร หรืออยูโดดๆในสวน



กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 เม.ย. 12, 10:45
มีข้อยกเว้น เช่นนอกชานที่เคยเป็นไม้ แต่เจ้าของทนซ่อมความผุพังไม่ไหว เปลี่ยนเป็นคอนกรีตแล้วปูกระเบื้องดินเผา ก็อนุโลมเรียกนอกชาน หรือชาน ไปตามถนัด

ถ้าไปเรียกลานบ้าน เดี๋ยวจะไปนึกว่าอยู่ติดดิน

ผมจึงว่า คนไทยก็ไม่น่าจะถือกับการใช้ภาษาของคำพวกนี้เหมือนกัน


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 เม.ย. 12, 11:08
ผมจะขอไปทำธุระก่อนครับ

แล้วจะมาดำเนินเรื่องเฉลียงกับระเบียงต่อ
 
มาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านโปรดเข้าใจด้วยว่าผมไม่ใช่ผู้ทรงคุณวุฒิจะไปชี้ถูกชี้ผิด แต่ผมเป็นคนที่จะต้องนำคำเหล่านี้มาใช้ในวิชาชีพ ถ้าอะไรมันทะแม่งๆผมย่อมมีสิทธิ์ที่จะทักท้วง แต่ท่านผู้ทรงคุณวุฒิตัวจริง หากเข้ามาเห็นเข้า จะรับฟังหรือไม่ก็ Let it be (อย่าแปลให้ทันสมัยนักนะครับ)

ดูฝรั่งเขา ก็มีปัญหาเหมือนเรานี่แหละ ไม่เห็นแปลก


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 12, 22:54
ลองทบทวนดูว่าเข้าใจถูกหรือไม่
รูปข้างล่างนี้คือบ้านซอยสวนพลูของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
รูปซ้ายคือชาน  อยู่บนเรือนไทยหมู่ของท่าน   รูปขวาคือลาน อยู่บนพื้นดิน


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 เม.ย. 12, 23:24
ถูกแล้วครับ

คำว่าลาน จะเป็นลานดินเฉยๆก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งก่อสร้างอะไร
แต่ถ้าปลูกหญ้า ท่านนิยมเรียกว่า "สนาม" ไปเสียอีก


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 เม.ย. 12, 23:43
นักอักษรศาสตร์กรุณาวิเคราะห์หน่อยเถิดครับ ผมเข้าใจว่า เฉลียงในเรื่องนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของเตียง(ขอบเตียง)ไม่ใช่อาคารอย่างหนึ่ง  และเป็นเหมือนกับระเบียง คือส่วนหนึ่งของพื้นอาคารอีกอย่างหนึ่ง สองลักษณะไม่เหมือนกัน

ใช่ไหมครับ

เมื่อวันถวายเสภาเวลาหลัง   หม่อมเป็ดนั่งกับคุณโม่งที่ในเฉลียง
กระซุบกระซิบกันสองคนบนระเบียง   ได้ยินออกชื่อเสียงก็ขัดใจ
แกล้งพูดเสียดเอาว่าเกลียดตาแจ้งบ้า   เฝ้าขับว่าเรื่องเราร่ำไปได้
ไม่รู้แล้วรู้รอดสอดพิไร   เฝ้าค่อนขอดแคะได้เจ็บใจจริง
ครั้นเห็นคนเดินมาหน้าเฉลียง   สงบเสียงผิดลุกจะผลุนวิ่ง
คุณโม่งยุดฉุดน้องประคองอิง   เรานั่งนิ่งอย่างนี้มิเป็นไร
ถึงลุงทองคนจะขึ้นมาเห็นหน้าเรา   จะหยิบเอาข้อผิดที่ไหนได้
หม่อมจะว่าตาแจ้งแกทำไม   ฉันชอบใจแกอยู่ดอกอย่าเดือดแค้น
ฝ่ายหม่อมเป็ดสวรรค์ครั้นได้ฟัง   ให้แค้นคั่งส่งเสียงขึ้นเปรี้ยงแป้น
คุณกลับเข้าข้าตาแจ้งแกล้งแก้แทน   ให้สุดแสนเจ็บใจใช่พอดี
กระทืบเท้าตึงตังกำลังทะเลาะ   พอลุงทองจีนเดินเดาะมาถึงที่
จึ่งร้องถามสองท่านไปทันที   มาอึงมี่วิวาทอะไรกัน
หม่อมเป็ดฟังคุณลุงสะดุ้งใจ   ลุกไถลหลีเลี่ยงไปจากนั่น
ทั้งสองคนวนวิ่งพัลวัน   มิให้ทันเห็นกายด้วยอายนัก
ลุกหลีกลัดแลงไปแฝงตน   ซ่อนตัวกลัวคนจะรู้จัก
วิ่งมาบนเฉลียงเสียงคิกคัก   จนรอดหักหกล้มลงด้วยกัน
คุณโม่งล้มปับทับหม่อมเป็ด   น้ำตาเล็ดผุดลุกขมีขมัน
แล้วคิดกลัวคนผู้รู้สำคัญ   แกล้งถลันกล่าวเกลื่อนให้กลบคำ
เพราะตาแจ้งขับเสภามาฟังนัก   เฉลียงหักยับไปไม่เป็นส่ำ
นึกเกลียดน้ำหน้าตาเจ้ากรรม   ใช้ตาแจ้งแกมาทำให้หนำใจ
ทำเป็นพูดเชือนแชพอแก้ตน   คุณสองคนก็ขึ้นนอนบนเตียงใหญ่
พลิกพลอดกอดก่ายสบายใจ   เทียบประทับหลับไหลไปด้วยกัน
 

ครั้นอรุณรุ่งรางสว่างฟ้า พระเดชพระคุณให้หาหม่อมเป็ดสวรรค์
เมื่อเพลาพลบค่ำทำไมกัน   จนชั้นเฉลียงเตียงหักกระจัดกระจาย
หม่อมเป็ดทูลเบี่ยงเลี่ยงเจรจา   คนมานั่งฟังเสภามากหลาย
ตาแจ้งขับเสภาว่าแยบคาย   คนทั้งหลายไม่เคยฟังประดังมา
ประทุกมากหลายคนบนระเบียง   จนเฉลียงเก๋งหักลงหนักหนา
เป็นต้นเหตุผลเพราะเสภา   คนเข้ามาฟังนักจึ่งหักไป
พระทรงฟังกริ้วกราดตวาดดัง   ชะเจ้าช่างเบือนบิดคิดแก้ไข
เขาว่าเจ้านั่งอยู่สองคนบ่นร่ำไร   แคะไค้คมค้อนทำงอนรถ
กระทืบเท้าผึงผางกลางระเบียง   จนเฉลียงไม้สักเขาหักหมด
จะแกล้งมาพูดบิดเบี้ยวเลี้ยวลด   เขารู้พยศเจ้าทุกอย่างมาพรางกัน
หม่อมเป็ดได้ฟังรับสั่งกริ้ว   ทำหน้าจิ๋วร้อนจิตคิดพรั่น
ใจระเริ่มรัวกลัวราชทัณฑ์   อภิวันท์สารภาพกราบกราน
ได้พลั้งพลาดขอพระราชทานโทษ   ขอพระองค์ทรงโปรดกระหม่อมฉาน
ไปเบื้องหน้าตาแจ้งถนนอาจารย์   จะขับเสภาว่าขานไม่เคืองใจ
พระสดับรับผิดหม่อมสารภาพ   เห็บเรียบราบแล้วก็โปรดยกโทษให้
จึงตรัสสั่งข้างหน้าทหารใน   ทำเฉลียงเก๋งใหม่ให้ดิบดี

มึนสุดๆ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 เม.ย. 12, 23:52
ขอผัดเป็นพรุ่งนี้ จะมาตอบนะคะ
อ่านจนมึนเหมือนกัน


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 เม.ย. 12, 07:48
ลองจัดความดู

เฉลียง = รอบบ้านยื่นออกจากตัวอาคารทั้งหัว ท้าย (อย่างทางเดินรอบอุโบสถวัดพระแก้ว พร้อมเสาเฉลียง) หลังคาร่วมกับอาคาร
ระเบียง = ทำยื่นออกจากเฉลียง หลังคายื่นจากอาคาร
รอด = ปัจจุบันคือ คาน เป็นไม้พาดระหว่างเสา ถึง เสา

"วิ่งมาบนเฉลียงเสียงคิกคัก   จนรอดหักหกล้มลงด้วยกัน" แสดงว่า รอดรับน้ำหนักไม่ได้จนหัก เหนือขึ้นไปย่อมเป็นเฉลียง

"ประทุกมากหลายคนบนระเบียง จนเฉลียงเก๋งหักลงหนักหนา" และ "กระทืบเท้าผึงผางกลางระเบียง   จนเฉลียงไม้สักเขาหักหมด" ย่อมแสดงว่าระเบียงต่อเชื่อมกับเฉลียง กระทืบทำให้ไม้ติดกับเฉลียงหักลงมาพร้อมกัน

เฉลียงเก๋ง ย่อมหมายถึง อาคารนี้สร้างอย่างจีน


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 เม.ย. 12, 08:00
พระตำหนักแดง

ขึ้นบันได มีเสารับอยู่ ๒ ช่วง ช่วงแรกมีกรงไม้กั้น ถัดไปยกพื้นติดกับเรือนมีเสาอีกชั้นหนึ่ง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 08:04
รอด ในเรือนไทยก็คือคานนั่นเอง (ดูรูปแล้วน่าจะเขียนว่า"ลอด"เน๊อะ)

พื้นเรือนนั้น ถ่ายน้ำหนักให้ตง ตงถ่ายน้ำหนักให้รอด รอดถ่ายน้ำหนักลงเสา เสาถ่ายน้ำหนักสู่ฐานรากและกระจายลงดิน


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 08:42
คำว่าเก๋ง มิได้แปลว่า อาคารแบบจีนเสมอไป
โบราณใช้คำนี้เรียกประทุน รถ(โบราณ)ที่มีประทุนจึงเรียกรถเก๋ง รามทั้งเรือที่มีประทุนเป็นเรื่องเป็นราว ก็เรียกเรือเก๋ง
เตียง ที่มาจากเมืองจีน จะมีเก๋งสำหรับกางมุ้งมาด้วย ในวังรับเตียงเก๋งนี้มาทำเป็นลวดลายแบบไทยๆ

ข้างล่าง ภาพบนคือพระวิมาน ที่บรรทมของรัชกาลที่๑

ภาพล่าง คือเตียงเก๋งอย่างจีน เป็นแท่นใหญ่เกินจะนอนก็มี ส่วนข้างๆที่ไม่ได้ปูที่นอนอาจเรียกเฉลียง ทำไว้สำหรับนั่งเล่นก็ได้ ดังที่ผมสงสัยคำว่าเฉลียงเก๋งนั้น


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 09:42
คุณหนุ่มสยามมาปาดไปเสียแล้ว  :(

จากกลอนหม่อมเป็ดสวรรค์    วิเคราะห์ออกมาได้ดังนี้
๑   เฉลียง เป็นเฟอร์นิเจอร์อย่างหนึ่งที่มีลักษณะให้เข้าไปนั่งได้ 
เมื่อวันถวายเสภาเวลาหลัง   หม่อมเป็ดนั่งกับคุณโม่งที่ในเฉลียง
โปรดสังเกต ท่านใช้คำว่า ใน เฉลียง   ไม่ใช่ บน เฉลียง
คนโบราณท่านแม่นคำบุพบทมากกว่าคนปัจจุบัน   ยิ่งเป็นกวีแล้ว ไม่น่าจะใช้ผิด

๒  เฉลียงตั้งอยู่บนระเบียง
กระซุบกระซิบกันสองคนบนระเบียง


๓  มีพื้นที่พอจะนั่งกันได้สองคนอย่างน้อย  โดยไม่เบียดเสียดอึดอัด
คุณโม่งยุดฉุดน้องประคองอิง   เรานั่งนิ่งอย่างนี้มิเป็นไร


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 09:51
๔   เฉลียง เป็นที่นั่งที่ไม่ใช่ของสูง  นางข้าหลวงก็นั่งได้  ไม่มีใครว่า
ถึงลุงทองคนจะขึ้นมาเห็นหน้าเรา   จะหยิบเอาข้อผิดที่ไหนได้

๕  เฉลียงในคำนี้ แสดงว่ากว้างพอที่ผู้หญิงสองคนจะวิ่งได้   มีรอดรองรับอยู่ข้างล่าง
ลุกหลีกลัดแลงไปแฝงตน   ซ่อนตัวกลัวคนจะรู้จัก
วิ่งมาบนเฉลียงเสียงคิกคัก   จนรอดหักหกล้มลงด้วยกัน

๖  เฉลียงเป็นสิ่งที่บอบบาง  ทานน้ำหนักคนขึ้นไปวิ่งไม่ได้   แสดงว่ามีไว้นั่ง ไม่ได้มีไว้เดินหรือวิ่ง
เพราะตาแจ้งขับเสภามาฟังนัก   เฉลียงหักยับไปไม่เป็นส่ำ

๗  แต่เฉลียงไม่ได้อยู่ที่สูง   มิฉะนั้นเวลาหักลงไป สาวสองคนนี้จะต้องหล่นกระแทกพื้นดินเบื้องล่าง  เจ็บตัวแน่ๆ  แต่นี่ไม่ได้เจ็บตัวตรงไหนเลย   ทำเฉลียงหักเสร็จก็ขึ้นนอนบนเตียง กอดกันหลับไป
เฉลียง เป็นคนละอย่างกับ เตียง  เพราะเมื่อเฉลียงหักไปแล้ว เตียงยังอยู่ในสภาพดี
ทำเป็นพูดเชือนแชพอแก้ตน   คุณสองคนก็ขึ้นนอนบนเตียงใหญ่
พลิกพลอดกอดก่ายสบายใจ   เทียบประทับหลับไหลไปด้วยกัน


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 10:11
๘   เฉลียงอยู่บนระเบียง ทำด้วยไม้สัก แต่คงไม่แข็งแรงนัก      กลอนข้างล่างนี้แสดงว่าเฉลียงรับน้ำหนักคนมากๆไม่ได้  ส่วนระเบียงรับน้ำหนักได้จึงไม่หัก อยู่ในสภาพปกติ

ประทุกมากหลายคนบนระเบียง   จนเฉลียงเก๋งหักลงหนักหนา
เป็นต้นเหตุผลเพราะเสภา         คนเข้ามาฟังนักจึ่งหักไป
และ
กระทืบเท้าผึงผางกลางระเบียง   จนเฉลียงไม้สักเขาหักหมด

๙ เฉลียงนี้มีคำเต็มๆว่า เฉลียงเก๋ง  หมายถึงเฟอร์นิเจอร์ที่มีหลังคา     จะเป็นเฉลียงที่ตรงกับคำว่า porch ไม่ได้  เพราะ porch ไม่มีหลังคาเก๋ง   porch มีแต่หลังคา roof
จึงตรัสสั่งข้างหน้าทหารใน   ทำเฉลียงเก๋งใหม่ให้ดิบดี
 
คำอธิบายของท่านนวรัตนถูกต้องแล้วค่ะ  ดิฉันขอแยะแยะคำว่า หลังคา มี 3 อย่าง
๑   หลังคาสิ่งก่อสร้างไทย  ตรงกับคำว่า roof  ไทยเรียกว่า หลังคา  
๒   หลังคาของสิ่งก่อสร้างจีน เรียกว่า เก๋ง  ไทยเอาคำนี้มาใช้ในความหมายของหลังคาสิ่งที่ไม่ใช่บ้านหรือสิ่งก่อสร้าง  คือหลังคารถ หรือเรือ

ส่วนรถเก๋งคือรถที่มีหลังคาที่เชื่อมติดกับตัวรถ ถอดแยกไม่ได้   อย่างรถยนต์ที่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๗ เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน   ไม่ว่ารถฮอนด้า โตโยต้า เบนซ์ บีเอ็ม  ฯลฯ ถ้าหลังคาติดกับตัวรถ เมื่อก่อนเรียกว่ารถเก๋งทั้งนั้น  ต่อมาคำนี้มันคงจะเชยไปตามสมัย ก็เลยเลิกเรียกกัน
หลังคารถยนต์ที่แยกส่วนจากตัวรถ  เรียกว่าประทุน   รถยนต์ยุคแรกๆ เช่นรถพระที่นั่งในรัชกาลที่ ๕ เป็นรถที่เปิดหลังคา หรือมีหลังคาเอาขึ้นลงได้  หลังคารถม้า phaeton  ที่เราใช้มาก่อน มีหลังคาเอาขึ้นลงได้ เรียกว่าประทุน  
ดิฉันโตทันอ่านนิยายรุ่นเก่าที่แยกแยะคำว่า " รถเปิดประทุน"   หมายถึงพวกรถ convertible เอาหลังคาขึ้นลงได้    นักประพันธ์สมัยนั้นแยกคำว่า รถเก๋ง กับรถเปิดประทุน ให้เห็นชัดเจน  

จึงตรัสสั่งข้างหน้าทหารใน   ทำเฉลียงเก๋งใหม่ให้ดิบดี
เฉลียงเก๋ง จึงเป็นอะไรอย่างหนึ่งที่มีหลังคา  ตั้งอยู่บนระเบียง  ทำด้วยไม้สัก  รองรับด้วยรอด   มีพื้นที่กว้างพอคนสองคนจะขึ้นไปนั่งได้ แต่ไม่ได้มีเอาไว้วิ่ง  ถ้าเผลอวิ่งโครมครามบนเก๋ง พื้นก็หักชนิดเสียหายหนัก   ต้องประกอบใหม่

ตอนพยายามวาดภาพว่าเก๋งเฉลียงคืออะไร   ใจก็นึกถึงเตียงแบบจีนขึ้นมา     แต่สงสัยว่าเตียงแบบนี้เขาตั้งไว้บนระเบียงหรือ  หรือว่าเป็นเตียงเก่ายกออกมาจากห้องด้านใน  ไว้นั่งรับลมเย็นๆที่ระเบียง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 10:29
ขอบคุณคร้าบ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 10:53
นึกภาพว่าเฉลียงหน้าตาเป็นอย่างนี้ค่ะ   ถึงเข้าไปนั่ง "ใน" เฉลียง  ได้สองคน  ลุกขึ้นวิ่งก็ได้ แต่เท้าหนักวิ่งโครมครามไปหน่อยพื้นไม้เลยหัก
รอดที่หักลงไปคือส่วนรองรับพื้นที่นั่งหรือเปล่าคะ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 10:59
รอด ในที่นี้ก็คือโครงสร้างของพื้นเก๋งตามรูปนี่แหละครับ

ไม่ใช่ตัวเรือนแล้ว
.
.
อ้างถึง
ตอนพยายามวาดภาพว่าเก๋งเฉลียงคืออะไร   ใจก็นึกถึงเตียงแบบจีนขึ้นมา     แต่สงสัยว่าเตียงแบบนี้เขาตั้งไว้บนระเบียงหรือ  หรือว่าเป็นเตียงเก่ายกออกมาจากห้องด้านใน  ไว้นั่งรับลมเย็นๆที่ระเบียง
.
.
อ้างถึง
ประทุกมากหลายคนบนระเบียง   จนเฉลียงเก๋งหักลงหนักหนา

เก๋งวางอยู่บนระเบียงครับ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 11:09
ตีความ

คนนั่ง(หลายคน)บนเก๋งเฉลียง ห้อยเท้าอยู่ แล้วกระทืบเท้าลงไปบนระเบียง แต่น้ำหนักขย่มลงไปลงบนเก๋งเฉลียง ซึ่งโครงสร้างพื้นไม่แข็งแรงเท่าระเบียงเรือน รอดของเก๋งเฉลียงจึงหัก ส่วนระเบียงไม่เป็นอะไร


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 11:21
ถ้าเฉลียงหมายถึงเตียงเก๋งแบบจีน  ความหมายอาจจะถูกลืมเลือนไปตั้งแต่รัชกาลที่ 4  ซึ่งเฟอร์นิเจอร์แบบฝรั่งเข้ามาแทนที่แบบจีนตามที่นิยมกันในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 11:33
ครับ

ถ้างั้น เราจะผ่านเรื่องนี้ไปว่ากันต่อเรื่องของเฉลียงและระเบียงของอาคารกันเลย

ถ้าในอาคารในยุคตั้งแต่รัชกาลที่๕ คำว่าเฉลียงจะปรากฏมากในบรรดาวังและพระตำหนักที่สร้างขึ้นในรูปแบบตะวันตก ดังเช่น

พระตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เป็นตึก 2 ชั้น ทรงสี่เหลี่ยม ตกแต่งหน้าต่างชั้นบนเป็นซุ้มโค้งกลมประดับกระจกเป็นรัศมีพระอาทิตย์ครึ่งดวง เฉลียงชั้นสองของมุขหน้าเป็นเฉลียงกว้าง บนเสาของราวลูกกรงตั้งกระถางหล่อปลูกต้นไม้ เสาเหลี่ยมรับเฉียงประกอบด้วยซุ้มโค้งกลม ตัวอาคารมีเฉลียงเล็กทุกด้าน ผนังประกอบด้วยเสาอิงแบบ Doric และ lonic ผนังชั้นล่างสลักเป็นลายอิฐ ผนังส่วนใต้หลังคาเจาะช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า สลักปูนเป็นกรอบและมีหูช้างสลักลายประดับใต้ชายคา ช่องลมเหนือประตูตกแต่งด้วยลายไม้ฉลุลายละเอียด บริเวณสนามวงกลมด้านหน้าตั้งตุ๊กตาปูนปั้นแบบกรีก กระถางปูนประดับลายปูนปั้น

เฉลียงนี้ดูจะเป็นที่นั่งพักผ่อนสบายๆ รับลมอยู่ภายในอาคาร ในขณะที่เป็นทางผ่านไปสู่ห้องต่างๆด้วย


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 11:37
อาคารพระตำหนักเยาวภา เป็นอาคาร ๒ ชั้น  ยกพื้นสูงประมาณ ๑ เมตร ปูพื้นด้วยไม้สักทั้งหลัง หลังคาทรงสูงทำด้วยกระเบื้องว่าว สีเดิมของอาคารเป็นสีเขียว ต่อมามีการบูรณะปรับปรุงเป็นสีน้ำตาล ภายในอาคารแบ่งเป็นส่วนๆ คล้ายอาคารชุดประตูเปิดติดต่อกันมีช่องลมเป็นลายไม้จำหลักเหนือขอบประตูเป็นหน้าต่างเป็นบานกระทุ้ง ตรงกลางเป็นบานเกล็ด

ชั้นบนของอาคารมีเฉลียงด้านหน้ายาวตลอดทั้งอาคาร มีบันไดใหญ่ขึ้นลงแยกกัน ๒ บันไดและมีบันไดเล็ก ริมสุดของอาคารอยู่ทางทิศใต้ เสาของอาคารมีลายปูปั้น บันไดทางขึ้นด้านหน้าอาคารทำด้วยหินอ่อนสีขาว

โปรดสังเกตุ เราไม่มีทางเห็นเฉลียงที่อยู่หลังหน้าต่างชั้นบนเลย


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 11:42
เรือนผ่องศรี

อยู่เนินเขา เป็นตึกกลมชั้นเดียว มีสามห้อง และมีเฉลียงรอบ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 11:48
ตึกวัฒนา

เป็นอาคารตึก ๒ ชั้น รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๑ เมตรโดยประมาณ หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องเกล็ดเต่า ผนังก่ออิฐถือปูน กำแพงหนาประมาณ๐.๓๐ เมตร ด้านหน้าหันสูทะเล มีเฉลียงยาวตลอดทั้งชั้นบน และ ชั้นล่าง กว้างประมาณ๒.๐๐ เมตร มีลูกกรงไม้กันตก บันไดทางขึ้นอยู่กลางอาคารด้านหน้า เป็นบันไดก่ออิฐถือปูน
ขั้นบันไดทำด้วยหินทราย ชั้นล่างเป็นห้องโถงใหญ่ ขนาด กว้าง ๖.๐๐ เมตร ยาว ๗.๐๐ เมตร๑ ห้อง ห้องบันได ๑ ห้องและห้องเล็กข้างบันไดขนาดกว้าง ๓.๐๐ เมตร ยาว ๓.๕๐ เมตรโดยประมาณ

ชั้นบนเป็นเหมือนชั้นล่าง ส่วนบันไดประตู หน้าต่าง เพดาน และโครงหลังคาทำด้วยไม้สัก

รูปแบบของอาคารเป็นแบบตะวันตก ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น คือ มีเฉลียงแล่นตลอดความยาวของอาคาร รูปแบบเรียบง่าย ดูมั่นคงแข็งแรง ไม่มีสิ่งตกแต่งเกินความจำเป็น



กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 11:50
อาคารเล็กลงมาสองหลังสุดท้ายนี้ เริ่มเห็นเฉลียง เป็นทางสัญจรนอกห้อง แต่ยังอยู่ภายใต้ชายคา


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 11:54
พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์


เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกแท้ มีรูปแบบเป็นปราสาทขนาดเล็กคล้ายปราสาทในสมัยกลาง จัดเป็นสถาปัตยกรรมแบบโรแมนติก ที่ผสมผสานระหว่างปราสาทแบบเรอเนสซองของฝรั่งเศส กับอาคารแบบฮาล์ฟ ทิมเบอร์ ของอังกฤษ

เป็นอาคารสองชั้น ภายนอกอาคารมีเฉลียงโดยรอบโดยเฉพาะเฉลียงด้านตะวันออก เป็นเฉียงกว้างรูปครึ่งวงกลม เน้นสร้างจุดเด่นของตัวอาคารด้วยหอคอยทรงสูงรูปวงกลมไว้ทั้ง 4 มุม บริเวณทางเข้าตำหนักมีมุขเล็กๆ ที่มีหลังคาคลุมยื่นออกมาจากผนัง และมีไม้ประดับผนังแบบเดียวกันกับบ้านแบบทิวดอร์ของอังกฤษ.

ตัวอาคารเป็นตึกผสมไม้ หลังคามุงกระเบื้องเกล็ด ช่องหน้าต่างเป็นบานไม้แบบลูกฟักกระดานดุน ชายคา และด้านหน้า เฉลียงประดับด้วยไม้ฉลุลายฝีมือละเอียดงดงาม เท้าแขนรองรับพื้นเฉลียง ทำเป็นไม้ทรงมุมฉากฉลุลายเป็นวงขด ซึ่งเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่นิยมมากในสมัยรัชกาลที่ 5

เป็นที่น่าเสียดายว่าอาคารหลังนี้ไม่ได้รับการซ่อมแซม จึงไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม หากแต่ความงดงามยังคงมีอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

อาคารที่สร้างสมัยที่คนไทยนิยมนั่งเก้าอี้แทนการนั่งบนพื้น เฉลียงจึงทำไว้แค่เป็นทางสัญจรเท่านั้น


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 เม.ย. 12, 12:14
บรรยากาศแบบเฉลียง ๆ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 12:21
ถ้าอย่างนั้น  หลังประตูโค้งทั้งชั้นบนชั้นล่างของอาคารนี้ก็เรียกว่าเฉลียงเหมือนกันน่ะซีคะ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 12:23
ตำหนักสายสุทธานภดล
ส่วนของอาคารที่มีลูกกรงกั้นทั้งด้านหน้าและด้านข้าง  ชั้นบนและล่าง คือเฉลียง?  ไม่ใช่ระเบียง?


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 12:48
เรามาดูไปเรื่อยๆก่อนนะครับ ไม่อยากด่วนสรุป

ผมได้นำเฉลียงของพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุมมาให้ชมไปแล้ว ขอมาต่อที่ระเบียงครับ

สำหรับ “พระตำหนักใหญ่” ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้านั้น เป็นตำหนัก ๒ ชั้น ก่ออิฐถือปูน มีห้องใต้ดินอีก ๑ ชั้น รูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีระเบียงพื้นคอนกรีตยื่นออกมาโดยรอบพระตำหนัก มีขนาดกว้างประมาณ ๒๒ ม. ยาว ๔๐ ม. มีความสูงจากพื้นระเบียงรอบพระตำหนักถึงยอดหลังคาประมาณ ๑๓.๕๐ ม. องค์พระตำหนักยกพื้นสูงกว่าระเบียงโดยรอบ หันหน้าออกไปทางทิศเหนือ (คลองแสนแสบ) มีมุขเฉลียงยื่นออกนอกองค์พระตำหนัก ๔ ทิศ โดยมีบันไดหลักขึ้นสู่ตัวอาคาร ขึ้นจากทางทิศเหนือและมีบันไดขึ้นได้อีก ๒ ทิศ บริเวณมุขด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออก ทาสีเหลืองทั้งองค์พระตำหนัก

ระเบียงในภาพอยุ่ติดกับพื้นดิน มองเห็นราวระเบียงอยู่วอบๆแวมๆอยู่หลังพุ่มไม้
ภาพล่างคือมุขเฉลียง อะไรที่ยื่นออกมาจากอาคารเป็นแท่งๆก้อนๆ จะเรียกว่ามุขทั้งหมด โดยมีคำขยายความอีกทีหนึ่ง เช่นมุขเฉลียง คือมุขที่มีเฉลียงอยู่ข้างบน

ศัพท์เหล่านี้ใช้ในราชสำนักสมัยรัชกาลที่๕นะครับ ก่อนจะเพี้ยนไปหมดในสมัยหลังๆ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 13:20
อีกหนึ่งตัวอย่าง เพื่อแสดงว่า ระเบียง ใช้เรียกทางสัญจร ไม่ว่าจะอยู่บนอาคาร หรืออยู่นอกอาคาร

พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรเป็นพระที่นั่งเรือนไม้ 2 ชั้น มีสถาปัตยกรรมแบบชาเล่ย์ของสวิตเซอร์แลนด์ โดยทาสีเขียวอ่อนและสีขียวแก่สลับกันทั้งองค์ ประดับประดาไปด้วยลวดลายฉลุไม้แบบยุโรปที่แสนงดงาม มีระเบียงแล่นโดยรอบพระที่นั่ง ภายในมีการตกแต่งแบบยุโรปด้วยเครื่องเรือนฝรั่งเศสสมัยพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ที่เข้าชุดกันทั้งหมด พระที่นั่งองค์นี้ถือได้ว่าเป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานมากที่สุด


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 เม.ย. 12, 14:23
อีกหนึ่งตัวอย่าง เพื่อแสดงว่า ระเบียง ใช้เรียกทางสัญจร ไม่ว่าจะอยู่บนอาคาร หรืออยู่นอกอาคาร

พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรเป็นพระที่นั่งเรือนไม้ 2 ชั้น มีสถาปัตยกรรมแบบชาเล่ย์ของสวิตเซอร์แลนด์ โดยทาสีเขียวอ่อนและสีขียวแก่สลับกันทั้งองค์ ประดับประดาไปด้วยลวดลายฉลุไม้แบบยุโรปที่แสนงดงาม มีระเบียงแล่นโดยรอบพระที่นั่ง ภายในมีการตกแต่งแบบยุโรปด้วยเครื่องเรือนฝรั่งเศสสมัยพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ที่เข้าชุดกันทั้งหมด พระที่นั่งองค์นี้ถือได้ว่าเป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานมากที่สุด

อ. NAVARAT.C ต้องใช้ภาพนี้บรรยายประกอบครับ ภาพเรือนสีเขียวสร้างใหม่หลังจากไฟไหม้และสร้างอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะเปลี่ยนรูปแบบใหม่หมดทั้งหลัง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 16:18
ขอบคุณนะครับ

ผมหลับไปงีบนึง ตกใจมีโทรศัพท์เข้า เออๆคะๆเสร็จมาเปิดกระทู้ดู เห็นฟ้ามันเหลืองๆเต็มจอ สงสัยตัวเองคงจะยังไม่ตื่น กำลังฝันอยู่

แหม คุณหนุ่มจะแก้เสียก่อนก็ไม่ได้


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 16:34
ยังเหลืออะไรให้ติดใจเรื่อง"เฉลียงเก๋ง"  อยู่อีกเล็กน้อย

ถ้าเป็นละคร  ฉากเกิดขึ้นที่ระเบียง  ตัวละครมี 3 คนคือสาวชาววังเลสเบี้ยนสองคนนั่งเล่นอยู่ที่ "เฉลียง" เป็นเฟอร์นิเจอร์อย่างเดียวที่กล่าวถึงบนระเบียงนั้น   กำลังงอนกันอยู่  พอดีลุงคนหนึ่งเดินมาที่ระเบียงพอดี  ถามว่าทะเลาะอะไรกัน
สองคนตกใจและอาย  ก็ลุกขึ้นวิ่งหนี   เท้าหนักไปหน่อยไปเหยียบบนพื้นเฉลียงเก๋ง เล่นเอารอดหัก
จากรูปประกอบที่นำมาลงข้างล่างนี้  รอดของเฉลียงเก๋งเป็นไม้แผ่น ไม่ใช่ไม้ท่อน   ฝีเท้านางในสองคนทิ้งน้ำหนักลงไปโดยแรง ก็ไม่แปลกที่รอดหักลงไปทันตาเห็น



กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 เม.ย. 12, 16:37
ขอบคุณนะครับ

ผมหลับไปงีบนึง ตกใจมีโทรศัพท์เข้า เออๆคะๆเสร็จมาเปิดกระทู้ดู เห็นฟ้ามันเหลืองๆเต็มจอ สงสัยตัวเองคงจะยังไม่ตื่น กำลังฝันอยู่

แหม คุณหนุ่มจะแก้เสียก่อนก็ไม่ได้

ฟ้าเหลืองเลยหรอครับ อิอิ  ;D รูปแบบสถาปัตยกรรมพระที่นั่งงดงามมากเลยครับ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 16:42
เหยียบรอดหัก หกล้มลงไปแล้ว ก็พูดแก้เก้อไปตามเรื่อง

ทำเป็นพูดเชือนแชพอแก้ตน   คุณสองคนก็ขึ้นนอนบนเตียงใหญ่
พลิกพลอดกอดก่ายสบายใจ   เทียบประทับหลับไหลไปด้วยกัน

มีคำถามอีกข้อคือ  เตียงอยู่ตรงไหน  ทำไมมีคำนี้โผล่ขึ้นมาดื้อๆ ไม่มีต้นสายปลายเหตุว่าเธอเดินเข้าห้องไปหรืออย่างไร
ถ้าเข้าห้องนอน    สาวชาววังสมัยนั้นไม่ได้นอนเตียง   แต่นอนบนฟูกที่ปูบนพื้นห้องในห้องที่อยู่ของแต่ละคน      คืนไหนเข้าเวร ที่นอนของสองสาวคือบนพื้น ปลายแท่นพระบรรทมของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ
เป็นไปได้ไหมว่า เตียงคือส่วนหนึ่งของเฉลียงเก๋ง   คือฉากมันก็อยู่ตรงระเบียงนั่นแหละ   กวีจึงไม่ได้บรรยายว่าสองคนนี้เดินเข้าไปในห้องที่ตั้งเตียงไว้

ถ้าอย่างนั้นเตียงที่ว่าคืออะไร
ดิฉันเข้าใจว่าเป็นตั่ง ที่เป็นแท่นลดลงมาจากเฉลียงเก๋ง     ตัวพื้นเก๋งนอนไม่ได้แล้วเพราะรอดหัก  ขืนไปนอนพื้นอาจจะยุบลงไป
ก็เลยนอนบนตั่งข้างหน้าเฉลียงเก๋งแทน  กอดกันหลับไป
คำว่า เตียง บางครั้งก็ใช้เป็นคำคู่ของตั่ง   เหมือนในบทอาขยานสอนเรื่องไม้ม้วน    ที่ว่า "สิ่งใดอยู่ในตู้  มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง"

ดังภาพข้างล่าง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 เม.ย. 12, 16:47
^
ถ้าเป็นตั่ง ก็ไม่มีเก๋ง ซิครับผม แล้วเครื่องเรือนเตียงเก๋ง มองไกล ๆ เหมือนตู้บูชายังไงพิกลนะครับอาจารย์  ;D


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 16:59
มันเป็น 2 ชิ้นไงคะ   ไม่ใช่ชิ้นเดียวกัน   เตียงหรือตั่งที่ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่วางอยู่ข้างหน้าตัวเก๋ง
ป.ล.  เป็นเครื่องเรือนที่มีโครงสร้างแบบนี้  แต่ไม่อลังการเท่านี้    อาจเป็นเตียงมีหลังคาแบบเรียบๆ มีตั่งเป็นพื้นลดอยู่ข้างหน้า  เรียกว่าเตียง   คุณเธอไปเหยียบส่วนข้างในหักเสียแล้ว  พอจะนอนก็เลยต้องนอนบนตั่งข้างหน้าแทน


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 18:41
หรือว่าเฉลียงเป็นส่วนที่อยู่ล่างก่อนขึ้นเตียง

 ???


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 18:47
ส่วนไหนจะเป็นส่วนไหนก็ตาม  เตียงต้องเป็นส่วนที่ไม่มีรอด   และแยกส่วนจากเฉลียง
รอดเฉลียงหัก  เตียงยังอยู่เป็นปกติ ไม่กระทบกระเทือนถึงกัน


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 19:13
ท่านที่ยังติดใจประเด็นของเฉลียงเก๋งก็เชิญกลับมาต่อตามสบายนะครับ

ผมขอไปยังเฉลียงอาคาร และระเบียงอาคาร ค้างไว้ตรงที่น่าจะสรุปได้เล็กๆว่า ระเบียงคือส่วนที่อยู่ติดๆกับพื้นดิน แต่มานึกได้อีกที ระเบียงของพระที่นั่งจักรีอยู่ภายในอาคารชั้นบนๆ ผมก็เกิดอาการไปไม่ถูก ต้องไปนอนพักสมองจนเห็นฟ้าเหลือง

กลับมาทบทวนอีกทีหนึ่ง ย้อนกลับไปหาเรือนไทยดั้งเดิม และพจนานุกรมที่ราชบัณฑิตสถานแปลความให้ไว้

เฉลียง   ส่วนของเรือนที่ต่อออกมาด้านหัวและท้ายเรือน
ระเบียง พื้นเรือนที่ต่อออกไปทางด้านข้าง

ในทางเชิงช่าง มันน่าจะมีนัยมากกว่าด้านหัวด้านข้าง  ผมว่า น่าจะเป็นโครงสร้างส่วนพื้น ที่บ่งชี้ความแตกต่าง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 19:14
ลองดูภาพนี้นะครับ

ล่างซ้าย การใช้รอด ต่อมาได้เปลี่ยนไปใช้ไม้คานตีประกบกับเสาแทนการเจาะเสาให้เป็นรูเพื่อเอาไม้คานลอดออกมา คานนี้มีตงวางอยู่เพื่อถ่ายน้ำหนักพื้นอีกทีหนึ่ง

การจะต่อพื้นออกไปด้านสกัด หรือด้านยาว สามารถทำได้โดยการยื่นหัวคานออกไป หรือจะยื่นหัวตงออกไป


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 19:17
ถ้าเป็นด้านสกัด ก็ยื่นหัวคานออกไป แล้ววางตงบนนั้นอีกทีหนึ่ง ส่วนที่ยื่นออกไปนี้เรียกเฉลียง(มาจากภาษาเขมรหรือเปล่าก็ไม่รู้)

(ในรูปนี้ ส่วนบนที่ยื่นออกมาเห็นผนัง ถ้าเป็นเฉลียง ก็จะใส่ลูกกรงราวกันตกเข้าไปแทน)


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 19:22
ถ้าเป็นด้านยาว ก็ยื่นหัวตงออกไปเลย อันนี้เรียกระเบียง ซึ่งโครงสร้างอาคารหลายชั้นขนาดใหญ่ ที่ภายในมีช่องโล่งและทางเดิน มักจะอยู่ในแนวยื่นตง นั่นเองที่อาจให้เกิดการเรียกพื้นที่ยื่นมาในส่วนนี้ว่าระเบียง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 19:47
น่าจะเป็นคำตอบว่าทำไมคนทั้งหลายจึงระบุว่าระเบียงอยู่ด้านยาว  เฉลียงอยู่ด้านสะกัด


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 19:53
แต่ท่านที่ว่า เรือนสมัยใหม่ไม่ได้สร้างให้มีความกว้างความยาวชัดเจนเหมือนเรือนโบราณ แยกเฉลียงกับระเบียงไม่ออก ก็อาจแยกด้วยตำแหน่ง. ถ้าอยู่หน้าบ้านหลังบ้าน เรียกว่า เฉลียง เช่น เฉลียงหน้าบ้าน เฉลียงหลังบ้าน  ถ้าอยู่ข้างบ้าน เรียก ระเบียง
 
ก็ยังไม่เนียนอยู่ดี

อาคารสมัยนี้รูปทรงไร้เขตจำกัด  ถึงมองออกว่าอะไรเป็นหน้าบ้านหลังบ้าน แต่ของอย่างเดียวกัน ข้างๆเรียกอย่าง หน้ากับหลังเรียกอย่าง คงสับสนไปหมด


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 20:17
อย่าว่าแต่อาคารสมัยใหม่เลยค่ะ  อาคารสมัยเก่าบางแห่งก็ยากจะแบ่งระเบียงและเฉลียงออกจากกันได้  
อย่างตำหนักสายสุทธานภดล  

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5082.0;attach=31823;image)

ถ้าถือว่าเฉลียงอยู่ส่วนหน้า ระเบียงอยู่ส่วนข้าง    ในภาพนี้เฉลียงเชื่อมติดกับระเบียงเป็นเนื้อที่เดียวกัน
คนยืนอยู่ด้านหน้าเรียกว่ายืนอยู่บนเฉลียง     ขยับมาอีกไม่กี่ก้าว กลายเป็นยืนอยู่บนระเบียงไปแล้ว   ยังงั้นหรือคะ?


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 20:22
ถ้าเป็นด้านสกัด ก็ยื่นหัวคานออกไป แล้ววางตงบนนั้นอีกทีหนึ่ง ส่วนที่ยื่นออกไปนี้เรียกเฉลียง(มาจากภาษาเขมรหรือเปล่าก็ไม่รู้)

มาจากภาษาเขมรทั้งเฉลียง, ฉนวน และระเบียง

 ;D


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 20:36
แล้วความหมายของเฉลียง ฉนวน  ระเบียง ในภาษาเขมร  แปลว่าอะไรคะ คุณเพ็ญชมพูทราบไหม
เผื่อจะได้ร่องรอยความหมายของคำเหล่านี้ขึ้นมาบ้าง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 20:40
ความหมายของเฉลียงและระเบียง ที่พบในเว็บอื่น

เฉลียงกับระเบียงแตกต่างกันอย่างไร? (http://th.answers.yahoo.com/question/index?qid=20071128085819AArkhdY)

ไปพบความหมายของเฉลียง ในภาษาเขมร
 http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/th/main.php?p=dGhfd2ViX2NvbnRlbnQ=&c=%E0%B8%82%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%B3~%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1&id=55

คำ “เฉลียง” ที่แปลว่า เสี้ยว เฉไปข้างๆ เขมรแผลงเป็น จำเหียง, จังเหียง แปลว่า ข้างซีก
ถ้าเฉลียงแปลว่าเสี้ยว หรือเฉไปข้างๆ  เขมรเรียกว่าจังเหียง  แปลว่าข้างซีก   ยังงั้นเฉลียงก็น่าจะอยู่ด้านข้างของบ้านมากกว่าด้านหน้า


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 21:10
^

จากข้างบน ฯลฯ จึงเกิดกระแสใหม่ที่นิยามพื้นที่ยื่นมานอกบ้านนี้ ถ้าอยู่บนดินก็เรียกเฉลียง ถ้าอยู่ชั้นบนๆขึ้นไปก็เรียกระเบียง เวปที่ขายบ้านจัดสรร หรือบ้านพร้อมปลูกสร้างทั้งหลายก็จะใช้ศัพท์ตามบัญญัตืใหม่นี้ตามๆกัน


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 21:12
แล้วความหมายของเฉลียง ฉนวน  ระเบียง ในภาษาเขมร  แปลว่าอะไรคะ คุณเพ็ญชมพูทราบไหม
เผื่อจะได้ร่องรอยความหมายของคำเหล่านี้ขึ้นมาบ้าง

ทราบเพียงว่า เฉลียง แผลงมาจาก เฉียง นึกไม่ออกเหมือนกันว่าเกี่ยวอะไรกับส่วนของอาคารที่เรียกว่าเฉลียง

ส่วน ระเบียง แผลงมาจาก เรียง   นึกเอาว่า (ไม่มีตำราอ้างอิง   ;)) ถ้าส่วนของอาคารที่มีเสาหรือส่วนประกอบอื่นเรียงกันเยอะ ๆ ก็น่าจะเป็นระเบียง

อย่างรูปนี้ น่าจะเป็นระเบียง

บรรยากาศแบบเฉลียง ๆ

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5082.0;attach=31821;image)

 ;D


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 21:16
อ้างถึง
คำ “เฉลียง” ที่แปลว่า เสี้ยว เฉไปข้างๆ เขมรแผลงเป็น จำเหียง, จังเหียง แปลว่า ข้างซีก
ถ้าเฉลียงแปลว่าเสี้ยว หรือเฉไปข้างๆ  เขมรเรียกว่าจังเหียง  แปลว่าข้างซีก   ยังงั้นเฉลียงก็น่าจะอยู่ด้านข้างของบ้านมากกว่าด้านหน้า

ถ้าเช่นนั้น เฉลียงน่าจะแปลว่าเสี้ยว คือพื้นที่ต่อออกจากด้านสกัด มักจะขนาดไม่เต็มห้อง แต่เป็นเสี้ยวหนึ่งของห้องเป็นส่วนใหญ่



กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 21:22
ระเบียง มีคำเรียกในภาษาเขมรแน่นอน


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 21:31
ถ้าอย่างนั้น  หลังประตูโค้งทั้งชั้นบนชั้นล่างของอาคารนี้ก็เรียกว่าเฉลียงเหมือนกันน่ะซีคะ

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5082.0;attach=31822;image)

นี่ก็น่าจะเป็น ระเบียง

 ;D


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 21:46
 ;)


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 22:01
เอามาจากเวปของเค้า

อาคารสวนกุหลาบ (ตึกยาว) เป็นอาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่สร้างขึ้นใหม่ มีลักษณะเป็นสถาปัตกรรมที่มีความโดดเด่นและสง่างาม มีประวัติความเป็นมาที่มีคุณค่ายิ่งต่อสังคมไทย ชาวสวนกุหลาบทุกคนจึงมีความภาคภูมิใจ และถือว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของโรงเรียน

 อาคารสวนกุหลาบ เริ่มสร้าง 8 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เปิดใช้ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2454 มีเพียงชั้นบนและล่าง ตึกยาวมีความยาว 198.35 เมตร กว้าง 11.35 เมตร เนื้อที่ตึกยาวทั้งหมด 1ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา เป็นอาคารทรงยุโรป 2 ชั้น ขนานไปกับถนนตรีเพชร หลังคามุงด้วยกระเบื้องลอนสีอิฐ ภายในกั้นเป็นห้อง ๆ เป็นห้องขนาด 15 เมตร คูณ 9 เมตร 1 ห้อง สลับกับห้องเล็ก 9 เมตร คูณ 7 เมตร 2 ห้อง ตลอดความยาวของตึก

อาคารหลังนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เจ้าหน้าที่เขียนแบบ ซึ่งจะมีลวดลายมากกว่าในปัจจุบัน ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2452 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสร็จทอดพระเนตรทั้งๆ ที่ยังทรงพระประชวรอยู่ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้เป็นผู้ทำพิธีเปิดตึกนี้ โรงเรียนสวนกุลาบได้ใช้ตึกนี้เป็นที่เล่าเรียนตลอดมา

ประวัติเดิมมีว่า วัดราชบูรณะจะสร้างตึกแถวเพื่อเก็บค่าเช่า ทางกระทรวงธรรมการจึงได้มีหนังสือกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทูลขอพระราชทานที่ตรงท้ายวัดราชบูรณะและขอเช่าตึกแถวทั้งหมดแทนประชาชน โดยเก็บจากนักเรียนคนละบาท และตึกนั้นจะต้องยาวไปตามถนนและข้างหน้าทำเป็นหน้าต่าง ข้างหลังจะให้ทำเป็นเฉลียงทางเดิน ค่าเช่าให้วัดโดยกระทรวงธรรมการให้ค่าเช่าวัดเป็นเงินร้อยละ 7.5

 ก่อนปี พ.ศ.2475 ได้มีการปรับปรุงต่อเติมตึกยาวในระยะที่มีการปรับปรุงถนนตรีเพชร เพื่อเตรียมฉลองครบรอบ 150 ปี กรุงเทพมหานคร มีห้องขนาดใหญ่ ( 15 x 9 เมตร ) และห้องขนาดเล็ก ( 9 x 7 เมตร ) 2 ห้อง สลับกันไปเช่นนี้ตลอดตึก บริเวณห้องเล็กๆ จะมีเฉลียง และมีประตูตามระเบียงหันออกด้านถนนตรีเพชร ต่อมาได้ก่อผนังทางด้านถนนตรีเพชรโดยตลอดตามความยาวของตึก
 
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2488 อาคารถูกระเบิดเสียหายเป็นบางส่วน ได้มีการบูรณะซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม และมีการบูรณะปฏิสังขรณ์อื่นๆ อีก เช่น เปลี่ยนพื้นระเบียงชั้นล่าง จากพื้นไม้เป็นพื้นหินขัด เปลี่ยนกระเบื้องหลังคาจากกระเบื่องสี่เหลี่ยมเป็นกระเบื้องลอน

ปัจจุบันอาคารหลังนี้ได้ขึ้นทะเบียนกรมศิลปากรเป็นโบราณสถานของชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษเล่ม 104 ตอนที่ 18 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2530 (พื้นที่โบราณสถานประมาณ 3 ไร่ 1 งาน 6 ตารางวา) ซึ่งในปัจจุบันได้มีการบูรณะปรับปรุงซ่อมแซมอาคารหลังนี้ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์สวยงาม และใช้เป็นสถานที่ดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์การศึกษาแห่งชาติ และบางส่วนเป็นสถานที่เรียนของนักเรียน


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 เม.ย. 12, 22:08
เฉลียง ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

จารึกวัดพระเชตุพน กล่าวว่า "ศาลาด้านหน้าพระมหาเจดีย์ทั้ง ๒ หลัง เดิมไม่มีเฉลียงชั้นลด รือทำให้มีเฉลียงชั้นลดทั้ง ๒ หลัง"


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 22:14
เฉลียงชั้นลด เป็นยังไงคะ

กระทู้นี้ มีของแถมพิเศษให้ทุกท่านที่เข้ามาอ่าน 
v


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 22:15
ดูรูปตึกยาวโรงเรียนสวนกุหลาบต่อ

อ้างถึง
มีประตูตามระเบียงหันออกด้านถนนตรีเพชร ต่อมาได้ก่อผนังทางด้านถนนตรีเพชรโดยตลอดตามความยาวของตึก


รูปปัจจุบันยังเห็นระเบียงด้านบนอยู่ แต่ใต้ระเบียงที่เคยเป็นประตู ได้เป็นผนังไปหมดแล้ว


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 22:20
ด้านนี้คือเฉลียงทางเดิน


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 22:23
แปลว่าทางเดินข้างบนคือระเบียง  ทางเดินข้างล่างคือเฉลียง   ???


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 22:26
^
ใจเย็นๆครับ อย่าเพิ่งมึน ทนอ่านไปอีกสักหน่อย ให้ถึงจุดสลบก่อนแล้วค่อยเข้านอน เช้าตื่นขึ้นมาฟ้าจะเป็นสีเหลืองสวยดี


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 22:42
อ้างถึง
มีประตูตามระเบียงหันออกด้านถนนตรีเพชร ต่อมาได้ก่อผนังทางด้านถนนตรีเพชรโดยตลอดตามความยาวของตึก

พอดีได้ภาพโบราณมาเปรียบเทียบ ระเบียงจะมีความหมายว่าเฉลียงแบบสั้นๆกระมัง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 22:48
อ้างถึง
เฉลียงชั้นลด เป็นยังไงคะ

เป็นส่วนที่ลดพื้นลงมาทางด้านสกัดครับ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 22:50
ใจเย็นๆครับ อย่าเพิ่งมึน ทนอ่านไปอีกสักหน่อย ให้ถึงจุดสลบก่อนแล้วค่อยเข้านอน เช้าตื่นขึ้นมาฟ้าจะเป็นสีเหลืองสวยดี

V


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 22:56
อ้างถึง
มีประตูตามระเบียงหันออกด้านถนนตรีเพชร ต่อมาได้ก่อผนังทางด้านถนนตรีเพชรโดยตลอดตามความยาวของตึก

พอดีได้ภาพโบราณมาเปรียบเทียบ ระเบียงจะมีความหมายว่าเฉลียงแบบสั้นๆกระมัง

ตอบไม่ได้ค่ะ  เอาศูนย์ไปกินตามระเบียบ

รู้อยู่ข้อหนึ่งว่า อาจารย์ร.ร.สวนกุหลาบผู้เรียบเรียงประวัติของอาคารหลังนี้  ท่านไม่นับว่าเฉลียงคือระเบียงด้านหน้า และระเบียงคือเฉลียงด้านข้าง
ระเบียงของท่านหันออกด้านถนน

คุณเพ็ญชมพูจะว่ายังไงเอ่ย?


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 เม.ย. 12, 23:19
ถามท่านผู้อ่านบ้างดีกว่า
ผมคิดว่าโรงเรียนที่ทุกท่านเคยเรียนมา จะมีทางเดินยาวหน้าห้องเรียนด้วยกันทั้งนั้น ท่าน(ถูกสอนให้)เรียกทางเดินยาวๆนั้นว่าอย่างไรกันบ้างครับ



กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 เม.ย. 12, 23:32
ตอบได้เลยค่ะ
เรียนอยู่ 2 ร.ร.  มีทางเดินยาวหน้าห้องเรียนทั้งสองแห่ง. เรียกว่าระเบียง.   ไม่เคยมีใครเรียกว่าเฉลียง
คำว่าเฉลียงใช้สำหรับระเบียงเล็กๆยื่นออกมาจากตัวบ้าน หรืออาคารเรียน


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 12, 07:40
ศาลากลางจังหวัดหลังเก่าสิงห์บุรี เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้ามีเฉลียงยาวตลอด


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 12, 07:44
พาไล เครื่องไม้ยื่นออกมาด้านหน้า มีเสากลมรับพาไล


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 12, 08:07
อ. NAVARAT.C ช่วยแปลเรื่องเฉลียงให้ฟังหน่อยครับ

"การสร้างบ้านเรือนไทย : สอดรอดกับเสาเพื่อวางพื้นระเบียง จากนั้นก็วางฝาของเฉลียง แป กลอน ระแนง ตามลำดับ"


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 เม.ย. 12, 08:55
อ้างถึง
มีประตูตามระเบียงหันออกด้านถนนตรีเพชร ต่อมาได้ก่อผนังทางด้านถนนตรีเพชรโดยตลอดตามความยาวของตึก

พอดีได้ภาพโบราณมาเปรียบเทียบ ระเบียงจะมีความหมายว่าเฉลียงแบบสั้นๆกระมัง

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5082.0;attach=31914;image)

ภาพขาวดำข้างบนคือโรงเรียนเพาะช่าง

ภาพจริง ๆ เป็นดังนี้

ดูภาพโรงงานถูกระเบิดทำลายลงในสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว  ตึกนี้ก็โดนระเบิดทำลายไปเหมือนกัน  ว่าแต่ว่าเป็นตึกอะร  อยู่ที่ไหนใครทราบบ้างครับ?

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3462.0;attach=20980;image)

แฝดสยาม

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3462.0;attach=21004;image)

แฝดคู่นี้เหมือนกันอย่างกับแกะ

 ;D


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 เม.ย. 12, 09:16
^
^
^
ฟ้ายังเหลืองอยู่ กลับไปนอนต่อดีกว่า


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 12, 10:05
นี่คืออาคารโรงเรียนเก่า    ทางเดินหน้าห้องเรียนที่เห็นอยู่ทุกชั้น เรียกว่าระเบียง ไม่มีใครเรียกว่าเฉลียง
ไม่ว่าอยู่ด้านหน้า หรือด้านข้างก็ตาม


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 12, 10:18
อีกส่วนหนึ่งของโรงเรียนเหมือนกัน   
ตรงที่ลูกศรชี้  ที่มีลูกกรงกั้นอยู่   เรียกว่าเฉลียงค่ะ  ไม่มีใครเรียกตรงนั้นว่าระเบียง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 12, 10:27
ตอนเด็กๆ รู้จักคำว่า ระเบียงยาว  แต่ไม่เคยได้ยินคำว่า "เฉลียงยาว"   เพิ่งอ่านเจอในค.ห. 170 ของคุณหนุ่มสยาม   เข้าใจว่าเป็นคำอธิบายตามความหมายของพจนานุกรมราชบัณฑิตฯ 
เฉลียงเป็นส่วนยื่นจากอาคาร ส่วนเล็กๆ  ระเบียงมีทั้งขนาดสั้นๆ  หรือทอดยาวไปตลอดความยาวของอาคารก็ได้    ตอนนั้นไม่เคยนับเลยว่ามันอยู่ส่วนหน้าหรือข้าง หรือว่าหลัง
ไม่เคยได้ยินคำว่า เฉลียงหน้า  มีแต่ มุขหน้า   แต่เคยได้ยินคำว่าเฉลียงหลัง ค่ะ  มีทั้งเฉลียงหลัง และระเบียงหลัง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 12, 10:41
ไม่เคยได้ยินคำว่า เฉลียงหน้า  มีแต่ มุขหน้า   แต่เคยได้ยินคำว่าเฉลียงหลัง ค่ะ  มีทั้งเฉลียงหลัง และระเบียงหลัง

จัดมาให้ตามคำเรียกร้องครับกระผม  ;D

ตำนานวัดบวรนิเวศ โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า

"ทรงสร้าง (รัชกาลที่ ๔) กุฎีตึกขึ้นหมู่หนึ่ง เรียกว่า คณะแดง มีกุฏิใหญ่ ๓ ห้อง มีเฉลียงหน้า ๑ หลัง เป็นที่อยู่แห่งผู้ปกครอง หอฉัน ๒ หอ มีพาไลรอบ ๑ หลัง"

"มีศาลาโรงธรรม ๑ หลัง ก่ออิฐหรือขัดแตะถือปูน ประมาณว่า ๕ ห้อง มีเฉลียงรอบ อยู่ติดกับบ้านพระยาเกษตรรักษา (ศรีนิล)"


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 12, 10:45
^
ความรู้ใหม่นะเนี่ย  :)
รายการคุณขอมา  :  อยากเห็นเฉลียงหน้าและเฉลียงรอบค่ะ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 12, 10:55
เฉลียงหน้า ก็ทางเดินมีเสาด้านหน้าอาคาร

เฉลียงหนัง ก็ทางเดินมีเสาด้านหลังอาคาร

เฉลียงรอบ ก็ทางเดินมีเสารอบอาคาร

"ตำหนักทรงพรต...ทรงรื้อกุฏิเดิมแล้วสร้างตึกพื้นสองชั้น ๙ ห้อง กั้นเป็น ๓ ห้อง ๒ หลังมีเฉลียงหน้าหันหน้าเข้าหากัน เรียกในบัดนี้หลังต่อหอเสวยแห่งพระปั้นหย่าออกมาว่า "ตำหนักพรต" หลังตรงกันว่า "หอสหจร"


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 12, 10:59
^
ขอรูปให้ครบคำจำกัดความได้ไหมคะ  ได้นึกภาพออก

เฉลียงหน้าหันหน้าเข้าหากัน  มีรูปให้ดูไหมคะ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 12, 11:16
^
ขอรูปให้ครบคำจำกัดความได้ไหมคะ  ได้นึกภาพออก

เฉลียงหน้าหันหน้าเข้าหากัน  มีรูปให้ดูไหมคะ

เฉลียงหันหน้าเข้าหากัน

ตำหนักทรงพรต กับ ตึกสหจร หันหน้าเข้าหากันครับ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 เม.ย. 12, 11:49
ไปเยี่ยมพระลูกชายที่ตำหนักทรงพรตบ่อย ห้องท่านอยู่หลังเฉลียงชั้นบนนั่นเองแหละครับ แต่ไม่เคยถ่ายรูปพระตำหนักชัดๆ เพราะไม่คิดว่าจะมีใครสงสัยอะไรกับตึกนี้



กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 12, 11:57
    บ้านพลอยอยู่ในคลองบางหลวง เรียกได้ว่าเป็นบ้านใหญ่ มีกำแพงอิฐเสริมรั้วเหล็กกั้นตลอดริมน้ำ ที่ท่าน้ำ มีศาลาหลังใหญ่ ทำด้วยไม้ ขึ้นจากกระไดท่าน้ำ เดินผ่านลานกว้าง ก็ถึงตัวตึก เป็นที่อยู่ของเจ้าคุณพ่อ ตึกนั้น จะพูดไปก็เป็นตึกทันสมัย สำหรับระยะเวลาระหว่าง พ.ศ. ๒๔๒๕ ถึง พ.ศ. ๒๔๓๕ อันเป็นเวลาในรัชสมัยของ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมหาราช ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ตึกนั้นเป็นตึกก่อนอิฐฉาบด้วยปูนขาว หลังคามุงกระเบื้องจีนเป็นลูกฟูก หน้าตึกเป็นบันไดขึ้นสองข้างมาบรรจบกัน ตรงกลางเป็นชาลาย่อมๆ แล้วจากนั้น มีบันไดขึ้นตรงไปชั้นบนของตึก บนตึกมีเฉลียงเดินได้รอบ ลูกกรงมีลูกมะหวด กระเบื้องสีเขียวแก่ พ้นจากเฉลียงเข้าไป ก็มีห้องใหญ่ๆสามห้อง เป็นที่อยู่เจ้าคุณพ่อ
   
    เฉลียงเดินได้รอบ = เฉลียงหน้า + ระเบียงข้าง + เฉลียงหลัง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 12, 12:03
แบบนี้หรือเปล่าคะ ที่เรียกว่า "เฉลียงเดินได้รอบ"


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 12, 12:48
ตึกนั้นเป็นตึกก่อนอิฐฉาบด้วยปูนขาว หลังคามุงกระเบื้องจีนเป็นลูกฟูก หน้าตึกเป็นบันไดขึ้นสองข้างมาบรรจบกัน ตรงกลางเป็นชาลาย่อมๆ แล้วจากนั้น มีบันไดขึ้นตรงไปชั้นบนของตึก


บ้านนี้เป็นสไตล์โคโลเนียล    เดาว่าบ้านเจ้าคุณพ่อของพลอยเป็นโคโลเนียลประยุกต์   ม.ร.ว.คึกฤทธิ์บรรยายว่า
"มีบันไดขึ้นสองข้างมาบรรจบกัน ตรงกลางเป็นชาลา   แต่ว่าไม่มีบันไดอีกทอดหนึ่งขึ้นตรงไปชั้นบน"
เจ้าคุณพ่อคงจะนั่งอยู่ตรงส่วนที่มีลูกกรงกั้น


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 เม.ย. 12, 13:00
ไม่เกี่ยวกับแม่พลอย แต่เกี่ยวกับคุณเปรมสยามหนุ่ม

อ้างถึง
อ. NAVARAT.C ช่วยแปลเรื่องเฉลียงให้ฟังหน่อยครับ

"การสร้างบ้านเรือนไทย : สอดรอดกับเสาเพื่อวางพื้นระเบียง จากนั้นก็วางฝาของเฉลียง แป กลอน ระแนง ตามลำดับ"
คุณหนุ่มสยามเล่นตัดมาเฉพาะช่วง ไม่ครบเนื้อความ เล่นอย่างนี้ผมมึนกว่าที่คุณเอารูปฟ้าเหลืองมาลงเสียอีก

ถ้าเอาข้อความในข้อก่อนนั้น คือข้อ๒๖ มาลงด้วย ก็จะทำให้ทราบว่า ตัวเรือนทำเสร็จไปแล้ว ฝาเฉลียงน่ะ อยู่บนระเบียงที่กำลังจะทำ 

26. เมื่อประกอบตัวเรือนสําเร็จแล้ว ก็จัดการทําระเบียงต่อไป โดยวางจันทันระเบียงปลายด้านใน ปลายจันทันระเบียงจะเลยเสาออกไปพอสมควรทําเป็นเดือยไว้เพื่อสอดเข้ากับเชิงกลอน  แล้วสลักด้วยไม้สลักบังคับไม่ให้เชิงกลอนดีดตัวออกไป หลังเชิงกลอนวางไม้ทําเป็นสะพานหนู
 27. สอดรอดกับเสาเพื่อวางพื้นระเบียง จากนั้นก็วางฝาของเฉลียง แป กลอน ระแนง ตามลําดับ

แต่ว่าฝาของเฉลียงในที่นี้เป็นอันเดียวกับฝาเสี้ยวหรือเปล่า
อ้างถึง
คำ “เฉลียง” ที่แปลว่า เสี้ยว เฉไปข้างๆ เขมรแผลงเป็น จำเหียง, จังเหียง แปลว่า ข้างซีก

ถ้าฝาของเฉลียงในข้อ๒๗ คัดมาผิดเพี้ยน และคือฝาเสี้ยวก็จบปัญหา  มันก็ว่าเป็นลำดับไปตามนั้น


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 เม.ย. 12, 13:10
อ้างถึง
ถามท่านผู้อ่านบ้างดีกว่า
ผมคิดว่าโรงเรียนที่ทุกท่านเคยเรียนมา จะมีทางเดินยาวหน้าห้องเรียนด้วยกันทั้งนั้น ท่าน(ถูกสอนให้)เรียกทางเดินยาวๆนั้นว่าอย่างไรกันบ้างครับ

ที่ผมถามอย่างนี้ ผมซีเครียสนะครับ คือผมอยากทราบจริงๆ
โรงเรียนของผมน่ะ เรียกระเบียงทุกแห่ง ตึกเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีแต่ระเบียง อาจเข้าข่ายเป็นเฉลียงตรงไหนไม่ทราบ แต่ทุกคน รวมทั้งครูบาอาจารย์ก็เรียกทางเดินยาวๆทุกๆชั้นว่าระเบียง

มีท่านอาจารย์เทาชมพูกรุณาตอบอยู่คนเดียว คนอื่นไม่สงเคราะห์ข้อมูลให้บ้างหรือครับ เราจะได้ถึงบทสรุปของกระทู้กันเสียที


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 เม.ย. 12, 13:58
ลองใช้อินทรเนตรส่องดู ๒ คำนี้

๑. ระเบียง ตึกยาว (http://www.google.co.th/search?hl=th&biw=1024&bih=625&q=%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87+%E0%B8%95%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A7&oq=%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87+%E0%B8%95%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A7&aq=f&aqi=&aql=&gs_nf=1&gs_l=serp.12...53562.53562.0.56016.1.1.0.0.0.0.282.282.2-1.1.0.GwBQ7o6mro4)

๒. เฉลียง ตึกยาว (http://www.google.co.th/search?hl=th&biw=1024&bih=625&q=%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87+%E0%B8%95%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A7&oq=%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87+%E0%B8%95%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A7&aq=f&aqi=&aql=&gs_nf=1&gs_l=serp.12...18640.21953.0.23422.13.8.0.0.0.1.719.1921.0j2j2j1j6-1.6.0.MVAEEWi_xbM)

พบว่า "ชาวสวน" ทั้งหลายพร้อมใจกันเรียก "ระเบียงตึกยาว" กันอย่างพร้อมเพรียง

ถามท่านผู้อ่านบ้างดีกว่า
ผมคิดว่าโรงเรียนที่ทุกท่านเคยเรียนมา จะมีทางเดินยาวหน้าห้องเรียนด้วยกันทั้งนั้น ท่าน(ถูกสอนให้)เรียกทางเดินยาวๆนั้นว่าอย่างไรกันบ้างครับ

"ระเบียง" เป็นคำตอบสุดท้าย

 ;D


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 เม.ย. 12, 14:02
ขอบคุณครับ

๒ ละ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 12, 14:07
เมื่อครั้งเรียนที่คณะอักษรศาสตร์.    ทางเดินหน้าห้องเรียนที่วนไปรอบตึกทั้งหน้า. ข้างและหลัง. ทั้งชั้นบนและชั้นล่าง.  เรียกว่าระเบียง.  ไม่มีใครเรียกว่าเฉลียง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 เม.ย. 12, 14:10
๒ ครึ่ง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 12, 14:21
ตอนอยุ่ตึกสอง เตรียมอุดมศึกษา ไม่เคยเรียกเฉลียง ส่วนระเบียงก็ไม่เรียกว่าริมระเบียง

เรียกกับเพื่อน ๆ ว่า "หน้าห้อง"  ::) ::)


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 27 เม.ย. 12, 14:29
เจ้าของกระทู้เข้าใจตั้งคำถามถึงความแตกต่างของคำเรียกส่วนต่างๆของบ้าน

ที่ คนเดี๋ยวนี้แทบจะไม่รู้จักเพราะอยู่บ้านที่มีความเรียบง่ายของโครงสร้างมากขึ้น  

ดิฉันนั่งนึกเล่นๆว่า  ...ตัวเองเคยได้ยินคำเหล่านี้แล้วเข้าใจว่าอย่างไร...

ก็พอนึกได้ว่า คำว่าเฉลียง น่าจะหมายถึงส่วนของบ้านที่ใช้ทำกิจกรรมในชีวิตอย่างสบายๆ

เช่นมีลักษณะเหมือนห้องมุขแต่ไม่มีผนัง มีแต่พื้น หลังคา และเชื่อมกันด้วยเสาที่แข็งแรง

คนไทยในอดีตนั้น ไม่ทำงานในห้องนอน กิจกรรมที่ทำในบ้านก็จะต้องมีสมาชิกช่วยกันหลายคน

อากาศร้อนจึงมักมานั่งทำกันที่เฉลียง(หน้าหรือหลัง)บ้านซึ่งมีหลังคาต่อเชื่อมจากตัวบ้าน กันแดด กันฝน

 มีพื้นแข็งแรงเชื่อมต่อมาจากตัวบ้านแต่ไม่มีผนัง เฉลียงมักจะมีต้นไม้ใหญ่อยู่ใกล้ๆเพื่อ

ลดความร้อน และเพิ่มความสดชื่น ความเย็นจากต้นไม้ ทำให้รู้สึกสบายนั่งได้ทั้งวัน

เช่นถ้ามีลูกหลานมาหาญาติผู้ใหญ่ ก็อาจไปนั่งคุยนอนคุยกันที่เฉลียง (เดาว่าน่าจะสร้างตามทิศที่มีลมตามธรรมชาติพัดเข้ามาในบ้านได้)

ไม่ต้องเข้าไปนั่งคุยอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในห้องรับแขก  อยู่ที่เฉลียง...ปากก็คุยไป ทำงานจุกจิกไป ทานของว่างไป

หรืออาจใช้เฉลียงเป็นที่สังสรรค์ในหมู่ญาติ ทานอาหารร่วมกัน เล่นดนตรีชิ้น 2 ชิ้น มีคนนั่งฟังแบบกันเองไม่กี่คนก็ได้

ขึ้นอยู่กับขนาดของบ้าน พื้นที่กว้างและฐานะของเจ้าของบ้าน


ทั้งนี้ถ้าเจ้าของบ้านมีเกียรติยศชื่อเสียงก็อาจประดับประดา ตกแต่ง ให้เป็นพื้นที่ที่สวยงามเป็นหน้าเป็นตาของบ้านก็ได้

ตั้งโต๊ะอาหาร  หรือตั่ง หรือปูเสื่อวางหมอนไว้เอนหลังก็ได้

ไม่ทราบว่าเข้าใจถูกหรือไม่นะคะ ไว้รอผู้รู้สรุปอีกทีค่ะ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 เม.ย. 12, 14:39
ตอนอยุ่ตึกสอง เตรียมอุดมศึกษา ไม่เคยเรียกเฉลียง ส่วนระเบียงก็ไม่เรียกว่าริมระเบียง

เรียกกับเพื่อน ๆ ว่า "หน้าห้อง"  ::) ::)

รุ่นพี่เตรียมฯ ท่านเล่าความหลังไว้สมัยเรียนเรือนไม้

รูปข้างล่างนี้ ทำให้ความหลังกลับคืนมา

เคยเรียนในเรือนไม้แบบนี้ สมัยอยู่ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา     เพื่อนๆสายวิทย์เรียนที่ตึกหนึ่งตึกสอง ตึกอะไรต่อมิอะไรกันทางถนนพญาไท   ส่วนสายศิลป์ทั้งหมดถูกย้ายมาเรียนที่อาคารไม้สองชั้นด้านถนนอังรี ดูนังต์  ซึ่งเคยเป็นร.ร.เตรียมอรชรมาก่อน แต่ยุบเลิกไปแล้ว
เป็นเรือนไม้สองชั้นแบบเหมือนกับในรูป ไม่มีผิด    ชั้นล่างห้องแรกพอก้าวขึ้นบันไดสามขั้นจากพื้นคอนกรีต   ก็คือห้องคิง  ถัดไปคือห้องควีน   ชั้นล่างมี ๔ ห้อง  เท่ากับชั้นบน   มีห้องศิลป์เยอรมัน ๑ ห้อง   บันไดก็เหมือนกันกับในรูปนี้
ตรงราวระเบียงทั้งข้างบนข้างล่าง  มีม้านั่งยาวตลอดความยาวของระเบียง  

เนื้อที่ร.ร.เตรียมในสมัยนั้นโปร่งตา   มีพื้นที่ว่างมากระหว่างตัวตึก    เวลานั่งในห้องเรียน สายลมพัดผ่านเข้ามาทางหน้าต่างกว้างเรียงรายกัน  ไม่ขาด  จึงไม่เคยรู้สึกร้อนอบอ้าวแม้แต่ในยามบ่าย      ไม่เคยต้องมีพัดลมเพดาน   แสงสว่างก็มากพอเพียง ไม่เคยต้องเปิดไฟฟ้า  

ส่วนที่มาของรูปนี้ เจอในกูเกิ้ล  เป็นอาคารของโรงเรียนเก่าแก่ ชายล้วน   ในกรุงเทพ    แต่อุบชื่อไว้ก่อน    ใครเป็นศิษย์เก่า นึกออกจะช่วยบอกคนอ่านด้วยก็ดีค่ะ


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3462.0;attach=23674;image)

 ;D


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 เม.ย. 12, 14:41
ขอบคุณครับ ขอบคุณ

ท่านอื่นๆ กรุณาให้ข้อมูลต่อได้นะครับ

ส่วนความเห็นของคุณพวงแก้ว ผมก็ว่าไม่ผิดนะครับ แต่บางคนเขาเรียกพื้นที่อย่างเดียวกันนี้ว่าระเบียง จะไปว่าเขาผิดก็ไม่ได้เหมือนกัน



กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 12, 15:14
ขอเชิญอ.พวงแก้ว. มาวิสัชนาเรื่องระเบียงต่ออีกสักเรื่องนะคะ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 12, 15:33
เรือนเจ้าจอมเอิบ ในเขตพระราชฐานฝ่ายใน

โครงสร้างตึกสามชั้น (ชั้นที่สี่ต่อเติมภายหลัง) มีเฉลียงที่ชั้นที่สอง และเฉลียงชั้นที่สาม เจาะช่องโค้งปั้นลายปูนปั้น


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 12, 15:46
แถวเต็ง ในพระราชฐานฝ่ายใน

แถวเต็งท่อ ได้รับการเปลี่ยนแปลงขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๕ โดยเต็งแถวท่อจะเพิ่มเฉลียงขึ้นที่ทางเข้าด้านหน้าซึ่งเดิมไม่เคยมี นอกจากนั้นได้ย้ายบันไดจากภายในห้องมาไว้ที่เฉลียง และยื่นหลังคามุงด้วยสังกะสีมาคลุมเฉลียงไว้ทั้งหมด

ที่มา มรว.แน่งน้อย


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 27 เม.ย. 12, 16:06
ส่วนระเบียงนั้นน่าจะเป็นพื้นที่แนวยาว  จุดประสงค์หลักน่าจะเป็นทางเดินเชื่อมระหว่างห้องที่เรียงเป็นแถว

เช่นห้องเรียงทางแนวขวา ทางแนวซ้ายจะไม่มีห้องเลย หรืออาจมีบ้างห้องสองห้อง เน้นความโปร่งโล่ง

เป็นหลัก   มีที่เคยได้ยินว่าระเบียงอีกรูปแบบคือ เป็นพื้นที่กว้างอาจเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส หรือ สี่เหลี่ยมผืนผ้า

ยื่นออกมาจากบ้านชั้นสอง หรือชั้นที่สูงขึ้นไป แต่ไม่มีหลังคา  มีเพียงแนวกั้น(เหมือนลูกกรง)สูงขึ้นมาระดับเอว

สามารถมายืนรับลม ชมวิวเช่นชายทะเล (ยามแดดอ่อนแสง หรือยามค่ำคืน) มีการตั้งโต๊ะอาหารเล็กๆ

ขนาดของพื้นที่แล้วแต่ขนาดของอาคาร และจุดประสงค์ในการใช้สอย

เช่นบางแห่งโรงแรมชายทะเล ก็ให้แขกมาทานอาหาร กลางสายลม เสียงคลื่นและชมจันทร์ กันที่ระเบียง

บรรยากาศแบบนี้น่าจะเป็นที่นิยมกันราว50-60 ปีมานี่เพราะ ผู้คนเริ่มมีการเดินทางที่สะดวกขึ้น

มีสังคมที่กว้างขึ้นและมีระเบียบในการใช้ชีวิตต่างจากเมื่อก่อน...และอาจรับเอารสนิยมแบบตะวันตก

เข้ามาในชีวิตของชนชั้นสูง...แล้วก็เป็นที่นิยมต่อๆกันมา



กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 12, 16:48
ทางเดินที่เชื่อมต่อระหว่างตึกทั้งสองนี้   เรียกกันว่าระเบียง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 12, 16:55
เรียกระเบียงเหมือนกันค่ะ  ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
ระเบียงแบบนี้คงไม่มีใครสับสนกับคำว่าเฉลียง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 27 เม.ย. 12, 17:24
บางทียุคสมัยก็มีส่วนในการกำหนดความหมายของคำ ...

คำว่าระเบียงกับเฉลียงไม่น่าจะมีความหมายเหมือนกันในสมัยโบราณ

แต่พอวิถีในการดำเนินชีวิตเปลี่ยน ความหมายของคำอาจกลายไป

หรือมีความหมายใกล้เคียงกัน จนกลายเป็น ใช้ในความหมายเดียวกันได้ไหมค่ะ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 เม.ย. 12, 17:34
^
ใช่เลยครับ

สรุปความเห็นของท่านอาจารย์พวงแก้ว

เฉลียง น่าจะหมายถึงส่วนของบ้านที่ใช้ทำกิจกรรมในชีวิตอย่างสบายๆ เช่นมีลักษณะเหมือนห้องมุขแต่ไม่มีผนัง มีแต่พื้น หลังคา และเชื่อมกันด้วยเสาที่แข็งแรง

ส่วนระเบียงนั้นน่าจะเป็นพื้นที่แนวยาว  จุดประสงค์หลักน่าจะเป็นทางเดินเชื่อมระหว่างห้องที่เรียงเป็นแถว
ระเบียงอีกรูปแบบคือ เป็นพื้นที่กว้างอาจเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้ายื่นออกมาจากบ้านชั้นสอง หรือชั้นที่สูงขึ้นไป แต่ไม่มีหลังคา  มีเพียงแนวกั้น(เหมือนลูกกรง)สูงขึ้นมาระดับเอว สามารถมายืนรับลม ชมวิว

ซึ่ง มีการเรียกขานปนกันไปหมด สุดแต่ความรู้สึกของใครที่จะเป็นผู้เขียนครับ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 เม.ย. 12, 18:14
ผมมีความคิดเห็นคล้ายๆท่านอาจารย์พวงแก้วครับ

เฉลียง นอกจากจะเป็นที่โล่ง ใช้เป็นทางผ่านได้แล้ว ยังใช้ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอื่นๆด้วย

ส่วนระเบียง เป็นทางผ่าน
ถึงแม้จะเป็นพื้นที่ใหญ่พอจะทำกิจกรรมอย่างอื่นได้ ก็ชั่วครั้งชั่วคราว เช่นเดินออกมารับอากาศ เด็กมาวิ่งเล่น หรือจัดงานเลี้ยงเป็นกรณีย์พิเศษเป็นต้น


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 27 เม.ย. 12, 18:30
ภาพในความเห็นที่ 205 ค่อนข้างชัดเจน ค่ะ
น่าจะเข้าลักษณะที่ กำลังสงสัยกันอยู่

ขอบคุณที่คุณนวรัตน รับฟังนะคะ ...


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 เม.ย. 12, 19:07
ขอบคุณครับ

(ความจริงผมก็รับฟังทุกความเห็นด้วยความเคารพเสมอนะครับ แต่ก็ถือเป็นสิทธิ์ ความเห็นทางวิชาการที่แสดงมาในเวทีเปิดนี้ ผมจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับท่านก็ขออนุญาตว่าไปตรงๆ  ในขณะเดียวกัน ความเห็นของผมก็อาจผิด ถ้าแลกเปลี่ยนข้อมูลกันแล้วผมเห็นว่าท่านถูกมากกว่า ก็จะไม่ตะแบงเป็นอันขาด ผมยอมรับได้เสมอ  ถึงหน้าจะแตกบ้างก็ซ่อมปะผุได้ ไม่ถึงกับต้องเสียหน้า)

ที่ผมเขียนไปว่าบางคนเขาเรียกพื้นที่อย่างเดียวกันกับเฉลียงว่าระเบียง หรือระเบียงว่าเฉลียงก็จะไปว่าเขาผิดก็ไม่ได้เหมือนกันนั้น เพราะตรวจเอกสารโบราณ ท่านก็เขียนตามสบายตามความรู้สึกของท่านนั่นเอง บรรยายภาพต้นๆของกระทู้นี้คือหลักฐาน คนสมัยนี้ยิ่งแล้ว เพราะบ้านที่อยู่อาศัยก็ถูกจำกัดจำเขี่ยมากขึ้น การใช้พื้นที่แบบสมัยก่อนหมดไปแล้ว เฉลียงที่มีไว้ทำการ ทำงาน ก็ย้ายไปใช้ห้องแอร์  ระเบียงก็มีไว้ใช้ตากผ้าเป็นต้น

ดังนั้น พื้นที่โล่งเล็กๆในบ้าน เขาก็เรียกขานไปตามที่ได้ยิน เซลล์แมนขายแบบบ้านต้องการคำหรูๆมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าบ้าน ว่ามีไอ้โน่นไอ้นี่แยอะแยะ มีทั้งเฉลียงทั้งระเบียง สุดแต่เขาจะชี้ว่าตรงไหนเรียกอะไร คนซื้อก็เออออตามโดยไม่รู้ที่มาที่ไป ใครว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น จะเฉลียงหรือระเบียงก็ไม่เคยเป็นปัญหา

ท่านอาจารย์เทาชมพูคงจะเขียนสรุปได้แล้วกระมังครับ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 12, 19:12
^
สรุปตามข้างบนนี้ค่ะ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 12, 19:14
ขอบคุณครับ

(ความจริงผมก็รับฟังทุกความเห็นด้วยความเคารพเสมอนะครับ แต่ก็ถือเป็นสิทธิ์ ความเห็นทางวิชาการที่แสดงมาในเวทีเปิดนี้ ผมจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับท่านก็ขออนุญาตว่าไปตรงๆ  ในขณะเดียวกัน ความเห็นของผมก็อาจผิด ถ้าแลกเปลี่ยนข้อมูลกันแล้วผมเห็นว่าท่านถูกมากกว่า ก็จะไม่ตะแบงเป็นอันขาด ผมยอมรับได้เสมอ  ถึงหน้าจะแตกบ้างก็ซ่อมปะผุได้ ไม่ถึงกับต้องเสียหน้า)

ที่ผมเขียนไปว่าบางคนเขาเรียกพื้นที่อย่างเดียวกันกับเฉลียงว่าระเบียง หรือระเบียงว่าเฉลียงก็จะไปว่าเขาผิดก็ไม่ได้เหมือนกันนั้น เพราะตรวจเอกสารโบราณ ท่านก็เขียนตามสบายตามความรู้สึกของท่านนั่นเอง บรรยายภาพต้นๆของกระทู้นี้คือหลักฐาน คนสมัยนี้ยิ่งแล้ว เพราะบ้านที่อยู่อาศัยก็ถูกจำกัดจำเขี่ยมากขึ้น การใช้พื้นที่แบบสมัยก่อนหมดไปแล้ว เฉลียงที่มีไว้ทำการ ทำงาน ก็ย้ายไปใช้ห้องแอร์  ระเบียงก็มีไว้ใช้ตากผ้าเป็นต้น

ดังนั้น พื้นที่โล่งเล็กๆในบ้าน เขาก็เรียกขานไปตามที่ได้ยิน เซลล์แมนขายแบบบ้านต้องการคำหรูๆมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าบ้าน ว่ามีไอ้โน่นไอ้นี่แยอะแยะ มีทั้งเฉลียงทั้งระเบียง สุดแต่เขาจะชี้ว่าตรงไหนเรียกอะไร คนซื้อก็เออออตามโดยไม่รู้ที่มาที่ไป ใครว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น จะเฉลียงหรือระเบียงก็ไม่เคยเป็นปัญหา

ท่านอาจารย์เทาชมพูคงจะเขียนสรุปได้แล้วกระมังครับ


แบบนี้ก็ไม่ต้องฟ้าเหลืองอีกแล้วซิครับ อิอิ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 12, 19:18
สอบ

ชาวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวต่างพากันยืนบริเวณ.............1..............วัดน้ำใส ประเทศญี่ปุ่น

ก. ระเบียง

ข. เฉลียง

ค. ชาน


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 12, 19:21
ยามเย็นเข้าไปนมัสการพระอุโบสถวัดพระแก้ว เห็นครุฑมากมายและมีเสาซึ่งจะเดินเข้าไป........2.........

ก. เฉลียง

ข. ระเบียง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 เม.ย. 12, 19:24
เธอกำลังยืนอยู่ที่.............3............วัดสิโกน พม่า

ก. เฉลียง

ข. ระเบียง


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 เม.ย. 12, 19:40

แบบนี้ก็ไม่ต้องฟ้าเหลืองอีกแล้วซิครับ อิอิ


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 27 เม.ย. 12, 20:07
แฮ่ก แฮ่ก

เข้าห้องเรียนไม่ทัน เข้าห้องสอบไม่ได้ด้วย

 :'(  :'(   :'(


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 เม.ย. 12, 20:16
^
พ่อจ๋ามาพอดี

สถาปนิกชี้ช่องให้นักอักษรศาสตร์สรุป แต่ท่านก็เล่นใช้เครื่องทุ่นแรงในการสรุป ผมจึงจะปลอมเป็นนักอักษรศาสตร์เพื่อปิดกระทู้นี้ ขอความสวัสดีจงมีแต่ท่านผู้อ่านโดยทั่วกัน เทอญฯ (บัดนี้เชิด)


อันเฉลียงหรือระเบียงเป็นเพียงศัพท์       ใครจะจับจำแนกได้ให้หายฉงน
ยิ่งค้นคว้าก็ยิ่งบ้าเข้าตาจน                  ก็มันแล้วแต่คนจะเรียกกัน (...ฮึม ฮึม..หึ่ม ฮึม)

อันทางเดินบนอาคารพิมานสถาน          หรือพึ้นยื่นนอกบ้านงานสร้างสรร
เรียกระเบียงเรียกเฉลียงได้ทุกอัน          อย่าได้หวั่นว่าจะผิดสักนิดเอยฯ

(ขับร้องทำนองกราวนอก)


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 เม.ย. 12, 21:01
เรียกระเบียงเหมือนกันค่ะ  ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
ระเบียงแบบนี้คงไม่มีใครสับสนกับคำว่าเฉลียง

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5082.0;attach=31951;image)

แต่สับสนกับคำว่า "สะพาน"

 ;D


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 เม.ย. 12, 21:04
^
อยากเรียกอะไรก็เรียกเถอะครับ ไม่ผิดหรอก


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 เม.ย. 12, 21:09
ทำข้อสอบของคุณหนุ่ม

๑. วัดคิโยมิสึ เรียกได้ทั้งเฉลียงและระเบียง

๒. วัดพระแก้ว - ระเบียง

๓. วัดสิโกน - ระเบียง

 ;D


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 12, 11:03
ท่านอาจารย์ใหญ่เดี่ยวระนาดเพลงกราวนอกเข้าโรงไปแล้ว   แต่ดาราบนเวทียังไม่ยอมเข้าโรงตามไปด้วย
บอลล์จบ  คนไม่จบ

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5082.0;attach=31951;image)

แต่สับสนกับคำว่า "สะพาน"

 ;D
ไม่สับสน สะพานต้องอย่างนี้  ไม่มีใครเรียกว่าระเบียงสุขตา


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 12, 21:08
ท่านเจ้าของกระทู้คงไม่กลับเข้ามา   แต่คราวที่แล้วไม่ได้ทำข้อสอบให้ท่าน  ขอแก้ตัวด้วยการสรุปว่า ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน อยู่แห่งใดในอาคาร
ขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยค้นออกมาให้ดูกันค่ะ

๑  ฉนวน     [ฉะหฺนวน] น. ทางเดินซึ่งมีเครื่องกําบัง ๒ ข้าง สําหรับพระมหากษัตริย์
 หรือเจ้านายฝ่ายในเสด็จขึ้นลงหรือเข้าออก. ก. กําบัง, คั่น, กั้น.


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 30 เม.ย. 12, 21:10
สะพานน่าจะหมายถึงสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นเพื่อใช้สัญจรมีตั้งแต่การเดินด้วยเท้าจนถึง
สามารถนำรถวิ่งผ่านไปได้ วัสดุมีตั้งแต่ไม้กระดานแผ่นเดียว (ตามร่องสวน)สะพานไม้ในชุมชน
ไปจนถึงคอนกรีตเสริมเหล็ก (สำหรับรถวิ่ง) ทอดข้ามแม่น้ำ หรือถนน(ซ้อนถนน)
ที่ชัดเจนคือสะพานจะเน้นโครงสร้างพื้นเป็นหลัก มีขอบหยาบๆในบางแห่ง
และสร้างขึ้นในที่โล่งแจ้ง เป็นส่วนใหญ่

ต่างจาก ระเบียงที่จะสร้างเชื่อมต่อส่วนต่างๆของอาคาร บ้านเรือน
มีลูกกรงสูงระดับเอว สำหรับกันคนตกลงไป อาจจะมีหลังคาหรือไม่มีก็ได้
แต่ไม่เคยมีใครเอารถมาวิ่งบนระเบียงแน่นอน มีแต่ต้องเดินไป
ส่วนสะพานมีทั้งที่เดินข้ามไป เช่นสะพานข้ามคู คลอง หนองบึง
และที่ให้รถวิ่งข้ามไป หรือให้สัตว์เดินข้ามไป

ถ้าพิจารณาจากวัตถุประสงค์ในการใช้สอยเป็นหลัก เราน่าจะแยกสะพานกับระเบียงได้ไม่ยากนะคะ

อิอิ...ไม่รู้ถูกหรือเปล่า (แมวไม่อยู่...หนูเริงร่า...อีกแล้วค่ะ)


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 12, 21:29
'


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 12, 21:31
แมวจบกระทู้ไปแล้ว    คงไม่ย้อนกลับเข้ามาอีกแล้วกระมังคะ   :)
เราก็เริงร่ากันตามสบาย

๓   มุข, มุข- [มุก, มุกขะ-] น. หน้า, ปาก; ทาง; หัวหน้า; ส่วนของตึก
 หรือเรือนที่ยื่นออกมาจากส่วนใหญ่ มักอยู่ด้านหน้า. (ป., ส.).
 


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 12, 21:35
จบเห่! แมวมาแล้ว


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 12, 21:54
'


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 12, 21:59
กลับมาร่าเริงกันได้แล้ว พรรคพวก


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 12, 22:31
๔  เฉลียงและระเบียง    ท่านอาจารย์ NAVARAT.C  สรุปเองแล้ว

อันเฉลียงหรือระเบียงเป็นเพียงศัพท์       ใครจะจับจำแนกได้ให้หายฉงน
ยิ่งค้นคว้าก็ยิ่งบ้าเข้าตาจน                  ก็มันแล้วแต่คนจะเรียกกัน (...ฮึม ฮึม..หึ่ม ฮึม)

อันทางเดินบนอาคารพิมานสถาน          หรือพึ้นยื่นนอกบ้านงานสร้างสรร
เรียกระเบียงเรียกเฉลียงได้ทุกอัน          อย่าได้หวั่นว่าจะผิดสักนิดเอยฯ

(ขับร้องทำนองกราวนอก)


มีตัวอย่างภาพที่ท่านนำมาเอง สรุปได้ง่ายหนักเข้าไปอีก



กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 เม.ย. 12, 22:36
๕  ชาน

รูปข้างล่างนี้คือบ้านซอยสวนพลูของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
รูปซ้ายคือชาน  อยู่บนเรือนไทยหมู่ของท่าน   รูปขวาคือลาน อยู่บนพื้นดิน


กระทู้: ฉนวน มุข ระเบียง เฉลียง ชาน เจ้าอยู่แห่งใดในอาคารฤา
เริ่มกระทู้โดย: พวงแก้ว ที่ 01 พ.ค. 12, 18:17
ไปเจอภาพ เฉลียงและระเบียงที่สร้างสมัยนี้ น่ารักดี เอามาฝากค่ะ

(มีแบบเก่าปนมาด้วย)