เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: Nuchana ที่ 11 ก.พ. 06, 10:04



กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 11 ก.พ. 06, 10:04
 ดิฉันสงสัยเกี่ยวกับคำศัพท์พวกนี้ จึงเข้าไปสืบค้นการใช้คำเหล่านี้ดูค่ะ

ทิวงคต   เป็นคำราชาศัพท์ใช้แก่พระยุพราชหรือเจ้าฟ้าซึ่งได้รับการเฉลิมพระยศพิเศษ

สิ้นพระชนม์   เป็นคำราชาศัพท์ใช้แก่เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และสมเด็จพระสังฆราช

ชีพิตักษัย  เป็นคำราชาศัพท์ใช้แก่หม่อมเจ้าว่า ถึงชีพิตักษัย

พิราลัย  เป็นคำราชาศัพท์ใช้สำหรับเจ้าประเทศราช และสมเด็จเจ้าพระยา

อสัญกรรม เป็นคำราชาศัพท์ใช้สำหรับข้าราชการชั้นเจ้าพระยาตาย ใช้ว่า ถึงแก่อสัญกรรม

อนิจกรรม  เป็นคำราชาศัพท์ข้าราชการชั้นพระยาพานทองตาย ใช้ว่า ถึงแก่อนิจกรรม

 http://www.geocities.com/roy_bilan222/word-thai4.htm

ดิฉันใคร่ขอเรียนถามว่า
1) พระองค์จุลฯ ทรงเขียนตอนหนึ่งว่า... ทูลกระหม่อมอาแดงทรงสิ้นพระชนม์เมื่ออายุเท่ากับ
ทูลกระหม่อมพ่อของข้าพเจ้าเสด็จทิวงคต.... ในเมื่อทูลกระหม่อมฯทั้งสองเป็นเจ้าฟ้าชั้นสูง
เหมือนกัน ทำไมถึงไม่ใช้ราชาศัพท์คำเดียวกันคะ
(อ้อ..เมื่อจะทิวงคต ใช้ทรงทิวงคตได้ไหม ทำไม่ต้องเสด็จด้วยคะ)

2) ในเรื่องปริศนา ตอนท่านชายประชวรเป็นไข้ป่า ปริศนารำพึงรำพันกับตัวเองว่า ถ้าท่านชายสิ้นชนม์
เป็นความผิดของปริศนาที่ไปยั่วท่าน ทำไมผู้นิพนธ์จึงไม่ใช้สิ้นชีพิตักษัยในกรณีนี้คะ

3) สำหรับผู้นำประเทศ หรือนายกรัฐมนตรี เคยเห็นแต่ใช้คำว่าอสัญกรรม เมื่อดูตามคำจำกัดความด้านบน
นายกฯ น่าจะเทียบได้กับสมเด็จเจ้าพระยา แล้วเหตุใดจึงไม่ค่อยเห็นใครใช้คำว่า "พิราลัย" เลยคะ

4) เมื่อเทียบแล้ว ข้าราชการชั้นใด ถึงใช้คำว่าอนิจกรรมได้คะ

ขอบคูณค่ะ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.พ. 06, 10:52
 คนที่จะตอบคำถามคุณนุชนาได้ชัดเจน  ดิฉันเห็นมีคุณหยดน้ำ   คุณ V_Mee และคุณ UP
ระหว่างรอ ก็ขอมาคั่นโปรแกรม ด้วยคำตอบสั้นๆว่า
ราชาศัพท์ที่เป็นภาษาทางการ (ภาษาเขียน) กับที่พูดๆแบบไม่เป็นทางการ (ภาษาพูด)  ไม่เหมือนกันค่ะ

ในเรื่องปริศนา ตอนท่านชายประชวรเป็นไข้ป่า ปริศนารำพึงรำพันกับตัวเองว่า ถ้าท่านชายสิ้นชนม์
เป็นความผิดของปริศนาที่ไปยั่วท่าน
ทำไมผู้นิพนธ์จึงไม่ใช้สิ้นชีพิตักษัยในกรณีนี้คะ

คำตอบ- ก็เพราะที่พูดๆกันเป็นภาษาพูด    เขาไม่ใช้คำว่า สิ้นชีพิตักษัย น่ะสิคะ
เขาพูดกันอย่างปริศนาพูดน่ะค่ะ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 11 ก.พ. 06, 13:54
ผมก็ไม่รู้ แฮ่ะๆ



แต่เข้ามาเดา



ผมเข้าใจเองว่า คำว่า ทิวงคต แยกศัพท์แล้ว คล้ายๆ กับคำว่า สวรรคต ทั้งสองคำความหมายจริงๆ ก้แปลว่า ตาย เหมือนกัน แต่ความหมายตามรูปศัพท์ก็ไม่ใช่แค่ตายเฉยๆ แต่แปลว่าไปสวรรค์



สวรรค + คต 'คต' แปลว่า ไป ไปแล้ว พระตถาคต อันเป็นพระนามหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงใช้เรียกพระองค์เอง แปลเป็นไทยว่า "พระผู้ไปดีแล้วอย่างนั้น" คือทรงบรรลุพระนิพพานแล้ว ข้ามพ้นไปแล้ว (แม้ขณะเรียกพระองค์เองจะยังทรงพระชนม์อยู่)



ทิวงคต ผมลองมั่วดูตามประสาบาลีเถื่อน ไม่ได้เรียนมาจริงจัง เดาว่าเกี่ยวๆ อะไรสักอย่างกับคำว่า เทว เทพ ดังนั้นผมคิดว่าเราพอจะแปล ทิวงคต ได้ว่า ไปสู่สภาวะอันเป็นทิพย์แล้ว



เมื่อเป็นเช่นนั้น จะใช้ สวรรคต หรือทิวงคต เฉยๆ ก็ได้ และจะใช้ เสด็จ เน้นเข้ามาอีกเป็น เสด็จสวรรคต และเสด็จทิวงคต ก้ได้เช่นกัน ก็แปลว่า (เสด็จ) ไปสวรรค์หรือเทวโลกแล้ว เท่านั้นแหละ



ขอจบการเดาแบบขยายขี้เท่อเพียงนี้ ผู้ทราบภาษาบาลีตัวจริงถ้าผ่านมา กรุณาแวะสั่งสอนผมด้วยครับว่า ทิว + อัง + คต มันแปลว่าอะไรกันแน่ที่ถูกต้อง?


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 11 ก.พ. 06, 14:02
พิราลัย เข้าใจว่าเป็นคำเก่า สังคมเปลี่ยน ยุคสมัยเปลี่ยน ก็เลยไม่มีใครใช้ คิดว่ายังงั้นครับ เหมือนตำแหน่งเจ้าคุณสมุหนายก หรือท่านสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อเปลี่ยนระบบใหม่ล้มเลิกไปแล้ว ผู้มีอำนาจสมัยต่อมาก็ไม่ได้เรียกตำแหน่งของตัวว่าสมุหนายกแล้วนี่ครับ

พิราลัย แปลว่า ที่อยู่ของพีระ (แปลดื้อๆ เพราะ "อาลัย" แปลว่าแหล่ง หรือที่อยู่ เช่น วิทยาลัย ที่อยู่ของความรู้) แต่ว่า "พีระ" นี่มันอะไรหนอ?

ผมเดาอีก ว่า พีระไม่ใช่คน น่าจะเป็นผู้มีสภาพเป็นทิพย์ หรือภูต หรือคล้ายๆ เทวดาชนิดหนึ่ง "ที่อยู่ของพิระ" ก็เลยเป็นคล้ายๆ สวรรค์ ก็แปลอีกว่า สมเด็จเจ้าพระยาท่านนั้นที่ตายไป ท่านไปโลกหน้าที่คล้ายๆ สวรรค์แล้ว

ในขณะนี้ที่ยังไม่ได้ค้น ผมจำได้ว่า ในนิทานเวตาลพระนิพนธ์ นมส.ตอนสุดท้าย พระเจ้าวิกรมาทิตย์ทรงทำลายกลอุบายของโยคีได้ และทรงทิ้งศพ (ของโยคีหรือของลูกชายคนขายน้ำมันก็จำไม่ได้ถนัด) ลงในกองไฟที่บูชาเทพเจ้าแล้ว เป็นอันว่าพิธีบูชายัญก็สำเร็จสมบูรณ์ จึง "เกิดมีพีระขึ้นมาสองตน" จากกองไฟ เข้ามาเฝ้าพระราชาวิกรมาทิตย์

แปลว่าพีระไม่ใช่คน และเป็นสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติที่มีอำนาจวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง สงเคราะห์อนุโลมให้เป็นเทือกๆ เทวดาคงจะพอได้ครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 11 ก.พ. 06, 14:33
สิ้นพระชนม์ กับ ถึงชีพิตักษัย น่าจะแปลได้คล้ายๆ กัน

คือแปลว่า สิ้นอายุ หมดอายุ สิ้นชีวิต สิ้นชีพ

ถึงแก่อสัญกรรม แปลว่าถึงแก่การกระทำอันหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็น อสัญ งั้น อสัญแปลว่าอะไรหว่า?

รู้แต่ว่า อาสัญ แปลว่า ตาย

อ + สัญญะ จะแปลว่า "ที่ไม่รู้จัก" ได้ไหม? แน่สิครับที่เราคนพูดคนใช้ภาษา จะไม่รู้จักภาวะหลังความตาย เพราะเราต่างก็ยังไม่เคยตายด้วยกันทุกคน หรือถึงเคยก็จำไม่ได้ (เว้นแต่มนุษย์ส่วนน้อยที่ระลึกชาติได้)

งั้นเราจะแปลรวมว่า ถึงแก่อสัญกรรม - "ถึงแก่กระทำอะไรอย่างหนึ่งที่เป็นการล่วงไปสู่สภาพที่เรา (ที่ยังอยู่) ตามไปรู้ด้วยไม่ได้" ได้ไหม?

ถึงแก่อนิจกรรม แปลทำนองคล้ายกัน คือ ถึงแก่การกระทำอันเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ไม่คงที่ แตกดับไปแล้ว

ถึงแก่กรรม จะแปลว่าอะไรดีหนอ?

มีคำเก่าว่าตายอีกคำ ว่า "กระทำกาลกิริยา"


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 11 ก.พ. 06, 14:35
 ศัพท์สุภาพภาษาฝรั่ง ตาย ใช้ว่า pass away ล่วงไปแล้ว

ผมเคยแปลคำว่า สวรรคต หรือการเสด็จสวรรค์ ซึ่งก็แปลว่าตายนั่นแหละสำหรับกษัตริย์ ว่า pass away heavenwards.


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 11 ก.พ. 06, 14:38
 พระยาพานทอง น่าจะเป็นสัก ซี 10 เดี๋ยวนี้ได้ ครับ อันนี้เดา

แต่ในการใช้ภาษาเดี๋ยวนี้เข้าใจว่า อธิบดีตายก็น่าจะใช้ ถึงแก่กรรม ได้เป็นคำกลางๆ อาจจะมีระเบียบการใช้ศัพท์อยู่ แต่ผมยอมรับว่ายังไม่ได้ค้นครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 11 ก.พ. 06, 14:46
 ขอเห็นแย้งกับคุณนุชนาที่ว่าตำแน่งนายกฯน่าจะเทียบได้กับสมเด็จเจ้าพระยาฯนะคะว่า ตามความคิดเห็นของดิฉัน นายกฯหรือข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองตำแหน่งสูงๆอื่นๆในปัจจุบันนั้น น่าจะเทียบได้กับเจ้าพระยาเท่านั้น ไม่ใช่สมเด็จเจ้าพระยา ดังนั้นใช้ อสัญกรรม น่าจะถูกต้องแล้ว ไม่ใช่ถึงแก่พิราลัย

ถ้าจำไม่ผิดสมเด็จเจ้าพระยาฯในประวัติศาสตร์ไทยมีสองท่านเท่านั้นใช่ไหมคะ ท่านแรกคือสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกหรือรัชกาลที่ 1 กับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่ 5

พีระน่าจะมีความหมายเดียวกับวีระหรือวีร ที่แปลว่าผู้กล้าหรือเปล่าคะ? ถ้าเป็นอย่างนั้นเดาว่า พิราลัย คือการไปอยู่ในที่ของผู้กล้า? (คนตายไปแล้วเป็นผู้กล้าหาญ?)


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 11 ก.พ. 06, 14:55
 1) ก่อนอื่นขอบ่น ทำไมพจนานุกรมออนไลน์ของราชบัณฑิต ถึงป่วยหนัก 2 วันดี 20 วันไข้
เมล์ไปถามก็เฉยๆ อยากทราบจังว่าสังกัดไหน จะเขียนไปชมที่นายเขาค่ะ
 http://rirs3.royin.go.th/ridictionary/lookup.html

2) อ้อ..ถ้าเป็นแบบที่อาจารย์ว่า คือราชาศัพท์ภาษาพูดกับภาษาเขียนอาจต่างกัน ก็แล้วไปค่ะ
นึกว่าผู้นิพนธ์ทรงเขียนผิด หรือมีเหตุผลอื่นค่ะ
(ปล. อาจารย์โปรดกรุณาดูท่อนล่างสุด ที่ดิฉันคัดมา ตรงลากเส้นทะแยงมุมน่ะค่ะ มัน misleading อิอิ

3) สำนวนคุณนิล มันส์จังเลย... บาลีเถื่อน  สำหรับคำว่า "พิราลัย" ส่วนตัวคิดว่า เป็นภาษาเก่า
(และออกละครหน่อยๆ) จึงจะเปิดพจนานุกรมเช็คดูค่ะ ลองสืบค้นดู เห็นคุณบ้านายคำเก่ง
โพสต์ว่าคำนี้จะใช้กับเจ้าหัวเมือง ส่วนเมืองกรุงไม่ใช้คำนี้แล้ว ก็รับได้ค่ะ เพราะไม่เห็นเขาใช้
คำนี้ในปัจจุบันจริงๆ

*********
แล้วเจ้านายฝ่ายเหนือละครับ ไม่ได้อยู่ในราชวงศ์จักรีด้วยเหมือนกัน

ลืมท่านเหล่านี้ไปแล้วหรือครับ

วันอาทิตย์ที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๖ มีงานพระราชทานเพลิงศพที่เมืองนครลำปาง ....

เจ้าหญิงบุษบง ณ ลำปาง พิราลัยในวันที่ ๑๔ พฤษภาคมที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานหีบทองราชนิกูลลายก้านแย่ง ชั้นหม่อมเจ้า และหีบเพลิงและไฟหลวงพระราชทาน
จุดจากหน้าพระแก้วมรกตที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมหาราชวัง ...(ที่ต้องใช้คำว่าพิราลัย
เพราะถือตามเจ้าล้านนาโบราณ หากตายแล้วจะพูดว่า พิราลัย แต่ทางกรุงเทพมักจะใช้ว่าถึงแก่กรรมบ้าง
ถึงแก่อนิจกรรมบ้าง ถึงแก่อสัญกรรมบ้าง โดยเฉพาะหม่อมเจ้าต้องใช้ว่า ทิวงคต ?)...แต่สำหรับ
เจ้าหญิงฯล้านนาองค์นี้แล้ว เมื่อเรามีหนังสือกราบถวายบังคมลาพิราลัย ทางสำนักพระราชวัง
ไม่ได้ทักท้วง จึงใช้คำว่า พิราลัย ... อาจจะไม่ถูกต้องตามหลักการของราชสำนักกรุงเทพ
แต่ทางกรุงเทพ ก็ให้การยอมรับคำว่า พิราลัย ครับ

เจ้านายในประเทศไทยปัจจุบัน มิได้มีเพียงราชวงศ์จักรี หากแต่ยังมีเจ้านายฝ่ายเหนือด้วยนะครับ

ชื่นชอบและชื่นชมคุณเทาชมพูเสมอ อยากรู้จักตัวจริง แต่ไม่มีบุญพบกันสักที
(คนทำงานข้างห้องพี่จ้อ)


โดย: บ้านายคำเก่ง  [IP: 161.200.255.163,unknown,]  
วันที่ 27 พ.ค. 2546 - 21:09:57
*********
...ไม่ได้ลืมเจ้านายแห่งราชวงศ์ล้านนาหรอกค่ะ แต่เสียใจที่ไม่มีความรู้เรื่องนี้มากพอ....
ดิฉันก็อยู่แถวๆเรือนไทยนี้ละค่ะ ถ้านอกเรือนไทย บางทีก็ไปอยู่แถวรั้วเดียวกับคุณจ้อ
แต่ต้องลากเส้นทะแยงมุม ข้ามสนามไปสุดริมรั้วโน่นเลยนะคะ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 11 ก.พ. 06, 15:06
 สัญญะคือ สัญญาณ ได้ไหมคะ? อสัญกรรมคือสภาพที่ไม่มีสัญญาณหรือการรับรู้แล้ว คือการปราศจากชีวิตนั่นเอง

พยายามรื้อฟื้นความรู้บาลี-สันสกฤตจากสมัยชั้นมัธยมฯ มาเดาๆค่ะ

นึกขึ้นได้จาก อิเหนา สงสัยว่าทำไม วงศ์เทวัญ ทำไมต้องต่อด้วยอสัญแดหวาด้วยนะคะ หรือใช้เพื่อให้คล้องจองกันเท่านั้น?


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 11 ก.พ. 06, 15:06
 คุณบ้านายคำเก่ง ถ้าผ่านมาช่วยเปิด sms ด้วยนะคะ ปาร์ตี้เรือนไทยครั้งนี้จะได้พบตัวจริง เสียงจริง ท่านสักทีค่ะ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 11 ก.พ. 06, 15:19
น่อง B เหอ

เรื่องชื่อวงศ์เทวัญของอิเหนา เห็นจะต้องเชิญผู้รู้ตัวจริงมาแปลคำว่า อสัญ ซะก่อน เพราะผมก็เป็นแต่บาลีเถื่อนอย่างว่านั่นแหละ เพียงแต่รู้ว่า แดหวานั้น เป็นสำเนียงชวามลายู ตรงกับคำว่า เทวา ในบาลีนั่นเองครับ ก็วงศ์อิเหนาน่ะเป็นเชื้อวงศ์เทวดานี่ครับ เทพเจ้าต้นตระกูลคือองค์ปะตาระกาหลา ซึ่งผมเคยสงสัยไว้ในกระทู้เก่าๆ ในเรือนไทยว่า เป็นเทวดาองค์ไหน และคุณเทาชมพูเคยเฉลยว่า คือพระศิวะครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: otto ที่ 11 ก.พ. 06, 20:45
 เท่าที่เคยอ่านผ่านแล้วจำได้นะครับ  
1.ทูลกระหม่อมพ่อของพระองค์จุลเป็นเจ้าฟ้าที่ได้รับพระมหากรุณาเป็นพิเศษให้ใช้ทิวงคต  ซึ่งมีอีกองค์ที่ใช้คำว่าทิวงคตเหมือนกันแต่จำพระนามไม่ได้  คุ้นๆว่าน่าจะเป็นเจ้าฟ้าภาณุฯตามประวัติศาสตร์มีเพียง 2 องค์เท่านั้นที่ได้โปรดพระราชทานเป็นพิเศษ  ผมขอเดานะครับว่าที่กรมหลวงพิษณุโลกได้พระราชทานอาจด้วยเพราะพระองค์ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นรัชทายาทสืบต่อร.6  หากพระองค์ไม่ทรงมีพระโอรสตามพระราชพินัยกรรม

ส่วนข้อ 2. เรื่องท่านชายของปริศนา  ผมเดาขำๆนะครับ  ท่านชายอาจได้รับทรงกรม  หรือได้เลื่อนเป็นพระองค์เจ้าก็ได้  เพราะช่วงที่เวลาในเรื่องปริศนา  เป็นช่วงที่มีหม่อมเจ้าหลายองค์ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระวรวงค์เธอก็เยอะ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.พ. 06, 22:03
 พิราลัย พิร+อาลัย แปลว่าที่อยู่ของผู้กล้า  ก็คือหนึ่งเดียวกับ สุราลัย ไงคะคุณนกข.
สุระ ก็ผู้กล้า เหมือนกัน  เราใช้เรียกเทวดา ค่ะ

คำนี้ความหมายไปคล้ายกับวัฒนธรรมของเทวดาแถบๆเหนือ ทางสแกนดิเนเวียหรือไงนี่แหละ
เขามีที่อยู่ของผู้กล้า ซึ่งเป็นที่ดวงวิญญาณของมนุษย์ดีๆ
หรือพวกนักรบ จะไปอยู่กันเมื่อจากโลกไปแล้ว เรียกว่า Valhalla
เพราะงั้นก็พอจะมั่วได้ว่า Valhalla แปลว่าพิราลัย ตรงเป๋ง

ย้อนมาถึงเรื่องปริศนา    
พระองค์เจ้าหญิงวิภาวดีฯทรงกำเนิดมาอย่างเจ้า และอยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างเจ้ามาตลอดพระชนม์ชีพ
เสกสมรสกับเจ้า อีกเหมือนกัน  เพราะงั้นท่านใช้ราชาศัพท์ไม่ผิดหรอกค่ะ

ราชาศัพท์ที่ปรากฏอยู่ในปริศนาก็คือ ภาษาพูดที่เจ้าท่านตรัสกัน หรือคนธรรมดาเอ่ยถึงเจ้า
คำว่า "สิ้นพระชนม์" หรือย่อลงมาเป็น "สิ้นชนม์" ก็เป็นคำเรียกกลางๆ สำหรับเจ้านายตั้งแต่ระดับหม่อมเจ้าขึ้นไป
ภาษาพูดแบบนี้จะไม่เคร่งครัดอย่างภาษาราชการ

ทำนองเดียวกัน  เมื่อมาถึงสามัญชน  พระยาพานทอง เมื่อตายไป   ภาษาทางการจะเรียกว่าท่านถึงแก่อนิจกรรมหรืออะไรก็ตาม
แต่ถ้าเป็นลูกหลานญาติมิตรเขาก็ไม่พูดว่า " คุณปู่ท่านถึงแก่อนิจกรรมไปหลายปีแล้วครับ"
เขาใช้ว่า "ท่านสิ้นไปหลายปีแล้ว"    สั้นๆ   แต่คำนี้ไม่เอาไปใช้ในหนังสือราชการ

ดิฉันไม่ทราบว่าพระยาพานทอง พอจะเป็นข้าราชการซี ๑๐ ได้ไหม   รู้แต่ว่าถ้าเป็นพระยาทั่วไป  ขั้นพันเอก พันตำรวจเอก  ก็เป็นพระยาแล้วค่ะ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: Andreas ที่ 12 ก.พ. 06, 02:20
 อ่านไปอ่านมาผมสงสัยครับ....

ถ้า พณฯท่านนายกรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งเทียบเท่ากับ "เจ้าพระยา"

แล้ว พณฯท่านประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ อย่าง พณฯท่าน พลเอกเปรม..... ท่านจะมีตำแหน่งเทียบเท่าเป็นอะไรดีครับ

จริงๆก็ไม่อยากเอา พณฯท่านพลเอกเปรม ไปเทียบกับท่านนายกหรอกนะครับ..... แบบว่าท่านทั้งคู่ห่างกันเกินไปหน่อย


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 12 ก.พ. 06, 03:42
 ตามความคิดเห็นของดิฉัน ความเป็นประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษของอดีตนายกรัฐมนตรี (ที่มาจากสายทหาร) น่าจะเทียบได้กับ "สมเด็จเจ้าพระยา"

แต่ถ้าพิจารณาราชาศัพท์ที่ใช้กับการ ถึงแก่กรรม ของบุคคลในระดับนี้ในปัจจุบัน ก็น่าจะใช้ ถึงแก่อสัญกรรม เพราะท่านไม่ได้มีเชื้อเจ้าของหัวเมืองประเทศราชที่จะใช้ ถึงแก่พิราลัย นะคะ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 12 ก.พ. 06, 10:23
 สวัสดีครับ ขออนุญาตเสียมารยาท(รอผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่านที่ว่า)ครับ
1. ที่คุณออตโต้บอกว่า
"1.ทูลกระหม่อมพ่อของพระองค์จุลเป็นเจ้าฟ้าที่ได้รับพระมหากรุณาเป็นพิเศษให้ใช้ทิวงคต ซึ่งมีอีกองค์ที่ใช้คำว่าทิวงคตเหมือนกันแต่จำพระนามไม่ได้ คุ้นๆว่าน่าจะเป็นเจ้าฟ้าภาณุฯตามประวัติศาสตร์มีเพียง 2 องค์เท่านั้นที่ได้โปรดพระราชทานเป็นพิเศษ ผมขอเดานะครับว่าที่กรมหลวงพิษณุโลกได้พระราชทานอาจด้วยเพราะพระองค์ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นรัชทายาทสืบต่อร.6 หากพระองค์ไม่ทรงมีพระโอรสตามพระราชพินัยกรรม"

สมเด็จเจ้าฟ้าที่ใช้คำว่าทิวงคตได้ มี เท่าที่ทราบมีทูนกระหม่อมเล็ก(สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ) และทูลกระหม่อมเอียดเล็ก(สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา)ครับ
อนึ่ง ทั้งสองพระองค์ทรงพระยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ ๖
ผมคิดว่าผู้ที่ใช้คำว่า ทิวงคตได้ก็มีอีกครับ คือ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (ปัจจุบันให้ถือว่าวังหน้าทุกพระองค์ใช้ ทิวงคต หมด แทนที่จะเป็นสวรรคต แต่เรื่องนี้ผมไม่มั่นใจ คงต้องให้ทั้ง 3 ท่านชี้แจงความกระจ่างอีกคราวครับ)
แต่วังหลังใช้ทิวงคตหรือไม่ ผมไม่แน่ใจอีกเหมือนกันครับ
2. จากความเห็นที่ 7 ของคุณ B
สมเด็จเจ้าพระยาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มี 3 ท่านครับ ได้แก่
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์
สมเด็จเจ้าฟ้าบรมมหาพิชัยญาติ
และ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(สถาปนาในรัชกาลที่ 5 )
ทั้งสามท่าน มาจากสกุลบุนนาค มีศักดินาสูงกว่าเจ้านายทรงกรมสมเด็จพระ(ต่อมา ในสมัย ร. ๖ จึงมีการปรับเจ้านายกรมสมเด็จพระ เป็นสมเด็จกรมพระและสมเด็จกรมพระยา)
ผมคิดว่า อำนาจของสมเด็จเจ้าพระยาคงพอ ๆ กับท่านอ๋องในราชสำนักจีน นำมาเทียบกับสมัยปัจจุบันไม่ได้ครับ
นอกจากนี้ เจ้าคุณจอมมารดาให้ใช้คำว่า พิราลัยได้เช่นกัน เช่น เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เป็นต้น
3. ผมเคยได้ยินว่า ประธานรัฐสภาและประธานศาลฎีกาน่าจะใช้ ถึงแก่อสัญกรรม
ประธานาธิบดี ให้ใช้คำว่า ถึงแก่อสัญกรรมครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 12 ก.พ. 06, 16:36
 ไปค้นเพิ่มมานิดหน่อยครับ เรื่อง ทิวงคต

พจนานุกรมบอกว่า ทิว- แปลว่า วัน ก้ได้ เช่น ทิวา และแปลว่า เทวโลก ก็ได้ ดังนั้น ทิวงคต ก้แปลว่าไปเทวโลกแล้ว

ขอบพระคุณคุณครูเทาชมพูครับ พีระ เทียบ สุระ แปลตรงว่าผู้กล้าทั้งคู่ และใช้ในความหมายแปลว่า เทวดา ทั้งคู่ ดังนั้น พิราลัย คือ สุราลัย แปลว่า เมืองสวรรค์ โลกเทวดา และแปลกจริงๆ เสียด้วยที่เผอิญไปตรงกับวัลฮัลลาของฝรังยุโรปเหนือได้อย่างน่าอัศจรรย์

(ผมสังเกตว่า ในที่นี้ - หรือที่จริงก็ต้องเรียกว่า ในภาษาตามปกติ - สุราลัย แปลว่าที่อยู่ของ สุระ หรือที่อยู่เทวดา ไม่ยักแปลว่าโรงเบียร์หรือบาร์เหล้าอันเป็น "ที่อยู่ของสุรา" นะครับ...)

ในชุดคำชุดนี้ มีคำที่เป็นคำศัพท์กวีหน่อยๆ อีกคำหนึ่งคือ เสด็จสู่สวรรคาลัย ก็แปลว่า ตาย เหมือนกัน สวรรคาลัย แปลว่า ที่อยู่ที่เป็นสวรรค์


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 12 ก.พ. 06, 16:50
 ทั้งนี้และทั้งนั้น โดยเราเข้าใจกันเอง หรือให้เกียรติกันว่า ท่านผู้ใหญ่เจ้าใหญ่นายโตเหล่านั้น ตายไปแล้ว คงจะไปสวรรค์กระมังน่า ไม่ว่าตอนที่ยังอยู่จะประพฤติองค์หรือประพฤติตนอย่างไรก็ตาม

พระราชาบางสมัย บางประเทศ บางองค์ อย่างทรราชเผด็จการที่มีพระราชประวัติปรากฏในตำราประวัติศาสตร์โลกหลายองค์ (เช่น ซาร์อีวานผู้โหดร้าย ของรัสเซีย) ตายไป ภาษาไทยก็ให้เป็น สวรรคต เหมือนกัน คำว่า "นรกคต" ดูจะยังไม่มีการกำหนดให้ใช้ในภาษานะครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 12 ก.พ. 06, 17:32
คำกลางๆ แต่ไม่เป็นศัพท์บัญญัติให้ใช้ เป็นแต่คำของกวีคำหนึ่ง ซึ่งแปลว่า ตาย เหมือนกัน เคยเห็นผ่านตาในงานพระนิพนธ์ของ น.ม.ส. ซึ่งบรรยายทำนองว่า ครั้นพระราชาในนิทานองค์นั้นตรัสสั่งเสียเสร็จแล้ว ก็ "เสด็จไปโดยมหาบถ คือ ทางใหญ่"

คือทรงไปตามทางที่มนุษย์เป็นอันมากได้ไปล่วงไปก่อนแล้ว และทุกคนที่ยังอยู่จะต้องก้าวไปบนทางนั้นสักวันหนึ่ง หนี "ทางใหญ่" เส้นนี้ไปไม่พ้นหรอก...

ที่ผมชอบใจว่าเป็นคำกลางๆ ก็คือว่า ไม่ได้บอกว่าเป็นทางสายใหญ่ที่ทอดไปสู่ที่ไหนครับ จะขึ้นข้างบนหรือลงข้างล่างก็ได้ สุดแต่กรรมนะโยม


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 12 ก.พ. 06, 19:34
 ภาษาอารบิก คำสุภาพใช้แก่คนที่ตายไปแล้ว เรียกว่า อัล มาร์ฮุม อันแปลว่า "ผู้ไปสู่พระกรุณาของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว"

มีกระทู้แถวๆ นี้อันหนึ่ง ถามเรื่องเต็งกู ซะฟียะห์ นัยว่า เป็นเจ้าจอมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งผมก็ยังไม่รู้ว่าท่านผู้นี้เป็นใครเหมือนกัน รู้แต่ว่าถ้าดูจากชื่อเต็มของท่านที่คุณ Nuchana ไปค้นมา เต็งกูซะฟียะห์ เป็นธิดา (Binti ถ้าเป็นบุตร มลายูเรียก Bin) ของสุลต่านองค์หนึ่ง ทรงพระนามโมฮัมมัด แห่งเมืองอะไรก็ไม่ได้ระบุไว้

สุลต่านองค์นั้นสิ้นพระชนม์แล้ว (แน่ละครับ ตั้งเป็นร้อยปีมาแล้วนี่ครับ) จึงมีคำนำหน้าชื่อว่า อัล-มาร์ฮูม ปรากฏในข้อมูลที่คุณ NUchana ค้นมานั่นเอง


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 13 ก.พ. 06, 11:07
 ที่ถามว่า "พระองค์จุลฯ ทรงเขียนตอนหนึ่งว่า... ทูลกระหม่อมอาแดงทรงสิ้นพระชนม์เมื่ออายุเท่ากับ
ทูลกระหม่อมพ่อของข้าพเจ้าเสด็จทิวงคต.... ในเมื่อทูลกระหม่อมฯทั้งสองเป็นเจ้าฟ้าชั้นสูง
เหมือนกัน ทำไมถึงไม่ใช้ราชาศัพท์คำเดียวกันคะ
(อ้อ..เมื่อจะทิวงคต ใช้ทรงทิวงคตได้ไหม ทำไม่ต้องเสด็จด้วยคะ)"

ประเด็นที่ว่า "...ในเมื่อทูลกระหม่อมฯทั้งสองเป็นเจ้าฟ้าชั้นสูง
เหมือนกัน ทำไมถึงไม่ใช้ราชาศัพท์คำเดียวกันคะ..."

ถึงแม้ว่าทั้งสองพระองค์จะทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าชั้นทูลกระหม่อมเหมือนกัน  แต่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถนั้นทรงเป็นรัชทายาทในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  และได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเมื่อสิ้นพระชนม์แล้วเป็น สมเด็จพระอนุธิราช ซึ่งเป็นพระอิสริยศักดิ์พิเศษสำหรับพระรัชทายาทเทียบได้กับสมเด็จพระมหาอุปราชในสมัยโบราณ  จึงโปรดให้ใช้ทิวงคตแทนสิ้นพระชนม์  พระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระยศพิเศษยังมีอีก ๒ พระองค์ คือ
๑) สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา ซึ่งได้ทรงเป็นพระรัชทายาทต่อจากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
๒) สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพัณธุวงศ์วรเดช  พระบรมวงศ์พระองค์นี้ทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาร่วมพระราชชนีกับพระยาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ในรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงเฉลิมพระยศเป็นจอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งเป็นที่สุดสำหรับพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่แล้วแล้ว  ถึงรัชกาลที่ ๗ จึงทรงเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข  ซึ่งเทียบเท่ากรมพระราชวังสถานภิมุข หรือกรมพระราชวังหลัง เป็นการเพิ่มพระเกียรติยศพิเศษ
ทั้งสองพระองค์นี้  ใช้เสด็จทิวงคต  และที่ไม่ใช้ทรงทิวงคตนั้น  เพราะ "ทิวงคต" เป็นราชาศัพท์ที่แสดงกิริยาว่า "ตาย" จึงไม่ใช้ทรงซ่อนราชาศัพท์  แต่ใช้ว่าเสด็จทิวงคต แทน

ส่วนคำว่า "พิราลัย" นั้น  แต่เดิมจะใช้กับ พระเจ้าหรือเจ้าประเทศราช  และขุนนางไทยที่ได้รับพระราชทานสุพรรณบัฏเป็นสมเด็จเจ้าพระยา เช่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์  สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ในรัชกาลที่ ๔  และ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ในรัชกาลที่ ๕  นอกจากนั้นยังมี เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ  บุนนาค) ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเกียรติยศพิเศษเสมอด้วยสมเด็จเจ้าพระยาอีกท่านหนึ่ง

คำว่า "อสัญกรรม" นั้น  ในสมัยก่อนใช้กับท่านที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และเครื่องยศชั้น "เจ้าพระยา" ต่อมาได้ใช้กับผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า  เพราะตามธรรมเนียมเดิมนั้นผู้ที่ได้เป็น เจ้าพระยานั้นจะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าเป็นเครื่องยศด้วย  (แต่ในปัจจุบันผมก็ไม่ทราบว่า กองพระราชพิธี  สำนักพระราชวัง ท่านถือธรรมเนียมอย่างไรจึงใช้อสัญกรรมกับรัฐมนตรีที่เสียชีวิตในระหว่างดำรงตำแหน่งแม้จะมิได้รับพระราชทานปฐมจุลจอมเกล้า  แต่อดีตรัฐมนตรีที่ได้รับพระราชทานปฐมจุลจอมเกล้า เช่น ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น  มาลากุล ท่านลงในหมายรับสั่งว่า อนิจกรรม)  นอกจากนั้นยังใช้อสัญกรรมกับเจ้าจอมมารดาในพระมหากษัตริย์ด้วย

ตรงนี้ขออนุญาตออกนอกเรื่องหน่อยครับ คือ เจ้าจอมมารดาสำลี ในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าจอมมารดาในสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลย์มารศรี พระเทวี ถึงแก่กรรมนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับพระราชธุระจัดการศพโดยตลอดและโปรดให้ใช้ถึงแก่พิราลัย แต่เมื่อเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม ในรัชกาลที่ ๔ (ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ โปรดให้สถาปนาอัฐิขึ้นเป็น สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา) ซึ่งทรงเป็นเจ้าจอมมารดาของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ ในรัชกาลที่ ๕ ถึง ๓ พระองค์ และทรงเป็นพระอัยกี หรือยายของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ถึงสองพระองค์  ได้กราบถวายบังคมลาถึงแก่กรรมนั้น  ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว  หาได้มีพระราชกระแสให้จัดการศพใดๆ เหมือนคราวเจ้าจอมมารดาสำลี  สมเด็จพระเจ้าบรมว.ศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ซึ่งเป็นโอรสองค์ใหญ่และทรงเป็นพระเชษฐาในสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทั้งสามพระองค์  จึงได้ทรงมีลายพระหัตถ์ในนามเจ้าคุณจอมมารดาขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาไปสู่ปรโลก  แทนถวายบังคมลาถึงแก่พิราลัยหรืออสัญกรรมตามเกียรติยศ    

ส่วนคำว่า "อนิจกรรม" นั้นสมัยก่อนท่านให้ใช้กับผู้ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นพระยา  แม้จะมิได้รับพระราชทานพานทองเป็นเครื่องยศก็ให้ใช้อนิจกรรมได้เหมือนกันหมด  ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการใช้คำว่าอนิจกรรมกับผูที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพายหรือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ซึ่งได้รับพระราชทานโต๊ะทองเป็นเครื่องยศ  ทั้งนี้โดยเทียบตามเกณฑ์สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ผู้ที่จะได้รับพระราชทานสายสะพายหรือโต๊ะทองเครื่องยศนั้นต้องได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นพระยาแล้ว  อีกประการในช่วงก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ นั้นช้าราชการที่จะมีสิทธิได้รับพระราชทานสายสะพายนั้นเห็นจะมีเฉพาะระดับอธิบดีที่เป็นข้าราชการชั้นพิเศษเท่านั้น  รองอธิบดีและผู้ว่าราชการจังหวัดประเทศยังเป็นเพียงข้าราชการการชั้นเอกอยู่เลย  แต่ถ้าเอาเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้กับปัจจุบันที่มีข้าราชการ ซี๙ ๑๐ ๑๑ เต็มบ้านเต็มเมืองก็ดูจะเฝทิไปสักหน่อย

ข้ออนุญาตออกนอกเรื่องอีกทีครับ  สำหรับข้าราชการชั้นเอกที่ได้รับพระราชทานสายสะพายที่ผมรู้จักและเป็นผู้ใหญ่ที่ผมเคารพ  เห็นจะมีชอยู่ท่านเดียวละครับ คือ คุณเศวต  ธนประดิษฐ์ อดีตที่ปรึกษาสำนักพระราชวังซึ่งเพิ่งถึงอนิจกรรมไปไม่นานมานี้  สิริอายุของท่านได้ ๙๗ ปี ท่านผู้นี้ได้รับราชการในกรมพระราชพิธี กระทรวงวังมาแต่ต้นรัชกาลที่ ๖  จนเกษียณราชการในรัชกาลปัจจุบัน  แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ต่ออายุราชการในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ สำนักพระราชวัง  เรื่อยมาจนถึงแก่อนิจกรรม  เมื่อก่อนที่ท่านจะถึงอนิจกรรมนั้นผมยังเคยล้อท่านว่า  ถ้ามีหนังสือขึ้นไปกราบบังคมทูลว่า ขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาถึงแก่อนิจกรรม  แล้วเกิดไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาตจะทำอย่างไร  เพราะเสียดายความรู้ท่ท่านสั่งสมเอาไว้  ท่านก็ได้แต่หัวเราะ
ท่านผู้นีเมื่อเกษียณราชการนั้นเป็นข้าราชการในพระองค์ชั้นเอก  ได้รับพระราชทานประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎไทย และทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ  ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนก็เป็นพระยาพานทองแล้วครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 13 ก.พ. 06, 12:00

.


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: ศศิศ ที่ 14 ก.พ. 06, 00:39
 ส่วนในตำนานต่าง ๆ ที่กล่าวถึง "พระญา" เจ้าเมือง มักจะเรียกว่า "จุติ"

เหมือนการตายของเทวดาเลยครับผม หรือว่านั่นเป็นการนับถือกษัตริย์ว่าเทียบเท่าเทวดา?ครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 14 ก.พ. 06, 04:31
 ขอบคุณคุณหลวงนิลฯเรื่อง แดหวา-เทวา และคุณศรีปิงเวียงเรื่อง สมเด็จเจ้าพระยา ค่ะ

Valhalla บางครั้งก็เรียก Valholl ค่ะ ดิฉันเข้าใจว่าถึงแม้จะมีความหมายว่า ที่อยู่ของผู้กล้า เหมือนกัน แต่ พิริยาลัย เป็นราชาศัพท์ใช้กับบุคคลต่างๆทั้งหญิงและชายดังที่คุยกันไว้ข้างบน แต่ วัลฮัลลา เป็นที่อยู่ของวีรบุรุษหรือ heroic dead ที่เป็นนักรบ ตรงกับความหมายของ ผู้กล้า จริงๆนะคะ

สันนิษฐานเองต่อว่าวัลฮัลลาน่าจะมีแต่นักรบผู้ชายค่ะ...แต่จะมีสาวๆแบบเพลง ออกศึกข้านึกแต่รบๆ เสร็จศึกข้านึกแต่รักเจ้าเท่านั้น...หรือเปล่าก็ไม่ทราบนะคะ

จุติ คือการตายเพื่อไปเกิด เป็นลักษณะการตายหรือการละจากภพหนึ่ง ไปยังอีกภพหนึ่ง เป็นลักษณะการตายของเทวดาใช่ไหมคะ ดิฉันเข้าใจถูกหรือเปล่าคะ อาจารย์เทาชมพู?

คุณศศิศ ความเชื่อตั้งแต่สมัยอยุธยา (รับมาจากขอม?) ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพอยู่แล้วนี่คะ ดังนั้นการใช้ราชาศัพท์ที่เทียบเท่ากับเทวดาจึงเป็นไปได้อยู่แล้ว คงมีอีกหลายคำ แต่ตอนนี้นึกไม่ออก (กำลังมึนค่ะ เมื่อคืนนอนสามชั่วโมงเท่านั้น)


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 14 ก.พ. 06, 08:11
 ขออนุญาตมาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่อง  "พิราลัย" ครับ

ผมเข้าใจว่าตำแหน่ง  "นายกรัฐมนตรี"  ไม่ได้มีศักดิ์เทียบเท่ากับขุนนางชั้น  "สมเด็จเจ้าพระยา"  นะครับ  แต่น่าจะอนุโลมได้กับตำแหน่งสมุหนายก  หรือสมุหพระกลาโหม  อัครมหาเสนาบดีในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ที่มีบรรดาศักดิ์เป็น  "เจ้าพระยา" ครับ  ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงถึงแก่กรรมจึงใช้คำว่า  "พิราลัย"  ไม่ได้

และดังที่เข้าใจกันว่าในปัจจุบันบุคคลที่ได้รับพระราชทาน  "นพรัตน์ราชวราภรณ์"  มีศักดิ์เท่ากับ  "สมเด็จเจ้าพระยา"  ก็ไม่ได้ใช้คำว่า  "ถึงแก่พิราลัย"  แต่อย่างใด  เช่น  จอมพลสฤษดิ์  ถึงแก่อสัญกรรมขณะดำรงตำแหน่ง  ทั้งยังได้รับพระราชทานนพรัตน์ฯ  แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวที่งานศพได้รับพระราชทานเกียรติยศสูงสุด  แต่ก็ไม่ได้ใช้คำว่าพิราลัยแต่อย่างใดครับ

อย่างไรก็ตามมีขุนนางท่านหนึ่ง  ซึ่งถึงแม้จะมีบรรดาศักดิืเป็นเพียง  "เจ้าพระยา"  แต่ก็โปรดให้ใช้คำว่า  "พิราลัย"  เพราะท่านเป็นที่สมเด็จเจ้าพระยาวังหน้าครับ  ขุนนางท่านนี้ก็คือ  "เจ้าพระยาอภัยราชา  (ปิ่น)

สำหรับบุคคลล่าสุดที่ได้ใช้คำว่า  "พิราลัย"  เมื่อถึงแก่ความตาย  คือ  หม่อมหลวงบัว  กิติยากร  พระชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถครับ  ทั้งนี้เพราะทรงมีศักดิ์เสมอด้วย  "เจ้าจอมมารดา"  ในฐานะที่ทรงเป็นขรัวยายเจ้าฟ้าครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 14 ก.พ. 06, 10:54
 ดูสิดิฉันพิมพ์ พิริยาลัย แทนที่จะเป็น พิราลัย ขอแก้ไขนะคะ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: Andreas ที่ 14 ก.พ. 06, 11:03
 ผมกำลังคิดอยู่ว่าจะตั้งกระทู้ใหม่เรื่องเครื่องราชฯดีหรือไม่....แต่เอาเป็นว่าขอร่วมเสวนาในกระทู้นี้ก่อนนะครับ....

สืบเนื่องจากคุณ V_Mee และคุณหยดน้ำให้ข้อมูลมา ผมสรุปได้ว่า

ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคล นพรัตน์ราชวราภรณ์ มีศักดิ์เทียบกับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ "สมเด็จเจ้าพระยา"

ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า ขึ้นไปมีศักดิ์เทียบกับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ "เจ้าพระยา" (มีสองชั้นคือ ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ กับ ปฐมจุลจอมเกล้า)

ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ขึ้นไปมีศักดิ์เทียบกับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ "พระยา" (มีสามชั้นก่อนเลื่อนเป็น เจ้าพระยา คือ ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ทุติยจุลจอมเกล้า และ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ)

ดังนั้นเมื่อผมทำการค้นคว้าข้อมูลนิดหน่อย ....ผลปรากฎว่า

พณฯ ท่านประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคล นพรัตน์ราชวราภรณ์ ซึ่งเทียบชั้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยา .....เพราะสามารถเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์ได้ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญระบุให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการ ในกรณีที่บัลลังก์ว่างลง และเป็นประธานเสนอให้รัฐสภา กราบบังคมทูลรัชทายาทหรือผู้มีศักดิ์และสิทธิ์ขึ้นสืบบัลลังก์ต่อไป

พณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ดร. ทักษิน ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดคือ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ซึ่งมีศักดิ์เทียบเป็นพระยา (ชั้นสุดท้ายก่อนเป็นเจ้าพระยา)

ผมถามคำถามไว้เอง...แล้วคุณ B กรุณามาช่วยตอบ ร่วมกับท่านผู้รู้ที่ผมเอ่ยถึงข้างบน......สรุปก็คือ ผมได้คำตอบแล้วครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.พ. 06, 11:09
 จุติ   (บาลี และสันสกฤตใช้ตรงกันว่า  จฺยุติ)
พจนานุกรมของราชบัณฑิตฯ ให้ความหมายว่า
"เคลื่อน, เปลี่ยนสภาพจากกำเนิดหนึ่งไปเป็นอีกกำเนิดหนึ่ง
มักใช้แก่เทวดา"
ค่ะคุณ B
สุขสันต์วันวาเลนไทน์นะคะ

ป.ล. ปิดคอมพ์แล้วไปนอนเอาแรงเสียเถอะค่ะ  เดี๋ยวจะผอมยิ่งกว่านี้


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 14 ก.พ. 06, 11:48
 อ่านคำว่า พิริยาลัย แล้ว ชวนให้นึกถึงชื่อโรงเรียนสำคัญในมณฑลพายัพหรือภาคเหนือของเราในเวลานี้ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานชื่อไว้คือ

จ.ลำปาง - โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย มาจากนาม เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย

จ.ลำพูน  - โรงเรียนจักรคำคณาธร  มาจากนาม เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย

จ.แพร่    - โรงเรียนพิริยาลัย  มาจากนาม เจ้าพิยเทพวงศ์  เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย  สำหรับนามนี้มีข้อน่าสังเกตว่า เมื่อพระราชทานนามโรงเรียนประจำจังหวัดแพร่นั้น  เมืองแพร่ไม่มีเจ้าผู้ครองนครแล้ว  เพราะเจ้าพิริยเทพวงศ์ได้ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่หลวงพระบางกว่า ๑๐ ปีแล้ว  ตั้งแต่คราวกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ พ.ศ.๒๔๔๕



แต่ที่เมืองเชียงใหม่เวลานั้น เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เป็นเจ้าผู้ครองนคร  ทั้งได้อุทิศที่ดินและไม้จากโรงละครเก่าของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ที่เพิ่งพิราลัยให้ไปสร้างโรงเรียนตัวอย่างประจำเมืองนครเชียงใหม่  แต่เมื่อพระราชทานนามโรงเรียนนี้กลับพระราชทานว่า "โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย"  อันมีความหมายว่า เป็นโรงเรียนของสมเด็จพระยุพราช คือ รัชกาลที่ ๖ ซึ่งเวลาน้นยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร  และพร้อมกันนั้นยังได้พระราชทานชื่อโรงเรียนของมิชันนารีอเมริกันให้มีความหมายเดียวกันว่า "The Prince's Royal College"


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 14 ก.พ. 06, 12:09
 เรื่องเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้านั้น  สำหรับปฐมจุลจอมเกล้าฝ่ายหน้ามี ๒ ชั้น คือ ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ  กับปฐมจุลจอมเกล้า  ส่วนฝ่ายในมีชั้นเดียว คือ ปฐมจุลจอมเกล้า เพราะไม่มีการสืบตระกูล

ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษนั้น  โปรดให้มีการสืบตระกูลไปไม่มีที่สิ้นสุด  เว้นแต่จะไม่มีทายาทผู้ชายที่จะดำรวงศ์สกุลต่อไป  จึงเป็นอันสิ้นสุดการสืบตระกูล  เมื่อแรกสถาปนานั้นได้โปรดพระราชทานเฉพาะพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๕ เท่านั้น  ต่อมาได้พระราชทานแก่พระบรมวงศ์ที่ทรงปฏิบัติราชการเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นพิเศษ  เพื่อให้ปรากฏพระเกียรติคุณสืบไปไม่มีที่สิ้นสุด  พระบรมวงศ์ที่ได้รับพระราชทาน ป.จ.ว.เป็นพิเศษเท่าที่จำได้คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ทรงเรียกว่า แขนขวาแขนซ้าย ดังภาพ  ในปัจจุบันผู้ที่ได้รับพระราชทาน ป.จ.ว. ดูเหมือนจะมีแต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เพียงพระองค์เดียว

ส่วนปฐมจุลจอมเกล้านั้น โปรดให้มีการสืบตระกูลเพียงรุ่นลูกและหลาน เช่นเดียวกับทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)  แต่ลำดับชั้นตราสืบตระกูลนั้นต่างกัน  ปัจจุบันผู้ที่ได้รับพระราชทาน ป.จ. คือ องคมนตรี และผู้ที่ทรงพระมหากรุณาเป็นพิเศษ เช่น ม.จ.ภีศเดช  รัชนี  ดร.สุเมธ  ตันติเวชกุล เป็นต้น

ในสมัยก่อนนั้นผู้ที่ได้รับพระราชทาน ต.จ.ว. นั้นจะได้รับพระราชทานโต๊ะทองพร้อมกาน้ำเป็นเครื่องยศ  มักจะเรียกกันว่า พระยาโต๊ะทอง  ผู้ที่ได้รับพระราชทาน ท.จ. จะได้รับพานหมากทองคำเป็นเครื่องยศ จึงเรียกกันว่า พระยาพานทอง  สำหรับเครื่องยศ ท.จ.ว. จะได้อะไรเพิ่มนั้นจำไม่ได้ครับ

มีข้อสังเกตว่า ในปัจจุบันนี้ฝ่ายในเมื่อได้รับพระราชทาน ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ก็จะใช้คำนำหน้านามว่า ท่านผู้หญิง โดยอัตโนมัติ  แต่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น  เอกภรรยาของเจ้าพระยาจะยังคงใช้คำนำหน้านามว่า คุณหญิง  แม้จะได้รับพระราชทานทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) แล้ว  เช่น คุณหญิงประจวบ  รามราฆพ คุณหญิงของเจ้าพระยารามราฆพ  ต่อมเมื่อได้รับพระราชทานเครื่องยศเป็นท่านผู้หญิงแล้ว  จึงจะใช้คำนำหน้านามว่า ท่านผู้หญิงได้ เช่น ท่านผู้หญิงเสงี่ยม  พระเสด็จสุเรนทราธิบดี ท.จ.  ท่านผู้หญิงของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เป็นต้น  โปรดสังเกตนะครับ  สมัยก่อนท่านผู้หญิงจะได้รับพระราชทานเพียง ท.จ.  ปัจจุบันเครื่องยศท่านผู้หญิงจะพระราชทานพร้อม ท.จ.ว.เลยทีเดียว


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 14 ก.พ. 06, 12:20

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายร่วมกับแขนขวา - ซ้าย คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ในงานวัดเบญจะ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 14 ก.พ. 06, 14:31
 อันนี้ใช้ถูกไหมคะ
...เมื่อพระบรมราชชนกเสด็จทิวงคตนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ยังทรงพระเยาว์ยิ่งนัก คือทรงมีพระชนมายุเพียง....


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 14 ก.พ. 06, 14:38
 ทิวงคต, เสด็จทิวงคต  
-ปัจจุบันใช้กับพระมหากษัตริย์ต่างประเทศ, กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระราชวงศ์ที่ดำรง
พระอิสริยศักดิ์สูง ทรงเศวตฉัตร ๗ ชั้น, เจ้าฟ้าซึ่งได้รับการเฉลิมพระยศ พิเศษ แต่ยังทรงฉัตร ๕ ชั้น*

สิ้นพระชนม์    
- พระราชวงศ์ชั้นเจ้าฟ้า, พระองค์เจ้า, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และสมเด็จพระสังฆราช

ถึงแก่อสัญกรรม  
-ผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา  ปัจจุบันใช้กับผู้ที่ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานองคมนตรี
องคมนตรี รัฐบุรุษ ประธานสภา ผู้แทนราษฎร ประธานศาลฎีกา ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราช
อิสริยาภรณ์ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า

ถึงแก่อนิจกรรม                     ผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา
- ปัจจุบันอนุโลมใช้กับผู้ได้รับ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตั้งแต่ชั้นประถมาภรณ์
มงกุฎไทย หรือทุติยจุลจอมเกล้า และทุติย จุลจอมเกล้าวิเศษ ข้าราชการตั้งแต่ ระดับ ๙ ขึ้นไป

 http://www.navy.mi.th/navadmin/saranaru3.htm  


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 14 ก.พ. 06, 15:24
 กรณีของสมเด็จพระบรมราชชนกนั้น  เมื่อสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๗  ใช้ว่า สิ้นพระชนม์ครับ  
ในรัชกาลปัจจุบันได้โปรดให้สถาปนาพระอัฐิขึ้นเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงรับสัปตปฎลเศวตฉัตรแล้ว  จึงให้เปลี่ยนมาใช้สวรรคตแทนครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 15 ก.พ. 06, 04:46
 ขอบพระคุณค่ะอาจารย์
สุขสันต์วันวาเลนไทน์เช่นเดียวกันค่ะ (ที่นี่ยังเป็นวันที่ 14 อยู่ค่ะ)


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: บ้านายคำเก่ง ที่ 15 ก.พ. 06, 14:28
 สำหรับการถึงแก่กรรมของเจ้าบุษบงนั้น เมื่อครั้งงานศพผมได้มีโอกาสช่วยเตรียมพิธีแห่เพื่อนำศพออกไปส่งสะกาน (ฌาปนกิจ) เย็นวันก่อนงานส่งสะกาน 2 วันผมเดินทางไปถึงบ้านของท่าน ญาติพี่น้องกำลังเตรียมพิธีมอบพวงหรีดพระราชทานของพระบรมวงศานุวงศ์จากกรุงเทพฯพอดี จึงมีโอกาสได้คุยกับหลายคนในที่นั้น ด้วยความที่ปากผมไม่ค่อยอยู่เป็นสุขนักก็เลยถามญาติผู้ใหญ่ของเจ้าภาพท่านหนึ่งว่า เหตุใดจึงใช้ พิราลัย ควรใช้ว่าถึงแก่กรรมจึงจะถูกมากกว่า เพราะพิราลัยควรใช้กับพระเจ้าประเทศราชและเจ้าประเทศราชเท่านั้น

ผมได้ยกเอางานศพของเจ้าทิพวรรณซึ่งเป็นหลานเจ้าหลวงบุญวาทย์ แต่มีตำแหน่งเป็นถึง ราชเทวี แห่งเชียงตุง ก็ยังใช้คำว่า ถึงแก่กรรม ทางญาติของเจ้าภาพก็จึงอธิบายให้ฟังดังนี้

เนื่องจากเจ้าบุษบงเมื่อถึงแก่กรรมลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบราชนิกูลลายก้านแย่ง เทียบชั้นหม่อมเจ้า(หญิง) และโปรดให้เชิญไฟพระราชทานเพลิงศพที่จุดจากหน้าพระแก้วมรกตในพระบรมหาราชวัง ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้แม้แต่ชั้นพระองค์เจ้าหรือหม่อมเจ้าก็ไม่มีโอกาสแบบนี้ ประการที่สำคัญในบั้นปลายนั้นเจ้าบุษบงมีชีวิตที่ไม่ค่อยสบายนัก ใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชนทั่วไป ทางกรุงเทพฯตระหนักว่าเนื่องจากเจ้าหลวงบุญวาทย์นั้นนำทรัพย์สินส่วนตัวและมรดกทั้งหลายมอบให้หลวง ทำให้ลูกหลานลำบาก (เจ้าบุษบงไปอยู่กับพระราชชายาเจ้าดารารัศมีตั้งแต่ยังเด็ก ;ในเรื่องส่วนตัวคงนำมากล่าวในนี้ไม่ได้)  อีกทั้งเจ้าบุษบงเป็นเจ้าองค์สุดท้ายที่เป็นลูกของเจ้าหลวงในล้านนา (เจ้าทางเชียงใหม่ถือเป็นรุ่นหลาน)  การศพเจ้าบุษบงนี้จึงทรงมีพระเมตตาเป็นพิเศษ

ตอนแรกทางสำนักพระราชวังใช้ว่า อนิจกรรม ต่อมาพอมีหนังสือกราบทูลไปก็เปลี่ยนเป็น พิราลัย เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำที่เคยใช้แต่โบราณ หมายเรียนเจ้าภาพมาแบบนั้น ดังนั้นญาติก็ถือเอาตามนี้

ผมได้รับคำอธิบายมาแบบนี้ ในกรณีนี้คงต้องถือว่า ท่านให้ใช้ในกรณีพิเศษ (ท่านหมายถึงในหลวง? อันนี้ผมไม่แน่ใจ)

สำหรับทางล้านนานั้น แต่เดิมเมื่อมหาเทวี(แม่เจ้าหลวง) เจ้าเมือง ราชเทวี(เมียเจ้าหลวง) ตาย จะใช้คำว่า สุรคตบ้าง จุติบ้าง ในสมัยล้านนารวมกับพม่าก็ใช้แบบนี้ พอถึงสมัยที่ล้านนาเป็นเมืองประเทศราช พระเจ้ากาวิละตายถึงเรียกว่าพิราลัย คำราชาศัพท์น่าจะมาตอนนี้ เพราะในบันทึกอาณาจักร หรือกฏหมายฉบับหนึ่งของล้านนา (กฎหมายล้านนาฉบับนี้มีข้อบันญัติและยกปัญหาตุ๊กตา แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต น่าสนใจมาก) ได้กล่าวถึงการเรียกพ่อ แม่ พี่ น้อง ป้า ลุง เป็นคำราชาศัพท์เหมือนทางกรุงเทพ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในสมัยพระเจ้ากาวิละ (ตรงกับสมัย ร.1 ของสยาม)

เมื่อตรวจดูเอกสารทั้งของล้านนา และสยาม พบว่า เมื่อเจ้าเมืองประเทศราชล้านนาตายก็ใช้ว่า พิราลัยบ้าง ถึงแก่กรรมบ้าง ถึงแก่อนิจกรรมบ้าง ถึงแก่อสัญกรรมบ้าง และเมื่อดูเป็นรายตัวเทียบกับเครื่องยศก็ไม่อาจสรุปได้ว่าทำไมต้องใช้เช่นนั้น ดังนั้นทางล้านนาจึงสรุปไม่ได้ว่าเจ้าเมืองตายสมควรใช้ว่าอย่างไร

พอมาถึงรัชกาลที่ 5 แห่งสยาม ประมาณ ปี พ.ศ.2446 คราวตั้งตำแหน่งพระเจ้าน่าน ได้มีข้อวินิจฉัยของกรมหลวงดำรงราชานุภาพว่า พระเจ้าประเทศราช เจ้าประเทศราช ตาย ใช้ว่า พิราลัย ส่วนพระยาประเทศราชใช้ถึงแก่อสัญกรรม


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 18 ก.พ. 06, 14:42
 "สังสการ" = ปลงศพ ชำระทำความบริสุทธิ์แก่ศพและวิญญาณผู้ตาย (ด้วยไฟ) = การเผาศพ ฌาปนกิจศพ "ส่งสะกาน" คำเมืองที่คุณบ้านายคำเก่งใช้ ก็มาจากภาษาบาลีคำนี้เอง

ดีใจจัง ที่ได้ยินคำนี้อีก เป็นคำเพราะๆ ที่ไม่ค่อยได้ยินมานานแล้วนะครับ

"สันสกฤต" ชื่อภาษาสันสกฤตเอง ก็แปลว่า ภาษาที่ได้เอามาชำระสะสางจัดระเบียบ เป็นภาษาที่ประณีตแล้ว นั่นเอง


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 18 ก.พ. 06, 14:49
 ผมเห็นเหมือนกันว่า สำนักราชเลขาธิการใช้คำว่า ทิวงคต ตอนที่กษัตริย์ฟาฮัดของซาอุดิอาระเบียท่านสิ้น ก็คงเป็นการใช้ตามระเบียบสมัยนี้ ตาม คห. 33

ตอนนั้นผมยังรู้สึกแปลกมากๆ เพราะตามความเคยชินเดิม รู้สึกว่าทิวงคตไม่น่าจะใช้กับพระมหากษัตริย์ครองแผ่นดิน น่าจะเป็นเจ้าชั้นรองลงมาหน่อย แต่เมื่อสำนักราชเลขาธิการใช้เองก็ต้องยอมเชื่อว่าเขาคงถูก ผมนึกเอาเองว่า พระราชาราชินีประมุขรัฐต่างประเทศ ก็น่าจะใช้ สวรรคต เหมือนกัน (เช่น ควีนวิคตอเรียทิวงคต???? ฟังแปลกหูมาก)

เพิ่งทราบนี่แหละครับว่า ทิวงคต ตามระเบียบปัจจุบันกำหนดให้ใช้กับพระมหากษัตริย์ต่างประเทศ ด้วย


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 06, 15:26
 รู้สึกแปลกๆเหมือนกันค่ะ   กำลังเล่าเรื่องกษัตริย์อังกฤษในประวัติศาสตร์อยู่เสียด้วย
ไม่อยากใช้คำว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๒ ทิวงคต  ยังไม่สนิทใจ เลยเลี่ยงให้พระองค์ เสด็จสู่สวรรคาลัยไปแทน
แต่ต่อไปพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ คงจะ"ทิวงคต"

เคยใช้ราชาศัพท์ถึงพระราชาในตำนานหรือนิทานว่า"สิ้นพระชนม์"  ก็รู้สึกว่าเนียนดี ไม่สะดุด
อันที่จริงการใช้ราชาศัพท์ในเรื่องแปล ก็เป็นเรื่องขลุกขลักสำหรับดิฉันอยู่เหมือนกัน
พระเจ้าชาลมาญ ทิวงคตกับพระเจ้าชาลมาญสิ้นพระชนม์ อย่างหลังคล่องปากกว่านะคะ คุณนกข.ว่าไง

แต่อาจเป็นได้ว่าเราลดราชาศัพท์ที่ใช้สำหรับเจ้านายต่างประเทศลงมา ๑ ระดับเมื่อเทียบกับเจ้านายบ้านเรา
สวรรคตอยู่ระดับสูงสุด รองลงมาคือทิวงคต  รองลงมาอีกคือสิ้นพระชนม์
ก็เลยกลายเป็นพระราชาธิบดีของแผ่นดินอื่น ทิวงคต


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 19 ก.พ. 06, 10:36
 ผมคิดว่า น่าจะใช้คำว่า สวรรคต กับพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศด้วย
เพราะผมคิดเอาเองว่าพระเจ้าแผ่นดินทุกชาติมีสถานะเท่าเทียมกัน (แต่กรณีของเจ้าผู้ครองนครน่าจะใช้ทิวงคตมากกว่า)
แต่สำนักราชเลขาธิการบัญญัติอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้นครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 19 ก.พ. 06, 10:49
 ผมเห็นด้วยกับ คห. 40 เพราะที่จริงเป็นตรรกะที่ผมใช้มาเดิม

แล้วผมก็เดาว่า แต่ก่อนนี้คิงประเทศไหนก็ตาม เวลาท่านตายไป เราก็เคยใช้กันมาแต่เดิมว่า สวรรคต เท่าๆ กัน ผมไม่เคยได้ยินว่า พระเจ้าซาร์นิโคลัสทิวงคต ควีนวิคตอเรียทิวงคต พระจักรพรรดิฮิโรฮิโตทิวงคต ฯลฯ เลย

แต่ในเมื่อเป็นระเบียบ (ใหม่ - มั้ง?) กำหนดให้ใช้อย่างนี้ ผมก็คงต้องใช้อย่างนี้ตามไปแหละครับ ตัวอย่างล่าสุดอย่างที่เรียนแล้ว ที่ผมเห็นคือ ตอนคิงฟาฮัดท่านอัลมาร์ฮุม ไปสวรรค์แล้ว สำนักราชเลขาธิการท่านใช้ ทิวงคต จริงๆ

เจ้านายในนิทาน เห็นจะสิ้นพระชนม์ก็คงพอ มั้งครับ คุณเทาชมพู เพราะจะให้ผมใช้คำว่าทิวงคตกับพระเจ้าชาลมาญ ก็ยังแปลกหูตัวเองอยู่ อุปาทานหรือความยึดมั่นเดิมของผมยังแรงอยู่ครับ ยอมรับครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.พ. 06, 11:06
 เห็นด้วยกับความเห็น 40 ค่ะ

เอ แล้วพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ในกระทู้ใหม่ที่เตรียมไว้จะสวรรคตหรือสิ้นพระชนม์ดีล่ะคะ
ขอความเห็นสักหน่อยได้ไหม

อันที่จริงเมื่อย้อนกลับไปทบทวนวรรณกรรมแปลในอดีตของเรา
ก็เห็นว่านักปราชญ์สมัยก่อนอย่างเจ้าพระยาพระคลัง(หน)ที่อำนวยการแปลเรื่อง "สามก๊ก" ท่านชาญฉลาดในการบัญญัติราชาศัพท์ให้เรื่องจีน
ที่มีฮ่องเต้ มีอ๋อง อยู่ในเรื่องเต็มไปหมด   ได้แสดงบทบาทด้วยลีลาของกษัตริย์และเจ้านายได้ตลอดเรื่อง
โดยไม่ต้องใช้ราชาศัพท์อย่างที่ใช้กันในสมัยรัชกาลที่ 1

อ่านแล้วจนบัดนี้ก็ไม่เห็นมีใครออกมาโวยวายว่า พระเจ้าเหี้ยนเต้ควรจะมี " พระบรมราชโองการ" หรือ "มีพระราชดำรัส"
ไม่ใช่แค่ "มีรับสั่งว่า"

สรุปแล้วในเมื่อเล่าเรื่องพระราชาอังกฤษในท่วงทำนองค่อนไปทางเล่านิทาน
ดิฉันเลือก สิ้นพระชนม์  ให้ราชาราชันย์ต่างแดน  จะไหวไหมคะ ท่านผู้ฟัง


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 19 ก.พ. 06, 12:43
ขอสนับสนุนความเห็นท่านอาจารย์เทาชมพูเรื่องการใช้สิ้นพระชนม์สำหรับราชันย์ต่างแดนครับ  เพราะกษัตริย์ในยุโรปนั้นถือกันว่า เป็นอัศวินผู้กล้าหาญและมีความสามารถเหนืออัศวินคนอื่นๆ จึงได้รับการยกย่องขึ้นเป็นกษัตริย์  แต่ก็ยังอยู่ใต้อำนาจของคาร์ดินัลหรือโป๊ปสำหรับประเทศที่เป็นคาทอลิกนะครับ  แต่กับของไทยเราๆ ถือว่า พระมหากษัตริย์เป็นนมติเทพ เมื่อเสด็จมาประสูตินั้นก็ทรงเป็นเทพมาจุติ  เมื่อถึงวาระก็ต้องเสด็จกลับสู่สวรรค์

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำราราชาศัพท์เรื่องหนึ่งครับ  
เมื่อราวสิบปีมาแล้วผมได้รับเชิญให้เป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจคณะหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  และในการประชุมคราวหนึ่งก็มีการถกกันถึงคำราชาศัพท์ที่ว่าด้วยการตาย  จนผมอดรนทนไม่ไหวก็เลยเรียนให้ที่ประชุมทราบว่า ในปัจจุบันนี้มีการเปลี่ยนระเบียบการใช้ราชาศัพท์จนงงกันไปหมดแล้ว  ดังเช่นหนังสือราชาศัพท์ของสำนักงานเอกลักษ์ณ์ของชาติ  ที่ปกสีเขียวมีรูปพระมหาพิชัยมงกุฎที่หน้าปกนั้น  มีการพิมพ์คำราชาศัพท์ออกมาแล้ว  แต่เวลาที่แจกจ่ายให้ถือปฏิบัติกลับมีใบแทรกให้เปลี่ยนไปใช้อีกอย่าง  ในเมื่อพิมพ์เป็นเล่มหนังสือมาตรฐานอย่างนั้นแล้ว  แล้วทำไมจึงต้องมีใบแทรกมาอีก  ท่านประธานในที่ประชุมวันนั้นท่านเป็นอดีตอธิบดีและเป็นอาจารย์ภาษาไทยที่มีคนนับหน้าถือตากันมาก  ท่านได้กรุณาชี้แจงว่า ท่านเป็นผู้หนึ่งในคณะกรรมการจัดทำหนังสือฉบับนั้น  เวลาที่มีการประชุมกำหนดคำราชาศัพท์นั้นก็มีการถกเถียงกันมาก  บางครั้งก็จำต้องยอมตามท่านผู้ใหญ่ซึ่งท่านอ้างว่ามีแบบอย่างมาแต่โบราณ  เลยต้อมีเป็นใบแทรกดังกล่าว  ครั้นท่านผู้เสนอให้ใช้คำนั้นถึงแก่อนิจกรรมไปแล้วคณะกรรมการเอกลักษณ์ฯ ก็ให้กลับมาใช้อย่างที่พิมพ์ไว้ในหนังสือแต่เดิม  แล้วในการประชุมครั้งถัดมาท่านประธานก็ได้กรุณานำหนังสือราชาศัพท์มาแจกผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน  ทีนี้พอผมพลิกไปดูในหนังสือก็เกิดอาการหน้าแตกเข้าอย่างจัง  เพราะท่านประธานในที่ประชุมคือ บรรณาธิการหนังสือเล่มนั้นเอง   นึกๆ แล้วอยากจะเคาะศีรษะตัวเองที่บังอาจไปตำหนิปรมาจารย์ภาษาไทยเข้าอย่างจัง


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.พ. 06, 13:19
 อ่านแล้วก็งงๆอยู่เหมือนกัน  
แปลว่า
คณะกรรมการลงความเห็นเรื่องราชาศัพท์ไว้อย่างหนึ่ง  แต่มี"ผู้ใหญ่"บางท่าน เห็นอีกอย่าง
แล้วประธานในที่นั้นชี้ขาดกันไม่ได้ว่าควรจะมีคำตอบยังไงกันแน่
เลยมี ๒ ทาง คำตอบของกรรมการอยู่ในเล่ม คำตอบของ"ผู้ใหญ่" ไว้ในใบแทรก
พอผู้ใหญ่ท่านนั้นล่วงลับไป ใบแทรกก็เลยถูกยกเลิก  ใช้แต่ในเล่ม
ดิฉันเข้าใจถูกไหมคะ?

ดิฉันว่าคุณ V_Mee ไม่น่าจะเคาะศีรษะตัวเอง   สิ่งที่คุณทำคือประโยชน์ในทางปฏิบัติ
เพราะคุณเท่ากับชี้ให้เห็นว่า ความยุ่งยากมันเกิดขึ้นยังไงถ้าหากว่ามีการเกรงใจออมชอมกันแบบนี้

งั้นต่อไป  คำราชาศัพท์ที่ออกใหม่เหล่านี้ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
หากมีความเปลี่ยนแปลงด้านตัวบุคคลเกิดขึ้น ใช่ไหม


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 19 ก.พ. 06, 13:34
 คณะกรรมการลงความเห็นเรื่องราชาศัพท์ไว้อย่างหนึ่ง แต่มี"ผู้ใหญ่"บางท่าน เห็นอีกอย่าง แล้วประธานในที่นั้นชี้ขาดกันไม่ได้ว่าควรจะมีคำตอบยังไงกันแน่
เลยมี ๒ ทาง คำตอบของกรรมการอยู่ในเล่ม คำตอบของ"ผู้ใหญ่" ไว้ในใบแทรก
พอผู้ใหญ่ท่านนั้นล่วงลับไป ใบแทรกก็เลยถูกยกเลิก ใช้แต่ในเล่ม
ดิฉันเข้าใจถูกไหมคะ?

คำตอบสำหรับประเด็นนี้  ท่านว่า คณะกรรมการเอกลักษณ์ให้ใช้ตามใบแทรกไปจนเมื่อท่านผู้ใหญ่ท่านนั้นสิ้นบุญไปแล้ว  จึงได้ยกเลิกใบแทรกแล้วกลับมาใช้ตามที่พิมพ์ในเล่มครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.พ. 06, 13:59
 เอ  งั้นดิฉันก็เข้าใจถูกน่ะสิคะ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 20 ก.พ. 06, 10:26
 ถูกต้องแล้วครับท่านอาจารย์


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 06, 10:32
 เป็นการตัดสินตามแบบวัฒนธรรมไทย
เข้าใจแล้วค่ะ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 20 ก.พ. 06, 16:48
 พอจะได้ทราบความเกี่ยวกับหนังสือราชาศัพท์ของคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติเล่มนั้นอยู่เหมือนกันครับ ไม่ทราบว่าเท็จจริงแค่ไหน แต่เห็นว่าผู้เป็นหลักเป็นประธานในพระราชสำนักบางท่านก็ไม่ใคร่จะเห็นงามกับหนังสือเล่มนี้นัก หลายคำก็ไม่ต้องด้วยพระราชนิยม หลายคำก็นำมาจากวรรณคดี ซึ่งเป็นคำที่วิจิตรพิสดารมากจนเจ้านายเองก็ไม่ทรงทราบว่าคำเหล่านั้นหมายถึงอะไร บางครั้งในพระราชสำนักจึงปฏิเสธที่จะใช้ราชาศัพท์ที่ยืมจากคำภาษามคธซึ่งฟังดูประดักประเดิดพิลึกพิลั่นต่อการสะกดและออกเสียงอย่างไทยๆ เสียหลายคำ

ผมเคยมีโอกาสได้ยิน ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา อดีตกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ และอดีตประธานอนุกรรมการจัดทำบทความและเอกสารชุดสดุดีบุคคลสำคัญ ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ท่านปรารภว่า การทำหนังสือราชาศัพท์นั้นเป็นการ "หาเรื่องแท้ๆ" เพราะราชาศัพท์นั้นไม่เคยหยุดนิ่ง ยังมีวิวัฒนาการ และเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ตลอดจนตามพระราชนิยมอยู่เสมอ ฉะนั้น ไม่มีวันที่จะมีหนังสือราชาศัพท์เล่มใดสมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซนต์ได้

เมื่อลองค้นพระราชหัตถเลขาของพระมหากษัตริย์ในอดีตดูหลายองค์ก็พบว่า เมื่อขึ้นต้น ทรงใช้อย่าง พอท้ายพระราชหัตถ์ฯ กลับทรงใช้อีกอย่าง จะหาแบบแผนหรือมาตรฐานที่ "นิ่ง" ไม่ได้เลย

เมื่อกล่าวถึงในพระราชสำนักเอง การใช้ราชาศัพท์ของสำนักพระราชวัง และสำนักราชเลขาธิการก็มีที่แตกต่างกัน ส่วนพระนิยมของเจ้านายแต่ละวังก็ต่างกันอีก หากที่เป็นหลักมักจะถือตามหนังสือ "รวมเรื่องและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับราชสำนัก" ซึ่งพิมพ์โดยสำนักพระราชวัง


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: ชื่นใจ ที่ 21 ก.พ. 06, 03:37
 ขอบคุณทุกท่านค่ะ ที่นั่งคุยกันบนเรือนแล้วให้โอกาสอิฉันเข้ามานั่งฟัง
ได้รู้เบื้องลึกเบื้องหลังเกี่ยวกับราชาศัพท์ขึ้นมาอีกเยอะ
...
ขออนุญาตบ่นนิดนะคะ
จากความเห็นที่ 43 เรื่อยมาถึงความเห็นที่ 48 อิฉันเห็นด้วยกับอาจารย์ว่า
"ความยุ่งยากมันเกิดขึ้นยังไงถ้าหากว่ามีการเกรงใจออมชอมกันแบบนี้"
และโดยส่วนตัวแล้วก็ไม่คิดว่าการออมชอมหรือการเกรงใจผู้ใหญ่ในทำนองนี้ จะถือเป็น "วัฒนธรรม"
เพราะ "วัฒนะ" คือความงอกงาม แต่การออมชอมแบบนี้ไม่ได้รังสรรค์ความวัฒนะที่ตรงไหนเลย
ออกจะชวนให้คนที่ต้องใช้คำเหล่านี้รู้สึกประดักประเดิดซะด้วยซ้ำ

ว่าไปเรื่องการยอมตามผู้ใหญ่ (ทั้งๆ ที่มีเหตุผลที่ไม่น่าจะยอมตาม)
ก็มีให้เห็นได้ทั่วไปและค่อนข้างเยอะพอสมควร
โอนอ่อนผ่อนตามไป แล้วก็มารู้สึกอิหลักอิเหลื่อทีหลัง
อันที่จริงถ้า...ถ้า ผู้น้อยสามารถใช้ปิยวาจาแจงเหตุผลกับผู้ใหญ่อย่างมีสัมมาคารวะ
และถ้า...ถ้าผู้ใหญ่ก็ไม่ยึดมั่นในอัตตาของตนเกินไปนัก
และ (อีกทีค่ะ) ถ้า...ทั้งสองฝ่ายถกกัน-รับฟังกัน-ตัดสินกัน ด้วยเหตุผล
(ไม่ใช่ด้วยความอาวุโสหรืออำนาจบารมี)
เราคงได้เห็นความวัฒนะ (สำหรับทุกๆ เรื่องแหละค่ะ) ต่างๆ เจริญงอกงามขึ้นในสังคมไทย

บ่นจบแล้วค่ะ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 06, 11:41
 ถ้าทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้  ก็ไม่ต้องใช้ทางออกแบบนี้น่ะสิคะ คุณชื่นใจ  
*********************************
ดิฉันมีหนังสือเล่มนี้อยู่บนชั้น       พอฟังคำบอกเล่าของคุณ UP ก็เลยไปหยิบมาเปิดดู
ศัพท์ที่นี่เยอะจริงๆ  แพรวพราวไปหมด  
บางคำ สงสัยว่าชาตินี้บวกชาติหน้า  จะได้มีโอกาสอ่านเห็นในเอกสารไหนสักแห่งหรือเปล่านะนี่

ขอยกตัวอย่าง
สมเด็จพระบรมปัยกาธิบดี
สมเด็จพระบรมชนกาธิบดี
สมเด็จพระบรมชนกาธิราช
สมเด็จพระโสทรเชษฐภาดา
สมเด็จพระโสทรเชษฐภคินี

ราชาศัพท์ต่อไปนี้  คุณหมอหรือนักเทคนิคการแพทย์ รู้เอาไว้บ้างก็ดี
พระสีสกฏาหะ
พระภมู
พระกำโบล
พระทาฒิกะ
พระกัณฐมณี
พระชัตตุ
พระองคุลีบัพ
พระปโยธร
พระจูจุกะ
พระครรภมล
พระผาสุกะ
พระโคปผกะ

วันนี้เอาไว้แค่นี้ก่อน
น่าให้ครูเอาไปออกข้อสอบเอนทรานซ์วิชาภาษาไทย  เห็นจะดี
ครูลิลลี่เธอเคยติวบ้างไหมคะ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 21 ก.พ. 06, 11:51
 มึนครับ

คุ้นๆ อยู่คำเดียวว่า พระทาฒิกะ ใช่แปลว่า เครา (หนวดเครา) หรือเปล่าก็ไม่ทราบ (หนวด ว่า พระมัสสุ)

คำอื่นๆ ยอมแพ้ครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 21 ก.พ. 06, 11:53
 เพิ่งเห็นว่า วี-ทีมให้ผมมีเทพประจำกายด้วยแฮะ เป็นเทพีไอสิสซะด้วย ตามข้อเสนอในกระทู้โน้นของคุณติบอกระมัง

เทพประจำกายเนี่ย เรียกว่า Guardian Angel ได้รึเปล่าครับ?


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 06, 12:09
 อ้าว คุณนิลกังขาจะเล่นบท Guardian Angel เสียแล้ว
บทพระเอกในเรือนไทยมีอาถรรพณ์ หาคนเล่นไม่ได้เลยจริงๆ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 21 ก.พ. 06, 16:06
 เป็นเช่นนั้นแหละครับคุณเทาชมพู

โดยเฉพาะกับเจ้านายบางพระองค์ซึ่งคณะแพทย์และพยาบาลต้องทำรายงานพระอาการประชวรขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นั้น จะเป็นปัญหามาในเวลาเรียบเรียงรายงาน เคยมีบางคราวที่มานั่งเปิดหนังสือราชาศัพท์ดู แล้วก็เขียนไปตามแบบแผนที่ตำราเล่มนั้นกำหนดให้ใช้ ครั้นลองอ่านทวนอีกครั้งก็แทบไม่เข้าใจเลยว่าเจ้านายพระองค์นั้นมีพระอาการอย่างไรบ้าง

ฉะนั้น หากเป็นคำที่แพรวพรายมากๆ แล้ว จะไม่ใช้คำนั้นจดบันทึกลงรายงานแพทย์ จะใช้ พระ...แล้วบวกด้วยคำสามัญแทน เช่น เส้นพระโลหิตในพระมัตถลุงค์ ในรายงานแพทย์จะใช้ว่า เส้นพระโลหิตพระสมอง เป็นต้น หรือหากไม่แพรวพรายจนเกินไป แต่ก็ฟังไม่ใคร่จะเข้าใจนัก ก็จะใช้วิธีวงเล็บคำสามัญควบคู่ไปด้วย

มีเรื่องเล่ากันว่า แพทย์บางท่านที่เคร่งครัดธรรมเนียมราชาศัพท์ก็กราบบังคมทูลพระกรุณาเจ้านายผู้ทรงพระประชวรว่าทรงพระประชวรบริเวณนั้นบริเวณนี้ โดยใช้ราชาศัพท์ตามแบบ ปรากฏว่าทรงถามกลับมาในทันทีว่าทรงเป็นอะไรที่ไหนกันแน่ เพราะคำศัพท์โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอวัยวะนั้นก็ไม่ทรงทราบเหมือนกันว่าแปลว่าอะไร

ยิ่งคำบางคำ นอกจากความหมายจะชวนให้อมยิ้มแล้ว เสียงของคำยังชวนหัวเสียด้วยซ้ำไป มี พระจูจุกะ เป็นอาทิ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 21 ก.พ. 06, 16:10
 ขอแก้ไขข้อความในความเห็นที่ ๕๕ จาก "เส้นพระโลหิตพระสมอง" เป็น "เส้นพระโลหิตในพระสมอง" ครับ

อนึ่ง เรื่องเสียงของคำนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยมีพระราชปรารภกับศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม เมื่อกราบบังคมทูลพระกรุณาถามเรื่องพระราชนิยมในการเลือกใช้คำว่า "พระราชลัญฉกร" หรือ "พระราชลัญจกร" ซึ่งถูกทั้งสองคำ ความว่า

"คำใดที่มีเสียงไพเราะกว่า..ให้เลือกใช้คำนั้น"


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: นนทิรา ที่ 21 ก.พ. 06, 16:32
 เห็นรายการราชาศัพท์ของอ.เทาชมพูแล้วมึนไปด้วยค่ะ แต่ก็อดไม่ได้ เลยต้องไปค้นดูว่าแปลว่าอะไรกันบ้าง แต่ละคำฟังดูประดักประเดิด

ตัวอย่างเช่น พระกัณฐมณี คนมีความรู้ภาษาไทยขั้นพื้นฐานอย่างดิฉัน เห็นแล้วมึนตึ้บ ไม่ทราบเลยว่าหมายถึงอะไรกันแน่ ไปค้นดู พบว่าเป็นคำที่เพิ่งปรากฏในตำราราชาศัพท์ ซึ่งสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่คุณ V_Mee กล่างถึง จัดพิมพ์เผยแพร่

กัณฐ แปลว่า คอ มณี แปลว่า แก้ว กัณฐมณี แปลว่า แก้วที่คอ หมายถึง ลูกกระเดือก

จะเรียกว่าพระลูกกระเดือก ก็ฟังไม่เข้าทีเอาซะเลย จะเรียกว่าพระกัณฐมณี ก็ฟังแล้วต้องไปหาคำแปล ก็คงเป็นแบบคำราชาศัพท์อื่นๆอีกมากน่ะค่ะ ที่ต้องรู้คำแปลมาก่อน ฟังแล้วจึงจะเข้าใจ

นอกจาก พระกัณฐมณี แล้ว พบว่า พระภมู แปลว่าคิ้วค่ะ ตั้งแต่เล็กแต่น้อย เรียนมาว่า พระขนง แปลว่าคิ้ว เลยไม่ทราบว่า พระภมู ต่างจาก พระขนง อย่างไร

แต่ยอมแพ้กับ พระจูจุกะ จากคุณ UP ค่ะ ฟังแล้วจั๊กจี้ค่ะ แต่ฟังอีกทีก็เหมือนภาษาญี่ปุ่น ชินจูกุ จูจุกะ สรุปแล้ว พระจูจุกะ แปลว่าอะไรคะ รอคุณ UP มาเฉลยค่ะ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.พ. 06, 12:48
 มาไขปริศนาชุดแรกให้คุณนนทิราและคุณนกข.ค่ะ
ส่วนแขกประจำเรือนไทยซึ่งเข้าใจว่าคงเปิดเข้ามาอ่านกันบ้างละน่ะ
อ่านแล้วก็หายกันไปหมด
อาจจะไปหาพาราเซตตามอลกันอยู่ก็ได้


พระสีสกฏาหะ..............กระโหลกศีรษะ
พระภมู.......................อย่างที่คุณนนทิราค้นเจอค่ะ  คิ้ว
พระกำโบล..................กระพุ้งแก้ม
พระทาฒิกะ................เครา คุณนกข.ถูกต้องค่ะ
พระกัณฐมณี...............ลูกกระเดือก (คุณนนทิราเอาไป ๑๐๐ เต็ม)
พระชัตตุ.....................คอต่อ
พระองคุลีบัพ...............ข้อนิ้วมือ
พระปโยธร..................เต้านม
พระจูจุกะ...................ให้คุณ UP ไขปริศนาเอง  
พระครรภมล.................รก ที่ติดมากับสายสะดือ  (ไม่ได้แปลว่าข้าวของรก)
พระผาสุกะ..................ซี่โครง
พระโคปผกะ................ตาตุ่ม

ยังมีอีกแยะเชียวที่กรรมการท่านหามาประดับไว้ในเล่มนี้ค่ะ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 22 ก.พ. 06, 16:11
 ขอบคุณครับ

???

งง

พระภมู แปลว่าคิ้ว ยังงั้นก็เลิกใช้คำว่าพระขนงแล้ว อย่างนั้นหรือครับ?

พระองคุลีบัพ เห็นคำว่าองคุลีก็พอจะนึกถึงนิ้วได้บ้าง และเห็นคำว่า บัพ ก็พอจะนึกถึงคำว่า บรรพ ที่แปลว่า ตอนๆ บทๆ ได้บ้าง แต่ผมก็เคยเห็นคำว่าข้อนิ้วพระหัตถ์เหมือนกัน และรู้สึกว่าคำหลังจะเข้าใจง่ายกว่าด้วย

รก เหมือนกับว่าเคยเห็นคำราชาศัพท์เป็นอีกคำหนึ่ง ไม่ใช่พระครรภมล - เอ หรือจะเป็นสายสะดือก็ไม่ทราบครับ จำได้คล้ายๆ พระตระกูลหรืออะไรสักอย่าง


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 22 ก.พ. 06, 16:13
 แก้ม เคยเห็นว่าพระปราง แต่กระพุ้งแก้มว่า พระกำโบล นี่เพิ่งเคยได้ยินเหมือนกันครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 22 ก.พ. 06, 16:29
 แหม คุณเทาชมพูก็ให้ผมเฉลยคำนี้จนได้ หากผมจำความหมายของพระจูจุกะไม่ผิดนะครับ เพราะตอนนี้หนังสือเล่มนั้นไม่อยู่ในมือ



"พระจูจุกะ" นั้นเป็น subset ของพระปโยธรครับ ที่ผมเคยได้ยินครูบาอาจารย์หรือผู้หลักผู้ใหญ่ท่านเรียกอวัยวะส่วนนี้ ท่านจะเรียกว่า "ยอดพระถัน" ..เท่านี้ท่านทั้งหลายก็คงทราบแล้วว่าคืออะไร



ส่วน "พระปโยธร" นั้น ผมถนัดใช้ว่า "พระถัน" จะเข้าใจและคุ้นเคยกับคนไทยกว่ามาก "ถัน" นั้นฟังดูเป็นปทุมถันเต้านมอย่างนางในวรรณคดีไทยที่เรารู้จัก ส่วน "ปโยธร" นั้นชวนให้ผมนึกไปถึงนมนางในมหากาพย์ของแขกอินเดีย จำพวกมหาภารตะโน่น



"รก" นั้นก็ใช้กันมาว่า "พระสกุน" พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็เก็บคำว่าพระสกุนไว้ พิธีเวลาพระราชกุมารหรือพระราชกุมารีประสูติ ก็มี การฝังพระสกุน แล้วปลูกต้นไม้มีหนามทับ ไม่เคยได้ยินว่าพิธีฝังพระครรภมลสักที "ครรภมล" ฟังดูเหมือนท้องสกปรกยังไงไม่ทราบ



เอ..หรือว่า "ครรภมล" มีมารากมาจากคำว่า "สกปรก 'รก' รุงรัง --มล" ใน "ท้อง --ครรภ" ก็ไม่ทราบ ...อย่าถือเป็นสาระนะครับ ผมพูดไปเรื่อยเปื่อย


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 22 ก.พ. 06, 16:38
 ส่วน "พระผาสุกะ" เห็นแล้วก็นึกไปถึงคำว่า "ผาสุก" ไม่ทราบว่ามีเทือกเถาเหล่ากอของคำที่เกี่ยวข้องกันหรือไม่

ขออำนวยพรให้ท่านประสบแต่ความผาสุก จะกลายเป็นอวยพรให้ท่านได้รับประทาน BBQ Ribs หรือจะอวยพรให้ท่านพ้นจากภัยซี่โครงเดาะหรือไม่ ไม่ขอยืนยันครับ

วันนี้ ผมเพ้อเจ้ออีกแล้วครับ สงสัยจะผมง่วงมากแล้ว


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: โกยถ่าน ที่ 23 ก.พ. 06, 04:04
 ขอถามอีกคำนะครับ

คำว่า "สมรภูมิ" มาจากการสนธิของคำใดเหรอครับ

เท่าที่คิด น่าจะมาจาก "สมร"+"ภูมิ"

ซึ่งคำแปลที่ได้มันไม่ค่อยจะตรงกับความหมายที่ใช้ในปัจจุบันเอาซะเลย (สมร=ผู้หญิง!?!)


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 06, 07:08
 ส = ร่วม
มร = ตาย (อย่างที่เราใช้คำว่า มรณะ)

สมรภูมิ =  พื้นที่ของผู้ตายร่วมกัน

คนละคำกับคำว่า สมร  ที่แปลว่าผู้หญิง ค่ะ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 23 ก.พ. 06, 07:49
 แฮ่ะ อาจารย์คะ ตอนแรกหนูคิดว่าใช้ สมรภูมิ เพราะผู้หญิงชอบชวนทะเลาะเสียอีกแน่ะค่ะ  

คำราชาศัพท์ที่อาจารย์ยกมา ทำเอาหนูมึนตึ้บค่ะ หนูกำลังสงสัยว่ามีกี่คนกันนะที่ทราบความหมายและนำมาใช้ได้ถูกต้องนะคะ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 06, 10:55
 ไม่อยากให้คุณ B และท่านอื่นๆมึนตึ้บกว่านี้   แต่ไหนๆก็ไหนๆ

คำต่อไปนี้ดิฉันเคยเรียนมาว่า เป็น "คำสุภาพ " แต่ในหนังสือของคณะกรรมการเอกลักษณ์ รวมเป็นราชาศัพท์ ไปด้วย
คำว่า "ราชาศัพท์ " เลยมีความหมายกว้างขวางมาก  แทบจะครอบจักรวาล
แม้แต่คำเรียกสัตว์ และพืช ก็มีราชาศัพท์(ด้วยแฮะ)
จัดอยู่ในหมวด ที่ 6 สัตว์และเบ็ดเตล็ด

ลองอ่านดูนะคะ  ราชาศัพท์หมวดสัตว์และพืช
กระบือ
กล้วยสั้น
กล้วยเปลือกบาง  กล้วยกระ
ขนมดอกเหล็ก  ขนมทราย
ขนมสอดไส้

ดอกขจร
ดอกมณฑาขาว
ดอกสามหาว
ดอกเหล็ก

ต้นจะเกรง
ต้นอเนกคุณ
ถั่วเพาะ

ปลายาว
ปลามัจฉะ

ผลอุลิต
ผักรู้นอน
เห็ดปลวก

ใคร (ยกเว้นคุณ UP) รู้บ้างว่าแปลว่าอะไร


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 23 ก.พ. 06, 11:06
 กระบือ-ควาย
กล้วยสั้น-กล้วยไข่
กล้วยเปลือกบาง กล้วยกระ
ขนมดอกเหล็ก ขนมทราย-ขนมขี้หนู
ขนมสอดไส้-ขนมใส่ไส้

ดอกขจร
ดอกมณฑาขาว
ดอกสามหาว-ผักตบ
ดอกเหล็ก-ขี้เหล็ก

ต้นจะเกรง
ต้นอเนกคุณ
ถั่วเพาะ-ถั่วงอก

ปลายาว-ปลาไหล
ปลามัจฉะ

ผลอุลิต-แตงโม
ผักรู้นอน-ผักกระเฉด
เห็ดปลวก

คำที่เว้นไว้ไม่ตอบ เพราะเดาไม่ถูกจริงๆค่ะ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 23 ก.พ. 06, 11:19
 กระบือ     = ควาย
กล้วยสั้น = กล้วยกุ
กล้วยเปลือกบาง กล้วยกระ=กล้วยไข่
ขนมดอกเหล็ก ขนมทราย = ขนมขี้หนู
ขนมสอดไส้ =ขนมใส่ไส้

ดอกขจร=ดอกสลิด
ดอกมณฑาขาว=ดอกยี่หุบ
ดอกสามหาว=ผักตบชวา
ดอกเหล็ก=ดอกขี้เหล็ก



ต้นจะเกรง=?
ต้นอเนกคุณ=ต้นตำแย
ถั่วเพาะ=ถั่วงอก

ปลายาว=ปลาไหล
ปลามัจฉะ=ปลาร้า

ผลอุลิต=แตงโม
ผักรู้นอน=ผักกระเฉด
เห็ดปลวก=เห็ดโคน


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 23 ก.พ. 06, 15:33
 ขอนอกเรื่องอีกนิดเถิดครับ

คำว่า "อเนกคุณ" ที่แปลว่าตำแย นั้นชวนให้ผมคิดไปถึงเรื่องเล่าจากคณะกรรมการที่คิดชื่อเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลใหม่ล่าสุด คือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดิเรกคุณาภรณ์

ว่ากันว่ามีผู้เสนอชื่อสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลใหม่นี้หลายชื่อ เช่น เครื่องราชอิสริยาภรณ์พระครุฑพ่าห์ ฯลฯ และหนึ่งในจำนวนนั้นคือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ "อเนกคุณาภรณ์" ฟังดูไพเราะดีใช่มั้ยครับ อาภรณ์แห่งผู้ทรงคุณความดีอย่างมาก

แต่มีผู้หลักผู้ใหญ่ท่านหนึ่งทักขึ้นว่า "อเนกคุณ" นั้นคือต้นตำแย เกรงว่าผู้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้จะไม่สะดวกใจนัก เกรงจะคัน จึงเป็นอันระงับชื่อนี้ไป

ในที่สุด ด้วยพระราชอัจฉริยภาพอันวิเศษ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่ง "ดิเรกคุณาภรณ์" มีความหมาย แถมเสียงของคำก็ไพเราะ ที่สำคัญคือไม่มีความหมายนัยแฝงใดๆ ให้ชวนคิดอย่าง "อเนกคุณ" อีกด้วย


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 23 ก.พ. 06, 15:37
 อ้อ...ศิลปินแห่งชาติทุกท่านได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ด้วย

มั่นใจว่าผู้เมตตาให้ความรู้ในเรือนไทยนี้บางท่านคงรู้จักเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้เป็นอย่างดี และเคยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้เป็นเกียรติยศแล้ว


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 06, 16:12
ผู้ใหญ่ท่านที่ท้วงคำว่า อเนกคุณาภรณ์ เป็นท่านที่จำราชาศัพท์ได้แม่นยำมาก



กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: เจ้าพระยายุทธาวุฒิ ที่ 24 ก.พ. 06, 13:12
 สวัสดีครับ ผมเป็นน้องใหม่ของที่นีครับ ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยคร้าบ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 24 ก.พ. 06, 18:49
 เทพบุตร "จุติ" ลงมาเกิด
อยากให้คนมีบุญ "จุติ" ลงมาในครรภ์

อยากทราบว่าในบริบทของสองประโยคข้างต้น ต้องการคำว่า "ตาย" หรือไม่คะ เหตุใดจึงไม่ใช้ว่า
อยากให้เทวดาลงมาเกิด แต่ต้องไปย้ำว่าตายก่อน แล้วค่อยมา


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 06, 09:50
 คำว่า "จุติ" เคยอธิบายไว้ในกระทู้ใดกระทู้หนึ่งก่อนหน้านี้แล้ว

ความหมายเป็นยังงี้ค่ะ
ก่อนลงมา "เกิด" เป็นมนุษย์  เทวดาต้อง "ตาย" ซะก่อน  

จุติคือการเปลี่ยนสภาพอย่างหนึ่งไปเป็นอีกอย่าง  ก็คือ "ตาย"น่ะค่ะพูดง่ายๆ
ใช้กับเทวดา ไม่ใช้กับมนุษย์หรือสัตว์

เทวดาจุติลงมาเกิด คือเทวดาองค์นั้น"ตาย" จากความเป็นเทวดาซะก่อน
ผ่านขั้นตอนนี้แล้วจึงมา" เกิด " ในท้องของแม่คนใดคนหนึ่งบนโลกมนุษย์

ประโยคที่สอง ที่คุณนุชนายกมา  มักใช้กันผิดๆ เพราะนึกว่าจุติแปลว่า "ลงมาเกิด"  ที่จริงความหมายคือ "ตาย" ก่อนจะลงมาเกิด

คุณนุชนาเคยดู Star Trek ไหมคะ   เวลากัปตันหรือลูกเรือบนยานเอนเทอไพรซ์เขาจะลงไปสำรวจดาวดวงไหน เขาก็เดินเข้าไปในเครื่องแปลงสสารร่างกาย
ตัวเขาก็วูบหายจากเครื่อง แล้วมา...วู้บบบ.. ใหม่ สสารก็รวมตัวกันเข้ามาเป็นมนุษย์ตามเดิม   บนดาวดวงนั้น

ขั้นตอนเทวดาจุติก็คล้ายๆกัน คือพอหมดบุญ ร่างกายอันเป็นทิพย์ก็วูบ...หายจากสวรรค์ เรียกว่า"จุติ"
มาวู้บ...เป็นตัวอ่อนในท้องแม่   (ไม่เหมือนในหนังที่ไม่มีขั้นตอนการเจริญเติบโต) เรียกว่าปฏิสนธิ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 25 ก.พ. 06, 09:58
 คุณ Nuchana ลองจำประโยคนี้ไปใช้สิครับ เผื่อจะช่วยคลายความสับสนได้

"เทวดาจุติลงมาอุบัติเป็นมนุษย์"


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 25 ก.พ. 06, 10:24
 คห 73.....อยากให้คนมีบุญ "จุติ" ลงมาในครรภ์

มาจากเรื่องสองฝั่งคลองค่ะ ตอนที่สงครามมา คุณลานทำงานพิเศษกลับบ้านค่ำๆ และทับทิมยังไม่มีบุตรน่ะค่ะ

***
ขอเรียนถามคูณ UP หน่อยค่ะ ว่าตัวจริงรู้จักกับคุณ V_MEE หรือเปล่าค่ะ Both share sth in common, very knowledgable in King Rama 6 history ka.


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 06, 10:34
 ประโยคนั้นในหนังสือ เขียนผิดค่ะ
ที่ถูกต้อง ต้องเป็น อยากให้คนมีบุญ จุติลงมาเกิดในครรภ์


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 25 ก.พ. 06, 11:00
 จุติ ในพจนานุกรม มีความหมายเดียว

มีนักการเมืองคนหนึ่งชื่อ จุติ ไกร... คำว่าจุติ ในที่นี้จะแปลเป็นอื่นได้ไหมคะ เพราะไม่น่าเชื่อว่า
ใครจะตั้งชื่อบุตรหลานให้มีความหมายไปทางมรณังสังขารน่ะค่ะ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 25 ก.พ. 06, 13:46
 ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมเห็นว่าประโยคที่ว่า อยากให้ "ผู้" มีบุญจุติลงมาในครรภ์ นั้นก็ไม่ใคร่จะเป็นความผิดร้ายแรงครับ เพราะผมเห็นว่า "ผู้มีบุญ" นั้นหมายถึงเทวดาหรือบุคคลผู้อยู่ในสุคติภูมิก็น่าจะพอได้  อยากให้ผู้มีบุญตายจากคติภพที่ท่านอยู่ แล้วลงมาในครรภ์ (โดยละคำว่าเกิดไว้) ก็พอฟังได้ไม่ผิดครับ

***

ขอตอบเรื่องที่คุณ Nuchana ถามมาเป็นการส่วนตัวนะครับ

ผมกับท่านผู้ใช้นามแฝงว่า V_Mee นั้น แท้จริงแล้วก็เคยพบปะกันอยู่หลายครั้ง หากจะนับย้อนไป ครั้งแรกที่พบกันก็ร่วมทศวรรษมาแล้ว แต่โอกาสวิสาสะนั้นก็อาศัยช่องทางอินเทอร์เนตนี้อยู่เนืองๆ อย่างไรก็ดี ผมนับถือคุณ V_Mee อย่างยิ่ง ในฐานะผู้ใหญ่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องราวในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนผมนั้นเทียบชั้นไม่ติดหรอกครับ ผมเป็นผู้สนใจ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ

แต่เข้าใจว่าคุณ V_Mee และผม มีเจตจำนงร่วมกัน คือมุ่งหมายจะเผยแผ่พระเกียรติคุณที่ยังหลบเร้นอยู่ให้แพร่หลาย ตลอดจนเล่าเรื่องราวข้อเท็จจริงที่ได้ฟังหรืออ่านมาตามมุมมองที่อาจยังไม่มีผู้ทราบหรืออาจลืมเลือนไปแล้ว หรือชี้แจงทรรศนะส่วนตัวเป็นตัวเลือกทางความคิดของผู้อ่าน เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายบ้าง


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 06, 22:24
 ขอเดินแยกซอยจากกระทู้ คุยกับคุณ UP
ต่อจากค.ห. 70

นอกจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดิเรกคุณาภรณ์   ศิลปินแห่งชาติทุกสาขาได้รับพระราชทานเข็มเชิดชูเกียรติ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี  
และปีนี้  ถือว่าโชคดีเป็นล้นพ้น ได้รับพระราชทานเข็มวิศิษฎ์ศิลปิน อีกด้วย

ความเป็นมาของพระราชสมัญญา  "วิศิษฎ์ศิลปิน"

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยใน ภาษาไทยเป็นอย่างมาก และได้ทรงศึกษาอย่างจริงจังต่อเนื่อง รวมทั้งภาษาบาลี และสันสกฤต จึงทรงมีพระปรีชาสามารถทางด้านภาษาไทย ทั้งที่เป็น ภาษาโบราณและภาษาปัจจุบันอย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้แล้วยังทรงพระราชนิพนธ์ คำประพันธ์ร้อยกรองต่างๆ เป็นจำนวนมาก รวมทั้งคำฉันท์ดุษฎีสังเวยและ กาพย์ขับไม้ ที่ใช้อ่านและขับกล่อมในพระราชพิธีรับ และขึ้นระวางช้างสำคัญ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ขนาดยาวในรูปแบบฉันทลักษณ์ กอปรด้วย ภาษาที่ประณีตงดงาม ทรงคุณค่าเชิงวรรณศิลป์

ทานด้านโบราณคดีนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระราชหฤทัยมิใช่แต่เฉพาะจากตำราเท่านั้น หากโอกาสอำนวยจะเสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงศึกษาจนถึงที่เกือบทุกแห่ง ในประเทศไทย นอกจากนี้แล้วทรงสนพระราชหฤทัย ในเรื่องงานช่างไทย ทุกแขนงเป็นพิเศษ ดังจะเห็นได้ว่าโปรดการวาดรูป ปั้นรูป และ งานประดิษฐ์ ทางช่างมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงมีพระทัยห่วงใยวิชาช่างของไทยเป็น อย่างยิ่ง มีพระราชดำริให้เปิดสอนเพื่อฟื้นฟูวิชาช่างสิบหมู่ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีส่วนสำคัญ ทางด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทยเป็นอย่างมาก ทรงเป็นผู้อำนวยการ บูรณะตกแต่ง พระที่นั่งวิมานเมฆ การบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และ พระบรมมหาราชวัง การซ่อมบูรณะบุษบกทรงพระแก้วมรกต และงานสร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิง พระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทรา- บรมราชชนนี รวมทั้งการซ่อมบูรณะปฏิสังขรณ์ ศาลาไทยที่เมือง บัดฮอมบวร์ก เยอรมนี ซึ่งทุกอย่างสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย สวยงาม และทรงคุณค่า ทางสถาปัตยกรรมไทย

ส่วนทางด้านดนตรีไทย สามารถทรงได้ทั้งซอด้วง ซออู้ จะเข้ ขลุ่ย รวมทั้ง ระนาดเอก และทรงขับร้องเพลงไทยเดิมได้อย่างไพเราะ นอกจากนี้แล้วยังได้ พระราชนิพนธ์เนื้อร้องเพลงไทยเดิมไว้เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ก็ทรงสนพระราชหฤทัยในเพลงลูกทุ่ง ทั้งในด้านการขับร้องและ พระราชนิพนธ์เนื้อเพลงลูกทุ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีโดยทั่วไปในเพลง ส้มตำ ด้วยทรงเห็นว่าเพลงลูกทุ่งเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ และจากการที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระราช หฤทัยในศิลปวัฒนธรรมสาขาต่างๆ อย่างลึกซึ้ง
ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการ วัฒนธรรมแห่งชาติ จึงได้ขอพระราชทานพระราชานุญาต ถวายพระราชสมัญญานามแด่พระองค์ ท่านว่า วิศิษฏ์ศิลปิน ผู้มีฝีมือทางการช่างเป็นเลิศ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ

โอภาส เสวิกุล เรียบเรียง
 http://www.thaisnews.com/prdnews/50_princess/25.htm  


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 25 ก.พ. 06, 23:02
 รู้สึกยินดีด้วยเป็นทวีคูณสำหรับศิลปินแห่งชาติที่ได้รับพระราชทานเครื่องหมายแห่งเกียรติยศที่ได้รับเป็นตรีคูณครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 25 ก.พ. 06, 23:13
 อาจารย์ช่วยกรุณาเฉลยปริศนาด้วยนะคะ

ต้นจะเกรง=?


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 26 ก.พ. 06, 09:52
 ผมกับท่านผู้ใช้นามแฝงว่า V_Mee นั้น แท้จริงแล้วก็เคยพบปะกันอยู่หลายครั้ง หากจะนับย้อนไป ครั้งแรกที่พบกันก็ร่วมทศวรรษมาแล้ว แต่โอกาสวิสาสะนั้นก็อาศัยช่องทางอินเทอร์เนตนี้อยู่เนืองๆ อย่างไรก็ดี ผมนับถือคุณ V_Mee อย่างยิ่ง ในฐานะผู้ใหญ่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องราวในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนผมนั้นเทียบชั้นไม่ติดหรอกครับ ผมเป็นผู้สนใจ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ

ขอบพระคุณอย่างยิ่งที่กรุณายกยอผมเสียเลิศเลอ  โดยที่จริงแล้วผมก็ยังไม่ถึงกับผู้ใหญ่หรอกนะครับ  เพียงเป็นรุ่นพี่ของเพื่อนสนิทของคุณUP ท่านหนึ่ง  อีกประการที่กล่าวอ้างว่า ผมเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องราวในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น  ก็คงจะไม่ถึงขั้นนั้นหรอกครับ  เพียงแต่ว่าได้มีโอกาสอ่านและได้ฟังท่านผู้ใหญ่ที่เคยรับราชการสนองพระเดชพระคุณในเบื้องพระยุคลบาทหลายสิบท่านได้บอกเล่าเอาไว้  และโดยที่ท่านเห็นว่าผมเป็นเด็กที่ควรจะต้องรับทราบเรื่องราวเก่าๆ ไว้ ท่านเลยช่วยกันเล่าให้ฟังพร้อมกำชับให้ผมเป็นผู้รับถ่ายทอดคเรื่องราวจากท่านซึ่งนับวันมีแต่จะล่วงเลยไป  ผมก็ได้รับฟังและจดจำไว้แหละครับ  จนบัดนี้ท่านผู้ใหญ่ที่เคยเมตตาผมเกือบร้อยท่านนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ไม่ถึง ๑๐ ท่าน

แต่เข้าใจว่าคุณ V_Mee และผม มีเจตจำนงร่วมกัน คือมุ่งหมายจะเผยแผ่พระเกียรติคุณที่ยังหลบเร้นอยู่ให้แพร่หลาย ตลอดจนเล่าเรื่องราวข้อเท็จจริงที่ได้ฟังหรืออ่านมาตามมุมมองที่อาจยังไม่มีผู้ทราบหรืออาจลืมเลือนไปแล้ว หรือชี้แจงทรรศนะส่วนตัวเป็นตัวเลือกทางความคิดของผู้อ่าน เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งหลายบ้าง
สำหรับประเด็นนี้  ขอสนับสนุนความเห็นของคุณUPครับ  เพราะในแวดวงประวัติศาสตร์ไทยนั้นมักจะทราบกันแต่เพียงว่า พระทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นทรงมีพระราชกรณียกิจสำคัญแต่เรื่องโขนละคร  หากได้ศึกษาถึงพระราชจริยาวัตรโดยละอียดแล้ว จะทราบว่าได้ทรงอุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติสุดที่จะพรรณา  จึงเป็นหน้าที่ของผมในฐานะที่เป็น "เด็กในหลวง" คนหนึ่งที่จะต้องสนองพระเดชพระคุณในทุกวิถีทางที่จะทำได้ตราบจนลมหายใจสุดท้าย

พระราชกรณียกิจสำคัญที่ถูกบิดเบือนอย่างมากเรื่องหนึ่ง คือการที่มีฝรั่งคนหนึ่งซึ่งในตอนปลายรัชกาลได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาการคลังได้กล่าวไว้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้วว่า เป็นโชคดีของประเทศสยามที่พระมหากษัตริย์พระองค์นี้เสด็จสวรรคตเสียได้มิฉะนั้นประเทศสยามจะถึงคราวล่มจมเป็นแน่  จากคำวิจารณ์นี้ในแวดวงวิชาการไทยมักจะหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างกันจนไม่มีท่านผู้ใดสนใจที่จะศึกษาแนวพระราชดำริให้ชัดเจน  ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของผมกลับมีมุมมองที่ตรงข้าม  การที่ที่ปรึกษาการคลังชาวอังกฤษได้กล่าวไว้เช่นนั้นเพราะในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้น  ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ที่เรียกว่าน้ำท่วมปีมะเส็ง  นาข้าวล่มหมดทั้งประเทศ  ต่อจากนั้นเกิดฝนแล้งติดต่อกันสามปี  ผลผลิตข้าวไม่พอที่จะส่งออก  เมื่อไม่มีข้าวส่งออกผลกระทบที่ตามมาคือ รายได้แผ่นดินจากอากรส่งออกก็ขาดไป  ประจวบกับก่อนหน้านั้นโปรดให้เลิกบ่อนเบี้ยซึ่งทำให้ขาดอากรการพนันไปอีกหลายล้านบาท  ในขณะที่ทรงมีพรราชดำริว่า ประเทศชาติจะเจริญได้ต้องมีการลงทุน  เมื่อจำเป็นต้องลงทุนก็ต้องมีการกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายเพื่อให้งบประมาณแผ่นดินได้ดุล  เข้าตำรา ขาดทุนเพื่อกำไร ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเคยมีพระราชกระแสไว้เมื่อหลายปีก่อน  เมื่อมีการลงทุนแล้วย่อมมีผลตอบแทนกลับคืนซึ่งก็สามารถส่งใช้เงินกู้ยืมนั้นได้  ถ้าลองตรวจสอบกันจริงๆ แล้ว  อาจจะเป็นไปได้ว่าทรงเป็นผู้ริเริ่มการทำงบประมาณแบบขาดดุลเป็นคนแรกของโลก  ก่อนที่นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษดูเหมือนจะชื่อ จอห์น  อดัมส์ (ถ้าผิดพลาดก็ขออภัยด้วยครับ) จะตั้งทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาคว่าด้วยการทำงบประมาณขาดดุลขึ้นภายหลังจากที่เสด็จสวรรคตไปแล้วหลายปี  แล้วนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกก็พากันรับเทฤษฎีงบประมาณขาดดุลไปใช้สืบมาจนทุกวันนี้  ไม่เห็นมีใครบอกว่าการกู้ยืมเงินมาปิดดุลงบประมาณเช่นที่พระเจ้าอยู่หัวทรงทำมาก่อนนั้นจะทำให้ประเทศชาติล่มจมเลยสักคนเดียว


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 26 ก.พ. 06, 10:51
 คุณ V_Mee หมายถึง Adam Smith ใช่ไหมคะ?


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 06, 11:24
 ตอบคุณนุชนา
ต้นจะเกรง= ต้นเหงือกปลาหมอ
ค่ะ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 26 ก.พ. 06, 11:29
 เดี๋ยวจะกลายเป็นกระทู้เรื่องเศรษฐกิจไปเสีย แต่ขอต่อนิดเดียวครับว่าผมก็เห็นเหมือนที่คุณ V_Mee กรุณาเล่ามา

น่าเสียดายที่นโยบายเรื่องเศรษฐกิจการคลังในรัฐบาลสมัยต่อมานั้นอยู่ภายใต้อำนาจของบุคคลบางท่านที่มีอคติต่อการบริหารงานและตัวบุคคลในแผ่นดินก่อน

ได้อ่านปาฐกถาของบางท่านพบว่าแม้แต่เรื่องหนี้สินส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น หากจะนำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในบัญชีรัชกาลที่ ๖ เอง มาชำระก็สามารถทำได้เพียงพอ แต่บุคคลในรัฐบาลใหม่ไม่ยอมให้ทำเช่นนั้น โดยอ้างว่าการให้รัฐบาลในรัชกาลที่ใหม่ชำระหนี้รัชกาลเก่า จะเป็นพระเกียรติยศต่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ (..ทำนองว่าสร้างพระเกียรติยศให้แผ่นดินใหม่ โดยวิธีการตำหนิแผ่นดินเก่า) ...อ่านแล้วเศร้าใจจริง


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 26 ก.พ. 06, 18:56
 คุณ V_Mee หมายถึง Adam Smith ใช่ไหมคะ?

ชื่อที่ว่านี้ผมไม่เคยจำได้สักที  ถ้านักเศรษฐศาสตร์ว่าเป็นคนนี้ก็คิดว่าน่าจะใช่แล้วครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.พ. 06, 09:14
 ตอบความเห็น 86 ของคุณ UP

อ่านแล้วทำให้นึกถึงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตอนหนึ่งที่ว่า
"เขาจะเห็นแก่หน้าค่าชื่อ
จะนับถือพงศ์พันธุ์นั้นอย่าหมาย..."

ดิฉันเชื่อว่า กฎแห่งกรรม ครอบคลุมได้ทั่วถึงกว่ากฎหมาย  ใครทำอะไรก็ย่อมรู้กันอยู่  คนอื่นไม่รู้ตัวเองก็ย่อมรู้


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 27 ก.พ. 06, 15:01
 ดิฉันเรียนรัฐศาสตร์ค่ะคุณ V_Mee

รัฐศาสตร์ทางด้านนโยบายสาธารณะต้อง
เรียนพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์มหภาคด้วยน่ะค่ะ    


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 27 ก.พ. 06, 19:20
 ขออนุญาตย้อนกลับไปสงสัย

ต้น "อเนกคุณ" = ต้นตำแย หรือเป็นศัพท์ที่กำหนดให้ใช้หมายความว่า ตำแย

เอาละผมยอมรับตามที่กำหนด แต่ผมสงสัยต่อว่า ที่มาที่ไปยังไงหนา ตำแยจึงได้ชื่อว่ามีคุณเยอะแยะไปได้?

มีใครรู้สรรพคุณทางยา หรืออะไรทำนองนั้นของต้นตำแยมั่งไหมครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 27 ก.พ. 06, 19:41
 เช็ดตัวแห้งแล้วหรือคะ คุณนิลฯ

เข้าใจว่าเป็นการตั้งชื่อแก้เคล็ดมังคะ ในเมื่อตำแยไม่มีประโยชน์อะไร (นอกจากในเรื่องศรีธนญชัย
ที่เมื่อป่นแล้ว เอาไปโรยไว้ พอคุณเธอทั้งหลายมาปัสสาวะละอองตำแย หรือหมามุ่ยก็ไม่ทราบ
ก็ปลิวฟุ้งตลบร่มผ้า) ก็เลยตั้งให้มีความหมายว่ามีคุณร้อยแปด


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 02 มี.ค. 06, 02:13
 มาลงชื่อนั่งฟังค่ะ

สงสัยถ้าเขียนร่วมแบ่งปันความรู้เป็นร้อยครั้งแบบนี้
ทางวิชาการ อาจจะให้เทพีประจำกายเป็น นางตานี
หรือ นางหมามุ่ยก็ได้นะคะ ฮืออ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 09 มี.ค. 06, 04:05
 ย้อนกลับไปถึง "ต้นจะเกรง" ที่แปลว่าต้นเหงือกปลาหมอ ทำให้คิดถึงตำบล "บางจะเกร็ง" อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นท้องที่ที่ผมคุ้นเคยอยู่พอสมควร แต่ก็ไม่ได้ไปนานแล้วเหมือนกัน

ตอนเด็กๆ เคยติดสอยห้อยตามผู้ใหญ่ไปดูที่ดินแถวนั้น พบว่าต้นเหงือกปลาหมออยู่มากจริงๆ จำได้ว่าเห็นต้นเหงือกปลาหมอ หรือต้นจะเกร็ง ครั้งแรกก็ที่บางจะเกร็งนี่

เมื่อเห็นว่าชื่อ "จะเกร็ง" นั้นยังเป็นชื่อบ้านชื่อบางมาแต่โบร่ำโบราณได้เช่นนี้ ก็เข้าใจว่าคำนี้คงไม่ใช่คำใหม่ที่เพิ่งประดิษฐ์ขึ้นอย่างคำจำพวก ต้นอเนกคุณ ผักรู้นอน ผักทอดยอด อะไรทำนองนั้น

หากแต่ "จะเกร็ง" น่าจะเป็นอีกคำเรียกหนึ่งของต้นเหงือกปลาหมอ ตามภาษาในอีกท้องถิ่นหนึ่ง คือภาษามอญ เพราะบ้านบางจะเกร็งนั้นมีชาวมอญอยู่มาก (คำว่าจะเกร็งก็ฟังออกไปทางภาษามอญอยู่ ลองพูด เกรงงง..มีเสียง ง. ขึ้นจมูกหน่อย)

มีที่สงสัยนิดหน่อยครับ ตรงที่คุณเทาชมพูกรุณานำมาลงไว้นั้น สะกดว่า "จะเกรง" แต่เมื่อผมลองค้นดูในพจนานุกรมฯ พบว่ามีไม้ไต่คู้ด้วย คือ "จะเกร็ง" ซึ่งแปลว่าต้นเหงือกปลาหมอเหมือนกัน

จึงไม่ใคร่แน่ใจว่าที่จริงแล้วควรมีไม้ไต่คู้หรือไม่ครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 09 มี.ค. 06, 04:07

ต้นเหงือกปลาหมอ หรือจะเกร็ง


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 09 มี.ค. 06, 04:30
 ส่วนสรรพคุณทางยาของตำแย ที่คุณนิลกังขาสงสัยนั้น ผมก็ค้นจากสมุนไพรดอทคอม ได้ความมาได้เพียงเท่านี้เองครับ

พิกัดสัตตะปะระเมหะ  จำกัดจำนวนตัวยาแก้เสมหะมีกลิ่น ๗ อย่าง (ตำแย ก้นปิด วาน รัก กระดูก สัง)
สรรพคุณ  ชำระมนทินโทษให้ตกไป  แก้อุจจาระธาตุลามก ชำระเมือกมันในลำไส้


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 06, 09:00
 ในหนังสือราชาศัพท์  สะกดว่า "จะเกรง "ไม่มีไม้ไต่คู้ ค่ะ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 09 มี.ค. 06, 10:12
 ขอบพระคุณสำหรับคำตอบเรื่องตัวสะกดของ "จะเกรง" ในหนังสือราชาศัพท์ครับ

เปิดพจนานุกรมดู พบว่าต้นจะเกร็งนั้นมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "อีเกร็ง"

ทำให้ผมคิดไปว่า "บางนางเกรง" ที่สมุทรปราการ เดิมคงชื่อ "บางอีเกรง" นั่นเอง ต่อมา "อี" กลายเป็นคำไม่สุภาพ หลวงท่านเลยเปลี่ยนอีเป็น "นาง" เสียเสร็จสรรพ

กลายเป็นไม่เหลือเค้าอะไรที่หมายถึงต้นเหงือกปลาหมอเลย ทั้งๆ ที่บางจะเกร็ง กับบางนางเกรง จริงๆ แล้วก็คงเป็นบางเหงือกปลาหมอเหมือนกัน


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 09 มี.ค. 06, 10:26
 เข้าใจว่าตำรายาไทยใช้ "ตำแยตัวผู้" หรือ "ตะแยแมว" นะครับ อยู่ในวงศ์ EUPHOBIACEAE
ส่วน "ตำแยตัวเมีย" หรือ "ตำแยช้าง" อยู่ในวงศ์ URTICACEAE เป็นต้นที่ทำให้คันครับ (มาพูดแบบนี้หลังวันสตรีสากลได้ไงเนี่ยะ)


ลองเข้าไปดูได้ครับผมเลือกแบบที่ลงสีไว้ให้แล้ว

 http://64.233.179.104/search?q=cache:hAB1r6VifNkJ:school.obec.go.th/khaokling/samunpai.htm+%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B9%81%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89&hl=th&gl=th&ct=clnk&cd=2

 http://64.233.179.104/search?q=cache:Psx1MAmMYO4J:www.thaipun.com/pharmacy/plant/plant_4.htm+%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B9%81%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89&hl=th&gl=th&ct=clnk&cd=3

 http://64.233.179.104/search?q=cache:ySw0DRo4y_wJ:topicstock.pantip.com/jatujak/topicstock/J3506777/J3506777.html+%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B9%81%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89&hl=th&gl=th&ct=clnk&cd=6



แฮปรูปมาให้ดูจากพันทิพย์ครับ
ว่าทำไมถึงเรียกว่าตำแยแมว


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 09 มี.ค. 06, 10:29

ที่จริงสมุนไพรต่างประเทศ ก็มีอยู่บางชนิดนะครับที่เกิดปฏิกิริยากับแมว เหมือนเจ้าตำแยแมวในรูปที่ผมจิ๊กมาจากพันทิปให้ดูกัน

แต่ขอเวลาอ่านแป๊บนึงครับ
เดี๋ยวเข้ามาเล่าต่อ (เบี่ยงกระทู้น่าดูเลยผม เปิดกระทู้ใหม่ดีกว่า)


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 09 มี.ค. 06, 17:15
 กระทู้ที่พี่ติบอตั้งใหม่ (จากความเห็นที่ 99) ดูได้ที่นี่ครับ
 http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Cid=20&Pid=47436
แปลกแต่จริง วิฬาร์เมาตำแยแมว ครับ
ผมขอย้อนมาที่ความเห็นที่ 38
ผมคิดว่า บางกรณีไม่น่าจะใช้คำว่า ทิวงคต เช่น
ประเทศที่มีคตินิยมเรื่องกษัตริย์เป็นสมมติเทพ และประเทศที่มีสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  
น่าจะใช้คำว่า สวรรคต แทน
แต่ผมมาคิดดูว่า ถ้าเราใช้คำราชาศัพท์ ไม่ตรงกับที่บัญญัติไว้ จะมีผลอย่างไรครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: ออกญาธรรมาธิกรณ์ ที่ 31 มี.ค. 06, 22:40
 ในความคิดผม ประเทศที่เป็นระบอบกษัตริย์ คือเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า สมเด็จพระราชาธิบดี นั้นใช้ สวรรคต นะครับ

เอ อย่างพระเจ้ากรุงเบลเยี่ยม ก็ใช้สวรรคต พระบรมศพ นะครับ คาดว่า ในหลวงเราถวายพระเกียรติให้ใช้คำนี้ก็เป็นได้นะครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: ช่อม่วง ที่ 07 เม.ย. 06, 22:36
 ไม่ถนัดเรื่องนี้เลย ช่วงนี้กำลังใช้เวลาศึกษาอยู่ค่ะ เลยไม่สามารถแสดงความคิดเห็นอะไรได้มากนัก (แย่จัง คนไทยแท้ๆ)


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: เจ้าสำราญ ที่ 08 เม.ย. 06, 15:47
 สวัสดีครับ ผมเป็นสมาชิกใหม่ครับ จะขอลองตอบดู
1. ข้อนี้ตามความคิดของผมนะครับ คือสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษฯ ท่านทรงมีพระชันษาสูงกว่า และทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระบรมราชินี แม้จะทรงเป็นยเจ้าฟ้าชั้นเอกเหมือนกัน แต่พระองค์จุลฯ ท่านก็อาจทรงใช้คำต่างระดับกันได้
2. ส่วนข้อนี้ ไม่แน่ใจเหมือนกันครับ แต่อาจเป็นการใช้เป็นการลำลองก็เป็นได้
3. เพราะนายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นประมุขของประเทศเหมือนพระมหากษัตริย์หรือประธานาธิบดีครับ และโดยธรรมเนียมแล้วคำว่า "พิราลัย" นั้นมักใช้กับราชวงศ์หรือผู้ที่ราชวงศืยกย่องเป็นกรณีพิเศษ (เช่น ม.ล.บัว กิติยากร)
4. น่าจะเป็นข้าราชการระดับ 9 ขึ้นไป ซึ่งถือว่าเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 08 เม.ย. 06, 21:41
 คุณเจ้าสำราญครับ,

คำถามข้างต้นนี้มีผู้ตอบไว้แล้วในความเห็นแรกๆ ลองกดดูความคิดเห็นเพิ่มเติมที่อยู่ในหน้า ๑ อ่านดูนะครับ

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น "สมเด็จพระอนุชาธิราช" ในฐานะพระรัชทายาท เมื่อเสด็จทิวงคตแล้ว จึงใช้ "ทิวงคต" สูงกว่าเจ้าฟ้าอื่นๆ ครับ

อนึ่ง ก่อนพุทธศักราช ๒๕๑๓ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอัฐิ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ เป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก ใช้ราชาศัพท์ที่แปลว่าตายว่า "สิ้นพระชนม์" หลังจากสถาปนาพระอัฐิเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ แล้ว ใช้ "สวรรคต"

ส่วนการใช้ "เสด็จ" นำหน้าคำกริยานั้น ต่างจากการใช้ "เสด็จพระราชดำเนิน" (สำหรับเจ้านายชั้นสมเด็จพระบรมราชกุมารีขึ้นไป) หรือ "เสด็จ" (สำหรับเจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าลงมา) ในความหมายว่า การเดินทางไปมาโดยยานพาหนะ โดยกระบวน ลองนึกภาพดูจะมีลักษณะของการเคลื่อนที่อย่างชัดเจนจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง

การใช้ “เสด็จ” นำหน้าคำกริยานั้นเป็นการย้ำกริยาแท้ที่อยู่ตามหลังคำว่าเสด็จ ตัวอย่างเช่น เสด็จประทับ เสด็จสถิต เสด็จขึ้น เสด็จลง เสด็จเข้า เสด็จออก เสด็จประพาส เสด็จเถลิง เสด็จสิ้นพระชนม์ เสด็จทิวงคต เสด็จสวรรคต เป็นต้น

กริยาหลักที่เป็นเนื้อความอยู่ที่คำหลังทั้งสิ้น การใช้เสด็จ ในรูปแบบนี้ พอเทียบได้กับคำว่า "ทรง" ที่เติมลงหน้ากริยาต่างๆ นั่นเอง


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: 111 ที่ 09 เม.ย. 06, 19:42
 ****สมเด็จเจ้าพระยาในประวัติศาสตร์ไทย
1. สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นที่รู้จักกันดี
2. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่) นามเดิมว่า ดิศ ถ้าจำไม่ผิดเป็นบุตรคนที่ 8 ของเจ้าพระยามหาเสนาบดี (บุนนาค)
3. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (สมเด็จเจ้าพระยาองค์เล็ก) นามเดิมว่า ทัศ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นบุตรคนที่ 10
4. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ รู้จักกันดีอีกเช่นกัน
**ไม่แน่ใจว่า เจ้าพระยาทิพากรณ์วงศ์ เป็นสมเด็จเจ้าพระยาด้วยรึเปล่า แต่ที่แน่ๆไม่ได้มี 2 คน
********ผิดถูกประการใดท่านผู้รู้โปรดชี้แจง


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: ออกญาธรรมาธิกรณ์ ที่ 12 เม.ย. 06, 01:30
 เจ้าพระยาบางท่าน ได้รับพระราชทานเครื่องยศเสมอสมเด็จเจ้าพระยานะครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 22 เม.ย. 06, 17:05
 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์นั้นได้รับพระราชทานเกียรติยศเพิ่มศักดินาพิเศษเป็น ๒๐,๐๐๐ (ปกติเจ้าพระยามีศักดินา ๑๐,๐๐๐)  พระราชทานอิศริยยศตั้งจางวางทนาย  ปลัดจางวางและสมุห์บัญชีได้เหมือนสมเด็จเจ้าพระยา  แต่สมเด็จเจ้าพระยานั้นได้รับพระราชทานศักดินา ๓๐,๐๐๐


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: aha_s ที่ 23 เม.ย. 06, 19:28
 ขอบคุณทุกๆท่านที่ให้ความรู้กับคำราชาศัพท์หลายๆคำที่ไม่รู้และมารู้ได้เพระกระทู้นี้นะครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: Tiwa ที่ 09 มิ.ย. 06, 23:53
 ผมอ่านหนังสือพบว่าในสมัยรัชกาลที่ 1  กล่าวกันว่าวังหน้าก็สวรรคตแล้ว วังหลังก็เสด็จทิวงคตแล้ว
แผ่นดินก็ยังไม่มีอุปราชเสียที ผมจึงเกิดคำถามว่าฐานะของวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 1 ชัดเจน
เทียบเท่ากับพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 (เช่นพระจอมเกล้า-พระปิ่นเกล้า) หรือไม่ครับ

ที่เคยได้ยินก็คือ พระนครแบ่งเป็น 2 ส่วน วังหลวงและวังหน้าทรงแบ่งกันปกครองคนละส่วน
และที่ถูกวังหน้าในสมัย ร. 1 ควรใช้ราชาศัพท์ว่าสวรรคตหรือทิวงคตกันแน่ครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: tasuma ที่ 30 มิ.ย. 10, 18:16
ขอแสดงความคิดเห็นต่อกระทู้ที่ 109 ครับ
คำถามที่ 1 วังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 1 เทียบเท่ากับพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 (เช่นพระจอมเกล้า-พระปิ่นเกล้า) หรือไม่
ขออธิบายเพิ่มเติมครับว่า ตำแหน่งวังหน้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ พระมหาอุปราช แต่เรียกกันเป็นสามัญว่าวังหน้านั้น เป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาขึ้น ซึ่งมีความสำคัญรองลงมาจากพระมหากษัตริย์ และมีฐานะเป็นองค์รัชทายาทผู้มีสิทธิ์ที่จะขึ้นครองราชสมบัติพระองค์ต่อไป ไม่สามารถเปรียบเทียบเท่ากับพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 ส่วนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีศักดิ์สูงกว่ารัชทายาท หรืออุปราช เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาให้เป็นพระมหากษัตริย์โดยธรรม ชึ่งประวัติศาสตร์ชาติไทยมีอยู่ 2 สมัยที่มีพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ปกครองคือ สมเด็จพระเอกาทศรส ซึ่งเป็นน้องของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นน้องของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทั้ง 2 พระองค์มีศักดิ์เท่ากับพระเจ้าแผ่นดินทุกประการครับ (ต่างจากวังหน้าครับ)

คำถามที่ 2 พระนครแบ่งเป็น 2 ส่วน วังหลวงและวังหน้าทรงแบ่งกันปกครองคนละส่วนและที่ถูกวังหน้าในสมัย ร. 1 ควรใช้ราชาศัพท์ว่าสวรรคตหรือทิวงคตกันแน่
ขออธิบายดังนี้ครับ พระนครไม่ได้แบ่งแยกส่วนนะครับปกครองเป็นรัฐเดียว แต่แบ่งผู้ดูแลออกเป็น 3 ส่วนคือ วังหน้า วังหลวง วังหลัง ซึ่งแต่ละวังก็มีผู้ครองเป็นของตัวเอง เช่น วังหน้า เป็นที่ปกครองของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ พระมหาอุปราช ปกครองในส่วนของวังหน้า ปัจจุบันคือสยามมกุฎราชกุมาร คือพระยศมกุฎราชกุมารของประเทศไทย เป็นพระยศของผู้ที่จะสืบราชสมบัติต่อจากพระมหากษัตริย์ไทย โดยองค์สยามมกุฎราชกุมารจะดำรงพระยศนี้ไปจนกว่าพระมหากษัตริย์ จะสวรรคตหรือสละราชสมบัติ วังหลวง เป็นที่ปกครองของพระมหากษัตริย์พระมเหสี พระราชชายา และพระราชโอรสที่ทรงพระเยาว์ วังหลัง เป็นที่ปกครองของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือ กรมพระราชวังหลัง เป็นตำแหน่งรองลงมาจากกรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งขึ้น ปัจจุบันเทียบได้กับ สยามบรมราชกุมารี ส่วนการตายใช้คำว่า ทิวงคต ทั้งคู่ครับ ส่วนคำว่า สวรรคต ใช้กับพระมหากษัตริย์ หรือผู้ได้รับพระราชทาน พชนพปฏลมหาเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้นเท่านั้นครับ


กระทู้: ราชาศัพท์ที่แปลว่า "ถึงแก่กรรม"
เริ่มกระทู้โดย: tasuma ที่ 30 มิ.ย. 10, 18:40
ดิฉันสงสัยเกี่ยวกับคำศัพท์พวกนี้ จึงเข้าไปสืบค้นการใช้คำเหล่านี้ดูค่ะ


<font color=green  size=4>ทิวงคต</font>   เป็นคำราชาศัพท์ใช้แก่พระยุพราชหรือเจ้าฟ้าซึ่งได้รับการเฉลิมพระยศพิเศษ


<font color=green  size=4>สิ้นพระชนม์</font>   เป็นคำราชาศัพท์ใช้แก่เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และสมเด็จพระสังฆราช


<font color=green  size=4>ชีพิตักษัย</font>  เป็นคำราชาศัพท์ใช้แก่หม่อมเจ้าว่า ถึงชีพิตักษัย


<font color=green  size=4>พิราลัย</font>  เป็นคำราชาศัพท์ใช้สำหรับเจ้าประเทศราช และสมเด็จเจ้าพระยา


<font color=green  size=4>อสัญกรรม </font> เป็นคำราชาศัพท์ใช้สำหรับข้าราชการชั้นเจ้าพระยาตาย ใช้ว่า ถึงแก่อสัญกรรม


<font color=green  size=4>อนิจกรรม</font>  เป็นคำราชาศัพท์ข้าราชการชั้นพระยาพานทองตาย ใช้ว่า ถึงแก่อนิจกรรม

 <a href="http://www.geocities.com/roy_bilan222/word-thai4.htm" target="_blank">http://www.geocities.com/roy_bilan222/word-thai4.htm[/url]<br  />

ดิฉันใคร่ขอเรียนถามว่า

1) พระองค์จุลฯ ทรงเขียนตอนหนึ่งว่า... ทูลกระหม่อมอาแดงทรงสิ้นพระชนม์เมื่ออายุเท่ากับ

ทูลกระหม่อมพ่อของข้าพเจ้าเสด็จทิวงคต.... ในเมื่อทูลกระหม่อมฯทั้งสองเป็นเจ้าฟ้าชั้นสูง

เหมือนกัน ทำไมถึงไม่ใช้ราชาศัพท์คำเดียวกันคะ

(อ้อ..เมื่อจะทิวงคต ใช้ทรงทิวงคตได้ไหม ทำไม่ต้องเสด็จด้วยคะ)


2) ในเรื่องปริศนา ตอนท่านชายประชวรเป็นไข้ป่า ปริศนารำพึงรำพันกับตัวเองว่า ถ้าท่านชายสิ้นชนม์

 เป็นความผิดของปริศนาที่ไปยั่วท่าน ทำไมผู้นิพนธ์จึงไม่ใช้สิ้นชีพิตักษัยในกรณีนี้คะ


3) สำหรับผู้นำประเทศ หรือนายกรัฐมนตรี เคยเห็นแต่ใช้คำว่าอสัญกรรม เมื่อดูตามคำจำกัดความด้านบน

 นายกฯ น่าจะเทียบได้กับสมเด็จเจ้าพระยา แล้วเหตุใดจึงไม่ค่อยเห็นใครใช้คำว่า "พิราลัย" เลยคะ

 

4) เมื่อเทียบแล้ว ข้าราชการชั้นใด ถึงใช้คำว่าอนิจกรรมได้คะ
อนจกรรมใช้กับผู้ตายที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตั้งแต่ชั้นประถมาภรณ์มงกุฎไทยขึ้นไป หรือ ทุติยจุลจอมเกล้า หรือ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ซึ่งเทียบกับข้าราชการชี 9 ขึ้นไปคือระดับอธิบดีถึงระดับปลัดกระทรวงครับ

ขอบคูณค่ะ