เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 2209 เรื่องของสกุลรัตนกุล
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 06 ต.ค. 23, 14:59

ต้นสกุล "รัตนกุล" ในสยาม เริ่มที่เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์  ผู้มีชื่อเดิมว่า "กุน"   
ท่านเป็นลูกจีน เดิมชื่อว่า กุน แซ่อึ้ง หรือเรียกแบบจีนว่า  "อึ้งกุน" เป็นบุตรชายของนายกุ๋ย แซ่อึ้ง หรืออึ้งกุ๋ย พ่อค้าชาวจีนแต้จิ๋วซึ่งได้อพยพมาค้าขายในสยาม   ตั้งเคหสถานอยู่ที่ตำบลบ้านคลองโรงช้างเหนือ  เมืองราชบุรี  ได้ภรรยาเป็นคนไทย ธิดาของเจ้าพระยาพระคลัง (ฉิม) ขุนนางครั้งกรุงศรีอยุธยา
"จีนกุ๋ย" มีบุตรธิดาหลายคน  "จีนกุน" เป็นบุตรคนที่ห้าของจีนกุ๋ย เมื่อเจริญวัยขึ้น มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านปรก  ปากแม่น้ำแม่กลองฝั่งเหนือ แขวงเมืองสมุทรสงคราม   ดำเนินอาชีพค้าสำเภาอย่างบิดา จนมีฐานะร่ำรวย  ชาวบ้านเรียกกันว่า "เจ้าสัวกุน"

ท่านเข้ารับราชการครั้งแรกในสมัยกรุงธนบุรี   มีตำแหน่งเป็นพระราชประสิทธิ์  เจ้ากรมพระคลังวิเศษ จึงได้ย้ายครอบครัวมาตั้งบ้านเรือนที่หน้าวัดเลียบ กรุงเทพมหานคร และยกที่ดินบ้านเดิมให้เป็นที่สร้างวัดใหญ่ บ้านปรก ปากคลองแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 07 ต.ค. 23, 18:34

 พระราชประสิทธิ์น่าจะผูกมิตรทำความรู้จักกับขุนนางใหญ่ๆในกรุงธนบุรีเป็นอย่างดี     มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งในสมัยธนบุรี  ท่านนำฉากมาให้เจ้าพระยาจักรที่บ้าน   คุณแว่น หรือหม่อมแว่น อนุภรรยาของเจ้าพระยาจักรีออกมาต้อนรับแขก   ดธอไม่รู้จักชื่อ   แต่จะถามตรงๆก็เกรงเสียมารยาท  เลยอ้อมค้อมไปมา
"คุณชายฉิม" บุตรชายของเจ้าพระยาจักรีวิ่งเล่นอยู่บนนอกชาน เห็นดังนั้นก็บอกคุณแว่นว่า
" พี่แว่นพูดมากถลากไถล ไปเรียนเจ้าคุณ เถิดว่าจีนกุนเขาเอามาให้"

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2325 ทรงแต่งตั้งพระราชประสิทธิ์ (กุน) ขึ้นเป็นพระยาศรีพิพัฒน์ จางวางกรมพระคลังสินค้า ต่อมาใน พ.ศ. 2348 เมื่อเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ถึงแก่อสัญกรรม พระยาศรีพิพัฒน์ (กุน) ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาพระคลัง เสนาบดีกรมคลัง ได้รับสมญานามว่า "ท่านท่าเรือจ้าง" เนื่องจากจวนเจ้าพระยาอยู่ที่ท่าเรือจ้างข้างวัดเลียบ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 07 ต.ค. 23, 18:35

มื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พ.ศ. 2352 ทรงแต่งตั้งพระยาพระคลัง (กุน) ขึ้นเป็นเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ที่สมุหนายก เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) สร้างวัดขึ้นสามแห่งพร้อมกันได้แก่ วัดหัวเมือง (ปัจจุบันเป็นวัดร้างในโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า) วัดกลางเมือง (วัดกลางบางซื่อ) และวัดท้ายเมือง นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯยังมีพระราชโองการให้เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์บูรณะวัดนาคที่ริมคลองมอญขึ้นเป็นวัดพระยาทำ และเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ยังได้สร้างวัดที่เกาะเกร็ดคือวัดศาลาเจ้าคุณกุน หรือวัดศาลาจีนกุน กลายเป็นวัดศาลากุลในปัจจุบัน

เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) ถึงแก่อสัญกรรมในรัชกาลที่ 2 สันนิษฐานว่าก่อนวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2357 เนื่องจากเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุณยรัตพันธุ์) ได้ขึ้นมาเป็นสมุหนายกแทน อัฐิของเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) บรรจุอยู่ที่เจดีย์วัดใหญ่ จังหวัดสมุทรสงคราม

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 08 ต.ค. 23, 18:27

วัดศาลากุล    ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 09 ต.ค. 23, 10:05

        เคยคุ้นกับ นามสกุล รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ซึ่งอ.คงจะได้ขยายความต่อไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 09 ต.ค. 23, 13:16

ใช่ค่ะ  คุณหมอ   อยู่ในแฟ้มแล้ว

รัตนกุลรุ่นที่ 2 นับจากเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ที่นำมาเล่าในกระทู้นี้ คือบุตรชายคนหนึ่งของท่าน มีนามว่าการเวก  ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็น "พระราชสมบัติ" ท่านรับราชการในรัชกาลที่ 3  และรัชกาลที่ 4

ไม่มีหลักฐานว่าพระราชสมบัติเกิดและถึงแก่กรรมเมื่อใด  ทราบแต่ว่าท่านเข้ารับราชการในกรมพระคลังในซ้าย   ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เดินทางไปเมืองกัลกัตตา  ประเทศอินเดียเมื่อ  พ.ศ.  2402  เพื่อหาซื้อเพชรพลอยที่ต้องพระราชประสงค์  เช่น   พระมหาวิเชียรมณี  ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้นำมาประดับที่ยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ

พระราชสมบัติออกเดินทางโดยเรือกำปั่นใบจากเมืองสมุทรปราการถึงเมืองสิงคโปร์  ต่อไปถึงเกาะหมาก  เมืองไทรบุรี  จากนั้นจึงโดยสารเรือเมล์กลไฟจากเกาะหมาก  แวะเมืองร่างกุ้งจนถึงเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย เมื่อเสร็จราชการเดินทางกลับเดินบกจากเมืองไทรถึงเมืองนครศรีธรรมราช  แล้วลงเรือเดินทางต่อจนถึงกรุงเทพมหานคร 
การเดินทางครั้งนี้พระราชสมบัติได้แต่งนิราศเรื่องหนึ่ง ชื่อ "กลอนนิราศเกาะแก้วกาลกัตตา"  บุคคลในตระกูลเก็บรักษาต้นฉบับไว้  มหาอำมาตย์ตรี  พระยารัตนกุลอดุลยภักดี  (จำรัส  รัตนกุล)  ผู้เป็นหลานได้นำมาพิมพ์ครั้งแรกในงานปลงศพสนองคุณมารดาเมื่อ พ.ศ. 2463
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 09 ต.ค. 23, 14:08

     พระราชสมบัติพบเพชรเม็ดใหญ่สุดเท่าที่หาได้ที่เมืองกัลกัตตา มีขนาด  40 กะรัต จึงซื้อกลับมาทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างเจียระไน เพื่อนำไปประดับบนยอดแหลมบนสุดเหนือพระมหาพิชัยมงกุฎ โดยพระราชทานนามเพชรเม็ดนี้ใหม่ว่า "พระมหาวิเชียรมณี"

    พระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง เจ้าเมืองฮ่องกงในอาณัติของราชอาณาจักรอังกฤษ เข้าเฝ้าเพื่อชมพระมหาวิเชียรมณี ณ ยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ เพื่อแสดงว่าสยามมีเพชรน้ำงามไม่แพ้กับราชวงศ์อังกฤษ เช่นเดียวกับเพชรโคอินูร์


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 09 ต.ค. 23, 14:19

ถ้าอยากอ่าน นิราศเกาะแก้วกัลกัตตา เข้าไปตามลิ้งค์ค่ะ

https://www.finearts.go.th/storage/contents/file/ZnBMw7cX6JcjFKATs9uHeZkm3g6jhQD7osjxz4sp.pdf
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 11 ต.ค. 23, 09:22

พระราชสมบัติ มีบุตรธิดา 6 คนคือ
1  ขุนธนสิทธิ  (เอี่ยม)
2  หลวงวิเศษสุวรรณกิจ  (ชื่น)
3  หลวงบรรจงสุวรรณกิจ
4  ธิดาชื่อสังวาลย์  รับราชการฝ่ายใน สมัยรัชกาลที่ 4
5  นายแย้ม
6  นายวอน

ประวัติที่ค้นพบมีเพียงหลวงวิเศษสุวรรณกิจ(บางแห่งสะกดว่าหลวงวิเศศสุวรรณกิจ)  ว่าได้สมรสกับนางเผื่อน  ธิดาพระราชพินิจจัย(นาค - ไม่ทราบนามสกุล) มารดาของนางเผื่อนคือพระนมกลิ่นในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
คุณหลวงกับคุณนายเผื่อนมีบุตรธิดาด้วยกัน 5 คน คือ
1   นายร้อยเอกจิตร   ผู้บังคับการกองทหารดับเพลิง
2   ลม้าย
3   พระยารัตนกุลอดุลยภักดี (จำรัส รัตนกุล)
4   นายจำเริญ มหาดเล็ก
5   นายเปลี่ยน ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
แต่บุตร 4 คนอายุสั้น ถึงแก่กรรมไปก่อนมารดา  เหลือแต่พระยารัตนกุลเพียงผู้เดียว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 11 ต.ค. 23, 09:31

 นายร้อยเอกจิตร  บุตรชายคนโตของหลวงวิเศษฯ สมรสกับนางชื่น  มีบุตรชายคือนายจรูญ รัตนกุล   แต่ร้อยเอกจิตรถึงแก่กรรมเมื่อบุตรยังเยาว์มาก   พระยารัตนกุลฯซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอมรินทรฤๅไชย  จึงรับหลานชายไปอุปการะ  ให้การศึกษาชั้นต้นจนจบชั้นสามัญ  สอบเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบกจนสำเร็จการศึกษา  และจัดการหาคู่ครองให้ คือนางสาวเอิบ โกมลวรรธนะ ธิดาพระยาพฤฒาธิบดี (อ่อน โกมลวรรธนะ)
นายจรูญ  ต่อมาคือพลเอกจรูญ รัตนกุล หรือหลวงเสรีเริงฤทธิ์  หนึ่งในคณะราษฎร์ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
เป็นต้นสกุลรัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์   ซึ่งแยกสายจากสกุลรัตนกุล เดิม

ภาพข้างล่าง   หลวงเสรีเริงฤทธิ์


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 12 ต.ค. 23, 09:45

รัตนกุล ชั้นที่ 3
พระยารัตนกุลอดุลยภักดี (จำรัส) เกิดในรัชกาลที่ ๔ ตรงกับวันอังคารที่ ๒๒ พ.ศ. ๒๔๐๒ ปีมะแม

เมื่อวัยเยาว์  ท่านศึกษาเล่าเรียนกับญาติๆ แล้วศึกษาต่อในโรงเรียนกรมทหารมหาดเล็ก จนสำเร็จการศึกษา  ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้รับราชการในเวรฤทธิ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖
จากนั้นก็ได้ก้าวหน้าขึ้นในราชการเป็นลำดับ
  พ.ศ. ๒๔๒๗      เป็นจ่านายสิบ ทหารมหาดเล็กสังกัดกรมทหารม้าที่ ๒ มีหน้าที่ทำการบาญชี
  พ.ศ. ๒๔๒๘      เป็นขุนวรกิจพิศาล นายเวรพัสดุ กรมศึกษาธิการ
 พ.ศ. ๒๔๓๕       เป็นพระยาวิเศษไขยชาญ  เจ้ากรมรักษาพระราชวังบางปะอิน
 พ.ศ. ๒๔๓๗      เป็นนายอำเภออุไทยน้อย (ปัจจุบัน คือ อำเภอวังน้อย) อีกตำแหน่งหนึ่ง
 พ.ศ. ๒๔๓๙      เป็นผู้รั้งผู้ว่าราชการเมืองอ่างทอง
 พ.ศ. ๒๔๔๐       เป็นผู้ว่าราชการเมืองอ่างทอง
 พ.ศ. ๒๔๔๒       เป็นพระยาอมรินทรฤๅไชยผู้ว่าราชการเมืองราชบุรี
 พ.ศ. ๒๔๔๕      เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี 
 พ.ศ. ๒๔๔๗     เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ 
 พ.ศ. ๒๔๕๒      ออกจากราชการรับพระราชทานเบี้ยบำนาญด้วยเหตุเจ็บป่วย

ยศและบรรดาศักดิ์ที่ได้รับพระราชทาน คือ เป็นจ่านายสิบ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ เป็นขุนวรกิจพิศาล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ เป็นหลวงราชภพน์บริหาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ เป็นพระยาวิเศษไชยชาญ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ เป็นพระยาอมรินทรฦๅไชย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ เป็นมหาอำมาตย์ตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ และเป็นพระยารัตนกุล อดุลยภักดี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 12 ต.ค. 23, 10:08

    เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเข้ารับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ก็ทรงเริ่มการปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค  ด้วยการรวมหัวเมืองต่างๆ เข้าเป็นมณฑลเทศาภิบาล   และทรงให้ความสำคัญกับการปกครองระดับตำบลและหมู่บ้าน   เพราะเป็นการปกครองที่ใกล้ชิดกับราษฎรมากที่สุด
     ทรงมีพระดำริจัดระเบียบท้องที่ ตั้งเป็นตำบลหมู่บ้าน  ให้ราษฎรตำบลหมู่บ้านนั้นๆ เลือกกำนันผู้ใหญ่บ้านของตนเอง เพื่อทำหน้าที่จัดทำทะเบียน ปราบปรามจับกุมโจรผู้ร้าย และระงับข้อพิพาทเล็กๆ น้อยๆ ของลูกบ้าน ตามอย่างการเลือกหัวหน้าหมู่บ้านหรือ “ตักยี” ในประเทศพม่า ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมอังกฤษ
  ทรงเลือกบ้านเกาะ (ปัจจุบัน คือ ตำบลบ้านเลน) บางปะอิน กรุงเก่า (ปัจจุบัน คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) เป็นท้องที่ทดลองตั้งตำบลหมู่บ้านและเลือกกำนันผู้ใหญ่บ้านตามพระดำริเป็นครั้งแรก

พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ) ขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเทศาจิตรวิจารณ์ ได้รับคำสั่งให้เดินทางขึ้นมาที่บางปะอินเพื่อสังเกตุการณ์และจัดระเบียบการเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน โดยให้หัวหน้าครอบครัวประมาณ ๑๐ ครัว ที่ตั้งบ้านเรือนใกล้เคียงกัน เลือกใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน จากนั้น กำหนดจำนวนหมู่บ้านตามลักษณะธรรมชาติของท้องถิ่นรวมเข้าเป็นตำบล แล้วให้ผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับเลือกจากหมู่บ้านต่างๆ เลือกผู้ใหญ่บ้านคนใดคนหนึ่งเป็นกำนัน

ราษฎรชาวบางปะอินได้เลือกหลวงราชภพบริหาร (จำรัส รัตนกุล) เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ เมื่อประชุมผู้ใหญ่บ้านเพื่อเลือกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั้งหลายก็พร้อมใจกันเลือกหลวงราชภพบริหารเป็นกำนันคนแรกประจำตำบลบ้านเลน นับเป็นกำนันคนแรกของประเทศไทย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 12 ต.ค. 23, 10:11

    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตั้งแต่ยังทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จขึ้นไปตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ พ.ศ. ๒๔๔๗ ความว่า

…พอเข้าเขตรมณฑลนครสวรรค์ ข้าพเจ้าไต่ถามพวกพ่อค้าราษฎรที่พบปะในระยะทางว่า เทศาคนใหม่เปนอย่างไรบ้าง พากันบอกว่ายังไม่รู้จัก แต่ได้ยินว่าท่านใจดี ดังนี้โดยมาก ครั้นใกล้จะถึงเมืองนครสวรรค์พบผู้ที่ได้รู้จักพระยารัตนกุลฯ พากันบอกว่าท่านใจดีไม่ถือตัว ใครมีทุกข์ร้อนจะไปมาหาสู่เมื่อไรก็ได้ดังนี้ เมื่อไปถึงที่จวนเทศา ข้าพเจ้าเห็นฆ้องแขวนอยู่ที่ประตูรั้วใบ ๑ มีหนังสือเขียนป้ายปิดไว้ว่า “ถ้าใครมีทุกข์ร้อน อยากจะพบข้าหลวงเทศาภิบาลเมื่อใดก็ได้ ถ้าเปนเวลาค่ำคืนปิดประตูบ้าน แล้วให้ตีฆ้องใบนี้ขึ้นเปนสำคัญ”
   ข้าพเจ้าเห็นก็เข้าใจว่า พระยารัตนกุลฯ ได้ความคิดมาแต่อ่านศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ได้ความว่ากลางคืนมีคนมาตีฆ้องบ่อยๆ อยู่ฤๅ บอกว่าเปล่า ตั้งแต่แขวนฆ้องแล้ว ยังไม่มีใครมาตีเลยสักคนเดียว ถึงกลางวันก็มิใคร่มีใครไปรบกวนมากมายเท่าใด นึกดูก็ปลาด เพียงแต่ทำให้เกิดอุ่นใจว่าจะหาผู้ใหญ่เมื่อใดหาได้เท่านี้ก็มีผล…”

     ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ประกาศให้วันที่ ๑๐ สิงหาคม ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านครั้งแรก ให้เป็นวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน มีการมอบรางวัลแก่กำนันผู้ใหญ่บ้านที่มีผลงานดีเด่นเป็นประจำทุกปี และยังให้เกียรติพระยารัตนกุลอดุลยภักดี (จำรัส รัตนกุล) ว่าเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านคนแรกด้วย


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 12 ต.ค. 23, 10:49

    พระยารัตนกุลมีสุขภาพไม่แข็งแรงนัก    มีโรคประจำตัวคือกระเพาะอาหารพิการเรื้อรัง   เมื่อเป็นสมุหเทศาภิบาลอยู่ได้ 6 ปีมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอมรินทรฤๅไชย ก็ป่วยจนต้องลาราชการรักษาตัว  เมื่อค่อยยังชั่วก็กลับไปรับราชการที่นครสวรรค์อีก แล้วก็ป่วยอีก  เห็นว่าจะทำงานต่อไปไม่ไหว   จึงตัดสินใจกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ รับเบี้ยบำนาญ เมื่อพ.ศ. 2452  กลับมารักษาตัวอยู่ในบ้านที่ตำบลบางกระบือ กรุงเทพ 
    ในระหว่างพักผ่อนรักษาสุขภาพอยู่กับบ้าน  ท่านก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ แต่สร้างงานที่เป็นประโยชน์  คือช่วยงานสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทางด้านหอพระสมุดวชิรญาณ      ท่านได้รวบรวมประวัติสกุลรัตนกุลไว้เป็นหลักฐานให้ลูกหลานรุ่นหลังได้รับรู้  และได้รวบรวมอีกหลายสกุลด้วยกัน   ต่อมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือในงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน คือ ลำดับสกุลเก่าบางสกุล ภาคที่ ๑ และภาคที่ ๒ 
   หลังจากได้พักผ่อนอยู่ระยะหนึ่ง พระยารัตนกุลมีสุขภาพดีขึ้น ไปไหนมาไหนได้ไม่ลำบากเหมือนก่อน จึงสมัครเข้าเป็นสมาชิกเสือป่าในรัชกาลที่ 6 ลงสนามฝึกหัด จนได้เป็นนายหมู่ตรี  แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงพระเมตตาว่าทุพพลภาพ จึงทรงให้มีหน้าที่แค่ควบคุมกองนอก
   ต่อมาเมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชบัญญัตินามสกุล   พระยารัตนกุลซึ่งยังเป็นพระยาอมรินทรฤๅไชยอยู่ทูลขอพระราชทานนามสกุล   ทรงมีพระราชดำริว่าสกุลนี้เป็นสกุลสูง สืบต่อมาจากเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ สมุหนายกท่านแรกในรัชกาลที่ 2 จึงพระราชทานนามสกุลว่า "รัตนกุล" และพระราชทานสัญญาบัตรให้พระยาอมรินทรฯ ว่า พระยารัตนกุลอดุลยภักดี  เป็นเกียรติในสกุลวงศ์
  พระยารัตนกุลฯ จึงได้ราชทินนามใหม่ หลังจากเกษียณราชการมาแล้วถึง 10 ปี 


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 12 ต.ค. 23, 10:54

    พระยารัตนกุลมีชีวิตต่อมาจนถึงพ.ศ. 2465   โรคกระเพาะอาหารก็รบกวนเป็นระยะ   ไม่หายขาด  และยังมีโรคไตเข้าแทรก  จนป่วยหนักถึงแก่่อนิจกรรมเมื่อวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2465
    ในประวัติพระยารัตนกุลที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯนิพนธ์ไว้  เล่าว่าท่านไม่มีบุตรธิดา   แต่ในความเป็นจริง  พระยารัตนกุลไม่มีบุตร   แต่มีธิดาซึ่งสมรสไปกับสกุลอื่น   รัตนกุลทางสายท่านจึงไม่มีผู้สืบสายอีก
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.072 วินาที กับ 19 คำสั่ง