เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: pipat ที่ 21 มี.ค. 08, 14:45



กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 มี.ค. 08, 14:45
นานเป็นสิบปีทีเดียว กว่าเถ้าแก่จะยอมให้ผมเดินพ้นหน้าร้านเข้าด้านใน
และขึ้นไปถึงชั้นบนที่เรียงกันต่อไปอีก 5 ชั้น
ทุกชั้นมีแต่ของเก่าเก็บเต็มแทบไม่มีทางเดิน
ยกเว้นชั้นบนสุด ที่โล่งสะบายตา และเป็นของล้ำค่าที่สุด

ผมแวะร้านเถ้าแก่ตั้งแต่เพิ่งสลัดขาสั้นทิ้งไม่นาน
ลงรถเมล์ ข้ามถนน เดินนับห้องแถวไปสักไม่กี่ห้อง ก็เจอร้านที่แปลกกว่าใครเขาทั้งหมด
สองข้างผนังเป็นตู้หนังสือชนิดบานเลื่อนกระจก ตู้ไม้โปร่ง ลายไม้เก่าแก่งดงาม
ในตู้มีแต่หนังสือที่ใส่ปกอย่างปราณีต เรียงรายเต็มหมดทุกชั้น ไม่มีที่ว่าง
บางชั้นต้องกองทับกัน แต่ก็อยู่ในระเบียบพองาม
ส่อแสดงว่า เจ้าของร้านเป็นคนรักหนังสือ

ร้านทำปกเซ่งฮงครับ.....
-----------------------------------------------
คุณเอลวิสให้รูปมากองใหญ่ ในนั้นมีรูปที่ชวนให้รำลึกถึงสมัยเด็ก
วิ่งเล่นสนามหลวง ยุคที่ยังมีแผงหนังสือล้อมส้วม
ท่านผู้ใดนึกสนุก ขอเชิญมาเป็นพยาธิเยิรสมุดในกระทู้นี้ครับ


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 มี.ค. 08, 15:01
ร้านเซ่งฮงในวันที่ผมเป็นวัยรุ่น เปรียบไปก็คงเหมือนเมกกะของคนรักหนังสือ
เถ้าแก่ตัวใหญ่ เสียงดัง ขี่รถเวสป้าสีเทา เครื่องแบบที่เห็นเจนตาก็คือเสื้อกล้ามตัวหนา กางเกงขายาวจีบหน้า
คาดเข็มขัดหนังอย่างดี หวีผมเรียบแปล้ ดวงตาโต ชอบเพ่งมองคู่สนทนา
พูดไม่ชัดเหมือนชาวจีนในเยาวราชทั่วไป เพียงแต่เมื่อเอ่ยนามเจ้านาย หรือศัพท์แสงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย
เราจะทึ่งที่ความชัดถ้อยชัดคำ

หนังสือระดับสุดยอดของเมืองไทย ผ่านมือแกไปไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเล่ม
บางเล่มก็หลายรอบ บางเล่มนั้น บางคนอาจจะเพียงแต่เคยได้ยินชื่อเท่านั้น

เพื่อนผมคนหนึ่งหมั่นไส้แกนัก...
"กูละเซ็ง เวลาไปร้านนี้ แค่หยิบหนังสือมาเปิดดู
หน็อยแน่...รี่เข้ามา บอกว่า นายคนนี้ อ่านหนังสือไม่เป็น"......

วันนั้นเพื่อนผม หยิบ"อธิบายโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร" ที่ยอร์จ เซแดสแต่ง
สมุดเล่มโตและหนักมาก เขาวางมันไว้ในท้องแขน เมื่อเปิดดู หน้าที่เปิด กางหราอยู่ในอากาศ
เถ้าแก่โจนเข้ามาราวกะอินทรีย์โฉบเหยื่อ
คว้าสมุดหนาสามนิ้ว ไปจากมือ ปิดอย่างทะนุถนอม พร้อมกับบอกอย่างไม่ปิดบังน้ำเสียงว่า
คุณดูหนังสือไม่เป็น แล้วแกก็สาธิตการเปิดให้ดูใหม่

ตั้งแต่นั้น  เพื่อนไม่ยอมแวะร้านนี้อีกเลย


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 มี.ค. 08, 17:07
อยากฟังเรื่องหนังสือที่เคยได้ยินชื่อค่ะ

ไม่เคยไปเซ่งฮง   ชมซุยฮงก็ไม่เคยไป  เกิดไม่ทัน

ไปซื้อหนังสือปกแดงที่เซ็นทรัล  แล้วไปกินแพนเค้กที่ถนนเกสร
ทีรูมเอราวัณ มีแซนวิชเปิดหน้าอร่อยมาก  เห็นท่านผู้ก่อการบางท่านบ่อยๆ
ไม่เคยคิดจะเข้าไปคุยด้วยเลย  เพราะไม่มีเชื้อสายสกุลจะอ้างอิง
เห็นคุณหญิงมณีด้วยค่ะ   บ้านเธออยู่แถวๆนั้น

สนามหลวงไปซื้อต้นไม้แถวคลองหลอด

อ่านหนังสือมือเบา  แต่เซียนยังต่อว่าว่าเปิดหน้าสือกว้างเกินไป



 



กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 มี.ค. 08, 17:43
โอ้โห....กินแพนเค๊กเอราวัณ
เป็นผมนะ กลับไปคุยข่มข้างบ้านได้เป็นเดือน
แค่กินวิมปี้ อันโตเท่าฝ่ามือ ยังไม่อยากแปรงฟันไปหลายวันเลย....เสียดายความอาหย่อย
-----------------------------
ก่อนที่กระดูกจะแข็งเข้าร้านเซ่งฮงได้ เราต้องเจนจบแผงหนังสือสนามหลวงเสียก่อน
ตอนเรียนอยู่ชั้นประถม ได้ยินจากใครไม่รู้ ว่าที่ตลาดนัดสนามหลวงมีร้านขายหนังสือเก่า
ในวัยนั้น ในปีนั้น ในสถานะการณ์บ้านเมืองยามนั้น
หนังสือเล่ม มีค่าเท่ากะไปดูเอเอฟ หรือยิ่งกว่า

ในหนังสือเล่ม เราจะเจอความฝัน เจอวีระบุรุษ เจอความชั่ว เจอมิตรภาพ
เจอโลกที่คู่ขนานกับโลกทางกายที่เราใช้ชีวิตปกติประจำวัน
เพื่อนที่รวยสตางค์ สามารถซื้อการ์ตูนวิเตชามาอ่าน
การ์ตูนวีรธรรมนั่น อย่าหวังได้เจอเลย เป็นของพวกผู้ดีเขา เราอาจจะได้ดูก็ผ่านถุงฝรั่งดองนั่นแหละ
อย่างมากที่ลูกคนจนอย่างเราจะได้สัมผัสไกล้ชิดหน่อย ก็เมื่อไปบ้านเพื่อนบางคน
แต่....แม้ มันก็หวงยังกะอารัยดี....แค่หยิบมาดูหน่อยเดียว มันก็ดึงไปเก็บซะแล้ว

โลกที่ขาดตัวอักษรของคนที่อ่านออกเขียนได้ มันช่างทารุณจิตใจเหลือเกิน
สนามหลวงนั้นเล่า ก็ช่างไกลห่าง
ทำไงหนอ จะหาเงินสักห้าบาท จับรถเมล์รสพ. สายหนึ่ง ไปให้ถึงสุดทาง
ค่ารถไปกลับหนึ่งบาท เหลือสี่บาท

น่าจะหาซื้ออะไรติดมือกลับมาอ่านได้ดอก


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 21 มี.ค. 08, 17:48
        Metro Life เคยลงเรื่องร้านหนังสือเก่า โดยเริ่มร้านแรกคือ เซ่งฮง นี้, ยังอ่านและดูได้ที่นี่ครับ

      http://www.manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9490000025498
 


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 มี.ค. 08, 18:06
ขอบคุณครับคุณศิลา
ป้ายนั้นทำเมื่อประมาณปี 2527....ที่รู้เพราะผมเป็นคนพกใส่กระเป๋าไปหาเพื่อน
ให้เขาช่วยลงสีและปิดทองให้
เพื่อนคนนี้เป็นช่างเขียน ที่บ้านมียางมะเดื่อและทองคำเปลวอยู่ในลิ้นชักตลอดเวลา

สีเขียวทอง เป็นสะเป๊คเถ้าแก่เขา
แกสั่งทำมาเป็นไม้สักเปลือย
มาติดขัดเรื่องลงสีปิดทอง ...เลยได้ช่วยเหลือกันตามประสาคนรักหนังสือ


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 มี.ค. 08, 18:10
แปลกอยู่อย่างเรื่องการเดิน

สมัยที่รถเมล์นายเลิศยังครองกรุงเทพ และพนักงานของเขายังใช้กระเป๋าสะพาย เก็บเงินค่าโดยสาร
การเดินสักกิโล หรือสองกิโล ไม่ใช่เรื่องประหลาด
กิโลเมตรนะครับ มิใช่กิโลกรัม

จากบ้านเดินมาปากซอย ระยะประมาณหนึ่งกิโล
ยืนรอรถเมล์สีฟ้าเข้ม สายหนึ่ง ถนนตก-ท่าเตียน ไม่ต้องจดจำอะไรทั้งนั้น เพราะตรงนั้น มีรถเมล์ผ่านสายเดียว
เพื่อนบอกว่า เองนั่งๆ ไปเหอะ พอผ่านวัดพระแก้วมีคนลงแยะๆ เอ็งก็ลงกะเขาเท่านั้น
สนามหลวงอยู่ตรงนั้นแหละ

แต่ไอ้เพื่อนเจ้ากรรม มันไม่ได้บอกว่าหนามหลวงน่ะ ใหญ่กว่างานวัดวัดยานนาวาเป็นร้อยเท่า
แค่เดินวัดยานฯ ตอนมีงาน ผมก็งงตาแตกแล้ว.....
นี่ต้องมุดเข้าในกระโจมที่ตั้งคลุมรอบท้องสนาม มีร้านค้าเป็นร้อยเป็นพัน ผมน่ะเด็กตัวสูงกว่าโต๊ะก๋วยเตี๋ยวนิดเดียว
มองไปมองมาก็เห็นแต่ก้นของคนอยู่ข้างหน้า

แถมร้านค้าก็มีแต่ของยั่วให้ตะบะแตก...อย่างเช่นพวกปืนปลอมอย่างนี้เป็นต้น วางเต็มแผงละลานตา
เด็กผู้ชายคนใหนไม่แวะมุง ก้อตุ๊ดเท่านั้นเอง.......

ผมไปสนามหลวงกว่าสามครั้ง จึงจับหลักได้ว่า ให้มองหาปั๊มสามทหาร ถ้าเห็นเมื่อไร ให้มุดออกจากกระโจม
ถ้าปั้มอยู่ตรงหน้า ทางซ้ายมือก็คือแผงหนังสือ แต่ต้องข้ามถนนแล้วเดินย้อนกลับไป

ครั้งแรกที่เห็นแผงหนังสือสนามหลวง ความรู้สึกเหมือนได้ไปเดินเมืองนอกครับ
สถานที่อารัยกันนะ มีแต่ซุ้มตั้งเรียงเป็นแถว ทั้งซุ้มมีแต่หนังสือเล่ม
ตามชายคาห้อยหนังสือไว้เรียงรายเต็มไปหมด เล่มเล็กเล่มใหญ่ต่อแถวกันเหมือนซุ้มเถาไม้เลื้อยบ้านคุณพระฯ
หน้าปกต่างๆ สีสรรละลานตา

ยิ่งอักษรบนปกที่ต่างแบบต่างขนาด ต่างสี ต่างข้อความ....
ในสายตาของผม สวยงามกว่าของเล่นปลาสติกที่แขวนดึงดูดตาในกระโจมที่เพิ่งมุดออกมาไม่รู้กี่เท่า

นึกน้อยใจว่า โธ่เอ๋ย เหลือเงินแค่สี่บาทห้าสิบ
ต้องเก็บห้าสิบตังไว้เป็นค่ารถ

กูจะซื้ออะไรได้ซักเท่าไหร่ว้า.....


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 08, 19:05
ถิ่นที่คุณ  Wandee แวะไปกินแพนเค้ก คือถิ่น ร.ร.เก่าของดิฉัน    ที่จำได้คือมีร้านลิตเติ้ลโฮมเบเกอรี่ ขายไอศกรีมซันเดย์ของใหม่ของสมัยนั้น   
บัตเตอร์สก๊อตช์ยังเป็นรสใหม่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก  ดิฉันเองก็ไม่รู้จัก    จนเพื่อนคนหนึ่งบอกให้รู้  ก็เลยหาโอกาสไปชิม แล้วติดใจมาจนทุกวันนี้

แต่...เดี๋ยว    ขอเล่าเรื่องอื่นก่อนนะคะ

มีอีกมุมหนึ่งของกรุงเทพมาเล่าให้ฟังบ้างค่ะ  อาจจะไม่เกี่ยวกับหนังสือมากนัก  แต่ได้แรงบันดาลใจจากบรรยากาศในร้านเถ้าแก่นี่เอง

ครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว มีพ่อแม่ กับลูกอายุ ๔ ขวบ ย้ายจากบ้านเดิม ไปอยู่ที่สี่กั๊กพระยาศรี ชั่วเวลาหนึ่ง
ห้องแถวทั่วไปมีแค่สองชั้น  ที่อยู่ใหม่ก็เป็นตึกแถวแบบที่ว่านี้เอง อยู่ลึกเข้าไป  หันด้านข้างให้ถนนใหญ่ มองจากหน้าห้อง ก็คือลานปูนเล็กๆคั่นจากตึกแถวฟากตรงข้าม   เป็นที่วิ่งเล่นแบบไม่ต้องกลัวรถแล่นเข้ามาชน 

ห้องแถวที่ว่านี้ ข้างล่างเป็นออฟฟิศทำงาน   ข้างบนเป็นห้องว่างไว้อาศัยนอน   แสงแดดสาดส่องเข้ามาผ่านซี่ลูกกรงเหล็กที่หน้าต่าง ซึ่งเปิดบานเอาไว้กว้างตลอดวัน

ตอนเช้าพ่อแม่ไปทำงาน ก็เอาลูกไปส่งร.ร.   เย็นก็รับกลับมาบ้าน  เดินไปกินอาหารกันบ่อยๆที่ร้านตรงหัวมุมถนน
ชื่อร้าน" อุ้ยหลี" กว้างสองคูหา
ลักษณะและบรรยากาศในร้าน ราวกับเป็นพี่น้องท้องเดียวกับกับร้าน" มิ่งหลี" หน้าพระลาน
เดินเข้าไปจะเห็นบูธอาหารเรียงรายชิดผนัง  เป็นม้านั่งแบบโบราณพนักหลังสูงเลยหัว  หันเข้าหากันเป็นคู่ๆมีโต๊ะคั่นกลาง  มิดชิดเป็นส่วนสัดไม่ต้องกลัวคนในโต๊ะถัดไปจะมองเห็นว่าสั่งอาหารอะไร

เนื้อที่ส่วนใหญ่ของร้าน คือตรงกลางที่ไม่ชิดผนัง ตั้งโต๊ะอาหารแบบจีน อยู่สิบโต๊ะเห็นจะได้  เป็นโต๊ะรูปกลมปูพื้นด้วยหินอ่อน เก้าอี้ไม้สีเข้ม มีพนัก มีพนักประกอบซี่ไม้กลมกลึง    ตัวพื้นนั่งเป็นแอ่งเล็กน้อย ไม่ใช่กลมเรียบอย่างเก้าอี้สมัยนี้

ของอร่อยของร้าน" อุ้ยหลี" คือข้าวมันไก่
เนื้อขาว เนียนและแน่น  แบบไก่ตอนสมัยนั้น ที่เลี้ยงด้วยข้าวเปลือก   ข้าวมันก็ใส่พูนจาน มีต้นหอมวางเคียงมาด้วย  น้ำจิ้มปรุงด้วยเต้าเจี้ยว ตักขึ้นมาเป็นถั่วเม็ดเล็กๆนิ่มๆ  รสเค็มกำลังดี

พ่อแม่พาลูกสาวไปกินเป็นประจำ


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 08, 19:25
แถวนั้น ตอนเย็นๆ มีอาแปะคนหนึ่งมาขายน้ำตาลเหนียว  เป่าเป็นรูปต่างๆ  อย่างรูปไก่ตัวเล็กๆ มีหงอนมีหางครบถ้วนน่ารักมาก  ราวกับของเล่น   เสียบไม้เรียงไว้เป็นแถว
อยากจะซื้อกิน แต่แม่ไม่ให้กินค่ะ บอกว่าน้ำลายคนขายกระจายลงไปในของกิน สกปรก   เลยอด ไม่ได้กินจนแล้วจนรอด  จนบัดนี้ก็ยังไม่รู้ว่ารสชาติเป็นยังไง

มุมถนนฟากตรงข้าม มีร้านกรแก้วซึ่งเป็นร้านตัดเสื้อมีชื่อเสียงสมัยนั้น    และต่อมาดูเหมือนจะเลิกไป จำได้ว่ามีชื่อร้านแวนด้า เข้ามาแทนที่
แล้วยังมีร้านขายเพชร และนาฬิกาของฝรั่ง  ชื่อ แอล ยี ริกันตี  ไม่เคยเข้าไปค่ะ  เคยแต่เดินผ่าน

ถัดจากร้านอุ้ยหลีซึ่งอยู่หัวมุม ต่อไปเป็นร้านขายขนมปัง...ไม่ใช่เบเกอรี่อย่างเดี๋ยวนี้ แต่เป็นขนมปังกล่อง  มีหลายชนิด   ที่กินก็เป็นขนมปังกล่องเขียวอ่อนๆ  ตรารวงข้าว ข้างในเป็นบิสกิตแผ่นสี่เหลี่ยมรสจืด    อร่อยมากเวลาจิ้มกับนมข้นตราหมี
ร้านนี้ไม่ได้ตกแต่งประดับประดา  เดินเข้าไปก็จะเห็นว่าผนังมีตู้กระจกแบบชิดผนัง เรียงรายไปจนจดเพดาน  ใส่สินค้าในร้านซึ่งเป็นเครื่องกระป๋องทั้งหมด  มีตู้กระจกใส่ของแบบเตี้ยๆ อยู่ในร้านด้วย 

ย้อนกลับไปนึกถึงตอนนั้น รู้สึกว่าชีวิตไม่ได้ลำบากตรงไหน    เด็กๆไม่รู้หรอกว่าอะไรลำบากอะไรสบาย
ขอเพียงมีข้าวกิน  มีที่นอน มีพ่อแม่อยู่ใกล้ๆให้อุ่นใจ    ได้เห็นนั่นเห็นนี่ แม้แต่เดินออกไปหน้าบ้านไปเล่นกับเด็กเพื่อนบ้าน  ก็เป็นความสุขที่เต็มอิ่มครบถ้วนแล้ว


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 มี.ค. 08, 19:45
ตอนนั้นทำงานแล้วค่ะ
ร้านแพนเค้กก็ของลิตเติ้ลโฮม  ที่เจ้้าของร้านเป็นสุภาพสตรีฟิลิปปีนส์
แซนวิชไก่  เวลานี้ราคา ๒๔ บาท   ซิลเวอร์ดอลล่าร์ฺยังมีขายอยู่ค่ะ  เนยเทียมก้อนใหญ่เบ้อเริ่ม

คุณเทาชมพูคะ  ร้านอาหารที่ไม่ใช่มิ่งหลี อุ้ยหลี  ยังมีอีกร้า้่นหนึ่งแถวๆคลองหลอด
ขายซีเต้ก  ซีตูลิ้นวัว  แกงจืดลูกรอก   หมี่กรอบ

เคยไปกินสปาเกตตี้กับน้าเทือง เอมเจริญที่แถวเกสร
กินเสร็จน้าบอกว่า  เราว่าหนมจีนอร่อยกว่านะ

ตอนนั้นน้าเทืองยังนั่งจ้องดวงอาทิตย์อยู่เลยค่ะ
ภรรยาก็มีแค่สองคน


เรื่องหนังสือ หรือหนอนหนังสือ  ก็คงเฝ้าอยู่แถวนี้ค่ะ


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 มี.ค. 08, 19:57
กรแก้ว   โอ้โฮ

ไม่เคยรู้จักท่านผู้ใดที่ตัดเสื้อที่กรแก้วเลยค่ะ



รู้จักแต่ร้่านพรศรี  ที่คุณ นิตยา นาฎยสุนทรตัดเสื้องามๆไปเป็นตู้ตอนไปอังกฤษ




กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 08, 20:33
ร้านกรแก้ว..จำไม่ได้ว่าใครเป็นเจ้าของร้านค่ะ   แต่นึกชื่อคุณอุไร ลืออำรุงออก
ไม่แน่ใจว่าเธอเป็นเจ้าของร้านพรศรี ใช่ไหม   เมื่อก่อนใครไปเมืองนอก  ต้องไปตัดโอเวอร์โค้ทที่ร้านพรศรี

หลังจากเดินแยกซอยไปเสียห่างหนังสือ ก็ขอเลี้ยวกลับมาอีกครั้ง

เมื่ออายุ ๘ ขวบ  ประมาณนั้น    พ่อแม่เลิกงานแล้วแวะจ่ายตลาดที่วัดมหรรณพ์ เป็นตลาดสดติดกับศาลเจ้าพ่อเสือ
พ่อจอดรถที่หน้าตึกแถวฝั่งตรงข้ามตลาด   แล้วพ่อก็ข้ามถนนไปจ่ายของสดเอง จะได้เลือกของชอบได้  
พ่อดิฉันจ่ายตลาดเป็น  ทำกับข้าวก็เป็น  นับเป็นคุณสมบัติหาได้ยากยิ่งของชายไทยสมัยนั้น

แม่กับดิฉันชอบเดินเข้าไปที่ร้านขายเครื่องเขียน ห้องเดียว ตรงนั้น
เป็นห้องแคบๆ ไม่มีอะไรแปลก  เดี๋ยวนี้ก็ยังพอเห็นได้ในตลาดเก่าของต่างจังหวัด   มีตู้กระจกเตี้ยๆใส่เครื่องเขียนอยู่ทางซ้าย   มีหนังสือนิยายปกอ่อนวางปะปนอยู่ด้วย   ผนังด้านหลังแบ่งเป็นชั้น วางพวกหนังสือเรียน
ร้านนี้มีนิยายปกอ่อน ชุดสามเกลอ วางขายเป็นประจำ   เล่มใหม่ๆมีกำหนดออกไม่แน่นอน แต่ประมาณ ๓-๔ วันก็เห็นเรื่องใหม่แล้วค่ะ

เล่มหนึ่งดูเหมือนจะหกสลึงหรือสิบสลึง   จำราคาไม่ได้ค่ะ เพราะไม่ได้เป็นคนจ่ายเงิน
   
นิยายสามเกลอ โด่งดังมาก  เป็นเรื่องที่แม่ยอมให้ซื้ออ่าน บอกว่าไม่มีพิษมีภัยสำหรับเด็ก   มีการ์ตูนสามเกลอด้วยค่ะ ขนาดยาวประมาณกระดาษ A4 แต่แคบกว่า
การ์ตูนสามเกลอที่ได้อ่าน คือ "ผีดิบอาละวาด" สามเกลอแอบไปขโมยศพมาจากวัด  เพราะดร.ดิเรกต้องการทดลองชุบชีวิตศพขึ้นมาแบบแฟรงเกนสไตน์
ผีดิบก็เลยอาละวาดอยู่ในบ้านพัชราภรณ์

ส่วนนิยายปกอ่อนนั้นเล่มละตอนค่ะ  สองสามหน้าตอนท้ายเล่ม คุณป.อินทรปาลิตคุยกับคนอ่านด้วย  มีคนเขียนเข้าไป ท่านตอบเป็นข้อๆ  เรียกตัวเองว่า อา
คนถามส่วนใหญ่ก็เรียก คุณอา ป.  สังเกตว่าเป็นคนอ่านผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่  ไม่ค่อยมีผู้หญิง
คุณป. ท่านคุยเฮฮาร่าเริง  อารมณ์ดี เป็นกันเอง
ถ้าท่านอยู่ในยุคนี้ คงมาแจมเว็บบอร์ดเป็นแน่


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: V ที่ 21 มี.ค. 08, 20:48
I love this topic. It's really fun. Thank you for sharing. Here what I got... just in case you all want to read again. It's my favorite.    http://www.geocities.com/samgler/

Have a lovely weekend :)

-V-


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 08, 20:55
นิยายของป.อินทรปาลิตมีหลายแนว ไม่ใช่แต่เรื่องสามเกลอเท่านั้นนะคะ  
มีนิยายเรื่องยาวเรื่องหนึ่งที่จำได้ ชื่อซุปเปอร์แมนแกละ    ตัวเอกเป็นเด็กชื่อแกละ ตอนเล็กๆพิการหรืออะไรสักอย่าง  แล้วมีฤๅษีหรือเทวดาจำไม่ได้แล้ว มาช่วยให้แปลงร่างเป็นซุปเปอร์แมนได้  
จากนั้นเจ้าแกละก็ได้ไปเป็นขุนศึกคู่พระทัยของพระราชาที่มีพระธิดาสวยมาก ชื่อเจ้าหญิงมณฑาวดี
ผจญภัยอะไรสารพัด    
แต่เจ้าหญิงในตอนท้ายๆของเล่ม กลายเป็นคนไม่ดีค่ะ นอกใจพระเอกไปมีชู้ กลายเป็นนางกากีไปเสียได้
พระเอกดูเหมือนจะได้นางเอกใหม่ โผล่มาท้ายเรื่อง

เรื่องทาร์ซาน คุณป.ก็เขียนค่ะ   แต่เป็นทาร์ซานไทย นางเอกทาร์ซานก็เป็นคนไทย  ไม่ใช่เจนของฝรั่ง  
เธอชื่อไฉไล   รูปวาดบนปก สวยมาก นุ่งกระโปรงสั้น เสื้อเฉียงบ่า  ขาดๆวิ่นๆ แบบนางไพร

เรื่องแบบนี้ลงตอนละเล่ม  อ่านแล้วก็ต้องรอจนกว่าเล่มต่อไปจะออก ในอีกสามสี่วันข้างหน้า
ภาพปก สวยมากค่ะ  ยิ่งผู้หญิงแต่ละคนหน้าหวานตาคมคิ้วเข้ม  ฝีมือวาดของคุณอาภรณ์ อินทรปาลิต น้องชายคุณป.
เคยไปเจอในร้านหนังสือเก่า   ตอนเด็กๆรู้แต่ว่าสาวๆบนปกนี้สวยทุกคนเลย   ตอนโตถึงดูออกว่าหุ่นผู้หญิงสวยสมัยนั้น คืออวบจนดูอ้วน เอวคอดสะโพกผาย และสูงปานกลาง   ไม่เพรียวอย่างสมัยนี้
หุ่นคล้ายๆลิซ เทย์เล่อร์ในหนัง Cat on a Hot Tin Roof  ไม่บอบบางอย่างออเดรย์ หรือเกรซ เคลลี่


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 มี.ค. 08, 21:05
คุณเทาชมพูเล่าเรื่องตอนเด็กๆน่าฟังจริงๆ

ช่างเป็นครอบครัวที่ทันสมัยให้อ่านสามเกลอ


สามเกลอจัดเป็นหนังสือหายากในระดับสูงสุด คู่กับผลงานพิมพ์ของ ก.ศ.ร.กุหลาบแล้วค่ะ
ซื้อหาแข่งขันขอดูกันอุตลุดตลุมบอนเลยค่ะ

เคยไปงานชื่นชุมนุม งานออกหนังสือเกี่ยวกับสามเกลอสองครั้ง
ครั้งแรก มีการพูดภาษาสามเกลอกันอ้อมๆ   เช่นการไปงานศพ
สมาชิกชมรมสามเกลอที่มาจากสารทิศ หัวเราะกันงอหาย

พิธีกรไม่เก็ทค่ะ   ตลกมากทีเดียว

ถ้าคุณลุงทราบ  ท่านคงประหลาดใจมาก


ชอบอ่านงานเรื่องสั้นของคุณลุง   ท่านมีภาษาเฉพาะของท่านเลยนะคะ

ชายหนุ่มลืมตาโพลง   ยื่นมือให้อีกฝ่ายจับทันที   ความเป็นศัตรูของบุคคลทั้งสองสิ้นสุดลงแล้ว

ในเรื่องเสือใบเสือดำก็สนุกค่ะ  จับสลากเฝ้าถ้ำ  นางเอกต้องสละชีพ  พระเอกเรียกนางเอกว่าหนู

เรื่องนักเรียนนายร้อยก็สนุกค่ะ
นางเอกมีแขกมาหา    นางเอกตะโกนเข้าไปหลังบ้าน  ไปเอากาแฟมาสองแก้วเร็ว  (ประมาณนี้นะคะ  เล่าจากความจำ)

หนอนหนังสือก็เป็นแบบนี้ล่ะค่ะ
อ่านแล้วจำฝังใจ


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 08, 21:15
ขอบคุณค่ะคุณ V ที่มาแบ่งปันกันให้อ่าน   ดิฉันเคยเข้าแต่อีกเว็บหนึ่ง คือ
http://www.samgler.org/
คนที่อ่านสามเกลอ ไม่ว่าเว็บไหน ล้วนแล้วแต่แฟนพันธุ์แท้ทั้งนั้น
น่าปลื้มใจแทนคุณป.อินทรปาลิต

คุณป.อินทรปาลิตเคยออกหนังสือพิมพ์เล่มเล็กๆ ขนาดเท่า "กองหน้าร่าเริง" หรือ "วีรธรรม" ที่นักเรียนร.ร.คริสต์เมื่อ ๕๐ ปีก่อนคงรู้จักดี
ชื่อ "หรรษา"
เนื้อหาในเรื่องเป็นนิยาย ไม่ใช่ข่าว  ท่านเขียนเองทั้งเรื่อง
เอาเหตุการณ์ในเรื่องมาพาดหัวข่าว เป็นคำโปรยให้ตื่นเต้นอยากติดตามอ่าน

นิยายในนั้นชื่ออะไรจำไม่ได้แล้ว แต่เป็นเรื่องนักเรียนหญิงรุ่นสาวสองคน แข่งขันกีฬากัน    คิดว่าเป็นการวิ่งแข่ง
คุณป. พาดหัวข่าวว่า "ดารณีเฆี่ยนเสาวลักษณ์ยับ"
ดารณีคือนางเอก  ส่วนเสาวลักษณ์เป็นคู่แข่ง  น่าจะเป็นนางร้ายในเรื่องด้วย   เพราะมีเหตุการณ์ว่ากีฬาแพ้คนไม่แพ้  เสาวลักษณ์อิจฉาดารณีที่ชนะ
แต่"หรรษา "ออกไม่นานก็ล้มเลิกไป

นิยายรักหวานจ๋อยก็มีค่ะ  คุณป.ท่านก็บรรเลงไว้หลายสิบหรือเป็นร้อย   มีอยู่เรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงยุงชุมบินว่อน  แต่ภาษาท่านดีมาก เขียนมีชีวิตชีวา  อ่านได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่รู้สึกว่ามันเลี่ยนตรงไหนเลย
ชื่อ "ลูกสาวคนสวน"ค่ะ
เรื่องมีอยู่ว่า เจ้าคุณอะไรคนหนึ่งมีลูกสาว  จำได้รางๆว่าชื่อระรินทิพย์   ในบ้านมีลุงคนสวนมีลูกสาวเหมือนกันชื่อเรไร
แม่เรไรคนนี้สวย และทะเยอทะยาน วางตัวเป็นคุณหนู  ในที่สุดก็มีไอ้หนุ่มมาจีบ เป็นคุณหนูฝ่ายชายเหมือนกัน
พอฝ่ายชายนั่งรถมาหาที่บ้าน หล่อนก็เล่นละครเป็นลูกสาวเจ้าคุณเสียเอง   ส่วนลูกสาวตัวจริงก็ยอมร่วมมือเล่นเป็นตัวลูกสาวคนสวน
แล้วเลยไปรักกับคนรถหนุ่มของคุณชายคนนั้น

ในตอนจบ เหตุการณ์ก็..อย่างที่เดาๆกันได้ละค่ะ    ปรากฎว่าบ้านฝ่ายชายก็เล่นอุตริปลอมตัวเหมือนกัน  แสดงว่าคงรวย    เลยมีเวลาว่างมาก
คนขับรถหนุ่มกลายเป็นคุณชายตัวจริง   ส่วนคุณชายตัวปลอมเป็นคนใช้ของคุณชายตัวจริงอีกที
เท่มากตอนพระเอกยืดอกประกาศว่า
"พี่คือสุขสันต์ มนูธรรม ลูกชายเจ้าคุณ....."

แฮปปี้เอนดิ้งไปตามระเบียบ

มาเจอคุณ Wandee น่าจะหนอนหนังสือเหมือนกัน คงคุยกันได้ยาว    กระทู้นี้ดิฉันทำท่าจะขโมยซีนจากคุณพิพัฒน์เสียแล้วซีคะ


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 มี.ค. 08, 21:34
ดีใจที่หลอกอาจารย์มาเล่าเรื่องเบาอารมณ์ แต่หนักความรู้สึก
ใครที่หลงอดีต คงนึกออกว่า การท่องเข้าไปในความทรงจำนั้น
บางครั้งก็เหนื่อยเหมือนโคลนดูดขา
แต่ถ้าเขียนน่าอ่าน ความทรงจำก็เป็นของดีมีค่า เสมอ

ผมไม่มีปัญญาหาสามเกลอ หรือสี่สหายเป็นของตัวเองเลยแม้สักเล่ม
พ่อผมห้ามขาด ไม่ให้ลูกอ่านอะไรที่นอกเหนือตำรา จนกว่าจะปิดเทอมใหญ่
พอปิดเทอมใหญ่ เราก็ได้แต่เล่นสนุกกันรอบๆ บ้าน
เงินมีไม่มากพอที่จะซื้อหนังสืออ่านเล่นเล่มละหกสลึงได้

สมัยที่โรงหนังศรีสาธรยังเปิดฉายอยู่
สักหกโมง จะมีคนเอาหนังสือมาวางขายหน้าห้องขายตั๋ว
มีสามเกลอเป็นหนังสือชุดเด่น วางบนตั่งไม้ได้สักสิบกว่าเล่ม
นอกนั้นต้องซ้อนกันเป็นตั้ง ที่เหลืออยู่ในกาละมัง ยัดใต้ตั่ง

เป็นที่ถวิลหาของผมมาจนแม้ทุกวันนี้
ความทรงจำยังหอมสด เหมือนกำลังเดินเข้าไปทำทีเลือกซื้อ
แต่ก็เพียงแต่ทำทีท่าแหละครับ ผมต้องเดินออกจากบ้านตั้งแต่เย็นแก่ๆ
มาถึงโรงหนัง พอดีกับที่เขาเริ่มเปืดไฟ ได้ยืนพลิกดูก็สักสิบนาทีสิบห้านาที พอแก้อยาก
แล้วก็ต้องรีบเดินกลับบ้าน ก่อนค่ำ เพื่อไม่ให้พ่อแม่ต้องเป็นห่วง

สามเกลอในความทรงจำ จึงเป็นแต่เพียงหน้าปกเท่านั้น
อีกสิบกว่าปีแหละครับ

จึงมีปัญญาหาอ่านได้
ตอนนั้นเงินที่มี เก็บส่งแผงหนังสือรอบส้วม ที่สามเหลี่ยมแม่พระธรณีบีบมวยผมหมด
หนังสืออื่นๆ เช่าอ่านลูกเดียว
แผงประจำก็คือในตลาดนานา เล่มละบาทต่อวัน
กำลังภายในทั้งหมด ก็อ่านจากที่นี่


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 08, 21:43
เสือดำ กับเสือใบ หรือที่คุณป. เรียกว่า สุภาพบุรุษเสือใบ เป็นจอมโจรที่เท่ที่สุดในนิยายไทย
สองคนนี่เป็นโจรแบบโรบินฮู้ด    คือปราบคนพาล อภิบาลคนดี  ปล้นแต่คนรวยและคนเลว  มีน้ำใจกับชาวบ้าน
ดิฉันไม่ค่อยได้อ่านเสือใบ จะเป็นเพราะในร้านไม่มีขายหรือเราผ่านตาไปเองก็ไม่ทราบ  จำได้แต่เสือดำ
เป็นชายหนุ่มหล่อและแต่งตัวสมาร์ทมาก   สวมเชิ้ตแขนยาวสีดำ กางเกงดำ  มีหมวกปีกกว้างสีดำพร้อมสายรัดคางเหมือนหมวกคาวบอย คาดเข็มขัดปืนด้วย
เวลาออกปฏิบัติการ   ชื่อจริงว่า  "ระพินทร์" ค่ะ
มีนางเอกชื่อ "แน่งน้อย" แต่ตอนจบดูเหมือนเธอจะทรยศพระเอก   เสือดำนั้นตายก่อนเสือใบ แต่ตายไปแล้ววิญญาณยังมาเตือนภัยให้เสือใบ
สุภาพบุรุษเสือใบ ชื่อจริงว่า "เรวัต"

ถ้าจำไม่ผิดนะคะ   เรื่องเสือดำเสือใบนี่แหละ ถูกตำรวจเตือนว่าเป็นตัวอย่างไม่ดี ให้โจรเป็นพระเอก เกรงว่าเยาวชนไทยจะเอาอย่าง
ขนาดมีท่านผู้ใหญ่ให้สัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์
คงเรื่องนี้มั้ง คุณป.เลยจบแบบพระเอกตายทั้งคู่

คิดว่าเป็นยุคจอมพลสฤษดิ์ค่ะ ไม่ใช่จอมพลป.   ยุคนั้นหัวหน้ารัฐบาลท่านเข้มงวดหลายเรื่อง แม้แต่แฟชั่นเด็กหนุ่มแต่งกายหรือไว้ทรงผมแบบเอลวิส ก็ถูกห้าม ว่าไม่สุภาพ  

ขอแวะออกนอกเรื่องอีกสักนิด
ชื่อคนมียุคสมัยนะคะ  อย่างชื่อ แน่งน้อย หรือไฉไล สมัยคุณป. เป็นชื่อฮิทของหญิงสาว     แต่เดี๋ยวนี้ดิฉันไม่เห็นมีใครชื่อนี้อีก
แน่งน้อย คือเอวบางร่างน้อย   ไฉไล แปลว่า สวย

ชื่อเล่นของเด็กผู้หญิง อย่างชื่อติ๋ม แต๋ว  ต้อย พวกนี้ พ่อแม่ยุคนี้ก็ไม่ตั้งให้ลูกแล้ว  มีแต่ชื่อ common noun หรือสามานยนาม ภาษาอังกฤษ ให้เด็กไทยเต็มไปหมด   ซึ่งเด็กฝรั่งเขาก็ไม่ชื่อกัน


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 08, 21:57
สำนวนภาษาของป.อินทรปาลิต เท่าที่นึกออกตอนนี้
- เจ้าแห้ว เต็มไปด้วยความตื่นเต้นยินดี
- เรียกชื่อคน แล้วต่อด้วยนามสกุล   อย่าง นายพัชราภรณ์ (หมายถึงพล) นายการุณวงศ์(หมายถึงนิกร)
- พรานหมึกโกรธจนปากซีด
- เจ้าคุณปัจจนึกโกรธจนตัวสั่น   ทำปากยื่น ตาถลน ตะโกนออกมาสุดเสียง
- เจียมตัว   คำนี้ใช้บ่อยกับตัวละครฝ่ายยากจนค่ะ โดยเฉพาะพระเอกคนจน 
- เย่อหยิ่ง   (ไม่ใช่หยิ่งเฉยๆ)


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 มี.ค. 08, 22:05
ตลาดนานาอยู่ที่ไหนคะ


อ่านกำลังภายในมาบ้างไม่มากนัก
ไม่เข้าใจเรื่องความแค้นต้องล้าง  ไม่ต้องกับทัศนคติอ่านหนังสือเพื่อความสุขค่ะ

เรื่องอาหารการกินที่เอาเต้าหู้มายัดไส้ขาหมูนึ่ง  หรือแกงจืดหลายสีนี่  อ่านแล้วกินข้าวอร่อยมาก


พงศาวดารจีนก็พอมีอยู่บ้างเหมือนกัน   ตำราของใครก็ไม่รุ อ้อ  ของเจริญเกศากิจ   บอกว่ามีอยู่ ๘๐ เรื่อง  ถามชื่อก็บอกไม่ได้


ชอบ บ๊วยทิวฮวง ค่ะ  เวอร์ชั้นเก่านะคะ   
ดรุณีน้อยผู้หลงรักศิษย์ผู้พี่


ดีใจที่คุณเทาชมพูแจ่มใส  ขอบคุณที่กรุณาแวะมาคุยค่ะ

ชมรมสามเกลอคงชื่นใจมากที่ทราบว่าคุณเทาชมพูอ่าน



กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 08, 22:14
เข้าเว็บสามเกลอเมื่อหลายปีก่อนค่ะ  ตั้งแต่เริ่มหัดใช้เน็ตใหม่ๆ  เคยส่งบทสัมภาษณ์ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพ็ชร์ ที่พูดเรื่องแผนที่บ้านสามเกลอ ไปให้เวบมาสเตอร์ด้วย เพราะตัดเก็บไว้จากนสพ.  และทางเขายังไม่มี   

คุณเวบมาสเตอร์ส่งดิสก์แผ่นเล็กลงเรื่องสามเกลอมาให้หลายแผ่น  อ่านจนตาแฉะไปเลย
แต่หลังๆไม่ค่อยมีเวลาเข้าค่ะ   เลยห่างหายไป   จำได้แต่ว่าพวกที่ชอบสามเกลอรายไหนรายนั้น แม่นข้อมูลกันจริงๆ

ถ้าจะให้แจ่มใสมากๆ คุณ Wandee และท่านอื่นๆก็เข้ามาชวนคุยบ่อยๆซิคะ  ดิฉันได้ไม่มีเวลาคิดเรื่องอื่น :D

เกร็ดพงศาวดารจีน ยังอ่านอยู่จนทุกวันนี้เพราะว่าต้องใช้สอนด้วยค่ะ   เป็นส่วนหนึ่งของวิชาพัฒนาการการแปล เรื่องที่ชอบมากที่สุดคือ จอยุ่ยเหม็ง
ส่วนเรื่องกำลังภายใน   อ่านแล้วผิดกับคนอื่นคือไม่สนุกและไม่อ่านซ้ำค่ะ  อาจจะเป็นเพราะก้าวข้ามกำแพงภาษาไปไม่ได้


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: V ที่ 21 มี.ค. 08, 22:18
You are most welcome ka. Thank you Khun Tao Chom Poo for sharing that Samgler website. I did not know much about it until I heard from my mother. She talks about Samgler all the time. I was just curious. Then, I started to read from the website. It was so fun.

Reading of what you all talked about earlier... made me miss my mom a lot. Maybe I can ask her more and I can share with you more.

Take care na ka Khun Tao Chom Poo...and Happy Easter to you and everyone.

Regards,
-V-


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 มี.ค. 08, 22:42
สมาชิกสามเกลอเรียบง่าย มั่นคงทรงศักดิ์ค่ะ

แต่งตัวกันกางเกงขาสามส่วน  เสื้อยืดคอกลม  ใส่รองเท้าแตะ
ได้ข่าวว่าขี่มอเตอร์ไซด์มา  แหะๆ  ฮาเลย์ค่ะ

บางคนไปหาหนังสือมาฝากเพื่อนๆ  สุภาพเรียบร้อยปานนักศึกษากำลังขอทุนไปวิจัย

บางคนบอกว่าขับสิบล้อ  หลายคนที่นั่้งล้อมวงอยู่พยักหน้ารับทราบ
แล้วไง
ดาราแถวนั้นโฉบมาบอกว่า พี่ๆ  คุณคนนั้นท่านมีฟาร์มรถสิบล้อ
อ้าว   แล้วไง




เข้าใจเองว่า ณ ที่นั้น  นับถือกันที่การมีหนังสือค่ะ



กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 มี.ค. 08, 22:55
คุณลุงป.  เป็นคนสุภาพเรียบร้อย รักษาเกียรติ

ในสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม  สุภาพบุรุษใส่สูทชาร์กสกินสีนวล  ผ้าหนาๆมันแผล็บ
ใส่หมวกสักหลาด  อย่างดี็ใบละแปดบาท

ไม่เคยเห็นรูปท่านใส่หมวกปานามา หรือหางนกยูง



ความรู้เรื่องเลี้ยงไก่ของท่านมาจากเรื่องจริงค่ะ


หลานของท่านที่เรียกท่านว่าน้า  เคยมาเล่าที่เว็บว่า ท่านชอบทานซาลาเปา

เห็นหนังสืองานศพคุณย่า(คุณแม่ของคุณลุงป.)ที่ี่หอสมุดกรมพระยาดำรง  ยังไม่ได้ถ่ายเอกสารมาเลยค่ะ


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 มี.ค. 08, 23:13
เรื่องสามเกลอและกำลังภายในทำให้ผมนึกถึงคุณูปการณ์ของห้องสมุด
ที่โรงเรียนสมัยมัธยม มีห้องสมุดเป็นกิจจะลักษณะ เป็นห้องปูนเล็กๆ แยกห่างออกจากอาคารเรียน
ค่อนไปทางป่าช้า....เอ่อ โรงเรียนของผม อยู่กลางป่าช้านานาชาติครับ

ผมหลงเข้าไปเพราะไปตามเพื่อนมาเตะบอล
มันนั่งอ่านหนังสืออยู่ในมุมมืด เงียบและดูแปลกตา ผมเพิ่งรู้ว่า มีห้องอย่างนี้ด้วยแฮะ
หนังสือมีไม่มากนัก เพราะโรงเรียนนี้เป็นของมูลนิธิปอเต๊กตึ๊ง ไม่ร่ำรวยแต่อย่างน้อยก็มีมากกว่าที่บ้าน
ส่วนมากเป็นหนังสือปกแข็ง ถ้าจำไม่ผิดก็พวกประวัติศาสตร์โลกของเจริญ ชัยชนะ
และนิยายแซมอยู่บ้าง พอให้หายอยาก

แต่ในสังคมเด็กเพิ่งโตถ้าไม่มีแรงกระตุ้น ใครจะไปอยากอ่านหนังสือ จริงใหมครับ
อย่างมากที่เราใช้ข้อมูลจากการอ่าน ก็คือแข่งกันท่องชื่อเมืองหลวง เมื่อขานชื่อประเทศ
ฆ่าเวลารอขาบอลมาพร้อมหน้า....จากนั้นก็เล่นจนเหื่อโซ่ก กลับบ้านก็เข้าสู่อีกอาณาจักรหนึ่ง
แม้กระนั้น ห้องสมุดก็ยังเป็นที่พักสั้นๆ หลังกินข้าวเที่ยงก่อนเข้าชั้นเรียนอันน่าง่วง......

มาย้อนคิดดู ถ้ากทม. เอาเงินมาเปิดห้องสมุดเล็กๆ ตามหัวมุมถนน หรืออาศัยวัด
ไม่ต้องมากดอก แห่งละซักสองพันเล่ม หมุนเวียนกันไป มันจะใช้เงินสักกี่บาทกัน
แต่ห้องสมุดอนาถาเหล่านี้ อาจจะสร้างคนที่ดีกว่าพวกเราขึ้นมาได้
คงมิใช่ฝันกลางวันกระมัง.....(ฝันร้ายอ่ะดิ มีเสียงตอบมาไกลๆ ..........เฮ้อ)
-----------------------

ตลาดนานา เป็นแดนอาหารอร่อยของพวกผมครับ
จากหน้าพระลาน นั่งรถเมล์ไม่กี่ป้าย หรือรวมเงินกันนั่งตุ๊กๆ สิบห้าบาทก็ถึงตลาด
ถ้าตั้งต้นที่สี่แยกบางลำพู เสี้ยวหนึ่งเป็นแบ๊งค์ไทยพานิช เสี้ยวหนึ่งเป็นห้างหน้าด้าน
เราหันหลังให้ห้างนี้ แบ๊งค์จะอยู่ซ้ายมือ เดินข้ามสะพานไป ถึงเชิงสะพานก็เลี้ยวขวาเข้าซอย
ตลาดที่นี่เปิดถึงเที่ยงคืน บางทีก็ดึกกว่านั้น มีของอร่อย ไม่แพง ที่นั่งริมคลองเป็นที่นั่งรวม
สั่งอาหารข้ามกันได้ (แต่ตอนหลังดูเหมือนจะทะเลาะกัน เลยโต๊ะใครโต๊ะมัน)

สายลมจากคลองคูเมืองพัดโบกมาเย็นสะบายไปทั้งโต๊ะ
เงียบสงบพอที่เราจะคุยอะไรก็ได้ ไม่ต้องตะเบ็ง
และเป็นตลาดที่ไม่พลุกพล่านนัก เราจึงนั่งอ้อยอิ่งกันได้เป็นชั่วโมงๆ
ก่อนจะจับรถกลับหน้าพระลานตอนสองทุ่ม

ปีที่พวกเรานั่งกินกันคึกคักสุด ก็เป็นช่วงที่เจ้าแอ๊ดออกเพลงวนิพก
และเราเลิกรากันไปตอนที่เพลงท ทหารอดทนกำลังดัง
ในห้วงเวลานั้น ตลาดยามค่ำมีไม่มากแห่ง
ตลาดนานาเป็นตัวเลือกนอกเหนือจากตลาดโต้รุ่งประตูน้ำ ซึ่งต้องสวมเสื้อเกราะและทำประกันภัยไว้ จึงควรจะแวะ
และทั้งสองแห่ง รวมถึงอีกหลายๆ ตลาดเป็นต้องมีร้านให้เช่าหนังสือประจำอยู่
ผมคุ้นเคยกับร้านที่ตลาดนานา เช่าสองเล่มตอนสองสามทุ่ม อ่านรวดเดียวถึงตีหนึ่ง
เช้ามาอ่านต่อที่เหลือบนรถเมล์ ถึงหน้าพระลานก็จบสองเล่ม ตกค่ำก็เปลี่ยนสองเล่มใหม่

ผมคงอ่านไปสักห้าร้อยกว่าเรื่อง นอกเหนือจากหนังสือที่ต้องอ่านประจำ
อ่านจนตาแทบบอด แต่มันติดน่ะครับ ทำไงได้
เสาร์อาทิตย์เช่าครั้งละห้าหกเล่ม ทำอย่างนี้ราวห้าปีก็ไม่เหลือนิยายที่อยากอ่าน
คราวนี้ก็ตั้งหน้าตั้งตาอ่านหนังสือโบราณอย่างเดียว

ใครก็ตามอ่านมาถึงตรงนี้ และอยากจะหาอะไรมาอ่านบ้าง ขอบอกว่าลุยโลดครับ ชีวิตเราแสนสั้น จะอ่านได้สักกี่หมื่นหน้ากัน
ถ้าได้อ่านก็แปลว่าชีวิตยังเป็นของเราอยู่ เมื่อไรไม่มีเวลาอ่าน ผมคิดว่าร้ายกาจกว่าขายชีวิตให้คนอื่นเสียอีก
ผมจึงแปลกใจที่เด็กรุ่นหลังไม่อ่านหนังสือกัน ทั้งที่มีโอกาสมากกว่ารุ่นผมเป็นร้อยพันเท่า

ต่อมจินตนาการเหือดแห้งกระนั้นหรือ....น้องเอ๋ย


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 มี.ค. 08, 23:33
คุณป. เป็นฮีโร่คนหนึ่งของผม
สมัยที่หาอ่านศาลาโกหก และสามเกลอที่กลายเป็นสี่สหายไปแล้ว
เรื่องเบื้องหลังต่างๆ ยังไม่มี หนังสือพิมพ์ไทยเบื้องหลังข่าว นครไทยเบื้องหลังข่าว
ก็เล่นแต่เรื่องอาชญากรรม
กว่าที่ฟ้าเมืองไทยจะมาจับตำนานนักเขียน ผมก็สิ้นความสนใจเรื่องเหล่านี้เสียแล้ว

แต่เรื่องที่ชอบจากคุณป. ทุกวันนี้ก็ยังไม่ลืม
เรื่องแรกคือท่านยกย่องนักมวยอมตะไว้หลายคน เช่นยักษ์สุข ปราสาทหินพิมาย เป็นต้น
แต่คนเก่งของท่าน เป็นคนหล่อ คือคุณชูชัย พระขรรค์ชัย ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเพื่อนรักกัน
เคยคิดอยากจะดั้นด้นไปหาท่านที่วัดบางเสาธง
และจำได้แม่นยำว่าท่านแม่นยำในเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ อ้างหนังสือเจนส์เป็นว่าเล่น
ดูเหมือนท่านจะเคยเล่าว่าเป็นนักเรียนนายร้อย แต่ต้องถูกให้ออก

แรงบันดาลใจอีกอย่างก็คือการที่ท่านเขียนนิตยสารคนเดียวทั้งเล่ม
พวกเราเอาอย่างบ้าง ทำหนังสือใต้ดินอ่านกัน ก็แค่ฉีกสมุดมีเส้นหน้ากลางออกมา
พยายามคิดกันว่าจะเขียนอย่างไร จัดหน้าอย่างไร วางตัวหนังสืออย่างไร
รูปก็วาดสดๆ ครับ ตัวเรียงใช้คัดลายมือ ผลก็คือถูกทำโทษหน้าเสาธง

ยังงงถึงทุกวันนี้ว่า นี่เราทำอะไรผิดหรือ
มารู้เมื่อโตแล้วว่า ครั้งนั้นเราอยู่ในยุคไม่มีเสรีภาพการพิมพ์
และอยู่ในยุคที่ปัญญามีพลังแหลมคมกว่าอาวุธ
ท่านผู้นำมาเห็นความเหลวแหลกของอินเตอร์เนตแบบที่อาจารย์เจอ
คงส่ายหัวสั่งปิดมันหมดทุกเว๊บไซท์

เอ๋....มาลงที่นี่ได้งัยยย


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 มี.ค. 08, 05:14
คุณชูชัย  พระขรรค์ชัย เป็นเขยเล็ก  คุณลุงป.เป็นเขยใหญ่ค่ะ

คุณชูชัยแต่งงานกับน้องสาวของคุณป้าปราณี ภรรยาคนที่สองของคุณลุง


คุณชูชัย รูปหล่อมาก  เคยอ่านหนังสือที่ท่านเขียนชีวิตของท่าน
ประหลาดใจที่สมัยก่อนไม่เคยรู้ว่าหน้าตาดีมาก
อาจเป็นเพราะดิฉันไม่สนใจหน้ากีฬาในหนังสือพิมพ์


นักอ่านที่มาชุมนุมดื่มกาแฟฟรีในห้องทำงานของดิฉัน   เป็นนักประวัติศาสต์สมัครเล่นกันทุกคน
เข้าใจเรื่องสงครามโลกครั้งที่สอง จากมุมมองของเปรตเวหา
กรณีพิพาทอินโดจีน  สงครามมหาเอเชียบูรพา   ฉลองสันติภาพ
น้องๆพวกนี้ชวนกันหนีงานไปประมูลหนังสือสามเกลอตามที่ต่างๆ โดยแว่บจากที่ทำงานไปเฉยๆ
ทางแผนกส่งคนมาถามว่าทราบไหมว่า หายไปไหน
ไม่เคยทรยศสหายเลยค่ะ


การเล่นหนังสือสามเกลอ กินขาดกันที่ปกค่ะ  ปกไหนสวยกว่าปกไหน
ดิฉันไม่ลึกซึ้งในเรื่องเล่นปกค่ะ


บรรดาศักดิ์ของนายทหารที่คุณลุงเล่า่ก็น่าสนใจ

เรื่องราวของคุณท้าว เป็นเรื่องจริงนะคะ  เล่าจากมุมมองของคนที่มองโลกสวยงาม
คุณไข่มุก  ภรรยาคนแรกของคุณลุง เติบโตขึ้นในตำหนักพระราชชายา เจ้าดารารัศมี หรือไม่ก็คงเป็นตำหนักของพระองค์เจ้าประดิษฐาสารีค่ะ
ในฐานะลูกหลาน
เป็นมารยาทที่ไม่ต้องเอ่ยว่า  มิพึงบังควรนับญาติกับเจ้านายเป็นอันขาด  เหาจะกินหัว
คุณแม่ของคุณไข่มุก  มาจากสกุล เชื้อเจ็ดตนค่ะ



กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 08, 10:30
คุณป .เคยนำคุณชูชัยมาเป็นตัวละครในสามเกลอ  ในชื่อจริงเต็มๆ    ระบุว่า ชูชัย พระขรรค์ชัย เป็นบุตรบุญธรรมของข้าพเจ้า
นิยายเรื่องนี้ คือตอนสามเกลอแวะมาหาคุณป.ที่บ้าน ชวนไปเที่ยวพระพุทธบาท   คุณชูชัยก็ไปด้วย
แล้วหลุดเข้าไปในเมืองลับแลด้วยกัน

จำอะไรไม่ได้เกี่ยวกับคุณชูชัย ค่ะ  เริ่มจำชื่อนักมวยไทยก็เมื่อโผน กิ่งเพ็ชร์ เป็นแชมป์โลก

คุณป. เคยเป็นนักเรียนนายร้อยมาก่อน แต่ว่าออกก่อนจะเรียนจบ  ทราบแค่นี้ค่ะ

ในหนังสือปกอ่อน สามเกลอ  ที่คุณป.คุยกับคนอ่านท้ายเล่ม
มีคนถามกันหลายคนว่า ป.ย่อมาจากอะไร  ท่านก็ตอบเล่นไปเรื่อยๆ  เป็นชื่อ ปิ๋ว บ้าง ป๊อด บ้าง
จนมีคนหนึ่งถามว่า
ทำไมคุณอาไม่ตั้งชื่อพระเอกว่า ปรีชา
ท่านตอบว่า
"อาเห็นชื่อนี้ไม่เพราะ ก็เลยไม่ตั้ง"

สิ่งที่จำได้อีกอย่างคือ หนังสือสามเกลอ  ไม่เคยมีบทอีโรติคเลย  แม้แต่บทรัก เช่นในความเจ้าชู้ของพล ก็เอ่ยถึงอย่างบางเบามาก


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 22 มี.ค. 08, 11:24
อ่านจากที่ใหนนานมาแล้วว่า คุณป. ท่านโด่งดังมาจากนิยายเคล้าน้ำตาของคณะเพลินจิตต์
ของคุณ เวช กระตุฤกษ์
ที่มาแต่งสามเกลอก็เพราะอยากให้สังคมยอมรับในสถานะของพ่อค้า เพราะในช่วงคาบเกี่ยวสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น
พ่อค้ายังไม่ได้รับการยอมรับนับถือ

คุณป. เห็นว่าบ้านเมืองจะเจริญได้ ต้องพึ่งพานิชยกรรม
นับว่าเป็นคนที่เห็นทะลุเวลาจริงๆ
อาเสี่ยกิมหงวน ไทยแท้ ก็อาจจะเป็นพระเอกลูกจีนคนแรกในประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทย
ส่วนด๊อกเตอร์ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ ก็คือตัวแทนความฝันอีกด้านหนึ่งของท่าน
คือสังคมไทยยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์เลย....ข้อนี้คุณจ้อจะต้องชอบใจ

ถ้ากระเทาะเปลือกหัสนิยายชุดนี้ออกให้เห็นเนื้อในแล้ว
ผมคิดว่าคุณป. นั้น ท่านมีความเป็นเมธีอยู่เต็มเปื่ยม
และมีใจรักมั่นในประเทศของท่าน ไม่แพ้ใครในยุคสมัย

หนึ่งในวีระบุรุษของท่าน
คือเสืออากาศศานิต นวลมณี ที่หาญสู้เดี่ยวกับฝูงบินเศษฝรั่ง
เขียนถึงหลายตอนอยู่


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 22 มี.ค. 08, 11:48
       ตอนเด็กก็ได้อ่านสามเกลอฉบับปกอ่อนบางๆ ครับ  ชอบดร.ดิเรก มากกว่าสามเกลอ ทั้งๆ ที่มีบทบาทรองคนอื่นๆ
ตอนเป็นละครทีวี พอจำได้ว่ามีคุณนฤพนธ์ คุณรอง นำแสดง
        จำคุณคุณชูชัยได้จากภาพนักมวยรูปหล่อ และรับบทเป็นพันท้ายนรสิงห์ คู่กับคุณสุพรรณ ในหนังใหญ่ ครับ
   
         เมื่อไม่นานมานี้ตอนปลายปี ได้อ่านจุดประกายวรรณกรรม เรื่อง  -
             เมืองไทย พ.ศ.2550 ของ พล นิกร กิมหงวน และ ป.อินทรปาลิต   โดย ชัชวรรณ ปัญญาพยัตจาติ ครับ

         หากย้อนเวลากลับไปช่วงต้นปี 2482 วานวันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลาเกือบเจ็ดทศวรรษแล้ว ที่ตำนานหัสนิยายอมตะ
ชุด 'พล นิกร กิมหงวน' โดย 'ป.อินทรปาลิต' ยังคงโลดแล่นอยู่บนหน้าบรรณพิภพ นับจากตีพิมพ์เรื่อง 'อายผู้หญิง'
ขึ้นเป็นตอนแรกโดยสำนักพิมพ์เพลินจิตต์

         ป.อินทรปาลิต เป็นนามแฝงของ ปรีชา อินทรปาลิต เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2453 ตำบลยมราช
อำเภอดุสิต เขตพระนคร เข้าเรียนที่โรงเรียนโสมนัส และศึกษาต่อโรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อปี 2462 แต่
ลาออกก่อนสำเร็จการศึกษา แล้วหันไปประกอบอาชีพอยู่หลายอย่าง ทั้งจัดตั้งโรงเรียนราษฎร์ร่วมกับพี่สาว
สอนหนังสือและรับราชการเสมียนที่กระทรวงพาณิชย์ ก่อนจะก้าวเข้าสู่การเป็นนักประพันธ์อย่างเต็มตัว
นับแต่มีผลงานนวนิยายเรื่อง นักเรียนนายร้อย ออกสู่สายตาหนอนหนังสือเป็นครั้งแรกเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2475

        หลังจากนั้นเขาดำเนินชีวิตด้วยการเป็นนักคิดนักเขียน ผู้รังสรรค์ผลงานสื่ออรรถรส ได้ทุกแขนงอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา
จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตเมื่อ 25 กันยายน 2511
        ทั้งนี้เพื่อเชิดชูเกียรติของผู้ประพันธ์ และอนุรักษ์วรรณกรรมเป็นอมตะชุด พล นิกร กิมหงวน ไว้ในประวัติศาสตร์สังคมไทย
ในวาระก่อนครบ 100 ปี ชาตกาล ป.อินทรปาลิตในปี 2553 (อีก 3 ปีข้างหน้า) เฉกนั้น โครงการ เมืองไทย พ.ศ. 2550
ของ พล นิกร กิมหงวน และ ป.อินทรปาลิต ก่อนวาระ 100 ปีชาตกาล จึงมีขึ้นที่โรงละครแห่งชาติ (หอเล็ก) เมื่อวันเสาร์ที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา

             เริ่มแรกงานด้วยการปาฐกถานำหัวข้อ วิวัฒนาการสังคมไทยกับหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน
โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ได้กล่าวย้อนความถึงครั้งที่เขียนเรื่อง ป.อินทรปาลิตกับวิวัฒนาการสังคมไทย เพื่อไว้อาลัย
การจากไปของนักประพันธ์ลือนามในหนังสือที่ระลึกงานประชุมเพลิงศพ 'ปรีชา อินทรปาลิต' ว่า

          ในขณะที่นิยายชุดสามเกลอได้เขียนต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดระยะมาเป็นเวลา 30 ปีเต็ม เขามองเห็นงานประพันธ์ชิ้นนี้
เป็นบันทึกวิวัฒนาการแห่งสังคมไทย ที่สอดแทรกคติชีวิต และในระยะเวลาเดียวกันก็ยังเป็นงานชิ้นเดียวที่ปราศจากคู่แข่งขัน

         "แม้นิยายสามเกลอจะมุ่งให้ผู้อ่านรู้สึกขบขันและคลายเครียด แต่ก็ได้แทรกปรัชญาชีวิตที่ทรงคุณค่า สำหรับการตรึกตรอง
ป.อินทรปาลิต เน้นว่าความสุขมีที่มาอยู่ 2 ประการ
         ประการแรกคือความมีสตางค์อันได้มาจากการทำมาหากินโดยสุจริต และความมัธยัสถ์ ประการที่สองคือความสุขจะเกิดขึ้นได้
ก็ต่อเมื่อจิตใจร่าเริงแจ่มใส ซึ่งหมายความว่าความมีเงินอย่างเดียวยังไม่พอ จะต้องมีใจที่ร่าเริงด้วยจึงจะมีความสุข

        ป.อินทรปาลิตได้พร่ำสอนให้เยาวชนตระหนักในการบำเพ็ญตนเป็นคนดี เป็นสุภาพบุรุษและกุลสตรี มีความสุภาพอ่อนโยน
ไม่ดูถูกดูแคลนเพื่อนมนุษย์ ไม่รังแกข่มเหงผู้ที่อ่อนแอกว่า ไม่ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ไม่มัวเมาในการพนันและความเชื่อ
ที่ไม่มีเหตุผล มีความปรารถนาที่จะทำประโยชน์ให้แก่สังคม ทุกข้อล้วนสื่อออกมาจากนิสัยใจคอซึ่งเป็นความประพฤติของสามเกลอ
และคณะพรรคมาตลอด 30 ปี"

         "ป.อินทรปาลิตไม่เคยเปลี่ยนจุดยืน ...ผมสนับสนุนความคิดที่จะนำเสนอชื่อ ป.อินทรปาลิต ต่อองค์การยูเนสโก
ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในวาระครบรอบ 100 ปี ชาต กาล ในปี 2553 ด้วยเหตุที่ว่า

          เป็นนักประพันธ์ที่มีคนอ่านมากที่สุดตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ และแม้ภายหลังที่ล่วงลับไปแล้วหลายทศวรรษ
          จำนวนเล่มบทประพันธ์ของ ป.อินทรปาลิต ที่พิมพ์ออกจำหน่ายตั้งแต่ปี 2476 จนถึงปัจจุบัน น่าจะไม่น้อยกว่า 100 ล้านเล่ม
          มากกว่าจำนวนพิมพ์หนังสือของนักประพันธ์ไทยทุกคนรวมกันหลายสิบเท่า

         ต้องเน้นย้ำอีกครั้งว่าหัสนิยายชุดพล นิกร กิมหงวน มิใช่นวนิยายชวนหัวที่เขียนขึ้น เพื่อให้ผู้อ่านขบขันเพื่อคลายความเครียด
ของอารมณ์เท่านั้น หากยังเป็นวรรณกรรมทรงคุณค่า ในฐานะแหล่งข้อมูลวิวัฒนาการของสังคมไทย ที่ต่อเนื่องเป็นเวลา
กว่าสามทศวรรษ ที่มีอิทธิพลต่อจิตสำนึกของเยาวชน ในความมั่นคงของจิตใจและความประพฤติที่ดีงาม" ดร.วิชิตวงศ์ กล่าว



กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 22 มี.ค. 08, 11:52
             จากนั้นต่อเนื่องด้วยเวทีงานเสวนา

      เริ่มต้นจาก ปริญญา อินทรปาลิต (หลานปู่) เล่าย้อนความถึงช่วงชีวิตวัยเด็ก ที่ได้ใกล้ชิดกับคุณปู่นักประพันธ์เอกว่า

      นักเขียนเลื่องชื่อได้ช่วยเลี้ยงเขามาตั้งแต่เกิด หากแต่เขาเริ่มมีบทบาทใกล้ชิดช่วยปู่ทำงานตอนอายุสิบขวบกว่าๆ
พร้อมทั้งเล่าถึงชีวิตของ ป.อินทรปาลิต ช่วงทำงานที่บ้านว่าเป็นเหมือนคนธรรมดาทั่วไป เพียงแต่เช้าไม่ต้องออกไปทำงาน
เย็นไม่ต้องกลับบ้าน เพราะปู่นั่งทำงานที่บ้านอยู่แล้ว

           "ช่วงแรกผมยังไม่ถึงขั้นเป็นมือดีพิมพ์ต้นฉบับ ทำแค่ช่วยตรวจปรู๊ฟบ้าง ช่วยส่งต้นฉบับบ้าง ชีวิตของปู่ก็เหมือนกับ
คนปุถุชนทั่วไป ท่านนั่งทำงานที่บ้าน ผมมีหน้าที่ลำเลียงอุปกรณ์จากห้องนอนท่านไปไว้ที่โต๊ะทำงาน จัดอะไรให้เรียบร้อย
แล้วก็นั่งดูท่านทำงานไป
           ส่วนอารมณ์ขัน ท่านก็เป็นของท่านตามปกติ ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ความสนุกครึกครื้นแล้วก็ประมาณ 89 เปอร์เซ็นต์
อย่างอยู่บ้านดูโขนดูละคร ปู่ก็พากย์โขนตามเขามั่ง หรือถ้าไม่ได้ดูโทรทัศน์ นั่งพิมพ์งาน ท่านก็ลุกขึ้นร้องลิเกบ้าง ลำตัดบ้าง
ซึ่งบางทีท่านร้องๆ แล้วก็เอาไปใช้ในเนื้องาน แต่ถ้าถามว่ามีโกรธโมโหบ้างหรือไม่ อันนี้มีแน่ครับตราบใดที่คนเรายังมีรัก โลภ โกรธ หลงอยู่

          สำหรับที่คนสงสัยว่าสามเกลอมาจากไหน มันมีตัวตนจริงหรือไม่จริง โดยความรู้สึกของผมเองเมื่อโตแล้ว ผมรู้สึกว่า
         สามเกลอมันไม่ได้มาจากใครที่ไหนหรอก มันก็มาจากชีวิตของท่านเอง โดยเฉพาะความอารมณ์ขันที่ท่านให้ไปกับตัวละคร
พลกับกิมหงวนหรือใครก็ตาม มันก็ชีวิตจริงของท่านทั้งนั้น คือท่านเป็นคนที่มองเห็นอะไรแล้วก็เอามาแปลงเป็นอารมณ์ขันได้"
ปริญญา ทายาทนักเขียนคนดังกล่าว


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 22 มี.ค. 08, 11:55
           ต่อเนื่องด้วยการเล่าถึงการอ่านหัสนิยายพล นิกร กิมหงวนในวัยเยาว์ ซึ่งหนึ่งแรงบันดาลใจในการเป็นนักเขียน
ของ ณรงค์ จันทร์เรือง ว่า

            ครั้งหนึ่งมีโอกาสได้เขียนเรื่องตลก ด้วยความที่เคยอ่านหนังสือมาหลายเรื่อง รวมทั้งพล นิกร กิมหงวนด้วย
ก็น่าจะพอเขียนได้ แต่เมื่อเขียนแล้วกลับไม่ค่อยพอใจงานของตัวเองเท่าไร จึงคิดว่าผู้เขียนที่เขียนหนังสือให้เป็นเรื่องตลกได้
นับเป็นพรสวรรค์ เป็นคนอัจฉริยะ

            "ช่วงนั้นนักเรียนเกือบทุกคนอ่านสามเกลอ ผมไปโรงเรียนนั่งรถรางบ้าง นั่งรถไฟบ้าง พออ่านถึงตอนตลก
ก็ปล่อยก๊ากออกมาลั่นรถ คนแน่นๆ ก็หันขวับกลับมามอง แต่พอทุกคนเห็นปกเป็นพล นิกร กิมหงวน ทุกคนก็หันกลับ
เพราะถือเป็นเรื่องที่เข้าใจกันดี หากทีแรกคนคงคิดว่าผมบ้า แต่พอพวกเขาเห็นปกแล้ว ก็คงนึกออกว่าเมื่อสมัยก่อนตัวเอง
ก็บ้าแบบนี้เหมือนกัน (หัวเราะ)

        ผมอ่านสามเกลอเจอผีก็เป็นอิทธิพลส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมมาเขียนเรื่องผี แต่นอกจากเรื่องสามเกลอแล้วผมก็ยังชอบ
เรื่อง 'เสือดำเสือใบ' ของท่าน และบังเอิญถือเป็นโชคดีของผมที่ในช่วงปี 2508 สำนักพิมพ์ที่พิมพ์สามเกลอมากที่สุด
คือสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นซึ่งอยู่ตรงเวิ้งนครเกษม แล้วก็จัดทำหนังสือชื่อ 'ขวัญจิตรายสัปดาห์' ผมไปเป็นพนักงาน
ตรวจปรู๊ฟหรือที่ต่อมาเรียกกันโก้ๆ ว่าพนักงานพิสูจน์อักษรบ้าง หรือผู้ช่วยบรรณาธิการบ้าง

          พอหนังสือขวัญจิตเลิก ผมก็ยังเทียวไปเทียวมาที่ประพันธ์สาส์น ช่วงนั้นนอกจากสามเกลอจะออกเป็นพอคเก็ตบุ๊ค
เล่มละสามบาทแล้ว ยังออก 'ศาลาโกหก' มาด้วย เป็นอะไรที่ขายดีมากๆ คุณป.อินทรปาลิตเขียนเก่งหมดทั้งเล่ม
จุดนี้จึงเป็นข้อสังเกตได้ว่าท่านเขียนหนังสือได้ทุกแนว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผี เรื่องบู๊ เรื่องตลก เรื่องภูตผีปีศาจ แต่เรื่องตลก
ที่จับอกจับใจคนอ่านมากก็คือเรื่องชุดพล นิกร กิมหงวน" ณรงค์ นักเขียนร่วมสมัย (รุ่นหลาน) เล่า


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 22 มี.ค. 08, 11:59
          จากนั้น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อธิบายย้อนความถึงการเปรียบเปรยถึง
                  ป.อินทรปาลิต เป็นผู้สร้างห้องสมุดในใจคนว่า

           ท่านเป็นผู้สร้างให้เกิดความรัก ที่ทำให้อยากจะอ่านหนังสือ เพราะนับจากเขาได้อ่านพล นิกร กิมหงวนก็เป็นเหตุ
ที่ทำให้รักการอ่านตั้งแต่บัดนั้น

           "จำได้ว่าตอนนั้นหลังสงครามโลก ผมอยู่ประมาณ ป.1 แม่ไปตลาดสด แล้วในตลาดก็จะมีแม่ค้าหาบกระจาดหนังสือ
มาขายด้วย แม่ก็จะซื้อนิทานแสนสนุกกับพล นิกร กิมหงวนกลับมา พอแม่กลับมาถึงผมก็คว้าหนังสือก่อนเลย
        ตอนนั้นที่บ้านผมเลี้ยงม้า ผมมีหน้าที่จูงม้าไปกินหญ้า ที่คอกม้าก็มีจะรางสำหรับใส่หญ้าให้ม้ากิน ตรงนั้นก็จะกลายเป็นที่
ให้ผมได้นอนอ่านหนังสือเอกเขนกอยู่ในรางหญ้าม้า หรือบางทีถ้าเอาม้าเข้าคอกแล้ว ผมก็จะไปนอนอ่านข้างๆ ยุ้งข้าว
ผมจำได้ว่าอ่านพล นิกร กิมหงวน จนเกือบตกระเบียงยุ้งข้าว ก็นับตั้งแต่นั่นแหละที่ผมบอกว่า ท่านเป็นคนที่สร้างห้องสมุดในใจเรา

          สิ่งที่ผมประทับใจก็คือท่านได้จำลองแบบยุคสมัยของสังคมไทยในยุคสมัยที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทั้งช่วงสงครามและ
หลังสงครามโลกไว้ได้อย่างดียิ่ง และ แบบที่ ป.อินทรปาลิต จำลองนั้น ไม่ได้จำลองขึ้นแบบนักวิชาการ
         เสน่ห์ของ ป.อินทรปาลิต นั้น ท่านไม่ได้เขียนเพื่อที่จะเน้นให้ข้อมูลอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เวลาอ่านมันจะรู้สึกได้ว่าข้อมูล
มันหลั่งไหลออกมาเองจากชีวิตของท่าน จากอารมณ์ความรู้สึกของท่านที่มีอยู่ในขณะนั้น ตรงนี้มันคือเสน่ห์ เป็นเสน่ห์ที่
ทำให้ท่านต่างไปจากนักเขียนคนอื่นๆ มันทำให้งานเขียนของท่านครองยุค ครองสมัย ครองใจคนมาจนถึงทุกวันนี้
        เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมต้องยกไว้บนหิ้งบูชา ไว้สำหรับการอ่านหนังสือของผมครับ" กวีของแผ่นดิน กล่าว


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 22 มี.ค. 08, 12:04
            ก่อนปิดการเสวนาในภาคเช้า นัยซ่อนเร้นที่ใช้เรียกกันอย่างขำขัน เมื่อช่วงเปิดงานเสวนาว่า
           เหตุใดหัวข้อการสนทนาจึงเป็น  'ชีวิตขายฝันที่แสนขม' ก็ได้รับการเฉลยจากหลานผู้ประพันธ์หัสนิยายว่า

           เป็นเรื่องสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ ของวรรณกรรมชื่อดังนับพันตอนเรื่องนี้ที่ ป.อินทรปาลิต ผู้เขียนได้เซ็นสัญญา
ซื้อขายไปให้กับทางสำนักพิมพ์แบบที่เรียกได้ว่าไม่ได้เหลือไว้ให้ลูกหลาน
       โดยที่สัญญาขายเป็นไปในลักษณะของการขายลิขสิทธิ์ไปตลอดกาลแบบยกเข่ง (ยกตัวอย่างเช่นงานเขียนตั้งแต่
ปี 2478-2480 มีงานเขียนของ ป.อินทรปาลิต ทั้งหมดกี่เล่ม กี่เรื่อง กี่ตอน สำนักพิมพ์ที่มาขอซื้อจะได้สิทธิตรงนี้ไปทั้งหมด)

      ทั้งนี้เป็นเพราะท่านผู้ประพันธ์มิได้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนเลยแม้แต่น้อย เห็นเพียงว่ามาขอซื้อ จึงขายไป และ
ตัวท่านเองคิดว่า สามารถเขียนเรื่องใหม่ได้ทุกวัน ดังนั้นหากสำนักพิมพ์ที่ซื้อลิขสิทธิ์ไป ไม่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่เพราะเกรงว่า
เนื้องานของวรรณกรรมชุดนี้จะไม่เข้ากับยุคสมัย จึงเป็นเหตุให้ทุกวันนี้หนังสือสามเกลอหรือเรื่องอื่นอีกหลายเล่ม หลายตอน
ของ ป.อินทรปาลิต นั้นหายไปจากวงการ

         จากนั้น ชมัยภร แสงกระจ่าง ผู้ตั้งประเด็นหัวข้อในการสนทนาครั้งได้ชี้แจงว่า

         "ดิฉันได้ตั้งหัวข้อชีวิตที่ขายฝันของ ป.อินทรปาลิต ก็เพื่อให้ทุกท่านได้เห็นว่าไม่ใช่แค่เพียงผลงานที่ทำให้เรา
ได้ซาบซึ้ง ได้หัวเราะ ได้ร้องไห้ แต่ชีวิตของ ป.อินทรปาลิต ก็เป็นตัวอย่างชีวิตของผู้ที่เลือกเดินเส้นทางนี้ ซึ่งเป็นสายงาน
ที่บุคคลที่เกิดในสมัยเดียวกับท่าน เขาไม่เลือกกัน แต่ท่านก็ยังเลือกที่จะเป็นนักเขียน โดยที่ไม่ได้หวังผลประโยชน์อะไร
ในระยะที่อยู่บนเส้นทางของการประพันธ์ ป.อินทรปาลิต ทำงานเขียนอยู่ตลอดเวลา
         หากแม้ในวันนี้เราจะไม่พูดถึงเรื่องลิขสิทธิ์ เราก็ยังเห็นได้ว่าผลจากการสร้างสรรค์งานของท่านได้ปรากฏในใจ
ของคนรุ่นเรา ในใจของคนรุ่นใหม่ ที่เขาได้รับแรงบันดาลใจ ได้รับอิทธิพล ทำให้เห็นว่างานนั้นได้ให้ประโยชน์อย่างไรบ้าง
ย้อนกลับไปดูสังคมได้อย่างไรบ้าง มองเห็นชีวิตที่เป็นจริงอย่างไรบ้าง"

       ทั้งหมดเป็นที่ประจักษ์ว่า ถึงแม้ตัวผู้ประพันธ์จะจากไปแล้ว แต่ผลงานยังคงเป็นอมตะ และมีอิทธิพลทางความคิด
ต่อคนรุ่นหลังอย่างไม่เคยเสื่อมคลาย.


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 22 มี.ค. 08, 21:09
ตัวเอกในดวงใจดิฉัน นิกร การุณวงศ์ค่ะ
ไม่ว่าจะพูด จะคิดอะไร มันช่างแหวก บ้าบิ่น และเต็มไปด้วยปฏิภาณไหวพริบ
ชวนให้ขำ และเอ็นดู
แต่ตัวนิกรเอง รสชาติชีวิตคงปร่า ถ้าขาดอาเสี่ยกิมหงวนซึ่งบ้าฉีกแบงก์ ใจถึงไม่ได้
เพราะนิกร เหนียวหนึบ..
.................................


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 08, 22:04
ชอบเพลงลิเกของพ่อกระดิ่งทองนิกรค่ะ    ฉากโปรดคือนิกรลุกขึ้นรำป้อ ไม่ว่าในห้องอาหาร ห้องรับแขก ริมถนนหนทาง
กับฉากที่พี่แกตะกละสิ้นดี   จนนันทาพี่สาวเอ็ดตะโรเอา

ตอนแรกๆชอบพล ที่คุณป. ให้สมญาว่า ไอ้เสือรูปหล่อ     ขนาดตอนสามเกลอไปเที่ยวฮอลลีวู้ด  คุณป.บรรยายว่า พอลสวยเก๋ขนาดข่มไทโรน เพาเวอร์ให้ด้อยลงไปถนัดตา
เลยเอารูปไทโรนมาลงให้ดูกัน  หล่อขนาดนี้ยังสู้พล พัชราภรณ์ไม่ได้    พระเอกคุณป.หล่อถึงขนาดไหนก็ลองคิดดูเอง


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 08, 22:09
เรื่องลิขสิทธิ์ของป.อินทรปาลิต ทราบว่าบางส่วนก็เป็นของท่าน ตกทอดไปถึงภรรยาคนที่สอง คือคุณปราณีซึ่งใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกา  ไม่ได้ข่าวคราวมาหลายปี
และอีกส่วนหนึ่งตกทอดถึงหลานซึ่งเกิดจากบุตรสาวของภรรยาคนแรก

และอีกเรื่องที่ยังสับสนอยู่ ถ้าหากว่าทำให้ระคายเคืองผู้ใดก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย
คือหนังสือพิมพ์ลงเป็นทำนองว่า ในบั้นปลายชีวิต  คุณป.ค่อนข้างลำบาก 
ผลงานมากมายและตัวละครที่สร้างมา อย่างอาเสี่ยกิมหงวน ช่วยอะไรท่านไม่ได้เลย
ไม่ทราบว่าจริงเท็จสักกี่ %  เพราะดูเหมือนว่าคุณปริญญา ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ แต่จำรายละเอียดไม่ได้แล้ว

คุณศิลาจำได้ไหมคะ


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 23 มี.ค. 08, 12:08
          ถามกูเกิ้ลดูเรื่องราวชีวิตของท่านครับ
 
          ชีวประวัตินักเขียนสมัยก่อนมักจะจบบทสุดท้ายด้วยอายุขัยที่ไม่มาก มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะ
โรคจากการดื่มสุรา และ มีความเป็นอยู่อย่างลำบากอย่างที่สมัยนั้นเรียกกันว่า ไส้แห้ง

         ประวัติท่าน ป. ของกรมศิลปากรบันทึกว่า - บั้นปลายชีวิตของเขาจบลงอย่างลำบากยากจน

          ในขณะที่คุณ KRIT (00330) เสนอข้อมูลจากการสนทนากับผู้ใหญ่ที่นับถือ และเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์เก่าแก่
ในเวิ้งนครเขษมว่า

            คุณป.อินทรปาลิตเป็นนักเขียนที่มีรายได้ดีที่สุดคนหนึ่ง ในบรรดานักเขียนไทย
ในยุคนั้น ท่านมีรายได้ทุกวัน เบิกเงินค่าเขียนล่วงหน้าได้ทุกเวลา อาจจะเป็นเพราะระบบการจัดจำหน่ายหนังสือ
และธุรกิจการพิมพ์ในสมัยนั้น ซึ่งแตกต่างกับการตลาดหนังสือในปัจจุบัน ทำให้นักเขียนอาชีพไม่สามารถสร้างฐานะ
ให้มั่นคงได้จากการเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียว ขณะที่คุณป.มีชีวิตอยู่ ท่านก็มีความพอใจกับระบบตอบแทน
ค่าเขียนในสมัยนั้น ผมเองได้พยายามถามผู้ใหญ่ว่าคุณป.พอใจหรือไม่ ท่านผู้ให้ข้อมูลซึ่งทำงานร่วมกับคุณป.
ยืนยันว่าคุณป.พอใจ

           คุณเริงไชย พุทธาโร ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของ  ป.อินทรปาลิต กล่าวถึงลิขสิทธิ์ว่า 

           ลิขสิทธิ์ของเขากระจัดกระจาย ที่ผมเห็นก็ที่ผดุงศึกษาเป็นลิขสิทธิ์ขายขาด และของที่อ่านก็ขายขาดอยู่หลายแห่ง
อย่างบรรณาคาร ก็เหมือนกัน
        ..จริงๆ แล้ว เรื่องลิขสิทธิ์ของ ป.ไม่มีใครรู้เลยแม้กระทั่งหลาน รู้แต่ว่าขายขาด แต่ไม่รู้ว่าขาดอย่างไร ตอนนี้มี
ประพันธ์สาส์นและบรรลือสาส์น แต่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำสัญญากันอย่างไร

         


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 23 มี.ค. 08, 12:15
                ส. บุญเสนอ เขียนเรื่องลิขสิทธิ์ว่า

      มีสำนักพิมพ์หลายแห่งได้กรรมสิทธิ์บทประพันธ์ของเขา และซื้อราคาแพงกว่าของคนอื่น
ด้วยมั่นใจว่าอย่างไรเสียคงได้พิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง จึงกล้าลงทุนล่วงหน้าเอาไว้

      วิธีการซื้อขายลิขสิทธิ์บทประพันธ์ที่กระทำกันค่อนข้างจะแปลกสักหน่อย
มิใช่เลือกซื้อกันเป็นเรื่องๆ ต้องเหมาหมดเป็นปีๆ หมายความว่าคุณปรีชาเขียนอะไรไว้บ้างตลอดพ.ศ.นี้
ไม่ว่าจะเป็น เรื่องสั้น, เรื่องเป็นเล่ม หรือเรื่องที่ลงพิมพ์ในหนังสือรายอะไรก็ตาม ผู้ซื้อได้ลิขสิทธิ์ทั้งหมด
..เท่ากับได้ลิขสิทธิ์แถมพก ตัวเงินตัวทองอยู่ที่หนังสือเล่ม
       สำหรับบทประพันธ์ดังกล่าวในพ.ศ.ต่อๆ มาก็ซื้อขายในลักษณะเดียวกัน แต่อาจเป็นคนละสำนักพิมพ์
ใครมือไวและยาวกว่า ก็สาวได้ เฉพาะเรื่องยาวเช่น "เสือใบ" หรือ "เสือดำ" แยกขายต่างหากเป็นเรื่องๆ ไป

         มีข้อแม้ในการซื้อขายอย่างหนึ่งคือต้นฉบับทั้งหมดผู้ซื้อต้องขวนขวายหาหนังสือเอาเอง
ผู้ขายไม่มีให้เพราะนักเขียนส่วนมากไม่ค่อยได้เก็บหนังสือเรื่องของตนเอาไว้ครบชุด จะหาต้นฉบับได้
อย่างไรจากที่ไหนจึงเป็นปัญหา จะไปขอคัดลอกจากหอสมุดฯ ก็ยุ่งยากมิใช่น้อย แต่ทางออกพอยังมี
สำหรับหนังสือที่พิมพ์เป็นเล่ม คือเที่ยวเสาะหาเอาตามร้านให้เช่าหนังสือที่มีอยู่ทั่วกรุงเทพฯ  โดยวิธีการ
"ทุกรูปแบบ" อันเป็นคำใหม่ที่นิยมใช้เกร่อกันทุกวันนี้
       มีนักเขียนไม่กี่คนใช้ระบบซื้อลิขสิทธิ์เป็นปีๆ ดังที่เล่านี้ นอกนั้นเจาะจงซื้อขายกันเป็นเรื่องๆ

        หลานปู่ ปริญญา อินทรปาลิต เล่าชีวิตช่วงสุดท้ายของท่าน ป.ว่า

        2506 - ทำหนังสือ "ศาลาโกหก"(เรื่องเบาสมอง), "ศาลาดาวร้าย"(เรื่องบู๊) , "ศาลาระทม"(เรื่องชีวิตรักโศก),
"ศาลาปีศาจ"(เรื่องผี) และ "นิทานคุณหนู" ประชันกันเดือนละเล่ม โดยเขียนคนเดียวทั้งหมด และยังเขียนสามเกลอ
พ็อคเก้ตบุ๊คอีก ในที่สุดคงเหลือแต่ "ศาลาโกหก" คู่กับสามเกลอเล่มเล็ก ตลอดจนเรื่องประเภทอื่นอีกจำนวนหนึ่งเท่านั้น

        2510 - ช่วงปลายปีเข้าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สาเหตุจากเบาหวานโรคประจำตัวตั้งแต่ปี 2498 รักษาตัวประมาณ 2 เดือน
จึงกลับบ้านเขียนหนังสือต่อไป
(อยู่โรงพยาบาลตั้งสองเดือน อาการคงไม่น้อย)

       2511 - ปลายเดือนมีนาคม เข้าโรงพยาบาลจุฬาฯ ครั้งที่สอง คราวนี้อยู่นานเกือบ 3 เดือน จนสุขภาพดีขึ้นในขั้นน่าพอใจ

        ท่านป.จากไปวันที่ 25 กันยายน  2511 เมื่อเวลา 18 นาฬิกา 15 นาที   


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 23 มี.ค. 08, 16:56
      ฟ้าทะลายโจร  ภาพยนตร์ไทยย้อนยุค สีสดจัดจ้าน ที่ไปคว้ารางวัล และได้รับคำชื่นชมในเมืองนอก
แต่ประสบความล้มเหลวในบ้าน
       ผู้สร้างได้แรงบันดาลใจจาก - หนังไทยยุคเก่า เพลงสมัยก่อน และ นิยายของ ป. อินทรปาลิต ครับ

หนึ่งในหลายฉากที่ติดตาคนดู - การดวลปืน ระหว่างเสือดำ - พระเอกกับเสือมเหศวร   


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 23 มี.ค. 08, 17:06
เลือนรางมากเลยครับ เรื่องเสือทั้งสาม ผมอ่านแต่ที่เป็นการ์ตูน ส่วนหนังฟ้าทะลายโจร เพื่อนผมไปดูมาแล้วเธอบอกว่า มันไม่ใช่หนังฮ่ะ มันคือการจัดวางองค์ประกอบของภาพนิ่ง แล้วมาต่อๆกัน คุณเข้าใจมั้ยยย์
คนโฆษณาเขาเรียกว่า หนังพวกอาร์ต ไดเร็คเตอร์
ตั้งแต่เรื่องนางนากมาเลย ..คนเขียนบท เขียนบทหนังไม่ได้เป็นบทหนังเลย...


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 23 มี.ค. 08, 17:25
       หนังนานหลายปีแล้ว ที่ยังจำได้ชัดเป็นเรื่องงานสร้าง - ภาพสวย เพลงไพเราะ เรื่องราวแบบตั้งใจ
ให้เป็นแบบหนังไทยยุคก่อนที่บางคนเหยียดกัน ครับ
       เรื่องของบท เข้าใจว่าเขียนเป็นสตอรี่ บอร์ด แล้วจงใจประดิษฐ์จัดสร้างให้แต่ละภาพออกมา
เป็นแบบงานศิลป์สวยสุด จนติดตาคนดู อย่างนี้กระมังทำให้ดูแล้วกลายเป็นภาพงามนำมาเรียงเป็นเรื่อง
       แต่ก็ไม่มีปัญหาในการสื่อเล่าเรื่อง เพราะพาแม่ไปดู ก็ดูได้สนุกเพลิดเพลิน ไม่บ่นว่า
หนังอะไรไม่รู้ ดูไม่รู้เรื่อง
       


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 23 มี.ค. 08, 22:09
ผมเคยกินฟ้าทลายโจรเวลาเป็นหวัด...... เอ๊ย


เคยดูมาหนนึงครับ จำได้ว่าโทรทัศน์ช่องไหนซักช่องนำมาฉาย
(น่าจะเป็นรอบดึก หลังละครหลังข่าวไปแล้วนะครับ)
ดูแล้วรู้สึกว่าภาพสวย เพลงใช้ได้ แต่ที่ประทับใจที่สุดคือ ฉากครับ
ฉากสวยมาก เครื่องแต่งกายของตัวละครดูทุ่มทุนสร้างอย่างตั้งใจทำ
แต่ทำไมดูๆไปความรู้สึกเหมือนว่าเนื้อของหนังมันน้อยกว่าที่คิดไปหน่อย....
แอบยืดเหมือนละครหลังข่าว แต่ก็สั้นแค่สองชั่วโมง จบซะแล้ว
เหมือนนั่งอ่านการ์ตูนโดนัลดั๊กในวารสารการ์ตูนซักตอนเท่านั้นแหละ

ผมเดาเอาว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับผมแบบนี้หรือเปล่าครับ
ที่คุณภูพูดถึงว่าเหมือนนำภาพสวยๆมาเรียงต่อกันมากกว่าเป็นบทหนัง ??
ถ้าผมเข้าใจอะไรผิดไป ต้องรบกวนขอความอนุเคราะห์จากคุณภูด้วยนะครับ


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 24 มี.ค. 08, 12:04
ต้องย้อนกลับไปถามผู้กินกับ!! เอ๊ย...ผุู้กำกับครับคุณติบอ ว่าเขากำลังให้อะไรกับคนดู ..เค้าก็จะตะโกนบอกกลับมาว่าให้ไปหมดแล้วดูเอาเองจากในหนังนั่นแหละ !!!

เราได้อะไรจากหนัง นั่นคือความรู้สึกโต้ตอบทันทีที่เราเพิ่งดูจบ.....หลับ..ครอก ..!! สนุก รู้สีกอิ่มเอิบ ซาบซึ้ง รันทด ตลก  ห่วย ไม่ดูก็ได้ เสียดายตังค์ คุ้มค่า เสียเวลาลุกออกกลางโรงเลย ตื่นเต้นเหลือเกิน!!!!! ยิ่งใหญ่อล้งการ..ฉีกรูปแบบแปลกไม่เคยมีหนังเรื่องใหนทำมาก่อน  แง่คิดมุมมองใหม่ที่ทำให้เราหูตาสว่างขึ้น เทคนิคใหม่ที่ตรึงเราไว้กับที่นั่งตั้งแต่เริ่มดูจนหนังจบแล้วเรายังอินอยู่  ความกลัวสยดสยองที่ติดตามาจนลืมไม่ลงเก็บไปฝันร้ายอยู่ 3 วัน ความซาบซึ้งจนน้ำตาที่ไหลพรากในโรง(ไม่กล้าปาดกลัวคนข้างๆ ค้อนผู้ชายอะไร้..ใจปลาซิว) เรื่องนี้ต้องมาดูซ้ำเพื่อเก็บรายละเอีบดบางซีน  หรือมีบางวลีเป็นpoemที่ประทับใจมาก ฟังไม่ทัน (สมัยยังไม่มี DVD) นั่นคือผล

ผมเชื่อว่าทุกคนมีการจัดอันดับหนังที่อยู่ในใจไม่ต้องรอให้นักวิจารณ์หนังมาให้ดาวจึงเอออวย




กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 24 มี.ค. 08, 16:28
ดิฉันเป็นอีกคนค่ะ ที่ต่อมน้ำตาทำงานไวมาก เวลาดูหนัง หรืออ่านเจอคำพูดที่สะเทือนใจจริงๆ มันจะไหลพรากๆกลืนกับความมืด
ต่อมหัวเราะสิคะ ทำงานช้ากว่า แต่บทจะขำก็ไม่กิ๊กหรอก ฮาเลย ขึ้นอยู่กับดีกรีความสนุก
โดยเฉพาะเรื่องเปิ่นๆของนิกร กับกิมหงวน
อาจารย์อุตส่าห์หารูปไทโรน พาวเวอร์มาลง โอ้โฮ้... หล่อแบบน่ากราบค่ะ โบร้าณโบราณ เป็นประมาณคุณชายผู้สูงส่ง ไม่กล้าหลงรัก
นายพล พัชราภรณ์ยังหล่อกว่าไทโรนเชียว ดิฉันว่า เกรเกอรี่ เป็คน่ะ ก็ในฝันแล้วนะ
ถ้านึกถึงชายไทย น่าจะหล่อประมาณคุณชนะ ศรีอุบล หรือคุณไชยา สุริยันได้ไหมคะ
แต่คุณป. ไม่เคยพรรณาพล พัชราภรณ์ แล้วทำให้ดิฉันนึกภาพคุณมิตร ชัยบัญชา
มีละครชุดสามเกลอที่ดิฉันเซ็งมาก เอาดาวตลกมาเล่นเป็นนิกร คือคุณสมพงษ์ พงษ์มิตร ถึงจะเล่นดีแค่ไหนก็เถอะ มี"นิกร"อยู่ข้างใน แต่ก็ไม่ใช่นิกร การุณวงศ์ที่คิดไว้
เหมือนรพินทร์ ไพรวัลย์ ที่กลายเป็นคุณอะไร ที่ลงทุนสร้างหนัง และเล่นเป็นพระเอกมันเสียเลย.. ฮึ่ม


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 24 มี.ค. 08, 20:08
ถ้าเดาไม่ผิด....กระทู้นี้จะต่อด้วยเพชรพระอุมาแน่นอน
ดูเหมือนว่า วงการนิยายไทย จะมาสุดเพดานที่สองเรื่องนี้
(ในแง่โปรดั้คชั่นนะครับ คือไม่ยอมเลิก....ซะที)

ผมขอสารภาพก่อนเลยว่า เพชรพระอุมานี่ เป็นยาขมของผมอย่างแท้จริง
อ่านจบไปหนึ่งภาค สมองไม่รับอะไรเลย
จำได้แต่ว่า ไม่ค่อยจะปลงใจตามถ้อยคำที่อ่าน มันรู้สึกเว่อๆ ยังไงชอบกล

โชคดีที่กระแสผู้ชนะสิบทิศซาหายจ้อยไปแล้ว
ตอนเด็กๆ ชอบหน้าปกมาก เขียนรูปสวย มีชีวิตชีวา
แต่ไม่เคยจำอีกเหมือนกันครับ

ผมนี่เอาดีทางนิยายไม่ได้เลย....เซ็ง


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มี.ค. 08, 21:09
อ้างถึง
ส. บุญเสนอ เขียนเรื่องลิขสิทธิ์ว่า
      มีสำนักพิมพ์หลายแห่งได้กรรมสิทธิ์บทประพันธ์ของเขา และซื้อราคาแพงกว่าของคนอื่น
ด้วยมั่นใจว่าอย่างไรเสียคงได้พิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง จึงกล้าลงทุนล่วงหน้าเอาไว้
      วิธีการซื้อขายลิขสิทธิ์บทประพันธ์ที่กระทำกันค่อนข้างจะแปลกสักหน่อย
      มิใช่เลือกซื้อกันเป็นเรื่องๆ ต้องเหมาหมดเป็นปีๆ หมายความว่าคุณปรีชาเขียนอะไรไว้บ้างตลอดพ.ศ.นี้
      ไม่ว่าจะเป็น เรื่องสั้น, เรื่องเป็นเล่ม หรือเรื่องที่ลงพิมพ์ในหนังสือรายอะไรก็ตาม ผู้ซื้อได้ลิขสิทธิ์ทั้งหมด
..เท่ากับได้ลิขสิทธิ์แถมพก ตัวเงินตัวทองอยู่ที่หนังสือเล่ม
       สำหรับบทประพันธ์ดังกล่าวในพ.ศ.ต่อๆ มาก็ซื้อขายในลักษณะเดียวกัน แต่อาจเป็นคนละสำนักพิมพ์
ใครมือไวและยาวกว่า ก็สาวได้ เฉพาะเรื่องยาวเช่น "เสือใบ" หรือ "เสือดำ" แยกขายต่างหากเป็นเรื่องๆ ไป

       อ่านข้างบนนี้แล้ว ต้องแยกเป็น ๒ ประเด็นค่ะ  ไม่ใช่ประเด็นเดียวอย่างคุณ ส.บุญเสนอ สรุปไว้
        ๑  ไม่ว่าคุณป. เขียนอะไรออกมา  สำนักพิมพ์ซื้อหมด ไม่เกี่ยงเลย 
        เหมาพิมพ์ขาย จ่ายเงินให้หมด เท่ากับแรงงานของคุณป. ไม่มีวันสูญเปล่า  ขายเป็นเงินได้ทุกตัวอักษร
        มองเห็นได้ว่าคุณป.ต้องเป็นนักเขียนยอดนิยมในยุคของท่านแน่นอน  สัญญาลิขสิทธิ์แบบนี้ ไม่ได้ทำกับนักเขียนทุกคน  นักเขียนส่วนใหญ่(แม้แต่นักเขียนใหญ่อย่างมนัส จรรยงค์ หรือก.สุรางคณางค์) ก็ไม่ได้ทำสัญญาแบบนี้    แต่สนพ.จะเลือกซื้อเป็นเรื่องๆไป  สนพ.มีสิทธิ์ปฏิเสธเรื่องไหนก็ได้
        ๒  ลิขสิทธิ์ในสมัยนั้น ซื้อขายครั้งเดียว เป็นของสนพ.ไปเลย  ที่เราเรียกว่าขายขาดน่ะค่ะ    ไม่ได้ซื้อขายเป็นจำนวนแต่ละครั้งอย่างในยุคหลัง     
         เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันประจำ  ระหว่างผู้พิมพ์และนักเขียน   ไม่ได้ถือว่าใครเอาเปรียบใคร   เพราะยุคนั้นหนังสือที่พิมพ์ซ้ำมีน้อยมาก   คนอ่านมีจำนวนไม่มาก    สนพ.ก็กะพิมพ์ขายให้ลูกค้าในจำนวนแน่นอน  ดังนั้นโอกาสจะฮือฮาจนพิมพ์ครั้งแล้วครั้งเล่า จึงแทบไม่เห็นกันเลย
         งานของคุณป. มีจำนวนมหาศาล   ในเมื่อขายได้ทุกเล่ม  เพราะสนพ.เหมาหมดเป็นปีๆ  จำนวนปีที่ท่านผลิตสามเกลอ ยาวนานตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงประมาณ ๒๕๑๐ ประมาณ ๓๐ ปี    เงินรายได้ รับรองว่ามากกว่าข้าราชการประจำที่ทำงานจนถึงเป็นอธิบดีแน่นอน   
          แต่ทำไมท่านถึงลำบากในบั้นปลาย อาจจะมีเหตุผลอื่น ที่ดิฉันไม่ทราบว่าอะไร    แต่ไม่ใช่เพราะเขียนหนังสือรายได้น้อยจนเรียกว่าไส้แห้ง
          คุณก.สุรางคณางค์ เขียนนิยาย ผลงานน้อยกว่าคุณป.หลายเท่า  เธอก็สามารถสร้างฐานะ มีบ้าน ส่งเสียลูกๆให้มีการศึกษาถึงต่างประเทศได้   อีกคนที่ฐานะดีจากการเขียนหนังสือคือคุณเลียว ศรีเสวก หรือ "อรวรรณ"  แต่ท่านมีฝีมือทำงานอื่นๆ ได้หลายอย่างด้วย  เป็นศิษย์เก่าที่น่าภูมิใจของโรงเรียนเทพศิรินทร์
   
http://www.debsirin.or.th/history/anew3-33.html


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มี.ค. 08, 21:13
ฟ้าทะลายโจร ได้ดูแล้ว  มองเห็นความฝันของเด็กชายที่ติดใจการ์ตูนไทยและนิยายไทยรุ่นเก่าหลายเรื่อง  เอามาสานฝันขึ้นเป็นหนัง ในรูปแบบที่เขาเคยจินตนาการเห็นจากหนังสือ
สีสันบางฉากเหมือนเดินออกมาจากหนังสือการ์ตูนสี
ตัวละครไทยควบม้ายิงปืนเป็นคาวบอยไทยของป.อินทรปาลิต
ไม่พึ่งความจริงแบบเรียลลิสติค
แฝงอารมณ์ขันในภาพเว่อๆเอาไว้ อย่างตอนพระเอกเอาปิ่นโตประเคนผู้ร้าย มาดเท่มาก

เรื่องสตอรี่บอร์ด ไม่ทราบค่ะ เพราะไม่รู้เรื่องทางนี้  รู้แต่ว่าดูเรื่องนี้กับลูกสาวที่เรียนศิลปะ เธอชอบอกชอบใจมาก


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 มี.ค. 08, 00:09
หนังมีสองแบบ คือแบบที่อวดเรื่อง กับแบบที่อวดรูปแบบ
ผู้กำกับทั่วไปมักจะพยายามรวมสองส่วนนี้เข้าด้วยกัน

หนังที่อวดรูปก็อย่างเช่น โจรสลัดแห่งแคริเบียน มีเนื้อเรื่องถึงสามบันทัดหรือไม่ก็ไม่แน่ใจ
ฟ้าทะลายโจรก็ระดับเดียวกัน
เวลาดูหนังประเภทนี้ เราจึงดูกันที่ลูกเล่นแห่งการสร้างสรรค์

สตอรี่บอร์ดคือบทหนังที่เขียนเป็นรูป เขียนละเอียดจนแทบจะพิมพ์เป็นเล่มขาย
ในเมืองไทย ถ้าจำไม่ผิด คุณเปี๊ยกเป็นคนทำใช้ก่อนคนอื่น
เพราะแกเป็นช่างเขียน แกจึงเห็นผ่านกรอบสี่เหลี่ยมเสมอ

ฟ้าทพลายโจรก็คือสตอรี่บอร์ดที่ใส่สี และกระดุกกระดิกได้
ตรงนี้เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน
จุดแข็ง ทุกท่านคงเห็นกันแล้ว
จุดอ่อนในความเห็นของผมก็คือมันมิใช่หนัง มิใช่ภาพยนตร์ มิใช่การเล่าเรื่องผ่านความเคลื่อนไหวของตัวแสดงและฉาก
แต่เป็นฉากที่เคลื่อนไหวม้วนตัวแสดงเข้าไว้เหมือนคลื่นม้วนสรรพสิ่งเข้าใต้การเคลื่อนไปของน้ำทะเล
ถามว่า แล้วเป็นงัยล่ะ

ตอบว่า ภาพยนตร์ เป็นศิลปะที่ต้องใช้มากกว่าบทหนังสีลูกกวาดครับ
คนดูจะชอบลูกกวาดสีสวยที่เคลื่อนไหวไปมา ก็ไม่ได้เสียหายแต่อย่างไรนะครับ เพราะมิติหนึ่งของหนังคือความบันเทิงอยู่แล้ว
แต่สำหรับหนังที่โปรดั๊คชั่นเป็นพระเอก....ฟ้าทะลายโจรสอบผ่านแบบคาบเส้น

นี่ตัดเกรดแบบไม่เข้มงวดแล้วนะครับ
ถ้าเอาทิมเบอร์ตันเป็นเกณฑ์ละก้อ ต้องซ๋อมครับ ผ่านแบบมีเงื่อนไข
ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราละครับ ว่าจะพอใจที่จะคิดว่าคนไทยทำได้แค่นี้ เก่งมากแล้ว....เย้ เย้  ๆๆๆๆๆ

หรือกัดฟัน เดินให้พ้นกรอบแคบๆ ที่เราสร้างมาขังเราเอง


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 25 มี.ค. 08, 00:24
โชคดีที่กระแสผู้ชนะสิบทิศซาหายจ้อยไปแล้ว
ตอนเด็กๆ ชอบหน้าปกมาก เขียนรูปสวย มีชีวิตชีวา
แต่ไม่เคยจำอีกเหมือนกันครับ



มั่นใจว่ายังไม่หายไปไหนหรอกครับ คุณพิพัฒน์
ไม่เชื่อลองดูภาพยนตร์หรือละครบิดเบือนประวัติศาสตร์อยุธยาช่วงราชวงศ์สุโขทัยตอนต้นหลายเรื่องสิครับ
บุเรงนองโผล่มาตอนไหน..... พี่แกก็ยังเป็นผู้ชนะสิบทิศซะตอนนั้น



ก็ผู้ชนะสิบทิศยัง never die อยู่ในอนุสติของผู้กำกับหนังวัยผู้ชนะสิบทิศฟีเวอร์นี่ครับ..... อิอิ


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 มี.ค. 08, 01:09
ผมไม่ใช่ชาวชาตินิยมชนิดติดขอบ
แต่ผมงงคนไทยจริงๆ

มะยินหน่องมันมายึดประเทศเราเป็นขี้ข้า ย่ำยีเศวตฉัตรกรุงศรีไปเท่าไร
ดันไปนับเป็นวีระบุรุษ ติดกันทั้งสมาคมไฮโซ ขนาดสร้างซ้ำย่ำยีไม่รู้จักหยุด

พ่อโกโบรินั่นก็กรอกน้ำสบู่ใส่พุงคนไทยไปเท่าไร
ผลาญผู้หญิงไทยไปเท่าไหร่
ฆ่าคนไทยไปเท่าไหร่

ดั๊น.... มีคนชื่นชอบอยู่ซะมะละงั้น

เซ็ง


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 25 มี.ค. 08, 01:42
คนไทยชอบคนประสบความสำเร็จครับ ถึงแม้บางอย่างจะเป็น...ก็ตาม
อุ๊ป
 :-X :-X :-X


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 มี.ค. 08, 06:18
ไม่ชอบพม่าเหมือนกัน  ตอนกวาดต้อนครัวไทย   
ใครก็ไม่รู้ เขียนหนังสือว่าเจาะเอ็นร้อยหวายล่ามไว้ด้วยกัน
เชื่ออยู่หลายปี


ญี่ปุ่นมาเมืองไทยไม่ชอบเหมือนกัน   ปลอมเป็นหมอฟันก็มี
กรมสืบราชการลับญี่ปุ่นเก่งนิ  เล่นส่งสายลับมาฝังตัวตั้งนาน

ชอบมอญ  แต่อ่านราชาธิราชแล้วนี่  อ่านบ่อยไม่สนุกเท่าไร  มีตอนโป๊แบบคลาสสิคด้วย

ชอบผู้ชนะสิบทิศ  ชอบไขลู เนงบา สีอ่อง  ชอบดาบอ่อนพันรอบตัว  ชอบรำผี  ชอบทรงผม  ชอบกุสุมาตอนเสียตัว   ชอบกุสุมาตอนจะหนีจากสอพินยา
ที่เหลือไม่ชอบเท่าไร




กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 25 มี.ค. 08, 07:36
มียาขมสำหรับดิฉันเหมือนกันค่ะ
ที่บ้านจะมีหนังสือหลายประเภท ที่เป็นมรดกตกทอดก็พวกพระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน ดิฉันมีหน้าที่อ่านให้คุณยายและคุณป้า ทั้งสองท่านติดลิเก พอๆกับติดวรรณคดี และบทสวดมนตร์
รายสัปดาห์ก็สกุลไทย รายเดือนวีรธรรม กองหน้าร่าเริง ไม่นับการ์ตูนอัศวินสายฟ้า ปี่วิเศษ ฯลฯ
อีกประเภทก็เท่าที่พี่ๆทั้งลุง ป้าน้าอา พี่ชายพี่สาวบ้านเรา และอีกหลายๆบ้านที่เรียงรายอยู่ริมน้ำด้วยกัน
วิ่งรอกกันไปนั่งอ่าน อ่าน อ่าน เท่าที่จะมีขาไปได้
ใกล้สุด จ.ไตรปิ่น ต้องในตู้กับข้าวชั้นล่างของคุณลุง กองเป็นตั้ง อ่านแล้วงงว่าทำไม ผู้หญิงโบราณทำไมมันต้องน้ำตาเช็ดหัวเข่ายังงั้นนะ พระเอกก็จนจริงๆ
ติดๆกัน บ้านป้าที่ทำขนมอร่อยที่สุดในโลก ก็ผู้ชนะสิบทิศ สามก๊ก สามเกลอ ผู้ชนะสิบทิศคือยาขมของดิฉัน ภาษามันพรรณนาโวหารจนไม่อยากถูกจีบจากผู้ชายที่มีลีลาแบบยาขอบ
เลยไปอีกหลายบ้านก็บ้านคุณป้าใหญ่ บ้านนี้เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญา ด้วยมีตู้ในห้องกลางใบใหญ่ อัดแน่นไปด้วยเดลิเมล์วันจันทร์ สตรีสาร และศรีสัปดาห์ นอกตู้ก็มีชัยพฤกษ์ วิทยาสาร Current Song Hits และ I.S Song Hits
..........


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มี.ค. 08, 09:28
ไม่ศรัทธาความประพฤติส่วนตัวของผู้ชายอย่างจะเด็ด  รวมทั้งขุนแผนผู้เป็นที่มาของจะเด็ดด้วย  เลยไม่ติด "ผู้ชนะสิบทิศ" ค่ะ    อ่านเรื่องอื่นๆของยาขอบ มากกว่า   โดยเฉพาะสามก๊กฉบับวณิพก
แต่ก็นับถือว่าสำนวนของท่านพลิ้วพรายมาก   

การสร้างตัวละครนั้น เฟมินิสต์อาจจะออกมาโวย  ดูผู้หญิงจะมอบการถวายชีวิตแด่พระเอกเสียจนไม่เป็นอันคิดอะไรอื่น   พระเอกรับความชอบไปเต็มๆ   
โดยเฉพาะตอนที่บุเรงนองคิดจะอภิเษกจันทราคู่กับกุสุมาพร้อมกันสองคน   
ความคิดของยาขอบ ที่ว่าคนจะปลื้มจันทราที่เสียสละ   โล่งใจแทนนางเอกกุสุมาที่ได้แฮปปี้เอนดิ้ง นั้น      ผลที่ได้คือจะเด็ดรับกำไรไปเต็มๆคนเดียว
ก็ดีแล้วที่เสด็จพระองค์หญิงเฉิดโฉมท่านเสด็จมาห้ามเสียทัน  ไม่ให้เขียนตามนั้น


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 25 มี.ค. 08, 09:56
ชอบกุสุมาค่ะ
เหตุผลตอนเด็กๆไม่ใช่จากการอ่านหรอกนะคะ
อิทธิพลของนางเอกหนังค่ะ พิศมัย วิไลศักดิ์เล่นเป็นกุสุมา และดาราอีกคน สวย ประกวดนางงามมาแล้ว ดูดีเชียวหละ เล่นเป็นจันทรา นึกชื่อออกประมาณ วาสนา...(ไม่ใช่ชลากร)
ไม่ปลื้มค่ะ
เวลาอ่าน ก็จะนึกหน้าพิศมัยไปด้วย เลยปลื้มกุสุมาค่ะ
ยังงงๆเลยเมื่ออ่านเบื้องหลังว่า เจ้าองค์หนึ่งไปดักยาขอบ ไม่ยอมให้กุสุมาเท่าๆกับจันทรา
อยู่ข้างผู้มาทีหลังค่ะ
ไม่เกี่ยวกับศีลธรรมใดๆทั้งสิ้นนะคะ
เพราะผู้ชายอย่างจะเด็ด เป็นฝันของชายไทยยุคหนึ่งจริงๆ..
สังเกตได้ว่า มีงานทีไร ชอบร้องเพลง..เย้ยฟ้าท้าดิน กับผู้ชนะสิบทิศกันเสียจริงๆ
เฮ้อ...


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 25 มี.ค. 08, 10:43
แหะๆ... ที่ไหน ยุคไหนผู้ชายก็เป็นแบบนี้ล่ะครับพี่กุ้งแห้ง
คนไทยมีพ่อแผนเป็นยังไง พี่หรั่งแกก็มีเจมส์บอนด์ประมาณนั้น
ยังดีนะครับที่ผู้หญิงส่วนมากยังอายพอที่จะไม่กล้าลุกขึ้นมาเป็นตาม.....
ไม่งั้นล่ะ บ้านเมืองวุ่นวายกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้แหงเลย เหอๆ


ปล. ช่องอะรัยว๊า.... ยังอุตส่าห์ยกละครพรรค์นี้แบบแม่สาลี่กะอีเย็นมาเล่นกันอยู่นั่นแหละ รกลูกกะตา


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 25 มี.ค. 08, 11:57
          สมัยนั้นมีสองนิยายอิงประวัติศาสตร์ จากสองนักประพันธ์เอก เล่าเรื่องสองแผ่นดิน
คือ  ผู้ชนะสิบทิศ ของยาขอบ กับ ขุนศึก ของไม้ เมืองเดิม
       นักแสดงนำเป็นที่จดจำเมื่อนิยายถูกนำมาทำเป็นละคร คือคุณกำธร - เสมาในขุนศึก และ
คุณนิรุตต์ - จะเด็ด
       ตะละแม่จันทราหนังใหญ่สามตอนจบที่คุณกุ้งว่า คือคุณกรุณา ยุวกร ครับ เธอแสดงหนังอยู่ไม่นาน
แล้วก็ออกจากวงการไป

       คุณติบอ ละครอย่าง นางทาสนี่แหละ สร้างกี่ครั้งก็ยังเรตติ้งดีแน่นอน สร้างรายได้ให้สถานีเป็นกอบกำ
สำหรับช่องหลายสี ที่รายได้หลักมาจากละครหลังข่าว
       เมื่อหลายปีก่อนช่องน้อยสีก็มี อาญารัก ที่มีเนื้อเรื่องรุ่นพ่อ แม่เหมือนกับนางทาส แต่รุ่นลูกมีเรื่องราว
มากกว่า และแตกต่าง เรื่องนี้ก็มีคนดูล้นหลามเช่นกัน ครับ 

เลือกโปสเตอร์หนัง ผู้ชนะสิบทิศ ตอนจบครับ - จะเด็ด -ไชยา สุริยันนั่งอยู่ตรงกลาง ขนาบด้วยมเหสี ชายาทั้งขวาซ้าย


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 มี.ค. 08, 12:13
นิยายไทยเรื่องเดียวที่ตกค้างอยู่ในความทรงจำของผม คือเรื่องแก้วตาพี่
แต่ต้องขอประทานโทษที่แม้แต่ชื่อผู้แต่ง ก็ลืมซะแระ

ชอบตรงที่มีการวางส่วนผสมให้เรื่องเดินไปได้อย่างน่าติดตาม
ชอยที่สุดก็ตอนที่สาวเจ้า ยืนริมหาด นิ่งไม่ขยับ จนพระเอกที่เดินเลาะชายหาดมาด้วยประสาทสัมผัสของคนตาบอด
ก็ยังไม่รู้ว่ามีสิ่งขวางหน้า ชนเขาจังเบ้อเร่อ

เป็นฉากเปิดตัวคู่พระนางที่เท่มากในความรู้สึกของเด็กนักเรียนคนหนึ่ง
แต่เมื่อได้ไปอ่านนิยายแปลมากเรื่องเข้าในภายหลัง
ก็พบว่า นิยายของโลกนั้น เปลี่ยนคนอ่านได้จริงๆ
เปลี่ยนเข้าไปถึงระดับจิตวิญญาน

ในขณะที่นิยายไทย อ่านร้อยเรื่อง ไม่เปลี่ยนอะไรเลย


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มี.ค. 08, 12:32
แก้วตาพี่ เป็นงานของนิตยา นาฏยสุนทร หรือคุณหญิงสุรีพันธุ์  มณีวัต ค่ะ
มีการดำเนินเรื่องแบบ flashback ย้อนตัดสลับกันไปมา   ไม่ได้เดินเรื่องตามลำดับเวลาตามธรรมเนียมการแต่งเรื่อง   เท่มาก
ฉากเปิดตัวพระเอกที่คุณพิพัฒน์ว่า อยู่ท้ายของเล่มหนึ่ง (เรื่องนี้สองเล่มจบ)   พระเอกนางเอกแต่งงานกันไปแล้วตอนเปิดเรื่อง  แล้วพระเอกมาทบทวนความหลังที่พบกันครั้งแรก

ละครย้อนยุค ที่เป็นชีวิตครอบครัวของขุนนาง มากเมีย  มีการกลั่นแกล้งรังแกกันในหมู่ผู้หญิง
คนทำดีกว่าจะได้ดีก็สะบักสะบอม   
เป็นรสชาติของละครหลังข่าวที่เรื่องไหนเรื่องนั้น เรตติ้งพุ่งสูง
นางทาส ของวรรณสิริ  ทำกี่ครั้งๆก็ดังค่ะ   ตั้งแต่สมัยมลฤดี ยมาภัยเล่นเป็นนางเย็น แล้ว


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 มี.ค. 08, 13:40
อีกประเด็นที่ชอบในเรื่องของนิตยา นาฏยสุนทร ก็คือ
ให้นางเอกเป็นครูสอนนายร้อย....เท่ อีกเหมือนกัน
แถมยังเอาความริยำของชายไทยวันนั้นมาเล่น
คือแข่งจีบผู้หญิง แลกเบียร์ขวดเดียว หรืออะไรประมาณนั้น
บัดซบจริงๆ

นับว่าเป็นนักเขียนหมายเลขสองที่ผมจำได้ ถัดจากดอกไม้สด
แปลกจริง ที่ผมไม่ปื้มม์กุหลาบสายประดิษฐ์
ยกเว้นหน้าเปิดเรื่องของแลไปข้างหน้า

สงครามชีวิตเป็นงานเขียนที่อุดมไปด้วยถ้อยคำผะอืดผะอม และความคิดที่สิ้นคิด
นักเขียนนอกจากนี้ก็คงต้องขอนั่งอ่านอยู่รอบนอกละครับ
------------------
แต่เพื่อจะลากการสนทนากลับเข้าหัวข้อ
(ซึ่งอุตส่าห์เอามาปักหลักในห้องประวัติศาสตร์)

ผมจะลองทบทวนกิจกรรมการสร้างและหาหนังสืออ่าน เท่าที่มีอยู่ในกระเป๋า
อันดับแรกคือร้านขายหนังสือครับ

ราวๆ ปี 2510 ครอบครัวผมก็ย้ายจากป่าช้าวัดดอน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปในซอยลึก
ข้างวัดสุวรรณ ตรงข้ามท่าน้ำของบริษัทเสริมสุข ติดกับโรงงานดูเม๊กส์

การย้ายบ้าน ทำให้ผมต้องเดินทางไกลมากขึ้น
คือเดินออกจากบ้าน มาที่ท่าเรือ ระยะทางเกือบหนึ่งกิโเมตร
ข้ามเรือหนึ่งสลึงมาที่ท่าน้ำหลังตลาดบางรัก
เดินต่อมาที่ซอยดอนกุศล เข้าซอยมาอีกหนึ่งเหนื่อยก็ถึงโรงเรียนมัธยมเปิดใหม่
ที่ๆ ผมได้เลขประจำตัวแสนจ๊าบ 555 (ท่านคงรู้ละ ว่าผมติดเชื้อมาแต่เมื่อใด)

ระยะเวลาเดินทางราวสี่สิบนาที ไม่ขาดไม่เกิน
เส้นทางนี้แหละครับ ที่ผมเริ่มรู้จักโลกใบที่ผมเป็นสมาชิก
และองค์ประกอบหนึ่ง ที่ยังฝังอยู่ในความจำก็คือร้านขายหนังสือ

ร้านแรกต้องผ่านทุกวัน เช้าเย็น เพราะอยู่ห่างโรงเรียนออกมาแค่สองร้อยกว่าเมตร
ตำแหน่งแห่งที่ก็คือ ตรงข้ามประตูเข้าโรงเรียนศรีสุริโยทัย แต่เยื้องออกไปทางปากซอย
เป็นร้านขายสารพัดสิ่ง หน้าร้านแขวนหนังสือรายสารพัดลงมาบังทางเข้าเกือบครึ่งบ้าน
สำหรับคนไม่มีสตางค์ การยืนดูปกหนังสือ ก็ทำให้จินตนาการโลดแล่นเตลิดไปสุดขอบโลก
ที่แปลกก็คือ ร้านเล็กๆ ในซอยเข้าป่าช้าวัดดอน มีนิตยสารช่างอากาศขายด้วย(แฮะ)

ผมเป็นโรคบ้าเครื่องบินมาตั้งแต่จำความได้ ความผิดหวังครั้งรุนแรงที่สุดครั้งแรกในชีวิตก็คือ
เมื่อรู้ว่าสายตาสั้น....ก้อ อดเป็นนักบินอะดิ ตั้งแต่ในความมุ่งมั่นจะเป็นนักเรียนเรียนดีก็มอดไหม้กลายเป็นขี้ถ้ากลางสายฝน
แต่หนังสือช่างอากาศมันช่างยั่วใจเสียจริง

ผมเก็บเงินอยู่นาน จนครบสามบาท สอยช่างอากาศมาเป็นกรรมสิทธิ์
เป็นการซื้อหนังสือเล่มด้วยตัวเอง เพื่อตัวเอง เป็นครั้งแรก
หน้าปกเป็นเครื่องบินฝึกปีกชั้นเดียว ใบพัดหน้า ยี่ห้อ เซสน่า
กองทัพอากาศเพิ่งซื้อเข้าประจำการในปีนั้น ใช้เป็นเครื่องฝึกบินขั้นต้น
ผมพาหนังสือเล่มเล็กนี้ ไปให้พ่อดูด้วยใจตุ๊มๆ ต่อมๆ
พ่อห้ามอ่านหนังสืออื่นนอกจากตำราเรียนโดยเด็ดขาด จนกว่าจะปิดเทอมใหญ่
พ่อจะตีเราใหมหนอ กับเจ้าหนังสือที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนเล่มนี้.......เฮ้อ พ่อไม่ว่าแฮะ
ผมก็เลยมีภาระแห่งชีวิต ที่เรียกอีกอย่างก็ได้ว่าแส่หาเรื่อง
คือต้องเก็บเงินให้ได้เดือนละสามบาท เพื่อซื้อหนังสือช่างอากาศมาอ่าน

ในหนังสือนี้แหละครับ ที่ทำผมรู้จักสงครามเวียตนามและเวียตกง


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 25 มี.ค. 08, 14:15
ถัดจากโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย มีโรงเรียนประถมอยู่ ผมไม่แน่ใจว่าตอนคุณ pipat เดินผ่านทุกวันจะมีโรงเรียนประถมนั้นแล้วหรือยังนะครับ ถ้าผมเข้าใจไม่ผิดจะอยู่เครือเดียวกับนิพัทธ์ด้วยแหละ

ที่โรงเรียนนี้เอง ป.๔ ปีเดียว ผมอ่านสามเกลอไปร้อยกว่าตอน เพราะมีเพื่อนสองคนผลัดกันขนมาจากบ้าน ผ่านไปเกือบสามสิบปีแล้ว ไม่เคยเจอเพื่อนสองคนนี้อีกเลย เพราะจบ ป.๔ แล้วแยกย้ายไปเรียนที่อื่นกันหมด แต่ยังอยู่ในความทรงจำเสมอครับ

ขอบใจสุพัตรากับนิกร ที่ให้เรายืมอ่านสามเกลอทุกวัน


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มี.ค. 08, 14:31
ขอแยกซอยไปอีกทางค่ะ

ในยุคกึ่งพุทธกาล มีนักเขียนยอดนิยมอีกคนหนึ่ง ตีคู่มากับป.อินทรปาลิต ใช้นามปากกาว่า จ.ไตรปิ่น
หนังสือเล่มบางๆแบบเดียวกัน  เนื้อหาต่อเนื่องกันเป็นตอนๆ สักร้อยกว่าตอนได้กว่าจะจบ
คุณจ.ไม่เขียนแนวตลก แต่เขียนรักเศร้าเคล้าน้ำตา   เด็กๆอ่านไม่รู้เรื่องเลยไม่ได้ติดตามนัก
จำได้รางเลือน ว่าเรื่องฮิทติดอันดับชื่อ "ลูกคนยาก" และต่อมาก็มีเรื่องใหม่ชื่อ "ลูกผู้ดี"
พระเอกชื่อคุณ"ชาย" เป็นลูกชายคนเดียวของเจ้าคุณและคุณหญิง  แต่ทำไมตั้งชื่อลูกให้ชาวบ้านเรียกราวกับเป็นม.ร.ว. ก็ไม่ทราบ
ส่วนนางเอกเป็นลูกคนยากจน อาศัยอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน  หรือไม่ก็บ้านใกล้เรือนเคียง
แน่นอนว่าเรื่องดำเนินไปตามสูตร คือแม่ผัวยังไงก็ไม่ยอมรับสะใภ้จน   ส่วนคุณชายเองก็ถูกจับแต่งงานไปกับสาวอื่น    ไม่มีปากมีเสียงจะค้านพ่อแม่
มีปกหนังสือ วาดเป็นดราม่ามาก คือนางเอกแต่งชุดราตรียาว   สวมหน้ากากติดระบายเล็กๆ ปิดเฉพาะดวงตา  สีไวโอลินในงานแต่งงานพระเอก(หรือไงนี่แหละ) หน้าตาเธอโศกสลด
พร้อมจะให้คนอ่านน้ำตาท่วมกระดาษ

แต่พอดิฉันโตขึ้นมาหน่อย   ก็ไม่ได้ยินชื่อคุณจ.ไตรปิ่นอีก  จะเป็นเพราะไม่อ่านหนังสือพวกนี้อีกแล้ว หรือท่านวางมือไปแล้วก็ไม่ทราบ
คุณจ.เคยเขียนถึงตัวเองหลังจากนั้นต่อมาอีกสามสิบปี   เล่าถึงการเขียนหนังสือ ที่เจ้าของสนพ.เอาอกเอาใจมาก
ไปเขียนที่ร้านอาหารเล็กๆในสวนลุม  พอเขียน กินข้าวเสร็จที่นั่นซึ่งทางสนพ.หามาให้ ก็หลับไปบนเก้าอี้ผ้าใบ  ตื่นมาก็เขียนต่อ
มีการเช็คเรตติ้งจำหน่ายด้วย ว่าขายดีหรือไม่เพียงใด   ยอดตกลงเล็กน้อยก็ต้องเขียนให้เข้มข้นขึ้น มิฉะนั้นค่าเรื่องจะลดลงไปด้วย

คุณจ.ไตรปิ่นเคยเทียบชีวิตตัวเองกับฟิตสเจอรัลด์ ผู้แต่ง The Great Gatsby ด้วยค่ะ


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 25 มี.ค. 08, 14:54
       จำได้ว่าเคยอ่านพบ คุณวิลาศ มณีวัต คู่ชีวิตของผู้แต่งแก้วตาพี่กล่าวไว้ว่า ท่านประทับใจ ละครแห่งชีวิต
ของท่านอากาศดำเกิงมาก อ่านจบแล้วท่านตัดสินใจจะเป็นนักหนังสือพิมพ์
       แลไปข้างหลังช่วงหนึ่งแล้ว เห็น แลไปข้างหน้า, ปีศาจ และ ความรักของวัลยา ครับ อ่านแล้วกระตุกความคิด
กระตุ้นจิตสำนึก
 
  


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 25 มี.ค. 08, 15:29
อื้อฮือ อาจารย์จำละเอียดมากค่ะ
...

แหล่งหนังสืออีกแหล่งที่สำคัญมากคือห้องสมุดโรงเรียนค่ะ ที่นี่จะมีหนังสือในฝัน เช่นเทพนิยายนายกริมม์ นิทานนานาชาติ ยืมอ่านไม่เบื่อ เรื่องแปลของอ.สนิทวงศ์ เนื่องน้อย ศรัทธา เรื่องเจ้าๆที่เขียนโดยสมภพ จันทรประภาและประยุทธ สิทธิพันธ์ เรื่องเด็กๆของก.ศยามานนท์
รวมถึงเรื่องแปลของเทศภักดิ์ นิยมเหตุนักแปลในดวงใจด้วยค่ะ


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 มี.ค. 08, 16:22
โรงเรียนประถมแห่งนั้น อยู่มาก่อนผมเกิด และ "ควรจะ" อยู่ต่อไปเมื่อผมหาชีวิตไม่แล้ว ชื่อโรงเรียนโกศลวิทยาครับ
ตั้งโดยเงินของปอเต๊กตึ้ง สอนแค่ ป. 4 เพราะเป็นโรงเรียนภาษาจีน ต่อมาจึงขยายเป็นอีกโรงเรียน
เรียกว่าเป็นโรงเรียนพี่น้องกัน (แต่ความจริงไม่เกี่ยวกันเลย) ชื่อโรงเรียน นิพัทธวิทยา มีสอน ป. 5-7 และ ม.ศ. 1-3

คุณม้าอ่านหนังสือเร็วมาก ตอนผมจบจากโกศลฯ เพิ่งเริ่มอ่านหนังสือพิมพ์ออกเท่านั้น
โชคดีอีกด้วย เพราะสมัยผมเรียน โกศลเป็นโรงเรียนเด็กจนครับ พักกลางวัน จะมีเด็กเดินกลับบ้านไปกินข้าวเที่ยง
เพราะเป็นเด็กแถวนั้น รายได้ไม่มีพอจะเหน็บเงินสอง-สามบาทให้ลูกติดกระเป๋าไว้กินข้าวในโรงอาหาร

ดังนั้น สิ่งพิมพ์ที่ผมจะมีวาสนาได้เจอก็คือ กระดาษหนังสือพิมพ์ที่เขาพับเป็นถุงฝาหรั่งดอง
เจอที่ใหน รีบแกะออกอ่าน บางทีก็เป็นหน้ากระดาษจากพวกเดลิเมล์วันจันทร์ อ่านเปรมไปเลย
โกศลไม่มีห้องสมุดครับ

แต่มีประเพณีที่เยี่ยมมากคือ ตกเย็น เด็กจะรับเวรทำความสะอาดห้องตอนเลิกเรียน
ได้แก่การจัดโต๊ะให้ตรงแถว ถูพื้นให้สะอาด และลบกระดานให้เอี่ยม
ห้องที่ทำดีที่สุดในรอบอาทิตย์ จะได้รูปสวยๆ เช่นเรือใบโต้คลื่น ขนาดสักกระดาษเอ 3 แขวนเหนือกระดานดำ
ทำให้เป็นที่อิจฉาแก่ห้องที่ไม่ได้

ห้องที่ผมอยู่ทั้ง 5 ชั้นปี ไม่เคยได้รูปเกียรติยศมาแขวนเลย....เซ็ง


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 25 มี.ค. 08, 17:21
ขอคารวะศิษย์พี่ คิดไม่ถึงว่าโลกจะกลมขนาดนี้ครับ ศิษย์เก่าโกศลฯ ผมพบไม่บ่อยนักครับ ;D

ขออนุญาตแวะข้างทางรำลึกอดีตสักนิดนะครับ

สมัยผมเรียนมีถึง ป.๖ แล้วครับ แต่เด็กราวครึ่งหนึ่งจะย้ายไปเรียนที่อื่นหลังจากจบ ป.๔ จากสิบกว่าห้องก็เหลือแค่ ๖ ห้องเท่านั้นเอง
ผมเป็นพวกที่อยู่ต่อจนจบ ป.๖ โรงเรียนไม่มีชั้นเรียนให้แล้วถึงยอมออกครับ  ;D

ความที่เป็นโรงเรียนจีน ผมก็เลยโดนบังคับให้เรียนภาษาจีนจนถึงป.๔ จำได้ว่าเรียนทุกวัน วันละหนึ่งคาบ กว่าจะเริ่มเรียนภาษาอังกฤษหัด A B C ก็ ป.๕ โน่นแน่ะครับ พอถึงชั้นมัธยมนี่เหนื่อยเลย เพราะเพื่อนๆส่วนใหญ่เรียนกันมาตั้งแต่เด็กแล้ว

แล้วภาษาจีนก็ใช่ว่าจะดี เพื่อนๆส่วนมากเรียนวิชาอื่นได้แค่ไหน ภาษาจีนก็มักจะใกล้เคียงกัน แต่ตัวผม วิชาทั่วไปพอไปวัดไปวาได้ แต่ภาษาจีนนี่เต็มที สอบได้อันดับที่สิบกว่าถือว่าประสบความสำเร็จ ถ้าได้อันดับเลขตัวเดียวต้องเรียกว่าปาฏิหาริย์เลย  ;D ตอนนั้นขาดฉันทะครับ เสียดายเหมือนกัน

ผมเริ่มจำความได้ช้ามาก คือมาเริ่มจำความได้เมื่อย้ายมาเข้าเรียนที่โกศลตอน ป.๒ หลังจากโรงเรียนเก่าปิดกิจการไป ตอนเริ่มจำความได้นี่ก็อ่านหนังสือคล่องอยู่แล้วครับ อ่านหนังสือพิมพ์ทุก
วัน เป็นไปได้ว่าเพราะได้หนังสือมาอ่านเป็นประจำโดยอภินันทนาการจากคุณอาท่านหนึ่งครับ ส่วนมากก็จะเป็นนิทานเด็ก นิทานนานาชาติ แล้วก็ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ครับ

แต่ผมไม่รังเกียจหนังสือไม่ว่ารูปแบบไหนนะครับ ถุงกล้วยแขกนี่ของชอบเหมือนกัน

สงสัยโรงเรียนปลูกฝังมา  ;D


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 มี.ค. 08, 19:29
เลขประจำตัวที่โกศล อยู่ที่สามพันเศษครับ
สมัยนั้นค่าเทอมดูเหมือนจะ 120 บาท เมื่อขึ้นป. 2 ต้องย้ายฟากจากทิศตะวันตก ข้ามสนามมาทิศตะวันออก
เป็นเรือนไม้ใหญ่ เก่าแก่ รายล้อมทางเดินด้วยต้นสนมากมาย(ในความรู้สึกตอนนั้นนะครับ)

พอเปิดเรียนไม่กี่วัน ผมก็ต้องเดินร้องไห้กลับบ้าน
วันนั้นครูประจำชั้น ขานชื่อนักเรียนที่ยังไม่ได้จ่ายค่าเล่าเรียน มีชื่อผมอยู๋ด้วย
ผมตกใจบอกไม่ถูก รู้ซึ้งถึงคำว่าพรากจากของรักเป็นอย่างไรในวินาทีนั้นเลย
คิดเพียงว่า นี่เราจะไม่ได้เรียนหนังสือแล้วหรือ แล้วจะทำอะไรต่อไปล่ะ พับถุงขายหรือ

ไม่น่าเชื่อว่าอีกสิบปีต่อมา ผมจะดูถูกการศึกษาอย่างกลับตรงกันข้าม
แต่ที่โกศล ก็ทำให้ผมรู้ด้านที่ดีและเลวของหนังสือเหมือนกันครับ
ครูประจำชั้นของผมตอนป. 2 น่าจะเป็นตัวอย่างของครูที่ไม่สมควรเป็นครูมากที่สุดคนหนึ่ง
เช้าวันหนึ่ง ครูวาดเขียน เข้ามาแทรกในชั้นเรียนตอนเช้า บอกว่ามีประกวดระบายสี
เจ้าภาพคือหนังเรื่องศึกอลาโม เขาให้ระบายสีลงใบปิดที่เป็นแต่ลายเส้น

ขอให้ครูประจำชั้นเลือกเด็กมารับกระดาษไปแสดงฝีมือ เพื่อนในห้องร้องบอกชื่อผมออกมา
คุณครูผู้แสนหน้ารักบอกว่า ไม่ได้หรอก...เขาลายมือไม่สวย เขียนรูปไม่เก่ง........
ผมงี้ เดือดอยู่ในอก แต่ก็ต้องหุบปาก

ครูคนนี้อีกแหละครับ ที่ทำสิ่งที่ผมงง และจำฝังใจมาถึงทุกวันนี้
ตอนพักเที่ยง แกจะให้เด็กอีกคน มาคัดไทยใส่ในสมุดของลูกชาย เพื่อส่งเอาคะแนน
ตอนนั้นผมยังเด็ก แต่ทำไมจึงรู้ว่าทำอย่างนี้ผิดก็ไม่ทราบได้

แต่ในวิชาประวัติศาสตร์นั่นเอง
เมื่อครูอีกท่านหนึ่ง เล่าถึงสงครามยุทธหัตถี และพูดว่า
พี่เอย จะมัวยืนอยู่ใต้ร่มไม้อยู่ใย จงมาทำยุทธหัตถีให้เลื่องลือเถิด นานไปจะไม่มีการรบอย่างนี้อีกแล้ว

ผมรู้สึกเหมือสมองถูกทุบ ประทับใจสุดๆว่า เรื่องตั้งหลายร้อยปีผ่านไป ทำไมจึงยังเหลือความทรงจำที่ชัดเจนขนาดนี้
ตั้งแต่นั้น ผมก็หลงรักวิชาประวัติศาสตร์...เป็นรักที่สองต่อจากวิชาวาดเขียน


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 25 มี.ค. 08, 21:58
ไม่อ่านหนังสือของ ลพบุรี กันบ้างหรือครับ


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 26 มี.ค. 08, 09:50
 ::) นี่พวกเราท้าวความหลังกันสนุกเชียวนะคะ
ไปๆมาๆ พวกเราเคยพบกันมาก่อนแล้วทั้งนั้นหรือนี่ อืมม์
..........


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 มี.ค. 08, 11:34
อยากได้เอื้องแซะมาหลายสิปปี  เพราะเอื้องแซะเมืองนาย

เมื่อยังไม่รู้จักลูกคนแซ่ก๊วย ที่ถือกำเนิดมาในโพรงหิมะแล้วมารดากัดสายรก
ก็ตื่นเต้นกับการกระโดดขึ้นกำแพงของเจ้า่สุมาวงศ์  การสอบเป็นขุนนางจอหงวนและนายทหาร  การใช้มีดสั้น
ระยะทางระหว่างเมืองลุงเมืองปาเมืองเล็กเมืองน้อย  เชื่อถือเป็นคัมภีร์ชีวิต(ของเด็ก แปดขวบ)

เรียนรู้ว่าเพื่อนบ้านของเรา   มีทรัพยากรคือทับทิม  ชายหญิงไปเจอกันที่ตลาด
ชายใช้ผ้าโพกปักด้วยฝีมือนางที่รัก
ยังจำได้ว่า นางปักผ้าสีชมพูลายนาคะมินทร์เลิกพังพาน(ถ้าไม่สีชมพูก็คงสีใดสีหนึ่ง)
เชื่อในวงศ์ญาติของเมืองต่างๆ  ลูกคนใหญ่คนโตเกเรข่มเหงชาวบ้าน

รู้ว่าเป็นนิยายเพราะพระเอกมาแนวเดียวกันตลอด  ไม่เบื่อจนทุกวันนี้
เป็นความสุขที่อยากมีหัวหน้าที่เก่ง มีการศึกษา  รู้จักธรรมศาตร์การปกครอง
สร้างวังขึ้นมา ก็พบสุสานช้าง


ต่อมาหาเจ้าหมื่นด้งนครมาอ่านได้ทั้งชุด   เข้าใจเหตุผลว่า คืนเดียวก็ท้องได้

อ่านลาวจกราช  เรื่องนี้นักอ่านรุ่นหลังไม่ทันเห็น
อ่านสิงหนวัติ

ชอบอ่านนิยายของป.ร.อยู่แล้ว  เข้าใจได้ง่ายดาย

เจอ วีรกรรมของ แพ ตาละลักษณ์แอบแฝงเล่ามา
ตอนพระเอกนางเอกขี่ม้าแทบเป็นแทบตายไปตามประวัติของสกุลจากยายแก่ที่กำลังจะเผา
ทำให้หลงรักประวัติศาสตร์ไปด้วย

ตอนนี้ก็ไม่กลัวที่จะตามหางานหายากของ ท่านแพ ตาละลักษณ์มาอ่าน
รู้จักท่านมาตั้งนานแล้วนี่


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 26 มี.ค. 08, 12:36
เชิญไปที่เสนาศึกษาแลแผ่วิทยาศาสตร์ ครับ


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 มี.ค. 08, 16:47
เคยเห็นเสนาศึกษา  แต่แผ่วิทยาศาสตร์เคยได้ยินแต่ชืื่อค่ะ

อ่านโลกียชน สมัยคุณวิลาศ มณีวัตอยู่ชาวกรุง
สมัยเรียนหนังสือชั้นมัธยม  สอบได้โดยไม่ต้องอ่านภาษาอังกฤษเลย

คุณประมูล อุณหธูปเคยบอกว่าอยากแปลงานเก่าๆของ ซัมเมอร์เซ็ต มอห์ม
เสียดายที่ไม่เคยอ่านเลย 


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 มี.ค. 08, 20:47
ชื่อเดิมคือ เสนาศึกษาแลแผ่วิทยาศาสตร์ครับ


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 มี.ค. 08, 20:59
อ้างถึง
แต่ในวิชาประวัติศาสตร์นั่นเอง
เมื่อครูอีกท่านหนึ่ง เล่าถึงสงครามยุทธหัตถี และพูดว่า
พี่เอย จะมัวยืนอยู่ใต้ร่มไม้อยู่ใย จงมาทำยุทธหัตถีให้เลื่องลือเถิด นานไปจะไม่มีการรบอย่างนี้อีกแล้ว

ดิฉันเรียนในวิชาวรรณคดีไทย ตอนอยู่ร.ร.เตรียมอุดม   อาจารย์นิรันดร์ นวมารค เป็นผู้สอน
ท่านจำลิลิตตะเลงพ่ายขึ้นใจได้ทั้งเรื่อง   เข้ามาสอนไม่ต้องถือหนังสือประกอบ 
พูดปากเปล่าสอนโคลงได้ทีละบท ทีละบท  จนจบเรื่อง
ได้แต่นั่งฟังด้วยความตื่นตะลึง  ตะลึงทั้งอาจารย์   และตะลึงทั้งความสง่างาม ทรงเกียรติยศศักดิ์ศรี ของโวหารกวีแต่ละตอน

ครูของคุณพพ. นำมาจากบทนี้ค่ะ

พระพี่พระผู้ผ่าน                ภพอุต-  ดมเอย
ไป่ชอบเชษฐ์ยืนหยุด   ร่มไม้
เชิญราชร่วมคชยุทธิ์   เผยยอเกียรติ  ไว้แฮ
สืบว่าสองเราไสร้                 สุดสิ้นฤๅมี


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: V ที่ 28 มี.ค. 08, 22:00
WOW!!! Khun Tao Chom Poo.... I got a goose-pump. I also took Thai Literature with Ajarn Niran. He wrote the Thai grammar books and all for my school to use. I think until now... all the students are still using those books in class. He was one of the most genius teacher I've ever seen.

Regards,
-V-


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pum ที่ 29 มี.ค. 08, 00:43
เมื่อวานนี้เจอพี่กุ้งแห้งค่ะ   เลยได้ทราบว่ามีกระทู้เกี่ยวกับคุณตา ป. อินทรปาลิต

เลยมาเล่าเรื่องราวของท่านจากที่ฟังมาจากคุณแม่ค่ะ  คุณแม่เป็นลูกสาวคุณตาค่ะ มีพี่ชาย ๑ คน เสียชีวิตไปด้วยโรคเบาหวานเหมือนคุณตาประมาณสิบกว่าปีแล้ว

เรื่องคุณตายากจนในบั้นปลาย   คุณแม่บอกว่าไม่จริงค่ะ  ท่านยังทำงานอยู่ตลอดแม้ไม่สบาย  แต่ผู้ที่เก็บเงินคือคุณยายปราณี ภรรยาคนที่สองของคุณตา

เวลาคุณตาป่วย คุณยายปราณีจะให้พี่ปริญญาโทร.บอกคุณแม่ คุณแม่จะให้คุณพ่อดิฉันซึ่งเป็นหมอ   เป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ พาไปรักษาตัวค่ะ บางครั้งต้องนอนโรงพยาบาล   คุณแม่จะเป็นคนไปเฝ้าไข้ตลอด  ดิฉันและน้องสาวยังเล็กมาก อยู่ชั้นประถมที่ราชินีบน  กลับจากโรงเรียนต้องแวะไปหาคุณแม่ที่โรงพยาบาลก่อน
ทานข้าว  อาบน้ำที่โรงพยาบาล แล้วคุณพ่อก็พาเรากลับบ้านโดยคุณแม่นอนเฝ้าคุณตาค่ะ คุณตานอนโรงพยาบาลหลายครั้ง หลายตึก ตึกสุดท้ายที่ท่านรักษาตัวคือ ตึกจงกลนี วัฒนวงศ์ 

 ครั้งสุดท้ายที่ท่านออกจากโรงพยาบาล คุณยายปราณีชวนท่านให้ไปอยู่กันที่บ้านคุณชูชัย พระขรรค์ชัย ซึ่งยามนั้นไม่ได้เป็นนักมวยแล้ว  รายได้คุณตาต้องใช้เลี้ยงทั้งบ้านค่ะ

คุณแม่ไม่พอใจนัก   แต่ต้องยอมตามใจคุณตา วันที่คุณตาเสียชีวิต คุณแม่พาดิฉันและน้องสาวไปที่บ้านคุณชูชัย  คุณตานอนเอาขาไขว่ห้างอยู่เลยค่ะ กระทั่งจากไป  ยังทิ้งลายไขว่ห้างเอาไว้

แล้วหนังสือพิมพ์ไปลงว่า ป.อินทรปาลิต ตกยาก มีเงินเหลือแค่เศษเหรียญอยู่ใต้หมอน  คุณแม่ไม่พอใจ แต่ก็เงียบไว้  เงินช่วยจากงานศพคุณตามากมาย คุณแม่ไม่ได้เก็บ คุณยายปราณีเก็บเองหมด


เรื่องก็ผ่านไป   จนงานศพคุณตาเสร็จสิ้น   มีการคุยกันเรื่องลิขสิทธิ์   กว่าจะรู้เรื่องกันได้ก็ทะเลาะกันไปพอแรง คุณแม่มาสรุปให้ดิฉันฟังตอนหลังว่า ลิขสิทธิ์หนังสือของคุณตาจะมีสามเจ้าของค่ะ คือ

 ๑. ลิขสิทธิ์ที่ขายขาด อย่างที่เล่าๆกันมาข้างบนค่ะ 

 ๒. ลิขสิทธิ์ของคุณแม่กับคุณลุง (พี่ชายคุณแม่ผู้เป็นพ่อของพี่ปริญญา อินทรปาลิต) จะเป็นเรื่องที่เขียนช่วงยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับคุณยายปราณี คือคุณตาอยู่กับคุณยายปราณีแบบไม่ได้จดทะเบียน   มาจดเอาไม่นานก่อนเสียชีวิต

๓. ลิขสิทธิ์ของคุณยายปราณี ซึ่งมีไม่มาก และหลายเล่มขายขาดให้สำนักพิมพ์ไปแล้ว

ต่อมาคุณลุงเสียชีวิต  คุณยายปราณีย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกากับครอบครัวคุณชูชัย  และไม่ติดต่อมาอีกเลย

คุณแม่กับคุณยายปราณีผู้เป็นแม่เลี้ยงไม่ค่อยถูกกัน คุณแม่เล่าทางมุมของคุณแม่ว่า คุณตาเป็นคนดีมาก ท่านเลี้ยงน้องๆหลานๆมาหลายคนมากๆ  เงินทองหาได้เยอะมาก  คุณแม่ตอนเป็นสาวนั้นหรูมากทีเดียว ซื้อของแต่ห้างฝรั่ง  คุณตาเขียนหนังสือทุกวัน มีคนจากสำนักพิมพ์มานั่งรอต้นฉบับ  เรียกว่า เขียนอะไรก็ออกมาเป็นเงิน แค่คุณตาท่านไม่สะสม ท่านมีน้ำใจกว้างขวาง ให้อะไรใครได้ก็ให้หมด เพราะถือว่าพรุ่งนี้ท่านก็เขียนหนังสือได้อีก

คุณแม่ดิฉันเป็นมือพิมพ์ดีดให้คุณตา  ต่อมาคุณแม่แต่งงานกับคุณพ่อ  พี่ปริญญากลายมาเป็นมือพิมพ์แทน

ดิฉันกับน้องสาวจะชินกับภาพคุณตาสวมเสื้อผ้าป่านติดกระดุมผ่าหน้าตัวบางกับกางเกงแพร  นอนเอกเขนกบนเก้าอี้ผ้าใบที่ระเบียงบ้าน บอกบทให้พี่ปริญญาพิมพ์ค่ะ

หลานๆนั่งหัวเราะกระดิ่งทอง และนายแพทย์ดิเรกที่ชอบพูด ออไร๋ท์ๆ  กับพลที่ชอบแอบเจ้าชู้กับสาวๆในบ้าน  กิมหงวนฉีกแบ๊งก์ที หลานๆหัวเราะกันท้องแข็ง
คุณตานั่งมองหลานๆหัวเราะแล้วยิ้มชอบใจ

ตอนนี้ถ้าดิฉันว่างๆอยู่กับคุณแม่เมื่อไหร่ จะจดโน้ตความทรงจำเรื่องของคุณตาจากคุณแม่เอาไว้เผื่อได้เขียนสักวันหนึ่งข้างหน้า

ชีวิตท่านสนุกมากค่ะ

คุณพ่อของคุณตาหรือคุณปู่ของคุณแม่  เป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย   ชื่อคุณพระพิสิฏพจนาการ

สมัยนั้นเด็กผู้ชายเข้าโรงเรียนนายร้อยตั้งแต่ชั้นประถม  คุณตาค่อนข้างเกค่ะ  ไม่กลัวใคร สุดท้ายคุณทวดต้องให้ท่านลาออกไปเพราะบังคับลูกไม่ได้

คุณตาไปขับเรือโยง  ขับแท็กซี่ ทำงานหาเงินด้วยอาชีพที่ไม่มีใครคิดว่าลูกชายคุณพระจะทำได้

คุณยายเป็นสาวสวยชาววังชื่อไข่มุกด์ (สะกดแบบนี้จริงๆค่ะ)   มีเชื้อสายมาจากเจ้าจำปาศักดิ์   คุณตาเห็นแล้วตามจีบด้วยเพลงยาวจนคุณยายยอมแต่งงานด้วย

ยอมออกจากวังมาลำบาก  แต่คุณตาก็ไม่ได้ให้คุณยายลำบากอะไรมากค่ะ  คุณตาทำงานหนัก แอบเขียนนิยายไว้เยอะ

คุณยายเห็นแล้วอ่านดูว่าสนุกดี บอกให้คุณตาไปส่งสำนักพิมพ์ แต่คุณตาไม่ไป คุณยายเลยเอาไปส่งเองเสียเลย

  เรื่องแรกของท่าน คือ "นักเรียนนายร้อย" เป็นนิยายรักโศก ดังมากค่ะ

เมื่อท่านแน่ใจแล้วว่าเป็นนักเขียนได้ จึงเขียนต่อๆมา ...อีกมากมาย

คุณแม่เล่ามาเยอะค่ะ  เล่าถึงตอนสงครามโลก    ตอนหนีภัยสงครามไปอยู่อ่างทอง   ตอนเดินข้ามสะพานพุทธด้วยกำลังขา ฯลฯ

สนุกมากๆค่ะ  :D





กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 มี.ค. 08, 09:03
ขอร้องให้เขียนต่อครับ
คุณแม่น่าจะเป็นคนสุดท้ายในโลกที่รู้จักยอดนักเขียนของไทยท่านนี้

ไม่บันทึกไว้

ทุกสิ่งก็สูญ


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: tony_hui ที่ 29 มี.ค. 08, 12:12
เอาปก   เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์  มาฝากสักสองปกครับ
(http://www.su-usedbook.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/1458800000120_b.jpg)
(http://www.su-usedbook.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_20041002125651_b.jpg)


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: tony_hui ที่ 29 มี.ค. 08, 12:20
แรกเริ่มเดิมที น่าจะเป็น เสนาศึกษา เฉยๆ ก่อนจะมีแผ่วิทยาศาสตร์ มาสร้อยภายหลัง(http://www.su-usedbook.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_2004090484759_b.jpg)


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 29 มี.ค. 08, 15:41
โอ้โห.....หนอนหนังสือตัวจริงมาเอง

ขอบคุณครับ ที่แบ่งให้ชื่นชม
หนังสือชุดนี้ มีเรื่องน่าอ่านมาก แต่หายากมากเช่นกัน
นักปราชญ์ราชบัณฑิต ต่างส่งเรื่องมาลง

ขอเชิญเล่าต่อครับ


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 29 มี.ค. 08, 18:55
คุณปริญญาเป็นหลานปู่ เคยเล่าเรื่องเกี่ยวกับคุณปู่ไว้บ้าง เห็นว่าจะเขียนเรื่องสามเกลอต่อจากคุณปู่
คุณปุ้มเป็นหลานตา ก็น่าจะมีมุมมองที่ต่างไปมาเล่าสู่กันฟัง น่าสนใจครับ


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มี.ค. 08, 20:31
เคยอ่านบทสัมภาษณ์คุณปราณี เมื่อเธอกลับมาเยี่ยมประเทศไทย  นานหลายปีแล้วค่ะ


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มี.ค. 08, 20:38
เมื่อเรียนป. ๑  เคยเอานิทานเรื่องสโนไว้ท์ที่แม่ซื้อให้    ไปร.ร. อวดเพื่อน
เลยถูกครูริบไป  ไม่คืน     
ในยุคนั้นเราไม่มีสิทธิ์อ่านอะไรนอกจากหนังสือเรียน ค่ะ

แม้แต่การเขียนอะไรเวียนกันอ่านกันเอง  ทำเป็นรูปเล่มสมุดอย่างสวยงาม
ในห้องเรียนตอนอยู่ม. ต้น     ถ้าครูจับได้ก็จะถูกริบเหมือนกัน
เพื่อนของดิฉัน คุณ"จินตกัญญา" นักเขียนผู้ล่วงลับไปแล้ว  เจอเข้ากับตัวเอง
เธอยังเล่าให้ฟังหลังจากนั้นอีกหลายสิบปี



กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 29 มี.ค. 08, 23:02
แค่อ่านที่คุณปุ้มแวะมาโปรยก็สนุกแล้ว.. เหลือรับประทาน


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 08, 22:38
เข้ามาต่อกระทู้ ไม่ให้หยุดนิ่ง

นอกจากหนังสือปกอ่อนเล่มเล็กๆอย่างที่เล่ามาแล้ว  นิยายในสมัยก่อนเกือบร้อยละร้อยเป็นหนังสือปกแข็ง   ขนาดเล่ม สั้นกว่าพ็อคเก็ตบุ๊คยุคนี้   
ปกส่วนที่เป็นปกแข็ง เป็นสีเรียบๆ เช่นแดงแก่ น้ำเงินแก่ มีชื่อเรื่องพิมพ์อยู่บนปก  แต่มีปกกระดาษอาบมัน หุ้มทับอยู่อีกที   วาดปกเป็นรูปพระเอกนางเอก ด้วยสีสันสดสวย
ปกกระดาษนั้นก็หุ้มแบบหละหลวมเสียเหลือเกิน  คือยาวพอหุ้มแค่ด้านข้างเท่านั้น   ไม่มีอะไรยึดไว้กับเล่ม   
พอเปิดหนังสืออ่าน ปกก็เลื่อนหลุดลงไปกับพื้น ยับเยินเสียหายง่ายมาก    มักจะเหลือก็แต่เพียงปกแข็ง

แหล่งหนังสือปกแข็ง ก็คือร้านเก่าแก่ที่วังบูรพา มีหลายร้านด้วยกัน

เมื่อวังบูรพาของสมเด็จวังบูรพาฯ ถูกรื้อไปแล้ว  (รื้อเมื่อไรไม่รู้ จำความไม่ได้ค่ะ) ตรงนั้นก็กลายเป็นที่ตั้งของโรงหนัง ๓ โรงด้วยกัน
คือโรงหนังคิงก์  คู่กับโรงหนังแกรนด์  ฉายแต่หนังฝรั่งฮอลลีวู้ด
ถนนอ้อมได้รอบ  คั่นระหว่างโรงหนังด้านหน้ากับโรงหนังด้านหลัง ชื่อโรงหนังควีน
ร้านหนังสือเรียงรายอยู่ด้านข้างและหลัง  ส่วนใหญ่เป็นห้องเดียว ที่ดูทันสมัย

หนังสือที่ขาย เป็นหนังสือไทยเสียเป็นส่วนใหญ่  นอกนั้นก็มีนิทานประกอบภาพ สีสันสดใสของฝรั่ง  ส่งมาจากเมืองนอก
ตุ๊กตากระดาษ ทำเป็นเล่มๆจากเมืองนอกเหมือนกัน ก็มาขายที่นี่
เคยไปเจอในเว็บไซต์แฟชั่นค่ะ  เป็นของสะสมไปแล้ว


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 31 มี.ค. 08, 23:57
เล่าจากความจำครับ อ่านไว้นานนน...เหลือแสน
วันหนึ่ง ครูเหลี่ยมไปนั่งที่โรงพิมพ์ เจ้าของโรงพิมพ์ก็บอกว่า แต่งเรื่องความไม่พยาบาทถี
ครูเหลี่ยมก็ร้องฮึ
เจ้าของโรงพิมพ์โยนกระดาษขาวให้ปึกหนึ่ง
ครูเหลี่ยมก็เริ่มแต่งความไม่พยาบาท...ง่ายๆ อย่างนั้นเอง

ดูเหมือนว่า ในยุคนั้น นักเขียนเป็นเหมือนจักรกลประเภทหนึ่ง เจ้าของโรงพิมพ์เข้ามาหยอดเหรียญ
เครื่องจักรก็ผลิตงานออกมา

เจ้าคุณอนุมานก็คล้ายกัน เจ้าของโรงพิมพ์ เอาหนังสือมาโยนให้ บอกว่าแปลหน่อย
บางทีเจ้าคุณก็บอกว่า อยากแปลเล่มนั้น เล่มนั้น
เจ้าของโรงพิมพ์ก็สั่งเข้ามาให้

คิดดูก็มองเห็นสัจจะประการหนึ่ง
ผมเข้าใจว่า แม้แต่กระดาษเปล่า ในพ.ศ. นั้น คงเป็นของแพงเอามากๆ
ผมเองก็พอนึกได้เลาๆ ว่าทั้งบ้าน เมื่อยังเด็ก มีกระดาษเปล่า ก็สมุดมีเส้นของเด็กนักเรียน
ครั้งแรกที่เห็นกระดาษฟูลสแก๊ป รู้สึกว่าช่างหรูหราเสียนี่กระไร

ถ้าอยากระบายสี ยิ่งยาก ดูเหมือนจะแพงจนเกินไขว่คว้า แถมดินสอสีก็แพงอีก
เฮ้อ....เป็นศิลปิน ไม่ว่าสาขาใหน ดูจะหนีไม่พ้นความขัดสน


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 เม.ย. 08, 06:58
พระยาอนุมานราชธนเล่าให้ สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ฟังว่า ขุนโสภิตอักษรการ(แห โรงพิมพ์ไท) เจ้าของโรงพิมพ์ไท
ทำงานละเอียด  ลงมือทำงานเอง
หล่อตัวพิมพ์เอง  ตรวจตัวพิมพ์เอง
ใช้หมึกกระป๋องใหม่เสมอ  ที่เหลือติดกระป๋องไม่ใช้ ยอมทิ้งไป เพื่อให้การพิมพ์สม่ำเสมอ
เป็นคนรักหนังสือ

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเกรงว่าหนังสือพระลอและนิราศต่างๆจะสูญ  ได้ประทานต้นฉบับมาให้
เป็นโรงพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือดี


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 เม.ย. 08, 07:27
อ่านมาจาก ส. ศิวลักษณ์  สัมภาษณ์  เสฐียรโกเศศ 
หนังสือชื่อ  ประวัติพระยาอนุมานราชธน  สัมภาษณ์เสถียรโกเศศ และ พระยาอนุมานราชธนที่ข้าพเจ้ารู้จัก
๒๕๑๒


เจ้าคุณอนุมานฯ เล่าต่อไปว่า
ท่านไปซื้อ โนเวล ที่ร้านเคียมฮั่วเส็ง ตั้งแต่เป็นเรือนไม้
ร้านนี้ขาย six penny novel

ท่านไปซื้อ A Study in Scarlet ก็อ่านออกโดยไม่รู้ตัว  ทั้งๆที่แต่ก่อนอ่านไม่ออก
ต่อมาท่านก็อ่านเชอร์ลอคโฮม

ท่านว่าท่านอ่านใหญ่เลย

ต่อไปท่านก็อ่านวิลเลียม ละคอร์ กับ ชาร์ลส์ กาวิส
หาอ่านที่ไหนไม่ได้ก็ไปสั่งที่ ฟอยล์ แอนด์กัมปานี
สั่งมาทีละ ๒๐ - ๓๐ เล่ม

หลวงสารานุประพันธ์(นวล ปาจิณพยัคฆ์)มาขอไปหมด

เจ้าคุณเล่าต่อไปอีกว่า  ท่านอ่านโนเวลราว สามสี่ร้อยเล่ม  สั่ง second hand มาอ่าน
อ่านหมดแล้วก็เบื่อ


ขอบพระคุณ คุณสุลักษณ์  ศิวลักษณ์จริง ๆ  ที่ช่างคุยช่างถามเรื่องเก่าๆที่สนุกและเป็นความรู้อย่างยิ่ง


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 03 เม.ย. 08, 08:49
หนอนอย่างดิฉัน ชอบหนังสือเพลงเป็นที่หนึ่งในช่วงเซเวนตี้ส์ รวมทั้งสตาร์พิคส์ที่ขาดไม่ได้ เพียงแต่ไม่ต้องซื้อเอง
พี่สาวจะเก็บสะสมตั้งแต่ยุคซิกซ์ตี้ส์ เพราะเธอใช้เรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง คำร้องในเพลงโบราณจะไพเราะ คล้องจองเช่นเพลง Eternally
Till ที่เด็กๆอย่างดิฉันไม่ต้องเปิดดิคมาก แต่เพลงอย่างTill there was youของบีทเติ้ลส์ ต้องรอตอนแก่ๆจึงจะเข้าใจปรุโปร่งทั้งที่เป็นเนื้อร้องแสนง่าย
ที่บ้านพี่สาวมีหนังสือเพลงเป็นตั้งๆ เมื่อเธอย้ายบ้านเพราะแต่งงาน ดิฉันจึงได้รับมรดกเหมามาทั้งหมด
แม้แต่เพลงไทย เธอก็สะสมเนื้อร้องไว้มากมาย รวมถึงให้ดิฉันแต่งกลอนประกอบเพลงไว้ด้วย
ป่านนี้ไม่ทราบยังอยู่หรือเปล่า เจอหนอนเพลงด้วยกัน รู้สึกว่าคุยกันแล้วจะมีความมัน ดิฉันหมายถึงหนอนเนื้อเพลงมากกว่าหนอนดนตรีนะคะ
บางคนไม่ได้จำแค่เนื้อ ทั้งร้อง ทั้งเล่นดนตรี และจำเรื่องราวชีวิตของศิลปินแต่ละคนได้ลึกๆ
คุยด้วยแล้วทึ่ง


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 เม.ย. 08, 12:13
อ้างถึง
เจอหนอนเพลงด้วยกัน รู้สึกว่าคุยกันแล้วจะมีความมัน ดิฉันหมายถึงหนอนเนื้อเพลงมากกว่าหนอนดนตรีนะคะ

อยากคุยด้วยมากค่ะ เรื่องนี้
ได้ฤกษ์แล้ว ขอเปิดกระทู้ใหม่ในห้องชั้นเรียนวรรณกรรม
ชื่อ คนเขียนเพลง
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2633.0


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 07 เม.ย. 08, 11:28
อ่านหนังสือไปเจอคำว่า "เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์" เข้า เลยขอคัดลอกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องมาให้อ่านกัน

ที่คุณกุหลาบบอกว่าลาออกนั้น คือลาออกจากหน้าที่ผู้ช่วยงานบรรณาธิการหนังสือ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ รายเดือนของโรงเรียนนายร้อยทหารบก ซึ่งพันโท พระวิสิษฐพจนการ (อ่อน อินทรปาลิต) บิดาคุณ ป. อินทรปาลิต ผู้เนรมิตพลนิกรกิมหงวน เป็นบรรณาธิการ

คุณกุหลาบเล่าอย่างเดือดดาลว่า สำนักงานหนังสือเสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ อยู่ด้านหลังสุดเขตของบริเวณโรงเรียนนายร้อยที่ถนนราชดำเนินนอก เดินเข้าไปไกลอยู่ คุณกุหลาบก็ต้องเดินเข้าไปทำงานและเดินออกกลับบ้านอยู่ทุกวัน มาเมื่อวานซืนกำลังเดินจะเข้าประตูใหญ่ติดถนนราชดำเนินที่มีทหารยามเฝ้าอยู่ที่ประตูเล็กทางคนเดินเข้าออก เห็นพลทหารคนหนึ่งขี่จักรยานมาพอเกือบจะถึงประตุเล็ก พลทหารนั้นก็บอำให้ยามนั้นเปิดประตูเล็ก ยามก็รีบเปิดให้จักรยานผ่านเข้าไปโดยเรียบร้อย คุณกุหลาบก็มาคำนึงว่า ทางเดินจากทางประตูเข้าบริเวณโรงเรียนนายร้อย กว่าจะถึงที่ทำงานสำนักงานหนังสือพิมพ์นั้นเป็นระยะทางไกล ต้องเสียพลังงานไปเปล่าวันละไม่น้อย น่าที่เราจักได้ซื้อจักรยานสักคันหนึ่งขี่เข้าไปและกลับออกมาเป็นการทุ่นแรง รุ่งขึ้นก็จัดการลงทุนซื้อจักรยานใหม่เอี่ยมคันหนึ่ง

พอวันรุ่งขึ้น คือเช้าวันที่มาหาผม(หมายถึงคุณอบ ไชยวสุ)นั่นเอง คุณกุหลาบขี่จักรยานออกจากที่พัก ไปถึงใกล้ประตูโรงเรียนนายร้อยก็บอกดังดังให้ทหารยามได้ยินว่า "ยาม ช่วยเปิดประตูเล็กให้ที" ยามก็เฉยอยู่ไม่เปิด คุณกุหลาบขี่รถไปถึงประตูก็จำเป็นเป็นต้องลง ยามจึงได้มาเปิดประตูให้ บอกให้คุณกุหลาบจูงรถผ่านประตูเข้าไป จะขี่เข้าไปไม่ได้ จูงผ่านแล้วจึงขี่ต่อไปได้ คุณกุหลาบบอกว่าทำไมพลทหารขี่ผ่านเข้าไปได้ ไม่ต้องลงจูง ยามบอกว่าข้อห้ามมีอย่างนั้น

คุณกุหลาบว่าแก่ตัวเองให้ยามประตูได้ยินด้วยว่า "วะ แล้วกันโว้ย จักรยานก็เหมือนกัน ของเราใหม่กว่าด้วยซ้ำ ที่ขี่ก็คนเหมือนกัน นั่นพลทหาร เรานึกว่าเราดีกว่าด้วยซ้ำ ทั้งมีธุระการงานต้องเข้าไปเหมือนกัน แต่เรานึกว่างานเราดีกว่า หน็อย เขาขี่เข้าไปได้ ส่วนเราต้องลงจูงเดินเข้าไป ไม่เอาละวะ ลาออกดีกว่า" แล้วก็เขียนใบลาออกจากหน้าที่ผู้ช่วยบรรณาธิการ โดยเหตุที่เห็นไม่ยุติธรรม

นั่นคือที่มาของการที่คุณกุหลาบมาออกหนังสือพิมพ์ "สุภาพบุรุษ"


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 07 เม.ย. 08, 16:53
"แผ่วิทยาศาสตร์" ฟังแล้วสะดุดหูมากครับ  ;D

หมายถึง "ตีแผ่เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์" หรือเปล่าครับ ??? ภาษาปัจจุบันไม่ใช้เดี่ยวๆ แล้ว เห็นจะใช้ว่า "ตีแผ่" ซึ่งมักเป็นเรื่องไม่ค่อยดี เป็นการเปิดโปงความจริง  ถ้าใช้เดี่ยวๆ เท่าที่นึกออกเห็นจะมี "นอนแผ่หรา"

สมัยนี้ เข้าใจว่าจะนิยมใช้ "เผยแพร่" หรือ "เผยแผ่" แทน  ::)

เผยแพร่ ก. โฆษณาให้แพร่หลาย เช่น เผยแพร่ความรู้.
เผยแผ่ ก. ทําให้ขยายออกไป, ขยายออกไป, เช่น เผยแผ่พระศาสนา.


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 07 เม.ย. 08, 19:36
ต้องถามคนรุ่นคุณพิพัฒน์ครับ คุณ Hotacunus  ;D

คำหลายคำความหมายเปลี่ยนไปตามเวลา ฮิวเมอริสต์บอกว่า ดิถี ใช้เฉพาะทางจันทรคติ ที่นำมาใช้กับดิถีขึ้นปีใหม่ นั้นไม่ถูก หรือ สูสี แต่ก่อนใช้เพียงความหมายว่าเกี่ยวข้อง เนื่องด้วย เท่านั้น


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 07 เม.ย. 08, 21:21
คนรุ่นผมใช้ว่าแผ่สองสลึงแล้ว พ่อหนุ่มโอม
แผ่ในรุ่นรัชกาลที่ 6 ขึ้นไป เป็นความหมายเชิงยกย่องครับ
นักหนังสือพิมพ์รุ่นกึ่งศตวรรษแหละ ที่ไปกระชากลงมาทำอนาจาร...อุ๊บบบ มิถึงเพียงนั้น
ทำให้ความหมายเคลื่อนไปในทางลบ

แผ่ขยาย แผ่ปก เผื่อแผ่....
พวกนี้ความหมายทางดีทั้งนั้นแหละครับ
แผ่วิทยาศาสตร์ก็คืออุดมการณ์ของบัณฑิตรุ่นนั้น ที่อยากให้สังคมของเราหลุดจากปลักไสยเสียที
ครูเทพนี่แหละครับ ที่เป็นหัวหอก


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 12 เม.ย. 08, 15:31
        เคยกล่าวถึงคุณวิลาศ มณีวัต และนิยายเรื่อง ละครแห่งชีวิตไว้ในความเห็นก่อน
          วันนี้ได้อ่าน คอลัมน์ มิตรน้ำหมึก ของคุณ ณรงค์ จันทร์เรือง จาก มติชนสุดสัปดาห์
(คุณณรงค์ เขียนเรื่องการเป็นนักเขียน ต่อเนื่องกันมาหลายสัปดาห์ อ่านได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน)
        กล่าวถึงคุณวิลาศ มณีวัต ที่เขียนนวนิยายด้วยจินตนาการและแรงบันดาลใจจาก ละครแห่งชีวิต
จึงนำมาถ่ายทอดเรื่องราวเป็นบันทึกไว้ ครับ

         วิลาศ มณีวัต เคยให้สัมภาษณ์ คำรพ นวชน เมื่อราว ๒๐ ปีก่อนว่า
         นวนิยายที่โด่งดังในยุคแรกของเขาคือ "ชีวิตไม่มีพรมแดน" ได้แรงบันดาลใจจาก "ละครแห่งชีวิต"
ของ ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์
         "ผมอ่านแล้วอ่านอีก อ่านอย่างหลงใหล และต้องยอมรับว่ามีอิทธิพลต่อแนวทางการดำเนินชีวิตของผม
เป็นอย่างมาก หนังสือเล่มนั้นทำให้ผมไม่อยากเป็นอย่างอื่น นอกจากคนหนังสือพิมพ์ อยากไปสืบข่าวที่อังกฤษบ้าง
อยากจะไปดมกลิ่นหมอกลอนดอน ....
         แต่ความเป็นจริงเดินช้าไม่ทันใจ ผมจึงฝันมันขึ้นมา และได้กลายเป็นนิยายในนามของ วิไล วัชรวัต
...ซึ่งเขียนผิดไปเยอะเหมือนกัน เพราะผมเขียนจากหนังสือบวกแผนที่ บวกความฝัน และบวกความกำแหงขนาดหนัก... "

        คณะศิวารมณ์ นำตอนหนึ่งไปสร้างละคร ให้ชื่อว่า "แว่วเสียงยิปซี" จากฝีมือบทละครระดับเทพ สุวัฒน์ วรดิลก
          "ผมต้องขอบคุณ คุณสุวัฒน์ วรดิลก ไว้ในที่นี้ด้วยอย่างสูง เพราะทำเป็นละครได้ดีกว่าเรื่องเดิมของผม
เป็นอันมาก."


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 เม.ย. 08, 01:38
กลับมาปั่นกระทู้ต่อ อาจจะกระโดดโดกเดกไปบ้างนะครับ

โรงพิมพ์เป็นสถานศักดิสิทธิ์ในความทรงจำอีกแห่งหนึ่ง

สมัยที่เรียนอำนวยศิลป์ เพื่อนในห้องเป็นโรงกลึง...เราก็รู้แค่นั้น
มารู้เพิ่มอีกทีก็เมื่อแยกย้ายไปหลายปีว่า โรงกลึงของมันนั้น แท้ที่จริงเป็นตำนานบทเล็กๆ ในประวัติศาสตร์การพิมพ์
คือเป็นโรงกลึงที่สามารถผลิตลูกกลิ้งแท่นพิมพ์ได้เอง....แม้ เราเองก็ไปนอนเล่นบ้านมันออกบ่อย
ทราบว่าโรงงานซึ่งอยู่เลยวงเวียนใหญ่ไปสามป้ายรถเมล์ ถูกเวณคืนเมื่อขยายถนน..นั่นก็นานก่อนผมจะเข้าโรงพิมพ์จริงๆ

หนังสือรุ่น เป็นเหตุให้เราต้องเข้าโรงพิมพ์ วันนั้นเพื่อนเป็นประธานนักเรียน
ผมติดร่างแหไปช่วยเขาหน่อยหนึ่ง พอได้กลิ่นแท่นฉับแกละ
ในปีนั้น การพิมพ์ออฟเส็ท เป็นของหรู การพิมพ์รูป ถ้าต้องพิมพ์ด้วยบล๊อคเม็ดสกรีน ก็ยิ่งหรู
นี่ไม่ต้องไปฝันถึงการพิมพ์สอดสีเลยนะครับ เงินน่ะ ต้องเตรียมไปอีกหลายเท่าทีเดียว

ไม่มีใครสอนกันด้วยนะครับ เรื่องพิมพ์หนังสือ
คิดดูก็ใจกล้าหน้าด้านไม่น้อยทีเดียว ที่เด็กนักเรียนอายุยังไม่ถึงยี่สิบ กำเงินร่วมหมื่นของเพื่อนๆ
เข้าโรงพิมพ์ไปสั่งพิมพ์หนังสือรุ่น

เถ้าแก่ถามว่ากี่หน้ายก เราก็อ้อมแอ้มทำเป็นหยิบเล่มของรุ่นก่อนให้ดู
บอกว่าประมาณนี้แหะ แต่อาจจะหนากว่าหน่อย
เถ้าแก่จึงเป็นครูของพวกเราในการพิมพ์หนังสือ แกเป็นเจ้าของเจริญวิทย์
โรงพิมพ์ที่พวกเรียนศิลปะได้อาศัยพึ่งพา ในขณะที่ตัวแกเองเริ่มอ่านหนังสือของมาร์ก เองเจิล
และเริ่มติดการประท้วง

แต่พวกเราไม่สนใจดอก ขอให้พิมพ์หนังสือเราทันกำหนดเป็นใช้ได้


กระทู้: ตัวหนอนในสมุด
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 เม.ย. 08, 20:03
ก่อนเข้าไปยุ่งกับการพิมพ์
การเรียนศิลปะ ทำให้เราต้องแวะโรงพิมพ์เหมือนกัน แต่ไปขอกระดาษครับ
ในการฝึกมือนั้น เด็กเรียนศิลปะต้องล้างผลาญกระดาษกันคนละนับไม่ถ้วน
สมมติว่าเขียนรูปวันละสามสี่แผ่น อาทิตย์นึงก็หมดไปเป็นหลายโหล
บางคนที่รอบคอบ อาจจะพลิกด้านหลังมาใช้ แต่ไม่ใช่ว่าจะใช้ได้ทุกแผ่น
บางแผ่นก็เขียนจนแหลกเหลว

เพื่อนบางคนพกมาทีละห้า-หกสิบแผ่น เอาแต่เขียนเส้นเป็นวงกลมดำปิ๊ดปี๋เต็มทั้งแผ่น
เปลืองทั้งดินสอทั้งกระดาษ แต่ทำให้เขารู้สึกมั่นใจ
วันหนึ่งไอ้โต้งก็ออกไอเดียบันเจิด
พ่อมันรู้จักโรงพิมพ์สยามรัฐ บอกว่าที่นั่น เขาทิ้งกระดาษกันทีละมากๆ ไปขอมาใช้ท่าจะดี

เรื่องของเรื่องก็คือ กระดาษที่เราใช้วาดเส้นนั้น เราเรียกกระดาษปรูฟ ก็คือกระดาษหนังสือพิมพ์นั่นแหละครับ
เนื้อบาง สีออกเหลืองอ่อน เบา และราคาถูก แต่ซื้อทีละร้อยแผ่น แผ่นละสลึง
เด็กนักเรียนอย่างเราก็สู้ไม่ไหวเหมือนกัน
ทีนี้ โรงพิมพ์ใหญ่ๆ เขาจะใช้กระดาษนี้แบบม้วน (ม้วนละเป็นตันนะครับ)
ลากกระดาษเข้าแท่นปล่อยให้วิ่งจนครบออกมาเป็นเล่ม
ปัญหาก็คือ พอเหลือก้นม้วน มักจะกระตุกขาด ขาดแล้วลากเข้าแท่นอีกทีจะไม่คุ้ม เพราะต้องลากยาวเป็นร่วมร้อยเมตร
เขาจึงมักจะทิ้ง ม้วนหนึ่งอย่างน้อยก็มีเป็นร้อยเมตร

เจ้าโต้งจัดแจงอ้างพ่อเข้าไปยกมาคนละม้วน หนักเป็นสิบกิโลครับท่าน
เรียกตุ๊กๆ สิบบาทจากโรงพิมพ์มาที่วังหน้า
จากนั้นก็ช่วยกันตัดครับ ได้กระดาษฟรีเป็นพันแผ่น.....เฮ้อ
ไม่ยักมีใครเขียนรูปเก่งขึ้น

ในรุ่นเดียวกัน ไม่มีใครได้เป็นศิลปินสักคน